Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 16:27:00

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,616 Posts in 12,928 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  Recent Posts

Recent Posts

Pages: 1 ... 8 9 [10]
91

(ต่อ-๒)



.

ฉันออกจากเมืองอ่างทองแต่พอรุ่งเช้า ต้องลงเรือข้ามลำน้ำน้อยที่ตั้งเมืองวิเศษชัยชาญแต่ก่อน แล้วขี่ม้าต่อไป ท้องที่ในระหว่างเมืองอ่างทองกับเมืองสุพรรณเป็นทุ่งตลอดทาง เวลานั้นเป็นต้นฤดูแล้ง บางแห่งแผ่นดินแห้งพอขี่ม้าควบได้ บางแห่งยังไม่แห้งสนิทได้แต่ขี่สะบัดย่าง บางแห่งก็เป็นน้ำเป็นโคลนต้องให้ม้าเดินลุยน้ำไป แต่เป็นที่นา มีหมู่บ้านราษฎรเป็นระยะออกไปจนใกล้จะต่อแดนเมืองสุพรรณจึงเป็นป่าพง ที่ว่างอยู่ตอนหนึ่งเรียกว่า “ย่านสาวร้องไห้” ชื่อนี้เคยได้ยินเรียกหลายแห่ง หมายความเหมือนกันหมด ว่าที่ตอนนั้นเมื่อถึงฤดูแล้งแห้งผาก คนเดินทางหาน้ำกินไม่ได้

ฉันขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนสาย ออกจะหิว เหลียวหาคนพวกหาบอาหารก็ตามไม่ทัน ถึงบ้านชาวนาแห่งหนึ่ง มีพวกชาวบ้านพากันออกมานั่งคอยรับ และมีแก่ใจหาสำรับกับข้าวตั้งเรียงไว้ที่หน้าบ้าน เตรียมเลี้ยงพวกฉันที่จะผ่านไป ฉันลงจากม้าไปปราศรัยแล้วเปิดฝาชีสำรับดู เห็นเขาหุงข้าวแดงแต่เป็นข้าวใหม่ในปีนั้นมาเลี้ยงกับปลาแห้งปีใหม่นั้นเหมือนกัน นอกจากนั้นมีกับข้าวอย่างอื่นอีกสักสองสามสิ่งซึ่งไม่น่ากิน แต่เห็นข้าวใหม่กับปลาแห้งก็อยากกินด้วยกำลังหิว เลยหยุดพักกินข้าวที่ชาวบ้านเลี้ยง อร่อยพิลึก ยังไม่ลืมจนบัดนี้ สังเกตดูชาวบ้านเห็นพวกเรากินเอร็ดอร่อย ก็พากันยินดี ข้าวปลาบกพร่องก็เอามาเพิ่มเติมจนกินอิ่มกันหมด คงรู้สึกว่าหามาไม่เสียแรงเปล่า เมื่อกินอิ่มแล้วฉันวางเงินปลีกให้เป็นบำเหน็จทุกสำรับ

ตรงนี้จะเล่าถึงเรื่องชาวบ้านเลี้ยงคนเดินทางเลยไปอีกสักหน่อย เคยสังเกตมาดูเหมือนชาวเมืองไทยไม่เลือกว่าอยู่หัวเมืองไหนๆ ถ้ามีแขกไปถึงบ้าน ชอบเลี้ยงอาหารด้วยความอารี มิได้ปรารถนาจะเรียกค่าตอบแทนอย่างไร จะว่าเป็นธรรมดาของชนชาติไทยก็เห็นจะได้ ฉันเคยได้ยินคนไปเที่ยวตามหัวเมืองแม้จนฝรั่ง มาเล่าและชมเช่นนั้นเป็นปากเดียวกันหมด

ฉันได้เคยเห็นเป็นอย่างประหลาดครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ “ประพาสต้น” (คือมิให้ใครรู้จัก) เวลาเย็นวันหนึ่งทรงเรือพายไปในทุ่งทางคลองดำเนินสะดวก ไปถึงบ้านชาวไร่แห่งหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นผู้หญิงกำลังตั้งสำรับไว้จะกินอาหารเย็นกับลูกหลาน พอแลเห็นพระองค์ แกสำคัญว่าเป็นข้าราชการที่ตามเสด็จ เชิญให้เสวยอาหารที่แกตั้งไว้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นสนุกก็รับเชิญ แล้วตรัสชวนพวกที่ตามเสด็จเข้านั่งล้อมกินด้วยกัน

แต่ในขณะเมื่อกำลังเสวยอยู่นั้น ลูกชายเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ มันนั่งแลๆ อยู่สักครู่หนึ่งออกปากว่า “เหมือนนัก” แล้วว่า “แน่แล้ว” ลุกขึ้นนั่งคุกเข่ากราบในทันที พวกเราถามว่าเหมือนอะไร มันบอกว่า “เหมือนรูปเจ้าชีวิตที่เขาตั้งไว้ตามเครื่องบูชา” เลยฮากันทั้งวง เจ้าของบ้านได้พระราชทานเงินตอบแทนกว่าค่าอาหารหลายเท่า

เวลาตัวฉันเองไปตรวจราชการตามหัวเมือง ไปพักร้อนหรือพักแรมใกล้หมู่บ้านที่ไหน พวกชาวบ้านก็มักหาสำรับกับข้าวมาให้โดยมิได้มีผู้ใดสั่งเสีย แม้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินก็ทำเช่นนั้น โดยประสงค์จะเลี้ยงพวกบริพาร พระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานเงินปลีกวางไว้ในสำรับตอบแทนเสมอเป็นนิจ ฉันเองก็ทำเช่นนั้น เพื่อจะรักษาประเพณีที่ดีของไทยไว้มิให้เกิดท้อถอย เพราะเห็นว่าทำคุณไม่ได้รับความขอบใจ เปรียบเหมือนเลี้ยงพระไม่สวด ยถาสัพพี แต่คนเดินทางที่เป็นสาธุชน เขาก็ตอบแทนอย่างไรอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ยังมีอนุสนธิต่อจากการกินไปถึงที่พักนอนของคนเดินทาง ในเมืองไทยนี้ดีอีกอย่างหนึ่งที่มีวัดอยู่ทั่วทุกหนแห่ง บรรดาคนเดินทางถ้าไปโดยสุภาพ ก็เป็นที่หวังใจได้ว่า จะอาศัยพักแรมที่วัดไหน พระสงฆ์ก็มีความอารีต้อนรับให้พักที่วัดนั้นเหมือนกันหมดทุกแห่ง การเดินทางในเมืองไทยจึงสะดวกด้วยประการฉะนี้

พ้นทุ่งนาในแขวงเมืองอ่างทอง ต้องฝ่าพงย่านสาวร้องไห้ไปสักชั่วนาฬิกาหนึ่ง ก็ออกท้องทุ่งนาในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อใกล้จะถึงชานเมืองแลเห็นต้นตาลเป็นป่าใหญ่ คล้ายกับที่เมืองเพชรบุรี นึกขึ้นถึงนิทานที่ได้เคยฟังเขาเล่าเมื่อตามเสด็จไปเมืองเพชรบุรีแต่ฉันยังเป็นทหารมหาดเล็ก ซึ่งอ้างเป็นมูลของภาษิตว่า “เมืองสุพรรณมีต้นตาลน้อยกว่าเมืองเพชรบุรีต้นเดียว” ดูก็ขันอยู่

นิทานนั้นว่ามีชายชาวสุพรรณ ๒ คนไปยังเมืองเพชรบุรี วันหนึ่งเพื่อนฝูงชาวเมืองเพชรหลายคน ชวนให้ไปกินเหล้าที่โรงสุรา พอกินเหล้าเมาตึงตัวเข้าด้วยกัน ก็คุยอวดอ้างกันไปต่างๆ ตามประสาขี้เมา คนที่เป็นชาวเมืองเพชรคนหนึ่ง อวดขึ้นว่าที่เมืองไหนๆ ไม่มีต้นตาลมากเหมือนที่เมืองเพชรบุรี คนที่เป็นชาวสุพรรณขัดคอว่าที่เมืองสุพรรณมีต้นตาลมากกว่าเมืองเพชรเป็นไหนๆ คนชาวเมืองเพชรออกเคือง ว่าเมืองสุพรรณเล็กขี้ปะติ๋ว เมืองอื่นที่ใหญ่กว่าเมืองสุพรรณก็ไม่มีต้นตาลมากเท่าเมืองเพชรบุรี คนชาวเมืองสุพรรณขัดใจตอบว่าอะไรๆ ที่เมืองสุพรรณมีดีกว่าเมืองเพชรถมไป ทำไมต้นตาลจะมีมากกว่าไม่ได้ เลยเถียงกันจนเกิดโทสะทั้งสองฝ่ายเกือบจะชกกันขึ้น คนชาวสุพรรณเห็นพวกเมืองเพชรมากกว่าก็รู้สึกตัว ยอมรับว่า “เอาเถอะ ต้นตาลเมืองสุพรรณมีน้อยกว่าเมืองเพชรต้นหนึ่ง” พวกชาวเมืองเพชรชนะก็พอใจเลยดีกันอย่างเดิม เขาเล่ามาดังนี้
.




92
นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ



นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ





.

นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ

มีคติโบราณถือกันมาแต่ก่อนว่า ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี จะห้ามมาแต่เมื่อใด ห้ามเพราะเหตุใด ถ้าเจ้านายขืนเสด็จไป จะเป็นอย่างไร สืบสวนก็ไม่ได้ความเป็นหลักฐาน เป็นแต่อ้างกันต่างๆ ว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า เกรงจะทำอันตรายบ้าง ว่ามีอะไรเป็นอัปมงคลอยู่ที่เมืองสุพรรณ เคยทำให้เจ้านายที่เสด็จไปเสียพระจริตบ้าง แต่เมื่อมีคติโบราณห้ามอยู่อย่างนั้น เจ้านายก็ไม่เสด็จไปเมืองสุพรรณ เพราะไม่อยากฝ่าฝืนคติโบราณหรือไม่กล้าทูลลา ด้วยเกรงพระเจ้าอยู่หัวจะไม่พระราชทานอนุญาตให้ไป อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าเจ้านายพระองค์ไหนได้เคยเสด็จไปเมืองสุพรรณ จนมาตกเป็นหน้าที่ของฉันที่จะเป็นผู้เพิกถอนคตินั้น ดูก็ประหลาดอยู่

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในปีนั้นฉันออกไปตรวจหัวเมืองต่างๆ ทางฝ่ายเหนือ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วกลับลงมาทางเมืองกำแพงเพชร มาประจบทางขาขึ้นที่เมืองนครสวรรค์ แล้วล่องลงมาถึงเมืองอ่างทอง หยุดพักอยู่ ๒ วัน สั่งเจ้าเมืองกรมการให้หาม้าพาหนะ กับคนหาบหามสิ่งของ เพื่อจะเดินทางบกไปเมืองสุพรรณบุรี

เวลานั้นพระยาอินทรวิชิต (เถียร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง แกได้รับราชการในกรมมหาดเล็กแต่ในรัชกาลที่ ๔ เคยอุ้มฉันมาเมื่อยังเป็นเด็ก จึงคุ้นกันสนิทกว่าขุนนางที่เป็นชาวหัวเมือง แต่สังเกตดูแกไม่เต็มใจจะให้ฉันไปเมืองสุพรรณ บอกว่าหนทางไกลไม่มีที่จะพักแรม และท้องทุ่งที่จะเดินทางไปก็ยังเป็นน้ำเป็นโคลน ถ้าฉันไปเกรงจะลำบากนัก

ฉันตอบว่าเมื่อขึ้นไปเมืองเหนือได้เคยเดินบกทางไกลๆ มาหลายแห่งแล้ว เห็นพอจะทนได้ไม่เป็นไรดอก ทั้งได้สั่งให้เรือไปคอยรับอยู่ที่เมืองสุพรรณ พวกเมืองสุพรรณรู้กันอยู่หมดว่าฉันจะไป ถ้าไม่ไปก็อายเขา แกได้ฟังตอบก็ไม่ว่ากระไรต่อไป แต่แกไม่นิ่ง ออกจากฉันแกไปหาพระยาวรพุทธิโภคัย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในข้าราชการที่ไปกับฉัน ไปถามว่า “นี่ในกรมท่านไม่ทรงทราบหรือว่า เขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ ทำไมเจ้าคุณไม่ทูลห้ามปราม”

พระยาวรพุทธิฯ ก็เห็นจะออกตกใจมาบอกฉันตามคำที่พระยาอ่างทองว่า ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้กลับไปถามพระยาอ่างทอง ว่าห้ามเพราะเหตุใดแกรู้หรือไม่ พระยาอ่างทองบอกมาว่า “เขาว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ถ้าเสด็จไปมักทำให้เกิดภัยอันตราย”

ฉันได้ฟังก็เข้าใจในขณะนั้นว่า เหตุที่พระยาอ่างทองไม่อยากให้ฉันไปเมืองสุพรรณ คงเป็นเพราะแกมีความภักดีต่อพระราชวงศ์ เกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายแก่ฉัน จึงห้ามปราม ถ้าเป็นเจ้านายพระองค์อื่นก็เห็นจะคิดอุบายบอกปัด ไม่จัดพาหนะถวาย แต่ตัวฉันเผอิญเป็นทั้งเจ้าและเป็นนายของแกในตำแหน่งราชการ ไม่กล้าบอกปัด จึงพยายามห้ามอย่างนั้น

ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้ไปชี้แจงแก่พระยาอ่างทองว่า ฉันเคยได้ยินมาแล้วว่าไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ แต่ยังไม่รู้ว่าห้ามเพราะเหตุใด เมื่อได้ฟังคำอธิบายของพระยาอ่างทองว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ฉันคิดว่าเทพารักษ์มีฤทธิ์เดชถึงสามารถจะให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้ จะต้องได้สร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงเพียงนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่ เพราะฉะนั้นฉันเห็นว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณคงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่าฉันไปเมืองสุพรรณเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมือง ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก ไม่เห็นว่าน่าวิตกอย่างไร พระยาอ่างทองจนถ้อยคำสำนวน ก็ไม่ขัดขวางต่อไป
.




93
"นิทานโบราณคดี" พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



"นิทานโบราณคดี" พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
..





..

https://vajirayana.org/นิทานโบราณคดี
"นิทานโบราณคดี" พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานโบราณคดี
หนังสือนิทานโบราณคดี กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ในทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ตามความทรงจำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แบ่งออกเป็นตอน ๆ ตามลักษณะเรื่อง รวมเป็นนิทานทั้งหมด 20 เรื่อง

คำนำนิทานโบราณคดี
นิทานที่ ๑ เรื่องพระพุทธรูปประหลาด
นิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง
นิทานที่ ๓ เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร
นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ
นิทานที่ ๕ เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย
นิทานที่ ๖ เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี
นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย
นิทานที่ ๘ เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)
นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง
นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์
นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลกประหลาด
นิทานที่ ๑๒ เรื่องตั้งโรงพยาบาล
นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย
นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่
นิทานที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง
นิทานที่ ๑๗ เรื่องแม่น้ำโขง
นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ
นิทานที่ ๑๙ เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์
นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น)
นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)
..........

คำนำนิทานโบราณคดี

เรื่องต่างๆ ที่จะเล่าต่อไปนี้ ล้วนเป็นเรื่องจริงซึ่งตัวฉันได้รู้เห็นเอง มิใช่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่เป็นเรื่องเกร็ดนอกพงศาวดาร จึงเรียกว่า “นิทานโบราณคดี” เหตุที่จะเขียนนิทานเหล่านี้ เกิดแต่ลูกที่อยู่ด้วยอยากรู้เรื่องเก่าแก่ก่อนเธอเกิด ถึงเวลานั่งกินอาหารพร้อมกันมักชวนให้เล่าให้ฟังเนืองๆ ส่วนตัวฉันเองเมื่อตกมาถึงเวลาแก่ชราดูก็ชอบเล่าอะไรๆ ให้เด็กฟังเหมือนอย่างคนแก่ที่เคยเห็นมาแต่ก่อน แม้ตัวฉันเองเมื่อยังเป็นหนุ่มก็เคยชอบไต่ถามท่านผู้ใหญ่อย่างเดียวกัน

ยังจำได้ถึงสมัยเมื่อฉันเป็นนายทหารมหาดเล็กประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เวลาค่ำมักชอบไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ที่วังตรงหน้าประตูวิเศษชัยศรี ทูลถามถึงเรื่องโบราณต่าง ๆ ท่านก็โปรดตรัสเล่าให้ฟังโดยไม่ทรงรังเกียจ ดูเหมือนจะพอพระหฤทัยให้ทูลถามด้วยเสียอีก การที่คนแก่ชอบเล่าอะไรให้เด็กฟัง น่าจะเป็นธรรมดามนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่โดยมากเล่าแล้วก็แล้วไป ต่อบางทีจึงมีคนเขียนเรื่องที่เล่าลงไว้เป็นลายลักษน์อักษร

ตัวฉันเองเดิมก็ไม่ได้คิดว่าจะเขียน แต่ลูกหญิงพูนพิสมัย เธอว่า เรื่องต่างๆที่ฉันเล่าให้ฟัง ล้วนมีแก่นสารเป็นคติน่ารู้ ถ้าปล่อยให้สูญเสียน่าเสียดาย เธออ้อนวอนขอให้ฉันเขียนรักษาไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหลานและผู้อื่นต่อไป ฉันจึงได้เริ่มเขียนนิทานโบราณคดีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะเขียนเรื่องชนิดใด สุดแต่นึกเรื่องอะไรขึ้นได้เห็นว่าน่าจะเขียน ก็เขียนลงเป็นนิทาน นึกเรื่องใดได้ก่อนก็เขียนก่อน เรื่องใดนึกขึ้นได้ภายหลังก็เขียนทีหลัง นิทานที่เขียนจึงเป็นเรื่องหลายอย่างต่างชนิดระคนปนกัน แต่หวังใจว่าผู้อ่านจะไม่เสียเวลาเปล่าด้วยอ่านนิทานเหล่านี้.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ปีนัง วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๕
.


.....
ขอขอบคุณเรื่องและภาพจาก
https://vajirayana.org/นิทานโบราณคดี
.




94
ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี



ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี





.


“ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ”

เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสรับสั่ง เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี เหตุที่ทรงตอบเช่นนั้น สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า

"ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี"

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ กราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณมาหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้”
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระสรวล ตรัสว่า “ไปซิ”

.....
ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสเมืองสุพรรณแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ เดี๋ยวนี้คนที่รู้ว่าเคยมีคติเช่นนั้นก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว จึงเขียนนิทานโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้สูญไปเลย
.....

คติโบราณ "ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ"

ตั้งแต่สมัยโบราณมีคติถือกันโดยเคร่งครัดต่อกันมาว่า "ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ" แต่จะห้ามมาแต่ครั้งใดและด้วยเหตุผลประการใดนั้นไม่มีผู้สามารถจะตอบได้ จนกระทั่งถึงต้นรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงถือกันเป็นประเพณีอยู่เช่นนี้เรื่อยมา
จนในปี 2435 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จะเสด็จไปตรวจราชการที่เมืองนี้ พระยาอินทรวิชิต (เถียร) อดีตมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเคยอุ้มกรมพระยาดำรงมาตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ไม่เต็มใจให้เสด็จในกรมเดินทางไปเมืองสุพรรณ อ้างว่าทางมันไกลไม่มีที่พักแรม และท้องทุ่งที่จะเดินทางไปก็ยังเป็นน้ำเป็นโคลน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯก็รับสั่งว่าขึ้นไปเมืองเหนือได้เดินทางไกลมาหลายแห่งแล้ว ทั้งได้สั่งเรือให้คอยรับที่เมืองสุพรรณ คนสุพรรณรู้กันหมดแล้วว่าท่านจะไป ถ้าไม่ไปก็อายเขา

ผู้ว่าฯเมืองอ่างทองได้ฟังรับสั่งก็ได้แต่นิ่ง และไปหาพระยาวรพุทธิโพคัย ซึ่งร่วมมาในขบวนเสด็จด้วย แล้วถามว่า

“นี่ ในกรมท่านไม่ทรงทราบหรือว่าเขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ ทำไมเจ้าคุณไม่ทูลห้ามปราม”

พระยาวรพุทธิฯก็ตกใจ ไปทูลเรื่องที่เจ้าเมืองอ่างทองบอก เสด็จในกรมฯก็รับสั่งให้ไปถามเจ้าเมืองอ่างทองว่า เขาห้ามเพราะเหตุใด
เจ้าเมืองอ่างทองได้ทูลถวายเหตุผลว่า

“เขาว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ถ้าเสด็จไปมักจะทำให้เสียพระจริตและเกิดอันตรายต่างๆ”

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เข้าใจที่เจ้าเมืองอ่างทองไม่อยากให้ไปเมืองสุพรรณ ด้วยความเป็นห่วงว่าจะมีอันตราย แต่ไม่ทรงเชื่อ ไม่ทรงเลิกล้มความตั้งพระทัย ทรงขืนเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรีเป็นพระองค์แรก เพื่อจะทรงตรวจราชการที่เมืองนี้ ก็เพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้น ไม่ใช่การไปทำความชั่ว เทพารักษ์ประจำเมืองคงจะไม่ให้โทษเป็นแน่ คงจะกลับยินดีอนุโมทนาเสียอีก พระยาอ่างทองก็จนด้วยถ้อยคำ ไม่กล้าขัดขวาง

เมื่อเสด็จกลับจากตรวจราชการครั้งนั้นแล้ว ก็ไม่ทรงได้รับภยันตรายประการใด เจ้านายพระองค์อื่นทรงเห็นเช่นนั้นก็ทรงเลิกเชื่อถือคติโบราณ และเริ่มเสด็จประพาสกันต่อมาเนืองๆ
ในปีหนึ่ง สมเด็จฯจึงกราบทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า

“ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ”

จึงเป็นอันว่าคติความเชื่อโบราณที่ว่า ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี เหตุผลเพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีไม่ชอบเจ้านาย อันเป็นเหตุให้เมืองสุพรรณบุรีกลายเป็นเมืองที่ห่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าเมืองทุกคน พยายามรักษาคติความเชื่อนี้ไว้และถือเป็นโอกาสประพฤติผิดคิดมิชอบฉ้อราษฎร์บังหลวง

คติความเชื่อดังกล่าวถูกลบล้างด้วยความกล้าหาญ และความตั้งพระทัยแน่วแน่ในการที่จะทำนุบำรุงเมืองสุพรรณบุรีให้เจริญรุ่งเรืองของเจ้านาย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นับแต่นั้นมา ก็ไม่มีผู้ใดกล่าวถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณอีก

.

ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี





.



95
"ช้างสามเศียร" จ.สมุทรปราการ











.




96
ผนังเก่าเล่าเรื่อง / Re: มะพร้าว
« Last post by ppsan on 05 September 2024, 11:01:59  »
"จาวมะพร้าว"


จาวมะพร้าวนั้นมาจากหัวอ่อนของหน่อมะพร้าวที่กำลังแทงยอดออกมาจากลูกมะพร้าว ด้านในมะพร้าวจะเกิดหน่อที่เป็นตุ่มกลมๆ และจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนเต็มลูก จาวมะพร้าวมีรสชาติหวานมัน ฟูเหมือนฟองน้ำ จาวมะพร้าวนี่เองที่จะโตไปเป็นรากดูดน้ำเพื่อดูดน้ำเลี้ยงลำต้น

จาวมะพร้าว สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง โดยเฉพาะจาวมะพร้าวอ่อน นำมาทำเป็นแกงส้ม ยำต่างๆ ไอศกรีมหรือเชื่อมเป็นขนมก็ได้

ยัง! ยังไม่พอ!!! ครีมขาวๆ ที่เกาะอยู่รอบจาวมะพร้าว ก็นำมาทาผิวและหมักผมได้ด้วยนะครับ

.

จาวมะพร้าว









.




97
ผนังเก่าเล่าเรื่อง / มะพร้าว
« Last post by ppsan on 05 September 2024, 10:46:25  »
มะพร้าว


มะพร้าว
มะพร้าว เป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญในการทำขนมไทยและอาหารไทย

1. มะพร้าวห้าว
มะพร้าวห้าว หรือมะพร้าวแก่จัด เป็นมะพร้าวที่นำมาขูดเพื่อคั้นเป็นกะทิ เพื่อใช้ในการปรุงอาหาร แบ่งเป็น

     1.1 หัวกะทิ
วิธีคั้นหัวกะทิ  โดยใส่น้ำลงไป 1/4  ของเนื้อมะพร้าว และต้องใช้น้ำอุ่น ๆ คั้นกะทิ เพราะน้ำอุ่นจะช่วยให้คั้นกะทิได้ง่ายมากขึ้น แล้วยังช่วยทำให้ความมันของกะทิออกมามากกว่าการคั้นด้วยน้ำอุณหภูมิปกติด้วย

การคั้นครั้งแรก เราเรียกว่า การคั้น ‘หัวกะทิ’ หัวกะทิจะมีความข้น หวาน มัน หอม และสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในอาหารหวาน และ อาหารคาว

     1.2 กะทิกลาง
กะทิกลาง คือ การนำกากจากการคั้นครั้งแรกไปคั้นกับน้ำเป็นครั้งที่สอง เรียกว่า ‘กะทิกลาง’  วิธีคั้นกะทิกลาง ก็คั้นคล้าย ๆ กับการคั้นหัวกะทิ แต่เพิ่มปริมาณของน้ำมากขึ้น หากต้องการเข้มข้นก็เติมน้ำลงไป 1/2 ของเนื้อมะพร้าวแล้วคั้นน้ำได้เลย

     1.3 หางกะทิ
หางกะทิ คือการคั้นกับน้ำเป็นครั้งที่สาม ต่อจากการคั้นกะทิกลาง เมื่อคั้นต่อมาจะได้เป็น ‘หางกะทิ’

กะทิกลางกับหางกะทิ ใช้ในอาหารที่ไม่ต้องผัดเครื่องแกงกับหัวกะทิ แต่ให้เทกะทิกลางและหางกะทิลงเคี่ยวไปกับเครื่องแกงนั้น ๆ เลย เช่น  แกงหน่อไม้ดอง แกงคั่วต่าง ๆ กะทิกลางและหางกะทิยังใช้เคี่ยวกับเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ให้นุ่มก่อนนำไปประกอบอาหารได้อีก

2. มะพร้าวทึนทึก
มะพร้าวทึนทึก เป็นมะพร้าวลักษณะกลางอ่อนกลางแก่ เนื้อนุ่ม หอม มัน อร่อย จึงเหมาะกับการนำมาขูดฝอยเพื่อใช้โรยหน้า หรือคลุกไปกับขนมไทยชนิดต่าง ๆ

ก่อนจะนำมะพร้าวทึนทึกมาโรยหน้า ควรนำมะพร้าวทึนทึกที่ขูดแล้วมานึ่งให้สุกก่อนเพื่อยืดอายุของมะพร้าวให้อยู่ได้นานมากขึ้น เมื่อมะพร้าวนึ่งสุกดีแล้ว นำมาโรยบนหน้าขนมไทยได้หลายชนิด เช่น ขนมมัน ขนมเผือก ขนมตาล ขนมกล้วย ขนมฟักทอง ขนมเปียกปูน  ขนมหยกมณี ฯลฯ

มะพร้าวทึกทึน ที่ใช้สำหรับคลุกขนมอย่างขนมมันสำปะหลัง ขนมขี้หนู ขนมถั่วแปป ขนมต้ม จะขูดเป็นเส้นยาวแต่ก็ยาวไม่เกิน 1 นิ้ว หากจะนำไปกวนทำเป็นไส้กระฉีกของขนมต่าง ๆ เช่น ขนมสอดไส้ เกษรลำเจียก หรือนำไปทำตัวขนม อย่าง กระเช้าสีดา มะพร้าวแก้ว ก็จะขูดแตกต่างจากมะพร้าวที่นำไปคลุกกับขนม

3. มะพร้าวอ่อน
มะพร้าวอ่อน จะเป็นมะพร้าวที่มีน้ำมะพร้าวที่มีรสชาติหอมหวาน เหมาะกับการทำขนม เช่น วุ้นมะพร้าวน้ำหอม ขนมต้มน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าวอัญชัน หรือทำเบเกอรี่ เช่น เค้กมะพร้าวน้ำหอม ทาร์ตมะพร้าวอ่อน ฯลฯ

ส่วนเนื้อมะพร้าวด้านในนั้นสัมผัสนุ่ม ละมุน เหมาะสำหรับขูดใส่ในขนมประเภทหม้อ เช่นบัวลอยไข่หวานมะพร้าวอ่อน สาคูมะพร้าวอ่อน ครองแครงกะทิทะพร้าวอ่อน กล้วยไข่บวชชีมะพร้าวอ่อน ทับทิมกรอบ ทองม้วนมะพร้าวอ่อน


4. มะพร้าวกะทิ
มะพร้าวกะทิ เป็น มะพร้าวแก่ มีน้ำหนักมาก เนื้อสัมผัสของมะพร้าวจะมีลักษณะข้นเหนียว เนื้อหนานุ่ม สีขาวขุ่น นิยมใส่ในขนมที่ทานกับน้ำกะทิ เช่น ลอดช่อง มะพร้าวกะทิลอยแก้ว ขนมใส่น้ำแข็งใส

.....


มะพร้าวห้าว


.

มะพร้าวทึนทึก


.

มะพร้าวอ่อน


.

มะพร้าวกะทิ


.




.



.



.



.



.



98

ภาพวาดกระต่ายขูดมะพร้าว









.




100

ความหลากหลายของ “กระต่ายขูดมะพร้าว”



.



.



.



.



.





.



.



.



.







Pages: 1 ... 8 9 [10]
SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.074 seconds with 17 queries.