ข้อควรจำเกี่ยวกับคำราชาศัพท์ที่มักใช้ผิดกันเสมอ
๑. “ถวายการต้อนรับ” คำนี้ผิด ภาษาไทยมีคำใช้อยู่แล้ว คือ “เฝ้าฯ รับเสด็จ” หรือ “รับเสด็จ”
๒. “ถวายความจงรักภักดี” ความจงรักภักดีเป็นของที่หยิบยื่นให้กันไม่ได้ เป็นสิ่งที่มีประจำตน แสดงปรากฏให้ทราบได้ ฉะนั้นใช้ “ถวาย” ไม่ได้ จึงควรใช้ “มีความจงรักภักดี”
๓. “อาคันตุกะ” และ ”ราชอาคันตุกะ” ใช้ต่างกันดังนี้
“อาคันตุกะ” ใช้เมื่อ
ก. พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปทรงเป็นแขกของบุคคลสำคัญ
ข. บุคคลสามัญไปเป็นแขกของบุคคลสามัญ
“ราชอาคันตุกะ” ใช้เมื่อ
ก. พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปทรงเป็นแขกของพระมหากษัตริย์
ข. บุคคลสามัญไปเป็นแขกของพระมหากษัตริย์
สรุป คือให้ดูเจ้าของบ้านเป็นหลัก ถ้าเจ้าของบ้านเป็นพระมหากษัตริย์บุคคลทั่วไปที่เป็นแขกไม่ว่าจะเป็น
พระมหากษัตริย์หรือบุคคลสามัญเป็น “ราชอาคันตุกะ” ทั้งสิ้น ในทำนองเดียวกัน ถ้าเจ้าของบ้านเป็นบุคคล
สามัญ บุคคลที่ไปเป็นแขกไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์หรือบุคคลสามัญเป็น “อาคันตุกะทั้งสิ้น”
๔. การใช้คำ “ถวาย” มีใช้อยู่สองคำ คือ “ทูลเกล้าฯ ถวาย” และ “น้อมเกล้าฯ ถวาย” ใช้ต่างกันดังนี้
ก. ถ้าสิ่งของนั้นเป้นของเล็กใช้ “ทูลเกล้าฯ”
ข. ถ้าสิ่งของนั้นเป็นของใหญ่ใช้ “น้อมเกล้าฯ ถวาย” หรือ “ถวาย” เฉยๆ
๕. คำว่า “ขอบใจ” ถ้าจะกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขอบใจ ก็ใช้ว่า “ทรงขอบใจ” หรือ
“พระราชทานกระแสขอบใจ” ไม่ใช้ “ขอบพระทัย” เว้นแต่ผู้ที่ทรงขอบใจนั้นเป็นพระราชวงศ์จึงใช้
“ขอบพระทัย”ได้๖. เมื่อกล่าวถึงการแสดงใด ๆ ถวายทอดพระเนตร มักจะใช้ว่า “แสดงหน้าพระพักตร์” หรือ “แสดงหน้าพระที่นั่ง” ซึ่งผิด ต้องใช้ว่า “แสดงเฉพาะพระพักตร์” หรือ “แสดงหน้าที่นั่ง”
๗. ถ้ามีผู้ถวายสิ่งของ เช่น หมวก ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ ขณะที่ถวายนั้นต้องใช้คำสามัญจะใช้คำราชาศัพท์มิได้
เพราะสิ่งของนั้นยังมิได้เป็นของพระองค์ท่าน เช่น
- เจ้าของร้านทูลเกล้าฯ ถวายหมวกแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี
- ผู้แทนนักศึกษาทูลเกล้าฯ ถวายผ้าเช็ดหน้าแด่สมเด็จพระเทพฯ
๘. หมายกำหนดการ หมายถึง หมายรับคำสั่งที่ทางสำนักพระราชวังแจ้งกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปยัง
หน่วยราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ใช้เฉพาะกับงานพระราชพิธีเท่านั้น ถ้าเป็นกิจการทั่วๆไปของ
สามัญชนใช้ว่า กำหนดการ เช่น กำหนดการเดินทาง กำหนดการสัมมนา เป็นต้น
๙. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
คำที่เรียกพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินมีหลายคำ ปัจจุบันใช่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ถ้าได้
สำเร็จราชการแผ่นดินก็เป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ที่ใส่ “ ฯ ” ไว้ท้ายคำ “สมเด็จพระนางเจ้า” นั้นเพื่อให้ทราบว่าละพระนามไว้ ถ้าออกพระนามเต็มก็วางไว้
แทนที่ “ ฯ ” เช่น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ถ้าเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์ประเทศอื่นให้เรียก สมเด็จพระราชินี
ถ้าประเทศใดมีสตรีเป็นกษัตริย์ให้ใช้ว่า “สมเด็จพระราชินีนาถ”
๑๐. พระบรมสาทิสลักษณ์ หรือ พระบรมฉายาทิสลักษณ์ คือ ภาพเหมือนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง เป็นภาพวาดมิใช่ภาพถ่าย ถ้าภาพถ่ายใช้ พระบรมฉายาลักษณ์