Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง => การศึกษาทางเลือก => Topic started by: Smile Siam on 29 December 2012, 07:09:49
-
โสเครติสกับการศึกษาทางเลือก
เรื่องราวชีวิตของโสเครตีสในประวัติศาสตร์มีน้อยมาก จำเป็นต้องประมวลเอามาจากข้อความในบทสนทนาของเพลโต ผู้เป็นทั้งเพื่อนและลูกศิษย์ของเขา
โสเครตีสเกิดเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว เป็นชาวเอเธนส์โดยกำเนิดและใช้ชีวิตอยู่ในเอเธนส์ตั้งแต่เกิดจนตาย บิดาของโสเครตีสเป็นช่างสลักหิน ส่วนมารดาเป็นหมอตำแย
ในวัยเยาว์โสเครตีสได้รับการอบรมทางศาสนาเหมือนเด็กกรีกอื่นๆ พอย่างเข้าสู่วัยหนุ่มเขาได้เสวนา กับนักปราชญ์สำคัญ 2 คน คือ ปาร์มีนิดีสกับเซโน
โสเครตีส คงได้ฝึกฝนวิชาสลักหินจากบิดาอยู่บ้าง แต่คงไม่ชอบทางด้านนี้จึงหันมาสนใจปรัชญาอย่างจริงจัง เพื่อนำมาปฏิบัติในชีวิตจริง คำว่า ' ปรัชญา ' ในสมัยนั้น หมายถึงการค้นหาคำตอบในสิ่งที่ยังไม่มีใครคิดขึ้นมาก่อน รวมทั้งปัญหาต่าง ๆที่จัดเป็นวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบันด้วย เช่น มนุษย์คืออะไร ชีวิตคืออะไร ใครสร้างมนุษย์ขึ้นมาในโลกนี้ ฯลฯ
โสเครตีสมักจะตื่นนอนตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง กินอาหารเช้าอย่างรีบเร่ง แล้วก็ออกจากบ้านเตร็ดเตร่ไปตามโบสถ์ แวะบ้านเพื่อน หรือไม่ก็ที่อาบน้ำสาธารณะหรือมุมถนนสักมุม ที่สามารถใช้เป็นสถานที่สนทนาได้
เมื่อเอ่ยถึงโสเครตีส ขอให้เรานึกถึงผู้ชายที่มีรูปร่างหน้าตาเข้าขั้นอัปลักษณ์ ร่างเตี้ย หัวเถิก จมูกโต ปากหนา ไว้หนวดเครายาวรุงรัง ดูโดยรวมแล้วไม่น่าเข้าใกล้ แต่กระนั้นกลับมีบรรดาเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้าคอยห้อมล้อม เพื่อฟังโอวาทของเขาอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นก็คือ เพลโต ยอดนักปรัชญาชาวกรีก
ครั้งหนึ่งเพื่อนของโสเครตีสได้ไปถามนักบวชผู้ให้เทพพยากรณ์ ณ วิหารเดลฟีว่า ใครคือคนที่ฉลาดที่สุดในเอเธนส์ ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน คำทำนายของวิหารศักดิ์สิทธิ์ ระบุว่า ผู้ที่ฉลาดที่สุดในเวลานั้นคือ โสเครตีส
คำทำนายนี้ ทำให้โสเครตีสภูมิใจมาก และยึดถือคำทำนายนั้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง ถึงกับเลิกกิจการอื่น ๆ ที่กำลังทำอยู่ หันมาอุทิศตนให้กับการแสวงหาสัจธรรม
โสเครตีส ไม่เคยแสวงหาตำแหน่งทางการเมือง แต่เคยได้รับเชิญเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิก และต่อมา ก็ได้เป็นประธานสภา แต่เนื่องจากเขาไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามให้พรรคพวกของผู้สนับสนุน โสเครตีสจึงหันไปใช้ชีวิต เร่ร่อนถกปัญหากับผู้คนในเอเธนส์ดังเดิม
ต่อมาอีกหลายปี โสเครตีส ได้พบรักและแต่งงานกับแซนทีป เล่ากันว่าภรรยาของเขาเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น และชอบหาเรื่องกวนใจทะเลาะกับสามีอยู่เป็นประจำ จนเกิดคำกล่าวว่าถ้าภรรยาของใครที่ชอบบ่นว่าสามี ก็ได้ชื่อว่าเป็นหญิงประเภทเดียวกับนางแซนทีปภรรยาของโสเครตีส
โสเครตีส มีลูก 3 คน เขาเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ไม่ดีนัก เพราะเขาไม่ยอมทำงานหาเงินให้ได้มาก ๆ เพื่อครอบครัวจะได้สุขสบาย แต่กลับพอใจอยู่กับการทำงานหาเงินแค่เพียงให้ครอบครัวอยู่รอดไปวัน ๆ
วันเวลาของเขามักจะหมดไปกับการสนทนาซึ่งเป็นสิ่งที่เขาโปรดปรานมากที่สุด เขามักเดินตระเวนไปตามท้องถนนของกรุงเอเธนส์ เพื่อเทศนาเกี่ยวกับตรรกวิทยาที่เขาถนัด
โสเครตีส เป็นคนแปลก ชอบแต่งตัวมอซอ ไว้หนวดเครารุงรัง แต่วิธีการแสวงหาความรู้หรือสัจธรรม ในชีวิตของเขาแปลกยิ่งกว่า เขามักจะเสแสร้งทำเป็นไม่มีความรู้ หรือมีปัญหาที่ไม่รู้คำตอบ เป็นเหตุให้ผู้รู้อยากแสดงภูมิออกมา เมื่อถึงตอนนั้นโสเครตีสก็จะระดมคำถามใส่คู่สนทนาราวกับเป็นอัยการในศาล
ถ้าคู่สนทนาจนแต้ม เขาก็จะแนะแนวทางให้ดำเนินความคิดต่อไป แต่ถ้าคู่สนทนาเชื่อมั่นในความคิด หรือเหตุผลของตัวเองมากเกินไป เขาก็จะเสนอข้อโต้แย้งให้เกิดการสงสัยในความคิดหรือเหตุผลนั้น ๆ และดูเหมือนว่าโสเครตีส มักจะหาเหตุผลที่เหมาะสม มาทำลายความคิดดั้งเดิมได้อย่างง่ายดาย วิธีการแบบนี้ของโสเครตีส เรียกว่า การวิจารณ์แบบวิภาษวิธี ( Dialectic )
วิธีการของโสเครตีส
วิธีการของโสเครตีส คือ ศิลปะการสนทนาที่โสเครตีสใช้ประคับประคองการสนทนาให้ดำเนินไปสู่คำตอบของปัญหาที่กำลังอภิปรายกัน วิธีนี้มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า 'วิภาษวิธี '( Dialectic ) ซึ่งประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ
1. สงสัย ( Sceptical )
โสเครตีส เริ่มต้นการสนทนาด้วยการยกย่องคู่สนทนาว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ท่านเองก็ใคร่รู้อยู่พอดี เนื่องจากท่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ท่านจึงขอให้เขาช่วยตอบคำถามของท่านเกี่ยวกับเรื่องนั้น การออกตัวทำนองนี้ถือกันว่าเป็นการถ่อมตัวของนักปรัชญา แต่ได้มีผู้วิจารณ์ว่า นั่นเป็นการเสแสร้งของโสเครตีส ( Socratic Irony )
2. สนทนา ( Conversation )
จากนั้นโสเครตีส ก็เป็นฝ่ายตั้งปัญหาให้คู่สนทนาตอบ การสนทนาจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับเทศน์ ปุจฉา-วิสัชนา คู่สนทนาจะต้องหาคำจำกัดความของหัวข้อที่สนทนากัน โสเครตีสจะวิจารณ์ว่าคำจำกัดความนั้นมีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง อีกฝ่ายหนึ่งจะเสนอคำจำกัดความใหม่ที่ดูรัดกุมกว่า โสเครตีสจะขัดเกลาคำจำกัดความนั้นอีก
การสนทนาจะดำเนินไปอย่างนี้ จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้คำจำกัดความที่น่าพอใจ
3. หาคำจำกัดความ ( Definitional )
จุดมุ่งหมายของการสนทนาจึงอยู่ที่การหาคำจำกัดความที่ถูกต้อง โสเครตีสเชื่อว่า ถ้าเราพบคำจำกัดความที่ถูกต้องของสิ่งใด นั่นแสดงว่าเราพบความจริงแท้เกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเป็นอันเดียวกับการค้นพบมโนภาพของสิ่งนั้นนั่นเอง
4. อุปนัย ( Inductive )
การสร้างคำจำกัดความ จะเริ่มจากสิ่งเฉพาะไปสู่สิ่งสากล เช่น เมื่อหาคำจำกัดความของ ''ความดี'' โสเครตีส และคู่สนทนาจะพิจารณาตัวอย่างจากความประพฤติดีชนิดต่าง ๆ ในสังคม แล้วดึงเอาลักษณะที่เป็น ''แก่น'' หรือที่เป็นสากลเอามาสร้างเป็นคำนิยาม
5. นิรนัย ( Deductive )
คำจำกัดความที่มีผู้เสนอมาจะถูกพิสูจน์ โดยการนำไปเป็นมาตรการวัดสิ่งเฉพาะต่าง ๆ ว่ามีลักษณะร่วมกับลักษณะที่ระบุไว้ในคำจำกัดความนั้นหรือไม่ เช่น ถ้าเราได้คำจำกัดความของ ''ความดี''มา เราก็ตรวจสอบดูว่า การทำทานหรือการปราบปรามโจรผู้ร้าย จัดเป็นความดีตามคำจำกัดความที่เราตั้งไว้หรือไม่เพียงใด แต่เป็นโชคร้ายของโสเครตีส เพราะคนที่เขาชอบต้อนให้จนมุม มักจะเป็นพวกโซฟิสต์หรือนักการเมืองที่มีอำนาจ เขาจึงมีศัตรูที่น่ากลัวโดยที่เขาไม่รู้ตัว
ขณะนั้น เอเธนส์ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของเหล่าศิลปิน นักเรียน กวี นักปรัชญา จากทั่วโลก บรรดาผู้มั่งมีทั้งหลายจึงนิยมส่งบุตรหลานมาเรียนที่นี่กันอย่างคับคั่ง
ในตอนนี้ชื่อเสียงของโสเครตีสเป็นที่รู้จักกันในฐานะปรัชญาเมธีคนสำคัญของเอเธนส์ เขากลายเป็นนักปรัชญาสูงอายุผู้เนื้อหอม มีเด็กหนุ่มขอฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย โดยที่
โสเครตีสไม่ขอรับค่าตอบแทนใด ๆ เลย บรรดาเด็กหนุ่มหัวคิดใหม่ พากันเดินตามโสคระตีสไปตามท้องถนน เพื่อฟังโอวาทของเขา พวกเด็ก หนุ่ม ๆ เหล่านั้นคลั่งไคล้
โสเครตีสเพราะชื่นชมแนวคิดแบบใหม่และชอบกลวิธีการสอนที่ให้อิสระในความคิด แต่บรรดาผู้ปกครองของเด็กหนุ่มเหล่านั้นกลับคิดไปอีกอย่างหนึ่ง คือ หาว่าโสเครตีสสอนลัทธิขบถให้แก่บุตรหลานของพวกตน
ในที่สุดโสเครตีสถูกทางการกล่าวหาว่าทำให้เด็กหนุ่มมีความคิดออกนอกลู่นอกทาง เพราะเขาสอนให้ หาเหตุผลมาเถียงผู้ใหญ่และสอนให้เลิกนับถือบรรดาเทพเจ้า โสเครตีสต้องขึ้นศาลในข้อหาว่าลบหลู่ศาสนา
ในศาลเขาแถลงว่า เขาไม่เคยตั้งตัวเป็นศาสดาสอนใคร ไม่เคยขอค่าจ้างสอนจากลูกศิษย์ ไม่เคยพูดเหลวไหลอย่างที่อริสโตเนฟิส เอาไปล้อในบทละคร
ส่วนข้อหาว่าเขาลบหลู่ศาสนาก็ไม่เป็นความจริง ที่เขาต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้ เพราะเขาเชื่อคำทำนาย ของวิหารศักดิ์สิทธิ์เดลฟี ซึ่งต่อมาเขาก็ได้เที่ยวเสาะหาคนที่ฉลาดไปทุกหย่อมหญ้าแล้ว ก็ล้วนแต่มีคนฉลาดน้อยกว่าเขา จึงทำให้เขากลายเป็นคนที่มีศัตรูมาก และการที่ประชาชนไม่ชอบเขา นั่นก็เพราะคนเหล่านั้นเข้าใจผิดในตัวเขา
การกระทำของเขา ไม่ได้ทำให้เพื่อนร่วมชาติเดือดร้อนแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน เป็นการทำประโยชน์ให้พวกเขาเสียมากกว่า และตัวเขาเองก็มีความเชื่อมั่นในศาสนามากยิ่งกว่าผู้กล่าวหาเขาเสียอีก
ผลปรากฎว่าคณะลูกขุนตัดสินให้โสเครตีสมีความผิดจริง โสเครตีสได้ขอร้องต่อศาลว่า เนื่องจากเขาไม่ ได้ทำผิดอะไร ซ้ำยังทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง เขาจึงควรได้รับการเลี้ยงดูจากรัฐตลอดชีพ แทนที่ศาลเมืองเอเธนส์จะเห็นใจ กลับกล่าวหาว่าโสเครตีสทำผิดแล้ว ยังพูดจาโอหังอวดดี จึงตัดสินให้ประหารชีวิตโสครตีสโดยการให้ดื่มยาพิษ
ก่อนตาย โสเครตีสได้ใช้เวลาทั้งหมดพูดคุยกับมิตรสหายถึงเรื่องความเป็นอมตะของวิญญาณ และได้ฝากสุนทรพจน์ ครั้งสุดท้ายที่กินใจผู้รักเสรีไว้ว่า
'' ความตายนั้นไม่น่ากลัวอะไรเลย เมื่อเทียบกับความชั่วร้ายซึ่งจู่โจมเราอย่างรวดเร็ว ถ้าความตายเปรียบเสมือนการนอนหลับที่ปราศจากความฝันแล้วการนอนหลับชนิดใดเล่าที่จะสุขยิ่งไปกว่านี้ และถ้าความตายทำให้ เราพบกับบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของยุคก่อน ๆ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็จะได้เป็นโอกาสดีที่จะได้พบปะสังสรรค์ไต่ถามปัญหาต่าง ๆ กับท่านเหล่านั้น
ท่านทั้งหลาย....ท่านควรจะยินดีเมื่อนึกถึงความตาย และคิดเสียว่าความตายนั่นแหละคือสัจจะอันแท้จริง ถ้าท่านเป็นคนดีจริงแล้วสิ่งที่เลวร้ายก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับท่าน และเมื่อเวลาที่จะต้องจากกันมาถึง ข้ากำลังจะตาย แต่ท่านยังจะต้องเผชิญชีวิตต่อไป แต่ใครเล่าจะรู้ ได้ว่า ระหว่างเรานี้ใครจะได้พบความสุขมากกว่ากัน ยกเว้นพระผู้เป็นเจ้า ''
วาระสุดท้ายของโสเครตีสมาถึง ท่ามกลางความโศกเศร้าของสานุศิษย์และมิตรสหาย เจ้าหน้าที่นำถ้วยยาพิษมาให้ โสเครตีสรับมาดื่มด้วยอาการสงบ แล้วก็เดินไปจนกระทั่งทรงตัวไม่ไหว เขาจึงเอนกายลงนอนรอ ความตายที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา แต่ก็ยังไม่วายเตือนเพื่อนชื่อ คริโต ว่า ''อย่าลืม...ช่วยเอาไก่ไปเซ่นที่แอสเคิลปิอุส ให้ด้วยนะ ''
จากนั้นเขาก็หยิบผ้าขึ้นคลุมหน้าและสิ้นลมอย่างสงบ
โสเครตีส เป็นนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของกรีกและของโลก เขาได้รับเกียรติว่า เป็นบิดาแห่งวิชาปรัชญาตะวันตกยุคโบราณ ถึงแม้เขาจะละโลกไปแล้วกว่า 24 ศตวรรษ แต่ปรัชญาของเขาคือ
'' จงยึดมั่นสัจจะและความดีเหนืออื่นใด '' ยังมีอิทธิพลอยู่มากต่อนักปรัชญายุคถัดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะโสเครตีสได้เป็นตัวอย่างเสียเอง กล่าวคือ ตลอดชีวิตของโสเครตีส ท่านจะยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมและความรู้ ทั้งอุทิศเวลาไปในการเที่ยวสั่งสอนให้คนมีความรู้และคุณธรรม โดยเห็นว่า คุณธรรมนั้นสำคัญที่สุดยิ่งกว่าสิ่งใดแม้แต่ชีวิต โสเครตีสจึงได้เสียสละ ทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตเพื่อคุณธรรม โสเครตีสจึงเป็นบุคคประเภททำและพูดเหมือนกัน คือพูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น หรือสอนคนอื่นอย่างใด ตนก็ทำได้อย่างนั้น จึงเป็นบุคคลแห่งอุดมคติอันสูงส่ง ซึ่งหาได้ยากนักในโลกนี้/size]
จาก โสเครติส โดย วิลาศ มณีวัต
หนังสือ ปวงปรัชญากรีก ของ ฟื้นดอกบัว
หนังสือ ปรัชญากรีก ของ จำนงค์ ทองประเสริฐ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaioctober.com/smf/index.php?topic=639.0
www.konmun.com
http://article.konmun.com/Socratis-know373.htm