Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

ภาพประทับใจ => ภาพสวยงาม => Topic started by: p_san@ on 18 November 2020, 13:20:50

Title: เดวิด ‘จู๋’ รอยตำหนิ และความลับของมีเกลันเจโล
Post by: p_san@ on 18 November 2020, 13:20:50
เดวิด ‘จู๋’ รอยตำหนิ และความลับของมีเกลันเจโล



(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-8.png)


คนเกือบทั้งโลกรู้จัก ‘เดวิด’
 
เดวิดเป็นรูปปั้นหินอ่อนที่แกะสลักโดย มีเกลันเจโล (Michelangelo) ศิลปินระดับมาสเตอร์คนหนึ่งซึ่งอยู่ในยุคเดียวกับ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/MICHELANGELO.png)
                                                                                มีเกลันเจโล

ทุกๆ ปี คนกว่า 1.2 ล้านคนจะแวะเวียนมาที่หอศิลป์ Galleria dell’Accademia ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพื่อมาเยี่ยมชมเดวิด

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/01_common-3.jpg)
แก้วกาแฟ หรือ Caffe ในภาษาอิตาลี ซื้อจากคาเฟ่ที่อยู่ใกล้หอศิลป์ Galleria dell’Accademia (Photo: Vachi)

ตามบันทึกระบุว่า เดวิดยืนอยู่ตรงนี้มา 145 ปีแล้ว หรือตั้งแต่ปี 1873

มีเรื่องเล่าว่า ผู้ว่าจ้างตั้งใจจะให้เดวิดอยู่บนหลังคาโบสถ์แห่งเมืองฟลอเรนซ์ แต่เดวิดมีขนาดและน้ำหนักมากเกินไป จึงเปลี่ยนมาวางที่จตุรัส Piazza della Signoria ก่อนจะย้ายมาอยู่ในหอศิลป์แห่งนี้

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-11.png)
อาสนวิหารฟลอเรนซ์ หรือ Florence Cathedral (Photo: Vachi)

ช่วงปลายฤดูหนาว มีนาคม ปี 2018 ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเดวิด เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินทางมาจากทั่วโลก

ระหว่างที่หยุดนั่งพัก ผมสังเกตเห็นหลายคนชี้ชวนกันดู ‘จู๋’ ของเดวิด พวกเขาพูดถึงมันอย่างไร ผมไม่รู้ แต่จากการค้นหาข้อมูลจากหนังสือและโลกออนไลน์

นอกจาก ‘จู๋’ เดวิดยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกที่น่าสนใจ

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/03_common-3.jpg)
นักท่องเที่ยวกำลังเงยหน้าชมรูปปั้น ‘เดวิด’ (Photo: Vachi)


หินอ่อนที่ถูกทิ้งร้างนาน 26 ปี

ราวปี 1464 หินอ่อนก้อนยักษ์ถูกขนมาจากเมือง Carrara เพื่อใช้สลักรูปปั้น ‘เดวิด’

Agostino di Duccio ศิลปินผู้รับงานนี้ สลักขึ้นโครงช่วงขาและเท้า แต่งานก็ต้องหยุดชะงักและถูกยกเลิกในที่สุด เมื่อโตนาเตลโล (Donatello) ประติมากรชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้ดูแลโปรเจคนี้เสียชีวิต

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/DONATELLO.png)
                                                    โตนาเตลโล

ต่อมาศิลปินชื่อ Antonio Rossellino มารับช่วงต่อ แต่ไม่นานก็ถูกยกเลิกสัญญาจ้าง หินอ่อนก้อนยักษ์จึงถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพไม่เป็นรูปเป็นร่างนานถึง 26 ปี

กระทั่งเริ่มมีการเสาะหาศิลปินที่จะมาสานต่องานนี้ให้ลุล่วง โดยมีเงื่อนไขอย่างเดียวคือ ผู้จะทำงานนี้ต้องเป็นยอดฝีมือเท่านั้น

‘มีเกลันเจโล’ ศิลปินหนุ่มวัย 26 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้แกะสลักหินอ่อน Pieta หรือรูปปั้นพระแม่มารีกำลังประคองร่างพระเยซูที่เพิ่งอัญเชิญลงจากกางเขน คือชื่อที่ถูกพูดถึง

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/04.jpg)
ปีเอตะ ประติมากรรมที่เป็นรูปพระแม่มารีย์ประคองร่างพระเยซูที่เพิ่งอัญเชิญลงจากกางเขน Pietà ในภาษาอิตาลี แปลว่า ความสงสาร (photo: commons.wikimedia.org)

ความลับของมีเกลันเจโล

มีเกลันเจโลใช้เวลาราว 4 ปี (ปี 1501-1504) แกะสลักหินอ่อนก้อนยักษ์ที่ดูแข็งทื่อ ไร้ชีวิต กลายเป็นรูปปั้นที่เสมือนมีลมหายใจ
มัดกล้ามเนื้อ เส้นเลือดปูนโปน สรีระอันสมบูรณ์แบบ ทำให้คนที่เห็นอดไม่ได้ที่จะตกตะลึงกับความงามของเดวิด

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-9-1.png)
(Photo: Vachi)

นอกเหนือจากพรสวรรค์ที่พระเจ้าให้มา อะไรคือวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างงานของมีเกลันเจโล

ครั้งหนึ่งมีเกลันเจโลกล่าวในทำนองว่า แท้จริงแล้ว เขาเห็นผลงานก่อนที่จะเริ่มทำงาน ส่วนหน้าที่ของเขาคือทำให้ผลงานปรากฎขึ้นมาเท่านั้น

“ฉันเห็นทูตสวรรค์ในหินอ่อนและแกะสลักไว้แล้ว ฉันแค่ปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ”

สายตาที่พิเศษของศิลปิน อาจเป็นความลับในการสร้างงานของมีเกลันเจโล


เสน่ห์จากสัดส่วนที่ผิดเพี้ยน?

เสน่ห์ของเดวิด นอกจากความงาม คือการตีความและข้อถกเถียง ตั้งแต่ท่าทางของเดวิดว่า เขากำลังยืนทำอะไร จนถึงเรื่องของสัดส่วน เช่น ศีรษะและมือขวาที่ดูใหญ่ไม่สมส่วน

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-8.png)
(Photo: Vachi)

ข้อสังเกตบางประการระบุว่า เดวิดกำลังยืนประจันหน้ากับชายร่างยักษ์นาม ‘โกไลแอธ’ (Goliath) ส่วนสีหน้า แววตา และมัดกล้ามที่ดูเขม็งเกรียว แสดงถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นก่อนการต่อสู้

บางย่อหน้าจากหนังสือ ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ (A Little History of Religion ผู้เขียน Richard Holloway ผู้แปล สุนันทา วรรณสินธ์

เบล, สำนักพิมพ์ openworlds) เล่าเรื่องราวการสู้รบของชาวอิสราเอลในดินแดนคานาอันกับชนเผ่าพื้นเมือง มีตอนหนึ่งพูดถึงเดวิดว่า

วันหนึ่งขณะที่สองกองทัพเรียงแถวเข้าปะทะกัน โกไลแอธก้าวออกมาข้างหน้าเพื่อท้าประลองเดี่ยวกับใครก็ตามในกองทัพของซาอูล ไม่มีใครจากฝ่ายอิสราเอลเสนอตัว จนกระทั่งเด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่งก้าวออกมารับคำท้า แต่เขากลับถูกเยาะเย้ย เด็กหนุ่มอย่างเขาจะสู้นักฆ่ามือฉมังอย่างโกไลแอธได้อย่างไร

“ก็ทำแบบเดียวกับที่ข้าปกป้องฝูงแกะของบิดาจากเหล่าหมาป่าไงเล่า” เด็กหนุ่มตอบ

เด็กหนุ่มเลี้ยงแกะคนนั้นคือ เดวิด จากนั้นเขาใช้ ‘บ่วงเชือก’ เหวี่ยงก้อนหินกระแทกขมับโกไลแอธจนล้มลง ก่อนจะใช้ดาบของโกไลแอธตัดหัวของเขา

เหตุการณ์นั้นได้สร้างเดวิดให้กลายเป็นวีรบุรุษคนใหม่ของชาวอิสราเอล และกลายเป็นกษัตริย์ในเวลาต่อมา

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-7.png)
(Photo: Vachi)

ขณะที่สัดส่วนอันไม่สมส่วน มีข้อสันนิษฐานต่างๆ กัน เช่น มือขวาที่ใหญ่เกินไป บ้างระบุว่า ในยุคนั้นเชื่อกันว่า คนที่มีมือใหญ่คือลักษณะที่แสดงถึงความแข็งแรง

บ้างก็มองว่า ศีรษะและมือขวาที่ใหญ่กว่าปกติมาจากการออกแบบ โดยคิดจากมุมที่คนมองรูปปั้นจากด้านล่าง (ตอนแรกจะติดตั้งเดวิดไว้บนหลังคาโบสถ์ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง)

หรือสัดส่วนโดยรวมที่ดูเรียวบางผิดปกติเมื่อเทียบกับความสูง น่าจะเป็นเพราะรูปร่างหินอ่อนที่ถูกขึ้นแบบไว้ก่อนที่มีเกลันเจโลจะเข้ามารับงาน

ข้อสังเกตข้างต้นไม่ใช่ข้อสรุป เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ซึ่งทำให้เดวิดเป็นรูปปั้นที่มีเสน่ห์มากกว่าแค่ความงดงาม


จู๋ของเดวิด

‘จู๋’ คือ สิ่งที่คนไปดูเดวิดจ้องมองกันมากเป็นพิเศษ

หลายคนให้ความเห็นว่า มันดูเล็กเกินไป

บางคนพูดติดตลกว่า คงเพราะอากาศหนาว ‘ขนาด’ จึงเล็กและหดสั้น

คนที่พอจะรู้เรื่องราวของเดวิดก็บอกว่า คงเป็นเพราะกลัวโกไลแอธจน ‘หด’

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-6.png)
(Photo: Vachi)

ข้อสงสัยเกี่ยวกับ ‘ขนาด’ ของเดวิดไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งถูกสงสัย เพราะก่อนหน้านี้เคยมีคนตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับขนาดองคชาตของรูปปั้นโบราณในเว็บไซต์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะชื่อ www.howtotalkaboutarthistory.com ว่า ทำไมรูปปั้นสมัยก่อนถึงมีองคชาตเล็ก?

เว็บไซต์ดังกล่าวให้คำตอบว่า ถ้า ‘รูปปั้นสมัยก่อน’ หมายถึง รูปปั้นกรีกโรมันโบราณซึ่งมีอิทธิพลต่อรูปปั้นในทวีปยุโรป มีเหตุผล 2 ข้อที่ทำให้รูปปั้นเหล่านั้นมีองคชาตเล็ก

ข้อแรก องคชาตที่เห็นน่าจะอยู่ในภาวะที่ไม่แข็งตัว ซึ่งย่อมเล็กกว่าขนาดที่ควรจะเป็นในชีวิตจริง

ข้อสอง ค่านิยมทางวัฒนธรรม ในยุคกรีก ผู้ชายที่ดีในสมัยนั้นต้องฉลาด มีหลักการ และมีความเป็นผู้นำ การมีอวัยวะเพศที่ใหญ่และยาวเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความโง่เขลา ตัณหา และความอัปลักษณ์

เมื่อคิดตามเหตุผลข้างต้น จู๋ของเดวิดที่ดูเล็ก จึงอาจเป็นสิ่งแทนภาพอุดมคติความเป็นชายในยุคสมัยนั้น


รอยตำหนิบนรูปปั้น

เดวิดมีรอยตำหนิที่คล้ายรอยแผลเป็นบริเวณ ‘นิ้วเท้าข้างซ้าย’ ผู้เข้าชมจะสามารถเห็นได้ในระดับสายตา

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-5-e1538850950966.png)(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-4.png)
(Photo: Vachi)

หลายคนสงสัยว่า รอยแผลนั้นเกิดจากอะไร?

หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 15 กันยายน ปี 1991 ระบุถึงที่มาของรอยแผลนี้ว่า ชายตกงานผู้วิกลจริตชาวอิตาเลียนชื่อ Piero Cannata เป็นคนทำ เขาคว้าค้อนที่ซ่อนไว้ใต้แจ็กเก็ต แล้วเดินดุ่มเข้าไปทุบที่นิ้วเท้าซ้ายของเดวิด

หลังโดนจับกุม Piero Cannata ให้การว่า มีคนสั่งให้เขาทำ ซึ่งคนๆ นั้นคือศิลปินชาวเวนิสในศตวรรษที่ 16!

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/11.jpg)
ข่าวเดวิดถูกทำร้าย ผู้ชายในภาพคือ Piero Cantana (photo: pratosfera.com)


ผลงานที่ยิ่งใหญ่กับความรักของศิลปิน

ทำไม เดวิด ถึงกลายเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่?

พรสวรรค์คงใช่ แต่มากกว่านั้น มีเกลันเจโลสร้างงานศิลปะด้วยหัวใจ

ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานศิลปะตั้งแต่อายุ 14 ปี มีเกลันเจโลก็ไม่เคยลาออกจากอาชีพศิลปินอีกเลย จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

‘Rondanini Pieta’ หรือรูปปั้นพระแม่มารีโอบอุ้มร่างของพระเยซู คือ หลักฐานของความรักที่มีเกลันเจโลมีให้กับงานศิลปะ

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/12.jpg)
รูปปั้น Rondanini Pieta (photo: italianways.com)

รูปปั้นนี้คือผลงานชิ้นสุดท้ายที่ยังไม่เสร็จสิ้น มีเกลันเจโลเริ่มแกะสลักตั้งแต่ปี 1552 จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตในปี 1564

6 วันก่อนสิ้นลม เขาใช้เวลาทั้งวันหมกตัวแกะสลักรูปปั้นไม่ไปไหน

แม้จะเป็นศิลปินที่มีทรัพย์สินมากมาย แต่มีเกลันเจโลกลับใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายสมถะ ไม่แยแสการกินดื่ม ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับใคร และมักทำงานจนลืมเวลาจนนอนหลับคาชุดทำงานบ่อยๆ

เขาเป็นชายโสด ไม่แต่งงาน เพราะสำหรับเขา งานศิลปะคือภรรยา และภรรยาคนนี้ก็ทำให้เขาเหนื่อยมากพอแล้ว จนไม่มีเวลาทุ่มเทชีวิตให้กับใครได้อีก

หลังกลับจากอิตาลี…

ผมมองรูปปั้น Rondanini Pieta ซึ่งเป็นภาพที่เสิร์จจากอินเทอร์เน็ต สลับกับภาพเดวิดที่ตัวเองถ่ายมาผ่านจอโน้ตบุ๊ค แล้วนึกถึงเดวิดและผู้คนมากมายในหอศิลป์ Galleria dell’Accademia ที่เมืองฟลอเรนซ์

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2018/10/Artboard-3.png)
(Photo: Vachi)

บางทีสิ่งที่ทำให้ เดวิด กลายเป็นรูปปั้นที่ยิ่งใหญ่ อาจไม่ใช่เรื่องเล่า ตำนาน การตีความข้อสงสัย หรือขนาดอวัยวะเพศ

แต่คือการทุ่มหัวใจลงไปในงานที่ทำของมีเกลันเจโล

นี่คือสัจธรรมของการทำงานและชีวิต ที่ผมได้คิดหลังจากได้พบเดวิดและนึกถึงมีเกลันเจโล.


วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์
content creator
https://becommon.co/culture/david-michelangelo/