Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

ข้อควรปฎิบัติ => ห้องรับแขก (ยังไม่เป็นสมาชิกก็ถามได้ที่นี่นะครับ) => Topic started by: ppsan on 15 February 2022, 10:34:10

Title: OK ย่อมาจากอะไร ใครเป็นคนเริ่มพูด
Post by: ppsan on 15 February 2022, 10:34:10
OK ย่อมาจากอะไร ใครเป็นคนเริ่มพูด


(https://www.taaluilen.nl/wp-content/uploads/2017/02/OK-_-ok.jpg)


“โอเค นัมเบอร์วัน!” แม่ค้าย่านมาบุญครองพูดออกอากาศในการให้สัมภาษณ์เรื่องม็อบแยกปทุมวัน ปี 2563

“คือพี่ว่ามันโอแล้ว แต่มันยังไม่โอว่ะ” เจ้านายกล่าวกับลูกน้องของเธอในหนังเรื่อง ฟรีแลนซ์ กำกับโดย เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

“OK. Engine stop” นักบินอวกาศพูดในวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1969 เมื่อครั้งมนุษยชาติได้เหยียบบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก


คำว่า โอเค เป็นหนึ่งในคำมหัศจรรย์ที่คนเกือบทั้งโลกสามารถเข้าใจกันได้ โดยแทบไม่ต้องเปิดพจนานุกรม อยู่คู่กับวิถีชีวิตมาอย่างกลมกลืนและเนิ่นนาน ขนาดที่ว่าคำนี้ เคยเป็นที่ถกเถียงกันในบรรดานักภาษาศาสตร์ว่า ต้นกำเนิดของคำว่า “โอเค” มาจากไหน ใครเป็นคนเริ่มพูดกันแน่?

ปัจจุบันนี้ คำตอบนั้นได้รับการเฉลยแล้ว


โอเค บอสตัน
ย้อนกลับไปในช่วงต้นยุค 1830’ s วัยรุ่นมีการศึกษาในบอสตันได้ประดิษฐ์คำย่อ ที่จงใจสะกดผิดขึ้นมาเพื่อใช้กันในหมู่วงใน เช่น คำว่า KG ย่อมาจาก khow go หรือ no go หมายถึงบางอย่างที่เป็นไม่ได้ และแน่นอนว่ามีคำพระเอกอย่าง “OK” ที่ย่อมาจาก Oll korrect หรือ all correct เป็นวลีใช้ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามคำสั่งแล้ว

คำนี้หลุดออกจากวงสังคมวัยรุ่นไฮโซในบอสตัน ไปสู่สังคมแพร่หลายมากขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม ปี 1839 เมื่อหนังสือพิมพ์ Boston Morning Post. ตีพิมพ์บทความที่มีการใช้คำว่า OK ครั้งแรก ทำให้หนังสือพิมพ์หัวอื่นๆ ก็ใช้ตามๆ กันมาจนแพร่หลายและใช้กันไปทั่วในหมู่คนอเมริกัน

จนเมื่อปี 1844 คำว่า OK ก็ยิ่งขจรขจายกลายเป็นมากกว่าแค่คำสแลง แต่คือคำที่บัญญัติใช้กันอย่างถูกต้อง เพราะด้วยการถือกำเนิดสิ่งประดิษฐ์ของโลกอย่าง “โทรเลข”


โอเค โทรเลข
เพราะการสื่อสารผ่านโทรเลข เป็นการสื่อสารด้วยรหัสมอร์ส ที่มีการแทนอักษรต่างๆ ด้วยตัวขีดกับตัวจุด การใช้คำและประโยคซึ่งสั้น กระชับ ได้ใจความ จึงเหมาะกับการสื่อสารด้วยโทรเลข และทำให้คำว่า OK เฉิดฉายในฐานะคำมาตรฐานไว้ใช้บอกว่า เข้าใจแล้ว รับทราบแล้ว และใช้มากกันขึ้นตามการขยายของเส้นทางรถไฟ

อย่างในคู่มือการใช้โทรเลขในปี 1865 ก็ระบุว่า “ข้อความจะไม่ถือว่าถูกส่งแล้ว จนกว่าฝ่ายผู้รับจะตอบกลับว่า O K.”

และด้วยความใช้ง่าย ใช้คล่องของคำว่า โอเค คำนี้จึงได้เดินทางไปยังบทสนทนาทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในไทย


โอเค ซิกาแรต
การใช้คำว่า “โอเค” ในไทย ต้นกำเนิดไม่ทราบชัดเจนว่ามีมาแต่หนใด แต่มีนักเขียนชาวไทยบางท่านที่เชื่อว่า “โอเค” มาจากประโยค “โอเค ซิกาแรต” ซึ่งเคยเป็นคำเก่าคำเก๋าซึ่งเคยใช้กันในหมู่คนมีอายุขึ้นมาหน่อย

ในคอลัมน์ “พจนานุกรมนิรุตติศาสตร์” ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2529 คุณภาษิต จิตรภาษาเขียนเล่าไว้ว่า “โอเค ซิกาแรต” เป็นคำที่เกิดจากการรวมคำว่า โอเค กับ คำว่า ซิกาแรต ที่แปลว่า บุหรี่ เอาไว้ด้วยกัน

“โอเค ซิกาแรต” ตามคำบอกเล่าของคุณภาษิต เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม เกิดการมาเยือนของทหาร ณ ท่าเรือคลองเตย และมีการตกลงค้าบริการทางเพศระหว่างพ่อเล้าไทยกับทหารฝรั่ง

ซึ่ง “บุหรี่” กลายเป็นสิ่งที่ทหารเอาไว้ใช้จ่ายค่าโสเภณีแทนเงินสด ทำให้มีวลีที่ฝรั่งพูดว่า “โอเค ซิกาแรต – ตกลง บุหรี่ก็บุหรี่” เพื่อแลกจำนวนบุหรี่กับโสเภณีผ่านพ่อเล้า ส่วนสาเหตุที่พ่อเล้านิยมให้ทหารจ่ายค่าบริการด้วยบุหรี่ ก็เพราะในสมัยหลังสงครามโลกนั้น บุหรี่กลายเป็นของหายาก ถ้าได้มา ก็สามารถเอาไปขายได้กำไรอีกทอด

ต่อมา พ่อค้าแม่ค้าในย่านคลองเตย พระโขนง จึงได้เริ่มขายของแลกบุหรี่ตามๆ กัน เกิดการแพร่หลายของ “โอเค ซิกาแรต” ไปทั่วบ้านทั่วเมือง คนหนึ่งที่พูดติดปาก คือคุณไฉน กลิ่นขาว ซึ่งเป็นนักอ่านข่าววิทยุ ก็ใช้คำนั้นในรายการทางปชส. 7 บ่อยๆ เป็นไปได้ว่า ผู้รับฟังก็อาจได้ยินและเอาไปใช้ต่อๆ กันอีก

ส่วนในอีกคอลัมน์ “วาบความคิด” ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2543 คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ก็ได้เขียนอธิบายไว้ทำนองคล้ายๆ กันว่า “โอเค ซิกาแรต” เป็นคำที่มาจากการใช้ “บุหรี่” เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างพ่อค้าเด็กกับทหารอเมริกัน


โอเคนะคะ
โดยสรุปแล้ว คำว่า “โอเค ซิกาแร็ต” ในประเทศไทย จึงถือกำเนิดมาจากสองวัฒนธรรมสองภาษา ที่มาเจอกันแล้วต้องการค้าขายแลกเปลี่ยน ก่อนจะโดนเวลา วิวัฒนาการภาษา รวมถึงความรู้ภาษาอังกฤษของคนไทยเปลี่ยน “โอเค ซิกาแร็ต” ให้เหลือแค่เพียง “โอเค” ซึ่งหมายถึง รู้กัน ตกลงกัน เข้าใจกัน และใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้เอง

ส่วนคำล่าสุดอย่างคำว่า “โอ” ที่บางคนใช้ย่อคำว่า โอเค จะโดนวัฒนธรรมหรือวิวัฒนาการทางภาษาดัดแปลงไปเป็นความหมายอื่น หรือกลายเป็นคำใหม่อีกไหม คงต้องรอดูกัน


อ้างอิง

-History. The Birth of OK, 175 Years Ago. https://bit.ly/3mdOMtG
-Vox. Why We Say “OK” . https://bit.ly/3ATWhdo
-Silpa Mag. คำว่า “โอ” ย่อมาจาก “โอเค” แล้ว “โอเค” ย่อมาจากอะไร? .
https://bit.ly/3sssEN8