Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 17:32:52

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง  |  เกษตรทางเลือก  |  เพอร์มาคัลเจอร์  |  เพอร์มาคัลเจอร์ #8: สระน้ำ
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: เพอร์มาคัลเจอร์ #8: สระน้ำ  (Read 4292 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 29 December 2012, 07:55:20 »

เพอร์มาคัลเจอร์ #8: สระน้ำ





ขอบคุณรูปสวยๆ จาก http://www.appleseedpermaculture.com


สระน้ำอาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เจ้าของบ้านถามหา สระน้ำเพอร์มาคัลเจอร์อาจจะมีหลายวัตถุประสงค์ใช้งานหลายอย่าง เช่น เป็นที่เก็บน้ำ, เป็นสระว่ายน้ำ, เป็นที่เลี้ยงปลา, เป็นแหล่งน้ำของเป็ด, เป็นที่ดึงดูดสัตว์ป่า, เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในสวน, เป็นบ้านของสัตว์ที่มีประโยชน์อย่างเช่น กบ, เป็นแหล่งปลูกพืชน้ำ เป็นต้น  การจะขุดสระน้ำเราควรจะมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อที่จะได้ออกแบบสระน้ำให้ตรงกับวัตถุประสงค์  สำหรับผมแล้วการขุดสระก็เพื่อวัตถุประสงค์หลักๆ ดังนี้

    เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ  การออกแบบสระที่ดีจะเป็นแหล่งของพืชและสัตว์น้ำหลายชนิด  รวมทั้งสัตว์ที่ไม่ได้อาศัยในน้ำ เช่น นก แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อาจจะมาดื่มน้ำ หรือเล่นน้ำในสระ  การมีความหลากหลายทางชีวภาพจะช่วยดึงดูดสัตว์ที่มีประโยชน์ให้เข้ามาในสวนของเรา เช่น แมลงปอ กบ นกที่กินแมลง เป็นต้น  ผมเชื่อว่าระบบนิเวศน์ที่หลากหลายจะปรับเข้าสู่จุดสมดุลได้เร็ว  ลดปัญหาเรื่องศัตรูพืชที่เราจะปลูกในที่ดินของเรา (ตัวอย่างเช่น กบ 1 ตัวจะกินแมลงขนาดเล็กอย่าง ยุง แมลงวัน โดยเฉลี่ยประมาณ 12-16 ตัวต่อวัน แมลงปอจะกินแมลงประมาณ 40-50 ตัวต่อวัน)
    เป็นแหล่งพักผ่อน ครอบครัวผมชอบชมบรรยากาศรอบๆ สระน้ำ รวมทั้งสัตว์ต่างๆ ที่มาเยือนที่สระน้ำ
    เป็นแหล่งเก็บน้ำในหน้าแล้ง
    เป็นแหล่งอาหาร และวัตถุดิบในการทำปุ๋ย  เนื่องจากการปลูกพืชในระดับน้ำตื้นจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าปลูกบนบกทั่วไป เนื่องจากเราไม่ต้องเสียเวลาในการรดน้ำ  และพืชน้ำมักจะเติบโตได้เร็วกว่า ทำให้ได้ผลผลิตเป็นอินทรีย์วัตถุมาก
    นอกจากนั้นที่ดินของผลลาดจากที่สูงลงต่ำ ผมจึงวางแผนที่จะสูบน้ำส่วนหนึ่งจากบ่อที่เลี้ยงปลาด้วยไปรดน้ำต้นไม้ในที่สูง ต้นไม้จะได้ธาตุอาหารจากของเสียที่ปลาปล่อยลงในน้ำ และซากพืชที่ย่อยสลายในน้ำ  น้ำที่รดน้ำต้นไม้ในที่สูงจะซึมลงใต้ดินค่อยๆ ไหลกลับมายังสระที่อยู่ในที่ต่ำ  ทำให้ดินเป็นระบบกรองน้ำให้น้ำที่ไหลกลับลงในสระเป็นน้ำที่สะอาดขึ้น

เมื่อเรารู้วัตถุประสงค์ของเราแล้ว การขุดสระต้องพิจารณาประเด็นต่อไปนี้

1. รูปร่าง และตำแหน่งของสระ

โดยปกติแล้วจะเป็นการดีที่จะเลือกขุดสระในตำแหน่งต่ำในที่ดินของเราเนื่องจากจะทำให้ไม่ต้องขุดดินมาก  ลดค่าใช้จ่ายในการขุด  และทำให้การเก็บน้ำฝนที่ไหลบนผิวดินทำได้ง่าย  อย่างไรก็ตามอาจจะต้องพิจารณาเรื่องปัญหาน้ำท่วมด้วย  เนื่องจากตำแหน่งสระที่ต่ำเกินไปอาจจะถูกน้ำท่วมได้  จุดที่เหมาะสมกว่าอาจจะเป็นจุดที่สูงขึ้นไปเล็กน้อย  หรือต้องแก้ปัญหาด้วยการมีคันบ่อที่สูงขึ้น

นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงตนไม้ที่ปลูกในบริเวณใกล้เคียง  เช่น ถ้าสระน้ำของเราเป็นปูพื้นด้วยพลาสติกแต่มีต้นไม้ที่โตเร็ว และมีรากชอนไชเยอะอยู่ใกล้สระ รากของต้นไม้อาจจะเจาะทะลุพลาสติกรองพื้นสระได้  ถ้าต้นไม้ที่ปลูกใกล้สระเป็นไม้ผลัดใบที่จะมีใบร่วงลงในสระในปริมาณมากในหน้าแล้ง  ซึ่งอาจจะทำให้เกิด "สภาวะสารอาหารมากเกิน" (eutrophication) แบคทีเรียประเภทที่ใช้อ๊อกซิเจนจะย่อยใบไม้ และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้น้ำขาดอ๊อกซิเจนจนสัตว์น้ำไม่สามารถอยู่ได้

รูปร่างของสระที่มีมุมอับมากเกินไปจะทำให้มีการไหลเวียนของน้ำไม่ดีในบางตำแหน่ง อาจจะทำให้ปลาไม่สามารถอยู่ได้ในบางมุมของสระ  หรือการทำรูปสระที่มีขอบโค้งไปมาจะทำให้มีพื้นที่ขอบสระมากขึ้นด้วยขนาดของสระที่เท่ากัน  พื้นที่ขอบสระและบริเวณน้ำตื้นที่ใช้ปลูกพืชจะเป็นแหล่งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ   



2. แหล่งน้ำและคุณภาพน้ำ

การขุดสระจะต้องหาแหล่งน้ำที่เพียงพอที่จะรักษาสิ่งมีชีวิตต่างๆในสระน้ำ และรอบๆสระน้ำได้ทั้งปี  โดยจะเน้นแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอันดับแรกซึ่งอาจจะเป็นน้ำจากตาน้ำใต้น้ำ  น้ำที่ซึมมาจากแม่น้ำ/ลำห้วย เก็บน้ำจากน้ำฝน ผันน้ำจากคลองชลประทาน/แม่น้ำ   การใช้น้ำบาดาล หรือน้ำประปามาเติมใส่สระน้ำควรจะเป็นทางเลือกท้ายๆ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ในหน้าแล้งสำหรับบางพื้นที่

นอกจากนั้นไม่ควรลืมเรื่องการจัดการเวลาที่น้ำมากเกินไป  โดยต้องมีทางระบายน้ำล้นออกจากสระเพื่อป้องกันการพังทะลายของคันสระ  และความเสียหายต่อพืชชนิดต่างๆ ที่ขอบสระเนื่องจากน้ำท่วม

3. พืชน้ำ

พืชน้ำ หรือ พรรณไม้น้ำ เป็นพืชที่อาศัยหรือเจริญเติบโตในน้ำ หรือมีช่วงหนึ่งที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำ อาจอยู่ใต้น้ำทั้งหมดหรือมีบางส่วนขึ้นสู่บริเวณผิวน้ำ ลอยอยู่ตามผิวน้ำ โดยสามารถแยกเป็นสี่ประเภทหลัก

พืชใต้น้ำ (submerged plant) เป็นพืชที่เจริญเติบโตใต้น้ำทั้งหมด หรือหมายถึงพืชที่ทั้งราก ลำต้น ใบ อยู่ใต้น้ำทั้งหมด ทั้งนี้รากอาจยึดกับพื้นดินใต้น้ำหรือไม่ก็ได้ โครงสร้างลำต้นและใบจะมีช่องว่างมากสำหรับใช้เป็นที่สะสมก๊าซ และช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ ส่วนใบมักจะกรอบและบาง ไม่มีปากใบและคิวติน พืชจำพวกพบมากในกลุ่มสาหร่ายต่างๆ



พืชโผล่เหนือน้ำ (emerged plant) เป็นพืชที่เจริญเติบโตในน้ำเพียงบางส่วน เช่น รากและลำต้น ส่วนรากอาจยึดพื้นดินใต้น้ำหรือไม่ก็ได้ มีใบหรือดอกโผล่พ้นน้ำหรืออาจอยู่ที่ผิวน้ำ บางชนิดอาจมีทั้งใบใต้น้ำและใบเหนือน้ำในลำต้นเดียวกัน ลำต้นมีลักษณะแข็งแรงกว่าพืชใต้น้ำมีคิวตินมีปากใบและคิวติน พบมากในพืชกลุ่มบัวต่างๆ



พืชลอยน้ำ (floating plant) เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้โดยลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ รากจะอยู่ใต้น้ำ ส่วนของลำต้น ใบ และดอก อยู่เหนือน้ำหรือผิวน้ำ สามารถลอยไปมาได้ หากพืชเหล่านี้อยู่บริเวณน้ำตื้นรากของพืชชนิดนี้อาจยึดอยู่กับพื้นดินใต้ น้ำได้ พืชจำพวกนี้ได้แก่ ผักตบไทย ผักตบชวา จอกหูหนู กระจับ ผักบุ้ง ตาลปัตรฤาษี ผักกระเฉดน้ำ



พืชชายน้ำ (merginal plant) เป็นพืชที่เจริญเติบโตบริเวณริมน้ำหรือริมตลิ่ง ทั้งบริเวณหนองน้ำ ริมคลอง บริเวณที่มีน้ำขัง โดยรากจะฝังในดิน ส่วนลำต้น ใบ และดอก จะอยู่เหนือน้ำ ได้แก่ แพงพวยน้ำ โสน บอน ธูปฤาษี พุทธรักษา เป็นต้น



เนื่องจากผมเน้นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในสระ  ผมจะพยายามปลูกพืชน้ำหลายประเภท คือ พืชใต้น้ำ พืชโผล่เหนือน้ำ และพืชชายน้ำ  แต่ผมไม่จะชอบพืชลอยน้ำมากนัก เพราะจะขยายพันธุ์โดยเราควบคุมตำแหน่งได้ยาก (เพราะไม่ต้องมีรากที่ยึดกับดินใต้สระ) และอาจขยายพันธุ์มากจนบังแสงแดดมากเกินไป ทำให้ไม่น่ามอง   ที่จะปลูกเพิ่มอีกก็คือพืชที่ชอบพื้นที่ชื้นแฉะ (คล้ายๆ พืชชายน้ำแต่ชื้น แต่ไม่ชอบน้ำขัง)

หมายเหตุ พืชน้ำที่มีงานวิจัยว่าช่วยในการบำบัดน้ำเสียได้แก่ หญ้าสตาร์ หญ้าคาลลา หญ้าโคสครอส หญ้าแฝก ธูปฤๅษี กกกลม (จันทบูรณ์) สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก ผักกานจอ ผักหนาม ตะไคร้ ตะไคร้หอม เป็นต้น


4.ชนิดของดิน และคุณสมบัติการเก็บน้ำ

ถ้าเราโชคดีว่าดินบริเวณที่ขุดสระเป็นดินเหนียวทั้งหมดก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการเก็บน้ำ  แต่ถ้าเป็นดินทราย หรือหินก็อาจจะเป็นปัญหา ทำให้ต้องคิดเรื่องการทำให้สระเก็บน้ำอยู่  ซึ่งยังมีหลายวิธีดังนี้

    ดินเหนียว ในกรณีที่เราโชคดีว่าดินในสระเป็นดินเหนียว แต่จริงๆ แล้วดินเหนียวที่เราเห็นไม่ได้เป็นดินเหนียว 100%  เราอาจจะช่วยลดการรั่วด้วยการทำให้ดินเหนียวเปียก และเหยียบย่ำ (อาจจะต้องใช้คนช่วยเยอะหน่อย) จนเป็นเลน  เป็นการแยกชั้นของทราย หิน หรืออินทรีย์วัตถุต่างออกจากดินเหนียวจนอุดสระได้ดีขึ้น
    เมือกอินทรีย์ เราอาจจะเคยเห็นเมือกเหล่านี้ในธรรมชาติ เช่น บรเวณที่ดินทรายที่มีน้ำขังนานๆ จะมีแบคทีเรียที่ออกซิเจนสร้างชั้นเมือก (biological plastic membrane) ขึ้นมา  ซึ่งเมือกพวกนี้จะมีคุณสมบัติคล้ายเลนของดินเหนียวจะช่วยอุดรูเล็กๆ ในสระได้  การกระตุ้นให้เกิดเมือกพวกนี้ทำได้ตามลักษณะของสระดังนี้
        กรณีที่สระยังไม่มีน้ำ อาจจะเอามูลสัตว์สด (เช่น ขี้หมู) ผสมน้ำให้เหลวๆ มาทาที่ผิวของสระ  แล้วนำสารอินทรีย์พวกใบหญ้า ฟาง ใบไม้ กระดาษลูกฟูก มาคลุมทับมูลสัตว์   ทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์์ให้จุลลินทรีย์ทำงาน (ถ้าร้อนมาก อาจจะต้องมีการรดน้ำช่วยบ้างเพื่อเลี้ยงจุลินทรีย์ให้มีชีวิต)  แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าสระในภายหลัง
        กรณีที่สระมีน้ำแล้ว (เช่น ขุดไปเจอตาน้ำ) เนื่องจากเราไม่สามารถทำให้สระแห้งได้ก็ให้เใช้มูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์นำไปห่อหุ้มด้วยมุ้งเขียวหลือแสลนแช่ไว้บ่อจนกว่าจะเกิดน้ำ เขียวและเกิดสายโซ่อาหารต่าง ๆ ตามมา เช่น สาหร่าย, แพลงค์ตอน, ไรน้ำ ซึ่งจะเป็นอาหารให้แก่กุ้งฝอยและปลากินพืชต่าง ๆ ปลานิล, ปลาตะเพียน, ปลากระดี่ ฯลฯ หรือ จะใช้ปุ๋ยยูเรียเข้ามาช่วยเสริมอีกทางหนึ่งเพื่อให้เกิดน้ำเขียวรวดเร็วขึ้น อีกทางหนึ่งก็ได้ แต่ให้ระวังเรื่องแอมโมเนีย ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำ แพลงค์ตอน ไรน้ำ ปลาขาดอ๊อกซิเจน ตาบอด ลอยหัวและถึงกับตายได้

        นอกจากนั้น ปลาบางชนิด เช่น ปลานิล ปลาไน เวลาตัวเมียจะถึงเวลาวางไข่ ตัวผู้จะเอาครีบไปตีดินขอบบ่อให้ดินแน่นๆเพื่อเป็นที่วางไข่ จะทำให้สระเราอุดได้เร็วขึ้น  วิธีการใช้เมือกอินทรีย์อาจจะต้องใช้เวลา 1-3 ปีกว่าจะอุดสระได้ดีพอ
    สารอุดสระ (โพลิเอคริลามายด์ - โพลิเมอร์ชนิดละเอียด) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งทำกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน สารอุดสระหรือโพลิเมอร์ละเอียด 2 กิโลกรัม คลุมผสมกับ สเม็คไทต์ (หินแร่ภูเขาไฟ) 100 กิโลกรัม ให้เป็นเนื้อเดียวกัน นำไปหว่านกระจายให้ทั่วพื้นบ่อจะได้ประมาณ 1 ไร่ ถ้าเหลืออาจจะหว่านด้านข้างขอบสระทั้งสี่ด้านเข้าไปด้วยก็จะช่วยทำให้ ประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำดียิ่งขึ้น ทำการหว่านทับด้วยดินเดิมอีกประมาณ 1 – 2 นิ้ว บด อัด กระแทกให้แน่นพอประมาณ เมื่อฝนตกมีน้ำ สารอุดสระหรือโพลิเมอร์ละเอียดจะพองขยายทำหน้าที่เป็นกาวเหนียว หนืด ซึมแทรกเนื้อดิน สเม็คไทต์ก็จะพองตัว จับสารแขวนลอยที่ซึมลงไปกับน้ำ เกาะกุมกับโพลิเมอร์ช่วยอุดรูดินทำให้น้ำซึมลงไปได้ยาก เมื่อทำงานร่วมกันกับเมือกอินทรีย์ที่เกิดจากการคัดหลั่งของราและแบคทีเรีย ที่เราใช้สร้างน้ำเขียว ก็จะส่งเสริมกันทำให้พื้นบ่อของเรากักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ยาวนานเกือบตลอดทั้ง ปี
    เบนโทไนท์ เป็นแร่ที่มีคุณสมบัติให้น้ำแทรกเข้าไปได้ดี ในกรณีที่ดินในบริเวณที่ขุดสระเป็นดินทรายมาก ทำให้น้ำรั่วซึมทางก้นบ่อ  การผสมดินด้วยเบนโทไนท์จะทำให้ดินมีคุณสมบัติคล้ายๆ ดินเหนียวมากขึ้น  มีผู้รู้หลายท่านให้ความคิดเห็นว่าถ้าน้ำรั่วที่ก้นบ่อและเป็นดินทรายให้ใช้เบนโทไนท์  ถ้าก้นบ่อเก็บน้ได้แต่น้ำซึมจากด้านข้างให้ใช้โพลิเมอร์อุดสระ หรือ เมือกอินทรีย์อุดสระ
    พลาสติก โดยทั่วไปที่นิยมใช้จะเป็น แผ่น PE , แผ่น HDPE ,แผ่น PVC ซึ่งแต่ละชนิดจะมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน ชนิดที่มีอายุการใช้งานที่ทนนานมากที่สุดจะเป็นแผ่น HDPE ( High Density Poly-Estelyne ) ซึ่งจะมีความหนาหลายขนาดให้เลือกใช้ ถ้าจะใช้ปูบ่อเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ความหนาแค่ 1.00 มม.ก็เพียงพอ ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าพื้นผิวของสระน้ำของคุณเป็นอย่างไร มีหินมากหรือเปล่าเพราะบางครั้งก้อนหินอาจทิ่มแทงให้แผ่นเป็นรูได้ ทางแก้คือต้องรองพื้นด้วยแผ่น geotectile ซึ่งเป็นแผ่นสังเคราะห์ใช้สำหรับป้องกันชั้หินทิ่มแทงแผ่น  วิธีสุดท้ายนี้ไม่แนะนำ ยกเว้นกรณีไม่มีทางเลือกอื่น เช่น ดินทราย เนื่องจากไม่มีใช่ทางออกถาวร  เมื่อพลาสติกหมดอายุก็จะรั่วเหมือนเดิม และต้องลงทุนสูงโดยเฉพาะสระขนาดใหญ่

5. กฎหมาย

การขุดสระจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับที่ดินใกล้เคียงด้วย  ปกติแล้วขอบสระจะต้องห่างจากตัวบ้าน ที่สาธารณะ หรือที่ดินของเพื่อนบ้านอย่างน้อย 2 เท่าของความลึกของสระ แต่กฏหมายโรงงานระบุว่าไม่น้อยกว่า 50 เมตร  ถ้าระยะห่างน้อย และเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินของผู้อื่น  เจ้าของสระจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย

6. เวลา

เราต้องไม่ลืมที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ  เราจะเก็บเกี่ยวก่อนที่จะเพาะปลูกไม่ได้ฉันใดเราก็ไปเร่งธรรมชาติมากจนเกินไปไม่ได้ฉันนั้น  ดังนั้นแผนงานของเราในแต่ละช่วงจะแตกต่างกันออกไป  ตัวอย่างเช่น  ในช่วงแรกเราต้องการปรับสภาพให้สระเก็บน้ำอยู่  เราอาจจะต้องยอมให้น้ำในสระเป็นสีเขียวเพื่อสระเมือกอินทรีย์เยอะๆ  ซึ่งในช่วงนี้ออกซิเจนในสระจะน้อย ถ้าเราจะเลี้ยงปลาสวยงาม อย่างเช่น ปลาคราฟ อาจจะไม่เหมาะ เพราะถ้าตายไปก็จะน่าเสียดาย (เพราะแพง)  เราอาจจะต้องเลือกปลากินพืชอย่าง ปลานิล ปลาไน ก่อน

ต่อมาเมื่ผ่านมาสัก 3 ปี สระน้ำของเราเริ่มเก็บน้ำอยู่แล้ว  เราอาจจะอยากให้สระน้ำเรามีน้ำใสขึ้นเพื่อใช้ว่ายน้ำ หรือเลี้ยงปลาสวยงาม  เราจะต้องเริ่มดูเรื่องการลดปริมาณตะไคร่น้ำ และสาหร่ายเซลเดียวที่ลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาแบบอย่างจะเกินจากการออกแบบสระในตอนแรก  ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าการที่สาหร่ายเซลเดียว/ตะไคร่น้ำ พวกนี้มีปัจจัยในการเกิดหลักๆ 3 อย่างคืออาหาร แสงแดด และอุณหภูมิ  ดังนั้นเราจึงอาจลดปัญหานี้ด้วยกลยุทธ์ต่อไปนี้

    การขุดสระให้มีความลึกหลายระดับ เช่น การแบ่งพื้นที่สระ 30% น้ำตื้น 30% น้ำลึกปานกลาง และ 40% พื้นที่น้ำลึก เพื่อที่จะมีพืชที่ในการปลูกพืชน้ำประเภทต่างๆ  พืชน้ำพวกนี้จะช่วยดูดสารอาหารในน้ำทำให้มีอาหารเหลือให้สาหร่ายเซลเดียวน้อยลง



    การขุดสระที่มีความลึกแตกต่างกันจะช่วยทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำโดยธรรมชาติ เนื่องจากน้ำจะไหลเวียนมากขึ้นถ้าน้ำมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน  น้ำในที่ตื้นจะมีอุณหภูมิสูงกว่า น้ำลึก  การหมุนเวียนของน้ำจะช่วยเรื่องการละลายของอ๊อกซิเจนในน้ำ และการไหลเวียนของแร่ธาตุในน้ำ  การมีหินอยู่ทางตื้นของสระน้ำจะช่วงเร่งให้น้ำในที่ตื้นอุ่นขึ้นไปอีก เพราะหินจะคายความร้อนเร็วกว่าน้ำ หรือดินมาก  โดยหลักการแล้วถ้าด้านที่วางหินอยู่ทางทิศเหนือก็จะช่วยเสริมปรากฎการณ์นี้ เนื่องจากพระอาทิตย์จะโคจรเอียงไปด้านใต้นิดๆ ทำให้ด้านเหนือของสระร้อนกว่า (แต่ถ้าทิศทางไม่อำนวยก็ไม่ต้องสนใจปัจจัยนี้ก็ได้)



    นอกจากนั้นการทำให้ด้านลึกร่มกว่าปกติ เช่น การสร้างศาลา การสร้างท่าน้ำ หรือปลูกต้นไม้ที่ใบไม่ร่วงมากนักทางด้านลึกของสระก็จะช่วยให้มีอุณหภูมิที่แตกต่างกันไปอีก  แต่ถ้าเป็นต้นไม้ที่มีใบร่วงมากก็จะเป็นการเพิ่มอาหารลงไปในน้ำมากเกินไป
    การเลี้ยงปลามากเกินไปก็จะเป็นแหล่งอาหารของสาหร่ายเซลเดียวเช่นกัน  เพราะของเสียจากปลาจะเป็นอาหารของสาหร่ายเซลเดียว และอาหารปลาที่เหลือก็จะกลายเป็นอาหารของสาหร่าย/ตะไคร่น้ำ  ถ้าจะเลี่ยงปลาเยอะควรพิจารณาเลือกสัตว์น้ำที่มีการกินอาหารหลากหลายระดับ รวมทั้งพวกที่กินอาหารตามพื้นสระ เช่น กุ้ง หอย ปลาซักเกอร์ เป็นต้น
    การปลูกพืชน้ำให้ได้มากเต็มพื้นที่  อาจจะต้องใช้วิธีการปลูกแบบผสมผสานคือมีทั้ง พืชใต้น้ำ พืชโพล่เหนือน้ำ พืชชายน้ำ และพืชชุ่มน้ำ

    ในแผนของผมคาดว่าจะปลูกพืชตามแผนภาพข้างล่าง โดยการวางเศษไม้ และปลูกพืชชุ่มน้ำในทิศทางที่น้ำไหลมาจากที่สูง จะช่วยดักตะกอนทำให้ลดปริมาณอินทรีย์วัตถุที่จะลงไปในน้ำ  และดึงดูดแมลง/สัตว์ต่างๆ  ในระดับถัดมาก็จะปลูกพืชชายน้ำ และพืชโพล่เหนือน้ำ เพื่อช่วยบดบังแสงแดดที่จะมาเลี้ยงสาหร่ายเซลเดียว/ตะไคร่น้ำ  ส่วนพืชใต้น้ำ เช่น สาหร่ายหางกระรอกจะช่วยดูดธาตุอาหารไปใช้ และเพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำให้ปลา



    สวนเปียก หรือสวนแบบชุ่มน้ำ (bog garden) คือการยกเนินเล็กๆ หรือพวกบริเวณขอบสระให้สูงขึ้น โดยร่องควรจะห่างจากขอบสระประมาณ 30 เซนติเมตร และลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ในร่องรองพื้นด้วยทรายประมาณ 1-2 นิ้ว และตามด้วยทรายผสมวัสดุชุ่มน้ำ เช่น แกลบดำ ขี้เลื่อย  พื้นที่สวนแบบชุ่มน้ำจะทำหน้าที่เป็นการชะลอน้ำที่จะเข้าไปในสระ ดักตะกอน และช่วยดูดซับสารอาหารก่อนที่จะไหลลงไปในสระตรงๆ
    จุลินทรีย์หลายชนิดในน้ำหมักก็จะช่วยเร่งการย่อยสลายของสารอินทรีย์โดยไม่ทำให้น้ำมีสีเขียว  รวมทั้งมีจุลินทรีย์หลายชนิดที่ไม่ใช้อ๊อกซิเจนซึ่งสามารถทำงานได้ดีในบริเวณน้ำลึกของสระ  การเพิ่มจุลินทรีย์ด้วยปุ๋ยน้ำหมัก หรือ EM Ball จะเป็นอีกทางนึงที่จะช่วยเสริมให้น้ำในสระใสขึ้น

ดังนั้นเพื่อนๆ จะเห็นว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนเราอาจจะต้องปรับแผนของเราให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการให้ธรรมชาติช่วยเรา

วัตถุประสงค์ของบล็อกนี้ไม่ได้พยายามบอกว่าสระที่ดีที่สุด คือแบบไหน  แต่อยากนำเสนอมุมมองในการคิดตามหลักเพอร์มาคัลเจอร์ เพื่อออกแบบสระแบบที่ใช้พลังงานภายนอกน้อย  ไม่ต้องมีเครื่องพ่นฟองอากาศ ไม่ต้องมีกังหันน้ำ ไม่ต้องสูบน้ำเพื่อให้น้ำไหลเวียน ไม่ต้องให้อาหารปลา ผมพยายามสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบ มนุษย์ไม่ใช่เจ้าของสระ ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ต่างหากเป็นเจ้าของสระ เราจะฝืนกลไกการทำงานของธรรมชาติไม่ได้ แต่เราสามารถออกแบบ หรือสนับสนุนให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติเร็วขึ้นได้กว่าปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่เหนือธรรมชาติ

เพื่อนๆ จะสังเกตุว่าการออกแบบสระของผมอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับสระที่มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไป  เช่น สระน้ำสำหรับเลี้ยงปลากินพืช จะชอบให้น้ำเขียว เพราะมีอาหารเยอะ  จะเน้นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุเข้าไปในสระ เช่น การสร้างกรงไก่ หรือเล้าหมูเหนือสระน้ำ  เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มอาหารให้สาหร่าย แล้วสาหร่ายก็จะเป็นอาหารให้กับปลากินพืชที่เลี้ยง   ส่วนสระน้ำที่ผมวางแผนจะเน้นความหลากหลายทางชีวภาพ การทำน้ำให้ใสเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ  ส่วนการเลี้ยงปลา หรือการกักเก็บน้ำเป็นประเด็นรอง ขอบสระจะหยักๆ ไปมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชชายน้ำแทนที่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยม หรือวงกลมที่ง่ายต่อการลากแหจับปลา  ในน้ำจะเต็มไปด้วยต้นไม้ และสิ่งกีดขวางเพื่อเป็นที่หลบซ่อนของปลา/สัตว์น้ำ แต่กลับเป็นอุปสรรคต่อแห ดังนั้นสระแบบของผมจะไม่ได้ผลผลิตปลาสูง

ถ้าเราขุดสระเพื่อเป็นที่พักน้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ในสวน เราอาจจะต้องเลือกสระในตำแหน่งที่สูงที่สุด เพื่อสามารถปล่อยน้ำกลับลงมารดน้ำต้นไม้ได้ง่าย ต่างจากสระที่เอาไว้เก็บน้ำฝนซึ่งน่าจะอยู่ที่ต่ำเพื่อความง่ายในการกักเก็บน้ำ

สระน้ำของเพื่อนๆ อาจจะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจึงอาจจะต้องใช้วิธีการที่แตกต่าง แต่อย่าลืมที่จะออกแบบของโดยคำนึงถึงการลดการใช้พลังงาน การเลือกแบบที่ต้องบำรุงรักษาน้อยในระยะยาว เรียนรู้ธรรมชาติและปรับแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ของเรา

http://www.bansuanporpeang.com/node/20050
_____________________________________________________________________________
เพอร์มาคัลเจอร์ #8.1 สระน้ำ - ต้นไม้ริมสระ

ต่อเนื่องจากเรื่องสระน้ำ  วันนี้เรายังคงอยู่เรื่องสระน้ำ แต่จะเน้นเรื่องต้นไม้ที่เราสามารถปลูกริมสระน้ำ  ซึ่งจะคล้ายๆ กับเรื่องการขุดสระน้ำคือเราจะต้องชัดเจนเรื่องวัตถุประสงค์ของการปลูก เช่น ปลูกเพื่อความสวยงาม ปลูกเพื่อเป็นแหล่งอาหาร เป็นต้น  การเลือกต้นไม้ที่ปลูกจึงควรที่จะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของเรา

ประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ริมสระ

สระน้ำโดยเฉพาะที่มีขนาดเล็ก หรือตื้นจะมีปัญหามากจากอุณหภูมิของน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อได้รับแสงแดดตรงๆ ทำให้ปลา กบ พืชใต้น้ำอื่นๆ อาศัยอยู่ในสระได้ยาก และจะเป็นตัวส่งเสริมให้ตะไคร่น้ำเจริญเติบโตได้ดี น้ำในสระจะเป็นสีเขียวไม่ใส  แน่นอนว่าการปลูกต้นไม้ริมสระเราจะได้ประโยชน์จากร่มเงาจากต้นไม้ ทำให้ปัญหาข้างต้นลดลง (หมายเหตุ นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้ การทำที่บังแดดอื่นๆ เช่น ศาลา ท่าน้ำ จะส่งผลคล้ายๆ การปลูกต้นไม้  และการมีพื้นที่บางส่วนของสระที่ลึกมากกว่า 3 เมตร ก็จะเป็นที่หลบภัยของปลาในสระในช่วงที่อุณหภูมิในน้ำสูงจากการโดนแดดเผาโดยตรง )

นอกจากนั้นการคายน้ำของต้นไม้ก็จะทำให้บรรยากาศบริเวณนั้นมีความชื้นมากกว่าบริเวณทั่วไป และต้นไม้ที่ปลูกเป็นแนวนั้นยังช่วยลดความเร็วของกระแสลมที่พัดกระทบผิวน้ำอีกด้วย เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ช่วยลดอัตราการระเหยของน้ำจากสระในเวลากลางวันได้เป็นอย่างดี

ปัญหาจากการปลูกต้นไม้ริมสระ

ทั้งๆ ที่ต้นไม้มีประโยชน์กับระบบนิเวศน์ในสระ  แต่ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน ถ้าเราเลือกต้นไม้ไม่ดีผลเสียต่อสระอาจจะมีมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น  ตัวอย่างของผลกระทบทางลบได้แก่

พิษจากต้นไม้ ต้นไม้หลายอย่างมีพิษที่มีฤทธิ์เบื่อปลา ทำให้เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำในอยู่ในสระ ตัวอย่างเช่น ต้นราชพฤกษ์ ต้นอบเชย ต้นสารภี และมะนาว เป็นต้น  นอกเหนือจากต้นไม้แล้วพืชขนาดเล็กที่มีฤทธิ์เบื่อปลาก็ไม่ควรปลูกรอบสระน้ำที่เลี้ยงปลา เช่น หางไหล (หรือโล่ติ๊น) สาบเสือ กลอย มันแกว เป็นต้น

รากชอนไช  ต้นไม้ที่รากลึกอาจจะมีผลกับโครงสร้างของดินริมสระ จนทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนไป  ทำให้น้ำซึมออกจากสระได้ง่ายขึ้น  นอกจากนั้นถ้าเราปูพื้นสระด้วยพลาสติก  รากไม้บางชนิดอาจจะชอนไชจนทะลุผ้าพลาสติกออกมาจนทำให้น้ำรั่วออกจากสระ

ใบไม้ร่วงลงสระมากเกินไป ปัญหาที่มักจะเจอส่วนใหญ่เกิดจากใบไม้  ต้นไม้ประเภทผลัดใบที่มีช่วงที่ใบไม้ร่วงมากในช่วงเวลาสั้นๆ ของทุกปีอาจจะก่อปัญหาเรื่องการเติบโตอย่างรวดเร็วของจุลินทรีย์ที่ใช้อ๊อกซิเจนในน้ำจนเป็นปัญหากับสัตว์น้ำ และพืชใต้น้ำ  ปัญหาเหล่านี้อาจจะไม่รุนแรงถ้าสระมีขนาดใหญ่เพียงพอ  หรือการเลือกต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บใบที่ร่วงลงน้ำ

 

ต้นไม้ที่เหมาะสม

จากข้อมูลข้างต้นเพื่อนๆ คงพอจะเดาได้ว่าต้นไม้ที่เหมาะสมควรจะไม่มีพิษกับสัตว์น้ำ เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีระบบรากไม่ใหญ่เกินไปจนเป็นปัญหา หากมีใบร่วงควรจะสามารถเก็บออกจากสระได้ง่าย  จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นต้นไม้ต่อไปนี้ได้รับความนิยมจากชาวบ้านในการปลูกที่ขอบสระ

พืชตระกูลปาล์ม เช่น มะพร้าว อินทผลัม เป็นต้น เนื่องจากมีระบบรากที่ไม่ลึกมาก แต่จะแผ่ออกที่ระดับใกล้ผิวดิน ช่วยยึดเกาะหน้าดินได้ดี  ใบที่เหี่ยวก็ยังคงติดอยู่บนทาง(มะพร้าว) และติดกับลำต้น  มีเวลาให้เราเก็บใบที่แห้งแล้วออกจากต้นก่อนที่จะร่วงลงในสระ  ถ้าร่วงลงสระก็จัดเก็บง่ายเพราะจะใบจะติดกับทาง ทำให้เป็นชิ้นใหญ่

กล้วย เนื่องจากกล้วยมีระบบรากไม่ลึก และมีใบขนาดใหญ่จึงสามารถจัดเก็บได้ง่ายเช่นกัน และได้กินผล

ไม้ผลขนาดเล็ก  เช่น เบอร์รี่ หม่อน แอปเปิ้ลจิ๋ว (crap apple) เชอร์รี่ เป็นต้น เนื่องจากต้นมีขนาดเล็ก มีปริมาณใบไม่มาก และระบบรากที่ไม่ลึกมาก  และได้กินผล

ไม้ผลไม่ผลัดใบ เช่น มะม่วง เป็นต้น เนื่องจากใบมักจะอยู่กับต้นนานเกิน 12 เดือน  ทำให้มีปริมาณใบร่วงหล่นไม่มากนัก และได้กินผล

เพื่อนๆ ที่ชอบแนวคิดต้นไม้กินได้คงชอบต้นไม้ที่แนะนำมาข้างต้น  ส่วนถ้าเพื่อนๆ สมาชิกเน้นเรื่องความสวยงาม ไม่สนใจกับคำว่า "สวยแต่กินไม่ได้" ก็อาจจะต้องหาต้นไม้ประดับขนาดเล็ก - ขนาดกลาง แบบที่ไม่ผลัดใบก็จะเหมาะสมกว่าการปลูกกล้วยริมสระเป็นแน่ ซึ่งความสวยงามเป็นเรื่องไม่ถนัดของผม  อาจจะต้องขอคำแนะนำจากสมาชิกท่านอื่นที่นิยมปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

Uhuhuh

เพื่อนๆ จะสังเกตุเห็นว่าถ้าเปลี่ยนจากน้ำในสระ เป็นน้ำที่ไหล เช่น ลำห้วย หรือเป็นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่  โจทย์จะเปลี่ยนไป  เนื่องจากปริมาณใบไม้ที่ร่วงจะไม่เป็นปัญหา  แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการกัดเซาะริ่มตลิ่งเข้ามาแทน  ต้นไม้ที่ปลูกก็จะเน้นเรื่องระบบรากที่ลึก  รากยึดเกาะดินได้ดี อาจจะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ใบคลุมพื้นน้ำได้กว้าง เราคงเคยเห็นการปลูกต้นจามจุรี ต้นไผ่ ริมห้วยทั้งๆ ที่ทั้ง 2 ต้นมีใบร่วงเยอะ  หรือเป็นต้นไม้ที่ทนน้ำท่วม (เนื่องจากระดับน้ำในลำห้วยในฤดูฝนมักจะแตกต่างกับหน้าแล้งมาก)  เช่น มะกอกน้ำ กันเกรา เป็นต้น ดังนั้นเราควรจะเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์

ถ้าเลือกปลูกต้นไม้ที่ใบร่วงเยอะฝรั่งเขาก็ใช้ Leaf Net กันนะครับถ้าเป็นสระขนาดเล็ก หรือเป็นพวกสระว่ายน้ำ โดยจะเอาคลุมเฉพาะช่วงฤดูใบไม้ร่วง  แล้วเอาออกในฤดูอื่น  ส่วนสระธรรมชาติขนาดใหญ่ก็จะปล่อยเพราะปริมาณใบไม้ที่ร่วงเทียบกับปริมาณน้ำไม่เป็นปัญหามากนัก





ในตอนถัดไปเราก็จะยังอยู่ที่เรื่องสระน้ำ แต่จะมาเน้นดูเรื่องพืชชายน้ำ และพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ

http://www.bansuanporpeang.com/node/20191

Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.061 seconds with 21 queries.