Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

เหนือเกล้าชาวสยาม => พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าอริยสาวก => ธรรมมะจากคัมภีร์ => Topic started by: SATORI on 27 December 2012, 00:12:01

Title: สูตรของเว่ยหล่าง
Post by: SATORI on 27 December 2012, 00:12:01
สูตรของเว่ยหล่าง เชิญเข้าไปอ่านที่ลิงค์ข้างใต้นี้นะคะ จะเก็บเอาไว้เองด้วยก็ได้เพื่อนำไปอ่านที่อื่น หรือแบ่งปันสู่ กัลยาณมิตร นะค่าาา

www.angelfire.com/ego/self0/pdf/wei_lang.pdf



คำชี้แจง เกี่ยวกับการศึกษาสูตรเว่ยหล่าง : พุทธทาสภิกขุ โมกขพลาราม ไชยา ๓๑ มีนาคม ๒๔๙๖

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเรื่องจะต้องทราบกันเสียก่อนในเบื้องต้น อยู่ ๒ ข้อ

ข้อแรก หนังสือเล่มนี้จะไม่เป็นที่เข้าใจได้ สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่เคยศึกษาทางพุทธศาสนามาก่อนเลย มันไม่ใช่หนังสือเล่มแรกสำหรับผู้ริเริ่มการศึกษาพุทธศาสนา อย่างน้อยที่สุดผู้ที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้แม้จะไม่เคยเรียนเคยอ่านหนังสือของฝ่ายมหายานมาบ้างแล้ว ก็ควรจะได้ศึกษาหลักแห่งพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาบ้างพอสมควร จนถึง กับจับใจความได้อย่างใดอย่างหนึ่งว่า พุทธศาสนาที่ตนศึกษาแล้วนั้นมีหลักการอย่างไร หรือวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ได้โดยเฉพาะ และอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่เคยศึกษาแต่ฝ่ายเถรวาทมาอย่างเคร่งครัด และยังแถมยึดถือทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งไว้เหนียวแน่นแล้วนั้น อาจจะมองเห็นไปว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผิดหลักพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือเป็นสิ่งที่น่าอันตรายเป็นอย่างยิ่งไปก็ได้ ทั้งนี้เพราะเหตุที่ หลักคิด และแนวปฏิบัติ เดินกันคนละแนว เหมือนการเดินของคนที่เดินตามทางใหญ่ที่อ้อมค้อม กับคนที่เดินทางลัด หรือถึงกับดำดินไปผิดขึ้นในที่ที่ตนต้องการจะไปให้ถึงเสียเลย ฉันใดก็ฉันนั้น

ข้อสอง ผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความสนใจ ควรทราบไว้เสียก่อนว่า หลักนิกายเซ็นและโดยเฉพาะของพระสังฆปรินายกชื่อ เว่ยหล่าง นี้ นอกจากจะเป็นวิธีการที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ยังเป็นวิธีปฏิบัติที่อิงหลักธรรมชาติทางจิตใจของคนทั่วไปด้วย แม้ที่ไม่รู้หนังสือ หรือไม่เข้าใจพิธีรีตองต่างๆ จึงเป็นเหตุให้ลัทธินี้ถูกขนานนามว่า "ลัทธิพุทธศาสนาที่อยู่นอกพระไตรปิฏก" หรืออะไรอื่นทำนองนี้อีกมากมาย ที่จริงผู้ที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ ควรจะได้รับการชักชวนให้ลืมอะไรต่างๆ ที่เคยยึดถือไว้แต่ก่อนให้หมดสิ้นเสียก่อน จึงจะเป็นการง่าย ในการอ่านให้เข้าใจ โดยเฉพาะก็คือ ให้ลืมพระไตรปิฏก ลืมระเบียบพิธีต่างๆ ทางศาสนา ลืมความคิดดิ่งๆ ด้านเดียว ที่ตนเคยยึดถือ กระทั่งลืมความเป็นพุทธบริษัทของตนเสีย คงเอาไว้แต่ใจล้วนๆ ของมนุษย์ ซึ่งไม่จำกัดว่าชาติใดภาษาใด หรือถือศาสนาไหน เป็นใจซึ่งกำลังทำการคิดเพื่อแก้ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไร จิตของมนุษย์ทุกคนในลักษณะที่เป็นสากลนี้ จักหลุดพ้นจากความบีบคั้นหุ้มห่อพัวพันได้โดยสิ้นเชิง? เท่านั้น การทำเช่นนี้จักเป็นประโยชน์อย่างสูงแก่ผู้อ่าน