Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 17:13:26

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  Profile of ppsan  |  Show Posts  |  Messages

Show Posts

* Messages | Topics | Attachments

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Messages - ppsan

Pages: [1] 2 3 ... 227
1

พระที่นั่งชุมสาย

พระที่นั่งชุมสาย เป็นพระที่นั่งชั่วคราว ลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยมจำหลักลายปิดทอง มีเสา ๔ ต้น หลังคาคาดด้วยผ้าขาว มีระบาย ๓ ชั้น คลุมด้วยตาข่าย มีพู่ห้อยที่ระบายชั้นล่าง ด้านบนทำเป็นลวดลายปิดทอง ตรงกลางเป็นรูปพระมหามงกุฎ สามารถถอดเก็บและเคลื่อนย้ายไปประกอบได้ใหม่เมื่อต้องการ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ หรือสำหรับวางเครื่องบวงสรวงในพระราชพิธีสำคัญ
(ขอบพระคุณข้อมูลจากเพจ พิกุลบรรณศาลา)

.











6




.


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/Pikullibrary

.





2
พระที่นั่งชุมสาย


“พระที่นั่งชุมสาย” และ "ผ้าทิพย์ปักลายพระครุฑพ่าห์" บนพลับพลาที่ประทับในพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ พระลานพระราชวังดุสิต



.


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/aksorn.pichai?hc_ref=ARSZFQY548Axfbwloc_K0fKpbfACE5jNInxR8jeDCJsXYltQM2ti3lixzo2Ua_waqQs

.





4
พระปฐมบรมราชโองการ




พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านพิภพสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงบริบูรณ์ด้วยพระบรมขัตติยราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณีแล้ว เมื่อวันเสาร์ ที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

       เมื่อพระมหาราชครูพิธีศรีวิสิทธิคุณ  ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์  ขัตติยราชวราภรณ์  เครื่องราชูปโภค  และพระแสง  ถวายอนุษฏุภศิวมนตร์และอนุษฏุภวิษณุมนตร์  สรรเสริญพระเป็นเจ้าตามคติเทวราชา  และกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายชัยมงคลแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” จากนั้น ทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกิจครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจรรยาดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้

       พระปฐมบรมราชโองการในรัชกาลปัจจุบัน อันเป็นประถมธรรมิกราชวาจาองค์นี้ แสดงให้เห็นถึงพระบรมราชปณิธานที่สืบเนื่องมาโดยตรงจากสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า โดยทรงย้ำถึง “หน้าที่” ในการที่จะทรง  “ครองแผ่นดิน” ด้วย “วิธีการ” ก็คือ “โดยธรรม” อันมี “เป้าหมาย” คือ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร” ทรงยืนยันว่าจะทรงวางพระองค์ในฐานะพระประมุขผู้ทรงครองแผ่นดิน ภายในกรอบของความเป็นธรรม และมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรในอาณาพระบารมี ตามราชนีติธรรมนีติของความเป็นธรรมิกราชา

       ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงประกาศอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่แห่งรัชกาลปัจจุบัน ในอันที่จะ “สืบสาน รักษาและต่อยอด” พระบรมราโชบาย แนวพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตรที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระมหากรุณาพระราชทานและทรงบำเพ็ญเป็นเนติแบบอย่างอันประเสริฐไว้แล้วทุกรัชสมัย มาเป็นครรลองของการกำหนดพระบรมราโชบาย แนวพระราชดำริ ตลอดจนการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร

       เราทั้งหลายผู้อาศัยใต้พระบรมโพธิสมภาร จึงพึงเทิดทูนพระปฐมบรมราชโองการนี้ไว้เป็นอุดมการณ์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม พร้อมปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและพากเพียรตามหน้าที่ร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกันในอันที่จะพลีอุทิศสรรพกำลังอาสาสนองงานแผ่นดิน เพื่อก่อให้เกิดผลเป็นความผาสุกมั่นคงของราชอาณาจักรไทยด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ และด้วยเป้าหมายสูงสุดคือประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรทุกหมู่เหล่า สมพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญหลักชัยของปวงประชาชาติไทยที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”  ทุกประการ.

“โอมฺ เทวสฺส อิมํ ปฐมํ โองฺการภูตํ สูรสีหนาทํ สมฺปฏิจฺฉามิ ฯ”

ข้าพระพุทธเจ้า ขอรับพระบรมราชโองการสุรสิงหนาท ประถมธรรมิกราชวาจา
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะฯ

.





5
พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10



ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
The Coronation of King Rama X

พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 - พระราชทานปฐมบรมราชโองการ
         
เฉลิมพระนาม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน พระปฐมบรมราชโองการ


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD

.



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam

          หลังจากพิธีในช่วงเช้าของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เสร็จสิ้นลง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งการออกพระนาม จะต้องออกพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          โดยจะทรงพระปรมาภิไธยเต็ม "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam

.



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam

          ในส่วนของการขานพระนาม ใช้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกเสียงอ่าน ระ-บาท-สม-เด็จ-พระ-ปอ-ระ-เมน-ทะ-ระ-รา-มา-ธิ-บอ-ดี-ศรี-สิน-ทร-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กรณ-พระ-วะ-ชิ-ระ-เกล้า-เจ้า-อยู่-หัว โดยถือเป็นพระปรมาภิไธย จารึกในพระสุพรรณบัฏ

          ทั้งนี้ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน พระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

.



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD

.



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD

.



ภาพจาก สปริงนิวส์

.



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD

.



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD

.


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://king.kapook.com/view209558.html

.





6
ราชาภิเษก: สัญลักษณ์ ความหมาย และความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ทั่วโลก


ราชาภิเษก: สัญลักษณ์ ความหมาย และความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ทั่วโลก



16 เมษายน 2019

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แห่งรอบทศวรรษ ซึ่งสถาบันกษัตริย์ของหลายประเทศทั่วโลก "ผลัดแผ่นดิน" เปลี่ยนรัชสมัย

เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ระยะหนึ่ง ตามธรรมเนียมของหลายประเทศจะต้องมีการประกอบพิธีเพื่อเป็นการสถาปนาให้ทรงดำรงสถานะพระราชาหรือพระจักรพรรดิอย่างสมบูรณ์ ซึ่งพิธีนี้เรียกว่า "ราชาภิเษก" โดยในแต่ละวัฒนธรรมมีขั้นตอนและจุดสำคัญในการประกอบพิธีนี้แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีสวมพระมหามงกุฎ (coronation) ซึ่งเป็นจุดเน้นในพิธีราชาภิเษกของวัฒนธรรมตะวันตก หรือพิธีขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ (enthronement) ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกก็ตาม


"ราชาภิเษก" โดยเนื้อแท้นั้นคืออะไร

เมื่อกล่าวถึงพิธีราชาภิเษก สิ่งที่หลายคนคุ้นตาจากการชมภาพบันทึกประวัติศาสตร์ของพิธีดังกล่าวทั้งจากของไทยและของต่างประเทศ คือบรรยากาศการประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่งดงามอลังการละลานตา แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพตรึงตาตรึงใจเหล่านี้ คือการสื่อความหมายสำคัญในการสถาปนาให้บุคคลผู้หนึ่งขึ้นเป็นจอมคนเหนือประชาราษฎร์ทั้งแผ่นดิน



พิธีราชาภิเษกมักจะเชื่อมโยงกับคติความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ โดยแสดงถึงการที่อำนาจเบื้องบน เช่นสวรรค์ ทวยเทพ หรือพระผู้เป็นเจ้า ให้การยอมรับบุคคลที่ขึ้นเป็นกษัตริย์

ในประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา พิธีกรรมส่วนใหญ่มาจากแบบอย่างของชาวยิวที่มีระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิล เช่น กษัตริย์พระองค์ใหม่จะได้รับการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ตามจุดสำคัญทั่วร่างกายในพิธีราชาภิเษก ซึ่งแสดงถึงการที่ทรงรับถ่ายทอด "เทวสิทธิ์" (divine right) มาจากพระเจ้า ทำให้ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครอง รวมทั้งในการตัดสินประเด็นต่าง ๆ ทางศาสนาและจิตวิญญาณของประชาชน

.
อังกฤษ



สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์อังกฤษในยุคปัจจุบัน ขั้นตอนที่ตามมาหลังจากการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์คือการถวายชุดคลุมและผ้าคลุมยาว รวมทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (crown jewels) ซึ่งชิ้นสำคัญได้แก่ลูกโลกทองคำประดับอัญมณี (orb) ที่มีสัญลักษณ์กางเขนอยู่ด้านบน สื่อถึงการปกครองของพระเยซูคริสต์เหนือผืนโลก นอกจากนี้ยังมีพระธำมรงค์ (แหวน) เป็นสัญลักษณ์ของการที่กษัตริย์ทรง "อภิเษกสมรส" หรือทรงผูกมัดพระองค์เองเข้ากับพระราชอาณาจักร ส่วนพระคทา (scepter) ที่มีหัวเป็นรูปนกพิราบหรือกางเขนนั้น แสดงถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพระจิต (Holy Ghost) ในคริสต์ศาสนา

ถัดจากนั้นจะเป็นพิธีสวมพระมหามงกุฎ โดยอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี นักบวชสมณศักดิ์สูงสุดของศาสนจักรแห่งอังกฤษ (The Church of England) จะเป็นผู้วางพระมหามงกุฎลงบนพระเศียร ตามมาด้วยพิธีเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ เพื่อให้บรรดาพระราชวงศ์และขุนนางเข้าเฝ้าถวายพระพร ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละขั้นตอนในพิธีราชาภิเษกนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งกษัตริย์ โดยแต่ละขั้นตอนแสดงถึงการถวายพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในหลากหลายด้านที่แตกต่างกันออกไป



การใช้บรรดานักบวชสมณศักดิ์สูงเป็นผู้ประกอบพิธีราชาภิเษก ยังแสดงถึงการสนับสนุนของศาสนจักรซึ่งเป็นขุมพลังสำคัญต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการคัดค้านต่อต้านของชนชั้นปกครองและกษัตริย์จากแคว้นอื่น เนื่องจากในอดีตผู้ที่ขึ้นครองราชสมบัติมักจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเหล่ากษัตริย์ด้วยกันอีกด้วย

.
เอเชีย


พิธีราชาพิเษกของกษัตริย์ที่กัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2407 ใช้น้ำสรงร่างกายเพื่อชำระล้างและก้าวสู่ชีวิตใหม่

สำหรับประเทศในเอเชีย ที่นับถือพุทธศาสนาหรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิธีราชาภิเษกมีความเกี่ยวข้องกับคติของอินเดียโบราณที่ใช้ "น้ำ" เป็นสื่อในการสถาปนาแต่งตั้งบุคคลสำคัญ โดยถือว่าการใช้น้ำรดหรือสรงชำระร่างกาย แสดงถึงการก้าวย่างเข้าสู่ช่วงชีวิตใหม่และมีสถานะใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นใจความสำคัญของพิธีราชาภิเษกในคติแบบพราหมณ์-ฮินดูก็คือพิธีการสถาปนากษัตริย์ด้วยการสรงน้ำหรือ "มุรธาภิเษก" นั่นเอง ซึ่งถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากมนุษย์ธรรมดาไปเป็นสมมติเทพหรืออวตารของพระเจ้า


พิธีราชาภิเษกทางตอนใต้ของประเทศอินเดียมีนักบวชเข้าร่วม 40 คน และแขกกว่า 1,000 คน

สำหรับกษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ พิธีราชาภิเษกยังแสดงออกถึงความเป็นจักรพรรดิราช หรือกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจบารมีเหนือกษัตริย์อื่น ๆ และความเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตอีกด้วย โดยคติความเชื่อเรื่องแก้ววิเศษ 7 ประการซึ่งเป็นเครื่องประดับบารมีของพระจักรพรรดิราชนั้น ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์หลายพระองค์มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 5 อย่างหรือ "เบญจราชกกุธภัณฑ์" ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดโบกวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นเครื่องแสดงถึงพระบารมีในด้านต่าง ๆ


วัฒนธรรมชาติอื่นๆ

แม้แต่ละประเทศจะมีรายละเอียดในการประกอบพิธีราชาภิเษกแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดยังคงสาระสำคัญในการสื่อความหมายถึงการยอมรับและสถาปนาบุคคลผู้หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยในบางครั้งพิธีราชาภิเษกยังรวมถึงการยอมรับจากประชาชนซึ่งเป็น "พลังอำนาจจากเบื้องล่าง" นอกเหนือไปจากการยอมรับของศาสนาจักรและอำนาจเบื้องบนอีกด้วย เช่นพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์เนปาล จะต้องทรงรับน้ำสรงมุรธาภิเษกจากตัวแทนวรรณะทั้งสี่ คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร



ไม่จำเป็นว่าการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ในยุโรปจะต้องมีพิธีสวมพระมหามงกุฎ (coronation) เสมอไป บางประเทศ เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ไม่เคยมีการประกอบพิธีดังกล่าวมาก่อนในประวัติศาสตร์ ส่วนกษัตริย์สเปนนั้นมีพระราชพิธีราชาภิเษกซึ่งรวมเอาขั้นตอนการสวมพระมหามงกุฎเอาไว้ด้วยเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อหลายร้อยปีก่อน

กรณีของมาเลเซียซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีจะต้องได้รับเลือกจากบรรดาสุลต่านผู้ครองรัฐจำนวน 9 รัฐ เพื่อผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองราชย์ในตำแหน่งประมุขสูงสุดหรือ "ยังดีเปอร์ตวนอากง" ทุก 5 ปีนั้น พิธีราชาภิเษกเป็นไปอย่างเรียบง่าย สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเครื่องประดับพระเศียรแบบดั้งเดิมแทนพระมหามงกุฎ เสด็จเข้าในกระบวนแห่ไปยังพระราชวัง ก่อนจะทรงรับพระคัมภีร์อัลกุรอานมาจุมพิตและแสดงความเคารพ สื่อถึงการที่ทรงรับจะเป็นองค์อุปถัมภกและผู้พิทักษ์ปกป้องศาสนาอิสลาม จากนั้นทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าบรรดาพระราชวงศ์ คณะรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญทางการเมือง



บรูไนเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอีกประเทศหนึ่งที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพิธีราชาภิเษกของสุลต่านแห่งบรูไนจะเริ่มต้นด้วยการปักธงสีเหลืองและแดงบนเนินเขา 2 แห่ง เพื่อประกาศแก่ประชาชนและชาวต่างประเทศว่าสุลต่านพระองค์ใหม่ได้ขึ้นครองราชย์แล้ว และจะมีพิธีราชาภิเษกในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งในพิธีดังกล่าวสุลต่านจะทรงกริช "สินากา" (Si Naga) เสด็จเข้าในกระบวนแห่ไปยังพระราชวังเพื่อทรงรับการสวมพระมหามงกุฎและการถวายคำสัตย์ปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีจากเหล่าข้าราชบริพาร ซึ่งคนเหล่านี้ต้องชักดาบประจำตัวของตนออกจากฝักขณะกล่าวคำปฏิญาณด้วย

ส่วนพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ในแอฟริกานั้นแตกต่างออกไปอีกอย่างมาก เช่นการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์แห่งสวาซิแลนด์ ซึ่งทรงเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "เอสวาตินี" เมื่อไม่นานมานี้ มีการประกอบพิธีหลายขั้นตอนเป็นการลับ แต่ในท้ายที่สุดกษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จออกและทรงเข้าร่วมในพิธีเต้นรำ โดยจะทรงเครื่องประดับทำจากขนนกแบบเต็มยศตลอดพิธีเต้นรำที่ยาวนานหลายชั่วโมง


ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยกับราชาภิเษกในโลกยุคใหม่

พิธีราชาภิเษกยังแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาและยุคสมัยในสังคมต่าง ๆ โดยเห็นได้ชัดที่สุดในกรณีการเปลี่ยนชื่อรัชสมัยและการนับปีรัชศกตามการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงที่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นี้ มีการเปลี่ยนผ่านจากยุคแห่งสงครามในรัชสมัยโชวะ มาถึงยุคแห่ง "สันติภาพทั่วหล้า" ในรัชสมัยเฮเซ และกำลังก้าวเข้าสู่รัชสมัย "เรวะ" ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 ซึ่งชื่อของรัชสมัยนี้หมายถึง "ความสันติปรองดองอันรุ่งเรือง" สะท้อนถึงความปรารถนาการเปลี่ยนแปลงของชาวญี่ปุ่น จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำมายาวนาน สังคมผู้สูงวัย การเมืองไร้เสถียรภาพ เข้าสู่ยุคแห่งความหวังครั้งใหม่



ทุกวันนี้พิธีราชาภิเษกในหลายประเทศมีการปรับเปลี่ยนให้เรียบง่าย สอดคล้องกับยุคสมัย และเข้าถึงประชาชนในทุกระดับมากขึ้น รวมทั้งลดความเกี่ยวข้องกับศาสนาและอำนาจเหนือมนุษย์ลง กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอาจจะเพียงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณต่อรัฐสภา หรือต่อกลุ่มผู้แทนพสกนิกรทุกหมู่เหล่า โดยถ้อยคำที่ใช้ในพิธีนี้เปลี่ยนแปลงไปได้ตามบริบทและความเหมาะสมของยุคสมัย เช่นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ 3 ข้อ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1953 ว่าจะทรงครองราชสมบัติภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบ้านเมือง จะทรงดำรงความเป็นธรรมด้วยพระเมตตา และจะทรงพิทักษ์รักษาศาสนจักรแห่งอังกฤษ


มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะจะทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในเดือนพฤษภาคมนี้

การที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงล่วงเข้าวัยชราสละราชสมบัติให้แก่พระรัชทายาทในเวลาอันสมควร ก็เป็นอีกแนวโน้มหนึ่งของโลกสมัยใหม่ที่เริ่มมีการปฏิบัติกันแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2013-2014 สถาบันกษัตริย์ของเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสเปน มีการผลัดแผ่นดินด้วยวิธีการดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ส่วนประเทศในเอเชียอย่างภูฏานนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้สละราชสมบัติแก่พระราชโอรสมาตั้งแต่ปี 2008 ตามมาด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นซึ่งทรงตัดสินประกาศแนวทางดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว และจะมีพิธีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. นี้



สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551
อย่างไรก็ตาม มีกษัตริย์ของยุโรปหลายประเทศที่ยืนยันจะยังไม่สละราชสมบัติตามแบบอย่างที่กำลังมาแรง เช่นสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 ของนอร์เวย์ พระชนมพรรษา 82 พรรษา เนื่องจากทรงถือว่าคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้กับรัฐธรรมนูญของประเทศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น เป็นคำมั่นสัญญาที่จะต้องทรงยึดถือ "ตลอดชีวิต"

ส่วนสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน พระชนมพรรษา 73 พรรษา มีพระดำรัสว่าจะยังไม่ทรงสละราชสมบัติให้แก่เจ้าหญิงวิกตอเรีย องค์มกุฎราชกุมารีซึ่งทรงเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ในหมู่ประชาชนอย่างสูง เพราะสำหรับพระองค์แล้วประเด็นนี้ถือเป็น "เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า"

.


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://www.bbc.com/thai/47944565

.





7
บรมราชาภิเษก : พระปฐมบรมราชโองการ ร. 10


บรมราชาภิเษก : พระปฐมบรมราชโองการ ร. 10



4 พฤษภาคม 2019

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

เวลา 12.18 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ขณะประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า "เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

หลังเข้าพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ทรงรับน้ำอภิเษก และทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งนี้เมื่อทรงประกอบพิธีครบทั้ง 3 ส่วนนี้ จึงถือได้ว่า "เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์"

ก่อนหน้านี้ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ได้กล่าวเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกรลาส จบแล้ว กราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศจากพระแท่นมณฑล มีพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เบญจราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงราชศัตราวุธ มามอบให้ประธานพระครูพราหมณ์



จากนั้นเวลา 12.16 น. ประธานพระครูพราหมณ์ถวายอนุษฏุภ ศิวมนตร์ และถวายอนุษฏุภวิษณุมนตร์ โดยเอ่ยประโยคสำคัญเป็นครั้งแรกว่า "ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม..." และระบุอีกตอนหนึ่งว่า "ขอทรงรับพระมหาสิริราชสมบัติ ถวัลยราชสมบัติ ขอจงทรงแผ่นปกครองทั่วปฐพี ขอจงทรงชนะอริราชดัสกร ทุกเมื่อเทอญ" ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นเป็น "พระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์"

ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย และทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจริยา

หลังจากนี้การออกพระนามในหลวง ร. 10 จะเป็น "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

รับสั่งให้ทำหน้าที่โดยยึดประโยชน์ประเทศ-ความผาสุกประชาชน

ต่อมาเวลา 14.56 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุย เสด็จออกพระทวารเทวราชมเหศวรมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ และประมุข 3 สถาบัน ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในนามพระบรมวงศานุวงศ์

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในนามคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในนาม สนช.

นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ในนามของข้าราชการตุลาการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ ความว่า ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางมหาสมาคม พรั่งพร้อมด้วยทุกท่านจากทุกสถาบันสำคัญของชาติ และได้รับคำอวยพรอันเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต ขอขอบพระทัยและขอบใจในคำอำนวยพรและน้ำใจไมตรีของทุกท่านเป็นอย่างมาก



ในหลวง ร. 10 เสด็จออกมหาสมาคม ซึ่งถือเป็น "การว่าราชการครั้งแรก"

"ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าขอเชิญชวนทุกท่านทุกฝ่ายในมหาสมาคมนี้ และประชาชนชาวไทยทุกคนได้ตั้งความปรารถนาร่วมกันกับข้าพเจ้า ในอันที่จะร่วมกันปฏิบัติงานตามฐานะและหน้าที่ของตนโดยยึดเอาประโยชน์ คือความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ และความผาสุกร่มเย็นของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด"

ขอคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองรักษาทุกท่านให้ประสบความสุขความเจริญ พร้อมด้วยพรอันเป็นมงคลทุกประการ

..

พระปฐมบรมราชโองการพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์





















.


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://www.bbc.com/thai/thailand-48158949

.





8
พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10


พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10



พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยศูรยพิมาน

พระบรมราโชวาท/พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่ข้าราชการ ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งประชาชนทั่วไปเนื่องในโอกาสต่าง ๆ มาเผยแพร่
เพื่อเป็นข้อคิดและเครื่องเตือนใจให้แก่ปวงชนชาวไทยได้น้อมนำไปยึดถือปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ และทรงมีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยทุกข์สุขของชาวไทยทั้งแผ่นดิน

-----------------------------------------------------------------------------

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 -----------------------------------------------------------------------------

พระปฐมบรมราชโองการ ร.10 ในการออกมหาสมาคม

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
จากพระปฐมบรมราชโองการของ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ไม่เพียงสะท้อนถึงพระราชปณิธาน และความตั้งใจอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยศูรยพิมาน



.


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://www.phralan.in.th/coronation/newsdetail.php?id=1168

.





9
พระปฐมบรมราชโองการ นับแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์


พระปฐมบรมราชโองการ นับแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์



ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะพระราชทาน

" พระปฐมบรมราชโองการ "

หลังจากพราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวาย เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคแล้ว
พระปฐมบรมราชโองการ นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๙ มีเนื้อความเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย
ซึ่งล้วนแต่แสดงพระราชปณิธาน ในฐานะทรงเป็นผู้รับพระราชภาระแห่งบ้านเมือง

.





พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พุทธศักราช ๒๓๒๘

“...พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนาเถิด...”

.





พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒

“ แต่บรรดาพฤกษาและแม่น้ำใหญ่ น้อย และสิ่งของทั้งปวง ซึ่งมีในแผ่นดิน ทั่วขอบเขตแดนพระนคร ซึ่งหาเจ้าของหวงแหนมิได้
ให้พระราชทานแก่ สมณะ พราหมณ อณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ตามแต่ปรารถนาเถิด ”

.





พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗

“ เจ้าพระยา และพระยา ของซึ่งถวายทั้งนี้ จงจัดแจงบำรุงไว้ให้ดี จะได้รักษาแผ่นดิน ”

ในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พบหลักฐานพระปฐมบรมราชโองการหลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ

พบแต่ “ พระราชโองการปฏิสันถาร ” ในการเสด็จมหาสมาคม ซึ่งโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าเฝ้าเพื่อรับการถวายราชสมบัติ

จากนั้นจึงมีพระราชโองการตรัสปฏิสันถารกับเจ้าพระยา และพระยาทั้งปวง ซึ่งมีข้อความเดียวกันทุกรัชกาล
ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเลิกพิธีส่วนนี้ มีแต่เพียงการถวายพระพรชัยมงคลจากขุนนางฝ่ายหน้าและข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเท่านั้น

.





พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๙๔

“ พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด ”

.






พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑

“ แต่บรรดาที่ไม่มีเจ้าของผลไม้ทั้งน้ำในห้วยละหารตรท่าก็ดี ตามแต่สมณพราหมณาจารยอาณาประชาราษฎรจะมาแต่จตุระทิศต่างๆ ตามแต่จะปรารถนา ”

.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖

คำภาษามคธ “ อิทานหํ สพฺเพสํ อนุมติยา ราชา มุทฺธาวสิตฺโต สฺยาเมสุ อิสฺสราธิปจฺจํ รชฺชํ กาเรมิธ ธฺมมิกราชปเวณิยา อนุชานามิ ยนฺติ สฺยามวิชิเต
อปรปริคฺคหิตํ ติณกฏฺโจทกํ สมณพฺราหฺมณาทโย สพฺเพสฺยามรฏฺฐิกา ยถาสุขํ ปริภุญฺชนุตุฯ ”

คำแปล “ ครั้งนี้ท่านทั้งปวงพร้อมใจกัน ยอมให้เราเปนเจ้าครองราชสมบัติได้รับมุรธาภิเษกเปนใหญ่ในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้แล้ว เราขออนุญาตยอมให้ โดยธรรมิกราชประเพณี พรรณพฤกษชลธีในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้ ซึ่งไม่มีเจ้าของหวงแหนนั้น ตามแต่สมณพราหมณาจารย์ ประชาราษฎรทั้งปวงจะปรารถนาใช้สอยเทอญ ฯ ”

.





พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๓

คำภาษามคธ “อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ
อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ”

คำแปล “ ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน
เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ ”

.





พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๘

คำภาษามคธ “อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ
อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ”

คำแปล “ ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน
เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ ”

.





พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

เสด็จสวรรคตก่อนทรงรับพระราชพิธีบรมราชภิเษก

.





พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”

.

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กรมประชาสัมพันธ์ เลขที่ 9 ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://phralan.in.th/coronation/royalcoronationdetail.php?id=66

.





10
พระปฐมบรมราชโองการ นับแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์


พระปฐมบรมราชโองการ นับแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์



ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะพระราชทาน

" พระปฐมบรมราชโองการ "

หลังจากพราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวาย เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคแล้ว
พระปฐมบรมราชโองการ นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๙ มีเนื้อความเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย
ซึ่งล้วนแต่แสดงพระราชปณิธาน ในฐานะทรงเป็นผู้รับพระราชภาระแห่งบ้านเมือง

.





พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พุทธศักราช ๒๓๒๘

“...พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนาเถิด...”

.





พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒

“ แต่บรรดาพฤกษาและแม่น้ำใหญ่ น้อย และสิ่งของทั้งปวง ซึ่งมีในแผ่นดิน ทั่วขอบเขตแดนพระนคร ซึ่งหาเจ้าของหวงแหนมิได้
ให้พระราชทานแก่ สมณะ พราหมณ อณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ตามแต่ปรารถนาเถิด ”

.





พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗

“ เจ้าพระยา และพระยา ของซึ่งถวายทั้งนี้ จงจัดแจงบำรุงไว้ให้ดี จะได้รักษาแผ่นดิน ”

ในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พบหลักฐานพระปฐมบรมราชโองการหลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ

พบแต่ “ พระราชโองการปฏิสันถาร ” ในการเสด็จมหาสมาคม ซึ่งโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าเฝ้าเพื่อรับการถวายราชสมบัติ

จากนั้นจึงมีพระราชโองการตรัสปฏิสันถารกับเจ้าพระยา และพระยาทั้งปวง ซึ่งมีข้อความเดียวกันทุกรัชกาล
ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเลิกพิธีส่วนนี้ มีแต่เพียงการถวายพระพรชัยมงคลจากขุนนางฝ่ายหน้าและข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเท่านั้น

.





พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๙๔

“ พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด ”

.






พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑

“ แต่บรรดาที่ไม่มีเจ้าของผลไม้ทั้งน้ำในห้วยละหารตรท่าก็ดี ตามแต่สมณพราหมณาจารยอาณาประชาราษฎรจะมาแต่จตุระทิศต่างๆ ตามแต่จะปรารถนา ”

.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖

คำภาษามคธ “ อิทานหํ สพฺเพสํ อนุมติยา ราชา มุทฺธาวสิตฺโต สฺยาเมสุ อิสฺสราธิปจฺจํ รชฺชํ กาเรมิธ ธฺมมิกราชปเวณิยา อนุชานามิ ยนฺติ สฺยามวิชิเต
อปรปริคฺคหิตํ ติณกฏฺโจทกํ สมณพฺราหฺมณาทโย สพฺเพสฺยามรฏฺฐิกา ยถาสุขํ ปริภุญฺชนุตุฯ ”

คำแปล “ ครั้งนี้ท่านทั้งปวงพร้อมใจกัน ยอมให้เราเปนเจ้าครองราชสมบัติได้รับมุรธาภิเษกเปนใหญ่ในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้แล้ว เราขออนุญาตยอมให้ โดยธรรมิกราชประเพณี พรรณพฤกษชลธีในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้ ซึ่งไม่มีเจ้าของหวงแหนนั้น ตามแต่สมณพราหมณาจารย์ ประชาราษฎรทั้งปวงจะปรารถนาใช้สอยเทอญ ฯ ”

.





พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๓

คำภาษามคธ “อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ
อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ”

คำแปล “ ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน
เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ ”

.





พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๘

คำภาษามคธ “อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ
อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ”

คำแปล “ ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน
เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ ”

.





พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

เสด็จสวรรคตก่อนทรงรับพระราชพิธีบรมราชภิเษก

.





พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”

.

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กรมประชาสัมพันธ์ เลขที่ 9 ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://phralan.in.th/coronation/royalcoronationdetail.php?id=66

.





11

ไหว้ “พระเขี้ยวแก้ว” 1 ใน 2 องค์บนโลก ที่ท้องสนามหลวง มงคลสูงล้นเหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เผยแพร่: 3 ธ.ค. 2567 19:36   ปรับปรุง: 3 ธ.ค. 2567 19:36   โดย: ปิ่น บุตรี



รัฐบาลอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากประเทศจีนมาประดิษฐานชั่วคราวที่ประเทศไทย ให้ประชาชนสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล (ภาพ : เพจ กระทรวงวัฒนธรรม)

รัฐบาลเชิญชวนสักการะ “พระเขี้ยวแก้ว” 1 ใน 2 องค์บนโลก ที่ท้องสนามหลวง กทม. ตั้งแต่ 5 ธ.ค.67-14 ก.พ.68 เสริมสิริมงคลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่าหากใครได้สักการะจะได้รับอานิสงส์สูงล้นเปรียบเสมือนการได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 รัฐบาลไทยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” จากวัดหลิงกวง ประเทศจีน มาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ให้ประชาชนได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร


พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย แห่งวัดหลิงกวง ประเทศจีน (ภาพ : เพจ กระทรวงวัฒนธรรม)

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระธาตุเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระทาฐธาตุ” คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็น “เขี้ยว” ของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามตำนานพระเขี้ยวแก้ว จากพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์”


พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย แห่งวัดหลิงกวง ประเทศจีน (ภาพ : เพจ กระทรวงวัฒนธรรม)

จากตำนานนี้จึงทำให้เชื่อกันว่าพระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ ได้แก่

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จุฬามณีเจดีย์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกาลิงคะ (บางตำราเรียก กลิงครัฐ) เดิมประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (ประเทศศรีลังกา) ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระเขี้ยวแก้ว” (Tooth Relic) เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา


เจดีย์ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ที่วัดหลิงกวง (ภาพ : เพจ กระทรวงวัฒนธรรม)

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย เดิมประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน (ปัจจุบันคือซีอาน) ประเทศจีน โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดหลิงกวง” กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค


มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ที่ท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พิกุลบรรณศาลา)

จากตำนานพระเขี้ยวแก้ว จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีพระเขี้ยวแก้วเพียง 2 องค์บนโลกมนุษย์เท่านั้น คือ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา” ประเทศศรีลังกา และ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย” ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายไปประดิษฐานยังประเทศต่าง ๆ รวม 6 ครั้ง

โดยเมื่อปี พ.ศ.2545 พระเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวครั้งแรกในประเทศไทย ที่ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545


มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ที่ท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม)

และล่าสุดรัฐบาลได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วองค์นี้มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง ให้ประชาชนได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากประเทศจีนมาถึงประเทศไทย ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เมื่อมาถึงได้มีการจัดพิธีทางศาสนา และอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 โดยมีการจัดริ้วขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์สู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงอย่างยิ่งใหญ่สวยงาม ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป (สามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง NBT2HD)


มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ที่ท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พิกุลบรรณศาลา)

จากนั้นวันที่ 5 ธันวาคม 2567- 14 กุมภาพันธ์ 2568 ประชาชนสามารถเข้ากราบสักการะองค์พระเขี้ยวแก้วได้ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในระหว่าง เวลา 07.00 - 20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะ (ประชาชนไม่ต้องนำมาเอง) และมีโปสการ์ดพร้อมบทสวดบูชาพระเขี้ยวแก้วมอบให้ ซึ่งผู้ที่จะเข้าสักการะองค์พระเขี้ยวแก้วต้องนำบัตรประชาชนแสดงเพื่อยืนยันตัวตน

หลังจากนั้นจึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วกลับคืนประเทศจีน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไป


มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ที่ท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พิกุลบรรณศาลา)

นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง อาทิ

-นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่แบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่

โซนที่ 1 “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน” นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

โซนที่ 2 “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ” นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก

โซนที่ 3 “พระเขี้ยวแก้ว” นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)

โซนที่ 4 “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา สืบสานราชประเพณีสืบเนื่องมาจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

โซนที่ 5 “ความสัมพันธ์ ไทย-จีน” นำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”


มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ศิลปะไทย-จีน (ภาพ : เพจ พิกุลบรรณศาลา)

-พิธีเจริญพระพุทธมนต์ช่วงเช้า เวลา 10.00 น. – 12.00 น. และช่วงเย็น เวลา 15.30 น. เป็นต้นไป
-พิธีเจริญจิตตภาวนา ในทุกวันพระมีพิธีแสดงธรรมเทศนา 1 กันต์ (ในภาคเช้า)
-กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 31 ธ.ค. 2567
-กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ 1 ม.ค. 2568
-กิจกรรมวันตรุษจีน วันที่ 29 ม.ค. 2568
-กิจกรรมวันมาฆบูชา วันที่ 12 ก.พ. 2568

และการตกแต่งสวนประดับดอกไม้ และการประดับไฟหลากสีสันอย่างสวยงามในยามค่ำคืนที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง


ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว (ภาพ : เพจ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม)

สำหรับอานิสงส์ของการสักการะพระเขี้ยวแก้วนั้น “พระพรหมบัณฑิต” กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส หัวหน้าคณะสงฆ์ไทยในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า

“พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่จะอัญเชิญมาจากวัดหลิงกวงนั้นเป็นพระเขี้ยวแก้ว 1 ใน 2 องค์ที่มีอยู่บนโลกมนุษย์ตามตำนานความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเคารพบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อเราได้กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุก็เปรียบเสมือนเราได้กราบแทบเบื้องพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอานิสงค์อันยิ่งใหญ่มหาศาล ดั่งมีการบันทึกในพระไตรปิฎกว่า ไม่ว่าพระพุทธองค์จะดำรงค์พระชนม์ชีพอยู่หรือนิพพานไปแล้ว หากเราบูชาพระองค์ด้วยจิตที่เลื่อมใสศรัทธาเสมอกัน ผลแห่งการบูชาย่อมเสมอเหมือนกัน”

อนึ่งแม้องค์พระบรมสารีริกธาตุจะมิใช่สภาวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเครื่องชี้ทางและสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้ ถือเป็นดังสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ขสมก. จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้วที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พระลาน)


ขสมก. จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้วที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พระลาน)


ขสมก. จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้วที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พระลาน)


กรมเจ้าท่า จัดเรือข้ามฟากอำนวยความสะดวกประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้วที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พระลาน)

.


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://www.royaloffice.th/2024/12/13/ทรงสักการะพระบรมสารีริ/
https://mgronline.com/travel/detail/9670000116441

.





12
ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2567
             
วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 17.03 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราว เนื่องในโอกาส

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

.




















10












.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงทำนุบำรุงศาสนาทั้งปวง โดยทรงเกื้อกูลค้ำจุนพระพุทธศาสนาภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการอุปถัมภ์กิจการของศาสนา ด้วยพระราชหฤทัยอันเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความสำคัญของศาสนา

ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านศาสนานานัปการ ด้วยความเลื่อมใสและพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา กับทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองและธำรงไว้อย่างมั่นคงถาวรสืบไป
             
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน

ในปี 2568 รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่ประดิษฐาน ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแต่เดิมประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ ต่อมาได้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน (ชีอาน) สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพระภิกษุฟาเหียน เมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย

ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน องค์พระเขี้ยวแก้วมีความยาวประมาณ ๑ นิ้ว ประดิษฐานในพระสถูปทองคำประดับอัญมณีล้ำค่าตามลักษณะศิลปกรรมแบบจีน และได้อัญเชิญมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นเวลา 73 วัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้สักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและประเทศชาติ ตลอดจนเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างทั้งสองประเทศ

.





13
พระเขี้ยวแก้ว


พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือพระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งตามลักขณสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า "เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์" ข้อมูลนี้จึงทำให้เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน)

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

เป็นที่เชื่อกันว่า บนโลกมนุษย์ของเรานี้ มีพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ 2 องค์ นอกจากนี้ พระเขี้ยวแก้วยังจัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น พุทธศาสนิกชนจึงมีความศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระเขี้ยวแก้วเป็นอย่างมาก

.



พระเขี้ยวแก้วจำลอง ในพิพิธภัณฑ์เมืองโคลอมโบ ศรีลังกา

.



พระเขี้ยวแก้ว ศรีลังกา วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมือง Kandy

.


.....
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
https://th.wikipedia.org/wiki/พระเขี้ยวแก้ว#:~:text=พระเขี้ยวแก้ว%20หรือ%20พระทา,กันว่า%20พระเขี้ยวแก้วมี

.





14

หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปลอยน้ำ
..
งานบุญประจำปี
พิธีอัญเชิญหลวงพ่อพุทธโสธรขึ้นจากแม่นํ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
..




กาลครั้งหนึ่ง มีพระพี่น้องกัน ๓ องค์ อยู่ทางเหนือ คราวหนึ่งได้แสดงอภินิหารเป็นพระพุทธรูปล่องลอยมาตามแม่น้ำจากทางเหนือ หวังจะให้คนทางใต้ได้เห็น ได้มาผุดขึ้นที่แม่น้ำบางประกง ตรงตำบลสัมปะทวน ได้ลอยทวนน้ำอยู่ทั้ง ๓ องค์ให้ชาวบ้านสัมปะทวนได้แลเห็น พวกชาวบ้านเห็นเป็นพระพุทธรูปก็ชวนกันเอาเชือกเส้นใหญ่ลงไปผูกมัด แล้วช่วยกันฉุดลากเข้าฝั่ง แต่ถึงแม้จะใช้คนถึง ๕๐๐ คนก็ยังไม่สามารถฉุดพระขึ้นมาได้ เชือกที่ใช้ฉุดก็ขาด หมดปัญญาก็พากันเลิกลา พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ก็จมหายไป สถานที่พระลอยทวนน้ำอยู่นั้นต่อมาจึงเรียกกันว่า สามพระทวน (ภายหลังจึงเพี้ยนเป็น สัมปะทวน คือบริเวณหน้าวัดสัมปะทวนอำเภอเมืองฉะเชิงเทราปัจจุบันนี้)

.




ตามประวัติกล่าวว่า พระสามพี่น้องนั้น องค์ที่เป็นพี่ใหญ่คือหลวงพ่อวัดบ้านแหลม มีขนาดสูงเพียง ๕ ฟุต องค์กลางนั้นว่าเมื่อลอยมาจากแหลมหัววนดังกล่าวแล้ว ต่อมาได้ลอยมาที่หน้าวัดโสธร ประชาชนเป็นอันมากได้ช่วยกันฉุดขึ้นก็ไม่สำเร็จ ปรากฏในครั้งนั้นได้มีอาจารย์ทางไสยศาสตร์ผู้หนึ่ง ได้ทำพิธีบวงสรวงเทพยดา แล้วเอาได้สายสิญจน์ไปคล้องที่พระหัตถ์ ก็อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานบนวัดได้สำเร็จ แล้วถวายนามหลวงพ่อว่า พระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธร

.




พระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ แต่เดิมนั้นว่าเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก หน้าตักกว้างเพียงศอกเศษ เป็นพระหล่อด้วยทองสำริด ต่อมาได้พอกปูนให้ใหญ่ขึ้น คือหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๕ นิ้ว เหตุที่ต้องพอกปูนกล่าวกันว่า เป็นเพราะพระพุทธรูปเดิมงามมาก ทางวัดเกรงว่าจะมีคนทุจริตคิดอยากได้ จึงพอกปูนปิดบังไว้ เหมือนอย่างพระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร ที่รอดจากอันตรายมาได้ก็เพราะการพอกปูนบังไว้

.




เมื่อแรกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนวัดนั้น ยังไม่มีชื่อเรียก และวัดยังมีชื่อว่าวัดหงส์อยู่ เพราะมีเสาหงส์อยู่หน้าวัด ต่อมาเสาหงส์หัก คนจึงเรียกก้นว่า วัดเสาธงทอน แล้วกลายมาเป็นวัดโสธร เข้าใจว่าหลวงพ่อจะมามีชื่อเสียงสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ในคราวนี้ คนจึงเรียกชื่อหลวงพ่อตามชื่อวัดว่าหลวงพ่อโสธร และแต่เดิมอุโบสถที่ประดิษฐานก็คับแคบ เพราะมีพระพุทธรูปอยู่รวมกันอีก ๑๘ องค์ ไม่มีการบูรณะให้ดีขึ้น

.




พระพุทธรูปลอยน้ำองค์ใหญ่คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม และพระพุทธรูปลอยน้ำองค์กลางคือหลวงพ่อโสธร ได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธาว่าศักดิ์สิทธิ์ มีคนเคารพนับถือมาก ส่วนพระพุทธรูปลอยน้ำองค์เล็กไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง แม้แต่หนังสือประวัติจังหวัดสมุทรปราการก็ไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่กลับไปมีในประวัติจังหวัดฉะเชิงเทราว่า “ส่วนองค์สุดท้องล่องลอยไปผุดขึ้นที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และชาวบ้านบางพลีได้อัญเชิญประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลี นั้นชื่อว่า หลวงพ่อโต ปรากฎว่ามีผู้เคารพนับถือมาก”

.




.



.



.





15

ธรรมจักร

ธรรมจักร (สันสกฤต: धर्मचक्र; บาลี: dhammacakka) หรือ กงล้อแห่งธรรม เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แพร่หลายในศาสนาอินเดีย เช่น ศาสนาฮินดู, ไชนะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาพุทธ


"ธรรมจักร" แกะสลักจากหินทราย, พุทธศตวรรษที่ 12, พบที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม, ปัจจุบันเป็นของสะสมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ต้นกำเนิด
สัญลักษณ์กงล้อ/จักรเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย นักวิชาการ Madhavan และ Parpola ระบุว่าสัญลักษณ์กงล้อปรากฏมากในโบราณวัตถุจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ โดยเฉพาะบนตราประทับหลาย ๆ ตรา ตัวอย่างชิ้นสำคัญคือเป็นหนึ่งในสิบสัญลักษณ์บนป้ายโธลาวีรา[3] ปรากฏเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ตั้งแต่ราว 2500 ปีก่อน ค.ศ.

นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อมโยงจักรโบราณเข้ากับลัทธิสัญลักษณ์ดวงอาทิตย์ ในพระเวท พระสุริยะอวตารในปางพระมิตรมีการบรรยายว่าเป็น "ดวงตาของโลก" ในแง่นี้พระอาทิตย์จึงอาจมองเป็นดวงตา (จักษุ) ซึ่งให้ความสว่างและการมองเห็นแก่โลก ฉะนั้นจึงมีการเชื่อมโยงแนวคิดจักรเข้ากับแสงสว่างหรือปัญญา

ในศาสนาพุทธ
ในศาสนาพุทธ ธรรมจักรปรากฏใช้ทั่วไปเพื่อสื่อถึงธรรมของพระพุทธเจ้า, บ้างใช้เป็นสัญลักษณ์แทนพระโคตมพุทธเจ้า และใช้แทนหนทางสู่การตรัสรู้ ปรากฏใช้เช่นนี้นับตั้งแต่ศาสนาพุทธยุคแรก บางครั้งปรากฏเชื่อมโยงธรรมจักรเข้ากับอริยสัจสี่, อริยมรรคแปด และ ปฏิจจสมุปบาท

ธรรมจักรที่ปรากฏใช้ในยุคก่อนศาสนาพุทธถือว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อัษฏมงคล และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุดของศิลปะอินเดีย

ตามธรรมเนียมพุทธระบุว่า พระพุทธเจ้าทรงเริ่มหมุนกงล้อแห่งธรรมครั้งแรกเมื่อทรงแสดงปฐมเทศนา ดังที่ปรากฏใน ธัมมจักกัปปวัตนสูตร การ "หมุนกงล้อแห่งธรรม" นี้เป็นการแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่มีผลต่อจักรวาล เข้าใจว่าศาสนาพุทธรับเอาแนวคิดของกงล้อในฐานะสัญลักษณ์มาจาก แนวคิดปรัมปราอินเดียของ จักรวรรติน ("ผู้หมุนกงล้อ", หรือ "จักรพรรดิแห่งเอกภพ") แนวคิดนี้ถูกรับมาแทนพระโคตมพุทธเจ้าในฐานะมหาปุริษา ในฐานผู้หมุนกงล้อ ("จักรวรรติน") ในทางจิตวิญญาณ แทนที่จะเป็นการหมุนกงล้อในทางโลกตามความหมายดั้งเดิมของจักรวรรติน

ในการตีความ "การหมุนกงล้อแห่งธรรม" นั้น พระพุทธโฆษาจารย์ ภิกษุองค์สำคัญในธรรมเนียมเถรวาท อธิบายว่า "กงล้อ" ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงหมุนนี้ เข้าใจหลัก ๆ ในแง่ว่าเป็นปัญญา ความรู้ และญาณ ปัญญาที่ว่านี้มีสองแง่มุม คือ ปฏิเวธญาณ (paṭivedha-ñāṇa) หรือปัญญาแห่งการรู้ตนถึงความจริง และ เทศนาญาณ (desanā-ñāṇa) ปัญญาของการประกาศความจริง

ปรากฏการออกแบบธรรมจักรมีซี่ที่แตกต่างกัน โดยที่พบมากคือ 8, 12, 24 หรือมากกว่านั้น การตีความจำนวนนี้แตกต่างกันไปตามธรรมเนียม โดยทั่วไปมักตีความถึงคำสอนต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า เช่น ในธรรมเนียมทิเบตตีความกงล้อ 8 ซี่ว่าแทนมรรคแปด และองค์ประกอบสามส่วนของจักร คือ ตุมล้อ, ขอบ และ ซี่ แทนการปฏิบัติสามประการของพระพุทธเจ้า (ศีล, สมาธิ และ ปัญญา) หรือในคติเถรวาทแบบไทย ตีความจักร 12 ซี่ หมายถึงปฏิจจสมุปบาทสิบสอง หรือ 31 ซี่ หมายถึง ภูมิทั้ง 31 (กามภูมิ 11 รูปภูมิ 16 และอรูปภูมิ 4) เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรากฏการแทนความหมายของวงล้อที่หมุนไปในฐานะวงล้อของการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) ซึ่งเรียกจักรในความหมายนี้ว่า "สงสารจักร" หรือ "สังสารจักร" และ "ภวจักร"

ในการใช้งานแบบอื่น ๆ
ปรากฏธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์ในศรมัณของศาสนาไชนะ และบางครั้งปรากฏบนเทวรูปของตีรถังกร และในภควัทคีตา ปรากฏแนวคิดของธรรมจักรและการหมุนกงล้อเช่นกัน

อโศกธรรมจักร 24 ซี่ ปรากฏในธงชาติอินเดีย เพื่อแทนแนวคิดของธรรมในศาสนาอินเดียโดยรวม และตราแผ่นดินอินเดียซึ่งเป็นภาพของหัวเสาอโศกรูปสิงห์จากสาญจีก็ปรากฏธรรมจักรบนนั้น สรเวปัลลี รธากฤษณัน รองประธานาธิบดีคนแรกของอินเดียระบุว่าอโศกจักรในสัญลักษณ์ของชาติอินเดียนั้นแทน "กงล้อของกฎหมายของธรรม" และ "ความจริงหรือสัตยะ" (ดังที่ปรากฏในคำขวัญประจำชาติ สัตยเมวชยเต), "คุณธรรม" และ "ดารเคลื่อนไหว" ในแง่ของ "พลวัตของการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ"

.



ธรรมจักรศิลา วัดพระพุทธบาทหินลาด อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

.



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

.




.


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

.



.


.....
จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ธรรมจักร

.





Pages: [1] 2 3 ... 227
SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.168 seconds with 20 queries.