นักประพันธ์
|
|
« Reply #15 on: 01 March 2020, 18:03:03 » |
|
ตอนที่ 16 : อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด
๑๖
พิไลลองใจด้วยการซื้อขนมของเรณูมาวางไว้ให้บนโต๊ะอยู่สามวัน ก็รู้แล้วว่า นางย้อยนั้นเกลียดเรณูจนไม่ยอมกินขนมที่ตนซื้อใส่จานวางไว้ให้ แต่พิไลก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ซักถามเหตุผล หลังจากที่เห็นว่า หลังเที่ยงแล้ว นางย้อยก็เรียกให้ป้อม หรือบุญปลูกมาเอาจานขนมออกไปแบ่งกันกิน...
แต่พอสบโอกาส พิไลจึงถามบุญปลูกว่า... “ปลูก ทำไม ม้า เขาถึงไม่กินขนมของพี่เรณู เขาล่ะ”
“ก็คนเกลียดกัน คงกลืนไม่ลง...”
“ทำไมถึงเกลียดจนไม่ยอมกิน ยอมกลืน ขนมที่แสนจะอร่อยล่ะ เรื่องมันเป็นมาอย่างไรรึ”
เรื่องบางเรื่องนั้นพิไล พอรู้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ดี ควรที่จะรู้ ตั้งแต่เรณูย่างเท้าเข้ามาที่นี่ จากปากคนที่นี่ น่าจะดีที่สุด...
บุญปลูกนั้นไม่ได้เฉลียวใจสักนิดว่า กำลังถูกล้วงข้อมูล จึงคายเรื่องที่รู้เห็นมาให้พิไลฟังจนหมดสิ้น รวมถึงเรื่องที่ป้อมพานางย้อยไปเกยไชย เพื่อไปให้คนทรงดูว่า ปฐมนั้นถูกเรณูทำของใส่จริงหรือไม่....
เมื่อรู้ความลับของนางย้อย กับ ซ้อใหญ่ แล้ว พิไลยิ้มกริ่ม...ครุ่นคิดแผนการเข้าไปนั่งเป็นลูกสะใภ้ยอดดวงใจของนางย้อยในทันที...เพราะนอกจากร้านโชห่วยที่พิไลรอวันครอบครอง พิไลยังอยากได้ที่ดิน โรงสี และทรัพย์สมบัติในห้องเก็บของของนางย้อยนั่นด้วย...
สมบัติของนางย้อยจะต้องเป็นของประสงค์ ลูกชายคนรองของนางย้อย สามีของพิไล ของลูกพิไลเท่านั้น ลูกหลานสายอื่น ๆ จะต้องออกไปดิ้นรนกันตัวเป็นเกลียวอยู่ข้างนอกโน่น...พิไลตั้งปณิธานไว้อย่างนั้น...
ฟากนางย้อย นอกจากจะนับวันให้ปฐมเดินทางกลับมาบ้าน ครุ่นคิดคำพูดที่จะพาปฐมไปหาพ่อหมอ หลังจากที่เสน่ห์หลุดแล้ว ปฐมปลดทหารมาแล้ว นางย้อยก็ยังคิดแผนพรากให้ปฐมไปจากชุมแสงสักพัก
ส่วยอีเรณู มันมาจากตรงไหน มันก็ต้องกลับไปตรงนั้น...ชีวิตของปฐม นางจะขีดเส้นให้เขาเดินเอง...
นอกจากหมกมุ่นเรื่องของปฐม นางย้อยก็เฝ้าจับตามองพิไลอยู่ด้วย...สามสี่วันที่แต่งเข้ามา พิไลยังน่ารัก จ๊ะจ๋า เอาใจ มือไม้ไม่อยู่สุข ข้าวของในร้านจัดวางเป็นระเบียบ แยกเป็นหมวดหมู่ ปัดกวาดเช็ดถูมุมอับ แต่งร้านจนลูกค้ารู้สึกผิดหูผิดตา...และที่สำคัญเงินทุกบาททุกสตางค์ยังเดินเอามาให้ที่เก๊ะ ไม่มีเม้มเข้าพกเข้าห่ออย่างที่นางย้อยนึกระแวง...
แต่ถึงอย่างไรพิไลก็ยังมีเรื่องให้นางย้อยรู้สึกไม่พอตา พิไลเป็นคนใช้เงินมือเติบ นึกอยากกิน อยากซื้ออะไรก็ซื้อ และซื้อทีละเยอะ ๆ ด้วย...จนป้อมกับบุญปลูกพลอยอิ่มหนำสำราญ เพราะถ้าพิไลได้กิน ทุกคนในร้านก็จะได้กินด้วย...
พอเห็นดังนั้น นางย้อยจึงอดปากไว้ไม่ได้ “นังหนู เงินทองใช้ให้มันประหยัดๆ หน่อยนะลูก...เก็บหอมรอมริบเก็บไว้ใช้ในยามยากบ้างนะ”
“หนูก็กำลังพยายามเขียมอยู่ม้า แต่ว่า มันอดไม่ได้ ก็ที่นี่ มีแต่ของน่ากินทั้งนั้นเลย ม้าอย่าลืมนะว่า หนูมาจากทับกฤช ที่นั่นมันต้องอยู่อย่างอดอยากปากแห้ง...มีเงินก็ไม่ได้ใช้ จะใช้เงินทีก็ต้องถ่อไปถึงปากน้ำโพโน่น...แล้วที่ซื้อให้ป้อมกับปลูกกินมั่ง คือหนูยึดคำสอนของเตี่ยที่ว่า ถ้าคนงานเราอิ่ม เราก็อิ่ม”
ฟังเหตุผลของพิไล ก็พอเข้าใจ แต่ทุกข้อทุกเรื่องที่นางย้อยติติงไปตามประสาคนปากไว พิไลเป็นต้องมีเหตุผลย้อนกลับมาตลอด...ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง จ้างเด็กซักผ้า ถูบ้าน และไม่ยอมหุงหาอาหารเช้า-เย็น กินกันเอง...
“คิดซะว่าช่วยเด็กมันม้า มันจะได้มีเงินไปโรงเรียน แล้วอีกอย่าง มันก็ลูก ๆ หลานๆ บุญปลูกมัน ช่วย ๆ กันไป...แล้วเรื่องที่หนูไม่หุงข้าวทำกับข้าว ก็เช้ามา เฮียก็ต้องตื่นมาร้านแต่เช้าอยู่แล้ว หนูมาช่วยม้าทำที่นี่เลยดีกว่า กินทั้งเช้า เที่ยง เย็นมากลับไปหุงหากินอีก ก็เหลือทิ้งแบะแบน สู้กินกับม้า หรือซื้อกินกันซะดีกว่า หนูว่าประหยัดกว่ากันเยอะ แล้วเฮียเองก็กินข้าวอย่างกับแมวดม ขนมนมเนยก็ไม่ค่อยกิน เอาแต่ซื้อหนังสืออ่านกับสวดมนต์ไหว้พระ...”
************* ควันและกลิ่นธูปจาก ‘ตี่จู้เอี๊ย’ ที่พิไลจุดไหว้เจ้าที่ตั้งแต่เดินเข้ามาในร้าน ทำให้นางย้อยที่นั่งอยู่ที่หลังโต๊ะบัญชี นึกถึงคำพูดของพ่อหมอที่เกยไชย ‘มึงเอง ก็ระวังตัวให้ดี...เจ้ากรรมนายเวร มึงจ้องจะเล่นงานมึงอยู่เหมือนกัน...มึงทำอะไรเอาไว้...จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ช้าหรือเร็ว กรรมย่อมส่งผล...กูบอกมึงได้แค่นี้’
นางย้อยสูดลมหายใจเข้าปอด แล้วก็คิดเข้าข้างตนเอง อย่างคนที่เคยมีแต่ความเชื่อมั่นในความคิดของตนว่า
‘อะไรจะเกิด ก็ให้มันเกิด’
เผลอสติทำผิดพลาดไปแล้ว ก็ก้มหน้ารอรับผลกรรมไป และผลของกรรมนั้นบางทีมันอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดล่วงหน้าไว้ก็ได้ เพราะลูกชายสี่คน สะใภ้สี่คน รวมถึงหลาน ๆ ที่จะเกิดตามมาอีกเป็นโขยง น่าจะมีอยู่บ้างหรอก ที่จะให้พึ่งพาอาศัยได้...
“พี่ย้อยอยู่ไหม ฉันมาหาพี่ย้อย...”
เสียงจากหน้าร้านทำให้นางย้อยชะเง้อไปมอง...ก็พบหญิงวัยกลางคน หน้าตามันย่อง มีงอบติดอยู่บนหัว นุ่งผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกระเช้า คลุมทับด้วยเสื้อแขนยาวสีกรมท่า
“ม้า มีคนมาหา” พิไลที่จัดของอยู่หน้าร้าน ตะโกนบอก
พอหญิงแปลกหน้าเดินเท้าเปล่ามาหยุดที่โต๊ะบัญชี นางย้อยก็เห็นว่าในมือของนางมีห่อผ้ามาด้วย
“มีอะไรกับฉันรึ”
“ฉันจะเอาของมาขาย”
“อะไร”
คนแปลกหน้าทรุดตัวลงนั่งโดยที่ไม่ได้เชื้อเชิญ แล้วก็แก้ห่อผ้าออก เผยให้เห็นขันและพานทองเหลืองตอกลายขนาด 8 นิ้ว พร้อมทัพพีเข้าชุดกัน...
“มีคนบอกว่าที่นี่รับซื้อของเก่า ใช่ไหม”
“รับ...เฉพาะคนที่คุ้นเคยกันเท่านั้น คนแปลกหน้า ฉันไม่กล้าเล่นด้วยหรอก”
“ทำไมล่ะ”
“กลัวเป็นของโจร ฉันจะพลอยเดือดร้อนไปด้วย”
“ช่วยฉันหน่อยเถอะนะแม่คุณ ไม่ใช่ของโจรหรอก”
“แล้วได้มาอย่างไร”
พิไลเร่มาทำงานเช็ดถูบริเวณนั้นเพื่อฟังความไปด้วย....
“เอ่อ...”
“เอาไปที่อื่นเถอะ...ลายแบบนี้ฉันมีแล้ว”
“ช่วยฉันเถอะนะ ผัวฉันมันไม่สบาย ฉันจะเอาเงินไปซื้อยาให้ผัวฉัน”
“มันก็มาอีหรอบนี้ทั้งนั้นแหละ...” ของพวกนี้ ต้องทำเหมือนไม่อยากได้...แล้วราคาจะไม่แพง...นั่นเป็นวิธีของนางย้อย
“จริงพี่ ไม่ใช่ของลักของขโมยมาหรอก ของเก่าเก็บของแม่ผัวฉันเอง ลูกชายแกป่วย แกให้เอามาขาย จะได้เอาเงินไปรักษาลูกของแก”
“แล้วคิดเท่าไหร่ล่ะ”
พอได้ยินราคา นางย้อยก็บอกว่า “สำหรับคนไม่คุ้นเคยกัน ฉันให้ได้แค่ครึ่งเดียว”
“ขออีกยี่สิบบาท ได้ไหม”
“ไปที่อื่นเถอะ ให้ได้เท่านั้นแหละ สมัยนี้เงินทองมันหายาก แล้วลายแบบนี้ฉันก็มีตั้งหลายใบแล้วด้วย”
หญิงคนนั้นนิ่งคิด ก่อนจะตัดสินใจรับเงินตามที่นางย้อยให้ทีแรก...
หลังหญิงคนนั้นจากไป พิไลก็เดินมาหาแล้วจับของลูบคลำ...ปากก็บอกว่า “ม้านี่เยี่ยมยอดเลย...”
“ของพวกนี้ มันเป็นของร้อน กดราคาได้ก็กด จำเอาไว้” นางย้อยพูดแล้วก็บิดกุญแจล็อกเก๊ะ คว้าของที่ได้มาใหม่แล้วเดินไปยังหลังร้าน ขึ้นชั้นบนไป พิไลมองตามแล้วยิ้มเย็น...โดยใจก็คิดว่า เก็บสะสมไปเถอะ สุดท้ายของพวกนี้มันก็จะกลายเป็นของของอีพิไลนี่แหละ...
ลงมาจากชั้นบน นางย้อยก็พบว่าที่หน้าร้านมีนางศรี ยืนให้บุญปลูกจัดของให้อยู่...นางศรีเห็นนางย้อยก็หันมายิ้มให้กระดำกระด่าง
“เอ ขายดีนี่” นางย้อยทัก
“เปล่าหรอก พอดี พี่กำนันเขามาธุระที่อำเภอ ฉันก็เลยติดเรือเขามาด้วย...” นางศรีบอกแล้วเดินเข้ามาข้างในอย่างคุ้นเคย
“วันนี้ฉันสอยมะรุมมาฝากด้วย...ของไม่มีค่ามีราคาอะไรหรอก...”
“ของดีเลยแหละ ขอบใจมาก”
“ลูกสะใภ้คนนี้หน้าตาสะสวย ผิวขาวอย่างกับหยวก...ได้หลานคงสวย แม่สะใภ้ใหญ่ก็คงสวยไม่แพ้กันหรอกมั้ง”
นางย้อยได้แต่ยิ้ม ๆ ไม่ตอบเรื่องสะใภ้ใหญ่ ส่วนหลานที่นางศรีพูดถึง ถ้าพิไลมีลูก นางย้อยก็จะมีหลานที่มั่นใจได้ว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตน ไม่ใช่หลาน ลูกของนังเรณูที่แท้งไปนั่น และแท้งจริงหรือเปล่า หรือตั้งท้องจริงหรือเปล่า ก็ยังเป็นปัญหาคาใจนางย้อยจนถึงตอนนี้
นางศรีนั่งคุยอยู่อึดใจใหญ่ ๆ ที่หน้าร้านก็ปรากฏร่างของกำนันศร...
“พ่อกำนันเข้ามาข้างในก่อน...กำลังคุยกับแม่ย้อยเขาเลย”
พอกำนันเดินเข้ามา นางย้อยเห็นลักษณะผึ่งผาย มีสง่าราศี ก็ยกมือขึ้นไหว้ ...ไหว้เพราะว่ากำนันนั้นอายุมากกว่า เป็นผู้ชาย และมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใคร ๆ ต่างนับหน้าถือตา นอกจากนั้น ที่คอของกำนันศรยังมีสร้อยทองคำน่าจะหนักถึงห้าบาท มีพระเลี่ยมทององค์ใหญ่พอเหมาะกับสร้อย แล้วที่นิ้วชี้ก็ยังมีแหวนทองหัวทับทิมเม็ดเป้งอีกวง ยิ่งทำให้นางย้อยรู้สึกได้ว่า ‘ควรไหว้’
หลังทรุดตัวลงนั่ง กำนันศรก็ที่ถอดหมวกกะโล่วางบนตักแล้วก็เบือนหน้าหนีไปไอ...และด้วยแกเป็นคนตัวใหญ่ เสียงไอของแกจึงดังก้องร้าน...
“พิไล ดูหาน้ำหาท่ามาเลี้ยงแขกทีลูก” นางย้อยรีบบอกลูกสะใภ้
พิไลก็เร็วพอที่จะรู้จัก ‘เสนอหน้า’ คือ นบไหว้ ผู้ใหญ่ทั้งสองเอง แล้วก็รีบผลุบไปทางหลังบ้าน...อึดใจพิไลก็ถือถาดใส่แก้วน้ำออกมา...แล้วเลี่ยงไปหยิบผ้าขี้ริ้วเช็ดข้าวเช็ดของ จัดวางให้เป็นระเบียบอยู่ใกล้ๆ จนพอจะได้ยินว่า ผู้ใหญ่คุยอะไรกัน
“ไอ้ฉัน เอง มันไม่มีลูกสาว พอมีสะใภ้ แรก ๆ ก็รู้สึกแปลก ๆ แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้ว...แล้วนังหนูนี่มันก็ลูกเพื่อนกันด้วย เลยเหมือนลูกสาวของตัวเอง”
“คนกันเองพอเป็นทองแผ่นเดียวกันมันก็เข้ากันได้ง่าย...แม่ย้อยเอาตรง ๆ นะ ที่ชวนพี่กำนันมาบ้านแม่ย้อยในวันนี้ ก็เพราะอยากจะคุยเรื่องสะใภ้ที่สาม
ของแม่ย้อยที่เราเคยคุย ๆ กันไว้นั่นแหละ” นางศรีเกริ่นนำ
“ว่ามาเลยแม่ศรี...”
“แม่ย้อย อย่าหาว่า ทางเราใจร้อนอะไรเลยนะ...” กำนันเริ่มเรื่องเอง พร้อมกับไอโขลก ๆ ไปด้วย...
“คือ ไอ้ฉันก็จะหกสิบแล้ว ใกล้จะเกษียณเต็มที...แล้วมาปีนี้ก็เจ็บออดๆ แอด ๆ สามวันดีสี่วันไข้...ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง” ว่าแล้วกำนันก็เบือนหน้าไปไออีก...ไอจนนางย้อยรู้สึกเหนื่อยแทน...
“คือห่วงเดียวของฉันก็คือ นังคนเล็กที่แม่ศรีพามาวันนั้นแหละ ฉันอยากเห็นมันเป็นฝั่งเป็นฝาโดยเร็ว อยากสอนงานมอบกิจการถ่ายเทอำนาจให้ลูกเขยไว้ก่อน เอาตรงๆ พูดอย่างไม่อายกันเลย คือ นังลูกสาวฉัน มันไม่เป็นโล้เป็นพายอะไรเลย ปล่อยให้สุขสบายทำแต่งานบ้านซะจนเคยตัว...ฉันเป็นอะไรไปเสียก่อน จะลำบากกันทั้งเรือน ฉันได้ยินกิตติศัพท์พ่อซาลูกของแม่ย้อยจากแม่ศรีแล้ว ฉันก็นึกรักนึกเอ็นดู อยากได้ไปเป็นลูกชาย”
“พ่อกำนันก็ยังดูแข็งแรง...คงไม่เป็นอะไรไปง่าย ๆ หรอก” นางย้อยรีบหาทางออกตัว
“โรคภัยไข้เจ็บมันเร็ว ไม่ประมาทไว้เป็นดี...”
“แต่ฉันตั้งใจไว้ว่า จะต้องบวชเขาซะก่อน ฉันคนไทยนะพ่อกำนัน อยากเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์”
“ฉันรู้ว่าแม่ย้อยอยากเก็บลูกไว้บวชก่อน แต่แม่ย้อยก็ได้บวชลูกมาตั้งสองคนแล้ว ปิดอบายภูมิเรียบร้อยแล้ว....คนนี้ถ้าจะไม่ได้บวชสักคน คนที่สี่ก็ยังมีไม่ใช่รึ...”
“ขอฉันปรึกษากันก่อนนะ...ตกลงใจไปเลย ไม่ได้หรอก”
“รึแม่ย้อยรังเกียจลูกสาวฉัน ไม่ชอบใจที่ต้องแต่ง แล้วยกลูกชาย ให้ฉันไปใช้”
“ไม่ ๆ จะรังเกียจอะไร ถือว่าเป็นบุญของอาซาต่างหาก จู่ ๆ จะว่าไปก็เหมือนมีราชรถมาเกย...ได้ทั้งเมียได้ทั้งไร่นาสาโท แต่ปัญหาคือ ลูกชายฉัน มันทำนาไม่เป็น มันจะให้พ่อกำนันได้พึ่งพิงรึเปล่าก็ไม่รู้”
“เรื่องนาไม่ใช่ปัญหาหรอก นาฉันเยอะก็จริง แต่ฉันก็ไม่ได้ลงแรงทำเองหรอก ได้แต่บัญชาการไป...งานหลวงมันก็ยุ่งพอตัว”
“แล้วอีกเรื่อง คือ ฉันก็เพิ่งแต่งคนรองไปเมื่อไม่กี่วัน บอกตรง ๆ ว่า ตอนนี้ ตัวเบาหวิวเลย” สาระสำคัญของนางย้อยคือตรงนี้ เพราะรู้ว่า ถ้าจะเอาเรือไปล่มในหนอง เรือจะต้องมีเงินมีทองไปด้วย...ถ้าอยากได้ลูกชายของนางไปเป็นเขยขนาดนี้ ก็ต้องลดราคาลูกสาวลงบ้าง มันถึงจะพอหมดข้ออ้างไปได้...
******************
ทางมาโรงสีมีตั้งหลายทาง แต่เขารู้สึกอยากผ่านไปเห็นร้านสังฆภัณฑ์ ...เพราะเมื่อเช้า ระหว่างที่เปิดวิทยุฟังเพลง เสียงเพลง ‘รักแฟนคนเดียว’ ของ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ที่ลอยลมมา ดันมีวรรคหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกครึ้มอกครึ้มใจ...จนใจไหวอยากปล่อยใจทำตามเนื้อเพลงขึ้นมา...
‘...เดินผ่านบ้านน้อง ยังจำของน้องได้ น้องได้ตากเสื้อไว้ มีสีแดง และสีเขียว ไม่ได้พบหน้า เพียงเห็นผ้าชื่นใจจริงเชียว ความรักผูกมัดเป็นเกลียว ไม่เห็นวันเดียวพี่ก็คิดถึง...’
และแรงอยากเห็นหน้า คล้ายกับว่า รู้สึก ‘คิดถึง’ สาวหน้าหวานนามจันตา ก็ทำให้ไม่ได้แค่ เห็นร้าน เห็นผ้าสีแดง สีเขียวอย่างเนื้อเพลงว่าไว้หรอก...พอถึงหน้าร้าน หมุ่ยนี้ที่จุดธูปปักไหว้เจ้าที่เจ้าทางเสร็จพอดี ก็ร้องเรียกให้เขาหยุดรถ...
“มีอะไรหรือแจ้”
“รูปได้แล้วนะ...แต่ไม่รู้จะให้ไปดีหรือเปล่า”
“ทำไมจะไม่ให้ล่ะ”
“ก็กลัวเอาไปแลกข้าวกินไม่ได้นะซิ...”
“ทำไมจะแลกไม่ได้...”
“ก็ถ่ายออกมาแล้ว อาเฮียอีบอกว่า ถ้าลื้อจะเอาสวยก็ไม่เหมือน แต่ถ้าเอาเหมือนก็...อย่างที่ลื้อเห็น”
“ไม่สวยก็เอาแจ้...เก็บไว้หัวเตียงน่าจะกันปีศาจร้ายได้”
“อาซา” หมุ่ยนี้เสียงสูง
“อั๊วล้อเล่น...แหม ๆ รูปนางฟ้านางสวรรค์ วางไว้หัวเตียงก็มีแต่ฝันดีแหละแจ้...”
“พูดแบบนี้ค่อยน่าให้หน่อยนะ รอแป๊บนะ...แป๊บเดียว” ว่าแล้วหมุ่ยนี้ก็เดินหายไปทางหลังบ้าน เขาชะเง้อมองตามไปก็ไม่เห็น ‘หน้า’ ของจันตา...ขณะมองไปอีกฝั่งของร้าน...กลิ่นหอมที่รู้สึกคุ้นจมูกก็โชยมา...พอหันกลับมามอง ก็เห็นว่า เป็นจันตาเดินมาหาเขา...
“แจ้ ให้เอารูปมาให้จ้ะ”
“อ้าว แล้วแจ้ไปไหน”
“เข้าส้วม...” ว่าแล้ว จันตาก็ส่งซองกระดาษให้เขา ตอนนั้นเขาไม่ได้เปิดซองออกต่อหน้าของจันตาหรอก...
จันตาเองหลังจากส่งรูปให้เขาแล้ว ใบหน้าของหญิงสาวก็แดงระเรื่อ มีความเขินอายอย่างเห็นได้ชัด เขาเองก็เขิน แล้วเขาก็แก้เขินด้วยการพูดว่า
“อั๊วไปก่อนนะ...สายแล้ว...อ้อ...ถามแจ้ให้ด้วยว่า วันนี้มีลิเกมาติดวิกที่โรงหนัง แจ้จะไปไหม ถ้าจะไป เจอกันหน้าโรงหนังนะ...สักสองทุ่ม”
“จ้ะ เดี๋ยวจะบอกให้”
“ไปแล้วนะ...สายแล้ว” ตอนนั้นเขารู้สึกว่า ไม่ได้อยากไปเลยสักนิด...แต่ก็ไม่รู้จะหาเรื่องอะไรมาคุยกับหญิงสาว
และพอมาถึงโรงสี เปิดซองกระดาษ...ก็เห็นรูปถ่ายสองบาน...บานหนึ่งเป็นของหมุ่ยนี้ ด้านหลังเขียน ชื่อ–แซ่ เป็นภาษาจีน ระบุวันเดือนปี
ส่วนอีกรูปอีกบานเป็นของจันตา...เขียนชื่อ-นามสกุล วันเดือนปี พินิจแล้วก็คือลายมือของหมุ่ยนี้ และที่ทำให้เขารู้สึกครึ้มใจอยู่จนถึงตอนนี้ คือ มีภาษาจีนที่เขาพออ่านออก เขียนไว้ว่า ‘แซ่ซี้ อ้ายลื้อ เจ๊กนั้ง’ ซึ่งเป็นชื่อเพลงอันลือลั่นของ สุรพล สมบัติเจริญ เตี่ยเคยบอกกับเขาว่า แปลแบบพิสดาร ก็คือ ‘ชาตินี้รักเธอคนเดียว’
‘ชาตินี้รักเธอคนเดียว’ กมลทวนประโยคนี้เบา ๆ แล้วถามตัวเองว่า มันหมายถึงใคร? หมุ่ยนี้กำลังจะบอกอะไร หมุ่ยนี้อ่านใจเขาออกอย่างนั้นหรือ หรือ หมุ่ยนี้อ่านใจของจันตาออก...
***********
“ซา” เสียงของเรณูทำให้กมลสะดุ้ง เขารีบคว่ำรูปถ่ายของจันตาทันที...เรณูถือกระเป๋าใบย่อมเดินเข้ามา...
“พี่จะกลับบ้านหน่อยนะ...ลูกพี่ไม่สบาย”
“ใครมาส่งข่าว” กมลซัก เพราะเอาเข้าจริงๆ ที่แม่พูดก็ถูก พี่เรณูเข้ามาด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ มีลูกมีผัวมาแล้ว แถมเคยทำงานที่ตาคลีมาก่อน ไหนจะเรื่องทำเสน่ห์ แม่บอกว่า พ่อหมอยืนยันว่าพี่เรณูทำจริง ๆ ...ความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้กันมันจึงถอยไปไม่น้อย...ความไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อคำพูดกัน เหลือไม่เท่าเดิม
“เอ่อ...เมื่อเช้า ตอนหาบของขาย คนที่บ้าน เขามาธุระที่ชุมแสง เขาบอกว่าป็อก ลูกชายพี่ เป็นไข้มาหลายวันแล้ว ไม่ได้ไปโรงเรียนด้วย พี่เป็นห่วง...”
อันที่จริงกมลอยากจะซักว่า คนแถวบ้านมาธุระอะไร ก็ดูจะเป็นการละลาบละล้วง เขาจึงถามตัดบทว่า “พี่จะไปกี่วัน”
“ยังไม่รู้เลย ถ้าอาการดีขึ้น พี่ก็จะรีบกลับมาขายของ ถ้าเฮียใช้มาพอดี บอกเฮียให้ด้วยนะ พี่ไปแล้วนะ”
“ให้ผมไปส่งไหม”
“ไม่ต้องหรอก ซาทำงานเถอะ กว่ารถไฟจะมา พี่เดินถึงสถานีพอดี...”
เดินออกจากโรงสีมาแล้ว เรณูก็ถอนหายใจออกมา...เธอรู้ว่า ตั้งแต่วันที่นางย้อยมาหาเรื่องที่โรงสี กมลก็มีน้ำเสียงและสีหน้าเปลี่ยนไป...เขาคงจะฟังคำของแม่เขา แต่เขาก็ไม่ผิดหรอก คนผิดก็คือเธอนี่แหละ ก่อกรรมสร้างเรื่องไว้เอง ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น...แต่นั่งรอให้ผลกรรมที่ทำลงไปนั้น มาลงโทษตัวเอง โดยไม่คิดป้องกันแก้ไขอะไรเลย ก็คงจะไม่ใช่อีเรณูแล้วหละ
***********
มาถึงบาร์ที่เคยทำงาน เรณูก็ดึงติ๋มกับประนอม มาที่ม้านั่งใต้ร่มไม้หลังร้าน เพื่อเล่าเรื่องทางชุมแสงให้ฟัง...
พอได้ฟังแล้ว ติ๋มก็หัวเราะลั่น...ก่อนจะบอกว่า “เป็นไง เจอฤทธิ์มันเข้าแล้ว...กูว่าแล้วว่าคนอย่างมัน ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ หรอก”
“คำก็กะหรี่สองคำก็กะหรี่ ตอนนั้นสติ ฉัน มันเลยหลุด เลยพลาด” เรณูเล่าไปแล้วก็รู้สึกหนักใจ
“ทีนี้มึงจะทำอย่างไร”
“ก็จะไปถามหมอก้อน ว่าหมอมีทางเกยไชยแก้เสน่ห์ไปหรือยัง หรือมีทางป้องกันอะไรได้บ้าง ขึ้นหลังเสือไปแล้ว ลงไม่ได้หรอก ใช่ไหมพี่”
“ถ้ามันแก้ไปเรียบร้อยแล้ว มึงจะทำอย่างไรต่อไป”
“ก็ให้รู้ก่อนว่ามันแก้ไปแล้วหรือยัง ถ้าแก้แล้วก็จบ แต่ถ้ายัง ก็สู้กันอีกสักตั้ง ละมั้ง”
ทั้งสามพากันขึ้นรถสามล้อถีบไปยังบ้านหมอก้อนทันที...หลังจากทั้งหมดทรุดตัวลงกราบ หมอก้อนที่อยู่ในชุดสีดำหน้าตาหมองคล้ำ ผมสีดอกเลาใส่ครีมใส่ผมหวีจนเรียบแปล้ ก็บอกว่า
“ดูมึงโทรมไปเยอะเลยนะอีเรณู”
“ก็มันริจะเป็นคนดี นะพ่อ มันก็เลยโทรมอย่างที่เห็นนี่แหละ” ติ๋มบอก
“ตอนนี้ทำอะไรอยู่ล่ะ”
“ทำขนมขายอยู่ที่ชุมแสงจ้ะ...”
“อืม...ดีแล้ว ..แล้วนี่ทุกข์ร้อนอะไรกันมาล่ะ ถึงได้เรียงหน้ากันมาแบบนี้”
“ทางแม่ผู้ชายเขาจับได้ว่า ฉันทำของใส่ลูกชายเขา เขาก็เลยไปหาหมอทางเกยไชย...ชื่อหมอมี”
“ไอ้มี กูรู้จักมันดี...”
“แล้วพ่อรู้หรือยังว่า ของที่ทำ หลุดไปหรือยัง”
พอเรณูเอ่ยถาม หมอก้อนก็พยักหน้าไปทางพานใส่หมากพลูและดอกไม้ธูปเทียนที่วางไว้อยู่แล้ว....เรณูจำต้องควักเงินค่าขันครูถึงห้าบาทใส่ลงไป แล้วยกพานขึ้นจบ...บอกเล่าเรื่องทุกข์ร้อนใจ....ส่งพานให้หมอก้อนแล้ว หมอก้อนก็ยกพานขึ้นเหนือหัวพึมพำคาถามเบา ๆ....อึดใจเดียว แกก็วางพานลง ดวงตาของแกแดงผิดปกติ...น้ำเสียงนั้นเปลี่ยนไปเล็กน้อย...
“มีอะไรอยากรู้ก็ว่ามา”
เรณูบอกเล่าเรื่องทางชุมแสงให้ฟังคร่าว ๆ แล้วก็ถามว่า “ฉันอยากรู้ว่า ของที่พ่อทำไป หลุดหรือยัง...ถ้าหลุดแล้วจะแก้ไขอย่างไรได้...”
ร่างทรงหลับตาเพียงคู่...แล้วก็บอกว่า “ของที่มึงทำไป ยังอยู่...ถ้ามันจะแก้ มันจะต้องเอาตัวลูกชายของมันไปให้ไอ้มีทำให้ที่บ้าน ตอนนี้ มันก็ยังรัก ยังหลงมึง เหมือนเดิม แต่มึงต้องไม่ให้มัน ไปกับแม่มัน ไม่งั้น จบเห่...เพราะสายวิชชาเขาก็แน่จริง”
เรณูรู้สึกโล่งอก...แต่เมื่อเสียค่าครูไปแล้วก็อดอยากรู้ไม่ได้ว่า ‘ควร’ จะทำอย่างไรต่อไป...
“ถ้ามึงยังรักมัน ยังอยากได้มัน มึงก็พยายามกันมันไว้ อย่าให้มันไปหาไอ้มี กูบอกได้เท่านี้”
“ถ้าเขาไปหาหมอมีแล้ว เขาจะเป็นอย่างไร เขาจะลืมฉัน เกลียดฉัน โกรธฉัน ไล่ฉันออกจากบ้านเขาเลยไหม”
“เรื่องในอนาคต กูไม่เห็นหรอก...ใจคนมันยากแท้หยั่งถึง มึงเข้าใจที่กูพูดไหม”
“อยากได้คำอธิบายเพิ่มเติม”
“คนเรา มันอาจจะรักกัน หลงใหลกัน ด้วยรูปโฉม เสน่ห์ปลายจวัก วาจา และคุณงามความดีของกัน ก็ได้นี่...ถ้ามึงมีตรงนั้นเป็นของคู่ตัว ของๆ กูจะอยู่หรือไม่อยู่ มันก็ไม่สำคัญหรอก สำคัญที่ว่า ถ้าใจและกายมันผูกพันกันแล้ว ความผิดบาปที่เริ่มต้นไว้ ถ้ามันไม่ได้เลวร้ายเกินไป มันก็ให้อภัยกันได้...ใช่ไหมละ”
“ก็ใช่...ลำพังใจของเขา ฉันคิดว่าไม่เท่าไหร่หรอก แต่แม่ของเขา เกลียดฉันอย่างกับอะไรดี...เพราะประวัติฉันมันไม่สวย”
“ตรงนั้นกูช่วยอะไรไม่ได้ เพราะอดีตมึง ก็เรื่องของมึง...กูไม่ได้บันดาลให้มึงต้องเป็นอย่างนั้น”
“เอาแบบนี้ไหมล่ะ อีเรณู มึงก็ทำอย่างที่กูเคยแนะนำมึงดีไหม” ติ๋มสอดเข้ามา
เรณูนิ่งคิด...ใช่แล้ว ถ้าจับได้แค่หาง ไม่ได้หัว ตัวมันก็ดิ้น มันต้องรวบทั้งหัวทั้งหางถึงจะถูก...ตอนนี้ปฐมยังอยู่ทางนี้ ยังมีเวลาที่จะทำให้นางย้อยเปลี่ยนจากเกลียดมาเป็นรักได้...มันยังไม่สายเกินแก้
“เอ่อ...พ่อ ถ้าหนู จะถามพ่อว่า ถ้าหนูจะทำเสน่ห์ใส่แม่ผัวหนูล่ะ จะได้ไหม”
“ได้ ...แต่ที่กูเห็น มันเกลียดมึงจนไม่ยอมกินอะไรของมึง มันจะเข้าทางมึงได้ไง”
“มันก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยไม่ใช่รึ อีเรณู มึงขยันทำนั่นทำนี่ไปให้มันกิน สักวัน มันก็พลาดจนได้แหละ...” ติ๋มยังคง ยุยง...
เรณูนิ่งคิด...ไม่ได้คิดว่า จะทำหรือไม่ทำ แต่คิดเสียดายเงินค่าทำต่างหาก...และเหมือนติ๋มจะรู้ใจ ติ๋มจึงบอกว่า
“ทำไปเถอะอีณู ค่าวิชาเดี๋ยวกูออกให้เอง...”
“แต่มันหลายเงินนะพี่”
“กูเสียให้มึงได้ กูเคยบอกมึงแล้วไง ทางใด ที่จะทำให้อีย้อยเดือดเนื้อร้อนใจได้ กูละสนุกนัก”
ประนอมที่นิ่งฟังอยู่ ถอนหายใจเบา ๆ เพราะรู้สึกว่า เรื่องมันชักจะไปกันใหญ่...ด้วยเป็นพี่ใหญ่สุด ประนอมจึงบอกว่า
“ถ้าเล่นต่อ แล้วมันมีแต่ความทุกข์ใจ มึงก็ถอยดีกว่าไหมอีณู ให้แม่มันเอามันไปแก้ซะ แล้วค่อยดูว่ามันจะทำอย่างไรกับมึงไม่ดีกว่ารึ เพราะตอนนี้อย่างไรมันก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผัวมึง ส่วนมึงใคร ๆ ก็รู้ทั้งชุมแสงว่าเป็นเมียมัน”
เรณูนิ่งคิด...สับสนปนเปกันไปหมด...เล่นต่อ กับ ถอย...ถอยได้ไหม เพราะเวลานี้เธอเดินมาไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับแล้ว...ถ้านางย้อยรักและเมตตา เข้าใจว่าทำไมชีวิตเธอถึงต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมเธอต้องตัดสินใจทำอย่างนี้ เธอก็ยังพอมีโอกาสอยู่กับคนที่เธอรัก และมีทางเดินชีวิตใหม่ได้ แต่นี่...
“อ้าว ตัดสินใจซิ...” ติ๋มเร่งเร้า
“ถ้ามึงจะทำ กูจ่ายให้ ถ้าไม่ทำ ก็จะได้พากันกลับ...”
“แต่ฉันกลัว”
“กลัวอะไรล่ะ มึงไม่ได้ฆ่าใครตายซะหน่อย แค่ทำให้มันรักมันชอบเท่านั้นเอง เพราะถ้ามันเกลียดมึงมากเท่าไหร่ ผัวมึง ก็จะไม่ได้อะไรเลย มึงว่ามันยุติธรรมกับไอ้ใช้ไหมล่ะ มันก็ลูกเหมือนกัน”
“ก็จริงของพี่”
“แม่ผัวลำเอียงแบบนี้ ต้องย้อนเกร็ดเสียให้เข็ด ตกลงทำนะ...” เรณูยังไม่ทันจะตกลง ติ๋มก็ควักเงินแบงก์สิบสองใบใส่ลงไปในพาน...
**************
ค่ำนั้นเรณูเปิดโรงแรมนอน และติ๋มก็ติดต่อให้จ่าเที่ยง ช่วยให้ปฐมออกจากในค่ายฯ มาหาเมียที่โรงแรม...
พอปฐมมาถึง เขาก็กระโจนเข้าใส่เรณู กอดรัดฟัดเหวี่ยงประหนึ่งคนที่ขาดน้ำขาดอาหารมาแรมเดือน...หลังจากอิ่มเอมในรสเสน่หา...เรณูที่นอนหนุนแขนก่ายเกยอยู่ในอ้อมกอดของเขา ก็เล่าเรื่องตอนที่เขากลับมาแล้ว ให้เขาได้รับรู้...เริ่มจากเรื่องที่ตนทำขนมขาย...
“ไม่รู้เลยนะเนี่ยว่า ทำขนมเป็น...”
“อร่อยด้วยแหละ...ใคร ๆ ก็ชม”
“เก่งไปซะทุกอย่างแบบนี้ จะไม่ให้คิดถึงได้ไง”
“ไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหนเลยจริง ๆ นะ”
“จริงซิ...รักหนู คิดถึงแต่หนูจนจะเป็นบ้า” ว่าแล้วเขาก็จูบที่หน้าผากชื้นเหงื่อของเรณูอีกหนึ่งฟอด...เรณูจูบแก้มเขาตอบแล้วก็เล่าเรื่องแม่ของเขา แต่งสะใภ้รองเข้าบ้าน โดยจัดงานเสียใหญ่โต...เป็นที่เลื่องลือจนถึงตอนนี้
“ไม่ได้แต่งแบบเขา หนูเสียใจหรือเปล่า”
“ก็รู้สึกน้อยใจบ้าง แต่เมื่อวาสนามันมีแค่นี้ จะไปทำอะไรได้ล่ะ แล้วอีกอย่าง แค่ได้อยู่กับพี่ใช้ตลอดไป หนูก็พอใจแล้วแหละ พี่นั่นแหละ จะน้อยใจหรือเปล่า ที่ไม่ได้จัดงานใหญ่โตแบบอาตง”
“ไม่แต่งก็ไม่เปลืองไม่ใช่เหรอ....”
“จะพูดว่าได้มาฟรี ๆ ใช่ไหมล่ะ”
“ฟรีที่ไหน...เสียเหงื่อจนหมดตัวแล้วเนี่ย” ว่าแล้วเขาก็กระชับวงแขนดึงร่างเรณูให้แนบกับตัวเขาอีก สัมผัสทางกายนั้น ทำให้เรณูรู้สึกว่าเขาพึงใจและมีความสุขในเรือนกายของตนเป็นอย่างดี
“พี่ใช้...หนูมีอีกเรื่องจะเล่าให้ฟัง...คือ...หนูแท้งลูกไปแล้วนะ”
“อ้าว เหรอ ถึงว่าทำไมท้องไม่ใหญ่เสียที”
“ก็หาบน้ำขึ้นมาจากตลิ่ง...แล้วก็ลื่นล้ม”
“ช่างมันเหอะ เขาไม่มีบุญจะมาเป็นลูกเรา เขาก็ไป...เราทำใหม่ก็ได้นี่ อีกไม่กี่เดือนก็ปลดกลับไปอยู่บ้านแล้ว จะมีอีกกี่คนก็ได้”
“แล้วอีกเรื่อง เรื่องนี้ ถ้าพี่รู้ พี่จะโกรธเกลียดฉัน จะเลิกกับฉันก็ได้นะ...”
เรณูปล่อยให้ความเงียบเข้าครอบงำเพียงครู่ พอเขาขยับมือซ้ายบีบเบา ๆ ที่ไหล่ส่งสัญญาณให้เรณูพูดต่อ เรณูก็บอกว่า
“คือ ก่อนที่หนูจะมาอยู่ที่ตาคลี...หนูเคยท้องกับพี่เขย”
“หือ...”
“เรื่องมันเป็นอย่างนี้พี่...” แล้วเรณูก็เล่าชีวิตหนหลังให้เขาฟัง จนถึงเรื่องที่แม่ของเขาไปบังเอิญรู้เข้า แล้วเรื่องเดิมบานปลายจนคิดไล่ตนเองออกจากบ้านด้วยการล็อกห้อง และเรณูก็แก้ลำด้วยการไปนอนที่หน้าร้านจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวดังไปทั้งตลาด...ปฐมที่หลับตาฟัง ถอนหายใจออกมา...ไม่ตอบว่าอะไร...เรณูเลยไม่รู้ว่า เขาไม่ถือสา ไม่ใส่ใจกับอดีตของเธอ หรือเป็นเพราะฤทธิ์เสน่ห์ยาแฝด ที่ทำให้ลุ่มหลงจนไม่เห็นตำหนิใด ๆ
“พี่คิดอะไรอยู่...บอกฉันหน่อยได้ไหม”
“ก็มันเป็นเรื่องในอดีตไม่ใช่รึ...แล้วก็แล้วกันไป ส่วนเรื่องแม่ หนูก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเพราะ แม่รักพี่ หวังดีกับพี่”
“แล้วจะให้หนูทำอย่างไรกับแม่ของพี่”
“หนูต้องอดทน ถ้าหนูรักพี่ ก็ต้องอดทนให้มาก ๆ รู้ไหม แม่เป็นคนปากร้ายใจดี...เดี๋ยวเรามีลูกด้วยกันใหม่ ถ้าได้ลูกชายด้วยนะ รับรองเลยว่า เขาก็จะกลับมาดีกับเราเอง แต่เราต้องอดทนผ่านช่วงนี้ไปให้ได้...”
“แต่ก่อนจะมาที่นี่ ฉันกับแม่พี่ก็มีเรื่องกันอีกนะ...พี่ติ๋มเขากลับไปทำบุญให้แม่เขา พี่นอมไปด้วย เขาไปหาฉันที่บ้านโรงสี แม่แกก็เลยหาว่าพาเพื่อนกะหรี่เข้าบ้าน...ด่าฉันซะไม่มีชิ้นดีเลย สุดท้าย เขาหาว่าฉันทำเสน่ห์ใส่พี่...แล้วเขาก็ไปเกยไชย หมอที่เกยไชยก็ว่า ฉันทำของใส่พี่จริง ๆ ตอนนี้แม่พี่ รอพี่กลับไปชุมแสง จะพาไปแก้เสน่ห์”
“แล้วหนูทำจริงหรือเปล่าล่ะ”
“แล้วพี่คิดว่าหนูทำเสน่ห์ใส่พี่หรือเปล่าล่ะ”
“ไม่รู้เหมือนกัน...”
“หนูไม่ได้ทำหรอกจ้ะ” เมื่อเริ่มต้นตอแหลไปแล้ว ก็ต้องตอหลดตอแหลให้ตลอดรอดฝั่ง...ครั้นจะเอ่ยปากสาบดสาบานเรณูก็รู้อยู่แก่ใจดีว่า ตนนั้นเลวทรามและชั่วช้าเพียงใด...
“ไม่ได้ทำ แล้วทำไม พี่ถึงหลงใหล คิดถึงหนูจนจะขาดใจตายแบบนี้...รู้ไหมว่าพี่นับวัน นับเดือน รอเวลาให้ถึงวันหยุดพักเลยนะ วันนี้พอจ่าเที่ยงบอกว่า หนูมารอพี่อยู่ที่นี่ พี่แทบจะวิ่งจากค่ายมาหาหนูเลย...”
“หนูก็คิดถึงพี่จนจะขาดใจตายเหมือนกัน...” บอกเขาแล้วเรณูก็รัดวงแขนแนบลำตัวบดเบียดกับเขาหนักขึ้น ๆ จนกระทั่งเพลิงราคะลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง....
******************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #16 on: 01 March 2020, 21:01:46 » |
|
ตอนที่ 17 : รักนี้มีอุปสรรค
๑๗
ค่ำวันนั้น พอกมลกลับมาบ้าน ระหว่างที่นั่งรอให้เจ๊กเซ้งอาบน้ำก่อนจะกินข้าวเย็นพร้อมกัน นางย้อยก็ถามกมลว่า
“มีคนบอกกับม้า ว่าเห็นอีเรณูมันขึ้นรถไฟ ล่องใต้ไป มันไปไหนรึ”
“เห็นว่าลูกป่วย...เลยกลับไปดู”
หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน...ใจนั้นคิดว่าเป็นข้ออ้างจะเถลไถลไปเที่ยวไหนๆ มากกว่า...ครั้นคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเอ่ยถึงให้ใจขุ่นมัว นางย้อยจึงพูดเรื่องที่ได้ตั้งใจไว้ก่อนหน้า...
“วันนี้ พ่อกำนันของหนูเพียงเพ็ญมากับอาศรี...ดูท่าแล้ว อยากได้ลื้อไปเป็นเขยจริง ๆ”
“แล้วเขาว่าอย่างไรบ้าง”
“กำนันศรเขาบอกว่า เขาป่วยออดๆ แอด ๆ อยากแต่งลูกคนเล็กไว ๆ เพราะจะได้ถ่ายเทงานการให้ลูกเขยดูแล...”
“แต่ผมยังไม่ได้บวชนี่ม้า”
“เขาว่า เขาคิดราคาค่าสินสอดไม่แพง...”
“ม้าก็เลยรีบตกลง”
“ยัง...ม้าผลัดเขาไปว่า ขอถามความสมัครใจจากลื้อก่อน...เพราะบางที ลื้ออาจจะนึกอยากบวชก่อนเบียด...ถ้าลื้อตั้งใจไว้อย่างนั้น ม้าก็จะตามใจลื้อ เพราะม้าก็อยากเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ก่อน...”
“เรื่องบวช ผมเฉย ๆ...คนเราไม่ต้องบวช ก็เป็นคนดีได้...ดูเตี่ยเป็นตัวอย่าง”
“มันก็จริง แต่ว่า เกิดมาเป็นผู้ชายแล้ว มันก็ต้องลองดู วันหน้า มันจะได้คุยกับคนอื่นเขารู้เรื่อง”
“แล้วตอนนี้อั๊วคุยกับคนไม่รู้เรื่องหรือม้า”
นางย้อยทำปากขมุบขมิบ กมลจึงหัวเราะเบา ๆ ที่แหย่แม่ได้...
“อาซา ลื้อ มอง ๆ ใคร อยู่บ้างหรือเปล่า”
แวบแรกนั้นเขานึกถึงจันตา แต่ถ้าบอกแม่ไป แน่นอนว่า ถ้าเปรียบเทียบระหว่างจันตากับเพียงเพ็ญ จันตาสู้เพียงเพ็ญไม่ได้แน่ ๆ แล้วแม่ก็คงจะขวางเต็มกำลัง...
“มองนะพอมี แต่รักชอบกัน แบบแฟน ยังไม่มีหรอก...แต่ผม ก็ไม่ได้อยากรีบแต่งนะม้า...”
นางย้อยมองหน้าลูกชาย....แล้วก็บอกว่า “ม้าก็ยังไม่อยากให้ลื้อแต่งหรอก...”
“ทำไมล่ะ”
“ไปกันหมด ม้าก็เหงานะซิ ยิ่งลื้อต้องแต่งแล้วออกไปอยู่ที่บ้านเมียลื้อด้วย...” พอบอกความในใจแล้วน้ำตาก็ชื้นหัวตาของนางย้อย...เพราะบ้านที่เคยมีลูก ๆ วิ่งไล่เตะต่อยกัน ทุ่มเถียงกัน แย่งกันกิน แย่งกันใช้ แย่งความรักจากแม่ ตามประสา มีแต่เด็กผู้ชายกำลังจะเปลี่ยนแปลง
“เฮียตง แกก็อยู่...แล้วถ้าแต่ง ก็แค่ฆะมังนี่เองม้า ต่อไปถนนหนทางดีก็ไปมาหาสู่กันได้สะดวก”
นางย้อยใช้นิ้วชี้แตะหางตาที่เอ่อออกมา แล้วบอกว่า “อาตงมันไม่ใช่คนช่างพูดเหมือนลื้อ แล้วเมียมัน ม้าบอกตรงๆ ม้ายังไม่ไว้ใจสักเท่าไหร่”
“เขาแสดงทีท่าอย่างไรล่ะ”
“ยังสรุปไม่ได้หรอก ต้องดูกันไปนาน ๆ ก่อน..ตอนนี้ม้าก็ขัดตาขัดใจ เรื่องใช้เงินมือเติบ กับไม่ยอมทำงานบ้านงานช่องเอง...ส่วนงานในร้าน รู้งานดี ขายของจ๊ะจ๋าถามไถ่ใส่ใจลูกค้าดี...เรื่องเงินก็ยังเก็บมาให้ที่เก๊ะ แต่ถ้าให้เฝ้าเก๊ะเลย ม้าก็ยังไม่ไว้ใจหรอก แล้วพี่ชายลื้อ มันก็หัวอ่อน ดูท่าแล้ว วันหน้าเมียชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้แน่ๆ”
“ม้าก็ต้องทำใจ แล้วก็ต้องปล่อยวาง...มัวแต่ระแวง ม้าก็จะทุกข์ใจอยู่อย่างนี้”
“ที่ม้าคิดไว้ ม้าว่าจะรอให้อาใช้มันปลดทหารมาก่อน...แล้วถ้าจะแต่งลื้อ ก็น่าจะสักเดือนหกปีหน้า...” นางย้อยรีบเปลี่ยนเรื่อง
“สรุปว่า ผมต้องแต่งกับเขาใช่ไหม”
“ก็คิดดูแล้ว แต่งแล้ว มันมีแต่ได้กับได้ แล้วจะไม่แต่งได้ไงล่ะ”...
“แต่เราไม่ได้รักกันเลยนะม้า...เขาเองก็เหมือนไม่ค่อยชอบผมสักเท่าไหร่”
“แล้วพิไลกับอาตงเขารักกันมาก่อนรึเปล่าล่ะ ก็ไม่ได้รักกัน แต่งไปแล้วไม่กี่วัน เห็นคุยกันหนุงหนิงอย่างกับรู้จักมาเป็นสิบปี...”
กมลเหลือกตามองบนแล้วถอนหายใจออกมาเบา ๆ...
****************
ลึก ๆ แล้วหมุ่ยนี้นั้นอยากให้จันตารักกับกมล...เพราะถ้าลงเอยกันได้ จันตาจะยังอยู่ที่ชุมแสง ยังอยู่ในสายตา มีปัญหาอะไรก็ยังปกป้องกันได้ แต่เมื่อหมุ่ยนี้รู้ว่ากมลนั้นมีคู่หมายเป็นลูกสาวกำนันตำบลฆะมังซะแล้ว หมุ่ยนี้จึงได้บอกกับจันตาว่า
“ที่แจ้อยากให้เธอเป็นแฟนกับอาซา แจ้ขอเปลี่ยนใจแล้วนะ”
“ทำไมถึงเปลี่ยนใจเสียละเจ๊”
“ตอนนี้อาซาอีมีคู่หมั้นคู่หมายแล้ว เป็นถึงลูกสาวกำนันตำบลฆะมัง...แจ้รู้มาว่าทางฝ่ายหญิงมีฐานะพอตัว”
จันตานิ่งฟัง...
“ผู้ใหญ่เห็นดีเห็นงามกันน่ะ อาซาคงขัดผู้ใหญ่ไม่ได้หรอก...”
“ได้แต่งกับคนมีฐานะเท่าเทียมกัน...ก็ดีแล้วนี่เจ๊”
“ลื้อไม่รู้สึกผิดหวัง ไม่เสียใจ บ้างเลยรึไง”
“ก็หนูยังไม่ได้คิดอะไรกับเขา จะไปรู้สึกอะไรละเจ๊” อันที่จริงจันตาที่อยู่อย่างเจียมตัวเจียมใจรู้สึกเจ็บ แต่มันไม่รุนแรงอะไร อาจจะเป็นเพราะแผลคราวก่อนนั้น ก็ยังไม่หายดี ใจมันยังรู้สึกขยาดกับความรัก กับผู้ชาย กับคำของคน
“ลื้อนี่มันอย่างไร กับคุณปลัด ก็ว่าไม่คิดอะไร กับ อาซา ที่แจ้ชอบ ก็ไม่คิดอะไร...หมายความว่าไง”
“ก็หนูมันจน...เป็นคนจน ต้องเจียมตัวซิเจ๊”
“แหม...จนอะไรกัน ลื้อก็มีมือมีตีนครบ วิชาความรู้รอบตัวก็มีไม่น้อยกว่าใคร มีสามีนำทางหน่อย ลื้อจะกลายเป็นคนรวยคนหนึ่ง”
“แล้วถ้าหนูจะอยู่อย่างไม่มีสามีตลอดไป ละเจ๊”
“ดอกไม้มันต้องบานให้แมลงตอม โลกมันถึงจะรื่นรมย์...”
“เจ๊ซัง กับเจ๊ ก็ยังอยู่เป็นโสดกันมาได้...ทำไมหนูจะเป็นโสดบ้างไม่ได้”
“มันไม่เหมือนกัน...อย่าเอามาเปรียบเทียบ...ไม่รู้ละ อย่างไร ตอนนี้ อาซามันไม่ใช่หนึ่งในตัวเลือกแล้ว...ลื้อก็ต้องคุยกับคุณปลัดเขาให้เยอะๆหน่อย ๆ เขามีไมตรีมาแล้ว เหลือแต่ลื้อแหละจะรับไมตรีเขาอย่างไรให้ดูไม่น่าเกลียด”
“แล้วเจ๊ให้รูปหนูกับอาซาไปทำไม”
“ก็แจ้ดูออกว่า อาซามันชอบลื้อ ก็ให้มันเอาเก็บไปฝันถึงบ้าง....เผื่อมันจะมีแรงฮึดสู้กับม้ามันขึ้นมา อยากแกล้งมันเล่น ๆ น่ะ ไป ๆ อาบน้ำแต่งตัว เดี๋ยว วันนี้ ไปดูลิเกกัน...เจ๊ใช้ไอ้จุกมันถือจดหมายน้อยไปให้คุณปลัดที่บ้านพักเขาแล้ว คืนนี้เขาต้องมาแน่ ๆ...”
“ไม่ไปได้ไหมเจ๊...ไม่อยากดูลิเก”
“ใครว่าจะไปแค่ดูลิเกล่ะ อั๊วจะพาลื้อไปให้อาซามันเห็นว่า ถ้ามันไม่เอาลื้อ ก็มีคนอื่นเขาจะเอาลื้อ” หมุ่ยนี้กระซิบบอกจันตาเบา ๆ จันตาฟังแล้วก็ยิ้มขำ...
**********************
อันที่จริงกมลไม่ชอบดูลิเก เขาชอบดูหนัง ฟังเพลง ดูรำวงมากกว่า แต่ด้วยอยู่บ้านก็ รู้สึกเหงา กับลึก ๆ เขาอยากใกล้ชิดกับจันตาให้มากขึ้น...เขาก็เลยเผลอปากชวนหมุ่ยนี้ผ่านจันตาออกไป...เพราะถ้าหมุ่ยนี้มา จันตาก็จะต้องมาด้วย...
เขาไปถึงเวลานัดหมาย ก็พบว่า ปลัดหนุ่มคนนั้น ยืนอยู่หน้าโรงหนัง กมลมองเห็นปลัดจินกรก่อน เขาจึงหลบไปหาซื้อขนมกินท่ามกลางเสียงแตรวงที่โหมโรง เรียกคนดูอยู่หน้าโรงหนัง...
พอขนมในมือหมด กมลก็เห็นหมุ่ยนี้เดินมากับจันตา...ปลัดหนุ่มยิ้มกว้างให้สองสาวแล้วเดินเข้าไปทักทาย...หมุ่ยนี้ยังคงเป็นตัวกลางหรือเป็น ‘ไม้กันหมา’ ที่ดี กมลที่หลบมองอยู่รู้สึกได้ว่า จันตานั้นได้แต่เพียงยืนยิ้มปั้นหน้าสดชื่นฟังความ ส่วนปลัดมองหน้าจันตาเผยความรู้สึกว่าชอบอย่างเปิดเผยเหมือนตอนที่เขาเห็นครั้งแรก
...และสุดท้ายกมลก็คิดได้ว่า ในที่สุดแล้ว เขาก็จะต้องแต่งงานกับเพียงเพ็ญตามความต้องการของผู้ใหญ่
ฉะนั้นมันจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะ พบหน้าจันตาเพื่อสานความสัมพันธ์อีก...เขาก้าวเท้าเดินกลับบ้าน หากวันพรุ่งนี้หมุ่ยนี้ถามเขาว่า ทำไมถึงไม่มาตามนัด...เขาจะบอกว่าเผลอหลับไปเพราะอ่อนเพลียจากการทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน...
**********
เรณูอยู่ที่ตาคลีถึงสองคืน...และเป็นสองคืนที่เรณูมั่นใจว่า ใจของปฐมนั้นอยู่กับตน เพราะเขาเฝ้าคลอเคลีย มีอารมณ์พิศวาสในเรือนกายของตนตลอดเวลา...เรณูบอกกับเขาว่า ช่วงที่ยังไม่ปลดทหาร ถ้าเขายังไม่อยากกลับบ้านไปให้รำคาญใจ ก็นัดพบกันที่ตาคลีแบบนี้ไปก่อนก็ได้...ตอนแรกเหมือนเขาลังเล แต่พอเรณูบอกว่า ถ้ามันจะเป็นการยืดเวลาของความสุขออกไปได้อีกหน่อย มันก็เป็นเรื่องที่ควรทำไม่ใช่รึ เขาก็พยักหน้าเห็นดีด้วย...
กลับมาจากตาคลีแล้ว เรณูก็กลับมาทำขนมขายเหมือนเดิม พอลูกค้าถามว่าหายไปไหนมาเสียหลายวัน เรณูก็บอกว่า “ไปเยี่ยมบ้าน”
“ใครเป็นอะไรอีกล่ะ” คนชอบซัก ยังจำได้ว่า คราวก่อนที่เรณูกลับไปบ้าน เพราะแม่ป่วยหนักกระทั่งเสียชีวิต
“เอ่อ คราวนี้น้องชายจ้ะ ลูกหลงของแม่ เกือบจะเป็นลูกของฉันได้เลยแหละ...แม่ตายแล้วก็ไปอยู่วัด พอเจ็บป่วยหลวงพ่อก็เลยลำบาก ต้องกลับไปดูกันหน่อย”
พอหาทางออกได้แล้ว ความทุกข์ก็เข้ามาครอบงำจิตใจเรณูอีก...เรื่องของป็อกคงจะต้องบอกกับคนอื่น ๆ อยู่อย่างนี้ตลอดไป...คงยากที่จะได้ยินป็อกเรียกตนเองว่า ‘แม่’
ช่วงสาย ๆ วันนั้น ระหว่างที่นั่งอยู่หลังหาบ เรณูเห็นพิไลเดินหน้าแฉล้มมีตะกร้าใบย่อมเดินตลาด...พอพิไลเห็นเรณู หญิงสาวก็คลี่ยิ้มหวานให้ แต่เรณูกลับรู้สึกว่าเป็นการยิ้มเยาะเสียมากกว่า...
“หายไปไหนมาเสียหลายวันเลยซ้อ...”
“กลับไปดูน้องชาย ไม่สบาย”
“เป็นอะไรล่ะ”
“เป็นไข้”
“อายุเท่าไหร่ ถึงต้องกลับไปดูแลกัน”
“เจ็ดขวบ”
“เอ๊ะ ทำไมน้องอายุน้อยจัง...นึกว่ารุ่นหนุ่มแล้ว...” พิไลนั้นยังไม่รู้เรื่องที่ว่าเรณูมีลูกมาก่อนแล้ว เพราะเรื่องนี้บุญปลูกก็ไม่รู้ ประสงค์ก็ไม่ได้เล่าให้ฟัง...
“ลูกหลงของแม่...แม่เสียแล้วไม่มีใครดู...”
“เออ...แล้วแม่อายุเท่าไหร่เหรอ ตอนที่เสีย เหมือนเพิ่งเสียใช่ไหม”
“หกสิบกว่า ๆ”
“คนห้าสิบกว่า ๆ ยังท้องได้อีกรึ”
“วันนี้ถือตะกร้าเดินตลาดเลย ได้อะไรหรือยังล่ะ” เรณูรีบเปลี่ยนเรื่อง
“ก็ถือติดมาอย่างนั้นแหละ ยังไม่เจออะไรน่าซื้อหรอก...แต่เอาเป็นว่า ช่วยซื้อขนม สองบาทแล้วกัน”
“สองบาท ก็ตั้งแปดห่อแน่ะ ใครกินกันเยอะแยะเลย...”
“ก็แบ่งปันปลูกกับป้อมด้วยน่ะ ม้าน่ะเขาไม่กินหรอกนะ...” พิไลพูดไปแล้ว ก็ทำเหมือนนึกขึ้นมาว่าไม่ควรพูด...เรณูได้ยินกลับรู้สึกเฉย ๆ...หญิงสาวรีบตักขนมใส่ใบตองห่อให้...
“ฉันให้ไปสิบห่อแล้วกัน บอกแม่ด้วยว่า อีกสองห่อน่ะ ฉันฝากไปให้...”
“แต่เขาไม่กินขนมของซ้อนะ...” เมื่อหลุดปากไปแล้ว ก็จำต้องตอกย้ำให้รู้ว่านางย้อยนั้นยังรังเกียจตัวเรณูแค่ไหน
“ถ้าซ้อยังซื้อฉันอยู่ทุกวันแบบนี้ ฉันก็จะตื๊อแกอยู่อย่างนี้เหมือนกัน เผื่อแกจะเปลี่ยนใจ แต่ถ้าแกไม่กิน ใครจะกินก็ได้นะ”
“ทำถั่วแปบขายบ้างซิ ฉันอยากกินถั่วแปบ...ขอแป้งเหนียวๆ ถั่วเยอะๆ นะ มะพร้าวทึนทึกนะ”
พอพิไลอธิบายเรณูก็นึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อครั้งที่ช่วยแม่หาบขนมไปขายที่ทับกฤชนั้น พิไลเคยมาซื้อถั่วแปบของแม่ไปกิน
พิไลคงจำไม่ได้หรอกว่า เธอนั้นนั่งอยู่หลังหาบแม่ค้า หาบนั้นด้วย...
วันรุ่งขึ้นนางย้อยมองถั่วแปบในจาน มีน้ำตาลทรายผสมงาคั่ววางแนมมาด้วย แล้วถามว่า...
“ใครทำขายรึ...หน้าตาน่ากินดี” ที่น่ากินเพราะชิ้นไม่ใหญ่และมะพร้าวทึนทึกขูดกับถั่วเขียวซีกนั้น มีปริมาณที่เท่า ๆ กัน...
“ไม่รู้เหมือนกัน” เมื่อวานพอบอกว่า เรณูฝากขนมตะโก้เผือกมาให้ นางย้อยก็ไม่กินเหมือนเดิม พอตอนเช้าพิไลก็บอกกับเรณูว่า เมื่อวานขนมที่ฝากไป นางย้อยไม่กิน เรณูจึงบอกว่า วันนี้จะฝากถั่วแปบไป แต่อย่าบอกแกแล้วกันว่าเป็นฝีมือของตน เพราะอยากให้แกลองชิมขนมฝีมือตนบ้าง...และเรณูก็อยากรู้ว่า ถ้ากินขนมโดยไม่มีอคติแล้ว คนกินจะรู้สึกอย่างไรกับรสชาติของขนม...พิไลเองก็อยากรู้ว่า ถ้านางย้อยได้กินขนมฝีมือเรณูแล้วจะเป็นเช่นไร จึงยอมช่วยโกหก...
พอนางย้อยได้กินไปคำ สองคำ กระทั่งหมดจาน พิไลก็ขยับเข้ามาถาม...
“อร่อยใช้ได้ไหมม้า...”
“อร่อยดี ตอนเคี้ยวรู้สึกว่าทุกอย่างมันพอดีกันไปหมด...”
“พรุ่งนี้เห็นเขาว่า จะทำขนมต้มมาขาย เดี๋ยวหนูจะซื้อมาให้ม้าลองชิมนะ”
“อ้าว แล้วไม่ช่วย อีเรณูมันซื้ออีกรึ”
“กินของแก ทุกวันก็เบื่อบ้างซิม้า...ช่วยกันหลาย ๆ เจ้า จะได้ผูกใจเขาไว้ได้” พิไลมีทางออก...
“อืม ถ้าพรุ่งนี้ เขาทำขนมต้มแล้วอร่อยแบบนี้อีก ก็ซื้อเขาประจำเลยแล้วกัน”
“เขาบอกว่า ถ้าอยากกินอะไรก็บอกเขาได้นะม้า เขาทำได้เขาจะทำ เขาอยากให้ลูกค้ากินในแบบที่อยากกิน ไม่ซ้ำซากจำเจน่ะ...”
“อยากกินข้าวโปง...ถ้าเขาทำได้ก็บอกให้เขาทำนะ...”
“จ้ะม้า...”
“อ้อ อย่างไรก็อย่าลืมบอกให้เขามาอุดหนุนของที่ร้านเราบ้างนะ การค้ามันต้องช่วยกันไปมา มันถึงจะอยู่รอดทั้งสองฝ่าย”
พิไลได้ยินแล้วยิ้มกริ่ม โดยไม่ได้รู้สักนิดว่า เป็นเพราะขนมที่ตัวเองถือมานั่นแหละที่ทำให้นางย้อย หลงใหล รักใคร่ เอ็นดูเรณู เหมือนกับว่า ไม่เคย โกรธ เกลียด กันมาก่อน...
********************
หลังเคี้ยวและกลืนขนมข้าวโปงหมดไปหกลูก...นางย้อยก็รู้สึกติดอกติดใจในรสชาติ จนกระทั่งนึกอยากจะเห็นหน้าคนทำ...
“พิไล พิไล...”
“จ๋า ม้า...” พิไลจ๊ะจ๋าอ่อนโยน และเอาอกเอาใจจนนางย้อยรู้สึกคลายความระแวงไปไม่น้อย...
“ขนมข้าวโปงของเขา อร่อยกว่าถั่วแปบอีกนะ...ตอนเคี้ยวนี่ซ่านไปทั่วปากเลย...” อันที่จริงไม่ใช่แค่ซาบซ่านแต่นางย้อยยังรู้สึกขนลุกขนชันขึ้นมาด้วย แต่นางย้อยก็ไม่ได้บอกไปทั้งหมด
“แล้วม้าอยากจะกินอะไรอีกไหม... ลองให้เขาทำขนมแดกงาดูบ้างไหม...”
“ม้าชักอยากเห็นหน้าคนทำเสียแล้วซิ...พรุ่งนี้ให้เขามาที่ร้านได้ไหม...”
“เอ่อ...เดี๋ยวจะบอกเขาให้นะม้า...เขาขายดี ขายหมดแล้วก็รีบกลับไปเลย”
“งั้นเหรอ...”
“จ๊ะ ขนมเขาขายดี ยิ่งหน้าเกี่ยวข้าวแบบนี้ด้วย...คนมาตลาดกันแต่เช้ามืด ยิ่งขายดี นี่หนูสั่งเขาไว้หรอกเขาถึงขยักไว้ให้...”
“แล้ว ขนมของอีเรณูล่ะ ขายดีไหม”
“ก็พอขายได้ม้า...”
“ไม่ช่วยมันซื้อมาเหมือนก่อน มันไม่ว่าเอารึ”
“ก็บอกเขาไปตรง ๆ ว่า ช่วยเจ้าอื่นบ้าง...ใครจะไปกินของซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ได้ละ ม้าว่าไหม”
“ว่าไป ม้าก็นึกอยากกินหม้อแกงของมันนะ เห็นที่งานแต่งคนบ้านเหนือวันนั้น สีสัน หน้าตา น่ากิน กลิ่นงี้หอม ติดจมูกเลย...ใคร ๆ ก็ชมว่าของมันอร่อย นึกแล้วก็ยังน้ำลายไหล...”
พิไลกะพริบตาปริบ ๆ เพราะไม่คิดว่า จะได้ยินแม่ผัวพูดถึงสะใภ้ใหญ่ด้วยน้ำเสียงอย่างนี้...
“หนูจะบอกให้เขาทำให้เอาไหมม้า ถ้าม้าอยากกิน” พิไลรีบเอาใจ
“ก็ลองบอกให้มันทำมาซิ อุดหนุนมันได้ก็อุดหนุนมันบ้าง...ว่าไปแล้ว ม้าก็สงสารมันเหมือนกัน...นั่งตากหน้าอยู่ตรงนั้น ใครรู้ใครเห็นก็เอาไปซุบซิบนินทาว่าม้าลำเอียง...”
ยิ่งประโยคนี้ยิ่งทำให้พิไลรู้สึกแปลกใจหนักเข้าไปอีก...
พอนางย้อยเผลอ พิไลก็บอกกับประสงค์ว่า “เฮีย ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น วันนี้ม้า พูดถึงอาซ้อด้วยน้ำเสียงหวานหูขึ้น...”
“หวานหูอย่างไร”
“จู่ ๆ ก็นึกอยากกินขนมหม้อแกงฝีมืออาซ้อขึ้นมา แล้วก็บอกว่า นึกสงสารที่อาซ้อต้องไปตากหน้าขายของอยู่ที่ตลาดเช้าทุกวัน...”
ประสงค์นิ่งฟัง...ไม่ออกความคิดเห็น แต่ใจนั้น ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’
************************
“เห็นพี่ทำขนมโน่นนี่นั่นแล้ว หนูก็อยากทำขนมทำของกินของบ้านหนูบ้าง” พอเคี้ยวขนมข้าวโปงที่เรณูใส่กระทงมาฝาก จันตาก็เปรยขึ้นมา...
“อยากทำอะไรล่ะ...”
“อยากกินข้าวแคบ...”
“ทำอย่างไร...”
จันตาอธิบายคร่าว ๆ
“ฟังแล้วน่าสน...ขอเจ๊นี้ไปทำที่บ้านพี่ซิ...จะได้สอนพี่ไว้ด้วย”
“ฉันต้องดูแลอาม่า”
หมุ่ยนี้เดินเข้ามาในครัวได้ยินพอดี...จึงถามว่า “อยากจะไปไหนกันล่ะ”
“จันตาเขาอยากอวดฝีมือทำข้าวแคบ...เขาว่าวิธีการคล้าย ๆ กับ ข้าวเกรียบปากหม้อบ้านเรา แต่ว่า แผ่นบางกว่าแล้วก็ต้องตากให้แห้ง เก็บไว้กินได้นานเป็นเดือน ๆ...”
“น่าสนนะ...วันไหนดี...” แล้วหมุ่ยนี้ก็กรอกตาครุ่นคิด...ก่อนจะบอกว่า “ถ้าเป็นวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ เธอจะสะดวกไหมล่ะเรณู...”
“ทำไมต้องเป็นวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ด้วยล่ะ” เรณูซัก...
“ก็แจ้จะไปด้วย แล้วก็จะชวนคุณปลัดจินกรเขาไปด้วย...อยู่บ้านก็เบื่อ หาอะไรตื่นเต้นทำมั่ง”
พอมีชื่อปลัดจินกร ทำให้เรณูต้องเหลือบตามองจันตาก่อนถามว่า “แล้วเจ๊ไม่ขายของ...”
“ให้อาแจ้กับลูกน้องเขาขายกันไป”
“แล้วทำไมจะต้องชวนปลัดจินกรไปด้วยล่ะ...เขามาเกี่ยวอะไรกับข้าวแคบด้วย...”
“ก็...อยากแกล้งคนแถว ๆ นั้น...”
“ใครเหรอ”
“เจ๊...” จันตาไม่อยากให้หมุ่ยนี้เล่าเรื่องกมลให้เรณูได้รับรู้ แต่หมุ่ยนี้หาได้สนใจ
“อาซานะซิ นี่แจ้ก็เพิ่งรู้ว่าเขามีคู่หมั้นคู่หมายเป็นถึงลูกสาวกำนันตำบลฆะมัง เชียวนะ”
“อ้าวเหรอ ทำไมหนูไม่เห็นรู้เรื่องเลยล่ะ”
“อาสี่มันบอก เห็นว่าผู้ใหญ่คุยกันแล้วแหละ เรือล่มในหนองทองจะไปไหนเสีย เข้าใจไหม...”
เรณูครุ่นคิดถึงคำบอกเล่าของกมลที่เคยบอกกับตนไว้ว่าเขามีคนที่นางย้อยเล็งไว้ให้แล้ว ก็พยักหน้าเบา ๆ แต่ถึงอย่างไรเรณูก็อดสงสัยไม่ได้...
“แล้วอาซามาเกี่ยวอะไรกับเรื่องของ ข้าวแคบ และคุณปลัดด้วย...”
“ก็แจ้ ดูออกว่าอาซาอีชอบ อาจันตาของแจ้”
“อ้าวเหรอ...จริงเหรอ” ถามหมุ่ยนี้แล้วเรณูก็หันมามองหน้าของจันตาที่เบือนหน้าหนีสายตาของเรณู...
“จริงไม่จริง เดี๋ยว เธอก็เห็นหรอกว่า วันที่ปลัดไปบ้านของเธอพร้อมกับจันตา อาซามันจะปั้นหน้าอย่างไร...”
**********************
ด้วยความอยากรู้ว่าเป็นเรื่องจริงเท็จประการใด พอกลับมาถึงโรงสี วางหาบลงแล้วเรณูก็เอ่ยปากชวนกมลคุยเรื่องที่ค้างคาใจ...เริ่มต้นเรณูก็แย็บไปว่า
“ไม่บอกไม่เล่ากันเลยน้า”
“ไม่บอกไม่เล่าอะไรหรือซ้อ”
“ก็เรื่องที่เธอจะแต่งงานกับลูกสาวกำนันตำบลฆะมังนะซิ...”
“แล้วซ้อไปรู้เรื่องนี้มาจากไหน...”
“ได้ยินคนที่ตลาดคุยกัน” เรณูจำต้องอ้างแบบที่ใคร ๆ ก็มักเอามาอ้างกัน
กมลทำหน้าหนักใจ ก่อนจะส่ายหน้าแล้วเขาก็บอกว่า “เรื่องนี้เพิ่งคุยกันในบ้านแท้ๆ ทำไมมันกระจายไปเร็วจัง”
“แล้วจะแต่งกันเมื่อไหร่”
“อย่างเร็วสุดก็เดือนหกปีหน้านะซ้อ...แต่งแล้ว ก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านเขา...เพราะเขาเป็นลูกสาวคนเล็ก และที่สำคัญผมต้องไปเป็นชาวนานะซ้อ...คิดแล้วก็เก็กซิม” อันที่จริงเขาไม่ได้ปวดหัวหรือหนักใจเรื่องที่จะต้องไปเป็นชาวนา แต่เขาหนักใจที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด จากวิถีชีวิตที่คุ้นเคย จากความสะดวกสบายไปอยู่บ้านของเมีย ซึ่งไม่ได้รักใคร่กันมาก่อน แถมต้องไปอยู่ภายใต้ใบบุญของพ่อตาที่เป็นถึงกำนัน ที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า คนพวกนี้จะ ‘ดุ’ เป็นอย่างมาก...
พอได้ฟังแล้วเรณูก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน...เพราะถ้ากมลไปเสียคน ‘มิตร’ ในยามยากของเธอก็จะหายไปด้วย ประสงค์นั้นเรณูไม่คาดหวังว่าจะช่วยเธออะไรได้ เพราะพิไลนั้น เรณูพอมองออกหรอกว่า ลึก ๆ แล้วก็พยายาม ‘ข่ม’ เธออยู่ในที
แล้ว ‘ของ’ หมอก้อนที่ได้โอกาส ‘ปล่อย’ ไปแล้ว เรณูก็ไม่มั่นใจว่าจะได้ผล...เพราะมันไม่ได้ให้กินกับมือ ได้เห็นกับตาเหมือนตอนที่จัดการกับปฐม...
“เธอไปสักคน แล้วใครจะดูแลทางนี้ล่ะ”
“ก็ที่จะให้แต่งเดือนหกก็จะรอให้ตั่วเฮียปลดทหารมาก่อนไง...ตั่วเฮียก็คงดูแลที่นี่ไป หรือไม่ ก็เฮียรองต้องมาดูที่นี่”
“อ้าว ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ อาตงทำไมต้องมาช่วยงานที่นี่อีก”
“ตอนนี้ที่ร้าน คนขายจะมากกว่าคนซื้อแล้วซ้อ”
“แล้วทำไม ไม่ให้อาตง ออกมาช่วยงานที่นี่ ซะตั้งแต่ตอนนี้เลยล่ะ” เรณูซักอีก
“เอ่อ...” กมลไม่อาจบอกได้ว่า ตอนนี้ ม้ายังไม่ไว้ใจ พิไล...
“เอ่อ...ก็ผมยังอยู่ไง เตี่ยก็ยังช่วยอีกคน...ก็ให้เฮียเขาอยู่ตรงนั้นแหละ เพราะอาซ้อพิไลก็ยังไม่ค่อยรู้งาน”
“แล้ว ถ้าเฮียใช้กลับมา ทำไมต้องให้เฮียตงมาวุ่นวายที่นี่ล่ะ...” เรณูแกล้งซักต่อ ด้วยคิดว่า ถ้านางย้อยมีความยุติธรรมพอ กิจการตรงนี้ ถ้าไม่มีกมลมันจะกลายเป็นของปฐมไปโดยปริยาย...
“เรื่องในอนาคตนะซ้อ ทุกอย่างมันแล้วแต่ม้าจะเห็นสมควร...”
“อาสี่ล่ะ...”
“ไปเรียนแล้ว ก็คงไปหาอะไรทำของมันไปตามประสา แล้วม้าก็จะไปซื้อตึกไว้ทางโน้นด้วย เผื่อมันมีลู่ทางของมัน”
“เธอก็ไปอยู่บ้านเมียเธอเลย...ไม่ได้กลับมายุ่งกับกิจการทางนี้อีกแล้ว”
“อาจจะไม่ได้แต่งกันก็ได้ซ้อ”
“ทำไมล่ะ...ไหนว่าเดือนหก”
“ก็มันอีกตั้งหลายเดือน อะไร ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้นี่นา ผมเอง จริง ๆ แล้วก็น่าจะบวชเสียก่อนแต่ง ไหนจะคัดเลือกทหารอีก...เขาอาจจะรอผมไม่ไหวก็ได้”
“ถามจริง ๆ นะซา เธอมีคนที่เธอรู้สึกชอบเป็นพิเศษแล้วใช่ไหม”
“ยังไม่มีหรอกซ้อ”
“ดวงตาของเธอมันปิดหัวใจเธอไม่มิดนะ...” เรณูได้จังหวะกะเทาะหัวใจของกมล เพราะอยากจะรู้เหมือนกันว่าที่ หมุ่ยนี้คิดเห็นนั้นเป็นจริงหรือเปล่า
“แล้วตอนนี้ ซ้อเห็นใครในใจผมละครับ...” คำพูดของเรณูเหมือนกับจอบที่มาขุดดินปิดหลุมถ่าน...ความรู้สึกห่อเหี่ยวอุดอู้อยู่ในใจของเขาก็เหมือนความร้อนที่หาทางระบาย...ดวงตาของเขาเป็นประกายหลังจากที่ได้ถามเรณูออกไป
“พี่เดาว่า จันตา...ใช่ไหม”
กมลมองหน้าเรณูแล้วหลบสายตามองไปข้างนอก เรณูจึงถามซ้ำ “ใช่จันตาไหม พี่ทายถูกหรือเปล่า”
“ทำไมคิดว่าเป็นเขาล่ะ...”
“ก็เธอถามพี่เองนี่ว่าเห็นใครในใจของเธอ...พี่ก็ตอบไปตามความรู้สึกแรกที่มันผุดขึ้นมา...ก็แค่นั้นแหละ จันตาใช่ไหม พี่ทายถูกไหมล่ะ”
“จันตาเขามีแฟนแล้ว ผมจะไปคิดอะไรกับเขาทำไมละซ้อ”
“ใครล่ะแฟนเขา”
“ปลัดจินกร...หมุ่ยนี้เขาเป็นแม่สื่อให้อยู่...ซ้อก็น่าจะรู้เห็นอยู่บ้างมั้ง”
“ถ้าชอบเขาจริง คิดจะสู้ พี่ว่า เธอก็น่าจะสู้เขาได้อยู่นะ”
“สู้น่ะสู้ได้ แต่ผมกับเขามันมีทางจะลงเอยกันได้ง่าย ๆ ไหมล่ะ”
พอเขาย้อนถามกลับ เรณูก็เข้าใจทันที...เพราะถ้าเปรียบเทียบจันตากับลูกสาวกำนันตำบลฆะมัง จันตาสู้ไม่ได้แน่ ๆ แล้วนางย้อยก็คงขัดขวางความรักของกมลอย่างเต็มกำลัง...ทางเดียวที่จะช่วยกมลได้ก็คือ ปลอบใจและพูดให้เขาตัดใจเสียเร็วไว เพราะความรัก ความรู้สึกดี ๆ เมื่อมันเกิดขึ้นกับใครสักคนแล้ว มันไม่ได้ครอบครองให้สมรัก ใจมันก็จะมีแต่ความทุกข์...ทรมาน
********************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #17 on: 01 March 2020, 21:03:28 » |
|
ตอนที่ 18 : มงคล วรรณา มาลา
๑๘
“อาอี๊...ผมเอารูปงานแต่งของพี่ชายผมมาให้ให้ครับ...” มงคลบอกนางหุย เมื่อเดินเข้ามาในร้านตัดผ้า...
“ใครพี่ชายเธอ”
“เจ้าสาวชื่อพิไล คนทับกฤชน่ะครับ อาซ้อเขาบอกว่า เขาตัดชุดที่ร้านนี้”
“อ๋อ...หนูพิไล เขาแต่งงานกับพี่ชายเธอหรอกรึ โลกกลมดีจังเลย...”
พอรับรูปถ่ายขนาด 3 x 5 นิ้ว ภาพขาวดำ ซึ่งเป็นรูปเจ้าบ่าวอยู่ในชุดสูทกับเจ้าสาวอยู่ในชุดแต่งงานแบบจีนและแบบฝรั่งอย่างละรูปมาดู นางหุยก็ถามมงคลว่า “สองรูปนี่เท่าไหร่”
“ไม่เป็นไรครับ...”
“ขอบใจมาก”
“วรรณาอยู่ไหมครับ”
“อยู่นะ อยู่หลังร้าน...”
“เรียกเขามาพบผมหน่อยได้ไหมครับ...”
นางหุยเดินเข้าไปทางหลังร้าน ซึ่งเป็นส่วนที่ตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นห้องเรียน และด้านหลังสุดเป็นส่วนของครัว...อึดใจใหญ่ ๆ วรรณาก็เดินออกมา...
“มีอะไรกับฉันรึ”
“คิดถึง...” เป็นเพราะนางหุยไม่ได้ตามออกมาด้วย มงคลจึงได้โอกาส...
แม้จะรู้สึกเขิน แต่วรรณาก็พยายามเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ แล้วเบะปากให้เขา มงคลมองหน้าวรรณาแล้วยิ้มกริ่มก่อนจะบอกว่า
“เอารูปของเธอมาให้...ถ่ายออกมาแล้ว บอกเลยว่า สวยกว่าตัวจริงอีกนะ” ว่าแล้วเขาก็ตบกระเป๋าเสื้อ
วรรณานั้นอยากเห็นรูปที่เขาว่า ‘สวยกว่าตัวจริง’ เป็นอย่างมาก แต่เมื่อเขายักท่า วรรณาจึงบอกว่า “ไหนล่ะ เอามาซิ”
“ค่ำนี้ไปดูหนังด้วยกันได้ไหม...”
“ไม่ได้หรอก...ไม่เคยออกจากร้านไปไหนตอนกลางค่ำกลางคืน...”
“ไม่พาไปทำอะไรหรอกน่า”
วรรณาเบะปากให้เป็นคำตอบ
“แล้ววันเสาร์หรือวันอาทิตย์ล่ะ ช่วงกลางวันออกไปดูหนังด้วยกันได้ไหม” มงคลยังไม่เลิกตอแย
“ไม่ได้เหมือนกัน...” วรรณาตอบไปด้วยน้ำเสียงรำคาญ
“ไม่ใช่กลางคืนซะหน่อย...”
“ก็ไม่เคยไป...ไม่นึกอยากไป แล้วก็ไม่มีตังค์จะไปด้วย”
“แล้วถ้าเราเลี้ยงล่ะ ไปได้ไหม...”
“ไม่ไป...”
“ทำไมล่ะ...ไปดูหนังเป็นเพื่อนเราหน่อย เราไม่มีเพื่อน เราเหงา เราเลี้ยงตัวเองก็ได้ นะนะ...”
“เร็วเอารูปมา จะกลับไปทำงานต่อ...”
“ไม่ไปดูหนังกับเขา ก็ไม่ให้รูปหรอก...”
“ไม่ให้ ก็ไม่เอาก็ได้”
“ไม่อยากเห็นจริง ๆ อ่ะ สวยนะ สวยกว่าตัวจริง นี่ถ้าแต่งหน้าทำผมซะหน่อยนะ...พิศมัย ก็ทำอะไรไม่ได้”
“เร็วอย่าโยกโย้” วรรณาเสียงห้วน...
“หมุ่ยนี้บอกว่า ถ้าได้เสื้อแล้วก็เอาไปให้แกด้วยนะ...”
“เสร็จแล้วหละ แต่ยังไม่ว่างเอาไปให้เขา...แล้วนายจะกลับชุมแสงเมื่อไหร่...จะได้ฝากเอาให้อาเจ๊เขา...”
“ไม่มีกำหนด แต่น่าจะหลังจากงานประกวดนางสาวสี่แควนะ...” สายตาของเขาเต้นระริก ใบหน้าของวรรณาก็แดงซ่านขึ้นมา เพราะรู้สึกเขินอาย...
“จะเอารูปนางสาวสี่แควไปให้หมุ่ยนี้ดูด้วยน่ะ...”
วรรณายืนนิ่งฟัง เขามองหน้าจ้องตา วรรณารีบเบือนหน้าหนีสายตาของเขา... เพราะเป็นผู้หญิงสู้สายตาผู้ชายก็เหมือน ‘เล่นด้วย’
“เอ้า รูป...” ว่าแล้วเขาก็ดึงซองกระดาษในกระเป๋ายื่นให้ วรรณยื่นมือไปรับแล้วถามว่า “เท่าไหร่”
“ฟรี...”
“ขอบใจนะ...ไปกลับบ้านไปได้แล้ว คุยนาน ๆ น่าเกลียด”
“รู้หรอกน่า...ว่าหัวโบราณ...ไปแล้วนะ คิดถึงกันบ้างนะ” เขาพูดยิ้ม ๆ ทำเหมือนไม่อยากจะไป วรรณเบะปากให้ แล้วเขาก็ผละออกไป แต่กว่าจะลับตาได้ เขาก็หันมา ยิ้มและโบกมือให้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า...วรรณาหน้าแดงซ่านขึ้นมา ยอมรับว่า วูบไหวกับกิริยาของเขา...
หลังจากดึงรูปออกมาจากซองกระดาษ วรรณาก็เห็นว่า เขาอัดรูปมาให้เธอเสียหลายบาน...และรูปสุดท้ายนั้นเป็นรูปของเขาซึ่งอยู่ในชุดเสื้อยืดคอปกพอดีตัว สวมกางเกงขายาว ใส่รองเท้าหนังหุ้มส้นเรียบร้อย เขาเต๊ะท่าอยู่กับจักรยานคันหนึ่ง...ด้านหลังเป็นฉากเรือนแถวไม้สองชั้น...น่าจะเป็นที่ตลาดชุมแสง...และด้านหลังรูปก็มีข้อความว่า
‘ให้วรรณาไว้ดูยามคิดถึงกัน...มงคล(สี่) พ.ย.๒๕๑๐’
**************
พอวรรณาปฏิเสธที่จะออกมาดูหนังกับเขา มงคลที่เดินออกจากร้านของนางหุยมาแล้วก็ไหวไหล่...ใจของเขานั้นหาได้ยี่หระกับ ผู้หญิงที่ ‘เล่นตัว’ กับเขาสักนิด เมื่อวรรณาปฏิเสธไมตรีของเขา เขาก็มีที่หมายใหม่ในทันที...เพราะในตลาดปากน้ำโพนี้ เขาหว่านเสน่ห์ไว้ทั่ว...ที่เขาตอแยทำท่าเหมือนหลงใหลในความสวยงามของวรรณาก็เป็นเพราะอยากเอาชนะ เหมือนที่เขาเคยทำกับผู้หญิงมานักต่อนัก และพอบรรลุเป้าหมาย ก็คือ ‘ร่างกาย’ ที่ทอดให้เขาเชยชม ในโรงแรม หรือตามที่รกร้างข้างทาง ผู้หญิงเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเพียงคนที่เขาแค่เคยรู้จักในทันที...
มงคลเดินอ้อยอิ่งผ่านหน้าโรงเรียนสอนเสริมสวย...พรางปรายตามองเข้าไปในร้าน
‘มาลา’ ที่ยืนอยู่หน้ากระจกหันมาสบตา...เขาแย้มริมฝีปากให้ แล้วสะบัดหน้าเบา ๆ เพียงแค่นั้น มาลาก็รู้แล้วว่า จะต้องเดินตามเขา มาพูดคุยกัน...
พอพ้นหัวมุมเรือนแถว เขาก็หยุดรอหญิงสาว อึดใจใหญ่ ๆ มาลาก็เดินเข้ามาหา...ใบหน้ายิ้มแย้มดวงตานั้นเป็นประกาย
“วันนี้ ว่างพอจะไปดูหนังด้วยกันไหม”
“วันนี้เหรอ” มาลาชักสีหน้าครุ่นคิด...
“ถ้าไม่ว่าง ก็ไม่เป็นไร ...เฮียไปดูคนเดียวก็ได้”
“ว่าง ซิ ว่าง...ทีแรกก็นึกว่าเฮียจะไม่อยากไปดูหนังกับหนูอีกแล้ว...” เพราะครั้งแรกที่ไปด้วยกัน มือไม้ของมงคลนั้นยุ่มย่ามอย่างกับหนวดปลาหมึก มาลาสาวจาก ตำบลเขากะลา แกะมือของเขาออกจากไหล่ จากมือ และต้องคอยหลบปลายจมูกของเขาอยู่ตลอดเวลา...กระทั่งหญิงสาวตัดสินใจลุกหนีเดินออกมาจากโรงหนัง...โดยที่เขาไม่ได้ตามมางอนง้อแต่อย่างใด
ตั้งแต่วันนั้น เขาก็ไม่มาตอแยอีก...ใจของมาลาร้อนรุ่มเพราะคิดว่าเขาจะต้องโกรธที่ตนเล่นตัว...แต่วันนี้พอเขากลับมาพร้อมกับสายตาเสน่หา มาลาก็แทบจะถลาตามเขาออกมาจากในร้านที่ตนเองฝึกงานอยู่...เพราะรู้แล้วว่า ความคิดถึงนั้นมันทรมานเพียงใด...
***************
“ม้า...ม้า...ม้า”
“หือ...” นางย้อยที่นั่งอยู่หลังโต๊ะบัญชีสะดุ้งเมื่อพิไลวางกาน้ำชาลง แล้วร้องเรียก
“ม้าเป็นอะไร หมู่นี้ดูเหม่อลอย คิดอะไรอยู่หรือจ๊ะ”
“คิด...เอ่อ...ไม่ได้คิดอะไรหรอก...” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมา พิไลสังเกตเห็นว่าใบหน้าของนางย้อยนั้นหมองคล้ำ ดวงตาอิดโรยเหมือนคนนอนไม่หลับ ครุ่นคิดหาทางออกกับปัญหาบางอย่างอยู่ตลอดเวลา...
“คิดเรื่องอาซาหรือเปล่า” พอเห็นหนทางที่จะเข้าครอบครองกิจการโรงสี พิไลจึงรีบฉวยโอกาสทันที
นางย้อยเหลือบตามองพิไล แล้วถอนหายใจออกมา...ความในใจนั้นยังคงเก็บงำไว้เช่นเดิม
“หรือว่า คิดเรื่อง ตั่วเฮีย...” คำว่า ‘ตั่วเฮีย’ นั้นแม้จะเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงราบเรียบเต็มไปด้วยความยกย่องนับถือตามธรรมเนียม แต่ลึก ๆ คำนั้นก็ยังเป็นการสะกิดความรู้สึกเจ็บของพิไลอยู่ไม่วาย
...เป็นเพราะอีเรณูมันเล่นของสกปรก...เขาจึงต้องกลายเป็นของมัน มันทำให้ความรักและแผนชีวิตของพิไลพังครืนจนตั้งตัวรับมือแทบไม่ทัน ...วันหน้า ชีวิตของมันก็จะต้องพังไม่เป็นท่า ด้วยน้ำมือของพิไลเช่นกัน...พิไลแอบตั้งเป้าไว้อย่างนั้น
“นี่อาตงไปไหน”
“ไปท่าเรือ รอรับของ กับป้อม...” ตรวจรับสินค้าแล้ว เขากับป้อมก็จะช่วยกันขนไปเก็บไว้ในโกดังที่โรงสี...
“อืม...”
“ม้า เรื่องอาซา ม้าอย่าหาว่าหนู อย่างนั้นอย่างนี้เลยนะ”
“อย่างนั้น อย่างนี้ อะไร ทำไม” หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน
“ก็อย่าหาว่า ...ว่าหนู สาระแนละกัน คือ ถ้าม้าเห็นว่าอาซากับลูกสาวกำนัน ดูเหมาะสมกัน ม้าก็ให้อาซารีบแต่งเถอะ ม้า...อย่ารอไปถึงเดือนหกปีหน้าเลย มันนานมากนะม้า”
“นานแล้ว ทำไม”
“ก็ ถ้ามีคนไปสู่ขอลูกสาวเขา ตัดหน้าเราไปซะก่อนละม้า...โอกาสที่จะเป็นทองแผ่นเดียวกับกำนันก็จะหายไปทันที”
“ไม่เป็นก็ดี เพราะอาซามันก็ยังไม่ได้บวช...แล้วมันก็อายุเท่านี้เอง”
“ม้าก็รู้นี่ว่า ทางนั้นเขารวยและกว้างขวาง แค่ไหน...หนูคิดว่าที่เขาเลือกเรา ก็เพราะเห็นว่า เรา เอ่อ ด้อย กว่าเขาหน่อย พอที่จะ ดึง อาซาไปเป็นลูกชายของเขาได้หรอก แต่ถ้ามีคนที่เหนือกว่าเราผ่านเข้ามาแทนล่ะ หนูว่า เขาก็จะต้องรีบตกลงแน่ ๆ”
“ถ้าเขามีคนที่ดีกว่าอาซา เขาก็คงไม่เร่มาหาเราหรอก”
“ทางเราก็มีดี ดีมากด้วย แต่ ดีกว่าเรามันก็มีนี่ม้า แต่เขาให้โอกาสเราก่อน เพราะอาศรีแกคงถูกใจอาซา แต่ถ้าเราเล่นตัวจนทำให้เขารู้สึกอับอายที่เหมือนเอาลูกสาวมาเร่ขายเหมือนของไม่มีราคา เขาก็อาจจะเปลี่ยนใจได้นะม้า...”
นางย้อยนิ่งคิดตาม...เพราะที่พิไลพูดมามันก็ถูก...เป็นเพราะนางศรีชอบอาซา จึงได้ออกหน้าเป็นแม่สื่อ ชักนำให้กำนันเดินเข้ามาหาถึงที่นี่ ทั้งที่เป็นฝ่ายหญิง แต่นางกับลูกก็ยังยักท่า ผลัดนั่นผลัดนี่เหมือนไม่อยากรับไมตรีของเขา...เขาก็อาจเข้าใจได้ว่า เป็นการปฏิเสธโดยละม่อม...
แต่ว่าอีกแปดเดือน มันก็ไม่ได้นานสักเท่าไหร่...นางย้อยคิดเข้าข้างตัวเองเหมือนเดิม
“ม้า...ม้ากังวลว่า ถ้าอาซาแต่งไปแล้ว จะไม่มีคนช่วยงานเตี่ยที่โรงสีใช่ไหม เพราะตั่วเฮียก็ยังไม่ปลดทหาร”
“อือ...”
“ก็ อาเฮียไงม้า...เฮียตงก็ยังอยู่ทั้งคน...”
“แต่อาตงจะต้องอยู่ช่วยงานที่ร้านนี้”
“ม้า อย่าลืมซิ ว่าตอนนี้ ร้านนี้ มีหนูเข้ามาช่วยอีกแรงแล้ว...คนงานก็อีกสองคน...ถ้าอาซาแต่งไปกับลูกสาวกำนัน ก็ให้เฮียตงไปอยู่โยงที่โน่นก็ได้...”
นางย้อยนิ่งคิด...แล้วนิ่งเงียบ... พิไลเห็นว่า นางย้อยคงจะไม่ใจอ่อนง่าย ๆ หญิงสาวจึงค่อย ๆ เลี่ยงออกไป...โดยใจก็ครุ่นคิดว่า มันจะต้องมีหนทาง ‘เขี่ย’ กมลไปให้พ้นทาง เพื่อที่สามีของตนจะได้ไปครอบครองกิจการโรงสีนั่นแทนโดยเร็วพลัน
--------------
ตั้งแต่มาอยู่ชุมแสง และเป็นแม่ค้าขายขนมตอนเช้า เรณูไม่เคยเห็นนางย้อยมาเดินตลาดเช้า...แต่วันนี้ พอเห็นนางย้อยเดินยิ้มแย้มทักทายพูดคุยกับบรรดาแม่ค้าบนแผงในตลาดและที่วางหาบอยู่กับพื้น...เรณูก็แสยะยิ้ม...เพราะมั่นใจได้ว่า ขนมหม้อแกงที่พิไลมาสั่งไว้เมื่อวันก่อนนั้น ‘ออกฤทธิ์’ อย่างแน่นอน...
อึดใจใหญ่ ๆ นางย้อยก็เร่...จากด้านในชายคาตลาด เดินออกมายังบริเวณแถวหาบของแม่ค้า...เสียงทักทายถามไถ่หยอกเย้าดังมาเข้าหูของเรณู...
“ร้อยวันพันปีไม่เคยเห็น พี่ย้อยออกมาเดินตลาดเช้า...วันนี้นึกครึ้มใจอะไรล่ะ”
“ไม่ได้ครึ้มใจอะไร ก็แค่อยากออกมาดูนั่นดูนี่บ้าง...”
“...มาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นได้อะไรสักอย่าง ช่วยฉันซื้อผักกาดเขียวหน่อยเถอะ”
“นึกไม่ออกว่าจะทำอะไรกิน”
“แกงส้มไง โน่นปลาช่อนเจ้าโน้น เพิ่งมา ตัวใหญ่เบิ้มเลย”
“โอ๊ย...ฉันไม่ฆ่าปลามานานเนแล้ว”
“ก็ให้เขาทำให้ ก็ได้นี่”
“ชี้ให้เขาทำ มันก็บาป”
แล้วเรณูก็ได้ยินเสียงแม่ค้าอีกคนแย้งขึ้นมาว่า “แม่ย้อย รู้จักเรื่องบาปกรรมด้วยรึ”
“อ้าว...ทำไมจะไม่รู้ล่ะ ลูกฉันบวชตั้งสองคนนะ...แล้วฉันก็ฟังเทศน์ฟังธรรมตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น” น้ำเสียงนั้นไม่มีความขึ้งโกรธแต่อย่างใด...
และอึดใจ เรณูก็เงยหน้ามองนางย้อยที่เดินมาหยุดอยู่ที่หน้าหาบ...ตาสองคู่ประสานกัน แล้วเรณูก็ยิ้มแหย ๆ ให้...เพราะตั้งแต่วันที่นางย้อยไปหาที่โรงสีเพื่อด่าทอ...ขับไล่ไสส่งให้ไปให้พ้นจากชีวิตของปฐม...เรณูก็ไม่ได้พบนางย้อยอีกเลย...
สายตาของนางย้อยนั้นว่างเปล่า ไม่มีแรงเกลียดชังซุกซ่อนอยู่ภายในใจเหมือนที่เคยเห็น...
และที่ทำให้บรรดาแม่ค้าในบริเวณต้องชักสีหน้าแปลกใจ เมื่อได้ยินนางย้อยทักเรณูขึ้นก่อนว่า “วันนี้ทำอะไรมาขาย”
“ทำถั่วแปบจ้ะ...”
“เหลือเยอะเลยนี่...ขายไม่หมดจะทำอย่างไร”
“ก็คงต้องหาบเร่ไปตามตรอกซอกซอย แหละจ้ะ...” ตอบนางย้อยไปด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ แล้ว เรณูก็นิ่งเงียบ...แสร้งก้มหน้าปัดแมลงวันที่มาตอมขนมโดยหูก็พยายามเงี่ยฟังว่านางย้อยจะพูดเรื่องอะไรกับตนอีก
...เรณูได้ยินเพียงเสียงถอนลมหายใจ แล้วนางย้อยก็เดินจากไป...เรณูมองตามหลังไป แล้วหูก็ได้ยินแม่ค้าขายผักที่นั่งอยู่ติดกันถามขึ้นว่า
“แม่ผัวเอ็งกินยาผิดขนานหรือเปล่าเรณู”
***********
เดินกลับมาจากตลาด นางย้อยก็พบเจ๊กเซ้งนั่งดื่มน้ำชาอยู่ที่โต๊ะอาหาร...นางย้อยมองไปทางบนบ้านเห็นว่ายังไม่มีวี่แววว่าลูกชายคนที่สามจะตื่นนอน นางย้อยจึงพูดว่า
“เฮีย อั๊วมีเรื่องจะปรึกษาหน่อย...”
“ปรึกษาเรื่องอะไร”
นางย้อยทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้แล้วบอกว่า “อั๊ว...ไม่สบายใจเรื่องอาเรณู...”
พอได้ยินดังนั้น เจ๊กเซ้งก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง...เพราะคิดว่า เป็นเพราะนางย้อยไปเดินตลาดแล้วเห็นหน้าเรณู อารมณ์เกลียดชัง ก็เลยพลุ่งพล่านขึ้นมาอีก
“ปล่อยอีไปเหอะน่า ต่างคนต่างอยู่เถอะ”
“ปล่อยอีไปได้อย่างไรล่ะ อีนั่งตากหน้าอยู่ตรงนั้น ก็เหมือนนั่งประจานเรา...อั๊วเห็นแล้ว อั๊วรู้สึกไม่สบายใจ”
หัวคิ้วของเจ๊กเซ้งขมวดเข้าหากัน ก่อนจะถามเหมือนไม่เชื่อหูตัวเองว่า “ลื้อว่าอะไรนะ”
“อั๊ว ไม่อยากให้อีไปนั่งขายขนมอยู่ตรงนั้น หรือหาบของขายไปตามตรอกซอกซอย...ให้เราพลอยขายขี้หน้าชาวบ้านไปด้วย...” เผยความในใจแล้ว สีหน้าหนักใจของนางย้อยก็ดีขึ้น...
เจ๊กเซ้งนั่งนิ่งมองหน้า... ในใจเต็มไปด้วยความสงสัยว่า มันเกิดอะไรขึ้น มีอะไรมาดลบันดาลใจให้เมียของตนเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้...แต่ว่านางย้อยก็ไม่ยอมพูดอะไรต่อ หลังปล่อยให้ความเงียบเข้าครอบงำอยู่อึดใจใหญ่ ๆ เจ๊กเซ้งก็เอ่ยถามว่า
“ทำไมลื้อ ถึงเพิ่งคิดได้”
“อาเฮีย!” นางย้อยเสียงสูง
“มีใครมาต่อว่าลื้อ รึเปล่า”
“ไม่มีใครพูดอะไรหรอก อั๊วคิดได้ของอั๊วเอง...”
“ไม่ให้อีขายของ แล้วลื้อจะให้อีทำอะไร...จะให้อีอยู่บ้านเฉย ๆ รึไง อีคงไม่ยอมหรอก ถ้าจะให้อีทำงานที่โรงสี งานมันก็หนักเกินไป แล้วงานที่คอกหมู มันก็มอมแมมและเหม็นเกินจะทนด้วย”
“อั๊วอยากให้อีมาช่วยงานที่ร้าน หรือไม่ เราก็ต้องหาลู่ทางเช่าห้อง เช่าแผง ให้อีทำมาค้าขายให้เป็นเรื่องเป็นราว...”
“นี่...อั๊วหูไม่ได้ฝาดใช่ไหมอาย้อย”
“อั๊วพูดจริง ๆ อั๊วสงสารอี...แล้วอีกอย่าง อั๊วก็อยากชดเชยอะไรต่อมิอะไรให้ตี๋ใหญ่มันบ้าง...มีเมียก็ไม่ได้เสียเงินแต่งงานสักสตางค์แดงเดียว...ร้านนี้ที่ควรจะเป็นของมัน ก็ต้องยกให้อาตง...อั๊วบอกตรง ๆ อั๊วรู้สึกว่า อั๊วเป็นแม่ที่ใช้ไม่ได้เอาเสียเลย...”
เจ๊กเซ้งนิ่งคิด...
“เรื่องนี้ รู้แค่สองคนก่อนนะเฮีย อย่าเพิ่งพูดให้อาตง กับอาซา หรือใครรู้ไปล่ะ...”
“ทำไมรึ”
“หาทางออกให้เรณูมันได้แล้ว ค่อยบอกดีกว่า...พูดให้รู้ตอนนี้ เดี๋ยว เอ่อ...เดี๋ยว จะมีคนขัดเอา”
“ใครมันจะกล้าขัดความคิดลื้อ”
“อาพิไลไงล่ะ...ถ้าอั๊วยกย่องยอมรับอาเรณู เปิดร้านเปิดรวงให้ทำมาหากิน มันจะต้องเต้นเร่า ๆ แน่ ๆ...คนอย่างอีนี่มันไม่อยากให้ใครได้ดีเกินหน้ามันหรอก...”
**************
เมื่อเห็น หมุ่ยนี้ ปลัดจินกร และ จันตา พากันมาที่โรงสีพร้อมกับเรณู เพื่อใช้สถานที่ทำ ‘ข้าวแคบ’ อาหารท้องถิ่นบ้านเกิดของจันตา ไม่ใช่แค่กมลที่รู้สึกว่าปั้นหน้าได้ให้เป็นปกติได้ยาก แม้แต่ประสงค์ที่เพิ่งขนของเข้าเก็บในโกดังเสร็จ ออกมาเห็นพอดี ก็หน้าเจื่อน ๆ เพราะ...เพราะเมื่อเห็นหน้าจันตา ความรู้สึก ‘เสียดาย’ ก็ยังตามมาจู่โจมความรู้สึก...
เมื่อทั้งขบวนพากันไปที่กระท่อมของเรณูแล้ว... ประสงค์ก็ทรุดตัวลงนั่งมองน้องชายที่ยังคงมองคนกลุ่มนั้นอยู่...
“คิดอะไรรึ...”
“เจ็บจมูก...” ว่าแล้วกมลก็ใช้มือข้างขวาบีบปลายจมูกของตนเบา ๆ... แค่นั้นประสงค์ก็รู้ว่า อาการนั้นมีนัยอะไร... ‘จันตาอาจหาญพาผู้ชายมาเหยียบถึงปลายจมูกของกมล’
แม้จะไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวเรื่องหุงหาข้าวปลาอาหารและงานบ้านงานเรือน แต่เรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องเสื้อผ้าของประสงค์ พิไลเอาอกเอาใจเขาเป็นอย่างดี...เห็นผัวทำงานจนเหงื่อแตกเต็มใบหน้า พิไลก็จะส่งผ้าขนหนูสะอาดมาให้ซับเหงื่อ...หรือไม่ก็เดินไปตักน้ำฝนในโอ่งแล้วหยดยาอุทัยทิพย์มาส่งให้ดื่มเพื่อดับกระหาย วันนี้พอประสงค์เดินตามป้อมกลับมาที่ร้าน พิไลที่นั่งอยู่หน้าร้านก็ร้องทัก... “หิวน้ำไหมเฮีย...”
ประสงค์ส่ายหน้าก่อนจะถามว่า “แล้วกินข้าวกลางวันหรือยัง”
“ยัง รอเฮีย...วันนี้เราออกไปหาก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟกินกันไหม”
“แล้วที่ม้าทำไว้ให้ล่ะ”
“กินคนละชามก็ได้ ถ้าไม่อิ่ม ก็ค่อยกลับมากินของม้า ไปนะ ไปเลยแล้วกัน...” ว่าแล้วพิไลก็ฉุดแขนของประสงค์ให้เดินตามตนไป...
ระหว่างที่ละเลียดเส้นก๊วยเตี๋ยวเข้าปาก พิไลที่ยังมีเรื่องของกมลคาอยู่ในใจ ก็เริ่มชวนประสงค์พูดคุย...เพื่อหาช่องทาง ทำให้กมลแต่งงานไปอยู่ที่ฆะมังเสียโดยเร็ว
“เฮีย...เฮีย พอรู้ว่า อาซา เขามอง ๆ ลูกสาวบ้านไหนไว้บ้างไหม”
“ถามทำไม”
“เห็นเขาถูกจับคลุมถุงชน ก็เลย อยากรู้ว่า ถ้าม้าให้หาเมียได้ตามใจ เขาจะเลือกใครมาเป็นคู่สะใภ้ของฉัน...”
ประสงค์นิ่งคิด แล้วก็บอกสั้น ๆ ว่า “ไม่รู้ซิ”
“พี่น้องกัน...แล้วก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน มันต้องเผยเรื่องในใจให้รู้บ้างหละ เฮียอย่าปิดฉันเลยนะ...ที่ฉันถาม เพราะฉันหวังดีกับอาซาหรอก...”
ประสงค์ชะงักมือที่มีตะเกียบแล้วเงยหน้าสบตาของพิไล...
“คือ แบบนี้ เรื่อง อาซากับอาเพียงเพ็ญลูกสาวกำนันตำบลฆะมังน่ะ...ฉันมาคิด ๆ ดูแล้ว เหมือนทางเรา จะเล่นตัวไปนะ...ฉันเกรงว่าทางนั้นจะรู้สึกละอายที่เหมือนเอาลูกสาวมาเร่ขายแล้วเราก็ทำเป็นเล่นตัว ทีนี้ เขาก็จะตั้งแง่เอาบ้าง หรือดีไม่ดี มีคนที่คู่ควรเหมาะสมกัน ชิงตัดหน้ามาสู่ขอไปก่อน โอกาสดี ๆ ของอาซาก็จะหลุดลอยไป บอกตรง ๆ ว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ฉันรู้สึกเสียดายแทน”
ประสงค์นิ่งคิดตามคำของพิไล...
“สรุปว่า อาซา มองสาวบ้านไหนอยู่รึเฮีย...บอกให้ฉันรู้หน่อย จะได้เปรียบเทียบกันว่า มันจะคุ้มค่ากับการเสียโอกาสดี ๆ ไปไหม” พิไลยังไม่เลิกตะล่อม พอฟังเหตุผลของเมียนั้นดูเข้าที ประสงค์จึงบอกว่า
“ที่เห็น ๆ ก็ เหมือนว่า อาซาจะชอบ ลูกจ้างร้านสังฆภัณฑ์...ที่มาจากอุตรดิตถ์อยู่น่ะ”
“จริงเหรอเฮีย...”
“แต่อาซาคงไม่มีหวังแล้วแหละ” แล้วประสงค์ก็เล่าถึงเหตุการณ์ที่โรงสีเมื่อตอนสาย ๆ ให้พิไลได้ฟังคร่าว ๆ พิไลซักถามพอเป็นพิธี โดยในใจก็คิดว่า เรื่องที่อาซาหมายตาผู้หญิงที่มีฐานะด้อยกว่า... น่าจะทำให้นางย้อยรีบเร่งให้เขาแต่งงานกับเพียงเพ็ญในเร็ววันอย่างแน่นอน...
พอสบโอกาสในช่วงที่ช่วยนางย้อยทำอาหารเย็น...พิไลที่นั่งหั่นหมูให้แม่ผัวทำแกงพะแนง...ก็เปรยขึ้นว่า...
“ม้า หนูมีเรื่องอะไรจะเล่าให้ฟัง...”
นางย้อยที่หาเครื่องแกงโยนใส่ครกเพื่อให้พิไลตำ หลังจากหั่นหมูเสร็จชะงักมือ...
“เรื่องอาซาน่ะม้า...หนูรู้แล้วว่า เพราะอะไรอาซาถึงไม่อยากแต่งงานกับลูกสาวกำนันศร” พิไลบอกแค่นั้นแล้วก็ก้มหน้าหั่นหมูต่อ พอหูได้ยินคำถามว่า
“เพราะอะไร” พิไลแสยะยิ้มแล้วแสร้งชะเง้อไปทางหน้าร้าน ก่อนจะบอกว่า
“ เพราะ เอ่อ อาซาเขาไปชอบเด็กในร้านสังฆภัณฑ์น่ะม้า...เห็นเขาร่ำลือกันว่า อีเป็นคนสวยบาดจิตบาดใจ ม้าก็คงเคยได้ยินเรื่องหน้าตาของอีมาบ้างมั้ง...”
“ร้านไหน”
“ร้านอาแจ้หมุ่ยนี้...”
คำว่า หมุ่ยนี้ ทำให้นางย้อยนึกถึงลูกจ้างของหมุ่ยนี้ที่ชื่อจันตาซึ่งเป็นสาวสวยมาจากเมืองลับแลอุตรดิตถ์ จันตาที่คอยติดสอยห้อยตามนางป๋วยฮวยไปวัดในวันพระนั้น นางย้อยคุ้นหน้าเป็นอย่างดี...
ตอนที่เห็นจันตาครั้งแรก นางย้อยยังนึกเอ็นดูในความน่ารักของเจ้าหล่อน จนนึกอยากได้จันตามาเป็นลูกสะใภ้ของตน แต่พอรู้ว่าจันตาไม่ใช่หลานสาวของนางป๋วยฮวย แต่เป็นเพียงเด็กในร้านที่นางป๋วยฮวยได้ตัวมาจากทางเหนือ นางย้อยก็เลิกล้มเลิกความคิดนั้นทันที...
ลูกสะใภ้ของนาง จะต้องมีฐานะเท่าเทียมกัน ถ้าด้อยกว่า ก็ต้องเป็นลูกชาวนาที่มีไร่นาสาโท หรือไม่ก็ต้องมีการศึกษาซึ่งจะเป็นใบเบิกทางในการหาเลี้ยงชีพได้ในอนาคต แต่จันตานั้นไม่มีอะไรสักอย่างที่คู่ควรกับลูกชายของนาง...ความน่าเอ็นดูนั้นจึงกลายเป็นเพียงแค่รู้สึกสบายตาเมื่อได้เห็นหน้าเท่านั้น...
นางย้อยจึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยสักนิดว่าทำไม กมลถึงได้ถูกชะตากับจันตา...
และคำพูดอีกยืดยาวของพิไลก็ทำให้นางย้อยเริ่มเห็นว่า ขืนชักช้ารอไปจนถึงเดือนหกของปีหน้า ดีไม่ดี กมลอาจจะฮึดสู้เพื่อหัวใจของตนเองก็เป็นได้...
ค่ำวันนั้น ระหว่างที่กมลกำลังอาบน้ำอยู่ นางย้อยก็ถามเจ๊กเซ้งขึ้นว่า “เรื่องที่ให้ไปถามนังเรณูได้เรื่องไหม”
“ได้...อี บอกว่า ถ้าอีไม่ได้ขายขนม อีก็อยากเซ้งร้านขายเสื้อผ้า แล้วอีกอย่าง น้องสาวอีที่ชื่อวรรณา ก็เรียนตัดเย็บสำเร็จแล้วด้วย อีอยากดึงให้น้องอีมาอยู่ด้วยกัน...”
“แล้วอีถามกลับรึเปล่าว่า เฮียอยากรู้ไปทำไม”
“ไม่ได้ถามหรอก...อ้อ วันนี้ อี พาอาหมุ่ยนี้ กับ ลูกจ้างคนหน้าตาดี ๆ มาทำข้าวแคบที่โรงสีด้วยนะ”
“อะไรคือข้าวแคบ”
“ที่อาเรณูอีถือมาให้ชิม หน้าตามันก็คล้าย ๆ กับข้าวเกรียบปากหม้อนั่นแหละ เป็นแผ่นแป้งเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ แล้วจิ้มกับน้ำจิ้มเผ็ด ๆ เปรี้ยว ๆ อร่อยดีเหมือนกัน”
“เลยไม่ได้กินกับข้าวที่อั๊วทำไปให้เลยซินะ”
“กินอะไร มันก็ไม่เหมือนกินข้าวหรอกน่า แล้วฝีมือใครก็สู้ฝีมือแม่ย้อยไม่ได้หรอก”
“แล้วลูกจ้างอาหมุ่ยนี้ ใช่คนชื่อจันตารึเปล่า”
“ใช่มั้ง อั๊วก็ไม่รู้เหมือนกัน...ไม่ได้ถาม รู้แต่ว่า อีหน้าตาน่ารักดี”
“แล้วพวกนั้นนึกอย่างไร ถึงพากันไปทำข้าวแคบข้าวเคิบที่โรงสีของเรา”
“คือ ไอ้ข้าวแคบนี่มันก็เหมือนข้าวเกรียบนี่แหละ แซะออกมาจากปากหม้อแล้วจะกินเลยก็ได้ จะเก็บไว้กินวันหลังก็ต้องเอาไปวางบนตับหญ้าคาแล้วก็ตากแดดให้แห้ง...คือที่โรงสีบ้านเรามันกว้างขวางดี แล้วอาเรณูอีก็อยากทำเป็น ก็เลยให้อาจันตาอีมาสอน...อ้อ...ไม่ได้มาแต่หมุ่ยนี้กับจันตาหรอกนะ มีคุณปลัดหนุ่มมาด้วยอีกคน อั๊วก็จำชื่อเขาไม่ได้”
พอได้ยินดังนั้น หัวคิ้วของนางย้อยก็ขมวดเข้าหากัน...
“แต่อาซามันบอกว่า อาปลัดคนนี้ เขามาติดพันอาจันตานะ”
“แล้ว อาจันตาอีเล่นด้วยหรือเปล่าล่ะ”
“ถ้าไม่เล่นด้วย จะมาด้วยกันได้อย่างไรล่ะ”
“แล้วตอนที่เขาทำข้าวแคบกัน อาซามันอยู่ที่ไหน มันมีปฏิกิริยาอะไรไหม”
“มันก็ทำงานอยู่ที่โรงสีเหมือนที่เคยทำ พวกนั้นก็อยู่ที่กระท่อมนั่นแหละ ทำเสร็จแล้ว อาเรณูอีก็ถือมาให้ชิม...”
แม้จะรู้สึกโล่งอก แต่นางย้อยก็ยังไม่วางใจนัก...เพราะตราบใดที่จันตายังเป็นโสด กมลก็ยังมีโอกาส...และเวลาอีกตั้งหลายเดือน ไม่ใช่แค่กมลฝ่ายเดียวที่มีโอกาส ทางกำนันศรก็มีโอกาสเหมือนกัน คิดได้ดังนั้นแล้ว นางย้อยก็สรุปในใจว่า ถ้านางศรีมาเอาคำตอบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นางก็จะบอกว่าพร้อมให้อาซาแต่งออกไปอยู่ที่ฆะมัง
ส่วนงานที่โรงสี คงให้อาตงไปดูแทน แล้วงานของอาตงก็ให้เรณูมาทำแทน...
***********************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #18 on: 01 March 2020, 22:36:51 » |
|
ตอนที่ 19 : ลูบคม
๑๙
แม้จะถูกกำนันศรสั่งห้าม ไม่ให้มาป้วนเปี้ยนในบริเวณบ้านเหมือนอย่างที่เคย แต่ทิดก้านก็หาได้เชื่อฟัง เขายังคงเทียวไล้เทียวขื่อไปที่บ้านของกำนันศรอย่างไม่เกรงกลัวหัวตะพดและประกาศิตของกำนันแต่อย่างใด
โดยเขาอ้างกับกำนัน นางสมพร และนางแรมที่คอยกันท่าเขาไม่ให้พบกับเพียงเพ็ญว่า
“ผมแวะมาเที่ยวหาคนเคยทำงานด้วยกัน มันผิดด้วยรึพ่อกำนัน”
“ถ้ามาแค่นั้น มันก็ไม่ผิด...แต่ถ้าคิดจะมาในเขตเรือนนี้ เพื่อทำรุ่มร่ามกับลูกสาวข้า ข้าก็บอกเอ็งไปแล้วว่า ข้าไม่ชอบ ไม่สนับสนุน”
“ข้อนั้นผมรู้ดีว่าผมมันไม่คู่ควรกับลูกสาวพ่อกำนัน”
“เจียมตัวไว้ มันก็ดี...” กำนันศรบอกสั้น ๆ แต่ก้านตีความไปว่า ‘เจียมกะลาหัวได้ก็เป็นดี’
ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น และยิ่งอยากเอาชนะ...
ในหัวของก้านในเวลานี้ มีแต่คำว่า ‘ฉุด’ ซึ่งหมายถึง พากันหนีแล้วกลับมาขมาในทีหลังนั่นเอง
แต่กำนันศรก็เหมือนนกรู้...แกได้พูดดักทางก้านไว้ว่า
“ถ้าเอ็งคิดจะฉุดคร่าลูกสาวข้าไป...หรือคิดหนีตามกันไป เอ็งก็ต้องพากันไปให้สุดหล้าฟ้าเขียว ไปให้พ้นรัศมีลูกปืนข้านะไอ้ก้าน...”
“ผมไม่กล้าทำอย่างนั้นหรอกพ่อกำนัน”
“ถ้าเอ็งทำ...ศพเอ็งจะไม่ได้เผาแน่ ส่วนอีลูกไม่รักดี ข้าใส่ตะกร้าล้างน้ำได้ รึอย่างง่ายสุด ก็ตัดหางปล่อยวัด ปล่อยมันไปตามยะถากรรม...คนไม่เคยตกยากลำบากอย่างมัน จะทนอยู่กับเอ็งได้สักกี่น้ำ...”
ก้านกัดฟันกรอด....พ่อกำนันปิดประตูเขาไปเสียทุกทาง...เหลือทางเดียวตามที่คิดไว้ คือ กำจัดศัตรูหัวใจให้พ้นทาง...เมื่อไม่ได้ครอบครองให้สมรัก เขาก็จะกันท่ามันทุกคนอยู่อย่างนี้....
**************
อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ลงมานั่งที่โต๊ะอาหารซึ่งมีเตี่ยกับแม่นั่งรออยู่...กมลก็บอกว่า “เตี่ย ม้า กินข้าว”
นางย้อยสังเกตเห็นว่าสีหน้าลูกชายไม่ค่อยสดชื่นนัก จึงเอ่ยปากถามว่า “ไม่สบายหรือเปล่า หน้าตาไม่สดชื่น”
“สบายดีม้า” ว่าแล้วเขาก็ตักข้าวเข้าปาก...พยายามทำท่าว่าอร่อยเหมือนทุก ๆ มื้อที่เคยกินข้าวพร้อมหน้ากัน
“แน่ใจนะ...” นางย้อยถามอีกครั้ง... กมลสบตาแม่ แล้วบอกว่า
“แค่รู้สึกเหงา ๆ นะม้า...ตะก่อน เคยล้อมโต๊ะกินกันวงใหญ่ เดี๋ยวนี้ เหลือผมคนเดียวเอง...มันเลยรู้สึกกร่อย ๆ”
นางย้อยกับเจ๊กเซ้งลอบมองหน้ากัน.... แล้วนางย้อยก็สรุปได้ว่า ลักษณะซึมเศร้าของกมลนั้น ไม่ได้เกิดจากอารมณ์คิดถึงพี่น้อง แต่เกิดจากเรื่องบาดตาตำใจที่เกิดขึ้นในวันนี้แน่ ๆ...แต่ครั้นจะปลอบประโลมบ่งบอกว่ารับรู้เรื่องตื้นลึกภายในใจของเขา นางย้อยก็จำต้องเลี่ยง เพราะถ้า รับรู้ ก็เท่ากับ ยอมรับ ว่าลูกชายนั้น มีใจให้ แม่จันตาคนสวยจากเมืองลับแล...
“พรุ่งนี้เช้า กินแล้ว แก ต้องไป ฆะมัง กับม้ากับเตี่ยนะ”
“ไปทำไมม้า...”
“ไปดูหลักฐานบ้านเขาช่องพ่อกำนันเขาสักหน่อย ถ้าเห็นว่าเป็นจริง ดีจริง อย่างที่ว่าไว้ ก็จะได้ให้คำตอบเขาซะเลย”
“คำตอบอะไร”
“เรื่องแต่งงานของแก ม้าคิดว่า น่าจะหาฤกษ์แต่งในเดือนสิบสองนี่ซะเลย”
“อะไรนะม้า!...ไหนว่า จะรอให้ถึงเดือนหกปีหน้าไง...”
“แต่งเดือนสิบสองปีนี้ หรือ เดือนหกปีหน้า อย่างไรมันก็ต้องแต่งไม่ใช่รึ...”
“แต่ว่า ผมยังไม่อยากแต่งงาน...”
“ทำไมถึงไม่อยากแต่ง”
“ก็...ม้าบอกเองไม่ใช่รึ ว่า ยังไม่อยากให้แต่ง...ลูกเต้าไปกันหมดม้าก็จะเหงา”
“ตอนนี้ม้าเปลี่ยนใจอยากให้แต่งแล้ว...โอกาสดี ๆ มีเข้ามา ก็น่าจะรีบฉกฉวยไว้”
“เอ่อ...แล้วใครจะช่วยงานโรงสีล่ะม้า ตั่วเฮียก็ยังไม่ปลดทหารเลยนะ แล้วเตี่ยก็สุขภาพไม่ค่อยดี...” บอกแล้วเขาปรายตาไปมองผู้เป็นพ่อหวังให้ช่วยพูดให้บ้าง...แต่ว่าพ่อกลับซดน้ำแกงทำเหมือนไม่ได้ยิน ไม่เห็นสายตาของเขา
แสดงว่า แม่กับพ่อของเขาจะต้องปรึกษากันมาแล้ว และพ่อก็คงไม่ขัดใจแม่เหมือนเคย...
“ที่โรงสี ม้าจะให้อาตงมันไปทำแทนแก...”
“ม้าไว้ใจให้อาซ้อนั่งคุมเก๊ะเงินแล้วรึ”
“ยัง ยังไม่ไว้ใจหรอก...แต่ ม้าจะให้อาเรณูมันมาช่วยเป็นหูเป็นตาด้วยอีกคน...”
“อะไรนะม้า!”
“ลื้อฟังไม่ผิดหรอก ม้าจะให้เรณู เลิกขายขนม แล้วมาช่วยงานที่ร้าน...ถ้าแววอีดี ม้าคิดว่า พอตั่วเฮียของลื้อมันปลดทหารมา ม้าจะหาเซ้งร้านให้มันสองคนช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีฐานะเทียมคนอื่น ๆ เขา...”
“นี่ผม ไม่ได้ฟังผิดไปใช่ไหมม้า”
**************
เช้าวันรุ่งขึ้น...พอประสงค์เดินมาเปิดร้าน จัดของ รอป้อม กับบุญปลุก นางย้อยก็เรียกลูกชายให้ไปนั่งคุยกันที่โต๊ะในครัว...
“มีอะไรหรือม้า...”
“เดี๋ยวสาย ๆ ม้า เตี่ยลื้อ อาซา จะไปฆะมัง กันนะ”
ประสงค์นั่งนิ่ง สายตามีคำถาม ว่าไปธุระอะไรกัน นางย้อยอธิบายเหตุให้ประสงค์ฟังคร่าว ๆ ซึ่งประสงค์ก็เข้าใจทันทีว่า เป็นเพราะคำพูดของพิไล แม่จึงต้องรีบให้กมลเข้าสู่ประตูวิวาห์ก่อนกำหนด...และพอได้ฟังทางออกของปัญหา หลังจากเลื่อนกำหนดงานแต่งของกมลให้เร็วขึ้น ประสงค์ก็ทำเสียงตกใจเช่นคนอื่น ๆ
“ม้า จะให้พี่เรณูเลิกขายขนม แล้วมาช่วยงานที่ร้านแทนผม”
“อืม...แต่ต้องเป็นหลังจากอาซามันแต่งงานไปแล้วนะ ตอนนี้ก็ให้มันขายขนมไปก่อน รึจะให้มันมาทดลองขายของดูก่อนดี ม้าก็ก็ยังคิดอยู่ ส่วนแกก็เตรียมตัวไปรับผิดชอบแทนอาซาได้เลย จะเอาอย่างไรดี สับตำแหน่งกันซะก่อนเลยดีไหม ติดขัดอะไร ก็ยังมีอาซาให้ถามได้”
“ม้าคิดดีแล้วรึ...” ที่ถามไปอย่างนั้น เพราะประสงค์รู้ดีว่า ถ้าเรณูมาช่วยขายของ พิไลจะต้อง ‘เต้น’ เป็นเจ้าเข้าแน่ ๆ...และที่สำคัญ อะไรก็ไม่เท่ากับว่า แม่ของเขา นึกเอ็นดู สงสาร และเห็นใจ จนนึกอยากช่วยเหลือเรณูได้อย่างไร...พิไลก็คงจะคิดเช่นเดียวกับเขา...
“คิดดีแล้ว...ปรึกษา เตี่ยลื้อ และอาซามันแล้ว...”
“แล้ว ม้าไม่โกรธเคืองอาซ้อแล้วรึไง” เมื่อเห็นว่าแม่ ‘เปลี่ยนไป’ ประสงค์จึงต้องเรียกเรณูตามฐานะ...ธรรมเนียมจีน
“โกรธ โกรธเคืองแล้วจะมีประโยชน์อะไร...ให้อีไปตากหน้าขายของอยู่ตรงนั้น ก็เท่ากับว่า ประจานหน้าเรา...สู้ให้อีมาช่วยขายของที่นี่ซะเลยดีกว่า คนจะได้มองเราดีขึ้น แล้วพอลื้อไปแทนอาซา อีมาแทนลื้อ ทุกอย่างมันก็เหมาะเจาะลงตัวดี...”
“แล้วอาซ้อรู้เรื่องนี้หรือยัง”
“ยัง ยังไม่ได้บอกอีหรอก รอกลับมาจากฆะมังก่อน...”
ประสงค์นิ่งตรองเหตุผลของแม่ แม้จะฟังดูเข้าที แต่มันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้รวดเร็วปานนี้...
คนเกลียดกัน จนไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากพูดถึง จู่ ๆ จะเห็นอกเห็นใจกันได้อย่างไร?...มีอะไรมาดลจิตดลใจ?
“อาตง เรื่องอาเรณูจะเข้ามาช่วยงานที่ร้านนี้แทนแก อย่างไรเรื่องนี้ แกก็อย่าเพิ่งบอกให้เมียแกรู้นะ...”
“ทำไมรึม้า...”
“บางที ม้าอาจจะเปลี่ยนแผนก็ได้ รอให้เรื่องทางฆะมังมันสรุปก่อนแล้วกัน แล้วอีกอย่าง ลึก ๆ ม้าก็กังวลว่า เมียแกจะไม่พอใจเรื่องนี้ เพราะร้านนี้อย่างไรมันก็จะต้องเป็นของแกกับเมียแกในวันหน้า...แต่ว่า ตราบใดที่แกกับพิไลยังไม่มีลูกมีเต้าด้วยกัน ม้าก็ยังไม่อุ่นใจ ยังไม่ยินดีจะยกอะไรให้เสร็จเด็ดขาดตามที่เคยพูดไว้หรอกนะ...”
********
นับตั้งแต่เหยียบย่างเข้ามาช่วยค้าขาย วันนี้เป็นวันแรกที่ ‘แม่ผัว’ ไม่ได้ทำตัวเป็น ปู่โสมเฝ้าทรัพย์นั่งเฝ้าเก๊ะเงิน ระแวดระวังสมบัติจับตาดูพฤติกรรมของตน...พิไลมองตามหลังคนทั้งสามคนเดินไปยังท่าน้ำเพื่อนั่งรอไปฆะมัง ก็ยิ้มกริ่มออกมา...เพราะจากที่เคย ‘ขอ’ แบบ ‘หักคอ’ ไปซื้อขนม ซื้อของเข้ามากินวันต่อวันนั้น พิไลรู้สึกว่า มันยังได้น้อยไป กับเวลาและแรงกายที่ทุ่มเทลงไปให้...
วันนี้เมื่อ ‘แมว’ ไม่อยู่ พิไลตั้งใจไว้ว่า ถ้าหยิบเงินจากเก๊ะมาเข้าพกเข้าห่อสัก ร้อย หรือ ครึ่งร้อย นางย้อยจะไม่มีทางจับได้อย่างแน่นอน...
พิไลแสร้งง่วนจัดของ อยู่ใกล้ๆ เก๊ะ เพื่อรอจังหวะให้ประสงค์เผลอ หรือ เดินไปทางหลังบ้านอยู่อึดใจใหญ่ ๆ จนได้จังหวะที่ปลอดคนแล้ว ประสงค์ลุกออกไปเข้าห้องน้ำ...พิไลรีบกรากไปแทนที่ แต่ว่าเก๊ะตรงที่ใส่แบงก์ก็ล็อคกุญแจไว้...
นี่เขาก็ไม่ไว้ใจเธออย่างนั้นหรือ...
พิไลรู้สึกเดือดพลั่ก ๆ อยู่ในใจ
แต่เมื่อคิดทำการลงไปแล้ว ไม่ได้แบงก์สิบ ได้เหรียญในตะกร้าที่วางอยู่บนโต๊ะก็ยังดี...
หลังจากหยิบเหรียญ 1 บาท เหรียญ 50 สตางค์ เหรียญ 25 สตางค์ใส่กระเป๋าแล้ว พิไลก็เดินเข้าไปทางหลังบ้าน...เพื่อกินน้ำลดความตื่นเต้น...พอเดินออกมา ก็พบเรณูยืนคุยอยู่กับบุญปลูกที่หน้าร้าน...พิไลรีบเดินไปหาทันที...
“วันนี้ขายดีไหมซ้อ... วันนี้ไม่ได้ไปช่วยซื้อ ไม่ว่ากันนะ...คือกินทุกวันก็รู้สึกเบื่อน่ะ...”
“พี่เข้าใจ...ตอนแรกก็คิดว่าขนมหม้อแกงจะต้องเหลือแบะแบนให้ต้องหาบเร่ขายไปเรื่อยเหมือนทุก ๆ วัน...แต่พอ แม่ กับเตี่ยเดินออกไปเห็น...แม่ก็เหมาไปหมดเลย”
“เหมาไปหมดเลย” พิไลรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมาก
ประสงค์เดินออกมาจากหลังบ้านได้ยินพอดี...
“ใช่ พี่ก็ยังแปลกใจว่า เกิดอะไรขึ้น จู่ ๆ แม่ก็ญาติดีกับพี่ เมื่อวานมั้ง ก็ไปชวนคุย มาวันนี้ ก็ยังช่วยซื้อขนมไปแจกคนทางฆะมังให้ได้กินด้วย พี่จะแถมให้ ลดราคาให้ ก็ไม่ยอม ให้เงินพี่มาครบถ้วน...แล้วก็บอกพี่ว่า ให้มาช่วยอดหนุนที่ร้านบ้าง...พี่ก็เลยต้องแวะมาซื้อของที่นี่ก่อนจะกลับบ้าน...นี่นะ ไม่ใช่เฉพาะพี่หรอกที่แปลกใจ เพื่อนแม่ค้าหาบติด ๆ กัน ก็ยังถามพี่ว่าแม่แกกินยาผิดขนานหรือเปล่า...”
ทั้งประสงค์และพิไลนิ่งเงียบ เรณูที่ ‘รู้อยู่แก่ใจ’ ว่าที่นางย้อยเปลี่ยนไปนั้นเพราะอะไร ก็รีบเปลี่ยนเรื่องคุย เพราะที่ตั้งใจเดินมาคุยเสียก่อนนั้นไม่ใช่เพื่ออวดว่านางย้อยนั้นเปลี่ยนไปดีกับตนแล้ว
แต่การนี้เป็นไปเพื่อกลบเกลื่อนความสงสัยภายในใจของคนทั้งคู่และคนอื่น ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต...เพราะอีกไม่กี่วันหรอก เมื่อนางย้อย ‘หลง’ ซะแล้ว ย่อมประเคนแต่ของดี ๆ มาให้ตนอย่างแน่นอน!
************
“ไอ้ทิด ไอ้ทิด ลุกได้แล้วลูก สายโด่งแล้ว” เสียงของแม่ ทำให้ก้าน ที่เมื่อคืนดื่มหนักไปหน่อยรู้สึกตัว...แต่ถึงกระนั้นเขาก็รู้สึกปวดหัวและเปลือกตานั้นก็ยังคงหนักอึ้ง...จนกระทั่งแม่เดินมาเก็บมุ้งแล้วดึงผ้าห่มออกจากตัว...
“สายแล้วลูก ออกไปเกี่ยวข้าวกันได้แล้ว ลุก ๆ”
ยาขนานนั้นทำให้นางกุ่นหายจากอาการไอเรื้อรังเหมือนปลิดทิ้ง...และพอไม่ไอ ก็กินข้าวได้ จึงมีเรี่ยวแรงสู้กับงานรับจ้างเกี่ยวข้าวที่กำลังชุก ช่วยลูกชายหาเงินเข้าบ้านอีกแรง พอมีคนถามว่า นางกุ่นหายไอด้วยยาขนานไหน นางกุ่นก็จะบอกว่าลูกชายไปเจียดยามาจากร้านขายยาที่ตลาดชุมแสง...ใช้ยาถูกกับโรคเข้า...ร้ายก็กลายเป็นดี
สำหรับก้านนั้น พอมีใครถามว่าไปเจียดยามาจากร้านไหน เพื่อที่ยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้ไปที่ร้านนั้นบ้าง ใจของเขาก็อดนึกถึง ‘บุญคุณ’ ของไอ้หนุ่มคนนั้น เสียทุกครั้ง...จนกระทั่งกลายเป็นความตั้งใจว่าจะนำ ‘ปลาเกลือ’ ที่ได้ทำไว้ ไปฝากเป็นสินน้ำใจ...เพราะถ้าไอ้หนุ่มคนนั้น ไม่แสดงน้ำใจก่อน ซินแซก็คงไม่ให้ยารักษาแม่มาเต็มสูตร...ทุกข์ของเขาก็จะไม่ได้คลายอย่างที่เป็นอยู่
ก้านลุกขึ้นนั่งแล้วสูดลมหายใจเข้าปอด...ก่อนจะค่อย ๆ เผยอเปลือกขึ้นแล้วตามองไปยังนอกบ้านที่เต็มไปด้วยแสงแดดที่ขับไล่มวลอากาศหนาวเย็นให้คลาย...
“เป็นหนุ่มเป็นแน่น บวชแล้ว เรียนแล้ว น่าจะคิดได้นะ ว่าเหล้าน่ะมันไม่ใช่ของดี”
“ผมรู้ว่าเหล้ามันไม่ใช่ของดี แต่คนเรามันก็ต้องมีสังคมนะแม่” ก้านเถียงไปอย่างข้าง ๆ คู ๆ เหมือนทุกครั้งที่แม่พยายาม ‘รั้ง’ ให้เดินให้ตรงทาง
“สังคม ๆ สุดท้ายก็คงไม่แคล้วตาย เพราะเหล้าเหมือนพ่อของเอ็งหรอก”
ก้านถอนหายใจออกมา แล้วรีบลุกขึ้นไปคว้าขันน้ำ จ้วงน้ำล้างจากโอ่ง คว้าแปรงและยาสีฟันไปนั่งสีฟันอยู่ที่นอกชาน นางกุ่นเดินเข้าไปในครัว ตั้งสำรับซึ่งเป็นน้ำพริกขี้กา ผักต้ม ผักสด และปลาปิ้ง รอท่าลูกชาย
ก้านยังไม่ทันจะเปิบข้าวหมดจาน...ไอ้หวัง เพื่อนเกลอ คน ‘สังคม’ เดียวกัน ก็วิ่งหน้าตั้งเข้ามาในเขตลานบ้าน
“พี่ทิด ๆ ๆ ๆ”
“อะไรของมึงวะ” ก้านกลืนคำข้าวแล้วตะเบ็งถามกลับไป ไอ้หวังที่วิ่งมาถึงตีนบันได ล้างเท้าแล้วก็ก้าวพรวด ๆ สองสามทีขึ้นบันไดก็ถึงสำรับที่ก้านกับนางกุ่นนั่งอยู่...
“กินข้าวกันรึ...”
“อืม กินด้วยกันไหมล่ะ”
“ฉันอิ่มแล้ว...แล้วที่ฉันรีบวิ่งมานี่ ฉันมีข่าว ระ ระ ร้าย...มาแจ้งให้พี่ทิดทราบ”
“ข่าวอะไรวะ” ก้านวางจานข้าวลงทันที
ไอ้หวังมองไปทางนางกุ่น แล้วบอกเสียงเบา ๆ ว่า
“เถ้าแก่ใหญ่ว่าที่ดองของพ่อกำนัน พากันมาจากชุมแสงแล้วจ้ะพี่... ไอ้ที่เป็นข่าวลือ น่าจะไม่ใช่ข่าวลืออีกต่อไปแล้วนะ”
“เขามากันทางไหน”
“มากันทางเรือ มากันตั้งแต่เช้าเลยพี่...อาศรีถึงกับผละงานในนา กลับมาต้อนรับกันเลยทีเดียว...”
สีหน้าของก้านเคร่งเครียด...นางกุ่น พอรู้อยู่ว่า ความรักของลูกชายกับลูกสาวคนเล็กของกำนันศร กำลังเป็นช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน จึงบอกกับลูกชายว่า
“ไอ้ทิด จะคิดทำการอะไร เอ็งก็นึกถึงแม่มั่งนะ...ไม่มีเอ็งสักคน แม่ก็จะลำบาก”
“แต่ถ้าพี่ทิดไม่คิดทำอะไรเลย พี่ทิดก็จะต้องเสียเมีย เอ๊ย แม่เพียงเพ็ญไปเหมือนกันนะป้า”
************
ไม่เฉพาะก้านที่เดินพล่านเป็นเสือติดจั่น... แม้เพียงเพ็ญเอง พอรู้ว่า ‘ทางนั้น’ พากันมาถึงบ้านโดยที่ไม่ได้นัดหมาย ก็ร้อนรุ่ม เดินกลับไปกลับมาอยู่ในห้อง สีหน้านั้นเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด...ก็จะไม่ให้เครียดได้อย่างไรเล่า... เมื่อวานนี้เพิ่งเอะใจ ว่า ‘ประจำเดือน’ ขาดหาย ไปถึงสิบห้าวัน...ยังไม่ทันจะสรุปแน่ชัด ว่า ‘ท้อง’ หรือ ‘ไม่ท้อง’ หรือจะแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างไร ทางนั้น ก็ด่วนมาถึงที่นี่...
และอาการรีบร้อนมากัน ตั้งแต่เช้าตรู่ แม้ไม่ได้ออกไปนั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน ก็เดาได้ไม่ยาก ว่าจะต้องมาดูลู่ทางเป็นแน่
...บ้านช่องใหญ่โต ที่ทางกว้างขวาง มีกิจการ มีไร่นาสาโท มีตำแหน่งเป็นที่นับหน้าถือตาชาวบ้าน แถมยังจะได้แต่งเข้าบ้านมาครอบครองกิจการทั้งหมด...ใครปฏิเสธก็โง่เกินไปละ...
เสียงเคาะประตู ทำให้เพียงเพ็ญสูดลมหายใจตั้งสติ...
“เพียงเพ็ญ ทำอะไรอยู่รึ พ่อให้ออกมารับแขกสักหน่อย”
“หนูก็บอกป้าแรม ไปแล้วว่าหนูปวดท้อง...ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ยังจะให้หนูออกไปทำไมอีก”
“เขามาถึงบ้านแล้วนะลูก ออกมารับหน้าเขาหน่อย...” นางคนเป็นแม่ยังคงเอาน้ำเย็นเข้าลูบเหมือนที่เคยใช้...
“ไม่ หนูไม่ไป...หนูจะนอน” การปฏิเสธไม่ออกไปพบหน้า ก็เป็นการบอกให้รู้ว่า ไม่เต็มใจ ไม่ยินดี และไม่ต้องการรับรู้ เรื่องที่ผู้ใหญ่กำลังจะตกลงกัน...
“รึต้องให้พ่อมาตามเอง...”
เพียงเพ็ญนิ่งเงียบ...สายตาแข็งกร้าวมองไปยังประตู...และสุดท้าย เพียงเพ็ญก็เลือกที่จะกล่าวอย่างท้าทายว่า
“ถ้าพ่อ ไม่เชื่อว่าหนูป่วยไข้ ก็ให้พ่อมาตามหนูเอง”
******************
หลังจากพา นางย้อย เจ๊กเซ้ง กมล เดินสำรวจ กิจการ อันได้แก่ โรงเลื่อยไม้ โรงเผาถ่าน ของตน กำนันศรกับนางศรีก็พาเดินกลับมายังบริเวณใต้ถุนเรือนที่สะอาดเอี่ยม...
บนร้านขนาดใหญ่ ปูเสื่อตั้งสำรับมื้อกลางวันที่นางสมพร นางแรมเร่งรีบช่วยกันจัดหาไว้ต้อนรับ ‘แขก’
กำนันศรมองกราด เห็นหน้าเมีย ก็รู้ว่า นังลูกสาวคงจะแผลงฤทธิ์ไม่ยอมลงมาเป็นแน่...
“เถ้าแก่เซ้ง แม่ย้อย พ่อซา จะเข้าห้องส้วมก่อนไหม...ถ้าจะเข้า จะได้ให้แม่ศรีพาไป...”
“เข้าสักหน่อยก็ดีเหมือนกัน...อาเฮียล่ะ ปวดไหม” นางย้อยที่ปวดเบาอยู่บ่อย ๆ หันไปถามเจ๊กเซ้ง เจ๊งเซ้งซึ่งเป็นคนพูดน้อย ส่ายหน้า เช่นเดียวกับกมล...วันนี้ เขาได้แต่นิ่งเงียบ ฟังผู้ใหญ่คุยกัน และตอบเมื่อถูกถาม...เพราะมั่นใจว่า ทางเดินที่จะต้องเดินมานี้ มีปัญหา รออยู่อย่างแน่นอน...อาการดื้อแพ่งไม่ยอมออกมาพบหน้า ‘แขก’ ซึ่งเป็นว่าที่พ่อแม่ของสามีในอนาคต ของเพียงเพ็ญ มันจะต้องมีเงื่อนงำอยู่ข้างหลังอย่างแน่นอน...
รึเจ้าหล่อนอาจจะมีคนรักอยู่แล้ว...เพราะครั้งแรกที่เห็นกัน สายตานั้นมันมีอารมณ์กรุ่นโกรธขัดเคืองใจซ่อนอยู่
************************
“เอาอย่างไรดีวะไอ้หวัง...” ก้านผละจากงานรับจ้างเกี่ยวข้าวที่ได้ตั้งใจไว้ แล้วสาวเท้าพรวด ๆ มายังทิศทางที่บ้านกำนันศรตั้งอยู่....หวังเดินตามต้อย ๆ เพราะอยากรู้ว่า ‘ลูกพี่’ ของตนจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเหมือนกัน
“ไปให้มันเห็นว่า มีหมาตัวหนึ่งหวงก้างดีกว่าไหมพี่... อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”
“พ่อกำนันเอากูตายแน่ ๆ”
“ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรดี” ทั้งสองหยุดอยู่ที่ใต้ร่มไม้ ก้านมองไปทางแม่น้ำน่านที่ไหลเอื่อย...สีหน้าเต็มไปด้วยการใช้ความคิดแก้ปัญหา...ซึ่งยากจะแก้ได้ตกได้ง่าย ๆ
“เอ็งว่ามันมาทางเรือหางยาวใช่ไหม แสดงว่า ตอนนี้เรือของมันก็ต้องจอดอยู่ที่ท่าน้ำนะซิ...”
“ไม่ใช่เรือของมันหรอกพี่ น่าจะเป็นพวกเรือจ้างมากกว่า...”
“งั้นก็พอจะมีวิธีประกาศให้พวกมันรู้ว่า ถิ่นนี้ อันตราย!” ว่าแล้วก้านก็พาหวังเดินลัดเลาะไปตามทางเดินริมแม่น้ำน่านด้วยอาการเร่งรีบ พอถึงเขตบ้านของกำนัน ก้านก็นำหวังยอบตัวลงต่ำ แล้วคืบคลานไปตามดงหญ้า...กระทั่งถึงจุดที่มองเห็นเรือยาวจอดอยู่....แต่ว่าที่ศาลาท่าน้ำ ก็มีเจ้าของเรือนั่งเฝ้าอยู่...แผนล่มเรือบอกให้รู้เป็นนัยว่า เขาไม่ยอมเสียเพียงเพ็ญไปง่าย ๆ จึงใช้การไม่ได้...
“เอาไงดีพี่...ไอ้เจ้าของเรือมันเฝ้าอยู่อย่างนี้ บุ่มบ่ามทำอะไรลงไป มีคดีติดตัวแน่”
“กูจน แต่กูไม่ได้โง่นะไอ้หวัง...” กระซิบบอกไปแล้ว ก้านก็สูดลมหายใจเข้าปอด...มองไปยังเรือนของกำนัน พยายามเพ่งมองไปที่หน้าต่างห้องนอนของเพียงเพ็ญ ก็ไม่เห็นเงาของสาวเจ้า บางทีเจ้าหล่อนอาจจะกำลังระริกระรี้ อยู่กับ ‘ว่าที่’ ยินดีที่จะได้เป็นสะใภ้เจ๊กก็เป็นไปได้
ลมเพชรหึง เริ่มตีขึ้นหน้า...
“มันอยู่ที่ใต้ถุนเรือนน่ะพี่ น่าจะกำลังกินข้าวกันอยู่...”
ใจของก้านนั้นคิดจะลุยไปประจันหน้ากัน...ให้เพียงเพ็ญและกำนันศรได้รู้ว่า เขารัก เขาหวง เขาไม่ยอมสูญเสีย แย้มพรายเรื่องว่า ได้ ‘กินในที่ลับ’ ไปแล้ว ก้านมั่นใจว่าทางนั้นจะต้องถอยทัพแน่ ๆ แต่พ่อกำนันก็คงจะโกรธเกลียดเขายิ่งขึ้น และแม้นไม่ได้ ลูกชายเถ้าแก่ชุมแสงเป็นเขยขวัญ พ่อกำนันก็คงเสาะหาชายอื่นที่คู่ควรอยู่ดี...
ก้านถอนหายใจออกมาอย่างแรง...พอดีกับสายตานั้นเห็นว่านางแรมเดินฝ่าแดดมายังท่าน้ำ...เหมือนมาร้องเรียกให้คนเรือเข้าไปกินข้าวด้วยกัน...ก้านนิ่งรออยู่อึดใจ แล้วคนเรือก็เดินตามนางแรมไป...ก้านหันมาหาหวัง ให้หวังนั่งรออยู่ตรงนั้น แล้วตนก็ค่อย ๆ คืบคลานลงไปยังตีนท่า...
คืบคลานกลับมาแล้ว หวังก็บอกกับก้านว่า “พี่ทิดตะกี้ ผมเห็น เพียงเพ็ญมันโผล่หน้าต่างมา...”
“มันไม่ได้อยู่ข้างล่างกับพวกนั้นหรอกรึ”
“ไม่เห็นนะพี่...”
ก้านยิ้มน้อย ๆ ออกมา...อาการดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับหน้าแขกของเพียงเพ็ญก็น่าจะเป็นการประกาศให้ ‘แขก’ รู้ว่า ตนเองนั้นไม่ยินดี ที่จะเป็นทองแผ่นเดียวกัน ใจที่เหมือนผืนดินแห้งผากของก้านก็พลันชุ่มฉ่ำขึ้นมาอย่างประหลาด....
“พี่ลงไปทำอะไรมา”
“เอ็งอย่ารู้เลย...ไป” ว่าแล้วก้านก็คลานนำหวัง เดินหลบออกจากที่ซ่อน แต่หวังนั้นยังอยากรู้จุดหมายปลายทาง
“ไปไหน..”
“ไปเกี่ยวข้าวซิ แล้วก็ต้องรีบไปให้เร็วที่สุด ให้คนที่ทุ่งนาเป็นพยานว่า ตอนที่เกิดเรื่อง! เราอยู่ที่ไหน”
“พี่นี่ฉลาดจริง ๆ” หวังเอ่ยชม
“กูบอกมึงแล้ว กูแค่จน แต่กูไม่ได้โง่”
---------------------
พอพากันเดินกลับมาส่งแขกกลับชุมแสงไปแล้ว กำนันก็เดินอาด ๆ นำนางสมพร นางแรม นางศรี กลับมาที่เรือน
นางศรีขอตัวกลับบ้าน นางสมพรกับนางแรมมองตามหลังกำนันไป แล้วชักสีหน้าว่าลำบากใจกับเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต
เสียงเคาะประตูปึง ๆ ดูหนักมือ ทำให้เพียงเพ็ญที่เปิดวิทยุฟัง พลางอ่านนิตยสารฆ่าเวลาเงยหน้ามอง...
เรื่องอะไรที่จะต้องลุกลี้ลุกลนไปเปิดให้ หรือส่งเสียงถามให้คนหน้าประตูรู้ว่าเธอเกรงกลัวด้วยล่ะ...
“อีหนู! ๆ เปิดประตูให้พ่อหน่อย...เร็ว ๆ” เสียงนั้นดังก้อง เพียงเพ็ญแสยะยิ้มแล้วตอบกลับไปว่า “เดี๋ยว!”
ตอบรับไปแล้ว เพียงเพ็ญก็ขยี้ผมให้ยุ่งเหยิง แล้วเดินไปยังขันน้ำที่วางอยู่บนโต๊ะข้างหัวเตียง ใช้ปลายนิ้วจุ่มแล้วสะบัดใส่ใบหน้าของตน...
“เป็นอะไร? ทำไม ถึงไม่ออกไปรับหน้าแม่ย้อยเขาหน่อย ทำอย่างนี้ มันเท่ากับไม่ไว้หน้าพ่อแม่สักนิด”
“หนูก็บอกแม่ไปแล้วว่าหนูไม่สบาย” แก้ตัวไปด้วยเสียงแหบแห้ง แล้วเพียงเพ็ญก็เดินกลับไปทรุดตัวลงนั่งบนที่นอน เล่นละครให้เหมือนกับว่า กำลังจะตายจริง ๆ
“เป็นอะไร เมื่อเช้าก็ยังดี ๆ อยู่”
“คลื่นไส้ มวนท้อง พะอืดพะอม ปวดหัว” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็ทำท่าขย้อนกรดในกระเพาะก่อนจะรีบหันไปหากระโถนที่วางอยู่ที่ข้างเสาเตียง...
เห็นอาการลูกสาวเป็นดังนั้น ความโกรธขึ้งก็คลายลง...แต่ถึงกระนั้นกำนันศรก็ยังไม่เชื่อที่สายตาเห็นทั้งหมด... หลังจากที่ลูกสาวผินหน้ากลับมาด้วยทีท่าอ่อนระโหยโรยแรง...กำนันศรก็บอกว่า
“งานแต่งของแก กับพ่อซา ได้ฤกษ์แล้วนะ...”
“อะไรนะ!”
“วันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12 เป็นฤกษ์ดี...”
เพียงเพ็ญจ้องตาของพ่อเขม็ง เหมือนว่าห้องทั้งห้องมันหมุนคว้าง...พอตั้งสติได้เพียงเพ็ญก็หันไปยังปฏิทินที่แขวนอยู่ แล้วกรากเข้าไปหาด้วยอาการร้อนรน...และพอเห็นว่า เป็นวันไหน เพียงเพ็ญก็หันกลับมา
“สัปดาห์หน้านี่...”
“ใช่ ก่อนวันลอยกระทง 5 วัน”
“ทำไม พ่อไม่ถามหนูก่อน ว่าหนู พร้อมจะแต่งงานหรือยัง”
“ก็ไอ้ตอนที่กูเรียกให้ออกไปคุย ทำไมมึง ถึงไม่ออกไปล่ะ...ทีคราวนี้ทำปากดีว่าทำไมไม่ถามมึงก่อน”
“พ่อ!...”
“แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว กูตกลงกับผู้ใหญ่ทางนั้นไปเรียบร้อยแล้ว”
“หนูไม่ได้รักเขา เป็นตายร้ายดีอย่างไรหนูก็ไม่แต่ง” เพียงเพ็ญเสียงแข็งขึ้น แต่กำนันศรหาได้สนใจ
“เดี๋ยวอาศรีจะให้คนไปรับช่างตัดชุดเจ้าสาวมาจากชุมแสง...พรุ่งนี้น่าจะมาละ สินสอดทองหมั้นแม้ไม่มากเท่าพี่ ๆ ของมึง แต่ก็สมน้ำสมเนื้อสมฐานะเรา แล้วมันก็ไม่น้อย เกินไปสำหรับลูกสาวคนเล็กของกำนันศรหรอก...”
“พ่อ” เสียงของเพียงเพ็ญผะแผ่ว จะนับว่าเป็นความขอความเห็นใจเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้...
“หนู...เอ่อ...หนู...ไม่แต่งได้ไหม หนูยังไม่พร้อม” พูดแล้วเพียงเพ็ญก็รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะขึ้น...สีหน้านั้นบูดเบี้ยว
“ไป ออกไปให้ป้าแรมหาข้าวหาปลาให้กินซะ ไม่กินข้าวเช้า ข้าวกลางวัน มันถึงได้เป็นอย่างนี้...” ว่าแล้วผู้เป็นพ่อก็เดินออกไป เพียงเพ็ญรีบคว้ากระโถนแล้วก็โก่งคออาเจียนเสียจนอ่อนแรง...
พอเงยหน้าขึ้นมา หัวคิ้วของเพียงเพ็ญก็ขมวดเข้าหากัน ดูท่าแล้ว ไม่ใช่ปวดท้องเพราะไม่ได้กินข้าวซะแล้ว แม้จะยังเป็นสาว แม้จะไม่เคยท้องไส้ แต่ก็ใช่จะไม่รู้ว่าอาการของคนมีผัวแล้วแพ้ท้องนั้นเป็นอย่างไร...น้ำตาไหลเอ่อมากลบเปลือกตา แล้วเพียงเพ็ญก็สูดลมหายใจเข้าปอด มองปฏิทิน ใจนั้นก็ครุ่นคิดว่า ลูกในท้องจะต้องไม่เป็นลูกหลงพ่อ...พ่อของลูกในท้องจะต้องเป็นสามีในชีวิตจริง ๆ ของเธอเท่านั้น...
******************
เรือหางยาวแล่นฉิวออกจากท่าน้ำบ้านกำนันศร ล่องมาตามลำน้ำน่านค่อย ๆ ไหลเอื่อยเพราะว่าเครื่องยนต์นั้นได้ดับลง เจ้าของเรืองพยายามฉุดสตาร์ทเรียกกำลังเครื่องยนต์ให้ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่ติด...ทำให้นางย้อยที่นั่งอยู่ตรงกลางลำเรือต้องร้องถาม
“ไหนเอ็งว่า เครื่องเรือของเอ็งใหม่เอี่ยมไง ทำไม มันถึงดับได้”
“นั่นนะซิเถ้าแก่เนี๊ย เอี่ยมอ่องแบบนี้ ทำไมมันถึงได้ดับได้”
“น้ำมันหมดรึเปล่า” กมลเอ่ยถาม
“เมื่อเช้าเติมมาจนเต็มถัง แล้วจากชุมแสงมาฆะมังแค่นี้ ไม่น่าจะกินน้ำมันจนหมดหรอก”
“เปิดฝาน้ำมันดูซิพี่ชาย” กมลแนะนำ ชายเจ้าของเรือ เปิดฝาถังน้ำมันแล้วนิ่วหน้า ก่อนจะยอมรับว่า
“น้ำมันหมดจริง ๆ ด้วย ผมก็ไม่ได้เอากระติกใส่น้ำมันสำรองติดเรือมาซะด้วยซิ”
“ฉิบหายแล้ว” นางย้อยสบถออกมาเพราะรู้สึกร้อนแดดทั้งที่มีผ้าข้าวม้าของเจ๊กเซ้งคลุมหัวอยู่...และอีกใจก็รู้สึกห่วงร้านที่ทิ้งไว้ให้ประสงค์คอยดูแล...เพราะยิ่งปล่อยปละละเลยเก๊ะเงินนานเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พิไลหยิบฉวยเงินในเก๊ะไปใช้มากขึ้นเท่านั้น...
“คงต้องรอให้มีเรือผ่านมา แล้วขอแบ่งน้ำมันจากเขาแหละเถ้าแก่เนี๊ย”
“ถ้ามันไม่มีใครผ่านมาล่ะ เอ็งจะทำอย่างไร จะให้กูคอยอยู่อย่างนี้รึ”
“ถ้างั้นเราก็พายเรือไปเรื่อย ๆ ก่อน...เจอเมื่อไหร่ก็ค่อยว่ากัน” กมลหาทางออก...เพราะถ้าหยุดนิ่งอยู่อย่างนี้ หรือขึ้นไปรอบนตลิ่ง มันก็ไม่ได้มั่นใจว่าจะพบทางออกของปัญหา...
“ผมว่า มันจะต้องมีคนย่องมาเปิดน้ำมันทิ้งตอนที่ผมไปกินข้าวแน่ ๆ...”
“เอ็งว่าอะไรนะ” นางย้อยถามซ้ำ...
“ผมว่า น้ำมันในถังมันไม่ได้หมดหรอกเถ้าแก่เนี๊ย มันหายไปเพราะมีคนย่องมาเปิดทิ้งแน่ๆ ...”
นางย้อยกัดฟันกรอด...เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ก็เท่ากับว่า มีใครสักคนไม่อยากเห็นกมลไปเป็นเขย บ้านฆะมัง
************************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #19 on: 01 March 2020, 22:39:28 » |
|
ตอนที่ 20 : หัวอกไอ้ก้าน
๒๐
หลังจากได้น้ำมันจากเรือบรรทุกสินค้าที่แล่นมาจากอำเภอบางมูลนากเติมเครื่องยนต์ นางย้อยก็สั่งให้ เจ้าของเรือหันหัวเรือกลับไปมายังบ้านของกำนันศร...
“อย่าไปเลยนะม้า มันอาจจะไม่ใช่ อย่างที่ม้าเดาก็ได้”
“ทำไม จะไม่ใช่ ก็ไอ้นี่มันยืนยันว่า อย่างไรน้ำมันของมันไม่มีทางหมด ที่น้ำมันหายไป มันจะต้องมีคนจงใจแกล้งเรา... ไปเร็ว กลับไป เสียเวลา เสียเงินอีกนิด จะเป็นไรไป...”
“เตี่ยช่วยพูดกับม้าหน่อยซิ” กมลหันไปหาคนช่วยรั้งอารมณ์ของแม่ที่นั่งตากแดดอยู่กลางแม่น้ำอยู่เกือบชั่วโมงจนพื้นอารมณ์ยิ่งเสียหนักเข้าไปอีก
“อาย้อย...”
“เฮีย...คราวนี้อั๊วไม่ฟังเฮียแล้ว คิดดูนะ ถ้าทางนั้นไม่จับตัวคนทำผิดมาลงโทษ หรือไม่รู้ว่ามีคนคิดไม่ดีกับพวกเรา วันหน้า อาซามาอยู่ที่นี่ มันจะอยู่อย่างไร เกิดเป็นอะไรขึ้นมา ใครจะช่วยลูกเราได้”
“ลื้อคิดมากไปหรือเปล่า...มันจะเอิกเกริกไปนะอาย้อย” เจ๊กเซ้งใช้น้ำเย็นเข้าลูบ
หน้านางย้อยยังงอเง้าเช่นเดิม...
“อั๊วว่าไม่ต้อง ย้อนไปหรอกนะ ย้อนไปแล้ว ทางกำนันเขาจะกลุ้มใจเปล่า ๆ วันแต่งงาน ค่อยบอกเขาก็ได้ หรือไม่ ถ้าพรุ่งนี้อาศรี อีเข้าตลาด เราก็ฝากบอกอาศรีไปก็ได้ ช่วงนี้ เขาก็ยังจะต้องมาชุมแสงบ่อย ๆ หรอกน่า”
“ใช่ ม้า อย่างไร ทางนั้นก็คงจะต้องเข้ามาชุมแสง เพื่อซื้อข้าวซื้อของเตรียมงาน ปรึกษาเรื่องงานกับเรา...กลับบ้านเถอะนะ บ่ายคล้อยแล้ว ย้อนกลับไปกลับมา จะมืดค่ำเอาได้”
พอถูกทั้งเจ๊กเซ้งและกมลช่วยกัน ‘รั้ง’ นางย้อยก็ถอนหายใจหนัก ๆ แล้วก็จำยอม คล้อยตาม ทั้งที่ใจนั้นยังเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงว่า ใครมันอยู่เบื้องหลัง และมันจะยอมหยุดอยู่แค่นี้หรือไม่...
ข่าวเรื่องเพียงเพ็ญจะแต่งงานกับลูกเจ๊กจากตลาดชุมแสงในสัปดาห์หน้าแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ไอ้หวังที่ไปสืบความจากนางศรี รีบกลับมาหาก้านที่เดินพล่านรออยู่ที่บ้าน เพราะเวลาที่จะสูญเสียนางอันเป็นที่รัก และเป็นความหวังของตน งวดเข้ามาทุกขณะ...
“อาศรี บอกว่า มันชื่อ ไอ้ซา เป็นลูกชายเจ๊กเซ้ง แม่ชื่อย้อย ร้านอัศวรุ่งเรืองพานิช เปิดร้านขายส่งพวกของโชห่วยอยู่ในตลาด อายุอานามก็พอ ๆ กับฉันนี่แหละ ยังไม่ได้บวชเลยด้วยซ้ำ...”
ก้านฟังแล้วนิ่งคิด...ตั้งแต่รู้กำหนดการที่แพร่กระจายเหมือนไฟลามทุ่ง เขาก็ทุรนทุราย จนเกี่ยวข้าวต่อไปไม่ได้...สุดท้าย เขาก็บอกกับเจ้าของนาและหลอกแม่ว่า เขาปวดท้อง ขอกลับบ้านไปพัก...พ้นจากสายตาของคนอื่นๆ แล้ว เขาก็เดินมาที่สวนหลังบ้านของกำนันศร พยายามมองหาเพียงเพ็ญ เผื่อเจ้าหล่อนจะลงจากเรือนมาบ้าง แต่ว่าก็ไม่เห็นแม้เงา สุดท้ายเขาจึงเดินไปยังบันไดหลังบ้าน ชะเง้อมองไปบนเรือน จะบุ่มบ่ามขึ้นเรือนไปเลยหรือร้องเรียกคนบนเรือนให้ออกมาหา กำนันศรก็เคยประกาศิตไว้ว่า เรือนหลังนี้ ถ้าไม่มีเรื่องจำเป็นเอ็งห้ามเข้ามาเหยียบ...
แต่วันนี้ เวลานี้ มันสุดจะทนนิ่งเฉย ได้อีกต่อไป
“อ้าว ไอ้ก้าน มาอย่างไร” นางแรมเดินออกมาเห็น ร้องถามด้วยเสียงไม่ดังนัก
“ผ่านมา น่ะป้า เพียงเพ็ญอยู่ไหม”
“อยู่ในห้อง ไม่สบาย”
“เรียกน้องเขามาพบผมหน่อยได้ไหม”
“พ่อกำนันเขาสั่งไว้...เข้าใจที่ป้าพูดนะ”
“แต่ผมมีเรื่องจะคุยกับเขา ผมอยากรู้ว่า เขาจะแต่งงานในสัปดาห์หน้าจริง ๆ หรือเปล่า”
“จริง วันศุกร์หน้า แต่งแน่นอน...อ้อ พ่อกำนันสั่งไว้ว่า งานแต่งนังหนู เอ็งอย่ามาทำเรื่องให้มันวุ่นวายให้เสียฤกษ์เสียยามเขาล่ะ...”
“แต่เรารักกันนะป้า...”
นางแรมส่ายหน้าเบา ๆ แล้วถอนหายใจออกมาอย่างแรง ก่อนจะบอก เหมือนกับที่ใครหลาย ๆ คนบอกกับเขา
“ป้ารู้ ป้าเข้าใจ...แต่ว่า ทุกอย่างมันต้องดูที่ความเหมาะสมด้วย พ่อกำนัน เขาก็บอกอยู่ไม่ใช่รึว่า เอ็งน่ะ เป็นใคร นังหนูมันเป็นใคร ไปเถอะไอ้ก้าน กลับบ้านเอ็งไป...คิดซะว่า ไม่มีวาสนาต่อกัน ไม่ใช่เนื้อคู่กันเถอะนะ อย่าดิ้นรนให้มันยุ่งยากไปเลย ตัดใจเสียเถอะ ป้าขอสักครั้ง”
ก้านหน้าม่อย แล้วก็ รับคำว่า “ครับ” ก่อนจะหันหลังเดินกลับบ้าน แต่พอลับสายตานางแรม เขาก็เร้นกายกลับไปยังทิศทางห้องของเพียงเพ็ญ คว้าก้อนหินขนาดย่อมได้สองสามก้อน เขาก็โยนไปที่ข้างฝาเรือนโดยทิ้งระยะห่างเพื่อไม่ให้คนบนเรือนที่เขาไม่ประสงค์พบหน้ารับรู้...
อึดใจใหญ่ ๆ เพียงเพ็ญก็เดินมาเกาะลูกกรงหน้าต่างที่ขวางคนภายในเรือนกับโลกภายนอก...ขวางความสัมพันธ์ของเขาและเธอไว้...เห็นภาพนั้นแล้ว ก้านก็นึกถึงคำว่า ‘นกน้อยในกรงทอง’ นกที่เจ้าของค่อนข้างหวงแหน...แต่เขาก็เคยลักลอบคว้าลูกนกตัวนั้นมาเชยชมให้สมรักเสียแล้ว
“พี่ก้าน...พี่ก้าน”
“ลงมาหาพี่หน่อยได้ไหม พี่จะรอที่หลังห้องส้วมนะ”
“ได้ รอฉันแป๊บ” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็ผลุบหาย...ก้านรีบวิ่งไปยังห้องส้วม ด้วยเป็นเวลาโพล้เพล้ นางแรมนางสมพรที่อยู่บนเรือนจึงยังไม่เข้มงวดกวดขัน ส่วนพ่อกำนันนั้นก็ยังไม่กลับจากกิจธุระเรื่องบอกกล่าวให้ชาวบ้านให้รับรู้ว่า กำลังจะแต่งลูกสาวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า...
ส้วมนั้นมีเสาสี่ต้น มุงหลังคาด้วยสังกะสี ตีสังกะสีปิดไว้ทั้งสี่ด้าน มีคอห่าน และโอ่งน้ำ ส่วนโอ่งอาบน้ำ นั้นอยู่ใกล้ๆ กับตัวบ้าน และบนนอกชานบนเรือน ช่วงหลัง ๆ เพียงเพ็ญจะถูกห้าม ไม่ให้ลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ หรือโอ่งข้างบ้าน เจ้าหล่อนจะต้องอาบน้ำบนเรือนเท่านั้น...พ่อกำนันกำชับให้นางแรมตามดูลูกสาวทุกอิริยาบถ โดยเฉพาะช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้...
วิ่งเข้าห้องส้วมมาแล้ว เพียงเพ็ญก็พบว่าก้านเข้ามารอตนอยู่ด้านใน ไม่ได้อยู่หลังส้วมอย่างที่ได้บอกแต่แรก...
“พี่ก้าน...” ก้านกระชับวงแขนที่กอดรัดสาวเจ้าแล้วพรมจูบไปทั่วใบหน้าซอกคอเพราะความคิดถึง เพียงเพ็ญไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด
“พี่ได้ข่าวว่าเอ็งจะแต่งงานในสัปดาห์หน้าแล้วใช่ไหม”
“จ้ะพี่...เราจะทำอย่างไรกันดี”
“หนีไปด้วยกันไหม” ก้านตอบไปอย่างกำปั้นทุบดิน ทั้งที่ใจนั้น ก็นึกหวาดเกรง คำขู่ของกำนันศรอยู่ไม่น้อย...
“ฉันทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกพี่...”
“เอ็งไม่รักพี่รึไง พี่ขาดเอ็งไม่ได้นะเพ็ญ”
“รัก...รักมากด้วย...”
“งั้นไปด้วยกันนะ”
“ไปทางไหน ไปที่ไหน ไปอย่างไรล่ะ แล้วพี่คิดรึว่า พี่จะพาฉันหนีเงื้อมมือของพ่อพ้น...” ไม่ใช่แค่กลัวว่าจะหนีไม่พ้น
ระหว่างวัน เพียงเพ็ญได้ตรองแล้วว่า ขืนหนีไปได้ด้วยกัน ชีวิตในวันหน้าของตนนั้น รังจะมีแต่ความยากลำบาก พ่อไม่ได้มีเธอ เป็นลูกสาวแค่คนเดียว พ่อตัดเลือดก้อนนี้ทิ้งได้อย่างแน่นอน แล้วดีไม่ดี ถ้าหนีไม่พ้น ก้านนั้นแหละที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต...
จากกันทั้งที่ยังเป็น มันก็ยังมีโอกาสได้เห็นหน้า และถ้ารักกันจริง ๆ ก็ยังมีโอกาสกลับมาอยู่ด้วยกัน...
แต่ปัญหาของเพียงเพ็ญในเวลานี้ มันยิ่งใหญ่กว่า รักแล้วไม่ได้อยู่กับคนรักให้สมรัก...
ปัญหาเรื่องท้องไส้ ก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน แต่งสัปดาห์หน้า มันก็ยังโบ๊ยไปได้ว่า กมลเป็นพ่อของลูกในท้อง แต่ถ้าแต่งช้ากว่านี้ เรื่องงามหน้าคงได้เกิดประจาน และพ่อก็จะต้องเลือกให้เธอทำแท้ง แทนที่จะให้เธอได้แต่งอยู่กับก้านเป็นแน่
“พ้นไม่พ้นก็หนีไปด้วยก่อน...ข้าวสารเป็นข้าวสุกให้ชาวบ้านรับรู้ซะแล้ว พ่อกำนันต้องเข้าใจ”
“ฉันทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกพี่ พี่ก็รู้ว่า พ่อบอกไว้แล้วนี่ ว่าถ้าหนีไปไม่พ้น พี่นั่นแหละ ที่จะต้องตาย ฉันทนเห็นพี่ตายไปต่อหน้าต่อตาไม่ได้หรอก”
“แต่พี่ไม่อยากเสียเอ็งไป”
“ตัดใจเสียเถอะนะพี่...”
“เอ็งไม่ได้รักพี่ใช่ไหม...”
“รักซิ ถ้าไม่รัก ฉันจะยอมเป็นเมียพี่รึ”
“งั้นหนีไปด้วยกัน นะ หนีไปด้วยกัน งานนี้พี่คิดว่า ตายเป็นตาย”
เพียงเพ็ญส่ายหน้าดิก...เพราะคิดไว้แล้วว่า จะไม่มีวันหนีตามก้านไปอย่างแน่นอน ที่เสียสาวไปจนท้อง ก็มีคนมารับเป็นพ่อเสียแล้ว เรื่องอะไรจะต้อง ดิ้นรนไปอย่างไม่รู้อนาคตล่ะ...
“ตัดใจจากฉันเสียเถอะนะพี่ก้าน...คิดซะว่าเราทำบุญด้วยกันมาแค่นี้...”
พอได้ยินดังนั้นก้านก็กระชับวงแขนแน่นขึ้นไปอีก เพียงเพ็ญเองก็กอดเขาจนแน่นเช่นกัน เพราะไม่รู้ว่า มันจะเป็นกอดกันครั้งสุดท้ายรึเปล่า...
กระทั่งเวลาอาลัยอาวรณ์ผ่านไป...ทั้งคู่ก็ได้ยินเสียงของนางแรมที่ดังมาจากนอกชานบ้าน...
“เพียงเพ็ญหนูอยู่ในห้องน้ำหรือเปล่า....”
“อยู่จ๊ะป้า ฉันปวดท้อง เหมือนท้องจะเสีย แต่ดีขึ้นแล้ว” เพียงเพ็ญตะโกนตอบไป
“เสร็จแล้วก็รีบขึ้นบ้านนะ พ่อกำนันมาแล้ว รอกินข้าวเย็นอยู่”
“จ้ะ”
ก้านคลายอ้อมกอด แต่ว่าปลายจมูกยังคงซุกอยู่ที่ซอกคอพวงแก้มของหญิงสาว...
“ฉันต้องขึ้นเรือนแล้วนะพี่ พี่รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีนะ บางที บางที ปัญหาของเรามันอาจจะมีทางออกก็ได้”
“ทางออกทางไหน”
“ไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ ฉันรักพี่ และฉันก็...” เพียงเพ็ญลังเลที่จะบอกกับก้านไปว่า ‘ฉันท้องกับพี่ มีเลือดเนื้อเชื้อไขของพี่อยู่ในท้องแล้ว’ “ก็อะไร”
“ฉันไม่ได้รักคนที่ฉันจะแต่งงานด้วย ฉะนั้น แต่งกันได้ ก็เลิกกันได้นี่ ใช่ไหมพี่ก้าน”
“ใช่ แต่งได้ก็เลิกได้...”
“แล้ว พี่จะรอฉันได้รึเปล่า”
“ได้ พี่รอได้” ก้านตอบไปอย่างไม่ลังเล
“พี่จะรังเกียจ ฉันหรือเปล่า ถึงตอนนั้นฉันจะกลายเป็นแม่ม่ายผัวทิ้ง”
“ไม่ พี่ไม่รังเกียจ พี่ไม่อายใครทั้งนั้น ขอให้พี่ได้อยู่กับเอ็งไปจนแก่เฒ่าเถอะ”
“พี่ก้าน ฉันมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องจะบอกกับพี่ คือ ฉัน ฉันว่า ตอนนี้ ฉันท้องกับพี่แล้ว”
“ฮะ อะไรนะ”
เพียงเพ็ญกลับขึ้นเรือนไปแล้ว ก้านลับเลี่ยงออกมาจากห้องส้วม ลัดเลาะพงไม้ริมน้ำ กลับมารอหวังอยู่ที่บ้านด้วยใจร้อนรุ่ม...ยิ่งรู้ว่าเพียงเพ็ญท้องกับเขา เขาก็ยิ่งรู้สึกว่า มันไม่ยุติธรรมที่จะต้องเห็นเมียของตนไปเข้าห้องหอกับชายอื่น
ทางเดียวที่จะทำให้ชายอื่นที่ว่า หมดโอกาสเข้าห้องหอกับเมียของตน ก็คือ ทำให้มันตายไปเสียก่อน...
เพราะถ้าไอ้หมอนั่นตาย เพียงเพ็ญตั้งท้องประจานหน้าพ่อแม่ ถึงเวลานั้น พ่อกำนันก็คงจะเห็นว่า ได้ลูกเขยเป็นหมาวัดอย่างเขา ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ลูกสาวท้องไม่มีพ่อแน่ ๆ
“แล้วพี่ทิดจะเอาอย่างไรต่อไป” เสียงของหวัง ดึงสติของก้านกลับมา ก้านมองหน้าคนหาข่าวแล้วหันซ้ายหันขวา...ครุ่นคิดว่าจะบอกหวังถึงแผนการที่อยู่ในใจดีหรือไม่ เพราะถ้าหวังเก็บความไว้ไม่ได้ อนาคตมันจะวิบัติ
“ไม่เอาอย่างไรหรอก...”
“ไฮ้ ไอ้เรารึอุตส่าห์รีบไปสืบให้ นึกว่าจะมีอะไรเด็ด ๆ”
“กูมาคิดดูแล้ว กูทำอย่างที่เคยคิดไว้ไม่ได้หรอก กูเป็นอะไรไป แม่กูจะลำบาก”
“มันก็จริง” หวังทำหน้าเมื่อย
“ขอบใจเอ็งมากนะ”
“เปลี่ยนเป็นเหล้าสักขวดครึ่งขวดได้ไหมพี่ กินย้อมใจสักหน่อย เผื่อจะกล้าขึ้น...” หวังยังหวังว่า เรื่องที่ก้านคิดทำนั้นจะเป็นเรื่องสนุกตามประสาวัยคะนอง
“วันหลังแล้วกัน วันนี้กูรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวว่ะ แต่กูเลี้ยงเหล้ามึงกั๊กนึงแล้วกัน...แต่มึงเมาแล้วก็อย่าได้พูดเรื่องอะไรของกูไปนะ...ถ้ามีคนถามถึงกู มึงก็บอกแค่ว่า กูกำลังจะเฉาตาย รู้ไหม”
“รู้...ฉันจนเหมือนพี่ก็จริง แต่ฉันไม่ได้โง่หรอกน่า”
***************************
ก้านยังคงนั่งซึมกะทือ อยู่บนร้านใต้ร่มมะม่วงใหญ่ โดยไม่สนใจ ยุงที่บินว่อนกัดแขนขาหน้าตา ใจนั้นครุ่นคิดถึงแผนการ ‘กำจัด’ ไอ้คนที่เป็นมารความสุขของตน... มันไม่ได้เพียงแต่จะแย่ง หญิงคนรัก แย่งโอกาสเปลี่ยนสถานะ แต่มันกำลังจะแย่งความเป็น ‘พ่อ’ ของเขาไปด้วย...
ถ้าไม่มีมันสักคน เพียงเพ็ญจะต้องท้องไม่มีพ่อ ถึงเวลานั้น เขาจะแสดงตัวรับเป็นพ่อของลูกในท้อง ทำให้กำนันศร ไม่ต้องอับอายขายขี้หน้า...กำนันศรจะต้องโอนอ่อนผ่อนตาม เพราะนอกจากข้าวสารจะกลายเป็นข้าวสุก เรื่องมันก็เลยเถิดจนมีลูกมีเต้าด้วยกันแล้ว
ถ้าไม่มีตัวเจ้าบ่าว ก็จะไม่มีงานแต่งเกิดขึ้น ก้านสรุป
“ทิด ขึ้นมากินข้าวกินปลาได้แล้วลูก แม่ตั้งสำรับเสร็จแล้ว” เสียงเรียกของแม่ที่อยู่ตรงนอกชานบ้าน ทำให้ก้านสะดุ้ง
“แม่กินก่อนเลย ผมยังไม่หิว”
“ไม่หิวก็ต้องกิน อดข้าว แล้วมันจะได้ประโยชน์อะไร มา ๆ มากินเป็นเพื่อนแม่หน่อยนะ แม่กินคนเดียวมันไม่อร่อย วันนี้แม่ได้ปลาช่อนมาทำต้มยำ มีทั้งพุงทั้งไข่ที่เอ็งชอบด้วยนะ” นางกุ่นพอรู้ว่า อาการซึมเศร้าของลูกชายนั้นเกิดจากเรื่องอะไร จึงพยายามเซ้าซี้... ก้านไม่อยากขัดใจแม่ เขาจึงลุกขึ้นและเดินขึ้นเรือนหลังเก่าโย้เย้ มากินข้าวกับแม่ไปด้วยอาการซังกะตาย
“จะทำอะไร ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีนะทิด อย่าลืมนะว่า แม่ไม่เหลือใครแล้ว” นางกุ่นเปรยออกมา...
“ผมรู้” ก้านตอบไปด้วยเสียงห้วน ๆ
“รู้ก็ดี บวชแล้ว เรียนแล้ว ก็ถือว่าโตแล้ว อย่าหุนหันพลันแล่นคิดเอาแต่อารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่นะ”
“พรุ่งนี้ ผมจะไม่ไปเกี่ยวข้าวนะแม่” ก้านรีบเปลี่ยนเรื่อง
“แล้วจะไปไหน”
“ตั้งใจจะเข้าตลาด เอาปลาเกลือไปให้ซินแซที่เจียดยาให้แม่มาสักหน่อย ทิ้งไว้ให้แห้งกว่านี้มันจะไม่อร่อย”
“วันหลังก็ได้มั้ง”
“อยากไปเปิดหูเปิดตาด้วย บอกกง ๆ ช่วงนี้ ผมไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร บางทีอาจจะดูหนังสักเรื่องให้ใจมันคลายหดหู่...”
นางกุ่นมองหน้าลูกชาย แต่ก้านไม่ยอมสบตาของแม่ เขารีบเปิบข้าวเข้าปาก นางกุ่นจึงบอกว่า “เปลี่ยนที่เปลี่ยนทางบ้างก็ดี...”
“ถ้ามีใครถามถึงผม แม่ก็บอกไปว่า ผมไม่สบายนอนอยู่ที่บ้านนะ...”
“ทำไม เอ็งคิดจะทำอะไร”
“ไม่ได้คิดจะทำอะไรหรอก แต่ช่วงนี้ ถ้าใครเป็นอะไรขึ้นมา ผมนั่นแหละจะกลายเป็นจำเลย แม่เข้าใจที่ผมพูดใช่ไหม”
“ไอ้ทิด ผู้หญิงมันไม่ได้มีแค่นังเพียงเพ็ญนะ นังบังอร ดูท่าแล้วมันก็ชอบเอ็งอยู่ไม่น้อย” บังอรนั้นเป็นลูกนางอบ นายอาจ ซึ่งมีไร่มีนาพอสมควร แต่ว่าก้านไม่นึกพิศวาสบังอรสักนิด เพราะถ้าเปรียบเพียงเพ็ญเป็นดอกฟ้าที่ต้องเงยหน้าขึ้นมอง บังอรก็เป็นเพียงดอกหญ้าประดับดินที่ต้องก้มมองเท่านั้น และที่สำคัญ ‘ใจ’ เขานั่นแหละ ที่เคยเอาชนะใจแม่ดอกฟ้าได้แล้ว ก็อยากที่จะวิ่งเข้าเส้นชัยที่หมายมั่นให้ได้ด้วย...
“ไอ้หวังมันกะลิ้มกะเหลี่ยอยู่” ก้านออกตัว
“แต่ผู้หญิงมันชอบเอ็ง ใคร ๆ ก็ดูออก”
“ผมทำร้ายจิตใจเพื่อนไม่ได้หรอกแม่...”
“สุดท้ายมันก็จะไม่เหลือใคร...สู้ตัดใจให้ไว และรีบฉวยโอกาสกับคนที่เสมอกันไม่ดีกว่ารึ”
“ให้ถึงเวลานั้นก่อนแล้วกัน ถ้าไอ้หวังมันยังเอาชนะใจอีบังอรไม่ได้ ก็ค่อยว่ากันอีกที”
สองแม่ลูกกินข้าวกันเงียบ ๆ กระทั่ง ก้านกินอิ่ม ลุกขึ้นไปล้างปาก...แล้วไปคว้าผ้าขาวม้าที่วางไว้ตรงหัวบันไดพลางบอกกับแม่ว่า
“เดี๋ยวผมจะออกไปบ้านอาสิทธิ์หน่อยนะ” นายสิทธิ์นั้นเป็นอาของก้าน เป็นเจ้าของคณะแตรวง จึงทำให้ก้านมีความสามารถทางด้านดนตรีและใช้แก้วเสียงที่เหมือนสวรรค์ประทานมา ชดเชยกับความยากจน ร้องเพลงเป็นรายได้อีกทาง
และแตรวงของอาสิทธิ์นี้ก็ทำให้ก้านผู้ด้อยฐานะเป็นดาวเด่น จนสาวเพียงเพ็ญหันมามองเช่นเดียวกับสาวน้อยสาวใหญ่ในย่านนั้น
“จนป่านนี้แล้ว จะไปทำอะไร”
“อยากไปปรับทุกข์กับอาสักหน่อย ไปแล้วนะ ไม่ต้องรอนะ เข้านอนได้เลย คงกลับดึกหน่อย” ว่าแล้วก้าน ก็ลงจากเรือนไป โดยนางกุ่นก็ได้แต่มองตามไปด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความกังวล...เพราะรู้ว่าที่เห็นลูกชายดูนิ่ง ๆ นั้น ใช่ว่าข้างในจะสงบ
*********
อาสิทธิ์ของก้านเป็นลูกคนเล็กของปู่ ได้เมียมีฐานะดีกว่า นอกจากทำนาแล้วอาสิทธิ์ยังเป็นเจ้าของคณะแตรวงรับจ้างเล่นตามงานบวช งานแต่ง งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลทั้งหลาย รวมไปถึงงานอวมงคลอย่างแห่ศพไปเผา
ก้านไปถึงบ้านของอาสิทธิ์ในเวลาที่ถือว่า ‘ดึก’ สำหรับคนบ้านนอก พอไปถึงก้านก็ไปตะโกนเรียกแข่งกับเสียงหมาที่เห่ากันขรม เพราะถ้าไม่ส่งเสียงไปก่อน ย่อมไม่ปลอดภัยสำหรับคนในชนบท สิทธิ์ขานรับแล้วถือตะเกียงรั้วออกมารับหลานชายเข้าไปในบ้าน
“อา ผมมีเรื่องจะปรึกษา ไปตรงนั้นกับผมหน่อย” ก้านปฏิเสธที่จะขึ้นเรือน เพราะไม่อยากให้เมียและลูก ๆ ของอารับรู้เรื่องของตนให้มากความ...
“มีอะไรรึ” นายสิทธิ์เดินนำหลานมาที่แคร่หน้ายุ้งข้าว
“เรื่องผมกับเพียงเพ็ญ”
ก่อนหน้านั้น อาสิทธิ์เป็นผู้ยุยงให้หลานชายผู้มีหน้าตาหล่อเหลาคารมคมคาย ขวัญใจสาวน้อยสาวใหญ่ รวบหัวรวบหางลูกสาวคนเล็กของกำนันศร เพราะถ้าเอาฐานะกับความเหมาะสมมาวัดกัน ก้านหมดประตูสู้แน่ ๆ แต่พอเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว นายสิทธิ์นิ่งฟังด้วยสีหน้าเคร่งเครียด...
“ลำพังเสียเขาไป ผมก็พอทำใจได้นะอา แต่นี่ผมต้องเสียลูกไปด้วย”
“แล้วมึงคิดจะแก้ไขอย่างไร”
“ผมจะมาขอยืม ปืน อา” ด้วยหากินอยู่กับรื่นเริง แน่นอนว่ามันก็ต้องมีอันธพาลประจำถิ่นมาก่อกวน ไหนเวลาที่จะต้องเดินทางไปบ้านงาน ไปวัด ทั้งทางรถ ทางเรือ ที่ต้องผ่าน ‘ดงโจร’ อีก อาสิทธิ์จึงต้องมีเขี้ยวเล็บไว้ป้องกันตัว...
“ไอ้ก้าน” เสียงถามเพื่อให้แน่ใจนั้นผะแผ่ว
“ผมขอปืนสั้น ที่อาเพิ่งได้มาได้ไหม...” ปืนกระบอกนั้นเป็นปืนไม่มีทะเบียน หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ‘ปืนเถื่อน’
“มึงคิดจะทำอะไร”
“ถ้ามีมัน ผมก็จะไม่ได้เป็นลูกเขยพ่อกำนัน... ผมตั้งใจว่า หลังจากจัดการมันแล้ว ผมจะโยนปืนลงแม่น้ำแล้วก็รีบกลับบ้าน”
“แล้วถ้ามึง พลาด”
“ถ้าพลาด อย่างมากก็ติดคุก”
“แม่มึงจะอยู่อย่างไร”
“ผมคงต้องฝากอาดูแลแม่ ผมว่าถ้าพลาดจนติดคุก ก็ไม่กี่ปีหรอก...แต่ถ้ามันสำเร็จ...อาอย่าลืมซิ ว่าผลมันจะเป็นอย่างไร ตอนนี้เพ็ญมันท้องกับผมแล้ว พ่อกำนันต้องปล่อยให้เลยตามเลยแน่ ๆ”
“แล้วทำไม มึงถึงไม่ไปคุยกับทางกำนันซะก่อน”
“อาคิดรึว่า คนอย่างพ่อกำนัน จะยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ยิ่งงานแต่งถูกกำหนดในเร็ววันอย่างนี้ด้วย ผมว่าดีไม่ดี เขาก็รู้ว่าลูกสาวเขาเสียทีให้ผม และท้องกับผมแล้ว ทุกอย่างมันถึงได้ดูรวบรัดอย่างนี้...นะอา ช่วยผมสักครั้งเถอะ บุญคุณของอาครั้งนี้ ผมจะไม่ลืมเลย”
ผู้เป็นอานิ่งคิด แล้วถอนหายใจออกมา... “ถ้ามึงพลาด เรื่องปืน มึงอย่าสาวมาถึงกูล่ะ บอกว่าเป็นของเก่าเก็บของพ่อมึง จัดการมันแล้ว มึงก็ทิ้งปืนลงน้ำแม่น้ำไปซะ แล้วก่อนจะลงมือ มึงก็วางแผนหาทางหนีทีไล่ให้ดีซะก่อนนะ...”
“ครับ”
“แล้วงานนี้ มึงไม่ต้องแพร่งพรายให้ใครรู้อีกนะ...ความลับมันจะได้เป็นความลับตลอดไป”
เช้าวันรุ่งขึ้น ก้านเปลี่ยนแผนเข้าตลาดชุมแสง โดยการออกไปรับจ้างเกี่ยวข้าวกับแม่อีกวัน พอหลังเที่ยง ก้านก็บอกนางอบเจ้าของนาว่าเขายังคงปวดท้อง ขอกลับบ้านไปพักผ่อน บังอรดูเป็นห่วงเป็นใยเขาอย่างออกนอกหน้า...แต่ก้านก็บอกเพียงว่า พักผ่อนวันสองวันคงดีขึ้น ลับตาคนมาแล้ว เขาก็รีบวิ่งกลับบ้าน
ถึงบ้าน ก้านก็รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า คว้าปืนสั้นที่ซ่อนไว้ในตู้ใบเล็กข้างที่นอนเหน็บเอว พอจะลงจากเรือน ก้านก็นึกได้ว่า จะเอา ‘ปลาเกลือ’ ไปเป็นสินน้ำใจให้กับซินแซ และไอ้หนุ่มคนนั้น...เขาวกกลับไปครัว คว้าพวงปลาที่แขวนไว้ที่ข้างฝา...กลิ่นควันในครัวทำให้เขานึกถึงแม่...แล้วก้านก็เปรยเบา ๆ เพื่อปลุกใจตัวเองว่า ‘แม่ ถ้าผมทำงานนี้สำเร็จ ชีวิตของเราจะดีขึ้นกว่านี้ ผมจึงจำเป็นต้องทำอย่างนี้’
เจ้าของร้านขายยา เงยหน้าขึ้นเมื่อเห็นชายหนุ่มมีผ้าขาวม้าเคียนหัว เดินเข้ามาในร้านพร้อมกับปลาเค็มสองพวง...
“ลื้อนั่นเอง”
“หมอจำผมได้ด้วย”
“จำได้ซิ แม่ลื้อหายดีหรือยัง”
ได้ยินดังนั้นก้านก็นิ่วหน้าแปลกใจ เพราะวันนั้น เขามาถึงที่นี่ก็โพล้เพล้จนเริ่มเข้าไต้เข้าไฟ ไม่น่าที่หมอยาจะจำหน้าเขาได้
“แม่ดีขึ้นมากแล้ว แต่ว่า ทำไม หมอถึงจำผมได้”
“ไม่รู้เหมือนกัน แต่ จำได้ละกัน แต่ รึอาจจะเป็นเพราะว่า ลื้อหน้าตาคมคาย สะดุดตาดี ลื้อก็มาจากฆะมังใช่ไหมล่ะ”
“ใช่ครับ วันนี้ ผมนำปลาเกลือมาฝาก”
“เอามาให้ลำบากทำไม...”
“ก็ถือว่าเป็นสินน้ำใจที่หมอช่วยรักษาแม่ผมจนหายดี”
“อั๊วไม่ได้ช่วยเปล่านี่นา คิดเงินลื้อ ได้กำไรมาแล้ว...”
“รับปลาผมไว้เถอะนะ ผมตั้งใจเอามาแล้ว” ว่าแล้วก้านก็ส่งปลาหนึ่งพวงข้ามตู้ใส่สินค้าไปให้
“ก็ได้...ขอบใจนะ พรุ่งนี้เช้าอั๊วจะทอดกินกับข้าวต้มร้อน ๆ คงจะอร่อยมาก แต่อั๊วเกรงใจลื้อจัง คราวหน้าคราวหลังไม่ต้องเอาอะไรมาอีกนะ”
“แล้วไอ้หนุ่มคนนั้นล่ะ คนที่ช่วยออกค่ายาให้ผม 2 บาท ผมมีปลามาฝากเขาเหมือนกัน บ้านเขาอยู่ตรงไหน”
“อาซานะเหรอ”
‘อาซา’ ชื่อนี้ทำให้ก้านรู้สึกเย็บวาบไปทั่วสรรพางค์กาย... ในหัวสมองที่ครุ่นคิด วางแผน กำจัด ‘ไอ้ซา’ มาตลอดการเดินเท้าจากฆะมัง มาที่ตลาดชุมแสงนั้น มีคำถามผุดขึ้นว่า หวังว่ามันจะไม่ใช่คนคนเดียวกัน...เพราะชื่อคนจีนนั้นก็จะคล้าย ๆ กันอยู่แล้ว
“ไม่รู้ซิ...รู้แต่ว่า เขาช่วยออกเงินให้ผม 2 บาท ผมอยากเจอเขา ผมจะเจอเขาได้ที่ไหน”
“ร้านเถ้าแก่เซ้ง อาย้อย ออกจากซอยนี้ไปเลี้ยวซ้าย ผ่านตลาดสด ซอยแรกเลย ชื่อ ร้านอัศวรุ่งเรืองพานิช ถ้าหาไม่เจอก็ถามคนแถว ๆ นั้นได้เลย”
ระหว่างที่ก้านเดินมาปากซอย ต้องผ่านร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่ตั้งอยู่เรียงราย เจ้าของร้าน และลูกจ้าง ต่างเชื้อเชิญให้เขาเข้าไปในร้าน ก้านที่คุ้นเคยกับสีเหลืองทองของผ้ากาสาวพัสตร์ ได้แต่ส่ายหน้าเบา ๆ พอเดินมาถึงปากซอย มองข้ามแม่น้ำน่านไปก็มองเห็นหลังคาวัด ใจที่คะนองเกรี้ยวกราดก่อนนั้น ค่อย ๆ ฝ่อลง...
ใบหน้า น้ำเสียง และ ‘น้ำใจ’ ของชายหนุ่มคนนั้นยังคงติดตาตรึงใจ...
‘ไม่ต้องหรอกแปะ คิดเขาแค่ 20 นั่นแหละ อีก 4 บาท เดี๋ยวเอาที่อั๊ว’
‘มันเอ่อ ไม่ดีมั้งน้องชาย ให้อาแปะเอายาออกเถอะ’
‘อย่าเอาออกเลยพี่ชาย รับน้ำใจจากผมไปเถอะ เตี่ยผมก็ป่วยเหมือนกัน นอนฟังเตี่ยไอทั้งคืน ก็สงสารเตี่ย...พี่ชายก็คงเหมือนกัน คิดซะว่า ผมซื้อยาให้แม่พี่ชายแล้วกันนะ...รับไว้เถอะ’
‘รับไว้เถอะพ่อหนุ่ม เดี๋ยวอั๊วลดให้ 2 บาทแล้วกัน ช่วยกันคนละครึ่งกับอาตี๋มัน ลื้อจะได้สบายใจ’
ก้านนึกถึงตอนที่เขาจะยกมือไหว้ขอบคุณ ...แต่ ‘อาซา’ ก็รีบจับมือของเขาไว้เสียก่อน แล้วก็พูดว่า
“ไม่ต้อง ๆ ไม่เป็นไร ผมยินดี แล้วนี่ พี่ชายมาจากไหน”
‘มาจากฆะมัง’
‘ฆะมัง...ฆะมัง ไกลอยู่เหมือนกันนะ พี่ชายมาอย่างไร แล้วจะกลับอย่างไร อ้อ เอาจักรยานมา งั้นรีบกลับเถอะ ค่ำมืดดึกดื่น มันจะยิ่งลำบาก...’
คำว่า ‘ฆะมัง’ ยังคงก้องอยู่ในสามัญสำนึกของก้าน...เขามองปลาเค็มในมือ แล้วถามตัวเองว่า ถ้าเขาอาจหาญถือปลาเค็มไปให้อาซาคนที่เขาจะมา ‘คร่าชีวิต’ มันก็เท่ากับว่า เขาเต็มใจยก เพียงเพ็ญ นางผู้เป็นยอดดวงให้อาซาด้วยเช่นกัน...
เขาจะทำอย่างไรกับปลาเค็มพวงนี้ดี...เขาจะทำอย่างไรดี?
****************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #20 on: 02 March 2020, 00:05:45 » |
|
ตอนที่ 21 : ความดีเป็นเกาะคุ้มครองตัว
๒๑
วันรุ่งขึ้น แรกทีเดียว กำนันศรจะให้นางศรีมารับช่างตัดชุดเจ้าสาวไปวัดตัวเพียงเพ็ญที่บ้านแล้วขับเรือมาส่ง แต่พอเพียงเพ็ญรู้เรื่องเข้า หญิงสาวบอกว่า ขอมาหาช่างที่ตลาดชุมแสงด้วยตนเองดีกว่า เพราะจะได้มีโอกาสเลือกผ้าตัดชุดได้มากขึ้น... กำนันศรรู้สึกดีใจละคนแปลกใจที่เห็นลูกสาวละพยศได้เร็วกว่าที่คิด แต่ก็ใช่จะวางใจ เขาสั่งกำชับนางศรีกับนางสมพร และคนขับเรือให้ช่วยกันจับตาดูเพียงเพ็ญให้ดี นอกจากนั้น กำนันศรก็ยังให้คนของตนอีกจำนวนหนึ่ง เฝ้าดูพฤติกรรมของก้าน
พอรู้ว่าเช้าวันนั้น ก้านออกไปเกี่ยวข้าวพร้อมกับแม่ กำนันศรก็คลายกังวล ว่าระหว่างก้านกับเพียงเพ็ญจะไม่มีการนัดแนะ หนีตามกันอย่างที่ระแวง...
เที่ยงวันนั้น ระหว่างที่ปล่อยให้หลานสาวและพี่สะใภ้ เลือกผ้าเลือกแบบ อยู่กับช่างตัดผ้า นางศรีก็เดินมาหานางย้อยที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการเตรียมงานงานแต่งลูกชายคนที่สามอยู่เหมือนกัน...
“แม่ศรี มาก็ดีแล้ว” นางย้อยยังไม่ลืมเรื่องคาใจ นางศรีได้ยินดังนั้นก็รู้สึกหวั่นใจ ตามประสาเพราะฝ่ายของตนนั้นมี ‘ชะนัก’ ติดหลังอยู่ แต่พอได้ยินเรื่องที่นางย้อย ‘ฟ้อง’ หัวคิ้วของนางศรีก็ขมวดเข้าหากัน...
“แน่ใจนะว่า เจ้าของเรือเติมน้ำมันไปเต็มถัง”
“แน่เสียยิ่งกว่าแน่...”
“ใครกันนะ มันช่างกล้า...” นางศรี ละคำว่า ‘ล้วงคองูเห่า’ ไว้ในใจ โดยลึก ๆ ก็พอรู้ว่า ใคร? ที่มัน ‘ช่างกล้า’ หยามชื่อเสียงของกำนันศร แต่จะพูดออกไปได้อย่างไร เพราะถ้าความแตกขึ้นมา แผนการที่ดำเนินมาจนถึงขั้นนี้แล้วคงได้พังทลาย
“เรื่องนี้ ทางพ่อกำนัน ทางแม่ศรีต้องไปสืบให้ได้เรื่องนะ หาตัวคนทำผิดมาให้ได้...บอกตรง ๆ ว่า พอฉันรู้ว่ามีคนคิดไม่ดีกับพวกฉัน ตั้งแต่เหยียบย่างไปที่นั่น ฉันก็นึกห่วงอาซาขึ้นมา”
“โอ๊ย ไม่มีอะไรหรอกแม่ย้อย คนที่โน่นจิตใจดีมีศีลธรรมกันทุกคน”
“จิตใจดี แต่พอเผลอไปกินข้าวก็เปิดน้ำมันเรือทิ้งนี่นะ” นางย้อยย้อนด้วยเสียงสะบัด
“ฉันกับพี่กำนันรับรองว่า อาซาไปอยู่ที่โน่นจะไม่มีปัญหาอะไร” นางศรีตอบไปอย่างกำปั้นทุบดิน
“แล้วถ้ามีล่ะ”
“ไม่มีหรอก...เฮ๊ย เราอย่ามาพูดเรื่องที่มันยังไม่เกิดขึ้นเลยแม่ย้อย”
“แต่ฉันนึกเป็นห่วงลูก จะว่าไปแล้ว มันก็เกิดและโตในตลาด กลัวว่ามันจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของคนตามท้องไร่ท้องนาเขา”
ได้ยินดังนั้นนางศรีก็นึกค่อนขอดอยู่ในใจว่า ‘ฝ่ายตัวเป็นผู้ชายแท้ ๆ จะห่วงอะไรนักหนา’ แต่นางศรีก็ไม่ได้พูดออกมา และเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ของนางย้อย นางศรีจึงต้องเปลี่ยนเรื่องคุย
“คิดมากนะ...ใจเย็นๆ ฉันรับรองว่า ไม่มีอะไร ก็ไม่มีอะไรซิ อ้อ แล้วนี่จัดแจงเรื่องชุดเจ้าบ่าว เครื่องขันหมากหรือยัง...”
“จัดแจงแล้ว”
นอกจากชุดเจ้าบ่าวที่กมลตัดสินใจใช้ชุดของประสงค์ที่เพิ่งเก็บเข้าตู้ไปแล้ว นางย้อยก็ยังจัดแจงเรื่องขนมเครื่องขันหมาก โดยการให้บุญปลูกไปเรียกเรณูที่นั่งอยู่หลังหาบหน้าตลาดสดเข้ามาพบแล้วสอบถามเรณูว่า จะสามารถช่วยเรื่องขนมตามตำราได้หรือไม่ พอรู้ว่านางย้อยต้องการอะไรบ้าง เรณูก็ตกปากรับคำว่า จะทำให้โดยไม่คิดค่าแรงเพราะเห็นแก่กมล และถ้าขนมชนิดไหนที่ทำไม่ได้ ก็จะเป็นธุระซื้อหาให้เอง
หลังจากที่เรณูรับภาระเรื่องขนมไปแล้ว นางย้อยก็ออกปากชวนให้เรณูไปงานร่วมงานแต่งของกมลด้วยกัน...
ตอนนั้นเอง พิไล เริ่มรู้สึกแปลกใจยิ่งขึ้น เพราะเมื่อวาน ก่อนจะไปฆะมัง นางย้อยก็เหมาขนมหม้อแกงไปฝากคนทางนั้นจนหมดเกลี้ยง...มาวันนี้ก็ยังเรียกมาไหว้วาน จ้างวาน ให้ทำขนมให้ด้วยน้ำเสียงรื่นหู
...มันเกิดอะไรขึ้น คนเคยเกลียดกันจนกระทั่งไม่อยากแม้จะได้ยินชื่อเสียง ลุกขึ้นมาเดินไปหากัน พูดคุยกัน ญาติดีต่อกัน เหมือนไม่มีเรื่องเคยบาดหมางใจกัน...
เรื่องที่เคลือบแคลงสงสัยนั้น พิไลยังคงเก็บไว้กับอก ไม่เปรยให้ประสงค์ได้รับรู้ และพิไลก็ตั้งใจไว้ว่า นับแต่นี้ จะต้องจับตามองทั้งนางย้อยและเรณูให้มากขึ้น...
กระทั่งนางศรีขอตัวออกไปดูเพียงเพ็ญที่ร้านตัดผ้า พิไลก็ที่จัดของพลางฟังความไปด้วย ก็เดินเข้ามาหาแล้วถามว่า
“งานแต่งอาซา จะต้องแจ้งให้เตี่ยกับแม่หนูไปด้วยหรือเปล่า”
นางย้อยนิ่งคิด ก่อนจะบอกว่า “ใจหนึ่งก็อยากแจ้ง แต่อีกใจก็รู้สึกเกรงใจ....”
“เราเป็นครอบครัวเดียวกัน จะต้องเกรงใจอะไรม้า บอกเขาไปเถอะ มาไม่มาก็อีกเรื่อง”
“ถ้าอย่างนั้น ลื้อก็ช่วยเขียนจดหมายฝากเรือสินค้าไปแล้วกัน รีบ ๆ หน่อยนะ มีเวลาแค่สัปดาห์เดียว”
“แล้วญาติของเตี่ยทางปากน้ำโพล่ะ”
“ฉุกละหุกแบบนี้ บอกไป เขาก็ไม่มากันหรอก บอกตรง ๆ ว่า ม้ารู้สึกว่า อะไร ๆ มันยุ่งไปหมด นี่ก็ยังไม่รู้ว่าคิดผิดหรือเปล่า ที่รีบร้อนกำหนดวันแต่งเสียจนกระชั้นจนหายใจหายคอไม่ทัน”
เห็นว่าเรื่องจะเข้าตัว พิไลจึงรีบบอกว่า “โอ๊ย คิดไม่ผิดหรอกม้า...ก็อย่างที่หนูบอกนั้นแหละ โอกาสมีแล้ว ก็รีบฉวยไว้ พลาดจากเขาขึ้นมาแล้วจะมาเสียใจทีหลัง...อ้อ ม้างานนี้อย่างไร ก็ต้องส่งข่าวให้ อาสี่ มาถ่ายรูปงานแต่งให้อาซานะ...เดี๋ยวพอไม่มีรูปงานแต่ง เหมือนอาเฮีย วันหลังอาซาจะนึกน้อยใจเอาได้”
แม้จะรู้สึก ขวางหู ขวางตา รู้สึกรำคาญน้ำเสียง ความเจ้ากี้เจ้าการของลูกสะใภ้คนนี้ แต่นางย้อยก็เห็นว่า ความคิดของพิไลนั้นเข้าที นางย้อยจึงตัดบทไปว่า “งั้นลื้อก็ช่วยจัดการให้ม้าหน่อยแล้วกัน ช่วงนี้ ม้า รู้สึก งง ๆ รู้สึกตื้อ ๆ อย่างไรก็ไม่รู้”
“พักผ่อนนอนหลับไม่พอ หรือเปล่าม้า...คือ หนูรู้สึกว่า หน้าตาม้าไม่ค่อยจะสดใสเหมือนก่อน...”
พอได้ยินดังนั้น นางย้อยก็หยิบกระจกส่องหน้าที่คว่ำไว้บนโต๊ะบัญชีมาดูหน้าตัวเอง... หัวคิ้วขมวดเข้าหากัน ใจนั้นไม่รู้สึกว่า สีหน้าของตนนั้นก็ปกติดี ดูจะมีเลือดฝาดอีกต่างหาก...พินิจดูใบหน้าตัวเองแล้ว จู่ ๆ อารมณ์หนึ่งก็แทรกเข้ามา มันรู้สึกอยากกินของหวาน อยากกินขนมหม้อแกง ฝีมือของเรณู...คว่ำกระจกลงแล้วนางย้อยก็บอกพิไลว่า
“พิไล ลื้อไปบอกไอ้ป้อมหน่อยซิ ให้มันไปที่โรงสีหน่อย ไปบอกอีเรณูให้ที ว่าพรุ่งนี้ ทำขนมหม้อแกงมาให้ม้ากินหน่อย นึกถึงขนมมันทีไร ม้าก็รู้สึกเปรี้ยวปากจนน้ำลายไหลโกรก...”
***********
ชุดสูทของประสงค์แม้จะยังใหม่เอี่ยม แต่ส่วนเอวกางเกงก็คับไปและช่วงขานั้นก็สั้นเต่อ กมลจึงได้นำไปให้ช่างตัดเสื้อผ้าบุรุษช่วยแก้ให้ ระหว่างเดินกลับมาที่ร้าน ป้าคนขายข้าวเม่า ก็ร้องเรียก...
“แหม พอจะได้เป็นเจ้าบ่าว ก็ทำเป็นไม่รู้จักกันเลยน้า...”
กมลฉีกยิ้มแล้วเดินเข้าไปหา เหมือนเดิมว่า เขาคว้าแป้งร่วง ๆ มาเคี้ยวกินหน้าตาเฉย
“ขายดีไหมป้า”
“ทำไมรีบร้อนแต่งนักล่ะ บวชก็ยังไม่ได้บวช ทหารก็ยังไม่ได้เกณฑ์...”
“เหลือเยอะเลยนะ คนกิน ไปไหนกันหมด”
“เขาว่ากันว่า เงินต่อเงินใช่ไหม”
“น้ำมันบัวหมดหรือยังป้า...ถ้าหมดแล้วบอกนะ จะให้พี่ป้อมเอามาส่ง ป้าไม่ต้องไปถึงที่ร้านหรอก บริการถึงที่”
พอเห็นว่า กมลไม่ยอมไขข้อข้องใจ นางแม่ค้า ก็ค้อนให้...
“จะไปงานแต่งผมไหมล่ะ แม่เขาจ้างเรือไว้ตั้งสองลำ”
“ถ้าไป ใครจะขายของล่ะ”
“ก็หยุดสักวันซิ...นะ ไปเป็นเกียรติกับผมหน่อย ชีวิตนี้คงไม่ได้แต่งงานบ่อย ๆ หรอก”
“แล้วทำไมถึงได้รีบร้อนแต่งนักเล่า อายุก็แค่นี้เอง”
“ก็ เห็นเขา มีเมียกัน ก็นึกอยากจะมีกับเขามั่ง ประมาณนั้นแหละ...”
“มีเมียดีก็ดี”
“แล้วถ้ามีเมียไม่ดีล่ะ”
“ก็ไม่ดีนะซิ...พ่อก็ถามได้ แต่เมียพ่อคนนี้ คงจะดีอยู่หรอก เรือล่มในหนองทองจะไปไหนใช่ไหม”
“นั่นซิ ทองจะไปไหน ถามใครดีล่ะ” กมลแสร้งหันซ้ายหันขวา ยิ้มกวนอารมณ์คู่สนทนา
“ศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ ใช่ไหม...ขอคิดดูก่อนนะ”
“ถ้าป้าไม่ไป วันนี้ผมไม่ช่วยซื้อ แล้วก็จะไม่ช่วยซื้อตลอดไป...”
“แหม ไปอยู่ฆะมังแล้ว อย่างกับจะกลับง่าย ๆ นักแหละ ตกลงเอากี่แพ”
“ไปรึเปล่าล่ะ” กมลแสร้งทำหน้าบึ้ง
“ไปก็ได้...แหม แค่นี้ก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน ว่าไป พ่อไม่อยู่สักคน ป้าคงเหงาแย่”
ระหว่างที่กมลยืนลับฝีปากอยู่กับแม่ค้าข้าวเม่า ก้านที่ยืนชั่งใจอยู่ว่า ควรจะทำอย่างไรกับ ‘พวงปลาเค็ม’ ในมือ ก็นิ่วหน้า...เพราะผู้ชายที่เดินมาหยุดอยู่ที่ร้านขายข้าวเม่าทอดนั้น เหมือนไอ้หนุ่มคนนั้น ซึ่งเขาก็เพิ่งรู้ว่ามัน ชื่อ ‘ซา’ จะว่า มันเป็นคนมีบุญคุณกับเขาก็ได้ ถ้าไม่ได้มัน แม่ก็จะไม่ได้ยาไปครบตำรับ
แต่มันก็ทำให้แผนชีวิตของเขาพังทลาย แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
ถ้าไม่มีมันสักคน...
ถ้ามันได้แต่งเข้าบ้านกำนัน
มันก็จะได้ครอบครองสมบัติพัสถานที่กำลังจะเป็นของเขา...
มันก็จะกลายเป็นพ่อของลูกของเขาไปโดยปริยาย
และที่ก้านคิดไม่ถึง คือ กมลที่ยืนหันหลังอยู่นั้น เกิดรู้สึกว่า มีใครมองตนอยู่จึงเหลียวหลังกลับ...แล้วหัวคิ้วของกมลก็ขมวดเข้าหากัน...ครุ่นคิดว่า เคยเห็นหน้าชายหนุ่มที่มีผ้าข้าวม้าโพกหัวคนนี้ที่ไหน ชั่วอึดใจแค่นั้น กมลก็ยิ้มออกมา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ก้านกำลังจะเมินหน้าหนี...
“พี่ชาย...พี่ชาย” กมลที่มีกระทงข้าวเม่าอยู่ในมือร้องเรียกก้าน ก้านหยุดชะงักแล้วสูดลมหายใจเข้าปอด...ชั่งใจว่าระหว่างเดินไปเลย ทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เสียก็ได้ แต่ว่าเสียงนั้น ก็เป็นเสียงที่เต็มไปด้วยความเป็น ‘มิตร’
และคำว่า ‘มิตร’ นี้ ทั้งพ่อและอาสิทธิ์พร่ำบอกกับเขาเสมอว่า ถ้าเจอ ‘มิตรดี’ ก็ควรรักษาไว้ให้ดี...และที่สำคัญของความเป็นคนนั้น โดยเฉพาะในมงคลสูตร ข้อที่หนึ่ง ก็คือ อย่าคบหา ‘มิตรชั่ว’
“พี่ชาย ๆ” กมลกรากเข้าไปหาก้านที่กำลังจะผละหนี ก้านชะงักเท้าแล้วหันกลับมา ยิ้มแหยๆ ให้
“จำผมได้ไหม...”
ก้านหน้าเจื่อน ๆ ก่อนจะบอกว่า
“จำได้ จำได้ น้องชาย คนที่ช่วยออกเงินค่ายาให้พี่” คำตอบนี้ของก้านเสมือนแสงสว่าง ทำให้ใจที่เกือบมืดบอดนั้นพลันสุกใสขึ้นมา...
“แม่พี่เป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นไหม”
“ดีขึ้น ๆ ทำงานได้แล้วด้วย พ่อน้องชายล่ะเป็นอย่างไร” ด้วยยังปรับอารมณ์ตัวเองไม่ทัน น้ำเสียงของก้านจึงยังตะกุกตะกัก ผิดเวลาที่เขาออดอ้อนบรรดา ‘แม่ยก’ ของบนเวทีรำวง
“ดีขึ้นเหมือนกัน แต่ก็ยังมีไออยู่ แล้วนี่พี่ชายมาทำอะไร มาซื้ออะไร” ถามแล้วกมลก็มองพวงปลาเค็มในมือของก้าน
ก้านได้สติ ก้มมองพวงปลาเค็มในมือแล้วบอกว่า
“วันนี้นึกอยากดูหนังก็เลยมาตลาด มีปลาเกลืออยู่ ก็เลย เอามาฝากหมอ กับ เอ่อ ๆ ตั้งใจจะเอามาฝากน้องชายด้วย”
“ฝากผม ฝากทำไม...”
“เอ่อ...ถือว่า เป็นสินน้ำใจน่ะ มันไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรหรอก นี่เอาไปให้หมอแล้วพวงหนึ่ง ก็เหลือแต่ของน้องชาย พี่ก็กำลังจะเดินไปที่ร้านพอดี”
“โห ปลาตัวใหญ่แล้วเยอะเสียด้วย ผมเกรงใจจัง”
“ไม่ต้องเกรงใจหรอก รับไปเถอะนะ...” ว่าแล้วก้านก็ยื่นพวงปลาเค็มในมือให้กมล กมลลังเลที่จะรับเพราะรู้สึกว่า มันมากไป ประกอบกับตอนที่คิดช่วยเหลือ เขาไม่ได้คิดหวังตอบแทนผลใด ๆ ความสุขตอนที่ได้ช่วยเหลือ เขาก็รับตอนนั้นไปแล้ว... เขาจึงส่ายหน้าเบาๆ
“ผมรับปลาของพี่ไม่ได้หรอก ผมเกรงใจ แต่ผมจะตอบแทนเป็นเงินแล้วกันนะ” ว่าแล้วกมลก็ควักแบงก์สิบออกมาจากกระเป๋าเสื้อ...พร้อมกับยื่นมือไปคว้าพวงปลามาถือไว้ด้วยมือข้างซ้ายที่มีกระทงข้าวเม่า...
“พี่รับเงินนี้ไปนะ มันไม่มากหรอก อาจจะน้อยกว่าราคาปลาของพี่อีก...”
“พี่คงรับไว้ไม่ได้...”
“รับไปเถอะนะ ผมรับปลามาเฉย ๆ ผมไม่สบายใจ...อ้อ เอาอย่างนี้แล้วกัน ถ้าพี่ลำบากใจ พี่ก็รับเงินนี้ไว้ แล้วซื้อขนมไปฝากแม่พี่ละกันนะ...ถือว่าผมซื้อขนมฝากไปให้แม่ของพี่กิน รับไว้เถอะนะ...” กมลรีบคะยั้นคะยอ...ก้านมีสีหน้าลำบากใจ ลังเลใจ และรู้สึกหนักใจมากทับทวี...
และยังไม่ทันที่ก้านจะตัดสินใจทำอะไร เขาก็ได้ยินเสียงของนางศรีที่เดินมาพอดี...
“ไอ้ก้าน เอ็งมาทำอะไรที่นี่ แล้วพ่อซามายืนทำอะไรอยู่ตรงนี้”
*******************
นางศรีกำลังเดินมาหาเพียงเพ็ญกับนางสมพรที่ร้านตัดเสื้อ หยุดะงักแล้วหยีตามองสองหนุ่มที่ยืนอยู่ตรงหน้า พอเห็นถนัดสายตา นางศรีก็รีบเดินเข้ามาหาพร้อมกับร้องทัก เพราะหวั่นใจว่า ก้านจะมาทำให้เสียเรื่อง! ที่กำลังจะลงเอยด้วยดี
“ไอ้ก้าน เอ็งมาทำอะไรที่นี่ แล้วพ่อซามายืนทำอะไรอยู่ตรงนี้”
สองหนุ่มหันไปทางต้นเสียง... ตอนนั้นเงินแบงก์สิบอยู่ในมือของก้าน และปลาเค็มพวงนั้นก็อยู่ในมือของกมลแล้ว...
“อาศรี” กมลเอ่ยทักขึ้นก่อน ส่วนก้านเชิดหน้าขึ้นสูดลมหายใจเข้าปอดตั้งสติหาข้อแก้ตัว
“รู้จักกันด้วยรึ”
คำถามนั้น ทำให้สองหนุ่มหันมามองหน้ากัน ใช่แล้ว กมลยังไม่รู้ว่า ชายหนุ่มตรงหน้ามีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร รู้แต่ว่า เขาเป็นคนฆะมังเช่นเดียวกับนางศรี...เขาจึงอึกอัก “เอ่อ...”
“พี่ชื่อ ก้าน น้องชายก็คงชื่อซา ใช่ไหม” ตั้งสติได้แล้ว ก้านก็รีบหันไปหากมล กมลรับคำว่าครับ พร้อมกับยิ้มให้
“เพิ่งรู้จักกันรึ...” นางศรียังไม่คลายสงสัย
“คือ แบบนี้อา...” กมลจึงเล่าเรื่องคร่าว ๆ ให้นางศรีฟัง
นางศรีไม่อยากจะเชื่อว่า โลกมันจะกลมถึงเพียงนี้...แต่ดูท่าแล้วกมลคงยังไม่รู้ว่าก้านนั้นคือคนรักของเพียงเพ็ญ และเป็นคนที่ทางกำนันศรระแวงว่าจะทำงานพิธีการแต่งงานที่จะเกิดขึ้นนั้นปั่นป่วน
นางศรีจึงรีบถามก้านว่า “ก้าน แล้วเอ็งมาทำอะไรรึ”
“เอ่อ มาซื้อยาให้แม่”
“วันนี้ ไม่ได้ไปรับจ้างเกี่ยวข้าวหรอกรึ”
“ไปมาแค่ครึ่งวัน พอดีนึกขึ้นมาได้ว่า ยาของแม่หมด...”
“แล้วได้ยาหรือยัง”
“ยังเลย”
“งั้นก็รีบไปซิ เดี๋ยวจะมืดค่ำซะก่อน”
ได้ยินดังนั้น มุมปากของก้านก็กระตุก เพราะเดาใจได้ว่า นางศรีนั้นคงจะระแวงว่าตนจะทำให้เสียเรื่อง...แต่ก้านที่เกิดปลงใจได้แล้วว่า ‘เวรควรระงับด้วยการไม่จองเวร’ และวาสนาของตนนั้นมีแค่นี้ เป็นได้แค่นี้ ก็ปั้นหน้าเป็นปกติ แล้วก็เอ่ยกับกมลว่า
“น้องชาย พี่ก็ขอตัวก่อนนะ...วันหน้าหวังว่าคงจะได้เจอกันอีกนะ”
“เช่นกันครับ...”
“ขอบใจสำหรับเงินสิบบาทนะ บุญคุณของนายในครั้งนี้ เห็นทีพี่จะไม่ลืมไปจนชั่วชีวิต!”
“โอ๊ย อย่าคิดเรื่องบุญคุณเลยพี่ ปลาพวงนี้ ผมก็รู้สึกตื้นตันใจจะแย่แล้วเหมือนกัน”
นางศรีเห็นว่า เรื่องจะยืดยาวจึงรีบตัดบทว่า “พ่อซา เมื่อกี้ แม่ของพ่อบ่นถึงน่ะ...”
ด้วยแดดยามบ่ายนั้นยังคงร้อนผิว กมลที่สวมเสื้อยืดคอเชิ๊ตและกางเกงขาสั้นจึงบอกว่า
“พี่ก้าน ถ้าอย่างนั้น ผมขอตัวก่อนนะ อาศรี งั้นผมไปแล้วนะ...”
ทั้งนางศรีและก้านมองตามหลังของกมลไป แล้วนางศรีก็หันกลับมาหาก้านที่ยังยืนนิ่งอยู่...
“แล้วนี่ ร้านขายยาอยู่ตรงไหน”
ก้านชี้ไปในซอย...นางศรีเห็นว่า ร้านยานั้น อยู่คนละซอยกับร้านที่เพียงเพ็ญไปตัดชุดจึงคลายกังวล...แต่พอก้านจะผละไป นางศรีก็นึกขึ้นมาได้ว่า ยังมีเรื่องคาใจที่จะต้องสะสาง...
“เดี๋ยว...”
ก้านชะงักแล้วหันมาหา...
“เอ็งรู้ใช่ไหมว่า อาซา คือคือคู่หมั้นคู่หมายของนังหนู”
“ก็เพิ่งรู้” ก้านตอบห้วนๆ
“เพิ่งรู้ หรือว่า รู้ ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว”
“รู้ ตั้งแต่เมื่อวาน” ก้านยอมรับตามตรง สีหน้านั้นเรียบเฉย จนนางศรีเดาอารมณ์ไม่ได้
“แล้วเมื่อวาน ใครเปิดน้ำมันเรือของเขาทิ้ง”
“เรื่องนั้น ผมไม่รู้”
“ความลับ มันไม่มีในโลกหรอกนะไอ้ทิด จะทำอะไร ก็คิดหน้าคิดหลังให้ดี ๆ คนบ้านเดียวกัน อย่างไรมันก็ต้องเห็นกันไปอีกนาน”
“อาอยากจะบอกอะไรกับผมอีก”
“เรื่องมันก็มาจนถึงขนาดนี้แล้ว อย่างไรก็ปล่อยนังหนูมันไปเถอะนะ มันเองก็ดูเหมือนจะรู้แล้วว่าอะไรควร อะไรไม่ควร”
“แล้วอะไรไม่ควร” ก้านแกล้งเล่นลิ้น นางศรีมองหน้าก้านแล้วก็บอกด้วยน้ำเสียงละมุนละม่อมว่า
“อาขอเถอะนะ เรื่องน้ำมัน พ่อกำนันยังไม่รู้ และอาก็จะไม่บอก ถ้าทิดสัญญาว่างานแต่งที่จะถึงนี้จะไม่มีเหตุให้ผู้ใหญ่ปั่นป่วนอีก”
“แล้วถ้าผมให้ไม่ได้ล่ะ ผลมันจะเป็นอย่างไร”
“ทิดเป็นคนฉลาด ก็น่าจะรู้ว่า ดิ้นรนไปแล้ว สุดท้าย ผลมันจะเป็นอย่างไร ตัดใจแล้วก็ตั้งจิตไว้ที่ปรารถนาดีต่อกันเถอะนะ...ทิดก็เห็นแล้วนี่ ว่าพ่อซาน่ะเขาเป็นคนดีและคู่ควรกับนังหนูมันแค่ไหน...”
ก้านอยากจะถามว่า ‘แล้วอาศรีรู้หรือยังว่านังหนูของอาท้องกับผม’ แต่เขาก็กลืนประโยคนั้นลงคอ...เพราะเมื่อ ‘กรรมดี’ ที่จะเรียกว่า ‘บุญ’ ของอาซายังมี และมีมากจนเขาไม่อาจเทียบรัศมี เห็นทีเขาก็ควรไปตามยถากรรมของเขา อย่างที่ญาติผู้ใหญ่ของเพียงเพ็ญต้องการ
และเพื่อต้องการให้นางศรีเห็นว่าเขายินดีปลดปล่อยเพียงเพ็ญให้กับกมลไปแต่โดยดี ก้านจึงบอกกับนางศรีว่า
“ถ้าอย่างนั้น อาศรีก็บอกคนของอา ว่าให้ลบผมไปจากหัวใจ และอย่าบอกให้อาซามันรู้ว่า ผมเคยเป็นใครละกัน...ผมไปละ”
ว่าแล้วก้านก็เดินเข้าซอยไป โดยมีนางศรีมองตามหลังด้วยใจที่ยากจะบอกความรู้สึก...
***************
ระหว่างที่อยู่ในร้านตัดผ้านั้น เพียงเพ็ญมีอาการคลื่นเหียน และอาเจียนออกมาถึงสองครั้งสองครา...ช่างตัดเสื้อเห็นว่าเจ้าสาวนั้นดูท่าจะไม่สบายจึงรีบวัดตัว หลังเลือกแบบ เลือกผ้าเสร็จเรียบร้อย แล้วก็แนะนำนางสมพรให้พาลูกสาวไปซื้อหาหยูกยากินบรรเทาอาการ ‘เมาเรือ’ ที่นางสมพรกล่าวอ้างแทนลูกสาว
พาลูกสาวเดินพ้นจากร้านตัดผ้ามาแล้ว นางสมพรก็ถามว่า “ไหวไหม จะต้องไปที่ร้านขายยาไหม”
“ไปก็ดีเหมือนกัน...เหมือนยาลมที่บ้านเราจะหมด” ตั้งแต่ ‘รู้สึกตัว’ ว่า ตนน่าจะท้องกับก้าน เพียงเพ็ญเริ่มมีอาการแพ้ท้องประจานหน้าตัวเองหนักขึ้น ๆ แม้จะรักก้าน แต่เพียงเพ็ญก็รักหน้าตัวเองมากกว่า ขืนมีอาการพะอืดพะอมกลางงานแต่ง ทีนี้เอง คนคงได้เอาไปลือกันทั้งบางจนแผนที่วางไว้จะพังทลายไปเสียก่อน!
ระหว่างที่นั่งรอแม่อยู่ที่หน้าร้าน เพียงเพ็ญที่รู้สึกอ่อนแรงก็เอนตัวพิงประตูบานเฟี๊ยมแล้วหลับตา...ก่อนที่แม่จะเข้าไปในร้านเพียงลำพัง เพียงเพ็ญกัดฟันบอกกับแม่ว่า
‘แม่ หนูว่า หนู น่าจะท้องกับพี่ก้าน’
‘ฮ้า! อะไรนะ’
‘แม่ไม่ต้องตกใจไปหรอก ถึงหนูจะท้องกับเขา แต่หนูก็ไม่โง่ หนีงานแต่งกับอาซาของแม่ หนีตามเขาไปหรอก’
‘แล้ว เอ็งคิดจะทำอย่างไร’
‘หนูจะเก็บเด็กไว้ แล้วก็แต่งกับเขาอย่างที่มันควรจะเป็นนั่นแหละ แต่แต่งแล้ว ชีวิตจะต้องเป็นของหนูนะแม่ ต่อไปหนูจะทำอะไร พ่อกับแม่ต้องแล้วแต่ใจหนู เพราะหนูก็ช่วยกู้หน้าให้พ่อแม่อย่างที่ต้องการแล้ว’
ตอนนั้นแม่นิ่งอึ้ง เพราะคงจะงุนงงกับเรื่องที่ได้รับรู้ และแม่นั้นก็ไม่ค่อยปราดเปรื่องสักเท่าไหร่ เพียงเพ็ญจึงกล่าวต่อไปว่า
'งานนี้ ถือเป็นความลับของ เรา พ่อแม่ลูกแล้วกัน อ้อ ไปร้านขายยา แม้ก็บอกเขาไปว่า ช่วยจัดยาสำหรับคนแพ้ท้องให้หน่อยแล้วกัน เพราะถ้าดันไปโอ้กอ้ากกลางงานขึ้นมา คนทั้งบางเขาจะเอาไปนินทาได้...’
เพียงเพ็ญค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมา...พอรู้สึกดีขึ้น หญิงสาวก็ลืมตา แล้วก็ต้องเบิ่งตากว้าง เมื่อเห็นว่า ผู้ชายอยู่ในชุดกางเกงขายาวเสื้อเชิ้ตแขนยาวลายสก็อตสีแดงดำ มีผ้าโพกหัวนั้น คือ พี่ก้าน...
ก้านยืนมองเพียงเพ็ญด้วยสายตาไม่ยินดียินร้าย จนเพียงเพ็ญรู้สึกแปลกใจ...
“พี่ก้าน”
ก้านมองเข้าไปในร้านขายยาก็เห็นนางสมพรยืนอยู่หน้าตู้ยา โดยมีหมอยาเจ้าเดิมกำลังง่วนจัดยาให้อยู่ ก้านจะผละหนี แต่ว่าเจ้าของร้านขายยาก็เหลือบมาเห็นก้านเสียก่อน แล้วแกก็ปากไวพอตัว “อ้าว ไอ้หนุ่ม เจออาซาไหม”
“เจอครับ”
“ดีแล้ว ให้ปลากันเรียบร้อยแล้วนะ...อ้อ นี่ก็คนฆะมังเหมือนกัน คงจะรู้จักกันหรอกมั้ง” อาแปะหันมาบอกนางสมพรด้วย...นางสมพรมองก้านด้วยสีหน้าเจื่อนๆ ก้านนั้น แรกทีเดียวตั้งใจจะซื้อยาไปให้แม่เพิ่ม แต่ถ้าต้องอยู่ต่อไป เขาอาจจะเปลี่ยนใจ! ทำตามความตั้งใจเดิม คิดได้ดังนั้น เขาก็ออกเดิน โดยไม่บอกลา ไม่สบตา ไม่ถามไถ่แต่อย่างใด เห็นอาการของเขาเป็นอย่างนั้นเพียงเพ็ญก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ...
เกิดอะไรขึ้น แล้วเขามาชุมแสงเพื่อมาหาอาซาทำไม?...
“พี่ก้าน ๆ” เพียงเพ็ญยืนขึ้นแล้วตะโกนเรียก ก้านหยุดชะงัก แต่ก็ไม่ได้หันหลังกลับอย่างที่ควรจะเป็น
“พี่จะไปไหน”
ก้านไม่ตอบในทันที...เขายืนนิ่งอยู่อย่างนั้น เพียงเพ็ญจึงต้องถามอีกครั้ง
“พี่จะไปไหน”
“ไปตามทางของพี่ ขอให้โชคดีนะ” พูดตัดสัมพันธ์ด้วยวาจาต่อหน้าสาวเจ้าแล้วน้ำตาของก้านก็เอ่อล้นออกมา และก่อนที่น้ำตาจะประจานความรู้สึกผิดหวัง สูญสิ้น... ก้านก็เดินลิ่ว ๆ ลับตาของเพียงเพ็ญที่มีน้ำตากลบเปลือกตาเหมือนกัน...
****************
ก้านส่งปืนที่ห่อผ้าขาวคืนให้กับอาสิทธิ์...ผู้เป็นอามองหน้าหลานแล้วถามว่า “อะไรดลใจให้มึงเปลี่ยนใจ”
“ความดีของมัน” แล้วก้านก็เล่าเรื่องที่บังเอิญพบกันเมื่อก่อนหน้านั้นให้อาสิทธิ์ได้รับรู้...
อาสิทธิ์ยิ้มออก แล้วตบไหล่หลานชายเบา ๆ “คิดได้อย่างนั้น กูก็โล่งอก ต่อไป ก็ต่างคนต่างอยู่ ส่วนลูกของมึง ก็ให้ไอ้หมอนั่นมันเลี้ยงไป”
“อา...ผมคิดว่าผมจะไปจากฆะมังสักพัก”
“มึงจะไปไหน”
“ไปที่ไหนก็ได้ ที่มันจะได้ไม่ยินเสียงเครื่องไฟงานแต่ง ไม่ได้ยินเสียงซุบซิบของชาวบ้าน”
“มึงจะไปสักกี่วัน”
“ยังไม่รู้เลยอา ตอนนี้เท่าที่นึกออก ผมว่าจะเข้าไปหางานทำที่เมืองหลวง คือเมื่อตอนสงกรานต์ น้าเหวกแกก็ชวนผมไปทำงานด้วยกันน่ะ แกว่าที่นั่นงานมีเยอะแยะ...มีทั้งงานก่อสร้าง งานโรงงาน งานรับจ้างทั่ว ๆ ไป...ผมมาคิด ๆ ดูแล้ว บางทีไปคราวนี้ เผื่อจะเจอลู่ทางชีวิตใหม่...ถ้ามันดีกว่า ย่ำอยู่กับที่นี่ ผมก็จะอพยพโยกย้ายไปเลย แต่อีกใจผมก็นึกอยากจะไปอยู่กับพี่ทิดสินที่ท่าน้ำอ้อยสักพัก...เพราะมันก็แค่นี้เอง คิดถึงแม่ก็กลับมาได้ง่าย ๆ”
นายสิทธิ์นิ่งฟัง...สีหน้านั้นครุ่นคิด...ถ้าก้านไปสักคน คณะแตรวงของตนก็จะต้องซวนเซ เพราะก้านนั้นเป็นถึงนักร้องแม่เหล็กประจำวง...แต่นายสิทธิ์ก็เข้าใจความรู้สึกของก้านที่คงไม่อยากเห็นภาพบาดตาตำใจ และไหนจะเสียงหัวเราะเยาะของชาวบ้านที่เคยค่อนว่าก้านนั้นไม่เจียมกะลาหัว
“แล้วแม่มึงล่ะ มึงจะทิ้งไว้อย่างไร” เพราะรู้ว่าก้านนั้นห่วงใยนางกุ่น นายสิทธิ์จึงถามจี้ใจดำออกไป
“พวกพี่ ๆ ผมก็ยังอยู่...” ก้านตอบไปด้วยสีหน้าหนักใจ เพราะถึงแม้จะมีพี่สาว พี่ชาย อยู่ในถิ่นนี้ แต่ทั้งหมดก็แค่พอมีพอกินไป มีภาระลูกเต้าเป็นโขยง...และก่อนหน้านั้น เป็นเขาเองด้วย ที่รับปากว่าจะดูแล รับเลี้ยงแม่ ไปจนถึงที่สุด คนอื่น ๆ จึงหมดห่วง ไม่คิดรับภาระใด ๆ ของแม่
“ถ้างั้น เอาอย่างนี้ ช่วงนี้ แม่มึงยังดี ๆ ก็ให้แกอยู่ไปตามประสาก่อน กลางคืนกูจะให้อีเปียมันไปนอนเป็นเพื่อน มึงทำใจได้แล้ว มึงก็กลับมา ถ้าไม่กลับ แม่มึงเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ถึงเวลานั้นก็ค่อยว่ากันอีกที”
“บุญคุณของอาในครั้งนี้ผมจะไม่ลืมเลย” ว่าแล้วก้านก็ยกมือพนมนบไหว้...
“แต่กูว่า มึงอย่าไปทำงานกับไอ้เหวก หรือไปอยู่กับไอ้ทิดสินมันเลยนะ”
“แล้วอาจะให้ผมไปอยู่ที่ไหน”
“มึงจำ ไอ้หนั่น เพื่อนกูได้ไหม สี่ปีก่อนที่มันมาเจอมึง แล้วมันอยากได้มึงไปอยู่ที่วงดนตรีกับมัน มึงไปอยู่กับมันนะ ประเหมาะเคราะห์ดี บุญพาวาสนาส่ง ดีไม่ดี มึงจะได้เป็นนักร้องอัดแผ่นเสียง เพราะหน้าตามึงน่ะหล่อกว่าสังข์ทองเป็นไหน ๆ”
“ผมไม่ฝันไปไกลขนาดนั้นหรอกอา”
“ฝันหรือไม่ฝัน มันก็ต้องสู้กันสักตั้ง มึงก็เห็นแล้วนี่ ที่มึงหวังจะได้ มันยังพลาดได้เลย อะไรมันก็ไม่แน่หรอกนะมึง บางที ที่สวรรค์เขาขีดให้ชะตาชีวิตมึงเป็นอย่างที่เป็นอย่างวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้ มึงอาจจะดีกว่านี้ ก็ได้...ไป กลับไปเก็บผ้า ลาแม่มึง ลาเพื่อนฝูงมึงซะ พรุ่งนี้เช้าไปขึ้นรถไฟเข้าเมืองหลวงกัน กูจะไปส่งมึงเอง”
“เอาจริง ๆ รึอา” ก้านยังกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นว่าอาของตนนั้น อยู่แต่ที่ชุมแสงกับขึ้น ๆ ล่อง ๆ อยู่แต่ในนครสวรรค์และพิจิตรเท่านั้น นี่อาสิทธิ์จะพาเขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปเป็นนักร้องนักดนตรีอาชีพ มันจะเป็นไปได้รึ และถ้าไปแล้ว มันเป็นไม่ได้ มันจะไม่ยิ่งขายหน้าหนักกว่าเดิมหรืออย่างไร...ก้านมีสีหน้าหนักใจ และก็ปลงใจเมื่อสิทธิ์บอกว่า
“อุบ๊ะ ไอ้นี่ ถ้ามึงเป็นหลานกู มึงอย่าเป็นคนขี้ขลาดตาขาว ปอดแหกตั้งแต่ยังไม่ทันจะสู้ มึงต้องไป ต้องเปลี่ยนชีวิตให้ไอ้ศรมันนึกเสียดายที่ไม่ยอมยกลูกสาวให้มึง...”
********************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #21 on: 02 March 2020, 00:08:10 » |
|
ตอนที่ 22 : แสลงใจ
๒๒
หลังจากเจ๊หุยเดินเข้าไปตามให้ออกมาพบหน้าเขา แม้จะรู้สึกดีใจที่เห็นมงคลมาหา...แต่วรรณาก็ยังคงปั้นหน้าเรียบเฉย น้ำเสียงที่ถามไถ่นั้นห้วน ๆ ไร้เสน่ห์หญิง แต่มงคลกลับรู้สึกท้าทายดี
“มีธุระอะไร”
“เห็นหน้ากันจะยิ้มแย้ม แสดงอาการดีใจ หรือทักทายกันให้มันดีกว่านี้หน่อยก็ไม่ได้เนอะ”
“แค่นี้ก็ดีแล้ว...ตกลงมีอะไรรึ” หางเสียงนั้นลื่นหูขึ้นมาหน่อย ใบหน้านั้นกลั้นยิ้มไว้เชิง
“จะกลับไปงานแต่งเฮียซา เลยจะแวะมาเอาเสื้อไปให้แจ้หมุ่ยนี้”
“เฮียซาจะแต่งงาน!”
“วันศุกร์ที่จะถึงนี้แล้ว”
“ทำไมรวดเร็วนักล่ะ”
“ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าอยากรู้ วันพฤหัสฯนี้ก็ไปชุมแสงด้วยกันซิ ไปไหมล่ะ...ไปเยี่ยมพี่สาวของเธอด้วย”
“ไม่ไปหรอก...ถ้าจะไป ก็คงไม่ไปกับนายหรอก”
“กลัวอะไรเรานักหนารึ” เขาขยับเข้ามาใกล้อีกนิด วรรณารีบขยับหนี มงคลยิ้มน้อย ๆ ที่แกล้งสาวน้อยได้...
“กลัวขี้ปากชาวบ้าน” วรรณายอมรับตรง ๆ
“พี่เราได้กัน เราก็เหมือนพี่น้องกันนั่นแหละ...ใช่ไหม”
“ไม่ใช่”
“ไม่ใช่ได้ไง ถ้ามีหลาน เราก็เป็นอา เธอก็เป็นน้า ไม่ใช่รึ”
“รอแปบนะ ไปเอาถุงใส่ผ้าก่อน” ตัดบทแล้ววรรณาก็หมุนตัวเดินกลับเข้าไปในร้าน มงคลรออยู่อึดใจใหญ่ ๆ วรรณาก็เดินออกมา แล้วก็ยื่นถุงกระดาษให้มงคล 3 ใบ
“ทำไมมันเยอะจังเลย”
“สามเจ้า เขียนชื่อไว้แล้ว เก็บเงินมาหมดแล้ว อ้อ ถ้าพี่เรณูใส่ชุดนี้ไปงานแต่งเฮียซา ก็ถ่ายรูปมาให้ด้วยนะ อยากดูว่าจะใส่ออกมาแล้วจะสวยแค่ไหนน่ะ”
“สวยเหมือนคนตัดใช่ไหม”
“ไป ๆ กลับไปได้แล้ว งานยุ่ง”
“ไปก็ได้ คิดถึง แล้วจะมาหาใหม่นะ” ว่าแล้วมงคลก็ยกมือขึ้นสะบัดเบา ๆ ‘บ้ายบาย’ ยิ้มเจ้าเล่ห์แล้วหมุนตัวออกจากร้านไป วรรณาเบะปากให้เขา แล้วก็กัดริมฝีปากตัวเองแก้เขินเบา ๆ
***************
พิไลที่นั่งจัดของอยู่หน้าร้านกับบุญปลุก ตาเบิ่งตากว้างเมื่อเห็นปฐมที่อยู่ในชุดเครื่องแบบทหารเกณฑ์สีเทา สวมหมวกเบเร่ต์เดินผึ่งผายสะพายกระเป๋าเป้เข้ามา...หญิงสาวลุกขึ้นยืนมองดูเขา ซึ่งอยู่ในชุดที่ไม่เคยเห็น แล้วดวงตาก็แข็งกร้าวขึ้นก่อนก่อนจะเมินหน้าหนี...
ลึก ๆ ในใจนั้นพิไลก็ยัง ‘รัก’ และอาลัยในตัวของปฐมอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อเขาทรยศหักหลังทำตัวน่ารังเกียจ ความรักที่เคยมีจึงได้กลายเป็นความ ‘แค้น’ ที่พิไลคิดว่า วันหนึ่งมันจะต้องถูกชำระ แม้ความผิดนั้นเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ส่วน ‘อีเรณู’ ตัวการสำคัญที่ใช้วิธีสกปรกแย่งชิงเขาไปจากเธอ พิไลตั้งใจไว้ว่ามันจะอยู่ดีมีสุขครอบครองปฐมตลอดไปไม่ได้...
ทางใดที่จะทำให้มันทั้งคู่แยกกัน หรือฉิบหายวายป่วง พิไลจะทำ!
ฝ่ายปฐมเอง ก็ลืมทำใจไว้ว่ากลับบ้านคราวนี้จะต้องประจันหน้ากับพิไล ‘อดีต’ คู่หมั้นคู่หมายของเขา...พอตาทั้งคู่สบกันแล้วฝ่ายหญิงเมินหน้าหนี ทำให้ปฐมนึกออกว่า เขาและพิไลนั้นมีอดีตอันหอมหวานด้วยกัน...
ตั้งแต่จำความได้ แม่กับนางพิกุลเป็นเพื่อนสนิทกันไปมาหาสู่กันเสมอ เขามักติดสอยห้อยตามแม่ไปที่บ้านของพิกุล พิไลเป็นเสมือนน้องสาว เป็นเพื่อนเล่น เป็นความผูกพันที่กลายเป็นความรักไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนกระทั่งผู้ใหญ่มองเห็นว่าเหมาะสม จึงได้ทำการหมั้นหมายไว้ให้
...หลังหมั้นหมาย ความรู้สึกว่ากำลังจะเป็นคนคนเดียวกันก็มีมากยิ่งขึ้น พอมีงานวัด งานทำบุญตามประเพณี เขาจะต้องนั่งรถไฟไปที่ทับกฤช เพื่อไปทำบุญตักบาตรร่วมขัน ใช้เวลาที่มีน้อยนิดนั้น แสดงออกถึงความหวานชื่น กลางคืน ยามดูมหรสพก็อิงแอบแนบชิดตามประสาคนรักกัน กระทั่งเขาจับได้ใบแดง จดหมายฉบับแรกซึ่งเป็นตัวแทนของความคิดถึงจึงได้เริ่มขึ้น จนถึงฉบับสุดท้ายเป็นฉบับที่สารภาพผิด เพราะผู้หญิงที่เขาเห็นเป็น ‘ดอกไม้ริมทาง’ นั้นตั้งท้อง โดยใจก็พร้อมย้อมรับผิดชอบที่ได้ทำลงไป โดยการพาเข้ามาอยู่ที่บ้านจนกระทั่งมีปัญหาตามมาจนถึงขณะนี้...
“พิไล” เมื่อเห็นว่าพิไลเชิดหน้าขึ้นแล้วเมินหน้าหนี ปฐมจึงเอ่ยทักหญิงสาวก่อน
พอปฐมที่หน้าเจื่อน ๆ ปั้นหน้าเป็นปกติทักทายเธอก่อนได้ พิไลก็ปั้นหน้าเป็นปกติได้ หญิงสาวจึงตอบเขาไปว่า “เฮีย”
“ม้าล่ะ...” นั่นเป็นคำถามแก้เก้อ
“อยู่ข้างใน”
“อาตงล่ะ”
“อยู่ที่โรงสี...อาซาก็อยู่ที่โรงสี เป็นช่วงเปลี่ยนมือ ต้องรีบมอบหมายงานกันให้เสร็จสิ้น”
“จะแต่งพรุ่งนี้แล้ว ยังต้องทำงานอีกรึ”
“ก็...เอ่อ แต่งแล้ว อาซาเขาต้องไปอยู่ที่บ้านเมียเขา” อันที่จริง หลังแต่งงาน กมลจะกลับมาช่วยทำงานต่อก็ได้ แต่พิไลเห็นว่า จะเป็นการยากลำบากไป ๆ กลับ ๆ หญิงสาวจึงเร่งเร้าให้ประสงค์รีบรับงานมาทำแทนทั้งหมด โดยอ้างว่า ผัวหนุ่มเมียสาวจะได้ใช้ช่วงเวลาข้าวใหม่ปลามันด้วยกัน โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ซึ่งก็ไม่มีใครค้านความคิดของพิไลแต่อย่างใด
“อาซาจะย้ายไปอยู่ฆะมังรึ”
“จ้ะ ย้าย...เอ่อ แล้วนี่ อาเฮียรู้ได้ไง ว่าอาซาจะแต่งงาน”
“เรณูจดหมายไปบอก พอรู้ก็รีบลามาเลย...”
พิไลพยักหน้ารับรู้ ก่อนจะบอกว่า “งั้นอาเฮียเข้าไปหาม้าเถอะ...ม้าคงดีใจที่เห็นเฮียมา”
ตาของทั้งคู่สบกันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ปฐมเห็นว่าดวงตาของหญิงสาวนั้น ‘ว่างเปล่า’ ผิดจากที่เคยเห็น และผิดจากเมื่อครู่...ฝ่ายพิไลเอง พอปฐมเดินเข้าไปในร้านแล้ว หญิงสาวก็กะพริบเปลือกตาถี่ ๆ สูดลมหายใจเข้าปอดเรียกสติว่าบัดนี้เธอนั้นเป็นน้องสะใภ้ของเขาไปแล้ว ไม่ใช่ภรรยาของเขาอย่างที่เคยฝันถึง และ หมดสิทธิ์ที่จะเป็นตลอดไป..
ไม่ใช่แต่นางย้อยที่รู้สึกดีใจที่เห็นปฐมกลับมา เรณูที่มาช่วยจัดแจงเครื่องขันหมากทำขนมขันหมากอยู่ที่ในครัวก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่จดหมายไปถึงเร็ว และเขาก็กลับมาทัน...เพราะตอนที่นางย้อยเรียกมาคุยเรื่องขนมขันหมาก เรณูก็มั่นใจได้ว่า ‘ของ’ ของหมอก้อนสำแดงฤทธิ์เดชแล้ว...กลับถึงโรงสี เรณูก็ถามหากระดาษกับปากกาจากแจ่ม แต่แจ่มมีแต่กระดาษกับดินสอ เรณูจึงเดินไปขอยืมปากกาจากเจ๊กเซ้งมาเขียนจดหมายถึงปฐมอย่างเร่งด่วน เนื้อความในจดหมาย บอกเล่าเรื่องว่ากมลจะแต่งงานกับลูกสาวกำนันตำบลฆะมังในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เรณูอยากให้เขาลากลับมางานแต่งน้องชายคนนี้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญเรณูได้เล่าไปว่า ตั้งแต่กลับมาจากตาคลี ‘แม่ย้อย’ นั้นมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง . ..เรณูอยากให้เขากลับมาเห็น ‘ฟ้าหลังฝน’ ด้วยตาของตัวเอง...
พอเดินเข้าไปยังโถงหลังร้านซึ่งเป็นส่วนครัว ที่นั่งกินข้าว และที่เก็บสินค้า ปฐมก็เห็นว่า นางย้อยนั่งอยู่บนเก้าอี้โดยมีเรณูยงโย่ยงหยกอยู่ที่เตา บนโต๊ะกว้างนั้นมีข้าวของเครื่องขันหมากวางอยู่เต็มไปหมด...เขาเห็นดังนั้นจึงค่อย ๆ ก้าวเข้าไปจู่โจมกอดรัดที่เอวของแม่ที่นั่งหันหลังให้ แม่นั้นตกใจเพราะนานแล้วที่ไม่มีลูกคนไหน ๆ เล่นกับนางแบบนี้ แต่พอเห็นว่าเป็นลูกชายคนโต นางย้อยก็ยิ้มดีใจ น้ำตารื้นหัวตา...
“ทำอะไรกันอยู่ม้า”
“ลื้อมาได้อย่างไร”
“ขึ้นรถไฟ มาซิม้า”
“รู้แล้วว่ามารถไฟ แต่ว่า ลื้อมาได้จังหวะพอดี เหมือนรู้ว่าพรุ่งนี้อาซามันจะแต่งงาน”
“ฮ้า! อาซาจะแต่งงาน! แต่งกับใคร? ทำไมถึงรวดเร็วจังเลยม้า” เพราะเห็นว่าแม่ ‘เปลี่ยนไป’ แล้วจริง ๆ ปฐมจึงกล้าเย้าแหย่เล่นเหมือนเคย...
“แต่งกับลูกสาวกำนันตำบลฆะมัง แต่ว่าแต่งแล้ว จะต้องไปอยู่บ้านเขา คิดแล้วก็ใจหาย”
“เดี๋ยวผมก็กลับมา อีกห้าหกเดือนเท่านั้น...” ตอนนั้นสายตาของเขา จับอยู่ที่เรณูซึ่งง่วนกวนขนมอยู่หน้าเตา...
“แล้วนี่ ม้าให้เรณูทำอะไร” ประสงค์แสร้งลืม ๆ ไปว่า เมื่อกลับมาคราวก่อนนั้น แม่ นั้นมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเห็นเขาพาเรณูเข้าบ้าน...
“ให้ทำขนมขันหมากเพิ่มน่ะ”
“ขนมอะไรบ้าง”
“จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทร์ ทองเอก ชื่อมันเป็นมงคลดี ตอนแรก ไปจ้างคนอื่นเขาทำ แต่เมื่อวานคนทำ ดันไม่สบาย แม่เรณูเขาก็เลยอาสาทำให้...”
ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมชั้น ขนมกง ขนมหม้อแกง นั้นเรณูได้ทำที่กระท่อมของตน แต่ขนมทั้งสามชนิดนี้ นางย้อย อยากเห็นกรรมวิธีว่ายุ่งยากแค่ไหน จึงให้เรณูมาทำที่นี่
...ซึ่งก่อนหน้านั้น พิไลก็แวะเวียนเข้ามายืนดู พลางพูดคุยไปด้วยว่าอยากทำเป็นบ้าง แต่ก็รู้สึกว่ามันซับซ้อนและใช้เวลานานจนกว่าจะอดทนไหว และที่สำคัญ แม้พิไลอยากได้เครื่องทองเหลืองของสะสมประดามีของนางย้อยจนตัวสั่นนั้น ก็หาได้นึกอยากขัดถาด พาน โตกสำหรับเครื่องใส่ขันหมากที่จะใช้ในวันพรุ่งนี้ หญิงสาวจึงรีบอาสาออกไปดูแลหน้าร้าน แล้วให้บุญปลูกมาช่วยนางย้อยตั้งแต่เตรียมการขนลงมาจากห้องเก็บของ และวิ่งออกไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่นางย้อยต้องการ
วันนี้พอเรณูมาทำขนม นางย้อยก็จดจ่ออยู่กับเรณู เดินเข้าเดินออกระหว่างเก๊ะกับหลังร้าน ดูสนอกสนใจเป็นอย่างมาก แม้พิไลจะรู้สึกขัดลูกนัยน์ตา แต่ว่ามันก็เป็นการเปิดโอกาสให้พิไลได้ ‘เม้ม’ เศษเงินที่ลูกค้ามาซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ากระเป๋าของตน...และพิไลก็มั่นใจอีกอย่างหนึ่งว่า กว่าที่ปฐมจะปลดประจำการมารับช่วงทำงานแทนประสงค์ เวลานั้น ‘รากฐาน’ ของประสงค์ที่หยั่งลงไปในงานโรงสี คงยากที่ถอดถอนออกมา...
พิไลจะต้องได้กิจการร้านค้าและโรงสีนั้น ส่วนปฐมกับเรณู กว่าจะถึงวันนั้น พิไลก็คงจะหาทางออกชีวิตใหม่ให้กับทั้งคู่ได้...
ปฐมลุกจากเก้าอี้แล้วเดินไปทรุดตัวลงนั่งยองข้างเรณูที่นั่งอยู่บนม้านั่ง...หญิงสาวหันมาหาเขา แล้วยิ้มให้ ตาที่สบกันมีประกายของความคิดถึงอยู่เปี่ยมล้น แล้วก็ปฐมก็ถามเรณูว่า ส่วนผสมของขนมที่กำลังกวนอยู่นั้นมีอะไรบ้าง เรณูตอบพลางใช้พายกวนไปในกระทะทองเหลือง เพราะขนมพวกนี้เวลาทำต้องใจเย็น ต้องอดทน เพราะต้องใช้ไฟอ่อนกวนแป้งผสมน้ำตาลน้ำกะทิ ไข่แดง จนแห้งชื้นดั่งดินเหนียว เห็นดังนั้น นางย้อยจึงลุกขึ้นแล้วเดินออกมายังหน้าร้าน เพราะเข้าใจว่าลูกสาวลูกชาย เมื่อมีผัวมีเมีย ความสำคัญของพ่อแม่ก็จะค่อย ๆ ลดลง
ปฐมมองตามหลังแม่ไป แล้วหันมาโหย่งตัวจูบที่ใบหน้ามันย่องของเรณู...พร้อมกับบอกว่า “คิดถึงจังเลย...” เรณูที่คิดว่านางย้อยยังนั่งอยู่ร้องอุ๊ย แล้วเบี่ยงตัวหนีพลางเหลือบมองด้านหลังเมื่อเขาจะจูบซ้ำ “เดี๋ยวคนเห็น”
“ไม่มีหรอก...ม้าออกไปแล้ว”
“ไม่มี ก็ไม่ได้ ประเจิดประเจ้อ”
“ทำไม ไม่คิดถึงพี่เหรอไง”
“คิดถึงซิ...คิดถึงใจจะขาด แต่ว่าตัวหนูเหนอะหนะ เหม็นกลิ่นควันไฟ เหม็นกลิ่นเหงื่อ วันนี้ตั้งแต่เช้ายังไม่ได้หยุดมือเลย”
“แล้วนี่อีกนานไหมกว่าจะเสร็จ...”
“บ่าย ๆ โน่นแหละ”
“โฮ...บ่าย ๆ เลยเหรอ...” ปฐมชักสีหน้าว่าทนกับแรงกำหนัดไม่ไหวแล้ว...
“เดินทางมาเหนื่อยไหม”
“ไม่เหนื่อยหรอก ไม่ได้เดินนี่ นั่งรถมาเฉย ๆ”
“มองใครบนรถไฟหรือเปล่า”
“เจอคนก็ต้องมองซิ แต่มองแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีใครสวยเหมือนเมียของพี่คนนี้เลย” ว่าแล้วเขาก็ยื่นปลายจมูกไปหาแก้มสีชมพูเปล่งปลั่งของเรณูอีกครั้ง ทีนี้เรณูไม่ได้เบี่ยงตัวหลบ เพราะรู้ดีว่า ยามที่ผู้ชายมีความต้องการ ถ้าเล่นตัวมากนัก เขาก็จะหงุดหงิดงุ่นง่านพาลอารมณ์ขุ่นมัว...
“ทำเร็ว ๆ นะ คิดถึงจะแย่แล้ว...” ปลายจมูกนั้นคลอเคลียอยู่ที่พวงแก้ม ริมฝีปากก็ขยับกระซิบเบา ๆ
“ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วอาบน้ำ...จะได้สบายตัว”
“แค่อาบน้ำมันไม่สบายตัวหรอก มันต้องทำอย่างอื่นด้วย” เขาทำเสียงกระเส่าพร้อมส่งสายตาหวานหยด เรณูย่นจมูกให้โดยหน้าก็แดงระเรื่อเพราะภายในใจก็เริ่มปั่นป่วนเพราะแรงเสน่หาเช่นกัน
แต่ยังไม่ทันที่ทั้งคู่จะพูดอะไรกันต่อ ทั้งปฐมกับเรณูก็ต้องหันไปทางหน้าร้านเพราะได้ยินเสียงกระแอม...ซึ่งเจ้าคนต้นเสียงนั้นก็คือมงคล...ที่โผล่หน้าเจ้าเล่ห์มาพร้อมกับคำถามว่า “ทำอะไรกันน่ะ”
“อ้าว มาเหมือนกันรึ”
“ก็มาขบวนเดียวกันกับเฮียนั่นแหละ ลงรถไฟมา เห็นหลังเฮียไว ๆ จะเรียกก็เรียกไม่ทัน ไม่รู้จะรีบเดินไปไหน...แต่ตอนนี้รู้ละ ว่าจะรีบเดินไปไหน...”
ปฐมกับเรณูสบตากันเขิน ๆ แล้วเรณูก็หันไปกวนขนมต่อ...ส่วนปฐมก็ขยับออกห่างแล้วถามน้องชายคนเล็กว่า“แล้วทำไม ลื้อเพิ่งมาถึง”
“ก็มัวแวะร้านอาแจ๊หมุ่ยนี้อยู่นะซิ เอาชุดที่วรรณาน้องอาซ้อตัด มาส่งให้...ส่วนถุงนี้ของอาซ้อ...ไปละ ไม่ขัดจังหวะละ จู๋จี๋กันตามสบาย”
**************
เดินออกมาหน้าร้าน มงคลก็ย่อตัวกอดแม่จากข้างหลังแล้วใช้ใบหน้าเกลือกกลิ้งไปบนไหล่ทั้งสองข้าง ปากก็บอกว่า “คิดถึงม้าจังเลย...”
“คิดถึงม้าหรือคิดถึงเงินม้า” นางย้อยที่นั่งอยู่บนเก้าอี้แสร้งแข็งขืนทั้งที่รู้สึกมีความสุขจากลูกอ้อนของเขาซึ่งมีมากกว่ากมลและปฐม ส่วนประสงค์นั้นเขาจะเป็นคนเฉย ๆ เก็บงำความรู้สึก ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ...
“เงิน ก็คิดถึง แต่คิดถึงม้ามากกว่า จริง ๆ นะ...”
จูบที่หลังหนัก ๆ เขาก็คลายอ้อมแขนแล้วเดินมาทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ข้างโต๊ะ...นางย้อยมองหน้าลูกชายวัยหนุ่มจนเต็มตาแล้วพูดว่า
“ลื้อไปทำอะไรมา หน้าตาเนื้อตัวถึงได้ดำเมี่ยมแบบนี้”
“ก็ตากแดดเล่น...เอ่อ เล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ”
“น้ำท่าอย่าลงเล่นนะ รู้ไหม”
“รู้น่า” ตอนเด็ก ๆ นั้น เขาเคยเล่นน้ำในแม่น้ำน่านกับเพื่อน ๆ จมน้ำเกือบตายไปแล้วหนึ่งครั้ง แม้จะว่ายน้ำเป็นแต่แม่ก็ยังนึกเป็นห่วงอยู่ดี เมื่อแม่ถามว่าไปทำอะไรมาตัวถึงดำขึ้น เขาจึงไม่กล้ายอมรับความจริงว่า หนีโรงเรียนไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อนที่อยู่ตำบลตะเคียนเลื่อน แล้วก็กระโดดแม่น้ำเจ้าพระยาเล่นน้ำกันตามประสาวัยคะนอง
“ม้า พรุ่งนี้ มีกำหนดการอย่างไรบ้าง แล้วทำไม ม้าถึงได้รีบร้อนให้อาเฮียแต่งงานนักล่ะ ไหนว่าจะแต่งปีหน้า”
“แต่งปีหน้า หรือแต่งปีนี้ พรุ่งนี้ อย่างไรมันก็ต้องแต่ง ก็แต่ง ๆ ไปซะให้มันจบ ๆ ไป” นางย้อยตอบอย่างขอไปที แต่มงคลกลับไม่เชื่อ
“มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นม้าง บอกมาเถอะม้า”
“กลัวใครจะมาขอเจ้าสาวตัดหน้าไปก่อนน่ะ แล้วอีกอย่างอาเฮียของลื้อก็...”
“กลัวเฮียซาพาสาวอื่นหนีไปซะก่อนรึม้า”
“ประมาณนั้นแหละ...”
“ใครกันน้อทำให้เฮียซาตกหลุมรักได้ แสดงว่าต้องสวยมากแน่ ๆ แต่ว่าคงจะยากจนใช่ไหมม้า”
“แม่จันตาคนงานร้านสังฆภัณฑ์”
“อาจันตา ใครเห็นอี ไม่ชอบก็บ้าแล้ว ตาโต ผิวขาว ผมยาว เอวบางร่างน้อย ผมเห็นผมยังชอบเลย”
“ก็ได้แต่แค่ชอบนั่นแหละ มากกว่านั้นไม่ได้...ม้าจะบอกอะไรให้นะ จะหาเมียก็ดูให้มันดี ๆ” เตือนลูกชายคนเล็กไปแล้วก็นึกได้ว่า เมียของลูกชายคนโต ซึ่งตอนนี้ดูจะด้อยกว่าสะใภ้คนอื่น ๆ นั่งอยู่หลังบ้าน เสียงที่เกือบจะดังกังวานนั้นจึงลดลงโดยเร็ว...
“รู้หรอกน่า ว่าม้าน่ะชอบลูกสะใภ้รวย ๆ บอกผมไม่รู้จักกี่รอบแล้ว”
“แกไปถึงขนาดนั้นแล้ว มันจะต้องหาให้ดีกว่าที่ม้าหาให้...รู้ไหม” แม้จะเคยบอกไปแล้วแต่นางย้อยก็ต้องย้ำเพราะรู้สึกเป็นห่วง กังวลว่ายิ่งลูกไปเห็นโลกกว้างก็จะยิ่งมีโอกาสเจอผู้หญิงที่ไม่คู่ควรเหมาะสมกัน
“รู้น่า...ม้า ตกลง พรุ่งนี้ อะไรอย่างไง ยังไม่ได้ตอบเลยนะ”
“ม้า เตี่ย อาซา แล้วก็ผู้ใหญ่อีกสองสามคนจะนั่งเรือหางยาวไปกันแต่เช้าตรู่ ไปให้ทันทำบุญเลี้ยงพระตอนเช้า ส่วนพวกที่จะไปแห่ขันหมากก็ไปเรือลำใหญ่ เหมาไว้สองลำ นัดออกอย่างช้าเจ็ดโมงเช้า แกไปพร้อมกับม้านั่นแหละ ต้องไปถ่ายรูปด้วย พรุ่งนี้ต้องตื่นประมาณตีสี่นะ”
มงคลทำหน้าเมื่อยก่อนจะถามว่า “แล้วร้านล่ะเปิดหรือเปล่า”
“ปิด ไปกันให้หมดนี่แหละ”
“งานช้าง แต่งแล้ว เฮียก็อยู่ที่โน่นเลยใช่ไหมม้า” มงคลยังคงนั่งซักความเป็นมาเป็นไปอยู่พักใหญ่จนกระทั่งรู้สึกหิว เขาจึงเอ่ยปากขอเงินไปกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้า...นางย้อยหยิบเงินให้อย่างไม่อิดออด แถมยังบอกให้มงคลถามปฐมและเรณูว่าจะกินด้วยหรือเปล่า ถ้ากินก็ให้เขาซื้อกลับมาฝากด้วย
หลังจากลองสวมใส่ชุดใหม่ที่มงคลถือมาแล้ว รู้สึกถูกใจ หมุ่ยนี้ก็ให้จันตาซักขึ้นราวทันที
“เสื้อกับกระโปรงมาได้จังหวะพอดี พรุ่งนี้เธอก็ใส่ไปงานแต่งอาซาซะเลยนะ”
“ไม่ไปได้ไหม”
“ไปเถอะน่า คุณปลัดเขาก็ไป” ปลัดจินกรนั้นไปในฐานะแขกของกำนันศร ไปทำหน้าที่นายทะเบียนให้คู่บ่าวสาวจดทะเบียนสมรสท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ...และเขาก็จะลงเรือไปพร้อมกัน จันตาทำหน้าเมื่อย หมุ่ยนี้จึงบอกว่า
“เธอต้องไป เพื่อให้อาซามันเห็นว่า เธอน่ะ อนาคตคุณนายปลัดแน่ ๆ ส่วนมันก็แค่ลูกเขยกำนัน”
“หนูไม่ได้คิดเคืองแค้นอะไรเขานะ”
“แต่แจ้เคือง แหม มาทำตาหวานใส่เธอ แล้วไปแต่งกับคนอื่นหน้าตาเฉย มันหยามกันชัด ๆ”
จันตาส่ายหน้าเบา ๆ พลางคิดถึงปลัดจินกรที่เช้าถึงเย็นถึง จนกลายเป็นขวัญใจของคนที่บ้านนี้...เขาบอกกับจันตาว่า
‘เห็นคนอื่นเขาแต่งงานกัน ผมก็ชักอยากแต่งบ้างแล้ว’ ตอนนั้นจันตาไม่ได้ต่อปากต่อคำ ได้แต่หน้าแดงซ่านขึ้นมา...
เขาจึงถามว่า ‘จันตาไม่อยากรู้รึว่า ผมอยากแต่งงานกับใคร’
เมื่อเขาเซ้าซี้เพื่อบอกความในใจ จันตาจึงได้โอกาสถามกลับ ‘กับใครล่ะคะ’
‘กับจันตาไง’
แม้จะเป็นคำตอบที่พอรู้อยู่แล้ว แต่จันตาก็เตรียมคำตอบไว้แล้วเช่นกัน
‘แต่ว่า ฉัน....ฉัน ไม่ได้คู่ควรกับคุณปลัดเลยนะคะ เป็นแค่ลูกจ้าง เงินเดือนไม่กี่สตางค์ ไม่มีอนาคต ฐานะทางบ้านก็ยากจน สมบัติพัสถานอะไรก็ไม่มี’
‘ตรงนั้นผมไม่คิดมาก’
‘แต่ทางบ้านคุณปลัดคงไม่ยอมหรอก’
‘ออกมาจากบ้านมาทำงานแล้ว ชีวิตก็เป็นของผม และผมก็เห็นแล้วว่า จันตาเป็นผู้หญิงที่คู่ควรกับผม เพราะผมอยู่ด้วยแล้วรู้สึกมีความสุข’
‘ค่ะ’
‘ถ้าจันตาไม่ขัดข้อง ตอนปีใหม่ ผมจะกลับบ้านไปบอกพ่อแม่ให้ได้รับรู้ ผมคุยกับพี่หมุ่ยนี้แล้ว พี่เขาว่า ถ้ารักจันตา จริง ๆ ถ้าจะแต่งงานกัน พี่เขาก็จะเป็นญาติฝ่ายเจ้าสาวให้ ให้ทำพิธีเสียที่นี่ เพียงแต่พี่หมุ่ยนี้ ขอให้ผมคุยกับจันตาซะก่อน ตกลงแต่งงานกับผมนะครับ’
ตอนนั้นจันตานั่งนิ่ง...ครุ่นคิดไปถึงคืนวันส่งตัว เจ้าบ่าวผู้มีการศึกษาแถมดูจะหัวโบราณจะต้องเจอกับความผิดหวัง ...ก็รู้สึกหวั่นใจ...แต่ของแบบนี้ มันไม่ลองก็ไม่รู้...บางทีเขาอาจจะไม่ได้คิดถือสาเรื่องพวกนี้ก็ได้ หรือถ้าเขาตะขิดตะขวงใจไม่พอใจเรื่อง ‘พรหมจรรย์’ ของเธอ เหมือนอย่างนางเอกในหนังในนิยายบางเรื่อง จันตาก็จะบอกกับเขาว่า ตอนเด็ก ๆ เคยตกควาย ตกต้นไม้อะไรก็ว่าไป แต่ถ้าถึงตอนนั้น เขาก็แต่งงานกับเธอไปแล้ว...เรื่องแค่นี้ คงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายทำให้ชีวิตรักพังลงมาหรอก...จันตาคิดเข้าข้างตนเอง เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย...
‘เงียบไปเลย ผมรอคำตอบอยู่นะ’
‘ฉันเอ่อ...เอ่อ’
‘รึจันตาไม่ได้ชอบผม’
ตอนนั้นจันตามองสบตาของเขา ความรู้สึกของตนเองนั้น คือ แค่ ‘ชอบ’ อย่างที่เขาถาม แต่ถ้า ‘รัก’ มันก็ยังไม่ใช่ โดยเฉพาะถ้าเปรียบกับผู้ชายคนแรกซึ่งทั้งรักและหลงจนไม่ได้เผื่อใจว่าจู่ ๆ วิมานจะทลายแถมยังมีตราบาปติดตัว
และถ้าเปรียบปลัดจินกรกับคนที่เข้ามาป้วนเปี้ยนในหัวใจรายล่าสุดอย่างกมล จันตายอมรับว่า รู้สึกดี ๆ กับกมลมากกว่า แต่มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรจะไปฝันถึงอนาคตร่วมกับคนที่เขากำลังจะแต่งงาน
แต่ถ้าให้โกหกปลัดจินกร จันตาก็รู้สึกว่า พูดได้ยาก แต่เมื่อเขาเร่งเร้าเอาคำตอบ จันตาก็จำต้องตอบไปว่า ‘อย่างไรคุณปลัด ไปเรียนให้พ่อแม่คุณปลัดทราบก่อนดีกว่าค่ะ ว่ามาชอบฉันอยู่ ถ้าท่านไม่ห้ามปราม หรือเห็นดีเห็นงาม พร้อมมาสู่ขอ ฉันก็ยินดีแต่งงานกับคุณปลัด’
ตอนนั้นปลัดจินกรแสดงอาการดีใจจนออกนอกหน้า ฝ่ายจันตาเมื่อ พูดไปแล้ว ก็รอลุ้นว่า อนาคตของตนนั้นจะได้เป็นคุณนายอย่างที่หมุ่ยนี้หมายมั่นไว้รึเปล่า แต่ถ้าไม่ได้เป็น ด้วยเหตุผลเรื่องฐานะที่ได้เดาทางไว้ จันตาก็บอกกับตัวเองว่า จะไม่เสียใจเลยสักนิด
**********
ขณะที่เรณูกำลังปั้นขนมเสน่ห์จันทร์อยู่นั้น นางย้อยเดินเข้ามาดู เห็นถุงเสื้อที่มงคลถือมา ก็ถือวิสาสะเปิดออกดู...พอเห็นชุดเดรสยาวประมาณเข่า เห็นงานตัดเย็บ นางย้อยที่ค่อนข้างจะพิถีพิถันเรื่องการแต่งกาย ก็ถึงกับเอ่ยปากชมช่างเย็บผ้า...
“เรณู...น้องสาวเธอ ฝีมือดีนี่...” ตั้งแต่ ‘ญาติดี’ กัน สรรพนามที่เรียกเรณูก็เปลี่ยนเป็น ‘เธอ’ ไม่ขึ้นมึงขึ้นกูอย่างแต่ก่อน และไม่มีคำว่า ‘อี’ นำหน้าชื่อ เรณูเองก็หัวเร็วพอจะเรียก ‘ม้า’ ตามพิไล ซึ่งนางย้อยก็ไม่ได้ห้ามปรามแต่อย่างใด
“วรรณามันเรียนอยู่หลายปี ตอนนี้ยังเป็นลูกมือฝึกงานอยู่ที่นั่นจ้ะ”
“ฝีมือดีแบบนี้ น่าจะเปิดร้านได้แล้วนะ”
“ก็อยากเปิดให้มันอยู่ แต่ติดที่ทุน” เรณูก็มองนางย้อยที่ยืนนิ่งมองผ้าในมือ แสยะยิ้มแล้วก็หันมาปั้นขนมต่อ
“อยากเปิดร้านให้น้องสาวรึ...”
พอได้ยินคำถาม ดวงตาของเรณูก็มีประกายของชัยชนะ...เรณูรีบตอบกลับไปว่า
“ที่หนูส่งนังวรรณามันเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะหนูก็มีฝันของหนู...หนูชอบแต่งตัว ชอบมองผู้หญิงแต่งตัวสวย ๆ หนูก็เลยอยากมีร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิง อยากมีช่างตัดผ้าอยู่ในร้านด้วย...นี่มันก็เรียนจบมานานแล้ว แต่หนูยังไม่มีทุนจะทำตามที่ได้ฝันไว้กับมัน มันก็เลยอยู่ที่โรงเรียนช่วยงานเขาก๊อก ๆ แก๊ก ๆ พอได้ค่าขนมไป”
เรณูพูดยืดยาวแล้วก็หันไปปั้นขนม...นางย้อยนิ่งฟัง สีหน้าครุ่นคิด
“เดี๋ยวลุกไปล้างมือ แล้วลองใส่ชุดนี้ให้ดูหน่อยซิ อยากเห็นว่าเธอใส่แล้วจะเป็นอย่างไง”
อะไรที่เป็นความต้องการของนางย้อย เรณูจะปฏิบัติทันที...หญิงสาวรีบละงาน แล้วลุกขึ้นไปล้างมือ ก่อนจะเดินกลับมาคว้าเสื้อจากมือนางย้อยเดินไปเข้าห้องน้ำ...แต่พอออกมาจากห้องน้ำเพื่อให้นางย้อยช่วยรูดซิปด้านหลังให้ เรณูก็ไม่เห็นนางย้อย หญิงสาวจึงเดินออกมาหาที่หน้าร้าน...นางย้อยส่งบิลและเงินทอนให้บุญปลูกเอาไปให้ลูกค้าที่อยู่กับพิไลที่หน้าร้าน...บุญปลูกเห็นเรณู ก็ปากเร็วพอที่จะบอกว่า “พี่เรณู สวยจังเลย”
นางย้อยหันมาก็เห็นว่า ชุดเมกซี่เดรสคอกลมแขนยาวกระโปรงยาวคลุมเข่าพื้นสีครามแต่งแต้มดอกกุหลาบสีแดงพร้อมใบสีเขียวเล็ก ๆ ทั่วทั้งตัวที่เรณูสวมอยู่นั้น ทำให้เรณูที่ช่วงหลัง ๆ นุ่งแต่ผ้าถุง แต่งหน้าอ่อนลงจากที่เคยเจอกันครั้งแรกนั้น ดูงดงามขึ้นผิดตา...
พอบุญปลูกเอ่ยชม เรณูก็ยิ้มหวานแล้วหมุนตัวอวดสรีระอวบอัดของตน ซึ่งนางย้อยก็เห็นว่า ช่วงหน้าอก ไหล่ หลัง เอวและสะโพกของเรณูนั้นได้รูปสมส่วน ผิดกับหุ่นของพิไลที่ผอมบางและเตี้ยกว่าเรณูเป็นคืบ แต่พิไลนั้นแต่งตัวเป็น เมื่อรู้ว่าตัวเตี้ยก็จะสวมรองเท้าพื้นสูง ๆ และใส่เสื้อเปิดแขน เปิดคอ ปิดปมด้อยของตน
บุญปลูกเดินถือเงินทอนออกไปแล้ว พิไลก็เดินกลับเข้ามา พอเห็นเรณูในชุดใหม่ พิไลก็เอ่ยปากชมทั้งที่ใจนั้นรู้สึกขวางตาเสียมากกว่า
“ชุดที่น้องสาวซ้อตัดให้ใช่ไหม สวยจังเลยซ้อ”
“ใช่...จ้ะ มาพิไล มาช่วยรูปซิปให้หน่อย”
แม้จะเป็นฝ่ายเรียก แต่เรณูกลับเป็นฝ่ายเดินไปหาพิไลแล้วหันหลังให้เพราะอยากให้นางย้อยมองเห็นตนได้ถนัดตา...
“ฝีมือดีนี่ จะมาชุมแสงอีกเมื่อไหร่ละ จะได้ให้ตัดให้มั่ง...”
“ถ้าอยากให้มันมา ก็ไม่ยากหรอก ตอนอาสี่กลับไปก็ฝากให้อาสี่ไปส่งข่าว ถ้ารู้ว่ามาแล้วจะได้งาน ได้เงิน ก็คงรีบมาหละ...นี่มันตัดให้เจ๊หมุ่ยนี้กับจันตาด้วย ยังไม่เห็นเลยว่า เป็นอย่างไร เดี๋ยวทำขนมเสร็จแล้วแวะไปดูหน่อยดีกว่า เจ๊หมุ่ยนี้บอกไว้ว่า ถ้าตัดออกมาสวยถูกใจ ก็จะให้ตัดอีก หรือไม่ ก็จะแนะนำคนอื่นให้” เรณูพูดอวดน้องสาวยืดยาว...
นางย้อยที่นิ่งฟังสองสะใภ้คุยกันเอ่ยขึ้นว่า “พรุ่งนี้เธอก็ใส่ชุดนี้ไปซิ”
“ยังไม่ได้ซักเลยม้า”
“ใส่ไปเหอะ ใส่แล้วสวยดี ใส่ไปอวดให้คนเห็นเลย...เผื่อมีใครถาม น้องเธอก็จะได้งานเพิ่ม”
“ม้านี่หัวเร็วจังเลย ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้หนูใส่ไปเลยนะ...” เรณูยิ้มหวานให้นางย้อย แล้วบอกให้พิไลรูดซิบลงให้แล้วขอตัวกลับไปทำขนมต่อ เพราะตอนนี้ปฐมนั้นไป ‘รอท่า’ อยู่ที่บ้านโรงสีแล้ว...
พอเรณูเข้าไปหลังร้าน นางย้อยก็บิดกุญแจล็อกเก๊ะ แล้วเดินตามเข้าไป พิไลเดินตามไปแอบมองดู ก็เห็นว่า นางย้อยเดินขึ้นบันไดไปข้างบน...พิไลชักสีหน้าแปลกใจ ครุ่นคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น? ทำไม? นางย้อยถึงได้เอ็นดูเรณูถึงเพียงนี้...แต่พิไลก็คิดไม่ออก...
*******************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #22 on: 02 March 2020, 11:12:38 » |
|
ตอนที่ 23 : สามสะใภ้
๒๓
พอจัดขนมใส่พานโตกโปร่งทองเหลืองขนาด 18 นิ้วแล้วปิดทับด้วยผ้าขาวบาง เก็บล้างเครื่องครัวที่นำออกมาใช้เรียบร้อย เรณูก็ถามนางย้อยว่ามีงานอะไรให้ทำอีกไหม นางย้อยมองถาดใส่ขนม มองเครื่องขันหมากในกล่องกระดาษที่เตรียมไปจัดใส่ถาดใส่พานที่บ้านงานแล้ว ก็บอกว่า
“พรุ่งนี้ ตอนลำเลียงของไปลงเรือก็ดูประคองพานขนมกันไปให้ดีล่ะ ของพวกนี้ก็เหมือนกัน อย่าโยน อย่าให้ใครข้าม ต้นกล้วยต้นอ้อยที่ไอ้ป้อมมันจะเอามาตอนเช้า เธอต้องช่วยเป็นธุระให้ฉันนะ...”
“จ้ะ...ถ้าอย่างนั้น หนูกลับบ้านก่อนนะจ๊ะ”
“ไม่เอาค่าแรงค่าออนจริง ๆ หรือ”
“ไม่หรอกม้า อาซาก็เหมือนน้องชายหนูนะ”
“แต่เธอต้องหยุดขายขนมมาช่วยงานถึงสองวันสามวัน ไหนจะพรุ่งนี้อีกวัน”
“หนูเต็มใจจ้ะ” เรณูตอบไปจากใจจริง นางย้อยพยักหน้า...เรณูจึงเดินไปหยิบถุงกระดาษที่วางอยู่บนเก้าอี้ แต่พอจะก้าวขาออกไป นางย้อยก็เรียกไว้อีก เรณูหันกลับมา นางย้อยมองไปทางหน้าร้าน แล้วก็หันมาหาเรณูแล้วพูดเสียงเบา ๆ เหมือนกลัวพิไลจะได้ยินว่า
“เมื่อกี้เห็นเธอลองชุดแล้ว คอเธอมันโล่ง ๆ ฉันว่า ถ้าใส่สายสร้อยสักหน่อย มันจะทำให้เธอดูดีขึ้น”
แม้จะมีทองหยองอยู่บ้าง แต่เรณูที่เป็นเพียงแม่ค้าหาบขนมออกจากบ้านมาตั้งแต่เช้ามืด ก็ไม่คิดจะใส่ล่อตาล่อใจใคร...พอนางย้อยแนะนำอย่างนั้น เรณูจึงยิ้มแหย ๆ แล้วรับคำว่า ‘จ้ะ’ สั้น ๆ
ปกติคนที่พร้อมโอนอ่อนผ่อนตามคำพูดของตน จะเป็นที่พึงใจของนางย้อยอยู่แล้ว ประกอบกับอำนาจของมนต์ดำซึ่งได้ทำหน้าที่เปลี่ยนจิตใจ ให้รัก ให้หลง ให้เห็นดีเห็นงามบังคับอยู่ นางย้อยจึงรู้สึกเวทนาสงสาร เห็นใจ และเมตตาเรณู มากยิ่งขึ้น..
“เอ้านี่” ว่าแล้วนางย้อยก็ส่งถุงกำมะหยี่สีแดงในมือที่กำไว้ ให้เรณู...
“อะไรม้า” เรณูไม่ได้รับถุงนั้นในทันที
“สายสร้อยทองสองบาท ข้อมืออีกบาท ฉันให้เธอใส่ไปงานพรุ่งนี้”
“ให้ หรือ ให้ยืม” เรณูถามซ้ำ
“ให้ไปเลย แต่ไม่ต้องบอกใครนะ” ใครที่นางย้อยพูดถึงด้วยเสียงกระซิบก็คือ ‘พิไล’ นั้นเอง...
เบื้องต้นเรณูรู้สึกดีใจ แต่อีกใจ เรณูที่เคยต่อสู้ดิ้นรนมาด้วยกำลังกายของตนตั้งแต่เกิดก็รู้สึก ‘ผิด’ ขึ้นมา
เพราะผิดครั้งแรกนั้น ทำไปด้วยความอยากเอาใจชนะแม่ผัว อยากอยู่กับชายคนรักโดยไม่มีอุปสรรคเท่านั้น แต่ถ้ารับของของนางย้อยมาถือครอง โดยที่สติเจ้าของไม่สมบูรณ์ มันก็เป็นเหมือนการใช้วิธีการสกปรกปล้นจี้เอาทรัพย์ ซึ่งถ้าใครมารู้ทีหลัง ก็คงยากจะให้อภัยในความผิดนี้..เรณูจึงรีบปฏิเสธโดยการกำมือแน่น เพราะถ้ารับของจากนางย้อยมา มันก็เหมือนถลำตัวไปกับของสกปรกมากยิ่งขึ้น
“เอ่อ...มันไม่ดีมั้งม้า...”
“รับไปเถอะ เป็นสะใภ้ใหญ่ ไม่มีทองหยองติดตัว คนจะว่าฉันเอาได้”
“ของหนูก็พอมีอยู่จ้ะม้า”
“เส้นนี้ใหญ่กว่าแน่ ๆ รับไป เร็ว ๆ” ว่าแล้วนางย้อยก็ยัดเยียดถุงสีแดงนั้นใส่มือของเรณู...
เรณูยิ้มแหยๆ ไม่ยอมแบมือ นางย้อยเห็นดังนั้นยิ่งรู้สึกว่าจะต้องให้ ให้ได้ จึงบอกเสียงเข้มว่า “ผู้ใหญ่ให้ของ ก็รับไปซิ”
พอถุงแดงมาอยู่ในมือ เรณูก็รู้สึกหนักอึ้งไปหมด...สุดท้ายเรณูก็ต้องบอกว่า “งั้นวันมะรืนหนูเอามาคืนม้านะ ขอยืมใส่ก่อนละกัน...”
“งั้นก็ได้...”
เรณูหย่อนถุงแดงใส่กระเป๋ากระดาษแล้วเดินออกจากร้านไป นางย้อยที่มองตามหลังไปส่ายหน้ายิ้มน้อย ๆ ความรู้สึกพึงใจ พอใจ เห็นใจ ที่มีอยู่แล้ว ก็มีมากขึ้นอีก...เพราะถ้าเปรียบกับพิไลที่ได้ทองหมั้นของปฐมไปและทองแต่งงานกับประสงค์ไปยี่สิบบาท เงินค่าสินสอด เงินค่าจัดงานอีกไม่น้อย เปรียบกับทองแปดบาท เงินอีกแปดพัน ที่จะต้องแต่งกมลในวันพรุ่งนี้ มันยังน้อยไปสำหรับเรณูด้วยซ้ำ...
**************
เมื่อเห็นว่าสำรับที่จัดหามาให้นั้นไม่พร่องไปสักนิด แถมเพียงเพ็ญยังยกออกมาวางไว้ที่หน้าห้อง นางแรมก็รู้สึกหนักใจเป็นอย่างมาก เพราะยิ่งเข้าใกล้วันทำพิธี อาการแพ้ท้องของเพียงเพ็ญก็หนักขึ้น ๆ จนร่างกายผ่ายผอมลงไปถนัดตา
แม้จัดหาของเปรี้ยวมาให้กินแก้คลื่นเหียน เพียงเพ็ญก็กินไม่ได้เหมือนคนแพ้ท้องทั่ว ๆ ไป เมื่อเห็นสภาพเจ้าสาวเป็นอย่างนี้ ทั้งกำนันศร นางสมพร นางแรม รวมถึงนางศรีที่รู้กันว่าเพียงเพ็ญนั้นท้องกับก้าน ต่างก็มีสีหน้าหนักใจ...กลัวว่าเจ้าสาวจะโก่งคออาเจียนกลางงานพิธีจนทางนั้นสงสัย...
“ไม่ดีขึ้นเลยรึไง...”
เพียงเพ็ญที่นอนตะแคงหมดเรี่ยวหมดแรง ดวงตาแดงช้ำส่ายหน้าเบา ๆ นางแรมมองดูแล้วครุ่นคิดถึง ‘ผลกรรม’ ทั้งที่ ‘เพิ่งเริ่มต้นก่อ’ แล้วก็รู้สึกหวั่นใจ อีกไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น พิธีก็จะเริ่มขึ้น หากเจ้าสาวยังไม่มีเรี่ยวแรง หน้าซีดเป็นไก่ต้ม และมีอาการผะอืดผะอมจนนั่งอยู่กับที่ไม่ได้ งานนี้คงจะได้เป็นขี้ปากคนทั้งบางไปอีกนาน...
นึกถึงเวรกรรม แล้วนางแรมก็พาลไปนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านขึ้นมา...หันซ้ายหันขวา ในห้องเพียงเพ็ญก็ไม่มีพระพุทธรูปสักองค์...
“นังหนู พอลุกไว้ไหม...”
“มีอะไรหรือป้า”
“แข็งใจออกไปข้างนอก ไปจุดธูปบอกกล่าว ผีบ้านผีเรือน ผีบรรพบุรุษสักหน่อย แล้วก็ไปห้องพระจุดธูปเทียนไหว้พระอีกนิด...”
“โอ๊ย ป้า คนแพ้ท้องมันก็เป็นเรื่องของร่างกาย มันจะไปเกี่ยวอะไรกับผีบ้านผีเรือน พระพุทธเจ้าล่ะ”
“เสียงดังไป เดี๋ยวคนที่ข้างใต้ถุนเรือน ก็ได้ยินกันหรอก” ด้วยเป็นวันสุกดิบ หรือ เรียกตามประสาชาวบ้านว่า ‘วันทำของ’ งานแต่งลูกสาวคนเล็กคนสุดท้ายของกำนันศรจึงถือว่าเป็นงานใหญ่ แม่ครัวที่มาช่วยกันทำอาหารเลี้ยงญาติพี่น้องของตน ของฝ่ายเจ้าบ่าว และแขกเหรื่อ จึงมีหลายสิบชีวิต ชนิดที่ว่าใครถนัดทำอาหารคาวหรือหวานต้องถูกตามตัวมาเป็นแม่งาน นอนเฝ้าเตาอยู่ใต้ถุนเรือนที่ปรับเป็นโรงครัว และไหนจะพวกขี้เหล้าเมายาที่ถือโอกาสนี้ออกจากบ้านมาล้มทับเจ้าภาพเศรษฐีใหญ่
“ได้ยิน ก็ได้ยินไป” แม้จะดื้อดึงแต่เสียงปรามนั้นก็ทำให้เสียงของเพียงเพ็ญอ่อยลง...
นางแรมนิ่งไปอึดใจ แล้วเพียงเพ็ญก็ทะลึ่งพรวดลุกขึ้นนั่ง...ทำท่าผะอืดผะอม นางแรมเห็นดังนั้นจึงรีบคว้ากระโถนส่งให้ แต่ด้วยไม่ได้กินอะไรไปเลย มันจึงมีเพียงน้ำลายเหนียว ๆ ขย้อนออกมา...
“นะ ลองวิธีนี้ ดูสักหน่อย...บางที เป็นเพราะเราทำผิด ผีสางฟ้าดินเลยลงโทษ”
ได้ยินดังนั้นเพียงเพ็ญก็ค้อนให้นางแรม แต่มันก็เป็นหนทางเดียว ที่เพียงเพ็ญจะทำเพื่อรักษาหน้าตัวเอง หน้าพ่อแม่ และที่สำคัญพิธีการงานแต่งนั้นจะต้องเสร็จสิ้นไปด้วยดี เพราะถ้าจะยกเลิกงานในตอนนี้ หรือเปลี่ยนตัวเจ้าบ่าวเป็นพ่อของเด็กในท้อง เพียงเพ็ญก็ไม่รู้ว่า ตอนนี้ก้านนั้นหายไปไหน...
หลังจากจุดธูปขอขมากรรมต่อผีบ้านผีเรือนผีบรรพบุรุษแล้ว นางแรมก็ประคองเพียงเพ็ญมายังห้องพระ ส่งไม้ขีดให้หญิงสาวจุดเทียนและธูปขอพรให้อาการแพ้ท้องนี้ทุเลา...
แม้จะไม่เลื่อมใสศรัทธา เชื่อมั่นว่าเป็นทางที่ทำให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้นบรรเทาลง แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ เพียงเพ็ญจึงแข็งใจทำจนเสร็จตามความต้องการของนางแรม...
พอกลับมาถึงห้อง ล้มตัวลงนอน เพียงเพ็ญก็รู้สึกว่าตัวเบาสบายจนกระทั่งเคลิ้มหลับไป และตื่นเมื่อนางแรมเข้ามาปลุกให้อาบน้ำ เตรียมแต่งหน้า ทำผม แต่งตัวรอท่าเจ้าบ่าวที่จะต้องเดินทางมาร่วมพิธีทำบุญเลี้ยงพระในตอนเช้า
“เป็นไง รู้สึกดีขึ้นไหม” นางแรมถามระหว่างที่ใช้ผ้าซับน้ำบนเรือนผมให้...
“ดีขึ้นแล้วป้า...”
“เห็นไหมล่ะ ของแบบนี้ มันมีจริง เจ้าประคู้นเจ้าพ่อเจ้าแม่ เจ้าทุ่งเจ้าท่าเจ้าป่าเจ้าเขา ผีบ้านผีเรือน ถ้านังหนูหายเป็นปกติจนงานเสร็จสิ้น ลูกช้างจะถวายหัวหมูหัว ไก่ตัว เหล้าสองขวด”
เพียงเพ็ญได้ยินแล้วส่ายหน้าเบา ๆ เพราะรู้ว่า ที่ต้องมีเหล้าขาวด้วยนั้น คนบนบานต้องการเก็บไว้ใส่โหลยาดองซะมากกว่า แต่เพียงเพ็ญก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป...ด้วยใจนึกกังวลว่า หลังพิธีกรรมเสร็จสิ้นตนกับกมล หรือ ‘พ่อซา’ ของอาศรี ก็จะกลายเป็นผัวเมียกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วคนที่ไม่เคยรักกัน รู้สึกเกลียดขี้หน้ากัน แถมตัวเองก็ยังตั้งท้องลูกของก้านอยู่อย่างนี้ จะมีชีวิตอยู่ด้วยกันไปได้สักกี่วันล่ะ...
กมลที่อยู่ในชุดสูทกรมท่า เนคไทสีชมพู นั่งพับเพียบหลังตรง รอเจ้าสาวอยู่หน้าพระสงฆ์จำนวนแปดรูปที่เดินเรียงขึ้นเรือนมาพร้อมกับวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการ พอเพลงรับพระจบ ก็ต่อด้วยเพลงมหาฤกษ์-มหาชัย โดยระหว่างนั้นมัคนายกก็บอกให้เขาขยับตัว ยกถาดใส่เหยือกน้ำ-แก้วน้ำ พานหมากพลูบุหรี่ประเคนให้พระสงฆ์ไปพลาง...
เสร็จกิจกับพระสงฆ์ เขาก็ถอยมานั่งรอเจ้าสาวอยู่ที่เดิม ท่ามกลางความกระสับกระส่ายของแขกเหรื่อที่นั่งรายรอบในโถงกลางบ้าน เพราะตั้งแต่เช้า ยังไม่มีใครเห็นเงาของเจ้าสาวคนสวย...
อึดใจใหญ่ ๆ แม่ที่นั่งอยู่ด้านหลังของเขาก็กระซิบบอกว่า เจ้าสาวมาแล้ว เขาหันไปมองต้นทางก็พบ เพียงเพ็ญซึ่งอยู่ชุดไทยศิวาลัย นุ่งผ้าสวมเสื้อแขนกระบอกสีเขียวใบแค ห่มทับด้วยสไบลายฉลุโทนสีเหลืองเลื่อมประภัสสร เกล้าผมมวยต่ำติดปิ่นใบไม้ไหวซึ่งน่าจะเป็นทองคำแท้ แต่งแต้มสีสันบนใบหน้ากลบร่องรอยของความอิดโรยจากอาการป่วยไข้ ซึ่งกำนันศรบอกกับเขาว่า เพียงเพ็ญนั้นเป็นไข้ตั้งแต่กลับมาจากตัดชุดเจ้าสาว นับเนื่องจนถึงวันนี้ก็เกือบสัปดาห์...อาการป่วยของเจ้าสาวจึงทำให้ความงดงามแจ่มใสเหมือนดอกไม้แรกแย้มในยามเช้า กลายเป็นดอกไม้บานต้องแดดลมในยามบ่าย ท่วงท่าเดินมาพร้อมกับนางแรมจึงดูอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด
หลังทรุดตัวลงนั่ง เจ้าสาวก็เชิดหน้าขึ้น ไม่หันมาหาเจ้าบ่าว ไม่มีรอยยิ้มให้กัน หรือให้ใครทั้งนั้น
พิธีกรรมกับพระสงฆ์จบลงไปอย่างซังกะตาย ดีแต่ระหว่างพระท่านฉันภัตตราหารอยู่นั้น เพียงเพ็ญขอตัวกลับเข้าห้องเพราะยังมีอาการวิงเวียนศีรษะ กมลที่นั่งฟังดนตรีไทยเดิม คลอด้วยเสียงซุบซิบอยู่ตามลำพังจึงไม่รู้สึกอึดอัดเหมือนตอนที่ประกอบพิธีอยู่ด้วยกัน...กระทั่งพระฉันของหวานเรียบร้อย ยกสำรับเก็บ เจ้าสาวจึงถูกตามตัวให้ออกมาทำพิธีเจิมหน้าผาก ถวายจตุปัจจัยเครื่องไทยทาน ฟังสัมโมทนียกถาจากองค์ประธานสงฆ์ เรื่องฆราวาสธรรม หรือธรรมของผู้ครองเรือนสั้น ๆ แล้ว ก็จับเครื่องกรวดน้ำทองเหลืองด้วยกันอย่างแกน ๆ เหมือนตอนตักบาตรและยกสำรับประเคนพระเมื่อก่อนหน้า หลังพระสงฆ์ลงจากเรือน เพลงส่งพระจากวงปี่พาทย์จบลง...เพียงเพ็ญที่มีสีหน้าหน้าเฉยเมยก็ลุกขึ้นแล้วกลับเข้าห้องโดยไม่มีคำพูดใด ๆ กับเขาตลอดพิธีการ
แม้จะรู้สึกไม่พอตา ไม่พอใจกับกิริยาของเจ้าสาว แต่นางย้อยก็นิ่งเงียบ ไม่ปริปากเผยความในใจให้กับเจ๊กเซ้งหรือผู้ใหญ่ฝ่ายตนที่ติดตามมาทำพิธีในช่วงเช้าสองสามคนได้รับรู้... กระทั่งตอนที่นั่งล้อมวงกินข้าวรอเรือแห่ขันหมากมาถึง มงคลที่ทำหน้าที่เป็นตากล้องก็พูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า
“งานใหญ่ คนเยอะ แต่มันดูกร่อย ๆ อย่างไรก็ไม่รู้นะม้า”
กร่อย ๆ ของมงคลน่าจะหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ของคู่บ่าวสาวที่ดูไร้ชีวิตชีวา...
นางย้อยมองหน้ากมลที่กำลังตักอาหารเข้าปากด้วยสีหน้านิ่ง ๆ ทำเหมือนไม่ได้ยินที่น้องชายพูด นางย้อยก็ได้แต่นึกสงสารลูกขึ้นมาจับใจ...แต่เมื่อกาลมันล่วงมาจนถึงตอนนี้แล้ว ก็ได้แต่ทำใจว่า ต่อไป อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด!
*************
ปกติยามขายของ เรณูจะรวบผมตึงไว้ที่ท้ายทอย หรือไม่ก็กลางกระหม่อม แต่วันนี้ เรณูปล่อยผมดัดเกลียวแสกข้างให้ยาวประบ่าแต่งหน้ากลบจุดด้อยอย่างโหนกแก้มคางเหลี่ยม โดยเฉพาะริมฝีปากหนา เรณูก็วาดจนได้รูปยิ้มแย้มอวดฟันที่เรียงเสมอกันพร้อมกับโอภาปราศรัยเสนาะหูหยอกเอินกันได้ ทำให้เช้าตรู่วันนั้น แขกเหรื่อที่นางย้อยเรียนเชิญให้ไปสักขีพยานงานแต่งของกมลกับเพียงเพ็ญ ต่างรู้สึกแช่มชื่นเบิกบาน เพราะตัวแทนเจ้าภาพดูเป็นกันเอง...
ฝ่ายพิไลนั้นแม้จะแต่งตัวสวยงาม แต่แบบเสื้อกับกางเกงสีชมพูอ่อนนั้นดูเรียบร้อย และพิไลเองก็ไม่ใช่คนระริกระรื่นหน้าชื่นอย่างเรณู หญิงสาวยังมีมาดของลูกสาวเถ้าแก่ทับกฤชติดอยู่...ความสนใจของคนในลำเรือจึงอยู่ที่เรณู...
ระหว่างที่เรือโดยสารสองชั้นที่นางย้อยเหมามาแล่นขึ้นเหนือไปตามลำน้ำน่าน เรณูกล้ารำกล้าร้องทำตัวสนุกสนานไปกับคณะแตรวง โดยไม่สนใจว่าปฐมนั้นจะพอใจหรือไม่ หญิงสาวรู้แต่ว่ายามเมื่อมีความสุข ยามสนุกก็ต้องปล่อยความรู้สึกให้เต็มที่ แต่อาการเช่นนั้นของเรณูกลับยิ่งทำให้ปฐมที่เป็นคนร้องไม่ได้ รำไม่เป็น ไม่รู้จักใช้มุกตลก เช่นเดียวกับประสงค์นั้น มองเรณูอย่างรู้สึกทึ่งและนึกนิยมชมชื่นในปฏิสัมพันธ์ของเรณูกับคนทั้งบางมากยิ่งขึ้น...
นอกจากชุดใหม่ของเรณูจะทำให้เรณูกลายเป็นจุดเด่น แต่สร้อยคอทองคำของเรณูนั้นยังทำให้พิไลจับตามอง กระทั่งต้องเอ่ยถามประสงค์ที่นั่งอยู่ด้วยกันว่า
“ซ้อไปเอาทองที่ไหนมาใส่”
“ไม่รู้ซิ”
หัวคิ้วของพิไลขมวดเข้าหากัน...ครุ่นคิดว่า ผู้หญิงอย่างเรณูจะเอาทองหยองที่ไหนมาแต่งตัว
จนกระทั่งบุญปลูกที่ไปจับกลุ่มปรบมือเชียร์รำวงอยู่ที่ท้ายเรือเดินกลับมาทรุดตัวลงนั่งเก้าอี้แถวหน้า พิไลจึงสะกิดถาม
“ปลูก ตะก่อนเคยเห็นอาซ้อใส่ทองหรือเปล่า”
บุญปลูกชักสีหน้าครุ่นคิดแล้วก็ส่ายหน้าเบา ๆ แต่แล้วบุญปลูกก็บอกว่า
“เมื่อเช้า ป้าเม่าแซวซ้อเรณูว่า สงสัยจะขายขนมได้กำไรดีถึงได้มีทองเส้นเท่าโซ่ใส่...อาซ้อตอบว่า ไม่ใช่ทองของตัวเองนะ แต่เป็นทองที่มีคนให้หยิบยืมมา”
“ใครจะให้หยิบยืมของมีค่าขนาดนั้น”
“ไม่รู้เหมือนกัน...ซ้อไม่ได้ตอบว่าใครให้หยิบยืมมา”
ประสงค์ที่นั่งอยู่ติดกับพิไลได้ยิน จึงค่อย ๆ หันกลับไปดูเรณูอีกครั้ง และถ้าจำไม่ผิดทองเส้นนั้นรวมถึงสร้อยข้อมือที่ตัวเรณู น่าจะเป็นของแม่เขา แต่เขาก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป...เพราะไม่อยากให้พิไลร้อนรนไปมากกว่านี้
ฝ่ายพิไลนั้น แม้จะไม่มีใครยืนยันได้ว่าทองเส้นนั้นเป็นของใคร แต่พิไลก็พอเดาออกว่า ใครเป็นคนให้ทองเรณูยืมใส่มาอวดคนในงาน...และพิไลก็คิดอีกว่า ขอให้เป็นแค่การให้ยืมเถอะ...ถ้าให้เลยละก็ พิไลไม่ยอมเด็ดขาด!
***************
จันตาที่นั่งอยู่ชิดกาบเรือ มองสายน้ำที่ถูกแหวกออกเพราะแรงฝีจักรเคลื่อนเรือไปข้างหน้าแล้วรู้สึกวิงเวียนศีรษะจนกระทั่งทำท่าคลื่นเหียน พักเดียวจันตาก็ลุกขึ้นโก่งคออาเจียนลงน้ำ โดยมีปลัดจินกรที่นั่งอยู่ด้วยกันยืนขึ้นลูบหลังให้แล้วเรียกหาน้ำมาให้ล้างปาก...หมุ่ยนี้ที่อยู่ท้ายเรือรีบเอายาหม่องมาให้ปลัดแล้วบอกให้ช่วยดูแลจันตาที่มีอาการเมาเรืออีกที คนอื่น ๆ เห็นภาพการเอาใจใส่ของหนุ่มข้าราชการอนาคตไกลที่มีต่อสาวสวยที่เป็นเพียงลูกจ้างในร้านสังฆภัณฑ์ก็มีความรู้สึกต่างกัน
บ้างก็คิดว่าไม่เหมาะสมเพราะฐานะผู้ชายดีกว่า บ้างก็คิดว่าเป็นวาสนาของผู้หญิง บ้างก็คิดว่าผู้ชายหน้าตาแย่กว่าผู้หญิง บ้างก็มองเห็นถึงความเหมาะสมกัน เพราะความรักเป็นเรื่องปกติของคนหนุ่มคนสาว เป็นเรื่องของคนสองคนเท่านั้น
แต่สำหรับประสงค์ ภาพนั้นก็ยังทำให้รู้สึกเจ็บแปลบหัวใจ...หลังจากแต่งงานกับพิไลจนถึงเวลานี้ เขาเฝ้าถามความรู้สึกตนเองว่า ‘รัก’ พิไล เท่าที่เคยรักจันตาหรือยัง ก็ได้คำตอบว่า ‘ยัง’
ตอนที่รู้สึกว่า ‘รัก’ จันตานั้น มันรักตั้งแต่เห็นหน้า และเฝ้าคิดถึงใบหน้า ท่าทาง น้ำเสียง...จำแม้กระทั่งว่าพูดอะไรกันไปกี่คำ กี่ครั้ง...เร่งวันเร่งคืนให้หมุนเปลี่ยนเพื่อจะได้พบหน้า...คิดถึงแต่อนาคตว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้อยู่เคียงกัน
แต่กับพิไล มันไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนั้น ใจมันระลึกอย่างเดียวว่า ที่มาอยู่ด้วยกันนั้น มันเป็น ‘หน้าที่’ เป็นความผูกพัน ที่มีความรู้สึกรำคาญ ความระแวง ปะปนอยู่ด้วย ข้อดีของพิไลก็มี แต่ข้อเสียชวนให้นึกตำหนิอย่างที่แม่ชอบเปรย ๆ ออกมายามรู้สึกไม่พอตาก็มีไม่น้อย เขาเป็นสามีจะเออออเข้าข้างแม่ พิไลก็เป็นเมีย เวลาที่พิไลพูดถึงแม่ในทางไม่ดีให้ฟัง เขาก็ไม่อยากได้ยิน
แต่พิไลก็ทำหน้าที่ของเมียได้ดี แม้จะไม่ได้รักกันมาก่อน แต่พออยู่ด้วยกันแล้ว เขาก็สัมผัสได้ว่าพิไลนั้นยึดเขาเป็นที่พึ่ง ยึดเขาเป็นสมบัติของตน จึงได้ เคี่ยวเข็ญ เจ้ากี้เจ้าการ เสมือนเป็นคนคนเดียวกันเพราะพิไลคิดฝากชีวิตและอนาคตของตนไว้กับเขาผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘สามี’ และที่สำคัญ ยามอยู่ตามลำพังในบ้าน ในที่รโหฐาน เขามั่นใจว่าพิไลรักเขามากมาย เพราะพิไลจะเฝ้าปรนนิบัติเอาใจใส่แสดงออกในทางพิศวาสอย่างไม่มีขัดเขิน...
สำหรับเขากับพิไล ก็สรุปว่า แม้ไม่ได้รักกันมาก่อนแต่งงาน ก็สามารถรักกันได้ในที่สุด อย่างที่ผู้ใหญ่บอกไว้
แล้วกมลกับเพียงเพ็ญที่ไม่ได้รักกันมาก่อน จะรักกันได้ในเร็ววันรึเปล่า เป็นเรื่องที่ประสงค์ครุ่นคิดพลางมองบนตลิ่งที่มีต้นไม้เขียวขจี...
งานแต่งของประสงค์นั้นทำพิธีแบบไทยจีน คือ ทำบุญเลี้ยงพระในภาคเช้า ยกขันหมาก และไหว้ฟ้าดิน ยกน้ำชาให้กับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ตอนกลางคืนยังมีกินเลี้ยงฉลองงานมงคลสมรส จัดให้มีโต๊ะจีนในภาคค่ำ มีวงดนตรีคอมโบ้ให้แขกที่ถูกเชิญมาร่วมงานได้เต้นรำกันอย่างสนุกสนานสมฐานะลูกเถ้าแก่ใหญ่จากตำบลทับกฤช และ อำเภอชุมแสงแต่งงานกัน...
ส่วนงานของกมลที่จัดอย่างฉุกละหุกนั้นมีเพียงพิธีสงฆ์ในภาคเช้า ยกขันหมากในตอนสาย ๆ รดน้ำสังข์ ผูกข้อมือรับซองช่วยงานเพื่อให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเก็บไว้ทำทุนตามธรรมเนียม นอกจากนั้น งานนี้ กำนันศรยังจัดให้มีพิธีจดทะเบียนสมรสในงานไปด้วยเลย ส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอที่เป็นห้องนอนเดิมของเพียงเพ็ญ โดยเปลี่ยนชุดเครื่องนอนใหม่ทั้งหมด แล้วก็เลี้ยงแขกที่มาร่วมงานด้วยอาหารไทยที่แม่ครัวฝีมือเอกทำขึ้นอย่างสุดฝีมือ ใช้แตรวงที่แห่ขันหมากนั่นแหละทำหน้าที่สร้างความสนุกสนาน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน...
ถ้าเปรียบเทียบงานสองงาน งานของกมลก็ถือว่าเล็กกว่า แต่ถ้าเทียบกับงานแต่งของชาวบ้านในถิ่นนี้ งานนี้ถือว่าเป็น ‘งานช้าง’ เพราะกำนันศรนั้นรู้จักข้าราชการบนอำเภอ นายตำรวจ พ่อค้าคู่ค้าทางธุรกิจ รวมถึงผู้ใหญ่บ้านหมู่อื่น ๆ ที่ท่าน้ำหน้าบ้านจึงมีเรือลำน้อยลำใหญ่จอดอยู่เป็นแพ แต่กำนันศรก็สั่งให้คนงานกันที่ไว้สำหรับเรือขันหมากที่จะมาถึงในช่วงสาย...
เห็นกิจการบ้านช่องของกำนันศรที่กมลจะได้เข้ามาครอบครองพิไลก็รู้สึกยิ้มกริ่ม เมื่อฐานะทางนี้มั่นคง กมลก็คงไม่กลับไปแบ่งสันปันส่วนจากพี่ ๆ น้อง ๆ อีก...มงคลนั้นนางย้อยก็บอกว่าส่งให้เรียนหนังสือแล้วก็คงจะมีช่องทางทำมาหากินอย่างอื่น คงไม่กลับไปยุ่งกับสมบัติพ่อแม่หรือถ้ายุ่งก็น่าจะเป็นส่วนน้อย ดังนั้นก็เหลือเพียงปฐมคนเดียวเท่านั้นที่ยังเป็นตัวหารที่สำคัญ แต่ก่อนแต่งงานพิไลก็ใช้เล่ห์ขออภิสิทธิ์เรื่องลูกคนแรกของปฐมมาให้ประสงค์เสียส่วนหนึ่งแล้ว...
“เห็นไหมเฮีย ว่ากิจการบ้านช่องเขาใหญ่โตแค่ไหน นี่นะเฮีย ถ้าฉันไม่รบเร้า ถ้าม้าไม่เชื่อฉัน กมลก็ไม่ได้มาเป็นอาเสี่ยอยู่ที่นี่หรอก...”
เพราะอยากมีความดีความชอบ พิไลจึงต้องกระซิบบอกประสงค์ให้ได้รับรู้
...ประสงค์ที่ยังสวดมนต์ไหว้พระเกือบทุกค่ำเช้า มองกวาดไปทั่ว เห็นอย่างที่พิไลเห็น แต่เขาก็รู้สึกพลอยยินดีที่เห็นน้องชายได้ดิบได้ดี ไม่มีความอิจฉาริษยา คิดแข่งแสงแข่งบุญ เพราะรู้ว่าสมบัติทั้งหมดนั้นเป็นของนอกกาย ยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ความสุขเพียงอย่างเดียว
ฝ่ายเรณูนั้น พอเห็นสถานที่กิจการบ้านช่องของกำนันศร ก็เปรยให้ปฐมได้ยินว่า “เป็นบุญของอาซาจริง ๆ”
ปฐมกวาดตามองไปทั่วเช่นกัน ความรู้สึก ‘ริษยา’ นั้นมีตามประสาปุถุชน แต่เขาที่เป็นลูกชายคนโตก็ถูกอบรมสั่งสอนมาตลอดว่า จะต้องทำมีภาระผู้สืบฐานะกิจการของครอบครัวเลี้ยงดูพ่อแม่ เรื่องแต่งออกมาอยู่บ้านเมียอย่างกมลเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุด เขาได้อยู่กับผู้หญิงที่เขาอยู่ด้วยนานวันเข้าก็รู้สึกว่า ‘ยิ่งรัก’ นี่ซิ...มันน่าจะเป็นเรื่องวิเศษในชิวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่งได้เหมือนกัน
- งานแต่งของเพียงเพ็ญกับกมลนำความยินดีมาให้บังอร (((*** ตอนก่อนหน้านั้นให้บังอรชื่อแตงอ่อน ลูกนางอบ นายอาจ เจ้าของนาที่ก้านไปรับจ้างเกี่ยวข้าว /แต่ว่าดันไปซ้ำกับชื่อ นางแตงอ่อน คนที่ถีบนางย้อยตกรถไฟ //จึงขอเปลี่ยนจ้า// ตัวละครเยอะ ไรเตอร์งงมากกกกกกก//ขออภัยอย่างแรง))) เป็นอย่างมาก เพราะงานนี้ทำให้ก้านกลายเป็นคนไม่มีพันธะทางใจ ความหวังที่เคยริบหรี่จึงมีมากขึ้น ๆ แผนถัดไปคือ สืบถามนายสิทธิ์ให้ได้ว่าพาก้านไปอยู่ที่ไหน และจะต้องดึงตัวก้านกลับมาให้ได้ ...โดยเวลานี้บังอรก็เฝ้าทำคะแนนกับนางกุ่นรอไปพลาง ๆ เพราะเมื่อก้านกลับมาเห็นความดีของตน ก้านก็คงจะรู้เองว่า ใครเป็นคนที่คู่ควร...
ฝ่ายไอ้หวังนั้นได้ เฝ้าสังเกตการณ์เตรียมรายงานให้ก้านที่หายไปกับนายสิทธิ์ได้รู้...ซึ่งหวังก็ไม่รู้ว่าจะมีวันที่ก้านกลับมาอีกหรือเปล่า แต่ก้านก็บอกกับเขาว่า อย่าได้ไปบอกกับใครว่าเขาจะไปทำงานอยู่วงดนตรี โดยหวังจะไปเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียง เพราะถ้าไม่ได้เป็นอย่างที่พูด รังก็จะมีแต่ความอับอายขายหน้ายามต้องปีกหักกลับมา
“ข้างบนเป็นอย่างไรบ้าง” พอเห็นบังอรเดินลงมาจากบนเรือนที่กำลังวุ่นวาย ผูกข้อไม้ข้อมือ รับซอง...ไอ้หวังที่หน้าแดงตาแดงเพราะฤทธิ์เหล้าโรงก็ถามทันที
“เจ้าสาวหน้าไม่สะเบยเหมือนคนไม่ถ่ายท้องมาสามสี่วัน...แต่ยังดีนะ ที่ยังนั่งบนตั่งให้คนรดน้ำสังข์ได้...ถ้าต้องถึงกับนอนละก็” ว่าแล้วบังอรก็ไหวไหล่
“อีบังอร อีบ้า อีปากหมา”
“ฉันพูดเล่นน่า...”
“งานมงคล พูดเล่นแบบนี้ในบ้านเขา มีคนเอาไปบอกพ่อกำนัน มึงนั่นแหละจะปากแตก”
ที่บังอรพูดไปแบบนั้นเพราะลึก ๆ เต็มไปด้วยอิจฉาในวาสนาของเพียงเพ็ญ...และเกลียดที่เพียงเพ็ญได้หัวใจของก้านไป เพื่อกลบเกลื่อนความปากพล่อยของตน บังอรจึงเปลี่ยนเรื่อง
“คิดถึงพี่ก้านจัง ถ้าอยู่ แกจะปั้นหน้าอย่างไร”
“ก็คง...เมาหัวราน้ำ ดีไม่ดี ได้ยินเสียงเครื่องไฟแบบนี้...ถ้าไม่ผูกคอตาย ก็...” หวังกลืนคำว่า ‘ก็คงหาปืนมายิงเจ้าบ่าวตาย’ ไว้ได้
“งั้นไปเสียแบบนั้นก็ดีแล้วแหละ...แล้วนี่ พี่หวังไม่รู้จริง ๆ หรือว่า อาสิทธิ์พาพี่ก้านไปอยู่ที่ไหน”
“ไม่รู้ ถ้ารู้ก็บอกไปแล้วซิ เมียแกก็ยังไม่รู้เลย...ป้ากุ่นก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าพากันนั่งรถไฟเข้าเมืองหลวง”
“ถ้าอาสิทธิ์กลับมา ได้เรื่องอย่างไรแล้วก็บอกฉันด้วยนะ...”
“มึงจะอยากรู้ไปทำไม”
“อ้าว ก็ถ้าป้ากุ่นเจ็บไข้เป็นอะไรขึ้นมา จะได้ส่งข่าวไปบอกให้แกรู้ได้ไงพี่...พี่ก็รู้ ว่าพี่ก้านแกรักแม่แกจะตายไป”
หลังจัดการกับขนมจีนน้ำยาและอาหารที่ทางเจ้าภาพทำเลี้ยงแขกนับสิบชนิดอย่างละนิดอย่างละหน่อย หมุ่ยนี้ก็พาจันตาออกสำรวจบริเวณบ้านของกำนันศร จนกระทั่งไปหยุดอยู่ที่โรงเลื่อยขนาดใหญ่ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน...จันตามองเข้าไปข้างใน แล้วหันกลับมามองบ้านหลังใหญ่ทางทิศตะวันออกที่คลาคล่ำไปด้วยแขกเหรื่อของเจ้าสาวเจ้าบ่าวแล้วนึกถึงงานแต่งของตนเอง ที่จะหมุ่ยนี้รับปากกับปลัดจินกรว่าจะรับเป็นญาติฝ่ายเจ้าสาวให้ ...
จันตาคิดว่ามันจะเป็นเพียงงานแต่งเล็ก ๆ เพราะญาติฝ่ายเจ้าบ่าวก็อยู่ที่จังหวัดลพบุรี พ่อแม่ญาติพี่น้องของตน จันตาก็กะว่าแต่งแล้วจะส่งข่าวไปให้รับรู้เท่านั้น เพราะก่อนจะหนีอายออกจากบ้านมานั้น ทุกคนก็ดูจะโล่งอกที่จันตาพ้นมาจากบ้านเสียได้ มาอยู่ทางนี้ ก็ไม่เคยมีใครเขียนจดหมายมาหา มีเพียงจันตาที่ส่งตั๋วแลกเงินไปทางไปรษณีย์ไปให้พ่อแม่ใช้เป็นครั้งคราว
“คิดอะไรอยู่รึ” หมุ่ยนี้เดินมาหยุดแล้วมองตามสายตาของจันตาไป...
“คิดถึงอดีตและก็คิดถึงอนาคตของตนเองจ้ะ”
“อดีตเธอเป็นอย่างไรบ้างล่ะ... มีเรื่องความรงความรักอะไรกับเขาบ้างไหม เล่าให้แจ้ฟังบ้าง”
จันตายิ้มแหย ๆ แล้วถามกลับมาแทนคำตอบ..
“แล้วแจ้เคยมีความรักบ้างไหมจ๊ะ” พอออกมาจากบ้าน จันตาก็รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ความเป็น นายเงิน กับลูกน้องนั้นค่อยๆ ละลายไป เพราะหมุ่ยนี้ไม่ใช่คนถือตัวแต่อย่างใด...
“แจ้ไม่เคยมีหรอก เป็นเด็กปุ๊บ ก็แก่เทื้อ เอ๊ย โตเป็นเถ้าแก่เลย วัน ๆ คิดแต่เรื่องกำไรขาดทุน...”
“แต่เวลาเจ๊คุยกับผู้ชาย คือ ดูแบบ แบบ เอ่อ”
“แหม แจ้มีอาป๊า มีพี่น้องผู้ชายเยอะแยะ เพื่อนฝูงก็มี ผู้ชายก็คนเหมือนเรา ก็ไม่เห็นจะต้องไปเกร็งเวลาคุยกัน แต่อย่างว่าแหละนะ สำหรับจันตากับแจ้มันสวยกันคนละแบบ” พูดจบแล้วหมุ่ยนี้ก็หัวเราะกับมุกของตัวเอง
“แล้ว มีคนเคยจีบเจ๊ไหมจ๊ะ” จันตายังคงปัดเรื่องให้พ้นตัว
“มีซิ แต่ว่า ใจแจ้มันเฉย ๆ ไม่รู้สึกหวั่นไหวอะไร แล้วอีกอย่าง แจ้ซังอีก็คอยกันท่า อยากให้อยู่เป็นเพื่อนกันด้วย ก็เลยเถิดมาจนถึงตอนนี้แหละ จะว่าเป็นเรื่องของโชคชะตาวาสนาก็ได้มั้ง ดวงคนมันจะไม่มีผัว เสนอหน้าดิ้นรนให้ตายก็ไม่มีหรอก แต่ดวงคนจะมี ต่อให้อยู่ก้นครัวก็ยังมีคนตามเข้าไปเห็น” หมุ่ยนี้หมายถึงคู่สนทนา จันตาจึงค้อนให้
แล้วสายตาของหมุ่ยนี้กับจันตาก็เห็นเรณูเดินฝ่าแดดลมจนกระโปรงปลิวเข้ามาหา...
“มาทำอะไรกันอยู่ตรงนี้”
“มาดูกิจการของเถ้าแก่น้อยคนใหม่นะซิ โรงเลื่อยเขาใหญ่โตดีนะ...ใหญ่กว่าโรงสีที่ชุมแสงอีกมั้ง...” หมุ่ยนี้เป็นฝ่ายตอบ เรณูจึงมองตามเข้าไปบ้าง แล้วก็ถอนหายใจเบา ๆ ก่อนจะพูดว่า “จะอยู่ด้วยกันไปได้สักกี่น้ำก็ไม่รู้...”
จันตานิ่งฟัง... ส่วนหมุ่ยนี้ถามกลับทันที “ทำไม มีอะไรเหรอ”
“ตะกี้ ฉันได้ยินคนทีนี่เขาซุบซิบกันว่า ที่เจ้าสาวหน้าบึ้งตึงทำเหมือนถูกปืนจี้ให้เข้าพิธีเนี่ย เป็นเพราะ เค้ามีแฟนของเค้าอยู่แล้ว เป็นคนที่นี่แหละ แต่ว่ายากจนข้นแค้น ไม่คู่ควรกัน พ่อกำนันก็เลยบังคับให้เค้าแต่งกับอาซาของเรา”
“แต่งแล้วก็แล้วไปซิ ชีวิตมันต้องเดินไปข้างหน้า...”
“ดูท่าจะไม่แล้วหรอก เพราะว่ากันว่า อีคนนี้เป็นคนเอาแต่ใจตัวเองสุด ๆ เพราะเป็นลูกสาวคนเล็ก... นึก ๆ ไปแล้วก็สงสารอาซาเหมือนกัน คนดี ๆ ทำไมจะต้องมาเจอกับเมียนิสัยไม่ดีด้วยก็ไม่รู้” พูดไปแล้ว เรณูก็ตบปากตัวเองเบา ๆ หมุ่ยนี้หัวเราะ แล้วเรณูก็พูดว่า
“ฉันเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าเพียงเพ็ญสักเท่าไหร่หรอกเนอะ...ยังมีหน้าไปว่าเขาอีก”
จันตามองไปทางบ้านหลังใหญ่แล้วก็ถอนหายใจออกมาเบา ๆ รู้สึกกลัวว่าในอนาคต ญาติของคุณปลัดจะพูดในทางลับหลังแบบนี้บ้าง
“อาสี่ ๆ ทางนี้” เสียงของหมุ่ยนี้ที่ตะโกนก้อง ทำให้ความคิดกังวลของจันตาชะงัก...มงคลที่เดินมาทางชายคาแล้วเหมือนมองหาใครบางคน ยิ้มกว้าง แล้วเดินตัดลานมาหา เพราะหมุ่ยนี้ได้บอกกับเขาไว้ว่า ถ้าเสร็จธุระข้างบนเรือนแล้วให้ลงมาถ่ายรูปให้ด้วย
“รอจนจะหมดอารมณ์สวยแล้วเนี่ย” พอมงคลเดินมาถึงหมุ่ยนี้ก็หยอกเขาทันที มงคลเบะปากแต่สายตานั้นจับอยู่ใบหน้าของจันตา ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมกมลถึงได้หลงรักจนม้าต้องให้รีบแต่งมาอยู่ที่นี่...
“อาแจ้จะถ่ายเดี่ยวหรือถ่ายหมู่”
“ถ่ายหมู่ซิยะ บานเดียวอยู่กันครบ ประหยัดคุ้ม”
“ก็นึกว่าอาแจ้จะถ่ายเดี่ยวเอาไว้อัดแจกหนุ่ม ๆ บ้างนะซิ”
“แจ้คงจะไม่ละ แต่เดี๋ยวลื้อถ่ายให้จันตาไว้ละกัน...แต่ไม่ต้องอัดเก็บไว้ดูเองล่ะ จันตาเค้ามีเจ้าของแล้ว...”
“ใครตีทะเบียนเป็นเจ้าของรึครับ”
“ก็นายทะเบียนบนเรือน ปลัดจินกรน่ะ...ว่าที่ของเขา...รู้ไว้ซะด้วย” พอหมุ่ยนี้โอ่แบบนั้น จันตาก็กระตุกแขนเบา ๆ เพราะไม่อยากให้หมุ่ยนี้พูดมากไปจนกลายเป็นอวดจนน่าหมั่นไส้ เพราะถ้าที่หวังที่ฝันไว้ ‘พลาด’ ขึ้นมา คนจะเหยียบซ้ำเอาได้
******************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #23 on: 02 March 2020, 11:15:13 » |
|
ตอนที่ 24 : เขยใหม่ ชีวิตใหม่
๒๔
สถานภาพ ‘เขยใหม่’ ที่กมลเพิ่งจะได้มา ทำให้เขาต้องขยันขันแข็งเอางานเอาการมากขึ้นกว่าเดิม เพราะถ้าเขยใหม่ทำให้พ่อตาแม่ยายที่มาอาศัยอยู่ด้วย มีอคติตั้งแต่วันแรก ๆ ชีวิตใหม่ในเรือนกว้างใหญ่ก็คงยากจะมีความสุข...
เพราะความสุขที่หวังจะได้จากตัวเมียนั้น กมลรับรู้ตั้งแต่คืนแรกที่อยู่ด้วยกันว่า คงเป็นไปได้ยาก เพียงเพ็ญนั้นสร้างกำแพงบางๆ ไว้ เริ่มตั้งแต่หญิงสาวไม่ยอมพูดกับเขาแม้จนคำเดียวตลอดจนพิธีเสร็จสิ้น...หลังจากที่ทำพิธีปูที่นอนส่งตัวเข้าหอเสร็จแล้ว ผู้ใหญ่ออกจากห้อง ทิ้งให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่กันตามลำพัง เพียงเพ็ญที่นั่งหน้าบึ้งอยู่บนที่นอนก็บอกกับเขาว่า
“เปลี่ยนชุดแล้ว ก็ลงไปช่วยคนงานเก็บของนะ...” เป็นประโยคแรกที่เพียงเพ็ญคุยกับเขา
ไม่มีคำเรียกขาน ว่า ‘พี่’ หรือ ‘เฮีย’ ‘อาเฮีย’ แต่อย่างใด
...เขาพยักหน้าแล้วก็หันไปหากระเป๋าผ้าใบใหญ่ที่เก็บลงเรือมาด้วย...เปิดกระเป๋ารูดซิป หยิบผ้าขาวม้าออกมาผลัดกางเกงเปลี่ยนเป็นกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว แล้วเขาก็ออกจากห้องไปล้างหน้าเข้าห้องส้วม แล้วก็ช่วยคนงานเก็บโต๊ะพับ ขนเก้าอี้เหล็กแบบพับได้ขึ้นเกวียนเอาไปส่งคืนวัด โดยนางสมพรซึ่ง ‘ม้า’ ของเขา บอกกับเขาว่า ต่อไปจะต้องเรียกกำนันศรว่า ‘พ่อ’ และเรียกนางสมพรว่า ‘แม่’ นั้นได้บอกกับเขาว่า
“ไม่ต้องทำหรอกพ่อซา ให้คนงานทำไปเถอะ”
“ไม่เป็นไร ช่วยกันจะได้เสร็จเร็ว ๆ” ไม่ใช่แค่อยากให้งานเก็บโต๊ะเก้าอี้ หม้อ เตา ชาน ชาม ถาด กะละมัง ส่งคืนวัดเสร็จไปโดยเร็ว เขาเองก็อยากถือโอกาสนี้ หลบหน้าคนในห้องหอ และเพื่อจะได้ทำความรู้จักกับ ‘คนงาน’ ที่วันหน้าจะต้องกลายมาเป็นลูกน้องเขาด้วย...
กลับมาจากวัดตอนพลบค่ำ นางแรมก็บอกให้เขา รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อที่จะได้กินข้าวเย็นด้วยกัน โดยนางแรมจัดแจงนำผ้าข้าวม้าและเสื้อกับกางเกงของเขามาวางให้พร้อมสรรพ โดยที่เขาไม่ต้องเข้าไปในห้อง เขาจึงนุ่งผ้าขาวม้าอาบน้ำที่โอ่งข้างบ้านแล้วก็เปลี่ยนมานุ่งกางเกงขาก๊วยสวมเสื้อยืดสีขาว ไม่ได้ตบแป้งหอมให้รู้สึกสดชื่นเหมือนตอนที่อยู่บ้าน
อาหารเย็นมื้อนั้น มีกำนันศรที่ยังไม่สร่างเมา นางสมพร นางแรม นั่งร่วมวง ส่วนเพียงเพ็ญนั้นยังคงทำตัวเป็นนางห้องอยู่เช่นเดิม เขาไม่ได้ถามใครหรอกว่าทำไมเพียงเพ็ญไม่ออกมากินข้าวด้วยกัน มีแต่นางสมพรออกตัวว่า เพียงเพ็ญยังคงมีอาการไข้ก็เลยนอนซมอยู่ในห้องเช่นเดิม
หลังกินข้าวอิ่ม เขาก็รู้สึกง่วงนอนเต็มกำลัง เพราะเมื่อคืน เขานอนไม่กี่ชั่วโมง มงคลอยากให้เขาลองชุดให้ดู และชวนคุยอะไรเรื่อยเปื่อยหยอกเย้าเล่าเรื่องใต้สะดือตามประสาพี่น้อง พอเคลิ้มหลับ แม่ก็ร้องเรียกให้ลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวออกจากร้านมานั่งเรือหางยาวฝ่าคลื่นน้ำลมหนาวมาที่นี่
จะนับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาเลยก็ได้ ที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านช่องที่คุ้นชินจนแทบจะหลับตาเดินได้ทั่วตลาด โดยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับมาอยู่อีกเมื่อไหร่ ตอนนั้นเขาเหลียวหลังกลับไปมองตลาดชุมแสงที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แล้วรู้สึกใจหายจนน้ำตาคลอลูกนัยน์ตาโดยไม่รู้ตัว แล้วเขาก็หันกลับมามองข้างหน้า ใจก็คิดว่า ชีวิตคนเราทุกคนนั้น ไม่มีใครหนี ‘ความเปลี่ยนแปลง’ พ้น
ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เขาไม่รู้หรอกว่า จะพาอนาคตเป็นไปอย่างไร
แต่เขาก็รู้สึกได้ว่า วันนี้เขา ‘โต’ ขึ้น พรวดพราดเหมือนต้นหญ้าในช่วงต้นฤดูฝน...
พอกมลจะผลักประตูห้องหอเข้าไป เขาก็คิดได้ว่า ควรที่จะส่งเสียงให้คนในห้องได้รู้ตัวก่อน เขาจึงเคาะเบา ๆ แล้วผลักประตูเข้าไป เพียงเพ็ญที่อยู่ในชุดนอนแบบเสื้อกางเกงสีชมพูทันสมัยเข้าชุดกัน พอเห็นเขา เพียงเพ็ญก็ลุกขึ้นนั่ง มองเขาแล้วก็บอกว่า “ที่นอนของเอ่อ...ของเฮีย อยู่ตรงโน่น”
เขามองตามนิ้วมือที่เพียงเพ็ญชี้บอก ก็พบที่นอนสามแบะปูทับด้วยผ้าสีชมพูลายดอก บนนั้นมีหมอนและผ้าห่มพับเทินกันอยู่ ตรงหัวนอนมีมุ้งสีขาวมัดมุมแล้วสองมุม...ซึ่งเขาจะต้องกางมุงเองอีกสองมุม ข้างที่นอนติดข้างฝา กระเป๋าผ้าของเขายังคงวางอยู่ที่เดิม แต่ก็มีรอยรื้อค้น
ยังไม่ทันที่เขาจะถามว่า ทำไมไม่ให้เขานอนบนเตียงด้วยกัน เพียงเพ็ญก็รีบบอกว่า “พอดี ฉันไม่สบายเป็นไข้ ถ้านอนด้วยกัน เดี๋ยวเฮียจะติดไข้ไปจากฉันได้นะ อากาศเย็น ๆ แบบนี้ ถ้าไม่เปิดหน้าต่างยุงก็ไม่มีหรอก จะไม่กางมุ้งก็ได้นะ”
เมื่อเพียงเพ็ญพูดยืดยาวเขาจึงพูดขึ้นบ้าง
“งั้นกางดีกว่า”
ว่าแล้วเขาเดินไปคลี่มุ้ง ดึงมุมหลังมุ้งที่มีเชือกติดอยู่ไปมัดกับตะปูที่ตอกไว้บนไม้ลูกตั้งข้างฝา...
เพียงเพ็ญมองเขาแล้วก็บอกว่า “ปกติ ฉันชอบจุดตะเกียงนอน เพราะฉันชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ถ้าคืนนี้ จะจุดทิ้งไว้ จะเป็นอะไรไหม”
“ไม่เป็นอะไรหรอก แต่ควันตะเกียงจะทำให้มุ้งดำ”
“ดำก็ซักบ่อย ๆ เอา...แล้วเฮียนอนกรนหรือเปล่า”
“ไม่รู้เหมือนกัน”
“ถ้ากรน มีห้องข้าง ๆ นี่นะ จะไปนอนที่นั่นก็ได้นะ จะได้ไม่รบกวนฉัน แต่รกหน่อยเพราะเป็นห้องเก็บเสื้อผ้าของฉัน”
กมลไม่คิดว่าจะได้ยินคำพูดแบบนี้ แต่เขาก็ใจเย็นพอจะบอกว่า
“ถ้าอย่างนั้นก็ลองนอนดูก่อนละกัน ถ้ากรนค่อยว่ากันอีกที...” ว่าแล้วเขาก็มุดมุ้งเข้าไปกันมุ้ง แล้วล้มตัวลงนอน
เบื้องต้นเขานอนหงาย พอไม่หลับเขาก็นอนตะแคงมาหาเตียงใหญ่ เพียงเพ็ญยังคงนั่งนิ่ง ไม่ได้อ่านหนังสือหรือทำอะไร เหมือนหญิงสาวกำลังใช้ความคิด...และเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น เขาจึงเป็นฝ่ายเปิดฉากชวนคุย เหมือนที่นอนคุยกันคนละเตียงกับมงคลเมื่อคืนนี้
“แล้วนี่ กินข้าวหรือยัง กินข้าวได้หรือเปล่า” เขาก็ไม่รู้จะใช้สรรพนามแทนตัวเพียงเพ็ญว่าอย่างไร... เฮียตง พูดแทนตัวเองกับซ้อพิไลว่า ‘เฮีย’ เรียกพิไลว่า ‘พิไล…เธอ’
‘เฮีย’ กับ ‘เพียงเพ็ญ...เธอ’ เขาก็คงจะใช้สรรพนามแบบนั้น...
“กินแล้ว” ก่อนหน้าที่กมลจะกลับมาจากวัด เพียงเพ็ญกับ นางแรม นางสมพรทุ่มเถียงกันเรื่องที่นอนหลังเล็กนี้แล้ว แต่เพียงเพ็ญที่เป็นเจ้าของห้องเสียงแข็งกว่า แล้วก็มีข้ออ้างว่าตนไม่สบาย นางแรมจึงต้องจัดหาเครื่องนอนมาให้ นางแรมแนะนำว่า ควรจะออกไปกินข้าวด้วยกัน แต่เพียงเพ็ญบอกว่าไม่หิว นางแรมก็เลยยกข้าวต้มมาให้กินในห้อง เพียงเพ็ญกินกับผักกาดเค็มไปได้สองสามคำก็รู้สึกอิ่ม และมีอาการผะอืดผะอมขึ้นมา แต่อาการไม่หนักเหมือนก่อนแต่งงาน นางแรมเห็นอาการของเพียงเพ็ญดีขึ้น ตั้งแต่บนบานเสร็จถึงปัจจุบัน ก็บอกว่า ‘พรุ่งนี้เห็นทีจะต้องแก้บนนะ’
เพียงเพ็ญแกล้งถามไปว่า ‘ถ้าพ่อซาของอาศรี เขาถามป้าว่า แก้บนเรื่องอะไร ป้าจะบอกว่าอย่างไง’
‘ก็บอกว่า บนให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีนะซิ แต่ว่า หนูจะไม่ให้พ่อซาเขานอนด้วยจริง ๆ รึ ป้าว่าถ้าให้เขานอนกับพื้นห้อง มันน่าเกลียดมากเลยนะ’
‘ถ้าน่าเกลียด ก็ให้พ่อซาไปนอนห้องเล็ก’
‘ห้องเล็กยิ่งน่าเกลียดเข้าไปใหญ่’
‘ป้าเก็บถาดออกไปเหอะ ต่อไปจะเป็นธุระของหนูกับเขาเอง...’
‘คิดจะทำอะไรรึเปล่า’ นางแรมรู้ดีว่า กำนันศรเหมือนชนะลูกสาวคนเล็กหัวดื้อแล้ว หาได้ชนะอย่างขาดลอย...มันยังมีคลื่นใต้น้ำที่จะทำให้น้ำกระเพื่อมใส่ตลิ่งตามมาอย่างแน่นอน...
‘สำเร็จแล้ว เดี๋ยวป้าก็รู้เอง...’ เพียงเพ็ญตัดบทแล้วนางแรมก็ออกจากห้องไป...
ถามคำถามแรกไปแล้ว ได้รับตอบกลับมาสั้น ๆ กมลคิดว่า ไม่ควรจะยุติการสนทนาแค่นั้น...เขาจึงถามอีกคำถาม
“แล้วนี่ไปหาหมอหรือยัง”
“ยัง”
“แล้วเอายาจากที่ไหนมากิน...” กมลคิดว่ามันน่าจะเป็นคำถามที่ควรถามมากที่สุด
“ยาหม้อ ยากลางบ้าน” เพียงเพ็ญตอบเสียงห้วน...แล้วหญิงสาวก็หักด้ามพร้าด้วยเข่าโดยการพูดต่อว่า “โตแล้ว รู้รักษาตัวรอดหรอกน่า...”
กมลนิ่งเงียบ แล้วก็พลิกตัวเข้าหาข้างฝา...นอน ‘ครุ่นคิด’ อยู่นานสองนาน ก่อนจะค่อย ๆ ผล็อยหลับไปเพราะอ่อนเพลีย
********
พอได้ยินเสียงกมลกรนเบา ๆ เพียงเพ็ญที่จู่ ๆ ก็รู้สึกอยากกินของเปรี้ยวจนน้ำลายแตกซ่านก็คว้าไฟฉายค่อย ๆ ลงจากเตียงโหย่งตัวออกจากห้อง ที่หน้าห้องไม่มีมุ้งของนางแรมเหมือนเคย เพียงเพ็ญจุดตะเกียงรั้วอีกใบ แล้วถือตะเกียงแทนไฟฉายเดินเท้าเบาไปในครัว ติดกับครัวเป็นห้องนางแรม นางแรมเป็นคนนอนหูเบา พอมีเสียงก็ถามว่า “ใครรึ”
“หนูเองป้า” เพียงเพ็ญตอบเบา ๆ แล้วก็เดินไปเปิดไห ล้วงมะขามเปียกมานั่งกินโดยไม่ได้จิ้มเกลือแต่อย่างใด...
“กินอะไร” นางแรมมุดมุ้งออกมาเกาะประตูครัวถาม...
“จู่ ๆ ก็นึกอยากเปรี้ยว...” ก่อนหน้านั้นเพียงเพ็ญไม่มีความรู้สึกอยากเปรี้ยวอยากหวานหรืออยากกินอะไรแบบที่คนแพ้ท้องส่วนใหญ่เป็นกัน แต่พอพิธีวิวาห์ผ่านพ้น อาการเหล่านั้นก็กลับเข้ามา...
“กินมาก ๆ ระวังท้องเสีย” นางแรมรีบห้าม เมื่อเห็นว่าเพียงเพ็ญจะหยิบมะขามเปียกออกมาอีก...
“ป้าหนูหิวข้าว มีอะไรกินไหม”
“มีแกงส้ม กินได้ไหมล่ะ”
พอเพียงเพ็ญพยักหน้า นางแรมก็เดินเข้ามาหาสำรับให้ พอเห็นเพียงเพ็ญนั่งกินข้าวได้ผิดปกติจากที่เคยกินเหมือนแมวดม นางแรมก็บอกว่า
“มันเกิดอะไรขึ้นละเหว่ บทจะกินได้ ก็กินเอา ๆ กินแต่น้อย ๆ ค่อย ๆ กิน มันจะปวดท้อง”
“มันหิวน่ะป้า...พรุ่งนี้ ป้าแกงไก่ใส่กล้วยให้ฉันกินหน่อยนะ นึกแล้วน้ำลายไหลโกรก ๆ เลยเนี่ย...”
“อืม...” นางแรมรับคำพลางดูเพียงเพ็ญคดข้าวกินเหมือนตายอดตายอยากก็ถามว่า “แล้วพ่อซา ว่าอย่างไร”
“ไม่ว่าอะไร นอนหลับปุ๋ยบนที่นอนหลังเล็กไปแล้ว...ว่าไป เขาก็น่ารักดีนะป้า ดูท่าจะเป็นคนเข้าใจอะไรง่าย ๆ ดี”
“ให้มันจริงเถอะ” นางแรมย้อนกลับด้วยสีหน้าเต็มไปด้วยความกังวล...
**********
พอเห็นหน้าลูกชายคนโตมาลากลับเข้าค่าย นางย้อยก็พยายามนึกว่าตนเองนั้นมีเรื่องอะไรจะคุยกับเขา แต่พยายามนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก นางย้อยจึงเกาหัวเบา ๆ สีหน้าดูงงงวยอย่างเห็นได้ชัด
“ม้า ม้าเป็นอะไร”
“มีเรื่องอะไรจะคุยกับแก แต่ม้าลืม นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก แต่ช่างมันเหอะ...” เรื่องที่นางย้อยพยายามนึกก็คือเรื่องที่จะพาเขาไปหาหมอมีที่เกยไชย เพื่อถอนเสน่ห์ที่เรณูทำไว้ แต่ด้วยอำนาจคุณไสยของหมอก้อนจากตาคลีนั้นแรงกว่า เพราะมันเพิ่งเริ่มต้นสำแดงฤทธิ์เดชจึงทำให้นางย้อย หลง-ลืม เรื่องคิดพรากปฐมกับเรณูออกจากกันชั่วขณะ
“ม้าพักผ่อนเยอะ ๆ นะ กลับมาคราวนี้ ดูม้าผอมไปเยอะเลย”
“ผอมได้ไง ก็กินเท่าที่เคยกินอยู่ทุกวัน ทั้งคาวทั้งหวาน”
“ไม่ผอมก็ไม่ผอม...ม้า ผมฝากเรณูด้วยนะ” กลับมาจากงานแต่งของกมล เมื่อวานเขาก็ ‘หมก’ อยู่กับเรณูทั้งคืนทั้งวัน จนถึงเช้าวันนี้ ไม่ได้เดินมาหานางย้อยที่ร้าน เพราะคิดว่าแม่ที่ปิดร้านอีกวัน คงต้องการพักผ่อนเช่นกัน ส่วนเตี่ยของเขานั้นทำงานไม่มีวันหยุด เมื่อวานก็รีบไปที่โรงสีแต่เช้าเช่นเดียวกับวันนี้...
ส่วนวันนี้ เรณูบอกกับเขาว่า รู้สึกไม่สบายก็เลยไม่ได้เดินมาส่งเขาขึ้นรถไฟกลับตาคลี เขาจึงมาลาแม่เพียงลำพัง...
“ทำไมจะต้องฝากมันด้วยล่ะ มันก็อยู่ดีมีสุขดีนี่”
“ผมดีใจนะ ที่เห็นม้ายอมรับและเมตตาเขาบ้างแล้ว”
“มันก็มีดีของมัน ดูซิ ม้าให้ทอง มันก็ไม่เอา เห็นว่าจะเอามาคืน แต่ม้าไม่รับคืนหรอก ให้แล้วให้เลย...”
“จริง ๆ หรือม้า”
“ม้าแกคำไหนคำนั้น แต่งเมียอาตงหมดไปเท่าไหร่ แต่งอาซาหมดเท่าไหร่ แล้วอาเรณูมันก็เมียแกเหมือนกัน ม้าน่ะรักลูกเท่ากันทุกคน ไม่อยากให้ใครเอาไปว่าได้ ว่าเป็นคนลำเอียง จนยามตายก็ต้องนอนตะแคงตัวตายหรอกนะ”
“ม้า...” ปฐมรู้สึกตื้นตันจนน้ำตาคลอ
“นี่ม้าก็คิดว่าจะดูเปิดร้านขายผ้าให้มัน” แล้วนางย้อยก็เล่าเรื่องน้องสาวของเรณูที่ชื่อวรรณาให้ปฐมฟังคร่าว ๆ
“ม้าจะถามแกก่อนว่า จะเปิดให้มันดีไหม เพราะร้านนี้ วันหน้ามันก็จะต้องเป็นของอาตงมัน แกกลับมาก็ไปดูโรงสีแทนมัน อาตงก็มาอยู่ตรงนี้ ม้าจะคุมที่นี่ไปสักพัก ม้าคิดแบบนี้”
“สักพักน่ะ นานแค่ไหนม้า”
“ก็นานจน ทำไม่ไหวนั่นแหละ” ว่าแล้วนางย้อยก็หัวเราะเบา ๆ กับความเจ้าเล่ห์ของตน ...
“ก็แล้วแต่ม้า จะเห็นสมควรแล้วกัน”
“ตอนแรกม้าว่า จะแค่หาเซ้งร้านให้เรณูมัน แต่เมื่อคืน ม้ามาคิด ๆ ดูแล้ว ม้าอยากซื้อร้านแล้วไปอยู่กับเรณูกับแกซะเลยดีกว่า”
“ทำไมล่ะม้า...”
“แกเป็นลูกชายคนโต แกต้องดูแลพ่อแม่ตามธรรมเนียม”
“ผมเข้าใจ แต่อาตงมันก็ลูก แล้วที่นี่ ม้าก็อยู่กันมานานนม”
“ม้าไม่อยากอยู่กับอีพิไล ม้าขี้เกียจหุงข้าวให้มันกิน” แล้วนางย้อยก็เล่าเรื่องความขี้เกียจของพิไลให้ปฐมได้รับรู้ พร้อมกับเปรียบเทียบกับเรณูที่เรียกมาใช้งานทำขนมแค่วันสองวันให้ปฐมได้เห็น ปฐมได้ยินแม่เอ่ยชื่นชมเรณูไม่ขาดปากก็ยิ้มกริ่ม เพราะแววตาของแม่นั้นดูมีความสุข...
แม่มีความสุข เขาก็ความสุข...อะไรที่แม่เห็นดี พวกเขาก็ว่าดี ไม่เคยขัดกันมาแต่ไหนแต่ไร เพราะที่พ่อแม่เหนื่อยยากกันมามาก เป็นเพราะรักพวกเขามากนั่นเอง...พวกเขารู้กันดี
****************
“มีธุระอะไรกับฉันรึ” วรรณาเอ่ยถามมงคลที่ยืนรออยู่ด้วยสีหน้าเรียบเฉย น้ำเสียงราบเรียบไม่มีอาการดีใจที่ได้เห็นหน้ากันสักนิด...
“ไม่มี มาหาไม่ได้หรือไง”
“ได้ แต่ไม่ดีหรอก ฉันมาอาศัยเขาอยู่ ต้องทำตัวดีๆ เขาจะได้ไม่หนักใจ ตกลงมีอะไรว่ามา”
“พี่สาวเธอฝากบอกว่า เสื้อที่ตัดไปให้น่ะ ถูกใจคนใส่มาก”
“จริง ๆ นะ”
“อัดรูปมาให้ด้วย จะดูรึเปล่าล่ะ”
“ดูซิ ไหน ๆ” อารามดีใจทำให้วรรณาขยับเข้ามาเข้าใกล้เขาอีกนิด แล้วก็เห็นว่าในกระเป๋าที่อกเสื้อของเขา มีรูปถ่ายอยู่ข้างใน...
“พูดให้มันลื่นหูกว่านี้หน่อย”
“พูดอย่างไรล่ะ”
“เฮียสี่ ขอฉันดูรูปหน่อยค่ะ พูดแบบนี้”
“ไม่...”
“ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องดู”
“ไม่เห็นจะง้อเลย”
“มีข่าวดี มาบอกด้วยนะ อยากฟังไหมล่ะ ถ้าอยากฟังก็...” ว่าแล้วมงคลก็ยกไหล่ขึ้น วรรณาเบะปากให้เขา ด้วยเห็นว่าขืนมัวแต่โยกโย้ ไม่เอาใจเขาสักนิด เขาก็จะถ่วงเวลาให้นานไป วรรณาจึงบอกว่า
“เฮียสี่ ฉันอยากรู้ข่าวดี โปรดบอกฉันหน่อยเถอะนะ แล้วฉันก็อยากดูรูปจนใจจะขาด ให้ฉันดูหน่อยนะคะ...แบบนี้ได้ไหม”
“ก็แค่นั้น” ว่าแล้วเขาก็ดึงรูปออกจากกระเป๋าเสื้อแล้วส่งไปให้ วรรณารีบดูรูปบนสุด ก็เห็นเป็นรูปของเรณูยืนจับชายกระโปรงโพสต์ท่าทำเก๋อย่างกับนางแบบในนิตยสาร เห็นดังนั้นวรรณาก็อมยิ้ม...รูปถัดไปเป็นรูปหมู่ มีเรณู หมุ่ยนี้ และจันตาที่ยืนอยู่ด้วยกัน ด้านหลังเป็นอาคารหลังใหญ่...ใบที่สามเป็นรูปของเรณูกับผู้ชายซึ่งวรรณาไม่รู้ว่าเป็นใคร
“คนนี้ใครเหรอ”
“พี่เขยเธอนั่นแหละ พี่ชายเรา...ชื่อเฮียใช้...”
วรรณาพินิจดูรูปนั้นอยู่นานทีเดียว เห็นอาการที่เรณูเกาะแขนของ ‘เฮียใช้’ แล้วยิ้มจนปากบาน วรรณาก็สัมผัสได้ว่าเรณูนั้นน่าจะมีความสุขดี... และรูปสุดท้ายเป็นรูปรวมญาติพี่น้องถ่ายกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวบนเรือน หนึ่งในนั้นมีมงคล และเรณูยืนอยู่ด้วย...ก็เท่ากับว่า เรณูเป็นที่ยอมรับของแม่ผัวแล้วอย่างนั้นหรือ แต่วรรณาก็ไม่ได้ถามออกไป...
“แล้วข่าวดีล่ะ”
“พี่สาวเธอให้รีบขึ้นไปหาด่วนเลย มีลูกค้าเห็นฝีมือ เลยอยากให้ตัดชุดให้กันอีกหลายคน” อันที่จริงไม่เฉพาะเรณูที่สั่งเขามา แต่เป็นแม่ของเขาที่สอบถามเขาว่า รู้จักมักจี่สนิทสนมกับน้องสาวของเรณูจนฝากของมาให้กันได้อย่างไร และสุดท้าย พอเขาเล่ารายละเอียดคร่าว ๆ แม่เขาก็ฝากให้เขาส่งข่าวให้วรรณาไปที่ชุมแสงโดยด่วน เพราะอยากจะให้วรรณาตัดชุดให้บ้าง...นอกจากนั้นแม่ของเขาก็ยังถามเขาว่า คิดจีบวรรณาบ้างหรือเปล่า เขาก็บอกไปตามตรงว่า จีบเล่น ๆ แต่ วรรณาไม่ยอมเล่นด้วย...
“จริง ๆ รึ”
“นี่เห็นเราเป็นคนขี้โกหกอย่างนั้นรึ” บอกแล้วเขาก็แสร้งทำหน้าบึ้ง
“เปล่า...ไม่ได้ว่าอะไรซักหน่อย”
“พูดอะไรก็จริง ๆ นะ จริง ๆ รึ...น้อยใจเป็นนะโว้ย”
“ขอโทษแล้วกัน ขอบคุณมากสำหรับรูปถ่าย ไม่คิดเงินใช่ไหม”
“ไม่คิดหรอก แต่ว่าจะไปดูหนังด้วยกันได้เมื่อไหร่” มงคลยังไม่เลิกตอแย
“ยังไม่รู้เลย”
“แล้วจะไปชุมแสงเมื่อไหร่ จะไปก่อนหรือหลังขึ้นเวที...”
วรรณาทำท่าครุ่นคิดแล้วก็หันไปมองนาฬิกา... “คิดว่าจะไปวันนี้แหละ...ไปด้วยกันไหมล่ะ”
“ไม่หรอก เพิ่งกลับมา เงินยังเต็มกระเป๋า”
เขายังชวนวรรณาคุยอีกสองสามประโยค วรรณาที่ปล่อยใจไปถึงชุมแสงแล้ว เห็นสมควรแก่เวลาจึงไล่เขากลับไปโดยละม่อม...เหมือนเดิมว่า แม้จะเดินออกมาจากร้านแล้วแต่เขาก็ยังหันมา ยกมือ ‘บ้ายบาย’ พร้อมยักคิ้วหลิ่วตาทำท่าโปรยเสน่ห์ให้...วรรณาเบะปากให้เขา แล้วก็ยิ้มน้อย ๆ เมื่อเขาหันหน้าไปมองถนน...
ฝ่ายมงคล พอจะเดินผ่านโรงเรียนสอนเสริมสวยก็นึกขึ้นมาได้ว่า ตอนนี้เขากำลังหลบหน้า ‘มาลา’ อยู่ คิดได้ดังนั้นเขาก็รีบเดินข้ามถนนแล้ววิ่งกลับบ้านทันที...
มาลาที่เห็นตั้งแต่มงคลเดินมาร้านเจ๊หุย ยืนมองมงคลที่เดินข้ามถนนแล้วรีบสาวเท้ากลับไปยังบ้านตัวเอง ก็สูดลมหายใจเข้าปอดไล่ความน้อยใจ แต่มันก็อยากจะไล่สำเร็จ เพราะตั้งแต่ ‘เสียสาว’ ให้เขาไป เขาก็เปลี่ยนเป็นมงคลคนใหม่ทันที และถ้าเดาไม่ผิด ‘เหยื่อ’ รายใหม่ของเขาก็คงจะเป็น ‘วรรณา’ เด็กในร้านตัดผ้า...มาลาเห็นเขามาหาวรรณาหลายครั้งหลายหนแล้ว...แต่ไม่รู้ว่าวรรณานั้นติดกับดักของเขาเหมือนกับเธอหรือยัง...ถ้ายัง มาลาก็นึกอยากจะเตือนไว้
บอกกล่าวขออนุญาตเจ๊หุยแล้ว วรรณาก็เก็บกระเป๋าเดินออกจากร้าน จุดหมายคือ ท่าเรือข้ามฟาก เพื่อไปยังสถานีรถไฟปากน้ำโพ...แต่พอเดินผ่านโรงเรียนสอนเสริมสวย วรรณาก็ต้องชะงักเท้าเพราะเสียงเรียก พอหันไปคนเรียกที่หน้าตาสะสวยเพราะการเสริมแต่งตามประสาเด็กที่อยู่ในร้านเสริมสวยอยู่กับกระจกทั้งวัน...วรรณาก็ย่นหัวคิ้ว...
“รู้จักเราด้วยเหรอ”
“รู้ซิ...” มาลานั้นเพิ่งมาอยู่ วรรณาเองก็ไม่ค่อยออกจากร้านไปไหน ๆ ไม่ค่อยเสวนากับใคร เจ๊หุยนั้นพยายามบอกกับวรรณาว่าอาชีพอย่างเราๆ นั้น การคบค้าสมาคมกับพวกผู้หญิงด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าคุ้นเคยกันแล้ว วันหนึ่งเขาก็จะมาเป็นลูกค้าของเรา...วรรณาได้แต่นิ่งฟังทฤษฎีเรื่องทำมาค้าขายเงียบ ๆ เช่นเดิม
“เราชื่อมาลา มาจากเขากะลา”
“แล้วเธอรู้จักชื่อเราได้ไง แล้วมีอะไรกับเรารึเปล่า”
“เมื่อกี้เฮียสี่มาหาเธอเหรอ...”
“อืม...มาหาเรา”
“ธุระอะไรล่ะ พอบอกได้ไหม”
วรรณารู้สึกว่า มาลากำลังละลาบละล้วง กับเดาได้ว่า ‘เฮียสี่’ คงจะมาโปรยเสน่ห์กับมาลาไว้เป็นแน่ สาวเจ้าถึงได้มาไล่เบี้ยเอาคำตอบจากตน...แม้น้ำเสียงนั้นจะยังลื่นหู วรรณาก็เดาอารมณ์ของคนพูดได้ไม่ยาก...
“บอกได้...พี่สาวฉัน กับพี่ชายเขา เป็นผัวเมียกันน่ะ เขาไปบ้านที่ชุมแสงมา ก็เลยเอาข่าวจากพี่สาวมาบอก แค่นี้แหละ ไม่มีอะไรหรอก”
“ไม่มีอะไรแน่นะ”
วรรณาไหวไหล่ เพราะบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าหงอ ๆ ก็ไม่ใช่วรรณาหรอก..
“ไม่มีอะไรจริง ๆ แล้วมีอะไร จะถามอีกไหม เราจะรีบไปรอรถไฟ เราจะไปชุมแสง”
“แล้วไปด้วยกันหรือเปล่า”
“ไปคนเดียว...ไปละ” วรรณาตัดบท แล้วผละเดิน แต่แล้ววรรณาก็ชะงักเท้า เมื่อได้ยินมาลาพูดตามหลังมาว่า
“กับเฮียสี่ ระวังตัวไว้บ้างนะวรรณา เตือนเพราะหวังดีหรอก ไม่อยากให้น้ำตาเช็ดหัวเข่า”
วรรณาเบะปาก แล้วหันมาบอกว่า “ขอบใจที่หวังดี...ไปละ”
*****************
ลงจากรถไฟวรรณาก็นั่งรถจักรยานสามล้อไปยังโรงสีทันที พอไปถึงวรรณาก็เห็นว่า คนงานกำลังจะแยกย้ายกันกลับบ้าน วรรณายกมือไหว้ประสงค์ เขารับไหว้ บอกธุระของตนแล้ววรรณาก็ขอตัวไปหาเรณู
พอเห็นน้องสาวเดินมา เรณูที่นั่งกวนขนมหมอแก้งอยู่ก็ยิ้มให้ วรรณายกมือไหว้...
“ลมอะไรหอบแกมาในเวลานี้”
“ก็พี่สั่ง สี่ไป ให้หนูมาหาไม่ใช่รึ”
“ก็ทำไมไม่มาตอนเช้าล่ะ ถ้ารถไฟเกิดเสียเวลา มาถึงนี่มืดค่ำ ๆ มันอันตรายนะแก”
“อยากได้เงินเร็ว ๆ น่ะ...เอ๊ะ...มีทองเส้นเบ้อเริ่มเทิ่มใส่ซะด้วย แสดงว่าขายขนม ได้กำไรดี” พอน้องสาวทักอย่างนั้น ทักเหมือนที่ใครหลายๆ คนทัก โดยเฉพาะพิไล ซึ่งทักไว้เมื่อตอนเช้าว่า ‘เอ๊ะ ทองนี่ยังไม่ได้คืนเจ้าของเขาอีกรึ’
‘ถ้าคืนแล้วจะอยู่บนคอนี่รึ’ ย้อนพิไลกลับไปอย่างนั้นเพราะรู้สึกว่าพิไลชักจะดูเดือดร้อนกับเรื่องของตนจนออกนอกหน้าเสียแล้ว... เพราะตอนที่เรณูเอาทองไปคืนนางย้อย นางย้อย บอกกับเรณูว่า...
‘ทองแค่สามบาทเธอรับไว้เถอะ ฉันมาทบทวนดูแล้ว แต่งพิไลให้อาตง แต่งเพียงเพ็ญให้อาซา เสียไปมากกว่านี้อีก เธอก็เป็นสะใภ้ฉันคนหนึ่ง แถมเป็นสะใภ้ใหญ่ด้วย ฉันควรจะให้อะไรกับเธอบ้าง แล้วเรื่องทอง ฉันก็บอกกับเตี่ย กับอาใช้มันแล้ว ว่าจะยกให้เธอเลย มันก็ดีใจไปแล้ว ว่าฉันเมตตาเธอ ฉันคงไม่รับคืนแล้วหละ เก็บไป พยายามรักษาไว้ให้ถึงที่สุด ทองแต่งงานน่ะ มันเป็นสมบัติชิ้นแรกของผู้หญิงที่ออกเรือนมาอยู่กับผัว เก็บรักษาเอาไว้ส่งต่อให้ลูกสาว หรือลูกสะใภ้คนโต...รู้ไหม’
เห็นว่าเหตุผลที่ทำให้ใจรู้สึกตื้นตันเข้าที เรณูจึงยินดีรับทองไว้
แต่ช่วงบ่ายของวันที่ปฐมกลับตาคลี เรื่องไม่ได้จบแค่เรื่องทองสามบาท ยังมีเรื่อง เซ้งร้านเปิดร้านขายผ้าตัดผ้าที่นางย้อยเปิดอกคุย
‘ฉันมาคิด ๆ ดู แล้วก็ปรึกษากับเตี่ย กับ อาใช้แล้วเหมือนกัน ฉันจะเปิดร้านขายผ้าให้เธออย่างที่เธออยากได้ เธอจะได้ไม่ต้องมาตากหน้า นั่งหลังหาบ หาบขนมขายไปตามบ้าน แต่ว่าไอ้งานพวกนี้ ไม่ใช่ว่าฉันไม่เคยทำ ทำกันมาหนักกว่านี้อีก แต่ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ฉันเดินมาถึงจุดนี้แล้ว ก็ไม่อยากเห็นเธอกลับไปเริ่มต้นใหม่แบบนั้น ให้คนอื่นเอาฉันไปนินทาลับหลัง...นี่ฉันก็สั่งอาสี่มันไปแล้วว่า ให้ไปบอกน้องสาวเธอให้มาหาหน่อย อยากคุยด้วยและก็อยากเห็นฝีมือให้มากกว่านี้ นอกจากเสื้อผ้าผู้ใหญ่ เสื้อผ้าผู้หญิงแล้ว น้องเธอมันน่าช่วยตัดชุดเด็กนักเรียนได้อีก ตัดโดยไม่ต้องรอให้ลูกค้ามาสั่งให้ตัด แต่ตัดรอไว้เลย เพราะต่อไปเด็ก ๆ มันก็ต้องเข้าเรียนกันทุกคน...แล้วก็จะมีเด็กอีกไม่น้อยที่จะได้เรียนต่อจนจบ มศ.3 มศ.5 ทีนี้แม่มันพามาตัดชุดนักเรียน ก็จะได้เห็นว่า ร้านเธอมีทุกอย่างครบหมด...ไม่ต้องไปที่ไหน
ตอนนี้ฉันกำลังดู ๆ ร้าน ดูทำเลให้อยู่นะ ถ้าไม่เซ้งต่อ เช่าเขาทำ ก็จะซื้อเลย...เพราะบางที ฉันอาจจะต้องย้ายไปอยู่ด้วย แต่เรื่องย้ายหรือไม่ย้าย ยังไม่ได้สรุปหรอกนะ ไม่ต้องกังวลไป แต่ก็ต้องบอกไว้ก่อน เพราะใจหนึ่ง ฉันก็อยากพาเตี่ยกลับไปอยู่ตึกที่ปากน้ำโพ ไปค้าขายก๊อก ๆ แก๊ก ๆ แก้เบื่อในบั้นปลาย เพราะถ้ายังอยู่ที่นี่ เตี่ยก็คงไม่ทิ้งงานโรงสี งานเลี้ยงหมูได้หรอก แต่ต้องดูก่อนว่าอาใช้ปลดทหารกลับมาแล้ว มันจะดูแลโรงสีได้ดีแค่ไหนเหมือนกัน ทุกอย่าง มันยังถือว่าเป็นแค่แผนชีวิต...’
ตอนนั้นเอง ที่เรณู รู้แล้วว่า ที่เขาว่ากันว่า นางย้อยมีหัวในทางค้าขาย ไม่เป็นสองรองใครนั้นเป็นอย่างไร...แต่งานนี้ เรณูก็คิดว่า อย่างไรพิไลก็ต้องโดดขวางแน่ ๆ...
เพราะที่นางย้อยให้เธอกับปฐมนั้น นอกจากให้เพราะเหมาะสมแล้ว เรณูรู้อยู่แก่ใจว่า นางย้อยให้เพราะฤทธิ์ของคุณไสยด้วย เรณูจึงกลัวว่าวันหนึ่งความลับแตก หรือมีใครหาทางแก้ไขของสกปรกได้สำเร็จ วิมานที่นางย้อยประเคนให้มาอย่างไม่ได้คิดฝันไว้ก่อนนี้จะพังทลายไปกับตา...อาการดีใจ สาแก่ใจ ยามเมื่อเห็นพิไลเริ่มร้อนรนเพราะกำลังเห็นคนอื่นได้ดีเกินหน้า จึงถูกกระตุกเบาๆ
...เมื่อเช้าเรณูจึงต้องบอกกับพิไลไปอีกประโยค ‘ทองนี่บอกเลยก็ได้...ตอนแรกม้าแค่ให้ยืมมาใส่กันอายน่ะ แต่ตอนนี้ ม้าเขาบอกว่า ให้เลย เพราะ ตอนแต่งเธอกับอาตง เธอก็ได้ไปเยอะแล้ว แต่งเพียงเพ็ญไปเมื่อวันก่อนก็ได้ไปไม่น้อยเหมือนกัน ฉันก็สะใภ้เหมือนกัน ม้าบอกว่า ก็เลยต้องให้ติดตัวไว้บ้าง ไม่อยากให้ใครมาว่าลับหลังว่าเป็นคนลำเอียง’
‘อย่างนั้นหรอกรึ’ พิไลพูดแค่นั้นแล้วก็เดินหน้าบึ้งกลับเข้าร้าน ไม่ช่วยอุดหนุนขนมเหมือนเคย...
“เอ้า ถามก็ไม่ตอบ ใจลอยไปไหนเจ๊” เสียงของวรรณาทำให้เรณูที่ตกภวังค์ได้สติ...
“แกถามอะไรนะ”
“หนูถามว่า ขายขนมได้กำไรดีใช่ไหมถึงมีเงินซื้อทองใส่ หรือว่า ผัวพี่ซื้อให้”
“แม่ผัวให้มาน่ะ”
“อะไรนะ!”
“ฟังไม่ผิดหรอก แม่ผัวเขาเมตตาให้มา...พี่ไปช่วยเขาทำขนมขันหมากให้อาซาน่ะ เขาเห็นคอโล่ง ๆ ก็เลยสงสาร”
“เกิดอะไรขึ้น จู่ ๆ ทำไม กลับมาดีกับพี่ขนาดนี้”
พอได้ยินคำถามเรณูที่รู้อยู่แก่ใจ ว่าทำอะไรลงไป ได้แต่ส่ายหน้าเบา ๆ เหมือนกับตอนที่คนอื่น ๆ รู้เรื่องเข้า แล้วก็ถามคำถามนี้...แต่เมื่อทำไปแล้ว แล้วมันก็กลายเป็นดีมาจนถึงขนาดนี้ เรณูจะย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก ที่จะทำได้ ก็คือทำความดีชดเชยหักล้างกับความผิดที่ได้ทำลงไป...เพราะวันหน้าหากความจริงถูกเปิดเผย เผื่อโทษหนักจะกลายเป็นเบาลงมาบ้าง
************************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #24 on: 02 March 2020, 11:17:21 » |
|
ตอนที่ 25 : แบ่งสันปันส่วน
๒๕
พอประสงค์มารับพิไลกลับบ้าน นางย้อยก็เรียกทั้งประสงค์และพิไลมานั่งคุยที่โต๊ะบัญชี...
“มีอะไรหรือม้า” พิไลทรุดตัวลงนั่งแล้ว ประสงค์ก็เอ่ยถาม
“มีเรื่องจะบอกไว้....เรื่องแรก ก็เรื่องทองที่ม้าให้เรณูมันไปสามบาท...ม้าให้มันไปเพราะมันก็ลูกสะใภ้ม้าคนหนึ่งเหมือนกัน ถ้าไม่ให้อะไรมันเลย คนอื่นก็จะว่าม้าเอาได้...”
“ครับ” ประสงค์รับคำว่า รับทราบ เข้าใจ แต่อารมณ์ขุ่นข้องหมองใจ ไม่พอใจ ไม่เข้าใจ และริษยา ทำให้พิไลปั้นหน้าให้เป็นปกติได้ยาก หญิงสาวไม่พูดอะไร ได้แต่เชิดหน้าขึ้น ฟังความต่อ...เพราะวันนี้ ตอนที่ลูกค้าซา ๆ นางย้อยก็ล็อกเก๊ะ กันเงินทอนใส่ตะกร้าไว้ให้ส่วนหนึ่งแล้วก็บอกว่าจะออกไปธุระ...ธุระของนางย้อยนั้นคือไปคุยกับเจ้าของห้องแถวที่อยู่ในซอยขายแต่เสื้อผ้า พิไลเดาได้ว่า ธุระของนางย้อยก็คงไม่พ้นเรื่องร้านใหม่ของเรณูซึ่งมีเสียงซุบซิบสะท้อนกลับมาเข้าหูพิไลแล้ว
“ลื้อล่ะ อาพิไล รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้”
“ก็ทองเป็นของม้า ม้ามีสิทธิ์จะให้ใครก็ได้นี่...จ๊ะ”
“เข้าใจอย่างนั้น ม้าก็สบายใจ อีกเรื่อง ก็เรื่องอาเรณู เรื่องนี้ม้าเคยพูดกับอาตงไปบ้างแล้ว แต่คราวนี้จะพูดต่อหน้าพิไลด้วย เพราะถือว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน จะได้เข้าใจตรงกัน...”
พิไลยืดอกตั้งใจฟัง...โดยใจก็นึกขุ่นมัวเพิ่มมากขึ้น เพราะ สามีของเธอรู้เรื่อง แต่ไม่ยอมแพร่งพรายให้เธอรู้อะไรเลยสักนิด...ก็ใช่นะซิ เธอมันก็แค่ ลูกสะใภ้ อย่างไรมันก็เป็นคนอื่น...
“พออาซามันไปอยู่ฆะมังแล้ว ตอนแรกม้าจะให้เรณูมันเลิกทำขนมขาย มาช่วยงานที่ร้านแทนอาตงที่ต้องไปอยู่แทนอาซา รอให้อาใช้มันปลดจากทหารมา...แต่มาคิด ๆ ดูแล้ว เห็นเรณูมันสนใจเรื่องเสื้อผ้า แล้วมันก็มีน้องสาวเรียนตัดผ้าอยู่แล้ว ม้าก็เลยต้องเปลี่ยนแผน...”
พิไลเริ่มรู้สึกหายใจไม่สะดวก...
“ม้าจะหาเซ้งร้านให้มันเปิดร้านขายเสื้อผ้า รออาใช้น่ะ”
“ม้าจะลงทุนให้ซ้อเขาเหรอ” พิไลรีบถาม
“มันบอกม้าว่า มันพอมีเงินอยู่บ้าง”
“มี แล้วทำไมไม่ซื้อทองใส่เองล่ะ”
“มันคนละเรื่องกับทอง ทองนั้นม้าเต็มใจให้มันเอง ให้เพราะมันก็เป็นสะใภ้ งานแต่งมัน ก็ไม่ได้จัดใหญ่โตเหมือนคนอื่น สินสอดก็ไม่ได้เสียให้มันมากมาย เหมือนคนอื่น”
พิไลรู้ว่านางย้อยว่ากระทบตน อารมณ์จึงเดือดพล่านขึ้น จนต้องย้อนกลับไปด้วยเสียงห้วน ๆ ว่า
“ก็เขาเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง เขาก็ไม่ควรจะได้รับอะไรอย่างที่คนอื่นได้ ก็ถูกต้องแล้วนี่ม้า...”
ประสงค์เห็นว่าพิไลจะพูดมากจึงใช้ศอกกระทุ้งเบา ๆ นางย้อยเห็นอาการของลูกชายเป็นดังนั้นก็พูดต่อว่า
“เอาตรง ๆ เลยก็ได้ ลื้อสองคนแต่งงานกัน ได้บ้านไปแล้ว อาใช้ มันยังไม่มีเรือนหอ ถ้ามันมาอยู่ที่นี่ บ้านก็คับแคบ แล้วอีกอย่าง อนาคตร้านนี้บ้านนี้ ก็จะต้องเป็นของลื้อสองคน เพราะฉะนั้น ม้าก็จะต้องหาที่อยู่ไว้รออาใช้มันด้วย เรื่องสำคัญอีกเรื่อง ที่อาเรณูไปหาบของขายแบบนั้น คนอื่นก็เอาเตี่ยเอาม้าไปนินทา พวกแกก็รู้ ก็ได้ยินไม่ใช่รึ ให้มันขายผ้ารอผัวมันกลับมา น่าจะดีที่สุด”
“ผมเข้าใจม้า”
“แล้วม้าจะเปิดร้านให้ซ้อเมื่อไหร่” พิไลถามแทรกอีก
“ก็อีกสักพัก แต่ต้องบอกพวกลื้อให้เข้าใจก่อน เดี๋ยวจะมาหาว่าม้าไม่ยุติธรรม”
“แล้วถ้าเฮียใช้กลับมาจากทหาร ม้าก็จะให้เฮียตงกลับมาช่วยที่ร้านอย่างนั้นใช่ไหม...”
“ก็ต้องเป็นอย่างนั้น”
“แล้วม้าก็จะตั้งเงินเดือนให้กับเฮียใช้เหมือนที่ตั้งให้เฮียตงใช่ไหม”
“พิไล” ประสงค์ปรามเมียเบา ๆ
“ใช่ อาตงกับอาใช้ ม้าจะให้เงินเดือนเท่า ๆ กัน ส่วนของพวกลื้อสองคนถ้ามีลูกมีเต้าเพิ่มมา ม้าก็จะเพิ่มเงินเดือนให้อีก แต่ตอนนี้เอาไปเท่านี้ก่อน”
“ก็เท่ากับว่าตอนนี้ม้าจะลงทุนให้อาซ้อเขาไปเลยน่ะซิ ทำได้เท่าไหร่ อาซ้อก็ได้ไปเต็ม ๆ หนูว่า มันไม่ยุติธรรมกับพวกหนูสองคนนะม้า...”
“พิไล” ประสงค์เสียงดังขึ้นกว่าเดิม แต่พิไลหาได้สนใจ
“จะได้กำไรหรือขาดทุนยังไม่รู้หรอกพิไล เพราะมันเป็นร้านที่เพิ่งเปิดใหม่ แล้วซอยนั้นน่ะ ร้านขายผ้ามีเป็นสิบยี่สิบร้าน มันก็ถือว่ายังเสี่ยงอยู่...แต่ถ้ามันขยัน มีหัวเอาตัวรอดไปได้ ก็ต้องยอมให้มันไปบ้าง...แล้วมันก็ไม่ใช่ใครที่ไหน มันก็เป็นคนในบ้านแบ้คนหนึ่ง มีศักดิ์ มีสิทธิ์ มีเสียงเป็นลูกม้าคนหนึ่งเหมือนกัน...”
“เหมือนจู่ ๆ เข้ามาชุบมือเปิบมากกว่า”
“หรือว่าลื้อจะให้มันมารับจ้างทำงานอยู่ที่นี่เหมือนกับลื้อเอาไหมล่ะ เป็นสะใภ้เหมือนกัน กินเงินเดือนเท่ากัน”
เมื่อถูกนางย้อยย้อนกลับมาอย่างนั้น พิไลที่คิดสะระตะได้เร็วพอ ก็เสียงอ่อยว่า
“เอาอย่างที่ม้าคิดไว้แต่แรกนั่นแหละ ไปอยู่ตรงนั้นแหละดีแล้ว ที่นี่คนเยอะ เข้ามาก็วุ่นวายเกะกะกันเปล่า ๆ"
นางย้อยยิ้มน้อย ๆ ที่อ่านใจของพิไลออก แต่พิไลก็ยังไม่วายใคร่รู้ความในใจของนางย้อย
“แล้วอาซาล่ะ อาซาแต่งไปแล้ว ม้าจะให้อะไรอาซา”
“อาซาน่ะรึ ถ้ามันอยู่กับเมียมันได้ตลอดรอดฝั่ง ม้าก็จะยกที่นาที่บ้านดอนให้มันบ้าง เพราะมันก็ทำงานช่วยม้ามานาน ส่วนอาสี่ต้องดูสถานการณ์ไปก่อนเพราะมันยังเรียนไม่จบ อนาคตมันยังไม่แน่นอน”
“แล้วโรงสี ม้าก็จะยกให้เฮียใช้คนเดียวใช่ไหม”
“ยัง...ยังไม่ยกอะไรให้ใครทั้งนั้น...เพราะตราบใดที่เตี่ยพวกลื้อยังทำงานงก ๆ ม้ายังทำงานไม่ได้หยุด เงินที่หามาได้ยังจะต้องเป็นเงินกองกลางอยู่...”
พิไลนิ่งเงียบ นางย้อยจึงพูดต่ออีกหน่อยว่า “ลื้อไม่ต้องกลัวว่าม้าจะลำเอียงหรอกพิไล ม้าเคยเป็นสะใภ้คนจีนที่มีลูกชายเป็นโขยงมาก่อน ม้ารู้ว่าพ่อแม่ที่ดี ควรจะทำอะไร ตอนไหน ถึงจะไม่เป็นพ่อแม่ที่ไม่ถูกลูก ๆ เอาไปว่าลับหลังได้...”
***************
ออกมาจากร้านของนางย้อย พิไลก็ชวนประสงค์แวะกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้า...ระหว่างที่นั่งรออาหาร ประสงค์ขอตัวไปดูหนังสือ พิไลเห็นเรณูเดินมากับวรรณา ตาสองคู่สบกัน แล้วพิไลก็เป็นฝ่ายเบือนหน้าหนี เรณูเห็นดังนั้นก็ยิ้มเย็นก่อนพาน้องสาวเดินเข้าไปหา ทำเหมือนไม่เห็นสีหน้าและอากัปกิริยาเช่นนั้น...
“อาซ้อ นี่วรรณาน้องสาวฉัน วรรณานี่อาซ้อรอง ชื่อพิไล” เรณูเป็นฝ่ายแนะนำทั้งสองให้รู้จักกัน วรรณายกมือไหว้ พิไลรับไหว้แบบขอไปที...หน้าตายังคงไม่บึ้งตึงบ่งบอกอารมณ์ วรรณาเห็นดังนั้น จึงคิดว่า ถ้าเท้าความว่า จริง ๆ แล้วเธอเคยเจอพิไลตอนไปรับชุดเจ้าสาวก็คงเปล่าประโยชน์ วรรณาลดมือแล้วก็ยืนนิ่ง ปล่อยให้เป็นเรื่องของเรณูไป
“หน้าตาไม่ดีเลย เป็นอะไรรึเปล่า”
“มีเรื่องหงุดหงิดนิดหน่อย” ยิ่งเห็นทองคำที่คอเรณู ใจพิไลก็ยิ่งขุ่น...แม้เหตุผลของนางย้อยจะเข้าที แต่จู่ ๆ คนขี้งกเขี้ยวลากดินอย่างนางย้อยยอมเสีย ‘ทอง’ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นจะต้องเสีย มันเป็นเรื่องผิดวิสัยนางย้อยเป็นอย่างมาก...
“เรื่องอะไรรึ”
“เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ น่ะ จู่ ๆ มันก็มีมือดีมาชุบมือเปิบ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย อาซ้อว่ามันน่าเจ็บใจไหมล่ะ”
เรณูยืนอึ้ง พิไลเห็นดังนั้นจึงเหยียดริมฝีปากแล้วรีบเปลี่ยนเรื่อง “แล้วนี่ จะไปไหนกัน”
“พานังวรรณามาหาข้าวกิน”
“ปกติก็เห็นหุงกินเองไม่ใช่รึ”
“นาน ๆ น้องจะมาหาสักที ก็อยากพาออกมาเปิดหูเปิดตามั่ง”
“ต่อไป ก็จะมาอยู่ด้วยกันแล้วนี่...”
“รู้แล้วรึ”
“รู้แล้ว ม้าบอกตะกี้นี้เอง หวังว่าคงจะขนมาแค่น้องสาวคนนี้นะ ไม่ใช่ตามกันมาอีกเป็นโขยงล่ะ” พิไลทำเสียงดูแคลน เรณูจึงเข้าใจได้ทันทีว่าพิไลอารมณ์บูดหน้าบึ้ง ด้วยเรื่องอะไร แต่เรื่องจะยอมให้แขวะอยู่ฝ่ายเดียวก็เห็นจะไม่ใช่ ‘อีเรณู’ ซะละ
เพราะเมื่อลึก ๆ ก็ไม่ได้อยากญาติดีด้วยอยู่แล้ว มีโอกาสเปิดหน้าทำศึกกันซะ มันก็น่าจะสนุกอยู่ไม่น้อย เพราะตอนนี้นางย้อยก็มาเป็น ‘พวก’ของตนแล้ว
“ถ้าจะขนมากันเป็นโขยง ก็เพราะที่ชุมแสงมันหาอยู่หากินง่ายหรอก รึไม่จริง”
“จริง แต่ก็น่าจะยากกว่าที่ตาคลีนะ เพราะมาอยู่ชุมแสงต้องหาบต้องคอน ไม่มีช่องทางหากินแนวนอนเหมือนที่นั่น”
เห็นท่าไม่ดี วรรณาจึงจับแขนพี่สาวเป็นเชิงปราม “ไปเถอะพี่เรณูฉันหิวแล้ว...”
แต่เรณูอารมณ์ขึ้นเสียแล้วจึงปัดมือของวรรณาออกแล้วพูดเสียงห้วนว่า...
“กูอยากกินราดหน้า...พิไลขอนั่งด้วยนะ” ว่าแล้วเรณูก็ทรุดตัวลงนั่ง แล้วก็บอกกับวรรณาว่า “มึงก็นั่งซิ”
พิไลเห็นดังนั้นจึงหันไปบอกกับอาเฮียเจ้าของร้านว่า “เฮีย ของอั๊วสองจาน เปลี่ยนเป็นใส่ห่อนะ”
“อั๊วทำเสร็จแล้ว จะยกไปให้พอดีเลย...”
“ถ้างั้นเฮียเอามาให้หนู” เรณูรีบบอกไป โดยตั้งใจจะไม่ให้พิไลเปลี่ยนใจ...
พิไลหันมาถลึงตาให้ เรณูจึงบอกว่า “ขอบใจที่ไม่ต้องให้รอนานนะ...”
พิไลลุกออกจากโต๊ะไปยืนรอราดหน้าที่หน้าเตา พอได้แล้วก็เดินไปหาประสงค์ที่ร้านหนังสือ....ประสงค์มองมาทางร้านราดหน้าก็เห็นว่าโต๊ะที่พิไลนั่งอยู่ก่อน มีเรณูกับน้องสาวนั่งอยู่...เขาจึงพูดว่า
“นั่นอาซ้อนี่...ทำไมไม่นั่งกินซะด้วยกัน”
“เห็นหน้ามันแล้วกินไม่ลง” ว่าแล้วพิไลก็ผละเดินนำกลับบ้าน ประสงค์ถอนหายใจออกมา แล้วเดินตามพิไลไป...
พอเดินตามกันมาทัน ประสงค์ก็ถามพิไลว่า “มีอะไรกันรึ”
“ถ้าฉันอยากมี เฮียก็คงไม่อยากให้มีหรอก ใช่ไหม”
“มีอะไรก็พูดมา”
“เห็นหน้ามันแล้ว หมั่นไส้น่ะ ...เฮีย ฉันว่านะ เรื่องนี้มันจะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ ๆ”
“เรื่องอะไร”
“เรื่องม้ากับอีเรณูไง”
“ทำไมไปเรียกเขาแบบนั้น”
“ก็คนมันเกลียดขี้หน้า ทำไมจะเรียกไม่ได้”
ประสงค์เดาใจได้ว่า ทำไมพิไลถึงได้เกลียดเรณู...เพราะถ้าไม่มีเรณูเป็นมือที่สาม ปีหน้าตำแหน่งสะใภ้ใหญ่ก็จะเป็นของพิไล...แม้จะเข้าใจ แต่ประสงค์ก็รู้สึกน้อยใจว่าเมียของตนยังลืมเรื่องที่ผ่านไปแล้วไม่ได้ เขายืนเงียบ...พิไลเห็นดังนั้นจึงบอกว่า
“คงไม่ต้องให้ฉันอธิบายนะว่า ทำไมฉันถึงเกลียดมัน” ว่าแล้วพิไลก็ผละเดินต่อไปสองเก้า แล้วก็ชะงักเท้า...
“อ้อ ลืมไป เฮีย มีคนเคยบอกกับฉันว่า ก่อนหน้านั้นน่ะ ที่เฮียใช้ เป็นอย่างนี้ ก็เพราะ อีเรณูมันทำเสน่ห์ยาแฝดใส่ มันใช่เรื่องจริงหรือเปล่า”
“ใครบอก”
“ฉันรู้ก็แล้วกัน...ใช่ไหม” พิไลไม่ยอมบอกว่า บุญปลูกเป็นคนเล่าเพราะไม่อยากให้บุญปลูกมาเดือดร้อนทีหลัง
“เฮียไม่รู้...”
“เฮียรู้เรื่องในบ้านเฮียทุกเรื่องแหละ แต่เฮียเลือกที่จะปิดบังฉัน เฮียไม่เคยเห็นฉันเป็นคนในบ้าน...เฮียเห็นฉันเป็นคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ฉันเป็นเมียของเฮีย...”
“ชักจะไปกันใหญ่แล้ว”
“เรื่องทองที่คออีเรณู เฮียรู้ว่าม้าให้มันไป เฮียก็เงียบ เรื่องที่ม้าจะโยกมันมาทำงานในร้านแทนเฮีย เฮียรู้ เฮียก็ไม่คิดจะบอกฉัน รวมถึงเรื่อง ที่ม้าจะไปเซ้งร้านนี่อีก...เฮียรู้ก่อนแล้ว แต่เฮียก็ไม่พูดให้ฉันฟัง เฮียไม่เห็นฉันเป็นเมีย เป็นคู่คิด เฮียเห็นฉันเป็นคนนอกบ้าน ฉันพูดถูกไหมล่ะ”
ประสงค์ถอนหายใจอย่างแรงเพราะ ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร...
“บอกไว้เลย ถ้าเฮียรู้เห็นอะไรไม่ชอบมาพล แล้วเอาแต่เงียบ ไม่ปรึกษาฉัน ต่อไปเฮียนั่นแหละ จะไม่เหลืออะไรเลย”
“ไม่เหลืออะไรได้ไง ม้าก็บอกไว้แล้วว่าร้านนั้นจะเป็นของเรา”
“แต่ถ้าเทียบกับโรงสี ที่ไหนมีค่ามากกว่ากัน ที่ดินที่โรงสีตั้งเท่าไหร่ เฮียคิดบ้างไหมว่า ที่ตกปากรับคำจะยกให้เรามันก็แค่ส่วนน้อย... แล้วแม่เฮียน่ะ ไม่โง่หรอก ดีไม่ดีอาจจะเล่นตุกติก ยกร้านนี้ให้เราจริง แต่ก็อาจจะไปเปิดร้านใหม่แข่งกับเราแล้วก็ดึงลูกค้าเก่าไปจนหมด เงินอยู่ในมือ ม้าจะทำอะไรก็ได้...”
“ม้าไม่ทำอย่างนั้นหรอก”
“ฉันก็พูดไว้ก่อน เฮียอย่าลืมว่า อย่างไรเฮียก็เป็นแค่ลูกชายคนรอง ไม่ใช่ลูกชายคนโตของม้า ปากก็ว่ารักลูกเท่ากันทุกคน แต่คนจีนน่ะ ลูกชายคนโตเป็นคนโปรดมีอะไรก็ถวายหัวให้หมด”
ประสงค์ส่ายหน้าเบา ๆ พิไลสูดลมหายใจเข้าปอด แล้วก็บอกว่า
“อีกเรื่องที่ฉันสงสัย ก็คือ ทำไม ม้าถึงได้เปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้ งานนี้มันจะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ ๆ”
“เบื้องหลังอะไร”
“เสน่ห์เล่ห์กลไง ถ้ามันเคยทำกับเฮียใช้ได้ มันก็ทำกับม้าได้”
“คิดมากน่า อาซ้อเขาจะทำอย่างนั้นไปทำไม”
“ทำแล้วมันได้อะไรบ้าง เฮียก็เห็นอยู่”
ประสงค์ส่ายหน้าเบา ๆ แสดงอาการไม่เชื่อในข้อสงสัยของพิไล...
“คอยดูก็แล้วกันว่าฉันคิดผิดหรือคิดถูก” ว่าแล้วพิไลก็หมุนตัว แล้วเดินนำประสงค์กลับบ้านไป โดยใจก็ครุ่นคิดหาวิธีการตามหาความจริงในเรื่องที่สงสัยนี้ จนกินราดหน้าที่ซื้อไปไม่ลง...
*************
“พี่ก็ไม่น่าไปชวนเขาทะเลาะ” วรรณารู้สึกใจคอไม่ดีจึงได้ท้วงขึ้น...
“ทะเลาะอะไรกัน ก็แค่คุยกันตามประสา คนมีแม่ผัวคนเดียวกัน...”
“ถ้าคุยกันดี ๆ แล้วเขาจะลุกหนีไปแบบนั้นเหรอ”
“คนมันขี้อิจฉาริษยาน่ะ มันไม่อยากเห็นใครได้ดีเกินหน้ามันหรอก แกรู้ไหม อีนี่มันเหลี่ยมจัดแค่ไหน พอมันพลาดจากเฮียใช้แล้ว มันก็ยึดทองหมั้นของเฮียใช้ แต่งกับอาตงมันก็ขอทองหมั้นใหม่ แล้วตอนจัดงานแต่ง มันก็เรียกร้องนั่นนี่ไปไม่ใช่น้อยเลย มันเห็นกูขายขนมอยู่ในตลาดเช้า มันก็แต่งตัวสวยงามเดินมาข่ม ให้คนทั้งตลาดเห็นว่าพี่มึงเป็นได้แค่แม่ค้านั่งอยู่กับหาบไม่มีทางได้เป็นเถ้าแก่เนี๊ยอยู่ในร้านอย่างมันหรอก ทั้งที่ความจริง กูน่ะเป็นสะใภ้ใหญ่...”
“แต่พี่อย่าลืมว่าพี่แย่งแฟนเขามานะ”
“อีวรรณา!”
“ก็เขาหมั้นหมายกันมาก่อนไม่ใช่รึ”
“ผู้ชายน่ะ มันใกล้ไหน มันก็ต้องกินนั่น มันได้พี่มึงเป็นเมียแล้ว มึงจะให้มันทิ้งกู มาแต่งกับมันรึไง แล้วตอนมันจะเอากู มันก็ไม่ได้บอกกับกูนี่ ว่ามันมีคู่หมั้นคู่หมายแล้ว...”
“ถ้าบอก แล้วพี่จะไม่เล่นด้วย ว่างั้นเถอะ”
เรณูยกไหล่เป็นคำตอบ
“คิดแล้วปวดหัว...นี่ฉันชักไม่อยากมาอยู่กับพี่แล้วซิ”
“ถ้าอยากเป็นขี้ข้าเขาทั้งชาติ มึงก็ไม่ต้องมา กูขายคนเดียวได้ ช่างตัดผ้า กูหาเอาแถวนี้ได้” ว่าแล้วเรณูก็ตักราดหน้าเข้าปาก วรรณามองพี่สาวแล้วถอนหายใจอย่างแรง เรณูมองหน้าน้องสาวแล้วบอกว่า
“วรรณา ชีวิตกู ไม่เคยได้ ไม่เคยมีอะไรง่าย ๆ เหมือนคนอื่นหรอก ถ้ากูอายคน กลัวคน ไม่สู้คน ไม่ทันเล่ห์คน กูตายห่าไปนานแล้ว”
คิดถึงเรื่องในอดีต แล้วเรณูก็น้ำตาคลอลูกนัยย์ตา...เมื่อดันทุรังเดินมาได้จนถึงขนาดนี้แล้ว เป็นตายร้ายดีอย่างไร อีเรณูก็จะไม่ถอย...
************
เช้าวันรุ่งขึ้น เรณูพาวรรณาถือหนังสือภาพ สมุดจดงาน และสายวัดตัวออกมาช่วยขายขนมที่หน้าตลาดด้วย โดยระหว่างที่วรรณานั่งเฝ้าหาบแทนตน เรณูก็เอาหนังสือภาพแฟชั่น และรูปถ่ายที่ถ่ายกับหมุ่ยนี้ จันตา ซึ่งเป็นผลงานตัดเย็บโดยฝีมือวรรณา ออกโฆษณาจนทั่วตลาด...โดยเรณูบอกว่า ถ้ามีใครสนใจจะตัดชุดสวย ๆ ก็ให้รีบไปซื้อผ้าแล้วไปวัดตัวที่ร้านนางย้อยในตอนสาย ๆ
ที่เรณูทำอย่างนั้นเพราะต้องการทำให้ วรรณาและพิไลเห็นว่า อย่างไรแล้ว ร้านขายเสื้อผ้า ร้านตัดผ้าของตนที่จะใช้ชื่อ ‘เรณูบูติค’ นั้น ไปรอดแน่นอน และที่สำคัญ งานนี้จะต้องทำรายได้มาให้เรณูเป็นกอบเป็นกำ...ไอ้เรื่องที่นางย้อยแนะนำไว้ เรณูก็รับฟัง ส่วนเรื่องขายขนม เรณูตั้งใจไว้ว่าจะไม่เลิกขาย เพียงแต่ปรับมาขายขนมอย่างอื่นที่หน้าร้านแทน ส่วนในร้านก็ยกให้เป็นหน้าที่ของวรรณาไป...
คนส่วนใหญ่ ชื่นชอบอัธยาศัยของเรณูกันอยู่แล้ว พอเรณูกรีดกรายเดินโฆษณาอาชีพใหม่ของตนที่จะเริ่มต้นในเร็ววันนี้ ต่างก็ให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องทุนรอน ซึ่งเรณูก็บอกไปอย่างเสียงดังฟังชัดว่า “งานนี้แม่ผัวหนูเขาช่วย”
“ทำไมถึงช่วยได้ล่ะ ทั้งที่ก่อนหน้า...”
“ฉันก็สะใภ้เขานี่ป้า...”
“แถมเป็นสะใภ้ที่เคยนอนตากยุงพิสูจน์ตัวเองมาแล้วด้วย”
“แหม ป้า...อะไรที่มันไม่น่าจดจำ ก็แกล้งลืมมันบ้างก็ได้”
แล้วทั้งหมดก็พากันหัวเราะคิก ๆ คัก ๆ เมื่อนึกถึงความหลัง...
ฝ่ายวรรณานั้นแม้จะดีใจกับชีวิตใหม่ของตนที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ลึก ๆ ก็รู้สึกกังวลใจว่าเรื่องระหว่างเรณูกับพิไล คงจะไม่จบง่าย ๆ แน่ แต่วรรณาก็เดาไม่ได้ว่า มันจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นกับสะใภ้คู่นี้
**********
เช้าวันนั้นพิไลบอกประสงค์ว่า รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ ขออยู่บ้านพักผ่อน ให้ประสงค์มาบอกลางานนางย้อยให้ที...แต่พอสาย ๆ คะเนว่าป้อมต้องออกมาขนของจากโกดังที่โรงสีไปที่หน้าร้าน พิไลก็มาดักรอพบที่ระหว่างทาง...
“พี่ป้อม ฉันมีเรื่องจะถามอะไรหน่อย ปลูกมันเคยบอกว่า พี่ป้อมเคยพาม้าไปที่เกยไชยใช่ไหม...”
ป้อมนั้นเป็นคนปากหนัก...แต่เรื่องนั้นก็เผลอบอกกับบุญปลูกไปจริง ๆ แล้วบุญปลูกก็คงเผลอเล่าให้พิไลฟังทั้งที่ได้กำชับไปแล้วว่า รู้เห็นอะไรก็อย่าพูดมากไป...
“มีอะไรหรือซ้อ” ป้อมถามกลับ
“ฉันอยากรู้ว่า เรื่องที่อาซ้อทำของใส่ตั่วเฮียน่ะ ม้าไปหาหมอที่เกยไชย แล้วหมอเขาว่าอย่างไรบ้าง พี่ป้อมไปกับม้า พี่ป้อมต้องรู้...”
“ผมไปด้วยก็จริง แต่ผมไม่รู้หรอกว่าเขาคุยอะไรกัน เถ้าแก่เนี๊ยให้ผมออกมารอข้างนอก”
“แล้วหมอคนนี้ เขาเก่งจริงหรือเปล่า”
“หมอมี เก่งจริง ๆ แล้วซ้อมีอะไรรึ”
“ฉันมีเรื่องไม่สบายใจ อยากจะไปปรึกษากับหมอเขาหน่อย ถ้าจะไปเกยไชย ต้องไปอย่างไร”
“นั่งเรือหางยาวที่ท่าน้ำไป บ้านหมอมีที่เกยไชยพวกคนเรือมันรู้จักทุกคนแหละ”
พิไลนิ่งคิด...หากจะต้องเดินทางไปเกยไชยตามลำพัง ใจหนึ่งก็นึกกลัว แต่อีกใจ ถ้ามัวชักช้า เรื่องมันก็ต้องคาใจอยู่อย่างนี้...แต่เมื่อคิดถึงผลดีผลเสียที่จะตามมาแล้ว พิไลก็ตัดสินใจว่าจะไป...โดยก่อนจะแยกย้ายกับป้อม พิไลก็ให้ค่าขนมป้อมไปสองบาท พร้อมกับบอกว่า
“พี่ป้อมอย่าบอกม้านะว่า ฉันเอาเรื่องนี้มาถามมาพูดด้วย”
หัวคิ้วของป้อมขมวดเข้าหากัน...
“คือบอกตามตรงเลยก็ได้ ฉันสงสัยว่า ซ้อใหญ่จะทำเสน่ห์ใส่ม้า ม้าถึงได้เปลี่ยนไปจนถึงขนาดนี้...พี่ป้อมก็เห็นไม่ใช่รึ ว่าตะก่อน ม้าเกลียดซ้อใหญ่แค่ไหน แล้วตอนนี้แกรักแกหลงอาซ้อใหญ่แค่ไหน เคยด่าทอทุกคำ ก็กลายมาพูดดีด้วย แล้วก็ให้ทองหยองกัน แล้วจะยังไปเซ้งร้านให้อีก มันน่าสงสัยไหมล่ะ”
ป้อมเริ่มคล้อยตาม...
“นั่นแหละ คือเหตุที่ฉันไม่อยากให้ม้ารู้ แล้ว เฮียตงเองก็ไม่เชื่อฉัน หาว่าฉันคิดมาก ฉันต้องหาคนยืนยันให้ได้ว่า อาซ้อทำจริงหรือเปล่า...พี่เข้าใจฉันแล้วใช่ไหม”
************
พิไลกลับมาเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดเสื้อแขนยาวกางเกงขาวยาวสีดำ มีผ้าโพกหัวกันแดด เก็บทองหยองที่ใส่ติดตัวอยู่ประจำลงหีบ ล็อกห้องล็อกบ้านแล้วเดินไปยังท่าเรือ ที่ท่าเรือนี้ แยกเป็นท่าจอดเรือเทียบสินค้า จอดเรือโดยสาร และจอดเรือสำหรับคนเดินทางมายังตลาด...ตั้งแต่มาอยู่ชุมแสง พิไลไม่ค่อยได้สนใจชีวิตคนที่ท่าเรือสักเท่าไหร่ เพราะเห็นว่าส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ชาย ซึ่งแต่งตัวมอซอ เป็นพวกกุลีรับจ้างแบกหามขนของก็มีไม่น้อย แต่วันนี้พอจะต้องไปเกยไชยตามลำพังพิไลก็จำต้องเดินลงมา ระหว่างที่ชะเง้อมองดูเรือหางยาวที่น่าจะไว้ใจได้ ก็มีชายวัยกลางคนเดินสวนขึ้นมา...ปากของเขาคาบมวนยา มีผ้าขาวม้าโพกหัว ใส่เสื้อสีกรมท่า กางเกงขาก๊วย ไม่สวมรองเท้า...หลังจากเดินผ่านไปแล้ว ชายคนนั้นก็หันมา “คุณหนู”
พิไลหันไปมอง
“คุณหนูจำผมได้ไหม”
พิไลนิ่วหน้า แล้วก็ยิ้มแหย ๆ ให้ “คุ้น ๆ หน้า”
“น้าเชิดไง ตะก่อนผมก็อยู่ที่โรงสีของเถ้าแก่ฮง พอแม่แต่งเมียให้ ผมก็ย้ายกลับมาอยู่บ้านสิบปีกว่าได้แล้วมั้ง”
“อ๋อ พอนึกออกแล้ว แล้วน้าเชิด ทำงานทำการอะไร” อันที่จริงนายเชิดอาจจะอายุมากกว่านางพิกุลแม่ของพิไลด้วยซ้ำ แต่เมื่อเป็นคนงาน พิไลจึงเรียก น้า บ้าง อา บ้าง ไปตามเรื่อง...
“ก็...ทำนา ปลูกผัก ขับเรือรับจ้าง ถ้ามีงานพวกแบกหาม รับจ้างทั่ว ๆ ไป มีคนเรียกใช้ ผมก็ผละงานมาทำ...”
“ถ้าอย่างนั้น ก็ขับเรือให้ฉันไปที่เกยไชยได้นะซิ”
“คุณหนูจะไปทำอะไรที่นั่น”
“ไป...เอ่อ บ้านหมอมี...คือฉันแต่งงานมาอยู่ที่นี่หลายเดือนแล้ว ไม่มีลูกสักที เลยอยากไปปรึกษาหมอเขาหน่อย เผื่อมีทางช่วยเหลือกัน รู้จักหมอมีที่เกยไชยไหมล่ะ”
“แล้วคุณหนูจะไปคนเดียวรึ”
“อาเฮียเขาต้องเฝ้าร้าน ร้านแม่ย้อย รู้จักไหม”
“รู้จัก ๆ ไม่มีใครที่นี่ ไม่รู้จัก ร้านนี้หรอก แต่งมาอยู่ที่นี่เองรึ...”
“ถ้าอย่างนั้นพาฉันไปเกยไชยหน่อยนะ ฉันกำลังคิดอยู่ว่าจะหาใครที่พอไว้ใจได้ เป็นโชคของฉันจริง ๆ”
ตกลงราคาค่าเรือกันแล้ว พิไลก็เดินตามนายเชิดลงเรือด้วยความรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น
เรือของนายเชิดแล่นมาถึงท่าน้ำหน้าบ้านหมอมี ก็พบว่าบริเวณนั้นมีเรือพายเรือหางยาวจอดอยู่กันเป็นแพ เหมือนว่าที่บ้านกำลังมีงาน พิไลเห็นดังนั้นจึงคิดว่า งานนี้ คงจะเสียเที่ยวแล้วเป็นแน่ แต่เพื่อให้แน่ใจ พิไลจำต้องขึ้นไปถามไถ่ ให้ได้เรื่องราว
“น้าเชิดรออยู่ที่นี่ก็ได้นะ หรือจะขึ้นบนตลิ่งก่อน...ก็ได้ จะได้ไม่ร้อนแดด”
นายเชิดรอพิไลที่ใต้ร่มไม้อยู่อึดใจใหญ่ ๆ พิไลก็เดินหน้าเมื่อยกลับมา...
“ได้เรื่องไหมคุณหนู”
“เขากำลังจัดงานศพหมอมีกันน่ะ”
“อ้าว...แกเป็นอะไรตาย”
“เป็นลมปัจจุบัน...” ว่าแล้วพิไลก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง....เหม่อมองไปอีกฟากของแม่น้ำ แล้วเบือนสายตากลับมามองนายเชิด...
“น้าเชิดพอจะรู้จักหมอแบบ หมอมีอีกไหม เอาแบบเก่ง ๆ นะ”
นายเชิดทำทำท่าครุ่นคิด... แล้วก็บอกว่า
“เดี๋ยวผมจะถามพวก ๆ กันให้...แต่คุณหนูอยากได้เก่งทางไหน หมอมีนี่เป็นหมอยาแท้ ๆ ทำไมถึงตายง่ายตายดายจัง”
“เอาแบบแก้คุณไสยทำคุณไสยได้ก็ได้นะ...”
“เดี๋ยวผมจะลองสืบดูให้”
“อ้อ แต่อย่าไปบอกใครนะว่าเป็นฉันให้ตามหา...ฉันไม่อยากให้ เฮีย หรือ แม่ย้อยรู้...เดี๋ยวจะหาว่าฉันงมงาย”
“ได้ ๆ ครับ”
แน่นอนว่า เพื่อที่ ‘ความลับ’ จะต้องเป็น ‘ความลับ’ และพิไลก็หวังจะใช้ ‘ข้าเก่า’ ทำงานอื่น ๆ ให้อีก วันนั้นพิไลจึงต้องจ่ายเงินให้นายเชิดมากกว่าค่าเรือที่ได้ตกลงกันไว้...
**********
พอรู้จากจ่าเที่ยงว่าปฐมกลับมาจากชุมแสงแล้ว ติ๋มก็บอกกับจ่าเที่ยงให้ปฐมออกมาพบที่บาร์ เพราะอยากรู้ว่าความเป็นไปของเรณู...พอปฐมมาถึง ติ๋มก็เดินนำปฐมไปที่ใต้ร่มไม้ใหญ่หลังร้าน...ปฐมถามถึงประนอม
“แกไปเที่ยวปากน้ำโพกับผัวแก คนนี้เงินหนา เลี้ยงดูอย่างดี จ่ายให้ไม่อั้น”
“แล้วพี่ติ๋มมีธุระอะไรกับผม”
“ได้ข่าวว่ากลับไปบ้านที่ชุมแสงมา...อยากรู้ว่า ตอนนี้เรณูเป็นอย่างไรบ้าง บอกตรง ๆ ว่าพี่รู้สึกเป็นห่วงมัน กลัวมันจะตีกับแม่ของเธอจนบ้านแตก”
“ตอนนี้ไม่ตีกันแล้วพี่ ดีกันแล้ว”
“จริง ๆ หรือ”
“จริง ๆ ครับ...ผมเองก็งงเหมือนกัน” แล้วปฐมก็เล่าเรื่องทางชุมแสงให้ติ๋มฟังคร่าว ๆ แล้วตบท้ายที่ว่า
“ตอนนี้ม้าก็จะ เปิดร้านขายผ้าให้เรณู เรณูจะเอาวรรณามาช่วยด้วย ปลดทหารไปผมก็ไปอยู่กับเรณูที่ร้านนั้นแหละ แล้วก็ทำงานในโรงสีช่วยเตี่ยไป”
“แล้วก็จะมีลูกด้วยกันสองคนสามคน”
“ก็คงเป็นแบบนั้นแหละครับ สูตรสำเร็จของชีวิตคน”
“เห็น มันไปดี ก็ดีใจกับมัน...อย่างไรก็ฝากดูแลมันด้วยนะ...หนักนิดเบาหน่อย ก็อภัยให้มันล่ะ ถึงมันจะเป็นคนจนยาก แต่มันก็มีดีของมัน”
ติ๋มยังชวนปฐมคุยอีกพักใหญ่ ๆ แล้วปฐมก็ขอตัวกลับเข้าค่าย...ติ๋มมองตามหลังปฐมไปพลางกัดริมฝีปากล่าง ชักสีหน้าครุ่นคิด ถ้านางย้อยโดนของที่เรณูทำไปแล้ว ต่อไปเรณูรวมถึงนางย้อยก็จะอยู่ดีมีสุข เพราะเรณูนั้นไม่ได้ตั้งใจเข้าบ้านนางย้อยด้วยเจตนาทำให้ชีวิตนางย้อยวุ่นวาย ฉิบหาย วายวอด อยู่ร้อน นอนทุกข์...ซึ่งไม่ตรงกับความประสงค์ของเธอ...ถอนหายใจออกมาอย่างแรง แล้วติ๋มก็บอกกับตัวเองว่า
‘อีเรณูมันเหนื่อยยากมานานละ ช่วงนี้ ปล่อยให้มันสุขสบายไปสักพักก็แล้วกัน!’
******************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #25 on: 02 March 2020, 11:19:25 » |
|
ตอนที่ 26 : คนดวงตก
๒๖
ในยามตะวันชิงพลบ กมลที่นั่งอยู่ที่ศาลาท่าน้ำริมแม่น้ำน่าน รู้สึกคิดถึงบ้านที่ชุมแสงอย่างจับหัวใจ...บ้านหลังใหญ่ที่มาอยู่นี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างขวางห่างจากบ้านคนอื่นๆ ผิดกับเรือนแถวในตลาดชุมแสงที่สามารถเคาะข้างฝาคุยกับเพื่อนบ้านได้ทั้งซ้ายและขวา หน้าบ้านเป็นตลาดใหญ่จึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แต่ที่นี่ข้ามฝั่งแม่น้ำไปก็มีเพียงดงไม้ใหญ่และทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา บนต้นไม้มีเสียงร้องของหริ่งเรไรดังกังวานชวนให้ยิ่งรู้สึกวังเวง...พรุ่งนี้จะเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสองหรือ ‘วันลอยกระทง’ ก่อนหน้านั้นนางศรีได้เคยเอ่ยปากชวนให้กมลมาเที่ยวงานวัดที่ฆะมัง
...ตอนนั้นกมลแบ่งรับแบ่งสู้....เพราะคิดว่างานลอยกระทงมีอยู่ทั่วไป หรือถ้าอยากลอย ก็ลอยตรงไหนก็ได้
แต่กลายเป็นว่า วันลอยกระทงปีนี้ เขามาเป็น ‘เขย’ อยู่ที่ฆะมังเสียแล้ว...
ชีวิตคนเรานั้นไม่ได้มีอะไรแน่นอนเลยจริง ๆ กมลคิดไปถึงตอนที่ปฐมต้องจากบ้านไปเป็นทหารเกณฑ์ คิดถึงตอนเรณูถูกปฐมทิ้งไว้กับแม่ผัวที่จงเกลียดจงชัง คิดขับไล่ไสส่งไปให้พ้นทาง คิดถึงถึงชีวิตของพิไลที่ต้องย้ายจากบ้านที่ทับกฤชมาอยู่กับประสงค์ คิดถึงชีวิตของจันตาสาวน้อยที่มาจากเมืองเหนือ
และที่สำคัญ เขาคิดถึงชีวิตของแม่ ซึ่งพื้นเพเป็นคน ตำบลหนองนมวัว อำเภอลาดยาว แต่โชคชะตาวาสนาก็พัดพาให้แม่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด จากพ่อแม่พี่น้องมาเป็นสะใภ้คนจีน ต้องมาอยู่ไกลถึงชุมแสงอย่างไร้ญาติขาดมิตร ยากที่จะกลับไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก
คิดถึงชีวิตใครอีกหลาย ๆ คนที่พบเจอกับความเปลี่ยนแปลงจากการพลัดที่นา คาที่อยู่ แล้วก็รู้สึกเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา สามารถเกิดได้กับคนทุก ๆ คน เพียงแต่ใครจะปรับตัวปรับใจผ่านช่วงเวลานี้ได้เร็วกว่ากัน
สำหรับเขา จากฆะมัง ไปชุมแสง ถ้าเดินเท้าก็ใช้เวลาชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้น เพียงแต่เขายังไม่คุ้นกับคน และสถานที่แห่งนี้ เขาจึงรู้สึกว่าวันคืนที่มันล่วงไปนั้น เต็มไปด้วยความเดียวดาย เพราะคนที่น่าจะช่วยให้เขาคุ้นกับคน สถานที่ และวิถีชีวิต ก็ทำตัวเหินห่าง หลายวันหลายคืน เขายังไม่ได้สัมผัสกับคำพูดที่ผู้ใหญ่บอกว่า ‘อยู่ด้วยกันก็จะรักกันไปเอง’
เพราะเพียงเพ็ญนั้นยังคงนอนอยู่บนเตียงและให้เขานอนอยู่บนพื้นห้องเช่นเดิม...ดีแต่ว่า เรื่องเสื้อผ้า อาหารการกิน ที่หลับที่นอน หญิงสาวมีนางแรมเป็นผู้ช่วยทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีจึงลดความประดักประเดิดใจไปได้ไม่น้อย ส่วนเรื่องหน้าที่งานการที่เขาจะต้องออกไปรับผิดชอบนั้น ก็ได้ ‘อาแปะซ้ง’ ซึ่งเป็น ‘หลงจู๊’ หรือผู้จัดการ ทั้งเรื่องโรงเลื่อย โรงไม้ โรงเผาถ่าน ให้คำแนะนำ กิจการนาไร่ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวมีนางสมพร ทำหน้าที่คอยดูควบคุมดูแล...เพราะกำนันศรนั้น ต้องออกพื้นที่กับเข้ามาราชการที่อำเภออยู่เป็นประจำ.
..ก่อนที่ตกลงแต่งงาน ตอนที่ผู้ใหญ่คุยกัน กำนันศรออกตัวไว้ว่า หวังฝากทรัพย์สมบัติไว้กับเขา เพราะลูกสาวคนเล็กไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย ไม่สนใจกิจการงานของครอบครัว ซึ่งกำนันศรก็บอกให้เขารู้อยู่แล้วว่า แต่งมาแล้ว ต้องมาเป็นมือเป็นเท้า เป็นหูเป็นตา เป็นเรี่ยวแรง เสมือนเป็นลูกชายอีกคน...
ด้วยเป็นช่วงกำลังเก็บเกี่ยว เขาจึงต้องออกจากบ้านไปกับนางสมพรเพื่อเรียนรู้งานในนาข้าว แม้ว่านางสมพรจะเป็นแค่คนคอยบงการให้คนงานลงแรงทำกัน แต่เขาเป็นผู้ชาย และคุ้นเคยกับการทำงานมาตลอดชีวิต เขาจึงยืนดูนั่งเฝ้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เตี่ยก็พร่ำสอนเขามาตลอดว่า อย่าได้ไว้ใจลูกจ้างทั้งหมด เพราะถ้าขาดเขา เราจะอยู่ไม่ได้ เขาจึงต้องลงมือฝึกนาบข้าวในตอนเช้ามืด เพื่อให้ต้นข้าวนั้นล้มแล้วลงแขกเกี่ยวในตอนเช้า ส่วนกำข้าวที่หลุดจากมือวางเรียงรายตากแดดอยู่บนตอซังที่เอนราบจะถูกหอบรวมกันมัดฟ่อน แล้วขนขึ้นลาน โดยใช้ควายเทียมเกวียน ส่วนตรงไหนที่เป็นดินโคลนก็ต้องใช้ ‘หลาว’ ทำจากไม้ตัดปลายแหลมทั้งสองด้านหาบขึ้นลาน วางเรียงเทินกันและช่วยกันนวด แยกข้าวเปลือกกับฟางออกจากกันโดยใช้ควายย่ำ...
ตัวเขาแม้อยู่กับข้าวเปลือกมาตลอดชีวิต แต่สัมมาอาชีพของเขา จะยุ่งเกี่ยวกับ ข้าวเปลือกที่ต้องสีเป็นข้าวสาร เหลือแกลบและรำเท่านั้น เขาไม่เคยรู้เลยว่า กว่าที่ข้าวสารเมล็ดขาวสวยนั้นจะถึงปากคนกินนั้น คนเพาะปลูกต้องเหนื่อยยากเพียงใด...จนกระทั่งลงมาเรียนรู้ในช่วงที่มาเป็นเขยใหม่
กมลนึกถึงช่วงต้นฤดูทำนา ที่ต้องไถดะ ไถแปร ทำเทือก โดยใช้ควายเป็นตัวฉุดลากคันไถ แล้วหว่านกล้า ปักดำ เขายังไม่รู้เลยว่า เขาจะเหนื่อยกับมันถึงเพียงไหน...แต่เตี่ยก็สอนเขาเสมอว่า เหนื่อยแรงเสียแรงตอนที่ยังหนุ่มแน่น เดี๋ยวก็ได้แรงคืน และถ้าขยันอดออม รู้จักทำมาหากิน แรงที่ลงไปก็จะตอบแทนเป็นทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ เพื่อตกทอดไปยังลูกหลานให้ได้ชื่นใจในบั้นปลายชีวิต อย่างที่เตี่ยและม้ากำลังเป็นอยู่
“อ้าว พ่อซา อาบน้ำหรือยัง” เสียงของนางแรมที่ตะโกนถามมาทำให้ กมลหันไปมองที่บนนอกชานบ้าน
“เดี๋ยวอาบป้า”
“อาบแล้วก็รีบขึ้นเรือนมากินข้าว มืดค่ำ ยุงที่ท่าน้ำ มันเยอะนะ”
“ครับ...” ว่าแล้วเขาก็หยิบผ้าข้าวม้าที่วางอยู่ข้างตัว ผลัดเปลี่ยนชุดที่สวมอยู่ หยิบขันใส่สบู่ยาสระผม แล้วเดินลงไปยังตีนท่า...
อาบน้ำทาแป้งแล้วเขาก็ออกจากห้องเล็กซึ่งเป็นห้องเก็บเสื้อผ้า เดินเข้ามาในครัวแล้วมองหาเพียงเพ็ญ...ผู้ได้ชื่อว่า เป็น ‘เมีย’ ของเขา
แม้จะยังไม่เคย ‘หลับนอน’ อยู่ในมุ้งหลังเดียวกันก็ตามที โดยเพียงเพ็ญอ้างกับเขาว่า ‘ขอเวลาฉันสักพักนะเฮีย ฉันยังรู้สึกไม่ค่อยดี’ หรือไม่ก็ ‘วันนี้เหมือนฉันจะไม่สบาย...เฮียนอนที่เดิมไปก่อนนะ อย่ามานอนเบียดกันให้อึดอัดเลย’
เมื่อเป็นความต้องการของเจ้าหล่อน เขาจะทำอะไรได้...และถ้านำเรื่องที่เมียไม่ยอมให้นอนด้วยไปปรึกษากับมงคล เขาต้องถูกว่าเป็นคนงี่เง่าเต่าล้านปีอย่างแน่นอน แต่เรื่องของคนสองคน มันเป็นเรื่องในมุ้ง จะบอกกล่าวให้คนอื่นได้รับรู้ ก็รู้สึกละอาย โดยเขาหวังใจไว้ว่า เมื่อเพียงเพ็ญพร้อม หญิงสาวก็คงเป็นฝ่ายให้เขาเข้านอนในมุ้งเดียวกัน
“เพ็ญ หายไปไหนหรือป้า” ในความสัมพันธ์แม้มีกำแพงบาง ๆ กั้นไว้ แต่เขาก็รู้สึกว่า ทั้งเขาและเจ้าหล่อน ต่างเป็น ‘เจ้าของ’ กันและกัน
“ไปบ้านอาศรี บ่นอยากกินขนมไพ่”
“ขนมอะไรนะป้า”
“คนที่อื่นอาจจะเรียกขนมโก๋ หรือ โก๋ไพ่ แต่คนแถวนี้เขาเรียกกันว่าขนมไพ่สั้น ๆ น่ะ”
กมลทำหน้าเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้บอกว่า ที่บ้านเขาเรียก ‘ขนมโกพ่าย’
“พรุ่งนี้ไปทำบุญด้วยกันไหม” พรุ่งนี้เป็นวันพระใหญ่ และทางวัดก็จัดงานลอยกระทง กลางคืนมีมหรสพมาให้สร้างความสนุกสนาน พรุ่งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ จึงพร้อมใจกันหยุดงาน ทำบุญและพักผ่อนหย่อนใจ กมลชักสีหน้าครุ่นคิด เพราะใจหนึ่งก็อยากกลับบ้าน...แต่ยังไม่ทันจะตอบ นางแรมก็บอกว่า
“นะ ไปทำบุญด้วยกัน นังหนูมันก็ไป ไปกันหมดบ้านนี่แหละ”
“ผมว่าจะกลับบ้าน” นอกจากจะมีรถจักรยาน ม้า เรือหมู เรือหางยาว เป็นพาหนะ กำนันก็ยังมีเรือกระแซงไว้บรรทุกไม้ ถ่าน หรือบรรทุกพืชผลทางเกษตรอย่างข้าวเปลือก ล่องไปส่งสินค้า...
“ไปอย่างไร”
“ว่าจะไปเรือเมล์” เรือโดยสารจากทางบ้านเหนือล่องไปชุมแสง มีไป-กลับวันละเที่ยว แม้จะต้องใช้เวลารออย่างเนิ่นนานแต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องสะดวกที่สุดสำหรับกมล...
“อย่าเพิ่งไปเลย แหม มาอยู่ยังไม่ถึงสัปดาห์เลย...ไปทำบุญด้วยกันก่อน”
“แต่ผมคิดถึงบ้าน แล้วก็ตั้งใจจะกลับไปเอารูปงานแต่งมาให้ดูกันด้วย” เขาจำเป็นต้องหาข้ออ้างเพิ่ม
“เอาอย่างนี้ ถ้าจะไป ก็เอาเรือหางยาวไป พรุ่งนี้พ่อกำนันไปวัด คนงานก็หยุด เรือว่างแน่ ๆ”
“ผมขับเรือหางยาวไม่เป็น”
“งั้นเดี๋ยวพรุ่งนี้ ให้ไอ้แก่นมันไปด้วย แล้วให้มันสอน วันหน้าวันหลังจะได้ไม่ต้องง้อมัน...”
“ก็ดี...แล้วป้าอยากได้อะไรที่ชุมแสงไหม ผมจะได้หามาให้” เมื่อนางแรมแสดงความมีน้ำใจมา กมลจึงต้องหาหนทางตอบแทนน้ำใจนั้น...
“ไม่มี ชีวิตป้าไม่เคยอยากได้อะไรกับเขาหรอก...แต่ถ้าสะดวกใจจะหาอะไรมาให้ ป้าก็ขอถ่านไฟฉายละกัน เอาไว้ใส่วิทยุฟังข่าวฟังเพลงให้บ้านมันไม่เงียบเหงา จะได้ทำงานเพลินๆ...” ไม่ใช่แค่เฉพาะเวลาทำงาน แต่เพียงเพ็ญบอกกับเขาว่า แม้แต่เวลานอนนางแรมก็เปิดวิทยุเบา ไว้ข้างหมอนจนกระทั่งสถานีหยุดทำการถึงจะปิด หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นจนกระทั่งได้เวลาเปิดทำการใหม่
“ได้ครับ...ผมจะยกกล่องมาให้นะ เอาตราแพะหรือตรากบ”
“เอาตรากบ... อ้อ อย่างไรก็รีบไปรีบกลับนะ กินข้าวเย็นแล้วจะได้ไปลอยกระทงด้วยกันกับนังหนู”
กมลได้แต่ยิ้มแหย ๆ โดยใจก็คิดว่า ป้าแรมอยากให้ลอยด้วยกัน แต่เพียงเพ็ญนั้นอยากลอยกับเขารึเปล่าก็ไม่รู้....
******
ระหว่างที่เพียงเพ็ญนั่งกินขนมไพ่อยู่ที่ร้านของนางศรี บังอรก็เดินถือขวดใส่น้ำมันก๊าดเข้ามา...พอเห็นเพียงเพ็ญ บังอรก็ยิ้มให้ เพียงเพ็ญยิ้มตอบ แล้วทักไปว่า “มาซื้ออะไรล่ะ”
“มาซื้อน้ำมันก๊าดจ้ะ”
“อ้าว เพิ่งซื้อไปเมื่อวาน หมดแล้วรึ” นางศรีเอ่ยถาม
“ไม่ใช่ของฉันหรอกน้า ของป้ากุ่นน่ะ” บอกแล้วบังอรก็เหลือบตาดูสีหน้าเพียงเพ็ญแล้วพูดต่อ
“ฉันเห็นแกอยู่คนเดียว ฉันก็นึกเป็นห่วง แล้วแกบอกว่า รอให้อีเปียมาจะให้มันมาซื้อน้ำมัน ฉันเห็นว่า กว่าอีเปียจะมาคงจะค่ำมืดก็เลยอาสามาแทน”
นางศรีได้ยินดังนั้นก็ได้โอกาสที่จะพูดเพื่อให้เพียงเพ็ญระลึกไว้ว่า เมื่อก้านพลาดจากตนแล้วก็ยังมีบังอรพร้อมปลอบใจ
"ถ้าไอ้ก้านมันกลับมา รู้ว่าเอ็งดูแลแม่มันเป็นอย่างดี มันก็คงรู้สึกดีกับเอ็งนะบังอร...”
บังอรยิ้ม ๆ นางศรีจึงถามต่อว่า “แล้วนี่ ได้ข่าวมันบ้างรึยัง ไอ้สิทธิ์มันกลับมาแล้วไม่ใช่รึ มันว่าอย่างไรบ้าง”
“อาสิทธิ์บอกว่า พาไปฝากงานอยู่วงดนตรีที่กรุงเทพฯ”
“มันไปเป็นนักร้องเลยรึ”
“ก็เสียงแกดีซะขนาดนั้น ก็คงเป็นอย่างนั้น แต่ฉันก็ไม่ค่อยรู้เรื่องพวกวงดนตรีอะไรนี่สักเท่าไหร่นะ”
“พี่ก้านไปอยู่วงอะไร” เพียงเพ็ญถามแทรกเข้ามา...บังอรหันมาหาแล้วก็บอกว่า
“อาสิทธิ์บอกอยู่เหมือนกัน แต่ฉันจำไม่ได้ แต่ถ้าอยากรู้ เดี๋ยวฉันถามอาสิทธิ์แล้วจะจดมาให้นะ...” อันที่จริงบังอรรู้ทั้งชื่อวงดนตรีและที่อยู่สำหรับส่งจดหมาย แต่หญิงสาวจงใจจะถ่วงเวลาไว้ เพราะถ้าเพียงเพ็ญอยากได้จริง ๆ ก็จะต้องดิ้นรนสืบถามจากคนอื่นอีกที...
“จะอยากรู้ไปทำไม” นางศรีขัดขึ้นมา เพียงเพ็ญเชิดหน้าขึ้น...อากับหลานสาวสบตากัน แล้วนางศรีก็บอกว่า "จะมืดค่ำแล้ว กลับบ้านไปดูลูก ดูผัวได้แล้ว”
“งั้นอา ก็คิดเงินค่าขนม”
“ไม่เอาหรอก แล้วเอ็งจะไม่ดูถืออะไรไปฝากพ่อซาเขาซักหน่อยรึ”
“ขนมแบบนี้ เขาคงไม่นึกอยากกินหรอกอา...ฉันไปละนะ” ว่าแล้วเพียงเพ็ญที่ ‘หายอยาก’ จากขนมไพ่ ก็ลุกขึ้นแล้วเดินจากไป
บังอรเห็นกระดาษแก้วที่ห่อขนมถูกทิ้งให้เกลื่อนกลาด ก็ถามนางศรีว่า “นี่พี่เพ็ญเขากินคนเดียวเลยรึ”
“อืม...”
“เป็นสิบอันเนี่ยนะ! มีแต่คนแพ้ท้องเท่านั้นแหละที่กินได้ขนาดนี้”
เป็นเพราะว่าแต่งยังไม่ถึงสัปดาห์ ขืนรับว่าหลานสาวแพ้ท้องใครจะไปเชื่อว่าท้องกับเจ้าบ่าว นางศรีจึงบอกว่า
“ไม่รู้มัน ...มาเอาขวดมา มึงเองก็รีบกลับบ้านเหมือนกัน กลางค่ำกลางคืนเป็นสาวเป็นแส้ มาเดินทะเร่อทะร่าเดี๋ยวก็ได้ถูกฉุดเข้าข้างทางไปหรอก"
“ใครมันจะฉุดฉันละน้า”
“มีหรือไม่มี ก็ต้องระวังตัวไว้ก่อน พลาดขึ้นมามันแก้ไขอะไรไม่ได้นะมึง...”
“ก็จริง”
“แล้วนี่ เที่ยวขึ้น ๆ ลง ๆ บ้านยายกุ่น มึงไม่กลัวชาวบ้านเขาเอาไปพูด ว่าอยากเป็นสะใภ้เขาหรอกรึ”
“ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ก็เพราะอยากเป็นสะใภ้เขานั่นแหละอา...” ว่าแล้วบังอรก็หัวเราะกิ๊ก เพราะนางศรีนั้นขึ้งตาให้...
**********************
เปิดประตูห้องเข้าไป เพียงเพ็ญก็เห็นว่ากมลนอนไขว่ห้างยกมือก่ายหน้าผาก หลับตาฟังข่าวจากวิทยุ...พอได้ยินเสียงประตู เขาก็ลดมือและขาลงแต่ก็ยังไม่ลืมตา...
“กินข้าวหรือยังเฮีย”
พอได้ยินคำถาม เขาก็ลืมตาแล้วบอกว่า “เรียบร้อยแล้ว เธอล่ะ กินหรือยัง”
“ยังไม่หิว”
“อาบน้ำหรือยัง”
“เดี๋ยวอาบ” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็เดินไปทรุดตัวลงนั่งบนที่เตียง วางตัวกับกมลเหมือนไม่ใช่เมีย แต่กมลก็ไม่ได้ถือสาแต่อย่างใด เขาขยับตัวลุกขึ้นนั่ง แล้วบอกกับเพียงเพ็ญว่า
“พรุ่งนี้เฮียจะกลับชุมแสง...จะเอาอะไรไหม อยากได้ยาอะไรหรือเปล่า”
เพียงเพ็ญส่ายหน้า “ป้าแรมบอกแล้ว เห็นว่าจะให้ไอ้แก่นหัดขับเรือให้ด้วยนี่”
“อืม...”
“ถ้าเฮียอยู่ที่นี่ แล้วรู้สึกเหงาๆ เบื่อ ๆ ก็พักอยู่ที่บ้านสักสองสามวันก็ได้นะ หายคิดถึงแล้วก็ค่อยกลับมาก็ได้ เรื่องงานในนาไม่ต้องไปห่วงมันมากนักหรอก ตอนที่เฮียยังไม่มา คนที่นี่เขาก็ทำกันได้”
“มันคงไม่ดี”
“ไปเหอะ เดี๋ยวฉันบอกกับพ่อให้เอง เฮียจะได้ ไม่ต้องลำบากใจตอนบอกกับแก...”
************
เมื่อเพียงเพ็ญ ‘แนะ’ อย่างนั้น เขาก็ จำต้อง ‘แกล้ง’ ทำตาม เพราะอยากจะลองดูว่า พ่อกำนัน กับแม่สมพรจะว่าอย่างไรหรือเปล่า ในตอนเช้าก่อนจะไปวัด พอทั้งคู่รู้เรื่อง ก็ไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด โดยพ่อกำนันก็เปรย ๆ ว่า ‘หายคิดถึงบ้านแล้วค่อยกลับมา...แต่อย่าไปหลายวันนักละ ผัวเมียอยู่ไกลกันนัก ไม่ดี’
คนสองคนแต่งงานกันโดยไม่ได้รักกันมาก่อน เมื่อยังไม่ได้ผูกพันทางกาย ใจก็ย่อมไม่ผูกพัน อยู่ใกล้หรือไกลมันก็ไม่ได้ต่างกัน กมลคิดอย่างนั้น แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป
นางแรมจัดการบอกให้ไอ้แก่น หนุ่มรุ่น ๆ ขับเรือไปส่ง และตามไปยืนสั่งการที่ตลิ่งว่า
“ไอ้แก่น มึงก็สอนเฮียเขาขับเรือด้วยนะ ส่งเขาแล้วมึงก็รีบกลับล่ะ อย่าเถลไถล...”
“ฉันจะไปเถลไถลที่ไหนได้ เงินก็ไม่มีติดตัวซักบาท...” แก่นนั้นเป็นลูกคนงานโรงเลื่อย พ่อแม่ทำงานอยู่ที่นั่น ลูกเกิดมา ก็ทำงานกินเงินเดือนพ่อกำนันต่อไป...ไม่ใช่ญาติจึงเหมือนญาติ แก่นมีน้องชายชื่อจุก จุกนั้นยังไม่ได้โกนจุก เรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.2
ขณะที่กมลกำลังจะก้าวลงไปยังตีนท่า เขาก็ได้ยินเสียงของจุก ที่วิ่งหน้าตั้งมา... “ไอ้แก่น กูไปด้วย”
“มึงจะไปทำไม” นางแรมร้องขัด
“ก็เรือมันว่างอยู่นี่ป้า จะอยู่บ้านทำไมล่ะ” จุกเถียง
“ให้มันไปด้วยเถอะป้า ให้มันไปเปิดหูเปิดตามั่ง” แก่นหาเพื่อนกลับ
“สมบัติแค่นั่งเรือไปตามแม่น้ำเนี่ยนะ เปิดหูเปิดตา...” ว่าแล้วนางแรมที่ร้อยวันพันปีที่หมกตัวอยู่แต่บ้านไม่ยอมออกไปไหน ก็พ่นน้ำหมาก...
ถึงชุมแสง กมลเห็นว่า เมื่อแก่นและจุกอยากมา ‘เปิดหูเปิดตา’ เขาจึงให้ทั้งสองเดินตามขึ้นมาบนตลาด...หาซื้อขนมให้กิน และซื้อให้ติดมือกลับไปฝากพ่อแม่ นอกจากนั้นเขายังซื้อเสื้อกับกางเกงให้จุกอย่างละตัว ส่วนแก่นเขาซื้อเสื้อยืดคอปกให้ เพราะคืนนี้ แก่นจะได้ใส่ไปเที่ยวงานลอยกระทง สองพี่น้องพอได้ของจากเขาแล้วก็ยกมือไหว้ปรก ๆ แสดงความขอบคุณตื้นตันกับน้ำใจของเขา...แก่นถามเขาว่าจะกลับเมื่อไหร่ จะได้มารับ แต่กมลรู้สึกเกรงใจก็เลยบอกว่า จะกลับเรือโดยสาร ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นวันไหน
แก่นพาจุกขับเรือกลับฆะมังไปแล้ว กมลก็เดินกลับมาที่ร้าน พบบุญปลุก ป้อม อยู่หน้าร้าน ส่วนประสงค์นั่งเฝ้าเก๊ะเงิน...แม่ กับ พิไลไม่อยู่...ประสงค์บอกกับเขาว่า
“อาซ้อกลับไปทำบุญที่ทับกฤช ส่วนแม่ไปวัดกับซ้อเรณู”
กมลรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมาก เพราะแค่ทั้งคู่กลับมาญาติดีกัน จนกระทั่งใช้สอยให้ทำขนมขันหมาก ชวนไปร่วมงานแต่งของเขา ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อแล้ว แต่ถึงกับไปวัดไปทำบุญด้วยกัน ยิ่งสร้างความประหลาดใจให้มากขึ้นไปอีก
“ไม่ใช่แค่พากันไปทำบุญนะ ลื้อยังไม่รู้มั้ง ว่า ม้าน่ะ กำลังจะเปิดร้านตัดผ้าให้อาซ้อด้วย”
แล้วประสงค์ก็ขยายความเรื่องร้านขายผ้าของเรณูคร่าว ๆ โดยไม่ได้พูดให้กมลฟังหรอกว่า เรื่องนี้ ทำให้พิไลถึงกับกระฟัดกระเฟียด คิดว่าแม่ของตนนั้นถูกเรณูทำของใส่เหมือนกับที่เรณูเคยทำใส่ปฐม เพราะถ้าพูดมากไป เรื่องก็คงไม่จบง่าย ๆ แล้วอีกอย่าง การที่แม่กับเรณูเข้ากันได้ ก็เป็นผลดีกับแม่ เพราะเรณูนั้นขยันเอาอกเอาใจ ทำขนม ทำกับข้าวมาเผื่อแผ่ เห็นแม่ กินข้าวปลาอาหารได้ ยิ้มแย้มแจ่มใส เขาเองก็พลอยมีความสุข ส่วนเรื่องที่พิไล ‘เต้น’ เขาคิดว่า ถ้าเขาไม่เต้นตาม พิไลก็คงจะเลิกราไปเอง เพราะผลประโยชน์ที่เสียให้เรณูกับพี่ชายนั้น ว่ากันตามจริง มันก็สมเหตุสมผลที่แม่ยกมากล่าวอ้าง
“แล้วลื้อล่ะ แต่งงานแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมไม่พาเมียมาด้วย” ประสงค์วกกลับมาหาเรื่องของกมล
“ก็...ดี...ตามประสา”
“แต่หน้าตาของลื้อ มันบอกว่า ลื้อ มีเรื่องไม่สบายใจ ที่โน่นเป็นอย่างไรบ้าง”
“ก็ไม่มีอะไร เพียงแต่มันแปลกที่ แล้วก็คิดถึงม้า คิดถึงบ้านน่ะ ที่โน่นมันเงียบ ๆ กลางคืนก็วังเวงอย่างกับป่าช้า บอกไม่ถูก...”
ประสงค์ไม่ถามอะไรต่อ...กมลจึงถามถึงรูปถ่ายที่มงคลอัดไว้ให้ ประสงค์บอกอยู่บนโต๊ะหลังบ้าน เขาเดินเข้าไปเปิดดู...เห็นว่า รูปเจ้าบ่าวเจ้าสาวเกือบทุกบานนั้น ทั้งคู่หาได้ยิ้มแย้มยินดีกับงานสำคัญในชีวิต และรูปที่ทำให้เขารู้สึกเจ็บแปลบหัวใจ ก็คือ รูปถ่ายของจันตาที่ถ่ายคู่กับปลัดจินกร แม้จะมีเพียงรูปเดียว...สีหน้าของปลัดนั้นดูมีความสุขมาก ส่วนจันตาเองนั้นแม้จะมีใบหน้าเรียบเฉย แต่ใบหน้ารูปไข่ที่มีเครื่องหน้าเหมาะเจาะลงตัวนั้นก็ดูอิ่มเอมใจที่มีปลัดหนุ่มนั้นอยู่เคียงข้าง...
**************
พิไลอ้างกับประสงค์และนางย้อยว่าอยากกลับไปทำบุญกับแม่ แต่ความจริงแล้ว นายเชิดได้ส่งข่าวบอกกับพิไลว่าที่โคกหม้อ-พันลาน มี ‘หมอเบี้ยว’ ที่เก่งพอ ๆ กับหมอมี...พิไลเห็นว่าช่วงทำบุญใหญ่วันลอยกระทงมีข้ออ้างจะกลับบ้าน จึงรีบใช้เหตุนั้น...หญิงสาวบอกกับประสงค์ว่า จะไปทับกฤชทางเรือกับ ‘น้าเชิด’ ลูกน้องเก่าของเถ้าแก่ฮงซึ่งเพิ่งจะเห็นกันเมื่อวันก่อน
พิไลถึงบ้านของหมอเบี้ยวในตอนบ่ายๆ ของวันโกน...สภาพบ้านของหมอเบี้ยวนั้นเป็นกระท่อมซอมซ่อแตกต่างจากบ้านหมอมีอย่างสิ้นเชิง...เห็นดังนั้นพิไลจึงไม่รู้สึกเลื่อมใสศรัทธา เพราะถ้าเก่งกาจจริง แน่นอนว่า ย่อมมีลาภสักการะจากคนที่มาให้ช่วยเหลือมากมาย แต่นี่...
“น้าเชิดแน่ใจนะว่า หมอเบี้ยวนี่แกเก่งจริง ทำไม...บ้านช่องถึงได้...”
“เขาว่ากันว่า แกเป็นคน สมถะ น่ะ คุณหนู...”
“อย่างนั้นรึ” พิไลชักสีหน้าว่าไม่เชื่อ แต่เมื่อมาแล้ว ก็ต้องลอง...พอเดินถึงตีนบันไดกลิ่นฉุนของธูปหรืออาจเป็นกำยานก็เตะจมูกจนพิไลต้องยกมือแตะปลายจมูก
“มาถึงแล้วก็พากันขึ้นมาซิ” มีเสียงแหบ ๆ ดังมาจากบนเรือน พิไลพยักหน้าให้นายเชิดขึ้นไปด้วยกันเพราะรู้สึกกลัว
พิไลขึ้นเรือนโดยให้นายเชิดขึ้นไปก่อน พอถึงนอกชาน นายเชิดก็พยักหน้าให้พิไลขึ้นตามมา พอพิไลขึ้นไปถึงก็เห็นร่างซูบผอมของหมอเบี้ยวที่นุ่งโสร่งอีสานไม่สวมเสื้อนอนเอนกายอยู่กับหมอนขวางเก่าคร่ำคร่า...อายุของแกน่าจะราว ๆ เจ็ดสิบปี แกสูบยาพ่นควันแล้วมองมาหา ด้วยสายตาว่างเปล่า...
“มีอะไรกันรึ”
แม้จะไม่อยากให้นายเชิดรับรู้ แต่พิไลก็รู้สึกหวาดกลัว เกินกว่าจะอยู่กับหมอเบี้ยวตามลำพัง...
“เอ่อ...”
“พูดมา...”
“บอกแกไปซิคุณหนู”
“เอ่อ...คือ เรื่องของฉัน มันเป็นมาอย่างนี้จ๊ะ ตอนแรกฉันหมั้นหมายอยู่กับเฮียใช้ ลูกชายคนโตของแม่ย้อย แล้วต่อมาเฮียใช้ ไปติดทหาร แล้วพาผู้หญิงที่ตาคลีกลับบ้านมาด้วย ผู้หญิงคนนั้นทำงานในบาร์ แกจดหมายมาถอนหมั้นฉัน แม่ย้อยรู้เข้าก็โกรธมาก เลยให้ฉันแต่งกับลูกชายคนรองของแก แล้วตอนหลัง เรามารู้กันว่า เมียเฮียใช้มันทำเสน่ห์ใส่เฮียใช้น่ะ...”
“รู้ ได้อย่างไง”
“ก็แม่ย้อย เขามาหาหมอมี หมอมีบอกว่าเฮียใช้โดนของ”
“ไอ้มีเองรึ มันตายไปแล้วนี่...” ว่าแล้วหมอเบี้ยวก็หัวเราะเบา ๆ
“จ้ะ หมอมีตายแล้ว ฉันก็เลยต้องมาหาพ่อหมอ...”
“แล้วมึงอยากให้กูช่วยอะไรมึง...”
“ตอนนี้ ฉันสงสัยว่าอีคู่สะใภ้ตัวแสบของฉัน มันทำของใส่แม่ผัวฉันรึเปล่า เพราะตอนนี้แกรักแกหลงมันเหลือเกิน ฉันกลัวว่า แกจะยกนั่นยกนี่ให้มันหมด”
“สรุป ก็คือมึงห่วงสมบัติ”
“เรื่องนั้นก็ด้วย...ก็ก่อนหน้านั้น แม่ผัวฉันเกลียดมันจะตาย ทะเลาะกัน ด่ากัน แต่จู่ ๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด พ่อหมอพอจะมีทางช่วยฉันได้ไหมจ๊ะ...”
“แก้ของรึ...”
“ฉันเดาว่า คนทั้งคู่โดนของ แต่ก็ไม่มีใครยืนยันหรอกจ๊ะ...ก็ตามที่เล่านั่นแหละ จู่ ๆ เฮียใช้ที่รักฉันมากก็เปลี่ยนไป แม่ย้อยที่เคยเกลียดอีเรณูอย่างกับอะไรดี ก็เปลี่ยนไป ไม่โดนของแล้วจะเป็นอะไรไปได้”
“ก็น่าจะโดนของนั่นแหละ แต่ว่า ของที่ไหน” หมอเบี้ยวมีสีหน้าครุ่นคิด
“ฉันก็ไม่รู้...”
หมอเบี้ยวขยับตัวนั่งตรง แล้วมองหน้าของพิไล...
“มึงมีค่าจ้างให้กูไหมล่ะ ค่าวิชชากูแพงนะ”
“เท่าไหร่จ๊ะ”
หมอเบี้ยวมองหน้านายเชิด แล้วก็มองหน้าพิไลก่อนจะบอกอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “สองร้อย”
“โอ้โฮ ทำไมมันถึงได้...”
พิไลพูดไม่ทันจบหมอเบี้ยวก็บอกว่า “ถ้าไม่สู้ราคา ก็กลับกันไปซะ”
พิไลหันมาหานายเชิดแล้วถามว่า “ไหน น้าเชิดบอกว่าแกสมถะ...”
“ก็คนอื่นบอกมาอีกที”
พิไลชักสีหน้าครุ่นคิด ระหว่างนั้น หมอเบี้ยวก็เปิดฝากระป๋องขนมคุ้กกี้ซึ่งถูกเปลี่ยนมาใส่ยาเส้น กระดาษมวนยา แล้วก็ไม้ขีดไฟ ทำท่ามวนยาด้วยอาการใจเย็น ปล่อยให้ ‘ลูกค้า’ ชั่งน้ำหนักดูว่า จะเสียเงินหรือจะปล่อยให้ปัญหามันคาใจอยู่อย่างนั้น
“ค่อย ๆ คิด กูไม่รีบ...กูรู้ว่า เงินมันเยอะ มึงย่อมเสียดายเป็นธรรมดา”
“แต่ถ้ามันได้ผล มันก็ไม่แพงหรอก ฉันจ่ายให้ครึ่งหนึ่งก่อนได้ไหมล่ะ ถ้าแก้ได้ ฉันจะให้อีกครึ่ง” เรื่องต่อลองพิไลนั้นไม่เป็นสองรองใครเหมือนกัน...
“ถ้ามึงไม่สู้ราคา มึงก็กลับกันไปซะ”
“ถ้าฉันจ่ายไปแล้ว ฉันจะมั่นใจได้อย่างไรละว่า มันจะได้ผล”
“ก่อนหน้านั้น มึงรู้ไหม ว่าไอ้มีมันตายด้วยสาเหตุอะไร”
“โรคลมปัจจุบัน”
พอพิไลบอกอย่างนั้นหมอเบี้ยวก็หัวเราะเสียงแหบ ๆ...ก่อนจะจุดมวนยาแล้วอัดควันเข้าปอด...สีหน้านั้นเต็มไปด้วยความมั่นใจ
“มึงรู้ไหม กูได้ค่าจ้าง สู้กับไอ้มี ด้วยเงินเท่าไหร่”
“อะไรนะ”
“ใครก็จับมือกูดมไม่ได้หรอก ของแบบนี้ มันไม่มีหลักฐานอะไร” ว่าแล้วหมอเบี้ยวก็หัวเราะเสียงดัง...พิไลลอบสบตากับนายเชิด...
“ตัดสินใจเถอะคุณหนู ยอมเสียเงินแค่สองร้อย แต่ถ้าแม่ผัวคุณหนูกลับมาเป็นปกติ คุณหนูจะได้มากกว่านะ”
“สองร้อยนี่สองคนได้ไหม ทั้งเฮียใช้ด้วย แม่ผัวหนูด้วย” พิไลยังไม่วายขอต่อลอง
“คนละสองร้อย...ถ้ามึงยอมจ่าย กูจะรับประกันว่ามันจะต้องได้ผล”
“ก็ได้ ฉันยอมจ่าย แต่ถ้าไม่ได้ผลล่ะ...พ่อหมอจะรับผิดชอบอย่างไร”
“รับผิดชอบด้วยชีวิตกูนี่แหละ...”
“หมายความว่าไง” พิไลรีบถาม
“มึงเคยได้ยินที่คนโบราณเขาพูดกันว่าหมองูตายเพราะงูไหมล่ะ ถ้าฝั่งนั้นเป็นสายแข็ง มันก็ไม่ต่างกับเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงหรอก งัดไม่ได้ ไม้ซีกมันก็หัก...กูก็อาจจะตาย! เหมือนที่ไอ้มีมันตายนั่นแหละ...”
“ผมพอเข้าใจที่หมอเบี้ยวพูดแล้วคุณหนู”
“ได้ ถ้าอย่างนั้นฉันยอมจ่าย แต่เฉพาะของแม่ผัวฉันก่อนนะ ถ้าได้ผลของเฮียใช้ค่อยว่ากันอีกที”
พิไลจำต้องเปิดกระเป๋าถือใบเล็ก หยิบเงินส่งไปให้ หมอเบี้ยวมองเงินนั้นแล้วเปิดฝากระป๋อง บอกให้พิไลหยิบเงินใส่ พอปิดกระป๋องแล้ว แกก็ลุกขึ้น คว้าผ้าข้าวม้าที่พาดอยู่ที่ข้างฝา แล้วเดินเข้าไปในห้องที่ตีกั้นด้วยฟาก ซึ่งเป็นต้นทางของกลิ่นธูป... แกหายไปพักใหญ่ ๆ แล้วก็เดินออกมาพร้อมกับใบหน้าเต็มไปด้วยเม็ดเหงื่อ แววตานั้นดูอ่อนล้าอย่างเห็นได้ชัด...
พิไลที่ชะเง้อมองดู ลุ้นกับผลงานรีบถาม... “ว่าไงพ่อหมอ”
หมอเบี้ยวไม่ตอบคำถาม แต่เปิดฝากระป๋องแทน... “มึงเอาเงินของมึงคืนไป แล้วก็กลับไปซะ”
“หมายความว่า”
“กูช่วยอะไรมึงไม่ได้ กูก็เก็บเงินมึงมาใช้ไม่ได้”
“ช่วยพูดให้มันกระจ่างกว่านี้หน่อยได้ไหม”
“สายวิชาของเขาแรงจริง ๆ แล้วนังแม่ผัวมึงน่ะ มันดวงตกด้วย มันก็เลยกลายเป็นประเภทผีซ้ำด้ามพลอย ทางเดียวที่จะบอกมึงได้ก็คือ มึงต้องปล่อยเวลาไว้สักระยะ อะไรที่จะต้องเสีย มันก็ต้องยอมเสียไปบ้าง เพราะคนเราแต่ละคนก็มีเวรมีกรรมเฉพาะตัว...เขาทำเรื่องของเขามา เขาก็ต้องชดใช้ของเขา มึงเข้าใจที่กูพูดไหม”
พิไลส่ายหน้า...หมอเบี้ยวไม่อธิบายอะไรต่อ ไม่ยอมตอบคำถามใด ๆ อีก แกบอกให้พิไลเก็บเงินแล้วพากันกลับไป พิไลนั้นแม้จะรู้สึกเสียเวลา แต่ก็ไม่ได้เสียเที่ยวซะทีเดียว อย่างน้อยก็รู้ว่า อีเรณูนั้นเล่นคุณไสยจริง ๆ เพียงแต่ต้องสืบให้รู้ว่า มันทำจากที่ไหน และจะหาใครมาแก้ไขเรื่องสกปรกนี้...เป็นเรื่องที่พิไลครุ่นคิดตั้งแต่นั่งเรือจากบ้านหมอเบี้ยวจนถึงบ้านที่ทับกฤช...
***************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #26 on: 02 March 2020, 14:47:36 » |
|
ตอนที่ 27 : เรื่องของเขา เรื่องของเรา
๒๗
แม้จะเป็นคนขี้งก อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่พิไลก็รู้จักที่จะใช้เงินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ถ้าจ่ายเพื่อความสุข ความสบาย พิไลพร้อมจ่าย ดังนั้นพิไลจึงจ่ายเงินให้นายเชิดมากกว่าที่ตกลงกันไว้ โดยกำชับว่า อย่าได้แพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครรู้ และนายเชิดก็ต้องพยายามสืบเสาะหาคนดีมีวิชชามาให้ด้วย...
หลังนายเชิดขับเรือกลับชุมแสง พิไลเดินเข้าบ้าน...พบแม่ก็ยกมือไหว้แล้วสวมกอดให้คลายความคิดถึง...
“มาอย่างไรไปอย่างไร อยู่ทางโน้นสบายดีไหม”
“สบายดีจ้ะแม่ ว่าจะกลับมาทำบุญกับแม่...แล้วนี่เตี่ยไปไหน”
“ไปบ้านโน้น” บ้านโน้น คือบ้านในตลาดที่มีแม่ใหญ่อยู่กับพี่ ๆ ซึ่งพิไลรู้สึกริษยา ยามเมื่อรู้ว่าลูกเมียเอกนั้นมักจะ ‘ได้’ และ ‘เป็น’ อะไรๆ ที่ดีกว่า ลูกเมียเล็กเช่นตนเอง
“ทิ้งให้แม่อยู่คนเดียวเนี่ยนะ”
“ก็อยู่กับคนงาน...หนูก็รู้ว่าเตี่ยสุขภาพไม่ค่อยดี อยู่ที่โน่นใกล้มดใกล้หมอ แต่หลังลอยกระทงก็คงกลับ”
“แล้วแม่เหงาไหมล่ะ”
“ไม่เหงาหรอก จะมีก็แต่คิดถึงหนูนั่นแหละ บอกตรง ๆ ว่าแม่เป็นห่วง”
“ไม่ต้องห่วงหนูหรอก หนูโตแล้ว” แล้วพิไลก็เล่าเรื่องทางโน้นตั้งแต่วันแต่งงาน จนถึงปัจจุบันให้แม่ฟังคร่าว ๆ...จนกระทั่งถึงเรื่องสำคัญที่ทำให้แม่ถึงกับตาโต...
“โอ้โฮ มันเล่นแรงขนาดนั้นเลยรึ ทำไมมันร้ายกาจขนาดนี้”
“ก็คนมันยากจนน่ะแม่ มันก็คงอยากได้ อยากมี อยากเป็น จนไม่คิดถึง ผิด ชอบ ชั่ว ดีอะไรหรอก แต่หนูจะไม่ยอมให้มันได้เสวยสุขง่าย ๆ หรอกนะ ที่หนูต้องรีบกลับมาบ้าน ก็เพราะหนูจะหาวิธีช่วยแม่ย้อย ช่วยเฮียใช้เขาด้วย แม่พอรู้จักคนดีมีวิชชาแก้ของบ้างไหม”
“แม่ก็ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องพวกนี้ แต่แม่ว่า ไปถามหลวงพ่อดีกว่า เผื่อท่านจะมีวิธีช่วย...อ้อ ถ้าจะไป ก็ไปซะวันนี้เลย พรุ่งนี้วันพระใหญ่ ท่านจะยุ่งกว่าวันนี้”
*************
“อาซาๆ” เสียงร้องเรียกของเรณูทำให้กมลหยุดชะงัก...พอหันไปทางต้นเสียง เขาก็เห็น แม่ เรณู หมุ่ยนี้ และจันตา นั่งอยู่ในร้านขายเสื้อผ้าโดยมีอาอึ้มเจ้าของร้านนั่งอยู่ด้านในสุด...กมลรีบเดินเข้าไปหาพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้แม่ รวมถึงอาอึ้มผู้มีอาวุโสที่สุดนั่นด้วย
“มาได้อย่างไรล่ะอาซา แล้วนี่กำลังจะไปไหน” แม่ของเขาถาม
“มาดูรูปงานแต่ง แล้วก็จะไปหาแม่ที่วัดนั่นแหละ” ตอนนั้นสายตาของกมลสบกับตาของจันตาที่นั่งอยู่ใกล้เขาที่สุด เพียงอึดใจ จันตาก็หลบสายตาของเขา . “เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ยิ้มสักรูปเลยนะ...ตอนอาสี่ถ่ายให้ มันไม่บอกให้ยิ้มบ้างหรือไง” หมุ่ยนี้ถาม
“ก็บอก...แต่เหนื่อย เลยยิ้มไม่ออก...แล้วมานั่งทำอะไรกันพร้อมหน้าอยู่ที่นี่”
“มาทำสัญญาเซ้งร้าน...เรียบร้อยแล้ว กำลังจะกลับบ้านกันพอดี” นางย้อยเป็นฝ่ายตอบ
กมลมองเห็นตะกร้าใส่หม้ออวย เครื่องกรวดน้ำทองเหลืองและปิ่นโตวางอยู่ที่พื้น...ส่วนแม่ของเขาหันไปหาเจ้าของร้านแล้วบอกว่า
“ก็ตามที่ตกลงกันละนะ ปลายเดือนซิ่มย้ายออก ต้นเดือนอาเรณูจะได้ย้ายเข้ามา ส่วนของที่เหลือ ซิ่มก็เก็บไปให้หมดนะ เดี๋ยวอาเรณูมันจะหาของใหม่ๆ เข้ามา”
“อาอึ้มจะย้ายไปไหน”
“ไปอยู่ที่ตะพานหินกับลูกสาว” หมุ่ยนี้เป็นฝ่ายตอบ...
เมื่อธุระตรงนั้นเสร็จเรียบร้อย หมุ่ยนี้กับจันตาก็แยกย้ายกลับบ้าน กมลเป็นฝ่ายถือตะกร้าและปิ่นโตเดินคู่กับเรณูตามหลังแม่ ระหว่างทาง คนที่เห็นแม่กับเรณูเดินด้วยกันก็ร้องทัก แม่ก็บอกคร่าว ๆ ว่าไปทำบุญกันมา แล้วก็บอกเล่าเรื่องร้านใหม่ของเรณูที่จะเปิดในต้นเดือนหน้า...น้ำเสียงนั้นบ่งบอกว่าอารมณ์สดชื่นแจ่มใส ผิดก่อนหน้านั้น...
“ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า ซ้อกับแม่จะญาติดีกันได้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร...และตั้งแต่ตอนไหน” กมลเอ่ยถามเบา ๆ...
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรณูได้ยินแบบนี้ หญิงสาวจึงตอบกลับไปด้วยสีหน้าและน้ำเสียงเป็นปกติ เพราะเมื่อผ่านการพูดปดครั้งแรกไปแล้ว ครั้งต่อ ๆ ไป ถ้าจำได้ ก็ไม่ใช่ปัญหา
“พี่ว่ามันน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่เรียกมาทำขนมขันหมากให้เธอนั่นแหละ...นี่จะกลับวันไหน” พอเห็นว่าเรื่องจะมาพันตัว เรณูก็รีบเปลี่ยนเรื่อง...
“ยังไม่รู้เลย อาจจะคืนเดียว หรือสองคืน...”
“ถ้าอย่างนั้น คืนนี้ก็เที่ยวลอยกระทงด้วยกันได้ซินะ วัดชุมแสงมีงาน ข้ามฟากไปดูลิเกกัน หมุ่ยนี้ ปลัดจินกร จันตาก็จะไปด้วย”
ได้ยินดังนั้นกมลก็นึกในใจว่า จะไปทำให้รู้สึกแสลงลูกนัยย์ตา เขาจึงบอกว่า “อยากไปดูหนังมากกว่า...อยู่โน่น มัน วังเวงวิเวกวิโหวเหว”
“วิโหวเหว ได้ไง มันน่าจะ...เอ่อช่วง ข้าวใหม่ปลามัน น่าจะกินกันอร่อยดี” ว่าแล้วเรณูก็หัวเราะ
กมลได้แต่ยิ้มแห้ง ๆ...ถ้าขืนบอกกับเรณูไปตามความเป็นจริง ...มันก็คงเป็นเรื่องตลก...เขาจึงบอกว่า
“คนไม่ได้เห็นหน้ากันมาก่อน ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน มันก็ บอกไม่ถูก...”
“ยังปรับตัวเข้าหากันไม่ได้อีกรึ”
“ก็ดีขึ้นแล้วแหละ...” เมื่อเห็นว่าไม่ควรจะแพร่งพราย ‘ความ’ ในบ้าน ในห้อง ในมุ้ง ไปให้ ‘มากความ’ กมลจึงต้องตัดบท
เรณูพออ่านใจของกมลออก จึงเปลี่ยนเรื่องคุยอีกครั้ง
“เดือนหน้า นังวรรณามันจะขึ้นประกวดนางสาวสี่แควแล้วนะ นี่พี่กับอาเจ๊หมุ่ยนี้ จันตา ว่าจะตามไปเชียร์มันสักหน่อย ไปด้วยกันไหม”
“เดือนหน้า งานกาชาดของจังหวัดใช่ไหม...คงไม่ได้ไปหรอก งานในนากำลังยุ่งเลย ที่นาเขาไม่รู้จักกี่ทุ่ง ปีใหม่จะเกี่ยวข้าวหมดรึยังก็ไม่รู้”
“แค่ไม่กี่วันเอง เธอดูคล้ำไปเลยนะ”
“ต้องทำงานกลางแดดทั้งวัน มันก็ต้องดำซิซ้อ”
นางย้อยที่เดินนำหน้าอยู่นั้นได้ยินที่ทั้งสองคนคุยกันจึงหันมาพูดว่า “ผิวดำวันนี้ แล้วมันดีในวันหน้า ก็ต้องปล่อยให้มันดำไป...”
**************
‘ไอ้เรื่อง เดรัจฉานวิชชา อาตมาคงช่วยอะไรไม่ได้หรอกโยม’
‘แต่ว่า นังหนูมันทุกข์ร้อนมานะเจ้าคะ พอจะมีทางช่วยบ้างไหม หรือมีใครที่หลวงพ่อพอรู้จักใครเก่ง ๆ บ้างไหม’
‘ทางช่วยก็มีแค่น้ำมนต์ในโอ่งนั่นแหละ สวดทำวัตรเช้า-เย็น กันมาตลอดพรรษา หาอะไรตักใส่ไปให้คนที่ถูกของมันกิน แต่พุทธคุณจะช่วยได้หรือเปล่า อาตมาไม่รับประกันนะโยม’
‘ช่วยไม่ได้แล้ว จะให้เอาไปทำอะไรคะ’
‘หนักจะได้เป็นเบา เบาก็อาจจะคลายได้ อำนาจพุทธคุณ ธรรมคุณนั้นยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ แต่ว่า...มันก็ขึ้นอยู่กับกรรมเวรของเขาด้วย’
‘แล้วที่เขาว่ากันว่า คนดวงตก ผีซ้ำด้ามพลอย ละคะ เป็นอย่างไร’
‘ถ้าให้ตอบ ก็จะตอบว่า คนเรามันประกอบด้วยกรรมดี และกรรมไม่ดี ทั้งที่ระลึกได้ในชาตินี้ และที่ระลึกไม่ได้ว่าทำมาตั้งแต่ชาติไหน ๆ กรรมดีส่งผลเราก็สุขสบาย เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ ลาภยศ และสรรเสริญ แต่ถ้ากรรมชั่วที่ทำไว้ส่งผล ชีวิตมันก็จะต้องเจอกับเรื่องตรงกันข้าม...ประมาณนั้นแหละ’
พิไลนั่งอยู่บนรถไฟ พลางครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ระหว่างสนทนากับพระครูฯ เจ้าอาวาส เมื่อวานตอนบ่ายแล้วถอนหายใจออกมา ใจหนึ่งก็คิดว่า มันเป็น ‘เรื่องของเขา เราไม่ควรไปข้องเกี่ยว’ อย่างที่แม่เตือนสติก่อนจะขึ้นรถไฟมา
...แต่อีกใจมันก็ ‘เรื่องของเขา มันก็เรื่องของเราด้วย ไม่ข้องเกี่ยวด้วย ก็มีแต่จะเสียกับเสีย’
เสียรู้ เสียดาย เสียโอกาส เสียความรู้สึก และเสียทรัพย์ที่ไม่ควรจะเสีย แถมยังจะต้องเห็นมันอยู่ดีมีสุข ถ้านิ่งเฉยอยู่ ก็คงโง่เต็มที....งานนี้คนทำผิดมันก็ควรที่จะต้องรับผลกรรมของมัน...คิดได้ดังนั้นแล้วพิไลซึ่งมีดวงตาวาวโรจน์ก็พ่นลมหายใจออกมาไล่ความขุ่นมัว ทั้งที่เมื่อเช้าทำบุญกรวดน้ำรับศีลรับพรมาแล้ว
“เป็นอะไรรึอีหนู...” เสียงนั้นทำให้พิไลที่นั่งกอดตะกร้าใส่ขวดน้ำมนต์อยู่และหันไปมองนอกรถ หันกลับมายังที่นั่งตรงกันข้ามซึ่งมีหญิงวัยกลางคนสองคนนั่งมาด้วยกัน...พิไลไม่ได้ถามไถ่หรอกว่า ทั้งคู่ขึ้นมาจากที่ไหนและกำลังจะไปไหน เพราะตอนที่เห็นคนทั้งคู่ ก่อนจะทรุดตัวลงนั่ง พิไลก็เห็นแล้วว่าผู้ร่วมเดินทางเป็นเพียงหญิงชาวบ้านธรรมดาๆ แต่เมื่อทางนั้นเอ่ยทักก่อน พิไลที่รู้สึกอึดอัดใจอยากหาทางระบายออก ก็เลยตอบกลับไปว่า
“มีเรื่องไม่มีสบายใจนิดหน่อย”
“เรื่องอะไรรึ”
พอถูกซัก พิไลคิดในใจว่า ‘เจอคนสาระแนเข้าแล้วไหมล่ะ’ แต่จะไม่ตอบก็ใช่ที่ เพราะพื้นฐานของพิไลก็คือ ‘แม่ค้า’ จะถือตัวมากนักก็ไม่ได้ ที่เคยเห็นแต่งตัวมอซอเดินเข้ามาในร้าน เป็นประเภทผ้าขี้ริ้วห่อทองเสียก็มี
“คู่สะใภ้ฉัน มันทำของใส่แม่ผัวฉันน่ะ”
“ฮะ อะไรนะ”
“ป้าฟังไม่ผิดหรอก ตะก่อนแม่ผัวฉัน เกลียดมันอย่างกับอะไรดี ตอนนี้ กลับตาลปัตร คุยกันถูกคอ จนยกทรัพย์สินเงินทองให้ไปไม่น้อย ฉันกำลังหาหมอดี ๆ มาแก้อยู่เนี่ย แต่ยังหาไม่ได้ ป้าพอรู้จักหมอแก้ของพวกนี้ไหม”
“เอ่...ไอ้เรื่องพวกนี้ ข้าก็ไม่ค่อยได้สนใจ...”
พิไลได้ยินดังนั้นก็ถอนหายใจออกมาเบา ๆ คิดในใจว่า... ‘หมดเรื่องจะคุยละ’ แต่ว่า ก็ยังได้ยินคำถามจากคนใส่เสื้อสีขาว
“นังหนูแล้วนั่นนั่งกอดขวดอะไรมา”
“ขวดน้ำมนต์”
“ของวัดไหน”
“อยากรู้ไปทำไม” พอถูกซักไซ้เสียงของพิไลก็กระด้างหูขึ้น
“ก็มันเยอะมาก แสดงว่าต้องเป็นของดี”
“ดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่หลวงพ่อให้ตักมา ก็เอามา แล้วนี่ป้าอยู่ที่ไหนกัน แล้วไปไหนกันมา” เพื่อให้เรื่องพ้นตัว พิไลจึงต้องถามกลับไปบ้าง
“อยู่บางมูลนาก ไปตาคลีกันมา”
คำว่า ‘ตาคลี’ นั้นเหมือนแสงสว่างจากปลายไม้ขีดที่ไล่ความมืดภายในห้วงความคิด...เพราะก่อนหน้านั้น นังเรณูมันอยู่ที่ตาคลี คนที่ทำของให้มันย่อมอยู่ที่ตาคลีแน่ ๆ
“ไปทำอะไรกันมารึ...”
“ก็....ไป เอ่อ ไปหาของดีน่ะ ไปเอาสีผึ้งมาสีปาก เอาไว้ใช้ตอนทำมาค้าขาย”
“จากที่ไหน”
ป้าคนเสื้อสีเขียวเอ่ยชื่อวัดและชื่อหลวงพ่อออกมา พร้อมทั้งบอกเล่าคุณวิเศษของพระองค์นั้นอีกยืดยาว พิไลจดจำไว้ โดยในใจคิดว่า ‘หลวงพ่อ’ ที่ดีขนาดนี้คงไม่ใช่ คนที่ ‘ทำของ’ ให้เรณูแน่ ๆ แต่จะเป็นหมอคนไหนในตาคลี พิไลจะต้องสืบรู้ให้ได้
***************
ลงจากรถไฟแล้ว พิไลที่หิ้วตะกร้าหวายใส่ขวดน้ำมนต์อยู่ก็คิดว่า ถ้าถือของพวกนี้กลับไปที่ร้าน นางย้อยก็จะต้องถามเหมือนที่นางป้า ๆ สองคนนั้น ครั้นจะบอกตามตรง แม่ก็บอกไว้ว่า
‘จะทำอะไรก็คิดให้ดี เพราะคนที่ถูกของน่ะ เขาจะรักจะหลงอีกฝ่ายเป็นอย่างมาก ทำอะไรก็ถูกอกถูกใจ คนทำถูกขัดใจก็จะกลายเป็นผิด ขัดหูขัดตาเขาไปเสียหมด หนูบอกเขา เขาก็คงไม่เชื่อ เพราะอวิชชามันบังตาอยู่ ฉะนั้น หนูอย่าวู่วาม ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ คิดหาทางแก้กันไป...และที่สำคัญ แม่เรณูนั่น ถ้าเขาไม่ใจคอโหดเหี้ยม ไม่นึกถึงผิดชอบชั่วดี เขาก็ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก จะงัดข้อกัน ก็ต้องระวังตัวไว้ให้ดี หนูต้องเชื่อแม่นะ คิดจะเล่นกับมัน ต้องใช้ไม้นวม ถ้าใช้ไม้แข็ง มันไหวตัวทัน เรานั่นแหละ จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย...’
ที่แม่ซึ่งเป็นคนใจเย็นพูดก็ถูก... ถ้าใช้ไม้แข็งมันจะไหวตัวทัน...เมื่อมันปั้นหน้าตอแหลยิ้มหวานยามเจรพาทีทั้งที่ใจคิดไม่ซื่อได้ พิไลก็ทำได้เหมือนกัน คิดได้ดังนั้นพิไลก็ให้จักรยานสามล้อปั่นไปส่งที่บ้าน ...อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว พิไลก็เดินมาที่ตลาด...ระหว่างทาง นายเชิดที่เหมือนจะรอท่าอยู่ก็รีบเข้ามาหา...
“คุณหนู...”
“ได้เรื่องอะไรไหม...”
“เรื่องนั้น ยังไม่ได้เรื่องหรอกครับ แต่ผมมีเรื่องจะรบกวนคุณหนูหน่อย...” ว่าแล้วนายเชิดก็หันซ้ายหันขวา ก่อนจะปลดผ้าขาวม้าที่เอวออกมา...เผยให้เห็นของที่ห่อซ่อนไว้
“ตะปิ้งทองคำแท้ ของเก่าครับ”
“แล้วน้าไปเอามาจากที่ไหน”
ภวังค์นั้นพิไลนึกถึงคำพูดของนางย้อยขึ้นมา ‘กลัวเป็นของโจร ฉันจะพลอยเดือดร้อนไปด้วย’
“เอ่อ พวกคนเรือด้วยกันน่ะ มันร้อนเงิน แม่ยายมันเลยให้เอาออกมาขาย ผมไปที่ร้านทองมาแล้ว เขากดราคา ผมก็เลยนึกถึงคุณหนู”
“เขาให้เท่าไหร่”
พอนายเชิดบอกน้ำหนักทองพร้อมกับราคาที่ ‘ถูกกด’ พิไลก็นึกถึงคำพูดของย้อยขึ้นมาอีก ‘ของพวกนี้ มันเป็นของร้อน กดราคาได้ก็กด จำเอาไว้’ ทางร้านทองต้องรู้แน่ ๆ ว่า เป็น ‘ของร้อน’ ซึ่งเหมา ๆ รวม ๆ ว่าเป็นของโจรด้วย ถึงได้กดราคาเหมือนที่นางย้อยเคยทำให้เห็น
“แล้วน้าจะให้ฉันช่วยอะไร”
“ถ้าปล่อยร้านทองไป เขาก็ให้ราคาถูก ๆ เท่อ ๆ ผมว่าจะขอจำนำคุณหนูไว้ดีกว่า”
“แล้วทำไม ไม่จำนำร้านทองเขาไว้ล่ะ...”
“กับคุณหนู ถ้าเผื่อเหลือเผื่อขาดเรื่องดอกดวง เราก็น่าจะยังคุย ๆ กันได้ ถ้ามันขาดจริง ๆ ของไปอยู่กับคุณหนู ผมก็ไม่เสียดายหรอกครับ”
“แต่ราคามันสูงอยู่นะ...”
“คุณหนูช่วยหน่อยนะครับ พ่อตามันป่วยต้องใช้เงินรักษาตัว คิดซะว่าทำบุญกับคนยากเถอะครับ”
พิไลหยิบของชิ้นนั้นขึ้นมาพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ‘ตะปิ้งทองคำ’ งานโบราณ เก็บไว้ให้ลูกสาวก็คงดีจะดีไม่น้อย แต่ว่า... ‘มันแพง’ ถ้าลดราคาได้อีกหน่อยก็น่าสนใจ...
“ฉันช่วยได้แค่ 900 บาท มากกว่านี้ก็ไม่ไหวแล้วน้า เงินทองฉันก็ไม่ค่อยมี”
นายเชิดนิ่งคิด... แล้วก็บอกว่า “900 ก็ได้ครับ”
“แล้วถ้าจะมาไถ่ถอนคืน ฉันให้ระยะเวลา สามเดือนนะ คิดดอกเบี้ย 100 บาท เป็น 1000 บาท ถ้าจะตัดดอกเป็นคราว ๆ ก็ได้...แบบนี้ดีไหม สัญญาไม่ต้องทำกันหรอกนะ ฉันไว้ใจน้า น้าไว้ใจฉัน”
“ดีครับ เผื่อมันได้ข้าว มันจะได้มีเงินมาไถ่ถอนคืน...”
“ถ้างั้นน้าก็รอฉันอยู่ที่ท่าเรือแล้วกัน เดี๋ยวฉันกลับไปเอาเงินที่เฮียก่อน” พิไลจำต้องอ้างประสงค์ เพราะนายเชิดจะได้ไม่รู้ว่า ตนเองนั้น เก็บเงิน เก็บของมีค่าไว้ที่บ้าน...เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั้น เตี่ยสอนเสมอว่า อย่าได้ไว้วางใจใครทั้งนั้น!
*************
“อ้าว อาซา กลับมาตั้งแต่เมื่อไหร่” พอเห็นกมลนั่งอยู่ที่โต๊ะบัญชี พิไลก็รู้สึกแปลกใจรวมถึงแสลงใจเป็นอย่างมาก เพราะ ‘กมล’ ที่ถือว่า ‘ออกเรือน’ ไปแล้ว นางย้อยก็ยังไว้ใจให้นั่งคุ้มเก๊ะเงิน ตนที่เป็นแค่ลูกสะใภ้ นางย้อยก็ยังกันท่า
มันเป็นการเลือกปฏิบัติชัด ๆ
“กลับมาตั้งแต่เมื่อเช้า ตั้งใจมาเอารูปถ่ายงานแต่งน่ะ”
“มาคนเดียวหรือ”
“ครับ...คนเดียว”
“แล้วจะกลับเมื่อไหร่ล่ะ”
“ว่าจะค้างสักคืน พรุ่งนี้ก็กลับแล้ว ทางโน้นมีงาน” กมลก็เพิ่งรู้สึกเหมือนกันว่า เมื่อ ‘แต่งเมีย’ ออกจากบ้านไปแล้ว คนก็จะมองว่า เขากลายเป็น ‘คนอื่น’ ในบ้านหลังนี้ ไม่ใช่แค่พิไลที่ถามแบบนี้ แต่คนแถว ๆ นี้ และลูกค้า พอเห็นว่าเขามานั่งแทนแม่ แทนเฮียตง ก็จะถามเหมือนๆ กัน… ถามเหมือนอยากจะได้คำตอบว่า ชีวิตคู่ของเขานั้นไปไม่รอด! ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นไม่ถึงสัปดาห์
“อ้าว พิไล” ประสงค์ที่เดินไปเข้าห้องน้ำ เดินออกมาก็ทักพิไล...
“เฮีย ไม่ได้อยู่ที่โรงสีรึ”
“วันนี้โรงสีหยุด ม้าจะไปทำบุญ เลยให้มาเฝ้าร้านให้ มาถึงนานหรือยัง”
“ก็สักพักแล้วแหละ กลับไปบ้านมาแล้ว อาบน้ำอาบท่าเสร็จ ก็มาที่ร้าน เผื่อมีอะไรยุ่ง ๆ” ขณะที่ตอบประสงค์ พิไลก็ได้ยินเสียงนางย้อยที่อยู่ด้านหลังถามว่า “พิไลกลับมาแล้วรึ”
“กลับมาแล้วม้า” ประสงค์บอก
“พิกุลเป็นอย่างไรบ้าง”
พอนางย้อยถามถึงแม่ พิไลจึงเดินเข้าไปหลังร้าน พบว่านางย้อยนอนตะแคงอยู่บนเก้าอี้ยาว ซึ่งปกติก็ใช้วางของซะเป็นส่วนใหญ่
“เตี่ยกับแม่ สบายกันดี...อ้าว แล้วม้า ทำไมนอนซะล่ะ เป็นอะไรรึเปล่า”
“รู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อยากพักผ่อนบ้างน่ะ”
ได้ยินดังนั้น พิไลก็เบะปากทันที คิดในใจว่า ‘เป็นเพราะลูกชายอยู่ ถึงได้หลบมานอน ถ้าอยู่กับสะใภ้ก็ไม่ยอมทิ้งเงินหรอก...คงกลัวว่าตนจะเม้มเข้าพกเข้าห่อ... อย่าให้เผลอก็แล้วกัน แม่จะกวาดเสียให้หมด’
หลังบ้านไม่เฉพาะแต่นางย้อยที่นอนพักผ่อน ที่หน้าเตายังมีเรณูอยู่อีกคน...เรณูหันมายิ้มให้พิไล เป็นยิ้มที่พิสุทธิ์ ทำเหมือนกับว่าก่อนหน้าไม่มีปัญหาอะไรกัน พิไลเห็นดังนั้น จึงถามว่า
“อ้าว ซ้อ มาทำอะไร”
“ม้านึกอยากกินหลนปูเค็ม ก็เลยมาทำให้ อาซาก็อยากกินพะโล้ ก็เลยทำพะโล้อีกอย่าง”
“แล้วเฮียตงล่ะ อยากกินอะไร”
“เห็นบอกว่ากินอะไรก็ได้ แต่พอดีจะทำต้มยำกุ้งอีกอย่างก็เลย กลายเป็นเมนูอะไรก็ได้ไปเลย... เดี๋ยวกินข้าวเย็นด้วยกันนะ ใกล้จะเสร็จละ เตี่ยกลับมาจากโรงสีอาบน้ำอาบท่าแล้วก็กินได้เลย...”
พิไลไม่อยาก ‘ร่วมวง’ ด้วย เพราะกลัวแม่ครัว จะ ‘ใส่’ อะไรลงไป ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เห็นที ทุกอย่างก็คงจะเป็นของเฮียใช้ของเรณูทั้งหมด ตัวเองก็คงได้แต่ก้มหน้า เป็นลูกจ้างบรรดาศักดิ์ในร้านไปจนตาย...
“ฉันยังอิ่ม ๆ อยู่เลย ไม่รู้ว่าซ้อจะมาทำกับข้าว ลงรถไฟ ฉันก็แวะกินก๋วยเตี๋ยวมาละ...”
“เสียดายจัง พออยู่กันพร้อมหน้า ซ้อก็อิ่มแล้วซะอีก”
“พร้อมหน้า” เพราะรู้สึกเหลืออดพิไลจึงทวนคำนั้นเบา ๆ...เรณูที่หันไปมองหม้ออยู่บนเตาจึงไม่ได้ยินและไม่เห็นสีหน้าสะอิดสะเอียนกับทีท่าซื่อ ๆ ของเรณู...
“แล้ววันนี้ได้ขายของรึเปล่า” พิไลรีบเปลี่ยนเรื่อง
“ไม่ได้ขายหรอก ไปทำบุญกับม้ามาน่ะ เสร็จแล้วก็ไปทำสัญญาเซ้งร้านกันต่อเลย”
“แล้วจะเข้าไปขายเมื่อไหร่”
“ต้น ๆ เดือนหน้า”
“แล้วจะเลิกขายขนมเลยรึเปล่า”
“ยังหรอก ก็ยังต้องขายไปก่อน เหลืออีกเป็นสิบๆ วัน ขายขนมไปพลางบอกลูกค้าไปพลางว่าจะเลิกขายแล้วจะไปทำอะไรตรงไหน มันก็น่าจะดีกว่า...เปิดร้านมา คนก็ตามไปหาได้ถูก”
“แล้วจะหาผ้าจากที่ไหนมาขาย”
“เรื่องผ้า รอให้วรรณามันเสร็จเรื่องประกวดนางงามอะไรมันซะก่อน แล้วค่อยมาคุยกันอีกทีว่าจะทำร้านอย่างไร แต่พี่ว่าจะทำขนมขายที่หน้าร้านไปก่อนแหละ อยากทำข้าวเกรียบปากหม้อ กับพวกสาคูไส้หมู ขายตั้งแต่เช้าไปเลย...ส่วนเรื่องผ้า เจ้าของเดิมเขาว่า เขาไปรับมาจากสำเพ็ง อย่างไรก็ต้องไปปรึกษากับวรรณามันอีกที มันอยู่กับผ้ามามันต้องรู้เรื่องมากกว่า แต่ถ้าจะไปสำเพ็ง เจ๊หมุ่ยนี้ เขาก็จะไปเป็นเพื่อน คือเขาก็อยากเข้ากรุงเทพฯ ไปเปิดหูเปิดตาเหมือนกัน พี่เองก็ไม่ค่อยประสีประสาเรื่องในกรุงเทพฯสักเท่าไหร่หรอก”
เรณูยังเล่าอะไรอีกยืดยาว พิไลฟังแล้วก็เห็นว่าช่องทางชีวิตของเรณูนั้นสว่างไสว ...ไม่ใช่แค่มีแต่ร้านเป็นของตัวเอง มีลูกน้องเป็นน้องสาวคลานตามกันมาคอยช่วยเหลือ มีแม่ผัวรัก แต่เรณูนั้นมีเพื่อนคู่คิดอีกด้วย...คิดแล้วก็รู้สึกเจ็บใจ ‘คนทำเลว’ ทำไมถึงได้เสวยสุข กฎแห่งกรรมทำไมมันไม่ยุติธรรมอย่างที่คนโบราณเขาว่า
แต่ก่อนขอตัวออกมาข้างนอก ระหว่างที่คุยกันอยู่ พิไลที่พยายามปรับน้ำเสียงให้เป็นปกติก็เห็นว่า ‘สายสร้อย’ ในคอของเรณูนั้นมัน บาดตา บาดใจเหลือเกิน ถ้าเรณูยังต้องหาบของออกจากโรงสีตั้งแต่เช้ามืด แล้วถูกโจรมันจี้เอาทองที่ใส่ล่อตาล่อใจไป ก็คงจะจับมือใครดมไม่ได้ เหมือนกับที่หมอเบี้ยวว่าไว้...
************
เดินออกมาหน้าร้านแล้ว พิไลก็ดึงประสงค์ออกมาที่หน้าร้าน คะเนว่าพ้นหูพ้นตาของกมลแล้วพิไลก็บอกว่า
“เฮีย... เฮียไม่ต้องอยู่กินข้าวเย็นที่นี่นะ แล้วต่อไปเฮีย อย่าไปกินอะไรของอีเรณูอีกเด็ดขาด”
“ทำไมล่ะ”
“ฉันไปสืบเรื่องมาละ อีเรณูน่ะ มันทำของใส่ม้า ใส่เฮียใช้จริงๆ”
“ใครบอก”
“ฉันรู้มาละกัน ตอนนี้ ก็กำลังหาวิธีแก้ไขอยู่ เฮียต้องช่วยฉันด้วยนะ นี่ฉันได้น้ำมนต์มาจากวัดที่บ้าน เดี๋ยวต้องหาวิธีเอาให้ม้ากิน และอาบ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือเปล่านะ ทางที่ดี ต้องสืบให้ได้ว่า มันไปทำของจากที่ไหน เพราะหมอที่ดูให้ เขาบอกว่าของที่มันใช้แรงมาก แกเลยช่วยอะไรไม่ได้ แล้วอีกอย่างช่วงนี้ ม้าดวงตกด้วย เลยผีซ้ำด้ามพลอย”
ประสงค์นิ่งฟัง พิไลเห็นว่าเขาอาจจะไม่เชื่อจึงเสริมว่า
“เฮียก็เห็นแล้วนี่ ม้าน่ะ หน้าหมองคล้ำทั้งที่อยู่แต่ในร่ม แล้วก็พูดดีกับมันอย่างกับไม่เคยเกลียดกันมาก่อน นี่ก็ไม่รู้แอบเอาอะไรให้มันอีกหรือเปล่า เงินทองที่จะไปซื้อผ้าซื้อผ่อนมาขายมาเปิดร้าน ฉันว่ามันก็คงไม่พ้นเงินของม้าหรอก น้ำหน้าอย่างมัน จะไปเอาทุนรอนมาจากที่ไหนล่ะ ที่เคยได้ตอนพลีกายขายตัวอยู่ตาคลี มันคงไม่เหลือเก็บไว้หรอก มันถึงต้องหาทางจับคนรวย ๆ มีฐานะอย่างเฮียใช้...”
ประสงค์ฟังแล้วก็พ่นลมหายใจออกมาอย่างแรง...
“นี่ฉันกำลังให้น้าเชิด ช่วยตามหาหมอเก่งๆอยู่นะ บางทีฉันอาจจะไปโน่นไปนี่บ้าง ก็ต้องบอกให้เฮียเข้าใจ ว่าฉันไปทำอะไร และที่สำคัญ มันก็ต้องมีใช้เงินใช้ทองไปบ้าง ที่ต้องบอกเฮียไว้ก่อน เดี๋ยวจะหาว่าฉันเอาเงินไปใช้ไม่ถูกเรื่องถูกทาง”
**************
เพราะต้องการเอาชนะ มงคลจึงไม่ยอมเลิกตอแย เพราะถือคติที่ว่า ‘ตื้อเท่านั้นครองโลก’ และ ‘ดักลอบต้องหมั่นกู้ เจ้าชู้ต้องหมั่นเกี้ยว’ และเป้าหมายที่เขาจะต้องเอาชนะให้ได้ในเร็ววันให้ได้ ก็คือ ‘วรรณา’ สาวน้อยที่เขาตามตื้อเกินสามรอบจนเพื่อน ๆ ในแก๊งที่เรียนหนังสืออยู่ด้วยกันบอกเขาว่า ‘ถ้าสิ้นปี มึงยังจีบไม่ติด ถึงคิวกูจีบนะโว๊ย’
เมื่อมีเวลาจำกัด เพราะวรรณาก็ต้องย้ายไปอยู่ชุมแสง เขาเองหลังเรียนจบก็คงไม่ได้หวนกลับไปอยู่ที่นั่น คงไปเรียนต่อ หรือไปทำงานต่างถิ่น ไปเห็นโลกที่กว้างใหญ่ไพศาล คงจะไม่ได้เจอกันบ่อยนัก...หากแม้น ‘สมหวัง’ วรรณาก็คงไม่สร้างปัญหาให้กับชีวิตแต่อย่างใด เป็นแน่...
“นะ วันนี้ไปลอยกระทงด้วยกันนะ...” มงคลแต่งตัวหล่อมาชวน วรรณาส่ายหน้าเบา ๆ ทั้งที่ใจนั้น หวั่นไหว กับคารมและทีท่าของเขาอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อนึกถึงสีหน้าแววตาของมาลา วรรณาก็ได้สติ...
“ออกจากบ้านไม่ได้หรอก กลางค่ำกลางคืน”
“วันลอยกระทงใคร ๆ ก็ออกจากบ้านไปเที่ยวกันทั้งนั้น แล้วท่าน้ำก็แค่นี้เอง”
“แค่นี้ก็ไม่ไป ไปชวนคนอื่นเถอะ”
“จะไปชวนใครล่ะ”
“แหม อย่าคิดนะว่า ไปทำอะไรไว้ ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น” วรรณาลองดักคอ สำหรับมงคลแล้ว ถ้าจับไม่ได้คาหนังคาเขาเรื่องอะไรจะต้องยอมรับ
“ไม่อยากไปกับเรา ก็ไม่ต้องโยนเรื่องไม่ดีมาให้เราหรอก”
“กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง”
“อยากกินอะไรล่ะ ไปกินก๋วยเตี๋ยวกันไหม ตอนนี้หิวมาก ๆ” เขาว่าพลางเอามือลูบท้อง...
“เย็นนี้ เจ๊หุย ทำกับข้าวเสร็จแล้ว”
“เพิ่งบ่ายสี่โมง ทำกับข้าวเสร็จแล้ว!”
“คนที่นี่เขากินข้าวเย็นกันเร็ว แล้วก็ไม่ค่อยออกไปไหนตอนกลางค่ำกลางคืนกันหรอก...ขอบใจนะที่มาชวน แต่ไปด้วยไม่ได้จริง ๆ อ้อ ลืมบอกไป ตอนไปชุมแสง เจ๊ฉัน ก็เพิ่งพาไปดูหนังมาก็เลยไม่อยากดูอีก...”
เมื่อวรรณาปิดประตูเขาทุกทาง มงคลจึงพ่นลมหายใจออกมาอย่างแรง แล้วก็บอกว่า “โอเค...ไม่กวนละ” น้ำเสียงน้อยใจและใบหน้าบึ้งตึง ทำให้ใจของหญิงสาวไหววูบ แต่วรรณาที่รู้ตัวดีว่า ‘เขา’ เป็นใคร และ ‘ตัวเอง’ เป็นใคร ก็ทำได้เพียงสูดลมหายใจเข้าปอด ดูทีท่าว่าเขาจะพูดอะไรต่อ ตาสองคู่ประสานกันชั่วครู่ แล้วก็เบือนหน้าหนี เรื่องอะไรที่จะยอมสบตากับเขานิ่งนาน ให้เขารู้ว่า ตัวเองกำลังหวั่นไหว
“งั้นเราไปกินคนเดียวก็ได้...ไปแล้วนะ” ว่าแล้วเขาก็หันหลัง พอเดินออกไปหน่อยก็หันมาหลิ่วตาทำเท่ให้แล้วบอกว่า
“เจอกันอีกที ตอนงานประกวดนางงามนะ จะไปถ่ายรูปให้”
*******
มาลารู้ว่าอย่างไรแล้วมงคลไม่ยอมเดินผ่านหน้าโรงเรียนเสริมสวยแน่ ๆ หญิงสาวจึงข้ามถนน แล้วเดินเลี้ยวซ้ายไปดักรอเขา มงคลที่เพิ่งเสียความมั่นใจ เดินครุ่นคิดถึงวิธีการจีบวรรณา ต้องชะงักเท้า เพราะมาลาจับแขน...
“มาลา!”
“เฮีย...ไปไหนมารึ”
“แถว ๆนี้แหละ แล้วเธอล่ะ มายืนทำอะไรตรงนี้” บอกแล้วเขาก็ขืนแขน ทำให้มาลาต้องละมือ
“หนูออกมาเดินเล่นน่ะ...ไม่คิดว่าจะเจอเฮียตรงนี้...”
มงคลเหลือบไปทางซ้ายทางขวา มาลาจึงถามต่อว่า “แล้วคืนนี้เฮียมีเพื่อนลอยกระทงหรือยัง”
“มีแล้ว ไปกับพวกเพื่อน ๆ”
“ว้า นึกว่าเฮียยังไม่มีเพื่อนไป อยากให้เฮียไปเป็นเพื่อนหน่อย...”
“ก็เพื่อนในร้านไง มีตั้งกี่คนล่ะ”
“เขาก็ไปกับแฟนของเขาซิ...นะเฮียนะ ไปลอยกระทงกัน หนูอยู่ร้านคนเดียวก็เหงา ๆ แล้วอีกอย่างหนูก็...” มาลาแสร้งทำเขินอายที่จะบอกตรง ๆ ว่า ‘คิดถึง’ คืนวันที่เคยก่ายกอดกันในโรงแรมเมื่อไม่นานมานี้...
มงคลที่เพิ่งผิดหวังจากวรรณา และก็กำลังงุ่นง่านตามประสาวัยเจริญพันธุ์ เห็นว่าการที่เขาหนีหน้าไม่มาหาหลังจากที่หลับนอนด้วยกันไปแล้ว ไม่ทำให้มาลาสาวน้อยหัวสมัยใหม่ นั้นโกรธเคืองน้อยใจ แสดงอาการหึงหวงแต่อย่างใด จึงตัดสินใจไปลอยกระทงกับหญิงสาว ที่เขาเห็นเป็นเพียงแค่ทางผ่าน! เพราะขี้เกียจไปตามตอแยผู้หญิงอื่นให้เสียความมั่นใจอีก
**********************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #27 on: 02 March 2020, 14:49:27 » |
|
ตอนที่ 28 : ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ
๒๘
หลังจากลิเกที่ทางวัดชุมแสง หามาเล่นในงานลอยกระทงเลิก ปลัดจินกรพาหมุ่ยนี้ จันตา และเรณู นั่งเรือจ้างข้ามฟากมายังตลาด ส่งสาว ๆ เข้าบ้านเรียบร้อย เขาก็เดินกลับบ้านพัก เรณูที่อาศัยนอนที่บ้านของ หมุ่ยนี้ ตะโกนตามหลังไปว่า
“ระวังผีหลอกนะคะคุณปลัด”
“พูดแบบนี้ เดี๋ยวผมก็นอนอยู่ตรงหน้าร้านนี่ซะเลยนะ เผื่อจะมีคนเห็นใจผมบ้าง”
ปลัดจินกรหัวเราะก่อนจะโบกมือให้ แล้วเดินจากไป
เรณูก็เดินตามหมุ่ยนี้ จันตา เข้ามาด้านใน ...หมุ่ยนี้ขอตัวขึ้นนอนเพราะง่วงมาก เรณูนอนกับจันตาเหมือนเดิม พอเข้าห้องมาแล้ว เรณูก็มุดมุ้งที่จันตากางไว้ตั้งแต่ก่อนออกไปเที่ยวเพราะเมื่อยขบและอ่อนล้าเต็มกำลัง ฝ่ายจันตาเจ้าของห้อง ต้องดับตะเกียงรั้ว เปิดไฟฉายแล้วตามเข้ามุ้งทีหลัง...
“เดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งดับตะเกียงนะ หยิบอัลบั้มรูปบนโต๊ะมาดูหน่อย” เรณูที่ดึงผ้าหุ่มมาคลุมตัวแล้วร้องบอก
“ก่อนไป ก็ดูไปแล้ว จะดูอะไรอีก”
“ดูรูปคนสวยก่อนนอน จะได้นอนหลับฝันดี”
“รูปใครล่ะ”
“ก็จันตาคนสวยไง” นอกจากรูปของจันตา หมุ่ยนี้ เรณู ปลัดจินกร หมุ่ยนี้ยังอัดรูปอื่น ๆ รวมถึงรูปเดี่ยวของกมลใส่อัลบั้มมาด้วย เหตุผลของหมุ่ยนี้ก็คือ ‘เอาไว้ดูตอนคิดถึงอาซามัน’
‘ใคร คิดถึง’ จันตาถามไปอย่างนั้น
‘ก็เผื่อมีใครคิดถึง...น่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ถือไม้เท้ายอดทองด้วยกัน แต่อย่างน้อย มันก็เป็นความทรงจำดี ๆ ของเธอไม่ใช่รึ จันตา’
‘เจ๊ก็พูดเอง เออเองตลอด’ ตอนนั้นจันตาส่ายหน้าระอา แต่ลึก ๆ ในใจ ยามเมื่อนึกถึง กมล จันตาก็บอกตัวเองว่า มันเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่ยากจะลืมเลือน สบตากับเขาครั้งใด จันตารู้สึกว่าดวงตาที่ว่ากันว่า เป็นหน้าต่างหัวใจของตน มันเผลอแย้มประหนึ่งมีลมมากระชากให้เขามองเห็นภายในใจเหมือนกัน ความรู้สึกพอใจ พึงใจ และประทับใจนั้น จันตารู้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องเค้น เหมือนยามที่มองสบตากับปลัดจินกร
แม้แต่รูปถ่ายของกมลในอัลบั้ม ตอนอยู่ตามลำพัง จันตาก็นั่งดูอยู่เป็นนานสองนานเหมือนกัน...
“พรุ่งนี้ค่อยดูแล้วกันนะ ดึกแล้ว ง่วงนอนตาจะปิดแล้ว” ว่าแล้วจันตาก็ดับตะเกียงถือไฟฉายแล้วมุดมุ้งเข้ามา แต่พอล้มตัวลงนอน ที่ว่าง่วงนั้น ทั้งคู่กลับนอนลืมตาโพลง...
“ต่อไปเราจะมีโอกาสได้นอนด้วยกันแบบนี้อีกหรือเปล่าก็ไม่รู้เนอะ...” เรณูเป็นฝ่ายชวนคุย
“ทำไมล่ะ”
“เธอแต่งงานกับคุณปลัดแล้ว เดี๋ยวก็ต้องย้ายไปไหน ๆ กัน โอกาสที่จะได้มาอยู่ด้วยกัน เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนกัน ไปเที่ยวไหนด้วยกัน คงจะไม่มีแล้ว”
“ฉันดีใจที่ได้รู้จักกับพี่ แต่พี่อย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงขนาดนั้นเลย...จะได้แต่งกันหรือเปล่าก็ยังไม่รู้”
“ก็ไหนเจ๊นี้เขาบอกว่า คุณปลัดเขียนจดหมายพร้อมแนบรูปถ่ายไปบอกพ่อแม่เขาให้รู้เรื่องคร่าวๆ แล้วไม่ใช่รึว่าจะแต่งกับเธอ แล้วเจ๊เขาก็เตรียมการจัดงานไปบ้างแล้วนี่”
“ก็พ่อแม่เขายังไม่ได้ตอบมา พี่อย่าลืมซิว่า ฉันมันจน จนแล้วไม่เจียมตัวอีก”
“พี่ไง จนแล้วไม่เจียมของแท้”
“พี่กับฉันมันต่างกัน ฉันจนแล้วโง่ด้วย แถมยังขี้ขลาดตาขาวอีก”
“ขนาดตาขาว ยังออกจากบ้านมาจนไกลได้ถึงเพียงนี้ เธอไม่ใช่คนขี้ขลาดหรอก”
ได้ยินดังนั้น จันตาก็นิ่งเงียบ ด้วยรู้อยู่แก่ใจว่า ที่ต้องระเห็จมาจากอุตรดิตถ์นั้นเป็นเพราะเหตุใด...
“นี่ คุณปลัดเขามีแผนในอนาคตอะไรกับเธอบ้างไหม”
“เขาอยากให้ฉันเป็นแม่บ้าน เป็นเมีย เป็นแม่ของลูกเขาเท่านั้นแหละ แต่เอาตามตรงนะพี่เรณู ฉันเห็นพี่ขายขนม เห็นวรรณาเป็นช่างเย็บผ้า ฉันก็อยากมีวิชามีอาชีพของฉันเองบ้าง เพราะวันหน้า ถ้า...เอ่อ ถ้าชีวิต มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้ ฉันก็จะได้มีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้”
“แต่งแล้วก็ขอคุณปลัดไปเรียนซิ เรียนตัดผ้าหลักสูตรเร่งรัดก็ได้ หรือถ้ายังไม่ย้ายไปไหน ยังไม่มีลูก ก็มาฝึกกับวรรณามันก็ได้ มันคงสอนให้ได้หรอก พอย้ายไปที่มีโรงเรียนใกล้ ๆ ก็เรียนเพิ่มเติมเอา ซื้อจักรสักตัวเย็บบ่อย ๆ เดี๋ยวมันก็ชำนาญ”
“เป็นความคิดที่ดีมากเลยพี่ ทำไมฉันคิดไม่ได้นะ”
“คิดอะไรไม่ออก ถ้าเกรงใจที่จะให้เจ๊หมุ่ยนี้ช่วยคิด ก็มาปรึกษาพี่...สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว พี่ว่านอกจากผ้าแล้ว ก็พวกของกินนี่แหละ วันหน้ามันยึดเป็นอาชีพได้ คนเรามันกินกันตั้งแต่เกิดยันตายนั่นแหละ ขอให้ทำให้อร่อยเท่านั้น”
“เรื่องค้าขายนั้น ฉันไม่ค่อยกล้าหรอก แล้วคนภาคเหนือกับภาคกลางกินอาหารคนละรสกัน อร่อยฉันก็เป็นแบบหนึ่ง อร่อยทางนี้ก็แบบหนึ่ง...ลำพังฉันเอง ถ้าไม่เรียนตัดผ้า ฉันก็อยากเรียนเสริมสวย...”
“ใช่ ผู้หญิงบอบบางอย่างจันตามันต้องงานเสริมสวย...ขนาดไม่ได้เป็นช่างเองยังสวยขนาดนี้ ถ้าเรียนแต่งหน้า ทำผม ใส่เสื้อผ้าดี ๆ จะสวยไปกันใหญ่ อย่างไรก็ลองคุยกับคุณปลัดเขาดู เผื่อเขาเห็นด้วย ถ้ามีโอกาสก็จะได้ไปเรียน”
“บอกตามตรงนะ บางทีฉันก็รู้สึกกลัว ๆ คุณปลัด”
“กลัวอะไร เขาไม่ใช่คนถือยศ ถือศักดิ์ อะไรสักหน่อย เพียงแต่เขาเป็นคนไม่ค่อยยิ้มก็เท่านั้นเอง”
“ตำแหน่งหน้าที่เขา ชุดที่เขาใส่ มันดูน่าเกรงขาม เห็นทีไรเหมือนเขาเป็นเจ้านาย”
“ว่าไปมันก็จริงอยู่ เขาเป็นข้าราชการ แต่เรามันลูกชาวบ้านธรรมดา ๆ การศึกษาต่ำซะอีก...” ว่าแล้วเรณูก็พ่นลมหายใจออกจากปาก แล้วบอกว่า
“แต่ตอนนี้ก็ถอยไม่ได้ซะแล้ว เพราะคนใส่ชุดพ่อค้า ก็ดันไปเป็นชาวนาซะแล้ว”
“พี่หมายถึงอาซาใช่ไหม”
“อือ อาซา พรุ่งนี้มันก็กลับฆะมังแล้ว ไปผจญเวรผจญกรรมของมันไป อยู่ทางนี้ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้ชีวิตน้องมันไปดีมีชัย...อย่าได้แต่งไปเพื่อไปรับใช้คนบ้านนั้นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้เลย...”
จันตานิ่งเงียบ...ส่วนเรณูที่เงียบไปอึดใจ ก็เอ่ยถึงเรื่องที่ยังคาใจว่า
“จันตา พี่ถามอะไรหน่อยได้ไหม...ตอบก็ได้ไม่ตอบก็ได้นะ...”
“เรื่องอะไรพี่”
“เรื่องอาซา...คือ เธอ รู้สึกอย่างไรกับอาซา”
“ถามทำไมพี่...” จันตารีบพลิกตัวตะแคง เรณูเห็นดังนั้นจึงบอกว่า
“ก็อยากรู้ว่า อาซามันทำให้เธอหวั่นไหวได้บ้างหรือเปล่านะ เพราะเธอทำอาซาหวั่นไหวได้แล้วแน่ ๆ”
“ถ้าตอบตามตรง มันก็มีบ้าง”
“ถ้าเทียบกับคุณปลัดมันมากกว่าใช่ไหม”
“มีประโยชน์อะไรที่จะพูดถึง...ถึงหนูจะชอบอาซา ถึงอาซากับหนูจะรักกัน แล้วพี่คิดรึว่า มันจะลงเอยด้วยการแต่งงานกันได้ พี่ก็รู้นี่ ปัญหาของจันตาคนนี้ มันคืออะไร”
เรณูที่ตะแคงตัวมาฟัง พลิกตัวกลับแล้วถอนหายใจเบา ๆ... ที่จันตาพูดก็ถูก เพราะจันตานั้นจนยาก จึงยากที่นางย้อยจะเห็นดีเห็นงามด้วยแน่...แล้วเรื่องของเธอเอง ลำพังถ้าไม่ทำ อย่างที่ทำลงไป...มันก็คงไม่ได้เป็น อย่างที่กำลังเป็นอยู่หรอก...แต่สำหรับเรื่องนี้ วันหนึ่งถ้าอาซามันรู้ว่ามันสามารถทำให้จันตาหวั่นไหวได้ มันก็คงจะรู้สึกมีความสุขอยู่ไม่น้อย เพราะความรักนั้น แม้ไม่ได้ครอบครองแค่ให้รู้ว่า เขาก็รักเรา เหมือนที่เรารักเขา มันก็ทำให้หัวใจเป็นสุขได้เหมือนกัน...
************
พอรู้ว่าก้านกลับมาจากกรุงเทพฯ เพราะว่านางกุ่นไม่สบาย เพียงเพ็ญที่เป็นกังวลว่าก้านจะไปแล้วไปลับ ก็ดีใจจนเนื้อเต้น เพราะแผนที่วางไว้ กำลังจะเป็นไปอย่างที่ใจมุ่งหวัง...
อีกไม่กี่เดือนหรอก ท้องของเธอก็จะใหญ่โตขึ้น ‘บอก’ ให้ อาซาของอาศรี รับรู้ว่าเธอไม่ได้อ้วนท้วนมีน้ำมีนวลเพราะกินอิ่มนอนหลับ แต่ร่างกายเปลี่ยนแปลงเพราะเธอตั้งครรภ์... เมื่อนั้นเพียงเพ็ญมั่นใจว่า กมลจะต้องเก็บผ้ากลับบ้านไปอย่างแน่นอน...ถึงตอนนั้น ใครก็ว่าอะไรเธอไม่ได้...เพราะถึงลูกจะไม่มีพ่อ ก็ยังได้ขึ้นชื่อว่าแต่งงานแล้ว แล้วพ่อตัวจริงของลูก ก็จะได้เข้ามาแทนที่โดย ไม่มีใครมาค้านว่าก้านไม่คู่ควรกับเธออีก...
ช่วงนี้ ต้องรีบบอกให้ก้านรับรู้ว่า ให้รออีกนิด อย่าเพิ่งไปไหนอีก ทุกอย่างกำลังจะจบลงด้วยดี...
พอจุกกลับมาจากโรงเรียน เพียงเพ็ญเลือกใช้จุกเป็นคนเดินสารเหมือนเดิม...
“เอาจดหมายนี่ไปให้พี่ก้านหน่อยนะ...ให้กับมือเขา อย่าให้ใครเห็นเด็ดขาด รู้ไหม”
“แล้วถ้าพี่ก้านไม่อยู่ล่ะ”
“ถ้าไม่อยู่ก็เอากลับมาก่อน พรุ่งนี้ค่อยไปใหม่ อย่าฝากใครไว้นะ”
“แล้วถ้าพี่ก้านอยู่กับคนอื่นล่ะ”
“ก็ เรียกพี่ก้านออกมาหา อ้อ แล้ว อย่าไปบอกกับใครละ ว่า พี่ให้แก ถือจดหมายไปให้พี่ก้าน รู้ไหม”
“ทำไมรึ”
“เรื่องของผู้ใหญ่ เด็กอย่างแก ไม่ต้องรู้เหตุผลหรอก...ทำตามที่พี่สั่งก็พอ...แล้วนี่ ค่าเดิน”
เพียงเพ็ญส่งเงินให้จุกไปหนึ่งบาท จุกที่นุ่งกางเกงนักเรียนสีน้ำตาลเก่าคร่ำคร่า ไม่ได้สวมเสื้อ ปราศจากรองเท้า รีบคว้าจดหมายมายัดใส่กระเป๋ากางเกง แล้ววิ่งออกจากบ้านไป...
นางแรม ที่อยู่บนนอกชาน เดินมาเห็นตอนจุกวิ่งไปพอดี จึงเอ่ยถามว่า “ใช้ไอ้จุกไปซื้ออะไรรึ”
เพียงเพ็ญที่นั่งอยู่ที่ตีนบันได ไม่ได้หันไปมอง แต่ก็ตอบไปว่า “ให้ไปซื้อขนมถั่วทอดน่ะ นึกอยากกิน”
นางแรมค่อย ๆ เดินจับราวบันไดลงมาหา แต่ก็ไม่ได้นั่งลงแต่อย่างใด...
“ป้าถามอะไรหน่อยได้ไหม หนูกับ พ่อซามีอะไรกันหรือยัง” เพราะนางแรมต้องเข้าไปเก็บกวาดห้องนอนของเพียงเพ็ญ จึงยังเห็นที่นอนของหลังเล็กและมุ้ง ถูกปูและกางใช้เหมือนทุกวัน...
“ถ้าหนูตอบว่ายังล่ะ”
“ฮ้า...”
“ไม่ห้า ไม่สิบ หรอกป้า เรื่องจริง หนูบอกแล้วไง ว่าต่อไปชีวิตหนู จะต้องเป็นของหนู...”
“แล้วนี่ถ้าพ่อซาเขารู้ว่าหนูท้อง เขาจะทำอย่างไร”
“ถ้าป้าเป็นเขา ป้าจะทำอย่างไรล่ะ” ถามแล้วเพียงเพ็ญก็ลุกขึ้นจากบันได ผละเดินไปทางท่าน้ำ...
นางแรมมองตามไปแล้วตบอกตัวเองเบา ๆ ใจนั้นรู้สึก ‘เสียดาย’ คนดี ๆ ยิ่งกว่าตอนที่เสียดายเงินค่าหวยใต้ดินเสียอีก
**************
เมื่อเห็นกมลกำลังเดินสวนมา จุกที่ดีใจว่ามีเหรียญบาทนอนนิ่งอยู่ในกระเป๋ากางเกง วิ่งสลับเท้าพลางถือกิ่งไม้ละไปตามต้นหญ้าข้างทาง ต้องหยุดชะงัก...แม้ว่าจะอายุแค่ 8 ขวบ แต่จุกก็รู้ว่า พี่เพียงเพ็ญนั้นเคยรักใคร่อยู่กับพี่ก้านมาก่อนจะถูกบังคับให้แต่งงานกับพี่ซา ซึ่งจุกรู้สึกว่า พี่ซาเป็นคนใจดี มีความเอื้ออารีย์กับคนงาน ผิดกับกำนันศรและอาแปะ หลงจู๊โรงเลื่อยที่ชอบใช้เสียงดังเวลาสั่งงาน และดุด่ายามที่คนงานทำงานไม่ดั่งใจ
“ไปไหนรึจุก...”
“เอ่อ...ไป ไป บ้าน อาศรี”
“ไปซื้ออะไร”
“ซื้อหนมกิน ไปแล้วนะ” ว่าแล้วจุกก็รีบเดินอย่างเร็ว...โดยไม่แม้จะเหลียวหลังไปมองว่า กมลนั้นมองตามหลังมาหรือเปล่า...พอถึงบ้านนางศรี นางศรีที่กำลังไสน้ำแข็งให้เด็ก ๆ ก็ถามว่า
“ไปไหนล่ะไอ้จุก”
จุกรู้สึกลำบากใจที่จะต้องโกหกไปตามรายทาง ทำหน้าปั้นยาก ก่อนจะบอกว่า “ไปธุระ”
“ชะ ธุระอะไร ของมึง” นางศรีเอ่ยถาม
“ธุระแล้วกันป้า ไปละนะ เดี๋ยวกลับมากินน้ำแข็งนะ เก็บไว้ให้ด้วย” ว่าแล้วจุกก็รีบเดินไปอย่างเร็ว พอมีคนทัก จุกก็บอกว่า “ไปธุระ” อย่างที่ได้ตอบนางศรีไป จนกระทั่งเดินถึงบ้านของก้าน ที่ดูเงียบเชียบเหมือนไม่มีใครอยู่ จุกชะเง้อพลางเพ่งพิศก็เห็นว่า ที่หลังคาหญ้าคามีควันกรุ่น ๆ ลอยออกมา แสดงว่ามีคนอยู่ตรงนั้น จุกเดินเข้าไป พอถึงตีนบันได จุกก็เห็นบังอรเดินออกมาหา...
“มาทำไมรึไอ้จุก”
“มาหาพี่ก้าน พี่ก้านอยู่ไหม”
“ไม่อยู่หรอก พาป้ากุ่นไปหาหมอ...แล้วเอ็งมีธุระอะไรกับพี่เขา....”
“ไม่มี”
“ไม่มีแล้วมาหาทำไม” บังอรถามเสียงห้วน
“ได้ข่าวว่าพี่ก้านกลับมาแล้วก็อยากมาหา อยากรู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้างน่ะ...”
“อย่างงั้นรึ”
“พี่ก้านไม่อยู่ งั้นหนูกลับแล้วนะ...” ว่าแล้วจุกก็รีบวิ่งออกจากลานบ้านของก้าน โดยใจก็คิดว่า วันนี้ยังทำงานไม่สำเร็จ พรุ่งนี้ต้องทำใหม่ ก็คงจะต้องได้ค่าจ้างอีกรอบแน่ ๆ....
********************
พอก้านได้รับจดหมายจากบังอร บอกเล่าอาการของแม่ว่าไอจนเป็นเลือด มีอาการเหนื่อยหอบ จนกินข้าวกินปลาไม่ได้ เขาก็รีบเก็บผ้าใส่กระเป๋า ลา ‘อาหนั่น’ หัวหน้าวงดนตรีที่อาสิทธิ์พาไปฝากไว้กลับบ้านทันที
...เพราะช่วงอยู่ที่นั่น ก้านค้นพบว่าเขาคงไม่เหมาะที่จะเป็นคนในเมืองหลวง บ้านของอาหนั่นอยู่ในชุมชนแออัดริมคลอง คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นน้ำครำ ตัวบ้านก็คับแคบต้องนอนเบียดเสียดกัน เรื่องปากเรื่องท้องก็หากินลำบาก จะคว้าอะไรเข้าปาก ก็รู้สึกอึดอัดใจ เพราะอาหนั่นมีลูกอยู่เป็นโขยง ส่วนความหวังเรื่องที่จะเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงนั้น ก้านเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นักหรอก
สู้กลับบ้านไปเป็น “ไอ้ก้าน” คนจนคนยาก มีชีวิตอิสระอยู่กับไอดินกลิ่นทุ่งเสียดีกว่าเป็นคนโง่เซ่อซ่าอยู่ในที่ยากจะปรับตัวให้คุ้นเคยได้
ก้านลงรถไฟที่สถานีชุมแสงในตอนเช้าตรู่ เขารีบเดินไปยังฆะมัง พอถึงบ้านก็เห็น บังอร กับเปีย ลูกสาวคนเล็กของอาสิทธิ์ เฝ้าปรนนิบัติดูแลแม่ของเขาอยู่...เขาขอบอกขอบใจบังอรเป็นการใหญ่ และพอเห็นว่าแม่อาการหนักเกินกว่าจะพึ่งพายาหม้อ ยากลางบ้าน หรือยาหมอตี๋ได้อีก บังอรก็แนะนำให้เขาพาแม่ไปหาหมอที่เรียนจบการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะมาเปิดคลินิกทำการตรวจรักษาโรค เฉพาะวันเสาร์ วันอาทิตย์
ปัญหาของเขา คือเขาไม่มีเงินพอจะรักษาแม่ เพราะเงินเก็บหอมรอมริบจากการเกี่ยวข้าวเมื่อก่อนไปอยู่กรุงเทพฯ ก็ถูกใช้ไปจนหมดแล้ว เงินค่ารถไฟกลับมาชุมแสง เขาก็ขออาหนั่นกลับมาพอดีกับค่ารถไฟ ระหว่างทางแม้จะรู้สึกหิวโหยน้ำลายไหลเมื่อเห็นพ่อค้าแม่ค้าเอาของกินขึ้นมาขาย เขาก็ทำได้เพียงหลับตากลั้นลมหายใจเพื่อไม่ให้กลิ่นหอมของอาหารมาทำให้เขาทุกข์ทรมานมากไป...
เขาบอกถึงปัญหาของตัวเอง ให้บังอรรับรู้...
“เอาอย่างนี้ พี่ไปยืมเงินแม่ฉันก่อนแล้วกัน แล้วพี่ค่อยเกี่ยวข้าว หรือทำงานอื่นใช้ทีหลัง”
“แต่มันคงเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยนะบังอร”
“น่า...ไม่เป็นไร ถ้าพี่ยังอยู่ฆะมัง หนี้สินนี้จะต้องหมดแน่ ๆ เดี๋ยวฉันจะคุยกับแม่ให้...ตอนนี้ชีวิตของแม่พี่สำคัญกว่าอื่นใดนะ”
ก้านยอมรับความช่วยเหลือจากบังอร แล้วไปหยิบยืมเรือหางยาวของอาสิทธิ์พาแม่ไปหาหมอที่ตลาดชุมแสงโดยมีหวังติดสอยหอยตามไปเป็นเพื่อนด้วย ระหว่างที่นั่งรอหมอตรวจโรค หวังก็บอกกับก้านว่า
‘พี่ทิด เห็นทีว่าฉันจะเอาชนะใจอีบังอรมันไม่ได้หรอก ถ้าพี่ทิดจะคิดจะลงเอยกับมัน ฉันก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะ’
‘แม่กูป่วยอย่างนี้ กูยังไม่มีอารมณ์พิศวาสอยากได้ใครมาทำเมียหรอก’
‘แต่อีบังอรมันอยากได้พี่เป็นผัวจนตัวสั่นละ ฉันรู้ ไม่งั้นมันไม่เสนอตัวมาเฝ้าดูแลแม่พี่โดยไม่สนใจเสียงชาวบ้านหรอก อย่างไรก็สังเคราะห์มันหน่อยละกัน ไม่ต้องห่วงความรู้สึกของฉันนะ ฉันตัดใจได้แล้ว และยอมใจมันแล้ว’
เมื่อหวังออกตัวอย่างนั้น ก้านก็รู้สึกคลายความกังวล เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า ที่บังอรทำดีกับแม่เขานั้นเพราะหวังอะไร...เขาเองช่วงที่อยู่ไกลจากฆะมัง แม้จะยังลืมเพียงเพ็ญไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่า ทางนั้นจะไม่มีสาว ๆ เข้ามากวนตัวกวนใจ แต่เขาก็รู้ดีว่า ความสัมพันธ์กับคนเหล่านั้น ทำได้เพียงอาการหมาหยอกไก่ เพราะ ‘ไก่สาว’ ก็มี ‘หมาเจ้าถิ่น' หวังตะครุบตัวอยู่ก่อนหน้าแล้ว...ทะเร่อทะร่าเล่นกับอีสาวไม่ดูตาม้าตาเรือ เขาก็รู้ว่าจะต้องตกที่นั่งลำบากกว่าเดิมเป็นแน่...
หลังพาแม่กลับมาถึงบ้าน ก้านก็นำเรือหางยาวกลับไปส่งคืนอาสิทธิ์แล้วก็เดินกลับมาบ้านด้วยสีหน้าเต็มไปด้วยความหนักใจ เพราะค่ายารักษา ‘โรควัณโรค’ นั้น หนักเอาการ
“พี่หวังล่ะพี่” บังอรที่นังคอยอยู่ที่หัวบันไดเอ่ยถาม
“กลับบ้านมันไปแล้ว แม่เป็นอย่างไรบ้าง กินข้าวได้ไหม”
“กินข้าวต้มไปคำสองคำ กินยาแล้วก็เข้ามุ้งนอนไปแล้ว”
“เอ็งจะกลับบ้านเลยไหม พี่จะได้ไปส่ง”
“อยู่คุยกับพี่ก่อนก็ได้นี่...พี่หิวข้าวหรือยัง ฉันจะหาให้กิน...”
“แล้วเอ็งกินหรือยัง”
“ยัง รอพี่”
“หมอว่าต้องแยกข้าวของเครื่องใช้ของแม่ แล้วก็ต้มถ้วยจานชามช้อนให้หมด...ไม่งั้นคนที่อยู่ด้วยจะพลอยติดโรคนี่ไปด้วย...พี่ว่าเอ็งก็ต้องระวัง ๆ ตัวไว้เหมือนกันนะ...ติดโรคไปขึ้นมาละ ยุ่งแน่”
แม้จะมีความหวาดหวั่นต่อโรคร้าย แต่อารมณ์อยากเอาชนะใจก้านมีมากกว่า บังอรจึงบอกว่า
“คงไม่ติดหรอกพี่...มา ๆ พี่ขึ้นมากินข้าวก่อนดีกว่า...ข้าวยังร้อน ๆ อยู่เลย ฉันทอดปลาเกลือ ต้มไข่ ต้มผัก แล้วก็ทำน้ำพริกตาแดงไว้รอพี่...”
“ไฟในเตามอดหมดหรือยัง ถ้ายังก็เติมถ่านสักหน่อย ต้มจาน ชาม ช้อน ขันน้ำซะ หมอว่าป้องกันไว้บ้างก็ดี”
“ได้เดี๋ยวฉันช่วยจัดการให้ แต่ฉันว่าพี่กินข้าวก่อนเถอะนะ ตอนนี้น่ะพี่ผอมไปเยอะเลย อยู่ทางโน้น ไม่ค่อยได้กินข้าวหรืออย่างไร”
“กิน แต่...กลืนอะไรไม่ค่อยลง ห่วงแม่ คิดถึงบ้าน ...ไป งั้นไปกินข้าวกัน เอ็งจะได้รีบกลับไปบ้าน เรื่องต้มข้าวของ เดี๋ยวพี่ทำเองดีกว่า”
“เดี๋ยวฉันช่วย” บังอรยังยืนกราน
“แต่มันจะดึก...แม่เอ็งจะเป็นห่วง”
“ตอนที่พี่ยังไม่กลับมา ฉันก็มานอนที่นี่ตั้งหลายคืน คืนนี้กลับช้าหน่อย พ่อแม่คงไม่ว่าอะไรหรอก ฉันยินดีเต็มใจช่วย!”
ก้านนิ่งคิด สบตาของบังอรที่มองเขาด้วยความเสน่หา เย้ายวน และเชื้อเชิญ... ก้านที่เคยสัมผัสเพศรสมาแล้วเริ่มรู้สึกร้อนรุ่ม...เมื่อบังอรเสนอตัว เต็มใจ และพร้อมจะเป็นเมียของเขาเสียตั้งแต่ยังไม่ได้ตกแต่งให้ถูกต้องตามประเพณี เรื่องอะไรที่เขาจะต้องปฏิเสธให้โง่ด้วยล่ะ
...คิดได้ดังนั้น ก้านก็ล้างเท้าแล้วเดินขึ้นเรือน!
*******
เช้าวันนั้น พอรู้ว่าเรณูที่หาบขนมออกมาจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ ถูกปล้นจี้ชิงสร้อยคอทองคำหนักสองบาทไป ชาวบ้านร้านตลาดต่างก็กล่าวขานกันไปทั่ว...
พิไลที่รู้เรื่องในตอนสาย ๆ พูดขึ้นมาว่า “ตอนเห็นอาซ้อใส่สร้อยจนคอแดง ฉันก็นึกแล้วว่ามันจะต้องเกิดเรื่องแบบนี้ แต่ครั้นจะพูดเตือนให้ระวังตัว ก็กลัวจะมาหาว่าฉันอิจฉาริษยาที่เห็นพี่มีสร้อยใส่ แล้วอีกอย่างฉันเอง ก็ใส่สร้อยคอเหมือนกัน”
นางย้อยนิ่งฟัง...แล้วก็บอกว่า “ไม่เป็นไร เสียแล้วเสียไป หาเอาใหม่ได้”
“ทองตั้งสองบาทนะม้า หาได้ง่ายๆ ที่ไหน ดีนะที่ไม่ใส่ข้อมือออกมาด้วย แล้วก็ดีนะ ที่มันแค่กระชากสร้อยไป ไม่ตบตีทำร้ายร่างกายด้วย”
“ไปแจ้งความไว้ดีกว่า” ประสงค์ออกความเห็น
“แจ้งไปก็ไม่ได้ของคืนหรอกเฮีย ป่านนี้ทองถูกหลอมขึ้นเส้นใหม่ไปแล้ว” พิไลทำเป็นเสียงเครียด เรณูซึ่งเป็นเจ้าทุกข์ กลืนน้ำลายลงคอแล้วบอกว่า
“อย่างไรก็ต้องไปแจ้งไว้ ไอ้คนชั่วมันจะได้ไม่ชะล่าใจว่าทำผิดแล้วไม่มีความผิดติดตัว” สายตาของเรณูนั้นคุกรุ่น แม้จะไม่เห็นหน้าคนร้ายเพราะมันโพกผ้ามิดชิด แต่หุ่นและเสียงของมันตอนที่เรณูละหาบแล้วจับมือมันไว้ เรณูมั่นใจว่า ถ้าได้ยินอีก ก็จะต้องจำได้ ...แต่ถึงจำไม่ได้ เรณูก็มั่นใจว่า คนที่อยู่เบื้องหลัง คงไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก อาจจะเป็นอีคนที่พูดเหมือนเห็นอกเห็นใจ ผสมอยู่กับความสาแก่ใจนี่แหละ...
เมื่อคิดจะเล่นกับอีเรณู ก็จะได้รู้กันว่า คิดผิดซะแล้ว...
เรณูเริ่มเดินเกมให้นางย้อย ต้องให้สร้อยเส้นใหม่แทนสร้อยเส้นนั้น ก่อนจะไปดูวรรณาประกวดนางงามในทันที...
เริ่มจาก ปกติ ทุกวัน ๆ เรณูจะแบ่งขนมที่ขายจัดใส่จานมาวางไว้บนโต๊ะ วันละ สี่ห้าห่อ จนถึงสิบห่อ เพื่อให้ พิไล ป้อม บุญปลูกกินด้วย...ก็เปลี่ยนมาเป็นออกจากบ้านในตอนบ่ายสาม บ่ายสี่โมงเย็น มาหุงข้าวทำกับข้าวให้นางย้อยกับเจ๊กเซ้งกินในตอนเย็น...โดยเรณูให้เหตุผลว่า
“หนูอยากตอบแทนบุญคุณของแม่ของเตี่ยให้มาก ๆ ยิ่งขึ้น ถ้าไม่ได้แม่กับเตี่ย ชาตินี้เห็นทีหนูก็คงไม่มีร้านรวงเป็นของตนเอง และอีกอย่าง อาเจ๊หมุ่ยนี้ เขาก็บอกกับหนูว่า ปกติธรรมเนียมจีนน่ะ สะใภ้ใหญ่จะต้องคอยปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สามีรวมถึงน้อง ๆ ของสามีจนสุดกำลัง หนูคิดว่า หนูควรทำตามธรรมเนียมที่ดีงาม เพื่อความสุขความเจริญในชีวิตของเฮียใช้ ของหนูด้วย...”
นางย้อยได้ฟังก็จนด้วยเหตุผล และที่สำคัญ ‘รสมือ’ ของเรณูนั้นถูกปากนางย้อยเป็นอย่างมาก...
นางย้อยเป็นคนไทย ชอบอาหารคาวรสเผ็ดมันจัดจ้านถึงเครื่องเครา ถ้าเป็นขนมก็ต้องหวานมันใช้กะทิข้นควัก..
และเมนูที่เรณูทำแล้วถูกปากนางย้อยเป็นที่สุด ก็คือ พวกขนมน้ำที่ไม่เคยทำขายอย่าง บัวลอยสามเกลอ และขนมต้มญวน ที่เนื้อแป้งกับไส้เมื่อเคี้ยวแล้วกลมกล่อมเข้ากันเป็นที่สุด...จนนางย้อยเอ่ยปากว่า
“ว่าไปแล้ว ถ้าเธอทำขนมน้ำพวกนี้ขาย รับรองว่า ขายดีพอ ๆ กับพวกขนมถาดอีกนะ...”
“ถ้าอย่างนั้น ตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ หนูขายขนมน้ำที่หน้าร้านดีไหมแม่” “จะไหวรึ ก็ไหนว่าจะขายข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมูอะไรนั่นไง ไหนจะงานในร้านอีก”
“งานผ้ามันก็มีวรรณาทำอยู่แล้ว ถ้ามันขายดีก็จ้างลูกจ้างเพิ่มก็ได้ ส่วนงานขนมถ้าทำได้มันก็เงินทั้งนั้นเพราะมันซื้อง่ายขายได้คล่องกว่า เก็บเล็กผสมน้อยไปก็เป็นเงินก้อนใหญ่ได้ แม่ว่าจริงไหมล่ะ”
“จริง แต่มันจะเหนื่อย...”
“เป็นลูกสะใภ้ของแม่ จะต้องเก่งให้ได้เหมือนแม่ซิ มีคนบอกหนูว่าตะก่อนน่ะแม่กับเตี่ยลำบากกันมาก”
นางย้อยกับเรณูคุยกันกระหนุงกระหนิง โดยไม่สนใจหรอกว่า พิไลนั้น เคืองแค้นเพียงใด เพราะน้ำมนต์ที่ได้มาจากวัด แม้พิไลจะพยายามผสมน้ำมาให้นางย้อยกินตอนที่เรณูไม่อยู่ก็ดูจะไม่มีผลอะไร เพราะ แค่ ‘น้ำ’ หรือ จะสู้ ‘เนื้อ’ ที่พิไลก็ไม่รู้ว่า ‘ของดี’ ที่เรณูใช้นั้น ‘ใส่’ ในข้าวหรือขนม...
แต่ตั้งแต่วันนั้น พิไลก็ไม่ยอมแตะอาหารที่เรณูทำอีกเลย โดยพิไล อ้างว่า
“ฉันกับเฮียตง รับเงินเดือนเงินพิเศษ จากม้าไปแล้ว ยังจะกิน หวานกินคาวในบ้านม้าอีก เห็นทีจะดูไม่ดี...จะทำอะไร ก็ทำเผื่อแค่ม้ากับเตี่ยก็พอแล้ว”
ทุกเย็น แม้จะน้ำลายสอเพราะกลิ่นที่ลอยมาเตะจมูก แต่พิไลก็อดทนเอา...โดยคิดในใจว่าอีกไม่นานหรอก เดี๋ยว มันก็ ‘ดีแตก’
แต่กว่าจะถึงเวลานั้น พิไลก็แทบจะกรีดร้อง เมื่อเห็นว่า ช่วงสาย ๆ ของวันที่เรณูไม่ได้ทำขนมขาย เพราะจะต้องไปดูวรรณาประกวดนางงาม เรณูที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดคือนุ่งกางเกงสีแดงสวมเสื้อพื้นเหลืองดอกเขียวแดงคอกว้างเผยให้เห็นสร้อยคอที่หนักราว ๆ สองถึงสามบาท แล้วตอนที่เรณู บอกกับพิไลว่า
‘ตอนแรกก็ว่าจะไปกันแค่ หมุ่ยนี้ จันตา ปลัดจินกร แต่พอม้าเขารู้ว่า ไปกันแค่คืนเดียว พรุ่งนี้ก็กลับ ม้าก็เลยจะไปด้วยกัน เพราะจะได้มีเพื่อนไปคุยเรื่องตึกเรื่องห้องที่โน่นด้วยเลย’
เรณูก็ยกมือลูบไหล่ลูบคอแล้วดึง สร้อยคอคลำเล่นไปด้วย...สายตานั้น เปิดเผยให้พิไลรู้ความในใจว่า
‘ไม่ต้องบอกมึงก็คงจะรู้นะว่า สร้อยเส้นนี้กูได้มาได้อย่างไร’
ซึ่งพิไลก็ไม่ได้ถามออกไปเพื่อให้คำตอบนั้นเป็นเหมือนหนามแหลมเสียดแทงใจของตน...แต่ใจของพิไลก็คิดว่า ถ้านางย้อยไม่อยู่ ตนก็จะได้เฝ้าเก๊ะ หรือ ถ้านางย้อยไม่ไว้ใจให้ตนเฝ้าเก๊ะ คนเฝ้าเก๊ะก็ต้องเป็นประสงค์
แต่กาลกลับเป็นว่า ก่อนที่เรณูจะถือกระเป๋าของนางย้อยแล้วประคองนางย้อยออกจากบ้านไป คนที่นางย้อยเรียกมาเฝ้าเก๊ะเงินแทนกลับเป็นกมล ที่ให้ลูกจ้างขับเรือหางยาวมาส่งตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเขาบอกกับพิไลว่า
“ม้าส่งข่าวไปเมื่อวันก่อนว่าให้มาดูร้านให้หน่อย...เพราะม้าจะไปทำธุระเรื่องตึก ทีแรกผมก็จะไม่มา เพราะทางโน้นก็ยุ่ง ๆ แต่ม้าลงท้ายจดหมายไปว่า จะต้องมาให้ได้ เพราะม้าไปหลายวัน...”
กมลบอกแค่นั้น แต่พิไลเชื่อว่า เนื้อความในจดหมายมันจะต้องมีมากกว่านั้น...ไม่อย่างนั้น กมลก็คงไม่รีบละงานจากฆะมังมาหรอก!
*********************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #28 on: 02 March 2020, 14:51:43 » |
|
ตอนที่ 29 : พิไลออกโรง
๒๙
พอเห็นกมลมาเฝ้าเก๊ะ พิไลที่ใจขุ่นมัวก็บอกว่า “อาซา วันนี้พี่รู้สึกปวดหัว เหมือนจะไม่สบาย ขอกลับบ้านไปนอนหน่อยนะ”
พิไลไม่ได้กลับบ้าน แต่เดินไปโรงสี พอทรุดตัวลงนั่งหน้าโต๊ะบัญชีที่ประสงค์นั่งอยู่ พิไลก็บอกว่า “เฮีย ฉันไม่ไหวแล้วนะ”
“มีอะไรอีก”
“ม้าน่ะซิ ไม่เห็นหัวฉันเลย พอจะไปปากน้ำโพกับอีเรณู ม้าก็ให้อาซากลับมาเฝ้าเก๊ะเงินแทน...คงกลัวว่าฉันจะเม้มเงินเข้าพกเข้าห่อละซิท่า”
“อาซามารึ”
“เฮีย!...ฟังฉันนะ เมื่อเช้า อีเรณูมันได้ทองเส้นใหม่อีกแล้วด้วย...ฉันว่า คราวนี้ไม่ใช่แค่สองบาทหรอก น่าจะสามสี่บาทแหละ มีพระเลี่ยมทองติดอยู่อีกองค์หนึ่งด้วย พระเก่าแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้าถึงกับเลี่ยมทองใส่สร้อยไว้ ต้องเป็นพระเก่าแน่ ๆ ดีไม่ดี ราคามากกว่าทองอีก”
ประสงค์ถอนหายใจเบา ๆ
“ถ้าเฮียยังนิ่งเฉย รับรองเลยว่า ไอ้ที่ตกลงปลงใจ จะยกนั่นยกนี่ให้เรา เป็นอันไม่ได้หรอก...เพราะม้าน่ะหลงมันจนโงหัวไม่ขึ้นแล้ว”
“แล้วจะให้เฮียทำอย่างไร”
“เฮียเป็นลูก เฮียต้องคิดซิ”
ประสงค์ยกมือเกาหัว...พิไลรู้สึกขัดลูกนัยน์ตาเป็นอย่างมาก...พอดีกับที่เจ๊กเซ้งที่อยู่หลังโรงสีเดินมา พิไลเห็นดังนั้นจึงรีบบอกว่า
“เตี่ย ๆ มาทางนี้ หนูมีเรื่องจะปรึกษาหน่อย”
“อย่าน่าพิไล” ประสงค์รีบห้าม เพราะไม่อยากให้เตี่ย เป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องพวกนี้...
“ถ้าเตี่ยรู้ เตี่ยต้องช่วยได้แน่ ๆ... เตี่ยนี่แหละจะช่วยเราได้...” พิไลหันมาเค้นเสียงใส่ประสงค์ พอเจ๊กเซ้งเดินมาถึง พิไลก็รีบหาเก้าอี้ให้เจ๊กเซ้งนั่ง
“เตี่ยรู้สึกว่าม้าเปลี่ยนไปบ้างไหม”
“เปลี่ยนไปอย่างไร”
“ก็ตะก่อนนะ ม้าเกลียดซ้อเรณูอย่างกับอะไรดี เตี่ยก็รู้ก็เห็นใช่ไหม”
“ใช่ ๆ”
“แล้วตอนนี้ม้าเป็นอย่างไร...” พิไลถามจี้ออกไป ให้เจ๊กเซ้ง ‘ต้องคิด’
“ไม่เป็นอย่างไร ก็เหมือนเดิม”
“เหมือนเดิมที่ไหนล่ะเตี่ย ตอนนี้น่ะ ม้าทั้งรักทั้งหลงอีเรณูอย่างกับอะไรดี เตี่ยรู้ไหม ว่า ม้าให้ทองอีเรณูไปอีกแล้ว”
“รู้”
“อ้าว แล้วทำไมเตี่ยไม่ค้าน ไม่สงสัยว่าทำไมต้องให้กันอีก ทั้งที่ของเก่าที่เพิ่งให้ไปก็รักษาไว้ไม่ได้”
“พิไล” เมื่อเห็นว่าพิไล ดูเหมือนจะตะคอกใส่พ่อของตน ประสงค์จึงต้องปราม...
“ม้าพวกลื้อบอกว่า อีจะไปในเมือง ก็ต้องมีทองติดตัวไปจะได้ไม่อายคนทางโน้น แล้วก็ไม่ได้ให้เลย แต่แค่ให้ยืม”
“หวังไปเถอะว่าจะได้คืน หรือจะเอาคืน อ้อ ว่าไปแล้วนะ...หนูว่า ไอ้ที่บอกว่าถูกโจรปล้นน่ะ ดีไม่ดีมันก็กุข่าวขึ้นมา เพื่อจะเอาทองเส้นใหม่ มันต้องเป็นอย่างนั้นแน่ ๆ อีนี่มันร้ายกว่าที่เราคิด” พอพิไลเบะปากบอกอย่างนั้น เจ๊กเซ้งก็นิ่งเงียบ สีหน้าครุ่นคิด พิไลจึงได้โอกาสบอกว่า
“หนูจะบอกอะไรให้เตี่ย ที่ม้าเปลี่ยนไปถึงเพียงนี้ เป็นเพราะม้าน่ะ ถูกอาซ้อเรณู ทำของใส่”
“ของอะไร?”
“ก็เสน่ห์ยาแฝดไง”
“ฮ้า ผู้หญิงด้วยกัน...มันทำใส่กันได้ด้วยหรือ”
“ได้ ไม่ได้ เตี่ยก็เห็นแล้วนี่ว่าม้าน่ะ หน้าดำคร่ำเครียด หลงใหลไชชอนอาซ้อขนาดไหน จากที่เคยโกรธเกลียดกันจนด่ากัน แช่งกัน ก็กลับมาเป็นรักใคร่ห่วงใยให้การสนับสนุนกัน ไม่ถูกทำของใส่แล้วจะเกิดจากอะไรล่ะ...ไม่มีอะไรจะพลิกใจคนอย่างม้าได้ นอกจากเสน่หายาแฝดหรอกนะเตี่ย”
“จริง ๆ หรือนี่” เจ๊กเซ้งเปรยออกมาเบา ๆ ทำเหมือนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง
“จริงหรือไม่จริง มันก็เป็นไปแล้ว มันพูดอะไรม้าก็เห็นดีเห็นงามไปกับมันหมดแล้ว นี่นะเตี่ย หนูไปสืบรู้มาว่า ก่อนหน้านั้นนะ มันทำเสน่ห์ใส่เฮียใช้ด้วย เฮียถึงได้พามันกลับมาที่บ้านนี่ไง เรื่องนี้เตี่ยก็น่าจะรู้มาบ้างแล้ว...ม้าคงเคยบอกเตี่ยไว้บ้างแหละ”
“ก็เคยบอก” เจ๊กเซ้งยอมรับเสียงแผ่ว...
“อีนี่ บ้านมันยากจน มันถึงต้องไปขายตัวอยู่ตาคลี มันคงรู้ว่าตั่วเฮียมีเงินให้มันปอกลอกมันถึงได้ทำอย่างนี้ ...นี่ถ้าเดาไม่ผิดนะเตี่ย มันน่ะไม่ได้จริงใจอะไรกับเฮียใช้หรอก มันอยากรวยทางลัดเท่านั้นแหละ ถ้ามันกอบโกยไปจนหมด แล้วทีนี้แหละ เดี๋ยวก็รู้ว่ามันจะทำอย่างไรกับเฮีย กับม้า...”
“แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีล่ะ”
“ก็ต้องหาทางแก้ไงเตี่ย ขืนปล่อยไว้อย่างนี้ พวกเราจะเป็นวัวเป็นควายทั้งที่ยังมีสภาพเป็นคนกันอยู่นี่แหละ”
“พิไล” ประสงค์ปรามเมียเบา ๆ พิไลเชิดหน้าขึ้นแล้วค้อนให้
**********
พอได้รับคำอนุญาตจากเจ๊กเซ้งว่า ‘ลื้อจะทำอย่างไรก็ทำไป หมดเงินเท่าไหร่ก็มาเบิกที่อาตง’
พิไลก็เดินกลับจากมาด้วยใจที่มุ่งมาดว่า ‘คงจะใช้ไม้นวมเล่นกับมันอย่างที่แม่แนะนำมาไม่ได้ซะแล้ว’ คิดได้ดังนั้น พิไลก็รีบเดินไปหานายเชิดที่ท่าเรือ เพื่อให้นายเชิด เอาทองเส้นที่กระชากมาจากคอของเรณูไปขายที่ตาคลี และไปสืบหา ‘หมอ’ ที่เก่ง ที่สุดในถิ่นนั้นด้วย
“จะรีบไปไหนล่ะแม่พิไล” ป้าขายข้าวเม่าร้องถาม พิไลชะงักเท้า พร้อมดวงปัญญาสว่างวาบ
งานนี้ จะรู้กันแค่เฉพาะกันในบ้านไม่ได้เสียแล้ว เรื่องชั่วช้าเลวทรามที่อีเรณูมันทำลงไปนี้ ต้องรู้กันทั้ง ชุมแสง เพราะถ้ามีแต่คนเกลียดมัน ต่อให้มันปากดี ขยันขันแข็ง ทำขนมถูกปากคนถึงเพียงไหน ก็ไม่มีใครซื้อขนมมันกินหรอก...และดีไม่ดี ร้านผ้าของมันที่กำลังจะเปิดในอีกไม่กี่วันก็จะต้องร้างคนไปด้วย...ถึงเวลานั้นก็พอดีกับที่พิไลหาทางแก้ของสำเร็จ ทีนี้เอง มันจะต้องระเห็จไปจากชุมแสงกันทั้งพี่ทั้งน้อง!
************
พอกมลลงเรือกลับชุมแสงไปแล้ว เพียงเพ็ญก็หลบสายตาของนางแรม เดินลัดเลาะไปตามสวนริมน้ำ จนกระทั่งถึงบ้านของก้าน... เพราะตั้งแต่วันที่ใช้จุกให้ถือจดหมายมาให้ก้าน จุกก็ไม่เจอก้านเลยสักครั้ง
ครั้งแรก จุกบอกว่า เจอบังอรอยู่ที่บ้าน บังอรบอกกับจุกว่า ก้านพาแม่ไปหาหมอ...
วันที่สอง จุกเจอนางกุ่น นางกุ่นบอกว่า ก้านยังไม่กลับจากไปรับจ้าง หาบข้าว ทุ่งบ้านบังอร...
วันที่สาม จุกบอกว่า เจอบังอรอยู่กับนางกุ่น ส่วนก้านนั้นขับเรือหางยาวไปธุระกับอาสิทธิ์...
จุกไม่พบก้าน ก็ถือจดหมายกลับมา แล้วรายงานให้เพียงเพ็ญรับรู้ เรื่องไม่เจอก้านแล้วยื่นจดหมายคืนให้เพราะงานเสร็จไปหนึ่งครั้ง จะใช้งานกันใหม่ก็ต้องจ้างใหม่ เพียงเพ็ญก็พอเข้าใจได้
แต่เรื่องที่จุก พูดถึง ‘บังอร’ ถึงสามครั้งสามครา กลิ่นมันชักไม่ดีซะแล้ว
พอไปร้านอาศรี ก็มีคนพูดกันว่า ‘ไอ้ก้านคงไม่แคล้วเป็นเขยของอีอบเป็นแน่’
ซึ่งเพียงเพ็ญจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...
“อ้าว นังหนู มาอย่างไรไปอย่างไรล่ะ” นางกุ่นที่นั่งจักตอกอยู่ที่ใต้ถุนเรือนร้องถามเมื่อเห็นเพียงเพ็ญเดินพ้นสวนเข้าบ้านเข้ามา
“มาหาพี่ก้าน พี่ก้านอยู่ไหมป้า...” ว่าพลางเพียงเพ็ญก็ค่อย ๆ เดินเข้ามาหยุดอยู่ที่ชายคา ไม่ได้ ก้มหัวมุดใต้ถุนเข้าไปหานางกุ่นที่นั่งอยู่บนแคร่แต่อย่างใด...เพราะเพียงเพ็ญก็รู้ดีว่า นางกุ่นนั้นเป็นวัณโรค จึงต้องอยู่ให้ห่างเข้าไว้ นางกุ่นใช้ผ้าขาวม้าที่คลองคออยู่ยกปิดปากแล้วไอ ก่อนจะบอกว่า
“ไม่อยู่หรอก...ไปเกี่ยวข้าวยังไม่กลับมาเลย”
“แล้วป้าเป็นอย่างไรบ้าง...ดีขึ้นบ้างไหม”
“ก็ดีขึ้น แต่ว่า ต้องกินยาหมอหลวงไปอีกสองสามปี แล้วก็ต้องไปหาหมอตามที่หมอนัดด้วย ...” สีหน้าของนางกุ่นนั้นเต็มไปด้วยความกังวล เพราะ ทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเดินทางไปหาหมอนั้นถือว่าหนักเอาการ...ลำพังก้านคนเดียวนางไม่มั่นใจหรอกว่าลูกชายจะหามาให้ไหวหรือเปล่า เพราะไปงวดแรกก็ต้องหยิบยืมจากนางอบไปก่อน แล้วก็ต้องกลับมาทำงานใช้หนี้เขา ไหนจะต้องกินต้องอยู่ไปทุกวันอีก...
บางทีนางกุ่นก็นึกอยากจะตาย ๆ ไปซะให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่เป็นภาระให้กับลูกชาย แต่ก้านก็บอกว่า ให้นางอดทนไปด้วยกัน เขาจะขยันทำงานให้มากขึ้นจะเลิกสำมะเลเทเมา เพราะถ้าแม่ตายไปเสียแล้ว วันหน้ามีเงินก็หาซื้อไม่ได้...ก้านบอกกับนางอย่างนั้น
“ค่ายาแพงไหมป้า”
“ก็หนักเอาการอยู่เหมือนกัน” แล้วนางกุ่นก็ไอออกมาอีก...พอหยุดไอก็ถามเพียงเพ็ญว่า “แล้วนี่หนูมาหามัน มีธุระอะไรรึเปล่า เห็นให้ไอ้จุกมาถามถึงมัน สองสามรอบแล้ว ถามว่ามาธุระอะไรก็ไม่ยอมตอบ”
“เอาอย่างนี้นะ ถ้าพี่เขากลับมา บอกให้ไปหาหนูที่บ้านด้วย หนูมีเรื่องสำคัญจะคุยกับพี่เขา ให้ไปให้ได้วันนี้ หรือคืนนี้เลยก็ได้นะ”
“ได้ เดี๋ยวจะบอกมันให้”
“งั้นหนูลาละ” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็หันหลังเดินกลับทางเดิม แต่ยังไม่ทันจะเดินถึงสวน เพียงเพ็ญก็ได้ยินเสียงของบังอรถามนางกุ่นว่า
“นั่นมันพี่เพ็ญใช่ไหมป้า มาธุระอะไรรึ”
เพียงเพ็ญไม่ได้หยุดก้าวเดินแล้วหันกลับมามองแต่อย่างใด เพราะใจนั้นคิดว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะเอาทองไปรู่กระเบื้อง!
********
บังอรมองตามหลังเพียงเพ็ญที่เดินตัดสวนกลับไป ก็ถามนางกุ่นว่า
“ทำไม พี่เพ็ญเขาไม่เดินมาตามถนน”
“ไม่รู้มัน...ตอนมา มันก็มาทางนั้น”
บังอรคิดว่ามันต้องมีเลศนัย ถึงไม่ยอมมาทางถนนให้คนเห็น บังอรที่ตกเป็นเมียของก้านไปแล้ว และเหมือนนางกุ่นเองก็รับรู้อยู่กลาย ๆ ก็ถามนางกุ่นซ้ำอีกครั้งว่า
“แล้วพี่เขามาธุระอะไร”
“เอ่อ...เขาบอกว่า มีธุระสำคัญ ให้ไอ้ทิดไปหาให้ได้ วันนี้ คืนนี้เลย...บอกแค่นั้น”
“ธุระอะไร ตัวเองก็มีลูกมีผัวไปแล้ว ยังจะแล่นกลับมาทำให้พี่ก้านวุ่นวายใจอีก ชักอย่างไง ...ป้า ฉันว่า ป้าอย่าไปบอกพี่ก้านเลยนะ เพราะถ้าบอกแล้ว พี่ก้านไปหาพี่เพ็ญแล้วผัวเมียเขาทะเลาะกัน พี่ก้านจะพลอยเดือดร้อนไปด้วย”
นางกุ่นนิ่งฟัง...แล้วพยักหน้าเบา ๆ เห็นอาการของนางกุ่นเป็นดังนั้นบังอรก็บอกว่า
“ฉันเอาปลาหมอต้มส้มมาให้น่ะ จะกินเลยไหม ฉันจะได้หาสำรับลงมาให้...”
***********
ลงรถไฟที่สถานีตาคลี เชิดก็เดินเข้าตลาดไปหาร้านทอง หมายจะเอาทองที่กระชากจากคอเรณูตามคำสั่งของพิไลไปขาย แต่ยังไม่ทันจะถึงร้านทอง เชิดก็ได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินสวนทางร้องทัก...
“น้าเชิด”
เชิดหันกลับไปหาต้นเสียง ก็พบหญิงสาววัยสามสิบกว่า ๆ แต่งตัวทันสมัย แต่งหน้าจัด ดัดผมหยิกยาวละต้นคอ เชิดทำหน้าแปลกใจ...
“จำฉันได้ไหม ฉันอีติ๋มไง...” แล้วติ๋มก็เท้าความอีกยืดยาว... เชิดถึงจำได้
“นี่ถ้าเอ็งไม่ทักน้า น้าก็จำเอ็งไม่ได้หรอก หายไปจากชุมแสงนานแล้วนี่หว่า”
"ก็ตั้งแต่บ้านถูกยึดไป ก็ระเหเร่ร่อนไปอยู่โน่นอยู่นี่ แล้วก็มา ‘ขุดทอง’ ที่นี่แหละน้า” ติ๋มยอมรับอย่างไม่อาย แล้วถามว่า “แล้วน้ามาทำอะไรที่นี่”
“มาธุระ...”
“ธุระอะไร”
“เอ่อ...ธุระของคนอื่นน่ะ...เขาฝากมาทำอีกที...เอาอย่างนี้ก่อน อย่าหาว่าน้าดูถูกเอ็งนะ คือ เอ็งอยู่ในแวดวงนี้ น้าถามจริง ๆ เอ็งรู้จักผู้หญิงที่ชื่ออีเรณูไหม อายุ ยี่สิบกว่า ๆ ตอนนี้มันไปเป็นสะใภ้คนโตของอีย้อยคนที่ยึดบ้านมึงไปน่ะ...”
พอได้ยินชื่ออีย้อย ชื่อเรณู ติ๋มก็ส่ายหน้าทันที แล้วบอกว่า “ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินคนชื่อนี้ มีอะไรหรือน้า”
“เอ็งไม่รู้จักก็แล้วไป คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้” แล้วนายเชิดก็เล่าเรื่องระหว่างพิไล เรณู และนางย้อย รวมถึงธุระที่พิไลให้มาสืบหาหมอทำเสน่ห์เก่ง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นคนทำของให้เรณู เพื่อจะหาทางแก้เสน่ห์ให้นางย้อยกับลูกชายคนโต ติ๋มรู้เรื่องแล้วก็บอกไปว่า
“หมอทำของเก่ง ๆ ที่พวกฉัน พึ่งพาอาศัยกันอยู่น่ะ พอมีอยู่หรอก แต่ แกไม่ได้อยู่ที่ตาคลีหรอกนะ ที่ตาคลีนี่ไม่มีหรอก...มีแต่พระเก่ง ๆ เรื่องเมตตามหานิยมอะไรพวกนี้ มีห้าหกองค์ แต่ก็แค่ลงพวกนะหน้าทอง สาลิกาลิ้นทอง สักยันต์ อะไรแบบนี้ เท่านั้นนะ”
“แล้วหมอเก่งๆ ที่ว่าอยู่ที่ไหน”
“อยู่ที่ท่าน้ำอ้อย หยุหะคีรี โน่น...”
“ไปอย่างไรล่ะวะ”
“ก็ต้องลงรถไฟที่สถานีเนินมะกอก ที่ผ่านมาแล้วน่ะ แล้วก็เดินหรือจ้างรถไปอีกทีหนึ่งแหละ แต่เจ้านี้เก่งจริง ๆ น้า ถ้านังพิไลมันจะแก้ของให้แม่ผัวมัน ต้องทำกับหมอคนนี้แหละ อ้อ...แล้วน้าก็ไม่ต้องไปบอกกับมันหรือไปบอกใครหรอกนะ ว่ารู้เรื่องนี้มาจากฉัน ฉันไม่อยากให้ใครมารู้สึกติดหนี้บุญคุณกัน โดยเฉพาะสะใภ้อีย้อย บอกตรง ๆ ว่าพอได้ยินชื่อคนเหล่ากอนี้ ฉันก็ยังขยาดกับความร้ายกาจของพวกมัน...นี่นะ ถ้าน้าไม่เจอฉัน น้าก็คงเดินงมหาอีกนาน”
“ก็ถือว่าโชคของข้ายังมี...”
“น้ากินข้าวมาหรือยัง ถ้ายัง ไป ให้ฉันเลี้ยงข้าวน้าสักมื้อนะ...ร้านโน้นเลย”
แล้วติ๋มก็พานายเชิดเดินไปยังร้านอาหาร โดยใจก็คิดว่า
‘อีเรณู ที่น้าเชิดมาเจอกู เพราะบุญมึงยังมี ไม่อย่างนั้นละก็ วิมานมึงทะลายไม่ได้เสวยสุขแน่ ๆ แต่ใช่ว่ากูจะอยากช่วยมึงหรอกนะ แต่กูว่า ตอนนี้ กูอยากเห็นสะใภ้อีย้อยมันฟัดกันเท่านั้นแหละ เพราะลำพังมึงกับอีย้อย สำหรับกูแล้ว มันยังสนุก น้อยไป!”
*************
เรื่องเรณูทำเสน่ห์ใส่ผัวและแม่ผัวที่ออกจากปากของพิไล กระจายไปอย่ารวดเร็ว
บ้างก็เชื่อ บ้างก็ไม่เชื่อ เพราะเรื่องผู้หญิงทำเสน่ห์ใส่ผู้หญิงด้วยกันนั้น ได้ยินกันมาไม่บ่อยครั้งนัก
คนที่รักเรณู มองว่าเรณูเป็นคนดี มีวาจาอ่อนหวาน ไม่เชื่อว่าเรณูจะกระทำเลวทรามถึงเพียงนี้ แต่บางคนก็ค้านว่า มันก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะเรณูนั้นมาจากตาคลี เคยทำงานอยู่ในผับในบาร์มาก่อน และนางย้อยก็เคยจงเกลียดจงชังด่าทอจนถึงขนาดล็อกกุญแจไม่ให้เข้าบ้านให้นอนตากยุงที่หน้าร้านมาแล้ว...
แต่บางคน ก็คิดว่า การที่เรณูกระทำการโต้ตอบนางย้อยโดยการทำเสน่ห์ให้นางย้อยหลงใหลเมตตาจนกลับกลายเป็นคนละคนนั้น ก็สาสมกับความลำเอียงของนางย้อยแล้ว...
มีอย่างที่ไหน ลูกสะใภ้คนโต ถึงแม้จะมาจากที่ไหนก็ตาม นางย้อยปล่อยให้ลำบากตรากตรำ ทำขนมหาบออกมาขาย ไม่ได้เสียเงินค่าสินสอดทองหมั้นเลยสักบาท ส่วนลูกสะใภ้คนที่สอง และคนที่สามที่เพิ่งแต่งกันนั้นจัดงานเสียใหญ่โต ให้ทำงานอยู่ในร้าน แต่งตัวสะอาดสะอ้าน ประดับทองหยองเต็มตัว ย่อมนำมาซึ่งความอิจฉาริษยากัน...
เรื่องที่ชาวบ้านร้านตลาดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา สะท้อนกลับมาถึงกมลอย่างรวดเร็ว เขารีบให้ป้อมเดินไปตามเตี่ยและประสงค์กลับมาที่ร้านโดยด่วน เพราะเขาเองก็ตอบคำถามจากคนกล้าที่เข้ามาถามกับตัวเขาถึงในร้านไม่ได้
แต่สำหรับเขาเองนั้น แม้จะรู้สึก เสียความรู้สึกกับเรื่องที่เรณูทำลงไป แต่อีกใจ เขาก็เข้าใจว่า
‘ถ้า’ เรณูทำจริง ๆ ‘ทำไม’ เรณูถึงต้องทำแบบนั้น
และเขาก็เข้าใจว่า ‘ทำไม’ พิไลถึงได้เป็นเดือดเป็นแค้นถึงขนาดนี้...
เพราะว่ากันตามเนื้อผ้า ถ้าก่อนที่จะพากันมาอยู่ที่ตาคลีเรณูทำเสน่ห์ใส่ปฐมจริง ๆ ก็เท่ากับเรณูแย่งปฐมซึ่งเป็นถึงคู่หมั้นคู่หมาย คู่รักของพิไลมาครอบครอง มันจึงไม่แปลกที่พิไลจะเก็บความเจ็บแค้นไว้ในใจ จนกระทั่งต้องหาวิธีเอาคืน
ส่วนที่เรณูทำเสน่ห์ใส่แม่นั้น ก็สมควรที่พิไลจะออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตนและรวมถึงลูกของแม่อีกสามคนด้วย...ถ้าแม่ตัดสินใจยกนั่นยกนี่ให้ปฐมให้เรณูไปในตอนที่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ วันหนึ่งข้างหน้า ถ้าพิไลหาทางแก้ไขจนแม่กลับมาเป็นปกติได้ แม่ที่เคยเกลียดเรณูอย่างกับอะไรดี คงไม่มีความสุขตลอดไป แล้วอ้อยที่เข้าปากช้างไปแล้ว คงยากจะเรียกคืน แต่คนอย่างแม่ ก็ไม่เคยยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ข้อนั้นเขารู้เขาเห็นมาเป็นอย่างดี...
บ้านหลังนี้ ‘วงศ์ตระกูล’ นี้ มีแต่จะร้อนเป็นไฟ ให้คนที่มีทั้งรักและชัง คอยดูบทสรุป...
หลังจากที่พ่อ และประสงค์มาถึงก็เดินเข้ามาหากมลที่โต๊ะบัญชี โดยกมลจัดวางเก้าอี้ไว้รอท่าแล้วพร้อมกับกำชับบุญปลูกให้ดูต้นทาง เพราะกลัวว่าระหว่างที่นั่งประชุมแก้ไขปัญหา พิไลจะหวนกลับมาทำให้เรื่องเลวร้ายไปกันใหญ่
สามคนพ่อลูก นั่งมองหน้ากัน...กมลที่รู้ว่าเรื่องนี้ ประสงค์ต้องรู้ดี เพราะเมียของเขาเป็นคนปล่อยข่าวชนิดตีสีใส่ไข่ ก็ถามประสงค์ว่า
“เฮียคงรู้เรื่องที่อาซ้อพิไล เที่ยวเอาไปพูดแล้วใช่ไหม”
“รู้...ข่าวแพร่สะพัดไปถึงโรงสีแล้ว” สีหน้าของประสงค์เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยใจ
“แล้วเราจะเอาอย่างไรกันดีล่ะเตี่ย” กมลหันไปถามผู้มีอาวุโสสุด...
เจ๊กเซ้งนั้นแม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าลูกชายทั้งสองคน แต่ตลอดชีวิตหลังแยกตัวออกมาจากกงสีของครอบครัว มาช่วยกันทำมาค้าขายสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ที่ชุมแสง เขาก็ปล่อยให้นางย้อย ‘จัดการ’ ชีวิตของตนหมดทุกเรื่อง
พอเรื่องนี้เกิดขึ้น เจ๊งเซ้งยอมรับกับตัวเองว่า ยากที่จะแก้ไขปัญหา เพราะเรื่องทุกเรื่องที่เคยเกิดขึ้นครั้งก่อนนั้น นางย้อยจะมาปรึกษาหารือ บอกกล่าว ให้เหตุผล ตามประสาคนสองคนที่ผูกสมัครรักใคร่ไว้เนื้อเชื่อใจ จนเรียกได้ว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยากที่ยากจะแปรเป็นอื่น ถ้าตนทักท้วง ขัดข้อง หรือ ร้องขอ ขึ้นมา แม้นางย้อยจะมั่นใจในความคิดความอ่านของตนเอง แต่ก็ยินยอมอ่อนลงให้เสียทุกครั้ง
ครั้งนี้พอกมลเอ่ยถามแบบนี้ เจ๊กเซ้งจึงส่ายหน้าเบา ๆ เพราะก่อนที่จะตัดสินใจให้พิไล จัดการแก้ไขเรื่องเลวร้ายที่เรณูทำลงไป เจ๊กเซ็งก็บอกไปด้วยอารมณ์ที่จู่ ๆ เหมือนเกิดเหน็บชาขึ้นที่ใจ...
เพราะใจของเจ๊กเซ้งเมื่อก่อนหน้านั้นมีความสงสาร เมตตา และมีความเอ็นดูเรณูเหมือนมี ‘ลูกสาว’ เพิ่มมาอีกคน มาตลอด เพราะเรณูทำตัวน่ารัก มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้เกียรติ ไม่เคยแสดงอาการรังเกียจที่ตนเองเป็นตาแก่โง่ ๆ เนื้อตัวมอมแมม มีกลิ่นขี้หมูขี้ไก่เหม็นติดตัว ยามที่นางย้อยออกงิ้วกับเรณู เจ๊กเซ้งจึงต้องปกป้องเรณู เพราะอยากให้ผู้หญิงสองคนที่ตนเองรักนั้น อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข อยากให้ปฐมซึ่งเป็นลูกชายคนโตซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจนั้นมีความสุข
แต่เมื่อ ‘เบื้องหลัง’ ของความสุข ที่เพิ่งเกิดขึ้นในบ้าน ที่เจ้าของบ้านสร้างมันมาด้วยความยากลำบาก สร้างขึ้นเพื่อหวังเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลานทุกคนอย่างยุติธรรม เกิดจากเหตุอย่างนี้ หัวใจของเจ๊กเซ้งจึงเต้นผิดจังหวะ
...แต่พอนั่งตรึกตรองหลังจากที่พิไลเดินออกมาจากโรงสี เจ๊กเซ้งก็รู้ว่า ในร้ายนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีดี
“เตี่ยช็อกน่ะ” ประสงค์เปรยออกมาเบา ๆ
“แล้วหายาลมให้เตี่ยกินหรือยัง”
“อั๊วไม่ได้เป็นอะไรหรอก...เพียงแต่ตอนแรก อั๊วตกใจเท่านั้นเอง...ไม่คิดว่า อาเรณูอีจะร้ายได้ถึงเพียงนี้...ตอนนี้ อั๊วคิดอะไรออกบ้างแล้ว...”
พอพ่อที่ไม่ค่อยได้พูด พูดยืดยาว ทั้งประสงค์ กับกมลจึงนิ่งฟัง...แต่เจ๊กเซ้งก็ยังคงนั่งนิ่งเหมือนกำลังใช้ความคิดอย่างหนัก...กมลจึงต้องถามซ้ำว่า
“เตี่ยคิดอะไรออก ก็ว่ามา”
“เตี่ยว่าจะดูไปเรื่อย ๆ แล้วก็ระวังกันเอา เพราะถ้าม้าพวกลื้อ ถูกอาเรณูทำเสน่ห์ใส่จริง ๆ ก็ใช่ว่า ม้าจะหลงใหลจนเสียสติ เจ็บไข้ได้ป่วย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เสียเมื่อไหร่ ทุกวันนี้ ม้าพวกลื้อยิ้มแย้มแจ่มใส กินได้ นอนหลับดี มีความสุขดีกว่าแต่ก่อนเป็นไหน ๆ...ส่วนเรื่องเซ้งร้านผ้า เรื่องทองที่ให้อาเรณูใส่ไปวันนี้ ม้าเขาก็ไม่ได้ให้ไปโดยพละการ ม้าปรึกษาเตี่ยแล้ว เตี่ยเห็นว่า ถ้าจะให้เลยก็ได้ เพราะเส้นเก่าของอีมันถูกคนจี้ไปจริง ๆ แต่เส้นใหม่นี้ก็ให้อีระวัง ๆ หน่อย ใส่ไปแค่ไปอวดคน กลับมาก็ให้เก็บให้มิดชิด...”
“ทองอะไร” กมลยังไม่รู้เรื่องทอง
“วันไปแต่งลื้อน่ะ ม้าให้สร้อยคอกับสร้อยข้อมืออาซ้อไป สร้อยคอสองบาท ข้อมือหนึ่งบาท แล้วเมื่อหลังงานลอยกระทง อีหาบของมาขายตอนเช้ามืดแล้วอีถูกจี้เอาสร้อยคอไป...แล้วพอจะไปปากน้ำโพกัน ม้าก็เลยให้สร้อยเส้นใหม่ไป...พิไลเห็นเข้า มันก็เลยกลายเป็นเรื่อง” ประสงค์เท้าความ กมลพยักหน้าเข้าใจว่ามูลเหตุที่พิไลฟาดงวงฟาดหางนั้น นอกจากความโกรธแค้นแล้ว ก็ยังมีความโลภและความอิจฉาริษยาที่เห็นคนอื่นได้ดีเกินหน้าของตน
“ส่วนเรื่องเสน่ห์ที่พิไล มันว่า ตอนนี้เตี่ยเขาก็ตัดรำคาญให้พิไล ออกโรงหาหมอดี ๆ มาแก้แล้วแหละ ใช้จ่ายเงินเท่าไหร่ก็ให้เบิกจากเงินของโรงสี นี่เขาก็บอกกับเฮียว่า เขาไปบังเอิญเจอน้าเชิด คนงานเก่าของเถ้าแก่ฮง เขาก็จะพึ่งพาอาศัยกัน ให้ไปเรื่องสืบตามหาหมอดี ๆ มาแก้ไข... ”
“สรุปว่า เฮียกับเตี่ย เชื่อว่า อาซ้อทำของใส่ตั่วเฮียกับม้าจริง ๆ”
“เฮียเชื่อ เตี่ยเชื่อ แล้วลื้อเชื่อหรือเปล่าล่ะ” ประสงค์ถามกลับ
“อั้วเชื่อว่าอาซ้อทำตั่วเฮียจริง แต่กับม้า...ก็น่าจะจริง แต่ว่าทำที่ไหน แล้วผลร้ายมันคืออะไร เพราะ ตะกี้ เตี่ยก็พูดเหมือนกับว่า มันมีผลดีอยู่ด้วย ใช่ไหมเตี่ย” กมลสรุป
“ใช่...ในร้ายมันก็มีดี อย่างน้อย บ้านที่เคยร้อนเป็นไฟ มันก็เย็นลง เตี่ยถึงบอกว่าก็ระวัง ๆ กันไป ถ้าม้าจะให้อะไรอาเรณูไม่มากจนเกินไป ให้ตามเหตุตามสมควรก็ต้องยอมให้ให้ไป แต่ถ้ามากไปก็ต้องขวางกันบ้าง”
“แต่ซ้อพิไลคงไม่ระวัง ๆ ไม่สนใจเหตุผลอะไรด้วยหรอก ขอโทษนะเฮียตง หากอั๊วจะพูดตรง ๆ ว่า ลึก ๆ แล้ว อาซ้อพิไลเขาก็คงแค้นใจ ที่ถูกอาซ้อเรณูใช้ของไม่ดีมาแย่งตั่วเฮียไป เพราะก่อนหน้านั้น เขาทั้งคู่ เป็นคู่รักกันมาก่อน”
“ข้อนั้นเฮียรู้ดี...เฮียไม่เคยลืมหรอก”
“ตรงนั้นแหละเป็นมูลเหตุสำคัญ เมื่อรักเฮียใช้มาก ก็ต้องแค้นและก็ต้องเกลียดอาซ้อเรณูมากเป็นธรรมดาใช่ไหม คนเราทั่ว ๆ ไป ทางใดที่จะทำให้คนที่ตัวเองเกลียด หายนะฉิบหายวายวอดได้ เขาก็ต้องทำ...มันถึงกลายเป็นอย่างที่เห็น บ้านเราก็เลยกลายเป็นโรงงิ้วให้คนรอดูบทสรุปเหมือนเดิม....” ว่าแล้วกมลก็ถอนหายใจออกมา...
“ถ้าม้ากลับมา เรื่องนี้ต้องถึงหูม้า ต้องถึงหูอาซ้อเรณู...เดาไม่ออกเลยว่า เรื่องจะไปอย่างไรต่อ...เพราะคนอย่างอาซ้อเรณู ก็คงไม่ยอมอยู่นิ่งให้คนมองแกในแง่ลบหรอก” ประสงค์เกิดความสงสัย
“ก็ต้องคอยดูกันต่อไป”
“แล้วถ้าอาพิไล แก้ได้สำเร็จ แล้วม้ามารู้ทีหลัง ม้าจะจัดการกับอาซ้อเรณูอย่างไร ตั่วเฮียมารู้ทีหลังตั่วเฮียจะจัดการกับอาซ้ออย่างไร” ประสงค์มีสีหน้าครุ่นคิด
“เรื่องนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าไอ้ฤทธิ์ของเสน่ห์ยาแฝดนี่ พอมันคลายแล้ว มันทำให้ลืมเรื่องดี ๆ ที่มีอยู่บ้าง ไปหรือเปล่า”
“เฮียก็ไม่เคยถูกของ เฮียให้คำตอบไม่ได้”
“เตี่ยก็ไม่เคยถูกของเหมือนกัน เตี่ยก็ให้คำตอบไม่ได้”
“ถ้าอย่างนั้น สรุปว่า พวกเรา จะต้องนั่งดูกันต่อไปใช่ไหม” กมลสรุปยิ้ม ๆ
“แล้วมันทำอะไรได้ดีกว่านี้ล่ะ” เมื่อเห็นกมลยิ้ม ประสงค์ก็ยิ้มออกมาได้บ้าง เมื่อเห็นว่าอย่างไรแล้วปัญหาจะยังคงแก้ไม่ได้เพราะมีตัวแปรมากมาย กมลที่เห็นคนในบ้านเข้าใจตรงกันและผ่อนคลายความเครียดไปได้บ้างแล้ว ก็บอกว่า
“ถ้าอย่างนั้น เฮียก็เฝ้าร้านนะ อั๊วจะออกไปกินกุยช่ายทอดแล้วจะไปฟังกระแสเรื่องนี้ด้วย”
“ชีวิตลื้อก็มีแต่เรื่องกิน” ประสงค์ว่าให้
“จะกินไหมล่ะ จะได้ซื้อมาให้”
ประสงค์ที่เคร่งเครียดมาทั้งวันแล้วเหมือนกัน พยักหน้า
“เตี่ยล่ะกินไหม”
“กิน...ซื้อมาฝากเตี่ยด้วย เดี๋ยวเตี่ย อาบน้ำรอ รีบไปรีบกลับนะ”
พอเตี่ยบอกอย่างนั้น กมลก็ลุกขึ้น แล้วสูดลมหายใจเข้าปอด....บอกกับตัวเองว่า ...ใจที่ทุกข์ร้อนเพราะเรื่องร้อน ๆ จะไม่ร้อนรน ถ้ามีสติตรึกตรอง ถึงต้นเหตุของปัญหา
...ปัญหาที่จะต้องยืดเยื้อไปอีกนาน
***********************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #29 on: 02 March 2020, 14:53:38 » |
|
ตอนที่ 30 : รักต้องสู้
๓๐
พอไปถึงร้านอาหารข้าวแกงแบบตักราด ติ๋มก็ถามเชิดว่า “เอาสักเป็กก่อนกินข้าวไหมน้า”
“ก็ดีเหมือนกัน”
ติ๋มสั่งเหล้าโรงให้เชิดครึ่งขวดพร้อมกับแกล้ม เป็น เนื้อทอด ลาบหมู ผัดเผ็ดกบใส่หน่อไม้ดอง
พอเหล้าเข้าปาก ติ๋มก็ซักไซ้ไล่เรียง เรื่องระหว่างลูกสะใภ้สองคนของนางย้อย นายเชิดเล่าเรื่องเท่าที่รู้จากปากของพิไล เพราะไม่เคยรู้จักเรณูมาก่อน เล่าไปเล่ามา นายเชิดก็เผลอหลุดปากเล่าเรื่อง สร้อยคอทองคำที่พิไลบัญชาให้ตนนั้นทำทีไปเป็นโจรกระชากมา...โดยแรงจูงใจ นอกจาก ‘ค่าจ้าง’ เป็นโจร ทองเส้นนั้นก็ยังเป็นสิทธิ์ขาดของนายเชิดด้วย ขายได้เท่าไหร่ก็เก็บเงินไปได้ แต่ห้ามขายในตลาดชุมแสงให้สืบสาวมาถึงตัวคนบงการได้...
“พิไลนี่ก็ร้ายพอตัวเลยเนอะ” ที่ติ๋มต้องเมาเหล้าแล้วซักเพราะจะได้ประเมิน ‘ผู้ช่วย’ คนถัดไปของตนเองถูก...
“ก็ลูกสาวคนเล็ก ลูกสาวคนเดียวของเมียน้อยเถ้าแก่น่ะ เลยติดจะเอาแต่ใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้ พอไม่ได้ดังใจก็อ้อน เห็นมาตั้งแต่เล็ก ๆ นี่ไม่คิดว่าจะวกกลับมาเจอกันอีก”
“ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวฉันช่วยซื้อทองเส้นนี้ไว้นะ ตัดความยุ่งยากไป ฉันซี้กับเจ้าของร้านทองดี ถ้าน้าเอาทองขาดไปขายถูกตัดราคาแน่ ๆ”
“ก็ดีเหมือนกัน น้าเองก็ไม่อยากถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ”
ติ๋มควักจ่ายเงินค่าทองให้เชิดเต็มราคาทองหนักสองบาทแล้วเก็บทองเข้ากระเป๋า...และเมื่อเห็นว่าเชิดมีเงินแล้ว ติ๋มก็บอกว่า
“ฉันว่า คืนนี้ น้าค้างที่นี่ก่อนดีกว่า”
“จะค้างที่ไหนได้”
“โรงแรมไงน้า ยอมจ่ายซะหน่อยเอาความสะดวก ดีกว่าไปนอนวัดให้ยุงกัด แล้วถ้าน้าอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศ ถามพวกบ๋อย ให้มัน จัดมาให้ก็ได้”
“มันจะดีหรือวะ”
“แหม...น้า มีเงินแล้วก็ใช้ซื้อความสุขซิ...แล้วอีกอย่าง ถ้าน้าไปรถไฟรอบค่ำ ถ้าไม่มีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง น้าก็ต้องเดิน แถมมืด ๆ ค่ำ ๆ เดินไปท่าน้ำอ้อย เงินที่น้ามี จะถูกปล้นไปซะนะ...นอนซะที่นี่เถอะ”
หลังกินข้าวอิ่ม ติ๋มก็พานายเชิดเดินไปส่งที่โรงแรม แล้วขอตัวลากลับไปทำงาน โดยไม่ลืมกำชับกับบ๋อยให้ปลุกแขกไปให้ทันรถไฟเที่ยวแรก...ซึ่งจะทำให้ถึงท่าน้ำอ้อยในตอนสาย ๆ เสร็จธุระแล้วก็จะได้รีบกลับมาขึ้นรถไฟไปชุมแสง เพื่อปรึกษาหารือกับพิไลว่าจะเดินทางมาหา ‘หมอบาง’ ที่ท่าน้ำอ้อยเมื่อไหร่...
“ขอบใจเอ็งมากนะติ๋ม ถ้าไม่ได้เอ็ง น้าก็คงแย่”
“ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ คนกันเอง ฉันไปละนะ” ว่าแล้วติ๋มก็เดินจากมาด้วยอาการยิ้มย่องผ่องใส เพราะมั่นใจว่า เป็นเพราะ ‘กรรม’ ที่นางย้อยทำกับครอบครัวของตนไว้หรอก ถึงทำให้ ทั้งเรณู ปฐม พิไล และเชิด ต้องวนเวียนกลับมาให้ตนมีโอกาสแก้แค้น!
************
หลังที่เฝ้ารอก้านอยู่ครึ่งค่อนคืนแล้วพบว่าก้านไม่มาหา เพียงเพ็ญที่กระวนกระวายใจเป็นอย่างมากจึงกะไว้ว่า ตอนเช้าตรู่จะต้องไปที่บ้านของก้านอีกรอบ ไปคราวนี้ก้านคงยังไม่ออกไปไหน พอได้ยินเสียงไก่ขัน เพียงเพ็ญก็ลุกจากที่นอน มายืนมองออกไปทางนอกหน้าต่างอีกครั้ง...ก่อนจะเดินมาคว้าตะเกียงรั้วที่จุดทิ้งไว้ แล้วเดินออกจากห้อง...
“ตื่นเร็วจัง” นางแรมที่ตื่นตั้งแต่ตีสี่มาหุงข้าวใส่บาตร เห็นเพียงเพ็ญก็เอ่ยถาม
“ปวดห้องน้ำจ้ะป้า” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็ถือตะเกียงเดินลงบันไดไป...
ล้างหน้าจนรู้สึกสดชื่นแล้ว เพียงเพ็ญก็ดับตะเกียงวางทิ้งไว้ที่ข้างห้องส้วมแล้วออกเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่ต้องผ่านเลือกสวนไปอย่างรวดเร็ว...ถึงบ้านของก้าน ก็ฟ้าสางพอดี...
บ้านทั้งหลังเงียบกริบ มองไปที่ตีนบันไดก็ไม่เห็นรองเท้าของก้าน ได้ยินแต่เสียงนางกุ่นไอโขลก ๆ หัวคิ้วของเพียงเพ็ญขมวดเข้าหากัน...เพราะถ้าจะตะโกนเรียกคนบนเรือนในตอนนี้ ก็ดูจะเป็นเรื่องเอิกเกริก แต่เมื่อมาถึงแล้ว จะให้มัวใจเย็น รอให้คนบนเรือนตื่นนอนออกกันมา ก็คงไม่ได้...
“พี่ก้าน พี่ก้าน พี่ก้าน” เพียงเพ็ญร้องเรียกเสียงไม่ดังนักอยู่อึดใจใหญ่ ๆ นางกุ่นก็โผล่ออกมา...โดยมีผ้าขนหนูห่มไหล่ออกมาด้วย...
“อ้าว นังหนู มาอย่างไรแต่เช้าตรู่”
“พี่ก้านอยู่ไหมจ๊ะป้า...”
“ไม่อยู่...”
“แกไปไหน”
“เอ่อ...ไป ไป ไป ไปธุระกับอาสิทธิ์ยังไม่กลับมาเลย”
เพียงเพ็ญรู้สึกว่านางกุ่นโกหกได้ไม่แนบเนียนนัก...
“แล้วเขาจะกลับมาเมื่อไหร่ เมื่อวานเขากลับมาบ้านหรือเปล่า”
“กลับมา แต่ก็ออกไปอีก...”
“แล้วป้าบอกเขาหรือเปล่าว่าฉันมาหา แล้วให้เขาไปหาให้ได้ เพราะฉันมีเรื่องด่วน” เพียงเพ็ญซักไซ้เสียงห้วน
“บะบะบอก บอกมันไปแล้ว”
“แล้วเขาว่าอย่างไรบ้าง ทำไมเขาถึงไม่ไปหาฉัน ฉันก็รอเขาอยู่ทั้งคืน”
“ไม่รู้มันซินะ ก็ตอนที่บอกกับมัน มันก็นิ่งเงียบ”
“แล้วเช้านี้ เขาจะกลับบ้านไหม”
“ไม่รู้เหมือนกัน”
เพียงเพ็ญถอนหายใจออกมาอย่างแรง สีหน้าเต็มไปด้วยความหนักใจ แต่จะทำอะไรได้...
“อย่างไรก็ให้เขา ไปหาฉันให้ได้นะ มาถึงเมื่อไหร่ ก็ให้ไปหาฉันเลยนะ ฉันมีธุระสำคัญจะคุยกับเขา ฉันไปละนะ” เพียงเพ็ญมีใบหน้าบึ้งตึงเดินกลับไปตามทางเดิมที่เดินมา...จนกระทั่งถึงบ้าน ก็พบว่าทั้งพ่อ แม่และนางแรมนั้น ยืนคอยท่ากันอยู่ที่ลานหลังบ้าน...
“เอ็งไปไหนมานังหนู” กำนันศรถามเสียงเครียด
“ไปธุระมา”
“ธุระอะไรตั้งแต่เช้ามืด”
“ไปบ้านพี่ก้านมา” เพียงเพ็ญบอกตามตรง บอกอย่างไม่กลัวอะไรทั้งนั้น
“จะไปหามันทำไม!”
เพียงเพ็ญสูดลมหายใจเข้าปอด เชิดหน้าขึ้น
“อย่าลืมซิว่า เอ็งน่ะแต่งงานแล้ว ถ้าไม่คิดรักษาหน้าพ่อแม่ ก็ต้องรักษาหน้าผัวเอ็งด้วย เขาไม่อยู่บ้านแล้วเที่ยวแรด ๆ ลงจากเรือนไปหาชายอื่น เขารู้เข้า เขาจะว่าอย่างไร”
เพียงเพ็ญไม่ยอมตอบคำถามนั้น แต่ในใจก็มีคำยอกย้อนย้อยอย่างพรั่งพรู
เห็นอาการดื้อแพ่งของลูกสาว กำนันศรก็พูดอีกว่า
“ป้าแรมบอกว่า ตั้งแต่แต่งงาน เอ็งกับพ่อซายังไม่ได้นอนด้วยกันเลยสักคืน...มันหมายความว่าอย่างไร”
เพียงเพ็ญหันไปหานางแรมในทันที...ดวงตานั้นเขียวปัด
“ก็ป้าห่วงหนู” นางแรมรีบออกตัว
“ตอบมา! ว่าเอ็งคิดจะทำอะไร ตอบมา!”
“หนูก็บอกพ่อไปแล้วว่า หลังแต่งงานแล้ว ชีวิตจะต้องเป็นของหนู”
“ถ้าเอ็งทำอย่างนี้ เรื่องแดงขึ้นมาว่าเอ็งท้องก่อนแต่ง พ่อซาเขาจะว่าพ่อว่าแม่อย่างไร คิดบ้างไหม”
“ว่าอย่างไร...เดี๋ยวก็รู้”
“อีเพ็ญ! อีลูกไม่รักดี อีลูกเวร มึงจะทำให้กูฉิบหายขายตัวก็คราวนี้แหละ”
“ฉิบหายอะไรละพ่อ ใครกันล่ะ ใครกันเป็นคนบังคับให้ฉันแต่งกับเขา พ่อก็รู้ทั้งรู้ ว่าฉันท้องกับพี่ก้าน แล้วพ่อจะบังคับให้ฉันแต่งกับเขาทำไม”
“แต่ถ้ามึงยอมให้มันนอนด้วยซะตั้งแต่คืนแรก เด็กมันออกมาแล้ว มันก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นลูกใครหรอก แต่ถ้ามึงทำอย่างนี้ มันเท่ากับว่า...เฮ๊ย” ว่าแล้วกำนันศรก็ขว้างไม้ตะพดในมือใส่ข้างฝาสังกะสีห้องส้วมจนเต็มแรง... เพียงเพ็ญยืนน้ำตาไหลออกมา...แล้วใช้หลังมือเช็ดน้ำตาอย่างแรง...
“ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ พูด ค่อยๆ จากัน” นางสมพรจับแขนกำนันศรไว้ ...
“ตอนนี้มึงยังท้องได้แค่เดือนสองเดือน ถ้ามึงคิดจะกลับตัวมันก็ยังทัน ถ้าเด็กมันออกมาก่อนเก้าเดือนก็ ก็บอกเขาได้ว่า คลอดก่อนกำหนด แล้วเอ็งก็เป็นเมียเขาแล้ว เขาจะคลางแคลงใจอะไร เขาก็อาจจะเลยตามเลย เพราะนิสัยเขามันก็ไม่ใช่คนมุทะลุเอาแต่ใจตัวเอง แล้วช่วงก่อนจะคลอด เอ็งยังมีเวลาผูกใจเขาไว้ได้อีกตั้งนาน”
“ฉันไม่คิดกลับตัวกลับใจ ผู้ใครอะไรทั้งนั้นละ ฉันเลือกทางเดินของฉันแล้ว พ่อจะฆ่าฉัน เฆี่ยนตีฉันก็เอา” เพราะรู้ว่าพ่อกำนันไม่เคยลงมือกับตน เพียงเพ็ญจึงได้พูดไปอย่างนั้น...
กำนันศรกำหมัดแน่น ดวงตาแข็งกร้าวแล้วกัดฟันกรอด ก่อนจะประกาศิตว่า
“ถ้ามึงไม่ยอมให้พ่อซานอนด้วย แล้วเรื่องมันลุกลามใหญ่โต มึงกับกูก็เตรียมตัวขาดกัน เมื่อมึงไม่เห็นว่ากูเป็นพ่อมึง กูก็จะไม่เห็นมึงเป็นลูกกู...มึงเลิกกับพ่อซาเมื่อไหร่ เขาหอบผ้าลงจากเรือนกูวันไหน มึงก็ต้องหอบผ้าไปอยู่ที่อื่นวันนั้น...แล้วมึงก็อย่าอยู่ที่ฆะมังให้กูเห็นหน้าด้วย ไม่งั้นกูเอามึงตาย!”
“ถ้าฉันจะตาย ฉันก็ตายบนเรือนนี้แหละ ฉันจะไม่ไปตายที่ไหนทั้งนั้น”
“อีเพ็ญ!” กำนันศรจะเข้าไปตบลูกสาวระบายความคั่งแค้นใจ ดีแต่ว่าทั้งนางสมพรและนางแรมช่วยกันรั้งแขนไว้ก่อนจะบอกให้เพียงเพ็ญรีบขึ้นบ้านไป...โดยมีเสียงกำนันศรด่าตามหลังอีกยืดยาว...
***********
พออารมณ์เย็นแล้ว กำนันศรก็เดินไปหานางศรี...
“มีอะไรกันละพ่อกำนัน เสียงดังแต่เช้าตรู่”
“ก็อีตัวดีนะซิ มันดอดไปหาไอ้ก้านมา”
“ฮ้า...” นางศรียกมือทาบอก
“แล้วพ่อซาเขาว่าอย่างไร”
“เขาไม่อยู่ เขากลับไปเฝ้าร้านให้แม่เขาตั้งแต่เมื่อวาน เห็นว่าจะไป วันหรือสองวันนี่แหละ ศรีเอ็งรู้ไหมว่าตั้งแต่มันสองคนแต่งงานกัน มันยังไม่ได้นอนด้วยกันเลยสักคืน”
คราวนี้เองนางศรีเหมือนถูกถีบเข้าที่ยอดอกแต่ก็ไม่ได้อุทานอะไรออกมา...เพราะแผน ‘ย้อมแมวขาย’ นี้ ตนเป็นคนออกความคิด ถ้าความแตกขึ้นมา นางศรีรู้ดีว่า นางย้อยนั้นปากร้ายแค่ไหน เห็นทีนางไปเหยียบตลาดชุมแสงอีกไม่ได้แน่ ๆ!
“อีลูกไม่รักดี มันกะจะให้พ่อซารู้ว่ามันท้อง เพื่อจะได้เลิกกัน แล้วมันก็จะไปอยู่กับไอ้ก้าน มันจะเอาชนะข้าให้ได้”
“ไอ้ก้าน ไอ้ก้าน มันคงไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก ตอนนี้เขาลือกันให้แซ่ด ว่าตอนนี้ อีบังอร มันเข้านอกออกในบ้านไอ้ก้าน อยู่ด้วยกันจนค่ำมืดดึกดื่น แล้วไอ้ก้านมันก็กำลังหาเงินรักษาแม่มัน มันคงไม่ปล่อยอีบังอรที่เสนอตัวให้มันไว้หรอก พ่อกำนัน... ”
“ฉิบหายแล้วละซิ”
“กรรมของกรรมละ” ว่าแล้วนางศรีก็ถอนหายใจออกมาก่อนจะขยายความว่า
“อีบังอรมันมาคุย ว่าเห็นไอ้จุกเพียรไปหาไอ้ก้านสองรอบสามรอบแล้ว คนของเราคงจะส่งข่าวอะไรละ”
“วันนี้ที่มันยอมไปเอง ก็แสดงว่า ข่าวนั้นยังไม่ถึงไอ้ก้านใช่ไหม” กำนันศรคาดเดาเรื่องต่อ
“ถ้าไปเองแต่เช้ามืดดึกดื่นก็คงจะถึงแล้วหละ ถ้าให้ฉันเดา นังหนูมันคงไปบอกกับไอ้ก้านว่าเดี๋ยวมันจะเลิกกับพ่อซาในเร็ววันนี้ ให้รอมันหน่อย แต่ดูท่าไอ้ก้านมันคงไม่อยู่รอแล้ว”
“แล้วนังหนูมันรู้เรื่องอีบังอรกับไอ้ก้านหรือยัง”
“ก็คงรู้ ๆ บ้างละ มันถึงกระวนกระวายใจ”
“นี่ข้าก็กล่อมมันไปว่า ถ้าจะกลับใจก็ยังไม่สาย เพราะเจ็ดแปดเดือน คนเป็นผัวเป็นเมียกันแล้ว มันก็คงต้องผูกพันกันมั่ง แล้วถ้าพ่อซาเขาไม่ยอม ข้าก็ว่าจะยอม ๆ ขอโทษขอโพยแล้วโอนที่นาทำขวัญให้เขาสักแปลงสองแปลง แต่มันก็ไม่เอา มันเลือกทางที่มันคิดว่าดี...ข้าก็เลยประกาศิตไปว่า วันใดที่มันเลิกกับพ่อซา พ่อซากลับชุมแสงไปวันใด วันนั้น มันจะต้องไปจากฆะมัง มันกับข้าจะขาดกัน”
“แล้วมันจะขาดกันอย่างที่ปากพูดไปได้จริง ๆ รึพ่อกำนัน”
“ก็นั่นนะซิ” ว่าแล้วกำนันก็ยกหลังมือซับน้ำตาให้ตัวเองก่อนที่มันจะไหลออกมาให้ได้อาย...
****************
เมื่อ ‘เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้’ นางศรีบอกตัวเองและกำนันศรอย่างนั้น...พอปรึกษาทางออกของปัญหาที่น่าจะเป็นไปได้ นางศรีก็รีบดำเนินการทันที เบื้องต้นนางศรีแสร้งไปขอเก็บฝรั่งที่บ้านของนางอบ...
“อยากได้เท่าไหร่ก็สอยเอาไปเลย...” นางอบตะโกนลงมาจากครัวหลังเรือน นางศรีถามถึงบังอร อึดใจบังอรก็เดินออกมาชานหลังบ้าน...
นางศรีจึงบอกว่า “บังอร เอ็งมาช่วยป้าสอยฝรั่งหน่อยซิ แหงนมาก ๆ ปวดคอว่ะ”
พอบังอรมาถึง นางศรีก็ยื่นไม้ ‘ตะขอ’ ให้บังอรสอยฝรั่งผลแก่กำลังกินให้ พอได้จำนวนหนึ่ง นางศรีก็บอกว่า
“แค่นี้แหละ น่าจะพอแล้ว”
“วันหลัง ถ้าป้าอยากจะกินก็บอก เดี๋ยวฉันเก็บไปให้ ป้าจะได้ไม่ต้องมาเองหรอก”
“จริง ๆ แล้วข้าไม่ได้อยากได้ฝรั่งหรอก บังอรฟันฟางข้ามันเคี้ยวไม่ไหวแล้ว” นางศรีไม่อ้อมค้อม บังอรได้ยินดังนั้นก็ชักสีหน้าแปลกใจ
“ป้าอยากรู้เรื่องเอ็งกับไอ้ก้านน่ะ มันไปถึงไหนแล้วต่างหาก”
“เอ่อ...มีอะไรรึป้า” แม้จะอยากให้คนอื่นรับรู้ว่าตนนั้นตกเป็นของก้านไปแล้ว แต่พอถูกถามตรง ๆ ผิวหน้าบังอรก็รู้สึกร้อนผะผ่าวเพราะความเขินอาย...
“เอ็งก็รู้ว่า นังเพียงเพ็ญมันเคยชอบอยู่กับไอ้ก้าน”
“ข้อนั้น ฉันรู้ดีจ้ะป้า...”
“ตอนนี้ มันจะเลิกกับผัวมัน กลับมาหาไอ้ก้าน”
“ฮ้า จริง ๆ รึ”
“ป้าถึงต้องมาหาเอ็งนี่ไง เพราะมีคนเขาลือกันว่า เอ็งกับไอ้ก้านน่ะ ไปถึงไหน ๆ กันแล้ว”
“ก็...เอ่อ” บังอรยากจะแก้ตัว
“แล้วเมื่อไหร่ ถึงจะแต่งงานกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ชาวบ้านเขาจะได้ไม่เอาไปนินทา”
“คือ พี่ก้านเขายังไม่พร้อม เขาไม่มีเงิน หนี้สินที่หยิบยืมไปรักษาแม่เขา ก็ยังต้องทำงานใช้อยู่เลย”
“แล้วถ้าเอ็งท้องไส้ขึ้นมา เอ็งจะไม่อายคนเขารึ”
“ก็...เอ่อ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” บังอรเริ่มใจคอไม่ดี...
“เอาอย่างนี้ ตอนนี้ ทางเดียวที่จะพอช่วยกันได้...คือ เอ็งไปพูดกับแม่เอ็ง เรื่องสินสอดของไอ้ก้านซะ”
“แต่พี่ก้านไม่มีเงิน”
“ก็ข้ากำลังจะบอกอยู่นี่ไง ว่าจะช่วยได้อย่างไร...เรื่องนี้ที่ข้าต้องพูดกับเอ็งก่อน เพราะไม่อยากให้แม่เอ็งน่ะรู้สึกอับอายขายหน้า เอ็งก็เสียสาวให้ผู้ชายมันไปแล้ว เอ็งไปถามแม่เอ็งว่า ถ้าไอ้ก้านจะมาขอ เรียกค่าสินสอดอย่างถูกสุดสักประมาณเท่าไหร่...แล้วก็จัดงานอย่างรวบรัดที่สุด บอกกล่าวเฉพาะคนกันเองก็พอ แล้วจัดให้เร็วที่สุดด้วย เอ็งจะอ้างกับไอ้ก้าน กับแม่เอ็ง ว่าท้อง ว่าอะไร ก็แล้วแต่ปัญญาเอ็ง”
“หมายความว่าไง”
“เงินค่าสินสอดของไอ้ก้าน พ่อกำนันเขาจะออกให้...สู้ได้มากสุด ก็ทองสองบาท เงินสองพัน ค่าจัดงาน เครื่องขันหมากช่วยได้อีกสองพัน สงสัยละซิว่า ทำไมกำนันศรถึงยอมจ่าย...”
“จ้ะ”
“เขากลัวว่า นังหนู มันจะเลิกกับพ่อซามาหาไอ้ก้านไง ปิดประตูทางนี้ซะ ทางโน้นก็จะได้ไปไหนอีกไม่ได้ แล้วไม่ต้องสงสัยหรอกว่า ทำไมพ่อกำนันถึงยอมทำอย่างนี้ แล้วก็ไม่ต้องบอกไอ้ก้านมันด้วยว่า เงินนี้ พ่อกำนันเขาจะจ่ายให้ บอกมันไปแค่ว่า ที่ต้องรวบรัดแต่ง ก็ประมาณอัฐยายซื้อขนมยาย บอกไปว่าเป็นเงินของแม่เอ็ง ขายผ้าเอาหน้ารอด แต่งกันอายกันไป ถ้าตกลงวันเวลากันได้แล้ว เงินทองสินสอดของไอ้ก้าน ตอนใกล้ๆ ถึงวันงาน เดี๋ยวข้าเอามาให้เอ็งเอาไปให้มัน...เอ็งพอเข้าใจที่ข้าพูดไหม”
“เข้าใจจ้ะ...เข้าใจ” ว่าแล้วบังอรก็สูดลมหายใจเข้าปอดอย่างแรง...เพราะที่ได้ตั้งใจไว้คือ บังอรตั้งใจจะปล่อยให้ท้องแล้วบอกให้ผู้ใหญ่รับรู้ ผูกข้อไม้ข้อมือให้ แล้วก็อยู่ด้วยกันซะ...เมื่อมีลาภลอยมาอย่างนี้ ถ้าไม่รีบตะครุบไว้ ก็โง่เต็มทีแล้ว...
“ช่วงนี้ อย่างไรเอ็งก็พยายามกันไอ้ก้านไว้ อย่าให้มันเจอกับนังหนูเด็ดขาด รู้ไหม”
ธุระกับบังอรแม้จะยังไม่สรุปว่า สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเพียงใด แต่นางศรีก็ถือว่า ได้ทำตามแผนการที่วางไว้ไปขั้นหนึ่งแล้ว แผนถัดมาคือ เข้าไปหาหลานสาวแล้วเปิดอกคุยกันอีกครั้ง...
กำนันศรทำทีว่าต้องออกไปธุระกับนางสมพร ปล่อยให้เพียงเพ็ญขังตัวอยู่ในห้อง โดยมีนางแรมคอยควบคุมดูแลไม่ให้ห่างสายตาเช่นเดิม...
นางศรีเคาะประตูอยู่อึดใจใหญ่ ๆ เพียงเพ็ญที่ผ่านการร้องไห้จนตาบวมก็ลุกมาเปิดประตู แล้วเดินกลับไปทรุดตัวลงนั่งบนที่นอน... นางศรีเดินไปปิดวิทยุ แล้วก็เดินมาหาหลานสาว...
“อามีเรื่องจะคุยด้วยหน่อย”
“ถ้าจะมาพูดเรื่องพ่อซาของอา หนูไม่อยากฟัง ไม่อยากได้ยินอะไรอีกแล้ว” เพียงเพ็ญตั้งป้อมปฏิเสธ
“ไม่อยากได้ยินก็ต้องได้ยิน เพราะที่ผู้ใหญ่ทำลงไปนั้น ทำไปเพราะความหวังดี”
เพียงเพ็ญเบะปาก...
“เรื่องมันล่วงเลยมาจนถึงขนาดนี้แล้ว ยังจะวกกลับไปให้มีปัญหาทำไมกันอีก... รู้ไหมว่าลูกที่ทำตัวให้พ่อแม่มีความทุกข์ มันเป็นบาปแค่ไหน”
“แล้วความทุกข์ของหนูล่ะ ความรู้สึกของหนูละอา เคยมีใครสนใจบ้างไหม”
“เราต้องคุยกันด้วยเหตุผลนะ อย่าเอาอารมณ์มาพูด...รู้ไหมว่า ตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นกับไอ้ก้าน”
เพียงเพ็ญเชิดคอขึ้น...แสดงว่าสนใจฟัง
“แม่มันป่วยเป็นวัณโรค มันจะติดโรคจากแม่มันหรือเปล่าก็ไม่รู้...แล้วตอนนี้ใคร ๆ ก็รู้กันว่าอีบังอรมันเดินขึ้นเดินลงบ้านนั้น อยู่ปรนนิบัติดูแลป้ากุ่นจนค่ำมืดดึกดื่น เพราะมันอยากได้ไอ้ก้านทำผัว...แล้วคนเข้าตาจน คนที่กำลังจะจมน้ำตาย กำลังหาเงินรักษาแม่ตัวเป็นเกลียวอย่างไอ้ก้านน่ะ มันไม่โง่ปล่อยขอนไม้ให้ลอยน้ำผ่านไปหรอก รู้ไหมว่า มันมีอะไรกับอีบังอรไปแล้ว”
“ไม่จริง”
“อาอยู่กับร้านค้า เรื่องที่ชาวบ้านเอามาพูดกัน ไม่เคยผิดเพี้ยนไปสักเรื่อง อีอบ ไอ้อาจ มันรักลูกสาวมันจะตาย ไร่นาสาโทมันก็มีหลายทุ่ง มันก็อยากได้ลูกเขยเอาไว้ช่วยงาน แล้วถ้าได้คนที่ลูกมันรักด้วย ก็เป็นเรื่องดี พวกมันถึงได้ให้ท้ายอีบังอรไปแรด ๆ โดยไม่สนใจเสียงชาวบ้านได้ไง...แล้วอีกอย่าง ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว อีบังอร ถึงมันจะแรด แต่มันก็ไม่ได้แย่งผัวใคร ไอ้ก้านมันเป็นโสด ต่างคนต่างเป็นโสด ก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกัน”
“พี่ก้านรักหนู หนูกับพี่ก้านคุยกันรู้เรื่องแล้ว พี่ก้านไม่มีทางนอกใจหนูหรอก” เพียงเพ็ญเอาสีข้างเข้าถู
“นอกไม่นอก มันก็เป็นอื่นไปแล้ว อีกไม่กี่วันหรอก เดี๋ยวก็ได้ข่าวว่ามันกับอีบังอรผูกข้อไม้ข้อมือกัน เพราะอีบังอรมันก็สารภาพกับอาแล้วว่า มันมีอะไรกับไอ้ก้านไปแล้ว”
เพียงเพ็ญกัดฟันกรอด กำมือแน่น แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมา...
“ทีนี้ มาที่เรื่องของหนูกับพ่อซา...ก็อย่างที่พ่อเขาบอกนั่นแหละ มันยังไม่สายที่จะเปลี่ยนใจ เพราะจะยอมเป็นเมียเขาหรือไม่ยอม อย่างไร พวกเราทั้งหมดก็ได้ขึ้นชื่อว่า ย้อมแมวขายเขาไปแล้ว ถ้าเขามารู้ทีหลัง อย่างที่หนู อยากให้เขารู้ อาบอกเลยว่า แม่ย้อยปากอย่างกับตะไกร ถ้าแม่ไม่ตามมาด่าถึงที่นี่ หรือไม่เอาพวกเราไปประจานที่ตลาดให้ได้อับอายจนไปเหยียบที่ชุมแสงอีกไม่ได้ ไม่ต้องมาเรียก อาว่าอา และที่สำคัญ...เป็นลูกผู้หญิง ใคร ๆ ก็อยากได้ตำแหน่งเมียหลวง เมียแต่งกันทั้งนั้นแหละ...ถ้าวกกลับไปหามัน ก็เท่ากับว่า ต้องกลับไปกินน้ำใต้ศอกอีบังอร...”
“แต่หนูเป็นของพี่ก้านมาก่อน” เพียงเพ็ญยังเถียง
“แต่ตอนนี้ หนูเป็นเมียพ่อซา...เชื่ออา พ่อซาเขากลับมา ก็ให้เขาขึ้นมานอนบนเตียงซะ ปรนนิบัติเอาใจเขาไว้ ลูกในท้องจะได้มีปู่กับย่าเป็นเถ้าแก่ใหญ่ในตลาดชุมแสง...”
แรกทีเดียวนางย้อยกะไว้ว่า พอเสร็จธุระเรื่องตึกแถวก็ไปดูวรรณาประกวดนางสาวสี่แควกับเรณู พอวันรุ่งขึ้นก็จะกลับบ้าน แต่เอาเข้าจริง ๆ ธุระเรื่องตึกใหม่ต้องรอทำในวันจันทร์ ประกอบกับเรณูอยากให้วรรณาเก็บข้าวเก็บของมาอยู่ด้วยกันที่ชุมแสงเสียเลย ทั้งสองจึงให้หมุ่ยนี้ จันตา และปลัดจินกร ซึ่งไม่ยอมพักที่บ้านญาติของนางย้อย แต่ยินดีที่จะพักอยู่โรงแรม กลับชุมแสงกันมาก่อน โดยวันอาทิตย์ตลอดทั้งวัน เรณูกับวรรณาที่ได้ตำแหน่ง ‘ขวัญใจช่างภาพ’ จากเวทีนางสาวสี่แควมาครอง ก็พากันออกไปดูเรื่องผ้าผ่อนที่จะรับไปขายต่อทางโน้น
วันจันทร์นางย้อยเสร็จธุระในตอนสาย ๆ พอตอนบ่ายทั้งสามคนก็พากันนั่งรถไฟกลับชุมแสง โดยข้าวของที่ซื้อหาไว้ก็ส่งตามไปทางเรือ...
ถึงสถานีรถไฟชุมแสงในตอนบ่ายคล้อย เรณูก็รู้สึกว่า ที่ระหว่างทางผู้คนมองมาหาตนกับนางย้อยและน้องสาวนั้น มองด้วยสายตาแปลกไป...แต่ก็ไม่มีใครเอ่ยอะไรออกมา กระทั่งเรณูเดินไปส่งนางย้อยที่ร้านแล้วพาวรรณาเดินกลับมายังร้านที่เซ้งไว้ พาวรรณาเข้าไปตรวจตราดูบ้านใหม่ ร้านใหม่ ที่มีชื่อว่า ‘เรณูบูติค’ พร้อมกับบอกให้วรรณาพักอยู่ห้องที่อยู่ด้านหลัง ส่วนเรณูจะนอนห้องฝั่งถนน ซึ่งมีระเบียงมองดูร้านรวงสองข้างถนน...ระหว่างที่เรณูยืนหันซ้ายหันขวาอยู่นั้น เรณูก็เห็นหมุ่ยนี้เดินมาหา พอสบตากันเรณูก็โบกมือให้...แต่หมุ่ยนี้บอกว่าให้ลงมาคุยกันหน่อย พอลงมา เรณูก็เชื้อเชิญมุ่ยนี้เข้ามานั่งบนเก้าอี้รับแขกติดฝนั่งด้านซ้าย ซึ่งเจ้าของบ้านเดิมทิ้งไว้ให้ใช้...
“รู้เรื่องหรือยัง”
“เรื่องอะไร”
“ก็ เรื่องที่มีคนปล่อยข่าวว่า เธอน่ะ ทำเสน่ห์ใส่ทั้งอาใช้และแม่ผัวของเธอ”
พอได้ยินคำว่า ‘เสน่ห์’ เรณูที่รู้อยู่แก่ใจดีว่าตนเองได้ทำอะไรลงไป เย็นวาบไปทั่วสรรพางค์กาย...
“ใครมันเป็นคนเริ่มต้น”
“เขาว่ากันว่า ก็ ก็ คู่สะใภ้เธอนั่นแหละ”
“พิไล”
“เมื่อวานแจ้กลับมาก่อน...พวกข้างบ้าน ถามกันให้แซ่ดเลยว่าเรื่องจริงหรือเปล่า ทำอย่างกับว่า แจ้กับเธอ เป็นคน ๆ เดียวกันอย่างนั้นแหละ”
ความดีของหมุ่ยนี้ ทำให้เรณูรู้สึกลำบากใจที่จะปฏิเสธความจริงเหมือนที่เคยคิดไว้
...แต่ถ้ายอมรับความจริงออกไป...เรณูก็ไม่มั่นใจว่าหมุ่ยนี้จะรับได้หรือเปล่า
และถ้าจะปฏิเสธกับเรื่องระยำตำบอนไปอย่างเสียงแข็งกับมิตรที่แสนดีคนนี้ วันหนึ่งข้างหน้า ความจริงถูกเปิดเผย เรณูเชื่อว่า หมุ่ยนี้จะต้องรังเกียจเดียดฉันท์คนตอแหลหลอกลวงอย่างแน่นอน...นี่แหละหน้า โทษทัณฑ์ของการโกหก...โทษทัณฑ์ของการทำไม่ถูกทำนองคลองธรรม...พอผลกรรมมันย้อนกลับมา ใจนั้นก็หาได้มีความสุข เพราะสู้ตา สบตากับใครเขาก็อีกไม่ได้ ต่อไปพูดอะไรไปใครเขาก็จะไม่เชื่อ
“แล้วเจ๊ตอบคนอื่น ๆ ไปว่าอย่างไร” เรณูแข็งใจถาม...
“ก็ตอบไปว่า ไม่รู้น่ะซิ...จะให้ตอบอะไรล่ะ”
“ถ้าฉันทำจริง ๆ ล่ะ เจ๊จะโกรธเกลียดฉันหรือเปล่า” ในที่สุดเรณูก็เลือกที่จะใช้วิธีโยนหินถามทาง...
หมุ่ยนี้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนยิ้มน้อย ๆ แล้วส่ายหน้าเบา ๆ อาการนั้นเรณูไม่รู้ว่า รับได้หรือรับไม่ได้...โกรธหรือไม่โกรธ...
“เธอก็ตอบมาก่อนซิว่า เธอทำจริง หรือไม่จริง...”
เรณูสูดลมหายใจเข้าปอดจนลึก แล้วกลืนน้ำลายลงคอ ก่อนจะบอกว่า
“ถ้าเป็นคนอื่นถามฉัน ฉันก็จะบอกว่าไม่ได้ทำ แต่พอดีเป็นเจ๊ถาม...แล้วดันถามเป็นคนแรกเสียด้วย...ฉัน ฉัน ทำจริง ๆ”
“ก็แค่นั้นเอง”
“เจ๊”
“เธอต้องมีเหตุผลของเธอ เธอถึงได้ทำอย่างนั้น ถ้าอยากเล่าก็เล่า ถ้าไม่อยากเล่าก็ไม่ต้องเล่าหรอกนะ”
วรรณาที่ลงมาจากชั้นบนพอดีแล้ว แอบฟังอยู่ที่ด้านหลังร้าน สูดลมหายใจเข้าปอดอย่างแรง เพราะรู้สึก..ในที่สุดความจริงก็ถูกเปิดเผยออกมาให้วรรณาลำบากใจ เพราะเป็นพี่น้องกัน อยู่ด้วยกัน คนที่นี่ก็ต้องเหมารวมว่าสมรู้ร่วมคิดกัน...ถ้ารู้ความจริงก่อนหน้านี้ วรรณาก็คงจะไม่มาอยู่ด้วย แต่เมื่อมาแล้ว ก็ต้องดูกันต่อไปว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร?
*******************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
|