Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

เรื่องราวน่าอ่าน => เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก => Topic started by: ppsan on 04 October 2023, 08:50:46

Title: ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
Post by: ppsan on 04 October 2023, 08:50:46
ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์


Arts & Culture

(https://www.sarakadeelite.com/wp-content/uploads/2021/07/Narai-Bantomsin-lintel.jpg)

ย้อนรอยไทม์ไลน์ ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ หลังถูกโจรกรรมร่วม 30 ปี

.

Focus
-10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 นับว่าเป็นข่าวดีของชาวไทยเมื่อผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก ได้ประกาศคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ให้แก่ไทย ซึ่งถูกโจรกรรมไปร่วม 30 ปี

-พ.ศ. 2504 ปราสาทเขาพนมรุ้งถูกทำลายอีกครั้ง กล่าวกันว่าอาจจะเป็นฝีมือของชาวต่างชาติในเครื่องแบบคลับคล้ายทหารสหรัฐฯ และมีความเป็นไปได้ว่า ได้รับความร่วมมือจากผู้มีอำนาจของไทยในสมัยนั้น เป็นเหตุให้ทับหลังน้ำหนักกว่า 1 ตันหายจากประเทศไทย

.

หลังจากการ ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทกู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ถูกโจรกรรมออกนอกประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย บทเรียนราคาแพงกว่ายิ่งนั้นคือเหตุการณ์ ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่หายจากแผ่นดินไทย และไปอยู่ในการครอบครองของชาวต่างชาติร่วม 30 ปี ตามมาด้วยการทวงคืน ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว อายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งถูกโจรกรรมจากไทยไปกว่า 50 ปี และต้องใช้เวลาในการสืบสวนรวบรวมหลักฐานนานถึง 5 ปี จึงจะได้ ทับหลัง ทั้งสองกลับคืนสู่ไทยในกลางปี พ.ศ. 2564

Sarakadee Lite ขอใช้ช่วงเวลาที่คนไทยหันกลับมาสนใจประวัติศาสตร์และความสำคัญของ ทับหลัง พาย้อนรอยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทับหลังกันอีกครั้ง พร้อมเปิดไทม์ไลน์อย่างละเอียดเหตุการณ์ ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทเขาพนมรุ้ง ซึ่งต้องแลกมาด้วยโบราณวัตถุที่มีมูลค่าเทียบเท่ากันราว 50 ล้านบาท

(https://www.sarakadeelite.com/wp-content/uploads/2021/07/Narai-Bantomsin-lintel-6.jpg)

9 มีนาคม พ.ศ.2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ โดยไฮไลต์ของปราสาทแห่งนี้อยู่ที่ ทับหลัง บริเวณมุขด้านหน้าของปรางค์ประธาน ซึ่งสลักเป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือ พระวิษณุอนันตศายินปัทมนาภา เป็นเรื่องเล่าในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย แสดงความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุดของธรรมชาติ เชื่อกันว่าเมื่อถึงวันสิ้นโลก พระนารายณ์ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาโลกจะทรงกลับไปพักผ่อน บรรทมอยู่ในเกษียรสมุทร หรือ ทะเลน้ำนม บัดนั้นดอกบัวก็อุบัติขึ้นจากสะดือของพระนารายณ์ มีพระพรหมผู้สร้างโลกประทับอยู่กลางดอกบัว อันเป็นจุดเริ่มของการสร้างโลกในกัปต่อไป

พ.ศ. 2503 อาจารย์มานิต วัลลิโภดม รับราชการตำแหน่งภัณฑารักษ์ กองโบราณคดี กรมศิลปากร พร้อมด้วย อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง (ผู้ช่วยทำผังปราสาท) และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งได้ไปสำรวจทำแผนผังเพื่อศึกษาและบูรณะตัวปราสาทพนมรุ้ง ครั้งนั้นอาจารย์มานิตพบทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ สูงประมาณ 75 เซนติเมตร ยาวประมาณ 240 เซนติเมตร ชำรุดแตกหักเป็นสองส่วน จึงบันทึกภาพไว้ทั้งหมดโดยไม่ได้เคลื่อนย้ายทับหลังลงจากยอดเขา ซึ่งภาพชุดนี้ได้กลายเป็นหลักฐานยืนยันแหล่งดั้งเดิมของทับหลังได้เป็นอย่างดีหลังการโจรกรรม

(https://www.sarakadeelite.com/wp-content/uploads/2021/07/Narai-Bantomsin-lintel-3.jpg)

พ.ศ. 2504 ปราสาทเขาพนมรุ้งถูกทำลายอีกครั้ง กล่าวกันว่าอาจจะเป็นฝีมือของชาวต่างชาติในเครื่องแบบคลับคล้ายทหารสหรัฐฯ และมีความเป็นไปได้ว่าได้รับความร่วมมือจากผู้มีอำนาจในสมัยนั้น เป็นเหตุให้ทับหลังน้ำหนักกว่า 1 ตันหายจากประเทศไทย ซึ่งช่วงนั้นตรงกับช่วงสงครามเวียดนาม เป็นช่วงที่มีการลอบทำลายโบราณสถานที่เป็นแบบลพบุรี หรือ ศิลปะขอมป็นจำนวนมากในภาคอีสานของไทย อย่างที่พนมรุ้งนั้นการขโมยทับหลังต้องแลกมาด้วยการนำระเบิดทำลายในปราสาทองค์ใหญ่เพื่อให้ปราสาทพังลงมา และตัดเอาโบราณวัตถุออกไป

13 สิงหาคม พ.ศ.2508 กรมศิลปากรยึดทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ชำรุดเสียหายออกเป็นส่วนเล็กขนาดความสูง 75 เซนติเมตร ยาว 83 เซนติเมตร จากร้านขายของเก่าแห่งหนึ่ง จากนั้นก็ได้พยายามสืบหาอีกชิ้นส่วนที่เหลือซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็ไร้ร่องรอยว่าถูกโจรกรรมไปที่ไหน

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในสมัยนั้นทรงมีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมศิลปากรว่า พบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่หายไปจากปราสาทพนมรุ้ง ไปแสดงอยู่ที่ The Art Institute of Chicago หรือ สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา โดยเศรษฐีอเมริกันชื่อ Alsdorf เป็นผู้ให้ยืมไปจัดแสดง ทั้งยังทรงแนะนำให้ทางกรมศิลปากรติดต่อประสานเพื่อขอรับคืน

(https://www.sarakadeelite.com/wp-content/uploads/2021/07/Narai-Bantomsin-lintel-4.jpg)

15 ธันวาคม พ.ศ.2519 กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจาก Alsdorf ว่าทับหลังชิ้นดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของมูลนิธิ Alsdorf Foundation และเรื่องก็เงียบหายไป แม้หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยจะเริ่มเสนอข่าวเรื่องนี้ก็ตาม

26 พฤศจิกายน พ.ศ.2530 คณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ได้มอบหมายให้ พรเทพ เตชะไพบูลย์ ส.ส.บุรีรัมย์ ทำหน้าที่ประสานทวงคืนทับหลังกลับไทยอีกครั้ง

(https://www.sarakadeelite.com/wp-content/uploads/2021/07/Narai-Bantomsin-lintel-7.jpg)

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2531 หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยทุกฉบับตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกในนามประชาชนชาวไทย เรียกร้องให้ประชาชนชาวอเมริกันช่วยกันกดดันเพื่อให้สถาบันศิลปะแห่งชิคาโกคืนทับหลังแก่ไทย พร้อมกันนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบนำทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ออกจากปราสาทเขาพนมรุ้ง ทั้งยังได้ร่วมประณามการขโมยศิลปวัตถุไม่ว่าจะเป็นในประเทศใดก็ตาม โดยในขณะนั้นสหรัฐฯ เป็นภาคีที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาขององค์การยูเนสโก ว่าด้วยการห้ามนำเข้า ส่งออก หรือเปลี่ยนมือเจ้าของทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยผิดกฎหมาย พ.ศ.2513 หมายความว่าสหรัฐฯ สามารถกำหนดข้อห้ามนำเข้าสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยมาได้ แต่ปัญหาคือ การร้องขอให้ดำเนินการดังกล่าวจะต้องมาจากประเทศที่เป็นภาคีรัฐของอนุสัญญาฉบับนี้เท่านั้น ซึ่งไทยไม่ได้เป็นภาคี

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2531 สำนักข่าว AP ได้ตีพิมพ์แถลงการณ์ของสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก โดยมีข้อความตอนหนึ่งสรุปได้ว่า ทางสถาบันพร้อมจะพิจารณาคืนทับหลังให้ไทย แต่ต้องแลกเปลี่ยนกับโบราณวัตถุที่อยู่ในสมัยเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าได้เกิดกระแสต่อต้านจากนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของไทยอย่างกว้างขวาง

(https://www.sarakadeelite.com/wp-content/uploads/2021/07/Narai-Bantomsin-lintel-5.jpg)

21 พฤษภาคม พ.ศ.2531 กระแสการทวงคืนทับหลัง ทำให้คนไทยในสหรัฐฯ ราว 500 คน จากหลายเมือง และหลายรัฐมารวมตัวเดินขบวนประท้วงที่หน้าสถาบันศิลปะแห่งชิคาโค พร้อมชูป้ายให้คืนทับหลังแก่ไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวอเมริกันเป็นอย่างมากถึงขั้นลงมาร่วมประท้วงด้วย

8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก ได้ประกาศว่าการคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ให้แก่ไทยโดยไม่มีอะไรเป็นสิ่งตอบแทนกลับมานั้นจะส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์ทั่วสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ การคืนทับหลังให้กับไทยเท่ากับเป็นการการเปิดประตูให้มีการอ้างสิทธิ์ในทำนองเดียวกันนี้จากประเทศอื่น เพื่อขอคืนวัตถุโบราณที่ถูกขโมยมาให้แก่ประเทศของตน ทั้งยังเป็นการทำลายข้อตกลงของสหรัฐฯ ที่ระบุให้มีการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ซื้อโดยบริสุทธิ์ หากต้องคืนวัตถุโบราณชิ้นนั้นๆ คืนแก่เจ้าของเดิม ในหนังสือพิมพ์ชิคาโก ทริบูน ยังกล่าวถึงความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญบางรายของสหรัฐฯ ที่เห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า หากมีการคืนวัตถุโบราณให้แก่ประเทศต่างๆ ที่อาจอ้างสิทธิ์ทำนองเดียวกับไทย พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ ก็คงเหลือของจัดแสดงเพียงไม่กี่ชิ้น

(https://www.sarakadeelite.com/wp-content/uploads/2021/07/Narai-Bantomsin-lintel-2.jpg)

10 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 หลังจากการเรียกร้องขอคืนทับหลังจากฝั่งไทยยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องแม้จะเงียบไปบ้างและไร้วี่แววว่าจะได้คืน แต่ในที่สุดสถาบันศิลปะแห่งชิคาโกก็ตัดสินใจคืนทับหลังแก่ไทย และในเวลา 19.48 น. ของวันที่ 10 พฤศจิกายนพ.ศ.2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ก็ได้เดินทางถึงมาตุภูมิหลังจากถูกโจรกรรมไปกว่า 30 ปี  โดยบรรจุมาในลังไม้บุฟองน้ำ และจากการตรวจสอบพบว่าทับหลังมีความเสียหายหลายจุด เช่น พระพักตร์พระนารายณ์ลบเลือน หัวพญาหงส์ เศียรพระพรหมชำรุด เป็นต้น แน่นอนว่าทางสถาบันไม่ได้ส่งทับหลังให้ไทยโดยไม่มีสิ่งชดเชยอย่างที่เคยกล่าวไว้  แต่การทวงคืนครั้งนี้จบลงด้วยดีลมูลค่า  50 ล้านบาท โดยผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาคือ ดร.อัลลัน เดรบิน  แห่งมูลนิธิเอลิซาเบธ ชีนีย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสนับสนุนด้านวัฒนธรรมในเขตชิคาโก ครั้งนั้น ดร.อัลลัน ได้เสนอเงื่อนไขให้แก่ทางสถาบันศิลปะแห่งชิคาโกว่า จะจัดหาวัตถุโบราณที่มีมูลค่าเทียบเท่ากันเพื่อแลกกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งถูกตีมูลค่าไว้ ณ ตอนนั้น ราว 50 ล้านบาทเศษ

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ธันวาคม 2531 และ มีนาคม 2531

ภาพ : ศูนย์ข้อมูลสารคดี-เมืองโบราณ (ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

Fact File

ปัจจุบันทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ได้นำกลับไปติดตั้งยังปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ลวดลายบน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทเขาพนมรุ้ง สลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาเหนือพญานาคซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกที เศียรของพญานาคแผ่ป้องเป็นรูปพัดอยู่เหนือเศียรพระนารายณ์ ส่วนที่สะดือหรือนาภีของพระนารายณ์มีดอกบัวผุดออกมาแยกเป็นหลายก้าน ตรงกลางของดอกบัวมีพระพรหมสี่หน้าประทับอยู่ ส่วนปลายพระบาทของพระนารายณ์นั้นปรากฏรูปพระลักษมี ซึ่งเป็นพระชายาของพระองค์ประทับอยู่ ตรงเสี้ยวของทับหลังเป็นรูปหน้ากาลคายพวงอุบะขนาดใหญ่ มีตุ้มเป็นดอกบัวขาบ เหนือหน้ากาลมีครุฑยุดนาคข้างละตัว นอกจากนี้ยังมีสัตว์อีกหลายชนิด เช่น นกแก้ว ลิงอุ้มลูก และ นกหัสดีลิงค์คาบช้างเป็นอาหาร

.

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพจาก... https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/narai-bantomsin-lintel/

.