Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
เรื่องราวน่าอ่าน => หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง => Topic started by: ppsan on 17 February 2022, 22:19:12
-
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [61-70]
https://www.sarakadee.com/2020/10/15/นางแก้ว-ขุนพลแก้ว/
Culture
นางแก้ว ขุนพลแก้ว และขุนคลังแก้ว – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 61
15 ตุลาคม 2020
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/wat-sommanat-02.jpg.jpg)
บุญญาธิการแห่งองค์พระจักรพรรดิราชยังนำพา อิตถีรัตนะ หรือ “นางแก้ว” เข้ามาสู่พระบารมีด้วย
บางยุค นางแก้วผู้จะมาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิราช อาจมาจากตระกูลกษัตริย์มัทราชในชมพูทวีปเอง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเสด็จมาจากอุตตรกุรุทวีปก็ได้
นางแก้วนี้ นอกจากมี “รูปโฉมประโลมโลกอุดมยิ่งนารี” และมีผิวเนื้อ “อ่อนละมุนดุจหนึ่งนุ่นแลสำลี” (อันเป็นลักษณะของสตรีชาวอุตตรกุรุ) แล้ว คุณสมบัติสำคัญคือการทำหน้าที่แทนเครื่องปรับอากาศให้แก่พระยาจักรพรรดิราช เพราะในหน้าร้อน พระนางย่อมเป็น “แม่เนื้อเย็น” แต่พอถึงหน้าหนาว ท้าวเธอกลับกลายเป็น “แม่เนื้ออุ่น”
นอกจากนั้นแล้ว นางแก้วยังเป็น “แม่เนื้อหอม” ที่เนื้อตัวหอมฟุ้งเหมือนกระแจะจันทน์ เวลาพูดจาหรือหัวร่อต่อกระซิก กลิ่นปากก็หอมรวยรินราวกับกลิ่นบัวหลวง
ว่าถึงการปรนนิบัติพระเจ้าจักรพรรดิราช นางนั้น “กระทำอันใดๆ ก็ดี ย่อมชอบใจผัวทุกประการ” คือรู้ใจไปหมด
รัตนะประการต่อไปคือ ปริณายกรัตนะ “ขุนพลแก้ว”
ในคัมภีร์ “ไตรภูมิพระร่วง” อธิบายว่าหมายถึงพระราชโอรสองค์ใหญ่ บังเกิดกลายเป็นขุนพลแก้ว มีสติปัญญาอันว่องไว สามารถล่วงรู้จิตผู้อื่นได้ว่าใครมาดีมาร้ายอย่างไร และอาจรับพระราชภาระ แบ่งเบาจัดการราชกิจและบริหารบ้านเมืองไปจากพระเจ้าจักรพรรดิได้ด้วยความยุติธรรมถูกต้องทุกประการ
คหปติรัตนะ “ขุนคลังแก้ว” คือเศรษฐีและราชบุรุษอันเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราช แต่ด้วยพลังแห่งจักรรัตนะ (บางคัมภีร์ว่าเป็นด้วยอำนาจบุญแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ) ทำให้จู่ๆ ท่านผู้นั้นก็กลายเป็นขุนคลังแก้วขึ้นมา คือเกิดมีตาทิพย์หูทิพย์ สามารถแลเห็นขุมเงินขุมทอง และทรัพย์สิ่งของทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ ทั้งใต้ดินใต้มหาสมุทร แล้วแสวงหามาถวาย เก็บงำเป็นพระราชทรัพย์เข้าท้องพระคลังหลวงได้
อ่านดูแล้วคล้ายกับว่าหูตาขุนคลังแก้วคงทำงานได้คล้ายเครื่องตรวจจับโลหะใต้ดิน อะไรทำนองนั้น
ทั้งหมดนี้ นับแต่จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว รวมเป็นเจ็ดสิ่ง เรียกว่า “สัปตรัตนะ” หรือแก้วเจ็ดประการ ถือเป็นของคู่บารมีเฉพาะพระเจ้าจักรพรรดิเท่านั้น ด้วยว่าเกิดขึ้นมาจากการพระราชกุศล จากธรรมที่พระองค์ประพฤติปฏิบัติและยึดถือ อันมีจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ เป็นอาทิ
เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พรรณนาจักรวรรดิวัตรเหล่านั้นไว้ในหนังสือ “พจนานุกรมพุทธศาสตร์” ว่าประกอบด้วย ๑) สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร ๒) สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย ๓) สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร ๔) คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ๕) คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย ๖) คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์ ๗) คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์ ๘) ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม ๙) ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์ ๑๐) เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์ ๑๑) เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม และ ๑๒) เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร
โดยเหตุนั้น ภายหลังพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จสวรรคต แก้วทุกประการย่อมมลายหายสูญไปพร้อมกับพระชนม์ชีพ
จักรแก้วย้อนคืนกลับลงสู่ท้องมหาสมุทรไปดังเดิม
ช้างแก้วม้าแก้วกลับไปอยู่กับฝูงช้างฝูงม้าต้นกำเนิดเหมือนดังเก่า
แก้วมณีพร้อมด้วยแก้วบริวารเหาะกลับไปสถิตยังเขาวิบุลบรรพต
ส่วนนางแก้ว ถ้ามาจากอุตตรกุรุทวีปก็หวนคืนไปยังถิ่นฐาน หรือหากเป็นชาวชมพูทวีป ก็กลับกลายเป็นสตรีธรรมดาๆ “ดั่งฝูงหญิงเราทั้งหลายนี้แล”
ขุนคลังแก้วที่เคยมีตาทิพย์ก็มิอาจมองทะลุอะไรๆ ได้อีกต่อไป
แม้กระทั่งขุนพลแก้วซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ หากมิได้มีบุญกุศลส่วนพระองค์เพียงพอเพื่อสืบทอดสถานะพระจักรพรรดิราชไว้ ก็ย่อมเสื่อมถอยไปเองในที่สุด เพราะกษัตริย์ผู้มิได้ทรงบำเพ็ญจริยาวัตรในธรรมย่อมไม่คู่ควรกับรัตนะใดๆ
คติเรื่องแก้วเจ็ดประการของพระเจ้าจักรพรรดินี้ มีเขียนไว้เป็นภาพลายรดน้ำที่ตอนล่างด้านในของบานหน้าต่างพระอุโบสถ วัดนางนอง ธนบุรี และบนบานประตูพระวิหาร วัดโสมนัสฯ กรุงเทพฯ ใครสนใจ ลองแวะไปดูชมกัน
---------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/10/21/ศรีธรรมาโศกราช/
Culture
ศรีธรรมาโศกราช – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 62
21 ตุลาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/kingship.jpg)
ถัดจากเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราช คัมภีร์โลกศาสตร์มักกล่าวต่อไปถึงบุคคลผู้ได้รับสมญานามว่า “จุลจักรพรรดิราช” คือ “พระยาศรีธรรมาโศกราช” ซึ่งแม้มิได้ปราบได้ทั่วทั้งสี่ทวีปทั่วจักรวาล แต่ก็แผ่บารมีปกครองตลอดอาณาชมพูทวีป
เรื่องตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะกลายเป็นว่ามีการผนวกเอาพระเจ้าอโศกมหาราช บุคคลซึ่งมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ พ่วงเข้ามาอยู่ในคัมภีร์ด้วย
เรื่องกล่าวถึงพระยาศรีธรรมาโศกราช (ศรี+ธรรม+อโศก+ราชะ) ว่าทรงเป็นกษัตริย์ผู้เปี่ยมบารมี จนท้าวพระยาทั่วทั้งชมพูทวีปต่างมาเฝ้าแหนถวายราชสักการะ
ใช่แต่เท่านั้น ตลอดไปถึงเทพยดาและหมู่สัตว์ทั้งหลายในชมพูทวีปต่างพร้อมใจกันมาเป็นข้ารองบาท
“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่าทุกวัน หมู่เทวดาจากเขตหิมพานต์จะนำเอาน้ำจากสระอโนดาตมาถวายให้เป็นน้ำเสวยน้ำสรง (น้ำกินน้ำใช้) บางพวกก็หอบหิ้วผลไม้รสชาติหอมหวานจากป่าหิมพานต์ เช่นมะขามป้อม สมอ มะม่วง อ้อยซึ่งต้นใหญ่ “เท่าลำหมาก” มะพร้าว ลูกตาล หว้า ลูกลาน ลูกไทร “ลูกแฟงแตงเต้า” นานาพรรณมาถวายให้เสวย
แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน อย่างนกยูง นกกระเรียน นกกาเหว่า ก็ยัง “ชวนกันมาฟ้อนรำตีปีกฉีกหางแลร้องด้วยสรรพสำเนียงเสียงอันไพเราะ” ส่วนนกการเวกก็บินจากป่าหิมพานต์มาขับร้องบำเรอพระองค์
เสียงนกการเวกนั้นแว่วหวานไพเราะจับใจนัก “ไตรภูมิพระร่วง” ยกตัวอย่างว่า “เด็กอันท่านไล่ตีแลแล่นหนี ครั้นว่าได้ยินเสียงนกนั้นร้องก็มิรู้สึกที่จักแล่นหนีได้เลย”
อีกทั้งนกเปล้า นกแขกเต้า และนกสารพัดชนิด ต่างช่วยกันคาบเอารวงข้าวจากริมสระฉัททันต์ในป่าหิมพานต์มาถวายไว้ให้เป็นของเสวยของพระยาศรีธรรมาโศกราช อีกวันละ ๙,๐๐๐ เกวียน ซึ่งมาถึงแล้วก็ไม่ต้องลำบากให้ใครมาตำมาขัดสีอะไรอีก เพราะจะมี #ทีมหนูป่า ยกโขยงมาช่วยกันกัดแทะแกลบรำจนหมดจด เปลี่ยนข้าวเปลือกเป็นข้าวสารด้วยฝีปากอันประณีต “แม้นว่าเมล็ดหนึ่งก็ดี บ่มิได้หักเลย”
ฝ่ายฝูงผึ้งฝูงมิ้ม (ผึ้งตัวเล็ก) ก็มาช่วยทำรวงรัง ตั้งโรงงานผลิตน้ำผึ้งบรรจุลงโอ่งลงกระออม (เครื่องจักสาน ยาด้วยชัน ใช้ใส่น้ำ) ถวายไว้ให้ทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัยเป็นประจำสม่ำเสมอ
ส่วนไม้ฟืนที่ใช้หุงข้าวต้มแกงในโรงครัวก็ไม่ต้องลำบากให้บ่าวไพร่ไปตัดฟัน เพราะ “ฝูงหมีทั้งหลายอันอยู่ในป่าหากหั่นฟืนมาส่งแก่ชาวครัวทั้งหลายทุกวัน ด้วยบุญแห่งพระยาศรีธรรมาโศกราชนั้นแล”
อ่านๆ ไปแล้วก็อดนึกถึงเจ้าหญิงในการ์ตูนดิสนีย์ไม่ได้ อย่างเช่นสโนไวต์ ซึ่งมีฝูงสัตว์มาช่วยทำงานบ้าน ในระหว่างที่ไปพำนักลี้ภัยการเมืองจากราชินีแม่มดใจร้ายอยู่กับคนแคระทั้งเจ็ด
สารพัดอาหารหวานคาวบรรดาที่ทวยเทพและสัตว์นานาชนิดนำมาถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชนี้ แน่นอนว่าพระองค์ย่อมมิอาจใช้สอยส่วนพระองค์ได้หวาดไหว ดังนั้นในแต่ละวันจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ก่อน ต่อจากนั้นจึงพระราชทานแก่พระมเหสี คือพระนางอสันธิมิตตา พระสนมทั้ง ๑๖,๐๐๐ ตลอดจน “ลูกเจ้าลูกขุนทมุนทนายไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายในเมืองนั้นทุกคน”
พระนาม “ศรีธรรมาโศกราช” นี้ นับถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นพระนามแห่งกษัตริย์ “ต้นแบบ” ผู้ทรงเปี่ยมด้วยบุญญาธิการบารมี
คุณไมเคิล ไรท์ นักปราชญ์ในทางอุษาคเนย์ศึกษาผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยตั้งข้อสังเกตว่านับแต่หลังรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่มีมหาราชาองค์ใดในอินเดียจะกล้าเฉลิมพระนามพระองค์เองด้วยนามนี้อีก เพราะเกรงว่าจะถูก “หมั่นไส้” แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับอิทธิพลคตินี้มาจากอินเดียกลับนำนามนี้มาใช้เฉลิมพระนามกษัตริย์ ดังมีตำนานว่าด้วยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผู้สถาปนาอาณาจักรตามพรลิงค์ในคาบสมุทรภาคใต้ ซึ่งหลายท่านเชื่อกันว่าหมายถึงเมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมานามนี้กลายเป็นตำแหน่งขุนนางผู้ครองเมืองสุโขทัย ดังปรากฏในจารึกที่ฐานเทวรูปพระอิศวรสำริด พบที่เมืองกำแพงเพชร กล่าวถึงการสถาปนาเทวรูปเมื่อปี ๒๐๕๓ โดย “เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งสอดคล้องกับพระไอยการนาทหารหัวเมืองในกฎหมายตราสามดวง ที่ระบุว่าเจ้าเมืองสุโขทัย มีตำแหน่งนามคือ “เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชฯ”
---------------------------------
-
https://www.sarakadee.com/2020/10/28/สีทันดรสมุทร/
Culture
สีทันดรสมุทรและโลณสมุทร – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 63
28 ตุลาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
“ถ้าท่านมีมหิทธิฤทธิ์เหาะเหินขึ้นไปในเวหา แลลงมาพิจารณาดูจักรวาลละอันๆ นั้น เห็นเขาจักรวาลปรากฏประดุจขอบสระอันกลม เป็นเขาพระสุเมรุอันแวดล้อมไปด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์นั้น ปรากฏประดุจดอกบัวดอกหนึ่ง อันอยู่ท่ามกลางแห่งสระ เห็นทวีปทั้ง ๔ นั้น ปรากฏประดุจใบบัว ๔ ใบอันอยู่ในทิศทั้ง ๔ แห่งดอกบัว”
ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว)
ในจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุ ท่านว่ามีแหล่งน้ำใหญ่อยู่สองลักษณะ
อย่างหนึ่งเรียกว่า “สีทันดรสมุทร” เป็นทะเลสาปรูปวงแหวน คั่นระหว่างเขาพระสุเมรุและสัตตบริภัณฑ์แต่ละชั้น
ใน “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ไตรภูมิกถา” พระราชนิพนธ์ของพญาลิไทย กษัตริย์แคว้นสุโขทัย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ดอน พระองค์อาจทรงไม่คุ้นเคยกับ “ทะเล “ จึงเรียกว่าเป็น “แม่น้ำ” คือ “แม่น้ำสีทันดรสมุทร”
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/tiger-fish.jpg)
ส่วนคัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” รุ่นกรุงเทพฯ ระบุว่าสีทันดรสมุทรทั้งเจ็ดชั้นเป็นทะเลสาบน้ำจืด น้ำนิ่งสนิทเพราะถูกขนาบอยู่ด้วยเขาสูงเสียดฟ้าทั้งสองด้าน ไม่มีลมพัดให้เกิดคลื่น “เหตุฉะนี้น้ำในสีทันดรมหาสมุทรนั้นจึงผ่องใสยิ่งนักบมิได้ขุ่นได้มัว น้ำนั้นจืดสนิทกินมีรสอันเย็นชื่นใจทั้งใสทั้งละเอียด แต่แววนกยูงตกลงก็บ่มิอาจจะลอยอยู่ได้ ย่อมจมลงสู่ภูมิภาคเบื้องต่ำ” คือแม้แต่เส้นขนหางนกยูงซึ่งเป็นฝอยยิบย่อยบางละเอียด หากตกลงไปก็ยังมีจม
เรื่องนี้นับเป็นอีกหนึ่งความรู้พื้นฐานของคนสมัยโบราณ อย่างในตอนท้ายเรื่อง “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หลังจากพระอินทร์ไปลักพานางสุชาดา มเหสีหมายเลข ๔ กลับมาจากพิภพอสูรได้ ก็พานางขึ้นเวชยันตราชรถ ให้มาตุลีขับพาเหาะตระเวนเที่ยวชมจักรวาล
“๏ ดำเนินโดยอากาศวิถี ตามราศีจักรวาลหว่างไศล
พระชี้ชวนสุชาดายาใจ ให้ชมน้ำในสีทันดร
แปดหมื่นสี่พันโยชน์ลึกกว้าง อยู่หว่างมหาสิงขร
กำหนดเขาสัตภัณฑ์ชโลธร ชะง่อนสูงกว้างลึกละกึ่งกัน
ใสสะอาดมาตรแม้นมยุรหงส์ จะวางแววหางลงไม่หวนหัน
จนกระทั่งทรายแก้วอันแพรวพรรณ เจ็ดชั้นล้อมรอบพระเมรุทอง”
ส่วนมหาสมุทรใหญ่ เรียกว่า “โลณสมุทร” ตั้งอยู่ระหว่างเขาอัสสกรรณ ทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นนอกสุด กับเขาจักรวาลที่เป็นกำแพงรอบจักรวาล โดยโลณสมุทรแต่ละทิศจะสะท้อนสีของเหลี่ยมเขาพระสุเมรุในทิศนั้นๆ แยกย่อยไปอีกสี่ทิศ คือขีรสาคร (ขาว) นิลสาคร (เขียว) ผลิกสาคร (แดง) และปีตสาคร (เหลือง) ดังกล่าวมาแล้วแต่ต้น
ความแตกต่างอย่างสำคัญกับสีทันดรสมุทร คือโลณสมุทรเป็นทะเลน้ำเค็ม “น้ำนั้นหยาบ เรือแพนาวาทั้งหลายอาจจะเดินได้”
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/water-cat.jpg)
ทว่าหากชาวชมพูทวีปคนใดคิดว่าจะลองเป็นนักสำรวจ ออกเรือแล่นตรงขึ้นไปทางเหนือให้ถึงเขาอัสกรรณ (หรืออัสสกัณณะ) หรือล่องลงไปทางทะเลใต้เพื่อหวังชมเขาจักรวาลให้เห็นกับตา คัมภีร์ก็ให้คำตอบไว้เสร็จสรรพว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะบริเวณชายฝั่งโลณสมุทรทั้งสองด้านเป็นทะเลคลั่งสุดแสนอันตราย เรียกว่า “วลวามุขมหาสมุทร”
“คลื่นทั้งหลายนั้นถ้าบังเกิดในกาลเมื่อลมพัด เข้าไปข้างเขาอัสสกัณณะก็กลิ้งเข้าไปเฉพาะสู่เขาอัสสกัณณะ กระทบเขาอัสสกัณณะมีสำเนียงดังสนั่นครั่นครื้นประดุจดังโสตประสาทจะแตกจะทำลาย กระทบนั้นใช่ว่าจะกระทบต่ำหาบมิได้ กระทบสูงได้โยชน์หนึ่งบ้าง สองโยชน์บ้าง ๓-๔-๕ โยชน์บ้าง ๑๐ โยชน์บ้าง”
๑ โยชน์ หากเทียบกับมาตราชั่งตวงวัดปัจจุบันคือ ๑๖ กิโลเมตร
คลื่นสูง ๑๐ โยชน์ ก็คือสูง ๑๖๐ กิโลเมตร !
และว่า “ประเทศที่คลื่นกระทบเขาจักรวาลแล้วแลกลับตกลงสู่มหาสมุทรนั้น ก็เห็นปรากฏประดุจเหวอันใหญ่ แลมหานรกอันใหญ่น่าพิลึกสะพรึงกลัว หนังพองสยองเศียรเหมือนกัน”
------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/11/04/ปลาอานนท์-พลิกตัว/
Culture
ปลาอานนท์พลิกตัว – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 64
4 พฤศจิกายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องที่ว่าตามคติโบราณของคนไทย ใต้ผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มีปลาอานนท์คอยเอาตัวหนุนรองรับไว้ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงคำอธิบายสาเหตุแผ่นดินไหว ว่าเกิดจาก “ปลาอานนท์พลิกตัว”
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/ananda-the-fish.jpg)
น่าสงสัยว่าความเชื่อนี้มาจากที่ไหน เพราะตามคัมภีร์โลกศาสตร์ ชมพูทวีปแดนมนุษย์คือเกาะอยู่กลางมหาสมุทร ไม่ได้วางอยู่บนหลังปลาอานนท์
ขณะเดียวกัน ถึงคัมภีร์จะระบุว่ามีปลาขนาดมโหฬารชื่อ “อานนท์” จริง แต่ก็กล่าวถึงในฐานะพญาปลาตัวใหญ่ ยาว ๑,๐๐๐ โยชน์ ว่ายน้ำไปมาในมหาสมุทร ไม่ได้ไปนอนนิ่งกระพริบตาปริบๆ แบกโลกที่ไหน
ความเป็นมาของพญาปลาอานนท์มีรายละเอียดในคัมภีร์หลายเล่ม แต่เล่าไว้คล้ายๆ กัน ดังนี้
แรกเริ่มเดิมที ฝูงปลาในมหาสมุทรลงคะแนนเสียงโหวตให้ปลาอานนท์ดำรงตำแหน่งผู้นำ เวลานั้น ปลายังกินสาหร่ายและจอกแหนเป็นอาหาร วันหนึ่ง อานนท์ไม่ทันสังเกตว่ามีปลาตัวน้อยว่ายอยู่ในกอสาหร่าย จึงเผลอฮุบเข้าไปด้วย เคี้ยวกร้วมๆ แล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ! วันนี้สาหร่ายอร่อยจริง เกิดสงสัยใคร่รู้ คายออกมาดู ถึงพบเศษศพปลา ปนกับพืชน้ำ จึงสรุปได้ว่ารสชาตินั้นคือโปรตีนจากเนื้อปลา
“พญาปลาก็สำคัญว่า รสปลานี้อร่อยหนักหนา แต่ก่อนไม่รู้ว่าจะอร่อยถึงเพียงนี้ จะทำอย่างไรจึงจะได้กินปลาทุกวันๆ”
อานนท์รู้ดีว่าหากตนเองออกเที่ยวแหวกว่ายไล่จับบริวารมากินก็จะทำให้ฝูงปลาแตกตื่นหนีหายไปหมด จึงคิดวางแผนกลอุบาย
นับแต่นั้นมา เวลาปลาทั้งหลายมาเข้าเฝ้าอานนท์ ขากลับออกไป ตัวไหนว่ายน้ำรั้งท้ายตามเพื่อนๆ ไม่ทัน ก็จะถูกจับกิน พอทำเช่นนี้บ่อยเข้า ปลาทั้งหลายชักเริ่มเอะใจว่าญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของตนหายหน้าไปไหน ดูร่อยหรอไปทุกที จากนั้นพยายามสังเกตดู จนรู้สึกว่าอานนท์มีพิรุธ ปลาน้อยตัวหนึ่งเลยรับอาสาเป็น “ปลานักสืบ” ให้ โดยเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้า ก็อาศัยจังหวะแอบไปหลบอยู่ในหูของอานนท์ (หูปลาอยู่ตรงไหน ? ใครรู้ช่วยบอกที) จึงได้เป็นประจักษ์พยานแห่ง “เมนูปลา” ตัวสุดท้าย
เมื่อตระหนักถึงความฉ้อฉลของราชา ข่าวคาวนี้ก็แพร่กระจายไปทั่วมหาสมุทร ฝูงปลาทั้งหลายจึงพากันหลีกเร้นกาย ไม่ไปเข้าเฝ้าอานนท์อย่างเคย
เมื่อไม่มีเหยื่อเข้ามา อานนท์เริ่มหิวโหย จึงว่ายน้ำออกตามล่าฝูงปลา จนพบเกาะแห่งหนึ่งเข้า ดูท่าทีแล้ว คาดว่าพวกปลาเล็กปลาน้อยคงไปแอบหลบทางด้านหลังเกาะเป็นแน่ จึงกวาดหางอ้อมไปท้ายเกาะ แล้วค่อยๆ กระชับพื้นที่ เอาหางตีโอบเข้ามาทีละน้อย เหมือนอย่างคนล้อมวงตีอวนจับปลา แต่แล้วด้วยอารามหิวและโลภเจตนา พออานนท์มองเห็นปลายหางของตัวเองกระดิกไหวๆ อยู่ไกลๆ ทางด้านท้ายเกาะ ก็ดันเกิดไปนึกว่าเป็นปลาตัวอื่น จึงอ้าปากงับหางที่มองเห็นอย่างเต็มแรงจนหางขาด เลือดทะลักละลาย น้ำทะเลกลายเป็นสีแดงฉาน ปลาทั้งหลายได้กลิ่นคาวเลือดก็พากันมากลุ้มรุมกัดกินเนื้ออานนท์บ้าง ชั่วเวลาไม่นานก็เหลือแต่ก้างกองแหงแก๋อยู่
จิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานที่วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี ในมหาสมุทรตรงเชิงเขาพระสุเมรุ มีภาพปลาใหญ่เอาตัวโอบรอบเขาพระสุเมรุ ทำท่าอ้าปากจะคาบกัดหางตัวเองอยู่ สันนิษฐานว่าช่างคงต้องการเล่าเรื่องราวในบั้นปลายชีวิตของพญาปลาอานนท์นี่เอง
ภาพทำนองนี้เอง อาจนำไปสู่การ “ลากเข้าความ” ตามตาเห็น ว่ามีปลาอานนท์รองรับแผ่นดิน จนเชื่อกันแพร่หลายในเวลาต่อมา
หรือไม่เช่นนั้น ที่มาสำคัญของเรื่องปลาอานนท์ “พลิกตัว” แล้วแผ่นดินไหว อาจมาจาก “บทอัศจรรย์” เช่นฉากเลิฟซีนระหว่างศรีสุวรรณกับนางเกษรา ในเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ ที่ว่า
“ดังกำลังมังกรสำแดงฤทธิ์ ให้มืดมิดกลางทะเลแลเวหา
ลงเล่นน้ำดำดึ่งถึงสุธา สะท้านกระทั่งหลังปลาอานนท์นอน
ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว เมรุไกรโยกยอดจะถอดถอน
มัตติมิงกลิ้งเล่นชโลทร คงคาคลอนคลื่นคลั่งฝั่งสินธู”
แน่นอนว่าทั้ง “ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว” หรือ “เมรุไกรโยกยอดจะถอดถอน” ในที่นี้ ย่อมไม่ได้หมายถึงชมพูทวีปหรือเขาพระสุเมรุเป็นแน่
เช่นนั้นแล้ว เผลอๆ เรื่อง “ปลาอานนท์พลิกตัว” อาจเริ่มต้นจากการเป็น “มุขตลกสัปดน” ซึ่งคนสมัยก่อนรู้จักกันดีก็เป็นได้ (๕๕๕)
----------------------------------
-
https://www.sarakadee.com/2020/11/12/สหพันธรัฐแห่งมหาทวีป/
Culture
สหพันธรัฐแห่งมหาทวีป – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 65
12 พฤศจิกายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ตามคติจักรวาลของพุทธศาสนาที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางนั้น ในมหาสมุทรทั้งสี่ทิศโดยรอบคือที่ตั้งแห่ง “มหาทวีป” หรือทวีปใหญ่ทั้งสี่ ทวีปทิศเหนือ ชื่อ “อุตตรกุรุทวีป” (หรืออุดรกาโร)
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/lona-samudra.jpg)
ทวีปทิศตะวันออก คือ “บุพพวิเทหทวีป” (บางทีสะกดว่า บุรพวิเทะ)
ทวีปทิศใต้ ที่อยู่ของมนุษย์ เรียกว่า “ชมพูทวีป”
ทวีปทิศตะวันตก ได้แก่ “อมรโคยานทวีป” (หรืออมรโคยานี)
ถ้าพิจารณาตามนี้ ทวีปทั้งสี่ควรมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะ คือผืนแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ แต่ก็ยังต้องยึดเกาะกับหินฐานรากของจักรวาลเช่นกัน น่าแปลกใจที่ในบางแห่งกลับกล่าวเหมือนว่าทวีปทั้งหมดนี้เป็นเหมือนถาดแบนๆ ที่วางลอยน้ำไว้ เช่นในกลอนพระราชนิพนธ์ “รามเกียรติ์” ของรัชกาลที่ ๑ ตอนต้นเรื่อง เริ่มด้วยหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน กลอนพาไปว่า
“๏ ชมพูอุดรกาโร อมรโคยานีก็ได้สิ้น
หนีบใส่รักเเร้อสุรินทร์ พาเเผ่นดินไปบาดาล ฯ
คือหิรัญยักษ์ตั้งหน้าตั้งตา “ม้วน” เอาทวีปต่างๆ ทั้งชมพู อุดรกาโร และอมรโคยาน (ส่วนบุรพวิเทหะคงละไว้เพราะที่ไม่พอ) แล้วเอารักแร้หนีบ หอบหนีลงไปยังบาดาลอันเป็นถิ่นที่อยู่ ตรงนี้กลอนเล่าเสียยังกะว่าทวีปเหล่านั้นเป็นแผ่นแป้งโรตีสายไหมที่สามารถจับมาม้วนๆๆๆ ได้ทีเดียว!
ในคัมภีร์โลกศาสตร์ระบุด้วยว่าพลเมืองของทวีปต่างๆ ล้วนมีรูปหน้าดุจเดียวกับทวีปของตน
ชาวชมพูทวีปทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ มีใบหน้าเป็นวงรี เหมือนหน้าตัดของเกวียน คือเหมือนแผนผังชมพูทวีป
บุรพวิเทหะทางตะวันออกมีสัณฐานกลม ชาวทวีปนั้นจึงมีใบหน้ากลมราวพระจันทร์วันเพ็ญ หรือ “หน้าแว่น”
คัมภีร์รุ่นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งคงรู้จัก “แว่นตา” อย่างฝรั่งบ้างแล้ว ถึงขนาดอธิบายว่า “มีสัณฐานพอดีกลมดังวงแว่นตา
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/lona-samudra-02.jpg)
ส่วนอมรโคยานทวีปที่มีผังเป็นรูปครึ่งวงกลม ผู้คนที่อาศัยในอมรโคยานทวีปทางตะวันตก “หน้าเขาดั่งเดือนแรม ๘ ค่ำ”
ส่วนอุตตรกุรุทวีปนั้น มีพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายประชาชนที่นั่นว่า “หน้าเขาเป็น ๔ มุม ดุจดังท่านแกล้งถากให้เป็น ๔ เหลี่ยม กว้างแลรีนั้นเท่ากัน
ท่าน “กาญจนาคพันธ์” (ขุนวิจิตรมาตรา – สง่า กาญจนาคพันธุ์) นักเขียนรุ่นเก่าที่เคยค้นเคยเขียนเรื่องนี้ จึงเล่าอย่างขันๆ ในหนังสือ “คอคิดขอเขียน” ว่า “ชาวทวีปทั้งสี่นี้ถ้าเห็นหน้ากันเข้าแล้วจะต้องหัวเราะจนขาดใจตายไปด้วยกันทุกคน”
แต่ถึงทวีปทั้งสี่มีประชากรที่รูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน ทั้งยังอยู่ห่างไกลกัน แต่ตามความเชื่อในคัมภีร์ก็ยังอาจมีบางวาระที่ทั้งหมดเคยอยู่ภายใต้รัฏฐาธิปัตย์เดียวกัน
“พระธรรมสาตร” (พระธรรมศาสตร์) ใน “กฎหมายตราสามดวง” เล่าว่าปฐมกษัตริย์ของมนุษย์ คือพระเจ้ามหาสมมุติราช มีพระโอรสสี่องค์ องค์ใหญ่ปกครองชมพูทวีป อีกสามองค์ได้เสวยราชสมบัติในอุตตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และบุรพวิเทหทวีป
ในยุคแรก พระกุมารทั้งสี่ก็ยังเหาะมาเฝ้าแหนพ่อทุกวัน จนเมื่อพระบิดาสวรรคต พระกุมารทั้งสี่พระองค์ “ก็ต่างองค์ต่างอยู่” แต่ก็ยัง ไปมาหาสู่กันบ้างนานๆ ครั้ง
ท้ายที่สุดนานวันเข้า ทางพระราชไมตรีสัมพันธญาติ “ก็ค่อยขาดสูญไปตราบเท่าทุกวันนี้
แต่เรื่องนี้ก็ยังน่าสงสัย เพราะชาวทวีปแต่ละทวีปย่อมมีรูปหน้าต่างกันอย่างที่เล่ามาแล้ว ดังนั้น หากราชาของทุกทวีปล้วนสืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน วงพระพักตร์ก็น่าจะต่างไปจากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เคยพบว่าท่านไปอธิบายไว้ตรงไหนอย่างไร
อีกวาระหนึ่งที่บรรดาทวีปต่างๆ จะอยู่ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน คือรัชสมัยแห่งพระจักรพรรดิราช
เมื่อเกิดจักรแก้วคู่บารมีพระเจ้าจักรพรรดิราชแห่งชมพูทวีปขึ้นแล้ว พระองค์ก็เสด็จโดยสารจักรแก้วไปพร้อมกับเสนาข้าทหารเป็นกองทัพ เมื่อจักรแก้วเคลื่อนไปในทิศใด กษัตริย์ทางทิศนั้นๆ ก็จะออกมาถวายบังคมชื่นชมพระบารมี ชวนกันสดับรับฟังพระราโชวาทอันเป็นคติธรรมสอนใจ พระบารมีของพระองค์จึงแผ่ไพศาลไปไกลเกินขอบเขตของชมพูทวีป นั่นคือทรงปราบได้ “ตลอดทั้งสี่ทวีป”
ดังนั้น จึงอาจมีบางครั้งบางหนที่ทั้งสี่ทวีปกลับกลายเป็นสหพันธรัฐ อยู่ภายใต้ศูนย์อำนาจเดียวกันคือราชธานี ณ ชมพูทวีป
-----------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/11/19/ทวีปอุดรกาโร/
Culture
ยูโทเปียฝ่ายเหนือ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 66
19 พฤศจิกายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ทวีปอุดรกาโร หรืออุตตรกุรุทวีปทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ คือดินแดนแห่งความสมบูรณ์แบบ
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/uttarakuru-dvipa.jpg)
พื้นที่ของทวีปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สว่างไสวตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่มีสัตว์ดุร้าย ต้นไม้ล้วนปราศจากหนามแหลมคม ผืนแผ่นดินราบเรียบเสมอกัน ไม่มีสูงๆ ต่ำๆ ทั้งทวีปล้วนเป็นทุ่งหญ้า “อันเขียวเลื่อมลายพร้อยดุจสร้อยคอนกยูง แล้วอ่อนละมุนดุจนุ่นแลสำลี…ติณชาตินั้นไม่สูงไม่ต่ำกว่ากัน เป็นอันเสมอประมาณ ๔ องคุลี”
องคุลีหนึ่งเทียบกันว่าเท่ากับระยะ ๑ ข้อนิ้ว (หรือเท่าปริมาณน้ำที่เติมลงในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า) ดังนั้น ๔ องคุลีในที่นี้ก็คงตกอยู่ในราว ๔ นิ้วฟุ
น่าสงสัยว่าภูมิทัศน์ทุ่งหญ้าเขียวขจีเรียบกริบสุดลูกหูลูกตาคงเป็น “โลกอุดมคติ” ของผู้ประพันธ์คัมภีร์ยุคโบราณ เพราะหนังสือ “พระมาลัยกลอนสวด” หรือที่เรียกกันว่า “สมุดมาลัย” ก็พรรณนาโลกในยุคสมัยของพระศรีอาริย์ฯ พระอนาคตพุทธเจ้าลำดับถัดไป ในรายละเอียดอย่างเดียวกัน
“แผ่นดินเหมือนคนปราบ ราบกว่าราบดังกลองสี
หญ้าอ่อนสี่องคุลี เขียวขจีอันบรรจง
น้ำไหลขึ้นข้างหนึ่ง อีกฟากหนึ่งก็ไหลลง
เต็มเปี่ยมเหลี่ยมสระสรง เพียงขอบฝั่งอยู่อาจิณ”
ไหนๆ ก็เกิดในสภาพแวดล้อมอันน่ามหัศจรรย์แล้ว ชาวอุตตรกุรุจึงเป็น “เผ่าพันธุ์พิเศษ” ที่แตกต่างจากชาวทวีปอื่นๆ อีกสามทวีปด้วย เช่นทันทีที่คลอดออกมา พลเมืองอุตตรกุรุก็มีร่างกายใหญ่โตเท่ากับชาวชมพูทวีปอายุ ๖ เดือน
ดังนั้นเมื่อเติบโตเต็มที่ ชาวชมพูทวีปสูงแค่ ๔ ศอก (๑ วา) แต่ชาวอุตตรกุรุตัวสูงใหญ่ถึง ๑๓ ศอก
ทั้งหญิงชายล้วนมีรูปร่างหน้าตากิริยางดงาม “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” พรรณนารูปพรรณสัณฐานของสตรีชาวอุตตรกุรุไว้ว่า
“มีนิ้วมือแสล้มๆ ยาวๆ เล็บมือนั้นแดงดั่งแกล้งย้อม ปโยธรนั้นตั้งเต้า บ่มิได้ยานได้คล้อย ท่ามกลางตัวนั้นน้อยกลมงามดังแกล้งรัด…เส้นเศียรกลุ่มเกศนั้นดำสนิทดี ถ้าขยายกระจายออกก็ยาวเลื้อยเฟื้อยลงมาถึงตระโพก แล้วปลายผมนั้นก็งอนขึ้น เหมือนปลายแห่งมีดเชือดเนื้อ”
ด้วยรูปโฉมโนมพรรณงามล้ำเลิศเช่นนี้ ตามจินตนาการของคนโบราณ สาวๆ จากอุตตรกุรุจึงคู่ควรเป็น “นางแก้ว” คู่บารมีพระยาจักรพรรดิราชแห่งชมพูทวีป แต่ท่านผู้เขียนคัมภีร์ก็อาจหลงลืมไปว่า ในอีกหน้าเคยบรรยายไปแล้วว่าชาวอุตตรกุรุ ตัวสูงถึง ๑๓ ศอก (๓ วา ๑ ศอก) อีกนัยหนึ่งคือร่างกายสูงใหญ่กว่าชาวชมพูทวีปสามเท่าตัว
ดังนั้น หากราชินีจากอุตรกุรุต้องมายืนเคียงคู่กับพระสวามี พระจักรพรรดิราชคงสูงไม่ถึงสะเอวของนางแก้วเสียด้วยซ้ำไป !ย้อนกลับมาที่ทวีปอุตตรกุรุอีกครั้ง
ประเด็นสำคัญคือชาวอุตตรกุรุทุกคนทั้งหญิงชาย ไม่ว่าจะแก่เฒ่าเพียงใด ก็จะแลดูดี ผู้หญิงก็ดูเหมือนหยุดอายุไว้แค่ ๑๖ ปี ส่วนผู้ชายก็มีรูปร่างเหมือนคนหนุ่มวัย ๒๐ ตราบจนสิ้นชีวิต
หญิงชายชาวอุตตรกุรุที่รักใคร่ชอบพอใจกัน ก็จะจูงมือกันเข้าไปหาสุมทุมพุ่มไม้มิดชิดเพื่อประกอบกิจ ซึ่งขณะที่ตลอดชีวิต ชาวชมพูทวีปต่างหมกมุ่น “เสพเมถุนธรรม…นับประมาณครั้งไม่ถ้วน” แต่ชาวอุตตรกุรุจะประกอบกิจ “อย่างว่า” แค่เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น
ครั้นแล้วเมื่อฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ขึ้นมา พอถึงเวลาคลอดก็ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่มีเลือด ไม่มีมีรก คลอดออกมาปุ๊บ เด็กก็งามสะอาดผ่องใสเหมือนแท่งทอง จากนั้นผู้เป็นแม่ก็จะเอาลูกไปวางทิ้งไว้บนพื้นหญ้าริมทางที่มีคนผ่านไปผ่านมา ใครผ่านมาเห็นทีหนึ่งก็เอานิ้วแหย่เข้าในปากทารกให้ พลันมีน้ำนมไหลออกมาที่ปลายนิ้วให้ใช้เลี้ยงดูทารกน้อย จนเมื่ออายุครบ ๗ วัน ร่างกายก็เติบโตเต็มที่ จากนั้นพวกผู้ชายก็ไปอยู่รวมกันที่หนึ่ง ส่วนที่เป็นหญิงก็ไปอาศัยด้วยกันในที่อีกแห่ง
“ไตรภูมิพระร่วง” พรรณนาว่า
“ลูกเต้าเขานั้นหากใหญ่ ณ กลางบ้าน ลูกก็มิรู้จักแม่ แม่ก็มิรู้จักลูก ถ้อยทีถ้อยมิรู้จักกัน เพราะว่าคนฝูงนั้นงามดั่งกันทุกคน”
ครั้นเมื่อล่วงลับดับชีพไปก็ไม่มีผู้ใดเศร้าโศกเสียใจ เพื่อนๆ ที่ยังอยู่จะชวนกันช่วยแต่งตัวศพให้สวยงาม แล้วนำไปวางไว้ในที่โล่งเหมือนเมื่อแรกเกิด จากนั้นไม่นานก็จะมีนกใหญ่มาโฉบไปทิ้งเสียในที่ลับตา (หรือบ้างก็ว่านกเอาไปกินยังที่ห่างไกลนอกทวีป)
นกที่มาโฉบเอาศพไปนี้ บางอาจารย์ก็ว่าคือนกหัสดีลิงค์ บ้างก็ว่านกอินทรี บางตำราว่าเป็นนกกด
-----------------------------------
-
https://www.sarakadee.com/2020/11/26/กัลปพฤกษ์/
Culture
ทรัพย์ส่วนกลาง – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 67
26 พฤศจิกายน 2020
อุตรกุรุ ทวีปทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นถิ่นที่อยู่อันพิเศษกว่าทวีปใด ทั้งภูมิสถานบ้านเมือง ผู้คน จารีตประเพณี รวมถึงวิถีการผลิต
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/kalapa-vrksha.jpg)
ไม่ว่าชาวอุตตกุรุผู้ใดจะมีความปรารถนาข้าวของอย่างใด ย่อมไปเสาะแสวงหาได้จากต้นกัลปพฤกษ์
กัลปพฤกษ์ต้นนี้เป็นไม้หลักประจำทวีปของอุตรกุรุ อย่างที่ในคัมภีร์โลกศาสตร์อธิบายว่ามีพระยาไม้ใหญ่ประจำทวีปอยู่ ๗ ต้น ที่มีขนาดเท่ากัน ได้แก่ ต้นปาริชาตบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม้แคฝอยของพิภพอสูร ไม้งิ้วประจำเมืองครุฑ (กึ่งกลางเขาพระสุเมรุ) ไม้หว้าในชมพูทวีป ไม้กระทุ่มแห่งอมรโคยานทวีป ไม้กัลปพฤกษ์อันเป็นหลักของอุตรกุรุทวีป และไม้ซีก ณ บุรพวิเทหทวีป
กัลปพฤกษ์ หรือกัปปพฤกษ์แห่งอุตรกุรุทวีปนั้น ดูๆ ไปก็คล้ายกับเป็นห้างสรรพสินค้าไร้เงินสด
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” พาเที่ยวห้างไว้ดังนี้
“ล้วนผ้าดีๆ สีต่างๆ ลวดลายพิจิตรเป็นอย่างๆ ประหลาดๆ กัน…มีสัมผัสอ่อน เนื้อละเอียด บ่มิได้หยาบได้คาย สัมผัสเป็นสุขสบายกายสบายจิต…สรรพเครื่องประดับทั้งปวงนั้น ก็ล้วนแต่งามๆ ประหลาด วิจิตรด้วยมาลากรรมลดากรรม เป็นเครือดอกเครือใบต่างๆ เป็นนิจ ดอกไม้ต่างๆ ล้วนแล้วด้วยทองแลแก้ว เกี่ยวกระหวัดประสบประสานกัน มีพรรณโชติช่วงจำรัสแสง…เครื่องดุริยดนตรี เป็นต้นว่าพิณแลตะโพน ปี่แลบัณฑพ ฉิ่งแลกรับ สังข์แลกังสดาล”
นึกอีกที ถ้าเทียบอย่างที่คนสมัยนี้คุ้นตากันก็ต้องว่าคล้ายต้นคริสต์มาส คือมี “ของขวัญ” แขวนโตงเตงอยู่ตามกิ่งกัลปพฤกษ์ให้ไปเด็ดไปสอยมาได้ตามใจปรารถนา
เรื่องต้นกัลปพฤกษ์นี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกัน ทั้งที่อุตรกุรุทวีป และอนาคตกาลยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์ พระอนาคตพุทธเจ้า ดังที่ “พระมาลัยกลอนสวด” บรรยายโลกยุคพระศรีอาริย์ฯ ไว้ตอนหนึ่งว่าคนไม่ต้องทำงานการอะไรอีกต่อไป เพราะของกินของใช้ล้วนหาได้ที่ต้นกัลปพฤกษ์
“เมื่อใดหญิงและชาย มิขวนขวายด้วยนาไร่
เลี้ยงชีพด้วยผลไม้ กัลปพฤกษ์อันให้ผล
บ่ห่อนค้าบ่ห่อนขาย มิขวนขวายเป็นกังวล
เกษมสุขทุกตัวตน ที่กัลปพฤกษ์ตามปรารถนา ฯ”
และเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว ท่านผู้แต่งคัมภีร์แต่โบราณก็คงคิดว่าน่าจะเป็นเหตุให้ไม่มีใครอยากได้ใคร่ดีอะไร คือไม่มี “ตัวกู-ของกู” อีกต่อไป
ตัวอย่างที่ยกมาแสดงความ “ไม่หวงแหน” ในทรัพย์สินส่วนตัวของชาวอุตตรกุรุ คือบอกว่าเมื่อเวลาลงอาบน้ำที่ท่าน้ำเดียวกัน ทุกคนต่างเปลื้องผ้านุ่งผ้าห่มและเครื่องประดับออกมากองสุมๆ ทับๆ กันไว้ ใครขึ้นจากน้ำก่อน ก็สามารถหยิบเอาผ้าและเครื่องประดับที่วางอยู่ข้างบนสุดไปนุ่งห่มตกแต่งร่างกายได้เลย ใครขึ้นจากน้ำทีหลังก็เอาผ้าผ่อนที่วางข้างล่าง เอาเครื่องประดับที่วางข้างล่างไป “จะได้เลือกว่าของเราของเขาหาบ่มิได้”
คัมภีร์ถึงกับอ้างว่า พระพุทธองค์เคยตรัสสรรเสริญชาวอุตตรกุรุไว้ว่า “เหนือกว่า” ชาวชมพูทวีป หรือแม้แต่เทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะมีตัณหาน้อย และปราศจากความหวงแหนเช่นนี้เอง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เคยทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่อง “อุตตรกุรุ” เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Uttarakuru An Asiatic Wonderland วิจารณ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอุตตรกุรุใน “ไตรภูมิพระร่วง” โดยทรงนำไปเปรียบเทียบกับแนวคิดสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ที่มีทรัพย์สินร่วมกันเป็นส่วนกลางเอาไว้ด้วย
“ทรัพย์สินนั้นเป็นของกลางทุกแห่งไป ไม่มีผู้ใดทำการเพาะปลูกเพื่อทำไร่ไถนาหรือค้าขายสำหรับตัวเองเลย ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตว่า ตามที่ว่ามานี้ ถ้าไม่ใช่สังคมนิยม อะไรจึงจะใช่เล่า ทรัพย์สมบัติส่วนตัวไม่มี และการทำงานเพื่อสะสมทรัพย์ก็ไม่มีเหมือนกัน…” (สำนวนแปลโดยกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร)
---------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/12/03/สัตว์นรก/
Culture
สัตว์นรก – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 68
3 ธันวาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/hell-scene-4.jpg)
ต่อนี้ไปมาว่ากันถึงเรื่องนรกภูมิอย่างย่อๆ บ้าง
“ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่าฝูงสัตว์ทั้งหลายที่ทำบาปกรรม ย่อมต้องไปเกิดเป็นในนรกซึ่ง “อยู่ใต้แผ่นดินอันเราอยู่นี้แล” สอดคล้องกับความหมายของ “นรก” ที่แปลว่าเหว
ตามคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุ พื้นที่ของนรกภูมิประกอบด้วย “นรกใหญ่” หรือ “มหานรก” แปดขุม ซ้อนกันเป็นชั้นๆ จากสูงสุดสู่ต่ำสุด หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นนรก “แนวดิ่ง” ทำนองเดียวกับสวรรค์ ตั้งซ้อนๆ กันอยู่เหมือนถาดลูกชิ้นถาดผักในร้านสุกี้ ไล่เรียงจากนรกชั้นสัญชีวะที่อยู่บนสุด ไปจนถึงอเวจีอันอยู่ลึกล่างสุด ดังนี้
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/hell-scene-3.jpg)
1. สัญชีวะ หรือสัญชีพ (คืนชีวิตขึ้นเอง) นิรยบาลถืออาวุธคอยสับฟันทิ่มแทง เมื่อสัตว์นรกตายตกไปแล้วจะมีลมพัดมาให้กลับฟื้นคืนชีวิต รับการทรมานซ้ำๆ ต่อไปอีก
2. กาฬสุตตะ (เส้นดำ) สัตว์นรกถูกจับมัดติดกับพื้น แล้วนิรยบาลเอา “สายบรรทัดเหล็กใหญ่เท่าลำตาล” ดีดลงเหมือนเป็นช่างไม้ ถูกตรงไหนร่างกายก็แตกตลอดแนว ไม่ก็ถูกขวานถากผ่าเป็นชิ้นๆ “ดุจถากไม้”
3. สังฆาฏะ (กระทบกัน) สัตว์นรกมีร่างกายเป็นคน หัวเป็นสัตว์ ถูกทรมาทรกรรมเหมือนคนเฆี่ยนตีสัตว์พาหนะต่างๆ นอกจากนั้นยังมีภูเขาเพลิงกลิ้งหลุนๆ เข้ามาบดร่างให้แหลกละเอียด
4. โรรุวะ (ร้องครวญคราง) สัตว์นรกบังเกิดในดอกบัวเหล็กที่ลุกเป็นไฟ มีหนามแหลมคม
5. มหาโรรุวะ (ร้องมากขึ้นอีก) นรกดอกบัวเหล็กอีกขุมหนึ่ง ยิ่งอื้ออึงด้วยเสียงร้องครวญครางมากขึ้นไปอีก
6. ตาปนะ (ร้อน) มีหลาวเหล็กไว้เสียบแทงสัตว์นรก “ดุจเนื้ออันเสียบไม้” พอสุกได้ที ประตูนรกจะเปิด มีฝูงหมาตัวเท่าช้าง เขี้ยวเป็นเหล็ก เข้ามารุมกินบุฟเฟต์จนสิ้นเลือดสิ้นเนื้อ แล้วก็กลับไปเกิดใหม่อีก
7. มหาตาปนะ (ร้อนจัด) นิรยบาลไล่ต้อนสัตว์นรกให้หนีขึ้นเขาที่มีลมพัดแรง พลัดตกลงมาก็ถูกหลาวเหล็กลุกเป็นไฟเสียบอีก
8. อวีจิ หรืออเวจี (ไม่มีระหว่าง หรือไม่เว้นว่าง) สัตว์นรกถูกหลาวเหล็กเสียบตรึงไว้จนขยับไม่ได้ ทุกหนแห่งมีเปลวเพลิงลุกท่วมตลอดเวลา
“ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่านรกใหญ่ทั้งแปดขุมนี้ มีรูปร่างเป็นกล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ มีประตูสี่ทิศ ฝาทุกด้านเป็นเหล็กเผาร้อนจัดจนแดงเดือด
ในจิตรกรรมฝาผนัง เช่นภาพด้านหลังพระพุทธรูปประธานในอุโบสถ นิยมรูปนรกให้เป็น “บ่อ” สี่เหลี่ยมจัตุรัส แลเห็นหัวสัตว์นรกอัดแน่นอยู่เต็มไปหมด ตรงกับที่ในคัมภีร์บรรยาย “นรกนั้นบ่มีที่เปล่าสักแห่ง เทียรย่อมฝูงสัตว์นรกทั้งหลาย หากเบียดเสียดกันอยู่เต็มนรกนั้น”
นรกใหญ่แต่ละขุม ยังมี “นรกบ่าว” หรือ “นรกบริวาร” เรียกว่า “อุสสุทนรก” อีก ๑๖ ขุม คือมีสี่ขุมในแต่ละด้านของผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วยังมี “นรกเล็ก” ล้อมรอบอีก 40 ขุม
รวมเป็นจำนวนนรกขุมต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ คือ 8+(8×16)+(8×40) หรือ 8+128+320 จึงเท่ากับ 456 ขุม
แต่ในคัมภีร์ก็มักไม่ได้ให้รายละเอียดของนรกทั้ง 456 ขุมนี้เท่าใดนัก เพียงแต่จะเล่ารวมๆ กันไป เช่นใน “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวถึงนรกบ่าว 16 ขุม รอบๆ นรกชั้นต้น คือสัญชีวะนรกเท่านั้น โดยอ้างว่าอยู่ในโปรแกรมทัวร์ที่พระมาตุลี พลขับเวชยันต์ราชรถประจำตัวพระอินทร์ เคยขับพาพระเนมิราชเหาะไปเที่ยวชมมาแล้ว
ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” อธิบายขยายความไปว่า นรกบ่าวสี่ และนรกเล็กอีก 10 ขุมประจำแต่ละด้านของนรกใหญ่ทุกแห่ง มีรูปแบบการลงทัณฑ์อย่างเดียวกันหมด จึงเหมารวมกล่าวไปทีเดียวเลย
เมื่อลองพลิกอ่านดูในรายละเอียด จะพบว่า “ภาพจำ” ของนรก ส่วนมากคือฉากจาก “นรกบ่าว” หรือ “นรกเล็ก” เหล่านี้นี่เอง ไม่ว่าจะเป็นสุนัขตัวเท่าช้างและอีกาปากเหล็ก (สุนัขนรก) หม้อเหล็กใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยน้ำเหล็กหลอมเดือดพล่าน “แดงเชื่อมเป็นน้ำอยู่” (โลหกุมภีนรก) การเอาคีมดึงลากลิ้นออกมาจากปาก (โลหพฬิสนรก) หรือการเอาหอกดาบไล่ให้ปีนขึ้นต้นงิ้วที่มีหนามแหลมยาว 16 องคุลี (โลหสิมพลีนรก)
---------------------------------
-
https://www.sarakadee.com/2020/12/09/พิภพมัจจุราช/
Communitiesคอลัมน์
พิภพมัจจุราช – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 69
9 ธันวาคม 2020
ใน “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ไตรภูมิกถา” เล่าว่า นรกก็มี “ระบบการปกครอง” ของตนเอง โดยมี “พระยายมราช” เป็นประมุข
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/hell-scene-1-1.jpg)
“พระยายมราชนั้นทรงธรรมนักหนา พิจารณาถ้อยความอันใดด้วยอันซื่อแลชอบธรรมทุกอันทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปไหว้พระยายมราชก่อน”
พระยายมราชนั้นมิได้สถิตอยู่ ณ นรกขุมใดขุมหนึ่ง หากแต่มีมหานครของตนเองอยู่ต่างหาก เมื่อมนุษย์ล่วงลับไป ดวงวิญญาณผู้ตายย่อมถูกเบิกตัวเข้าเฝ้า พระยายมราชก็จะซักถามว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ได้ทำบุญทำบาปอย่างไรมาบ้าง ขอให้สารภาพมาเสียดีๆ
ในการนี้จึงมีกลุ่มเทวดาผู้ตรวจสอบบัญชี คอยไล่เช็คซ้ำคำให้การของผู้ตายอีกชั้นหนึ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นบุญหรือบาปก็ดี เทวดาจะจดบันทึกเป็นหลักฐานไว้ทั้งหมด หากเป็นกุศลกรรมย่อมจารึกในแผ่นทอง ส่วนบาปกรรมจะถูกจดจารลงบน “แผ่นหนังหมา” เมื่อผู้ตายพรรณนาบาปบุญคุณโทษอย่างใดมา เทวดาผู้รักษาบัญชีก็จะเรียกข้อมูลกิจกรรมย้อนหลังมาดูว่าจริงเท็จอย่างไร
หากเป็นคนดี สั่งสมบุญบารมีมาจริง พระยายมราชก็จะเชื้อเชิญให้เดินทางต่อไปยังสวรรค์
ตรงกันข้าม ผู้ใดทำบาปไว้ ถึงหากปากแข็งไม่รับสารภาพ แต่เมื่อตรวจพบข้อมูลในบัญชีหนังหมา ก็จะส่งวิญญาณลงไปยังนรกทันที
แต่แน่นอนว่า บุคคลโดยทั่วไปย่อมมีอาการคือ “บุญก็ได้กระทำ บาปก็ได้กระทำ” เทวดาก็ต้องมาชั่งน้ำหนักดูอีกทีว่าระหว่างบุญกับบาป หากมีบุญมากกว่าก็จะปล่อยตัวให้ขึ้นสวรรค์ไปก่อน แล้วค่อยย้อนมารับโทษทัณฑ์ในนรก หรือหากบาปหนักกว่าก็จะตกนรกหมกไหม้ก่อน แล้วจึงค่อยส่งขึ้นสวรรค์ทีหลัง
แล้วถ้าหากบังเอิญมีใครที่ทำทั้งบุญทั้งบาปเท่ากันพอดีเป๊ะล่ะ?
ตรงนี้คัมภีร์ชี้ช่องทางออกให้ นั่นคือส่งไปเป็น “ยมบาล” ผู้คุมการลงทัณฑ์ในนรก
“อันว่าคนผู้กระทำบุญ กระทำบาปเสมอกันดังนั้นไส้ พระยายมราชแลเทพดาถือบาญชีนั้น บังคับให้เป็นยมพะบาล ๑๕ วัน มีสมบัติทิพย์ดุจเทพดา แลตกนรก ๑๕ วัน ต่อสิ้นบาปมันนั้นแล”
แต่ในคัมภีร์บางฉบับเล่าไว้ต่างออกไป อาจเพราะรู้สึกว่ามีปริมาณสัตว์นรกมากมายนับไม่ถ้วน ถ้าหากมีพระยายมราชแค่องค์เดียว อาจพิพากษาวิญญาณได้ไม่ทัน งานน่าจะคั่งค้างมาก จึงเสนอทางเลือกให้ว่าอย่างนั้นคงต้องมีผู้รับผิดชอบมากกว่าหนึ่ง “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” จึงกล่าวว่าผู้ดำรงตำแหน่งพระยายมราช/พญายมราชนั้นมีมากมาย
“นรกใหญ่แต่ละขุมๆ นั้นมีพญายมราชถึง ๔ องค์ๆ อยู่ในทิศทั้ง ๔ แห่งนรกใหญ่ๆ ทั้ง ๔ ขุมนั้น พญายมราชแต่ละองค์ๆ นั้นมีสิริคุตตะอำมาตย์ละคนๆ สำหรับได้อ่านบัญชีอันกำหนดกฎหมายบาปกรรมแห่งสัตว์นรกทั้งปวง”
ในภาพจิตรกรรมฝาผนังและสมุดข่อยต่างๆ เมื่อเขียนภาพ “พระยายมราช” มักวาดให้เป็นเทพบุรุษ สวมเครื่องแต่งกายแบบละครไทย คือสวมชฎาตามปรกติ แต่จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ เมื่อบริษัทรัชฟิล์มทีวีสร้าง “พิภพมัจจุราช” เป็นภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ยุคทศวรรษ ๒๕๑๐ มีการดีไซน์เครื่องแต่งกายของ “ยมบาล” (แสดงโดยคุณสิงห์ มิลินทราศัย) เสียใหม่ โดยให้สวมศิราภรณ์คล้ายกับนักรบไวกิ้ง เป็นหมวกทรงครึ่งวงกลม ด้านบนมีเขางอโค้งอยู่สองข้าง
แล้วเลยกลายเป็นว่าเครื่องแต่งกายแบบนี้จึงตกค้างมาใน “วัฒนธรรมพ็อพ” ของไทย คือนับแต่นั้นมา เมื่อใดที่ต้องการแสดงให้คนดูหรือผู้อ่านรับรู้ว่านี่คือ “ยมบาล” ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโชว์หรือวาดรูปการ์ตูน ก็ต้องสวมหมวกมีเขาเช่นนั้นเสมอ
เช่นเดียวกับเพลงไตเติ้ลของ “พิภพมัจจุราช” ซึ่งยังเป็นที่รู้จัก มีคนร้องตามได้มาถึงปัจจุบัน
“พิภพมัจจุราช ใครถึงฆาตดับชีวี
'สุวรรณตรวจดูบัญชี ถ้าทำดีให้ไปสวรรค์ทำชั่ว
พระยมว่าไง? ก็ส่งไปนรกโลกันต์น่ะสิ
ต้นงิ้วกระทะทองแดง เอาหอกแหลมแทงทุกวันทุกวัน
พญายม (หัวเราะ) สุวาน (หัวเราะ) สุวรรณ (หัวเราะ)
สามแรงแข็งขันทำดี ทำดี (หัวเราะ)
โจ๊ะทิงเท่งทิง โจ๊ะทิง! โจ๊ะทิงเท่งทิง โจ๊ะทิง!”
--------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/12/16/ใต้เถรเทวทัต/
Communities
ใต้เถรเทวทัต – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 70
16 ธันวาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
คนไทยทั่วไปคงไม่มีใครอุตริตั้งชื่อเด็กทารกแรกเกิดว่า “เทวทัต” แต่นามนี้เอง ในอินเดียยังใช้กันสืบต่อมาจนปัจจุบัน ในรูปคำที่สะกดด้วยอักษรโรมันว่า Devadutta/Devdutt เพราะถือเป็นมงคลนาม แปลว่า “อันเทวดาประทานแล้ว” ว่าง่ายๆ ก็คือเปรียบประดุจของขวัญจากเทพเจ้า
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/hell-scene-5.jpg)
ทั้งที่เป็นคำอันไพเราะและมีความหมายดี แต่ในโลกพุทธศาสนาอย่างไทยๆ คำนี้กลับมีนัยเชิงลบ คือเท่ากับเป็นคนชั่วช้าเลวทราม จนกลายเป็นคำแช่งด่าในสำนวนไทยอย่างเก่าๆ ว่า “ขอให้ตกนรกใต้เถรเทวทัต” ด้วยเหตุที่ถือกันว่า “พระเทวทัต” ประกอบกรรมหนักหนาสาหัส คือละเมิด “อนันตริยกรรม” ถึงสองประการ ทั้งก่อ “สังฆเภท” ให้หมู่สงฆ์แตกแยก และกระทำให้พระพุทธองค์ห้อพระโลหิต (ห้อเลือด) จนเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วต้องลงไปใช้กรรมอยู่ในนรกชั้นต่ำสุดคืออเวจี
ว่าโดยประวัติของท่านเทวทัตเองก็มิใช่ชั่ว ด้วยมีกำเนิดเป็นเจ้าชาย ทั้งยังนับเป็นพระญาติใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า คือมีฐานะเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระนางพิมพา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ
เจ้าชายเทวทัตออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า และบำเพ็ญฌานจนบรรลุขั้น “โลกียอภิญญา” ขณะเดียวกันในพุทธประวัติก็กล่าวว่าพระเทวทัตรู้สึกว่าตนเองมิได้มีอะไรด้อยกว่าพระพุทธเจ้าเลย ทั้งชาติกำเนิด ทั้งสติปัญญา จึงหวังแข่งบารมีด้วยการใช้อภิญญาของตนแสดงปาฏิหาริย์ ชักจูงพระเจ้าอชาตศัตรูจนเลื่อมใส แล้วคบคิดกันวางแผนลอบปลงพระชนม์พระพุทธองค์เพื่อหวังขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขคณะสงฆ์แทน จนทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิตไปครั้งหนึ่ง รวมถึงก่อเรื่องสร้างความวุ่นวายในหมู่พระสาวก จนถึงระดับก่อ “สังฆเภท” คือทำให้หมู่สงฆ์แตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย
พุทธประวัติ (ซึ่งเล่าจากมุมมองฝ่ายพระสมณโคดม) เล่าว่าสุดท้ายเมื่อป่วยหนัก พระเทวทัตเกิดสำนึกผิด พยายามขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ยังไม่ทันได้พบก็กลับถูกธรณีสูบลงไปทั้งเป็น และด้วยผลแห่งกรรมชั่วระดับ “อนันตริยกรรม” ส่งผลให้ท่านต้องไปเกิดในอเวจีนรก และถูกลงทัณฑ์อย่างแสนสาหัส ทั้งหัวทั้งเท้าฝังติดอยู่กับผนังของกล่องเหล็ก ซ้ำยังถูกยึดตรึงกับผนังทุกด้านของกล่องเหล็กด้วยหลาวเหล็กที่ใหญ่เท่าต้นตาล แทงทะลุร่างกายจากบนลงล่าง จากหลังไปหน้า ข้างขวามาข้างซ้าย จนขยับเขยื้อนไม่ได้
พระไตรปิฎกพรรณนาไว้ดังนี้
“สรีระของเธอสูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์ เกิดในก้นอเวจีซึ่งมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์, ศีรษะสอดเข้าไปสู่แผ่นเหล็กในเบื้องบน จนถึงหมวกหู, เท้าทั้งสองจมแผ่นดินเหล็กลงไปข้างล่าง จนถึงข้อเท้า, หลาวเหล็กมีปริมาณเท่าลำตาลขนาดใหญ่ ออกจากฝา ด้านหลัง แทงกลางหลังทะลุหน้าอก ปักฝาด้านหน้า, อีกหลาวหนึ่ง ออกจากฝาด้านขวา แทงสีข้างเบื้องขวา ทะลุออกสีข้างเบื้องซ้าย ปักฝาด้านซ้าย, อีกหลาวหนึ่ง ออกจากแผ่นข้างบน แทงกระหม่อมทะลุออก ส่วนเบื้องต่ำ ปักลงสู่แผ่นดินเหล็ก”
เคยผ่านตาภาพวาดพระเทวทัตขณะตกจมอยู่ ณ ก้นบึ้งอเวจีบ้าง โดยเขียนไว้ปนๆ กับภาพนรกภูมิด้านหลังพระพุทธรูปประธานตามวัดต่างๆ เช่นที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ และแม้ไม่มีตัวอักษรจารึกบอกเล่าว่าเป็นภาพใคร ทว่าผู้พบเห็น ทั้งบรรพชิตและฆราวาสสมัยก่อน ผู้ซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องราวพุทธประวัติ ย่อมรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นภาพของเถรเทวทัต
ในภาพวาดนั้น ท่านยังคงศีรษะโล้นเหมือนพระสงฆ์และครองสบงอยู่ ด้วยว่าท่านมรณภาพไปขณะยังอยู่ในภิกขุภาวะ หากแต่ร่างกายก็ถูกเสียบตรึงด้วยหลาวเหล็กรอบตัวอย่างที่บรรยายไว้ในคัมภีร์
ถึงหากจะถูกประณามว่าผิดบาปชั่วเลวเพียงใด คัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็ยืนยันด้วยว่าแม้ขณะนี้พระเทวทัตคงต้องชดใช้กรรมอยู่ในอเวจีนรกไปจนกว่าจะสิ้นกัป แต่ด้วยเหตุที่ขณะเมื่อท่านกำลังจะถูกธรณีสูบนั้น เกิดสำนึกผิด แล้วอธิษฐานถวายกระดูกคางบูชาพระพุทธองค์ (เนื่องจากร่างกายจมแผ่นดินลงไปจนถึงคางแล้ว) ด้วยกุศลอันนี้ ในอีกแสนกัลปข้างหน้า พระเทวทัตจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า “อัฏฐิสสระ” (อัด-ถิด-สะ-ระ)
-----------------------------------