Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

ภาพประทับใจ => สถานที่สวยงาม => Topic started by: ppsan on 12 September 2021, 13:12:15

Title: ถ่ายภาพ “Moon Illusion” ในคืนวัน Super Full Moon
Post by: ppsan on 12 September 2021, 13:12:15
ถ่ายภาพ “Moon Illusion” ในคืนวัน Super Full Moon


MGR Online

ถ่ายภาพ “Moon Illusion” ในคืนวัน Super Full Moon
เผยแพร่: 7 พ.ย. 2559 02:45   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478101.JPEG)
ตัวอย่างการถ่ายภาพ Moon Illusion โดยใช้คนเป็นสิ่งเปรียบเทียบขนาด

ในคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 นี้ ผมอยากชวนนักถ่ายภาพมาถ่ายภาพปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี” หรือที่มักเรียกกันว่า Super Full Moon นั้น

ความพิเศษของ Super Full Moon ในปีนี้ คือ เป็นปรากฏดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 68 ปี ที่ระยะห่าง 356,511 กิโลเมตร ซึ่งในคืนดังกล่าวดวงจันทร์จะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ 14 % สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันออกทั่วประเทศ

โดยในอดีตที่ผ่านมาดวงจันทร์เต็มดวงเคยเข้าใกล้โลกมากที่สุดเมื่อ วันที่ 25 มกราคม 2491 หากพลาดโอกาสในคืนดังกล่าว ต้องรออีก 18 ปี ข้างหน้าในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2577

แต่ก่อนที่ผมจะแนะนำเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ Super Full Moon นั้น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวกันก่อน

เกร็ดความรู้ Super Full Moon

Super Full Moon หรือ ปรากฎดวงจันทร์เต็มดวงจะกฎในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ

โดยในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478102.JPEG)
ตำแหน่งดวงจันทร์ขณะโคจรเข้าใกล้โลก – ไกลโลกในแต่ละเดือน

สำหรับช่วงปกตินั้น ดวงจันทร์จะมีระยะห่างเฉลี่ย 382,000 กิโลเมตร โดยเราให้คำกำจัดความของคำว่า Super Moon นั้นเมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา และ Micro Moon หรือดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 400,000 กิโลเมตรขึ้นไป

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478103.JPEG)
ภาพเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์ในช่วง Super Moon กับ Micro Moon (ภาพจาก Timeanddate.com)

โดยในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 นี้ ปรากฏการณ์ Super Full Moon ดวงจันทร์จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณ 14% และจะมีความสว่างมากกว่าปกติ ประมาณ 30% และหากใครพลาดโอกาสในครั้งนี้ ก็ต้องรออีก 2 ปี จึงเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีอีกครั้ง ดังแสดงในตารางด้านล่าง

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478104.JPEG)

สำหรับคำว่า Super Full Moon หรือบางครั้งก็มักได้ยินคนเรียกกันว่า Super Moon นั้น จริงๆ แล้วกฃเราก็สามารถเรียกได้ทั้งคู่ ไม่ถูกหรือไม่ผิด ทั้งนั้น เพราะเป็นเพียงคำที่นิยามขึ้นมาเพื่อให้เรียกกันง่ายๆ สั้นๆ เท่านั้น โดยคำว่า Super Moon นั้นเข้าใจว่ามาจากการเรียกของนักโหราศาสตร์ ที่นิยมใช้กัน ซึ่งจะใช้เรียกปรากฎการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกทั้งช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุด และดวงจันทร์ดับใกล้โลกมากที่สุดได้เช่นกัน แต่คำว่า Super Full Moon นั้นนักดาราศาสตร์สมัครเล่น จะใช้เรียกกันเฉพาะในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดเท่านั้น ดังนั้นเราจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Super Full Moon”

“จริงหรือไม่” เมื่อดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าจะมีขนาดใหญ่กว่ากลางท้องฟ้า

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าดวงจันทร์เมื่ออยู่บริเวณขอบฟ้าจะมีขนาดใหญ่กว่า ตอนที่อยู่กลางท้องฟ้า แท้ริงแล้วภาพดวงจันทร์บริเวณใกล้ขอบฟ้าที่มองดูมีขนาดปรากฏใหญ่กว่านั้น เป็นเพียงภาพลวงตา เนื่องจากบริเวณขอบฟ้ามีวัตถุให้เปรียบเทียบขนาด แต่ดวงจันทร์บริเวณกลางท้องฟ้าไม่มีวัตถุเปรียบเทียบขนาดจึงทำให้ความรู้สึกในการมองดูเล็กกว่านั่นเอง หรือเรียกภาพดวงจันทร์บริเวณใกล้ขอบฟ้าที่มองดูมีขนาดกฎใหญ่ นั่นว่า “Moon Illusion”

ดังนั้นในคืนวัน “ดวงจันทร์เต็มดวงในคืนวันดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี” นี้เราจะมาถ่ายภาพ Moon Illusion กันครับ

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478105.JPEG)
ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงในคืนวันดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี วันที่ 28 กันยายน 2558 (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Lunt Telescope 560mm. + Teleconverter 1.5X / Focal length : 840 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 1000 / Exposure : 1/20sec)

เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ Moon Illusion

สำหรับการถ่ายภาพ Moon Illusion หรือภาพลวงตานั้น ก็คือการถ่ายภาพดวงจันทร์ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับขอฟ้า หรือใกล้กับวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ คน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยมีหลักการง่ายๆ ดังนี้

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478106.JPEG)
ตัวอย่างภาพถ่าย Moon Illusion ในช่วงปรากฏการณ์ Super Full Moon

1.หาสถานที่ ที่มองเห็นดวงจันทร์ได้ทางทิศตะวันออกตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ โดยสถานที่ดังกล่าว ควรมองเห็นวัตถุ เช่น คน เจดีย์ บ้าน ที่จะใช้ในการถ่ายภาพเปรียบเทียบกับขนาดของดวงจันทร์ ซึ่งปกติผมจะอยู่ห่างจากวัตถุที่ใช้เปรียบเทียบตั้งแต่ 1 กิโลเมตร ขึ้นไป หรือใช้การวัดระยะเชิงมุมด้วยนิ้วก้อย เพื่อเทียบขนาดวัตถุกับดวงจันทร์ได้ (ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง) โดยดวงจันทร์จะมีขนาดกฎเพียง 0.5 องศา หรือมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 1 นิ้วก้อยของเราเมื่อเหยียดสุดแขน

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478107.JPEG)
การวัดระยะเชิงมุมด้วยนิ้วก้อย โดยการเหยียดจนสุดแขน จะมีค่าระยะห่างเชิงมุมเท่ากับ 1 องศา

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478108.JPEG)
ภาพถ่าย Moon Illusion โดยการถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)

2.เลือกใช้เลนส์เทเลโฟกัส เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ เมื่อถ่ายภาพเทียบกับขนาดของวัตถุบริเวณขอบฟ้า ก็จะทำให้ภาพถ่าย Moon Illusion ของเราดูใหญ่แน่นมากขึ้น โดยเลือกช่วงเลนส์ตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไป

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478109.JPEG)
ตัวอย่างเลนส์ Telephoto แบบกระจก Mirror Lens หรือ Reflex Lens ของ Samyang 500mm. ซึ่งมีราคาไม่สูงมากนักประมาณ 6,000 – 7,000 บาท เท่านั้น

3.ใช้ความเร็วชัตเตอร์สัมพันธ์กับช่วงเลนส์ คือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ช้าจนเกินไปจนทำให้ภาพดวงจันทร์เบลอ เนื่องจากดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ขึ้นทางทิศตะวันออกสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยยิ่งใช้ทางยาวโฟกัสสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นตามด้วยเช่นกัน

4.การปรับโฟกัสวัตถุที่เป็นฉากหน้า ไว้รอก่อนที่ดวงจันทร์จะโผล่จากขอบฟ้า เพราะในการโฟกัสภาพที่ระยะไกลบริเวณขอบฟ้าที่มีมวลอากาศหนาแน่น การโฟกัสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเรารอเพื่อให้ดวงจันทร์โผล่ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยโฟกัสที่ดวงจันทร์ เราอาจพลาดจังหว่ะดีๆ ในการถ่ายภาพเทียบกับวัตถุบริเวณขอบฟ้าได้ง่ายๆ

5. Black Card Technique โดยการใช้มือบังบริเวณหน้าเลนส์ตรงส่วนขอบภาพ ตรงตำแหน่งของดวงจันทร์เพื่อให้แสงสว่างของดวงจันทร์ลดลง แล้วจึงถ่ายภาพ ก็จะช่วยให้เราได้ภาพถ่ายที่มีความเปรียบต่างกันไม่มากนัก และนำไปปรับแต่งในโปรแกรม Photoshop โดยการดึง Shadow บริเวณฉากหน้า และลดแสง Highlight ลงได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อฟิลเตอร์ครึ่งซีกให้เสียตังค์ครับ

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/559000011478110.JPEG)

จากเทคนิคทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ก็พอจะช่วยเป็นแนวทางในการถ่ายภาพดวงจันทร์ ในคืนวัน Super Full Moon ก็ได้บ้างนะครับ และหวังว่าทุกท่านจะสามารถเก็บภาพประทับใจ “Moon Illusion” ในคืนวัน Super Full Moon กันได้ทุกท่านนะครับ