นักประพันธ์
|
|
« Reply #30 on: 02 March 2020, 15:39:22 » |
|
ตอนที่ 31 : แค่อยากได้ความเมตตาบ้างก็เท่านั้น
๓๑
เรณูสูดลมหายใจเข้าปอดจนลึก แล้วกลืนน้ำลายลงคอ ก่อนจะบอกว่า
“ถ้าเป็นคนอื่นถามฉัน ฉันก็จะบอกว่าไม่ได้ทำ แต่พอดีเป็นเจ๊ถาม...แล้วดันถามเป็นคนแรกเสียด้วย ฉันก็จะตอบว่า ฉันทำ จริง ๆ”
หลังจากเรณูกล้าหาญยอมรับผิด เรื่องทำเสน่ห์ใส่ปฐมและนางย้อย หมุ่ยนี้ก็ยิ้มน้อย ๆ สายตานั้นยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาพร้อมกับพูดว่า “ก็แค่นั้นเอง”
“เจ๊” น้ำเสียงของเรณูผะแผ่ว
“เธอต้องมีเหตุผลของเธอ เธอถึงได้ทำอย่างนั้น ถ้าอยากอธิบาย แจ้ก็ยินดีรับฟัง”
“ทำไมเจ๊ ถึงยินดีรับฟัง คำโกหกหลอกลวงของคนเลวอย่างฉัน”
“ก็เธอบอกเองว่า ถ้าเป็นคนอื่นถาม เธอก็จะไม่ยอมรับ พอดีเป็นแจ้ถาม เธอถึงยอมรับ ก็แสดงว่าเธอรักแจ้ ไว้ใจแจ้ และซื่อสัตย์กับมิตรภาพของเรา...เรณู แจ้อายุจะสี่สิบแล้วนะ แจ้เห็นคน รู้จักคนมาเยอะแยะมากมาย คนบางคนน่ะ คุยกันแค่ประโยคเดียวก็รู้แล้วว่า เป็นคนอย่างไร คบได้ไหม คนบางคนต้องคบหากันไปนาน ๆ แล้วถึงจะรู้ว่าเป็นคนอย่างไร สำหรับเราสองคน แม้มันจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่แจ้ว่า แจ้ดูคนไม่ผิดหรอก คนอย่างเธอ ไม่มีทาง คิดทำร้ายใครก่อนอย่างแน่นอน เรื่องระหว่างเธอกับอาใช้ ตอนอยู่ตาคลี แจ้ไม่รู้ไม่เห็นอะไรด้วย แต่ที่ชุมแสง ระหว่างอาซิ่มกับเธอ แจ้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร...มันจึงไม่แปลกถ้าเธอจะทำอย่างนี้”
“ถ้าจะให้แก้ตัว ฉันก็จะบอกว่า ที่ตาคลีกับเฮียใช้ ฉันทำลงไปเพราะฉันรักเขา ฉันอยากเอาชนะเขา เอาชนะเพื่อน ๆ ที่ดูถูกเหยียดหยามว่า คนอย่างฉัน ทำอาชีพอย่างนั้น จะไม่มีวันที่คนอย่างเฮียใช้สนใจ แล้วอีกอย่างฉันก็อยากมีชีวิตเหมือนผู้หญิงทั่ว ๆ ไป คือได้อยู่กับคนที่ฉันรัก สร้างอนาคตสร้างชีวิต มีลูกมีเต้าด้วยกัน ส่วนกับแม่ย้อย ฉันทำไปเพราะต้องการอยู่กับคนที่ฉันรักเท่านั้น ฉันไม่มีเจตนาหลอกลวงเอาทรัพย์สินอะไรของแกเลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ ร้านนี้...หรือเงินลงทุนทำมาหากิน ฉันเพียงแค่อยากให้แกเมตตาฉันบ้าง แต่ฉันคิดไม่ถึงว่า ฤทธิ์ของคุณไสยมันจะทำให้แก่เปลี่ยนมาดีกับฉันถึงเพียงนี้”
“มันอาจจะไม่ใช่เพราะฤทธิ์ของคุณไสยอย่างเดียวก็ได้นะเรณู...”
เรณูนิ่งฟัง....
“แต่แจ้ว่า มันก็เป็นเพราะคุณงามความดีของเธอด้วย...”
“ฉันมีความดีอะไรหรือแจ้...”
“ตอนที่ไปปากน้ำโพด้วยกัน ฉันรู้สึกว่า ยามที่เธอ ปรนนิบัติดูแลแม่ผัวเธอนั้น เธอไม่ได้ทำอย่างเสแสร้งแกล้งทำ แต่เธอทำให้ด้วยความเต็มใจ”
หมุ่ยนี้เห็นตั้งแต่ตอนนั่งรอรถไฟอยู่ที่สถานีชุมแสง ตอนนั้นมีที่ว่างแค่ที่เดียว เรณูที่ช่วยถือกระเป๋าให้รีบไปจับจอง พอนางย้อยปวดห้องน้ำ เรณูก็ไปเป็นเพื่อน ตอนลงจากสถานีรถไฟมาขึ้นเรือข้ามฟากมาตลาดปากน้ำโพ ตอนขึ้นจากตีนท่ามาบนตลิ่ง ระหว่างทางลาดชันเรณูก็ประคองนางย้อย
ตอนเดินเที่ยวงานกาชาด นางย้อยบอกว่า เห็นทีจะเดินดูนั่นดูนี่ไม่ไหวเพราะต้องเบียดเสียดกับคนจำนวนมหาศาล ขอนั่งรอ โดยปล่อยให้ คนหนุ่มคนสาวไปด้วยกัน เรณูก็ขออยู่เป็นเพื่อนไม่ทิ้งขว้างไปไหน
ช่วงที่ดูประกวดนางงาม นางย้อยบอกว่าตนเองนั้นมีปัญหาเรื่องปวดเบาบ่อย ๆ แม้ห้องน้ำจะอยู่ไกลจากเวที เรณูก็ลุกออกไปกับนางย้อยไปทุกครั้ง...คืนนั้นตอนที่ไปส่งนางย้อยที่บ้านของพี่ชายเจ๊กเซ้ง เรณูต้องไปนอนกับวรรณา ส่วนหมุ่ยนี้ จันตา และปลัดจินกร นั้นนอนโรงแรม เรณูก็ถามนางย้อยว่า จะให้อยู่นวดขาให้ก่อนไหม ดีแต่ว่านางย้อยปฏิเสธ เพราะเห็นว่าดึกแล้วอยากให้เรณูพาวรรณาที่เหนื่อยมาทั้งวันกลับไปพักผ่อน
“ก็เขาเป็นแม่ผัวฉัน...แม่ผัวก็เหมือนแม่ของตัว รักลูกเขา ก็ต้องรักแม่รักพ่อเขาด้วย อีกอย่างฉันก็นึกอยากตอบแทนเรื่องที่แกให้ทอง ให้ร้านฉัน แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะฤทธิ์คุณไสยก็ตามที”
“นั่นไง ถึงแม้เธอจะรู้ว่า ที่เธอได้อะไรต่อมิอะไรมาเพราะฤทธิ์ของคุณไสย แต่เธอก็ยังคิดตอบแทน นั่นคือเจตนาเธอไม่ได้เลวทรามแต่อย่างใด”
“แต่ฉันก็กลายเป็นคนที่คนทั้งชุมแสงมองด้วยสายตาเคลือบแคลงสงสัย ดูถูกเหยียดหยาม ไปซะแล้ว”
“ไม่ทั้งชุมแสงหรอก...คนที่รักเธอ เข้าใจเธอ พร้อมจะให้อภัยให้เธออย่างแจ้ อย่างจันตามีมากกว่า อย่าไปสนใจอะไรมันเลย”
“แต่ถึงอย่างไรฉันก็ต้องก้มหน้ารับกรรมที่ฉันก่อไว้อยู่ดี...คนจะต้องถามเหมือนที่เจ๊ถามแล้วฉันก็ต้องโกหกว่า เปล่าๆ ตลอดไป...”
“ช่วงนี้ก็อดทนเอาหน่อย เดี๋ยวเรื่องมันก็เงียบ เพราะชีวิตคนเราน่ะมันมีเรื่องเกิดขึ้นใหม่เรียกความสนใจทุกวันอยู่แล้ว”
“พิไลมันคงไม่ยอมเงียบด้วยหรอก...ไหนจะเตี่ย ไหนจะอาตง อาซาอีก...”
เรณูมีสีหน้าหนักใจอย่างเห็นได้ชัด...
“ตรงนั้นเธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้อาแปะ อาตง อาซาเห็นว่าเธอ ต้องการแค่ความยุติธรรมเท่านั้น ไม่ได้ต้องการมากกว่านั้น และที่สำคัญ อย่าคิดทำผิดซ้ำสองอีก แล้วก็ทำดีตอบแทนเขาอย่างที่คิดไว้นั่นแหละ...มันยังจะพอลดโทษทัณฑ์ได้บ้าง”
“จ้ะเจ๊ ฉันจะพยายามทำดีกับแกให้มาก ๆ”
“แล้วเธอจะเอาของออกเมื่อไหร่”
“ก็คงอีกสักพัก รอให้เฮียใช้ปลดทหารมาก่อน รอให้มีลูกมีเต้าด้วยกันก่อน ถึงตอนนั้น สถานการณ์คงดีขึ้น...แล้วหมอที่ทำให้ แกก็บอกกับฉันว่า ถ้าฉันมีความดีเป็นของคู่ตัว ของจะยังอยู่หรือว่าหลุดแล้ว ความดีนั้นก็ยังจะเป็นเครื่องผูกมัดใจคนเอาไว้ได้....”
***************
เย็นวันนั้นกมลยังไม่ได้กลับฆะมัง เขากับเจ๊กเซ้งผู้พ่อจึงพยายามพูดคุยและสังเกตดูพฤติกรรมของแม่...ว่าคนที่ถูก ‘คุณไสย’ นั้น ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด...ที่ว่ากันว่ารักว่าหลง จนหัวปักหัวปำนั้นจะเป็นจริงหรือเปล่า
“นี่อีพิไลมันจะไปดูแม่มันกี่วันละเนี่ย แล้วมันนึกอย่างไรถึงเอาอีปลูกไปด้วย...”
“ก็ คงอยากเอาไปเป็นเพื่อนมั้งม้า...”
พิไลบอกกับเจ๊กเซ้ง และประสงค์ว่าจะไปท่าน้ำอ้อย กับคนงานเก่าของเถ้าแก่ฮงที่ชื่อเชิด แต่พิไลก็ไม่ได้ไว้ใจนายเชิดจนกล้าพอจะไปไหนมาไหนด้วยกันเพียงสองคน พิไลจึงต้องขอให้บุญปลูกไปด้วย แต่เจ๊กเซ้ง ประสงค์ กมล ต่างปรึกษากันแล้วว่า งานนี้ ไม่ควรจะบอกไปตามความเป็นจริง กมลจึงต้องหาทางออกว่านางพิกุลเกิดเจ็บป่วยกะทันหันให้คนมาส่งข่าว พิไลจึงต้องกลับไปดูแล...
“เอาไปทำไม...เมื่อตอนวันลอยกระทงมันก็ไปคนเดียวได้”
“คงอยากพาบุญปลูกไปเปิดหูเปิดตาด้วยมั้งม้า ตอนหลังๆ เขาสนิทสนมกัน”
“เหลวไหลใหญ่แล้ว นี่ถ้าไปหลายวันก็เท่ากับว่า มันก็ได้ค่าแรงโดยไม่ต้องทำงาน”
“น่า ม้า ให้รางวัลมันบ้าง ปี ๆ มันไม่เคยไปไหนกับเขาเลย อ้อ ม้ายังไม่ได้เล่าเลยว่า ไปปากน้ำโพคราวนี้เป็นอย่างไรบ้าง...”
“ก็เหมือน ๆ เดิม จะมีอะไร”
“ว่าไปผมก็อยากไปเปิดหูเปิดตาเหมือนกันนะ หลายเดือนแล้วมั้งไม่ได้นั่งรถไฟไปไหนเลย...”
“ว่าง ๆ แกก็พาเมียไปเที่ยวซิ ไปนอนบ้านอาแปะก็ได้” พอแม่เอ่ยถึงเมีย กมลจึงรีบเปลี่ยนเรื่องทันที...
“ม้า ม้าช่วยอะไรอาซ้อเรณูไปบ้าง”
“ก็ออกค่าเซ้งร้านให้ แล้วก็ให้อียืมทองใส่ไปอีกสองบาท มีพระเลี่ยมทองติดไปองค์ ตอนนั่งรถไฟ มา อีถอดคืนให้มาแล้ว แต่ม้าไม่เอาคืนหรอก ให้มันไปเลย...”
“ก็เท่ากับม้าให้ทองเขาสองรอบเลยซิ”
“ก็ให้มันบ้าง อย่างไรมันก็เป็นเมียตั่วเฮียของลื้อ...แต่ถ้ามันโดนจี้โดนปล้นอีก ก็คงจะไม่ให้มันแล้ว ถือว่าคอของมันไม่มีวาสนาจะได้ใส่ทอง”
“แล้วเงินค่าซื้อของเข้าร้านล่ะ ม้าได้ช่วยเขาหรือเปล่า”
“มันบอกว่า มันยังพอมีอยู่”
“เขาเอาเงินมาจากไหนรึม้า” กมลแสร้งถามจี้ ‘ปม’
“ก็ เงินเก็บของมันสมัยที่มันทำงานอยู่ที่ตาคลีนั่นแหละ มันบอกว่า ถ้า ขาดเหลืออะไร มันจะมาหยิบยืม แต่ว่า อีนี่มันคงไม่มาหยิบยืมหรอก คนอย่างมัน หยิ่งพอตัวเหมือนกัน มันว่ามันจะทำขนมขายเหมือนเดิม มันจะทำข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู มันขายได้ทั้งวัน มีคนเคยบอกม้าว่า วันหนึ่งอีนี่มันจะรวยเพราะขนม เห็นท่าจะจริง มีร้านแล้วก็นึกว่าจะเลิกทำ แต่ก็ดี ขายแค่หน้าร้าน ไม่ได้หาบไม่ได้คอนตากหน้าอย่างตะก่อน แล้วน้องสาวมันก็ดูขยันขันแข็งเชื่อฟังมันดีหรอก คงเอาตัวรอดกันได้...”
เสียงที่พูดถึงแม้จะเป็นปกติของแม่ แต่กมลก็รู้สึกว่า น้ำเสียงนั้น ‘เข้าข้าง’ ไม่มีอาการรังแครังคัดอย่างที่เคยได้ยิน...จะว่าดีก็ดี เพราะบ้านสงบ แต่มันก็อดเป็นห่วงไม่ได้
“แล้วนี่แกจะกลับ ฆะมังวันไหน มาสามคืนแล้วนี่นะ...พรุ่งนี้ก็กลับได้แล้วมั้ง”
“ม้าไม่คิดถึงผมหรือไง”
“คิดถึง แต่แกมีเมียแล้ว อยู่ห่าง ๆ กัน แกไม่คิดถึงเมียแกรึไง”
“ก็คิดถึง...” กมลบอกไม่เต็มเสียง
“งั้นก็รีบกลับไป ช่วยงานเขาให้เต็มที่ ม้ามีอะไรก็จะส่งข่าวไปอย่างครั้งนี้แหละ...”
“แต่ม้าควรจะไว้ใจอาซ้อพิไลเขาได้แล้วนะ ม้ารู้ไหมว่า อาซ้อเขาน้อยใจที่ม้าตามผมกลับมาเฝ้าร้านเหมือนกันนะ”
“ก็อยากไว้ใจมันหรอก...แต่คนมันทำให้เสียความรู้สึกไปแล้ว มันอดระแวงไม่ได้...”
“เสียความรู้สึกอะไรกับเขาล่ะม้า”
“ก็เรื่องสินสอดทองหมั้น เรื่องตั้งแต่สมัยแต่งงานแหละ แล้วก็เรื่องใช้เงินมือเติบ อยากกินนั่นอยากกินนี่ แล้วก็ชอบซื้อชอบจ่ายเงิน โดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี คนพร้อมจะจ่าย มันต้องจ้องจะหา จ้องจะเอาไปไว้จ่าย” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมา...กมลลอบมองหน้าเตี่ยที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์เงียบ ๆ แล้วก็บอกกับแม่ว่า
“งั้นพรุ่งนี้ บ่าย ๆ ผมกลับฆะมังแล้วกันนะม้า อยู่ช่วยม้าขายของอีกพักหนึ่งก่อนนะ”
ใจจริง เขาไม่ได้ห่วงขายของ แต่เขาอยากเห็นตอนที่แม่ของเขารู้เรื่องเรณูทำเสน่ห์เล่ห์กลใส่ปฐม ใส่ตนเอง จากปากของบรรดา ‘ผู้หวังดี’ ที่มีอยู่รอบบ้าน แม่ของเขาจะว่าอย่างไรต่างหาก
...และกมลก็อยากจะรู้ว่า งานนี้ อาซ้อเรณูจะรับมือเสียงสะท้อนกลับอย่างไร...และที่สำคัญ เขาไม่นึกอยากกลับไปที่ฆะมัง จากมาสามวันสามคืน มันไม่มีความรู้สึกคิดถึงเพียงเพ็ญเลยสักนิด...นึกแล้วกมลก็ถอนหายใจออกมาเบา ๆ เพราะยังนึกไม่ออกว่า เมื่อไหร่ที่เมียของเขาจะพร้อมให้เขาขึ้นไปนอนบนเตียงด้วยกัน แล้วถ้าไม่มีวันนั้น เขาจะอยู่ที่นั่นในฐานะอะไร?
*************
‘หมอบาง’ ที่ติ๋มแนะนำให้นายเชิดไปพบนั้นเป็นผู้หญิงวัยกลางคน นางเป็น ‘ร่างทรงเจ้าแม่สร้อยสุพรรณ’ เวลาที่ แขกมาให้เจ้าแม่ให้ความช่วยเหลือ แขกจะแทนตัวเองว่า ‘ลูกช้าง’
วันแรกที่นายเชิดเดินทางมาถึงตำหนักของเจ้าแม่สร้อยสุพรรณ นายเชิดก็เห็นสายธารศรัทธาในตัวเจ้าแม่ที่มีอย่างล้นหลาม ใครมาถึงก่อนจึงจะมีสิทธิ์ให้เจ้าแม่ที่อยู่ในห้องให้ความช่วยเหลือก่อน นายเชิดไปถึงท่าน้ำอ้อย ในเวลาเกือบเที่ยงวัน กว่าจะได้เข้าพบเจ้าแม่ก็บ่ายสามโมง
ระหว่างนั้นนายเชิดก็กระซิบถามคนที่มารออยู่ก่อนว่าเจ้าแม่ฯ สามารถช่วยเรื่องล้างคุณไสยแก้เสน่ห์ยาแฝดได้หรือไม่...และก็ได้รับคำตอบว่า ‘เป็นเรื่องขี้ผง’ ใจของนายเชิดจึงชื้นขึ้นมาเป็นกอง เพราะงานนี้พิไลบอกกับเขาว่า ถ้าสามารถสืบเสาะหมอดี ๆ มาแก้ไขคุณไสยที่เรณูทำได้ นายเชิดจะได้รางวัลพิเศษเป็นเงินอีก 200 บาท นอกจากเงินค่าจ้าง ที่ออกจากบ้านมาเที่ยวสืบเสาะในแต่ละคราว
นอกจากนั้น พิไลก็ยังบอกให้นายเชิดช่วย ๆ ดูเครื่องลายคราม เครื่องกังไส งานเบญจรงค์ เครื่องทองเหลืองงานโบราณตามบ้านคนรู้จักให้ด้วย ถ้าได้ของเก่าราคาไม่แพงนัก พิไลก็จะเริ่มเก็บสะสมไว้ประดับบารมีเช่นเดียวกับที่บ้านแม่ใหญ่...
หลังพบกับ ‘เจ้าแม่’ โดยจ่ายค่าครู ไปสิบสลึง นายเชิดก็เล่าเรื่องของพิไลให้เจ้าแม่ฯ ฟังคร่าว ๆ เจ้าแม่ฯ บอกกับนายเชิดว่า ถ้าจะให้ดีต้องเอาตัวคนถูกทำคุณไสยมาพบที่ตำหนัก นายเชิดบอกไปว่า คนถูกทำคุณไสยคงจะไม่ยอมมาง่าย ๆ เจ้าแม่ฯ จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้ญาตินำเสื้อผ้าของคนถูกคุณไสย และเส้นผม หรือเศษเล็บมา ส่วนจะได้ผลหรือไม่ได้ผลนั้น เจ้าแม่ฯ ไม่รับประกันเหมือนกับที่เอาคนถูกคุณไสยมาด้วยตนเอง
นายเชิดนั่งรถไฟกลับชุมแสงในคืนวันอาทิตย์แล้วดิ่งไปหาพิไลที่บ้านในตรอก บอกเล่าให้พิไลรับรู้ พิไลปรึกษากับประสงค์ แล้วก็ขอมาท่าน้ำอ้อยในเช้าวันจันทร์ โดยขอเอาบุญปลูกมาเป็นเพื่อนด้วย...ประสงค์เห็นว่ามีบุญปลูกมาด้วย จึงไม่ได้ขัดขวาง เพราะเขาเองก็อยากให้เรื่องนี้จบลงเสียโดยไว ไม่เช่นนั้นพิไลก็คงทุรนทุรายจนเสียงานเสียการ
นายเชิดพาพิไลและบุญปลูกนั่งรถไฟมาที่สถานีเนินมะกอก ต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาท่าน้ำอ้อย กว่าจะถึงก็เป็นเวลาบ่ายคล้อย แน่นอนว่า คนที่รอพบเจ้าแม่ฯ นั้นมีอย่างเนืองแน่น จนกระทั่งหมดเวลาที่เจ้าแม่ฯ ลงประทับทรง
คืนนั้นพิไลจึงต้องนอนค้างที่บ้านหมอบางหนึ่งคืน โดยต้องเสียค่าอาหารเย็น ค่าที่หลับที่นอนคนละสองบาท และที่พิไลรู้สึกลำบากใจเป็นอย่างมาก คือ คนที่มาพบเจ้าแม่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บรักษาด้วยวิธีการอาบน้ำมนต์พ่นน้ำมัน และมีเรื่องเดือดร้อนแปลก ๆ จนพิไลไม่อยากจะเชื่อว่า เจ้าแม่ฯ สามารถช่วยคนทุกข์ยากเหล่านั้นได้หมดทุกคน
***********
ระหว่างที่นั่งกินข้าวเย็นด้วยกัน เรณูก็รู้สึกว่าวรรณานั้นเงียบขรึมไปอย่างเห็นได้ชัด...
“แกมีอะไรในใจรึเปล่า”
วรรณาละช้อนข้าวแล้วมองหน้าเรณู...เม้มปากแล้วตัดสินใจพูดว่า “ฉันได้ยินเรื่องที่พี่คุยกับเจ๊หมุ่ยนี้นะ”
เรณูฟังแล้วก็ตักข้าวเข้าปาก...เคี้ยวพลางครุ่นคิด วรรณาเห็นอาการพี่สาวเป็นดังนั้น จึงตักข้าวเข้าปากบ้าง อาการที่เคี้ยวนั้น ไม่ได้ดูเอร็ดอร่อยแต่อย่างใด...เรณูกลืนข้าวกลืนน้ำแล้วถามว่า
“ได้ยินแล้วแก รู้สึกอย่างไร”
“ถ้าเอาตามตรง ฉันก็รู้สึก...เอ่อ...” วรรณารู้สึกว่ามันพูดออกไปได้ยาก เห็นดังนั้นเรณูจึงบอกว่า
“อาย แกอาย ที่เป็นน้องสาวพี่ มาอยู่กับพี่ อายที่มีพี่ชั่ว ๆ จนไม่อยากกินข้าวด้วย”
“ฉันอายคนอื่นก็จริง แต่ฉันไม่ได้รังเกียจพี่ หรือโกรธพี่หรอกนะ...ฉันห่วงพี่ต่างหาก...ฉันคิดว่าพี่พิไลกับคนบ้านนั้น เขาคงไม่อยู่เฉย ๆ กันหรอก ป่านนี้ก็คงหาทางแก้ลำกันวุ่นแล้วแหละ...พี่ต้องระวังตัวให้ดีนะ”
“อืม” เรณูมีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด เพราะถึงแม้ว่าหมุ่ยนี้ จันตา จะให้อภัย เห็นใจ และเข้าข้าง แต่เรณูก็ยากจะเดาใจคนจำนวนมาก
เรณูถอนหายใจออกมาอย่างแรง แล้วเชิดหน้าขึ้น ก่อนจะบอกกับวรรณาอย่างคนเด็ดเดี่ยวว่า
“อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด...เพราะที่ผ่านมา ชีวิตมันก็ไม่ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่สักเท่าไหร่หรอก”
แล้วเรณูก็หวนไปคิดถึงชีวิตจนยากในวัยเด็กที่ต้องอด ๆ อยาก ๆ คิดถึง ชีวิตตอนที่ไปยุ่งกับพี่เขยจนตั้งท้องแล้วพี่สายทองก็มาด่าทอตบตีจนเนื้อตัวเขียวช้ำ คิดถึงสายตาคนแถว ๆ นั้นที่มองอย่างรังเกียจเดียดฉันท์ว่าเป็น หญิงชั่วเพราะแย่งผัวพี่สาว คิดถึงชีวิตยามที่ต้องเดินทางกลับมาบ้านแล้วคนอื่น ๆ มองด้วยสายตาเหยียดหยามเพราะปล่อยให้ชีวิตตกต่ำจนกระทั่ง มีคำว่า ‘กะหรี่’ เป็นชื่อเล่นชื่อรอง
...ตอนนั้นก็ยังผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้เลย...ถึงจะสบตาคนได้ไม่เต็มตา ก็เชิดหน้าขึ้นแล้วปลอบใจตนเองว่า ‘ขอใครเขากินซะเมื่อไหร่’ เอาก็ได้...
“ไหนพี่เคยบอกว่าพี่มาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไง อย่างไรก็อย่าปล่อยให้ชีวิตตกต่ำไปกว่าเดิม และพี่ก็ต้องไม่ลืมว่าตอนนี้ มีฉันอีกคนที่เอาชีวิตมาฝากไว้กับพี่ และพี่ ก็ยังมีไอ้ป็อกอีกคน”
“พี่ไม่ลืมหรอก” ว่าแล้วเรณูก็สูดลมหายใจเข้าปอดแล้วละช้อน...แล้วลุกขึ้นยืน สีหน้าครุ่นคิด...
“พี่อิ่มแล้วเหรอ เพิ่งกินไปได้ไม่กี่คำ”
“อิ่มแล้ว พี่จะไปโรงสีหน่อย แกอยู่ที่นี่คนเดียวได้นะ”
“ค่ำมืดแล้ว พี่จะไปทำอะไร”
“ไปทำขนมตะโก้ พรุ่งนี้ พี่จะหาบของไปขายที่หน้าตลาดสดเหมือนเดิม”
“ไหนว่าจะไม่หาบของขายแล้วไง”
“ยังเลิกไม่ได้หรอก...ถ้าพี่ตั้งรับเสียงนินทาอยู่ที่นี่ ก็เท่ากับพี่ทำผิดจริง ๆ พี่จะลุยไปในตลาดนั่นแหละ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนตอแหลแล้ว ก็ต้องเสียงแข็งปฏิเสธข้อกล่าวหามันไปให้ถึงที่สุด...”
“มันจะดีหรือพี่”
“ดีหรือไม่ดี ก็ต้องลองดูกันสักตั้ง...”
“งั้นฉันไปด้วยนะ ถ้าให้ฉันอยู่ที่นี่คนเดียว คืนนี้ ยังอยู่ไม่ได้แน่ ๆ”
ระหว่างทางที่เดินไปโรงสีแม้ร้านรวงสองฟากข้างถนนในซอยส่วนใหญ่จะปิดหมดแล้ว แต่ก็มีที่เปิดอยู่บ้าง บางร้านพอเห็นเรณูกับน้องสาวเดินถือไฟฉายก็ร้องทัก...
“จะไปไหนกันเล่า”
“ไปโรงสีจ๊ะ”
“ไปทำอะไรอีก มืดค่ำแล้ว”
“ไปทำขนมขาย อุปกรณ์ของใช้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขนมาเลยจ้า...พรุ่งนี้ถ้าจะกินตะโก ก็ไปที่หน้าตลาดนะจ๊ะ ทำไม่เยอะหรอก แค่สองสามถาด...”
หลังจากที่ตอบคำถามลักษณะนั้นสองสามเจ้า พอเดินพ้นจากตลาดมาแล้ว เรณูก็บอกกับวรรณาว่า
“คิดไม่ผิดจริง ๆ ที่ไม่หนีหน้าคน อย่างน้อยเราก็ยังเห็นว่า มีใครบ้าง ที่เขาไม่ถือสา ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจกับเรื่องพวกนั้น”
“ก็อาจจะเป็นอย่างที่เจ๊หมุ่ยนี้ว่านั่นแหละ...ชีวิตคนเรามันมีเรื่องใหม่ ๆ มาเรียกความสนใจคนอยู่ตลอดอยู่แล้ว มัวไปจมปลักกับเรื่องในอดีต เป็นทุกข์เป็นร้อนไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร”
********
เช้าวันรุ่งขึ้นคะเนว่าแม่ค้ามาจนเต็มพื้นที่แล้ว เรณูก็หาบขนมออกมาจากร้านท่ามกลางสายตาแปลกใจของคนส่วนใหญ่ พอมาถึงที่ที่ตนเคยวางหาบ เรณูก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำเหมือนไม่รู้ ไม่ได้ยินเสียงนินทาเมื่อก่อนหน้า
“ขนมตะโก้ของอีเรณูมาแล้วจ้า....วันนี้ ทำแค่สี่ถาดเท่านั้น มาช้าหมดอดกินกันนะจ๊ะ”
“อ้าว นึกว่าจะไม่ออกมาขายซะแล้ว”
“ทำไมถึงคิดว่าฉันจะไม่ออกมาล่ะ” ช่วง ๆ หลัง ก่อนจะไปปากน้ำโพ เรณูก็ขาย ๆ หยุด ๆ เพราะต้องซ่อมแซมร้าน จัดร้านรอท่าวรรณา...แล้วเรณูก็ประกาศไปแล้วว่า จะเปลี่ยนไปขายข้าวเกรียบปากหม้อกับสาคูไส้หมูที่หน้า ‘ร้านเรณูบูติค’ แทน...
“ก็แหม ก็วาสนาไปจนถึงได้สะใภ้คนโปรดเถ้าแก่ใหญ่ แล้วใยแม่ยังจะต้องมาหาบมาคอนมานั่งตากหน้าอยู่ตรงนี้อีกเล่า”
“ก็คิดถึงพวก พี่ป้าน้าอาที่นี่ไง...ก็คนเคยเห็นกัน พอไม่เห็นกัน ก็คิดถึง”
“คิดถึงจริง ๆ รึ”
“จริงซิจ๊ะ เป็นไงป้า วันนี้ขายดีไหม”
“ตอนแรกก็เงียบๆ พอแม่มา ก็เหมือนจะขายดีขึ้นมาเลย”
“เห็นไหมล่ะ ว่าฉันน่ะ ตัวเรียกแขก...ตะโก้จ้าตะโก้...ห่อละสลึงเดียวเท่านั้น”
บรรยากาศเช่นทุก ๆ เช้าที่เรณูหาบของมาขายกลับมา...จนกระทั่งตะวันขึ้นสูง เรณูที่ขายของหมดตั้งนานแล้วก็เดินดูนั่นดูนี่ พลางพูดคุยกับคนนั้นคนนี้ ซึ่งก็หนีไม่พ้น เรื่องกระซิบกระซาบถามเรื่องที่พิไลโพนทะนานั้นจริงแท้ประการใด เรณูก็ตอบไปด้วยน้ำเสียงเหนื่อยหน่ายใจว่า
“ก็แหม คนมันขี้อิจฉาริษยา พอเห็นว่าฉันจะได้ดีเกินหน้า มันก็กุข่าวใส่ร้ายป้ายสี ดีแต่ที่ฉัน ไม่ได้ทำอย่างนั้น ใยฉันจะต้องอับอายหนีหน้าใครใช่ไหม”
“นั่นซินะ ถ้าแม่ทำ แม่ก็คงไม่กล้ามาเดินตลาดหรอก...”
“เพราะฉันไม่ได้ทำ ฉันถึงต้องมานี่ไง ใครๆ ก็จะได้ไม่ต้องมีเรื่องคาใจกัน...”
“แล้วนี่ แม่จะจัดการกับมันอย่างไร ตบให้คว่ำเลยดีไหม...”
“ฉันก็คิดอยู่เหมือนกัน...แต่ว่าใครจะไปประกันฉันออกจากคุกล่ะจ๊ะ”
***********
พอถูกถามเรื่องที่เรณูทำของใส่ทั้งปฐมและตนเอง นางย้อยก็ทำหน้าเหน็ดเหนื่อยใจ ก่อนจะบอกว่า “เหลวไหลน่า มันจะทำ ทำไม”
พอถูกถามย้อนกลับ คนที่อยากรู้ ก็ได้แต่มองหน้ากัน...เพราะอึดอัดใจที่จะพูดไปตรง ๆ ด้วยเชื่อไปแล้วว่า คนที่ ‘ถูกของ’ ย่อมเข้าข้าง ‘คนทำของใส่’ อย่างแน่นอน...แต่ถึงกระนั้นหนึ่งในนั้นก็ยังกล้าที่จะจาระไน...
“ก็ตะก่อน แม่ย้อยเกลียดมันอย่างกับอะไรดี แต่ตอนนี้ มันอย่างกับคนละคน”
“ก็นั่นมันตะก่อน”
“ก็ตะก่อนแม่ย้อยยังเป็นแม่ย้อยไง...”
“ใช่ ๆ ตะก่อน เป็นตัวของตัวเองแม่ก็เลยเกลียดมัน...พอถูกของแล้วรักใคร่เมตตามัน ความคิดมันถึงได้เปลี่ยน”
“แล้วนี่ไม่มีงานมีการจะทำกันหรือไง” นางย้อยตัดบท
“มี แต่ ฉันเป็นห่วงแม่ย้อย กลัวจะหมดตัวเพราะการนี้”
“ขอบใจ แต่ฉันสบายดี ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรง่าย ๆ หรอก”
“อย่างไรก็ไปอาบน้ำมนต์บ้างนะแม่ย้อย เขาว่ากันว่า คนถูกของน่ะดวงมันจะซวย”
หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน...กมลที่ยืนฟังความอยู่ใกล้ ๆ จึงรีบบอกว่า
“โน่น อาซ้อเรณูเดินมาโน่นแล้ว มีอะไรก็ถามกับอี ได้เลย ซิ่ม’
“ไม่ถามหรอก เกลียดขี้หน้ามัน ไปพวกเรา...เตือนด้วยความหวังดีหรอก ถ้าไม่เชื่อก็ตามใจนะ” ว่าแล้วทั้งคณะก็พากันผละไป...นางย้อยถอนหายใจออกมา...แล้วก็ถามกมลว่า
“อีเรณูมันจะทำของใส่ม้าทำไม แล้วผู้หญิงกับผู้หญิงมันทำของใส่กันได้ด้วยรึ?”
“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันม้า”
เรณูเดินหาบกระจาดมาถึง ก็ยิ้มหวานให้ป้อม จนถึงกมล และนางย้อย ที่นั่งหน้าเครียดอยู่...
“ไหนเธอบอกว่าจะเลิกหาบของขายไง แล้วทำไมยังหาบอยู่อีก” นางย้อยถามเรื่องที่ทำให้ใจขุ่นทันที
“ใจจริงหนูก็จะเลิกละจ๊ะ แต่พอมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ถ้าเลิกไป หายไปเลย คนก็จะหาว่าหนีหน้าไง สู้ออกมาประจันหน้ากัน แล้วตอบคำถามที่พวกนั้นซุบซิบกันซะเลยดีกว่า...ดูท่าแล้วมันก็ได้ผลด้วย”
กมลที่ได้ยิน รู้สึกว่าเป็นอีกครั้งที่เรณูฉลาดแก้ไขสถานการณ์...
“เข้าใจคิด...” นางย้อยเปรยออกมาเบา ๆ
“แล้วม้ากินข้าวหรือยัง เช้านี้ทำอะไรกินหรือจ๊ะ”
“ยังไม่ได้ทำ ไม่มีกระจิตกระใจจะทำอะไรกิน เช้ามาก็มาถามกันให้วุ่นวายไปหมด”
“แล้วม้าตอบไปว่าอย่างไร”
“ก็ตอบไปว่า ไม่รู้นะซิ จะให้ตอบไปว่าอะไรล่ะ”
เป็นคำตอบปัด ๆ ที่เรณูรู้สึกหายใจคล่องขึ้น...
“แล้วนี่ซาจะกลับฆะมังวันไหน”
“วันนี้ละซ้อ ตอนบ่าย ๆ ก็กลับละ”
“แล้วนี่ สายจนป่านนี้ พิไลไปไหน ไม่เห็นมาขายของ”
“ไปทับกฤช แม่เขาป่วย เลยไปเฝ้า เอาบุญปลูกไปด้วย” กมลบอกแค่นั้น เรณูก็รู้แล้วว่า พิไลคงไม่ได้ไปทับกฤชหรอก แต่จะไปไหนก็ ‘เรื่องของมัน’ เพราะมันต้องดิ้นรนรักษาผลประโยชน์ของมันเหมือนกัน...
“ม้าวันนี้ฉันทำตะโก้นะ เก็บไว้ให้ แปดห่อ” เรณูหันไปใส่ใจนางย้อยที่ยังมีสีหน้าบึ้งตึง...
พอได้ยินดังนั้น สีหน้านางย้อยก็ดีขึ้น เรณูจึงบอกว่า “เดี๋ยวหนูเอาไปจัดใส่จานให้นะ...อ้อ แล้วตะกี้ม้าบอกว่ายังไม่ได้ทำอะไรกิน เดี๋ยวหนูทำให้เอาไหม ม้าอยากกินอะไร ซาอยากกินอะไรบอกมา เดี๋ยวพี่ทำให้”
“แล้วเธอไม่เปิดร้านหรือไง” นางย้อยยังคง ‘ห่วง’ ผลประโยชน์ เพราะ ถือว่า ร้านเปิดแล้ว ลงทุนไปแล้ว ก็ต้องเปิดร้านค้าขาย เอากำไร เอาทุนคืนมาก่อน...
“เปิดจ้ะ วรรณามันจัดการแล้ว แล้ววันนี้ หนูก็ได้กำไรจากขนมแล้วก็ถือว่าทำงานแล้วเหมือนกัน”
“แล้วนี่เธอจะเริ่มขายข้าวเกรียบปากหม้อเมื่อไหร่”
“ก็ว่าจะเป็นพรุ่งนี้จ้ะ...อ้อ ซา วันนี้ก่อนจะกลับฆะมังก็แวะไปให้วรรณามันวัดตัวไว้ก่อนนะ”
“วัดทำไมซ้อ”
“ก็อยากตัดเสื้อ ตัดกางเกง ให้เธอสักชุด...”
“ตัดทำไม ผมไม่ค่อยได้ไปไหนหรอก ยิ่งไปอยู่ที่โน่น ยิ่งแล้วใหญ่”
“ก็ตัดเอาฤกษ์เอาชัยให้วรรณามัน ส่วนค่าผ้าค่าตัด เธอไม่ต้องจ่ายนะ พี่ขอออกให้เธอเอง ขอตอบแทนเธอบ้างนะ อย่าปฏิเสธพี่เลย ถ้าไม่ได้เธอ พี่ก็คงเหมือนคนหัวเดียวกะเทียมลีบ”
***************************
|