Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 16:34:13

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เหนือเกล้าชาวสยาม  |  พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแห่งแผ่นดินสยาม  |  พระราชวังและพระราชพิธี  |  ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ฉลองปีกาญจนาภิเษก พ.ศ. ๒๕๓๙
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ฉลองปีกาญจนาภิเษก พ.ศ. ๒๕๓๙  (Read 2201 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 9,454


View Profile
« on: 11 March 2013, 20:51:12 »

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ฉลองปีกาญจนาภิเษก พ.ศ. ๒๕๓๙




สิ่งที่คนไทยมีความภาคภูมิใจในพระราชพิธีที่เก่าแก่ อันเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรม  สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันธ์ของคนไทยและสายน้ำ นั่นก็คือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค ที่สมัยก่อนเรียกว่า “ กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ” หมายถึง การเคลื่อนขบวน เสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้มีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยพัฒนามาจากการจัดกระบวนทัพเพื่อเคลื่อนพลทางน้ำ เมื่อว่างจากรบทัพจับศึกก็จะซักซ้อมการจัดกระบวนเรือเพื่อใช้ในพิธีสำคัญๆ เช่นอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน การแปรพระราชฐานเสด็จไปยังหัวเมือง การต้อนรับราชฑูตจากต่างประเทศ รวมทั้งพิธีพระบรมศพ

สำหรับเรือที่ร่วมกระบวนพิธีจะสลักลวดลาย ตกแต่งหัวเรือเป็นรูปสัตว์ พร้อมประดับด้วยธงทิว ส่วนทหารฝีพายก็จะแต่งกายสวยงาม พร้อมกับประโคมดนตรีเพื่อความสนุกสนาน  ปัจจุบันมีการขับร้อง " กาพย์เห่เรือ " คู่กับการกระทุ้งเสา เพื่อให้จังหวะกับฝีพาย

ทุกครั้งที่ประเทศไทยมีพิธีขบวนพยุหยาตราฯ จะเป็นที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก การมาเห็นขบวนเรืออันสวยงามที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหมือนกับเป็นบุญตาของผู้ที่ได้มาเห็นของจริง และจะรู้สึกภาคภูมิใจที่บ้านเมืองเรามีประเพณีอันเก่าแก่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ความอลังการ ความประทับใจในขบวนเรือราชพิธี คงจำกันได้ในคราวประชุมผู้นำเอเปคเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ 2546

พระราชพิธี "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค" เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา แสดงถึงอารยะธรรมของประเทศ ที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ได้สืบทอดราชประเพณีนี้มาช้านาน โดยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบริ้วขบวน ซึ่งบางสมัยมีเรือที่ใช้ในกระบวนถึงร้อยกว่าลำ แต่ปัจจุบันมีจำนวน 52 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นลำล่าสุด

สำหรับที่เรียกว่า "เรือพระราชพิธี " นั้น จะเป็นเรือที่มีการตกแต่งและแกะสลักลวดลายสวยงาม ปัจจุบันนี้มีอยู่ 4 ลำ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 ซึ่งเรือพระที่นั่งนารายณ์ฯ นี้เป็นเรือพระที่นั่งลำล่าสุดที่กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง สร้างถวายเนื่องในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามเรือพระที่นั่งต่อใหม่นี้ว่า ” เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9"

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณฯ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 22 เดือน เริ่มจาก 1 มิถุนายน 2537 และสิ้นสุด 30 เมษายน 2539 ใช้งบประมาณ ทั้งสิ้น 11,941,730.- บาท โดยกรมอู่ทหารเรือรับหน้าที่สร้างตัวเรือ กรมศิลปากรทำหน้าที่ออกแบบลวดลาย และว่าจ้างเอกชนแกะสลัก ส่วนสำนักพระราชวัง ออกแบบและจัดหาอุปกรณ์ประจำเรือ เช่น หมวก เสื้อผ้าเครื่องแบบฝีพายประจำเรือ เครื่องสูงประจำเรือ ฯลฯ เป็นต้น

ภาพชุดพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคเพื่อทรงทอดผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามครั้งนี้ เป็นภาพที่ถ่ายไว้ในช่วงระหว่างเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี หรือที่เรียกว่า "ปีกาญจนาภิเษก " ในปีนี้มีงาน เฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ในหลายๆเหตุการณ์ (ดูภาพรวมเหตุการณ์ฉลองปีกาญจนาภิเษก ที่นี่ )

จากการที่ประเทศไทยว่างเว้นพระราชพิธีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาเป็นระยะเวลาหลายปี ประกอบกับเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษก พร้อมกับจะได้เห็นเรือพระที่นั่งลำใหม่ออกพิธีเป็นครั้งแรก จึงทำให้ประชาชนชาวไทยให้ความสนใจและเฝ้ารอคอย

ราชวงศ์จากประเทศอังกฤษเสด็จทอดพระเนตร
28 ตุลาคม 2539 เป็นวันที่มีการซ้อมขบวนฯ โดยทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบจะปฏิบัติหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นวันจริง เริ่มจากการปิดการจราจรทางน้ำ ในบริเวณที่มีพิธี  และให้เรือทุกชนิดที่อยู่ตามริมฝั่งย้ายออกไป พร้อมกับปิดท่าเรือขนส่งผู้โดยสารทุกท่า โดยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปควบคุมดูแลในจุดสำคัญตามริมฝั่ง ส่วนทางน้ำก็มีการลาดตระเวณของตำรวจน้ำ และของกองทัพเรือ รวมทั้งจากหน่วยอื่นๆ

ใครได้มาเห็นภาพแม่น้ำเจ้าพระยาเวลานี้ ก็ต้องบอกว่าสะอาดตา ไม่มีแม้ผักตบชวาให้ดูรกตาเหมือนเช่นทุกวัน เพราะถูกดักไว้แถวเขตจังหวัดนนทบุรี 

สำหรับการซ้อมในวันนี้ พิเศษกว่าวันอื่นๆ เนื่องจากราชวงศ์จากประเทศอังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิปดยุกแห่งอดินเบอระ พระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ เสด็จเยือนไทยเพื่อร่วมฉลองการครองราชย์ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรพิธีซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ด้วย

การซ้อมขบวนพยุหยาตราในครั้งนั้นได้มีประชาชนให้ความสนใจกันอย่างคับคั่ง ต่างเฝ้าชมอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากันอย่างเนืองแน่น หลายคนวางแผนมาดูวันซ้อมย่อย หรือซ้อมใหญ่ ส่วนวันจริงจะดูการถ่ายทอดสดทางทีวี โดยให้เหตุผลว่าในวันจริงน่าจะมีคนมากันมากมาย คงไม่มีโอกาส
ได้เห็นขบวนพิธีอย่างชัดเจน สู้มาดูในวันซ้อมดีกว่า คนไม่มาก แต่ก็มีบรรยากาศก็เหมือนกับวันจริงทุกอย่าง

ทำเลทองในการชมขบวนและถ่ายภาพ
ส่วนพิธีในวันจริง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 นั้นประชาชนหลายหมื่นคนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้มาจับจองหาสถานที่ตามริมเจ้าพระยา กันล่วงหน้าหลายชั่วโมง สถานที่ของเอกชนหลายแห่งมีการเก็บค่าชมกันในราคาค่อนข้างแพง บางแห่งก็จัดเป็นแพคเกจ รวมบริการอาหารและ เครื่องดื่มด้วย ถึงแม้จะมีราคาแพงแต่ก็ถูกบรรดากรุ๊ปทัวร์ได้เหมาจองกันนานนับเดือนเพื่อบริการนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่ตั้งใจมาชมพระราชพิธี ครั้งนี้เป็นการเฉพาะ

พื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับช่างภาพสื่อมวลชนรวมทั้งช่างภาพทั่วไป คงได้แก่บริเวณฝั่งตรงข้ามท่าราชวรดิษฐ์ หรือฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเมื่อถ่ายภาพออกมาแล้วก็จะเห็นทั้งขบวนเรือและพระบรมมหาราชวังปรากฏในภาพ และตำแหน่งที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นพื้นที่บริเวณราชนาวิกสภาของกองทัพเรือ (สถานที่จัดเลี้ยงผู้นำเอเปค) แต่พื้นที่บริเวณนี้มีการเก็บบัตรเข้าชมในราคาหลายร้อยบาท จนถึงหลักพันสำหรับแขกวีไอพี ส่วนทำเลดี อักแห่งหนึ่งก็น่าจะเป็นแถวๆวัดระฆัง แต่ก็น่าเสียดายที่ตึกอาคารสูงในแถบนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดกั้นไม่ให้เข้าไป ก็คงเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย

ฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนักในวันพิธีจริง
ประชาชนที่เฝ้าชมขบวนฯอยู่ตามริมฝั่งเจ้าพระยาคงต้องจดจำเหตุการณ์ของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 หรือพิธีในวันจริง ที่ภายหลังจากขบวนเรือออกจากท่าวาสุกรีไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก็เกิดลมและฝนกระหน่ำอย่างหนัก จนประชาชนหลายร้อยคนในบริเวณวัดระฆังต่างหาที่กำบังกันวุ่นวาย หลายคนเสียดายที่พึ่งเห็นเรือผ่านไปได้ไม่กี่ลำก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้

ขณะที่บนฝั่งก็กำลังชุลมุนหลบฝนกันยกใหญ่ แต่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังเห็นขบวนเรือแล่นฝ่าสายฝนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งฝนทั้งลมกรรโชกแรงจนน่าเป็นห่วง หลายคนคงคิดไม่ถึงว่าจะได้เห็นภาพแบบนี้ ภาพที่ขบวนพยุหยาตราต้องฝ่าสายฝนอย่างหนักจนแม่น้ำเจ้าพระยาขาวโพลน และบางครั้งก็แทบมองไม่เห็นเรือพิธี บางคนบอกว่าเป็นภาพที่คงจดจำแบบไม่มีวันลืม เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องยืนตากฝนดูขบวนพิธี

กล้องเปียกแต่ก็บ่อหยั่น
นอกจากผู้คนที่เข้ามาดูขบวนพิธีแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คอยบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ก็คือบรรดาช่างภาพ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย ปรากฏว่าเมื่อฝนฟ้าเทลงมาก็เหมือนกับผึ้งแตกรัง รีบเก็บกล้องกันยกใหญ่ แต่แล้วก็หลบไปไหนไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่มีที่จะไป อย่างมากก็คงเก็บกล้องลงกระเป๋าส่วนตัวผมเองก็ต้องยืนตากฝนโดยไม่มีที่กำบัง ฝนมาเร็วมากจนตั้งตัวไม่ติด และไม่ได้เตรียมป้องกันแต่อย่างใด จึงรีบปลดกล้องตัวหลักที่ถ่ายด้วยฟิล์มสไลด์ออกจากขาตั้งกล้องโดยด่วน แล้วหยิบเอากล้องสำรอง FE2 ที่ถ่ายด้วยฟิล์มสี  มาเก็บภาพบรรยากาศที่กำลังวุ่นวาย โดยคอยเอาหมวกป้องฝนไว้ แต่ยังไม่ทันไรฝนก็เทลงมาห่าใหญ่จนทุกอย่างเปียกไปหมดไม่เหลือแม้กระทั้งกล้อง จึงตัดสินใจถ่ายมันทั้งที่เปียกโชกอย่างนั้น

ณ เวลานี้มันเหมือนกับตกกระไดพลอยโจน จะเก็บกล้องหรือจะถ่ายภาพต่อก็มีค่าเท่ากัน

นึกในใจ..บ้า ก็บ้า วะ..... เหลียวซ้ายแลขวา มีบ้าอยู่คนเดียว ยิ่งถ่ายก็ยิ่งมันส์... แม่ฟิล์มหมดก็ยังดันทุรังใส่ม้วนใหม่เพื่อถ่ายกันต่อและก็เป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนฟิล์มใส่ฟิล์มกันกลางสายฝน มือก็เปียก ฟิล์มก็เปัยก มันยากสิ้นดี แถมหางฟิล์มเมื่อโดนน้ำก็เหนียวเหมือนทากาวเลยหนักเข้าไปใหญ่  ถ่ายไปแค่ครึ่งม้วนในที่สุดก็เรียบร้อย เดี้ยง... เพราะฟิล์มมันเหลื่อมกันจนขึ้นฟิล์มต่อไปไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับเวลาขันน๊อตแล้วเกิดอาการปีนเกลียวจนขันต่อไม่ได้

เขียนมาถึงตรงนี้อาจมีผู้สงสัยว่า กล้องพัง กล้องเสียหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่มีปัญหาใดๆ วันนั้นหลังจากที่พิธีในช่วงเย็นเสร็จสิ้นก็รีบกรอฟิล์มกลับแล้วก็หาซื้อกระดาษทิชชู่มาแพคใหญ่ เอามาเช็ด เอามาซับน้ำ ร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่ไปถ่ายภาพด้วยกัน แต่รายนั้นรีบเก็บกล้องตอนฝนลง และไม่ได้หยิบออกมาถ่ายอีกเลย กลัวมีปัญหาเพราะเป็นกล้อง auto ที่มีกลไลอิเลคทรอนิค ส่วน FE2 ที่ลุยถ่ายตอนนั้นก็คิดในใจว่าพังแน่และอาจต้องเสียค่าซ่อม กันอาน แต่หลังจากกลับมาบ้านก็เอามาพึ่งลมจนแห้งสนิท ก็ใช้ได้เป็นปกติ การวัดแสงใช้ได้ จะมีปัญหาอยู่อย่างเดียวก็คิอแกนหมุนฟิล์มไม่เลื่อน เนื่องจากเป็นสนิม และต้องส่งซ่อม แต่ปัญหานี้ก็เกิดหลังผ่านไปแล้วประมาณ 3 ปี


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #1 on: 11 March 2013, 20:52:22 »



พระราชพิธีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
เอกลักษณ์ของชาติ เอกราชทางดินแดน และมรดกทางวัฒนธรรมแห่งปัญญาของสยามประเทศ ใช้เวลาบ่มเพาะมานานหลายร้อยปีจากการดำเนินพระราโชบายอันชาญฉลาดของพระมหากษัติย์ไทย ตลอดจนจากภูมิปัญญาของบรรพชนอันควรค่าแก่การเทิดทูนบูชาและ จารึกไว้ในจิตสำนึกของอนุชน รุ่นหลัง   ตั้งแต่โบราณกาล ชาวไทยผูกพันชิดใกล้กับสายน้ำมาโดยตลอด  การทำนาปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงชีพ ต้องอาศัยน้ำสร้างบ้านแปลงเมืองก็ต้องอยู่ใกล้แม่น้ำไปมาหาสู่กันก็อาศัยน้ำนำพา เรือกลายเป็นวิถีชีวิต ของชนชาติไทยตั้งแต่สามัญชนถึงพระมหากษัติย์ จากเรือขุดเรียบง่ายที่ใช้เป็นพาหนะพัฒนาเป็นเรือที่ใช้ในการรบ  ปรับปรุงแต่งเสริมเป็นเรือพระราชพิธีอย่างงดงามวิจิตร  จึงเกิดเป็นขบวนพยุหยตราทางชลมารคที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

         

เรือสุครีพครองเมือง


เป็นเรือสำหรับติดตั้งปืนใหญ่บรรจุทางปากกระบอกได้ ๑ กระบอก ขนาดปากกระบอก ๖๕ มม.เหนือช่องปืนแกะเป็นรูปขุน กระบี่สีแดงซ่อมทำเครื่องตกแต่งเรือ

http://www.navy.mi.th/royalbarge/
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #2 on: 11 March 2013, 20:53:54 »

สุพรรณหงส์

  "สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย
    งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
    เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์
    ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม.."



 
 

 
 


---------------------------------

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

 

--------------------------------------

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ

 
 
 


--------------------------------

โขนเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชชงค์

 


--------------------------------------

http://www.vcharkarn.com/vcafe/53269/11

ถ้าชอบภาพแบบนี้ให้ไปที่
http://thaiphoto.prd.go.th/index.php

----------------------------------------


 

-----------------------------------------------------------------------

Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.052 seconds with 20 queries.