Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 16:07:02

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,616 Posts in 12,928 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง  |  การศึกษาทางเลือก  |  ๓ หลักใหญ่ของมหาวิทยาลัยชีวิต
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ๓ หลักใหญ่ของมหาวิทยาลัยชีวิต  (Read 1271 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 29 December 2012, 06:54:32 »

๓ หลักใหญ่ของมหาวิทยาลัยชีวิต

   
เขียนโดย ดร   
Monday, 16 October 2006
การศึกษาในระดับอุดมศึกษามีมาเมื่อเกือบ 800 ปีก่อน มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างคน สร้างครู สร้างผู้นำในสังคม
 
"คน-ครู-ผู้นำ" ที่ดีวันนี้ควรมีคุณสมบัติหลายประการร่วมกัน อย่างน้อยต้อง "เก่งและดี" มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรม  มีประสิทธิภาพและโปร่งใส มีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของคนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ "มหาวิทยาลัยชีวิต" วางฐานคิดให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจคำสำคัญอยู่ 3 คำ สามคำซึ่งไม่ใช่แค่คำหลักธรรมดา แต่เป็น "คำหลักใหญ่" หรือถ้าหากเป็นกุญแจ ก็ไม่ใช่กุญแจธรรมดา แต่เป็น "กุญแจแม่" (master-key) ซึ่งสามารถไขเข้าห้องไหนก็ได้ (ภาษาชาวบ้านอาจเรียกว่ากุญแจผี)

คำแม่คำแรก คือ "concept"

คำนี้แปลเป็นไทยแล้วเข้าใจยาก จนต้องวงเล็บภาษาอังกฤษตามทุกครั้ง เช่น ความคิดรวบยอด, มโนภาพ, สังกัป, ทิฐิ  ขอเพิ่มคำที่อยากใช้ในที่นี้คือ คำคิด

สาเหตุที่คนไม่คุ้นกับคำแปลภาษาไทยเป็นเพราะไม่ค่อยใช้กัน ถ้าใช้กันบ่อยก็อาจชินไปเองเหมือนกับคำอีกมากมายซึ่งล้วนแต่ยาวๆ ยากๆ แต่เมื่อใช้บ่อยก็เป็นเรื่องธรรมดาไป เช่น อุณหภูมิ ปฏิชีวนะ อสังหาริมทรัพย์ โลกาภิวัตน์ เป็นต้น

หรือว่า ที่คนไทยไม่คุ้นกับคำแปลของคำว่า concept  เป็นเพราะใช้ทับศัพท์สะดวกกว่า ง่ายกว่า เหมือนคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ ซึ่งไม่มีใครเรียกว่า "ละมุนภัณฑ์สมองกล"

หรือว่า เพราะคนไทยไม่คุ้นกับสิ่งเรียกกันว่า "concept" ซึ่งเป็นตัวแทนของการคิดแบบนามธรรม คำถามนี้ไม่ได้เจตนาลบหลู่ดูถูกคนไทย ซึ่งก็เหมือนดูถูกตัวเอง แต่เป็นความสงสัยที่อยากให้เกิดเพื่อนำไปสู่การค้นหาคำตอบและความเข้าใจในวิธิคิดและวิธีการเรียนรู้แบบ "ไทยๆ "

เรื่องญาณวิทยา (Epistemology) หรือวิชาว่าด้วยทฤษฎีความรู้หรือการเรียนรู้นั้น เป็นอะไรที่คนไทยอาจเข้าใจแตกต่างจากตะวันตก ซึ่งถือว่าการสร้างความรู้ใหม่มาจากการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การถกเถียงแยกแยะและรวมเข้า การเสวนาหาความจริง ความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ ไม่ใช่การ "ท่องจำ" ความรู้เก่าๆ เพราะเข้าใจว่าความรู้นั้นมีอยู่แล้ว มีคนเข้าถึงแล้วมาบอกเรา เราจึงต้องท่องเอา

เมื่อเขาเปลี่ยนเราก็เปลี่ยนตามเขา วันหนึ่งเขาบอกว่าโลกแบนเราก็แบน วันหนึ่งเขาเปลี่ยนไปเป็นกลมเราก็กลม

การเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นการยกระดับความคิดและวิธีคิด พูดง่ายๆ คือ ทำอย่างไรให้ "คิดเป็น" ซึ่งก็คืออุดมคติหรือเป้าหมายหนึ่งของการศึกษาทุกระดับ เริ่มตั้งแต่อนุบาลเรื่อยมา ซึ่งเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมสัมผัสได้ แล้วค่อยๆ "ยกระดับ" ขึ้นไปสู่สิ่งที่เป็น "นามธรรม"

การเรียนรู้เพื่อให้คิดเป็นในระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องใช้  "คำคิด" เพราะคิดเป็นแปลว่าวิเคราะห์เป็น สังเคราะห์เป็น  วิเคราะห์เป็นการแยกออก สังเคราะห์เป็นการรวมเข้า แล้วจะเกิดความรู้ความเข้าใจใหม่

กระบวนการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์จำเป็นต้องใช้ "คำคิด" เหมือนเราต้องการแก้เครื่องยนต์ ถอดล้อ ถ้าไม่มี "กุญแจ" แม่แรงหรือเครื่องมือ ใช้มือเปล่าๆ ย่อมทำไม่ได้ เสร็จแล้วอยากเอาสิ่งที่ถอดออกมารวมกันเข้าก็ต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอีกเหมือนกัน

ในวิชากระบวนทัศน์พัฒนา นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตเรียนรู้คำหลักอยู่ 42 คำ เพื่อเป็นตัวอย่างของคำที่ต้องรู้และเข้าใจเพื่อจะได้ไขเข้าสู่สังคมโลกวันนี้ที่มีความซับซ้อน เช่น กระบวนทัศน์  การพัฒนายั่งยืน  การคิดเชิงระบบ  การแพทย์ทางเลือก  สุขภาพองค์รวม

การมีส่วนร่วมของประชาชน  แผนยุทธศาสตร์  เกษตรทฤษฎีใหม่  cluster  ความหลากหลายทางชีวภาพ  พันธุกรรม  DNA  การตัดต่อพันธุกรรม  GMO  เครือข่าย  จิตสำนึก  GDP  GDH   ประชาสังคม การค้าเสรี  FTA ทุนทางสังคม  ทุนทางปัญญา ธรรมาภิบาล
 
นวัตกรรม นโยบายสาธารณะ  นิเวศวิทยา  บูรณาการ  บริบท  ประชาพิจารณ์  ประชาพิจัย  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พลวัต   พลังร่วม (synergy)  ภาคี  ภูมิปัญญาชาวบ้าน โลกาภิวัตน์ วิสาหกิจชุมชน  วิสัยทัศน์  ศักยภาพ  เศรษฐกิจพอเพียง องค์รวม องคาพยพ

เมื่อเริ่มต้นเรียน ถามนักศึกษาว่า รู้จักคำเหล่านี้บ้างไหม นักศึกษามักบอกว่า ไม่เคยได้ยินหรือได้ยินแต่ไม่เข้าใจ หรือไม่สนใจ อย่างคำว่า GDP บูรณาการ ประชาสังคม ซึ่งผู้นำชุมชนวันนี้ควรจะต้องรู้และเข้าใจ

การขาดความรู้ความเข้าใจคำต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นคำคิดเพื่ออธิบายความเป็นจริงบางประการ บางเรื่องบางอย่าง ทำให้ผู้นำชุมชนหรือคนที่อยู่ในท้องถิ่นไม่สามารถสื่อสารและทำความเข้าใจกับนโยบาย แนวทาง แนวคิดในการพัฒนาท้องถิ่นได้ ซึ่งส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการพัฒนาสังคมใหญ่และกระแสการพัฒนาโลก

การขาดความรู้ความเข้าใจคำคิด ทำให้ขาด "กรอบทางความคิด" (conceptual framework) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเพื่อวางแผน วางแนวทางในการดำเนินงาน รู้ขอบเขต รู้ศักยภาพและข้อจำกัด รู้ทิศทางที่จะก้าวเดินไป

การขาดความรู้ความเข้าใจคำคิดเหล่านี้ทำให้มีข้อจำกัดในการ "ถกเถียง" หรือ "เสวนา" หาความจริง ความรู้ใหม่กับใครๆ เพราะการถกเถียงหรือเสวนาไม่ว่าจะ "ทางวิชาการ" หรือไม่ก็ตาม ต้องมีฐานคิดและมีคำคิด

ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ผู้นำท้องถิ่นจำนวนมากไม่อยากทำโครงการใหม่ๆ เพราะไม่คุ้นเคย ทำไม่เป็น เพราะขาดกรอบทางความคิดและไม่มีเครื่องมือที่จะวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของคนในท้องถิ่น ไม่สามารถสังเคราะห์ความรู้ใหม่ เพื่อสร้างอะไรให้เป็นนวัตกรรมสำหรับท้องถิ่นของตนเอง จึงได้แต่ทำอะไรตามๆ กัน

สิ่งที่เห็นกันบ่อยในการเขียนโครงการ คือ ถ้าไม่นั่งเทียนก็ลอกเลียนโครงการคนอื่น เปลี่ยนแต่เพียง "ตัวเลข" ประชากรและงบประมาณ

เรามักได้ยินคนพูดว่า ผู้นำชุมชนที่ก้าวหน้าหรืออยู่ระดับแนวหน้ามักใช้ภาษาการพัฒนาแบบเอ็นจีโอ หรือภาษาวิชาการ ที่นักวิชาการหรือข้าราชการใช้กัน คนที่พูดถึงเรื่องนี้หลายคนพูดด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี เหมือนกับว่า ชาวบ้านไม่น่าจะพูดภาษาวิชาการ แต่ควรพูดภาษาชาวบ้าน

ถ้าหากชาวบ้านพูดจาภาษาวิชาการแบบนกแก้วนกขุนทองก็ไม่น่าจะดี (รวมทั้งใครก็ได้ ไม่ใช่แต่ชาวบ้านเท่านั้น) แต่ถ้าหากพวกเขาใช้ภาษาที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้วยความรู้ความเข้าใจ และสะท้อนความเป็นจริงที่พวกเขาอยากบอก มันผิดตรงไหน  เวลาที่นักวิชาการหรือข้าราชการไปหมู่บ้าน แล้วพูดภาษาชาวบ้าน ทำไมถึงบอกว่าดี เท่ ติดดิน

ดังนั้น เวลาที่ "ชาวบ้าน" พูดจาภาษานามธรรม ภาษาที่ใช้คำคิดมากหน่อย แต่พูดด้วยความรู้ความเข้าใจและอย่างจริงใจ ควรจะยกย่องและชื่นชม เพราะนี่คือ "การพัฒนา" หรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

คำแม่คำที่สอง คือ system (ระบบ)

การคิดอย่างเดียวไม่พอ ต้อง "คิดให้เป็นระบบ" และ "ทำให้เป็นระบบ" ได้ด้วย เนื่องจากปัญหาใหญ่วันนี้ที่เป็นปัญหามานานหลายร้อยปี คือ การคิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน คิดแบบกลไก ทำแบบกลไก

ดูตัวอย่างของการแพทย์แผนปัจจุบันเห็นชัดเจนว่า แพทย์รักษาไข้ ไม่ได้รักษาคน มีแต่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเต็มไปหมด
หรือการพัฒนา การบริหารจัดการบ้านเมืองก็แยกส่วน ถึงได้มีคำใหญ่ๆ ใช้กันฟุ่มเฟือยอย่าง "บูรณาการ" เพราะที่ผ่านมามักทำอะไรเป็นเรื่องๆ อย่างๆ ทำบางด้าน ไม่ได้รอบด้าน และไม่สมบูรณ์ (บูรณาการมาจากรากศัพท์ว่า "สมบูรณ์")

ระบบ คือ ปฏิสัมพันธ์ (interaction) ระหว่างส่วนต่างๆ ระบบเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงหรือร้อยรัดส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้สัมพันธ์กัน เกิดเป็นอะไรใหม่ที่ใหญ่กว่าการเอาส่วนต่างๆ มารวมกันเฉยๆ  ซึ่งเรียกกันว่า "องค์รวม"

คำว่าระบบ จึงอยู่ใน "ครอบครัว" เดียวกับคำว่า บูรณาการ องค์รวม องคาพยพ

ระบบนิเวศ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ทั้งพืช สัตว์ แร่ธาตุ ดิน หิน จุลินทรีย์ ซึ่งอยู่ในถิ่นที่หนึ่งแบบเกื้อกูลกัน บางแห่งเป็นป่าใหญ่ มีไม้ใหญ่ไม้เล็กนานาพันธุ์ มีนกหนู แมลง ปลวก อยู่รวมกันอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง เป็นระบบชีวิต ระบบธรรมชาติ

ระบบชีวิตมักใช้กับคน พืช สัตว์ ที่เรียกกันว่า องคาพยพ (organism) มีเซลล์นับล้านๆ เซลล์ซึ่งล้วนสัมพันธ์กันเป็นหนึ่ง เกิดอะไรขึ้นกับเซลล์หนึ่งจึงกระเทือนไปทั่วทั้งองคาพยพ หรือทั้งระบบ

ระบบกลไกก็ใช้กันได้กับเครื่องจักรหรือสิ่งไม่มีชีวิตที่เกิดจากการคิดประดิษฐของคน เช่น รถยนตร์ เรียกว่าระบบเมื่อส่วนประกอบต่างๆ รวมกันเข้าจนทำงานตามเป้าหมายของมันได้ เช่น วิ่งได้ (รถยนตร์) เดินได้ (นาฬิกา)

ระบบสังคมเป็นระบบที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กัน และมีผลกระทบต่อกัน ปัญหาหลายปัญหาส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งองคาพยพ (คำที่ยืมมาจากระบบชีวิต) เช่น ปัญหายาเสพติดทำให้กระเทือนตั้งแต่ครอบครัวไปถึงระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คำว่าระบบได้ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายส่วนย่อยต่างๆ ในสังคม ระบบทุน ระบบเศรษฐกิจ ระบบสุขภาพ ระบบสิ่งแวดล้อม ระบบสวัสดิการ เป็นต้น

อมาตยา เซน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียด้วยเรื่องเศรษฐกิจของชาวบ้านบอกว่า "เพื่อก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง"

วลีหลักในที่นี้คือ "ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง" ไม่ใช่การหางบประมาณมาทำ "โครงการ" เงินหมดก็เลิก หาเงินมาทำใหม่ แต่เป็นการสร้างระบบ เพราะระบบทำให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน ระบบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง เพราะระบบทำให้องค์ประกอบต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์ (interaction) กันอย่างเป็นคลัสเตอร์ (cluster) และทำให้เกิดการผนึกพลัง หรือสนธิพลัง (synergy) ทำให้ได้ผลมากกว่าบวก อาจเป็นคูณหรือทวีคูณ

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา หากกลายเป็น "วิญญาณ" (soul) ของระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่นก็จะทำให้มีพลังและยั่งยืน
           
คำแม่ที่สาม คือ paradigm (กระบวนทัศน์)
           
เมื่อคิดเป็น คิดเป็นระบบและทำเป็นระบบได้ ก็เรียนรู้เพื่อคิดทำด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ กระบวนทัศน์ซึ่งแปลว่า วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง
           
กระบวนทัศน์ใหม่เป็นอะไรที่เกี่ยวกับคำสำคัญอย่าง การพัฒนายั่งยืน การพึ่งตนเอง  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  องค์รวม บูรณาการ และอีกหลายๆ คำ
           
กระบวนทัศน์ใหม่แตกต่างจากกระบวนทัศน์เก่าซึ่งมองการพัฒนาที่เน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจ รายได้ เน้นการบริโภค เป็นระบบอุปถัมภ์ซึ่งรัฐเป็นตัวแทนอำนาจที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นระบบ "ผู้ให้-ผู้รับ" "คนมี-คนไม่มี" "คนรวย-คนจน" "คนมีอำนาจ-คนไร้อำนาจ" เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกทำให้ชอบธรรมและปราศจากการขัดขืนด้วยการครอบงำที่แยบยล
           
กระบวนทัศน์ใหม่จึงเริ่มจากการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการครอบงำ การปลดปล่อยซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้ เพราะ "วิชชา" ปลดปล่อยทำให้คน "เป็นไท"
           
กระบวนทัศน์นี้ต้อง "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" (ซุนหวู่) คือต้องรู้ตัวเอง รู้จักโลก
           
รู้ตัวเองหมายถึงรู้ว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน รู้รากเหง้าเผ่าพันธุ์ รู้ประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ รู้ทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นทุนสำคัญเพื่อการแก้ปัญหา การพัฒนาและการพึ่งพาตนเอง  รู้ศักยภาพและข้อจำกัดของตนเอง รู้ปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของตนเอง
           
รู้จักโลกหมายถึงรู้ว่าขณะนี้โลกได้เปลี่ยนไป เราไม่ได้อยู่ในสังคมเกษตรหรืออุตสาหกรรมอีกต่อไป เราอยู่ในสังคมข้อมูลข่าวสารความรู้ สังคมไอทีที่โลกเชื่อมเป็นหนึ่งในโลกาภิวัตน์ เราอยู่ในสังคมทุนนิยม ซึ่งขับเคลื่อนด้วยลัทธิบริโภคนิยม ที่ทำให้คนเชื่อว่าการบริโภคมากทำให้คนมีความสุข กระตุ้นให้คนอยากรวย
           
รู้จักโลกหมายถึงรู้จักสังคมที่ตนเองอยู่ สังคมที่ใช้ทุนและอำนาจในการขับเคลื่อน สังคมที่ครอบงำ และไม่ได้ให้โอกาสผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน
           
สังคมที่ไม่ต้องการให้ "ชาวบ้าน" รู้จักอดีต เพราะคนไม่มีอดีตเป็นคนไม่มีอนาคต  คนไม่มีอดีตเป็นคนไม่มีรากเหง้า คนไม่มีรากเหง้าเท่ากับไม่มีหลักยึด ปัจจุบันและอนาคตของเขาถูกสังคมกำหนดให้ทั้งสิ้น กำหนดให้กิน ให้อยู่ ให้มี ให้เป็น อะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร
           
การเรียนรู้จักตัวเองหมายถึงการรู้ว่า ตนเองเป็นคนสองวัฒนธรรม สองกระบวนทัศน์ที่เหลื่อมกันอยู่ ด้านหนึ่งก็เป็นคนไทย คนท้องถิ่น เกิดและเติบโตมาในวิถีไทย อีกด้านหนึ่งก็เติบโตมาในวิถีสากล สิ่งต่างๆ รอบตัวล้วนมาจากตะวันตก ระบบเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ การกินการอยู่
           
ที่ผ่านมา ระบบสังคมรวมทั้งการศึกษาเองทำให้คนดูถูกพ่อแม่ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ ภูมิปัญญาท้องถิ่น บอกว่าหล้าสมัย ไม่ดี หรือสู้ของฝรั่งไม่ได้  ทำให้คนไม่ภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิด อยากหนีไปให้ไกล ไม่อยากให้ใครรู้ว่าเป็นคนบ้านนอก
           
มหาวิทยาลัยชีวิต คือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อให้คนเรียนแล้วเกิดความภูมิใจในตัวเอง เพราะได้เรียนรู้จักตัวเอง รู้จักท้องถิ่น รู้จักรากเหง้า ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เรียนรู้เพื่อให้มีทางเลือกที่จะอยู่ในท้องถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรีและมีกิน
           
มหาวิทยาลัยชีวิตไม่ได้ปฏิเสธตะวันตก ไม่ได้ปฏิเสธวิชาการสมัยใหม่ ตรงกันข้าม ทำให้ผู้เรียนรู้จักแยกแยะ และเลือกสิ่งที่ดี มีคุณค่า และนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตดีขึ้น
           
มหาวิทยาลัยชีวิตสร้างฐานคิดใหม่เพื่อกระบวนทัศน์ใหม่ ทำให้คนเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คิดเองได้ ตัดสินใจเองได้ เลือกได้ว่าจะอยู่ที่ไหน จะกิน จะอยู่อย่างไร โดยไม่ต้องนั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก แต่ช่วยเหลือ-พึ่งพาตนเองได้
           
สามปีที่เรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต นักศึกษาจึงต้องเรียนรู้ 3 คำนี้ให้ลึกซึ้ง ให้ถึงที่สุด ไม่เพียงแต่รู้นิยามแต่รู้ด้วยการปฏิบัติ รู้จากการที่ได้นำไปใช้ในชีวิต
           
นักศึกษาคนหนึ่งที่เชียงใหม่เล่าให้เย็นวันหนึ่งว่า เขากำลังซ่อมบ้านอยู่ เปิดวิทยุทิ้งไว้ ดีเจพูดไปพูดมาใช้คำว่า "องคาพยพ" เขาบอกว่าเขายิ้ม  ถามว่า ทำไมจึงยิ้ม เขาตอบว่า ยิ้มเพราะเขารู้ว่าคำนี้หมายถึงอะไร เขาได้เรียนมาแล้ว
           
เพื่อนนักศึกษาหลายคนในที่นั้นต่างก็พูดเสริมว่า จริง ตอนนี้ฟังวิทยุ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ได้ด้วยความมั่นใจ ได้ยินศัพท์แปลกๆ แล้วเข้าใจ ไปประชุมที่ไหนก็ไม่อึดอัดเมื่อได้ยินนักวิชาการหรือข้าราชการพูดด้วยภาษาวิชาการหรือภาษานามธรรม
           
นักศึกษาได้เรียนรู้จักเชื่อมโยง คิดอะไรและมองอะไรเป็นระบบมากขึ้น และเริ่มคิดอะไรอย่างเป็นตัวของตัวเอง เพราะแยกแยะได้ และมีฐานคิดของตนเอง เลือกที่จะมองโลกมองชีวิตอย่างที่ตนเองต้องการ ไม่ใช่ตามที่คนอื่นสั่งให้มอง สั่งให้คิด สั่งให้ทำ
           
ถ้าสามปีทำได้เช่นนี้ มีหรือที่คนเรียนจบแล้วจะวิ่งไปสมัครงานเป็นลูกจ้างอย่างเดียว เขาไม่จ้างก็นั่งรออยู่ที่บ้าน
           
ถ้าเขาคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และทำมาตลอดสามปีอย่างต่อเนื่อง เขาต้องเอาตัวรอดได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพราะเขาได้ค้นพบตัวเอง และเป็นตัวของตัวเอง



แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 16 October 2006 )




« Last Edit: 29 December 2012, 06:57:12 by Smile Siam » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.067 seconds with 20 queries.