Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

ภาพประทับใจ => ผนังเก่าเล่าเรื่อง => Topic started by: ppsan on 28 June 2024, 19:57:25

Title: ภาพ "ประวัติศาสตร์อยุธยา" และปริศนาในภาพ
Post by: ppsan on 28 June 2024, 19:57:25
ภาพ "ประวัติศาสตร์อยุธยา" และปริศนาในภาพ


ภาพ "ประวัติศาสตร์อยุธยา" และปริศนาในภาพ
.
เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศส กำลังถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่อพระหัตถ์ของพระนารายณ์ ณ ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2228
.

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8f/Audience_with_Narai%2C_1685-10-18_%28b%29.jpg)

.

ข้อสงสัย ที่เป็นปริศนาจากในภาพคือ...

-เพราะอะไร? ราชทูตฝรั่งเศส จึงไม่หมอบคลานถวายพระราชสาส์นให้ ‘พระนารายณ์’ เช่นคนไทย เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์น่ารู้อีกเรื่องหนึ่ง

-เราจะเห็น พระนารายณ์ที่ประทับในช่องสีหบัญชร กำลัง “น้อมพระวรกาย” ลงมารับพระราชสาส์นจากพานที่ เดอ โชมองต์ ถืออยู่

-เราจะเห็น คอนสแตนติน ฟอลคอน (ออกพระฤทธิกำแหงภักดี ต่อมาได้เลื่อนเป็น “ออกญาวิชเยนทร์”) ที่หมอบอยู่กับพื้นท้องพระโรง กำลังเงยหน้าแล้วชี้มือไปที่พานคล้ายกำลังพูดอะไรบางอย่าง
.
มันเกิดอะไรขึ้น ในพระราชพิธีครั้งนี้ พรุ่งนี้ มาหาคำตอบกันครับ !?!
.

...............

ข้อสงสัยที่กลายมาเป็นคำถามคือ
.
-เพราะอะไร? ราชทูตฝรั่งเศส จึงไม่ต้องหมอบคลานในการถวายพระราชสาส์นให้ ‘พระนารายณ์’
-เพราะอะไร? คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่หมอบอยู่กับพื้นท้องพระโรง จึงเงยหน้าแล้วชี้มือไปที่พาน คล้ายกำลังพูดอะไรบางอย่าง
-เพราะอะไร? พระนารายณ์ที่ประทับในช่องสีหบัญชร จึงต้อง “น้อมพระวรกาย” ลงมารับพระราชสาส์นจากพานที่ เดอ โชมองต์ ถืออยู่
.

เรื่องมีอยู่ว่า แต่เดิมทางการไทย ไม่ว่าจะเป็นราชทูตจากชาติไหนจะเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น ก็ต้องคุกเข่าถวายบังคม แต่ทางฝรั่งเศสโดยเฉพาะโชมองต์ซึ่งเป็นอัครราชทูตวิสามัญผู้ถืออำนาจเต็ม ถือว่าเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (แต่ตามธรรมเนียมไทยราชทูตเป็นแค่ผู้ถือพระราชสาส์น พระราชสาส์นคือตัวแทนพระมหากษัตริย์) จึงไม่เห็นชอบด้วย แต่ราชสำนักสยามได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นที่พอใจแก่คณะราชทูตชุดนี้เป็นพิเศษ

คณะทูตฝรั่งเศสต้องการจะให้มีการรับรองให้สมเกียรติ จึงมีการเจรจากัน โดยทางไทยส่งคอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นผู้แทน เจรจาอยู่นานกว่าจะได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น ผลที่ออกมาคือ จะยอมให้ราชทูตฝรั่งเศสสามารถยืนเข้าเฝ้าได้ สวมหมวกได้ คาดกระบี่ได้ ซึ่งเมืองไทยไม่เคยมีมาก่อน และคอนสแตนติน ฟอลคอนสัญญาว่าโชมองต์จะได้ถวายพระราชสาส์นถึงพระหัตถ์

ในการเสด็จออกรับราชทูตครั้งนี้นี้ บาทหลวงเดอชัวซีได้บันทึกไว้ว่า

ในท้องพระโรงนั้นมีพระวิสูตรกั้นอยู่ ครั้นเจ้าพนักงานรูดพระวิสูตรแล้วจึงได้เห็นองค์สมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่บนบัลลังก์สูงมาก เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองเห็นดังนั้นก็ตกใจ เพราะได้ตกลงกับฟอลคอนไว้แล้วว่า พระเจ้ากรุงสยามจะประทับในที่สูงเพียงชั่วคนเท่านั้น เพื่อจะได้ทรงเอาพระหัตถ์รับพระราชสาสน์ตรงจากมือราชทูตได้ เชอวาเลียจึงกระซิบกับบาทหลวงเดอชัวซีว่า

“ข้อที่ได้สัญญาไว้เขาทำลืมเสียแล้ว แต่ทำอย่างไรก็จะไม่ถวายพระราชสาสน์ให้สูงเกินตัวข้าพเจ้า”

พานทองซึ่งวางพระราชสาสน์นั้นมีคันทูนอยู่ราว 3 ฟุต เพื่อจะให้ราชทูตจะจับท้ายคันเพื่อชูขึ้นถวาย แต่เชอวาเลียไม่ยอมที่จะทำเช่นนั้น จึงได้ถวายคำนับแล้วเอาหมวกสวมศีรษะ นั่งลงอ่านคำกราบทูล ครั้นเสร็จแล้วจึงได้เดินตรงเข้าไปยังที่ประทับ เชิญพานทองที่วางพระราชสาสน์ยกขึ้นถวายต่อสมเด็จพระนารายณ์ แต่ได้ยกแขนขึ้นครึ่งเดียวเท่านั้น

คอนสแตนติน ฟอลคอนซึ่งกำกับราชทูตอยู่ด้วย ได้คลานศอกแบบตะวันออกเข้าไปใกล้ราชทูต ทำท่าด้วยมือและพูดด้วยปากว่า

“ชูให้สูงขึ้น ชูให้สูงขึ้น”

แต่เชอวาเลียทำเป็นไม่เห็นไม่ได้ยิน สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพระสรวล แล้วทรงยืนขึ้น ก้มพระองค์ลงมาครึ่งองค์ เพื่อทรงหยิบพระราชสาสน์จากพานทอง ราชทูตจึงได้ถวายคำนับแบบฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งก่อนจะกราบทูลเรื่องต่างๆ

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเชอวาเลีย เดอ โชมอง มีเจตนาอะไรที่ไปตกลงกับฟอลตอนว่าจะถวายพระราชสาสน์กับพระราชหัตถ์โดยตรง ไม่ยอมรับธรรมเนียมแบบไทย ซึ่งได้สร้างสีหบัญชรให้สูงราว 2 เมตรไว้แล้ว แม้จนถึงหน้าพระพักตร์ก็ยังไม่ยอมอีก การเล่นแง่ถือดีตั้งแต่ก้าวแรกนี้ ภาระหน้าที่ทางการทูตของเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองจึงไม่ประสบความสำเร็จ เดินทางฝ่าคลื่นลมไปกลับ 12,000 ไมล์ จึงได้แต่คว้าน้ำเหลวกลับไป

แต่อีก 3 ปีต่อมา เมื่อ ซิมอน เดอ ลาลูแบร์ เข้ามาถวายพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในปี พ.ศ.2231 เจ้าพนักงานราชพิธีจึงได้ยกเลิกคันทองทูนพระราชสาสน์ เปลี่ยนเป็นทำเป็นบันไดสามขั้นที่หน้าสีหบัญชร สำหรับราชทูตก้าวขึ้นไปถวายพระราชสาสน์

.