ppsan
|
|
« on: 01 March 2022, 09:01:14 » |
|
นางมณโฑ นมโตข้างเดียว โดย ภาษิต จิตรภาษา
รามเกียรติ์
https://www.silpa-mag.com/history/article_7114
นางมณโฑ นมโตข้างเดียว โดย ภาษิต จิตรภาษา
นางมณโฑนอนกับทศกัณฐ์ในกรุงลงกา หนุมานลอบเข้าไปผูกผมขณะหลับ
ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2546 ผู้เขียน ภาษิต จิตรภาษา เผยแพร่ วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2560
พูดถึงทศกัณฐ์แล้ว ถ้าไม่พูดถึงนางมณโฑก็ดูเหมือนจะขาด, เพราะทศกัณฐ์กับนางมณโฑนั้นเป็นของคู่กัน. เพลงเด็กร้องเล่นก็ยังมีว่า “นางมณโฑนมโตข้างเดียว (ส่วนจะเป็นข้างไหนนั้นเอาไว้ถกกันวันหลัง) ทศกัณฐ์ปากเบี้ยวเกี้ยวนางมณโฑ”
(คำเด็กร้องเล่นนี้คนในพื้นที่กรุงเทพฯ รุ่นผมต้องได้ยินด้วยกันทั้งนั้น, และบางท่านบางทีก็เป็นผู้แหกปากเสียเอง. แต่คนรุ่นใหม่นี้อาจจะไม่ได้ยิน เพราะส่วนมากเป็นคนมาแต่อื่น).
ปัญหามันมีอยู่ว่า นางมณโฑในลักษณะนี้น่ะ มันมีอยู่ในรามเกียรติ์ฉบับไหน, ได้ตรวจดู ๒-๓ ฉบับแล้ว ไม่เห็นมีหนุมานไปสืบข่าวนางสีดานั้น หนุมานได้ขึ้นไปค้นหานางสีดาจนทั่วมหาปราสาทในกรุงลงกา พบหญิงสาวนางหนึ่งนอนอยู่กับทศกัณฐ์ สำคัญผิดคิดว่าเป็นนางสีดา ด้วยความโมโหที่มีใจให้แก่ยักษ์ ก็เงื้อตรีขึ้นจะแทง แต่เผอิญเหลือบไปเห็นหน้าอกที่นมโตไม่เสมอกันก็เลยชะงัก, นึกขึ้นได้ถึงคำกล่าวที่ว่า “นางมณโฑนมโตข้างเดียว ทศกัณฐ์ปากเบี้ยวเกี้ยวนางมณโฑ”, ก็เลยรู้ว่าไม่ใช่นางสีดา.
ในตอนเดียวกันนี้ ในรามเกียรติ์ฉบับใหญ่ (ร.๑) กล่าวว่า :-
“(หนุมาน) ก็ขึ้นยังไพชยนต์พิมานชัย
เข้าในห้องแก้วแพรวพรรณ
เห็นอสูรตนหนึ่งนิทรา
ยี่สิบกรสิบหน้าขึงขัน
ก็รู้ว่าท้าวทศกัณฐ์
มีนางหนึ่งนั้นแนบนอน
ทรงโฉมอำไพวิไลลักษณ์
ผ่องพักตร์เพียงเทพอักษร
สาวสนมดั่งดารากร
ห้อมล้อมจันทรเรียงราย
ดูไปไม่ทันพินิจ
คิดว่าสีดาโฉมฉาย
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงพราย
ใจหมายจะฆ่าราวี
ขบฟันกระทืบบาทา
ดูดู๋สีดามารศรี
พระหริวงศ์ทรงโศกโศกี
ดังหนึ่งชีวีจะบรรลัย
ควรหรือมาร่วมรสรัก
กัลอ้ายทศพักตร์ก็เป็นได้
ไม่ซื่อตรงต่อองค์ภูวไนย
ไว้ไยให้หนักดินดอน
กูจะตัดเศียรเกล้าไปถวาย
องค์พระนารายณ์ทรงศร
คิดพลางแกว่งตรีฤทธิรอน
วานรโลดโผนโจนมา
เงือดเงื้อจะพิฆาตฟาดลง
ครั้นเข้าใกล้องค์ก็เห็นหน้า
ว่านางมณโฑโสภา
มิใช่สีดาเทวี”.
ในฉบับ ร.๒ ก็ความเดียวกัน, แต่ในฉบับระเบียงโบสถ์พระแก้วกล่าวความไปอีกอย่างหนึ่ง ดังนี้-
“กลับปรางสี่ได้ เหนองค์
ทศภักตร์แนบอนงค์ นิ่มเนื้อ
ตริว่าลักษมีปลง จิตรเสน่ห์ มารแฮ
โกรธยักษ์ชักตรีเงื้อ ปจวบจิ้งจกเสียง
ลิงฉงนดลนึกได้ นางมณโฑแฮ
อีกหมู่สนมยล เพียบพื้น”
ฉบับนี้หนุมานเงื้อตรีศุลขึ้นจะฆ่า เผอิญจิ้งจกทักก็เลยชะงักไว้ แล้วนึกขึ้นได้ว่าคือนางมณโฑ.
การชะงักของหนุมานนี้ พินิจดูทั้ง ๓ ฉบับแล้วเห็นว่าฉบับ ร.๑ เป็นเหตุเป็นผลที่สุด เพราะเมื่อพาลีได้นางมณโฑมานั้น หนุมานก็อยู่ในเมืองขีดขินด้วย ได้เข้าเฝ้าแหนเป็นประจำ ย่อมรู้จัก.
หนุมานแปลงกายเป็นทศกัณฐ์มาล้างพิธีหุงน้ำทิพของนางมณโฑ เพราะพิเภกบอกเคล็ดไว้ว่า ถ้าหญิงมีผัวถึง ๓ คนแล้วจะทำไม่ได้
ในสมัยโบราณเมื่อไม่นานมานี้ (ร.๔) มีผู้เอาความที่นางมณโฑมีผัวหลายคนมาเสียดสีผู้หญิงที่ชอบเปลี่ยนผัวว่า “นางมณโฑโสภาหกสามี สองกระบี่สี่ยักษ์รักระดม” (เพลงยาวกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์), เราลองมาดูกันซิว่าเป็นนางมณโฑของรามเกียรติ์ฉบับไหน.
นางมณโฑนั้นกำเนิดเดิมเป็นกบเฝ้าอ่างน้ำนม (คือคอยกินน้ำนมที่เหลือก้นอ่าง) พระฤษี, วันหนึ่งพระฤษีทั้ง ๔ ไปเดินป่า ไปเห็นนางนาคกำลังสมัครสังวาสกับงูดิน :-
“เที่ยวมาเห็นนางนาคี ยินดีกรีฑาด้วยงูดิน
จึงหยุดยืนอยู่ดูไป หลากใจนิ่งนึกตรึกถวิล
เหตุใดวิสัยนาคิน มายินดีด้วยชาติอันต่ำพงศ์
ไม่คิดสงวนศักดิ์รักษาตัว กลั้วกาให้เสียเผ่าหงส์
เสียดายตระกูลประยูรวงศ์ มาหลงคบชู้ที่กลางทาง
คิดแล้วเอาไม้เท้าเคาะ เบาะลงที่ตรงขนดหาง
เห็นกระสันพันกันไม่ละวาง จึงเคาะซ้ำลงกลางกายา”
นางนาคลืมตาขึ้นมาเห็นพระฤษี ด้วยความอัปยศอดอาย ก็คลายขนดแทรกแผ่นดินหนีไปเมืองบาดาล. กลับไปถึงเมืองก็ไปนั่งคิดนอนคิด ความอายน่ะอายอยู่แล้ว ถึงขนาดแทรกแผ่นดินหนีมาแล้ว, แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ถ้าพระบิดารู้ความ อะไรจะเกิดขึ้น, นางจึงคิดฆ่าพระฤษีเพื่อปิดความ. คิดแล้วก็ขึ้นมาบนพื้นดิน :-
“ครั้นถึงศาลาอาศรม เห็นอ่างน้ำนมพระฤาษี
คายพิษลงไว้ทันที เสร็จแล้วเทวีกลับไป”
อ่างน้ำนมนี้เป็นแอ่งหินที่แม่วัวในป่ามาหยดนมถวายพระฤษีทุกวัน.
พฤติกรรมของนางนาคนี้ นางกบซึ่งอาศัยอยู่ข้างอ่างได้เห็นตลอด, ก็รู้เจตนาของนางนาค. จึงมารำพึงกับตัวว่าอันตัวกูนี้ได้อิ่มหนำสำราญอยู่ทุกวี่วันก็เพราะพระฤษีท่านเมตตาเหลือนมก้นอ่างให้ได้กิน, ถ้าเรานิ่งอยู่ถึงเวลาท่านก็มาฉันเข้าไป ก็จะถึงแก่กาลกิริยา, จำเราจะทดแทนพระคุณท่าน แม้นตายไปขอเกิดชาติใหม่เป็นมนุษย์. คิดแล้วก็โดดลงไปในอ่างนม, ด้วยพิษของนาคนางกบก็สิ้นชีวิต.
ฝ่ายพระฤษีทั้ง ๔ เมื่อเช้าขึ้นก็ไปยังอ่างนมตามเคย :-
“มาถึงแผ่นผาศิลาลาด ขึ้นนั่งยังอาสน์ที่เคยฉัน
เห็นมณฑกตกม้วยชีวัน พระนักธรรม์คิดรังเกียจไป
กบนี้มันชาติเดียรฉาน โลภอาหารล้นพ้นวิสัย
แต่ให้ยังไม่หนำใจ ลงกินในอ่างจนวายชนม์
แม้นจะไม่ช่วยชีวิต จะเสียเมตตาจิตจำเริญผล
คิดแล้วฤษีทั้งสี่ตน คีบขึ้นเป่ามนต์ก็เป็นมา”
เมื่อฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาแล้ว พระฤษีก็บริภาษนางกบว่าตะกละ, ให้กินยังไม่พอ, คิดจะกินให้ล้นกะเพาะขนาดโดดลงไปกินในอ่าง เลยพลาดพลั้งถึงตาย. นางกบก็บอกว่า :-
“ข้าม้วยชีวี เหตุด้วยนาคีมาพ่นพิษ
ลงไว้ในอ่างน้ำนม ข้าปรารมภ์ถึงองค์พระนักสิทธิ์
กลัวว่าจะม้วยชีวิต จึงคิดแทนคุณพระมุนี”
พระฤษีทั้ง ๔ ได้ฟังก็เดาออกว่าเพราะพิษแค้นของนางนาค. และเพื่อตอบแทนคุณความดีของนางกบที่สู้สละชีวิต :-
“อย่าเลยจะชุบขึ้นเป็นหญิง จัดสิ่งที่งามประสมใส่
ให้สิ้นโฉมนางฟ้าสุราลัย เลิศล้ำกว่าไตรโลกา”
ครั้นแล้วก็ชุบขึ้นเป็นมนุษย์
“งามพักตร์ยิ่งชั้นมหาราช งามวิลาสล้ำนางในดึงสา
งามเนตรยิ่งเนตรในยามา งามนาสิกล้ำในดุษฎี
งามโอษฐงามกรรณงามปราง ยิ่งนางในนิมารศี
งามเกศยิ่งเกศกัลยาณี อันมีในชั้นนิรมิต”
สรุปว่า ทุกอวัยวะงามยิ่งกว่านางสวรรค์ในหกชั้นฟ้า (ฉกามาพจร). เมื่อสวยอย่างนี้จะอยู่ได้อย่างไรในป่า กับพระฤษี, ก็จึงเอาไปถวายไว้ให้เป็นข้าบาทพระอิศวร.
พาลีเจ้าเมืองขีดขินเห็นนางมณโฑก็เกิดเสน่หารักใคร่แย่งเอาตัวมาเป็นเมียแต่สุดท้ายก็ต้องคืนนางมณโฑให้แก่ทศกัณฐ์
อยู่ต่อมาเขาไกรลาศเกิดทรุดเอียง เนื่องจากท้าววิรุฬหกซึ่งอยู่ในเมืองบาดาลมาเฝ้าพระอิศวร, พระองค์ยังบรรทมอยู่ แต่วิรุฬหกสำคัญว่าเสด็จออกเทวสมาคม, พอก้าวขึ้นไปขั้นหนึ่งก็หมอบกราบไปทุกขั้น. ตุ๊กแกตัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่เชิงเขาพระสุเมรุนั้น เห็นอาการของวิรุฬหกเป็นเรื่องน่าขัน, พอวิรุฬหกกราบทีก็ร้อง “ตุ๊กแก” ที แล้วชูคอเป็นเชิงเยาะเย้ย, วิรุฬหกโมโหก็ถอดสังวาลขว้าง. ตุ๊กแกตาย, แต่ผลพวงก็เกิดตามมาจากฤทธิ์เดชของสังวาล คือเขาพระสุเมรุทรุดเอียง. ร้อนถึงพระอิศวรต้องประกาศหาผู้ที่สามารถ, ใครยกขึ้นตรงได้ จะให้รางวัลให้ถึงใจ.
บรรดาเทวดาเบ็ดเตล็ดต่างอยากได้รางวัลก็พากันอาสา, แล้วต่างก็มาผาดแผลงสำแดงฤทธิ์, แต่ก็ไม่มีหวัง.
“เมื่อนั้น พระอิศวรบรมนาถา
นิ่งนึกตรึกถวิลจินดา ว่าลูกลัสเตียนกุมภัณฑ์
สิบเศียรสิบพักตร์ยี่สิบกร กำลังฤทธิรอนแข็งขัน
มีนามชื่อว่าทศกัณฐ์ เห็นมันจะยกได้ด้วยศักดา
คิดแล้วจึงสั่งจิตุบท จงไปหาทศพักตร์ยักษา
ยังกรุงพิชัยลงกา ให้รีบขึ้นมาวันนี้”
ทศกัณฐ์ก็มาครับ, และรับอาสาทันที :-
“ทูลแล้วถวายบังคมลา ออกมานิมิตอินทรีย์
ใหญ่เท่าบรมพรหมาน ตระหง่านเงื้อมพระเมรุคีรีศรี
ตีนเหยียบศิลาปัฐพี อสุรีเข้าแบกยืนยัน
ยี่สิบกรกุมเหลี่ยมเขา เท้าถีบด้วยกำลังแข็งขัน
ลั่นเลื่อนสะเทือนหิมวันต์ เขานั้นก็ตรงคืนมา”
เมื่อภูเขาตั้งตรงแล้วทศกัณฐ์ก็ขอรางวัล คือขอพระอุมา, เล่นเอาพระอิศวรอึ้ง :-
“ชิชะน้อยฤาทศกัณฐ์ โมหันธ์อาจองทะนงจิต
ล่วงขอมารดาสุราฤทธิ์ คิดใหญ่ใฝ่สูงกว่าพักตรา
แต่กูได้ออกปากไว้ จำเป็นจะให้แก่ยักษา”
เทวดาผู้ใหญ่นะครับ ก็เหมือนกษัตริย์ ตรัสแล้วต้องไม่คืนคำ, ก็จำเป็นต้องให้. ทศกัณฐ์ก็พามา. แต่ว่าพระอุมานั้นนอกจากพระอิศวรแล้วใครจะแตะต้องพระวรกายของท่านไม่ได้ จะร้อนเป็นไฟ. ทศกัณฐ์พาไปนั้นอุ้มไม่ได้, ต้องช้อนพระบาททูนหัวเหาะไป. แต่ไปไม่ได้เท่าไหร่ก็ต้องลงเดิน เพราะถึงยังไงก็ยังร้อน.
แต่ที่ร้อนพอๆ กันก็คือบรรดาเทวดาทั้งหลายที่เห็นทศกัณฐ์พาเอาพระแม่โลกไป, จึงพากันไปหาพระนารายณ์ให้ช่วยแก้ไข.
การที่นางมณโฑมีหลายผัว ทั้งยักษ์ทั้งลิงวุ่นไปหมด ไม่ใช่ว่าตั้งใจมี แต่เพราะความจำเป็น
พระนารายณ์ก็แปลงเป็นยักษ์แก่ไปดักต้นทางที่จะเข้าลงกา แกล้งปลูกต้นไม้เอายอดลงดิน, ทศกัณฐ์มาเห็นเข้าก็แสดงความฉลาดทันที :-
“ตาเฒ่านี้โฉดพ้นไป ใครปลูกต้นไม้เอาปลายลง”
ยักษ์เฒ่าก็ยิ้มเยาะ แล้วตอบว่า ท่านซิโฉดเขลา :-
“นางดีมีอยู่ไม่พอใจ เอาหญิงจัญไรอะไรมา
เมื่อลักขณะคือพระกาฬ จะผลาญโคตรวงศ์ยักษา
สูญสิ้นทั้งกรุงลงกา หลับตาไม่รู้ว่าชั่วดี”
ทศกัณฐ์ก็ชักเอะใจ, คงจะจริง, แต่ขนาดเอาทูนหัวก็ยังร้อน. ก็เลยถามไปว่า แล้วนางไหนล่ะที่ว่าดี. ยักษ์แก่ก็บอก :-
“——– นางหนึ่งลักขณาวิลาวัณย์
ชื่อว่ามณโฑเทวี งามล้ำนารีสรวงสวรรค์
ผิวพักตร์ผ่องเพียงดวงจันทร์ สารพันเป็นที่จำเริญรัก”
ทศกัณฐ์ก็พาพระอุมากลับมาคืน ขอนางมณโฑไป. กอดตระกองเหาะมาทางเมืองขีดขิน, เผอิญวันนั้นเจ้าเมืองขีดขิน คือพาลี ออกมานั่งว่าราชการตรงสีหบัญชร เหลือบเห็นทศกัณฐ์อุ้มนางเหาะข้ามมหาปราสาทก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เหาะขึ้นไปขวางทศกัณฐ์.
พาลีนั้นใครรบด้วยก็ต้องแพ้ เพราะได้พรของพระอิศวร, คู่รบนั้นจะต้องถอยกำลังลงกึ่งหนึ่งมาเพิ่มให้แก่พาลี.
ก็เป็นอันว่าทศกัณฐ์อุ้มนางมณโฑมาทิ้งไว้ให้แก่พาลี, นี่ ๑ ลิงละ.
ภายหลังทศกัณฐ์ไปขอความช่วยเหลือจากพระฤษีโคบุตรผู้อาจารย์, พระฤษีโคบุตรแนะให้ทศกัณฐ์ไปหาฤษีอังคตอาจารย์พาลี, ทศกัณฐ์ก็ไปหาพระฤษีอังคตให้ช่วยว่ากล่าวแก่พาลีให้คืนนางมณโฑให้แก่ตน. พระฤษีอังคตก็ไปเจรจากับลูกศิษย์ :-
“นางนี้สิเป็นเมียเขา องค์พระเป็นเจ้าประทานให้
เป็นบำเหน็จทศกัณฐ์ชาญชัย แจ้งไปจะเคืองพระบาทา
พระองค์เป็นองค์เทเวศ ใช่จะไร้อัคเรศเสน่หา
รูปขอคืนให้อสุรา เห็นว่าจะมีไม่ราคี”
พาลีนั้นทั้งรักทั้งเสียดายนางมณโฑ แต่ที่พระอาจารย์ว่ามาก็เป็นทางที่ถูก จะไม่ให้ก็เกรงใจทั้งพระอาจารย์และพระอิศวร. เผอิญตอนนั้นนางมณโฑตั้งครรภ์ได้ ๖ เดือน จึงมีข้อแก้ว่า :-
“——– ทศกัณฐ์อาจใจให้เกินหน้า
ควรฤาจึ่งขอพระอุมา แล้วเหาะข้ามพาราไม่เกรงใจ
ข้าทำทั้งนี้ด้วยความโกรธ เมื่อว่าเป็นโทษจะส่งให้
แต่นางมณโฑทรามวัย มีครรภ์ได้ถึงกึ่งปี
จะผ่อนปรนก็ขัดสนนัก ด้วยลูกรักในท้องมารศรี
ข้ามิให้ปนศักดิ์อสุรี พระมุนีจงได้เมตตา”
พระฤษีอังคตก็แก้ปัญหานี้ด้วยการ “ฝากตัวอ่อน” ไว้ในท้องแพะ คือผ่าท้องนางมณโฑเอาลูกอ่อนในท้องออกมาใส่ในท้องแม่แพะให้แพะช่วยเลี้ยงจนกว่าจะครบกำหนดคลอด. เช่นนั้นองคตจึงมีปากไม่เหมือนลิงอื่น คือปากหุบเหมือนปากแพะ. และได้ชื่อ “องคต” ตามชื่อพระฤษีที่เป็นอาจารย์ของพ่อซึ่งเป็นผู้จัดแจงเรื่องกำเนิดขององคต.
แล้วทศกัณฐ์ก็ได้ตัวนางมณโฑไปตั้งไว้ในตำแหน่งมเหสีเอก, นี่ ๑ ยักษ์ละ.
เมื่อสงครามกับรามลักษมณ์งวดเข้าๆ คืออสุรวงศ์พงศ์พันธุ์ตายสิ้นจนตัวเองต้องออกรบเอง เอาหอกศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อกบิลพัทพุ่งโดนพระลักษมณ์ก็ไม่ตาย ก็ชักหมดปัญญา.
นางมณโฑนั้น เมื่อครั้งอยู่กับพระอิศวรเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดพระอุมา, พระอุมาโปรดปรานมาก ก็สอนมนต์ให้บทหนึ่งชื่อ “สญชีพ” ใช้เสกน้ำ. น้ำที่ได้จากมนต์นี้มีอานุภาพคือ รดคนที่ตายแล้วให้ฟื้นคืนมาได้.
ในคราวที่ไปทำศึกกลับมาครั้งนี้ แม้ว่าทศกัณฐ์จะพุ่งหอกโดนพระลักษมณ์ก็จริง แต่พิเภกก็บอกยาแก้ให้ฟื้นได้. ในกระบวนการรักษานั้น นอกจากตัวยาอันมีสังกรณี-ตรีชวา-ขี้โคอุศุภราชแล้ว แม่หินสำหรับบดอยู่ในบาดาล, ส่วนลูกหินนั้นเป็นหมอนหนุนหัวทศกัณฐ์, อย่างไรก็ตาม หนุมานก็ไปเอามาได้, แต่ในการเอาลูกหินบดยาที่ทศกัณฐ์นั้น หนุมานเห็นทศกัณฐ์มีนางมณโฑนอนอยู่เคียงข้างก็ให้เกิดหมั่นไส้ เลยเอาผมของทศกัณฐ์กับนางมณโฑผูกกันไว้ แล้วสาปไม่ให้ใครแก้ออก เว้นแต่นางมณโฑจะต่อยหัวทศกัณฐ์ ๓ ที.
เรื่อง “ถือหัว” ของผู้ชายนี้ในสมัยโบราณมีเป็นอย่างไรลองดูกลอน :-
“แต่ผูกผมแล้วมิหนำซ้ำสาปไว้ จำเพาะให้เมียต่อยน่าน้อยจิต
โอ้อกเอ๋ยอัปยศทศทิศ ถอยทั้งกำลังฤทธิ์วิทยา”
เนื่องจากเหตุการณ์นี้เอง ทำให้ทศกัณฐ์กินไม่ได้นอนไม่หลับ. นางมณโฑเวทนาผัวก็เลยเผยความลับคือวิชาหุงน้ำทิพดังกล่าวแล้ว. ทศกัณฐ์มีหรือจะไม่ชอบ. ผลของการหุงน้ำทิพก็ทำให้อสุรวงศ์พงศ์ยักษ์ที่ตายๆ ไปฟื้นชีพขึ้นมารบกับพระรามหมด, ร้อนถึงต้องถามพิเภก, พิเภกก็บอกเคล็ดให้ว่า อันวิชาหุงน้ำทิพที่นางมณโฑทำอยู่นี้ ถ้าหญิงมีผัวถึง ๓ คนแล้วจะทำไม่ได้ ขอให้ส่งทหารไปทำลายพิธี, เมื่อไม่มีน้ำทิพมารด ที่ตายไปแล้วก็จะไปลับ. พระรามก็ให้หนุมานไปทำลายพิธี.
ในระหว่างที่ทศกัณฐ์กำลังเพลินกับการรบอยู่ทางนี้, หนุมานก็ดอดไปทางโรงพิธี แปลงตัวเป็นทศกัณฐ์ :-
“ขึ้นนั่งเตียงเคียงมณโฑโสภา แกล้งกล่าวรสพจนาปราศรัย
อันน้ำทิพโฉมยงซึ่งส่งไป พี่รดให้อสุรกายกลายเป็นมา
พวกปิศาจอาจหาญเข้าราญรอน ผลาญวานรมนุษย์สุดสังขาร์
ยังเหลือแต่พิเภกอนุชา มันหนีไปในป่าพนาลี
พี่แบ่งให้ไพร่พลอยู่ค้นจับ จึงเลิกทัพกลับคืนมากรุงศรี
หวังจะเล่าแถลงแจ้งคดี กลัวจะตั้งพิธีไปป่วยการ
จะรอรั้งนั่งอยู่ทำไมเล่า ขอเชิญเจ้าคืนปราสาทราชฐาน
แล้วกุมกรโฉมยงนงคราญ หนุมานพาไปยังไพชยันต์
ว่าพลางอิงแอบแนบสนิท จุมพิตชิดเชยภิรมย์ขวัญ
ไม่ขัดข้องสองจิตประจวบกัน เกษมสันต์สำราญบานใจ”
ระหว่างที่หนุมานทำลายพิธีอยู่ในปราสาทนั้น พรรคพวกที่อยู่ข้างนอกคือชมพูพานก็เข้ารื้อโรงพิธี. ฝ่ายหนุมานเมื่อเสร็จล้างพิธีแล้วก็ดีดตัวออก (เพราะทศกัณฐ์ตัวจริงจะต้องเข้ามาเมื่อน้ำทิพหมด) ตามหมากกลที่วางไว้ คือที่ว่า “พิเภกหนีเข้าป่า” คือขอตัวไปตามพิเภก. นี่ก็ลิงที่ ๒ ละ, แต่เป็นผัวที่ ๓. และเป็นเหตุให้นางมณโฑหุงน้ำทิพไม่ขึ้นอีกต่อไป
เมื่อสิ้นทศกัณฐ์แล้ว :-
“อันลงกาเป็นเชลยเบื้องบาท พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี
ให้พิเภกกับมณโฑเทวี ขึ้นผ่านธานีสวรรยา”
พิเภกก็เป็นยักษ์ที่ ๒, แต่เป็นผัวที่ ๔. สรุปแล้วก็แค่ ๒ กระบี่ ๒ ยักษ์. ไอ้ “สองกระบี่สี่ยักษ์” นั้นน่ะ, คงจะเป็นฉบับในวังของท่านเป็นแน่.
อีกหนึ่งจะเห็นได้ว่า การที่นางมณโฑต้องมีผัวหลายคนนั้นเป็นเพราะความจำเป็น คือ ถูกบังคับบ้าง, ถูกหลอกบ้าง, หาได้เป็นด้วยนิสสัยใจจริงของนางไม่.
|