Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง => เกษตรทางเลือก => เพอร์มาคัลเจอร์ => Topic started by: Smile Siam on 29 December 2012, 07:38:53
-
เพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) #1 : แนะนำแนวคิดเบื้องต้น
คนไทยเราแต่เดิมนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและกลมกลืนกับธรรมชาติ เรามีระบบเศรษฐกิจแบบ “ผลิตเพื่อกินเอง…เหลือแล้วจึงขาย” ดังนั้น วิถีชีวิตของพวกเราในอดีตจึงค่อนข้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป แนวคิดการผลิตเปลี่ยนมาเป็นแบบ “ผลิตเพื่อขาย…เหลือแล้วจึงเก็บไว้กิน” เกษตรกรไทยก็เริ่มต้องใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมากๆ ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงเส้นทางการพัฒนาเมืองใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า แทบทุกกิจกรรมในแต่ละวันของคนไทยล้วนเป็นปฏิปักษ์ต่อวลีที่ว่า “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ปัญหาข้างต้นนี้เกิดขึ้นกับประเทศในโลกตะวันตกมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่จนกระทั่งปัจจุบันคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่มีวี่แววจะฟื้นตัวเท่าที่ควรซ้ำร้ายยังต้องเจอกับปัญหาสุขภาพจิตของประชากรที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ความไม่สบายกายไม่สบายใจเหล่านี้ส่งผลให้มนุษย์เราเริ่มสำนึกผิด และเริ่มหวนกลับไปคิดถึงวิถีชีวิตในวันวาน
…วันที่เราเคยสุขกับความเรียบง่ายและการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
ความรู้สึกนี้กระมังครับที่เป็นจุดกำเนิดของแนวคิดการพัฒนาแบบ “Permaculture” อันเกิดจาก Permanent + Culture (ความยั่งยืน + วัฒนธรรม) นั่นเอง
Permaculture design คือ การรวมเอาทั้งวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และปรัชญาเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีเจ้าของบ้าน สถาปนิก นักพัฒนาที่ดิน เกษตรกร และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนโดยตรง “ร่วมกันออกแบบ”
แนวคิดเรื่อง เพอร์มาคัลเจอร์นี้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2518 (วัฒนธรรมเปรียบเทียบด้วยจิตคาราวะ : แปลงต้นแบบ "เกษตรทฤษฎีใหม่" แห่งแรกของประเทศไทย ณ วัดมงคลชัยพัฒนา อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. สระบุรี ได้รับพระราชดำริให้จัดสร้างในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2531) โดย Bill Mollison นักนิเวศวิทยาชาวออสเตรเลีย เขาเดินทางสำรวจระบบนิเวศน์ และวัฒนธรรมทั่วโลก โดยมีโจทย์ในใจว่า “ต้องแปรเปลี่ยนปัญหาทั้งหมดที่มีอยู่ให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากร”
(http://img6.uploadhouse.com/fileuploads/16745/16745897a79f67f0d4da63934f79d004dcd164b5.jpg) (http://www.uploadhouse.com/viewfile.php?id=16745897&showlnk=0)
ดังนั้น นักออกแบบภายใต้แนวคิดนี้จึงต้องคำนึงถึงคุณลักษณะต่างๆ ตามธรรมชาติของทรัพยากรควบคู่กับการใช้ทรัพยากรเสมอ เช่น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ก็ควรทำการเพาะปลูกเฉพาะในแหล่งที่กลมกลืนกับธรรมชาติเท่านั้น หรือหากจะสร้างบ้านพักอาศัย ก็ควรออกแบบบ้านให้ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สูงสุด รักษาสมดุลในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ รวมทั้งป้องกันความหนาวเย็นได้ด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ ในแง่ของการใช้ทรัพยากร ชุมชนแบบเพอร์มาคัลเจอร์ ต้องนำของเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำเอาเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว มาออกแบบใหม่ให้ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- การสร้างบ้านภายใต้ร่มเงาไม้ในประเทศที่มีลักษณะอากาศแบบทะเลทราย ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศได้ถึง 20%
- การออกแบบหลังคาของอาคารให้ถ่ายเทน้ำฝนไปยังพื้นที่ที่ออกแบบไว้เพื่อกักเก็บน้ำ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการทำชลประทาน
- การทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ให้ใกล้เคียงกับภาวะจริงตามธรรมชาติของพืชและสัตว์ การจัดโซนนิ่งแบบผสมระหว่างเขตการค้ากับเขตที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ให้รบกวนพื้นที่สีเขียว
- การจัดเขตสำหรับการอยู่อาศัย การจับจ่าย การทำงาน และการใช้เวลาว่าง ให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อลดการเดินทางด้วยรถยนต์
- ตลอดจนการวางแผนให้ชุมชนชานเมืองสามารถติดต่อกับกลุ่มเกษตรกรนอกเมืองได้มากขึ้น เพื่อพัฒนาความยั่งยืนของชุมชน เป็นต้น
สำหรับชาวไทยแล้วเพอร์มาคัลเจอร์อาจไม่ได้ฟังดูเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ เพราะจริงๆมันก็เป็นวิถีของบรรพบุรุษไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองหลังบ้าน การทำสวนเกษตรผสมผสานแบบทางภาคใต้ การขุดท้องร่องสวนไว้รดน้ำต้นไม้ การออกแบบบ้านไม้หลังคาจั่ว (เพื่อระบายน้ำฝน) และบ้านที่มีใต้ถุนสูง (เพื่อระบายความร้อน เพิ่มประโยชน์ใช้สอยและหลีกหนีจากสัตว์รบกวน) หรือแม้กระทั่งการผลิตเครื่องใช้ไม้สอยจากวัสดุธรรมชาติ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อยุคสมัยของการผลิตและการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป วิถีแห่งความยั่งยืนในอดีตก็ได้จางหายไปจากชีวิตของคนไทยด้วย นอกจากนั้น เรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่งของสังคมไทยก็คือ การที่เราไม่มีวัฒนธรรมการจดบันทึก(เชิงวิชาการ) เพื่อสืบทอดองค์ความรู้ ส่งผลให้คนรุ่นหลังไม่สามารถเก็บรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ได้เท่าที่ควร นอกจากนั้นจะเห็นถึงความใกล้คลึงกันของแนวคิดเพอร์มาคัลเจอร์ และเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมในปัจจุบัน
เหตุผลหลักที่อยากจะแบ่งปันเรื่อง เพอร์มาคัลเจอร์ เพราะหวังว่าจะมีเพื่อนสมาชิกจะสามารถผสมผสาน “รากเหง้าภูมิปัญญาไทย” เข้ากับ “องค์ความรู้สมัยใหม่” และนำไปสู่วิถีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน และหาทางออกให้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมของชาติได้ไม่มากก็น้อย โดยจะค่อยๆ ทยอยนำรายละเอียดของเพอร์มาคัลเจอร์มาเล่าสู่กันฟัง
http://www.bansuanporpeang.com/node/18871
_____________________________________________________________________________