Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...

เรื่องราวน่าอ่าน => หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง => Topic started by: ppsan on 21 December 2021, 15:24:34

Title: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:24:34
[12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ


https://www.samkok911.com/2018/11/three-kingdoms-in-parallel.html


(https://2.bp.blogspot.com/-jZENuwelcWM/W5PeuGnCG2I/AAAAAAAAsLI/5KlppHnGnpIZcUx_Nmf1aldIK1eQJOmtgCLcBGAs/s640/three-kingdoms-parallel.jpg)



สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
  สามก๊กวิทยา  03 พฤศจิกายน 2561

"วงล้อแห่งประวัติศาสตร์ มักหมุนวนซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ"

     'สามก๊ก บนเส้นขนาน' บทความสามก๊กชุดล่าสุดของ 'วินทร์ เลียววาริณ' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 และนักเขียนรางวัลซีไรต์ 2 ครั้ง จากผลงาน เรื่อง 'ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน' ปี พ.ศ. 2540 และ 'สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน' ปี พ.ศ. 2542

     ก่อนหน้านี้คุณวินทร์ ฯ ได้เขียนบทความสามก๊กมาแล้วชุดหนึ่ง ชื่อว่า 'สามก๊ก ฉบับ วินทร์ เลียววาริณ' ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากบรรดานักอ่านเป็นอย่างดี ครั้นพอจบชุด คุณวินทร์ ฯ ก็เริ่มจับปากกาเขียน สามก๊กบนเส้นขนาน ต่อทันที

     'สามก๊ก บนเส้นขนาน' ได้หยิบยกเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีนยุคสามก๊ก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี มาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ในทำนองที่สอดคล้องเข้ากัน ซึ่งนับเป็นความกล้าหาญของคุณวินทร์ ฯ ที่กล้านำเรื่องราวต่างยุคต่างสมัย ต่างวาระเวลามาเปรียบเทียบกันได้อย่างสนุกสนาน ได้แง่คิด และอรรถรส

     เรื่องราวทั้งหมดของ 'สามก๊ก บนเส้นขนาน' นั้นได้เขียนไว้ในในเว็บไซต์ winbookclub.com และในเฟซบุ๊คส่วนตัวของคุณวินทร์ ฯ และในเบื้องต้น มีกำหนดจะรวมเล่ม ออกวางจำหน่ายในช่วงเดือนมีนาคม 2562 ที่จะถึงนี้

     ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการทดลองอ่าน 'สามก๊ก บนเส้นขนาน' สามารถเข้าไปเยี่ยมชมในเว็บไซต์ winbookclub.com ของ 'วินทร์ เลียววาริณ' ได้โดยตรง หรืออ่านตัวอย่างบทความตามที่แนบนี้ดูก่อนได้ครับ


(https://1.bp.blogspot.com/-ZR-WKJmc7v0/W9bzys78L6I/AAAAAAAAsvg/nOciph6tWwsLMksi-wv8JGd7CJhdEvpLACLcBGAs/s1600/%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%2581%25E0%25B9%258A%25E0%25B8%2581%2B%25E0%25B8%259A%25E0%25B8%2599%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25AA%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%2582%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2599%2B%2B%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%258C%2B%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2593.jpg)


สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ

จับมือล้างแค้น   ราคาของการลอบสังหาร   ผีบุญ      คนดีที่ศัตรูวางใจกว่ามิตร    ต้มถั่ว
จากปลายดาบถึงปลายปากกา   วันก่อการ      ศึกวังหลวง   สิ้นซาก         เซ็กเพ็กบนแม่น้ำเจ้าพระยา
เผาเมืองหลวง   ย้ายเมืองหลวง      กินเลี้ยงกลางคมดาบ      ชิงใจมวลชน   ตัดแขนตัวเอง
จำใจยึดอำนาจ   เทพกับมาร      ทรยศเพื่อชาติ   9 กันยาฯ ไม่มาตามนัด   รัฐประหารเสียของ
ช้างสาร      นภาสีฟ้าสูญสิ้น      ชิงเมืองคืน   กล่องขนมเปล่า      คาร์บอมบ์
น้ำตาจิ้งจอกชรา   เมล็ดข้าวสงคราม      ร้องไห้เพื่อชาติ   นกหวีด


-----------------------------------------------


Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:26:42

จับมือล้างแค้น


มองดูสภาพบ้านเมืองทั่วโลกในรอบหลายสิบปีนี้ ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ไม่อยู่ใน สามก๊ก มาก่อน

การเมืองในประเทศมาเลเซียก็เช่นการเมืองในไทยและประเทศอื่นๆ การเมืองก็คือสงคราม

และการเอาชัยในสงครามใช้ทุกกระบวนยุทธ์ รบทั้งที่สว่างและที่มืด เหนือฟ้าและใต้ดิน

อันวาร์ อิบราฮิม เป็นนักการเมืองหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงของมาเลเซีย เป็นที่จับตามองของทุกคน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียระหว่างปี พ.ศ. 2536 - 2541 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งของไทย ทำงานใกล้ชิดของนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้ครองอำนาจมายาวนาน และปกครองด้วยกำปั้นเหล็ก ใครๆ ในแวดวงการเมืองก็รู้ว่าเขาจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากมหาเธร์

แต่ทุกอย่างก็ล้มครืน เมื่ออันวาร์เริ่มบทบาทวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะมหาเธร์ ไปสะกิดต่อมบางต่อมของมหาเธร์เข้า

ทันใดนั้นโลกก็พลิก ในปี พ.ศ. 2542 อันวาร์ถูกฟ้องด้วยข้อหาทุจริต ศาลตัดสินจำคุกหกปี หนึ่งปีถัดมา เขาถูกตัดสินจำคุกอีกเก้าปีด้วยข้อหาร่วมเพศกับชาย

สี่ปีต่อมาเขาได้รับการปล่อยตัว และในปี 2551 เขาถูกจับกุมจากข้อหาร่วมเพศวิตถารอีก ถูกซ้อมในคุก

จากดาวบนฟ้ากลายเป็นไส้เดือนในดิน

เมื่อเข้าคุก ภรรยาของเขา ดร. วาน อะซิซะห์ วาน อิสมาอิล ก็สืบตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อจากสามี รอวัน ‘ล้างแค้น’

หลังจากมหาเธร์ก้าวลงจากอำนาจ ก็ส่งไม้ต่อให้เด็กสองคนที่ตนปั้นขึ้นมา คือ อับดุลลาห์ บาดาวี ครองตำแหน่งห้าปี ก็ส่งไม้ต่อให้ นาจิบ ราซัค

นาจิบ ราซัค ครองอำนาจอย่างยิ่งใหญ่ ไม่แยแสใคร ใช้อำนาจผิดทำนองคลองธรรม จนกระทั่งไปสะกิดต่อมบางต่อมของมหาเธร์ มหาเธร์เริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ไม่มีใครฟังท่านผู้เฒ่า เพราะเห็นว่าไร้พิษสงไปแล้ว

สถานการณ์การเมืองของมาเลเซียเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีข่าวนายกรัฐมนตรีพัวพันคดีทุจริต ที่หนักข้อที่สุดคือยักยอกเงินกองทุน 1MDB (1 Malaysia Development Berhad) จำนวนมหาศาล อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วพิจารณาอีก ก็พบว่าไม่ผิด

เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่วางบนหลังของประชาชน มาถึงจุดที่ประชาชนไม่สามารถทนพฤติกรรมทุจริตของรัฐบาลที่ส่ายตั้งแต่หัวถึงหาง เริ่มส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ

แต่ นาจิบ ราซัค ผู้ยิ่งใหญ่มิได้ยิน

ใครเล่าจะสามารถโค่น นาจิบ ราซัค ผู้ยิ่งใหญ่?


ย้อนหลังไป 1,810 ปี ขงเบ้งโดยสารเรือลำหนึ่งไปที่แผ่นดินกังตั๋ง เข้าพบซุนกวน เจรจาเสนอให้ทั้งฝ่ายร่วมภาคีพันธมิตรกัน

เป้าหมายคือศัตรูคนเดียวกัน - โจโฉ

ปีนั้นคือ พ.ศ. 751 คือปีเดียวกับที่จูล่งขี่ม้าขาวฝ่าทัพโจโฉช่วยอาเต๊าศึกสะพานเตียงปันเกี้ยว เล่าเปียวเพิ่งตาย โจโฉเข้าครองเกงจิ๋ว

เวลานั้นเล่าปี่ยังไม่มีแผ่นดินอยู่เป็นเรื่องเป็นราว ขงเบ้งแนะนำให้ยึดเกงจิ๋ของเล่าเปียว เล่าปี่ก็อิดออด เพราะเห็นว่าเป็นเมืองของคนแซ่เดียวกัน ชาวบ้านจะครหาได้

เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดทางการเมือง เพราะทำให้เขาต้องหนีการไล่ล่าของโจโฉหัวซุกหัวซุน

จนที่สุดขงเบ้งก็แนะนำให้ไปซบซุนกวน เพื่อต้านโจโฉที่รุกรานกังตั๋ง

ซุนกวนตกลง

เมื่อศัตรูคนเดียวกัน การผนึกกำลังสู้ด้วยสมองของจิวยี่ โลซก ขงเบ้ง และบังทอง ย่อมมีโอกาสได้ชัยสูงกว่ารบเดี่ยว

เป็นที่มาของศึกเซ็กเพ็ก ทัพโจโฉหลายแสนคนพินาศวอดวายในกองเพลิง



ผู้เฒ่าสารพัดพิษ มหาเธร์ มองเห็นกระแส “นาจิบออกไป!” อย่างชัดแจ้ง

นี่คือโอกาสโค่นศิษย์ทรยศ

‘ขงเบ้ง’ มหาเธร์ลงเรือข้ามแม่น้ำกังตั๋งไปพบ ‘ซุนกวน’ อันวาร์ อิบราฮิม เจรจาขอร่วมภาคีพันธมิตรกัน

ลืมความโกรธแค้นในอดีต อย่างน้อยก็ชั่วคราว

เป้าหมายคือศัตรูคนเดียวกัน - ‘โจโฉ’ นาจิบ ราซัค ผู้มีกองทัพอันเกรียงไกร

ข้อเสนอของ‘ขงเบ้ง’ คือหากชนะศึกผาแดงครั้งนี้ จะขอพระราชทานอภัยโทษให้อันวาร์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2-3 ปี แล้วส่งมอบอำนาจต่อให้อันวาร์เป็นนายกรัฐมนตรี

‘ซุนกวน’ ตกลง

ความสัมพันธ์ระหว่างอันวาร์กับมหาเธร์นั้นเป็นลิ้นกับฟัน คู่รักคู่แค้น แต่เมื่อมองเกมไปไกล นี่คือหมากตาที่ดีที่สุด

ดร. วาน อะซิซะห์ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของสามีดึงพรรคต่างๆ เข้ามาร่วมวงไพบูลย์

เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร



มหาเธร์ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่ ‘ศิษย์ทรยศ’ ตามแผนทุกประการ และอันวาร์กำลังจะออกจากคุกเร็วๆ นี้

แต่เมื่อถึงจุดนั้น อีกสองสามปีตามแผน อำนาจจะถูกส่งต่อให้ อันวาร์ อิบราฮิม หรือไม่ ใครเล่าจะรู้

แต่ สามก๊ก บันทึกว่า หลังจากโจโฉแตกทัพเรือไปแล้ว ฝ่ายซุนกวนก็วางแผนสังหารขงเบ้งทันที ทว่าขงเบ้งอ่านเกมออก และหนีการไล่ล่าของทหารจิวยี่ไปทันท่วงที โดยสารเรือเล็กที่จูล่งมารับริมฝั่ง

เล่าปี่กับซุนกวนยังยิ้มแย้มต่อกัน ขณะที่เล่าปี่ยึดเมืองเกงจิ๋วเงียบๆ และบอกซุนกวนว่า “เป็นการยืมชั่วคราว”

ซุนกวนส่งโลซกและใครต่อใครไปทวงเกงจิ๋วคืน ฝ่ายเล่าปี่ก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งคืน เสียน้ำตาไปหลายหยด

ในที่สุดซุนกวนก็ส่งเด็กใหม่ลิบองไปยึดเกงจิ๋วเอง ลงท้ายด้วยความตายของกวนอู แล้วโยนความผิดไปให้โจโฉ
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
สามก๊กบนเส้นขนาน < ซื้อหนังสือ
winbookclub.com
วินทร์ เลียววาริณ - Facebook


-----------------------------------------------


ราคาของการลอบสังหาร

ตอนเที่ยงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2481 สิบวันก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สามของเมืองไทย หลวงพิบูลสงครามรับประทานอาหารกลางวันอยู่กับครอบครัวและเพื่อนทหารหลายคนที่บ้าน หลังจากกินอาหารไปพักใหญ่ เจ้าของบ้านก็หน้ามืด หมดสติล้มลง

หลวงพิบูลสงครามถูกส่งไปที่โรงพยาบาลกองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 พญาไท เขารอดชีวิตมาได้ หมอบอกว่าเขาถูกวางยาพิษในอาหาร

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายทหารใหญ่ผู้นี้เป็นเป้าหมายของการลอบสังหาร เพียงหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น วันที่ 9 พฤศจิกายน 2481 หลวงพิบูลสงครามกำลังเตรียมตัวไปงานเลี้ยงส่งทูตทหารที่กระทรวงกลาโหม ขณะก้าวออกจากห้องน้ำ มือปืนคนหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงก็โผล่ออกมา ยิงเขาในระยะเผาขน แต่ปฏิกิริยาของเป้าหมายว่องไว เอี้ยวตัวหลบทัน กระสุนเฉียดร่างเขาหวุดหวิด มือปืนยิงอีก แต่พลาด นายทหารคนสนิท ร.อ. เผ่า ศรียานนท์ และทหารติดตามคนอื่นตะครุบตัวมือปืนเอาไว้ได้

ก็คือนายลี บุญตา คนสวนและคนขับรถของหลวงพิบูลสงคราม คนเก่าแก่ของครอบครัวนั่นเอง

ดูเหมือนมือปืนได้รับการจ้างวานจากใครบางคนหรือบางกลุ่ม

ใครเล่าบงการลอบสังหารผู้ที่กำลังก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดของประเทศ?

สี่ปีก่อนหน้านั้น ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 ห้าเดือนหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช นายทหารใหญ่ไปชมการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษที่ท้องสนามหลวง หลังฟุตบอลจบ หลวงพิบูลสงครามและนายทหารติดตามเดินกลับไปที่รถยนต์ เขานั่งในรถ วางกระบี่ลงข้างตัว ทันใดนั้นชายแปลกหน้าคนหนึ่งถลันเข้ามาประชิดรถ กระชับปืนในมือ ชายคนนั้นวัยราว 40-50 ปี สวมชุดกางเกงแพรสีดำ เสื้อนอกสีขาว เล็งปืนที่ร่างหลวงพิบูลสงคราม เหนี่ยวไกสองนัดซ้อน นัดแรกเจาะเข้าแก้มซ้ายทะลุออกหลังต้นคอ นัดที่สองเจาะเข้าไหล่ขวาทะลุออกด้านหลัง

หลวงพิบูลสงครามถูกพาไปส่งโรงพยาบาลกองเสนารักษ์ทหารบก เขารอดมาได้

ส่วนมือปืนถูกทหารจับตัวได้ สอบสวนได้ความว่าชื่อ นายพุ่ม ทับสายทอง มาจากนครปฐม แต่ไม่ปริปากว่าใครบงการให้มาฆ่า

หลวงพิบูลสงครามหรือที่เวลาต่อมาคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหนึ่งในแกนนำคณะก่อการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ในช่วงสองปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เขามีบทบาททางการเมืองสูงขึ้นเรื่อยๆ และสร้างศัตรูจำนวนมาก ไม่น่าแปลกใจ เพราะเขาเป็นผู้นำการปราบกบฏบวรเดช ส่งคนจำนวนมากเข้าคุก เขายังเป็นศัตรูกับพระยาทรงสุรเดชจนถึงขั้นพูดว่าตนไม่อาจอยู่ร่วมโลกกับพระยาทรงสุรเดชได้

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือ เสาหลักของกองทัพ มีลูกศิษย์ลูกหามาก

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏทรงสุรเดช พระยาทรงสุรเดชก็ได้รับข้อเสนอทางเลือกสองทาง เข้าคุกและอาจถูกประหาร กับเดินทางออกนอกประเทศ

พระยาทรงสุรเดชเลือกทางหลัง และตายอย่างอนาถาที่กรุงพนมเปญ

ไม่แปลกถ้ามีคนคิดแก้แค้นให้อาจารย์

และการลอบสังหารครั้งล่าสุดก่อนก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีก็คือการวางยาพิษ



ย้อนหลังราว 1,800 ปี ผู้นำกองทัพอันเกรียงไกร โจโฉ ก็ผ่านการลอบสังหารโดยวางยาพิษ

เวลานั้นโจโฉขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จนมองไม่เห็นฮ่องเต้ในสายตา กระทำการจาบจ้วงพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้เสมอ ผู้ใดต่อต้าน วันดีคืนดีก็จะพบว่าศีรษะตนหลุดจากบ่าไปแล้ว

มิเพียงแต่หัวของตนเอง แต่ของครอบครัวสามชั่วโคตร

ที่ปรึกษาของโจโฉแนะนำให้ยึดอำนาจฮ่องเต้เสีย แต่โจโฉเกรงว่าผลเสียมีมากกว่าผลดี เพราะยังมีชาวราษฎร์ที่จงรักภักดี และหาตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ผู้นำก๊กอื่นก็จะทำบ้าง และจะปราบยาก การกุมฮ่องเต้ไว้ในมือทำให้สามารถอาศัยคำสั่งของฮ่องเต้สั่งการผู้นำก๊กอื่นๆ ได้บ้าง

พระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ก็ทรงรู้ว่า บัลลังก์ของพระองค์ง่อนแง่นเต็มที จึงทรงวางแผนกำจัดโจโฉก่อนที่จะสายเกินไป

ทว่าไม่ว่าพระองค์ทำอะไร ก็อยู่ในสายตาของโจโฉ เพราะโจโฉวางสายทั่ววัง มีอิทธิพลเหนือข้าราชการในราชสำนักโดยสิ้นเชิง

พระมเหสีหลวงฮกเฮากล่าวว่า บิดานางบอกว่าคนเดียวในเมืองหลวงที่ยังไว้ใจได้คือขุนนางตังสิน น่าจะส่งข่าวให้ตังสินเริ่มระดมกำลังโค่นโจโฉ

พระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ทรงแทงนิ้ว ใช้เลือดทรงอักษรบนผ้าขาว หลังจากนั้นพระนางฮกเฮาก็ทรงซ่อนผ้าขาวไว้ที่ชั้นในของเสื้อคลุม เย็บปิดไว้

รับสั่งให้ตังสินเข้าเฝ้า ทรงกระซิบสั่งตังสินว่า ถึงบ้านแล้ว ให้เลาะตะเข็บเสื้อคลุมออก

ขุนนางตังสินออกจากวัง ก็พบโจโฉดักรออยู่ โจโฉบอกว่า “ท่านตังสินได้รับเสื้อคลุมใหม่จากใคร?” ตังสินตอบว่า “ฮ่องเต้พระราชทานมา”

โจโฉบอกว่า “ขอเสื้อคลุมให้ข้าพเจ้าได้หรือไม่?” ตังสินก็ทำใจดีสู้เสือบอกว่า “ย่อมได้”

โจโฉหัวเราะบอกว่า “ข้าพเจ้าแค่ล้อเล่น นี่เป็นเสื้อคลุมพระราชทาน ข้าพเจ้ามิอาจขอท่านมา”

ว่าแล้วก็ปล่อยตังสินไป

ตังสินกลับถึงบ้าน อ่านจดหมายเลือดแล้วก็ร้องไห้ หลังจากนั้นก็ระดมคนที่เขาวางใจมาร่วมขบวนการ ได้แก่ จูฮก ตันอิบ โงห้วน จูลัน ม้าเท้ง และเล่าปี่

ยังไม่ทันที่จะลงมือ ขบวนการก็เสียเล่าปี่ไป เพราะเล่าปี่รู้ว่าตนเองอยู่ในอันตราย เนื่องจากเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นเช่นเดียวกับพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ ช้าหรือเร็วก็จะถูกโจโฉกำจัด เมื่อเกิดเหตุอ้วนสุดตั้งตนเป็นฮ่องเต้ จึงอาสาโจโฉไปปราบอ้วนสุด และโจโฉพลาดพลั้งที่ปล่อยตัวเล่าปี่ไป หนีรอดปากเสือไปได้หวุดหวิด

หลังจากนั้นตังสินชวนหมอเกียดเป๋งร่วมกำจัดโจโฉด้วย หมอเกียดเป๋งตกลง เนื่องจากเขาเป็นหมอประจำตัวโจโฉด้วย หมอเกียดเป๋งจึงคิดแผนการหนึ่งขึ้น เขาบอกว่าโจโฉปวดศีรษะบ่อยๆ สามารถวางยาพิษในยา ให้ตายอย่างไร้ร่องรอย

ที่ประชุมตกลง

วันหนึ่งโจโฉสั่งคนไปตามหมอเกียดเป๋งมารักษาอาการปวดศีรษะ หมอเกียดเป๋งก็ผสมยาพิษในยาที่รักษา แต่โจโฉสั่งให้หมอกินยาให้ดูก่อน หมอก็ไม่ยอมกิน

โจโฉบอกว่า “ข้าฯรู้ว่าท่านกับพวกวางแผนสังหารข้าฯ บอกชื่อผู้ก่อการมาทั้งหมด เจ้าจะตายโดยไม่ทรมาน”

โจโฉรู้ความลับนี้โดยบังเอิญ เหตุเกิดจากการประชุมลับของขบวนการตกอยู่ใช้สายตาของเคงต๋องคนใช้ของตังสิน คืนหนึ่งเคงต๋องไปมีความสัมพันธ์กับสาวใช้ของตังสิน ตังสินโกรธ สั่งเฆี่ยนทั้งสองคน แล้วส่งไปขัง ตอนกลางคืนเคงต๋องหนีออกไปได้ และนำความไปบอกโจโฉ

หมอเกียดเป๋งถูกจับไปทรมานเพื่อให้บอกชื่อผู้ร่วมสมคบทั้งหมด หมอเกียดเป๋งใจเด็ด ไม่ยอมซัดทอดผู้ก่อการคนอื่นๆ ระหว่างการจองจำ หมอเกียดเป๋งฆ่าตัวตาย และถูกตัดหัวไปเสียบประจานกลางเมือง

หลังจากนั้นโจโฉก็สั่งประหารผู้ก่อการทั้งหมดและพรรคพวกสามชั่วโคตร ตายไปหลายร้อยคน มิเพียงเท่านั้นยังเข้าวัง จับนางสนมเอกตังกุยฮุยผู้เป็นญาติตังสินไปประหารชีวิต โดยให้เพชฌฆาตใช้แพรขาวรัดคอจนตาย

ราคาของการลอบสังหารผู้มีอำนาจสูงสุดก็คือชีวิตคนลอบสังหาร

ผลลัพธ์ของงานนี้คือ ไม่มีใครกล้าคิดลอบสังหารเขาอีก



ประวัติศาสตร์ไทยมิได้บันทึกชะตากรรมของ นายพุ่ม ทับสายทอง และเผยว่าใครเป็นผู้วางยาพิษ แต่บันทึกวาระสุดท้ายของนายลี บุญตา

ผ่านไปอีกหนึ่งปีหลังจากนายลี บุญตา พยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม ชื่อของเขาก็ปรากฏในรายการ 18 นักโทษประหารคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช

วันที่ 3 ธันวาคม 2482 นายลี บุญตา ถูกยิงเป้าที่คุกบางขวาง

ก่อนตายผู้คุมได้ยินนายลีเอ่ยว่า "ว่าจะช่วย แล้วทำไมไม่ช่วย..."

ราคาของการลอบสังหารผู้มีอำนาจสูงสุดก็คือชีวิตคนลอบสังหาร

และบางครั้งผู้ลอบสังหารก็คือเหยื่อ


-----------------------------------------------


ผีบุญ


เมื่อไม่นานเกินลืมมานี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายกรมกองสนธิกำลังล้อมวัดใหญ่แห่งหนึ่ง เพื่อตามจับเจ้าอาวาส ข้อหายาวเหยียด

ผ่านไปนับเดือน เรื่องก็ยุติลง หาตัวเจ้าอาวาสไม่พบ

ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับจากปี 2475 เป็นต้นมา มีกรณีทางการเมืองหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับลัทธิความเชื่อ ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เคยใช้อำนาจมาตรา 17 สั่งประหารคนด้วยข้อหา ‘ผีบุญ’

ในช่วงการปะทะกันทางการเมือง พระจำนวนหนึ่งก็มีบทบาททางการเมือง

พรรคการเมืองหลายพรรคเข้าหาองค์กรทางศาสนา เพราะมันเป็นฐานเสียงที่มั่นคงที่สุดฐานหนึ่ง เมื่อผู้นำองค์กรศาสนามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของผู้ศรัทธา

หน้าที่และความเหมาะสมของบทบาทพระทางการเมืองเป็นเรื่องที่ยังถกกันได้อีกนาน

และนักบวชก็ยังเป็นหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปอีกนาน



แผ่นดินด้านตะวันออกของจีน ตอนใต้แม่น้ำแยงซี เป็นแผ่นดินทอง ติดแม่น้ำและทะเล การค้าขายเจริญรุ่งเรือง เรียกว่าอาณาจักรง่อก๊กเป็นหนึ่งในสามอาณาจักรสามก๊ก ผู้วางรากฐานคือซุนเกี๋ยน ที่สืบสายเลือดมาจากซุนหวู่ ปรมาจารย์พิชัยสงคราม ซุนเกี๋ยนเดิมเป็นเจ้าเมืองเตียงสา ต่อมาเป็นหนึ่งในเจ้าเมืองที่ร่วมกองทัพสิบแปดหัวเมืองเพื่อโค่นตั๋งโต๊ะ

หลังจากตั๋งโต๊ะเผาเมืองลกเอี๋ยง ย้ายราชธานีไปที่เตียงฮัน ซุนเกี๋ยนพบกับตราหยกแผ่นดินหรือตราราชลัญจกร สัญลักษณ์ของจักรพรรดิ บนตราสลักอักษรแปดตัว 受命于天,即寿永昌 (รับโองการฟ้า ครองราชย์นิรันดร์) ตราหยกนี้หล่นหายไปช่วงที่ตั๋งโต๊ะเผาเมืองลกเอี๋ยง

ซุนเกี๋ยนได้ตราหยกแผ่นดินแล้ว ก็แยกตัวจากกองทัพสิบแปดหัวเมือง ไปตั้งตนเป็นใหญ่ที่กังตั๋ง ซุนเซ็กมีเพื่อนสนิทคือจิวยี่ ทั้งสองร่วมกันขยายอาณาจักรกังตั๋ง รวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน

เมื่อซุนเกี๋ยนตาย อำนาจส่งต่อถึงซุนเซ็ก ผู้มีบทบาทรวบรวมและขยายอาณาจักรง่อก๊ก ซุนเซ็กก็คือพี่ชายของซุนกวนที่กาลต่อมาเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊ก

ช่วงที่ซุนเซ็กยังมีชีวิตอยู่ ได้พยายามสร้างฐานอำนาจให้ทั่นคงขึ้น ทว่าวันหนึ่งเขาเห็นภัยคุกคามใหม่ที่คาดไม่ถึงมาก่อน

กังตั๋งเวลานั้นปรากฏนักบวชผู้หนึ่งนาม อีเกียด ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ปรากฏว่าชาวบ้านชาวบ้านเลื่อมใสหลงเชื่ออีเกียด ไม่เพียงแค่ชาวบ้าน บรรดาทหาร ขุนนาง ชนชั้นสูงก็หลงเชื่อ ซุนเซ็กรู้ว่าอีเกียดเป็นเพียงนักบวชจอมปลอม ตั้งตนเป็นเต้าหยินผู้วิเศษ หลอกลวงชาวบ้าน

ซุนเซ็กจึงคิดกำจัดอีเกียดออกไปจากทาง เหตุผลสำคัญมิใช่เพราะอีเกียดเป็นนักบวชหลอกชาวบ้าน แต่เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ พลังนักบวชจะกลายเป็นขุมกำลังใหม่ทางการเมือง มีอำนาจต่อรอง และหากไม่ระวัง จะครองอำนาจเสียเอง

ซุนเซ็กไม่อาจปล่อยให้อีเกียดเปลี่ยนลัทธิความเชื่อเป็นพลังทางการเมือง โดยใช้ความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือ บางทีความเชื่อของผู้คนมีอำนาจยิ่งกว่ากองทัพ

เครื่องมือของนักการเมืองกับนักบวชก็ไม่ต่างกัน คือความเชื่อ ความงมงาย

การเชื่อผู้นำที่จะปลดปล่อยประชาชนเป็นอิสระจากความทุกข์ยาก กับการเชื่อนักบวชที่ใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์แก้ปัญหาชาวบ้านก็คือเรื่องเดียวกัน

ซุนเซ็กสั่งทหารของตนไปจับอีเกียดฆ่าทิ้งเสีย แต่ไม่มีผู้ใดกล้า ใครจะกล้าฆ่านักบวชศักดิ์สิทธิ์ผู้รับโองการจากสวรรค์?

หากเขาฆ่าอีเกียด เขาอาจร่วงจากอำนาจได้ง่ายดาย เพราะกระทำเรื่องที่ฝืนใจประชาราษฎร์

ซุนเซ็กได้แค่รอคอยโอกาส

ปีนั้นกังตั๋งเกิดภัยแล้ง อีเกียดทำพิธีเรียกฝนให้ชาวบ้าน ซุนเซ็กจึงฉวยโอกาสจับอีเกียดมัดไว้บนกองฟืน แล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น ให้เหตุผลกับชาวบ้านว่า ถ้าอีเกียดเป็นผู้วิเศษจริง ย่อมมีอิทธิฤทธิ์สั่งฝนมาดับไฟ

ว่าแล้วก็จุดไฟ

ปรากฏว่าขณะที่เพลิงลุกไหม้ ฝนก็เทลงมาจริงๆ ดับไฟของกองฟืนสนิท ชาวบ้านชาวเมืองก็คุกเข่ากราบอีเกียด เชื่อสนิมใจว่าอีเกียดเป็นผู้วิเศษ

นับว่าฝนตกลงมาได้จังหวะเหมาะ

อย่างไรก็ตาม ซุนเซ็กก็หาโอกาสสังหารอีเกียดจนสำเร็จ และไม่นานหลังจากนั้นซุนเซ็กก็ตาย เล่ากันว่าก่อนตายเขาเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ชาวบ้านเชื่อว่าซุนเซ็กตายเพราะไปฆ่าเทพอีเกียด ผีของอีเกียดตามมาทวงชีวิต แต่ความจริงคือซุนเซ็กตายเพราะพิษตกค้างของเกาทัณฑ์จากการรบครั้งหนึ่ง



โลกของการเมืองไม่เคยขาดแคลน ‘อีเกียด’ และนักบวชรูปแบบใหม่ๆ ที่เมื่อยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ต้องตกในวังวนของการต่อสู้อย่างรุนแรง

และการต่อสู้ทางการเมืองไม่เคยสนใจว่า ใครเป็นนักบวช ใครเป็นคนธรรมดา

ในการต่อสู้ทางการเมือง ทุกคนเป็นเพียงหมาก

สำหรับนักบวช มีแต่หมากตัวใหญ่จริงๆ เท่านั้นที่อยู่รอดตลอดเกม


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:31:25

คนดีที่ศัตรูวางใจกว่ามิตร


ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเล่าว่า ในช่วงปลายที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองอำนาจ มีคนสามคนถือเขาเป็นศัตรู ทั้งสามล้วนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ภายใต้ความขัดแย้งและแรงกดดัน ผู้ใหญ่จึงส่งเขาไปทำงานที่ประเทศอังกฤษ

ป๋วยเป็นลูกคนจีน ฐานะไม่ดี ชีวิตต้องดิ้นรนแต่เด็ก อาศัยที่รักดี เรียนจบธรรมศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตรวมวิชากฎหมาย การเมืองและเศรษฐการ สอนในลักษณะสหสาขา เพื่อให้นักศึกษารู้รอบกว้าง สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2480

ปีถัดมาเขาสอบชิงทุนรัฐบาลได้ ไปเรียนปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่ London School of Economics & Political Science มหาวิทยาลัยลอนดอน เรียนสามปีก็จบด้วยคะแนนดีเด่น เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเมืองไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยออกคำสั่งให้คนไทยในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเดินทางกลับ ป๋วยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ทำตามคำสั่ง ตรงกันข้ามกลับเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่น ป๋วยมีบทบาทเจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้ยอมรับขบวนการเสรีไทย

ป๋วยและเสรีไทยรวม 36 คนสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกอังกฤษ เรียกว่ากลุ่มช้างเผือก ได้รับยศร้อยเอก ใช้ชื่อว่า นายเข้ม เย็นยิ่ง เดินทางไปกับกองทัพเรืออังกฤษ จากลิเวอร์พูลไปที่ เมืองปูนา อินเดีย ฝึกหลักสูตรการทหารนานหกเดือน และเป็นเสรีไทยชุดแรกที่มาปฏิบัติการในไทย เป้าหมายเพื่อติดต่อ รูธ หรือ ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทย

กว่าจะติดต่อกับรูธได้ ป๋วยก็ต้องผ่านวิบากกรรมระหว่างการเข้ามาปฏิบัติการ ถูกชาวบ้านจับไปส่งตำรวจ ถูกจับข้อหาสายลับส่งตัวไปกรุงเทพฯ แต่เสรีไทยที่กรุงเทพฯช่วยจัดการจนได้พบ ปรีดี พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์ ส่งป๋วยกลับไปอังกฤษอีกครั้ง เพื่อเจรจาให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับขบวนการเสรีไทยว่าเป็นรัฐบาลชอบธรรม และปล่อยเงินตราสำรองที่รัฐบาลไทยฝากไว้ที่ธนาคารกลางอังกฤษ

หลังสงครามโลก ดร. ป๋วยเดินทางกลับประเทศไทย และปฏิเสธทำงานกับบริษัทเอกชนจำนวนมาก ทิ้งโอกาสและผลประโยชน์ต่างๆ ที่เอกชนเสนอให้ เขาเลือกเข้ารับราชการ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินที่ส่งเขาไปเรียนที่ต่างประเทศ

ดร. ป๋วยรับราชการในตำแหน่งเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการของปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2496 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพและเงินสำรองระหว่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น

ในปี 2496 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการซื้อสหธนาคารกรุงเทพจำกัด แต่ถูก ดร. ป๋วยขวางโดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เนื่องจากธนาคารแห่งนี้กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท จอมพลสฤษดิ์ไปพบ ดร.ป๋วย ขอร้องเชิงบังคับให้ยกเลิกการปรับ แต่ ดร. ป๋วยไม่ยอม ในที่สุดธนาคารก็เสียค่าปรับ

จอมพลสฤษดิ์โกรธเคือง ดร. ป๋วยมาก ผลก็คือปลายปีนั้น ดร. ป๋วยถูกสั่งย้ายพ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง

มิเพียงขวางทางจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขายังขัดขาพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์

ในเวลานั้นอธิบดีกรมตำรวจผู้นี้มีอำนาจล้นฟ้า ไม่กี่ปีก่อนนหน้านั้น อัศวินตำรวจในสังกัดได้สังหารโหดสี่รัฐมนตรีกลางกรุง เพียงคิดจะขวางทางอธิบดีกรมตำรวจ ก็เป็นเรื่องอันตรายยิ่ง

นอกจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พลตำรวจเอกเผ่าได้เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนบริษัทพิมพ์ธนบัตร จาก บริษัท ธอมัส เดอ ลา รู (Thomas de la Rue) เป็นบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

ดร. ป๋วยขัดขวางเรื่องนี้ ให้เหตุผลว่าผลงานของ บริษัท ธอมัส เดอ ลา รู ได้มาตรฐานกว่า การปลอมธนบัตรทำได้ยากกว่า อีกทั้งกล่าวว่าบริษัทที่พลตำรวจเอกเผ่าเสนอไม่น่าเชื่อถือ และมีชื่อในการวิ่งเต้น

รัฐบาลทำตามคำแนะนำของ ดร. ป๋วย เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจแก่พลตำรวจเอกเผ่าเป็นอย่างมาก

เป็นที่มาของคำกล่าวว่า เขามีศัตรูสามคน ล้วนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

เพื่อความปลอดภัยและลดแรงกดดันรอบทิศ พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงขอให้ ดร.ป๋วย ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ

คนดีคนซื่อสัตย์อยู่เมืองไทยลำบาก



ผ่านไปร่วมสองปี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหาร จอมพล ป. หนีไปเขมรและญี่ปุ่นตามลำดับ และไม่ได้กลับเมืองไทยอีกเลย

ส่วนพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ไปมอบตัวกับจอมพลสฤษดิ์ที่กองบัญชาการ คุยกันสองคำ วันรุ่งขึ้นพลตำรวจเอกเผ่าก็ขึ้นเครื่องบินไปลี้ภัยที่สวิตเซอร์แลนด์ และไม่ได้กลับเมืองไทยอีกเช่นกัน

แล้วก็ถึงคราวคิดบัญชี ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งตามตัว ดร. ป๋วยมาทันที เมื่อพบตัวแล้วกล่าวว่า “ผมต้องการให้คุณมาทำงานกับผม”

ศัตรูที่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้นหายาก ศัตรูที่หาญกล้าต่อกรอำนาจที่เหนือกว่าเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนยิ่งหายาก

มีแต่ผู้นำโง่บรมโง่จึงไม่ใช้คนแบบนี้



ย้อนหลังไป 1,800 ปี โจโฉมีศัตรูมากมาย

เมื่อรบกับอ้วนเสี้ยว เขาต้องเผชิญหน้ากับที่ปรึกษาระดับเซียนคือกุยแก เมื่อรบกับลิโป้ เขาเผชิญหน้ากับทหารยอดฝีมือเตียวเลี้ยว เมื่อรบกับเล่าปี่ เขาเผชิญหน้ากับเทพแห่งสงครามกวนอูและจูล่ง

ผู้นำทั่วไปจะหาทุกวิถีทางเข่นฆ่าคนเก่งฝ่ายศัตรูให้ด่าวดิ้น แต่โจโฉมิใช่ผู้นำทั่วไป เขาหาทุกวิถีทางดึงตัวศัตรูผู้เก่งกาจมาเป็นพวก

ที่ปรึกษาคนหนึ่งที่โจโฉเปลี่ยนจากศัตรูเป็นพวกคือกุยแก ในบรรดาที่ปรึกษาทั้งหลายของเขา โจโฉไว้วางใจกุยแกที่สุด เพราะเป็นคนไม่พูดมาก ไม่อวดรู้ วิเคราะห์คนและประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำ

กุยแกเป็นชาวเมืองเอี๋ยงตี๋ ทำงานอยู่กับอ้วนเสี้ยว แต่มองไม่เห็นอนาคตของเจ้านาย เมื่อโจโฉจะดึงตัวเขามานั้น กุยแกวิเคราะห์คุณลักษณะของอ้วนเสี้ยวและโจโฉให้ฟังสิบประการ

กุยแกมิใช่คนเดียวที่พบจุด ‘รักคนเก่ง’ ของโจโฉ ศัตรูที่ถูกโจโฉดึงตัวมาทำงานด้วยก็เช่น เตียวเลี้ยว ซิหลง เตียวคับ ตันหลิม ฯลฯ

เตียวเลี้ยวเดิมเป็นทหารเอกของลิโป้ เมื่อลิโป้พ่ายศึกถูกจับประหาร เตียวเลี้ยวก็อยู่ในรายการประหารเช่นกัน แต่นายทหารผู้นี้ไม่สะทกสะท้าน โจโฉเคยเห็นฝีมือของเตียวเลี้ยวมาก่อน ก็เชิญตัวมาทำงานด้วยกัน กลายเป็นขุนพลคู่กายโจโฉ สร้างผลงานไว้มากมาย รบชนะทัพง่อหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเกือบจับซุนกวนได้

ซิหลงเดิมทำงานกับเอียวฮอง เมื่อโจโฉรบกับเอียวฮองและหันเซียม ส่งเคาทูออกไปรบ เอียวฮองก็ส่งซิหลงไปรับมือ โจโฉเห็นฝีมือของซิหลงแล้ว ก็ให้สัญญาณเคาทูถอย แล้วส่งหมันทองไปเกลี้ยกล่อมมาทำงานด้วย

เตียวคับเคยเป็นทหารเอกของอ้วนเสี้ยว เบื่อหน่ายการชิงดีชิงเด่นของเหล่าข้าราชการของอ้วนเสี้ยว โจโฉจึงดึงตัวมาทำงานด้วย

โจโฉพยายามซื้อใจกวนอู แต่ไม่สำเร็จ กระนั้นก็ยังนับถือกวนอู และไม่ฆ่าทิ้งเมื่อกวนอูหนีกลับไปหาเล่าปี่

ขุนพลจูล่งก็รอดชีวิตมาได้ เพราะโจโฉสั่งไม่ฆ่า ในศึกสะพานเตียงปันเกี้ยว

สำหรับโจโฉ ศัตรูที่เก่งกาจมีค่าควรคารวะ มิใช่ฆ่าทิ้ง




จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารสำเร็จแล้ว ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที แต่ให้นายพจน์ สารสิน เป็นแทน ต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจร ก็รับหน้าที่ขัดตาทัพ เมื่อสถานการณ์สุกงอมแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ปีนั้นคือ พ.ศ. 2502

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่งตั้งให้ ดร. ป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ต่อมาระหว่างที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดีบุกโลกที่ลอนดอน ดร. ป๋วยได้รับโทรเลขจากจอมพลสฤษดิ์ให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร. ป๋วยปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่งนี้ ให้เหตุผลว่าตนได้สาบานตอนเข้าเป็นเสรีไทยว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ยกเว้นแต่เกษียณอายุราชการไปแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่า การร่วมคณะเสรีไทยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง จอมพลสฤษดิ์จึงแต่งตั้ง ดร. ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ก็แต่งตั้ง ดร. ป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง ดร. ป๋วยในวัย 43 ปีจึงคุมทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณของประเทศ หากมิใช่เพราะจอมพลสฤษดิ์เห็นว่า ดร. ป๋วยเป็นคนซื่อสัตย์ ทำงานเพื่อแผ่นดินจริงๆ ย่อมไม่ยกตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งให้

ตลอดหลายปีนั้นจอมพลสฤษดิ์ไม่ก้าวก่ายงานของ ดร. ป๋วยเลย เพราะเชื่อว่าเขาจะทำงานสุดความสามารถและสุจริต และอีกประการ ก็คงรู้ว่าก้าวก่ายไม่สำเร็จแน่ ความประพฤติของ ดร. ป๋วยตรงดุจปลายทวน ซื้อไม่ได้

ครั้งหนึ่งจอมพลสฤษดิ์พูดกับ ดร. ป๋วยว่า “บ้านของคุณเป็นเรือนไม้เล็กๆ อยู่ไม่สบาย ผมจะสร้างตึกให้ใหม่เอาไหม?”

ดร. ป๋วยตอบขอบคุณ แต่ปฏิเสธ

เมื่อถูกถามหลายหน ก็ตอบว่า “ภรรยาผมไม่ชอบอยู่ตึก”




ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังมีบทบาทสำคัญอีกหลายด้านต่ออนาคตของประเทศไทย ทั้งด้านการเงินและการศึกษา เป็นผู้มีส่วนผลักดันให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เป็นพิมพ์เขียวก่อร่างสร้างประเทศ

ตลอดสิบสองปีที่ ดร. ป๋วยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นห้วงสมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงทางการเมืองน้อยที่สุด เขาสามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราได้อย่างแข็งแกร่ง เริ่มนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ มากมาย อดีตเสรีไทย นายเข้ม เย็นยิ่ง เป็นบุคคลที่ต่างประเทศยกย่องนับถืออย่างยิ่ง

และเมื่อการเมืองไทยพลิกผันสู่ความโสมมอีกครั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นายเข้ม เย็นยิ่ง ก็ต้องลี้ภัยในต่างประเทศ

สิบเอ็ดปีต่อมา เมื่อนายเข้ม เย็นยิ่ง กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยสองพันคนยืนต้อนรับเขาด้วยน้ำตา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษายืนต้อนรับ ถือป้ายข้อความว่า ‘ปลื้มใจนักเตี่ยกลับบ้าน’

คนดีจริงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

คนเก่งที่ซื่อสัตย์ แม้แต่คนเกลียดก็คารวะ

คนจริงที่หาญต้านอำนาจเถื่อน แม้แต่ศัตรูก็ยำเกรง


-----------------------------------------------


ต้มถั่ว


ก่อนโจโฉตาย ลูกชายทั้งสี่ของเขาก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อหยั่งเชิงว่าใครจะครองอำนาจต่อ

โจโฉรู้จักนิสัยใจคอและความสามารถของลูกชายสี่คน โจผี โจเจียง โจสิด โจหิม เป็นอย่างดี โจผี ลูกชายคนโตเชี่ยวชาญการรบ รู้เรื่องตำราพิชัยสงคราม ติดตามบิดาไปรบในสมรภูมิต่างๆ โจเจียงเชี่ยวชาญการทหารเช่นกัน แต่ไม่ฉลาดเท่าโจผี

โจหิมมีสติปัญญา แต่ไม่โดดเด่นเท่าคนอื่น อีกทั้งเอาแต่ใจตนเอง ลูกน้องไม่รัก

โจโฉอยากให้โจสิดรับช่วงอำนาจต่อจากตนมากกว่าลูกคนอื่น โจสิดเป็นปราชญ์มีสติปัญญาเฉียบแหลม เป็นศิษย์ของบัณฑิตเอียวสิ้ว เชี่ยวชาญด้านกวี มีความสามารถแต่งโคลงโศลก แต่ติดสองปัญหาคือ โจสิดไม่ใช่ลูกคนโต และนิยมดื่มสุรา เมามายเป็นอาจิณ

เมื่อโจโฉตาย การเมืองในราชธานีก็อลหม่าน ข้าราชการทั้งหลายวิ่งเต้นหาขั้วอำนาจใหม่จ้าละหวั่น ที่ปรึกษาบุตรชายทั้งสี่ของโจโฉพยายามหาทางทำให้เจ้านายขึ้นครองอำนาจ

ขุนนางกาเซี่ยงและสุมาอี้เลือกสนับสนุนโจผี ด้วยหมากการเมืองและการวางแผนรัดกุม โจผีก็ขึ้นครองอำนาจต่อแทนที่บิดาอย่างง่ายดาย

เช่นเดียวกับสภาพการขึ้นสู่อำนาจของราชวงศ์อื่นๆ ถึงได้ครองอำนาจแล้ว ผู้ชนะก็มักระแวงว่าพี่น้องคนอื่นจะชิงอำนาจ ใครจะรู้ว่าน้องที่เหลือจะไม่คิดชิงอำนาจ? ประวัติศาสตร์สอนว่า เมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจ แม้สายโลหิตเดียวกัน ก็ไว้ใจไม่ได้

โจผีต้องจัดการตัดไฟแต่ต้นลม



ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่เริ่มบทต้นๆ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะทหารฉายาสี่ทหารเสือมีบทบาทในการยึดอำนาจในวันนั้น

สี่ทหารเสือประกอบด้วยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

นอกจากทหารเสือทั้งสี่แล้ว ยังมีทหารเสือคนที่ห้ายืนอยู่เงียบๆ คือพระศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม้ไม่เข้ากลุ่มสี่ทหารเสือ แต่ก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

นายทหารเหล่านี้เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อย พจน์ พหลโยธิน เข้าเรียนเป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2444 สองปีต่อมา เทพ พันธุมเสน สละ เอมะสิริ และ ดิ่น ท่าราบ มาเรียนทหาร ตามด้วย วัน ชูถิ่น และ แปลก พิบูลสงคราม เป็นคนสุดท้าย

ถือว่าเป็นเพื่อนในวงการ รักกันเหมือนพี่น้อง

เกือบทุกคนได้ไปเรียนทหารต่อที่ยุโรป พจน์ พหลโยธิน เป็นคนแรก ไปศึกษาต่อที่เยอรมนี ตามด้วย เทพ พันธุมเสน ดิ่น ท่าราบ และ วัน ชูถิ่น สร้างมิตรภาพแน่นแฟ้น เทพสนิทกับวันมากเป็นพิเศษ

หลังเรียนจบ ทั้งหมดกลับมารับราชการในเมืองไทย คนที่โดดเด่นที่สุดตั้งแต่ต้นคือ เทพ พันธุมเสน ต่อมาได้เป็นพระยาทรงสุรเดช มีผลงานสร้างทางรถไฟจากขุนตาลไปเชียงใหม่แล้วเสร็จในหกเดือน ต่อมาได้ย้ายกลับมาประจำการที่กรุงเทพฯ รับตำแหน่งอาจารย์ฝ่ายทหาร สร้างผลงานแปลตำราการรบให้กองทัพบก โดยมีพระประศาสน์พิทยายุทธเป็นผู้ช่วย

กองทัพในเวลานั้น พวกทหารนับถือกันที่ความรู้ความสามารถ และชื่อของพระยาทรงสุรเดชก็มาจากความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

ส่วน พจน์ พหลโยธิน กลับมารับราชการยศร้อยตรี ประจำหน่วยปืนใหญ่ที่ราชบุรี ยังไม่มีผลงานโดดเด่นนัก ต่อมาเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา

มิตรภาพของพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาศรีสิทธิสงครามหนักแน่น สนิทสนมจนผู้ใหญ่ตั้งฉายาทั้งสามว่า  ทแกล้วทหารสามเกลอ ตามนวนิยายเรื่อง สามทหารเสือ ของ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์

ในปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นายทหารเหล่านี้อยู่ในวัยสี่สิบกว่า ยกเว้นหลวงพิบูลสงครามที่อายุอยู่ในวัยเพียง 35 ปี

กลุ่มก่อการชวนพระยาศรีฯร่วมด้วย แม้พระยาศรีฯปฏิเสธ แต่ก็สัญญาอย่างคำของลูกผู้ชายว่าจะไม่แพร่งพรายความลับนี้

หลังปฏิวัติสำเร็จ พระยาทรงสุรเดชมีบทบาทมากทั้งทางการเมืองและกองทัพ และเริ่มมีรอยบาดหมางกับพระยาพหลฯและหลวงพิบูลสงคราม

ส่วนพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามไม่ถูกชะตากันมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดเห็นขัดกันแทบทุกเรื่อง ถึงขั้นมีปากเสียงกัน จนครั้งหนึ่งหลวงพิบูลสงครามเคยกล่าวว่า เขาไม่อาจอยู่ร่วมโลกกับพระยาทรงสุรเดชได้

เมื่อผสมด้วยความขัดแย้งกรณีสมุดปกเหลืองของ ปรีดี พนมยงค์ รอยร้าวของคณะราษฎรก็ยิ่งถ่างกว้าง นำมาสู่รัฐประหารถึงสามครั้งในปี 2476



การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจหรือ สมุดปกเหลือง โดย ปรีดี พนมยงค์ สร้างความขัดแย้งในวงการเมืองอย่างคาดไม่ถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ข้าราชการ และแม้แต่นักการเมืองในคณะราษฎรด้วยกันเองก็ไม่เห็นด้วย วิจารณ์ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ก็คือแนวคิดของสตาลินนั่นเอง บ้างกล่าวว่าถ้านายปรีดีไม่ได้ลอกแนวคิดมาจากสตาลิน สตาลินก็ต้องลอกมาจากนายปรีดีแน่นอน!

ในกลุ่มสี่ทหารเสือ พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้เดียวที่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงเกลี้ยกล่อมพระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ มาเป็นพวก แล้วก่อรัฐประหารเงียบ

ในวันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนฯประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

ตามมาอีกระลอกด้วยด้วยประกาศ พรบ. กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ส่งผลคือ ปรีดี พนมยงค์ ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศส

คณะราษฎรแตกร้าวเรียบร้อยแล้ว

กลุ่มพระยาพหลฯและหลวงพิบูลสงครามรอเวลาเอาคืน ครั้นแล้วก็ถึงวันคิดบัญชี ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 หลวงพิบูลนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากพระยามโนฯ ปลดพระยาฤทธิอัคเนย์พ้นตำแหน่งผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ที่ 1 แล้วตนเองขึ้นแทนที่ ขับพระยามโนฯไปต่างประเทศ

ทีใครทีมัน!

วันรุ่งขึ้นพระยาพหลฯก็ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศสยาม

สี่เดือนต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารครั้งใหม่ กบฏบวรเดช

เพื่อนรักกลายเป็นศัตรู



พี่น้องก็กลายเป็นศัตรู

โจผีลดอำนาจของโจเจียง โดยสั่งให้น้องชายมอบกำลังทัพสิบหมื่นให้ตน โจเจียงรู้ว่าสู้ไปก็ไม่ชนะ จึงทำตามอย่างว่าง่าย หลังจากนั้นโจผีก็ส่งโจเจียงไปปกครองเมืองเอียงเหลงอันห่างไกล

โจผีระแวงว่าโจหิมกำลังคิดการใหญ่ เพราะไม่มางานศพบิดา จึงตามตัวมาลงโทษ โจหิมเมื่อรู้ว่าตกเป็นเป้าของการฆ่าจากพี่ชาย ก็ชิงผูกคอตาย

ทหารของโจผีไปจับตัวโจสิดและครอบครัวที่เมืองลิมฉี พาเข้าเมืองหลวงเพื่อเตรียมฆ่าทิ้ง แต่ติดที่มารดารู้ทัน ขอชีวิตโจสิดไว้ ขุนนางฮัวหิมจึงเสนอวิธีหาเรื่องฆ่าโจสิด ตั้งโจทย์ให้โจสิดแต่งบทกวีเกี่ยวกับพี่น้องโดยห้ามใช้คำว่าพี่และน้อง และให้แต่งเสร็จภายในการเดินเจ็ดก้าว หากไม่สำเร็จถือว่าที่ผ่านมาหลอกลวงคนว่าแต่่งโคลงเป็น โจผีสั่งให้เคาทู ชักกระบี่เตรียมฆ่าโจสิด

โจสิดคิดว่าคงถูกฆ่าแน่ ก็ไว้ลายกวีเป็นครั้งสุดท้าย ก้าวเท้าเดินในที่ประชุมขุนนาง เอ่ยเอื้อนบทกวีอย่างองอาจ

“เถาถั่วคือเชื้อไฟใช้ต้มถั่ว
คนคลั่กทั่วจนเตาเหลือเถ้าเถา
ถั่วแลต้นต่างร่วมรากเหง้าเรา
ไยเร่งเร้าเผาถั่วทั้งต้นเอย”

บาทสุดท้ายของกวีจบเมื่อก้าวถึงบาทที่เจ็ด

ที่ประชุมขุนนางนิ่งไปด้วยความกินใจ บทกวีให้ความหมายเปรียบเทียบความเป็นพี่น้องกันดุจเถาถั่ว

โจผีเปลี่ยนใจไม่ฆ่าโจสิด ส่งน้องชายนักกวีไปครองเมืองอันเหียนอันห่างไกล รอดตายหวุดหวิด

การเมืองคือฉากละครที่ไร้ความปรานี พี่น้องฆ่ากัน ศิษย์ล้างอาจารย์ เพื่อนฆ่าเพื่อน

ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นการเมืองในยุคสามก๊กหรือเมื่อ 1,800 ปีให้หลัง

ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินจีนหรือแผ่นดินไทย



การเมืองไทยเข้าสู่ยุคเพื่อนฆ่าเพื่อน พี่น้องฆ่ากันตั้งแต่ปี 2476 วิบากกรรมแห่ง ‘เถาถั่วคือเชื้อไฟใช้ต้มถั่ว’ เริ่มต้นแล้ว เถาถั่วกอแรกของบทกวีเจ็ดก้าวแห่งการเมืองไทยที่ถูกตัดคือพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

พระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพของคณะกู้บ้านกู้เมืองก่อกบฏบวรเดช ขณะที่ทัพฝ่ายรัฐบาลนำโดยทหารรุ่นน้องหลวงพิบูลสงครามรุกปราบอย่างหนัก ฝ่ายกบฏเริ่มถอยหนี

ในเวลาพลบค่ำของวันที่ 23 ตุลาคม 2476 พระยาศรีสิทธิสงครามเดินไปเจรจากับทหารฝ่ายรัฐบาล และถูกทหารรัฐบาลยิงเสียชีวิตบริเวณสถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี ผู้ยิงคือร้อยโท ตุ๊ จารุเสถียร (ประภาส จารุเสถียร) ที่กาลต่อมาก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เคียงข้างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร

ในที่สุดเพื่อนร่วมก่อร่างระบอบประชาธิปไตยแผ่นดินสยามก็แตกสลาย พระยาพหลพลพยุหเสนาอาจโชคดีที่สุดที่วางมือทางการเมืองโดยเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2481 แต่กลายเป็นต้นเหตุของการเผชิญหน้าครั้งใหม่ เมื่อพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามกลายเป็นคู่ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ

ในการหยั่งเสียงกัน พระยาทรงสุรเดชได้รับเสียงสนับสนุนถึง 50 เสียง หลวงพิบูลสงครามได้เพียง 5 เสียงเท่านั้น แต่เมื่อลงคะแนนจริงในสภาผู้แทนราษฎร หลวงพิบูลสงครามกลับได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้นชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดชก็ดิ่งลงมาเรื่อยๆ แรงกระทบสุดท้ายคือข้อหาก่อกบฏในปีถัดมา

หลังจากหลวงพิบูลสงครามก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามก็ดำเนินไปทีละขั้น ถึงจุดสูงสุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า กบฏพระยาทรงสุรเดช ในปี พ.ศ. 2482 ทหารและนักการเมืองรวมทั้งพระราชวงศ์ถูกจับระนาว ฝ่ายรัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นพิพากษาคดีการเมืองนี้

ที่น่าขันขื่นคือพระยาฤทธิอัคเนย์ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้หนึ่งในคณะศาลพิเศษ ที่ได้พิพากษาประหารคนไปสิบแปดคน ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนหรือลูกศิษย์ของพระยาทรงสุรเดช

เถาถั่วกอที่สองคือพระยาทรงสุรเดช มีทางเลือกสองทางคือเข้าคุกและอาจต้องโทษประหาร หรือเดินทางออกนอกประเทศ พระยาทรงสุรเดชเลือกอย่างหลัง ไปตกระกำลำบากในอินโดจีน เลี้ยงชีพโดยทำขนมกล้วยขาย และรับจ้างซ่อมจักรยาน ครอบครัวแตกสลาย ด้วยความตรอมตรม คุณหญิงทรงสุรเดชแปรสภาพจากหญิงงามเป็นหญิงแก่ผมขาวโพลนในช่วงเวลาสั้นๆ

เถาถั่วกอที่สามคือพระยาฤทธิอัคเนย์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม ลงเอยด้วยการได้รับข้อเสนอให้เข้าคุกหรือออกนอกประเทศ พระยาฤทธิอัคเนย์เลือกไปอยู่ที่ปีนัง ตามมาด้วยประกาศจับ ค่าหัวหนึ่งหมื่นบาท ปิดประตูกลับบ้าน

ส่วนชะตากรรมของเถาถั่วกอที่สี่ พระประศาสน์พิทยายุทธ หลวงพิบูลสงครามส่งไปเป็นทูตที่เบอร์ลิน และติดอยู่ที่เบอร์ลินในช่วงท้ายของสงครามโลก ถูกทหารรัสเซียจับเป็นเชลยสงคราม ติดคุกน้ำแข็งกลาสโนกอร์สค์ที่โซเวียตนานเจ็ดเดือนครึ่ง

เล่ากันว่าการเสนอให้ส่งพระประศาสน์พิทยายุทธไปเป็นทูตที่เบอร์ลินเป็นความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อช่วยเพื่อนให้พ้นจากภัยการเมือง



พระเจ้าโจผีครองอำนาจเพียงเจ็ดปีก็สิ้นพระชนม์ ส่วนหลวงพิบูลสงครามครองอำนาจนานร่วมยี่สิบปี ถูกโค่นลงด้วยพิษผลของการร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกจับเป็นอาชญากรสงคราม แต่ ‘แมวเก้าชีวิต’ ก็รอดมาได้ส่วนหนึ่งด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนเก่า ปรีดี พนมยงค์ และหวนกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เมื่อ พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ และพวกก่อรัฐประหาร ล้มล้างอำนาจคณะราษฎรหมดสิ้นในวันนั้น เถาถั่วกอที่ห้า ปรีดี พนมยงค์ ถูกตามล่าสังหาร หนีรอดจากแผ่นดินไทยอย่างหวุดหวิด

ประวัติศาสตร์บอกว่า เมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจ แม้เป็นพี่น้องหรือเพื่อนรัก ก็ต้องฆ่า


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:32:57

จากปลายดาบถึงปลายปากกา


ในช่วงศึกกัวต๋อ สงครามระหว่างโจโฉกับอ้วนเสี้ยวผู้เป็นเพื่อนเก่าของโจโฉ อ้วนเสี้ยวมีกำลังมากกว่าโจโฉสิบเท่า

เวลานั้นโจโฉมีอาการปวดหัวอย่างหนัก เป็นโรคประจำตัว ทำให้แม่ทัพใหญ่นอนไม่หลับ หมอให้ยาหลายขนาน แต่ไม่ดีขึ้น

วันหนึ่งขณะกำลังปวดหัว โจโฉก็ได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากอ้วนเสี้ยว เนื้อความจดหมายฉบับนั้นด่าโจโฉสาดเสียเทเสีย ลามปามถึงบรรพบุรุษ ด่าพ่อของโจโฉ บรรยายว่าโจโฉมีชาติกำเนิดต่ำทราม มีนิสัยขี้โกง จดหมายยังบอกว่าอ้วนเสี้ยวช่วยเหลือโจโฉมากมาย แต่โจโฉกลับทรยศ นอกจากนี้ยังประณามว่าโจโฉขี้ขลาด หนีการรบ ให้ลูกน้องตายแทน

จดหมายเขียนด้วยภาษาสูง แต่แสบลึกในทรวง โจโฉอ่านจดหมายแล้วโกรธจนตัวสั่น เหงื่อแตก และทันใดนั้นอาการปวดหัวก็หายเป็นปลิดทิ้ง

โจโฉสั่งให้สืบหาว่าใครเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ ได้รับคำตอบว่าผู้เขียนคือตันหลิม เป็นปราชญ์ที่อ้วนเสี้ยววางใจ จึงใช้เป็นอาลักษณ์

โจโฉรู้จักตันหลิมมาก่อน อันตันหลิมเดิมทำงานในราชสำนัก หน้าที่เป็นปลัดบัญชีของแม่ทัพโฮจิ๋น ครั้งที่โฮจิ๋นคิดปราบสิบขันที นอกจากโจโฉแล้ว ตันหลิมยังเป็นอีกคนหนึ่งที่เตือนไม่ให้โฮจิ๋นเรียกตั๋งโต๊ะยกทัพเข้าเมืองหลวงลกเอี๋ยง แต่โฮจิ๋นไม่ฟัง ในที่สุดโฮจิ๋นก็ถูกสิบขันทีปลอมพระราชเสาวนีย์เข้าวัง และถูกสังหาร ตัดหัวโยนข้ามกำแพงวังออกมา

ครั้นตั๋งโต๊ะขึ้นเป็นใหญ่ ตันหลิมก็ไปทำงานกับอ้วนเสี้ยวที่กิจิ๋ว

หลังศึกกัวต๋อยุติ กองทัพอ้วนเสี้ยวแตกพินาศ บรรดาลูกน้องเผ่นหนีกระเจิดกระเจิง ทหารโจโฉจับตัวตันหลิมได้

โจโฉหัวเราะ ได้เวลาคิดบัญชีกับอาลักษณ์ปากจัดแล้ว

โจโฉยื่นจดหมายฉบับนั้นให้ตันหลิมดู

“เจ้าเขียนจดหมายฉบับนี้ใช่หรือไม่?”

ตันหลิมตอบว่า “ใช่”

โจโฉถามตันหลิมว่า “ทำไมท่านเขียนจดหมายรุนแรงเช่นนี้ ทั้งที่เราสองไม่เคยมีเรื่องส่วนตัวกัน?”

ตันหลิมตอบว่า “นี่คือสงคราม เมื่อง้างธนู ก็ต้องง้างสุดทาง และยิงให้สุดกำลัง”

โจโฉหัวเราะชอบใจ แล้วเชิญตันหลิมมาทำงานด้วยกัน

กลายเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงโด่งดังในยุคสามก๊ก



เช่นเดียวกับโจโฉกับอ้วนเสี้ยวซึ่งเป็นเพื่อนกันมาก่อน แล้วกลายเป็นศัตรูกัน รบกันจนตายไปข้างหนึ่ง ในยุคแรกเริ่มของประชาธิปไตยสยาม ชายสองคนก็เคยเป็นเพื่อนและกลายเป็นศัตรู คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์

คนหนึ่งคือผู้นำกองทัพ อีกคนหนึ่งคือผู้ที่พยายามยกกรมตำรวจเป็นกองทัพที่สี่ เทียบเคียงกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

กรมตำรวจภายใต้การนำของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เปล่งประกายขีดสุด มีหน่วยตำรวจรถถัง หน่วยตำรวจน้ำ หน่วยตำรวจพลร่ม ฯลฯ จัดระบบแบบทหาร มีธงไชยเฉลิมพล ทำให้ฝ่ายทหารไม่พอใจ

เสือสองตัวในถ้ำเดียวกันย่อมรอวันฆ่ากัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชิงลงมือก่อน ก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2500 ด้วยประสบการณ์ตรงทั้งร่วมก่อและต่อต้านรัฐประหารมาก่อนหลายครั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประสบความสำเร็จอย่างไม่ยากเย็น สถานีวิทยุกระจายเสียงออกคำสั่งของคณะปฏิวัติ ประกาศ ‘เชิญ’ ผู้มีรายนามดังต่อไปนี้ไปมอบตัว

1. จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

2. จอมพลอากาศ ฟื้น ฤทธาคณี แม่ทัพอากาศ

3. จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล แม่ทัพเรือ

4. พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ

5. จอมพล ผิน ชุณหะวัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

บุรุษหมายเลข 1 ในรายชื่อไม่ไปรายงานตัว

เมื่อมองไม่มีทางสู้ เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กันไว้ทุกทางแล้ว พล.ต.อ. เผ่าและตำรวจลูกน้องซึ่งฟังข่าวปฏิวัติอยู่ ณ เซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง ก็ออกจากบ้าน โยนปืนพกประจำตัวทิ้งลงสระน้ำในสวนลุมพินี แล้วไปพบจอมพลสฤษดิ์ตามคำเชิญที่กองบัญชาการคณะปฏิวัติ วันรุ่งขึ้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.ต.อ. พันศักดิ์ วิเศษภักดี และ พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ ก็โดยสารสายการบินสวิสแอร์ไปสวิตเซอร์แลนด์ จอมพลสฤษดิ์ใจดีให้เดินทางไปเที่ยวบินชั้นหนึ่ง ทว่าเป็นตั๋วเครื่องบินแบบไปเที่ยวเดียว



พ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ มีประวัติชีวิตโชกโชน เป็นคนเรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่งทุกปี เคยเป็นเสรีไทย หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้นซึ่งเป็นเสรีไทยเช่นกัน ย้ายเขาไปเป็นรองสารวัตรโรงพักชนะสงคราม เพื่อดูแลหน่วยเสรีไทยที่บ้านมลิวัลย์ ถนนพระอาทิตย์ได้สะดวกขึ้น เขายังมีหน้าที่รับและลำเลียงอาวุธและยารักษาโรคจากฝ่ายสัมพันธมิตรที่ทิ้งข้าวของลงมาที่ท้องสนามหลวง

พ.ต.อ. พุฒเป็นอัศวินแหวนเพชรคนหนึ่ง อันแหวนอัศวินเป็นเสมือนโล่รางวัลที่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ มอบให้กับตำรวจที่ทำงานดีจำนวนหนึ่ง ต่อมา พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ก็มอบแหวนอัศวินพิเศษอีกรุ่นหนึ่ง เป็นแหวนอัศวินฝังเพชร มอบให้กับตำรวจที่ทำงานเสี่ยงชีวิต ปราบปรามโจรผู้ร้าย ทั้งหมดมีเพียงสิบสามคน เพราะถือเอาเลข 13 ตุลาคม วันตำรวจเป็นเคล็ด

ยุคนั้นคำว่าอัศวินโด่งดังไปทั่วประเทศ และเป็นสัญลักษณ์ที่น่าเกรงขาม เหล่าอัศวินมักชุมนุมกินบะหมี่ที่ร้านสีฟ้าราชวงศ์ สั่งพิเศษ ให้ใส่เครื่องสารพัด กลายเป็นอาหารจานพิเศษของร้าน เรียกชื่อว่า บะหมี่อัศวิน

เช่นเดียวกับแหวน The Rings of Power ที่สร้างโดยลอร์ดซอรอน ผู้ใดก็ตามที่ครอบครองแหวนอัศวินย่อมครอบครองอำนาจ ทว่าแหวนอัศวินนี่เองที่ทำให้บรรดา The Lord of the Rings เผ่นหนีตายไปคนละทิศ เพราะกลัวถูกจับตาย เมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ

พ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ มีฝีมือเขียนหนังสือมาก่อน เคยได้รับหน้าที่เขียนบทความโต้ตอบหนังสือพิมพ์ที่โจมตีกรมตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์สารเสรีและไทยรายวัน

เขายังได้เขียนนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน เรื่อง นักสืบพราน ใช้นามปากกาว่า 4411 ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวของเขาครั้งเป็นนักเรียนนายร้อย จปร. ตัวเอกของเรื่องคือ นักสืบพราน เจนเชิง มีเลขานุการชื่อ กัลยา ชาญวิทยา โดยใช้แนวทางของนวนิยายสืบสวนสอบสวนชุด Perry Mason ทนายนักสืบและเลขานุการคู่ใจ Dolly Sreet นวนิยายชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ไม่เพียงเขียนหนังสือ เขายังเป็นนักแสดง เป็นพระเอกหนังไทยอยู่หลายเรื่อง

ในช่วงลี้ภัยก็เขียนหนังสืออยู่หลายเล่ม เช่น 13 ปีกับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย เป็นต้น



ผลของการปฏิวัติ 2500 ยังทำให้เกิดนักเขียนอีกคนหนึ่งคือ พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์

พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์ มีประวัติชีวิตโชกโชนและเป็นอัศวินแหวนเพชรเช่นกัน

นามสกุลพูนวิวัฒน์เกี่ยวข้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามมาตั้งแต่ ร.ศ. 130 (ปี พ.ศ. 2454) เมื่อคณะทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามเป็นประชาธิปไตยครั้งแรก

หนึ่งในคณะรัฐประหาร ร.ศ. 130 ก็คือ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ บิดาของเขาเอง

คณะรัฐประหาร ร.ศ. 130 เป็นกลุ่มทหารหนุ่มที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นทหารรุ่นใหม่ มีการศึกษา มีสติปัญญา มีความรู้ทางสังคม การปกครอง ทันโลก ทำให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ทหารหนุ่มทั้งหมดถูกจับกุมก่อนวันลงมือในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เพราะมีคนที่รู้ความลับนำความไปบอกเจ้านายชั้นสูง  ผู้ก่อการถูกตัดสินจำคุกทั้งตลอดชีวิตและโทษที่ลดหลั่นลงไป แต่ในที่สุดทั้งหมดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพราะเบื้องบนเห็นว่าเป็นทหารหนุ่มที่รักและหวังดีต่อชาติ

ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ เข้าคุก 12 ปี 6 เดือน ก็เป็นอิสระ และเริ่มต้นมีครอบครัว

ยี่สิบเอ็ดปีหลังจากความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรก คณะราษฎรวางแผนปฏิวัติ นายทหารหนุ่มคนหนึ่งไปชวน ร.ต. เนตรเข้าร่วมวงด้วย เขาปฏิเสธ

ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ บอกว่า “ผมกลัว”

นายทหารผู้ชวนงงมาก ถามว่า “คนอย่างพี่หรือกลัวตะราง?”

“ไม่กลัวตะราง กลัวคนไม่จริง”

นายทหารหนุ่มคนนั้นคือหลวงพิบูลสงคราม

แม้จะไม่ได้ร่วมวงโดยตรง แต่เขาก็ให้คำแนะนำ หลังจากการปฏิวัติ 2475 ลุล่วง ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับเชิญไปมีบทบาทในสภา

ร.ต. เนตรผูกพันกับความคิดเรื่องประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เมื่อลูกชายของเขาเกิดหกปีก่อนเหตุการณ์ 2475 เขาไปจดทะเบียนชื่ออำเภอ ตั้งชื่อลูกชายว่า ประชาธิปัตย์

เจ้าหน้าที่ไม่ยอม คำใดก็ตามที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ถือเป็นคำต้องห้ามในยุคนั้น แต่อดีตนักรัฐประหารก็ไม่ยอมเช่นกัน เรื่องขึ้นไปถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในที่สุดเบื้องบนก็อนุญาต

เด็กชายประชาธิปัตย์ พูนวิวัฒน์ เติบใหญ่ขึ้น เมื่อเขาเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รัฐนิยมของหลวงพิบูลสงครามบังคับให้ประชาชนใช้ชื่อตามกฎใหม่ และชื่อต้องไม่ยาวเกินไป นาม ประชาธิปัตย์ พูนวิวัฒน์ จึงกลายเป็น ประชา พูนวิวัฒน์

เรียนจบก็เป็นตำรวจประจำสน.ต่างๆ มีชื่อปราบโจร มีเหลี่ยมแพรวพราว

ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ปล้นทรัพย์อุกอาจกลางเมือง พ.ต.ต.ประชาจับโจรได้ภายในหกชั่วโมง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เรียกตัวไปพบ แล้วมอบแหวนอัศวินให้



เช่นเดียวกับ The Lord of the Rings คนอื่นๆ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติในปี 2500 พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ ก็หนีไปที่ชายแดนพม่า อยู่กับกลุ่มจีนก๊กมินตั๋ง หรือกลุ่มจีนฮ่อ ใช้วิชาการรบที่เรียนมาจากอิตาลีไปสอนทหารจีนฮ่อ

หลังจากนั้นก็ไปอยู่ที่เมืองต้นผึ้งเขตลาว ข้ามไปมาระหว่างพม่า ลาว ไทย นานราวสิบปี

เป็นสิบปีที่โลดแล่นอย่างเข้มข้น ระหว่างนั้นก็เริ่มเขียนหนังสือ

พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ เริ่มส่งงานไปให้หนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์ดู ปรากฏว่าบรรณาธิการชอบ เรื่อง นักเลง ได้ตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2503

ประสบการณ์ชีวิตตำรวจและคนลี้ภัยต่างแดน ทำให้เขามีวัตถุดิบมากมาย เช่น นวนิยายเรื่อง ผมไม่อยากเป็นพันโท ใช้ฉากในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เล่าเรื่องการค้าฝิ่น การต่อสู้ระหว่างลาวขวา ลาวซ้าย กลุ่มไทยใหญ่ ก๊กมินตั๋ง ได้อย่างละเอียด

ผลงานของ พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์ มีทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย ชื่อเรื่องหลุดจากหนังสือของนักเขียนทุกคนในบรรณพิภพในเวลานั้น เช่น ก็ผมไม่มีทางเลือกนี่ครับ ผมไม่อยากเป็นพันโท เข็ดจริงๆ ให้ดิ้นตาย ก็ของมันเคยนี่ครับ หัวใจมีตีน อุ๊ยสยิว อุ้ยตาย อกอีแป้นแตก ฯลฯ

วิถีนักเขียนโด่งดังจนได้รับฉายา นักเขียนบรรทัดละ 8 บาท

นิยายชีวิตจริงของ พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์ เข้มข้นจนถึงบทสุดท้ายที่ลงเอยด้วยคุกเมื่อถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ในความผิดอาญาฐานร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย



ตันหลิมทำงานข้ามยุคโจโฉต่อไปจนถึงยุคพระเจ้าโจผี ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในเจ็ดกวีเอกแห่งยุคเจี้ยนอัน

ชะตาชีวิตคนประหลาดแท้ บ้างถูกปลายดาบสังหาร บ้างกลับถูกปลายดาบเปลี่ยนชีวิตให้อยู่กับปลายปากกา


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:35:57

วันก่อการ


พระยาพหลพลพยุหเสนาวางจดหมายบนโต๊ะที่มุมห้อง แล้วออกจากบ้าน เป็นจดหมายสั่งลา

เป็นเวลาตีสี่ เขาเดินไปที่รถคันหนึ่งที่จอดรออยู่ คนในรถคือเพื่อนรุ่นน้อง พระประศาสน์พิทยายุทธ เขาเหลือบมองที่นั่งหลัง แลเห็นคีมตัดเหล็ก สำหรับตัดโซ่คล้องประตูคลังแสงอาวุธในกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ที่สี่แยกเกียกกาย รถแล่นออกจากบริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ ตรงไปที่บ้านของเพื่อนอีกคนหนึ่ง พระยาทรงสุรเดชซึ่งอยู่ห่างจากจุดนั้นไม่ไกลนัก

พวกเขามีงานสำคัญที่ไม่เพียงกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขา แต่ชะตาของคนทั้งประเทศ

แผนการวางไว้รอบคอบทุกจุดแล้ว

เขามีตำแหน่งรองจเรทหารบก พระยาทรงสุรเดชเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก พระประศาสน์พิทยายุทธมีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทั้งสามไม่ได้คุมกำลังพล มีแต่เพื่อนคนที่สี่ พระยาฤทธิอัคเนย์แห่งกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ มีกำลังสองกองพัน พระยาฤทธิอัคเนย์จึงเป็นกำลังหลักของทหารบกที่ยึดอำนาจ

ความจริงแผนการเริ่มมานานก่อนหน้านี้ ห้าปีก่อนชายเจ็ดคนวางแผนการยึดอำนาจที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ Rue Du Sommerard นานห้าวัน ผู้ก่อการทั้งเจ็ดคือ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม), ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), นายแนบ พหลโยธิน และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

เป็นต้นกำเนิดคณะราษฎร

หลังจากนั้นทีมงานก็ชักชวนฝ่ายทหารมาร่วมด้วย ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ทาบทามพระยาทรงสุรเดชกับพระยาศรีสิทธิสงคราม และคนอื่นๆ นอกจากทหารอาชีพ ก็ยังดึงนักเรียนโรงเรียนนายร้อยมาร่วมด้วย

พวกเขานัดประชุมวางแผนกันที่หลายบ้าน เช่น บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และที่บ้านพระยาทรงสุรเดช

พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้วางแผนรายละเอียดปฏิบัติการทั้งหมด ครั้งแรกเขาเสนอให้ใช้กำลังทหารบุกพระที่นั่งอัมพรสถานตอนกลางคืน เพื่อคุมพระมหากษัตริย์ แต่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมไม่เห็นด้วย เพราะเสี่ยงต่อการปะทะกันมากเกินไป จึงเปลี่ยนเป็นแผนจับตัวประกันและลวงทหารไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ในที่สุดแผนก็ลงตัวให้ลงมือในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จไปประทับที่หัวหิน เช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475

วันนี้



สุมาอี้เดินออกจากบ้าน ขึ้นขี่ม้า กองกำลังหลายสิบคนของเขารออยู่แล้ว อาวุธครบมือ ทั้งหมดตรงไปที่วัง

ไม่มีจดหมายสั่งลา เพราะหากเขาทำการไม่สำเร็จ สมาชิกทุกคนในครอบครัวเขาสามชั่วโคตรจะถูกประหาร

แผนการวางไว้รอบคอบทุกจุดแล้ว

นี่เป็นโอกาสดีที่สุด นี่เป็นโอกาสเดียว

หลังจากขงเบ้งตาย การเมืองระหว่างสามก๊กเริ่มนิ่ง พระเจ้าโจยอยแห่งวุยก๊กทรงแต่งตั้งสุมาอี้เป็นมหาอุปราช ตัวพระองค์เองเริ่มทรงประพฤติผิดทศพิธราชธรรม สร้างปราสาทราชวังใหญ่โตที่ฮูโต๋ เริ่มคิดว่าพระองค์เป็นเทพ เสาะหายาอายุวัฒนะจากทั่วแผ่นดิน หลงใหลนางสนมจนเสียงานแผ่นดิน

พระเจ้าโจยอยครองราชย์นานสิบสามปี ก็สิ้นพระชนม์ วัยเพียง 36 ก่อนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจยอยรับสั่งฝากฝังให้สุมาอี้ดูแลราชบุตรโจฮอง สุมาอี้รับปาก โจฮองชันษาแปดพรรษาขึ้นครองบัลลังก์ โดยมีโจซองเป็นผู้สำเร็จราชการ

โจซองเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง และสิ่งแรกที่เขาทำคือหาทางกำจัดสุมาอี้ โจซองเพ็ดทูลพระเจ้าโจฮองออกพระบรมราชโองการให้สุมาอี้รับตำแหน่งราชครู เท่ากับลดอำนาจในกองทัพ ในที่สุดสุมาอี้และลูกชายสองคนสุมาสูกับสุมาเจียวก็ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง

โจซองยังเกรงว่าสุมาอี้จะหาทางชิงอำนาจคืน ส่งสายลับไปสืบเป็นระยะว่าสุมาอี้ซ่องสุมกำลังหรือไม่ จิ้งจอกเฒ่าก็แกล้งทำเป็นคนแก่ป่วยวิกลจริต ขี้เยี่ยวราดเลอะเทอะ โจซองจึงเชื่อว่าสุมาอี้หมดพิษสงแล้ว ยิ่งวันยิ่งกำเริบเสิบสาน ลุแก่อำนาจ กลายเป็น ‘ตั๋งโต๊ะ’ คนใหม่ แต่งตั้งญาติพี่น้องเข้ามาประจำตำแหน่งหลักในบ้านเมือง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ขุนนางผู้ใดที่ขัดหูขัดตา ก็นำตัวไปประหาร สะสมสมบัติ เสพสุรานารี จนชาวบ้านเกลียดชังสาปแช่ง แต่ทำอะไรไม่ได้ และไม่ฟังคำตักเตือนของใคร

จิ้งจอกเฒ่ารอเวลาสุกงอม เขารู้ว่าหากลงมือในเวลานี้ ชาวราษฎร์แห่งวุยก๊กมิเพียงไม่ต่อต้าน แต่ยังสนับสนุน เพราะโจซองเหิมเกริมจนชาวเมืองรอให้ใครคนหนึ่งจัดการล้มเขา แต่การยึดอำนาจมิใช่เรื่องง่าย กองกำลังของโจซองแน่นหนา การบุกจู่โจมพระราชวัง จับตัวฮ่องเต้ย่อมหลีกไม่พ้นการปะทะกัน และกำลังเพียงสามพันคนของเขาไม่เพียงพอ

ในช่วงหลายปีที่จิ้งจอกเฒ่าหลบในรูและสร้างภาพว่าไร้พิษสงแล้ว ได้วางคนของเขาไว้ตามจุดสำคัญๆ ของเมืองหลวงแล้ว โดยมีทหารเก่าที่เคยร่วมรบกับเขามาก่อนจำนวนหนึ่งร่วมก่อการด้วย

ในที่สุดแผนก็ลงตัวให้ลงมือในวันที่พระเจ้าโจฮองและโจซองไปเซ่นไหว้พระศพพระเจ้าโจยอยที่นอกเมือง

วันนี้



พระยาพหลฯรู้ว่านาทีนี้ทุกหน่วยเริ่มปฏิบัติการตามกำหนดนัดแล้ว

หน่วยที่ 1 ทำหน้าที่ตัดการสื่อสารและการคมนาคมเช่น  โทรศัพท์ โทรเลข เริ่มงานเวลา 06.00 น. ทหารบกจะตัดสายโทรศัพท์ของทหาร พลเรือนนำโดย นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ จะยึดที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลข โทรศัพท์กลางที่วัดเลียบ

หน่วยของหลวงสุนทรเทพหัสดิน ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ทำหน้าที่ตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลขตามทางรถไฟและกรมไปรษณีย์ และห้ามขบวนรถไฟจากต่างจังหวัดเข้ามา

หน่วยที่ 2 ทำหน้าที่จับกุมเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆหน่วยนี้รับผิดชอบจัดหารถยนต์ลากปืนใหญ่ด้วย ผู้รับผิดชอบหน่วยนี้ได้แก่นายทวี บุณยเกตุ นายจรูญ สืบแสง นายตั้ว ลพานุกรม หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น

หน่วยที่ 3 ทำหน้าที่ประสานทหารบกและทหารเรือ เคลื่อนย้ายกำลัง

หน่วยที่ 4 ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และต่อสายคุยกับต่างประเทศ รับผิดชอบโดยนายปรีดี พนมยงค์

เขารู้ว่านาทีนี้หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) แห่งกองทัพเรือนำเรือปืนจากอู่เรือ ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยา นำกำลังทหารเรือห้าร้อยนายยึดพระที่นั่งอนันตสมาคม

ตามแผน พระยาทรงสุรเดชกับทหารจำนวนหนึ่งเดินทางไป
ที่ค่ายทหารกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สถานที่เก็บยานยนต์หุ้มเกราะ พระยาทรงสุรเดชจะบอกข่าวลวงว่าชาวจีนในพระนครจะลุกฮือ และระดมกำลังทหารไปที่จุดนัดพบ

พระยาฤทธิอัคเนย์จะออกคำสั่งให้ทหารปืนใหญ่ในบังคับบัญชารวมพลกับทหารม้าจากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม. 1 รอ.) ขึ้นรถบรรทุกไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า

ตามแผนคณะราษฎรส่งทหารไป ‘เชิญ’ บุคคลสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันและข้อต่อรอง ที่รับงานหนักที่สุดคือพระประศาสน์พิทยายุทธ มีหน้าที่ไปเชิญเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระยาสีหราชเดโช กับพระยาเสนาสงคราม นี่เป็นงานที่ละเอียดอ่อนที่สุด เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร มีอำนาจรองจากกษัตริย์เท่านั้น หากเกิดการปะทะกันถึงขั้นเลือดตกยางออก การก่อการในวันนี้อาจเปลี่ยนทิศทางไปอีกรูปหนึ่ง เพราะฝ่ายรัฐบาลอาจตัดสินใจสู้



ขบวนรถเกราะกับรถบรรทุกทหารของพระประศาสน์พิทยายุทธไปถึงวังบางขุนพรหม ที่ประทับของกรมพระนครสวรรค์ฯ พบว่าที่ด้านหน้าวังมีทหารหมวดหนึ่งรักษาการอยู่ หากเข้าไปตรงๆ จะเกิดการปะทะกันแน่นอน ใครคนหนึ่งออกความเห็นว่าให้ตามสารวัตรสถานีตำรวจบางขุนพรหมมานำทางเข้าไป ทหารยามวังคุ้นหน้าสารวัตร จึงยอมเปิดประตูให้เข้าไป

เมื่อเผชิญหน้ากัน ทหารคนหนึ่งของกรมพระนครสวรรค์ฯชักปืนออกมาจะยิงพระประศาสน์ฯ แต่มีคนปัดปืนทิ้งทัน พระประศาสน์พิทยายุทธกราบทูลกรมพระนครสวรรค์ฯให้ไปกับตน พระองค์ไม่ทรงยอมเพราะทรงไม่แน่ใจความปลอดภัย ไม่รู้ว่าคณะราษฎรจะใช้แผนเดียวกับบอลเชวิกในการยึดอำนาจจากซาร์หรือไม่

ความจริงพระองค์ทรงรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เย็นวานแล้ว ข่าวการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองรั่วไปถึงหูตำรวจ อธิบดีตำรวจกราบทูลขออำนาจจับกุมกลุ่มผู้ก่อการในทันที แต่กรมพระนครสวรรค์ฯทรงเห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะตัดสินพระทัยในวันรุ่งขึ้น

ช้าไปเพียงสิบสองชั่วโมง

ในที่สุดพระองค์ก็ทรงยอมไป พระประศาสน์ฯยกกำลังไปเชิญคนต่อไปคือพระยาสีหราชเดโชชัย ผู้เป็นนักแม่นปืน และพกปืนตลอดเวลา เมื่อไปถึงพระยาสีหราชฯอยู่ในห้องน้ำ จึงเชิญตัวมาได้โดยไม่มีการยิงกัน

เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทั้งหมดที่เป็นตัวประกันถูกกักตัวที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คณะราษฎรไม่สามารถจับตัวพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินผู้ทรงหลบหนีไปทางรถไฟ ไปหัวหินเพื่อกราบบังคมทูลเตือนรัชกาลที่ 7

เมื่อทหารหน่วยต่างๆ รวมกันที่ลานพระราชวังดุสิตหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ยืนบนรถหุ้มเกราะคันหนึ่ง อ่านประกาศคณะราษฎร

ยึดอำนาจแผ่นดินคืนสู่ราษฎร



พระเจ้าโจฮองและโจซองไปเซ่นไหว้พระศพพระเจ้าโจยอยที่นอกเมือง หลังเสร็จพิธีเซ่นไหว้ ทั้งหมดไปล่าสัตว์ในป่า เป็นเวลาที่สุมาอี้และลูกชายก็ยกกำลังทหารสามพันคนเข้ายึดอำนาจในเมืองหลวงอย่างฉับพลันตามแผนที่วางไว้อย่างรัดกุม ไร้ช่องโหว่

สุมาอี้เข้าวังไปกราบทูลฮองไทเฮาว่า ตนก่อรัฐประหารครั้งนี้มิใช่การล้มราชวงศ์ แต่ขออำนาจทหารคืนจากโจซองและพวกเท่านั้น ฮองไทเฮาก็ทรงตอบรับ เพราะไม่ทรงมีทางเลือกอื่น

ฝ่ายก่อการไม่สามารถจับตัวฮวนห้อม ที่ปรึกษาของโจซอง หนีรอดไปได้หวุดหวิด สายลับของเขาส่งข่าวมาว่า ฮวนห้อมเสนอความคิดให้โจซองพาพระเจ้าโจฮองไปตั้งหลักที่เมืองหลวงเก่าฮูโต๋ แล้วให้ฮ่องเต้ทรงประกาศให้สุมาอี้เป็นกบฏ และสั่งเรียกทหารจากหัวเมืองอื่นไปล้อมเมืองหลวง จัดการกับฝ่ายกบฏ

โจซองลังเล เพราะหนึ่ง สุมาอี้มีหมากตายคือจับญาติพี่น้อง ลูกเมียของโจซองและพวกซึ่งอยู่ในเมืองลกเอี๋ยงเป็นตัวประกัน อีกทั้งมเหสีและนางกำนัลทั้งหมดของฮ่องเต้ล้วนอยู่ในมือสุมาอี้

สอง ทหารหัวเมืองอาจจะไม่เข้ากับตน เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายปี โจซองและพวกปล้นแผ่นดิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ประชาราษฎร์ก็ไม่เข้าเป็นพวก

ขณะลังเล โจซองก็ได้รับสาส์นจากสุมาอี้ เขียนว่ารัฐประหารครั้งนี้มิได้คิดล้มราชบัลลังก์ เพียงต้องการยึดอำนาจการทหารคืนเท่านั้น ฮ่องเต้ยังทรงเป็นฮ่องเต้เช่นเดิม สุมาอี้ขอรับประกันความปลอดภัยของโจซองและพวก

โจซองกับฮ่องเต้จึงยอมรับข้อเสนอของสุมาอี้ เดินทางกลับลกเอี๋ยง



ข่าวคณะราษฎรยึดอำนาจในเมืองหลวงล่วงถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามด้วยการยืนยันและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพระนครจากกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินที่ทรงหนีมาได้

พระองค์กับขุนนางปรึกษาหนทางแก้ปัญหาหลายทาง ทางแรกคือสู้กับคณะราษฎร หมายถึงสงครามกลางเมืองและการนองเลือด

หากแพ้ก็สามารถใช้ทางที่สองคือเสด็จลี้ภัยในต่างประเทศ และตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ให้นานาชาติกดดันไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่

ทางที่สามคือยอมรับข้อเสนอของคณะราษฎร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ทรงตัดสินพระทัยอย่างรวดเร็วว่า จะไม่ต่อสู้ด้วยกำลัง เหตุผลเพราะ “ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือดได้”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงพระนครในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ทรงเรียกผู้ก่อการเข้าพบ คณะราษฎรกราบทูลพระกรุณาจากพระองค์ที่ได้หมิ่นพระเกียรติในประกาศคณะราษฎรที่ ‘ค่อนข้างรุนแรง’ ทรงเมตตาพระราชทานอภัยโทษแก่สมาชิกคณะราษฎรทุกคน

คณะราษฎรปล่อยตัวประกันทั้งหมด ยกเว้นเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ที่คณะราษฎรเห็นว่าทรงมีพระราชอำนาจมากเกินไปที่จะดำรงอยู่ในประเทศ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตจึงเสด็จไปลี้ภัยที่เกาะชวา มิได้เสด็จกลับแผ่นดินเกิดอีกเลย



การก่อรัฐประหารวุยก๊กสำเร็จสิ้น สุมาอี้ยึดอำนาจทั้งสิ้น โจซองและพวกกับญาติสามชั่วโคตรถูกประหารไปกว่าพันชีวิต

ทำการใหญ่ต้องกล้าตัดรากถอนโคน

การยึดอำนาจสยามประเทศสำเร็จสิ้น ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต

ยังไม่มีผู้ใดเสียชีวิต...

การชิงอำนาจนั้นยาก แต่การรักษาอำนาจยากกว่าหลายเท่า เพราะอำนาจเป็นสิ่งที่หอมหวานที่สุดในโลก

การเมืองคือเกมชิงอำนาจ เมื่อหมากรุกการเมืองยิ่งคืบหน้า เดิมพันยิ่งสูงขึ้น สันติสุขความเสมอภาคของชาวราษฎร์มิใช่เป้าหมายหลักอีกต่อไป


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:37:31

ศึกวังหลวง


ในคืนที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารส่งกำลังทหารพร้อมรถถังบุกยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้าซึ่งเป็นที่อยู่ของ ปรีดี พนมยงค์ และครอบครัว ด้วยความช่วยเหลือของทหารเรือ มันสมองคณะราษฎรหนีรอดไปได้ หลบภัยที่ฐานทัพเรือสัตหีบชั่วคราว เมื่อเห็นว่าไม่มีทางเอาชนะคณะรัฐประหาร ก็เดินทางไปสิงคโปร์ อยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 ก็ไปปักหลักที่ประเทศจีน

ช่วงนั้นมีความพยายามใส่ร้ายป้ายสีให้ ปรีดี พนมยงค์ หลุดพ้นจากวงการเมืองถาวร หนักที่สุดคือเสียงตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”

เล่ากันว่า กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้ ปรีดี พนมยงค์ ต้องการกลับเมืองไทยเพื่อสู้คดี เขาติดต่อผู้มีอำนาจในเมืองไทยคือ พล.ต.ต เผ่า ศรียานนท์ พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อขอคำรับรองความปลอดภัย แต่ได้รับการปฏิเสธ เป็นที่มาของทางเลือกอีกทางก็คือล้มรัฐบาลด้วยกำลัง

ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2492 ปรีดี พนมยงค์ ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวช เลขานุการส่วนตัว และกลุ่มเดินทางออกจากมณฑลกวางตุ้ง โดยสารเรืออเมริกันลำหนึ่งเข้าน่านน้ำไทย ทอดสมอนอกเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ ที่นั่นเรือยนต์ของ พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ ไปรับตัวตอนสี่ทุ่มวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2492

รัฐประหารครั้งใหม่กำลังเริ่มต้น

กลุ่มก่อการประกอบด้วยทหารเรือบางส่วน เช่น พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ ฯลฯ และพลพรรคเสรีไทย เช่น พ.ต. โผน อินทรทัต, ปราโมทย์ พึ่งสุนทร, ทองเย็น หลีละเมียร ฯลฯ

เรียกกลุ่มของตนว่า ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ เรียกแผนปฏิบัติการนี้ว่า แผนช้างดำ-ช้างน้ำ

แผนช้างดำ-ช้างน้ำเป็นปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบ ยึดสถานที่ยุทธศาสตร์ต่างๆ ในเมืองหลวง กำลังหลักคือทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบ ชลบุรี ระยอง

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เวลาสี่โมงเย็น ฝ่ายกบฏนำโดยเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ยกกำลังเข้ายึดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นคลังแสงอาวุธเสรีไทยที่เหลือจากสงครามโลก

เวลาสองทุ่มฝ่ายกบฏเคลื่อนกำลังออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงหน้าประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง บุกเข้าไปปลดอาวุธทหารที่รักษาการณ์ทั้งหมด ยึดวังหลวงเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการ

เหตุผลที่ยึดพระบรมมหาราชวังเพราะคาดว่าฝ่ายรัฐบาลคงไม่กล้าใช้อาวุธหนักเข้าปราบปราม อีกประการวังหลวงอยู่ติดกับฐานทัพเรือ คู่ปรับของทหารบก

ขณะเดียวกันกำลังส่วนหนึ่งยึดพื้นที่ด้านถนนวิทยุถึงสี่แยกราชประสงค์ ประตูน้ำ มักกะสัน ราชเทวี กำลังอีกส่วนหนึ่งเข้ายึดกรมโฆษณาการ พญาไท แล้วเริ่มออกกระจายเสียง

เวลา 21.15 น. เสียงแรกของคณะรัฐประหารก็กระจายไปทั่วประเทศ ประกาศว่ามีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐบาลออกจากตำแหน่ง โปรดเกล้าฯให้นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกับกระทรวงการคลัง แต่งตั้ง พล.ร.ท. สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยคนทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐประหารครั้งนี้ แต่งตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ยังประกาศปลดบุคคลสำคัญอีกหลายคน

หลังจากประกาศ ก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องกระจายเสียงไปเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถกระจายเสียงได้อีก

ขณะเดียวกันกลุ่มเสรีไทยเก่าก็เคลื่อนกำลังจากจังหวัดต่างๆ เข้าสมทบในพระนคร ได้แก่นายชาญ บุนนาค นำเสรีไทยหัวหินเข้าสู่พระนคร นายชวน เข็มเพชร นำเสรีไทยภาคตะวันออกเข้ามาทางอรัญประเทศ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ นำเสรีไทยภาคอีสานเข้ามาสมทบ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ นำเสรีไทยจากกาญจนบุรีเข้ามาสมทบ

ข่าวการยึดอำนาจไม่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลประหลาดใจแต่อย่างใด หน่วยข่าวกรองฝ่ายรัฐบาลทราบข่าวความเคลื่อนไหวของนายปรีดี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พูดทิ้งเป็นนัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยหลายวันก่อนว่า “เลือดไทยเท่านั้นที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้” หลังจากนั้นก็ประกาศภาวะฉุกเฉินตอนเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 สามวันก่อนเกิดเหตุกบฏวังหลวง สั่งกองทัพเตรียมพร้อม ตั้งปืนกลตามจุดสำคัญต่างๆ และสั่งให้มีการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของทหารบกที่ตำบลทุ่งเชียงราก จังหวัดปทุมธานี เรียกว่า การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก

รัฐบาลแต่งตั้ง พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้อำนวยการปราบกบฏ

เวลา 02.00 น. พล.ต. สฤษดิ์สั่งให้กำลังทหารปิดล้อมพระบรมมหาราชวังสามด้าน ส่งรถถังหลายคันเข้าไปที่ประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง รถถังของฝ่ายรัฐบาลยิงใส่วังหลวง คันหนึ่งถูกปืนบาซูกายิงพัง อีกสองคันชนประตูพังทลายลง กำลังทหารบุกตามเข้าไป มีการยิงสู้กันต่อเนื่อง ลูกปืนปลิวว่อน

แล้วสงครามกลางเมืองก็อุบัติขึ้น

วังหลวงกลายเป็นสมรภูมิ



พ.ศ. 732 วังหลวงของฮ่องเต้ก็เป็นสมรภูมิ

หลังจากพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์ แม่ทัพโฮจิ๋นแต่งตั้งราชบุตรหองจูเปียนขึ้นครองราชสมบัติ โฮจิ๋นวางแผนกำจัดสิบขันที โดยเรียกตัวตั๋วโต๊ะ แม่ทัพหัวเมืองเข้าเมืองหลวงเพื่อปราบสิบขันที

สิบขันทีรู้ข่าวก็ลวงโฮจิ๋นไปฆ่าในวังหลวง โจโฉและอ้วนเสี้ยวกำจัดสิบขันทีสิ้นซาก ช่วยชีวิตราชวงศ์

เมื่อทัพตั๋งโต๊ะเข้าเมืองหลวง ก็ยึดอำนาจ เหิมเกริม ปลดพระเจ้าเซ่าตี้แล้วตั้งหองจูเหียบขึ้นเป็นพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้

พ.ศ. 733 โจโฉลอบสังหารตั๋งโต๊ะ แต่ไม่สำเร็จ หลบหนีออกจากเมืองลกเอี๋ยง กลับบ้านเกิดรวบรวมกำลังพล แล้วร่วมมือกับอ้วนเสี้ยว หาทางโค่นตั๋งโต๊ะ กอบกู้ราชวงศ์ฮั่น

ยุทธวิธีของทั้งสองคือชักชวนทหารหัวเมืองต่างๆ รวมตัวกันเพื่อโค่นตั๋งโต๊ะ แต่เนื่องจากชวนตรงๆ กระทำได้ยาก จึงออกพระบรมราชโองการปลอม เรียกหัวเมืองต่างๆ เมื่อเป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ หัวเมืองทั้งสิบแปดก็ยกกำลังมา ได้แก่ อ้วนเสี้ยวแห่งปุดไฮ อ้วนสุดแห่งลำหยง ฮันฮกแห่งกิจิ๋ว ขงมอแห่งอิจิ๋ว เล่าต้ายแห่งอิวจิ๋ว อองของแห่งโห้ลาย เตียวเมาแห่งตันลิว เตียวโป้แห่งตองกุ๋น อ้วนอุ๋ยแห่งซุนหยง เปาสิ้นแห่งเจปัก เตียวเถียวแห่งก่องเล่ง โตเกี๋ยมแห่งชีจิ๋ว ม้าเท้งแห่งเสเหลียง เตียวเอี๋ยงแห่งเสียงตง ซุนเกี๋ยนแห่งเตียงสา กองซุนจ้านแห่งปักเป๋ง และโจโฉแห่งตันลิว

ที่ประชุมยกให้อ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำของกองทัพ 18 พันธมิตร เพราะอ้วนเสี้ยวสืบเชื้อสายตระกูลขุนนางชั้นสูงมาหลายชั่วคน มีบารมีมากพอที่ทุกกลุ่มยอมรับ

แล้วกองทัพสิบแปดพันธมิตรก็ยกไปยึดเมืองหลวง

สองฝ่ายเผชิญหน้ากัน อ้วนเสี้ยวส่งทหารไปสู้กับฮัวหยงกี่คน ก็ถูกฮัวหยงฆ่าตายหมด อ้วนเสี้ยวประกาศให้รางวัลผู้ที่อาสาไปรบกับฮัวหยงและฆ่าฮัวหยงสำเร็จ แต่ไม่มีใครยอมไป

ยกเว้นทหารเลวคนหนึ่งนามกวนอู

เวลานั้นเล่าปี่ กวนอู เตียวหุยยังไม่มีหลักแหล่งแน่นอน อาศัยอยู่กับกองซุนจ้าน เจ้าเมืองปักเป๋งและติดตามมาด้วย

อ้วนเสี้ยวผิดหวังที่กวนอูเป็นเพียงทหารเลวในสังกัดกองซุนจ้าน อย่างไรก็ตาม ในเมื่อไม่มีใครอาสา กวนอูก็ได้ออกไปรบกับฮัวหยง ขี่ม้าออกไปที่สนามรบครู่เดียว ก็กลับมาพร้อมศีรษะของฮัวหยงโดยไม่มีใครเชื่อสายตา แต่ทั้งอ้วนเสี้ยวและอ้วนสุดมิได้ยินดีกับชัยชนะของกวนอูแต่อย่างไร โจโฉรู้ทันทีว่ากองทัพสิบแปดหัวเมืองยากจะชนะ เพราะแต่ละหัวเมืองมาเพราะหวังผลประโยชน์ ไม่ต้องการให้ฝ่ายอื่นได้หน้า สำหรับพวกเขา การโค่นตั๋งโต๊ะเป็นบันไดไต่เต้าขึ้นเป็นใหญ่ พวกเขามาร่วมรบเพราะประเมินแล้วว่ามีโอกาสชนะตั๋งโต๊ะสูง




กลุ่มรัฐประหารประเมินแล้วว่า มีโอกาสชนะสูงเพราะทหารเรือหนุน การที่ทหารเรือร่วมด้วย ส่วนหนึ่งเพราะขัดแย้งกับทหารบก

การเผชิญหน้ากันที่สะพานเฉลิมโลก ประตูน้ำ เป็นเส้นแบ่งเขตที่ทหารบกกับทหารเรือตกลงกัน เกิดการกระทบกันระหว่างทหารสองฝ่ายจนลุกลาม เรือตรี ประภัทร จันทรเขต หัวหน้าสายตรวจทหารเรือ ถูกยิงบาดเจ็บ ทำให้ น.อ. ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือโกรธแค้น ออกอากาศทางสถานีวิทยุของกองสัญญาณทหารเรือว่าทหารเรือถูกรังแก เพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของทหารเรือ ขอให้ทหารเรือทั้งหมดมาช่วย โดยยกกำลังเข้ากรุง

กลายเป็นสงครามกลางเมือง ทหารบกกับทหารเรือยิงกัน

02.00 น. พล.ต.ต.เผ่าส่งกำลังตำรวจเข้ายึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ พญาไทคืนมาได้ แต่ไม่สามารถออกอากาศได้ เพราะชิ้นส่วนเครื่องส่งถูกฝ่ายกบฏถอดออกไป ฝ่ายรัฐจึงไปออกอากาศที่สถานีวิทยุกรมจเรทหารสื่อสาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ

กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติด ค่อยๆ ยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ทีละจุด เพราะกำลังทหารเรือไม่พอ

พล.ต. สฤษดิ์สั่งให้กำลังทหาร ร. พัน 1 บุกเข้ายึดวังสราญรมย์ ครั้นถึงหกโมงเช้า ทหารรัฐบาลก็ยิงปืนใหญ่ใส่ประตูสวัสดิ์โสภาและเทวาพิทักษ์พังทลายลง กำลังทหารราบก็บุกเข้าไป ยึดพระราชวังได้ ฝ่ายกบฏเริ่มถอยร่น ปรากฏลางความปราชัย

ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ฝ่ายรัฐบาลก็มีชัย

จุดผิดพลาดแรกของแผนช้างดำ-ช้างน้ำคือกำลังทหารเรือจากฐานทัพเรือต่างๆ ข้ามแม่น้ำบางปะกงเข้ากรุงเทพฯไม่ได้ เพราะแพขนานยนต์ติดที่ท่าข้ามบริเวณคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากการข้ามฟากทำได้โดยทางแพขนานยนต์ที่ท่าข้ามบางปะกงอย่างเดียวเท่านั้น ในวันนั้นระดับแม่น้ำบางปะกงลดลงมากผิดปกติ ไม่สามารถใช้แพขนานยนต์ในเวลานั้นได้ เพราะน้ำหนักบรรทุกมากเกินไป ทหารเรือทั้งหมดต้องรอให้น้ำขึ้น

เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน ทหารเรือยกมาถึงพระนครเวลาสองยาม ซึ่งเป็นเวลาที่ฝ่ายรัฐประหารเริ่มเพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว

จุดผิดพลาดที่สองคือฝ่ายกบฏประเมินรัฐบาลผิดที่จะไม่ถล่มวังหลวง รถถังฝ่ายรัฐทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังโดยไม่สนใจความเสียหาย เพื่อจับตายฝ่ายกบฏอย่างเดียว

จุดผิดพลาดที่สามคือมิใช่ทหารเรือทั้งหมดเข้ากับนายปรีดี กองพันนาวิกโยธินที่ 4 และ 5 ซึ่งอยู่ใกล้วังหลวงก็ไม่ได้สนับสนุนฝ่ายนายปรีดี เมื่อขาดแรงหนุนเต็มที่ ก็เป็นเหตุของความพ่ายแพ้ในเวลาอันสั้น




กองทัพสิบแปดหัวเมืองพ่ายแพ้ในเวลาอันสั้นเพราะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ขาดความสามัคคี มองแค่ผลประโยชน์ส่วนตน จึงเกิดความขัดแย้งกันระหว่างเจ้าเมืองเนืองๆ เช่น เมื่อซุนเกี๋ยนรบชนะหลายครั้ง อ้วนสุดที่ไม่ต้องการให้ซุนเกี๋ยนได้ความดีความชอบ ก็ขัดขาโดยเจตนาไม่ส่งเสบียงให้ ทำให้ซุนเกี๋ยนรบแพ้

หลังจากตั๋งโต๊ะใช้ยุทธศาสตร์ย้ายเมืองหลวง เผาเมืองลกเอี๋ยง ย้ายราชธานียังไปเมืองเตียงอัน โจโฉขอให้ทัพสิบแปดหัวเมืองยกทัพตามไปตีตั๋งโต๊ะ อ้วนเสี้ยวและเจ้าเมืองอื่นๆ ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลต่างๆ นานา ไม่ต้องการเสียกำลังทหารของตน แต่ก็ไม่ต้องการให้คนอื่นได้รับความดีความชอบ

หลังจากโจโฉตามตีตั๋งโต๊ะ และพลาดท่าแตกทัพ ก็แยกตัวออกมา เจ้าเมืองอื่น ๆ ก็แยกเช่นกัน กองซุนจ้านยกทัพกลับเมืองปักเป๋ง ซุนเกี๋ยนยกทัพกลับเมืองเตียงสา

มิเพียงกองทัพสิบแปดหัวเมืองแตกสลาย ยึดเมืองหลวงไม่สำเร็จ ในเวลาต่อมายังแตกคอกันจนถึงขั้นเป็นศัตรู ผู้นำแต่ละหัวเมืองฆ่าตายกันเอง

กองซุนจ้านถูกอ้วนเสี้ยวฆ่า

อ้วนเสี้ยวถูกโจโฉฆ่า

ม้าเท้งถูกโจโฉฆ่า

เตียวโป้ถูกเล่าต้ายฆ่า

เตียวเมารบกับโจโฉ และภายหลังถูกลูกน้องฆ่า

อ้วนสุดรบกับเล่าปี่ และตายระหว่างหนี



วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2492 ฝ่ายรัฐบาลกุมชัยชนะโดยสิ้นเชิง
    หลังจากนั้นก็ถึงเวลาผู้ชนะคิดบัญชีผู้แพ้


หมายเหตุ หลังกบฏวังหลวงล้มเหลว ปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปพำนักที่สิงคโปร์ และต่อไปประเทศจีนระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็ไปลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศสจนเสียชีวิตในปี 2526


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:38:45

สิ้นซาก


พ.ศ. 792

หลังจากพ่ายแพ้ในหมากรุกแห่งอำนาจวุยก๊ก พระเจ้าโจฮองกับโจซองเดินทางกลับลกเอี๋ยงตามคำสัญญารับรองความปลอดภัยของสุมาอี้ คืนตำแหน่งในกองทัพให้สุมาอี้

ทันทีที่มาถึง สุมาอี้ก็สั่งจับโจซองและพวก

การสอบสวนกลุ่มโจซองดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และพบหลักฐานการฉ้อราษฎร์บังหลวง สุมาอี้ไม่จัดการฝ่ายแพ้ตรงๆ แต่กดดันให้พระเจ้าโจฮองทรงออกพระบรมราชโองการลงโทษโจซองและพวก ประหารชีวิตสามชั่วโคตรกลางที่สาธารณะ

การกวาดล้างผู้ที่ขวางทางอำนาจไม่จำเป็นต้องรักษาคำพูดที่สัญญาไว้!

หลังจากนั้นพระเจ้าโจฮองก็ทรงถูกกดดันให้แต่งตั้งสุมาอี้เป็นมหาอุปราช และตามเทคนิคการเมืองที่เคยแนะนำให้ตระกูลโจโฉใช้มาก่อน สุมาอี้ส่งคืนตราตั้ง พระเจ้าโจฮองทรงมอบกลับมาอีกสองครั้ง สุมาอี้จึง ‘จำใจ’ รับเป็นมหาอุปราช “เพื่อประโยชน์ของชาวราษฎร์”

เทคนิคนี้ไม่เคยเปลี่ยนมาเลยตลอด 1,800 ปีที่ผ่านมาจนวันนี้

ผู้แพ้ย่อมเป็นลูกไก่ในกำมือเสมอ

พ.ศ. 2492

หลังจากกบฏวังหลวงแตกสลายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2492 ก็ถึงคราวคิดบัญชีพลพรรคที่เกี่ยวข้องกับพวกกบฏ รัฐบาลออกประกาศจับและให้สินบนนำจับ ปรีดี พนมยงค์ รางวัลนำจับ 50,000 บาท พล.ร.ต. สังวรณ์ สุวรรณชีพ 30,000 บาท ฯลฯ

ทันทีที่กบฏวังหลวงยุติ พลพรรคฝ่ายกบฏและผู้เกี่ยวข้องก็บังเอิญ ‘ล้มตาย’ ทีละคน รายแรกคือ พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตเสรีไทยและผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ สะดุดลูกปืนที่หน้าผากเสียชีวิต พบศพอยู่ที่อำเภอดุสิต

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2492 พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการสันติบาลบังเอิญเดินไปขวางทางลูกปืน เสียชีวิต ตำรวจจับมือใครดมไม่ได้

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ อดีตรัฐมนตรีสายอีสานสี่คนถูกจับ ได้แก่ นายถวิล อุดล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง และ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ นักการเมืองสายของนายปรีดี พนมยงค์

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นอดีต ส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ เป็นอดีตรัฐมนตรีหกสมัย

นายถวิล อุดล อดีต ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ

นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส. จังหวัดมหาสารคาม

ส่วน ดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส.จังหวัดปราจีนบุรี ถูกจับในวันที่ 1 มีนาคม หลังหลบหนีไปลี้ภัยที่มลายู ได้รับโทรเลขลวงจากตำรวจไทยส่งจากกบฏคนหนึ่งว่า “การปฏิวัติสำเร็จแล้ว ให้เดินทางมา” เมื่อ ดร. ทองเปลวขึ้นเครื่องบินมาถึงเมืองไทย ก็ถูกตำรวจรวบตัวที่สนามบิน

ค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจย้ายผู้ต้องหาทั้งสี่ไปที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน “เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องหา”

รถตำรวจเลขทะเบียน กท. 10371 รับ ดร.ทองเปลวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน รับนายจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา รับนายถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และนายทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน ขบวนรถตำรวจนำผู้ต้องหาทั้งสี่เคลื่อนไปทางบางซื่อ เข้าสู่ถนนพหลโยธิน

เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม ขบวนรถแล่นถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ทันใดนั้นรถคันหน้าก็หยุด รถคันหลังหยุดตาม ปรากฏเสียงปืนสองสามนัดจากด้านหน้า ตำรวจตรงไปที่รถบรรทุกผู้ต้องหา แล้วเรียกผู้ต้องหาทั้งสี่ลงมา ผู้ต้องหาพอจะมองเห็นชะตากรรมของตน คนหนึ่งร้องว่า “พวกคุณแต่ละคนก็ได้รับการศึกษามาดี ๆ ด้วยกันทั้งนั้น อย่าทำพวกผมเลยครับ”

จากปากคำของตำรวจในเหตุการณ์ ปรากฏเสียงปืนดังถี่ยิบ ชายสองคนแต่งชุดสีมืด มือถือปืนกล วิ่งออกมาจากรถผู้ต้องหา

ผู้ต้องหาทั้งสี่ถูกยิง กระสุนฝังร่างละไม่ต่ำกว่า 10 นัด ทุกคนอยู่ในสภาพที่ยังสวมกุญแจมืออยู่ ตำรวจส่งผู้ถูกยิงไปที่โรงพยาบาลกลาง แต่ทั้งหมดตายแล้ว

ตำรวจแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้นว่า ตำรวจถูกกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา ทั้งสองฝ่ายจึงได้ปะทะกัน กระสุนของโจรมลายูยิงถูกผู้ต้องหาทั้งสี่ตายหมด ส่วนตำรวจทั้งหมดราวยี่สิบนายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตสักคนเดียว

ประชาชนก็มองตาปริบๆ

ศพต่อไปคือนายทวี ตะเวทีกุล นักการเมือง ถูกยิงทิ้งที่สมุทรสาคร ในวันที่ 31 มีนาคม 2492

ฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลที่บางฝ่ายไม่พึงปรารถนาให้อยู่ในโลกต่อไปดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตรงข้ามล้มตายลงเรื่อยๆ เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ น.ท. พจน์ จิตรทอง นายอารีย์ ลีวีระ นายพร มะลิทอง หะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ ผู้เป็นประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ถูกจับถ่วงน้ำในทะเลสาบสงขลา

ผู้แพ้ย่อมถูกตัดรากถอนโคนเสมอ

พ.ศ. 751

ครั้งที่เล่าปี่กำลังตั้งตัว ได้ไปพึ่งใบบุญเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว เล่าเปียวเคยเสนอยกเมืองเกงจิ๋วให้เล่าปี่ปกครอง เพราะรู้ว่าลูกชายทั้งสอง คือเล่ากี๋และเล่าจ๋อง ไม่พร้อมเป็นผู้นำ

อันเล่าเปียวสืบเชื้อสายของราชวงศ์ฮั่นเช่นเดียวกับเล่าปี่ จึงถือว่าเกี่ยวดองกัน เล่าเปียวเป็นผู้นำที่มีความคิดความอ่านสูง แลเห็นว่าลูกทั้งสองของตนไม่มีความสามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ อีกทั้งทหารเอกของตนคือชัวมอกับเตียวอุ๋นก็เห็นแก่ตัว ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ประชาชนจะลำบาก เล่าเปียวมองเห็นการณ์ไกลว่าเล่าปี่กับขงเบ้งน่าจะเหมาะสมที่ทำให้อาณาจักรของตนรุ่งเรืองได้ จึงเอ่ยปากยกเกงจิ๋วให้เล่าปี่

อย่างไรก็ตาม เล่าปี่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเพราะหน้าบาง ไม่ต้องการถูกครหาว่าแย่งเมืองจากญาติ

การปฏิเสธของเล่าปี่นี้ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตการเมืองของเขา เพราะทำให้เขาต้องนำพาชาวเมืองร่อนเร่หนีทัพโจโฉไปเรื่อยๆ เพื่อหาจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมตั้งเป็นฐาน

เมื่อสิ้นบุญเล่าเปียว เกงจิ๋วตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มชัวมอ ชัวมอกับชัวฮูหยินภรรยาเล่าเปียวยึดอำนาจต่อจากเล่าเปียวแล้ว ยกเล่าจ๋องที่ยังเป็นเด็กขึ้นเป็นเจ้าเมือง เพื่อจะได้คุมอำนาจได้ง่าย

เล่าปี่พาชาวบ้านเดินทางไปถึงเมืองซงหยง พบว่าประตูเมืองปิด เล่าปี่ขอร้องให้เปิดประตูให้ประชาชนเข้าไป ปรากฏว่าเข้าเมืองไม่ได้ เพราะฝ่ายชัวมอกับเตียวอุ๋นไม่ต้อนรับ ถูกขับไล่ด้วยห่าเกาทัณฑ์

ทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่งนามอุยเอี๋ยน ยกพวกไปเปิดประตู เพราะรู้ว่าเล่าเปียวเคยฝากกิจการบ้านเมืองเกงจิ๋วให้เล่าปี่ดูแล อีกทั้งเห็นว่าเล่าปี่เหมาะสมกว่ากลุ่มชัวมอ แต่เกิดการปะทะกับทหารที่ไม่เห็นด้วย เล่าปี่ไม่ต้องการให้ตนเองเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมืองในเกงจิ๋ว ก็เปลี่ยนความคิด ไม่เข้าเมือง ไปตายดาบหน้า ชาวซงหยงจำนวนมากเชื่อเล่าปี่มากกว่ากลุ่มชัวมอ ก็อพยพตามไปด้วย

หลังจากเล่าปี่จากไปแล้ว กองทัพโจโฉก็ประชิดเมืองซงหยง ชัวมอกับพวกไม่คิดรบกับโจโฉ เลือกสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ ทั้งที่เกงจิ๋วมีทหารมากถึงสามสิบหมื่น เรือรบเจ็ดพันลำ มีเสบียงอาหารพอรบได้เป็นปี โดยหวังว่าหลังยอมจำนน ยังคงสามารถดำรงตำแหน่งและความสุขสบายอย่างเดิม

โจโฉออกคำสั่งให้เล่าจ๋องออกไปพบตามธรรมเนียมการยกเมืองให้ ทว่าเล่าจ๋องไม่กล้าพบโจโฉ ส่งชัวมอกับเตียวอุ๋นไปแทน

หลังจากโจโฉยึดเมืองซงหยงได้แล้ว ก็ออกคำสั่งแต่งตั้งให้เล่าจ๋องไปปกครองเมืองเฉงจิ๋วซึ่งอยู่ใกล้เมืองหลวงเพราะ “จะได้ปลอดภัยกว่าอยู่ที่ซงหยง”

คณะของเล่าจ๋องเดินทางไปยังเมืองเฉงจิ๋วตามคำสั่งของโจโฉ ไปได้ไม่ไกล  ขุนศึกอิกิ๋มก็ได้รับคำสั่งจากโจโฉให้ยกกำลังไปฆ่าขบวนของเล่าจ๋องตายหมดสิ้น

เมื่อกำจัดฝ่ายศัตรู ต้องกำจัดให้หมดจด ฆ่าให้สิ้นซาก

เพราะผู้แพ้ย่อมไร้เสียงพูด

ส่วนชัวมอกับเตียวอุ๋นเก็บไว้ฆ่าวันหลัง

พ.ศ. 2519

หากวันที่ 14 ตุลาคม 2516 คือจุดเริ่มต้นของยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพในประเทศไทย มันก็คือวันเริ่มต้นของความมืดดำที่คืบคลานเข้ามาเช่นกัน

ตลอดสามปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนเรียกว่า ‘ชัยชนะของมวลชน’ มีการลอบสังหารบุคคลฝ่ายนักศึกษาต่อเนื่องอย่างน้อย 85 คน เช่น ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษา และนักการเมืองหัวก้าวหน้า บ้างถูกแขวนคอบนเสาไฟฟ้า ศพแล้วศพเล่า ผสมด้วยเหตุการณ์ ‘เผาลงขันแดง’ สังหารชาวบ้านหลายอำเภอในจังหวัดพัทลุงราวสามพันศพ ตายเงียบๆ ทั้งหมดปรากฏเป็นข่าวเล็กๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ไม่นานก็เงียบไป

ปฏิบัติการ ‘เอาคืน’ เริ่มขึ้นแล้ว ฝ่ายหนึ่งวางแผนบั่นทอนกำลังอีกฝ่ายอย่างเป็นระบบ เรียก ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ยุทธศาสตร์ของพวกเขาคือดำเนินการทางลับเพื่อบ่อนสลายขบวนการนิสิตนักศึกษา แยกกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาออกมา ขณะเดียวกันก็จัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ เช่น กระทิงแดง นวพล ค้างคาวไทย ฯลฯ เชื่อมด้วยสถานีวิทยุยานเกราะ ใช้ความหวาดกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นตัวกระตุ้น ตอกย้ำด้วยคำเทศนาของพระกิตติวุฑโฒภิกขุว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

คลื่นใต้น้ำกำลังก่อตัว รุนแรงขึ้นทุกที

ครั้นแล้วก็ถึงเวลาเหมาะสม จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับเมืองไทย ตามมาด้วยการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามคาด

จุดสุกงอมเกิดขึ้นในรอยต่อของคืน 5 ตุลาคมกับ 6 ตุลาคม 2519 เสียงปลุกระดมทางวิทยุกระจายเสียงยานเกราะดังไม่หยุด “ฆ่ามัน” และ “ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์”

ครั้นถึงตีห้า ลูกระเบิดเอ็ม 79 ก็ถูกยิงไปตกกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประตูทางเข้าออกถูกปิดตาย เวลาเจ็ดโมงเช้ารถบรรทุกคันหนึ่งแล่นชนประตูใหญ่ทลายลง ตำรวจได้รับอนุญาต “ให้ยิงอย่างเสรี”

ล้อมฆ่าประชาทัณฑ์โดยถูกต้องตามกฎหมาย

ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป

ภาพตำรวจคาบบุหรี่ยิงนักศึกษาอย่างสบายใจเป็นภาพเล็กๆ ที่สะเทือนใจคนทั้งชาติ เมื่อคนไทยฆ่าคนไทยอย่างโหดเหี้ยมและเลือดเย็น

ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 จบลงด้วยไม่มีผู้เกี่ยวข้องกับการล่าสังหารคนใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ข้อมูลมูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์ รายงานว่ามีนักศึกษาและประชาชนถูกฆ่าตายราวหนึ่งร้อยคน สามสิบสองปีต่อมาผู้มีอำนาจทางการเมืองคนหนึ่งบอกว่ามีคนตายเพียงหนึ่งคน “เป็นเพียงชายโชคร้ายคนหนึ่งที่ถูกทุบตีและเผาที่สนามหลวง”

ประชาชนก็มองตาปริบๆ

เพราะในโลกของการชิงอำนาจมี ‘ชายโชคร้าย’ เสมอ ผู้แพ้คือผู้ถูกกระทำ และผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:40:37

เซ็กเพ็กบนแม่น้ำเจ้าพระยา


เป็นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 เครื่องบินสปิตไฟร์และ T-6 หลายลำบินเหนือลำน้ำเจ้าพระยา ทิ้งระเบิดใส่เรือรบที่ลอยเป็นเป้านิ่งกลางแม่น้ำ ลูกระเบิดหลายลูกถล่มเรือระเบิดสนั่นหวั่นไหว ไฟเริ่มไหม้เรือ

ฝ่ายของเขาเองกำลังจะฆ่าเขา...



ห่าเกาทัณฑ์ไฟของข้าศึกพุ่งใส่เรือรบที่จอดริมฝั่งแม่น้ำแยงซีต่อเนื่อง ทหารบนเรือรบข้าศึกตั้งแถวยิงเกาทัณฑ์อย่างเป็นระเบียบ ระลอกแล้วระลอกเล่า ไฟลุกท่่วมกองเรือ ปิดทางหนีของทหารของเขาโดยสิ้นเชิง

ศัตรูกำลังล้อมฆ่าฝ่ายเขา...

โจโฉทอดสายตามองแผ่นดินกังตั๋งเบื้องหน้า บนเส้นขอบฟ้ามีเรือรบหลายพันลำทอดสมอเรียงราย กองทัพเรืออันเกรียงไกรของเขาพร้อมจะบดขยี้กังตั๋ง หลังจากซุนกวนปฏิเสธเป็นพันธมิตรกับเขา และเลือกเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่

เขาพร้อมจะพิชิตพันธมิตรทั้งสอง

ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเตรียมพร้อมรบ ขุนพลอุยกายแห่งกังตั๋งก็มาขอสวามิภักดิ์ ให้เหตุผลว่าถูกจิวยี่ลงโทษโบยตีอย่างไม่ให้เกียรติ สัญญาจะขโมยเสบียงมาให้หลายลำเรือ

โจโฉเรียกประชุมทหารหลายคนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่เรือบัญชาการ ที่ปรึกษาฝ่ายเขาคือเทียหยก เจียวก้าน ชีซี หรือตันฮก

แขกรับเชิญคือบังทอง

บังทองเสนอความคิดว่า ทหารของโจโฉเป็นทหารดอน ชำนาญการรบบนผืนดินมั่นคง แต่ไม่ถนัดการรบทางน้ำ ทหารอาจเมาเรือ ควรยึดตรึงเรือรบทุกลำเข้าด้วยกันด้วยโซ่ ที่ปรึกษาคนอื่นแย้งว่ามีความเสี่ยง เพราะหากฝ่ายกังตั๋งจุดไฟ เรือรบทั้งหมดจะถูกเผาสิ้นในทีเดียว

แต่บังทองให้เหตุผลว่า โอกาสมีน้อยอย่างยิ่ง เพราะ หนึ่ง กองทัพเรือของโจโฉอยู่ต้นลม สอง ไม่มีลมตะวันออกในฤดูนี้ โจโฉจึงสั่งให้ผูกเรือเข้าด้วยกัน

เมื่อถึงคืนที่นัดหมายกับอุยกาย ลมก็เริ่มเปลี่ยนทิศ ลมตะวันออกที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ปรากฏ ยิ่งนานลมก็ยิ่งแรง เป็นเวลาเดียวกับที่เรืออุยกายยี่สิบลำจุดเพลิงขึ้นพร้อมกัน เรือเหล่านั้นมิได้บรรทุกเสบียง แต่บรรทุกดินประสิว หญ้าฟางแห้งที่ราดน้ำมันเต็มลำ เรือที่ติดไฟพุ่งเข้าชนกองเรือโจโฉ ไฟเริ่มลุกอย่างรวดเร็ว ลามจากลำหนึ่งไปอีกลำหนึ่ง ทหารโจโฉตกใจลนลาน ตกเป็นเป้านิ่งให้ทหารกังตั๋งสังหาร ห่าเกาทัณฑ์ไฟปักทั่วกองเรือ โดยมีแม่ทัพจิวยี่กำลังบัญชาการรบ เพลิงลุกท่วมกองเรืออย่างรวดเร็ว ทำให้การปลดเรือออกจากกันแทบเป็นไปไม่ได้

ทหารฝ่ายโจโฉพยายามดับไฟ แต่ก็ทำไม่สะดวกเมื่อศัตรูยิงเกาทัณฑ์ต่อเนื่อง ไฟที่รับพลังโหมจากลมอาคเนย์ผิดฤดูเผาผลาญกองเรือเร็วขึ้น ทหารจำนวนนับไม่ถ้วนถูกไฟคลอก ส่งเสียงร้องระงม กองทัพเรือของเขากำลังพินาศ



เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 29 มิถุนายน 2494 จอมพล ป. พิบูลสงครามไปที่ท่าราชวรดิฐ ร่วมพิธีรับมอบเรือแมนฮัตตัน เรือขุดสันดอนที่สหรัฐอเมริกามอบให้ไทยใช้ขุดร่องน้ำ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากไปร่วมงาน รวมทั้งผู้นำกองทัพเรือ

พิธีเริ่มขึ้นเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ผู้แทนฝ่ายสหรัฐอเมริกากล่าวคำปราศรัยมอบเรือให้ไทย จอมพล ป. ปราศรัยตอบ และรับมอบเรือ เรือแมนฮัตตันลดธงสหรัฐฯลง ชักธงไตรรงค์ขึ้นแทน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯพาจอมพล ป. ดูเรือ ทันใดนั้นชายกลุ่มหนึ่งถือปืนกลมือก็วิ่งกรูขึ้นเรือ ปลัดกลาโหม พลเอกหลวงเสนาณรงค์ ถามคนกลุ่มนั้นว่า “พวกคุณทำอะไร?” คนกลุ่มนั้นยกปืนขึ้นขู่ ให้ปลัดกลาโหมถอยไป

ชายกลุ่มนั้นตรงรี่ไปที่นายกรัฐมนตรี ร้องเสียงดังว่า “เราต้องการแต่ตัวท่านจอมพล คนอื่นไม่เกี่ยวถอยไป” เจ้าหน้าที่อเมริกันคนหนึ่งตรงมาขวาง แต่ปืนของผู้บุกรุกวาดใส่ จึงถอยไป คนกลุ่มนั้นจี้ตัวนายกฯไปลงเรือเล็กที่จอดรออยู่ตรงท่าราชวรดิฐ แล้วแล่นไปที่เรือรบหลวงศรีอยุธยา

คนกลุ่มที่จี้ตัวนายกรัฐมนตรีกลางวันแสกๆ ไปลงเรือรบเป็นทหารเรือ ใช้ชื่อคณะกู้ชาติ คือ น.อ. อานนท์ ปุณฑริกาภา, น.ต. มนัส จารุภา, พ.ต. วีระศักดิ์ มัณฑจิตร, น.ต. ประกาย พุทธารี, ร.ท. สมหมาย บุนนาค, ร.ท. วีระ โอสถานนท์, ร.ท. ปัญญา ศิริปูชกะ ฯลฯ พวกเขาให้เหตุผลก่อการนี้ว่า เพราะรัฐบาลฉ้อราษฎร์บังหลวง กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัว

คณะกู้ชาติแบ่งกำลังไปยึดจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้แก่ กรมโฆษณาการ โรงไฟฟ้า กองสัญญาณ ดอนเมือง และอีกราวสามสิบจุด

ผ่านไปราวหนึ่งชั่วโมง ทหารเรือกลุ่มหนึ่งบุกเข้ายึดโรงไฟฟ้ากับโทรศัพท์สำเร็จ ไม่นานต่อมา กองตำรวจรถถังก็ยกขบวนมา และยึดโรงไฟฟ้ากลับคืนไปได้

แผนการที่คณะกู้ชาติวางไว้ทำสำเร็จไม่ถึงครึ่ง เช่น ตามแผน เรือศรีอยุธยาต้องแล่นผ่านสะพานพุทธฯไปจอดหน้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ แต่สะพานไม่เปิด จึงข้ามไปไม่ได้

คณะกู้ชาติขอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม บันทึกเสียงบนเส้นลวดบันทึกเสียง แล้วกระจายเสียงออกอากาศ สถานีวิทยุกรมการรักษาดินแดนฝ่ายรัฐบาลก็กระจายเสียงตอบโต้



ฝ่ายรัฐบาลตั้งวอร์รูม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นายทหาร ตำรวจ รักษาการนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ร่วมคุยกันถึงยุทธศาสตร์ปราบกบฏ ตั้งแต่บ่ายจนกลางดึก

พล.ร.อ. สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ ส่งผู้แทนหลายคนเข้าพบนายทหารบกชั้นผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดระหว่างกองทัพ ยืนยันว่า การก่อการนี้ฝ่ายทหารเรือส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เป็นฝีมือของทหารเรือกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ฝ่ายกองทัพบกเห็นตรงกันว่า ต้องให้จบภายในคืนนั้น เพราะกลัวว่าเป็นการประวิงเวลาเพื่อรอกำลังหนุน

ก่อนตีหนึ่งครึ่งเล็กน้อย พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1 ผู้อำนวยการปราบกบฏ พา พล.ร.ต. แชน ปัจจุสานนท์, พล.ร.ต. ประวิศ ศรีพิพัฒน์ และ น.ต. กวี สิงหะ มาร่วมประชุม

พล.ท. สฤษดิ์ยื่นคำขาดต่อทหารเรือว่า “ทหารเรือต้องเอาตัวจอมพลคืนมาภายใน 4 นาฬิกาคืนนี้  มิฉะนั้นจะโจมตีทุกแห่งที่ทหารเรืออยู่”

พล.ร.ต. แชนในฐานะผู้แทน ผบ.ทร. “เราขอร้องให้ฝ่ายทหารบกอย่าเพิ่งยิงกันเหมือนครั้งกบฏวังหลวง เราไม่กล้ารับปากว่าจะสามารถนำตัวจอมพลกลับคืนมาภายในตีสี่”

พล.อ. หลวงหาญสงครามบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นให้ 5 นาฬิกา”

“ถึงจะให้ 5 นาฬิกา กระผมก็ยังรับปากไม่ได้ เพราะยังมืดอยู่ เกรงจอมพลจะเป็นอันตราย และกระผมไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของพวกก่อการร้าย คงทำไม่ได้ง่ายนัก”

พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ ยืนกรานว่าให้ทหารเรือนำตัวจอมพลมาคืนภายในเวลาตีห้า

พล.ท. สฤษดิ์สำทับกับ พล.ร.ต. แชนว่า ถ้าไม่นำตัวจอมพล ป. มาคืนภายในตีห้า “ทหารบกจะยิงทุกแห่งที่มีทหารเรืออยู่”

พล.อ. ผินย้ำว่า “จะทำอย่างไรก็รีบทำเสีย เวลาไม่คอย เมื่อไม่ได้ตัวจอมพลกลับมาในคืนนี้ ก็ต้องยิงกันใหญ่ให้เด็ดขาดไปเลย”

ฝ่ายทหารเรือจึงเดินทางไปที่กองทัพเรือ จนเวลา 03.50 น. ก็พา พล.ร.ท. ผัน นาวาวิจิตร, พล.ร.ต. หลวงชำนาญอรรถยุทธ์ และ พล.ร.ต. ประวิศ ศรีพิพัฒน์ มาร่วมประชุม

พล.ร.ต. ประวิศ ศรีพิพัฒน์ อาสาไปเจรจากับฝ่ายก่อการเมื่อฟ้าสว่าง เพราะไปตอนมืด อาจเกิดการยิงกัน และจอมพล ป. อาจเป็นอันตราย

ฝ่ายทหารบกตกลงตามนี้

การเจรจาล้มเหลว การรบก็อุบัติขึ้นตอนเช้ามืดวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 สงครามกลางเมืองเริ่มขึ้นอีกครั้ง



ฝ่ายรัฐบาลประสานกำลังสามฝ่ายคือทัพบกของ พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทัพอากาศของพลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดยพลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์

เมื่อฟ้าสว่าง กำลังฝ่ายรัฐบาลก็โจมตีเรือศรีอยุธยา ทหารบกเริ่มยิงปืนครกจากบนบกใส่เรือศรีอยุธยา ชาวบ้านเจอลูกหลงตายไปหลายคน ยิงคลังน้ำมันทหารเรือจนไหม้

ขณะเดียวกันเครื่องบินกองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดกรมอู่ทหารเรือและคลังเชื้อเพลิง

เรือศรีอยุธยามีปืนโบฟอร์ส 40 มม. ยิงวิถีราบ ทรงอานุภาพสูง เมื่อผ่านปากคลองบางกอกน้อย บนฟ้าปรากฏเครื่องบินหลายลำบินมาสังเกตการณ์ ก็ยิงปตอ. ใส่เครื่องบิน แต่ไม่ถูก

เรือแล่นไปถึงปากคลองหลอด ท่าช้างวังหน้า เครื่องบินมาอีกครั้ง คราวนี้ทิ้งระเบิด แต่พลาด เรือผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ ปรากฏทหารกรมการรักษาดินแดนใช้ปืนกลยิงไปที่เรือ แต่ทำอะไรเรือเหล็กหุ้มเกราะไม่ได้

เรือแล่นผ่านท่าโรงโม่ ทหารเรือเห็นรถถังสองคันจอดอยู่ ก็เตรียมยิงด้วยปืน 75 มม. แต่ยกเลิกการยิง เพราะทหารเรือเห็นเด็กๆ สิบกว่าคนแถวนั้น



อาจเพราะการถูกถล่มยิงหรือเพราะเครื่องยนต์ใช้งานหนัก เมื่อไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ เครื่องยนต์เรือก็ดับ แต่กระแสน้ำยังไหลแรง พาเรือไปถึงคลองบางกอกใหญ่ แต่กระนั้นก็กลายเป็นเป้านิ่งให้ทหารบกยิงปืนครกใส่ ทั้งสองฝ่ายยิงสู้กัน ห่ากระสุนปลิวว่อน

ในที่สุดเครื่องบินสปิตไฟร์และ T-6 หลายลำก็ปรากฏบนฟ้า ทิ้งระเบิดใส่เรือศรีอยุธยาระเบิดลูกหนึ่งทะลุเพดานเรือและเตียงของจอมพล ป. ลงไปใต้ท้องเรือโดยไม่ระเบิด หลังจากจอมพล ป. ลุกขึ้นรอดมาหวุดหวิด ลูกระเบิดบางลูกทะลุดาดฟ้าลงไปในคลังกระสุนใต้ท้องเรือ ไม่นานก็เกิดระเบิดสนั่นหวั่นไหว ไฟไหม้เรือ

บ่ายสามโมง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เรือรบหลวงศรีอยุธยาก็จม

สองชั่วโมงต่อมา เรือหลวงคำรณสินธุ์ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองคลังน้ำมันบริเวณกรมอู่ทหารเรือก็จมลงอีกลำหนึ่ง กรมอู่ทหารเรือถูกถล่มไฟไหม้เสียหายหมด

ขณะที่เรือศรีอยุธยากำลังจะจม ลูกเรือคณะกู้ชาติให้จอมพล ป. สวมเสื้อชูชีพ ว่ายออกจากเรือ โดยมีทหารเรือหลายคนว่ายขนาบมาด้วย ลูกเรือทั้งหมดสละเรือ กระโดดลงน้ำว่ายไปที่สะพานท่าน้ำพระราชวังเดิม แต่ทหารบกบนฝั่งดักรออยู่ด้วยลูกปืน ทหารเรือคนหนึ่งถูกยิงจมน้ำหายไป ทหารเรือที่ป้อมยิงสกัดให้

จอมพล ป. ถูกพาตัวไปที่ที่ทำการของกองทัพเรือ

ในที่สุดฝ่ายกบฏและรัฐบาลก็เปิดการเจรจากัน ฝ่ายกบฏยอมปล่อยตัวจอมพล ป. โดยผ่าน พล.ร.อ. สินธุ์ กมลนาวิน ผบ. ทร. นำตัวนายกฯไปส่งคืนที่วังปารุสกวันราวห้าทุ่มคืนนั้น

ส่วนผู้ก่อการทั้งหมดแยกย้ายหลบหนีไปพม่าและสิงคโปร์


กองทัพเรืออันเกรียงไกรของโจโฉพินาศ ชีวิตทหารแปดแสนคนปลิวปลิว

ยุทธการเรือไฟยุติ แต่สงครามเพิ่งเริ่มต้น


กองทัพเรืออันเกรียงไกรของไทยหมดอำนาจ หลังเหตุการณ์สงบ พล.ร.อ. สินธุ์ กมลนาวิน ผบ.ทร. และทหารเรืออีกหลายคนถูกจับเข้าคุกอยู่สามปีทั้งๆ ที่ไม่ใช่ผู้วางแผน

ทหารเรือถูกลดบทบาททางการเมืองลง มีการย้ายหน่วยทหารเรือในเมืองออกไปต่างจังหวัดจนหมดสิ้น ปรับลดอัตรากำลังพลของกองทัพเรือลงไป ยุบกรมนาวิกโยธินกรุงเทพ ยุบกองการบินกองทัพเรือไปรวมกับกองทัพอากาศ ฯลฯ ทำให้การยึดอำนาจในอนาคตเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

เหตุผลหนึ่งเพราะกองทัพเรือเป็นขุมกำลังของ ปรีดี พนมยงค์ มาก่อน

ยุทธการเรือไฟยุติ แต่สงครามเพิ่งเริ่มต้น


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:42:14

เผาเมืองหลวง


(หมายเหตุผู้เขียน : บทความนี้เปรียบเทียบเหตุการณ์สมัยสามก๊กกับการเมืองไทย เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ มิได้ต้องการฟื้นฝอยหาตะเข็บ จะดีมากหากเราวิจารณ์ในเชิงการเรียนรู้เพื่อพัฒนาบ้านเมือง มิใช่ใช้เป็นชนวนทะเลาะกัน)

ควันดำทมึนพวยพุ่งแผ่คลุมฟ้าเมืองลกเอี๋ยง เปลวไฟสีแดงกัดกินบ้านเรือน เสียงม้าร้อง เสียงหวีดร้องของผู้คน เสียงไฟปะทุ คละเคล้ารวมกันในความสับสนอลหม่าน เมื่อคนกลุ่มหนึ่งกำลังจุดไฟเผาลกเอี๋ยง

หลังจากโจโฉลอบสังหารจอมทรราชตั๋งโต๊ะไม่สำเร็จ ก็หนีไปตั้งหลักที่บ้านเกิด ชวนอ้วนเสี้ยวเพื่อนเก่ามาร่วมวงโค่นตั๋งโต๊ะ

วิธีการของทั้งสองคือปลอมพระราชโองการเรียกเจ้าเมืองต่างๆ มาร่วมด้วย จนได้กองทัพสิบแปดหัวเมือง ยกทัพไปตีตั๋งโต๊ะ

ตั๋งโต๊ะส่งแม่ทัพมือดีนามฮัวหยงออกไปต้านรับ ฮัวหยงสังหารทหารสิบแปดหัวเมืองไปหลายคน ทหารทั้งกองทัพขยาดไม่กล้าออกไปต่อกร จนกระทั่งกวนอูอาสาไปรบ ตัดหัวฮัวหยงในฉับเดียว เมื่อนั้นตั๋งโต๊ะจึงยกทัพใหญ่มารบแตกหัก

ด้วยฝีมือของทหารเอกลิโป้ ลิยู ลิฉุย กุยกี ทหารฝ่ายพันธมิตรตายไปไม่น้อย เล่าปี่ กวนอู เตียวหุยอาสาออกรบกับลิโป้ ทั้งสองฝ่ายปะทะกัน ลิโป้สู้ไม่ได้ ถอยกลับไป

ทรราชตั๋งโต๊ะเห็นแววว่า ศึกครั้งนี้เอาชนะยาก กอปรกับความเห็นของที่ปรึกษาลิยูที่ชี้ว่าเมืองเตียงฮันเหมาะสมกว่าลกเอี๋ยง ก็สั่งย้ายเมืองหลวงจากลกเอี๋ยง ไปตั้งราชธานีใหม่ที่เตียงฮัน ซึ่งเคยเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ฮั่น

ก่อนอพยพคนรวมทั้งพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ออกจากลกเอี๋ยง ตั๋งโต๊ะก็สั่งให้ลิโป้คุมกำลังทหารไปขุดหาสมบัติในฮวงซุ้ยบรรพกษัตริย์และขุนนางผู้ร่ำรวย ปล้นทรัพย์ได้ตามใจชอบ ได้ทรัพย์สินเงินทองหลายพันเกวียน ขนไปเตียงฮัน

หลังจากนั้นก็เผาเมืองหลวงจนสิ้นใจ




ควันดำทึบพวยพุ่งแผ่คลุมฟ้าเมืองหลวง เปลวไฟสีแดงกัดกินอาคารหลายหลัง เสียงกระสุนปืนดังต่อเนื่อง เสียงคำรามของระเบิด เสียงไซเรนรถพยาบาลและรถดับเพลิง เสียงตะโกน เสียงด่าทอ คละเคล้าในสงครามกลางเมือง เมื่อคนสองกลุ่มกำลังประหัตประหารกัน

ผ่านไป 1,820 ปีจากยุคตั๋งโต๊ะเผาเมือง กรุงเทพมหานครก็ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน เมืองหลวงถูกเผา และปล้นชิงทรัพย์ตามใจชอบ

หลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าปกครองประเทศในปี 2552 และศาลตัดสินคดียึดทรัพย์ของ ทักษิณ ชินวัตร ให้ตกเป็นของแผ่นดินเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง ก็เริ่มบทบาทจัดการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งใหม่หมายถึงการหวนคืนสู่อำนาจของกลุ่มเดิมแบบลัดวงจร เป็นสิ่งที่รัฐบาลยอมไม่ได้

บ้านเมืองอยู่ในสภาวะอึมครึมทันที เมฆดำทะมึนปกคลุมฟ้าเมืองไทย จนกระทั่งเดือนเมษายน เกิดเหตุการณ์การปะทะกันที่แยกคอกวัวและถนนดินสอ นายทหารฝ่ายรัฐบาล พ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม และอีกหลายคนถูกกลุ่มคนชุดดำสังหาร ทุกฝ่ายปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับมือสังหาร

‘กลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่าย’ จึงกลายเป็นตัวละครใหม่บนเวทีการเมือง

วันที่ 29 เมษายน ผู้ชุมนุมเสื้อแดงบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อตรวจว่ามีทหารมาซ่องสุมกำลังภายในหรือไม่ โรงพยาบาลย้ายคนไข้ออกไป รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้ทรงอยู่ในพระอาการประชวร

ขึ้นเดือนพฤษภาคม กลุ่ม นปช. ย้ายไปชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ การชุมนุมดำเนินไปด้วยความตึงเครียด และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตัวละคร ‘กลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่าย’ ร่วมโรง

7 พฤษภาคม เกิดเหตุยิงและระเบิดขึ้นบริเวณสี่แยกถนนพระรามที่ 4 และแยกศาลาแดง บุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายยิงเอ็ม 16 ใส่ธนาคารกรุงไทยถนนสีลมเมื่อกลางดึก ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิต

8 พฤษภาคม เกิดเหตุระเบิดหน้าสวนลุมพินี โรงพยาบาลจุฬาฯ บุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ชุดควบคุมฝูงชน ตำรวจหนึ่งนายเสียชีวิตหน้าอาคารอื้อจือเหลียง ใกล้ถนนสีลม

13 พฤษภาคม พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) นายทหารผู้มีบทบาทรักษาความปลอดภัยให้กลุ่ม นปช. ถูกกระสุนปืนจากสไนเปอร์ยิงที่ศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ก ไทมส์ เสียชีวิต ตามมาด้วยการปะทะกันของฝ่ายทหารและกลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่าย มีผู้เสียชีวิต

14 พฤษภาคม ตำรวจเคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เกิดการปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าสนามมวยเวทีลุมพินี บริเวณแยกบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 และที่แยกศาลาแดง กลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายใช้ระเบิดขวดและระเบิดควัน ทหารใช้กระสุนและแก๊สน้ำตา ผู้ชุมนุมคนหนึ่งเสียชีวิต

15 พฤษภาคม มีข่าวผู้ชุมนุมบุกเข้าปล้นร้านค้า ขโมยของทุกอย่างยกเว้นหนังสือ และข่าวเจ้าหน้าที่ทหารประกาศจัดตั้งเขตยิงกระสุนจริงในหลายพื้นที่

16 พฤษภาคม รัฐบาลเตือนให้ผู้ชุมนุมเด็กและผู้สูงอายุออกจากพื้นที่ชุมนุม

17 พฤษภาคม เกิดการปะทะกันทั้งคืนระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับทหาร กลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่โรงแรมดุสิตธานี ปรากฏกลุ่มควันดำพุ่งออกจากชั้น 5 และชั้น 17 ของโรงแรม นอกจากนี้กลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายยังยิงระเบิดเอ็ม 79 สามลูกตกลงที่ตึกอื้อจือเหลียง และสองลูกที่บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี

เฮลิคอปเตอร์ทหารโปรยใบปลิวเหนือจุดที่ชุมนุม เตือนให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ กลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายยิงตะไลใส่เฮลิคอปเตอร์




การสลายการชุมนุมเริ่มขึ้นในคืนวันที่ 18 พฤษภาคม ตลอดวันนั้นการปะทะกันยังดำเนินต่อไป มีผู้เสียชีวิต ทหารใช้รถหุ้มเกราะบุกฝ่าสิ่งกีดขวางของกลุ่มผู้ชุมนุม

19 พฤษภาคม กลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายยิงระเบิดใส่ทหาร บาดเจ็บสาหัสสองนาย เกิดการปะทะกันต่อเนื่องในหลายพื้นที่ มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต การ์ด นปช. ใช้ยางรถยนต์เสริมเป็นบังเกอร์ แต่กำลังทหารก็สามารถรุกเข้ายึดพื้นที่โดยรอบสวนลุมพินีสำเร็จ

เวลา 13.20 น. แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม แล้วเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ก่อนเลิกชุมนุม แกนนำ นปช. จตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า “ชีวิตของพวกผมเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นี่เป็นชีวิตของคนอื่น พวกผมรอด แต่พี่น้องต้องตาย ถ้าเขาขยับมาถึงเวที ผมรู้ว่าพี่น้องพร้อมพลีชีพ ไม่รู้กี่ชีวิต เราร่วมทุกข์ร่วมสุขมายาวนานที่สุด และก็รู้กันว่า อีกไม่รู้กี่ชีวิตที่ต้องตาย ถ้า ศอฉ. บุกมาถึงที่นี่ พี่น้องก็ยอมพลีชีพกันทุกคน ผมยอมไม่ได้ ฉะนั้นวันนี้ไม่ใช่ยอมจำนน แต่ไม่ต้องการให้พี่น้องเราต้องเสียชีวิตอีกแล้ว ทนความตายของพี่น้องไม่ได้อีกต่อไป...”

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า “เราขอยุติเวทีการชุมนุมแต่เพียงเท่านี้ แต่การต่อสู้ยังไม่ยุติ การต่อสู้ยังต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการประชาธิปไตยต่อไป...”

หลังจากแกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องไม่เห็นด้วยจากผู้ชุมนุม ปรากฏเหตุกลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายบุกเข้าทำลายทรัพย์สินและลอบวางเพลิงอาคารหลายแห่ง

การเผาเมืองหลวงอุบัติขึ้น

ตลอดบ่ายนั้นกลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายวางเพลิงสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งศูนย์การค้าเซน ถูกขโมยสินค้า อาคารอื่นๆ ที่ถูกวางเพลิงได้แก่ โรงภาพยนตร์สยาม อาคารมาลีนนท์ซึ่งที่ทำการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ธนาคารออมสินบางสาขา อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพลิงลุกลามไปถึงศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันซึ่งอยู่ติดกัน รวมไปถึงความพยายามวางเพลิงห้างสรรพสินค้าแพลทินัม ย่านประตูน้ำ

ควันดำลอยขึ้นจากอาคารต่างๆ กลางเมืองหลวง เปลวไฟสีแดงกลืนกินอาคารหลายหลัง เสียงกระสุนปืนดังต่อเนื่อง เสียงระเบิด เสียงไซเรนรถพยาบาลและรถดับเพลิง เสียงหวีดร้องของผู้คน คละเคล้าในสงครามกลางเมือง

เปลวไฟกลืนเมืองโดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เนื่องจากถูกกลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายยิงสกัดเพื่อไม่ให้เข้าไปดับเพลิงได้

สงครามกลางเมืองครั้งนี้มีประชาชนเสียชีวิตราวหนึ่งร้อยคน ผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก และทิ้งเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่หลายตัวว่า ใครเผาเมืองหลวง? มีกี่กลุ่มที่เผาเมือง? กลุ่มบุคคลลึกลับไม่ทราบฝ่ายคือใคร? มีบุคคลลึกลับกี่กลุ่ม? เป็นมือที่สามหรือไม่? เป็นกำลังของฝ่ายทหาร หรือฝ่ายเสื้อแดง หรือกำลังต่างชาติ?

เหล่านี้เป็นคำถามปริศนาที่กลืนหายไปในควันดำ




พ.ศ. 733 เมืองลกเอี๋ยงถูกเผาโดยตั๋งโต๊ะ

พ.ศ. 2553 กรุงเทพมหานครถูกเผาโดยน้ำมือคนไทยเอง

เพราะการชิงอำนาจไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเสียหาย แม้ต้องเผาบ้านเกิดเมืองนอนของของตัวเอง

เพราะกลิ่นหอมของอำนาจอบอวลกลบกลืนกลิ่นควันไฟที่เผาเมือง

เพราะอำนาจมีค่ากว่าชีวิตคนและบ้านเมือง

และเมื่อช้างศึกชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ


-----------------------------------------------


ย้ายเมืองหลวง


หลังการรบพุ่งกับทัพสิบแปดหัวเมือง ตั๋งโต๊ะก็ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากลกเอี๋ยงไปเตียงฮัน

ความคิดย้ายเมืองนี้เริ่มต้นเมื่อที่ปรึกษาลิยูบอกตั๋งโต๊ะว่า “เมื่อพระเจ้าฮั่นโกโจสร้างเมืองเตียงฮัน ฮ่องเต้เสวยราชย์มาสิบสองพระองค์ เมื่อพระเจ้าฮั่นกองบู๊สร้างลกเอี๋ยงเป็นเมืองหลวงตะวันออก ฮ่องเต้เสวยราชย์มาสิบสองพระองค์เช่นกัน จนถึงพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าเชื้อพระวงศ์ฮั่นกองบู๊จะจบสิ้นเพียงนี้...”

ลิยูยังกล่าวต่อไปว่า “มีเพลงที่เด็กๆ ร้องกันว่า เนื้อความว่า ‘ตะวันตกก็มีเมืองเตียงฮันเมืองหนึ่ง ตะวันออกก็มีเมืองลกเอี๋ยง ถ้ากวางวิ่งเข้าไปในเมืองเตียงฮันแล้ว ก็หาภัยอันตรายมิได้’...”

คำว่า ‘กวาง’ เป็นสัญลักษณ์ กวางเป็นสัตว์รักสงบ มักถูกจับกินเป็นอาหาร หมายถึงชาวราษฎร์ที่ถูกผู้มีอำนาจจับไปต้มยำทำแกงตามสบาย สัญลักษณ์กวางจึงมีความหมายถึงบัลลังก์โดยปริยาย คำว่า ‘ไล่กวาง’ มีนัยว่าอยากเป็นฮ่องเต้

ชื่อจีนของนวนิยายเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ ของกิมย้งคือ ลู่ติ่งจี้ (บันทึกกวางกับกระทะ) กวางคือบัลลังก์ กระทะคือเครื่องมือปรุงกวาง เพราะคนจีนโบราณใช้กระทะสามขาทำอาหาร

ความหมายของลิยูคือตั๋งโต๊ะน่าจะเริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ได้แล้วที่เตียงฮัน

ตั๋งโต๊ะได้ยินหัวใจก็พองโต สั่งย้ายเมืองหลวงทันที

ขุนนางเอียวปิวแย้งว่า “การย้ายเมืองหลวงจะทำให้ราษฎรเดือดร้อนนัก”

ขุนนางอุยอ๋วนแย้งว่า “เตียงฮันยังเป็นป่า ไยเราย้ายจากเมืองไปป่าเล่า?”

ขุนนางซุนซองก็แย้งเช่นกันว่า “ไม่สมควรย้ายเมืองหลวงด้วยประการทั้งปวง”

ตั๋งโต๊ะรู้สึกขัดใจ แต่ให้เหตุผลว่าย้ายด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์

ก่อนย้ายเมืองก็สั่งย้ายขุนนางทั้งสามออกจากตำแหน่ง

ขุนนางอีกสองคน เอียวปีกับเหงาเค่งมาทักท้วงไม่เห็นด้วยกับการย้ายเมืองหลวง ผลก็คือทั้งคู่ถูกสั่งย้ายเช่นกัน

ย้ายหัวออกจากบ่า!

ลิยูเสนอว่า การย้ายเมืองต้องใช้เงิน เงินในท้องพระคลังไม่พอ สมควรไปยึดทรัพย์จากเศรษฐีทั้งหลาย ตั๋งโต๊ะก็ทำตามคำแนะนำ และจับพรรคพวกของอ้วนเสี้ยวทั้งหมด ตั้งข้อหากบฏ ยึดทรัพย์แล้วฆ่าทั้งสิ้น

แล้วสั่งอพยพชาวเมือง 600-700 หมื่นคนไปเมืองใหม่ ราษฏรทุกข์ทั่วหน้า

หลังจากนั้นก็สั่งเผาเมือง



หลังจากประเทศไทยเข้าร่วมวงไพบูลย์กับทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปที่เพชรบูรณ์

คำถามคือ ทำไมต้องย้ายเมืองหลวงไปที่เพชรบูรณ์ หากจะหนีการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เงินทุนที่สร้างเมืองใหม่น่าจะมากกว่าการสร้างระบบป้องกันภัยทิ้งระเบิด ทั้งปืนต่อสู้อากาศยานและหลุมหลบภัยหลายเท่า

มีการวิเคราะห์ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ่านเกมออกว่า ญี่ปุ่นกำลังแพ้ การร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่นอาจจะทำให้ไทยตกเป็นเมืองขึ้นของผู้ชนะ มิเพียง จอมพล ป. จะสูญสิ้นอำนาจทางการเมือง แต่จะถูกจับเป็นอาชญากรสงคราม

ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดคือจับปลาสองมือ ด้านหนึ่งยังคงดำรงพันธมิตรไว้หลวมๆ ด้านหนึ่งเตรียมรบญี่ปุ่น โดยใช้เพชรบูรณ์เป็นฐาน เพื่อจะมีอำนาจต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามเลิก โดยให้เหตุผลว่าการที่ไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดการญี่ปุ่น เกมนี้จะเปลี่ยนภาพจอมพล ป. เป็นวีรบุรุษของชาติอีกครั้ง เพชรบูรณ์ทำหน้าที่เหมือนหมู่บ้านบางระจัน เป็นด่านสุดท้ายที่รบกับญี่ปุ่น

เหตุผลที่เลือกเพชรบูรณ์เพราะเป็นชัยภูมิดี มีจุดยุทธศาสตร์ที่ลงตัว เพราะอยู่ตรงกลางของประเทศ เชื่อมต่อกับภาคเหนือ ภาคอีสาน และกรุงเทพฯ มีภูเขาล้อมรอบ ข้าศึกโจมตียาก ภูมิประเทศของเพชรบูรณ์เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทรงท้องกระทะ มีแนวเขามาก ภูมิประเทศเป็นป่าทึบสูงชัน เช่น เขาค้อ การตรวจการณ์ทางอากาศและการรุกทางพื้นดิน และการทิ้งระเบิดให้ได้ผลทำได้ยาก ตามเทือกเขาต่าง ๆ ของเพชรบูรณ์ก็มีถ้ำมากมาย ใช้เป็นที่หลบซ่อนกองทหารและอาวุธ อีกประการเพชรบูรณ์เป็นพื้นที่การเกษตร ทำให้มีเสบียงรับศึกได้นาน

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่งทหารสำรวจพื้นที่ระยะหนึ่ง แล้วตั้งทีมสร้างเมืองใหม่ ในวันที่ 13 มีนาคม 2486 ก็ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี กดปุ่มเริ่มต้นโครงการนี้

โดยหลักการ การย้ายเมืองหลวงไปที่เพชรบูรณ์ต้องผ่านสภาก่อน แต่จอมพล ป. อาศัยช่วงที่สภาปิดสมัยประชุม ประกาศใช้พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ กำหนดให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นนครบาลเพชรบูรณ์

จอมพล ป. แต่งตั้ง พ.อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม เป็นรองนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลกิจการทั้งหมดที่เพชรบูรณ์ และมอบหมายหน้าที่คุมการสร้างเมืองใหม่ให้เป็นของ พล.ต. อุดมโยธา รัตนวดี ขอบข่ายงานคือกำหนดผังเมืองและอำนวยการสร้าง

ในเดือนเมษายน จอมพล ป. เป็นประธานทำพิธีฝังเสาหลักเมืองที่บ้านบุ่งน้ำเต้า หล่มสัก

งานแรกๆ ที่ทำคือสร้างถนนและทางรถไฟ

พวกเขาระดมแรงงานไปสร้างถนนสายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ และสร้างถนนชัยวิบูรณ์ จากอำเภอชัยบาดาลเชื่อมวิเชียรบุรีกับสายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ที่วังชมภู สร้างถนนชมฐีระเวช จากชนแดนถึงเขารัง ถนนสามัคคีชัยเชื่อมเขารังกับหล่มสัก ฯลฯ นอกจากนี้ก็วางแผนสร้างทางรถไฟจากอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ไปถึงจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย

การก่อสร้างต้องใช้ไฟฟ้า จึงติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้หลายแห่งในเมือง

ครั้นถึงเดือนตุลาคม 2486 ก็ยกระดับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์เป็นเทศบาลนครเพชรบูรณ์ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองหลวงใหม่



การวางผังเมืองใหม่นั้นวางตำแหน่งกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้กระจายทั่วจังหวัด ไม่กระจุกตัวกันอยู่ในเมืองเหมือนผังเมืองกรุงเทพฯ

หน่วยงานราชการสำคัญต่างๆ ที่ถูกย้ายไปที่เพชรบูรณ์ ได้แก่

สำนักนายกรัฐมนตรีและศาลารัฐบาลไปตั้งที่น้ำตกห้วยใหญ่ ใกล้กระทรวงพาณิชย์

สร้างทำเนียบ ‘บ้านสุขใจ’ ติดแม่น้ำป่าสัก เพื่อเป็นที่พักอาศัยของจอมพล ป. พิบูลสงครามและครอบครัว

สร้างทำเนียบ ‘สามัคคีชัย’ ที่เขารัง และทำเนียบที่บ้านน้ำก้อใหญ่

สร้างบ้านบัญชาการสำนักนายกฯที่บริเวณบึงสามพัน

ตั้งกระทรวงการคลังที่ถ้ำฤาษีตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก ขนย้ายพระคลังสมบัติ ทองคำทุนสำรอง ทรัพย์ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไปเก็บไว้ในถ้ำ

สร้างโรงพิมพ์ธนบัตรที่หนองนายั้ง

ตั้งกระทรวงมหาดไทยที่บ้านบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก

ตั้งกระทรวงยุติธรรมที่บ้านห้วยลาน ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก

ตั้งกระทรวงอุตสาหกรรมที่บ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก

ด้านการทหาร ตั้งกระทรวงกลาโหมที่บ้านป่าม่วง ตำบลท่าพล อำเภอเมืองฯ

ย้ายโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. ไปตั้งที่บ้านป่าแดง (โรงเรียนนายร้อยป่าแดง) ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองฯ

ตั้งค่ายทหารพิบูลศักดิ์ที่ตำบลหนองไขว่ อำเภอหล่มสัก

ตั้งกองทัพอากาศที่บ้านสักหลง อำเภอหล่มสัก

นอกจากนี้ก็ย้ายกรมยุทธโยธา คลังแสง โรงงานช่างแสง กรมพลาธิการ กรมยุทธศึกษา กรมเสนาธิการทหารบก กรมเสนารักษ์ทหารบก กรมเชื้อเพลิง ฯลฯ ไปที่เพชรบูรณ์

ตั้งกรมโยธาเทศบาล (กรมโยธาธิการ) ที่บ้านยาวี อำเภอเมืองฯ

สร้างกรมไปรษณีย์ กรมทาง และกรมขนส่ง ที่บ้านท่าพล อำเภอเมืองฯ ปรับปรุงระบบโทรเลขให้ใช้การได้ หากเกิดสงครามที่นี่

ตั้งกระทรวงเกษตรฯที่บ้านน้ำคำ ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก ตั้งกองชลประทาน สร้างทำนบกั้นน้ำ เขื่อนฝายทั่วจังหวัดเพื่อมีแหล่งน้ำใช้พอเพียง ขุดลอกคลองและลำห้วยสายต่างๆ สร้างอ่างเก็บน้ำ

ตั้งกระทรวงศึกษาที่บ้านหนองแส ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก วางแผนย้ายจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยไปที่เพชรบูรณ์ กำหนดให้ตั้งที่บ้านไร่ ตำบลสะเดียง (เวลานั้นนามจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ยังไม่มีการันต์เหนือ ณ)

สั่งย้ายโรงพิมพ์ทุกประเภทไปที่บ้านป่าแดง เพื่อพิมพ์หนังสือราชการ รวมทั้งออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ เพชรบูลชัย



เมืองหลวงใหม่ยังรวมสถานบันเทิง สร้างโรงหนังไทยเพ็ชรบูล สโมสรรัตนโกสินทร์

สร้างตลาดสดสามแห่ง ได้แก่ตลาดเพชรบูรณ์ ตลาดวังชมภู และตลาดหล่มสัก

สร้างโรงแรมในเขตตัวเมือง สำหรับรองรับให้ข้าราชการที่ไปตรวจราชการและนักธุรกิจที่จะไปดูลู่ทางการลงทุน

สร้างโรงพยาบาลที่ร่องแคน้อย ตำบลสะเดียง

นี่ย่อมเป็นงานใหญ่มหึมา และมีเส้นตาย ต้องเสร็จโดยเร็วที่สุด

แต่การสร้างเมืองใหม่ทั้งเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่สำคัฯคือการสร้างผลผลิตและเสบียงไว้รับสงครามด้วย จึงต้องมีคนทำงานเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ทางหนึ่งคือหาคนมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ให้มากที่สุด ทางการจึงหาทางดึงดูดราษฎรจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำมาหากินที่เพชรบูรณ์ โดยจัดสรรที่ดินทำมาหากินให้ ได้ราษฎร จำนวนนับแสนคน มาจากยี่สิบเก้าจังหวัด เรียกว่า คนเกณฑ์

แต่ปัญหาคือเพชรบูรณ์ยังเป็นป่าทึบ เสือชุม ไข้ป่า ทำให้ชาวบ้านและข้าราชการที่ถูกย้ายไปสร้างเมืองใหม่เสียชีวิตไปมาก เพราะความลำบากของงาน การเดินทาง จำนวนมากล้มตายด้วยไข้มาลาเรีย

แม้จะพยายามรักษาเป็นความลับ แต่งานใหญ่ระดับนี้ย่อมไม่พ้นสายตาของกองทัพญี่ปุ่น แต่จอมพล ป. ให้เหตุผลกับพวกญี่ปุ่นว่า กรุงเทพฯถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดต่อเนื่อง หน่วยงานราชการเสียหาย หนัก ทำให้บริหารประเทศไม่ได้ จำเป็นต้องย้ายส่วนราชการไปต่างจังหวัด การย้ายไปที่เพชรบูรณ์ จะป้องกันภัยทางอากาศได้ดีกว่า เพราะล้อมรอบด้วยเทือกเขา

ผ่านไปหนึ่งปีหลังเริ่มโครงการ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 รัฐบาลได้เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้อนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ แต่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลว่า การสร้างเมืองใหม่ทำให้มีคนตายจำนวนมาก เพราะไข้ป่าและอุปสรรคต่างๆ อีกทั้งไม่เห็นประโยชน์ชัดเจน

สี่วันต่อมา หลังจากแพ้โหวตในสภา จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หนึ่งปีถัดมา สงครามโลกยุติ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจับด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม

ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงของการย้ายเมืองหลวงคืออะไร เพชรบูรณ์ก็ไม่เคยได้เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย

เช่นเดียวกับที่เมื่อโจโฉครองอำนาจ ก็ย้ายเมืองหลวงอีกครั้งไปที่ฮูโต๋ //


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:44:31

กินเลี้ยงกลางคมดาบ


เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะแพ้มติในสภาเรื่องขออนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 เป็นพระราชบัญญัติ นายควง อภัยวงศ์ ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

นายควง อภัยวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนผู้ร่วมการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เคยเป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศสรุ่นเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป.

เหตุที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เพราะว่าไม่มีใครกล้าเป็น! อำนาจของจอมพล ป. ยังล้นฟ้า มีความสามารถก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลได้ ก่อนรับตำแหน่งนายกฯ นายควงจึงเดินทางไปพบจอมพล ป. ที่ค่ายทหารจังหวัดลพบุรี เพื่อขอ ‘ไฟเขียว’ และอดีตนายกฯก็ตกลง

นายควงเป็นผู้นำประเทศในช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ฝ่ายไทยต้องรับมือกับทั้งสัมพันธมิตรและญี่ปุ่นที่อาจคิดยึดเมืองไทย เพราะเกรงว่ากลุ่มเสรีไทยอาจร่วมมือกับรัฐบาลลงมือโจมตี

ขบวนการเสรีไทยถือกำเนิดขึ้นในวันที่กองทัพญี่ปุ่นมีข้อตกลงกับรัฐบาลไทย ขอใช้ไทยเป็นทางผ่านไปพม่าและอินเดีย

เมื่อไทยประกาศสงครามโลกกับฝ่ายสัมพันธมิตร บทบาทของขบวนการเสรีไทยก็ทวีความเข้มข้นขึ้น

นายพลนากามูระย่อมรู้การดำรงอยู่ของขบวนการเสรีไทยที่ทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น และรู้ดีด้วยว่าคนในรัฐบาลจำนวนหนึ่งเป็นเสรีไทย

ในช่วงท้ายของสงครามโลก กองทัพญี่ปุ่นเริ่มอ่อนกำลังลง แม่ทัพญี่ปุ่นในไทย นายพลนากามูระรู้ว่าฝ่ายเสรีไทยกำลังรวมพลังกับฝ่ายสัมพันธมิตรปฏิบัติการปลดอาวุธญี่ปุ่น เรียกว่าวันดี-เดย์

เขาไม่รู้ว่าวันดี-เดย์จะเกิดขึ้นเมื่อใด

การจัดการปัญหานี้จึงต้องทำอย่างรอบคอบ เหมือนเล่นหมากรุกสองกระดานพร้อมกัน ด้านหนึ่งเขาต้องทำเป็นไม่รู้เรื่อง ด้านหนึ่งก็ต้องหาทางปราบเสรีไทยให้สิ้นซาก เพราะบทบาทของเสรีไทยเริ่มเย้ยอำนาจญี่ปุ่นถึงหน้าบ้านมากขึ้น

ในต้นปี 2488 เครื่องบินสัมพันธมิตรส่งยาและเครื่องเวชภัณฑ์มาลงที่สนามหลวง เมื่อทหารญี่ปุ่นไปถึง ก็พบว่าเสรีไทยขนของเหล่านั้นไปหมดแล้ว แสดงว่าวางแผนมาอย่างดี

ช่วงนั้นเมื่อนายควงบอกเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า “ผมไม่ค่อยสบาย หนาวๆ ร้อนๆ เหมือนเป็นไข้” เอกอัครราชทูตก็กล่าวเรียบๆ ว่า “ทำไมไม่ใช้ยาที่สัมพันธมิตรมาทิ้งที่สนามหลวงเล่า”

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยก็เหมือนคู่สมรสที่ไม่ได้รักกัน พร้อมหย่ากันทุกเมื่อ แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายญี่ปุ่นยังทิ้งไม่ได้ เพราะต้องใช้ ‘สินสมรส’ จากไทย ญี่ปุ่นกู้เงินจากไปแล้ว 1,500 ล้านบาท ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างมาก แต่ยังมาขอยืมอีกหนึ่งร้อยล้านบาท

หัวหน้าเสรีไทย นายปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘รูธ’ โทรเลขติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตร แจ้งว่าคงยากที่จะไม่ให้ญี่ปุ่นยืมเงิน ฝ่ายสัมพันธมิตรแจ้งกลับมาว่า พยายามตกลงกันที่ห้าสิบล้านบาท และถ่วงเวลาไว้สำหรับวันดี-เดย์



วันดี-เดย์ของศึกเซ็กเพ็กคือเดือนอ้าย แรมห้าค่ำ ปี พ.ศ. 751

ขงเบ้งเป็นตัวแทนฝ่ายเล่าปี่ไปทำหน้าที่สร้างพันธมิตรกับซุนกวนเพื่อต่อกรโจโฉ ได้แสดงความฉลาดให้จิวยี่เห็นหลายครั้ง จนทำให้จิวยี่รู้ดีกว่าขงเบ้งฉลาดกว่าตนหลายเท่า ถ้าไม่กำจัดขงเบ้ง จะเป็นภัยต่อกังตั๋งในอนาคตอย่างแน่นอน

โลซกเตือนจิวยี่ว่า ยังฆ่าขงเบ้งไม่ได้ เพราะกังตั๋งยังต้องพึ่งสมองขงเบ้งจัดการโจโฉ

จิวยี่รู้ดีว่าพันธมิตรเล่าปี่-ซุนกวนเป็นเรื่องชั่วคราว ท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ต้องหันคมอาวุธเข้าหากัน การกำจัดคนเก่งของฝ่ายตรงข้ามแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

เวลานั้นขงเบ้งอยู่ที่กังตั๋ง จิวยี่ได้ข่าวว่าเล่าปี่มาถึงเมืองแฮเค้า จึงส่งคนไปเชิญเล่าปี่มาฝั่งกังตั๋งเพื่อปรึกษายุทธศาสตร์กัน

จิวยี่จัดกำลังทหารมือดีซ่อนอยู่ในที่กินเลี้ยง ตกลงกับทหารว่าจะส่งสัญญาณโดยทิ้งจอกสุราลงพื้น เมื่อนั้นให้กรูออกมาฆ่า

เมื่อเล่าปี่เดินทางทางเรือเล็กมาถึง จิวยี่ถามทหารว่า “พวกเล่าปี่มากันกี่คน?”

ทหารคนสนิทตอบว่า “ประมาณยี่สิบคน”

จิวยี่จึงตกลงเดินหน้าตามแผน

จิวยี่ออกมาต้อนรับเล่าปี่ด้วยตัวเอง พาไปที่กินเลี้ยง ทั้งสุราและอาหาร จิวยี่ชวนเล่าปี่คุยอย่างสนิทสนม

ครั้นเล่าปี่ดื่มสุราจนผ่อนคลาย จิวยี่ก็เตรียมทิ้งจอกสุราลงพื้น



ฝ่ายไทยกับฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมเข่นฆ่ากันได้ทุกเมื่อ สายลับญี่ปุ่นเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญฝ่ายไทยตลอดเวลา แม้แต่นายกรัฐมนตรี คำสั่งจากแม่ทัพญี่ปุ่นคือ หากเกิดเรื่องร้ายหรือเหตุสำคัญใดๆ โดยที่กองบัญชาการทหารสูงสุดญี่ปุ่นไม่รู้ภายในชั่วโมงนั้น เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้รับโทษหนัก

วันหนึ่งนายควงเชิญนายพลนากามูระและเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นไปพบ ถามว่า “ทำไมสารวัตรนอกเครื่องแบบของท่านจึงสะกดรอยตามผมไปไหนมาไหนทั้งกลางวันและกลางคืน พวกท่านไม่ไว้วางใจผมแล้วหรือ หรือสงสัยว่าเราคิดไม่ซื่อกับพวกท่าน?”

นากามูระตอบหน้าซื่อว่า “มีเรื่องเช่นนี้ด้วยหรือ ขอผมกลับไปตรวจสอบเรื่องนี้ก่อน”

ครั้งหนึ่งฝ่ายญี่ปุ่นเชิญทหารไทยจำนวนสี่ร้อยคนไปงานเลี้ยง ตั้งแต่ยศร้อยเอกขึ้นไป ฝ่ายไทยลังเล

วันหนึ่งนายควงเปรยว่า “ผมได้ยินว่าญี่ปุ่นจะปลดอาวุธทหารไทยตริงหรือไม่?”

นายพลนากามูระว่า “ผมก็ได้ยินไทยจะหักหลังญี่ปุ่น”

แล้วหัวเราะกัน

เสือกับสิงห์ย่อมรู้เชิงกัน ไม่วางใจกัน

กองทัพบกไทยย้ายนายกรัฐมนตรีจากบ้านเดิมไปพักที่บ้านอัมพวัน เพื่อจะได้ดูแลความปลอดภัยดีขึ้น ส่วนนากามูระก็สั่งการให้เตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะอยู่ในปากเสือ เหตุร้ายอาจเกิดขึ้น ดี-เดย์อาจเป็นวันใดก็ได้ แต่ห้ามดำเนินการโดยพลการ โทษคือยิงเป้าสถานเดียว

ครั้นแล้ววันหนึ่งในปี พ.ศ. 2488 ฝ่ายทหารไทยก็เชิญนายทหารระดับสูงของญี่ปุ่นไปกินเลี้ยงในวันกองทัพไทย ณ ลานหน้าพระบรมมหาราชวัง

นายพลนากามูระเห็นว่าคำเชิญดูมีพิรุธ ทำไมต้องเชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นทั้งหมด? วันกินเลี้ยงคือวันดี-เดย์ใช่หรือไม่? รัฐบาลไทยกำลังร่วมมือกับเสรีไทยคิดจัดการพวกเขาหรือไม่? จะเกิดเหตุร้ายในคืนนั้นหรือไม่?

ข่าวกรองของญี่ปุ่นบอกว่า อาจเกิด ‘เหตุร้าย’ ในวันดังกล่าว

แต่เขาก็ต้องไป

นายพลนากามูระบอกนายพลจียิ เซลิน ว่า “เราต้องสมมุติว่ามันอาจเกิดขึ้น เพื่อความไม่ประมาท ภายในสามชั่วโมงนี้เราจะไปตามคำเชิญ แต่คุณต้องอยู่ประจำในห้องยุทธการ หากมีเหตุร้าย จงออกคำสั่งในนามของผม ให้ทหารของเราออกปฏิบัติการ”

คำสั่งให้เตรียมพร้อมถูกส่งไปตามหน่วยทหารต่างๆ เตรียมพร้อมรับเหตุร้าย

ครั้นตอนค่ำทหารญี่ปุ่นสองร้อยกว่านายไปงานเลี้ยงวันกองทัพไทย ส่วนนายพลจียิ เซลิน ก็ประจำในห้องยุทธการ รอคอยอย่างกระวนกระวายใจและอดทน

จนเที่ยงคืนแล้ว ทหารก็ยังไม่กลับมาที่ค่าย จียิ เซลิน เริ่มกระสับกระส่าย เกิดเหตุร้ายใดหรือไม่? ทหารญี่ปุ่นถูกฆ่าหรือ? สถานการณ์ในคืนงานเลี้ยงตึงเครียดขีดสุด



จิวยี่กำลังจะทิ้งจอกสุราบนพื้น พลันสายตาเหลือบเห็นทหารคนหนึ่งจ้องมองเขาเขม็ง ทหารผู้นั้นรูปร่างสูงใหญ่ไว้หนวดเครา จึงถามเล่าปี่ว่า “ทหารของท่านคนนี้ท่าทางองอาจน่าเกรงขาม มีนามว่ากระไร?”

เล่าปี่ตอบว่า “กวนอู”

จิวยี่สะดุ้ง

“ใช่ผู้ที่ฆ่างันเหลียงกับบุนทิวหรือไม่?”

“ใช่แล้ว เขาเป็นน้องร่วมสาบานของข้าฯเอง”

จิวยี่ฝืนยิ้ม รีบรินสุราให้กวนอู มิกล้าทิ้งจอกเหล้าลงบนพื้น

ผู้ใดที่ฆ่างันเหลียงกับบุนทิวอย่างง่ายดายราวพลิกฝ่ามือย่อมสามารถกวาดล้างพวกเขาในห้องนี้ได้ทั้งหมด

แผนการฆ่าเล่าปี่จำเป็นต้องเลื่อนออกไป



นายพลจียิ เซลิน รอคอยในห้องยุทธการอย่างอดทน ตีหนึ่งผ่านไป นายพลนากามูระและกองทหารก็ยังไม่กลับมา

จนถึงเวลาตีสองคืนนั้น นากามูระและนายทหารทั้งหมดก็กลับมาอย่างปลอดภัย

นายพลนากามูระเล่าให้นายพลจียิ เซลิน ฟังว่า “เสนาธิการฝ่ายไทยถามถึงคุณว่า ทำไมคุณไม่มาร่วมงาน ผมก็ตอบไปตามตรงว่า คุณประจำอยู่ห้องยุทธการ เสนาธิการไทยว่า จะเกิดเหตุร้ายในคืนนี้หรือ ผมก็ตอบเลี่ยงว่า เราไม่แน่ใจ อาจมีพลร่มของอังกฤษและอเมริกามาลง จึงเตรียมพร้อมไว้”

เป็นคืนที่ทั้งนายพลจียิ เซลิน และนายพลนากามูระรู้สึกใกล้ชิดความตายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต



งานเลี้ยงเลิกรา เล่าปี่กับกวนอูออกมาลงเรือ พบขงเบ้งรออยู่ที่ท่าเรือ ขงเบ้งบอกว่า “รู้หรือไม่ว่าวันนี้ท่านเกือบตาย หากมิใช่เพราะกวนอูมาด้วย วันนี้ท่านเดินไปเข้าปากเสือเสียเอง”

เล่าปี่จึงบอกว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านจงกลับไปด้วยกับเรา”

ขงเบ้งกล่าวว่า “ข้าฯยังมีงานต้องสะสางก่อน จะกลับเกงจิ๋วในคืนแรมห้าค่ำ จงให้จูล่งนำเรือลำมารับข้าพเจ้าที่ฝั่งแม่น้ำคืนนั้น”

“ทำไมต้องเป็นคืนนั้น?”

“เพราะคืนนั้นจะเกิดลมตะวันออก”

ว่าแล้วขงเบ้งก็ก้าวกลับเข้าไปอยู่ในปากเสือต่อไป



ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นไม่ได้รบพุ่งกันจนสิ้นสงคราม

ในเดือนสิงหาคม 2488 ‘ลมตะวันออก’ แห่งระเบิดปรมาณูพัดแรงไปที่แผ่นดินแม่ญี่ปุ่น ยุติสงครามที่ดำเนินมาหกปี


-----------------------------------------------


ชิงใจมวลชน


แม่ทัพใหญ่โจโฉชักกระบี่ขึ้นเชือดคอตนเอง...

ในปี พ.ศ. 741 หลังจากอ้วนสุดได้รับตราหยกของแผ่นดิน ก็ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ โจโฉจึงระดมทัพของตนกับซุนเซ็ก เล่าปี่ ลิโป้ บุกโจมตีอ้วนสุดพร้อมกันสี่แนวรบ อ้วนสุดสั่งให้โลหองคุมทหารสิบหมื่นรักษาเมืองลำหยง ตนเองย้ายไปอยู่ที่เมืองห้วยหนำ

กองทัพของโจโฉผ่านเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ชาวบ้านได้ข่าวสงคราม ก็พากันทิ้งไร่นาหนีไป

ที่ปรึกษากุยแกแนะนำให้โจโฉซื้อใจชาวบ้าน เพราะทุกครั้งที่เกิดสงคราม ชาวบ้านเดือดร้อนเสมอ

เป็นที่มาของคำสั่งห้ามทหารเบียดเบียนชาวบ้านโดยเด็ดขาด ห้ามกองทหารเหยียบพืชผลของชาวไร่ชาวนา แม้แต่ต้นข้าวเพียงหนึ่งต้น หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษถึงขั้นประหาร โจโฉสั่งให้ป่าวประกาศให้ชาวไร่ชาวนากลับคืนสู่ภูมิลำเนา บอกว่าจะไม่ทำอันตรายใดๆ ชาวบ้านรู้ ก็กลับมา และสรรเสริญโจโฉ

กองทัพโจโฉเมื่อผ่านไร่นา ก็ระวังอย่างยิ่ง จูงม้าเดินไปช้าๆ ไม่ให้ทำลายต้นข้าว ทำให้ได้ใจชาวบ้าน

วันหนึ่งขณะโจโฉขี่ม้าเลาะไปตามไร่นา ฝูงนกทำให้ม้าตื่น ตรงเข้าไปเหยียบไร่พืชผลชาวบ้านเสียหาย

โจโฉจึงชักกระบี่ขึ้นมา ประกาศว่าในเมื่อตนทำผิด ก็สมควรรับโทษถึงตายเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ว่าแล้วก็ทำท่าใช้กระบี่เชือดคอตนเอง บรรดาทหารและที่ปรึกษาก็ตรงเข้าห้าม

ที่ปรึกษากุยแกกล่าวว่า “ท่านมหาอุปราชทำการเช่นนี้ย่อมถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แต่หากท่านตายไป ทหารและชาวบ้านทั้งลายจะเดือดร้อน และบ้านเมืองจะเกิดกลียุค”

โจโฉทำท่าถอนใจยาว และยอมอย่างเสียมิได้ กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นก็ขอประหารตนในเชิงสัญลักษณ์

ว่าแล้วก็ใช้กระบี่ตัดผมตนออกมา

ทหารก็บอกต่อกันว่า ท่านมหาอุปราชเป็นชาติทหารโดยแท้ ทำผิดก็ลงโทษตนเอง บรรดาทหารก็นับถือเจ้านายมากขึ้น ประชาชนได้ยินเรื่องนี้ ก็พากันสรรเสริญความเที่ยงธรรมของโจโฉ

ซื้อใจมวลชนได้เท่ากับชนะศึกไปแล้วครั้งหนึ่ง



ในปี พ.ศ. 756 หลังจากบังทองตายขณะพยายามบุกเสฉวน หน้าที่บัญชาการรบก็ตกเป็นของขงเบ้ง

แต่ขงเบ้งไม่ใช้ยุทธศาสตร์รบพุ่งฆ่าฟัน หากคือการชิงใจมวลชน สร้างมิตรกับชาวเสฉวน แล้วใช้ฐานเสียงนี้ชิงเมือง

ขงเบ้งสั่งกองทัพว่า เมื่อรุกเข้าสู่เสฉวน ให้หลีกเลี่ยงการทำลายทั้งชีวิตและบ้านเรือน ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษอย่างหนัก

ขงเบ้งแบ่งทัพเป็นหลายส่วน ทัพของเตียวหุยหนึ่งหมื่นคน ทัพของจูล่งหนึ่งหมื่นคน ทัพของขงเบ้งหนึ่งหมื่นห้าพันคน และทัพของเล่าปี่ ตีเมืองลกเสียกับหัวเมืองต่างๆ แต่ทุกทัพต้องทำตามนโยบาย ‘ชิงใจประชาชน’

สั่งให้ทหารทุกคนห้ามทำร้ายราษฎรโดยเด็ดขาด ห้ามแย่งชิงปล้นสะดมบ้านเมือง โดยเฉพาะเตียงหุย ต้องเลิกดื่มสุรา เตียวหุยก็รับคำ

กองทัพเล่าปี่ดำเนินนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด บุกไปเมืองใด ก็ผูกใจคนที่นั่น ส่งผลให้หลายเมืองยอมแพ้ ไม่คิดสู้ เพราะรู้ว่าชาวเมืองจะปลอดภัย

การรุกเสฉวนประสบความสำเร็จ

ซื้อใจมวลชนได้เท่ากับชนะศึกไปแล้วครั้งหนึ่ง



กองทัพญี่ปุ่นรุกเข้าแผ่นดินไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 หลังจากเจรจาตกลงกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ ก็ตั้งฐานทัพในไทย แต่ทหารญี่ปุ่นไม่ได้ใจชาวบ้าน

ในปี 2485 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เกิดคดีชาวบ้านคนไทยกลุ่มหนึ่งยกกำลังไปบุกทหารญี่ปุ่นของหน่วยงานก่อสร้างทางรถไฟตอนกลางคืน ฆ่านายทหารญี่ปุ่นหลายคน

คนไทยจำนวนหนึ่งถูกจับ หัวหน้าผู้ชักนำเป็นพระ กองทัพญี่ปุ่นเรียกร้องให้ฝ่ายไทยประหารชีวิตผู้ชักนำ และลงโทษคนอื่นอย่างหนัก และให้จ่ายค่าชดเชยแปดหมื่นบาท

ฝ่ายไทยบอกว่า การประหารชีวิตพระสงฆ์ไม่อาจกระทำได้ โดยเด็ดขาด เรื่องอื่นๆ ยอมรับได้

วันที่ 21 มกราคม 2486 พล.ท. อาเคโตะ นากามูระเดินทางมารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประจำประเทศไทย หน้าที่หนึ่งของเขาคือแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้

อัน พล.ท. นากามูระเป็นนายทหารที่มีความรู้ตะวันตก หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่เยอรมนี

เมื่อกลับญี่ปุ่น เขาเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น แล้วถูกส่งไปประจำการที่แมนจูเรีย ต่อมารับตำแหน่งอธิบดีกรมกิจการทหาร และกรมยุทธการทหาร เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกส่งไปเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 5 บุกอินโดจีนฝรั่งเศสที่ครอบครอง ปีถัดมาก็รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลประจำนะโงะยะ และผู้บัญชาการกรมสารวัตรทหาร

หลังจากนั้นก็ถูกส่งมาเมืองไทย เป็นแม่ทัพงิ บังคับบัญชากองทัพญี่ปุ่นกว่าแสนคนในไทย

พล.ท. นากามูระเป็นคนมีเมตตา มีขันติธรรมสูง เขารู้ดีว่า ปฏิบัติการของทัพญี่ปุ่นในไทยจะมีอุปสรรคหากยังมีความบาดหมางระหว่างทหารกับคนในพื้นที่ จำเป็นต้องคลี่คลายความขัดแย้งโดยเร็ว

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวบ้านและทหารญี่ปุ่นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หากไม่คลี่คลาย จะส่งผลกระทบ มิเพียงทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่นเสื่อมลง แต่จะทำให้การปฏิบัติงานในไทยยากขึ้น เพราะอาจเกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่

จากการสอบสวน พบว่าการฆ่าทหารญี่ปุ่นมีเหตุที่มาจากทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งตบหน้าสามเณร คนไทยโกรธแค้น ก็ยกพวกไปฆ่าทหารญี่ปุ่น

นายดิเรก ชัยนาม เอกอัครราชทูตไทยประจำจักรวรรดิญี่ปุ่น เข้าพบ พล.ท. นากามูระ อธิบายว่าคนไทยถือเรื่องการถูกตบหน้าและตบหัวคนไทยเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรี แม้ว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่ถือสาเรื่องนี้

อีกประการหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นมีพฤติกรรมที่ทำให้คนไทยรังเกียจ เช่น เปลือยกายในที่สาธารณะ ยืนปัสสาวะข้างทาง ทำให้คนไทยรู้สึกว่าทหารญี่ปุ่นดูหมิ่นเจ้าของบ้าน ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างทหารญี่ปุ่นและคนไทย จนถึงกรณีตบหน้าสามเณร เป็นฟางเส้นสุดท้าย

และกล่าวว่าการประหารหัวหน้าผู้ก่อการที่เป็นภิกษุกระทำไม่ได้โดยเด็ดขาด จะสร้างศึกใหม่ทันที คนในพื้นที่จะเป็นศัตรูต่อกองทัพญี่ปุ่น

พล.ท. นากามูระจึงแจ้งไปที่กองบัญชาการใหญ่ เสนอให้เลิกประหารชีวิตพระ ให้ฝ่ายไทยเป็นผู้ลงโทษตามสมควร และฝ่ายไทยตกลงจ่ายค่าชดใช้ให้ทหารญี่ปุ่นที่ถูกคนไทยฆ่า พล.ท. นากามูระเสนอให้นำเงินแปดหมื่นบาทคืนให้ไทยเพื่อนำไปให้กับครอบครัวคนไทยที่เสียชีวิตครั้งปะทะกับทัพญี่ปุ่นตอนบุกไทย

กองบัญชาการใหญ่ตกลง

ต่อมารัฐบาลไทยก็มอบเครื่องราชฯให้ทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในเหตุการณ์บ้านโป่ง

พล.ท. นากามูระสั่งทำคู่มือเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยแจกทหารญี่ปุ่นทุกคนที่มาประจำการในไทย ห้ามการตบหน้าตบหัวชาวบ้าน ห้ามการเปลือยกายในที่สาธารณะ ฯลฯ ภายในไม่กี่เดือน การตบหน้าและพฤติกรรมที่คนไทยรับไม่ได้ก็หมดไป



นากามูระเป็นแม่ทัพงิอยู่ในเมืองไทยสามปีสามเดือน สงครามโลกครั้งที่สองก็ยุติในปี 2488 เมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูก ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข พล.ท. นากามูระถูกจับกุม ถูกขังอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวางช่วงหนึ่ง จนวันที่ 31 มีนาคม 2489 ก็ถูกส่งไปดำเนินคดีอาชญากรสงครามที่โตเกียว

หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม กองทัพวางาวุธ นากามูระกลัวคนไทยจะเอาคืน แต่ตรงกันข้าม คนไทยมีเมตตาต้องนักโทษสงคราม นานปีหลัง เขาเขียนในหนังสือว่า คนไทยเห็นใจคนญี่ปุ่นที่แพ้สงคราม และปฏิบัติต่อเชลยสงครามอย่างดี คนไทยหยิบยื่นกล้วยน้ำว้าให้ทหารญี่ปุ่นกิน ให้ดื่มน้ำ

นากามูระเป็นหนึ่งในนายพลระดับสูงไม่กี่คนที่รอดโทษประหาร ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 12 กันยายน 2489

ด้วยความประทับใจในไมตรีของคนไทย อดีตแม่ทัพผู้นี้เดินทางมาเยี่ยมประเทศไทยอีก เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

หากนากามูระแก้ปัญหาคดีบ้านโป่งด้วยความรุนแรง ประวัติศาสตร์ท่อนนี้ของเมืองไทยอาจจบอีกแบบหนึ่ง


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:45:56

ตัดแขนตัวเอง

หลังจากสุมาอี้ถูกพิษการเมืองปลดจากตำแหน่งแม่ทัพ ก็กลับไปใช้ชีวิตชาวบ้านที่เมืองอ้วนเสีย เฝ้ามองความเป็นไปของแผ่นดินอย่างเงียบๆ มองดูกองทัพวุยพ่ายแพ้ต่อขงเบ้งครั้งแล้วครั้งเล่า

กองทัพของขงเบ้งรุกคืบสู่เมืองลกเอี๋ยงอย่างรัดกุม โดยรวมกองทัพจากซงหยง ซินเสีย และกิมเสีย และใช้กำลังส่วนหนึ่งจากเบ้งตัด กองทัพวุยก๊กถูกตีร่นไป ความพ่ายแพ้ต่อเนื่องทำให้พระเจ้าโจยอยทรงต้องเรียกตัวสุมาอี้กลับมาคุมกองทัพ คืนอำนาจในกองทัพให้จิ้งจอกตระกูลสุมา

ขงเบ้งได้ยินข่าวแต่งตั้งสุมาอี้กลับคืนตำแหน่งแม่ทัพก็ตกใจ ขุนนางม้าเจ๊กถามว่า ไยท่านจึงกังวล เรามีกำลังมากพอชนะ ขงเบ้งตอบว่าสุมาอี้เป็นนักการทหารชั้นยอด เบ้งตัดไม่อาจต่อกรด้วย

ขงเบ้งส่งหนังสือไปเตือนเบ้งตัด เบ้งตัดได้รับหนังสือแล้วหัวเราะ ไม่สนใจคำเตือน เพราะเชื่อมั่นในกำลังของตน อีกทั้งได้ซินหงีเจ้าเมืองกิมเสีย กับซินต่ำเจ้าเมืองซินเสีย มาเป็นพันธมิตร

สุมาอี้ยกทัพไปล้อมเมืองซงหยง เบ้งตัดไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เมื่อเห็นซินหงีกับซินต่ำยกทัพมา ก็นึกเบาใจที่มีกองทัพมาช่วย สั่งให้เปิดประตูเมืองรับเพื่อนพันธมิตรทั้งสอง

กองทหารของซินหงีกับซินต่ำเข้าเมืองแล้ว ก็บุกเข้าสังหารเบ้งตัด เปิดประตูเมืองให้ทัพสุมาอี้เข้าไป

ที่แท้สุมาอี้ซื้อตัวเจ้าเมืองทั้งสองแล้ว

หลังจากเบ้งตัดเสียเมือง ขงเบ้งก็รู้ว่าแผนบุกลกเอี๋ยงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญตอนนี้คือตำบลเกเต๋ง ฝ่ายใดยึดครองเกเต๋งได้ มีโอกาสสูงจะชนะศึกครั้งนี้ ปัญหาคือเกเต๋งเป็นตำบลเป็นพื้นที่เปิด ไม่มีกำแพงเมือง ป้องกันรักษายาก

ม้าเจ๊กขออาสาไปทำศึกที่เกเต๋ง แต่ขงเบ้งไม่แน่ใจว่าม้าเจ๊กทำการนี้ได้ ม้าเจ๊กยืนยันว่าตนทำได้แน่นอน แล้วทำหนังสือทัณฑ์บนว่า หากทำการไม่สำเร็จ ให้ประหารตนและครอบครัว

ขงเบ้งจึงตกลงให้ม้าเจ๊กเป็นแม่ทัพใหญ่ อองเป๋งเป็นรองแม่ทัพ ยกกำลังสองหมื่นห้าพันคนไปยึดเกงเต๋ง

อาทิตย์ดวงใหม่เริ่มฉายแสงแรกในวงการเมืองเสฉวนแล้ว



ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งที่จัดว่าสกปรกที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่ทำให้พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก และตั้งรัฐบาล ประชาชนจำนวนมากเดินขบวนประท้วงมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง

รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งให้ พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าคุมสถานการณ์ กองพันทหารราบที่ 1 เผชิญหน้าคลื่นประชาชนที่บริเวณสะพานมัฆวาน พล.อ. สฤษดิ์ห้ามทหารทำอันตรายประชาชนโดยเด็ดขาด ทั้งยังนำประชาชนไปพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบ

ในหน่วยทหารที่เผชิญหน้าประชาชน มีทหารหนุ่มผู้หนึ่งนาม ร.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ. ร้อยอาวุธหนัก นายทหารวัยสามสิบเอ็ดผู้นี้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร โรงเรียนเดียวกับ ชวลิต ยงใจยุทธ (อายุมากกว่า ชวลิต ยงใจยุทธ เจ็ดปี) เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารบกรุ่นที่ 5 (จปร. 5) รุ่นเดียวกับ เทียนชัย ศิริสัมพันธ์,  บรรจบ บุนนาค, ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ที่ต่อมาทั้งหมดเป็นนายพล

ร.อ. อาทิตย์สั่งให้ทหารถอดกระสุนออกจากรังเพลิง ป้องกันความสูญเสียชีวิตของประชาชน ได้ใจประชาชนเต็มๆ

ทหารกลุ่มนี้ได้รับฉายาจากประชาชนว่า ‘วีรบุรุษมัฆวานฯ’

อาทิตย์ดวงใหม่เริ่มฉายแสงแรกในวงการเมืองไทยแล้ว



ม้าเจ๊กยกกองทัพไปถึงตำบลเกเต๋ง สั่งให้ซุ่มกองทหารบนเขา อองเป๋งแสดงความไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า หากทัพสุมาอี้ล้อมไว้ไม่ให้เข้าถึงแหล่งน้ำ ทหารจะขาดน้ำ อีกประการ พื้นที่นี้เป็นป่าแห้ง หากทัพสุมาอี้จุดไฟป่าคลอก ก็อาจสูญสิ้นทั้งกองทัพ

ม้าเจ๊กไม่ฟังอองเป๋ง เพราะเห็นว่าอองเป๋งเป็นทหารที่ไต่เต้าขึ้นมาจากทหารเลว ชาติกำเนิดต่ำต้อย อ่านหนังสือออกเพียงไม่กี่ตัว แม้จะกล้าหาญ เคยร่วมทัพกับขงเบ้งครั้งทำศึกเบ้งเฮ็กที่ยูนนาน แต่ในด้านพิชัยสงคราม ม้าเจ๊กเชื่อว่าตนเชี่ยวชาญกว่า

อองเป๋งรู้ว่าตนไม่สามารถเปลี่ยนใจม้าเจ๊ก จึงขอทหารครึ่งหนึ่งตั้งค่ายทางทิศใต้เผื่อไว้ ม้าเจ๊กยินยอม


สุมาอี้ยกทัพถึงเกเต๋ง เฝ้ามองการจัดทัพของข้าศึก สั่งให้ล้อมเขา ปิดทางทหารม้าเจ๊กไปยังแหล่งน้ำ ให้อดน้ำ ตัดขาดการเชื่อมกับทัพของอองเป๋ง

ม้าเจ๊กยกกำลังทหารบุกฝ่ายสุมาอี้ที่เชิงเขา แต่ไม่สำเร็จ ต้องถอยร่นกลับขึ้นเขา อองเป๋งเห็นทหารม้าเจ๊กถูกล้อม ยกกำลังไปช่วย แต่ไม่สามารถฝ่าด่านทหารสุมาอี้ไปได้

ทหารของม้าเจ๊กขาดน้ำไม่กี่วันก็หมดแรง บ้างหนีทัพไปมอบตัวต่อทัพสุมาอี้ เมื่อนั้นสุมาอี้จึงสั่งให้ทหารจุดไฟ

เพลิงเผาป่าแห้งลุกลามขึ้นไปบนเขา ทหารม้าเจ๊กแตกตื่นลงมา ถูกฆ่าตายไปมาก ม้าเจ๊กกับทหารกลุ่มหนึ่งตีฝ่าหาทางหนี

สุมาอี้ก็เปิดทางให้ม้าเจ๊กหนีไปในทิศที่ขุนศึกเตียวคับวางกับดักรออยู่ ทว่าโชคดีที่ขุนศึกอุยเอี๋ยนยกกำลังทหารมาช่วย แต่ถูกกำลังทัพของสุมาอี้และสุมาเจียวเข้าล้อม ยามนั้นอองเป๋งยกกำลังทหารทะลวงเข้าไปช่วยออกมาสำเร็จ ทั้งหมดหนีไปตั้งหลักที่เมืองหลิวเซีย

ขงเบ้งรู้ข่าวทัพม้าเจ๊กแตก ก็เชื่อว่าสุมาอี้จะยกกำลังมายึดเสบียงที่เมืองเสเสีย จึงสั่งทิ้งสามเมืองคือ เทียนซุย ลำอั๋น ซินเสีย ให้ทหารถอยทัพ ขนเสบียงกลับเมืองฮันต๋ง

ฝ่ายขงเบ้งรับหน้าที่ขนเสบียงจากเมืองซินเสีย กำลังทหารทำงานอย่างเร่งด่วน เขาเชื่อว่ายังพอมีเวลาขนเสบียงแล้วหนี

ทว่าสุมาอี้วางแผนเหนือชั้น ยกกำลังมาประชิดซินเสียรวดเร็วราวสายฟ้าโดยที่ขงเบ้งหนีไม่ทันและไร้กำลังทัพต้าน

ขงเบ้งสั่งให้ทหารรื้อธงบนกำแพงเมืองทั้งหมดออกไป เปิดประตูเมืองไว้ทั้งสี่ จัดชาวบ้านไปกวาดพื้นทุกประตู ประตูละยี่สิบคน ให้ทุกคนเงียบสนิท ห้ามพูดจาใดๆ จัดหาเด็กสองคน แต่งกายด้วยชุดสะอาด คนหนึ่งถือกระบี่ คนหนึ่งถือแส้ ตั้งพิณและกระถางธูปขนาดใหญ่บนเชิงเทินหน้าประตูกำแพงเมือง แล้วจุดธูป ตนเองเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ นั่งบนเชิงเทิน เด็กทั้งสองยืนคนละข้างของขงเบ้ง

แล้วดีดพิณรอสุมาอี้



ในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน 2524 เกิดรัฐประหารที่เรียกว่า ‘กบฏเมษาฮาวาย’ หรือกบฏยังเติร์ก เป็นความพยายามโค่นรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ หัวหน้าคณะคือ พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้ร่วมก่อการเป็นนายทหาร จปร. รุ่น 7 หรือกลุ่มยังเติร์ก ได้แก่ พ.อ. มนูญ รูปขจร, พ.อ. ชูพงศ์ มัทวพันธุ์, พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร, พ.อ. ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล, พ.อ. แสงศักดิ์ มงคละสิริ, พ.อ. บวร งามเกษม, พ.อ. สาคร กิจวิริยะ, พ.ท. พัลลภ ปิ่นมณี

กลุ่มยังเติร์กเคยมีผลงาน ‘ยึดอำนาจ’ ในปี 2520 หนุน พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นกลุ่มเดียวกับที่บีบให้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ลาออกกลางสภา และหนุน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2523

รัฐประหารเริ่มเมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 2 เมษายน โดยใช้กำลังทหารถึง 42 กองพัน ถือว่าเป็นรัฐประหารที่เคลื่อนพลจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คณะก่อการจับตัว พล.อ. เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.ท. หาญ ลีนานนท์, พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ และพล.ต. วิชาติ ลายถมยา ไปที่หอประชุมกองทัพบก ขณะที่กำลังทหารยึดจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ

ผู้ก่อการออกแถลงการณ์ เนื้อหาคือสถานการณ์ของประเทศระส่ำระส่าย ความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ การปกครองแบบ ‘เผด็จการ’ เพื่อความอยู่รอดของประเทศ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจ

คณะรัฐประหารประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ถอดถอนคณะรัฐมนตรี

รัฐบาลส่งเครื่องบินเอฟ-5 อี บินสังเกตการณ์ และเคลื่อนกำลังพลบางส่วน ทหารสองฝ่ายปะทะกัน ทหารฝ่ายรัฐประหารเสียชีวิตหนึ่งนาย บาดเจ็บหนึ่งนาย รวมทั้งพลเรือนลูกหลงเสียชีวิตหนึ่งคน บาดเจ็บหนึ่งคน

พล.อ. เปรมแก้เกมโดยทิ้งเมืองหลวง ไปตั้งกองบัญชาการต้านกบฏที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี นครราชสีมา โดยมี พล.ต. อาทิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นกำลังสำคัญ

เผชิญสถานการณ์อย่างใจเย็น

ครั้นเช้าวันที่ 3 เมษายน ฝ่ายรัฐประหารก็ยอมแพ้ แกนนำฝ่ายผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะ หนีไปประเทศพม่า พ.อ. มนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่เยอรมนี ทหารที่เหลือ 155 คนมอบตัว



กองทัพสุมาอี้ประชิดเมือง พบว่าบนเชิงเทิน มหาอุปราชขงเบ้งกำลังดีดพิณอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว เสียงพิณพลิ้วไหวอ้อยอิ่ง

ทหารฝ่ายวุยก๊กรอคำสั่งสุมาอี้ว่าจะจู่โจมเข้าไปหรือไม่

ทว่าแม่ทัพวุยก๊กกลับยืนนิ่ง ฟังขงเบ้งดีดพิณ

หลังจากนั้นก็สั่งให้ยกกำลังกลับ

ขงเบ้งเผชิญหน้ากับสุมาอี้โดยไม่มีกำลังทหาร ใช้จิตวิทยาขั้นสูงกับสุมาอี้

อุบายเมืองร้างทำให้ขงเบ้งรอดตายมาได้หวุดหวิด



อุบาย ‘เมืองหลวงร้าง’ ของ พล.อ. เปรมลุล่วง ปราบกบฏจนได้ชัยชนะ

พล.ต. อาทิตย์ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ. เปรม ได้เลื่อนยศเป็นพลโท รับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และต่อมาเลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

ชาวบ้านเรียกเขาว่า ‘บิ๊กซัน’

ในวันที่ 1 ตุลาคม 2525 บิ๊กซัน ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ พล.อ. ประยุทธ จารุมณี เกษียณอายุราชการ และปีถัดมาเมื่อ พล.อ. สายหยุด เกิดผล เกษียณ ก็ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย

เป็นมือขวาที่ พล.อ. เปรมวางใจ

อาทิตย์เต็มดวงขึ้นฟ้าแล้ว!

ในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ฟ้าผ่าฟาดเปรี้ยงบนแผ่นดินไทย เมื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศลดค่าเงินบาท 14.8% จาก 23 บาท เป็น 27 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่มีใครรู้ระแคะระคายมาก่อน

ฟ้าผ่าใหญ่อีกครั้งเมื่อ พล.อ. อาทิตย์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง ว่าการลดค่าเงินบาทครั้งนี้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

เป็นครั้งแรกที่นายทหารระดับสูงสุดในกองทัพวิจารณ์นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

แต่บนเชิงเทินของรัฐบาล ไร้ปฏิกิริยาใดๆ มีแต่ ‘เสียงพิณ’ พลิ้วไหวอ้อยอิ่ง



ฝ่ายขงเบ้งเมื่อรอดตายจากอุบายเมืองร้าง ก็เดินทางกลับถึงฮันต๋ง สอบถามจูล่ง เตงจี๋ และอองเป๋งอย่างละเอียดจนได้ความทั้งหมด หลังจากนั้นก็ตามม้าเจ๊กมาชำระความต่อหน้าเหล่าขุนนาง

ขงเบ้งบอกม้าเจ๊กว่า “ความอวดฉลาดไม่ฟังเสียงใคร ทำให้กองทัพพินาศ ตามโทษแห่งพระอัยการศึกคือประหารชีวิต เราจำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ท่านจงอย่าถือความใดเลย สำหรับชีวิตบุตรกับภรรยาท่านนั้น เราจะเว้นให้ และจะดูแลครอบครัวท่านต่อไป”

ว่าแล้วก็สั่งให้นำม๊าเจ๊กไปประหารชีวิต

ขุนนางเจียวอ้วนขอชีวิตม้าเจ๊ก บอกขงเบ้งว่า แม้ม้าเจ๊กทำผิดพลาด มีโทษถึงตาย แต่การฆ่าทหารเอกเท่ากับตัดแขนตนเอง ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ย่อมไม่เหมาะ

ขงเบ้งกล่าวว่า “ข้าฯมิต้องการประหารม้าเจ๊ก เพราะเป็นผู้ที่ตนรักเสมือนน้องชาย คำสั่งประหารมิใช่เพราะความโกรธ แต่เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของพระอัยการศึก”

บนเวทีอำนาจ ทุกตัวแสดงมีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง บางครั้งแม้ต้องตัดแขนตัดขาตัวเอง ก็ต้องทำ



ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ฟ้าผ่าฟาดเปรี้ยงบนแผ่นดินไทยเป็นครั้งที่สาม พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ สั่งปลด พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก และแต่งตั้ง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

การเมืองไทยร้อนระอุขึ้นมาทันที หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวตัวโตบนหน้าหนึ่ง บทสนทนาของประชาชนในช่วงนั้นคือ จะเกิดสงครามกลางเมืองหรือไม่

ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ชายชาติทหารอดีตวีรบุรุษมัฆวานฯยอมรับคำสั่งปลดด้วยดี

บนเวทีอำนาจ ทุกตัวแสดงมีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง บางครั้งแม้ต้องตัดแขนตัดขาตัวเอง ก็ต้องทำ


หมายเหตุ 1 คณะรัฐประหาร ‘เมษาฮาวาย’ ได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล คณะนายทหารยังเติร์กได้รับการคืนยศทางทหาร และนำธูปเทียนไปขอขมา พล.อ. เปรมที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ ในวันที่ 22 มิถุนายน 2524

สี่ปีต่อมา พ.อ. มนูญ รูปขจร ได้ร่วมก่อรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือ ‘กบฏ 9 กันยา’ แต่ไม่สำเร็จ ต้องหลบหนีอีกครั้ง


หมายเหตุ 2 : หลังจากยุติบทบาทราชการทหาร พล.อ. อาทิตย์เข้าสู่การเมือง ก่อตั้งพรรคปวงชนชาวไทย สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีพาว่าที่รัฐมนตรีเดินทางไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกจี้โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ. สุจินดา คราประยูร

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคชาติพัฒนา พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค

ในปี พ.ศ. 2543 พล.อ. อาทิตย์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเลย หลังจากนั้นก็ลดบทบาททางการเมืองลง

พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 อายุ 89 ปี


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:47:30

จำใจยึดอำนาจ


หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2531 เกิดฟ้าผ่าใหญ่ในเมืองไทย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ‘คนนอก’ สมัยที่ 4 กล่าวว่า “ผมพอแล้ว”

คำพูดสั้นๆ ประโยคนี้ปลดปล่อยบ้านเมืองเป็นอิสระจากระบอบประชาธิปไตย ‘ครึ่งใบ’

ฉากการเมืองเปลี่ยนไปทันที ตัวละครการเมืองเริ่มบทบาทใหม่

พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ขึ้นสู่อำนาจโดยไม่คาดฝัน ครองอำนาจตามวิถีประชาธิปไตย ‘เต็มใบ’ ด้วยนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟู ทุกปัญหาแก้ได้ ตอกย้ำด้วยสโลแกน ‘No Problem’

ตัวเลขจีดีพีพุ่งขึ้นเป็นสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี ทุกคนพูดถึงเรื่องไทยกำลังจะเป็น ‘เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย’ เคียงบ่าเคียงไหล่กับเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน ทว่าในความจริง มันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคฟองสบู่ ในยุคเผด็จการรัฐสภา และ ‘บุฟเฟต์ คาบิเนต’ (cabinet แปลว่าคณะรัฐมนตรี)



‘คาบิเนต’ ของอาณาจักรเสฉวนก็เป็นแบบ ‘บุฟเฟต์’!

ในขณะที่บรรยากาศการเมืองเสฉวนอึมครึม เพราะเล่าปี่กำลังวางแผนรุกครองอาณาจักรนี้ ขุนนางชั้นสูงแห่งเสฉวนแต่ละคนยึดกุมอำนาจในมือ คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัว

ขุนนางเตียวสงพิจารณาแล้ว เห็นว่าเล่าเจี้ยง ผู้ครองเสฉวนอ่อนแอ เล่าปี่น่าจะมาแทนที่ จึงเสนอให้เล่าเจี้ยงชวนเล่าปี่มาช่วยคุ้มครองเสฉวนจากการขยายอิทธิพลของเตียวฬ่อ ขุนนางหวดเจ้งเข้าข้างเล่าปี่เช่นกัน ส่วนขุนนางใหญ่ลิอิ๋นดูสถานการณ์เงียบๆ พร้อมเปลี่ยนหัว

ขุนนางทั้งหลายเตือนเล่าเจี้ยงว่า เล่าปี่เป็นคนเจ้าเล่ห์ คิดมายึดเมืองแน่ แต่เล่าเจี้ยงไม่ฟัง ส่งหวดเจ้งเป็นทูตไปขอกำลังเล่าปี่มาช่วย

เล่าปี่ยกทัพห้าหมื่นไปเสฉวน และได้รับการสนับสนุนลับๆ จากเตียวสงและหวดเจ้งให้ฆ่าเล่าเจี้ยงชิงเมือง เพราะมองเห็นว่าอยู่กับเล่าปี่มีอนาคตมากกว่า

เล่าปี่ปฏิเสธแผนฆ่าเล่าเจี้ยง และไปพบเล่าเจี้ยงตามนัดที่เมืองโปยเสีย ทั้งสองฝ่ายยิ้มระรื่นให้กัน

ต่อมาเล่าปี่ไปตั้งมั่นที่ด่านแฮบังก๋วน ปลูกสัมพันธ์ดูแลราษฎรอย่างดี จนชาวบ้านพอใจ

อย่างไรก็ตาม ขุนนางของทั้งฝ่ายเล่าปี่และเล่าเจี้ยงต่างยุยงเจ้านาย ไม่ช้านานคนตระกูลเล่าทั้งสองก็แตกคอกัน

รอยยิ้มจางหาย สงครามกำลังมา



บทบาทของคนใกล้ตัว พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็มีส่วนทำให้รัฐบาลแตกคอกับฝ่ายทหาร

ขึ้นปีที่สองของระบอบ ‘No Problem’ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ดึงตัว ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง มาร่วมรัฐบาล แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท.

ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง มิใช่คนหน้าใหม่ในวงการเมือง เขาเคยมีบทบาทร่วมก่อรัฐประหารในเดือนเมษายน พ.ศ. 2524 เมื่อรัฐประหารล้มเหลว เขาถูกกักในห้องขังห้องเดียวกับที่จองจำ พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ หัวหน้าคณะรัฐประหารโค่นรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อสี่ก่อนหน้านั้น และถูกตัดสินยิงเป้า อธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ. มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ลงนามในคำสั่งที่ 500/2524 ไล่เขาออกจากราชการตำรวจต่อมาได้รับการนิรโทษกรรม และมุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางการเมือง

เวลานั้น ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง เป็นหัวหน้าพรรคมวลชน มี ส.ส. ในมือสามคน เมื่อรับตำแหน่งนี้ ก็รับบทบาทที่สื่อให้ฉายาว่า ‘องครักษ์พิทักษ์น้าชาติ’ ทำหน้าที่เป็นสายล่อฟ้า ชนกองทัพอย่างไม่เกรงกลัว!

ในรอยต่อระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2533 พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดทั้งที่ยังไม่หมดอายุราชการ เปิดทางให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้คร่ำหวอดในวงการเมืองวิเคราะห์ว่า การเดินหมากตานี้ก็เพื่อให้กลุ่มนายทหาร จปร. 5 เสริมความมั่นคงทางการเมืองให้รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ขณะที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เข้าสู่การเมือง ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว. กลาโหม

กลางปีนั้น พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง เกิดวิวาทะกับ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง จนทำให้ พล.อ. ชวลิตลาออกจากรัฐบาลชาติชาย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2533

พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

หกเดือนต่อมา พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ก่อตั้งพรรคความหวังใหม่

ผู้คร่ำหวอดในวงการเมืองวิเคราะห์ว่า มาตรวัดความสัมพันธ์ระหว่างนายทหาร จปร. 5 กับรัฐบาลคือการร่วมรับประทานอาหารเช้าทุกวันพุธ ถ้าอาหารเช้ามีรสชาติดี ความสัมพันธ์ก็ชื่นมื่น เมื่ออาหารเช้าเริ่มไม่อร่อยและสมาชิกเริ่มขาดหาย ก็สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติ

หนึ่งวันหลังจาก พล.อ. ชวลิตลาออก กองทัพก็ยึดรถโมบายของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ที่ซอยวัดไผ่เลี้ยง ถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม กล่าวหาว่าใช้คลื่นสัญญาณเดียวกับทหาร เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นนัยว่ามีคนดักฟังความเคลื่อนไหวของกองทัพเพื่อตรวจสอบว่ามีความพยายามก่อรัฐประหารหรือไม่ ความขัดแย้งปะทุขึ้น พล.อ. ชาติชายต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย

ร.ต.อ. เฉลิมตอบโต้กลุ่ม จปร. 5 ทางสถานีโทรทัศน์ อ.ส.ม.ท. ช่อง 3 และ 9 อีกทั้งมีการจัดกลุ่มผู้สนับสนุน ร.ต.อ. เฉลิมประท้วงฝ่ายทหารหน้าอาคาร อ.ส.ม.ท. ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 พล.อ. สุจินดา คราประยูร ตำแหน่งผู้อำนวยการกองกำลังรักษาพระนคร สั่งห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด ยิ่งทำให้รอยร้าวลึก

ผู้คร่ำหวอดในวงการเมืองวิเคราะห์อีกว่า การที่ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่งตั้ง พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงกลาโหม ให้เหตุผลว่าเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของนายกฯ เป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐของความขัดแย้ง

รอยยิ้มจางหาย สงครามกำลังมา



เล่าปี่ยกทัพไปที่ด่านโปยสิก๋วนแห่งเสฉวน สังหารเอียวหวยกับโกภาย ทหารเสฉวนสองร้อยนายสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ พาไปที่ประตูด่านโปยสิก๋วน คนรักษาด่านเห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน ก็เปิดประตูให้ กำลังเล่าปี่ก็ยึดด่านนี้ได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ

จากนั้นก็รุกเข้าเมืองลกเสีย พบว่ามีสองทางโจมตี หนึ่งคือสายใต้ผ่านซอกเขาคับแคบ หนึ่งคือสายตะวันตกข้ามเขาเป็นทางกว้าง พวกเขาตกลงแบ่งกำลังไปทั้งสองทาง

บังทองขอให้เล่าปี่คุมทัพเข้าตีไปตามทางตะวันตก ส่วนบังทองจะตีเข้าทางใต้ เล่าปี่ค้าน แต่บังทองยืนยัน เล่าปี่ก็ตกลงตามแผนของบังทอง

ขณะเคลื่อนพล ม้าที่บังทองขี่พยศ สะบัดบังทองตกจากหลังม้า เล่าปี่จึงมอบม้าเต๊กเลาของตนให้บังทอง

บังทองนำทัพไปผ่านซอกเขาแคบ ถูกกำลังของเตียมหยิมนายทหารเสฉวนที่ซ่อนอยู่ระดมยิงเกาทัณฑ์ใส่ เพราะเมื่อเห็นม้าเต๊กเลา ก็เข้าใจผิดว่าคนขี่เป็นเล่าปี่ ลูกเกาทัณฑ์เสียบเต็มร่างบังทอง ถึงแก่ความตาย

ความตายของบังทองทำให้การยึดเสฉวน ‘ชอบธรรม’ ยิ่งขึ้น!

ครั้งนี้ขงเบ้งรับหน้าที่ตีเสฉวน

การตีหัวเมืองต่างๆ ของเสฉวนใช้นโยบายผูกใจชาวบ้านเป็นหลัก ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองพอใจ การยึดเมืองง่ายขึ้น

ขุนนางเสฉวน ลิอิ๋น มองสถานการณ์ว่า จุดจบอำนาจของเล่าเจี้ยงมาถึงในที่สุด ได้เวลายึดอำนาจเสฉวนแล้ว



ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เครื่องบินซี 130 ลำหนึ่งกำลังออกเดินทางไปเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี นำ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก เข้าเฝ้าฯเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

เวลา 11.00 น. พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ กับ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก เดินทางถึงห้องรับรองสนามบิน (บน. 6) รายล้อมด้วยหน่วยรักษาความปลอดภัยราวยี่สิบคน รวมทั้งนายอนันต์ อนันตกูล เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมหาดไทย

เมื่อถึงเวลาขึ้นเครื่องบิน หน่วยรักษาความปลอดภัยถูกแยกไปอยู่ตอนท้ายของเครื่องบิน

ขณะที่เครื่องบินซี 130 แท็กซี่ไปตามรันเวย์ ทหารอากาศจำนวนหนึ่งก็ปรากฏตัวพร้อมปืนราบมือ ควบคุม รปภ. ทั้งหมดไว้ เครื่องบินลดความเร็วลงจนหยุดสนิท

เช่นเดียวกับการจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม บนเรือแมนฮัตตันในปี 2494 สี่สิบปีต่อมา ทหารก็จี้ตัว พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ บนเรือบิน

นี่คือรัฐประหารโค่นรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ

เมื่อทหารอากาศคุมผู้นำประเทศได้ ทหารบกสองพันก็เคลื่อนออกไปประจำจุดต่างๆ ตามแผน

ตามแผนแรก ฝ่ายรัฐประหารจะจับตัว พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ และ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ที่สนามบินกองทัพอากาศ ในเวลา 19.30 น. หลังจากเข้าเฝ้าฯแล้ว แต่เปลี่ยนแผนเป็นตอนเช้า

ผู้ก่อการรัฐประหารได้แก่ พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ร.อ. ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ‘บิ๊กจ๊อด’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ

อาหารเช้าทุกวันพุธยุติพร้อมกับรัฐบาล ‘No Problem’ อายุ 2 ปี 203 วัน



ขุนนางลิอิ๋นไปสวามิภักดิ์กับเล่าปี่ แล้วอาสาไปเกลี้ยกล่อมม้าเฉียวมาเป็นพวกเล่าปี่สำเร็จ หลังจากนั้นก็ให้ม้าเฉียวไปกดดันเล่าเจี้ยง

ม้าเฉียวไปถึงหน้าเมืองเสฉวน เจรจากับเล่าเจี้ยงบนเชิงเทิน ขอให้เล่าเจี้ยงยกเมืองให้แก่เล่าปี่แต่โดยดี เล่าเจี้ยงเห็นว่าม้าเฉียวไปเข้ากับฝ่ายเล่าปี่ ก็รู้ว่าตนแพ้แล้ว จึงยอมยกเมืองเสฉวนให้แก่เล่าปี่

ในพิธียอมจำนนยกเมือง เล่าปี่ร่ำไห้ บอกเล่าเจี้ยงว่า “ข้าพเจ้าไม่มีทางเลือก ข้าพเจ้าจำใจต้องยึดอำนาจจริงๆ”

แล้วสัญญาว่าจะทำนุบำรุงแผ่นดินเสฉวนให้ราษฎรเป็นสุข

ครั้นยึดอำนาจเสฉวนสำเร็จ เล่าปี่ก็แต่งตั้งเล่าเจี้ยงเป็นจิววุ๋ยจงกุ๋น ไปอยู่ที่เมืองกองอั๋น อันเป็นรูปหนึ่งของการเนรเทศให้พ้นวงจรอำนาจในเสฉวนนั่นเอง



เย็นวันที่กลุ่มบิ๊กจ๊อดยึดอำนาจสำเร็จ ทหารชุดหนึ่งตรงไปที่บ้านของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง เพื่อจับกุม แต่เจ้าของบ้านหายตัวไปแล้วอย่างนกรู้ คลาดกับชุดจับกุมของทหารเพียงสิบห้านาที อดีตรัฐมนตรีปรากฏตัวที่สิงคโปร์ แล้วไปโผล่ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในสถานะผู้ลี้ภัยการเมือง

ผ่านไปหลายเดือน ก็มีการต่อสายจากโคเปนเฮเกน-กรุงเทพฯ ถึงบิ๊กจ๊อด เพื่อ “ขออนุญาตกลับบ้าน”

วันที่ 24 ธันวาคม 2534 สารวัตรเฉลิมและครอบครัวเดินทางถึงสนามบินดอนเมือง บอกกับนักข่าวว่า “กลับมานี่เพราะพี่จ๊อดท่านอนุญาตให้กลับ เพราะผูกพันกันในฐานะลูกน้องเก่ากับนายเก่าสมัยเป็นทหาร”

อดีต ‘องครักษ์พิทักษ์น้าชาติ’ ยังกล่าวสัจธรรมการเมืองว่า “ถ้าจะเล่นการเมือง ผมก็รู้ว่าจะทำตัวอย่างไร เพราะครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนทางการเมืองที่เจ็บที่สุด ที่แพงที่สุด”



อดีตเจ้าแผ่นดินเสฉวนใช้ชีวิตที่เหลือ ณ เมืองกองอั๋น ไม่ได้กลับบ้านอีก

และไม่มีโอกาสกล่าวว่า “ถ้าจะเล่นการเมือง ข้าฯก็รู้ว่าจะทำตัวอย่างไร”

เพราะต่างจากเมืองไทย บทเรียนทางการเมืองที่เจ็บที่สุด ที่แพงที่สุด มักไม่เปิดโอกาสให้แก้ตัว


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:48:59

เทพกับมาร


หลังจากเล่าปี่ยึดอำนาจเสฉวนสำเร็จ ด้วยคำแนะนำของขงเบ้ง เล่าปี่ก็ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าของเสฉวนที่ใช้มาแต่สมัยพระเจ้าฮั่นโกโจ

ขงเบ้งกล่าวว่า กฎหมายสมัยพระเจ้าฮั่นโกโจไม่เหมาะกับเสฉวนยุคเล่าเจี้ยง เนื่องจากเล่าเจี้ยงปกครองบ้านเมืองไม่เป็น ตั้งคนชั่วเป็นขุนนาง ราษฎรเดือดร้อน ผู้บริหารประเทศฉ้อราษฎร์บังหลวง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำซื่อสัตย์สุจริต จึงเห็นควรเลิกกฎหมายฉบับเก่า แล้วร่างฉบับใหม่ที่มีบทลงโทษข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวงหนักขึ้น

หลังครองเสฉวน เล่าปี่ก็ตกรางวัลแก่ที่ปรึกษาและทหารทั้งหลายพร้อมหน้า ทั้งฝ่ายตนและฝ่ายเล่าเจี้ยงที่แปรพักตร์ ยกตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ของเสฉวนแก่หวดเจ้ง ตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วเป็นของกวนอู เป็นต้น หลังจากนั้นเล่าปี่เสนอให้แบ่งที่ดินรกร้างให้เหล่าขุนนาง จูล่งคัดค้าน บอกว่าเหตุที่ที่ดินรกร้างเพราะศึกสงคราม ราษฎรอพยพหนี ควรจะคืนที่ดินเหล่านั้นให้ราษฎร เล่าปี่กับขงเบ้งเห็นด้วย จึงทำตามคำแนะนำของจูล่ง

สูตรการยึดอำนาจพื้นฐานสี่ประการ 1 ยึดอำนาจด้วยกำลัง 2 ให้เหตุผลรองรับและสัญญามอบโลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิม 3 ฉีกรัฐธรรมนูญ 4 จัดการนักการเมือง ‘ชั่ว’



ผ่านไป 1,800 ปี สูตรนี้ยังใช้ได้อยู่ เห็นชัดในการก่อรัฐประหารแต่ละครั้งในประเทศไทย แถลงการณ์คณะรัฐประหารแต่ละฉบับเหมือนกันแบบ ‘copy and paste’ แตกต่างบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย

ในวันที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ คณะผู้ก่อการออกอากาศ แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ยึดอำนาจด้วยเหตุผลห้าประการ

ประการที่ 1 ผู้บริหารประเทศฉ้อราษฎร์บังหลวง อาศัยอำนาจทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวก

ประการที่ 2 ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำซื่อสัตย์สุจริตผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง

ประการที่ 3 รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา

ประการที่ 4 ทำลายสถาบันทางทหาร

ประการที่ 5 บิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย พ.อ. มนูญ รูปขจร และพวก

จากเหตุผลและความจำเป็นห้าประการ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจึง ‘จำเป็น’ ต้องยึดอำนาจ

วันต่อมามีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองที่ ‘ร่ำรวยผิดปกติ’

รัฐมนตรีและนักการเมืองที่ถูกประกาศอายัดทรัพย์ประกอบด้วยนักการเมืองพรรคชาติไทย 12 คน พรรคกิจสังคม 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคราษฎร 2 คน พรรคประชากรไทย 1 คน พรรคเอกภาพ 1 คน พรรคมวลชน 1 คน

คณะรัฐประหารแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จากการเสนอของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ซึ่งเคยร่วมงานกับนายอานันท์ ครั้งที่เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และ พ.ท. สุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำกรุงวอชิงตัน แลเห็นฝีมือมาก่อน

ปัญหาใหม่ของ รสช. คือ รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมอยู่ใต้คำสั่งของคณะ รสช. ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนจำนวนมากว่า ทำงานเข้าตาประชาชน โดยนำบุคคลผู้มีความสามารถ และภาพลักษณ์สะอาดมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เน้นเรื่องความโปร่งใส ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน เป็นหนึ่งในน้อยรัฐบาลจากการรัฐประหารที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

ผลงานที่สำคัญ เช่น ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับโครงสร้างภาษี ขจัดระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาด แก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายระหว่าง ซี.พี. เทเลคอมกับรัฐบาลให้ยุติธรรมและโปร่งใส เริ่มระบบแท็กซี่มิเตอร์ สนับสนุนใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว ปรับปรุงระบบราชการ แก้ไขปัญหาสมองไหล ฯลฯ

ในชั่วเวลาสั้นๆ รัฐมนตรีคณะนี้ทำงานได้ผลมากกว่าคณะรัฐมนตรีหลายคณะที่อยู่ครบเทอม

สิ่งเดียวที่คณะรัฐประหาร รสช. ทำซึ่งไม่อยู่ในสูตรสี่ข้อของการรัฐประหารคือสร้างคณะรัฐมนตรี ‘ดรีมทีม’ โดยไม่เจตนา!



หลังจากโจโฉตาย บุตรชายโจผีขึ้นครองอำนาจต่อ งานของเขาคือปลดพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ โดยมีขุนนางในราชสำนักช่วยกันโน้มน้าวพระทัยฮ่องเต้ให้ลงจากบัลลังก์ ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง

ในที่สุดพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ในกำมือของโจผีทรงไร้ทางเลือก จำต้องสละบัลลังก์ มอบตำแหน่งฮ่องเต้แก่โจผี ทรงพระนามพระเจ้าอ้วยโช่

ขงเบ้งได้ยินข่าวนี้ก็เสนอให้ยกเล่าปี่ขึ้นเป็นฮ่องเต้บ้าง เท่ากับสืบสานราชวงศ์ฮั่นต่อไป

เล่าปี่ได้ยินข้อเสนอของขงเบ้งก็ตกใจ กล่าวว่าทำมิได้โดยเด็ดขาด จะเท่ากับเสียสัตย์ที่ให้ไว้ว่าจะไม่ชิงราชสมบัติ ขงเบ้งพยายามโน้มน้าวใจเล่าปี่หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ จึงแกล้งป่วยหนัก

เล่าปี่ไปเยี่ยมขงเบ้งที่บ้าน ขงเบ้งบอกว่า “ข้าพเจ้าป่วยเพราะเป็นทุกข์ เป็นห่วงแผ่นดิน ยามนี้โจผีก่อกบฏล้มราชวงศ์ฮั่น หน้าที่ของท่านคือตั้งตนเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่น แล้วยกทัพไปปราบโจผี ทว่าท่านไม่ยอม ข้าพเจ้าจึงทุกข์จนล้มป่วย”

เล่าปี่จึงยอมเป็นฮ่องเต้ ขงเบ้งก็หายป่วยทันที

เพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งแผ่นดิน เล่าปี่ก็ยอม ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนาม พระเจ้าเจี๋ยงบู๋

บางครั้งการปราบดาภิเษกก็เป็นภาคบังคับ!


บางครั้งการยึดอำนาจก็เหมือนการขี่หลังเสือ การสืบทอดอำนาจเป็นภาคบังคับ มิเช่นนั้นอาจถูกเสือกัดตาย

ขณะที่รัฐบาลดรีมทีมทำงาน สมาชิกบางคนของ รสช. ก็เริ่มเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมือง ไม่นานพรรคการเมืองใหม่นามพรรคสามัคคีธรรมก็ถือกำเนิด นอกจากนี้ยังพยายามต่อสายเชื่อมสัมพันธ์กับพรรคการเมืองเดิม เช่น พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม เป็นต้น เพราะใครๆ ก็รู้ ไม่มีการเลือกตั้งใดในประเทศไทยสำเร็จโดยปราศจากอิทธิพลของนักการเมืองในท้องถิ่น

เมื่อปูทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ก็ถึงเวลาเลือกตั้ง

การเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ถูกบันทึกว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย การซื้อเสียงเป็นไปอย่างเปิดเผย

พรรคสามัคคีธรรมได้ที่นั่งมากที่สุด (79 คน) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ คือพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร เสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม พลันปรากฏฟ้าผ่าใหญ่กลางวง เมื่อโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ ประกาศว่านายณรงค์ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เป็นนัยว่ามีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

วงแตก!

ชื่อถัดมาในโผนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู็เคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมิได้ยึดอำนาจเพื่อสานต่ออำนาจ ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ มากพอ

พรรคการเมืองแบ่งออกเป็นสองขั้วทันที คือ ‘พรรคเทพ’ กับ ‘พรรคมาร’

พรรคเทพคือพรรคที่ประกาศตัวไม่สนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ประกอบด้วยสี่พรรคการเมืองคือ พรรคความหวังใหม่ (72 เสียง) พรรคประชาธิปัตย์ (44 เสียง) พรรคพลังธรรม (41 เสียง) และพรรคเอกภาพ (6 เสียง)

พรรคมารคือพรรคที่สนับสนุน พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ประกอบด้วย 5 พรรคการเมืองคือ พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง) พรรคชาติไทย (74 เสียง) พรรคกิจสังคม (31 เสียง) พรรคประชากรไทย (7 เสียง) และพรรคราษฎร (4 เสียง)

ยกเว้นพรรคสามัคคีธรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ ทุกพรรคล้วนถูกคณะ รสช. ตั้งกรรมการอายัดทรัพย์ ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ

วันที่ 17 เมษายน 2535 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลสุจินดา 1 ถือกำเนิด ประกอบด้วย ‘พรรคมาร’ ทั้งห้า และรัฐมนตรีสามคนที่ถูกยึดทรัพย์

การที่ผู้นำ  รสช. ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ร่วมวงกับพรรคการเมืองซึ่ง รสช. ประกาศว่า ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ และอายัดทรัพย์ เป็นภาพที่ประชาชนจำกล้ำกลืน ดังนั้นเมื่อ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร เริ่มอดอาหารประท้วง องค์กรต่างๆ ก็ขานรับทันที เคลื่อนไหวต่อต้าน และฝ่ายค้านเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนจำนวนมากร่วมวง นายทหาร จปร. 7 พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ประกาศอดอาหารจนตาย

รัฐบาลกลับสวนทางโดยเติมน้ำมันเข้าในกองไฟ นายสมัคร สนุทรเวช รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ฝ่ายค้านออกมาคัดค้านเพราะอยากเป็นรัฐบาลบ้าง” พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “เสียงคัดค้านนอกสภาเป็นเสียงส่วนน้อย” นายทหารชั้นผู้ใหญ่กล่าวว่า “สนับสนุน พล.อ. สุจินดา 2,000 เปอร์เซ็นต์” และ “การอดอาหารเป็นอาชีพของ ร.ต. ฉลาด” การชุมนุมก็ยิ่งขยายวงกว้าง

พลันการชุมนุมลามจากถนนราชดำเนินไปที่ต่างจังหวัด เรียกร้องให้ พล.อ. สุจินดาลาออก

หนึ่งในผู้ที่ปราศรัยขับไล่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้มอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้รุ่นน้องนั่นเอง

ท่อนหนึ่งของคำปราศรัยกล่าวว่า “เมื่อผมเป็นคนปลุกผีขึ้นมาจากโลง ผมก็จะฝังผีตัวนี้ด้วยมือของผมเอง”



ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 ด้วยความพยายามของนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ดึงตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านมาปรึกษาหาทางออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหม่ หลังประชุม เก้าพรรคมีมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญในสี่ประเด็น ที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

แกนนำการชุมนุมเห็นว่าได้รับชัยชนะในระดับหนึ่ง ก็ประกาศสลายการชุมนุมชั่วคราว นัดกันใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิถีรัฐสภา

หลังจากผู้ชุมนุมสลายตัว ท่าทีของห้าพรรคร่วมรัฐบาลก็เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ พรรคกิจสังคมบอกว่าการประชุมวันที่ 9 ไม่ใช่มติพรรค พรรคชาติไทยบอกว่า นายอาทิตย์กระทำการโดยพลการเพียงเพื่อลดแรงกดดันเท่านั้น พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็มีท่าทีเช่นกัน คือฉีก ‘ข้อตกลง’

การพลิกลิ้นของ ‘พรรคมาร’ ครั้งนี้ดึงประชาชนจำนวนมากไปร่วมชุมนุมครั้งใหม่ที่ท้องสนามหลวง มืดฟ้ามัวดิน

วันที่ 17 พฤษภาคมเดินทางมาถึงพร้อมพายุแห่งสงครามกลางเมืองครั้งใหม่ และความตายครั้งใหม่ พฤษภาทมิฬ

เช่นเคย คนที่จ่ายราคาคือประชาชน

ไม่มีนักการเมืองเทพและมารเสียชีวิตสักคนเดียว

บางทีโลกการเมืองไม่เคยมีเทพกับมาร มีแต่มนุษย์มีเลือดเนื้อผู้ทำผิดในเรื่องเดิมๆ


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:50:27

ทรยศเพื่อชาติ


พระบรมฉายาลักษณ์พร้อม พานพุ่มพร้อม เจ้าของบ้านแต่งชุดขาวพร้อม กองทัพนักข่าวและช่างภาพพร้อม ทุกอย่างพร้อม รอเพียงเลขาธิการสภาฯนำพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 แห่งประเทศไทย

แล้วเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น...

หลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ. สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 พรรคร่วมรัฐบาลทั้งห้าก็ต้องสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทว่า เมื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมที่ได้ ส.ส. มากที่สุด ติดปัญหาไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พรรคร่วมรัฐบาลจึงให้สิทธิ์หัวหน้าพรรคที่มี ส.ส. มากอันดับสองคือ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ขี้นเป็นนายกฯ

เวลานั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจเสนอชื่อผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดเกล้าฯ และประธานสภาผู้แทนราษฎรกับรักษาการประธานรัฐสภาในขณะนั้นคือ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้เป็นรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม จึงมีหน้าที่ของลูกพรรคต้องทำตามมติพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ขึ้นเป็นนายกฯ

เพื่อป้องกันความผิดพลาดและผิดโผ พรรคร่วมรัฐบาลพากันวิ่งเต้นล็อบบี้ ดร.อาทิตย์ให้ทำตามมติพรรคร่วม เสนอ ‘รางวัล’ ตอบแทนคือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอ เช่น มหาดไทย

อยากได้อะไร พรรคร่วมรัฐบาลยอมทั้งนั้น

ทันใดนั้น ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ก็กลายเป็นบุคคล ‘ทรงอำนาจ’ ที่สุดในวงการเมืองไทย เป็นผู้เดียวที่มีอำนาจเสนอชื่อใครก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นใครกันแน่? ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลไม่วางใจเขา?

ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ เริ่มรับราชการเป็นปลัดอำเภอ นครนายก ไต่เต้าขึ้นเป็นระดับหัวหน้ากองวิชาการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และต่อมาเป็นผู้ว่าการการประปานครหลวง แล้วเข้าสู่วงการเมือง

เขาเริ่มต้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดพรรคพลังใหม่เขาพลาดให้นายธรรมนูญ เทียนเงิน แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ในปีถัดมา ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขตป้อมปราบฯ-ปทุมวัน ในนามพรรคพลังใหม่ แข่งกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แพ้ไปเพียง 500 คะแนน จึงถือว่าเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง

ต่อมาได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และเป็นเลขาธิการพรรคชาติประชาธิปไตยของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อมาย้ายพรรคและรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคกิจประชาคมของนายบุญชู โรจนเสถียร หลังจากนั้นย้ายไปสังกัดพรรคเอกภาพ รับหน้าที่โฆษกพรรค ในปี พ.ศ. 2533 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ สองปีต่อมา รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา

ดูเผินๆ พรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะต้องกลัวว่าดร. อาทิตย์จะ ‘แหกคอก’ และ ‘แหกโผ’ แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พลังประชาชนกดดันให้นักการเมืองทำตามใจชอบไม่ได้ง่ายๆ

ดร. อาทิตย์เองรู้ว่า การแต่งตั้งคนจาก ‘พรรคมาร’ ที่เขาสังกัดอยู่อาจจะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนและนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหม่ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลสนใจเพียงรักษาอำนาจต่อไปเท่านั้น

ช่วงเวลานั้นมีคนพยายามติดต่อเขาตลอดเวลา ทั้งทางโทรศัพท์และการเข้าพบ ทุกคนบอกเสียงเดียวกันว่า “อย่าเสนอชื่อคนในพรรคร่วมรัฐบาล”

วันหนึ่งขณะดื่มกาแฟในคอฟฟีช็อปแห่งหนึ่ง หมอคนหนึ่งเดินมาหาเขา กล่าวว่า “ถ้าคุณเสนอชื่อนักการเมือง รสช. ผมจะเลิกอยู่เมืองไทย”

เขาพลันได้คิดว่า คำพูดนั้นสะท้อนความรู้สึกของคนค่อนประเทศ การเสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ขึ้นเป็นนายกฯ แม้จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ฝืนความชอบธรรม

พลันเขาพบว่าตนเองกำลังยืนอยู่ตรงกลางระหว่างเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ชอบธรรม และเรื่องที่ชอบธรรมแต่ไม่ถูกกติกาทางการเมือง

เขายังติดหน้าที่เป็นลูกพรรคที่ต้องเคารพมติพรรคที่เขาสังกัด และกติกาว่าหัวหน้าพรรคคะแนนเสียงมากเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ ดร. อาทิตย์กลับไม่ตกปากรับคำเป็นรัฐมนตรี ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลระแวงว่าเขาไว้ใจได้หรือไม่ และส่งคนประกบติดเขาทุกฝีก้าว เพื่อให้แน่ใจว่าเขาเสนอชื่อคนที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการ

เขาเป็นคนเดียวในประเทศไทยในนาทีนี้ที่จะผ่าทางตัน คลี่คลายสถานการณ์กดดัน ไม่ให้เกิดข้อแม้ในการก่อสงครามกลางเมืองครั้งใหม่



หลังจากพระเจ้าเล่าเสี้ยนปกครองจ๊กก๊กต่อจากพระเจ้าเล่าปี่ บ้านเมืองก็อ่อนแอ ทำให้วุยก๊กยกทัพเข้ารุกราน

ฝ่ายวุยก๊กนำโดยแม่ทัพเตงงาย ฝ่ายจ๊กก๊กนำโดยจูกัดเจี๋ยม บุตรชายของขงเบ้ง ได้รับการถ่ายทอดวิชาการรบอย่างดีจากพ่อ จูกัดเจี๋ยมยังนำจูกัดสง บุตรชายออกไปรบด้วย

กองทัพทั้งสองฝ่ายรบพุ่งกันอย่างหนัก ต่างสูญชีวิตไพร่พลจำนวนมาก เตงงายล้อมเมืองกิมก๊กไว้หนาแน่น เมื่อไร้เงาของกองทัพจ๊กก๊กมาเสริม จูกัดเจี๋ยมจึงทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากง่อก๊ก แต่ก็ไม่เห็นทัพจากกังตั๋ง จึงนำกำลังไปรบกับเตงงาย

เตงงายวางแผนล่อจูกัดเจี๋ยมเข้าไปในดงเกาทัณฑ์ ทหารจ๊กก๊กต้องธนูตายไปมากม้าของจูกัดเจี๋ยมต้องเกาทัณฑ์ล้มลง ทหารศัตรูตรงไปหมายจับเป็น จูกัดเจี๋ยมไม่ยอม ใช้กระบี่เชือดคอตาย

จูกัดสงเห็นบิดาเสียชีวิต ก็นำทหารออกไปสู้ ถูกระดมยิงด้วยเกาทัณฑ์ตายกลางสนามรบไปอีกคน

เตงงายสั่งยุติการรบชั่วคราว ทำพิธีศพจูกัดเจี๋ยมกับจูกัดสงอย่างสมเกียรติ กล่าวว่ายากนักที่แผ่นดินหนึ่งจะมีคนยอมพลีชีพเพื่อชาติเช่นนี้

เมื่อประชาชนเสฉวนทราบข่าวเมืองกิมก๊กแตก ก็เตรียมอพยพหนีภัยสงคราม พระเจ้าเล่าเสี้ยนก็ทรงเรียกประชุมเสนาบดี ความเห็นของขุนนางล้วนไปในทิศเดียวกันคือยอมแพ้ บ้างเสนอขอความช่วยเหลือจากชาวม่าน บ้างเสนอหนีไปพึ่งง่อก๊ก

ขุนนางเจี๋ยวจิ๋วเสนอว่ายอมแพ้เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของชาวราษฎร์ ที่สำคัญคือสามารถเจรจาขอดำรงความสุขสบายตามเดิมที่ใดสักแห่ง พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงตกลง และสั่งให้ร่างจดหมายยอมแพ้

เล่าขำ โอรสพระเจ้าเล่าเสี้ยน เข้าไปในห้องประชุม ด่าเหล่าขุนนางที่คิดยอมแพ้ กล่าวว่าเสฉวนยังมีกำลังทหารหลายหมื่นคน เสบียงอาหารเพียงพอรบอีกนาน

แต่ไม่มีใครสนใจเล่าขำ

พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงสั่งการให้ขุนนางผู้ใหญ่สามคนไปเจรจากับเตงงาน ขอยอมแพ้แลกกับข้อแม้บางข้อ

เล่าขำกับครอบครัวจึงฆ่าตัวตาย ขณะที่เสฉวนชักธงสันติภาพขึ้นบนกำแพงเมือง

สิ้นชาติ ณ บัดนั้น

เสฉวนล่มสลาย เพราะเหล่าขุนนางเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าชาติ ไม่แยแสแม้ว่าชาติกำลังจะล่มต่อหน้าต่อตา

คนอย่างจูกัดเจี๋ยม จูกัดสง เล่าขำมีน้อยเกินไป



ประเทศไทยปี 2535 ก็มีคนอย่าง ‘จูกัดเจี๋ยม จูกัดสง เล่าขำ’ น้อยเกินไป แม้เพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมืองที่นองเลือด นักการเมืองก็คิดเพียงจะเป็นรัฐบาลเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ขอคำปรึกษาผู้ใหญ่หลายคน เขาติดต่ออาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ขอเข้าเฝ้าฯในหลวงนอกรอบ ได้รับแจ้งว่าไม่โปรดฯให้เข้าเฝ้า

จากนั้นเขาไปขอคำปรึกษาจากองคมนตรี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ผู้เสนอชื่อ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ แต่เนื่องจากพรรคความหวังใหม่เป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับสอง ย่อมชอบธรรมและมีมารยาทกว่าที่ให้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง - ชวน หลีกภัย

เขาเข้าพบ ชวน หลีกภัย เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป “ท่านกล้ารับเป็นนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยไหม?”

ชวน หลีกภัย ปฏิเสธ บอกว่า สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เข้ารูปเข้ารอบ อีกประการ รัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นทำงานไม่ได้ อาจจะล้มตั้งแต่วันแรกๆ

แล้วนามหนึ่งก็ปรากฏในห้วงคิด

นามของบุรุษผู้เข้าสู่วงการเมืองอย่างประหลาด บุรุษผู้สามารถสานงานต่อไปทันที บุรุษผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรคการเมืองใด

อานันท์ ปันยารชุน

ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ บุรุษผู้นี้เหมาะสมที่สุด

เขาโทรศัพท์ถึงนายอานันท์ ทาบทามให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบสอง

อดีตนายกรัฐมนตรีปฏิเสธ

เขาไม่สิ้นความพยายาม ติดต่อนายอานันท์อีกครั้ง ชี้แจงเหตุผลว่า ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศให้พร้อมต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วยุบสภา ปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยดำเนินไป

นายอานันท์บอกให้เขาไปหาคนอื่น เขาตอบว่า “มันไม่มีคนอื่นเลยนะ”

จนถึงเย็นวันที่ 10 มิถุนายน 2535 เมื่อ ดร. อาทิตย์เดินทางไปเข้าเฝ้าฯในหลวงที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กระดาษหัวครุฑในมือยังว่างเปล่า ไม่มีชื่อนายกฯบนกระดาษ

ตามกฎ คนประกบตัวเขาเข้าวังด้วยไม่ได้ จึงเป็นครั้งแรกในรอบหลายวันที่เขาเป็นอิสระจากผู้คุม

แล้วเขาก็ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ

เขาบอก ดร. ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า “ผมไม่สามารถเสนอชื่อคุณสมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกฯ ได้ เพราะบ้านเมืองจะนองเลือดแน่”

ดร. ไพศิษฐ์ถามว่า “แล้วคุณจะเสนอชื่อใคร?”

“คุณอานันท์ ปันยารชุน”

เลขาธิการสภาฯสะดุ้ง “แน่ใจหรือ?”

“ไม่เป็นไร ผมรับผิดชอบเอง”

มาถึงจุดนี้ ต้องแน่ใจ

ณ ใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ ดร.อาทิตย์โทรศัพท์ถึงนายอานันท์เป็นครั้งสุดท้าย

“ผมกำลังจะเข้าเฝ้าฯเดี๋ยวนี้แล้ว อาจารย์เตรียมรับนะ”

นายอานันท์ตกลง

หลังจากนั้น ประธานสภาฯก็ติดต่อเจ้าหน้าที่วังขอเครื่องพิมพ์ดีด ให้พนักงานพิมพ์ตามคำบอก อักษรแรกของชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ อ

แล้วเข้าเฝ้าฯ ทูลว่า “ประเทศบอบช้ำมากแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีทางเลือกนอกจากจะเสนอให้ตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อยุบสภา”

กราบทูลแล้วก็ยื่นให้เซ็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับฟังโดยไม่ตรัสอะไรเลย ทว่าหลังลงพระปรมาภิไธย ตรัสสั้นๆ ว่า “กล้าหาญมาก สมเป็นรัฐบุรุษ”

แล้ว ดร. ไพศิษฐ์ เลขาธิการสภาฯ ก็นำพระบรมราชโองการเดินทางไปที่บ้านนายอานันท์ ปันยารชุน ผู้แทบไม่มีเวลาเตรียมตัว มีเพียงพระบรมฉายาลักษณ์เล็กๆ ที่หาได้ในเวลาอันสั้น

ข่าวการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแบบพลิกโผเป็นฟ้าผ่าฟาดเปรี้ยงกลางประเทศ ทว่าเสียงร้องเฮของคนไทยทั้งแผ่นดินดังกว่าเสียงฟ้าผ่า

ในมุมหนึ่ง ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้ทรยศต่อพรรค แต่ในอีกมุมหนึ่ง เขาได้รับการแซ่ซ้องจากคนทั้งชาติว่าเป็น ‘วีรบุรุษประชาธิปไตย’

ไม่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ที่คนทรยศต่อพรรคได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนเช่นนี้ //

หมายเหตุ หลังจากเหตุการณ์ ‘แหกคอก’ ดร. อาทิตย์ก่อตั้งพรรคเสรีธรรม ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ต่อมาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และต่อมาก็ยุติบทบาททางการเมือง ปัจจุบัน ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:51:56

9 กันยาฯ ไม่มาตามนัด


เมื่อขุนศึกตั๋งโต๊ะเข้ากุมอำนาจในราชสำนัก จาบจ้วงพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ โจโฉลอบสังหารตั๋งโต๊ะไม่สำเร็จ ก็วางแผนดึงทัพจากสิบแปดหัวเมืองไปโค่นตั๋งโต๊ะอ้วนเสี้ยวเป็นแม่ทัพใหญ่ อ้วนสุดคุมเสบียง ซุนเกี๋ยนเป็นแม่ทัพหน้า

ซุนเกี๋ยนเชี่ยวชาญการรบ เมื่ออายุเพียงสิบเจ็ด ปราบพวกโจรจนมีชื่อเสียง ต่อมาก็ไปปราบกบฏที่เมืองห้อยเข ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง และมีบทบาทปราบกบฏโจรโพกผ้าเหลือง ได้รับความดีความชอบเป็นกรมการหัวเมือง ต่อมาเกิดกบฏที่เมืองเตียงสา ได้รับพระราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเตียงสา ปราบกบฏราบคาบ

ซุนเกี๋ยนอาสาเป็นทัพหน้า ยกกำลังไปตีด่านกิสุยก๋วน มีทหารประจำตัวสี่คนคือ เทียเภา อุยกาย ฮันต๋ง และโจเมา เผชิญหน้ากับแม่ทัพของตั๋งโต๊ะชื่อฮัวหยง ทั้งสองฝ่ายรบกันอย่างหนัก ซุนเกี๋ยนหักเมืองไม่สำเร็จ จึงถอยทัพไปตั้งหลักที่ตำบลเลียงต๋ง

เสบียงของพวกเขาร่อยหรอ ซุนเกี๋ยนส่งคนไปเร่งให้อ้วนสุดส่งเสบียงมาให้ตามข้อตกลงนัดแนะกันไว้ แต่ที่ปรึกษาของอ้วนสุดกล่าวว่า ตั๋งโต๊ะคือหมาป่า ซุนเกี๋ยนคือเสือ หากพยัคฆ์ร้ายแห่งเตียงสาฆ่าหมาป่าสำเร็จ ก็จะหยุดไม่อยู่ ตัดโอกาสของอ้วนสุดขึ้นเป็นใหญ่

อ้วนสุดจึงไม่ส่งเสบียงไปตามนัด

ผ่านไปหลายวัน ทหารของซุนเกี๋ยนก็หมดแรง ลิซก ทหารฝ่ายตั๋งโต๊ะสอดแนมได้ข่าวว่าฝ่ายข้าศึกไม่มีอาหาร จึงเสนอให้ฮัวหยงยกกำลังไปปล้นค่ายของซุนเกี๋ยน ราตรีหนึ่งกองกำลังของฮัวหยงตีด้านหน้าค่ายของซุนเกี๋ยน กองกำลังของลิซกตีด้านหลัง ทหารซุนเกี๋ยนสู้ไม่ได้เพราะหมดแรง ถูกฆ่าตายไปมาก

ซุนเกี๋ยนและโจเมาฝ่าวงล้อมทหารศัตรู โดยฮัวหยงไล่ตามมา โจเมาเสนอความคิดต่อซุนเกี๋ยนว่า จะสลับผ้าโพกศีรษะกัน เพื่อล่อให้ฮัวหยงไล่ตามตน ฮัวหยงเห็นผ้าโพกศีรษะสีแดงของซุนเกี๋ยน ก็หลงกล ไล่ตามโจเมาไป ฮัวหยงสังหารโจเมา ทำให้ซุนเกี๋ยนรอดชีวิต

ซุนเกี๋ยนพ่ายศึกเพราะพันธมิตรไม่มาตามนัด



เวลาตีสามวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 รถถังยี่สิบสองคันจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม. พัน. 4 รอ.) และทหารห้าร้อยนายเคลื่อนออกจากค่ายกรมอากาศโยธินเข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า ทำเนียบรัฐบาล สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) หลังจากนั้นคลื่นวิทยุกระจายเสียงไปทั่วประเทศ เป็นแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ

อีกครั้งรัฐประหารอุบัติขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย

นี่คือการก่อรัฐประหารครั้งที่สองของ พ.อ. มนูญ รูปขจร เพื่อโค่นรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อีกครั้ง หลังจากพลาดมาแล้วจากกบฏเมษาฮาวาย โดยฉวยโอกาสที่นายกรัฐมนตรีไปราชการที่อินโดนีเซีย พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ที่สวีเดน

คณะก่อการประกอบด้วย พล.อ. เสริม ณ นคร หัวหน้าคณะปฏิวัติ นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร รวมนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคน เช่น พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ฝ่ายพลเรือนประกอบด้วยผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายประทิน ธำรงจ้อย และนายทุนคือนายเอกยุทธ อัญชันบุตร

คณะก่อการจับตัว พล.อ.อ. ประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศที่บ้านพักเป็นตัวประกัน

เวลาตีสี่ ฝ่ายรัฐบาลตั้งวอร์รูมที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บางเขน แจ้งข่าวให้ พล.อ. เปรมและ พล.อ. อาทิตย์ทราบ พล.อ. เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก รับหน้าที่หัวหน้าปราบกบฏ ประกาศตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ พล.อ. ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี

เสนาธิการฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย พล.ท. ชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พล.ท. พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม จปร. 5 พล.ท. สุจินดา คราประยูร พล.ท. อิสระพงศ์ หนุนภักดี และ พล.อ.ท. เกษตร โรจนนิล

รัฐบาลออกแถลงการณ์ตอบโต้โดยใช้ชื่อ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยกกองกำลังจาก พัน. 1 ร. 2 รอ. ออกปฏิบัติการสู้

เสียงวิทยุกระจายเสียงของทั้งสองฝ่ายตอบโต้กัน พล.อ. เทียนชัยออกคำสั่งให้กำลังทหารฝ่ายก่อการกลับเข้าที่ตั้ง ฝ่ายก่อการตอบโต้โดยเคลื่อนรถถังไปที่กองพล 1 รอ. เพื่อยึดสถานีวิทยุกองพล 1 ที่รัฐบาลออกอากาศ ยิงเสาอากาศเครื่องส่งจนเสียหาย ใช้การไม่ได้ นอกจากนี้ยังยิงถล่มอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และบริเวณวังปารุสกวันอันเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศสองคนถูกลูกหลงเสียชีวิต คือ นีล เดวิส ช่างภาพชาวออสเตรเลีย และ วิลเลียม แลตช์ ชาวอเมริกัน

เวลา 11.00 น. พล.อ. เทียนชัยใช้ช่องทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ออกคำสั่งให้ทหารฝ่ายก่อการกลับเข้าที่ตั้ง ประกาศให้ปลัดกระทรวงทั้งหมดไปรายงานตัวที่กรมทหารราบที่ 11 มีผู้ไปรายงานตัว 21 คน

ก่อนเที่ยงกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลก็บุกยึดกรมประชาสัมพันธ์ และ อ.ส.ม.ท. คืนมาได้ ยุติการกระจายเสียงของฝ่ายรัฐประหาร

หลังเที่ยงผู้ก่อการถอยกลับไปตั้งหลักที่สนามเสือป่า ขณะที่ผู้นำแรงงานหลายคนตั้งเวทีปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โจมตีรัฐบาล เช่น กลุ่มแรงงานประชาธิปไตยผู้นำกลุ่มที่เป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งถูกให้ออกจากงานเพราะเคลื่อนไหวเรื่องเงินค่าชดเชย เคลื่อนไหวร่วมกับสหภาพแรงงานอื่นๆ

ผู้ก่อการยังดึงวงดนตรีเพื่อชีวิต คาราบาว มาเล่นคอนเสิร์ต ทำหน้าที่เรียกมวลชนมาชุมนุมเพิ่ม ตามแผนคือถ่ายทอดสดการแสดงคอนเสิร์ตของคาราบาว สลับกับการอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ

เป็นครั้งแรกในโลกที่ใช้คอนเสิร์ตเป็นเครื่องมือทำรัฐประหาร!

คณะก่อการยังมีนายทุนร่วมด้วย ได้แก่นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ผู้ต้องหาคดีแชร์ชาร์เตอร์ นำกำลังทหารและสหภาพแรงงานยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อนำรถเมล์ไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานไปร่วมชุมนุม



เวลา 13.00 น. รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ พร้อมกับส่ง พล.ท. พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งสนิทสนมกับกลุ่มจปร. 7 ไปเจรจากับตัวแทนฝ่ายก่อการคือ พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เวลาบ่ายสามโมง ทั้งสองฝ่ายก็บรรลุผลการเจรจา รัฐบาลยอมให้แกนนำ พ.อ. มนูญ รูปขจร นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร เดินทางออกนอกประเทศ

ทหารฝ่ายรัฐประหารถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น. กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ชุมนุมอยู่สลายตัว

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับถึงประเทศไทยในคืนนั้น

หลังรัฐประหารยุติพร้อมความตายของคนห้าคนและบาดเจ็บราวหกสิบคน พล.อ. เสริม ณ นคร พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ล้วนปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ให้การว่าถูกบีบและอ้างชื่อให้เข้าร่วม

คำถามคือทำไมการก่อการครั้งนี้ใช้คนน้อยมาก ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่น จปร. 7 ของ พ.อ. มนูญ รูปขจร เข้าร่วม อีกทั้งใช้กำลังทหารเพียงห้าร้อยคนเท่านั้น ไร้เงาของหน่วยทหารราบซึ่งปกติเป็นกำลังสำคัญในการก่อรัฐประหารทุกครั้ง

เช่นเดียวกับซุนเกี๋ยนที่แตกทัพเพราะฝ่ายเดียวกันไม่มาตามนัด ใช่ไหมว่า ‘9 กันยาฯ’ ก็ซ้ำรอยเดิม? ใช่ไหมว่า พ.อ. มนูญ รูปขจร ไม่ใช่ตัวการหลัก ไม่ใช่ขุนบนกระดานหมากรุกแห่งอำนาจ? เขาเป็นเพียงม้าหรือโคน เมื่อ ‘ขุน’ ไม่มาตามนัด เกมกระดานนี้ก็พ่ายในวันเดียว



หมายเหตุ 1 : บทบาทของวงดนตรีคาราบาวในเหตุการณ์ 9 กันยายน 2528 เป็นที่มาของเพลง มะโหนก (ถึกควายทุยภาค 6) ในอัลบั้ม อเมริโกย หน้าปกเทปงานเพลงชุดที่ 6 นี้ออกแบบเป็นลายพรางทหาร เมื่อพลิกกลับหัวจะอ่านได้ว่า ‘9 ก.ย.’ เนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า “โหนกตัดสินใจรับใช้ชาติประชา มาเป็นทหารม้าสังกัด ม. พัน 4” ท้ายเพลงบันทึกเสียงปืนจากรถถังในวันเกิดเหตุ

เพลงนี้แต่งให้ พ.อ. มนูญ รูปขจร อดีตผู้บังคับบัญชาการกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม. พัน 4 รอ.)


หมายเหตุ 2 : หลังรัฐประหารล้มเหลว นายเอกยุทธ อัญชันบุตร หนีไปอังกฤษ ทำธุรกิจต่างๆ จนประสบความสำเร็จ อีกทั้งทำธุรกิจแถวสิงคโปร์ มาเลเซีย ภายใต้ชื่อ George Tan

นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุที่ร่วมกบฏ ‘9 กันยนยน’ ก็เพราะรัฐบาล พล.อ. เปรมออกพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่ฉ้อโกงประชาชน จัดการกับกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย ทำให้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีแชร์ชาร์เตอร์ เมื่อมีคนติดต่อให้เขาออกทุนทำรัฐประหาร เขาก็ตกลง

บทบาททางการเมืองของนายเอกยุทธหลังจากกลับเมืองไทยเมื่อคดีหมดอายุความคือ “ล้มทักษิณ” เขาถูกสังหารในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 แฟ้มคดีชี้ว่า “ไม่เกี่ยวกับการเมือง”


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:53:57

รัฐประหารเสียของ


วันคือ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลาคือ 22.54 น. ภาพบนจอโทรทัศน์ของคนทั้งประเทศคือรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพลงคือ ความฝันอันสูงสุด

มันคือการรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ

.………………

หลังจากที่ทัพสิบแปดหัวเมืองแตกสลาย โค่นทรราชตั๋งโต๊ะไม่สำเร็จ ขุนนางอ้องอุ้นก็ดำเนินแผนนางงาม ใช้เตียวเสี้ยนทำให้ตั๋งโต๊ะแตกกับลิโป้ แล้วลวงตั๋งโต๊ะเข้าวังไปลอบฆ่า ผู้ฆ่าก็คือลิโป้

ศพตั๋งโต๊ะถูกแห่ไปรอบเมืองหลวง แล้วตัดหัวเสียบประจาน

ลมการเมืองเปลี่ยนทิศ อ้องอุ้นตั้งตัวเป็นใหญ่เสียบแทนตั๋งโต๊ะ ลิโป้กลายเป็นศัสตราวุธของระบอบใหม่

เมื่อครองอำนาจ ก็ถึงเวลาขุดรากถอนโคน ตระกูลตั๋งโต๊ะรวมถึงทุกคนที่รับใช้ทรราชตั๋งโต๊ะถูกฆ่าสิ้นซาก ยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมด ลิยู ที่ปรึกษาเอกของตั๋งโต๊ะก็หนีไม่พ้นชะตากรรม ถูกประหารทั้งครอบครัว

นายทัพของตั๋งโต๊ะคือ ลิฉุย กุยกี เตียวเจ หวนเตียว พากำลังทหารที่เหลือหนีไปตั้งหลักที่เมืองเซียงไส แล้วแต่งหนังสือมาขอปรองดองกับอ้องอุ้น อ้องอุ้นปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ต้องการศีรษะของคนทั้งสี่สถานเดียว

ลิฉุย กุยกี เตียวเจ หวนเตียว หันหน้าปรึกษากัน และตกลงว่าสมควรที่ต่างคนต่างหนีเอาตัวรอด

กาเซี่ยงที่ปรึกษาเสนอความคิดแก่แม่ทัพของตั๋งโต๊ะว่า หากหนีก็ต้องหนีซมซานไปตลอดชีวิต มิสู้รวมพลหันกลับไปสู้อย่างสุนัขจนตรอก อาจชนะได้

ในวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่

.………………

ในโอกาสมีวิกฤติซ่อนอยู่

โอกาสคือวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลาคือ 22.54 น. ภาพบนจอโทรทัศน์ของคนทั้งประเทศคือรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพลงคือ ความฝันอันสูงสุด

ความคิดก่อรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อ 6-7 เดือนก่อน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการถือกำเนิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ร่วมยึดอำนาจล้วนเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 (ตท. 6) ที่ทักษิณ (ตท. 10) เป็นผู้แต่งตั้ง

พล.อ.สนธิเขียนแถลงการณ์ปฏิวัติด้วยตนเอง ขัดเกลาคำพูดภายในห้องทำงาน บก.ทบ. ใช้เวลาสามชั่วโมง

ครั้งหนึ่งขณะรับประทานอาหารด้วยกัน ทักษิณถามพล.อ. สนธิทีเล่นทีจริงว่า “คุณจะปฏิวัติผมหรือเปล่า?”

พล.อ. สนธิตอบยิ้มๆ เช่นกันว่า “ถ้าย้ายผม ผมก็ปฏิวัติสิครับ”

หนึ่งวันก่อนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ และกลิ่นรัฐประหารลอยไปถึงที่นั่น เช้าวันที่ 19 กันยายน 2549 ทักษิณออกคำสั่งจากนิวยอร์ก เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม ยกเว้น พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ทั้งหมดบอกว่าเวลากระชั้นเกินไป

ข่าวลือการก่อรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทันที

แผนการรัฐประหารถูกเปลี่ยนสองครั้ง เดิมกำหนดไว้ที่เวลา 19.00 น. วันที่ 22 กันยายน เปลี่ยนเป็น 24.00 น. วันที่ 20 กันยายน และเลื่อนอีกครั้งให้เร็วขึ้นเป็น 22.00 น. วันที่ 19 กันยายน หลังจากทราบข่าวกรองว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เลื่อนวันเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นหนึ่งวัน

เวลา 21.00 น. กำลังทหารพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้าไปประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก หนึ่งชั่วโมงถัดมา รถถังหลายคันเคลื่อนเข้าคุมพื้นที่หลายจุดที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนิน กองทหารกระจายตัวตรึงกำลังตามถนนต่างๆ ตั้งแต่แยกเกียกกายถึงถนนราชสีมา สวนรื่นฤดี ราชตฤณมัยสมาคม

ทักษิณ ชินวัตร ไม่ยอมให้อำนาจหลุดมือไปง่ายๆ หันหน้าสู้กลับผ่านดาวเทียมจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ในเวลา 22.15 น. ออกประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งปลด พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้าควบคุมสถานการณ์ แต่สัญญาณจากนิวยอร์กถูกตัดหาย หลังอ่านแถลงการณ์ได้สามฉบับ

เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศผ่านสถานีทุกช่อง ขึ้นประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลา 23.30 น. ทหารกลุ่มหนึ่งควบคุมตัว พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี น.พ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปกักตัวที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กองบัญชาการทหารสูงสุด

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ยกเลิกการขึ้นแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ บินจากนครนิวยอร์กไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยกเลิกการชุมนุมใหญ่ที่นัดไว้ในวันรุ่งขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

วันรุ่งขึ้นประชาชนจำนวนมากออกมาให้กำลังใจทหารตามจุดต่างๆ มอบดอกไม้ให้ ถ่ายรูปกับรถถัง เป็นภาพที่ชาวโลกมองดูด้วยความรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่ง

ในทางตรงข้าม มีหลายบุคคลและสถาบันต่อต้านรัฐประหาร วันที่ 20 กันยายน ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ ทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงรัฐประหาร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ติดป้ายใหญ่สองป้ายเขียนว่า “กระผมนายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก”

ทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่พาตัวออกไป

เย็นวันที่ 22 กันยายน กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ขึ้นป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต คัดค้านรัฐประหาร และกลุ่ม ‘เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร’ หนึ่งร้อยคนประท้วงที่หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์

วันที่ 25 กันยายน นักศึกษา 50-60 คน ชุมนุมประท้วงที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เที่ยงวันที่ 30 กันยายน นายนวมทอง ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี ขับรถแท็กซี่พ่นคำว่า ‘พลีชีพ’ บนกระโปรงท้าย ประตูรถทั้งสองข้างพ่นตัวหนังสือว่า ‘พวกทำลายประเทศ’ ​พุ่งเข้าชนรถถัง ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า​จนรถพังยับเยิน และได้รับบาดเจ็บสาหัส

ทว่าทั้งหมดนี้มิอาจเปลี่ยนความจริงว่า ทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นลงแล้ว

หลังรัฐประหาร คณะปฏิรูปฯจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่งตั้ง องคมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549

พล.อ. สนธิลงจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ต่อมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

.………………

หลังจากกุมอำนาจในมือ ขุนนางตงฉินอ้องอุ้นก็เปลี่ยนไป ปกครองแผ่นดินด้วยความกลัว ดังนั้นเมื่อลิฉุย กุยกี ใช้กลยุทธ์ปลุกระดมราษฎรว่าอ้องอุ้นจะยกทหารมาฆ่าชาวเมืองเซียงไส ประชาชนก็เชื่อ และเข้าเป็นพวกจำนวนมาก

ลิฉุย กุยกีรวบรวมกำลังคนได้สิบห้าหมื่น งิวฮูบุตรเขยตั๋งโต๊ะยกกำลังทหารห้าพันมาสมทบ ยกทัพไปตีเมืองหลวงเตียงฮัน

ไส้ศึกที่เป็นคนของตั๋งโต๊ะภายในเตียงฮันลอบเปิดประตูเมือง กองทัพของสุนัขจนตรอกก็รุกยึดเมืองหลวง กองกำลังของอ้องอุ้นกับลิโป้แตกพ่าย ลิโป้หนีไปได้ แต่อ้องอุ้นไม่หนี ถูกลิฉุย กุยกีประหาร

กลุ่มอำนาจเดิมหวนกลับ อำนาจหล่นไปอยู่ในมือของลิฉุย กุยกี

.………………

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และผ่านการออกเสียงประชามติ คมช. ก็จัดการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550

มันกลายเป็นกลยุทธ์ผิดพลาดครั้งใหญ่ของคณะรัฐประหารในหมากรุกการเมือง เพราะพรรคพลังประชาชนของทักษิณกำชัยชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้ง

อำนาจในมือ คมช. หลุดหายกลับไปอยู่ในมือของ ทักษิณ ชินวัตร อีกครั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กลุ่มอำนาจเดิมหวนกลับ อำนาจหล่นไปอยู่ในมือของ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ‘นอมินี’ คนใหม่

สิ่งที่เป็นชัยชนะของ คมช. กลายเป็นความพ่ายแพ้

สัจธรรมการเมืองบอกว่า เมื่อรุกขุนไม่จน ก็ยังไม่ชนะ

ตำราพิชัยสงครามแห่งสามก๊กสอนว่า เมื่อฆ่าศัตรู ต้องตัดรากถอนโคน

มองจากโลกของสามก๊ก การยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงอาจเป็น ‘รัฐประหารเสียของ’


-----------------------------------------------


ช้างสาร


เขากำลังหนีไปต่างประเทศ

สิ่งที่เขาทำกำลังตามล่าเขาอยู่

มันคือปี พ.ศ. 2535 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬกำลังเข้มข้น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) กำลังครองเมือง และเขาเป็นสื่อเดียวที่หาญกล้าท้าอำนาจรัฐ รายงานเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากสื่อต่างๆ ถูกปิดปาก

เขาตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษ ขนาดแท็บลอยด์ เผยแพร่โดยไม่จำหน่ายภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มันเป็นสื่อเดียวที่ทำให้ประชาชนรู้ความจริงในยามนั้น

เขาถูกคุกคามเอาชีวิต จำต้องหนีออกนอกประเทศ ก่อนเดินทางเขาเซ็นเช็คใบหนึ่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชุมนุม

นี่มิใช่ ‘ลูกบ้า’ ครั้งแรกของเขา ในสมัยหนุ่ม เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เขาเล็ดลอดเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อถ่ายรูปเหตุการณ์ฆ่าหมู่ โดยสวมรอยเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ดาวสยามที่ต่อต้านกลุ่มนักศึกษา

เขาชื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล

และบัดนี้เขาคนเดียวกำลังต่อต้านอำนาจใหญ่อีกคนหนึ่ง นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย

ทักษิณ ชินวัตร

.………………

เขากำลังหนีไปต่างประเทศ

สิ่งที่เขาทำกำลังตามล่าเขาอยู่

มันคือปี พ.ศ. 2551 การจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกกลายเป็นชนักปักหลังเขา เมื่อมันเป็นคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เขาทำหนังสือขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเทศจีนและญี่ปุ่น ช่วง 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2551 เหตุผลคือไปร่วมพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิก

เขาชื่อ ทักษิณ ชินวัตร

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาตกอยู่ในสภาะนี้เกิดจากฝีมือชายคนหนึ่ง

สนธิ ลิ้มทองกุล

.………………

การชิงอำนาจทางการเมืองย่อมก่อเกิดศัตรู

ยิ่งขึ้นที่สูง ศัตรูยิ่งกล้าแข็ง

พิฆาตศัตรูกล้าแข็ง ต้องใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบ

ระหว่างขงเบ้งกับสุมาอี้ ยังมีเรื่องต้องพิฆาตให้ด่าวดิ้น

เมื่อพระเจ้าโจยอยขึ้นเสวยราชย์ โปรดให้สุมาอี้ไปรักษาเสเหลียง เมืองชายแดนติดกับเสฉวน ขงเบ้งรู้ว่าสุมาอี้มีสติปัญญาหลักแหลม เป็นอันตรายต่อเสฉวน ขงเบ้งจึงออกอุบายยุแหย่ให้พระเจ้าโจยอยกับสุมาอี้แตกคอกัน ยืมมือฮ่องเต้ฆ่าสุมาอี้ โดยปิดแถลงการณ์บนกำแพงเมืองต่างๆ ว่า สุมาอี้คิดก่อกบฏเพื่อเป็นฮ่องเต้

พระเจ้าโจยอยทรงระแวง ส่งโจหิวคุมกำลังไปสืบหาความจริงจากสุมาอี้

โจหิวยื่นแผ่นแถลงการณ์ให้สุมาอี้ดู ถามว่าเหตุใดจึงคิดกบฏ สุมาอี้ตกใจ บอกว่า นี่เป็นแผนยืมดาบฆ่าคนของขงเบ้ง หลังจากนั้นก็เข้าเฝ้าเพื่อทูลชี้แจง

พระเจ้าโจยอยไม่ทรงประหารสุมาอี้ แต่ก็ยังคงระแวง ทรงมีคำสั่งปลดสุมาอี้พ้นจากทุกตำแหน่ง

กาลต่อมาสุมาอี้ใช้หอกเล่มเดียวกันเล่นงานขงเบ้ง ทำให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงระแวง ส่งไส้ศึกนาม กิอั๋นไปแพร่ข่าวที่เมืองหลวงเสฉวนว่า ขงเบ้งกำลังก่อการเป็นกบฏ จะปลงพระชนม์พระเจ้าเล่าเสี้ยน แล้วตั้งตัวเองขึ้นเป็นฮ่องเต้

อุบายนี้ได้ผล พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงเรียกตัวขงเบ้งกลับคืนเสฉวน

.………………

หลังจากถูกปลด สุมาอี้ใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านที่เมืองอ้วนเสีย ต่อมาเมื่อวุยก๊กพ่ายศึกหลายครั้ง พระเจ้าโจยอยทรงไม่มีทางเลือก เรียกสุมาอี้กลับไปเป็นแม่ทัพอีกครั้ง

ในการศึกที่เกเต๋ง ขงเบ้งส่งม้าเจ๊กไปรบสุมาอี้ ม้าเจ๊กตั้งทัพบนเขา ถูกสุมาอี้ล้อมจนอดน้ำ และใช้ไฟคลอก ทหารม้าเจ๊กตายไปมาก แตกหนีไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองหลิวเซีย

เมื่อสุมาอี้ใช้ไฟ ขงเบ้งก็ใช้ไฟเช่นกัน ในการศึกที่เฮาโลก๊ก ขงเบ้งลวงสุมาอี้และบุตรชายทั้งสองสุมาสูกับสุมาเจียวไปที่ปากทางเฮาโลก๊ก ซึ่งออกอุบายว่าเป็นที่เก็บเสบียงของทัพเสฉวน แล้วจุดไฟคลอก รอบตัวสุมาอี้และบุตรมีแต่เพลิง ไร้หนทางรอด ทว่าทันใดนั้น ฝนห่าใหญ่เทลงมา ดับไฟที่ล้อมตัว รอดตายราวปาฏิหาริย์

เป็นครั้งที่สุมาอี้ใกล้ชิดความตายที่สุด

แต่สุมาอี้ก็ทำให้ขงเบ้งใกล้ชิดความตายที่สุดเช่นกัน

ครั้งหนึ่งสุมาอี้รู้ว่าขงเบ้งเก็บเสบียงอาหารที่เมืองเสเสีย จึงวางแผนปล้น แต่ขงเบ้งรู้ทัน วางแผนขนเสบียงหนีและถอยทัพด้วย สั่งให้ทิ้งเมืองเทียนซุย ลำอั๋น ซินเสีย ทั้งสามเมือง

ขงเบ้งเองคุมทหารจำนวนหนึ่งไปที่เมืองซินเสีย เพื่อขนเสบียงหนีศัตรู ขณะจะถอยกลับ พบว่าช้าไปแล้ว กองทัพสุมาอี้บุกเข้าล้อมเมืองดุจสายฟ้าแลบ

ขงเบ้งจนมุม ใช้อุบายเมืองร้าง เปิดประตูเมือง ตนเองขึ้นไปดีดพิณบนเชิงเทิน สุมาอี้ไม่แน่ใจว่าขงเบ้งซ่อนกลใดไว้ จึงตัดสินใจไม่ตีเมืองซินเสีย รอดตายมาหวุดหวิด

อีกครั้งหนึ่งทั้งสองเผชิญหน้ากันตัวต่อตัว และประลองกันด้วยการตั้งค่ายกลพยุหะ

สุมาอี้สั่งทหารจัดค่ายกลแปรขบวนก่อน เป็นค่ายกลพยุหะอิคุยติ๋น ขงเบ้งก็ตั้งค่ายกลปักกัวติ๋น ท้าทายให้ทหารสุมาอี้โจมตี แต่ค่ายกลขงเบ้งลึกซึ้งเกินไป ทหารสุมาอี้ถูกทหารขงเบ้งจับเป็นเชลยทั้งหมด

ต่อมาขงเบ้งพยายามโจมตีค่ายของสุมาอี้ แต่สุมาอี้สั่งทหารไม่ออกรบ ขงเบ้งส่งทหารไปยั่วยุท้ารบทุกวัน แต่สุมาอี้ก็ไม่ยอมออกรบ ขงเบ้งส่งชุดชั้นในและเสื้อผ้าสตรีไปมอบให้สุมาอี้ สุมาอี้ไม่หลงกล กลับหัวเราะ สั่งทหารกลับไปบอกขงเบ้งให้ดูแลสุขภาพให้ดี

ครั้นขงเบ้งตาย กองทัพเสฉวนยกกลับ ทัพสุมาอี้ไล่ตาม แต่เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง ก็พบว่าผู้นำทัพก็คือขงเบ้ง สุมาอี้ตกใจ เชื่อว่าความตายของขงเบ้งเป็นเพียงข่าวลวง ทัพสุมาอี้ถูกตีแตกไป

สุมาอี้รู้ภายหลังว่า ขงเบ้งที่ตนเห็นเป็นหุ่นปลอม ขงเบ้งตัวจริงตายไปแล้ว สุมาอี้ยอมรับว่า แม้ตายไปแล้ว ขงเบ้งยังสามารถพิชิตศึก

หากขงเบ้งเป็นมังกร สุมาอี้ก็เป็นจิ้งจอก เท่าทันเล่ห์กลซึ่งกันและกัน

.………………

หาก ทักษิณ ชินวัตร เป็นเสือ สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เป็นสิงห์

คนทั้งสองเกิดในครอบครัวคนทำธุรกิจเล็กๆ สนธิเกิดที่จังหวัดสุโขทัย ครอบครัวทำกิจการโรงพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์จีนสำหรับชาวจีนในไทย

สนธิจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ไปเรียนต่อที่ไต้หวันด้านวิศวกรรมเครื่องกล แล้วไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา ทำงานบริหารหนังสือพิมพ์มาโดยตลอด อายุ 36 ปี ทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการจนเป็นสื่อธุรกิจชั้นนำของไทย

ส่วน ทักษิณ ชินวัตร เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เวลาเด็กมักช่วยกิจการของครอบครัวโม่กาแฟ ขายโอเลี้ยง ทำสวนส้ม ตัดส้ม ขายกล้วยไม้ และช่วยกิจการโรงภาพยนตร์ของครอบครัว

ทักษิณเรียนระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 สอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของรุ่น ต่อมาได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สหรัฐฯ

เริ่มทำงานราชการตำแหน่งหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ต่อมาเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร และอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เข้าสู่การเมืองครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 เป็นเลขานุการของ ปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

หลังจากล้มเหลวจากธุรกิจต่างๆ เช่น ค้าขายผ้าไหม โรงภาพยนตร์ คอนโดมิเนียม จนเป็นหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท ทักษิณก็เข้าสู่ธุรกิจด้านการสื่อสาร ทำธุรกิจให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็ม และธุรกิจวิทยุติดตามตัวยี่ห้อ Phonelink

ในปี 2529 ก่อตั้งบริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเซลลูลาร์ 900 โดยได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ เป็นผู้ริเริ่มให้บริการโทรทัศน์เคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิกเป็นครั้งแรก ใต้นาม ไอบีซี เมื่อปี พ.ศ. 2532

ด้วยสายสัมพันธ์ทางการเมือง เขาก้าวเข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร สร้างดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติดวงแรกของไทยนาม ไทยคม

หลังจากประสบความสำเร็จในธุรกิจโทรคมนาคม ทักษิณ ชินวัตร ก็เข้าสู่การเมืองในปี พ.ศ. 2537 จากการชักชวนของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาล ชวน หลีกภัย หลังจากนั้นเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทน พล.ต. จำลอง ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา และตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ

ปี พ.ศ. 2541 ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แผ้วทางสู่การเลือกตั้งโดยรวมมุ้งการเมืองทั้งหลาย ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่นำการตลาดมาใช้ในการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กำเนิดนโยบายต่างๆ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค กวาดล้างยาเสพติดด้วยความรุนแรง ผลงานที่ ‘เข้าตา’ และ ‘โดนใจ’ คนจำนวนมากทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน เห็นชัดจากผลการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 ที่พรรคของเขาได้คะแนนเสียงสูงสุด

แล้วเขาก็เผชิญกับแรงต่อต้าน

นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล

.………………

มันเริ่มด้วยรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวีในปลายปี 2548 สนธิ ลิ้มทองกุล ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับพิธีกรสาว นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์

รายการนี้ตีแสกหน้า ทักษิณ ชินวัตร ด้วยลีลาการพูดที่สุขุมและมีความรู้เบื้องหน้าเบื้องหลัง ทำให้มีคนชมจำนวนมาก

รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ขุดคุ้ยเบื้องหลังทักษิณไม่หยุดยั้ง เล่นงานเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตเชิงนโยบาย ความไม่สง่างามในการขึ้นสู่อำนาจ การฆ่าคนบริสุทธิ์ในการปราบยาเสพติด และที่พลาดไม่ได้คือคดีซุกหุ้น

เหตุเกิดเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยโอนหุ้นที่มีอยู่ไปให้คนรับใช้ คนรถ คนสวนถือแทน สังคมเชื่อว่าการที่ทักษิณรอดมาได้ด้วยเสียง 8 ต่อ 7 เพราะเหตุผลที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้เกิดกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ วลี ‘บกพร่องโดยสุจริต’ เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยอมหลับตาข้างหนึ่ง

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 โมเดิร์นไนน์ทีวีระงับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ การถอดรายการกลับทำให้เรื่องบานปลาย สนธิจัดรายการของตนเองขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร โดยใช้เวทีนอกสถานที่ เช่น หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และลุมพินีสถาน สวนลุมพินี ทุกคืนวันศุกร์ ยังขุดคุ้ยเรื่องต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีและพวก ด้วยลีลาการเล่าและทรงความรู้ ทำให้มีผู้ชมรายการเป็นจำนวนมาก

สนธิใช้กลยุทธ์รวบรวมบันทึกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทั้งหมดในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แจกฟรีซีดีบันทึกเสียงจากรายการให้แก่ประชาชนทั่วไป ฯลฯ กระแสต่อต้านที่นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ขยายตัวเป็นขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และขยายออกไปอีก

ปลายปี พ.ศ. 2548 ทักษิณฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการร่วม และพวก เป็นเงิน 500 ล้านบาท และคดีอาญามากมาย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ทักษิณ ชินวัตร ก็ถอนฟ้องสนธิและพวก

.………………

ในปี พ.ศ. 2549 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิงส์ จำกัด แห่งสิงคโปร์ มีการแก้ไขกฎหมายการขายหุ้นไม่กี่วันก่อนการขาย ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากการขายหุ้น เหตุการณ์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตัว มันกลายเป็นบ่วงรัดคอและชนวนของแรงต่อต้านที่แผ่ออกไป กระแสขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขยายตัวในวงกว้าง

ด้วยแรงกดดันจากรอบทิศ เย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ทักษิณประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 พรรคฝ่ายค้านสามพรรค คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทยยังคงได้รับคะแนนเสียงมาก แต่ติดปัญหาได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 และมีการกล่าวหาว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน เป็นโมฆะ

กลุ่มพันธมิตรฯนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 20 กันยายน 2549 การเผชิญหน้าระหว่างเสือกับสิงห์ยุติลงหนึ่งวันก่อนการชุมนุมใหญ่ เพราะ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ก่อรัฐประหาร โค่นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

แต่สงครามยังไม่จบ

ตรงกันข้ามกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น

ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลาราว 05.45 น. นายสนธิเดินทางโดยรถส่วนตัว โตโยตา เวลไฟร์ ไปที่สถานีโทรทัศน์ ASTV เพื่อจัดรายการตอนเช้าเหมือนทุกวัน รถอีซุซุ ดีแม็กซ์ สีบรอนซ์ทอง คันหนึ่งแล่นประกบ คนในรถใช้อาวุธสงครามถล่มยิงรถของนายสนธิจนพรุน แล้วหลบหนีไป ทิ้งปลอกกระสุนปืน 84 นัด และลูกระเบิดเอ็ม 79 ที่ยังไม่ระเบิดหนึ่งลูก

นายสนธิผู้ถูกยิงหลายส่วนบนร่างกายรอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559 ในคดีที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ศาลฎีกาสั่งจำคุก สนธิ ลิ้มทองกุล 20 ปี ไม่รอลงอาญา

หลังจากเดินทางไปร่วมพิธีกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2551 ทักษิณ ชินวัตร ไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อฟังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และลี้ภัยในต่างประเทศ

ในวันที่ 17 กันยายน 2551 ศาลฎีกาฯตัดสินจำคุกทักษิณสองปี จากคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก

แต่สงครามยังห่างไกลจากจุดยุติ

.………………

หากขงเบ้งกับสุมาอี้กำหนดทิศทางการเมืองสามก๊กเมื่อ 1,800 ปีก่อน บทบาทของ สนธิ ลิ้มทองกุล กับ ทักษิณ ชินวัตร ก็กำหนดชะตาของบ้านเมืองไทยในปัจจุบัน

ทั้งสองผ่านการลอบสังหาร ผ่านการหนี ผ่านการถูกพิพากษาจำคุก ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น

ประวัติศาสตร์ไทยจารึกว่า ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยช่วงตั้งแต่ปี 2548 จนถึงรัฐประหาร 2557 ส่วนหนึ่งเป็นเหตุและปัจจัยที่สืบจากเสือกับสิงห์คู่นี้

ส่วนประวัติศาสตร์มนุษยชาติจารึกไว้ตลอดมาว่า เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:55:42

นภาสีฟ้าสูญสิ้น


พ.ศ. 727 ราชวงศ์ฮั่นเริ่มเสื่อมถอยเพราะถูกกัดกินจากภายใน ขันทีในวังฉ้อราษฎร์บังหลวง คุมอำนาจโดยกลุ่มสิบขันที ขุนนางตงฉินที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจก็ถูกหาเรื่องขับออกจากราชการ เมืองหลวงมีกลุ่มอิทธิพลต่างๆ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

แผ่นดินลุกเป็นไฟ

ภาวะข้าวยากหมากแพงทำให้ชาวนา ชาวบ้านเดือดร้อนแสนสาหัส มิเพียงเผชิญความเหลื่อมล้ำในสังคม การเก็บภาษีหนัก ยังประสบอุทกภัยจากแม่น้ำฮวงโหซ้ำเติม ทำให้ในที่สุดชาวบ้านก็ทนไม่ได้ ต้องการลุกขึ้นทำการสักอย่าง

ยามนั้นชายผู้หนึ่งนามเตียวก๊กป่าวร้องว่า จะมีผู้มีบุญมาครองแผ่นดินใหม่ แล้วบ้านเมืองจะสงบสุข เตียวก๊กเคยช่วยเหลือชาวบ้านที่ป่วยไข้หายมากมาย ชาวบ้านจึงหลงเชื่อมากมาย

เตียวก๊กส่งคนไปติดต่อฮองสีขันที เพื่อเตรียมก่อการใหญ่ โค่นราชวงศ์ฮั่น แต่ความแตก ฮองสีขันทีถูกจับขังคุก เตียวก๊กจึงเปลี่ยนแผน ตั้งตัวเองเป็นเทียนก๋งจงกุ๋น (เจ้าพระยาสวรรค์) แต่งตั้งเตียวโป้น้องคนกลางเป็นแตก๋งจงกุ๋น (เจ้าพระยาแผ่นดิน) และเตียวเหลียงน้องสุดท้ายท้องเป็นยินก๋งจงกุ๋น (เจ้าพระยามนุษย์) รวมกำลังพลได้สี่สิบห้าสิบหมื่น แจกผ้าเหลืองให้กองทัพชาวบ้านโพกหัว เริ่มรุกเข้าชิงอำนาจจากเมืองหลวง

เป็นต้นกำเนิดของกบฏโพกผ้าเหลือง มีคำขวัญว่า “นภาสีฟ้าสูญสิ้น ฟ้าสีหลืองปรากฏ ปฐพีรุ่งเรือง”

กลุ่มโพกผ้าเหลืองก่อกบฏ บุกยึดเมืองต่างๆ เสียงร้อง “นภาสีฟ้าสูญสิ้น ฟ้าสีหลืองปรากฏ ปฐพีรุ่งเรือง” ดังสะเทือนไปถึงเมืองหลวง กำลังทหารหลวงไม่สามารถปราบ

ขุนพลโฮจิ๋นเสนอพระเจ้าเลนเต้ส่งสาส์นไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ให้ยกทัพมาปราบกบฏโพกผ้าเหลือง และประกาศรับสมัครทหารมีฝีมือไปปราบกบฏ

เหตุการณ์นี้ทำให้ชายสามคนพบกัน เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สาบานเป็นพี่น้องกันในสวนดอกท้อ

ด้วยเงินของเตียวหุย สามพี่น้องร่วมสาบานตั้งกองทัพขนาดเล็กขึ้นมาราวสามร้อยคน ผลิตหอก ดาบ และเกราะเข้าสู่สงคราม โดยเข้าร่วมกับเล่าเอี๋ยน เจ้าเมืองตุ้นก้วน

แล้วทั้งสองกองทัพก็เผชิญหน้ากัน

.………………..

พ.ศ. 2551 บนแผ่นดินไทย บังเกิดปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ นั่นคือการแบ่งสีเสื้อ

สองสีหลักคือสีเหลืองกับสีแดง ทั้งสองสีผลิต ‘หอก ดาบ และเกราะ’ เข้าสู่สงคราม

หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารโค่นลงจากอำนาจ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนของทักษิณชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ‘นอมินี’

สมัคร สุนทรเวช บริหารประเทศได้เพียงหกเดือน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคลื่อนไหวจัดการชุมนุมใหญ่ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้างความผิดของ ทักษิณ ชินวัตร และพวก ประเด็นการคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

ตัวละครแรกปรากฏบนกระดานหมากรุกการเมือง กลุ่มเสื้อสีเหลือง คือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เริ่มที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่เปลี่ยนไปชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก ผ่านไปห้าวัน ก็ยกระดับการชุมนุมจากการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช แทน

การชุมนุมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มพันธมิตรฯใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย รุกไปจุดต่างๆ

26 สิงหาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ การ์ดกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มนักรบศรีวิชัย บุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที “เพื่อทวงคืนสื่อของรัฐที่ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง”

วันเดียวกัน มีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาลสำเร็จ จนรัฐบาลไม่สามารถเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีได้อีกต่อไป

การเผชิญหน้าดำเนินต่อไป จนเกมพลิกในวันที่ 9 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคำวินิจฉัยว่า ขาดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เนื่องจากเขาเป็นพิธีกรของรายการทำครัว

17 กันยายน สภาผู้แทนราษฎรเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่มพันธมิตรฯเริ่มชุมนุมครั้งใหม่ ขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบกดดันให้รัฐบาลลาออก

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯปฏิบัติการดาวกระจาย ยกขบวนไปปิดล้อมรัฐสภา เพื่อขัดขวางการประชุมรัฐสภา ปิดล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกระทรวงการคลัง ผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งเดินทางไปท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อไม่ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี

วันรุ่งขึ้นกลุ่มพันธมิตรฯใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถบรรทุกหกล้อปิดเส้นทางมอเตอร์เวย์ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางเข้าออกสนามบินได้ ผู้โดยสารและลูกเรือหลายพันคนตกเครื่องและตกค้างในสนามบิน

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เสนอทางออกให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา และกลุ่มพันธมิตรฯยุติการชุมนุม ถอนกำลังออกจากสนามบินทั้งสองแห่ง

กลุ่มพันธมิตรฯยืนยันให้รัฐบาลลาออก ไม่ใช่ยุบสภา

นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดสนามบินอู่ตะเภาใช้แทน เพื่อระบายนักท่องเที่ยวตกค้าง และนักเดินทางขาเข้า

2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลาห้าปี คำตัดสินทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค พ้นจากตำแหน่ง

วันรุ่งขึ้นกลุ่มเสื้อสีเหลืองยุติการชุมนุม

สามเดือนต่อมา ตัวละครที่สองปรากฏบนกระดานหมากรุกการเมือง กลุ่มเสื้อสีแดง หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

.………………..

หลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สภาก็คัดสรรนายกฯคนใหม่อีกครั้ง

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ด้วยการล็อบบี้กลุ่ม เนวิน ชิดชอบ โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ สภาฯเลือก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2551 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีถึงสามคน!

วันที่ 26 มีนาคม 2552 กลุ่มคนเสื้อแดง เริ่มชุมนุมที่ท้องสนามหลวง

เป็นจุดเริ่มต้นของวาทกรรม ‘ไพร่’ กับ ‘อำมาตย์’ มีนัยของความเป็นสองมาตรฐานในสังคม

การต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขาจึงมีนัยของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค เป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์สังคมอุดมคติ

วันที่ 7 เมษายน 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมรถยนต์ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เมืองพัทยา โดยใช้รถมอเตอร์ไซค์ขวาง ขว้างหมวกกันน็อคใส่กระจกด้านหลังรถจนแตก และใช้ท่อนไม้ทุบกระจกหน้า

8 เมษายน กลุ่ม นปช. เรียกร้องให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี ให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะยกระดับการชุมนุม

9 เมษายน อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอลิงก์ส่งกำลังใจให้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมต่อไป กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เสื้อแดงเริ่มปิดถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร

แล้วตัวละครที่สามก็ปรากฏบนกระดานหมากรุกการเมือง กลุ่มเสื้อสีน้ำเงิน

.………………..

วันที่ 11 เมษายน 2552 มีการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียน บวก 6 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา

กลุ่มคนเสื้อแดงแยกไปปิดล้อมโรงแรมดุสิตธานี พัทยา ที่พักของประธานาธิบดีจีนและประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โรงแรมอมารี ที่พักของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โรงแรมดีทู ที่พักของผู้นำนิวซีแลนด์ ทำให้ผู้นำทั้งสี่ประเทศนี้ไม่สามารถไปร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ได้

เวลาราว 08.40 น. กลุ่มเสื้อแดงไปชุมนุมหน้าโรงแรมรอยัล คลิฟฯ ปรากฏกลุ่มชายฉกรรจ์เสื้อสีน้ำเงินขวางทาง เกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มเสื้อแดงกับกลุ่มเสื้อสีน้ำเงิน เริ่มจากขว้างปาก้อนหินใส่กัน ตามมาด้วยการยิงและระเบิด บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ผู้บาดเจ็บถูกส่งไปที่โรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย 9 รายรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางละมุง เป็นคนเสื้อแดง 4 ราย คนเสื้อสีน้ำเงิน 5 ราย บาดแผลเกิดจากถูกสะเก็ดระเบิด

เวลา 10.00 น. คนกลุ่มเสื้อสีแดง 500 คน นำโดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ฝ่าด่านเข้าไปในเขตโรงแรมรอยัล คลิฟฯ และตั้งโต๊ะแถลงข่าว แสดงเสื้อสีน้ำเงินหลายตัว ระเบิดเพลิง ระเบิดปิงปอง ปลอกกระสุน และตะปูเรือใบที่โรยบนถนนทำให้รถแท็กซี่หนึ่งร้อยคันจากกรุงเทพฯ ถูกตะปูเรือใบจนยางระเบิด มาถึงล่าช้า

นายอริสมันต์กล่าวว่าเป็นของที่ยึดได้จากกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน เรียกร้องให้นายกฯลาออกและยกเลิกการประชุมอาเซียน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อน้ำเงินทำร้ายกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งนี้เพราะ “กลุ่มคนเสื้อน้ำเงินเป็นทหารและตำรวจที่บงการโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายเนวิน ชิดชอบ”

เวลา 12.45 น. กลุ่มคนเสื้อแดงสองพันคนบุกเข้าไปในโรงแรม ส่วนที่เป็นพื้นที่ทำงานของผู้สื่อข่าวทั่วโลกซึ่งมาทำข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ใช้ไม้ทุบกระจกแตกกระจาย กลุ่มคนเสื้อแดงไปตามห้องต่างๆ ภายในโรงแรม เพื่อล่าตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ไม้ทุบทำลายสิ่งของภายในโรงแรมเสียหายและสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ที่มาประชุมและเจ้าหน้าที่โรงแรม โดยที่กำลังทหารและตำรวจที่เฝ้าดูความปลอดภัยคุมสถานการณ์ไม่ได้

ตำรวจในทีมรักษาความปลอดภัยนายกฯคนหนึ่งยกปืนพกขึ้นขู่ผู้ชุมนุม เป็นผลให้คนเสื้อแดงไม่พอใจ กรูเข้าไปจะทำร้าย ทำให้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เข้าไปไกล่เกลี่ย แกนนำคนเสื้อแดงกล่าวว่า ต้องหาตัวคนที่ยิงคนเสื้อแดงมาลงโทษให้ได้ภายในหนึ่งชั่วโมง

การประชุมอาเซียนซัมมิทล้มลงโดยปริยาย

ภาพเฮลิคอปเตอร์อพยพเหล่าผู้นำอาเซียนออกจากโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เผยแพร่ไปทั่วโลก ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กลอเรีย อาร์โรโย ขึ้นเฮลิคอปเตอร์พลเรือน ผู้นำพม่า ตัน ฉ่วย ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปที่สนามบินอู่ตะเภา นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เควิน รัดด์ กำลังเดินทางมาไทยได้ครึ่งทาง ก็หันเครื่องบินกลับ

.………………..

หนึ่งวันหลังการล้มอาเซียนซัมมิท กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงกลับไปรวมตัวที่กรุงเทพฯ ขบวนแท็กซี่ปิดถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย เพื่อตามล่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปิดกั้นรถยนต์ของนายกฯ เจ้าหน้าที่อารักขายิงปืนขู่ ผู้ชุมนุมกรูเข้าไปแย่งปืนจากเจ้าหน้าที่คนนั้นและทำร้ายบาดเจ็บ

ผู้ชุมนุมรายล้อมรถนายกฯ รุมทุบรถด้วยไม้และของแข็ง นอกจากนั้น ยังรุมทุบรถยนต์ของ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ทำให้นิพนธ์บาดเจ็บ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ส่วนรถยนต์นายกฯหลุดรอดไปได้

วันที่ 13 เมษายน 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งปิดถนนดินแดงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง นำรถบรรทุกก๊าซแอลพีจีขนาด 8 ตันไปจอดขวางกลางถนน บริเวณแฟลตดินแดง กลิ่นก๊าซรั่วตลอดเวลาสร้างความหวาดผวาให้กับชุมชนแฟลตดินแดงอย่างยิ่ง เพราะกลัวว่าจะเกิดระเบิด

ตลอดวันนั้น กลุ่ม นปช. ขู่จะจุดระเบิดรถบรรทุกก๊าซหลายครั้ง ชาวบ้านแสดงความไม่พอใจกลุ่ม นปช. ตะโกนไล่ และขว้างปาสิ่งของ ขวดน้ำ ขวดเบียร์ ใส่กลุ่มคนเสื้อแดง

ตัวละครที่สี่พลันปรากฏ คนสวมเสื้อสีดำ

ในสถานการณ์ตึงเครียด ร่างหนึ่งในชุดซูเปอร์ฮีโร แบทแมน ปรากฏตัวพร้อมเสียงร้องดังก้อง “แบทแมนมาแล้ว!”

แบทแมนเป็นชาวแฟลตดินแเดง นาม พิจิต เชื้อแก้ว ใช้อารมณ์ขันช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ความตึงเครียดสลายไป ชาวดินแดงถือโอกาสกดดันไล่คนเสื้อแดงออกไปจากรถบรรทุกก๊าซ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่บริษัทสยามแก๊สขับรถก๊าซออกมาจากจุดนั้น

รัฐบาลตัดสินใจสลายการชุมนุม

กำลังทหารและตำรวจใช้แก๊สน้ำตา กระสุนฝึกหัด และกระสุนจริง สลายการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 70 คน

การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป ผู้ชุมนุมยึดรถโดยสารประจำทางหลายคัน กีดขวางตามถนนสายต่างๆ ทั่วกรุง หลายคันถูกทำลาย และจุดไฟเผา

เวลาราว 21:30 น.เกิดเหตุปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับชาวบ้านตลาดนางเลิ้งซึ่งพยายามปกป้องชุมชนของตนเอง มีผู้เสียชีวิตสองราย

14 เมษายน แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

กองทัพบกจัดหารถโดยสารส่งผู้ร่วมชุมนุมกลับสู่ภูมิลำเนา เกมหมากรุกการเมืองปิดฉากที่สงกรานต์เลือด แต่สงครามยังห่างไกลจากการยุติ

.………………..

หนึ่งปีต่อมา เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 หมากรุกการเมืองกระดานใหม่ก็เริ่มขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมอีกครั้งที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร

สงครามสีเสื้อครั้งใหม่เริ่มต้นอีกครั้ง

บางทีเมื่อคนไทยฆ่ากันเอง ก็ไม่มีสีเหลือง ไม่มีสีแดง ไม่มีสีน้ำเงิน มีแต่สีโลหิตของพี่น้องหลั่งบนผืนแผ่นดินไทย

นภาสีฟ้าสูญสิ้นไปตั้งแต่คนไทยแบ่งสีเสื้อกัน

ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์สยามประเทศที่คนไทยแตกแยกกันได้ขนาดนี้ คนในครอบครัวเดียวกันสวมเสื้อคนละสี ทะเลาะกัน

ทันใดนั้นทุกคนถูกสังคมบังคับให้ต้องเลือกสักสีหนึ่ง สีของไพร่ หรือสีของอำมาตย์

สีหนึ่งชี้นิ้วว่าอีกสีหนึ่งเป็น ‘อำมาตย์’ หรือ ‘สลิ่ม’

สีหนึ่งชี้นิ้วว่าอีกสีหนึ่งเป็น ‘ควายแดง’

เส้นขนานแห่งสังคมมิเพียงไม่บรรจบกัน ยังถ่างกว้างห่างกันกว่าเดิม

แบทแมนกล่าวว่า “ผมอยากให้ประเทศชาติสงบ อยากให้เลิกแบ่งฝ่าย แบ่งสี และหันหน้าเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง สิ่งไหนที่ขัดแย้งควรจะถอยกันคนละก้าว คุยกันได้ไหม? เหมือนกับการเมืองสมัยเก่าที่เขาต่อสู้กันในกติกา ต่อสู้ในสภา ก็ว่ากันไป ไม่ใช่ไม่พอใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วยกพวกออกมาเล่นนอกสภา ทำความเดือดร้อนให้ประชาชน แต่ก่อนการเมืองเราเขาทะเลาะกันในสภาเสร็จแล้วก็จบ ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็ยุบสภา แล้วเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งทำให้มันเดินต่อไปได้ และไม่เดือดร้อนชาวบ้าน แต่นี่ไม่ใช่แล้ว จะเอาชนะกันอย่างเดียว”

บางทีเมืองไทยมี ‘แบทแมน’ น้อยเกินไป

.………………..


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:57:03

ชิงเมืองคืน


ลิบองเป็นทหารหนุ่มผู้ก้าวขึ้นมาเป็นแม่ทัพแห่งกังตั๋ง

เวลานั้นเกงจิ๋วเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้เล่าปี่ ‘ขอยืม’ จากซุนกวน แล้วครองไว้ไม่ยอมคืน จนในที่สุดซุนกวนก็ตัดสินใจยึดคืนด้วยกำลัง

หลังจากจิวยี่ตาย ซุนกวนแต่งตั้งโลซกเป็นแม่ทัพเรือ ต่อมาโลซกตายด้วยโรคชรา ก่อนตายแนะนำซุนกวนแต่งตั้งลิบองเป็นแม่ทัพคนต่อไป

การแต่งตั้งทหารหนุ่มคนหนึ่งเป็นแม่ทัพย่อมผิดขนบ แต่เช่นเดียวกับโลซก ซุนกวนมองเห็นแววของลิบอง

ซุนกวนเสนอให้ลิบองไปตีเมืองชีจิ๋ว ลิบองกลับแย้ง กล่าวว่าสมควรตีเกงจิ๋วก่อน ได้เกงจิ๋วคือได้ลุ่มน้ำแยงซี มีประโยชน์มากกว่ายึดชีจิ๋ว ซึ่งยึดง่ายกว่า แต่รักษายาก อีกประการ เวลานั้นมีข่าวกวนอูยกทัพไปตีเมืองอ้วนเสีย ทิ้งเกงจิ๋ว เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะชิงเกงจิ๋วคืนมา

ซุนกวนเห็นชอบ

แต่การยึดเกงจิ๋วด้วยกำลังห่างไกลจากคำว่าง่าย เกงจิ๋วมีแนวป้องกันที่เข้มแข็ง มีหอสัญญาณไฟตลอดแนวฝั่ง

ลิบองวางแผนร่วมกับลกซุนที่ปรึกษาหนุ่ม ไม่ยกทัพเข้าตีตรงๆ กลับปล่อยข่าวว่าไม่อยากสู้กับกวนอู กลัวจนล้มป่วย ครั้นอาการป่วยหนักขึ้น ก็ลาออกจากตำแหน่งแม่ทัพ ส่งมอบตำแหน่งแม่ทัพให้ลกซุน

กวนอูได้ข่าวนั้นก็หัวเราะ เพราะลกซุนเป็นเพียงทหารหนุ่มเด็กวานซืน ไม่เคยทำงานใหญ่ให้ปรากฏ กวนอูจึงถอนทหารออกจากเกงจิ๋ว เพื่อไปตีเมืองอ้วนเสีย

ขณะเดียวกัน ซุนกวนก็ส่งหนังสือไปเร่งให้โจโฉส่งทัพตีกวนอูหนักขึ้นในศึกเมืองอ้วนเสีย

ลิบองส่งทหารฝีมือดีกลุ่มหนึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้าและชาวประมงแล่นเรือไปที่ฝั่งเกงจิ๋ว บอกยามรักษาการของเกงจิ๋วว่าถูกพายุพัดเรือมา ยามหลงเชื่อ

ทหารลิบองก็จับยามรักษาการหอไฟหมด สั่งให้นำทางเข้าเมือง ทหารประตูเมืองเห็นยามฝ่ายเดียวกันมา ก็เปิดประตูเมือง ทหารของลิบองก็ตรงเข้ายึดเมืองเกงจิ๋วได้อย่างง่ายดาย

ด้วยแผนลวงและความประมาทของกวนอู กังตั๋งยึดเกงจิ๋วได้สำเร็จ

ชิงเมืองคืนสำเร็จ

.………………..

ร.ต. เข้ม เย็นยิ่ง เป็นทหารหนุ่ม ผู้เป็นทหารเพราะความผันผวนของการเมืองโลก

เขาศึกษาอยู่ที่อังกฤษเมื่อเกิดสงครามโลกและไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร รัฐบาลไทยเรียกตัวกลับบ้าน แต่เขาไม่ยอมกลับ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทย เช่นเดียวกับคนไทยอีกจำนวนหนึ่ง เช่น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในรัชกาลที่ 7 นายมณี สาณะเสน นายเสนาะ ตันบุญยืน ฯลฯ หาทางปลดแอกไทยจากญี่ปุ่น

เวลานั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยเจรจากับสหรัฐฯให้รับรองเสรีไทยสำเร็จ

อังกฤษลังเลที่จะรับรองเสรีไทย แต่เมื่อเห็นคนไทยกลุ่มนี้สู้แน่ จึงรับรองอย่างไม่เป็นทางการ มีสำนักงานที่ลอนดอน รับสมัครเข้าเป็นทหาร สมัครกันราวห้าสิบคน

เข้ม เย็นยิ่ง และคนไทยจำนวนหนึ่งสมัครเป็นทหาร ประจำการในหน่วย Pioneer Corps (หน่วยการโยธา) สวมเครื่องแบบทหารอังกฤษ

ทหารไทยราวห้าสิบคนถูกส่งไปประจำหน่วยการโยธาเหมือนลองใจ วัดความอดทน เพราะเป็นหน่วยไม่มีเกียรติ ทหารหน่วยนี้ทำงานที่ไม่มีใครอยากทำ เช่น ขุดมันฝรั่ง ล้างส้วม ทำความสะอาดโรงอาหาร เฝ้ายาม

ทำงานจนถึงกลางเดือนมกราคม 2486 พวกเขาก็โดยสารเรือไปอินเดีย บอมเบย์ แล้วแยกย้ายกันไปประจำที่ต่างๆ บางคนไปทำงานด้านวิทยุกระจายเสียง บางคนทำแผนที่

เข้ม เย็นยิ่ง ถูกส่งไปฝึกการรบกองโจรที่เมืองปูนา เรียกกลุ่มของเขาว่าช้างเผือก (White Elephants)

ระหว่างนั้น เข้ม เย็นยิ่ง ได้ข่าวว่า ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนเดินทางไปจุงกิงเพื่อพบ กำจัด พลางกูร ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทยังได้ถือหนังสือจากกองทัพอังกฤษถึงรูธ หัวหน้าเสรีไทยในเมืองไทย ปรีดี พนมยงค์ ให้ต้อนรับพวกช้างเผือกที่จะลอบเดินทางเข้าไปปฏิบัติการในไทย

เดือนกันยายน พ.ศ. 2486 เข้ม เย็นยิ่ง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าเป็นหนึ่งในทีม หน่วยของเขาเรียกว่า Pritchard ประกอบด้วยนายประทาน เปรมกมล เป็นนักวิทยุ นายสำราญ วรรณพฤกษ์ และ เข้ม เย็นยิ่ง ยังมีทหารอังกฤษสองนายกับสิบเอกอีกหนึ่งคน ไปส่งพวกเขาขึ้นบก

พวกเขาเดินทางด้วยเรือดำน้ำ ขึ้นบกที่ฝั่งตะวันตกของไทย ในเดือนธันวาคม 2486 พร้อมเครื่องรับส่งวิทยุ เพื่อตั้งสถานีติดต่อระหว่างประเทศไทยกับฐานทัพอังกฤษที่อินเดียเป็นประจำ

เดินทางราวหนึ่งสัปดาห์ ระหว่างเดินทาง บางครั้งอยู่ใต้เรือใหญ่ ไม่รู้ว่าเป็นเรือชาติใด ต้องรักษาความเงียบที่สุด

เมื่อถึงฝั่ง ทหารอังกฤษไปสอดแนม พบว่าไม่มีใครมารับตามนัด ก็กลับไปอินเดีย

เดือนกุมภาพันธ์ 2487 ทหารไทยถูกส่งไปฝึกกระโดดร่มชูชีพที่เมืองราวัลพินดี

.………………..

ครั้นถึงเดือนมีนาคม 2487 เข้ม เย็นยิ่ง และ เสรีไทยอีกสองคน ชื่อแดง และดี ก็เข้าไทย นั่งเครื่องบินลิเบอเรเตอร์ไปที่จุดหมาย ถึงภาคเหนือของไทย เป็นคืนแรม เครื่องบินวนหลายรอบ เห็นแสงไฟบนพื้นดิน

เข้ม เย็นยิ่ง กระโดดร่มลงถึงดิน เท้าข้างหนึ่งลงบนคันนา อีกข้างนอกคันนา ทำให้ข้อเท้าแพลง

ทั้งสามดูแผนที่ พบว่าจุดนั้นคือนอกหมู่บ้านวังน้ำขาว ในเขตจังหวัดชัยนาท ห่างจากจุดหมาย 25-30 กิโลเมตร

เป็นเวลาตีสี่ ทั้งสามก็เดินทางไป ระหว่างพบชาวนาห้าหกคน พวกเขาขุดหลุมฝังซ่อนเครื่องวิทยุและของที่ไม่จำเป็น

พวกเขาพยายามติดต่อกองบัญชาการที่อินเดีย แต่ไม่สำเร็จ

ผ่านไปสามวันก็ถูกชาวบ้านยกกำลังมาล้อม จำนวนสามสิบกว่าคน ส่วนมากเป็นชาวนา รวมทั้งตำรวจในเครื่องแบบ เข้ม เย็นยิ่ง เป็นคนเดียวที่ถูกจับ เพื่อนอีกสองคนซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ใกล้เคียง

เขารู้สึกสับสน คิดถึงจดหมายในกระเป๋าที่จะส่งถึงรูธ และยาพิษในกระเป๋าหน้าอก

เข้มถูกทำร้ายและด่าทอ ชาวบ้านกล่าวหาว่าเขากระทำจารกรรมและทรยศต่อชาติ เขาถูกจับตัวไปส่งที่ศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ ถูกมัดและล่ามโซ่ที่เท้ากับเสา

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกับตำรวจที่จับเขามีสองความเห็น ฝ่ายหนึ่งว่าเขาทรยศชาติ อีกฝ่ายว่าไม่ใช่ เขาถูกพาตัวไปที่ตัวเมืองชัยนาท ตลอดทางมีคนมาห้อมล้อม บางคนช่วยเหลือเขา เอาอาหารให้กิน เขาถูกพาไปที่จวนข้าหลวง ถูกสอบสวน แล้วนำไปขังที่สถานีตำรวจ

วันรุ่งขึ้นถูกย้ายที่เรือนจำชัยนาท อยู่เกือบหนึ่งสัปดาห์ วันหนึ่งถูกพาไปที่สถานีตำรวจ แล้วส่งขึ้นเรือยนต์ไปกรุงเทพฯ

เมื่อถึงถูกพาไปที่กองตำรวจสันติบาล พบนักโทษสงครามอีกหลายคน รวมทั้งแดงกับดีที่ถูกจับทีหลัง

พวกเขาถูกย้ายไปที่บ้านพักของตำรวจบริเวณนั้น แล้วพบว่ามีตำรวจผู้ใหญ่ที่เป็นเสรีไทยคอยช่วยเหลือ

ในที่สุด เข้ม เย็นยิ่ง ได้พบกับนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อความจริงปรากฏ ฝ่ายเสรีไทยก็ติดต่อทางวิทยุกับกองทัพอังกฤษที่อินเดีย และปฏิบัติการของทหารอังกฤษและสหรัฐฯในประเทศไทยก็ดำเนินไปโดยมีเสรีไทยช่วยเหลือจนจบสงคราม

นั่นคือบทบาทของ เข้ม เย็นยิ่ง ในสถานะ ‘ทหารชั่วคราว’

บทบาทหลังสงครามคือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร.ต. เข้ม เย็นยิ่ง ก็คือรหัสนามของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ชิงเมืองไทยคืนได้ในที่สุด

.………………..


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 15:58:38

กล่องขนมเปล่า


ไม่มีผู้นำคนใดประสบความสำเร็จโดยปราศจากกุนซือชั้นยอด

แต่ซุนฮกเป็นกุนซือชั้นยอดกว่าชั้นยอด เขามิเพียงอ่านใจนายออก และอ่านสถานการณ์ออกทะลุปรุโปร่ง ยังกล้าขัดขวางเจ้านายเมื่อหลงทางด้วยชีวิตตนเอง


ในปี พ.ศ. 755 โจโฉคิดตั้งตนเป็นวุยก๋ง ซุนฮกเป็นที่ปรึกษาคนเดียวที่กล้าคัดค้าน กล่าวว่าไม่สมควร เห็นว่าการตั้งตนเป็นวุยก๋งเป็นเรื่องจาบจ้วง ใหญ่เกินตัว และลบหลู่ราชวงศ์ฮั่น

ซุนฮกมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองเห็นว่าในสายตาของชาวราษฎร์ การตั้งตนเองเป็นวุยก๋งทำให้เกิดภาพว่าโจโฉกำลังคิดจะสถาปนาราชวงศ์ใหม่ มิเพียงจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากราษฎร และทำให้ขุนศึกอื่นๆ คิดการใหญ่เช่นเดียวกัน ในระยะยาวอาจเสียมากกว่าได้ มิสู้อิงกับราชวงศ์ฮั่น กำฮ่องเต้ในมือเงียบๆ

ซุนฮกกล่าวว่า ท่านมหาอุปราชสร้างแสนยานุภาพกองทัพโดยอ้างว่ากำลังปกป้องพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ เพื่อให้แผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข ต่อให้มีความดีความชอบเพียงใด ก็ยังต้องคำนึงประเพณีข้ากับเจ้า

ซุนฮกเป็นที่ปรึกษาชาญฉลาดและอุปนิสัยดี สุภาพ มัธยัสถ์ ไม่ได้รับราชการเพื่อหวังผลประโยชน์ ให้คำปรึกษาตรงไปตรงมา แต่ครั้งนี้โจโฉไม่พอใจ

เจ้านายไม่ต้องการได้ยินความเห็นแบบนี้

.………………..

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เกิดรัฐประหารครั้งพิเศษในเมืองไทย ผู้ก่อการยึดอำนาจคือจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อรัฐประหาร โค่นอำนาจตัวเอง

เวลานั้นจอมพลถนอมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคสหประชาไทย

แต่หัวหน้าไม่สามารถคุมลูกพรรคได้ ส.ส. สังกัดพรรคสหประชาไทยส่วนหนึ่งเรียกร้องผลประโยชน์ และขู่ว่าจะลาออก ถ้าไม่ได้รับสิ่งที่เรียกร้อง

จอมพลถนอม กิตติขจร แก้ปัญหาโดยการยึดอำนาจ ล้มสภาฯ

ข้ออ้างในการยึดอำนาจตัวเองคือ เพราะกำลังมีภัยคุกคามประเทศและราชบัลลังก์ เพราะมีความวุ่นวาย เช่น กรรมกรนัดหยุดงาน นักศึกษาเดินขบวน การแก้ปัญหาด้วยสภาไม่ทันการ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครอง แล้วฉีกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2511 ที่ใช้อยู่

ผลจากการปฏิวัติ ส.ส. หนุ่มพรรคประชาธิปัตย์สองคนคือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส. จังหวัดชลบุรี และนายบุญเกิด หิรัญคำ ส.ส. จังหวัดชัยภูมิ รวมกับนายอนันต์ ภักดิ์ประไพ ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก ไม่สังกัดพรรค หาญกล้าท้าทายฟ้า ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีกับคณะปฏิวัติ ข้อหากบฏต่อแผ่นดิน

ผลที่ตามมาคือทั้งสามเข้าคุกคนละสิบปี

ไม่นานต่อมา ปรากฏใครคนหนึ่งชื่อ เข้ม เย็นยิ่ง เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงจอมพลถนอม กิตติขจร ตีพิมพ์ในนิตยสารชาวบ้านกุมภาพันธ์ 2515

ไม่ได้เอ่ยชื่อจอมพลถนอม กิตติขจร หากใช้ชื่อนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ เขียนไว้ดังนี้

.………………..

เรียน พี่ทำนุ ที่รักใคร่นับถือเป็นส่วนตัว

สักสองปีเศษก่อนที่ผมจะ ได้จากหมู่บ้านไทยเจริญที่รักของเรามาอยู่ห่างไกล พี่ทำนุในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดการสองอย่างที่ผมและใครๆ เห็นว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับหมู่บ้านเรา โดยเฉพาะสำหรับอนาคตของชาวไทยเจริญ คือได้จัดให้มีกติกาหมู่บ้านเป็นข้อบังคับสูงสุด แสดงว่าต่อไปนี้ชาวบ้านไทยเจริญ จะสามารถยึดกติกาหมู่บ้านเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่าและทำให้เจริญกว่าที่จะปกครองกันตามอำเภอใจของคนไม่กี่คน กับเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหมู่บ้านได้โดยสันติวิธี นั่นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพี่ทำนุได้อำนวยให้ชาวบ้านเลือกกันขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนกัน ผู้ได้รับเลือกกันก็รวมกันเป็นสมัชชาหมู่บ้าน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับหมู่บ้านของเรา โดยถือหลักประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ - ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม - และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่าอำนาจสูงสุด มาจากธรรมของประชาชน ในหมู่บ้านไทยเจริญทั้งหมู่

เมื่อกติกาหมู่บ้านถือ กำเนิดมาแล้วก็ดี และเมื่อได้มีสมัชชาหมู่บ้านขึ้นแล้วก็ดี ผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่ากติกาทุกข้อถูกใจผม และไม่แน่ใจว่าสมาชิกของสมัชชาทุกคนเป็นคนดี แต่ผมก็ยังนิยมยินดีในท่านผู้ใหญ่บ้านทำนุ เกียรติก้องที่ได้อุตสาหะสร้างสรรค์ให้มีกติกาดีกว่าไม่มี และให้มีสมัชชาดีกว่าไม่มี

บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่าพี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคน ประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้านและเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังคงเป็นพี่ทำนุกับรองผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุดเดิมนั่นเอง เพียงแต่มีน้อยคนลง

เหตุผลต่างๆ ที่พี่ทำนุกับคณะแถลงให้ทราบว่า เป็นอนุสนธิแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผมได้พิจารณาใคร่ครวญและทบทวนโดยละเอียดแล้ว กับได้ใช้เวลาพิจารณาด้วยว่า เมื่อได้เลิกกติกาหมู่บ้านแล้ว ข้อต่างๆ ที่ร้ายอยู่นั้นจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับกลายเป็นดีไปได้หรือไม่ ก็ยังไม่เห็นมีท่าทีว่าจะบันดาลให้กลับกลายไปอย่างที่อ้าง บางเรื่องกลับร้ายมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น เรื่องความไม่สงบตามชายหมู่บ้านของเรา เป็นต้น ผมสังเกตเรื่องจากที่ห่างไกลแล้วก็ยังไม่พอ ยังไม่แน่ใจ เมื่อมีโอกาสผมก็มาแวะที่บ้านไทยเจริญสองครั้งเพื่อดูด้วยตาและฟังด้วยหู ผลลัพธ์ยังยืนยันตามความเห็นเดิมนั่นเอง เพราะปัญหาความสงบเรียบร้อยก็ดี ภัยจากภายนอกหมู่บ้านก็ปัญหาเศรษฐกิจก็ดี ปัญหาสังคมก็ดี ปัญหาเยาวชนก็ดี ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้ทั้งสิ้นถ้าได้ทำกันจริงจัง โดยไม่ต้องเลิกกติกาหมู่บ้าน ถ้าจำเป็นจริงๆ จะยุบสมัชชาเสียให้เลือกกันมาใหม่ก็ทำได้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือการจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชนและในฐานส่วนรวมด้วย

พี่ทำนุอาจจะแย้งผมได้ว่า เท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงมา ก็เห็นแต่เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและประชาชนชาวบ้านอนุโมทนาสาธุกันโดยทั่วไป จะมีเสียงคัดค้านบ้างก็เพียงคนโง่ๆ ไม่กี่คน ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั้น เขาได้ประโยชน์จากการเลิกสมัชชา ไม่ต้องยุ่งหัวใจกับสมาชิกสมัชชา พูดกันง่ายๆคือไม่มีใครขัดคอ ส่วนชาวบ้านนั้น พี่ทำนุก็ทราบดีว่า ชาวบ้านไทยเจริญส่วนใหญ่ถือคาถารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ผมขอยืนยันว่าผมเองก็เคยเป็นหัวหน้างานมาแล้ว จะทำถูกทำผิดหาคนแย้งหาคนโต้เถียงได้ยาก เพราะเขารู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดีทั้งนั้น ส่วนที่ว่ามีเสียงคัดค้านแต่เพียงน้อยนั้นก็จริง แต่จริงเพราะเหตุว่ายามพกอาวุธของพี่ทำนุและคณะคอยปรามอยู่ตั้งแต่ต้นมือแล้ว โดยใช้ความเกรงกลัวเป็นเครื่องบันดาลให้มีเสียงคัดค้านอ่อนลงๆ ถ้าอยากทราบชัดว่าชาวบ้านมีความจริงใจอย่างไร ก็ลองเลิกวิธีขู่เข็ญทำให้หวาดกลัวเสียเป็นไร

อย่างไรก็ตาม ที่ผมบันทึกมา ก็หาได้ที่ประสงค์จะกล่าวแย้งพี่ทำนุเป็นสำคัญไม่ ผมใคร่จะเรียนเสนอข้อที่พี่ทำนุกับผมเห็นพ้องต้องกันเป็นจุดเริ่มต้น นั่นคือเราจะพัฒนาบ้านไทยให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

การพัฒนานั้นต้องพิจารณาให้สมบูรณ์ทุกด้าน จึงจะเกิดประโยชน์จริงจัง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านความสงบเรียบร้อย ด้านศีลธรรม ด้านปัญญาและการศึกษาและด้านการปกครองเป็นอาทิ

ในด้านการปกครอง ตั้งแต่ผมรู้จักพี่ทำนุจนรักใคร่นับถือเป็นส่วนตัวมากว่ายี่สิบปี ผมได้ยินอยู่เสมอว่าพี่ทำนุ (และคณะ) นิยมเสรีประชาธรรม (ฝ่ายแดงจำกัดเสรีประชาธรรม เราเคยอ้างอยู่เสมอซึ่งก็เป็นความจริง) จึงได้อุตส่าห์ใช้เวลา ความพินิจพิจารณา สมอง และเงินทองของหมู่บ้านร่วมสิบปี ทำกติกาของหมู่บ้านขึ้นมา ที่พี่ทำนุ (และคณะ) นิยมหลักประชาธรรมเสรีนั้น ผมก็นิยมด้วยอย่างจริงใจ ทุกวันนี้ในหมู่บ้านที่เจริญทั้งหลาย เขามักจะสนใจกับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งหากเป็นพิษ ก็จะเป็นภัยแก่ภัยแก่มนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง เขาเกรงผลร้ายของวิทยาศาสตร์เมื่อเรานำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น กลิ่นไอน้ำมันรถยนต์ ควันดำจากโรงงาน การใช้สารเคมีในทางที่เป็นพิษแก่ลุ่มน้ำและดินป่าฟ้าเขา เป็นต้น

สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญและการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว

ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาตใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิ่งร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง ทุกวันนี้อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันก็พบโดยทั่วไป ภัยจากภายนอกหมู่บ้านไทยเจริญนั้น ผมเห็นด้วยกับพี่ทำนุว่าต้องขจัดให้สิ้นไป แต่ถ้าหมู่บ้านของเรามีแต่การใช้อำนาจ ไม่ใช้สมองไปในทางที่ควรเช่นที่บรรพบุรุษไทยเราเคยใช้มา จนสามารถรักษาเอกราชได้มาช้านาน เมื่ออำนาจทำให้กลัว ทางชีววิทยาท่านว่าไว้ว่าเส้นประสาทบังคับให้หลับตาเสีย และเวลาหลับตานั้นแหละ เป็นเวลาแห่งความหายนะ ปรปักษ์ของเราจะถือโอกาสเราหลับตาเมื่อใด เขาได้เปรียบเมื่อนั้น

อีกประการหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญมากคือ พี่ทำนุก็หกสิบเศษ ผมก็ใกล้จะหกสิบเข้าไปทุกที ต่างก็จะลาโลกกันไปในไม่ช้า ผมก็มีความทะเยอทะยานเช่นเดียวกับพี่ทะนุ ที่จะทิ้งโลกและหมู่บ้านไทยเจริญไว้ให้ลูกหลานเป็นโลกและหมู่บ้านที่น่าอยู่ มีความสงบสุขเป็นไทยสมชื่อ และเจริญสมหวัง ปัจจัยสำคัญของความเป็นไทยและความเจริญ คือความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านของเราโดยสันติวิธี และเป็นไปตามกติกา ถ้าเราทำได้เพียงเท่านี้ แม้จะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนัก ผมว่าพี่ทำนุจะมีบุญคุณแก่เยาวชนของเราอย่างเหลือหลาย

บางคนอาจจะตั้งปัญหาว่า เยาวชนทุกวันนี้ควรหรือที่จะส่งเสริมให้มีสิทธิและเสรีภาพตามกติกาหมู่บ้าน น่าสนับสนุนละหรือ ทุกวันนี้ความประพฤติของเยาวชนมักจะเลวทรามน่าหมั่นไส้ ผมเองก็หมั่นไส้อยู่หลายครั้งหลายหน แต่พี่ทำนุเองก็มอบหมายให้ผมเกลือกกลั้วมากับเยาวชนเป็นเวลาหลายปี เมื่อผมพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในเยาวชนของหมู่บ้านไทยเจริญเรา แทนที่จะรู้สึกหมั่นไส้ เขาสงบเสงี่ยมเจียมตัว และคารวะพวกเรามากกว่า และผิดกับที่เห็นมาในหมู่บ้านอื่นๆ

ผมเห็นใจเยาวชนที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพวกเรา ให้รักหลักประชาธรรม (ซึ่งก็ถูกต้อง) ให้รักและนิยมเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และการสมาคม (ซึ่งก็ถูกต้องปรากฏในกติกาหมู่บ้านตลอดมาทุกกติกา) และเขานำเอาคำสั่งสอนของพวกเรานั่นเองไปประทับหัวใจของเขา พอหมู่บ้านมีกติกาขึ้น เขาก็ดีใจ เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของเขาซึ่งตรงกับคำสั่งสอนของพวกเรา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน และไม่มีอะไรให้ความหวังได้แน่นอนว่าจะคืนชีพกลับมากำหนดเมื่อใด ใครเล่าจะไม่เสียดาย ใครเล่าจะไม่ผิดหวัง เพราะเขาคาดหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ไทยเจริญตามกติกาของหมู่บ้าน แต่กระนั้นก็ตาม เยาวชนของเราก็ยังตั้งอยู่ในความสงบ พยายามข่มความกลัวบ้างเมื่อพูดจาขอร้องแก่พวกเรา เพราะเขายังเชื่อในเจตนาอันดีของคนปูนเรา อย่างนี้จะไม่เอ็นดูจะไม่เมตตากรุณาและภาคภูมิใจในเยาวชนของเราได้อย่างไร

ด้วยเหตุผลนานาประการที่ผมได้เรียนมาข้างต้น และด้วยความรักใคร่เคารพในพี่ทำนุ ผมจึงขอเรียนวิงวอนให้ได้โปรดเร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้ หรืออย่างช้า หรืออย่างช้าก็อย่างให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญอย่างเหลือคณนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาล

ด้วยความเคารพนับถือ

เข้ม เย็นยิ่ง

ไม่มีคำตอบจากผู้ใหญบ้าน

หนึ่งปีต่อมาผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 นำมาตรา 17 ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมาใช้ เป็นมาตราเอนกประสงค์ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่เพื่อรักษา ‘ความมั่นคงของราชอาณาจักร’

สิบเดือนต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา นักศึกษาชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วลามออกไปที่ถนนราชดำเนิน ประชาชนกว่าห้าแสนคนเข้าร่วมสำแดงพลัง เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

รัฐบาลหมู่บ้านไทยเจริญสลายการชุมนุม และล้มไปในชั่วข้ามคืน ผู้ใหญ่บ้าน ทำนุ เกียรติก้อง ลี้ภัยในต่างประเทศ รัฐบาลใหม่ทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้ประชาชนต่างจากหลายภาคส่วน ไม่มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง ใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นที่ร่างรัฐธรรมนูญ จึงเรียกว่า สภาสนามม้า

ประเทศไทยได้รับรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ท้องฟ้าเป็นสีทองผ่องอำไพ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

.………………..

โจโฉตั้งตนเป็นวุยก๋งจนได้ โดยไม่สนใจคำเตือนของซุนฮกแต่ประการใด

ซุนฮกประท้วงเงียบๆ โดยแสร้งป่วยไม่ไปประชุมขุนนาง โจโฉจึงส่งกล่องขนมไปเยี่ยมไข้ ซุนฮกเปิดออกดูพบว่ากล่องนั้นว่างเปล่า

ซุนฮกเข้าใจทันทีว่าโจโฉไม่ต้องการตนเองอีกต่อไป เพราะเห็นว่าตนไร้ประโยชน์แล้วเช่นกล่องเปล่า จึงดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย

.………………..

ฟ้าสีทองผ่องอำไพไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อฝ่ายสูญเสียอำนาจขอ ‘เอาคืน’

ฟ้าสีทองกลายเป็นสีจริง สีแห่งความมืดหม่น

บางทีการเมืองไทยก็เป็นเช่นกล่องขนม นักการเมืองและผู้มีอำนาจสร้างภาพลวงตาให้ประชาชนเชื่อว่ามีขนมอร่อยภายในกล่อง ทว่ามันเป็นกล่องว่างเปล่าเสมอมา

.………………..


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 16:00:35

คาร์บอมบ์


เมื่อตั๋งโต๊ะขึ้นครองอำนาจในเมืองหลวง ยึดฮ่องเต้เป็นหุ่นเชิดทางการเมือง อ้องอุ้นขุนนางผู้ใหญ่เชิญขุนนางที่ตนไว้ใจมาร่วมวางแผนโคนจอมทรราช แต่ขุนนางทั้งหลายกลับมารวมตัวกันร้องไห้

ทหารหนุ่มโจโฉที่ร่วมประชุมด้วยหัวเราะอย่างขบขัน บอกว่า "พวกท่านคิดสังหารตั๋งโต๊ะด้วยน้ำตาหรือ"

อ้องอุ้นถามว่า "แล้วท่านจะทำเช่นไร"

โจโฉจึงบอกว่าตนมีแผน ขออาสาตัดหัวตั๋งโต๊ะมาให้ เพราะตนทำงานใกล้ชิดตั๋งโต๊ะ สามารถเข้านอกออกในทำเนียบสมุหนายกได้ จึงมีโอกาสลอบฆ่า

อ้องอุ้นยินดียิ่ง คุกเข่าคำนับโจโฉ มอบกระบี่สั้นโบราณให้ทหารหนุ่มนำไปสังหารตั๋งโต๊ะ

โจโฉไปหาตั๋งโต๊ะที่ทำเนียบ แลเห็นตั๋งโต๊ะหันหลังอ่านหนังสืออยู่ จึงชักกระบี่สั้นหมายแทง แต่ภาพโจโฉปรากฏบนกระจกเงา ตั๋งโต๊ะจึงหันหน้ากลับมา เป็นเวลาเดียวกับที่ลิโป้เข้ามาในห้อง โจโฉตกใจ แต่ด้วยปฏิภาณ คุกเข่าลง ชูกระบี่ขึ้นยื่นให้ตั๋งโต๊ะ กล่าวว่ากระบี่โบราณเล่มนี้ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน ตนนำมาเพื่อทดแทนพระคุณ

ตั๋งโต๊ะไม่ทันคิดอะไร ก็รับกระบี่ไว้

โจโฉขอลา จากไปอย่างรีบเร่ง แล้วหนีิออกจากเมืองหลวงในวันนั้นเอง

ลิโป้เห็นตั๋งโต๊ะชื่นชมอาวุธโบราณ กล่าวว่า ท่านมิรู้หรือว่าโจโฉคิดฆ่าท่าน ลิยูกุนซือทราบเรื่อง เสนอให้ไปเฝ้าดูบ้านโจโฉ ถ้าโจโฉกลับบ้านเช่นปกติ ก็อาจไม่มีแผนร้าย แต่ถ้าไม่กลับบ้าน ก็ยืนยันว่าคิดการร้าย เมื่อนั้นก็ต้องกำจัดโจโฉเสีย

เมื่อพบว่าโจโฉหนีไปแล้ว ลิยูก็กล่าวว่าลำพังโจโฉไม่สามารถก่อการใหญ่เช่นนี้ ต้องมีผู้สมรู้ร่วมคิดหลายคน ต้องจับโจโฉมาให้ได้ เพื่อเค้นความจริง

ตั๋งโต๊ะสั่งให้เขียนรูปโจโฉ ทำประกาศจับโจโฉ มอบรางวัลแก่ผู้ให้เบาะแสและหรือจับตัวได้ ให้เป็นขุนนาง ทองคำสิบชั่ง และสิทธิเก็บส่วยหนึ่งหมื่นครัวเรือน

จนถึงวันสุดท้ายของอำนาจ ตั๋งโต๊ะก็ไม่เคยจับโจโฉได้

.………………..

ช่วงเช้าวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 การจราจรที่แยกบางพลัดเป็นอัมพาต ตำรวจปิดการจราจรถนนราชวิถีฝั่งขาเข้า สะพานกรุงธนฯ บริเวณรอบสี่แยกบางพลัด ไม่ให้รถผ่านโดยเด็ดขาด

เช้านั้นทีมงานหน่วยอรินทราช 26 กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ประจำการหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้าในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เขตบางพลัด สังเกตเห็นรถยนต์แดวู รุ่นเอสเปอโรสีบรอนซ์คันหนึ่งแล่นผ่านหน้าบ้านสองรอบ จึงแจ้งให้หน่วยจักรยานยนต์เคลื่อนที่เร็วตามไปทันที สกัดไว้ได้ที่เชิงสะพานลอยข้ามสี่แยกบางพลัด

เป็นรถเก๋งยี่ห้อแดวู สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฐฉ-3085 คนขับสวมเสื้อซาฟารีสีน้ำเงิน

ตำรวจเชิญคนขับลงมาตรวจค้น ขณะที่ทีมรักษาความปลอดภัยของนายกฯมาถึง ตำรวจตรวจค้นภายในรถ ที่เบาะนั่งพบถังน้ำมันเครื่องสิบกว่าใบ ในกระโปรงท้ายรถมีถุงทรายจำนวนมาก ตำรวจคนหนึ่งสังเกตเห็นวัตถุลักษณะเป็นแท่งสองแท่ง มีสายไฟโยงติดกัน

ทีมรักษาความปลอดภัยเห็นเข้าก็ร้องลั่น “ระเบิด!” ทุกคนในจุดนั้นวิ่งหนีเข้าหาที่ปลอดภัย

ตำรวจคุมตัวคนขับรถไปสอบปากคำที่กองปราบ ทราบชื่อภายหลังว่าคือ ร.ท. ธวัชชัย กลิ่นชะนะ อายุ 43 ปี สังกัดกองบัญชาการกองทัพบก ช่วยราชการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กองบัญชาการทหารสูงสุด

หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด กองพลาธิการตำรวจ เดินทางถึงจุดเกิดเหตุ เก็บกู้ระเบิดนานห้าชั่วโมง เป็นระเบิดซีโฟร์หนัก 3.5 ปอนด์ มีปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทที่ผสมกับน้ำมันดีเซลเรียบร้อยแล้ว เป็นระเบิดที่นิยมใช้ในการวางระเบิดพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระเบิดปริมาณนี้รุนแรงมีรัศมีทำลายหนึ่งกิโลเมตร หากเกิดระเบิด บ้านเรือนแถบบางพลัดจะพินาศ

เนื่องจากตำแหน่งคาร์บอมบ์อยู่ห่างจากบ้านนายกรัฐมนตรีไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร และอยู่บนเส้นทางที่ผู้นำประเทศผ่าน ตำรวจสันนิษฐานทันทีว่าเป็นการลอบสังหารผู้นำประเทศ

ทักษิณ ชินวัตร

.………………..

เวลานั้น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วห้าปี ในห้วงเวลานั้น กระแสเคลื่อนไหวล้มทักษิณดำเนินไปอย่างดุเดือด

ก่อนหน้าเหตุการณ์คาร์บอมบ์ ในวันที่ 3 มีนาคม 2544 นายกรัฐมนตรีโดยสารเครื่องบินการบินไทยไปเชียงใหม่จากสนามบินดอนเมือง เกิดเหตุระเบิดไฟท่วมเครื่องบินเสียหายทั้งลำ

อีกครั้งหนึ่งคือการจับชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งพร้อมและอาวุธสงคราม เช่น จรวดอาร์พีจี ผู้ต้องหาสารภาพว่าวางแผนลอบสังหาร พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า

เหตุเหล่านี้ชี้ว่าเป็นความพยายามลอบสังหารผู้นำอย่างต่อเนื่อง

ในวันเกิดเหตุคาร์บอมบ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เซ็นคำสั่งปลดฟ้าผ่า พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี รอง ผอ.กอ.รมน. ทันที เหตุผลหนึ่งเพราะ ร.ท. ธวัชชัย เคยเป็นคนขับรถของ พล.อ. พัลลภมาก่อน

ตำรวจแถลงข่าวสื่อมวลชน เผยภาพวิดีทัศน์บันทึกการสอบปากคำ ร.ท. ธวัชชัย ร.ท. ธวัชชัยยอมรับว่าเป็นคนขับรถคันนั้นจริง
แต่มันไม่ใช่ครั้งแรก มีความพยายามก่อเหตุในวันที่ 22 และ 23 สิงหาคม และก่อนหน้านั้นอีกสองครั้งในวันที่ 9-10 สิงหาคม ที่สนามบิน บน.6 กองทัพอากาศ

พล.อ. พัลลภบอกนักข่าวว่า “ผมเป็นหัวหน้าชุดล่าสังหารมา เป็นหัวหน้ากองโจร ถ้าผมจะทำท่านนายกฯหรือ ผมรับรองว่าหนีไม่พ้นผมหรอก...”

ตำรวจตามรอยมือระเบิดไปจนพบร่องรอย จ.ส.อ. ชาคริต จันทระ หรือจ่ายักษ์ ผู้ร่วมขบวนการ และนายทหารระดับสูงอีกสามคน

วันที่ 6 กันยายน จ่ายักษ์เข้ามอบตัวที่กองปราบปราม ตามด้วย พล.ต. ไพโรจน์ ธีรภาพ และ พ.อ. สุรพล สุประดิษฐ์ หรือเสธ.ตี๋ นายทหารแผนกการเงิน กอ.รมน. ทั้งสามถูกแจ้งข้อหาลอบสังหาร

ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยห้าราย คือ ร.ท. ธวัชชัย กลิ่นชะนะ นายทหารสารบรรณที่รับผิดชอบงานในภาคใต้ พ.ท. มนัส พ.อ. สุรพล นายทหารรักษาความปลอดภัยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน พล.ต. ไพโรจน์ ธีรภาพ และจ่ายักษ์ มีเพียงจ่ายักษ์คนเดียวที่ให้การสารภาพ

จ่ายักษ์ให้การว่า มีคนร่วมงานลอบสังหารอย่างน้อยแปดคน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เสธ.ตี๋ ผู้บังคับบัญชาของตนได้เรียกให้ไปพบที่สำนักงาน กอ.รมน. สวนรื่นฤดี บอกว่า ‘นายใหญ่’ ต้องการให้ฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะทำให้ประเทศชาติเสียหาย

จ่ายักษ์ให้การว่า นายใหญ่ก็คือ ‘พล.อ. พ.’ สั่งให้ใช้ระเบิด เพราะได้ระเบิดกว่า 20 กิโลกรัมที่ยึดมาได้จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนพยายามทักท้วง เพราะการใช้ระเบิดมากอาจจะทำให้ชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่เบื้องบนยืนยัน เพราะต้องกำจัดระบอบทักษิณให้ได้

ผู้ก่อการซื้อรถยนต์แดวูจากเต๊นท์ขายรถยนต์มือสองที่ซอยอินทามระ 38 ในราคาสามหมื่นบาท นำไปเปลี่ยนสี และส่งไปบรรจุระเบิด

จ่ายักษ์ให้การว่า ตนได้รับคำสั่งให้เป็นคนชี้เป้าให้ ร.ท. ธวัชชัย ผู้ขับรถขนระเบิด นอกจากนี้ยังมีทีมสำรองพร้อมอาวุธสงคราม ในรถปิกอัพ นิสสัน ฟรอนเทียร์ สีบรอนซ์ทอง ไว้คอยถล่มซ้ำ ในกรณีที่การวางระเบิดพลาด

ปฏิบัติการเกิดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2549 ผู้ก่อการขับรถยนต์แดวูบรรทุกระเบิดไปจอดที่บริเวณท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน. 6) ตามกำหนด นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่นั่น แต่สารวัตรทหารอากาศคนหนึ่งไม่อนุญาตให้จอด แผนการจึงเลื่อนออกไป

วันรุ่งขึ้นผู้ก่อการขับรถไปที่ บน. 6 อีกครั้ง เพราะ พ.ต.ท. ทักษิณจะบินไปราชการที่ประเทศกัมพูชา แต่เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค ปฏิบัติการยกเลิก และตัดสินใจเปลี่ยนเป็นที่บริเวณเส้นทางระหว่างบ้านจันทร์ส่องหล้ากับทำเนียบรัฐบาล ลงมือในวันที่ 24 สิงหาคม ในวันนั้นจ่ายักษ์ไม่ได้ไปด้วย ตามแผน ร.ท. ธวัชชัยเป็นผู้ขับรถยนต์ไปจอดใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด พ.ท. มนัสซึ่งยืนอยู่บริเวณนั้นจะเป็นผู้กดรีโมทคอนโทรลจุดชนวนระเบิด

พล.อ. พัลลภบอกนักข่าวว่า “จ่ายักษ์ติ๊งต๊อง ชอบทำตัวเป็นผู้ร้ายในหนังฝรั่ง...”

น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคง กล่าวว่า การรีบปลด พล.อ. พัลลภ โดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบทำให้เรื่องนี้ดูมีเงื่อนงำ ตนจึงเชื่อว่าเป็นการจัดฉาก สร้างข่าวหวังกลบกระแสตกต่ำของนายกรัฐมนตรี

ตรงกับผลสำรวจคนกรุงเกือบครึ่งที่เชื่อว่าเป็นการสร้างเรื่อง

คนตรงข้ามทักษิณบอกว่า มันเป็นการจัดฉากเพื่อเรียกคะแนนสงสาร ให้ฉายาเหตุการณ์นี้ว่า คาร์บ๊อง

หลังจากเหตุการณ์พบระเบิดในรถไม่ถึงเดือน ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โค่นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

คดีสะดุดลงทันที เพราะต้องรอดูท่าทีของผู้ใหญ่ และผู้บัญชาการสำนักตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ซึ่งเป็นคนหนึ่งในกลุ่มก่อการรัฐประหาร

.………………..

สองปีต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 มีข่าวว่าปืนซุ่มยิงระยะไกลอานุภาพสูงจำนวนสามกระบอกหายไปจากคลังอาวุธของหน่วยทหารบกหน่วยหนึ่ง

มันเป็นปืนสไนเปอร์ยี่ห้อ SIG 3000 ขนาด 7.62 มม. ยิงได้ไกลถึงสองกิโลเมตร ระยะยิงหวังผล 600 เมตร ผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออกแบบมาให้สามารถถอดแยกส่วนได้เพื่อความสะดวกในการขนย้าย และทำงานในพื้นที่ต่างๆ ลำกล้องปืนผลิตด้วยกรรมวิธีการหลอมแบบ cold hammer forged ไกปืนทำงานได้ทั้งแบบซิงเกิล แอ็คชัน และดับเบิล แอ็คชัน เป็นปืนยาวซุ่มยิงที่ใช้แพร่หลายในหน่วยงานตำรวจในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในเมืองไทย ใช้ในวงการทหารและตำรวจเท่านั้น

ข่าวลือไปทั่วว่า มันเป็นปืนชนิดเดียวที่สามารถลอบสังหารผู้นำประเทศและบุคคลในระดับสูงได้ดีกว่าคาร์บอมบ์

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เป็นความจริง ส่วนจะเป็นการสร้างข่าวเพื่อเหตุผลใดก็ตามหรือไม่ ไม่ขอแสดงความเห็น

กระนั้นด้วยประสิทธิภาพของปืนที่เหมาะกับการลอบสังหารชนิดนี้แล้ว หลายคนก็หายใจไม่สะดวกนัก เพราะตั้งแต่ 1,800 ปีก่อน เครื่องมือสู่อำนาจทางการเมืองมักรวมการลอบสังหารผู้นำ

การลอบสังหารตั๋งโต๊ะโดยโจโฉล้มเหลวเฉียดฉิว

ส่วนเหตุการณ์คาร์บอมบ์นั้นเป็นการลอบสังหารหรือการสร้างข่าว สำหรับประชาชนยังคงดำรงเป็นความลับต่อไป

.………………..

หมายเหตุ สามผู้ต้องหาที่ขึ้นศาลทหารกรุงเทพฯได้แก่ จำเลยที่ 1 ร.ท. ธวัชชัย กลิ่นชะนะ จำเลยที่ 2 พ.อ. มนัส สุขประเสริฐ จำเลยที่ 3 พ.อ. สุรพล สุประดิษฐ์

ศาลทหารกรุงเทพฯตัดสินว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดในข้อหาร่วมกันครอบครองวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งร่วมกันเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด เข้าไปในเขตเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควร รวมโทษทุกกระทงจำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 6 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 คือ ร.ท. ธวัชชัย กลิ่นชะนะ ให้การเป็นประโยชน์ จึงให้ลดโทษเหลือ 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท

ส่วนข้อหาพยายามฆ่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นั้น ยังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ จึงยกฟ้องในข้อหานี้

.………………..


-----------------------------------------------


น้ำตาจิ้งจอกชรา


สุมาอี้เป็นชาวเมืองโห้ลาย มณฑลเหอหนาน ฉลาดแหลมคม รู้ตำราพิชัยสงครามอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง แต่ที่สำคัญกว่าภูมิปัญญาคือความเลือดเย็น สุขุมลุ่มลึก เด็ดขาด มั่นคง เป็นจิ้งจอกแห่งจิ้งจอก

สุมาอี้เริ่มรับราชการตำแหน่งเล็ก ไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นแม่ทัพ แต่โจโฉมองสุมาอี้อย่างระแวดระวังเสมอ และเตือนบุตรชายให้ระวังบุรุษผู้นี้

สุมาอี้รับราชการในยุคของโจโฉและโจผี จนเมื่อโจยอยขึ้นครองราชย์ สุมาอี้เป็นแม่ทัพใหญ่ของวุยก๊ก สุมาอี้ก้าวขึ้นและลงจากอำนาจในกองทัพหลายครั้ง ครั้งหนึ่งถูกขงเบ้งใส่ความจนถูกปลด แต่ก็คืนสู่อำนาจอีก เมื่อวุยก๊กไม่มีคนเก่งพอสู้รบกับขงเบ้ง

สุมาอี้มีอำนาจควบคุมทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน บุตรชายของเขาก็เป็นใหญ่ในกองทัพ

เมื่อสิ้นพระเจ้าโจยอย พระเจ้าโจฮองขึ้นครองราชย์ สุมาอี้ก็ถูกปลดจากอำนาจอีกครั้ง ด้วยฝีมือการยุยงของแม่ทัพโจซอง

ในวัย 61 สุมาอี้ก้าวลงจากอำนาจอย่างเงียบๆ ทั้งที่รับใช้ตระกูลโจมาเนิ่นนาน เก็บความขมขื่นและน้ำตาไว้ภายใน เขารู้ว่าตนตกอยู่ใต้การเฝ้ามองของโจซองตลอดเวลา จึงแกล้งป่วยเลอะเลือนเหมือนคนแก่สิ้นฤทธิ์ จนโจซองตายใจ

จิ้งจอกชราไม่มีน้ำตา...

และวันหนึ่งเมื่อขุมกำลังของโจซองเผลอ สุมาอี้ในวัย 70 ก็ยึดอำนาจในเมืองหลวง ฆ่าโจซองและพวกอย่างถอนรากถอนโคน ตระกูลสุมากุมอำนาจทั้งปวง และเมื่อถึงยุคสุมาเอี๋ยน หลานของสุมาอี้ ก็ได้รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง เป็นปฐมจักรพรรดิของราชวงศ์จิ้น

จิ้งจอกชราไม่มีน้ำตา มันเปลี่ยนเป็นเลือดของศัตรู

.………………..

นักการเมืองนาม สมัคร สุนทรเวช ผ่านร้อนผ่านหนาวในโลกของการชิงอำนาจจนเป็นจิ้งจอกการเมือง แต่เขาไม่เคยคิดว่าในช่วงปลายของชีวิตของเขา จะยังมีบทบาททางการเมือง และก้าวถึงขั้นผู้นำประเทศ

ในวัย 73 เขาเกษียณจากการเมืองแล้ว หลังจากยุติบทบาทผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2547 แล้วได้รับการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกกรุงเทพฯสองปีต่อมา

มันเริ่มที่วันหนึ่งเขาได้รับข้อเสนอจาก อดีตนายกฯจากแดนไกล ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ‘นอมินี’

เมื่อได้รับทาบทามให้เป็นนายกฯนอมินีนั้น นายสมัครรับปากจะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเงื่อนไขข้อเดียวคือต้องไม่ทิ้งกัน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ทักษิณรับปาก (นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย เล่าผ่านรายการ ฮอตนิวส์ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที)

เขาดำรงตำแหน่งนายกฯไม่ถึงหนึ่งปี ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐนตรี เพราะมีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจัดรายการชิมไปบ่นไป

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 กันยายน 2551 ทักษิณ ชินวัตร โทรศัพท์หานายเนวิน ชิดชอบ ขอให้แจ้งกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนว่าให้สนับสนุนนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง

ตอนแรกสมัครปฏิเสธ ไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่เมื่อได้รับการขอร้องหนึ่งคืนก่อนการโหวตเลือกนายกฯเขาก็ตกลง

เช้าวันที่ 12 กันยายน 2551 ทักษิณโทรศัพท์ไปยืนยันกับนายเนวินให้เลือก สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ

นายสมัครเดินทางไปถึงสภาฯแต่เช้า แล้วนั่งรอสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลในห้องรับรอง

ครั้นถึงเวลาประชุม นายสมัครพบเห็นแต่ ส.ส. พรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวิน และพรรคประชาธิปัตย์มาประชุม แต่ไร้เงาของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ

สมัคร สุนทรเวช ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนั้น

เวลา 10.15 น. นายสมัครเดินกลับไปขึ้นรถคนเดียว

ภาพชายวัย 73 ปี กลับบ้านเงียบๆ อย่างหงอยเหงา เดียวดาย และปวดร้าว เป็นภาพสุดท้ายที่คนไทยเห็นนักการเมืองผู้นี้ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ก่อนล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ

ความจริงเผยภายหลังว่า มีคนใกล้ชิดของทักษิณประสานกับพรรคที่เหลือว่า ไม่ต้องไปสภาฯในวันที่ 12 กันยายน 2551 เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบ และเพื่อให้สามารถเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณเป็นนายกฯ

เขาบินไปรักษาตัวที่สถาบันมะเร็งฮุสตัน สหรัฐอเมริกา

คนรอบตัวจิ้งจอกชราเชื่อว่า หัวใจสลายน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็ง

สมัคร สุนทรเวช รู้สึกเหมือนถูกแทงข้างหลัง

แต่เรื่องที่ทำให้สมัครเสียใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ตลอดปีที่ป่วยหนัก ไม่มีเสียงถามไถ่ทุกข์สุขจากคนแดนไกลเลยสักครั้งเดียว

คำแสดงความเสียใจเกิดขึ้นเมื่อเขาจากไปในเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552

.………………..

สุมาอี้เสียชีวิตเมื่ออายุ 73 ด้วยโรคชรา

สมัคร สุนทรเวช เสียชีวิตเมื่ออายุ 74 ด้วยโรคมะเร็งตับ

จิ้งจอกชราไม่มีน้ำตา มันกลายเป็นเลือดไหลภายใน

และประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็บันทึกว่า วันที่ 12 กันยายน 2551 เป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองอีกครั้ง เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับ สมัคร สุนทรเวช ทำให้ เนวิน ชิดชอบ ตัดสินใจเปลี่ยนขั้ว หันไปสนับสนุน ‘ศัตรูทางการเมือง’ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

.………………..


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 16:02:23

เมล็ดข้าวสงคราม


กองทัพเดินด้วยท้อง สงครามเคลื่อนด้วยเมล็ดข้าว

ครั้งที่วุยก๊กกำลังซ่องสุมกำลังคนเพื่อสงครามกับจ๊กก๊กและง่อก๊ก การทำสงครามหมายถึงความจำเป็นต้องเก็บตุนเสบียงข้าวมากพอ สุมาอี้ส่งบุคคลผู้หนึ่งไปสำรวจพื้นที่ทางตะวันออกเพื่อหาแหล่งเพาะปลูกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เหมาะสม

บุคคลผู้นี้มีนามว่าเตงงาย

เตงงายเป็นลูกชาวนา พ่อตายแต่เล็ก ตั้งแต่เด็กมีหน้าที่เลี้ยงโค

เตงงายได้เป็นนักวิชาการ อาการติดอ่างทำให้ชีวิตข้าราชการไม่ก้าวหน้านัก เขาจึงไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตร ดูแลข้าวและฟาง

ช่วงปี พ.ศ. 778-782 เขาถูกส่งไปทำงานที่เมืองหลวง ลกเอี๋ยง และพบสุมาอี้โดยบังเอิญ เห็นแววพิเศษของเตงงาย จึงตั้งให้เป็นอาลักษณ์

ต่อมาเมื่อสุมาอี้คิดทำศึก และวางแผนเรื่องการสะสมเสบียง ก็ส่งเตงงายไปสำรวจพื้นที่เพาะปลูกที่ดีที่สุด

เตงงายพบว่าแผ่นดินตะวันออกที่สำรวจมีดินดี แต่ขาดน้ำ จึงเสนอความคิดขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้าไป ขณะเดียวกันคลองต่างๆ จะใช้ในการลำเลียงข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ไปใช้ในการทำสงคราม

เตงงายเขียนรายงานถึงสุมาอี้เป็นข้อเขียนชื่อ จี้เหอหลุน (濟河論 - ถกแม่น้ำ)

“แผ่นดินทางใต้ของแม่น้ำฮวยยังเสียหายจากสงคราม ทุกครั้งที่เกิดสงครามทางใต้ กำลังคนครึ่งหนึ่งถูกใช้ขนส่งสิ่งของและเสบียง แผ่นดินระหว่างเขตเฉินและไคนั้นอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเราสามารถลดจำนวนพื้นที่ทำนาแถบเขตฉี และปล่อยทางน้ำไหลไปทางตะวันออกไปยังเขตเฉินและไค ขณะเดียวกันเรามีกองทัพสองหมื่นคนประจำการทางเหนือของแม่น้ำฮวย และสามหมื่นคนทางตอนใต้ มีทหารสี่หมื่นคนประจำการและทำนาในเวลาเดียวกัน ในเวลาที่สภาพดินฟ้าอากาศดี จะได้ผลผลิตข้าวสามเท่าของที่ได้จากแผ่นดินตะวันตก หลังจากหักข้าวให้ราษฎรและทหารแล้ว เรายังมีข้าวเหลือห้าล้านหู*สำหรับใช้ในกองทัพ (*หูเป็นมาตราวัด 1 หู = 51.7 ลิตร) ภายในหกถึงเจ็ดปี เราจะสะสมข้าวได้ถึงสามสิบล้านหูทางตอนเหนือของแม่น้ำฮวย ข้าวปริมาณนี้สามารถเลี้ยงคนสิบหมื่นคนนานสิบห้าปี ด้วยปริมาณเสบียงมากเช่นนี้ เราสามารถโจมตีง่อก๊ก และได้รับชัยชนะ”

(แม่น้ำฮวยตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำเหลืองกับแม่น้ำแยงซี ไหลจากตะวันตกไปตะวันออก)

สุมาอี้เห็นด้วยกับแผนการของเตงงาย

ใน พ.ศ. 784 โครงการเกษตรของเตงงายก็สำเร็จลุล่วง เมื่อเกิดสงครามทางตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวุยก๊กกับง่อก๊ก กองทัพฝ่ายวุยจะแล่นเรือไปตามลำน้ำไปสู้ศัตรูพร้อมเสบียงกรังมากมาย

โครงการข้าวที่เตงงายวางแผนประสบความสำเร็จใหญ่หลวง

โครงการข้าวทำให้เตงงายเริ่มก้าวขึ้นเป็นใหญ่ทางการเมือง

.………………..

หนึ่งพันแปดร้อยปีต่อมา โครงการข้าวก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ในวันที่ 23 สิงหาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาเสนอนโยบายจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยสัญญาตอนหาเสียงเลือกตั้ง

โครงการรับจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาทุกยุค แต่นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์แตกต่างจากโครงการก่อนๆ เพราะรับจำนำข้าวทั้งหมดโดยไม่มีโควตา รับประกันราคาตันละ 15,000 บาท สูงกว่าราคาตลาดถึง 50%

ผลของโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาททำให้ราคาข้าวของประเทศไทยสูงกว่าคู่แข่งในตลาดโลกทันที ในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2555 ไทยส่งข้าวออกได้เพียง 3.45 ล้านตัน ลดลงจากเดิมราวครึ่งหนึ่ง และหลุดจากตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกในชั่วข้ามคืน

โครงการนี้กระตุ้นให้ชาวนาในประเทศปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอุปสงค์เทียมขึ้นในประเทศไทย ข้าวจึงล้นตลาดเกินความต้องการบริโภค ขณะเดียวกันก็ช่วยคู่แข่งข้าวของไทยคือเวียดนาม อินเดีย และอื่นๆ เพราะปริมาณข้าวที่ล้นตลาดแต่มีราคาสูง ทำให้คู่แข่งของไทยสามารถขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าของไทย

ก่อนโครงการจำนำข้าว ผลผลิตข้าวแต่ละปีคือ 27-28 ล้านตัน พอดีกับบริโภคในประเทศและส่งออก หลังเกิดโครงการรับจำนำข้าว ผลผลิตข้าวพุ่งขึ้นมาเป็น 38 ล้านตัน หลังสีเป็นข้าวสารเหลือ 24 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตัน ที่เหลือ 14 ล้านตันต้องส่งออกนอก แต่สถิติการส่งออกข้าวปีที่มากที่สุดของไทยคือ 10 ล้านตัน

ตามหลักอุปสงค์-อุปทาน เมื่อข้าวมีมาก คนซื้อก็รอ ทั่วโลกรู้ว่าไทยมีข้าวเก็บไว้มากมาย จึงไม่รีบร้อนซื้อ เพราะรู้ว่าราคาข้าวจะตกลงมาเรื่อยๆ

ผลที่ตามมาคือหายนะ รัฐไม่สามารถระบายข้าวออกได้ เมื่อสิ้นโครงการในปี 2557 ข้าวในสต็อกของรัฐสะสมสูงถึง 18 ล้านตัน

ดังนั้นแม้ขายได้หมด ก็ยังขาดทุน

ตัวเลขของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่าโครงการนี้มีผลขาดทุนไม่น้อยกว่าหกแสนล้านบาท

นอกจากการขาดทุนจากการรับจำนำข้าวแล้ว โครงการนี้ยังเอื้อให้เกิดทุจริตทุกขั้นตอน เช่น การขอหนังสือรับรองมีการรับรองที่นาเกินความเป็นจริง ขึ้นทะเบียนเกษตรกรบุคคลที่ไม่ใช่เกษตรกรจริง นำข้าวมาจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ โกงการชั่งน้ำหนัก โกงค่าความชื้น ทำให้รัฐเสียเงินเก็บรักษาข้าวนานขึ้น ไปจนถึงการนำข้าวเก่ามาขายเวียนเทียน

ในสต็อกข้าว 17.76 ล้านตันที่โกดังทั่วประเทศ มีข้าวดีตามมาตรฐานเพียง 2.2 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวผิดประเภท ผิดมาตรฐาน ข้าวเสื่อมคุณภาพ รวมทั้งข้าวเสียปะปนเข้าไป

มันเป็นโครงการเพื่อหวังผลทางประชานิยม

แต่เป็นการฆ่าตัวตาย

เมื่อข้าวมีมากเกินไป จึงเกิดโครงการขายรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ผู้รับผิดชอบคือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

บุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นนักธุรกิจ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และหันเข้าหาการเมือง
เขาเป็นสมาชิกกลุ่มวังบัวบานที่มีความสนิทสนมกับแกนนำพรรคไทยรักไทย บุญทรงได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคไทยรักไทย ขึ้นดำรงแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และหนึ่งปีต่อมา ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หน้าที่สำคัญคือดูแลนโยบายจำนำข้าว

โครงการขายข้าวจีทูจีทำสัญญาขายข้าวกับบริษัทของประเทศจีนจำนวนสี่สัญญา แต่กลับขายข้าวบางส่วนแก่พ่อค้าข้าวในเมืองไทย

ผลงานโครงการระบายข้าวจีทูจีกลายเป็นบ่วงรัดคอ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดเขากับบุคคลกลุ่มหนึ่ง รวม 21 ราย กรณีการทุจริตต่อหน้าที่ในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ

วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความผิดคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ

ศาลพิพากษาจำคุก บุญทรง เตริยาภิรมย์ 42 ปี ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 36 ปี อภิชาติ จันทร์สกุลพร เจ้าของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด 48 ปี จำเลยที่เหลือต้องโทษจำคุกลดหลั่นลงตามความผิด และสั่งให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกว่า 16,000 ล้านบาท

วันที่ 27 กันยายน 2560 ศาลพิพากษาจำคุกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 5 ปีโดยไม่รอลงอาญา

.………………..

หนึ่งพันแปดร้อยปีก่อน ข้าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองและสงคราม เตงงายก้าวขึ้นสู่วงจรอำนาจ เพราะผลงานเรื่องข้าว และความรุ่งโรจน์เกินไปทำให้เขาถูกเบื้องบนกำจัดทิ้ง

หนึ่งพันแปดร้อยปีต่อมา ข้าวยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และผู้ที่ถูก ‘สังหาร’ ก็คือประชาชน ต้องแบกรับกรรมแห่งหนี้สินที่นักการเมืองก่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของนโยบายจำนำข้าว หายตัวไปจากประเทศไทยก่อนวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา

.………………..


-----------------------------------------------


ร้องไห้เพื่อชาติ


หลังศึกเซ็กเพ็ก เล่าปี่ครอบครองแผ่นดินเกงจิ๋ว โดย ‘ขอยืม’ จากซุนกวน

ผ่านไประยะหนึ่ง กังตั๋งก็ต้องการเกงจิ๋วคืน เริ่มต้นที่การขอคืนโดยวิถีทางการทูต
ซุนกวนส่งโลซกไปเจรจา

เมื่อโลซกแจ้งแก่เล่าปี่และขงเบ้งว่าจะขอเมืองคืน เล่าปี่ก็ร้องไห้ น้ำตาไหลพราก แล้วขอตัวไป โลซกตกใจ ถามขงเบ้งว่าทำไมเล่าปี่ร้องไห้

ขงเบ้งอธิบายต่อโลซกว่า เล่าปี่สัญญากับท่านซุนกวนจริง ว่า หากตีเสฉวนได้เมื่อใด จะคืนเกงจิ๋วให้ซุนกวนทันที แต่ก็ประสบปัญหาคือ เจ้าเมืองเสฉวนเล่าเจี้ยง เป็นคนแซ่เล่าเช่นเดียวกัน สืบเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นเหมือนเล่าปี่ การชิงเมืองจากคนแซ่เดียวกันย่อมเป็นที่สาปแช่งประณามจากทุกฝ่าย แต่หากไม่ตีเสฉวน และต้องคืนเกงจิ๋วให้กังตั๋ง ราษฎรทั้งหลายก็ไร้ที่อยู่ เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เหตุนี้เองเล่าปี่จึงร้องไห้ เพราะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

เล่าปี่กับขงเบ้งขอให้โลซกไปบอกซุนกวนว่า ขอผ่อนผันให้พวกเขาตั้งหลักที่เกงจิ๋วต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

ไม่ได้บอกว่า ‘ระยะหนึ่ง’ ยาวแค่ไหน

เมื่อโลซกทำการไม่สำเร็จ ซุนกวนก็ส่งจูกัดกิ๋นไปเจรจา จูกัดกิ๋นเป็นพี่ชายของขงเบ้ง เชื่อว่าน่าจะคุยกันง่ายขึ้น

จูกัดกิ๋นหลอกน้องชายว่า ซุนกวนโกรธที่ขงเบ้งทำให้เสียเกงจิ๋ว และไม่ยอมคืน จึงสั่งจับครอบครัวเขาไปเข้าคุก ผลการกระทำของขงเบ้งกระทบถึงพี่ชายไปโดยปริยาย จึงต้องมาหาขงเบ้งเพื่อช่วยอ้อนวอนเล่าปี่ให้คืนเกงจิ๋ว

ขงเบ้งก็สวมรอยรับบท ร้องไห้เสียใจ แล้วพาพี่ชายไปหาเล่าปี่ ขงเบ้งเล่าเรื่องให้ฟัง ขอให้เล่าปี่คืนเกงจิ๋วแก่กังตั๋ง

เล่าปี่กล่าวว่า เพื่อขงเบ้ง ย่อมยินดีคืนเกงจิ๋วให้ เล่าปี่จะคืนสามเมืองคือ เตียงสา เลงเหลง และฮุยเอี๋ยงให้ซุนกวนทันที

ว่าแล้วสั่งอาลักษณ์รีบทำหนังสือคืนเมือง มอบให้จูกัดกิ๋น บอกให้จูกัดกิ๋นไปหากวนอูเพื่อรับเมืองคืน

แต่เมื่อจูกัดกิ๋นไปหากวนอู กวนอูไม่คืนเมืองให้

เมื่อจูกัดกิ๋นกลับมาหาอีกครั้ง เล่าปี่ก็บอกว่า ตนเองคุมกวนอูไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย ขอให้ฝ่ายตนตีเมืองฮันต๋งได้แล้ว จะส่งกวนอูไปว่าราชการที่นั่น เมื่อนั้นจึงสามารถคืนเกงจิ๋วให้ได้

จูกัดกิ๋นก็ทำการไม่สำเร็จเช่นกัน

.………………..

ความสัมพันธ์ระหว่างซุนกวนกับเล่าปี่ตั้งบนฐานที่ง่อนแง่น ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าขงเบ้งทำให้จิวยี่ตาย แต่เพื่อรักษาพันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ ขงเบ้งก็ตัดสินใจไปงานศพจิวยี่

การไปงานศพอาจหมายถึงการฆ่าตัวตาย เพราะทหารลูกน้องของจิวยี่พร้อมจะฆ่าขงเบ้งอยู่แล้ว

ขงเบ้งเข้าไปงานศพเช่นทองไม่รู้ร้อน ทหารจิวยี่ยอมให้ขงเบ้งคำนับศพก่อน แล้วค่อยฆ่า

ขงเบ้งตรงไปที่โลงศพจิวยี่ คุกเข่า โขกศีรษะคำนับ แล้วน้ำตาก็ไหลออกมา

ขงเบ้งสะอื้น ร้องไห้หน้าโลงศพ แล้วกอดโลงศพแน่น เสียงสะอื้นค่อยๆ ดังขึ้นจนเป็นร้องได้โฮ นานแสนนาน ไม่ยอมปล่อยโลงศพ คร่ำครวญน่าเวทนา จนทุกคน ณ ที่นั้นล้วนน้ำตาคลอ

ขงเบ้งเดินทางกลับเกงจิ๋วโดยสวัสดิภาพ สามารถรักษาทั้งชีวิตตนและพันธมิตรระหว่างซุนกวน-เล่าปี่

.………………..

การก่อรัฐประหารในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มทหารนอกราชการ นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ, น.อ. กาจ กาจสงคราม, พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์, พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ. ถนอม กิตติขจร ฯลฯ ยึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นจุดสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร และเป็นการเริ่มเข้าสู่เวทีอำนาจอีกครั้งของแมวเก้าชีวิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร แถลงต่อสื่อมวลชนถึงเหตุผลที่ก่อรัฐประหาร กล่าวว่าตนและพวกก่อรัฐประหารเพราะความจำเป็นจริงๆ พูดไปพูดมา น้ำตาก็ไหลนองหน้า

เป็นน้ำตาแบบ ‘ร้องไห้กลางเมือง’ (public crying) ฉากแรกๆ ของการเมืองไทยยุคประชาธิปไตย

ทันใดนั้น พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ก็ได้รับฉายาจากชาวบ้านว่า ‘วีรบุรุษเจ้าน้ำตา’ หรือ ‘บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล’

หลังจากนั้นน้ำตาของนักการเมืองไทยหลั่งไหลต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย ที่โดดเด่นมีหลายคน หนึ่งในนั้นคือ เนวิน ชิดชอบ

วันที่ 7 เมษายน 2552 ที่โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เปิดแถลงข่าวทั้งน้ำตาเพื่อชี้แจงสามเรื่องคือ 1.สถานการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน 2. สถาบันพระมหากษัตริย์ และ 3. เรื่องส่วนตัวระหว่างตนกับนายกฯทักษิณ

ห้าเดือนก่อนหน้านั้น เนวิน ชิดชอบ และกลุ่มเพื่อนเนวินได้ตัดสัมพันธ์กับกลุ่มทักษิณ หันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล นายเนวินกล่าวว่า นี่ไม่ใช่การหักหลัง ทรยศ เนรคุณ เรื่องหักหลังนั้นต้องดูกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช การที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทยไม่ยอมโหวตให้นายสมัครเป็นนายกฯรอบสองตามสัญญา ในวันที่ 12 กันยายน 2551 ต่างหากที่เป็นการหักหลังทางการเมือง

นายเนวินกล่าวทั้งน้ำตาว่า ตลอดเวลาที่ทำงานทางการเมืองก็เหมือนการเป็นพนักงานลูกจ้างของบริษัท หากอยู่ไม่ได้ อึดอัดใจ ลาออกก็จบ นายจ้างไม่พอใจ เลิกจ้างก็จบ “แต่กรณีพวกผมเมื่อเห็นต่างจาก พ.ต.ท. ทักษิณ พวกผมถูกไล่ล่าตามล้าง จึงอยากฝากบอกไปยัง พ.ต.ท. ทักษิณว่า พวกผมเป็นคนเป็นมนุษย์ไม่ใช่ทาส”

.………………..

หนึ่งในผู้นำไทยที่ร้องไห้แบบ public crying มากกว่าหนึ่งครั้งได้แก่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น

27 ตุลาคม 2554 ร้องไห้เมื่อเยี่ยมประชาชนที่ถูกน้ำท่วมหนัก

10 ธันวาคม 2556 ร้องไห้หลังยุบสภา

3 พฤศจิกายน 2559 ร้องไห้เมื่อชาวนาศรีสะเกษเป็นห่วงตนที่ถูกศาลปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท

ผ่านไปร่วมสองปี ในวันที่ 3 มิถุนายน 2561 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) และผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่อย่างเป็นทางการ และแถลงเหตุผลที่กลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง หลั่งน้ำตา ระบุว่าตระบัดสัตย์เพื่อชาติ “เพื่อมาเป็นขี้ข้าประชาชน”

เป็นฉากคล้ายกับครั้งที่อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา คราประยูร ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ เมื่อปี 2535 ที่ตามด้วยสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ

นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยยอมรับว่าตนเอง ‘ร้องไห้อยู่นานมาก’ ในเดือนเมษายน 2553 เมื่อเกิดวิกฤติการเมือง เพียงแต่ไม่ใช่ร้องไห้กลางเมือง

ในเวทีการเมืองระดับโลกก็มีนักการเมืองหลายคนที่ร้องไห้กลางเมือง เช่น บารัค โอบามา พูดไปร้องไห้ไปหลายหน

ฮิลลารี คลินตัน ร้องไห้กลางเมืองในปี ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีที่รัฐ นิว แฮมพ์เชียร์ คะแนนของเธอพุ่งขึ้นทันทีที่น้ำตาลงเม็ด

นายกรัฐมนตรีอังกฤษหลายคนก็ร้องไห้กลางเมือง เช่น กอร์ดอน บราวน์ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์

แม้กระทั่งผู้นำอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน ก็มีฉากหลั่งน้ำตาในที่สาธารณะ

ใช่ไหมว่าน้ำตาเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง?

ใช่ไหมว่าน้ำตาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอำนาจ?

ใช่ไหมว่าการเมืองก็คือการแสดงละครอย่างหนึ่ง?

อาจจะใช่ อาจจะไม่ใช่ แต่ที่ใช่แน่ๆ คือทุกครั้งที่นักการเมืองแย่งชิงอำนาจ คนร้องไห้เงียบๆ คือประชาชน

.………………..


-----------------------------------------------



Title: Re: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
Post by: ppsan on 21 December 2021, 16:03:51

นกหวีด


โจโฉครองอำนาจในตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและวุยอ๋องจนวันสุดท้ายของชีวิต มิใช่ไม่คิดจะชิงบัลลังก์จากพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ แต่อาจคล้อยตามความคิดของที่ปรึกษาซุนฮกผู้จากไปแล้วว่า การปราบดาภิเษกจะทำให้ผู้นำก๊กอื่นตั้งตนเป็นฮ่องเต้บ้าง และทำให้การรักษาอำนาจยากเย็นขึ้น

การกุมฮ่องเต้หุ่นในมือเป็นทางที่ดีที่สุด

ครั้นโจโฉตาย โจผีก้าวขึ้นเป็นวุยอ๋องแทนบิดา แต่ไม่เดินตามรอยเดิม ผ่านไปได้ไม่นาน ก็คิดหาทางยึดบัลลังก์พระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ ขุนนางสอพลอทั้งหลายอ่านทิศทางลมออก ก็ตอบสนองทันที ทูลพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ทั้งโดยตรงและทางอ้อมว่า ราชวงศ์ฮั่นมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ดวงชะตาแผ่นดินมาถึงการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ บ้างว่าควรสละบัลลังก์เพื่อความปลอดภัยของพระองค์เอง สมควรส่งต่อบัลลังก์ให้โจผี

ครั้งหนึ่งทหารของโจผีบังคับให้เจาปิดผู้รักษาตราหยกแผ่นดิน นำตราหยกพระราชลัญจกรออกมาให้ เจาปิดไม่ยอม จึงถูกฆ่า

หลังจากทรงถูกบีบทุกรูปแบบ พระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ไม่ทรงมีทางเลือก ก็สละราชบัลลังก์ ส่งหนังสือและตราหยกให้โจผี

สุมาอี้บอกโจผีว่า ไม่สมควรรับทันที เพราะจะดูเหมือนอยากได้ตำแหน่งเกินไป ให้ถวายตรากลับไปก่อนสองครั้ง จึงค่อยรับในครั้งที่สาม

โจผีทำตามคำแนะนำ และครั้งสุดท้ายก็รับเป็นฮ่องเต้ “เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของราษฎร”

เมื่อขงเบ้งทราบข่าวโจผีบังอาจแย่งราชสมบัติจากพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ สถาปนาราชวงศ์วุย ก็มองเห็นว่าเป็นโอกาสของเล่าปี่ที่จะขึ้นมาเป็นฮ่องเต้บ้าง

ขงเบ้งหว่านล้อมขุนนางทั้งหลายว่า เราควรยกเล่าปี่ขึ้นเป็นฮ่องเต้ เพื่อสืบราชวงศ์ฮั่นต่อไปมิให้ขาดตอน

เหล่าขุนนางเสนอเรื่องยกเล่าปี่เป็นฮ่องเต้ เล่าปี่ปฏิเสธ บอกว่าถ้าตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ก็เท่ากับชิงราชสมบัติไม่ต่างจากโจผี

ขงเบ้งจึงแกล้งป่วยหนัก เล่าปี่ไปเยี่ยมถึงที่พัก ขงเบ้งบอกว่าป่วยเพราะโจผีทำขบถต่อราชวงศ์ฮั่น ถึงเวลาที่ท่านจะเป็นฮ่องเต้เพื่อไปปราบโจผี แต่ท่านก็ไม่ยอม ตนจึงทุกข์จนล้มป่วย

พ.ศ. 764 เล่าปี่จึงยอมเป็นฮ่องเต้ “เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของราษฎร” เช่นกัน

ตามมาด้วย พ.ศ. 772 ซุนกวนปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน

.………………..

พ.ศ. 2556 หมากรุกการเมืองไทยมาถึงตาที่เบี้ยแปลงร่างเป็นขุนศึกที่ตายไปแล้วอีกครั้ง “เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของราษฎร” ต้องการหมากที่เรียกว่ากฎหมายนิรโทษกรรม

ในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี วาระสำคัญที่เร่งดำเนินการก็คือการเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

ภายใต้ฉลากสวยงามของ ‘การปรองดองแห่งชาติ’

สาระสำคัญคือ ให้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การแสดงออก หรือความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงเรื่องที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556

ขนมล่อใจคือนิรโทษกรรมครอบคลุมทุกคนทุกฝ่าย นิรโทษกรรมผู้ประท้วงในเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ปี 2547 ทั้งพันธมิตรฯ นปช. และรวมทั้งคำพิพากษาคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงของ ทักษิณ ชินวัตร และข้อกล่าวหาฆ่าคนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ

เรียกว่า ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ หรือ ‘นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย’

พลันนิรโทษกรรมเหมาเข่งก็เผชิญกับกระแสการต่อต้านจากนักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชนส่วนหนึ่งทันที พวกเขาบอกว่า การยกร่างในมาตรานี้เป็นการทำตามใบสั่งและจงใจล้างความผิดให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำคือเร่งเกมเพื่อให้ร่างฯผ่านโดยเร็วที่สุด ประธานสภารับเข้าเป็นวาระประชุมเป็นการพิเศษ ทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับ ส.ส. พรรคส่วนหนึ่งเรียกร้องให้ประชาชนแต่งชุดดำไปรวมกันที่สถานีรถไฟสามเสน ในเวลา 18.00 น. วันที่ 31 ตุลาคม 2556 เพื่อเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

เวลาตีสี่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ขณะที่ชาวบ้านชาวเมืองหลับไหล สภาผู้แทนราษฎรที่ครอบครองโดย ส.ส. พรรคเพื่อไทย ก็ผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 มีการประท้วงหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยและองค์กรหลายแห่งออกแถลงการณ์ประณามร่างพระราชบัญญัติ รวมทั้งแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

แม้ว่าในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 รัฐบาลถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากวาระการประชุมสภา และในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเอกฉันท์ไม่รับร่างดังกล่าว แต่การชุมนุมก็ยังคงดำเนินต่อไป

ไฟแห่งการต่อต้านถูกจุดติดแล้ว

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยกระดับการชุมนุมเป็นการถอนรากระบอบทักษิณ

เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการต่อต้านรัฐบาลขบวนการใหม่ คือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ฝ่ายเสื้อแดงรวมพลชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลเพื่อตอบโต้

สงครามกลางเมืองครั้งใหม่อุบัติขึ้นอีกครั้ง

.………………..

แนวคิดของ กปปส. คือทวงอำนาจอธิปไตยจากรัฐบาลมาคืนประชาชน กดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก แล้วใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 และมาตรา 7 เปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ดำเนินการปฏิรูปประเทศผ่าน ‘สภาประชาชน’

ขบวนการ กปปส.ได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กรและประชาชน ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯและชาวภาคใต้

มันเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิม ยกมาตรฐานของการชุมนุมเป็นอีกระดับหนึ่ง พื้นที่ชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกจัดให้คล้ายเวทีคอนเสิร์ต แสงสีเสียงสวยงาม มีการแสดงดนตรี ถ่ายทอดสดทุกวัน อาหารพร้อมบริบูรณ์

ด้วยค่าใช้จ่ายวันละ 10 ล้านบาท มันกลายเป็นกิจกรรมใหม่ในสังคม ด้วยแนวทาง ‘อาหารดี ดนตรีไพเราะ’ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่เครียดเหมือนการชุมนุมทางการเมืองเดิมๆ

ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง เพราะนกหวีดมีนัยของ whistleblower แปลว่าผู้เปิดโปงความชั่วร้ายในสังคม

การชุมนุมครั้งนี้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากนักการเมืองผู้เคยพัวพันคดีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ในสมัยก่อน มาเป็น ‘ลุงกำนัน’

แน่นอน คนกรุงเทพฯย่อมรู้จัก สุเทพ เทือกสุบรรณ ดีว่าเป็นใคร เคยทำอะไร แต่ ‘ลุงกำนัน’ ให้สัญญาประชาคมว่า นี่เป็นการชุมนุมทางการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ หลังจากนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวและหรือรับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

อาจเพราะในเวลานั้นประชาชนต้องการใครก็ได้มาเป็นผู้นำชนระบอบทักษิณที่พวกเขามองว่าจำเป็นต้องถูกหยุด ‘ลุงกำนัน’ จึงมาได้ถูกที่ถูกเวลา

การชุมนุมปรากฏการปะทะกันและความรุนแรงหลายครั้ง ส่วนมากเกิดจาก ‘มือมืด’ บางครั้งก็เป็นการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ครั้งรุนแรงเช่น วันที่ 26 ธันวาคม 2556 กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นปะทะกับตำรวจ มีผู้เสียชีวิตสามคน ได้รับบาดเจ็บสองร้อยคน

การปะทะกันบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 1 ธันวาคม มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 57 คน นอกจากนี้ยังมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ

วันที่ 8 ธันวาคม 2556 ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 153 คนลาออก วันรุ่งขึ้นนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กปปส. ปฏิเสธการเลือกตั้ง เรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชนก่อน

การชุมนุมดำเนินข้ามไปปีใหม่ วันที่ 13 มกราคม 2557 ผู้ชุมนุม กปปส. ปิดถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครเพื่อกดดันรัฐบาล เดือนมกราคม 2557 มีการยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมตลอดทั้งเดือน หกราย ถูกอาวุธปืนยิงเสียชีวิต บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ มีการขว้างระเบิดใส่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ สวนลุมพินี แยกลาดพร้าว วังสวนผักกาด มีผู้เสียชีวิตหลายคน และการขว้างระเบิดลูกเกลี้ยงใส่ผู้ชุมนุมที่เดินขบวนแถวถนนบรรทัดทอง มีผู้บาดเจ็บ 41 ราย

มีการโจมตีด้วยระเบิดมือใกล้ศูนย์การค้าโลตัส เจริญผล มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 38 คน เสียชีวิต 1 คนระหว่างการเดินขบวนที่มีสุเทพเป็นผู้นำ มีโจมตีด้วยระเบิด ณ จุดชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 คน และการยิงผู้ชุมนุมที่บริเวณสโมสรกองทัพบก

ในเดือนเดียวกันนี้สำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ถูกยิงถล่ม และพยายามระเบิดบ้านพักของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ แต่ไม่อาจหยุดสงครามกลางเมืองได้

เดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ มีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง นอกจากนี้ยังมีคนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ ยิงอาร์จีดี 5 บริเวณแยกประตูน้ำ ยิงปืนและขว้างระเบิดที่จังหวัดตราดยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ ใกล้ที่ชุมนุม กปปส. แยกราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิตหลายคน รวมทั้งเด็กชายเด็กหญิง

เดือนมีนาคมมีการยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.สวนลุมพินีและที่อื่นๆ หลายครั้ง มีคนบาดเจ็บราวสิบราย และเสียชีวิตหนึ่งราย

เดือนเมษายน คนร้ายยิงกราดผู้ชุมนุมหลายที่หลายครั้ง บาดเจ็บหลายราย

.………………..

ขึ้นเดือนพฤษภาคม การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมไม่สิ้นสุด เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิด เอ็ม 79 ใส่เวทีชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บหลายราย

การเผชิญหน้าและความรุนแรงถึงทางตัน มองไม่เห็นทางออกและทางลงสำหรับทุกฝ่าย

จนกระทั่งเกิดจุดหักเหของเกมหมากรุกการเมือง

ถวิล เปลี่ยนศรี

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นเลขาธิการฯแทนถวิล

ถวิลร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนการย้ายนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแก่ ถวิล เปลี่ยนศรี ภายในสี่สิบห้าวัน

ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ใช้เหตุนี้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง กล่าวหาว่าเป็นการใช้อำนาจแทรกแซง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคดี

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ลงมติเห็นชอบการย้ายนี้ รวมสิบคนพ้นจากตำแหน่ง

หลังฟังคำวินิจฉัย ประธาน นปช. กล่าวว่าคำวินิจฉัยนี้เป็น ‘รัฐประหารโดยตุลาการ’

แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป

พฤษภาคม 2557 นปช.จัดชุมนุมใหญ่ที่ถนนอักษะ

สงครามกลางเมืองยังไม่ยุติ การปะทะกันยังดำเนินต่อไป ไม่มีใครยอมถอย ท่ามกลางข่าวลือว่ามีกองกำลังต่างชาติเข้ามา

วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) กำลังทหารเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ต่างๆ

วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองยังเผชิญหน้ากัน พล.อ. ประยุทธ์เรียกตัวแทนจากเจ็ดฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อหาทางออกให้ประเทศ

การประชุมดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดระหว่างตัวแทนของทุกฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม ปรากฏว่าไม่มีข้อยุติ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้ประชุมรอบใหม่ในวันรุ่งขึ้น เวลา 14.00 น.

.………………..

พ.ศ. 792 หลังจากโจผี เล่าปี่ และซุนกวนต่างตั้งตนเป็นฮ่องเต้ สุมาอี้ก็ยึดอำนาจราชวงศ์วุย และต่อมาเชื้อสายของเขาก็โค่นก๊กทั้งสามสิ้น

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในการประชุมรอบสอง พล.อ. ประยุทธ์ขอให้แต่ละฝ่ายเสนอแนวทางแก้ปัญหา และหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ผ่านไปสองชั่วโมง ก็ยังไร้ข้อยุติ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน

ท้ายที่สุด พล.อ. ประยุทธ์ถาม ชัยเกษม นิติสิริ หัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลว่า “รัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่?”

ชัยเกษมตอบว่า “รัฐบาลยืนยันว่าไม่ลาออก และต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบด้วยเสียงราบเรียบว่า “ถ้าเป็นแบบนี้ ขอโทษด้วยนะ ผมต้องยึดอำนาจประเทศนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

.………………..


เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

winbookclub.com
http://www.winbookclub.com/article.php

วินทร์ เลียววาริณ - Facebook
https://www.facebook.com/winlyovarin/