ppsan
|
|
« on: 24 January 2013, 20:12:46 » |
|
(ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.jariyatam.com/news/general-news) “หากเห็นผ้าแดงห่มบนภูเขาทองเมื่อไหร่ อีก 3 วันข้างหน้าจะมีงานภูเขาทอง” หากพูดถึงงานวัด คนในรุ่นก่อนไม่มีใครไม่รู้จักงานภูเขาทอง วัดสระเกศ เป็นงานที่มีสีสัน เต็มไปด้วยการแสดง การละเล่น และของกินมากมาย ในแต่ละปีผู้คนต่างรอคอยงานวัดภูเขาทองอย่างใจจดใจจ่อ เพราะปีหนึ่งจะมีโอกาสได้เที่ยวเล่นอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินครั้งหนึ่ง งานวัดสระเกศนั้นมีความเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ที่ยังจัดมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาลการละเล่นทางน้ำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้ขุดคลองใหญ่ข้างวัดสระเกศขึ้นคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่า “คลองมหานาค” เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงเรือ เล่นสงกรานต์ และลอยกระทง ในเทศกาลทางน้ำ ตามแบบอย่างคลองมหานาคที่ทุ่งภูเขาทอง ครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเหตุให้เกิดงานวัดสระเกศสืบต่อมา งานวัดสระเกศเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวางในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างภูเขาทองต่อจากรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ จนแล้วเสร็จ พระองค์ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ โดยมิสเตอร์ วิลเลียม เปปเป ชาวอังกฤษ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์บรมบรรพต ภูเขาทอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับชาวพระนครที่เก่าแก่ที่สุดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน งานเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ จะเริ่มด้วยการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ก่อนวันงาน ๓ วัน เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุเริ่มขึ้นแล้ว เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวพระนครให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีทำให้เกิดสิริมงคล อานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล นอกจากจะเป็นการห่มเพื่อพุทธบูชาแล้ว ยังนับว่าเป็นวิธีประชาสัมพันธ์อันชาญฉลาดของรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีประชาสัมพันธ์อันรวดเร็วเช่นปัจจุบัน การที่พระองค์ท่านได้จัดพิธีห่มผ้าแดงขึ้น จึงเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวพระนคร มองเห็นแต่ไกลๆ และทราบถึงงานภูเขาทองที่ทุกคนรอคอยจะเวียนมาถึงอีกวาระหนึ่ง
พิธีห่มผ้าแดงภูเขาทองวัดสระเกศ มีมาตั้งแต่เมื่อไร อย่างไร วันนี้( 21 พ.ย.) เมื่อเวลา 07.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร มีการจัดงานย้อนยุคห่มผ้าแดง องค์พระเจดีย์บรมบรรพต สืบสานพระราชปณิธาน ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เนื่องในงานเทศกาลประจำปี นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) โดยมีพุทธศาสนิกชนร่วมกันตั้งขบวนอัญเชิญผ้าแดงแห่ขึ้นไปห่มองค์เจดีย์เป็นจำนวนมาก
โดยในช่วงเช้ามีการตั้งริ้วขบวนผ้าแดง รถบุปพชาติ ทหารม้า และนักเรียนจากโรงเรียนละแวกใกล้เคียง ร่วมกันเดินแห่ไปตามถนนออกโดยรอบวัดสระเกศ จากนั้นอันเชิญขบวนผ้าแดงขึ้นไปบนพระบรมบรรพต และประชาชนร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา ก่อนอัญเชิญผ้าแดงห่มองค์เจดีย์บรมบรรพต
สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า พิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มภูเขาทองนี้ เป็นประเพณีของวัดสระเกศฯ ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต ถือว่าเป็นการสักการะ บูชาพระพุทธเจ้า ซึ่งการได้มีโอกาสร่วมแห่ผ้าแดงนี้จะถือว่าได้บุญกุศลอย่างยิ่ง และขอให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็น 3 สถาบันหลักของประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ด้านพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าวว่า จะมีการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์เป็นเวลา 10 วัน คือตั้งแต่วันที่21-30 พ.ย นี้ ขณะเดียวกันตั้งแต่วันที่ 24-30 พ.ย. จะมีงานวัดสระเกศฯ หรืองานวัดภูเขาทอง ที่จัดเป็นประจำทุกปีเนื่องเนื่องในงานเทศกาลประจำปี นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนี้ ภายในงานยังจะมีการแสดงจากดาราศิลปิน การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งภูเขาทองและเปิดตัว ศิลปินส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของสำนักส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาร้องเพลง "มหัศจรรย์แห่งรัก" ซึ่งแต่งขึ้นเองโดยสำนักส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ ด้วย
สำหรับประเพณีการห่มผ้าแดงนี้มีที่มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เล่ากันมาว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 3 พรรษา ก็ได้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายภัยพิบัติต่างๆ ขึ้นที่เมืองเวสาลี โจรผู้ร้ายเข่นฆ่าชาวเมือง ผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด ความเดือดร้อนเหล่านั้นก็หมดสิ้นไป ชาวบ้านชาวเมืองต่างก็สรรเสริญพระองค์เป็นการใหญ่ แต่พระองค์ตรัสว่า ที่เป็นเช่นนี้มิใช่ความอัศจรรย์ แต่เป็นเพราะอานุภาพแห่งบุญบารมีที่พระองค์เคยเอาผ้าประดับบูชาเจดีย์ในอดีตชาติ ความเชื่อนี้จึงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาผืนผ้าสีแดงมาห่มคลุมให้องค์พระเจดีย์ โดยหวังให้ชีวิตในชาติหน้าของตัวเองมีความสงบร่มเย็น
http://www.dailynews.co.th/education/168022
|