Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ... | Recent Posts
Pages: 1 ... 5 6 [7] 8 9 10
61
« Last post by ppsan on 06 February 2025, 09:06:47 »
ไทยหน้าบาน! จีนเลือกอุปกรณ์นักวิทย์ไทยติดยาน “ฉางเอ๋อ 7” เตรียมใช้สำรวจดวงจันทร์ปี 69
ไทยหน้าบาน! จีนเลือกอุปกรณ์นักวิทย์ไทยติดยาน “ฉางเอ๋อ 7” เตรียมใช้สำรวจดวงจันทร์ปี 69 เผยแพร่: 16 ต.ค. 2566 08:33 ปรับปรุง: 16 ต.ค. 2566 09:47 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สำหรับศึกษาสภาพอากาศในอวกาศและรังสีคอสมิกซึ่งได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ไทย จะเดินทางร่วมภารกิจสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ 7” ของจีน
คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ฝ่ายจีนในโครงการฉางเอ๋อ 7 ได้คัดเลือก “อุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก” (Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring) เป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับอวกาศยานฉางเอ๋อ 7
เครื่องมือดังกล่าวมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ติดตั้งเซ็นเซอร์แม่เหล็กซึ่งจะพุ่งเป้าลงไปยังดวงจันทร์เพื่อตรวจสอบสนามแม่เหล็ก และส่งการแจ้งเตือนเหตุการณ์สภาพอากาศในอวกาศ เช่น พายุสุริยะไปยังโลก ในขณะที่เครื่องตรวจจับอีกชิ้นหนึ่งที่จะตรวจวัดรังสีคอสมิกพลังงานต่ำในช่วงพลังงานที่ไม่เคยมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมาก่อน
รายงานระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาร่วมกัน นำโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station)
ปัจจุบัน ทีมวิจัยของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติในกรุงปักกิ่งเพื่อปรับแต่งการออกแบบเชิงวิศวกรรมโดยละเอียด
ตามแผนโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 ยานอวกาศฉางเอ๋อ-7 จะทำการสำรวจภูมิประเทศขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมทั้งองค์ประกอบของทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมในอวกาศ ตั้งเป้าเปิดตัวในปี 2569 เพื่อปูทางสำหรับการก่อสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ซึ่งเป็นฐานที่จีนและพันธมิตรระหว่างประเทศจะสร้างบนดวงจันทร์เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์และการใช้ทรัพยากรในช่วงปี 2573
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก (Deep Space Exploration Laboratory : DSEL) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Adminnistration: CNSA) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ เพื่อร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจอวกาศ ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สนับสนุนอื่นๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะเชิงวิจัยด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ และวิศวกรรมดาราศาสตร์เชิงลึก ครอบคลุมถึงการสำรวจอวกาศ สภาพอวกาศ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง
ที่มา เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
แฟ้มภาพ เอเอฟพี
.
..... ที่มาของบทความ https://mgronline.com/china/detail/9660000092885#google_vignette
.
62
« Last post by ppsan on 06 February 2025, 09:04:22 »
เจาะลึกภารกิจฉางเอ๋อ-6 ของจีนที่ลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
เจาะลึกภารกิจฉางเอ๋อ-6 ของจีนที่ลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชางเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา Article information Author,จอร์จินา แรนนาร์ด Role,ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ 2 มิถุนายน 2024 ทางการจีนเปิดเผยว่า ยานอวกาศไร้ลูกเรือของจีนได้ลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ยังไม่เคยถูกสำรวจหรือแทบไม่มีใครพยายามเข้าไป
องค์การอวกาศแห่งชาติจีนหรือซีเอ็นเอสเอ (CNSA) กล่าวว่า ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 แตะลงสู่พื้นดวงจันทร์บริเวณแอ่งแอตเคนขั้วใต้ (South Pole-Aitken basin) เมื่อเวลา 06.23 น. ตามเวลากรุงปักกิ่งในเช้าวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย. หลังจากปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศเพื่อไปปฏิบัติภารกิจเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมหินและดินล้ำค่าจากภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยยานอวกาศลำนี้สามารถสกัดหินที่เก่าแก่ที่สุดของดวงจันทร์บางส่วนออกจากปล่องภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ขั้วใต้ได้
การลงจอดเต็มไปด้วยความเสี่ยง เนื่องจากเป็นเรื่องยากมากในการสื่อสารกับยานสำรวจ เมื่อเดินทางไปถึงด้านไกลของดวงจันทร์ และจีนเป็นประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จจากการลงจอดของยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 ก่อนหน้านี้ในปี 2019
หลังปล่อยยานออกจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง ยานฉางเอ๋อ-6 ก็เข้าโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อรอลงจอด
จากนั้นส่วนลงจอดของตัวยานจะแยกออกจากวงโคจร เพื่อลงแตะพื้นบริเวณด้านข้างของดวงจันทร์ที่เราไม่สามารถมองเห็นจากโลกได้ เนื่องจากมันหันหน้าออกจากโลกอย่างถาวร
สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีนรายงานโดยอ้างข้อมูลจาก CNSA ว่า ระหว่างที่ลดระดับลงสู่ดวงจันทร์ มีการเปิดใช้งานระบบหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่มองเห็นได้ เพื่อตรวจจับสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติ จากนั้นกล้องความยาวคลื่นแสงที่มองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ (visible light camera) จะเลือกพื้นที่จอดที่ค่อนข้างปลอดภัย โดยพิจารณาจากความสว่างและความมืดของพื้นผิวดวงจันทร์
ยานสำรวจลำนี้ลงจอดด้วยการลอยเหนือพื้นที่ลงจอดที่ปลอดภัยประมาณ 100 เมตร และใช้เครื่องสแกนเลเซอร์ 3 มิติ ก่อนที่จะค่อย ๆ ลงจอดในแนวตั้งอย่างช้า ๆ
CNSA กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้ได้รับการสนับสนุนจากดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2 (Queqiao-2) ของจีน หลังจากนี้ ยานสำรวจลำดังกล่าวจะใช้เวลา 3 วันในการรวบรวบวัตถุจากพื้นผิวในปฏิบัติการ และจะเกี่ยวข้องกับ “นวัตกรรมทางวิศวกรรมมากมาย ที่มีความเสี่ยงสูง และยากลำบากยิ่ง”
“ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นมากที่เราจะได้เห็นหินเหล่านั้น ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดเคยพบเห็นมาก่อน” ศาสตราจารย์จอห์น เพอร์เน็ต-ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาของดวงจันทร์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กล่าว
ที่ผ่านมา เขาเคยวิเคราะห์หินดวงจันทร์อื่น ๆ ที่นำกลับมาจากภารกิจอพอลโลของสหรัฐอเมริกา และภารกิจก่อนหน้านี้ของจีน แต่ ศ.จอห์น กล่าวว่า การวิเคราะห์หินของดวงจันทร์จากพื้นที่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้สามารถหาคำตอบพื้นฐานเกี่ยวกับการก่อตัวของดาวเคราะห์ได้
หินส่วนใหญ่ที่รวบรวมได้จนถึงตอนนี้เป็นหินภูเขาไฟ คล้ายกับที่เราอาจพบได้ในไอซ์แลนด์และฮาวาย แต่วัตถุจากด้านไกลของดวงจันทร์นั้นจะมีเคมีที่แตกต่างกัน
“มันจะช่วยให้เราสามารถตอบคำถามใหญ่ ๆ เหล่านั้นได้ เช่น ดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นได้อย่างไร ทำไมเปลือกโลกจึงก่อตัว ต้นกำเนิดของน้ำในระบบสุริยะคืออะไร” ศ.จอห์น กล่าว
จากรายงานของ CNSA บอกว่า ภารกิจนี้มีความมุ่งหมายรวบรวมวัตถุประมาณ 2 กิโลกรัมโดยใช้สว่านและแขนกล
แอ่งแอตเกนขั้วใต้ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาต คือหนึ่งในแอ่งที่ใหญ่ที่สุดที่รู้จักกันในระบบสุริยะ โดย ศ.จอห์น กล่าวว่า จากพื้นที่นี้ ยานสำรวจสามารถรวบรวมวัตถุที่มาจากส่วนลึกภายในดวงจันทร์ซึ่งเป็นแกนใน
 แคปซูลของยานฉางเอ๋อ-5 นำดินและหินกลับมาในปี 2020 ซึ่งเป็นภารกิจดวงจันทร์ครั้งล่าสุดของจีนก่อนหน้านี้ ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นเขตแดนสำหรับภารกิจถัดจากนี้ที่ประเทศต่าง ๆ กระตือรือร้นที่จะเข้าไปทำความเข้าใจภูมิภาคนี้ เพราะมีโอกาสที่ดีว่ามันอาจจะมีน้ำแข็งปกคลุมอยู่
การเข้าถึงน้ำจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ
หากภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไป ยานสำรวจลำนี้จะกลับสู่โลกพร้อมกับตัวอย่างล้ำค่าที่ถูกบรรจุอยู่ในแคปซูลส่งคืนแบบพิเศษ วัตถุเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้ในสภาวะพิเศษเช่นกันเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของมันไว้ให้ได้มากที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ในประเทศจีนจะได้รับโอกาสเป็นกลุ่มแรกที่ได้วิเคราะห์หิน และนักวิจัยทั่วโลกจะได้รับโอกาสดังกล่าวในภายหลังผ่านการรับสมัคร
นี่เป็นครั้งที่สองที่จีนเริ่มภารกิจเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ในปี 2020 โดยยานฉางเอ๋อ-5 นำวัตถุหนัก 1.7 กิโลกรัมกลับมาจากพื้นที่ที่เรียกว่า มหาสมุทรแห่งพายุ (Oceanus Procellarum) ซึ่งอยู่บนด้านใกล้ของดวงจันทร์ซึ่งเผชิญหน้ากับโลกตลอดเวลา
จีนกำลังวางแผนภารกิจยานอวกาศไร้คนขับอีก 3 ภารกิจในทศวรรษนี้ เนื่องจากจีนกำลังค้นหาน้ำบนดวงจันทร์ และสืบเสาะการตั้งฐานถาวรที่นั่น
ยุทธศาสตร์ที่กว้างขึ้นของรัฐบาลจีน ตั้งเป้าที่จะเห็นนักบินอวกาศจีนเดินบนดวงจันทร์ภายในปี 2030 ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ตั้งเป้าจะนำนักบินอวกาศกลับไปเหยียบดวงจันทร์เช่นกัน โดยนาซาตั้งเป้าที่จะเปิดตัวภารกิจชื่อว่า อาร์เทมิส 3 (Artemis 3) ภายในปี 2026
.
..... ที่มาของบทความ https://www.bbc.com/thai/articles/cv226k45jx7o
.
63
« Last post by ppsan on 06 February 2025, 09:01:36 »
ฉางเอ๋อ 1 ดาวเทียมเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ ดวงแรกของประเทศจีน
ฉางเอ๋อ 1 (จีน: 嫦娥一号) เป็นดาวเทียมเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ ดวงแรกของประเทศจีน
ชื่อ ฉางเอ๋อ มาจากชื่อของนางฟ้าบนดวงจันทร์ตามเทพนิยายของจีน
จีนส่งยานสู่นอกโลกเมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550 จากสถานีอวกาศในมณฑลเสฉวน ต่อมา 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ฉางเอ๋อ 1 เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์อย่างราบรื่น และโคจรเป็นรูปวงรี คาบโคจร 3.5 ชั่วโมง

.
..... ที่มาของบทความ https://th.wikipedia.org/wiki/ฉางเอ๋อ_1
.
64
« Last post by ppsan on 06 February 2025, 08:53:18 »
ฉางเอ๋อ
ฉางเอ๋อ (จีน: 嫦娥;พินอิน: Cháng'é) เป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ตามความเชื่อปรัมปราของจีนและลัทธิเต๋ารวมถึงลัทธิขงจื๊อ โดยที่นางประทับเฉพาะแต่บนดวงจันทร์เท่านั้น.
ฉางเอ๋อ เป็นคนรักของโฮวอี้ ซึ่งเป็นนักยิงธนูแห่งสวรรค์ ในยุคพระเจ้าเหยา ดวงอาทิตย์พร้อมกันส่องแสงอย่างสนุกสนานพร้อมกันถึง 10 ดวง ยังความเดือดร้อนแก่ผู้คนบนโลกมนุษย์อย่างมาก เง็กเซียนฮ่องเต้จึงมีบัญชาให้โฮวอี้ไปจัดการ ด้วยความคะนองโฮวอี้จึงใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ตกลงไปถึง 9 ดวงด้วยกัน เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จึงมีบัญชาให้เนรเทศโฮวอี้และฉางเอ๋อลงไปอยู่บนโลกมนุษย์ เฉกเช่นมนุษย์ธรรมดาทั่วไป ทั้งคู่จึงตกลงกันที่จะไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกเช่นมนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่โฮวอี้ได้ใช้ฝีมือยิงธนูปราบปรามสัตว์ร้ายต่าง ๆ ราบคาบจนผู้คนยกย่องให้เป็นผู้นำ โฮวอี้ลำพองใจจนลืมตัว ฉางเอ๋อสังเกตเห็นการเปลี่ยนไปอันนี้ แต่มิอาจทัดทานได้ วันหนึ่ง โฮวอี้ได้น้ำอมฤตมาจากเจ้าแม่หว่างมู่ หากใครได้ดื่มกินแล้วจะมีชีวิตเป็นอมตะ เป็นหนุ่มสาวตลอดไป แต่โฮวอี้ได้ถูกเฟิงเมิ่ง ชายผู้แอบอิจฉาเขามาตลอดดักยิงตายที่หน้ากระโจมที่พัก ส่วนฉางเอ๋อเศร้าโศกเสียใจต่อการตายของโฮวอี้ และนางก็ได้ดื่มน้ำอมฤตนี้แต่เพียงผู้เดียว และเหาะกลับไปยังดวงจันทร์เหมือนเดิม แต่เพียงผู้เดียวด้วยความเศร้าสร้อย ซึ่งเรื่องราวของนางเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นที่มาของเทศกาลไหว้พระจันทร์ในคืนวันเพ็ญเดือน 8 (กันยายนตามปฏิทินสากล) แต่อย่างไรก็ดี เรื่องราวเกี่ยวกับนางก็มีแตกต่างกันออกไป เช่น ดั้งเดิมฉางเอ๋อมิใช่เทพธิดา แต่เป็นมนุษย์ธรรมดาบนโลก เป็นต้น
ปัจจุบัน ได้มีการตั้งชื่อดาวเทียมของจีนตามชื่อของนาง คือ ฉางเอ๋อ 1, ฉางเอ๋อ 2 รวมถึงฉางเอ๋อ 7 และ 8
 จิตรกรรมเทพีจันทรา ฉางเอ๋อ วาดในสมัยราชวงศ์หมิง
.
..... ที่มาของบทความ https://th.wikipedia.org/wiki/ฉางเอ๋อ
.
65
« Last post by ppsan on 06 February 2025, 08:48:11 »
ดวงจันทร์ ที่มาของวันจันทร์
ดวงจันทร์ ที่มาของวันจันทร์ นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.3 ปี ago

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ) Facebook: คนดูดาว stargazer
.................................................
ดวงจันทร์ ที่มาของวันจันทร์
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว บนท้องฟ้ามีดวงอาทิตย์มากถึง 10 ดวง ทำให้โลกร้อนแล้งไปทั่ว น้ำในแม่น้ำลำคลองแห้งเหือด พื้นดินแห้งแตกระแหง พืชสัตว์และคนล้มตายจำนวนมาก
 ภาพโฮ่วอี้ ที่มาภาพ หนังสือ “สตรีจีนในนิทาน แปลโดย วันทิพย์ สำนักพิมพ์สายใจ [25–] หน้า 41 สวรรค์จึงได้ส่ง “โฮว่อี้ (后羿 Hòu Yì)” นักยิงธนูมายิงดวงอาทิตย์ดับไป 9 ดวง เหลือไว้ 1 ดวง สำหรับส่องแสงสว่างมาจนถึงทุกวันนี้
 ภาพฉางเอ๋อ ที่มาภาพ หนังสือ “สตรีจีนในนิทาน" แปลโดย วันทิพย์ สำนักพิมพ์สายใจ [25–] หน้า 51 หลังจากเสร็จภารกิจแล้ว โฮ่วอี้ได้เดินทางต่อไปจนพบสาวสวยชาวบ้านชื่อ “ฉางเอ๋อ (嫦娥 Cháng’é)” ทั้งสองได้รักกันและแต่งงานกัน โฮ่วอี้ได้รับรางวัลจากการช่วยโลก เป็นยาวิเศษที่กินแล้วเป็นอมตะไม่มีวันตาย เขาจึงให้ยานั้นแก่ฉางเอ๋อ แต่เนื่องจากยามีเพียงเม็ดเดียว ฉางเอ๋อไม่อยากเป็นอมตะเพียงคนเดียวจึงไม่ยอมกิน วันหนึ่งโฮ่วอี้ออกไปล่าสัตว์ ฉางเอ๋ออยู่บ้านเพียงลำพัง “เฝิงเหมิง (逢蒙 Féng Méng)” ลูกศิษย์ของโฮ่วอี้ได้บุกเข้ามาในบ้าน หมายจะเอายาวิเศษไป ฉางเอ๋อไม่ยอมให้ แต่ฉางเอ๋อเป็นหญิง ไม่สามารถสู้แรงชายได้ ฉางเอ๋อจึงตัดสินใจกินยาวิเศษเพื่อไม่ให้เฝิงเหมิงคนร้ายเอาไปได้ ทันทีที่ฉางเอ๋อกินยาวิเศษเข้าไป ร่างของฉางเอ๋อก็ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าเรื่อยๆ ด้วยความรักที่มีต่อโฮ่วอี้ผู้เป็นสามี ฉางเอ๋อจึงขออยู่บนดวงจันทร์ เพราะใกล้โลก ใกล้สามี เมื่อโฮ่วอี้กลับมาถึงบ้านไม่เห็นฉางเอ๋อ มองไปบนท้องฟ้าเห็นฉางเอ๋ออยู่บนดวงจันทร์ ด้วยความรักความคิดถึง โฮ่วอี้จึงได้ทำขนมที่ฉางเอ๋อชอบ เพื่อระลึกถึงฉางเอ๋อ ชาวบ้านคนอื่นๆ เมื่อได้ยินเรื่องนี้ต่างก็พากันทำขนมระลึกถึงฉางเอ๋อ เป็นที่มาของขนมไหว้พระจันทร์ (mooncake) และเทศกาลไหว้พระจันทร์ (Moon Festival) ในวัน 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564
 ภาพกระต่ายบนดวงจันทร์ ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Moon_rabbit
กล่าวกันว่ารูปกระต่ายที่เห็นบนดวงจันทร์คือกระต่ายที่ฉางเอ๋อเลี้ยงไว้
“ฉางเอ๋อ” ยังเป็นชื่อยานสำรวจดวงจันทร์ของจีน ปัจจุบันมี 4 ลำ คือ ฉางเอ๋อ 1-4 ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2562
ดวงจันทร์ (Moon) เป็นที่มาของวันจันทร์ (Monday)
ดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สว่างที่สุดในเวลากลางคืน
ดวงจันทร์เป็นบริวารดวงเดียวของโลก มีลักษณะเหมือนเป็นลูกหินกลมขนาดใหญ่ 1,737 กิโลเมตร หรือเล็กกว่าโลกประมาณเกือบ 4 เท่า
อากาศบนดวงจันทร์เบาบางมาก เราจำเป็นต้องใส่ชุดอวกาศ
เนื่องจากชั้นบรรยากาศบางทำให้อุณหภูมิบนดวงจันทร์แตกต่างกันมาก บริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 127 องศาเซลเซียส บริเวณที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์อุณหภูมิต่ำมากจนติดลบถึง -173 องศาเซลเซียส
แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์น้อยกว่าโลก 6 เท่า ถ้าเราชั่งน้ำหนักบนโลกได้ 60 กิโลกรัม เมื่อไปชั่งน้ำหนักบนดวงจันทร์จะเหลือแค่ 10 กิโลกรัม
ระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงจันทร์ประมาณ 384,400 กิโลเมตร เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์เป็นวงรี ไม่ใช่วงกลม บางช่วงดวงจันทร์จะใกล้โลก ใกล้ที่สุด 356,400 กิโลเมตร และไกลสุด 406,700 กิโลเมตร
ช่วงดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก (timeanddate.com นิยามว่าใกล้กว่า 360,000 กิโลเมตร) เรียกว่า “ซูเปอร์มูน (supermoon)” เมื่อมองจากบนโลกดวงจันทร์จะใหญ่ขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ และสว่างขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงไกลโลกหรือ “ไมโครมูน (micromoon)” (timeanddate.com นิยามว่าไกลกว่า 405,000 กิโลเมตร)
ซูเปอร์มูนครั้งต่อไปคือวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ไมโครมูนครั้งต่อไปคือวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองพร้อมกับหมุนรอบโลกไปด้วย โดยใช้เวลาหมุนรอบตัวเองเท่ากับหมุนรอบโลกคือ 27.32 วัน ทำให้เมื่อมองจากโลกแล้วดวงจันทร์เหมือนโดนล็อก เราจะเห็นดวงจันทร์เพียงด้านเดียว (คือด้านที่เห็นเป็นรูปกระต่าย) เรียกว่า “ด้านใกล้ (near side)”
 ภาพเปรียบเทียบดวงจันทร์ด้านใกล้ (ซ้ายมือ) ที่มองเห็นจากโลก กับด้านไกล (ขวามือ) ที่มองไม่เห็นจากโลก ถ่ายโดยยานอวกาศ Lunar Reconnaissance Orbiter ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Moon
อีกด้านหนึ่งคือ “ด้านไกล (far side)” เราจะไม่สามารถมองเห็นจากโลกได้เลย บางคนเรียกว่า “ด้านมืด (dark side)” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะด้านนี้ก็ได้รับแสงอาทิตย์เหมือนกัน ไม่ได้มืดตลอดเวลา (วันที่เราเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ด้านนี้จึงจะมืด เพราะไม่ได้รับแสงอาทิตย์)
แต่เนื่องจากโลกก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย ทำให้เมื่อมองจากโลก ดวงจันทร์จะต้องใช้เวลาวิ่งตามเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยกว่าจะหมุนครบ 1 รอบโลก คือเพิ่มจาก 27.32 วัน เป็น 29.53 วัน หรือประมาณเกือบ 30 วัน หรือ 1 เดือน คำว่า “เดือน” ก็แปลว่าดวงจันทร์ ภาษาอังกฤษคำว่า “month” ก็คือ moon ดวงจันทร์เช่นกัน
เนื่องจากรูปร่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงทุกวัน สังเกตได้ง่าย จึงนำมาใช้บอกระยะเวลา หรือสร้างเป็นปฏิทิน เรียกว่า ปฏิทินจันทรคติ (lunar calendar คำว่า “lunar” แปลว่า ดวงจันทร์)
แต่ละประเทศอาจมีการกำหนดวันในปฏิทินจันทรคติแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ปฏิทินจันทรคติของไทย ปีปกติมี 12 เดือน เดือนคี่มี 29 วัน (ไม่มีวันแรม 15 ค่ำ) เดือนคู่มี 30 วัน (มีวันแรม 15 ค่ำ)
ในบางปีจะเพิ่มวันแรม 15 ค่ำ เดือน 7 เรียกว่า “อธิกวาร” หรือบางปีจะเพิ่มเดือนอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือน เรียกว่า “อธิกมาส” เพื่อปรับวันในปฏิทินให้สอดคล้องกับการโคจรของดวงจันทร์ที่มีเศษ 0.53 วัน สอดคล้องกับฤดูกาลจริงๆ และสอดคล้องกับปฏิทินสุริยคติ (solar calendar) หรือปฏิทินหลักที่ปัจจุบันนิยมใช้กันทั่วโลก คือปฏิทินที่แบ่งเป็นเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ฯลฯ เป็นปฏิทินที่สร้างจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก
สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จะกำหนดวันขึ้นเดือนใหม่แต่ละเดือนโดยดูจากดวงจันทร์จริงๆ บนท้องฟ้า (ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าเหมือนปฏิทินจันทรคติไทย ตัวอย่างเช่น วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564 กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10)
สำหรับประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรีจะมีประกาศให้ชาวมุสลิมจะออกไปดูจันทร์เสี้ยวแรก (هلال hilal ฮิลาล) ในวันที่ 29 ของเดือนอิสลาม หลังดวงอาทิตย์ตก ถ้าเห็นดวงจันทร์ ก็จะเข้าสู่วันที่ 1 ของเดือนใหม่ ถ้าไม่เห็นดวงจันทร์ (ไม่ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด) จะเป็นวันที่ 30 ของเดือนเก่า และวันถัดไปจึงจะเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่
การเข้าวันใหม่ของอิสลามจะเริ่มจากหลังดวงอาทิตย์ตก ต่างจากของตะวันตกที่เริ่มหลังเที่ยงคืน หรือของไทยที่เริ่มตอนดวงอาทิตย์ขึ้น
แสงจันทร์ความจริงคือแสงอาทิตย์สะท้อนพื้นผิวดวงจันทร์แล้วมาเข้าตาเราบนโลก การที่เราเห็นรูปร่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงทุกวันเกิดจากการที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก ทำให้มุมแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบดวงจันทร์เปลี่ยนไป จึงเห็นเป็นข้างขึ้นข้างแรม
หลุมบนดวงจันทร์เกิดจากอุกกาบาต ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งชนดวงจันทร์ ส่วนพื้นที่สีเข้ม (ที่เห็นเป็นกระต่าย) คือลาวาที่แข็งตัว (คนสมัยก่อนเข้าใจผิดว่าเป็นทะเล และยังคงเรียกชื่อเป็นทะเลมาจนทุกวันนี้)
ดวงจันทร์เป็นสถานที่เดียวนอกโลกที่มนุษย์เคยไปเยือน โดยเริ่มจากวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2502 ยานลูนา 2 (Luna 2) ของโซเวียต เป็นยานที่ไม่มีคน สามารถสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก (เป็นการพุ่งชน ไม่ใช่การลงจอดแบบนุ่มนวล)
อีก 10 ปีต่อมา ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) นักบินอวกาศสหรัฐอเมริกา โครงการอพอลโล 11 (Apollo 11) เป็นมนุษย์คนแรกที่ก้าวเหยียบลงบนดวงจันทร์
 ภาพนีล อาร์มสตรอง ผู้เหยียบดวงจันทร์คนแรก ที่มา NASA https://www.nasa.gov/images/content/464436main_S69-31741_full.jpg
ขณะเมื่อก้าวเท้าลงบนดวงจันทร์นีลได้กล่าวว่า “นั่นเป็นก้าวเล็กๆ ของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” (“That’s one small step for [a] man, one giant leap for mankind.”) ประโยคนี้ได้กลายเป็นประโยคที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
ปัจจุบันมีมนุษย์เคยลงไปบนดวงจันทร์แล้วทั้งหมดรวม 12 คน (พ.ศ. 2512-2515) และมีโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ที่จะส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2567 โดยจะมีผู้หญิงคนแรกที่จะได้ลงบนดวงจันทร์ (อาร์ทิมิสเป็นชื่อน้องสาวฝาแฝดของอพอลโลในตำนานกรีก)
ปรากฏการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับดวงจันทร์คือ จันทรุปราคา (lunar eclipse) สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เกิดจากดวงจันทร์เข้าไปในเงาของโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์แหว่งหรือมืดคล้ำลงหรือเป็นสีแดง และสุริยุปราคา (solar eclipse) เกิดจากดวงจันทร์ไปบังดวงอาทิตย์ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์แหว่งหรือมืดไป
ในภาษาไทยใช้ได้ทั้งคำว่า “จันทรุปราคา” และ “จันทรคราส” กับ “สุริยุปราคา” และ “สุริยคราส” คำว่า “อุปราคา” แปลว่า ทำให้ดำ หรือ ทำให้มีมลทิน ส่วน “คราส” แปลว่า กิน มาจากตำนานฮินดูเรื่อง พระราหูกินหรืออมพระจันทร์ และพระอาทิตย์ เนื่องจากพระจันทร์และพระอาทิตย์ไปฟ้องพระนารายณ์ว่า พระราหูแอบไปกินน้ำอมฤต พระนารายณ์กริ้วเลยขว้างจักรตัดตัวพระราหูขาดเป็นสองท่อน เนื่องจากพระราหูกินน้ำอมฤตแล้วไม่ตาย เมื่อเจอพระจันทร์หรือพระอาทิตย์ก็จะแก้แค้นด้วยการกินหรืออมไว้ เมื่อชาวบ้านเห็นปรากฏการณ์นี้ก็จะช่วยกันทำเสียงดังไล่พระราหูให้ปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์
ในทางวิชาการนิยมใช้คำว่า “จันทรุปราคา” มากกว่า “จันทรคราส” และใช้ “สุริยุปราคา” มากกว่า “สุริยคราส”
จันทรุปราคาครั้งต่อไปที่เห็นได้ในประเทศไทยคือ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 บางพื้นที่จะเห็นเป็นจันทรุปราคาบางส่วน (partial lunar eclipse) เห็นดวงจันทร์แหว่งหรือคล้ำลงบางส่วน (ด้านบน) และจันทรุปราคาเงามัว (penumbral lunar eclipse) ดวงจันทร์มัวลงเล็กน้อย

ภาพดวงจันทร์ตกตรงวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เป็นภาพต้นฉบับไม่ได้ตัดแต่งใดๆ ถ่ายโดยผู้เขียน จะเห็นเหมือนดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ ความจริงดวงจันทร์มีขนาดเท่าเดิม แต่เนื่องจากมีอาคารและต้นไม้มาเปรียบเทียบจึงดูเหมือนดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า มายาจันทร์ (moon illusion)
วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (total lunar eclipse) จะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง
สุริยุปราคาครั้งต่อไปที่เห็นได้ในประเทศไทยคือ สุริยุปราคาบางส่วน (partial solar eclipse) วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2566 เห็นได้เฉพาะบางจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง เช่น ยะลา ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ 4 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งต่อไปคือวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2570 กรุงเทพฯ ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ 11 เปอร์เซ็นต์
สุริยุปราคาวงแหวน (annular solar eclipse) 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2574 เห็นได้เฉพาะบางจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไม่มิด เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์ไกลโลก เมื่อมองจากโลกเห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์คล้ายวงแหวน
สุริยุปราคาเต็มดวง (total solar eclipse) 11 เมษายน พ.ศ. 2613 เห็นได้เฉพาะบางจังหวัดในภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก
จันทรุปราคาและสุริยุปราคาไม่เกิดทุกเดือนเนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์เอียง 5 องศา เมื่อเทียบกับโลก
นอกจากโลกแล้ว ดาวเคราะห์อื่นบางดวงก็มีดวงจันทร์เช่นกัน โดย กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) เป็นคนแรกที่ค้นพบดวงจันทร์ 4 ดวง ของดาวพฤหัสบดีด้วยการส่องกล้องโทรทรรศน์เมื่อปี พ.ศ. 2153
ปัจจุบันมีการค้นพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะดังนี้คือ (เรียงลำดับจากดวงอาทิตย์) ดาวพุธและดาวศุกร์ไม่มีดวงจันทร์, โลกมีดวงจันทร์ 1 ดวง, ดาวอังคารมีดวงจันทร์ 2 ดวง, ดาวพฤหัสบดี 79 ดวง, ดาวเสาร์ 82 ดวง, ดาวยูเรนัส 27 ดวง และดาวเนปจูน 14 ดวง
..
นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. ย่อยโลกข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์เพื่อคุณ sarawit@nstda.or.th
ที่มาของบทความ https://www.nstda.or.th/sci2pub/moon-and-monday/
.
66
« Last post by ppsan on 05 February 2025, 09:23:06 »
Pages: 1 ... 5 6 [7] 8 9 10
|