Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

เรื่องราวน่าอ่าน => เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก => Topic started by: Smile Siam on 22 December 2012, 07:11:07

Title: เรื่องเล่าจากอดีต (๔) วีรชน ๘ ธันวาคม
Post by: Smile Siam on 22 December 2012, 07:11:07
เรื่องเล่าจากอดีต (๔) วีรชน ๘ ธันวาคม

เรื่องเล่าจากอดีต (๔)

วีรชน ๘ ธันวาคม

พ.สมานคุรุกรรม


เรื่องราวของกองทัพเรือญี่ปุ่น ที่ยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ เพื่อต้องการเดินทัพ ผ่านประเทศไทยไปโจมตีมาลายูและสิงคโปร์ เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง ร.ศ.๑๖๐ นั้น มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทย เทียบเท่ากับเหตุการณ์ ที่เรือรบฝรั่งเศสบุกรุก ผ่านอ่าวไทยเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๕ ค่ำ เดือนแปด ปีมะเส็ง เช่นเดียวกัน

เรื่องราวของทั้งสองเหตุการณ์นั้น ได้มีผู้บันทึกอย่างเป็นทางการ และเป็นเรื่องเล่าขานกันมานานจนถึงบัดนี้

ในเช้ามืดของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ นั้นมีเหตุการณ์อย่างใดบ้าง ก็มีผู้เขียนให้อ่านกันมากมาย ตลอดเวลา ๖๐ ปีที่ผ่านมา สรุปได้ว่าที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการรบที่รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่แพ้การรบของทหารอากาศที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เหมือนกัน

พลตรี ชาย อุบลเดชประชารักษ์ ได้เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์ เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก อมร อมรเสนีย์ (หลวงอมรเสนีย์ ทศ อัมรานนท์ ) เมื่อสามสิบปีก่อน พอสรุปได้ว่า

ขณะเมื่อทหารญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังประมาณหนึ่งกองพล ได้ทยอยลงจากเรือระบายพลขึ้นฝั่งที่บริเวณท่าแพ จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ผู้บังคับกองรักษาการณ์ภายนอก ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ ซึ่งอยู่แนวหน้าสุด ได้ทราบถึงการยกพลขึ้นบกของข้าศึกก่อน และได้รวบรวมกำลังพลจาก กองรักษาการณ์ จังหวัดทหารบกนครศรีธรรมราช เข้ายับยั้งต่อสู้ต้านทานข้าศึกเป็นหน่วยแรกที่ท่าแพ แล้วกำลังพลทั้งหมดของกองพันนี้ จึงจัดกำลังตั้งรับที่หน่วยของตนนั้นเอง

เมื่อผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ของหน่วยทหารภาคใต้ ได้รับรายงานแล้ว ก็จัดกำลังกองพันทหารราบที่ ๓๙ เข้าเสริมกำลังทหารปืนใหญ่ กองพันทหารพาหนะเป็นปีกขวา กองพันทหารสื่อสารป้องกันปีกซ้าย หน่วยยุวชนทหารเป็นแนวหนุน แล้วก็เปิดฉากการยิงต้านทานข้าศึก ที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่า ซึ่งกำลังดาหน้าเข้ามา ด้วยอาวุธทุกชนิดที่มี จากระยะที่ห่างกันเพียงประมาณ ๑๐๐ เมตร

ทหารปืนใหญ่เมื่อตั้งยิงได้แล้ว ก็ส่งกระสุนเข้าถล่มข้าศึก จนกระสุนเลยไปตกถึงเรือระบายพลและเรือรบ ที่อยู่ในทะเล และเมื่อข้าศึกรุกเข้ามาใกล้ทุกที จนถึงระยะ ๕๐ เมตร ปืนใหญ่ไม่สามารถยิงได้ พลประจำปืนก็ต้องใช้อาวุธปืนเล็กยาวยิงร่วมกับทหารราบด้วย

ทหารไทยได้ยึดแนวต้านทานไว้อย่างเหนียวแน่น แม้จะเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ก็ไม่ได้ถอยร่นลงมา จนในที่สุดก็ถึงระยะประชิด ทั้งสองฝ่ายก็ประหัตประหารกันด้วยอาวุธสั้น ทั้งดาบปลายปืนและดาบซามูไร จนได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่กรุงเทพ ฯ ให้หยุดยิง และยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปได้ หลังจากที่ได้สู้รบกันเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า ๖ ชั่วโมง โดยฝ่ายข้าศึกไม่สามารถเข้ายึดที่ตั้งทางทหาร ของมณฑลทหารบกที่ ๖ ได้เลย

ผลของการรบครั้งนี้ จากรายงานของ พลตรี หลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ถึงผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ ๑๙ และ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ แจ้งว่า

ในการสู้รบป้องกันอธิปไตยของชาติ เมื่อ ๘ ธันวาคม นั้น กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ได้ทำการปะทะต้านทานข้าศึกไว้ มิให้ล่วงล้ำเข้ามาในโรงทหารได้เป็นผลสำเร็จ มีกำลังพลที่สมควรได้รับความชมเชยหลายคน เช่น

พันเอก หลวงอมรเสนีย์ ผู้บังคับทหารปืนใหญ่ กองพลที่ ๖ ได้นำทหารไปจัดขบวนรบแนวหน้าที่สุด เพื่อต่อต้านข้าศึกเป็นหน่วยแรก และคงอำนวยการอยู่ ณ ที่นั้นจนถึงเวลาสงบการรบ นับว่าได้ฝ่าอันตรายอย่างกล้าหาญ เพราะปรากฏว่าผู้ที่ไปด้วยและอยู่ในแนวเดียวกันนั้น ได้ถูกอาวุธถึงแก่กรรม และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

พันตรี หลวงราญรอนสงคราม รองเสนาธิการมณฑลทหารบก ได้นำทหารในกองบัญชาการ ไปจัดขบวนรบในแนวหน้า พร้อมกับ พันเอก หลวงอมรเสนีย์ และได้อำนวยการรบอยู่ตลอดเวลา ด้วยความองอาจกล้าหาญยิ่ง จนตนเองได้ถูกกระสุนข้าศึก ถึงแก่กรรมลงในขณะนั้น

ร้อยเอก ชาย ไชยกาล นายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการ ได้รับอาสานำปืนกลหนักส่วนหนึ่งซึ่งส่งมาจาก กองพันทหารราบที่ ๓๙ ซึ่งขณะนั้นไม่มีผู้บังคับบัญชา ไปทำการตั้งยิงในแนวหน้า และได้อำนวยการยิงอยู่ด้วยความกล้าหาญ และฝ่าอันตรายจนถึงเวลาสงบการสู้รบ

จ่าสิบตรี ผ่อง พ่วงดวงงาม ผู้บังคับกองรักษาการณ์ภายนอก ได้นำทหารในกองรักษาการณ์ไปต่อต้านข้าศึกเป็นกองแรก ทำให้หน่วยได้มีเวลาเตรียมตัวและปรับกำลังได้ทันเวลา จนตนเองถูกอาวุธบาดเจ็บสาหัส

พันโท หลวงประหารริปูราบ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ได้อำนวยการรบให้แก่กองพันของตนอย่ากล้าหาญ จนตนเองถูกยิงกระสุนทะลุหมวกเหล็ก แต่ลูกกระสุนแฉลบไป ได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะไม่สาหัส

ร้อยเอก สวัสดิ์วงศ์ บูรณะสมิต ผู้บังคับกองร้อย ได้นำทหารราบหมวดแรกไปถึงแนวหน้า แล้วช่วยทหารปืนใหญ่ต่อสู้ข้าศึก จนผู้ใต้บังคับบัญชาเสียชีวิตและบาดเจ็บไม่สามารถทำการรบได้ ต้องทำหน้าที่เป็นพลยิงปืนกลเบาต่อไปด้วยตนเอง จนได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ของข้าศึก

สิบตรี เจริญ สินสมบัติ ได้รับคำสั่งจาก ผู้บังคับกองร้อย ให้นำหมู่ขึ้นไปด้านขวาของแนวยิง ขณะเคลื่อนที่ก็ถูกปืนกลฝ่ายญี่ปุ่นยิงที่แขนซ้าย ได้รับบาดเจ็บ แต่เขาก็ยังนำลูกหมู่เข้ายึดแนวที่หมายได้ ขณะนั้นผู้บังคับหมู่และพลยิงปืนกลเบาเสียชีวิต จึงเข้าไปทำหน้าที่พลยิง ทั้ง ๆ ที่แขนซ้ายบาดเจ็บ จนถูกยิงอีกครั้งที่ขมับล้มพับสิ้นสติไป

สิบตรี ขัน ศรีดี ผู้บังคับหมู่ ๒ หมวด ๑ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับกองร้อย ให้นำกำลังขึ้นไปทางด้านซ้ายของหมวด ขณะเคลื่อนที่ก็ถูกยิงที่เท้าซ้าย แต่เขาก็ยังนำลูกหมู่เคลื่อนที่ต่อไป ตนเองคลานด้วยเท้าขวาประกอบกับแขนทั้งสอง จนถึงแนวที่กำลังยิงกันอยู่ ขณะนั้นทหาร ญี่ปุ่นได้เคลื่อนที่เข้ามาทางด้านซ้าย มีปืนกลเบาอยู่ใกล้ตัวเขา แต่พลประจำปืนเป็นอันตรายไปหมด เขาจึงได้เข้าประจำปืนทำการยิงต่อสู้ จนกระสุนหมดจึงได้นำปืนถอยมาข้างหลัง เพื่อจะเอากระสุนจากพลกระสุนที่เสียชีวิตแล้ว จึงถูกกระสุนปืนของทหารญี่ปุ่นกลางอก ถึงแก่ชีวิต

สิบตรี พ่วง พารา รองผู้บังคับหมวด ๑ ได้นำรถยนต์บรรทุกปืนกลหนัก จากกองพันทหารราบที่ ๓๙ ขึ้นไปแนวหน้า โดยมี ร้อยตรี พรหมมา คำหงษ์ เป็นผู้บังคับหมวด เมื่อถึงแนวยิง ผู้บังคับหมวดได้สั่งให้ไปบังคับบัญชา หมู่ ๒ นำปืนกลหนักเข้าที่ตั้งยิง ทางด้านขวาของถนน ในขณะที่มีกระสุนปืนจากทหารญี่ปุ่นยิงเข้ามาอย่างหนาแน่น จนสามารถนำปืนตั้งยิงได้แล้วก็อำนวยการยิงของหมู่ปืนกลหนัก พร้อมทั้งตนเองก็ใช้ปืนเล็กประจำกายยิงต่อสู้ข้าศึก จนกระทั่งถูกยิงจากข้าศึก สิ้นชีวิตในที่รบนั้นเอง

กองพันทหารราบที่ ๓๙ นี้ เป็นกำลังรบหลักและได้รับความเสียหายมากที่สุด มีนายสิบและพลทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งปรากฏชื่อถึง ๓๓ นาย

ร้อยตรี ประยงค์ ไกรกิตติ ผู้บังคับหมวด กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ ได้อำนวยการให้ทหารนำปืนใหญ่ออกตั้งยิงได้สำเร็จ ในขณะที่ข้าศึกกำลังบุกเข้ามาอย่างหนาแน่น และทำการยิงอย่างเผาขน ต่อสู้ข้าศึกด้วยความทรหดอดทน จนตนเองถูกกระสุนปืนใหญ่ของข้าศึกถึงแก่กรรมในที่รบ หน่วยทหารปืนใหญ่นี้ มีนายสิบและพลทหารเสียชีวิตที่ปรากฏชื่อ ๕ นาย

ร้อยตรี เฉลิม สุทธิรักษ์ ผู้บังคับหมวดสื่อสาร กองพันทหารสื่อสารที่ ๖ ได้ร่วมกับทหารสื่อสาร ซึ่งสู้รบกับข้าศึกด้วยปืนเล็กยาว ทางปีกซ้ายของแนวรบ โดยตนเองยิงข้าศึกด้วยปืนพกประจำตัวจนกระสุนหมด และเมื่อเสนาธิการมณฑลทหารบก นำคำสั่งหยุดรบขึ้นไปถึงแนวหน้า ก็ได้ช่วยวิ่งไปแจ้งคำสั่งหยุดยิงให้ทหารทราบ หลายครั้งหลายหนนับว่าเป็นการฝ่าอันตรายยิ่ง

ร้อยเอก ขุนนวมมณฑนะโยธิน ผู้บังคับทหารพาหนะ มณฑลทหารบกที่ ๖ ได้นำกำลังพลไปรักษาปีกขวา และอำนวยการรบ จนกระทั่งตนเองถูกอาวุธถึงแก่กรรมในที่รบ

กำลังพลของหน่วยเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ ๖ ได้ทำการรักษาพยาบาล ทั้งทหารที่ป่วยอยู่เดิม และผู้ที่บาดเจ็บในการสู้รบ ตลอดเวลาที่อยู่ในย่านการยิง โดยมิได้คิดถึงอันตรายที่จะบังเกิดแก่ตน มีนายสิบและพลทหารปรากฏชื่อได้รับการยกย่อง ๑๓ นาย

ยังมีหน่วยอื่น ๆ เช่นสารวัตรทหาร และยุวชนทหารโดยการนำของ ร้อยเอก สอาด ขมะสุนทร และครอบครัวนายทหารนายสิบ ซึ่งอยู่แนวหลังได้ช่วยเหลือในการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้กีดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของแนวหน้าเป็นอย่างดี

และ นายพิชาญ ดโนทัย ครูโรงเรียนชายประจำจังหวัด กับข้าราชการพลเรือนอีกหลายนาย ได้อาสาช่วยเหลือ ในขณะที่มีการสู้รบอยู่ด้วย

ส่วนด้านจังหวัดปัตตานี กองพันทหารราบที่ ๔๒ ได้ทำการสู้รบกับข้าศึกอย่างกล้าหาญ จนได้รับความเสียหายทั้งอาวุธ กระสุน และเครื่องยุทโธปกรณ์ เป็นจำนวนมาก มีทหารเสียชีวิตหลายนาย รวมทั้ง พันโท ขุนอิงคยุทธบริหาร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๔๒ ด้วย

แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้รับความดีความชอบ หรือเกียรติยศสรรเสริญ หรือเหรียญตราแต่ประการใด นอกจากหนังสือชมเชยของผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพียงฉบับเดียว

ทั้งนี้ก็เพราะข้าศึกศัตรูที่เราต่อสู้อย่างสุดใจขาดดิ้นนั้น ได้กลายมาเป็นมหามิตร ร่วมวงศ์ไพบูลย์กันต่อไป จนสิ้นสงครามมหาเอเซียบูรพา และประกาศสันติภาพเมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘

ต่อมาจึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการสู้รบอันกล้าหาญของทหารไทยในภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรูปทหารขนาดประมาณสองเท่าตัวคน แต่งเครื่องแบบสนามครบครัน ยืนถือปืนในท่าประจัญบาน หันหน้าไปทางท่าแพ ซึ่งเป็นจุดที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ประดิษฐานอยู่ในเขตทหารตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ ๖ กิโลเมตร อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้มีการนำอัฐิของบรรดาทหารหาญที่เสียชีวิตในการสงครามครั้งนี้ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และปัตตานี มาบรรจุพร้อมทั้งจารึกชื่อเอาไว้ที่ฐานของอนุสาวรีย์ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๑๖ คน การก่อสร้างและตกแต่งแล้วเสร็จและมีพิธีเปิด เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๙๒ มีชื่อว่า อนุสาวรีย์วีรไทย ๒๔๘๔ และได้มีพิธีกล่าวสดุดี วางพวงมาลา และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับทหารหาญ ที่เสียสละชีวิตเป็นชาติพลี ในวันที่ ๘ ธันวาคม ของทุก ๆ ปี มาจนถึงทุกวันนี้.

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มีสาส์นในวันที่ระลึกวีรชน เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ มีความตอนหนึ่งว่า

ท่านพี่น้องทหารและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย กองทัพบกถือว่า วันที่ ๘ ธันวาคมนี้ เป็นวันที่ระลึกสำคัญยิ่งวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวไทยและชาติไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพี่น้องชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะในวันดังกล่าวนี้ วีรชนผู้กล้าหาญซึ่งได้สูญเสียชีวิตไป ดังได้จารึกนามปรากฏอยู่ ณ อนุสาวรีย์วีรไทยนี้ ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างตลอดจนเลือดเนื้อและชีวิต ต่อสู้กับอริราชศัตรูที่ยกมาย่ำยีประเทศชาติ ด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพื่อรักษาไว้ซึ่ง อิสรภาพ เสรีภาพ ของชาติ ศาสนา และพระบรมเดชานุภาพ ของสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า ให้ดำรงคงอยู่ตลอดมา

อันวีรกรรมที่ท่านผู้กล้าหาญทั้งหลายได้กระทำไว้ ในสมัยดังกล่าวมานั้น นับได้ว่าเป็นวีรกรรมที่มีค่ายิ่ง ควรแก่การเคารพบูชา น่าสรรเสริญเป็นที่สุด เป็นเยี่ยงอย่างแบบฉบับอันดี ที่พวกเราและอนุชนจะพึงจดจำ และยึดถือไว้เป็นหลักประจำใจปฏิบัติเจริญรอยตาม

แม้ว่าท่านวีรชนผู้กล้าหาญทั้งหลาย ที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ศาสนา และราชพลี มาด้วยความองอาจกล้าหาญนี้ สรีระร่างกายเท่านั้นที่ได้สูญหายไปจากโลก แต่ชื่อเสียงคุณงามความดีของท่านเหล่านี้หาได้สูญหายไปด้วยไม่ ตรงกันข้ามเกียรติประวัติ ชื่อเสียงคุณงามความดี ยังดำรงจารึกอยู่ในความทรงจำ ของปวงขนชาวไทยตลอดไป ชั่วกัลปาวสาน.

#############

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
๑๙ เมษายน ๒๕๔๘

นิตยสารทหารปืนใหญ่
เมษายน ๒๕๔๙

มุมประว้ติศาสตร์ ห้องสมุด
๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๑

ที่มา : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pn2474&date=27-03-2010&group=29&gblog=5 (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pn2474&date=27-03-2010&group=29&gblog=5)
ลองตามลิงค์ข้างบนไปดูนะครับ จะพบเรื่องในอดีตที่น่าสนใจอีกมากมาย