นักประพันธ์
|
|
« on: 29 February 2020, 07:50:08 » |
|
กรงกรรม บทประพันธ์ของ จุฬามณี
นวนิยาย เรื่องนี้เขียนขึ้นจากจินตนาการ โดยใช้ฉากเป็นสถานที่จริง หากชื่อตัวละครหรือเหตุการณ์ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ผู้เขียนขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ตอนที่ 1 : ปฐมบท ของ ปฐมบท
๑
พ.ศ. ๒๕๑๐ ณ ตลาดอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ หลังสิ้นเสียงหวูดรถไฟ อึดใจใหญ่ๆ รถสามล้อถีบที่มีชายหนุ่มกับหญิงสาวเป็นผู้โดยสารก็มาหยุดที่หน้าร้านค้าส่ง ชายหนุ่มวัย ๒๓ ปีอยู่ในชุดเครื่องแบบทหารเกณฑ์สีเทาอุ้มเป้สัมภาระรีบกระโดดลงจากรถ เขามองเข้าไปในร้านสองคูหาซึ่งเป็นบ้านของตนด้วยสีหน้าเต็มไปด้วยความกังวล หญิงสาวที่นั่งอยู่เคียงกันก้าวตามลงมา เธอมองเข้าไปในร้าน ก็พบว่าบรรดาลูกค้าที่กำลังเลือกซื้อสินค้าต่างก็หันมามองที่เขาและตัวเธอ แทบจะเป็นตาเดียวกัน แน่นอนว่าคนเหล่านั้นไม่สามารถเห็นสายตาของหญิงสาวที่อยู่ใน ชุดกางเกงเอวสูงสีเขียว เสื้อตัดจากผ้าชีฟองพื้นสีเหลืองดอกสีดำจับจีบรอบคอสอดชายเสื้ออยู่ในกางเกง เพราะเธอคาดแว่นกันแดดปิดบังสายตาไว้...
“นี่เหรอบ้านของพี่” ปากที่เคลือบลิปสติกสีแดงสดเอ่ยถาม
“ใช่...บ้านพี่”
“ร้านใหญ่โตดีนะ ลูกค้าเยอะเสียด้วย” ริมฝีปากหนาอูมได้รูป คลี่เพียงแย้ม ไหล่ระหงไหวเล็กน้อย ทำให้ใบหน้าแต่งแต้มสีสันในกรอบผมหยิกยาวดูเก๋ไก๋ตามสมัยนิยม
หลังจากที่ชายหนุ่มจ่ายค่ารถสามล้อ เขาสูดลมหายใจเข้าปอด ก่อนจะเดินนำหญิงสาวเข้าไปในร้าน
“เฮียใช้ เอ่อ” บุญปลูกลูกจ้างสาววัย ๑๖ ปีร้องทักด้วยสีหน้าเคลือบแคลงสงสัย
“ปลูก ม้าอยู่ไหน” เพื่อแก้ ‘เขิน’ กับ สายตาสอดรู้สอดเห็นของ คนถามและลูกค้าที่เขาพอคุ้นหน้าค่าตาอยู่บ้าง เขาจึงต้องชิงถามทั้งที่รู้ว่าช่วงเวลานี้แม่ของตนจะต้องนั่งอยู่ตรงไหน...
ไม่ทันรอเอาคำตอบ...เขาก็หันมาพยักหน้ากับหญิงสาวที่เดินตามมาด้วย ให้เดิน ตามมา...
ชายหญิงทั้งคู่เดินเข้าร้านไปแล้ว ส่วนกระเป๋าผ้าใบใหญ่ ยังคงวางไว้ที่หน้าร้าน เช่นเดียวกับกลิ่นน้ำหอม ที่ยังคงฟุ้งตลบจนบุญปลูกต้องทำจมูกฟุตฟิต ครุ่นคิดว่ามันเหม็นหรือหอมกันแน่ “ม้า...หวัดดี” เขาก็วางกระเป๋าเป้ลงที่พื้น แล้วยกมือขึ้นไหว้...
“ตี๋ใหญ่...แกพาใครมาด้วย”
“เรณู เรณูสวัสดีแม่ของพี่เสียซิ”
“สวัสดีค่ะ...ม้า”
แค่ ได้กลิ่นหอมฟุ้ง เห็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ นางย้อยก็พอเดาได้ว่า หญิงสาวที่เดินตามลูกชายมานั้นเป็นใคร? ระหว่างลูกชายของตนหญิงสาวนั้นมีฐานะอะไร สัญชาตญาณของความเป็นแม่ และอุปนิสัยที่ได้ชื่อว่าเป็นคน ‘ปากไว’ นางย้อยจึงถามกลับไปด้วยน้ำเสียงห้วน ๆ ว่า
“ใคร ใครเป็นม้าของเธอ ไม่ต้องมานับญาติกับฉันหรอกนะยะ”
พอได้ยินวาจาของหญิงวัย ๔๐ กว่าๆ หญิงสาวที่ยืนด้านหลังชายหนุ่มก็เบะปาก...เชิดหน้า ที่แต่งแต้มสีสันสะดุดตาขึ้น...
เมื่อเห็น กิริยา ท้าทายอำนาจของตนอย่างโจ่งแจ้ง นางย้อยที่นั่งอยู่หลังโต๊ะบัญชีก็ผุดลุกขึ้น ถลึงตา แล้วก็แผดเสียงดังอย่างไม่คิดอับอายใครทั้งสิ้น...
“ตี๋ใหญ่...แกพาใครมาด้วย...พากันมาทางไหน เอามันออกไปทางนั้นเลยนะ”
สิ้นประกาศิตจากแม่ของชายหนุ่ม หญิงสาวนามว่า ‘เรณู’ ก็ใช้สองมือจับหมับที่ต้นแขนของชายหนุ่ม บอกให้รู้ว่า เธอจะยึดเขาเป็นเกาะป้องกันตัว...
ตี๋ใหญ่ของนางย้อย หรือพลทหารปฐม อัศวรุ่งเรืองกิจ รู้ทันทีว่า ‘ศึก’ กำลัง จะเกิด...เพราะแม่ของเขานั้น ไม่มีวันยอมรับเรณูมาเป็นศรีสะใภ้อย่างแน่นอน...และเขาก็รู้ว่าเรณูจะไม่ยอม ถอยแม้แต่ก้าวเดียวเช่นกัน...
เรณูบอกกับเขาว่า ‘ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือ มันก็จะไม่ได้ลูกเสืออย่างที่ควรจะได้แน่’
เรณูไม่กลัวคำขู่ของเขาเลยสักนิด เขาบอกกับเรณูเสมอว่า แม่ของเขานั้น ‘ร้าย’ ถึงเพียงไหน...
แต่เรณูหาได้หวั่นเกรง...หญิงสาวบอกกับเขาว่า ‘พร้อมรบ’ เพื่อความรัก เพื่อลูกในท้องที่กำลังจะลืมตาดูโลก ต่อให้ต้องบุกน้ำ ลุยไฟ เดินฝ่าดงหนาม เธอก็ไม่หวั่น
“ไม่กลับ หนูไม่กลับ หนูจะอยู่ที่นี่...กับผัวของหนู” “หน้าด้าน”
“พี่ใช้ บอกแม่พี่ไปซิ ว่า หนูท้อง...หนูท้องกับพี่เขาแล้ว จะกลับไปได้อย่างไร”
“อะไรนะ...แกท้อง!”
“ม้า ผมทำเรณูท้อง เรณูท้องได้ ๒ เดือนแล้ว”
“ต๊าย! อีผู้หญิงใจง่าย อี...อี ดูซิ ดูแต่งเนื้อแต่งตัว...ถามจริง ๆ เถอะ แกทำงาน ทำการอะไร”
“บอกแม่พี่ไปซิพี่ใช้” เรณูโยนกลองไปให้ปฐม...
“เอ่อ...เรณูเขา...เอ่อ”
“ไม่ต้องบอกก็รู้หรอกว่าสารรูปอย่างอีนี่ จะทำงานอะไรได้ แต่งเนื้อแต่งตัว แต่งหน้าทาปาก อย่างนี้ มันต้องเป็นกะหรี่แน่ ๆ”
“กะหรี่” เรณูทวนคำนั้นเบา ๆ เบะปากเล็กน้อยเหมือนยอมรับความจริง...ความจริงที่น่าภาค ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
“ตี๋ใหญ่!”
“ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกม้า”
“ก็มันยอมรับ...แล้วนี่พามันมาจากที่ไหน.”
“ตาคลี”
“แน่ ๆ เลย อยู่ตาคลี ทำงานรับแขกอยู่ในบาร์แน่ ๆ”
“รู้ เหมือนกันว่าอยู่ตาคลี ต้องทำงานรับแขกอยู่ในบาร์”
“หยุดเถอะ” ปฐมหันมาหญิงสาวที่ยืนอยู่ข้างตน แต่เรณูหาได้หวั่นเกรงในน้ำเสียงที่ดังขึ้นกว่าเดิมนั้นสักนิด
ฝ่ายแม่ของเขาเองตอนนี้ก็หน้าแดง ดวงตาวามวับ จ้องมองหญิงสาวที่เกาะเขาอยู่อย่างจะกินเลือดกินเนื้อ...ดีแต่ ว่าเรณูยังคงสวมแว่นกันแดดปิดบังสายตา แม่จึงไม่เห็นแรงท้าทาย...
“ผมขอตัวพาเรณูขึ้นห้องพักผ่อนก่อนนะม้า...ขึ้นรถไฟมาตั้งแต่เช้า เหนื่อย ร้อน อยากอาบน้ำ” เขารีบตัดบท...
“ไม่ได้...แกจะให้มันอยู่ที่นี่ไม่ได้”
เรณูเชิดหน้าขึ้น...
“เขาเป็นเมียของผม เป็นแม่ของลูกผม ผมจะให้เขาไปอยู่ที่ไหนละม้า”
“ไม่รู้...รู้แต่ว่า มันจะอยู่ร่วมชายคากับม้าไม่ได้”
ปฐมยืนอึ้ง...สีหน้าเต็มไปด้วยความหนักใจ ส่วนเรณูขยับตัวเดินไปหยิบจับสินค้าบนชั้น แล้วแสร้งอ่านฉลาก รอการตัดสินใจของปฐม...โดยใจนั้นหาได้หวาดหวั่นสักนิด...เพราะเธอมั่นใจว่าได้เตรียมการตั้งรับกับแม่ผัวคนนี้มาแล้วเป็นอย่างดี
บุญปลูกที่จด ๆ จ้อง ๆ อยู่ รีบฉวยโอกาสทำลายความตึงเครียด...โดยการร้องบอกว่า “เถ้าแก่เนี้ย ป้ามอนแกจะกลับแล้ว ออกมาคิดเงินให้แกด้วย”
เมื่อไม่สามารถไล่หญิงสาวที่ติดตามลูกชายมา ให้พ้นทางชีวิตไปได้ นางย้อยก็บอกกับลูกชายว่า...
“ถ้าไม่รู้จะให้มันไปอยู่ที่ไหน ก็ให้มันไปอยู่ที่บ้านในตรอกโน่น”
“แต่ว่าบ้านหลังนั้น มันเป็นบ้านร้าง”
“ร้าง ก็ปัดกวาดเช็ดถู อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป...ไป พากันไปจากร้านนี้ได้แล้ว เกะกะขวางทางทำมาหากิน”
สิ้นเสียงนางแม่ผัว...ลูกสะใภ้ก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้หัวโล้น...แล้วเดินนำปฐม ออกไปที่หน้าร้าน...เขาคว้ากระเป๋าแล้วถามหากุญแจรั้ว กุญแจบ้าน... นางย้อยเปิดลิ้นชัก หยิบกุญแจส่งไปให้แล้วถามว่า “แล้วนี่จะกลับเข้าค่ายเมื่อไหร่”
“อีกห้าวันครับ”
“เอามันกลับไปเข้าซ่องเข้าบาร์ที่มันเคยอยู่ด้วยนะ อย่าทิ้งไว้ให้เป็นเสนียดสายตาของม้า”
“แต่”
“แกอย่าลืมว่าแกมีคู่หมั้นคู่หมาย...ตอนนี้ ทางนั้น ยังไม่รู้เรื่องบัดสีนี้ เราต้องรีบแก้ปัญหากันเสียก่อน”
“แต่เรณูท้องนะม้า”
“ท้องได้ ก็แท้งได้...แล้วคนอย่างอีนี่ ม้าไม่เชื่อหรอกว่ามันจะไม่เคยรีดเด็กออกจากท้อง”
ปฐมถอนหายใจอย่างแรง...ส่ายหน้าเบา ๆ ...ครั้นพอจะขยับตัวก้าวขา...แม่ของเขาก็เอ่ยขึ้นว่า
“เอามันไปไว้ที่บ้านนั้น ให้มันเก็บกวาดบ้าน แล้วแกก็กลับมาหาม้าด้วย เราต้องมีเรื่องคุยกันอีกยาว”
ปฐมทำหน้าเหนื่อยหน่ายใจ ก่อนจะหันหลัง เดินไปหาเมียที่ยืนชะเง้อชะแง้ มองร้านรวงสองฟากถนนที่ขนานไปกับแม่น้ำน่าน ด้วยทีท่าสนใจเสียเต็มประดา
*************
บ้านไม้สองชั้นใต้ถุนสูงโล่งในตรอก ห่างจากตลาดพอสมควร มีอาณาบริเวณพอให้ปลูก ต้นไม้ ดอกไม้ให้ความร่มรื่น...แม่ได้บ้านหลังนี้พร้อมที่ดินมาจากการรับ จำนอง พอเจ้าของบ้านไม่สามารถส่งดอกเบี้ย ดอกเบี้ยก็ทบต้น สุดท้ายแม่จึงต้องยึดบ้านหลังนี้ไว้ หลังได้กรรมสิทธิ์ แม่ให้เจ้าของเดิมย้ายบ้านออกทันที ท่ามกลางเสียงแช่งชักหักกระดูก กล่าวหาว่าแม่หน้าเลือด ใจดำอำมหิต แต่แม่ก็หาได้สนใจ เสียงที่แว่วมาให้ได้ยิน...แม่เปรยว่า ‘กู ไม่ได้โกงใคร ก่อนที่จะเอาเงินไป ลูกหนี้ของกูทุกคน รู้อยู่แล้วว่าสัญญาเงินกู้นั้นมีข้อความว่าอย่างไร...เมื่อทุกคนเต็มใจเซ็นชื่อ เต็มใจแปะโป้ง ก็ต้องยอมรับผลกรรมที่จะตามมา’
เบื้องต้นแม่ปล่อยให้ข้าราชการที่มาจากต่างถิ่นเช่าอาศัย พอข้าราชการคนนั้นย้ายไป บ้านหลังนี้จึงปล่อยร้าง หาคนเช่าไม่ได้...แม่ตั้งใจไว้ว่า หลังจากที่เขาปลดทหารในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะยกให้เป็นเรือนหอของเขา ซึ่งเป็นลูกชายคนโต กับ ‘พิไล’ ลูกสาวคนเล็กเถ้าแก่เจ้าของโรงสีคนตำบล ทับกฤชที่เกิดจากเมียคนไทย เหมือนกับแม่ของเขาที่เป็นคนไทย ได้สามีเป็นลูกชายคนจีนโพ้นทะเล แต่เมื่อรูปการเป็นอย่างนี้เสียแล้ว...แผนแต่งงานกับลูกเศรษฐีมีเงินจึงต้องล่มไป...
พอเห็นตัวบ้าน...ความหลังก็ผุดขึ้นมา...
‘พิไล’ ผู้หญิงไทยเชื้อสายจีนที่เขารู้สึกพอใจตั้งแต่ผู้ใหญ่แนะนำให้รู้จักกัน พิไลเป็นผู้หญิงตัวเล็ก มารยาทเรียบร้อย แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันสบายตา ความรู้ของพิไลก็มีถึงชั้น มศ.๕ หญิงสาวถนัดค้าขาย เก่งเรื่องบัญชี เป็นหูเป็นตาเป็นมือเป็นเท้าให้กับเถ้าแก่ฮง เจ้าของโรงสีใหญ่ผู้พ่อ...และที่สำคัญฐานะทางบ้านของเจ้าหล่อนเหนือสาวอื่น ใดในตลาดทับกฤช...
แต่ทำไม ทำไมเขาจึงได้หมดรัก หมดความพึงใจในตัวพิไล และปล่อยให้เรณูเข้ามาแทนที่จนเต็มหัวใจ
เพราะถ้าเปรียบพิไลเป็นเพชร เรณูก็เป็นถ่าน...แต่เขาก็รักและสงสารเรณู ผู้หญิงมากตำหนิในสายตาของคนรอบ ๆ ตัว จนทิ้งขว้างไม่ลง
“บ้านน่าอยู่จัง...แบบนี้คือบ้านในฝันของหนูเลยพี่” พอเห็นตัวบ้าน เรณูก็ยืนอยู่ข้างเขาก็ยิ้มฝัน...
ตอนนี้หญิงสาวปลดแว่นกันแดดมาเหน็บไว้ที่คอเสื้อแล้ว...เขาจึงได้เห็นลูก นัยน์ตา เต้นระยิบระยับชวนให้สงสาร...
เรณูบอกกับเขาว่า เธอเกิดในครอบครัวยากจนข้นแค้น มีพี่น้องนับทั้งตัวเธอด้วย มีจำนวนสิบคน...ความรู้ก็มีเพียงชั้นประถม ๔ บ้านของเธออยู่ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง ระหว่างโดยสารรถไฟมาจากสถานีบ้านตาคลี มาที่สถานีชุมแสง ถึงบึงบอระเพ็ด เรณูยังชี้ไปยังทิศทางที่บ้านของตัวเองตั้งอยู่ให้เขามองตามปลายนิ้วไป นอกจากทำนาแล้ว ที่บ้านของเรณูก็ยังมีอาชีพทำประมง เพราะอยู่ติดกับบึงน้ำจืดขนาดใหญ่
สงครามเวียดนาม ประเทศไทยเป็นมหามิตรกับประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัว...กองบิน ๔ ตาคลีเป็นหนึ่งในฐานทัพที่กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการ เมื่อมีทหารผมสีทอง มีเงิน มีทอง คนไทยจึงต่างชักชวนกันมา‘ขุดทอง’ แม่ ของเธออยากร่ำรวยเหมือนคนอื่นบ้าง จึงบีบบังคับให้เธอนั่งรถไฟมาตาคลีกับคนในหมู่บ้าน โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกของเธอเลยสักนิด...
พอ มาอยู่ตาคลี ครั้นจะมัวสนิมสร้อยเหมือนสาวน้อยไร้เดียงสา เธอก็ถูกสาวใหญ่ที่อยู่มาก่อนข่มเหง...เพื่อเอาตัวให้รอดปลอดภัยและอยู่ อย่างมีความสุข เธอจึงต้องสร้างเกราะคุ้มครองตัวเองให้แกร่งขึ้น จนกลาย เป็นความกร้าน...อย่างที่คนทั่วไปมองเห็น เขาพบเธอครั้งแรก เขาไม่ได้รู้สึกหลงใหลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน...
แต่ พอได้รู้จักกัน ได้มีโอกาสพูดคุย ดื่มกิน และร่วมหลับนอนบ่อยครั้งเข้า เขากลับหลงใหลในจริตมารยาหญิง จนเพื่อน ๆ ในกองร้อย เย้าว่า ดูเหมือนเขานั้นหลงเรณู จนโงหัวไม่ขึ้น ประหนึ่งว่า ‘ถูกของ!’
“บ้านหลังนี้ แม่ตั้งใจไว้ว่าจะยกให้เป็นเรือนหอของพี่กับ..”
“อีพิไล” น้ำเสียงของเรณูกระด้างหูทันที
“ทำไมต้องเรียกเค้าอีด้วย...เค้าไม่ได้ทำอะไรให้หนูซักหน่อย”
อันที่จริง เรณูอายุมากกว่าปฐมถึงสามปี แต่ด้วยเป็นผู้หญิงที่สูงเพียงร้อยหกสิบต้นๆ และยังแต่งหน้าแต่งตัวด้วยแพรพรรณสีสันสดใส ประกอบกับอาชีพของตน ทำให้เรณูเอ่ยสรรพนามแทนตนว่า ‘หนู’ เรียกปฐมลูกพ่อจีนแม่ไทยว่า ‘พี่’ ได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ
“ไม่รู้ ไม่อยากได้ยินพี่ใช้เอ่ยถึงมัน...หนูเกลียดมัน”
“เกลียด ทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเนี่ยนะ”
ใจจริงเรณูอยากจะบอกว่า ‘ทำไมจะไม่เคยเห็นละ’ แต่ หญิงสาว ก็กลืนประโยคนั้นลงคอ แล้วพูดด้วยน้ำเสียงออดอ้อนว่า
“ตอนนี้ พี่เป็นของหนู เรือนหอนี้ หนูเข้ามาครอบครองแล้ว ต่อไป พี่ห้ามเอาชื่อมันมาพูดในบ้านนี้อีกเด็ดขาด นะจ๊ะ”
“ถ้าอย่างนั้น ก็เข้าไปทำความสะอาดบ้าน”
เปิด ประตูบ้านแล้ว เรณูก็คว้าไม้กวาด ผ้าขี้ริ้วปัดกวาดเช็ดถูอย่างคล่องแคล่ว ไม่อิดออดอ้างว่าตนกำลังท้องไส้ เรณูจะบ่นก็เพียงว่า บ้านหลังนี้อยู่ห่างจากแม่น้ำน่านพอสมควร...แต่ว่าเรณูก็บอกว่า เรื่องหาบน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาใส่ตุ่มแกว่งสารส้มไว้ใช้สอยและดื่มกิน ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเธอ
หลังเห็นบ้านสะอาดเอี่ยม...เขาก็บอกกับเรณูว่า “เดี๋ยวพี่จะกลับไปที่ร้าน จะไปขนเครื่องนอนมา”
“เครื่องครัวด้วยนะ สำรวจแล้ว ในครัวมีเตากับถ่านเท่านั้น น้ำมันก๊าดก็ไม่มี มีตะเกียงแค่สองลูก”
“หิวอะไรไหม”
“อยากกินขนมครก ซื้อมาด้วยนะ ถ้าไม่มีก็เอากุยช่ายทอด รีบไปรีบกลับล่ะ เอ๊ะ หรือจะไปด้วยดี จะได้ช่วยถือของกลับมา”
“ไม่ ต้องหรอก...พี่มีเรื่องต้องคุยกับม้า แล้วอีกอย่างถ้าหนูไปด้วยกัน เดี๋ยวม้าอารมณ์เสียพาลไม่ได้ของอะไรติดมือกลับมาสักอย่าง เย็นนี้ถ้ายังไม่พร้อมหุงหาข้าวปลากิน เดี๋ยวพี่จะพาไปกินที่ตลาด...ที่ชุมแสงนี่ของกินเยอะแยะ” ***********
หลังจากที่ลูกชายพา ‘อีเรณู’ ออกไป...นางย้อยที่นั่งอยู่หลังโต๊ะบัญชี ก็ครุ่นคิดหาวิธี ‘กำจัด’ มารความสุขไปให้พ้นทาง...นางคิดวิธีชั่วช้าไว้หลายทางทีเดียว...แต่จะลงมือเลยยังไม่ได้...ทุกอย่างมันต้องรอเวลา
“ม้า”
“นั่ง”
หลัง ลูกชายที่อยู่ในชุดกางเกงขาสั้นสีเขียวขี้ม้า เสื้อคอกลมลายพรางทรุดตัวลง นั่ง...นางย้อยที่ยังมีหน้าตาบึ้งตึงก็หยิบปากกาทำบัญชีต่อ...
“ม้า...ผม ขอขึ้นไปเอาพวกเครื่องนอนกับของใช้ในครัวไปไว้ที่บ้านหลังนั้นนะ” เมื่อเห็นว่าแม่แสร้งยุ่งทั้งที่มีเรื่องจะคุย เขาจึงต้องขัดจังหวะ... “นังนั่นท้องได้กี่เดือนแล้วนะ” มือเขียนไป ตาอยู่กับสมุด แต่ปากก็ถาม...ถามเหมือนไม่ได้ใส่ใจ... “ประจำเดือดขาดมาสองเดือนแล้วม้า” เขาบอกย้ำอีกครั้ง...
“แน่ใจรึว่าท้องกับแก” ประโยคนี้นางย้อยเงยหน้าขึ้นสบตาลูกชาย “แน่ใจ” เสียงของเขาไม่ดังนัก
“ถ้าเด็กออกมาหัวแดง ตาสีน้ำข้าวเป็นลูกฝรั่งล่ะ แกจะทำอย่างไร ม้ากับเตี่ย และน้อง ๆ จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน แกคิดบ้างหรือเปล่า” “ลูกผมจริง ๆ ม้า...ตั้งแต่ยุ่งกับผม เขาก็ไม่ได้...เอ่อ” “ไม่ได้ให้ใครเช่า ไม่ได้รับแขกอีกเลย...แล้วนี่ มันไม่ได้เอาโรคภัยไข้เจ็บมาให้แกด้วยรึ” “ปกติดีม้า” “ม้าว่า ถ้าจะให้ดี แค่เดือนสองเดือน ทำแท้งเสียดีกว่า อย่าลืมนะ ว่าเรายังหมั้นอยู่กับพิไล” ปฐมถอนหายใจออกมา...สายตาเบนไปจับที่บันได...เพื่อให้แม่ หมดหวัง เขาจึงต้องบอกความจริงไปว่า
“ก่อนจะกลับมาบ้าน ผมจดหมายไปบอกพิไลว่าผมคงแต่งงานกับเค้าไม่ได้แล้ว” “บอกไปแล้ว!... แก บ้ารึเปล่า!” “ผมรู้ว่าผมผิด ผมไม่อยากให้เค้ารอ...ทองหมั้นก็ยกให้เขาไปเลย เพราะเราเป็นฝ่ายผิด” พอได้ยินดังนั้น เลือดร้อนฉีดขึ้นหน้านางย้อย อารมณ์โกรธที่พุ่งขึ้นมาจนสุดจะกลั้นไว้
“ไอ้ควาย...มึงนี่มัน...โอ๊ย กูอยากตาย...ทำไมถึงได้โง่เง่าเต่าตุ่นอย่างนี้นะ...ไม่ กูจะไม่ยอมเสียทองหมั้นหีบนั้นไปอย่างเด็ดขาด”
ลองได้ขึ้นเสียง ขึ้นมึง ขึ้นกูและด่าทอแบบนี้ ลูกชายรู้ว่าแม่โกรธ จริง ๆ แต่จะให้เขาทำอย่างไรได้... เขาเบือนหน้าหนีสายตาของแม่...ซึ่งจ้องเขาอยู่ และดูท่ากำลังคิดแก้ปัญหา... “เอาอย่างนี้...ไปตามอาซามาจากโรงสี ให้มันมาเฝ้าร้าน...แล้วแกไปช่วยงานเตี่ยแทนมันก่อน”
นางย้อยมีลูกชายกับนายหลักเซ้ง แซ่แบ้ หรือ ‘เจ๊กเซ้ง’ ถึง สี่ คน... คนโต ชื่อจริง ปฐม มีชื่อเล่นเป็นภาษาจีนว่า ‘ใช้’ แปลว่า ‘โชคลาภ’ คนที่สองซึ่งกำลังบวชพระทดแทนคุณมารดาบิดาอยู่นั้นชื่อ ประสงค์ มีชื่อเล่นว่า ‘ตง’ แปลว่า ‘กลาง’ คนที่สาม ชื่อ กมล มีชื่อเล่นว่า ‘ซา’ ที่แปลว่า ‘สาม’ คนที่สี่เรียนหนังสืออยู่ที่ปากน้ำโพ ชื่อ มงคล มีชื่อเล่นว่า ‘สี่’ ลูกชายทั้งสี่คนนี่แหละ ที่เปลี่ยนสถานะของนางย้อย คน หนองนมวัว ลูกสาวชาวนา ให้เป็น ‘เถ้าแก่เนี้ย’ ในปัจจุบัน เพราะหลังจากที่นางย้อยคลอดปฐม ‘นางลิ้ม’ อาม่าหรือย่าของเจ๊กเซ้ง ก็มองหลานสะใภ้คนไทยด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป...
จากที่เคยดูแคลน รังแครังคัด ก็กลับมีเมตตา ยกย่อง จัดหาหยูกยามาบำรุงร่างกาย
หลังคลอดลูกคนที่สอง จากที่ต้องอยู่บ้านหลังโรงสีที่ตลาดทับกฤช ช่วยเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ นางลิ้ม ก็ให้ ‘นายหลักไห้ แซ่แบ้’ และ ‘นางซกเพ้ง แซ่จึง’ ซึ่งเป็นพ่อแม่ของเจ๊กเซ้ง รับนางย้อยเข้ามาช่วยค้าขายอยู่ที่ร้านโชห่วยในตลาดปากน้ำโพ...
ที่นั่น แม้จะเหนื่อยยากลำบากกาย ลำบากใจ ยิ่งกว่าตอนเลี้ยงหมู อยู่ทับกฤช แต่ที่นั่นก็ทำให้นางย้อยเรียนรู้วิธีการค้าขายอย่างมืออาชีพ...
กระทั่งนางย้อยคลอดลูกคนที่สี่...หลังจากนางลิ้มถึงแก่กรรมไปแล้ว นายหลักไห้ ก็ให้ทุนรอนบุตรชายคนเล็ก พาครอบครัวขยับขยายมาเปิดร้าน โชห่วยอยู่ที่ตลาดชุมแสง...
ที่นี่นางเป็นเจ้าของเต็มตัว นางจึงทุ่มเทแรงกาย เฟ้นสติปัญญาที่มี ทำทุกวิถีทางที่จะทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง ทรัพย์สินเพิ่มพูน...โดยนาง ตั้งใจไว้ว่าในบรรดาลูกสะใภ้ของนายหลักไห้ และนางซกเพ้งนั้น นางจะต้องขึ้นชื่อว่า เป็นคนเก่งที่สุด แม้ว่านางจะเป็นคนไทยแท้ก็ตามที...
“ตามมันมาทำไม ผมเฝ้าแทนให้ก็ได้”
“ม้าไม่ไว้ใจแก” นางย้อยบอกลูกชายตามตรง...
“แล้วผมเคยยักยอกเงินม้าหรือเปล่า”
“ตะก่อนอาจจะไม่เคย แต่ตอนนี้แกมีเมียเป็นกะหรี่ไปแล้ว...แกอาจจะเห็นเมียกะหรี่ดีกว่าพ่อแม่พี่ น้องก็ได้” นางย้อยจงใจ ‘กด’ เรณู ให้ ต่ำต้อย...กดดันให้ลูกชายทิ้งผู้หญิงไร้ค่าเสีย...เพราะถ้าไม่ได้แต่งกับ พิไลตามที่ได้ตั้งใจไว้ สะใภ้คนแรกของนางจะต้องดีกว่า ‘อีเรณู’ ปากแดงอย่างกับกินเลือดนกสด นั่น ...
“ม้า”
“ไป ไปตามไอ้ซามา เอาจักรยานไป” นางย้อยขึ้นเสียง
“ให้บุญปลูกมันไปตามซิ...ผมจะขนเสื่อสาดหมอนมุ้งไปให้เรณูมัน”
“อีปลูกมันยุ่ง วันนี้ไอ้ป้อมมันลา เมียมันคลอดลูก...แกนั่นแหละไป” ป้อมนั้นเป็นพี่ชายของบุญปลูก
หลังลูกชายลุกขึ้นคว้าจักรยานที่จอดอยู่หน้าร้านไปโรงสีแล้ว นางย้อยก็ปิดเก๊ะ ลั่นกุญแจ เดินไปหลังบ้าน ล้างหน้าล้างตาเปลี่ยนเสื้อผ้า...โดยใจนั้นก็ครุ่นคิดหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปด้วย...
**********************
พอเห็นพี่ชายคนโตซึ่งเป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่กองบิน ๔ ตาคลี ถีบรถจักรยานเข้ามาในโรงสีข้าว...กมลที่นั่ง อยู่หลังโต๊ะบัญชีก็ละมือจากบัญชีตรงหน้า ยิ้มให้แล้วเอ่ยทักแข่งกับเสียง เครื่องจักรที่กำลังทำงาน โดยแต่ละจุดนั้นก็มีคนงานลูกหลานคนจีน คนไทย ยืนประจำการทำหน้าที่ของตน
“ได้ข่าวว่าพาสาวกลับมาด้วย” ...
“ใครบอก” หัวคิ้วของปฐมขมวดเข้าหากัน
“เฮีย ก็รู้ว่าตลาดชุมแสงมันแคบจะตาย...แค่หย่อนขาลงรถไฟมา คนในตลาดก็รู้กันแล้วว่าใครมากับใคร...พอรถสามล้อเคลื่อนจากสถานีรถไฟ คนก็รู้กันทั้งตลาดแล้วว่า ใครจะไปหาใคร แล้วก็มาชุมแสงด้วยธุระอะไร” พูดหยอกพี่ชายคนโตพลางยิ้มขำ...แต่สีหน้าพี่ชายยังคงบึ้งตึง...กมลเห็นดัง นั้นจึงปรับเสียงให้เป็นปกติ
“ม้า ว่าอย่างไรบ้าง”
“เรื่องยาว...แกกลับไปเฝ้าร้านให้ม้าหน่อย ม้าจะไปไหนก็ไม่รู้”
“แล้ว ทำไมม้าไม่ให้เฮียเฝ้าละ...ผมอยู่ในนี้ ตัวมีแต่เหงื่อ มีแต่ฝุ่นเกาะ...เหนอะหนะจะแย่แล้ว เข้าใกล้ใครได้ที่ไหน” “ก็รีบกลับไปอาบน้ำซิ...ไป ๆ รีบไป...ม้าอารมณ์ไม่ค่อยดี...ขืนชักช้าจะยิ่งไปกันใหญ่” พอ ลูกชายคนที่สามอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ลงมานั่งเฝ้าร้านให้แล้ว นางย้อยก็รีบเดินออกจากร้าน โดยไม่ยอมตอบคำถามของลูกชายว่า กำลังจะไปไหน และจะกลับมาเมื่อไหร่...นางย้อยบอกกับลูกชายเพียงว่า
“ดูแลร้านให้ดี อย่าให้ตั่วเฮียแกเฝ้าเก๊ะเด็ดขาด ตอนนี้ม้าไม่ไว้ใจมันหรอก”
“ตั่วเฮียไม่เคยมีนิสัยยักยอกเงินทองนะม้า”
“มันกล้าเอาเมียกะหรี่เข้าบ้าน ทำให้พ่อแม่ ทำให้น้อง ๆ ขายขี้หน้า มันก็ไม่ใช่ตั่วเฮียคนเดิมของแกแล้ว...ม้าไปละ”
เดินมาถึงวัด นางย้อยก็พบว่า พระลูกชายนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่ศาลาข้างรั้ว...แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น คนโลภมาก อยากได้ใคร่ดี อยากมีอยากเป็น โดยไม่นึกถึงจิตใจของคนอื่น แต่เรื่องเข้าพระเข้าเจ้า นางย้อยปฏิบัติได้อย่างไม่ขัดไม่เขิน...เมื่อพระลูกชายนั่งอยู่บนเก้าอี้... นางย้อยก็ทรุดตัวลงนั่งที่พื้นไม้ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งศอกอย่างไม่ กลัวว่ากางเกงสีกรมท่า ที่ตนสวมอยู่จะเปรอะเปื้อน
“มีเรื่องใหญ่แล้วพระ” นางย้อยเข้าเรื่องสำคัญทันที
“เรื่องอะไรรึโยม” หลังจากบวชได้ครบพรรษา พระลูกชายก็ขออยู่ต่ออีกสักพัก ทั้งที่งานในโรงสีและที่ร้านค้าขาดคนช่วยงาน เพราะปฐม ติดทหาร แต่นางย้อยก็ไม่ได้รบเร้าให้พระลาสิกขามาช่วยกันทำมาหากินอย่างที่เจ๊กเซ้ง ผู้ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องการ...นางเป็นคนไทย นางเชื่อว่า บุญกุศลจากการเกาะชายผ้าเหลืองของลูกชายนั้นเป็นบุญใหญ่...จะทำให้บาปกรรม ที่เผลอไผลทำลงไปเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ไม่ส่งผลยามเมื่อหลับตาลาละโลก...
นางปรารถนาความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และสวรรค์ เช่นคนไทย ทั่ว ๆ ไป...
“ก็...ตั่วเฮียของพระนะซิ...พาเมียมาจากตาคลี...โยมเห็นสภาพแล้วพูดได้คำ เดียวว่า ของขึ้น” แล้วนางย้อยก็เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อก่อนหน้าโดยไม่มีคำหยาบโลน แล้วก็สรุปลงที่ว่า “โยม...เห็นว่า ทางออกของปัญหานี้ก็พอมี เพราะจะว่าไปแล้ว พิไล เขาก็อายุน้อยกว่าพระ”
พอได้ยินดังนั้น พระประสงค์ก็นิ่วหน้า...ท่านพอเดาใจโยมแม่ออก ที่ร้อนใจทิ้งร้านมาหาท่านที่วัด ทั้งที่เห็นหน้ากันตอนบิณฑบาตรอยู่ทุกเช้า โยมแม่ต้องการอะไร...ท่านถอนหายใจเบา ๆ พร้อมกับฟังความด้วยใจเต้นแรงขึ้น
“นี่ เดี๋ยวโยมจะนั่งเรือหางยาวไปทับกฤชต่อ...โยมใจร้อน โยมรอให้ถึงพรุ่งนี้ไม่ไหวแล้ว โยมก็เลยจะมาปรึกษาพระก่อน ว่าถ้าเปลี่ยนเจ้าบ่าว จากตั่วเฮีย มาเป็นพระ พระจะยินดีไหม”
‘ควรจะยินดีไหม’ คำถามนี้วิ่งพล่านอยู่ในอารมณ์ของภิกษุหนุ่ม...และคำตอบที่ได้คือ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา...
เพราะท่านมีหญิงสาวที่ท่านหมายตาแล้ว...แม้สาวเจ้าจะจนยาก แต่ก็ขยันหมั่นเพียร มีใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ตื่นแต่เช้ามา ใส่บาตรให้ได้เห็นหน้าเกือบทุกวัน...พระประสงค์ตั้งใจไว้ว่า หลังคัดเลือกทหาร หากจับได้ใบดำ ท่านก็จะลาสิกขา...แล้วขอให้แม่ไปสู่ขอผู้หญิงคนที่ท่านพอตาพอใจมาสร้าง ชีวิตใหม่ด้วยกัน แม้ฐานะของเจ้าหล่อนจะสู้ พิไลว่าที่สะใภ้ใหญ่ไม่ได้ แม่ก็คงไม่ว่าอะไร เพราะพื้นของแม่นั้นก็ลูกคนไทยเคยทำนามาเหมือนกัน
จะปฏิเสธอย่างไรดี... พิไลอายุมากกว่ากมล แล้วแม่เคยบอกไว้ว่า ลูกทุกคนของแม่จะต้องบวชพระ คัดเลือกทหาร และจะต้องแต่งงานโดยไม่ข้ามพี่ข้ามน้อง...
“อาตมาคิดว่า โยมแม่อย่าเพิ่ง ให้อาตมา ตอบคำถามนี้เลยนะ มันเอ่อ เอ่อ มันตอบยาก”
พอได้ยินดังนั้น นางย้อยนิ่งอึ้ง...ครุ่นคิดถึงเรื่อง ‘อาบัติ’ แต่ ด้วยเป็นคนตัดสินใจทำอะไรแล้วจะต้องทำอย่างรวดเร็วทำให้ได้ และ ทำจนสำเร็จ...นางย้อยจึง พูดเป็นนัยทิ้งท้ายไว้ว่า
“ถ้าอย่างนั้น โยมแม่ก็ขอตัวไปทับกฤชก่อน...ส่วนเรื่องอนาคต ท่านสึกแล้วก็ค่อยว่ากัน แต่ว่าท่านต้องระลึกไว้ด้วยว่า คนที่เห็นกรวดเป็นเพชร วันหน้ามันจะต้องเสียใจ เสียดายซะเอง...โยมขอตัวก่อนนะ”
******************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #1 on: 29 February 2020, 09:34:26 » |
|
ตอนที่ 2 : เราทุกคนต่างมีอดีต
๒ ยืนทรงตัวบนตลิ่งได้แล้ว นางย้อยก็บอกกับคนขับเรือหางยาวที่จ้างมาส่งว่า
“อย่าลืมขึ้นไปบอกอาซาด้วยนะว่า คืนนี้อั๊วจะค้างที่ทับกฤช วันพรุ่งนี้ถึงจะกลับรถไฟเที่ยวแรก”
นางพิกุลแม่ของพิไล พอเห็นนางย้อยเดินขึ้นมาจากตีนท่าก็กระวีกระวาดออกมาต้อนรับ...สีหน้านั้นแช่มชื่นเบิกบานดูไร้ความทุกข์ร้อนอย่างที่นางย้อยชินตา
“ลมอะไรหอบเจ๊มาในเวลานี้”
“มีเรื่องร้อนใจ”
“เรื่องอะไรรึ”
“เถ้าแก่อยู่ไหม”
“ไม่ อยู่ วันนี้กลับไปนอนที่บ้านแม่ใหญ่ ทางนั้นสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว ต้องคอยให้กำลังใจกันมากหน่อย” เพราะสนิทสนมกัน เป็นลูกไทยได้ผัวเจ๊กเหมือนกัน จึงไม่จำเป็นต้องปิดบังเรื่องคับอกว่าตนเองนั้นเป็นเพียง ‘เมียน้อย’ แต่อย่างใด
หลัง เข้ามานั่งในบ้านสองชั้นครึ่งอิฐครึ่งไม้ที่เป็นทั้งบ้านพักและสำนักงาน ระหว่างยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม นางย้อยก็สอดสายตาหาว่าที่สะใภ้ของตน...พอไม่เห็นเงา นางย้อยจึงถามถึง...
“แม่พิกุล หนูพิไลไปไหนละ”
“ไปกับเตี่ยเขา พรุ่งนี้กลับ...ผมยาว อยากตัดผม อยากไปดูหนัง อยากไปซื้อผ้ามาตัดใส่เล่น”
“เอ่อ แล้ว จดหมายจากตาคลีมาถึงหรือยัง”
“จดหมายอะไร”
“จดหมายจากอาใช้นะซิ มาถึงหรือยัง”
“วันก่อนไปรษณีย์มา...น่าจะถึงแล้วนะ มีอะไรหรือเปล่า”
น้ำเสียงและสีหน้าของนางพิกุลยังเป็นปกติ ก็แสดงว่า พิไลอ่านจดหมายแล้ว แต่ยังไม่ได้บอกพ่อแม่ได้รับรู้เรื่องที่ปฐมเขียนจดหมายมาถอนหมั้น... “พรุ่งนี้ พิไลจะกลับถึงบ้านกี่โมง”
“กลับรถไฟเที่ยวแรกซะมั้ง...เอาแน่ไม่ได้หรอก ดีไม่ดีก็อาจจะกลับตอนบ่าย เจ๊มีอะไรกับนังหมวยมันรึเปล่า”
“เรื่องก็มาถึงขั้นนี้แล้ว ปิดบังไป มันก็ไม่มีประโยชน์ สู้หาทางแก้ปัญหากันดีกว่า”
“เรื่องร้อนใจที่ว่าไว้ ก่อนหน้าใช่ไหม”
“เรื่อง อาใช้ คู่หมั้นของหนูพิไลนั่นแหละ...ฉันรีบมาจากชุมแสงเพราะร้อนใจ กลัวทางนี้จะหาว่าฉันกับเฮีย สมรู้ร่วมคิดกับไอ้ลูกเฮงซวยนั่น”
“เจ๊กำลังพูดเรื่องอะไร”
“วันนี้ไอ้ใช้ กลับมาจากตาคลี มันพาเมียมาด้วย...แล้วมันก็บอกว่า มันจดหมายบอกหนูพิไลแล้ว”
พอได้ยินดังนั้นนางพิกุลยกมือทาบอกทันที...นางย้อยจึงต้องเล่ารายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับ ‘สะใภ้ใหญ่’ ตาม ความรู้สึกของตนเองอีกยืดยาว แล้วก็สรุปว่า... “เมื่อคนของฉันมันเห็นกรวดดีกว่าเพชรไปแล้ว...บอกตามตรง ฉันเสียดายผู้หญิงดีพร้อมอย่างหนูพิไลเหลือเกิน แล้วเราสองคนก็นะ...เข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี รู้จักกันมานานเน ฉันเสียดายหากจะไม่ได้เป็นทองแผ่นเดียวกันอย่างที่เคยตั้งใจไว้”
“แล้ว เจ๊จะทำอย่างไร” พอรู้ว่าที่ลูกสาวหน้าตาเศร้าหมอง กินข้าวกินปลาไม่ได้ หลังได้รับจดหมาย จนต้องขอไปเปิดหูเปิดตาที่ปากน้ำโพทั้งที่ไม่ค่อยจะกินเส้นกับพี่สาวลูกบ้าน แม่ใหญ่ เกิดจากสาเหตุใด นางพิกุลพลอยเป็นทุกข์กับลูกไปด้วย
คู่หมั้นเป็นอื่น...หม้ายขันหมาก...รู้ไปถึงไหนจะอายไปถึงนั่น...
หลังฟังทางออกของปัญหาแล้ว นางพิกุลถึงกับนั่งนิ่ง...เพราะเรื่องเปลี่ยน ตัวเจ้าบ่าว จากพี่ชายมาเป็นน้องชาย นางตัดสินใจเองไม่ได้...เถ้าแก่ฮงต้องเห็นดีเห็นงามด้วย...และที่สำคัญ ครั้งนี้ ถ้าพิไลไม่ยอม นางก็คงบังคับลูกสาวไม่ได้อย่างแน่นอน
“ฉันรับรองเลยว่า ถ้าหนูพิไลตกลง เรื่องแบบครั้งนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีก”
“พระยังไม่ได้คัดเลือกทหารไม่ใช่รึ...ถ้าติดทหารแล้วไปคว้าเมียขัดใจแม่มาอีก ลูกสาวฉันจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน”
“ก็แต่งเสียตั้งแต่ก่อนเกณฑ์ทหารซิ”
“แต่พระท่านยังไม่สึก”
“ถ้าหนูพิไลตกลง เรื่องสึกไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก ฉันตามใจให้บวชหนีงานเป็นปี ๆ พอสึกออกมาก็ต้องตามใจฉันบ้าง”
“แต่เด็กมันไม่ได้รักกัน”
“อยู่กันไป ก็รักกันไปเอง”
“แล้วเจ๊แน่ใจนะว่า คนรองนี้ยังไม่มีคู่รัก” นางพิกุลรู้สึกกระดากปากที่จะเอ่ยถึง ‘พระ’ ตรง ๆ
“ถ้ามี แล้วจะบวชได้เป็นปีๆ รึ...ใช่ไหมแม่พิกุล”
นางพิกุลนิ่งคิด...
“อย่างไรทางนี้ก็ต้องปรึกษากันดูอีกที ถึงจะให้คำตอบได้...แต่เอาเป็นว่า ฉันจะช่วยพูดกับเถ้าแก่ให้...ส่วนพิไลก็คงต้องขอเวลาเกลี้ยกล่อมหน่อย”
“แล้ว ฉันจะได้คำตอบเมื่อไหร่...บอกตรง ๆ ถ้าไม่ติดว่า ทางนี้ไม่มีคนเฝ้าบ้าน ฉันจะชวนแม่พิกุลนั่งเรือไปหาพิไลที่ปากน้ำโพซะเย็นนี้เลย ถ้าฉันพูดเอง หนูพิไลคงไม่ปฏิเสธหรอก”
“ใจเย็น ๆ เจ๊...แค่นี้ฉันก็รู้แล้วว่าเจ๊ อยากได้พิไลมันไปเป็นสะใภ้มากน้อยแค่ไหน”
****************
หลังจากปฐมเดินออกไปจากบ้าน เรณูก็ลงจากเรือนมาเก็บกวาดพื้นดินที่ใต้ถุนบ้าน...พอรู้สึกเหนื่อยเรณูก็ ทรุดตัวลงนั่งบนร้านแล้วชะเง้อไปยังต้นทาง รอจนอ่อนใจ และความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง ประกอบกับต้องมาออกแรงทำงานบ้าน ทำให้เรณูเอนตัวลงนอนพัก กระทั่งผล็อยหลับไป พอสะดุ้งตื่นก็เห็นว่าเป็นเวลาบ่ายคล้อย...แต่ปฐมนั้นก็ยังไม่กลับมา...เรณู ผุดลุกขึ้นนั่ง มองไปยังต้นทางอีกครั้ง...
จะเดินไปตาม หรือจะรออย่างไม่มีจุดหมายอยู่อย่างนี้...เป็นเรื่องที่เรณูชั่งใจ
ถ้า เขากำลังวุ่นวายช่วยงานแม่อยู่ แม่ก็จะว่าเอาได้ แต่ถ้าแม่จงใจใช้งาน ตั้งใจไม่ปล่อยให้กลับมาอยู่ดูแลเธอที่เพิ่งมาใหม่ละ...คิดได้ดังนั้น เรณูก็ลุกขึ้น เดินไปยังโอ่งข้างบ้าน ตักน้ำมาล้างหน้าแล้วก็เดินขึ้นเรือน คว้ากระเป๋าเครื่องสำอางออกมา...
แป้ง ตลับทรงกลมสีดำถูกหยิบขึ้นมาแล้วประกบมือเข้าด้วยกันให้ตลับแป้งอยู่ตรงกลาง มือที่พนมนั้นอยู่ระดับอก เรณูหลับตา ปากพรึมพรำคาถาที่ท่องจำได้ขึ้นใจ...อึดใจใหญ่ ๆ เรณูก็ลืมตาเปิดตลับแป้ง หยิบฟองน้ำแตะแป้งแล้วนำมาลูบไล้ที่ใบหน้าของตน...
‘แป้งนี้ใช้ทุกครั้งหลังล้างหน้า...ทุกเช้า และก่อนจะนอนกับมัน...รับรองว่า มันไม่หลุดมือมึงไปไหนแน่’ เสียงของอาจารย์ก้อน บ้านอยู่เชิงเขาท้ายตลาดตาคลีกังวานในห้วงความจำของเรณู...
หลัง ละเลงลิปสติกปลุกเสกทั่วริมฝีปากอีกอย่างหนึ่ง เรณูก็แสยะยิ้มด้วยทีท่ามั่นใจ...เพราะในที่สุด ปฐมหนุ่มร่างสูงผิวขาวหน้าตาหล่อเหลา ลูกชายคนโตของนางย้อย ก็อยู่ในอุ้งมือของเธอ...ทั้งที่ใคร ๆ ก็บอกว่า ไม่มีทางที่ผู้หญิงทำงานบาร์อย่างเธอจับตัวเขาไว้ได้...
เรณู ยังจำครั้งแรกที่พบกับปฐมได้ดี เช้าวันนั้น เธอตื่นไปช่วยแม่ครัวประจำบาร์ ซื้อกับข้าวที่ตลาด...ส่วนปฐมนั้นนั่งรถจี๊ปมากับจ่าเที่ยงซึ่งอยู่แผนก สูทกรรม หญิงสาวยืนอยู่หน้าแผงผักที่อยู่ติดกับร้านเขียงหมู เขาเดินเข้ามาหยุดอยู่ข้าง ๆ ตอนนั้นเธอหันไปมองหน้าเขา รู้สึกใจคอวาบหวิว เพราะจมูกโด่ง ปากรูปกระจับ รับกับใบหน้ารูปไข่ ไหนจะผิวพรรณขาวผ่องและส่วนสูงเกือบร้อยแปดสิบเซนติเมตร ทำให้ร่างสมส่วนนั้นดูสง่าผ่าเผยตรึงสายตา...เรณูยอมรับว่ามันเป็นรักแรกพบ ... รักทั้งที่ไม่มีสิทธิ์จะรัก ทว่าหัวใจมันหลุดลอยติดตามตัวเขาไปจนยากจะเรียกคืน
กลับมาที่บาร์แล้วเรณูก็ยังเหม่อลอย ฝันถึงเขา ใจไม่อยู่กับเนื้อ กับตัว บังคับหัวใจไม่ให้คิดถึงเขาไม่ได้
พอพี่ประนอม ‘เจ๊ใหญ่’ รุ่นพี่ ถามว่าเป็นอะไร เรณูก็ตอบไปอย่างที่เคยตอบว่า ‘คิดถึงบ้าน’
“ถุย คิดถึงบ้าน...ไม่ใช่ม้าง...หลงรูปตัวผู้อีกละซิ ...เล่ามา ว่าติดใจใคร มันทำอีท่าไหน ถึงเล่นเอามึงเพ้อได้”
“ทหารเกณฑ์น่ะพี่ เจอที่ตลาด...เขาหน้าตาดีดูมีสง่าราศีผิดที่เคยเห็น”
“ไม่ ว่าจะทหารเกณฑ์หรือนายสิบ พวกเรากับพวกมันก็ห่างกันเหมือนหมากับเครื่องบินนั่นแหละ...ฝันถึงได้ แต่อย่าฝันนาน อย่าฝันลม ๆ แล้ง ๆ มันไม่มีประโยชน์ เพราะทหารไทยพวกนี้ มันจะคุยกับเราดีก็เฉพาะตอนที่มันเสี้ยนกับตอนมันเมาเท่านั้นแหละ พอสติสตังมันครบถ้วน มันก็เห็นเราเป็นอีตัวไร้หัวใจอยู่วันยังค่ำ”
เรณูนิ่งคิดตาม...ก่อนจะเปลี่ยนคำถาม “พี่ไม่เคยตกหลุมรักใครเลยเหรอ”
“ถึงกูจะเป็นหญิงคนชั่ว แต่กูก็มีหัวใจ”
“แล้วพี่มาว่าฉันทำไม”
“กูก็แค่อยากให้มึงเจียมตัวเจียมใจมึงไว้ มึงจะได้ไม่เจ็บ...อีตัวอย่างพวกเรา มีรักเมื่อไหร่ก็เจ็บเมื่อนั้น”
เรณูไม่อยากเจ็บ ไม่อยากจน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ที่นี่ไปจนแก่ตาย เรณูอยากไปให้พ้น ๆ จากชีวิตที่เต็มไปด้วยคาวโลกีย์ ไปมีชีวิตใหม่ มี ครอบครัวที่สมบูรณ์เหมือนผู้หญิงทั่ว ๆ ไป...
แล้ววันหนึ่ง เรณูก็พบว่า ปฐมมานั่งดื่มกินฟังเพลงที่บาร์กับเพื่อนทหารเกณฑ์...สาวน้อยสาวใหญ่ ต่างสะกิดกันดูเขา แล้วหนึ่งในนั้นก็บอกว่า
“ไอ้นี่กูรู้จักกำพืดมันดี...บ้านมันอยู่ตลาดชุมแสง”
“อ้าว บ้านเดียวกับพี่...แล้วเขารู้หรือเปล่าว่าพี่มาขายนาแปลงน้อยอยู่ที่นี่”
“อีเวร เรื่องแบบนี้ มันจำเป็นต้องโพนทะนาให้คนแถวบ้านมึงรู้ด้วยไหม”
“ฉันบอกว่า มาเย็บจักร อยู่ที่ปากน้ำโพ เช้าเย็บ เย็นเย็บ...บางทีก็เย็บคืนยันรุ่ง ถึงได้มีเงินมีทองกลับมาเยอะแยะ”
เรณูได้ยินดังนั้นจึงถามว่า “กำพืดเขาเป็นอย่างไรเหรอพี่ติ๋ม”
“แม่ มันชื่ออีย้อย บ้านมันรวย พ่อมันเป็นเจ๊ก เป็นเจ้าของโรงสี แม่มันคนไทย แม่มันสวย แม่มันขายของโชห่วยอยู่ในตลาด เป็นร้านค้าส่ง มันเป็นพี่ชายคนโต มีน้องชายอีกสามคน...มันได้ขาว ได้สูง เหมือนพ่อมัน ส่วนเครื่องหน้า มันได้แม่มันมา ขนตางอนเช้ง ตามันสองชั้นผิดลูกคนจีนทั่วไป”
“ก็แสดงว่าแม่เขาสวย เขาถึงได้หล่อ”
“แม่มันตอนเป็นสาวคงจะสวยแหละ สวยแต่เลววววววววววววววว”
ตอนนี้หัวคิ้วของเรณูขมวดเข้าหากัน... ไม่คิดไม่ถึงว่า ‘เทพบุตร’ จะมีแม่เป็น ‘นางมาร’
หลังจากนั้น พี่ติ๋มก็พรั่งพรูเรื่องของ ‘อีย้อย’ อีกยืดยาว...
“ที่ พี่ต้องมาอยู่ที่นี่ก็เพราะแม่มันนี่แหละ” คนเล่าพอนึกถึงความหลัง น้ำตาก็คลอลูกนัยน์ตา...ผู้หญิงทุกคนที่นี่มีความ หลัง...ความหลังที่ไม่ได้สวยงามนัก...และน้อยคนนักจะยอมเล่าเรื่องจริงอย่าง หมดเปลือก...และเรณูก็เป็นหนึ่งในนั้น
***********************
นาง พิกุลจัดห้องชั้นล่างให้นางย้อยพักผ่อน...หลังอาบน้ำเปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงสวม เสื้อของนางพิกุลอย่างไม่ได้นึกรังเกียจกัน นางพิกุลก็ตาม นางย้อยไปนั่งกินข้าว...สำรับกับข้าวที่วางอยู่บนโต๊ะไม้สัก มีปลาหมอปิ้ง น้ำพริกตาแดง ผักต้ม ไข่เป็ดต้ม และมีแกงส้มดอกแคอีกชาม...
“ทำอะไรเยอะแยะ”
“ปกติ เถ้าแก่กินแต่หมูแต่ไก่ กินแต่ของจืด ๆ เจ๊มาหาฉันก็มีเพื่อนกินของพวกนี้”
นางย้อยยิ้มน้อย ๆ ระหว่างเคี้ยวข้าว ความหลังที่ยากจะลืมไปจากใจได้ก็ผุดขึ้นมา...และความหลังนี้ทำให้นางย้อย ต้องพยายามเฟ้นหาสะใภ้ เพราะลึก ๆ นางก็กลัวว่าเวรกรรมที่เผลอทำลงไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบนั้นมันจะตามมาส่งผล...
********************************
ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๔๘๓ ช่วงที่นางย้อยยังเป็นสาวรุ่น...เสร็จงานนา พ่อกับแม่พานางกับน้องสาวคือนาง แย้มมาเที่ยวดูงานแข่งเรือยาว ไหว้พระประจำปีวัดเขาจอมคีรีนาคพรต ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘งานวัดเขา’
วันนั้นเป็นครั้งแรกที่นางพบกับอาตี๋หนุ่มหน้าหยก นามว่า ‘เซ้ง’ เขา ขายไอติมตัดอยู่ใต้ร่มไม้...ตอนนั้นนางผละจากพ่อแม่ที่ยืนดูแข่งเรือยาว มาเดินดูของกินของใช้กับน้องสาว...ตาสองคู่ประสานกันนิ่งค้าง...แล้วจู่ๆ นางแย้มก็บอกว่า “พี่ย้อย ฉันอยากกินไอติม”
หลังเขาตัดไอติมห่อใบตองส่งให้นางแย้ม เขาก็ถามนางย้อยว่า “ลื้อไม่กินด้วยรึ ไม่เอาสักอันรึ”
ตอนนั้นนางย้อยนึกขวางกับสายตาของเขา จึงแกล้งบอกไปว่า “ฉันไม่มีกะตังค์”
“ไอหยา...ไม่น่าเป็นไปได้”
“ก็เป็นไปแล้ว ไม่มีตังค์ พ่อให้เงินติดตัวมาแค่นั้น แล้วนังนี่มันก็ใช้ไปแล้ว”
“ถ้าอั๊วให้ลื้อกินโดยไม่คิดตังค์ละ ลื้อจะเอาไหม”
ตอนนั้นนางย้อยสบตากับนางแย้ม...นางย้อยอมยิ้มใบหน้าแดง ระเรื่อ...เพราะรู้ว่าความสวยของตนนั้นเข้าตาอาตี๋ลูกคนจีนเข้าให้แล้ว...
“ถ้ารับไอติมลื้อ แล้วจะเป็นหนี้บุญคุณกันไหมล่ะ”
“ไม่เป็น ไม่เป็น แค่ไอติมอันเดียว จะเป็นได้ไง”
“ลื้อจะขาดทุนไหมล่ะ”
“ไม่ขาดหรอก เอาไป อั๊วยินดี” ว่าแล้วเขาก็หยิบไอติมแท่งสีชมพู ห่อใบตองส่งให้...นางย้อยรับมาถือไว้...
“กินเลยซี่ เดี๋ยวละลายหมด”
นางย้อยจำต้องยืนผินหลังให้เขาแล้วกินไอติม...กระทั่งพอไอติม หมดแท่งเขาก็บอกว่า “เอาผ้าขี้ริ้วเช็ดมือสักหน่อย เหนียวมือแย่” เขาส่งผ้าดิบสีขาวชื้นน้ำมาให้...นางแย้มเป็นฝ่ายรับมาเช็ดมือก่อนแล้วส่ง ให้พี่สาว
ระหว่างที่นางย้อยเช็ดมือ เขาก็ถามว่า “บ้านลื้ออยู่ที่ไหน”
นางย้อยกับนางแย้มสบตากัน...ตอนนั้นหน้านางย้อยแดงขึ้นกว่าเดิม...ไม่อาจบอก กับเขาได้ว่า ตนเองอยู่ที่ไหน นางแย้มเห็นอาการพี่สาวเป็นดังนั้น ก็บอกไปว่า “บ้าน พวกเราอยู่หนองนมวัว...รู้จักไหม”
“หนองนมวัว อยู่ที่ไหน ไม่เคยได้ยิน”
“อำเภอลาดยาวละ รู้จักไหม” นางแย้มยังคงต่อปากต่อคำ
“เคยได้ยินอยู่บ้าง จากปากน้ำโพนี่ไปทางทิศตะวันตกใช่ไหม”
“ใช่...ไปทางนั้นแหละ ว่าง ๆ ไปเที่ยวบ้านพวกฉันได้นะ...ถึง หนองนมวัวแล้ว ถามชื่อ อีย้อย อีแย้ม ลูกตาหยัด ยายอยู่ ใคร ๆ ก็รู้จัก”
“ย้อย แย้ม คนไหน ย้อย คนไหน แย้ม”
“ทายซิว่าใครย้อย ใครแย้ม”
“คนนี้ย้อย คนนี้แย้ม”
นางแย้มไหวไหล่แล้วบอกกับพี่สาวว่า “ไป...เดี๋ยวพ่อกับแม่จะรอ”
“อ้าว แล้วไม่บอกกับอั๊วก่อนรึว่าใครย้อยใครแย้ม”
“อยากรู้ว่าใครชื่ออะไร ก็ตามไปถามคนหนองนมวัวแล้วกัน” ตอนนั้นนางแย้มยังมีแก่ใจหันหลังกลับไปล้อเล่น
อีกหนึ่งเดือนต่อมา นางย้อยไม่คิดว่า อาตี๋ขายไอติม จะตามมาที่หนองนมวัว ตอนนั้นเป็นเวลาเที่ยง นางกำลังนั่งเปิบข้าวอยู่ในครัวกับแม่อยู่และนางแย้ม เสียงหมาที่ใต้ถุนเห่ากันให้ขรม...นางแย้มลุกออกไปดู แล้วเดินยิ้มแป้นกลับมา...
“ใครมา” แม่ถามแล้วชุบมือกับน้ำในกะละมังเคลือบลายดอก...แสดงว่าอิ่มแล้ว...ตอนนั้น นางแย้มตาเป็นประกายไม่ยอมตอบ...
“กูถามว่าใครมา”
“เจ๊กมาขายของ...แม่ลงไปดูเขาหน่อยเถอะ...ฉันให้เขานั่งรออยู่บนร้านใต้ร่ม มะขาม”
“ขายอะไร”
“ผ้าห่ม ผ้านุ่ง มุ้ง เสื้อใส่ทำงาน”
“จะซื้อมาทำไม ไป ไปบอกเขาว่า ที่บ้านเรามีหมดแล้ว...เขาจะได้ไม่เสียเวลารอ”
“ไม่เอา ฉันจะกินข้าว...พี่ย้อยนั่นแหละ อิ่มแล้วลุกไปที”
“อีนี่ กูเพิ่งกินไปได้คำเดียว จะอิ่มได้ไง”
“ฉันบอกให้ลุกไป...ไปซิ” สีหน้านางแย้มยังเต็มไปด้วยเล่ห์กระเท่ห์ ริมฝีปากขมุบขมิบ นางย้อยจำต้องชุบมือแล้วลุกจากสำรับไป...
พอเห็นว่า ‘ใครมา’ นาง ย้อยก็ถึงกับก้าวขาเดินไม่ออก...ตอนนั้น นางย้อยจำได้ดีว่า นางอยู่ที่นอกชาน เจ๊กเซ้งนั่งอยู่บนร้าน ข้างร้าน มีรถจักรยาน ที่ท้ายรถมีห่อผ้าห่อใหญ่ เขาใช้งอบจีนวีลม ใบหน้าของเขา ชื้นเหงื่อ...พอเขาเงยหน้ามาเห็นนาง เขาก็ยิ้มกว้าง...นางย้อยเกือบจะยิ้มตอบ ดีแต่ความอายทำให้หุบปากได้ทัน...นางย้อยก้าวหลบสายตาของเขามาหน่อย สูดลมหายใจเข้าปอด...ก่อนจะหันไปที่โอ่งน้ำ หยิบขันตักน้ำแล้วถือลงไปรับหน้าเขา
”กินน้ำก่อน”
อันที่จริงเขาจะรับขันที่อยู่ในมือ แต่นางย้อย รีบวางไว้บนร้าน... เขาจึงต้องคว้าขันจากพื้นกระดานแล้วยกขึ้นดื่ม ‘ชื่นใจ’ ตาของเขาเป็นประกายเปิดเผย
“มาได้อย่างไร”
“ก็มาขายของ...เอาของมาขาย ขี่จักรยานมาเรื่อย ๆ มาตั้งแต่เมื่อวาน เมื่อคืนค้างที่วัด”
“ขายได้ไหม”
“พอได้ ยุบไปเยอะเหมือนกัน”
“กินน้ำแล้วก็ไปขายต่อนะ ขายให้หมด จะได้รีบกลับบ้าน”
“พักอีกสักเดี๋ยวได้ไหม ยังอยากเห็นหน้าให้ชื่นใจ”
ตอนนั้นนางย้อยอยากจะหายตัวได้ แต่ก็ทำได้เพียงอมยิ้ม จะสบตาของเขาให้เต็มตาก็ไม่กล้า กลัวเขาจะว่าเอาได้...
“บ้านแม่ย้อยหลังใหญ่หลังโตเนอะ” ตอนหลังเขามาบอกกับนางย้อยว่า ที่รู้ว่านางชื่อย้อย เพราะเขาถามเอากับบ้านคนอื่นมาแล้ว...และเหตุที่เขาซักถามหาบ้านนางย้อย นางแย้ม นี่แหละ ทำให้คนหนองนมวัวไปลือกันครืนว่า ‘อีย้อยมีลูกเจ๊กจากปากน้ำโพมาติดพัน’
เรื่อง ลูกเจ๊ก ลูกลาว หรือ ลูกมอญนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับหนองนมวัว...ที่นั่นมีคนหลายเชื้อชาติอยู่อาศัยปะปนกัน แต่ถ้าเป็นพวกเจ๊กพวกจีนก็จะมาจากเกาะไหหลำเสียเป็นส่วนใหญ่...คนหนองนมวัว จึงคุ้นกับคำว่า ‘โก’ ‘เด’ มากกว่า ‘เฮีย’ หรือ ‘เตี่ย’
“ก็ธรรมดา บ้านใคร ๆ ก็หลังเท่านี้”
“อั๊วผ่านมาหลายบ้าน ไม่มีบ้านหลังใหญ่เท่าหลังนี้หรอก”
“แล้ว โก จะไปไหนต่อ” นางย้อยพูดด้วยน้ำเสียงปกติ...
“อั๊ว ไม่ใช่ คนไหหลำ อั๊วเป็นแต้จิ๋ว ไม่ต้องเรียกอั๊วว่า โกหรอกนะ...อั๊วชื่อ หลักเซ้ง แซ่แบ้ เป็นลูกจีนเกิดที่เมืองไทย...ตอนนี้อั๊วเป็นคนไทยเหมือนลื้อนั่นแหละอาย้อย”
“หลักเซ้ง”
“เรียกอั๊วว่า อาเซ้ง เฉย ๆ ก็ได้...อาย้อย อั๊วยังเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงานหรอกนะ”
พอเขาบอกสถานภาพของตนชัดเจน นางย้อยเริ่มหน้าแดงระเรื่อขึ้นมา ไม่รู้จะหาคำพูดอะไรมาต่อปากต่อคำกับเขา พอดีกับที่นางแย้มลงจากเรือนมาพร้อมจานข้าวโปะปลาหมอปิ้งมาห้าตัว...พอมาถึง ก็บอกว่า
“โก กินข้าวกลางวันซะก่อนนะ ไม่ใช่ของเหลือเดนหรอกนะ ปิ้งไว้เยอะ ยังอุ่น ๆ อยู่เลย”
“แต่อั๊ว...เอ่อ”
“ไม่ต้องอ้างว่ากินมาแล้วหรอก เหงื่อกาฬแตกแบบนี้ ดูก็รู้ว่า ยังไม่ได้กินข้าวกลางวัน กินซะก่อนจะเป็นลมไป”
“ลื้อมีน้ำใจ”
“ก็โกเคยเลี้ยงไอติมพี่สาวอั๊ว แล้วก็ยังมีใจตามมาถึงหนองนมวัวอีก พวกอั๊วจะใจจืดใจดำกับไกได้อย่างไรละ...ใช่ไหมโก”
“เขาเป็นจีนแต้จิ๋ว ต้องเรียก เขาว่า เฮีย เฮียเซ้ง” นางย้อยแก้ให้
“โหว...เผลอ ประเดี๋ยวเดียว ถามชื่อถามแซ่กันเรียบร้อยเลยรึ”
นางย้อยค้อนให้น้องสาวที่ดูจะแก่แดดแก่ลม...นางแย้มทำหน้า เจ้าเล่ห์อีกครั้งก่อนจะบอกว่า
“ช่วงที่เฮียกินข้าว ฉันขอแก้ห่อผ้า ดูของที่เฮียเอามาขายหน่อยนะ...เผื่อเจออะไรถูกใจจะได้ช่วยซื้อไว้”
วันนั้นสองศรีพี่น้องช่วยไปตะโกนเรียกชาวบ้านหนองนมวัวมาดู ผ้าห่ม มุ้ง เสื้อใส่ทำงาน ผ้านุ่ง และ ผ้าขาวม้า จนของเจ๊กเซ้งเอามาขายได้เกือบหมด...สุดท้าย...ก่อนที่เจ๊กเซ้งจะขี่จักรยาน กลับปากน้ำโพด้วยใจที่เบิกบาน เขาก็ดึงผ้านุ่งที่เหลือเพียงถุงเดียว ส่งมาให้นางย้อยพร้อมกับบอกว่า
“ถือว่าเป็นสินน้ำใจจากอั๊วแล้วกันนะอาย้อย...ถ้าไม่ได้ลื้อกับแม่แย้ม อั๊วคงขายได้ไม่กี่ชิ้น”
“เฮียจะขาดทุนเอา”
“ไม่หรอก...ไม่ขาดหรอก อั๊วมาวันนี้ อั๊วได้กำไรกลับไปอื้อซ่าเลย”
************************
นางพิกุลนั่งฟังเรื่องราวหนหลังของนางย้อยด้วยตาเป็นประกาย...เพราะขึ้นชื่อ ว่า ‘ความรัก’ เบื้องต้น มันทำให้จิตใจของคน ผ่องใส ทำให้เลือดสูบฉีดแรงขึ้น และทำให้กระปรี้กระเปร่า
“แล้วอีกนานไหมกว่าจะลงเอยกัน”
“อาเฮียเขาก็เทียวไล้เทียวขื่อ ขี่จักรยานเอาของไปขายแถว ๆ นั้นอยู่เรื่อย ๆ มาทีไรก็มีโน่นมีนี่ติดมือมาฝากสังข์พ่อ...เริ่มต้นก็ไฟแช็ก ชิ้นสุดท้ายก่อนสังข์พ่อจะล้มป่วยก็เป็นตะเกียงทองเหลือง”
“โห ทุ่มทุนเน้อ”
“ไม่ทุ่มได้อย่างไรละ พอสังข์พ่อรู้ว่า อาเฮียดูท่าจะมาชอบเจ๊ แกก็ขวางเต็มที่เหมือนกัน แกบอกว่า ไม่อยากให้ไปเป็นสะใภ้คนจีน ไม่อยากให้ ไปจากหนองนมวัว...อยากให้ได้คนบ้านเดียวกัน จะได้ไม่ต้องไปอยู่ไกลหู ไกลตาพี่ ๆ น้อง ๆ แกว่าจะชั่วดีถี่ห่าง แต่งกับคนแถวนี้ บารมีพี่ชาย บารมีพ่อยังคุ้มกะลาหัวได้ แล้วแกอยากให้อยู่เป็นเพื่อนกับแม่แย้ม เพราะแม่แย้มชอบพออยู่กับทิดเทืองลูกเศรษฐีใหญ่ คนที่นั่นแหละ”
“แล้วเจ๊ไม่มีใครคนมาชอบมั่งเหรอ”
“มี เยอะแยะ แต่มันไม่ถูกใจ เห็นแล้วก็เฉย ๆ ที่ผู้ใหญ่ชักนำมาให้ดูหน้าดูตัว เจ๊ก็หลบเลี่ยงเอา สังข์พ่อก็ไม่ได้บังคับเข็ญใจอะไร แกว่าปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ แกรักเจ๊กับแม่แย้มมาก เพราะมีลูกสาวแค่สองคน”
“แล้วอีกกี่ปีละ กว่าจะได้แต่งงานแต่งการกัน”
“ก็ปีกว่า...เขาก็พาเตี่ยพาแม่ของเขามาสู่ขอ...แต่งกันง่าย ๆ มอบสินสอดทองหมั้น ผูกข้อมือกันแล้วก็กลับมายกน้ำชาที่บ้านของเขาที่ ปากน้ำโพ”
“ก่อนหน้านั้น เจ๊ได้มาเที่ยวดูบ้านอาเฮียบ้างหรือเปล่า”
“ไม่เคยมาหรอก แต่พอรู้ว่า อยู่ตรงไหน ทำมาหากินอะไร...ตอนนั้นบอก เลยว่า รู้ทั้งรู้ว่าเป็นลูกสะใภ้คนจีน มันไม่เหมือนเป็นลูกสะใภ้คนไทยหรอก แต่ใจมันไม่กลัว มันขอให้ได้อยู่กับเขาเป็นพอ...แต่พอแต่งมาแล้วก็อย่างที่เธอรู้เธอเห็นนั่น แหละพิกุล”
“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ละ”
“ย้อนกลับไปได้ก็แต่ง...แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เจ๊จะไม่ยอมกลับไปอยู่ที่ร้านโชห่วยในตลาดอย่างเด็ดขาด อยู่หั่นหยวกเลี้ยงหมู สับปลาเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ที่ทับกฤชอย่างตอนแรกนะดีที่สุดแล้ว”
***************************
วันรุ่งขึ้น นางย้อยตื่นแต่เช้ามารอรถไฟกลับชุมแสง...นางพิกุลเดินมาส่งที่สถานีรถไฟทับกฤช พร้อมด้วยปลาเค็มตัวใหญ่พวงใหญ่...ระหว่างนั่งรอรถไฟ จนกระทั่งนั่งรถไฟกลับมาชุมแสง ความหลังที่คิดว่าจะลืมไปแล้วก็ผุดขึ้นมาให้จิตใจของนางย้อยเศร้าหมองอีก...
หลังจากยกน้ำชา ให้อากง อาม่า เตี่ยและแม่ของเขา ตามประเพณีจีน...อาม่าก็ประกาศิตว่า... “ให้อาเซ้งพาเมียมันไปอยู่ช่วยงานโรงสีที่ทับกฤช อย่าให้มันเอาเมียมาอยู่ใกล้ ๆ อั๊ว เห็นหน้ามันแล้ว อั๊วใจคอไม่ดี กลืนข้าวไม่ลงแน่”
บ้านตระกูลแบ้ ‘นางลิ้ม’ ยัง คงเป็นใหญ่ที่สุด...อากงก็แก่มากแล้ว ไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องของลูกหลาน...เหลือแต่นางลิ้มที่ยังเปล่งแสงอวด บารมีเศรษฐีใหญ่จากเมืองจีนคับบ้าน... ‘นางซกเพ้ง’ ลูกสะใภ้ใหญ่แม่ของเจ๊กเซ้งที่ถือว่าเป็นขี้ข้าประจำบ้านนั้น พลอยถูกตำหนิเรื่องตามใจลูกชายคนสุดท้องให้แต่งเมียคนไทยไปด้วย...นางย้อย ได้ยินว่านางแม่ผัวตอบไปว่า “ก็ตี๋น้อยมันรักของมัน”
“รักมันกินไม่ได้ แล้วอีไม่ประสีประสาเรื่องค้าเรื่องขาย ไม่รู้ ธรรมเนียมจีน ไหว้เจ้าเผากระดาษก็ไม่เป็น หลานเหลนอั๊วจะกลายพันธุ์กันหมด ก็เพราะอี”
“ก็ค่อย ๆ สั่งสอนกันไป”
“แล้ววันหน้าอาเซ้งจะรู้เองว่า เลือกเมียผิด!...ไป ไปบอกให้มันพากันไปอยู่ที่ทับกฤช ให้อีทำงานหนักๆ ทนไม่ไหว เดี๋ยวอีก็กลับบ้านอีไปเอง”
‘ทนไม่ไหวเดี๋ยวอีก็กลับบ้านอีไปเอง’ คำนี้ก้องอยู่ในความทรงจำของนางย้อย...คนอย่างนางตัดสินใจแล้ว ไม่มีวันถอยกลับ แค่เรื่องลำบากกาย มันคงไม่ถึงตาย นาของพ่อตั้งหลายทุ่ง หลังจากที่พี่ชายออกเรือนกันไปหมด นางยังช่วยพ่อทำมาได้...อยู่โรงสี งานมันจะหนักสักแค่ไหนเชียว...
พอเห็นสภาพโรงสีที่ยังถือเป็นกงสีของครอบครัว นางย้อยก็ถึงกับถอนหายใจเบา ๆ คนงานที่ต้องหุงข้าวเลี้ยงนั้นมีเป็นสิบ ไหนจะต้องเลี้ยงหมูที่มีกลิ่นเหม็นทั้งวันทั้งคืน ไหนจะเป็ดไก่ที่เต็มไปด้วยตัวไรที่นางแพ้จนผื่นขึ้นเต็มตัวไปหมด นางต้องสับปลา ทุบหอยเลี้ยงเป็ดมานับจำนวนไม่ถ้วน...ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อหุง ข้าวและนอนดึกเกือบทุกวัน
นางย้อยเกือบจะทนไม่ไหวอย่างที่ถูกปรามาสไว้ ดีแต่ว่าคำหวานหูของสามี...ทำให้นางมีแรงฮึดสู้ต่อ...
“ทนหน่อยนะอาย้อย...มีลูกชายด้วยกันสักคนสองคน เดี๋ยวอาม่าก็ใจอ่อนให้กลับไปอยู่ในตลาด ถึงเวลานั้น...เราก็จะสบายกว่าอยู่ที่นี่”
แต่พอได้กลับไปอยู่ที่ตลาดจริง ๆ นางย้อยกลับคิดว่า ลำบากอยู่ที่นี่ยังจะดีเสียกว่า!
*************************************
|
|
« Last Edit: 29 February 2020, 09:36:11 by นักประพันธ์ »
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #2 on: 29 February 2020, 09:37:55 » |
|
ตอนที่ 3 : สวยแต่เลว
๓ ระหว่างที่ปัดกวาดทำความสะอาดชั้นสินค้า เก็บ กวาดร้าน หวังเอาใจแม่ผัวที่หายหัวไปทับกฤชตั้งแต่เมื่อวาน...เรณูก็มาสะดุด ที่รูปถ่ายติดผนังของแม่ผัว พ่อผัว รวมถึงรูปลูกชายที่ยืนเรียงกันสี่คนใส่กรอบติดฝาบ้านไว้...
ทุกคนหน้าตาหน่วยก้านใช้ได้ทีเดียว...
คน โต เป็นของเธอแล้ว คนรอง และ คนที่สี่เธอยังไม่เห็นหน้า...ส่วนคนที่สาม เมื่อวานหลังออกจากบ้านมาตามหาปฐม...เธอก็ได้รู้ว่าปฐมไปเฝ้าคนงานอยู่ที่ โรงสี ส่วนนางย้อยนั้น พอดีคนขับเรือหางยาวกลับมาบอกว่าไปทับกฤช ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งบ้านของพิไล คู่หมายของปฐม...เรณูเดาได้ว่านางย้อยไปที่นั่นทำไม...ส่วนคนที่นั่งเฝ้าร้าน แทนนั้น เมื่อวานระหว่างที่พูดคุยกัน เรณูก็มั่นใจได้ว่า ‘ซา’ หรือกมล ก็น่าจะเป็นพวก ‘ไก่อ่อน’ เหมือน พี่ชายคนโต แต่ที่ประทับใจเรณู คือ ใบหน้าของเขานั้นเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา ดูเป็นคนจิตใจดี อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี เข้ากับคนง่าย ไม่ถือตัวถือตนว่าเป็นลูกอาเสี่ย และดูเหมือนชีวิตไม่มีทุกข์มีร้อนแต่อย่างใด...
เรณูไพล่คิดไปถึง ‘วรรณา’ น้องสาวคนเล็กที่ตนส่งเสียให้เรียนตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่ปากน้ำโพ...ถ้าวรรณาได้ผู้ชายดี ๆ แบบกมล ชีวิตของวรรณาคงจะมีความสุข ...แม้อนาคตของตนจะยังดูเลือนรางสำหรับที่นี่ แต่เรณูก็ฝันแทนน้องสาวไปเสียแล้ว ก็ความฝันทำให้คนมีแรงสู้ชีวิตไม่ใช่หรอกรึ...เรณูให้กำลังใจตัวเอง
“ซ้อ ๆ ม้ากลับมาแล้ว” เสียงของกมลทำให้เรณูต้องสูดลมหายใจเข้าปอดตั้งสติ...
ถ้านางย้อยเห็นว่า หลังจากที่หายไปเพียงชั่วคืน เธอก็อาจหาญเข้ามาป้วน เปี้ยนอยู่ที่นี่ รับรองว่านางจะต้องออกงิ้วเหมือนเมื่อวานเป็นแน่ คิดได้ดังนั้นเรณูก็เม้มริมฝีปาก เลิกคิ้ว สูดลมหายใจ เรียกความมั่นใจให้ตนเอง...
“ต๊าย อีเรณู ใครใช้ให้มึงมาวุ่นวายอยู่ที่ร้านของกู” พอเห็นเรณูถือ ไม้ขนไก่ยืนอยู่...นางย้อยก็แผดเสียงทันที...
เรณู ยิ้มแหย ๆ ...ทำเหมือนเขินที่ถูกจับได้ว่ามาลักกินขโมยกินของในบ้านของเขา...เมื่อ อาการของเรณูเป็นดังนั้น อารมณ์ของนางย้อยก็ยิ่ง พลุ่งพล่าน...
“มึงกลับไปอยู่ในที่ของมึงเลยนะ อย่ามาสลัดเสนียดใส่ร้านกู”
“ม้า ม้า ใจเย็น” กมลรีบห้ามศึก...
“ไอ้ซา ทำไมมึงให้มันเข้ามาในร้าน กูบอกมึงแล้วใช่ไหมว่า ให้ดูแลร้านให้ดี ๆ มึงนี่เนอะ ไว้ใจไม่ได้เลย”
“ผมก็ดูร้านอย่างดี ตามที่ม้าสั่ง...ไม่ได้ลุกไปไหนเลย”
“แล้วมึงให้อีนี่ มันเข้ามาเต๊ะท่าเป็น...เป็นเจ้าข้าวเจ้าของร้านได้อย่างไร”
“อาซ้อเขามาช่วยทำความสะอาดร้าน...ม้าเห็นไหมว่า ข้าวของเป็นระเบียบระบบขึ้นเยอะเลย”
“ซ้อ ใครซ้อมึง”
“ก็เขาเป็นเมียตั่วเฮีย ก็ต้องเป็นอาซ้อ”
“มัน แค่เป็นนางบำเรอพี่ชายมึงทำนั้น มันไม่ใช่สะใภ้กู ไม่ใช่พี่สะใภ้พวกมึง เพราะฉะนั้น มึงอย่าไปเรียกมันว่าซ้อ...แล้วบอกกับคนอื่น ๆ ด้วยว่าอย่านับถือว่ามันเป็นพี่สะใภ้เด็ดขาด บ้านเราจะต้องไม่มีสะใภ้อย่างมัน”
“นับ ไม่นับ ก็เป็นไปแล้ว” เรณูทนไม่ไหว จึงขัดขึ้นมาด้วยใบหน้าอวดดื้อถือดี...และใบหน้า ท่าทาง น้ำเสียงแบบนี้ เรณูก็มั่นใจว่า มันจะยิ่งทำให้ไฟในอกของนางย้อยลุกโชนยิ่งขึ้น...
“อีหน้าด้าน...เกิดมากูไม่เคยพบไม่เคยเห็นคนหน้าด้านไร้ยางอายอย่างมึง ด่าอะไรดีมึงถึงจะเจ็บ จะอาย จะสำนึก”
“แล้วม้าจะด่าไปทำไม ด่าแล้วได้ประโยชน์อะไรไหม”
“อีเรณู”
“ก็ จริงไหมล่ะ ใครก็รู้กันทั้งชุมแสงแล้วว่า หนูมาที่นี่ในฐานะเมียที่อุ้มท้องลูกให้พี่ใช้ ลูกชายของม้า อุ้มท้องหลานให้ม้า ม้าด่าหนู เอาหนูออกประจาน ถามจริง ๆ เถอะ ม้าไม่อายคนเขาบ้างหรือ ใครได้ยินก็หัวเราะกันทั้งนั้น”
“อีเรณู”
ตอนนั้นกมลแอบยิ้มเพราะไม่คิดว่าคำยอกย้อนที่ดูสุภาพของเรณูจะทำให้แม่ ‘ไปไม่ถูก’
“หนูพูดความจริง ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนที่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แล้วไม่ยอมรับความจริง ระวังนะ ระวังจะอกแตกตาย”
“อีเรณู อีเวร มึงแช่งกู”
“แช่งตรงไหน อะไร อย่างไง หนูก็พูดไปตามเนื้อผ้า...ใครได้ยินก็รู้ว่าหนูพูดอะไร”
“ซ้อ ๆ เอ๊ย ๆ เจ๊ ผมว่าเจ๊ กลับบ้านไปก่อนเถอะ”
“เจ๊ ก็ไม่ควรใช้เรียกมัน...คนอย่างอีนี่ ห้ามไปนับญาติกับมัน”
“ซา งั้น พี่กลับไปบ้านก่อนนะ ถ้าพี่ใช้มา หรือเจอพี่ใช้ก่อนแกจะกลับบ้าน ก็บอกกับแกด้วยว่า พี่รออยู่ที่บ้าน...แล้วถ้าเจอก่อนเที่ยง ก็บอกด้วยว่า เที่ยงนี้ พี่อยากกินส้มตำแซ่บ ๆ ...ไปแล้วจ้ะม้า” ว่าแล้วเรณูก็ยกมือไหว้ลา ทั้งที่ไม้ขนไก่ยังอยู่ในมือ
“ไปแล้วก็ไม่ต้องกลับมาแถวนี้อีกเลยนะ...ไป ชิ้ว ๆ”
เรณูเดินออกไปแล้ว นางย้อยยังคงยืนตาขวางมองตามหลัง กระทั่งร่างของเรณูลับตา นางย้อยก็ถอนหายใจ แล้วเดินไปทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้...สายตานั้นเต็มไปด้วยความอาฆาตมาดร้าย...
“ม้า...มาเหนื่อย ๆ กินน้ำชานะ เดี๋ยวผมจะไปชงน้ำชาให้” กมลรีบเปลี่ยน เรื่อง...ก่อนจะผลุบหายไปทางหลังบ้าน...ส่วนบุญปลูกนั้น ทำได้เพียงพยายามกลั้นขำ...แต่แล้วบุญปลูกก็ต้องสะดุ้งเมื่อนางย้อยเรียกให้ เข้าไปหา... “เมื่อวาน ตอนเย็น อีเดินมาที่ร้าน มาตามหาผัวอี...พอดีกับที่พี่ ทิดหนองคนเรือที่เถ้าแก่จ้างไปทับกฤชกลับมาบอกว่า เถ้าแก่เนี้ยไปค้างที่ทับกฤช”
“แล้วอย่างไรต่อ”
“ก็เห็นคุยกับเฮียซา คุยกันอยู่นาน แล้วต่อมา เฮียใช้ก็กลับมาจากโรงสี ก็พากันขึ้นไปขนที่นอนหมอนมุ้งเสื่อเสื้อผ้าของเฮียลงมา แล้วก็พากันเข้าไปหลังร้าน ขนพวกเครื่องครัวออกมากอง”
“ขนไปแค่นั้น”
“แล้วเฮียใช้ก็ให้ซ้อ เอ้ย เมียอี เลือกของที่จำเป็น ไปใช้น่ะ”
“มันเอาอะไรไปบ้าง”
“ใส่กะละมังไป เยอะแหละ ถามเฮียซาดูเอาแล้วกัน...หนูไม่ค่อยได้สนใจหรอก”
ตอนที่บุญปลูกรายงานถึงเหตุการณ์เมื่อวาน กมลที่อยู่หลังบ้านแอบฟังความอยู่...พอถือป้านน้ำชาออกมา เขาก็บอกว่า
“ม้า ๆ น้ำชาได้แล้ว”
“มันขนอะไรไปบำรุงบำเรอเมียกะหรี่มันบ้าง”
“ม้า...ไปพูดถึงเขาอย่างนั้นได้อย่างไร”
“ก็มันเป็นกะหรี่จริง ๆ”
“แต่ตอนนี้เขามาเป็นเมียตั่วเฮียแล้ว ด่าเขา ประจานเขา ก็เหมือน ยืนตบหน้าตัวเองกลางตลาดนะม้า”
“ไม่ต้องมาสอนกู”
“งั้น กินน้ำชาหน่อยนะ จะได้ใจเย็น ๆ”
พอลูกชายรินน้ำชาส่งให้ดื่ม...ใจที่เต้นแรงก็ค่อย ๆ เย็นลง... ใช่แล้ว ด่ามัน ประจานมัน ก็เหมือนยืนตบหน้าตัวเองกลางตลาดให้คนหัวเราะเยาะอย่างที่ลูกชายว่า...แต่ ถ้าไม่ทำอะไรเลย มันก็จะยิ่งได้ใจนะซิ...และที่สำคัญ ถ้ายอมมันสักคน ลูกคนอื่น ๆ ก็พลอยคิดว่า จะไปคว้าผู้หญิงระยำตำบอนที่ไหนมาเป็นเมีย เป็นสะใภ้ของนาง เหมือนพี่ชายมันทำก็ได้... ตอนแรกเรณูตั้งใจจะเดินกลับบ้านไปเตรียมเครื่องส้มตำไว้รอท่าปฐม...แต่พอ เห็นร้านก๋วยเตี๋ยวและสีหน้ายิ้มๆ ของคนที่คงจะได้ยินได้เห็นเหตุการณ์เมื่อครู่ หรือเมื่อวานนี้ เรณูจึงเชิดหน้าขึ้น ปั้นหน้าว่าไม่สะทกสะท้านสายตาใครทั้งนั้นแล้วเดินเข้าไปทรุดตัวลงนั่งพร้อม กับสั่งเส้นใหญ่ต้มยำ พออาเฮียเจ้าของร้านเอาชามก๋วยเตี๋ยวมาวาง เรณูก็เริ่มผูกมิตรด้วยการชวนคุย
“เฮียใช้บอกว่า ร้านนี้อร่อยที่สุดในชุมแสง...”
“อาใช้ก็พูดเกินไป”
เรณูที่ใช้ช้อนตักน้ำซุปขึ้นชิม แล้วบอกว่า “อร่อยจริงๆ เฮีย...เป็นบุญปากของฉันจริง ๆ ที่ได้กินของอร่อย ๆ แบบนี้”
หลังจากกินก๋วยเตี๋ยวหมดชาม เรณูก็เดินไปซื้อข้าวเม่าทอดไปกินที่บ้าน...ทีนี้แม่ค้าเป็นผู้หญิงไทยอายุ คราวน้า ดูท่าจะปากยื่นปากยาวได้ที่...
“จริงหรือเปล่าอีหนู ที่เขาว่ากันว่า เอ็งน่ะมาจากตาคลี”
“มาจากตาคลีจริง ๆ จ้ะน้า แต่ฉันไม่ได้เป็นกะหรี่อยู่ที่นั่นหรอกนะ...บ้านฉันอยู่แค่ตำบลเกรียงไกร บึงบอระเพ็ดนี่เอง ฉันไปช่วยงานญาติ ๆ ของฉัน ทำงานครัวอยู่ในบาร์ แล้วก็เจอเฮียใช้ที่นั่น ทีนี้แม่ผัวของฉันพอรู้ว่าฉันมาจากตาคลี ก็เหมาเอาว่า ฉันต้องเป็นอีตัว...ฉันจะอธิบายให้ใครฟังได้ทั้งตลาดละ เพราะแกเสียงดังขนาดนั้น เฮียใช้เขารู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าฉัน ชั่วช้าถึงเพียงนั้น เขาจะเอาฉันทำเมียออกหน้าออกตา พาเข้าบ้านมารึ แล้วฉันก็กำลังอุ้มท้องลูกของเขาด้วย เขาก็ต้องรับผิดชอบ ฉันเอง จะผิดก็ตรงที่ ใจง่ายไม่ได้ตกแต่งเสียก่อน...ทีนี้เขาจะว่าอะไรก็ได้ ใช่ไหมน้า ฉันตากหน้า สู้สายตาคนก็เพราะฉันกำลังจะเป็นแม่คน ฉันสู้อดทดก็เพื่ออนาคตลูกของฉัน ถ้าไม่อดทน ลูกก็จะไม่มีพ่อ ใช่ไหมน้า”
“มันก็จริงของเอ็ง”
“อย่างไร น้าก็ช่วยแก้ข่าวให้ฉันบ้างนะ...วันหน้าฉันได้ดิบได้ดีอยู่ที่ชุมแสง ฉันจะไม่ลืมบุญของคุณครั้งนี้ของน้าเลยจ้ะ”
“ให้มันจริงเถอะ”
“จริงซิจ๊ะ...นี่ฉันก็กำลังมองหาทำเล เปิดร้านขายของอยู่ เห็นเขาเปิดร้านขายผ้าขายของกัน เห็นแล้วอยากทำบ้าง...คือ ทุนรอนฉันก็พอมีอยู่นะ ช่องทางหาของมาขาย ฉันก็พอรู้”
ช่วง ที่เรณูพูดยืดยาว นางแม่ค้าข้าวเม่าทอดก็พิจารณาเสื้อผ้า ทองหยองเครื่องประดับตัว และกิริยาท่าทางของหญิงสาวไปด้วย เรณูอาจจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด แต่งหน้าจัดเกินคนทั่วไป แต่ผิวพรรณกิริยาท่าทางนั้นไม่ได้ส่อไปในทางเป็นหญิงคนชั่วไร้สกุลเลยสัก นิด...คำพูดคำจารึก็หวานหูเป็นธรรมชาติ
“อ้าวรึ แล้วหาได้รึยัง ถ้ายัง น้าจะแนะนำร้านให้ เจ้าของเก่าเขาจะย้ายไปอยู่ตะพานหิน เขาหาคนเซ้งร้านเขาอยู่”
“ร้านไหนรึน้า เดี๋ยวฉันจะเดินไปดูเลย”
พอรู้ว่าร้านไหนจะให้เซ้ง เรณูก็รีบเดินไปยังร้านนั้น...ถามไถ่ราคาค่าเซ้งร้าน เรณูก็คำนวณอยู่ในใจว่า เงินเก็บ กับทองคำที่พอมีอยู่ ถ้าเอาออกมาลงทุน มันจะเสี่ยงไปไหม...ถ้าขาดทุนมันก็ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ แต่ถ้าได้กำไร ลงหลักปักฐานได้ เธอก็จะไม่ใช่อีเรณูอดีตกะหรี่ตาคลีอีกต่อไป...
มันน่าจะลองเสี่ยง เพราะการเสี่ยงครั้งนี้ เธอไม่ได้เสี่ยงตามลำพัง เหมือนเมื่อครั้ง บ่ายหน้าออกจากบ้านไปอยู่ตาคลีเสียเมื่อไหร่ละ... หลัง จากดื่มชา ได้อาบน้ำผลัดผ้า นั่งนับเงินจนใจเย็นแล้ว นางย้อยก็บอกให้กมลไปสลับตำแหน่งกับตั่วเฮียของเขา...แล้วให้ปฐมมาหานางที่ ร้านก่อนจะกลับบ้านไปหาเมีย...
สำหรับบุตรชายทั้งสี่คน คำพูดของแม่ถือว่าเป็น ‘ประกาศิต’ นาง ย้อยเล่าให้ลูกชายทั้งสี่คนฟังเสมอว่า กว่าจะมีวันนี้ได้นั้น ตนและพ่อของพวกเขาลำบากกันถึงเพียงไหน...แม้จะได้ทุนรอนมาจากอากงอาม่าของ พวกเขามาเปิดร้านค้าส่ง เน้นขายของให้พวกร้านโชห่วย แต่ก็ได้มาไม่มาก
... ช่วงแรก ๆ ลูกก็ยังเล็ก ยังต้องเรียนหนังสือ ช่วยงานกันได้ไม่เต็มที่ เจ๊กเซ้งนั้นยังต้องหาบของลงเรือขึ้นล่องแม่น้ำน่าน แม่น้ำยม เข้าไปตามลำคลอง กระทั่งจอดเรือแล้ว หาบของไปตามบ้านเรือนเพื่อเอาสินค้าที่มีเสนอขาย ชาวบ้านชาวช่องนั้นก็ไม่ได้ร่ำรวยมีเงินกันทุกบ้าน บางปีฝนแล้ง บางปี น้ำท่วม ดังนั้นจึงต้องขายด้วยระบบ ‘ให้เซ็นไว้ก่อน’ แล้วตามเก็บตอนที่ได้ข้าวได้ของพร้อมดอกเบี้ย ...บ้างก็จ่ายเป็นเงิน บ้างก็จ่ายเป็นข้าวเปลือก บ้างก็หนีหนี้หายสูญ
ทำ กันมาอยู่อย่างนี้สิบปีกว่า กระทั่งเก็บเงินได้ก้อนใหญ่ ญาติ เจ๊กเซ้งเสนอให้เซ้งโรงสีต่อเพราะหมดแรงจะทำ นางเห็นว่า มีลูกชายถึงสี่คน ลำพังร้านค้าร้านเดียวลูกหลานจะลำบาก จึงได้รวบรวมเงินที่มีผสมกับเงินขายที่นาทุ่งหนองนมวัวที่พ่อยกให้ ให้กับนางแย้ม มาเซ้งโรงสีหาเงินเข้าบ้านอีกทาง...
ปฐมนั้นถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญเพราะเป็นพี่ชายคนโต ซึ่งเข้าใจธรรมเนียมจีนเป็นอย่างดีว่า ต้องมีภาระเป็นผู้สืบทอดตระกูลให้รุ่งเรืองสืบไป เมื่อครั้งที่ปฐมต้องเกณฑ์ทหาร นางย้อยก็คิดจะเสียเงินให้สัสดี แต่ว่าปฐม ขอเสี่ยง เพราะเสียดายเงิน พอลูกชายจับได้ใบแดง นางย้อยก็มานึกเสียดายว่า ถ้ายอมจ่ายเงินก้อนเล็ก ๆ ก็ยังจะมีแรงงานไว้ใช้อีกสองปี แล้วยิ่งเวลานี้ นางย้อยก็ยิ่งนึกอยากย้อนวันเวลากลับไป ถ้าปฐมไม่ไปเป็นทหารที่ตาคลี เขาก็จะไม่ได้เจอะเจอกับอีเรณูจนต้องเสีย อนาคต เสียโอกาสดีๆ อย่างที่เป็น
หลังปฐมทรุดตัวลงนั่ง นางย้อยก็พูดด้วยหน้าบึ้ง ๆ ว่า “ก่อนม้าจะไปทับกฤช ม้าไปหาพระตงก่อน”
“ม้าไปหาพระทำไม มีอะไรกับพระรึ”
“ม้าจะให้พระสึกออกมาแต่งงานกับหนูพิไลแทนแก”
“ม้า”
“นึกเสียดายขึ้นมาแล้วละซิ”
ปฐมนิ่งเงียบ...ไม่ตอบคำถามนั้น
“ตามธรรมเนียมจีนแล้วแกมีภาระเป็นผู้สืบทอดสกุล สมบัติส่วนใหญ่ของพ่อของแม่จะต้องเป็นของแก แต่เมื่อแกเอาเมียพรรค์อย่างนั้นเข้าบ้านมา แกก็ต้องปลงใจด้วยว่า ม้าไม่ใช่คนจีนแท้ ๆ ม้าเป็นคนไทย...เพราะฉะนั้น ต่อไปม้าจะตัดสินใจทำอะไรตามที่ม้าเห็นสมควร ตามที่ม้าพอใจแล้วกัน”
สายตาของปฐมยังคงจ้องอยู่ที่สมุดบัญชีบนโต๊ะแค่จุดเดียว...
“หน้าแกหมองไปนะ...ไหนว่า ไม่ได้ฝึกหนักเหมือนตอนเข้าไปใหม่ ๆ อีกแล้ว”
“ก็ยังต้องตากแดดเหมือนเดิมแหละม้า”
“เข้าเรื่องเลยแล้วกัน...บ้านหลังที่แกพาอีเรณูไปอยู่ ม้าจะยกให้เป็นเรือนหอของหนูพิไลกับ...พระ”
“ม้า”
“วันสองวันนี้ เรื่องหนูพิไลก็คงสรุปได้หรอกว่าจะแต่งกับพระตงได้เมื่อไหร่...เอาเป็นว่า ถ้าแกไม่พามันกลับตาคลี ม้าก็มีทางเลือกให้มัน ให้แก อีกทาง คือ ให้แกพามันไปอยู่ที่บ้านสวนหลังโรงสี ให้มันช่วยเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่อยู่ที่นั่นไป”
“แต่ที่บ้านสวนหลังโรงสีมัน มันทรุดโทรม แล้วก็เหม็นขี้หมู”
“แล้วจะให้มันนอนให้ลมโกรก รอแกกลับมาอย่างนั้นรึ”
“ก็เขากำลังท้อง จะให้เขาลำบากนักไม่ได้หรอกม้า”
“ตอนที่ม้าท้องแก ท้องน้องแก ม้ายังต้องหั่นหยวกเลี้ยงหมูตั้งแต่เช้ายันค่ำ...น้ำท่าหาบขึ้นมาจากแม่น้ำ จนเต็มทุกโอ่งไม่เห็นแท้งไปสักท้อง พวกแกออกมาแข็งแรงทุกคน”
“แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วนะม้า”
“แกจะจัดการเอง หรือจะให้ม้าจัดการก็เลือกเอา...ถ้าให้ม้าจัดการ มันก็มีแต่แตกกับหักเท่านั้นแหละ ที่ม้าให้แกจัดการ ก็เพราะม้ายังนึกถึงความดีของแกอยู่บ้างหรอกนะ ไม่อยากจะหักหาญน้ำใจแกมากไปกว่านี้”
“ม้า...ขอบ้านหลังนั้นให้ผมเถอะนะ”
“ไม่...บอกเลยก็ได้ ถ้ามันคลอดลูกมาแล้ว หน้าตาลูกมันกระเดียดมาทางเรา บางทีม้าอาจจะเมตตามันมากขึ้นมาบ้างก็ได้ แต่ว่าตอนนี้ ม้าพูดได้คำเดียวว่า ถ้าทนอยู่ในที่ ที่ม้าให้อยู่ได้ ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ จะพากันไปอยู่ที่ไหนก็ เชิญ” ปฐมแบกใบหน้าอมทุกข์กลับมาที่บ้าน...เรณูเห็นหน้าของเขาก็พอเดาออกว่า ทางนางย้อยคงกดดันเขามาอีกแน่ ๆ
“พี่ใช้...มาแล้ว” เรณูที่อยู่ในชุดเสื้อคอกระเช้า สวมผ้านุ่งสีน้ำเงินเข้ม ยิ้มหวานเข้าหา... ประคองเขาไปลงนั่งลงบนร้านกระดานที่ถูจนสะอาดเอี่ยมไว้รอท่า...
“นั่งก่อน เดี๋ยวหนูขึ้นไปตักน้ำให้กิน”
“ไม่ต้องหรอก ไม่หิว”
“กินอะไรมาหรือยัง วันนี้จะทำส้มตำให้กิน อยากกินเลยไหม ขึ้นไปตำให้กินเลยนะ”
ปฐมถอนหายใจออกมาอย่างแรง
“มีเรื่องอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า มีอะไรก็พูดกันมาตรง ๆ เราเป็นผัวเมียกันแล้ว เป็นเหมือนคนคนเดียวกัน มีปัญหาอะไร เราก็ต้องช่วยกันแก้ไข”
ปฐมหันมามองหน้าเรณู หญิงสาวยิ้มหวานให้เขา เป็นยิ้มที่ทำให้เขารู้สึกชื่นใจ...เรื่องที่หนักอึ้งอยู่ในใจก็คลายออกไป อย่างประหลาด
“คือ ม้า จะ เอ่อ จะ ยกบ้านหลังนี้ให้เป็นเรือนหอของพระตง”
“น้องคนรองของพี่น่ะเหรอ แล้วจะแต่งกับใครละ”
“แต่งกับพิไล”
“หือ” เรณูไม่คิดว่า นางย้อยจะคิดแผนแก้ลำได้รวดเร็วถึงเพียงนี้
“ม้าจะให้เราย้ายไปอยู่บ้านสวนหลังโรงสี”
“ย้ายก็ย้ายซิ...ตรงไหนหนูก็อยู่ได้ ขอให้ได้อยู่กับพี่ใช้ เท่านั้นเป็นพอ”
“คือ ที่บ้านหลังนั้นเป็นเพียงเพิงหมาแหงนอยู่ติดกับเล้าหมู ทำโรงสีต้องเลี้ยงหมูด้วย แล้วเตี่ยก็เลี้ยงไก่เนื้อด้วย...เราไปอยู่ที่นั่นก็ต้องช่วยเตี่ยช่วยคนงาน ดูแลงานที่นั่น หนูจะทนกลิ่นขี้หมูไหวรึ กำลังท้องกำลังไส้อย่างนี้มันจะไม่ดีกับลูก”
เรณูซ่อนความเจ็บใจไว้ในสีหน้า แต่เมื่อถูกกดดันให้จนมุม...เธอก็จำเป็นต้องลุกขึ้นสู้...เพราะเธอเลือกที่ จะเดินเข้าสนามรบมาเอง เธอจะต้องสู้ ให้ได้ชัยชนะกลับไป เธอจะต้องกลับไปหัวเราะให้เสียงดังคับบาร์...หญิงสาวจึงตัดสินใจบอกเขาไป ว่า...
“อันที่จริงหนูก็มีแผนชีวิตใหม่ของเราจะบอกพี่อยู่เหมือนกัน...วันนี้หนูไป สำรวจตลาดมาละ เห็นว่ามีร้านขายผ้าจะให้เซ้งร้านต่อ เขาจะย้ายไปอยู่ที่ตะพานหิน”
“แล้วไง”
“หนูอยากทำ” แล้วเรณูก็บอกถึงจำนวนเงินที่ต้องใช้...ปฐมนิ่งคิด...เพราะถึงเป็นลูกของ เถ้าแก่ร้านค้าส่งของโชห่วย เป็นเจ้าของโรงสี แต่เขาก็ยังต้องใช้เงินกงสี แล้วแม่ก็ไม่ได้ให้เงินเขาใช้จนเหลือเก็บ ตอนนี้นอกจากเงินเดือนทหารเกณฑ์ที่ได้ไม่กี่บาท เขายังมีสร้อยคอทองคำหนักสองบาทที่ แม่ซื้อให้คล้องพระแค่เส้น เดียวเท่านั้น และทองเส้นนั้นพอเขาไปเป็นทหาร แม่ ก็ขอเอาไปเก็บไว้ให้เสียอีก...
“แต่เราไม่มีทุน พี่มีเงินติดตัวไม่มาก หนูก็รู้นี่”
“หนูพอมี...แต่หนูเป็นเมียพี่แล้ว หนูก็ต้องถามพี่ก่อนว่าจะเอาอย่างไรดี”
“พี่ก็ต้องกลับเข้าค่าย หนูจะทำไหวรึ เดี๋ยวก็ท้องใหญ่ขึ้น ๆ แล้วหนูก็ไม่เคยค้าเคยขายด้วย...ถ้ายุ่ง ๆ คนเดียวมันเอาไม่อยู่หรอก และที่สำคัญ เราต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่า การค้ามันอาจจะทำให้เราขาดทุนก็ได้”
เรณูนิ่งคิด...ที่เขาพูดก็ถูก
“พี่ว่า หนูกลับไปรอพี่อยู่ที่บ้านของหนูก่อนดีไหม...พี่ปลดทหารแล้วเราค่อยกลับมา อยู่ด้วยกันที่นี่”
ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เกรียงไกร หรือบาร์ที่ตาคลี เรณูก็กลับไปไม่ได้...หญิงสาวสูดลมหายใจเข้าปอดเชิดหน้าขึ้นก่อนจะบอกว่า
“ถ้าอย่างนั้นหนูรอพี่อยู่ที่บ้านหลังโรงสีแล้วกัน...หนูทนลำบากได้”
ได้ ยินเรณูพูดดังนั้น ปฐมจึงบอกว่า
“พอพี่ปลดทหาร หนูคลอดลูกแล้ว บางทีแม่ของพี่อาจจะใจเย็นลงกว่านี้ก็เป็นได้ ตอนนี้หนูต้องอดทนให้มาก ๆนะ เพื่ออนาคตลูกของเราสองคน” คืนนั้นหลังจากที่ปฐมนอนหลับไปแล้ว เรณูที่ยังนอนลืมตาโพลงก็ครุ่นคิดถึงคำพูดของ ‘พี่ติ๋ม’...
“แม่ มันตอนเป็นสาวคงจะสวยแหละ สวยแต่ เลว และที่พี่ต้องมาอยู่ที่นี่ ก็เพราะแม่มันนี่แหละ...แม่ของมันนอกจากจะค้าขายของสารพัดอย่าง ก็ยังปล่อยเงินให้กู้ด้วย ปล่อยของให้เชื่อ ให้ติดไว้ก่อน แล้วก็คิดดอกแพง ๆ น้ำปลาขวดเดียว แลกกับข้าวเปลือกหนึ่งถัง คนมันไม่มีจะกิน มันก็เอา พอถึงหน้าได้ข้าว มันก็พากันไปโกยข้าวเปลือกมาใส่ยุ้ง เก็บไว้สีเป็นข้าวสารขาย...มันไม่ได้ทำนาสักกระแบะ แต่ข้าวมันมีเต็มยุ้ง ข้าวสารมันมีเต็มร้าน พอหลายปีเข้า มันก็ซื้อโรงสี ลูกชายมันมีสามคนสี่คน มันก็ไม่ได้เรียนหนังสือหรอก ใช้งานอย่างกับทาส...มันถึงได้ดูแข็งแรงหล่อเหลาอย่างที่เห็น”
“แล้วที่พี่ว่า พี่ต้องมาอยู่ที่นี่ก็เพราะแม่มัน หมายความว่าอย่างไร”
“แม่พี่ล้มป่วย พ่อไปกู้เงินมันมารักษาแม่ กู้มาใช้จ่าย เชื่อของในร้านมันมาเลี้ยงลูก พ่อพี่ไม่รู้หนังสือหรอก มันให้พ่อพิมพ์ลายนิ้วมือใส่กระดาษเปล่า พอแม่พี่ตาย มันก็เอากระดาษแผ่นนั้นซึ่งกลายเป็นสัญญาจำนองบ้านไปแจ้งความ ว่าพ่อเอาบ้านเข้าจำนองกับมัน มันก็ยึดบ้านพี่...แล้วก็ไล่เจ้าของเดิมออกจากบ้านในทันที”
“ขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วพี่ไปอยู่ที่ไหนกัน”
“ไปอาศัยบ้านพี่สะใภ้ อยู่ที่เกยไชย ที่นั่นพ่อพี่ตกต้นตาลมาหลังเสีย เดินไม่ได้ ช่วงนั้น ลำบากมาก สุดท้าย พอมีคนชวนพี่มาอยู่ที่นี่ พี่ก็มา”
“แล้วพี่บอกกับที่บ้านพี่ว่าอย่างไร”
“บอกว่ามาทำงานเป็นเด็กหน้าร้านที่ปากน้ำโพ...คนแถวนั้นรู้ว่า พี่โกหก แต่พี่ก็ไม่ค่อยได้กลับไปหรอก”
“แล้วตอนนี้พ่อพี่เป็นอย่างไรบ้าง ใครดูแล”
“ตายไปนานแล้ว สรุปว่าเพราะมันนั่นแหละ ทำให้พี่เป็นคนบ้านแตกสาแหรกขาด พี่น้องไปกันคนละทิศละทาง...ฟังกิตติศัพท์เรื่องแม่ของมันแล้ว ยังอยากจะได้ลูกมันมาเป็นผัวอยู่ไหม”
‘ยังอยากจะได้ลูกมันมาเป็นผัวอยู่ไหม’ ...เป็นคำถามที่เรณูถามตัวเองนับครั้งไม่ถ้วน...แต่สุดท้าย ความรัก ความหลง หรือเวรกรรมแต่ปางก่อน ทำให้เรณูที่ตัดใจจากเขาไม่ได้ เธอยังระริกระรี้ ดีดดิ้นเป็นปลากระดี่ได้น้ำ เมื่อเขากับเพื่อน ๆ มานั่งดื่มกินที่บาร์ หรือว่าตั้งใจบังเอิญไปพบเขาที่ตลาดสดในตอนเช้า...แล้วกลับมารำพึงรำพันถึง พี่ติ๋มหมั่นไส้จึงบอกว่า
“พี่ประนอม อาการคันของอีเรณู หนูว่าต้องให้ไอ้ใช้ มันเกาสักที ถึงจะหาย”
“หางตาเขายังไม่แลมัน แล้วเขาจะเกาให้มันรึ” ประนอมทับถม...แล้วคนอื่นๆ ก็หัวเราะกันครืน...
และเสียงหัวเราะเยาะเย้ยนั้น ทำให้เรณูต้องพูดไปว่า “ถ้าวันข้างหน้า หนูเอามันมาทำผัวหนูได้ พวกพี่ ๆ จะให้อะไรหนู”
“ฝันลม ๆ แล้ง ๆ อีกแล้ว อีเรณู...เมื่อไหร่มึงจะตื่นเสียที”
“หนูถามจริง ๆ”
“ถ้ามึงเอาไอ้ใช้มาทำผัวมึงได้ แม้เพียงคืนเดียว ครั้งเดียว ทีเดียว กูให้มึงร้อยหนึ่งเลย” พี่ประนอมผู้ป๊อบปูล่าในหมู่ทหารฝรั่ง คนใจป้ำ ‘หย่อนเหยื่อ’ มาก่อนใคร
ส่วนคนที่สอง ที่โยนเหยื่อก้อนโตกว่า คือพี่ติ๋ม
“แต่ถ้ามึงได้มันเป็นผัว แล้วมันพามึงเข้าบ้านไปเจอแม่มัน กูจะให้ทองคำมึงหนึ่งบาท...แล้วถ้ามึงอยู่บ้านมันได้พอปี กูจะปูผ้าขาวแล้วกราบมึงงาม ๆ สามที” นึกถึงคำพูดพี่ติ๋มแล้วเรณูก็คลำที่คอตัวเองที่มีทองเส้นนั้น คล้องอยู่...นอกจากมันจะทำให้เธอนึกถึงเพื่อน ๆ ที่ตาคลี มันก็ยังทำให้เธอนึกถึงคำว่า ‘โซ่ทองคล้องใจ’ นั่นก็คือลูกที่ถือกำเนิดขึ้นมา
แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะความรักความหลงจากแม่ของมันเพียงฝ่ายเดียว...แต่ เรณูเชื่อมั่นว่า ความดีที่ตนเองพอมีอยู่ น่าจะทำให้เขารักเธอได้บ้าง แม้ว่า ‘มนต์คาถา’ เสื่อมคลายไปแล้ว...
เช้าวันรุ่งขึ้น เรณูตื่นมาต้มข้าวต้ม คั่วถั่วลิสง เจียวไข่ไก่แล้วก็ ตำพริกหอมกระเทียมเผาเหยาะน้ำปลาแก้เลี่ยน ตั้งสำรับ ปลุกให้เขาลุกขึ้นมาล้างหน้า แล้วกินข้าว...ระหว่างที่นั่งกินข้าวเช้าอยู่ด้วยกัน เขาบอกกับเรณูว่า
“เดี๋ยววันนี้พี่จะพาหนูไปไหว้เจ้าที่ศาล แล้วจะพาไปดูบ้านหลังโรงสี”
“เมื่อวานตอนไปดูร้าน หนูไปไหว้ศาลเจ้ามาแล้ว...ขอพร ขอโชค ขอลาภ ขอให้ได้อยู่ที่ชุมแสงอย่างคนมีฐานะเรียบร้อยแล้วจ้ะ”
“เร็วจริง ๆ”
“ไปดูบ้านหลังโรงสีเลยก็ได้ ถ้ามันเก่า มันผุ พี่ก็ซ่อมแซมให้หนูซะก่อนพี่จะกลับ”
“มันไม่ได้ผุจนต้องซ่อมหรอก แต่มันเหม็นขี้หมู...แล้วมันก็ไกลจากแม่น้ำพอสมควร”
เรณูอยากจะยกมือกุมขมับให้เขาเห็น แต่หญิงสาวทำได้เพียงพูดว่า
“ลำบากแค่ไหนหนูก็จะรอพี่อยู่ที่นี่ ขออย่างเดียว พี่กลับเข้าค่ายไปแล้ว พี่อย่าออกมาเที่ยวที่บาร์อีกนะ...หนูไม่อยากใช้ผัวร่วมกับอีพวกนั้นให้มัน หัวเราะว่าหนูโง่”
“จะเอาเงินที่ไหนไปเที่ยวละ เงินเดือนพี่ ก็ให้หนูเก็บไว้จนหมดตัวแล้ว”
“ไม่รู้...พูดกันไว้ก่อน”
“พี่คงคิดถึงหนูแย่เลย”
พอเห็นสายตากรุ้มกริ่มของเขา เรณูก็ยิ้มเอียงอาย...หลังจากอิ่มข้าวล้างถ้วยจานคว่ำแล้ว...จากที่จะต้องไป โรงสีทันที...แรงดำฤษณาหรือจะเป็นเพราะแรงราคะตามประสาวัยหนุ่ม เรณูก็ไม่อาจเดาได้ ทำให้เขาชวนเรณูกลับเข้าห้องนอนทั้งที่พระอาทิตย์แผดแสงจ้า...
ฟาก พิไลหลังจากที่นอนครุ่นคิดมาทั้งคืน ระหว่างมื้ออาหารเช้าซึ่งเป็นข้าวต้ม กับบรรดาพวกผัดผัก ปลานึ่งซีอิ๊ว หญิงสาวก็เอ่ยขึ้นมาว่า
“เรื่องแต่งกับเฮียตง...หนูตกลง”
“ตกลงได้ก็ดี” เถ้าแก่ฮงยิ้มขึ้นมาได้...
“แต่หนูก็ต้องมีข้อแม้กับทางเขาข้อสองข้อนะเตี่ย นะแม่...ข้อแรก หนูขอทองหมั้นใหม่...ขอเท่าเดิมที่เฮียใช้ให้มา”
“ไอ้หยา” เถ้าแก่ฮงอุทาน เช่นเดียวกับนางพิกุลที่ชะงักตะเกียบค้างเพราะคิดไม่ถึงว่าพิไลจะมีลูกเล่น แบบนี้
“มันอาจจะดูมากไป จนเขาอาจจะไม่เล่นด้วย แต่เตี่ยกับแม่ ต้องคิดให้ดี ถึงหนูไม่แต่งกับเฮียตง ทอง ๑๐ บาทของเฮียใช้ มันก็เป็นของหนูอยู่แล้ว จดหมายถอนหมั้นก็มีเป็นหลักฐานว่าเขาเป็นคนผิดสัญญา...เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้หนูแต่งกับคนน้อง หนูต้องได้ทองอีก ๑๐ บาท...ถ้าให้ได้ หนูก็แต่ง ให้ไม่ได้ ลูกชายเพื่อนเตี่ยที่ยังเป็นโสดมีอยู่เยอะแยะ ใช่ไหมเตี่ย”
“ก็ถูกของอีนะ อาพิกุล ...ลื้อนี่มันฉลาดสมเป็นลูกเตี่ยจริง ๆ อาพิไล”
พิไลยิ้มเย็น...ส่วนนางพิกุลนั้นหน้านิ่วคิ้วขมวดเพราะกลัวทางนั้นจะหาว่า ‘เล่นแง่’ และ ‘เค็มเหมือนเกลือ’
“อีกข้อ ถ้าแต่งเข้าไปแล้ว หนูจะต้องมีศักดิ์ มีสิทธิ์เหมือนสะใภ้ใหญ่ทุกประการ กิจการร้านค้า ต้องตกทอดเป็นของเฮียตง.”
“มันจะมากไปไหม...บ้านเรือนในตรอกที่เป็นเรือนหอเขาก็จะยกให้ ให้แยกมากินมานอนเป็นสัดเป็นส่วน” นางพิกุลค้าน
“ถ้าให้หนูได้ตามที่หนูขอ หนูก็ตกลง ถ้าให้หนูไม่ได้...ลูกชายเพื่อนเตี่ยที่ยังเป็นโสดมีอยู่เยอะแยะ ใช่ไหมเตี่ย”
“อืม” เถ้าแก่ฮงรับคำอย่างงง ๆ ...
“แล้วที่สำคัญ แม่ เตี่ย หนูเข้าไปก่อน หนูมีความรู้ หนูมั่นใจว่า สติปัญญาที่หนูมีอยู่ จะทำให้กิจการของเขาเจริญรุ่งเรือง พอเขารวยขึ้นมาแล้ว คนมาทีหลัง มาชุบมือเปิบ มันจะยุติธรรมกับหนู กับลูกของหนูไหม”
******************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #3 on: 29 February 2020, 11:22:11 » |
|
ตอนที่ 4 : สาวจนยาก นามจันตา
๔ สาวจนยากผู้มีใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าที่ พระประสงค์มองเห็นชื่อ ‘จันตา’ หญิงสาวเป็นชาว ‘ไท-ยวน’ คนเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จันตามีหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา ผิวพรรณผุดผ่อง อากัปกิริยาสุภาพเรียบร้อย... หญิงสาวเพิ่งมาเป็นลูกจ้างอยู่ในร้านสังฆภัณฑ์ หลังจากที่พระประสงค์บวชได้ไม่กี่วัน...อาม่าแม่เจ้าของร้านเป็นคนใจบุญ ทุก ๆ เช้า จะต้องตื่นมาหุงข้าวทำกับข้าวใส่บาตรพระ...เมื่อออกบิณฑบาตพบอาม่าก็จะพบจัน ตานั่งหรือยืนอยู่กับอาม่า...
ทุก ๆ เช้า สายตาของพระภิกษุหนุ่มกับสีกาประสานกัน ไม่มีคำจำนรรจาใด ๆ ...พระประสงค์นั้นสำรวมระวังสายตาเป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นอาม่าก็ดูออกว่า พระกับสีกานั้นมีใจให้กัน บางวันอาม่ารู้สึกไม่สบายตัวก็จะให้จันตาตื่นมาหุงหาข้าวใส่บาตรตามลำพัง และถ้าวันไหนที่ฝนตกหนัก ๆ พระออกบิณฑบาตรไม่ได้อาม่าก็จะให้จันตา หิ้วปิ่นโตไปส่งข้าวถึงในวัด... พอหลังเที่ยงก็ให้จันตาตามไปเก็บปิ่นโตกลับ เมื่อทั้งสองเห็นกันบ่อย ๆ แม้จะมีโอกาสพูดคุยกันไม่กี่ครั้ง ไม่กี่คำ แต่ภาษาหัวใจ ที่ออกมาทางสายตานั้นมันมากเกินหมื่นคำอธิบาย...
พระประสงค์ที่นั่งอยู่บนไม้นั่งใต้ร่มโพธิ์โดยมีไม้กวาดทางมะพร้าววางอยู่บน ตักถอนหายใจอย่างแรง...เรื่องที่พี่ชายคนโตพาเมียฝีปากกล้าเข้าบ้านมาสร้าง ความผิดหวังให้แม่ กลายเป็นเรื่องโด่งดังเข้ามาถึงในวัด และที่ว่ากันว่า ปากคนนั้นยาวกว่าปากกา ก็เห็นเป็นจริง เพียงสองคืนเท่านั้น เรื่องที่แม่จะให้ท่านลาสิกขาไปแต่งกับคู่หมั้นของพี่ชายก็ดังไปทั่วตลาดชุม แสง
เมื่อเช้าระหว่างบิณฑบาตร ท่านเห็นใบหน้าเศร้าสร้อยของจันตาก็รู้สึกสงสารเป็นอย่างยิ่ง... ถ้าท่านปลอบจันตาได้ ท่านก็จะบอกว่า ‘ให้คิดเสียว่าเราไม่มีวาสนาต่อกัน’ แต่ว่าเมื่อท่านทบทวนประโยคนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ท่านก็เข้าใจบทกลอนจากนิราศอิเหนาของกวีเอกสุนทรภู่ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น...
‘จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ’
พอ อ่านจดหมายที่พิกุลฝากคนเรือนำมาให้จบ นางย้อยก็ถึงกับกัดฟันกรอด...แม้เนื้อจดหมายจะพูดว่า ยินดี ยินยอมทำความต้องการของนาง แต่ข้อเรียกร้องที่พิไลยื่นเสนอมานั้น มันมากเกินไป...
ทองหมั้นน้ำหนัก ๑๐ บาท ชุดใหม่... ส่วนของเดิมนั้นถือเป็นค่าทำขวัญ...
และ ในอนาคต ร้านค้าแห่งนี้จะต้องเป็นของประสงค์...ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สมบัติที่ปฐมพึงมีสิทธิ์ได้ตามธรรมเนียมนั้นจะต้องไปตกอยู่ในมือของ น้องชายคนรองเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของตน...
แม้จะเกลียดชังเรณู แต่ลึก ๆ แล้วนางย้อยก็รักลูกชายคนโตมากกว่าลูกคนไหน
...เขาเป็นรักแรกของนาง เขาทำให้ความยากลำบากตอนอยู่ทับกฤชเริ่มจาง
...เขาเหมือนแสงสว่างที่ยังความมืดมิดในครานั้นนั้นมลาย...เขาทำให้ใจของนางเข้มแข็งยิ่งขึ้น
...ถ้าไม่มีเขามาเพิ่มความหวัง นางอาจจะยอมแพ้ต่อความยากลำบาก หอบผ้ากลับหนองนมวัวไปแล้ว
ยามนั่งร้องไห้เพราะความคับแค้นใจที่โง่เง่า หลงเชื่อว่าความรักนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุข ก็ได้มือ น้อย ๆ ของปฐมเช็ดน้ำตาให้... ‘ม้าร้องไห้ทำไม ม้าเจ็บตรงไหน ใครทำม้าเจ็บ’ เสียงเล็ก ๆ ยังคงห่อหุ้มหัวใจอย่างไม่มีเสื่อมคลาย...
แล้วนี่นางกำลังจะทำร้ายผู้เป็นแก้วตาดวงใจของนางเสียเอง...นางจะมีหน้าไปพบ บรรพบุรุษของเจ๊กเซ้งได้อย่างไร...
ความคับแค้นใจ ทำให้ทำนบน้ำตาของนางย้อยพังทลาย...แต่พอเห็นบุญปลูกเดินมาหา นางย้อยก็รีบเช็ดน้ำตา แล้วเดินไปเข้าห้องน้ำที่หลังบ้าน...
เดินกลับมาแล้ว นางย้อยก็บอกกับบุญปลูกว่า “บอกไอ้ป้อมให้ไปตามเถ้าแก่ที่โรงสีให้หน่อย อั๊วมีเรื่องจะปรึกษา”
อึดใจใหญ่เถ้าแก่เซ้งคู่ทุกข์คู่ยากของนางย้อยก็เดินเข้ามาในร้าน เนื้อตัวนั้นยังคงมอมแมมเพราะทำงานหนักตั้งแต่เช้าจรดเย็น กลิ่นขี้หมูยังคงติดตัวอย่างที่นางย้อยคุ้นชิน แต่นางไม่เคยนึกรังเกียจเลยสักนิด แม้กาลเวลาจะทำให้รูปร่างหน้าตาของเขาจะเปลี่ยนไป แต่ความรักความห่วงใยที่มีให้กันไม่เคยเสื่อมคลาย... ความรัก ความซื่อสัตย์ ความดี และความขยันขันแข็งของเขาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ นางย้อยสู้ชีวิตในทุกวิถีทางจนมีวันนี้มาได้...
พอเห็นสามี นางย้อยก็ร้องไห้ออกมาอย่างไม่อาย...
“ลื้อเป็นอะไรรึอาย้อย...ใครทำอะไรลื้อ”
นางย้อยยังคงสะอึกสะอื้นไม่ตอบคำถามในทันที กระทั่งน้ำตานั้นไหลจนชุ่มโชก นางย้อยก็บอกว่า
“ฉันมีเรื่องจะปรึกษา” แล้วนางย้อยก็อ่านจดหมายของพิไลให้ฟัง...
“ถ้าฉันทำตามความต้องการของอี ฉันคงจะรู้สึกผิดไปจนวันตาย...ฉันจะเอาหน้าไปพบกับบรรพบุรุษของเฮียได้อย่าง ไร...เฮียเข้าใจฉันไหม”
“อั๊วเข้าใจ อั๊วเข้าใจลื้อ...อั๊วรู้ว่าลื้อน่ะรักตี๋ใหญ่มากกว่าลูกคนไหนๆ ...ตี๋ใหญ่มันว่านอนสอนง่าย เลี้ยงง่าย แล้วอยู่กับลื้อมาตั้งแต่ลื้อยังลำบากอยู่ทับกฤช”
คำว่า ‘ทับกฤช’ ทำให้น้ำตาของนางย้อยหยดลงมาอีก...
“อาย้อย แต่ว่าตี๋ใหญ่มันเลือกทางเดินของมันเอง...มันก็จะต้องได้รับผลกรรมของมัน...แล้วจะว่าไปแล้ว ร้านนี้ถ้าวันหนึ่งเรายกให้อาตงไป ก็ใช่ว่า สมบัติของเราจะหมดซะเมื่อไหร่ โรงสีเราก็ยังมี ทำเงินได้มากกว่าที่นี่เสียอีก”
“แต่ฉันรู้สึกเหมือนว่ากำลังถูกทางพิไลมันเอามีดมาจี้ชิงทรัพย์”
“รึลื้อจะปฏิเสธทางพิไลไป อั๊วว่ามันก็ไม่น่าเกลียดหรอกน่า เรียกร้องมากไปแบบนี้ เหมือนเขาก็ไม่อยากจะแต่งกับลูกของเรา”
“แต่อั๊วไปคุยกับทางแม่พิกุลเป็นมั่นเป็นเหมาะไปแล้ว อั๊วไม่อยากเสียคน...แล้วอีกอย่าง...ข้อดีของพิไลมันก็มีมาก”
“ถ้าอย่างนั้นลื้อก็ตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำอย่างไร ลื้อตัดสินใจอย่างไร อั๊วก็เคารพการตัดสินใจของลื้อ”
“เฮีย” นางย้อยเช็ดน้ำตาอีก...
“เอาน่า...สำหรับอั๊ว ความคิดของลื้อน้ะ ถูกต้องเสมอ”
เมื่อ เจ๊กเซ้งเห็นดีเห็นงาม นางย้อยก็ให้เขาเฝ้าร้านแทน...ร้านนี้ไม่เคยไว้ใจลูกจ้าง...ถ้าจะไปธุระไม่ ว่าใกล้หรือไกล ถ้าไม่เป็นเจ๊กเซ้งก็ต้องเป็นลูกชายคนใดคนหนึ่งที่ต้องเฝ้าเก๊ะเงิน เงินทุกบาททุกสตางค์หากจะต้องออกจากกระเป๋าจะต้องมีเหตุผลในการใช้เสมอ
เดินเข้าเขตวัดมาแล้ว นางย้อยก็สูดลมหายใจเข้าปอดเรียกความมั่นใจ...
เสียง เจ๊กเซ้งยังคงก้องอยู่ในหู “ให้อาตงสึกมาแต่งงานเสียได้ก็ดี บวชไปนาน ๆ ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร เอาเวลามาหาเงินหาทองเสียยังดีกว่า”
เรื่อง ของความเชื่อที่ขัดกันนั้น ไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับชีวิตคู่...ถึงคราวไหว้เจ้าเผากระดาษตามธรรมเนียม แม้จะไม่ค่อยเชื่อถือ แต่นางย้อยก็ทำตามคำสอนสั่งของนางลิ้มและนางซกเพ้งผู้เป็นแม่ผัวอย่างไม่อิด ออด...หากพอนางย้อยจะทำบุญสุนทานเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนโตบ้าง เจ๊กเซ้งก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด...ยกเว้นเรื่องที่ลูกชายคนรองหนีงานมา บวชเรื่องเดียวที่เจ๊กเซ้งออกปากว่า ‘ไม่มีประโยชน์’
พอเห็นโยมแม่เดินเข้าเขตวัด พระประสงค์ก็รีบลุกขึ้น คว้าจีวรมาห่มก่อนจะเดินให้พ้นจากกุฏิออกมารับหน้า ที่เก้าอี้ใต้ร่มไม้...
“พระ โยมมีเรื่องสำคัญจะปรึกษา” ทรุดตัวลงนั่งตรงกันข้ามแล้วนางย้อยก็เข้าเรื่องทันที...
พระ ประสงค์สังเกตเห็นว่าตาของแม่นั้นแดงช้ำเหมือนผ่านการร้องไห้ก่อนมาที่ นี่...ซึ่งเรื่องร้องไห้กับแม่นั้น ท่านแทบจะไม่เคยเห็น ท่านจึงถามว่า “มีอะไรรึโยม”
“อย่าหาว่าโยมเป็นมารเลยนะพระ...โยมอยากให้พระกลับไปอยู่บ้าน ในเร็ววันนี้” นั่นคือคำพูดที่นางย้อยคิดระหว่างเดินมาที่วัด...
“ขออยู่ต่ออีกสักพักไม่ได้รึ เกณฑ์ทหารก่อนไม่ได้รึโยม” นั่นคือคำพูดที่พระประสงค์เตรียมรอไว้เช่นกัน
เพราะถ้ายังอยู่ในผ้าเหลือง อย่างน้อยก็ยังประวิงเวลา ทำให้ทั้งตน และจันตานั้นได้ทำใจได้มากขึ้น... ถ้าโยมแม่มาเร่งรัดให้สึกภายในวันนี้ วันพรุ่งนี้...อีกไม่เท่าไหร่ งานแต่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...
ท่านยังไม่พร้อมจะแต่งงาน โดยเฉพาะกับคนที่ท่านไม่ได้รัก
“เอาตรง ๆ เลยแล้วกัน ทางพิไล เขาก็ใจร้อน เขาว่า ถ้ารอนานไปกว่านี้ เขาเกรงว่าจะมีปัญหาเหมือนคราวตั่วเฮีย”
พระประสงค์นิ่งเงียบ...
“ช้าหรือเร็วท่านก็ต้องสึก แล้วที่บวชมาแล้ว ก็ตั้งหลายเดือน...ตอนนี้ บอกตรง ๆ เลยว่า ทางบ้านยุ่งเป็นอย่างมาก ที่ร้านหาคนช่วยเปลี่ยนเฝ้าเก๊ะไม่ได้ จะให้อาซามาเฝ้าแทนม้าบ้าง เตี่ยอยู่ทางโรงสีก็วิ่งวุ่น ไอ้สี่ก็อ้างแต่ว่าเรียนยุ่งให้กลับมาช่วยกันบ้าง ก็ไม่ยอมกลับ...เห็นใจโยมเถอะนะ”
เมื่อจนด้วยเหตุผลที่โยมแม่ไม่เคยอ้าง...พระประสงค์จำต้องถามกลับไปว่า “แล้วโยมอยากให้พระสึกวันไหน”
“ก็ต้องไปถามหลวงพ่อก่อนว่าฤกษ์ดีวันไหน แต่ใจของโยมคือ อยากให้สึกออกมาอย่างเร็วที่สุด”
เห็นสภาพบ้านเพิงหมาแหงนที่หลังโรงสีแล้วเรณูก็ลอบถอนหายใจออกมา...หลังกลืน น้ำลายลงคอแทนการถ่มถุยไล่กลิ่นเหม็นของขี้หมู เรณูก็สูดลมหายใจเข้าปอดเรียกความเข้มแข็ง...เมื่อเลือกจะเปลี่ยนทางเดิน ชีวิตโดยให้ความรัก ความพอใจนำทาง เธอก็จะต้องสู้ให้มากกว่าตอนที่อยู่ตาคลี เพราะเดิมพันในครั้งนี้มันไม่ใช่แค่ ให้พี่ติ๋มปูผ้ากราบงามๆ สามที หรือเศษเงินพนันที่พวกเพื่อนๆ จะต้องยื่นให้...มันหมายถึงชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอ...เธอจะต้องเอาดีให้ได้ เธอจะต้องเปลี่ยนชีวิตให้ได้ และ ‘เขา’ จะต้องยอมรับเธอ อย่างที่มันควรจะเป็น!
“พออยู่ได้ไหม”
“ก็บอกกับพี่ใช้ไปแล้วว่า ถ้ามีพี่ อยู่ที่ไหน หนูก็อยู่ได้...พี่นั่นแหละ ปลดจากทหารมาแล้วจะอยู่ที่นี่ได้ไหม”
“แต่ก่อนช่วงหมูออกลูก ต้องคอยเฝ้าดูทั้งวันทั้งคืนนะ ถ้าไม่เฝ้า เดี๋ยวแม่มันนอนทับ... ถ้าปล่อยให้เตี่ยทำคนเดียวก็สงสารเตี่ย”
เรณูรู้สึกว่าเตี่ยของเขานั้นเป็นคนขยันขันแข็งและไม่ใช่คนพูดมาก...ตอนที่ เขาพาเธอมาแนะนำ หลังเธอยกมือไหว้ เตี่ยก็ยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับ ไม่แสดงอาการไม่พอใจที่เห็นเธอมาเป็นลูกสะใภ้แต่อย่างใด...ผิดกับแม่ของเขา อย่างสิ้นเชิง ทั้งที่เขาก็บอกให้เรณูรู้ว่า เตี่ยนั้นเชื่อฟังแม่เหมือนหนูกลัวแมว...
เรณูจึงอุ่นใจขึ้นมาหน่อยว่า อย่างน้อย ที่บ้านสวนหลังโรงสีนี้ ก็ยังมีเตี่ยของเขาให้ความคุ้มครอง...
ส่วนคนงานอีกสองครอบครัวนั้น มีกระท่อมแยกอยู่ห่างกันพอประมาณ...
สวน หลังโรงสีนั้นมากมายไปด้วยต้นมะม่วง ต้นกล้วย ไผ่...ส่วนผลไม้อื่น ๆ นั้น มีอย่างละประปราย หลังสำรวจข้าวของที่อยู่ในห้องเก็บ เรณูก็พบว่า ในห้องนั้นมี ข้าวของเครื่องใช้เยอะแยะมากมาย...
“เจ้าของโรงสีเดิม เมียเขาเคยทำขนมขาย”
“ขนมอะไร”
“สารพัดอย่าง ขนมขี้หนู ข้าวต้มมัด ขายตอนเช้าบ้าง ตอนเย็นบ้าง แล้วแต่อารมณ์เขา”
พอปฐมพูดจบ เรณูก็รู้สึกว่ามีแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์...ทำขนมขาย...ใช้เงินทุนไม่ มาก อุปกรณ์ทำขนมมี กระจาดมี กระด้งมี สาแหรกมี ไม้คานมี สรุปว่ามีหาบแม้จะเก่าคร่ำคร่าก็ตามที วัตถุดิบในสวนพอมี...เธอจะต้องทำขนมขาย...เธอจะต้องทำให้แม่ผัวของเธอเห็น ว่า เธอก็มีเลือดนักสู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร
หลังเก็บกวาดเช็ดถูห้องพักที่มีเตียงทำไม้ยกพื้นเรียบ ๆ และตู้ใส่มุ้ง หนอนเก่า จนเอี่ยมสะอาด...เรณูก็เปรยให้ปฐมฟังว่า
“ตอนที่พี่กลับเข้าค่าย ถ้าหนูจะทำขนมขาย พี่ว่าอะไรไหม”
“หือ” สีหน้าเขาเต็มไปด้วยความประหลาดใจ...
“หนูยังไม่ได้เล่าให้พี่ฟังว่า ตอนหนูเด็ก ๆ แม่หนูทำขนมขายตามตลาดนัดแถว ๆ บ้านด้วยนะ แม่ทำพวกตะโก้ วุ้น เปียกปูน ขนมถ้วย ทำได้เกือบทุกอย่าง หนูช่วยแม่ทำแล้วก็หาบไปขายกับแกด้วย”
เรณูไม่ได้เล่าให้ปฐมฟังว่า ตลาดนัดที่วัดทับกฤช เธอก็เคยไปนั่งขาย...ที่นั่นเธอถึงได้เห็น ‘คุณหนูพิไล’ ลูก สาวเถ้าแก่ฮง คู่หมั้นของเขา...เรณูยังจำได้ดีถึงใบหน้าที่เชิดขึ้นมองคนด้วยหางตา ดูไว้ตัว...ตอนนั้นเธอเพิ่งเรียนจบชั้นประถม...เพิ่งจะแตกเนื้อสาว ขี้ไคลยังไม่หมดคอ...แต่คุณหนูพิไลนั้นงามระหง ใส่เสื้อผ้าสวยงามดูเป็นสาว ทั้งที่อายุเพิ่งจะสิบขวบ
... นึกถึงอดีตแล้ว ริมฝีปากของเรณูก็คลี่ออก ตอนนั้นใครจะรู้บ้างว่า วันนี้เธอจะมาแย่งคู่หมั้นของคุณหนูคนสวยมาครอบครอง ใครจะรู้ว่าจะต้องมาเป็นคู่สะใภ้กัน และในอนาคตเรณูก็มั่นใจว่า เธอกับพิไลนั้นจะต้องมีเรื่องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันอยู่อีกหลายเรื่องแน่ นอน!
จันตานั่งเหม่อลอยหลังจากรู้ข่าวว่า อีกไม่กี่วันพระประสงค์จะสึกแล้วไปแต่งงานกับคู่หมั้นของพี่ชายตนเอง...อา ม่าที่นั่งอยู่บนเก้าอี้โยกพลางฟังข่าวทางวิทยุ...กระแอม แล้วบอกว่า
“อาจันตา คิดซิว่า เราไม่ใช่เนื้อคู่กัน แล้วคนดี ๆ อย่างลื้อน่ะ เดี๋ยวก็มีคนมาเห็นคุณค่าเอง...ให้ลื้อรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีเถอะ”
จันตาหันมายิ้มให้อาม่าแล้วหันหลังกลับ นั่งถัดถูพื้นเรือนต่อ...
“แต่อาม่าคิดว่าก็เป็นเรื่องดีนะ ที่ความรักของลื้อกับพระตงไม่สมหวัง”
“หนูยังไม่ได้บอกอาม่าเลยว่าหนูรักกับพระ” จันตารีบแก้ต่างให้ตัวเอง
“อั๊วดูออกหรอกน่า...อั๊วแก่ปูนนี้แล้ว เห็นรัก เห็นเกลียด เห็นเลิก เห็นลาจาก มาเยอะแยะ”
“แล้วที่อาม่าบอกว่า ดีแล้ว มันดีอย่างไง”
“บอบบางอย่างลื้อ ไม่ทันแม่ผัวอย่างอาย้อยหรอก...ลื้อแต่งเข้าไป ลื้อก็จะไปเป็นสะใภ้ทาส ให้เขาโขกสับจิกหัวใช้อยู่แต่หลังร้าน ทำแต่งานบ้าน แล้วใช้เศษเงินที่เขาปันมาให้นิด ๆ หน่อย ๆ ...อย่างลื้อ อาม่าว่ามองพวกข้าราชการดีกว่า”
“ทำไมต้องเป็นพวกข้าราชการ”
“ลื้อมันเหมือนดอกกล้วยไม้ ใครเห็นก็รู้สึกสดชื่น สบายตา ลื้อสวยมากนะอาจันตา เหมาะที่จะพาไปอวดโฉมให้คนอื่นเห็น”
ฟังอาม่าแล้วจันตาก็หันหลังกลับไปถูพื้นต่อ โดยอาม่าไม่เห็นหรอกว่า ผ้าขี้ริ้วในมือของจันตานั้น ถูหยดน้ำตาของตนที่หยดลงมาด้วย...
จันตามาอยู่ที่นี่ในฐานะ คนทำงานบ้าน และดูแลอาม่าโดยเฉพาะ หญิงสาวไม่ได้เข้าไปวุ่นวายอยู่หน้าร้านเหมือนลูกจ้างคนอื่น จันตานั้นกินนอนอยู่ประจำ ได้เงินเดือนไม่มาก ดีแต่ว่าเจอนายจ้างดี และที่นี่ก็ไม่มีลูกชายของนายจ้างมากวนใจเหมือนตอนอยู่ที่อุตรดิตถ์...
บ้านของจันตามีอาชีพทำไร่ ทำนา หลังทำนาก็จะปลูกหอมแดง พ่อแม่ของจันตามีลูกหลายคน จันตาเป็นคนที่สาม จันตาสู้งานหนักในไร่ในนาไม่เก่งเท่าพี่เท่าน้อง หญิงสาวจะเป็นลม มีผืนขึ้นผิวหนังเมื่อต้องทำงานกลางแดด จันตาถนัดงานทอผ้า ถักไม้กวาด ทำน้ำตาลน้ำอ้อย ทำอาหารได้อร่อย...แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความยากจนนั้นบรรเทาลงไป ได้...ความสวยของ จันตาทำให้ผู้ใหญ่บ้านมาขอพ่อ ส่งจันตาเข้าประกวดเทพีฤดูหนาวที่สนามหน้าโรงเรียนเทศบาลศรีพนมมาศพิทยากร...
จันตาอิด ๆ ออด ๆ เพราะรู้สึกเขินอายตามประสาคนอ่อนต่อโลก สุดท้ายเมื่อใคร ๆ ก็เห็นดีเห็นงาม จันตาจึงยอมขึ้นเวที
ปีนั้นจันตาได้ตำแหน่งเทพีฤดูหนาวมาครอง ความงามที่เคยซ่อนเร้นอยู่แต่ในบ้าน ในไร่ ในป่าก็มีคนมาเห็น...
และความงามนั้นก็นำมาซึ่งความเจ็บปวดอย่างที่จันตาไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะ ต้องพบเจอ...
เขาเป็นนายทหาร หน้าตาคมคาย เขาเพิ่งย้ายมาอยู่ในค่ายทหารปืนใหญ่...เขาเห็นจันตาแล้วบอกกับจันตาว่า เขาตกหลุมรักผู้หญิงที่สวยที่สุดในเมืองลับแลเสียแล้ว เขามีรถเก๋งเป็นพาหนะคู่ใจ จึงเทียวไล้เที่ยวขื่อแวะมาหาที่บ้าน
... ตอนนั้น โลกทั้งใบของจันตาเป็นสีชมพู...และรถเก๋งคันนั้นก็พาจันตานั่งชูคอออกจาก บ้านไปไหนมาไหนกับเขาเพียงสองคนตามประสาคนรักกันอยู่บ่อยครั้ง โดยที่พ่อแม่ ญาติพี่น้องก็ไว้เนื้อเชื่อใจ เขาซึ่งเป็นชายชาติทหาร เขาพาจันตาไปดูหนัง ไปซื้อผ้าตัดเสื้อ ไปกินอาหารนอกบ้าน กระทั่งวันหนึ่ง ความรักสุกงอมได้ที่ เขาพาจันตาเข้าโรงแรม...
หลังจากนั้นจันตาก็รู้สึกว่าเขาเปลี่ยนไป...จากที่เคยมาหาวันเว้นวัน เขาเริ่มอ้างงาน จนกระทั่งเขาหายไปเป็นเดือน จันตาให้พ่อพาไปหาเขาถึงในค่าย...ที่นั่นจันตาพบว่า เขามีเมีย มีลูกชายหญิงอย่างละคน...ซึ่งเมียของเขารับราชการอยู่ที่จังหวัดบ้านเกิดของเขา
ตอนนั้นโลกทั้งใบถล่มลงมา ความหวังที่จะได้เป็นคุณนายนายทหาร ยกระดับชีวิตพังครืน...แต่ที่โหดร้ายหนักกว่านั้นคือ จันตาตั้งท้อง พอเขารู้เรื่อง เขาก็บอกว่า “ทางเดียวที่จะช่วยได้ คือให้เงิน ไปทำแท้ง”
พ่อรับเงินของเขามาแล้ว ก็บังคับจันตาไปทำแท้งตามความต้องการของเขา หลังจากนั้นก็ให้จันตาหนีอายมาทำงานอยู่ที่ตลาดอุตรดิตถ์ ความงามของจันตานั้นนำความยุ่งยากมาสู่จันตาอีกครั้ง เมื่ออาเฮียลูกชายเจ้าของร้านซึ่งมีเมียอยู่แล้วพยายามเข้าหา...ดีแต่ว่าอาซ้อมาเห็นซะก่อน แต่ถึงกระนั้น อาซ้อก็กล่าวหาจันตาว่าให้ท่าอาเฮีย... อาซ้อให้จันตาย้ายไปทำงานอยู่ที่บ้านของญาติคนหนึ่ง จนกระทั่งอาม่าจากชุมแสงไปเยี่ยมญาติคนนั้น...บุญกุศลที่จันตาทำไว้แต่ชาติ ปางไหน จันตาก็ไม่อาจเดาได้ ทำให้ความทุกข์ของจันตาคลายลงไปได้มาก
อา ม่าเป็นคนจิตใจดี มีปิยะวาจา ผิดกับหญิงชราชาวจีนที่จันตาเคยพบเห็น อาม่าเข้าวัดทำบุญ ใส่บาตรทุกวัน ทำให้พลอยได้บุญ อุทิศบุญให้เลือดเนื้อที่ตนได้ทำลายทิ้งไปด้วยความไม่ได้ตั้งใจ...ความเจ็บ ปวดคราวนั้นจันตาไม่เคยลืมเลือน มันไม่ได้เจ็บแค่กาย แต่มันเจ็บร้าวไปทั้งหัวใจ...
จันตาสาบานกับตนเองว่า จะไม่เผลอใจไปรักใครและไว้เนื้อเชื่อใจผู้ชายหน้าไหนง่าย ๆ อีก...
กระทั่ง ได้เจอกับพระประสงค์ซึ่งดูดีมีสง่าราศีเพราะบุญผ้าเหลืองจับ แต่ถึงกระนั้นจันตาก็บอกกับตัวเองว่า จะปล่อยใจให้เขาไปอย่างง่าย ๆ ไม่ได้ แต่พอได้เห็นกันทุกวัน จันตาก็เริ่มหวั่นไหว แต่ผ้าเหลืองที่ขวางกั้นอยู่มันก็ยากที่เขาจะเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ แต่จันตาก็รู้ว่ามีความเสน่หาจนล้นหัวใจของพระ
กระทั่ง มีข่าวลือว่า เขาจะต้องสึกแล้วไปแต่งงานกับคู่หมั้นของพี่ชายที่พาเมียตั้งท้องอ่อน ๆ เข้ามาอยู่ในบ้าน จันตายอมรับกับตัวเองว่ารู้สึกเจ็บแปลบกับใจที่วูบวาบไปความรัก แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร
ความ สวย ความสาวและวัยของจันตา ก็คงจะทำให้มีโอกาสเจอคนดี ๆ อย่างที่อาม่าบอกไว้...ส่วนจะเป็นใครนั้น จันตาก็ได้แต่ภาวนาระหว่างทำบุญสวดมนต์กับอาม่าว่าขอให้พบเจอ คนเป็นโสด คนดี และคนที่รักเธอจริง ๆ ส่วนอดีตของเธอที่อุตรดิตถ์นั้น จันตาสัญญากับตัวเองว่าจะไม่เผลอเล่าให้ใครล่วงรู้แล้วหัวเราะเยาะอย่างเด็ด ขาด!
ประสงค์ เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบอยู่เงียบ ๆ เขาอ่านหนังสือได้ทุกประเภท เขาเป็นคนช่างคิดช่างฝัน ดังนั้นตอนที่เขาบวชอยู่วัด เขาจึงไม่ ย่อท้อต่อการอ่านพระไตรปิฎกหรือท่องหนังสือสวดมนต์...
ถ้าไม่พบจันตา เขาก็รู้สึกว่าบวชแล้วจิตใจสงบดี เห็นหนทางพ้นทุกข์...แต่พอจันตาเข้ามาในครองจักษุ...ประสงค์ก็ระลึกรู้ซึ้งกับคำว่า ‘มารผจญ’ ทำให้ใจจิตใจ ทำให้ผ้าเหลืองร้อนรุ่มนั้นเป็นเช่นไร...
แผนชีวิตถูกกำหนดขึ้นภายในใจ...ว่าหลังคัดเลือกทหารแล้ว หลังจากที่ปฐมแต่งงานกับพิไล เขาจะให้แม่ไปสู่ขอจันตาให้กับเขาบ้าง แต่คำกล่าวที่ว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน หรือที่เรียกว่า ‘อนิจจัง’ นั้นก็ยังเห็นเป็นจริง...
หลังจากที่รู้ว่าจะต้องตัดใจจากจันตาเพื่อเข้าพิธีแต่งงานกับพิไล ประสงค์ที่ลาสิกขากลับมาอยู่บ้าน ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ...หลับตาทีไรก็เห็นแต่ภาพดวงหน้างดงามนั้นเศร้าสร้อย เพราะมีเขาเป็นต้นเหตุ...
เพื่อให้ความรู้สึกผิดบาปในใจนั้นคลาย ระคนกับบังคับ ‘ความคิดถึง’ ไม่ให้บังเกิดในดวงจิตไม่ได้ พอได้จังหวะ เขาจึงบอกกับบุญปลูกว่า จะออกไปร้านหนังสือที่อยู่อีกซอย
ประสงค์ เดินมาหยุดที่หน้าร้านสังฆภัณฑ์ ซึ่งอยู่คนละซอยกับบ้านของเขา...สอดสายตาเข้าไปในร้าน เด็กในร้านเดินออกมารับหน้า...ประสงค์ไม่อ้อมค้อม...
“จันตาอยู่ไหม”
“อยู่หลังบ้าน อาเฮียมีอะไรกับเขารึ”
“ขอพบเขาหน่อย ตามเขามาหาเฮียหน่อย”
เด็ก สาวหายไปอึดใจ จันตาที่อยู่ในชุดผ้านุ่งสีชมพูเสื้อสีลูกไม้สีขาวก็เดินออกมา...หญิงสาว ยิ้มน้อย ๆ เมื่อเห็นหน้าเขา...สายตามีคำถามว่า เขามีธุระอะไรกับตน...
“จันตา” เป็นครั้งแรกที่ประสงค์มีโอกาสมองจันตาจนเต็ม ๆ ตา ส่วนจันตานั้นพยายามหลบสายตาของเขาเช่นเดิม เพราะถึงสบตาของเขาไป อนาคตมันก็ยากจะเปลี่ยน สู้ทำให้เขาเห็นว่า เธอยังอยู่ดีมีสุข และไม่ได้เจ็บปวดกับการที่เขาจะแต่งงานเสียดีกว่า
“คือ...เฮีย เอ่อ”
“เฮียจะแต่งงานเมื่อไหร่” จันตาเป็นฝ่ายทำลายความกระอักกระอ่วนใจของเขา
“จันตา คือ...เฮีย”
“ดีใจด้วยนะ สึกปุ๊บก็แต่งงานเลย จะเข้าไปคุยกับอาม่าไหม...เมื่อกี้อาม่ายังบ่นถึงอยู่เลย” จันตาพูดยืดยาวและดูเป็นกันเอง ดูเป็นน้องเป็นพี่...ประสงค์ส่ายหน้าเบา ๆ ...ยังไม่ทันที่เขาจะคิดทำอะไรต่อ...เสียงกระดิ่งจักรยานก็ดังขึ้น... ประสงค์หันไปทางต้นเสียง ก็พบกมลเป็นคนทำให้เสียงกระดิ่งนั้นดัง...
“มาทำอะไรแถวนี้เฮีย” เขาเบรกจนล้อมีเสียงดังเอี๊ยด...
“เอ่อ”
กมลหันไปมองหญิงสาวที่ยืนอยู่กับพี่ชาย...พอเดาออกว่า พี่ชายคงจะมาหาสาวงามที่หนุ่มชุมแสงเอาไปร่ำลือว่าสวยบาดจิตบาดใจ...
“ลื้อจะไปไหน มาทำอะไรแถวนี้”
“ออกมาหาก๋วยเตี๋ยวกิน...ไปกินด้วยกันไหม”
“ดีเหมือนกัน”
“งั้นซ้อนท้าย...เร็ว หิวไส้จะขาดแล้ว”
“ร้านหัวมุมนั้นใช่ไหม เดี๋ยวเดินตามไป...ไปก่อนเลย”
กมลยิ้มให้หญิงสาวที่พอรู้อยู่บ้างว่า ชื่ออะไร มาจากจังหวัดไหน แต่เขาก็ไม่ได้สนใจจะจีบ...เพราะตัวเขาเองยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้เกณฑ์ทหาร มีคนรักไปตอนนี้ ก็เสียเวลาเปล่า...สู้ทำงานช่วยเตี่ยช่วยแม่ไปก่อนดีกว่า
และที่สำคัญเขารู้ว่า แม่ไม่มีทางให้เขา มองผู้หญิงที่มีฐานะต่ำต้อยเป็นแค่เด็กในร้านอย่างแน่นอน...
แต่ว่าเจ้าหล่อน ก็สวยสมคำร่ำลือจริง ๆ ... กมลเคลื่อนรถจักรยานออกไปแล้ว ประสงค์ก็หันมาถามจันตาว่า “ออกไปกินก๋วยเตี๋ยวด้วยกันได้ไหม”
จันตาส่ายหน้าเบา ๆ ...
“ถ้าซื้อเอามาให้ละ ก๋วยเตี๋ยวแห้งใส่ห่อ หรือเป็นขนม จะรับได้ไหม”
“อย่าดีกว่า อยู่ที่นี่มีของกินเยอะแยะ แล้วอีกอย่าง เฮียกำลังจะแต่งงาน เฮียเข้าใจที่ฉันพูดนะ”
“พอเข้าใจ”
“ฉันขอตัวก่อนนะ...ทิ้งอาม่าไว้คนเดียว ไม่ดี” ว่าแล้วจันตาก็เดินกลับเข้าหลังร้านไป ประสงค์มองตามไปแล้วถอนหายใจออกมา เรื่องหัวใจของเขากับจันตาก็เป็นอันสรุปว่า ‘เราไม่มีวาสนาต่อกัน’
ประสงค์กลืนเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ลงคอ...ผิดกับกมลที่ต่อชามที่สามไปแล้วและมี แนวโน้มว่าจะต่ออีกชาม...ประสงค์เหล่ตามองน้องชายคนรองจากตนแล้วส่ายหน้าเบา ๆ
“เฮีย ถามอะไรหน่อย...เฮีย ชอบ แม่ดอกเอื้องเหนือคนนั้นเหรอ”
“ก็น่ารักดี”
“ถ้าไม่ได้ถูกบังคับแต่งกับเจ๊พิไลนี่กะว่าจะเอาจริงใช่ป่ะ”
ประสงค์ถอนหายใจอย่างแรงแล้วก็ยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม...เขาบอกกับกมลว่าขอตัวไป ดูหนังสือก่อน ว่าแล้วเขาก็ลุกขึ้นแล้วเดินข้ามถนนไป...กมลมองตามพี่ชาย...เบนสายตาไปที่ ร้านข้าวเม่าทอด...หลังจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวเขาก็เดินไปนั่นทันที
“น้ำมันบัวหมดยั้งป้า”
“แหม จ้องแต่จะขายของของตัวเอง ไม่คิดจะช่วยป้าซื้อบ้างเลยเหรอ”
“เย็นแล้ว ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งปะละ...ถ้าให้ได้ เอาแพนึง” หนึ่งแพมีสามลูก...มีแป้งเทินอยู่ข้างบน...
“แถมให้ลูกนึงแล้วกันนะ...ช่วย ๆ กันไป”
ระหว่างแม่ค้าจัดข้าวเม่าใส่กระทง กมลก็หยิบเศษแป้งมา กัด กรุบ ๆ ...
“นี่ ถามอะไรหน่อยซิ...ศึกในบ้านเป็นอย่างไรบ้าง ไปถึงไหนแล้ว”
“มีอะไรที่ป้าจะยังไม่รู้อีกรึ...จริง ๆ ผมต้องถามป้ามากกว่า เรื่องในบ้านผมน่ะ ไปถึงไหนแล้วมากกว่า” น้ำเสียงทีเล่นทีจริงทำให้ คู่สนทนาต้องค้อนให้ “แหม คารมพ่อก็เนอะ”
“แถมให้ผมอีกลูกนะ ผมจะบอกป้าให้หมดเลยว่าที่บ้านของผมมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง”
นางแม่ค้ารีบหยิบกล้วยอีกลูกใส่กระทงให้ แต่ถึงกระนั้นกมลก็ยังไม่ยอมจ่ายเงิน เขาก็ยังคงคว้าเศษแป้งเคี้ยวเล่นหน้าตาเฉย กระทั่งนางแม่ค้าส่งสายตาวาว เขาก็เลยยิ้มแล้วบอกว่า
“ซ้อใหญ่ไปอยู่บ้านหลังโรงสี ช่วยคุมคนงานเลี้ยงหมู ซ้อรองกำลังจะแต่งเข้าบ้าน มีเรือนในตรอกเป็นเรือนหอ ตั่วเฮียกลับเข้าค่ายไปแล้ว เฮียรองก็สึกมาช่วยม้าอยู่ที่ร้าน ผมก็ช่วยเตี่ยอยู่ที่โรงสี ทำงานหนักแทบไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวัน ไม่ได้ไปเที่ยวจีบสาวที่ไหนได้เลย... ส่วนอาสี่ก็เรียนอยู่ที่ปากน้ำโพ ก็มีแค่นี้”
“แล้วซ้อคนสวยนั่นอีทนเลี้ยงหมูได้รึ แต่งตัวสวยเสียขนาดนั้น เล็บมืองี้ทั้งยาวแล้วก็ทาสีแดงซะน่ากลัว”
“ทนได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ อีเป็นคนสะอาดเกินคน สะอาดจนเตี่ยตะลึง”
“สะอาดอย่างไร”
“ก็พออีย้ายไปอยู่ที่บ้านหลังโรงสี อีก็เก็บกวาดจัดวางของใช้ที่กองสุม ๆ ไว้จนเป็นระเบียบเรียบร้อย หญ้ารอบ ๆ บ้านอีดายเกลี้ยง น้ำเต็มโอ่งทุกโอ่ง...เสื้อผ้าชุดทำงานของเตี่ย ของอั๊ว อีก็เก็บมาซักให้หมด...นึกไม่ถึงจริง ๆ ว่าอีจะเป็นคนแบบนี้”
“ตอนแรกป้าก็นึกว่าจะสวยแต่รูป ไม่น่ากลับตาลปัตรไปได้เนอะ...แล้วนี่ แม่ย้อยไม่นึกเอ็นดูขึ้นมาบ้างรึ”
“ไม่รู้เหมือนกัน ช่วงนี้ยังยุ่ง ๆ เตรียมงานแต่งเฮียตง ก็เลยไม่มีเวลามาสนใจใคร...แต่หมดเรื่องยุ่ง ๆ แล้ว บางที บ้านแบ้ของผมอาจจะมีเรื่องให้ป้าเก็บมาคุยกันเล่นอีกก็ได้...ป้าอดใจรออีก นิดนะ”
*******
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #4 on: 29 February 2020, 13:00:26 » |
|
ตอนที่ 5 : ตะโก้เผือก
๕
พอเห็นจานใส่ห่อขนมจำนวนสิบห่อวางอยู่บนโต๊ะบัญชี นางย้อยที่เดินออกมาจากในครัวหลังบ้านก็ถามบุญปลูกว่า
“ขนมอะไร ใครเอามาวางตรงนี้”
“เฮียซาเอามา บอกว่า เอามาให้เถ้าแก่เนี้ยชิม”
“แล้ว มันไปไหนแล้ว” ปกติแล้วกมลและเจ๊กเซ้งจะกลับมานอนที่ชั้นบนของร้านนี้...นอกเสียจากช่วงหมู ออกลูกก็จะต้องผลัดกันไปนอนเฝ้าระวังไม่ให้แม่หมูนอนทับลูกหมู เพราะไม่ไว้ใจคนงาน...พอเช้ามา หลังจากไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงที่ร้านกาแฟตรงตลาดสด เจ๊กเซ้งก็รีบไปที่โรงสี ส่วนกมลนั้นจะตื่นสายหน่อย เขาจะไปโรงสีพร้อมปิ่นโตใส่ข้าวเช้า ข้าวกลางวันของเตี่ยและของเขา ส่วนประสงค์ที่กำลังจะเป็นเจ้าบ่าวในอีกไม่ กี่วันข้างหน้า นางย้อยให้เฝ้าหน้าร้านเพราะตนเองนั้นยังวุ่นวายกับการเตรียมของใช้ในงาน แต่ง
“ขี่จักรยานกลับโรงสีไปแล้วจ้ะ”
นาง ย้อยทรุดตัวลงนั่ง หยิบห่อขนมมาดึงไม้กลัดออก...พบว่าเป็นตะโก้เผือกหน้ากะทิมันย่องชวนให้ น้ำลายไหล...บุญปลูกที่สังเกตการณ์อยู่ใกล้ ๆ รีบบอกว่าจะไปเอาช้อนมาให้ พอได้ช้อนแล้วนางย้อยก็ค่อย ๆ ละเลียดขนมหวานเข้าปาก...กระทั่งหมดไปสามห่อ
”รสชาติใช้ได้กลมกล่อมดี อาซามันซื้อของใครมา”
บุญปลูกส่ายหน้า...ก่อนจะรับส่วนที่เหลือไปแบ่งปันให้ประสงค์ กับ ป้อม...
วัน ถัดมา ช่วงสาย ๆ บนโต๊ะบัญชีมีขนมเปียกปูนใบเตยโรยมะพร้าวทึนทึกขูดอยู่อีกสิบห่อ...นางย้อย นิ่วหน้า...บุญปลูกบอกว่า กมลนำมาและก็กลับไปแล้ว หลังชิมนางย้ายก็รู้สึกว่าอร่อยถูกปาก จึงจัดการหมดไปสามห่อ...
วันนั้นอึดใจใหญ่ ๆ ที่หน้าร้านก็ปรากฏร่างของแม่ค้าขายขนมข้าวเม่าทอด...นางถือหม้อมาแบ่งซื้อ ‘น้ำมันบัว’ สำหรับ ทอดขนม ๓ กิโลกรัม ระหว่างรอบุญปลูกเทน้ำมันจากปี๊บชั่งกิโลให้ นางก็เดินมาจ่ายเงินที่โต๊ะ นางย้อย ...พอเห็นห่อขนม นางก็พูดว่า
“ขนมของแม่เรณูรสชาติใช้ได้เลยเนอะ”
“อะไรนะ!” นางย้อยถามเสียงเข้ม สีหน้าเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
“ขนมของแม่เรณู รสชาติถูกปากไหม” ใบหน้าคนถามนั้นยังแช่มชื่น
“ขนมแม่เรณู” นางย้อยชักสีหน้าว่าไม่เชื่อหูตัวเอง
“ใช่ขนมเปียกปูนใบเตยหรือเปล่าละ...ฉันว่าฉันจำสีใบตองจำความยาวของไม้กลัดได้”
“ใช่...แล้ว อะไร อย่างไง ฉันงง”
“อะไร อย่างไง งงอะไร ฉันก็งงเหมือนกัน”
“คือ ลื้อรู้ได้ไง ว่านี่เป็นขนมของแม่เรณู...เอ๊ย อีเรณู”
“ก็เมื่อเช้า แม่เรณู เขามาเอาเดินแจกให้ชิมจนทั่วตลาด”
“แจกให้ชิม” นางย้อยไม่อยากจะเชื่อหูตัวเอง
“ก็เขาอยากให้คนกิน ติชม กันก่อนจะทำขาย เห็นว่าอย่างนั้น...แม่ย้อยไม่รู้หรือไง”
ทีนี้เอง อารมณ์ของนางย้อยก็พลุ่งพล่านขึ้นมา...เพราะมันไม่ใช่แค่เรณูที่ ‘ลูบคม’ แต่มันรวมถึงคนของนางที่อยู่ทางโรงสีนั้นด้วย... นางย้อยเชิดหน้าขึ้นแล้วถามว่า
“เอาแค่น้ำมันบัวใช่ไหม แป้ง น้ำตาล เอาอีกรึเปล่า”
“ยังหรอก ยังมีอยู่ เอาแค่น้ำมัน”
นางย้อยรีบบอกจำนวนเงิน นางแม่ค้าข้าวเม่าส่งแบงก์สิบมาให้ นาง ย้อยหยิบเงินทอน แล้วก็เปิดสมุดบัญชีเหมือนว่ามีงานต้องสะสางอย่างเร่งด่วน...พอนางแม่ค้าฯ เดินกลับไป นางย้อยก็เรียกหาบุญปลูกที่หลบไปจัดของช่วยลูกค้าอยู่กับประสงค์ที่หน้า ร้าน
”อีปลูก มึงมาเอาขนมที่เหลือนี่ไปทิ้งให้หมามันแดกให้หมด”
บุญปลูกทำหน้าแหย ๆ ปนรู้สึกเสียดาย
“แต่ถ้ามึงจะแดกแทนหมาก็เรื่องของมึงนะ ...อาตง ๆ ลื้อมาเฝ้าเก๊ะซิ ม้าจะไปโรงสีหน่อย”
หลังนางย้อยเดินลับตาไปแล้ว บุญปลูกกับป้อม มองขนมในจานด้วยสีหน้าว่า จะแดกแทนหมาดีไหม?
พอ เห็นแม่กางร่มเดินฉับ ๆ มาแต่ไกล กมลก็บอกกับคนงานว่า “ถ้าม้าถามถึง ก็บอกว่า อั๊วไปไหนไม่รู้นะ” ว่าแล้วเขาก็ผละไปซ่อนตัว...
นางย้อยเดินมาถึงก็กวาดตามองหาลูกชาย แต่ก็หาไม่เจอ...แต่นางเห็นว่าจักรยานคู่ใจนั้นจอดอยู่...ส่วนตาผัว นางย้อยเดาว่า คงอยู่ที่เล้าหมูเพราะเมื่อคืนเขาบอกว่า หมูท้องแก่จะออกลูก...
“ไอ้ซามันหายหัวไปไหน”
คนที่อยู่ตรงนั้นมองหน้ากัน เป็นบื้อเป็นใบ้
“กูถามว่าไอ้ซามันหายหัวไหน ทำไมไม่มีใครตอบ...”
“อาซา...เอ่อ...ไปไหนวะ”
“ไม่รู้เหมือนกัน เมื่อกี้ยังเห็นอยู่เลย...ไปไหนเสียแล้วละ”
“ไอ้ซา! ไอ้ซา! ไอ้ซา” นางย้อยตะโกนแข่งกับเสียงเครื่องจักร...แต่ว่าก็ไร้เงาของลูกชาย นางถอนหายใจอย่างแรง...แล้วก็เดินฉับ ๆ ไปทางหลังโรงสี...ไปถึงเรือนพักที่ให้ลูกชายคนโตพาเมียมาอยู่ก็เห็นว่าเงียบ เชียบ...แต่ที่สะดุดตานางย้อยคือ บริเวณนั้น ตั้งแต่ทางเดินไปจนถึงตัวเรือนทรงเพิงหมาแหงนยกพื้นสูงแค่เอว กั้นห้องไว้สาม สี่ห้องนั้นเอี่ยมโล่งดูสบายตา...
ข้าวของที่เคยระเกะระกะที่ใต้ถุนเตี้ย ๆ นั้นก็ถูกจัดวางเป็นระเบียบ พื้นใต้ถุนปราศจากเศษใบไม้ใบหญ้าขยะมูลฝอย...พอเดินไปด้านหลังที่ต่อหลังคา ยื่นมาทำเป็นครัว...นางย้อยก็เห็นหม้ออะลูมิเนียมที่แขวนอยู่ตูดมันเลื่อม ...ถ้วยชามบนชั้นก็วางคว่ำเป็นระเบียบ ที่รอบ ๆ เตาก็เอี่ยมสะอาดไม่มีขี้เถ้า ไหสำหรับดับถ่านที่วางอยู่ติดกับปี๊บใส่ถ่านรวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ ทุกอย่างนั้นก็ดูวางได้เหมาะเจาะลงตัว...
“อีเรณูมันหายไปไหนของมัน” นางย้อยหมุนคว้างไปจนทั่ว...มองไปทางบ้านคนงานก็เห็นแต่นังผู้หญิงที่มี หน้าที่เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่นั่งไกวเปลอยู่...นางย้อยมองไปในสวน...เห็นว่าทาง ทิศเหนือลม มีกระท่อมสร้างใหม่เกิดขึ้นอีกหลัง...นางย้อยเดินไปทางนั้นทันที...พอเข้าไป ใกล้นางย้อยก็ได้กลิ่นควันไฟ กลิ่นหอมของขนมลอยมาปะทะจมูก...พอเดินไปถึง ก็กลับพบนางแจ่มเมียคนงานคนหนึ่ง นั่งอยู่บนร้าน โดยนางแจ่มก็มีหน้าที่ช่วยเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เหมือนกัน ส่วนเรณูนั้นยืนอยู่...
พอเห็นนางย้อย เรณูก็ยิ้มหวานให้...นางย้อยเดินหน้าบึ้งเข้าไปหา...
“ม้า” เรณูเอ่ยทัก...
นางย้อยรู้สึกเหนื่อยที่จะทะเลาะกับเรณู...แต่ถ้านิ่งเฉย ก็จะกลายเป็นว่านาง ‘ยอมรับ’ ว่าเป็น ‘ม้า’ เป็นแม่ผัวของเรณูเสียอีก...
“กูบอกแล้วใช่ไหมว่าอย่ามาเรียกกูว่า ม้า ว่า แม่”
“แล้วจะให้เรียกว่าอะไรละจ๊ะ”
นั่นซิจะให้เรียกว่าอะไร...คิดอยู่อึดใจ นางย้อยก็บอกว่า “เรียกอย่างที่อีปลูกมันเรียกแล้วกัน”
“เรียกว่าอะไรละจ๊ะ” น้ำเสียงและสีหน้านั้นดูไร้เดียงสาปนอวดดื้อจนน่าหมั่นไส้
“อีแจ่ม มึงบอกมันไปซิ ว่าพวกมึงกับอีปลูกเรียกกูว่าอะไร” นางย้อยหันไปเอ็ดตะโรให้เมียคนงาน...
“ฉันกับคนอื่น ๆ เรียกเถ้าแก่เนี้ยจ้ะซ้อ”
“อีแจ่ม! ใครสอนให้มึงเรียกมันว่าซ้อ...ไอ้ซาไม่ได้บอกพวกมึงหรือไงว่าอีนี่ มันไม่ใช่ลูกสะใภ้กู”
แจ่มหดหัว...ไม่กล้าสบตา...
“จำไว้เลยนะ พวกมึงอย่าให้กูได้ยินว่าใครเรียกอีนี่ว่าอาซ้อเด็ดขาด...เพราะมันเป็นแค่ นางบำเรอลูกกู...จะเรียกอะไรก็เรียกไป...รู้ไหม” นางย้อยประกาศกร้าว...เรณูไหวไหล่ส่ายหัวน้อย ๆ แล้วหันกลับไปเปิด ‘ลังถึง’ ที่ชาวบ้านชอบเรียกกันว่า ‘ซึ้ง’
เห็นอาการกวนประสาทของเรณูดังนั้นนางย้อยก็เชิดหน้าขึ้น... “อีเรณูมึงทำอะไร”
“ทำขนมจ้ะเถ้าแก่เนี้ย”
“ขนมอะไร”
“ขนมตาลจ้ะเถ้าแก่เนี้ย”
“มึงเอาลูกตาลมาจากที่ไหน”
“ญาติของแจ่มที่อยู่เกยไชยเอามาให้จ้ะ เถ้าแก่เนี้ย” เรณูยังคงหันหลังยืนมองลังถึงบนเตาที่โชยกลิ่นหอมออกมา...โดยหญิงสาวมั่นใจ ว่าเดี๋ยวระเบิดได้ลงอีกลูกหนึ่งแน่ ๆ ...
“อีณู! กูคุยกับมึง มึงก็หันมาคุยกับกูซิ” ริมฝีปากของเรณูเบะออกหลังจากที่เดาอารมณ์ของนางย้อยถูก...หญิงสาวเกลื่อนสีหน้าให้เป็นเหมือนสลด แล้วหันกลับมา
“จะคุยกับฉันหรือจ๊ะ เถ้าแก่เนี้ย”
“กวนประสาทจริง ๆ นะมึง”
ตอนนั้นแจ่มเห็นท่าไม่ดี จึงค่อย ๆ กระเถิบลงจากร้าน แล้วก็ย่องกลับที่อยู่ของตน...
เรณูทำเหลือกตามองข้างบน ทำหน้าไม่เข้าใจที่นางย้อยพูด...
“กูอยากรู้ว่า มึงถือดีอย่างไรถึงได้มาปลูกกระท่อมตรงนี้...ใครอนุญาตให้มึงปลูก”
“เถ้าแก่กับคุณชายซาให้คนงานปลูกให้จ้ะเถ้าแก่เนี้ย”
“ทำไมถึงต้องทำให้มึง”
“ก็ตรงนี้มันอยู่เหนือลม แล้วมันก็ไกลจากโรงสี ไกลจากคอกหมู...ทำ ขนมใกล้ ๆ ขี้หมู ใกล้ ๆ กับฝุ่นละอองใครเขาจะไปกินลงละจ๊ะ...นี่หนูก็บอกกับคนในตลาดว่า โรงงานผลิตขนมของหนู สะอาดเอี่ยม แม้จะอยู่ใกล้กับสิ่งโสโครกก็ตามที แล้วถ้าใครไม่เชื่อก็มาดูได้เลย หนูพร้อมเปิดโรงงานให้ดูขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนความ”
นางย้อยรู้สึกเหนื่อย...
“แล้วนี่มึงเอาทุนที่ไหนไปทำขนมแจกเขา...หน้าใหญ่ใจโต แจกให้เขากินทั่วตลาด...รวยอะไรมา”
“ก็พอมีอยู่บ้างจ้ะ เถ้าแก่เนี้ย”
นางย้อยก็เพิ่งสังเกตเห็นว่าที่คอของเรณูนั้นมีทองอยู่เส้น ที่นิ้วมือก็แหวนทองอยู่วง...
“เงินจากการขายของที่แม่มึงให้ติดตัวมึงมานะเหรอ”
“หนู ทำงานบาร์ก็จริง แต่หนูทำงานอยู่ในครัวจ้ะเถ้าแก่เนี้ย แล้วเถ้าแก่เนี้ยรู้ไหมจ๊ะว่าที่บาร์น่ะ เป็นศูนย์รวมของผู้หญิงที่มาจากทั่วสารทิศ เพราะฉะนั้น อย่าหาว่าหนูอวดเลยนะจ๊ะ...สรรพวิชาความรู้ของหนูนี่มีเพียบ...หนูจบ ป.๔ ก็จริงนะ แต่หนูอ่านภาษาอังกฤษออก...พูดได้บ้าง ฟังพอรู้เรื่อง และที่สำคัญสำเนียงของหนูนี่เหมือนเจ้าของภาษาเพราะหนูเรียนกับเจ้าของโดย ตรง...อย่างกล้วยนี่ ฝรั่งเรียกว่า บานาน่า...มะพร้าวก็ โคโคนัท กระท่อมนี่เรียกว่า ฮัท สรรพนามแทนตัวหนูนี่ ไอ และแทนตัวคนที่คุยด้วย อย่างเถ้าแก่เนี้ย ที่กำลังคุยอยู่กับหนู คือ ยู...เยส โน โอเค อันเดอร์สแตน หนูพอฟังออก แล้วเพลงอังกฤษ หนูก็ร้องได้นะ...อยากฟังไหมจ๊ะ หนูจะร้องให้ฟัง...เอาเพลง ไฟว์ ฮันเดรส ไมล์ (๕๐๐ Miles by Joan Baez) แล้วกันเนอะ”
นางย้อยได้ยินดังนั้นก็แบะปากให้... “ไม่ต้อง ๆ ...เชื่อที่มึงโม้ กูก็ออกลูกเป็นควายแล้ว”
“เล่าให้ฟัง จะได้รู้จักกันมากขึ้น ก็หาว่าหนูตอแหลอีก”
“กูยังไม่ได้พูดนะ ว่ามึงตอแหล มึงว่าตัวเองนะ”
“หนูรู้ว่า โม้ กับ ตอแหล ความหมายเดียวกัน”
“แล้วนี่ใครอนุญาตให้มึงเอาของพวกนี้มาใช้...กูจำได้ว่ามันเป็นของ ของกู” นางย้อยรีบเปลี่ยนเรื่อง...
“แล้วจะให้มันอยู่เฉย ๆ ทำไมละจ๊ะ...เอาออกมาใช้ เอาออกมาขัด แล้วเห็นไหมว่ามันดูมีค่าขึ้นแค่ไหน”
“แต่มันเป็นของของกู มึงต้องขอกูก่อนถึงจะถูก...ไม่ใช่ลักมาใช้แบบนี้”
“งั้น หนูขอยืมของพวกนี้ใช้เลยแล้วกันนะจ๊ะ...แตงค์กิ้ว...เอ๊ย ขอบคุณจ้ะ” ว่าแล้วเรณูก็ยกมือพนมระดับอกแล้วค้อมหัว นางย้อยส่ายหน้าเบา ๆ ...
“อุ๊ย ขนมตาลสุกพอดีเลย...เถ้าแก่เนี้ยต้องชิมให้หนูหน่อยนะจ๊ะ หนูอยากรู้ว่า ฝีมือหนูมันใช้ได้ไหม”
“ไม่ชิม”
“ว้า...นะ จ๊ะ ช่วยชิมให้หนูหน่อย...หนูอยากรู้ว่าฝีมือของหนูจะถูกปากถูกลิ้นคนชุมแสงหรือ เปล่า...ช่วยชิมแล้วติชมหน่อยได้ไหมจ๊ะเถ้าแก่เนี้ย ทำออกขายจริง ๆ จะได้มีแต่คนติดใจรอกิน”
นางย้อยถอนหายใจอย่างแรง รู้สึกว่ายิ่งคุยกับ ‘อีนี่’ ก็ ยิ่งเหนื่อย ...หน้ามันไม่สลด ด่ามันก็ไม่เจ็บ จะว่ามันโง่มันก็ฉลาดเป็นกรด...แล้วนางย้อยก็คิดว่า ทำไมปฐมถึงได้ตาต่ำ ดูไม่ออกว่าเมียมันไม่เต็มบาทหรือเกินบาท... คิดได้ดังนั้นนางย้อยก็ชักสีหน้าเหน็ดเหนื่อยใจ...ฝ่าย เรณูนั้นก็หันไปยกลังถึงชั้นบนลงมาวางบนแคร่ไม้ไผ่ที่มีกระทงใบตองที่แช่ม นั่งเย็บไว้ให้...สีสันและกลิ่นนั้นทำให้นางย้อยรู้สึกน้ำลายไหล อยากลิ้มรส แต่นางย้อยก็ทำได้เพียงพูดว่า
“ไม่ต้องเอามาให้กูชิมนะ กูไม่กินของมึงหรอก แล้ว เวลามึงทำอะไร ก็ไม่ต้องให้ไอ้ซามันเอาไปให้กูกินอีก...ถ้าเอาไป กูจะเทให้หมามันกินให้หมด... รู้ไหม”
“ทำไมละจ๊ะ ทำไมไม่กินของที่หนูทำ...เถ้าแก่เนี้ยก็เห็นว่า โรงงานทำขนมของหนูสะอาดสะอ้านแค่ไหน” เรณูจงใจใช้คำว่า ‘โรงงาน’ ให้มันดูใหญ่โตเกินจริง และดูว่างานนี้เธอเอาจริงแน่ ไม่ใช่ทำเล่น ๆ “กูเกลียดมึงนะซิ อีนี่ ถามอะไรโง่ ๆ” ว่าแล้วนางย้อยก็หันหลังเดินกลับไปยังโรงสี...
เรณูเหยียดยิ้ม...แล้วก็ถอน หายใจออกมา ใจนั้นคิดว่า เธอจะต้องทำให้นางย้อยใจอ่อน ยอมรับเธอเป็นลูกสะใภ้ เป็น ‘อาซ้อ’ ให้ เหมือนกับที่เจ๊กเซ้งและกมลยอมรับ จนกระทั่งให้ความร่วมมือให้คนงานสร้าง กระท่อม รวมถึงจัดหาของใช้สอย อุปกรณ์ วัตถุดิบทำขนมบางอย่างที่มีอยู่ในร้านของนางย้อยมาให้เพิ่มเติม หลังจากที่เธอปรึกษา บอกเล่าถึงแผนชีวิตของตน เดิน กลับมาถึงโรงสี นางย้อยก็เห็นเจ๊กเซ้งกับกมลกำลังนั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน...ส่วนพวกคนงานก็ แยกย้ายกลับไปกินข้าวที่บ้านพัก บ้างก็กินข้าวที่ใส่ปิ่นโตมาจากบ้าน...
พอเห็นแม่เดินหน้าตามุ่ยกลับมา กมลก็ยิ้มกว้างต้อนรับ...ทั้งที่ หวั่นใจเกรงว่าเรณูจะพาดพิงเรื่องที่ตัวเอง ‘ขโมย’ ของจากที่ร้านมาให้ทำขนมให้ตนได้กินและเตรียมออกขายในเร็ววันนี้
“ไอ้ซา...มึงกับกูมีเรื่องต้องคุยกันยาว”
“กินข้าวมายั้งม้า...เที่ยงพอดีเลย กินด้วยกันก่อน นั่ง ๆ” กมลทำเป็นใจดีสู้เสือ
“หงุดหงิด ไม่หิว”
“หงุดหงิดเรื่องอะไร”
“ก็ มึง กับเตี่ยมึงนะซิ สมรู้ร่วมคิดกันหลอกกู...เฮียนะเฮีย รู้ทั้งรู้ว่า ฉันเกลียดมัน เฮียก็ยังไปญาติดีกับมัน ทำแบบนี้มันเท่ากับตบหน้าฉันนะเฮีย”
“ตบหน้าอะไรอาย้อย อีก็เป็นเมียอาตี๋ใหญ่ อุ้มท้องหลานให้เรานะ”
“มั่นใจได้อย่างไรว่า ลูกในท้องมันเป็นหลานเรา...ออกมาเป็นลูกฝาหรั่ง แม่จะหัวเราะให้ฟันโยก แล้วจะเฉดหัวมันออกไปจากชุมแสงทันที”
“ม้า ๆ นั่งก่อน...กินน้ำก่อน...อย่าไปพูดถึงเรื่องที่มันยังไม่เกิดขึ้นเลย” กมลลุกขึ้นไปดึงแขนแม่มาทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ตัวที่อยู่หัวโต๊ะ...เจ๊กเซ้ง นั้นเปิบข้าวกับปลาทอดจิ้มพริกน้ำปลาใส่หอมซอยต่อ...
“ไอ้ซา...กูบอกมึงแล้วใช่ไหมว่า ไม่ให้คนอื่นเรียกอีเรณูว่าอาซ้อ”
“บอกผม บอกให้ผมบอก พี่ ๆ น้อง ๆ เท่านั้นนี่ม้า”
“พวกคนงานก็ด้วย ห้ามเรียกมันว่าอาซ้อ มึงนี่กวนประสาทกูจริง”
“ครับ ต่อไปคงไม่มีใครเรียกเขาว่าซ้อแล้ว”
“แล้วมึง น่ะ กล้าดีอย่างไร เอาขนมของมันไปหลอกให้กูกินถึงสองวัน”
“หลอกที่ไหน...ถือไปวางไว้ให้กิน...ก็ของมันอร่อย ก็อยากให้ม้ากิน...ทำคุณบูชาโทษแท้ ๆ เลย”
“ไม่ต้องมาพูดดี”
“ม้า...หงุดหงิดไปแล้วมันได้อะไรขึ้นมา...ใครรู้เข้าก็เอาไปนินทา สาวไส้ให้กากินน่ะม้า อายเขานะ”
“กูไม่สน ไม่ต้องมาสอนกู”
“โมโห หิวหรือเปล่าเนี่ย...กินข้าวไหม หิวข้าวแน่ ๆ เลย เดี๋ยวคดให้...กินข้าวหน่อยนะม้า” ว่าแล้วเขาก็หันไปแบ่งข้าวจากปิ่นโตใส่จานให้แม่ ข้าวสวยในปิ่นโตสองชั้นอัดมาจนแน่น อีกสามชั้นเป็นกับข้าว นางย้อยจำได้ดีว่าเมื่อเช้านางทำอะไรใส่ปิ่นโตมา...ทว่าในชามมีแกงป่าปลาเนื้ออ่อน ใส่เครื่องเคราครบ สีสันน่ากิน...ใครมันทำ?
“แล้วแกงนี่ ใครทำมา เมื่อเช้ากูไม่ได้ทำมาให้ เอามาจากไหน”
“เอ่อ...พี่แจ่มทำ แบ่งมาให้...ใช่ไหมเตี่ย”
“ใช่ อาแจ่มมันทำแบ่งมาให้” เพื่อตัดรำคาญเจ๊กเซ้งจำต้องเออออไปด้วย ทั้งที่แกเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครทำมา...
สำหรับ แก เมียกับลูกจัดหาอะไรให้กิน แกก็กิน กินอิ่ม สูบยาให้ใจเย็นแล้วแกก็ออกไปทำงานต่อ เหนื่อยก็นั่งพักสูบยา ครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรให้งานมันสำเร็จ มีเงินมากกว่าเมื่อวาน ชีวิตของแกตั้งแต่มีเมียก็วนเวียนอยู่อย่างนี้...และตั้งแต่ลูกชายมาช่วยรับ ผิดชอบเรื่องโรงสี แกก็ไม่ค่อยได้ใช้เสียงบัญชาการอย่างแต่ก่อน นอกเสียจากมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วลูกแก้ไขไม่ได้ แกถึงจะต้องลงมาดูเอง...
พอบอกว่าเป็นของนางแจ่ม นางย้อยจึงตักกินอย่างเอร็ดอร่อย...อร่อยจนลืมกับข้าวที่ตัวเองทำมาเลย
“อ้าว จะแต่งคนรอง แล้วคนโตที่ติดทหาร แต่งไปแล้วรึ แต่งไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมฉันไม่เห็นรู้เรื่อง” หลังจากที่นางย้อยบอกเล่าเรื่องที่ประสงค์ลูกชายที่บวชพระเพิ่งสึกมาจะแต่งงานในต้นเดือนหน้าให้รับรู้ นางศรีแม่ค้าร้านของชำที่มาจากตำบลรอบนอก ก็ซักถามถึงปฐม
“เขามีเมียไปแล้ว” นางย้อยพูดไม่เต็มเสียงนัก
“อ้าวเหรอ...ตั้งแต่เมื่อไหร่ละ”
“เอาอะไรอีกไหม จะได้คิดเงิน” บนโต๊ะจะมีสมุดฉีกหรือบิล ปากกา ดินสอ วางไว้คู่กับลูกคิด...
“แบบนี้ก็จะมีสะใภ้สองคนแล้วนะซิ...แล้วลูกชายคนที่สามละ ไปไหนรึ มาวันนี้ไม่เห็นหน้า ฉันชอบคนที่สามของพี่...ชื่ออะไรนะ นิสัยดี คุยสนุก ตลกดี” นางศรียังอยากคุย เพราะนานนับสิบวันถึงจะเอาเรือเข้าเมืองมาซื้อของไปขาย...
“เขาชื่อซา...ซาที่แปลว่า สาม...อาซาช่วยพ่อเขาที่โรงสี ส่วนอาตงคนรอง สึกมาก็ให้มาช่วยตรงนี้ก่อน”
“แล้วอาซามีคู่รักหรือยัง”
“เพิ่งจะสิบแปดสิบเก้า จะรีบมีไปไหน ยังไม่ได้บวชเลย”
“นี่แม่ย้อยกะจะให้ลูกบวชหมดทุกคนเลยรึ”
“ฉัน เป็นคนไทย...พี่ชายฉันก็บวชก่อนออกเรือนทุกคน...ฉันก็เลยประกาศว่าก่อนจะมี เมีย ต้องบวชให้ฉันเสียก่อน คัดเลือกทหารให้เสร็จซะก่อน มันจะได้ไม่มีภาระ ห่วงหน้าพะวงหลัง” เรื่องบวชก็พออ้างได้ แต่ภาระที่ว่าจริง ๆ แล้วนางย้อยอยากเก็บลูกไว้ใช้งานมากกว่า
“หลานสาวฉันสิบแปดพอดี...สวยด้วยนะ” นางศรี วกกลับไปยังเรื่องที่ติดอยู่ที่ปลายลิ้น
“หลานสาวแม่ศรีจริง ๆ รึ” นางย้อยนึกสนุกไปด้วย เพราะคำว่า หลานสาวของแม่ศรีนั่นหมายความว่าจะต้องมีฐานะพอประมาณ เพราะ นางศรีนั้นทองหยองมีเต็มตัว แถมไม่เคยติดไม่เคยเซ็น จ่ายเงินสดทุกครั้งที่มาซื้อของไปขาย
“หลานสาวฉันจริง ๆ สองปีก่อนก็มาคว้าตำแหน่งธิดาเจ้าพ่อชุมแสงไปครอง”
“ถ้าอย่างนั้นก็สวยนะซิ”
“พ่อเขาเป็นกำนัน หวงอย่างกับจงอางหวงไข่...คนเล็กด้วย” นางศรีตอบไม่ตรงคำถาม
“แบบ นั้นอาซาฉันก็คงหมดสิทธิ์ เพราะ ลูกเจ๊กในตลาด คงไม่คู่ควร ระดับลูกสาวกำนัน มันต้องมองหาลูกเขยที่ระดับเดียวกัน รึไม่ก็พวกทำงานบนอำเภอ”
“แหม แม่ย้อยก็พูดเกินไป...ทางแม่ย้อยนั่นแหละ จะแบ่งลูกชายไปทางนั้นได้บ้างหรือเปล่า พี่กำนันเขาอยากแต่งเข้าบ้าน...เพราะแม่เพียงเพ็ญเป็นลูกสาวคนเล็ก แกกับเมียก็หวังพึ่งพิงยามแก่เฒ่า”
“ลูกฉัน มันก็ทำนาไม่เป็นเสียด้วยซิ”
“แม่ย้อยก็มีที่นาแถว ๆ ชุมแสงนี่อยู่ไม่น้อยเหมือนกันไม่ใช่รึ ทำไมทำนาไม่เป็น”
“ก็ ให้เขาเช่าเก็บค่าเช่ากินไป...ไม่มีมือไม่มีแรงจะทำหรอก” นาบางผืนของนางย้อยนั้น ได้มาเพราะเจ้าของเอามาจำนองแล้วหลุดจำนอง...ผืนเล็กบ้างผืนใหญ่บ้าง นางย้อยก็เก็บสะสมไว้ บางผืนก็ตั้งใจซื้อไว้เอง เพราะพื้นเดิมของตนเป็นลูกชาวนาเป็นเศรษฐีที่ดิน แม้จะมีร้านรวงมีโรงสี แต่มันก็ยังไม่อุ่นใจเท่ามีที่ดิน ซึ่งนับวันก็จะมีราคาสูงขึ้น...ที่นาหนองนมวัวที่สังข์พ่อยกให้นั้น ลึก ๆ นางย้อยก็ไม่ได้อยากขาย แต่ตอนนั้นอยากได้โรงสีจึงต้องยอม ปล่อยให้น้องสาวไป...
“แต่ว่าไปแล้ว พี่กำนันเขาก็ไม่ได้มีเฉพาะที่นาหรอกนะ...แกมีโรงเลื่อย โรงเผาถ่านด้วย”
ทีนี้เองนางย้อยตาวาว...
“เป็นกำนัน มีที่ดิน มีโรงเลื่อย โรงถ่าน แบบนี้ลูกฉันหมดสิทธิ์”
“มันก็ต้องลองดู...นี่ถ้าฉันไม่เห็นว่าทางนี้นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ฉันไม่ออกปากหรอกนะ...เจอเขาครั้งก่อน ฉันยังเก็บกลับไปเล่าให้นัง เพียงเพ็ญมันฟัง ว่าอาเจอผู้ชายหน้าตาดี นิสัยดี อยากแนะนำให้รู้จักกันไว้”
“แล้วเขาว่าอย่างไร”
“เป็นผู้หญิง จะว่าอะไร ก็เขินอายไป...อ้อนี่” ว่าแล้วนางศรีก็เปิดกระเป๋าสตางค์ ค้นหารูปถ่ายของหลานสาวมาส่งให้นางย้อย...
“หน้าตาเขาเป็นแบบนี้...พอได้ไหม”
“สวย คม” รูปถ่ายนั้นขนาดสองนิ้วเป็นรูปขาวดำ ถ่ายที่ร้านถ่ายรูป จึงทำผมแต่งหน้าติดขนตาเสียเหมือนดารา...นางย้อยพินิจอยู่นาน แล้วนางศรีก็พูดว่า
“ถ้าฉันจะขอรูปของอาซากลับไปให้เพียงเพ็ญมันดูสักบาน แม่ย้อยจะว่าอะไรไหม พอมีให้ฉันบ้างไหม”
“เป็นไง สวยไหม” นางย้อยเลื่อนรูปของ ‘ว่าที่’ ลูกสะใภ้อีกคนไป ‘อวด’ บุญปลูกยิ้มเจื่อน ๆ แล้วพูดสั้น ๆ ว่า “สวย...สวยดี”
“เห็นว่าเป็นธิดาเจ้าพ่องานงิ้วชุมแสงเมื่อสองปีก่อน ลูกสาวกำนันเสียด้วย...ถ้าไอ้ซามันถูกใจ เห็นที หลังแต่งอาตง คงต้องหาทางให้ดูตัวกัน...นี่ถ้าเขาไม่ใช่เนื้อคู่กัน แม่ศรีก็คงไม่มองเห็นถึงความเหมาะสมหรอก...คนมีวาสนาต่อกันนะปลูก...เดี๋ยว เทวดาก็อุ้มสมเอง...ดูซิรู้จักกันมาตั้งนานนม เพิ่งจะมาเอ่ยปากว่าอยากได้ไอ้ซาไปเป็นหลานเขย...คงจะมองดูอยู่นานเหมือน กัน”
บุญปลูกค่อย ๆ ถอยออกมา...นางย้อยมองตามหลังไป...ทำไมนางจะ ไม่รู้ละ ว่าบุญปลูกนั้นมีใจให้กมล แต่นางย้อยก็พยายามกำชับกำชาคนของตนว่า ถ้าจะเล่น จะหยอก ก็เอาแต่ให้พอดี อย่าให้เกินคำว่า พี่น้องจนฝ่ายหญิงคิดไปไกล เพราะถึงอย่างไรแล้ว บุญปลูกแม้จะขยันขันแข็ง เชื่อฟังคำสั่ง และอดทนกับอารมณ์ของนางได้ แต่บุญปลูกผู้มีพ่อจีนแม่ไทย ร่างสันทัด ผิวออกจะคล้ำ ผมหยักศก ก็เป็นได้แค่ เด็กในร้านที่ไม่เหมาะสมคู่ควรกับลูกชายของนางอย่างแน่นอน...
ตามสายตาของนางย้อยนั้น กมลวางตัวเป็นพี่ชายของบุญปลูกได้อย่างสุจริตใจ แต่บุญปลูกนี่ซิ...อารมณ์ของผู้หญิงย่อมคิดฝันถึง ‘เทพบุตร’ หรือผู้ชายที่จะมายกระดับฐานะของตน...การที่เลื่อนรูปของเพียงเพ็ญ ให้ บุญปลูกรวมถึงพูดถึงแผนการในอนาคตนั้น ก็เพื่อให้บุญปลูกนั้น ‘ทำใจ’ ‘เจียมตัว’ และก็ต้องมองคนที่มันคู่ควรเหมาะสมกับตนที่มีอยู่เกลื่อนกลาดตลาดชุมแสง...
เย็นวันนั้นพอลูกชายกับสามีกลับมาบ้าน อาบน้ำอาบท่าเปลี่ยนเสื้อผ้าลงมากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา...นางย้อยที่ทำกับ ข้าวตั้งสำรับรอท่าก็หยิบรูปของเพียงเพ็ญมาให้ลูกชายที่ดู...
“ใครรึม้า...สวยดี สวยเหมือนเพชราเลยนะเนี่ย”
“ก็ม้ารู้ไง ว่าลื้อ ชอบเพชรา...ม้าก็เลยต้องหาผู้หญิงที่เหมือนเพชรามาให้เลือก” ยามอารมณ์ดี ๆ นางย้อยก็ใช้สรรพนามแทนตัวลูกชายว่า ‘ลื้อ’ แต่ถ้าหงุดหงิด ทำเรื่องขัดใจ ก็ขึ้น ‘มึง’ บ้าง ‘แก’ บ้าง ไปตามอารมณ์
เขาส่งรูปนั้นไปให้เตี่ยกับพี่ชายดูต่อ...
“สวยดี” เจ๊กเซ้งบอกแค่นั้น ส่วนประสงค์ไม่ออกความคิดเห็นอะไร เพราะรู้ว่า ลองแม่อยากได้ กมลก็คงขัดไม่ได้
“อีเป็นลูกสาวกำนัน อีชื่อเพียงเพ็ญ เป็นอดีตธิดาเจ้าพ่อชุมแสงเมื่อสองปีก่อน”
“ฮ้า...ขนาดนั้นเลยรึ ทำไมผมจำไม่ได้ละม้า ผมก็เที่ยวงานงิ้วทุกปี...รอดหูรอดตาผมไปได้อย่างไง”
“มันยังไม่ถึงเวลาจะเห็นกัน มันก็ต้องคลาดคลากันไปก่อน”
“แล้วนี่ม้าไปรู้จักอีได้อย่างไร”
“หลานสาวแม่ศรีคนตำบลฆะมัง...วันนี้แกนึกอย่างไรก็ไม่รู้ เอารูปมาให้ดู แล้วก็เล่านั่นเล่านี่ให้ฟัง แล้วสุดท้ายแม่ศรีเขาบอกว่าเขาถูกชะตากับแก อยากได้แกไปเป็นหลานเขย...เขาดูมานานแล้ว เขาถามว่ายินดีจะแต่งเข้าบ้านผู้หญิงไหม เพราะแม่เพียงเพ็ญ อีเป็นลูกสาวคนเล็ก...พ่อแม่เขาหวังฝากผีฝากไข้”
“พอรู้ว่าเป็นลูกสาวกำนัน เป็นลูกสาวคนเล็กด้วย ม้าก็เลยรีบตกลง รับว่ายินดีเลยซินะ”
“ม้าก็อยากให้แกได้ดี...ให้หาเอง เดี๋ยวก็หา” นางย้อยได้สติว่าจะเป็นการทับถมปฐมจึงชะงัก
“ตามใจม้าแล้วกัน...แต่ถ้าเจอกันแล้ว ไม่ได้สวยอย่างในรูปนี้ ผมมีสิทธิ์ปฏิเสธได้นะม้า”
“แม่ศรีเขาก็สวย หลานสาวเขาก็ต้องสวย แล้วถ้าไม่สวยจริงจะได้เป็นธิดาเจ้าพ่อรึ...นางฟ้าเรี่ยดินมาให้เชยชม แล้วอย่าทำเป็นโง่หน่อยเลย...แล้วนี่เขาก็เป็นเจ้าของโรงเลื่อย โรงเผาถ่านด้วยนะ มีที่นาตั้งไม่รู้กี่ทุ่งกี่แห่ง”
“แต่ผมทำนาไม่เป็นนะม้า”
“มันเรียนรู้กันได้...ทำไม่ได้ก็ให้เขาเช่าเก็บค่าเช่ากินไป แกก็หาหนทางค้าขาย ทางฆะมังคนก็เยอะอยู่เหมือนกัน”
“ค่อยว่ากัน...คงอีกนาน ผมยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้เกณฑ์ทหารเลย อีกหลายปี เขาอาจจะรอไม่ไหว”
“เอาแค่บวชก็ได้ ส่วนเรื่องทหาร ม้าคงจะเสียเงินให้กับสัสดีเหมือนที่จะเสียให้อาตงนี่แหละ...ไปสุ่มจับแล้ว ติดขึ้นมาเสียเวลาทำมาหากิน แล้วดีไม่ดี พ้นหูพ้นตาไปแล้ว จะเสียอนาคตเอาซะอีก”
“ไม่ต้องวกกลับไปหาตั่วเฮียเขาหรอกม้า เขาไม่ได้อยู่ตรงนี้”
“อีเรณูมันจะเริ่มทำขนมขายเมื่อไหร่ละ น้ำตาล แป้ง มันซื้อจากที่ร้านไหน...เอ๊ะ ทำไมมันไม่มาเอาของที่ร้านเรา เอาเงินไปให้คนอื่นทำไม”
กมลไม่คิดว่าแม่จะคิดสะระตะถึงขนาดนี้...เขายกมือเกาหัวชักสีหน้า...ก่อนแก้ ว่า
“ถ้าเขามาซื้อที่นี่แล้วม้าจะขายให้เขาหรือเปล่าละ... ถ้ามาซื้อแล้ว ด่าด่าด่า เขาก็คงไม่กล้าเข้ามาหรอก”
“ก็ให้อีแจ่มมันมาซื้อซิ”
“เดี๋ยวผมถือไปให้เขาก็ได้...ต้องไปที่นั่นทุกวันอยู่แล้ว”
“แล้วก็เก็บเงินมันมาให้ครบทุกบาททุกสตางค์นะ ห้ามให้มันเซ็น ห้ามแถม ห้ามตักเกินกิโลอย่างเด็ดขาด คิดจะทำการค้า ต้องทำให้ได้กำไร จะ หยวน ๆ กันไม่ได้”
“ครับ ๆ ผมรู้ว่าเงินทองไม่มีพี่ไม่มีน้องครับ...เตี่ย ม้า เฮีย กินข้าวกันดีกว่า...อิ่มแล้วผมจะออกไปดูหนังสักหน่อยนะ...ไปด้วยกันไหมเฮีย”
*******************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #5 on: 29 February 2020, 16:06:44 » |
|
ตอนที่ 6 : พบรัก....
๖ ที่ ชุมแสงมีโรงภาพยนตร์ถึงสองโรง...โรงหนึ่งฉายวันละสองรอบ...หลังกินข้าวเย็น ที่บ้านเรียบร้อย รอบสองทุ่มจะคราคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งที่อยู่ในตลาดและที่อยู่รอบนอก เสร็จงานไร่ งานนาก็เข้ามาพักผ่อนหาความบันเทิง...นางป๋วยฮวยแม้จะมีอายุมากแล้ว แต่ก็เข้าใจโลก เข้าใจว่าวัยของจันตานั้นยังต้องการอะไร...
“ถ้าจะออกไปเปิดหูเปิดตาดูหนังบ้าง อาม่าก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะจันตา”
คำว่า ‘หนัง’ ยังคงกระทบความรู้สึกของจันตา...แต่หญิงสาวก็ทำได้เพียงยิ้มเศร้า ๆ แทนที่พูดอะไรยืดยาวให้อาม่าล่วงรู้ความในใจมากกว่าไปกว่าที่เห็น
“ถ้าลื้อเสียดายเงิน อาม่าจะออกให้”
“ไม่รู้จะไปดูกับใคร” เด็กหน้าร้านนั้นเป็นเด็กไปกลับ จันตาจึงอยู่กับอาม่าตลอดเวลา...
เมื่ออยู่กับคนแก่ ข้อเสียคือก็ต้องฟังคนแก่พูดอย่างเดียว...ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในอดีตเสีย ด้วย...แต่ข้อดีนั้นมีมากกว่า เพราะถึงแม้ว่าอาม่าจะเดินเหินได้เชื่องช้าแต่ว่าความจำของอาม่ายังดีอยู่ และความรู้ของอาม่าก็มีมากมาย เวลาทำอาหารคาวหวานใส่บาตร อาหารสำหรับกินกันในครอบครัว อาม่าจะบอกให้จันตาทำตามลำดับขั้นตอนจนกระทั่งจันตาชำนาญ...ยิ่งอยู่กับอา ม่านานเท่าไหร่จันตาก็ได้ ‘สูตร’ อาหาร จีน รวมถึงรู้ธรรมเนียมและประเพณีจีนจากอาม่าไปมากเท่านั้น...
นอกจากนั้นอาม่า ยังมีความรู้เรื่องยาสมุนไพรจีนเป็นอย่างดี อาม่าไม่มีโรคร้ายแรงอะไร จะมีก็แต่โรคปวดเมื่อยตามประสาคนแก่ อาม่าชอบให้หมอนวดมาบีบนวดในช่วงบ่าย ๆ แล้ววันดีคืนดี อาม่าก็จะให้หมอนวดช่วยสอนจันตาบีบนวดตัวอาม่าแทน หมอนวดก็ไม่ได้หวงวิชาแต่อย่างใด...อาม่า บอกกับจันตาว่า ถ้าวันหนึ่งไม่รู้จะทำอะไรกิน มีแค่สองมือ กับทักษะที่หมั่นฝึกฝนก็จะสามารถยึดเป็นอาชีพได้
จันตาเป็นคนไม่เถียงคน แต่ก็ไม่ถึงกับนิ่งเงียบจนน่ารำคาญ...อาม่าจึงรักและเอ็นดูจันตาเป็นพิเศษ
“ถ้าอย่างนั้นเวลาแจ้นี้ไปดู ลื้อก็ไปกับเขา แจ้ซังอีไม่ชอบดูหนัง อานี้มันชอบ...ไปเป็นเพื่อนอีก็ดีนะ”
หมุ่ยซัง แซ่เตียว นั้นเป็นลูกสาวลำดับที่เจ็ด หมุ่ยนี้ แซ่เตียว เป็นคนสุดท้อง ทั้งสองอายุสามสิบปลาย ๆ ไม่ยอมแต่งงานทั้งคู่...อาม่าเองก็ไม่ได้บังคับขืนใจเพราะเข้าใจว่าการครอง ตัวเป็นโสดนั้นก็มีข้อดี คือไม่มีห่วง ไม่มีภาระ และอาม่าก็บอกว่า เขาไม่มีกรรมของเขา...
สมบัติ ของทั้งสองสาวใหญ่คือร้านสังฆภัณฑ์กับภาระที่ต้องดูแลอาม่า ดูแลกันและกัน ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ หลังแต่งงานอาม่าก็ให้แยกย้ายกันไป อาม่ามีลูกชายหลายคน ต่างก็แยกย้ายไปทำมาหากินตามหัวเมืองอื่น ๆ มีลูกชายคนโต แยกไปเปิดร้านสังฆภัณฑ์อยู่ที่ห้องแถวคนละซอยในตลาดเดียวกัน ไปมาหาสู่กันได้
อา ม่าบอกกับจันตาว่า อาม่ามาอยู่เมืองไทยเสียนาน บางทีอาม่าก็ต้องยอมให้วัฒนธรรมไทยกลืนความเป็นคนจีนไปบ้าง ขืนมัวยึดแต่ว่าของตนเองนั้นดี แล้วเพ่งโทษวัฒนธรรมชาติที่ตนอยู่อาศัย ชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์...เรื่องกดลูกสะใภ้ไว้ใช้ อาม่ามองว่ามันจะก็แต่ความทุกข์ทั้งลูกสะใภ้ ลูกชาย และลูกสาวที่ไม่ยอมแยกเรือน...สู้ให้ลูกชายขยับขยายไปเปิดร้านใหม่อยู่ใกล้ ๆ กันดีกว่า...
ฟัง ความคิดของอาม่าแล้วจันตาก็รู้สึกว่า ตัวเองนั้นยังมีบุญที่เจอคนดี และจันตาก็สัญญากับตัวเองว่า ยามเมื่อตัวเองแก่ตัวไป จะเป็นคนแก่ที่มีเหตุผล เข้าใจโลก เหมือนที่อาม่าเป็นให้ได้...
“จันตา ถ้าลื้อมัวดักดานอยู่แต่ในบ้านกับอาม่า ไม่ออกไปให้คนเห็น อาม่าตายไป ลื้อจะทำอย่างไง...ออกไปเถอะนะ แถว ๆ โรงหนัง มีหนุ่ม ๆ มาเที่ยวกันเยอะแยะ ออกไปอวดโฉมเสียบ้าง” อาม่ายังคงเร้าหรือ
“ทำไมอาม่าถึงอยากให้หนูแต่งงาน ทำไมอาม่าไม่อยากให้หนูอยู่เป็นโสดเหมือนพวกแจ้ ๆ เขาละ”
“นังสองคนนั่น มันพึ่งพาตัวเองได้...กิจการมันมี สมบัติมันมี หลานมันมี มันไม่อยากมีผัว มันก็อยู่ของมันได้ แต่ลื้อไม่ใช่...ลื้อต้องมีคู่ชีวิต คู่คิด มันถึงจะดีกว่ามาคิดรับใช้อาม่า รับใช้คนอื่นอยู่อย่างนี้...และที่สำคัญลื้อ อย่าลืมว่าเวลานี้ลื้ออยู่ไกลบ้านเกิด อยู่ไกลจากพ่อแม่ญาติพี่น้องของลื้อนะ”
“แล้วถ้าเจอคนไม่ดีละ...เจอคนหลอกลวง เจอคนที่เขารังเกียจ คนจน รังเกียจว่าหนูเป็นลาว”
“ลาวอะไรที่ไหน เกิดเมืองไทยก็เป็นคนไทยทุกคน...แล้วถ้ากลัวเจอคนไม่ดี ลื้อก็ต้องดูกันให้นานๆ คนไม่ดี เดี๋ยวมันก็ต้องแสดงธาตุแท้ของมันออกมา ส่วนข้อที่ว่ากลัวว่าเขารังเกียจว่าจน ถ้าลื้อคิดอย่างนั้นคนจนก็สูญพันธุ์กันไปหมดแล้วซิใช่ไหม...จะยากดีมีจนก็ขอ ให้รักกันจริง ๆ ขยันทำมาหากินเดี๋ยวก็สร้างเนื้อสร้างตัวได้... ไปนะ ออกไปเปิดหูเปิดตา...ออกไปดูโลก ไปเห็นเดือนเห็นตะวันบ้าง อย่าทำตัวซังกะตาย เดี๋ยวอาม่าบอกแจ้นี้มันให้...ออกจากบ้านไปเที่ยวสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี... อยู่แต่ในบ้านเดี๋ยวเฉาตายซะก่อน”
เห็นว่าอาม่าหวังดีจริง ๆ จันตาจึงยอมจำนน... “อาหมุ่ยนี้ จับจันตามันแต่งตัวหน่อย มันจะได้มีคนมอง มันจะได้มีผัวดี ๆ ออกเรือนไปสร้างเนื้อสร้างตัว...ม้าชอบมัน อยากเอาบุญกับมัน” เมื่อแม่กระซิบอย่างนั้น หมุ่ยนี้จึงจับจันตาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่าเก็บของตนกับพี่สาว...หน้าตาที่ เกลี้ยงเกลาไร้สีสัน ก็ถูกแต่งแต้มพอให้รู้สึกสดชื่น...
หมุ่ยนี้พาเดินมาถึงหน้าโรงหนัง...แม้จะมีภาพทับซ้อนกับอดีต แต่จันตาก็รู้สึกเบิกบานอย่างที่อาม่าว่าไว้...
หมุ่ย นี้ เป็นคนเสียงดัง เป็นคนแต่งตัวทันสมัย แกรู้จักคนทั้งตลาด รู้จักตั้งแต่เด็กหนุ่มเด็กสาว คนรุ่นเดียวกัน จนถึงรุ่นพี่...แกทักคนโน้นที คนนี้ที หรือไม่แกก็จะได้รับการทักทายจากคนอื่น ๆ จนกระทั่งได้ตั๋วหนังมา แล้วแกก็สะกิดให้จันตาได้เห็นผู้ชายคนหนึ่งซึ่งยืนรอเข้าโรงหนังอยู่ตาม ลำพัง
“ใครหรือเจ๊”
“ปลัดอำเภอคนใหม่...ยังหนุ่มยังแน่น...เห็นไหม เพิ่งมาได้ไม่ถึงเดือน”
จันตาพิจารณาสรีระที่เรียกว่า สันทัดสมส่วนของเขา รวมถึงใบหน้าเหลี่ยม ผิวเหลือง ก็สรุปความว่า เขาหน้าตาดี แต่ไม่ถึงกับดีจัด เพียงแต่การแต่งเนื้อแต่งตัวนั้นทำให้เขาเป็นที่สะดุดตา เพราะหนุ่มชุมแสงส่วนใหญ่ยามออกจากบ้านมาเดินเที่ยวก็ยังคงนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดสีขาวตราห่านลากรองเท้าแตะกัน...
เสี้ยวนาทีที่จันตามองเขาอยู่นั้นเหมือนเขาจะรู้ตัว...แล้วจันตาก็เห็นว่า เขายิ้มกว้าง...จันตารีบหลบสายตาของเขาแล้วหูก็ได้ยินหมุ่ยนี้พูดว่า
“อั๊วมากับเด็กที่บ้าน คุณปลัดมาคนเดียวรึ”
ตอนแรกจันตาคิดว่าเขาจะตะโกนตอบกลับมา แต่เขากลับเลือกเดินเข้ามาหา แล้วพูดว่า “ผมเพิ่งมาอยู่ ยังไม่มีเพื่อน จะมากับใครได้ละครับ”
“จันตา...นี่คุณปลัด...คุณปลัดชื่ออะไรนะ จำได้ว่าลงท้ายว่า กร”
“ชื่อ จินกรครับ”
“ใช่ ชื่อแปลกดี ไม่ค่อยเหมือนใคร...จันตาไหว้คุณปลัดเสียซิ...ปลัดจินกร จำชื่อให้แม่น ๆ นะ เจอกันอีกจะได้ทักถูก”
จันตายกมือไหว้ ยิ้มน้อย ๆ ให้ แล้วหลบสายตาของเขา...ซึ่งจันตาดูออกว่าเป็นสายตาของคนเจ้าชู้ เช่นเดียวกับนายทหารซึ่งเป็นรักแรกของจันตา...จันตาเอียงข้างมองดูใบปิดหนัง ที่ข้างฝาฟังความ...เรื่องที่ทั้งคู่ก็จะคุยกันเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ไม่มีพาดพิงมาถึงตน กระทั่ง ได้เวลาประตูโรงหนังเปิด...ต่างก็แยกย้ายไปยังที่นั่งตามหมายเลขบนตั๋ว
ในมือของกมลมีข้าวโพดคั่วกับถั่วลิสงต้ม หลังทรุดตัวลงนั่ง เขาก็หันไปทางด้านซ้ายมือ...แล้วเขาก็เห็นว่าผู้หญิงที่หันมาสบตากับเขา เป็นใคร...
“มาดูหนังเหมือนกันเหรอ” เขาทักจันตาเบา ๆ ...เสียงของเขาทำให้หมุ่ยนี้ก้มตัวหันมามอง...
“อ้าว อาซา มาดูหนังเหมือนกัน มาคนเดียวรึ”
“มาคนเดียวแจ้...อาเฮียแกไม่ยอมมาด้วย บอกว่าง่วงนอน”
“ตั้งแต่สึกมา ออกมาดูหนังบ้างหรือยัง”
“ยังเลย อยู่แต่บ้าน อ่านแต่หนังสือ หมกตัวอยู่แต่ในห้อง”
“เตรียมตัวจะเป็นเจ้าบ่าวมั้ง ต้องศึกษาทฤษฎีเยอะหน่อย” ว่าแล้วหมุ่ยนี้ก็หัวเราะ
จันตาไม่คิดว่าจะได้ยินหมุ่ยนี้พูดออกมาแบบนี้...
“อ่านแต่หนังสือนิยาย มันจะมีเรื่องพวกนี้ไหมล่ะแจ้ ผมก็อ่านไม่เป็น ไม่รู้ว่าในนั้นมีอะไรบ้าง ชอบดูเป็นภาพเป็นเสียงแบบนี้มากกว่า”
“บางเล่มก็มี...มีเยอะด้วย”
พอดีกับบนจอผ้าใบเริ่มมีภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงอึกทึก ทำให้ทั้งคู่ต้องหยุดคุยกัน...จันตารู้สึกว่าหายใจโล่งขึ้นเพราะช่วงที่ทั้ง คู่คุยกันโดยมีตัวเองนั่งอยู่ตรงกลางนั้น เสียงของเขาเหมือนกระซิบอยู่ที่หูของตน...
พอหนังฉาย จันตาก็เหลือบตามามอง พบว่าตาของเขาจ้องเรื่องราวตรงหน้า...หญิงสาวเห็นว่า จมูกของเขาได้รูป สวยกว่าจมูกของประสงค์ ริมฝีปากบาง หน้าของเขานั้นรูปไข่ เขาเป็นคนมีเส้นผมตรงละใบหน้า...ใบหน้าของเขาเหมือนใบหน้าผู้หญิงมากกว่า ผู้ชายไทยทั่ว ๆ ไป...แล้วจันตาก็รู้สึกว่าตั้งแต่เขาหยุดคุยกับหมุ่ยนี้ เขาก็ไม่ได้หยุดเคี้ยวของกินเล่นที่ถือติดมือเข้ามาสักนาที และที่จันตารู้สึกว่าเขาออกประหลาดคน ตรงที่เขาไม่ชวนเธอหรือชวนหมุ่ยนี้ขบเคี้ยวของเหล่านั้นด้วย...
จันตาหัวเราะเมื่อเรื่องบนจอชวนให้หัวเราะ...กมลเหลือบตาไปมอง...เห็นสัน จมูก และริมฝีปากที่คลี่ออกรวมถึงฟันที่เรียงเป็นระเบียบ เขายอมรับว่าใจของเขาปั่นป่วนขึ้นมาเสียอย่างนั้น ไหนจะกลิ่นกายสาวซึ่งจะว่าไปแล้ว เขาก็ไม่เคยคุ้น...ทำให้เลือดในกายมันสูบฉีดรู้สึกวูบวาบอย่างที่ไม่เคยเป็น มาก่อน...กมลสูดลมหายใจตั้งสติ แล้วก็ไม่หันไปทางซ้ายมืออีก...จนกระทั่งหนังจบ...เขาให้หมุ่ยนี้กับจันตา ลุกขึ้นก่อน เขาลุกขึ้นทีหลัง แล้วเดินตามทั้งคู่ออกจากโรงหนัง...
พอถึงหน้าโรงหนัง เขาก็เห็นว่ามีชายหนุ่มยืนยิ้มให้สองสาวเหมือนยืนคอยอยู่ หัวคิ้วของกมลขมวดเข้าหากัน...
“จะกลับกันเลยรึเปล่าครับ ผมจะเดินไปส่ง” ชายคนนั้นเอ่ยปากถาม
“กลับกันเลย” หมุ่ยนี้เป็นฝ่ายตอบ
“เชิญครับ” เขาหันมาส่งสายตาวาววับให้กับจันตา จันตาสบตาของเขาหรือเปล่ากมลก็ไม่อาจเห็นได้ แต่ทีท่าที่เดินไปด้วยกันระหว่าง หมุ่ยนี้สาวแก่เทื้อ จันตาสาวน้อย และเขาคนนั้น แม้เด็กทารกก็ดูออกว่า ชายหนุ่มสนใจใคร...
กมลถอนหายใจเบา ๆ พลางคิดว่า ประสงค์คิดถูกแล้วที่ไม่ยอมมาด้วยกัน...
ขนม ตาลที่ทำเมื่อตอนเที่ยงของเมื่อวาน เรณูทำให้เจ๊กเซ้ง กมล กับพวกคนงานกินกันเล่น ๆ เพราะว่าวัตถุดิบทั้งหมดนั้นกมลเป็นคนนำมาจากที่ร้าน เรณูสังเกตเห็นว่า กมลนั้นเป็นคน กินง่าย กินจุ และเป็นคนไม่หวงกิน เรณูบอกกับเขาว่าถ้าอยากจะกินอะไรก็ให้บอก และถ้าจะให้ดี อยากกินเร็วๆ ก็ต้องมีวัตถุดิบมาให้ด้วย เขาบอกว่า ถ้าจะทำก็ต้องทำเยอะๆ ทำเผื่อแผ่พวกคนงานด้วย ข้อนั้นเรณูที่เป็นคนไทย เติบโตมากับครอบครัวใหญ่นั้นเห็นด้วย
‘เผื่อแผ่’ กันไป แล้วสุดท้ายก็จะกลายเป็น ‘พรรคพวก’
ตอนนี้เรณูมั่นใจว่าเวลานี้ตนทำให้พวกคนงานในโรงสีนั้นรักใคร่ได้แล้ว...
นางย้อยพลาดเองที่ ‘เฉดหัว’ ให้เธอมาอยู่ที่นี่
ส่วน ขนมตะโก้เผือกกับขนมเปียกปูนใบเตยที่ทำออกขายในเช้าวันนี้ เรณูกวนใส่ถาดไว้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ...หญิงสาวทำอย่างละ ๒ ถาด ถาดหนึ่งตัดแบ่ง ๓๖ ชิ้น...ขายชิ้นละ ๑ สลึง...ถ้าขายหมด ๔ ถาดโดยไม่ได้แจกจ่ายใครเลย จะได้เงิน ๓๖ บาท เรณูตั้งใจไว้ว่าจะทำขนมหลาย ๆ อย่างสลับสับเปลี่ยนกันไปวันละสองอย่าง กันคนกินเบื่อ เบื้องต้นจะขายที่ตลาดเช้า ถ้าขายไม่หมดก็จะเดินเร่ขายตามบ้านเรือน ตามตรอกซอกซอย...แต่ถ้ายังขายไม่หมดอีก เรณูตั้งใจจะขอครูเข้าไปขายที่โรงเรียน...ขายเสร็จแล้วกลับมาบ้าน เพื่อเตรียมทำของไว้ขายในวันพรุ่งนี้อีก...แต่ถ้าขายดีเรณูก็กะไว้ว่าจะ เพิ่มเป็นอย่างละ ๓ ถาดต่อวัน กำรี้กำไรรายได้ไม่มากเท่ากับตอนที่ทำงานอยู่ในบาร์ แต่ถ้าเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ อนาคตมันต้องสวยงามกว่าอย่างแน่นอน
เรณู สูดลมหายใจเข้าปอดก่อนยกหาบขึ้นบ่า...บ่าที่เคยช่วยแม่หาบน้ำ หาบขนมไปขายกับแม่ตั้งแต่จำความได้...สองเท้าก้าวย่างออกจาก บ้านเพิงหมาแหงนตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง ตลอดทางมีเสียงไก่ขันรับกันเป็นระยะเป็นเพื่อนคลายความหวาดกลัว ใจนั้นเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าจะขายจนหมด...หวังว่าเมื่อปฐมกลับมาเห็นว่าเมียที่แม่ของเขาเห็นว่า ต่ำต้อยด้อยค่าดังเม็ดกรวด แท้จริงแล้วแข็งแกร่งยิ่งกว่าเพชร เหมาะสมมีค่าพอที่จะเป็นแม่ให้ลูกของเขา แม้ว่าจะได้เขามาครอบครองด้วยวิธีการสกปรกก็ตามที
ถึงตลาดเช้า เรณูก็เริ่มเปิดการขาย...เริ่มจากทักทายพวกแม่ค้าที่พากันมานั่งรอลูกค้า โอภาปราศรัยด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม...แน่นอนว่า แม้จะตกลงปลงใจจะยึดทำขนมถาดตัดเป็นชิ้น ๆ แล้วห่อด้วยใบตองเป็นอาชีพ แต่ตัวแม่ค้าที่เคยอยู่ ‘บาร์’ ใน ตาคลีมาก่อนนั้น ไม่ยอมลดเรื่องแต่งตัวแต่อย่างใด...หน้าขาวนวลด้วยแป้งตลับ ปากนั้นยังคงแดงสด เปลือกตามีสีสันอ่อน ๆ ขับใบหน้าให้สดใส คิ้วกันจนโก่งและเขียนจนโค้งอย่างมืออาชีพ อย่างเดียวที่เรณูไม่ได้ทำ คือ ติดขนตาปลอมออกมาด้วย
“งามจริงนะแม่คุณ...งามเสียจนขนมจืดหมดแล้ว” นี่แหละปากแม่ค้า
“แหมพี่ ถ้าแม่ค้าสวยพริ้งก็เป็นเครื่องค้ำประกันว่าขนมนั้นหวานหอมอย่างแน่นอน... ว่าไหม”
“แล้วทำมาแค่สี่ถาด มันจะพอขายรึ”
“ไม่ได้ทำวันเดียวนี่นา...วันนี้สี่ถาด พรุ่งนี้อาจจะทำแปดถาด มะรืนอาจจะก้าวกระโดดไปสิบหกถาดเลยก็ได้”
“ทำเยอะขนาดนั้น จะทำไหวรึ”
“ไหวไม่ไหว ก็ยังไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ วันนี้ อีสี่ถาดนี้ต้องไม่เหลือกลับบ้าน” แม้จะ ‘มั่นใจ’ ว่าอย่างไรก็ขายได้ แต่ด้วยเป็นวันแรกก็อด ‘หวั่นใจ’ ไม่ได้เช่นกัน
หลังจาก ลับฝีปากกันพอหอมปากหอมคอ พอให้หายง่วงซึม...ลูกค้าก็เริ่มทยอยเข้ามา...บ้างก็เข้ามาเพราะสะดุดตารูป ร่างหน้าตาของแม่ค้า บ้างก็เข้ามาเพราะเสียงเชื้อเชิญ และมีหลายเจ้าที่เข้ามาเพราะ ‘ชิม’ ของแจกให้ชิม ไปแล้วเกิด ‘ติดใจ’
“ห่อละสลึงเดียวเท่านั้นจ้า...รับประกันความสด สะอาด และความอร่อย”
“ถ้าซื้อยกถาดละ”
“จะซื้อไปทำอะไรยกถาดละพี่สาว”
“เผื่อทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงคน จะได้ไม่ต้องทำเอง”
ข้อนี้เรณูลืมคิดไป...
“ก็พอลดให้ได้จ้า แต่ถ้าจะเอาถาดกลับไปบ้าน ก็ต้องมัดจำค่าถาดนะ แล้วตอนสั่งให้ทำต้องมัดจำค่าขนมไว้ด้วย”
พอฟ้าสาง...พระภิกษุก็เริ่มออกบิณฑบาต จำนวนพระนั้นมีมากมาย หากจะใส่หมดทุกองค์...เห็นทีทุนหายกำไรหด...สุดท้ายเรณูก็เลือกหยิบส่วนที่ จะทำให้ได้กำไรออกมาถาดละห่อ สี่ถาดก็สี่ห่อ ยกมือที่มีขนมขึ้นจบ พร้อมอธิษฐาน ขอให้กุศลผลบุญที่ทำในวันนี้ ส่งผลให้ตนเองนั้นร่ำรวย สุขสบาย ตราบจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ...
ร้านของนางย้อยนั้นเปิดตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสางและจะเริ่มเก็บร้าน ปิดร้าน ราว ๆ ห้าโมงเย็น... โดยคนที่ลุกมาเปิดร้านเป็นเจ๊กเซ้งหรือลูกชายที่อยู่ในบ้าน ส่วนนางย้อย พอตื่นแล้วก็รีบหุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่ปิ่นโตให้ลูกให้ผัวถือออกไปกินที่โรงสี...แต่ถ้าวันไหนนางย้อยไม่ อยู่บ้าน ลูกผัวก็ฝากท้องไว้กับร้านอาหารที่มีอยู่รอบตลาด...รึถ้าใครอยากกินอะไรเป็น พิเศษก็มาขอเงินไปซื้อกิน...แต่ว่านางย้อยก็ไม่ได้ให้เงินลูกชายที่อยู่ใน บ้านใช้เป็นรายเดือนเหมือนลูกคนเล็กที่อาศัยอยู่บ้าน ‘อาแปะ’ ที่ปากน้ำโพเพื่อเรียนหนังสือ
วันนี้ ช่วงที่รอให้ข้าวเดือด นางย้อยก็เดินออกมาที่หน้าร้าน...ประสงค์นั้นเฝ้าเก๊ะพร้อมกับจัดร้าน รอบุญปลูกกับป้อมที่จะพากันมาประมาณเจ็ดโมงครึ่งเกือบแปดโมง...ส่วนกมลที่ไปดู หนังกลับมาจนดึกนั้นยังไม่ตื่น นางย้อยก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะงานของเขานั้นอยู่ที่โรงสี
“อ้าว ซ้อ...วันนี้ทำอะไรกิน”
“ว่าจะผัดถั่วงอก แกงจืดวุ้นเส้น แล้วก็แกงพะแนงหมูอีกสักอย่าง”
เมื่อมีเงิน ย่อมกินดีอยู่ดี เพื่อให้มีเรี่ยวแรงทำงานหาเงิน...
นาง ย้อยนั้นชอบกินอาหารไทยมันๆ เผ็ด ๆ พริกแกงก็ใส่ปลาร้า ชอบกินขนมหวาน ชอบกินผลไม้รสหวาน ส่วนเจ๊กเซ้งนั้นกินรสจืด...ถ้ารู้ว่ากับข้าวถ้วยไหนมีปลาร้าแกก็จะไม่กิน แกชอบกินพวกเต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว กินซอสถั่วเหลือง แล้วแกก็กินน้ำพริกผักจิ้มไม่เป็น...ลูกสี่คนนั้นกินได้ทุกอย่างที่วางอยู่ บนโต๊ะ...อาหารที่บ้านจึงต้องทำหลากหลายชนิดเพื่อเอาใจทุกคนที่ถือเป็น เรี่ยวแรงของบ้าน...
“แล้วนี่ นึกอย่างไร ให้สะใภ้ใหญ่หาบขนมขายละแม่ย้อย”
พอได้ยินคู่สนทนาถามความ ‘ในใจ’ เหมือนไม่รู้ความ ‘ในบ้าน’ นางย้อยก็รู้สึกเหมือนโดนทุบเข้าที่หน้าอก เพราะคนในตลาดชุมแสงนั้นรู้ว่าบ้านตระกูลแบ้มีฐานะความเป็นอยู่อย่างไร สะใภ้ของตระกูลแบ้นั้นจะต้องประพฤติตัวเช่นไรถึงจะคู่ควรเหมาะสม...
เป็นจริงอย่างที่กมลว่าไว้ บางทีการด่าว่าเรณูก็เหมือนตบหน้าตัวเองกลางตลาด เหมือนสาวไส้ให้กากิน...เรื่องที่เกิดขึ้นนี้มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะคนในบ้าน แต่เป็นเรื่องที่คนนอกบ้านมองเห็น อยากรู้ความเป็นไปและเก็บเอาไปซุบซิบ นินทา...
จะตอบว่าอย่างไรดี ถึงจะไม่ทำให้ตัวเองนั้น ไม่กลายเป็นแม่ผัวใจร้ายในสายตาของคนทั่ว ๆ ไป
“ก็ เขา อยากทำอย่างนั้น” นางย้อยตอบไม่เต็มเสียง...เหมือนตัดบท แต่คนสนิทกัน คุ้นกันยังไม่ยอมเลิก...ยังอยากรู้
“แล้วทำไมไม่ให้เขามาช่วยกันค้าขายอยู่ที่นี่ละ...ขายดีขนาดนี้ ให้ออกไปหาบไปเร่อย่างตะก่อนทำไมกัน ร้านรวงก็มี”
“อยากให้เขาฝึกตัวเองก่อน อีเป็นลูกคนไทย ถ้าให้เข้ามายุ่งในร้านเลย จะสบายเกินไป...ฉันคิดอย่างนี้” นางย้อยรู้สึกโล่งใจที่หาทางออกให้คำถามนั้นได้...
“อย่างนั้นหรอกรึ...เข้าใจคิดดีนะ”
นางย้อยค่อย ๆ ระบายลมหายใจออกมา...
“อี ขายของเก่งนะ ตะกี้เดินผ่าน อีเรียกลูกค้าซื้อเสียงหวานจ๋อยเลย ขายจวนจะหมดแล้ว...มือไม้เสื้อผ้าหน้าตาของอีเอี่ยมดี ขนมก็มีผ้าขาวบางปิดด้วย อาคนนี้ ต่อไปอีจะร่ำรวย เป็นเถ้าแก่เนี้ยเพราะขนมหวาน”
หลัง จากคู่สนทนาจ่ายเงินค่าของและเดินกลับร้านของตนไปแล้ว นางย้อยก็มองไปทางตลาดสดด้วยสีหน้าหนักใจ...เพราะถ้าแต่งพิไลเข้าบ้าน แล้วพิไลเข้ามาช่วยขายของอยู่ในร้านนี้ทันที ก็จะมีข้อเปรียบเทียบให้เห็นกันระหว่างสะใภ้คนโตกับสะใภ้รอง นางจะตอบคำถาม แก้เสียงซุบซิบนินทาว่าอย่างไร...หัวคิ้วของนางย้อย ขมวดเข้าหากัน
เจ็ดโมงกว่า ๆ ขนมสี่ถาดก็หมดเกลี้ยง...ส่งผลให้แม่ค้ายิ้มปากบาน...ยิ้มของเรณูนั้นเป็น ยิ้มทั้งปากและตา เป็นยิ้มเปิดเผย...สายตาที่มองคนนั้น จะมองตรง ๆ มองอย่างไม่กลัวเกรง ไม่เขินอาย มองอย่างคนเจ้าชู้มอง อาการทางใบหน้าเมื่อเป็นดังนี้ เพื่อน ๆ ในบาร์จึงสรุปกันว่า อีเรณูมัน ‘สวยพิศ’ คืออยู่ด้วยนาน ๆ คุยด้วยแล้วจะ ‘ติดใจ’ หลงใหลใน ‘เสน่ห์’ อย่างไม่รู้ตัว...
“เรณู พรุ่งนี้เธอก็ทำมาเพิ่มอีกสักหน่อย” แม่ค้าขายข้าวเหนียวสังขยาเจ้าประจำที่ยังขายของตนไม่หมดแนะนำ
“ทำมาเยอะ ถ้าขายไม่หมด ฉันก็ต้องหาบไปทั่วตลาดนะซิ ทำน้อย ๆ ให้คนแย่งกันซื้อแบบนี้น่าจะดีกว่า”
ก่อนหน้านั้น มีคนมาซื้อ มาคุยด้วยแล้วถามไถ่ว่ามาจากที่ไหน บางคนพอรู้ว่าเป็น ‘สะใภ้’ ของนางย้อย เจ้าของร้านค้าส่งใหญ่โต ก็ถาม ตรง ๆ ว่า ‘เถ้าแก่ย้อย แม่ผัวเธอ นึกอย่างไร ให้เธอมาขายขนมหาบเร่’ ประโยค นี้ เรณูตอบไม่ได้ในทันที...หญิงสาวได้แต่ยิ้ม...แล้วเปลี่ยนเรื่องคุย โดยใจก็คิดว่า ตอนนี้ เธอไม่ใช่ เรณู ลูกแม่เรไร ผู้มีพี่น้องเป็นโขยงอีกแล้ว...จะทำอะไรก็ต้องนึกถึงหน้าแม่ผัวด้วย... แต่อีกใจก็ค้านว่า ถึงจะหาบเร่กระเดียดกระจาดไปทั่ว แต่มันก็เป็นอาชีพสุจริต...ใยจะต้องสนใจความรู้สึกของใคร ในเมื่อนางย้อยก็ไม่ได้สนใจความรู้สึกของเธอเลยสักนิด...ทำได้ กระทั่งเฉดหัวออกจากบ้านหลังงามใกล้ ๆ ตลาดไปอยู่บ้านซอมซ่อติดเล้าหมู ต้องทนดมขี้หมูทั้งวันทั้งคืน คงหวังให้เธอทนไม่ได้ แล้วเก็บผ้ากลับไป...
“แล้วพรุ่งนี้จะทำขนมอะไร”
“ว่าจะเปลี่ยนเป็นเปียกปูน...แล้วก็ทำตะโก้สาคู”
“ทำขนมชั้น ขนมถั่วกวน ขนมปิ้ง ขนมหม้อแกงเป็นไหม”
“พอทำได้ แต่หม้อแกง ขนมปิ้งมันยุ่งยากกว่า...แต่ถ้ามีคนอยากกินก็จะลองทำดู”
หลังยกหาบเปล่าขึ้นบ่า เรณูก็คิดว่า ควรจะเดินไปซื้อของที่ร้านไหน...ถ้าไปร้านอื่น...มันก็จะข้ามหน้าข้ามตาแม่ผัวเธอซะอีก แต่ถ้าไปร้านนั้น คงต้องได้ปะทะคารมกันอีกแน่ ๆ ... เมื่อแม่ห้ามเรียก ‘ซ้อ’ ห้ามเรียก ‘เจ๊’ กมลจึงต้องเรียกเรณูว่า ‘พี่’
“พี่เรณูขายหมดไหม” กมลร้องทักเมื่อเดินมาพบว่าเรณูกำลังยกหาบขึ้นบ่า
“หมด หมดเกลี้ยงเลย”
“อุตส่าห์จะออกมาอุดหนุนสักสองห่อ เอาฤกษ์เอาชัย”
“ที่บ้านยังมี เทใส่ถาดเต็มแล้ว ก็ยังเหลือ ก็เลยเทใส่จานไว้ให้ซา ให้เตี่ยกิน”
กมลยิ้มกริ่มขึ้นมาทันที...
“แล้วนี่จะไปไหน จะกลับบ้านเลยรึเปล่า”
“ว่าจะไปซื้อแป้งสาคู น้ำตาล ซื้อของไว้เตรียมทำพรุ่งนี้ จะไปซื้อที่ไหนดี”
“ก็ที่ร้านแม่ผมซิ”
เรณูทำหน้าเมื่อย...
“ไปเถอะ...ยิ่งหนี มันก็ยิ่งห่าง สู้เห็นกันทุกวัน คุยกันแล้ว อาจจะทะเลาะกัน แต่บางทีมันก็จะทำให้คุ้นกันขึ้นมาก็ได้”
“คมกริบเลย...คิดได้เองรึเปล่า”
“ผมไม่ใช่หนอนหนังสือแบบเฮียตงเขาหรอก...แต่อาจจะฟังมาจากวิทยุหรือจำจาก หนังมาก็ได้นะ...ไป ๆ พี่...จะซื้ออะไรก็ซื้อที่บ้านนั่นแหละ...เข้าถ้ำเสือไปเลย...สนุกดี” ว่าแล้วเขาก็ยิ้มหวานให้กำลังใจ...แต่เขาไม่กลับไปด้วย เพราะต้องการไปกินกาแฟร้อนกับไข่ลวกที่ร้านหัวมุม
พอเรณูหาบกระจาดไปถึงที่ร้าน ก็พบน้องชายอีกคนของปฐมกำลังง่วนจัดของอยู่ ระหว่างประสงค์กับเรณูยังไม่มีใครแนะนำให้ทั้งสองรู้จักกัน ประสงค์ก็ไม่รู้ว่าเรณูเป็นใคร...
“รับอะไรดี” เขาหันมาถาม...
“แป้งสาคูเม็ดเล็กมีไหม”
“มี เอาเท่าไหร่”
หลังเรณูบอกจำนวนที่ต้องการไปแล้ว พ่อค้าก็กุลีกุจอไปตักใส่ถุงกระดาษขึ้นตราชั่ง... ช่วงนั้นเรณูก็มองเข้าไปในบ้านไม่พบเงาของนางย้อยกับเจ๊กเซ้ง...
“เอาอะไรอีกไหม”
“น้ำตาลทรายสองโล น้ำตาลปี๊บหนึ่งโล แป้งข้าวจ้าวอีกหนึ่งโล แป้งมันครึ่งโล เกลือถุงเล็กถุงหนึ่ง แล้วมีปูนแดงมีไหม เอาสลึงนึง”
เขายิ้ม เมื่อลูกค้าสาวหน้าตาแฉล้มสั่งของยาวเหยียดรวดเดียว...แล้วพอเห็นหาบที่ วางอยู่ หัวคิ้วของเขาก็ขมวดเข้าหากัน...
“เอ่อใช่...ซ้อเรณูรึเปล่า”
“ใช่...ใช่จ้ะ” ริมฝีปากของเรณูแย้ม ดวงตาเป็นประกายฉ่ำเพราะรู้สึกดีใจที่ได้ยินคำว่า ‘ซ้อ’
“เป็นไงขนมขายดีไหม” ประสงค์กับกมลนั้นนอนห้องเดียวกัน พออยู่กันตามลำพัง กมลก็บอกเล่าเรื่องปฐมกับเรณูให้ฟังอย่างละเอียด...
“ขายดีเกินคาด...พรุ่งนี้ว่าจะทำเพิ่มสักอย่างละสามถาด...ทำมากกว่านี้กลัว ขายไม่หมด ทุนหายกำไรหด”
“ผมเอาใจช่วยนะซ้อ” บอกแล้วเขาก็หันไปตักของใส่ถุงให้...
“แล้ว เอ่อ...รู้ได้ไงว่า เป็นพี่”
“ก็...เห็นหาบ ถึงนึกขึ้นได้ แล้ว ซา มันก็บอกเล่าเรื่องของพี่ให้ฟังคร่าว ๆ” เขาตอบพลางชั่งตวง...
“แล้วนี่ แม่ไปไหน” เรณูอดจะถามถึงนางย้อยไม่ได้...เพราะเจ็ดโมงเกือบแปดโมงเช้า จะว่าสายแล้วก็ได้
“ไปปากน้ำโพกับเตี่ย เพิ่งเดินไปสถานีรถไฟเมื่อตะกี้นี้เอง คล้อยหลังไป ซ้อก็มา”
“ไปทำอะไรกัน” เรณูซักเพื่อจะหยั่งเชิงว่า น้องของปฐมคนนี้ มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร...แต่เบื้องต้นเรณูก็รู้สึกชื่นใจที่เขาแสดงความ เป็นมิตร ยกย่องนับถือ ให้เกียรติตน
“ก็ไปซื้อของมาเข้าร้าน แล้วก็ไปส่งข่าวญาติ ๆ ทางโน้นเรื่องงานแต่งของผม ไปเยี่ยมอาสี่ด้วย...พอออกจากบ้านแล้วก็มีธุระยาวเป็นหางว่าว”
“เสียดาย วันนี้ขายดี ไม่งั้น จะเอาขนมมาให้เธอชิม”
“ผมได้กินแล้ว ทั้งสองวันที่อาซามันเอามานั่นแหละ อร่อยดีซ้อ แต่อันใหญ่ไปนิดนะ ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบกินของหวาน...อ้อซ้อ ผมรับนิตยสารบางกอก สกุลไทย ศรีสยาม ...ในนั้นมีคอลัมน์ขนมอาหารไทย ซ้อจะเอาไปดูบ้างไหม”
“น่าสนเหมือนกัน”
“เดี๋ยวว่าง ๆ ผมจะตัดคอลัมน์พวกนี้ฝากซาไปให้นะ...เผื่อจะเจอช่องทางทำอะไรใหม่ ๆ”
เรณูรู้สึกว่าหัวใจของตัวเองนั้นชุ่มชื่นอย่างประหลาด...กระทั่งตอนที่เขา คิดเงินเสร็จ โดยการเขียนลงกระดาษ บอกราคาไว้ด้านท้ายบรรทัด...เขาก็บอกว่า “เดี๋ยวผมให้ไปในราคาทุนนะซ้อ”
“ของซื้อของขาย คิดมาเหอะ พี่เข้าใจ”
พอดีกับที่กมลเดินกลับมา... “อ้าว...ยังอยู่รึ...นึกว่ากลับไปแล้ว”
ตอนนั้นของที่เรณูซื้อ ลงไปอยู่ในกระจาดทั้งสองข้างแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เอากระด้งปิดไว้...กมลจึงมองเห็น
“กำลังคิดเงิน.”
“เฮีย...แถมให้พี่เขาบ้างหรือเปล่า”
“ให้ไปในราคาทุน”
“ม้าไปปากน้ำโพหรือยัง” ถามแล้วกมลก็มองเข้าไปในบ้าน
“ไปแล้ว ไปก่อนซ้อเขาจะมา”
“วิเศษเลย” ว่าแล้วกมลก็รีบเดินไปตักน้ำตาล ตักแป้ง ใส่ถุงกระดาษให้มากกว่าที่เรณูซื้อเสียอีก
“เอานี่ไปด้วยนะพี่...ให้ไปฟรี ๆ เลย ไม่เกี่ยวกับที่ซื้อ...อย่าคิดอะไรมาก...ไม่ได้ให้เปล่าหรอก แค่พี่ทำเพิ่มจากส่วนทำขายแล้วก็เทใส่ถาดใส่จาน แบ่งไว้ให้ผมให้เตี่ยให้คนงานกินกันบ้างเท่านั้น...ถือว่าช่วย ๆ กันนะ”
พอได้ยินดังนั้น เรณูก็ยิ้มออกมาพร้อมกับมีน้ำตาคลอลูกนัยน์ตาเพราะซึ้งใจว่า ‘มิตรกระจิตมิตรกะใจ’ ที่หยิบยื่นให้พวกเขาก่อน มันไม่ได้สูญเปล่า...
****************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #6 on: 29 February 2020, 16:48:59 » |
|
ตอนที่ 7 : 500 ไมล์
๗ “หาบอะไรกลับไปละแม่” หมุ่ยนี้ร้องทักแม่ค้าขายขนมหวานที่ตนเพิ่งช่วยซื้อมาเมื่อตอนไปเดินตลาดเช้า ซึ่งเป็นกิจวัตรสร้างสุขประจำวันอีกอย่างหนึ่งของหมุ่ยนี้
เรณูหยุดก้าวขา ยิ้มหวานให้...แล้วตอบด้วยเสียงแช่มชื่นว่า “แป้งกับน้ำตาลจ้ะเจ๊”
“ขายดีใช่ไหม”
“ขายหมดเกลี้ยงเลยจ้ะ เลยมีแรงทำต่อ”
“แต่ขนมเธออร่อยจริง ๆ ...แม่แจ้ ยังชมเลยว่า ฝีมือใช้ได้”
พอหมุ่ยนี้บอกอย่างนั้น เรณูก็ยิ้มแล้วค้อมศีรษะเป็นเชิงขอบคุณให้กับแม่ของเจ้าของร้านสังฆภัณฑ์ ซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้หัวโล้นอยู่ที่หน้าร้าน
“พรุ่งนี้จะทำขนมแบบเดิมหรือเปล่า”
“ว่าจะทำเปียกปูน กับตะโก้สาคู”
“เก็บไว้ให้อย่างละ ๖ ห่อแล้วกันนะ ตอนเช้าถ้าแจ้ไม่ไปเอาเองก็จะให้เด็กไปเอามาใส่บาตรพระ”
“จ้ะ...ขอบคุณมากนะจ๊ะ...ฉันไปก่อนนะจ๊ะ”
ตอนที่เรณูเอ่ยลา...จันตาที่เดินไปซื้อสมุนไพรจีนมาตุ๋นไก่ ที่หมุ่ยนี้ซื้อมาจากตลาดสด เดินกลับมาพอดี...เรณูยิ้มให้ จันตายิ้มบาง ๆ ตอบกลับ...พอเรณูคล้อยหลัง จันตามาถึง...หมุ่ยนี้ก็บอกกับมารดาที่มีหนังสือพิมพ์จีนอยู่ในมือว่า “คนนี้แหละม้า สะใภ้ใหญ่ของพี่ย้อย”
“อ้าว แล้ว ทำไม อีถึงต้องมาหาบขนมขาย ทำไม ไม่ใช่ช่วยกันอยู่ที่ร้าน แล้วนี่เขาหาบของไปไหน”
“ได้ยินมาว่า พี่ย้อยเขาไม่ชอบอี เพราะตี๋ใหญ่มันไปได้อีมาจากตาคลี พี่ย้อยแกรังเกียจว่าอีเคยทำงานอยู่ในบาร์ คลุกคลีอยู่กับพวกทหารฝรั่ง ก็เลยให้ไปอยู่บ้านที่หลังโรงสี ผัวอีกลับไปเป็นทหารเกณฑ์เหมือนเดิม อีอยู่ทางนี้อีก็ทำขนมขาย วันนี้ทำวันแรก อั๊วฟังเรื่องของอีแล้ว อยากอุดหนุนให้กำลังใจกัน...ก็เลยซื้อมา ๔ ห่อ...แต่ถ้าม้าว่าอร่อย พรุ่งนี้อั๊วก็จะช่วยอีซื้อใส่บาตรพระเพิ่มอีกหน่อยแล้วกัน”
อาม่ามองจันตาที่มองตามหลังผู้หญิงคนนั้นไป พอลูกสาวเดินเข้าไปหลังร้าน อาม่าก็บอกว่า
“จันตา วันหน้าอาม่าไม่อยู่แล้ว ถ้าลื้อไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ลื้อก็ทำขนมที่อาม่าสอนลื้อไว้ ออกขายนะ ทำเหมือนกับที่สะใภ้อาย้อยอีทำนี่แหละ”
“อาม่า” จันตารู้สึกใจหาย...เพราะช่วงหลัง ๆ อาม่าดูจะเป็นห่วงเป็นใย และพูดเป็นเชิงสั่งเสียอยู่บ่อยครั้ง...
“อาม่าแก่แล้ว...ลูกหลานของอาม่า อาม่าไม่ห่วงใครแล้ว ตอนนี้ ห่วงเดียวของอาม่าก็คือลื้อ”
จันตาน้ำตาหยดติ๋งลงมา แล้วหญิงสาวก็ทรุดตัวลงกอดขาอาม่าซบหน้าแล้วร้องไห้...
“อาม่าอย่าเพิ่งไปไหน อาม่ายังแข็งแรง ยังต้องอยู่กับแจ้ กับหนู ไปอีกนาน อาม่าอย่าพูดแบบนี้อีกนะ หนูใจคอไม่ดี”
มือเหี่ยวย่นลูบหัวจันตาเบา ๆ จันตาสัมผัสถึงความรักจากคนที่ไม่ใช่พ่อแม่แต่ให้ความรักความอาทรกับตนก็ ยิ่งน้ำตาไหลออกมาอย่างพร่างพรู...พอหมุ่ยนี้เดินกลับมา...นางก็บอกว่า “เป็นอะไรกัน ทำไมร้องห่มร้องไห้”
‘วรรณา’ สู้ อุตส่าห์นั่งรถไฟจากสถานีบึงบอระเพ็ดไปที่อำเภอตาคลี เพื่อไปส่งข่าวเรื่องแม่ป่วยหนักให้พี่สาวรับรู้ แต่พอไปถึง คนในบาร์ก็บอกว่า เรณูมาอยู่บ้านผัวซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ยังไม่ปลดประจำการณ์ที่ตลาดชุมแสงเสียแล้ว
พอรู้ว่าเรณูย้ายไปอยู่ที่ไหน วันรุ่งขึ้น วรรณาก็นั่งรถไฟจากตาคลี ‘ขึ้นเหนือ’ ซึ่งจะต้องผ่านสถานีปากน้ำโพที่ตัวเองเพิ่งโดยสาร ‘ล่องใต้’ มา เมื่อวาน...พอรถไฟมาถึงสถานีปากน้ำโพ ซึ่งอยู่ฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน เยื้อง ๆ กับตลาดปากน้ำโพที่อยู่ฝั่งทิศตะวันตกของต้นแม่น้ำเจ้าพระยา วรรณาก็ถอนหายใจเบา ๆ เพราะถ้าลงที่สถานีนี้ เธอก็สามารถนั่งเรือข้ามฟากกลับเข้าโรงเรียนสอนตัดผ้า ที่เธอมาอยู่อาศัยหาความรู้และใช้แรงงานแลกกับที่พักและอาหารสามมื้อไปด้วย
ขณะที่มองของกินในถาด ในตะกร้า ในมือของพ่อค้าแม่ค้าที่ชูกันสลอนผ่านหน้าต่างยั่วน้ำลายช่วงที่รถหยุด รับ-ส่งผู้โดยสาร วรรณาก็ต้องสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงของผู้ชาย...ซึ่งนั่งลงข้าง ๆ แล้วเอียงหน้ามาถาม จนปากจะถึงใบหน้าของเธอ...“ที่ว่างใช่ไหม นั่งด้วยนะ”
วรรณาหันมามอง สบตากรุ้มกริ่มของเขา แล้วก็ขยับหนีไปจนชิดหน้าต่าง...
“จะไปไหนเหรอ”
วรรณาหันมาค้อนให้ หน้าบึ้ง แล้วก็หันไปมองด้านนอกต่อ...
“เอ้า...ถามก็ไม่ตอบ...ไม่ได้เอาปากมาด้วยหรือไง”
“ไปธุระ” วรรณาตอบไปด้วยเสียงห้วน ๆ
“ธุระอะไร ที่ไหน”
วรรณานั่งนิ่ง...กระทั่งรถไฟได้เคลื่อนออกจากสถานี...เสียงหวูดรถไฟดังพร้อม กับเสียงล้อเหล็กบดกับรางที่ทอดยาว...คนที่นั่งตรงกันข้าม เป็นชายหญิงวัยกลางคนขึ้นมาจากสถานีลพบุรี จุดหมายที่ได้คุยกันเมื่อก่อนหน้า คือทั้งคู่จะไปเยี่ยมญาติที่พิษณุโลก...วรรณาไม่ใช่คนช่างซักช่างถาม ข้อสนทนาระหว่างนั่งรถไฟมานานนับชั่วโมงจึงมีแค่นั้น...กระทั่งมีชายหนุ่ม ขึ้นมานั่งข้าง ๆ แทน ป้าคนหนึ่งซึ่งขึ้นมาจากสถานีเขาทอง แล้วลงจากรถเมื่อถึงสถานีปากน้ำโพ...
เขาเห็นวรรณามองออกไปนอกหนาต่าง เขาก็ก้มตัวมองออกไปบ้าง... “มองหาอะไร”
วรรณาหันมาค้อนให้เขา กระเถิบหนีไปจนไม่มีที่ให้ขยับ... เขายิ้มให้ตาเป็นประกาย ฟันของเขาเรียงเสมอกันสวยงาม หน้าตาของเขาดีทีเดียว แต่วรรณารู้ว่ามันเป็นยิ้มที่แฝงไว้ด้วยเล่ห์กลของผู้ชายเจ้าชู้ไก่แจ้...
“จริง ๆ เราก็รู้จักกัน ทำไมเรา ถึงไม่คุยกันละ มีเรื่องอะไรไม่สบายใจรึเปล่า”
“แม่ป่วย ไม่มีเงินรักษา” วรรณาตัดบทด้วยเสียงห้วน ๆ คิดว่าเขาจะไม่ซักถามอีก
“ป่วยเป็นโรคอะไร”
“เป็นหมอรึไง”
“ไม่ได้เป็น...ตัวเองก็รู้ว่าเราเรียนช่างยนต์ ให้ซ่อมรถ ก็พอซ่อมได้นะ”
“ไม่ได้เป็นหมอ ก็ไม่ต้องซัก...นั่งเงียบ ๆ ไป อยากอยู่เงียบ ๆ”
“ดุชะมัด...วัน ๆ ยิ้มบ้างหรือเปล่า” เขายังไม่เลิกเซ้าซี้...วรรณาถอนหายใจอย่างแรง...ป้าคนที่นั่งอยู่ตรงกันข้าม คงจะสังเกตเห็นหนุ่มสาวจีบกันแล้วเขินแทน จึงยิ้มบาง ๆ ใบหน้าของวรรณาเลยยิ่งแดงซ่านขึ้นมา
“ยังไม่ได้บอกเลยว่าแม่ป่วยเป็นอะไร”
“ไม่รู้...แต่อาการไม่ดีหรอก”
“อ้าว...แล้วไม่ได้พาไปหาหมอรึ”
“พาไป หมอก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ให้แต่ยาแก้ปวด แล้วอาการก็ทรุด ลง” วรรณาเว้นประโยคที่ว่า ‘จนต้องเรียกรวมลูกหลาน’
“แล้วนี่จะไปไหน”
ตอนที่เขาถาม รถไฟเคลื่อนขบวนมาถึงถิ่นฐานบ้านช่องของตน...วรรณามองไปทางบ้านของตนที่ตอนนี้ พี่ ๆ ของเธอมาจนครบหมดแล้ว ขาดก็แต่พี่เรณูคนเดียว แล้วถอนหายใจออกมา... “ไปชุมแสง”
“ไปที่เดียวกัน เราก็ไปชุมแสง...เธอไปทำอะไรที่นั่น”
“แล้วเอ่อ...นาย ไปทำอะไรที่นั่น” ด้วยเพียงแต่เคยเห็นกัน...ไม่เคยคุยกัน วรรณาจึงไม่รู้ว่าจะใช้สรรพนามเรียกเขาอย่างไรถึงจะเหมาะสมกับฐานะ ‘ลูกหลานตระกูลแบ้’
“บ้านเราอยู่ที่นั่น เราคนชุมแสง”
วรรณาแทบไม่เชื่อหูตัวเอง เพราะตั้งแต่แม่พามาฝากให้อยู่ที่โรงเรียนสอนตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นลูกมือเป็นเด็กรับใช้ในร้าน ตั้งแต่จบ ป.๗ เธอก็เห็นเขาขี่รถมอเตอร์ไซค์ ถีบจักรยาน เดินอยู่ในตลาดปากน้ำโพแล้ว...เขาเป็นคนชุมแสงหรอกรึ... รถไฟ จอดรอสับหลีกที่สถานีทับกฤชเป็นเวลานานมาก...พ่อค้าแม่ค้าจึงฉวยโอกาสนั้น เดินขึ้นตู้รถไฟมาขายของ...เริ่มต้นที่ฝักบัว กับรากบัวเชื่อมมันอาจจะเป็นของแปลก สำหรับคนต่างถิ่น แต่สำหรับวรรณาที่เติบโตมากับบึงบอระเพ็ด...หญิงสาวจึงเมินหน้าหนี...ถัดมา เป็นแม่ค้าขายข้าวเหนียวไก่ย่าง กลิ่นของมันหอมยั่วน้ำลายจนวรรณาต้องเมินหน้าหนีอีกเช่นกันด้วยรู้ดีว่าเงิน ในกระเป๋าของตนมีอย่างจำกัด...หญิงสาวมองไปด้านนอกไม่สบตาคนขายแต่กระนั้น กลิ่นของนกระจาบทอดที่ร้อยตอกมาเป็นพวง กุ้งทอดเป็นแพอยู่ในกระทง รวมถึงปลาเห็ดร้อยเป็นพวงที่พ่อค้าแม่ค้า ดาหน้ากันมาร้องเรียกให้ช่วยซื้อ นั้นก็ทำให้วรรณาต้องน้ำลายลงคอครั้งแล้วครั้งเล่า...
กระทั่ง...เขาใช้ข้อศอกของเขากระทุ้งแล้วบอกว่า “เอาโอเลี้ยงนะ เราเลี้ยงเอง”
“เกรงใจ” แม้จะรู้สึกกระหาย แต่วรรณาก็ต้องอดทน...เพราะอีกแค่สองสถานีก็จะถึงจุดหมายแล้ว
“เอาโอเลี้ยงสอง” เขาสั่ง
พ่อค้าเร่ส่งกระป๋องนมเปิดฝาเจาะรูร้อยด้วยเชือกกล้วยซึ่งบรรจุน้ำแข็งและโอเลี้ยงพร้อมหลอดส่งมาให้...เขารับมาถือไว้ก่อนจะส่งเหรียญบาทสองเหรียญไปให้ พ่อค้า แล้วยื่นกระป๋องใส่โอเลี้ยงให้วรรณา หญิงสาวชักสีหน้าว่าเกรงใจ...
“รับไปเหอะ...แด่มิตรภาพ”
วรรณาจำต้องรับโอเลี้ยงจากมือของเขามา แต่ก็ยังไม่ได้กินในทันที...สายตาของวรรณานั้นเหม่อมองไปยังข้างทาง มองไปยังบ้านที่รถไฟวิ่งเลยมาแล้ว ป่านนี้อาการของแม่จะเป็นอย่างไรบ้าง...ถ้าแม่ตาย ‘ไอ้ป๊อก’ มัน จะอยู่กับใคร? ให้ไปอยู่กับพ่อมัน...พี่สายทองก็คงไม่ยอม...จะให้อยู่กับพี่สะใภ้ในบ้าน หลังเดิม นางก็เป็นคนเค็มจัด แถมมีลูกเป็นโขยง...ไอ้ป๊อกมันคงไม่มีความสุข...หมดบุญแม่เสียแล้ว บ้านหลังนั้นก็คงจะไม่ใช่บ้านของเธออีกต่อไป...คนที่ลำบากสุดก็คงจะเป็น ไอ้ป๊อกเพราะมันเพิ่งจะอยู่แค่ชั้น ป. ๑
“กินซะที...น้ำแข็งละลายหมดแล้ว” คนข้าง ๆ ยังไม่เลิกเซ้าซี้...วรรณาได้ยินดังนั้นจึงจัดการน้ำโอเลี้ยงจนเกลี้ยง เหลือไว้แต่น้ำแข็งที่รอละลาย...
ลงจากรถไฟมาแล้ว...วรรณาก็เดินไปหารถสามล้อถีบที่จอดอยู่...ส่วนเขานั้นยัง คุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ ...พอวรรณานั่งรถสามล้อไปแล้ว เขาก็ยิ้มออกมา...เพราะร้านที่วรรณาถามเขาระหว่างอยู่บนรถไฟ ก็คือบ้านของเขาเอง...และวันนี้ที่เขากลับมาบ้านเพราะ ‘อาอึ้ม’ หรือ ป้าสะใภ้ของเขา ที่เขาอาศัยอยู่ด้วย ให้มาแจ้งข่าวกับแม่ เรื่องเช่าซื้อตึกแถวที่เพิ่งขึ้นใหม่ เผื่อเก็บไว้ทำการค้า หรือเก็บไว้ปล่อยให้คนอื่นเช่าไปก่อน...
พอรถสามล้อถีบที่มีวรรณานั่งโดยสารเคลื่อนจากไป เขาก็ขึ้นรถสามล้ออีกคัน...พอใกล้ ๆ ถึงบ้าน เขาก็ให้รถจอด ลงจากรถแล้วเดินเข้าไป บุญปลูกเห็นเขาก็อุทานออกมา...วรรณาที่ยืนอยู่กับประสงค์และบุญปลูกหันมาหา เขา...
“อ้าว มาอย่างไร” ประสงค์ทักน้องชายคนเล็ก
“อึ้ม ให้มาส่งข่าวให้ม้ารู้เรื่องตึกสร้างใหม่”
วรรณาหน้ามุ่ย รู้สึกเคืองที่เขาไม่ยอมบอกกับเธอว่าเขาเป็นลูกชายร้านนี้...หลังจากที่เธอบอก ชื่อร้านไปแล้ว...เขาเห็นดังนั้นจึงอมยิ้มที่ทำให้วรรณาประหลาดใจได้...แต่ วรรณาก็เมินหน้าหนีสายตาของเขา...
“ม้า กับ เตี่ย ก็นั่งรถไฟไปปากน้ำโพ เมื่อเช้า จะไปส่งข่าวให้อาม่า กับพวกอาแปะ รู้เรื่องเฮีย จะแต่งงาน”
“แต่งงาน ! ...แต่งกับใคร เมื่อไหร่”
“เรื่องมันยาว...เดี๋ยวค่อยเล่า” เพราะมีวรรณา ผู้ซึ่งมาแจ้งว่าเป็นน้องสาวของเรณูอยู่ด้วย ประสงค์จึงยังไม่บอกเรื่องราวร้อน ๆ เมื่อก่อนหน้านั้น ให้น้องชายรับรู้...
“แล้วนี่...ตกลงมาธุระอะไร” ตอนอยู่บนรถไฟ เขาถามวรรณาว่าจะมาทำอะไรที่ ‘ร้านนี้’ วรรณาก็ไม่ได้บอกเขาเหมือนกัน บอกแต่ว่า ‘มาธุระ’ ...วรรณาคงไม่คิดว่าจะเป็นเรื่อง ‘จุดไต้ตำตอ’
“มาหาพี่สาวเขา” ประสงค์เป็นฝ่ายตอนแทน ตอนนั้นบุญปลูกผละเข้าไปดูลูกค้าแล้ว...
“ใครละพี่สาวเขา” คนที่เพิ่งมาใหม่ยังคงงงงวย...เพราะพี่สาวของเจ้าหล่อนจะมาอยู่ที่ร้านนี้ ซึ่งเป็นบ้านเขาได้อย่างไรกัน
“พี่เรณู เมียตั่วเฮีย เขาเป็นอาซ้อของพวกเรา เป็นพี่สาวของน้องเขา...นี่เขามาถามหาพี่สาวเขา”
“ตั่วเฮียมีเมียแล้ว!” นับเป็นอีกเรื่องที่สร้างความประหลาดให้กับมงคล... พอรู้ต้นสายปลายเหตุคร่าว ๆ มงคลก็เสนอตัวเป็นคนพาวรรณาไปหา ‘พี่เรณู’ ของเจ้าหล่อน ซึ่งเป็น ‘อาซ้อ’ ของ เขา...เขาเดินเคียงคู่มากับวรรณา หญิงสาวเป็นผู้หญิงวัยเดียวกับเขา อายุ ๑๗ ย่าง ๑๘ ปี ร่างกายบอบบาง เสื้อกางเกงที่สวมใส่นั้นทันสมัย เพราะเจ้าหล่อนอยู่กับโรงเรียนสอนตัดผ้า...
‘นารีรัตน์’ เพื่อน ร่วมชั้นเรียนของเขา และเป็นอดีตคนรักของเขา เป็นลูกสาวโรงเรียนสอนตัดเสื้อแห่งนั้น ความสัมพันธ์ ของเขากับนารีรัตน์ เพิ่งจะขาดลง เมื่อนารีรัตน์ตัดสินใจเข้าไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่...ส่วน เขานั้นเลือกที่จะเรียนวิชาช่างยนต์ที่โรงเรียนการช่างนครสวรรค์
หญิงสาวบอกกับเขาว่า น่าจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเท่านั้น และถ้าวันหนึ่งข้างหน้าความรู้สึกดี ๆ ที่เคยมีให้กันมันยังเหมือนเดิม...ถึงเวลานั้น ก็ค่อยว่ากันอีกที...ซึ่งมงคลรู้ดีว่า มันจะไม่มีวันนั้นอย่างแน่นอน...เพราะหลังจากที่นารีรัตน์จากไป...ใจของเขาก็ไม่ได้คิดถึงเจ้าหล่อนสักเท่าไหร่
“ตลกดีเนอะ...จุดใต้ตำตอแท้ ๆ เลย เรากลายเป็นญาติเกี่ยวดองกันเฉยเลย” เขาชวนคุย...
“เดินเร็วหน่อยได้ไหม” วรรณาที่รีบเดินหันมาบอกเขา...
“จะถึงแล้ว...ข้างหน้าโน่นไง...เห็นปล่องโรงสีนั่นไหม”
ไม่ใช่แค่ปล่องโรงสีที่เห็นอยู่ตรงหน้าแต่จมูกของวรรณาได้กลิ่นของขี้หมูลอย อบอวลมาด้วย...
“นี่อาซา พี่ชายคนที่สามของเรา” มงคลบอกกับวรรณาเมื่อพบว่ากมลที่นั่งอยู่ ยิ้มให้เขาและหญิงสาวที่มาด้วยกัน
วรรรณายกมือไหว้...แต่ไม่ได้กล่าวคำว่า ‘สวัสดี’ แต่ อย่างใด เพราะจะว่าไปแล้ว กมลเองก็ไม่ได้ดูแก่กว่าตนเองสักเท่าไหร่... แต่เมื่อเขาแนะนำว่าเป็น พี่ชายของเขา เธอจึงต้องแสดงอาการอ่อนน้อมไว้ก่อน...
“ใครรึ” ตอนนั้นกมลคิดว่า ‘นี่ ตี๋เล็ก พาเมียเข้าบ้านมาให้ม้าปวดหัวเหมือนตี๋ใหญ่อีกคนหนึ่งรึ’ แต่พอได้คำตอบเขาก็เลิกคิ้ว...แล้วยิ้มกริ่มออกมา
“น้องอาซ้อ เขามาหาอาซ้อ...เธอชื่ออะไรนะ ใช่ชื่อวรรณาป่ะ”
“ใช่ หนูชื่อวรรณา เป็นน้องพี่เรณู” ประโยคนี้วรรณารวบรัดไปตอบกมล เขาทำหน้ารับรู้
“พี่เรณูอยู่ที่ไหนจ๊ะ” วรรณารีบเข้าเรื่องของตนเอง เพราอยากจะกลับให้ทันรถไฟเที่ยวบ่าย...
“อยู่หลังบ้าน...มีเรื่องอะไรกันรึ”
“หลังบ้านตรงไหน” วรรณาชะเง้อไปทางที่เขาบอก...
“แม่เขาป่วยหนัก เขามาตามอาซ้อกลับไปเยี่ยม” มงคลรีบบอกธุระร้อน ๆ ของหญิงสาว ได้ยินดังนั้น กมลก็รีบลุกขึ้นแล้วเดินนำวรรณาและมงคลไปหาเรณูที่ง่วนอยู่กับงานที่บ้าน เพิงหมาแหงน...
โชคของเรณูยังดีที่ยังไม่ได้ผ่ามะพร้าวแล้วขูดไว้เพื่อทำขนม...พอทราบเรื่อง จากวรรณา เรณูก็รีบเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าผ้าใบย่อม...ก่อนจะพาน้องสาวเดินมาหากมลที่ โรงสี ส่วนมงคลนั้นหลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับเรณูแล้ว เขาก็ขอตัวกลับบ้านไปกินข้าว ไปพักผ่อน ปล่อยให้พี่น้องคุยกันตามลำพัง...
“อาซา พี่มีเรื่องจะรบกวนหน่อย...คือ พี่อยากจำนำสายสร้อยเส้นนี้ไว้กับเธอก่อนได้ไหม พี่ไม่อยากไปร้านทอง” เรณูวางสร้อยคอหนักหนึ่งบาทลงบนโต๊ะ เขามองดูทองแล้วเงยหน้ามองพี่สะใภ้...
“พี่จะเอาเท่าไหร่”
“ทองหนักหนึ่งบาท พี่ขอ ๓๐๐ ได้ไหม ติดตัวไว้ก่อน เผื่อต้องใช้...แล้วกลับมาแล้วพี่จะรีบหาเงินมาไถ่คืนให้เร็วที่สุด”
“ผมให้ไป ๔๐๐ เลยแล้วกัน เผื่อเหลือเผื่อขาดนะ มีเมื่อไหร่ค่อยเอามาไถ่ แต่ว่า ผมต้องกลับไปเอาเงินที่บ้านนะ พี่รอที่นี่ก่อนแล้วกัน”
แม้ว่าแม่จะไม่ได้ให้เงินไว้ใช้เป็นรายเดือนเช่นน้องชายคนเล็ก แต่ทุกปีช่วงก่อนปีใหม่ แม่จะให้เงินพิเศษให้เขากับพี่ ๆ ไว้ตัดเสื้อกางเกงใส่เที่ยว เขาเองยังไม่นึกอยากหล่ออยากโก้เก๋อย่างพี่ชายคนโต คนรอง เขาก็เก็บเงินไว้ แล้วช่วงตรุษจีนแม่ก็ยังให้เงินอั่งเปาพวกเขาอีก แม้จะไม่มาก แต่ว่าพอหลายปีเข้า มันก็มีอยู่ถึงหลักพันบาท...
หลังกมลขี่รถจักรยานกลับไปที่ร้านค้า วรรณาก็เปรยขึ้นมาว่า “น้องผัวพี่คนนี้ดูจิตใจดีจังเลยเนอะ”
“จิตใจดี คุยตลกด้วย...พี่คุยกับเขาแล้ว อยากให้เขาเห็นแก...อยากให้แกเห็นเขา อยากได้เขามาเป็นน้องเขย”
“อ้าว เขายังไม่มีแฟนเหรอ”
“อีแจ่ม เมียคนงานมันบอกว่า ไม่มีนะ เห็นทำแต่งาน เขาเป็นคนชอบดูหนัง ชอบกิน กินเก่ง ดีแต่ว่าไม่อ้วน เขายังเหมือนคนไม่เป็นหนุ่มเต็มตัวด้วย แต่เขาเป็นคนขยัน งานการที่นี่เขาเป็นหูเป็นตาแทนพ่อเขาได้ ซื้อข้าวเปลือกแทนได้ ขายข้าวแทนได้ รับข้าวไว้สีได้ คุมคนงานได้ คนงานก็รักเขา แจ่มว่าเขาไม่ดุด่าใคร ...แล้วตั้งแต่พี่มาอยู่ที่นี่ ก็ได้เขานี่แหละให้ความช่วยเหลือมาตลอด พี่ใช้ฝากฝังพี่ไว้กับเขาด้วยมั้ง...เพราะตอนนั้น คนที่เฝ้าร้านค้า อยู่น่ะ เขาชื่อตง ยังบวชพระอยู่เลย”
วรรณานิ่งฟัง...
“แล้ว แกละ มากับน้องคนเล็กของเขาได้อย่างไร”
“เรื่องบังเอิญน่ะ ใครจะไปรู้ว่า จะมาเจอกันบนรถไฟ ที่สถานีปากน้ำโพ แล้วหนูก็ถามเขาว่าร้านค้าป้าย้อยไปทางไหน เขาก็บอกไม่ไกลหรอก พวกสามล้อมันรู้ แล้วพอหนูนั่งรถมา เขาก็นั่งรถสามล้อตามมา...อ้อ ลืมบอกไป ว่า จริง ๆ แล้ว หนูเห็นเขามานานแล้ว รู้ว่า เขาชื่อสี่ เป็นพวกลูกหลานเศรษฐีในตลาด บ้านช่องใหญ่โตมีกิจการหลายอย่าง เขาเอง ก็ขี่จักรยาน ขี่รถเครื่องแรมเบตต้าร่อนอยู่ในตลาด แล้วเขาเรียนหนังสือชั้นเดียวกับนารีรัตน์ลูกสาวคนเล็กของเจ๊หุย เหมือนเขาจะชอบ ๆ กัน มารับกันไปดูหนังบ่อย ๆ แล้วปีนี้ นารีรัตน์เขาไปเรียนที่เชียงใหม่ก็ห่าง ๆ กันไป หนูเคยถามนารีรัตน์ว่าเป็นแฟนกันหรือเปล่า...เขาบอกว่า เหมือนเป็น แต่ไม่ได้เป็น เป็นเพื่อนคนพิเศษ แล้วนารีรัตน์เขาก็ว่า อาสี่นี่เจ้าชู้จะตายไป เห็นผู้หญิงสวยหน่อยไม่ได้ เป็นต้องเข้าไปจีบไว้ก่อน...เมื่อกี้ตอนนั่งรถไฟมาด้วยกัน เขาก็ทำท่าชีกอใส่หนู แต่หนูไม่เล่นด้วย เพราะรู้อยู่แล้วว่าเขาเจ้าชู้ยักษ์...เขาเองเขาก็รู้ว่าหนูน่ะเป็นเด็กใน โรงเรียนสอนตัดผ้า เพราะตอนที่เขามารับมาส่งนารีรัตน์เขาก็เคยเห็นหนู...แต่เราไม่เคยคุยกัน หรอก”
เพราะเรณูเลี้ยงมาตั้งแต่เกิดและเป็นผู้หญิงเหมือนกัน วรรณาจึงคุยยืดยาว...
“แกก็สวยขึ้นมากนะ ปีนี้เท่าไหร่แล้ว”
“๑๗ ย่าง ๑๘ รุ่น ๆ เดียวกับเขาแหละ”
“แล้วมีหนุ่ม ๆ เข้าจีบบ้างหรือยัง”
“วัน ๆ อยู่แต่ในร้าน ไม่ได้ออกไปเจอใครเลย”
“ก็ยังเห็นอาสี่ขี่รถร่อนไปร่อนมาได้นี่”
“ก็อยู่หน้าร้าน เดินไปซื้อของที่ตลาดบ้าง ก็พอได้เห็นกัน หนูน่ะโรงหนังก็ไม่ค่อยได้ไป เงินไม่ค่อยมี...แล้วเจ๊หุยเขาก็หวงด้วย...เขาว่า ถ้าเสียคน แม่จะว่าเขาเอาได้...หนูก็เลยต้องทำตัวดี ๆ มาอาศัยเขาอยู่ ถึงจะทำงานช่วยเขาแลกที่อยู่ก็เหอะ แต่หนูก็ไม่อยากให้เขาเกลียดหนูหรอก”
“คิดได้อย่างนั้นก็ดีแล้ว...แล้วนี่ เรียนไปถึงไหนแล้ว”
“ก็ทำได้หมดแล้วแหละ แต่ยังไม่รู้จะขยับไปทำอะไร...ก็อยู่ที่นั่นเอาทักษะ เอาวิชาไปก่อน”
“ตอนแรกพี่ก็กะจะเอาเงินที่มี เซ้งร้านขายผ้า แล้วจะให้แกมาอยู่ด้วยกัน มารับจ้างตัดผ้าอยู่ที่นี่...ส่วนพี่ก็ขายผ้าสำเร็จไป ...แต่พี่ใช้ผัวพี่น่ะ เขาบอกว่า อย่าเพิ่งเลย...เขาอยากให้พี่ออกลูกเสียก่อน แล้วรอให้เขาปลดทหารก่อนค่อยว่ากัน...ครั้นจะอยู่เฉย ๆ เงินทองก็ร่อยหรอ พี่ก็เลยทำขนมขาย วันนี้เพิ่งออกขายวันแรกเองนะ ขายดีมาก ชุมแสงคนเยอะ เช้ามาไม่รู้มาจากไหนกัน”
“แล้วพี่ไปเจอกับผัวพี่ได้ไง”
“เจอกันที่ตลาดตอนเช้า เขาเป็นทหารเกณฑ์อยู่แผนกอาหาร ต้องตามจ่าเที่ยงไปซื้ออาหาร พี่คุ้นกับจ่าเที่ยงดี เพราะแกทำบังกะโลให้พวก...พวก ไอ้กันมันเช่า ตอนหลัง พี่ใช้เขาก็ตามจ่าเที่ยงไปเที่ยวที่บาร์กับพวกเพื่อนเขา ก็เห็นกัน คุยกัน”
“แล้ว...เขาไม่ ไม่ เอ่อ ไม่รังเกียจว่าพี่เคยทำงานอยู่ในบาร์เหรอ”
“เขา” เรณูจะพูดได้อย่างไรว่า เขารังเกียจหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ เขาไม่ได้รักเธอเหมือนที่เธอรักเขาหรอก เธอได้เขามาเพราะเล่ห์กลมนตรา เพราะอยากเอาชนะคำสบประมาทของพวกรุ่นพี่ในบาร์ต่างหาก...แต่เรณูจะบอกกับ น้องสาวตามจริงไม่ได้ เหมือนที่เธอยอมรับกับคนอื่นว่ามาจากตาคลีจริง ๆ ทำงานในบาร์จริง ๆ แต่เธอทำงานในครัวไม่ได้ให้ใครเขาเช่า...เธอรู้ว่า อาจจะมีคนอย่างนางย้อยที่ไม่เชื่อคำพูดของเธอ แต่เรื่องอะไรที่จะต้องไปยอมรับตรง ๆ ปล่อยให้มันเป็น คำถามคาใจว่าจริงหรือไม่จริง เป็นหรือไม่เป็น กันอยู่อย่างนี้แหละดีแล้ว
“ถ้าเขารังเกียจ เขาจะพาพี่เข้าบ้านเขาเหรอ แกนี่ก็ถามได้เนอะ”
ยังไม่ทันที่วรรณาจะถามอะไรต่อ กมลก็ปั่นจักรยานมาพร้อมกับรถสามล้อถีบหนึ่งคัน...พอมาถึง เขาก็ส่งเงินจำนวนสี่ร้อยให้เรณู แล้วก็บอกว่า
“ผมไม่อยากให้พี่เดินไปสถานี ก็เลย ให้ลุงแกมารับตรงนี้เลย แล้วค่ารถผมออกให้แล้วนะ”
“ขอบใจมาก ๆ นะซา...พี่ไปละนะ...เสร็จเรื่องแล้วจะรีบกลับให้เร็วที่สุด”
ขึ้นรถไฟมาแล้ว...เรณูก็ซื้อข้าวเหนียวเนื้อทอดสองห่อ ไก่ย่างสองไม้ โอเลี้ยงอีกสองกระป๋องให้น้องสาวและตนเองกินระหว่างที่รถไฟวิ่งล่อง ใต้...ซึ่งจะต้องผ่าน สถานีคลองปลากด สถานีทับกฤช และเธอจะต้องลงที่สถานีปากน้ำโพ แล้วพากันเดินกลับบ้าน...
“ทำไมซื้อซะเยอะแยะเลย ไหนว่า เงินไม่ค่อยมี จนต้องเอาทองจำนำ”
“อยากลองใจคนเล่น”
“อะไรนะ”
“ใส่ทองไปบ้าน ดีไม่ดี คนอื่นเห็นก็จะตาลุกวาว แล้วยืมไปจำนำซะอีก...จะซ่อนไว้ในกระเป๋าเดี๋ยวก็เรี่ยหายไป สู้ฝากเขาไว้ แล้วถือเงินมาดีกว่า...และที่สำคัญก็จะได้รู้ว่า อาซาน่ะเขาดีกับเราแค่ไหนด้วย แกก็เห็นแล้วนี่ว่าเขาน่ารักอย่างที่พี่ว่าไว้ไหมล่ะ”
“พี่นี่ คิดได้แปลกดีนะ”
“อย่าลืมซิว่า พี่เจออะไรมาบ้าง...แล้วพี่ยี่สิบสี่แล้วนะ อายุมากกว่าแกกี่ปี”
“เจ็ดปี”
“แล้วเป็นเจ็ดปีที่ชีวิตพี่เหมือนตกอยู่ในขุมนรกด้วย...มีลูกก็ไม่ได้เลี้ยง มีลูก ลูกก็ไม่รู้ว่าเป็นแม่ ไม่ได้เรียกพี่ว่าแม่...ต้องเรียกแม่ว่าพี่ แล้วก็ต้องระเหเร่ร่อนไปหากินในที่อย่างนั้น ใครเห็นก็มองด้วยสายตาเหยียดหยาม” พูดแล้วน้ำตาก็คลอลูกนัยน์ตา...แต่เรณูก็กะพริบไล่มันออกไปอย่างเร็วพร้อม กับสูดลมหายใจเข้าปอดเรียกความมั่นใจ...แต่ถึงกระนั้นความคับแค้นใจใช่ว่าจะ คลาย เมื่อได้ช่องระบาย...มันจึงพร่างพรูออกมา...
“ได้ยินเสียงหวูดรถไฟทีไร ได้ยินเสียงล้อรถไฟบดกับกับรางเมื่อใด...พี่จะนึกถึงเพลง ๕๐๐ ไมล์ ตลอด”
“นึกถึง ทำไม ทำไมต้องนึกถึง”
“If you miss the train I’m on, you will know that I am gone. หากเธอพลาดรถไฟขบวนนี้ โปรดรู้ไว้ว่าฉันได้จากไปแล้ว… “ เรณู พรึมพรำภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นภาษาไทยที่ท่องจำจนขึ้นใจเบา ๆ ...
“You can hear the whistle blow a hundred miles, ทว่า เธอยังคงได้ยินเสียงกระซิบของฉันที่ห่างออกไปนับร้อย ๆ ไมล์...๑๐๐ ไมล์ที่หนึ่ง ๑๐๐ ไมล์ที่สอง ๑๐๐ ไมล์ที่สาม ๑๐๐ ไมล์ที่สี่ ...เธอยังคงได้ยินเสียงกระซิบของฉันที่ห่างออกไปนับร้อย ๆ ไมล์...Lord I’m ๕๐๐ miles from my home. พระเจ้า ฉันจากบ้านมาไกล ถึง ๕๐๐ ไมล์ ...ฉันไม่เหลืออะไรอีกแล้ว ฉันไม่อาจกลับไปที่บ้านได้อีกแล้ว.”
พอได้ยินเนื้อเพลงและคำแปลบางวรรคด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ของพี่สาวแม้จะไม่เข้าใจทั้งหมดแต่วรรณาก็รู้สึกคอแข็งขึ้นมา...กระทั่งเรณู พูดด้วยเสียงเครือ ๆ ว่า “ณา...พี่เดินมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปสดใสไร้เดียงสาแบบแกได้อีกแล้ว...แก จะเข้าใจที่พี่พูดไหม”...
“เข้าใจ” วรรณาน้ำตาไหลเพราะรู้ดีว่าเมื่อแปดปีก่อน ที่บ้าน มีเหตุการณ์อะไรเกิดอะไรขึ้นกับเรณู!
พอแม่ไม่อยู่ทำกับข้าวให้กิน สามหนุ่มก็สรุปกันว่าจะออกไปหาของกินนอกบ้าน ช่วงที่รอให้ประสงค์เก็บร้านปิดร้านและอาบน้ำ...มงคลก็ถามกมลว่า “เฮีย เมื่อตอนบ่าย ๆ เรา ไป ศาลเจ้ามา...เจอสาวสวย...สวยมาก ๆ เฮียรู้จักไหม” ด้วยไปเรียนหนังสืออยู่ในเมืองปากน้ำโพ ตั้งแต่จบประถมสี่ทำให้ มงคลนั้นดูสำอางผิดพี่ชายทั้งสามคนและที่สำคัญ เขาจะไม่แทน ตัวเองว่า ‘อั๊ว’ ว่า ‘ผม’ กับพี่ชาย...และพวกพี่ชายก็ไม่ได้ถือสาอะไร เพราะกฏของบ้าน ที่แม่ตั้งไว้ คือพี่น้องห้ามพูดกัน กู-มึง เท่านั้น
“ใคร” กมลที่นอนไขว่ห้างกระดิกเท้าฟังวิทยุอยู่ ถามเบาๆ
“มากับอาม่าร้านสังฆภัณฑ์”
“มีตั้งหลายร้าน” แค่บอกว่าคนสวยประจำร้านสังฆภัณฑ์ กมลก็รู้แล้วว่ามงคลหมายถึงใคร แต่เขาแสร้งไม่รู้
“อาม่าป๋วยฮวยน่ะ”
“อ๋อ...นึกว่าใคร”
“สวยเนอะ”
“สาวเหนือ เห็นว่ามาจากอุตรดิตถ์”
“ถึงว่าผิวพรรณหน้าตาไม่เหมือนคนทางบ้านเรา”
“จะบอกอะไรให้นะ เหมือนเฮียรองของแก ก็สีจะชอบเขา ๆ อยู่เหมือนกัน”
“อะไรนะ”
“ก็...อาม่าป๋วยฮวยเขาใส่บาตรทุกวัน คนของเราก็บวชพระบิณฑบาตทุกวัน เห็นกันทุกวัน...แต่เรื่องก็มาพลิกไปอย่างที่แกเพิ่งรู้ไปนั่นแหละ”
“คนไม่ใช่เนื้อคู่กัน...ก็เลยไม่ได้กัน...” มงคลสรุปอย่างไม่ใส่ใจ...
“เนื้อคู่ เขาอาจจะเป็นปลัดอำเภอก็ได้...วันก่อนที่โรงหนัง ปลัดที่เพิ่งย้ายมาใหม่ มองอีตาเป็นมันเลย...ถ้าให้เลือกระหว่างลูกเจ๊กขายของในตลาดกับตำแหน่งคุณนาย เขาก็คงเลือกอย่างหลัง แกว่าไหมล่ะ”
“แต่ถ้าลูกเจ๊กตั้งใจจะจีบเขาให้ได้ มันก็คงไม่ใช่เรื่องยากหรอกมั้ง”
*****************************************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #7 on: 29 February 2020, 18:25:05 » |
|
ตอนที่ 8 : กรรม ในอดีตของนางย้อย
๘ กว่า จะติดต่อสินค้าจากร้านค้าส่ง เรียบร้อย...กว่าจะคุยกันถึงเรื่องตึกที่กำลัง จะขึ้นใหม่จนได้ข้อสรุปก็บ่ายคล้อย นางย้อยรู้สึกที่ปวดเมื่อยตามร่างกายก็ขออนุญาต ‘นางหลักฮวง’ คู่ สะใภ้ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านตึกแถว ไปยังห้องของลูกชายคนเล็ก เพื่อนอนพักผ่อน...เพราะตอนเย็นนั้น นางหลักฮวงภรรยาพี่ชายคนโตของ เจ๊กเซ็งนั้น ชวนไปรับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคารไท่เฮงด้วยกันสักมื้อ นางย้อยกับเจ๊กเซ้งจึงต้องค้างที่ปากน้ำโพหนึ่งคืน แทนไปค้างที่ทับกฤช เพื่อคุยเรื่องงานแต่งของลูกชายคนรอง ให้เสร็จสิ้น...
พอเข้าห้องของลูกชายมาแล้ว นางย้อยก็กวาดสายตาไปรอบ ๆ ...แล้วก็ส่ายหน้าเบา ๆ ...
ในบรรดาลูกชายสี่คน มงคลไม่เอางานบ้านงานเรือน...เตียงก็ไม่ยอมเก็บ ผ้าผ่อนพับไม่เป็น ที่ใส่แล้วก็โยนไว้ไม่ตรงตะกร้า หนังสืออุปกรณ์การเรียน เครื่องดนตรี กีฬา ก็วางไม่เป็นระเบียบ...ผิดกับพวกพี่ ๆ ของเขา ถึงแม้ภาพรวมจะยังไม่ถูกใจนาง แต่ห้องหับเสื้อผ้าในห้องลูกชายทั้งสามคน ก็ยังวางเป็นระเบียบมากกว่าน้องคนเล็ก...
นางย้อยนึกอยากมี ‘ลูกสาว’ เอาไว้ ‘เป็นเพื่อน’ เอาไว้ ‘ฝากผีฝากไข้’ อย่างนางแย้มผู้เป็นน้องสาว ซึ่งมีลูกสาวคนเล็กชื่อ ‘พะยอม’ พะยอมเป็นคนไม่มีปากไม่มีเสียง นางแย้มบอกให้ทำอะไรกับก็ทำ งานบ้านงานเรือน เรียบกริบ แต่งเนื้อตัวเรียบร้อย หน้าตาน่ารักเหมือนตุ๊กตา...
‘ไม่มีลูกสาว แก่ตัวไป ก็พึ่งลูกสะใภ้เอา...มีลูกชายตั้งสี่คน มันต้องมีสักสะใภ้หรอก ที่ให้พึ่งให้พิงได้’ เสียงนางแย้มน้องสาว เมื่อครั้งกลับไปเยี่ยมบ้านที่หนองนมวัวยังแว่วอยู่ในหู...ตอนนั้นนางย้อย ถอนหายใจหนัก ๆ ...เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ‘สะใภ้’ อย่างไรก็ไม่ใช่ ‘ลูกสาว’
คน จีนอาจจะไว้เนื้อเชื่อใจลูกสะใภ้ ถือว่าเป็นสมบัติอีกชิ้นในตระกูล โดยเฉพาะสะใภ้ใหญ่...จะใช้สอย สั่งสอน ทุบตี อย่างไรก็ได้ แต่สำหรับคนไทย ‘สะใภ้’ กับ ‘แม่ผัว’ เหมือนกับ ‘ขมิ้นกับปูน’...ไม่มีวันจะเข้ากันได้ง่าย ๆ
สำหรับคนไทย บ้านที่มีลูกสะใภ้ดี ไม่แข็งขืน ไม่ปีนเกลียวกับแม่ผัวนั้น นับหลังคาเรือนได้...
นางย้อยเองเป็นคนไทยแท้ ๆ แต่งเข้าบ้านคนจีน แม้จะรู้ธรรมเนียมว่า เป็นสะใภ้บ้านคนจีน มีปากก็ต้องทำเหมือนไม่มี แต่ด้วยคุ้นชินกับบ้านที่แม่เสียงดังฟังชัดกว่าพ่อ...คุ้นชินกับเรือนที่ ผู้หญิงเป็นใหญ่ยามเมื่ออยู่กันตามลำพังเฉพาะคนในเรือน...ใจของนางย้อยจะ เดือดพลั่ก ๆ ทุกครั้งที่เห็น นางลิ้มผู้เป็นอาม่าของเจ๊กเซ้ง และนางซกเพ้ง แม่ของเจ๊กเซ้ง ใช้สอยนางหลักฮวงสะใภ้ใหญ่ ชนิดหัวไม่ได้วาง หางไม่ได้เว้น ประหนึ่งว่าเป็นทาสในเรือน...
นางย้อยเคยถามนางหลักฮวงว่า ‘อาซ้อทนได้อย่างไรกัน ทั้งเลี้ยงลูก ทั้งทำงานบ้าน ทั้งขายของ...ทั้งรับใช้คนทั้งบ้านอย่างกับขี้ข้า’
‘ใคร ๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้...’ นั่นคือคำตอบ...คำตอบที่ทำให้ นางย้อยรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับลูกสะใภ้
หลังแต่งงานกับเจ๊กเซ้งแล้ว นางย้อยรู้สึกโล่งอกที่นางลิ้มบอกให้ เจ๊กเซ้งไปช่วยงานที่โรงสี และให้ตนเองนั้นไปอยู่ช่วยเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ที่ทับกฤช ถึงแม้จะเหนื่อยยากลำบากกายเพราะเป็นตำบลที่ไม่มีอะไรเจริญหูเจริญตา ไม่มีของกินหรูหราเหมือนอยู่ที่บ้านหลังนี้ แต่ที่นั่น นางกับเจ๊กเซ้งก็อยู่กันตามลำพัง...เหนื่อยจากงานหนัก นางก็เอนตัวลงนอน...พอมีแรงก็ลุกมาทำงานต่อ
ช่วง ที่แพ้ท้องลูกคนแรก นางย้อยยังจำได้ดี...ว่าอาการแพ้ท้องของนางนั้นรุนแรงแค่ไหน...นางเวียนหัว ตลอดวัน กินข้าวไม่ได้ อาเจียนจนหมดเรี่ยวหมดแรง เป็นอยู่อย่างนั้นถึงสองเดือนเต็ม ๆ ...ตอนที่นอนหายใจ พะงาบ ๆ นั้นไม่มีใครมาต่อว่าต่อขานให้ต้องเจ็บช้ำน้ำใจ...เหมือนตอนท้อง ลูกคนที่สาม...
นางยังจำแรงกดดัน แรงบีบคั้น ในคราวที่แพ้ทองกมลได้ดี...
หลังจากที่นางคลอด ประสงค์แล้ว นางลิ้มก็ ‘บัญชา’ ให้ เจ๊กเซ้งหลานชายคนเล็ก พาเมียและลูกกลับมาอยู่ที่บ้านหลังนี้ ซึ่งยังเป็นห้องแถวเรือนไม้ขนาดสี่ คูหา...ด้านหลังเรือนมีที่ว่างพอปลูกผักสวนครัวพอให้เก็บกินได้...ตอนนั้น นางลิ้มแม้อายุจะขึ้นต้นด้วยเลขแปด...ยังไม่ล้มป่วยเป็น ‘โรคอัมพาต’ ฤทธิ์เดชของนางลิ้มยังคงเต็มเปี่ยม
ทุก ๆ วัน นอกจากจะต้องเลี้ยงลูกสองคน นางย้อยยังต้องคอยอยู่ปรนนิบัติ เป็นมือเป็นเท้าให้นางลิ้ม...ไม่ว่านางลิ้ม จะอยากได้อะไร อยากกินอะไร นางจะใช้ ‘ปาก’ สั่ง การ...ทำให้ช้า ทำไม่ถูกใจ ทำไม่ดี นางก็จะ เหน็บแนมให้เจ็บช้ำน้ำใจ...และพอหน้าของนางย้อยงอง้ำ...นางลิ้มก็จะพูดกระทบ กระเทียบแดกดันนางซกเพ็ง เรื่องที่นางย้อยเป็นคนไทยไม่รู้ธรรมเนียมจีนเสียทุกครั้งไป
‘อั๊ว ก็บอกแล้ว สั่งไว้แล้ว ว่าอย่าเอาผู้หญิงไทยมาทำสะใภ้อย่างเด็ดขาด ก็ไม่เชื่อฟังกัน คนไทยมันขี้เกียจสันหลังยาว รักสบาย งานหนักไม่เอา งานเบาไม่สู้ ค้าขายก็ไม่เป็น พอสั่งสอนเข้าหน่อยก็หน้าเง้าหน้างอ หยิบจับอะไรให้ก็กระแทกกระทั้นไม่มีน้ำอดน้ำทนฯ’
ก็จะไม่ให้กระแทกกระทั้นได้อย่างไรเล่า เพราะนางย้อยรู้ว่าตน ไม่เคยทำอะไรถูกใจนางลิ้มเลยสักอย่าง...
ทำกับข้าว ทำขนม ตาม ‘สูตร’ ที่ นางลิ้มบอก นางลิ้มก็ว่า รสมือไม่มี ไม่อร่อย...จัดของเซ่นไหว้วางไว้หน้าตี่จู้เอี๊ยให้ก็ไม่พอตา...ซักผ้าให้ใส่ก็ว่าซักไม่เอี่ยม รีดผ้าไม่เรียบ ถ้วยจานชามก็ที่ล้างจนแวววาวก็ว่ายังมีกลิ่นคาว ไหนจะหม้อไหอลูมิเนียมกระทะเหล็กที่ขัดเสียจนเกือบจะทะลุ... บ่อยครั้งที่นางลิ้มใช้นางย้อยให้เก็บของจากตู้มาล้างเช็ดทำความสะอาดแล้ว เก็บกลับไปใหม่
... มีอยู่ครั้งหนึ่งนางย้อยเผลอทำจานกระเบื้องของเก่าแก่ จากเมืองจีนหลุดมือตกแตก นางลิ้มตาเขียว ทุบตีและหยิกจนต้นแขนเขียวช้ำ...พอนางย้อยเดินหนีเอาตัวรอด เสียงด่าทอก็ไล่ตามหลัง...ครั้นพอเจ๊กเซ็งกลับมาเห็น นางลิ้มก็ชิงเล่าเรื่อง เอาดีใส่ตนเสียก่อน...
นางย้อยรู้สึกว่านางกำลังถูกกลั่นแกล้ง...โขกสับให้ทนไม่ได้เพื่อจะได้หอบ ผ้ากลับบ้านไปในที่สุด...แต่นางก็สู้อดทน...เพราะความรัก เพราะความดีของเจ๊กเซ้ง และเพราะนางเป็นแม่ นางต้องทนเพื่ออนาคตของลูกสองคนที่เพิ่งลืมตาดูโลก...
กระทั่งนางตั้งท้องลูกคนที่สาม...นางย้อยแพ้ท้องอย่างหนักเช่นเคย...แต่คราวนี้ นางกลับถูกนางลิ้มเหน็บแนมว่า ‘สำออย...เรียกร้องความสนใจ’
คราวนั้นนางอยากกินทุเรียนเป็นอย่างมาก นางขอให้เจ๊กเซ้งซื้อมาให้... พอนางลิ้มเห็นทุเรียน ก็บอกว่า ‘เอาออกไปจากบ้าน อั๊วเดี๋ยวนี้เลย ลื้อก็รู้ว่า อั๊วเกลียดทุเรียน อั๊วได้กลิ่นทุเรียนไม่ได้...อั๊วเวียนหัว...ลื้อจะฆ่าอั๊วให้ตายทางอ้อม หรือไงอาเซ้ง...’
เป็นอันว่า นางย้อยได้แต่นึกอยากกินอยู่อย่างนั้น เพราะนางลิ้ม สั่งไว้ว่า ‘คนที่อยู่ในบ้านหลังนี้ ห้ามกินทุเรียนอย่างเด็ดขาดเพราะหายใจออกมากลิ่นมันออกมาด้วย...’
แม้จะขอออกไปกินนอกบ้าน นางลิ้มยังไม่ยอม นั่นเป็นการทำร้ายจิตใจนางย้อยเป็นที่สุด...
กระทั่งวันหนึ่ง ‘อาใช้’ กับ ‘อาตง’ ป่วยพร้อมกัน...นางย้อยต้องอยู่โยงเฝ้าไข้คอยเช็ดตัวลูกทั้งวันทั้งคืน... เพราะเจ๊กเซ้งไปกับเรือสินค้า...นางย้อยเคลิ้มหลับไปเมื่อรุ่งสาง...เสียง ประตูห้องนอนก็ดังกระชั้นพร้อมเสียงด่าว่า ขี้เกียจสันหลังยาว อ้างลูกป่วย จะหนีงาน นางลิ้มบอกว่านางย้อยฉลาด แต่นางลิ้มก็รู้ทัน...นางย้อยกัดฟันฝืนความง่วง ฝืนอาการที่คล้ายจะเป็นไข้ ลุกขึ้นมาหุงข้าว ซักผ้า และทำความสะอาดบ้านด้วยใจที่เต็มไปด้วยความแค้น...ใจของนางย้อยในเวลานั้น เหมือนเตาเผาถ่านที่มีความร้อนระอุ รอวันระเบิด...นางสาปแช่งให้นางลิ้มตายวัน ตายพรุ่ง นางอยากเอายาพิษให้นางลิ้มกิน อยากผลักให้ตกบันได อยากเอาหมอนกดหน้าปิดจมูกตอนที่นางลิ้มหลับแล้ว นางย้อยก็ยังต้องนวดเฟ้นให้...
และในที่สุด...หลังจากนางย้อยคลอดกมลได้เพียงสองเดือน นางลิ้มก็ล้มป่วยเป็นอัมพาต ช่วงนั้นนางย้อยรู้สึกสาแก่ใจ สะใจที่ ‘อีแก่พูดมาก ปากดี พูดไม่ได้’ แต่ว่านางย้อยก็เหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องดูแลลูกเล็ก สองคน ลูกอ่อนหนึ่งคนและคนป่วยที่ต้องเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว เช็ดตัว อาบน้ำ ป้อนน้ำ ป้อนข้าวอีกหนึ่งคน และเป็นคนที่นางย้อยเกลียดชังเสียด้วย...
ทางเดียวที่จะทำให้ภาระหมดไป...นั่นก็คือ ทำให้นางลิ้มตายไปเสียโดยไว เพื่อความทุกข์ยากของตนจะได้หมดไปเสีย
นางย้อยนึกถึงครั้งที่ตัวเองตัดสินใจใช้มือ ‘บีบจมูก’ ของนางลิ้มให้ ‘สิ้นลม’ พ้น ทุกขเวทนา พ้นจากเวรกรรมที่นางย้อยก็ไม่รู้เหมือนกันว่านางลิ้มทำมาแต่ชาติปางไหนแล้ว เหงื่อกาฬแตกจนต้องลุกจากที่นอนมายืนเกาะขอบหน้าต่าง...เหม่อมองออกไปข้าง นอก...
เวรกรรมที่เผลอไผลทำลงไปนั้น นางย้อยไม่รู้ว่ามันจะหวนกลับมาหาตนเมื่อไหร่...
แต่กุศลผลบุญจากการที่นางบวชลูกชายถึงสองคนและตั้งใจจะบวชอีกสองคน ก็น่าจะทำให้กรรมนั้นบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง...
ถ้าย้อนกลับไปได้ นางจะ ‘อดทน’ ให้นางลิ้มค่อย ๆ เหี่ยวเฉาและสิ้นลมปราณไปตามเวลาของมัน นางจะไม่ไปตัดกรรมของเขา และสร้างกรรมใหม่ขึ้นมาเสียเอง... และกรรมประเภทลูกสะใภ้ฆ่าแม่ผัวนี้ นางย้อยรู้สึกว่า มันกำลังงวดเข้ามาหาตัวทุกขณะ...แต่นางจะต้องเฟ้นปัญญาหนีกรรมที่ไม่ได้ตั้งใจก่อนี้ให้จงได้...
เช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่นางย้อยนั่งอยู่ในขบวนรถไฟ...ช่วงที่รถไฟถึงบึงบอระเพ็ด แม่ค้าขายฝักบัวที่เดินเร่ขายไปตามโบกี้ ก็มาหยุดคุยกับหญิงวัยกลางคนสองคน ที่นั่งอยู่ตรงกันข้าม...
“ได้ข่าวว่าพี่เรไรตายเสียแล้ว” นางแม่ค้าเกริ่นแบบนั้น
“อืม ตายตั้งแต่เมื่อวานตอนย่ำค่ำ”
“เมื่อคืนก็ยังไม่ทันได้สวดกันละซิ”
“ยัง...ฉุกละหุก สวดคืนนี้แหละ นี่ก็จะต้องกลับมาให้ทันฟังพระสวด...เขาเอาศพตั้งไว้ที่บ้าน สามวันแล้วเผา”
“ทำไมถึงตั้งนานนักละเหว...เงินทองก็ไม่ค่อยจะมีกันไม่ใช่รึ”
“ลูกเขาเป็นสิบ ๆ คน...ก็คงช่วยกันคนละเล็กละน้อย...เหลือแค่ศพแม่ศพเดียวก็คงต้องเต็มที่ หน่อย”
“อีคนที่ไปอยู่ตาคลี คงจะมีท่ากว่าใครเขาหรอกมั้ง”
“อีเรณูนะเหรอ”
ตอนแรกนางย้อยไม่สนใจฟัง แต่พอได้ยินคำว่า ‘อีเรณู’ สายตาที่มองไปนอกหน้าต่างก็เหลือบกลับมาดูคนกลุ่มนั้นแล้วก็เหลือบกลับไปมอง ข้างนอก ฟังความต่อไป เพราะคนชื่อ ‘เรณู’ นั้น คงไม่บังเอิญมาชื่อพ้องกับ อีเรณูคนที่เพิ่งเหยียบย่างเข้ามาที่บ้านของนางหรอก...ส่วนเจ๊กเซ็งนั้นพอ รถไฟเคลื่อนจากสถานีปากน้ำโพ แกก็ผ็อยหลับไปเสียแล้ว
“อีคนนี้ มีท่ากว่าพี่ ๆ น้อง ๆ มันหน่อย ก็อย่างว่าหากินอยู่กับฝรั่ง... เห็นเขาว่ากันว่า พอมันมาถึง ไม่เท่าไหร่ พี่เรไรก็ขาดใจตาย”
“อพิโถ-อพิถัง...คงรอกัน” นางแม่ค้าดูจะไม่เดินต่อไปข้างหน้าเสียแล้ว
“ก็คงเป็นอย่างนั้นแหละ เห็นว่ามาเป็นคนสุดท้าย...นึกแล้วก็สงสารแก ไม่รู้โรคเวรโรคกรรมอะไร...บ้างก็ว่า แกทุบหัวปลาไว้เยอะ...บ้างก็ว่าแกเคยฆ่าเต่า...หักแข้งหักขาปู”
“ใครมันก็ทำกันทั้งนั้น...มัวแต่กลัวเวรกลัวกรรม พอดีเห็นจะอดตายกันหมด” คนที่นั่งเงียบมาตลอดเอ่ยออกมาบ้าง
“แล้วแกเป็นไง ขายของบนรถไฟ ขายดีไหม”
“ก็พอได้ เอ้อ ...แล้ว ลูกอีเรณูละ กี่ขวบแล้ว” นางแม่ค้าไม่ยอมคุยเรื่องของตน
“เข้าป.๑ แล้ว”
“พี่เรไรมาตายไปแบบนี้ มันจะอยู่กับใครเขาได้...รึแม่มันจะเอาไปเลี้ยงซะเอง”
“คงไม่หรอก...ใครจะเอาลูกไปรู้ไปเห็นเรื่องบัดสีในบาร์ละ ใช่ไหม แต่เห็นสะใภ้ฉันมันว่า ไอ้ป๊อกน่ะ ตั้งแต่มันเข้าป. ๑ มันก็ไปเป็นเด็กวัด อาศัยข้าวก้นบาตร เพื่อเรียนหนังสือซะก่อนแล้ว”
“ถ้าอย่างนั้นอีเรณูมันก็คงให้อยู่วัดต่อไป...นั่นแหละ” พอนางแม่ค้าสรุป รถไฟก็ถึงสถานีทับกฤชพอดี...นางย้อยหันไปปลุกเจ๊กเซ้งเพราะต้องลงที่สถานี นี้ เพื่อรีบไปคุยเรื่องงานแต่งลูกชายคนรองกับพิไลให้เสร็จสิ้น...หลังจากนั้น ตอนบ่ายจะได้นั่งรถไฟกลับชุมแสง... ส่วนเรื่องของอีเรณูนั้น เสร็จงานศพแม่ของมัน...คงได้เห็นดีกัน...เพราะถ้ายังเก็บเอาไว้ในบ้าน รู้ไปถึงไหนก็คงอายไปถึงนั่น...ทั้งมีผัวมีลูกมาแล้ว ทั้งเคยทำงานในบาร์ และหน้าอย่างนั้น คงต้องมีเรื่องบัดสีปิดบังไว้อีกไม่น้อยแน่
พอ จะถึงสถานีทับกฤช เจ๊กเซ้งลุกขึ้นแล้วเดินนำนางย้อยมาที่ประตู...ช่วงที่รถไฟ ชะลอความเร็วเพื่อหยุดที่สถานี เจ๊กเซ้งก็ยืนคาบันไดขั้นแรกแล้ว พอเสียงห้ามล้อดังขึ้นพร้อมกับรถหยุด...ขณะที่เจ๊กเซ้งจะก้าวขาลง แรงดันจากข้างหลัง ก็ทำให้แกกับนางย้อยเสียหลักล้มลงไปข้างล่าง หน้าคะมำ ร่างเกยทับกัน และพอนางย้อยลุกขึ้นได้ นางก็หันไปทางประตูรถ ซึ่งคนนับสิบที่ต่อคิวจะลงจากรถไฟ ต่างส่ายหน้ากันดิก...
“ใคร ๆ มันถีบกู” นางย้อยตะเบ็งเสียงถามกลับไป...
“ฉันเปล่านะ”
“ข้าก็เปล่า” มีเสียงปฏิเสธตอบกลับมา...แล้วทั้งหมดก็กรูกันลงจากรถ ทิ้งนางย้อยมองไปบนรถด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ใจนั้นเดือดดาลเป็นอย่างมาก...
“ลื้อเสียหลักหรือเปล่า” เจ๊กเซ้งยังมองโลกในแง่ดี
“เสียที่ไหน มันมีคนถีบ” ว่าแล้วนางย้อยก็รีบเดินขึ้นไปบนตู้ขบวนอีกครั้ง...กวาดตามองไปรอบ ๆ ก็เห็นแต่คนแปลกหน้าที่ต่างมองสบตา นางย้อยแล้วยิ้มแหย ๆ ...
“มีใครเห็นบ้าง ว่าใครมันถีบฉัน”
บางคนส่ายหน้า บางคนก็หันไปมองข้างนอก ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้...
สุดท้ายนางย้อยก็บอกว่า “ใครบอกได้ ว่าใครมันถีบฉัน ฉันจะให้เงินสิบบาท”
“ฉันเห็น” มีคนรีบยกมือในทันที...
“ใคร บอกมาเร็ว ใครมันถีบฉัน”
“ผู้หญิงใส่เสื้อสีแดง เดินไปตู้โน่นแล้ว...มันเดินไปทางตู้ท้ายขบวน”
นางย้อยจะตามไปดู แต่ว่าเจ๊กเซ้งรีบมาดึงไว้...
“ไม่เอาน่าอาย้อย เราไม่ได้เป็นอะไรมาก ไป ๆ อย่าเสียเวลาเลย”
“แต่มันจะฆ่าเรานะ ถ้ารถยังวิ่งอยู่ เราไม่ตกลงไปคอหักตายรึ...ฉันจะแจ้งตำรวจรถไฟจับมัน”
“รถไฟจะออกแล้ว จับมันไม่ได้หรอก...เร็ว ๆ ลง ๆ”
ตอน นั้นเสียงหวูดรถไฟดังขึ้น...นางคนที่บอกว่าใครเป็นคนทำ รีบกรากเข้ามาหาพร้อมกับบอกว่า “แล้วเงินสิบบาทของฉันละ”
นางย้อยนั้นเป็นคนจริง...พอถูกทวง นางก็รีบล้วงกระเป๋าเสื้อหยิบแบงก์สิบส่ง ไปให้...เงินหลุดมือนางย้อยไปแล้ว เจ๊กเซ้งก็รีบรั้งนางย้อยลงจากรถ เมื่อ ตั้งหลักได้แล้ว นางย้อยก็ยังยืนนิ่ง มองกราดไปยังตู้ขบวนที่ ค่อย ๆ เคลื่อนผ่านหน้าไป...กระทั่งถึงตู้สุดท้าย นางคนเสื้อแดง ก็โผล่หน้าต่างมาพร้อมแลบลิ้น ถลึงตายิ้มเยาะให้...
“อี...อีอ่อน อีแตงอ่อน” กว่าที่นางย้อยจะนึกชื่อออกก็กินเวลาไปอึดใจ ยังไม่ทันที่นางย้อยจะด่าทอระบายอารมณ์ นางแตงอ่อนที่อยู่บนตู้รถโดยสารก็แผดเสียง ดังกังวานว่า...
“คนอย่างพวกมึง กูขอสาปแช่งให้ไม่ได้ตายดี...อีย้อย ไอ้เซ้ง มึงจำคำของกูไว้”
เมื่อวาน...พอเห็นเรณูกับวรรณาเดินมาด้วยกัน ป๊อกที่ปีนต้นมะขามใหญ่ดูต้นทางก็รีบลงจากต้นไม้ แล้ววิ่งหน้าตั้งจนจุกผมที่รวบตึงไว้ด้านหน้าหลุดลุ่ย...ป๊อกเรียกเรณูว่า ‘พี่เรณู’ เช่นเดียวกับที่เรียก ‘พี่วรรณา’...และเรียกนางเรไรว่า ‘แม่’
เรณูอยากจะทรุดเข่าลงแล้วสวมกอดป๊อกให้สมกับที่คิดถึง แต่หญิงสาวก็ทำได้เพียงมองแล้วยิ้ม เพราะป๊อก วิ่งไปกอดขาของวรรณาที่คุ้นเคยกันมากกว่าตนแทน...
“พี่ณา ทำไมถึงมากันช้าจัง เมื่อวานตอนเย็น หนูปีนต้นไม้รอดูอยู่จนค่ำ”
“แม่อาการเป็นอย่างไรบ้าง”
“เหมือนเดิม...ไป พี่รีบไปเถอะ” ว่าแล้วป๊อกก็จูงมือวรรณาให้เดินกลับบ้านโดยไม่ได้สนใจเรณูสักนิด...เรณูมอง ตามไป แล้วถอนหายใจหนัก ๆ เฝ้าแต่หวังว่าเมื่อเขาโตขึ้น เขาก็จะรู้เองว่า เรื่องทั้งหมดมีความเป็นมาอย่างไร
พอสองพี่น้องถึงบ้าน...ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านที่นั่งออกันอยู่ที่ใต้ถุน ก็บอกว่า “เร็ว อีณู อีณา รีบขึ้นไปดูแม่มึง”
พอโผล่เข้าไปในเรือน ก็เห็นพี่สาว พี่ชาย น้องชาย ลูกเขยและลูกสะใภ้ของแม่ รวมถึงหลาน ๆ นั่งล้อมวงดูอาการของแม่ บ้างก็มีน้ำตาคลอลูกนัยน์ตา เรณูยกมือไหว้กราด แล้วก็คลานเข่าเข้าไปหา...
“แม่ แม่ อีเรณูมันกลับมาแล้ว” นางสายทองพี่สาวใหญ่นั่งอยู่ตรงหัวนอน ก้มลงกระซิบบอก...
เรณูกวาดตามองสภาพ ของแม่ซึ่งไม่ได้เห็นกันเกือบครึ่งปีแล้ว รู้สึกแน่นไปทั่วหน้าอก...แม่ผอมลงไปจนผิดตา...วรรณาบอกกับเรณูระหว่างที่นั่งรถไฟมา
“ตอนแรกแม่เขาก็ปวดหัวทุกวัน ต่อมาแข้งขามือไม้ก็ชา แล้วพวกพี่ ๆ ก็พาหมอมานวด พาไปรดน้ำมนต์ หายากลางบ้าน ยาหม้อมาให้กิน แต่อาการแกก็ไม่ดีขึ้น จนกระทั่ง พาไปที่สุขศาลา ทางนั้นก็ให้แต่ยาแก้ปวดมากิน...กินไปก็ไม่ดีขึ้น ทรุดลง เรื่อย ๆ จนตาพร่า หูไม่ค่อยได้ยิน ปากเบี้ยว...กินไม่ได้ ขับถ่ายก็ต้องอุ้มนั่งกระโถน”
เห็นสภาพของแม่แล้ว เรณูรู้ดีว่า แม่คงอยู่ได้อีกไม่นานอย่างที่วรรณาได้บอกไว้ หญิงสาวคลานเข้าไปหา ก้มลงไปจนริมฝีปากแนบกับใบหู...
“แม่ แม่ แม่ได้ยินเสียงฉันไหม...อีเรณูไงแม่”
ฟากนางสายทองที่นั่งอยู่อีกฝั่งก็บอกว่า “แม่ อีเรณูมันมาแล้วนะ”
“เออู” เสียงของแม่อู้อี้ ตานั้นยังลืมไม่ขึ้น...เรณูจับมือของแม่มากุมไว้...พยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ ไหล...แต่มันก็ยากระงับ...เพราะมือของแม่นี้ แม้จะเคยทุบตีในคราวที่ทำอะไรไม่ถูกใจหรือดื้อด้านตามประสา แต่มือของแม่นี้ ก็เคยลูบหัวลูบหลังปลอบประโลมตอนที่เรณูทุกข์ร้อนใจเป็นที่สุด...
“จ๋า แม่ได้ยินฉันเนอะ ฉันมาแล้วแม่...วันนี้ พอรู้ว่าแม่ไม่สบาย ฉันก็รีบมาเลย...มาคราวนี้ฉันไม่มีเสื้อมาฝากแม่นะ ฉันรีบน่ะ...แต่มาคราวหน้า ฉันจะหาผ้าดอก ๆ ที่แม่ชอบมาฝากแม่นะ”
ตอนนั้นแม่ที่หลับตาอยู่ มีน้ำตาไหลลงมาทางหางตา บอกให้รู้ว่า รับรู้ทุกถ้อยคำที่ลูกสาวพูดด้วย...
“เออู” “จ๋าแม่ แม่จะเอาอะไร แม่อยากได้อะไร แม่บอกฉันได้เลยนะ”
“อูแอไอ้อ๊อกอันอีอีนะ...แอ้อ่วงอัน” ‘ดูแลไอ้ป๊อกมันดีๆ นะ แม่ห่วงมัน’
“จ๊ะแม่ ฉันจะดูแลมันอย่างดีเลย แม่ไม่ต้องห่วงมันนะ ตอนนี้ฉันไม่ได้อยู่ตาคลีแล้วนะแม่ ฉันย้ายมาอยู่ชุมแสงแล้ว ฉันมีงานมีการทำเป็นหลักแหล่งแล้วนะแม่...ฉันเอาวิชาทำขนมที่แม่สอนฉัน ตั้งแต่ฉันเป็นเด็ก ไปทำมาหากินแล้วนะแม่ ใครกินขนมฝีมือฉัน ก็บอกว่าอร่อยกันทั้งนั้นเลย” เรณูพูดไปทั้งที่น้ำตาไหลอาบแก้มไป แต่ถึงกระนั้นน้ำเสียงก็ไม่สั่นเครือให้คนเป็นแม่รู้ว่า ใจของตนนั้นกำลังจะขาดตามกันไป...
มือเหี่ยวแห้งของแม่ บีบตอบกลับมือของเรณูแรงขึ้น... ปากก็ พรึมพรำว่า “อี อี...อีอาก” ‘ดี ดี...ดีมาก’
“ไอ้ป๊อก...มานี่ มาหาแม่” เรณูหันไปเรียก ‘ลูกชายคนเล็ก’ ของแม่ ที่แม่บอกกับคนทั่ว ๆ ไปว่าเป็น ‘ลูกหลง’ ทั้งที่ตอนที่เธอคลอดป๊อกนั้น แม่อายุเกือบหกสิบปีแล้ว...แม่พยายามปกป้องเธออย่างเต็มกำลัง และแม่ก็ยังพยายามระงับรอยร้าว ระหว่าง ‘พี่สาว’ กับ ‘น้องสาว’ โดยป้องเธอไว้และหาทางออกให้ แม้ว่าทางออกนั้นมันจะไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอดีขึ้นก็ตาม
ป๊อกที่นั่งพิงวรรณาอยู่รีบขยับเข้าไปหาเรณู...
“ป๊อก กราบแม่ซะนะ...บอกกับแม่ว่าแกโตขึ้น แกจะเป็นเด็กดี แกจะบวชพระให้แม่เขาด้วย...บอกไปซิ”
คำพูดของเรณูนั้นยาวเกินไป ป๊อกทำหน้างง ๆ แต่ถึงกระนั้น เขาก็ขยับเข้าไปจนชิดกับร่างที่นอนอยู่แล้วก้มลงกราบ ไปที่อกแล้วเงยหน้าขึ้น
“แม่ แม่ โตขึ้นหนูจะเป็นเด็กดี หนูจะบวชพระให้แม่ด้วยนะ”
“แม่ไม่ต้องห่วงหนูนะ” เรณูกำกับ ป๊อกพูดตาม...มือของแม่บีบมือของเรณูแน่นขึ้นเป็นเชิงว่ารับรู้...แล้วป๊อก ก็ถอยออก เรณูก้มลงไปกราบที่อก แล้วก็กระซิบที่ข้างหูของแม่ว่า
“แม่ หากหนูทำผิดต่อแม่ด้วยเรื่องใด ๆ ก็ตาม แม่ยกโทษให้หนูด้วยนะ...แม่อโหสิกรรมให้หนูนะ...ชาติหน้ามีจริง หนูขอเกิดมาเป็นลูกของแม่อีกนะ” ท่อนสุดท้ายเรณูระงับความอาดูรไว้ไม่ได้...
หลังจากที่เรณูขยับออกมา ลูกและหลานรวมถึงเขยสะใภ้เกือบสามสิบคนก็ทยอยเข้าไปกราบขอขมา...ขออโหสิกรรม
หลังพระอาทิตย์ตกดิน ขณะพระตีกลองย่ำค่ำ หลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้ว ลมหายใจของแม่ก็ขาดลง ทิ้งไว้เพียงภาพความทรงจำไว้ในใจลูก ๆ ทุกคน...
พอ ลงจากรถสามล้อ นางย้อยก็เดินเข้าบ้านด้วยอาการโขยกเขยก บุญปลูกที่อยู่ใกล้ที่สุดจะเข้าประคอง แต่นางย้อยโบกมือ... ประสงค์ที่นั่งอยู่หลังโต๊ะบัญชีรีบถาม “ม้า ทำไมเดินอย่างนั้น”
“ตกรถไฟ...แค่รู้สึกเคล็ดขัดยอก...ทายาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เดี๋ยวก็หาย...นี่ไอ้สี่มันกลับปากน้ำโพหรือยัง”
“ยัง...วันนี้ไปช่วยงานที่โรงสี”
“ไปช่วยหรือไปนอน ไอ้นี่มันขี้เกียจสันหลังยาว รักสนุก สบายจนเคยตัว ห้องหับมัน ม้าเปิดเข้าไปลมแทบจับ สกปรกรกรุงรัง ม้าเห็นแล้วเหนื่อยใจ...ไอ้ตอนอยากได้ ก็อ้อนจะเอาให้ได้ อ้างว่าจำเป็น พอได้มาแล้วก็ไม่รักษาให้ดี คนอย่างนี้ ม้านึกไม่ออกจริง ๆ ว่าแก่ตัวไปจะเป็นอย่างไร จะอยู่กับใครเขาได้”
“เตี่ยละม้า” ประสงค์รีบเปลี่ยนเรื่อง
“นั่งรถไปโรงสีแล้ว” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมาเหมือนมีเรื่องเหนื่อยหน่ายใจ...
นาง ย้อยเหนื่อยหน่ายใจจริง ๆ เพราะนอกจากทางเถ้าแก่ฮงกับ นางพิกุลจะเรียกค่าสินสอดทองหมั้นเป็นทองคำหนัก ๑๐ บาท เงินหนึ่งหมื่นบาท ทางนั้นยังขอให้ทางนี้จัดหาที่นอนขนาด ๖ ฟุต ๓ ท่อน พร้อมเตียงไม้สักให้หนึ่งหลัง และเครื่องครัวอีกหนึ่งชุด โต๊ะจีนเลี้ยงฉลองพิธีมงคลสมรสก็ระบุมาว่าต้องมีวงดนตรีขับกล่อมด้วย สุดท้ายที่นางย้อยรู้สึกว่ามันมากไป นั่นคือ จะให้ออกค่าโรงแรมให้กับญาติ ๆ ของฝ่ายนั้นด้วย ...นางย้อยก็เลยบอกไปว่า ให้กลับกันไปพร้อมกับเรือที่เหมาไปทับกฤชและรับเจ้าสาวมาทำพิธีที่ชุมแสงไว้ แล้วกัน...ถ้าใครจะพักโรงแรมก็ออกกันเอง...เพราะโรงแรมที่ชุมแสงมีตั้งหลาย แห่ง
นางย้อยเริ่มเห็นแล้วว่า ‘สะใภ้’ ที่เข้าบ้านมาเองอย่างเรณู กับสะใภ้ที่ผู้ใหญ่เห็นดีเห็นงาม รับรู้และทำถูกต้องตามประเพณีนั้นแตกต่าง กันเพียงใด...พิไลไม่ใช่สาวน้อยไร้เดียงสา มันเค็มกว่าที่นางย้อยคิด...ระหว่างนั่งรถไฟกลับมา นางย้อยก็คิดเล่น ๆ ว่า พิไลมันมาอยู่ที่นี่ ก็คงจ้องจะฮุบร้านนี้ ตามที่ ได้ตกลงยินยอมไว้ตั้งแต่ทีแรก...
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นางจะหมดความสำคัญทันที...นางจะไม่มีวันยอมให้อำนาจของนางต้องหมดสิ้นไปเพราะ ‘สัจจะ’ นั่นหรอก... เมื่อเอาเหลี่ยมเอาคมมาด้วย ก็ต้องเจอกันสักตั้ง
“ตง” “ครับ”
“ถ้าม้าจะพูดอะไรเรื่องพิไลให้แกฟัง ก็ขอให้แกรู้ไว้นะว่า ม้านั้นพูดเพราะรักแก รักลูก ห่วงลูกทุกคนนะ”
“มีอะไรหรือม้า”
“ม้ารู้สึกว่า พิไล อีเค็ม อีงกเหลือเกิน ม้ากลัวว่าแต่งมันเข้ามาแล้ว ระบบกงสีของบ้านเราจะปั่นป่วน”
ฟัง แม่พูดแล้วประสงค์ก็นิ่งเงียบ... เพราะเขาไม่ได้รักพิไล เมื่อไม่รัก จึงนึกไม่ออกว่า จะพูดเข้าข้างอย่างไร เพื่อทำให้แม่สบายใจขึ้นมาได้...
“ม้ายังไม่ได้บอกกับแกว่า หลังจากที่เปลี่ยนตัวเจ้าบ่าวจากตี๋ใหญ่เป็นแก เขาเรียกร้องอะไรบ้าง”
พอ ได้ฟังรายละเอียดที่พิไลเรียกร้อง ตั้งแต่ทองหมั้น เงินสินสอด และสิทธิ์เท่าสะใภ้ใหญ่ รวมถึงร้านนี้จะต้องตกเป็นของเขาแทนปฐมซึ่งเป็นพี่ชายคนโต...ประสงค์ก็ รู้สึกแน่นหน้าอก เพราะมันไม่ยุติธรรมกับแม่และปฐมจริง ๆ ...
“ม้า รู้สึกว่าม้าคิดผิด ที่คิดจะเอาอีมาเป็นสะใภ้ แต่มันก็สายไปเสียแล้ว...ทางเดียวที่ม้าจะป้องกันแก้ไขได้คือ คุยกับแกซะให้รู้เรื่อง...เพราะ วันหนึ่งข้างหน้า พี่น้องจะได้ไม่หมางใจกันเพราะเรื่องทรัพย์สินเงินทอง”
“ม้าจะทำอย่างไร” “แต่งกันแล้ว แกก็พากันไปอยู่ที่บ้านในตรอกนั้น เช้ามาหุงหากินกันแล้ว ก็มาช่วยกันที่ร้านนี้ทั้งสองคนนั่นแหละ ข้าวกลางวันกินกับม้า ตอนเย็นก็กลับไปกินกันที่บ้าน ทางโรงสีให้อาซามันดูแลไป แล้วอีกไม่กี่เดือนตั่วเฮียก็จะกลับมาช่วยมัน...ม้าจะตั้งเงินเดือนให้แกกับ เมียแก เบื้องต้นก็คงจะให้ได้มากกว่าอีปลูกไอ้ป้อมแต่ไม่ถึงคนละสองเท่าของพวกนั้น หรอกนะ...แล้วเก๊ะนี้ ถ้าไม่จำเป็น แกอย่าให้เมียแกนั่งแทนเด็ดขาด บัญชีแกต้องทำเอง...เงินทองนอกจากลูกกับผัวแล้วม้าไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น”
“ม้า” ประสงค์ทำได้เพียงอุทานเบา ๆ
“แม่ อย่างไรก็เป็นแม่ พี่น้องอย่างไรก็พี่น้อง ตัดไม่ตายขายไม่ขาด แต่เมียมันเป็นคนอื่น...ถ้ามีลูกมีเต้าด้วยกันแล้วค่อยว่ากันอีกที...ม้าไม่ อยากให้มันมาวุ่นว่ายในบ้านมากนัก จนคนอื่นอึดอัด”
“แล้วแต่ม้าเห็นสมควร”
“แล้ว ไม่ต้องเอาเรื่องนี้ไปบอกมันละ...ป้องกันอะไรแทนม้าได้ แกก็ทำไป กันมันไว้อย่าให้มันสร้างปัญหา อย่าให้มันมีปัญหากับพี่ ๆ น้อง ๆ ของแก...ส่วนวิธีการอย่างไร ม้าเชื่อว่าคนอ่านหนังสือมามาก ๆ อย่างแก คงอ่านคนออก แล้วก็คิดได้เอง...แล้วถ้ามันไม่เป็นอย่างที่ม้าคิด ม้าจะขยับขยายไปทำอย่างอื่นแทน แล้วยกร้านนี้ให้แกอย่างที่รับปากกับมันไว้...แต่ว่าต้องหลังจากที่แกกับมัน มีลูกแล้วนะ ตัดปัญหาไปเลย”
“แล้วตั่วเฮียละม้า จะเข้าใจไหม”
“ต้อง เข้าใจ เพราะมันเลือกทางเดินชีวิตของมันเอง...แต่ม้าก็ยังมีทางออกให้มันหรอก มันกลับมา ม้าจะให้ช่วยอาซาดูแลโรงสีไป อาซาดูบัญชีคุมเรื่องซื้อขายข้าวเปลือกไป ตั่วเฮียให้คุมคนงานในโรงสี กับช่วยเตี่ยเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ไป...เขามีเมียแล้ว ม้าก็จะตั้งเงินเดือนให้เขาเหมือนที่ตั้งให้แกนี่แหละ...แกว่าม้ายุติธรรม ไหม”
ประสงค์นิ่งเงียบ...
“อา ตง เป็นแม่คน มันไม่ง่ายหรอกนะ...เมื่อเป็นเมียก็ต้องทำหน้าที่ของเมีย หน้าที่ของสะใภ้ เมื่อเป็นแม่คน นอกจากจะต้องเลี้ยงลูกให้เติบโต มีการศึกษา มีหน้าที่การงาน แล้วก็จะต้องเลี้ยงให้เป็นคนดี ทรัพย์สมบัติที่มีก็จะต้องแบ่งปันกันไปให้ยุติธรรมที่สุด...เวลานอนตาย ก็จะได้นอนตายตาหลับ...ไม่มีห่วง ไม่ให้ใครเอาไปครหาได้” พรรณนาถ้อยคำจรรโลงใจไป น้ำตาก็รื้อหัวตานางย้อยไป...
“แล้วเรื่องตึกที่ปากน้ำโพละม้า ได้ข้อสรุปว่าไง”
“ทำเล ดี ปรึกษากับเตี่ยแกแล้ว น่าจะเอาไว้ เผื่อไอ้สี่มันเรียนจบ มันจะได้เปิดร้านเปิดอะไรของมันไป...ดีไม่ดี ม้าอาจจะกลับไปอยู่ที่ปากโพก็ได้นะ เพราะพี่น้องที่หนองนมวัวจะได้ไปมาหาสู่กันง่ายกว่าที่นี่”
“ม้า” เมื่อเห็นแผนชีวิตของแม่ที่ทำทุกอย่างเพื่อความสุขของลูกหลาน ประสงค์ก็รู้สึกรักแม่ยิ่งขึ้นผสมปนเปกับความรู้สึกว่า ‘ใจหาย’ ปีนี้ สถานภาพทางบ้านของเขากำลังจะเปลี่ยนแปลงไป จะไม่มีเฉพาะแค่ พี่ ๆ น้อง ๆ อีกแล้ว ‘วงศ์’ จะใหญ่ขึ้นเพราะมีสะใภ้ แล้วก็ต้องมีลูกมีหลาน มีการแบ่งแยกทรัพย์สมบัติ แบ่งแยกหน้าที่การงาน แบ่งแยกอาหารการกินให้ชัดเจน
“แล้ว ที่นั่นใกล้มดใกล้หมอดี แต่คงไม่ใช่เวลานี้หรอก...เวลานี้ ที่ชุมแสง ม้ายังต้องมีเรื่องให้ต้องจัดการอีกเยอะ...โดยเฉพาะเรื่องของอีเรณู.”
“ม้า เรื่อง พี่เรณู ม้าปล่อยวางได้ ม้าก็ปล่อย...ม้าจะได้ไม่เป็นทุกข์”
“ปล่อยได้ที่ไหนละ ม้าเพิ่งรู้มาว่าก่อนมันจะไปขายตัวอยู่ที่ตาคลี มันมีผัวมีลูกมาแล้ว...นี่มันไปงานศพแม่มันใช่ไหม...ถ้าใช่ กลับมา เมื่อไหร่เห็นดีกันแน่”
******************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #8 on: 29 February 2020, 19:18:46 » |
|
ตอนที่ 9 : ไม้แข็ง-ไม้นวม
๙ หลัง แม่สิ้นลม...สายทองซึ่งเป็นพี่สาวคนโตก็ต้องทำหน้าที่นำน้อง ๆ จัดงานศพของแม่...ทั้งที่แม่ตายในเรือนที่แม่ได้ยกให้น้องชายคนรองจากเรณู ครอบครองไปแล้ว...โดยสายทองบอกกับน้อง ๆ ที่มีถึงเก้าคนว่า
“เงินค่าทำศพแม่ ใครจะช่วยเท่าไหร่ก็เอาเงินมาวางไว้แล้วกัน กูจะจดไว้”
“ฉันมีไม่มากหรอกนะ” พี่สาวคนที่สองเริ่มออกตัว...
พอมีคนออกตัว คนอื่น ๆ ก็พลอยออกตัวไปด้วย...
สุดท้ายเรณูจึงต้องบอกว่า “ก็ทำกันเท่าที่มี งานเราก็อย่าให้มันใหญ่โต จนคนตายต้องขายคนเป็น”
“มันก็ไม่มีเงิน จะให้หน้าใหญ่อยู่แล้ว” สายทองตอบกลับมาด้วยเสียงสะบัด ๆ เรณูทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ก่อนจะดึงกระเป๋าใส่เงินออกมาจากกางเกง แล้ววางเงินแบงก์ร้อยจำนวนห้าใบ ลงไปเป็นคนแรก...
“ฉันลงให้เท่านี้แล้วกัน” ลงเงินไปแล้ว เรณูก็ดึงวรรณาออกมาที่ในครัว...เรณูควักเงินให้วรรณาสามร้อยบาท...
“นี่ของแก เอาไปลงกับพวกเขาซะ...พี่ให้”
วรรณาชักสีหน้าลำบากใจ
“งั้นหนูยืมแล้วกันนะ วันหน้า ถ้าหนูมี หนูจะคืนให้พี่”
“ไม่ต้องคืนหรอก...เอาไปเถอะ เอาไปลงให้คนอื่นมันเห็นว่า ถึงแกจะเป็นคนเล็ก ยังไม่มีงานมีการทำ แกก็ไม่ได้นิ่งดูดาย เกี่ยงว่าไม่มี ไม่ใช่เรื่องของตน ส่วนคนอื่น ใครจะลงกันเท่าไหร่ ก็เรื่องของพวกเขา...ให้พวกเขาทะเลาะกันเอง”
ฟังเหตุผลของเรณูแล้ว วรรณาก็เดินถือเงินมาวางไว้ ท่ามกลางเสียงถกเถียง ควรจะให้ลงกองกลางตามความสมัครใจหรือว่า บังคับให้ลง... วางเงินแล้ววรรณาก็เลี่ยงออกมา...พบว่าเรณูค้นถ้วยจานชามจากตู้ออกมาวางไว้แล้ว...
“มาช่วยกันรื้อค้นของใช้ออกมาเตรียมตั้งครัว”
คืน นั้นแม้จะยังไม่มีงานสวดพระอภิธรรมหน้าศพ แต่ญาติมิตร เพื่อนบ้าน ต่างก็มาช่วยกันต่อโลง อยู่เป็นเพื่อนศพโดยการเล่นการพนันจนแน่นใต้ถุนเรือน...หลังขนเครื่องครัวลง ไปตั้งครัวที่เพิงข้างบ้าน เรณูก็ติดเตาหุงข้าวหม้อใหญ่ ต้มฟักมะนาวดอง หลนปลาร้า ตำน้ำพริก หาผักหาหญ้าที่พอเก็บได้รอบ ๆ บ้านมาเตรียมไว้เลี้ยงคนแก้ขัดกันไปก่อน ส่วนพรุ่งนี้เช้าเรณูบอกกับน้องชายให้เตรียมไปตัดบอนมาแกงเพื่อทุ่นค่าใช้ จ่ายที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องหมดเงินกันถึงเท่าไหร่
หลังจัดแจงหาของใช้ในครัวให้ ‘แม่งาน’ ซึ่ง เป็นลูกพี่ลูกน้องของ แม่ เรณูก็เดินขึ้นมาบนเรือนที่มีโลงศพของแม่ตั้งอยู่...วรรณานั่งอยู่กับสะใภ้ คนที่วรรณาว่าเค็มจัด เค็มจนวรรณาคิดว่า ต่อไปบ้านหลังนี้จะไม่ใช่บ้านของแม่ที่ลูกทุกคนมีสิทธิ์มาอาศัยอยู่ได้อีก ต่อไป...พอเรณูทรุดตัวลงนั่ง น้องสะใภ้ก็ถามว่า “แล้วเรื่องไอ้ป๊อก พี่เรณูจะเอาอย่างไร”
เรณูรู้อยู่แล้วว่าจะต้องได้รับคำถามนี้จากน้องชายและน้องสะใภ้ที่เป็นเจ้าของเรือนนี้แล้วแน่ ๆ ...
“พี่จะเอามันไปอยู่ด้วยกันที่ชุมแสง”
“ก็ดี...อยู่ที่นี่ก็อด ๆ อยาก ๆ ลูกเต้าฉันก็ตั้งสามคน”
“พี่เข้าใจ...ขอบใจที่ช่วยแม่เลี้ยงดูมันมานะ”
“ไม่มีแม่แล้ว พี่ก็ยังไปมาหาสู่ มาเยี่ยมมาเยียนกันได้นะ” แน่นอนว่า ก่อนหน้านั้น เรณูไม่เคยกลับบ้านมือเปล่า ของกินแปลก ๆ อย่างแอปเปิ้ล อย่างอาหารกระป๋องที่พวกเมียเช่าฉกฉวยของผัวฝรั่งออกมาขาย เรณูหิ้วติดมือมา ด้วยทุกครั้ง...นอกจากนั้นเรณูยังโละเสื้อผ้าที่ตนเองใส่จนเบื่อแล้วมาให้ น้องสะใภ้คนนี้อยู่เรื่อย ๆ หลังให้เงินแม่ไว้ใช้ เรณูก็จะยังยัดเงินให้น้องสะใภ้ โดยบอกว่า เอาไว้ซื้อขนมให้ไอ้ป๊อกมันกินบ้าง
คืนนั้นเรณู วรรณา และป๊อกกางมุ้งนอนด้วยกันในห้อง...เรณูบอกกับป๊อกให้เตรียมใจว่าต้องย้าย โรงเรียน ย้ายไปที่อยู่กับตนที่ชุมแสง แต่ป๊อกก็บอกกับเรณูว่า “หนูขอไปอยู่วัดกับหลวงพ่อได้ไหม”
หลวงพ่อนั้น มีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่ของนางเรไร...ตั้งแต่เข้าเรียนป๊อกก็ไปนอนที่ วัด หลวงพ่อออกบิณฑบาตก็ถือปิ่นโตตามหลัง ข้าวกลางวันป๊อกก็กลับมากินที่วัด ตอนเย็นกลับมาจากโรงเรียนก็ช่วยหลวงพ่อถูศาลาแลกค่าขนมทุกวัน แต่หลวงพ่อก็ไม่ได้มีให้ทุกวัน และสำคัญที่วัดไม่ได้มีเด็กผู้ชายแค่ป๊อกคนเดียว อยู่วัดป๊อกไม่เหงาเพราะมีเพื่อนเล่น กินอิ่ม นอนหลับ และสะดวกใจกว่าอยู่ที่บ้านซึ่งมีแต่เด็กผู้หญิง
เรณูนอนนิ่ง...คิดถึงผลดี ผลเสีย คิดถึงอนาคตที่ยังไม่แน่นอนของตน สุดท้ายวรรณาก็บอกว่า
“ให้ป๊อกมันอยู่ที่นี่ไปก่อนแล้วกัน ย้ายโรงเรียนกลางคัน มันยุ่งยาก...แล้วหลวงพ่อก็รักมัน อยู่ที่นี่ พี่ ๆ มันก็มีตั้งเยอะแยะ ไม่มีใครเขาทิ้งมันหรอก”
เสียงเอ็ดตะโรของคนเล่นไฮโลที่ใต้ถุนเรือนทำให้เรณูนอนไม่หลับ...หญิงสาวลุก จากที่นอนไปยืนเกาะขอบหน้าต่าง มองไปทางทิศตะวันออกของบ้าน... เบื้องหน้านั้นมีทางรถไฟพาดผ่าน ถัดจากรางรถไฟเป็นบึงบอระเพ็ด...ช่วงหน้าน้ำมีปลาชุกชุม พอหน้าแล้งน้ำลดแม่กับพ่อก็ไปอาศัยที่ปลูกผักพอให้เก็บกิน พ่อนั้นเป็นทั้งพรานปลา พรานนก ทุก ๆ เช้า พ่อจะพายเรือออกไปกู้ลอบยืน กู้ข่าย เอาปลามาให้แม่ทำน้ำปลา ทำปลาร้า ปลาย่าง ปลาแห้ง และส่วนหนึ่งพ่อก็ล่องเรือไปตามลำน้ำน่านที่อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน เอาไปขายที่ตลาดปากน้ำโพ ได้เงินมาแล้วนอกจากแบ่งปันให้แม่เอาไว้เลี้ยงลูก ส่วนหนึ่งก็จะเป็นค่าเหล้าของพ่อ...
พ่อชอบกินเหล้า แต่กินแล้วไม่ใช่คนดุร้ายตีลูกตีเมียเหมือนคนกินเหล้าบางคน พ่อกินเหล้าแล้วจะอารมณ์ดี...มีงานศพแบบนี้พ่อจะไปอยู่เป็นเพื่อนศพเพื่อกินเหล้า...ป่านนี้ พ่อกับแม่ คงได้เจอกันในที่แห่งใดแห่งหนึ่งไปแล้ว...
เรณู หน้าหม่นเศร้า เมื่อนึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต...วันนั้นเป็นช่วงปลายฤดูหนาว บัวสายในบึงบอระเพ็ด ชูดอกสีแดงระดาระดาษ นกกา บินว่อนร้องระงม เหนือผิวน้ำมีไอหมอกลอยกรุ่นต้องแสงอรุณ เรณูออกจากบ้านไปเพื่อเก็บสายบัวมาต้มกะทิ...พี่ทิดดำหนุ่มวัยสามสิบปลาย ๆ ผัวของ พี่สายทองนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียวถือข้องใส่ปลาเดินกลับจากกู้ลอบ ตอนนั้นเรณูอายุแค่ ๑๖ ปี ร่างอวบอัด นมตั้งเต้าเต่งตึง ด้วยเป็นเวลาเช้าตรู่เรณูจึงสวมเพียงผ้านุ่งและเสื้อคอกระเช้าตัวบางเบา... พี่ดำเห็นเรณูเข้าก็ร้องทัก ถามไถ่ด้วยสายตาแพรวพราวว่าเรณูจะไปไหน...ความไร้เดียงสาไม่ทันระมัดระวังตัวของสาวน้อย ทำให้เรณูตอบไปตามจริง ความจริงที่เหมือนเชื้อเชิญให้เขาตามไปเก็บสายบัวด้วยกัน...
เมื่อนั่งอยู่ในลำเรือที่ค่อย ๆ พายขยับไปหาดอกบัวสีแดง เรือก็ โครงเครง เรณูรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก ตอนนั้นเรณูนึกว่าเป็นจระเข้มาหนุนเรือเพื่อจัดการเหยื่อบนผิวน้ำ...แต่พอ เรือล่ม พี่ดำก็เข้ามาสวมกอดสัมผัสไปที่จุดกระสันตั้งแต่ทรวงอกไล่ต่ำลงไปจนเรณูตั้ง ตัวไม่ติด...ตอนนั้นเรณูร้อง ห้ามเสียงหลง และเสียงก็กระเส่าลงเรื่อย ๆ เพราะลึก ๆ แล้ว เลือดในกายของเรณูก็รุ่มร้อนทุกครั้งที่เห็นสรีระเนื้อหนั่นของพี่เขย...วัน นั้นเรณูทอดกายให้เขาเชยชมที่หลังพงหญ้า...เรณูรู้สึกถึงความเสียวซ่าน ปลดปล่อยความอึดอัดในวัยสาว รู้ซึ้งถึงอารมณ์คู่ผัวตัวเมีย จนลืมผิดชอบชั่วดี
เมื่อ มีครั้งแรกก็มีครั้งต่อ ๆ มา ตามแต่ทั้งคู่จะหาวิธีหลบหลีกสายตาของผู้ใหญ่และคนใกล้ตัวมาได้ และในที่สุดเรณูก็ตั้งท้อง...พี่ดำหวังจะเก็บเรณูไว้เป็นเมียอีกคน แต่พี่สายทองไม่ยอม...เรื่องนี้ทำให้บ้านหลังนี้ร้อนเป็นไฟ พี่สายทองจะให้เรณูทำแท้งแล้วต้องไปจากที่นี่ เรณูไม่ยอมเพราะกลัวบาปกรรม แม่จึงให้เรณูไปอยู่กับคนรู้จักกันที่ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี
พอใกล้คลอดแม่ก็ไปอยู่เฝ้า พอเรณูคลอดป๊อก แม่ก็อุ้มป๊อกกลับมาที่บ้าน โดยแม่บอกกับคนอื่น ๆ ว่าป๊อกเป็นลูกหลง...ทั้งที่คนอื่น ๆ ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ส่วนเรณูนั้นก็มีญาติชักนำให้ไปเป็นลูกจ้างร้านโชห่วยในตลาดตาคลี กระทั่งปี ๒๕๐๗ กองทัพสหรัฐเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพในการปฏิบัติการทางอากาศในสงคราม เวียดนาม โดยเฉพาะที่สนามบินตาคลี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง คราวนั้นตาคลี คลาคล่ำไปด้วยทหารจาก แดนไกล วิถีชีวิต ระบบธุรกิจเปลี่ยนไปรองรับกำลังซื้อที่มีอย่างมหาศาล
ผับ บาร์ สถานเริงรมย์ บังกะโล ผุดขึ้นมากมาย ผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ และช่วงนั้นพ่อของเรณูก็ล้มป่วย แม่ต้องการเงินไปรักษาพ่อ จึงมาขอเบิกจากเถ้าแก่ไปก่อน นั่นเป็นเหตุผลอันสวยงามที่ทำให้เรณูตัดสินใจกระโจนเข้าสู่วงการน้ำกาม... กลายเป็นผู้หญิงกร้าน แกร่ง และไม่ได้คิดเกรงกลัวต่อสิ่งใด กระทั่งเรณูพบกับปฐม...
ความรักวิ่งเข้าชนหัวใจของเรณูอีกครั้ง...เอาชนะเขาด้วยความสาว ความสวย และคุณสมบัติที่ผู้หญิงดี ๆ ทั่วไปพึงมีไม่ได้ เรณูก็ต้องใช่เล่ห์กล มนตรา ซึ่งเป็นวิธีสกปรกเข้าช่วย...และเรื่องสุดท้ายที่เรณูหลอกเขาก็คือ เรื่อง ‘ตั้งท้อง’
“นะ ม้า...ซื้อให้ผมเถอะนะ ผมสัญญาว่า พอได้กล้องแล้ว กลับไปจะเก็บกวาดห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ให้อาอึ้ม เอามาบ่น มาว่าได้” จริง ๆ แล้วนางหลักฮวงคู่สะใภ้นั้นไม่ได้ ‘ฟ้อง’ เป็นแต่นางย้อยที่ ‘อ้าง’ เอง เพราะน่าจะทำให้เรื่องมีน้ำหนักยิ่งขึ้น
“มันไม่ใช่ของจำเป็น...สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ” นางย้อยยืนกระต่ายขาเดียว...ทั้งที่ใจนั้นอ่อนยวบตั้งแต่เจอลูกอ้อนครั้งแรก
“เพื่อนผมใคร ๆ เขาก็มีกัน กล้องถ่ายรูปสามารถเอามาหากินได้นะ รับจ้างเขาถ่ายรูปได้ ญาติเราตั้งเท่าไหร่ เริ่มจากงานแต่งเฮียตงนี่เลยม้า เดี๋ยว ผมกลับมาถ่ายให้ ม้าจะได้ไม่ต้องไปเสียเงินจ้างคนอื่นเขา” “รู้ไหมว่างานแต่งคราวนี้ใช้เงินเท่าไหร่...ไหนจะต้องเก็บเงินไว้เช่าซื้อตึกนั่นอีก...มีแต่เรื่องใช้เงินทั้งนั้น”
“กล้อง ถ่ายรูปมันกี่บาทที่ไหนกันละม้า ซื้อให้ผมเถอะนะ ซื้ออะไรให้ผมแล้ว ผมเคยทิ้งขว้างที่ไหน กีต้าร์ผมก็เล่นได้ ฮาร์โมนิก้าผมก็เป่าได้ เมื่อคืนก็เป่าให้ม้าฟังตั้งหลายเพลง”
“เพลงอะไร ฟังไม่รู้เรื่อง หนวกหูชะมัด”
“หนวกหูแต่ม้าก็หลับปุ๋ย เรียกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมตื่น” ที่เขายังไม่ยอมกลับปากน้ำโพ เพราะจะอยู่ ‘อ้อน’ เอา กล้องนี่ถ่ายรูปนี่แหละ อ้อนมาหลายวัน ยอมทำตามใจแม่ ช่วยพี่ ๆ ทำงานอยู่หลายวัน แม่ก็ยังใจแข็ง...กระทั่งเมื่อคืนเขานึกครึ้มใจ หยิบฮาร์โมนิก้าอันเก่าที่เอามาทิ้งไว้ให้พี่ชายฝึกเป่าเล่นแทนขลุ่ย เดินเข้าห้องไปเป่ากล่อม...หวังให้แม่ใจอ่อนเหมือนนางผีเสื้อสมุทรได้ยินเสียง ขลุ่ยของพระอภัยมณี แต่ว่าแม่ก็หลับปุ๋ยเขย่าเรียกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมขานรับ...
“หลับเพราะรำคาญหรอก.”
“นะม้าขอกล้องถ่ายรูปนะ...นะนะนะ”
เจ๊ก เซ้งนั่งกินข้าวไปพลางส่ายหน้าเบา ๆ...แล้วในที่สุด แกก็ตัดรำคาญโดยการตัดสินใจแทนเมียเสียเอง
“ซื้อ ๆ ให้มันไป อย่างไรเราก็ต้องใช้ในเร็ววันอย่างที่มันว่า”
“เย้...เตี่ย ใจดีชะมัดเลย เห็นไหมม้า เตี่ยตกลงแล้ว เหลือแต่ม้าแหละ อย่าใจแข็งนักเลยนะ”
ตอน นั้นนางย้อยเหลือบตามองหน้าคนช่วยหาเงินอีกสองคน...ประสงค์อ่านตาของแม่ก็ รู้ใจ เขาพยักหน้า ส่วนกมลที่รู้ว่ากล้องตัวนั้นตนจะมีสิทธิ์ได้ใช้ด้วยเพราะมงคลไม่ใช่คนหวงของ ก็พยักหน้าเช่นกัน...
พอ คนหาเงินเข้าบ้านอีกสามคนตกลง นางย้อยจึงบอกว่า “เงินทองในบ้าน ม้าไม่ได้หาคนเดียวนะสี่...พี่เขาก็ช่วยกันหา ทำงานหนักกันแค่ไหน แกก็เห็น...เพราะฉะนั้น จะใช้อะไรเกินความจำเป็น ม้าก็ต้องถามความเห็นของพวกเขาก่อน”
พอ แม่บอกอย่างนั้นมงคลก็ยิ้มออกมา...เขาหันไปถามประสงค์กับมงคลว่าอนุญาตไหม พอทั้งคู่ บอกว่า “อืม ก็ดี” นางย้อยจึงบอกว่า
“ให้ก็ได้ แต่แกต้องสัญญากับม้าก่อนว่า จะตั้งใจเรียนให้มากขึ้นกว่าเดิม จะไม่เที่ยวเตร่ให้อาแปะอาอึ้ม อาม่า ต้องหนักใจอีก”
นาง ซกเพ้งแม่ของเจ๊กเซ้งนั้นยังอยู่ในบ้านหลังนั้น แต่ว่านางก็ไม่เอาธุระอะไรกับลูกหลานแล้ว วัน ๆ ก็หมกตัวอยู่แต่ในห้อง สวดมนต์ไหว้พระไปตามประสาไม้ใกล้ฝั่ง...ผิดกับนางลิ้ม อาม่าของเจ๊งเซ้ง ที่ทำกับลูก ๆ หลาน ๆ อย่างกับคนละคน...
“สัญญา...ม้า สัญญาว่าจะเรียนจบด้วยคะแนนเปอร์เซ็นต์สูง ๆ ชนิดไม่เป็นสองรองใคร”
นาง ย้อยได้ฟังวาจาเกินจริง ก็ส่ายหน้าเบาๆ ก่อนจะบอกว่า “อ้อ...แล้วเรื่องผู้หญิง ลื้อก็ดูให้มันดี ๆ หน่อยนะ ไปอยู่ถึงโน่นแล้ว มองพวก ลูกเจ้าของห้าง เจ้าของร้านไว้ พวกต่ำกว่าเรา อย่าไปมอง อย่าไปสนใจ รู้ไหม”
“ข้อนั้นผมรู้ดีหรอกม้า สบายใจได้”
“รู้ดีก็พลาดได้ ดูอย่างตั่วเฮียของแกเป็นตัวอย่าง”
พอเห็นว่าแม่จะวกกลับไปหาเรื่องของเรณู กมลก็รีบคีบผัดผักบุ้งใส่จานให้แล้วบอกว่า “ม้า...กินข้าว เย็นหมดแล้ว”
พอ เห็นสายยูพร้อมแม่กุญแจบนประตูห้องมีเพิ่มมาอีกหนึ่งอัน... หัวคิ้วของเรณูก็ขมวดเข้าหากัน...ใจนั้นรู้ดีว่านางย้อยคงแผลงฤทธิ์อีกเป็น แน่ หญิงสาวเดินไปหาแจ่มที่กระท่อม...ปรับน้ำเสียงและสีหน้าให้เป็นปกติ...
“แจ่ม ใครเอากุญแจมาติดประตูรึ”
“เถ้าแก่เนี้ยจ้ะพี่”
“มีชะแลงไหม” เรณูถามเสียงเย็น...
“อย่างัดเลย ไปคุยกับเขาก่อนดีกว่า”
“ตั้งใจหาเรื่องกันชัด ๆ เลย”
ตอน นั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว เรณูเดินกลับมาที่หน้าห้อง หยิบพวงปลาเค็มที่ตั้งใจซื้อมาฝากนางย้อยติดมือไปด้วย พอไปถึงที่ร้านก็พบว่าร้านนั้นปิดประตูด้านหน้าแล้ว เรณูร้องเรียกพร้อมกับเคาะประตู...อึดใจประสงค์ก็เปิดประตูให้...ไฟฟ้าแรงเทียนต่ำบนเพดานตรงโต๊ะบัญชี สว่างพอประมาณ...
“ตง แม่อยู่ไหม”
“ขึ้นชั้นบนไปแล้ว...มีอะไรหรือซ้อ”
“จะมาขอกุญแจไขเข้าบ้าน” สีหน้าและน้ำเสียงของเรณูนั้นดูไม่ทุกข์ ไม่ร้อน และไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด...
“เดี๋ยวผมขึ้นไปถามให้นะ รอแป๊บ” เรื่องที่แม่สั่งให้คนงานเอาสายยูกับกุญแจไปคล้องปิดห้องของเรณูไว้นั้น กมล บอกกับประสงค์ไว้แล้ว เขารู้แล้วว่า ‘สงคราม’ ระหว่าง แม่ผัวลูกสะใภ้อย่างไรก็เกิดขึ้นแน่นอน...อึดใจประสงค์ก็เดินลงมาโดยเขา พยายามเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ...
“ม้าบอกว่าพรุ่งนี้จะเอาไปให้เอง”
“อ้าว คืนนี้ พี่จะนอนที่ไหนละ”
ไม่มีคำตอบจากประสงค์ สุดท้ายเรณูก็บอกว่า “ถ้าอย่างนั้น เอาปลาเค็มฝากไว้ให้เถ้าแก่เนี้ยด้วยนะ ปลาช่อนจากบึงบอระเพ็ดตัวใหญ่กว่าปลาแถว ๆ นี้ เห็นแล้วก็นึกถึง...พี่ไปละ” ว่าแล้วเรณูก็ผละจากไป...ประสงค์มองตามไปแล้วถอนหายใจออกมา
แม้ใจจะเดือดพลั่กๆ แต่เรณูก็ได้สติว่า หากใช้อารมณ์ ความรุนแรง มีหวังคงได้แตกหัก...เมื่อนางย้อยเล่นไม้แข็ง เธอจะใช้ไม้นวม...ให้มันรู้ไปว่าใครมันจะแน่กว่ากัน...เดินพ้นจากซอยซึ่ง เป็นที่ตั้งของเรือนแถวของนางย้อยมาแล้ว เรณูก็ยังนึกไม่ออกว่าจะไปทางไหน นอนตากยุงอยู่หน้าห้อง นอนบนแคร่ทำขนม หรือขออาศัยบ้านแจ่มนอน นับเป็นทางออก แต่เรณูคิดว่า ตนมีทางออกที่ดีกว่านั้น...สายตาของเรณูมองเห็นโรงหนัง เพื่อฆ่าเวลาให้หมดไปก่อนที่ฟ้าจะสาง เรณูจึงเดินไปทันที...
ก่อนจะทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ตามแสงจากไฟฉายของเด็กเดินตั๋ว เรณูก็พบว่า ที่นั่งข้าง ๆ ตนนั้นเป็นที่นั่งหมุ่ยนี้ ถัดจากหมุ่ยนี้เป็นหญิงสาวและชายหนุ่มที่เหลือบมองเรณูเพียงแค่แวบเดียวเท่า นั้น
“หนังฉายไปครึ่งเรื่องแล้ว เข้ามาทำไมเนี่ย” หมุ่ยนี้กระซิบถาม หลังจากเรณูนั่งลง...
“เข้าบ้านไม่ได้จ้ะ” เรณูหันไปกระซิบบอก
“อ้าว ทำไมละ...กุญแจบ้านหายรึ”
“เปล่าหรอก กุญแจไม่หาย แต่แม่ผัวหนู เขาเอากุญแจอีกดอกหนึ่งไปคล้องไว้ ไม่ให้หนูเข้าห้อง”
“อะไรนะ”
“เจ๊ฟังไม่ผิดหรอกจ้ะ หนูกลับไปงานศพแม่ที่เกรียงไกรมา กลับมาแกก็ปิดห้องไม่ให้เข้า ไม่รู้เป็นอะไรของแก พอเดินไปถามที่ร้าน ตงมาเปิดประตูรับหน้า แล้วตงก็ขึ้นไปขอกุญแจให้ แกบอกกับตงมาว่า พรุ่งนี้จะเอาไปให้ที่โรงสีเอง”
“แบบนี้มันหาเรื่องกันชัด ๆ ...ทำไมถึงทำกันได้ถึงเพียงนี้นะ แล้วคืนนี้จะนอนที่ไหนได้ละเนี่ย”
“หนังจบ คงกลับไปนอนหน้าห้องพักที่โรงสีนั่นแหละจ้ะ”
“ยุงได้หามเอา”
“เดี๋ยวจะสุมกาบมะพร้าวไล่ยุงไว้ คงพอบรรเทาไปได้บ้าง”
“เอาอย่างนี้ไหม นอนบ้านแจ้ก่อน ที่บ้านมีแต่ผู้หญิง ใครก็เอาไปว่าไม่ได้หรอก”
เรณูนิ่งคิด...
“นอนกับจันตามันได้ ห้องจันตากว้างขวาง...จันตา คืนนี้เดี๋ยวให้เรณูเขานอนด้วยสักคืนนะ”
จันตาแม้ไม่ได้ยินเรื่องที่หมุ่ยนี้กับเรณูคุยกันทั้งหมด แต่หญิงสาวก็พยักหน้า...เรณูจึงตอบตกลง โดยหญิงสาวบอกกับหมุ่ยนี้ว่า
“นอนก็ได้จ้ะ แต่สักตีสี่ หนูก็จะต้องขอตัวออกจากบ้านเจ๊นะจ๊ะ”
“กลับไปทำอะไรตั้งแต่เช้ามืด”
“หนูยังไม่ได้กลับบ้านที่โรงสีหรอก หนูจะแกล้งไปนอนเฝ้าที่หน้าร้านแกนั่นแหละ ใครผ่านไปผ่านมาเห็นเข้า...ทีนี้เอง” จบประโยคเรณูก็ยิ้มอย่างคนเจ้าเล่ห์ หมุ่ยนี้นิ่งคิดตามแล้วยิ้มออกมาได้เหมือนกัน...
“ใช่ ทีนี้เอง...เรื่องคงดังไปทั่วชุมแสง” พอออกมาจากโรงหนัง เรณูถึงได้รู้ว่าหมุ่ยนี้ไม่ได้มาดูหนังลำพังกับเด็กใน ร้าน แต่มีปลัดอำเภอมาดูด้วย...ตามสายตาของเรณู ปลัดจินกรนั้น ดูท่าจะให้หมุ่ยนี้เป็นแม่สื่อให้...พอเห็นหน้าจันตาชัด ๆ รู้ประวัติความเป็นมาของจันตาคร่าว ๆ จาก หมุ่ยนี้ เรณูก็สรุปได้ว่า หน้าสวยหวานปานนี้ ใครละ จะไม่อยากได้ไปประดับเรือน...ถ้าจะมีตำหนิก็ตรงที่หญิงสาวยากจน ถึงได้ออกจากบ้านมาขายแรงงานเหมือนกับที่เรณูเคยทำมาแล้ว
ปลัดจินกรกลับบ้านพักของตนเองไปแล้ว หมุ่ยนี้ก็เปิดประตูพาเรณูเข้าบ้าน...หลังล้างหน้าเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นผ้า นุ่งกับเสื้อของจันตา...หมุ่ยนี้ก็ให้จันตาพาเรณูเข้าห้องนอน และยังกำชับให้จันตาลุกขึ้นมาเปิดประตูให้เรณูเมื่อเวลาก่อนฟ้าสางด้วย
“พี่จะรีบไปไหนตั้งแต่มืดแต่ดึก ของก็ไม่ได้ทำขายไม่ใช่เหรอ” จันตารู้สึกข้องใจ...
“อยู่บ้านนี้ เป็นไง ดีไหม” เรณูเปลี่ยนไปถามจันตาแทนจะต้องตอบคำถาม...
“ดี อาม่า ดีกับฉันมาก เจ๊หมุ่ยนี้กับพี่สาวก็ดี”
“เจอเจ้านายดี ก็ดีไป ตะก่อนพี่เป็นลูกจ้างอยู่ในร้านที่ตาคลี...รู้ไหมว่าพี่เจออะไรบ้าง”
จันตานิ่งฟัง...
“พี่ไม่มีห้องส่วนตัวแบบนี้หรอก นอนรวม ๆ กันกับพวกลูกจ้างคนอื่น ๆ กับข้าวกับปลาก็กินแบบอด ๆ อยาก ๆ มีแต่ผัดผัก มีแต่เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ มีแต่น้ำปลา...ทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนค่ำมืด เพราะของขายดีมาก แต่ให้ค่าแรงแค่นิดเดียว...แถมลูกชายเจ้าของร้านก็ชอบหาเศษหาเลย...เผลอเป็น จับนม จับตูด”
“ก็หุ่นพี่น่าจับ” จันตาพูดออกไปด้วยหน้ายิ้ม ๆ
“อยากจับไหมล่ะ” เรณูที่นั่งอยู่ข้าง ๆ จันตาถามพร้อมทำตาวาว ๆ จันตาส่ายหน้าเบา ๆ พลางยิ้มหวาน
“ปลัด เขาดูท่าจะชอบเธอใช่ไหม เจ๊หมุ่ยนี้รู้เห็นเป็นใจใช่ไหม”
จันตาพยักหน้า...
“อย่าหาว่าพี่อย่างนั้นอย่างนี้เลยนะ ในฐานะที่พี่ผ่านโลกมามากกว่าเธอ พี่จะเตือนไว้ว่า คนพวกนี้ขี้มักเจ้าชู้ อย่าได้ไว้ใจไปไหน มาไหน กับเขาตามลำพังเด็ดขาด”
คำพูดของเรณูนั้นยิ่งกว่าเข็มทิ่มแทงจิตใจของจันตา...เพราะความ ‘อ่อนต่อโลก’ จึงได้กลายเป็น ‘เหยื่อ’ โดยไม่รู้ตัว... แถมถูกตราหน้าว่า ‘โง่’ ‘หน้าด้าน’ และ ‘ไร้ยางอาย’ ซึ่งเป็นเหมือนรอยมีดที่กรีดลึกลงไปในหัวใจของจันตาจนยากลืมเลือน...
จันตาแข็งใจเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ แล้วถามกลับไปว่า “ทำไมเหรอพี่”
“ผู้ชายน่ะ ไอ้ตอนอยากได้ มันก็ดิ้นรนจะเอาให้ได้ ให้มันทำอะไรมันก็ยอม พอมันได้เราแล้ว มันก็เป็นอีกอย่าง พี่เห็นมาเยอะแล้ว อีกอย่างพี่ไม่ได้ดูถูกเธอนะจันตา คือเราต้องไม่ลืมว่า เราเป็นใคร เขาเป็นใคร เผื่อใจไว้บ้าง แผนพลิกขึ้นมาจะได้ไม่เจ็บ”
“ก็จริง”
“ถ้าเขารักเธอจริง อยากได้เธอไปเป็นคุณนายจริง ๆ เขาต้องพิสูจน์ตัวเองให้มากกว่าคนอื่น ๆ”
“จะให้เขาพิสูจน์อย่างไรละพี่” จันตานึกอยากลองภูมิของคู่สนทนา
“ตอนนี้เธอรู้หรือยังว่าบ้านช่องพื้นเพเขาคนที่ไหน มีลูกมีเมียอยู่ข้างหลังหรือเปล่า เขาคิดจะพาพ่อแม่มาดูตัวเธอหรือเปล่า เขาพูดถึงเรื่องแต่งงานบ้างไหม ออกเงินซื้อเสื้อผ้าของกินให้บ้างไหม และเขากล้าจะบอกกับคนที่ทำงานของเขาไหมว่าเขาชอบเธอ และไม่ฉวยโอกาสจาบจ้วงล้วงเกินเธอเมื่อมีโอกาส...เขาให้เกียรติเธอไหม...ก็ ประมาณนี้แหละ”
“ขอบใจจ้ะพี่ ฉันจะจำคำเตือนของพี่ไว้”
“เธอน่าจะรุ่นเดียวกับนังวรรณาน้องสาวของพี่ เห็นเธอแล้วก็นึกถึงมัน ห่วงเธอเหมือนห่วงมัน...เสียดายไม่ได้รู้จักกันก่อนหน้านั้น ไม่อย่างนั้นจะพามาแนะนำให้รู้จักกันไว้”
“เราคงเคยทำบุญมาร่วมกันหรอกพี่ ถึงได้มาเจอกันที่นี่...หนูว่าอีกไม่นานหรอก หนูก็ต้องได้เจอเขา”
เรณูยิ้มแล้วหาว...พลางหันซ้ายหันขวา มองหาหมอน หาผ้าห่ม... จันตาเห็นดังนั้นจึงลุกไปที่มุมห้อง หยิบมายื่นให้แล้วก็ถามตอนดึงมุ้งลงว่า
“พี่จะไม่บอกฉันจริง ๆ รึว่าพรุ่งนี้พี่จะรีบไปไหนแต่เช้ามืด”
ออก มาจากร้านสังฆภัณฑ์แล้วเรณูก็เดินหลบหลีกยามประจำตลาดไปยังหน้าร้านของนาง ย้อย นั่งทนให้ยุงกัดอยู่อึดใจใหญ่ คนก็เริ่มเปิดร้านเปิดบ้านออกทำมาหากิน...พอเห็นว่ามีแม่ค้าตลาดสดกลุ่ม หนึ่งพากันหาบของเดินมา เรณูก็ล้มตัวลงนอนคุดคู้ โดยใช้แขนหนุนต่างหมอน...
“ใครละน่ะ...ใครมานอนอยู่กงนั้น”
เรณูเหยียดยิ้มก่อนจะแกล้งสลึมสลือลุกขึ้นนั่ง แล้วเกาแขนเกาเท้าของตน...
“เอ๊ะ นี่มันอีเรณูลูกสะใภ้พี่ย้อยนี่...ใช่ไหม”
“ใช่จ้ะป้า”
“แล้วเอ็งทำไมมานอนอยู่กงนี้...บ้านช่องมี ทำไมไม่ไปนอน”
“เอ่อ...คือ...เอ่อ” เรณูประวิงเวลา เพราะมั่นใจว่าอย่างไรแล้ว พวกแม่ค้าชาวตลาดยังไม่อยากไปประจำแผงของตนแน่ ๆ ...
“ฉันมารอเอากุญแจบ้านฉันจ้ะ”
“แล้วมารอตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมไม่เรียกเขาให้เปิดประตูเอากุญแจให้”
“เรียกแล้ว เขาบอกว่า ตอนเช้าถึงจะให้” มันเป็นความจริง แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตามที...แต่มันก็คล้ายกัน คือนางย้อยไม่ได้สนใจว่าคืนนี้เธอจะไปนอนที่ไหน...เพราะฉะนั้น ก็สมควรที่จะต้องถูกย้อนเกล็ดเอาบ้าง...มันถึงจะสาสมกัน
“เรียกแล้ว แต่ไม่ยอมให้...มันอย่างไรกันละเหว่”
“คืออย่างนี้จ้ะป้า...ฉันกลับมาจากงานศพแม่ฉัน ก็ดิ่งไปที่บ้าน แล้วที่หน้าห้องฉัน ปกติมีสายยูแค่ตัวเดียวคือของฉัน แต่ตอนนี้มันมีสายยูมีกุญแจมาเพิ่มอีกตัว...คนงานบอกว่า แม่ผัวฉันเขาให้คนเอามาติดเพิ่ม...ฉันก็เลยเข้าบ้านไม่ได้”
“นี่มันกะจะไม่ให้เอ็งเข้าไปในบ้านนั้นอีกละซิท่า”
“ให้เข้าจ้ะ แต่ว่า พรุ่งนี้ถึงจะให้เข้า ฉันไม่รู้จะไปนอนที่ไหน ก็เลยนอนรออยู่ตรงนี้แหละ...ทนยุงกัดเอาหน่อย ก็ยังอุ่นใจว่ามีแขกยามอยู่เป็นเพื่อน”
“โถแม่คุณ...มานี่ เอา ยาหม่องของป้าไปทาซะนะ...ผิวพรรณดี ๆ เสียหมด เอาไปเลยป้าให้...ป้าไปกันก่อนนะ”
“จ้ะป้า ขอบใจนะจ๊ะ” เรณูยกมือไหว้ แล้วน้ำตาเอ่อคลอลูกนัยน์ตาขึ้นมาจริง ๆ ...
ถือกระโถนลงมาจากห้องนอน เข้าห้องน้ำ เทกระโถน ล้างหน้าล้างตาแล้วนางย้อยก็มาเปิดฝาชีที่วางครอบสำรับบนโต๊ะ เตรียมเก็บถ้วยจานชามล้าง เตรียมติดเตาหุงข้าว ตามความเคยชิน...ประสงค์ที่ตามลงมา ร้องทักแม่แล้วจะผละไปเปิดประตูร้านตามหน้าที่...
“ตง ใครเอาปลาเกลือมา”
“พี่เรณูเอามาฝากจากบ้านเขา...ต้มข้าวต้มกุ๊ยนะม้า ทอดปลากินกับข้าวต้มนะ ตัวใหญ่เนื้อเยอะดี ผมนอนน้ำลายไหลอยากกินตั้งแต่เมื่อคืน”
เพราะมีแต่ลูกชาย นางย้อยจึงคุ้นชินกับคำพูดของลูก ๆ ทำนองว่า อยากให้แม่ทำอะไรให้กิน และแม่อย่างนางย้อย แม้จะเหนื่อยยากจากการทำมาหากิน ก็พร้อมจะ ‘เนรมิต’ ของกิน ตามความต้องการของลูก ของผัว...ด้วยคิดเพียงว่า ลูกกินอิ่ม นอนหลับ แม่ก็พลอยมีความสุขไปด้วย แต่สำหรับคำขอครั้งนี้ นางย้อยปฏิเสธเสียงเครียดทันควัน... “ไม่...จะไปอยากกินของมันทำไม”
“เขามีแก่ใจเอามาฝากแล้ว...ก็รับไว้เถอะม้า” ประสงค์กับกมลนั้นปรึกษากันแล้วว่าจะพยายามช่วยกันโน้มน้าวใจให้แม่นั้นคลาย ความเกลียดชังเรณู...เพราะถ้าแม่ยังเป็นไฟอยู่อย่างนี้ อนาคตมันก็ไม่ดีกับทั้งตัวแม่เอง กับพี่ชายของพวกเขา ไหนจะหลานที่กำลังจะลืมตาดูโลกนั่นอีก...
“ใครจะกินก็กิน แต่กูไม่กินของมัน”
ประสงค์ส่ายหน้า โดยใจก็คิดว่า แม่ยอมทำให้กิน แม้จะยังไม่กินของของพี่เรณู ก็ถือว่าแม่อ่อนข้อลงมาบ้างแล้ว
พอประสงค์เปิดประตูร้าน เขาก็ต้องผงะเมื่อเห็นว่า บรรดาเพื่อนบ้านต่างยืนออกันอยู่ และต่างก็มองมาที่เขาด้วยสายตาขุ่นเคือง...
“มีอะไรกันรึเปล่า” เขาทักกลับไป...
“อาตง แม่ลื้อตื่นหรือยัง”
“ตื่นแล้ว กำลังก่อไฟหุงข้าว”
แม้ครัวจะอยู่หลังบ้าน แต่เสียงพูดคุยกันดังผิดปกติ ทำให้นางย้อยต้องละมือแล้วเดินออกมา พอเห็นสีหน้าและสายตาเพื่อนบ้านนางย้อยก็ถามว่า
“มีอะไรกันรึ”
หลังได้ยินคำถาม คนที่ปากกล้าหน่อยก็เอ่ยขึ้นว่า
“ตะกี้ที่ตลาดสดเขาคุยกันว่า เมื่อคืนแม่ย้อยปล่อยให้สะใภ้ใหญ่นอนตากยุงรอกุญแจอยู่ที่หน้าร้านทั้งคืน”
“อะไรนะ” นางย้อยถามเสียงเครียด
“ก็เมื่อคืน เรณูมันนอนตากยุงรอกุญแจจากแม่ย้อยอยู่ที่หน้าร้านนี้ เขาว่ากันว่า ยุงกัดมันจนเนื้อตัวแดงไปหมด...ทำไมแม่ย้อยถึงได้ใจร้ายใจดำกับคนกำลังท้อง กำลังไส้ได้ถึงเพียงนี้”
ได้ยินดังนั้น นางย้อยก็หันซ้ายหันขวา มองหาคนต้นเรื่องคู่กรณี...พอไม่เห็นก็ถามว่า “แล้วตอนนี้มันอยู่ที่ไหน”
“นังหมายแม่ค้าขายผลไม้เขารู้เข้า เขาสมเพชมัน เขาก็เลยเดินมาตามมันให้ไปนอนพักอยู่ที่ร้านเขาก่อน” คนพูดหน้ามุ่ย ดูเป็นเดือดเป็นร้อนแทนเรณูเป็นอย่างมาก...
นางย้อยกลืนน้ำลายลงคอ แล้วเชิดหน้าขึ้น ก่อนจะบอกว่า
“อาตง ลื้อไปตามมันมาหาม้าด่วน...อีนี่หาเรื่องเดือดร้อนให้กูแต่เช้าเลย เห็นทีจะอยู่ด้วยกันยาก”
หลัง ประสงค์เดินไปทางตลาดสด...นางย้อยก็เสียมารยาท หันหลังเดินกลับเข้าหลังร้าน โดยไม่มีคำกล่าวลา...ส่วนเพื่อนบ้านผู้หวังดี ได้แต่มองหน้ากัน แล้วส่ายหน้าเบา ๆ
******************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #9 on: 29 February 2020, 20:19:09 » |
|
ตอนที่ 10 : ใครทำใครก่อน
๑๐ พอเห็นประสงค์เดินมา เรณูก็รีบลุกขึ้นแล้วเดินไปหา...ท่ามกลางสายตา ‘สอดรู้’ ของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในบริเวณนั้น
“อยากให้แม่เธอด่าพี่ที่ตลาดหรือว่าที่โรงสีละ” เรณูไม่อ้อมค้อม แต่ก็พูดเสียงไม่ดังนัก ประสงค์ทำหน้าหนักใจ...
“ถ้าอย่างนั้นก็กลับไปบอกแกว่า พี่กลับโรงสีไปแล้ว...แบบนี้ดีกว่าไหม”
“ก็น่าจะดี...แต่อย่างไร พี่ก็ผิดนะ ที่ประจานแม่ผมกับคนทั้งตลาดแบบนี้”
“ใครทำใครก่อนละ” เรณูเสียงแข็งขึ้นมา...
“พวกผมก็ผิด ที่ไม่คิดช่วยพี่ไว้ก่อนหน้านั้น”
“พวกเธอเป็นลูก จะไปขวางความคิดของแม่ได้อย่างไร ใช่ไหม”
“ก็ใช่”
“เอาเป็นว่า ถ้ามันไม่มากไป พี่จะยอมอ่อนข้อให้ ยอมให้โขกสับ ยอมเป็นไก่รองบ่อน แต่ถ้ามันตึงเกินไป...พี่ก็จะสู้ในแบบของพี่...พี่ไปละนะ” ว่าแล้วเรณูก็หันไปหาคน อื่น ๆ ยิ้มหวานให้แล้วก็บอกว่า “ป้า ๆ น้า ๆ จ๊ะ ฉันกลับโรงสีก่อนนะจ๊ะ แม่ผัวฉัน ให้อาตงเอากุญแจมาให้แล้วจ้า”
ประสงค์ได้ยินดังนั้นก็รู้สึกโล่งอก...ทึ่งกับปฏิภาณไหวพริบของหญิงสาว... ‘เรณู’
ประสงค์กลับมาถึงร้าน พบเตี่ยกับน้องชายลงมาจากข้างบนแล้ว...กมลที่เปิดร้านยกของออกมาวาง มองหน้าพี่ชายแล้วส่ายหน้าเบา ๆ หลังบ้านแม่กำลังเล่าเรื่องของเรณูให้เตี่ยฟังพร้อมกับก่นด่าไปด้วย...
“พี่เรณูเขาไปไหนเสียแล้วละ” กมลเอ่ยถาม
"แกกลับไปรอที่โรงสีแล้ว...แกว่าจะดุด่ากันก็ให้ตามไปที่โน่น จะได้ไม่ขายหน้าประชาชี” ...
“อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด” กมลทำท่าคิดหนัก
“ขายขี้หน้าชะมัดเลย” ว่าแล้วประสงค์ก็เดินเข้าไปหาแม่ที่ในครัว
“ม้า เรณูเขากลับโรงสีไปแล้ว...ขอกุญแจบ้านเขาให้ผมนะ...เปิด ๆ ให้เขาไปซะ”
“ไม่...มันกล้าลูบคมกู มันจะอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกับกูไม่ได้”
“เขากำลังท้องลูกของตั่วเฮียนะม้า...อย่างไรเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นสะใภ้บ้าน เรา” ประสงค์พยายามเอาน้ำเย็นเข้าลูบ...แต่นางย้อยก็ยังเสียงแข็ง...กมลเดินตาม เข้ามาสมทบ...
“กูไม่นับมันเป็นสะใภ้กู” ดวงตานางย้อยแข็งกร้าว...หม้อข้าวบนเตาอั่งโล่ที่เดือดอยู่ ก็ยังเดือดไม่เท่าอารมณ์ในอกของนาง...
“ม้า เอากุญแจมาเถอะนะ...อั๊วขอเถอะ อย่ามีเรื่องกันเลย” กมลช่วยอีกแรง
“แต่กูอยากมี ไหน ๆ คนชุมแสงมันก็มองกูเป็นคนไม่ดีไปแล้ว พวกมันจะได้รู้ว่าเวลากูร้าย กูร้ายได้ถึงเพียงไหน”
“ม้า...นะ อั๊วขอ...อย่าให้ต้องมีเรื่องมีราวกันเลยนะ ต่างคนต่างอยู่กันไป” กมลยังพยายามตะล่อม
“แต่มันหลอกพี่มึง หลอกกู หลอกพวกมึง หลอกพวกเราทั้งโคตร มันมีลูกมีผัวแล้ว มันเป็นผู้หญิงขายตัว มันควรจะต้องไปจากที่นี่” ทุกถ้อยทุกคำที่หลุดออกมานั้น มันออกมาจากใจที่รู้สึกเจ็บช้ำ รู้สึกว่าถูกเรณูกระทำก่อน...พอได้ระบาย น้ำตาจึงไหลออกมาจากหางตาของนางย้อย ด้วย...ถึงเรื่องมันจะเลยเถิดมาถึงขนาดนี้แล้ว อย่างไรนางก็ยังสงสารปฐม อยากให้ลูกชายมีเมียที่ดี มีอนาคตที่ดีกว่านี้...เพราะผู้หญิงตอแหลดอกทองอย่างเรณู ไม่มีวันทำให้ชีวิตของเขาพบเจอความสุขความเจริญแน่ ๆ นางย้อยเชื่ออย่างนั้น
“เขาก็คงมีเหตุจำเป็นของเขา...เขาคงไม่ได้ตั้งใจหลอกใครหรอกม้า”
“ซามันพูดถูกนะม้า”
“กูอยากรู้เหลือเกินว่าอาใช้มันรู้เรื่องที่อีนี่มีลูกมีผัวมาก่อนไหม ถ้ามันไม่รู้...ก็แสดงว่ามันจงใจหลอก ถ้ามันหลอกได้ เรื่องหนึ่งแล้ว เรื่องอื่นจะเชื่อมันได้ไหม ลูกในท้องมัน จะใช่ลูกพี่พวกมึงรึเปล่า พวกมึงคิดกันบ้างไหม...เงินทองหามาได้ต้องเอาไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานนอกไส้ มันสนุกนักหรือไง”
ทุกคนนิ่งเงียบ...นางย้อยหันไปคนหม้อข้าวที่กำลังเดือดพล่านพลางเช็ด น้ำตา... พอเห็นว่าแม่ได้ระบายจนคลายความคับแค้นใจแล้ว กมลจึงบอกว่า
“ขอกุญแจบ้านเขานะม้า นะม้า ผมขอ...เห็นแก่ผมนะม้า”
นางย้อยนิ่งเงียบ...ประสงค์จึงพยักหน้าให้เตี่ยช่วยพูดบ้าง...
“อาย้อย...ให้กุญแจอาซามันไปเถอะนะ เรื่องจะได้จบ ๆ กันไป... ด่ากัน ทะเลาะกัน ชาวบ้านได้ยินก็ได้แต่เก็บเอาไปนั่งหัวร่อ...เรื่องลูกในท้องของอี จะใช่หรือไม่ใช่ลูกอาใช้ เดี๋ยวอีกไม่กี่เดือนเราก็รู้กัน...ตอนนี้ เราเย็นไว้ก่อน ถึงเวลามันออกมา หน้าตาเด็กมันไม่มาทางเรา อั๊วจะจัดการเอง.”
นางย้อยนิ่งคิด...และในที่สุดนางย้อยก็ต้องยอมอ่อนข้อ... “อาซาลื้อเอากุญแจไปให้มัน แล้วก็เอาปลาของมันไปคืนมันด้วย...อาตง ถ้าลื้ออยากกินปลาทอด ลื้อก็ออกไปซื้อมา เลือกหาเอาที่ตัวใหญ่กว่าที่มันเอามาให้ด้วยนะ”
“ได้ม้า ผมจะรีบไปรีบกลับ” ว่าแล้วประสงค์ก็รีบออกไป...
ส่วนกมล หลังแม่บอกที่เก็บกุญแจแล้ว เขาก็ถือพวงปลาเค็มพวงใหญ่เดินไปคว้าจักรยานปั่นออกไปจากบ้าน...นางย้อยนั่ง นิ่งอยู่หน้าเตา...เจ๊กเซ้งที่นั่งจิบน้ำชาจึงขยับเข้าไปหา ทรุดนั่งยองข้าง ๆ กัน แล้วบอกว่า
“ลื้อ กับ อั๊วลำบากกันมาเยอะแล้วนะอาย้อย อย่าใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มันยากลำบากกันอีกเลย...เรื่องลูก ๆ ของเรา บางที เราก็ต้องปล่อยให้มันมีชีวิตไปตามเวรตามกรรมของมันเองบ้าง ลื้อเข้าใจที่อั๊วพูดไหม”
ได้ยินดังนั้น นางย้อยก็ปล่อยโฮออกมา แล้วก็พูดทั้งน้ำตานองหน้าว่า “แต่ฉันสงสารลูก ฉันสงสารอาใช้”
เสียงกริ่งจักรยาน ทำให้หมุ่ยนี้กับจันตาที่เพิ่งเดินกลับจากตลาดสด หันหลังไปมองต้นเสียง...
กมลยิ้มหวานให้กับสาวใหญ่กับสาวน้อยแล้วเบรกรถดังเอี๊ยด...
“ไปซื้ออะไรแต่เช้า แจ้”...เขาเป็นคนปากไวและพร้อมจะพูดคุยกับคนก่อนเสมอ
“นอนไม่หลับ เมื่อเช้ามืดแจ้ได้ยินเสียงไก่มันขันว่า... ‘ตื่นเร็ว ๆ มีเรื่องร้อน ๆ ที่ตลาด...ตื่นเร็ว ๆ ๆ ๆ ๆ ’” ท้ายประโยคหมุ่ยนี้ทำเสียงเลียนแบบเสียงไก่ขัน ทำให้จันตาถึงกับอมยิ้ม
“ไก่บ้านไหนน้อ” ถามทั้งที่ยังค่อมจักรยานอยู่ สายตานั้นแม้จะอยู่กับคู่สนทนาแต่มันก็อด ‘วอกแวก’ ไปหาสาวน้อยผมยาวสลวย ยืนอยู่ด้านหลังหมุ่ยนี้ นั่นไม่ได้ ...
“ไก่ที่โรงสีเถ้าแก่เซ้ง”
“เดี๋ยวสาย ๆ มันตายแน่ ๆ ไก่เนรคุณ...เรื่องในบ้านแท้ ๆ เที่ยวได้โพนทะนาไปทั่ว”
หัวเราะกับมุกตลกของเขาแล้วหมุ่ยนี้ก็ถามว่า “แล้วนี่จะไปไหนแต่เช้า...เอาปลาไปไหน”
“ไปโรงสี เอาปลาไปให้พี่เรณู”
“ซื้อปลาไปให้ซ้อเธอ”
“เปล่า ซ้อเขาเอามาฝากม้า แต่ม้าไม่กิน ให้ส่งกลับเจ้าของ...พร้อมกับกุญแจห้อง” กมลจำต้องเผยเรื่องในบ้านออกมาเสียเอง...
“ถ้าอย่างนั้นก็รีบไป เขาจะได้เข้าห้อง อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า... อ้อ บอกเขาด้วยว่า ถ้าว่าง ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็มานั่งคุยกันที่ร้านได้นะ”
“แล้วไปสนิทสนมกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ถึงได้ชวนมาเที่ยวเล่นที่บ้าน”
“จันตาบอกอาตงไปซิว่า เรารู้จักเรณูตั้งแต่เมื่อไหร่”
จันตาส่ายหน้ายิ้มๆ ...เป็นยิ้มที่ทำให้ ใจของกมลรู้สึกหวั่นไหวเสียอย่างนั้น...
“จะบอกให้ก็ได้ เมื่อคืนนี้ แจ้เจอเรณูที่โรงหนัง เรณูเล่าเรื่องกุญแจบ้านให้ฟัง แจ้เห็นว่า เขาหาที่นอนไม่ได้ก็เลย ให้มานอนกับจันตา”
“แล้วคนอื่นไปเห็นเขานอนที่หน้าร้านได้อย่างไร”
“เขาเพิ่งลุกไปเมื่อตอนตีสี่นี่เอง ใช่ไหมจันตา”
“ใช่จ้ะ.”
“แบบนี้เรียกว่าสมรู้ร่วมคิดกันใช่ไหม ทำไมแจ้ไม่ห้ามเขาเสียก่อน” เขาแสร้งทำเสียงขุ่น ๆ ...
“บางทีแจ้ก็อยากดูหนัง ดูลิเก นอกวิก นอกโรง บ้างเหมือนกัน”
“ผู้หญิงนี่ร้ายลึกทุกคน” กมลว่าให้...หมุ่ยนี้ไหวไหล่เหยียดยิ้ม...แล้วกมลก็บอกว่า “งั้นผมไปโรงสีก่อนนะแจ้...ไปละ”
พอรถของกมลเคลื่อนจากไป หมุ่ยนี้ก็พูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า “ถ้าดูไม่ผิด แจ้ว่า อาซา ดูท่าจะชอบเด็กที่บ้านแจ้เข้าให้แล้ว”
“ดูตรงไหน...ไม่เห็นเขาจะแสดงอาการอะไรเลย”
“คุยกับแจ้ แต่ตาเขามันมองข้ามหัวแจ้ไปหาเธอ...หน้าก็แดงๆ เขินๆ แล้วที่เขาบอกว่า ‘ไปละ’ แจ้รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยากบอกแจ้...แต่เขาอยากบอกเธอมากกว่า”
จันตาได้แต่ยิ้มเขิน...แล้วก็ต้องเดินหนีเมื่อหมุ่ยนี้ถามว่า “ระหว่างคุณปลัดกับอาซา เธอว่าใครน่ารักกว่ากัน”
*******
“พี่ก็อยากรู้เหมือนกันว่า แม่ของเธอเขาโกรธเคืองอะไรพี่ ถึงกับต้องติดกุญแจเพิ่มไม่ให้พี่เข้าห้อง”
“ม้าเขาไปได้ยินมาว่า พี่มีลูกมีผัวมาก่อนจะเจอตั่วเฮีย”
“ใครบอกเขา”
“แกได้ยินคนบนรถไฟคุยกัน ม้าเขาว่าอย่างนั้น...จริงหรือเปล่าละพี่”
เรณูนิ่งเงียบ...ยังไม่ทันจะตอบ กมลที่ยังค่อมจักรยานอยู่ก็ถามว่า “แล้วตั่วเฮียผมรู้เรื่องนี้หรือเปล่า”
เพราะเห็นว่าเขาเป็นมิตรไม่คิดร้าย...เรณูจึงต้องเปิดใจให้เขารู้ประวัติ ความเป็นมาของเธอบ้าง...เพราะถ้าเขา ‘เข้าใจ’ เขาน่าจะ ‘ปกป้อง’ เธอ ได้บ้าง
“ไม่รู้...พี่ยังไม่ได้บอกเขาหรอก แต่ในอนาคตก็คงต้องบอก หลังแม่พี่ตาย ลูกพี่ก็ไม่มีใครเลี้ยง ตอนแรกพี่จะเอาเขามาอยู่ที่นี่ด้วย แต่พอดีเขาเลือกที่จะอยู่วัดกับหลวงพ่อ ซึ่งเป็นญาติกันซะก่อน...เมื่อวาน ถ้าพามาด้วยก็คง”
“แล้วพ่อของเขาละ”
“พี่ท้องกับพี่เขยตั้งแต่อายุ ๑๗...พอพี่สาวพี่รู้ บ้านแทบจะลุกเป็นไฟ แม่พี่ให้พี่หลบไปอยู่หัวหวาย จนคลอด แล้วแม่พี่ก็ไปรับลูกพี่มาเลี้ยง ลูกพี่ไม่ได้เรียกพี่ว่าแม่หรอกซา เรียกพี่ว่าพี่...แม่พี่เขาเอามาเลี้ยงตั้งแต่มันเกิด บอกกับคนอื่นว่ามันเป็นลูกหลง หลังคลอดมันแล้ว พี่ก็ไปเป็นเด็กหน้าร้านที่ตาคลี แบบร้านเธอนี่แหละ แล้วก็มาทำงานที่บาร์ จนเจอกับพี่ใช้”
พอได้ยินคำตอบที่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ‘เรื่องแต่ง’ แน่ ๆ กมลก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง...
“พี่รู้ตัว ว่าพี่ไม่ใช่ผู้หญิงดิบดีอะไร...แต่พี่บอกเธอกับเธอได้คำเดียวว่าพี่รักพี่ชายของเธอจริง ๆ ไม่ได้คิดมาหลอกลวง ไม่ได้คิดมาปอกลอกเอาอะไร นอกจากอยากอยู่กับคนที่พี่รัก อยากตั้งต้นชีวิตใหม่ เท่านั้นจริง ๆ ซา”
“แล้วตั่วเฮียผมรักพี่หรือเปล่า”
“รัก ไม่รัก พี่ไม่รู้ แต่พอเขารู้ว่าพี่ท้อง...เขาก็เต็มใจรับผิดชอบ แล้วพาพี่มาที่นี่” เรณูจงใจตอบให้เขาตีความเอาเอง
กมล นึกถึงห้วงเวลาสั้น ๆ ที่มองเห็นสายตาของปฐมที่มองดูเรณู และคำพูดฝากฝั่งเมียไว้กับเขาก่อนจะกลับเข้าค่าย ก็พอคล้อยตามได้ว่า เฮียใช้คงจะรักเรณูอยู่บ้าง เพราะว่าไปแล้ว ถึงเรณูจะไม่ได้สวยงามอ่อนหวานอย่างจันตา แต่พออยู่ใกล้ๆ เขาก็รับรู้ได้ว่า ผู้หญิงคนนี้ มีเสน่ห์พอตัว ยามคุยด้วยก็ไม่รู้สึกเบื่อ งานบ้านงานเรือนก็คล่องแคล่ว...
“ซา...วันหนึ่งถ้าซารักใครมาก ๆ ซาจะมองข้ามตำหนิของเขา ข้อผิดพลาดในอดีตของเขาได้ไหม”
กมลไม่คิดว่าจะเจอคำถาม ถามกลับแบบนี้ เขานิ่ง คิดตาม...
“ซายังไม่เคยรักใคร ชนิดตายแทนได้เลยใช่ไหม”
“ยังไม่เคย”
“ความสุขของคนที่มีความรัก คือได้อยู่กับคนที่เรารักนะซา ทุกข์มันก็ทนได้ ถ้าใจมันสมปรารถนา”
กมลยังคงนิ่งเงียบ...เรณูเห็นดังนั้นจึงหัวเราะ ยิ้มเศร้า ๆ แล้วบอกว่า “พี่เอาเรื่องซับซ้อนมาคุยกับซาหรือเปล่า”
“เปล่า แต่ที่ผม ยังไม่เข้าใจ อาจจะเป็นเพราะว่า ผมยังไม่ได้รักใครอย่างที่พี่รัก ก็เท่านั้นเอง”
“วันหนึ่ง ถ้าซามีปัญหาหัวใจ ซาปรึกษากับพี่ได้นะ...ถึงพี่จะเรียนหนังสือมาน้อย แต่พี่มั่นใจว่า พี่เจอคนมาเยอะ”
“พี่ฉลาดล้ำลึกเกินกว่าที่ใคร ๆ จะหยั่งถึง...ดูแต่เรื่องวันนี้ ผมยอมพี่จริง ๆ”
“สัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์น่ะซา ไม่ได้เก่งกาจอะไรหรอก” บอกเขาแล้วเรณูก็สูดลมหายใจเข้าปอด
“เดี๋ยวพี่เอาเงินสี่ร้อยคืนให้นะ พี่เอาไปแล้ว ไม่ได้ใช้หรอก”
“คืนผมมาแค่สามร้อยก็พอ อีกร้อยนึง ผมช่วยทำบุญกับงานศพแม่พี่แล้วกัน”
“มันไม่ดี มั้งซา พี่ว่ามันมากไป”
“รับไปเถอะ...เผื่อวันหนึ่ง ผมมีปัญหาหัวใจ ผมจะได้ไม่ต้องเกรงใจเมื่อต้องมาปรึกษาพี่...พี่ว่าคิดแบบนี้ดีไหมล่ะ” รอยยิ้มสว่างผุดขึ้นใบหน้าของเขาบอกถึงความจริงใจ...
“ขอบใจมาก แต่คนดี ๆ แบบซา พี่มั่นใจว่า คงไม่มีทางมีปัญหาหัวใจหรอก”
“ก็ไม่แน่หรอกพี่”
“แล้วนี่ ไม่ถูกใจใครบ้างเลยรึไง”
“ตอนนี้ม้าก็กำลังเล็ง ๆ ไว้ให้”
“ว่าจะแนะนำน้องสาวให้สักหน่อย แบบนี้ก็หมดหวังซะแล้ว”
“ยังไม่หมดหรอก แต่อย่าหวังเอาเค้ามาเกี่ยวดองกับคนบ้านนี้เลยพี่”
“พี่ก็ลืมไป ว่าพวกพี่เป็นใคร”
“ผมไม่ได้หมายความแบบนั้น...ผมแค่คิดว่า เรื่องความรัก ไม่ต้องมีใครต้องไปชักนำมันหรอก ถ้าคนเป็นเนื้อคู่กัน เดี๋ยวมันก็มีเหตุให้มันมาเจอกันเองแหละ...มั้ง”
“แต่ซาก็ยอมให้แม่คลุมถุงชน”
“ไม่ได้คลุมพี่ แค่ม้าภูมิใจนำเสนอ...แต่ผมก็มีสิทธิ์ปฏิเสธได้ ถ้ามันไม่ใช่ ถ้าใจมันไม่ชอบ”
“พูดแบบนี้เหมือนเจอคนถูกใจแล้ว”
“คน ที่รู้สึกพอตาก็พอมี...แต่ก็ยังไม่มีหรอกพี่ ยังไม่เจอ...ผมไปทำงานก่อนนะ” ว่าแล้วเขาก็ทำท่าจะขี่จักรยานวนกลับไปทางโรงสี แต่ว่าเขาก็ชะงักเท้า
“อ้อ หมุ่ยนี้บอกว่า ถ้าว่าง ๆ ไม่มีอะไรทำ ก็ไปนั่งเล่นนอนเล่นที่ร้านแกได้นะ” บอกแล้วเขาก็ขี่จักรยานออกไป
เรณูนึกขึ้นมาได้ว่า ยังไม่ได้คืนเงินให้เขา จึงตะโกนตามหลังไปว่า “พี่ยังไม่ได้ให้เงินเธอเลยซา”
เขาตะโกนตอบกลับมาว่า “ผมเอาทองมาคืนพี่ก่อน พี่ค่อยให้ผมก็ได้”
เรณูยืนยิ้มค้าง แล้วหัวคิ้วก็ขมวดเข้าหากัน สงสัยว่าเขารับฝากข้อความจากหมุ่ยนี้มาได้อย่างไร...สลัดหัว ไล่เรื่องที่ สงสัยแล้วก็ยกปลาเค็มพวงนั้นขึ้นมาดู...เมื่อนางย้อยยังไม่ยอมกินของ ของเธอ ก็เท่ากับยังไม่ยอมรับในตัวเธอ...แล้วจะทำอย่างไร ถึงจะเอาชนะใจนางย้อยได้ จะทำอย่างไรดี...
*******************************
เหตุการณ์ในเช้าวันนั้นเงียบหายไปจากตลาด...และเช้าในวันต่อ ๆ มา เรณูก็ตื่นขึ้นมาหาบขนมไปขาย ตั้งต้นเก็บหอมรอมริบใหม่...เพราะเงินค่าทำศพของแม่ ไม่ใช่แค่ห้าร้อยที่ลงไปคราวแรก หรืออีกสามร้อยบาทที่ให้วรรณาไปลงกองกลาง... มันมีค่าใช้จ่ายจุกจิกเข้ามาตบ ๆ รวมแล้วอีกเท่าตัว...แต่ถึงกระนั้นเงินเก็บของเรณูที่เคยมีเงินดอลล่าร์ผ่านมือ ก็ยังมีมากพอที่จะเซ้งร้านขายผ้าตามแผนเดิม แต่ว่าเรณูก็ต้องรอให้ ‘ปัญหา’ ที่ตนผูกไว้ตั้งแต่ทีแรก ‘ผ่านพ้น’ ไปเสียก่อน...
กลับมาจากขายขนม เรณูก็ ผ่าฟืนไว้นึ่งขนม ส่วนถ่านที่ใช้ทำขนมหม้อแกง ก็เหมาซื้อเอาจากเรือบรรทุกถ่านที่มาเร่ขายอยู่ ที่ท่าน้ำหน้าตลาดเพราะถึงเผาถ่านเป็นแต่ก็ไม่มีไม้ให้เผา...หญิงสาวปัดกวาด เช็ดถูบ้านเรือน ซักผ้า หาบน้ำจากแม่น้ำน่านมาเติมโอ่งทุกวัน แล้ววันหนึ่ง เรณูก็เดินไปหาแจ่มด้วยใบหน้าเหยเก...แจ่มเห็นก็ตกอกตกใจ
“เป็นอะไรพี่เรณู”
“สงสัยว่าพี่จะแท้งลูก”
“อ้าว...เฮ้ย...เกิดขึ้นได้อย่างไร”
“วันก่อนพอหาบน้ำขึ้นจากตลิ่ง มันก็เสียวแปลบขึ้นมา มาวันนี้เลือดมันไหลไม่หยุดเลย...แจ่ม พี่คงไม่ได้ออกไปขายของสักสองสามวันนะ ถ้าแจ่มไปตลาด ก็ไปบอกป้าหมายร้านขายผลไม้ กับน้าที่ขายขนข้าวเม่าทอดให้พี่ด้วยว่า พี่แท้งลูก พักฟื้นจนดีขึ้นแล้ว พี่จะกลับไปขายใหม่”
แผนทำทีว่าทำงานหนักจนแท้งลูกเกิดขึ้น แล้วแผนใช้คนกระจายข่าว ของเรณูเริ่มขึ้นตามมาในทันที
“จ้ะพี่ ได้จ้ะ...แล้วพี่มีหยูกยากินหรือยัง”
“ยัง...อ้อ...งั้นแจ่มไปซื้อยาขับเลือดขับลมมาให้พี่ได้เลยไหมจ๊ะ”
หลังให้เงินแจ่มออกไปตลาด เรณูก็ถอนหายใจออกมา... เพราะปัญหาเรื่องท้องหมดไป เหลือก็เพียงเรื่องตั้งท้องใหม่ แล้วลงหลักปักฐานให้มั่นคงที่ชุมแสง...
ระหว่างที่พิไลลองชุดแต่งงาน ทั้งชุดจีนสำหรับพิธียกน้ำชา และชุดฝรั่งสำหรับ พิธีการกินเลี้ยง ที่สั่งให้ทางร้านตัดตามแบบจากนิตยสาร...วรรณาที่ยืน คอยอยู่ มองพิไลด้วยสายตายินดีผสมริษยา...ยินดีกับวันสำคัญที่สุดของผู้หญิง ริษยาที่ผู้หญิงคนนี้จะได้แต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะเสมอกัน...
หลังเก็บชุดใส่ถุงกระดาษให้ลูกค้า วรรณาก็ถือมาที่หน้าร้าน
“เรียบร้อยแล้วค่ะเจ๊” วรรณวางถุงใบใหญ่ไว้บนเคาน์เตอร์ นางหุยรีบเลื่อนไปให้ลูกค้าที่ยืนรออยู่...
“ขอแสดงความยินดีด้วยอีกครั้งนะ...ถ่ายรูปแล้วก็อย่าลืมอัดมาให้ฉัน เก็บไว้ให้ลูกค้าดูบ้างนะ”
“ได้จ้ะ...ไป พิไล”
สองแม่ลูกพากันออกจากร้านไป...นางหุยหันมายิ้มหวานให้วรรณา แล้วไหวไหล่...
“โล่งอก ใช่ไหมเจ๊” เพราะกว่าที่ชุดแต่งงานสองชุด จะลงตัว ถูกใจสองแม่ลูก ก็แก้กันแล้วแก้กันอีก...กระทั่งใกล้ถึงวันมงคลในอีกสามวันข้างหน้า...แม้จะ ยังไม่ถูกใจทั้งหมด ยังมีติตรงนั้นนิด ติตรงนี้หน่อย แต่ว่าที่เจ้าสาวก็ยินดีจะรับชุดกลับไปเพราะไม่อยากนั่งเรือเข้ามาในตลาด อีก...
“ก็ชุดแต่งงานนี่นะ ชีวิตนึงใช้ครั้งเดียว ทีเดียว เขาก็ต้องได้ใส่ชุดที่ถูกใจที่สุด”
“แล้วถ้าแต่งใหม่ ใช้ชุดเดิมอีกได้ไหม”
“มีใครเขาทำกันละ...เธอนี่ก็นะ ไป ๆ ตั้งข้าวให้หน่อย หิวจะแย่แล้ว กว่าจะได้เงิน ปากเปียกปากแฉะ”
ได้ยินดังนั้นวรรณาจึงเดินเข้าครัวไป แต่ยังไม่ทันที่นางหุยจะเดินตาม เข้าไป ที่หน้าร้านก็มีนางง้อ เจ้าของร้านเสริมสวยเพื่อนร่วมสมาคมเดินเข้ามาตาม เรื่องที่เคยได้คุยกันไว้ และนางหุยก็ผัดผ่อน จนกระทั่งเขามาตามเอาคำตอบ
“ซ้อ ว่าไง เรื่องที่เราเคยคุยกันไว้...ลูกสาวตกลงไหม”
อัน ที่จริงลูกสาวที่เรียนอยู่เชียงใหม่ยังไม่ได้รับรู้ รับทราบแต่อย่างใด เพราะนางหุยไม่ได้เขียนจดหมายไปบอก...และถึงเขียนไป นางหุยก็มั่นใจว่า ลูกสาวจะต้องปฏิเสธกลับมาอย่างแน่นอน...
“อีตอบกลับมาแล้ว อีติดเรียน กลับมาประกวดให้ไม่ได้หรอก ซ้อหาคนอื่นเถอะนะ...ซ้อรู้จักคนเยอะ แล้วบ้านเราก็มีคนสวยเยอะแยะ”
“แต่สวยพร้อมแบบลูกสาวอาซ้อมันหายากนา” ‘พร้อม’ ที่นางง้อว่า ก็คือ ฐานะทางบ้าน และการศึกษา
“เค้าติดเรียนจริง ๆ” นางหุยปฏิเสธด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอย่างคนที่คุ้นเคยกับการสมาคม ทั้งที่รู้สึกหิวข้าวจนแสบท้อง... ‘แขก’ ยังชวนคุยเรื่องสัพเพเหระอีกยืดยาว กระทั่งวรรณาเดินออกมาจากหลังร้าน...พอเห็นว่าเจ๊หุยติดแขก วรรณาก็ผละจะหันหลังกลับ แต่พอดีสายตาประสานกับสายตาของเจ๊หุย...ส่งสัญญาว่าให้ช่วยกันไล่แขกกลับไปหน่อย อั๊วหิวข้าว...วรรณาหันกลับมาบอกเสียงดัง ๆ ว่า “เจ๊ ตั้งข้าวเสร็จแล้วค่ะ”
“ซ้อทานข้าวมาหรือยัง ทานข้าวด้วยกันไหม”
“เรียบร้อยแล้ว อั๊วก็นะ ชวนซ้อคุยเพลิน...ขอตัวกลับก่อนแล้วกัน เสียดายจริง ๆ” พูดจบนางง้อก็ขยับจะออกจากร้านแต่แล้วก็ชะงักเท้า แล้วหันกลับมา
“อาซ้อ แล้วคนนี้ อีเป็นใคร”
“นักเรียน” นางหุยเลือกที่จะให้เกียรติวรรณามากกว่าบอกว่า เป็นแค่เด็กในร้าน...
“อั๊วว่า หน้าตาผิวพรรณอีพอขึ้นเวทีได้อยู่นะ”
“เวทีอะไรเจ๊” วรรณารีบถามทันที
“ก็เวทีประกวดนางสาวสี่แควที่จะจัดในเดือนธันวาคมนี้นะซิ...เจ๊ว่าผู้หญิงที่เจ๊ตามหามานาน ก็คือลื้อนี่แหละ”
“เด็กเขาชื่อวรรณาจ้ะอาซ้อ” นางหุยบอกเหมือนแกล้ง แล้วก็หัวเราะขำ วรรณาทำหน้าปุเลี่ยน ๆ หลังจากนั้นก็ยืนฟังเสียงโอ้โลมปฎิโลมจากนางง้ออีกพักใหญ่...
เมื่อตัดสินใจเองไม่ได้ เช้าวันรุ่งขึ้น วรรณาก็นั่งเรือข้ามฟากมาที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ จุดหมายปลายทางคือ ‘ชุมแสง’...
ระหว่างที่มองไปยังต้นทาง ที่นั่งข้าง ๆ ก็มีเขาคนเดิม หย่อนก้นลงแล้วก็ขยับมาจนชิด วรรณาหันไปหา เบ้หน้าให้ ก่อนจะบอกว่า
“นั่งห่าง ๆ กันก็ได้ ที่เหลือตั้งเยอะแยะ”
“จะไปชุมแสงอีกแล้วเหรอ ไปคราวนี้ มีธุระอะไร” เขายังไม่ยอมขยับอย่างที่ควรจะเป็น
“ฉันบอกว่า นั่งห่าง ๆ ฉันหน่อยก็ได้...ใครเห็นเข้า เขาจะเอาไปพูดกันได้” วรรณาเสียงดังขึ้น
“พูดว่าอะไร”
เมื่อเห็นว่าเขาไม่ยอมขยับ วรรณาจึงลุกขึ้นเสียเอง แต่ว่าเขาก็ฉุดแขนไว้แล้วชิงพูดว่า...
“ขยับ ก็ได้ หวงตัวไปได้ เพื่อนกันแท้ ๆ” เขาละมือ แล้วขยับมาอีกฝั่งของม้านั่ง วรรณาก็ทรุดนั่งตามเดิม...
“วันนี้ดูสวยขึ้นหรือเปล่า”
แม้จะรู้สึกวูบวาบไปกับคำพูดของเขา วรรณาก็ยังคงชักสีหน้าบึ้งตึง เพราะพี่เรณูย้ำหนักย้ำหนาเรื่องให้ระวังคารม ‘ผู้ชาย’ ไว้ให้ดี...เพราะผู้หญิงอ่อนต่อโลกอ่อนประสบการณ์นั้น พลาดท่าเสียทีเพราะคารมหวานๆ กันมานักต่อนักแล้ว
“ได้ข่าวว่ามีคนไปทาบให้เข้าประกวดนางสาวสี่แคว”
พอเขาพูดจบ วรรณาก็หันมามองใบหน้าเจ้าเล่ห์ของเขา
“รู้ได้อย่างไร”
“แหม...อา อี๊คนที่ไปทาบทามตัวเองน่ะ บ้านเขาอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านเรา แล้วลูกชายเขาก็เพื่อนเรา...พอเขากลับไป เขาคุยใหญ่เลย ว่าเจอว่าที่นางสาวสี่แควคนใหม่แล้ว...แล้วเขาก็ว่า ในอนาคตเขาจะพานางสาวสี่แควคนนี้ไปประกวดนางสาวไทยต่อ พอได้ตำแหน่งนางสาวไทย...ก็จะเป็นนางงามจักรวาลคนที่สองของประเทศไทยถัดจาก อาภัสรา.”
แม้จะรู้สึกเขิน ที่ถูกหยอกเย้า แต่วรรณาก็ทำได้เพียงหันไปทางซ้ายแล้วยิ้มเขิน ๆ แล้วก็ยืดคอขึ้น ทำเหมือนไม่ได้ใส่ใจกับคำพูดของเขา
“เอา อย่างนี้ดีกว่า ช่วงรอรถไฟมา...พอดีเรามีกล้องติดมือมาด้วย เราขอถ่ายรูปว่าที่นางงามจักรวาลคนที่สองของประเทศไทยไว้เป็นที่ระลึกก่อนดี กว่า เดี๋ยวไปโด่งไปดังแล้วหาตัวกันไม่เจอ”
“บ้า...ไม่เอา”
“น่านะ ลุกมา เร็ว ๆ ขอถ่ายรูปไว้บานนึง เป็นที่ระลึก...อยากลองกล้องด้วย อยากรู้ด้วยว่าหน้าเธอจะขึ้นกล้องไหม...มาลุก เร็ว ๆ”
เมื่อเห็นว่ามันก็ไม่ได้เสียหายอะไร วรรณาจึงยอมลุกไปยืนเป็นนางแบบให้เขากดชัตเตอร์เก็บภาพไว้แต่โดยดี...และภาพนี้ก็ไม่ใช่ภาพสุดท้ายที่เธอมีโอกาสเป็นแบบให้กับเขา... ‘มงคล’
ลง จากรถไฟแล้ว วรรณาก็รีบเดินไปขึ้นสามล้อถีบ บอกจุดหมายโดยไม่สนใจกล่าวลามงคล ที่ลงรถไฟตามหลังมา...พอถึงโรงสี วรรณาก็ยกมือไหว้กมลแล้วเลี่ยงไปพบเรณูที่ ด้านหลังโรงสี...ตอนนั้นเรณูกำลังปิ้งขนมหม้อแกงอยู่...กลิ่นของมันหอมตลบ อบอวลไปทั่ว...
“ทำอะไรอยู่พี่...ว้าว หม้อแกง...น้ำลายไหลเลย” กรรมวิธีทำขนมหม้อแกงนั้นยุ่งยากกว่าขนมตะโก้ ขนมเปียกปูน ที่ใช้วิธีการกวนแล้วเทใส่ถาด ยากกว่าขนมกล้วย ขนมตาล ขนมถ้วย ที่ใช้วิธีการนึ่ง...ขนมหม้อแกงนั้นต้องพิถีพิถันและใจเย็นตั้งแต่ตอนผสมไข่ไก่ น้ำตาลปี๊บ กะทิ เกลือ แป้งข้าวจ้าว ถั่วเขียวแช่น้ำบดแล้วนึ่ง เข้าด้วยกัน แล้วกวนด้วยไฟอ่อน และขึ้นตอนสุดท้ายที่ต้องใจเย็นเป็นอย่างมาก ก็คือตอนนำขนมที่กวนแล้วใส่ถาดปิ้งและอบโดยสังกะสี ปิด แล้ววางถ่านไว้ด้านบน
“มาทำไมยะ” หน้าของเรณูมันย่อง...ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง...แต่พอจะออกจากบ้าน เรณูก็คือเรณู คือต้องแต่งหน้า เขียนคิ้วทาปากแดง ใส่ เสื้อผ้าสีฉูดฉาด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่คนจำได้...
“มีเรื่องมาปรึกษา...แล้วนี่ทำเยอะขนาดนี้เลยเหรอ” ใจหนึ่งวรรณาก็อยากเข้าเรื่องของตนแต่อีกใจก็ยังสนใจงานของพี่สาว
“เศรษฐีใหญ่เขาจะแต่งลูกสาวเขาก็เลยสั่งทำไปเลี้ยงพระ เลี้ยงคนวันพรุ่งนี้”
“แบบนี้ก็ไม่มีเหลือให้หนูชิมสักชิ้นหนึ่งซินะ”
“มี...ใส่ถาดเล็ก ๆ ไว้ เพราะต้องทำเผื่อ เตี่ย กับ ซา เขาด้วย”
“ดูท่า พี่จะรักน้องผัวพี่คนนี้มากเลยนะ”
“เขาดีกับเรา เราก็ต้องดีกับเขาตอบ...แล้วก็เขานี่แหละ ที่ช่วยเหลือมาตลอด ขนาดถั่วเขียวทำขนมนี่ เขายังไม่ให้พี่หาบกลับมาเองเลย บางวันเขาก็มาช่วยปอกมะพร้าวไว้ให้...เขาว่าทำแลกขนมกิน อ้าว ตกลงมาธุระอะไร มีอะไรก็ว่ามา”
“ฉันจะมาถามพี่ว่า ฉันจะลงประกวดนางสาวสี่แคว ดีไหม”
“หือ” เรณูหันจากหน้าเตา มามองหน้าน้องสาวจนเต็มตาอีกครั้ง
“เจ๊ง้อ เพื่อนเจ๊หุยเขามาชวนฉันไปประกวดนะพี่ เจ๊หุยเขาเห็นดีเห็นงามด้วย เขาว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่มีอะไรจะเสียหรอก แต่ฉันไม่แน่ใจ ก็เลยมาปรึกษาพี่ก่อนดีกว่า”
“ลุยไปเลย ได้ตำแหน่งหรือไม่ได้ ไม่สำคัญหรอก ที่สำคัญคือถ้าต้องเสียเงินเพื่อผลักดันตัวเองละก็ ไม่เอานะ”
“เรื่องเงินไม่เสียหรอกพี่ ชุดก็ที่ร้าน แล้วเจ๊ง้อเขาก็เป็นช่างแต่งหน้าอยู่แล้ว...เพียงแต่ฉันตกลงเท่านั้นก็พอ”
หลังเรณูเห็นดีเห็นงาม วรรณาก็ต้องมาช่วยเรณูหั่นหอมแดงเพื่อเจียวโรยหน้าขนม...ระหว่างนั้นวรรณาก็ เอ่ยถึงมงคลที่บังเอิญนั่งรถไฟมาด้วยกัน...เขาบอกกับวรรณาว่า เขาจะมาเป็นตากล้องงานแต่งพี่ชายคนรองของเขากับลูกสาวโรงสีใหญ่คนทับกฤช... ซึ่งบังเอิญเป็นลูกค้าที่ร้านเจ๊หุยพอดี
“งานนี้ พี่ต้องไปแสดงความยินดี เป็นสักขีพยานด้วยหรือเปล่า”
แล้วเรณูก็เล่าถึงปัญหา หลังจากที่กลับมาจากงานศพของแม่ให้วรรณาฟัง...วรรณา ถอนหายใจเบา ๆ ก่อนจะถามว่า
“แล้วงานแต่งเฮียตง เฮียใช้ผัวพี่เขาไม่กลับมาเหรอ”
“ไม่รู้ว่า เขารู้หรือเปล่า แต่พี่เดาว่า ถึงเขารู้ เขาก็คงไม่ไป...เพราะ อีพิไล ว่าที่น้องสะใภ้เขา เป็นอดีตคู่หมั้นของเขาเอง... ถ้าเป็นแกเป็นเขา แกจะไปไหมล่ะ”
***************************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #10 on: 01 March 2020, 16:12:48 » |
|
ตอนที่ 11 : ทองเก๊ สักวันมันจะต้องเผยธาตุแท้ออกมา
๑๑
หลังจากที่ลูกค้ามารับขนมไปหมดแล้ว เรณูก็อาบน้ำแต่งตัว พาวรรณาเดินเข้าไปในตลาด เรณูอยากให้วรรณาไปเห็นว่าที่ตลาดชุมแสงมีผู้คนเดินจับจ่ายซื้อของกันมากเพียงใด กับต้องการให้ไปรู้จักกับหมุ่ยนี้ จันตา 'มิตร' ของตนเอาไว้ เพราะในความเป็น 'มิตร' นั้น หาเราเห็นข้อดีของกันและกัน ไม่คิดเอาเปรียบกัน คิดช่วยเหลือกัน มิตรสัมพันธ์ย่อมยั่งยืน
เรณูมีขนมหม้อแกงติดมือมาเป็นของฝาก พอหมุ่ยนี้กับหมุ่ยซังผู้เป็นพี่สาวและจันตาเห็นขนมจำนวนสิบห่อ ต่างก็ขอบอกขอบใจเรณูเป็นการใหญ่ แต่ถึงกระนั้นหมุ่ยนี้ที่รู้ดีว่าเรณูนั้นอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าตนก็ต้องบอกว่า
"ของซื้อของขายเอามาทำไมเยอะแยะ ทุนหายกำไรหดหมด"
"ของที่ถือมาที่นี่ทุนไม่หาย มีแต่ได้กำไร แล้วอีกอย่างหนูมาฝากท้องไว้กับอาม่าหลายมื้อแล้ว เกรงใจเหมือนกัน"
"เกรงใจทำไม เธอมาที่นี่ทีไรจันตากับอาม่าก็มีเพื่อนคุยเพิ่ม"
หลังจากของหมดหาบ เรณูจะแวะมาทักทายจันตา หรือถ้าวันไหนฝนตกตอนเช้าคนไม่ออกตลาดขายไม่หมด ระหว่างที่เดินหาบขนมเร่ขายไปตามห้างร้าน บ้านเรือนสถานที่ ราชการบริเวณนี้ พอรู้สึกหิวน้ำเรณูก็จะแวะมาขอน้ำกิน นั่งพักจนหายเหนื่อยแล้วเดินต่อไป มาบ่อยเข้าก็กลายเป็นความสนิทสนม จนเรียกเข้าบ้านมานั่งกินข้าวกลางวันด้วยกัน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันจนกลายเป็นความคุ้นเคย
"วรรณาที่เธอว่ากำลังเรียนตัดผ้าอยู่น่ะเหรอ" หมุ่ยซังเป็นคนพูดน้อย แต่ความจำนั้นดีเลิศ
"ใช่ วันนี้มาขออนุญาตไปขึ้นประกวดนางงาม เวทีนางสาวสี่แคว"
"พี่เรณูอย่าไปบอกเขาซิ หนูอาย"
"แหม...มาจนถึงขนาดนี้แล้วจะอายอะไร" เรณูว่าให้
"ก็หนูสวยซะที่ไหนล่ะ"
"ไหนหันหน้ามาหาแจ้ดูให้ชัด ๆ หน่อยสิ" หมุ่ยนี้ผู้มีสายตาคมเหมือนเหยี่ยวร้องบอก
วรรณาหันมาหา หมุ่ยนี้พินิจพิจารณาแล้วสรุปว่า ถ้าเปรียบเทียบกับจันตาที่ยืนยิ้มหวานตรงหน้า วรรณาถือว่า 'ไม่สวย' แต่ถ้ามองให้ดี วรรณานั้นออกไปทาง 'คมขำ' แต่งหน้าทำผมแต่งตัวอีกหน่อย ถูกแสงไฟสาดอีกนิด อาจจะเด่นสะดุดตาขึ้นมา ถ้าจะว่าสวยแบบที่คนไทยชอบพูดเปรียบเปรยให้เห็นภาพกัน ก็คือวรรณานั้น 'สวยผาด' เช่นเดียวกับเรณูผู้จัดจ้านครบเครื่อง ส่วนจันตานั้น 'สวยพิศ'
พอถูกมองอย่างพินิจพิเคราะห์ ตามประสาผู้หญิงที่ยังโตไม่เต็มตัว ผิวหน้าของวรรณาก็แดงระเรื่อ
"สวยพอขึ้นเวทีได้ไหม แจ้" เรณูอยากได้คำตอบ
"ขึ้นได้ แต่จะได้ตำแหน่งรึเปล่าก็ต้องไปดูหน้า ดูหุ่น คู่แข่งกันอีกที"
พอหมุ่ยนี้บอกอย่างนั้นก็คนอื่น ๆ ก็พากันหัวเราะ แต่คนที่หัวเราะกึ่ง ๆ ยิ้มแหย ๆ ก็คือจันตา คำว่า 'นางงาม' เป็นเรื่องแสลงใจอีกเรื่องของจันตา หญิงสาวไม่เคยคิดจะปริปากบอกเรื่องนี้กับใคร แม้จะมีคนมาเห็นแล้วพูดบ่อย ๆ ว่า จันตานั้นสวยงามจนน่าพาไปขึ้นเวทีประกวด แต่จันตาก็จะบอกสั้น ๆ ไปว่า "หนูขี้อาย หนูขึ้นไม่ได้หรอก"
"คิดซะว่าหาประสบการณ์" หมุ่ยซังให้กำลังใจวรรณา
"หนูก็คิดอย่างนั้นแหละ เจ๊ เลยยอมให้มันเอาขาอ่อนดำ ๆ ของมันออกไปอวดผู้คนเขาซะหน่อย" คำว่า 'ขาอ่อนดำ ๆ' ทำให้จันตาหัวเราะออกมาได้ แต่วรรณาหน้ามุ่ยแล้วค้อนให้พี่สาวอีกครั้ง
"เมื่อกี้เห็นว่าเรียนตัดผ้า เรียนจบหรือยัง" หมุ่ยซังเปลี่ยนเรื่องคุย
"จบแล้วค่ะ"
"ที่เคยบอกว่าอยากเปิดร้านขายเสื้อผ้า ร้านตัดผ้า ก็เพราะอยากเอามันมาอยู่ด้วยกันนี่แหละ" เรณูพูดต่อ
"เห็นพี่น้องรักกัน คิดดูแลกันก็รู้สึกดี มีอะไรให้ช่วยก็บอกนะ" หมุ่ยซังพูดตรง ๆ
"ถ้าตอนนี้จะให้ช่วยตัดเสื้อให้ใส่สักตัว ตัดได้ไหม ที่นี่มีสายวัดตัว แบบเสื้อในหนังสือก็มี" หมุ่ยนี้ถาม
"ก็น่าจะได้ค่ะ"
"บอกไปเลยว่าหนูทำได้ค่ะ จะทำอะไรก็ต้องมั่นใจหน่อย" เรณูบอกน้อง วรรณาเบ้หน้าให้พี่สาว แล้วก็หันมาหาหมุ่ยนี้
"หนูทำได้ค่ะ แล้วก็ทำได้ดีด้วย ตัดได้สวยด้วยค่ะ เจ๊ พอใจหรือยังคะคุณพี่เรณู"
***********
พอเจ้าภาพยกของสำรับของหวานออกมาเลี้ยงแขก นางย้อยมองเห็นขนมหม้อแกงสี่ชิ้นวางอยู่ในจานก็น้ำลายไหล แต่ครั้นจะหยิบมาตักกิน นางย้อยก็รู้ว่าเจ้าภาพสั่งซื้อมาจากเรณู นางย้อยจึงเลี่ยงไปหยิบขนมทองหยิยทองหยอดมาวางตรงหน้าแทน
"พี่ย้อย หม้อแกงนี่อร่อย ชิมสักหน่อยซิ" คนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางคะยั้ยคะยอ แต่คนในวงที่รู้อะไรลึก ๆ ต่างเหลือบตามองกัน แล้วจ้องดูว่านางย้อยจะแตะขนมหม้อแกงหรือไม่ หรือจะตอบว่าอย่างไร
"เอาเหอะ" นางย้อยตอบยิ้ม ๆ ในรอยยิ้มนั้นยังมีรอยแค้นที่ยากจะให้อภัย เรื่องที่เรณูให้แจ่มมาบอกกับชาวบ้านร้านตลาดว่าแท้งลูกเพราะทำงานหนักนั้น นางย้องหาได้เชื่อสักนิดไม่ แค่ได้ยินว่า 'เรณูมันแท้งลูกเพราะหาบน้ำขึ้นมาจากตลิ่ง' นางย้อยก็นึกเอะใจว่า มันอาจจะไม่เคยท้องเลยก็ได้ แต่มันอ้างว่าท้องเพื่อจะให้ลูกชายของนางต้องรับผิดชอบและพามันมาอยู่ที่นี่ แต่ครั้นจะตีโพยตีพายไป หรือทำเป็นรู้ทันเท่ามารยาหญิงของมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ในเมื่อเวลานี้ใคร ๆ ต่างนิยมชมชื่น เข้าข้างเห็นใจมันไปเสียหมด แม้แต่คนในบ้านโดยเฉพาะกมลที่เป็นคนคอยซื้อข้าวซื้อของจากที่ร้าน แล้วขนไปให้มันทำขนมออกขาย
วันหนึ่งแจ่มมาเดินตลาด นางย้อยเห็นเข้า ก็เรียกนางแจ่มมาถามถึงพฤติกรรมของเรณู เผื่อจะมี 'ช่องทาง' ให้ 'เล่นงาน' โดยเฉพาะผู้หญิงกร้านโลก เคยคลุกคลีอยู่กับคาวโลกีย์แล้วห่างผัวนั้น จะมีอะไรน่าจะเป็นไปได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องคบชู้สู่ชาย
นางแจ่มก็เล่าอย่างซื่อ ๆ ว่า "พี่เรณูเขาขยันขันแข็งดี ตื่นมาก็แต่มืดแต่ดึก ทำงานบ้านแล้วก็หาบของมาขาย พอกลับไปก็เตรียมของทำขนม ทำงานบ้าน ไม่เคยออกไปไหนมาไหนยามค่ำมืดดึกดื่น เขาเป็นคนมีน้ำใจ ทำกับข้าวก็ทำหม้อใหญ่แบ่งปันไปทั่ว พอใครมีอะไร ได้อะไรมาก็เลยหิ้วมาให้พี่เขาทำ เขาก็ทำอย่างไม่อิดออด"
ได้ยินดังนั้นนางย้อยก็คิดว่า ถ้ามันเป็นทองเก๊ สักวันธาตุแท้ของมันก็ต้องเผยออกมา
แต่กลายเป็นว่า ความที่มันปากดี เจ้าสำบัดสำนวนตีฝีปากในเชิงทีเล่นทีจริงแบบคนเจนโลก มันก็เลยได้ใจคนไปทั้งตลาดเสียอีก โดยเฉพาะคนที่นั่งอยู่ในวงเดียวกันที่ทำทีมีน้ำใจชวนกินหม้อแกง เหมือนไม่รู้ว่านางนั้นเกลียดเรณูมันแค่ไหน เกลียดจนไม่อยากเห็นหน้า รู้สึกแขยงหากจะต้องพูดจาวิสาสะ แล้วทุกวันทุกคืนนางย้อยก็คิดวิธีกำจัดมันไปให้พ้นทาง หลายทางคิดออก แต่ตรองอีกที มันก็โหดร้ายกับลูกผู้หญิงด้วยกันเกินไป แต่ทางสุดท้ายที่มัน 'เปิดช่อง' ให้นางย้อยคิดว่า มันก็น่าจะต้องลองดู เพราะเมื่อไม่มี 'ลูก' เป็น 'โซ่ทองคล้องใจ' เสียแล้ว เรื่องพรากปฐมไปทางอื่น พรากผัวพรากเมียคงไม่ทำให้มีบาปกรรมติดตัวมากนัก
"แล้วนี่พ่อปฐมเขาลากลับมางานแต่งน้องชายของเขาได้รึเปล่า แม่ย้อย"
"เพิ่งจะกลับมาเอง ลาไม่ได้หรอก" นางย้อยตอบไปด้วยเสียงเรียบ ๆ ทั้งที่ใจก็ไวอย่างรู้ทางกันว่า อีกเดี๋ยวก็คงจะไพล่ไปถามถึงนางเรณู
"พรุ่งนี้เรือจะออกกี่โมง พวกฉันจะได้ออกจากบ้านไปที่ท่าน้ำกันถูก"
ทีนี้เองนางย้อยรู้สึกจุกจิกกวนใจขึ้นมา นางก็เลยบอกไปว่า
"ฉันก็บอกไปหลายครั้งแล้วนะ ว่าเรือออกตั้งแต่ตีห้า เพราะจะต้องไปทำพิธีเลี้ยงพระเช้า รดน้ำสังข์ก่อน ไม่รู้ละ ถ้าใครไปไม่ทันก็รอกินเลี้ยงที่ศาลาประชาคมในตอนเย็นแล้วกัน" ว่าแล้วนางย้อยก็จับจานขนม แล้วขยับออกจากตรงหน้าตัว บอกให้รู้ว่าอิ่มแล้ว
แต่คนที่ลองแหย่นั้นดูออกว่าไม่ได้อิ่มหรอก แค่หมดอารมณ์จะกินต่างหาก
**********
เช้าวันนั้นเรณูรู้สึกว่าตลาดเงียบกว่าปกติ เพราะงานแต่งของพิไลกับประสงค์นั้นทำพิธีแบบไทยผสมจีน คือตอนเช้าทำบุญเลี้ยงพระ ยกขันหมาก ผูกข้อมือ ยกน้ำชา และตอนเย็นก็พากันมาเลี้ยงฉลองมงคลสมรสที่ศาลาประชาคม มีวงดนตรีครื้นเครง ประกาศว่าคนทั้งชุมแสงยอนดีต้อนรับ 'สะใภ้ใหม่' คนจีนในสมาคมและคนไทยที่คุ้นเคยกับเจ๊กเซ้งและนางย้อยจึงต่างพากันแต่งตัวลงเรือที่จ้างเหมาไว้ถึงสองลำตั้งแต่ค่อนแจ้ง ส่วนที่ไม่สะดวกเดินทางไป ก็มาเดินตลาดเช่นเคย พอเห็นเรณูนั่งขายขนม พวกเขาก็ทำให้เรณูรู้สึกรำคาญใจ แต่หญิงสาวก็ต้องปั้นหน้ายิ้มแย้มผ่องใส ทั้งที่ใจนั้นหดหู่...หดหู่ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า ตัวเองนั้นต่างกับพิไลเพียงใด
เขามันเป็นคุณหนูลูกเถ้าแก่โรงสีใหญ่ หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา พรั่งพร้อมด้วยการศึกษา ส่วนเธอมันก็แค่ลูกชาวนาที่ต้องเช่านาเขาทำ มีแม่ยึดหาบเร่ขายขนมช่วงหมดฤดูทำนา มีพ่อหาปลาหานก ช่วยกันหาเงินเข้าบ้านมาอีกทาง การศึกษารึก็แค่ ป.๔ พออ่านออกเขียนได้ ไหนจะประวัติที่ด่างพร้อยนั่นอีก หอบผ้าตามลูกเขามา เขาจึงไม่คิดยกย่องยอมรับว่าเป็น 'สะใภ้'
"อ้าว วันนี้ไม่ไปทับกฤชกับเขาหรอกรึ"
"ไม่ได้ไปหรอกจ้ะ ขายของดีกว่า"
"วันนี้ขนมเหลอเยอะเลยเนอะ อย่างว่า เมื่อวานบ้านเหนือเขาเพิ่งมีงานแต่งไป คนก็ไปกินทางนั้นกันแล้ว แล้วเธอก็ยังทำหม้อแกงซ้ำกันอีก"
"แค่สี่ถาดเอง ช่วยฉันซื้อสักอันสองอันไหมจ๊ะ"
"เอ้า...ก็ได้ ช่วย ๆ กันไป เห็นหน้าเธอทีไร ทำไมมันรู้สึกเวทนาก็ไม่รู้ ว่าอิ่ม ๆ ไม่อยากกิน แต่ก็อดไม่ได้ซะที มีของดีอะไรหรือเปล่า"
'ของดี' ได้ยินดังนั้น เรณูก็ยิ้มแล้วส่ายหน้าดิก
พอคนที่หนึ่งไป อีกคนก็เข้ามา "เห็นเขาว่ากันว่า เรือนหออาตง ป้าย้อยซ่อมแซมใหม่ใส่เครื่องเรือนซะผิดจากที่เคยเป็นเรือนร้างเลยรึ"
"ฉันก็ยังไม่ได้ผ่านไปดูเหมือนกันจ้ะ พี่"
"ป้าย้อยนี่ก็นะ ลำเอียงอย่างไม่ได้สนใจเสียงใครเขาเลย ดูสิ สะใภ้ใหญ่ให้อยู่บ้านซอมซ่อหลังโรงสี ส่วนสะใภ้รองมีเรือนหอให้อยู่เสียดิบดี"
"วันนี้จะรับกี่อันดี พี่" เรณูไม่อยากต่อความให้ต้อง 'เข้าตัว'
"เอามาสองห่อแล้วกัน ขนมเธอมันอร่อย แต่กินทุกวันมันก็เบื่อ ลองเปลี่ยนทำอย่างอื่นบ้างสิ"
"พี่อยากกินอะไรล่ะ แนะนำฉันได้ ฉันทำได้ฉันก็จะทำ ทำไม่ได้ก็จะได้หัด"
"ทำสาคูไส้หมูเป็นไหม อีร้านโน่นมันทำไม่อร่อย แป้งแข็งปาหัวหมาแตก"
"แต่เขาทำมานานแล้ว ไปแข่งกับเขา เขาจะเขม่นเอาได้"
"ของอย่างนี้ใครดีใครได้ เธอ"
"ตกลงสองห่อเนอะ"
เสียงพูดทำนองนี้เริ่มต้นแต่เช้าตรู่ยันตลาดวาย สุดท้ายขนมหม้อแกงเหลือหนึ่งถาด พระอาทิตย์แผดแสงจ้าจนเริ่มร้อนกาย สุดท้ายเรณูก็ยกหาบขึ้นบ่า ตัดสินใจเดินเร่ขายไปตามบ้านเรือน ขายไปเรื่อย ๆ ถ้ามันเหลือก็จะไปนั่งหลบร้อนรอขายให้พวกที่มากับรถไฟ
ยังไม่ทันถึงสถานีรถไฟ ขนมถาดนั้นก็หมด ใจที่รู้สึกอ่อนล้าก็มีพลังเพิ่มขึ้นมาอีก เรณูหาบหาบเปล่ากลับบ้านจนมาถึงหน้าโรงแรมไม้สองชั้น หูของเรณูก็ได้ยินเสียงร้องเรียกที่ดังมาจากหน้า 'ล็อบบี้' พอหันไปเห็นว่าเป็นเสียงของใคร เรณูก็ยิ้มกว้างตาเป็นประกายสดใส หัวใจลืมเรื่องโศก โดยเฉพาะประโยคที่ว่า "ของในหาบน้องศรี ถ้าพี่จะเหมาหมด น้องจะคิดค่าตัวเท่าไหร่"
เรณูวางหาบลงแล้วโผเข้าสวมกอดประนอมกับติ๋มที่ยืนยิ้มปากบาน เล่นหูเล่นตาอยู่หน้าโรงแรม คนที่เดินผ่านไปผ่านมาต่างเหลือบมองจ้องมองแล้วยิ้มน้อย ๆ เพราะการแต่งเนื้อแต่งตัวและทรงผมของผู้หญิงแปลกหน้าทั้งสองคนนั้น มัน 'ส่อ' ประนอมพี่ใหญ่ดัดผมหยิกฟู มีต่างหูทรงกลมใหญ่สีเขียว สวมมินิสเกิร์ต เสื้อคอบัวแขนยาวสีแดงแป๊ด ส่วนติ๋มซอยผมสั้นแต่คาดผ้าเป็นโบ สวมกางเกงขาสั้นสีชมพู เสื้อลายดอกเขียวส้มคอกว้างตัดด้วยผ้าเบาบาง ทั้งสองสวมรองเท้าหนังมันเงาส้นหนา ประนอมสีฟ้า ติ๋มสีเขียวสะดุดตา
"คิดถึงจังเลย พี่นอม พี่ติ๋ม มากันได้อย่างไร"
"นั่งรถไฟมา เพิ่งมาถึงเมื่อตะกี้ ว่าจะเดินไปหาแกที่ร้านอีย้อย แกก็ดันเดินผ่านมาเสียก่อน" ติ๋มนั้นเป็นเจ้าถิ่นจึงรู้ที่อยู่ที่กินรู้จักถนนหนทาง
"มาธุระอะไรกันหรือเปล่า"
"อีติ๋มมันอยากจะมาทำบุญกระดูกให้แม่ของมัน ส่วนพี่อยากจะพักผ่อนบ้าง ก็เลยถือโอกาสตามมันมาเยี่ยมหล่อน เป็นไงสบายดีไหม"
"สบายดี พี่" เรณูตอบไม่เต็มเสียงนัก
"ไม่ใช่ม้าง..." ประนอมนั้นอายุสามสิบต้น ๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน แค่เห็นสีหน้าแววตาของเรณูก็รู้แล้วว่า 'ไม่มีความสุขนัก'
"หนูรู้ว่าหน้าตาหนูปิดหัวใจหนูไม่มิดหรอก"
"ถอนตัวยังทันนะโว้ย อย่ามาเสียเวลาหาบคอนอยู่เลย พี่ว่าหากินแนวนอนอย่างเดิมดีกว่าม้าง..." ประนอมพยายามโน้มน้าวใจ
"หนูไม่หันหลังกลับไปแล้ว พี่ หนูตัดสินใจแล้ว"
"อยากจะให้กูปูผ้ากราบมึงใช่ไหมล่ะ" ติ๋มนั้นยังไม่ลืมข้อพนันขันต่อที่เคยลั่นวาจาไว้ ที่ว่าถ้าเรณูมาอยู่ที่นี่ครบหนึ่งปี เธอจะปูผ้าขาวแล้วกราบงาม ๆ สามที เพราะรู้ว่ายากที่นางย้อยจะยอมรับสะใภ้อย่างเรณูได้ เมื่อไม่ยอมรับปัญหามันก็ต้องตามมาไม่จบไม่สิ้น จนเรณูทนนางย้อยไม่ได้แน่
"เปล่า พี่ก็...หนูไม่ได้มาที่นี่เพราะอยากเอาชนะพี่หรอกนะ"
"แล้วทองของกูที่มึงได้มาล่ะ"
"มันก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจ ทำให้หนูกล้าเดินหน้าเท่านั้นเอง" เรณูยิ้มเจ้าเล่ห์
"แล้วนี่ทำไมมึงถึงต้องมาหาบของขายอยู่บนถนน"
"เรื่องมันยาว พี่" ว่าแล้วเรณูก็ถอนหายใจออกมา
"กูบอกมึงแล้ว ว่าเล่นกับอีย้อยมันไม่ได้ง่ายหรอกนะ ผิดคำกูไหมล่ะ"
"ก็จริง" เรณูตอบเบา ๆ
"ไป...งั้นวางหาบไว้ตรงนี้ก่อน ขึ้นไปคุยกันบนห้องดีกว่า ยืนคุยกันอย่างนี้กูเมื่อยขา ปวดหลัง" ประนอมเป็นฝ่ายตัดบท
**********
หลังรับรู้ว่าตั้งแต่เรณูมาถึงชุมแสงแล้วต้องเจอกับอะไรบ้าง ติ๋มที่นั่งอยู่บนเตียงก็บอกกับเรณูที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ริมหน้าต่างว่า
"ตอนนี้มึงไม่มีลูกจะอ้างแล้ว ผัวมึงก็ไม่อยู่ ถ้าอีย้อยมันจะเล่นงานมึง มันก็เอาได้แล้วนะโว้ย มึงอย่าลืมนะว่าตอนนี้มึงตัวคนเดียวนะ"
"หนูก็ระวัง ๆ ตัวเหมือนกัน"
"มึงระวังได้ แต่มึงต้องไม่ลืมว่ามึงเป็นผู้หญิง แล้วที่นี่ก็ถิ่นมัน มันมีเงิน มันรู้ว่าจะหาคนที่ไหนมาจัดการมึง โดยที่ใครไม่สงสัยอะไรเลย ที่กูเตือนมึง เพราะกูคนที่นี่" ติ๋มเสียงเครียด
"เขาคงไม่ร้ายกาจขนาดนั้นหรอก แล้วหนูก็ไม่เคยไปด่าว่าอะไรเขา มากสุดก็แค่ยอกย้อน"
"ไอ้ที่มึงทำไปแล้วนั่นแหละ มันเหมือนไปลูบคมมัน หน็อย...คิดได้นะมึง นอนรอมันหน้าร้านให้ยุงกัดให้ชาวบ้านมารุมว่ามัน นี่ถ้ามันรู้ก่อนหน้า มันให้พวกจับกังมาจับมึงไปใส่กระสอบถ่วงน้ำ กว่าญาติโกมึงจะสงสัยว่ามึงหายไปไหน มึงก็เหลือแต่กระดูกแล้ว"
ฟังคำเตือนของติ๋มแล้วเรณูนิ่งอึ้ง ครุ่นคิดตาม
"กูว่าหลังงานแต่งไอ้ตง มันหันมาลุยกับมึงแน่ ๆ มึงระวังไว้เลย"
"อีติ๋ม มึงก็พูดให้มันเครียด" ประนอมที่นอนพังพาบหลับตาฟังความอยู่บนเตียงเอ่ยขัดเบา ๆ
"เครียดสิดี พี่นอม เหลิงแล้วมันอันตราย"
"เตี่ยกับน้อง ๆ พี่ใช้ พวกคนงานที่โรงสีก็ดีกับหนูทุกคน หนูคิดว่าหนูน่าจะเอาความดีมัดใจพวกนั้นไว้ได้"
"แต่มึงต้องไม่ลืมว่าเขาผัวเมียกัน แม่ลูกกันนะ อีณู"
"แล้วพี่ใช้ล่ะ เขาออกจากค่ายมาเที่ยวที่บาร์บ้างหรือเปล่า" เรณูเปลี่ยนเรื่อง เพราะปัญหาที่ติ๋มเอ่ยถึงนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิด และอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ มันจึงยังไม่มีประโยชน์ที่จะไปคิดกังวล แต่เรณูก็ตระหนักมากขึ้นว่าตอนนี้เธอตกที่นั่งอันตรายจริง ๆ
"บาร์ที่เราอยู่มันไม่มา แต่บาร์อื่นกูไม่รู้ ขึ้นชื่อว่าผู้ชาย อีณู มึงอย่าไปไว้ใจมันเลย ดีไม่ดี มึงมัวจะเอาชนะใจแม่มันอยู่ทางนี้ มันอยู่ทางโน้นก็เป็นอื่นไปซะแล้ว ถึงมันไม่หน้ามืดตามัวเอาอย่างพวกเรา ๆ สาว ๆ ลูกแม่ค้าในตลาด ลูกสาวจ่าในค่ายก็เยอะแยะไป แล้วมันก็หน้าตาดีหน่วยก้านดีซะขนาดนั้น กูเห็นมันกูยังอยากได้เลย ติดว่ามึงจองไว้ก่อน ไม่งั้นละ มึง"
เรณูนิ่งคิด แต่ก็ไม่ได้บอกกับทั้งคู่ไปหรอกว่า เธอมั่นใจว่า 'ของดี' ที่เธอแอบไปทำมาน่าจะเอาเขาอยู่ แต่ก็นั่นแหละ 'ของดี' ที่ว่า มันก็ไม่ใช่ 'ของแท้' และใจคนมันก็ยากแท้หยั่งถึง แต่ในเวลานี้กังวลใจไปมันก็ไม่มีประโยชน์ คิดได้ดังนั้นแล้วเรณูก็ถามว่า
"ลืมไปเลย มันจวนจะเที่ยงแล้ว พี่กินข้าวกันมาหรือยัง"
"กินพวกของกินเล่นบนรถไฟมาแล้ว แต่มันก็ไม่ได้เรียกว่าข้าวหรอกนะ" ติ๋มเล่นลิ้น
"สรุปว่าหิวข้าวหรือเปล่า ถ้าหิวก็ไป หนูเลี้ยงเอง ก๋วยเตี๋ยวตรงร้านริมน้ำอร่อย"
"สรุปว่ามึงจะชวนกูไปกินข้าวหรือกินก๋วยเตี๋ยว มึงเอาให้แน่ อีฉิบหายทำกูสับสน" ติ๋มว่าให้
สามสาวพากันเดินทอดน่องผ่านร้านรวงไปยังร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงเรือนแถวริมแม่น้ำน่าน ปกติเรณูเดินคนเดียวแม้จะมีคนมองจนหันหลังกลับก็รู้สึกเฉย ๆ แต่พอประนอมกับติ๋มที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าล้ำสมัย แต่งหน้าทำผมเหมือนหลุดมาจากโปสเตอร์หนัง เรณูรู้สึกว่ามันยิ่งเป็นจุดรวมสายตาของคนอื่น ๆ เรณูจึงเข้าใจนางย้อยเมื่อเห็นสารรูปของเธอเมื่อวันที่มาถึง แต่ถ้าให้ลดเรื่องแต่งหน้าทาปาก เรื่องแต่งตัวลง เรณูก็รู้สึกว่าขาดความมั่นใจ
"เรณู เอ็งมากับใครล่ะน่ะ" แม่ค้าข้าวเม่าทอดตะโกนถาม จุดประสงค์ที่แอบแฝงคือจะเรียกช่วยซื้อของนั่นแหละ
"เพื่อนฉันจ้ะ มาเยี่ยมฉัน"
"แต่งตัวเปิ๊ดสะก๊าดจนพวกสามล้อถีบมันน้ำลายไหลเป็นทางแล้วมั้ง"
ตอนนั้นทั้งประนอมและติ๋มต่างก็สวมแว่นกันแดด เมื่อได้ยิน ทั้งสองเชิดหน้าขึ้นน้อย ๆ จะว่าชินก็ชิน แต่อีกใจก็รู้ว่า ใครจะมองว่า 'เป็น' อะไรก็ช่าง ในเวลานี้ถือว่ามีเงิน และเงินก็เป็นใหญ่พอที่จะทำให้คนมองข้ามรูปโฉมแล้วเปลี่ยนเป็นมิตรได้เหมือนกัน
"ข้าวเม่าขายอย่างไร" ติ๋มเริ่มใช้เงินนำทาง
"อีคนนี้หน้าตาคุ้น ๆ "
"หน้าฉันโหลจ้ะ น้า เอามาสองแพเนอะ พอไหม หรือจะคนละแพ"
ติ๋มไม่ยอมรับว่าเกิดและโตที่นี่ เพราะวันที่เดินทางออกไปจากชุมแสง กับวันนี้ 'รูปลักษณ์' ของติ๋มนั้นเปลี่ยนไปเป็นอย่างมากแล้ว จะยอมรับให้ต้องท้าวความกันให้เสียเวลาอีกทำไม
"สองแพก็พอ" ประนอมสรุป นางแม่ค้าจึงหันไปหยิบข้าวเม่าใส่กระทง พลางเอ่ยถามว่า
"เรณู วันนี้เอ็งจะไปงานกินเลี้ยงเขาหรือเปล่า"
"ไม่ไปหรอก น้า"
"กินเลี้ยงอะไร" ติ๋มถามแทรก
"กินเลี้ยงฉลองงานแต่งของน้องผัวเขาไง เอ๊ะ...เป็นพี่สะใภ้ทำไมไม่ไปดีใจกับเขา หรือว่าเขาไม่ชวน"
"น้าก็รู้ว่าแม่ผัวฉัน เขาไม่ชอบฉัน เขาจะชวนฉันไปทำไมล่ะ"
"มันก็จริง แล้วนี่แต่งสะใภ้รองเข้าบ้าน จัดงานซะเอิกเกริก สะใภ้ใหญ่อย่างเอ็งจะปั้นหน้าอย่างไรล่ะเนี่ย"
"ไม่เห็นจะต้องปั้นอย่างไรเลย"
"ทำใจได้มันก็ดี แต่น้าบอกกง ๆ น้าสงสารเอ็งนะ"
ติ๋มได้ยินเรื่องที่คุยกัน ดูจะกวนใจเรณู จึงตัดรำคาญด้วยการยื่นแบงกสิบไปให้เป็นค่าขนม
"เหรียญไม่มีรึ แม่คุณ แค่สองบาทเอง"
"มีแต่แบงก์ร้อย ถ้าไม่มีทอน ฉันกินฟรีนะ"
ระหว่างง่วนหาเงินเหรียญทอน ปากนางแม่ค้าก็ว่า "ไปรวยอะไรกันมาเน้อ พกแบงก์สิบแบงก์ร้อยเป็นฟ่อน ๆ"
"ขายนาแปลงน้อยอยู่ตาคลีจ้ะ อยากไปมั่งไหมล่ะ"
"อยากน่ะอยากอยู่ แต่ติดที่ว่ากลัวมันจะขายไม่ออก เพราะมันแก่แล้ว แล้วมันก็มีเจ้าของคาโด่อยู่ด้วย"
"ยิ่งแก่แล้ว ใช้งานมาแล้ว ถือว่ามีประสบการณ์เยอะ พวกไอ้กันมันยิ่งชอบนะ น้า"
"อย่ามาพูดให้คนแก่ดีใจ"
"ไปไหมล่ะ ฉันพูดจริง ๆ นะ แบบน้านี่ ที่นั่นป๊อปปูล่าร์มาก"
"ถ้าไปแล้วใครจะขายข้าวเม่าล่ะ แม่คุณ เอ้า...ได้เงินทอนแล้ว ขอบใจนะจ๊ะ แม่เนื้อทอง"
**********
ระหว่างที่นั่งละเลียดก๋วยเตี๋ยวเข้าปาก ติ๋มก็เอ่ยขึ้นมาว่า "ไอ้ตงแต่งเมียแล้ว อีย้อยจะให้เมียไอ้ตงไปอยู่ที่ไหน"
"ก็อยู่บ้านเก่าของพี่ เขาซ่อมแซมปรับปรุงให้เป็นเรือนหอ แล้วซาบอกว่า แม่เค้าจะให้มาช่วยขายของที่ร้าน แล้วตั้งเงินเดือนให้ใช้"
"มันก็จริงอย่างที่ป้าข้าวเม่าแกว่านะ เรณู แต่งสะใภ้รองซะเอิกเกริก มีเรือนหอให้อยู่พร้อม แล้วสะใภ้ใหญ่จะทำหน้าอย่างไร" ประนอมถามด้วยสีหน้าครุ่นคิด
"จะทำอย่างไรล่ะ พี่ อยู่ไปแบบที่เคยอยู่นี่แหละ รอให้พี่ใช้ปลดทหารกลับมาก่อน ค่อยคิดหาหนทางขยับขยาย เหลือแค่สี่ห้าเดือนเท่านั้นเอง"
"สะใภ้รองช่วยขายของอยู่ที่ร้าน สะใภ้ใหญ่หาบมาขายที่หน้าตลาดสด แล้วก็หาบเร่ไปตามบ้าน" ติ๋มพึมพำส่ายหน้าแล้วก็ถอนหายใจออกมาก่อนจะบอกว่า
"มันไม่ยุติธรรมจริง ๆ ยิ่งมันยกย่องเชิดชูสะใภ้รองมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเหมือนกดมึงให้ตกต่ำมากเท่านั้น แล้วทีนี้ พอใครไปถามอีย้อย มันก็จะอ้างได้ว่า เป็นเพราะมึงมาของมึงเอง แล้วก็มาจากตาคลีเสียด้วย"
"ก็มันเป็นเรื่องจริงนี่ พี่ ประวัติฉันมันไม่ดี"
"อีย้อยมันเกลียดมึงเข้าไส้ด้วย ถ้ามึงมีลูกกับไอ้ใช้จริง ๆ สมบัติพัสถาน มันก็คงไม่แบ่งปันให้หรอก"
"คิดมากนะ อีติ๋ม ยิ่งพูดมาก อีณูมันก็ยิ่งเครียด"
"อ้าว พี่ มันเครียดซะตอนนี้ ตอนที่เรายังอยู่ เรายังช่วยมันหาทางออกได้บ้างนะ ถ้าเรากลับไปแล้ว มันก็เครียดมันก็คิดแก้ปัญหาอยู่คนเดียว แล้วถ้าแก้แบบโง่ ๆ อีก ก็พาให้ชิบหายวายป่วงได้นะ พี่"
"แล้วมึงจะให้มันทำอย่างไร"
ติ๋มชักสีหน้าครุ่นคิด ก่อนจะหันซ้ายหันขวา พอเห็นว่าโต๊ะข้าง ๆ ปลอดคน เจ้าของร้านเดินไปล้างจาน ติ๋มก็พูดเสียงเบาว่า
"ก็ให้อีณูมันทำอย่างที่มันเคยทำสิ พี่"
"เออใช่ จริง ๆ ด้วย ถ้าอีย้อยมันเกลียดมึงนัก มึงก็ต้องทำให้มันรักมึงให้จงได้"
หัวคิ้วของเรณูขมวดเข้าหากันก่อนจะถามว่า "พี่หมายความว่าไง"
"อีณู มึงอย่าลืมนะว่า กูกับอีติ๋มหากินอยู่ที่ตาคลีมาก่อนมึงจะมา เรื่องที่มึงแอบไปหาไอ้หมอก้อน อย่าคิดนะว่าพวกกูไม่รู้กัน"
"พี่นอม...พี่ติ๋ม...หนู..."
"กูรู้ว่ามึงรักไอ้ใช้มันมาก มึงถึงได้กล้าใช้ของต่ำ แล้วที่พวกกูยอมเสียเงินเสียทองให้มึงก็เพราะพวกกูอยากเห็นมึงมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นกว่าชีวิตพวกกูหรอก กูไม่ได้โง่"
"หนูขอโทษ ตอนนั้นหนูคิดแค่ว่าอยากเอาชนะพี่ใช้เขา หนูไม่ได้คิดจะหลอกเอาเงินเอาทองจากพวกพี่เลยนะ"
"กูเข้าใจว่าความรักมันเข้าตามึง กูไม่ถือมึงหรอก ที่กูให้กันมาก็เพราะอยากให้มึงเก็บไว้ทำทุน เผื่อมึงมาแล้วเจอช่องทางดี ๆ พวกกูสองคนหมดหนทางทำมาหากินจะมาพึ่งมึงได้มั่ง"
เพราะความซาบซึ้งใจทำให้เรณูยิ้มออกพร้อมกับน้ำตาคลอเบ้า
"ไม่ต้องมาบีบน้ำตา กิน ๆ เข้าไป เดี๋ยวต้องไปวัด นัดแนะกับหลวงพ่อเรื่องทำบุญอีก" ติ๋มตัดบท
ระหว่างเดินไปวัดก็ต้องผ่านสถานที่จัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสของลูกชายคนรองของนางย้อย ซึ่งได้จ้างโต๊ะจีนจากภัตตาคารมาลง และมีวงดนตรีลูกทุ่งคอมโบ้มาเล่นขับกล่อม มีฟลอร์ให้ลุกจากโต๊ะมาเต้นรำด้านหน้าเวที มีเครื่องปั่นไฟฟ้าติดไฟสีประดับประดาโดยรอบ ติ๋มก็ถึงกับร้องอุทานว่า
"แม่เจ้าโว้ย นี่มันงานช้างเลยนี่หว่า"
ภาพตรงหน้าเหมือนเข็มทิ่มแทงใจของเรณู คำพูดที่ได้ยินมาตั้งแต่ตอนเช้าก้องอยู่ในหู
'ป้าย้อยนี่ก็นะ ลำเอียง ดูสิ สะใภ้ใหญ่ให้อยู่บ้านซอมซ่อหลังโรงสี ส่วนสะใภ้รองมีเรือนหอให้อยู่เสียดิบดี'
'แต่งสะใภ้รองเข้าบ้าน จัดงานซะเอิกเกริก สะใภ้ใหญ่อย่างเอ็งจะปั้นหน้าอย่างไรล่ะเนี่ย'
'สะใภ้รองช่วยขายของอยู่ที่ร้าน สะใภ้ใหญ่หาบมาขายที่หน้าตลาดสด แล้วก็หาบเร่ไปตามบ้าน'
'ยิ่งมันยกย่องเชิดชูสะใภ้รองมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเหมือนกดมึงให้ตกต่ำมากเท่านั้น'
'มันไม่ยุติธรรม...มันไม่ยุติธรรม'
แรงริษยาทำให้เรณูรู้สึกแน่นหน้าอก ดวงตามีหยาดน้ำตาคลอลูกนัยน์ตา ใจนั้นครุ่นคิดว่านี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แล้ววันอื่น ๆ ล่ะ นางย้อยจะชูอีพิไลขึ้นและกดอีเรณูให้ต่ำต้อยลงถึงเพียงใด
"คืนนี้เราออกมาซ้อมเต้นตะลุงกันไหม พี่นอม"
"น่าสนอยู่เหมือนกันว่ะ คนคงจะเยอะมาก"
"มาไหม อีณู" ติ๋มหันไปถามเรณูที่หน้าเจื่อนลงอย่างเห็นได้ชัด
"มันไม่มาหรอก จะให้มันมาให้แสลงใจทำไมล่ะ" ประนอมดูจะเข้าใจ 'ความรู้สึก' ของเรณูเป็นอย่างดี
ติ๋มเห็นดังนั้น จึงบอกว่า "เห็นอย่างนี้แล้ว มึงคิดได้หรือยัง"
ติ๋มหมายถึงเรื่องที่จะให้เรณู 'ทำเสน่ห์' มัดใจนางย้อยที่ได้คุยกันก่อนนั้น
"ฉันไม่อยากสร้างบาปสร้างกรรมอีก แค่เรื่องพี่ใช้ ฉันยังไม่รู้เลยว่า ถ้าความแตกขึ้นมา เขาจะว่าอย่างไร"
"ลำพังไอ้ใช้คงไม่เท่าไหร่หรอก เพราะข้าวสารมันกลายเป็นข้าวสุกซะแล้ว แต่ถ้าอีย้อยมันรู้ มึงเตรียมหอบผ้ากลับไปขายนาแปลงน้อยที่ตาคลีเหมือนเดิมเถอะ อีณู"
**************************************
|
|
« Last Edit: 15 March 2020, 17:19:13 by นักประพันธ์ »
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #11 on: 01 March 2020, 16:14:03 » |
|
ตอนที่ 12 : พิไล...มาแล้วจ้า
๑๒
พอเห็นสภาพเรือนหอซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าที่ถูกซ่อมแซมแค่บางส่วน ในช่วงที่เผลอคน พิไลจึงกระซิบบอกนางพิกุลว่า
"แม่ เดี๋ยวแม่เอาทองหมั้นบางส่วนกลับไปเก็บไว้ที่บ้านให้ฉันด้วยนะ เห็นบ้านแล้วฉันไม่อุ่นใจ"
นอกจากจะไม่อุ่นใจในสภาพบ้าน พิไลยังไม่พอใจในสภาพเรือนหอ เครื่องเรือน สภาพครัว และห้องส้วมที่อยู่นอกตัวบ้าน เพราะบ้านที่ทับกฤชนั้นเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ทันสมัย แม้จะลำบากเรื่องช่วยเตี่ยค้าขาย แต่พิไลไม่เคยลำบากเรื่องอยู่เรื่องกิน พิไลไม่เก่งเรื่องงานบ้านและงานครัว อยู่ที่บ้านนางพิกุลจะรับหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน เสื้อผ้า และทำอาหารให้ลูกให้ผัวด้วยความเต็มใจยิ่ง
พิไลจึงสบายจนเคยตัว วัน ๆ คิดแต่เรื่องแต่งตัวให้สวยงามทันสมัย คิดแต่เรื่องยักยอกเงินของเตี่ยมาเข้าพกเข้าห่อเก็บไว้ เพราะรู้ว่าแม้เตี่ยจะรัก แต่ตนเองก็เป็นลูกผู้หญิง และเป็นเพียงลูกเมียน้อย ทรัพย์สมบัตินั้นยากที่จะตกทอดมาถึงตน และที่ยอมรับหมั้นลูกชายคนโตของนางย้อยคราวนั้น นอกจากพึงพอใจในรูปโฉมของปฐม พิไลยังรู้ดีว่าตามธรรมเนียมจีน ลูกชายคนโตจะได้สืบทอดมรดกกิจการส่วนใหญ่ เรื่องกดขี่ลูกสะใภ้ของคนจีนโดยเฉพาะเมียของลูกชายคนโตที่พอแต่งเข้าไปแล้วต้องปรนนิบัติพัดวีตั้งแต่พ่อแม่สามียันน้อง ๆ ทุกคน มันหมดยุคหมดสมัยแล้ว นางย้อยเองก็เป็นคนไทยแท้ น่าจะเข้าใจหัวอกลูกสะใภ้คนจีนดี
แต่เมื่อการณ์พลิกจากปฐมเป็นประสงค์ซึ่งเป็นลูกชายคนรอง พิไลจึงคิดแล้วคิดอีก สุดท้ายพิไลก็ได้แง่ที่จะปฏิเสธ นั่นก็คือขอยึดทองหมั้นของปฐมไว้เป็นสมบัติของตน และต้องจัดหาทองหมั้นของประสงค์มาให้ใหม่
ข้อสุดท้ายที่พิไลไม่คิดว่านางย้อยจะยินยอมง่าย ๆ ก็คือ เรื่องร้านค้าซึ่งเป็นบ่อเงินบ่อทองของนางย้อย ที่ตามหลักแล้วจะต้องตกเป็นของลูกชายคนโต แต่พิไลก็ขอเป็นกรณีพิเศษให้เป็นของประสงค์ ซึ่งเท่ากับเป็นของตนและลูกเต้าที่จะเกิดมานั่นเอง
เมื่อนางย้อยยินยอมตกลง พิไลยังยุให้เตี่ยกับแม่เล่นแง่เล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่เรือนหอ เครื่องเรือน โต๊ะจีน วงดนตรี รวมถึงโรงแรมให้ญาติ ๆ ของเธอเข้าพักในค่ำคืนเลี้ยงฉลองมงคลสมรส ซึ่งนางย้อยก็มีทั้ง 'ยินยอม' และ 'แข็งขืน' ในบางเรื่อง แต่พิไลก็รู้ว่าที่ยอมมานั้น นางย้อยก็เสียไปไม่ใช่น้อยแล้วเหมือนกัน
เช้าวันนี้ที่ชุมแสง เป็นเช้าที่พิไลยังคงนอนนิ่งอยู่บนที่นอนขนาดหกฟุตบนเตียงไม้สักมีมุ้งครอบเรียบร้อย ข้างตัวคือประสงค์ผู้เป็นสามีของตน เขายังคงหลับใหลเพราะเหน็ดเหนื่อยจากงานพิธีกรรมตั้งแต่เช้ามืดของเมื่อวาน และเมามายจากฤทธิ์ของสุราที่เพื่อนฝูงญาติมิตรส่งมาให้เขาดื่มย้อมใจเพื่อที่คืนแรกของวันส่งตัวเจ้าบ่าวจะได้ไม่เขินอายเจ้าสาว ทว่าฤทธิ์ของเหล้าโรงก็ทำให้เจ้าบ่าวต้องถูกหามปีกเข้าห้องหอแทน และเขาก็หลับสนิทจนถึงเวลานี้
พิไลนอนลืมตาโพลง ครุ่นคิดถึงชีวิตใหม่ที่ชุมแสง ซึ่งมีข้อตกลงกันไว้ว่า เธอกับประสงค์นั้นจะมีหน้าที่ช่วยงานในร้าน รับเงินเดือนจากนางย้อยทั้งสองคน แล้วกว่าร้านนั้นจะกลายเป็นของประสงค์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ เธอไม่กลายเป็นลูกจ้างบรรดาศักดิ์ไปจนแก่เลยรึ เพราะนางย้อยก็เพิ่งจะสี่สิบกว่า ๆ ยังมีเรี่ยวแรงทำงานเก็บเงินเข้า 'กงสี' อีกหลายปี
พิไลครุ่นคิดหาวิธีเข้าไปครอบครองกิจการที่เป็นสิทธิ์ของสามีของตนตามข้อตกลงให้เร็วที่สุด เพราะถ้านางย้อยเกิดเปลี่ยนใจหรือเล่นแง่ แรงงานสองแรงที่ทุ่มเทลงไปทำให้เงินใน 'กงสี' เพิ่มพูน คนไม่ได้ออกแรงทำงานก็มีสิทธิ์ใช้จ่ายสบายไป ซึ่งมันมิได้ยุติธรรมกับประสงค์และเธอเลยสักนิด
**********
กลิ่นควันทำให้ประสงค์ค่อย ๆ ปรือตา เขารู้สึกหนักอึ้งไปทั้งศีรษะ เสียงไอที่ดังมาจากในครัว รวมถึงความร้อนของตัวบ้านเพราะแดดแผดแสงแรงกล้า ทำให้เขาค่อย ๆ ขยับลุกขึ้นนั่ง พอก้มมองดูตัวเองก็เห็นว่า เขายังอยู่ในชุดกางเกงขายาว เสื้อเขิ้ตแขนยาว ปราศจากสูท เนกไท เข็มขัด และถุงเท้า
ที่นอนข้างตัวว่างเปล่า เหลือเพียงรอยยับของผ้าปูที่นอนและกลีบกุหลาบที่ถูกโปรยไว้ตอนทำพิธีส่งตัวเข้าห้องหอ ก่อนออกไปเลี้ยงฉลองมงคลสมรสนั้นยับยู่ยี่
เขาเปิดมุ้ง ลงจากเตียง เดินโซเซไปยังห้องครัวที่อยู่ทางหลังเรือน ยืนเกาะขอบประตู ก็เห็นพิไลซึ่งอยู่ในชุดผ้านุ่งสีกรมท่า เสื้อลูกไม้คอกลมสีชมพู ผิวต้นแขนนั้นขาวละเอียด นั่งอยู่หน้าเตาอั้งโล่
"ทำอะไร" แม้จะเห็นว่าหญิงสาวกำลังพยายามก่อไฟ เขาก็จำต้องทักทายด้วยประโยคที่เรียกว่ารู้ทั้งรู้
พิไลหันมามองเขา เขายิ้มน้อย ๆ เพราะใบหน้าขาวนั้นมีสีดำของถ่านติดอยู่ที่ปลายจมูกและบริเวณแก้ม พิไลคงไม่รู้ตัวว่าเผลอใช้มือลูบหน้าที่ชื้นเหงื่อของตน จนทำให้หน้าขาวสะอาดนั้น มอมเป็นหน้าลูกแมว
"ก่อไฟหุงข้าวต้มให้เฮีย"
"หุงข้าวต้ม กินกับอะไรล่ะ"
"ยังไม่รู้เลย เห็นมีข้าวสารอยู่ในถัง ก็เลยจะหุงไว้ก่อน"
คุยกันแค่นั้น ประสงค์ก็เดินผ่านครัวไปทางบันไดหลังบ้านเพื่อไปห้องส้วม อึดใจใหญ่ ๆ เขาก็กลับมาด้วยใบหน้าชื้นน้ำ ร่างกำยำปราศจากเสื้อที่ใส่ออกไป พิไลมองหุ่นของเขาเห็นเพียงว่าขาวจัด มีไรขนที่หน้าอกก็หลบวูบ มือนั้นพัดวีเตาต่อไป ใบหน้านั้นมีเหงื่อผุดมากกว่าเดิม
"อ้าว ไฟยังไม่ติดอีกเหรอ"
"ฉันติดเตาไม่เป็น"
"อะไรนะ" ประสงค์ไม่อยากจะเชื่อหูตัวเองเหมือนกัน
"คือ...ตอนอยู่ที่บ้าน ฉันไม่ค่อยได้เข้าครัวหรอก ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของแม่" พิไลยอมรับตรง ๆ
ประสงค์ทำหน้างง ๆ แล้วเขาก็เดินไปที่โอ่งมังกร เปิดฝาโอ่ง หยิบขันอะลูมิเนียมตักน้ำมากินเพราะรู้สึกกระหาย วางขันลงแล้วเขาก็วางเสื้อที่พาดไว้บนไหล่ลงบนฝาโอ่ง แล้วเดินเข้าไปทรุดตัวลงนั่งยองข้าง ๆ หญิงสาวรีบขยับเก้าอี้รองนั่งตัวสูงเพียงคืบหนี เพื่อให้เขาเข้ามาที่หน้าเตาได้โดยสะดวก
"ก่อไฟไม่เป็นจริง ๆ รึเนี่ย" ถามแล้วเขาก็พ่นลมออกจากปาก กลิ่นเหล้านั้นยังคงมีอยู่กับลมที่ออกมาจากคอและจมูกของเขา แต่พิไลกลับไม่รู้สึกเหม็นแต่อย่างใด อาจจะเป็นเพราะว่าวันนี้ และวันต่อ ๆ ไป เขาและเธอก็จะเป็นเหมือนคนคนเดียวกัน ต้องดูแลสุขทุกข์ของกันและกันตราบจนแก่เฒ่า ตายจากกันไป อย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ให้ศีลให้พรว่า
'ให้ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร'
'หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน'
'รักกันไปชั่วลูกชั่วหลาน'
แม้ว่าการแต่งงานครั้งนี้ มันไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรักก็ตามที
"ถ้าเป็น...ก็คงติดไปนานแล้วแหละ" พิไลบอกเสียงเรียบ ๆ สีหน้านั้นเริ่มมีความหนักใจ
"แล้วหุงข้าวทำกับข้าวเป็นหรือเปล่า"
"ก็พอได้ แต่ไม่เก่งหรอกนะ บอกกันไว้ก่อน"
ประสงค์นิ่งเงียบ ภวังค์นั้นใจไพล่ไปนึกถึง 'จันตา' คนงามที่มาจากเมืองลับแล เจ้าหล่อนคงจะเก่งงานในครัวเพราะเป็นลูกจ้างจะต้องทำทุกอย่างเป็น แล้วสติก็ระลึกว่า คิดถึงเจ้าหล่อนไปก็หาได้มีประโยชน์ไม่ เขาจึงหันมาใส่ใจกับงานตรงหน้า
เขาดึงกะละมังใส่ขี้เถ้าที่สอดไว้ใต้ม้าไม้สำหรับวางเตาอั้งโล่ หยิบถ่านจากเตาออกมาวางไว้ในกะละมังใบนั้น ดึงปี๊บใส่ถ่านซึ่งมีไม้เชื้อฟืนและขี้ไต้วางอยู่ด้วย เขาหยิบไม้เชื้อฟืนมาวางไขว้กัน บิขี้ไต้ออกมาวางบนไม้ จุดไม้ขีดไฟลนขี้ไต้ พอไฟติด เขาก็หยิบไม้เชื้อฟืนมาวางไขว้โหย่ง ๆ ปิดไว้อีกที
พอไม้เชื้อฟืนติดไฟ เขาก็เริ่มวางถ่านไว้โดยรอบ หยิบพัดมาวีลมใส่ใต้เตา อึดใจเดียวพอหมดควัน ไฟก็ติดถ่านแดงโร่
"แค่นี้เอง มันยากเสียที่ไหน"
พิไลนิ่งเงียบ ตาจ้องมองมือขาวของเขา จดจำขั้นตอน เพราะก่อนจะถึงวันแต่งงาน แม่ก็บอกแล้วว่า ทำไม่เป็นก็ต้องทำให้เป็น ไม่อยากทำก็ต้องทำ เพราะเรื่องพวกนี้มันเป็นหน้าที่ของ 'เมีย' ของ 'แม่' ทุกคน จะเกี่ยงคนอื่นอย่างที่เคยเกี่ยงไม่ได้อีกแล้ว
"ไหนข้าวอยู่ไหน เตรียมเอามาตั้งบนเตา"
พิไลลุกขึ้นไปคว้าหม้อข้าว เดินไปยังถังเหล็กมีฝาปิดที่ใส่ข้าวสารซึ่งตั้งอยู่ติดกับตู้กับข้าว เปิดฝาถังตักข้าวใส่หม้อถึงสองกระป๋องนม พอประสงค์เห็นดังนั้นจึงรีบบอกว่า
"เธอ มันมากไปแล้ว ข้าวต้มมันไม่เหมือนข้าวสวย"
"แล้วเท่าไหร่ถึงจะพอดีล่ะ เฮีย"
"แค่กระป๋องเดียวพอ"
พิไลเทข้าวในหม้อลงถังไปใหม่ แล้วตวงขึ้นมาหนึ่งกระป๋องนมตามที่เขาบอก พอได้ข้าวมาแล้วก็มาเปิดโอ่งตักน้ำใส่หม้อข้าว ใช้มือคน ๆ แล้วมองหาที่เทน้ำทิ้ง หญิงสาวก็เดินออกไประเบียงหลังบ้าน เทน้ำลงดินไป
ประสงค์มองตามไปด้วยความรู้สึกขัดลูกนัยน์ตา เพราะน้ำซาวข้าว แม่จะเทใส่กะละมังเก็บไว้ล้างจาน เขายกมือเกาหัว แล้วก็บอกกับพิไลว่า
"เดี๋ยวเฮียจะไปในตลาดนะ อยากได้อะไรไหม อยากกินอะไรเป็นพิเศษไหม" เมื่อพิไลเรียกเขาว่า 'เฮีย' เขาก็ต้องแทนตัวเองว่า 'เฮีย' ไปโดยปริยาย
"แล้วแต่เฮียแล้วกัน ฉันกินอะไรก็ได้" อันที่จริง พิไลไม่ใช่คนกินง่ายอยู่ง่าย แต่ว่าเธอก็ยังนึกไม่ออกว่า เช้านี้จะทำอะไรให้สามีกิน หรือตนนั้นอยากกินอะไร เพราะตั้งแต่เกิดมา พออยากกินอะไรแม่ก็ทำให้กิน หรือมีกินโดยที่ไม่เคยต้องคิดอะไรเลย
**********
"พิไลล่ะ" พอเห็นลูกชายนุ่งกางเกงตัวเมื่อวาน แต่เปลี่ยนเสื้อจากเสื้อเชิ้ตแขนยาวเป็นเสื้อตราห่าน สวมรองเท้าแตะเดินเข้ามาในร้าน หน้าตาดูอ่อนระโหยโรยแรง นางย้อยก็ถามถึงเมียของเขาทันที
"หุงข้าวอยู่ที่บ้าน ผมมาหากับข้าวไปกิน"
นางย้อยไม่รู้สึกแปลกใจที่สายโด่งขนาดนี้แล้ว ผัวหนุ่มเมียสาวเพิ่งจะลุกขึ้นมาหุงข้าวกิน เพราะ 'ครัวใหม่' ย่อมขลุกขลักเป็นธรรมดา อยู่ไปสักพักปรับตัวได้แล้ว ทุกอย่างก็คงลงตัว ลื่นไหลไปตามครรลอง ดำเนินชีวิตคู่ไปตามระบบที่นางได้ขีดเส้นไว้ให้คร่าว ๆ
"ทำอะไรกินกันล่ะ"
"กำลังหุงข้าวต้มกุ๊ย ผมมาดูปลาเค็ม ไข่เค็ม หัวไช้โป๊เอาไปผัดกับไข่ แล้วก็ถั่วลิสงเอาไปคั่ว"
ในบรรดาลูกชายทั้งสี่คนนั้น ประสงค์พอช่วยแบ่งเบางานครัวได้มากกว่าคนอื่น ๆ เขาหุงข้าวทำอาหารง่าย ๆ แทนแม่ได้
"ของในร้านอยากได้อะไรก็หยิบไป" เห็นว่าเพิ่งเป็นวันแรก ครั้งแรก นางย้อยจึงละคำว่า 'แล้วก็ลงบัญชีไว้ สิ้นเดือนค่อยคิดกัน'
เมื่อแม่ออกปากให้ ประสงค์จึงหยิบของกินของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม แฟ้บ แป้งหอม ไฟฉาย และถ่านไฟฉายลงในตะกร้า โดยก่อนจะหยิบเขาก็บอกว่า "ผมขอเอาไปใช้นะ ม้า"
นางย้อยเห็นดังนั้น ก็รู้แล้วว่า ต่อไปจะมีคำว่า 'ของของพ่อแม่' กับ 'ของของลูก' เกิดขึ้นในครอบครัวที่เคยเป็นหนึ่งเดียว มันเป็นวัฏจักรที่หนีไม่พ้น และเพื่อให้ลูกคลายความกังวลใจเรื่องหน้าที่การงาน กับรู้ว่าช่วงนี้เป็นช่วง 'ข้าวใหม่ปลามัน' นางย้อยจึงบอกว่า
"ม้าว่า วันนี้แกกับพิไลยังไม่ต้องมาช่วยม้าที่ร้านหรอกนะ อยู่จัดบ้านจัดช่องกันซะให้เรียบร้อยก่อนก็ได้ พรุ่งนี้ค่อยพากันมา แต่ถ้าจะยังอยากพักอีกสักวันสองวัน ม้าก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ"
ระหว่างที่เดินถือของกินใส่ตะกร้ากลับไปที่บ้าน ประสงค์ก็เดินมาทันเรณูที่หาบของขายพลางหยุดคุยกับบรรดาลูกค้าระหว่างทางกลับโรงสี
"พี่เรณู ขายหมดไหม"
"เหลือไม่ถึงสิบห่อ จะไปขายต่อก็ขี้เกียจเดินละ เดี๋ยวแจกคนงานกินกันไป"
"งั้นผมขอซื้อ"
เรณูมองของในมือของประสงค์ก็เดาได้ว่า เขาคงเพิ่งกลับมาจากตลาด เรณูวางหาบลง แล้วหยิบขนมในห่อใส่ตะกร้าของเขาจำนวนหกห่อ ที่เหลือเรณูตั้งใจจะเอาไปแบ่งปันให้กับกมลและเจ๊กเซ้ง
"แบ่งเอาไปกิน ไม่ต้องให้เงินพี่หรอก" เรณูแสดงน้ำใจ
"แต่ของซื้อของขาย"
"วันนี้พี่ยังไม่อยากขาย เอาไปเหอะ รับไป"
"แต่มันเยอะ ผมเกรงใจ"
"ไม่เป็นไรหรอก แค่บอกอาซ้อว่าเป็นขนมของพี่ก็พอแล้ว" เรณูแสร้งยกย่องทั้งที่ใจนั้นไม่เคยคิดจะญาติดีด้วย
ประสงค์กับเรณูเดินไปคนละทาง แล้วเรณูก็หยุดก้าวขา หันหลังกลับไปมองประสงค์ที่เดินจ้ำพรวด ๆ กลับบ้าน พลางคิดว่าถ้าพิไลมันรู้ว่าขนมหกห่อเธอเป็นคนทำ มันจะกินลงหรือเปล่านะ
**********
กลับมาถึงบ้านเขาก็ถือตะกร้าเดินขึ้นบนเรือน พบว่าพิไลกำลังเก็บมุ้ง พับผ้าห่มอยู่ในห้อง สายตาประสานกันแล้วพิไลก็เป็นฝ่ายหลบสายตาของเขา เขาก็เลยเดินไปทางในครัว พอไปถึงเขาก็เห็นข้าวต้มในหม้อนั้นอืดแห้งติดอยู่ในหม้อ ไม่เป็นข้าวต้มกุ๊ยอย่างที่เขาเคยกิน เขาส่ายหน้าเบา ๆ ยิ้มน้อย ๆ พิไลเดินตามมา มองของในตะกร้า
"ได้อะไรมากินบ้างล่ะ เฮีย"
"อาซ้อให้ขนมมาหกห่อ"
"อาซ้อ...ใคร"
"พี่เรณู เมียตั่วเฮียไง เขาอยู่บ้านหลังโรงสีแล้วทำขนมขายที่ตลาดเช้า ตะกี้เดินกลับมาทันเขาจะกลับบ้าน เห็นเขายังหาบขนมขาย เลยถามซื้อ แต่เขาไม่ขาย เขาให้มา"
พิไลกลืนน้ำลายแล้วยืดคอขึ้น ใจหนึ่งเห็นห่อขนมก็รู้สึกหิว อยากกิน แต่อีกใจมันเป็นขนมฝีมือของ 'อีเรณู' ผู้หญิงที่มาแย่งคนรัก แย่งโอกาสของตนไป แต่ท้องมันหิวเกินกว่าจะมัวถือโกรธเคือง พอประสงค์นั่งลงแล้ววางตะกร้า พิไลนั่งลงตามแล้วคว้าห่อขนมมาเปิดดู เป็นขนมตะโก้เผือกที่ตนชอบกิน พิไลก็พูดเบา ๆ ว่า
"น่ากินจัง เขาขายห่อละเท่าไหร่"
"ห่อละสลึง จะกินขนมรองท้องรอกับข้าวไปก่อนก็ได้นะ"
"แล้วเฮียจะกินด้วยกันไหมล่ะ" พิไลยังไม่ได้ลุกไปหยิบช้อนที่อยู่ในตะกร้าใส่ช้อนติดอยู่กับตู้กับข้าว
"เอาไว้ก่อน เดี๋ยวทำกับข้าวก่อนดีกว่า"
"จะทำอะไร"
หลังจาระไนให้พิไลรู้ว่าจะทำอะไรกินกับข้าวต้มบ้าง เขาก็ลงมือทำทันที พิไลลุกขึ้นไปหยิบช้อนมาตักขนมเข้าปาก พอลิ้มรสก็รู้สึกว่า ขนมนั้นหวานกลมกล่อม สายตาของพิไลมองเห็นประสงค์หยิบจับอะไรต่อมิอะไรดูคล่องแคล่ว ด้วยความสงสัยพิไลจึงถามเขาว่า
"ดูเฮียท่าจะทำอาหารเก่งนะ"
"ไม่เก่งหรอก ก็ทำพอแก้ขัดตอนม้าไม่อยู่บ้านได้บ้าง ถ้าเอาอร่อยก็คงไม่ได้หรอก"
"ก็ยังดูดีกว่าฉัน"
"ก็ค่อย ๆ ฝึกหัดไป ม้าบอกว่า ของแบบนี้มันไม่มีใครทำเป็นตั้งแต่เกิดหรอก"
"แล้วลูกคนอื่น ทำกันเป็นหรือเปล่าล่ะ"
ประสงค์ส่ายหน้า ก่อนจะบอกว่า
"ตั่วเฮียทำอาหารไทย ๆ อย่างพวกแกงป่า แกงเผ็ดอร่อยนะ แต่ไม่ค่อยจะทำ ส่วนอาซามันรู้ว่าอะไรอร่อย ร้านไหนทำอาหารอร่อย แต่มันบอกว่า ถ้าให้มันทำเอง มันทำไม่เป็น แล้วอาสี่ก็กินอย่างเดียว จานชามก็ยังล้างไม่เป็นเลย"
"แล้วเฮียชอบกินอะไร"
"ถามทำไม เขาหันมาถาม ดวงตานั้นมีประกายวิบวับ พิไลเห็นแล้ว หน้าแดงซ่านขึ้นมา
"ก็...จะได้ฝึกไว้" ตอบแล้วก็พยายามเกลื่อนสีหน้าให้เป็นปกติ
"ถ้าเอาที่ชอบ ก็พวกแกงกะทิ แกงส้ม แกงเลียง ทำได้ไหมล่ะ"
"ทำได้แต่พวกของต้ม ๆ ผัด ๆ ทอด ๆ แล้วก็พวกของนึ่ง อย่างปลานึ่งเพราะว่าเตี่ยชอบกิน แต่น้ำพริกไม่ถนัดนะ เตี่ยไม่ค่อยชอบกิน โดยเฉพาะน้ำพริกปลาร้า หรืออาหารที่มีปลาร้า"
"ปลาร้าเฮียก็กินได้ ตริง ๆ ทำอะไรมาก็กินได้หมดแหละ ไม่ต้องกังวลไปหรอก" ปากพูดไป มือเขาก็คั่วถั่วลิสงไปด้วย
"เฮีย แล้วฉันก็ไม่เคยหาบน้ำนะ ที่นี่พอมีคนรับจ้างหาบใช่ไหม"
"มี ญาติบุญปลูกเขารับจ้างหาบ"
เรื่องหาบน้ำมาใส่โอ่งนั้น พวกเขาก็ไม่ได้หาบเหมือนกัน แม่จ้างคนหาบมาให้ใช้ ตอนเป็นเด็ก ๆ พวกเขาก็พากันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ว่ายน้ำเล่นกันสนุกสนาน แต่พอโตขึ้นหน้าที่การงานในร้านมากขึ้น ปลีกตัวไปท่าน้ำตั้งแต่หัววันไม่ได้ ครั้นจะไปตอนพลบค่ำแม่ก็เป็นห่วงเกรงเรื่องงูเงี้ยวเขี้ยวขอและผีน้ำ แม่ก็เลยให้อาบเสียที่บ้านแทน
"ใครคือบุญปลูก"
"บุญปลูกกับป้อมเป็นพี่น้องกัน เป็นเด็กที่ร้าน เดี๋ยวก็เห็นหรอก"
"แล้วฉันก็ไม่ชอบซักผ้า ถ้าจะจ้างเขาซักล่ะ เฮียจะว่าอะไรไหม"
"หือ" ข้อนี้เขาไม่คิดว่าจะได้ยิน เพราะงานซักผ้านั้นเป็นงานของ 'ลูกผู้หญิง' พวกเขาเองพอโต ๆ มา แม่ก็ให้ซักกันเอง นอกเสียจาก 'ชุดเก่ง' เสื้อผ้าสำหรับใส่ออกงาน แม่ถึงจะซักและรีดให้หลังจากปิดร้านแล้ว
"ถูบ้านด้วยนะ จ้างหาบน้ำ ซักผ้า ถูบ้านด้วยเลย คือตอนอยู่ที่บ้านมีคนงานทำให้" อันที่จริงตอนอยู่บ้านไม่ได้มีคนงานทำให้ แต่ครั้นจะบอกว่าแม่ทำให้ ตัวเองก็จะดูแย่ลงไปอีก
ประสงค์ทำหน้าหนักใจ อดคิดไปถึงคำบอกเล่าของกมลไม่ได้ 'พี่เรณูเขาขยันขันแข็ง งานบ้านงานเรือนนี่เรียบกริบ วัน ๆ ไม่เห็นแกหยุดมือ เดี๋ยวก็ทำนั่น เดี๋ยวก็ทำโน่น กับข้าวก็ทำอร่อย ทำได้หมดทุกอย่างที่เราอยากกิน'
นึกถึง 'เรณู' ก็อดเปรียบเทียบกับ 'พิไล' ไม่ได้ นี่ถ้าแม่รู้ว่าสิ่งที่ว่าเป็นเพชรนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ก็ได้ แม่จะรู้สึกอย่างไร
**********
เมื่อวาน หลังไปติดต่อกับทางวัดเรื่องที่จะมาทำบุญ โดยการถวายสังฆทานปิ่นโต อุทิศให้กับแม่ของติ๋มที่ล่วงลับไปแล้วในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเช้าวันนี้ เรณูก็พาประนอมกับติ๋มกลับมาตลาดเพื่อซื้อปิ่นโต ๔ เถา ซื้อผลไม้ ซื้อของมาเตรียมทำอาหารใส่ปิ่นโต
พอเห็นกระท่อมหลังเล็กที่ถูกใช้เป็นสถานที่ทำขนมพร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ ประนอมก็เอ่ยชมเรณูว่า
"กูไม่คิดเลยว่า มึงจะเก่งกาจขนาดทำขนมได้"
"ไม่ได้อยากเก่งหรอก พี่นอม แต่แม่พาทำก็ต้องทำ ทำไม่ได้แกก็ตีเอา ด่าเอา จิกใช้เอาจนได้ แม่ฉันใจดี แต่ปากจัด"
"ลูกเป็นสิบคน ไม่ปากจัดได้ไง แม่พี่ก็เหมือนกันแหละ ด่าเป็นทำนองเสนาะเลย มึง"
"แล้วนี่ลูกมึง มึงจะให้อยู่วัดไปอย่างนั้นอีกนานแค่ไหน" พอเอ่ยถึงเรื่องของแม่ ติ๋มก็นึกถึงเรื่องลูกของเรณูขึ้นมา
"รอให้พี่ใช้กลับมาก่อน ถ้าฉันไม่เล่า แม่เขาก็คงเล่า ถ้าเขาไม่ถือโทษโกรธเกลียดฉัน พอจังหวะดี ๆ ฉันจะไปรับมาอยู่ด้วย"
"แล้วถ้าไอ้ใช้มันโกรธเกลียดมึง จนขอเลิกกับมึงล่ะ" ติ๋มซัก
"พี่ก็รู้"
"เออ กูลืมไป แล้ว...ถ้าของมันเสื่อมล่ะ"
"ให้วันนั้นมาถึงก่อนแล้วค่อยว่ากัน"
"เรื่องลูกกับผัวเก่าก็ดี เรื่องที่มึงท้องแล้วแท้งไปก็ดี กูว่ามึงทำใจไว้บ้างเหอะ อีย้อยมันจะต้องหาเรื่องให้มึงกับไอ้ใช้เลิกกันจนได้แน่ ๆ ลูกมันยังหนุ่มยังแน่น ยังมีโอกาสใส่ตะกร้าล้างน้ำ"
"อีติ๋มมึงก็พูดอย่างกับว่าอีณูมันเป็นสิ่งสกปรกโสโครก" ประนอมขัด
"อีย้อยมันคิดอย่างนั้นแหละ เชื่อฉันสิ"
"ถ้าเลิกกันจริง ฉันก็พอมีลู่ทางของฉันแล้ว อยู่บ้านนี้ไม่ได้ ฉันก็หาเช่าบ้านคนอื่นอยู่ แล้วทำขนมขายไป หรือไม่ก็หาเซ้งร้านขายผ้า เอาอีวรรณามารับตัดผ้า เอาลูกมาอยู่เรียนหนังสือด้วยกัน"
"ก็เท่ากับว่ามึงแพ้" ติ๋มยิ้มเย็น
เรณูนิ่งคิด ติ๋มเห็นดังนั้นจึงบอกว่า
"อีณู มึงแพ้ไม่ได้นะ กูจะบอกอะไรให้ก็ได้ ฟังจากที่มึงเล่า มันก็สาแก่ใจกูอยู่นะ"
หัวคิ้วของเรณูขมวดเข้าหากัน
"ที่กูยอมให้ทองมึงมา มึงไม่คิดรึว่าจริง ๆ แล้วกูก็เสียดาย กว่าจะหามาได้ กูต้องไปนอนกับไอ้พวกนั้นกี่คนกี่ครั้ง"
"แล้วพี่ใจป้ำให้ฉันมาทำไม"
"กูรู้ไงว่าถ้ามึงทำสำเร็จ คนอย่างอีย้อยไม่มีความสุขแน่ ๆ จะว่ากูยืมมือมึงฆ่ามันทางอ้อมก็ได้"
"พี่ติ๋ม" เรณูไม่คิดว่าติ๋มจะคิดซับซ้อนถึงเพียงนี้
"เพราะฉะนั้น มีวิธีใดที่จะช่วยมึงให้สู้กับมันกูจะทำ เพราะกูเกลียดมัน กูอยากเห็นมันไม่มีความสุข อยากให้มันชิบหายวายป่วง อยากให้กรรมที่มันทำให้กูต้องเป็นคนบ้านแตกสาแหรกขาด ย้อนกลับมาหามันบ้าง"
"อีติ๋ม เวรระงับด้วยการไม่จองเวรนะ มึง" ประนอมที่นิ่งฟังอยู่ ขัดขึ้นมา
"พี่นอม ถึงฉันไม่จองเวรกับมัน เวรกรรมที่มันทำก็ต้องย้อนกลับมาทำมันเองแหละ พี่ พี่คิดดู ไอ้พวกเราก็อยู่ถึงตาคลี ทำไมไอ้ใช้ลูกมันถึงได้ตามไปเจอเราที่โน่นล่ะ ก็เพราะกรรมที่มันทำไว้ไง บันดาลชักนำมันไป ชักนำให้มันต้องเจอกับอีเรณู แล้วมันก็เป็นอย่างที่เห็น พี่ว่าฉันคิดถูกไหมล่ะ ว่าคนอย่างมันต้องเจอกับคนอย่างอีเรณู มันถึงจะสาสมกัน อีณูมึงจะยกธงขาวไม่ได้นะ"
เรณูที่นั่งขัดถาดขนมเหม่อลอย คิดถึงคำพูดของติ๋ม คิดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ร้อยรัดกันเข้ามาเป็นวงกลม ทำให้เธอเข้ามาอยู่ใน 'บ้าน' หลังนี้ หรือ 'กรง' เดียวกันกับนางย้อย แล้วถามตนเองว่าควรจะสู้ต่อไปหรือจะถอยดี เพราะถ้าสู้ต่อ ก็จะสู้เพื่อความรักของตน ไม่ใช่เพื่อความแค้นของพี่ติ๋ม การทำให้นางย้อยไม่มีความสุข มันก็เป็นผลพลอยได้เท่านั้น พี่ติ๋มจะบอกหรือไม่บอกความในใจ เธอก็จะต้องมีวิถีชีวิตของเธอแบบนี้
ล้างของเสร็จพอดีกับที่แว่วเสียงหวูดรถไฟ รถไฟขบวนนี้คงพาพี่ประนอมกับพี่ติ๋มกลับไปตาคลี คิดถึงตาคลีก็อดนึกถึงปฐมขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเขากลับมา เขาจะทำอย่างไรกับเรื่องที่เธอเคยมีลูกมาแล้ว!
********** พอกมลกับมงคลลงมาจากห้องนอน นางย้อยก็รีบบอกให้ทั้งสองคนช่วยกันเฝ้าร้าน กมลถามว่านางจะไปไหน นางย้อยก็บอกเพียงว่า "ไปธุระ"
ธุระของนางย้อยก็คือที่โรงสี เมื่อมีช่องทางที่จะเล่นงานเรณูให้กระเจิง นางย้อยตั้งใจไว้ว่าจะไม่อดทนรออะไรอีกแล้ว มันจะต้องแตกหักกันไปข้าง มันจะต้องไปจากชีวิตของปฐม นางย้อยตั้งใจไว้อย่างนั้น
เมื่อเห็นนางย้อยเดินกางร่มสีแดงสดเข้ามาหา เรณูที่กำลังนั่งปอกมะพร้าวไว้ทำขนม ละช่วงการฟันเปลือกมะพร้าวแล้วสูดลมหายใจเข้าปอดตั้งสติ เพราะเดาไม่ออกว่าแม่ผัวจะมาด้วยเรื่องอะไร
"อีเรณู ชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดกันว่า พอกูไม่อยู่ มึงก็พาเพื่อนกะหรี่ของมึงเข้ามามั่วสุมในบ้านของกู"
"ใครเพื่อนกะหรี่"
"อย่าทำเป็นไขสือหน่อยเลย คนเขาเห็นกันทั้งชุมแสง กูนี่หน้าชาไปหมด มึงหยามกูมากไปแล้ว ทำเหมือนบ้านของกูเป็นซ่องโสเภณี เห็นทีจะอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว"
เรณูถอนหายใจออกมาเบา ๆ นิ่งเงียบ ครุ่นคิดหาทางต่อกรกับเรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่องครั้งนี้
"อ้าว...เงียบ ทำไมไม่เถียง"
"เถียงไปก็หาว่าหนูแก้ตัว ใช่ไหมล่ะ"
"เก็บของของมึงออกจากบ้านกูไปซะ จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป"
"หนูไม่ไป หนูจะอยู่รอผัวหนูที่นี่"
"ไม่ต้องรอมันหรอก มันกลับมาไม่เจอมึง เดี๋ยวกูก็หาเมียใหม่ให้มันได้ หาได้สวยกว่ามึงดีกว่ามึงเป็นร้อยเท่าพันเท่า"
"แล้ว...ถ้าเขาไม่กลับมาล่ะจ๊ะ"
"มึงหมายความว่าไง"
"แม่ก็น่าจะเคยได้ยินที่เขาว่ากันว่า ความรักมันทำให้คนตาบอด หูหนวก และโง่เป็นควายมาบ้างใช่ไหม"
"แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่มันจะกลับหรือไม่กลับ"
"ก็เพราะเขารักหนูไง เขารักหนู หนูอยู่ที่ไหนเขาก็อยู่ที่นั่นแหละ"
"มึงพูดแบบนี้ มึงหมายความว่าไง"
"ถ้าเขาไม่รักหนู เขาไม่พาหนูมาถึงที่นี่หรอก แม่ ใช่ไหมล่ะ เอาซี หนูขนของกลับไปก็ได้ แต่หนูบอกไว้เลยว่า แม่จะไม่ได้เห็นเขาอีกแม้แต่เงา"
"มึงขู่กู"
"ถ้าคิดว่าขู่ก็ขู่ และคนอย่างอีเรณูทำได้จริงด้วย" ดวงตาของเรณูแข็งกร้าวขึ้นมา หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน
"มึงทำอะไรลูกกู"
"ไม่ได้ทำอะไร ถ้าทำก็คงเป็นปรนนิบัติ ปรนเปรอ เอาใจ ถึงจิตถึงใจ ถึงพริกถึงขิง ตามประสาไก่แก่แม่ปลาช่อน"
"อี้...กูแขยงมึงจริง ๆ มึงมันเลวจนกูไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบ ไม่รู้จะด่าอย่างไรถึงจะถึงซังของมึง"
"คนอย่างหนูด่าไม่เจ็บหรอก แม่ เพราะชีวิตนี้โดนด่ามาเยอะแล้ว ถ้าด่าแล้วเจ็บ แล้วตาย หนูตายไปนานแล้ว เพราะฉะนั้น ต่างคนต่างอยู่เถอะ หนูอยู่ในที่ของหนู แม่ก็อยู่ในที่ของแม่ไป"
"แต่ที่นี่มันที่ของกู มึงไม่ต้องสะเออะมาบอกกูหรอก"
"หนูรู้ว่าหนูมาอาศัยใบบุญของแม่อยู่ แต่แม่อย่าลืมว่าหนูก็ขึ้นชื่อว่าเป็นลูกสะใภ้แม่คนหนึ่งเหมือนกัน เอาซี อยากเห็นหนูทำอะไรให้คนชุมแสงมองแม่ว่าเลวร้ายอีกไหมล่ะ หนูทำได้นะ"
"มึงจะทำอะไร"
เรณูเชิดหน้าขึ้น พอดีกับที่เจ๊กเซ้งที่อยู่ที่เล้าหมูได้ยินเสียงเอะอะ แกก็รีบเดินมา พอมาถึงแกก็บอกว่า
"อาย้อย ลื้อจะมาหาเรื่องอีทำไมกัน ปล่อยให้อีอยู่ของอีไป ต่างคนต่างอยู่เถอะ ฟังอั๊วบ้าง"
"ฉันไม่ฟัง ฉันจะเอามันออกจากบ้านเราให้ได้"
"อีมีความผิดอะไร"
"ใช่ เตี่ย หนูมีความผิดอะไร แค่เพื่อนหนูมาเที่ยวหา แม่เขาก็หาว่าเพื่อนหนูเป็นกะหรี่"
"แล้วเป็นรึเปล่าล่ะ"
"หนูถามแม่หน่อยเถอะ กะหรี่ในสารบบความคิดของแม่น่ะ ต้องเป็นผู้หญิงที่เขียนคิ้วแต่งหน้าทาปากแดงใช่ไหม ถ้าใช่ หนูจะได้ไปบอกกับคนพวกนี้ว่า แต่งหน้าแต่งตัวแบบนี้ แม่ผัวหนูเขามองว่าเป็นกะหรี่"
"อีเรณู" นางย้อยกัดฟันกรอด ดวงตาวาวโรจน์ ส่วนเรณูผินหน้ามาหา ยิ้มแล้วเชิดหน้าขึ้นอย่างท้าทาย ใจนั้นสรุปได้แล้วว่า จะเดินหน้า 'เล่น' กับมันอย่างไรถึงจะ 'เลว' ได้สาสมกับที่มันต้องการให้ 'เลว'
***************************************
|
|
« Last Edit: 15 March 2020, 17:21:37 by นักประพันธ์ »
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #12 on: 01 March 2020, 16:15:55 » |
|
ตอนที่ 13 : เราไม่ได้ทำอะไรมัน
๑๓
พอกมลกับมงคลลงมาจากห้องนอน...นางย้อยก็รีบบอกให้ทั้งสองคนช่วยกันเฝ้าร้าน กมลถามว่านางจะไปไหน นางย้อยก็บอกเพียงว่า “ไปธุระ” ธุระของนางย้อยก็คือที่โรงสี...เมื่อมีช่องทางที่จะเล่นงานเรณูให้กระเจิง นางย้อยตั้งใจไว้ว่า จะไม่อดทนรออะไรอีกแล้ว...มันจะต้องแตกหักกันไปข้าง มันจะต้องไปจากชีวิตของปฐม...นางย้อยตั้งใจไว้อย่างนั้น
เมื่อเห็นนางย้อยเดินกางร่มสีแดงสดเข้ามาหา...เรณูที่กำลังนั่งปอกมะพร้าวไว้ทำขนม ละช่วงการฟันเปลือกมะพร้าวแล้วสูดลมหายใจเข้าปอด ตั้งสติ...เพราะเดาไม่ออกว่านางจะมาด้วยเรื่องอะไร...
“อีเรณู...ชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดกันว่า พอกูไม่อยู่ มึงก็พาเพื่อนกะหรี่ของมึงเข้ามามั่วสุมในบ้านของกู...”
“ใครเพื่อนกะหรี่”
“อย่าทำเป็นไขสือหน่อยเลย คนเขาเห็นกันทั้งชุมแสง กูนี่หน้าชาไปหมด มึงหยามกูมากไปแล้ว ทำเหมือนบ้านของกูเป็นซ่องโสเภณี เห็นทีจะอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว”
เรณูถอนหายใจออกมาเบา ๆ นิ่งเงียบ ครุ่นคิดหาทางต่อกรกับเรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่องครั้งนี้
“อ้าว เงียบ ทำไมไม่เถียง”
“เถียงไป ก็หาว่าฉันแก้ตัว ใช่ไหมล่ะ”
“เก็บของของมึงออกจากบ้านกูไปซะ จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป”
“ฉันไม่ไป ฉันจะอยู่รอผัวฉันที่นี่”
“ไม่ต้องรอมันหรอก มันกลับมาไม่เจอมึง เดี๋ยวกูก็หาเมียใหม่ให้มันได้ หาได้สวยกว่ามึง ดีกว่ามึงเป็นร้อยเท่าพันเท่า”
“แล้ว ถ้าเขาไม่กลับมาล่ะจ้ะ...”
“มึงหมายความว่าไง”
“แม่ก็น่าจะเคยได้ยินที่เขาว่ากันว่า ความรักมันทำให้คนตาบอด หูหนวก และโง่เป็นควายมาบ้างใช่ไหม”
“แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่มันจะกลับหรือไม่กลับ”
“ก็เพราะเขารักหนูไง เขารักหนู หนูอยู่ที่ไหน เขาก็อยู่ที่นั่นแหละ”
“มึงพูดแบบนี้ มึงหมายความว่าไง”
“ถ้าเขาไม่รักหนู เขาไม่พาหนูมาถึงที่นี่หรอกแม่ ใช่ไหมล่ะ...เอาซี่ หนูขนของกลับไปก็ได้ แต่หนูบอกไว้เลยว่า แม่จะไม่ได้เห็นเขาอีก...แม้แต่เงา”
“มึงขู่กู”
“ถ้าคิดว่าขู่ก็ขู่ และคนอย่างอีเรณู ทำได้จริงด้วย...” ดวงตาของเรณูแข็งกร้าวขึ้นมา หัวคิ้วของนางย้อยขมวดเข้าหากัน
“มึงทำอะไรลูกกู”
“ไม่ได้ทำอะไร...ถ้าทำ ก็คงเป็นปรนนิบัติ ปรนเปรอ เอาใจ ถึงจิต ถึงใจ ถึงพริก ถึงขิง ตามประสาไก่แก่แม่ปลาช่อน”
“อี้ กูแขยงมึงจริง ๆ มึงมันเลวจนกูไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบ ไม่รู้จะด่าอย่างไรถึงจะถึงซังของมึง...”
“คนอย่างหนู ด่าไม่เจ็บหรอกแม่...เพราะชีวิตนี้ โดนด่ามาเยอะแล้ว ถ้าด่าแล้วเจ็บ แล้วตาย หนูตายไปนานแล้ว เพราะฉะนั้น ต่างคนต่างอยู่เถอะ...หนูอยู่ในที่ของหนู แม่ก็อยู่ในที่ของแม่ไป...”
“แต่ที่นี่มันที่ของกู มึงไม่ต้องสะเออะมาบอกกูหรอก”
“หนูรู้ว่าหนูมาอาศัยใบบุญของแม่อยู่ แต่แม่อย่าลืมว่าหนูก็ขึ้นชื่อว่าเป็นลูกสะใภ้แม่คนหนึ่งเหมือนกัน เอาซี่ อยากเห็นหนูทำอะไรให้คนชุมแสงมองแม่ว่าเลวร้ายอีกไหมล่ะ หนูทำได้นะ”
“มึงจะทำอะไร” เรณูเชิดหน้าขึ้น พอดีกับที่เจ๊กเซ้งที่อยู่ที่เล้าหมูได้ยินเสียงเอะอะ แกก็รีบเดินมา พอมาถึงแกก็บอกว่า
“อาย้อย ลื้อจะมาหาเรื่องอีทำไมกัน...ปล่อยให้อีอยู่ของอีไป ต่างคนต่างอยู่เถอะ ฟังอั๊วบ้าง”
“อั๊วไม่ฟัง อั๊วจะเอามันออกจากบ้านเราให้ได้”
“อีมีความผิดอะไร”
“ใช่เตี่ย หนูมีความผิดอะไร แค่เพื่อนหนูมาเที่ยวหา แม่เขาก็หาว่าเพื่อนหนูเป็นกะหรี่”
“แล้วเป็นรึเปล่าล่ะ”
“หนูถามแม่หน่อยเถอะ กะหรี่ในสารบบความคิดของแม่น่ะ ต้องเป็นผู้หญิงที่เขียนคิ้วแต่งหน้าทาปากแดงใช่ไหม ถ้าใช่ ...หนูจะได้ไปบอกกับคนพวกนี้ว่า แต่งหน้าแต่งตัวแบบนี้ แม่ผัวหนูเขามองว่าเป็นกะหรี่”
“อีเรณู” นางย้อยกัดฟันกรอด ดวงตาวาวโรจน์...ส่วนเรณูผินหน้ามาหายิ้มแล้วเชิดหน้าขึ้นอย่างท้าทาย...ใจนั้นสรุปได้แล้วว่า จะเดินหน้า ‘เล่น’ กับมันอย่างไร ถึงจะ ‘เลว’ ได้สาสมกับที่มันต้องการให้ ‘เลว’....
*(เริ่มตอนที่ 13)
“จ๋า แม่...” เรณูที่นั่งให้นางย้อยยืนค้ำหัวอยู่ที่เดิม ยิ้มเย็น ดวงตานั้น เต้นหลุกหลิกอย่างคนที่อวดดื้อถือดี ยั่วอารมณ์นางย้อยมากขึ้น...
“เฮียดูมัน ดูหน้าตามัน มันวอนมือวอนตีนอั๊วแค่ไหน”
“ก็ลื้อมาด่าอีก่อน”
“เฮียเข้าข้างมันเหรอ...เข้าข้างมันใช่ไหม” นางย้อยหันไปขึ้นเสียงกับเจ๊กเซ้ง
“ไม่ใช่...อั๊วก็ว่าไปตามที่อั๊วเห็น...อาย้อย อั๊วบอกลื้อแล้วว่า เราอย่าใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มันยุ่งยากลำบากนักเลย ลื้อฟังอั๊วบ้าง”
“แต่อั๊วเกลียดมัน! อั๊วเกลียดมัน!” ความคับแค้นใจ อยากเอาชนะ ทำให้น้ำตาไหลนางย้อยไหลออกมา โดยลืมไปว่า ตอนนี้ยืนอยู่ตรงหน้า ‘ศัตรู’
“แต่อีเป็นลูกสะใภ้เราไปแล้ว...แล้วอีก็ไม่ได้ชั่วช้าเลวทรามอย่างที่ลื้อเข้าใจ ลื้อเห็นไหมว่า อีเป็นคนอย่างไร บ้านช่องห้องหับ อาหารการกิน อีทำได้ดีเยี่ยม ลื้อเปิดใจยอมรับอีบ้าง”
“ไม่...อั๊วจะไม่มีญาติดีกับมัน...มันหลอกลูกอั๊ว มันคิดเข้าบ้านแบ้เพื่อมากอบโกย...มันคิดว่าพวกเราโง่ รู้ไม่ทันมัน”
“หนูเข้ามาเพราะความรักจ้ะแม่” เรณูเสียงเย็นลง
“กูไม่มีวันเชื่อ...คนสิ้นไร้ไม้ตอกอย่างมึง รักใครไม่เป็นหรอก มึงรักตี๋ใหญ่ เพราะมันเป็นลูกกู เพราะมันมีเงิน แต่มึงอย่าหวังเลยว่า มึงจะได้เงินจากกูไป...มึงอย่าหวัง...”
“หนูสาบานได้ ว่าก่อนหน้านั้น หนูไม่เคยคิดอยากได้เงินทองของแม่...ของเตี่ย หรือของพี่ใช้...เตี่ย ก็เห็น แม่ก็เห็นว่า หนูมีหนทางเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของหนูได้...”
“แล้วทำไมมึงถึงไม่เอาอาชีพนี้ หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องมึงซะก่อนหน้านั้นละ”
“ชีวิตคนเรามันเลือกเกิดไม่ได้นี่แม่ แล้วตอนนั้นฉันก็ยังเด็ก ยังโง่ ยังไม่ประสีประสา ยังคิดอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้ ฉันรู้แล้วว่า ฉันก็เป็นคน และฉันจะต้องอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง...”
นางย้อยนิ่งอึ้ง...
“แม่ ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากเป็นกะหรี่หรอกนะ...ไม่มีหรอก” พูดไปแล้ว ความคับแค้นใจก็ทำให้เรณูถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวเหมือนกัน หญิงสาวซบหน้าลงกับเข่าแล้วร้องไห้สะอึกสะอื้น อาการนั้นเหมือนเป็นการยอมรับแล้วว่า ‘เคย’ เป็นกะหรี่อย่างที่นางย้อยว่าไว้จริง ๆ...
เมื่อเห็นอาการของเรณูเป็นดังนั้น แม้จะรู้สึกเห็นใจ แต่นางย้อยก็รู้สึกสาแก่ใจ ที่สุดท้ายเรณูก็พลาดจนได้...
“เห็นไหมล่ะ เฮีย มันยอมรับแล้วว่า มันเคยเป็นกะหรี่มาก่อน เพราะฉะนั้น มันไม่คู่ควรกับลูกของเราเลยสักนิด”
“หนูยอมรับตรงไหน” เรณูเงยหน้ามาเถียงทั้งที่น้ำตายังกลบเปลือกตา
“ก็ตะกี้นี้เอง มึงพูดออกมา”
“เตี่ยได้ยินอย่างนั้นรึเปล่า” เรณูหาพวก...
“อาย้อย...ลื้อ อย่าไปบีบบังคับให้อีต้องยอมรับเลย เรื่องมันแล้วไปแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะขุดคุ้ยขึ้นมาอีกแล้ว”
“อยากรู้นักว่า เรื่องที่มันเคยมีลูกมาแล้ว ตี๋ใหญ่มันรู้เรื่องหรือเปล่า...แล้วเรื่องที่มันอ้างว่าท้องสองเดือนก่อนจะแท้งไปนะ เรื่องหลอกลวงด้วยรึเปล่า” นางย้อยวกกลับไปหาเรื่องที่ยังคาใจ เรณูเชิดหน้าขึ้น...แล้วสายตาของเรณูก็เห็นว่า ที่ทางเดินมายังกระท่อมของตน ประสงค์กับพิไลกำลังพากันเดินมา...
เรณูได้จังหวะ หลบฉาก...
“แม่ เตี่ย อาตงกับเมียเขามาน่ะ”
นางย้อยหันไปทางด้านหลังทันที...เรณูเห็นดังนั้นจึงรีบลุกขึ้น แล้วเดินไปทางห้องส้วมที่อยู่หลังบ้านเพิงหมาแหงนของตน... โดยใจก็คิดว่า ไม่ได้หนี แต่บางที ก็ต้องตั้งหลักเรียกสติกันก่อน...
******************************
ประสงค์กับพิไลเดินมาถึงและเห็น ได้ยินตั้งแต่ตอนที่เรณูก้มหน้าซบเข่าแล้วร้องไห้...ทั้งคู่หยุดชะงักฟังความ เมื่อเห็นว่า เรื่องจะเลยเถิดไปกันใหญ่ ประสงค์จึงเดินนำพิไลเข้ามาเพื่อหวังสงบศึก...และเขาก็ไม่คิดว่าเรณูจะไหวตัวโดยการเดินเลี่ยงไปเข้าห้องส้วม...พอแม่ของเขาหันกลับไปมอง เห็นว่าเรณูลุกหนีไปแล้ว ก็ได้แต่เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน...
“มาทำอะไรที่นี่รึม้า” ประสงค์พยายามเอาน้ำเย็นเข้าลูบเหมือนเดิม
นางย้อยเชิดหน้าขึ้น สูดลมหายใจเข้าปอด ก่อนจะพยายามฝืนน้ำเสียงให้เป็นปกติว่า “มีเรื่องคุยกับอีเรณูมันนิดหน่อย...ลื้อล่ะ พากันมาทำอะไรที่นี่”
“หนูอยากเห็นโรงสีน่ะม้า ก็เลยให้เฮียพามา...” อยากรู้ อยากเห็น จะได้ประเมิน ประมาณได้ว่า ถ้าปล่อยทางนี้ให้ลูกคนอื่น ๆ ไป มันจะคุ้มกับที่จะได้ร้านโชห่วยมาหรือไม่ นั่นคือความในใจแท้จริงของพิไล...
“เล็กนิดเดียว สู้ของเตี่ยเธอไม่ได้หรอก”
“เล็กก็ใหญ่ได้จ้ะม้า...แต่หนูว่าไม่เล็กเลยนะ ที่ดินเยอะแยะเลย มีทั้งเล้าหมู เล้าไก่ ยุ้งข้าวก็หลายหลัง สวนด้านหลังอีก...แล้วตรงนี้นี่ใครทำอะไร” พิไลหมายถึงกระท่อมที่นางย้อยกับเจ๊กเซ้งยืนกันอยู่
“ที่ทำขนมของ...แม่เรณูเขาน่ะ” แม้จะเกลียดชัง แต่นางย้อยก็ได้สติว่า อย่างไรเรณูก็เป็นเมียของปฐมที่พิไลควรจะนับถือ...ถ้าส่งเสริมให้พิไลปีนเกลียวคู่สะใภ้เสียแล้ว นางย้อยก็ไม่มั่นใจนักว่าจะมีประโยชน์อะไรกับตนหรือเปล่า สู้ดูพฤติกรรมของพิไลไปก่อนดีกว่า แต่ท่าทางที่กวาดตามองไปรอบ ๆ บริเวณนี้ นางย้อยก็พออ่านออกหรอกว่า ให้ผัวพามาสำรวจตรวจตราทรัพย์สินของนาง... คนเค็ม คนงก อย่างไรมันก็ต้องนึกถึง เงินทอง สมบัติ เป็นที่ตั้งไว้ก่อนคิดถึงกาลควรไม่ควร
“อาซ้อเขาไปไหนเสียล่ะ ยังไม่ได้เจอกันเลย...”
ตอนที่เรณู เรียกนางว่า “แม่” นางย้อยก็ไม่ได้ห้ามปรามอีก เพราะรู้ว่าเรณูจงใจทำให้ตนนั้น ‘พื้นเสีย’ แต่ครั้น ได้ยินพิไลให้ความเคารพยกย่องเรณูตาม
ฐานะ นางย้อยก็ไม่อยากได้ยินอีก...
“ไปห้องส้วมแล้ว อีปวดท้อง” เจ๊กเซ้งรีบบอกแทนนางย้อยที่นิ่งเงียบเหมือนกำลังข่มอารมณ์ให้เย็นลง
“ตง ลื้อก็พานังหนูเดินเล่นดูอะไรไปก่อนนะ เตี่ยมีงาน เตี่ยขอตัวก่อน” ว่าแล้วเจ๊กเซ้งก็ผละไป...
“แล้วนี่จะไปไหนกันต่อหรือเปล่า” พอเจ๊กเซ้งผละไป นางย้อยก็ต้องข่มใจคุยกับลูกชายและลูกสะใภ้
“นอกจากที่นี่แล้ว ก็ว่าจะพาพิไลเดินดูตลาด แล้วจะไปศาลเจ้าน่ะม้า...”
“ก็ดี...เจอใครที่ไม่ได้ไปงานแต่งเรา ก็แนะนำพิไลให้รู้จักพวกเขาด้วยแล้วกัน มาอยู่ใหม่ ๆ อ่อนน้อมถ่อมตนไว้ก่อน อย่าให้ใครเอาไปพูดได้ว่า เป็นคนมือไม้แข็ง...”
คำสอนเหมือนคำสบประมาท ว่าอย่าเป็นคนไม่มีสกุล พ่อแม่ไม่สั่งไม่สอน ทำให้พิไลคอแข็งขึ้นมา แต่พิไลก็พยายามปรับเสียงให้เป็นปกติแล้วตอบไปว่า
“จ้ะ เรื่องนี้ ม้าไม่ต้องห่วงหนูหรอก”
“งั้นก็พากันเดินดูอะไรไปนะ ม้ากลับร้านก่อน...” ว่าแล้วนางย้อยก็กางร่มแล้วเดินจากไป...พิไลเงยหน้ามองประสงค์แล้วบอกว่า
“ฉันอยากไปดูเล้าหมู เฮียพาไปหน่อยซิ”
“แต่มันสกปรกเลอะเทอะ”
“สกปรกก็ต้องดู ฉันจะได้รู้ว่า บ้านเฮียทำอะไรกันบ้าง...”
*********************
พอเห็นจำนวนหมู จำนวนเป็ด และไก่ ที่เลี้ยงไว้เก็บไข่ขายทุกวัน กับเลี้ยงไว้ส่งเชือดช่วงเทศกาลตรุษจีน พิไลก็คำนวณรายได้ของที่นี่ไว้ในใจ ไหนจะของในสวน จำพวกกล้วย มะพร้าว และพืชผักผลไม้อื่น ๆ ที่ขึ้นเป็นดงใหญ่อยู่ด้านหลัง...
และถ้าทายไม่ผิด มะพร้าวที่แม่เรณูเอามาทำขนม ก็คงเป็นมะพร้าวจากสวนหลังบ้านนี่แหละ ทั้งใบตอง ใบเตย ทั้งฟืนทำขนม ไม่ต้องไปซื้อไปหาแบบนี้ ได้กำไรไปเต็ม ๆ...
พอเดินออกมาจากสวน พิไลก็ให้ประสงค์พาไปทำความรู้จักกับเรณูที่กำลังขูดมะพร้าวอยู่บนแคร่
“ซ้อ...นี่พิไลเมียผม”
เรณูหันมามอง ยิ้มให้...พิไลยิ้มตอบ ไม่ยกมือไหว้...ซึ่งเรณูก็พอเดาออกอยู่แล้ว จึงไม่ได้คิดจะละจากกะลามะพร้าวในมือรอรับไหว้แต่อย่างใด...
“เดินไปไหนกันมาล่ะ” เรณูเอ่ยถาม
“พิไลเขาอยากเห็นสวน”
“ที่ทับกฤชไม่มีรึไง...” เรณูเริ่มลองหยั่ง...ด้วยสีหน้ายิ้ม ๆ
“ไม่มีหรอก มีแต่โรงสี...แล้วนี่ซ้อทำขนมอะไร”
“ขนมชั้น”
“วันนี้กินตะโก้เผือกแล้วอร่อยมาก พรุ่งนี้ จะออกไปอุดหนุนนะซ้อ”
“เอากี่ห่อล่ะ จะได้เก็บไว้ให้”
“ห่อละแค่สลึงเดียว เอากี่ห่อดีเฮีย...” พิไลอยากให้ประสงค์มีส่วนร่วมด้วย...
“แล้วแต่ซิ...เฮียไม่ค่อยชอบกินขนมหวานน่ะ...”
“งั้น เอาแค่สี่ห่อแล้วกัน...จะเอาเงินไว้ก่อนก็ได้นะซ้อ”
“หมูไปไก่มา ยื่นหมูยื่นแมวดีกว่า...” เรณูยิ้ม แล้วหันไปขูดมะพร้าวต่อ...
“ถ้าว่าง ๆ ฉันมาเรียนทำขนมกับซ้อได้ไหม หวงวิชาหรือเปล่า”
“จะเรียนไปทำไมกัน อยากกินก็ซื้อกินเอาดีกว่า ห่อละไม่กี่สตางค์หรอก อย่ามาเสียเวลานั่งหลังขดหลังแข็งเลย”
“ก็ทำพอแค่ทำเป็น มีความรู้ติดตัวไว้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี”
“ถ้าไม่คิดจะทำขายแข่ง ก็จะสอนให้ แต่บอกไว้ก่อนนะว่าทำขนมมันไม่ง่ายหรอกนะ...ต้องอดทน แล้วก็ต้องเป็นคนใจเย็นด้วย...”
“เรื่องนั้นไม่มีปัญหาหรอกซ้อ ขอให้ซ้อ สอนเถอะ ฉันพร้อมจะเรียน”
“งั้นวันนี้ก็เริ่มจาก ขูดมะพร้าว ก่อนเลยดีไหม ขูดมะพร้าวนี่มันก็ไม่ง่ายนะ ขูดแรงไปก็คั้นน้ำไม่ออก...”
พิไลมองมะพร้าวที่ผ่าแล้วในกะละมังเคลือบสีขาวแล้วรู้สึกว่ามันมากไป...หญิงสาวจึงบอกว่า
“วันนี้เห็นทีจะยังเรียนไม่ได้หรอก เฮียจะพาไปเดินดูตลาด แล้วก็พาไปทำความรู้จักกับคนที่ตลาดที่ไม่ได้ไปงานแต่งเรา...ใช่ไหมเฮีย”
**************************
ระหว่างที่เดินกลับมาที่ร้าน หัวสมองของนางย้อยยังครุ่นคิดถึงคำพูดของเรณูที่มั่นใจซะเหลือเกินว่าปฐมนั้นหลงใหลไชชอนตน และจะต้องเชื่อฟังมันจนไม่สนใจเสียงของแม่บังเกิดเกล้า...
‘หลงใหล’ จนหน้ามืดตามัว หูหนวกตาบอด โง่เป็นควาย ใครจะจูงไปทางไหนก็ได้...
อาการแบบนี้ มันเป็นอาการของคน ‘โดนเสน่ห์’
รึว่า อีเรณูมันทำเสน่ห์ใส่...ตี๋ใหญ่ถึงได้เปลี่ยนไปอย่างกับคนละคน...
หน้าดำคร่ำเครียด...หน้าหมองคล้ำ เวลาพูดด้วยก็ไม่ยอมสบตา ขาดความมั่นใจในตัวเอง ผิดปฐมคนเดิม...มันจะต้องใช่แน่ ๆ....
นางย้อยกัดฟันกรอด...แม้ว่าวันนี้ ‘เหตุ’ จะยังไม่ชัด แต่มันก็เริ่มเห็นเค้ารางแล้วว่า ทำไมตี๋ใหญ่ถึงได้กล้าคว้าเอามันมาอยู่ด้วยที่ชุมแสง โดยไม่สนใจความรู้สึกของพ่อแม่ น้อง ๆ และเสียงติฉินนินทาของชาวบ้าน...ทิ้งโอกาสดี ๆ ทิ้งอาหารเลิศรส ลดตัวกินของโสมมได้ ก็เพราะมันมีเบื้องหลังอย่างนี้…มันจะต้องเกิดด้วยเหตุอย่างนี้ แน่ ๆ
วันนี้ แม้จะเอามันออกไปจากบ้านไม่ได้ แต่นางย้อยก็เชื่อมั่นว่า กดดันมันมาก ๆ สุดท้าย คนสารเลวอย่างมันจะต้องไปจากที่นี่ ‘จนได้’
“ม้า ไปไหนมา...หน้าตาบึ้งตึงเชียว...” พอเห็นแม่ส่งร่มให้บุญปลูกหุบและเดินเข้ามาในร้าน กมลก็ร้องถามด้วยน้ำเสียงสนุก ๆ...แต่ว่านางย้อยก็ยังยืนหอบ สีหน้าเคร่งเครียด ไม่ตอบคำถามของลูกชายในทันที...
กมลแม้จะไม่ใช่คนอ่านหนังสือ แต่เขาก็เป็นคนชอบดูหนัง ฟังเพลง ชอบร้อง ชอบรำ ชอบสมาคม เป็นคนที่สุนทรียภาพทางอารมณ์สูง เขาจึงไวต่อความรู้สึกของคนรอบ ๆ ตัว...
“ผม เดาว่าไปโรงสีมาใช่ไหม...”
“อาซา ต่อไป มึงอย่าไปญาติดีกับมันอีก เพราะมึง เพราะเตี่ยมึง ถือหางมัน มันถึงได้เหลิงอยู่อย่างนี้”
“ไปหาเรื่องอะไรเขามาอีกละม้า”
“นี่มึงว่าแม่มึงเป็นคนพาลงั้นรึ”
“ม้าก็... มานั่ง มา ยืนแล้วเมื่อย” ว่าแล้วเขาก็ลุกขึ้นมาประคองแม่ให้เข้าไปนั่งแทนที่ตนเอง...พอแม่นั่งลงแล้ว เขาก็ถามว่า “เล่ามา อยากรู้”
“เรื่องเพื่อนกะหรี่ของมัน...แต่ตีมันไม่แตก เตี่ยมึงช่วยรับหน้าไว้ เห็นแก่เตี่ยมึงหรอก ถึงยังต้องปล่อยให้มันลอยหน้าต่อไป...”
พอได้ยินดังนั้น กมลก็ส่ายหน้าเบา ๆ
“ไอ้ซา นี่ไอ้สี่มันหายหัวไปไหน”
“เอากล้องไปร้านถ่ายรูป มันว่าจะเอาฟิล์มไปล้างไปอัดภาพอะไรของมันน่ะ...”
“ไอ้ลูกคนนี้มีแต่เรื่องใช้เงิน”
“ก็รูปงานแต่งเฮียตง ล้าง ๆ อัด ๆ มาซะ จะได้ดูกันเลย...ไม่ต้องรอให้มันเอาไปทำที่ปากน้ำโพ มันว่าอย่างนั้น”
“ไอ้ซา...แม่มีเรื่องสงสัยอีกเรื่อง...” พูดไปแล้วนางย้อยก็มองไปหาบุญปลูก และ ป้อม ที่นั่งอยู่หน้าร้าน...เห็นว่าไม่ได้ยินกันแน่ นางย้อยจึงบอกว่า
“มึงว่าตั่วเฮียของมึงเปลี่ยนไปมากไหม...”
“เปลี่ยนอย่างไรละม้า”
“ม้าว่ามันเหมือนคนโดนของ”
“อะไรนะม้า” กมลไม่อยากจะเชื่อหูตัวเองเหมือนกัน
“ม้าว่า มันกลับมาคราวนี้ มันเหมือนคนโดนของ แล้วคนที่ทำของใส่มัน ก็ไม่ใช่ใครหรอก อีเรณูนั่นแหละ...”
กมลเป่าลมออกจากปากทันที...ตามความคิดของเขา ถามว่าเป็นไปได้ไหม มันก็เป็นไปได้...ความรัก มันสามารถทำให้คนหน้ามืดตามัวเห็นผิดเป็นชอบและทำอะไรโง่ ๆ ได้...
“รู้อย่างนี้แล้ว มึงยังจะปกป้องมันอีกไหม...ที่ตั่วเฮียห่วงใยมัน ฝากฝังมันไว้กับมึง มันไม่ได้เกิดจากความรักแต่อย่างใด...มันเกิดจากฤทธิ์เสน่ห์ยาแฝด...”
“แต่เราก็ไม่มีหลักฐาน หาข้อพิสูจน์ไม่ได้นะม้า...” แม้จะคล้อยตาม แต่กมลก็ยังไม่ปักใจเชื่อ...
“รึมึงกับเตี่ยมึงโดนของมันไปด้วย...เข้าข้างมันตะพึด”
“ของเขิงอะไรล่ะม้า...”
“ก็กินขนมมัน กับข้าวที่มันทำให้กินตอนกลางวัน กูอยู่ทางนี้ อย่าคิดนะว่ากูไม่รู้ไม่เห็นทางโน้น...”
“คนเขามีน้ำใจ ก็กินรักษาน้ำใจกันไปม้า...”
นางย้อยส่ายหน้าระอา... แล้วบอกว่า “กูจะต้องหาคนยืนยันให้ได้ว่ามันทำหรือไม่ทำ และจะต้องแก้ไขให้ได้ด้วย...”
“ม้าจะทำอย่างไร”
“ม้ารู้ว่าใครจะช่วยเราได้...เอ็งเฝ้าร้านต่อ...ม้าจะไปธุระ”
“แต่ผมยังไม่ได้กินข้าวกลางวันเลยนะม้า ม้าเฝ้าร้านแป๊บนึงก่อน ขอกินข้าว เข้าส้วมบ้าง”
“งั้นรีบไป...”
“ออกไปกินผัดไทยนะม้า เบื่อจะกินข้าว”
“แล้วข้าวที่กูหุงหาไว้ล่ะ...”
“เดี๋ยวกลับมากินอีกรอบก็ได้ม้า เคยเหลือทิ้งรึ” ว่าแล้วกมลก็เดินมาเปิดเก๊ะแล้วคว้าเหรียญออกไป...โดยนางย้อยตะโกนตามหลังให้เขาซื้อโอยัวะมาให้ด้วย...
************
พอกมลเดินไปแล้ว ป้อมที่จด ๆ จ้อง ๆ หาโอกาสอยู่ ก็เดินเข้ามา...
“เถ้าแก่เนี้ย เรื่องที่ให้ผมไปสืบ ได้เรื่องมาแล้วนะ” เมื่อวันแต่งงานของประสงค์ นางย้อยปิดร้าน บุญปลูกไปร่วมงาน ส่วนป้อม นางย้อยให้ไปดงขุย ถิ่นที่อยู่ของนางแตงอ่อน...อดีตเจ้าของไร่เจ้าของนา ที่นางย้อยยึดมาเป็นของตน...
ก็จะไม่ให้ยึดอย่างไรเล่า ติดการพนันทั้งผัวทั้งเมีย เอาที่มาจำนองแล้วก็ตามมาขอเงินเพิ่มครั้งแล้วครั้งเล่า จนเงินที่เอาไปรวมดอกเบี้ยเท่ากับราคาที่ดิน นางย้อยจึงถือสัญญาพาตำรวจไปยึด
ตอนนั้นนางแตงอ่อน ด่านางย้อยเสียยกใหญ่ หาว่า นางขี้โกง เปลี่ยนแปลงตัวเลขในสัญญาบ้างละ คิดดอกเบี้ยโหดบ้างละ แต่นางย้อยหาได้สนใจ เพราะ ‘ค้าเงิน’ กับคนพวกนี้มามาก แล้วนางย้อยก็สรุปอยู่ในใจว่า คนบางคนไม่ได้ยากจนอย่างเดียว ต้องมีความตอแหลอยู่ในตัวด้วย โดยเฉพาะนางแตงอ่อน ที่ด่าประจานนางย้อยจนเหนื่อย เห็นว่านางย้อยไม่ใจอ่อน ก็เปลี่ยนมาเป็นร้องไห้อ้อนวอนขอความเห็นใจ ขอที่ดินขอบ้านอยู่อาศัยทำมาหากินต่อ โดยจะจ่ายค่าเช่าให้เป็นรายปี
นางย้อยเห็นว่า คนเราเมื่อผีพนันเข้าสิงเสียแล้ว มันไม่มีทางกลับตัวกลับใจได้ จึงไม่ยินยอม นางแตงอ่อนต้องเก็บของออกจากบ้านพร้อมก่นด่าและแช่งชักหักกระดูกนางกับเจ๊กเซ้งอย่างไม่มีชิ้นดี ผิดกับตอนมาอ้อนวอนกราบกรานขอเป็น ‘ลูกหนี้’...
‘อีย้อย ไอ้เซ้ง อีคนฉิบหาย ไอ้คนจัญไร พวกมึงตัดแข้งตัดขาไม่ให้กูมีที่ทางทำมาหากิน ขอให้มึงหมดทางทำมาหากินเหมือนกูบ้าง ขอให้มึงถูกตัดแข้งตัดขาไปไหนมาไหนไม่ได้ ขอให้มึงหูหนวกตาบอด วิงวอนขอความเห็นใจจากใคร ใครเค้าก็ไม่ฟังเสียงมึง ขอให้ครอบครัวของมึงจงฉิบหายวายป่วง ทำอะไรก็ไม่เจริญฯ’
ตอนนั้นนางย้อยทำได้เพียงเชิดหน้าขึ้น แล้วบอกกับเจ๊กเซ้งผู้เป็นสามี ซึ่งเป็นคนใจอ่อนว่า ‘อย่าไปฟังมันนะเฮีย เราไม่ได้ทำอะไรมัน แต่มันนั่นแหละที่ทำตัวของมันเอง แต่ยังไม่คิดสำนึก...’
เรื่องของนางแตงอ่อนกับครอบครัว หายไปจากความคิดของนางย้อยนานเกือบสิบปี กระทั่งวันที่นางถูกถีบตูดลงมาจากรถไฟ...นางย้อยจึงต้องให้ป้อม ไปตามสืบเสาะดูว่า ตอนนี้นางแตงอ่อน อยู่ที่ไหน ทำอะไร และถ้ามีโอกาสเอาคืน นางย้อยเอาแน่นอน...เพราะเล่นกับใครไม่เล่น มาเล่นกับ ‘อีย้อย’
“วันที่ป้าแตงอ่อน ถีบเถ้าแก่ตกรถไฟน่ะ วันนั้นแกนั่งรถกลับมาจากกรุงเทพฯ...แม่ของป้าเขาป่วย เขามาเยี่ยมแม่เขา...แล้วแกก็กลับกรุงเทพฯ ไปแล้ว...”
“ตอนนี้มันทำมาหากินอะไรกัน”
“เห็นว่า ผัวแกทำงานก่อสร้าง ป้าแตงอ่อน ขายกล้วยแขก ลูกเต้าก็ขนกันเข้ากรุงเทพฯไปหมด...อีกนานแหละกว่าจะได้กลับมาอีก...”
นางย้อยครุ่นคิดถึงเรื่องกลับมาเจอกันโดยบังเอิญแล้วเจ็บใจไม่หาย แต่เมื่อนางแตงอ่อนไปอยู่ไกลกันเสียอย่างนั้น ก็ต้องปล่อยมันไปมีชีวิตไปตามเวรตามกรรมของมัน โดยนางย้อยหวังไว้ในใจว่า สักวันมันจะสำนึกได้ว่า ไม่ใช่ใครที่ไหนทำร้ายมัน มันต่างหากที่ทำตัวของมันเอง...
หมดเรื่องของนางแตงอ่อนไปแล้ว นางย้อยวกกลับไปหาเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ในใจ
“ป้อม แล้วมึงพอรู้จัก คนแก้ของบ้างไหม” ตอนแรกนางย้อยกะไปปรึกษากับพระที่วัด แต่พอเห็นป้อม ก็นึกทางแก้ปัญหาเสียอีกทาง
“มีอะไรหรือเถ้าแก่”
“กูสงสัยว่าอาใช้ มันจะถูกเมียมันทำของใส่...รู้แล้วก็อย่าพูดไปนะ...ยังไม่มีหลักฐาน ยังไม่มีใครยืนยันได้ แต่กลิ่นมันไม่ค่อยดี มึงรู้จักใครก็พากูไปที” นางย้อยถามซ้ำ
ป้อมนิ่งคิด... “เคยได้ยินว่าที่เกยไชย แถว ๆ ปากแม่น้ำยม มีหมอเก่งอยู่คน...”
“เดี๋ยว ไอ้ซามันกลับมาเฝ้าร้าน เราเหมาเรือหางยาวก็ไปกันเลย กูใจร้อน แล้วก็ไม่ต้องบอกใครล่ะ...”
ป้อมรับคำ นางย้อยให้สินน้ำใจเป็นเงินห้าบาท ...เพราะป้อมนอกจากจะเป็นคนปากหนักแล้ว เรื่องใจร้ายใจดำมันก็ไม่เป็นสองรองใคร มันเป็นคนทื่อ ๆ ตรง ๆ ให้ไปเก็บเงินค่าเช่านา ตามดอกเบี้ยเป็นเงินกู้เป็นข้าวเปลือก เป็นของในไร่ มันทำสำเร็จลุล่วงเกือบทุกครั้ง และถ้าครั้งไหน มันทำไม่ได้ ถ้าเรื่องต้องถึงนางย้อย เป็นอันว่าลูกหนี้รายนั้นมีแต่แตกกับหักกันเท่านั้น
นางย้อยเกลียดคนที่ไม่รักษาคำพูดเป็นที่สุด...
****************************************
เห็นว่าน้องชายหายไปนาน กมลจึงเดินออกมาตาม ตั้งใจจะชวนไปนั่งกินผัดไทยเจ้าอร่อยด้วยกัน เขาเดินผ่านหน้าร้านสังฆภัณฑ์ ก็อดสอดส่ายสายตาเข้าไปในร้านไม่ได้...เพราะลึก ๆ ใจของเขาก็รู้สึกแช่มชื่นอย่างประหลาดเมื่อเห็นหน้าแม่สาวจันตา ผู้หญิงหน้าหวานสายตานิ่งสนิทคนนั้น...
แต่เขาก็ไม่เห็นเจ้าหล่อน...และถึงเห็น สาวเจ้าก็ไม่มองเขาหรอก...คิดดังนั้นแล้วเขาก็เดินหน้าต่อ
“ไปไหนรึอาซา” เจ้าของร้านขายผ้าที่ยืนอยู่หน้าร้านร้องทักเขา....เขาหยุดชะงักแล้วบอกว่า
“จะไปหาอาสี่ที่ร้านถ่ายรูป มันเอารูปมาล้างนะอาอี๊” ตอบพลางสายตาของเขาก็มองเข้าไปข้างใน พบลูกค้าสองคนกำลังยืนเลือกผ้ากันอยู่กับเด็กในร้าน...
คนเป็นสาวผมหยักศกละต้นคอ หันมามองเขา ตาสองคู่ประสานกัน แล้วฝ่ายหญิงก็เป็นฝ่ายหลบสายตาของเขา...ทำทีไปสนใจผ้าต่อ...เขาเหลือบกลับมามองเจ้าของร้าน แล้วบอกว่า “ไปก่อนนะอี๊...”
“แหม รีบไปไหน จะถามซักหน่อยว่า ลื้อจะแต่งงานเมื่อไหร่”
เขาชะงักเท้าแล้วหันมาตอบว่า “ตอบเลยก็ได้ว่า อีกสองปี...”
“ถ้างั้นลื้อก็มีแฟนแล้วซี่ คนที่ไหนล่ะ”
“ยังไม่มี แต่อีกสองปี แม่ก็คงหาให้แหละ ไปแล้วนะ...จะไปกินผัดไทย”
“ตกลงจะไปกินผัดไทยหรือจะไปร้านถ่ายรูป”
“ไปร้านถ่ายรูปก่อน แล้วก็จะไปกินผัดไทย...”
พอเดินมาถึงร้านถ่ายรูป เขาก็ชะเง้อมองอยู่หน้าร้าน แต่ว่าไม่เห็นน้องชายของเขา...เจ้าของร้านอยู่ในห้องถ่ายรูป น่าจะกำลังทำงานเพราะเขาเห็นมีรองเท้าผู้หญิง ถอดอยู่หน้าร้านสองคู่...
“เฮีย อั๊ว อาซา นะ อาสี่มันมาที่นี่รึเปล่า” เขาตะโกนถาม...
“มา แต่ออกไปแล้ว” มีเสียงตะโกนตอบกลับมา
“ไปนานหรือยัง”
“แป๊บนะ...เสร็จแล้ว ๆ”
อึดใจอาเฮียเจ้าของร้านก็เดินนำหมุ่ยนี้กับจันตาออกมา...พอหมุ่ยนี้เห็นเขาก็ยิ้มแป้น...ส่วนจันตาสบตาของเขาแล้วก็หลบสายตาของเขาเหมือนเคย
“อ้าว แจ้ มาถ่ายรูปเหรอ ถ่ายไปทำอะไร”
“ถ่ายเอาไว้แจกหนุ่มๆ” บอกแล้วหมุ่ยนี้ก็หัวเราะ...กมลส่ายหน้าเบา ๆ แล้วเขาก็คิดได้ว่า คนที่มาถ่ายรูปน่าจะเป็นจันตามากกว่า...นึกแล้วก็ใจแป้วขึ้นมา
“หนุ่มคนไหนน้อ จะโชคดีได้รูปแจ้ไว้ดูต่างหน้า...” เขาหยอกกลับไป
“ลื้ออยากโชคดีไหมล่ะ ถ้าอยากโชคดีเดี๋ยวได้รูปแล้ว แจ้ให้ลื้อบานหนึ่งพร้อมเซ็นข้างหลังรูปให้ด้วย...”
กมลยกมือเกาต้นคอ ทำหน้าคิดหนัก...
“ลื้อไม่ตอบ แจ้ถือว่าลื้อตกลงนะ...”
“ครับ เก็บไว้ก็ได้ เผื่อวันหน้าจะแลกข้าวกินได้บ้าง...ไปแล้วแจ้...”
“อ้าว ลื้อยังไม่ได้เอาคำตอบเลยว่า อาสี่มันไปนานหรือยัง” เฮียเจ้าของร้านแทรกเข้ามา
“มันคงกลับบ้านไปแล้วแหละเฮีย หรือไม่ มันก็เถลไถลไปบ้านเพื่อนฝูงมัน...”
“แล้วลื้อหามันทำไมล่ะ” หมุ่ยนี้ยังอยากคุย
“จะชวนมันไปกินผัดไทย...”
“แจ้ก็อยากกินผัดไทยเหมือนกัน...งั้นไปด้วยกันก็ได้...”
“อั๊วไม่เลี้ยงแจ้นะ มีเงินมาจำกัด”
“แหม...แจ้ก็ไม่ให้ลื้อเลี้ยงแจ้หรอกน่า...ไป ๆ จันตา ไปกินผัดไทยกันดีกว่า... “
จันตา หรือ ‘ตุ๊กตา’ ประจำร้านยิ้มแหยๆ ให้หมุ่ยนี้ ไม่ปฏิเสธไม่ตอบรับ... สบตาของกมลแล้วก็เดินตามหมุ่ยนี้มาสวมรองเท้า ตอนนั้นกมลยังยืนอยู่ที่เดิม ซึ่งไม่ห่างจากรองเท้าของจันตามากนัก ทำให้จมูกของเขาได้กลิ่นหอมของเนื้อสาว พอสูดเข้าไปแล้ว เขารู้สึกว่ามันซาบซ่านไปทั้งทรวง... ‘จันตา’
***************************************
ช่วงที่นั่งรอให้ลูกชายมาเฝ้าร้านแทนเพื่อที่จะไปเกยไชย นางศรีจากตำบลฆะมัง นุ่งโสร่ง เสื้อลูกไม้สีเหลืองดูภูมิฐาน ก็เดินเข้ามาพร้อมกับรอยยิ้มเห็นฟัน
กระดำกระด่างเพราะนางศรีนั้นเคี้ยวหมาก...
“นึกว่าวันนี้จะไม่เจอแม่ย้อยซะแล้ว...”
“ถ้ามาช้าอีกนิด ก็คลาดกันหละ...จะไปธุระพอดี...”
“ไปไหนล่ะ เมื่อวานก็เพิ่งแต่งลูกชายไม่ใช่รึ”
“ไป เอ่อ...ก็ไปเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นี่แหละ” นางย้อยเอาตัวรอดไป แล้วก็วกกลับมาหาเรื่องเฉพาะหน้า
“นั่งก่อนแม่ศรี พอดี ฉันรอลูกชายมาเปลี่ยน”
“คนชื่อซาหรือเปล่า” ทรุดตัวลงนั่งแล้วนางศรีก็ถามต่อ
“คนนั้นแหละ...ออกไปกินผัดไทยเดี๋ยวมา...”
“วันนี้แม่หลานสาวฉันก็ติดเรือมากับแม่เขาด้วยนะ จำได้ไหม นังเพียงเพ็ญที่ฉันเคยทิ้งรูปไว้”
“อ้าว เรอะ แล้วไปไหนเสียล่ะ” นางย้อยถามพลางชะเง้อข้ามหัวนางศรีไป เผื่อว่า ‘ว่าที่’ สะใภ้อีกคน จะอยู่นอกร้าน แต่ว่าก็ไม่เห็น...
“เดี๋ยวตามมา ไปเลือกซื้อผ้าตัดเสื้อกันน่ะ พอดี ใกล้จะลอยกระทงแล้ว...สาว ๆ สมัยนี้ พอจะเที่ยวก็ใส่เสื้อซ้ำไม่ได้...ตัดกันจริงตัดกันจัง...แต่ก่อนพวกเรากว่าจะได้เสื้อผ้าแต่ละตัว ใส่ของเก่าจนเปื่อย พ่อแม่ถึงจะยอมให้เปลี่ยน แม่ย้อยโชคดีมีแต่ลูกชายไม่หมดค่าผ้าค่าแต่งตัวแบบลูกสาว”
“แต่ค่าแต่งเมียให้มันก็เล่นเอาตัวเบาเหมือนกัน...” ว่าแล้วนางย้อยก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง
“เรือร่มในหนองทองจะไปไหน...ที่แต่งกันไปนั่นก็สมน้ำสมเนื้อกันดีไม่ใช่รึ”
“ก็พอได้...แต่แต่งกับคนจีนด้วยกัน ก็ต้องแต่งเข้าบ้าน...คนจีนไม่เหมือนคนไทยหรอกแม่ศรี เขาเกื้อหนุนมาแค่ตอนยกน้ำชา รับไหว้เท่านั้นแหละ หลังจากนั้นจะไปข้องเกี่ยวอะไรกับเขา ก็ยากแล้ว”
“อ้าว เรอะ...ฉันมันคนไทยแท้ ฉันไม่รู้หรอก...แล้วนี่ถ้าแต่งเข้ามาหมดสี่สะใภ้ จะแบ่งปันกันอย่างไรล่ะ”
“ฉันก็คนไทยได้ผัวเจ๊ก ฉันกะหนุนมันให้สุดกำลังนั่นแหละ คนที่สี่ก็ส่งเรียนไป ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ ก็เหลือแค่สามคน ก็คงให้ช่วย ๆ กันในนี้แหละ รึถ้าจะแตกตัวไปทำอะไร ก็ต้องให้ทุน ให้รอนไป ให้วิธีหาเงินไป ให้เสี่ยงน้อยที่สุด”
“แม่ย้อยยังไม่ลืม เรื่องที่ฉันขอแบ่งคนที่สามไปทางฆะมังใช่ไหม”
“ไม่ลืมหรอก รูปของนังหนู ฉันก็ให้อาซาเขาดูแล้ว”
“แล้วเขาว่าอย่างไรบ้างล่ะ รู้สึกถูกใจบ้างไหม”
“เขาก็ว่าสวยดี ...สวยเหมือนเพชรา...แต่เขาก็บอกนะ ถ้าตัวจริงไม่สวยอย่างในรูป เขาก็มีสิทธิ์ปฏิเสธนะ”
ได้ยินดังนั้น นางศรีก็ตบเขาฉาด...
“ฉันละชอบคารมพ่อคนนี้จริงเชียว...เมื่อไหร่ถึงจะกลับมาเหว่” ว่าแล้วนางศรีก็หันหลังกลับไปมอง แต่ก็ยังไม่เห็นเงา
นางย้อยชะเง้อมองไป ก็รู้สึกร้อนรุ่มเพราะเรื่องที่ตนจะไปทำก็รีบร้อนอยากรู้เหมือนกัน...
“ไอ้ป้อม...ป้อม แก ไปตามอาซาที่ร้านผัดไทยหน่อยซิ ไปนานแล้ว เงียบไปเลย...” นางย้อยตะโกนบอกป้อม
“เดี๋ยวหนูไปตามให้ก็ได้เถ้าแก่” บุญปลูกที่แอบฟังความอยู่ ร้องบอก...
พอบุญปลูกเดินไป...นางศรีก็ชวนคุยต่อ
“แล้วคนรองกับสะใภ้ที่แต่งไปอยู่ที่ไหนกันล่ะ”
นางย้อยรู้สึกว่าคนถามเสียมารยาท แต่ว่า คนระดับนางศรีนั้นจะตะคอกใส่หรือทำหน้าบึ้งให้ ก็ใช่ที่ นางย้อยจึงต้องบอกไปคร่าว ๆ... เพราะถึงแม้ว่านางศรีจะเอา ‘เหยื่อ’ คือ ‘สมบัติ’ ของ กำนันมา ‘อ่อย’ ก็ใช่ว่า นางศรีจะไม่ดูวิธีคิดของคนทางนี้ เพราะคนไทยกับคนไทย เงินต้องต่อเงินเท่านั้น...นางย้อยพออ่านใจนางศรีออก...นางย้อยก็เลยไพล่ไปคุยเรื่องที่ไร่ที่นาของตนที่ให้เขาเช่า เก็บค่าเช่าอยู่ตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ข่มนางศรีไป...
กระทั่งที่หน้าร้านปรากฏร่างเพียงเพ็ญ หลานสาวนางศรีพร้อมผู้เป็นแม่...
“มา ๆ เข้ามาข้างใน....” นางศรีเรียกเองเสร็จสรรพ...นางย้อยจึงรีบลุกขึ้นหาเก้าอี้มาเสริมอีกสองตัว...ส่วนเรื่องน้ำท่าสำหรับลูกค้านั้น ไม่เคยตักให้กิน นอกเสียจากหิวจริง ๆ ร้องขอถึงจะตักมาให้ ไม่เหมือนสมัยที่นางย้อยเป็นสาว ๆ ที่เวลาใครไปใครมาก็ต้องเรียกขึ้นเรือน ตักน้ำออกมาต้อนรับ พอเป็นร้านค้าแบบนี้ ถ้าไม่ใช่คนเดินสินค้าที่มากับเรือก็ไม่ต้องดูแลน้ำท่ากัน
หลังกระพุ่มมือนบไหว้แล้วเพียงเพ็ญก็ยิ้มให้นางย้อย...นางย้อยยิ้มตอบพลางพิจารณาใบหน้าพร้อมกันทั้งแม่ทั้งลูกและอา...ว่าไปแล้วเพียงเพ็ญคงจะเหมือนพ่อมากกว่าแม่ เพราะดวงตานั้นคล้าย ๆ ดวงตาของนางศรี คือตาโตเหมือนแขกและขนตางอน...หัวคิ้วถ้าไม่ได้กันแต่งก็คงแทบจะชนกันเป็นแน่
“นี่รึ แม่หนูเพียงเพ็ญ...สวยสมคำร่ำลือ”
“นี่แหละ เพียงเพ็ญ ส่วนแม่เขาชื่อแม่สมพร พ่อกำนันชื่อศร...ฉันละดีใจเหลือเกินที่ได้ชักนำให้มารู้จักกันไว้”
“ฉันก็ยินดีที่รู้จักวงศ์วานว่านเครือแม่ศรีเหมือนกัน”
“ได้ยินอาศรีพูดถึงแม่ย้อยบ่อย ๆ ดีใจที่ได้มาเจอตัวเหมือนกัน” นางสมพรที่ผอมบางกว่านางศรีพูดบ้าง
ขณะที่ผู้ใหญ่สนทนากัน เพียงเพ็ญนั้นก็ทำได้เพียงเหลือบตามองไปรอบ ๆ ตัว แล้วก็ไปสะดุดกับรูปถ่ายของสี่หนุ่มที่ยืนเรียงกัน...อาศรีบอกว่า ลูกชายคนที่สามของนางย้อย เป็นคนที่อาศรีมาทาบทามไว้...วันนี้พ่อก็ ‘บังคับ’ ให้มาที่นี่ เพื่อมาดูตัวและมาทำความรู้จักกันไว้ ถ้าเห็นแล้วไม่ถูกใจ ไม่ต้องชะตา ก็ให้สะกิดอาศรีว่าไม่ต้อง ‘สาน’ อะไรต่อ...
แต่พอเห็นร้าน เห็นบ้าน เห็นรูปถ่ายแม้จะไกลตาสักหน่อย เพียงเพ็ญก็นึกอยากจะสะกิดอาศรีอย่างที่พ่อ ‘เปิดทาง’ ไว้...แต่ยังไม่ทันจะขยับมือ เพียงเพ็ญก็หันหลังไปเพราะได้ยินเสียงของผู้ชายพูดว่า “ม้า โอยัวะ มาแล้ว”
*********************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #13 on: 01 March 2020, 16:17:47 » |
|
ตอนที่ 14 : อีสาวคนดีชื่อว่าเพียงเพ็ญ
๑๔
คนที่เข้ามาใหม่ เป็นชายหนุ่มคนที่เพียงเพ็ญเผลอสบตาเขาที่ร้านขายผ้า เขาเป็นคนผิวขาว ร่างสูง สมส่วน สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงขาสั้นสีกรมท่า สวมรองเท้าแตะ หน้าของเขารูปไข่ ผมปรกหน้าผาก ปากบางได้รูป จมูกโด่งเป็นสัน ตาของเขาเล็กเรียวแต่ไม่ถึงกับหยี เค้าหน้าของเขาเหมือนนางย้อย...
สบตากันแวบเดียว เพียงเพ็ญหันกลับมา แล้วเบือนสายตาไปมองสินค้าประดามี....
“อ้าว ม้ามีแขก...อ้าว นึกว่าใคร ป้าศรีนี่เอง ไม่เจอกันซะนานเลย นึกว่าจะไม่มาร้านนี้ซะแล้ว”
“ไม่มาได้อย่างไรละพ่อ...ก็ปากพ่อดีซะขนาดนี้ ไปร้านอื่นก็ไม่สนุกเหมือนมาที่นี่ แต่มาทีไรก็ไม่เจอพ่อสักที อาละคิดถึง” ชายหนุ่มเรียกนางว่า ‘ป้า’ แต่นางศรีเปลี่ยนมาแทนตัวเองว่า ‘อา’ เพราะมีจุดมุ่งหมาย...
“ม้า ให้ไปอยู่โยงที่โรงสีน่ะ คลุกฝุ่นมอมแมมจนไม่อยากเอาหน้าไปให้ใครเห็นแล้ว”
“คลุกแล้วก็ยังเห็นเนื้อทองนพคุณ...อ้าว มาทำความรู้จักกันไว้ก่อน นี่แม่สมพร พี่สะใภ้อา...แม่ของหนูเพียงเพ็ญหลานสาวอาเอง”
ด้วยในมือของเขามีพวงเหล็กใส่แก้วโอวยั๊วะ หรือกาแฟร้อนใส่นม...ที่ยืมมาจากร้านหน้าปากตรอก ทำให้เขาไม่สะดวกที่จะยกมือไหว้ในทันที...แต่ถึกระนั้นเขาก็ยกทั้งมือและพวงแก้วนั้นมาพนมและค้อมศีรษะอย่างเก้ ๆ กัง ๆ...เพราะเดาเรื่องได้ว่า ที่มากันพร้อมหน้าพร้อมตาในวันนี้ มีจุดประสงค์อะไรกัน...
“จำเริญ ๆ เถอะพ่อคุณ” นางสมพรพิจารณาดูหน้าตาและสรีระของเขาบ้าง...
“ครับ” เขารู้สึกเขิน ๆ
“อ้าว ๆ โอวยั๊วะของแม่เธอ ส่งมา เดี๋ยวอาส่งต่อให้”
“จะกินอะไรกันไหม เดี๋ยวให้อาซาออกไปซื้อมาให้...” นางย้อยรีบถามตามมารยาท
“เออ...ขอเป็นน้ำเปล่าก็พอ...” นางศรีบอก...
“งั้นเดี๋ยวผมไปตักให้นะ” ว่าแล้วเขาเดินผ่านหลังของนางสมพรกับเพียงเพ็ญ ไปยังหลังบ้าน...
“แม่ย้อยก็จัดการกาแฟซะก่อนเดี๋ยวจะเย็นหมด...”
นางย้อยยิ้ม ๆ แล้วคนกาแฟกับน้ำเชื่อมให้เข้ากัน...
“กินตอนนี้ ไม่ตาแข็งรึ...”
“ก็เพราะมันจะหลับนี่แหละ ถึงต้องกิน เมื่อคืนก็อยู่จนดึกดื่น...เช้ามาก็ตื่นแต่เช้า”
“แล้วทำไมไม่นอนกลางวันล่ะ”
“ถ้าไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย ...ฉันนอนกลางวันไม่เป็น”
“ลืมไป คนค้าคนขาย ไม่เหมือนพวกทำไร่ทำนาอย่างพวกฉัน กลางวันก็เอนหลังกันละ”
“สมัยเป็นสาว ตอนทำนา แดดร้อน ๆ ก็เข้าร่มไม้เหมือนกัน...แล้วแม่ศรีขายของ นอนกลางวันได้รึ”
“คนไม่ได้มากมายอะไรอย่างที่นี่หรอก เขาก็มากันเฉพาะตอนเช้า ๆ เย็น ๆ เท่านั้นแหละ ช่วงหน้านา ฉันก็ปิดร้านไปทำนาเหมือนกัน...ขายเอาพอแก้เบื่อเท่านั้นแหละ...”
“แม่ศรีทำนาด้วยรึ นึกว่าขายของอย่างเดียว”
“ทำซิ เกิดเป็นชาวนาไม่ทำนาได้ไง...กินข้าวนาคนอื่น มันไม่ชื่นใจเหมือนกินข้าวในนาของตัวเอง”
“อ้าว เราก็คุยกันแต่เรื่องของเรา...” นางย้อยเห็นว่าดูจะกันนางสมพร และเพียงเพ็ญที่นิ่งเงียบมองนั่นมองนี่ไปจากวงสนทนา จึงรีบตัดบท...พอดีกับลูกชายถือถาดใส่แก้วน้ำมาวาง...
“กินน้ำกันก่อน...” บอกแล้วนางย้อยก็เหลือบตาดูนาฬิกา แล้วยกแก้วกาแฟขึ้นดื่ม เช่นเดียวกับแขกก็หยิบแก้วน้ำดื่มบ้าง...ป้อมที่เป็นเหมือน ‘นกรู้’ จึงเดิน
มาบอกว่า
“เถ้าแก่เนี้ย เรือเขาพร้อมนานแล้วนะ”
“อ้าว ไอ้ฉัน ก็มัวแต่ชวนแม่ย้อยคุยเพลินเลย...”
“ฉันก็ยังอยากคุยกับแม่ศรี แม่สมพรต่อ แต่ว่า ติดธุระสำคัญ โอกาสดี ๆ แวะมาคุยกันอีกนะ แม่ศรีคุยสนุกดี”
“จะกลับมาตอนไหนละม้า” กมลเอ่ยถาม...
“ไปแค่เกยไชย คงไม่ทันค่ำหรอก เดี๋ยวกลับมาหุงหาให้กิน ไม่ต้องห่วง...”
นางย้อยเห็นว่าจะไม่ทันการณ์ จึงรีบบอกว่า
“แม่สมพร แม่ศรี ฉันขอตัวก่อนนะ หนูเพียงเพ็ญ อาขอตัวก่อนนะ โอกาสดี ๆ แวะมาคุยกันใหม่ รึอยากได้อะไร ก็ถามเฮียเขาได้เลย อาซาลดราคาให้น้องเขาบ้างนะลูก เราคนกันเอง...”
********************
แม่คว้ากระเป๋าเงินในเก๊ะเดินออกจากร้านไปแล้ว เขาก็ทรุดตัวลงนั่งแทนที่...นางศรีขอตัวออกไปบ้วนน้ำหมากแล้วก็อยู่กับบุญปลูกพร้อมกับให้บุญปลุกจัดของที่จดใส่กระดาษมา...ที่หน้าโต๊ะบัญชีจึงเหลือแต่นางสมพร กับ ลูกสาวที่ตอนนี้ผินหน้าหลบเขาเสียแล้ว...
“อายุเท่าไหร่ละพ่อ” นางสมพรเป็นฝ่ายชวนคุย
“สิบแปดย่างสิบเก้าครับ”
“ขยันขันแข็งดีนะ ทำมาค้าขายแทนแม่ได้”
“ครับ” เพราะยังไม่คุ้น กับรู้สึกเกร็ง ๆ เขิน ๆ ด้วยรู้ว่าวันนี้แม่และตัวหญิงสาวนั้นมาเพื่อ ‘ดูตัว’ เขาจึงรับคำสั้น ๆ...
“เพียงเพ็ญ อยากได้อะไรไหมลูก ลุกขึ้นดูหรือถามพี่เขาซิ” ด้วยเป็นคนไทยแท้ ๆ นางสมพรจึงไม่คุ้นกับ คำว่า ‘เฮีย’ ที่นางย้อยบอกไว้เมื่อครู่...
“เดี๋ยวไปซื้อเอาที่ร้านอาศรีก็ได้แม่...อาศรีก็รับไปจากที่นี่” เพียงเพ็ญตอบเสียงชัดถ้อยชัดคำ ดูมั่นใจในตัวเอง...หญิงสาวไม่สบตากับเขาอีก...ตอนนั้นเขานึกอยากให้มีลูกค้าเข้าร้านมาให้ดูยุ่ง ๆ เพราะรู้สึกอึดอัด...แต่ว่าก็ไม่มีใครมาช่วย นางศรีก็พ่นน้ำลายคุยกับบุญปลูกอย่างออกรสออกชาติ...
“เมื่อกี้นี้ ผมเห็น อา ที่ร้านขายผ้า...” กมลจำต้องเปิดฉากชวนคุย
“พาเพียงเพ็ญเขามาซื้อผ้าไปตัดเสื้อเที่ยวลอยกระทงกันน่ะ...พ่อซาเคยไปฆะมังไหม”
“เคยนั่งเรือผ่าน แต่ไม่เคยแวะ...”
“วันหลังไปเที่ยวซิ วันลอยกระทงที่วัดเขาจัดงานใหญ่ คนเยอะนะ มีการละเล่นเยอะแยะเลย ”
อันที่จริงกมลควรจะถามว่ามีอะไรครับ หรือทำทีว่าตื่นเต้นกับงานที่นั่น แต่เขาก็ตอบไปสั้น ๆ ว่า “ที่นี่ก็มีงานครับ”
“ใช่ ที่ไหน ๆ ก็มี แม่...” เพียงเพ็ญเสียงห้วนและหน้าบึ้งขึ้นมา...
“ใช่ แม่ก็ลืมว่าที่ไหน ๆ ก็มี ที่ชวนก็เผื่อพ่ออยากจะไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง”
“หนูขอตัวเดินเล่นหน่อยนะ อยากดูอะไรหน่อย” ว่าแล้วหญิงสาวก็ลุกขึ้นแล้วเดินออกไปจากร้าน นางสมพรมองตามหลังลูกสาวไป แล้วหันมายิ้มให้กมล กมลยิ้มแหยตอบ...รู้สึกแปลก ๆ รู้สึกไม่กระชุ่มกระชวยเหมือนตอนที่อยู่กับจันตา...
*****************
เพราะมีลูกค้าเข้ามาในร้าน ทำให้นางสมพรต้องขอตัวเหมือนกัน และพอเดินตามหาลูกสาวจนพบ นางสมพรก็ร้องเรียก...เพียงเพ็ญที่ยืนดูหนังสืออยู่หันมาหาแม่ หน้าตานั้นบึ้งตึงอย่างเห็นได้ชัด...
“อาศรีซื้อของเสร็จหรือยัง หนูอยากกลับบ้านแล้ว”
“กำลังเข็นมาลงเรือ รออีกหน่อย...”
เพียงเพ็ญแสร้งเปิดนิตยสารอ่าน คนเป็นแม่ที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ ถามว่า “เป็นไงบ้างล่ะ นึกชอบไหม”
“เฉย ๆ งั้น ๆ ไม่เห็นจะหล่อเหลาอะไรเลย ผิวเหลือง ๆ ซีด ๆ ผอมแห้ง...”
“ดูคล่องแคล่วเอางานเอาการดีนะ แม่ชอบ”
“แต่หนูไม่ชอบ หนูบอกพ่อ บอกแม่ ไปแล้วว่าหนูไม่อยากเป็นสะใภ้เจ๊ก หนูแขยงเสียงซดน้ำแกง เกลียดเสียงเคี้ยวแจ๊บ ๆ ไม่ชอบเสียงขากสเลด คุยกันเสียงดังโหวกเหวก พูดก็ไม่ค่อยชัด หนูอยู่ด้วยไม่ได้หรอก”
“อย่ามาหาข้ออ้างหน่อยเลย”
“ก็มันจริงไหมล่ะ”
“คนบ้านนี้อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ แม่เขาก็เป็นคนไทย เมื่อกี้แม่มองไปหลังบ้าน ก็สะอาดสะอ้านดี อย่ามาหาเรื่องติไม่เข้าเรื่องเลย”
“แต่หนูไม่ชอบเขา และไม่มีวันจะชอบได้ด้วย” หน้าตาคมขำนั้นบึ้งตึง...น้ำเสียงนั้นไม่ได้เกรงกลัวผู้เป็นแม่เลยสักนิด
“งั้นหนูก็หาคนที่ดีกว่า คนที่หนูชอบมาละกัน แม่เหนื่อยกับหนูเหลือเกินแล้ว”
“แล้วคนที่หนูชอบ มันไม่ดีตรงไหน ทำไมแม่...ทำไมแม่ไม่ช่วยพูดกับพ่อบ้างล่ะ”
นางสมพรชักสีหน้าเหนื่อยหน่ายใจ...ที่ลูกสาวไม่ยอมเข้าใจว่าตนนั้นเป็นเพียง ‘ช้างเท้าหลัง’ ผัวว่าอะไรก็ต้องว่าตามแม้จะไม่เห็นดีเห็นงามด้วย แต่เรื่องที่ลูกสาวคนเล็กผู้มีนิสัยเอาแต่ใจตัว ดันไปชอบกับไอ้ทิดก้าน ลูกชาวนายากจนคนบ้านใต้ มีอาชีพรับจ้าง เป็นนักร้องเชียร์รำวงตามงานวัด ผู้มีหน้าตาคมสัน ผิวคล้ำ ร่างกำยำสมส่วน ปากดี รักสนุก เป็นเรื่องที่นางนั้นไม่เห็นดีเห็นงามด้วยกับลูกสาว...
เพราะเงินค่าสินสอดทองหมั้นอย่างที่ควรจะได้ ทางนั้นไม่มีปัญญาหามาให้แน่ แต่งไปแล้วก็ต้องเข้ามาอยู่ในเรือน เพราะเพียงเพ็ญเป็นลูกคนเล็ก พ่อแม่หวังฝากผีฝากไข้ ทิดก้านนั้นมีนิสัยขี้เหล้าเมายาพวกมากลากกันไป และเป็นนักเลงประจำถิ่นนั้น พาลจะผลาญให้ทรัพย์สมบัติที่มีนั้นหมดสิ้นไปเสียอีก
...ทางเดียวที่จะทำได้คือ ต้องหาคนที่คู่ควรเหมาะสมให้ และนางศรีผู้เป็นอาของเพียงเพ็ญก็เสนอตัว ลูกชายของนางย้อยมาเป็นตัวเลือก พอกำนันศร ได้ฟัง ได้เห็นรูปถ่าย จึงให้นางพาลูกสาวมาดูตัวกันไว้...ถ้าไปด้วยกันได้ ทางกำนันจะให้นางศรีนั้นออกหน้าเป็นแม่สื่ออย่างเต็มที่...
สำหรับนางแล้ว นางพึงพอใจชายหนุ่มเป็นอย่างมาก หน้าตาหุ่นรูปทรงผิวพรรณเขางาม ท่าทางเป็นคนเอางานเอาการเชื่อฟังพ่อแม่ดี...แต่นางลูกสาวก็มาเป็นเสียอย่างนี้ ตะบึงตะบอนจนเขาก็คงจะดูออกหรอก ว่าไม่ชอบเขาสักเท่าไหร่...แต่เอาเถอะ เรื่องนี้ผู้ใหญ่คุยกัน มันก็ยังพอมีหวัง...ส่วนนางนั้นกำนันศรกำชับว่า ช่วงนี้อย่าได้ปล่อยให้นังลูกสาวคลาดสายตาเด็ดขาด...คนมันไม่รักดี... คิดเองไม่ได้ ก็ต้องบังคับเคี่ยวเข็ญกันไปจนกว่ามันจะเป็นฝั่งเป็นฝา...
*********************
มงคลเดินกลับมาถึงบ้านด้วยอาการอ่อนระโหยโรยแรง...พอมาถึงเขาก็เดินเข้าไปหลังร้าน แล้วล้มตัวลงนอนบนม้าตัวยาวแล้วหลับตา...โดยไม่สนใจว่าหน้าร้านนั้นจะยุ่งกันสักเพียงใด...พอลูกค้าซาไปแล้ว กมลจึงเดินเข้ามาดู...เขาส่ายหน้าเบา ๆ ก่อนจะถามเสียงดัง ๆ ว่า
“ลื้อหายไปไหนมา เดินไปตามที่ร้านถ่ายรูปก็ไม่เจอ”
“ไปบ้านไอ้แดงมา”
“บ้านไอ้แดง!” กมลร้องเสียงดัง เพราะรู้ว่าบ้านของแดงเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับมงคลนั้นเป็น เปิดเป็นซ่องโสเภณี และแม่ก็ย้ำกับพวกเขาว่า อย่าไปที่นั่นอย่างเด็ดขาด เพราะกลัวจะติดโรคร้าย กลัวเสียชื่อเสียง เขาถอนหายใจออกมาอย่างแรง...และที่ใกล้ๆ กันก็ยังมีบ่อนการพนันที่แม่บอกว่าจะทำให้เสียคนได้
“ทำเป็นตกอกตกใจไปได้ ...ก็แค่ไปเยี่ยมเพื่อน... แล้วม้าไปไหน” เขาลืมตาอธิบายแล้วถามกลับ
“ไปเกยไชย เย็น ๆ กลับ...แต่เดี๋ยวนะ แค่ไปเยี่ยมเพื่อนทำไมลื้อถึงได้ดูหมดเรี่ยวหมดแรงแบบนี้...”
“อากาศร้อนอบอ้าวซะขนาดนี้...ฮู้ กลางวันแสก ๆ ใครจะไปมีอารมณ์”
“ให้มันจริงเถอะ...”
“จะเอาเงินไหนไปจ่ายค่าตัวพวกนั้นล่ะ ที่ราคาถูก ๆ ก็เหนียงยานหมดแล้ว ที่เป็นดาวเด่นก็หกสิบเจ็ดสิบ บางคนเป็นร้อย แล้วอีกอย่าง จะว่าไปแล้ว ที่นี่ก็สวยสู้ที่ปากน้ำโพไม่ได้...”
“แสดงว่าอยู่ที่โน่นลื้อเที่ยว”
“เรื่องแบบนี้มันก็ต้องรู้ไว้บ้าง เรามันลูกผู้ชายนะเฮีย กำไรชีวิตทั้งนั้น เฮียนั่นแหละ อยู่แต่บ้าน หัดไปเปิดหูเปิดตามั่ง เดี๋ยวมีเมียแล้วจะทำอะไรไม่เป็น เมียมันจะมีชู้เอานา”
“ไอ้บ้า...”
“แนะนำดีๆ ก็ยังจะมาด่า...พรุ่งนี้ได้รูปแล้วเราก็จะกลับปากน้ำโพแล้วนะ...อยู่ก็ไม่มีอะไรทำ เซ็งชะมัด” เป็นเพราะ เป็นลูกคนเล็ก และไปเรียนในเมืองตั้งแต่จบชั้นประถมสี่ ทำให้เขาไม่มีหน้าที่ใด ๆ ต้องรับผิดชอบเหมือนพี่ ๆ กลับมาบ้านช่วงปิดเทอมหรือวันหยุด เขาก็เอาแต่เที่ยวเตร่เถลไถลไม่ได้ช่วยงานที่โรงสีหรือที่ร้านค้าเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด...
“แล้วจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ ลอยกระทงกลับมาไหม”
“ไม่รู้ ดูก่อน มีอะไรรึเปล่า”
“ไม่มีหรอก ถามดู...” เรื่องที่นางสมพรชวนไปเที่ยวที่ฆะมังนั้นยังคาใจเขาอยู่...เพราะถ้าขัดผู้ใหญ่ไม่ได้ เขาก็ควรไปรู้ไปเห็นว่าทางนั้นเป็นอย่างไรบ้าง...
มงคลหลับตา หายใจเข้าสั้น ๆ ยาว ๆ แล้วก็ม่อยหลับไป...กมลส่ายหน้าเบา ๆ แล้วเดินออกมาที่หน้าร้าน บุญปลูกหน้าตาบึ้งตึง...ไม่ยิ้มไม่แย้มไม่เล่นหัวอย่างเคย กมลเห็นดังนั้นจึงถามเพราะคิดว่าเจ็บไข้...
“ไม่ได้เป็นอะไรหรอกเฮีย แค่เบื่อ ๆ เซ็ง ๆ” อารมณ์หดหู่นั้นมันเกิดจากคนถามและผู้หญิงที่ชื่อเพียงเพ็ญ แต่บุญปลูกจะบอกตรง ๆ ไม่ได้...
“ถ้าเลี้ยงน้ำแข็งไสสักถ้วยจะหายเซ็งไหม ถ้าหาย ก็ไปเอามาคนละถ้วย เดี๋ยวเฮียตามไปจ่ายเงินเขาเอง...”
******************
พอทรุดตัวลงนั่งพับเพียบในห้องของ ‘พ่อหมอ’ นางย้อยก็บอกให้ป้อมออกไปนั่งรอที่นอกชาน...เพราะเรื่องบางเรื่องนั้น รู้มากคน ก็มากความ...หลังจากที่ป้อมเดินออกไปแล้ว นางย้อยก็หันไปหาพ่อหมอ ซึ่งมีผมขาวโพลนทั้งหัว นุ่งขาวห่มขาวไว้หนวดไว้เคราดูหน้าเกรงขาม นางย้อยประเมินด้วยสายตาแล้ว แกน่าจะมีอายุเจ็ดสิบต้น ๆ แกนั่งอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชาที่เต็มไปด้วยรูปปั้นเทวรูป พานใส่เครื่องรางของขลัง ขันน้ำมนต์ และที่นางย้อยก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง วางให้ระเกะระกะ
“มีอะไรรึ”
“ฉัน สงสัยว่า ลูกชายของฉันจะถูกผู้หญิงทำของใส่...”
“ผู้หญิงคนที่ไหน”
แล้วนางย้อยก็เล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นคร่าว ๆ แล้วสรุปว่า “พอจะช่วยได้ไหมจ๊ะ...”
พ่อหมอบอกให้นางย้อยควักเงินมาตั้งขันบูชาครู เป็นเงินถึง หกสลึง พอใส่เงินลงในพานที่มีดอกไม้ ธูป เทียน และหมากพลู ซึ่งเป็นของที่มีอยู่ในพานอยู่แล้ว พ่อหมอก็ให้นางย้อยยกพานขึ้นจบ บอกกล่าวว่า ‘ทุกข์มาด้วยเรื่องอะไร’
...หลังจากที่นางย้อยส่งพานไปให้ พ่อหมอก็ถือพานหันหน้าเข้าโต๊ะหมู่ พึมพำบทสวด...อึดใจใหญ่ ๆ ตัวพ่อหมอก็สั่นน้อย ๆ เสียงที่สั่นอยู่แล้วสั่นหนักกว่าเดิม...พอหมอวางพานลงแล้ว หันไปคว้าขันน้ำมนต์มาวางตรงหน้า แล้วบอกให้นางย้อยใช้ไม้ขีดจุดเทียนขี้ผึ้งที่อยู่ติดปากขัน...พอนางย้อยจุดแล้ว...หยดน้ำตาเทียนก็หยดใส่น้ำ...พ่อหมอเพ่งมองเทียนที่หยดลงน้ำนั้นแล้วพูดว่า
“มึงอยากรู้ว่าลูกชายมึง ‘ถูกของ’ ใช่หรือเปล่า”
“ใช่...จ้ะ”
“อืม...ของเขาแรงซะด้วย แต่เขาไม่ได้กะเอาถึงตายหรอก แค่หลงใหลชั่วพักชั่วครู่”
“ชั่วพักชั่วครู่ อีกนานแค่ไหนจ๊ะ”
“ตรงนั้น กูก็ไม่รู้....” พ่อหมอยังเพ่งมองน้ำในขันอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาสบตานางย้อยแต่อย่างใด...
“แล้วมีวิธีแก้ไขไหมจ๊ะ”
“อีคนที่ทำ ตอนนี้ มันอยู่ในบ้านมึงแล้วใช่ไหม”
“ไม่ได้อยู่ในบ้าน อยู่ที่โรงสี แต่ก็ถือว่าเป็นเขตบ้านฉันนั่นแหละ”
“ให้มันอยู่ไปก่อนนะ อย่าเพิ่งไล่มันไปไหน อีคนนี้มันเป็นคนใจเด็ด มันเป็นคนรักแรง เกลียดแรง มันเป็นคนชอบเอาชนะคนซะด้วย...มันอยากได้อะไร มันจะต้องเอาให้ได้”
นางย้อยรู้สึก ‘เชื่อ’ ไปแล้ว ว่าพ่อหมอนั้นแน่จริง ๆ
“ทำไม ฉันถึงไล่มันไปไม่ได้ล่ะ ทั้งที่มันก็เลวปานนั้น”
“กูบอกไปแล้ว ว่ามันรักแรงเกลียดแรง มันรักของมันมาก มันก็อยากได้ อยากครอบครองเป็นธรรมดา แต่เนื้อใจมันก็ไม่ใช่คนเลวทรามชั่วช้าอะไรหรอก...ความดีของมันก็มี ใช่ไหม...”
“ก็ใช่...แล้วจะให้ฉันทำอย่างไร ฉันอยากช่วยลูก”
“มึงต้องเอาตัวลูกชายของมึงมาทำพิธีที่นี่”
“ไม่มีทางอื่นเลยรึจ๊ะ”
“ไม่มี ต้องพามันมา จะบอกมันอย่างไรก็เรื่องของมึง มาถึงกูแล้ว เดี๋ยวกูจัดการเอง...”
“โดยด่วนเลยหรือเปล่าจ๊ะ”
“ยิ่งเอาไว้นาน มึงก็ยิ่งทุกข์”
“เอ่อ...” นางครุ่นคิดหาคำถามต่อ...และพอนึกได้ว่า เรื่องร้าย ๆ บางเรื่อง ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง นางย้อยหันซ้ายหันขวา แล้วถามว่า
“มีวิธี ทำให้อีผู้หญิงมีอันเป็นไปไหม ฉันเกลียดมัน ฉันอยากให้มันตายห่าไปซะ...”
คราวนี้เอง พ่อหมอช้อนตามองนางย้อยแล้วบอกว่า
“เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร...สายวิชากูไม่เคยฆ่าคน มีแต่ช่วยคน”
นางย้อยรู้สึกหน้าชา...แต่ก็ไม่ได้รู้สึกผิดแต่อย่างใด...ก็เมื่อมันเล่นทางนี้แล้ว ก็ต้องใช้ทางนี้เล่นงานมันกลับถึงจะสาสมกันไม่ใช่รึ...
“มึงมีอะไรจะถามอีกไหม”
“ไม่มีจ้ะ...”
“มึงเอง ก็ระวังตัวให้ดี...เจ้ากรรมนายเวรมึง จ้องจะเล่นงานมึงอยู่เหมือนกัน...”
“เจ้ากรรมนายเวรฉัน!”
“มึงทำอะไรเอาไว้บ้างล่ะ”
นางย้อยขนลุกเกลียว นึกถึงนางลิ้มขึ้นมาแล้วรู้สึกเย็นยะเยือก...นางย้อยคิดถามอยู่ในใจว่า บุญจากการบวชลูกชายนั้นไม่ได้ทำให้นางลิ้มลดความอาฆาตพยาบาทเลยรึ... เพราะมันเป็น ‘ตราบาป’ เดียวที่อยู่ในใจนางย้อย จนรู้สึกหวั่นเกรง ‘ลูกสะใภ้’ แต่ละคนที่กำลังเข้ามาในชีวิต... นางย้อยจึงแก้ตัวไปว่า
“ฉันไม่ได้ตั้งใจ ตอนนั้น มันเหลืออดจริง ๆ”
“จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ทำกรรมแล้ว ช้าหรือเร็ว กรรมย่อมส่งผล กูบอกมึงได้แค่นี้แหละ”
“ไม่มีทางแก้เลยรึไง ฉันเองก็บวชลูกตั้งสองคน ทำบุญก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขาตลอด และตั้งใจจะบวชอีกสองคนในเร็ว ๆ นี้...บุญกฐิน ผ้าป่า ฉันก็ไม่เคยขาดสักปี...”
“บุญก็อยู่ส่วนบุญ บาปมันก็อยู่ส่วนบาป...แต่มึงคิดถูกแล้ว ที่คิดทำบุญล้างบาป ล้างไม่ได้ หนักก็จะเป็นเบา...มีอะไรจะถามกูอีกไหม...”
“เอ่อ นอกจากอีเรณูแล้ว จะมีสะใภ้คนไหนมาสร้างปัญหาให้อีกไหม”
“ถ้ามึงยังไม่รู้ กูก็ไม่รู้...”
“อ้าว ...เอ่อ...คือฉันทำมาค้าขาย มีอะไรจะให้ฉันบูชากลับไปบ้างไหม...” แม้จะมีความทุกข์ใจเรื่องลูก เรื่องบาปกรรมที่เคยพลาดพลั้งทำลงไป แต่นางย้อยก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความโลภเช่นปุถุชนทั่วไป...แม้แต่เงินค่าขันครู นางย้อยก็ยังคิดจะใช้ให้คุ้มค่าที่เสียเวลาดั้นด้นมา...
“เดี๋ยวกูไปแล้ว มึงคุยกับ ‘คนกลาง’ มันเองแล้วกัน” คนกลางหรือตัวพ่อหมอนั้นไม่ใช่แค่เป็นคน ‘ทรงเจ้าเข้าผี’ หากแต่ยังเป็น ‘หมอยาแผนโบราณ’ ด้วย ป้อมบอกกับนางย้อยว่า ใครเป็นอะไรมา ถ้าแกรักษาได้ แกก็รักษา ถ้ารักษาไม่ได้ แกก็บอกให้กลับไปทำใจ...ทำบุญทำกุศล สุดแต่ว่าคน ๆ นั้น เจ็บป่วย ด้วยเหตุอะไร เพราะโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับคนเรานั้น มันมีทั้งโรคที่เกิดจากผลกรรมในชาตินี้และโรคที่เกิดจากผลกรรมแต่ชาติปางก่อน ซึ่งสุดวิสัยที่แกจะหยั่งรู้ทั้งหมดหรือแก้ไขได้...
นางย้อยถอนหายใจออกมา พ่อหมอก็วางขันน้ำมนต์ไว้ตามเดิม หันหน้าเข้าหาโต๊ะหมู่ พึมพำคาถาอีกพักใหญ่ แล้วร่างนั้นก็สั่นน้อยๆ อีกครั้ง...
******************************
เห็นสภาพร้านค้าสองคูหาแล้วพิไลก็ลอบถอนหายใจออกมา แล้วก็นึกว่า โชคยังดี ที่นางย้อยให้แยกบ้านไปต่างหาก ไม่อย่างนั้น เธอจะทนอุดอู้กินอยู่หลับนอนอยู่ในเรือนไม้ห้องแถวนี้ไม่ได้แน่ ๆ...
“นั่นห้องใคร” ประสงค์พาเมียขึ้นไปชั้นบนเพื่อไปเก็บผ้าผ่อนของใช้ของตนไปไว้ที่เรือนหอ...พอขึ้นบันไดมาแล้วพิไลก็มองเห็นห้องทั้งหมดสี่ห้อง สองห้องนั้นมีกุญแจล็อกแน่นหนา...ส่วนสองห้องไม่มีกุญแจคล้องไว้แต่อย่างใด
“ห้องพ่อกับแม่ ห้องใหญ่ไว้นอน ห้องเล็กเอาไว้เก็บของ”
คำว่า ‘เก็บของ’ นั้นพิไลเดาว่า คงจะเป็นพวกทรัพย์สินเงินทอง หรือข้าวของเครื่องใช้มีราคา แม่บอกกับพิไลว่า นอกจากค้าขายแล้ว นางย้อยยังปล่อยเงินกู้ รับจำนำของมีค่า อย่างพวกทองคำ เข็มขัดเงินเข็มขัดนาก รับซื้อพวกเครื่องทองเหลืองถ้วยโถโอชามเก่ามาเก็บไว้ พิไลอยากเห็นของพวกนั้นเป็นที่สุด...เพราะนอกจากเสื้อผ้า รองเท้า ทองคำประดับตัว พิไลก็ยังชอบเครื่องกังไส เครื่องสังคโลก เครื่องทองเหลือง เพราะที่บ้านของแม่ใหญ่นั้นมีเป็นตู้ ๆ ไปครั้งใดพิไลก็จะได้แต่ยืนมอง...แล้วคิดว่าวันหนึ่ง เธอจะต้องมีของพวกนี้เก็บสะสมไว้ประดับบารมีบ้าง...
เดินเข้ามาในห้องนอนเดิมของประสงค์แล้วพิไลก็กวาดสายตามองไปรอบ ๆ ห้อง ในห้องมีเตียงใหญ่หนึ่งเตียง... มีตู้ไม้สองหลัง มีโต๊ะไม้สักสำหรับเขียนหนังสือหนึ่งตัวและมีเก้าอี้มีพนักอีกหนึ่งตัว...บนโต๊ะมีหนังสือนิยายรวมเล่มวางเป็นตั้ง ๆ ข้างๆ โต๊ะมีนิตยสารเรียงเทินกันเป็นระเบียบแยกหัวเรียบร้อย บ่งบอกว่าเจ้าของนั้นรักและหวงหนังสือเป็นอย่างมาก...
พิไลไม่ใช่คนอ่านหนังสือ แต่ก็ไม่รังเกียจหนังสือแต่อย่างใด...
“ปกติเฮียอยู่ห้องนี้กับใคร...”
“ตั่วเฮีย แต่ตอนนี้ ก็เหมือนอยู่คนเดียวแล้ว...”
“ถ้าอย่างนั้นก็เอาเสื้อผ้าไว้ที่นี่บ้างก็ได้ เผื่อวันหน้าเราไม่อยากกลับบ้าน หรือต้องอยู่เฝ้าร้าน เราจะได้มีเสื้อผ้าเปลี่ยน” จริง ๆ พิไลอยากจะบอกว่า ‘ถึงอย่างไรร้านนี้ก็ต้องเป็นของเรา เราจะขนของของเรา ออกไปทำไมล่ะ...เพราะคนที่ต้องขนของออกไปก็คือ ปฐม และ กมล...’
“แล้วหนังสือนี่ของใคร...”
“ของเฮียเอง เฮียชอบอ่านหนังสือ เธอล่ะชอบอ่านหนังสือไหม”
“พออ่านได้บ้าง แต่ถ้าถามว่าชอบอ่านไหม ตอบว่าไม่ชอบแล้วกัน แต่เฮียจะขนไปก็ได้นะ...เพราะถ้าเฮียอ่านให้ฉันฟังเหมือนฟังละครวิทยุ ฉันก็ยินดีฟังเสียงเฮีย...” แม้ว่าจะไม่ได้รักกันก่อนแต่งงาน แต่พิไลก็รู้ว่า ควรจะทำตัวอย่างไรเพื่อให้เขารักและต้องเกรงใจตนเอง...
************
เรือนของกำนันศรเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน เวลาไปไหนมาไหนนอกจากเรือหางยาวแกยังมีม้าคู่บุญชื่อ ‘ไอ้ทองดี’ อาวุธและเครื่องประดับที่คุ้นตาคนแถว ๆ นั้นก็คือ ตะพดหัวเงินและหมวกกะโล่ และที่ซ่อนเร้นไว้ในชายผ้าก็คือปืนสั้น .38 อีกกระบอก แกจะเป็นคนเดินช้า ๆ เดินเหมือนเสือย่างกรายจนสิงห์สาลาสัตว์ต่างหวั่นเกรง
ที่ดินติดกับบริเวณบ้าน เป็นโรงเลื่อย โรงเผาถ่าน ด้านหลังเป็นบ้านพักคนงานที่เป็นเรือนแถว...กิจการนี้สืบถอดมาตั้งแต่สมัยพ่อของแกที่เป็นกำนันเช่นกัน ห้องของเพียงเพ็ญอยู่ทิศตะวันออกของบ้าน เปิดหน้าต่างออกไปจะไม่เห็นแม่น้ำน่าน เห็นแต่สวนหลังบ้าน ห้องนั้นติดลูกกรงเหล็กแน่นหนากันทั้งคนในและคนข้างนอก...ยามค่ำคืนหน้าห้องก็ยังมีนางแรมซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของกำนันศร กางมุ้งนอนเฝ้า...เมื่อตอนเป็นเด็ก ๆ นั้นเพียงเพ็ญรู้สึกอบอุ่นใจ รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็น ‘คุณหนู’ โก้หรูสุขสบายที่สุดในถิ่นนั้น แต่พอมีความรัก นางแรมหรือป้าแรมกลายเป็นตัวอุปสรรคจนเพียงเพ็ญนึกแช่งชักหักกระดูกให้แกตายไปเสียโดยไว...แต่นางแรมก็ดูจะอายุยืน แกไม่ต้องออกไร่ออกนา มีหน้าที่ทำงานบ้าน เลี้ยงลูกสาวให้กำนันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ จนกระทั่งแยกเรือนกันหมดเหลือก็แต่เพียงเพ็ญ ร้อยวันพันปีนางแรมไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วย แถมแกยังเป็นคนนอนหูเร็วยิ่งกว่าหมาที่ใต้ถุนเรือนซะอีก...เช้ามาแกจะตื่นแต่เช้า รีบหุงข้าวหาปลาเตรียมไว้ให้พ่อกำนันกิน ก่อนพาคนงานออกไปทำงาน หรือออกไปธุระ...
กลับมาจากตลาดแล้ว เพียงเพ็ญก็ถือถุงกระดาษใส่ผ้า ใส่หนังสือเข้าห้อง...ยืนเกาะลูกกรง มองออกไปทางสวนหลังบ้าน ครุ่นคิดถึง ‘พี่ทิดก้าน’ ที่ฝากจดหมายมากับไอ้จุก ลูกของคนงานในโรงไม้มาให้...
‘คืนนี้ ก่อนสองยาม พี่จะมารอน้องเพ็ญตรงที่เก่าของเรานะจ๊ะ...คิดถึงน้องเพ็ญทุกลมหายใจเข้าออก พี่ทิดก้าน’
ตัวอักษรเล่นหัวเล่นหางสวยงาม ทำให้เพียงเพ็ญอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า
‘ที่เก่า’ ที่พี่ทิดก้านพูดถึงก็คือ หลังกองฟาง ที่ติดกับต้นมะม่วงต้นใหญ่...ที่ตรงนั้นเป็นที่ที่เพียงเพ็ญ ลงจากเรือนทางบันไดหลังบ้าน และเดินเร้นกายไปโดยที่คนบนเรือนจะไม่มีวันเห็น...แต่ปัญหาของเพียงเพ็ญก็คือ คนที่นอนเฝ้าอยู่หน้าห้องนั่นแหละ...ถ้าบอกว่าไปห้องส้วม ในห้องก็มีกระโถน หรือไม่ ป้าแรมก็จะตามลงไปด้วย...แต่ถึงอย่างไร คืนนี้เพียงเพ็ญก็จะต้องออกไปพบพี่ทิดก้าน ยอดดวงใจของเพียงเพ็ญให้ได้...
********** “อีหนู พ่อซา เป็นอย่างไรบ้าง” ขณะที่นั่งล้อมวงกินข้าวเย็นด้วยกัน ผู้เป็นพ่อก็เอ่ยปากถาม...เพียงเพ็ญเชิดหน้าขึ้น...ก่อนจะบอกว่า
“หนูบอกแม่ไปแล้วนี่ แม่ยังไม่ได้บอกพ่ออีกหรือ” พอถูกพาดพิง นางสมพรก็แสร้งขยำปลาปิ้งกับน้ำพริกเผา ฟังพ่อลูกคุยกัน เพราะรู้ดีว่าตนนั้นไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรอยู่แล้ว
“พ่ออยากฟังความเห็นจากปากของเอ็ง...”
“ก็...ดูสำอาง แล้วเขาก็ ดูไม่ได้สนใจหนูสักเท่าไหร่หรอก...”
“แม่เอ็งเขาว่า ดูขยันขันแข็งคล่องแคล่วดี แล้วเขาก็ไม่ได้ขายแต่ของอย่างเดียว ทำงานช่วยเตี่ยเขาที่โรงสีด้วย คนแบบนี้ พ่อว่าหาไม่ง่ายนะ...หน้าตาดี ขายของเป็น ใช้แรงงานได้ คุมคนงานได้...แล้วก็มีฐานะพอเหมาะพอสมกับเรา”
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงท้ายประโยค ทำให้เพียงเพ็ญต้องเชิดหน้าขึ้นอีกครั้ง แล้วบอกว่า
“แล้วความรู้สึกของหนูละพ่อ หนูไม่ได้รักเขา หนูไม่รู้สึกถูกชะตากับเขาสักนิด”
“เอ็งตัดใจจากไอ้ก้านมันซะ รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี เรื่องแต่งกันเมื่อไหร่ เดี๋ยวผู้ใหญ่จะคุยกันเอง...ดูพี่สาวเอ็งเป็นตัวอย่าง เพราะมันเชื่อพ่อ ออกเรือนไป นั่งเฝ้ากำปั่นเงินกันทุกคน มีใครแต่งไปแล้วลำบากบ้างไหม”
“แต่ถ้าได้อยู่กับพี่ทิดก้าน หนูก็ยังคุมกำปั่นเงินได้เหมือนเดิมแหละ”
กำนันศรส่ายหน้าเบา ๆ ชุบมือกับกะละมัง แล้วพูดเบา ๆ ว่า
“พ่อเห็นคนมาเยอะ พ่อมองคนไม่ผิดหรอก คนอย่าง ไอ้ก้าน มีร้อยก็หมดร้อย ดีไม่ดี มันจะไม่ผลาญแค่สมบัติของเรา แต่มันจะทำให้เอ็งน้ำตาเช็ดหัวเข่าด้วย...” ว่าแล้วกำนันศรก็ลุกขึ้นแล้วเดินไปที่นอกชานเพื่อสูบยาเส้น...เพียงเพ็ญมองตามหลังพ่อไปแล้วน้ำตาก็ค่อย ๆ ไหล ในใจนั้นมีอีกประโยคที่อยากจะบอกกับพ่อว่า
‘หนูรู้ว่าพ่อหวังดี...แต่หนูเป็นเมียพี่ทิดก้านเขาไปเสียแล้ว ซิพ่อ’
******************************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
นักประพันธ์
|
|
« Reply #14 on: 01 March 2020, 18:00:49 » |
|
ตอนที่ 15 : ก้าน-เพียงเพ็ญ
๑๕
คืนนั้นพอนาฬิกาที่ข้างฝาบอกเวลาสี่ทุ่มกว่า ๆ ฝนที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่ตอนเย็นก็โปรยปรายลง...นางแรมมุดออกจากมุ้งไปที่นอกชานหลังบ้านเพื่อรองน้ำใส่โอ่ง เพียงเพ็ญเดินเป็นเสือติดจั่นอยู่ในห้อง...ไม่รู้ว่า ป่านนี้ ทางพี่ทิดก้านจะเป็นอย่างไรบ้าง เพียงเพ็ญภาวนาให้เขาไม่มาตามนัด เพราะไม่อยากให้เขาต้องเปียกฝนรอ แต่คำภาวนาของเพียงเพ็ญไม่มีผล...
เสียงฟ้าคำราม เสียงฝนกระทบหลังคาสังกะสีดังกึกก้อง...หญิงสาวเปิดหน้าต่างมองไปทางจุดนัดพบ...ประกายฟ้าแลบทำให้เห็นเงาต้นไม้ และกองฟาง...ลมพัดโกรกหน้าต่างเข้ามา เพียงเพ็ญเพ่งมองอีกครั้งก็พบว่าพี่ทิดก้านวิ่งออกมาจากด้านหลังกองฟาง หญิงสาวคลี่ยิ้ม เขาวิ่งมาจนถึงใต้หน้าต่าง แล้วส่งสัญญาณให้เพียงเพ็ญรู้ว่า เขาจะรออยู่ที่ใต้ถุนเรือน...เพียงเพ็ญรับรู้ ก่อนจะปิดหน้าต่างลง...เดินไปเปิดประตู ก็มองเห็นป้าแรมนั่งตำหมากอยู่ข้างมุ้งเสียแล้ว...
“จะออกไปไหนรึ”
“จะออกไปฉี่”
“กระโถนก็มี ฉี่ในกระโถนก็ได้ ไม่ต้องลงไปหรอก”
“ฉันปวดหนักด้วย...”
“งั้น เดี๋ยวป้าไปเป็นเพื่อน ขอตำหมากแป๊บ...”
“ไม่ต้องหรอก ขอไฟฉายฉันก็พอ...”
“ไม่ได้หรอก ถ้าพ่อกำนันรู้ว่าป้าปล่อยให้หนูลงจากเรือนในช่วงกลางค่ำกลางคืนคนเดียว เช้ามาพ่อกำนันเอาป้าตาย...เห็นใจป้าเถอะนะ”
เพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกตเพียงเพ็ญจึงบอกว่า “ตามใจ...งั้นป้าตามหนูมานะ หนูไม่ไหวแล้ว” ว่าแล้วเพียงเพ็ญก็เดินออกไปทางนอกชานหลังบ้าน ทั้งที่ฝนยังลงเม็ดไม่ขาดสาย โดยไม่สนใจว่าร่มกับไฟฉาย...พอลงจากเรือน ก็รีบมุดมาที่ใต้ถุน เพียงเพ็ญก็กระซิบเรียก “พี่ก้าน ๆ”
อึดใจร่างของก้านก็มาอยู่ห่างกันเพียงคืบ
“พี่กลับไปก่อนนะ คืนนี้ฉันไม่สะดวก เอาไว้วันหลังค่อยว่ากัน” คำบอกกล่าวนั้นแทนที่จะผลักให้ก้านรีบกลับบ้าน เขากลับดึงเพียงเพ็ญเข้าไปกอดรัดหาความอบอุ่น เพียงเพ็ญดิ้นพอประมาณโดยสายตานั้นก็หันไปมองทางบันไดหลังบ้านด้วย...
เพราะถึงแม้จะสาแก่ใจที่ทำตามใจตัวเองได้ แต่เพียงเพ็ญก็รู้ดีว่า มันไม่งามนักที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้กับคำว่า ‘รัก’ แต่เขาก็ทำให้เธอร้อนรุ่มเสียทุกครั้งที่เจอกัน ทว่ายามไม่ได้เห็นหน้ากัน ใจนั้นก็เป็นทุกข์เป็นร้อนยิ่งกว่าเพราะกลัวว่าเขาจะกลายเป็นอื่น...
“ไม่ได้พี่ เดี๋ยวป้าแรมตามลงมา”
“ก็ตอนนี้แกยังไม่ลงมา ก็ขอพี่ชื่นใจหน่อยเถอะ คิดถึงจะแย่แล้ว” ปลายจมูกและริมฝีปากของเขาระเรื่อย ดูดซับสูดความหอมหวานไปตามใบหน้าและต้นคอไล่ลงมาที่ทรวงอกจนเพียงเพ็ญอ่อนระทวย เวียนขึ้นมาที่ริมฝีปาก มือคู่นั้นก็เคล้นคลึงไปตามเรือนร่างอ้อนแอ้นอย่างหนักหน่วง...
“ฉันช้ำหมดแล้ว...” เพียงเพ็ญกระซิบตอบ...
“เนื้อเอ็งหอมเหลือเกิน รู้ไหมว่าพี่คิดถึงตัวเอ็งแค่ไหน”
“เบา ๆ หน่อยพี่...” เพียงเพ็ญเสียงกระเส่า...แล้วหญิงสาวก็ได้สติ...เมื่อนางแรมลงบันไดมาร้องเรียกพร้อมกับสาดไฟฉายไปทั่ว พอขานรับแล้วเพียงเพ็ญก็ผลักชายหนุ่ม แล้วรีบเดินไปหา ส่วนก้านรีบโผไปหลบหลังสุ่มไก่ ใจนั้นที่ร้อนรุ่มเพราะข่าวที่ได้จากร้านนางศรีนั้นยังไม่ได้รับคำยืนว่าจริงเท็จ
... เถ้าแก่ใหญ่ในตลาดชุมแสงทาบทามมาทางกำนันศรแล้ว และกำนันก็คงตกลงปลงใจอย่างไม่อิดออด
แต่เขาจะยอมให้ ‘เมีย’ ของเขากลายเป็นเมียของอื่นไม่ได้ เมื่อเข้าตามตรอกออกทางประตู หมายทำให้ถูกต้องตามประเพณี แต่ก็สู้แรงเงินของหนุ่มบ้านไกลไม่ได้ มันก็ต้องใช้วิธีการ ‘ฉุด’
*******************
เพราะก้านนั้นเป็นคน ‘พวกมาก’ พอเหล้าเข้าปากแล้ว ก็ ‘ปากพล่อย’ เรื่องที่ควรจะเป็นความลับ เลยไม่เป็นความลับ...ดีแต่ว่าเรื่องที่ ‘ได้เสีย’ กันแล้วนั้น ก้านยังเก็บงำไว้ได้ แต่เรื่องลักลอบพบกันในตอนที่ผู้ใหญ่ในเรือนของเพียงเพ็ญเผลอไผลนั้น เพื่อนฝูงต่างรู้กันดี...
พอฝนเหือด เพื่อน ๆ ของก้านที่ตั้งวงกินเหล้า ร้องเพลงรอกันอยู่ที่กระท่อมข้างบ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังกะทัดรัดของเขา ก็เห็นก้านที่อยู่ในชุดกางเกงขาก๊วยเสื้อตราห่าน มีผ้าข้าวม้า คลุมหัวเดินตากฝนกลับมา...
ไอ้คนที่เป็น ‘ต้นเพลง’ เห็นดังนั้นจึงให้สัญญาณให้คนเคาะกลอง กับคนตีฉิ่ง แล้วมันก็เริ่มต้นเพลง ‘เก็บเงินแต่งงาน’ ของ ‘เมืองมนต์ สมบัติเจริญ’ ทันที
‘พี่อุตส่าห์ทำงาน ก็เพื่อน้อง หวังเก็บเงินเก็บทอง เอามาหมั้นแม่ขวัญใจ ถึงงานจะหนัก แม้จะเหนื่อยสักเท่าไหร่ จะตากแดดผิวเกรียมไหม้ ก็หวังให้ได้เงินมา...ถ้ารวบรวมเงินได้ สักหนึ่งก้อน พี่จะไปมาหมั้น แม่ขวัญบังอร อย่าได้ตัดรอน นะหล่อนจ๋า...ช่วยบอกพ่อแม่ พี่จนแท้นะขวัญตา นึกว่าช่วยกรุณา อย่าเรียกราคาให้แพง...เดือนหก จะยกขันหมากมา พร้อมกระทั่งเงินตรา มีใบละร้อยแดงแดง เรียกเท่าไหร่ จะหามาให้ไม่เปลี่ยนแปลง จะขายข้าว มาจัดแจง กำใบแดงแดง มาแต่ง งานฯ’
เพลงบาดใจจบ...ก้านวางจอกเหล้าที่ไอ้คนตีฉิ่งส่งมาให้คลายหนาวลง...
“ตัวเบาเลยซิพี่ทิด” หนุ่มต้นเพลงรีบถาม
“เบากับผีอะไร ฝนดันตกซะก่อน...”
“แบบนี้ เรื่องไอ้หนุ่มชุมแสงก็ยังไม่รู้ซิว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า”
“มันก็คงจะจริงหรอก วันนี้แม่เพิ่งไปชุมแสงกับอาศรีมา...” ว่าแล้วก้านก็ถอนหายใจอย่างแรง
“แล้ว ถ้าเขาจับแม่เพียงเพ็ญไปแต่งกับลูกเจ๊กซะแล้ว พี่ทิดของฉัน จะทำอย่างไรล่ะ”
ดวงตาของก้านวาวโรจน์ขึ้นมา... แผนแรกที่คิดไว้คือ ‘ฉุด’ แม้จะเสี่ยงกินลูกปืนของพ่อกำนัน มันก็เป็นแผนเดียว ถ้าทำสำเร็จเขาก็จะได้ครอบครองเพียงเพ็ญไปโดยปริยาย...ส่วนแผนถัดมาคือ สกัดกั้นไม่ให้ไอ้หนุ่มหน้าจืดนั่นหรือไอ้หนุ่มหน้าไหน มาเป็นเจ้าบ่าวของแม่เพียงเพ็ญ...ข้อนี้มันจะทำให้เขาอยู่รอดปลอดภัย และพอเวลาเนิ่นนานไป พ่อกำนันก็คงใจอ่อนเห็นแก่ความรักของเขากับแม่ลูกสาวคนเล็กจนได้...
ก้านนิ่งคิดหาทางออก...ก่อนจะบอกว่า “พวกเอ็งไปสืบกับทางอาศรีให้ได้ว่า ไอ้ลูกเจ๊กชุมแสงมันมีชื่อแซ่อะไรเป็นลูกเต้าเหล่าใคร...ให้กูหน่อย”
“ถ้ารู้แล้ว พี่จะทำอะไรมัน”
“ให้รู้ก่อนแล้วกัน แล้วพวกมึงก็อย่าได้พูดมากไปล่ะ...เกิดไอ้นั่นมันตายห่าไปซะก่อนแต่ง จะเดือดร้อนกันหมด”
เพียงแค่นั้นก็เป็นอันรู้กันว่า ศัตรูหัวใจ ของพี่ทิดก้าน อาจจะถึงแก่ความตาย หากว่า ไม่คิดถอย...
เรื่องที่เพียงเพ็ญลักลอบพบเจอกับก้าน ใช่ว่ากำนันศรจะไม่รู้ แต่ครั้นจะเอ็ดอึงไป ด้วยเป็นฝ่ายผู้หญิงก็จะมีแต่เสียกับเสีย ทางเดียวที่ทำได้ คือ กำชับกำชานางแรมให้ช่วยเข้มงวด คอยติดตามอย่าให้เพียงเพ็ญได้คาดสายตาอีก เพราะถึงข้าวสารจะกลายเป็นข้าวสุกไปเสียแล้ว ก็ใช่ว่า ยังไม่มีหนทางแก้ไข...
เช้าวันรุ่งขึ้น กำนันศรรีบไปยังบ้านของนางศรีที่อยู่ไม่ห่างกันนัก ลูกสาวของนางศรีที่ออกเรือนไปแล้ว เฝ้าหน้าร้านขายของ...
“แม่ทำกับข้าวอยู่ในบ้านจ้ะลุงกำนัน...”
กำนันศรก็รีบเดินไปหา นางศรีพอเห็นพี่ชายเดินมาก็รีบละมือ ลงจากครัวหลังเรือน ออกมารับหน้า...
“ทำอะไรกินรึ...”
“แกงหมูเทโพ ทำทีไรก็คิดถึงสังข์แม่... เดี๋ยวเสร็จแล้วจะให้ไอ้ศักดิ์มันถือไปให้นะ” ศักดิ์นั้นเป็นลูกเขยของนางศรี...
“อืม...”
“มีอะไรถึงได้มาแต่เช้าตรู่”
“เรื่องนั้นแหละ...ข้าร้อนใจ อยากให้มันเป็นฝั่งเป็นฝาเสียโดยไว”
“เราเป็นฝ่ายผู้หญิงนะพี่กำนัน ออกตัวมากไป มันจะไม่งาม...เขาจะระแวงเอาได้ว่า ของ ๆ เรามันมีตำหนิอะไรรึเปล่าถึงได้เร่งเร้านัก”
กำนันศรเหลือบตามองไปรอบ ๆ ก่อนจะบอกว่า “ตำหนิ มันมีแน่...แล้วข้าก็กลัวมันจะท้องป่องขึ้นมาซะก่อนนะซิ อีลูกคนนี้ มันผ่าเหล่าผ่ากอ”
ก้านก็เคยมาเป็นคนงานในโรงไม้โรงถ่านของกำนันมาก่อน พอกำนันเห็นหนุ่มสาวส่งสายตาให้กัน กำนันก็รีบกันก้านออกไปจากบริเวณบ้านโดยอ้างว่า แรงงานเกินงานเสียแล้ว หลังจากนั้นก้านก็ไปบวชพระ บิณฑบาตผ่านบ้าน ลูกสาวมีใจให้พระ จึงลุกขึ้นมาตักบาตรทุกวัน กระทั่งรับกฐิน ก้านก็สึกมาอยู่ที่บ้าน...
และคืนหนึ่งกำนันลุกมาเข้าส้วมก็เห็นว่า นังลูกสาวลงจากเรือนมาหาไอ้ทิดก้านที่กองฟางหลังบ้านตั้งแต่เมื่อใดกำนันก็ไม่อาจทราบได้...และถ้าเดาไม่ผิด มันคงไม่ใช่ครั้งแรก เพราะกว่าที่ทั้งคู่จะผละจากกัน ไอ้ทิดก้านก็กอดรัดแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของโดยที่ลูกสาวของตนไม่ได้ปัดป้องแต่อย่างใด
...พอเห็นเหตุการณ์บัดสีตำตาแล้วกำนันจึงได้ ‘ล้อมคอก’ ให้แน่นหนายิ่งขึ้น...คำพูดเหมือน ‘รับรู้’ แต่ ‘ไม่ยอมรับ’ เกิดขึ้นบนเรือน ลำพังพ่อแม่ลูก และนางแรม ทันที...แต่เพียงเพ็ญก็หาได้คล้อยตามแม่น้ำทั้งห้าที่ชักมาให้เห็นว่า คบหากับก้านไป รังแต่จะดึงตนเองให้ตกต่ำ สุดท้ายกำนันก็เลยต้องนำเรื่องคับอกนั้นมาปรึกษานางศรีผู้เป็นน้องสาวให้คิดกันช่วยหาทางแก้ปัญหานี้...
“แล้วจะให้ฉันทำอย่างไร ทางนั้น เขาก็ว่า จะเอาลูกเขาไว้บวชก่อน ปีสองปีนั่นแหละถึงจะแต่งงานกันได้ เพราะไอ้คนที่สอง ก็เพิ่งแต่งไปกับลูกเถ้าแก่ที่ทับกฤชเมื่อวันก่อน คงจะหมดไปหลายเงิน...”
“ทำให้มันเร็วขึ้นได้ไหม...สินสอดทองหมั้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็น ขอให้รีบตกลงเท่านั้น”
“ฉันจะไปพูดอย่างไร” หัวคิ้วของนางศรีขมวดเข้าหากัน...
“ปีหน้าสักเดือนยี่ รึไม่ก็เดือนสี่ ไม่เร็วหรอกนะ...ช่วงนี้ข้าก็กำชับทั้งนังพร นังแรม ให้จับตามองมันไว้ให้ดี...”
นางศรีครุ่นคิด... พลางถามอีกรอบว่า “เราจะอ้างอย่างไรกันดี ถึงจะไม่น่าเกลียด”
“เอาอย่างนี้ บอกไปว่า ช่วงนี้ข้าเจ็บไข้ออดๆ แอด ๆ เลยอยากเห็นนังหนู มันเป็นฝั่งเป็นฝาเร็ว ๆ เอ็งว่ามันจะน่าเชื่อถือไหม”
“ก็น่าจะเป็นข้ออ้างที่ไม่เลว แต่ฉันว่า ทางที่ดี พี่กำนันก็ลองแวะเวียนไปที่ร้านแม่ย้อยกับฉันดูบ้าง...ทำทีว่าฉันติดเรือพี่กำนันที่จะเข้าไปอำเภอ ไปตลาด ได้เห็นกันแล้ว ทำความรู้จักกันแล้ว มันก็น่าจะพูดกันได้ง่ายขึ้น...อ้อ ตอนนั้น พี่กำนันก็แกล้งไอถี่ ๆ หน่อยก็ได้...ทำให้เหมือนคนป่วย มันน่าจะพอให้เชื่อถือได้บ้างนะ ฉันว่า”
ฟังความคิดของน้องสาวแล้วกำนันศรก็พยักเบาๆ
“เว้นสักวันสองวัน เราค่อยเข้าไปในเมืองกัน ไปวันนี้เลย มันน่าเกลียด...”
**************
กลิ่นควันไฟและเสียงไอโขรก ๆ จากครัวทำให้ก้านต้องผุดลุกขึ้นนั่ง...พอเปิดมุ้งเดินออกมาก็พบว่าแม่ซึ่งย่างเข้าสู่วัยชราของตนนั้นกำลังก่อไฟเตรียมหุงข้าวอยู่....
“ทำไม แม่ไม่ปลุกฉันล่ะ” ว่าแล้วก้านก็คว้าขันที่คว่ำไว้บนฝาโอ่งตักน้ำมาลูบหน้า...คว้าแปรงสีฟันยาสีฟันที่วางไว้ข้างโอ่งมาสีฟันอย่างเร่งรีบ...
ไม่มีคำตอบจากนางคนเป็นแม่...
“อ้าว แม่ ยังไม่ได้หุงข้าว...สงสัยฉันกินไม่ทันแล้ว มันสายแล้ว” วันนี้นั้นก้านรับจ้างเกี่ยวข้าวไว้ จึงต้องรีบออกจากบ้านไปให้ทันคนอื่น...
“เพิ่งรู้ว่าข้าวสารมันไม่พอหุง ก็เลยลงไปตำซะพักใหญ่ กว่าจะได้ทะนานเล่นเอาเหงื่อชุ่ม...แต่ข้าวเย็นก็ยังเหลือ รองท้องไปก่อน เดี๋ยวตอนกลางวันแม่ทำใส่ปิ่นโตตามไปให้” ว่าแล้วนางแม่ก็ไอโครก ๆ ขึ้นมาอีก
“งั้นเดี๋ยว ฉันหาบข้าวเปลือกไปที่โรงสีให้นะ...แม่ก็ตำกินไปสักวันสองวันก่อน”
“ไอ้ทิด เหล้ายาปลาปิ้งเพลา ๆ บ้างเถอะนะ...เป็นหนุ่มเป็นแน่น ริเรื่องพวกนี้ ไปขอลูกสาวบ้านไหนไม่มีใครเขาเอาหรอก”
“ถึงไม่กินเหล้า ก็ไม่มีใครอยากได้เราไปเป็นลูกเขยหรอกแม่....”
ว่าแล้วก้านก็ถอนหายใจออกมาอย่างแรง...ครุ่นคิดถึงเรื่อง ‘ฉุด’ แม่เพียงเพ็ญลูกสาวกำนันขึ้นมาอีก...แต่อีกใจก็นึกเป็นห่วงว่า ถ้ามุทะลุเอาแต่ใจตัว เพลี่ยงพล้ำขึ้นมา แม่อยู่ทางนี้คนเดียวก็จะลำบากอีก และเสียงไอของแม่ก็ทำให้เขาต้องถามแม่ว่า
“แล้วแม่กินหยูกกินยาบ้างหรือเปล่า” ยาที่ก้านพูดถึงเป็นยาตำรับโบราณที่บอกต่อ ๆ กันมาว่ารักษาอาการไอเรื้อรังได้...
“กินแล้ว แต่มันก็ยังไอ...” นางแม่บอกอย่างปลง ๆ
ก้านครุ่นคิดแล้วบอกว่า “งั้นเดี๋ยววันนี้ ฉันจะเบิกค่าแรงแล้วเข้าตลาดไปซื้อยามาให้...แม่ทนไอไปสักวันก่อนนะ...”
“อย่าเลยไอ้ทิด ว่าไปมันก็ดีขึ้นแล้ว เอ็งเก็บเงินไว้เถอะ มันยังต้องมีเรื่องต้องใช้อีกเยอะ...ไอ้ยาขนานนี้ มันไม่ได้ผล เดี๋ยวแม่จะลองขนานใหม่”
“เหอะแม่...ฉันกลับค่ำ ๆ หน่อยแล้วกัน อย่างไรแม่ก็รอกินข้าวเย็นกับฉันด้วยนะ...” ว่าแล้วก้านก็รีบไปคว้าจานข้าวเย็นมาวางแล้วใช้มือบี้น้ำพริกแมงดาในถ้วยมาขยำกับข้าว...นางแม่มองอาการรีบร้อนของลูกชายเพื่อที่จะไปรับจ้างหาเงินมาใช้จ่ายในบ้าน แล้วน้ำตาก็คลอลูกนัยน์ตา...
ถึงแม้ว่ามันจะเป็นลูกชายที่ไม่ได้เรื่องได้ราวในสายตาของคนอื่น ๆ แต่ไอ้ทิดก้านมันก็เป็นลูกที่ดีของนางเสมอ...และนางก็หวังใจว่า ความดีของมันจะทำให้อนาคตของมันเจอแต่เรื่องดี ๆ...
*********
“เรณูเมื่อวาน แม่ผัวเอ็งไปทำอะไรที่เกยไชยล่ะ” พอว่างเว้นจากลูกค้า...แม่ค้าขายผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ที่นั่งอยู่ติดกันก็หันมาถาม...หัวคิ้วของเรณูขมวดเข้าหากัน
“พี่รู้มาได้ไงล่ะ”
“อ้าว ก็ผัวพี่มันเป็นคนขับเรือหางยาว เมื่อวานตอนบ่าย ๆ มันพาแม่ผัวเอ็งกับไอ้ป้อมไปบ้านหมอมี....”
“หมอมี...คือใครหรือจ๊ะพี่” เรณูรีบซัก
“หมอมี หมอยากลางบ้าน คนทรงเจ้าเข้าผี ดูดวง สะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา แก้คุณไสย ถอนเสน่ห์ ไงล่ะ”
‘ถอนเสน่ห์’ คำ ๆ นี้ ทำให้เรณูรู้สึกเย็นวาบขึ้นมา... แล้วเรณูก็เอะใจว่า เมื่อวานนี้ระหว่างที่ปะทะคารมกันนั้น ตนเองเผลอหลุดปากออกไป...จนนางย้อยเริ่มคลำทางถูกเป็นแน่...
นึกแล้วก็อยากจะตบปากตัวเองนัก...ป่านนี้นางย้อยคงกำลังหาทางแก้ไข หรือไม่ก็จัดการแก้ไขสำเร็จไปแล้วก็ได้...
ใจของเรณูเริ่มร้อนรุ่ม...เพราะเดาไม่ได้ว่า ถ้าปฐมหลุดจากอำนาจมนต์ดำของหมอก้อนแล้ว เขาจะเป็นอย่างไร...จะจัดการกับเธออย่างไร
และถ้านางย้อยรู้ว่าเธอทำเสน่ห์ใส่ลูกชายของนาง วันนี้นางย้อยจะไปหาเธอที่โรงสีอีกรึเปล่า ดีไม่ดี วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของเธอที่ชุมแสงก็ได้...คนทำผิดเริ่มเดือดเนื้อร้อนใจไปสารพัด
“ต๊าย...เรณู ๆ คู่สะใภ้เธอมาเดินตลาดแล้ว” เสียงจากแม่ค้าขายผัก ดึงสติเรณูกลับมา หญิงสาวมองไปยังร่างสวยสดเหมือนดอกกุหลาบแรกแย้มดูสดชื่นสบายตาแล้วรู้สึกริษยา ...ไม่ใช่แค่เสื้อกางเกงใหม่เอี่ยมที่ตัดเข้าชุดอย่างประณีตทันสมัย แต่ที่ข้อมือ นิ้วมือ และ ที่คอของพิไลนั้นก็สะดุดตาด้วยทองรูปพรรณเข้าชุดกันด้วย...
พิไลเดินทักทาย แนะนำตัวกับแม่ค้า ว่าตนเองนั้นเป็นใคร แล้วเดินมาหยุดที่หน้าหาบของเรณู...
“ขายดีไหมซ้อ” น้ำเสียงและรอยยิ้มนั้นไม่ได้ทำให้เรณูรู้สึกสดชื่นเลยสักนิด...แต่เรณูก็ฝืนน้ำเสียงให้เป็นปกติตอบกลับไปว่า “ก็พอได้”
“ตะโก้เผือกที่ฉันสั่งไว้ล่ะ 4 ห่อ เก็บไว้ให้หรือเปล่า”
เรณูเปิดกระด้งที่มีถาดขนมวางอยู่ด้านบน หยิบห่อขนมในกระจาดที่กันเอาไว้ออกมา...
“บาทเดียวใช่ไหม”
“บาทเดียว...”
“เหลือเยอะเลยนี่ งั้นช่วยซื้ออีกบาทแล้วกัน อ้อ ซื้อสองบาท แถมสักห่อได้ไหม”
ถ้าเป็นคนอื่นเรณูคงไม่ให้...แต่เมื่อพิไลกล้า ‘ขอ’ เรณูจึงบอกว่า
“คนกันเอง ได้ซิ แต่ว่าถือไปหมดเหรอ ตะกร้าก็ไม่ได้เอามา”
“เลิกขาย แล้วเอาไปส่งที่ร้านแม่ได้รึเปล่าล่ะ วันนี้มาช่วยแม่ขายของวันแรก...”
เรณูกลืนน้ำลายลงคอ ข่มใจ อดกลั้นความรู้สึกว่ากำลังถูก ‘เปรียบเทียบ’ และ ‘กด’ ให้ต่ำต้อยไว้...ยิ่งตนเองนั่งบนเก้าอี้ตัวเตี้ยๆ อยู่หลังหาบ กับพิไลยืนเด่นเป็นสง่าก็ยิ่งเห็นชัด “ได้ซิ ทำไมจะไม่ได้ล่ะ...”
“อ่ะ สองบาท ฉันไปก่อนนะ อ้อ..ขอห่อที่แถมไปก่อนแล้วกัน...เห็นแล้วน้ำลายไหล” คว้าขนมแล้วพิไลก็เดินจากไปทันที...เรณูมองตามหลังไป...โดยหูก็ได้ยินนางแม่ค้าขายผักพูดว่า “คู่สะใภ้ของเธอดูท่าจะไม่ธรรมดาเลยนะ”
******************
ขณะที่ประสงค์กำลังจัดร้านตามหน้าที่ พิไลก็เดินเข้าไปในร้าน วางขนมห่อนั้นลงบนโต๊ะบัญชีแล้วก็เดินไปยังหลังบ้าน พบว่านางย้อยกำลังหุงข้าวทำกับข้าว...แม้จะไม่ชอบเข้าครัว แต่พิไลก็รู้ดีว่า ไม่มีแม่ผัวคนไหน รักใคร่พึงพอใจลูกสะใภ้ที่หุงหาข้าวปลาให้ลูกชายของตนกินไม่เป็น...
“ม้า...ทำอะไรอยู่จ๊ะ มีอะไรให้หนูช่วยไหม”
นางย้อยหันมาทางต้นเสียง พินิจดูเสื้อผ้าหน้าผมของลูกสะใภ้แล้วก็รู้สึกหนักใจ...เพราะถ้าให้ช่วยหุงหาอาหาร กลิ่นก็จะติดเนื้อติดตัวเสียอีก...แต่ถ้าไม่ให้ช่วย วันหน้าก็จะไหว้วานให้ทำอะไรไม่ได้เสียอีก
“กำลังจะแกงฟักทอง...ถ้าจะช่วย ช่วยปอกฟักทองให้หน่อย...” เพราะมีแต่ลูกชาย นางย้อยจึงรู้สึกแปลก ๆ เมื่อต้องเอ่ยปาก ‘ใช้’ ลูกสะใภ้ ...และคำว่า ‘สะใภ้’ ก็ทำให้นางย้อยรู้สึกเสียวสันหลังเสียร่ำไป...
เพราะถ้าตึงเกินไป ก็จะกินแหนงแคลงใจกันไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่ถ้าหย่อนเกินไป สะใภ้ก็จะขึ้นหน้า ได้ใจ เหลิงว่าใจดี ไม่มีปากเสียอีก...เป็นแม่คนว่ายากแล้ว แต่เป็น แม่ผัว นั้น นางย้อยรู้สึกว่ามันยากกว่า
“ได้จ้ะ” ว่าแล้วพิไลก็เดินไปคว้าฟักทองพร้อมกับมีดบาง แล้วเดินออกไปทางหลังบ้านที่ได้มาสำรวจตั้งแต่เมื่อวานแล้ว... ระหว่างที่นั่งปอกเปลือก พิไลก็ชวนนางย้อยคุยไปด้วย...
“ตะกี้หนูไปเดินดูอะไรที่ตลาดสดมา หนูเจออาซ้อใหญ่ด้วย...เห็นว่าขนมเหลือเยอะ หนูก็เลยช่วยซื้อมากินสองบาท”
“ทำไมซื้อซะเยอะแยะ...”
“ก็ สงสารแกนะม้า...นั่งหน้าแห้งหน้าเหี่ยว...เหมือนมีเรื่องไม่สบายใจ”
นางย้อยนิ่งฟัง ครุ่นคิดถึงคำพูดของพ่อหมอแล้วใจก็ขุ่นขึ้นมา...มันจะนั่งหน้าแห้งหน้าเหี่ยว ก็เรื่องของมัน หลังจากที่ปฐมกลับมา แก้เสน่ห์แล้ว มันจะต้องระเห็จไปจากที่นี่...
พอเห็นว่านางย้อยไม่ต่อปากต่อคำ...พิไลก็เหยียดริมฝีปาก แล้ว พูดต่อว่า “สงสัยคงจะคิดถึงตั่วเฮียนะม้า”
“ปอกเสร็จแล้ว ก็หั่นด้วยเลยนะ” นางย้อยเปลี่ยนเรื่อง....
พิไลรับคำ ชั่วอึดใจ นางย้อยก็ได้ยินเสียงร้อง...พอลุกไปดูก็พบว่า มีดบาดมือพิไลเสียแล้ว....
**************
เดินเข้ามาถึงร้านถ่ายรูป มงคลที่เตรียมตัวกลับปากน้ำโพ ก็ได้ยิน เสียงเพลง ‘แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง’ ของ สุรพล สมบัติเจริญ ดังแว่วมาจากหลังร้าน นอกจากนั้นเขายังพบ หมุ่ยนี้นั่งยิ้มแป้นให้เขาประหนึ่งว่าเป็นเมียเจ้าของร้าน...
“มาเอารูปหรือสี่ เสร็จแล้ว แจ้ เสียมารยาท ดูไปแล้ว ไม่ว่ากันนะ”
“ไม่เป็นไรหรอกแจ้ แค่ดูไม่สึกหรอหรอก...แล้วแจ้ล่ะมาทำอะไร”
“มารอรูปเหมือนกัน...”
มงคลพลิกอัลบั้มรูปดูไปเรื่อย ๆ แล้วก็ต้องชะงักมือ เมื่อถึงรูปของ ‘วรรณา’ ที่ถ่ายที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ
“เธอรู้จักวรรณาด้วยเหรอ”
“อ้าว แจ้รู้จักวรรณาด้วยเหรอ” มงคลย้อนถาม...
“รู้ซี่ ก็อีมาหาพี่สาวอี แล้วพี่สาวอีก็พามาที่ร้านแจ้ นี่อียังเอาผ้ากลับไปตัดให้เลย ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่...”
“จะฝากอะไรไปถึงอีไหมละ อั๊วจะกลับปากน้ำโพวันนี้แหละ”
“ฝากบอกว่า แจ้รอเสื้ออยู่แล้วกัน แล้วลื้อจะไปดูอีประกวดนางสาวสี่แควหรือเปล่าล่ะ...ถ้าไป ก็ถ่ายรูปอีมาด้วยนะ ถ่ายมาเยอะ ๆ”
“ออกค่าฟิล์ม ค่าล้าง ค่าอัดให้อั๊วไหมล่ะ ถ้าออกให้ อั๊วจะถ่ายให้หมดม้วนเลย”
หมุ่ยนี้ทำหน้าคิดหนัก...ก่อนจะบอกว่า “หารสองได้ไหมล่ะ...”
“ก็ได้...ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย” เพราะตัวเขาเองก็ตั้งใจไว้ว่าจะเสนอตัวให้เจ๊ง้อ จ้างตัวเองไปถ่ายรูปอยู่แล้ว...
“ได้แล้วของลื้อ” อาเฮียเจ้าของร้านถือซองใส่รูปของหมุ่ยนี้ออกมาจากห้องด้านหลัง...หมุ่ยนี้ยื่นมือไปรับแล้วดึงรูปออกมาดู ในซองนั้นมีทั้งรูปของตน และรูปของจันตา...
“ใครเหรอ แจ้” มงคลที่เหลือบตาไปมอง ร้องถาม
“ว่าที่พี่สะใภ้ลื้อไง”
“จริงรึ...”
“แจ้ล้อเล่น...”
“อ้อนึกออกละ เห็นเฮียซาเคยบอกว่า คนนี้เฮียรองอีเหล่ๆ อยู่ แต่ว่าอีเป็นแฟนกับปลัดอำเภอนี่นา”
“ยังไม่ได้เป็น แค่มอง ๆ กันอยู่ เท่านั้น อียังไม่มีแฟน”
“ยังไม่มีแฟน งั้นอั๊วก็จีบได้ซิ”
“ถ้าเป็นลื้อ แจ้ขวางเต็มที่เลย...”
“ทำไมละแจ้ อั๊วมันไม่ดีตรงไหน”
“ลื้อมีแฟนอยู่ที่ปากน้ำโพแล้ว แจ้รู้หรอกน่า”
“ยังไม่มี...”
“ไม่มี ก็ไม่ให้จีบ...ถ้าเป็นอาซาก็ว่าไปอย่าง”
“ฮั่นแน่ จะกันท่าไว้ให้เฮียซ่าใช่ไหม”
“อาจันตาอีเป็นคนน่ารัก อาซาก็คนน่ารัก แจ้เลยอยากให้เขาทั้งสองคนรักกัน”
“รักกันได้ที่ไหนละแจ้...”
“ทำไมล่ะ...”
“ก็เฮียซาของอั๊ว เขามีคู่หมายของเขาแล้ว...”
“เหรอ ทำไมอั๊วไม่เห็นรู้เรื่อง คู่หมายของอีเป็นคนที่ไหน ลูกเต้าเหล่าใครรึ”
“เป็นลูกสาวคนเล็กของกำนันตำบลฆะมัง...มีชื่อว่าเพียงเพ็ญ...อีสวยกว่า จันตานี่อีกนะ”
“อาซาไม่เห็นบอกอั๊วเลย”
“แจ้...หาว่าอั๊วโกหกรึไง”
“เปล่า อั๊วไม่ได้หา” หมุ่ยนี้กลืนอีกประโยคลงคอไว้ ‘แต่อั๊วรู้สึกได้ว่าอาซานั้นน่ะ ชอบจันตาอยู่นี่นา’
**********************
จากฆะมังมาตลาดชุมแสง นอกจากใช้เรือล่องมาตามลำน้ำน่าน ก็ยังมีทางเกวียนอีกทาง...หลังเลิกงานเกี่ยวข้าว ก้านเบิกเงินมาจากเจ้าของนา แล้วก้านก็ยืมจักรยานของพวกหมู่ ปั่นมายังตลาดชุมแสง แม้ว่าทางจะเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทาง แต่ด้วยเดินทางจนชำนาญ เรื่องมืดค่ำจึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเขา...
พอถึงตลาดชุมแสง เขาก็รีบปั่นจักรยานไปหยุดที่ร้านขายยาแผนโบราณ บอกเล่าอาการของแม่ ซึ่งมีทั้งไอจนหอบและกินข้าวไม่ได้ ผอมแห้งแรงน้อย นอนไม่หลับเพราะกลางคืนจะไออยู่ตลอดเวลา
ระหว่างที่เจ้าของร้านหันไปจัดยาให้...ก้านหันไปที่หน้าร้าน พบชายหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับตน เดินเข้ามาในร้านแล้วหยุดอยู่ข้าง ๆ ตน...แต่พอมองหน้าเขาชัด ๆ ก้านคิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้ น่าจะอายุน้อยกว่าตน...
“อาแปะ...จัดยาแก้ไอ ยาบำรุงร่างกายให้อั๊วหน่อย...”
“ใครเป็นอะไรล่ะอาซา” อาแปะเจ้าของร้านหันเงยหน้ามาถาม...
“เตี่ย...ไอโขลก ๆ ทั้งคืน ไอจนนอนไม่ได้ ม้ารำคาญเลยให้มาดูยาไปให้แกกินซะหน่อย”
“เป็นมานานหรือยัง”
“ช่วงหลัง ๆ มานี้ ไอตลอดเลย สองสามเดือนแล้วนะ”
“บอกอีให้เบาๆ สูบยามั่งนะ มันไม่ดีกับปอดกับระบบทางเดินหายใจ”
“ห้ามแล้ว ฟังที่ไหน แกบอกว่า ใคร ๆ ก็สูบกันทั้งนั้น”
“อ้าว ของลื้อได้แล้ว...” อาแปะบอกกับก้าน แล้วก็บอกกับกมลต่อ “อาซาเจ้านี้ก็อาการคล้าย ๆ กับเตี่ยลื้อ แต่ว่าคนที่ไอคือแม่ของเขา ไอจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ผอมแห้งแรงน้อย ตลกดีนะ อยู่กันคนละที่ แต่อาการป่วยดันเหมือนกันได้”
ก้านมองยาตรงหน้าแล้วถามราคา พอรู้ราคา หน้าของเขาถอดสี...ก่อนจะบอกว่า
“คือ ผมมีเงินมาไม่พอ มีมาแค่ 20 บาท ถ้าจะขอเอายาออกบ้าง ให้เหลือ 20 บาทได้ไหม”
“ได้ซี่...”
“ไม่ต้องหรอกแปะ คิดเขาแค่ 20 นั่นแหละ อีก 4 บาท เดี๋ยวเอาที่อั๊ว”
ก้านไม่คิดว่าจะเจอคนดีมีน้ำใจถึงเพียงนี้...แม้จะรู้สึกตื้นตัน แต่เขาก็รู้สึกเกรงใจเป็นอย่างมาก “มันเอ่อ ไม่ดีมั้งน้องชาย ให้อาแปะเอายาออกเถอะ”
“อย่าเอาออกเลยพี่ชาย รับน้ำใจจากผมไปเถอะ เตี่ยผมก็ป่วยเหมือนกัน นอนฟังเตี่ยไอทั้งคืน ก็สงสารเตี่ย...พี่ชายก็คงเหมือนกัน คิดซะว่า ผมซื้อยาให้แม่พี่ชายแล้วกันนะ...รับไว้เถอะ”
“รับไว้เถอะพ่อหนุ่ม เดี๋ยวอั๊วลดให้ สองบาทแล้วกัน ช่วยกันคนละครึ่งกับอาซามัน ลื้อจะได้สบายใจ” อาแปะแสดงน้ำใจบ้าง....ก้านยกมือไหว้กมล แต่เขารีบจับมือของก้านไว้...
“ไม่ต้อง ๆ ไม่เป็นไร อั๊วยินดี แล้วนี่ พี่ชายมาจากไหน” เพราะเสื้อผ้าและกลิ่นตัว ทำให้กมลแน่ใจว่าเขาไม่ใช่คนในย่านนี้แน่ ๆ
“มาจากฆะมัง”
‘ฆะมัง’ กมลรู้สึกเย็นวาบขึ้นมา แล้วเขาก็บอกให้ก้านรีบกลับบ้านไปซะก่อนจะมืดค่ำ...
*********************
|
|
|
Logged
|
|
|
|
|