Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

ชุมชนต้นแบบแห่งความพอเพียง ๔ ภาค และ ชุมชนตัวอย่างทั่วโลก => ชุมชนต้นแบบภาคกลาง รวมทั้งตะวันออก และ ตะวันตก => Topic started by: Smile Siam on 22 December 2012, 05:03:57

Title: ชีวิตพอเพียงที่ชุมชนบ้านนาอีสาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
Post by: Smile Siam on 22 December 2012, 05:03:57
ชีวิตพอเพียงที่ชุมชนบ้านนาอีสาน


ชีวิตพอเพียงที่ชุมชนบ้านนาอีสาน
ชื่อนวตกรรม ชีวิตพอเพียงที่ชุมชนบ้านนาอีสาน
สถานที่ บ้านนาอีสาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา

จุดเด่นของเรื่อง

จากชีวิตขี้เหล้าเมายา เล่นหวย เป็นหนี้ ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวที่ทุนหายกำไรหดเพราะราคาตกและใช้สารเคมีมาก วันนี้ชาวชุมชนบ้านนาอีสานคิดได้ ตาสว่าง เดินตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก มีกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนข้าว ธนาคารปลา ผลิตของอุปโภคบริโภคไว้กินใช้ซื้อขายกันเองในชุมชน และสืบสานพิธีกรรมวัฒนธรรมอันดีงาม อยู่ร่วมกันอย่างเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข สร้างความอบอุ่นขึ้นในครอบครัวและชุมชนของตนเอง

เนื้อหาสาระ
เปิดเรื่อง

“วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ที่บ้านนาอีสาน จะมีงานทำบุญสู่ขวัญข้าว ถ้าหมอสนใจจะไปเที่ยวชมบอกผมได้ จะประสานให้”
พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดฉะเชิงเทรา บอกผมเมื่อปลายเดือนมกราคม 2546 ผมรีบเคลียร์วันว่าง วางแผนไปบ้านนาอีสานทันที เพราะเคยฟังเรื่องราวของคนที่นั่นแล้วติดใจ อยากไปดูด้วยตามานานแล้ว

ผมรู้จักชื่อ “หมู่บ้านนาอีสาน” จากพ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ตอนไปถ่ายทำรายการ ทีวี “รวมพลัง สร้างสุข” (ทางช่อง 11 เวลา 11.00-12.00 น. ทุกวันพฤหัสบดี) เมื่อปี 2545 ได้รู้จักกับ “พี่เลี่ยม บุตรจันทา” ประทับใจในความคิด ลีลาท่าทางของผู้นำชุมชนตามธรรมชาติคนนี้ จนได้มีโอกาสชวนไปร่วมปรากฏตัวนำเสนอความเป็นมาเป็นไปของชุมชนบ้านนาอีสานในโอกาสต่างๆ อีก 2-3 ครั้ง

ชุมชนหมู่บ้านนาอีสานอยู่ชายป่าตะวันออก ริมเขตอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ติดไปทางจังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากตัวอำเภอสนามชัยเขตไปทางทิศตะวันออก ทางเข้าเป็นถนนลาดยางสลับถนนดินลูกรัง ระยะทางเกือบ 70 กิโลเมตร

เป็นชุมชนอพยพของคนอีสาน จากหลายจังหวัดหนีความแห้งแล้งและหนี้สินทิ้งถิ่นเข้ามาหักร้างถางพงทำมาหากิน เหมือนกับชุมชนลักษณะเดียวกันนี้อีกเป็นจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
แต่ชุมชนนี้มีดีที่ไม่ธรรมดา

“ปัจจุบันเป็นที่ สปก. ทั้งหมู่บ้านมีราว 170 หลังคาเรือน สมาชิกประมาณ 800 กว่าคน ผมกับครอบครัวอพยพเข้ามาราวปี 2530 ก็เหมือนกับคนอื่นๆ เข้ามาแล้วก็ปลูกพืชเชิงเดียวกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยหวังว่ามันจะรวยอย่างที่เขาบอก อ้อยบ้าง มันบ้าง แรกๆ ก็ได้เงินดี ทำไปๆ ก็ขาดทุนอีก เพราะต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาเพิ่ม ทำได้มากราคาก็ตก หนี้สินกลับมาอีก ทั้งหนี้เถ้าแก่ หนี้ ธกส. มองไม่เห็นอนาคต ก็กินเหล้า เล่นการพนัน เอามันทุกรูปแบบ เพื่อหาความสุขเฉพาะหน้า ผัวเมียทะเลาะกันทุกวัน ต่างคนต่างหาว่าอีกคนใช้เงินมาก เมียก็ว่าผัวเอาเงินไปซื้อเหล้ากินกับเพื่อนหมด ผัวก็ว่าเมียว่าเอาแต่เล่นหวย พืชผักสวนครัวสารพัดชนิดหาซื้อเอาจากรถพุ่มพวง ทุกอย่างต้องใช้เงิน ไม่ปลูกไม่หาไม่ทำกินเอง” พี่เลี่ยม บุตรจันทา เล่าให้ใครต่อใครฟัง

“ราวปี 2536 พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ หรือที่ผมเรียกว่า ผู้ใหญ่ฤาษี กับคณะ เดินหลงป่ามาโผล่ที่บ้านนาอีสาน พ่อเล่าไปทั่วว่า ถามหาทางออก แทบไม่มีใครบอกได้ เพราะเมากันทั้งหมู่บ้าน สภาพก็ใกล้เคียงกับที่พ่อบอกจริงๆ แหล่ะ”

“จากวันนั้นถึงวันนี้ 10 ปีพอดี ผมกับพี่น้องคนนาอีสานอีกส่วนหนึ่งได้ปรับความคิดกันใหม่ โดยเริ่มจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายในครอบครัว หลังจากไปอบรมที่บ้านพ่อผู้ใหญ่ ทำให้เกิดความคิดใหม่ ทำให้เรารู้ว่าเราใช้จ่ายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย หาเงินเท่าไรก็ไม่มีพอ ในรอบหนึ่งปีผมใช้เงินกินเหล้าเมายากว่า 6 หมื่นบาท ยายตุ๋ย ผู้บังคับบัญชาสูงสุดประจำบ้านของผมก็ใช้จ่ายหลายหมื่น แต่ลูกได้ใช้เงินนิดเดียว หนี้มีแต่เพิ่ม ผมจึงสาบานกับยายตุ๋ย เลิกกินเหล้าเมายา เลิกอบายมุข หันมาทำการเกษตรแบบปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เลิกทำอย่างเดียวแบบหวังขายให้ได้เงินแยะๆ”

“ชีวิตครอบครัวมีความสุขขึ้นชัดเจน พ่อแม่ลูกได้ช่วยกันปลูกผักปลูกหญ้าไว้กินกันเอง ปุ๋ยเคมี สารเคมี เลิกใช้ พิษภัยไม่มี สุขภาพก็ดีขึ้น ไม่ต้องหาเงินซื้อของจากรถพุ่มพวง ข้าวก็สีกินเองด้วยโรงสีวิเศษ คือ เครื่องสีข้าวด้วยมือ ได้ข้าวกล้องกินมีวิตามินแยะ ยังได้ออกกำลังกายไปด้วย ไม่ต้องมีเงินมาก แต่ชีวิตก็มีความสุขได้มาก”

นี่คือตัวอย่างของชีวิตคนสามัญธรรมดาคนหนึ่งที่สามารถ “คลิ๊กความคิดจนชีวิตคลายทุกข์” เป็นตัวอย่างและเป็นกำลังใจให้คนอื่นคิดตาม เดินตาม

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 ผมและคณะอีก 2-3 คน จึงได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวชม “สวนตะพึดตะพือ” ของพี่เลี่ยม ในเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ที่มีต้นไม้สารพัดชนิด ตั้งแต่พืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ไม้ผล ไม้ป่า ไม้ประดู่ ตะเคียน ต้นสัก สมุนไพรนานาชนิด ปลูกอาศัยเกื้อกูลกันอย่างระเกะระกะ แต่ร่มรื่นชื่นใจ มีเสียงนกนานาชนิดขานเรียกกันอย่างเป็นธรรมชาติ เป็น “สวนวนเกษตร” เช่นเดียวกับที่เห็นที่บ้านพ่อ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม

จากหนึ่งความคิด หนึ่งครอบครัว ขยายออกไปอย่างช้าๆ เป็นสอง สาม สี่ ห้า วันนี้คนที่บ้านนาอีสานหลายสิบครอบครัวหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อทำอยู่ทำกินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทำแบบทำอย่างเดียว ทำมากๆ หวังรวยมากๆ เพราะประสบการณ์สอนชีวิตพวกเขาว่าทำอย่างนั้น เถ้าแก่รวยเงิน แต่ตัวเองมีแต่หนี้สิน
วันนี้ชีวิตของพวกเขาจึงมีความสุขมากขึ้น ทั้งชีวิตตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตของชุมชน

บ้านนาอีสานวันนี้ ไม่ต้องกู้เงิน ธกส. แล้ว มีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ตั้งขึ้นเอง ชาวบ้านจะมาฝากเงินกันทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ใครเดือดร้อนมากู้กันวันนั้น กู้ได้หมดวงเงินที่มีในวันนั้น ใครได้กู้บ้างก็คุยกันในวันนั้น ไม่ต้องทำสัญญา ทำแต่บัญชี ครึ่งวันทุกอย่างเสร็จ สิ้นปีกำไรแบ่งเป็น 2 ส่วน ปันคืนสมาชิกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งจัดเป็นสวัสดิการชุมชน เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาล สวัสดิการเด็กเกิดใหม่ สวัสดิการกรณีเสียชีวิต เป็นต้น กิจกรรมนี้ทำกันมาหลายปีแล้ว เริ่มจากสมาชิก 32 คน เดี๋ยวนี้มี 6 ร้อยกว่าราย ไม่มีการโกงกัน ไม่มีหนี้สูญ

จากแนวคิดว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จึงเป็นที่มาของธนาคารปลาสำหรับทุกคนในหมู่บ้าน ปลาคืออาหารอันโอชะ ไม่ต้องไปซื้อกิน เขาจะร่วมกันปล่อยปลาทุกวันที่ 5 ธันวาคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ธนาคารปลานี้มีข้อตกลงว่า “ฝากได้ ถอนไม่ได้ กำไรได้ตอนน้ำหลาก” (ปลาออกไปจากบ่อ) โดยชาวบ้านได้ทำทำนบกั้นปิดลำคลอง เป็นบ่อปลา แล้วสร้างสะพานข้ามคลองเป็นจุดชมปลา มีท่าสำหรับปล่อยปลา บริเวณธนาคารปลาห้ามสมาชิกจับ แต่นอกเขตจับกินได้ ทำให้ปลามีแหล่งแพร่พันธุ์ ปลาจึงมีชุกชุมหากินได้ตลอดปี สมัยก่อนที่ไม่มีธนาคารปลา ทุกบ้านแย่งกันหาจนปลาหมด แพร่พันธุ์ไม่ทัน วันนี้ชาวบ้านจึงมีปลากินตลอดปี

“ที่บ้านนาอีสานสมัยก่อนปลูกข้าวไม่พอกิน เพราะที่นามีจำกัด บางบ้านมีข้าวเหลือก็เอาไปขาย ได้ราคาถูกๆ บางบ้านข้าวไม่พอกิน ต้องซื้อข้าวราคาแพงจากนอกหมู่บ้านมากิน เมื่อปี 2542 จึงได้ตั้งกองทุนข้าวเพื่อชุมชน หรือธนาคารข้าวขึ้นมา ใครมีข้าวเหลือกินก็มาฝากเก็บเข้ายุ้งชุมชน ใครไม่พอกินก็มายืมข้าวไปกินได้ แต่ต้องนำมาใช้คืนวันทำพิธีสู่ขวัญข้าว โดยขอดอกเบี้ยแค่ 20% เริ่มแรกมีข้าวในกองทุนประมาณ 4 เกวียน เดี๋ยวนี้มีกว่า 80 เกวียนแล้ว ชาวบ้านที่ฝากข้าวไม่มีปันผลกำไรให้ ข้าวที่ได้กำไรส่วนหนึ่งเอาไปขาย ได้เงินมาก็เข้าสวัสดิการออมทรัพย์ ข้าวที่เหลือก็จัดแบ่งช่วยเหลือผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้พิการที่ไม่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ โดยให้กินข้าวฟรี คนละ 60 ถังต่อปี เหลือจากนั้นก็นำไปบริจาค เมื่อปีที่แล้วไปบริจาคโครงการอาหารกลางวันให้นักเรียนลูกหลานเรากิน ปีนี้จะมีโครงการให้คนจนในหมู่บ้านกินข้าวฟรีสิบครอบครัว”

พี่เลี่ยมให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนข้าว ทำให้มองเห็นการทำกิจกรรมชุมชนด้วยหลักของ “การเฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์” เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่าง “อยู่เย็น เป็นสุข” ซึ่งหาได้ยากเต็มทีในสังคมบริโภค แก่งแย่ง แข่งขันกันอย่างทุกวันนี้

สองสามปีมานี้ ชาวบ้านนาอีสานเริ่มกิจกรรมสรรค์สร้างวัฒนธรรมประเพณีดีงาม โดยหวังให้เกิดเป็นสายใยโยงร้อยจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชนเข้าด้วยกัน งานทำบุญ “สู่ขวัญข้าว” จึงเริ่มขึ้น เป็น 1 ใน 4 ของการบูชาพระคุณแม่ คือบูชาพระแม่โพสพ

สี่แม่ผู้มีพระคุณต่อชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องระลึกรู้บุญคุณ ได้แก่ แม่คงคา ที่มีคุณประโยชน์กับสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แม่คงคาจะช่วยหล่อเลี้ยงแม่ธรณีให้ชุ่มชื่น แม่ธรณีเลี้ยงแม่โพสพให้งอกงามอุดมสมบูรณ์ ทำให้ได้เมล็ดข้าวมาเลี้ยงชีวิตแม่ผู้ให้กำเนิด จนเกิดมาเป็นคนเราทุกวันนี้

ปีนี้จัดเป็นปีที่สามแล้ว ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 กำหนดเป็นวันเปิดฉางยุ้งข้าว และทำบุญสู่ขวัญข้าว วันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 เตรียมงาน เริ่มด้วยชาวบ้านช่วยกันแห่ข้าวมารวมกันที่หน้ายุ้งข้าวชุมชน ปักธงเพื่อเป็นตัวแทนชาวบ้าน และธงพระแม่โพสพ ตอนเย็นนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น ตกค่ำมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับวิถีชุมชน คืนแรกจบด้วยภาพยนตร์สอดแทรกความรู้ เช้าของวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ชาวบ้านแต่ละบ้านนำอาหารคาวหวานมาทำบุญใส่บาตรถวายพระ ต่อด้วยพิธีพราหมณ์ทำขวัญข้าว กล่าวถึงที่มาของข้าว เป็นบทสวดสอนลูกหลานให้รู้จักบุญคุณของข้าว

ระหว่างสวดทำพิธีชาวบ้านก็เก็บข้าวเข้ายุ้งประมาณ 2-3 ถัง จากนั้นเก็บธงเข้ายุ้ง จบพิธี ประมาณ 11 โมงเช้า ชาวบ้านลำเลียงอาหารคาว หวานมาวางเรียงรายบนโต๊ะที่ต่อไว้ยาวร่วม 10 เมตร ฟังพี่เลี่ยมประกาศว่าอาหารและขนมเหล่านี้ ล้วนทำมาจากข้าว กล้วย มะพร้าว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ามหาศาล ทำมาแสดงเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นผลงานของชาวบ้านทำกันมาบ้านละชนิดสองชนิดแล้วแต่กำลัง ปีนี้มีขนมไทยและอาหารมาวางเรียงรายกว่า 30 ชนิด อาทิ ข้าวต้มมัด ข้าวเม่า ข้าวหลาม ข้าวเกรียบว่าว ข้าวแตนหรือนางเล็ด ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวกี่-ปลาร้าบอง ข้าวตู ขนมต้มใบกะพ้อ ขนมต้มใบมะพร้าว ขนมกล้วย ขนมเปียกปูน ขนมเปียกอ่อน บัวลอยไข่หวาน ลอดช่องน้ำกะทิ ขนมนมสาว ขนมใส่ไส้ ตะโก้ ไข่หงษ์ กล้วยทอด ขนมดอกบัว ถั่วแปบ กล้วยฉาบ กลีบลำดวน เป็นต้น

สำหรับอาหารคาวพื้นบ้าน ได้แก่ แกงนางหวาน แกงหอยกับขี้เหล็ก ลาบปลาดุก น้ำพริกปลาร้าผักต้ม น้ำพริกปลาดุก แกงไก่ใส่หยวกกล้วย แกงมะรุม แกงออมปลาดุก ขนมจีนน้ำพริก กุ้งสวรรค์ (ดอกกล้วยทอด) ข้าวกล้อง ส้มตำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทั้งคนในชุมชนและผู้ไปเยือน ด้วยทึ่งในภูมิปัญญาและการจัดกิจกรรมออกมานำเสนอให้ทั้งเด็กในชุมชนและผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานจากต่างถิ่นได้เรียนรู้ ได้มีโอกาสเห็นขนมไทยแปลกๆ ที่แทบจะไม่ได้เห็นกันแล้ว มีการเปิดเผยสูตรไม่มีปิดบัง นักเรียนได้มาเรียนจากของจริง คนที่มาเยี่ยมก็ได้เรียนและกินด้วยกันอย่างอิ่มหมีพีมัน ที่สำคัญที่สุดของงานบุญนอกจากการฟังเทศน์ฟังธรรม ถวายภัตตาหารจตุปัจจัยแด่พระภิกษุสงฆ์ก็คือ การร่วมกัน “กวนข้าวทิพย์”

การกวนข้าวทิพย์เป็นการทำขนมที่ทำให้คนร่วมงานได้มีกิจกรรมร่วมกัน ก่อเกิดความสามัคคี ผลัดเปลี่ยนช่วยกันกวน ตั้งแต่เช้ามืดยันเย็น กว่าจะได้ข้าวทิพย์มาแบ่งกินกัน ในข้าวทิพย์ประกอบด้วยส่วนผสม 108 อย่าง ที่ใช้เป็นเครื่องกวน อาทิ ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วราชมาษ ถั่วเหลือง ถั่วทอง ถั่วเขียว ถั่วลิสง เมล็ดงา ผลเดือน สาคูวิลาด สาคูใบลาน เมล็ดแตงอุลิต ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวเม่า เผือก มันเทศ กระจับสด แห้วไทย ข้าวสารหอม ผลไม้แดง น้ำนมโค เนย น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำตาลทราย น้ำตาลอ้อย ข้าวตอก ขนมปังจืด ผลไม้สดที่หาได้ เช่น ทับทิม น้อยหน่า เงาะ ละมุด พลับสด สาลี่ ส้มมะแป้น ส้มซ่า ส้มเกลี้ยง ส้มตรังภานุ ผลไม้แห้ง เช่น ลิ้นจี่ ลำไยอบแห้ง พุทธาริ้ว อินทผลัม ผลไม้แช่อิ่ม เช่น ผลชิด ผลสะท้อน ผลไม้กวน เช่น ทุเรียนกวน และข้าวอ่อน ที่เป็นน้ำนมชะเอมสด อ้อยแดง ฯลฯ ของเหล่านี้ไม่จำกัดสัดส่วนมีเท่าไรใส่ได้หมด แต่ส่วนมากจะไม่ใส่อะไรอย่างเดียวมากเกินไป

เป็นความเชื่อกันมาแต่ดั้งเดิมว่า ข้าวทิพย์เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้รับประทาน จะปลอดพ้นจากโรคภัย มีร่างกายที่แข็งแรงและอุดมด้วยปัญญา เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ผมได้มีโอกาสร่วมกวนข้าวทิพย์กับชาวบ้านและเด็กนักเรียน ได้ชิมขนมสารพัดชนิดที่ทำจากข้าวและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจนอิ่มแปล้ ได้เห็นเด็กนักเรียนเอาสมุดมาจดความรู้ต่างๆ ที่ผู้ใหญ่นำมาจัดนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิจกรรมชุมชน ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น สูตรอาหาร ยาสมุนไพร ฯลฯ ซึ่งพบว่า ผู้มาเยี่ยมเยียนจำนวนไม่น้อยก็แอบจดไปเป็นความรู้ด้วยเช่นกัน

พี่เลี่ยมจับไมค์เล่าประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ของชุมชนให้แขกผู้มาเยือนฟังพร้อมกับตอบคำถามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สลับกับพ่อแคนประจำหมู่บ้านที่เป็นผู้จัดการธนาคารปลาเป่าแคนบรรเลง มีหมอลำสมัครเล่น ร้องรำสร้างความบันเทิงให้กับทุกคนในงาน โดยไม่จำเป็นต้องมี “เหล้ายา” เป็นตัวกลางเหมือนกับงานรื่นเริงทั่วไปที่เห็นกันดาษดื่นในแทบจะทุกงาน

ในงานมีน้ำที่ทำจากสารพัดพืชธรรมชาติมาให้บริการและให้เรียนรู้ ได้แก่ น้ำใบข้าว น้ำใบเตย น้ำอ้อย น้ำมะขาม น้ำมะตูม น้ำใบติ้ว น้ำฝาง น้ำใบหญ้าคา ฯลฯ ให้ลองดื่มกันด้วย รสชาติหอม หวาน ชื่นใจ งานนี้ไม่มีน้ำอัดลมให้ดื่ม ไม่มีขนมกรอบกรุบจากนอกชุมชนให้ทาน โดยหลังเที่ยงของงานวันนั้น มีน้ำยาดองเหล้าที่กลั่นเองตามภูมิปัญญาชาวบ้านมาให้ลองลิ้มรสชาติยาดองขนานแท้ งานนี้ไม่มีขี้เมา เพราะวันนี้คนบ้านนาอีสานเขาเลิกดื่มสุรายาเมากันแบบหัวราน้ำเหมือนเมื่อสิบปีก่อนกันแล้ว

ไอ้ที่โฆษณาหลอกคนไทยว่า “กินแล้วภาคภูมิใจ” น่ะ หลอกคนบ้านนาอีสานไม่ได้แล้ว เพราะเขารู้แล้วว่า ชีวิตแบบ “พอดี พอเพียง” ที่เขาอยู่เขาเป็นกันในวันนี้มันน่าภูมิใจมากกว่าแยะ

นอกจากนี้ แชมพู สบู่ ผงซักฟอก ไม่ต้องซื้ออีกต่อไป เพราะเขาผลิตเองใช้เองจากวัสดุธรรมชาติ ต่อไปน้ำปลาก็ไม่ต้องซื้อ เพราะกำลังมีโครงการทำน้ำปลา กินกันเอง มี “ย.ต.” (ยายตุ๋ย) รับรองคุณภาพ ไม่ต้องง้อ “อ.ย.” อนาคตข้างหน้าทุกอย่างเขาจะพยายามทำเองผลิตเอง ควบคู่ไปกับการกินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ที่เหลือขายในราคากันเองในเครือข่ายญาติมิตร เพื่อให้เกิดการพึ่งพากันเองในชุมชนอย่างยั่งยืน

“เราหวังว่าคนในหมู่บ้านของเราเพียงสักครึ่งเดียวเท่านั้นที่หันมา “ทำอยู่ ทำกิน” ตามแนวที่ในหลวงทรงชี้แนะ หมู่บ้านเราก็จะเป็นสวรรค์ ทรัพยากรจะอุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมจะดี วิถีวัฒนธรรมประเพณีดีงามของชุมชนก็จะเกิด ครอบครัวก็จะอบอุ่น ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กผู้ใหญ่ก็จะอยู่กันอย่างมีความสุข”

พี่เลี่ยม พูดถึงเป้าหมายปลายทางความคิดที่กำลังชวนกันเดินไป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่สุดโต่งไกลเกินความจริง

ตลอด 24 ชั่วโมงที่ได้ไปเที่ยว ไปกิน ไปอาศัย ไปร่วมกิจกรรม ไปเรียนรู้จาก ชุมชนบ้านนาอีสานของผมและคณะครั้งนี้ ได้ทั้งประสบการณ์ชีวิตและได้อาหารทางสติปัญญาที่วิเศษล้ำค่า จนอดไม่ได้ที่ต้องมาเล่าสู่กันฟังครับ

ชื่อ/สถานที่ติดต่อผู้ประสานงาน
คุณเลี่ยม บุตรจันทา
ที่อยู่ 411 หมู่ที่ 16 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์ 01-2189048

แหล่งที่มาของข้อมูล หนังสือรวมพลังสร้างสุข เล่ม 2


ผมชอบใจคำว่า "สวนตะพึดตะพือ" จังเลยครับ

http://www.onsorn.com/forum/index.php?topic=11588.0