Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
หมวดหมู่ทั่วไป => สาระน่ารู้ => Topic started by: ppsan on 16 December 2023, 08:55:35
-
การนับเวลาแบบไทย [4]
#รายละเอียดเพิ่มเติม
ชั่วโมงแรกของวันตามทัศนะคนไทย คือ ๗ นาฬิกา(๗.๐๐ น.) ทางการก็จะตีฆ้อง ๑ ครั้ง กลายเป็น ๑ โหม่ง หรือ ๑ โมงเช้า
เวลา ๘ นาฬิกา(๘.๐๐ น.) ก็จะตี ๒ ครั้ง เป็น ๒ โมงเช้า, เวลา ๙ นาฬิกา ก็จะตี ๓ ครั้ง เป็น ๓ โมงเช้า เรื่อยไปจนถึงเวลา ๑๑ นาฬิกาหรือ ๕ โมงเช้า บางครั้งก็จะเรียกว่า “เวลาเพล” ตามเวลาที่พระฉันเพล(ตีกลองเพล)
ส่วนเวลา ๑๒ นาฬิกา (๑๒.๐๐ น.) จะเรียกว่า “เที่ยงวัน” สมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงให้ทหารเรือยิงปืน บอกเวลาเที่ยงวันในเขตพระนคร ที่เรียกว่า "ยิงปืนเที่ยง" คนในเขตพระนครจะได้ยิน แต่ที่อยู่นอกพระนครออกไปจะไม่ได้ยิน จึงเกิดคำว่า "ไกลปืนเที่ยง"
หลังเที่ยงวัน ๑ ชั่วโมง เวลา ๑๓ นาฬิกา ก็จะตีฆ้อง ๑ ครั้ง เรียกว่า ๑ โมงบ่าย หรือ บ่าย ๑ โมง
เวลา ๑๔ นาฬิกา ก็จะตี ๒ ครั้ง เป็นบ่าย ๒ โมง เรื่อยไปจนถึงเวลา ๑๖ และ ๑๗ นาฬิกา อาจเรียกว่าบ่าย ๔ โมง บ่าย ๕ โมง (ตามลำดับ) หรือจะเรียกว่า ๔ โมงเย็น ๕ โมงเย็น (ตามลำดับ) ก็ได้ แต่วิธีเรียกอย่างหลังจะเป็นที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน
ส่วนเวลา ๑๘ นาฬิกานั้น จะเรียก ๖ โมงเย็นก็ได้ แต่ในอดีตจะใช้คำว่า “ย่ำค่ำ” เพราะเป็นเวลาคาบเกี่ยวระหว่างกลางวันกับกลางคืน พระก็มักตีกลองรัวในเวลานี้ ก็อาจเรียกว่า ย่ำกลอง ได้เช่นกัน
สำหรับเวลากลางคืน จะใช้ กลอง เป็นเครื่องบอกเวลา เมื่อเลยเวลาย่ำค่ำมา ๑ ชั่วโมง(คือเวลา ๑๙ นาฬิกา) ก็จะตีกลอง ๑ ครั้ง เสียงดัง “ตุ้ม” กลายเป็นเวลา ๑ ทุ่ม เมื่อเลยเวลาย่ำค่ำมา ๒ ชั่วโมง(๒๐ นาฬิกา) ก็จะตีกลอง ๒ ครั้ง เสียงดัง “ตุ้ม ตุ้ม” กลายเป็นเวลา ๒ ทุ่มนั่นเอง และจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงเวลา ๒๓ นาฬิกาหรือ ๕ ทุ่ม หลังจากนั้นอีก ๑ ชั่วโมงก็เป็นเวลา “เที่ยงคืน”
หลังเที่ยงคืนไปแล้ว จะเปลี่ยนมาตีแผ่นโลหะ(แผ่นเหล็ก)เพื่อบอกเวลาแทนกลอง เข้าใจว่าเพื่อให้เสียงเบาลง จะได้ไม่รบกวนชาวบ้านที่กำลังหลับพักผ่อน อย่างไรก็ตาม เสียงตีแผ่นโลหะจะมีลักษณะแหลม สามารถบอกเวลาให้กับผู้ที่ยังไม่นอนได้ และก็ไม่เป็นการปลุกคนที่หลับไปแล้วด้วย อนึ่ง เสียงจากการตีแผ่นโลหะนั้น ก็ฟังไม่ชัดพอที่จะถอดออกมาเป็นคำได้ การบอกเวลาในช่วงนี้จึงไม่ได้มีหน่วยเป็นเสียงเคาะแบบทุ่มหรือโมงอย่างเวลาช่วงก่อนหน้านี้ คงใช้คำว่า “ตี” นำหน้าจำนวนครั้งที่เคาะแผ่นโลหะ นั่นคือ เวลา ๑ นาฬิกา จะตีแผ่นโลหะ ๑ ครั้ง เรียกว่าเวลา ตีหนึ่ง เวลา ๒ นาฬิกาก็จะตี ๒ ครั้ง เรียกว่า ตีสอง เรื่อยไปจนถึงเวลา ๕ นาฬิกา ก็จะเรียกว่า ตีห้า
ครั้นเวลา ๖ นาฬิกา ก็จะเรียกว่า ย่ำรุ่ง เพื่อให้เข้าคู่กับ ย่ำค่ำ นั่นเอง แต่ในปัจจุบัน คนนิยมเรียกเวลานี้ว่า ๖ โมงเช้ามากกว่า และด้วยเหตุนี้ คนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จึงพลอยเรียกเวลา ๗ นาฬิกา ๘ นาฬิกา ว่า ๗ โมงเช้า ๘ โมงเช้า ตามไปด้วย
...
(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/320741375_1508791519532627_2217554160909566987_n.jpg?_nc_cat=103&ccb=1-7&_nc_sid=3635dc&_nc_ohc=D0HOOrf_3jsAX9Yzs7q&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AfDdA7idQsrHNsuXUckF6V625cx2n4tKp0QzmLijodgG8w&oe=6582CE6C)
.
(https://scontent.fbkk24-1.fna.fbcdn.net/v/t39.30808-6/320773148_498761142347915_6128214745782997072_n.jpg?_nc_cat=109&ccb=1-7&_nc_sid=3635dc&_nc_ohc=MMYu0S5pEMwAX9aVpHc&_nc_ht=scontent.fbkk24-1.fna&oh=00_AfDbm0MF9iyRhhv2Vlg4CnJ9eqpxlI82rq0F3usgu405RQ&oe=6581D7CC)
.