ppsan
|
|
« on: 14 September 2019, 09:24:36 » |
|
ตอนที่ 1 ทุ่งหลวงรังสิตby admin 25.12.2017 แสงอาทิตย์อันร้อนแรงในยามบ่ายของวันศุกร์ กำลังแผดเผาป่าคอนกรีต ณ ใจกลางพื้นที่เมืองหลวงของประเทศไทย ยิ่งเป็นช่วงที่ฤดูกำลังเปลี่ยนผ่านจากปลายฝนสู่ต้นหนาว ทำให้ช่วงนี้ท้องฟ้าไร้ซึ่งก้อนเมฆที่จะคอยช่วยบดบังและบรรเทาจากความร้อนระอุได้บ้าง ปรากฏเป็นไอร้อนค่อยๆลอยขึ้นสู่อากาศอย่างช้าๆในสายตาของหนุ่มออฟฟิต 4.0 คนหนึ่งที่มีใจรักอิสระ วันนี้ทีมงานเข้าใจไทยแลนด์เรามีนัดกับ หนุ่มนักเดินทางคนนี้ ที่มีนามว่า “เก้”
FB : https://www.facebook.com/pakaekus
บ่อยครั้งที่ เก้ มักจะนั่งเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง จนความรู้สึกจากภายนอกส่งผ่านหน้าต่างกระจกใสไร้ที่กั้น ผสมผสานกับความเหนื่อยล้าจากงานมาตลอดทั้งสัปดาห์ ผลลัพท์จึงออกมาเป็นพลังที่อยากจะหลุดพ้นจากห้องสี่เหลี่ยมให้เร็วที่สุด แล้วพุ่งทะยานสู่โลกกว้าง ออกตามล่าหาความฝันบนยอดดอย ไปโต้ลมหนาวให้สะใจ…………แต่ก็ได้แค่คิดเพราะชีวิตติดลบ ใกล้สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ ตามสูตรสำเร็จของพนักงานออฟฟิต
แต่เรื่องแค่นี้ไม่สามารถมาขวางกั้นความฝันอันยิ่งใหญ่ของเก้ได้ เมื่อเขาได้ชำเลืองตาไปเห็นนกกลุ่มหนึ่งที่กำลังบินวนอยู่ใกล้ๆตึก หยอกล้อกันไปตามสายลม เหนือเมืองใหญ่ท่ามกลางอากาศร้อน แต่ก็ดูเหมือนว่านกกลุ่มนั้นมีความสุขท่ามกลางสภาวะที่มนุษย์อย่างเราคิดว่ามันคือความเครียด คำถามมากมายเกิดขึ้นในหัวเขาในฐานะอดีตนักเรียนสายวิทย์ที่ช่างสังเกต ควบคู่กับความอิจฉาที่ไม่เว้นแม้กระทั่งนกที่มันมีอิสระเหนือสิ่งใด สิ่งเหล่านี้แปรผันเป็นพลังงานสุมไฟในตัวให้โหมลุกขึ้นอีกครั้ง เก้จึงตัดสินใจคว้ากล้องคู่หูพร้อมเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครนายก! ตามคำแนะนำของทีมงานเข้าใจไทยแลนด์
ด้วยระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จุดเริ่มต้นของถนนพหลโยธิน Google map แอพลิเคชั่นแผนที่ออนไลน์ คำนวณกับความเร็วที่รถกำลังวิ่งอยู่ บอกให้รู้ว่าการเดินทางในครั้งนี้ของเก้จะถึงจุดหมายปลายทางเวลา 17:30 น. ประกอบกับ ข้อมูลจากแอพลิเคชั่น Windy เกี่ยวกับเวลาพระอาทิตย์จะโบกมือลาลับขอบฟ้าของวันนี้อยู่ที่เวลาประมาณ 17:53 ยิ่งฟังก็ยิ่งกลุ้ม ข้อมูลเหล่านี้สร้างความกังวลได้อย่างชัดเจนบนสีหน้าของเก้ ด้วยเหตุผลบางประการ ราวกับเขากำลังจะพลาดการแสดงครั้งสำคัญของอะไรบางอย่าง
แต่ก็ยังเป็นความโชคดีที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทำให้เก้ได้รับรู้ข้อมูลจำเป็นเหล่านี้ล่วงหน้าได้ เก้จึงได้พยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติดตลอดเส้นทาง โดยอาศัยข้อมูลสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์บน Google Map เพื่อให้ไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น แต่ดูเหมือนความพยายามของเขาจะไม่เป็นผล เพราะยิ่งหนีไปเส้นทางอื่นก็จะยิ่งใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งจะทำให้ถึงช้ากว่าเดิม อีกอย่างเขาไม่ใช่คนขับรถตู้โดยสารเอง จะไปสั่งพี่เขาได้อย่างไร สู้เขานะทาเคชิ!
เมื่อหลุดพ้นจากเขตเมืองหลวงเข้าสู่ทุ่งรังสิตในเขตปริมณฑล รถเริ่มทำความเร็วได้ดีกว่าเดิม แต่ก็ยังมีไฟแดงบนถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 305 หรือถนนรังสิต–นครนายก ที่เปรียบเสมือนหนามแทงใจที่ร้อนรนอยู่แล้วให้ยิ่งร้อนขึ้นไปอีก ทางเดียวที่จะสยบความร้อนรนนี้ได้ก็คือ “หลับ” แต่เก้ไม่เลือกวิธีนั้น กลับค้นหาข้อมูลของพื้นที่รังสิตด้วยมือถือของเขา และไปเจอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอดีตของปทุมธานีสรุปแบบเร็วๆได้ดังนี้
* ทุ่งรังสิตแห่งนี้ในอดีตพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่แห่งนี้เป็นเพียงพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีคนอยู่อาศัย เนื่องจากแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ เป็นเพียงป่ารกชัฏและทุ่งหญ้าที่มีแต่สัตว์ป่ามาอาศัยหากินอยู่เท่านั้น พื้นที่แห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “ทุ่งหลวง”
* ทุ่งหลวงเป็นเขตที่ขึ้นอยู่กับพระมหานคร ไม่มีแม่น้ำลำคลอง ไม่เหมาะในการทำการเกษตร เพราะขาดน้ำ ราษฎรมีความเป็นอยู่แร้นแค้นเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม การปราบปรามก็ไม่ได้ผล เนื่องจากการคมนาคมสัญจรไม่สะดวก
* ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีหนองน้ำลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่เข้ามาอาศัยภายหลังจึงตั้งชื่อท้องถิ่นตามสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้น ๆ เช่น ลำลูกกา คูคต ลาดเป็ด ลาดสวาย บึงยี่โถ บึงทองหลาง บึงคอไห เป็นต้น ล้วนเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น
* ในอดีต ช้างป่าเป็นสัตว์ใหญ่ที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ทุ่งหลวง โดยเฉพาะทางตอนเหนือ บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดปทุมธานีกับพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน โดยช้างมักลงจากป่าเขาใหญ่มาหากินในบริเวณนี้ ธรรมชาติของช้างป่าจะเดินกันเป็นโขลง ก่อให้เกิดร่องน้ำน้อยใหญ่มากมายในพื้นที่ อันเป็นที่มาของชื่อ “ท่าโขลง” และ “ช้างลาก” ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็น “เชียงราก” ในปัจจุบันนั่นเอง
* ตราสัญลักษณ์ของเทศบาลเมืองท่าโขลงและองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงราก จังหวัดปทุมธานี เป็นรูปช้างป่า
ด้วยความไฮเทค เก้จึงลงมือสำรวจพื้นที่แถบนี้ด้วยแอพพลิชั่นแผนที่ออนไลน์ พบว่าลักษณะบนภาพดาวเทียมบริเวณพื้นที่ทุ่งรังสิตแห่งนี้ มีรูปแปลงที่ดินเป็นลักษณะเป็นเครือข่ายตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นแถวยาวขนานกัน เป็นผังเมืองที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ราวกับใช้ไม้บรรทัดวัดแล้วขีดแบ่งสันปันส่วนกันอย่างเท่าเทียมกัน นี่แหละคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนไปในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ส่งต่อความเจริญรุ่งเรืองสู่ยุคปัจจุบัน
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่ท้องทุ่งแห่งนี้ เนื่องจากพบว่าดินที่นี่เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารเหมาะแก่การปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง ติดปัญหาเพียงแล้งน้ำ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริที่จะทรง “ปลดปล่อย” พื้นที่อันแห้งแล้งแห่งนี้ให้กลายเป็น “แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศสยาม” จึงเป็นที่มาของเมกะโปรเจ็คท์เพื่อการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ อันมีนามว่า “โครงการรังสิต”
หลังจากสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ทำให้สยามต้องเปลี่ยนบทบาททางการเกษตรอันเป็นรายได้หลักของประเทศใหม่ จากที่เคยปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นครั้งแรก และ “โครงการรังสิต” คือความหวังของประเทศสยามในยุคนั้น
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะให้ทุ่งหลวงเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพื่อการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และนวัตกรรมที่จะมาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและช่วยนำพาความเจริญมาสู่ท้องที่ก็คือ “เส้นทางคลอง”
ดังที่ทรงเคยมีพระราชดำริไว้ว่า “การขุดคลอง เพื่อที่จะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัย แลเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร เป็นการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้วัฒนาเจริญยิ่งขึ้น”
อย่างที่เราทราบกันดีว่า คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อประโยชน์ในการคมนาคมและลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์จากแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังแม่น้ำบางปะกงในช่วงสงครามไทย–ญวนเป็นสำคัญ แต่ลำคลองเพื่อการชลประทานยังไม่เคยมีมาก่อน
รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ทำสัญญากับ “บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม” บริษัทเอกชนรายแรกของประเทศ ที่มีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับนักลงทุนฝรั่ง เพื่อดำเนินการขุด “คลองชลประทานแห่งแรกของประเทศสยาม” ขึ้น มีสัมปทาน 25 ปี โดยคลองสายหลักเริ่มขุดในปีพุทธศักราช 2433 เริ่มต้นจากบริเวณหน้าวัดเทียนถวาย ตำบลบ้านใหม่ แขวงเมืองประทุมธานี เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมกับแม่น้ำนครนายกที่ตำบลปลากดหัวควาย แขวงเมืองนครนายก กว้าง 8 วา ลึก 5 ศอกหรือ 3 เมตร จึงมีชื่อในระยะแรกว่า “คลองแปดวา” หรือ “คลองเจ้าสาย” ตามพระนามของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
ต่อมาคลองสายหลักนี้ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “คลองรังสิตประยูรศักดิ์” ตามพระนามของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ต้นราชสกุลรังสิต อันเป็นพระราชโอรสของพระองค์กับเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง แห่งราชสกุลสนิทวงศ์
ต่อมามีการขุดคลองเป็นเส้นขนานกับคลองรังสิตทางทิศเหนือ คือ “คลองหกวาสายบน” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “คลองระพีพัฒน์” เส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดปทุมธานีกับพระนครศรีอยุธยา ส่วนทางทิศใต้ของคลองรังสิตบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดปทุมธานีกับกรุงเทพมานครคือ “คลองหกวาสายล่าง” และในที่สุดก็มีการขุดคลองตัดเชื่อมระหว่างคลองหลัก 3 สายนี้ในแนวเหนือ–ใต้อีก 16 สาย คือ คลอง 1 ถึงคลอง 16
หลังขุดคลอง มีการสร้างประตูน้ำในคลองรังสิต 2 แห่ง ได้แก่ “ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์” ใกล้ทางออกแม่น้ำเจ้าพระยา และ “ประตูน้ำเสาวภาผ่องศรี” ทางฝั่งแม่น้ำนครนายกในเขตอำเภอองครักษ์ปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 แห่ง ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จมาเปิดด้วยพระองค์เอง
ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ณ อ.ธัญบุรี ปทุมธานี
ประตูน้ำเสาวภาผ่องศรี อ.องครักษ์ จ.นครนายก
และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของ “โครงการรังสิต” ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดในปัจจุบัน คือ จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก และกรุงเทพตอนเหนือ และต่อมาท้องทุ่งหลวงแห่งนี้จึงถูกขนามนามใหม่ว่า “ทุ่งรังสิต” ตั้งแต่นั้นมา
คลองรังสิต ในปี พ.ศ. 2491
คลองรังสิต ในปี พ.ศ. 2490
คลองรังสิต นอกจากจะเป็นคลองเพื่อการชลประทานแห่งแรกของประเทศแล้ว ยังเป็นคลองแห่งแรกที่ขุดโดยบริษัทเอกชน และมีการนำเครื่องจักรอันทันสมัยจากต่างประเทศมาใช้ขุด โดยมี “เอนยิเนีย” หรือวิศวกรควบคุมงาน ต่างจากคลองแสนแสบที่ใช้แรงงานคนขุดล้วน ๆ อย่างไรก็ตามในช่วงแรก ๆ คลองรังสิตเองก็เคยใช้แรงงานชาวจีนขุดเหมือนกัน ปัจจุบันจึงพบศาลเจ้าและชุมชนคนจีนเก่าแก่ ตั้งรกรากบริเวณคลองรังสิตอยู่มากมาย โดยเฉพาะบริเวณคลอง 1 ถึงคลอง 3 ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ของเทศบาลนครรังสิต และที่แห่งนี้เองคือจุดกำเนิดของอาหารอร่อยอันเลื่องชื่อของเมืองปทุมธานีคือ “ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต” นั่นเอง
เพลิดเพลินกับเรื่องราวของทุ่งรังสิตอยู่ได้สักพักใหญ่ แต่พอเก้ได้แหงนหน้าออกจากจอโทรศัพท์ ถึงกับตกใจเล็กน้อยที่ยังวิ่งไม่พ้นเขตคลอง…. สักที ก็มีตั้ง 16 คลองต้องใช้เวลากันสักหน่อยก็ไปได้ไม่ไกลจากจุดเดิมเท่าไรนักแต่ใจก็ยังอยากไปให้ถึงจุดหมายให้ไวที่สุดมาลุ้นกันต่อไปว่าสิ่งที่เก้เขามุ่งมั่นเดินทางไปมันคืออะไรกันแน่
อ้างอิง
หนานซัน เมืองเฉลียง. 2559. รังสิต…เมืองแห่งพระราชา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://pantip.com/topic/35800912
สถานบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2537. ร้อยปีคลองรังสิต โครงการวิจัยนำร่องเฉลิมฉลองวโรกาสกาญจนาภิเษก สถานบันไทยศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เมืองธัญญบุรี 111 ปี. 2556. บริษัท อัลลิมิต พริ้นติ้ง จำกัด.
เรื่องจาก http://kaojaithailand.com/2017/12/25/tungrangsit/
|