Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 16:30:02

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  วิถีสู่ชีวิตแห่งความพอเพียง  |  การศึกษาทางเลือก  |  ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วโลก  |  ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน Isarn Indigenous Knowledge
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน Isarn Indigenous Knowledge  (Read 1314 times)
Smile Siam
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 331


View Profile
« on: 29 December 2012, 06:40:41 »

ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน  Isarn Indigenous Knowledge


ภูมิปัญญาคืออะไร?
ภูมิปัญญา หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคลและสังคม ซึ่งได้สั่งสมและปฏิบัติสืบต่อกันมา ภูมิปัญญาจะเป็นทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรความรู้ก็ได้

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หมายถึง การเอาทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่งอาจเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน หรือเป็นลักษณะสากลที่หลายๆ ท้องถิ่นมีคล้ายกันก็ได้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นเกิดจากการที่ชาวบ้านแสวงหาความรู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติ ทางสังคมที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น

การประกอบประเพณี พิธีกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้กระทำสบายใจ รู้สึกอบอุ่นไม่โดดเดี่ยว ให้คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึกถือว่าเป็นพลังทางศีลธรรมหรือประเพณี การรวมกำลังช่วยกันทำงานที่ใหญ่หลวงเกินวิสัยที่จะทำได้สำเร็จคนเดียว เช่น การลงแขกสร้างบ้าน สร้างวัด สร้างถนนหนทาง หรือขุดลอกแหล่งน้ำ เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันภายในชุมชน ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยทั่วไปภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเป็นประโยชน์แก่คนทุกระดับ มีลักษณะเด่นคือสร้างสำนึกเป็นหมู่คณะสูงทั้งในระดับครอบครัวและเครือญาติ

ถึงแม้ผู้คนไม่น้อยเห็นว่าชุมชนอีสาน เป็นดินแดนแห่งความโง่ ความจน ความเจ็บไข้ได้ป่วยอันน่าเวทนา แท้ที่จริงไม่มีมนุษย์ผู้ใดและสังคมใดที่ปล่อยให้วันเวลาผ่านเลยโดยไม่สั่งสมประสบการณ์ หรือไม่เรียนรู้อะไรเลยจากช่วงชีวิตหนึ่งของตน ไม่ว่าในภาวะสุขหรือทุกข์ คนอีสานได้ใช้สติปัญญาสั่งสมความรู้ ดังจะเห็นได้จากภาษิตอีสาน (ผญาก้อม) จำนวนไม่น้อยที่แสดงทัศนะชื่นชมคุณค่าของความรู้ในการประกอบอาชีพ และค่านิยมประการหนึ่งของชาวอีสานคือ ยกย่องความรู้และการใช้ความรู้อย่างมีคุณธรรม ดังความว่า

เงินเต็มภา บ่ท่อผญาเต็มปูม (ภา = ภาชนะ, ท่อ = เท่า, ผญา = ปัญญา, ปูม = ภูมิ)
บ่มีความฮู้อย่าเว้าการเมือง บ่นุ่งผ้าเหลืองอย่าเว้าการวัด (ความฮู้ = ความรู้, เว้า = คุย)
เกิดเป็นคนให้เฮียนความฮู้ เฮ็ดซู่ลู่เขาบ่มียำ (เฮียน = เรียน, เฮ็ดซู่ลู่ = ทื่อมะลื่อ, ยำ = เคารพ)
ให้เอาความฮู้หากินทางชอบ ความฮู้มีอยู่แล้ว กินได้ชั่วชีวัง
บ่ออกจากบ้าน บ่เห็นด่านแดนไกล บ่ไปหาเฮียน ก็บ่มีความฮู้
แม้นสิมีความฮู้เต็มพุงเพียงปาก สอนโตเองบ่ได้ ไผสิย่องว่าดี (โตเอง = ตนเอง, ย่อง = ยกย่อง)



ผู้ที่สามารถประกอบการงานได้ผลดีโดยใช้ภูมิปัญญาชาวอีสาน เรียกว่า หมอ เช่น หมอมอ คือผู้รอบรู้ด้านโหราศาสตร์ หมอว่าน คือ ผู้รอบรู้ด้านสมุนไพร หมอยา คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรค หมอลำ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการร้องลำนำประกอบแคน หมอผึ้ง คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการหาน้ำผึ้ง ผู้มีภูมิปัญญาทุกวิชาชีพได้รับการยกย่องจากชุมชนเสมอหน้ากัน ดังความว่า

        ครั้นสิเป็นหมอว่านหมอยาหมอป่า
ครั้นสิเฮียนบีบเส้นเอ็นคั้นให้ส่วงดี
(บีบเส้น = การนวด, ส่วง = หาย)
หรือสิเฮียนคงค้อนคงหลาวหอกดาบ
เฮียนให้เถิงขนาดแท้ดีถ้วนสู่อัน
หรือสิเฮียนหนังสือให้เฮียนไปสุดขีด
ครั้นแม้เฮียนแท้ให้เป็นคนฮู้สู่คน
(คนฮู้ = คนดี)
หรือสิเฮียนเป็นหมอเต้น หมอตี หมอต่อย
ให้เฮียนแท้ๆ คนจ้างสู่วัน
หรือสิเป็นหมอน้ำตึกปลาแหหว่าน
ทำให้ได้เต็มข้องสู่วัน
(ข้อง = เครื่องจักสานใช้ใส่ปลา)
หรือสิเป็นหมอสร้างนาสวนฮั่วไฮ่
เอาให้ได้เกวียนซื้อแก่ขาย


(ที่มา : พระยาคำกองสอนไพร่)                           
นอกจากมนุษย์จะใช้ภูมิปัญญา เพื่อประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแล้ว มนุษย์ยังสังเกตลักษณะ ที่เป็นคุณและโทษของธรรมชาติ แล้วนำมาเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต กระบวนการทางสังคม คือ การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน เป็นเมืองและประเทศชาติ ชาวอีสานมีทัศนะในการใช้ชีวิตว่า อยู่เป็นหมู่ดีกว่าอยู่โดดเดี่ยว เพราะขีดจำกัดทางกายภาพและภูมิปัญญา การช่วยกันคิด ช่วยกันทำ การพึ่งตนเองและการพึ่งกันเองน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด   ทำอย่างไรการอยู่ร่วมกันจึงจะเกิดประโยชน์สุข ผู้ฉลาดจึงร่วมกันกำหนดฮีตบ้าน-คลองเมือง เช่น ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ กฎหมายท้องถิ่น วรรณกรรมคำสอน นิทาน บทเพลงและคติธรรม ซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง แม้บางส่วนอาจไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่กระบวนการทางสังคมหลายส่วนยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในสภาพสังคมปัจจุบัน

กระแสทุนนิยมกับการดูหมิ่นภูมิปัญญาชาวบ้าน
การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นไปตามกระแสทุนนิยม รัฐใช้อำนาจในการจัดการเปลี่ยนแปลงวิถีชาวบ้านด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อค้าขาย เช่น ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ปอ ข้าวโพด ข้าว การผลิตเพื่อขายทำให้ขยายพื้นที่การเกษตร เกิดการทำลายสภาพป่าไม้และแหล่งน้ำ การผลิตเพื่อขายทำให้มีการโยกย้ายผลผลิตออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับผลตอบแทนที่ไม่สมดุลย์ ถูกเอารัดเอาเปรียบในตลาดการค้า กำไรตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางมากกว่าตกอยู่ในมือชาวบ้านผู้ผลิต พ่อค้าซื้อราคาถูกแต่ขายราคาแพง ชาวบ้านในกระแสทุนนิยมจึงประสบปัญหาหนี้สิน เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าแรงงาน ค่ารถไถ (ค่างวดมอเตอร์ไซค์และสิ่งฟุ่มเฟือยอื่นๆ)

ปัญหานี้ทำให้เกิดการแสวงหาแนวทางที่เป็นทางรอด และทางเลือกของท้องถิ่น จึงมีการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรความรู้เพื่อเลือกตัวแบบ หรือแนวทางที่เหมาะสมแก่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่นาสวนผสม การดำรงชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง แนวทางการดำเนินชีวิตของมหาอยู่ สุนทรชัย (จ.สุรินทร์) นายชาลี มาระแสง (จ.อุบลราชธานี) นายทองดี นันทะ (จ.ขอนแก่น) หรือนายคำเดื่อง ภาษี (จ.บุรีรัมย์) ล้วนแต่เป็นต้นแบบที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน

การใช้ธรรมชาติเป็นแม่แบบของวิถีชีวิต การศึกษาอย่างเข้าใจ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม ล้วนแต่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ การผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการอยู่การกินในครอบครัว เหลือแล้วขายหรือนำไปแลกกับสิ่งอื่นๆ ที่ต้องการ จะช่วยลดปัญหาหนี้สิน ชีวิตมีความสุขมากกว่าการที่จะมุ่งผลิตเพื่อขายนำเงินไปซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยมากมายนัก และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพ่อหลวงของเราที่ทรงย้ำเตือนให้คนไทยได้รู้จักกับเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้หลายๆ ฝ่ายได้หันมามองถึงความผิดพลาดในนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา และกลับไปศึกษาภูมิปัญญาดั้งเดิมอีกครั้งหนึ่ง วันนี้เราจึงได้ยินคำว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น กันมากขึ้น

... แล้วลูกหลานไทย ยังจะดูถูกความรู้ ความคิด ภูมิปัญญาของบรรพชน อยู่อีกละหรือ?...

ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการอ้างเพื่อกระแสธุรกิจ
กรณีศึกษา ที่น่าสนใจและเป็นข่าวครึกโครมมาช่วงหนึ่งคือเรื่อง สุรา/เหล้าพื้นบ้าน มีคนบางกลุ่มได้หยิบประเด็นของภูมิปัญญาชาวบ้านมาอ้างว่า ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้มีการผลิตเพื่อการจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จนในช่วงปีก่อนตามริมถนนหนทางเกือบทั่วประเทศจะมีซุ้มจำหน่ายสาโท กระแช่ เหล้าพื้นบ้านกันไปทั่ว

ความจริงเราน่าจะมองที่ภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆ เป็นอย่างไร? ก่อนที่จะมาตีเหมารวมอย่างนั้นก่อนดีไหมครับ

ภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องเหล้า (ในวิถีชีวิตคนอีสาน) "การทำเหล้าสาโทของคนอีสาน จะทำเพื่องานบุญประจำปี หรือเพื่องานกิจกรรมใหญ่ๆ ของหมู่บ้าน ของท้องถิ่น ไม่ได้ทำตลอดทั้งปี ดื่มกินตลอดทั้งปีก็หาไม่" เช่น ทำเหล้าสาโทในงานบุญบั้งไฟตอนเดือนหก ทำเหล้าสาโทในการลงแขกเกี่ยวข้าว หรือนวดข้าว ซึ่งจะมีกิจกรรมเหล่านี้เพียงปีละครั้งเท่านั้น การถ่ายทอดทางภูมิปัญญา จึงเป็นการบอกเล่าผ่านจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นทอดๆ ไม่ได้มีมาตรฐานใดๆ รองรับ จึงมักจะได้ชิมเหล้าสาโทที่มีรสชาติแตกต่างกันไป ตามความรู้หรือความชำนาญของผู้ทำ ทั้งเปรี้ยวบ้าง หวานบ้าง ขมบ้าง

การที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตขายจึงไม่ใช่ภูมิปัญญาแน่นอน เพราะบรรพบุรุษของเรา ไม่เคยส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นคนขี้เหล้าเมายา ต้องซื้อมาดื่มกินกันได้ทุกวี่วัน อย่าไปคิดแบบนักการตลาดโง่ๆ (คนภาคราชการที่ไม่เคยค้าขาย) ที่มาบอกว่าจะร่ำรวย ขายได้เป็นร้อยล้านพันล้าน เพราะไม่มีใครจะซื้อสินค้าที่ขาดมาตรฐานรองรับ การส่งเสริมให้ทำสิ่งใดต้องดูตลาดก่อน

เดี๋ยวจะช้ำหัวใจเป็นหนี้สิน ธกส. เข้าให้อีก เหมือนคราวปลูกพริก ปลูกมะม่วงหิมพานต์ ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอ ส่งเสริมให้ปลูกแต่ไม่เคยหาตลาดให้ สุดท้ายก็หนี้ท่วมหัว เหล้าสาโทนี่ก็มาทำนองเดียวกันนั่นแหละท่าน

_____________________________________________________
ผญาอีสาน มหัศจรรย์ภูมิปัญญา
http://esanindy.com/b20/t116/

Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.046 seconds with 19 queries.