Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 17:13:18

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ชุมชนต้นแบบแห่งความพอเพียง ๔ ภาค และ ชุมชนตัวอย่างทั่วโลก  |  ชุมชนปกาเกอะยอ และ ชุมชนต้นแบบภาคเหนือ  |  วิถีชีวิตและสิทธิชุมชนของคนแม่ลาน้อย
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: วิถีชีวิตและสิทธิชุมชนของคนแม่ลาน้อย  (Read 1669 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 22 December 2012, 04:55:41 »

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
วิถีชีวิตและสิทธิชุมชนของคนแม่ลาน้อย (กลุ่มชาวไตใหญ่และปากะญอเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอแม่ลาน้อย)
http://www.codi.or.th/index.php?option=com_flexicontent&view=item&id=2069


คงจะมีพื้นที่เพียงไม่กี่อำเภอในประเทศไทยที่ยังไม่ถูกร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในโลกของการค้าปลีก เช่น 7-11 ทะลุทะลวงเข้าไป ซึ่งหนึ่งในนั้นย่อมมีอำเภอแม่ลาน้อยอย่างแน่นอน...!!

อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่ใช่ท้องถิ่นที่ทุรกันดารหรือเป็นเมืองชายแดนที่ป่าเถื่อนดงดิบ หรือมีผู้คนเบาบางจนไม่อาจจะทำกำไรสมน้ำสมเนื้อให้แก่ผู้ที่ลงทุนได้ เพราะข้อมูลจากอำเภอแม่ลาน้อยระบุว่า ประชากรทั้งอำเภอมีประมาณ 33,000 คน เฉพาะประชากรในเขตเทศบาลก็มีจำนวนเกือบ 4,000 คน มีโรงเรียนระดับมัธยมและสาขาของสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ตัวเลขและประชากรเหล่านี้ถือว่าไม่เล็กน้อยเลยสำหรับธุรกิจค้าปลีกที่เปิดประตูรอรับเงินจากลูกค้าอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ยังบุกเข้าไปไม่ถึงอำเภอแม่ลาน้อย ทั้งๆ ที่อำเภอรอบข้างที่มีประชากรน้อยกว่าและเบาบางกว่า เช่น อำเภอขุนยวมและสบเมยต่างก็ถูกเจาะทะลวงเข้าไปหมดแล้ว แต่อย่างน้อยๆ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า อำเภอแห่งนี้คงจะมีความเงียบสงบ มีความเป็นตัวตนของตนเองหรือมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น จนสามารถยับยั้งการรุกคืบของกระแสบริโภคนิยมได้

ตัวตนคนแม่ลาน้อย

อำเภอแม่ลาน้อยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 134 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ (เส้นทางเชียงใหม่-ฮอด-แม่สะเรียง-แม่ลาน้อย) ประมาณ 225 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยรถยนต์จากเชียงใหม่ไปเที่ยวที่อำเภอปาย แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่จะใช้อีกเส้นทางหนึ่ง (เชียงใหม่-แม่มาลัย-ปาย) เพราะมีระยะทางใกล้กว่า อำเภอแม่ลาน้อยจึงไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว และอาจถือว่าเป็นทางผ่านของนักเดินทางทั่วไป ซึ่งนั่นก็อาจจะถือว่าเป็นผลดีของอำเภอแม่ลาน้อยที่ยังไม่ถูกรุมทึ้งจากธุรกิจท่องเที่ยวที่กระหายเงินตรา ทั้งๆ ที่อำเภอแม่ลาน้อยก็ไม่ได้ด้อยความงดงามน้อยกว่าเมืองปายแต่อย่างใด เพียงแต่ยังซุกซ่อนและรักษาความบริสุทธิ์ของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ยงค์ยุธ เนตรพงค์ กลุ่มประชาสังคมอำเภอแม่ลาน้อย เล่าว่า อำเภอแม่ลาน้อยประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งคนเมือง ไทใหญ่ (ไต) กะเหรี่ยงหรือปากะญอ ฯลฯ

ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แถบนี้เคยเป็นถิ่นฐานของชาว “ลั๊วะ” หรือ “ละว้า”มาก่อน มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน ซึ่งก็คือ “แม่ลั๊วะหลวง” และ “แม่ลั๊วะน้อย” ต่อมาเมื่อชาวลั๊วะอพยพออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น จึงมีกลุ่มชาวไตหรือไทใหญ่เข้ามาอยู่แทนที่ และเรียกชื่อแม่น้ำดังกล่าวเพี้ยนไปเป็น “แม่ลาหลวง” และ “แม่ลาน้อย” จนกลายมาเป็นชื่อของอำเภอจนถึงปัจจุบันนี้

“กลุ่มชาวไตใหญ่และปากะญอเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งทั้งสองกลุ่มต่างก็มีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และยังยึดถือรากเหง้า คติความเชื่อของตนเองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการพึ่งพาตัวเอง การไม่ฟุ้งเฟ้อ การกินอยู่แบบดั้งเดิม การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่หลงใหลแสงสี หรือสิ่งบันเทิง แม้ว่าเด็กๆ หรือคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะต้องการความทันสมัยต่างๆ แต่เมื่อผู้ใหญ่ไม่ต้องการ หรือเป็นแบบอย่างที่ดี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิด คาราโอเกะจึงแทบจะไม่มี เพราะเพียงทุ่มกว่าๆ ชาวบ้านก็เข้าบ้านนอนแล้ว นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมร้านเซเว่นจึงไม่กล้ามาเปิดที่นี่เพราะกลัวไม่มีคนซื้อ” ยงค์ยุธเล่าถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนแม่ลาน้อย ซึ่งแม้แต่ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ยังต้องหันหลังกลับ

ด้วยสภาพสังคมแบบดั้งเดิมนี้เอง ประกอบกับสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาที่ยังอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านต้องพึ่งพาฝนฟ้าและธรรมชาติเพื่อการเพาะปลูก ดังนั้นการขับเคลื่อนงานพัฒนาต่างๆ ในตำบลแม่ลาน้อยจึงต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน เช่น การอนุรักษ์ป่าไม้ การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน การรักษาแหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน การจัดตั้งธนาคารข้าว การออกข้อบัญญัติของตำบลเพื่อปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย ฯลฯ ตลอดจนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ไม่ถูกรุกรานด้วยกลุ่มทุนเช่นที่อำเภอปาย

โดยมี “กลุ่มประชาสังคมอำเภอแม่ลาน้อย” ซึ่งมียงค์ยุธ เนตรพงศ์ เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนงานพัฒนาในตำบลแม่ลาน้อย ทั้งนี้กลุ่มประชาสังคมฯ ดังกล่าวได้มีการแตกยอดออกมาจากกลุ่มนักพัฒนาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ปี 2542 หลังจากที่รัฐบาลในขณะนั้นได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลกระทบมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จึงมีโครงการ “การลงทุนเพื่อสังคม” หรือ“ซิฟ” ( Social Invesment Fund) เข้าไปสู่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

“เราเห็นว่าโครงการส่วนใหญ่ของรัฐมักจะไม่ยั่งยืน พอหมดงบประมาณก็เลิกโครงการ ดังนั้นเราจึงรวบรวมนักกิจกรรมและนักพัฒนาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน’ หรือ ‘คสข.’ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชาวบ้านได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน” ยงค์ยุธเล่าความเป็นมาของเครือข่าย คสข. ก่อนจะต่อยอดมาเป็น กลุ่มประชาสังคมอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งมีบทบาทในการหนุนเสริมงานพัฒนาต่างๆ ของชาวบ้านในตำบลแม่ลาน้อย

“เงินไม่ใช่พระเจ้า ข้าวต่างหากที่คือพระเจ้า”

ตำบลแม่ลาน้อยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 365 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 288,125 ไร่ มีทั้งหมด 15 หมู่บ้าน (แต่ทางราชการนับเพียง 11 หมู่บ้าน) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ประมาณ 80 % ของพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย และป่าสงวนฯ แม่ยวมฝั่งขวา มีลำน้ำสำคัญที่ไหลผ่าน คือ แม่น้ำยวม และลำน้ำแม่ลาน้อย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปากะญอ รองลงมาคือ ไทใหญ่ และคนเมืองหรือคนพื้นราบ มีประชากรทั้งหมดประมาณ 4,800 คนประมาณ 70 % นับถือศาสนาคริสต์ (ปากะญอ) ประมาณ 30 % นับถือศาสนาพุทธ และนับถือผีเล็กน้อย ชาวบ้าน มีอาชีพปลูกถั่วเหลือง กระเทียม และทำนา ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน ก่อนที่จะมีกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ เข้ามาในตำบลแม่ลาน้อย กลุ่มชาวปากะญอ

ถือเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่มีการจัดตั้งธนาคารข้าวขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกันในยามที่เดือดร้อน แต่ธนาคารข้าวของชาวปากะยอไม่ได้มาจากแนวคิดหรือการส่งเสริมจาก นักพัฒนาภายนอก มันเป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมานานหลายร้อยปี

ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า “กองบุญข้าว” คือหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว ชาวบ้านก็จะมีการทำบุญขวัญข้าว มีการนำเอาข้าวปลาอาหารมาเซ่นไหว้ เพื่อตอบแทนพระคุณของข้าวที่ออกช่อชูรวงมาให้กิน จากนั้นแต่ละครอบครัวก็จะแบ่งข้าวเปลือกเอามากองร่วมกัน ใครมีน้อยก็ให้น้อย มีมากก็ให้มาก เป็นการทำบุญช่วยเหลือคนที่ยากจนกว่าหรือ ครอบครัวที่มีข้าวไม่พอกินในหมู่บ้าน หากมีข้าวเหลือก็จะนำไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ใครเดือดร้อนก็มาเอาไปกิน หรือหมู่บ้านอื่นๆ ที่ขาดแคลนก็เอาข้าวไปกินได้ ซึ่งจากประเพณีกองบุญข้าวนี่เองจึงได้พัฒนามาเป็น “ธนาคารข้าว” ในปัจจุบัน

สราวุฒิ ขจรสันติชัย ผู้ใหญ่บ้าน หรือ “พ่อหลวง” บ้านห้วยริน หมู่ที่ 14 ตำบลแม่ลาน้อย กล่าวว่า คนปากะญอถือว่าข้าวก็เหมือนกับพ่อแม่ของเรา ดังนั้นเมื่อพ่อแม่มีบุญคุณต่อเรา เราก็ต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ด้วยการทำบุญขวัญข้าวเลี้ยงพ่อแม่ แล้วเอาข้าวไปแจกคนที่ยากจน ซึ่งที่บ้านห้วยรินนี้ภายหลังจากปี 2530 พวกเราก็ได้จัดตั้งธนาคารข้าวขึ้นมา โดยหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว แต่ละบ้านที่มีข้าวเหลือกินไปได้ตลอดทั้งปีก็จะเอาข้าวเปลือกมารวมกันที่ยุ้งฉางหรือธนาคารข้าว ครอบครัวละ1 ถังบ้าง 2 ถังบ้าง แล้วให้คนที่เดือดร้อนกู้ยืมเอาไปกิน คิดดอกเบี้ย 1 ถัง ต่อข้าวเปลือก 10 ถัง เมื่อเก็บเกี่ยวได้แล้วค่อยนำข้าวมาคืน ดอกเบี้ยที่ได้เป็นข้าวเปลือกก็จะทำให้ธนาคารข้าวเติบโต เอาไปช่วยคนที่เดือดร้อนได้

“เมื่อก่อนชาวบ้านที่นี่อดอยาก ต้องเอาของไปแลกข้าวจากที่อื่นมากิน แต่ตอนนี้คนจากหมู่บ้านอื่นต้องมาแลกข้าวที่นีี่ ตอนนี้ธนาคารข้าวของบ้านห้วยริน มีข้าวเปลือกสำรองอยู่ประมาณ 600 ถัง มียุ้งเก็บข้าวอยู่ 2 ยุ้ง เก็บไว้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนได้ เมื่อครั้งที่อำเภอปายดินถล่ม พวกเราก็เอาข้าวจากที่นี่ขนไปช่วยเหลือพี่น้องทางโน้น” พ่อหลวงสราวุฒิกล่าวด้วยความภูมิใจที่มีธนาคารข้าวเป็นคลังสำรองไว้คอยช่วยเหลือชาวบ้าน

ไม่เพียงแต่จะมีพิธีทำขวัญข้าวและกองบุญข้าวเท่านั้น ชาวปากะญอยังมีพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวตลอดทั้งปี รวมแล้วเกือบ 10 พิธี ตั้งแต่พิธีการถางไร่ การหว่านข้าว การเลี้ยงผีไร่ พิธีไล่ความชั่วร้ายในไร่ ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องไร่นา และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ได้ข้าวอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นการแสดงความอ่อนน้อม คาราวะต่อบุญคุณของแผ่นดิน

“มีนิทานของชาวปากะญอเรื่องหนึ่งเล่าว่า มีพ่อค้าที่ร่ำรวยคนหนึ่งขี่ช้างหลงเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แล้วก็ประกาศกับชาวบ้านว่าตนเองเป็นพ่อเลี้ยงที่ร่ำรวย มีช้างมากมาย มีเงินที่จะซื้อข้าวปลาอาหารจากชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะชาวบ้านไม่เคยใช้เงิน ไม่รู้จักเงิน สุดท้ายพ่อเลี้ยงต้องใช้ช้างที่ตนเองขี่มาแลกข้าวกับชาวบ้านได้เพียง 1 ห่อกินแก้หิว” พ่อหลวงบ้านห้วยรินยกนิทานแฝงปรัชญาขึ้นมาเสริม ก่อนที่จะสรุปว่า “เงินไม่ใช่พระเจ้า ข้าวต่างหากที่เป็นพระเจ้า”

ร้านสะดวกซื้อของชาวปากะญอ : ไม่มีแอร์ แต่มีเงินปันผล

แม้ว่าในตัวอำเภอเมืองแม่ลาน้อยจะไม่มีร้านค้าสะดวกซื้อที่เปิดตลอดทั้งวันทั้งคืนก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคในการดำรงชีวิตของชาวบ้านแต่อย่างใด เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะหุงหาข้าวปลากินเอง ขาดเหลือก็ซื้อหาที่ตลาดสดหรือร้านชำในหมู่บ้าน ไม่ได้ฝากชีวิตเอาไว้กับร้านสะดวกซื้อเหมือนคนในเมืองใหญ่ เช่นเดียวกับชาวปากะญอแห่งบ้านห้วยรินที่มีธนาคารข้าวเป็นคลังอาหารของคนในหมู่บ้าน และยังมี “ร้านค้าชุมชน” เป็นเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตน้อยๆ ขายของกินที่ชาวบ้านไม่ได้ผลิตเอง เช่น กะปิ น้ำปลา ปลาทู แคบหมู หนังพอง เมี่ยง ฯลฯ และของใช้จำพวก สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ เป็นร้านค้าที่ไม่เคยติดแอร์ แต่มีเงินปันผล และมีสวัสดิการตอบแทนให้แก่คนซื้อทุกคน

พันธ์ วิริยศิลา ประธานกรรมการร้านค้าชุมชน เล่าว่า ร้านค้าชุมชนบ้านห้วยรินเริ่มเปิดจำหน่ายเมื่อปี 2546 หลังจากที่แกนนำหมู่บ้านได้ไปศึกษาดูงานร้านค้าชุมชนต้นแบบที่จังหวัดลำพูนมาแล้ว เมื่อกลับมาจึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน

กำหนดกฎระเบียบออกมา ให้สมาชิกถือหุ้นๆ ละ 5 บาท เพื่อเป็นเงินลงทุนและซื้อสินค้าเข้ามาจำหน่าย สิ้นปีก็จะมีเงินปันผลและมีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก แต่ด้วยการขาดประสบการณ์ ในช่วงแรกจึงไม่ได้จำกัดการถือหุ้น คนที่มีเงินมากก็ซื้อหุ้นคนละ 1,000-2,000 บาท หวังว่าจะได้เงินปันผลมากๆ ต่อมาจึงปรับให้ถือหุ้นได้ไม่เกินคนละ 100 บาท เริ่มแรกมีเงินลงทุนประมาณ 10,000 บาท

“ตอนที่เปิดร้านค้าชุมชนใหม่ คนที่เปิดร้านขายของชำในหมู่บ้านอยู่แล้วก็ไม่พอใจ เพราะคิดว่าเราจะมาแย่งลูกค้า ทำให้เขาขาดรายได้ แต่พอนานไป เขาก็เข้าใจ เพราะรู้ว่าร้านค้าชุมชนเป็นของส่วนรวม เป็นของหมู่บ้าน ผลกำไรก็นำมาแบ่งปันกัน ตอนหลังร้านชำเหล่านี้ก็มาสมัครเป็นสมาชิกของเราด้วย” ประธานฯร้านค้าชุมชนบอกเล่าที่มา

ปัจจุบันร้านค้าชุมชนบ้านห้วยรินมีสมาชิกทั้งหมด 75 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 100,000 บาท ทุกๆ สิ้นปีจะปันผลกำไรคืนสมาชิกในอัตราร้อยละ 7 ของยอดซื้อ เช่น หากซื้อสินค้าในปีนั้นรวมเป็นเงิน 10,000 บาท สมาชิกรายนั้นก็จะได้รับเงินปันผล 700 บาท ส่วนสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกก็จะนำผลกำไรจากร้านชุมชนปีละประมาณ 10,000 บาทมาสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการ เริ่มช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่ปี 2549 เช่น สมาชิกที่คลอดบุตร กองทุนฯ จะช่วยเหลือ 500 บาท เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยเหลือไม่เกินรายละ 300 บาทต่อปี เสียชีวิตรายละ 1,000 บาท

“นอกจากนี้แล้ว กองทุนสวัสดิการยังช่วยเหลือคนที่พิการ คนด้อยโอกาส และบริจาคข้าวเข้ากองบุญข้าวด้วย ส่วนจะช่วยมากน้อยเพียงใดก็ดูจากผลกำไรในแต่ละปี โดยคณะกรรมการร้านค้าฯ จะเป็นผู้พิจารณา” ประธานฯ ร้านค้ากล่าว

ประธานร้านค้าชุมชนบ้านห้วยรินยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้นำเงินจากกองทุนสวัสดิการร้านค้าชุมชนที่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 100,000 บาท มาจัดตั้งเป็นกองทุนฉุกเฉิน เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมในยามที่จำเป็น เช่น เจ็บป่วย หรือเกิดภัยภิบัติจากธรรมชาติ ให้กู้ยืมสูงสุดไม่เกินรายละ 10,000 บาท ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หากขายผลผลิตได้แล้วจึงค่อยนำเงินมาชำระคืน หรือทะยอยชำระเป็นงวดๆ ตามกำลังเงิน

“เราจะทำเรื่องกองทุนฉุกเฉินให้เป็นตัวอย่าง ให้ชุมชนอื่นได้มาดูเป็นต้นแบบ หากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ เราก็จะได้มีกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือกัน และเราไม่ได้ช่วยเฉพาะคนในชุมชนของเราเท่านั้น กรณีสึนามิ หรือแผ่นดินไหวที่เฮติ ที่ญี่ปุ่น เราก็ช่วย แม้จำนวนเงินจะไม่มาก แต่ก็เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจของชาวปากะญอ” พันธ์ วิริยศิลา ประธานกรรมการร้านค้าชุมชนบ้านห้วยรินกล่าวในตอนท้าย

ปัจจุบันบ้านห้วยริน มีชาวบ้านทั้งหมดประมาณ 416 คน จำนวน 64 ครอบครัว ถือเป็นชุมชนต้นแบบแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่พึ่งพาตัวเองได้ในหลายด้าน นอกจากนี้ยังมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เอาไว้ใช้เอง โดยนำกากถั่วเหลืองที่เหลือจากการผลิตมาผสมกับมูลวัว ปูนขาว และหัวเชื้อจุลินทรีย์ นำมาบดผสมรวมกันแล้วนำไปหมัก เมื่อได้ระยะเวลาตามที่กำหนดจึงนำมาอัดเม็ดแล้วบรรจุถุง ใช้ใส่ไร่นาแปลงผลิตในชุมชน ที่เหลือจึงส่งจำหน่ายภายนอก หากคิดเป็นมูลค่าก็คงจะไม่ต่ำกว่า 40,000 - 50,000 บาทต่อปี

ทวงคืนมรดก “ถ้ำแก้วโกมล” จากนายทุน

นอกจากการพึ่งพาตัวเองและการช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ แล้ว ที่ผ่านมาชาวบ้านห้วยรินและชาวบ้านหมู่ต่างๆ ในตำบลแม่ลาน้อยยังได้ร่วมกันอนุรักษ์และปกป้องผืนดินและผืนป่าไม่ให้ถูกทำลายจากนายทุนอีกด้วย โดยเฉพาะการเข้ามาตั้งโรงงานขุดแร่และโรงโม่หินในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ยมฝั่งซ้าย

ยงค์ยุธ เนตรพงศ์ กลุ่มประชาสังคมอำเภอแม่ลาน้อยกล่าวว่า โรงงานขุดแร่ ฟลูออไรต์ได้รับสัมปทานให้เข้ามาขุดแร่ในเขตป่าสงวนฯ เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน แต่หลังจากนั้นในช่วงหลังๆ โรงงานดังกล่าวได้ทำการระเบิดหิน ย่อยหิน และโม่หิน

เพื่อเอาไปขายใช้ในการก่อสร้าง แต่การดำเนินธุรกิจของโรงงานได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านหลายหมู่บ้านในตำบลแม่ลาน้อย ทั้งเสียงที่ดังจากการระเบิดหิน ฝุ่นหินที่คลุ้งกระจายไปทั่ว นอกจากนี้เส้นทางสาธารณะในหมู่บ้านและถนนหลวงต่างได้รับความเสียหายจากรถบรรทุกหิน ถนนกลายเป็นหลุมบ่อ ยิ่งในช่วงหน้าฝนชาวบ้านเดินทางไปมาด้วยความยากลำบาก

“ในช่วงปี 2534-2535 ชาวบ้านจึงได้เริ่มส่งตัวแทนมาปรึกษาหารือกัน ทุกคนเห็นว่าควรจะยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในท้องถิ่นและในระดับจังหวัด แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โรงงานก็อ้างว่ามีใบอนุญาตถูกต้อง แต่ชาวบ้านก็ไม่ท้อถอย ยังคงรวมกลุ่มกันต่อสู้กับนายทุนต่อไป” ยงค์ยุธเท้าความหลัง

ต่อมาในปี 2536 วิศวกรเหมืองแร่ของสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ค้นพบถ้ำแห่งหนึ่งในเขตสัมปทานระเบิดหิน ใกล้กับบ้านห้วยมะไฟ ถ้ำแห่งนี้มีความสวยงามมาก มีความแวววาวเมื่อต้องแสงไฟ เพราะเป็นถํ้าที่เกิดจากผลึกแคลเซียม มีรูปร่างต่างๆ เช่น คล้ายปะการัง ดอกกะหล่ำ เกล็ดน้ำแข็ง โคมไฟ ฯลฯ มีสีสันหลากหลาย ทั้งขาว เหลือง แดง และน้ำตาล ซึ่งต่อมาในปี 2540 ทางราชการจึงได้กันพื้นที่บริเวณถ้ำและพื้นที่ใกล้เคียงออกจากพื้นที่สัมปทานระเบิดหิน และให้พื้นที่ดังกล่าวกลับไปอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ ต่อมาในปี 2543 จึงได้มีการประกาศให้เป็น “วนอุทยานแห่งชาติถ้ำแม่ลาน้อย” แต่การระเบิดหินก็ยังดำเนินต่อไป

ในปี 2544 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรถ้ำแห่งนี้ และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “ถ้ำแก้วโกมล” หลังจากนั้นถ้ำแก้วโกมลก็เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มีประชาชนในท้องถิ่นและใกล้เคียงเข้ามาชมความงดงามภายในถ้ำไม่ขาดสาย

การค้นพบถ้ำแก้วโกมล เป็นการจุดประกายให้ชาวบ้านผนึกกำลังร่วมกันต่อสู้ต่อไป เพื่อเป็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ให้ลูกหลาน เนื่องจากชาวบ้านกลัวว่าแรงระเบิดจะทำให้ถ้ำพังเสียหาย มีการรวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรธรณี เพื่อให้ยกเลิกสัมปทานโรงโม่หิน ในที่สุดเมื่อสัมปทานโรงงานขุดแร่และโรงโม่หินหมดอายุลงในปี 2547 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงไม่ต่ออายุสัมปทานให้แก่โรงงานดังกล่าว

“หลังจากได้มรดกของแผ่นดินกลับคืนมา ชาวบ้านจึงมาปรึกษาหารือกัน แล้วเห็นร่วมกันว่าชาวบ้านในท้องถิ่นควรจะได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นจึงได้ยื่นข้อเสนอต่อทางวนอุทยานฯ เพื่อขอให้มีการจ้างชาวบ้านเป็นผู้นำทาง นำนักท่องเที่ยวเข้าชมความงามในถ้ำ โดยชาวบ้านได้คัดเลือกเอาเด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้วแต่ไม่มีเงินเรียนต่อมาเป็นคนนำทาง มีรายได้จากนักท่องเที่ยวคนละ 40 บาท เพื่อเป็นทุนเรียนต่อ ซึ่งทางวนอุทยานฯ ก็เห็นดีด้วย ตอนนี้เราทำมาได้ 3 ปีแล้ว” ยงค์ยุธกล่าว

“ข้อบัญญัติชุมชน” เกราะป้องกันตัวเองของคนแม่ลาน้อย

แม้ว่าโรงงานขุดแร่และโรงโม่หินจะหยุดดำเนินการไปแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวคงจะไม่ยุติไปอย่างง่ายดาย เพราะผลประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวมีมากมายมหาศาล แถมบางครั้งยังมีการลักลอบตัดไม้ออกไปขายด้วย กลุ่มนายทุนยังจ้องที่จะขอต่ออายุสัมปทาน ขณะที่ชาวบ้านก็เฝ้าระวังอย่างไม่กะพริบตา เมื่อมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ลาน้อยขึ้นมาในปี 2551 ชาวบ้านจึงใช้เวทีแห่งนี้เป็นที่ประชุม ปรึกษาหารือ และเห็นร่วมกันว่าควรจะส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากนั้นสำนักงานสิทธิมนุษยชนฯ จึงส่งอาจารย์วสันต์ พานิช ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง

ศรัณยา กลางถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลตำบลแม่ลาน้อย ในฐานะสมาชิกกลุ่มประชาสังคมอำเภอแม่ลาน้อยกล่าวว่า หลังจากที่อาจารย์วสันต์เข้ามาตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่แล้ว แกนนำชาวบ้านจึงได้ปรึกษาหารือกันและได้ปรึกษากับอาจารย์วสันต์เกี่ยวกับการจัดทำโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านกฏหมายและสิทธิชุมชนแก่ชาวบ้านในอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งอาจารย์วสันต์ก็เห็นดีด้วย เมื่อพ้นจากวาระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว อาจารย์วสันต์จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และสิทธิที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น โฉนดชุมชนขึ้นมาในปี 2553

จากการให้ความรู้ทางด้านกฎหมายดังกล่าว ต่อมาจึงได้มีแนวคิดในการจัดทำ “ข้อบัญญัติชุมชน” ขึ้นมา โดยอาจารย์วสันต์แนะนำว่า หากมีการออกข้อบัญญัติชุมชนขึ้นมาโดยชาวบ้าน โดยชุมชน จะทำให้ชาวบ้านสามารถกำหนดพื้นที่ชุมชน หรือกำหนดผังชุมชนได้ว่า พื้นที่ใดจะสงวนเอาไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ใดเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ใดห้ามไม่ให้มีโรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ให้มีสถานบันเทิง ฯลฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดสิทธิชุมชนเอาไว้ ตามมาตรา 66 และ 67 (ดูรายละเอียดท้ายเรื่อง) เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิชุมชน ไม่ว่าจะโดยเอกชน หรือหน่วยงานรัฐ

ต่อมาในปี 2554 จึงได้มีการจัดทำเวทีข้อบัญญัติชุมชนขึ้นมา 2 ครั้ง คือในเดือนมีนาคมและพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า “พื้นที่ต้นแบบในการจัดทำผังเมืองชุมชน” โดยร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาน้อยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นมา จนได้ร่างข้อบัญญัติจากชุมชนออกมา

ยงค์ยุธ เนตรพงศ์ ในฐานะแกนนำในการขับเคลื่อนการจัดทำข้อบัญญัติฯ กล่าวเสริมว่า หลังจากที่ได้ข้อบัญญัติออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ ชาวบ้านจะต้องร่วมประชุมกับ อบต. เพื่อให้ อบต.นำข้อบัญญัติของชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของสภา อบต. หากได้รับเสียงลงมติอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภา อบต.ก็ถือว่าผ่านการรับรอง จากนั้น อบต.ก็จะต้องส่งเรื่องให้นายอำเภอแม่ลาน้อยพิจารณาภายในระยะเวลา 15 วัน หากครบกำหนดแล้วนายอำเภอไม่ส่งข้อบัญญัติกลับคืนมาก็ถือว่า ข้อบัญญัตินี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากอำเภอแล้ว

“หากทางอำเภอเห็นชอบกับข้อบัญญัติแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ ทาง อบต.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีนายก อบต.เป็นประธาน เพื่อนำข้อบัญญัตินี้ไปบังคับใช้ต่อไป” แกนนำการขับเคลื่อนข้อบัญญัติกล่าว และว่า ถึงแม้ในขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้ข้อบัญญัติชุมชน แต่หลายหมู่บ้านในตำบลแม่ลาน้อยต่างก็มีข้อบัญญัติของตนและนำมาใช้หลายปีแล้ว เช่น ที่บ้านห้วยริน ชาวบ้านมีข้อบัญญัติในเรื่องที่ดินทำกินว่า ห้ามขายที่นาให้แก่คนนอกหมู่บ้าน แต่หากจะขายให้แก่คนในหมู่บ้านก็ห้ามนำไปสร้างเป็นรีสอร์ท เป็นต้น

ตัวอย่างข้อบัญญัติชุมชนตำบลแม่ลาน้อย

ที่นา / ที่สวน : 1.ห้ามขุดดินขาย 2.ห้ามปลูกต้นยูคาฯ 3.ห้ามถมดินกั้นทางระบาย น้ำ 4.ห้ามแปรสภาพที่นา (ยกเว้นคนในหมู่บ้าน โดยได้รับความเห็นชอบ จากประชาคมหมู่บ้าน)

ไร่หมุนเวียน : 1.ต้องหมุนเวียนทำไร่ในพื้นที่เดิม ห้ามขยายพื้นที่เพิ่ม 2.ห้ามแผ้ว ถางป่าต้นน้ำ

การใช้ป่าชุมชน : 1.ห้ามตัดต้นไม้ในป่าต้นน้ำ 2.ห้าทจับจองเป็นพื้นที่ทำกิน 3.ห้ามเผาป่า 4.ห้ามล่าสัตว์ 5.ให้ทำแนวกันไฟป่า 6.ให้ปลูกป่าทดแทน 7.ห้ามคนนอกพื้นที่มาเก็บของป่าเพื่อการค้า

ป่าใช้สอย : 1.ห้ามจับจองเป็นพื้นที่ทำกิน 2.การตัดไม้ต้องได้รับการอนุญาตจาก คณะกรรมการหมู่บ้านและต้องปลูกทดแทน 3.ห้ามนำไม้ทุกชนิดออกนอก พื้นที่ และห้ามใช้ไม้เพื่อการค้า

ลำห้วย/ แม่น้ำ : 1.ห้ามจับสัตว์น้ำในพื้นที่อนุรักษ์ 2.ห้ามทิ้งขยะ สารเคมี ลงใน น้ำ 3.ให้มีการบวชปลา และปล่อยพันธุ์ปลา 4.ห้ามตัดต้นไม้บริเวณต้นนำ้

พื้นที่หมู่บ้าน/ ชุมชน : 1.ห้ามขายที่ดินและบ้านแก่คนนอกพื้นที่ 2.ห้ามตั้งโรงงาน ห้างสรรพสินค้า (ยกเว้นโรงงานที่เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรที่ ประชาคมหมู่บ้านเห็นชอบ) 3.ห้ามตั้งร้านคาราโอเกะ ร้านเกมส์ รีสอร์ท โรงแรม (โฮมสเตย์) บ่อนการพนันและแหล่งอบายมุขอื่นๆ 4.การปลูกบ้าน สูงกว่า 2 ชั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชน 5.ห้ามขายเหล้า/บุหรี่ใน รัศมี 200 เมตร จากโรงเรียน วัด โบสถ์ 6.ไม่ให้มีโรงงานโม่หินในชุมชน

มนต์เสน่ห์แห่งขุนเขาและวิถีชีวิตที่ง่ายงาม

หากจะว่าไปแล้ว อำเภอแม่ลาน้อยมีความงดงามทางธรรมชาติและทิวทัศน์ไม่ได้ด้อยไปกว่าอำเภอปายเลย ยิ่งในยามปลายฝนต้นหนาว ผู้คนที่ได้มาเยือนเมืองนี้จะรู้สึกได้ถึงความชุ่มฉ่ำของอากาศยามเช้าที่บริสุทธิ์สดใส หายใจได้เต็มปอด มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทุ่งนาเขียวขจีที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา มีไอหมอกสีขาวลอยเคล้าเคลียอยู่ไม่ห่าง

บรรยากาศของกาดเช้าหรือตลาดเช้าเล็กๆ ที่มีข้าวปลาอาหารและขนมพื้นบ้านห่อด้วยใบตองตึงรสชาติหวานมัน ภาพของพระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตโดยมีเณรน้อยช่วยกันหาบสำรับกับข้าวที่ได้จากการใส่บาตร โดยมีลูกศิษย์วัดคอยเคาะระฆังแบนใบเล็กๆ เป็นสัญญาณว่าตุ๊เจ้าจะมารับบาตรแล้ว เป็นภาพแปลกตาที่ชวนดู ภาพของบ้านเรือนไม้สไตล์ไทใหญ่ที่ดูขรึมขลัง ถนนหนทางที่ค่อนข้างเงียบสงบ และร้านขายของชำเรือนไม้หลังเล็กๆ ในเมืองที่ไม่มีร้าน 7-11 ดูมีเสน่ห์จนน่าหลงใหล แน่ละว่าบรรดานักลงทุนต่างก็พากันจ้องมองแม่ลาน้อยด้วยตัวเลขผลกำไรที่คิดเอาไว้แล้วในสมองเช่นกัน

“เมื่อก่อนเมืองปายก็เป็นแบบนี้ เป็นเมืองเล็กๆ ที่สวยงามน่ารัก แต่พอนายทุนเข้ามา ภาพแบบนี้ก็หายไป นายทุนอยากจะสร้างอะไรก็สร้าง ดึงแหล่งน้ำของชาวบ้านไปใช้ ทาง อบต.หรือเทศบาลอาจจะอ้างว่าเราได้ภาษีบำรุงท้องถิ่น แต่ความเสียหายมันมากกว่า ทั้งผลกระทบด้านวิถีชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม ขยะต่างๆ เช่น โฟม พลาสติก เต็มไปหมดจนไม่มีที่จะเอาไปทิ้งเอาไปทำลาย เราจึงไม่อยากให้แม่ลาน้อยเป็นเหมือนปาย เราอยากจะให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประชาชนคนเล็กคนน้อยก็ได้ประโยชน์ ไม่ใช่ได้เฉพาะนายทุน” ยงค์ยุธกล่าวถึงประเด็นการจัดการท่องเที่ยวที่ชุมชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยเหมือนเมืองปายจนตามแก้ไขปัญหาไม่ทัน

เขายังกล่าวด้วยว่า ข้อดีของข้อบัญญัติชุมชน นอกจากชาวบ้านจะร่วมกันกำหนดผังของชุมชนได้แล้ว ชาวบ้านก็จะมีอำนาจในการต่อรองเป็นพลังของชุมชน เช่น เมื่อก่อนหน่วยงานราชการบางหน่วยจะเอาไม้ที่ตัดแล้วขนออกนอกพื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่สามารถไปห้ามได้ แต่เมื่อชาวบ้านมีข้อบัญัติชุมชนแล้ว หน่วยงานราชการ รวมทั้ง อบต. หรือเทศบาลก็จะต้องฟังเสียงชาวบ้าน เคารพกติกาของชาวบ้าน แล้วต้องปฏิบัติตาม เพราะเป็นสิทธิของชุมชนที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

ตัวอย่างหนึ่งที่คนในตำบลแม่ลาน้อยได้ใช้สิทธิชุมชนก็คือ ในปี 2552 ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลแม่ลาน้อย มีโครงการจะบูรณะซ่อมแซมเจดีย์พระธาตุกองมู ซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ด้วยการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบลงไป เมื่อชาวบ้านเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ผิดหลักการอนุรักษ์โบราณสถาน ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันทักท้วงต่อทางเทศบาล ต่อมากรมศิลปกากรได้เข้ามาตรวจสอบ แล้วมีคำสั่งให้เทศบาลระงับการดำเนินการเอาไว้จนถึงทุกวันนี้

นี่คือตัวอย่างที่ชาวตำบลแม่ลาน้อยได้รวมตัวกันลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมและค่านิยมในการแสวงหาเงินตราด้วยความรวดเร็วที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาจากพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรที่ใช้สารเคมีแบบเข้มข้นและการบุกรุกพื้นที่ป่าเขาเพื่อปลูกกะหลํ่าปลี การท่องเที่ยวที่เริ่มจะขยับขยายจากเมืองปายเพราะนักท่องเที่ยวล้นเมืองเข้ามาที่นี่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือว่าท้าทายต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนแม่ลาน้อยยิ่งนัก แต่อย่างน้อยๆ พวกเขาก็ยังมีพลัง และมีข้อบัญญัติของชุมชนที่จะต้านทานการรุกรานนี้ต่อไปได้...ตราบใดที่ลมหายใจยังไม่สิ้น !!

**************************

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ว่าด้วยสิทธิชุมชน

มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิการ หรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเสียก่อน...

**************************


 
Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.096 seconds with 21 queries.