Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง => เกษตรทางเลือก => Topic started by: Smile Siam on 29 December 2012, 07:28:35
-
การดูแลปลูกข้าวแบบใหม่
1. หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวให้เกลี่ยฟางให้ทั่วพื้นนา
2. นำปุ๋ยน้ำพด 2 (20 ลิตร) + ปุ๋ยยูเรีย 1 กก. ผสมน้ำให้เต็มถัง 200 ลิตร ฉีดพ่นทั่วพื้นฟางข้าวที่ใช้คลุมดิน จะพบว่าในฤดูต่อไป ดินจะนุ่มร่วน และอากาศถ่ายเทได้ดี
3. การบำรุงเมล็ดพันธุ์และหว่านเมล็ดให้ฉีดพ่นอีกครั้งก่อนไถดิน ก่อนการหว่านเมล็ดข้าว 20 วัน (ซึ่งการทำแบบนี้จะแตกต่างจากการทำเกษตรในปัจจุบัน) หลังจากนั้นอีก 7-10 วัน วัชพืชจะเริ่มงอกให้ทำการไถพรวนอีกครั้ง (ให้ทำแบบนี้อีกครั้ง) แล้วจึงทำการหว่านพันธุ์ข้าว โดยลดจำนวนเมล็ดข้าวลงจากเดิม 20 %
การงอกของเมล็ดข้าว
1. การควบคุมปริมาณน้ำที่ใช้
2. เพราะข้าวสามารถเจริญเติบโตด้วยตัวมันเองโดยใช้สารอาหารที่สะสมอยู่ในเมล็ดจนกระทั่งมีใบ 3 ใบ แล้วจึงจะต้องการธาตุอาหารไนโตรเจนมาก ฟอสฟอรัสเล็กน้อย โพแทสเซียมปานกลาง เพื่อการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น
3. หลังจากรากตั้งตัวได้แล้ว ให้ทำการระบายน้ำออกจากนา จนเหลือน้ำแทบจะไม่คลุมดิน ในระยะข้าวมีใบ 6 ใบ ให้ระบายน้ำออกจากนาทั้งหมด
การใส่ปุ๋ย
ใส่ปุ๋ยน้ำพด.2หนักอยู่ 2 ช่วง คือ
1. ช่วงข้าวแตกกอหรือหลังจากหว่านข้าวได้ 1 เดือน
2. ช่วงข้าวกำลังจะออกรวง แต่ละครั้งจะปล่อยปุ๋ยน้ำ พด.2 ไปตามน้ำที่ปล่อยเข้านา ช่วงข้าวแตกกอ จะปล่อยปุ๋ยน้ำพด.2 ไม่มาก เพื่อป้องกันโรคใบไหม้ จะใช้อยู่ที่ 5 ลิตร/1 ไร่
หมายเหตุ ในกรณีที่ช่วงไหนไม่ได้ทำนาให้ใช้ ปุ๋ยน้ำพด.2 ผสมน้ำฉีดพ่น แล้วไถกลบตอซัง และหว่านพืชตระกูลถั่วในแปลง หลังจากนั้นให้ไถกลบถั่วในช่วงที่ถั่วกำลังออกดอกเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อให้มีธาตุอาหารหมุนเวียน(ถ้าเกษตรกรท่านใดทำแบบนี้จะได้ข้าว 130 ถัง / ไร่)
การปลูกข้าว 3 ครั้ง/ปี (นาชลประทาน)
ระยะที่1 ปลูกกลางเดือนเมษายน เกี่ยวกลางเดือนกรกฎาคม
ระยะที่ 2 ปลูกกลางเดือนสิงหาคม เกี่ยวกลางเดือนพฤศจิกายน
ระยะที่ 3 ปลูกกลางเดือนธันวาคม เกี่ยวกลางเดือนมีนาคม รอยต่อระหว่างเก็บเกี่ยว ถึงปลูกใหม่จะมีการหมักฟางทุกครั้ง
การหมักฟางเพื่อบำรุงดิน
หลังจากเก็บเกี่ยวจะมีการหมักฟางและตอซังข้าวแบบเปียกในแปลงนาเป็นเวลา 7-10 วัน ในช่วงรอยต่อ 1 เดือน ก่อนหวานรอบต่อไปเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนหว่านรอบต่อไปเพื่อบำรุงดิน ทำได้โดยใช้น้ำจุลินทรีย์ 5 ลิตร + ปุ๋ยน้ำพด2 (5 ลิตร) + กากน้ำตาล 3 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำไปผสมกับน้ำที่ใช้ปล่อยลงแปลงนาได้ 5 ไร่
การใส่ปุ๋ยและปุ๋ยน้ำพด2
หลังจากหว่านข้าวไปแล้วประมาณ 1 เดือน จะทำการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 25 กก/ไร่ ช่วงนี้หากมีข้าวหรือหญ้า วัชพืชขึ้นให้ทำการกำจัดออกจากแปลงถ้าข้าวไม่เขียวให้ฉีดปุ๋ยทางใบด้วยซุปเปอร์พด.2 เร่งการเจริญเติบโต 20-30 ซีซี + ซุปเปอร์น๊อคหนอนพด.7 30-50 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น 15 วันต่อครั้ง
ช่วงส่งรวง(ข้าวเริ่มจะตั้งท้อง)
การฉีดพ่นทางใบให้เปลี่ยนเป็นสูตรฮอร์โมนไข่ที่ทำจากไข่+นม ซึ่งจะช่วยเร่งในการออกดอกออกผล ใช้ฉีดก่อนข้าวเริ่มตั้งท้อง 1-2 ครั้ง ในอัตราใช้ 20-30 ซีซี + ซุปเปอร์พด.7 30-50 ซีซี / 20 ลิตร
-
พันธุ์และช่วงเวลาปลูกข้าว
พันธุ์ข้าวมี 2 ชนิด คือ
1. ชนิดไม่ไวแสง สามารถเพาะปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีอายุเก็บเกี่ยว 110 – 130 วัน ส่วนมากให้ผลผลิตต่อไร่ 100 ถัง เนื่องจากตอบสนองต่อปุ๋ยดี ตัวอย่าง เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี1, สุพรรณบุรี2, ชัยนาท 1, กข. 23 ,เจ้าหอมคลองหลวง1 , และเจ้าหอมสุพรรณบุรี
ช่วงเวลาปลูกทำได้ตลอดปีขึ้นอยู่กับสภาพน้ำ แนะนำให้เขตชลประทานโดยวิธีการปักดำ หรือหว่านข้าวตมอย่างไรก็ดี ไม่แนะนำให้ปลูกติดต่อกันตลอดปีเป็นเวลานาน ควรปลูกคั่นด้วยพืชหมุนเวียนบ้างในบางฤดู จะช่วยตัดวงจรศัตรูพืชและรักษาสภาพดินที่ใช้เพาะปลูกข้าว ให้คงความสมบูรณ์
2. ชนิดไวแสง ปลูกได้เฉพาะนาปี มีวันเก็บเกี่ยวที่ค่อนข้างแน่นอน ไม่ว่าจะปลูกเมื่อใด ส่วนมากให้ผลผลิตไม่สูงมากเพราะตอบสนองต่อปุ๋ยต่ำ ตัวอย่าง เช่น พันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 , กข.15 , ขาวตาแห้ง 17 , เหลืองประทิว 123 , และปิ่นแก้ว 56
ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมประมาณเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม โดยนับวันเก็บเกี่ยวย้อนขึ้นมาให้ข้าวมีอายุ 92-120 วัน (ถ้าใช้วิธีหว่านอายุข้าวจะสั้นลง) ทั้งนี้ให้พิจารณาประกอบกับสภาพน้ำ ในเขตนาน้ำฝนอาจใช้วิธีหว่านข้าวแห้ง หรือปักดำ
วิธีการปลูกข้าว
การทำนาโดยทั่วไปมี 3 วิธี คือ นาหว่าน นาหยอด และนาดำ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ เช่นที่สูง ที่ลุ่ม ที่น้ำลึก สภาพน้ำ เช่น เขตน้ำฝน เขตชลประทาน สภาพสังคม เช่น มีแรงงานหรือไม่มีแรงงาน สภาพเศรษฐกิจ เช่น มีเงินทุนมากหรือน้อย มีรายละเอียด คือ
1. นาหว่าน ส่วนมากนิยม เนื่องจากขาดแคลนแรงงานสภาพน้ำจำกัด ยากแก่การปักดำข้าว หรือพื้นที่อยู่ในเขตน้ำฝนไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ เป็นการปลูกข้าวโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหว่านลงไปในนาที่เตรียมดินไว้แล้ว มี 2 วิธี คือ (1) หว่านข้าวแห้งหรือหว่านสำรวย (2) หว่านข้าวตม หรือข้าวงอกหรือหว่านเพาะเลย
(1) การหว่านข้าวแห้ง มักใช้วิธีนี้ในเขตนาน้ำฝนหรือในพื้นที่ที่ควบคุมน้ำไม่ได้ โดยเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไม่ได้เพาะให้งอกเสียก่อน เรียกอีกอย่าง คือ หว่านสำรวย เป็นการหว่านคอยฝนในสภาพดินแห้ง โดยหว่านหลังจากไถแปร เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดข้าวที่หว่านไว้จะได้งอก บางกรณีเพื่อป้องกันการทำลายของศัตรูข้าว จะมีการคราดกลบเมล็ดหลังการหว่าน ซึ่งอาจเรียกว่าหว่านคราดกลบ
อีกกรณีหนึ่งเป็นการหว่านในสภาพดินเปียก คือ มีฝนตกเมื่อไถแปรแล้ว ก็หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวตามทันทีแล้วคราดกลบ วิธีนี้เรียกว่า หว่านหลังขี้ไถ การหว่านข้าวแห้งจะใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณไร่ละ 10 – 15 กก.
(2) การหว่านข้าวตม หรือหว่านข้าวงอก หรือหว่านเพาะเลย เป็นการหว่านโดยการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีการเพาะให้งอกกล่าว คือ แช่น้ำสะอาด 12 – 24 ชั่วโมง แล้วนำไปหุ้ม 30 – 48 ชม. จนมีรากงอกยาวประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร ที่เรียกว่า ตุ่มตา แล้วหว่านลงในพื้นที่นาที่เตรียมไว้อย่างดี คือ ไถดะ ไถแปร และทำเทือกจนราบเรียบ วิธีนี้บางกรณีในเขตนาน้ำฝนควบคุมน้ำได้ยาก จำเป็นต้องหว่านในเทือกที่มีน้ำขัง แต่ในเขตชลประทาน ควรระบายน้ำให้เทือกนุ่มพอดี สังเกตจากเมล็ดข้าวที่หว่านจะจมในเทือกประมาณครึ่งหนึ่งของเมล็ดแนวนอนเมื่อข้าวงอกแล้วค่อยๆระบายน้ำเข้านา แต่ไม่ให้ท่วมยอดต้นข้าว การหว่านน้ำตม ถ้าเตรียมดินดีวัชพืชน้อยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 10-15 กก. แต่ถ้าเตรียมดินไม่ดี มีวัชพืชมากในอัตราเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 15 – 20 กก.
2. นาหยอด นิยมในสภาพพื้นที่สูง พื้นที่ไร่ หรือในสภาพนาที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ใช้เมล็ดข้าวแห้งที่ไม่ได้เพาะให้งอก หยอดลงไปในหลุมที่เตรียมไว้โดยใช้จอบเสียม หรือใช้ไม้กระทุ้ง ตลอดจนใช้เครื่องหยอด หรืออีกวิธี โดยการโรยเป็นแถว ในร่องที่ทำเตรียมไว้ แล้วกลบดินฝังเมล็ดข้าว เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดข้าวที่หยอดจะงอก ในสภาพไร่หรือที่สูง อาจทำเป็นหลุมลึก 4-5 เซนติเมตร หยอดเมล็ดข้าวหลุมละ 5-6 เมล็ด ส่วนในที่ราบสูง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถทำร่องห่างกัน 25-30 เซนติเมตร นาหยอดจะใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ประมาณ 8-10 กก.
3. นาดำ เป็นวิธีการปลูกข้าว โดยแบ่งการปลูกเป็น 2 ขั้นตอน คือ (1) ขั้นตอนการตกกล้า (2) ขั้นตอนการปักดำ ปัจจุบันเกษตรกรนิยมปักดำน้อยลง เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ดี การปักดำ เป็นวิธีการปลูกข้าวที่สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีกว่านาหว่าน
การทำนาดำ
1. แปลงกล้าและต้นกล้า
(1) การคัดเลือกพื้นที่ เป็นพื้นที่นาที่มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร อยู่ใกล้แหล่งน้ำแต่น้ำไม่ท่วม โดยสามารถควบคุมน้ำได้ ควรอยู่ใกล้บ้านจะได้ดูแลใกล้ชิด มีพื้นที่ราบเรียบสม่ำเสมอ
(2) การเตรียมแปลงกล้า เตรียมให้ถูกวิธี คือระบายน้ำเข้านาให้เปียกทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อล่อให้วัชพืชขึ้นแล้วไถดะ ทิ้งไว้อีก 5-10 วัน จึงไถแปร แล้วทิ้งไว้ประมาณ 14 วัน เพื่อให้สารพิษที่เกิดจากการหมักหมดไป จึงทำเทือกและปรับระดับให้ราบเรียบ แบ่งแปลงย่อยขนาดกว้าง 2-5 เมตร ความยาวไม่จำกัดแต่ให้ความยาวทอดตามแนวลมพัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของโลกข้าว ระหว่างแปลง แหวกดินเป็นทางเดิน และร่องน้ำ ขนาดกว้าง 25-30 ซม. บริเวณหลังแปลงต้องราบเรียบ และสูงกว่าร่องทางเดิน ดินต้องละเอียดและหมาดๆรอการหว่าน
(3) การคัดเมล็ดพันธุ์ดี เมล็ดพันธุ์ที่ดีต้องบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ ปราศจากสิ่งเจือปนและเมล็ดวัชพืช รมทั้งไม่มีการทำลายของโรค – แมลง ความงอกมากกว่าร้อยละ 80 มีความงอกแรง หากใช้พันธุ์ข้าวของทางราชการจะมีคุณสมบัติข้างต้น แต่ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เอง ควรมีการทดสอบความงอก โดยเพาะเมล็ดลงในจานที่มีวัสดุอมความชื้นรอ 3-5 วัน นับจำนวนเมล็ดงอกเทียบกับเมล็ดที่เพาะทั้งหมด หลังจากนั้นควรมีการคัดเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ งอกแรง โดยการัด หรือนำเมล็ดข้าวแช่น้ำเกลือที่เตรียมไว้โดยใช้น้ำ 10 ลิตร ผสมเกลือแกง 1.7 กก. คนน้ำให้เกลือละลายจนหมดแล้วแช่เม็ดข้าวลงไป คัดเฉพาะเมล็ดจมน้ำนำไปล้างน้ำสะอาดให้หมดความเค็ม (ล้าง 3-4 น้ำ) แล้วนำไปเพาะให้งอกต่อไป
(4) การแช่และหุ้มเมล็ดข้าว นำเมล็ดพันธุ์บรรจุถุงข้าวหรือกระสอบ แล้วนำไปแช่น้ำสะอาด 12-24 ชั่วโมง นำขึ้นจากน้ำวางบนกระสอบหรือแผ่นกระดาน แล้วคลุมทับด้วยกระสอบชุบน้ำ สถานที่วางควรเป็นที่ร่มอากาศถ่ายเทได้ดี ทิ้งไว้ 30-48 ชั่วโมง รดน้ำให้ชุ่มชื้นเช้าและเย็น เมล็ดจะงอกตุ่มตา (รากยาว 1-2 มิลลิเมตร) พร้อมที่จะหว่านได้
(5) การหว่านกล้า หว่านเมล็ดข้าวที่งอกตุ่มตาลงบนเทือกที่อ่อนนุ่มราบเรียบไม่มีหลุมบ่อ และน้ำไม่ท่วมแปลง ให้เมล็ดข้าวกระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง ถ้าเป็นตอนบ่ายหรือเย็นจะช่วยหลีกเลี่ยงความร้อนจากแสงแดดชึ่งอาจทำให้เมล็ดข้าวที่หว่านตายได้ อัตราการหว่าน 1ตารางเมตร ( กว้าง 1 เมตร ยาว 1เมตร ) ใช้เมล็ดพันธุ์ 50 ถึง 60 กก
หรือ ไร่ละ 8ถึง 9 ถัง ทั้งนี้กล้าข้าว 1 ไร่ จะสามารถนำไปปักดำได้ 15 ถึง 20 ไร่
(6) การใส่ปุ๋ยแปลงกล้า ถ้าดินแปลงกล้ามีความอุดมสมบูรณ์ ต้นกล้างามดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย เพราะถ้าต้นกล้างามเกินไปใบจะยาว ลำต้นจะอ่อน ถอนแล้วขาดง่าย เมื่อนำไปปักดำจะตั้งตัวช้า อีกทั้งเป็นโรคหรือแมลงทำลายได้ง่ายถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 อัตราไร่ละ 25-40 กก. หรือ 15-25 กรัม ต่อ 1 ตารางเมตร หลังหว่านข้าวไปแล้ว 7 วัน โดยต้องมีน้ำขังในแปลงด้วย
(7) การจัดการน้ำในแปลงกล้า ถ้าแปลงกล้ามีขนาดเล็ก หลังหว่านเมล็ดพันธุ์ 1 วัน สาดน้ำรดให้ทั่วแปลง เมื่อรากจับดินดีแล้วหรือประมาณ 3-5 วัน จึงค่อยๆระบายน้ำเข้าโดยไม่ให้ท่วมยอดต้นกล้า รักษาไว้ที่ระดับ 5 เซนติเมตร กรณีแปลงกล้าขนาดใหญ่ไม่สามารถสาดน้ำรดได้ให้ระบายน้ำเข้าร่องข้างแปลง หล่อเลี้ยงให้บริเวณหว่านข้าวชุ่มชื้นแต่ไม่ท่วม แล้วค่อยๆ ระบายน้ำเข้าเพิ่ม ข้อสำคัญอย่าให้แปลงกล้าขาดน้ำจะทำให้ถอนต้นกล้ายาก แต่ถ้าน้ำมากเกินไปต้นกล้าจะสูงผอมและอ่อนแอ
(8) การถอนต้นกล้า เมื่อต้นกล้ามี 5-7 ใบ ถ้าเป็นข้าวไม่ไวแสง ต้นกล้าควรมีอายุ 20-25 วัน แต่ถ้าเป็นข้าวชนิดไวแสง ควรใช้กล้าอายุ 25-30 วัน ควรถอนต้นกล้าด้วยความระมัดระวังอย่าให้ต้นกล้าช้ำ เมื่อเต็มกำมือ แกว่งรากในน้ำให้ดินหลุดจากรากไม่ควรใช้วิธีฟาดกับหน้าแข้งจะทำให้ต้นช้ำหรือหัก มัดต้นกล้ารวมเป็นมัดๆ เพื่อสะดวกในการนำไปปักดำ การตัดใบข้าวควรทำเมื่อจำเป็นจริงๆ เช่น กล้าอายุมาก ใบยาวมาก ต้นสูง หรือเมื่อมีลมแรง
(9) ลักษณะต้นกล้าที่ดี ควรมีกาบใบสั้น มีรากมากและขนาดใหญ่ ไม่มีโรค – แมลงทำลาย ซึ่งเป็นผลมาจากการหว่านเมล็ดพันธุ์สม่ำเสมอ และไม่แน่นเกินไป ได้รับแสงอย่างพอเพียง รักษาระดับน้ำได้ถูกต้อง ตลอดจนการใส่ปุ๋ยไม่มากเกินไป
2. แปลงปักดำ
(1) การเตรียมดิน ไถดะ ไถแปร หมักหญ้าเหมือนการเตรียมดินแปลงกล้าคราดทำเทือกอย่างประณีต ควรเก็บเศษวัชพืชออกให้หมด ควรเตรียมดินอย่างละเอียด เพื่อให้ง่ายต่อการปักดำข้าว ในบางพื้นที่สภาพดินอาจจับตัวแน่นเร็วทำให้ปักดำยาก ในการทำนาอย่างประณีต ไม่ควรปล่อยคันนาให้มีวัชพืชรวมทั้งควรอุดรูหนูหรือปูนา
(2) การปักดำต้นกล้า ปักดำจับละ 3-5 ต้น (3-5 ต้นต่อกอ) ลึก 2-3 เซนติเมตร ถ้าเป็นไปได้ควรปักดำให้เป็นแถวจะง่ายต่อการกำจัดศัตรูข้าว ใส่ปุ๋ยและต้นข้าวได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง
พันธุ์ข้าวไม่ไวแสงควรใช้ระยะปักดำ 20 × 20 ซม.
พันธุ์ข้าวชนิดไวแสงควรใช้ระยะ 25 × 25 ซม. ทั้งนี้ โดยพิจารณาความอุดมสมบูรณ์ของดินประกอบ คือ “ดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง
(3) การจัดการน้ำในระยะปักดำ ควรมีระดับน้ำเพียงแค่คลุมผิวดิน เพื่อป้องกันวัชพืชขึ้นและพยุงข้าวไม่ให้ล้มถ้าระดับน้ำมีมากจะทำให้ต้นข้าวแตกกอน้อย ต้นข้าวรีดตัวสูงและผอม ได้ผลผลิตต่ำ
3. การจัดการน้ำ ถ้าน้ำไม่เพียงพอต้นข้าวจะแคระแกร็น แต่ถ้าน้ำในแปลงนา มีมากเกินไปต้นข้าวจะสูงชะลูด ไม่แตกกอเท่าที่ควร ดังนั้น จึงต้องมีการจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยในระยะปักดำใหม่ๆ ควรมีระดับน้ำ 5-10 ซม. แต่ถ้าเป็นข้าวชนิดไวแสงต้นสูง อาจเพิ่มระดับน้ำได้ถึง 20-30 ซม. ก็ได้ รักษาระดับน้ำจนกระทั่งก่อนช่วงที่ต้องใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 (หรือปุ๋ยแต่งหน้า) ช่วงนี้ถ้าสามารถลดระดับน้ำให้รากสัมผัสอากาศก่อนหว่านปุ๋ยจะทำให้ต้นข้าวสามารถใช้ธาตุอาหารได้ดีขึ้นหลังจากนั้นให้ควบคุมระดับน้ำไว้เท่าๆ กับระยะแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวตั้งท้อง จะขาดน้ำไม่ได้เป็นอันขาด ผลผลิตจะตกต่ำ ก่อนเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 15 วัน ให้ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้หมด เพื่อทำให้ดินแห้งสะดวกในการเก็บเกี่ยว และช่วยให้ข้าวสุกพร้อมกัน รวมทั้งช่วยลดอัตราการร่วงของเมล็ดข้าวขณะเก็บเกี่ยวได้
ศัตรูข้าว
หลักการทั่วไปในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว จะต้องใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานที่เรียกคำย่อว่าไอพีเอ็มกล่าวคือ ใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การใช้พันธุ์ต้านทาน, การทำแปลงนาให้สะอาด, การใช้ศัตรูธรรมชาติ, ฯลฯ ที่สำคัญ คือต้องมีการตรวจนับศัตรูพืช โดยคำนึงถึงระดับเศรษฐกิจ และเลือกใช้สารเคมีเป็นอันดับสุดท้ายเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้ และพิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้มทุน ตลอดจนไม่ทำให้ศัตรูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมสลายไป
ศัตรูข้าวที่สำคัญมี 3 ประการ คือ
1.โรค ที่สำคัญ คือ โรคไหม้ โรคจู๋ โรคใบขีดสีน้ำตาลโรคใบจุดสีน้ำตาล โรคกาบใบแห้ง โรคถอดฝักดาบ โรคกาบใบเน่า โรคเมล็ดด่าง โรคขอบใบแห้ง
2.แมลงและสัตว์ศัตรูข้าว ที่สำคัญ คือ เพลี้ยไฟหนอนกอ บั่ว หนอนปลอก แมลงดำหนาม หนอนห่อใบข้าว แมลงสิง หนอนกระทู้คอรวง ไส้เดือนฝอย หอยเชอรี่ ปูนา นก หนู
3.วัชพืช สามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้
วัยพืชใบแคบ ได้แก่ หญ้าข้าวนก หญ้าไม้กวาด หญ้าขน หญ้าแดง
วัชพืชใบกว้าง ได้แก่ ผักปอดนา ขาเขียด เทียนนา แพงพวยน้ำ เซ่งใบมน ผักตับเต่า
วัชพืชพวกกก ได้แก่ หนวดปลาดุก กกขนาก แห้วหมูนา แห้วทรงกระเทียม กกทราย ปรือ
วัชพืชสาหร่าย ได้แก่ สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายเส้นด้าย สาหร่ายไฟ
วัชพืชพวกเฟิร์น ได้แก่ ผักแว่น
การเก็บเกี่ยวข้าว
การเก็บเกี่ยวข้าวในระยะที่เหมาะสม คือ เมล็ดไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป จะทำให้ข้าวเปลือกเมื่อนำไปสีได้เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวสูงสุด และลดการสูญเสียเนื่องจากเมล็ดร่วงหล่นในนา ทั้งนี้โดยสังเกตข้าวสุกเหลืองเกือบทั้งรวง เหลือเมล็ดสีเขียวโคนรวง 5-6 เมล็ด ดูว่าข้าวจะมีรวงที่โน้มลง เรียกระยะนี้ว่า ระยะพลับพลึงหรือระยะเหลืองกล้วย หากจำวันที่ข้าวออกดอกได้ ก็ให้นับวันเก็บเกี่ยวหลังจากวันที่ออกดอกประมาณ 28-30 วัน โดยก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน ควรระบายน้ำออกจากแปลงนาก่อนในการเกี่ยว ถ้าใช้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยว ให้ปรับรอบการทำงานไม่ให้เร็วเกินไป เพื่อมิให้เมล็ดแตกป่น และร่วงหล่นเสียหายมาก แต่ถ้าเก็บเกี่ยวด้วยมือ (ใช้เคียว) หรือเครื่องเกี่ยวชนิดไม่ได้นวดในตัว ควรหลีกเลี่ยงการกองฟ่อนข้าวรวมกันเป็นกองโตและไม่ควรวางรวงข้าวกับพื้นนาที่มีน้ำ จะทำให้รวงข้าวเสียหาย
การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวข้าว
1. การนวด แนะนำให้เก็บเกี่ยวแล้วนวดทันที จึงค่อยนำเมล็ดข้าวไปตากหรืออบลดความชื้น การนวดข้าวมีหลายวิธีแต่เดิมนิยมใช้การฟาดรวงข้าว หรือใช้สัตว์ หรือรถไถนาย่ำปัจจุบันมีการใช้เครื่องเกี่ยวและนวดข้าวทันทีในตัว หรือ นำฟ่อนข้าวมานวดด้วยเครื่อง
สิ่งที่คำนึงถึงในการนวดข้าว คือ ต้องนวดให้เมล็ดข้าวสะอาด ปราศจากสิ่งเจือปน เช่น เศษฟาง เศษระแง้ ดิน หิน ข้าวลีบ แกลบ ตลอดจนเมล็ดวัชพืช ดั้งนั้น ควรปรับรอบการทำงานลูกนวดให้เหมาะสม แต่หากนวดด้วยการฟาดหรือการย่ำก็ควรจะต้องมีการใช้สีฝัดเพื่อช่วยในการทำความสะอาดข้าวเปลือกทุกครั้ง
2. การลดความชื้นข้าวเปลือก ข้าวที่คุณภาพดี ต้องมีการลดความชื้นหลังการเก็บเกี่ยวทันทีให้เหลือ 14-15 เปอร์เซ็นต์ มิฉะนั้นข้าวเปลือกจะไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน รวมทั้งเมื่อนำไปสีจะแตกหักมาก เกษตรกรจำหน่ายข้าวเปลือกได้ในราคาต่ำการการลดความชื้นข้าวเปลือกกระทำได้ 2 วิธี คือ
1.1 การตากแสงแดด ถ้าเกี่ยวข้าวแบบวางราย และไม่สามารถนวดได้ทันทีให้ตากรวงข้าวไว้ในพื้นที่นาที่แห้ง 2-3 แดด ระวังอย่าให้ถูกน้ำฝน หรือหากมีน้ำค้างหรือหมอนแรงควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้ หากนวดข้าวได้เมล็ดทันที แนะนำให้ตากเมล็ดข้าวบนพื้นสะอาด เช่น ลานซีเมนต์ หรือใช้ตาข่ายพลาสติกรองตากโดยเกลี่ยข้าวเปลือกเป็นสันหรือเป็นคลื่น ๆ ทิ้งไว้ 2-3 แดด และต้องระวังฝน น้ำค้างหรือหมอก เช่นกัน การตากแดดควรมีการเกลี่ยกลับข้าวเปลือกที่ตากทุกครึ่งชั่วโมง และความหนาไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร ถ้าเป็นไปได้ควรกองรวมแล้วคลุมด้วยผ้าใบพลาสติกในตอนกลางคืนด้วย
2.2 การอบด้วยเครื่อง ปัจจุบันมีเครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือกใช้แพร่หลายการอบด้วยเครื่องจะได้เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวดีกว่าการตากด้วยแสงแดด เนื่องจากความร้อนมีความสม่ำเสมอและไม่ต้องเสี่ยงต่อการมีฝนตก การอบแต่ละครั้งใช้เวลา 4-8 ชั่วโมง แล้วแต่ชนิดเครื่องอบ ปัจจุบันมีเครื่องชนิดลดความชื้นได้อย่างรวดเร็วภายใน 5 นาที แต่ลดความชื้นได้เหลือ 18 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐานข้อควรระวังในการใช้เครื่องอบ คือต้องไม่ให้เมล็ดข้าวเปลือกมีความร้อนสูงเกิน 43 องศาเซลเซียส
3. การเก็บรักษา ข้าวเปลือกที่ผ่านการนวดแล้ว หากไม่จำหน่ายในทันที ก็จะต้องเก็บรักษาให้ถูกวิธี ข้อสำคัญในการเก็บรักษา คือจะต้องเป็นข้าวแห้งความชื้น 12-14 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจำนวนน้อยอาจใส่กระสอบวางไว้ในสถานที่คุ้มแดด ฝนสูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร หากมีข้าวเปลือกปริมาณมากและมียุ้งฉาง ก็เก็บรักษาโดยบรรจุกระสอบวางบนแคร่สูงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือเทกองในยุ้งฉาง โดยยุ้งฉางต้องสะอาดป้องกันนกหนู และแมลงศัตรูข้าวเปลือกได้อย่างดี รวมทั้งมีอากาศถ่ายเทได้ ไม่อับชื้น และมีสภาพเย็น
บางกรณี หากต้องการเก็บรักษาข้าวไว้ทำพันธุ์ ก็ให้เก็บรักษาแบบเดียวกัน แต่ถ้ามีปริมาณน้อย ให้เก็บไว้ในภาชนะปิดสนิท เช่น ปี๊บ ถุงปุ๋ย ถุงพลาสติกกระสอบป่าน ถุงผ้าดิบ
-
1. การเตรียมดินสำหรับหว่านข้าวแห้ง ก่อนฝนตกครั้งแรก ให้ใช้ปุ๋ยน้ำ พ.ด. 2 ฉีดพ่นทั่วนาข้าวก่อนไถดำลึกประมาณ 15 -18 ซม. พลิกกลับดินตากไว้ เพื่อให้ดินชั้นล่างได้รับออกซิเจนจากอากาศ และเป็นการทำลายวัชพืช เชื้อโรคพืชและไข่หรือตัวอ่อนของแมลงบางชนิด ทิ้งไว้ 1 – 2 อาทิตย์ แล้วจึงไถแปร 1 -2 ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืชที่ขึ้นมาใหม่ และย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง หว่านเมล็ดข้าวแห้งแล้วคราดกลบ
2. ( หว่านคราดกลบ )
การเตรียมดินสำหรับหว่านข้าวแห้งที่ดีที่สุด จะต้องมีการเตรียมดินที่ดี ต้องมีเวลาเพียงพอก่อนฝนตก เพื่อทำการไถแปรและคราดจนกระทั่งดินแตกเป็นก้อนเล็กพอเหมาะที่จะคราดกลบเมล็ดได้สะดวก เมื่อหว่านเมล็ดแล้วก็คราดกลบเป็นการป้องกันความเสียหายจาก นก – หนู เมล็ดที่ใช้หว่านประมาณไร่ละ 15 กก.
3. หว่านน้ำตม
การปลูกข้าวด้วยวิธีนี้ให้ได้ผลดีต้องปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอ และสามารถคุมระดับน้ำได้ เริ่มด้วยการเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้หว่าน โดยแช่เมล็ดในน้ำนาน 12 ชั่วโมง ( ตอนแช่ให้ใช้ปุ๋ยน้ำ พด. 2 ลงแช่ด้วย ) จะทำให้เมล็ดข้าวสมบูรณ์ไม่มีโรค หุ้มประมาณ 24 – 36 ชั่วโมง จึงจะได้ตุ่มตามีรากยาว 1 – 2 มม. นำไปหว่านในแปลงนาที่เตรียมดินไว้ ถ้าดินที่เตรียมไว้ดีที่เทือกอ่อนนุ่มพอเหมาะ ราบเรียบสม่ำเสมอ ให้ใช้พันธุ์ข้าวเพียง 7 – 15 กก. / 1 ไร่ ก็เพียงพอ ที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูง แต่ถ้าดินที่เตรียมไว้ไม่ดี ปรับไม่เรียบ มีน้ำขังต้องใช้เมล็ดมากขึ้น เป็น 15 – 20 กก. / ไร่
การให้น้ำ
ระดับน้ำมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว เช่น ในระยะกล้าหรือช่วง 20 -30 วัน หลังข้าวงอกระยะแตกกอ ถ้าระดับน้ำสูงมากจะทำให้ลำต้นสูงชะลูดเพื่อหนีน้ำ
จึงทำให้ลำต้นอ่อนล้มง่ายแตกกอน้อย ในระยะนี้ควรรักษาระดับน้ำให้อยู่ที่ประมาณ 5 ซม. ก็พอ ถ้าข้าวขาดน้ำในระยะนี้ จะทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น แตกกอน้อย และยังทำให้มีวัชพืชมากด้วย
ในระยะต่อมาเมื่อข้าวตั้งท้องจนถึงสร้างเมล็ด ( ประมาณ 15 วัน ก่อนข้าวออกดอก ถึง 15 วัน หลังออกดอก )
ถ้าข้าวขาดน้ำจะทำให้เมล็ดลีบและผลผลิตลดลงมาก ควรรักษาระดับน้ำไว้ประมาณ 5 – 10 ซม. หรือไม่ควรเกิน 15 ซม.
การใส่ปุ๋ย
1. ปุ๋ยเคมี การใส่ปุ๋ยเคมีในนาข้าว ต้องใส่ให้ถูกชนิด อัตราและเวลา จึงจะได้ผลผลิตข้าวสูง
แบ่งใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 – นาหว่านให้ใส่หลังจากข้าวงอก 20 – 30 วัน โดยใช้สูตรปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดินและพันธุ์ข้าว
ดินเหนียว – ใช้สูตรปุ๋ย 16 – 20 – 0 อัตรา 20 – 25 กก / ไร่ แต่ถ้าเกษตรใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด + เคมี โดยใช้อินทรีย์ 15 กก + เคมี 5 กก / ไร่ สำหรับพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง (ข้าวต้นสูงปลูกได้เฉพาะฤดูฝน) อัตราใช้ 25 – 35 กก / ไร่
ข้าวไม่ไวต่อแสง (ข้าวต้นเตี้ยปลูกได้ตลอดปี)
ดินทราย – ใช้ปุ๋ยสูตร 16 – 16 – 8 อัตรา 20 – 25 กก / ไร่
ครั้งที่ 2 - ใส่ระยะส่งรวงหรือประมาณ 25 – 30 วัน ก่อนข้าวออกดอกโดยใช้อัตราตามลักษณะพันธุ์ข้าว คือ
ไวต่อช่วงแสง – ใช้ยูเรีย 46 – 0 – 0 อัตรา 5 – 10 กก/ไร่ หรือแอมโมเนียซัลเฟต (21 – 0 – 0 ) 10 – 20 กก/ไร่ ถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 6 กก. + ยูเรีย 4 กก.
ไม่ไวต่อช่วงแสง - ใช้ยูเรีย อัตรา 10 – 15 กก/ไร่ หรือ (21 – 0 – 0 ) อัตรา 20 – 30 กก/ไร่
ปุ๋ยอินทรีย์มีประโยชน์ต่อดิน
ปุ๋ยอินทรีย์ คือ อินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์หลายประการ แต่ที่สำคัญคือ อินทรียวัตถุเมื่อย่อยสลายตัวจะปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับพืชและเป็นตัวจับยึดธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปในดินไม่ให้สูญเสียรวดเร็วเกินไป แต่เนื่องจากอินทรียวัตถุจะค่อยๆ ลดลง เมื่อปลูกข้าวไปนานๆ ดังนั้นควรใส่อินทรียวัตถุเพื่อเติมลงในดิน