Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
01 November 2024, 09:23:22

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,368 Posts in 12,805 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เหนือเกล้าชาวสยาม  |  พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแห่งแผ่นดินสยาม (Moderator: Smile Siam)  |  "ความรัก" ของในหลวง รัชกาลที่ 9
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: "ความรัก" ของในหลวง รัชกาลที่ 9  (Read 465 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,210


View Profile
« on: 30 October 2021, 22:45:34 »

"ความรัก" ของในหลวง รัชกาลที่ 9


ไปรษณียบัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
ข้อความว่า “เล็กคิดถึงมาก ภูมิพล”



...

ด้วยรัก
ระหว่างที่เสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และพระราชวงศ์ทางประเทศไทย ด้วยความห่วงใย ประกอบกับเป็นพระราชประเพณี ว่าด้วยการสืบสันติวงศ์ของไทย ต่างพระองค์ก็ทรงมีความเห็นว่า ถึงเวลาสมควรหาบุคคลที่เหมาะสม สำหรับตำแหน่งพระราชินี เตรียมไว้ในอนาคต เพื่อให้มีเวลาที่จะได้ทรงรู้จัก และคุ้นเคยพอ จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร

กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นพระบรมวงศ์ ที่ทรงถือว่าใกล้ชิด และสนิทด้วยมา

ได้รวบรวมรายพระนาม และนามพระราชวงศ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และสมควรแก่ตำแหน่งพระราชินีในอนาคต อัญเชิญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงทราบฯ เพื่อจะได้ทรงมีโอกาสรู้จักต่อไป (แต่รายนามที่ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงทราบนั้น ไม่มีนามของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ร่วมอยู่ด้วย)

                          การเลือกคู่แห่งเจ้านายชั้นสูง มักจะถูกผู้ใหญ่กำหนดชะตาชีวิตคู่ ไว้ก่อนเป็นส่วนมาก
                          ถึงแม้การตัดสินใจในขั้นสุดท้าย จะเป็นของตนเองก็ตาม ยิ่งสำหรับองค์รัชทายาท สตรีผู้ใดจะต้องดำรงตำแหน่งราชินี ของประเทศย่อมจะต้องอยู่ในสายตา ของญาติผู้ใหญ่ที่จะแนะนำ และสอดส่องเสมอ บางประเทศรัฐบาลอาจจะมีเสียง ในการคัดค้านหรือสนับสนุนได้ แต่ในที่สุดก็ย่อมจะต้องอยู่ในการตัดสินใจ ของผู้กำชะตาชีวิตด้วยตนเอง

                          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชะตาชี้ให้เห็นอย่างแจ่มชัด สายพระเนตรได้แหวกวงล้อม จากเหล่ากุลสตรีทั้งหลายทั้งผู้ที่ถูกเสนอแนะ และผู้ที่ผ่านสายพระเนตรมาแล้ว จึงดลพระทัยให้มีพระราชประสงค์ ที่จะซื้อรถที่ประเทศฝรั่งเศส และเสด็จฯ ไปด้วยพระองค์เอง และก็เป็นการบังเอิญ ที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ในขณะนั้นทรงเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ ณ กรุงปารีส เมื่อพุทธศักราช 2490

เป็นวันที่มีอากาศดีวันหนึ่งในกรุงปารีส ที่ครอบครัวท่านทูต หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทราบข่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มาประเทศฝรั่งเศส หน้าที่ของท่านทูตจะต้องนำขบวนรถอารักขา ไปรับเสด็จที่ชานเมืองปารีส

                          ณ เมือง Fontainebleau ซึ่งเป็นชานเมืองนครปารีส ทุกคนไปรอรับเสด็จอยู่ใต้เงาไม้ อันร่มรื่นของป่าโปร่ง บรรยากาศโดยรอบ มีแต่ความสดชื่นแจ่มใส ทุกคนตื่นเต้นเบิกบานใจที่จะได้เฝ้า... ใจจดใจจ่ออย่างยากที่จะสงบใจได้ สำหรับบุตรีของท่านทูตทั้งสองคน คือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และหม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร นับได้ว่าเป็นการที่จะได้เข้าเฝ้า เห็นพระองค์อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก นับจากวันที่เคยถวายความจงรักภักดี ด้วยการปักดอกไม้ใส่แจกันเล็กๆ ถวายหน้าพระบรมฉายาลักษณ์มาเป็นกิจวัตร จากเด็กหญิงเล็กๆ จนถึงวัยดรุณีแน่งน้อยอยู่ในขณะนั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ แต่งกายอยู่ในสูทสีเนื้อเก๋ เรียบร้อย ผมรวบเป็นเปียเดี่ยวยาวถึงกลางหลัง มีความอ่อนหวานน่ารัก ร่าเริงอย่างเต็มที่ แต่เวลาแห่งการรอคอยนานขึ้นเพียงไร ความร่าเริงก็ยิ่งน้อนลง กลายเป็นความกระวนกระวายมากขึ้นทุกที หน้าที่ยิ้มแย้มชักจะมุ่ย และมุ่ยมากขึ้น โดยเฉพาะหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จากเวลาที่รอคอยนานอย่างผิดปกติ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนิสัยตรงเวลา รวดเร็ว และว่องไว ครั้งนี้ทำไมจึงผิดเวลาอย่างน่าสงสัย

                          และแล้วเวลาประวัติศาสตร์แห่งความรักก็มาถึง พร้อมกับพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับตรงหน้าหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ให้ได้เฝ้าเป็นการพบกันครั้งแรก ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตร เห็นหน้าของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ที่ไม่ค่อยจะงามนัก (ผิดจากแบบการพบครั้งแรกของนวนิยาย) เพราะอยู่ในอารมณ์ที่ทั้งหิว และรอนาน ด้วยรถยนต์เป็นเหตุ ซึ่งเป็นพระราชพาหนะที่ค่อนจะคร่ำคร่า รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ อย่างเคร่งครัดมาเป็นเวลานาน เกิดเครื่องเสีย และน้ำมันหมดในเวลาเดียวกันอย่างประหลาด ต้องใช้เวลาแก้ไขนานพอสมควร กว่าจะเสด็จฯ มาได้ ทั้งๆ ที่พระราชทานอาหารปลอบใจให้หายหิว แต่หลวงประเสริฐไมตรี (ประเสริฐ โชติกเสถียร) ท่านรองเลขาฯ ก็ยังเชิญแต่เฉพาะผู้ใหญ่เข้าร่วมโต๊ะเสวย เด็กๆ ให้ไปรับประทานอาหาร ที่ร้านอีกแห่งหนึ่ง ชื่อ  " GOLDEN DRAGON "   ซึ่งคงต้องเสียเวลาต่อไปอีก (ปัจจุบันไม่ทราบว่ายังอยู่หรือเปล่า)

เหตุการณ์ในวันนั้น วันแห่งการพบกันครั้งแรก ถึงจะเป็นกาลเวลาที่ผ่านมาประมาณ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงเป็นความรู้สึก ที่เป็นปัจจุบันที่สดใส ในพระราชหฤทัยของสองพระองค์ ยามที่ทรงนึกถึงวันนั้น และทรงล้อสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างขันๆ ถึงความหลัง ทั้งในบันทึก พร้อมทั้งภาพล้อบนแผ่น MEMO ที่พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า  " เดินตุปัดตุเป๋ หน้างอคอยถอนสายบัว "   ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็จะกราบบังคมทูล ตอบทันด่วนว่า   " หน้างอเพราะให้แต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย เด็กกลับไล่ให้ไปกินที่อื่น "   เป็นความทรงจำที่ยังสดใสอยู่จนทุกวันนี้

                          จากวันที่ทรงพบกันที่ Fontainebleau ครอบครัวหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ก็ได้รับเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ่อยครั้ง เนื่องจากมาทอดพระเนตรรถยนต์ แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกพระทัยนัก? จึงต้องใช้เวลาเสด็จฯ มาปารีสบ่อยครั้ง และทุกครั้งมักจะเสด็จฯ มาเสวยพระกระยาหาร กว่าจะเสด็จฯ กลับก็ร่วมตีสามของวันใหม่ และต่อมาการเสด็จฯ กลับที่ประทับก็เลื่อนเวลาช้าออกไป หรือตามพระราชอัธยาศัย   
                 
                          ครั้งแรกที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ปารีส นับว่าเป็นศุภนิมิตได้เหมือนกัน เมื่อสมเด็จพระราชชนนี รับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ด้วยว่าจะสวยน่ารักไหม เพราะหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นหลานแท้ๆ ของสมเด็จย่าและเป็นคนดี หม่อมหลวงบัวก็เป็นลูกเจ้าพระยาวงศาฯ (วงศานุประพัทธ์) ซึ่งก็เป็นคนดีซื่อตรง และยังทรงกำชับว่า  " ถึงปารีสแล้ว โทรฯ บอกแม่ด้วย "   และในครั้งนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถึงปารีสแล้ว ทรงโทรศัพท์ถึงสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระราชชนนี ไม่ทรงลืมที่จะรับสั่งถามถึง ธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทูลตอบทันทีเหมือนกันว่า   " เห็นแล้วน่ารักมาก "

                          ตลอดเวลาที่ผ่านมาในระยะนั้น ทำให้ครอบครัว ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ในฐานะเอกอัครราชทูตไทย เป็นที่ทรงคุ้นเคยต่อเบื้องพระยุคลบาท และด้วยความจงรักภักดี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และครอบครัวได้เฝ้าฯ และถวายความสะดวกต่างๆ ทุกคราวที่เสด็จฯ โดยเฉพาะหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย เนื่องด้วยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีนิสัยร่าเริง สุภาพ อ่อนน้อม และบางครั้งค่อนข้างจะอาย เป็นที่ชื่นชมของผู้ที่ได้พบเห็น



...

ครั้นคืนวันที่ 4 ตุลาคม พุทธศักราช 2491
               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอุบัติเหตุ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกคันหนึ่ง ที่ถนนในเมืองมอนเนย์ ใกล้ทะเลสาบเจนีวา ได้รับบาดเจ็บที่พระเศียร พระพักตร์ และพระเนตรขวา ทรงเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลมอร์เชส ซึ่ง ดร.มาเรียง เกรกซ์ แห่งโรงพยาบาลนี้ ได้ถวายการรักษาอย่างดียิ่ง

               ทางรัฐบาลได้จัดคณะผู้แทนไปเฝ้าฯ และเยี่ยมฟังพระอาการ ตลอดจนสั่งให้เอกอัครราชทูตไทย ประจำสวิตเซอร์แลนด์ ไปถวายความสะดวก และช่วยเหลือระหว่าง ทรงรับการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด จนทรงกลับเป็นปกติดังเดิม

                ทางครอบครัวหม่อมเจ้านักขัตรมงคล พอทราบข่าวการประชวร ทั้งตกใจและเป็นห่วง แต่ไม่กล้าพาครอบครัวเข้าเฝ้าเยี่ยม ทั้งที่ทรงคุ้นเคยแล้วก็ตาม จนได้ทราบว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงบัว กิติยากร ซึ่งอยู่ในลอนดอนพาธิดาทั้งสอง คือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และหม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร เข้าเฝ้าด่วนที่สุด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร และประทับที่สถานพยาบาล หม่อมหลวงบัว และบุตรีทั้งสอง ได้พักอยู่ชั่วระยะเวลาพอสมควร เนื่องด้วยหม่อมหลวงบัว มีภาระและความจำเป็น จึงได้กราบถวายบังคมลากลับก่อน พร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร

                        ในการที่ทรงพระประชวรครั้งนี้ คณะที่ทางรัฐบาล จัดเป็นผู้แทนไปเฝ้าเยี่ยม โดยมีพระยาบริรักษ์ เวชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะ ประกอบด้วยหลวงเสรีเริงฤทธิ์ และหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ) เมื่อทรงทราบว่าคณะไปถึง ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ เข้าเฝ้าฯ โดยเฉพาะเป็นพิเศษ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า   " ทรงรัก หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร อย่างแน่นอน "   พระราชทานเหตุผลว่า เมื่อทรงฟื้นคืนพระสติครั้งแรกนั้น ทรงระลึกถึงบุคคลเพียงสองคน คือ สมเด็จพระราชชนนี และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งแสดงถึงความจริง ที่สถิตอยู่ในพระราชหฤทัย

                         หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เมื่อมีโอกาสที่จะถวายความจงรักภักดี จึงน้อมถวายด้วยความบริสุทธิ์ใจ ช่วยให้ทรงร่าเริง ปลอบพระทัยในการที่ต้องทรงพระประชวร เยี่ยงที่คนเจ็บทั้งหลายมีความรู้สึกกัน ทั้งที่มีคนสงสัยว่ามาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ทำไม และก็มิได้บอกกล่าวใครทั้งสิ้น

                  ตลอดเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พักอยู่ที่โลซานน์ สมเด็จพระราชชนนี ทรงเป็นพระธุระให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนประจำ   "Riante Rive"   ที่สอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี ในเมืองโลซานน์ใกล้พระตำหนัก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นผู้ปกครอง

                        ระหว่างที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ศึกษาอยู่ในโรงเรียน เวลาใดที่มีโอกาสก็จะมาเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างสม่ำเสมอ ทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษา และเข้าพระทัยในหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ดีมากขึ้น จนกระทั่งพระอาการประชวรทุเลา และเป็นปกติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และครอบครัวมาเข้าเฝ้าฯ ในการนี้โปรดเกล้าฯ ให้จัดที่ประทับแก่ครอบครัวหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ที่โรงแรมวินเซอร์ และโปรดเกล้าฯ ให้ดูแลความสะดวกทุกประการ ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในโลซานน์

                          วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเป็นการส่วนพระองค์ เรื่องการที่จะทรงขอหมั้น กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ (พระราชดำรัสที่ทรงมีต่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และคำกราบบังคมทูลตอบอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบจนเดี๋ยวนี้ และไม่บังอาจที่จะกราบบังคมทูลถาม จึงถือเป็นความลับส่วนพระองค์ ของทั้งสองพระองค์โดยแท้)

                           ดังนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492 เวลา 10.00 น. อันเป็นราชาฤกษ์ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่ง ขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ซึ่งน้อมเกล้าฯ ถวายด้วยความโสมนัสยินดียิ่ง และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระธำมรงค์ เป็นของหมั้นแด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นพิธีภายในเงียบๆ ที่โรงแรมวินเซอร์ แต่เป็นที่ตื่นเต้นในพระราชหฤทัย และหัวใจของทุกคนในที่นั้น ด้วยพระธำมรงค์องค์เดียวกับสมเด็จพระราชบิดา ประทานสมเด็จพระราชชนนี ซึ่งเล็กมากไม่ถึงสองกระรัต ตามที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เลือกเองระหว่างแหวนทับทิมประดับเพชรงดงาม ของสมเด็จพระพันวัสสาฯ จึงนับได้ว่าช่วงเวลานี้ คงจะเป็นเวลาที่ทรงมีความสุขที่สุด ก่อนที่กาลเวลาต่อมาจะต้องทรงกลับ มารับพระราชภาระอย่างหนักด้วยหน้าที่

                           ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2492 มีงานเลี้ยง (reception และ dinner) ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นวันฉลองวันเกิดครบ 17 ปี ของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ในวันนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาไปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศข่าวทรงหมั้นให้รู้ทั่วกัน เป็นการเปิดเผยให้คนไทยได้ทราบ ถึงข่าวอันเป็นที่น่ายินดีด้วย

                           หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ในวันงานอยู่ในชุดที่งดงาม อ่อนหวาน สีฟ้าอ่อนกระโปรงพลีต เสื้อเป็นระบายน่ารัก กิริยาอันสุภาพอ่อนโยน เป็นที่จับตาผู้ได้พบเห็นยิ่งนัก งานเลี้ยงไม่ใหญ่โตอะไร จัดเป็นโต๊ะอาหารเล็กๆ ไม่กี่โต๊ะ แต่บรรยากาศอบอวนไปด้วยสัมผัสที่เบิกบาน และเป็นความสุขแว่วเสียงเพลง Sweet sixteen ลอยมาเบาๆ ทุกคนมีความปิติยินดีทั่วหน้า ในการที่ได้เห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงมีความสุขในความรัก กับกุลสตรีที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นวันมงคล เป็นวันเริ่มต้นที่จะเป็นเวลาอันยืดยาว แห่งความรักต่อไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานซิการ์เกือบ 1 ฟุต แก่หม่อมเจ้านักขัตรมงคล (พ่อตาในอนาคต) ซึ่งเมื่อได้รับพระราชทานแล้ว ก็ทรงจุดสูบด้วยความสุขเช่นกัน

                           ภายหลังที่ข่าวโปรดเกล้าฯ หมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ประกาศเป็นทางการ ประชาชนได้เห็นภาพหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในหนังสือพิมพ์ เหมือนมีแสงสว่างที่ส่องเข้ามาสู่หัวใจของคนไทย ซึ่งในกาลเวลาขณะนั้นอยู่ในความมืดมนอธนการ และเศร้าหมองไม่แน่ใจในอนาคต ข่าวนี้จึงเป็นเสมือนน้ำทิพย์ที่ชโลม พรมให้หัวใจทุกผู้คนเป็นสุข และสดใสกันทั่วหน้า

                           หลังจากที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นพระคู่หมั้นแล้วก็ยังคงศึกษาต่อตามเดิม จนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัตรพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จฯ มาถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดลในวันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2493

                           เมื่อตามเสด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวกลับกรุงเทพฯ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้กลับมาอยู่พร้อมครอบครัว ที่พระตำหนักท่านพ่อ ที่เทเวศร์ปากคลองผดุงกรุงเกษมอย่างสงบ ทั้งที่เป็นพระคู่หมั้น ไม่โปรดที่จะให้ไปงานไหนเป็นการเอิกเกริก เพราะไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระยศ ในการที่เป็นพระคู่หมั้น เฉกเช่นที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระคู่หมั้นเป็นพระวรกัญญาปทาน โปรดที่จะเสด็จฯ มาในตอนเย็นเพื่อร่วมเสวยพระสุธารส กับพระคู่หมั้น ณ กลางสนามพระตำหนักเทเวศร์ ท่ามกลางความสุขร่มเย็นของสายลม จากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสม่ำเสมอ



...

เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยตื่นเต้นโสมนัส ยินดีเป็นล้นพ้น เป็นวันที่พวกเขาได้รอคอยให้มาถึง และก็ได้มาถึงแล้ว ณ วันนี้ ถึงแม้จะไม่มีโทรทัศน์ให้เห็นด้วยตา แต่พวกเขาก็คอยฟังข่าวจากวิทยุ และจากหนังสือพิมพ์ คนไทยจะได้มีทั้งกษัตริย์และพระราชินี พร้อมที่จะได้มีหลักที่หัวใจได้ผูกพันยึดมั่น ประเทศจะได้อยู่ในความสงบสุข หลังจากที่ความทุกข์ ความหวาดหวั่นทั้งปวงได้ผ่านพ้นไปแล้ว และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงมีความสุขที่สมบรูณ์ เพื่อทรงพร้อมที่จะเป็นหลักชัยของประเทศต่อไป

                        ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในวังสระปทุม
                         ตอนเช้าหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้พาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาไปวังสระปทุม ประทับรอในห้องรับแขก
                         หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร อยู่ในชุดเจ้าสาวสีงาช้าง เสื้อแขนยาวปักลายกนกทองงดงาม พร้อมด้วยเครื่องประดับเพชรทั้งชุด ของเก่าของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
                         เวลา 09.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องแบบเต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทรงสวมสายสะพายจุลจอมเกล้า ประทับรถยนต์เสด็จเข้าสู่วังสมเด็จพระราชบิดา เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ห้องรับแขกพระตำหนักสมเด็จพระศรีวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พรั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

                            ในโอกาสนี้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลโท มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ลงพระนาม และนามตามลำดับ ในฐานะพระบิดา และพระมารดา ที่ยินยอมให้ทำการสมรสตามกฎหมาย จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีลงนามด้วย เนื่องจากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และจอมพล ป.พิบูลสงคราม



...

เสร็จการลงพระปรมาภิไธย พระนามและนามในสมุดทะเบียนแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ นำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นประทับ ยังห้องพระราชพิธีบนพระตำหนัก

               สมเด็จพระศรีวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออกมาประทับ ณ ห้องพระราชพิธี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ถวายดอกไม้ ธูปเทียนแพ แด่สมเด็จพระพันวัสสาฯ สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และทรงเจิมพระนลาฏแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์ ทรงเจิมแก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ตามโบราณราชประเพณี 

                         นับว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ก็ว่าได้ คือ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในขณะนั้นซึ่งมีพระชนม์มากแล้ว ทรงมีความจำที่อยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ แต่ในขณะที่ทรงอยู่ในเวลาทำพระราชพิธี ความทรงจำกลับคืนมาอยู่ในสภาพปกติ อย่างแปลกประหลาด ทรงรับรู้ในเหตุการณ์เฉพาะพระพักต์ได้เป็นอย่างดี ยังความแปลกพระทัย และปลื้มปิติแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทุกคนในที่นั้นเป็นอันมาก

                         หลังจากเสร็จพิธีรับพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์ จากสมเด็จพระพันวัสสาฯ แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กลับลงมายังห้องรับแขกอีกครั้ง ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงบรรเจิดอักษรการ อาลักษณ์ อ่านประกาศสถาปนา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินี

                         สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ประทับบนพระราชอาสน์ ซึ่งทอดพระสุจหนี่เคียงกัน

                         ต่อจากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงพระนามในสมุดถวายพระพร ซึ่งตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์ทั้งสองพระองค์ แล้วคณะรัฐบาลซึ่งนำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็เข้ามาลงนามในสมุดถวายพระพรเช่นเดียวกัน

                         เมื่อพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ผ่านไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานของที่ระลึกเป็นหีบบุหรี่เงิน ประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภอ. กับพระนามาภิไธยย่อ สก. มีจักรกับตรีอยู่บนฝาหีบบุหรี่นั้น

                         เวลา 16.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ ออก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง ประทับคู่กันเหนือพระราชอาสน์
                         ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชวงศ์ได้มีโอกาสเฝ้าฯ ถวายพระพรและแสดงความปิติโสมนัส เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสได้ทั่วถึง

                         พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร กราบบังคมทูลถวายพระพร แทนพระบรมวงศานุวงศ์ มีความตอนหนึ่ง แสดงความปลื้มปิติโสมนัส ในวันราชาภิเษกสมรส ในการที่ทรงเลือกสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ มาเป็นสมเด็จพระภรรยาเจ้าว่า   " ได้ทรงพิจารณาเลือกสรร ประสบผู้ที่สมควรแก่การสนอง พระยุคลบาท ร่วมทุกข์ ร่วมสุข แบ่งเบาพระภาระในภายหน้า..."   หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสตอบขอบพระทัย ในความที่ทุกพระองค์ทรงมีความปรารถนาดี ต่อพระองค์ท่าน

                           เสร็จพระราชพิธีพระบรมวงศานุวงศ์เฝ้าฯ ถวายพระพรแล้ว ทั้งสองพระองค์เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย โดยสถานอุตราภิมุข ชาวพนักงานประโคมแตร และมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ คณะทูตานุทูตเฝ้าทูลอะอองธุลีพระบาท



...

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส เนื่องที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ให้ผู้มาเฝ้าฯ ทราบ จอมพล ป.พิบูลสงครม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กราบบังคมทูล พระกรุณาแสดงความชื่นชมยินดี และถวายพระพรชัยมงคล

                           เวลา 16.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จขึ้นชาวพนักงานประโคมแตร และมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

                           เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว สมเด็จพระราชินีได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
                           ในตอนค่ำวันเดียวกัน มีพระราชทานเลี้ยงบนพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นการภายในอย่างอบอุ่น และสดชื่น ในระหว่างพระญาติสนิท และข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด มีพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และหม่อมเอลิซาเบธ รังสิต สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และหม่อมหลวงบัว กิติยากร หม่อมเจ้ามุรธาภิเษก โสณกุล หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และหม่อมวิภา จักรพันธ์ หม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร พลเอกหลวงสุรณรงค์ และนางจรวย โชติกเสถียร นายแพทย์หม่อมหลวงจินดา และนางเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายสุรเทิน และหม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค

                           ในการเลี้ยงคืนนี้ นับเป็นการเลี้ยงในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ง่าย เรียบ และสิ้นเปลืองน้อยที่สุดในโลก เป็นสิ่งแรกที่แสดงให้เห็นถึงอนาคตว่า พระมหากษัตริย์ของเราพระองค์นี้ จะทรงมีพระราชกิจที่ได้ปฏิบัติต่อประชาชน อย่างไม่มีกษัตริย์พระองค์ไหนในโลก จะปฏิบัติได้เหมือน

หลังจากการเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยแล้ว มีการแสดงแหวกแนวแบบใหม่ให้แขกชม คือ การฉายหนังผีเรื่อง  "Return of Frankenstein"   ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงค้นพบถึงวิธีที่จะหาทางข่มพระขวัญ พระเจ้าสาวให้ทรงหันเข้ามาพึ่ง พระบรมโพธิสมภารและยึดพระองค์ เป็นที่พึ่งตั้งแต่วันแรกของวันราชาภิเษกสมรส เพราะกลัวผีก็เป็นได้ และไม่มีพิธีส่งตัวเจ้าสาว เหมือนตามประเพณีของไทยทั่วไป

                           รุ่งขึ้น ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปหัวหินเป็นการส่วนพระองค์ โดยรถไฟพระที่นั่งเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล ประมาณ 3 วัน ตามประเพณีหลังการอภิเษกสมรส และโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้ตามเสด็จแต่เฉพาะที่จำเป็น

                           ตลอดระยะทางที่รถไฟผ่านตามสถานีต่างๆ ตลอดจนถึงหัวหิน ประชาชนต่างมาคอยเฝ้าฯ อย่างแน่นขนัด ทุกดวงตามีแต่ความเบิกบาน แจ่มใส ทรงโบกพระหัตถ์ บางคนที่อยู่ใกล้ก็พระราชทานพระหัตถ์ เขาก็เอามาทูลหัว ด้วยความรักและบูชา และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองพระองค์ เสด็จออกให้ประชาชนต่างจังหวัดได้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด และเป็นสัญญาณให้เห็นถึงอนาคต ที่พวกเขาจะมีโอกาสที่จะได้เข้าเฝ้าฯ และจะเสด็จฯ มาทรงรับรู้ความทุกข์สุข ของพวกเราเสมอไป.



...

ฟื้น บุณยปรัตยุษ
อดีตนายอำเภอปทุมวัน
นายทะเบียนในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และม.ร.ว.สิริกิติ์ ทรงจดทะเบียนสมรสเฉกเช่นคู่สมรสทั่วไป

...สมุดทะเบียนสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นพิเศษ ปกสมุดหุ้มด้วยหนังแกะอ่อนสีเหลืองเข้ม กลางปกเป็นหนังสีน้ำตาล มีอักษรตัวทองบอกว่าเป็นสมุดทะเบียนสมรส ข้อความในสมุดทะเบียนทุกอย่างคงเป็นเหมือนสมุดทะเบียนสมรสทั่วไป

.... ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบบประชาธิปไตยแท้ เกี่ยวกับการจดทะเบียนนี้ พระองค์ท่านทรงทำตามระเบียบทุกอย่าง ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท ตามระเบียบถูกต้อง...



...



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,210


View Profile
« Reply #1 on: 30 October 2021, 22:50:47 »


หีบบุหรี่พระราชทานในพระราชพิธีอภิเษกสมรส



...

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส







.......

ในหลวง






ทรงเล่นกีฬาได้หลายชนิด แต่กีฬาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษได้แก่ แบดมินตัน สกี และ เรือใบ

...


๒๔๗๒ .....
สองชันษา ทำบุญ ช่วยกันปล่อยนก เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ


พุทธศักราช ๒๔๗๓ ..... ชุดลูกเสือปัตตานี


พุทธศักราช ๒๔๗๔ .....
ชั้นเด็กเล็ก ในโรงเรียนอนุบาลของมิสซิสเดวิส


พุทธศักราช ๒๔๗๕ .....
ทรงชุดละครไทย ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าประทานให้


พุทธศักราช ๒๔๗๖ .....
สำราญพระอิริยาบถ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์


พุทธศักราช ๒๔๗๙ ..... สองพี่น้อง


พุทธศักราช ๒๔๘๐ .....
"รถลากไม้" ทรงประดิษฐ์ด้วยพระองค์เอง


พุทธศักราช ๒๔๘๑ .....
โดยเสด็จพระราชดำเนินตาม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทย
เป็นครั้งแรก แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์


พุทธศักราช ๒๔๘๒ .....
ประทับอยู่ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒


พุทธศักราช ๒๔๘๓ ..... กิจกรรมหนึ่งที่ทรงโปรด


พุทธศักราช ๒๔๘๗ .....
สองพี่น้องที่ไม่เคยอยู่ห่างกันเลย

...

พุทธศักราช ๒๔๙๑ ..... ระหว่างประทับอยู่ ณ สวิสเซอร์แลนด์ ทรงโปรดการขับรถยนต์ไปในที่ต่างๆ ทั่วยุโรป แล้ววันหนึ่งก็มีข่าวร้ายแก่ชาวไทย ข่าวด่วนจากวิทยุ บีบีซี ๑๓.๐๐ น. วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แห่งประเทศไทย ประสบอุบัติเหตุเนื่องด้วยรถยนต์ ณ ที่แห่งหนึ่งใกล้ๆ เมืองโลซานน์ เมื่อค่ำวันที่ ๔ พระอาการค่อนข้างสาหัส สำนักข่าวรอยเตอร์ ก็ได้กระจายข่าวทั่วโลกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ผู้มีชันษาครบ ๒๐ แห่งประเทศไทย ซึ่งทรงได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัส เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อคืนวันที่ ๔ นั้น ในตอนบ่ายวันที่ ๕ นี้ มีข่าวว่า ทรงมีพระอาการดีขึ้น และ พ้นขีดอันตรายแล้ว

ข่าวจากโรงพยาบาลมอร์เซส แจ้งว่า ..... พระมหากษัตริย์ไทย ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสแถบพระพักตร์และพระเศียร แต่ไม่มีพระอัฐิส่วนใดแตกหรือเดาะเลย พระโลหิตตกมาก พระเนตรข้างขวาเศษกระจกเข้า แต่พระสติดีสามารถแจ้งนามพระองค์ได้ ทั้งนี้ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถยนต์บรรทุกคันหนึ่ง ข้างทะเลสาบเจนีวา เมืองมอนเน

ตามรายงาน ..... ของหลวงดิฐการภักดี อุปฑูตไทย ประจำสวิตเซอร์แลนด์ ในขณะนั้น กล่าวว่า ในคืนที่ทรงประสบอุบัติเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงขับรถพระที่นั่งไปถึงสี่แยกที่มีป้อมจราจรแห่งหนึ่ง และ พอดีกับตำรวจจราจรให้สัญญาณหยุด เพื่อให้ทางแก่จักรยานอีก ๒ คัน รถบรรทุกคันหน้าจึงหยุดกึกลงทันที ที่ได้รับสัญญาณจากตำรวจจราจร ขณะนั้นประจวบกับมีรถยนต์อีกคันหนึ่งขับสวนขึ้นมา และ เปิดไฟหน้าสว่างจ้า จึงทำให้พระเนตรพร่า มองไม่เห็นรถบรรทุกคันนั้น รถพระที่นั่งจึงชนเอาท้ายรถบรรทุกโครมใหญ่

สำหรับประเทศไทยนั้น ..... หนังสือพิมพ์รายวันได้ตีพิมพ์ข่าวร้ายนี้ทั่วถึงทุกฉบับ ชาวไทยทุกคนยามนั้น ต่างโศกเศร้า และ ทุกข์ร้อนกันทั่วหน้า และ ในวันที่ ๗ ตุลาคม เวลา ๑๖.๐๐ น. เศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชดำรัสโทรศัพท์ทางไกลตอบประธานคณะอภิรัฐมนตรี กรมขุนชัยนาทนเรนทร จากโรงพยาบาลที่ประทับว่า .....

ฉันปลอดภัยแล้ว ขอฝากความขอบใจมายังคณะผู้สำเร็จราชการ คณะอภิรัฐมนตรี
คณะรัฐบาล และ ประชาชนของฉัน ที่มีความห่วงใยในอาการป่วยของฉัน

เสด็จออกจากโรงพยาบาล ..... เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ แพทย์ผู้ถวายการรักษา แถลงว่าจะต้องใช้เวลาจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงจะรู้ผลเกี่ยวกับพระเนตร แพทย์ขอให้ทรงหยุดการศึกษาชั่วคราว จะทรงพระอักษรไม่ได้ ขอให้ทรงดำรัสแต่น้อย ไม่ควรเสด็จไปไหนในระยะนี้ เพื่อป้องกันพระเนตรที่ประชวรได้รับความกระทบกระเทือน



...

พุทธศักราช ๒๕๑๐ .....
นอกจากพระปรีชาสามารถทางด้านการออกแบบ และ สร้างเรือใบแล้ว พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบ ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบ ทรงร่วมการแข่งขันด้วยพระองค์เอง และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วย เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ฯ ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบ และ ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ที่ประเทศไทย ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐




...

ในหลวงและพระเชษฐา





















...

พระเชษฐา













...

ในหลวง พระราชินี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ , สมเด็จพระบรม , สมเด็จพระเทพฯ



...

ในหลวง , สมเด็จพระเทพฯ





...

ในหลวง, พระราชินี, เอสวิส เพสลีย์







Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.046 seconds with 21 queries.