Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
หมวดหมู่ทั่วไป => สาระน่ารู้ => เรื่องที่ควรรู้เท่าทันระดับโลก => Topic started by: ppsan on 25 January 2024, 20:38:53
-
ทางช้างเผือกในตำนาน
ทางช้างเผือก (1)
เมื่อนึกถึงคำว่า ทางช้างเผือก...เสียงเพลงคู่กรรม ก็แว่วเข้ามาในโสตประสาท...
เห็นภาพ โกโบริ (เบิร์ด ธงไชย) และอังศุมาลิน (กวาง กมลชนก) ล่องลอยมา...
...วิญญาณฉันรอที่ทางช้างเผือก เลือกเธอรักเธอ ไม่ร้างลาไกล...
...ดั่งหิ่งห้อย เฝ้าคอยจนชีพวาย ใต้ลำพู รอคู่กรรม...
เพลง คู่กรรม
คำร้อง/ทำนอง สุทธิพงษ์ วัฒนจัง หรือ "ชมพู ฟรุ๊ตตี้"
เรียบเรียง ศาสสัณฑ์ บุญญาสัย
แต่งเมื่อปี 2533 เป็นเพลงประกอบละคร คู่กรรม
ขับร้องโดย ต้อม เรนโบว์ และกวาง กมลชนก
คู่กรรม เป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและวีรคติ บทประพันธ์ของ ทมยันตี
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
.
(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/327315144_503801488549332_5058804757118499478_n.jpg?_nc_cat=101&ccb=1-7&_nc_sid=3635dc&_nc_ohc=UDW2PxD6vcsAX_7rhx0&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AfCbCx7FMRqpWgyFpiSC2tN5dNRW8SQnjsVHU909J3CSsw&oe=65B7E14A)
.
-
ทางช้างเผือก (2)
แต่วันนี้ จะมาเล่าตำนานเรื่อง ทางช้างเผือก ในความคิดความฝันและวัฒนธรรม ของชนชาติต่างๆ ที่ผูกโยงเรื่องราวชีวิตเข้ากับเรื่องทางช้างเผือก จนกลายเป็นตำนานอมตะ โดยเริ่มจาก...
ชนชาติกรีกโบราณ เล่าสืบกันมาว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เทพเจ้าเซอุส (Zeus) ราชาแห่งเทพกรีก ได้แอบ มเหสีเฮรา (Hera) ไปหาหญิงสาวที่เป็นมนุษย์ชื่อ อัลมีน (Alcmene) จนมีลูกชายเป็นเด็กทารกชื่อ เฮราคลีส (Heracles)
เซอุส อยากให้เฮราคลีสเป็นอมตะด้วยการดื่มนมของมเหสีเฮรา แต่เฮราขี้หึงมาก ถ้าเฮรารู้ว่าเฮราคลีสเป็นลูกของกิ๊กเซอุส เฮราก็คงไม่ปล่อยเฮราคลีสไว้แน่ ดังนั้นเซอุสจึงวางแผน
คืนหนึ่งขณะที่เฮรากำลังหลับ เซอุสแอบอุ้มเฮราคลีส ย่องเข้ามา แล้วให้เฮราคลีสดื่มนมเฮรา
พอเฮรารู้สึกตัวตื่นขึ้นก็ตกใจ ที่จู่ๆ มีเด็กทารกที่ไหนก็ไม่รู้ มาดื่มนมของตน จึงผลักเฮราคลีสกระเด็นออกไป
เฮราคลีสได้ดื่มนมของเฮรา แล้วมีพลังเช่นเทพเจ้าจึงไม่เป็นอะไร แต่ระหว่างที่ผลักนั้น เฮราคลีสกำลังดูดนมอยู่ จึงทำให้นมของเฮรา หกราดไปบนท้องฟ้า เกิดเป็นทางน้ำนม (Milky Way) หรือคนไทยเรียกว่า “ทางช้างเผือก” เนื่องจากคนไทยเห็นเป็นทางบนสวรรค์ที่ช้างเผือกเดินอยู่ (ช้างเผือกเป็นสัตว์มงคล)
คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นโอรสของสวรรค์ อวตารลงมาเกิดยังโลกมนุษย์ และมีช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมี จึงมีความเชื่อว่ามีทางช้างเผือกอยู่บนสวรรค์
.
ภาพ The Origin of the Milky Way โดย Tintoretto ประมาณปี พ.ศ. 2118-2123
(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/327324964_596227952336649_6611317428513267744_n.jpg?_nc_cat=100&ccb=1-7&_nc_sid=3635dc&_nc_ohc=yqOP_uLRb-oAX_Ec6IE&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AfAylaegacrgbylbyPgY2U6-I2u6CFrPvCCzRSVXFND9CQ&oe=65B6BFDE)
.
-
ทางช้างเผือก (3)
ตำนานของชนชาติจีน และอินเดีย
คนจีนเห็นทางช้างเผือกเป็นแม่น้ำบนสวรรค์ มีนิทานเรื่อง “หญิงทอผ้ากับชายเลี้ยงวัว” เล่าว่า
ชายเลี้ยงวัวได้พบรักกับหญิงทอผ้าที่เป็นนางฟ้าจากสวรรค์ ที่แอบหนีมาเที่ยวเล่นที่โลกมนุษย์ ทั้งสองได้แต่งงานและมีลูกด้วยกัน 2 คน
หญิงทอผ้าเคยมีหน้าที่ทอผ้า แล้วนำไปประดับติดบนท้องฟ้าเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า และดวงอาทิตย์ตกตอนเย็น เมื่อเธอไม่อยู่บนสวรรค์ ท้องฟ้าจึงขาดสีสัน
เทพสวรรค์ออกตามหาหญิงทอผ้าจนพบ แล้วพาเธอเหาะกลับสวรรค์
ชายเลี้ยงวัวได้นำหนังวัววิเศษมาห่ม ทำให้เหาะได้ พาลูกทั้งสองใส่ตะกร้าหาบ แล้วเหาะตามมา
เทพสวรรค์ได้เสกให้เกิดแม่น้ำกว้างใหญ่บนท้องฟ้า ทำให้ชายเลี้ยงวัวไม่สามารถเหาะข้ามไปได้
ต่อมาเทพสวรรค์เห็นแก่หญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัวที่มีความรักมั่นคงต่อกัน จึงใจอ่อน ยอมให้ทั้งสองได้พบกันปีละครั้ง ทุกวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน
ในวันนั้น เหล่านกจะมาต่อตัวเป็นสะพาน ให้คู่รักคู่นี้ ได้เดินข้ามแม่น้ำมาพบกัน
แม่น้ำบนท้องฟ้านั้นคือ ทางช้างเผือก หญิงทอผ้าคือ ดาวเวกา (Vega) ในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) และชายเลี้ยงวัวคือ ดาวอัลแทร์ (Altair) ในกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) ดาวทั้งสองจะอยู่ข้างทางช้างเผือก
ปัจจุบันยังมีเทศกาลฉลองวันที่คู่รักทั้งสองมาพบกันเรียกว่า เทศกาลชิซี (Qixi 七夕)
เมื่อญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมจีนเรื่องนี้ ก็จัดเทศกาลเช่นกันเรียกว่า เทศกาลทานาบาตะ (Tanabata たなばた)
...
ส่วนชาวอินเดียเรียกทางช้างเผือกว่า แม่น้ำคงคาสวรรค์ ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “กามนิต” ว่ากามนิตและวาสิฏฐีคู่รัก เมื่อตายแล้วจะไปพบกันที่นั่น เช่นเดียวกับโกโบริและอังศุมาลินในเรื่อง “คู่กรรม” ของทมยันตี
และทางช้างเผือกของอินเดีย ยังเป็น "แม่น้ำจากสวรรค์" ที่ไหลมาบรรจบกันกับแม่น้ำคงคา และยมุนา เป็นแม่น้ำ 3 สาย ที่เรียกว่า "จุฬาตรีคูณ" ในนวนิยายของพนมเทียน อีกด้วย
.
ภาพชายเลี้ยงวัวเหาะตามหญิงทอผ้า แต่มีแม่น้ำกว้างใหญ่บนท้องฟ้าขวางกั้นไว้
(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/327530929_1169923733887014_7521307455600446385_n.jpg?_nc_cat=103&ccb=1-7&_nc_sid=3635dc&_nc_ohc=QbnsinuVMlkAX9_zUCE&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AfBCAC8sJJjPjhGbeB_Dv4UFSlJ8LzF2ncdurOOw9COWyQ&oe=65B7B3CF)
.
-
ทางช้างเผือก (4)
ในทางดาราศาสตร์ ทางช้างเผือกคือ กาแล็กซี่ (galaxy) หรือดาราจักร ที่โลกเราเป็นสมาชิกอยู่
คำว่า galaxy มีรากศัพท์จากภาษากรีกว่า galaxias (γαλαξίας) แปลว่า นม มาจากนิทานเรื่องทางน้ำนมกับเฮราคลีส
กาแล็กซี่ คือระบบดาวที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ประมาณว่ากาแล็กซี่ทางช้างเผือก มีดาวฤกษ์ (คือดาวที่เหมือนดวงอาทิตย์) อยู่ประมาณ 1-4 แสนล้านดวง มีลักษณะเป็นก้นหอยมีคาน (barred spiral galaxy) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 แสนปีแสง (1 ปีแสงเท่ากับ 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร)
คาดว่าตรงกลางทางช้างเผือก เป็นหลุมดำขนาดใหญ่ โชคดีที่โลกของเราไกลห่างจากจุดศูนย์กลางทางช้างเผือกประมาณ 28,000 ปีแสง โลกและดวงอาทิตย์ต้องใช้เวลาประมาณ 230 ล้านปี ถึงจะโคจรรอบกาแล็กซี่ทางช้างเผือก
คาดว่าในจักรวาล มีกาแล็กซี่ทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้าน ถึงมากกว่า 2 ล้านล้านกาแล็กซี่ในจักรวาลหรือเอกภพ
เราสามารถมองเห็นทางช้างเผือกด้วยตาเปล่า ตอนผมเป็นเด็กเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว (แฮร่...เด็กแก่)
ในชนบท สามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ ในคืนที่ท้องฟ้ามืด และในพื้นที่ที่มืดสนิทไกลจากแสงไฟในเมือง
แต่ปัจจุบันคงหาดูได้ยาก อันเนื่องมาจาก มลพิษแสง (light pollution) ที่เกิดจากแสงไฟฟ้าที่สว่างไสวไปทั่วไทย
ดาวทุกดวงที่เรามองเห็นบนท้องฟ้านั้น ล้วนอยู่ในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก แต่ทางช้างเผือกที่เราเห็นเป็นแถบคล้ายเมฆนั้น เกิดจากมุมมองจากโลกที่มองเห็นด้านข้างของทางช้างเผือก เปรียบทางช้างเผือกเหมือนจานกินข้าว ถ้าเรามองด้านบนจะเห็นจานกลม แต่ถ้ามองจานด้านข้าง จะเห็นเป็นเส้น
ตรงบริเวณใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ใกล้กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) และกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) เป็นบริเวณที่จะเห็นทางช้างเผือก มีดาวหนาแน่นที่สุด หรือสวยงามที่สุด จึงนิยมถ่ายภาพทางช้างเผือกให้เห็นบริเวณใจกลาง
ทางช้างเผือกอยู่บนท้องฟ้าตลอดเวลา แต่บริเวณใจกลางจะเห็นเวลากลางคืน ประมาณปลายเดือนมกราคมตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
.
ทางช้างเผือก
(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/327354834_844980196803304_8253925284806336507_n.jpg?_nc_cat=102&ccb=1-7&_nc_sid=3635dc&_nc_ohc=IdqdfwVO-kAAX94jJnk&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AfBDl3LfE9kUQmPfZAOMPVM3rUNWzv8HcKsQ9MBAOpSh8Q&oe=65B78C3C)
.
ภาพลำแสงเลเซอร์ส่องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก ถ่ายจากหอดูดาว Very Large Telescope (VLT) ประเทศชิลี โดย Yuri Boris Beletsky.
(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/327168632_883729352835475_1461804540323695307_n.jpg?_nc_cat=100&ccb=1-7&_nc_sid=3635dc&_nc_ohc=O4Fc1yjTgFcAX_1LmKt&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AfB0IliGjfv0MoHbvYjd-0GtzMOVsjjdDeQfiPM-BqJrbQ&oe=65B6B899)
.