User Info
Welcome,
Guest
. Please
login
or
register
.
01 November 2024, 09:34:29
1 Hour
1 Day
1 Week
1 Month
Forever
Login with username, password and session length
Search:
Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ
http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,368
Posts in
12,805
Topics by
70
Members
Latest Member:
KAN
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
|
เรื่องราวน่าอ่าน
|
หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง
|
[2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
0 Members and 1 Guest are viewing this topic.
« previous
next »
Pages:
[
1
]
Author
Topic: [2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก (Read 530 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,210
[2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
«
on:
19 December 2021, 10:30:07 »
[2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
https://www.samkok911.com/p/the-main-characters-in-three-kingdoms.html
ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก : ลักษณะ นิสัย ตัวละครสามก๊ก
รวมรูปภาพ ประวัติย่อ ลักษณะ นิสัย ของ ตัวละครสามก๊ก โดยคัดมาเฉพาะตัวละครที่สำคัญ ซึ่งภาพของตัวละครนำมาจากเกมสามก๊ก Romance of the Three Kingdoms ส่วนประวัติย่อคัดมาจากหนังสือพิชัยสงครามสามก๊ก ของ สังข์ พัธโนทัย
ลักษณะ นิสัย ตัวละครสามก๊ก
โจโฉ (Cao Cao 曹操)
เล่าปี่ (Liu Bei 刘备)
ซุนกวน (Sun Quan 孙权)
กวนอู (Guan Yu 关羽)
เตียวหุย (Zhang Fei 张飞)
ขงเบ้ง (จูกัดเหลียง Zhuge Liang 诸葛亮)
สุมาอี้ (Sima Yi 司马懿)
จูล่ง (Zhao Yun 赵云)
กำฮูหยิน (Lady Gan 甘氏)
กุยแก (Guo Jia 郭嘉)
เคาทู (Xu Zhu 许褚)
งักจิ้น (Yue Jin 乐进)
จิวยี่ (Zhou Yu 周瑜)
โจผี (Cao Pi 曹丕)
ซิหลง (Xu Huang 徐晃)
ตั๋งโต๊ะ (Dong Zhuo 董卓)
เตียวเลี้ยว (Zhang Liao 张辽)
เทียหยก (Cheng Yu 程昱)
บิฮูหยิน (Lady Mi 糜氏)
มอกาย (Mao Jie 毛玠)
ม้าเท้ง (Ma Teng 馬騰)
ลิเตียน (Li Dian 李典)
ลิโป้ (Lü Bu 吕布)
อ้วนถำ (Yuan Tan 袁谭)
อ้วนเสี้ยว (Yuan Shao 袁绍)
อิกิ๋ม (Yu Jin 于禁)
แฮหัวตุ้น (Xiahou Dun 夏侯恩)
แฮหัวเอี๋ยน (Xiahou Yuan 夏侯渊)
......................................................
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,210
Re: [2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
«
Reply #1 on:
19 December 2021, 10:31:29 »
โจโฉ (Cao Cao 曹操)
โจโฉ เป็นชาวตำบลเจี้ยวจวิ้น เมืองเพ่ยโก้วะ (ตำบลเจียวก๋วน เมืองไพก็ก) มณฑลเจียงซู มีชื่อรองว่า เหมิ่งเต๋อ
เดิมแซ่แฮหัว (เสี้ยโหว) แต่เนื่องจากโจโก๋ผู้บิดา เป็นลูกเลี้ยงของเฉาเถิง ขุนนางตำแหน่งจงฉางซื้อ จึงเปลี่ยนแซ่เป็นเฉา (โจ) ด้วย
สูง 7 ฟุต คิ้วเล็ก หนวดยาว มีไหวพริบดีเลิศ ชอบสุรานารี ชำนาญในพิชัยสงคราม มีสติปัญญาสูงกว่าคนธรรมดา มีความรู้ทางอักษรศาสตร์ เคยแต่งตำราพิชัยสงครางเล่มหนึ่งชื่อว่า เหมิ่งเต๋อชินชู แต่ถูกสบประมาทจากเตียงสงว่า ลอกขี้ปากคนโบราณมาก็สั่งให้ทำลายตำรานั้นเสีย
ในสามก๊กไทย โจโฉดำรงตำแหน่งมหาอุปราช ในสามก๊กจีน โจโฉดำรงตำแหน่ง ไจเสี่ยง ซึ่งสามก๊กอังกฤษแปลว่า Prime Minister (สมุหนายก)
สามารถควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้ไว้ในอำนาจอย่างเด็ดขาด พระเจ้าเหี้ยนเต้พยายามกู้พระราชอำนาจ 2 ครั้ง ก็ถูกโจโฉจับได้ทุกที และลงโทษผู้ร่วมคบคิดอย่างรุนแรงที่สุด ถึงกับจับพระมเหสีไปฆ่า และยกลูกสาวของตนให้เป็นพระมเหสีแทน
เป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในแผ่นดิน สามารถปราบเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆได้เกือบหมด เหลือเพี่ยงง่อก๊กของซุนกวน กับจกก๊กของเล่าปี่เท่านั้น
ทำทีจะตั้งตัวขึ้นมาเป็นกษัตริย์ จึงสถาปนาตัวขึ้นเป็น จิ้นอุ้ยอ๋อง (วุยอ๋อง) ประกอบด้วยเครื่องราชอิสริยยศทั้ง 9
เป็นโรคเส้นประสาทอย่างแรง ปวดศรีษะจนกระทั้งตาย เป็นการตายอย่างทรมานที่สุด สิ้นชีพที่เมืองลกเอี๋ยงอายุ 66 ปี ศพฝังที่เกาหลิง มณฑลส่านซี
เมื่อโจผีผู้บุตร แย่งราชสมบัติได้จากพระเจ้าเหี้ยนเต้ ตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ได้สถาปนาโจโฉผู้ตายขึ้นเป็น อู่หวงตี้ (จักรพรรดิ) ปฐมบรมกษัตริย์ราชวงค์วุย
ภรรยาเดิมแซ่ติ้ง ไม่มีบุตรต่อกัน ภรรยาคนที่สอง ชื่อเล่าซี มีบุตรชายคนนึงชื่อโจงั่ง ตายในการรบเมืองอ้วนเซีย ภรรยาคนที่สามชื่อเปียนซี มีบุตรชาย 4 คนชื่อ โจผี โจเจียง โจสิด และโจหิม นางเปียนซีเป็นที่รักของโจโฉมาก และได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นภรรยาหลวง
-------------------------------------------------
เล่าปี่ (Liu Bei 刘备)
เล่าปี่ เป็นเชื้อพระวงค์ฮั่น สืบสกุลจากเล่าเส็ง(หลิวเสิ้ง) ผู้เป็นอ๋องครองเมืองจงซาน บิดาชื่อเล่าเหง (หลิวเจิ้ง) มีบรรดาศักดิ์เป็นโหว (พระยา) ครองเมืองตุ้นกวน (จวอเสี้ยน) มณฑลเหอเป่ย ขาดส่งเครื่องราชบรรณาการเซ่นบรรพบุรุษ จึงถูกปลดออกจากราชการ
(เครื่องราชบรรณาการที่กล่าวนั้นเรียกว่า จ้อโฉว เป็นเงินที่ขุนนางต้องหามาถวายกษัตริย์เป็นประจำปี ตามความสำคัญของตำแหน่ง ถ้าหามาถวายไม่ได้ ก็ถูกปลดฐานหย่อนความสามารถ)
เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้ว เล่าปี่อยู่กับมารดาที่หมู่บ้านเล่าซองฉุน (โหวงซางชุน) เมืองตุ้นกวน ทอเสื่อและสานรองเท้าขายเลี้ยงชีวิต
สูง 8 ฟุต หูยาน มือยาวเลยเข่า ตาชำเลืองเห็นถึงหู หน้าขาวราวหยก ริมฝีปากแดงดั่งทาชาด ใจคอกว้างขวาง สุภาพเรียบร้อย เยือกเย็น มีความกตัญญู พูดน้อย ยิ้มน้อย ดีใจหรือเสียใจไม่แสดงออกให้ปรากฏ มีชื่อรองว่า เสียนเต๋อะ แปลว่า ผู้มีคุณธรรมอันประเสริฐ
ชำนาญในการใช้กระบี่ เหน็บกระบี่คู่ติดตัวเสมอ สาบานเป็นพี่น้องกับกวนอูและเตียวหุย พยายามสร้างตัวขึ้นจนกระทั้งได้ครองแคว้นจกก๊ก (เสฉวน ) เมื่อโจผีล้มราชวงค์ฮั่น ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ เล่าปี่ก็ตั้งตัวเป็นกษัติรย์ราชวงศ์ฮั่นสืบต่อไป ทางประวัติศาสตร์เรียกพระนามว่า เซียนจู่ (สามก๊กไทยเรียก เจี๋ยงบู๊) ต่อมาได้ยกทัพไปปราบง่อก๊กแก้แค้นแทนกวนอู แต่พ่ายแพ้ยับเยิน ประชวรสิ้นพระชนม์ที่เมืองเป็กเต้เสีย (ไป๋ตี้เฉิง) มณฑลเสฉวน พระศพฝังไว้ที่เมืองฮุ้ยหลิง ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าเล่ย์หวงตี้ (จักรพรรดิ)
-------------------------------------------------
ซุนกวน (Sun Quan 孙权)
ซุนกวน ผู้เป็นบุตรของซุนเกี๋ยน เป็นน้องชายของซุนเซ็ก เกิดจากนางง่อฮูหยิน มารดาเดียวกัน มีชื่อรองว่า จงโหมว
คางสี่เหลี่ยม ปากใหญ่ ตาสีเขียว หนวดสีน้ำตาล สติปัญญาดี จิตใจดี รักความเป็นธรรม มีความรู้กว้างขวางทั้งวิชาทหารและการปกครอง
ได้ครองอำนาจในแว่นแคว้นกังตั๋งสืบต่อจากซุนเซ็กพี่ชาย อายุน้อยกว่า โจโฉ กับ เล่าปี่มาก อาศัยความรุ่งเรืองของการค้าขายติดแม่น้ำ สร้างความแข็งแกร่ง ให้กับก๊กตัวเอง ได้ใช้ชื่อว่า ง่อก๊ก ได้ร่วมกับเล่าปี ขงเบ้ง โจมตีทัพเรือโจโฉแตกที่เซ็กเพ็ก (ชื้อปี้) ซึ่งเป็นประวัติการณ์ที่สำคัญยิ่งและทำให้แคว้นกังตั๋งเข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้นเป็นอันมาก ภายหลังพระเจ้าโจผีทรงแต่งตั้งเป็นเงาอ๋อง เพื่อกีดกันมิให้กังตั๋งร่วมเป็นพันธมิตรกับเล่าปี
ซุนกวนดำรงตำแหน่งเป็นเงาอ๋องอยู่ 7 ปี จึงตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ณ เมืองเกี๋ยนเงียบ (นานกิง) เมื่อปี พ.ศ. 772 (ค.ศ. 229) ครองราชย์สมบัติอยู่ 24 ปี จึงสิ้นพระชนม์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น ต้าหวงตี้ (มหาจักรพรรดิ)
-------------------------------------------------
กวนอู (Guan Yu 关羽)
กวนอู เป็นชาวตำบลเจ่ย์เหลียง (ไก่เหลียง) เมืองเหอตง (ฮอตั๋ง) มีชื่อรองว่า หวินฉาง (หุนเตี๋ยง)
สูง 9 ฟุต หนวดยาว 2 ฟุต ใบหน้าเหมือนผลพุทรา ริมฝีปากแดงเหมือนทาชาด ตาดั่งนกหงส์ คิ้วดั่งตัวหนอนไหม เป็นคนไว้ตัวต่อคนที่สูงศักดิ์ แต่ถ่อมตัวต่อคนที่ต่ำศักดิ์ สู้กับคนที่เก่งกว่า ไม่รังแกคนที่อ่อนแอกว่า รู้คุณคน เจ็บแล้วจำจนตาย มีศีลมีสัตย์ รู้การทหาร ชำนาญในการใช้ง่าวเป็นอาวุธ ชอบอ่านประวัติศาสตร์ชุนชิว (คือประวัติศาสตร์ตอนราชวงค์โจววุ่นวายแตกแยกกันภายใน)
เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับเล่าปี่ เตียวหุย ช่วยกันตั้งตัวเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่ทอดทิ้งกัน มีชื่อเสียงมากตอนหักด่านทั้ง 5 หนีโจโฉ และฆ่าทหารเอกของโจโฉเสีย 6 คน คือ ขงสิ้ว เบงทัน ฮันฮก เปี๋ยนฮี ออกเซ็ก จินกี๋
เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของขงเบ้ง ได้เป็นผู้ครองแคว้นเกงจิ๋ว ภายหลังถูกอุบายของลิบอง แม่ทัพง่อก๊ก ยึดเกงจิ๋วไป และถูกจับตัวได้ที่ช่องเขาเจาสัน นอกเมื่องเป๊กเสีย (ไหมเฉิง) มณฑลหูเป่ย เนื่องจากไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อซุนกวน จึงถูกประหารชีวิต
ตายแล้วได้รับบรรดาศักดิ์เป็น จงอี้โหว (ขุนนางชั้นพระยา) ศึรษะของกวนอู ซุนกวนส่งไปให้โจโฉ เพื่อป้ายความรับผิดชอบให้พ้นตัว โจโฉให้ฝังไว้ที่ริมประตูเมืองลกเอี๋ยงด้านทักษิณ
-------------------------------------------------
เตียวหุย (Zhang Fei 张飞)
เตียวหุย เป็นชาวเมืองตุ้นกวน (จวอเสี้ยน) มณฑลเหอเป่ย มีชื่อรองว่า จี้เต๋อ (สามก๊กไทยเรียก เอ๊กเต๊ก)
ร่างสูง 8 ฟุต ศรีษะคล้ายเสือดาว ตากลมใหญ่ คางนกนางแอ่น หนวดเสื่อโคร่ง เสียงดังฟ้าลั่น มีกำลังวังชาราวม้าห้อตะบึง จิตใจรุนแรงราวไฟ มีศีลสัตย์หนักแน่นราวภูเขา เคารพผู้มีคุณธรรม เมตตาต่อผู้ยาก มีอาชีพขายสุราและฆ่าหมูขาย ถือทวนยาว 10 ฟุตเศษเป็นอาวุธ
สาบานเป็นพี่น้องกับเล่าปี่ และกวนอู แล้วออกศึกร่วมกัน เพื่อสร้างตัวสร้างชาติ เริ่มแต่ปราบพวกโจนโพกผ้าเหลือง จนในที่สุดสามารถตั้งตัวขึ้นได้ที่แคว้นเสฉวน และเตียวหุยได้กินเมืองลองจิ๋ว (ปาซี) ครั้นกวนอูถูกซุนกวนฆ่าตาย พระเจ้าเล่าปี่โกรธ ยกทัพไปรุกซุนกวน เตียวหุยยกตามไปด้วย เตียวหุยเร่งรัดทหารเกินไป ตกกลางคือ ฮอมเกียงกับเตียวตัดนายทหารในบังคับบัญชา เห็นเตียวหุยเมาเหล้าหลับอยู่ก็เข้าไปแทงตาย แล้วตัดศีรษะนำไปสวามิภักดิ์ต่อซุนกวน
เตียวหุยตายเมืออายุ 50 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หวนโหว (พระยา)
-------------------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,210
Re: [2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
«
Reply #2 on:
19 December 2021, 10:33:15 »
ขงเบ้ง (จูกัดเหลียง Zhuge Liang 诸葛亮)
ขงเบ้ง เป็นชาวตำบลหยังตู เมืองหลังเอ๋ย์มณฑลซานตุง มีชื่อรองว่า ข่งหมิง (ขงเบ้ง) เป็นผู้สืบสกุลจากจูเก๋อฟง ผู้มียศเป็นซือลี้เจี้ยวอุ้ย ในราชวงค์หั้น
สูง 8 ฟุต หน้าขาวนวลเหมือนหยกน้ำหนึ่ง โพกผ้ามีไหมห้อยระย้า ถือพัดขนนกเป็นนิจ
เป็นผู้รักความยุติธรรม ซื่อตรง เปิดเผย รักความสงบ และความสันโดษ มีความรู้ความสามารถอย่างยอดเยี่ยม ชำนาญในพิชัยสงครามราวเทวดา
เบื่อความวุ่นวายในประเทศ จึงหลบไปทำไร่ไถนาอยู่ที่เมืองหนานหยัง (ลำหยง) ณ เขาโงลังกั๋ง ชาวบ้านขนานนามว่า อาจารย์ฮกหลง (มังกรซ่อนกาย) เล่าปี่รู้ข่าวจากซีซี อุตส่าห์ไปหาถึงสามครั้งสามหน ขอเชิญตัวมาช่วยกู้แผ่นดิน จึงยอมลงมาช่วยเล่าปี่
ดำรงตำแหน่งไจเสี่ยง (สมุหนายก) ของพระเจ้าเล่าปี่ และพระเจ้าเล่าเสี้ยนแห่งจกก๊ก คำพูด คำสอน หนังสือ และคำกราบบังคมทูลมีจำนวนมากมาย มีผู้รวบรวมเป็นชุด จำนวน 24 เล่ม
ออกศึก ณ บริเวณเขากิสาน (ฉีซาน) ถึง 6 ครั้ง เพื่อปราบวุยก๊ก แต่มีอุปสรรค ถึงแก่กรรมในสนามรบ ที่อู้จ้าง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเม่ยอู่ มณฑลส่านซี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น อู่เซียงโหว (พระยา) ตายแล้วได้เลื่อนเป็น จงอูโหว
-------------------------------------------------
สุมาอี้ (Sima Yi 司马懿)
สุมาอี้ เป็นชาวอำเภออุน เมืองเหอเน่ย (โห้ลาย) มณฑลเหอหนาน มีฉายาว่า ชงต๋า
มีบุคลิกลักษณแปลกกว่าคนธรรมดา แววตาคมราวเหยี่ยว ท่าทางราวสุนัขจิ้งจอก เป็นคนฉลาดเฉียบแหลม ชำนาญพิชัยสงคราม เป็นคู่ปรับที่ร้ายแรงที่สุดของขงเบ้ง ทำให้ขงเบ้งไม่อาจเข้ายึดวุยก๊กได้ ทั้งๆที่ได้ใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัส บางครั้งก็เกือบจะถูกสุมาอี้จับตัวได้
มีบุตรสองคน คือสุมาสูกับสุมาเจียว ตำแหน่งสุดท้ายของสุมาอี้ คือเซงเสี่ยง (ฉบับอังกฤษแปลว่า Prime Minister คือ สมุหนายก) กับได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 9 ซึ่งเรียกว่า จิ่วซิ ( สามก๊กภาษาอังกฤษแปลว่า Nine Gifts )
สุมาอี้สิ้นชีพที่เมืองลกเอี๋ยง หลานชายแย่งราชบัลลังก์ได้จากพระเจ้าโจฮวน ตั้งตัวเป็นกษัตริย์แล้ว ได้สถาปนาสุมาอี้ขึ้นเป็นเซวียนตี้ จักรพรรดิ)
-------------------------------------------------
จูล่ง (Zhao Yun 赵云)
จูล่ง เป็นชาวตำบลเจิงติ้ง เมืองฉางซัน (เสียงสัน) มณฑลเหอเป่ย มีชื่อรองว่า จื่อหลง (จูล่ง)
สูง 8 ฟุต คิ้วดก ตาโต หน้าผากกว้างโหนก เป็นคนซื่อ สุภาพเรียบร้อย กล้าหาญอย่างน่าอัศจรรย์ ชำนาญในการใช้ทวนเป็นอาวุธ
เดิมอยู่กับอ้วนเสี้ยว เห็นอ้วนเสี้ยวไม่มีสัตย์ จึงไปอยู่กับกองซุนจ้าน แล้วชอบพอรักใคร่เล่าปี่ผู้เป็นมิตรของกองซุนจ้าน ครั้งกองซุนจ้านถูกอ้วนเสี้ยวฆ่าตาย จูล่งจึงไปอยู่กับเล่าปี่
ทำการรบมีความชอบมากมาย การรบที่ทำให้จูล่งมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือ การรบที่เตียงปั่นเกี้ยว (ฉางปั่นเฉียว) นอกเมืองตงหยง (ตังหยัง) มณฑลหูเป่ย ซึ่งจูล่งแสดงความกล้าหาญ พาอาเต๊า บุตรเล่าปี่แหวกวงล้อมของโจโฉหนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด
เป็นผู้ตีเมืองฮุยเอี๋ยน (กุ้ยหยัง) มณฑลหูหนาน ได้ด้วยกำลังทหารสามพัน เตียวหอมเจ้าเมืองจะยกนางฮวนซี พี่สะใภ้ให้เป็นภรรยาก็ไม่รับ อ้างว่าเล่าปี่ยังตั้งตัวไม่ได้ จึงไม่ขอมีภรรยา
เป็นผู้ชิงตัวอาเต๊าจากนางซุนฮูหยินคืนมาได้ ขณะที่นางซุนฮูหยินถูกซุนกวนลวงให้กลับกังตั๋ง อ้างว่ามารดาเจ็บหนัก
เป็นกำลังสำคัญของขงเบ้งในการปราบเบ้งเฮก เบ้งฮิว ในมณฑลยูนาน พระเจ้าเล่าปี่ตั้งให้เป็น 1 ใน 5 ทหารเสือ เมื่อตาย ขงเบ้งร้องไห้จนสลบ บอกว่าแขนซ้ายพระเจ้าเล่าเสี้ยนขาดแล้ว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ซุ้นผิงโหว (พระยา)
-------------------------------------------------
กำฮูหยิน (Lady Gan 甘氏)
กำฮูหยิน เป็นชาวเมืองไพก๊ก มณฑลเจียงซู เป็นภรรยาหลวงของเล่าปี่ ให้กำเนิดอาเต๋า (ซึ่งต่อมาเป็นพระเจ้าเล่าเสี้ยน) ที่เมืองซินเอี๋ย ถึงแก่กรรมที่เมืองเกงจิ๋ว หลังจากเล่าปี่ยึดแคว้นนั้นไว้ได้
เมื่ออาเต๋าเป็นกษัตริย์แล้ว ได้สถาปนาราชอิสริยยศให้เป็น เจ้าเล้ว์หวงโฮ้ว(ตำแหน่งฮองเฮา)
พระศพฝังไว้ที่ลำกุ๋น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 765 ( ค.ศ. 222 ) ได้ย้ายพระศพไปฝังไว้ที่แคว้นจก(เสฉวน)
-------------------------------------------------
กุยแก (Guo Jia 郭嘉)
กุยแก เป็นชาวตำบลหยังตี๋ หรือหยังจ่าย เมืองอิ่งชวน มณฑลเหอหนาน มีชื่อรองว่า ฟ้งเสี้ยว
เป็นที่ปรึกษาของโจโฉที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่สมัยโจโฉตั้งตัวใหม่ๆ มีตำแหน่งเป็นเจิ้นตงเจียง (นายทหารพิทักษ์ภาคตะวันออก)
เป็นผู้แนะนำให้โจโฉโจมตีทำลายอ้วนเสี้ยวผู้ครองแคว้นกิจิ๋ว ทั้งๆที่โจโฉกำลังน้อยกว่า เพราะเห็นว่าคนอย่างอ้วนเสี้ยวเลี้ยงคนไม่เป็น มีทหารมากก็เหมือนมีน้อย
เมื่อโจโฉยกทัพไปตีแคว้นกิจิ๋วตามคำแนะนำของกุยแก ก็ประสบชัยชนะอย่างงดงามแต่กุยแกซึ่งไปด้วยป่วยตายกลางทาง ก่อนตายได้เขียนจดหมายแนะนำโจโฉว่า อ้วนฮี อ้วนซง บุตรอ้วนเสี้ยวที่หนีไปพึ่งกองซุนของในเลียวตังนั้น ขอให้โจโฉอย่ายกทัพไปตีเลียวตังเพราะกองซุนของคงจะตัดศีรษะอ้วนฮี และอ้วนซงส่งมาเอง ซึ่งการณ์ก็เป็นไปเช่นนั้นจริงๆ
เข้ารับข้าราชการอยู่กับโจโฉตั้งแต่อายุ 27 ปี เป็นเวลา 11 ปี ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 38 ปี ศพฝังที่ราชธานีฮูโต๋ มีตำแหน่งราชการเป็นจวินจี้จิ่ว ตายแล้วได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจินโหว (ขุนนางชั้นพระยา)
-------------------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,210
Re: [2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
«
Reply #3 on:
19 December 2021, 21:00:59 »
เคาทู (Xu Zhu 许褚)
เคาทู เป็นชาวอำเภอเจียว ในเมืองเจี้ยวโก้วะ (เจียวก๊ก) มณฑลอันฮุย มีชื่อรองว่า จังคัง
เมื่อโจรโพกผ้าเหลืองก่อการกำเริบขึ้น ได้พาครอบครัวและสมัครพรรคพวกประมาณ 500 คน ไปอยู่ถ้ำที่เอ๊กจิ๋ว ต่อมาโจโฉยกทัพมาปราบคณะโพกผ้าเหลือง ได้พบกับเคาทู เคาทูรบกับเตียนอุย ทหารเอกโจโฉ ไม่แพ้ไม่ชนะกัน โจโฉชอบใจเกลี้ยกล่อมเอามาทำราชการ ตั้งให้เป็นตำแหน่งโตวเว่ย (สามก๊กไทยเรียกว่า โตอุ้ย และ แปลว่า นายทหารเอก ที่จริงตำแหน่งนี้เป็นนายทหารองครักษ์)
เคาทูเป็นคนซื่อสัตย์ และเคร่งครัดต่อหน้าที่ วันหนึ่งถือทวนรักษาหน้าห้องนอนของโจโฉ โจหยินน้องชายโจโฉจะเข้าหาโจโฉในห้อง เคาทูไม่ยอมให้เข้า โจหยินโกรธ เกิดวิวาทกับเคาทู ได้ยินถึงโจโฉ ก็สรรเสริญว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง
เป็นคนมีกำลังมาก เคยดึงหางโคคู่หนึ่ง ลากกลับถ้ำโดยง่าย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นจิ้นอุยเจียงจวิน (นายพล)
-------------------------------------------------
งักจิ้น (Yue Jin 乐进)
งักจิ้น เป็นชาวเมืองหยังผิง ในเขตอุ้ยโก้วะ มีฉายาว่า อุ๋ยเชียน รูปร่างเล็ก เตี้ย แต่จิตใจห้าวหาญเข็มแข็ง ความคิดดี รอบคอบ
รับราชการเป็นทหารอยู่ในบังคับบัญชาของโจโฉ เป็นที่เชื่อถือของโจโฉยิ่งนัก ออกรบแนวหน้าหลายครั้ง มีความชอบได้เลือนยศเป็นเจ๋อชงเจียงจวิน (นายพล) ป่วยตาย แล้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น อุยโหว (พระยา)
-------------------------------------------------
จิวยี่ (Zhou Yu 周瑜)
จิวยี่ เป็นชาวเมืองอำเภอซู เมืองหลูเจียง (โลกั๋ ) มณฑลอันฮุย มีชื่อรองว่า กงจิน
รูปร่างสง่างาม จิตใจกว้างขวาง มีความรู้ความสามารถทางทหาร ชำนาญการดนตรี และติดจะเจ้าชู้ ภรรยาชื่อเสียวเกี้ยว เป็นบุตรคนที่สองของเฉียวกง
ชอบพอกับซุนเซ็ก เรียกซุนเซ็กว่าพี่ ร่วมมือกันสร้างอำนาจในกังตั๋งเป็นผลสำเร็จจึงได้เป็นเจี้ยนอุยจงหลังเจี้ยง (นายทหารองครักษ์) บัญชาการทหารอยู่ที่ด่านปาขิว ในมณฑลเจียงสี
เมื่อซุนเซ็กตายแล้ว ได้ร่วมมือกับซุนกวนสร้างอำนาจต่อไป จนสามารถตีทัพเรือโจโฉที่เซ็กเพ็ก (ชื้อปี้) ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังยิ่ง
ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 36 ปี ที่ด่านปาขิว
ความในหนังสือสามก๊กว่า ขงเบ้งลวงจิวยี่ให้โกรธแค้นอย่างถึงขนาดถึง 3 ครั้งและตายด้วยความแค้นนั้น “จิวยี่คิดแค้นในใจนัก จึงแหงนหน้าขึ้นดูฟ้าแล้วร้องว่า เทพยดาองค์ใดหนอซึ่งให้เราเกิดมา แล้วเหตุใดจึงให้ขงเบ้งเกิดมาด้วยเล่า” แต่เรื่องเหล่านี้ไม่มีปรากฏในพระราชพงศาวดารจีน เป็นเรื่องแต่งขึ้นเพิ่มเติม
-------------------------------------------------
โจผี (Cao Pi 曹丕)
โจผี เป็นบุตรชายคนโตของโจโฉ เกิดจากนางเปียนซี มีชื่อรองว่า จื่อหวน เกิด ณ เจี้ยวจวิ้น แห่งเดียวกับโจโฉ
เป็นคนทีไหวพริบดีอย่างพ่อ มีหัวเป็นกวี มีความรู้ทางด้านอักษรศาสตร์ ชำนาญในการขี้นม้ายิงเกาทัณฑ์และการใช้กระบี่ เป็นแม่กองร่วมกับโจสิดจัดสร้างปราสาทตั้งเซ็กไต๋ (ข่งเช่ไถ) ริมแม้น้ำเจียงโห ตามคำสั่งโจโฉ
ออกศึกตั้งแต่อายุ 18 ปีเมื่อโจโฉยึดกิจิ๋วได้จากอ้วนเสี้ยว โจผีเห็นนางเอียนซี ภรรยาอ้วนฮี (บุตรอ้วนเสี้ยว) รูปงามยิ่งนัก ก็เอาไว้เป็นภรรยา
เมื่อโจโฉสิ้นชีพแล้ว โจผีครองอำนาจในราชธานีสืบไป และได้โค้นล้มราชวงค์หั้นตั้งตัวเป็นกษัตริย์ราชวงค์วุย เมื่อปี 763 (ค.ศ. 220) ตั้งฮูโต๋เป็นราชธานีก่อนแล้วย้ายไปลกเอี้ยง
โจผีครองราชสมบัติได้ 7 ปี จึงสิ้นพระชนม์เมื่ออายุ 40 ปี แล้วได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอุ๋นหวงตี้ ( จักรพรรดิ ) พระศพฝังที่หยังหลิง มณฑลส่านซี
-------------------------------------------------
ซิหลง (Xu Huang 徐晃)
ซิหลง เป็นชาวเมืองตำบลหยังจวิ้น เมืองเหอตง มณฑลซานสี มีฉายาว่า กงหมิง
เป็นนักรบที่เข้มแข็งกล้าหาญ ซื่อตรง ชำนาญในการใช้ขวานใหญ่เป็นอาวุธ เดิมเป็นทหารอยู่ในบังคับบัญชาของเอียวฮอง ซึ่งตีจากลิฉูย กุยกีมาช่วยพระเจ้าเหี้ยนเต้คืนกลับพระนครลกเอี๋ยง โจโฉเห็นเป็นคนเก่ง ก็ให้หมันทองไปเกลี้ยกล่อมเอาตัวมาเป็นพวก และขอให้ตัดศรีษะเอียวฮองมากำนัลด้วย ซิหลงยอมเข้าด้วยกับโจโฉ แต่ไม่ยอมทำร้ายเอียวฮองผู้เป็นนายเก่า โจโฉตั้งให้ซิหลงเป็นเจี้ยวอุ้ย (นายพัน) ก่อน
ซิหลงก็ได้ออกศึกในบังคัญบัญชาของโจโฉหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ การรบกับกวนอูที่เมืองอ้วนเซีย(หวั่นเฉิง) ความในสามก๊กว่า “กวนอูขี่ม้า ถือง้าวเข้ารบกับซิหลงได้ประมาณแปดสิบเพลง กวนอูชำนาญในขบวนรบหามีผู้ใดเปรียบมิได้ แต่ทว่าปวดไหล่ทั้งกำลังน้อย ซิหลงจึงต้านทานได้ ฝ่ายกวนเป๋งเห็นว่าบิดาป่วยอยู่ เกลือกจะสู้ซิหลงมิได้ จึงตีม้าล่อสำคัญให้ถอย”
ชัยชนะครั้งนั้น ทำให้ซิหลงได้เลือนยศขึ้นเป็น อิ้วเจียงจวิน ( นายพลฝ่ายขวา ) เมื่อสุมาอี้ยกทัพไปปราบเบ้งตัดที่เมืองซงหยง ซิหลงเป็นกองทัพหน้าควบม้าพาทหารเข้าไปถึงคูเมือง ถูกทหารของเบ้งตัดระดมยิงด้วยเกาทัณฑ์ ถูกหน้าผากซิหลง พอกลับมาถึงค่ายก็สิ้นใจ
ซิหลงตายเมื่ออายุ 59 ปี ศพฝังไว้ที่เมืองลกเอี๋ยง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จ้วงโหว ( พระยา )
-------------------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,210
Re: [2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
«
Reply #4 on:
19 December 2021, 21:03:22 »
ตั๋งโต๊ะ (Dong Zhuo 董卓)
ตั๋งโต๊ะ เป็นชาวอำเภอหลินเถา เมืองหลงซี (หลงเส) มณฑลกานซุ มีชื่อรองว่า จ้งอิ่ง
รูปร่างล่ำสันใหญ่โต มีกำลังบ่าเหนือคนอื่น ชำนาญการขี่ม้ายิงเกาทัณฑ์ ใจคอเหี้ยมเกรียม มักมากในกามารมณ์
บิดาเป็นนายอำเภอหลินเถา เมื่อเกิดการกำเริบของโจรโพกผ้าเหลือง ตั้งโต๊ะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการปราบปราม แต่ทำการไม่สำเร็จ ต้องติดสินบนขันทีทั้ง 10 จึงรอดจากพระราชอาญา ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารประจำดินแดนภาคตะวันตก ณ เมืองซีหลง (คือหลงซี) ต่อมาโฮจิ๋นพี่นางโฮเฮา เรียกเข้ามาช่วยระงับความวุ่นวายในราชธานีลกเอี๋ยง ตั๋งโต๊ะเลยยึดอำนาจในเมืองหลวง ถอดหองจูเปียนออกจากราชบัลลังก์ ตั้งหองจูเหียบเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ ภายหลังเลยหาเหตุฆ่าหองจูเปียนกันโฮเฮา ราชมารดาเสียเลย
แล้วแต่งตั้งตัวเป็นเซียงก๊ก (สมุหนายก) ครองอำนาจเหนือพระเจ้าเหี้ยนเต้ อ้วนเสี้ยวกับโจโฉและหัวเมืองต่างๆจึงยกทัพมาปราบ ตั๋งโต๊ะสู้ไม่ได้เผาเมืองลกเอี๋ยงเสีย แล้วย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองเตียงฮัน มณฑลส่านซี
อ้องอุ้นขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งภักดีกษัตริย์จึงวางอุบาย ส่งเตียวเสี้ยนสาวสวยเป็นนกต่อเข้าไปยุให้ตั๋งโต๊ะแตกคอกับลิโป้ทหารเอก ลิโป้จึงฆ่าตั๋งโต๊ะตาย เอาศพตระเวนรอบเมือง แล้วเอาประจานไว้ที่ทางสามแพร่ง ฟั่นชุดใส่สะดือ เอาไฟจุดตามต่างตะเกียง ภายหลังมีผู้ภักดีเอาศพไปฝังที่เมืองเม่ยอู่ แต่ก็ถูกฟ้าผ่า พายุพัดฝนตกหนัก ทำลายกระดูกหมดสิ้นไป
-------------------------------------------------
เตียวเลี้ยว (Zhang Liao 张辽)
เตียวเลี้ยว เป็นชาวตำบลหม่าอี้ เมืองเอี้ยนเหมิน มณฑลซานสี มีชื่อรองว่า อุ๋นเหวี่ยน
เดิมแซ่เน้ย์ แต่เพื่อหลบหลีกศัตรู จึงเปลี่ยนเป็นแซ่เตียว เป็นนักรบผู้มีฝีมือยอดเยี่ยม ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ชำนาญในพิชัยสงคราม ซื่อตรง
เข้าเป็นทหารของลิโป้ก่อน เมื่อลิโป้ถูกโจโฉประหารชีวิตแล้ว โจโฉเกลี้ยกล่อมเตียวเลี้ยวไว้เป็นพวก เตียวเลี้ยวก็ตกลง จึงได้รับยศทหารเป็นจงหลังเจี้ยง (นายทหารองครักษ์) ทำการรบมีชื่อเสียงโด่งดังโดยรวดเร็ว เป็นที่ครั่นคร้านของฝ่ายตรงข้ามมาก โจโฉจึงให้ครองเมืองหับป๋า (เหอเฟย) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญต่อกับกังตั๋ง ซุนกวนยกทหารสิบหมื่นมาโจมตี เตียวเลี้ยววางแผนยุทธศาสตร์อย่างแนบเนียน นำทหารแปดร้อยโจมตีซุนกวนแตกยับเยินที่สะพานเสียวเกียว ครั้งนั้น “ทหารเลวเมืองกังตั๋งกลัวฝีมือเตียวเลี้ยวมาก ถ้าเด็กร้องไห้มีผู้ขู่ออกชื่อเตียวเลี้ยว เด็กนั้นก็กลัวนิ่งอยู่” จึงได้ยศเป็นเฉียงเจียงจวิน (นายพล)
ครั้นโจโฉตายแล้ว พระเจ้าโจผียกทัพไปรุกรานกังตั๋งอีก เตียวเลี้ยวร่วมทัพไปด้วยเสียทีถูกเตงฮอง แม่ทัพกังตั๋งยิงด้วยเกาทัณฑ์ถูกบั้นเอว ไปสิ้นใจที่ราชธานีเจียงตู และศพฝังไว้ ณ ที่นั้นด้วย
ตายแล้ว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น กางโหว (พระยา)
-------------------------------------------------
เทียหยก (Cheng Yu 程昱)
เทียหยก เป็นชาวอำเภอตงอา เมืองตงจวิ้น มณฑลชานตุง มีชื่อรองว่า จงเต๋อะ
สูง 8 ฟุต 3 นิ้ว หนวดเครางาม แข็งแกร่ง แต่เจ้าอารมณ์ มักพูดขัดหูผู้อื่น มีความรู้ความสามาถดี
เข้ารับราชการอยู่กับโจโฉตั้งแต่เริ่มตั้งตัวเป็นใหญ่ มีความชอบมากมายหลายครั้ง เป็นที่นับถือของโจโฉ
ดำรงตำแหน่งอุ้ยอุ้ย (นายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายรักษาวัง) จนตาย
-------------------------------------------------
บิฮูหยิน (Lady Mi 糜氏)
บิฮูหยิน เป็นน้องสาวของบิต๊ก เป็นภรรยาน้อยของเล่าปี่ ไม่มีบุตรต่อกัน
ในขณะที่โจโฉเข้าโจมตีแคว้นเกงจิ๋ว เล่าปีอพยพหนีพลัดกันกับลูกเมีย บิฮูหยินอุ้มอาเต๋า บุตรเล่าปี่ซึ่งเกิดจากนางกำฮูหยินภรรยาหลวงวิ่งหนี เผอิญถูกทวนแทงขา จึงได้ซ่อนตัวอยู่ที่ผนังตึกแห่งหนึ่ง จูล่งตามมาพบเข้า เชิญขึ้นม้า นางบิฮูหยินเกรงว่าจะไปไม่รอด และอาเต๋าจะพลอยเป็นอันตราย จึงมอบอาเต๋าให้จูล่ง แล้วกระโจนลงบ่อน้ำตาย เพื่อไม่ให้ถูกจับเป็นเมียของผู้อื่น จุล่งกลบบ่อแล้วพาอาเต๋าหนีรอดไปได้
ในประวัติศาสตร์จีน ไม่ได้เอ่ยถึงนางบิฮูหยินเลย สงสัยไม่มีตัวตนอยู่จริง
-------------------------------------------------
มอกาย (Mao Jie 毛玠)
มอกาย เป็นชาวผิวชิว เมืองเฉินหลิว (ตันลิว) มณฑลเหอหนาน มีชื่อรองว่า เสี้ยวเซียน
เป็นคนสุภาพเรียบร้อย รักความเป็นธรรม มีเมตากรุณา มีความรู้ความสามารถสูง โจโฉเชิญตัวมารับราชการเป็นที่ปรึกษา ก็ตั้งอยู่ในความเทียงธรรม ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จะคัดเลือกใครเข้ารับราชการ ก็สรรแต่คนดีมีความรู้ความสามารถจริงๆ ได้เลี้ยงบุตรของพี่ชาย ซึ่งกำพร้าพ่อแม่เหมือนบุตรของตัวเอง
เมื่อโจโฉเสียกลจิวยี่ ฆ่าชัวมอกับเตียวอุ๋น ผู้ชำนาญในการเรือของแคว้นเกงจิ๋วเสียแล้ว ได้ให้มอกายกับอิกิ๋ม เป็นผู้ฝึกหัดทหารเรือแทน
ตอนสุดท้าย ถูกคนกลั่นแกล้งใส่ร้าย จึงต้องไปอยู่บ้านเดิม เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ได้รับพระราชทานหีบศพและเงินผ้าไหว้ และลูกชายได้ดำรงตำแหน่งหลางจง
-------------------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,210
Re: [2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
«
Reply #5 on:
19 December 2021, 21:05:20 »
ม้าเท้ง (Ma Teng 馬騰)
ม้าเท้ง เป็นชาวเมืองหลงซี (เสเหลียง) มณฑลการซุ มีฉายาว่า โซ้วเฉิง สืบสกุลมาจากม้าอ้วน ผู้ดำรงยศเป็นฟุปอเจียงจวินคนแรกของประเทศจีน ในฐานที่ยกทัพปราบภาคใต้ (น่ำอวด) สำเร็จ บิดาชื่อม้าซู้
สูง 8 ฟุต รูปร่างสง่าผ่าเผย กริยาสุภาพนิ่มนวล เป็นที่รักและเคารพของคนทั่วไป มีความสามารถในการปกครองทั้งฝ่ายทหารและผลเรือน ในฐานที่เป็นเจ้าเมืองเสเหลียง
ยกทัพไปช่วยปราบตั๋งโต๊ะ และลิฉุย กุยกี ณ พระนครด้วย ครั้งโจโฉรุกรานพระเจ้าเหี้ยนเต้ ทำทีคล้ายจะแย่งราชสมบัติ ม้าเท้งตกลงเข้าร่วมกับตังสินจะโค่นโจโฉด้วยผู้หนึ่ง แต่ระหว่างที่มีการจับกุมกวาดล้างตังสินและพวกนั้น ม้าเท้งมิได้อยู่ในพระนคร จึงมิได้เป็นอันตราย ต่อมาโจโฉอาศัยกระแสรับสั่ง เรียกม้าเท้งเข้ามายังพระนครฮูโต๋ ม้าเท้งพลาดท่า ถูกทหารโจโฉจับตัวได้ โจโฉจึงเอาตัวม้าเท้งไปประหารชีวิต
ตำแหน่งสุดท้าย เป็น เจิงซีเจียงจวิน (นายพล) มีบรรดาศักดิ์เป็น หวยหลี่โหว ( พระยา)
-------------------------------------------------
ลิเตียน (Li Dian 李典)
ลิเตียน เป็นชาวตำบลจวี้เอ่ย์ เมืองซานหยัง มณฑลเหอหนาน มีซื่อรองว่า มั้นเฉิง
เป็นผู้มาเข้าช่วยโจโฉ ตั้งแต่โจโฉประกาศเรียกคนอาสาไปปราบตั๋งโต๊ะ เป็นคนสุภาพอ่อนโยน จนกลายเป็นอ่อนแอ ไม่แย่งความดีความชอบกับใครๆ มีความรู้ดี การศึกษามากทั้งการทหารและการปกครอง ได้ออกศึกเสมอ และได้ยศทหารเป็นพ้อหลู่เจียนจวิน
เมื่อสิ้นชีพมีอายุ 36 ปี ได้รับประราชทานบรรดาศัดดิ์เป็นหมิ่นโหว (พระยา)
-------------------------------------------------
ลิโป้ (Lü Bu 吕布)
ลิโป้ เป็นชาวเมืองอู่เหยียนจิ่วเหยียน (ปัจจุบันคืออำเภออู่เหยียน มณฑลซานสี) มีชื่อรองว่า เฟิงเซียน
รูปร่างสง่าผ่าเผย มีกำลังบ่ายิงเกาทัณฑ์ และช่ำชองการขี่ม้ายิ่งกว่าคนอื่นๆ แต่เป็นคนสับปลับ มักมากในสุรานารี ถือเอาแต่ประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง
เตียวหุยผู้เป็นปฏิปักษ์ประนามว่า ลิโป้เป็นลูกสามพ่อ เพราะมีพ่อที่ให้กำเนิด ต่อมาเข้ารับราชการเป็นทหารองครักษ์ของเต๊งหงวน ผู้ครองแคว้นเกงจิ๋วก่อน ประจบเรียกเต๊งหงวนว่าพ่อ พอตั๋งโต๊ะติดสินบนก็ทรยศ ตัดศีรษะเต๊งหงวนไปให้ตั๋งโต๊ะ แล้วฝากตัวอยู่กับตั๋งโต๊ะ เรียกตั๋งโต๊ะว่าพ่ออีก ไม่ช้าก็ฆ่าตั๋งโต๊ะเสีย แยกเอานางเตียวเสี้ยนมาเป็นเมียตามอุบายของอ้องอุ้น หลังจากนั้นได้รับพระราชทานยศเป็นเฟิ้นอุยเจียงจวิน (นายพล) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นอุนโหว (พระยา) เป็นบำเหน็จความชอบที่ได้ฟื้นอำนาจของกษัตริย์ให้พระเจ้าเหี้ยนเต้
ครั้นลิฉุย กุยกีนายทหารของตั๋งโต๊ะแย่งอำนาจในเมืองหลวงได้อีกโดยฆ่าอ้องอุ้นเสีย ลิโป้หนีไปพึ่งอ้วนสุด อ้วนเสี้ยว แต่ถูกตระเพิด จึงไปพึ่งเตียวเอี๋ยน เจ้าเมืองเซียงต๋ง แล้วดำเนินการแผ่อำนาจต่อไป โจโฉกับอ้วนเสี้ยวร่วมกันปราบ ลิโป้ต้องไปขอพึ่งเล่าปี่อยู่ที่ซีจิ๋ว มิช้ามินานก็ทรยศต่อเล่าปี่ ยึดอำนาจในชีจิ๋วไว้เสียเอง ในที่สุดโจโฉจับตัวได้ที่เมืองแห้ฝือ (เสี้ยเผย) มณฑลเจียงซู จึงเอาไปแขวนคอแล้วตัดศรีษะเสียบประจานไว้
-------------------------------------------------
อ้วนถำ (Yuan Tan 袁谭)
อ้วนถำ เป็นบุตรชายคนโตของอ้วนเสี้ยว มีฉายาว่า เสียนซือ บิดาให้ไปกินเมืองเซียงจิ๋ว
เมื่อโจโฉรุกรานมณฑลเหอเป่ย และอ้วนเสี้ยวตรอมใจตาย อ้วนถำกับอ้วนซงน้องคนเล็กแย่งกันเป็นใหญ่ในแคว้นกิจิ๋วแทนบิดา อ้วนถำสู้ไม่ได้ จึงเข้าสวามิภักดิ์ต่อโจโฉขอพึ่งบุญปราบอ้วนซง
โจโฉก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกลูกสาวให้เป็นภรรยา แต่แล้วเมื่อโจโฉยึดแคว้นกิจิ๋วได้ทั้งหมด แล้วอ้วนซงหนีไปแล้ว อ้วนถำกลับเกิดความสำนึกว่า ไม่ควรยอมจำนนต่อโจโฉ จึงเตรียมสู้รบกับโจโฉอยู่ที่เมืองลำพี้ โจโฉตามไปปราบ รบพุ่งกันหลายครั้ง อ้วนถำเห็นว่าสู้ไม่ได้ จึงขอสวามิภักดิ์อีกครั้งหนึ่ง แต่โจโฉไม่ยอมรับ
ในที่สุดโจหอง ทหารเอกโจโฉก็เอาง้าวฟ้นอ้วนถำหลายทีจนตกม้าตาย โจโจให้ตัดศีรษะเอาไปเสียบไว้ที่ประตูเมืองด้านเหนือ
-------------------------------------------------
อ้วนเสี้ยว (Yuan Shao 袁绍)
อ้วนเสี้ยว เป็นชาวอำเภอยู่หยัง เมืองยู่หนาน มณฑลเหอหนาน มีชื่อรองว่า เปิ่นชู
เป็นเชื่อสายขุนนางเก่าแก่ถึงสี่ห้าชั่วคน เป็นผู้มีร่างสูงใหญ่ ท่าทางองอาจผึ่งผาย ปรกติเป็นคนสุภาพเรียบร้อย จิตใจกว้างขวาง เสียใจหรือดีใจไม่ปรากฏออกนอกหน้า แต่เป็นคนขึ้ระแวง มีความอิจฉาริษยา ชำนาญในพิชัยสงคราม แต่บกพร้องในการตัดสินใจ ไม่รู้จักวิธีเลี้ยงใจคน
เป็นผู้เข้ารวมกับโฮจิ๋นขจัดอิทธิพลของขันที่ทั้งสิบสมัยพระเจ้าเลนเต้ แล้วผิดใจกับตั๋งโต๊ะ ในเรื่องถอดหองจูเปียนออกจากราชสมบัติ จึงหนีไปอยู่กิจิ๋ว แล้วได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองปุดไฮ ไม่ช้าก็เป็นผู้นำทัพเมืองต่างๆ เข้าตีตั๋งโต๊ะที่ลกเอี๋ยง แต่ควบคุมกันไม่ติดจึงทำการไม่สำเร็จ หวนกลับไปยึดแคว้นกิจิ๋วไว้ในอำนาจทั้งหมด และตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นที่มณฑลเหอเป่ย
ครั้นโจโฉเป็นใหญ่ขึ้นในแผ่นดิน อ้วนเสี้ยวไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ จึงเกิดรบกันเป็นศึกใหญ่ อ้วนเสี้ยวเสียทีโจโฉที่กัวต๋อ (กวนตู้) เป็นความปราชัยอย่างย่อยยับ นับแต่นั้นก็ชะตาตก เสียแผ่นดินแก่โจโฉเป็นลำดับ ในที่สุดตรอมใจตายที่กิจิ๋วนั้นเอง
มีบุตร 3 คน คือ อ้วนถำครองเมืองเซียงจิ๋ว อ้วนฮีครองเมืองอิวจิ๋ว อ้วนซงครองพระนคร
-------------------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,210
Re: [2] ตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก
«
Reply #6 on:
19 December 2021, 21:07:12 »
อิกิ๋ม (Yu Jin 于禁)
อิกิ๋ม เป็นแม่ทัพของวุยก๊ก เป็นชาวจวี้ผิงไท่ซาน มณฑลซานตุง มีชื่อรองว่า อุ๋ยเจ๋อ
เป็นทหารตลอดชีวิต รบทัพจับศึกมานานตั้ง 30 ปี เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยมากแต่มีนิสัยชอบริษยาเพื่อน ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ชอบ
โจโฉให้เป็นแม่ทัพไปปราบกวนอู เจ้าเมืองเกงจิ๋ว ไปตั้งทัพที่ทุ่งจันเค้า (เจิงโข่วชวน) เหนือเมืองฮวนเสีย ฝนตกน้ำท่วม หนีไม่รอดถูกกวนอูจับได้ ก็ยอมสวามิภักดิ์ต่อกวนอู ครั้นกวนอูตายแล้ว ซุนกวนปล่อยตัวกลับไปวุยก๊ก โจผีผู้ครองเมืองต่อจากโจโฉ ไม่ชอบนิสัยนี้ จึงให้เขียนรูประจานไว้ที่ผนังที่ฝังศพของโจโฉ เป็นรูปอิกิ๋มกลัวตาย กราบไหว้กวนอูอ้อนวอนขอชีวิต แล้วให้อิกิ๋มอยู่เฝ้าที่ฝังศพแห่งนั้น อิกิ๋มมีความละอาย ไม่ช้าก็ตรอมใจตาย
-------------------------------------------------
แฮหัวตุ้น (Xiahou Dun 夏侯恩)
แฮหัวตุ้น เป็นชาวอำเภอเจี้ยว เมืองเพ่ยโก้วะ (ไพก๊ก) มณฑลเจียงซู มีชื่อรองว่า เหวียนยั้ง เป็นผู้สืบสายโลหิตจากแฮหัวเอง ( เสี้ยโหวอิง ) บุคคลสำคัญสมัยต้นราชวงศ์หั้น
เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์บริสุทธิ์ มีความประหยัดมัธยัสถ์ ไม่กอบโกยหาประโยชน์ใส่ตัว
ฝึกการใช้ทวนและกระบองมาแต่เล็ก เมื่ออายุ 14 ปี เข้าเรียนวิชารบจากอาจารย์ วันหนึ่งมีคนมาพูดดูหมิ่นอาจารย์ แฮหัวตุ้นจึงฆ่าเสีย แล้วหนีไปซ่องสุมผู้คนอยู่ในป่าเขา เมื่อโจโฉประกาศเรียกคนอาสาสมัครไปปราบตั๋งโต๊ะ แฮหัวตุ้นนำกำลังมาร่วมกับโจโฉ หลังจากนั้นก็รับใช้โจโฉจนกระทั้งตาย
ในการรบกับโกซุ่น นายทหารลิโป้ที่เมืองเสียวพ่าย โจเสง นายทหารอีกคนหนึ่งของลิโป้ ลอบใช้เกาทัณฑ์ยิงถูกตาซ้ายแฮหัวตุ้น ลูกเกาทัณฑ์ปักแน่น แฮหัวตุ้นร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง จึงชักลูกเกาทัณฑ์ออกมา เห็นลูกตาติดอยู่ปลายเกาทัณฑ์ก็ร้องว่า ลูกตานี้เป็นดวงแก้วอันประเสริฐ ไม่ควรจะทิ้งเสีย แล้วก็ดูดกลืนลูกตานั้นเข้าท้องไป พลางควบม้าเอาทวนแทงโจเสงตกม้าตาย ทัพโกซุ่นก็แตกพ่าย
เป็นผู้ที่โจโฉเคารพมาก และให้ยศทหารเป็นต้าเจียงจวิน (จอมพล) เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นจงโหว (พระยา)
-------------------------------------------------
แฮหัวเอี๋ยน (Xiahou Yuan 夏侯渊)
แฮหัวเอี๋ยน เป็นน้องร่วมแซ่ของแฮหัวตุ้น มีชื่อรองว่า เหมี้ยวฉาย
เป็นคนเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ และกล้าหาญในการรบ เมื่อโจโฉประกาศเรียกคนอาสาสมัครไปปราบตั๋งโต๊ะ ได้มาสมัครพร้อมกับแฮหัวตุ้นพี่ชาย และรับใช้โจโฉด้วยความซื่อสัตย์ตลอดชีวิต
โดยเหตุที่โจโฉเป็นบุคคนในแซ่แฮหัว (เสี้ยโหว) มาแต่เดิม จึงมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้องอยู่กับแฮหัวตุ้น กับ แฮหัวเอี๋ยนด้วย
แฮหัวเอี๋ยนชำนาญในการขว้างมีด ได้ยกกำลังไปปราบพวกเจี๋ยง จนมีความดีความชอบ ได้เลื่ยนยศเป็นเจิงซีเจียงจวิน (นายพล) ตั้งกองรักษาเสบียงอยู่ที่เขาเตงกุนสัน มณฑลส่านซี เล่าปี่จึงให้ฮองตงไปโจมตีทำลายที่มั่นที่เขานั้นเสีย ทั้งสองฝ่ายรบพุ่งกันอยู่ช้านาน ในที่สุดแฮหัวเอี๋ยนพลาดท่า ถูกฮองตงเอาดาบฟันศีรษะขาด เมื่อตายแล้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมิ่นโหว (พระยา)
มีบุตร 4 คน คือ แฮหัวป๋า แฮหัวหุย แฮหัวฮุย และ แฮหัวโห
-------------------------------------------------
Logged
Pages:
[
1
]
« previous
next »
SMF 2.0.4
|
SMF © 2013
,
Simple Machines
| Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.095 seconds with 20 queries.
Loading...