Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 22:03:55

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง  |  ความสุขทางเลือก (Moderator: SATORI)  |  ซัวซะได...กัมปูเจีย. "สวัสดี กัมพูชา"
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ซัวซะได...กัมปูเจีย. "สวัสดี กัมพูชา"  (Read 2017 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 29 December 2012, 08:53:46 »

ซัวซะได...กัมปูเจีย. "สวัสดี กัมพูชา"

 

หยุดยาว long weekend...วันที่ 2-4 สิงหาคม 2555 พวกเราได้พักผ่อน จากการงานที่เคร่งเครียด
เดินทางไปท่องเที่ยว ประเทศกัมพูชา เพื่อนบ้านใกล้เคียง ด้วยทัวร์ราคาเพียงคนละ 6,300 บาท
จุดหมายของเรา...อยู่ที่ เมืองเสียมเรียบ (เสียมราฐ-เดิม) สุดยอดแห่งความฝันคือ..ปราสาทนครวัด

อันที่จริง ผมก็เคยเดินทางไปชม ปราสาทนครวัด นครธม มาแล้ว ครั้งหนึ่ง เมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านี้
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็อยากจะได้ไปซึมซับความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อโบราณสถานแห่งนี้อีกสักครั้งในชีวิต
และเมื่อพร้อม จึงได้ชักชวนพี่น้อง และเพื่อนๆ ไปท่องเที่ยวครั้งนี้

คณะของเรา 12 คน เริ่มออกเดินทางจากจังหวัดลพบุรี เวลา 05.00 น ของเช้าวันที่ 2 ส.ค. 55
โดยรถตู้ของบริษัททัวร์ Happy Tour ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านจังหวัดสระบุรี
เลี้ยวซ้ายที่หินกอง ไปยังนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว มุ่งหน้าสู่ ตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ


ตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ

 

ด่านคลองลึก  อ.อรัญประเทศ  จ.สระแก้ว

พิธีตรวจคนผ่านด่าน 

สุดเขตสยามบูรพา 

ด่านปอยเปต กัมพูชา
 
เมื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านคลองลึก อ.อรัญประเทศแล้ว คณะเราก็เดินทางเข้าสู่ประเทศกัมพูชา
ที่ด่านปอยเปต ขึ้นรถตู้ที่มีไกด์ชาวกัมพูชามารอรับพวกเรา เป็นไกด์สาวชื่อ เย็น (เยียน) รถวิ่งไปสู่เมือง
บันเตียเมียนเจย สู่จังหวัดเสียมเรียบ(เสียมราฐ) ระยะทาง 154 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
แล้วไปแวะทานอาหารกลางวันเอาแรงกันก่อนเที่ยว


รถตู้ของบริษัททัวร์ในกัมพูชา ที่นำเราท่องเที่ยวตลอด 3 วัน

น้องเย็น ไกด์สาวชาวกัมพูชา
 
สิ่งที่สังเกตในการเดินทางไปครั้งนี้ ก็คือ ถนนหนทางที่แตกต่างจากเมื่อก่อนมาก ถนนราดยางเรียบร้อย
รถยนต์วิ่งได้ดี นั่งกันไปอย่างสบาย ผิดกับครั้งก่อน ที่ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระ รถกระโดดโคลงเคลงไปตลอดทาง
กว่าจะถึงต้องใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมง รถยนต์วิ่งได้ไม่เกิน 20 ก.ม. ต่อชั่วโมงเท่านั้น ไปเร็วกว่านี้ก็ไม่ได้
ซึ่งก็สะบักสบอมทั้งคนทั้งรถ และสิ่งที่ต่างจากเมืองไทยคือ รถยนต์กัมพูชาจะวิ่งชิดขวา เหมือนประเทศลาวและเวียดนาม
ต่างจากไทยที่รถยนต์วิ่งชิดซ้าย นั่งดูรถที่วิ่งสวนไปมา ก็รู้สึก ขัดๆ ความรู้สึกเคยชินต่อการขับรถในบ้านเรา

ที่ตื่นตาตื่นใจอีกอย่างหนึงก็คือ บ้านเมืองเขาเจริญขึ้นมาก ตามเมืองใหญ่ๆ มีตึกรามบ้านช่องมากมาย
แต่ตามชนบทข้างทางที่ผ่าน ก็ยังเป็นชนบทยากจนอยู่ อาชีพหลักคือการทำนา(ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยด้วย)
ที่ผมชอบมากคือสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยังมีป่าไม้อยู่เต็มไปหมด เพราะทางการเขาห้ามตัดไม้ใหญ่


ทิวทัศน์ท้องทุ่ง ระหว่างทางไปเสียมเรียบ

1. เสียมเรียบ...ปราสาทนครวัด



“See Ankor Wat and Die .. เห็นนครวัด ก็ตายตาหลับ”
จากประโยคอมตะของ อาร์โนลด์ ทอยน์บี...นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่มีส่วนสำคัญในการ
ช่วยโปรโมททางอ้อมให้นครวัดโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งประโยคนี้แหละที่ถือเป็นเหตุจูงใจอย่างแรง!!!
ให้เหล่านักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศเดินทางไปพิสูจน์ในความยิ่งใหญ่และงดงามของปราสาทนครวัด
ซึ่งรวมทั้ง...ผม คนหนึ่งด้วย

 

 
ปราสาทนครวัด เป็นหนึ่งในเจ็ดของสิ่งมหัศจรรย์ของโลก (ยุคปัจจุบัน) โดยปราสาทนครวัดนั้นสร้างขึ้น
ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ( พ.ศ.1656-1693) ใช้เวลาสร้างถึง 37 ปี เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู
ลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งนับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นใหญ่ และด้วยความที่ตัวปราสาทสร้างหันหน้า
ไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศของคนตาย นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่าที่นี่น่าจะเป็นที่เก็บพระศพของ
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ด้วย (ต่างจากปราสาทอื่นๆ ที่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่)
ภายในนครวัด มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก มีความยาวถึง 1.5 กม. และกว้าง 1.3 กม. รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1,219 ไร่
 
 
 


“ใครที่ได้เห็นนครวัด นครธมแล้ว ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในใจก็คือ สิ่งก่อสร้างอันประกอบด้วยศิลาทั้งสูงและกว้างใหญ่
เทียมขุนเขาเหล่านี้ เป็นสิ่งเกินปัญญา เกินกำลัง และศรัทธาของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์ขึ้นได้ คำตอบของชาวเขมรที่ว่า
พระอินทร์เป็นผู้สร้าง หรืองอกขึ้นมาเองนั้น จึงตรงกับความรู้สึกของผู้ได้เห็นปราสาทเหล่านี้เป็นครั้งแรก มากกว่าคำตอบอื่นๆ …”

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ .. บันทึกไว้ในหนังสือถกเขมร พ.ศ. 2498



มันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งและพิศวงอย่างมาก ในแรงศรัทธาของกษัตริย์ขอมโบราณที่มีต่อวิษณุเทพที่นับถือ
วิศวกรหรือสถาปนิกที่มาชมมหาปราสาทแห่งนี้ ก็อดตื่นตาตื่นใจไปกับการก่อสร้างนี้ ที่พันปีก่อนไม่มีเทคโนโลยีใดๆ มาช่วยเลย
นักศิลปะที่มาเห็นภาพแกะสลักบนผนังระเบียงคดภายในมหาปราสาทนครวัด ก็ซาบซึ้งไปกับผลงานอันมีชีวิตชีวา
ทั้งภาพนางอัปสรากว่าพันองค์ ภาพในเรื่องราววรรณคดีรามเกียรติ์ ภาพการกวนเกษียรสมุทร ภาพกองทัพสมัยโบราณ
นักบวชในศาสนาต่างๆ ที่ได้มาเห็นมหาปราสาทนครวัด ต่างก็เห็นพลังแห่งศรัทธาที่ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่แห่งนี้
แม้ว่าการก่อสร้างมหาปราสาทนี้เสร็จไม่นาน ความล่มสลายจะตามมาในแผ่นดินขอมก็ตาม

 

 
ไม่ว่านักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางจะมีอาชีพหรือภูมิหลังอย่างไร เมื่อได้มาเห็นความอลังการของมหาปราสาทนครวัด
สิ่งที่บังเกิดก็คือความตื่นตา ตื่นใจกับสิ่งก่อสร้างนี้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อพันปีก่อน หินที่นำมาก่อสร้าง
ปราสาทนครวัดนี้ ต้องไปขนมาจากภูเขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 กิโลเมตร โดยใช้ช้างนับพันเชือก
และล่องมาตามแม่น้ำเสียมเรียบเป็นจำนวนหลายล้านตัน เพื่อสร้างปราสาทที่มีรูปทรงเป็นปรางค์ 5 ยอด
ยอดกลางสูงถึง 65 เมตร การก่อสร้างใช้แรงงานคนนับแสนคน และใช้เวลายาวนานถึง 37 ปี

ขอมโบราณนั้นได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากอินเดีย ผ่านมาทางชวา ศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์นั้น
ยกย่องกษัตริย์ว่าเป็นเทพเจ้า เรียกว่าลัทธิ “เทวราชา” กษัตริย์คือตัวแทนของเทพเจ้าในโลกมนุษย์
ซึ่งมีการสร้างเทวสถานถวายให้ และเชื่อว่าเมื่อสวรรคตแล้ว วิญญาณจะประทับอยู่ที่ปราสาท
ซึ่งเป็นคติเทวราชาที่เชื่อว่ากษัตริย์คือ เทวราชาอวตารลงมา

ด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง ที่ทำให้กษัตริย์ขอมเมื่อขึ้นครองราชย์จึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างปราสาทตลอดรัชกาล
ของแต่ละพระองค์ เป็นศาสนสถานสัญลักษณ์ของระบบสุริยะจักรวาลตามคติฮินดู หรือความหมายก็คือ
ศูนย์กลางของโลกและจักรวาลนั่นเอง



พระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 ทรงครองอาณาจักรขอมระหว่างปี พ.ศ. 1656 – 1693 รวม 37 ปี
หลังสิ้นรัชกาลของพระองค์ กษัตริย์ขอมองค์ต่างๆ ที่ขึ้นครองราชย์ยังคงมีการก่อสร้างปราสาท
แต่ไม่มีปราสาทใดเลยจะยิ่งใหญ่ไปกว่ามหาปราสาทนครวัดแห่งนี้

รัชสมัยของกษัตริย์ขอมโบราณดำเนินมาจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนานิกายมหายาน งานก่อสร้างจึงเป็นปราสาทที่จัดว่า
เป็นวัดในพุทธศาสนา เช่น ที่ปราสาทบายน ปราสาทตาพรหม ปราสาทพระขรรค์ ฯ ล ฯ
หลังรัชกาลของพระองค์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ซึ่งนับถือศาสนาของฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
ได้ดัดแปลงปราสาทต่างๆ ให้เป็นศาสนสถานฮินดู เช่น มีการสกัดรูปพระพุทธรูปออกให้เป็นรูปศิวะลึงค์แทน

หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ขอมก็เริ่มเสื่อมถอย เกิดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากเกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจกันระหว่างพราหมณ์และพระในพุทธศสานา
อีกทั้งยังเกิดสงครามกับอาณาจักรไดเวียด (เวียดนาม) และต้องส่งเครื่องบรรณาการ
ให้กับอาณาจักรมองโกลและกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชสมัยของนักองค์จันทร์ (พ.ศ. 2059 - 2099)
ได้สร้างพระพุทธรูปไว้บนระเบียงคต และบนปรางค์ปราสาทมากมาย
ฐานะของสุสานเทวาลัยจึงกลายมาเป็นวัดในพุทธศาสนาที่ชื่อว่า “นครวัด”

หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของกษัตริย์ขอมโบราณอีกเลย การสิ้นสูญเกิดขึ้นกับแผ่นดินขอม
ปราสาทต่างๆถูกปล่อยรกร้าง ให้ผืนป่ากลืนกินไปนานเกือบ 500 ปี

การค้นพบนครวัดในอีก 300 ปีต่อมา

ล่วงเข้าปี พ.ศ. 2410 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส
ชื่อ นายอ็องรี มูโอต์ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาพรรณพืชเมืองร้อนทั้งเมืองไทย ลาว กัมพูชา
จากเมืองไทย นายอ็องรีเดินทางเข้ากัมพูชาทางชายทะเลตะวันออก ขึ้นบกที่เมืองกำปอตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2403
ถึงเมืองพระตะบอง จากที่นี่เขาได้รับการบอกเล่าจากมิชชันนารี่ชาวฝรั่งเศสด้วยกันว่า อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ
ในเมืองเสียมเรียบ มีซากโบราณสถานซ่อนอยู่ในป่าใหญ่


นายอ็องรี มูโอต์

ความจริงก่อนหน้าเขา มีนักเดินทางทั้งนักบวช นักแสวงบุญ และนักเผชิญโชคชาวตะวันตกหลายคน
เดินทางไปถึงนครวัดมาแล้ว เช่น B.P. Groslier ชาวโปรตุเกส มาถึงเมืองพระนครในปี พ.ศ. 2091
และเขียนบันทึกชื่อ Angkor et le Cambodge au XVIe siècle ตามมาด้วย Diogo do Couto
เจ้าหน้าที่อาลักษณ์บันทึกพงศาวดารของโปรตุเกสประจำอินเดีย เป็นผู้ที่เขียนบันทึกถึงเมืองพระนครไว้มากที่สุด
Mercello de Riba-deneyra ทหารรับจ้างชาวสเปนในปี พ.ศ. 2136 Shimano Kenryo ล่ามชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในเขมร
ระหว่างปี พ.ศ. 2166 – 2179

นายอ็องรี รุดเดินทางข้ามทะเลสาบไปยังเมืองเสียมเรียบทันที และบุกเข้าไปสำรวจในป่าทึบ
ได้พบปราสาทนครวัดเป็นแห่งแรก นับเป็นการค้นพบโบราณสถานที่สำคัญของโลก
หลังจากที่ดินแดนขอมโบราณได้สาบสูญไป ปล่อยให้ป่าใหญ่กลืนกินไปเกือบ 500 ปี



ครั้นนายอ็องรี เดินทางกลับฝรั่งเศส จึงได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับปราสาทที่ได้พบ ซึ่งยังไม่รู้ว่าคืออะไรแน่ในเวลานั้น
บรรยายถึงนครวัดที่เขาได้ไปเห็นในปี พ.ศ. 2403 ไว้ว่า 

“นี่คือความยิ่งใหญ่ที่ท้าทายวิหารโซโลมอน มันถูกสร้างขึ้นโดยน้ำมือของไมเคิล แองเจโล แห่งยุคบรรพกาล
และสามารถยืนเคียงกับสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์ที่สุดของโลกตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ มันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดๆ
ที่กรีกและโรมันทิ้งไว้เป็นมรดกแก่เรา เป็นภาพขัดแย้งอันน่าสลดใจ ท่ามกลางความเสื่อมโทรมป่าเถื่อนของดินแดน
ที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา” (สำนวนแปลของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา จากหนังสือตำนานนักเดินทาง สำนักพิมพ์สารคดี 2543)




สามปีหลังจากนายอ็องรีค้นพบนครวัดและนครธม ฝรั่งเศสก็บุกกัมพูชา ยึดเป็นเมืองขึ้นเมื่อ พ. ศ. 2406

หลังจากนั้นเริ่มมีนักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะ วิศวกร สถาปนิกฯลฯ
ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาศึกษา สำรวจนครวัด นครธม กันมากมาย แม้ว่าฝรั่งเศสจะยึดกัมพูชา
เป็นเมืองขึ้นยาวนาน และนำสิ่งมหัศจรรย์จากเขมรกลับไปฝรั่งเศสมากมาย แต่ฝรั่งเศสก็พยายามบูรณะนครวัด
และปราสาทต่างๆ ให้มีสภาพที่ยืนหยัดอยู่ได้ต่อไป ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณจำนวนมาก เพื่อจะทำให้
นครวัดมีสภาพที่ยืนหยัดอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้



หากพูดถึงนครวัดแล้ว ยังมีบุคคลชาวต่างด้าวผู้หนึ่งซึ่งได้บันทึกเรื่องราวของมหานครแห่งนี้ไว้มากมาย
โจวต้ากวาน (Chou Ta-kuan) นักบันทึกประวัติศาสตร์ชาวจีน ได้เข้ามาที่เมืองพระนครพร้อมกับคณะทูตจีน
ที่ราชวงศ์หยวน (มองโกล) ส่งเข้ามาในปี พ. ศ.1839 ตรงกันรัชสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงปลาย
ของยุคเมืองพระนคร และพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในอาณาจักรแห่งนี้ เขาได้บันทึก
เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเขมรโบราณไว้อย่างละเอียด
ซึ่งเป็นกุญแจไขปริศนาสำคัญที่จะบอกว่าชีวิตของเมืองพระนครเป็นอย่างไร ปราสาทหินมากมายนั้น
สร้างไว้เพื่อใช้ทำอะไรบ้าง เป็นบันทึกที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับของชาวเขมรในยุคเมืองพระนครได้ดีที่สุด





นักวิชาการตะวันตกโดยมากยอมรับข้อมูลเกี่ยวกับนครวัดของโจวต้ากวาน มากที่สุด ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ
โจวต้ากวาน ถ่ายทอดภาพเมืองพระนครที่ยังมีชีวิตตามที่มันเป็นอยู่ แต่ อ็องรี มูโอต์ ถ่ายทอดภาพโบราณสถาน
ซึ่งตายไปนานกว่า 300 ปี จากความรู้สึกของตนเอง



------------------------------------

ขนาดและการก่อสร้าง

ปราสาทนครวัดมีขนาดใหญ่มากถึง 200,000 ตารางเมตร ตัวปราสาทสูง 60 เมตร ยาว 100 เมตร และกว้าง 80 เมตร
มีแผนผังที่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาท 5 หลังตั้งอยู่บนฐานสูงตามคติของศูนย์กลางจักรวาล
มีกำแพงด้านนอกยาวด้านละ 1.5 กิโลเมตร มีคูน้ำล้อมรอบตามแบบ มหาสมุทรบนสวรรค์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ
 
 
 


ใช้หินรวม 600,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้แรงงานช้างกว่า 40,000 เชือก และแรงงานคนนับแสนขนหินและชักลากหิน
มาจากเขาพนมกุเลน ชึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 50 กิโลเมตร มาสร้างปราสาทนครวัด มีเสา 1,800 ต้น หนักต้นละกว่า 10 ตัน
ใช้ช่างแกะสลัก 5,000 คน
 
หอสูง 60 กว่าเมตร ศูนย์กลางของกลุ่มปราสาท อันเปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาลนั้น มีทางเดินขึ้นที่ชันมาก
ราว 50 องศา แต่ก็กลับเป็นจุดสำคัญที่นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยจะต้องปีนขึ้นไปและไต่ลงมา
เนื่องจากขั้นบันไดแต่ละขั้นนั้นกว้างแค่ประมาณหนึ่งฝ่ามือตามขวางเท่านั้น
การปีนจึงต้องอาศัยความเป็นผู้ดีตีนแดงตะแคงตีนปีนขึ้นไป

ด้วยเส้นทางเช่นนี้ การปีนป่ายขึ้นไปจึงเป็นเหมือนการบังคับให้ต้องแสดงอาการนอบน้อมต่อเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ที่นี่ไปโดยปริยาย 
(ปัจจุบันทางการได้ปิดบันไดไต่ขึ้น ด้านหน้าแล้ว จึงต้องขึ้นบันไดไม้ด้านหลังที่สร้างขึ้นใหม่ทับบนบันไดหินเดิม
แต่ขั้นบันไดขึ้น-ลงสะดวกกว่าเดิม มีราวบันไดให้เกาะจับได้) ที่จุดบนสุดของหอนี้จะมองเห็นวิวที่สวยสุดของปราสาทนครวัด ไปได้ไกลเลยทีเดียว
 







รูปสลักและงานประติมากรรม




ทางด้านกำแพงชั้นนอกรอบปราสาทนั้น มีความยาวกว่า 800 เมตร มีงานแกะสลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ
ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่อง รามายณะ รูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุดก็คือรูปที่
เทวดากับอสูรกวนเกษียรสมุทรด้วยเขาพระสุเมรุ และยังมีรูปแกะสลักนางอัปสรอีกถึง 1,635 นาง
ที่ทั้งหมดแต่งกายและทรงผมไม่ซ้ำกันเลย

 
 
 

 
 

โปรดสังเกต รูปนางอัปสราหรือนางอัปสร ที่อยู่ใกล้มือนักท่องเที่ยว จะถูกลูบคลำ จนขึ้นเป็นมัน

 
 
 


จ๊ะเอ๋..นางอัปสรา ตัวจริง เยี่ยมพักตร์ออกมาให้เห็น (สาวแขมร์)

ภาพสลักการกวนเกษียรสมุทร ฝ่ายอสูรยึดพญานาควาสุกรีทางด้านหัว เทวดายึดด้านหาง
พันร่างพญานาคเข้ากับภูเขา แล้วร่วมมือกันกวนเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมเพื่อให้ได้น้ำอมฤตมา
โดยมีพระนารายณ์บัญชาการอยู่ตรงกลาง การกวนเกษียรสมุทรนี้ทำให้เกิดของวิเศษหลายสิ่งขึ้นมา
รวมทั้งนางอัปสราด้วย โดยในภาพก็ได้สลักรูปนางอัปสราตัวเล็กๆ ลอยร่ายรำอยู่เหนืออสูรและเทวดาเหล่านั้นด้วย
 


มีภาพจำหลักหินด้านหนึ่งเป็นภาพกองทัพสยาม ที่ส่งไปช่วยรบกับพวกจามมีอักษรจารึกไว้ว่า “สยำ กุก”
ปัจจุบันถูกเอาออกไปแล้วน่าจะหมายถึงกองทัพสยามจากลุ่มแม่น้ำกก คือกำลังที่มาจากเมืองเชียงราย
เมืองเชียงแสนหรือจากสุพรรณบุรี และคำว่า “ โลว” สันนิษฐานว่าเป็นกองทัพจากเมืองละโว้

ครับ...ยืดยาวมาพอสมควร วันนี้ขอจบไว้เพียง ตอนที่ 1 นครวัด ก่อน
แล้วจะมาต่อใหม่ ในตอนที่ 2 คือ ปราสาทนครธม ที่ยิ่งใหญ่ อีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งก็อยู่ใกล้เคียงในอาณาบริเวณเดียวกัน
 
-----------------------------------------------------------------

« Last Edit: 29 December 2012, 08:56:30 by Smile Siam » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.085 seconds with 20 queries.