Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
หมวดหมู่ทั่วไป => สาระน่ารู้ => Topic started by: ppsan on 09 October 2021, 14:53:34
-
“ไขมันหน้าท้อง” อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000009861501.JPEG)
เห็นใครหลายๆ คน ที่มักจะบ่นให้ฟังเหมือนกันว่า การมี ‘ไขมันหน้าท้อง’ เป็นของตนเองนั้น มักจะสร้างความอึดอัดให้กับแต่ละคน บ้างก็ใส่เสื้อผ้าแล้วอึดอัด บ้างก็ไม่สบายเนื้อสบายตัว ซึ่งการมีสิ่งนี้นั้น จะสร้างผลเสียต่อร่างกายอย่างไร ไปรับทราบข้อมูลคร่าว ๆ กัน เพื่อที่จะตั้งรับได้ถูกต้อง
"ไขมันหน้าท้อง" นี้มีที่มา
ไขมันหน้าท้อง หรือหลากหลายชื่อ ได้แก่ ไขมันรอบเอว หรือ พุง นั้น เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารประเภทไขมันเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก จนร่างกายไม่สามารถเผาผลาญได้หมดในแต่ละวัน จึงทำให้มีไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้อง จนพอปล่อยไขมันส่วนนี้ไว้นานจนเกินไป ไขมันก็จะแปรสภาพให้แข็งตัวมากยิ่งขึ้น จนดันให้หน้าท้องมีการป่องออกมา จนเรียกกันว่า “พุง” นั่นเอง
โดยไขมันหน้าท้องนั้น มีอยู่ 2 แบบ คือ
1. ไขมันใต้ผิวหนัง คือไขมันที่อยู่ติดผิวหนัง และกล้ามเนื้อ เป็นชั้นที่สามารถจับ หรือบีบติดมือเราขึ้นมาได้ ไขมันชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่จะเป็นส่วนที่ปกปิดบริเวณ six pack ไว้ ไม่ให้ใครเห็น
2. ไขมันในช่องท้อง โดยไขมันส่วนนี้ จะอยู่ตรงระหว่างกล้ามเนื้อท้องกับอวัยวะภายในช่องท้อง ซึ่งหากมีมากก็เหมือนเอาไขมันไปหุ้มอวัยวะภายในร่างกาย ไขมันในลักษณะนี้จะเป็นไขมันที่อันตรายกว่าไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคอันตรายต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตในสมองตีบ หรือแตก เป็นต้น
โรคภัยถามหา ถ้ามี “ไขมันหน้าท้อง”
1.ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่
มีผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่อ้วนลงพุงนั้นจะทำให้การทำงานของปอดลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีสุขภาพดี ไม่สูบบุหรี่ และไม่มีไขมันหน้าท้อง นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยนี้พบว่าผู้ที่มีไขมันส่วนเกิน จะทำให้อัตราการหายใจลดลง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้ทางเดินหายใจหดแคบลง และก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรังอย่างหอบหืดตามมาได้
2.การทำงานของหลอดเลือดผิดปกติ
มีผลการศึกษาในปี 2012 พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่อ้วนลงพุงกับภาวะการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันและภาวะหลอดเลือดแข็งตัว โดยนักวิจัยได้เปรียบเทียบระหว่างคนอ้วน คนอ้วนที่มีพุงและคนที่มีสุขภาพดีพบว่า หากอัตราส่วนของเอวต่อความสูงเพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.1 ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวมากขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่มีไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้องจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะดังกล่าว และการที่เส้นเลือดแดงแข็งตัวและตีบนั้นก็จะก่อให้เกิดโรคหัวใจตามมาได้
3.เสี่ยงต่อเบาหวาน
ไขมันในช่องท้องเป็นไขมันที่พบในคนที่มีภาวะอ้วนลงพุง ไขมันนี้มีการผลิตฮอร์โมนซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย นอกจากนี้ฮอร์โมนดังกล่าวยังทำให้ตัวรับสัญญาณอินซูลินทำงานผิดปกติ หมายความว่าอินซูลินซึ่งเป็นตัวควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายจะมีการทำงานที่ด้อยลง ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นนั่นเอง
4.ระดับคอเลสเตอรอลสูงและโรคหัวใจ
ไขมันที่อยู่บริเวณขาหรือก้นนั้นเป็นไขมันที่มีการเผาผลาญที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าไขมันบริเวณหน้าท้องของคนอ้วนลงพุง ซึ่งสาเหตุที่การเผาผลาญไขมันบรัเวณนี้ดีกว่าเนื่องจากได้ระดับน้ำตาล ไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล และอินซูลินต่ำกว่าไขมันที่เผาผลาญจากบริเวณช่องท้อง
ในขณะเดียวกัน ไขมันในช่องท้องสามารถเปลี่ยนเป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอล LDL ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนั้น กรดไขมันอิสระยังทำให้ระดับของไขมันดีหรือคอเลสเตอรอล HDL ลดลง ซึ่งไขมันเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือด แต่ยังทำให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจวายตามมาได้
5.เสี่ยงโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์
มีผลการศึกษาในปี 2010 พบว่ายิ่งรอบเอวของร่างกาย มีความหนามากเท่าไหร่ หรือเรียกง่ายๆ ว่ายิ่งอ้วนลงพุงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นเท่านั้น โดยจากการศึกษาพบว่าผู้อ้วนลงพุงทำให้เซลล์สมองน้อยกว่าคนปกติ ซึ่งก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ตามมาได้ ถามว่ามีความเสี่ยงดังกล่าวนั้นยังไง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าไขมันจะไปอุดตันในเส้นเลือดทำให้เลือดไหลเวียนขึ้นไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่สะดวก สมองจึงขาดออกซิเจน และทำให้เซลล์ตายนั่นเอง
5 เคล็ดลับลดไขมันหน้าท้องง่าย ๆ
1.ให้เริ่มกิจกรรมที่เกิดความติ่นตัว เช่น วิ่ง แอโรบิกเบาๆ หรือ วิ่งหรือเดินขึ้นบันไนระหว่างเดินทางไปทำงาน เป็นต้น เพื่อเพิ่มการตื่นตัวให้เราสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และเผาผลาญพลังงานมากขึ้น
2.มีกิจกรรมระหว่างวันทำอยู่ตลอดเวลา อาจจะมีการเดินไปในสถานที่ต่าง ๆ เช่น เดินห้องน้ำ หรือระหว่างทำงานหรือเรียนด้วยการเดินเร็ว เดินขึ้นบันไดแทนลิฟท์ อย่าลืมลุกขึ้นจากเก้าอี้ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันโรคอ้วน และออฟฟิศซินโดรมอื่น ๆ
3. รับประทานอาหาร 3 มื้อได้ตามปกติ แต่เลือกอาหารที่รับประทานมากขึ้น หลีกเลี่ยงข้าวขาว แล้วมากินข้าวกล้อง หรือ ข้าวแดง แทน ขณะเดียวกัน ให้เลือกกินโปรตีนแบบไขมันต่ำ เช่น ไก่ ปลาลอกหนัง แล้วเพิ่มผักผลไม้ให้มากขึ้น และ ลดของหวานทั้งขนม และเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการพุงป่องนั่นเอง
4.ให้ออกกำลังกายวันละอย่างน้อย 30 นาที โดยเฉลี่ย 5-7 วันต่อสัปดาห์ และเน้นการออกกำลังกายทุกส่วน และหน้าท้อง ตามด้วยการออกกำลังที่ต้องต้านทานกับน้ำหนัก เช่น ซิทอัพ แพลงก์ ฯลฯ
5.ไม่เข้านอนดึกเกินไป เพราะถ้ายิ่งนอนดึก ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการทานอาหารแบบจุบจิบในตอนกลางคืนได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : hd.co.th และ โรงพยาบาลรามาธิบดี