Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
เรื่องราวน่าอ่าน => เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก => Topic started by: ppsan on 24 November 2021, 22:46:46
-
ส้วมหน้าบ้าน ใครต้องการลูกสาว?
ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมหน้าบ้าน” กันมาบ้าง และออกจะขุ่นข้องใจกับสำนวนนี้ไม่น้อย
บทความนี้จะพูดถึงกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเดินทางมาตั้งรกรากในเมืองไทย พร้อมกับคำสอนแบบขงจื๊อ ที่ว่า “ชายหญิงล้วนแตกต่าง” (男女有别) ซึ่งคอยย้ำบทบาทที่ไม่เหมือนกันของทั้งสองเพศ ...หากพูดง่ายๆ ขงจื้อก็มองว่าผู้ชายอยู่สูงกว่าตามมุมมองปิตาธิปไตยของจีนโบราณ
ในบทความนี้ ผมจะพาทุกคนไปดูเรื่องราวความไม่เท่าเทียมของหญิงชายในประเทศจีนตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงอิทธิพลที่ส่งมายังกลุ่มคนจีนโพ้นทะเล ว่ามันได้ฝังรากและก่อปัญหาอะไรไว้บ้าง
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28x8ptruLIpSkKd6tp-o.jpg)
*** ความไม่เท่าเทียมจากอดีต ***
ตั้งแต่โบราณมา ชาวจีนมีความเชื่อเรื่อง “หยินหยาง” เปรียบดังความสมดุลพลังในจักรวาล หยิน (แทนด้วยสีดำ) หมายถึง พลังด้านลบ ธาตุเย็น และความเป็นหญิง ส่วนหยาง (แทนด้วยสีขาว) หมายถึงพลังด้านบวก ธาตุร้อน และความเป็นชาย
...ทั้งนี้หยินหยางต้องสมดุลกัน หากมีอันใดอันหนึ่งมากไปก็จะไม่เกิดผลดี...
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28x8v8gf04a0Ky2uuI-o.jpg)
อย่างไรก็ตาม แนวคิดจีนแต่นานมามองว่าผู้หญิงมีธรรมชาติสงบ ไม่ใช่ผู้เข้มแข็งที่นำพาการสร้างสรรค์ จึงควรหน้าที่ไม่กี่อย่าง คือถ้าไม่เป็นเมียก็เป็นแม่ และต้องรับใช้ดูแลตระกูลสามี
ผู้หญิงส่วนมากไม่ได้เรียนหนังสือ จะมีก็แต่ชนชั้นกลาง-สูงซึ่งมีอาจารย์มาสอนในบ้าน โดยทำเพื่อเป็นการเชิดชูวงศ์ตระกูลมากกว่าต้องการให้ลูกสาวมีความรู้จริงๆ
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28x964sy62Uvr8n3YJq-o.jpg)
ภาพแนบ: ขงจื๊อ
*** คำสอนของขงจื้อ ***
ขงจื้อสอนว่าผู้คนอาจถูกวัดคุณค่าได้จากความสามารถในการบรรลุหน้าที่สังคมคาดหวัง เช่นผู้ชายจะต้องทำหน้าที่เป็นพ่อและสามีที่ดี เป็นผู้นำ คอยรับใช้บ้านเมือง ส่วนผู้หญิงก็ต้องเป็นแม่และภรรยาที่ดี เป็นผู้รับใช้สนับสนุนฝ่ายชาย
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28x9a4u3lKaGaTjX6Li-o.jpg)
ตามแนวคิดนี้ผู้ชายจะเป็นผู้ดูแลกิจการต่างๆ นอกบ้าน ส่วนผู้หญิงเป็นผู้ดูแลในบ้าน และมีสถานะต่ำกว่าชาย ตามหลักปิตาธิปไตย
ลูกผู้หญิงถูกมองว่าเป็น “สมาชิกชั่วคราวที่เดี๋ยวก็จะต้องแต่งงานออก” แนวคิดดังกล่าวสร้างความลำบากแก่ผู้หญิงมาก
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28x9fqwjaK3NyguZka-o.jpg)
ภาพแนบ: ละคร "มงกุฎดอกส้ม" ของช่อง 3 เล่าเรื่องหญิงสาวที่ต้องตกอยู่ในการแก่งแย่งชิงดี เพราะถูกส่งมาเป็นภรรยาน้อยคนจีนเพื่อขัดหนี้ (ดัดแปลงมาจากนิยายจีนเรื่อง Wives and Concubines อีกที)
ในจีนโบราณนั้น ผู้หญิงจำนวนมากโดนครอบครัวส่งเข้าหอนางโลม หรือไม่ก็ถูกขายเป็นทาส โดยมักเป็นการตัดสินใจของพ่อ
นอกจากนั้นการที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาหลายคน ทำให้ผู้หญิงถูกบีบให้กลั่นแกล้งทำร้ายกันเองด้วยความริษยาคล้ายกับในละครไทยที่เราดูหลังข่าว
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28xfsbwFjYIV6t6AR-o.jpg)
ภาพแนบ: เหย่าเหนียง
*** ประเพณีรัดเท้า ***
เชื่อกันว่าในยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (ค.ศ. 907 - 960) จักรพรรดิมีสนมนามเหย่าเหนียง มีเท้าเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มมาก
วันหนึ่งกษัตริย์ได้สร้างดอกบัวทองคำสูงหกฟุตประดับด้วยเพชรนิลจินดา และให้นางขึ้นไปร่ายรำบนดอกบัวนั้น เหย่าเหนียงจึงเอาผ้าขาวรัดเท้าให้โค้งดังจันทร์เสี้ยว ร่ายรำอย่างงดงามยิ่ง แสดงทั้งกายภาพว่ามีเท้าเล็กมาก และมีทักษะดีมาก ทำให้ผู้ชมต่างประทับใจ ทุกคนจึงเอาอย่าง ให้ผู้หญิงรัดเท้าให้เล็กลงเกิดเป็นธรรมเนียม “รัดเท้า” ขึ้น
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28xfwsrdklaibO79OK-o.jpg)
ภาพแนบ: ขนาดรองเท้าของผู้ถูกรัด เทียบกับฝ่ามือ
ผู้ชายจีนสมัยก่อนมีอารมณ์กับผู้หญิงเท้าเล็กๆ เหมือนผู้ชายสมัยนี้มีอารมณ์กับผู้หญิงหน้าอกใหญ่ๆ ผู้หญิงยิ่งเท้าเล็กยิ่งมีเสน่ห์ ยิ่งมีโอกาสเป็นที่หมายปองของชายสูงศักดิ์
นั่นเป็นการกดดันให้ครอบครัวที่อยากให้ลูกสาวได้สามีดี ต้อง “ทำศัลยกรรม” ลูก รัดเท้าพวกเธอจนพิการตั้งแต่เล็กแต่น้อย ต้องเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างยิ่ง
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28xg1rp3RJDkb6LD0Z-o.jpg)
และเมื่อได้เท้าพิการผิดรูปแล้ว ก็ต้องพันเท้าไว้ตลอดเวลา (เพราะผู้ชายชอบเห็นเท้าที่พันไว้แล้วจินตนาการ มากกว่าจะมองของจริงที่บิดเบี้ยว) จนเท้านั้นเหม็นอับเป็นโรคผิวหนังกันมาก
...ด้านหนึ่งให้เหตุผลว่าเพราะการเดินด้วยเท้าเล็กๆ จะนวยนาดดูเซ็กซี่ แต่อีกเหตุผลคือ เมื่อเท้าเล็กก็จะเดินลำบาก ทำให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปไหนให้วุ่นวาย และยากต่อการมีชู้
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28xg4av66HF30P2e9v-o.jpg)
ภาพแนบ: เหมาสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
*** สิทธิสตรียุคคอมมิวนิสต์ของเหมา ***
เหมาเจ๋อตงสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ขึ้นในปี 1949 เปลี่ยนระบอบการปกครองจีนสู่ระบบคอมมิวนิสต์ที่เชิดชูอุดมการณ์ “คนเท่าเทียมกัน”
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28xg84wofLKsN9p62O4-o.jpg)
เหมาให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีมากขึ้นตามหลักที่เหมาเรียกว่า “ประชาธิปไตยใหม่” (New Democracy) เช่น ออกกฎหมายให้การบังคับอยู่กินโดยไม่ได้สมรสเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย, ต้องเป็นผัวเดียวเมียเดียว
(คอมมิวนิสต์ยุคนั้นยังไม่ก้าวหน้าขนาดให้สิทธิเพศทางเลือก อย่างไรก็ตามได้มีการพูดถึงมากขึ้นในยุคหลัง)
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28xgeu31svyjPuW9cI-o.jpg)
มุมมองต่อผู้หญิงของพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงยุค 50 - 60s นับว่าดีขึ้น พวกเธอได้กลายมาเป็นแรงงานที่แข็งขัน เป็นนักรบผู้กล้าหาญ สามารถลุกขึ้นมาสู้เพื่อประเทศจีนและพรรค แต่กระนั้นยุคคอมมิวนิสต์ก็เป็นยุคที่กดขี่แนวคิดอื่นที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ด้วย
ปลายยุคเหมานั้นมีการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” หากใครอุทิศตนให้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่พอก็จะโดนกลั่นแกล้งประจาน และในทางปฏิบัตินั้น หลายๆ กรณี ผู้หญิงยังถูกกีดกันทางการงานอยู่ แม้เรียนสูงเท่าผู้ชาย ก็มักไม่ก้าวหน้าเท่า
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28xgiwthmqkmD8e1sB-o.jpg)
ภาพแนบ: เหมากับครอบครัว
นอกจากนั้นหากมองชีวิตส่วนตัวของเหมาเจ๋อตง จะพบว่าแม้ภรรยาทั้งสี่คนของเขาล้วนอุทิศตนให้เขาอย่างยิ่งยวด แต่เขาก็เคยหักหลัง หรือทำผิดต่อพวกเธอทั้งสี่ ลูกสาวของเหมาเองก็ไม่ได้ถือว่ามีชีวิตสุขสบาย หากเทียบกับลูกของผู้นำรายอื่นๆ ในประวัติศาสตร์
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28xgml8mmbtN83IU1b-o.jpg)
ภาพแนบ: เหมากับเจียงชิง ภรรยาคนที่ 4 และลูกสาว หลี่นา
...แต่นักการเมืองทั้งหลายที่ขึ้นมามีอำนาจหลังยุคเหมาพยายามไม่กล่าวถึงความเจ็บช้ำของพวกเธอ คาดว่าเพราะไม่อยากให้กระทบภาพลักษณ์พรรคคอมมิวนิสต์…
(อ่านบทความเรื่องของ “ผู้หญิงของเหมา” ได้ใน link ในคอมเมนต์ของโพสต์นี้นะครับ)
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28y4f7x5Sh0hvKGxnX-o.jpg)
*** ส้วมหน้าบ้านยุคใหม่ และนโยบายลูกคนเดียว ***
หลังยุคเหมา เติ้งเสี่ยวผิงได้ปฏิรูปจีนเป็นทุนนิยม และสนับสนุนความเท่าเทียม ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีงานทำมากกว่ายุคก่อนๆ
แต่กระนั้นเองหลังจากนั้นก็เกิดปัญหาขึ้นอีก เพราะนายจ้างไม่อยากจ่ายค่าแรงให้เยอะ จึงไปจ้างแรงงานหญิงต่างชาติด้วยค่าแรงถูกๆ มาทำงานแทน ทำให้หญิงชาวจีนโดนแย่งงาน หญิงต่างชาติก็โดนกดให้แต่ทำงานที่ไม่ต้องใช้ความสามารถนัก
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28y4g1pvv6N25KR8he-o.jpg)
จากผลสำรวจของ Chinese Women's Press ในปี 1990 ผู้หญิงที่ทำงานในเมือง จะได้ค่าจ้างเฉลี่ยค่า 77.4% ของผู้ชายในย่านเดียวกัน และผู้หญิงที่ทำงานต่างจังหวัด จะได้ค่าจ้างเฉลี่ย 81.4% ของผู้ชาย
ส่วนข้อมูลของวารสารวิชาการ Contemporary Economic Policy ในปี 2013 ระบุว่า เทียบกับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงได้ค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 75.4%
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28y4g7uajdEZD6KhzS-o.jpg)
นอกจากนี้ชายจีนยังติดกับความคิดเดิมๆ อยู่มาก อิงจากบทความ "Goodbye Career, Hello Housekeeping" บนเว็บไซต์ China News Service ในปี 2012 ผู้ชายจีน 80% ยังหวังให้ภรรยาตัวเองลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเต็มเวลา ชีวิตแต่งงานจะได้ราบรื่น ครอบครัวมีคนดูแล
...นี่สะท้อนให้เห็นความเชื่อเรื่องผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องอยู่บ้านแบบขงจื๊อ ที่แม้จะถูกกวาดล้างไปในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมแล้ว แต่ก็ยังแพร่หลายอยู่
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28y4gi7w3vnQXQ4vI-o.jpg)
ยิ่งไปกว่านั้น พอแต่งงานไปแล้ว ครอบครัวก็หวังให้แต่หญิงผู้นั้นมีลูกชายไว้สืบสกุล ดังเห็นได้จากตอนประเทศจีนดำเนินนโยบายลูกคนเดียว เรามักจะได้ยินข่าวคนทำแท้งเพราะได้ลูกสาว หรือหากคลอดออกมาแล้วก็นำไปทิ้งอยู่เรื่อยๆ จนจีนมีประชากรชายมากกว่าหญิงมากในช่วงหนึ่ง
ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาในยุคปัจจุบัน เพราะเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตถึงวัยครองคู่ก็หาคนมาแต่งยาก กลายเป็นไม่สามารถทำตามความคาดหวังแบบขงจื๊อที่ฝังอยู่ใน DNA ได้อีก
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28y4g6y6bgiKPhPmVm-o.jpg)
*** ค่านิยมขงจื๊อที่แฝงอยู่นอกเมืองจีน ***
ประเทศอย่าง เวียดนาม เกาหลี หรือ ญี่ปุ่นนั้นเปิดรับวัฒนธรรมจีนมาเต็มๆ เป็นเวลานับร้อยนับพันปี
พวกเขารับ ตัวอักษร, ศาสนา, ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ รวมทั้งแนวคิดแบบขงจื๊อเข้ามาด้วย ทำให้ยังมีกรอบแนวคิดนี้อยู่อย่างยากสลัดหลุด
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28yerxltpBIb4mxkhc-o.jpg)
ภาพแนบ: อามาเทระสุ
จะขอยกตัวอย่างเรื่องญี่ปุ่น มีหลักฐานบ่งชี้หลายประการว่า แต่ก่อนความเชื่อดั้งเดิมของญี่ปุ่นยกให้ “ผู้หญิงเป็นใหญ่” สังเกตได้จากเทพสูงสุดในศาสนาชินโตคือ “อามาเทระสุ” เทพีแห่งดวงอาทิตย์
ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ยังมีพระจักรพรรดินีถึง 6 องค์ เช่น จักรพรรดินีฮิมิโกะในกลางศตวรรษที่ 3 หรือ จักรพรรดินีซุยโกะ ซึ่งขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 592
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28yevn0n058xugMTVV-o.jpg)
ภาพแนบ: ศาลเจ้าขงจื๊อที่นางาซากิ
อย่างไรก็ตามความขงจื๊อได้ถูกโปรโมทเรื่อยมา จนยุคหนึ่งผู้หญิงขาดสิทธิหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคู่ และการหย่าเองก็ทำไม่ได้ แถมยังถูกคาดหวังว่าต้องเป็นแม่ศรีเรือนที่ดีอีกด้วย
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28yez495km6LpafIE37-o.jpg)
ภาพแนบ: โมกะ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ผู้หญิงญี่ปุ่นจะถูกค่านิยมดังกล่าวกดไว้ แต่หลายครั้งพวกพยายามเธอลุกขึ้นมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่นในยุคโชวะ (1926 - 1989) มีกลุ่มผู้หญิงเรียกว่า “โมกะ” หรือ Modern Girl เกิดขึ้น พวกเธอแต่งตัวทันสมัย, เลือกคู่เอง, ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง ทำให้มักถูกวิจารณ์จากสังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ว่าเป็นพวกนิยมฝรั่ง ทำตัวไม่เป็นธรรมชาติ
(https://f.ptcdn.info/391/075/000/r28yf43rjoRyMHCZ8eF3-o.jpg)
ภาพแนบ: ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
น่าเสียดายว่า ยุคของโมกะต้องจบลงเมื่อญี่ปุ่นเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและสงคราม ทำให้กระแส "เมียที่ดี แม่ที่ฉลาด" (良妻賢母 - Good Wife, Wise Mother) ที่เน้นให้ผู้หญิงเป็นแม่ศรีเรือน เลี้ยงลูกเพื่อเป็นกำลังของชาติกลับขึ้นมาแทน
(กระแสนี้มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคเมจิ (1868 - 1912) ก่อนหน้านั้น)
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28ysgt7y6OQ8SiFG4Z-o.png)
แม้ญี่ปุ่นจะเจริญไปเพียงไหน แต่ปัจจุบันยังมีค่านิยมที่บอกให้ผู้หญิงเรียนจบแล้วไม่ต้องทำงานนาน แต่งงานแล้วก็ให้ลาออกไปเป็นแม่บ้านกันมาก
ผู้หญิงที่ทำงานในออฟฟิศแม้จะเรียนสูงมาแค่ไหน แต่กลับมีแนวโน้มได้เงินเดือนน้อยกว่าชาย บริษัทไม่กล้าโปรโมทมาก กลัวว่าเดี๋ยวเธอแต่งงานขึ้นมาก็ลาออกไปเป็นแม่บ้านอีก
...จะเห็นว่าไม่ว่าที่ไหนที่รับวัฒนธรรมขงจื๊อมาก็มักเกิดปัญหาคล้ายๆ กัน รวมไปถึงในประเทศไทย...
*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
.....
เรื่องและภาพจาก
https://pantip.com/topic/41090354
-
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zdd6kv8B4g5KnpNA-o.jpg)
*** อิทธิพลที่ยังหลงเหลือต่อคนไทยเชื้อสายจีน ***
ครั้นคนจีนอพยพเดินทางมาไทยก็ได้นำธรรมเนียมปฏิบัติของตนติดตัวมาด้วย ถึงไม่ได้เข้มข้นเท่าคนจีนโพ้นทะเลอื่นๆ แต่ค่านิยมหลายอย่างก็ยังไม่หายไป รวมทั้งแนวคิดแบบขงจื๊อ
หลายคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์พ่อแม่เลี้ยงลูกชายดีกว่าลูกสาว เพราะคิดว่าสืบตระกูลได้ บางบ้านถึงกับมองลูกสาวว่าไม่ดี ไม่อยากมี อันเป็นที่มาของประโยค “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมหน้าบ้าน”
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zebrdz65Ooudn3SR-o.jpg)
ภาพแนบ: ภัสสร จากละครเรื่อง "เลือดข้นคนจาง" ช่องวัน เธอแต่งงานแล้ว พอตอนป๊าแบ่งสมบัติก็ได้ไม่เท่าพี่น้องผู้ชายคนอื่น
อ.จิตรา ก่อนันทเกียรติ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีนให้สัมภาษณ์ว่า หนึ่งในปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนคือการแบ่งมรดกที่ยังยึดตามขนบธรรมเนียมเดิม แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละครอบครัว แต่โดยรวมผู้ชายมักจะได้มากกว่าผู้หญิง
หรือกรณีที่ลูกสาวแต่งงานไปแล้ว หากพ่อแม่ให้เงินติดตัวไปมาก ก็มักได้มรดกน้อยลงไปด้วย (ตามธรรมเนียมจีน ถ้าฝ่ายชายให้สินสอดเยอะ พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็ต้องให้เงินเยอะตามเพื่อไม่น้อยหน้า) บางคนไม่ได้มรดกเลยก็มี เพราะถือว่าเป็นสมาชิกของบ้านอื่นแล้ว
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zefdczJQyE9wpAxh-o.jpg)
อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยมีแนวคิดเปลี่ยนไปตามยุคสมัย...
บ้างเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในธุรกิจของตระกูลมากขึ้น บางคนหากมีพ่อใจกว้างอาจได้สืบทอดกิจการด้วยซ้ำ และหากเป็นคนมีความสามารถจริงก็ย่อมได้รับการยอมรับจากลูกน้อง ซึ่งอ.จิตราว่า ตรงนี้ทั้งหญิงและชายก็ต้องพิสูจน์ตัวเองพอๆ กัน
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zeiwjlVX3WLRNqMC-o.jpg)
ภาพแนบ: ตระกูลจิระอนันต์ ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนในเรื่อง "เลือดข้นคนจาง" ช่องวัน
*** ส้วมในบ้าน ***
มุมหนึ่งที่หลายๆ คนมักละเลยก็คือ “ผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อของค่านิยมปิตาธิปไตยเช่นกัน” เพราะพวกเขาถูกคาดหวังว่าต้องเข้มแข็ง, อดทน, ต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน, ต้องดูแลครอบครัวได้
โดยเฉพาะลูกชายคนโต หรือ “ตั่วเฮีย” จะถูกคาดหวังจากพ่อแม่มากเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นผู้สืบวงศ์ตระกูลและเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่ ตามหลักกตัญญูของแนวคิดขงจื๊อ
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zel53ruoaLVlFo0CH-o.jpg)
ภาพแนบ: เหมาในวัยเด็ก
เหมาเจ๋อตงเองก็เกิดมาเป็นลูกชายคนโต ในวัยเด็กอายุเพียง 14 ปีนั้น เขาถูกพ่อจับบังคับคลุมถุงชนกับลูกสาวของเพื่อนพ่อ ทำให้เหมาต้องตกอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน โดนบิดาบังคับทำในสิ่งที่ต้องการโดยไม่สามารถโต้แย้งได้ ส่งผลให้เขาเฉยเมยต่อเจ้าสาวที่ถูกจับมาแต่งงานเช่นกัน
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zeo57muhuEKNatFRU-o.jpg)
สำหรับจีนที่มาตั้งรกรากในไทย ลูกชายคนโตจะโดนกดดันอย่างมาก หลายคนไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เที่ยวเล่นก็ไม่ได้ เพราะถูกกำหนดให้มาช่วยงานกงสีที่บ้าน อีกทั้งยังต้องดูแลน้องๆ ให้เติบโตมาเป็นคนดี
ยิ่งบางบ้านต่อให้ลูกโตกันเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวกันหมด แต่พอน้องมีปัญหา (เช่น ติดหนี้) ตั่วเฮียก็ต้องตามไปแก้ไขให้ เพราะถือว่าเป็นพ่อคนที่สอง
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zetg0o0nilsHqKMV-o.png)
*** สรุป ***
มีความเชื่อแต่โบราณที่มองผู้หญิงด้อยกว่า ยึดถือการสืบสกุลผ่านทางผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีสถานะเหมือนเป็นเพียงคนรับใช้ในบ้าน ทำให้ชายมีศักดิ์และสิทธิมากกว่าหญิงในทุกๆ ด้าน
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zewut7b6ISjH51A6-o.jpg)
อีกแง่หนึ่ง ผู้ชายก็เป็นเหยื่อของแนวคิดปิตาธิปไตยเหมือนกัน ต้องแบกรับแรงกดดันของวงศ์ตระกูลที่ส่งต่อกันมาหลายรุ่น
...ถึงแม้ผู้นำจีนตั้งแต่ยุคเหมาเป็นต้นมาจะพยายามกำจัดแนวคิดเช่นนี้ แต่มันก็ยังคงอยู่ราวกับถูกฝังไว้ใน DNA ของผู้มีเชื้อจีน ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆ รวมทั้งไทยเองก็ด้วย
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zfa603LoJLqIs25o-o.jpg)
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งในยุคปัจจุบันที่แนวคิดหญิงชายเท่าเทียมกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักของโลก ทำให้มีการส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถ มีหน้าที่การงานที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นช้างเท้าหลังเสมอไป
(https://f.ptcdn.info/392/075/000/r28zfenhbY1VBkYUczx-o.jpg)
...เหล่านี้ล้วนทำให้เรามีความหวังว่า สักวันความเชื่อเรื่องผู้หญิงเป็นส้วมหน้าบ้านจะค่อยๆ จางหาย และถูกแทนที่ด้วยความคิดใหม่ ที่ไม่ดูแคลนคน ไม่ว่าเขาจะเกิดมาเป็นเพศไหนๆ ก็ตาม
.......................................
ความคิดเห็น
............
ปัจจุบันคนไทยเหมือนจะลดความต้องการลูกชายลงและชอบลูกสาวมากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างหลายๆกรณีที่ลูกชายไม่ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่เลย ในขณะที่ลูกสาวที่ยังเลี้ยงพ่อแม่กันเยอะ
............
โชคดีที่เป็นคนไทยแท้ เลยได้เป็นลูกสาวของพ่อแม่ที่ตั้งใจและพยายามจะมีลูกสาว
...........
บ้านเราไทยแท้. เรายังรู้สึกเลยว่าพ่อแม่อวยลูกชายมากกว่าลูกสาว. ก็ไม่ได้เลี้ยงแบบลำเอียงอะไรนะ. แต่เค้าจะชอบพูดว่าน้องชายเราเป็นหลานชายคนเดียวของตระกูล. เราได้ยินก็มีความหมั่นไส้อยู่
..........
จขกท ครับ จะหยิบยกอะไรมานำเสนอควรมีความรู้ในสิ่งนั้นๆ
คำสอนของขงจื้อกำเนิดมาเป็นพันปี ซึ่งท่านสอนตามสภาพแวดล้อมในขณะนั้น
เป็นเราเองที่ต้องรู้จักเอาคำสอนมาทำให้เป็นไปตามยุคตามสมัย
คำสอนของขงจื้อ เน้นเรื่อง หน้าที่ของคน ซึ่งใครจะมีหน้าที่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสถานะและฐานานุรูป
เช่น คนเป็นเจ้าเมืองมีหน้าที่อะไร คนเป็นพ่อแม่มีหน้าที่อย่างไร ลูกควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ทุกคำสอนล้วนเป็นเพื่อให้สังคมอยู่กันอย่างสงบและเป็นปกติสุข
แต่ก็มีบางคนไม่เข้าใจ เอาคำสอนไปอ้างผิดๆ เช่นบอกว่า ขงจื้อให้ความสำคัญผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
หรือคนจีนอยากมีลูกชายมากกว่าผู้หญิง......ทั้งหมดทั้งมวล มันเป็นกิเลสตัณหาเฉพาะตนหรือเปล่า
คำว่าหน้าที่คือผู้ปฏิบัติจะต้องทำโดยสมัครใจ ยอมรับในสถานะและฐานานุรูปที่เป็น
ถ้าไม่ยอมรับเช่น อยากได้ในสิ่งที่ผู้ชายได้ แต่ไม่อยากทำหน้าที่ของผู้ชาย
มันก็แค่อยากได้ผลงาน แต่ไม่ได้ต้องการทำหน้าที่ ..กิเลสครับ ไม่ใช่คำสอน
ผมไม่เคยเห็นเลยว่า จะมีผู้หญิงออกมาประท้วงเรียกร้องให้เกณท์ผู้หญิงไปเป็นทหารเพื่อรบ
เห็นมีแต่ข่าวว่าผัวทำร้ายเมีย แต่คุณว่าเมียทำร้ายผัวอย่าคิดว่าไม่มี เพียงแต่ผู้ชายเขาอายที่จะให้โลกรู้ว่าถูกเมียทำร้าย
ในละครเลือดข้นคนจาง มันก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความโลภของลูกสาวเป็นอย่างดี...ได้แล้วไม่รู้จักพอ
ธรรมเนียมจีน เมื่อลูกสาวแต่งงานย้ายออกไป พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบเงินสินสอดทั้งหมดให้กับลูกสาว
แถมยังเอาเงินของกงสีแบ่งให้ไปอีก และในความเป็นลูกสะใภ้คนอื่น ยังคงต้องได้มรดกบางส่วนจากพ่อแม่สามี
ยัยลูกสาวได้แล้ว แถมยังได้ทำงานตำแหน่งใหญ่โตในบริษัทที่เป็นกงสีของพ่อ
พอพ่อตายยังแบ่งมรดกให้อีกทั้งๆที่ไม่ควรจะได้....ได้ไม่รู้จักพอ จนเกิดเรื่องเกิดราว
ทั้งลูกสาวและลูกสะใภ้ไม่รู้ใครเลวกว่ากัน
...........
วิจารณ์ตัวละคร ไม่ได้หมายถึงนักแสดง
(https://f.ptcdn.info/397/075/000/r2a74wup83QLbCIOMKn-o.jpg)
..........
แต่ ผมไม่ได้ สนใจ เท่าไหร่ คิดว่า มันน่า เบื่อ เพี้ยนเขิน
เวลา เปลี่ยน คนเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน ใคร รับไม่ได้ กับการเปลี่ยนแปลง ก็ปัญหาของเค้าคนนั้น
คนอื่นไม่มา สนใจ หรอก
ความเชื่อ ก็ คือ ความเชื่อ วันยังค่ำ อาจจะไม่ใช่ ความจริง
..............
ขงจื้อแกบอกว่า แกไม่ได้คิดอะไรใหม่ แกแค่เอาของเก่าที่เป็นจารีตดั้งเดิมของราชวงศ์โจวมาโปรโมทในยุคที่บ้านเมืองไร้ขื่อแป พ่อฆ่าลูก ลูกฆ่าพ่อ ขุนนางฆ่าเจ้า เจ้าฆ่าขุนนาง มิตรสหายหลอกลวงฆ่ากัน ก็เท่านั้นแลครับ
จะพบว่าราชวงศ์ที่เอาหลักขงจื้อผสมเต๋ามาใช้อย่างราชวงศ์ฮั่นและจิ้น ก็ไม่ได้เข้มงวดกับอิสตรีมากขนาดเท่ายุคซ่ง
ราชวงศ์ถังที่นิยมพุทธบ้าง เต๋าบ้าง สลับกันไปก็ไม่ได้เข้มงวดกับอิสตรีมากขนาดเท่ายุคซ่ง
แนวคิดหลายๆอันมันเกิดหลังจากขงจื้อตายไปเป็นพันๆปีก็มี จะว่าเป็นเพราะขงจื้อหมดก็ออกจะเกินไปหน่อย
เรื่องและภาพจาก
https://pantip.com/topic/41090354