Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 21:00:13

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  หมวดหมู่ทั่วไป  |  สาระน่ารู้ (Moderators: CYBERG, MIDORI)  |  เมธีแห่งปราชญ์ รพินทรนาถ ฐากูร กับสังคมไทย
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: เมธีแห่งปราชญ์ รพินทรนาถ ฐากูร กับสังคมไทย  (Read 1167 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 01 January 2013, 13:12:47 »

เมธีแห่งปราชญ์ รพินทรนาถ ฐากูร กับสังคมไทย

รพินทรนาถ ฐากูร ชายอินเดีย ชาวเอเชียคนนี้ไม่เคยจบมหาวิทยาลัย ไม่มีแม้กระทั่งปริญญา แต่เมื่อราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดนได้ประกาศจากกรุงสตอกโฮล์มว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) คือ รพินทรนาถ ฐากูร จากการประพันธ์ กวีนิพนธ์ “คีตาญชลี” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชาวเอเชียได้รับรางวัลนี้ และเป็นครั้งแรกอีกเช่นเดียวกันที่โลกได้ค้นพบและประจักษ์ถึงอัจฉริยภาพของปราชญ์ท่านนี้

       เกียรติยศของรพินทรนาถขจรขจายไปทั่วโลก ในกรุงลอนดอน ภาพวาดของรพินทรนาถถูกติดตั้งไว้ที่ The National Portrait Gallery คนอินเดียเองเริ่มหันมาสนใจผลงานการคิดการเขียนของเขามากขึ้น เช่นเดียวกับคนทั่วโลกต่างเสาะแสวงหางานของเขามาศึกษา เพราะงานทุกชิ้นล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า บรรจุไว้ซึ่งข้อคิดและคำสอนมากมากที่มีคุณค่าแก่ชีวิตและไม่เคยล้าสมัย เช่นเดียวกันกับแนวคิดทางการศึกษา อันส่งผลให้รพินทรนาถก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิศวภารตี หรือ“ศานตินิเกตัน”

       ในโอกาสนี้เราจึงเห็นทุกประเทศทั่วโลกต่างจัดงานเฉลิมฉลอง 150 ปีชาตกาลอย่างยิ่งใหญ่ให้กับ มหาปราชญ์ รพินทรนาถ ฐากูร หรือ “คุรุเทพ” แห่งเอเชียผู้นี้  เช่นเดียวกับที่ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของรพินทรนาถ รัฐบาลอินเดีย โดยนางโซเนีย คานธี ไม่เพียงแต่เฉลิมฉลองวโรกาสดังกล่าว แต่ยังได้ประกาศการจัดตั้ง รางวัลรพินทรนาถ ฐากูร ขึ้นเพื่อมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรใดๆ ก็ตามที่โดดเด่นในด้านการสร้างความสมานฉันท์ เพื่อการเชิดชูผลงานและสืบสานเจตนารมย์ของรพินทรนารถ ฐากูร

สายสัมพันธ์ไทย-อินเดีย
       ย้อนกลับมาดูในประเทศไทย เรามีสายสัมพันธ์อันยาวนานกับรพินทรนาถ ฐากูร ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะหลังจากได้รับรางวัลโนเบล รพินทรนาถ ฐากูร เดินทางไปหลายประเทศทั่วโลกเพื่อแสดงปาฐกถาทั้งในยุโรป อเมริกา อังกฤษ เอเชีย และไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย หรือ “สยาม” ของเรา

       รพินทรนาถมาถึงเมืองไทยในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2470 และในคืนวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2470 ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่เพียงลำพัง ก่อนที่จะแสดงปาฐกถาหน้าพระที่นั่งในเวลา 22.00 น. ณ ท้องพระโรงหลัง พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ที่ประทับในขณะนั้น

       นอกจากนั้นยังเข้าเฝ้าเจ้านายสยามผู้ทรงมีบทบาทสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ การศึกษา และการพาณิชย์หลายพระองค์ คือ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าธานีนิวัต (เสนาบดีกระทรวงธรรมการ) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสรรค์วรพินิต พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์(เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ตามลำดับ

       เข้านมัสการสมเด็จพระสังฆราชและพระญานวราภรณ์และชมวัดบวรนิเวศฯ นมัสการพระสาสนโสภณและชมวัดเทพศิรินทร์ฯ โรงเรียนบาลี และโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ฯ ชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังรวมทั้งวัดสำคัญอื่นๆ อีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ รวมทั้งโบสถ์พราหมณ์ นอกจากนั้นได้เยี่ยมวชิราวุธวิทยาลัยและโรงเรียนเพาะช่าง

       รพินทรนาถได้แสดงปาฐกถาเรื่อง "History of Indian Art" ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบกับชาวฮินดูและชาวจีนในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะเดินทางไปชมโบราณสถานที่ลพบุรีและพระนครศรีอยุธยาในวันสุดท้ายของการมาเยือน

      ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวิตรี เจริญพงศ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการมาเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูรไว้ในปาฐกถาชุดเสาหลักของแผ่นดิน ในตอนหนึ่งว่า ท่านบัณฑิต รากูนาถ ชาร์มา ผู้ร่วมในงานเลี้ยงในช่วงที่รพิทรนาถมาเยือน เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหม่อมเจ้าธานีนิวัต (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรในภายหลัง) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ(ศึกษาธิการ) ได้ทรงขอให้รพินทรนาถจัดหาปราชญ์ชาวอินเดียเข้ามาสืบสานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับอินเดีย

      “ในพ.ศ.2475 รพินทรนาถได้ส่งสวามี สัตยานันทบุรี (Prafulla Kumar Sen) อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาปรัชญาและภาษาสันสกฤต เข้ามาพำนักในกรุงเทพฯ ถึง 10 ปีในฐานะ ‘ทูตวัฒนธรรม’ สวามีสัตยานันทบุรี ได้เรียนภาษาไทยกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และได้แสดงปาฐกถาเป็นภาษาไทยหน้าพระที่นั่งเรื่อง “The Origins of Buddhist Thought” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้สอนภาษาสันสกฤตที่นี่ด้วย และได้จัดตั้ง ‘ธรรมาศรม’ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ”

       รพินทรนาถถึงแก่กรรม ณ บ้านของท่าน ที่ศานตินิเกตัน เมื่ออายุ 80 ปีในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตที่อังกฤษ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม

เอกสารอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
        ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล กรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ค้นพบเอกสารชิ้นสำคัญ ซึ่งเป็นบัตรที่รพินทรนาถส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายสองปีกว่า หลังจากที่มาเยือนสยาม ได้เขียนบทความไว้ใน จดหมายข่าว ของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2553 ว่า  “เมื่อหลายปีมาแล้วผมเจอบัตรใบที่ท่านเห็นอยู่นี้ในสมบัติเก่าๆ ที่บ้าน อ่านดูและสังเกตวันเดือนปีทราบทันทีว่า รพินทรนาถ ฐากูร ปราชญ์นักประพันธ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปี ค.ศ.1931 (พ.ศ.2456) ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อค.ศ.1929 (พ.ศ.2472)”

      ปัจจุบันไปรษณียบัตรสำคัญใบนี้ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ได้มอบให้พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป

     หลักฐานที่สำคัญและทรงคุณค่าอีกสิ่งหนึ่งก็คือ บทประพันธ์ ที่รพินทรนาถได้ประพันธ์ให้แก่ประเทศไทย นั่นคือ “ To Siam”  และเมื่อท่านอำลาจากสยาม ท่านได้ประพันธ์อีกบทคือ “ Farewell to Saim”

วรรณกรรมสำคัญถูกแปลเป็นภาษาไทย 
      จากนั้นมาประเทศไทยก็เริ่มตื่นตัวและมีการแปลวรรณกรรม และบทกวีของรพินทรนาถ ฐากูร ดังเช่น ปรัชญานิพนธ์เรื่อง "สาธนา"  ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในปีพ.ศ.2504 โดย ศาสตราจารย์ระวี ภาวิไล นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังได้พิมพ์เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองร้อยปีรพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร เป็นประธานกรรมการการจัดงานในครั้งนั้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2504

       ในปีพ.ศ.2512 “คีตาญชลี” หรือ “บทขับร้องบูชา” ทั้ง 103 บท ฉบับแปลเป็นไทยก็เกิดขึ้นโดยการแปลและถ่ายทอดโดย อาจารย์กรุณา -เรืองอุไร กุศลาสัย ซึ่งทั้งสองท่านถือได้ว่าเป็นผู้มีคุณูปการกับวงการหนังสือของไทย และได้ถ่ายทอดวรรณกรรมสำคัญหลายเล่มของรพินทรนาถเป็นภาษาไทย

       บทกวีเรื่อง "จันทร์เสี้ยว" ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ.2526 ซึ่งแปลโดย ปรีชา ช่อประทุมมา ซึ่งถือเป็นนักแปลที่เข้าถึงความเป็นอินเดียอย่างยิ่งเนื่องจากเคยใช้ชีวิตและศึกษาอยู่ที่ศานตินิเกตัน นอกจากนั้นแล้วยังมีผลงานวรรณกรรม และบทกวีเล่มอื่นๆที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย เช่น หิ่งห้อย เหมือนหนึ่งนกที่จากรัง คนสวน ฯลฯ

      บุคคลสำคัญด้านภาษาไทยอย่าง นายตำรา ณ เมืองใต้ หรือ อ.เปลื้อง ณ นคร ก็เคยเขียนถึงเรื่องสั้นของรพินทรนาถว่า “ เรื่องสั้นของรพินทรนาถนี้แม้จะเป็นเรื่องที่ได้เรียบเรียงไว้นานมาแล้วแต่ก็เป็นจำพวกหนังสือที่ไม่ตาย เป็นเรื่องชีวิตที่สมสมัยอยู่ตลอดกาล”

       แต่ก็นับว่ามีการถ่ายทอดงานของรพินทรนาถเป็นภาษาไทยอยู่ไม่มากหากเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกดังที่ อาจารย์เรืองอุไร-กรุณา กุศลาสัย เขียนเอาไว้เมื่อครั้งแปลเรื่อง เหมือนหนึ่งนกที่จากรัง ว่า“รสนิยมในการอ่านหนังสือในประเทศเรา โดยเฉพาะรสนิยมในการอ่านหนังสือของเยาวชนหนุ่มสาว ได้แปรเปลี่ยนไปในลักษณะที่ไม่สู้จะอาทรต่อวรรกรรมในลักษณะที่เป็นแบบฉบับของรพินทรนาถ ซึ่งมุ่งหนักไปในทางสร้างสรรค์ ศีลธรรม และจริยธรรมในสังคม...

        “...ฐากูร เป็นทั้งจินตกวี และปรัชญาเมธี ผู้มุ่งมั่นที่จะแก้ไขในสิ่งผิดที่เกิดขึ้นในสังคมของอินเดีย ดังนั้นข้อเขียนของท่านทั้งที่เป็นร้องกรองและร้อยแก้ว จึงเพียบพร้อมด้วยนิทัศน์อุทาหรณ์ และพฤติการณ์อันสะท้อนให้เห็นถึง ‘สิ่งผิด’ในสังคมแห่งประเทศชาติมาตุภมิของท่านเอง ซึ่งท่านมีเจตนาจะ ‘แก้ไข’ แม้กระนั้นก็ดี สภาวการณ์ในสังคมไทยกับภารตประเทศมี จุดแข็งและจุดอ่อนคล้ายคลึงกันด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว เราซึ่งเป็นผู้อ่านในประเทศไทยก็น่าจะได้ ข้อคิดใหม่ๆ จากการอ่านงานนิพนธ์ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์” ท่านหนึ่งของโลก แล้วนำมาเปรียบเพื่อประยุกต์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมในประเทศของเราบ้างก็น่าจะดีไม่น้อย”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมจัดการสัมมนาครั้งประวัติศาสตร์
       ในวโรกาสเฉลิมฉลอง 150 ชาตกาล ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร เครือข่ายจุฬานานาชาติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสถานทูตอินเดีย ศูนย์วัฒนธรรมอินเดียในประเทศไทย โดยการสนับสนุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ จัดสัมมนานานาชาติขึ้น ภายใต้หัวข้อ “Tagore’s Vision for Asia: Human Solidarity Beyond Nationalism” ในวันที่ 16-17 มิถุนายนนี้ นอกจากนั้นยังมีหัวข้อย่อยในการสัมมนาที่น่าสนใจอีกหลากหลายหัวข้อ เช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ การศึกษา มนุษยธรรม และเรื่องชาตินิยม

      สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ มีนักวิชาการชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการจากประเทศอินเดียร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างคับคั่ง

      ในส่วนของนิทรรศการ มีการจัดแสดงอัตชีวประวัติ และการเดินทางมาสยามของรพินทรนาถ เมื่อครั้งอดีต  และสิ่งที่เป็นไฮไลท์สำคัญของนิทรรศการครั้งนี้คือ การจัดแสดงงานศิลปะ แสดงภาพวาดที่เป็นฝีมือของรพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยาก ถึง 45 ภาพ ภาพเหล่านี้ได้ตระเวนจัดแสดงไปแล้วทั่วโลก ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะได้ชมภาพวาดฝีมือของอัฉริยภาพแห่งเอเชีย นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเสวนาภาคภาษาไทย นิทรรศการภาพยนตร์ บทกวี วรรณกรรม ศิลปะ ที่น่าสนใจอื่นๆ อีกตลอดทั้งเดือนไปจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม นี้

       จากครั้งที่รพิทรนาถ มาเยือนประเทศไทย เวลาล่วงผ่านมาถึง 84 ปี อาจดูเหมือนไม่มีการสานต่อเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของรพินทรนาถมากนัก  แต่สำหรับวโรกาสการเฉลิมฉลอง 150 ปี ชาตกาลรพินทรนาถ ฐากูร ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อาจเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทย นักวิชาการ นักการศึกษา  นักการศาสนา และปัญญาชนไทยจะมีโอกาสย้อนกลับมาขบคิดเกี่ยวกับงานอันทรงคุณค่าของท่าน และแปรเปลี่ยนเป็นรูปธรรมให้เกิดประโยชน์โภคผลในสังคมไทย

        เพราะสิ่งที่ท่านรพินทรนาถเคยพูดไว้เกือบร้อยปีก่อน บัดนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่เคยล้าสมัยสำหรับการนำกลับมาใช้แก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติ ชีวิต และสังคม รวมถึงการสร้างความสงบ ศานติให้เกิดแด่มวลมนุษย์ ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา หรือสีผิวใดก็ตาม

http://www.indiaindream.com/ความสัมพันธุ์ไทย-อินเดีย/เมธีแห่งปราชญ์-รพินทรนาถ-ฐากูร-กับสังคมไทย.html
ก็อปปี้ลิงค์ข้างบนนี้(ตลอดความยาวที่มีเส้นใต้)ไปแป่ะที่ช่อง URL ข้างบนนะครับจะได้ดูภาพประกอบด้วย

.....     
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ ที่คุณจุทามาศ เครือข่ายจุฬานานาชาติ โทร.0-2218-3932-3 Email: chulaglobal@chula.ac.th www.chula.ac.th/chulaglobal



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.043 seconds with 20 queries.