Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
เรื่องราวน่าอ่าน => หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง => Topic started by: ppsan on 17 February 2022, 21:03:38
-
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [41-50]
https://www.sarakadee.com/2020/05/27/พรหมลูกฟัก/
Culture
พรหมลูกฟัก – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 41
27 พฤษภาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/phrom-luk-fug.jpg)
ในทศชาติชาดก พระชาติที่ ๘ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระพรหมนารท (พรม-มะ-นาด) มีเนื้อเรื่องย่อว่า พระเจ้าอังคติราชถูกชีเปลือยคุณาชีวก โน้มน้าวให้เชื่อว่าบาปบุญไม่มีจริง โลกหน้าไม่มี ทานไม่มี คนโง่คือคนให้ คนฉลาดคือคนได้ การเบียดเบียนฆ่าฟันก็ไม่มีบาปใดๆ ฯลฯ
พระธิดา คือนางรุจาราชกุมารี พยายามโน้มน้าวพระบิดาให้ละเลิกการเห็นผิดเป็นชอบเช่นนั้น แต่ก็ไม่เป็นผล นางจึงตั้งสัตยาธิษฐานขอให้มีผู้มาช่วยนำพาพระเจ้าอังคติราชให้พ้นจากความคิดเช่นนั้นด้วยเถิด พระพรหมนารทได้รับรู้ความประสงค์ของนางรุจาจึงแปลงตัวเป็นมานพเหาะลงมายังพระราชวัง
พระเจ้าอังคติราชเห็นเข้าเกิดอัศจรรย์ใจ สอบถามว่านี่ท่านเป็นใคร เหตุใดจึงมีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้อย่างนี้ พรหมนารททูลว่าพระองค์มาจากพรหมโลก และมีฤทธิ์ได้ ก็โดยเหตุที่ได้บำเพ็ญธรรมมาแต่ชาติปางก่อน จากนั้นจึงเทศนาโปรดพระเจ้าอังคติราชเรื่องบาปบุญคุณโทษ โลกนี้โลกหน้า จนพระองค์สละละวางจากมิจฉาทิฐิ กลับสู่สัมมาทิฐิ แล้วพรหมนารทก็เหาะกลับคืนสู่พรหมโลกไป
ตามเนื้อหาในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท พรหมนารทปรากฏตัวด้วยรูปกายของนักบวช หาบคอนสาแหรกมุกดา ข้างหนึ่งมีภาชนะทอง อีกข้างใส่คนโทแก้วประพาฬมาด้วย (เข้าใจว่าภาชนะเหล่านั้นคงเป็นเครื่องใช้ หรือ “บริขาร” แสดงสถานะนักบวช)
ภาพจากชาดกเรื่องนี้ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ยุคโบราณ เช่นใบเสมาแบบทวารวดี รุ่นเมื่อพันกว่าปีก่อนในภาคอีสาน ก็มีสลักภาพพรหมนารทเป็นนักบวชผู้ชาย ไว้ผมมวย หาบคอนภาชนะทรงคนโทในสาแหรกสองข้าง
จนถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังรุ่นอยุธยาตอนปลาย เช่นอุโบสถ วัดช่องนนทรีในกรุงเทพฯ เปลี่ยนมาแสดงภาพพรหมนารทเป็นพระพรหมสี่หน้า หาบไม้คาน ข้างหนึ่งมี “ก้อน” สีทอง เหมือนลูกฟัก หรือ “หมอนข้าง” ใบอ้วนสั้น อีกข้างเป็นคนโท ก็ถือว่าวาดไว้ตรงตามคัมภีร์
แต่ต่อมาเช่นในอุโบสถวัดประดู่ทรงธรรมที่อยุธยา ซึ่งเป็นจิตรกรรมในรุ่นราวรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่าในสาแหรกทั้งสองข้าไม้คานที่พระพรหมนารทสี่หน้าเหาะหาบคอนลงมาจากสวรรค์ กลายเป็น “ลูกฟัก” สีทองไปหมด
ดูเหมือนยังไม่มีคำอธิบายชัดๆ ในเรื่องนี้ เพียงแต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าในสำนวนภาษาไทยมีคำว่า “พรหมลูกฟัก” ซึ่งแต่เดิมคงหมายถึงสวรรค์ชั้นพรหมชั้นหนึ่งในรูปพรหม คืออสัญญสัตตาพรหม หรือที่เรียกใน “ไตรภูมิพระร่วง” ว่า “อสัญญีพรหม” ซึ่ง “หน้าตาเนื้อตนพรหมนั้นดั่งรูปพระปฏิมาทองอันช่างหากขัดใหม่แลงามนักหนา”
เหตุที่ถูกนำเอาไปเทียบเคียง “รูปพระปฏิมา” หรือพระพุทธรูป คงเพราะผู้ที่สั่งสมฌานแก่กล้าจนไปเกิดเป็นพรหมชั้นนี้ หากขณะที่ตายไปนั่งอยู่ก็จะกลายเป็นพรหมในท่านั่งเหมือนเดิม หรือถ้ายืนตายในมนุษยโลกก็จะไปเป็นเกิดเป็นพรหมยืนอยู่ที่พรหมโลกต่ออีก และ “บ่มิกระเหม่น บ่มิตก บ่อมิติงสักแห่ง ทั้งตาก็บ่มิพริบดู” คืออยู่นิ่งๆ ไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวใดๆ แม้แต่ตาก็ไม่กระพริบ และคงอยู่ในสภาพนั้นไปตราบจนฌานเสื่อมถอยหมดไปเอง
คนไทยคงเห็นว่าสภาพเหมือน “ลูกฟัก” ที่จับไปตั้งวางไว้ตรงไหนก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไร จึงเรียกพรหมชั้นนี้ว่า “พรหมลูกฟัก”
ไม่แน่ใจว่าจากคำ “พรหมลูกฟัก” นี้หรือไม่ ที่ทำให้ “พรหม” กับ “ลูกฟัก” กลายเป็นคำคู่กันจนติดปากติดหู แล้วเมื่อเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังชาดกพระเจ้าสิบชาติตอนพรหมนารท ช่างเห็นว่าไหนๆ พระโพธิสัตว์ท่านก็เป็นพรหมแล้ว จึงให้หาบคอนเอา “ลูกฟัก” สำแดง “พรหมภาวะ” ลงมาด้วยเสียเลยทีเดียว
ตัวอย่างอื่นที่แสดงการรับรู้คำคู่ “พรหม” กับ “ลูกฟัก” ก็เช่นหน้าจั่วของเรือนไทยภาคกลางมีแบบหนึ่งที่เรียกว่า “จั่วลูกฟัก” ที่มีกรอบไม้ลูกตั้งลูกนอนสลับกันแบบฝาปะกน จั่วแบบนี้บางทีก็เลยเรียกว่า “จั่วลูกฟักหน้าพรหม” หรือ “จั่วพรหมพักตร์” ไปด้วย เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ไปๆ มาๆ คำสองคำนี้กลายเป็น “แพ็คคู่” ติดกันไปเสมอตามความรับรู้ของคนไทยสมัยเก่าก่อน
-----------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/06/04/อกนิษฐ์พรหม/
Culture
สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 42 – อกนิษฐ์พรหม
4 มิถุนายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/tussa-chedi.jpg)
เล่ากันมาเป็นตำนานแห่งวงการกวีไทย ว่าครั้งหนึ่ง “ศรีปราชญ์” กวีคนสำคัญ แต่งโคลงหน้าพระที่นั่ง รำพันถึงหญิงคนรัก (บางสำนวนว่าขึ้นต้นบาทแรกโดยในหลวง ซึ่งถ้าว่าตามเรื่องก็คือสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงศรีอยุธยา) โดยขึ้นต้นมาอย่างอลังการว่า “เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม” น้ำตาผู้ชายไหลริน ร้องห่มร้องไห้ด้วยความรักเธอ จนน้ำท่วมไปถึงสวรรค์ชั้นพรหม (ถ้วม ในที่นี้คือ ท่วม ถือเป็น “โทโทษ” คือคําที่ปรกติใช้ไม้เอก แต่ต้องเปลี่ยนใช้ไม้โทเสียงเดียวกัน เพราะตำแหน่งนี้ในโคลงสี่สุภาพบังคับว่าต้องใช้ไม้โทเท่านั้น)
ต่อด้วย “พาเทพเจ้าตกจม จ่อมม้วย” ขนาดฝูงเทวดาทั้งหลายยังต้องจมน้ำตาตาย
“พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม ทบท่าว ลงนา” แม้แต่เขาพระสุเมรุอันเป็นหลักของจักรวาล ยังถูกน้ำตาท่วมจนยุ่ยเละเป็นขี้โคลนแล้วทลายล้มลงมา
ถึงตรงนี้มีใครสักคนท้วงขึ้นมาว่า อ้าว! น้ำท่วมจักรวาลถึงสวรรค์ชั้นพรหม ขนาดเขาพระสุเมรุยังไม่เหลือหลอ แล้วกวีผู้ประพันธ์ไปอยู่ที่ไหนหรือ ถึงรอดมาได้
ณ ขณะนั้นเอง “ศรีปราชญ์” จึงประกาศอหังการแห่งกวีด้วยการใช้ปฏิภาณ แต่งบิดตอนจบว่า “หากอักนิฏฐ์พรหมฉ้วย พี่ไว้จึงคง” “อกนิษฐ์พรหม” ช่วยไว้น่ะสิ พี่จึงรอดชีวิตมารำพันได้ (ฉ้วย ตรงนี้ก็เป็นโทโทษ คือ ช่วย)
โคลงบทนี้จึงสำเร็จเสร็จบริบูรณ์ลงได้ ดั่งนี้
เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม
พาเทพเจ้าตกจม จ่อมม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม ทบท่าว ลงนา
หากอักนิฏฐ์พรหมฉ้วย พี่ไว้จึงคง
ไม่ว่าศรีปราชญ์ที่ว่าจะมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นกวีสมัยใดกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนก็คือผู้แต่งโคลงบทนี้ มีภูมิรู้ในจักรวาลวิทยาแบบพุทธหินยานอย่าง “แน่น” ระดับ “เซียน” จริงๆ จึงรู้รายละเอียดนัยความตามคัมภีร์ ว่าเมื่อถึงคราวจักรวาลสูญสลาย ทั้งกามาพจร ตลอดจนถึงพรหมโลกชั้นล่างๆ ล้วนพินาศวอดวายไม่มีอะไรเหลือ ทว่าพรหมชั้นสูงๆ นับแต่อกนิษฐ์พรหม อันเป็นพรหมชั้น ๑๖ คือชั้นสูงสุดในรูปภูมิ ขึ้นไปจนตลอดชั้นพรหมอรูปภูมิทั้งหมด ยังคงสบายๆ แบบ “ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง” จึงสามารถอ้างได้ว่าอกนิษฐ์พรหมช่วยพี่ไว้
สวรรค์ชั้นอกนิษฐ์พรหมนี้ยังมีความสำคัญคือ ภายหลังทุกสิ่งล่มสลายไปหมดสิ้นแล้ว เมื่อเกิดแผ่นดินขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง จะมีดอกบัวผุดขึ้นมา พรหมจากสวรรค์ชั้นนี้จะพากันเหาะลงมาดู ดอกบัวนั้นย่อมมีจำนวนตามพระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดในกัลปนั้นๆ เช่นว่าถ้ามีดอกบัวเกิดขึ้นหนึ่งดอก หมายถึงว่าในกัลปนั้นจะมีพระพุทธเจ้า ๑ พระองค์ ไล่ขึ้นไปทีละหนึ่งจนถึงจำนวนสูงสุดที่จะเป็นไปได้ คือกัลปอันมีพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหมือนช่วงที่เรามีชีวิตอยู่นี้ เรียกว่า “ภัททกัลป” โดยมีพระสมณโคดมเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ ๔
ในดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจะมีข้าวของเครื่องใช้แปดสิ่งประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าองค์นั้นๆ หรือที่เรียกว่า “อัฐบริขาร” (อัฐ แปลว่า ๘) อยู่ภายใน ได้แก่ ผ้าสบง ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ บาตร รัดประคด (เข็มขัด) มีดโกน เข็มเย็บผ้า และผ้ากรองน้ำ พรหมก็จะอัญเชิญกลับไปเก็บรักษาไว้รอท่าบนสวรรค์ชั้นอกนิษฐ์พรหม
ตราบจนเมื่อถึงวันที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ หรือออกบวช พระพรหมจากอกนิษฐ์พรหมก็จะนำเอาผ้าไตรจีวรกับเครื่องบริขารกลับลงมาถวายพระโพธิสัตว์ แล้วอัญเชิญผ้าทรงที่ติดพระองค์มาขึ้นไปยังอกนิษฐ์พรหม ประดิษฐานไว้ ณ ทุสสะเจดีย์ ดังที่เคยเล่าเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อกล่าวถึงฆฏิการพรหม ผู้เป็นเพื่อนเก่าของพระโพธิสัตว์จากอดีตชาติ
----------------------------
-
https://www.sarakadee.com/2020/06/10/พิภพไม้หว้า/
Culture
สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 43 – ชมพูทวีป พิภพไม้หว้า
10 มิถุนายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/jambu-dipa.jpg)
จบเสร็จเรื่องสวรรค์วิมานโดยสังเขปกันแล้ว คราวนี้ขอย้อนกลับมายังโลกมนุษย์กันบ้าง
อ้างอิงตามคัมภีร์โลกศาสตร์ ชมพูทวีปอันเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์อย่างพวกเราๆ เป็นเกาะใหญ่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรน้ำเขียวที่ชื่อ “นีลสาคร” ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ มีบริวารเป็นเกาะ หรือ “ทวีปน้อย” จำนวนเท่ากับทุกทวีป คือ 500 เกาะ
ผืนแผ่นดินชมพูทวีปวัดโดยกว้างยาวด้านละ 1 หมื่นโยชน์ เท่ากับไซส์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และอสูรพิภพ คัมภีร์กล่าวว่า “มีสัณฐานดังเรือนเกวียน” คือเป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมู รูปร่างเหมือนหน้าตัดห้องโดยสารของเกวียน ด้านบนกว้าง ข้างล่างแคบ
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นภาพจำลองของคาบสมุทรอินเดียนั่นเอง ดูแผนที่ประเทศอินเดียก็คงเห็นลักษณะที่ว่านี้
ส่วนในจิตรกรรมฝาผนัง บางทีก็จะวาดชมพูทวีปเป็นวงรีบ้าง บางแห่งเป็นรูปคล้ายเล็บมือก็มี รวมถึงทวีปน้อยที่เป็นบริวาร (ปรกติก็วาดกันสัก 3-4 เกาะ พอให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่เคยเห็นที่ไหนจะวาดให้ครบ 500 เป๊ะๆ) ก็ล้วนมีรูปร่างอย่างเดียวกัน
จากความยาว ๑ หมื่นโยชน์ตามตำรา กลับมีพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์เพียงไม่ถึง 1 ใน 3 คือ 3,000 โยชน์ ที่เหลือเป็นเขตน้ำทะเลท่วม (คือใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้) 4,000 โยชน์ ที่เหลืออีก 3,000 โยชน์ เป็นป่าหิมพานต์
จนถึงเดี๋ยวนี้ ในประกาศสงกรานต์ของฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง แต่ละปีจะคำนวณน้ำฝนตามกรรมวิธีทางโหราศาสตร์ ได้ค่าออกมาเป็นปริมาณ แล้วแยกแยะรายละเอียดต่อไปอีกว่า ฝนจะไปตกที่ใดบ้าง เช่นจากจำนวนฝนของปีนั้นๆ ๕๐๐ ห่า มีตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า และตกในเขาจักรวาล 250 ห่า
มาตราวัดปริมาณน้ำฝนที่เป็น “ห่า” อะไรนี้ ว่ากันว่าคนโบราณเขาใช้บาตรพระ หรือเปลือกหอยโข่ง ไปเปิดฝา หรือตั้งหงายกลางแจ้งระหว่างฝนตก น้ำฝนเต็มบาตรหรือเต็มเปลือกหอยโข่งทีหนึ่ง นับเป็น 1 ห่า ดูเหมือนจะเคยมีคนเทียบเคียงไว้ให้ด้วยว่าฝน 1 ห่า คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 200 มิลลิเมตร ตามการวัดค่าอย่างปัจจุบัน
ถ้าดูตามประกาศสงกรานต์ของสำนักพระราชวังที่ว่ามานี้ ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้ว ฝนไม่ได้ตกในแดนของมนุษย์ แต่ไปตกใส่ทะเลบ้าง ตกในป่าหิมพานต์บ้าง และส่วนใหญ่ลมพัดพาไปตกไกลถึงเขาจักรวาลที่เป็นกำแพงล้อมรอบปลายขอบจักรวาลด้วยซ้ำ
ป่าหิมพานต์ที่ว่านี้เป็นที่ตั้งของภูเขาหิมพานต์ ซึ่งคัมภีร์เล่าว่ามียอดถึง 84,000 ยอด
ตรงเชิงเขาทางด้านเหนือ มีต้นหว้าใหญ่เป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป เพราะแต่ละทวีปย่อมต้องมีต้นไม้ประจำของตนต่างๆ กันไป อย่างที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ท่านบรรยายไว้เป็นฉากๆ ใน “กากีคำกลอน”
“……………………………….. เกาะทวีปใหญ่กว้างทั้งสี่ทิศ
ทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร สัณฐานดังจอกลอยกระจิหริด
มีพฤกษาใหญ่ล้ำประจำทิศ เกิดสถิตแต่ประถมแผ่นดิน”
ต้นหว้าประจำชมพูทวีปนี้ คัมภีร์โลกศาสตร์บรรยายภาพไว้ว่ายืนต้นตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำสีทา มีความสูงถึง 100 โยชน์ ทอดเงาทะมึนจนทำให้บริเวณใต้ร่มไม้มืดครึ้มเหมือนกลางคืน
ภาษาบาลีเรียกต้นหว้าว่า “ชมพู” นั่นจึงเป็นเหตุให้ทวีปของมนุษย์อันมีต้นหว้า (ในภาษาอังกฤษบางทีเรียกว่า Indian blackberry หรือ Java plum) เป็นไม้สัญลักษณ์ จึงได้ชื่อว่า “ชมพูทวีป”
ทั้งที่คำ “ชมพู” ในภาษาบาลีหมายถึงต้นหว้า แต่ในภาษาไทยกลาง เรากลับมีคำเรียกแยกต่างหากคือ “หว้า” ส่วนคำ “ชมพู” เดิมนั้น ภาษาไทยกลับเอาไปใช้หมายถึงผลไม้อีกอย่างหนึ่ง คือลูกชมพู่ ขณะที่ในภาษามลายู jambu ก็ใช้ในความหมายเดียวกันคือชมพู่ แต่ครั้นพอเอาไปรวมกับคำ batu (หิน) เป็น jambu batu กลับหมายความว่าผลฝรั่งเสียอีก
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าคนโบราณท่านไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เพราะว่าที่จริง ตามการจำแนกอนุกรมวิธานพืช ทั้งหว้า ชมพู่ และฝรั่ง ล้วนอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ Myrtaceae และสมาชิกในวงศ์นี้ยังรวมไปจนถึงต้นยูคาลิปตัสด้วย
---------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/06/17/หว้าหวานปานน้ำผึ้ง/
Culture
หว้าหวานปานน้ำผึ้ง – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 44
17 มิถุนายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
แม้ว่าลูกหว้าสีม่วงเข้มๆ อย่างที่หาซื้อกินได้ในเมืองมนุษย์ มักมีรสชาติออกไปทางฝาดๆ ทว่าต้นหว้าใหญ่ประจำชมพูทวีป กลับให้ผลที่มีรสหอมหวานเหมือนน้ำผึ้ง “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่าผลหว้าแต่ละลูกมีขนาดเท่ากับกลองใบใหญ่ๆ ถึงขนาดที่ “ถ้ายื่นมือล้วงเข้าไปในเนื้อหว้า พอสุดแขนถึงเถิงเล็ดในหว้า” คือหากเราเอามือจิ้มทะลุผ่านเปลือกข้างนอกเข้าไปได้ก็ต้องทะลวงกันลึกสุดแขนถึงจะไปลูบๆ คลำๆ เมล็ดในได้
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/jambu-fruit.jpg)
คัมภีร์ “โลกบัญญัติ” ขยายความลงรายละเอียดไว้อีกว่าเมื่อครั้งพุทธกาล มีภิกษุสองรูปเป็นสหายกัน และต่างมีฤทธานุภาพ พอได้ฟังพุทธวจนะเล่าเรื่องต้นหว้าประจำทวีป จึงชวนกันเหาะไปดูบ้าง
“ท่านทั้งสองได้ไปถึงต้นหว้านั้น ได้เห็นผลหว้าสุกหล่นลงมาแตก ท่านทั้งสองได้มีความคิดว่า ‘เมล็ดในของผลหว้าสุกนี้ จะใหญ่เพียงไรหนอ’ ภิกษุรูปหนึ่งจึงสอดแขนเข้าไปโอบตามส่วนกลมของผล จึงถึงไหล่ ถูกต้องเมล็ดในด้วยนิ้วส่วนปลาย ภิกษุนั้นดึงมือนั้นกลับคืน แขนของท่านได้ถูกย้อมเป็นสีแดงไปแล้ว เหมือนกับถูกย้อมด้วยจันทน์แดง กลิ่นอันชื่นชูใจของผลหว้านั้นได้ฟุ้งตลบไปแล้ว…”
ขากลับ ท่านยังอุตสาหะแบกลูกหว้าเหาะเอากลับมาถวายแด่พระพุทธองค์ด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้แบ่งปันแจกจ่ายไปในหมู่ภิกษุเมืองราชคฤห์ได้ลิ้มชิมรสกันอย่างทั่วถึง โดยทรงให้เฉือนส่วนที่เป็นโพรงตรงที่ภิกษุสอดมือเข้าไปคลำเมล็ดในนั้นออกทิ้งเสียก่อน
เมื่อลูกหว้าจากต้นหว้าประจำทวีปมีขนาดใหญ่โตถึงเพียงนั้น คัมภีร์เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” จึงไปต่อ โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพวกนกที่บินมาจิกกินลูกหว้าเป็นอาหาร แต่ละตัวล้วนมีขนาดใหญ่เท่าช้าง หรือไม่ก็ตัวโตเท่าบ้านหลังหนึ่ง ส่วนลูกหว้าที่นกกินไม่ทันก็สุกงอมแล้วร่วงหล่นตกลงมาโดยรอบปริมณฑลของพุ่มพฤกษ์ ลูกหว้าที่กลิ้งตกลงไปในแม่น้ำสีทากลายเป็นอาหารปลา
ส่วนยางหว้าที่หล่นย้อยออกมากลับกลายเป็นทองคำเนื้อดี เรียกว่าทอง “ชมพูนุท”
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/jambu-leaves.jpg)
ด้วยเหตุที่ต้นหว้าเป็นไม้ประจำชมพูทวีป ชาวพุทธในพม่าจึงนับถือกันว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เวลาไปเที่ยวในเมืองพม่า หรือแม้แต่ตลาดตามชุมชนแรงงานพม่าในเมืองไทย เราจะเห็นมียอดหว้าอ่อน ใบสีออกแดงๆ เขียวๆ วางขายตามร้านดอกไม้ ให้คนซื้อไปปักแจกันบูชาพระแซมกับดอกไม้ ส่วนพระสงฆ์พม่าก็นิยมใช้ยอดหว้ามัดรวมเป็นกำ ไว้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล เหมือนอย่างที่คนไทยภาคกลางนิยมใช้ใบมะยม
-------------------------------------
-
https://www.sarakadee.com/2020/06/24/หิมพานต์-สุเมรุจักรวาล/
Culture
หิมพานต์ (สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 45)
24 มิถุนายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ในเขตหิมพานต์ที่กินอาณาบริเวณถึง ๑ ใน ๓ ของชมพูทวีปนั้น คนโบราณเชื่อกันว่าเป็นศูนย์รวมสรรพสิ่งมหัศจรรย์ โดยเฉพาะสัตว์แปลกประหลาดนานาชนิด จนทำให้คำว่า “สัตว์หิมพานต์” แทบจะมีความหมายว่าสัตว์มหัศจรรยตามจินตนาการที่ไม่มีอยู่ในโลกมนุษย์
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/creatures-of-himavant.jpg)
แต่ทั้งนี้ หลักหรือหมุดหมายสำคัญแห่งเขตหิมพานต์ก็คือ “เขาหิมพานต์” หรือ “หิมวันต์”
ดูจากรูปคำ ภูเขาลูกนี้คงปกคลุมด้วย “หิมะ” แต่คนไทยยุคก่อนไม่มีใครเคยเห็นหิมะ และย่อมไม่อาจทำความเข้าใจกับสถานะของแข็งของ “น้ำ” ได้ ดังนั้นในคัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” จึงตีความว่าเป็น “น้ำค้าง” ดังที่ผู้ประพันธ์ท่านอธิบายว่าสาเหตุที่เรียกเขาหิมพานต์เพราะ “น้ำค้างตกในประเทศภูเขานั้นหนักนัก”
ส่วนถ้าว่าตามความรู้ภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ตำแหน่งแห่งที่ของเขาหิมพานต์ย่อมไม่มีทางหนีเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจาก “หิมาลัย” เทือกเขามหึมาที่คนอินเดียโบราณรู้จักดี จนปรากฏเป็นพุทธพจน์ภาษาบาลีว่า “ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ หิมวนฺโตว ปพฺพโต” แปลว่า สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนหิมวันตบรรพต
ในที่นี้ พระพุทธองค์ทรงเปรียบ “สัตบุรุษ” (คนดี) ว่าย่อมมีชื่อเสียงเลื่องลือ ดุจภูเขาหิมวันต์อันสูงใหญ่แลเห็นได้แต่ไกล เหมือนอย่างที่คนอินเดียหรือคนเนปาลเดี๋ยวนี้ ถึงอยู่ห่างออกไปเป็นร้อยกิโลเมตรก็ยังสามารถมองเห็นยอดเขาหิมาลัยได้สบายๆ
ผู้เขียน “ไตรภูมิพระร่วง” ขยายความคำ “หิมพานต์” ไว้ด้วยว่า “แลในป่าพระหิมพานต์นั้นสนุกนินักหนา” คนไทยสมัยก่อนก็คงรู้สึกว่า “หิมพานต์” เป็นคำพ้อง (synonym) กับความรื่นรมย์สนุกสนาน อย่างในการเทศน์มหาชาติ อันเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ซึ่งถือเป็นอดีตชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก็ยังมีกัณฑ์หนึ่งเรียกว่า “กัณฑ์หิมพานต์” ว่าด้วยความรื่นรมย์ของป่าหิมพานต์ ระหว่างทางที่พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระนางมัทรี กัณหา ชาลี เดินทางรอนแรมเข้าไป
จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) ยังตั้งชื่อ “ธีมปาร์ค” (theme park) แห่งแรกของเมืองไทยที่ท่านลงทุนสร้างไว้ให้คนเสียสตางค์ค่าผ่านประตูเข้าไปเที่ยวเล่นพักผ่อนหย่อนใจว่า “บ้านหิมพานต์” หรือเรียกกันตามตำบลที่ตั้งว่า “ป๊ากสามเสน”
ปัจจุบันคือบริเวณวชิรพยาบาล โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังมีคฤหาสน์ของพระสรรพการหิรัญกิจหลงเหลือให้ชม
แต่ขณะเดียวกัน ตามความรับรู้ของคนไทย หิมพานต์นั้นก็อยู่ไกลแสนไกล อย่างในเรื่องพระสุธน-มโนราห์ เมื่อพระสุธนจะติดตามไปหานางกินรีมโนราห์นั้น ต้องเดินทางอยู่นานถึง “เจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน” กว่าจะถึงแดนกินรีในป่าหิมพานต์ ในภาษาไทยจึงมีสำนวน “นอกฟ้าป่าหิมพานต์” อันมีนัยถึงสถานที่กันดารห่างไกล หรือบางทีก็ใช้กับข้าวของแปลกประหลาดก็ได้
อย่างมีผลไม้ชนิดหนึ่ง ดั้งเดิมมาจากทวีปอเมริกาใต้ ฝรั่งเรียกว่า cashew nut ภาษาปักษ์ใต้บางถิ่นเรียกว่า “กาหยู” (คงมาจากรากเดียวกับ cashew) ตามประวัติว่าเพิ่งมีผู้นำพันธุ์เข้ามาปลูกในเมืองไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อสัก ๑๒๐ ปีมานี้เอง
ไม่ทราบว่าท่านผู้ใด คงเห็นสัณฐานแปลกๆ คือมีเมล็ดห้อยย้อยออกมานอกผล ดูเป็นของ “นอกฟ้าป่าหิมพานต์” ชอบกลอยู่ เลยขนานนามให้ในภาษาไทยว่า “มะม่วงหิมพานต์”
ในโวหารกวีไทย คำ “หิมพานต์” ยังแผลงรูปต่อ กลายเป็น “หิมวา” “หิมวาส” และ “หิมเวศ” ซึ่งทำให้ความหมายก็พลอยเลื่อนไปด้วย กลายเป็นว่าใช้กับ “ป่า” ทั่วๆ ไปก็ได้เหมือนกัน เช่นในบทละคร “สังข์ทอง” ที่กล่าวถึงนางยักษ์พันธุรัตออกหาอาหาร
“ครั้นถึงหิมวาป่าสูง เห็นฝูงเนื้อเบื้อเสือสีห์
นางยักษ์อยากกินก็ยินดี เข้าไล่ตีเลี้ยวลัดสกัดสแกง”
-----------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/07/01/สระอโนดาต/
Culture
สระอโนดาต – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 46
1 กรกฎาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ณ เชิงเขาหิมพานต์มีสระน้ำเจ็ดสระซึ่งนับเป็น “มหาสระ” (สระใหญ่) ได้แก่อโนดาต กัณณมุณฑะ รถการะ ฉัททันตะ กุณาละ มันทากินี และสีหปปาตะ ซึ่ง “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายว่า “น่าสนุกสบาย น่ารื่นเริงบันเทิงใจหนักหนา”
สระทุกแห่งมีขนาดและรูปร่างเท่ากันหมดเหมือนกันหมด คือเป็นบ่อผังกลม กว้างยาว ๕๐ โยชน์ และลึก ๕๐ โยชน์
ในจำนวนนี้ มหาสระที่มีชื่อเสียงคุ้นหูในวรรณคดีมากที่สุดคือ “อโนดาต”
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/anotatta-wat-rakhang.jpg)
สระอโนดาตตั้งอยู่กลางหุบที่แวดล้อมด้วยภูเขาทั้งห้า ได้แก่ สุทัสสนะกูฏ (ภูเขาสุทัสสนะ) เป็นทองทั้งแท่ง จิตรกูฏ (ภูเขาจิตระ) เต็มไปด้วยรัตนะ คือแก้ว กาฬกูฏ (ภูเขากาฬะ) ล้วนแล้วไปด้วยนิล สีดังดอกอัญชัน (ม่วงเข้ม) คันธมาทนกูฏ (ภูเขาคันธมาทน์) ภายในภูเขาเต็มไปด้วยแก้วมุกดา และเป็นแหล่งว่านยาไม้หอมนานาพันธุ์
พอถึงคืนพระจันทร์ข้างแรมหรือ “คืนเดือนมืด” จะปรากฏแสงสว่างโพลงออกมาจากเขาคันธมาทน์ราวกับถ่านติดไฟ และมีเพิงผาหรือเงื้อมชะโงกเขาอันหนึ่งเรียกว่า “นันทมูล” เป็นที่ประทับของ “พระปัจเจกพุทธเจ้า” คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วมิได้สั่งสอนผู้ใดต่อ ก็จะเหาะมาประทับรวมกัน ณ เงื้อมเขานันทมูลแห่งนี้
ภูเขาลูกสุดท้ายในกลุ่มเขาที่ล้อมรอบสระอโนดาตอยู่ คือไกรลาสกูฏ (ภูเขาไกรลาส) สีเงินยวง
เขาลูกนี้มีความสำคัญคือเป็นที่ประทับของ “พระมเหศวร” (พระอิศวร/พระศิวะ) และพระอุมาภควดี เทพเจ้าของศาสนาฮินดู
ภูเขาทั้งห้า คือสุทัสสนะ จิตระ กาฬะ คันธมาทน์ และไกรลาส ล้วนมีถ้ำคดเคี้ยวอยู่ภายใน และมียอดเขารูปร่างเป็นประดุจ “ปากกา” เหมือนหัวของ “อีกา” ที่มีปากแหลมยื่นยาว เหมือนกันทั้งหมด ต่างกันแต่ความสูง โดยทั้งห้ายอด “เงื้อมน้อมเข้าหากัน ข้างนี้เงื้อมไป ข้างโน้นเงื้อมมา ปกปิดอโนดาตสระนั้นไว้”
เมื่อเป็นดังนั้น แสงรัศมีของพระอาทิตย์และพระจันทร์จึงไม่เคยส่องกระทบผิวน้ำของสระอโนดาตโดยตรงได้เลย ถึงอาจมีลำแสงเข้ามาได้บ้างก็แต่เพียงลอดเหลี่ยมเขาที่ซ้อนเหลื่อมกันอยู่เท่านั้น เมื่อสระอโนดาตไม่เคยถูกแดดเผา น้ำในสระจึงเย็นเยียบ รวมถึงไม่เคยเหือดแห้งไปเลย
รอบสระอโนดาตมีท่าน้ำสี่ท่าเป็นที่สรงสนานอาบน้ำสำหรับแต่ละเหล่าแต่ละพวก ไม่ปะปนกัน ท่าน้ำอันหนึ่งเฉพาะเทพบุตร อีกท่าน้ำหนึ่งสำหรับเทพธิดา ส่วนอีกสองท่า ในคัมภีร์หนึ่งว่าใช้สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าและฤๅษี แต่ในอีกคัมภีร์อธิบายว่าเป็นท่าน้ำของเหล่ายักษ์และพวกวิทยาธร
แม้ว่าภาพสระอโนดาตจะปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ในภาพจิตรกรรมไทย แต่ส่วนใหญ่จะวาดเป็นเพียงสระผังกลม โดยไม่ลงรายละเอียดให้เห็นท่าน้ำสี่ท่า เว้นแต่ในสมุดข่อยบางเล่ม
ทางด้านข้างของสระ มี “มุข” หรือ “ปากช่อง” สำหรับให้น้ำไหลออกอยู่สี่ทิศ เป็นต้นทางของแควน้ำสี่สายที่มีต้นน้ำจากสระอโนดาต
ด้านทิศตะวันออก ไหลผ่าน “สีหมุข” ปากช่องรูปราชสีห์ ผ่านแดนตะวันออกของป่าหิมพานต์ ถิ่นที่อยู่ของราชสีห์
ด้านตะวันตก มีน้ำไหลออกจาก “อัสมุข” ปากช่องรูปม้า ผ่านพื้นที่อาศัยของม้าสินธพ
ด้านเหนือมีน้ำไหลออกจาก “หัตถีมุข” ช่องรูปปากช้าง ไหลลงสู่แหล่งของโขลงช้าง
ด้านใต้ ไหลออกจากปากรูปโค เรียกว่า “อุสภมุข” คือมีสัณฐานดังปากโค ฝั่งแม่น้ำนั้นก็มีโคชุกชุม
แควน้ำทุกสายไหลเวียนขวาเลาะขอบสระอโนดาตก่อนอีกสามรอบ แล้วจึงไหลออกไปในทิศต่างๆ กระทั่งไปตกลงในมหาสมุทร
ที่สำคัญคือแควน้ำสายใต้ ซึ่งจะลงไปหล่อเลี้ยงชมพูทวีปซีกใต้อันเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ โดยเมื่อไหลไปกระทบภูผา สายน้ำจะพุ่งขึ้นบนอากาศสูง ๖๐ โยชน์ เป็นละอองฝอย เรียกว่า “อากาศคงคา”
คัมภีร์อธิบายไว้ด้วยว่าเมื่อถึงฤดูกาลจะมีลมประจำฤดูมาพัดอุ้มน้ำจากอากาศคงคาตรงนี้ ไปตกเป็นเม็ดฝนและลูกเห็บ
-----------------------------------
-
https://www.sarakadee.com/2020/07/08/ชักแม่น้ำทั้งห้า/
Culture
ชักแม่น้ำทั้งห้า – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 47
8 กรกฎาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/five-sacred-rivers.jpg)
เมื่อแควน้ำจากทางทิศใต้ของสระอโนดาตไหลมากระทบภูเขา จะแตกกระจายฟุ้งขึ้นในอากาศ เรียกว่า “อากาศคงคา” ก่อนจะตกลงสู่พื้นดินอีกครั้ง รวมตัวเป็นสระใหญ่ แล้วไหลลงไปตามอุโมงค์ จนเมื่อกระแสน้ำพลุ่งโผล่ขึ้นเหนือพื้นดินอีกครั้ง ก็แผ่กว้างกลายเป็นแม่น้ำห้าสาย “เหมือนนิ้วมือห้านิ้วที่ฝ่ามือ” ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี มหิ สรภู แล้วจึงไหลลงไปหล่อเลี้ยงแดนมนุษย์ของชมพูทวีป
ม่านปักฝีมือนางวันทองที่ถูกขุนแผนฟันจนขาดวิ่น ก็มีตอนหนึ่งที่ปักภาพเรื่องนี้ ดังกลอนใน “ขุนช้างขุนแผน” ที่ว่า
“อากาศคงคาชลาสินธุ์ มุจลินท์ห้าแถวแนวสลอน”
อย่างที่เคยกล่าวมาบ่อยๆ แล้ว ว่าภูมิศาสตร์ของชมพูทวีปตามคติสุเมรุจักรวาลนั้น คือรูปจำลองอนุทวีปอินเดีย โดยเน้นหนักที่ตอนเหนือ ดังนั้น แม่น้ำห้าสายหรือ “ปัญจมหานที” นี้ก็คือแม่น้ำสายหลักของท้องถิ่นอินเดียเหนือ
ปัญจมหานทียังกลายเป็นต้นทางสำนวนไทย (ที่รับของแขกมาอีกต่อหนึ่ง) ว่า “ชักแม่น้ำทั้งห้า” หมายถึงการพูดจาหว่านล้อม จะให้ได้ตามที่ตนต้องการ โดยไปเท้าความหรือหยิบยกเรื่องมากมายมาพูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีแก่นสารอะไร เหมือนในเรื่องเวสสันดรชาดก เมื่อชูชกไปทูลขอพระกัณหาชาลีจากพระเวสสันดร ได้พูดจาหว่านล้อมสรรเสริญพระเวสสันดรว่าท้าวเธอทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางเหมือนแม่น้ำทั้งห้า
ปัญจมหานทียังถือเป็นสัญลักษณ์ของความผาสุกร่มเย็น ดังใน “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส บรรยายปราสาทสำหรับเวเคชั่นฤดูร้อน หนึ่งในปราสาทสามฤดูของเจ้าชายสิทธัตถะ ว่าประดับด้วยภาพวาด “ในพื้นฝาแลเสาเขียนเปนเบญจมหานที” เพื่อสร้างความรู้สึกสดชื่น นอกจากนั้น น้ำจากปัญจมหานทีก็ยังถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในบทพระราชนิพนธ์ “รามเกียรติ์” ของรัชกาลที่ ๑ ตอนศึกกุมภกรรณ หลังจากพระลักษณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์แล้ว พิเภกกราบทูลพระรามว่ามีวิธีรักษา แต่สำคัญว่า ต้องมิให้บาดแผลสัมผัสแสงอาทิตย์ ดังนั้นจึงขอให้หนุมานเหาะไปยุดรถพระอาทิตย์ไว้ก่อน จากนั้น
“แล้วให้ไปเก็บตรีชวา ทั้งยาชื่อสังกรณี
ยังเขาสรรพยาบรรพต ปรากฏอยู่ยอดคีรีศรี
กับปัญจมหานที สรรพยาทั้งนี้มาให้ทัน
แม้นว่าได้บดชโลมลง องค์พระอนุชาไม่อาสัญ
จะดำรงคงชีพชีวัน หอกนั้นก็จะหลุดขึ้นมา ฯ”
คือต้องไปเก็บว่านยาสังกรณีตรีชวาจากเขาสรรพยา มาบดด้วยน้ำจากปัญจมหานที แล้วราดรดลงที่บาดแผล หอกโมกขศักดิ์จึงจะเขยื้อนหลุดออกไปเอง ตามเรื่องเล่าว่าหลังจากเก็บสังกรณีตรีชวามาได้แล้ว หนุมานไม่ยักไปตระเวนตักน้ำจากแม่น้ำทั้งห้าสายเอาเอง ทว่าใช้ “วิธีลัด” ด้วยการเหาะตรงไปยังกรุงอโยธยา ขอเข้าเฝ้าพระพรตพระสัตรุต อนุชาของพระลักษมณ์พระราม ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างพระรามออกเดินดง แล้วทูลขอเอาดื้อๆ พระพรตพระสัตรุตก็ประทานน้ำปัญจมหานทีสำเร็จรูปที่บรรจุใน “ขวดรัตนา” (ขวดแก้ว ?) มาให้
ตามความคิดของท่านผู้ใหญ่รุ่นต้นกรุงเทพฯ น้ำปัญจมหานทีถือเป็น “เครื่องราชูปโภค” อย่างหนึ่งที่กษัตริย์พึงต้องมีไว้ในครอบครองใกล้ตัว จึงปรากฏตำราว่าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องใช้ “ปัญจมหานที” เป็นน้ำอภิเษกด้วย แต่แน่นอนว่าดินแดนอินเดียเหนือนั้นอยู่ไกลเหลือแสน ในสมัยรัตนโกสินทร์ เราจึง “อนุโลม” ใช้น้ำจากแม่น้ำสำคัญห้าสายในภาคกลาง เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” แทนปัญจมหานทีตามตำรับของแขก ได้แก่
แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลบึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก
แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี
แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง
แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม
แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี
จนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จไปอินเดียในปี ๒๔๑๕ ทรงแสวงหาน้ำปัญจมหานทีตามตำรามาได้ครบ ปีถัดมา ๒๔๑๖ ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ภายหลังทรงบรรลุนิติภาวะ จึงมีการนำน้ำปัญจมหานที “สูตรดั้งเดิม” จากอินเดีย มาเจือผสมเป็นน้ำอภิเษกด้วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
-----------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/07/15/ไกรสรราชสีห์/
Culture
ประชากรแห่งหิมพานต์ : ไกรสรราชสีห์ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 48
15 กรกฎาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
บรรดาคัมภีร์โลกศาสตร์ต่างระบุว่าสรรพชีวิตที่อาศัยในหิมพานต์มีมากมายหลายแสนชนิด ดังที่สุนทรภู่บรรยายไว้ใน “บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องกากี” ด้วยมุมสูงแบบ “ตานก” (bird’s-eye view) ผ่านสายตาพญาครุฑซึ่งโฉบร่อนผ่านเหนือพื้นที่ป่า
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/lions-of-himavant.jpg)
๏ สินธพตลบเผ่น สิงโตกิเลนแลมังกร
ราชสีห์ดูมีหงอน แก้วกุญชรแลฉัททันต์
๏ นรสิงห์แลลิงค่าง อีกเซี่ยวกางแลกุมภัณฑ์
ยักษ์มารชาญฉกรรจ์ ทั้งคนธรรพ์วิเรนทร
๏ นักสิทธิวิทยา ถือคทาธนูศร
กินรินแลกินร รำฟ้อนร่อนรา
๏ ห่านหงษ์หลงเกษม อยู่ห้องเหมคูหา
พระฤๅษีชีป่า หาบผลาเลียบเนิน
๏ คนป่าทั้งม่าเหมี่ยว ก็จูงกันเที่ยวดุ่มเดิน
ลอยลมชมเพลิน พนมเนินแนวธาร
แต่ที่โดดเด่นที่สุดในหมู่ “สัตว์หิมพานต์” ก็คือราชสีห์และช้าง
ราชสีห์ในหิมพานต์ แบ่งได้เป็นสี่จำพวก คือ ติณราชสีห์ กาฬราชสีห์ บัณฑุราชสีห์ และไกรสรราชสีห์
ชนิดแรก คือติณราชสีห์ มีสีเหมือนนกพิราบ (สีเทา) กินหญ้าเป็นอาหาร (!)
ติณะ หรือตฤณ แปลว่าหญ้า สโมสรแข่งม้าในกรุงเทพฯ จึงเคยมีชื่อว่า ราชตฤณมัยสมาคมฯ หมายถึงสนามหญ้า (ตฤณ) ของม้า (มัย)
ชนิดต่อมาคือ กาฬราชสีห์ มีสีดำ (กาฬ คือดำ) มีอาหารเป็นหญ้าเช่นเดียวกัน
ส่วนบัณฑุราชสีห์ สีเหมือนใบไม้เหลือง ชนิดนี้กินเนื้อเป็นอาหาร
ราชสีห์ชนิดสุดท้ายคือ ไกรสรราชสีห์ หรือเกสรสีหะ เป็นราชสีห์กินเนื้อ ลักษณะพิเศษคือขนขาวทั้งตัว แต่มีปาก ปลายหาง และปลายเท้าสีแดง “ราวกับชุบครั่ง” และมีลายสีแดงวนเป็นก้นหอยทั่วทั้งตัว
เมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีมาแล้ว ตอนที่พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) จะผลิตเบียร์ตราสิงห์ออกจำหน่าย ท่านเลือกทำสัญลักษณ์เป็นรูปสิงห์อย่างไทย กายสีแดง แต่ต่อมา พอถึงช่วงใกล้ปี ๒๕๐๐ เมื่อยุคนั้นไม่ชอบให้มีอะไรสี “แดงๆ” เพราะรู้สึกหวาดหวั่นกับพวก “แดง” หรือพวก “คอมมิวนิสต์” (เช่น จีนแดง ซึ่งดูเหมือนเดี๋ยวนี้จะไม่มีใครหวาดกลัว มีแต่จะคอย “ซูฮก”) ถึงขนาดครุฑหัวกระดาษหนังสือราชการ จากเดิมที่เคยพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง ก็ยังต้องเปลี่ยนมาเป็นลายเส้นสีดำอย่างที่เห็นอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางบริษัทฯ จึงต้องยอมเปลี่ยนโลโก้เบียร์ตราสิงห์ ให้ตอบสนองกับความต้องการของ “ทางการ” จึงกลายเป็นสิงห์สีทองมาจนเดี๋ยวนี้
------------------------------------
-
https://www.sarakadee.com/2020/07/22/กระต่ายตื่นตูม/
Culture
ประชากรแห่งหิมพานต์ : กระต่ายตื่นตูม (สุเมรุจักรวาล #49)
22 กรกฎาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” พรรณนาเรื่องไกรสรราชสีห์แล้วหยอดนิทานชาดกแทรกไว้ด้วยเรื่องหนึ่งคือ “กระต่ายตื่นตูม”
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/run-rabbit-run.jpg)
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาไกรสรราชสีห์ในป่าหิมพานต์ ยังมีกระต่ายตัวหนึ่ง นอนหลับอยู่ที่กอตาลใต้ต้นมะตูม กำลังหลับเพลินๆ มะตูมลูกหนึ่งหล่นโครมลงใส่ใบตาลแห้งเสียงลั่น กระต่ายตกใจตื่น คิดเองเออเองว่า “แผ่นดินถล่ม” (คงประมาณโลกแตก อะไรทำนองนั้น)
“ผุดลุกขึ้นได้ก็แล่นควบไปไม่เหลียวหลัง แล่นไปจนหูลี่หางชี้ทีเดียว”
กวางและหมูเห็นกระต่ายวิ่งหน้าตั้งก็เลยตะโกนถามว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงห้อตะบึงมาแบบนี้ กระต่ายวิ่งไปร้องตอบไปพลางว่า “อะไรกัน! พวกท่านไม่รู้หรือ? แผ่นดินถล่มแล้ว!!!” ได้ยินดังนั้น ฝูงกวางฝูงหมูก็พลอยแตกตื่นตกใจ ออกวิ่งแจ้นตามกระต่ายไป
เมื่อฝูงวัวควายฝูงม้าฝูงช้างเห็นสัตว์นานาชนิดวิ่งตามกันมาเป็นพรวน ก็คิดว่าต้องมีเหตุเภทภัยอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแน่แล้ว เราก็คงอยู่ไม่ได้ เลยถลันออกตัวตามไปด้วย ทุกตัวต่างวิ่งหน้าตั้งไปสู่หน้าผาริมฝั่งมหาสมุทร ซึ่งย่อมจะพากันตกทะเลตายหมด
พญาไกรสรราชสีห์ ซึ่งสัตว์ทั้งหลายได้ประชุมกันตั้งให้เป็นใหญ่กว่าสัตว์สี่เท้าทั้งปวงมาตั้งแต่ปฐมกัป เห็นเข้าดังนั้น จึงร้องถามฝูงช้างขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น ช้างตอบว่า “ไม่รู้” เห็นเพื่อนๆ วิ่งตามกันมาก็หนีมาด้วย ครั้นพอย้อนถามไปกลับเรื่อยๆ ก็ได้แต่คำตอบว่า “ไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่ทราบ” ที่สุดจึงจับได้ว่าที่แท้ ทั้งหมดล้วนวิ่งตามกระต่ายมา และกระต่ายคือต้นตอของข่าวลือเรื่องแผ่นดินถล่ม
พญาไกรสรราชสีห์จึงขอให้กระต่ายช่วยพาไปทำแผน ณ จุดเกิดเหตุ กระต่ายเองกลัวแทบขาดใจ แต่พญาราชสีห์ยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีอะไรต้องหวาดกลัว เพราะตนเองจะไปด้วย กระต่ายจึงเลียบๆ เคียงๆ พาไปหลับหูหลับตาชี้ตรงใต้ต้นมะตูมที่ตัวเองหลับปุ๋ยอยู่เมื่อกี้ ปากคอสั่นบอกว่า “เชิญท่านเข้าไปดูแต่ผู้เดียวเถิด ข้าพเจ้าไปไม่ได้แล้ว…”
“พญาราชสีห์ไปพิจารณาดู ก็เห็นลูกมะตูมอันตกลงมาอยู่ในสถานที่นั้น แหงนขึ้นไปดูบนต้น ก็เห็นขั้วมะตูมยังใหม่ๆ อยู่ ก็รู้ว่าไอ้กระต่ายนี้มันตื่นลูกมะตูมแล้ว นี้แลไม่พินิจพิจารณา เชื่อแต่คำผู้อื่นแล้วก็เป็นเหตุจะให้ได้ความทุกข์เมื่อภายหลัง”
จากคำของพญาราชสีห์ที่ว่า “กระต่ายนี้มันตื่นลูกมะตูม” เข้าใจว่าจึงกลายเป็นต้นกำเนิดของสำนวนไทย “กระต่ายตื่น (ลูกมะ) ตูม” สืบมา
เมื่อสอบกลับไปในพระไตรปิฎกพบว่ามีเรื่องนี้เล่าไว้ในชื่อ “ทัทธภายะชาดก” โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่ากระต่ายตัวมานอนเล่นอยู่ตรงดงที่มีต้นตาลขึ้นปนกับต้นมะตูม แล้วก็คิดเคลิ้มๆ ไปว่า “ถ้าแผ่นดินนี้ถล่ม เราจะไปที่ไหนหนอ” ขณะนั้นเอง ผลมะตูมสุกหล่นลงใส่ใบตาลแห้งเสียงดัง กระต่ายจึงตกใจว่า นั่นไง! แผ่นดินถล่มแล้ว จึงกระโดดหนี กระต่ายตัวอื่นพอได้ยินว่าแผ่นดินถล่มก็วิ่งตามกันไปเป็นพรวน จากนั้นฝูงกวาง หมูป่า แรด วัวควาย เสือสิงห์และช้าง ก็วิ่งดาหน้าตามกันไป
ราชสีห์พระโพธิสัตว์เห็นว่าสัตว์ที่วิ่งกันไปนั้นจะพากันตกทะเลตายจึงวิ่งไปดักหน้า แล้ว “บันลือสิงหนาท” คำรามขึ้นสามครั้ง ฝูงสัตว์ได้ยินก็ตกใจจึงหยุด ด้วยเหตุที่ปรากฏความตามคัมภีร์ว่าเสียงร้องคำรามของราชสีห์ย่อมเป็นที่หวาดกลัวแก่สัตว์ทั้งหลาย ยกเว้นแต่สิ่งมีชีวิตหกประเภท ได้แก่ ราชสีห์ด้วยกันเอง ช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนย โคผู้อาชาไนย บุรุษอาชาไนย และพระขีณาสพ คือพระอรหันต์ผู้สละละแล้วซึ่งกิเลศ
ส่วนเรื่องที่เหลือต่อจากนั้นก็ไม่ต่างกับที่เล่าไว้ใน “ไตรภูมิวินิจฉยกถา” นัก
นิทานเรื่องนี้ เมื่อถึงยุคของการตีพิมพ์มีการเรียบเรียงออกมาอีกหลายสำนวน แต่รายละเอียดผิดเพี้ยนกันไปต่างๆ เช่นว่าสิ่งที่ตกลงมานั้น บางเรื่องก็ว่าเป็นลูกมะพร้าว บ้างก็ว่าเป็นลูกตาลก็มี
ส่วนลูกมะตูมนั้น ดูเหมือนจะกลิ้งหายไประหว่างทางเสียนานแล้ว
-----------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/07/30/กินนรฟ้อนโอ่/
culture
ประชากรแห่งหิมพานต์ : กินนรฟ้อนโอ่ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 50
30 กรกฎาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
กินนร-กินรีเป็นอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งในเขตหิมพานต์ ทางช่างไทยจึงนับเอากินนร-กินรีเป็น “สัตว์หิมพานต์” ประเภทหนึ่ง
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/kinnaree.jpg)
กินนร-กินรี มีลักษณะครึ่งคนครึ่งนก คือมีครึ่งบนเหมือนคน ทั้งหน้าตา ลำตัว แขนแมน แต่ร่างกายท่อนล่างกลับเป็นนก ในภาษาไทยดูเหมือนจะแบ่งคำเรียกไว้ตามเพศด้วย คือ “กินนร” สำหรับเพศชาย ส่วนเพศหญิงเรียกว่า “กินรี”
ตามความคิดของคนโบราณ เผ่าพันธุ์กินนร-กินรีนี้ มีรูปร่างหน้าตาสะสวยงดงาม อย่างในบทเกริ่นเปิดเรื่อง “พระอภัยมณี” ที่สุนทรภู่กล่าวถึงท้าวสุทัศน์ เจ้ากรุงรัตนา พระบิดาของพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ โดยบรรยายฮาเร็มของพระองค์ว่า “สนมนางแสนสุรางคนิกร ดังกินนรน่ารักลักขณา” คือเต็มไปด้วยนางสนมที่แลดูน่ารักน่าใคร่ราวกับนางกินรี
นอกจากนั้นแล้ว ยังถือกันว่าพวกกินนร-กินรี มีฝีมือในด้านขับร้อง-ฟ้อนรำ ดังเรามักพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนรูปนางกินรีร่ายรำอยู่เสมอ ในตำรารำของนาฏศิลป์ไทยยังนำเอาไปใช้เป็นชื่อท่ารำ เช่น “กินนรฟ้อนโอ่” และ “กินนรเลียบถ้ำ” หรือ “กินรินเลียบถ้ำ” ซึ่งไปปรากฏเป็นชื่อท่ารำในรำแม่บท ท่อนที่ว่า “สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน กินรินเลียบถ้ำอำไพ…”
“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่าพวกนี้อาศัยอยู่ในละแวกเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระปรเมศวร (พระอิศวร) แต่ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่ามีนครของกินนรโดยเฉพาะ อยู่บนยอดเขาไกรลาส ชื่อ “สุวัณณนคร” ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์กินนร ส่วนในชาดกเรื่องจันทกินนร กล่าวว่ากินนรและกินรีในเรื่องอาศัยอยู่ ณ เขาจันทบรรพต ดังมีเรื่องว่า
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งพาราณสี เสด็จโดยลำพังออกล่าสัตว์ พระองค์เดินทางลึกเข้าไปในป่าจนถึงต้นน้ำสายหนึ่ง เวลานั้นเป็นฤดูแล้ง กินนรกินรีที่อาศัยบนเขาจันทบรรพตจึงลงจากเขามาเที่ยวเล่นหากินกัน ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นจันทกินนรี มีภริยาคือนางจันทกินรี ลงมาหาเกสรดอกไม้เป็นอาหาร แล้วก็ชวนกันเก็บดอกไม้โปรยเล่นในลำธาร จากนั้น จันทกินนรก็เป่าขลุ่ยขับร้องเสียงเจื้อยแจ้ว ส่วนจันทกินรีก็ฟ้อนรำและคอยร้องเพลงคลอเป็นลูกคู่ พระเจ้าพรหมทัตแอบทอดพระเนตรเห็นนางกินรีเข้า เกิดมีใจรักใคร่ จึงยิงลูกศรใส่จันทกินนรผู้เป็นสามีจนล้มลงสลบ เลือดไหลนอง พระราชาเข้าใจว่าคงตายแล้ว จึงสำแดงพระองค์จากที่ซ่อน แล้วตรัสชักชวนให้นางกินรียอมไปเป็นอัครมเหสีในพระราชวัง
ทว่าด้วยความรักมั่นในสามี นางจันทกินรีปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย มิหนำซ้ำยังประกาศว่าตนเองพร้อมจะยอมตายเสียดีกว่าไปเป็นชายาของพระองค์ พระเจ้าพรหมทัตจึงเสด็จจากไป ทิ้งนางกินรีให้ร้องไห้รำพันในชะตากรรมของตน ว่าต่อไปเมื่อข้าจะไม่ได้เห็นสามีที่รักอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบนภูเขา เถื่อนถ้ำ ในลำธาร หรือแผ่นผาที่เต็มไปด้วยไม้ดอกไม้ผลที่เราสองเคยเที่ยวเล่นด้วยกัน ข้าจะทำฉันใดเล่า ฯลฯ จนร้อนอาสน์ถึงพระอินทร์ ต้องลงมาแปลงเป็นพราหมณ์ นำน้ำใส่หม้อน้ำมาราดรดลงบนบาดแผล จันทกินนรก็ฟื้นคืนสติ ส่วนบาดแผลก็หายสนิท จากนั้นพราหมณ์พระอินทร์แปลงก็ให้โอวาทว่า เจ้าทั้งสองอย่าลงมาในเขตที่มนุษย์เข้ามาถึงได้อีกเลย ให้อยู่แต่บนจันทบรรพตเถิด แล้วก็กลับขึ้นสวรรค์ไป
เช่นเดียวกับชาดกเรื่องพระสุธน-มโนราห์ มหากาพย์ว่าด้วยความรัก การพลัดพราก และการหวนคืนของความรักระหว่างมนุษย์คือพระสุธน กับนางมโนราห์ซึ่งเป็นกินรี ชาดกทั้งสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นเป็นนัยว่า ตามความคิดของคนโบราณ เผ่าพันธุ์กินนร-กินรีน่าจะมีลักษณะทางกายภาพที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มาก จนสามารถสื่อสารและอาจมีสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องพระสุธน-มโนราห์ ยังเล่าเหมือนกับว่า ปีกหางของนางกินรี ไม่ใช่อวัยวะจริงๆ แต่เป็นเหมือนเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เสริม (gadget) ที่สามารถถอดประกอบได้ ดังนั้น ในระหว่างที่นางกับพี่ๆ ถอดปีกถอดหางลงเล่นน้ำกัน พรานบุญจึงแอบย่องมาลักปีกหางของนางมโนราห์ไปซ่อนเสีย อันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวพิสดารที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง
---------------------------------