Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง => เกษตรทางเลือก => เพอร์มาคัลเจอร์ => Topic started by: Smile Siam on 29 December 2012, 08:11:04

Title: เพอร์มาคัลเจอร์ #4 : เรื่องเล็กๆ ของการเก็บน้ำฝน
Post by: Smile Siam on 29 December 2012, 08:11:04
เพอร์มาคัลเจอร์ #4 : เรื่องเล็กๆ ของการเก็บน้ำฝน


วันนี้มีเวลาน้อยก็ขอเขียนเรื่องเล็กๆ ของการเก็บน้ำฝนแล้วกัน  การเก็บน้ำฝนไว้ใช้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของคนไทยเลย  ตามหลักของเพอร์มาคัลเจอร์ถ้าเราปล่อยให้น้ำฝนที่สะอาดไหลไปโดยไม่ได้เก็บไว้ใช้งาน  เมื่อเราต้องการใช้น้ำสะอาดก็จะต้องใช้น้ำประปา  ซึ่งในขบวนการผลิตน้ำประปาก็มีการใช้พลังงานและสารเคมีใส่เข้าไปอีกในระบบกรอง และระบบส่งน้ำ  นับว่าไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสียเลย

เพียงเพราะเราไม่เก็บน้ำฝนไว้ใช้งานทำให้มีการใช้พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น   เพอร์มาคัลเจอร์จึงสนับสนุนการเก็บน้ำฝนไว้ใช้งานในครัวเรือน  และรางน้ำฝนก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันดี  ปัญหาของการเก็บน้ำฝนคือหลังคาของเราไม่ได้สะอาดอยู่เสมอ  อาจจะมีขี้นก หรือฝุ่นละอองปนเปื้อน  วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้น คือการแยกน้ำที่ไหลผ่านรางน้ำฝนในช่วงฝนตกใหม่ๆ ไว้สำหรับรดน้ำต้นไม้ หรือทิ้งไปเลย  และเริ่มเก็บน้ำฝนหลังจากฝนตกไปสักพักไว้สำหรับดื่ม หรือปรุงอาหาร   ปัญหาคือวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปแล้ว  ไม่มีคนอยู่บ้านเป็นประจำที่สามารถมาเป็นตุ่มน้ำฝนเมื่อฝนตกไปสักพักแล้วเหมือนเมื่อก่อน  เพราะทุกคนในบ้านก็ต่างออกมาทำงาน ไปโรงเรียน หรือทำธุระอื่นนอกบ้าน  ทำให้การเก็บน้ำฝนสะอาดโดยการคอยแยกน้ำช่วงต้นทิ้งทำได้ค่อนข้างยาก (ทำได้เฉพาะวันที่มีคนอยู่บ้าน)  ส่วนของผมยิ่งแล้วใหญ่เพราะผมไปสวนเพียงสัปดาห์ละครั้ง  แถมวันที่ไปสวนก็สวดภาวนาไม่ให้ฝนตกจะได้ดูแลต้นไม้นาน  แล้วผมจะเก็บน้ำฝนสะอาดให้พอใช้ได้อย่างไร?

เมื่อเริ่มศึกษาเพอร์มาคัลเจอร์มากขึ้นทำให้ผมค้นพบตัวอย่างการแก้ปัญหานี้ โดยการทำระบบที่จะเก็บน้ำฝนหลังจากที่ฝนตกไปแล้วสักพักโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องใช้พลังงานอะไรมาก มีอย่างน้อย 2 ตัวอย่าง

(http://img9.uploadhouse.com/fileuploads/16745/167458795167d6eddaa2366ca3813c81dbe020f3.jpg) (http://www.uploadhouse.com/viewfile.php?id=16745879&showlnk=0)

แบบแรกใช้กับถังที่มีฝาเปิดด้านบน  โดยอาศัยน้ำฝนที่ตกช่วงแรกไปในถังซึ่งต่อกับคานกระดก  เมื่อน้ำฝนเยอะพอก็จะกระดกให้น้ำฝนที่ตกช่วงหลังๆ ไหลลงไปในถังเก็บน้ำฝนแทน  แต่ถังแบบเปิดมีข้อเสียคือต้องเปิดฝาไว้ตลอดเวลาอาจจะมีฝุ่นหรือใบไม้ร่วงไปตรงฝาที่เปิดไว้ได้  ทำให้ต้องมีตาข่ายดักไว้ด้านบน  แต่ตาข่ายดังกล่าวอาจจะไม่แข็งแรงมากพอสำหรับหนู นก หรือแมลงที่อาจจะเจาะตาข่ายเข้าไปในถังได้

(http://img8.uploadhouse.com/fileuploads/16745/1674589835960b4f42bc11b4de315dbddfc5a95d.jpg) (http://www.uploadhouse.com/viewfile.php?id=16745898&showlnk=0)

แบบที่สองจะใช้กับถังปิด (คล้ายๆ ถังเก็บน้ำที่มีขายในปัจจุบัน) และใช้ท่อน้ำเข้าทำเป็นรูปตัวยู (U) เพื่อกันสัตว์/แมลงไม่ให้เข้าถังผ่านทางท่อขาเข้า  แต่เนื่องจากเป็นถังปิดทำให้น้ำฝนที่มากเกินไปไม่สามารถล้นผ่านฝาด้านด้านบนได้  จึงอาจจะต้องมีท่อระบายน้ำล้นของถังเก็บน้ำซึ่งก็ควรที่จะมีท่อรูปตัวยู เพื่อป้องกันสัตว์/แมลงเข้าทางท่อน้ำล้น  กลไกตามภาพข้างบนจะทำให้น้ำฝนช่วงแรกไหลลงถังเก็บน้ำสกปรก และน้ำฝนช่วงหลังไหลลงกรวยที่ต่อกับท่อน้ำเข้ารูปตัวยู

ทั้งสองแบบจะมีการเจาะรูที่ถังน้ำเพื่อรีเซทระบบให้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิมก่อนฝนตก  โดยขนาดของรูจะเป็นการปรับระยะเวลาที่ระบบจะรีเซท

นอกจากนั้นถ้ามีต้นไม้ใหญ่อยู่ใกล้บ้านก็ควรจะมีที่กันไม่ให้ใบไม้ไปอุดทางน้ำในระบบรางน้ำฝน  โดยอาจจะสามารถทำได้หลายแบบดังนี้

(http://img4.uploadhouse.com/fileuploads/16746/1674604796b9c0b42efa49601d92f2fc8e6ff245.jpg) (http://www.uploadhouse.com/viewfile.php?id=16746047&showlnk=0)

เท่านี้เราก็จะสามารถสร้างระบบช่วยเก็บน้ำฝนที่สะอาดเอาไว้บริโภคในบ้าน  โดยไม่ต้องมีคนคอยเฝ้าเวลาฝนตกอีกต่อไป  ผมยังคงมีความเชื่อในพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย  ผมเชื่อว่าจะมีเพื่อนสมาชิกที่สามารถค้นคิดวิธีการอื่นที่จะช่วยเก็บน้ำฝนหลังจากที่ฝนตกไปสักพักโดยอัตโนมัติ  ขอให้สนุกสนานกับการคิดนะครับ