Smile Siam
|
|
« on: 29 December 2012, 09:08:10 » |
|
คำว่า สยามประเทศprasit: สยามประเทศ เริ่มใช้คำนี้เมื่อรัชสมัยใด พ.ศ ใด ใคร่ขอรู้ จักขอบคุณ
เพ็ญชมพู: คำว่า "สยามประเทศ" ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ทางเอกสารของไทยเราเอง คำ สามเทสะ หรือ สยามเทสะ ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบแล้ว มีปรากฏอยู่ในหนังสือ "รัตนพิมพวงศ์" หรือตำนานพระแก้วมรกต ซึ่งพระพรหมราชปัญญาแห่งกรุงศรีสัชนาลัยสุโขทัยแต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๒ ซึ่งในหนังสือนั้นใช้ปนกันทั้งรูป สาม และ สฺยาม
หนังสือ "ชินกาลมาลีปกรณ์" อันเป็นวิทยานิพนธ์ทางประวัติพุทธศาสนาในล้านนาที่สำคัญเรื่องหนึ่ง, ซึ่งภิกษุรัตนปัญญาแต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๙ ก็ได้กล่าวชัดเจนว่าในยุค พ.ศ. ๑๗๐๐-๑๘๐๐ นั้น สยามเทสะ คือบริเวณสุโขทัย, คำแปลจากภาษาบาลี ดังนี้
"นับจำเดิมแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานมาถึงศักราชได้ ๑๗๙๘ มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า โรจนราช ได้เสวย์ราชย์ในกรุงสุโขทัย ณ สยามประเทศ (สยามเทเส) ในชมพูทวีปนี้"............
ในคำนำลักษณะพระธรรมศาสตร์ ของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งรัชกาลที่ ๑ ได้ให้รวบรวมสะสางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ นั้น เรียกเมืองไทยทั้งหมดว่า สยามประเทศ (ในภาคบาลีใช้สามเทส) และเรียกภาษาไทยว่า สยามภาษา (ในภาคบาลีใช้ สามภาสา)
"สยาม" ในคำสมาสอื่น ๆ นอกจากสยามประเทศ ยังมีอีกหลายคำเช่น สยามรัฐ สยามมินทร์ พระสยามเทวาธิราช สยามสมาคม มีอีกคำหนึ่งอาจจะไม่มีใครเคยได้ยินคือ "สยามโลกัคคราช" คำ ๆ นี้หมายความว่าอย่างไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จิตร ภูมิศักดิ์ เล่าไว้ดังนี้
"(รัชกาลที่ ๔) ครั้นได้ขึ้นเสวยราชย์แล้ว ก็เริ่มใช้คำ สยาม เป็นชื่อราชอาณาจักรไทยในการติดต่อกับต่างประเทศ. ได้หล่อรูปพระสยามเทวาธิราชขึ้นเป็นตัวแทนวิญญาณของเทวดาผู้รักษาราชบัลลังก์สยาม. พระองค์เองก็ใช้นามในภาษาละตินว่า Rex Siamen Sium. ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้คิดดวงตราหรือพระราชลัญจกรขึ้นดวงหนึ่งสำหรับประทับพระราชสาส์นไปยังราชสำนักจีนโดยเฉพาะ ในดวงตรานั้นมีอักษรเขียนว่า สยามโลกัคคราช (สยาม+โลก+อัคค+ราช = ผู้เป็นใหญ่แห่งแผ่นดินสยาม). คำว่า สยามโลกัคคราช นี้เป็นคำที่เกิดจาการเลียนเสียงภาษาจีนที่ออกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า เสี้ยมหลอก๊กอ๋อง ซึ่งแปลว่า เจ้าแห่งประเทศเสี้ยมหลอ. สยามโลกัคค นั้นถ่ายเสียงออกมาจาก เสี้ยมหลอก๊ก, ส่วน อ๋อง นั้น แปลเป็นบาลีว่า ราช. (แต่ตราดวงนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ใช้ เพราะเลิกประเพณีจิ้มก้องราชสำนักจีนไปเสีย, อิทธิพลของประเทศทุนนิยมล่าเมืองขึ้นตะวันตกเข้ามาครอบครองบริเวณนี้แทนอิทธิพลของจีนเสียแล้ว)."
ข้อมูลจากหนังสือ "ความเป็นมาของคำ สยาม, ขอม, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" โดย จิตร ภูมิศักดิ์
ติบอ: ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าในบทต้นๆ ของหนังสืออ้างอิงที่คุณเพ็ญชมพูใช้ เขจาจะเล่าว่าคำว่าคนไทยไม่ได้รู้จักคำว่า "สยาม"
แต่เป็นคำที่คนฮอลันดาใช้เรียกเมืองสยาม ที่เป็นแบบนี้... เพราะ 1. เวลามันผ่านไปนานแล้ว 2. คนอยุธยา-รัตนโกสินทร์อาจจะคิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มอื่น... ในขณะที่คนล้านนา(อย่างคนแต่งรัตนพิมพวงศ์) หรือคนฮอลันดา ยังเห็นคนพวกนี้เป็นสยามอยู่...
ผมว่าเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย แต่พวกเราไม่ค่อยได้ใส่ใจกัน คือ... พระจมเกล้าท่านไป "เอาสยาม" มาจากไหน ถึงทรงนำคำนี้มาเรียกชื่อสยามประเทศ ? หรือท่านจะไปเที่ยวนครวัดมาแล้ว
เพ็ญชมพู: อ้างจาก: ติบอ ที่ 09 พ.ย. 09, 23:28
ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าในบทต้น ๆ ของหนังสืออ้างอิงที่คุณเพ็ญชมพูใช้ เขาจะเล่าว่าคำว่าคนไทยไม่ได้รู้จักคำว่า "สยาม"
แต่เป็นคำที่คนฮอลันดาใช้เรียกเมืองสยาม ที่เป็นแบบนี้... เพราะ 1. เวลามันผ่านไปนานแล้ว 2. คนอยุธยา-รัตนโกสินทร์อาจจะคิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มอื่น... ในขณะที่คนล้านนา(อย่างคนแต่งรัตนพิมพวงศ์) หรือคนฮอลันดา ยังเห็นคนพวกนี้เป็นสยามอยู่...
เท่าที่อ่านดู เรื่องนี้อยู่ในบทท้าย ๆ ของภาคหนึ่ง พื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์
บทที่ ๑๖ ที่มาและความหมายของสยามตามความเห็นในอดีต
จิตร ภูมิศักดิ์ อ้างข้อความจากหนังสือ "ราชอาณาจักรสยาม" ของ เดอ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพระนารายณ์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒๙-๒๒๓๑ (de La Loubere, Du Royaume de Siam, Tome I, Amsterdum, 1691, pp. 15-17. ภาษาไทยดู จดหมายเหตุลาลูแบร์, กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงแปล, ฉบับพิมพ์คุรุสภา ๒๕๐๕, เล่ม ๑ หน้า ๒๓-๒๕.)
ชื่อ เซียม (siam) นั้น ไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวเซียม คำนี้เป็นคำหนึ่งในบรรดาคำที่พวกโปรตุเกสในอินเดียใช้กัน, และก็เป็นคำที่ยากจะค้นหารากเหง้าที่มาของมันได้ พวกโปรตุเกสใช้คำนี้เป็นชื่อเรียกชนชาติ มิใช่เป็นชื่อราชอาณาจักร.....อนึ่งใครก็ตามที่เข้าใจภาษาโปรตุเกสย่อมรู้ดีว่า รูปคำที่โปรตุเกสเขียนคำนี้เป็น Siam บ้างและ Siao บ้างนั้น เป็นคำเดียวกัน และถ้าจะเอาคำโปรตุเกสนี้มาอ่านออกเสียงตามอักขรวิธีของฝรั่งเศสเราแล้วก็ต้องออกเสียงว่า ซียอง (Sions) มิใช่เซียม (Siams); เช่นเดียวกัน เมื่อเขียนเป็นภาษาละติน ก็เรียกชนชาตินี้ว่า ซิโอเน (Siones)
ชื่อจริงของชาวเซียมแปลว่า ฟรองซ์
ชาวเซียมนั้นเรียกตัวเองว่า ไท (Tai), หมายความว่า อิสระ, ตามความหมายของคำในภาษาของเขาซึ่งยังมีความหมายเช่นนั้นมาจนทุกวันนี้ ชาวเซียมมีความภูมิใจที่ใช้คำนี้เช่นเดียวกันกับบรรรพบุรุษของเราซึ่งใช้นามว่า ฟรองซ์ (Franc) เมื่อได้กอบกู้อิสระภาพของชาวกอลให้หลุดพ้นจากอำนาจครอบครองของโรมันมาได้ ผู้ที่รู้ภาษามอญ (Pegu) ยืนยันว่าคำ เซียม ในภาษามอญนั้นแปลว่า อิสระ ถ้าเช่นนั้นบางทีคงจะเป็นไปได้ว่าชาวโปรตุเกสยืมคำนี้มาจากภาษามอญ, น่าจะเป็นว่าได้รู้จักชาวเซียมโดยผ่านชาวมอญอีกที แต่อย่างไรก็ดี นาวารเรต (Navarrete) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรจีน (Traitez Historique du Royaume de la Chine) บทที่ ๑ ตอนที่ ๕ ว่า ชื่อ เซียม, ซึ่งนายนาวาเรตเขียน เซียน (Sian) นั้น, มาจากคำสองคำคือ เซียนหลอ (Sian-lo), แต่หาได้อธิบายไว้ไม่ว่าคำทั้งสองนี้มีความหมายว่ากระไร, ทั้งก็มิได้บอกไว้ว่าเป็นคำภาษาอะไร, ชวนให้เราเข้าใจว่า นายนาวาเรตถือว่า คำทั้งสองนั้นเป็นภาษาจีน...
ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายที่มาของคำว่า Siam ไว้ในเชิงอรรถ โดยย้ำว่า ฝรั่งชาติแรกที่ใช้คำ ๆ นี้เรียก่คนไทยคือ โปรตุเกส หาใช่ ฮอลันดา ไม่
Siam อันเป็นชื่อที่ฝรั่งเรียกไทยน้อยพวกเราทุกวันนี้ ฝรั่งได้คำนี้ไปโดยผ่านชาวมลายูซึ่งเรียกไทยว่า เซียม. พวกโปรตุเกสมารู้จักคำนี้ก่อน ต่อมาก็เป็นเดนมาร์ค, ฮอลันดา และฝรั่งเศส ซึ่งก็ออกเสียง เซียม ทั้งนั้น. อังกฤษเป็นพวกมาทีหลัง เห็นทีจะไม่รู้ว่า Siam นั้นประสงค์จะให้ออกเสียง เซียม หรือมิฉะนั้นก็ออกเสียงไม่ถนัดปาก จึงเอาไปอ่านเป็น ไซเอิม หรือ ไซแอม แปลกพวกออกไป.
เพ็ญชมพู: ที่ ลาลูแบร์ กล่าวว่า คนไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเรียกตัวเองว่า ไท ไม่ใช่ เซียม หรือ สยาม นั้น เป็นความจริงในระดับคนรากหญ้าเท่านั้น สำหรับคนชั้นสูงได้แก่ชนชั้นปกครองและนักปราชญ์ราชบัณฑิต ได้ใช้คำ ๆ นี้เรียกตนเองมานานแล้วดังหลักฐานใน # ๑ โดยเฉพาะในวงการพระพุทธศาสนา
บทที่ ๑๗ สยาม-ความเป็นมาในภาษาไทย
จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายไว้ว่า
ชื่อที่ชนต่างชาติเรียกคนไทว่า ซาม-เซียม นั้น ปรากฏขึ้นในภาษาไทยทางวงการนักปราชญ์ภาษาบาลีก่อน คือเรียกเป็นภาษาบาลีว่า สาม หรือ สฺยาม
ในยุคโบราณ ภาษาบาลีเป็นภาษาต่างประเทศที่นักศึกษาจะต้องเรียนเป็นภาษาเอก ทั้งในประเทศไทย, มอญ, พม่า, ลาว (รวมทั้งกัมพูชาในยุค พ.ศ. ๑๙๐๐ ลงมา) ศูนย์กลางของภาษาบาลีในยุคโบราณคือ ลังกา ภิกษุไทย-มอญ-พม่าล้วนไปศึกษาธรรมวินัยจากที่นั่นจนเกิดนิกายพุทธศาสนาที่เป็นแบบลังกาขึ้นในบริเวณมอญ-พม่า-ไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐
วงการภาษาบาลีของลังกานั้น เรียกเมืองไทยว่า สฺยาม หรือ สาม การติดต่อระหว่างไทยกับลังกาในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวที่ไทยส่งพระอุบาลีออกไปตั้งนิกายสยามวงศ์ เมื่อพ.ศ. ๒๒๙๕ นั้น สาส์นติดต่อซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลีทั้งสองฝ่ายก็ใช้คำ สยาม และสาม ระคนกัน
ในสมัยสุโขทัย มีภิกษุสงฆ์ของไทยทั้งในล้านนาและสุโขทัยไปศึกาพระธรรมวินัยในลังกามาก เป็นต้นว่าทางสุโขทัยก็มีพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกาทวีป หลานของพ่อขุนผาเมือง ทำให้เข้าใจว่าวงการบาลีของลังกาจะได้เรียกคนไทยว่า สาม-สยาม มาแล้วแต่ครั้งนั้น หรือแม้ก่อนหน้านั้น
ภาษาบาลีนั้นเป็นภาษาต่างประเทศ เมื่อวงการพุทธศาสนาไทยใช้ภาษาบาลี การจะพูดถึงเมืองไทยก็ย่อมต้องใช้คำของบาลีที่ใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปทั้งในลังกาและที่อื่น จึงเชื่อว่าพวกนักปราชญ์ภาษาบาลีของเมืองไทย, ทั้งล้านนาและสุโขทัย, น่าจะรับเอาคำ สยาม หรือ สาม มาจากบาลีลังกาอีกทอดหนึ่งมากกว่าจะคิดขึ้นเองในประเทศนี้
ในบที่ ๘ ได้เคยกล่าวแล้วว่า สามเทสะ เป็นชื่อบาลีที่ใช้เรียกดินแดนเหนือปากแม่น้ำปิงขึ้นไป, คือบริเวณอาณาจักรหริภุญชัย, เมื่อราว พ.ศ. ๑๕๐๐-๑๕๕๐, ซึ่งในระยะเดียวกันนั้นเอง เราได้พบ สฺยำ-สฺยามฺ ในจารึกจามปา. และก่อนหน้านั้นขึ้นไปจนถึงใน พ.ศ. ๑๑๘๒ เราก็ได้พบชื่อ สฺยำ ในจารึกเขมรสมัยก่อนนครหลวง. ยุคนั้น สามเทสะ หรือ สยามเทสะ ใช้อยู่ในบริเวณล้านนาเท่านั้น ยังไม่คลุมลงมาถึงแคว้นละโว้ทางใต้.
ตกมาถึงสมัยสุโขทัย ศูนย์กลางอำนาจของไทยภาคเหนือกระจายออกเป็นนครรัฐขนาดเล็กหลายนครรัฐ เช่น เชียงใหม่, เชียงแสน, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, น่าน, พลัว (ปัว) ฯลฯ. อำนาจทางการเมืองที่รวมศูนย์ที่สุดและกว้างขวางที่สุดคือ สุโขทัย. ซึ่งยังมิได้รวมถึงแคว้นละโว้. คำว่า สามเทสะ หรือ สยามเทสะ จึงเคลื่อนลงมาหมายถึงกรุงสุโขทัยหรืออาณาจักรสุโขทัย. ระยะนี้เองที่จีนเรียกสุโขทัยว่า ประเทศเซียน, ซึ่งก็หมายถึง สฺยาม.
สามเทสะ หรือ สยามเทสะ ใช้หมายถึงสุโขทัยอยู่ไม่นานก็เลื่อนความหมายลงมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา. เมื่อกรุงศรีอยุธยาเกิดเป็นศูนย์กลางขึ้นในแคว้นละโว้เดิมใน พ.ศ. ๑๘๙๓ และได้ยึดครองเอาอาณาจักรสุโขทัยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐, คำว่า สยาม ก็เลื่อนลงมาหมายคลุมหมดทั้งสุโขทัยและศรีอยุธยา, และมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแห่งเดียว.
เมื่อศูนย์กลางของสยามเลื่อนมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว, ทางอยุธยาก็เลยผูกขาดคำว่า สยาม เสียเลย ว่าจะต้องหมายความเพียงในขอบเขตอาณาจักรศรีอยุธยาเท่านั้น. พวกคนไทยในภาคเหนือ ในเขตแคว้นลำพูน-เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็น สามเทสะ มาแต่อดีตนั้น ถูกกีดกันออกไปนอกวงนอกชื่อ, ไม่ยอมเรียก สยาม หากเรียกว่า ยวน (คือไทยโยนก-ไตโยน) ในลิลิตยวนพ่าย มีโคลงบอกไว้ท้ายเรื่องบทหนึ่งว่า :
สยามกวนยวนพ่ายแพ้ ศักดยา......
ในที่นี้ สยาม คืออาณาจักรศรีอยุธยา คือ คนไทยใต้, ส่วนยวนคือคนไทยพายัพ หรือ ไตโยน (ไทยโยนก). ชื่อ ยวนพ่าย ก็หมายถึงชาวยวนหรือไทยโยนกนี้เอง.
ในระยะ พ.ศ. ๑๙๕๐ ลงมา ไทยเราเริ่มได้ติดต่อกับประเทศทางยุโรป เริ่มต้นด้วย โปรตุเกส, เดนมาร์ก ต่อมาก็ฮอลันดา, ฝรั่งเศส และอังกฤษ. ฝรั่งเหล่านั้นคืบคลานผ่านอินเดีย, พม่า-มอญ และชวา-มลายู เข้ามายังไทยแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงพากันเรียกคนไทยอยุธยาว่า เซียม (Siam) ตามคำของชนชาติต่าง ๆ ในบริเวณนี้. ขณะเดียวกันก็ถือเอาคำ เซียม (Siam) เป็นชื่อเรียกอาณาจักรศรีอยุธยาไปด้วย. (อังกฤษเป็นพวกมาทีหลัง เห็นทีจะไม่รู้ว่า Siam นั้นประสงค์จะให้ออกเสียง เซียม หรือมิฉะนั้นก็ออกเสียงไม่ถนัดปาก จึงเอาไปอ่านเป็น ไซเอิม หรือ ไซแอม แปลกพวกออกไป) แต่แม้ว่าพวกฝรั่งที่เข้าติดต่อค้าขายจะเรียกอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาว่า Siam, ทางไทยก็ยังไม่สนใจที่จะใช้นาม สยาม หรือ สามเทสะ เป็นชื่อประเทศในการติดต่อต่างประเทศ. ยังคงเรียกตัวเองวา กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา หรืออะไรที่ยืดยาวทำนองนั้น โดยมีชื่อ ศรีอยุธยา อยู่ข้างใน. เช่นใน "พระราชสาส์นและราชมงคลประณามการ" ของพระเอกาทศรถซึ่งมีส่ง "ไปถึงทองฝิหลิบพระยาประตุการ" (Don Philippe แห่งโปรตุเกส) เมื่อราว พ.ศ. ๒๑๖๑, เรียกประเทศทั้งสองว่า :
"แผ่นดินเมืองประตุการแลแผ่นดินกรุงพระมหานครทวารวดีศรีอยุธยา."
(จาก การต่างประเทศในแผ่นดินพระเอกาทศรถ, ขจร สุขพานิช, วารสารศิลปากร ปีที่ ๔ เล่ม ๔, มกราคม ๒๕๐๔)
คำ สยาม ที่ใช้เป็นชื่อเรียกอาณาจักรทั้งหมด โดยใช้เป็นทางการอย่างเด็ดขาด แทนคำว่า กรุงเทพมหานครฯ นั้น มาเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๔. หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้ว คำ สยาม ก็ใช้เป็นชื่อของราชอาณาจักรไทยเรื่อยมา. รัชกาลที่ ๕ เมื่อลงพระนามก็มักใช้คำว่า สยามมินทร์ (ผู้เป็นใหญ่แห่งสยาม) แต่ถึงอย่างไรก็ตามความหมายของคำว่า สยาม ก็ยังคับแคบอยู่เพียงบรรดาหัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักสยามเท่านั้น ส่วนเมืองที่เป็นประเทศราชอย่างประเทศเชียงใหม่, หรือเมืองที่เป็นนครรัฐ อย่างนครลำพูน ยังมีฐานะเป็นเมืองของท้าวพระยาสามนตราช มิได้รวมอยู่ในความหมายของคำ สยาม, หากรวมอยู่ในเขตอิทธิพลทางการเมืองของสยาม.
ข้อนี้จะเห็นได้ชัดจากเอกสารทางราชการเก่า ๆ ในยุคนั้นเช่นในสำเนาร่างประกาศตั้งกงสุลเมืองสิงคโปร์ สมัยรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๖ ดังนี้ :
"สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์นี้ และเป็นเจ้าเป็นใหญ่ครอบครองพระราชอาณาจักรสยามราษฎร แวดล้อมด้วยนานาประเทศราชชนบทต่าง ๆ ทุกทิศ คือ ลาวโยน ลาวเฉียง ในทิศพายัพแลอุดร ลาวกาวแต่ทิศอีสานจนบูรพ์ กัมโพชาเขมรแต่บูรพ์จนอาคเนย์ เมืองมลายูเป็นอันมากแต่ทิศทักษิณจนหรดี แลบ้านเมืองของกะเหรี่ยงบางเหล่าแต่ทิศปจิมจนพายัพและข่าซองและชาติต่าง ๆ อื่น ๆ อีกเป็นอันมาก...."
จะเห็นว่า ข้อความสีแดงนั้น คือการพรรณนาถึงพวกเมืองขึ้น ดังมีรายการต่อไปอีกยืดยาว. ดูตามนี้แล้ว บริเวณที่เรียกว่าสยามแท้ ๆ (Siam proper) คือบริเวณภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น นอกนั้นออกไปคือ ประเทศราชชนบทต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองทางการเมืองของสยาม. http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3004.0;wap2
|