Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
15 November 2024, 14:15:49

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,424 Posts in 12,831 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง  |  เจ็ดเดือนบรรลุธรรม โดย ท่าน ดังตฤณ
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: เจ็ดเดือนบรรลุธรรม โดย ท่าน ดังตฤณ  (Read 1339 times)
SATORI
สมาชิกกิตติคุณ
น้องใหม่ฝึกยิ้ม
*****
Offline Offline

Posts: 37


View Profile
« on: 20 January 2013, 19:38:20 »

เจ็ดเดือนบรรลุธรรม  โดย ท่าน ดังตฤณ

สารบัญ

สารบัญ   ๑


โปรดอ่านตรงนี้ก่อน   ๕
ก่อนเหยียบบันไดขั้นแรก   ๑๑
คนธรรมดา   ๑๑
เรื่องสะดุดใจ   ๑๑
สิ่งที่ต้องรู้ให้ได้ก่อนตาย   ๑๕
ความวุ่นวายหลังพุทธปรินิพพาน   ๑๘
ก่อนปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔   ๒๕
ความเห็นถูกตรง   ๒๘
ทำความเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ เบื้องต้น   ๓๑
ความตั้งใจสำรวจและประเมินตนเอง   ๓๖
เดือนที่ ๑: ราวเกาะของมือใหม่   ๓๙
อานาปานสติอย่างย่อสำหรับมือใหม่   ๓๙
วันที่ ๑: พยายามตั้งสติ   ๔๐
วันที่ ๒: รู้เท่าที่สามารถรู้   ๔๕
วันที่ ๓: ราวเกาะในที่ทำงาน   ๔๗
วันที่ ๔: ยื้อกับโลกภายนอก   ๕๐
วันที่ ๕: ล้าและเบื่อ   ๕๒
วันที่ ๖: นับหนึ่งใหม่ด้วยพละ ๕   ๕๓
วันที่ ๗: สององค์แรกของโพชฌงค์ปรากฏ   ๕๗
วันที่ ๘: องค์ที่สามของโพชฌงค์ปรากฏ   ๖๐
วันที่ ๙: เริ่มหัดจงกรม   ๖๒
วันที่ ๑๐: วิ่งจงกรม   ๖๔
วันที่ ๑๑: องค์ที่สี่กับห้าของโพชฌงค์ปรากฏ   ๖๗
วันที่ ๑๒-๓๐: ความต่อเนื่องคือความก้าวหน้า   ๖๙
วันที่ ๓๑: อีกระดับของการเห็นจิตส่งออกนอกและเก็บเข้าใน   ๗๑
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๑   ๗๒
เดือนที่ ๒: สุขทุกข์เหมือนฝันไป   ๗๓
การเจริญสติรู้สุขทุกข์โดยสรุป   ๗๓
วันที่ ๑: ติดสุข   ๗๔
วันที่ ๒: ทุกข์อันใหญ่หลวงของสิ่งมีชีวิต   ๗๖
วันที่ ๓: เจริญสติระหว่างซมไข้   ๘๒
วันที่ ๔: แผ่เมตตาด้วยคำพูด   ๘๗
วันที่ ๔-๑๐: เมตตาขยายผล   ๘๘
วันที่ ๑๑-๒๐: เรื่องเศร้า   ๙๓
วันที่ ๒๑: อยากได้มรรคผล   ๙๖
วันที่ ๒๒: ความต่างระหว่างปีติกับสุข   ๑๐๑
วันที่ ๒๓-๒๗: มองต่างจากชาวโลก   ๑๐๔
วันที่ ๒๘: ฝัน   ๑๐๕
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๒   ๑๐๖
เดือนที่ ๓: นานาสภาวจิต   ๑๐๗
การเจริญสติรู้สภาวจิตอย่างย่อสำหรับมือใหม่   ๑๐๘
วันที่ ๑: พักร้อน   ๑๐๙
วันที่ ๒: ปลีกวิเวก   ๑๑๐
วันที่ ๓-๗: บ่มกำลัง   ๑๑๔
วันที่ ๘: ฌาน   ๑๑๘
วันที่ ๙: นิมิตสมาธิ   ๑๒๒
วันที่ ๑๐: ราคะของจริง   ๑๒๖
วันที่ ๑๑-๒๒: ความพยายามหว่านล้อม   ๑๒๘
วันที่ ๒๓: สอนภาวนา   ๑๒๙
วันที่ ๒๔-๓๐: เถียงจากคนละโลก   ๑๓๒
วันที่ ๓๑: วันลา   ๑๓๖
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๓   ๑๓๗
เดือนที่ ๔: ฐานที่มั่นของอุปาทาน   ๑๓๘
หลักการเจริญสติรู้ขันธ์ ๕   ๑๔๑
วันที่ ๑-๓: สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ   ๑๔๑
วันที่ ๔: ไม่ใช่ตัวตนก็ทำตามอำเภอใจได้แล้ว   ๑๔๘
วันที่ ๕: ปฏิบัติแบบไหนในเวลาใดจึงเรียกว่ารู้อุปาทานขันธ์เกิดดับ   ๑๕๑
วันที่ ๖-๑๖: ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด   ๑๕๗
วันที่ ๑๗: ขันธ์อื่นมีอีกไหม?   ๑๕๙
วันที่ ๑๘-๒๕: ทำไมถึงยังติดข้องในขันธ์?   ๑๖๐
วันที่ ๒๖-๓๐: มุมมองใหม่เกี่ยวกับสมาธิและอุเบกขา   ๑๖๑
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๔   ๑๖๓
เดือนที่ ๕: มุงหลังคากันฝนรั่วรด   ๑๖๔
หลักการเจริญสติรู้อายตนะ ๖   ๑๖๕
วันที่ ๑: วันแห่งการเปลี่ยนแปลง   ๑๖๖
วันที่ ๒: ได้เห็นสมใจ   ๑๖๘
วันที่ ๓-๙: เข้าใจหลักรู้สภาวธรรม   ๑๗๐
วันที่ ๑๐: เปลี่ยนศาสนา   ๑๗๔
วันที่ ๑๑-๓๑: อินทรียสังวร   ๑๘๓
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๕   ๑๘๕
เดือนที่ ๖: สำรวจความพร้อม   ๑๘๖
องค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรค   ๑๘๗
วันที่ ๑: ความจริงที่อริยเจ้าสนใจ   ๑๘๘
วันที่ ๒-๕: สัมมาทิฏฐิ   ๑๙๕
วันที่ ๖-๑๐: สัมมาสังกัปปะ   ๑๙๖
วันที่ ๑๑-๑๔: สัมมาวาจา   ๒๐๓
วันที่ ๑๕-๑๗: สัมมากัมมันตะ   ๒๐๖
วันที่ ๑๘-๒๑: สัมมาอาชีวะ   ๒๐๗
วันที่ ๒๒-๒๕: สัมมาวายามะ   ๒๐๗
วันที่ ๒๖-๒๘: สัมมาสติ   ๒๐๘
วันที่ ๒๙-๓๐: สัมมาสมาธิ   ๒๐๙
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๖   ๒๑๐
เดือนที่ ๗: บรรลุธรรม   ๒๑๑
วันที่ ๑-๖: การยอมรับความจริงแบบไม่แทรกแซง   ๒๑๓
วันที่ ๗: เห็นนิพพาน   ๒๑๗
วันที่ ๘-๑๒: สมถะและวิปัสสนา   ๒๒๔
วันที่ ๑๓: รางวัลที่ ๑   ๒๒๘
วันที่ ๑๔-๓๑: นิมิตประจำตัว   ๒๓๓
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๗   ๒๓๗
บทส่งท้าย   ๒๓๘
มหาสติปัฏฐานสูตร   ๒๔๓
กายานุปัสสนา - อานาปานบรรพ   ๒๔๔
กายานุปัสสนา - อิริยาปถบรรพ   ๒๔๔
กายานุปัสสนา - สัมปชัญญบรรพ   ๒๔๕
กายานุปัสสนา - ปฏิกูลมนสิการบรรพ   ๒๔๕
กายานุปัสสนา - ธาตุมนสิการบรรพ   ๒๔๖
กายานุปัสสนา - นวสีวถิกาบรรพ   ๒๔๖
เวทนานุปัสสนา   ๒๔๗
จิตตานุปัสสนา   ๒๔๘
ธัมมานุปัสสนา - นีวรณบรรพ   ๒๔๙
ธัมมานุปัสสนา - ขันธบรรพ   ๒๕๐
ธัมมานุปัสสนา - อายตนบรรพ   ๒๕๐
ธัมมานุปัสสนา - โพชฌงคบรรพ   ๒๕๑
ธัมมานุปัสสนา - สัจจบรรพ   ๒๕๒
อานิสงส์ของการเจริญสติปัฏฐาน   ๒๕๘
อานิสงส์อันเป็นผลข้างเคียงจากการเจริญสติปัฏฐาน   ๒๕๙



โปรดอ่านตรงนี้ก่อน
คนเราหายใจเข้าออกกันจนเคยชิน ไม่หยุดหายใจแม้ขณะเผลอเหม่อหรือหลับไหลไร้สติ ไม่หยุดหายใจแม้ขณะผิดหวังรุนแรงกับโลกภายนอก และไม่หยุดหายใจแม้ขณะกำลังตั้งหน้าตั้งตาแสวงวิธียุติทุกข์ด้วยทางลัดตัดช่องน้อยแต่พอตัว
แม้อาการร้องไห้ใจจะขาด ก็ต้องอาศัยลมหายใจในการช่วยร้อง
คนเราชาชินกับลมหายใจเสียจนลืมว่าตัวเองยังมีลมหายใจ มีลมหายใจแม้ขณะทะยานอยากได้อยากเอาสมบัตินอกกาย มีลมหายใจแม้ขณะยื้อแย่งแข่งขันเอาชัยกับคนอื่น และมีลมหายใจแม้ขณะแห่งวินาทีสุดท้ายที่ยึดมือญาติผู้มาดูใจก่อนลาจากชั่วนิรันดร์
แม้กำลังออกแรงชักเย่อกับมัจจุราช ก็ต้องอาศัยลมหายใจในการออกแรง
เรามีลมหายใจติดตัว มีสิทธิ์หายใจทุกวินาทีนับแต่แรกเกิด และมีความสามารถในการหายใจเข้าออกสั้นยาวไปต่างๆตามปรารถนา แต่กี่คนที่เรียนรู้ว่ามนุษย์อาจเป็นสุขอยู่กับลมหายใจทุกเฮือกของตนเอง กี่คนที่ตระหนักว่าลมหายใจอาจเป็นสมบัติล้ำค่าน่าเชยชมกว่าสมบัติใดๆ กี่คนที่วาสนาดีพอจะมีโอกาสรับฟังความจริงว่าตราบใดยังถือครองลมหายใจมนุษย์ ตราบนั้นเราอาศัยลมหายใจนั้นเองเป็นบันไดขั้นแรก ขั้นกลาง และขั้นท้ายเพื่อส่งให้ก้าวขึ้นคว้าประโยชน์ขั้นสูงที่สุดในโลกได้ภายในเวลา ๗ เดือน!
พระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว พระกรัชกายขององค์ท่านจากพวกเราไปแล้ว ทุกวันนี้ไม่มีใครได้โอกาสสดับพระสุรเสียงแห่งองค์ท่านอีกแล้ว
ทว่าความเป็นพระศาสดาท่านยังคงอยู่ ตราบใดที่พระวจนะยังถูกบันทึกสืบทอดไม่ขาดสาย นับแต่ครั้งยังต้องอาศัยการจดจำผ่านวิธีท่องบ่นด้วยปาก มาถึงการจารลงบนใบลาน กระทั่งล่าสุดใช้สื่อเก็บข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ในยุคเรา
ส่วนที่ว่ายังมีการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับจะมีใครช่วยกันรับรู้ ถ่ายทอด และน้อมนำพุทธพจน์มาปฏิบัติให้เกิดผลยืนยันมากน้อยเพียงใด การมีพุทธพจน์อยู่ในตำราหรือแผ่นซีดีรอมเป็นเพียงโอกาสให้เข้าเฝ้าได้ ทว่ายังไม่เกิดการเข้าเฝ้าจริงแต่อย่างใดเลย
ยกตัวอย่างง่ายที่สุด ปัจจุบันชาวพุทธผู้รักดีมักมีความสงสัยกันอย่างแรง ว่าตนสามารถบรรลุมรรคผลได้ในชาตินี้ไหม เพราะฟังจากคนรอบข้างก็เหมือนจะช่วยยืนยันกันเองตามอัตโนมัติ ว่ามรรคผลล้าสมัยแล้ว ไม่มีใครสำเร็จธรรมได้แล้ว ต้องรอไปถึงพุทธกาลหน้าที่พระศรีอาริย์จะมาตรัสรู้เป็นสัพพัญญูผู้เปิดทางนิพพานแก่สัตว์โลกองค์ต่อไป แถมเมื่อย้อนดูตัว ก็เหมือนตัวจะเต็มไปด้วยโคลนกิเลสเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ทำใจให้เชื่อได้ยากว่าตนหรือคนรอบข้างทั้งหลายจะมีกำลังเพียงพอบุกบั่นเข้าถึงมรรคผลก่อนสิ้นชีวิตเอาจริงๆ
ที่ปล่อยให้ความเชื่อดังกล่าวปลูกฝังลงในใจชาวพุทธค่อนประเทศได้นานเพียงนี้ ก็เพราะเราคุยกันเอง พูดกันเองในระดับสาวก ไม่พากันพร้อมใจเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ไม่เปิดโอกาสให้ท่านแย้มพระโอษฐ์ยืนยันด้วยองค์ท่านเอง
ขอเชิญเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันเถิด พระดำรัสยังดำรงอยู่ เรายังป่าวประกาศ ยังเป็นกระบอกเสียงแทนพระศาสดาได้ หากถามท่านในวันนี้ ก็เชื่อเถิดว่าท่านจะยังตรัสเช่นเดิมดังปรากฏในตอนท้ายของมหาสติปัฏฐานสูตร คือ…
ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้อย่างต่อเนื่อง เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี ภายในเวลา ๗ ปี หรือ ๖ ปี หรือ ๕ ปี หรือ ๔ ปี หรือ ๓ ปี หรือ ๒ ปี หรือ ๑ ปี หรือ ๗ เดือน หรือ ๖ เดือน หรือ ๕ เดือน หรือ ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน หรือ ๒ เดือน หรือ ๑ เดือน หรือ ๑๕ วัน หรือ ๗ วัน
สรุปโดยคร่าว ผู้เป็นต้นตำรับวิธีบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ให้การรับรองว่าคนบารมีมากใช้เวลา ๗ วัน บารมีอย่างกลางใช้เวลา ๗ เดือน บารมีอย่างอ่อนใช้เวลา ๗ ปี ไม่ใช่ต้องใช้เวลากันนานทั้งชาติแต่อย่างใด ต่อให้ใครที่หลงนึกว่าตัวเองบุญน้อย กิเลสหนาปัญญาหยาบ ขอเพียงมีกำลังและความตั้งใจจริง เจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้ได้ ๗ ปีอย่างน้อยต้องบรรลุมรรคผลแน่นอน
บรรลุมรรคผลแล้วสุขเยี่ยมยอดอย่างไร รสชาติแห่งภาวะลึกซึ้งสูงสุดจะประหลาดมหัศจรรย์ปานไหน ถ้าจินตนาการไม่ถูกก็ยกไว้ก่อน เอาเป็นว่าแค่บรรลุมรรคผลขั้นแรก เป็นโสดาบันบุคคลที่ถูกต้องในพุทธศาสนา ก็เป็นประกันให้อุ่นใจแล้วว่าถ้าชาติภพมีจริงเราย่อมไม่ไหลลงอบายอีก และถ้านิพพานมีจริงวันหนึ่งเราก็เที่ยงที่จะเข้าถึง
แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครกระพือข่าวอันเป็นมหามงคลของโลกดังกล่าว มีแต่เสียงลือดุจข่าวร้ายประจำยุคว่าช้าไปแล้ว ล้าสมัยแล้ว สายเสียแล้ว มรรคผลเป็นเพียงตำนานที่เหล่าสาธุชนผู้มีวาสนาร่วมชาติร่วมแผ่นดินกับพระพุทธโคดมบันทึกไว้ให้คนรุ่นเราชื่นชมเล่น มิใช่ของจริงที่หาได้ในวันนี้วันพรุ่งอีกต่อไป
ณ วันนี้ แม้ยังมีชนกลุ่มน้อยเข้าเฝ้าพระศาสดาผ่านพุทธวจนะ และเกิดศรัทธาปสาทะเชื่อถือเลื่อมใสว่ายังเป็นไปได้จริงในปัจจุบัน กับทั้งฮึกเหิมพอจะลงมือพิสูจน์ให้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว ไม่สนเสียงบั่นทอนกำลังใจรอบข้างแล้ว ก็อุตส่าห์เกิดปัญหาตามมาอีกจนได้ นั่นคือคำถามคาใจว่าสติปัฏฐาน ๔ คืออะไร ทำตามลำดับขั้นหนึ่งสองสามกันท่าไหน มีสิ่งใดเป็นเครื่องรับประกันว่าปฏิบัติถูกปฏิบัติตรง?
เมื่อช้างยืนอยู่ สำหรับคนตาดีย่อมทราบทันทีว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สำหรับคนตาบอดที่มีโอกาสลูบคลำเพียงบางส่วนย่อมเถียงกันไม่หยุด ไม่มีจุดยุติลงเอยว่าช้างเป็นอย่างไรแน่ ใครจับตรงไหนก็นึกว่าช้างเป็นอย่างนั้น นับเป็นเรื่องลำบากที่ควรเห็นใจกันและกัน แต่ขอเพียงเป็นคนตาบอดที่ไม่ปักหลักยืนกับที่ ค่อยๆจับจุดไปจนครบถ้วนก็อาจรู้จักช้างทั้งตัวเท่าเทียมหรือใกล้เคียงคนตาดีได้
อุปมาอุปไมยเช่นเดียวกันกับที่เราพยายามมองเห็นสติปัฏฐาน ๔ ให้เป็นภาพรวมในคราวเดียว ย่อมยากเย็นและดูเหมือนเกินเอื้อมสำหรับคนบอดเช่นเราๆท่านๆ แต่หากเปลี่ยนมุมมอง ลองปรับวิธีมองเสียใหม่ มาแลดูจุดง่ายสุดเหมือนขนมหวานชิ้นเล็กเคี้ยวง่าย คือขั้นตอนแรกสุดที่พระพุทธเจ้าสอนแค่ให้มีสติรู้ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า ทุกอย่างก็คงดูเป็นไปได้มากขึ้น ขยับใกล้ความจริงเข้าไปอีกนิด ขอให้ทราบเถิดว่าลมหายใจเข้าออกที่เกิดขึ้นทุกขณะจิตนี้แหละ คืออุปกรณ์ชิ้นแรก ตราบใดใครยังมีมัน ตราบนั้นทุกคนตั้งหลักปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ได้เสมอ
หนังสือเล่มนี้มีจุดประสงค์ง่ายๆ หนึ่งคือให้ผู้อ่านหันมาสนใจฟังพระพุทธเจ้าตรัส สองคือแสดงให้เห็นว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นความจริงได้อย่างไร
ผู้เขียนเป็นคนร่วมสมัยกับผู้อ่าน เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงคิดแบบเดียวกัน สงสัยแบบเดียวกัน รวมทั้งอยากปลงใจเชื่อมั่นได้สนิทแบบเดียวกับผู้อ่าน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับฟังคำถามคาใจของชาวพุทธจำนวนหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันราวถอดออกมาจากพิมพ์เดียว คือสงสัยว่าเพื่อปฏิบัติให้ถึงมรรคถึงผลนั้น…
ชาติเดียวทันไหม?
บารมีพอไหม?
ปัญญาไหวไหม?
ถ้าเพียงเปลี่ยนคำเพียงเล็กน้อย โจทย์ของชีวิตจะต่างไป และมีวิธีได้คำตอบสมเหตุสมผลกว่าเดิม เช่นลองถามตัวเองว่า เป็นมนุษย์พอไหม? ก็จะได้คิดถึงศักยภาพของมนุษย์อันเปิดเผย แทนการคิดถึงเรื่องชาติเรื่องบารมีลี้ลับ หากยังลังเลก็อาจเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปเช่น เป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนาพอไหม? ก็จะได้คิดถึงหลักฐานเป็นตัวบุคคลธรรมดาที่เคยยืนยันการบรรลุธรรมให้พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน แทนการทึกทักว่าปัญญาข้านี้คงไม่เพียงพอเป็นแน่
หากยังไม่ปลงใจสนิทก็อาจเพิ่มปัจจัยให้เห็นเค้าเงาคำตอบชัดเจนถึงที่สุด คือ…
เป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา ศรัทธาสติปัฏฐาน ๔ มีใจอุทิศตัว จะสำเร็จไหม?
เริ่มตั้งคำถามกันอย่างนี้ หนทางจะได้ดูสว่างไสวขึ้น และคำตอบจะไม่ลอยมาตามลมหรือไม่ผุดขึ้นจากความคาดเดาคะเนเองใดๆ เพราะพระพุทธองค์ผู้รู้แจ้งแทงตลอดเยี่ยงสัพพัญญูเจ้าทั้งหลายรับรองไว้หนักแน่น ว่าถ้าทำจริง ต่อให้บารมีน้อยเท่าน้อยก็ต้องถึงที่สุดได้ใน ๗ ปี
ทุกอักษรในหนังสือเล่มนี้ยืนอยู่บนฐานเดียวกับวิธีตั้งคำถามหามรรคผลดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จะได้แสดงตามลำดับตั้งแต่เดือนแรกไปจนถึงเดือนที่เจ็ด ว่าเกิดประสบการณ์ทางใจกันอย่างไร จากภาวะแบบคนธรรมดาสามัญไปจนกระทั่งปรากฏการณ์แห่งมรรคผลอุบัติขึ้น
เพื่อป้องกันข้อกังขาต่างๆนานา ผู้เขียนขอทำความเข้าใจไว้ ๓ ประการ คือ…
ประการแรก ชื่อหนังสือไม่ได้เป็นคำรับรองว่าผู้เขียนบรรลุธรรม แต่เป็นการแสดงว่าพระพุทธเจ้าตรัสยืนยันไว้เช่นนี้ จะได้เป็นการยุให้ผู้ยังลังเลสงสัยเกิดบันดาลพลังใจเข้มแข็งพอจะลุกขึ้นพิสูจน์ความจริงภายในขอบเขตเวลาที่แม้ไม่เร็วทันใจ แต่ก็ไม่ช้าเกินรอ
ประการที่สอง คำว่า ฉัน ตลอดหนังสือเล่มนี้มิได้หมายถึงตัวผู้เขียน แต่เป็นการคัดเอาประสบการณ์จริงตามสถิติที่มักเกิดขึ้นกับผู้ภาวนา ทั้งตัวผู้เขียนเอง ทั้งเพื่อนนักปฏิบัติธรรม ตลอดไปจนกระทั่งครูบาอาจารย์ในอดีตก่อนพุทธปรินิพพานมาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคอินเตอร์เน็ต แล้วผูกรวมเป็นเสมือนบุคคลคนเดียว โดยหวังว่าผู้อ่านอ่านแล้วจะรู้สึกโดนตัว โดนใจ ตั้งแต่ต้นจนจบ
ประการที่สาม ปรากฏการณ์ขณะจิตของการบรรลุมรรคผลนั้น ผู้เขียนนำมาจากการสาธยายธรรมในพระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถาจารย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าท่านถึงธรรมจริง แม้การสาธยายลักษณะนิพพานที่จิตเข้าไปรู้ ก็มีหลักฐานเป็นพุทธพจน์ หาใช่สิ่งที่ผู้เขียนคิดประดิษฐ์ขึ้นจากความคิดหรือจินตนาการแต่อย่างใด
สรุปแล้วสิ่งที่จะได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือการเห็นภาพสมมุติของบุคคลธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่เพียรปฏิบัติธรรมตลอดเจ็ดเดือน อันพอทำให้ยอมลงใจเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง มรรคผลนิพพานมีจริง และพระพุทธเจ้าตรัสว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นทางเดียวที่จะพาไปถึงมรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งที่ยืนยงคงกระพัน เป็นสัจจะไม่จำกัดกาล หมายถึงยังปฏิบัติกันได้ในปัจจุบัน หรือถ้าร้อยปีพันปีข้างหน้าสติปัฏฐาน ๔ ยังคงบันทึกสืบทอดกันอยู่ ผู้คนในยุคนั้นก็จะสามารถปฏิบัติเพื่อถึงมรรคผลนิพพานกันได้ ไม่ล้าสมัยแต่อย่างใดเลย
ขอกล่าวถึงที่มาที่ไป หรือเบื้องหลังของหนังสือเล่มนี้อีกสักเล็กน้อย เดิมทีด้วยความปรารถนาจะให้คนร่วมสมัยได้เกิดความศรัทธาพระพุทธองค์นั้น ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจจะเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ให้อ่านเข้าใจง่ายด้วยภาษาร่วมสมัย โดยยกพระพุทธพจน์ขึ้นตั้ง แล้วแจกแจงตามลำดับว่าในฐานะผู้ปฏิบัติตามนั้น เมื่อทำเป็นขั้นๆแล้วเกิดผลอย่างไร หากติดขัดอุปสรรคอันใดแล้วจะผ่านไปได้ด้วยวิธีไหน
หนังสือดังกล่าวคือ มหาสติปัฏฐานสูตร มีอยู่ทั้งหมด ๒ เล่ม เล่มแรกเขียนเสร็จแล้ว ส่วนเล่มจบยังอยู่ในระหว่างทางอันขรุขระ อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากผู้ศึกษาหนังสือเล่มแรกก็ทำให้ผู้เขียนเห็นตามจริงว่าเนื้อหายังหนักเกินไปสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีความสนใจการภาวนา พอเห็นศัพท์แสงธรรมะที่ไม่เคยคุ้นแล้วถอดใจ ไม่มีความอุตสาหะพอจะอ่านและทำความเข้าใจให้ทั่วถึงตลอด
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ทำให้พอมองเห็นล่วงหน้าว่าเล่มจบคงไม่เป็นมิตรกับมือใหม่ยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากผู้เขียนตระเตรียมเนื้อหาทั้งข้อใหญ่ข้อย่อยไว้ละเอียดยิบ คนที่จะอ่านสนุกได้คงต้องมีพื้นฐานภาคทฤษฎีและปฏิบัติมากแล้ว
ผู้เขียนจึงตัดสินใจชะลอการออกหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตรเล่มจบไว้ชั่วคราว แล้วคั่นกลางด้วยหนังสืออ่านง่ายสบายตาทั้งสำหรับมือใหม่และมือเก่า ใช้ภาษาเชิงพรรณนาให้เห็นภาพมากขึ้น รวมทั้งอ้างอิงพุทธพจน์เฉพาะจุดที่จำเป็น รวมแล้วเนื้อหาก็คือการผนวกเอามหาสติปัฏฐานสูตรเล่มแรกกับเล่มจบไว้อย่างย่นย่อกะทัดรัดนั่นเอง เชื่อว่าถ้าทำความเข้าใจกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จบ ก็จะสามารถย้อนกลับไปอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยความเข้าอกเข้าใจชัดเจนขึ้น
ผู้เขียนเข้าใจดี ว่าหนังสือธรรมปฏิบัติที่อ่านง่ายที่สุดต้องใช้ประโยคและถ้อยคำบอกเล่าอันเป็นประสบการณ์สามัญล้วนๆ แต่ความจริงคือถ้าไม่มีศัพท์บัญญัติให้เรียกขานบ้างเลย ความทรงจำของคนเราจะพร่าเลือนจับต้องยาก เพราะฉะนั้นศัพท์ธรรมะจึงต้องปรากฏในหนังสือเล่มนี้ประปราย แต่เมื่อปรากฏในที่ใดเป็นครั้งแรก ก็จะพยายามอธิบายความหมายไว้ให้ง่ายที่สุด ขอให้ผู้อ่านยอมสละเวลาทำความเข้าใจบ้าง เพื่อประโยชน์ในระยะยาวต่อไป
อาการน้อมปักใจเชื่อเป็นมโนกรรมชนิดหนึ่ง และกรรมในชาตินี้จะพยายามรักษาเราไว้ในเส้นทางเดิมในชาติถัดๆไป กล่าวคือเมื่อเกิดใหม่ย่อมมีแนวโน้มจะเชื่อเช่นเดิม หากชาตินี้ปักใจเชื่อไปจนตายว่าเราไม่มีสิทธิ์บรรลุมรรคผล ชาติหน้าแม้พบพระพุทธเจ้าก็คงมีกำลังใจอ่อน อาจทำบุญอธิษฐานขอไปบรรลุมรรคผลในพุทธกาลต่อๆไปอยู่ดี
แต่หากเป็นตรงกันข้าม ปักใจกับตนเองว่าจะเชื่อเรื่องบรรลุมรรคผลได้จริงด้วยการเพียรเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างต่อเนื่อง ไม่ช้าไม่นานต้องสำเร็จผลดังพุทธพยากรณ์ เช่นนี้อย่างไรก็ไม่ขาดทุน ด้วยความสุขอันเกิดแต่สติในปัจจุบัน และแม้พลาดมรรคผลในชาตินี้เข้าจริงๆเพราะถึงอายุขัยเสียก่อน ชาติต่อไปก็ต้องมีนิสัยทางความคิดแบบเดิม บำเพ็ญเพียรหนักแน่นเข้าอีก แล้วในที่สุดย่อมแก่กล้ากระทั่งเข้ากระแสจนได้
การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นพรในตัวเอง และเที่ยงที่จะให้ผลเป็นการบรรลุธรรมตามคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่อวยพรง่ายๆเพียงขอให้ทุกท่านบรรลุมรรคผล แต่ขอให้ลองทำตามพุทธพจน์จริงจังสักปีหนึ่งเถิด จะทราบเองโดยไม่ต้องฟังคนโน้นทีคนนี้ที ว่าเกิดเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา ศรัทธาสติปัฏฐาน ๔ มีใจอุทิศตัว จะสำเร็จประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่
ขอให้อานิสงส์จากการเขียนจงได้แก่ผู้ที่มีโอกาสอ่านทุกท่านเทอญ.
ดังตฤณ
ตุลาคม ๒๕๔๖

ก่อนเหยียบบันไดขั้นแรก
คนธรรมดา
ฉันเป็นคนขี้เหงาอย่างร้ายกาจ แล้วฉันก็เป็นคนคิดมากจนเครียดหนักบ่อยๆ จนบางวันฉันก็นั่งแช่นอนแช่อยู่ในท่าเดิมได้เป็นชั่วโมง เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร แล้วก็ไม่อยากเจอหน้าใคร ในอารมณ์นั้นฉันเคยคิดหาคำตอบอยู่เหมือนกันว่าคนเราเกิดมาทำไม และทำไมต้องทนเซ็งมีชีวิตตั้งนานหลายๆสิบปี เพียงเพื่อวันหนึ่งจะต้องเป็นบุคคลสาบสูญไปจากโลกนี้ชั่วนิรันดร์
แต่ฉันก็มีสายตาให้กับลวดลายสีสันที่น่ามองบนโลกไม่ต่างจากคนอื่น ห้วงเวลาที่ได้สัมผัสกับเรื่องที่ตัวเองพอใจแรงๆ ฉันก็กลายเป็นอีกคนหนึ่งที่หมดเหงา เครียดไม่เป็น เอาแต่หัวเราะสนุก รวมทั้งเหลือคำถามเดียวในหัว คือทำอย่างไรจะอยู่เสพสุขให้สะใจในโลกนี้ได้นานๆ
เคยนึกว่าถ้าแอบถ่ายรูปคนธรรมดาคนหนึ่งอย่างฉันไว้ทุกอาทิตย์ เก็บๆไว้สัก ๕๒ ใบให้ครบปีแล้วเอามารวมๆดู ฉันว่าน่าจะเห็นอะไรดีๆที่ทำให้ได้ข้อคิดมากมาย เพราะสิ่งที่รูปทั้ง ๕๒ ใบจะแสดงร่วมกันแน่นอนคือความแตกต่าง ความไม่คงเส้นคงวา รูปหนึ่งอาจกำลังยิ้มแฉ่ง อีกรูปอาจกำลังคร่ำเครียด ขณะที่รูปส่วนใหญ่อาจกำลังเหม่อตาลอยอย่างเห็นได้ชัด ไม่รู้ว่ากำลังสุขหรือทุกข์เพราะเรื่องใดเรื่องหนึ่งกันแน่
หากนำรูป ๕๒ ใบมาเรียงกันแล้วแปรแต่ละรูปให้เป็นจุดแสดงระดับความสุขความทุกข์ ฉันก็เชื่อว่าเส้นกราฟคงกระโดดขึ้นกระโดดลงน่าดู กับทั้งทำให้มองเห็น ธรรมดา ของคนธรรมดาว่าของมันต้องเป็นอย่างนี้แหละ ขึ้นแล้วลง ลงแล้วขึ้น บางทีมาก บางทีน้อย หาชีวิตใครเป็นเส้นตรงราบเรียบเท่าไม้บรรทัดไม่ได้หรอก
แต่ก็น่าฉงนที่คนปกติทั่วไป รวมทั้งฉันด้วย จะมองไม่เห็นธรรมดาที่ว่านี้ มนุษย์ทั้งเผ่าพันธุ์พากันคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคืออธิษฐานขอให้เส้นกราฟพุ่งขึ้นมาสูงถึงจุดหนึ่ง แล้วแล่นเรียบเป็นเส้นตรงคงที่อยู่อย่างนั้น อย่าได้พลัดตกหล่นร่วงลงเลย เจ้าประคุณเอ๋ย
วันเดือนปีล่วงไป ฉันใช้ชีวิตของคนธรรมดาโดยไม่เคยสำรวจว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้ม รู้แต่ว่าขอให้วันหนึ่งๆผ่านไปเท่าที่พอใจเป็นใช้ได้ จะเอาอะไรมากกว่าใจที่พอกันเล่า
เรื่องสะดุดใจ
ทุกคนจะมีอายุอยู่ในโลกกี่ปีก็ตาม ต้องมีสักวัน หรืออย่างน้อยสักนาที ที่สะดุดคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาจากคำพูดของคนอื่น คนอื่นที่ว่านี้อาจเป็นคุณครูสมัยอนุบาลที่สอนให้เราท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ อาจเป็นคนรักที่อยู่ในอารมณ์อยากทะเลาะและขุดคุ้ยกันให้ละเอียดลออ อาจเป็นปราชญ์ระดับโลกคนโปรดที่คำคมถูกคัดลอกซ้ำแล้วซ้ำอีก หรืออาจเป็นเพื่อนบ้านใกล้ตัวที่เรารู้จักแต่ไม่เคยคุยกันลึกซึ้งนี่เองก็ได้
ความสะดุดใจเพียงครั้งเดียวในชีวิตอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงชั่วนิรันดร์ของคนธรรมดาสักคน โลกนี้มีคนที่พูดแล้วทำให้เราตาสว่างวาบปุบปับอยู่มาก แต่เราไม่ค่อยเจอบ่อยนัก อาจเป็นเพราะพอดีจังหวะกับที่หูตาเราปิด หรืออาจเป็นเพราะเสียงของเขาเบาเกินกว่าจะแพร่มาทางอากาศหรือกระดาษหนังสือ
หากเปรียบโลกนี้เป็นห้องดนตรี ส่วนใหญ่ห้องดนตรีแห่งนี้จะเงียบหรือเกลื่อนเสียงรบกวน หรือมักมีเพลงพื้นๆดาษๆที่ฟังเบื่อหู นานครั้งถึงจะกระหึ่มเพลงเด่นที่เล่นอย่างมีพลังประหลาด ปลุกประสาทเราให้หูตาตื่นตะลึงได้ และวันที่เพลงเด่นจะดังขึ้นก็อาจเป็นวันแสนธรรมดาของคนธรรมดาผู้ไม่คาดหวังว่าจะฟังอะไรเป็นพิเศษ
ฉันมีเพื่อนบ้านเป็นครอบครัวเล็กๆ ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกชายวัย ๕ ขวบ กับคุณตาอีกคน และเนื่องจากรั้วบ้านเป็นแบบโปร่ง ไม่ใช่อิฐปูนสูงหนาบังตา ครอบครัวฉันกับครอบครัวนั้นจึงมักยิ้มให้กันประจำ แม้ไม่สนิทถึงขั้นแจกซองกฐินให้แก่กันและกันตามโอกาส ก็มีไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบบ้างประสาคนคุ้นหน้า
เย็นวันหนึ่ง ขณะฉันนอนฟังเพลงอยู่ในห้องนอน ก็ได้ยินตัวน้อยประจำครอบครัวแหกปากลั่นบ้านว่าแม่คร้าบ! คุณตาตายแล้ว! คุณแม่คงเพิ่งกลับมาถึงบ้านอย่างนึกว่าจะเป็นอีกวันที่ไม่มีอะไรน่าจดจำ ไม่คาดหมายว่าจะเจอลูกชายตะเบ็งเสียงบอกเช่นนั้น ท่าทางภูมิใจทีเดียวล่ะว่าเป็นคนแจ้งข่าวน่าตื่นเต้นให้ผู้ใหญ่รับรู้ก่อนใคร ฉันลุกมาชะโงกมองทางหน้าต่าง เห็นคุณแม่เข่าอ่อนแทบล้มทั้งยืนกับเสียงคึกคะนองของเจ้าทะโมนน้อย
มันเป็นภาพที่ชวนคิดไม่ใช่เล่น ระหว่างเด็กไร้เดียงสารับรู้การตาย กับผู้ใหญ่ที่รู้คิดรับรู้เรื่องเดียวกัน ทำไมลูกชายเห็นเป็นเรื่องสนุกไปได้ ขณะที่คุณแม่ถึงกับยืนตกตะลึงจังงังด้วยความตระหนักว่าได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับมาพบหน้ากันอีก ส่วนฉันยืนอยู่ในห้องเพียงแค่คิดว่าต้องไปงานศพอีกแล้วสิเรา น่าเบื่อซะจริง!
เย็นอีกวันหนึ่งฉันยืนรดน้ำต้นไม้ริมรั้ว หูก็ได้ยินเสียงพ่อลูกข้างบ้านคุยกันบนเสื่อกลางสนาม คุณพ่อคงร้อนเลยชวนลูกเมียมานั่งปอกผลไม้กินใต้ร่มไม้ประสาครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมหน้า ฉันได้ยินลูกชายตัวจ้อยถามคุณพ่อของแกว่า
“พ่อครับ ทำไมคุณตาถึงต้องตายด้วยล่ะครับ?”
ฉันยิ้มเล็กน้อย คนเพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่ถึง ๕ ปีนั้น แม้เห็นและได้ยินทุกสิ่ง ก็คงไม่ต่างจากคนโตๆดูทีวี รู้แต่ว่ามีตัวละครกระโดดโลดเต้นหรือล้มลุกคลุกคลานให้ดู ยังไร้อารมณ์ร่วมกับตัวละครเหล่านั้น เว้นแต่จะมีส่วนได้ส่วนเสียมาถึงเนื้อถึงตัวของตนโดยตรง นั่นแหละจึงค่อยแหกปากโวยวายขึ้นดังๆ
ความที่เพิ่งเกิด จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ห่างจากความตาย กลิ่นอายความตายยังเป็นของแปลกใหม่และไกลตัว ข้อสงสัยเกี่ยวกับความตายจึงมักตกเป็นภาระของพ่อแม่ที่จะให้คำตอบพอฟังง่ายแก่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตน
“เป็นธรรมดาของพวกเราทุกคนน่ะลูก ถึงเวลาตายก็ต้องตาย”
เป็นคำตอบง่ายๆ แต่ด้วยสำเนียงการุณย์แห่งผู้เป็นบิดา
“อ๊อดก็ต้องตายเหรอครับ?”
“ต้องตายเหมือนกัน แต่อ๊อดยังเด็กอยู่ กว่าจะแก่และถึงเวลาตายเท่าคุณตายังอีกนาน”
ฉันพยายามจินตนาการคำว่า นาน ในหัวเด็กวัย ๕ ขวบ แล้วก็คิดว่าสมองน้องอ๊อดคงว่างเปล่าสิ้นดี อย่างมากอาจนึกเทียบเคียงกับเวลารอพ่อแม่กลับบ้านก็ได้
“แล้วเมื่อไหร่คุณตาจะตื่น เห็นนอนอยู่ในโลงตั้งหลายวันแล้ว?”
“ถ้าตายก็ไม่ตื่นแล้วล่ะลูก ต้องอยู่ในโลงอย่างนั้นตลอดไป”
ฉันอดลอบมองลอดพุ่มไม้ใบไม้สอดตาดูไม่ได้ สมดังที่นึกคาดเดาล่วงหน้า คือเห็นคุณแม่น้องอ๊อดทำตาแดงๆปอกผลไม้อยู่ในชุดดำ ส่วนสามีของเธออธิบายมรณศาสตร์ให้ลูกชายฟังด้วยสีหน้าเป็นปกติ และสำหรับลูกชายก็แน่นอนว่าไม่มีอะไรอื่นใดนอกจากความสงสัยเปื้อนเปรอะไปทั้งหน้า
อ้อ! เกือบลืมย้อนดูตัวเอง! สำหรับฉันแค่อยากรู้อยากเห็นว่าใครจะทำหน้าแบบไหนบ้างเท่านั้นแหละ เพราะคุณตาของน้องอ๊อดในความทรงจำของฉันก็แค่คนแก่ข้างบ้านซึ่งแทบไม่เคยคุยกับฉันเลยตลอดสามปีที่ผ่านมา ฉันไม่คิดว่าแกจะมองเห็นว่าหน้าตาฉันเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ
“ตกลงต้องตายทุกคนเลยหรือครับ?”
“ใช่ลูก เป็นอย่างนั้น คนทุกคนที่ลูกเห็นจะต้องตายกันหมด”
ฉันหลบวูบ ทั้งที่แน่ใจว่าน้องอ๊อดคงไม่ได้มองมา แต่ยังไม่อยากเป็นหนึ่งในคนที่น้องอ๊อดเห็นสักเท่าไหร่
“พ่อครับ ทำไมทุกคนต้องตายด้วยล่ะครับ?”
คุณพ่อเงียบไปครู่ คงเพราะกำลังอยากกินชมพู่มากกว่าตอบคำถามไม่รู้จบของเด็กน้อย ฉันชำเลืองเห็นคุณพ่อของเด็กชายเคี้ยวชมพู่อย่างสบายอารมณ์ ใจนึกเร่งให้ตอบเร็วๆด้วยความอยากรู้วาทะเด็ดของคุณพ่อที่มีต่อคำถามโลกแตกพรรค์นี้ เด็กทุกคนย่อมทึกทักว่าพ่อแม่ให้คำตอบได้หมด โตขึ้นเขาคงเรียนรู้เองว่าไม่ใช่เช่นนั้น และคำถามหนึ่งๆก็มีคำตอบอยู่มากมายหลายหลากจากผู้คนร้อยพ่อพันแม่
ฉันแค่อยากได้ยินว่าคำตอบแรกที่น้องอ๊อดจะได้ยินคืออะไร!
“อ๊อดเพิ่งเห็นคนตายน่ะลูก ความตายเลยเป็นของแปลกใหม่ ต่อไปอ๊อดจะเห็นคนตายมากขึ้น แล้วลูกจะรู้ว่าเป็นของธรรมดา อ๊อดดูเศษใบไม้แห้งบนพื้นนั่นสิ เห็นไหม ตอนนี้มันเป็นสีเหลือง แต่ก่อนมันเป็นสีเขียวเหมือนที่อยู่บนต้นนะ พอถึงเวลามันก็ต้องทิ้งตัวเองลงจากกิ่งก้านมารวมกันบนพื้น เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน วันนี้ดูสดใสมีชีวิตชีวา แต่วันหนึ่งก็ต้องแห้งลง แล้วหายไปจากโลกนี้เช่นเดียวกับใบไม้ตกพื้น”
เด็กชายอ๊อดฟังแล้วงงเต็ก จึงถามซ้ำคำเดิม
“คนเหมือนใบไม้ได้ไง แล้วทำไมคนต้องตายด้วยล่ะ?”
คุณพ่อถอนใจยาว
“เพราะเหมือนใบไม้ไงลูก วันหนึ่งก็ต้องร่วงหล่นลงดินและกลายเป็นพวกเดียวกับดิน ไม่มีใครกำหนดหรอกว่าทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีสภาพที่ต้องเสื่อมสลายกลายเป็นอื่นไปทั้งนั้น”
“คุณตารู้ตัวไหมว่าจะตาย?”
“รู้ซี คุณตารู้ล่วงหน้านานทีเดียว เตรียมตัวยกสมบัติให้แม่ของอ๊อดตั้งแต่อ๊อดยังไม่เกิดแน่ะ”
“รู้ก่อนตายแล้วทำไมคุณตาไม่หนีล่ะ?”
“จะไปหนียังไงลูกเอ๋ย ถ้าโจรมาไล่ฆ่าเรา เราอาจใช้สองเท้าวิ่งหนีได้ แต่ถ้าร่างกายจะฆ่าตัวเอง แม้แต่เท้าก็ยกไปไหนไม่ไหวแล้ว”
"ถ้าคนเราต้องตาย แล้วจะเกิดมาทำไมล่ะครับ?"
"เพราะยังติดค้างอยู่กับความไม่รู้ไงลูก คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ เหมือนอย่างที่ลูกอ๊อดถามพ่อเพื่อให้รู้คำตอบอยู่นี่ไง แต่ถ้ายังติดค้าง ยังไม่รู้แจ้ง ก็ต้องเกิดใหม่มาถามใหม่อีก"
คล้ายสายฟ้าฟาดเปรี้ยง ฉันไม่เคยเจอคำอะไรที่สะเทือนเลื่อนลั่นเข้ามาถึงจิตวิญญาณขนาดนั้นมาก่อน อาจเพราะครั้งหนึ่งเคยอยากรู้อย่างรุนแรงว่าทำไมต้องเกิดมา พอมาเจอคำตอบสะดุดหูและเหมือนมีบางสิ่งสะกิดบอกว่านั่นเป็นความจริง ไม่ใช่สิ่งลวง ไม่ใช่คำตอบแบบขอไปที
คนเราเกิดมาเพราะยังติดค้างอยู่กับความไม่รู้…
ถ้อยคำที่คุณพ่อพูดจะทำให้ลูกชายกระจ่างขึ้นหรือยิ่งงุนงงสงสัยหนักกว่าเก่าอย่างไรฉันไม่อาจทราบได้ แต่สำหรับฉัน บอกได้คำเดียวว่าทุกคำตามมาก้องกังวานในหัวไม่หาย
สิ่งที่ต้องรู้ให้ได้ก่อนตาย
ตั้งแต่วันที่คิดเรื่องเกิดมาทำไมอย่างจริงจัง ใจฉันก็พลอยกลัวตายไปพร้อมกับความไม่รู้ หลงตายเท่ากับที่หลงเกิด กลัวว่าจะต้องเป็นเด็กวัย ๕ ขวบ ๑๐ ขวบ ๒๐ ปี ๕๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีอีกและอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า พกพาเอาความไม่รู้ไปเกิดใหม่ ตายใหม่อย่างไร้ที่สิ้นสุด
คนทั่วไปกลัวตายเพราะเกรงจะไม่มีตัวตนที่หวงแหน แต่บัดนี้ฉันกลัวตายเพราะเกรงจะเสียโอกาสเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเอง ฉันเกิดความอยากรู้ขึ้นมาจริงๆจังๆว่าชีวิตนี้ควรใช้ให้คุ้มที่สุดด้วยการเรียนรู้อะไร แน่ล่ะที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งไม่สามารถสอดตาเห็นได้หมดว่ามีความรู้อะไรให้เลือกบ้าง แต่ละคนอาจมีสิ่งที่ทำให้ คิดไปเอง ว่าดีที่สุดวางไว้ตรงหน้าอยู่แล้ว อาจจะตั้งแต่เกิด หรืออาจจะเข้ามาพอดีจังหวะในขณะแสวงหา
สำหรับคนไทยที่เกิดมาอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ทั่วไป พระพุทธศาสนาดูเหมือนจะเป็นคำตอบแรก หรือไม่ก็เป็นคำตอบสุดท้าย เพราะความเป็นพุทธศาสนานั้นยิ่งใหญ่และอยู่ในความยอมรับมาช้านาน เห็นได้จากจำนวนวัดกว่าสามหมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งการมีวันหยุดราชการเป็นวันสำคัญทางศาสนาปีละไม่น้อย แถมคำพูดกับความนึกคิดของชาวไทยก็มีศัพท์ทางพุทธเจืออยู่มาก เช่นอุทานว่า อนิจจา หรือ พุทโธ่ ส่วนตอนแสดงความขอบคุณคนให้ความกรุณาโดยเปรียบว่า เหมือนพระมาโปรด แม้แต่นำคำสูงมาใช้ในเชิงลบเช่น ใครจะไปตรัสรู้ล่ะ? ก็ยังเอา ดังนั้นสำนึกความเป็นพุทธจึงแทรกซึมอยู่ในใจคนไทยมาแต่อ้อนแต่ออกโดยไม่จำเป็นต้องรู้ตัว เมื่อชีวิตเกิดปัญหาหรือใจมีคำถามโลกแตกแก้ไม่ตก ก็ย่อมต้องเล็งไปที่คำตอบของพุทธศาสนาก่อนเพื่อนเป็นธรรมดา เช่นถ้าเคราะห์ร้ายก็มักนึกถึงการทำสังฆทานอุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร เป็นต้น
ฉันเฝ้าแต่เก็บงำความสนใจและสงสัยใคร่รู้คำตอบว่าชีวิตเราควรรู้อะไรมากที่สุดไว้ในใจ มาดหมายว่าคุณพ่อน้องอ๊อดจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ในวันหนึ่ง เพราะสิ่งที่แกตอบลูกนั้น แสดงวิสัยของผู้มีความรู้เชิงพุทธอย่างลึกซึ้งในตัวเอง
แล้วโอกาสก็มาถึง ในงานวันเผาคุณตาน้องอ๊อด บรรยากาศในวัดทำให้ฉันไม่รู้สึกกระดากนักกับการกระแซะเข้าไปถาม โดยเกริ่นตามตรงว่าฉันเคยได้ยินแกตอบคำถามลูกเสมอ และบางคำตอบน่าสนใจมาก เช่นคนเราเกิดมาเพราะติดค้างอยู่กับความไม่รู้ เลยต้องมาเรียนรู้ ทีนี้ฉันอยากรู้ว่าที่ไม่รู้นั้นคืออะไร แล้วที่ควรรู้นั้นคืออะไร
คุณพ่อลูกหนึ่งตอบอย่างไม่ลังเลว่า
"มนุษย์ทุกคนไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองครับ"
ฉันขมวดคิ้วย่น นึกเงียบๆว่าคำตอบของแกมีพลังทำให้ย้อนเข้ามารู้สึกในตัวเองดี อย่างน้อยฉันก็ถามตัวเองขึ้นมาสองสามข้อในฉับพลันว่ามีความจริงใดเกี่ยวกับตัวเองที่ยังไม่รู้บ้าง ก็พบว่ามีอยู่มากเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นกลไกการทำงานในร่างกายมนุษย์อันสลับซับซ้อนที่แม้แต่แพทย์ยุคปัจจุบันก็รู้ไม่ทั่วถึง หรืออย่างเช่นวันตายจะมาถึงเมื่อไหร่ เหล่านี้เป็นตัวอย่างความจริงเกี่ยวกับตนเองที่กำลังปรากฏอยู่ หรือกำลังจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าไม่อยู่ในสำนึกรับรู้ของฉันแม้แต่น้อย
ฉันถามว่าถ้ารู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองแล้วจะได้อะไร? คุณพ่อน้องอ๊อดตอบด้วยความมั่นใจว่า
“ได้รู้ด้วยตนเองว่าหมดความติดค้าง เหมือนคนที่ชำระหนี้หมดไม่จำเป็นต้องหาเงินมาจ่ายเพิ่ม หรือเหมือนคนที่ทำงานใช้โทษในบ่อน้ำครำจบสิ้นแล้วไม่จำเป็นต้องกลับลงมาลงน้ำโสโครกอีก”
กับคำถามว่าต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองให้ละเอียดลออทุกแง่มุมเลยไหม เพื่อนบ้านผู้ทรงภูมิให้คำตอบคือ
“รู้นิดเดียวครับ ไม่ต้องมากหรอก คือรู้ว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา เพราะมันไม่ใช่ตัวตนของใคร เพียงมีอะไรมาประกอบประชุมเป็นรูปเป็นร่างชั่วคราวคล้ายแผ่นเหล็ก ล้อยาง เครื่องยนต์เข้ามารวมรูปร่างขึ้นเป็นรถเก๋ง แต่พอหมดอายุก็ถูกถอดเป็นชิ้นๆแบบต่างคนต่างไป มองไม่เห็นรูปรถเก๋งคันเดิมในชิ้นส่วนใดๆอีก”
ใจฉันวาบว่างไปชั่วขณะเมื่อจินตนาการเห็นความว่างเปล่าไร้แก่นแท้ของรถยนต์ ถึงกับอึ้งเงียบเป็นครู่ก่อนถามต่อ คือสงสัยว่าเมื่อฉันรู้สึกว่ากายใจเป็นของว่างเปล่าเหมือนรถยนต์ที่ปราศจากตัวตนอย่างนี้แล้วถือว่าพอหรือยัง ครูทางธรรมคนแรกของฉันก็ตอบว่า
“ไม่พอหรอกครับ รู้แค่นี้เรียกว่าเป็นปัญญาจากการฟัง และปัญญาจากการจินตนาการตาม ยังเป็นปัญญาในระดับคิดๆ ไม่ใช่ปัญญาเห็นจริงประจักษ์แจ้งด้วยจิต”
เอ! เมื่อกี้ใจก็วาบว่างไปทีหนึ่ง ยังไม่เรียกว่าเห็นด้วยจิตอีกหรือ? ฉันจึงถามว่าทำอย่างไรจะรู้แจ้งได้ด้วยจิต
“ต้องปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ครับ คือเราย้ายที่ตั้งของสติจากการงานและการเล่นในชีวิตประจำวัน เปลี่ยนมาเป็นอีกที่ตั้งหนึ่งคือกายใจนี้ คอยตามระลึกรู้ว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง เห็นชัดว่าอะไรอย่างหนึ่งๆเช่นลมหายใจหรืออารมณ์สุขทุกข์ มีธรรมดาเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา แม้แต่ความลังเลสงสัยอยากรู้คำตอบของน้องในเวลานี้ก็มีขณะของการเกิดขึ้น เมื่อได้คำตอบก็จะดับลงเช่นกัน หรือถ้ายังสงสัยอยู่ มีความคาใจอยู่ ก็ต้องแปรปรวนไป อาจอ่อนตัวลงหรือเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม พอเห็นความไม่เที่ยงในกายใจเสมอๆ จิตก็ยึดเลิกมั่นสำคัญผิด เลิกมองว่าสิ่งนั้นๆเที่ยง เลิกหลงเขลาว่าสิ่งนั้นเป็นตัวเป็นตน พอเห็นอย่างต่อเนื่องมากเข้าจิตก็ขาดจากอุปาทานที่ครอบงำมาแต่อ้อนแต่ออก เรียกว่าบรรลุมรรคผล มีดวงตาเห็นธรรม เป็นอริยบุคคลของพุทธศาสนา”
ฉันฟังแล้วยังรู้สึกคลุมเครือ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่อยู่มาก แต่ก็รู้สึกด้วยว่าคุณพ่อน้องอ๊อดต้องเข้าใจชัดแจ้งในสิ่งที่พูดเป็นอย่างยิ่ง ฉันจึงยิงคำถามถัดมาคือจะทราบได้อย่างไรว่าเรารู้สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้แล้วหรือยัง? วาระนั้นอะไรจะเป็นตัวบอกว่าเราไปถึงแก่นของพระศาสนาแล้ว?
คุณพ่อลูกหนึ่งอึ้งไปพักใหญ่ คล้ายทบทวนเฟ้นหาข้อมูลในธนาคารความจำ ก่อนตอบด้วยน้ำเสียงที่สุขุมนุ่มนวล
“พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าใครเข้าป่าหาแก่นไม้ แต่ไปเจอกิ่งใบ เจอสะเก็ด เจอเปลือก เจอกระพี้ ก็อาจสำคัญว่าเป็นแก่น เพราะไม่ทำความรู้จักแก่นให้ดีเสียก่อน เลยได้สิ่งที่ไม่ใช่แก่นติดมือกลับบ้าน ลาภและสรรเสริญเปรียบเหมือนกิ่งใบ ศีลเปรียบเหมือนสะเก็ด สมาธิเปรียบเหมือนเปลือก ญาณหยั่งรู้ต่างๆเปรียบเหมือนกระพี้ แต่แก่นสารที่แท้จริงคือความหลุดพ้นแห่งใจ ชนิดไม่กลับกำเริบอีก สรุปคือถ้าเรายังไม่รู้จักภาวะของใจที่หลุดพ้นเด็ดขาด ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเรารู้สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้”
เหมือนสายน้ำที่ปะทะใจครืนโครม ดวงตาฉันตื่นเต็มกับคำว่า ความหลุดพ้นแห่งใจแบบไม่กลับกำเริบอีก คือแก่นสารที่แท้จริง
ฉันแจ้งความจำนงขอเป็นลูกศิษย์ ขอเรียนรู้วิธีการปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ กับผู้ให้แสงสว่างแรก ซึ่งท่านก็ตกปากรับคำเป็นอย่างดี บอกว่าบ้านใกล้กันแค่นี้สะดวก ไปนั่งคุยกับท่านทุกวันก็ได้ พร้อมกับออกตัวว่าท่านยังเป็นผู้ครองเรือน ยังมีห่วงผูกรัด แม้แต่ลูกเมียก็ยังตัดไม่ได้ ไม่ใช่ผู้รู้แจ้งอันมีใจหลุดพ้นแล้ว แต่เมื่อสอนพื้นฐานเบื้องต้นให้ฉันระยะหนึ่ง ก็จะพาไปกราบพระอาจารย์ของท่านในภายหลัง
นัดแนะจะเริ่มไปบ้านท่านตั้งแต่เย็นวันต่อมา ฉันอิ่มอกอิ่มใจเหลือกำลัง ถึงจะยังไม่มีคำตอบหรือหนทางแจ่มแจ้ง แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจว่าเจอครูผู้ชี้ทาง เป็นความสว่างนำวิถีให้แน่แล้ว ที่เหลือคือไปศึกษาเล่าเรียนกับท่านเต็มกำลัง ฉันโชคดีเหนือความโชคดี มีผู้ให้คำตอบสำคัญที่สุดในชีวิตไม่พอ ยังมาประชิดติดบ้านกันอย่างนี้อีก
ข่าวดี ข่าวมงคลเพิ่งปรากฏ ข่าวร้าย ข่าวสุดอัปมงคลก็กวดติดไล่หลังตามมาเพียงชั่วข้ามคืน ชีวิตคนไม่แน่นอน แค่เดินทางไปงานศพ ตัวเองก็มีสิทธิ์ตายได้ ครูธรรมะของฉันประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ร้ายแรง เสียชีวิตทั้งครอบครัวระหว่างทางกลับบ้าน!
ท่านเป็นครูธรรมะที่สอนฉันหลายอย่างในคราวเดียว ทั้งความจริงผ่านปาก ทั้งความจริงผ่านความตาย ฉันพูดไม่ออก เป็นคนเดียวในบ้านที่ตกตะลึงหน้าซีดเหมือนเสียญาติสุดที่รัก ต่างจากคนอื่นซึ่งอย่างมากแค่คุยกันแซดด้วยความตกอกตกใจกับการจากไปของเพื่อนบ้านที่คุ้นหน้ามาหลายปี
อกใจฉันจุกแน่นไปหมด เหมือนคนหิวจัดที่เห็นอาหารวางล่อ โชยกลิ่นหอมยวนใจอยู่ใกล้ๆแล้ว แต่มัวชะล่าไปครึ่งนาทีก็มีใครมาตัดหน้าเอาไปเสียก่อน
เสียดาย สายเกินไป พบหน้าผู้รู้แล้ว ทำไมฉันถึงไม่รีบถามให้ละเอียด เหตุใดจึงเชื่อว่ายังมีพรุ่งนี้ให้ถาม ทั้งที่ความจริงคือจะไม่มีพรุ่งนี้อีกแล้ว
ความตายของครูทำให้ความกระหายใคร่รู้ของฉันถูกเร่งเร้าให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น เหมือนครูของฉันสอนตรงๆว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่ควรประมาท จะตายเมื่อใดไม่อาจพยากรณ์ มัจจุราชมักมาถึงตัวโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าวันนี้ยังมีกำลังก็ควรทำกิจที่คิดว่าควรทำที่สุด ทำแล้วคุ้มกับการเกิดมาที่สุด เพื่อจะไม่เสียใจในภายหลังว่าวันสุดท้ายมาถึงแล้วยังไม่ใช้โอกาสทองให้สมค่า
ความวุ่นวายหลังพุทธปรินิพพาน
คล้ายเจอคนนำทางที่น่าเลื่อมใส แต่มีอันพลัดพรากจากไปสู่แดนไกลอย่างไม่มีวันกลับมาเจออีก ฉันจึงตกอยู่ในสภาพเคว้งคว้างแสวงหาคนนำทางใหม่
เครื่องมือนำทางใกล้ตัวที่สุด หาง่ายที่สุดก็คือหนังสือ เพราะเพียงเดินเข้าร้านหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์ต่อโทรศัพท์เข้าอินเตอร์เน็ต ก็มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมกลาดเกลื่อนไปหมด ข้อมูลเหล่านั้นส่วนใหญ่ถูกกลั่นกรองแล้วชั้นหนึ่งจากสำนักพิมพ์ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยจึงพอน่าเชื่อถือว่าคงไม่ใช่ข้อมูลที่ปราศจากเค้ามูลของคนนึกอยากพูดอะไรก็พูด
ฉันลองนั่งสมาธิและเดินจงกรมตามรูปแบบต่างๆ ค้นหาว่าวิธีใดเหมาะกับตนเองระยะหนึ่ง จึงพบว่าคำตอบที่มือใหม่ต้องการอย่างที่สุดนั้นมีหลายประการ เช่นจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะกับตนเองหรือถูกต้องตรงหลักวิชาบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า
อยากรู้ว่าปฏิบัติไปแล้วถูกหรือผิด มีเกณฑ์การวัดใดที่ชัดเจนพอ
การปฏิบัติถ้าหากถูก ควรจะต่ออย่างไร ถ้าหากผิด ควรจะแก้อย่างไร
คำตอบเหล่านี้คือจุดที่ทุกคนต้องการจากครูเหนือสิ่งอื่นใด สรุปว่าทุกคนต้องมีครู แต่…
ครูคนไหนล่ะที่เชื่อได้ว่ารู้จริง?
ครูคนไหนล่ะที่เข้าใจศิษย์ทุกประเภท?
ครูคนไหนล่ะขัดเกลาศิษย์แต่ละประเภทได้ด้วยอุบายที่เหมาะสม?
และถ้าสมมุติว่ามีครูที่รวมเอาคุณสมบัติข้างต้นครบพร้อมทุกประการไว้ในคนเดียว ท่านจะเก็บตัวเงียบหรือว่ามีชื่อเสียงดังกระฉ่อน? หากเก็บตัวเงียบ ฉันก็ไม่รู้จะไปงมเข็มในมหาสมุทรเจอได้อย่างไร เมืองไทยคนตั้งเกือบร้อยล้านรอมร่อ ครั้นถ้าหากเลื่องชื่อระบือนามเล่า โอกาสที่ฉันจะได้เข้าถึงตัวท่านอาจยากพอๆกับขอนัดนายกฯ เพราะฉันเพิ่งทราบว่ามีคนอยากหลุดพ้น อยากปฏิบัติธรรมถูกต้องตรงทางและแสวงหาครูผู้น่าเชื่อถือเหมือนอย่างฉันบานตะไท
ปัจจุบันมีการอบรมระยะสั้นและระยะยาวมากมายหลายแห่ง แต่ต้องสอดตาดู เงี่ยหูฟังมากๆหน่อยจึงจะได้ข้อมูลครบถ้วนทั้งสถานที่และเวลา ฉันตระเวนไปเข้าคอร์สอบรมตามสถานฝึกปฏิบัติดังๆหลายต่อหลายแห่ง ยอมรับทุกแนว เคารพทุกความเชื่อ นอบน้อมต่อทุกอาจารย์ ตราบใดที่ท่านกล่าวว่าหลักสูตรของตนเป็นสติปัฏฐาน ๔ ก็น่าจะพาฉันไปสู่ความหลุดพ้นได้
แต่หลังจากพยายามยอมรับทุกแนว ทุกความเชื่อ และทุกอาจารย์มากเข้า ในที่สุดฉันก็เริ่มงงว่าจะเอาอย่างไรดี
บางคนบอกว่าต้องศึกษาทฤษฎีทั่วถึงก่อนเพื่อประกันความหลงผิดคิดพลาดเมื่อลงมือปฏิบัติ บางคนบอกว่าปฏิบัติเลยไม่ต้องศึกษามากเพราะรุงรังน่ารำคาญและชวนให้หลงฟุ้งตามอักษรเกินจำเป็น
ในทางทฤษฎี บางคนชอบพระสูตร แต่บางคนชอบพระอภิธรรม บางคนปักหลักอยู่กับคัมภีร์ชั้นแรก แต่บางคนก็อ้างอิงแต่คัมภีร์ชั้นหลัง บางคนชอบการผสมผสานระหว่างความรู้เก่ากับความรู้ใหม่ แต่บางคนตั้งแง่ปิดกั้นสิ้นเชิงกับการปรับเปรียบเทียบเคียงระหว่างพุทธกับวิทยาการในโลกยุคปัจจุบัน
ในทางปฏิบัติ บางคนบอกว่าให้กำหนดสติรู้ตัวในชีวิตประจำวันได้เลย บางคนบอกว่าให้เข้ากรรมฐานตามรูปแบบเสียก่อน บางคนชอบหลับตารู้ลมหายใจ บางคนชอบลืมตาตั้งสติรู้ความเคลื่อนไหว บางคนบังคับว่าต้องเดินจงกรมช้าเคร่งครัด บางคนบอกว่าให้เดินเร็วตามสบายเหมือนพักผ่อน
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงความเห็นผิดแผกในการตีความตามอักษร กับความต่างทางรูปแบบปฏิบัติ ก็กลายเป็นประเด็นโจมตีกันได้ดุเดือด บางทีถึงขั้นคิดทำบุญเพื่อพระศาสนา ยอมทำบาปชกใต้เข็มขัดฝ่ายตรงข้ามเสียหน่อย เล่นสกปรกสาดโคลนกันดื้อๆก็มี
เท่าที่ฟังข้อถกเถียงขัดแย้ง ทั้งทางอินเตอร์เน็ต ทางเทปอาจารย์ดัง และทางตาหูของฉันเองเมื่อเจอหน้าสหายธรรมชาวพุทธ ใครๆก็กลัวคนอื่นทำความเสียหายให้พระศาสนา แต่ตัวเองทำบ้างหรือเปล่าไม่เคยกล้าสำรวจจริงจัง อาจเพราะลึกๆก็รู้ว่าตนก็เคยเป็นต้นเหตุแห่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือมีส่วนร่วมสร้างความร้าวฉานขึ้นในหมู่ชาวพุทธมาเหมือนกัน แทบทุกคนมักสำคัญว่าตนเองดีพอจะติคนอื่น ซึ่งถ้ามองในมุมกลับก็คือคนเราจะคาดหวังให้ภาระหน้าที่ทำดีจงเป็นของผู้อื่น ตัวเองไม่ต้องทำ และอย่าได้มีใครมาคาดหวังในตัวเราให้มาก เนื่องจากเราเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆควรประพฤติตนในแบบที่เป็นอุดมคติ จะพูดหรือทำอะไรอย่าให้ใครตำหนิได้
ฉันเชื่อว่าชาวพุทธที่รักศาสนาไม่มีใครตั้งใจทำลายศาสนา ทำนองเดียวกับที่ไม่มีบ้านใดทุบหม้อข้าวตัวเองทิ้ง แต่ความที่มัวเพลินเพ่งโทษคนอื่นอยู่ เลยเผลอลืมตรวจดูว่าโทษของเราเพิ่มพูนไพบูลย์ผลไปถึงไหนแล้ว อย่างเช่นบางคนรู้จักพุทธพจน์มาก แทบเรียกว่าครอบคลุมทั่วถึงทุกประเด็น พูดเรื่องไหนเป็นหยิบจับพุทธพจน์มาอ้างอิงได้หมด แบบนี้มีคุณใหญ่เป็นอนันต์ แต่ในทางตรงข้ามอาจก่อโทษได้มหันต์เช่นกัน เช่นยกพุทธพจน์มาเพื่อข่มขี่ หรือสนับสนุนจิตคิดก่นด่าฝ่ายตรงข้ามของตน ผู้ฟังรับพุทธพจน์พร้อมกับกระแสโทสะของผู้อ้างอิง ย่อมเกิดจิตคิดมัวหมองต่อพุทธพจน์ไปด้วย เรียกว่าผู้อ้างพุทธพจน์ผิดกาลเทศะ หยิบจับพุทธพจน์มาใช้เสริมเติมสนับสนุนวจีทุจริตของตนเองบ่อยๆนั้น นอกจากไม่ได้บุญแล้ว ยังชื่อว่าก่อบาปมหันต์ด้วยการทำพุทธพจน์เสื่อมลงอีกด้วย
และเมื่อส่วนใหญ่ต่างถนัดที่จะโยนโทษให้แก่กันและกัน มือใหม่ฝันหลุดพ้นอย่างฉันที่เพิ่งก้าวเข้าบ้านก็มักยืนเด๋อดูคนในบ้านตีกันอย่างมึนงง จับต้นชนปลายไม่ติด ไม่ทราบว่าอะไรกันแน่คือหลักการ อะไรกันแน่คือหลักกู จึงยากจะรู้ชัดว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก แต่ใครถูกใครผิดก็ตาม วิธีทิ่มตำหรือรบพุ่งกันด้วยขวานในปากของผู้ทรงภูมิทั้งหลายย่อมทำให้บรรดากองทัพธรรมหน้าใหม่รับผลร้ายไปเต็มๆ เพราะฉันไม่ได้จดจำว่าการฟาดฟันกันให้ล้มหายตายจากกันไปข้างในแต่ละครั้งนั้น ใครเป็นผู้แพ้ ใครเป็นผู้ชนะ ฉันตระหนักแต่ว่าที่แพ้อย่างแท้จริงคือพุทธศาสนาโดยรวม ค่าที่หาใครเป็นตัวแทนหรือหลักฐานทางปัญญาประกอบเมตตาประจำศาสนายากมากแล้ว
เมื่อลงมือทดลองปฏิบัติหลายๆแนวฉันจึงพอเข้าใจอะไรมากขึ้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงจะลาดลึกพิสดารปานใดก็ตาม อย่างไรก็ต้องมีจุดเริ่มต้น และจุดเริ่มต้นต้องง่าย จดจำไปทำได้ทันที ระลึกขึ้นเมื่อไหร่ต้องใช้ได้เดี๋ยวนั้น และผู้ปฏิบัติธรรมที่ฉลาดก็มักมีอุบายเฉพาะตัว เพื่อดึงสติได้ง่ายๆ หากไม่เลือกอุบายวิธีที่แน่นอนสักอย่างหนึ่งไว้ใช้ตั้งหลัก ก็มักออกจากจุดเริ่มต้นไม่ไหว จับฉ่ายไปเรื่อยไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักที
ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่ออุบายวิธีเฉพาะตัวของใครถูกนำไปใช้แพร่หลาย ชี้แจงอธิบายรายละเอียดให้ครบถ้วนกระทั่งลงรอยครอบคลุมสติปัฏฐาน ๔ ยาก ดังนั้นจึงมีบ่อยที่อุบายง่ายๆเพียงหนึ่งเดียวกลายเป็นทั้งหมดของการปฏิบัติไป ถ้าถามว่าสายนั้นสายนี้สอนอะไร ก็มักบอกต่อหรือจดจำกันว่าให้ทำแบบนั้นอย่างเดียว ให้ทำแบบนี้จนกว่าจะเห็นผลยกระดับไปเรื่อยๆเอง คล้ายกับว่าจงท่อง ก.ไก่ ให้เป็นคำเดียว แล้วในที่สุดจะรู้เองว่าอักษรไทยไล่ตามลำดับไปถึง ฮ.นกฮูก มีอะไรบ้าง
เมื่อมีผู้คนล้อมวงเข้ามาเชื่อกันมากเข้าก็กลายเป็นกลุ่มศรัทธา เป็นกลุ่มบูชาความเชื่อประจำแนวนั้นๆไป แล้วค่อยๆหยั่งรากทางความเชื่อลึกลงผ่านสานุศิษย์รุ่นต่อรุ่น พอเจอกลุ่มศรัทธาอื่นที่มีอุบายวิธีแตกต่าง ก็ง่ายที่จะมองเห็นข้อด้อย จุดอ่อน หรือกระทั่งมุมมองที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากหลักฐานในคัมภีร์มากมาย ส่วนแนวความเชื่อของตน แม้เป็นของใหม่ไม่เคยมีมาก่อนก็อุตส่าห์เฟ้นหาบรรทัดเล็กบรรทัดน้อยในคัมภีร์มาสนับสนุนยืนยันจนได้
น่าหดหู่ใจ ตั้งแต่พระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานก็คงไม่มีสาวกคนใดพูดถูกหมดได้อย่างพระองค์ท่าน ศาสนาเสียหายมาเรื่อยๆกับการพูดผิดหรือจำพลาดของผู้สืบทอดทั้งหลาย ฉันคิดว่าคงไม่มีใครคนใดคนหนึ่งทำความเสียหายให้พระศาสนาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่การทะเลาะเบาะแว้งห้ำหั่นกันเองนั่นแหละความวิบัติอย่างแท้จริง
และอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้…
แรงดึงดูดโลกคงไม่ยินยอมให้เราหนีขึ้นฟ้าง่ายดายฉันใด แรงดึงดูดของวัฏสงสารก็คงไม่ยินยอมให้เราหนีไปนิพพานง่ายดายฉันนั้น สังเกตเถอะ ขณะกำลังท้อแท้กับภาพฟัดกันนัวเนียเป็นหย่อมๆของบรรดาชาวพุทธผู้เจริญ โชคชะตาก็มักพาไปเจอถ้อยคำตอกย้ำให้มืออ่อนเท้าอ่อนยิ่งขึ้นไปอีก เช่น
“พวกเราวาสนาน้อย เกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า อยู่ในยุคของผู้มีปัญญาทรามมาเกิด หมดสิทธิ์แล้วล่ะ ต้องหมั่นทำบุญมากๆนะ แล้วอธิษฐานไปเกิดในยุคของพระศรีอารย์ ซึ่งจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หน้าโน่น หากสั่งสมบุญไว้มากแล้ว เมื่อฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ก็จะสามารถบรรลุธรรมอย่างรวดเร็ว”
ถ้อยคำทำนองนี้ถ้าคนธรรมดาพูดอาจไม่กระไรนัก แต่เมื่อคนระดับให้การศึกษาพุทธศาสน์ชั้นสูงเป็นคนพูดหลายๆคน น้ำหนักความน่าเชื่อถือจะมีมาก และกระจายกว้างยิ่ง กับทั้งมีการด้นเดาตามอำเภอใจกันอย่างสนุกสนาน เช่นบางคนสมัครใจเชื่อว่าโลกนี้อาจไม่มีพระอรหันต์แล้ว แต่ยังพอมีอริยะชั้นต้นๆอยู่บ้าง แต่บางคนสมัครใจเชื่อว่าอริยะสูญสิ้นไปหมดแล้ว ไม่เหลือแม้แต่ผู้ทำภาวนาได้ตรงทางด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นเลยกลายเป็นว่าใครหวังมรรคหวังผลหลังจากพุทธปรินิพพาน จะถูกมองเป็นพวกหวังสูงเกินตัวไป ต้องหวังพบพระพักตร์พุทธองค์ รับคำสอนจากท่านโดยตรง ให้พระองค์ชี้ถูกชี้ผิดด้วยองค์ท่านเองเท่านั้นจึงมีสิทธิ์มีวาสนาพอ แท้จริงน้อยคนจะรู้ว่าต่อให้เกิดทันพระพุทธเจ้า พกบุญญาวาสนาติดตัวไปเกิดมากพอจะเข้าเฝ้าพระองค์ท่านแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะรอดเสมอไป
อย่างเช่นในสามัญญผลสูตร ว่าด้วยเรื่องของพระเจ้าอชาตศัตรูผู้มีบุญญาธิการเหนือมนุษย์ทั้งทวีป คือครองบัลลังก์พระราชาได้ แถมอุตส่าห์มีสิทธิ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกต่างหาก เสียแต่เผอิญก่อนหน้านั้นเวรกรรมชักนำให้ต้องรู้จักกับพระเทวทัต ถูกยุยงให้เห็นผิดเป็นชอบ แย่งชิงราชสมบัติจากเสด็จพ่อของตัวเอง และแม้พระบิดายกสมบัติให้ยังไม่วายกังวลจะถูกแย่งคืน ถูกพระเทวทัตยุให้ปลงพระชนม์เสียเพื่อความแน่นอนกว่า แล้วพระเจ้าอชาตศัตรูก็เป็นประเภทบ้าจี้ยุขึ้นเสียด้วย ไปๆมาๆหน้ามืดตามัวฆ่าพ่อตัวเองจนได้
การฆ่าพ่อฆ่าแม่นั้น ต่อให้สำนึกผิดก็สายเกิน ต้องไปนรกลูกเดียว ห้ามสวรรค์นิพพานหมด สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุหลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูมาเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลลากลับว่า พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว พระราชาพระองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว หากท้าวเธอไม่ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นผู้บรรลุธรรมต่อหน้าเราตถาคตทีเดียว
นี่เป็นตัวอย่างของคนบุญมากเข้าขั้นมีสิทธิ์บรรลุธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ แต่ดันหลงเขลาไปทำกรรมหนักที่ปิดกั้นสวรรค์นิพพานเสียก่อน นับว่าเคราะห์ร้ายสาหัส ต้องเลื่อนเวลาไปใช้กรรมในนรกให้หมดๆถึงจะมีสิทธิ์ใหม่
แล้วในอนาคตอันไม่เป็นที่รู้ จะมีอะไรประกันว่าเราจะไม่พลาดแบบพระเจ้าอชาตศัตรู?
นอกจากความไม่แน่นอนของตัวเราเองแล้ว ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกำลังพระหทัยแห่งองค์ศาสดาแต่ละสมัยด้วย ในคัมภีร์มหาวิภังค์มีผู้ทูลถามว่าเหตุใดศาสนาของพระผู้มีพระภาคบางพระองค์จึงอายุสั้นนัก พระศาสดาของเราตรัสตอบด้วยพระญาณรู้เห็นอดีตเบื้องไกล พอสรุปใจความสำคัญได้ว่า
ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี สิขี และเวสสภู ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย ความรู้ที่ประทานไว้นั้นมีน้อย ข้อศีลวินัยก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดง เมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้นอันตรธานแล้ว สาวกต่างเหล่าต่างกอจึงทำพระศาสนาให้อันตรธานตามพระองค์ไปในเวลาอันสั้น
หากสงสัยว่าพุทธศาสนาที่มีอายุสั้นนั้น พระศาสดาท่านโปรดสอนสาวกอย่างไร ก็ต้องตอบว่าสอนแบบใช้ญาณรู้วาระจิตแล้วสอนเฉพาะคนตรงๆ ใครคิดผิดก็ทัก ใครเดินจิตถูกก็สนับสนุน ดังพระพุทธองค์ของเราตรัสไว้
ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูปในแนวป่าอันน่าสะพรึงกลัวแห่งหนึ่ง เช่นตรัสว่าพวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น พวกเธอจงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนั้น แล้วเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ด้วยการสอนเช่นนี้ ในเวลาต่อมาจิตของภิกษุประมาณพันรูปดังกล่าวก็ได้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสหมักหมมในสันดานทั้งหลาย
สรุปคือถ้ามีวาสนาพอจะพบพุทธศาสนา บางครั้งต้องบวชเป็นภิกษุ และใจถึงพอจะเข้าไปอยู่ในป่าอันน่าพรั่นพรึงชวนขนหัวลุกร่วมกับพระศาสดา จึงจะได้รับพระกรุณาสอนจากจิตถึงจิต ไม่ใช่เป็นเศรษฐีมีชีวิตสุขสบายแห่ขบวนไปกราบท่านแล้วจะได้รับการสอนแบบพิเศษง่ายๆกันทุกคน
อีกข้อสังเกตคือด้วยวิธีสอนแบบตรงตัว ตรงวาระจิตของพระศาสดา ไม่มีการสืบทอดคำสอนโดยพิสดาร ไม่มีการบัญญัติกฎระเบียบวินัยสงฆ์เป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีการถ่ายทอดความรู้ออกสู่วงกว้าง นั่นหมายความว่าใครเกิดทันพระพุทธเจ้าสมัยนั้นแล้วไม่อยู่ใกล้พระองค์ท่าน ก็นับว่ามีโอกาสปฏิบัติธรรมถึงความหลุดพ้นได้ยากยิ่ง
ในทางกลับกัน เมื่อมีการบันทึกคำสอนพระศาสดาไว้อย่างละเอียดลออ ก็แปลว่าคนรุ่นต่อๆมามีสิทธิ์จะเข้าถึงธรรมตามอัตภาพ ใครขยัน ใครทำถูกตามคำสอนของพระศาสดาก็เอามรรคผลไป ต่อให้ไม่เคยพบแม้แต่อรหันตสาวกของพระองค์ท่านก็ตาม
พูดง่ายๆว่าเกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าบางพระองค์ โอกาสศึกษาเล่าเรียนพุทธวจนะยังอาจจะน้อยกว่าสมัยนี้ของเรา ที่พระศาสดาเสด็จดับขันธ์อันตรธานไปจากโลกนี้แล้วด้วยซ้ำ!
ฉันมีกำลังใจยิ่งขึ้นเมื่อพบร่องรอยว่าตัวตนส่วนหนึ่งของพระพุทธองค์ยังคงดำรงอยู่ เมื่ออ่านพบพระวจนะในมหาปรินิพพานสูตรความว่า ธรรมที่ตถาคตแสดงแล้ว จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป แปลว่าถ้าเจอคนศาสนาอื่นสอบถามว่าศาสดาของท่านเป็นใคร ศาสดาของท่านยังอยู่หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าศาสดาของเราคือพระพุทธเจ้า และท่าน ยังอยู่ นั่นก็คือพระไตรปิฎกที่ชาวไทยเรารู้จักกันดีว่าเป็นคัมภีร์สืบทอดบันทึกคำสอนของพระศาสดานั่นเอง
ส่วนปัญหาที่ว่าคนยุคเราเป็นผู้มีปัญญาทราม วาสนาน้อย หรือหมดสิทธิ์รู้จักมรรคผลนิพพานเป็นความจริงหรือไม่นั้น ประการแรกต้องดูว่าใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนพูดบอกต่อ รวมทั้งใครเป็นคนเชื่อถือ ประการที่สองต้องดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับสิทธิ์ในการถึงมรรคถึงผลไว้อย่างไร
ฉันสืบๆแล้วพบว่ากลุ่มของผู้ที่เชื่อว่าล้าสมัยนั้น ได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบสืบๆกันมา หาใช่ว่ามีตัวตนผู้พูดประกาศคนแรกอย่างแท้จริงไม่ กลุ่มของผู้เชื่อเช่นนี้อาจออกไปทางศรัทธาจริตชนิดใครพูดอะไรก็เชื่อ หรืออาจหนักไปทางปัญญาจริตชอบคิดคาดคะเนแสวงความรู้เสียจนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำว่า ปัญญา กล่าวคือพุทธิปัญญาขั้นสูงนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าคือความสามารถเห็นธรรมชาติเกิดดับ ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ใครฝึกจริงจังถูกต้องเมื่อไหร่ก็เห็นจริงได้เมื่อนั้น ไม่จำกัดกาลแต่อย่างใด แต่พุทธิปัญญาสำหรับคนรุ่นใหม่อาจหมายถึงความรู้ความเข้าใจในธรรมะยากๆแจ่มแจ้งตลอดสาย รวมทั้งมีการปลูกฝังความเชื่อกันว่าใครยิ่งรู้มาก ก็จะยิ่งเป็นเสบียงหรือทุนรอนติดตัวต่อไปเกิดในพุทธกาลครั้งหน้า ฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์แล้วจะบรรลุธรรมง่ายดาย
เมื่อนิยามของปัญญาผิด ย่อมไม่ขวนขวายพิสูจน์จนเกิดปัญญาแบบพุทธะที่แท้
ความเชื่อว่าการเวียนว่ายตายเกิดและนรกสวรรค์มีจริงก็ดี ความเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงก็ดี ความเชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีจริงก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นศรัทธา พุทธเราเป็นศาสนาที่ฐานเป็นศรัทธา แต่ยอดเป็นปัญญา พูดง่ายๆว่าพิสูจน์ศรัทธาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยปัญญาในชาติปัจจุบัน ต่างจากศาสนาอื่นที่ฐานเป็นศรัทธา แล้วยอดก็ยังเป็นศรัทธาอยู่อีก หลายเรื่องไม่อาจพิสูจน์จนกว่าจะตายเสียก่อน
หากพุทธเรารักษาไว้แต่เพียงศรัทธาความเชื่อ จะมีข้อแตกต่างจากศาสนาอื่นที่ตรงไหน? ฉันค้นคว้าอยู่ไม่นานก็พบข้อความยืนยันให้อบอุ่นใจว่าแนวทางอันเป็นหลักสูตรสำเร็จรูปเพื่อบรรลุมรรคผลนั้น ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุ เห็นได้จากที่พระพุทธองค์ยืนยันด้วยพระองค์เองในมหาสติปัฏฐานสูตรความว่า…
ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ให้ตลอด เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี ภายในเวลา ๗ ปี หรือ ๖ ปี หรือ ๕ ปี หรือ ๔ ปี หรือ ๓ ปี หรือ ๒ ปี หรือ ๑ ปี หรือ ๗ เดือน หรือ ๖ เดือน หรือ ๕ เดือน หรือ ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน หรือ ๒ เดือน หรือ ๑ เดือน หรือ ๑๕ วัน หรือ ๗ วัน
พูดให้ง่ายคือใครมีกายและปัญญาแบบมนุษย์ มีกำลังปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์แสดงไว้ และยังคงบันทึกสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ อย่างช้า ๗ ปี อย่างพอดี ๗ เดือน และอย่างเร็ว ๗ วัน เป็นต้องรู้จักภาวะหลุดพ้นแห่งใจชนิดไม่กลับกำเริบ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง สืบค้นดูทั่วแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสไว้ที่ไหนเลยว่าเมื่อกาลล่วงไป หรือหลังพุทธปรินิพพานแล้วจะมีข้อจำกัดในการบรรลุมรรคผลเพิ่มขึ้น ในการตรัสเชิงพยากรณ์นั้น ท่านเพียงระบุไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า ตราบใดภิกษุยังประพฤติธรรมโดยชอบ ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย ซึ่งก็แปลได้อย่างเดียวคือ ถ้ายังทำ ก็ต้องได้!
สรุปคือมรรคผลจะล้าสมัยต่อเมื่อไม่มีการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับกาล ไม่เกี่ยวกับช่วงสมัยที่ผู้ปัญญาทรามมาเกิดมากแต่อย่างใดเลย สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสเสมอว่าสัทธรรมที่พระองค์ค้นพบและเผยแผ่นั้น ควรน้อมเข้ามาดู เป็นของไม่จำกัดกาล
มาพิจารณาโลกยุคปัจจุบันตามจริง ถ้าพูดกันตรงไปตรงมาคือมีน้อยคนจะศึกษา เข้าใจ และทรงจำหลักการสติปัฏฐาน ๔ ได้ครบถ้วน และยิ่งน้อยที่ปฏิบัติกันจริงจังตลอดสาย ก็ไม่น่าแปลกใจหากจำนวนผู้บรรลุธรรมเป็นประจักษ์พยานให้พระพุทธเจ้าจะปรากฏเป็นของหายาก
แต่นั่นเป็นเรื่องของโลก ประเด็นสำคัญสำหรับฉันคือวิธีปฏิบัติยังถูกรักษาไว้ครบถ้วน ถ้าศึกษาจนเข้าใจและนำมาปฏิบัติเดี๋ยวนี้ ก็ต้องได้ผลภายใน ๗ ปีเป็นอย่างช้า ต่อให้บารมีอ่อนแสนอ่อนอย่างไรก็ตาม
ฉันตกลงปลงใจเด็ดขาดว่าจะยึดพระพุทธเจ้าเป็นครูคนสุดท้าย ท่านตรัสว่าอย่างไรจะปฏิบัติตามเพื่อให้เห็นผลจริง โดยไม่หวังทางลัดเช่นผู้วิเศษบันดลบันดาลให้บรรลุธรรมได้ในแวบเดียว รวมทั้งไม่ไปทางอ้อมเช่นรอพบพระพุทธเจ้าในพุทธกาลต่อไป ซึ่งจะนานสักกี่แสนกี่ล้านปีก็ไม่ทราบ ฉันจะถือเอาประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนความรู้ไว้มากมายสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อไว้ก่อนว่าเพียงพอต่อการพิสูจน์ด้วยตนเอง ถ้าแม้ความเชื่อของฉันผิดพลาด อย่างมากก็เสียเวลา ๗ ปีในชีวิต แต่ถ้าความเชื่อของฉันถูก แปลว่าฉันกำลังจะเป็นผู้หนึ่งที่ใช้ชีวิตมนุษย์คุ้มที่สุดในโลก
นั่นคือใช้ชีวิตเพื่อลืมตาตื่นขึ้นรู้ความจริงอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างไม่เคยมีอะไรเทียบ!
เย็นวันหนึ่งฉันประนมมืออธิษฐานดังๆต่อหน้าพระปฏิมาทองอร่ามว่าหากชาตินี้พลาดมรรคผลไปเพราะเป็นหนึ่งในผู้มีปัญญาทราม ไม่มีสิทธิ์บรรลุธรรมดังคำปรามาสของชาวพุทธบางส่วน ก็ขอให้ชาติหน้ามีนิสัยเอาจริง ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ให้สมค่าอัตภาพมนุษย์ไปจนชั่วชีวิตทุกครั้ง เหมือนเช่นที่ตั้งใจจะทำในชาตินี้ด้วยเถิด!
จากการศึกษาเรื่องกรรมอย่างละเอียด ฉันเชื่อว่านิสัยจะเป็นสิ่งติดตัวข้ามภพข้ามชาติ มนุษย์เป็นภูมิมีศักยภาพในการสร้างนิสัย สั่งสมไว้อย่างไรก็ได้สมบัติติดตัวไปสร้างตนอย่างนั้น นิสัยที่ฉันจะสร้างต่อไปนี้คือเชื่อพระพุทธเจ้า ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างละเอียดเหมือนทุกคำเป็นทองที่ไม่อาจปล่อยปละให้ตกหล่น
กรรมจะพยายามรักษาเราไว้กับทางเดิม อย่างเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสว่าพวกเรามีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ฉันปลงใจเชื่อว่าสร้างนิสัยไว้อย่างนี้เป็นอาจิณ หรือที่เรียกว่า อาจิณณกรรม หากมีโอกาสเกิดใหม่เป็นมนุษย์ อาจิณณกรรมที่ทำไว้ในชาตินี้ย่อมส่งให้ไปเกิดกับพ่อแม่แบบนี้ มีเหตุปัจจัยแวดล้อมตั้งแต่วัยเด็กส่งเสริมให้เข้าลู่ทางของความเป็นเช่นนี้ รวมทั้งมีกำลังกายและแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นเพียรเพื่อหลุดพ้นอย่างเอาจริงเอาจังเช่นนี้อีก
ต่างจากการปลงใจเชื่อไปตลอดชีวิตว่าตัวเองไม่มีทางบรรลุมรรคผลได้ในชาติปัจจุบัน ก่อมโนกรรมย้ำคิดย้ำเชื่อเป็นอาจิณ ก็ย่อมฝังแน่นติดจิตติดวิญญาณไป แล้วเจอเหตุปัจจัยให้คิดแบบเดียวกันนี้อีกและอีกไม่รู้จบรู้สิ้น เป็นต้นว่าต่อให้เกิดในสมัยพระพุทธเจ้าอุบัติ ก็ไปเกิดห่างจากท่าน และฟังคำคนที่ทำให้ท้อก่อน ทำให้เห็นมรรคผลเป็นของสูงเกินเอื้อม หรือแม้ฟังธรรมแล้วก็อยากอธิษฐานไปบรรลุเอาเบื้องหน้า แทนที่โอกาสมาถึงแล้วจะฉวยไว้ ดังปรากฏให้เห็นตัวอย่างผู้ทำบุญกับพระพุทธเจ้าและเหล่าอรหันต์ แล้วหวังผลเป็นสวรรค์นิพพานหลังจากตายไปแล้วมากมายก่ายกอง
ก่อนปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
ฉันเชื่อจริงๆเลยว่าตั้งใจดีย่อมเป็นฤกษ์ดีในตัวเอง สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสุปุพพัณหสูตรว่า สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี
ดังเช่นเมื่อฉันปลงใจว่าจะยึดพระพุทธองค์เป็นผู้สอนกรรมฐาน ท่านสั่งอย่างไรฉันจะทำอย่างนั้น เมื่อฉันตั้งจิตว่าจะรับคำสั่งแรกจากพระพุทธเจ้า ก็ได้เปิดสมุดบันทึกส่วนตัวในคอมพิวเตอร์ที่ฉันรวบรวมพระสูตรเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีปริมาณมิใช่น้อย แต่ก็มิใช่เกินกำลังอ่านให้ทั่ว
ตาตื่นและขนลุกซู่ เพราะขณะคลิกเลือกไปสุ่มๆนั้น ได้คำตอบจากภิกขุสูตรราวกับปาฏิหาริย์ คล้ายเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งพระเนตรเทศน์โปรดฉันโดยตรงทีเดียว ในภิกขุสูตรกล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านตั้งใจจะปลีกวิเวก จึงเข้าไปกราบขอรับแนวปฏิบัติหรืออุบายภาวนาจากพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ท่านก็ยังไม่บอกอุบายทันที ทว่าตรัสสั่งให้สำรวจตนเองในเรื่องของศีลก่อน มีความดังนี้…
ดูกรภิกษุ ถ้าเธอปรารถนาเช่นนั้น ก่อนอื่นจงยังเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์เถิด เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร? คือศีลที่บริสุทธิ์ดีและตั้งความเห็นไว้ตรง เมื่อใดศีลของเธอบริสุทธิ์ดี ความเห็นของเธอจะตรง เมื่อนั้นเธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้วค่อยเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างมีความเพียร มีสัมปชัญญะ และมีสติ
หากอ่านเผินๆโดยไม่น้อมเข้ามาในตัวก็คงไม่รู้สึกอะไรนัก แต่เมื่ออ่านด้วยความตั้งใจว่าจะนำมาปฏิบัติจริง ก็เกิดการสำรวจตนเอง ว่าฉันยังมีความบริสุทธิ์ด้านใดไม่เพียงพอบ้าง
ศีล
ศีลของพระในภิกขุสูตรมีรายละเอียดอย่างไรบ้างฉันไม่รู้ เพราะเป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องรู้ แต่สำหรับฉัน ฉันคงสนใจเพียงแค่ศีลของฆราวาส และศีลของฆราวาสที่ครูบาอาจารย์สืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้ามาก็มีเพียง ๕ ข้อ ฉันก็จะมุ่งเน้นเฉพาะศีล ๕ ข้อนั้นแหละเป็นเบื้องต้นวันดีฤกษ์ดีนี้
ก่อนหน้านี้ฉันเคยตั้งใจรักษาศีลออกมาจากความรู้สึกภายใน เห็นชัดว่ามีผลกับจิตใจโดยตรงทันที อย่างเช่นถ้าวันไหนเผลอโกหกก็จะหมกมุ่นฟุ้งซ่าน จิตใจอ่อนแอและเลื่อนลอยชอบกล แต่ถ้ามีเหตุยั่วให้โกหกแล้วหนักแน่นพอจะรักษาปณิธานเดิมว่าจะไม่แอะคำโป้ปดแม้แต่นิดเดียว ตกเย็นพอลงนั่งสมาธิจะมีความเบาสบายหายกังวล จิตเรียบสงบเองตั้งแต่ก่อนนั่งคล้ายผืนทะเลนิ่งไร้คลื่นลมปั่นป่วน นี่เป็นตัวอย่างอานิสงส์ของศีลที่ให้ผลกับการปฏิบัติภาวนาโดยตรง
และเมื่อมีสติแข็งแรงพอจะอดกลั้นต่อการโกหก ความไม่อยากโกหกก็ตามมา เพราะการโกหกต้องอาศัยแรงเค้นจากภายใน ซึ่งก็เกิดผลข้างเคียงที่ดี เช่นเมื่อก่อนมักใจอ่อน ปฏิเสธใครจะอ้ำๆอึ้งๆหรือเผลอกัดฟันตอบรับเสียงอ่อยโดยไม่รู้ตัว เช่นพูดว่า “ได้” หรือ “ไม่เป็นไร” ทั้งที่ใจจริงอยากบอกว่า “ไม่เอา” หรือ “ไม่ไหว”
เมื่อจิตใจเข้มแข็งขึ้นด้วยคำพูดที่ตรง ด้วยคำพูดที่จริง คำพูดที่เป็นสัตย์ก็ตามมา การพูดเท่าที่ทำได้ และพยายามทำเท่าที่พูดนั้น ทำให้เกิดสัมผัสเห็นอะไรตามจริงขึ้นมาก โลกไม่บิดเบี้ยวเหมือนตอนจิตอ่อนๆ
ธรรมชาติเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ และบางทีเราอาจนึกไม่ถึง จนกว่าบางสิ่งจะปรากฏแสดงแล้ว อย่างเช่นศีลสัตย์เป็นสิ่งมีอำนาจ เมื่อเราพูดแต่เรื่องจริง พูดแต่เรื่องที่เป็นสัตย์ อำนาจความจริงก็อยู่ข้างเรา รู้ว่าอะไรควรพูด รู้ว่าพูดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เสียดายจิตสงบสุขถ้าต้องฟุ้งกระเจิงไปกับการพูดส่อเสียดนินทาเอามัน อาลัยจิตอันประณีตน่าพึงใจถ้าต้องกระด้างหยาบลงเพราะการพูดหยาบคายด้วยโทสะ และอาวรณ์จิตอันเข้มแข็งถ้าต้องซึมเหม่อลอยเลื่อนไปเพราะการพูดเพ้อเจ้อหาแก่นสารไม่ได้
การถือศีลอย่างฉลาดต้องเห็นค่าของศีลข้อใดข้อหนึ่งด้วยหัวใจ เมื่อรู้สึกว่าชีวิตมีคุณภาพขึ้นมาจากภายใน แม้ต้องยอมแลกกับการสูญเสียโอกาสแบบโลกๆไปบ้าง ก็จะเห็นว่าคุ้มค่าพอ เมื่อศีลข้อนั้นๆเริ่มทำให้จิตทอประกายสว่างทางความรู้สึก ก็จะนึกถึงประโยชน์ของศีลข้ออื่นๆตามไปด้วย
เพียงด้วยความตั้งใจมั่นว่าแม้มีโอกาสเจอเรื่องยวนยั่วอย่างไร ฉันก็จะไม่ผิดศีลผิดธรรมเป็นอันขาด คือไม่ฆ่าสัตว์แม้ยุง ไม่ขโมยแม้แต่บาทเดียว ไม่ลอบมีชู้แม้เพียงทางวาจา ไม่โกหกแม้เพียงเพื่อเอาสนุก ไม่กินเหล้าเสพยาแม้ต้องโดนเพื่อนใจแคบเลิกคบ เพราะถือว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่ง เป็นฐานของการปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป จิตจะมีคุณภาพได้อย่างไรหากพื้นฐานมีแต่การตามใจกิเลสเละเทะเหมือนเอาตัวไปหมกโคลนเลน
มีความจริงที่น่าสนุกอยู่อย่าง ฉันเคยได้ยินมานาน และเจอดีเข้ากับตัวเองจริงๆ คือพออธิษฐานถือศีล ก็มีอันต้องประจวบเหมาะเหลือหลาย เหตุการณ์ต่างๆดาหน้าเข้ามาลองใจทันตา เช่นคนที่บ้านให้ช่วยโกหกโทรศัพท์ว่าไม่อยู่ หรือปกติร้อยวันพันปีไม่เคยโดนยุงกัดมันก็แห่กันมากัดอย่างน่าตบ เป็นต้น กรณีโกหกทางโทรศัพท์ฉันก็ปากแข็งเข้าไว้ บอกให้โทร.มาใหม่เฉยๆ ไม่ได้บอกว่าคนที่ต้องการพูดไม่อยู่ แม้ต้องเจอการชักสีหน้าจากคนในบ้าน ขมวดคิ้วบ่นไปหลายยกก็ยอม หรืออย่างกรณียุงกัด แม้คันไม้คันมือเต็มแก่ก็ปัดๆไล่เท่านั้น
ฉันเจอเหตุการณ์ลองใจสารพัดจนเหนื่อยใจ แต่สัญญาต้องเป็นสัญญา ฉันตกลงกับตัวเองไว้แล้วว่าจะรักษาศีลก็ต้องรักษาให้ได้ คิดเสียว่าเป็นโอกาสใช้หนี้กรรมให้หมดๆไปด้วย แล้วความจริงที่ปรากฏตามหลังมาก็น่าตื่นใจ พอทนๆใช้กรรมไปพักหนึ่ง ก็ดูเหมือนการไล่ล่าลองใจจะลดลงเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดเหมือนหายไปเลย ไม่มารบกวนอีก ราวกับชีวิตยกตัวเองขึ้นลู่ทางใหม่ นานๆถึงจะมีเรื่องยั่วให้ผิดศีล แล้วจิตใจที่ผ่องแผ้วดีแล้วก็ไม่รู้สึกยากกับการเลี่ยงเลยสักนิด
อานิสงส์ผลบุญของการรักษาศีลมีมากมายมหาศาล เอาแบบที่คนในโลกชอบกันคือฤทธิ์อย่างอ่อนๆ จิตที่มีประกายศีลแจ่มจ้าแล้วจะเกิดสัมผัสพิเศษ จะต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างจะรู้ว่าควรหรือไม่ควรแค่ไหน เช่นแม้ว่ามีเพศตรงข้ามผ่านเข้ามาทำให้รู้สึกสดชื่นเป็นพิเศษ และทำท่าจะเกาะเกี่ยวพัวพันกันลึกซึ้ง ใจก็บอกว่าความสัมพันธ์ไม่สะอาดชอบกล สืบไปสืบมาก็รู้ว่ามีคู่ครองแล้วนั่นเอง หรือบางทีปูเสื่อลงบนสนามหญ้าเรียบร้อย กำลังจะลงนั่งแล้วนึกสังหรณ์ชอบกลว่าถ้าทิ้งน้ำหนักตัวลงไปจะเป็นกิริยาทำร้าย พอเลิกเสื่อดูก็พบหอยทากตัวหนึ่งอยู่ตรงตำแหน่งที่ตั้งใจจะหย่อนก้นลงทับพอดี
อันนี้อธิบายได้ง่ายๆว่าจิตเมื่อผ่องแผ้วไร้มลทิน เมื่อจะต้องประกอบกรรมที่มีมลทิน พลังความสว่างใสเบาของศีลในจิตก็สะกิดเตือนขึ้นมาเองว่าอย่านะ นี่ไม่ควร นั่นไม่เหมาะ คล้ายกับเกิดคลื่นรบกวนที่จิตใสใจเบาไม่อาจรับได้
ฉันกล้าบอกด้วยประสบการณ์ภายในของตนเองเลยว่าถ้าเพียงศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นปกติอย่างน้อยหนึ่งเดือน ก็เท่ากับฝึกจิตให้เป็นสมาธิตามธรรมชาติมาเกือบครึ่งแล้ว ความชุ่มชื่นของศีล ความสุกสว่างเบิกบานของศีลนั่นแหละ องค์ประกอบสำคัญของสมาธิจิต ยังไม่ทันต้องกำหนดเข้าสู่กรรมฐานใดๆก็เหมือนมีส่วนของสมาธิอยู่ในจิตเองแล้ว
สรุปคือฉันถือว่าทำตามพุทธบัญชา สำรวจตัวเองแล้วระลึกได้ว่าฉันมีศีลมาพักหนึ่ง กับทั้งยังไม่บกพร่องไป เพราะชีวิตเริ่มห่างจากสิ่งยั่วยุให้ผิดศีลออกมาเรื่อยๆ มีเรื่องรบกวนให้ศีลหมองน้อยเท่าน้อย แต่ก็จะไม่ประมาท ตั้งจิตอธิษฐานซ้ำว่าต่อให้มีเรื่องยั่วยุขนาดขู่เอาชีวิต ฉันก็จะไม่ผิดศีลอย่างเด็ดขาด
ความเห็นถูกตรง
เนื้อหาสำคัญของพุทธศาสนาในสายตาของฉันนั้น ต้นสุดคือให้มาเอา ไม่ใช่มาทิ้ง แต่ยอดสุดคือให้ไปทิ้ง ไม่ใช่ไปเอา
เบื้องต้นพุทธศาสนาให้มาเอาอะไร? ให้มาเอาบุญ เพื่อให้ตาสว่างเห็นความจริง ยิ่งบุญมากเท่าไหร่จิตยิ่งต้องเห็นความจริงชัดขึ้นเท่านั้น
เบื้องปลายพุทธศาสนาให้ไปทิ้งอะไร? ให้ไปทิ้งความยึดมั่นถือมั่น ด้วยมรรคาคือทางที่พระพุทธองค์ปูไว้ให้แล้วพร้อมสรรพ
เรื่องทิฏฐิ หรือความเห็น หรือการตั้งมุมมองพุทธศาสนาให้ถูกต้องตรงทางนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำรวจตัวเองกันได้ง่ายๆเหมือนอย่างการสำรวจศีล เพราะแนวคิดอันเป็นยอดสุดของพุทธนั้นค้านกับสามัญสำนึกของปุถุชนคนธรรมดา
อาจเปรียบเทียบง่ายๆว่าเบื้องต้นพุทธศาสนาชวนให้มาสู่หุบเขาแห่งหนึ่ง ตามทางกองไว้ด้วยข้าวของเงินทองนับไม่ถ้วน สำหรับคนอยู่ไกลย่อมเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจะมีอะไรอย่างนั้นจริง แต่พอลองไปแล้วก็พบว่าเป็นอย่างที่ประกาศจริงๆ
คนธรรมดาย่อมหอบเงินทองกลับมาบำรุงความเป็นอยู่ของตนให้สุขสบายมั่นคงแล้วหยุดความปรารถนาอยู่แค่นั้น แต่จะมีไม่กี่คนที่รับฟังผู้แจกเงินทอง ว่าที่แจกนี้ความจริงตั้งใจให้เดินทางต่อไป ยังมีที่หมายอันประเสริฐกว่าหุบเขาเงินทองนี้อยู่ เมื่อถามต่อว่าจะให้ไปไหน มีประโยชน์อะไร ผู้แจกเงินก็ตอบว่าอยากให้ได้ไปในสถานที่หนึ่ง ซึ่งไม่ต้องใช้ทรัพย์สมบัติ ไม่ต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติ ไม่ต้องรักษาทรัพย์สมบัติอีกเลย
พอได้ยินเช่นนี้ปุถุชนทั้งหลายย่อมผงะ เพราะนั่นแปลว่าเมื่อไปถึงที่นั้น สมบัติแสนรักแสนหวงทั้งหลายของตนย่อมถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง มีเพียงหนึ่งในร้อยหรือน้อยกว่านั้น ที่ฟังแล้วบังเกิดความเลื่อมใสยินดี ด้วยแง่คิดมุมมองว่า เออ! วิเศษจริงหนอ ต่อไปไม่ต้องเหนื่อยยากหาสมบัติ ความไม่มีสมบัติเป็นเรื่องเบากายเบาใจยิ่ง
ด้วยเพียงมุมมองที่แตกต่าง มุมมองหนึ่งจะพาคนกลับมาห่วงหวงและรักษาสมบัติต่อไป แต่อีกมุมมองหนึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้ดั้นด้นออกเดินทางต่อ ซึ่งผู้แจกเงินในหุบเขามหาสมบัติได้เตือนไว้ล่วงหน้าว่าไม่ง่ายหรอกนะ จะไม่ใช่การเดินทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบหรอกนะ
เหตุการณ์สมมุติดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อฉันศึกษาเนื้อหาในพุทธศาสนาอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจเป็นเพราะจุดสะดุดของชีวิตที่หักเหให้ฉันมาสนใจพุทธศาสนานั้น คือคำว่า แก่นพุทธศาสนาคือความหลุดพ้นแห่งใจอย่างไม่กลับกำเริบขึ้นอีก ซึ่งภายหลังฉันมาตรวจพบในจูฬสาโรปมสูตรว่าพระศาสดาตรัสไว้จริงๆ จึงแปลว่าพุทธศาสนาในมุมมองของฉันจึงถูกจัดตั้งไว้แบบเล็งตรงเข้าเป้าตั้งแต่ต้น
และนี่ก็ทำให้ฉันเห็นความสำคัญของสมาชิกบริษัทธรรมะ หรือที่เรียกว่าพุทธบริษัทอย่างยิ่งยวด คนในบริษัทเน้นพูดเรื่องไหน มือใหม่ก็รับฟังไว้อย่างนั้น เป็นโอกาสเลือกทางของเขาอย่างนั้น แต่ถ้าไม่มีใครพูดถึงแก่นกันเลย หรือพูดเรื่องการเข้าถึงแก่นแบบเหนียมๆทำนองรอไว้ชาติหน้าเถอะ แบบนี้ก็อาจมีค่าใกล้เคียงกัน คือคนในศาสนาพุทธจะพากันลืมหมดว่าพระพุทธเจ้าก่อตั้งศาสนาพุทธขึ้นเพื่อการใด
เมื่อสำรวจตนเองจนแน่ใจว่าเข้าใจแก่นสารของพุทธศาสนาชัดเจนถูกต้องแล้ว ก็เกิดการเล็งเห็นว่าตนเองจะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร ปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากความยึดมั่น เลิกเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นตัวเป็นตน
เป้าหมายของฉันไม่ใช่เพื่อเอา แต่เพื่อทิ้ง
ทิ้งอะไร? ดูดีๆแล้วก็คือทิ้งทุกข์ ทิ้งสัมภาระพะรุงพะรังทั้งปวงนั่นเอง คนเราพากันหวงทุกข์ไว้ กอดทุกข์ไว้แนบอก แบกทุกข์ไว้หลังแอ่นยังไม่รู้ตัว มีคนบอกให้ทิ้งยังร้องอีกว่าเรื่องอะไรจะทิ้ง หรืออย่างดีก็ถามว่าทำไมต้องทิ้ง มองไม่เห็นเหตุผลสมควรเลย
เหตุผลว่าทำไมต้องทิ้งนั้นต้องพูดกันยาว และธรรมดาเรื่องที่ต้องพูดกันยาว มีข้อแยกย่อยหยุมหยิมให้หาข้อเท็จจริง กับทั้งมีผลได้ผลเสียหลากหลายนั้น ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และต่างก็ต้องหาเหตุผลอันน่าฟังมาชักชวนให้ใครต่อใครเห็นคล้อยตาม
สำหรับฉัน เหตุผลลึกๆนั้นสารภาพตามตรงว่าไม่รู้ชัดเหมือนกันว่าอะไรมาบันดาลใจนักหนา เคยสุข เคยทุกข์ เคยสนุก เคยเบื่อ ครบหมดทุกรสแบบคนธรรมดามาเหมือนคนธรรมดาอื่นๆทั้งโลก แต่ทำไมถึงอยากหลุดพ้น ไม่อยากวนเวียนซ้ำซากจำเจอยู่กับการสลับฉากดีร้ายอีกต่อไป อันนี้ถ้าจะให้ยกแบบเดาส่งไปพลางๆ ฉันก็เข้าใจว่าคงเป็นเพราะอดีตชาติเคยทำไว้ก่อน เคยมองไว้ก่อน เคยเห็นจริงไว้ก่อน นิสัยในชาตินี้จึงสอดรับกัน
คราวนี้มาสำรวจเรื่องความเข้าใจวิธีไปให้ถึงแก่น…
ประมวลจากประสบการณ์ปฏิบัติธรรมนานนับปีที่ผ่านมา พูดตรงๆฉันได้ข้อสรุปว่าฉันยังไม่รู้ชัดสักเท่าไหร่ว่าตกลงจะให้เอาอย่างไรแน่ เพราะตัวเองไปรับมาหมดเกือบทุกแนว แต่ละแนวก็ไม่เหมือนกัน แม้จะพูดว่าให้ยึดหลักสติปัฏฐาน ๔ แต่ฉันก็ยังไม่รู้สึกว่าเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ อย่างลึกซึ้งตลอดสายสักที เวลามาอ่านสูตรใหญ่เช่นมหาสติปัฏฐานสูตรจะนึกเสมอว่าไม่ลงรอยชนิดประกบสนิททุกฝีก้าวได้กับแนวใดของสำนักใหญ่ในปัจจุบัน
บางวันอาการหนัก เกิดนึกถามตัวเองขึ้นมาด้วยซ้ำว่าปฏิบัติธรรมเขาปฏิบัติกันอย่างไร นี่เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำอย่างนี้ใช่การก้าวเดินไปตามทางมรรคทางผลแน่หรือ
เอาล่ะ! อย่างนั้นฉันจะลองนับหนึ่งใหม่เลย เหมือนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เคยได้ยินได้ฟังอะไรจากใครมาทั้งสิ้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาขอให้ถือเป็นพื้นฐาน เป็นการลองผิดลองถูก เป็นตัวช่วยให้ตระหนักว่าเรายังไม่เคยฟังพระพุทธเจ้าสอนปฏิบัติธรรมภาวนาจริงๆจังๆเลยสักครั้ง
สติปัฏฐานแปลว่า ธรรมอันเป็นที่ตั้งของสติ หรืออยากแปลแบบจำง่ายว่าสติปัฏฐานก็คือฐานที่ตั้งของสติก็ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจว่าที่ตั้งของสตินั้นมีอยู่หลายชนิด การเรียน การงานทางโลกก็จัดเป็นที่ตั้งของสติ แต่อย่างนั้นเป็นสติแบบโลกๆ เป็นสติแบบที่ทำให้รักตัวตน หวงตัวตน และอยากให้ตัวตนได้ดียิ่งๆขึ้นไป ส่วนฐานที่ตั้งของสติแบบปฏิบัติธรรมภาวนานั้นต่างกัน คือเราเลือกจุดที่กำหนดใจรู้ น้อมจิตระลึกขึ้นมาแล้ว เกิดสติ ขึ้นมาเหมือนคนถูกปลุกให้ตื่นจากฝัน ที่เคยสำคัญว่าเที่ยง ก็เห็นชัดว่าไม่เที่ยง ที่เคยมั่นหมายว่าเป็นเรา ก็เห็นชัดว่าไม่ใช่เรา
ฐานของสติอันถูกต้องนั้น โดยสรุปย่นย่อที่สุดก็คือกายใจของเรานี่เอง พูดอย่างนี้เมื่อคนทั่วไปฟังก็อาจร้องว่า “อะไร! เหล่านี้มันก็สิ่งที่ฉันนึกๆถึงอยู่เป็นประจำอยู่แล้วนี่หน่า”
ข้อเท็จจริงก็คือคนธรรมดานึกถึงกายใจตัวเองอยู่เนืองๆนั้นใช่อยู่ แต่เป็นการนึกถึงด้วยอาการอยากให้มันเป็น หรือหลงนึกว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เห็นด้วยสติรู้เท่าที่มันกำลังเป็นอยู่ตามจริง
ยกตัวอย่างเช่นกายที่แท้เป็นของสกปรกตั้งแต่หัวจรดเท้า ขูดหนังหน่อยเดียวก็ได้ขี้ไคลออกมา เจาะเข็มลงไปคาวเลือดก็โชยออกมา ยิ่งกรีด ยิ่งลอก ยิ่งถากสิ่งห่อหุ้มปิดบังออกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นความจริงที่น่าสะอิดสะเอียนมากขึ้นเท่านั้น แต่เราก็ทะนงในความเป็นสัตว์เนื้อหอมชนิดเดียวในโลกของตน เชิดหน้าชูคอเดินกันด้วยความรู้สึกสง่างามเต็มประดา นี่เป็นตัวอย่างเห็นได้ชัดของอาการหลงนึกว่ากายหอมสะอาด ทั้งที่จริงเป็นความหอมของเครื่องชะโลมกาย และเป็นความสะอาดจากเครื่องประทินผิว จิตสำนึกของเราถูกหลอกด้วยผัสสะเท็จเทียมชั่วคราว ชั่วชีวิตมนุษย์ยุคใหม่คนหนึ่งอาจไม่เคยตระหนักอย่างแท้จริงเลยว่ากายเป็นของเหม็น กายเป็นของสกปรก นับแต่เกิดจนตาย
หรือตัวอย่างแบบเป็นนามธรรมบ้าง เวลาคนเราทุกข์หนัก ก็มักปักใจเชื่อว่าไม่สามารถผ่านความทุกข์นั้นๆไปได้ เผลอๆอาจทึกทักว่าวันเวลาที่เหลืออีกทั้งชีวิตคงต้องจมปลักอยู่อย่างนี้ ทั้งที่จริงแล้วถ้าแค่หยุดเพิ่มเหตุแห่งทุกข์ทางใจเข้าไป ความทุกข์ก็จะแสดงความไม่เที่ยง ไม่อาจตั้งอยู่ได้เกือบทันที เหตุแห่งทุกข์ทางใจที่ว่านั้นก็คือ อาการครุ่นคิดซ้ำซาก นั่นเอง เพียงถ้ารู้ด้วยสติ เห็นตามจริงว่าอาการครุ่นคิดซ้ำซากก็แค่ของจรเข้ามา ไม่ได้มีอยู่ก่อนในใจ และไม่อาจคงสภาพคิดๆๆได้ตลอดโดยไม่แปรปรวนไปเป็นระดับอ่อนแก่ต่างๆ เท่านั้นก็ได้ชื่อว่าเหตุแห่งทุกข์ถูกจับได้ไล่ทัน ถูกแทรกแซง ถูกแทนที่แล้ว
การที่ฉันจำไว้ว่าสติปัฏฐาน ๔ คือการรู้กายใจตามจริง หรือพูดง่ายๆว่าฐานที่ถูกต้องของสติก็คือกายใจนั้น นับว่าเป็นการย่นย่ออย่างมาก ความจริงต้องจำแนกให้ละเอียดชัดเจนด้วยว่ารู้กายหมายถึงให้รู้ตรงไหน รู้ใจหมายถึงให้รู้นามธรรมที่เกิดขึ้นในรูปลักษณะใด ลองคิดง่ายๆว่าถ้าให้โจทย์เพียง “จงรู้กายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง” เราจะกำหนดรู้ กำหนดดูเข้าไปที่ตรงไหน แค่คำว่า “กาย” คำเดียวคงคลุมเครือก่อความสงสัยแล้วว่าจะให้ดูความไม่เที่ยงที่ตรงไหน ในเมื่อมันก็ปรากฏว่ามี ปรากฏว่าเป็นอยู่อย่างนั้นทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ส่วนคำว่า “ใจ” ยิ่งแล้วใหญ่ อย่างไรเรียกว่าใจ ใจอยู่ตรงไหน ใช่ความคิดหรือเปล่า ล้วนแล้วแต่น่ากังขาทั้งสิ้น
เชื่อไหม ถ้าให้เรานั่งนึกวางแผนเองว่าจะดูอย่างไรจึงเห็นกายใจไม่เที่ยง เราๆท่านๆจะนึกถึงสิ่งที่ดูไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ ไม่เชื่อลองนึกในใจเอาเดี๋ยวนี้ก็ได้ คนที่คิดวางแผนกำหนดเป้าล่อให้จิตจะต้องมั่นใจด้วยว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงแบบเป็นขั้นเป็นตอน
แต่สำหรับพระพุทธเจ้า ท่านจะทรงคิดค้นวิธีดูกายใจด้วยองค์ท่านเอง หรือว่าเป็นหลักการตายตัวที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติแล้วท่านเป็นผู้ค้นพบก็ตาม สำหรับฉันบอกได้อย่างเดียวว่าพิจารณาตามแล้วเห็นเป็นอุบายมหัศจรรย์ล้ำลึกเสียจริงๆ เพราะท่านจำแนกกายใจออกเป็นเสี่ยงๆเพื่อให้ง่ายต่อการเข้ารู้เข้าดูอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ๔ หมวด และจำนวนหมวดทั้งสี่นี่เองเป็นเลขห้อยท้ายคำว่าสติปัฏฐาน หมวดเหล่านั้นได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม
ทำความเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ เบื้องต้น
เมื่อทำไว้ในใจว่าต่อไปนี้ครูสอนกรรมฐานของฉันคือพระพุทธเจ้า การอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรของฉันก็ไม่ใช่แค่สักแต่ดูเล่นว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง แต่เป็นการน้อมรับฟังว่าพระพุทธเจ้าสั่งให้ทำอะไรบ้าง จิตที่เต็มไปด้วยความเคารพทำให้การศึกษามหาสติปัฏฐานสูตรแยกเป็น ๒ ระดับ โดยสมองทำงานแยกกันเป็นอิสระ คือ
๑) รับฟังและจดจำใส่เกล้าอย่างไม่มีเงื่อนไข กระทำสมองเป็นกระบะรับพุทธพจน์ทุกถ้อยทุกคำ ทรงจำไว้อย่างแม่นยำยิ่งกว่าอ่านตำราทำข้อสอบใดๆทั้งหมดในชีวิต ชนิดที่ถ้าใครถามตรงไหน ฉันตอบได้หมด ลงรายละเอียดได้เป็นคำๆไม่มีพลาด
๒) ตั้งคำถามหาเหตุผลว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงซอยกายใจออกเป็น ๔ หมวดคือกาย เวทนา จิต ธรรม ตามลำดับ เพื่อความเข้าใจว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ทำถึงไหนแล้วควรต่ออย่างไร
ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ฉันสรุปไว้แบบขึ้นใจในระดับของการศึกษาด้วยสมอง ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง
หมวดกาย
สมมุติว่าฉันไม่รู้จักสติปัฏฐาน ๔ มาก่อน แล้วตั้งคำถามกับตนเองว่าระหว่างกายกับใจ อันไหนดูง่ายกว่ากัน? แน่นอนฉันต้องตอบว่ากาย เพราะกายเป็นฝ่ายรูปธรรมอันจับต้องได้ว่ารูปทรงสัณฐานเรียว รี กลม หรืออ้วนผอมประมาณใด ต่างจากใจที่เป็นฝ่ายนามธรรม กำหนดรู้ได้ด้วยใจเองเท่านั้น เริ่มต้นขึ้นมาจิตที่เต็มไปด้วยความมัวมนจะแสดงอะไรนอกจากภาวะหม่นมืด ฟุ้งซ่าน หาความสงบไม่ได้ มองเข้าไปกี่ทีก็เจอแต่พายุความคิด เป็นพายุลูกย่อมบ้าง ลูกใหญ่บ้าง ประสาคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่รู้จะดูให้เห็นความเกิดดับได้อย่างไรเลย
เมื่อเลือกได้ว่ากายกำหนดง่ายกว่าใจ คราวนี้ฉันก็ตั้งโจทย์อีกว่ามีส่วนไหนในกายที่สามารถล่อให้จิตเรารับรู้ได้ง่ายที่สุด เห็นความเกิดดับเร็วที่สุด กับทั้งสามารถใช้เป็นที่ตั้งของสติได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย?
คิดแค่พริบตาเดียวทุกคนก็ต้องตอบได้ ลมหายใจนั่นเอง ลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงจัดให้เป็นฝ่ายรูปธรรม และทรงกำหนดให้เป็นบันไดขั้นแรก เป็นสภาพธรรมหลักในตัวเราที่ควรเฝ้าดูอยู่เสมอๆ
ฉันเล็งเห็นความจริงข้อนี้ ที่ผ่านๆมาจึงได้เพียรพยายามหาแนวทางกำหนดรู้ลมหายใจด้วยวิธีนับลมบ้าง ใช้คำบริกรรมกำกับบ้าง เพ่งดูเฉพาะผัสสะกระทบระหว่างลมกับโพรงจมูกบ้าง แต่อาจยังทำไม่ถูกอะไรสักอย่าง จึงไม่เคยประสพความสำเร็จจริงๆจังๆต่อเนื่องสักที อย่างมากที่สุดบางวันก็มีความสุขสบาย หรือเหมือนลมหายใจแผ่วอ่อนจนขาดไป ส่วนใหญ่จะหลับหรือฟุ้งซ่านมึนงงมากกว่าอย่างอื่น
รอบนี้เมื่อตั้งใจรับฟังแต่พระบรมครูคนเดียว จึงเกิดมุมมองใหม่ว่าความจริงท่านเป็นเจ้าแห่งอุบายภาวนามือวางอันดับหนึ่งของโลก และท่านก็ไม่เคยบอกให้นับลมหรือว่าใช้คำบริกรรมกำกับ รวมทั้งไม่เคยแสดงอุปเท่ห์พิสดารในแบบที่จะออกไปทางศาสตร์ด้านพลังปราณอันใด ท่านสอนธรรมดาๆ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ เน้นความรู้ ความสังเกตตามจริงเป็นสำคัญ อันนี้นึกดีๆแล้วฉันไม่เคยลองทำดูจริงจังเหมือนอย่างอุบายอื่นๆที่ผ่านมาตลอดเลยสักครั้ง น่าทดลองเหมือนกันว่าถ้าเอาจริงแล้วจะเกิดผลเช่นไร ประสพความสำเร็จหรือจะล้มเหลวไม่เป็นท่าเหมือนเช่นที่ผ่านมา อันนี้ต้องคอยดูกัน
สรุปว่าหมวดกายฉันจะเริ่มด้วยการตามรู้ลมหายใจ เมื่อประสพความสำเร็จในการรู้ลมหายใจได้แล้วค่อยดูต่อว่ามีอะไรให้ทำในหมวดกายอีก
หมวดเวทนา
เมื่ออาศัยลมหายใจเป็นทางรู้กายว่าไม่เที่ยงได้แล้ว หากถามตัวเองว่าจะขยับต่อไปให้ก้าวล่วงเข้ามารู้ในขอบเขตของใจบ้าง ควรจะทำอย่างไร? อันนี้ถ้าให้ตั้งโจทย์ถามตัวเอง ก็จะได้คำตอบว่านามธรรมอันเป็นภาวะทางใจที่ดูง่ายสุด น่าจะเป็นสภาพที่เกี่ยวเนื่องกับกายนั่นเอง
บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวที่สุด หรือกระทั่งประชิดติดตัวที่สุด ก็คือสิ่งที่เรามองผ่าน และไม่เคยสังเกตอย่างที่สุด เช่นเมื่อทอดร่างลงนอนเหยียดยาว เราจะบอกตัวเองว่าสบายจัง แต่ไม่สังเกตว่าภาวะสบายจังนั้นเกิดขึ้นช้านานเพียงใด แปรปรวนไปเป็นอึดอัดเมื่อยขบ เกร็งต้นคอหรือแผ่นหลังให้ต้องพลิกขยับเป็นอื่นตั้งแต่เมื่อไหร่
ความรู้สึกสบายหรืออึดอัดทางกายนั่นแหละ ครึ่งๆอยู่ระหว่างกายกับใจ
ตามนิยามนั้น เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย หากดูนิยามของสุข ก็คือความสบายกายหรือสบายใจ หากสบายกายก็เรียกว่าเป็นสุขเวทนาทางกาย หากสบายใจก็เรียกว่าเป็นสุขเวทนาทางใจ ส่วนความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์นั้น เบื้องต้นอาจเหมาให้เป็นสุขไปพลางๆก่อนก็ได้ เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ
ฉะนั้นในมุมมองของการตั้งสติกำหนดจริง ที่แท้ก็คือดูความอึดอัดหรือสบายนั่นเอง จะอยู่ท่าไหน จิตใจจดจ่ออยู่กับอะไร แม้ขณะปัจจุบันนี้ วินาทีนี้ก็ต้องมีอาการปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสบายกับไม่สบายกันทุกคน
แต่ฉันพิจารณาแล้วว่าถ้าจิตกำลังคลุมเครือ คิดฟุ้งซ่านอยู่ จะดูไม่ออกว่าเวทนาเป็นอย่างไร เมื่อใดเวทนาหนึ่งๆเกิดขึ้น เมื่อใดเวทนานั้นๆเปลี่ยนไป โจทย์คือทำอย่างไรจะออกจากจุดเริ่มต้นได้ถูกโดยไม่สับสน และไม่หลงสติเห็นเวทนาแบบเลอะๆเลือนๆ
ตรงนี้ก็ปะติดปะต่อกันได้พอดีกับการฝึกในหมวดกายที่ผ่านมา ถ้าหากสามารถรู้ลมหายใจได้ชัดเจนต่อเนื่อง ผลทางกายย่อมเป็นสุขนาน คือสบายกายแบบสดชื่นตอนลากลมหายใจเข้า สบายกายแบบผ่อนคลายตอนระบายลมหายใจออก
และเมื่อกายเป็นสุข ใจย่อมสงบ อาการสงบระงับความฟุ้งซ่านนั้นเองคือสุขเวทนาทางใจ เมื่อแยกออกว่าความสุขทางกายกับความสุขทางใจแตกต่างกันอย่างไร ฉันก็เชื่อว่าจะเป็นเส้นทางเข้าถึงภาวะอันเป็นนามธรรมหยาบละเอียดได้ตามลำดับ เมื่อเห็นครบทั้งหยาบและละเอียด จิตย่อมปล่อยวางทั้งในระดับตื้นและในระดับลึก
สรุปคือฉันวางแผนจะเริ่มดูลมหายใจจนเป็นสุขทางกายได้ แล้วค่อยขยับมาดูสุขทางใจ น่าจะสอดคล้องกันกับที่พระพุทธองค์ทรงแยกเวทนาไว้สองชนิด คือเวทนาทางกาย กับเวทนาทางใจ และในสติปัฏฐานพระองค์ให้ดูโดยเปรียบเทียบเวทนาเป็นอย่างๆก่อน พอยกสติเข้าไปรู้ เข้าไปดู เข้าไปเห็นแล้วว่าหน้าตาเวทนาเป็นอย่างไรก็ค่อยดูเวทนานั้นๆโดยความเป็นของเกิดดับในภายหลัง
หมวดจิต
เมื่อแน่ใจว่ารู้สุขทางใจได้ชัดแล้ว หากถามตัวเองว่าจะเข้าถึงความรู้จักจิตตัวเองได้อย่างไร คราวนี้คงง่ายขึ้น เพราะหากรู้สุขทางใจได้นาน ก็แปลว่าจิตต้องมีความสงบราบคาบพอสมควร เมื่อจิตเป็นสุขจากการเสวยวิเวก ภาวะพอใจสงบย่อมปรากฏเด่น และถูกรู้ได้ในตัวเองว่าลักษณะหน้าตาของอาการสงบใจเป็นอย่างไร
จากประสบการณ์ปฏิบัติแบบตามมีตามเกิดที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ฉันพบว่าถ้าวันไหนทำสมาธิจนสงบสุขได้ ก็จะเหมือนเห็นจิตตัวเองในอีกแบบหนึ่ง คือปรากฏภาวะไม่มีหูไม่มีตา ไม่มีแขนไม่มีตัว มีแต่ดวงความรู้ดวงหนึ่งปรากฏสภาพคงที่อยู่เฉยๆ ภาวะนั้นทำให้รู้สึกภูมิใจและยึดมั่นว่าตัวเองทำได้ ทั้งที่เกิดขึ้นน้อยชนิดนานทีปีหน แต่ฉันก็ยังเอาไปคุยกับใครต่อใครอยู่เรื่อยว่าฉันทำได้ ราวกับว่าเกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน
พอมาศึกษาสติปัฏฐานในหมวดของจิต เห็นพระพุทธเจ้าท่านให้เทียบจิตเป็นอย่างๆ เอาคู่ตรงข้ามมาเป็นเครื่องเทียบเคียง เพื่อให้เห็นว่าจิตแบบหนึ่งๆต้องเปลี่ยนไปเป็นตรงข้ามเสมอ ฉันก็เกิดอาการย้อนพิจารณา เห็นว่าที่ผ่านมาเมื่อนิ่งแล้วก็ไปยึดความนิ่งเป็นของดี ของน่าภูมิใจ แท้จริงแล้วเป็นเครื่องหมักดองหรือเพิ่มพูนกิเลสได้อย่างหนึ่ง หาใช่สมาธิที่ถูกทางครบพร้อมแต่อย่างใด ตราบใดไม่มีสติรู้เพื่อปล่อยวาง ตราบนั้นยังไม่เข้าทางมรรคผล ต่อให้ทำอะไรได้ดีเลิศปานใดก็ตาม
ฉันทบทวนดูแล้วตาสว่าง และคิดจะใช้ความสุขทางใจนั่นเองเป็นตัวกรุยทางเข้าไปรู้เข้าไปดูสภาพทางจิต กล่าวคือเมื่อสุขนานพอ จิตย่อมปรากฏชัดโดยความเป็นของนิ่ง เมื่อจิตเคลื่อนจากความนิ่ง ก็ค่อยเปรียบเทียบเอาว่าจิตที่ไม่นิ่งนั้นแตกต่างจากภาวะนิ่งอย่างไร
หลังจากทบทวนพิจารณาหมวดจิตที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้ ฉันได้ข้อสรุปว่าตัวความสงบเป็นเพียงอาการหนึ่งของจิต ผิดจากสามัญสำนึกของนักภาวนามือใหม่ ที่มักเข้าใจว่าถ้าสงบลงได้นานพอ แปลว่าเข้าถึงสภาพจิตเป็นดวงๆอย่างแท้จริง ตามที่ถูกแล้วจิตมีหลายแบบ และเราควรรู้ทุกแบบ
ฉันถามตัวเองว่าถ้าอยู่ในชีวิตประจำวันเราจะเห็นจิตได้อย่างไร? ก็ได้คำตอบที่พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้วตั้งแต่ตอนต้นของหมวดจิต นั่นคือเมื่อเกิดราคะ ให้รู้ว่าจิตมีราคะ หากรู้ว่าจิตมีราคะโดยไม่หมกมุ่นครุ่นคิดจินตนาการต่อ ราคะย่อมหายไป นั่นเองพระพุทธองค์ก็ให้รู้ต่อว่าจิตไม่มีราคะนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกับขณะที่จิตมีราคะแล้วต่างกันแค่ไหน อาจจะในแง่ของแรงดึงดูดเข้าหาวัตถุกาม หรืออาจจะในแง่ของปฏิกิริยาทางกายที่เกี่ยวเนื่องกันกับจิตก็ได้
ทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดโทสะก็ให้รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตไม่มีโทสะก็ให้รู้โดยเปรียบเทียบเอาว่าความร้อนกายร้อนใจ หรืออาการเค้นแน่นจุกอก หรือความเสียดแทงในหัว ตอนมีกับตอนไม่มีแตกต่างกันอย่างไรก็รู้ตามจริง
เมื่อใช้ชีวิตตามปกติ ฉันเคยสังเกตอยู่ว่าตัวเองว่าจิตจะอยู่ในสภาพเหม่อลอยบ่อยๆ คือหลงคิดหลงสร้างวิมานในอากาศไปเรื่อย ถึงแม้ไม่สร้างวิมานในอากาศก็จะปล่อยให้จิตพักผ่อนตามถนัด นั่งนอนทอดหุ่ยไปเรื่อย ต่อเมื่อมีงานต้องทำ หรือมีใครเข้ามาหา สติจึงค่อยยกขึ้นไปรู้วัตถุหรือบุคคลอันเป็นเครื่องกระทบ นี่ก็น่าจะเป็นสภาพธรรมที่คอยตามเปรียบเทียบดูได้ว่าต่างกันอย่างไร กล่าวคือถ้าทอดหุ่ยหรือเหม่อลอยสร้างวิมานในอากาศ เมื่อนึกได้ฉันจะสำรวจดูว่าจิตในสภาพลอยๆนั้นมีลักษณะอย่างไร แตกต่างจากจิตขณะมีสติยกขึ้นตั้งแล้วแค่ไหน นั่นเองเป็นการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าให้เทียบเคียง จิตมีโมหะก็รู้ จิตไม่มีโมหะก็รู้
สรุปคือฉันจะเริ่มสำเหนียกถึงลักษณะอาการของจิต ไม่สำคัญมั่นหมายว่าจิตมีภาวะใดภาวะหนึ่งตายตัว เริ่มต้นจะดูจากภาวะที่ง่ายที่สุด คือภาวะจิตสงบนิ่ง จากนั้นค่อยๆเทียบเคียงไปเรื่อยๆว่าจิตในชีวิตประจำวันแตกต่างจากจิตสงบมากน้อยแค่ไหน และที่ต่างนั้นกระเดียดไปในทางราคะ โทสะ หรือโมหะ
หมวดธรรม
หมวดนี้ฉันไม่อาจคิดเองได้ และในระดับที่ยังนึกๆคิดๆ จิตไม่ตั้งมั่นในตอนนี้ ฉันไม่สามารถเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีหมวดสุดท้ายในสติปัฏฐาน ๔ ทุกอย่างผูกกันตามลำดับหรือกระจายเป็นเอกเทศก็ไม่ทราบ
ฉันต้องใช้วิธีอ่านแบบตั้งข้อสังเกตอย่างละเอียด แล้วพบความจริงอย่างหนึ่ง คือถ้ามองในแง่ความยากง่าย ต้องบอกว่าหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตนั้นน่าจะเป็นพื้นฐานที่ง่ายกว่าหมวดธรรม วัดจากเนื้อหาก็ได้ ส่วนหนึ่งของกายคือลมหายใจ ใครๆก็รู้ ส่วนหนึ่งของเวทนาคือสุข ทุกข์ เฉย อย่างนี้ใครๆก็รู้ ส่วนหนึ่งของจิตคือภาวะมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน หรือสงบ อย่างนี้ใครๆก็รู้ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถรู้ได้โดยความเป็นของเทียบเคียงกัน
แต่สำหรับหมวดธรรมจะไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เทียบเคียง แต่จะให้รู้สภาวะหนึ่งๆโดยความเป็นของเกิดขึ้นและดับลงตรงๆ หรือไม่ก็ให้ดูว่าขณะหนึ่งๆที่รับผัสสะกระทบเข้ามานั้น ปฏิกิริยาทางใจออกไปในทางทะยานเข้ายึดหรือว่าสักแต่รู้แล้ววางเฉยเสมอกับอารมณ์
นอกจากนั้นยังมีเรื่องละเอียด พระพุทธองค์รวมเอาข้อธรรมชั้นสูงมาให้พิจารณากันที่หมวดธรรมนี่เอง เพราะฉะนั้นฉันจึงสรุปว่าเมื่ออบรมหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงมากพอ จิตมีความตั้งมั่นเอาตัวรอดจากการครอบงำหยาบๆทั้งหลายในโลกได้แล้ว สติจึงคมชัดมากพอจะสามารถปฏิบัติในหมวดธรรม
สรุปคือในขั้นนี้ตอนนี้ฉันยังไม่อาจวางแผนอะไรได้ เข้าใจว่าถึงจุดที่อิ่มตัวในหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตพอสมควรแล้ว คงรู้เองว่าจะก้าวรุกคืบเพื่อชิงชัยกับกิเลสด้วยหมวดธรรมได้อย่างไร
ความตั้งใจสำรวจและประเมินตนเอง
ด้วยความที่เคยผ่านการปฏิบัติแบบงูๆปลาๆจับฉ่ายมานับปี ทำให้ฉันได้ข้อคิดอย่างหนึ่งคือถ้าขาดการสำรวจตนเอง เราจะย่ำซ้ำอยู่กับที่ จิตพัฒนาขึ้นแล้วตกต่ำลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่รู้สึกตัวเองเลยว่าเดินทางมาถึงไหนกันแน่ พอผ่านเดือนผ่านปียังไปไม่ถึงไหนก็โทษส่งว่าเป็นเพราะบุญน้อยหรือวาสนาต่ำ มองข้างหน้าด้วยความหมดหวัง หรือหวังได้แค่รางเลือนว่าชาตินี้จะคว้ามรรคคว้าผลกับเขาได้
เมื่อเกิดแรงฮึดรอบใหม่คราวนี้ ที่อธิษฐานขออาราธนาพระพุทธเจ้าเป็นครูสอน ฉันเกิดกำลังใจอย่างมหาศาล และคิดแบบนักศึกษาในโลกใหม่ว่าฉันควรมีเกณฑ์การตรวจสอบที่ชัดเจนว่าคืบหน้าคืบหลังไปถึงไหน ฉันไม่อยากทำไปดุ่ยๆแบบไม่รู้ว่ากำลังอยู่ตรงไหน และเฝ้าถามตนเองแล้วๆเล่าๆว่าเมื่อใดมรรคผลจะมาถึงเสียที โดยไม่มีกรอบมีเกณฑ์ที่แน่ชัดอีกต่อไป
หลักในการประเมินความคืบหน้า
ในเมื่อฉันจะปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์สั่งให้ทำ เพราะฉะนั้นฉันก็ตัดสินใจได้ว่าจะถือเอาลำดับขั้นของสติปัฏฐาน ๔ นั่นเองเป็นตัวบอกระดับหยาบละเอียดของสติ อย่างที่ฉันพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่าหมวดต่างๆคือกาย เวทนา จิต และธรรมนั้น มีความหยาบละเอียดตามลำดับ หากจิตของฉันมีความสามารถรู้ชัดในหมวดไหนเป็นปกติ ก็จะถือว่าสติพัฒนามาถึงขั้นนั้น ประเภทรู้แวบๆไม่เอา เอาแบบที่สติทรงอยู่กับฐานหนึ่งๆชัดอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น
หลักในการตรวจสอบทิศทาง
ฉันหาอ่านสูตรต่างๆที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทิศทางเดินจิตของตนเองว่ากำลังมุ่งไปสู่มรรคผลหรือไม่ อ่านเป็นนานสองนานกว่าจะย้อนกลับมาพบว่าคำตอบมีอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่แล้ว นั่นคือ โพชฌงค์ ๗ คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือพูดง่ายๆว่าถ้าปฏิบัติไปแล้วจิตมีลักษณะ ๗ ประการเป็นองค์ประกอบพร้อมอยู่ ก็แปลว่าอาจเกิดมรรคผลขึ้นในขณะใดขณะหนึ่งก็ได้
ที่มองข้ามไปแต่แรกก็เพราะมัวนึกว่าโพชฌงค์ ๗ อยู่ในหมวดธรรม ซึ่งนับว่าเป็นขั้นของการปฏิบัติระดับสูง ต่อเมื่อมาเจอโพชฌงคสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสติรู้ลมหายใจกับโพชฌงค์ ๗ ความเข้าใจที่ผิดพลาดจึงถูกแก้ไขใหม่ สรุปง่ายๆ ณ จุดเริ่มต้นนี้ก่อนว่าโพชฌงค์ ๗ เป็นสิ่งที่เจริญขึ้นได้แม้ในขั้นตอนของการกำหนดสติรู้ลมหายใจ และอาศัยสติรู้ลมหายใจทั้งลืมตาและหลับตานั้น ไต่ไปสู่ยอดคือถึงความหลุดพ้นแห่งใจระดับอรหันต์ได้เลยทีเดียว ฉะนั้นแค่เริ่มปฏิบัติสติปัฏฐานเบื้องต้นในหมวดกาย คือรู้ลมหายใจนั้น ก็สามารถใช้เกณฑ์คือโพชฌงค์มาเป็นหลักตรวจสอบทิศทางได้แล้ว
โพชฌงค์ประกอบด้วยองค์ธรรม ๗ ประการ คือ
๑) สติ: คืออาการยกขึ้นรู้ เช่นแทนที่จะแช่จมอยู่กับความเหม่อ หรือคลุกเคล้าอยู่กับความฟุ้งซ่าน ก็มีจิตที่กำหนด หรือถามตัวเองตามจริงว่าขณะนี้กำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า
๒) ธัมมวิจัย: คืออาการวิจัยธรรมเฉพาะหน้าที่ปรากฏแก่สติ หมายความว่าไม่ใช่แค่รู้ว่าเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสอะไรแบบปุถุชนปกติ แต่รู้ในแบบเห็นเกิดดับ หรือเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนในทางใดทางหนึ่งด้วย เช่นมองว่าลมหายใจเข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องเข้า สักแต่เป็นธาตุลม ไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น
๓) วิริยะ: ความเพียรวิจัยธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อเห็นลมหายใจเกิดแล้วดับ ก็ตามเห็นความเกิดดับนั้นไม่ลดละ เท่าที่จะทำได้จนสุดความสามารถ
๔) ปีติ: ความเบิกบานใจไม่หม่นหมอง ไม่พยายามเกินกำลังจนเครียดกังวล รวมทั้งไม่มัวแต่หวังผลที่ยังมาไม่ถึงจนท้อแท้ พูดง่ายๆถ้าอยู่ที่จุดสมดุล ไม่เพ่งและไม่เผลอได้ก็จะปีติเบิกบานเอง
๕) ปัสสัทธิ: ความไม่กวัดแกว่งกายใจ เป็นธรรมชาติที่ตามมาเองเมื่อเบิกบานอยู่ในธรรม ไม่กวัดแกว่งกายคือสงบนิ่งไม่อึดอัดอยากเขยื้อนเคลื่อนไหว ไม่กวัดแกว่งใจคือคลื่นความฟุ้งหยุดตัวลง
๖) สมาธิ: ความตั้งมั่นแห่งจิต เป็นผลที่เกิดจากความระงับกายใจ มีความสุขสงบ จึงเหมือนน้ำนิ่งราบคาบไร้คลื่นลม รวมทั้งไม่มีอาการกำหนดเพ่งคับแคบลงที่จุดใดจุดหนึ่ง
๗) อุเบกขา: ความวางเฉยในจิตอันตั้งมั่นแล้ว ไม่ใช่การกำหนดวางเฉยในสิ่งที่รู้หรือเห็น ข้อนี้มักเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและทำให้ธรรมชั้นในๆเช่นจิตถูกละเลย ต่อเมื่อฉันศึกษาโพชฌงคสูตรอย่างถี่ถ้วน เห็นพุทธพจน์สำคัญคือ “วางเฉยในจิตที่ตั้งมั่นแล้ว” จึงเข้าใจเสียใหม่ได้ถูกต้อง
สรุปคือฉันจะใช้โพชฌงค์เป็นตัวตรวจสอบจิตตนเองว่ากำลังดำเนินอยู่ในเส้นทางไปสู่มรรคผลหรือไม่ นับเริ่มกันตั้งแต่สติรู้ลมหายใจอันเป็นบันไดขั้นแรกของสติปัฏฐานหมวดกายเลยทีเดียว จากนั้นเมื่อก้าวขึ้นบันไดขั้นต่อๆไป ก็จะใช้เกณฑ์วิเคราะห์สภาพจิตคือโพชฌงค์นี้ตรวจสอบไปจนให้ถึงที่สุดในหมวดธรรมเลยทีเดียว
ตั้งเป้าแรก
แน่นอนว่าฉันจะปฏิบัติไปเป็นขั้นๆตามที่พระศาสดาผู้เป็นบรมครูสั่ง แต่ฉันคิดว่าควรจะหวังผลใกล้ที่สุดที่เป็นไปได้ไว้ด้วย เพื่อให้ตัวเองรู้ว่าสภาพแบบที่ควรเกิด ได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง
เป้าแรกที่ตั้งไว้อย่างชัดเจนคือการได้มาซึ่งคุณภาพสติ คุณภาพของจิตที่พร้อมพอจะรู้กายใจชัด ดังที่บ่งไว้มากมายในสติปัฏฐาน ๔ คำก็รู้ชัด สองคำก็รู้ชัด มีคำว่ารู้ชัดปรากฏตลอดทั่วไปหมดทั้งสูตร อันนี้คิดตามได้ไม่ยาก เพราะด้วยสติคมชัด มีความรู้ชัดเห็นชัดเท่านั้น จึงจะไหวทันขณะของความเกิดขึ้น และขณะของความดับไป
ที่ผ่านมาฉันไม่เห็นความเกิดดับสักที อาจเพราะวนอยู่รอบๆรูปแบบปฏิบัติตายตัว หรือปล่อยให้รู้เองโดยเข้าใจว่าเป็นการมีสติอย่างเป็นธรรมชาติมากเกินไปจนแท้จริงแล้วไม่รู้อะไรเลย รอบนี้ฉันต้องตีโจทย์ให้แตก คือทำอย่างไรจะให้จิตมีคุณภาพรู้ชัด และรักษาคุณภาพรู้ชัดนั้นไว้ให้นานที่สุด
ทุกอย่างพร้อมแล้ว ฉันรู้สึกถึงพลกำลังที่ประจุแน่นหนา และเห็นตนเองกำลังจะเริ่มก้าวขึ้นบันไดขั้นแรก
 
เดือนที่ ๑: ราวเกาะของมือใหม่
อย่างที่ตัดสินใจแต่ต้นแล้วว่าฉันจะเชื่อพระพุทธเจ้าทุกคำ เพราะฉะนั้นแม้แต่ที่พระองค์ตรัสไว้ในสุปุพพัณหสูตรว่า สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดีฯ ฉันก็น้อมมาสู่ใจและถือเป็นฤกษ์ดีประจำตัว อย่างเช่นเมื่อแน่ใจว่ามีความเห็นที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็เอาเวลาในวินาทีนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ต้องรอวันพฤหัส ไม่ต้องรอพระอาทิตย์ พระจันทร์ หรือดาวฤกษ์ดาวเคราะห์ใดๆส่องประกาย ณ ตำแหน่งมหามงคลเสียก่อน
นาทีนี้มีลมหายใจให้ดู ไม่รู้นาทีหน้าจะยังมีหรือเปล่า ครูธรรมะคนแรกของฉันเหมือนย้อนมาเตือนว่าแม้แต่ท่านเองก็ไม่รู้วันตาย ขนาดนัดแนะอย่างดีว่าจะสอนฉันปฏิบัติธรรมในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ท่านยังผิดนัดด้วยเหตุสุดวิสัยไปเสียแล้ว
ลมหายใจเฮือกนี้จะแตกต่างจากทุกลมหายใจทั้งหมดที่ผ่านมา เพราะมันจะเป็นลมหายใจแรกของบรรดาลมหายใจที่เหลือทั้งชีวิต ที่มีเอาไว้สำหรับอาศัยระลึกว่าสิ่งนี้ไม่เที่ยง สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวตน
แต่จะบังเอิญเป็นฤกษ์งามยามดีอย่างไรก็ไม่ทราบ เผอิญจริงๆวันที่ฉันมั่นใจว่ารู้ครอบคลุมหลักปฏิบัติพอจะลงมือนั้น เป็นวันที่ ๑ มกราคม พอดิบพอดี
ดังกล่าวแล้วว่าสำหรับช่วงต้นของการเจริญสติปัฏฐาน ฉันตัดสินใจเริ่มก้าวไปตามลำดับ ซึ่งก็แปลว่าต้องตั้งหลักจากหมวดกาย และหมวดกายก็ต้องนับจาก อานาปานสติ หรือการฝึกสติรู้ลมหายใจ เพราะฉะนั้นนับแต่นี้ฉันจะให้ลมหายใจเป็นราวเกาะของสติเสมอ
 
อานาปานสติอย่างย่อสำหรับมือใหม่
ฉันศึกษาอานาปานบรรพของหมวดกายในสติปัฏฐาน หรือที่สามารถแยกออกมาเป็นสูตรต่างหากโดยพิสดารชื่อ อานาปานสติสูตร เห็นว่ามีความลุ่มลึก และต้องยอมรับว่าตอนกลางถึงตอนท้ายสูตรค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับมือใหม่ ฉันจึงคัดเฉพาะส่วนที่สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีไว้ปฏิบัติ เพื่อให้หยิบจับได้เป็นชิ้นเป็นอันไม่สะเปะสะปะพร่าเลือน
ฉันเห็นว่าหลักการง่ายๆสำหรับมือใหม่ฝึกรู้ลมหายใจมีดังนี้
๑) มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า นั่นคือให้แน่ใจว่ายกสติขึ้นจับลมหายใจเสียก่อนเป็นอันดับแรก
๒) ถ้าหายใจยาวก็รู้ชัดว่าหายใจยาว ทั้งขาออกและขาเข้า
๓) ถ้าหายใจสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจสั้น ทั้งขาออกและขาเข้า
๔) ทำจิตตนเองให้อยู่ในฐานะผู้รู้ผู้เฝ้าดูว่าสายลมหายใจที่กำลังปรากฏมีสภาพใด
ทีแรกฉันก็สงสัยว่าจะเอาอะไรวัด ว่ายาวหรือสั้น พอลองหายใจดูสองสามทีก็สรุปกับตัวเองว่า เอาความรู้สึก นั่นเองเป็นตัวบอก กล่าวคือถ้าลากลมยาว สบายปอด หรือที่เรียกหายใจได้ทั่วท้อง ท้องพองออกจนสุดโดยไม่เกร็ง อย่างนั้นเรียกลมยาว แต่ถ้าดึงเข้าได้แค่พอผ่านไปครั้งหนึ่ง ยังมีอาการหนีบหรือเกร็งช่วงอกช่วงท้องอยู่ อย่างนั้นเรียกลมสั้น อาจเปรียบเทียบกันครั้งต่อครั้งก็ได้ พูดง่ายๆคือดูว่าลมครั้งนี้ยาวหรือสั้นกว่าลมครั้งก่อน
เมื่อตกลงใจยึดอานาปานสติเป็นราวเกาะ ถือว่าการปล่อยราวเกาะคือการล้มลุกคลุกคลาน ฉันก็ได้คำตอบในทันทีว่าจะกระทำจิตให้มีคุณภาพพร้อมรู้ชัดเจนได้อย่างไร ถ้าจิตอยู่ในฐานะผู้รู้ผู้เฝ้าดูลมหายใจได้ตามจริงว่ากำลังเข้าหรือออก กำลังยาวหรือสั้น เห็นอย่างปกติเป็นอัตโนมัติ อย่างนั้นถือว่าบรรลุเป้าหมายแรก และได้องค์ที่ ๑ ของโพชฌงค์คือสติ!
 
วันที่ ๑: พยายามตั้งสติ
ลมหายใจแรกของการเจริญสติปัฏฐานปรากฏขึ้น!
มันคือลมหายใจแสนธรรมดาเฮือกหนึ่ง ไม่ต่างอะไรจากลมที่ผ่านมาทั้งชีวิต ไม่ต่างอะไรแม้จากลมที่พัดผ่านกิ่งไม้ใบหญ้ารอบตัว
แต่สิ่งที่แตกต่างไปคือใจ! ใจที่ถูกกำหนดมุมมองไว้ว่าจะเห็นลมหายใจเป็นราวเกาะสำหรับประคองตัวเดินไปตามทางสู่ความหลุดพ้น
ขณะนั้นฉันกำลังลืมตา และนั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน เพิ่งวางมือจากสมุดบันทึกเล่มกะทัดรัดด้วยความตั้งใจว่าลมหายใจที่เหลือทั้งชีวิตจะเป็นเครื่องอาศัยระลึก เป็นฐานสติแรกตามแนวที่พระพุทธเจ้าเน้นนักเน้นหนา
อาจเพราะกระตือรือร้นมากไปหน่อย ลมหายใจมหามงคลจึงถูกรู้ด้วยจิตที่เพ่งแน่วราวกับจะยิงธนู สมองของฉันทำงานเป็นนักพากย์ไปด้วย บอกตัวเองราวกับเด็กไม่รู้ประสีประสา ว่าอย่างนี้หายใจเข้า อย่างนี้หายใจออก ความเคยชินตามแนวฝึกเดิมทำให้ฉันเฝ้านับไปด้วย ฉันเป็นพวกนับระหว่างกำลังหายใจออก ตอนกำลังพ่นระบายลมก็นับ ๑ อีกครั้งก็นับ ๒ และบังคับให้แน่ใจว่ากำลังรู้ลมออก กำลังรู้ลมเข้า ตามกติกาข้อแรกของอานาปานสติ
หายใจสิบกว่าครั้งจนเกร็งไปทั้งตัว ฉันสำรวจอีกทีก็เห็นเหมือนตัวเองกลายเป็นหุ่นขี้ผึ้ง คอเคอหลังไหล่แข็งทื่อไปหมด แถมสติหล่นลงน้ำไปตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่ทราบ คงประมาณว่าเริ่มเลอะเลือนตอนเพ่งแรงเสียจนอาการเพ่งนั้นแปรเป็นม่านทึบบังใจไม่ให้เห็นลมเสียเอง ฉันพิจารณาแล้วว่าอย่างนี้อย่าเพิ่งหวังไปถึงขั้นปีติเบิกบาน กายใจไม่กวัดแกว่งเลย เอาแค่สติก็ขาดแหว่งไม่มีชิ้นดีแล้ว
ฉันจึงจดใส่สมุดบันทึก ความพยายามครั้งแรกต้องนับว่าผิด เพราะกระตือรือร้นตื่นเต้นไปหน่อย ทำให้ลมหายใจธรรมดากลายเป็นลมหายใจแห่งความเครียดเกร็งด้วยจิตที่ตั้งไว้ผิด
แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถึงเรียกว่าเป็นการกำหนดสติเริ่มแรกได้ถูกต้องกันแน่ นั่งนึกๆถึงตอนทำสมาธิแล้วสงบสุขลงได้แบบฟลุกๆ ก็จำไม่ได้ว่าตั้งต้นท่าไหนจึงเข้าสู่ความสงบนิ่งเช่นนั้น
ฉันเม้มปาก รู้ตัวว่าถ้านั่งคิดเคร่งวกวนแบบนี้อีกพักหนึ่งร่างกายจะหนัก ความง่วงเหงาหดหู่จะมาเยือน จึงคิดเปลี่ยนอิริยาบถไปเดินเล่นเสียหน่อย โดยไม่ลืมหยิบปากกากับสมุดบันทึกเล่มเล็กติดตัวมาด้วย
สัญชาตญาณของคนต้องการพักผ่อนพาฉันมาที่สนามหญ้าหน้าบ้าน เห็นผีเสื้อสองสามตัวบินเล่นกันเรี่ยพื้นหญ้าแล้วค่อยรู้สึกว่าความเกร็งลดลง ฉันรีบจดบันทึกว่าสายตามีส่วนสำคัญกับความเกร็งหรือความผ่อนคลาย ถ้าทอดยาวมองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ใจจะเหมือนประตูที่เปิดอ้าออกกว้างเพื่อรับภาพกระทบภายนอก แต่ถ้าทอดต่ำหรือมองไม่เห็นอะไร ส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องสะท้อนว่าจิตกำลังหมกมุ่นอยู่กับความคิดนึกฟุ้งซ่านวกวนไร้จุดหมาย กำลังคิดอะไร กลัดกลุ้มเกี่ยวกับเรื่องไหน บางทีเจ้าตัวไม่ทราบด้วยซ้ำ เพราะคลื่นความคิดเหมือนน้ำขุ่นคลัก บดบังไม่ให้เห็นอะไรเสียหมด
ฉันออกมายืนกลางสนาม เงยหน้ามองฟ้าใสสบายๆ และรู้สึกหัวอกเปิดโล่งดีจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจิตปิดแคบเคร่งครัดเมื่อครู่ เรียกว่าเป็นคนละเรื่องทีเดียว ฉันยิ้มด้วยอาการของคนตาสว่าง เมื่อยังเห็นคลุมไปทั้งโค้งฟ้าเบื้องบนนั้นเอง ก็ลองกำหนดว่าจะรู้ลมหายใจออก รู้ลมหายใจเข้าไปด้วย
สายตาฉันอาจเห็นฟ้าเพียงพร่าเลือน แต่มันก็ถูกกำหนดให้มองสบายอยู่อย่างนั้น พูดง่ายๆว่าฟ้าเป็นเพียงเป้าล่อให้เกิดโฟกัสที่ไม่บีบรัดคับแคบ ไม่ใช่เป้าหมายวัตถุที่ต้องการจะรู้จริงๆ สิ่งที่ปรากฏต่อใจเป็นอันดับหนึ่งคือลมเข้าออก
ฉันพบว่าเมื่อทำเช่นนั้น ใจมีความปลอดโปร่งสบาย และพร้อมรู้ลมหายใจตามจริงว่ากำลังเข้าหรือออก ยิ่งนานก็ยิ่งเบาตัว แม้คลื่นความฟุ้งซ่านยังคอยตามราวีแทรกแซงสติอยู่ตลอด ก็ไม่รู้สึกรำคาญ รวมทั้งไม่สามารถทำให้ลมหายใจเสียความสำคัญไปแต่อย่างใด
ฉันจดจำไว้ในใจว่าจิตต้องเปิดสบายเหมือนมองฟ้าอย่างนี้ สติถึงจะเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง
นับลมหายใจได้ประมาณ ๒๐ ครั้งฉันก็เริ่มเมื่อยขา จึงรู้สึกตัวว่าแม้ไม่เกร็งช่วงบน ช่วงล่างก็ตึงๆอยู่ดี จึงย้ายที่กลับเข้าห้องนอนใหม่ พอถึงห้องนอนก็อุทานในใจว่าตาย! ลมหายใจถูกทิ้งขว้างไว้ระหว่างทางโดยไม่รู้สึกตัวแม้แต่นิดเดียว สติหายไปไหนตั้งแต่เมื่อไหร่กันนี่?
เครียดขึ้นมานิดๆเมื่อเห็นว่าสติเป็นสิ่งที่รักษาได้ยาก แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยฉันก็ได้ความเข้าใจว่าองค์ที่หนึ่งของโพชฌงค์ยังไม่ได้ปรากฏอย่างแท้จริง เมื่อครู่กลางสนามนั้นเป็นเพียงสติชั่วคราวที่พร้อมจะเลือนทันทีที่ใจแลบออกไปหาสิ่งอื่น และใจเมื่อแลบแล้วก็มักจะหายลับไม่กลับมาอีกเลยถ้าไม่กำหนดเรียก
เริ่มต้นเห็นตัวเองไม่เอาไหนก็รู้สึกท้อเสียแล้ว เตียงนอนยามนี้ดูคล้ายเครื่องส่งพลังดึงดูดให้ร่างกายฉันลงไปนอนแผ่ และฉันก็ยังไม่มีเหตุผลอะไรต้องไปสู้กับแรงดึงดูดชนิดนั้น จึงลงนอนในฐานะเจ้าของเตียงผู้มีอำนาจเต็ม วันว่างทำให้ฉันมีเวลาเหลือเฟือสำหรับการคลายอิริยาบถ
หลับตาลง รู้สึกถึงกายเหยียดยาว ความสบายทำให้เกิดความคิดว่ามัวไปกำหนดสติหาอะไร นอนหลับพักผ่อนให้สมกับเป็นวันขึ้นปีใหม่ที่ได้พักงานสบายไม่ดีกว่าหรือ?
พอรู้สึกตัวว่าคิดเช่นนั้นก็สะดุ้งเล็กน้อย เพิ่งสิบนาทีที่ยอดมนุษย์เริ่มเดินทางไกล ตัวน่าเกลียดอะไรดันทะลึ่งโผล่เข้ามาในหัวกันล่ะนี่ แต่ฉันก็ไม่โทษตัวเอง เพราะอย่างน้อยก็ไวพอจะจับได้ไล่ทันเจ้าตัวน่าเกลียดนั้นโยนทิ้งจากทาง
โดยไม่ขยับเปลี่ยนจากอิริยาบถนอนให้เสียเวลา ฉันลากลมหายใจเข้าสบายๆ พบว่าในท่านอนนี้เกื้อกูลการลากลมมากกว่าท่านั่ง ยืน เดิน เพราะร่างกายเหยียดสบายตลอด ไม่มีน้ำหนักส่วนบนกดหน้าท้องไว้ หน้าท้องจึงพองขึ้นได้อย่างสะดวกยามลากลมเข้ายาว
เอ้อ! ความสบายสายตา ความสบายหน้าท้อง รวมทั้งความผ่อนคลายองคาพยพนี้นับเป็นปัจจัยแวดล้อมเอื้ออำนวยให้สติตั้งได้ดี ตั้งได้ทนจริงๆ ใจนึกว่าเดี๋ยวลุกขึ้นจะไปจดความจริงนี้ใส่สมุดบันทึกอีก
แต่แล้วความสังเกตสังกาก็พาไปพบความจริงอีกประการหนึ่ง นั่นคือเมื่อร่างเหยียดยาวในแนวราบ สติจะลดความคมลงในระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไปเดี๋ยวเดียว นอนนับลมได้แค่สองสามหน ในหัวก็เริ่มเหมือนมีหมอกมัวฝ้าฟางโรยตัวลงกระจายเต็ม สติรับรู้ลมเข้าออกเริ่มรางเลือนทีละน้อยกระทั่งหลับวูบไปโดยไม่รู้สึกตัว ทั้งที่อยากบอกตัวเองให้ลุกขึ้นก่อนจะสาย มันก็สายไปจริงๆเสียแล้ว
ฉันตื่นนอนเพราะคนในบ้านเรียกไปทานข้าวเย็น บ้านฉันไม่เห่อปีใหม่มาแต่ไหนแต่ไร วันที่ ๑ มกราของทุกปีจึงมักพบพวกฉันได้พร้อมหน้าเสมอ หลังทานข้าวฉันทำกิจกรรมกับครอบครัวตามปกติ พยายามนึกถึงลมหายใจไปด้วย ซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ขอให้แน่ใจว่าตัวเองกำลังอาศัยราวเกาะของพระพุทธเจ้าในการตั้งสติอยู่
ฉันสังเกตว่าขณะเป็นฝ่ายพูด แทบไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะระลึกถึงลมเข้าออก แต่มันเป็นไปได้ที่จะรู้สบายๆไปด้วยระหว่างฟังคนอื่นพูด บางทีมีความสับสนว่าใจกำลังอยู่กับอะไรกันแน่ระหว่างฟังคนอื่นกับรู้ลมหายใจ พอรู้สึกตึงๆขึ้นมาก็ปรับใหม่ ฟังคนอื่นพูดเต็มที่ แล้วพอถึงจังหวะว่างค่อยถามตัวเองเงียบๆว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า
ได้ผลเหมือนกัน ฉันว่าฉันเริ่มรู้ลมหายใจชัดขึ้นกว่าปกติ อาจเป็นเพราะจิตจดจ่อฝักใฝ่จริงจังไม่คิดทอดทิ้ง หรืออาจเป็นเพราะฉันเริ่มเข้าใจอาการของจิตว่าเป็นอย่างไรถึงจะรู้ลมหายใจได้สบายๆ
ปกติฉันนอนประมาณห้าทุ่มและตื่นราวตีห้าเพื่อลุกขึ้นอาบน้ำเตรียมตัวไปทำงาน แต่เมื่อศรัทธาในทางพ้นทุกข์คือสติปัฏฐาน ๔ เวลานอนและตื่นก็ถูกกำหนดขึ้นใหม่ คือเข้านอนสี่ทุ่มและตื่นตีสี่
ฉันพิจารณาแล้วเห็นว่าอานาปานสติเต็มขั้นของพระพุทธเจ้านั้น ต้องการทั้งเครื่องประกอบภายในและเครื่องประกอบภายนอก เครื่องประกอบภายในได้แก่ลมหายใจกับสติ เครื่องประกอบภายนอกได้แก่สถานที่อันวิเวก อย่างน้อยก็บ่งเป็นนัยว่าสิ่งแวดล้อมในการตั้งต้นบำเพ็ญอานาปานสติเป็นเรื่องเป็นราวนั้น ไม่ควรอึกทึกครึกโครม กับทั้งไม่ควรมีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากลมหายใจ นับว่าโชคดีที่ฉันนอนคนเดียวในห้องเดี่ยว และช่วงสี่ทุ่มแถวบ้านฉันก็สงัดสงบเหมือนราวป่า ฉะนั้นจึงเรียกได้ว่าเข้ากติกาอานาปานสติพอสมควร
นับว่าฉันได้ตัวอย่างจากการตั้งสติรู้ลมหายใจขณะลืมตามาพอสมควร ฮ่า! นี่ขนาดวันเดียวนะ นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวเชียวล่ะ คราวนี้ฉันจะนั่งหลับตารู้ลมหายใจดูบ้าง เป็นการนั่งหลับตาด้วยความตั้งใจว่าจะเอาตัวอย่างการรู้ลมที่ถูกต้อง รวมทั้งสร้างสติให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อนำไปใช้ในเวลาปกติ มากกว่าที่จะนั่งหวังความสงบสุขเหมือนเช่นที่เคยผ่านๆมา
นั่งขัดสมาธิวางมือขวาซ้อนมือซ้าย พอปิดตาลง โลกภายนอกหายไป เหลือแต่โลกภายใน ทุกอย่างก็แตกต่าง ตอนที่ตาคนเราเปิดมองโลกภายนอกนั้น ช่างไม่มีความตระหนักเอาเสียเลยว่าจิตใจภายในอลหม่านอึงมี่ด้วยพายุความคิดหนักหน่วงปานใด ต่อเมื่อปิดตาลงและพยายามยุติความคิด หันเหความสนใจไปหาลมหายใจ นั่นแหละจึงรู้ตัว โอ้โฮ! อะไรมันจะคิดไม่หยุดขนาดนี้!
ฉันเผลอไปกำหนดลมหายใจตามความเคยชินเดิมๆเข้าอีก คือพยายามตั้งใจเพ่งเล็ง ยึดจับลมหายใจแน่วเหนียวเหมือนพวกเล่นรักบี้ แย่งลูกได้แล้วต้องกอดไว้กับอกไม่ยอมให้ใครมาแย่ง แต่แม้กระนั้นก็อุตส่าห์มีศัตรูมาแย่งไปจากอกจนได้สิน่า
ตามลมได้สามสิบครั้งก็ท้อแท้ เพราะเหนื่อยและเกร็งอีกแล้ว แถมเหน็บกินขาอีกต่างหาก ฉันลุกขึ้นเดินกระย่องกระแย่งไปเปิดสมุดอ่านที่จดบันทึกไว้ ทำให้นึกออกว่าแก้อาการเพ่งเคร่งเครียดได้อย่างไร สายตา สายตา สายตา ฉันบ่นท่องกับตัวเอง ถ้าทอดยาวสบายๆ ไม่คาดหวังอะไร แบบเดียวกับทอดตามองฟ้าโดยไม่หวังให้ฟ้าบันดาลความสงบ เดี๋ยวก็เกิดจิตที่โปร่งโล่งพร้อมรู้ขึ้นเอง
แต่เมื่อความเครียดเกิดขึ้นเสียแล้ว ฉันก็ไม่อยากดันทุรังนั่งหลับตาต่อเป็นการเพิ่มความเครียด เปลี่ยนเป็นเดินออกมานอกบ้าน ดูลมชมดาวเล่นเสีย ขณะกำลังมองกลุ่มดาวในเขตกว้างๆของโค้งฟ้าหนึ่ง ก็รู้สึกสบายใจพอจะถามตัวเองว่านี่กำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า เมื่อเห็นว่าตัวเองสามารถรู้ได้สบายๆเกือบสิบลมหายใจ ก็บอกตัวเองยิ้มๆว่าอย่างนี้แหละถึงจะเรียกว่าใช่
แล้วก็ฉุกใจคิดขึ้นมาวาบหนึ่ง ถามตัวเองจริงจังว่า อะไรเป็นเหตุแห่งความเพ่งเครียดเกินเหตุ ทั้งที่ลืมตาปกติดูฟ้าดูไม้ดีๆก็อาจรู้ลมหายใจแบบสบายๆได้ต่อเนื่อง?
ฉันปิดตาลงทันทีทั้งยืนอยู่ท่าเดิม พองท้องออกดึงลมหายใจเข้าด้วยความสดชื่น ระบายลมหายใจออกด้วยความผ่อนคลาย แล้วสังเกตอาการของจิตตนเอง ฉับพลันก็เห็นพายุฝุ่นแห่งความฟุ้งซ่านก่อตัวขึ้นแทนที่ความสุขกายสบายใจ กับทั้งสังเกตเห็นว่าเมื่อจะดึงลมระลอกใหม่ มีความอึดอัดขัดอก
ฉันเห็นแล้ว เพราะอาการพยายามฝืนสู้กับความคิด บังคับจิตให้ลงไปจ่อกับลมหายใจนั่นเอง เป็นชนวนให้เกิดความเครียด ความเกร็งแน่นขึ้นมา ตามธรรมดาเมื่อหลับตาลง ความคิดคนเราจะดูเหมือนฟุ้งกระจายทันที ทั้งที่ความจริงมันฟุ้งเท่าเดิมนั่นแหละ แต่พอไม่มีอะไรล่อหูล่อตา ถูกกั้นเขตให้เห็นเฉพาะความคิดฟุ้งยุ่งอย่างเดียว เลยคล้ายกับปั่นป่วนเป็นพิเศษ ถ้าหากไม่พยายามไปขืนสู้ แค่รับรู้ตามจริงว่าเรามีความฟุ้งอยู่ในระหว่างความรู้ลมหายใจ จิตก็จะค่อยๆสงบลงเองเพราะไม่ต้องออกแรงเค้นสู้ ขณะเดียวกันก็ยังเพลินกับลมหายใจไม่ละทิ้งไปไหน
อาการฝืนสู้กับความคิดจะทำให้ตาบีบและเพ่งแคบ แต่อาการยอมรับตามจริงสบายๆจะทำให้ตาทอดสบายและเปิดกว้างเหมือนขณะที่ลืมตามองไกลๆ
ฉันเดินวนเวียนอยู่ในสนามนั่นเอง เดินเล่นๆ แต่กำหนดรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ จนแน่ใจว่าสามารถเห็นลมหายใจออก เห็นลมหายใจเข้า เท่าทันและรู้จริงต่อเนื่องได้ทีละไม่ต่ำกว่า ๕-๖ ระลอก กว่าที่สติจะพร่าเลือนโดยไม่รู้ตัว พอเงยหน้ามองดาวแล้วนึกได้ก็กำหนดใหม่ เห็นลมหายใจกันใหม่
กระทั่งรู้สึกเพลีย และภายในเริ่มตึงๆขึ้นมาจากความพยายามตามลม ฉันพิจารณาแล้วเห็นว่าถึงทำต่อก็คงเปล่าประโยชน์ เพราะจิตเริ่มแช่ๆชาๆ จึงตัดสินใจเดินเข้าบ้านอาบน้ำเตรียมนอนดีกว่า
สรุปในคืนแรก บอกกับตัวเองว่าวันนี้ไม่ได้สูญเปล่า เพราะเป็นวันแห่งการเอาตัวเองเป็นห้องทดลองเพื่อให้รู้ว่าจิตที่ผิดทางเป็นอย่างไร จิตที่ถูกทางเป็นอย่างไร วันต่อๆไปจะได้ไม่ทำผิดอีก
 
วันที่ ๒: รู้เท่าที่สามารถรู้
ตื่นนอนตอนตีสี่ตามนาฬิกาปลุก ฉันเห็นความขี้เกียจลุกเพราะตื่นผิดเวลา คือเร็วไปชั่วโมงหนึ่ง แต่ก็ไม่อยากผิดสัญญากับตัวเอง คือจะใช้เวลาช่วงที่พอเจียดมาได้จากส่วนต่างๆของวันให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะอ้างว่าเป็นคนเมือง ต้องทำงาน ไม่มีเวลาปฏิบัติเหมือนอดีต
ลุกขึ้นด้วยท่าทางไม่ค่อยเต็มใจ ทั้งที่สมัครใจเอง ไม่มีใครบังคับ ฉันออกกายบริหารเล็กน้อยเพื่อให้ตาตื่นและเส้นสายยืดขึ้น พอได้ความสดชื่นยามเช้ามาช่วยให้สติเต็มขึ้น ฉันก็ได้คิดว่าสมัยก่อนฉันเปรียบเหมือนคนอยากรวยร้อยล้าน แต่จะขอลงทุนแค่สามพัน อยากได้มรรคผลแต่ไม่เคยยอมตื่นนอนเร็วอย่างนี้มาก่อนเลย ยอมเป็นขี้ข้าความง่วงตลอดศก
ฉันล้างหน้าบ้วนปากแล้วกลับมานั่งสมาธิที่ห้องนอน คราวนี้ไม่นั่งพื้น แต่นั่งเก้าอี้ห้อยเท้าวางราบกับพื้นอย่างต้องการเปรียบเทียบว่าแตกต่างจากการนั่งขัดสมาธิอย่างไร
ฉันนั่งก้มหน้าด้วยความเคยชิน พอปิดตาหายใจเพียงสองสามฟืดก็เหมือนจะหลับ คล้ายวัวถูกเชือดที่เหลือเพียงลมหายใจฟืดฟาดครั้งท้ายๆก่อนคอพับคออ่อนนิ่งสู่สุคติ ชั่วภวังค์ใหญ่ต่อมาจึงสะดุ้งเฮือกตื่นขึ้นและถามตัวเองว่ากำลังทำอะไร เมื่อกิริยาทางกายตอบตัวเองว่าดูเหมือนจะนั่งสมาธิ เลยยกสติขึ้นตั้งใหม่ ยืดกายตรง ดำรงความรู้สึกตัวดีๆ ฉันลองเชิดหน้าขึ้นนิดหนึ่ง แล้วบอกตัวเองว่าใบหน้าตั้งๆช่วยดึงไม่ให้สติล้มง่ายนัก แถมใจเปิดสบายดีด้วย จึงตั้งใจนับแต่นั้นว่าต่อไปการนั่งสมาธิทุกครั้งจะไม่ก้มหน้าเลย
แต่ในที่สุดหน้าก็ก้มของมันเอง แถมหลังงองุ้มตั้งตรงยากคล้ายคนมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ งอไปงอมาก็ทิ้งตัวนอนหลับครอกโดยไม่มีโอกาสรู้สึกตัวกลับขึ้นฮึดสู้อีก การนอนหลับช่างเป็นสิ่งที่น่าอภิรมย์จริงหนอ
กว่าจะตื่นอีกทีก็ปาเข้าไปแปดโมงครึ่ง ฉันงัวเงียลุกขึ้นด้วยความรู้สึกของผู้แพ้ ใจชักนึกท้อเหมือนที่เคยท้อมานับพันนับหมื่นครั้ง ถามตัวเองว่าจะไปได้สักกี่น้ำกัน…
ฉันแปรงฟันอาบน้ำและทานข้าวชาวตามสบาย มารู้สึกตัวถามหาราวเกาะว่าอยู่ไหนแล้ว ก็เข้าไปหลังเวลาอาหารเช้าหลายนาที พอนึกถึงลมหายใจได้ทั้งยังอิ่มๆ จิตก็ถามตัวเองว่ามัวทำอะไรอยู่เพื่ออะไร คนเราเวลาอิ่มแน่นนี่หนังตาหย่อน กล้ามเนื้อถ่วงลงสู่สภาพราบกับพื้นได้ทุกที รู้ลมหายใจได้เพียงสองสามหนก็เข้าสู่ภาวะมืดทึบ ร่างกายปรากฏเป็นเหมือนสุสานฝังศพสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ยัดเยียดไปหมด
ถอนใจเฮือกหนึ่ง บังเกิดความท้อแท้และถามตัวเองซ้ำขึ้นมาอีก จะไปไหวไหม? จะทนได้สักกี่น้ำ? จะเอาของสูงมาครองได้แน่หรือ? ฯลฯ
ฉันเปิดสมุดพก ไม่ได้ตั้งจะเขียนอะไรเป็นพิเศษ แต่พลิกไปเจอหน้าหนึ่งที่เขียนไว้เองว่า ทางรอดจากวังวนวัฏสงสารนั้นแคบ เดินยาก และมีแสงสว่างฉายให้เห็นทางนั้นได้วูบเดียว ชาตินี้เผอิญมาเห็นก็นับว่าโชคดีอย่างไม่อาจมีชาติไหนเทียบแล้ว ฉันจะต้องตะเกียกตะกายเดินให้ทันทางก่อนแสงหายให้จงได้ เพราะถึงลำบากแค่ไหนก็คงดีกว่าการตะเกียกตะกายอยู่ในนรกแห่งความไม่รู้ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์แน่นอน
อ่านจบก็ตาสว่าง มีกำลังใจฮึดกลับมาใหม่ ตระหนักในบัดนั้นว่าก้าวแรกๆต้องอาศัยกำลังใจทั้งจากภายในและภายนอก การจดความคิดของตัวเองไว้อ่านภายหลังนับเป็นเรื่องดี เพราะอาจมีบางคำที่เตือนให้จำได้ว่าเรามาเสียเวลา เสียแรง เสียกำลังสติทุ่มเทอยู่อย่างนี้เพื่ออะไร มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขี้ลืม ตั้งใจไว้แค่ไหน มีอารมณ์ปรารถนานิพพานรุนแรงเพียงใด ในที่สุดก็มักกลายเป็นบัวแล้งน้ำ เพราะอยู่ในน้ำที่แห้งเร็ว ถ้าขาดน้ำคอยเติมเสียบ้างก็จะเหี่ยวเฉาลง ยากจะอยู่ยั้งทนนานรอการบานออกเต็มดอกเหมือนเหล่าบัวอิ่มน้ำ
ฉันเลือกไปนั่งใต้ต้นปาล์มหลังบ้านซึ่งเป็นส่วนที่ร่มรื่น ใครๆมักเห็นฉันมาปูเสื่ออ่านหนังสือที่นี่ประจำอยู่แล้ว แต่วันนี้หากใครมองออกมาทางหลังบ้าน ก็จะเห็นฉันนั่งตัวเปล่าปราศจากหนังสือ นั่งหลับตาขัดสมาธิ ซึ่งคนในครอบครัวเลิกเห็นเป็นเรื่องแปลกแล้ว เนื่องจากรู้ว่าฉันมีอัธยาศัยทางนี้มาพักใหญ่
นั่งใต้ร่มไม้ดีอย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าถึงแนะนำ ฉันเคยสังเกตอยู่เหมือนกันว่าถ้าใกล้ชิดธรรมชาติ ธรรมชาติจะช่วยเราในแง่ความสดชื่น การอยู่ใต้ร่มไม้ที่มีลมรำเพยพัดเป็นระยะจะทำให้เนื้อตัวสบาย จิตใจพลอยคลายอาการเร่งรีบเกินกำลังไปด้วย ถ้านั่งอยู่ริมคลองหรือแม่น้ำที่ไหลริน ก็ได้พลังจากการรินไหลของน้ำช่วยให้เยือกเย็นและเอิบอิ่มง่าย หรือถ้านั่งอยู่ชายทะเลก็จะรู้สึกถึงความเปิดกว้างปลอดโปร่งของจิตตามสายตาที่ทอดได้ไกลและเนิ่นนาน
ร่มไม้ที่ช่วยให้ใจเย็นลง ทำให้ฉันได้คติในการภาวนามาอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือถ้าใจเราเย็น ไม่เร่งร้อนว่าจะต้องสงบให้ได้เดี๋ยวนี้ ก็เหมือนมีพื้นฐานความสงบที่ดีอยู่แล้ว ขอเพียงตามรู้ไปว่าลมหายใจกำลังออกหรือกำลังเข้า พอเหตุปัจจัยประชุมพร้อมก็ได้ส่วนความสงบและตื่นรู้ขึ้นมาเอง
นับลมไปได้ประมาณ ๕๐ ครั้ง แผ่นหลังก็เริ่มออกอาการหาที่พึ่งพิง ทีแรกก็พึ่งส่วนนูนของโคนต้นปาล์ม แต่ทำๆไปอีกหน่อยก็เปลี่ยนไปพึ่งเสื่อเสียแทน การทำสมาธิก่อนนอนนี่ทำให้หลับสบายดีจริงๆ ฉันเชื่อสนิทเลย
ตื่นขึ้นมาด้วยนโยบายใหม่ นึกถึงลมหายใจขึ้นได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ฉันจะไม่เร่งรัดตนเองอีก
ปรากฏว่าที่เหลือของวันนั้น ฉันรู้สึกเป็นสุข จิตใจปลอดโปร่งสบายนัก รู้ลมเข้าออกได้ก็รู้ รู้ไม่ได้ก็ช่างมัน ไม่มีใครคอยบังคับกะเกณฑ์เสียหน่อย
สรุปในคืนนี้ ฉันรู้ได้สบายขึ้น และได้แง่คิดในการทำใจว่าแค่รู้เป็นระยะๆก็ดีแล้ว ขอให้รู้อยู่เรื่อยๆและจิตใจเป็นสุขสบายเถอะ ฉันภาวนาเพื่อพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มทุกข์
 
วันที่ ๓: ราวเกาะในที่ทำงาน
เช้านี้ตื่นตีสี่ตามเคย ยังไม่เคยชินนักกับเวลาตื่นใหม่ ก้นบึ้งของหัวใจอยากล้มตัวลงนอนต่อ แต่ส่วนสำนึกที่อยู่ชั้นนอกก็บอกตัวเองว่าความพ่ายแพ้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดยืดยาวเป็นนิรันดร์มักเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างเช่นการยอมล้มตัวลงนอนต่อนี่เอง คิดได้ก็กัดฟันลุกขึ้นล้างหน้าบ้วนปาก แล้วกลับมานั่ง ‘ซ้อมรู้ลม’ กันอีกรอบ
ฉันเอาตามคติในการภาวนาแบบเมื่อวาน คือรู้ได้เท่าที่รู้ รู้ไม่ได้ก็ช่าง ไม่พยายามฝืนบังคับให้รู้ตลอด แต่รอบนี้ช่างต่างจากตอนนั่งใต้ร่มไม้เป็นคนละเรื่อง คือพอทำใจ ‘ไม่รู้ก็ช่างมัน’ ไปได้เดี๋ยวเดียว ความโงกง่วงก็กลับมาถามหา ทั้งเหม่อ ทั้งฟุ้งยุ่ง จับลมไม่ติดเลยสักระลอก
เป็นวันทำงานวันแรก ฉันหาวบ่อยเพราะยังไม่เคยชินกับการตื่นผิดเวลา แถมเวลาที่เสียไปในช่วงเช้ายังดูเหมือนสูญเปล่ากับการเฝ้าบอกตัวเองว่า ‘รู้ได้เท่าที่รู้’ ซ้ำไปซ้ำมา แต่พร่ำบอกเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยจะรู้สักที เหมือนย่ำกับที่ ซ้ำอยู่กับภวังค์เหม่อหรือฝุ่นฟุ้งทางอารมณ์เสียมาก
ทำงานแบบสะลึมสะลือ แต่พอเข้าห้องประชุมแล้วโดนคู่อริเล่นงานต่อหน้าใครต่อใคร ฉันก็ตาตื่นโพลงทันที ขึ้นเสียงเถียงกับฝ่ายตรงข้ามอย่างมีอารมณ์
แย่จัง เถียงเสร็จก็ต้องมาพยายามนั่งสงบสติ ใจเดือดปุดๆเหมือนน้ำร้อนจัด อาการหน้ามืดเพราะโทสะทำให้โลกมืดได้จริง มองไปทางไหนเหมือนมีม่านหมอกดำๆคลุม ส่วนลมหายใจนั้นไม่ต้องพูดถึง ราวอยู่คนละโลกกับฉันเรียบร้อย ต่อให้ใช้กล้องดูดาวหรือกล้องจุลทรรศน์ส่องก็ไม่มีทางเห็นเลย เห็นแต่หน้าเจ้าวายร้ายที่เล่นงานฉันในห้องประชุมวนเวียนหลอกหลอนอยู่ตลอด
เวร! เขาต้องเรียกเวรจริงๆ เรียกอย่างอื่นไม่ได้ มันกับฉันจะต้องจองเวรกันมาหลายชาติ เจอะหน้าทีแรกก็เหมือนมีกลิ่นเหม็นๆระเหยออกมาเข้าจมูกแล้ว ยิ่งคบ ยิ่งทำงานกันนานก็ยิ่งเกลียดเข้าไส้ เวลาต้องเดินสวนกันในบริษัท ทางเดินเหมือนแคบลงถนัดใจ ไม่รู้จะมองหน้ามองตากันท่าไหนดี มันชอบยิ้มแสยะหาเรื่องฉันเสียด้วย
กว่าจะรู้ตัวว่าเสียสติให้กับการหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องศัตรู ก็ปาเข้าไปครึ่งค่อนวัน ฉันควักสมุดพกออกมา แล้วตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า ทางไปนิพพานหายไปไหน?
เพื่อศัตรู ฉันยอมหลงเข้ารกเข้าพง ฉันยอมสละทางไปนิพพาน ฉันยอมลืมลมหายใจอันเป็นราวเกาะ นี่ฉันให้ความสำคัญกับศัตรูขนาดนี้ทีเดียวหรือ?
พอเขียนข้อความใส่สมุดพกเสร็จก็ถอนใจยาว การถอนใจครั้งนั้นมีความหมายมาก เพราะหนึ่งมันทำให้สติฉันกลับมาอยู่กับลมหายใจอีกครั้งดุจเดียวกับคนล้มแล้วนึกได้ว่าต้องยืนขึ้นคว้าราวเกาะ และสองมันทำให้ฉันวางศัตรูลง คล้ายมโนภาพอันน่ารังเกียจถูกระบายออกตามลมหายใจสู่อากาศว่างเบื้องนอก ในหัวฉันว่างเปล่าลงทันที จิตใจสงบพอจะรู้ว่าลมหายใจเข้าถัดจากนั้นปรากฏขึ้นเมื่อไหร่
แค่รู้ว่าลมออกเมื่อไหร่ รู้ว่าลมเข้าตอนไหน ก็ทำให้ศัตรูทั้งคนหายไปจากโลกนี้แล้ว เออ… ทำไมไม่รู้เสียตั้งแค่ครึ่งวันก่อนหนอ?
นั่งลืมตานิ่งรู้ลมหายใจเกือบห้านาที จนมีคนมาคุยเรื่องงาน ก็ต้องทุ่มความคิดให้กับงานไป ฉันมาบันทึกในภายหลังว่าเป็นฆราวาสจะเลือกไม่ได้ ความสำคัญอันดับหนึ่งต้องทุ่มให้กับงานก่อน
พอต้องคุยกับคน พอต้องคิดเรื่องงาน พายุความคิดก็ก่อตัวใหม่ ลมหายใจไม่ต้องดูกันเป็นชั่วโมงๆ กว่าจะได้เวลาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้งก็ตกเย็น ซึ่งเลยเวลาเลิกงานมาเป็นชั่วโมงแล้ว
ฉันนั่งสะสางงานประจำวันจนเสร็จด้วยความอ่อนล้า ลืมลมหายใจ ลืมเรื่องการปฏิบัติ ลืมนึกถึงมรรคผลนิพพานอันเหมือนเรื่องไกลตัวสุดกู่ไปแล้ว
ขับรถกลับบ้าน ระหว่างทางถามตัวเองเป็นการปลุกสติอยู่เรื่อยๆว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก รู้เท่าที่รู้ ไม่รู้ก็ช่างมัน เดี๋ยวกลับมารู้ใหม่เอง
แต่การทำเช่นนั้นขณะอ่อนล้าและฟุ้งยุ่ง ตามความเป็นจริงคือหลุดยาว หายนาน และเหม่อลอยไปถึงไหนต่อไหน เพื่อนร่วมงานตัวแสบโผล่กลับมาเยี่ยมอีก ฉันอยากให้สมองเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่กำหนดสั่งได้ว่าจะให้ดักเค้าโครงหน้าแบบไหน ไม่อนุญาตโครงหน้าแบบนั้นเข้ามาสู่จิตใจ แต่สมองมนุษย์ก็ไม่มีปุ่มกดเลือกตามปรารถนา เมื่อเขามา เขาก็มา ห้ามไม่ได้
เลิกคิ้วนิดหนึ่งระหว่างจอดไฟแดง เห็นสภาพจิตใจตนเองในบัดนี้เหมือนเด็กน้อยที่กำลังขายังไม่แข็ง พอมือพลาดจากราวเกาะก็หกล้มหกลุกทันที แต่ขณะเดียวกันก็เห็นหัวใจของคนไม่ยอมแพ้ ยังมีแก่ใจลุกขึ้นสู้ด้วยจิตวิญญาณความเป็นพุทธที่ไม่ยอมเป็นรองกิเลสนานนัก
ฉันใช้ขันติเล็กน้อย เกือบกัดฟันนิดๆเมื่อตั้งสติรู้ว่าลมหายใจกำลังอยู่ในจังหวะไหน ออกหรือว่าเข้า วินาทีนั้นคือขาเข้า ฉันรู้สึกทรมานที่ต้องฝืนจิตไม่คิดถึงศัตรู คิดถึงแต่ลมหายใจอย่างเดียว
อ้าว! ตายล่ะ! ลืมอีกแล้ว นี่ฉันต่อสู้กับความคิดตัวเองเหมือนต้านกระแสน้ำเชี่ยวกราก เดินทวนอย่างอืดอาดกลับมาหาลมหายใจอีกครั้ง ฉันกะพริบตาปริบๆ เริ่มงุนงงสับสนว่าจะเอาไง ฝืนใจก็ไม่ใช่ ปล่อยใจก็ไม่ดี แล้วที่อยู่ตรงกลางคืออะไร?
ความเครียดปรากฏเด่น
หายใจออกเหมือนระบายความเครียดได้หน่อยหนึ่ง
หายใจเข้าอีกครั้งคล้ายลืมๆศัตรูไปเสียได้เพราะความเครียดอ่อนกำลังลง
ตาสว่างกระจ่างพลัน เผอิญรถติดไฟแดงยาวเลยมีเวลาพิจารณานานหน่อย ฉันก็แค่ปล่อยให้ความเครียดเกิดขึ้นด้วยอาการยอมรับตามจริงว่ามันเกิดขึ้น พอระบายลมหายใจออกจนสุดครั้งต่อไปก็สังเกตว่าความเครียดยังเท่าเดิมหรือไม่ ความไม่เที่ยงก็ปรากฏต่อใจแล้ว และเมื่อใดใจเห็นความไม่เที่ยงโดยปราศจากอาการครุ่นคิดต่อ เมื่อนั้นจิตย่อมเป็นอิสระเบิกบาน
ถึงกับยิ้มมุมปากและนึกขอบคุณเพื่อนร่วมงานตัวดี ที่ช่วยส่งอารมณ์มาป้อนปัญญา
กระหยิ่มใจจนนึกอยากให้ความเครียดกลับมาใหม่ ฉันรู้วิธีดูแล้ว ก็แค่ตั้งสติกำหนดเหมือนมันเป็นลมหายใจ พอเข้ามาจนสุด แล้วก็ต้องผ่านกลับออกไปเป็นธรรมดา
นั่งสมาธิก่อนนอนคืนนั้นก็เป็นดังคาด มโนภาพเพื่อนร่วมงานปากร้ายผ่านเข้ามาในหัว เจอมันด่ารับปีใหม่ เชื่อเลยจริงๆ แต่ฉันก็อาศัยช่วงเวลานั่งหลับตาทำสมาธินั่นเองเป็นเครื่องซ้อม กล่าวคือเมื่อความจำเกี่ยวกับศัตรูผุดขึ้น ฉันทำอาการเหมือนเห็นการปรากฏของลมหายใจ ต่างแต่ว่าความจำเป็นนามธรรม รับรู้ได้เพียงด้วยใจ ทราบตามจริงว่ามีอาการทางกายตอบสนอง คือคล้ายกล้ามเนื้อหลายๆส่วนบีบแน่นขึ้น ที่เห็นชัดคือหัวคิ้วขมวด
เปลี่ยนมารู้ลมหายใจเข้าระลอกต่อมา รู้ว่าพอสุดทางแล้วจะต้องระบายออกเป็นธรรมดา เมื่อระบายออกจนสุดแล้วสังเกตอาการทางกายก่อน พบว่ามันผ่อนคลายจากเมื่อครู่ หัวคิ้วไม่ขมวดแน่น อาการบีบตามเนื้อตัวหย่อนลงหน่อยหนึ่ง ส่วนความฟุ้งแน่นในใจแม้ยังคาอยู่ ก็ไม่มีแรงดิ้นอย่างครั้งแรกที่ความจำผุดขึ้น
สลับไปสบายกับลมหายใจอันว่างเปล่าทั้งขาเข้าและขาออก แล้วกลับมานึกถึงคู่อริอีก ผลัดเปลี่ยนเวียนวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใจส่วนลึกยังมีความแค้นๆคันๆ แต่ก็มีใจเดียวมุ่งมั่นรู้ให้ได้ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า กับทั้งเฝ้าเปรียบเทียบทุกครั้งว่าความเครียดแน่นต่างระดับไปจากลมหายใจก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด จนในที่สุดก็เกิดประสบการณ์ครั้งสำคัญ คือพบความเสมอกันระหว่างรูปธรรมกับนามธรรม นั่นคือมันเข้ามาแล้วก็ต้องออกไปเป็นธรรมดา
ถ้าพูดให้ฟังจะเหมือนเข้าใจได้ แต่ตอนประจักษ์ด้วยจิตหลังการมีสติรู้เห็นตามจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่ากระทั่งจิตโล่งว่างสว่างรู้นั้น ต่างกันมากกับเข้าใจด้วยความคิด
ฉันยิ่งเห็นค่าความสำคัญของราวเกาะ เพราะไม่แต่จะทำให้สติมีเครื่องเกาะให้ลุกขึ้นยืนและก้าวเดินคืบหน้าไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องกลัวหลง แต่ยังสามารถใช้เป็นเครื่องแบ่งเวลาออกเป็นขณะๆ เพื่อเปรียบเทียบความอ่อนแก่ของอารมณ์สุขทุกข์ได้ด้วย
สรุปในคืนที่สาม เริ่มมองเห็นความสำคัญของราวเกาะอย่างลึกซึ้ง ตราบใดที่ยังเกาะราวอยู่ ถึงแม้เท้าลื่นเซถลาไปบ้างก็ไม่ถึงกับล้ม หรือแม้ล้มแล้วรีบกลับลุกขึ้นคว้าราวใหม่ก็ไม่สาย แถมยังได้เครื่องแบ่งจังหวะเวลา ทำให้สะดวกเมื่ออยากเทียบเคียงอารมณ์หนึ่งๆว่าอ่อนหรือแก่กว่าจังหวะก่อนหน้าเพียงใดด้วย และฉันก็ตระหนักด้วยว่าความโกรธใครบ่อยๆที่เรียก ‘พยาบาท’ นั้น ไม่ใช่ถูกเบียดตกด้วยการแทรกแซงจากลมหายใจครั้งเดียวแล้วหายขาด มันยังย้อนกลับมาอีกได้เหมือนบูมเมอแรงวิเศษ เวียนมาเยี่ยมรอบแล้วรอบเล่าเหมือนไม่รู้จบ แม้ขว้างออกนอกตัวกี่ครั้งกี่หนก็ตาม
 
วันที่ ๔: ยื้อกับโลกภายนอก
เช้านี้ทำสมาธิได้ดีขึ้นเล็กน้อย ความจริงไม่ได้สงบเงียบหนักแน่นหรือสว่างไสวอะไร ใจยังฟุ้งตามเคย เพียงแต่นั่งหลับตากำหนดลมหายใจเข้าออกแล้วไม่ง่วงเท่านั้น
แต่เมื่อลืมตาขึ้น ฉันเริ่มรู้สึกได้ชัดว่าสติดีขึ้น ยังบอกไม่ถูกว่าเอาอะไรวัด แต่คล้ายโลกภายในมันชัดกว่าเก่า อาจจะเพราะลดปริมาณความหดหู่มึนซึมในการลืมตาตื่นก่อนไก่โห่ แล้วซึมซับความสดชื่นแจ่มใสในอากาศยามเช้ามืดกระมัง
อีกประการหนึ่ง วันนี้คล้ายเริ่มมีกำลังวังชาพรักพร้อมกว่าเคย พอรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้นานขึ้น ฉันก็มีมุมมองเห็นลมหายใจต่างไป คือไม่ใช่แค่ราวเกาะ แต่เป็นฐานที่ตั้งของสติ เวลาที่เหลือของวัน ฉันจะกำหนดว่าเมื่อใดรู้ทันลมหายใจเข้าออก เมื่อนั้นใจอยู่กับฐานสติที่ถูก เมื่อใดลมหายใจหายหนไปจากจิต เมื่อนั้นใจออกจากฐานที่มั่นของสติแล้ว
พระป่าเรียก จิตส่งออกนอก
ทั้งลืมตาดูโลกและเคลื่อนไหวตามปกติ ฉันเห็นลมหายใจได้ต่อเนื่องทีละสองสามครั้งก่อนเลือนไปเป็นภวังค์ หรือเบนกระแสไปจับสิ่งอื่นจนลืมลมหายใจสนิท แค่นั้นก็รู้สึกดีแล้ว ถึงแม้ยังเหม่อนานกว่ามีสติรู้ อย่างน้อยก็ทราบว่าจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์วัดว่าจิตอยู่ที่ฐานหรือส่งออกนอกมากกว่ากัน
เดินสวนกับคู่อริในที่ทำงาน เกิดอาการหมั่นไส้ตามเคย สายตาชิงชังซึ่งกันและกันนี่เป็นอะไรที่แย่จัง เราก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ ต่างก็รู้ว่าทุกข์แล้วยังกอดไว้กับตัวอยู่นั่น
เวรตามเคย! ฉันกำลังส่งจิตออกนอกแน่ๆ เพราะไม่รู้สึกถึงลมหายใจแม้แต่นิดเดียวในยามนั้น แต่ก็เห็นเช่นกันว่าพอตะล่อมจิตกลับเข้าที่ได้ ลมหายใจก็ปรากฏใหม่… เอ๊ะ! ฉันพูดผิดหรือเปล่า ต้องบอกว่าลมหายใจปรากฏอยู่ตลอดเวลา สติต่างหากที่หายไปแล้วกลับมาปรากฏใหม่
เห็นชัดอีกครั้งว่าถ้าไม่เอาอย่างหนึ่งเป็นเป้า จะไม่รู้ว่าสติเกิดหรือหายบ่อยๆ
เริ่มทำงาน ยังมีอาการง่วงอยู่เล็กน้อยแต่ก็ทน คิดว่าพรุ่งนี้คงชินกับเวลาตื่นนอนใหม่ได้แล้ว ขณะต้องยุ่งอยู่กับงาน ครึ่งชั่วโมงจะรู้ลมหายใจสักทีหนึ่ง และรู้แค่หายใจเข้าเด่นๆ เสร็จแล้วลืมอีกเป็นนาน กว่าจะนึกขึ้นได้อีก แต่ก็เข้าหลักรู้ได้เท่าที่รู้อันเดิม
ตอนทานข้าวเที่ยงเสร็จ ฉันกลับมานั่งที่โต๊ะและตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่าทำอย่างไรจะยืดเวลารู้ลมหายใจในที่ทำงานให้ได้นานกว่านี้
เมื่อลองทบทวนเพื่อวิเคราะห์ตัวเอง ฉันก็พบว่าการหายใจในที่ทำงานของฉันนั้นค่อนข้างสั้น แถมวิธีเอาลมเข้าก็เป็นไปในแบบกระชากอีกต่างหาก และเมื่อพยายามหายใจให้ได้นานๆ ก็จะใช้วิธีหายใจถี่ๆ เข้ายังไม่ทันสุดก็พ่นออกมา พ่นยังไม่ทันหมดก็ตั้งท่าจะดึงลมล่วงหน้าเสียแล้ว เหล่านี้ล้วนเป็นอาการหายใจผิดๆ อย่าว่าแต่จะมาใช้เป็นฐานสติ เอาแค่ให้ถูกสุขลักษณะก็ไม่ได้แล้ว
ฉันนึกถึงการหายใจขณะนอน ที่หน้าท้องขยายขึ้นได้เต็มที่แล้วมีความสบายไปตลอดทั้งกายและจิต จึงนั่งพิงพนักเก้าอี้ตามสบาย ปล่อยให้กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย แล้วพองหน้าท้องออกเพื่อลากลมเข้าอย่างยาว จากนั้นระบายลมออกเหมือนลูกโป่งที่คนปล่อยปากให้คายลมช้าๆโดยไม่เร่งบีบ ความสบายกายและจิตทำให้เกิดความติดใจ เมื่อติดใจย่อมไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นเป็นสำคัญ แต่ยังปักหลักอยู่กับสิ่งที่ทำให้ติดใจนั้น คือพองท้องช้าๆเพื่อลากลมเข้ายาว ระบายลมออกตามสบายเหมือนลูกโป่งถูกเปิดปากให้ลมคายออกมาเอง
ฉันทดลองดู เมื่อทำงานไปพักหนึ่งก็หยุดหายใจแบบพองท้องสำหรับขาเข้า ปล่อยตามสบายสำหรับขาออก ปรากฏว่าได้ผลดี สามารถรู้ลมเข้าออกได้มากครั้งขึ้นกว่าจะเลือน และแม้เมื่อก้มหน้าลงทำงานต่อ อีกส่วนหนึ่งก็ยังติดตามลมหายใจได้เป็นครั้งเป็นคราวด้วย
เจอกับคู่อริตอนเย็น ไม่รู้เป็นอย่างไรชอบเดินสวนกันเช้าครั้งเย็นหน คราวนี้ฉันกระตุกสติให้ทำงาน แต่ยังเป็นการทำงานแบบทื่อมะลื่ออยู่ คือรู้ลมหายใจก็จริง แต่ก็มีความเกร็งเครียดไปทั้งตัวประกอบอยู่ด้วย แต่ก็เอาล่ะน่า ดีกว่าเกิดความเกลียดเต็มๆ ส่งจิตออกนอกหมดโดยไม่มียางยืดจากฐานสติมาช่วยเหนี่ยวรั้งเอาเสียเลย
ทำสมาธิในคืนนี้ ฉันก็นั่งยื้อระหว่างจิตส่งไปคิดเรื่องข้างนอก กับจิตเข้ามาเก็บตัวอยู่กับฐานสติ เอาแค่รู้ให้ได้ว่าขณะนี้ วินาทีนี้กำลังออกหรือกำลังเข้าเท่านั้น ไม่หวังมากกว่านั้น จะสงบหรือไม่สงบก็ช่าง
สรุปในคืนนี้ เห็นตัวเองทื่อๆเป็นหุ่นกระบอกชอบกล แม้จะรู้ว่าจิตกำลังอยู่ภายนอกหรือกลับเข้ามาข้างใน ก็คล้ายรู้แบบทึบๆ หรือมีคิดผสมไปด้วย แต่อย่างน้อยก็เริ่มมีข้อเปรียบเทียบระหว่างจิตส่งออกไปข้างนอกกับจิตกลับเข้ามาข้างในแล้วก็แล้วกัน
 
วันที่ ๕: ล้าและเบื่อ
ฉันตื่นตอนตีสี่ด้วยความฝืดฝืนตามเคย เอ… จะต้องฝืนไปอีกนานไหมนี่? นึกว่าสองสามวันคงชิน แต่ไม่เห็นชินสักที ยังต้องลุกทั้งโดนขี้ตาบดบังทัศนวิสัยอยู่นั่นแล้ว
ให้กำลังใจตัวเองอีกเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ ฉันเลือกเดินในทางที่เหล่าอริยเจ้าท่านเดินกันด้วยความสมัครใจของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทางสบาย โรยรายด้วยกลีบกุหลาบ เริ่มก้าวแรกๆอย่างนี้ต้องมีบางสิ่งบางอย่างบ่งบอกว่าฉันยังเพียรพยายามเพื่อความคืบหน้าอยู่ในทาง และการตื่นนอนก่อนเวลาปกติ ๑ ชั่วโมงก็คือเครื่องชี้ของฉัน
ฉันนึกว่าตนเองกำลังอยู่ใน ‘สังสารวัฏ’ ซึ่งหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพต่างๆด้วยความไม่รู้ แล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าสังสารวัฏช่างเต็มไปด้วยแรงดึงดูดมหาศาล ไม่ต่างจากโลกใบใหญ่ที่ดึงดูดผู้คนไว้ไม่ให้ลอยออกนอกอวกาศง่ายๆ ใครทำได้ก็ต้องใช้งบมโหฬารระดับชาติ แต่แม้ยากเพียงใด ในที่สุดมนุษย์ก็เอาชนะแรงดึงดูดโลกจนได้ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าและเหล่าอรหันตสาวกได้เอาชนะแรงดึงดูดของสังสารวัฏสำเร็จมาแล้วเป็นพันๆปี
อ่านจากพระไตรปิฎกแล้ว ความจริงพระสาวกผู้ปรารถนามรรคผลในสมัยนั้นลำบากบำเพ็ญเพียรกันในป่าท่ามกลางภยันตรายนานาชนิดด้วยซ้ำ นี่ฉันปฏิบัติอยู่ในบ้านในเรือนอันอบอุ่นปลอดภัย จะยี่หระกับการตื่นเช้าเข้าไปอีกกระนั้นหรือ? การเพียรพยายามหนีแรงดึงดูดของสังสารวัฏอาจเริ่มด้วยจุดเล็กๆเช่นการเอาหลังตัวเองออกจากแรงดึงดูดของที่นอนนี่เอง
มานั่งหลับตาพยายามตั้งสติแบบมึนๆ รู้ว่าลมออก รู้ว่าลมเข้า ประมาณ ๑๐ หนก็เบลอ หลายวันแล้วยังไม่พ้นจากจุดนี้ แต่ดีที่ฉันคอยจดความคืบหน้าไว้ทุกวัน อย่างน้อยที่สุดก็รู้ล่ะว่ายังไม่มีสติแข็งแรงพอจะเท่าทันลมหายใจเข้าออกอย่างเป็นอัตโนมัติ
ระหว่างทางขับรถมาทำงาน ฉันพยายามรู้ลมไปด้วย แล้วก็สงสัยตัวเองไปด้วยว่ามาถูกทางหรือเปล่า หลายวันแล้วไม่ก้าวหน้าสักที เหมือนต้องขึ้นต้นใหม่กันอยู่เรื่อย แต่เนื่องจากคิดตกไว้เสร็จสรรพแล้วว่าสติปัฏฐาน ๔ คืออะไร ปฏิบัติอย่างไรตามลำดับหนึ่ง สอง สาม ฉันจึงยังไม่อยากทิ้งความพยายามเสียก่อนเห็นผลก้าวหน้า เพราะที่ผ่านมานานนับปีเห็นมากพอแล้วว่าการเปลี่ยนแนวทางแบบจับจดและจับฉ่ายไม่สามารถนำมาประเมินได้ว่าคืบหน้าคืบหลังไปถึงไหน บัดนี้เมื่อคิดจะไต่ลำดับสติปัฏฐาน ๔ ไป อย่างน้อยฉันก็รู้ว่าตัวเองยังย่ำอยู่กับที่ ยังไม่มีสติเพียงพอแม้แต่จะรู้ลมหายใจโดยความเป็นของเกิดดับ
ตัดความลังเลสงสัยทิ้ง เหลือแต่ความมึนอันเกิดจากการตื่นเช้าและการพยายามนั่งจดจ่อรู้ลมหายใจ ฉันคิดถึงที่ตกลงกับตัวเองไว้คือ ‘รู้แค่ไหนเอาแค่นั้น’ ถ้าไม่รู้ก็ช่างมันไว้ก่อน
ถึงบริษัท เข้าประชุมตามหน้าที่ เห็นหน้าปรปักษ์อยู่ในห้องประชุมด้วยแล้วเหมือนมีเครื่องเปล่งรังสีทรมานลูกตาฉายออกมาตลอดเวลา ให้ตายเถอะ ทำไมโลกต้องมีคนที่เราเห็นแล้วรำคาญใจด้วย มีแต่ที่มองแล้วสบายตาหน่อยไม่ได้หรืออย่างไร? ถ้าจ้างได้ฉันจ้างให้ลาออกไปเลย พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้ว เซ็งขี้หน้าจริงๆ
วันนี้ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ทั้งงานทางโลก ทั้งงานทางธรรม ฉันพกพาเอาความเบื่อหน่ายและอ่อนล้ากลับบ้าน ถอยกลับไปเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่รู้สึกดูถูกตัวเอง นึกถอดใจว่าคงไปไม่ถึงไหนหรอกแบบนี้
รู้แค่ไหนเอาแค่นั้น… เอาเถอะ ตอนนี้ขอรู้แค่ว่าอยากนอนก่อนล่ะ ฉันลงนอนอย่างเต็มอกเต็มใจ ไม่โทษตัวเอง ไม่คะยั้นคะยอให้เดินทางไปสู่ความหลุดพ้นที่ไหนอีกแล้ว เหนื่อยเหลือเกิน โลกนี้ไม่มีอะไรสมใจเราสักอย่าง
คืนนี้ฉันแค่ยอมรับความสามารถและข้อจำกัดรอบด้านของตนเอง นี่แหละพระพุทธเจ้าถึงตรัสไว้ในชาลิยสูตรว่าฆราวาสเป็นทางแคบ เป็นที่มาของฝุ่นละออง ขอเพลินโลกให้พอก่อนก็แล้วกัน แล้วตอนแก่ค่อยหันกลับมาปฏิบัติธรรมใหม่ พอถึงวัยหมดหวัง หมดอนาคตจริงๆค่อยคิดบวชสละโลกให้เป็นเรื่องเป็นราวอีกที
จิตหดหู่พาความคิดฉันไปไหนต่อไหนเรื่อย คืนนั้นฉันโยนสมุดพกทิ้งถังขยะ ฉันมาถึงเพดานจำกัดของคนธรรมดาแล้ว และก็ไม่รู้สึกผิดนักที่จะเป็นคนธรรมดาต่อไป
 
วันที่ ๖: นับหนึ่งใหม่ด้วยพละ ๕
ฉันตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตีห้า ซึ่งเป็นเวลาเดิมเพื่อเตรียมตัวไปทำงาน เมื่อเสียงกรี๊งยาวดังขึ้น ฉันก็ลุกขึ้นนั่งด้วยความสดชื่นที่ได้นอนเต็มอิ่ม เอื้อมมือกดปุ่มปิดเสียงนาฬิกาและเปิดไฟกลางห้อง
ขณะถือผ้าเช็ดตัวตรงมาที่ห้องน้ำก็ต้องชะงักกึก เมื่อเงยหน้าขึ้นเห็นนาฬิกาเหนือประตูห้องน้ำ เห็นบอกเวลาตีสี่ ฉันงงจนต้องนิ่วหน้าเกาหัว และเดินกลับเข้าห้องนอนเพื่อเช็กเวลากับนาฬิกาปลุกหัวเตียง คงมีเรือนใดเรือนหนึ่งบอกผิดแน่ๆ
แต่แล้วก็ต้องชะงักอีกคำรบ เมื่อพบว่าเข็มนาฬิกาชี้บอกเวลาตีสี่เหมือนเรือนข้างนอกห้อง!
ฉันยืนกะพริบตาปริบๆ เข้าไปเพ่งใกล้ๆก็เห็นเข็มกำหนดเวลาปลุกชี้ที่เลข ๕ ถูกต้อง เอาล่ะสิ ไฉนนาฬิกาคู่ใจจึงร้องแรกแหกกระเชอขึ้นมาในเวลาตีสี่อย่างนี้ได้?
ควรจะขนลุกมั้ยเนี่ย ฉันกลืนน้ำลายเอื๊อกแล้วนั่งแปะลงกับพื้น อาจจะเป็นเสียงนาฬิกาในฝัน อาจจะเป็นนาฬิกาของจริงบกพร่องที่ดังก่อนกำหนด หรืออาจจะเป็นปาฏิหาริย์ที่เรียกแบบภาษาชาวบ้านได้ว่า ‘ผีหลอก’ จะด้วยเหตุผลกลใดอันยากจะรับรู้ ฉันสาบานเจ็ดวัดเจ็ดวาเลยว่าเมื่อครู่ได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกจริงๆ
เคยได้ยินมาว่าเมื่อใครตั้งใจเข้าทางตรง กับทั้งได้พบทางตรงแล้ว ถ้าหากอ่อนแอคิดล้มเลิก มักมีเหตุการณ์มาขวางหรือผลักดันกลับมาเข้าทางเสียใหม่ ไม่ยอมให้เลิกล้มปณิธานง่ายๆ เคยแต่ได้ยินเล่าๆกัน แต่นี่มาเจอกับตนเองเป็นครั้งแรก ฉันพยายามคิดว่าจิตใต้สำนึกปลุกตัวเองด้วยการสร้างเสียงนาฬิกาขึ้นในฝัน สร้างแบบเลียนเสียงจริงได้เหมือนเปี๊ยบจนฉันต้องเอื้อมมือไปตบนาฬิกาเพื่อปิดเสียงนั่นแหละ จะได้สบายใจหน่อย
แต่เสียงนาฬิกาปลุกลึกลับก็ได้ทำให้ฉันฉุกคิดหลายอย่าง ประการแรกขณะนี้ตีสี่ แต่ใจนึกว่าเป็นตีห้า ก็รู้สึกสดชื่นเหมือนนอนเต็มตื่นแล้ว นี่แปลว่าอะไร ที่ผ่านมาฉันตื่นอย่างงัวเงียเพราะความเห็นแก่นอนชัดๆ ฉันแค่รู้สึกว่าทำไมต้องตื่น ทั้งที่ยังไม่ต้องตื่น เท่านี้ก็ก่อให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอนได้แล้ว
อีกประการหนึ่ง เมื่อเลิกตั้งใจเอาจริงเอาจัง เลิกเห็นตัวเองยืนมะงุมมะงาหราอยู่ที่หลักกิโลแรกของเส้นทางแสนกิโลเมตร แต่เริ่มวันใหม่ด้วยความรู้สึกปกติ มีความพอใจแค่เพียงตื่นขึ้นมาสูดอากาศสดชื่น ร่างกายและจิตใจก็เข้าที่ของมันเองแล้ว
ฉันล้วงสมุดบันทึกขึ้นมาจากถังขยะ เขียนลงไปในหน้าบันทึกวันที่ ๖ ว่า นับหนึ่งใหม่ และเขียนกำกับไว้ด้วยว่า ถ้าวันสุดท้ายของชีวิตฉันยังเจริญสติไปไม่ถึงมรรคถึงผล ฉันก็พร้อมจะนับหนึ่งใหม่ที่วันนั้น!
ทุกอย่างย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่ ฉันเห็นเหตุผลว่าทำไมควรนั่งหลับตาตามรู้ลมสักพัก ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้เหลือแต่ลมหายใจกับความคิดเก่าๆ ไม่มีภาพและเสียงใหม่ๆมาล่อให้ส่งออกนอก ฉันมีหน้าที่แค่เฝ้าดูด้วยใจที่เปิดสบายไปเรื่อยๆ กำหนดรู้เท่านั้นว่าลมหายใจกำลังออกหรือว่าเข้า
แปลกดีที่เช้านี้ไม่ง่วงเลย จิตใจสบาย เห็นลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออกด้วยสติแจ่มใสกว่าทุกครั้ง จะเป็นเพราะเสียงนาฬิกาปลุกลึกลับหรืออะไรก็ตามแต่
หลังจากกำหนดเลิกทำสมาธิ ลืมตาลุกขึ้นล้างหน้าแปรงฟันอาบน้ำเสร็จ เห็นเหลือเวลาพอสมควรก็มานั่งจดบันทึกยามเช้า เขียนว่าวันนี้ฉันหวิดกลับไปเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง กิเลสมีเป็นกองทัพ ฉันจะสู้กับกองทัพด้วยมือเปล่าและร่างที่ผ่ายผอมไม่ได้ ฉันต้องมีกำลังพลติดอาวุธกับร่างที่กำยำ
พลกำลังที่เอาไว้เดินหน้าประจัญกับกิเลสในทางการปฏิบัติธรรมภาวนาเพื่อมรรคผล เรียกว่า พละ ๕ ประกอบด้วย
๑) สัทธา ความมีศรัทธาทั้งในพระพุทธเจ้าและทางเดินคือสติปัฏฐาน ๔
๒) วิริยะ ความมีใจเพียรต่อเนื่องไม่ย่อหย่อน
๓) สติ ความสามารถยกจิตขึ้นรู้วัตถุอันเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้า
๔) สมาธิ ความสามารถตั้งจิตให้มั่นคงไม่หวั่นไหว
๕) ปัญญา ความสามารถกำหนดรู้วัตถุอารมณ์โดยความเกิดดับ
เมื่อวานกับเช้านี้ องค์คือ สัทธา ของฉันหดหายหมด เพียงเพราะเกิดความล้มเหลว ไม่สำเร็จผลเร็วอย่างใจ ไม่เชื่อตัวเอง ไม่เชื่อผลอันเกิดจากเหตุที่เพียงพอสมน้ำสมเนื้อ จึงทำให้ วิริยะ ของฉันพลอยหายหนไม่เหลือแม้แต่เงา จะเอาอะไรมาตั้งสติให้เกิดสมาธิเพื่อเห็นความเกิดดับได้เล่า?
วันนี้สัทธากลับมาใหม่อีกครั้ง จะโดยสิ่งลึกลับใดมาเตือนให้ตื่นก็ช่าง เอาเป็นว่าฉันเริ่มเชื่อแล้วว่าถ้าเข้าทางถูกจริงด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นเพียงพอ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่ทอดทิ้ง เหมือนดังที่ปรากฏในธรรมิกเถรคาถาว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม กุศลธรรมย่อมคุ้มครองคนดี สติปัฏฐานย่อมเลี้ยงผู้ปฏิบัติธรรมไว้ในทาง
แต่ถ้างอแงบ่อยๆ ธรรมก็อาจตัดหางปล่อยวัดได้เหมือนกัน!
เดินทางไปทำงานด้วยสติที่สดใสขึ้นกว่าเดิม วันนี้วันเสาร์ ทำแค่ครึ่งวันก็กลับบ้านได้ กำลังใจกับกำลังสติดูดีควบคู่กัน คำว่า ‘รู้แค่ไหนเอาแค่นั้น’ ปรากฏกับใจอีกครั้ง ฉันกำลังรู้แบบสบายๆตามกำลัง และเห็นว่าเมื่อมีกำลังมาก ก็รู้ได้มากขึ้นเองโดยไม่ต้องพยายามควบคุม เมื่อแวบไปทางโน้นทีทางนี้ที ก็เบี่ยงความสนใจกลับมาหาลมเอง แถมไม่ต้องสังเกตมากก็สำเหนียกรู้ได้ชัดว่าลมหายใจสบายขึ้น พลอยลากยาวเข้าลึกยิ่งขึ้นตามลำดับสติไปด้วย ไม่มีความพยายามเร่งรัดผิดจังหวะ ลมจึงเข้าออกตามความเรียกร้องทางกายอย่างแท้จริง
ณ จุดที่มีกำลังมาก เมื่อมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบ จึงเห็นว่าอาการ ‘รู้แค่ไหนเอาแค่นั้น’ อาจนำมาซึ่งความเคยชิน พอเคยชินนานไปก็กลายเป็นข้ออ้างว่าเดี๋ยวพร้อมกว่านี้แล้วค่อยรู้ ออกทำนอง ‘รู้ก็ช่างไม่รู้ก็ช่าง’ และในที่สุดก็กลายเป็นความทอดธุระแบบ ‘ไม่รู้ก็ช่าง’ อย่างเดียวไปเลย การอยู่ในทางแคบของฆราวาสต้องมีอะไรมากกว่าอาการทางจิตแบบนั้น จึงจะทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้
ฉันเริ่มนึกถามตัวเองเหมือนคนอื่นๆ สงสัยว่าเรานี้มีบุญญาบารมีหรือวาสนาแต่ปางก่อนมากน้อยเพียงใด ความรู้สึกข้างในมันอ่อนๆชอบกล จะเรียกไก่อ่อนหาญท้าชิงนักมวยเฮฟวี่เวทก็คงได้ ฉันถูกสอนให้ภูมิใจในวาสนาที่สร้างจากความเพียรในปัจจุบัน มากกว่าวาสนาที่สร้างจากบุญกรรมในอดีต เพราะวาสนาแบบหลังมีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ และต่อให้มีจริง ใครคนหนึ่งในห้วงอดีตก็ไม่ใช่ฉันในเวลาปัจจุบันอีกต่อไป จึงไม่ควรหวังกินบุญบุคคลไร้ตัวตน แม้ได้ชื่อว่าเป็นเราเองในชาติก่อน
คิดแล้วก็เกิดความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น หนทางยังอีกไกลก็ช่าง ตราบใดที่สามารถมีสติรู้ลมหายใจเข้าออกด้วยความสดชื่นรื่นเริงในธรรมเหมือนอย่างนี้ อะไรๆก็คงไหวอยู่หรอก
เป็นวันที่ไม่ถูกคู่อริราวีในห้องประชุม เพราะทำงานแค่ครึ่งวัน นับว่าโชคดีพอสมควร ทั้งวันฉันทำงานอย่างเพลิดเพลิน แล้วก็รู้สึกว่าสามารถไหวทันความเข้าออกของลมหายใจได้เรื่อยๆ นับแล้วมีสติรู้ลมได้เกินยี่สิบครั้งก่อนจะเริ่มเลือนไป ถือว่าดีกว่าทุกวันที่ผ่านมา ที่บางครั้งเฝ้าพะวงห่วงลมจนเครียด แต่บางครั้งก็ปล่อยใจล่องลอยเผลอเหม่อน่าดูชม
สรุปในคืนที่ห้า การภาวนาไม่ได้เดินหน้าด้วยการเอาใจใส่พากเพียรหรือยกสติขึ้นตั้งให้เป็นสมาธิอย่างเดียว บางครั้งต้องเติมศรัทธาที่เริ่มเหือดแห้งเข้าไปด้วย และทางเดียวที่จะรู้ว่าศรัทธาพร่องไปหรือยัง ก็คือต้องสำรวจตรวจสอบ การมีสมุดบันทึกประจำตัวคือวิธีเตือนตนเองได้ดีวิธีหนึ่ง มันเป็นเหมือนเพื่อนเตือนความจำ และบางครั้งก็เป็นเพื่อนเตือนสติไปในตัว
สิ่งที่ฉันมีไม่เหมือนคนอื่นนั้น หาใช่ความเก่งกาจหรือบุญเก่าล้นฟ้าอันใด แต่เป็นความมุมานะและกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ได้เร็วเพียงชั่วข้ามวันที่เหมือนถอยหลังเข้าคลองไปแล้ว
นอกจากนั้นยังมีความจริงในด้านไม่ค่อยเสริมมงคลอีกประการหนึ่งที่น่าบันทึกไว้ คือถ้าถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ ย้อนกลับไปฟุ้งซ่านตามอำเภอใจได้วันหนึ่งคล้ายทำงานหนักแล้วพักร้อนเปิดหัวเสียบ้าง พอกลับมาใหม่ทุกอย่างจะสดใสขึ้น เหมือนมีกำลังวังชามากขึ้น ที่สำคัญต้องไม่พักนานเกินไป ทำนองเดียวกับนักกีฬา ถ้าต้องนั่งนานดูคู่ต่อสู้ทำแต้มก็จะลดความคมลง แต่ถ้านั่งให้หายล้าพอควรจะกลับมาใหม่ด้วยกำลังวังชาสดใหม่และลืมตาได้เต็มตื่น
 
วันที่ ๗: สององค์แรกของโพชฌงค์ปรากฏ
เพิ่งรู้ว่าสงสารตัวเองที่ต้องลำบากลำบนตื่นแต่ฟ้ามืดมาตลอด พอวันนี้ความสงสารตัวเองหายหนไป ทุกอย่างสำแดงความแตกต่างชัด กลายเป็นเกิดความกระปรี้กระเปร่าขึ้นแทน อาจเรียกได้ว่าครั้งแรกในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา นี่เข้าวันที่ ๗ แล้วนับแต่ปลงใจเริ่มปฏิบัติธรรมจริงจัง ความรู้สึกเหมือนเพิ่งสองสามวันเท่านั้น
เวลาของการปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐานจะผ่านไปนานช้าเพียงใดก็ตาม วันหนึ่งเมื่อบังเกิดผลขึ้นแล้ว มองย้อนไปก็เหมือนใช้เวลาสั้นแสนสั้น คุ้มแสนคุ้ม
เมื่อมีกำลังใจ ก็มีความสดชื่นปลอดโปร่ง เห็นชัดว่าถ้าพลกำลังพรักพร้อม แม้ไม่ต้องกำหนดสติมากก็รู้ลมหายใจได้ง่าย กับทั้งมีความถูกต้อง กล่าวคือลมหายใจเข้านำความสดชื่นมาด้วย ลมหายใจออกนำความผ่อนคลายออกไป และเมื่อลมหายใจหยุดก็เกิดความสงบสุขที่จิต ตรงนี้เข้าข่ายรู้เวทนาแบบอ่อนๆ หายใจเข้าหายใจออกรู้สุขเวทนาทางกาย เมื่อหยุดหายใจรู้สุขเวทนาทางใจ
ฉันจดจำไว้ด้วยจิต ว่าถ้าสามารถเห็นสายลมหายใจควบคู่ไปกับความสดชื่นในขาเข้า และความผ่อนคลายในขาออก จะทำให้สติตามประกบลมหายใจได้เองโดยไม่ต้องนับเลขในใจช่วย สุขอันเกิดแต่วิเวกย่อมช่วยค้ำจุนให้รู้ชัดได้อยู่แล้ว ไม่มีลมหายใจใดประกอบด้วยความร้อนรน ไม่มีลมหายใจใดประกอบด้วยความคาดหวังเกินกว่าพึงใจที่ได้รู้ว่าลมกำลังเข้าหรือออก
เมื่อแน่ใจว่ารู้ทันลมเข้า รู้ทันลมออกได้เกือบ ๔๐ ครั้งด้วยความสุขกายสบายใจ ฉันก็ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าแบบนี้องค์แรกของโพชฌงค์ปรากฏขึ้นแล้ว
หลังออกจากสมาธิ ฉันปล่อยใจสบายๆ ก็ยังรู้สึกว่าจิตเคยชินกับการรู้ได้ไล่ทันลมหายใจเข้าออกอยู่ ถือว่าผ่านขั้นแรกของอานาปานสติไปได้ ฉันไปทำงานด้วยความแช่มชื่นราวกับมีชีวิตใหม่ ชีวิตที่มีสติเห็นทันลมเข้าออกอยู่เสมอๆ แน่นอนว่าต้องแวบไปหาคน แวบไปหางาน หรือกระทั่งเผลอเหม่อเผลอฟุ้งบ้าง แต่สภาพจิตต่างไป คือมีความสดใสอยู่ข้างในที่รู้สึกได้ จับต้องได้ เห็นลมเข้าชัด เห็นลมออกชัดเกือบตลอดเวลา ชีวิตแบบนี้มีได้จริงใน ๗ วัน ขอเพียงแน่วแน่พอ
วันนี้วันอาทิตย์ แต่ช่วงสายเจ้านายโทร.มาตามหลายๆคนรวมทั้งฉันให้ช่วยเข้าออฟฟิศด่วน เนื่องจากเอกสารสำคัญมีปัญหา และจำเป็นต้องเร่งให้เสร็จภายในวันนี้ มิฉะนั้นอาจต้องถูกปรับ ฉันก็เป็นพนักงานที่ดี เจ้านายว่าด่วนก็เร่งไปให้อย่างรีบด่วน อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะเป็นกรณีฉุกเฉินนานทีปีหน ใช่ว่าเจ้านายจะโทร.มาด้วยน้ำเสียงเหมือนเจ๊กตื่นไฟบ่อยๆ
ช่วงบ่าย หลังอาหารเที่ยงแล้วเกิดอาการหนังท้องตึงหนังตาหย่อนเล็กน้อย สังเกตเห็นว่าเมื่อคุณภาพจิตเริ่มเสื่อมถอย จะเหมือนมีฝ้าฟางมาบดบังทัศนวิสัยไม่ให้เห็นลมหายใจชัดนัก และตัวลมหายใจก็เหมือนลีบเล็กลง กับทั้งหยาบมากขึ้นด้วย แม้ยังปรากฏสติรู้ว่าเมื่อใดลมเข้า เมื่อใดลมออกอยู่ ก็นับว่าน้อย ถ้าเทียบเคียงกับแสงสว่าง ก็คงต้องว่าสติเมื่อเช้าประมาณ ๑๐๐ แรงเทียน แต่สติช่วงบ่ายแค่สัก ๓๐ แรงเทียนกระมัง
แต่พอได้เวลาทำงาน พอเจองานเร่งด่วน ร่างกายต้องขยับเคลื่อนไหวแข็งขันเข้า สติก็กลับมาใหม่ และเมื่อฝึกให้ความสำคัญกับลมหายใจไว้หลายวันที่ผ่านมา พอถึงวันนี้อานิสงส์ก็เริ่มออกดอกออกผล กล่าวคือลมหายใจปรากฏแทรกในระหว่างแห่งการคิดเรื่องงานบ่อยๆ โดยที่ไม่รบกวนให้งานสะดุดแม้แต่น้อย ฉันเพิ่งมีจิตละเอียดพอจะสังเกตว่าแม้อาการทางสมองคล้ายคิดเรื่องงานอยู่ไม่ขาดสาย ก็มีช่วงว่างเกิดขึ้นเป็นระยะๆเสมอ ช่วงว่างที่ว่านี้อาจหมายถึงการเว้นวรรคทางความคิด หรืออาจหมายถึงการเหลือบตาไปดูเนื้องานด้านซ้ายขวา หรืออาจหมายถึงการยกมือพลิกกระดาษเอกสาร หรืออาจหมายถึงการเงยหน้าขึ้นมองผู้มาเยือนโต๊ะ จังหวะเวลาเหล่านี้แบ่งไปรู้ลมหายใจได้ทั้งนั้นเลย
ใกล้เย็นคู่อริของฉันเดินเอางานมาวางให้ที่โต๊ะ บอกห้วนๆให้เซ็นซะ ทำท่าเท้าเอวอย่างกับเจ้านาย ฉันฉุนขึ้นมาวูบหนึ่ง แค่เห็นหน้าและได้ยินเสียงเจ้าคนนี้หน่อยเดียวก็ทำให้อารมณ์เสียแล้ว
แต่ฉันก็ได้เห็นความแตกต่างไปกว่าเคย คือเมื่อโมโห สติจะไม่ยอมให้จิตถูกครอบงำด้วยโทสะนานนัก เมื่อผุดลมหายใจเข้า หรือปรากฏลมหายใจออกขึ้นทางกาย สติก็ดึงจิตไปสนใจลมแทน ฉันรับงานมาเซ็นตามหน้าที่ เสร็จแล้วคู่อริของฉันก็คุยเรื่องงานต่ออีกหน่อยหนึ่ง ฉันรู้สึกว่าน้ำเสียงของเขาน่าฟังขึ้น แววตาที่มองฉันก็สุภาพกว่าปกติ ทำให้การเจรจาราบรื่นและเป็นมิตรกว่าทุกครั้ง
พอศัตรูคู่อาฆาตจากไป ฉันก็ซึมซับความรู้สึกดีเล็กๆน้อยๆไว้ ยิ้มให้กับตัวเอง จิตบอกตัวเองอย่างหนึ่งว่าถ้าใจเราไม่มีโทสะ แต่มีสติสัมปชัญญะดีขณะเจรจา น้ำเสียงก็จะราบเรียบ คลื่นจิตที่ลอยไปกระทบคู่สนทนาก็เงียบสงบ เมื่อไร้ร่องรอยของปรปักษ์ ส่วนลึกของคู่สนทนาย่อมไม่ปรารถนาจะเป็นปรปักษ์ด้วย อย่างน้อยก็ชั่วเวลาที่จิตเราดำรงอยู่ในสติสัมปชัญญะนั้น
งานเสร็จทัน ทุกคนสบายใจ ฉันกลับบ้านเข้าห้องปิดประตูล็อกตั้งแต่สองทุ่มเศษ ใจที่กำลังใสเบาทำให้นึกอยากนั่งสมาธิอย่างเดียว
หลับตากับลืมตามีค่าใกล้เคียงกันแล้ว ลมหายใจเข้าก็ชัดของเขาอย่างนั้นแหละ ลมหายใจออกก็ชัดของเขาอย่างนั้นแหละ ฉันเริ่มสนใจสังเกตว่าถึงตรงนี้จะทำความคืบหน้าต่อไปอย่างไร ก็ตอบตัวเองว่าไปตามลำดับอานาปานสติสิ หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น
เพียงน้อมจิตกำหนดรู้นิดเดียว ก็พบว่าลมหายใจในปัจจุบันส่วนใหญ่ค่อนข้างยาว และยาวสม่ำเสมอไปเกือบสิบครั้งเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะหดสั้นลง
ด้วยความสังเกตอยู่นั้นเอง ฉันก็พบความจริงประการหนึ่ง คือลมยาวกับลมสั้นของฉันจะแตกต่างกันมาก แสดงถึงความไม่สม่ำเสมอในลมขณะสติดีกับลมขณะหายใจปกติ
ด้วยสติที่คมคายรู้เห็นชัดเจนยามนั้น ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนโง่ๆทึบๆที่เพิ่งฉลาดขึ้นหลังจากถูกชี้ทางโดยพระพุทธเจ้า แท้จริงแล้วที่ผ่านมาทั้งหมด เมื่อจะรู้ลมหายใจได้ชัดก็เมื่อลากลมยาวพอ แต่เมื่อใดลมหายใจสั้นลง สติก็จะขาดหายไป และหายนานเนื่องจากลมสั้นเกิดขึ้นมาก แต่เพราะกำลังปิดตาและเฝ้ารู้ลมอย่างเดียว กับทั้งกำลังสังเกตยาวสั้น ทำให้สติยังทรงอยู่กับตัวไม่หายตามลมสั้นเหมือนอย่างขณะลืมตา
ความจริงอันสลักสำคัญยิ่งลำดับต่อมาคือความเห็นว่าสายลมหายใจนั้น ไม่ได้เป็นชุดเดียวกันเหมือนอย่างที่เคยรู้สึกมาชั่วชีวิต ตรงจังหวะที่เห็นว่าลมหายใจเข้าไปสุด แล้วต้องส่งออกมาแน่ๆนั่นแหละ จุดเริ่มต้นของการเห็นอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุ แล้วจะต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ใช่ของที่มีอยู่ก่อนในกายเรา ไม่ใช่ของที่เราจะครอบครอง และยิ่งไม่ใช่ของที่ยืนยันได้ว่าเป็นอัตตาของใคร
ยังมีส่วนสำนึกของความเป็น ตัวฉัน ที่แย้มยิ้มออกมาอย่างปีติ นี่กระมังที่เรียกว่า ธัมมวิจัย อันเป็นองค์ที่สองของโพชฌงค์ เมื่อสติแข็งแรงแล้วน้อมจิตพิจารณาตามความจริงที่มันปรากฏแสดงความเกิดดับให้ดูอยู่โต้งๆ ก็เห็นประจักษ์อย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าปัญญาแบบคิดๆมากมายเหลือจะเปรียบ
ฉันไม่ค่อยตระหนักว่าตัวปีติเริงร่าแบบคนดีใจทำงานสำเร็จเสียทีนั้นเอง เป็นตัวการให้องค์แห่งโพชฌงค์ที่หนึ่งและที่สองหายหนไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นใจฟองฟูแบบดิบๆไป สติยังมี แต่ดึงมารู้ลมเข้าออกไม่ได้ชัด ปีติชัดกว่า แต่ก็ไม่เป็นไร กำลังใจเพิ่มขึ้นเหลือล้น มีความสุขยิ่งกว่าคนมาแต่งตั้งให้เป็นพระราชาอีกแน่ะ
สรุปคืนนี้ ฉันบันทึกไว้ว่าสติอันเป็นองค์แรกที่เกื้อกูลการตรัสรู้ตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ นั้น ไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นโดยง่าย แต่เมื่อมีลมหายใจปรากฏอยู่ตลอดเวลา ก็แปลว่าเรามีโอกาสซักซ้อม มีโอกาสพัฒนาทักษะ ขอเพียงมีใจมุ่งมั่นต่อเนื่องนานพอ และสมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อเกิดสติมากแล้ว ย่อมทำให้ธัมมวิจัยบริบูรณ์ได้
แน่นอน ฉันรู้สึกว่าธัมมวิจัยยังไม่บริบูรณ์ เพราะเพิ่งเกิดเดี๋ยวเดียวความดีใจก็เอาสติไปกิน แต่ก็เชื่อว่าเมื่อสติเกิดขึ้นเป็นปกติ การพัฒนาต่อให้เกิดธัมมวิจัยย่อมไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อมอีกต่อไป
อีกประการหนึ่ง ฉันได้ข้อสรุปด้วยว่าเบื้องต้นนั้น ฉันใช้เสียงพากย์ในหัวช่วยเป็นตัวเริ่ม เช่นถามตัวเองว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า อีกทั้งนับหนึ่ง สอง สามไปด้วย มีเสียงพากย์ในหัวก็นับเป็นเครื่องกำกับสติที่ดี เนื่องจากความคิดอย่างมีเป้าหมายจะใกล้เคียงกับความฟุ้งแบบสุ่ม แทนที่จะปล่อยให้ฟุ้งสุ่ม ก็เปลี่ยนมาเป็นคิดอย่างที่จะนำจิตไปสู่วัตถุเป้าหมายอันเป็นประโยชน์ได้
แต่เมื่อสติเกิดขึ้นเต็มรอบแล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะเห็นเสียงพากย์ในหัวหายไป เหลือแต่จิตใจที่สงบเงียบอิ่มสติปรากฏเด่นอยู่
 
วันที่ ๘: องค์ที่สามของโพชฌงค์ปรากฏ
ฉันตื่นก่อนนาฬิกาปลุกราวครึ่งชั่วโมง คราวนี้ด้วยความเต็มใจเหลือที่จะกล่าว ลุกขึ้นเข้าห้องน้ำอย่างกระตือรือร้น แล้วกลับมานั่งสมาธิแบบหลับตาราวกับเหลือนาทีในชีวิตอีกไม่เกินวันนี้ ดีเหมือนกันถ้าใจคิดอยู่เรื่อยๆว่าพ้นวันนี้อาจไม่รอด ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอสำหรับชีวิตอันเปราะบางของมนุษย์
เจริญอานาปานสติตามแบบที่จิตเริ่มคุ้นทาง รู้ลมเข้าออกชัดโดยไม่ต้องมีเสียงช่วยนับ ตอนลากลมเข้าหน้าท้องค่อยๆพองขยายออกจนสุด ตอนปล่อยลมออกเหมือนตัวเป็นลูกโป่งเปิดปากให้คายลมออกมาเองช้าๆ
เมื่อรู้ชัดว่าหายใจออก ไม่คลาดสติเมื่อหายใจเข้า มีสติมั่นคงถึงจุดหนึ่ง ก็กำหนดรู้ตรงจุดสุดลมเข้าปอด เห็นว่านั่นคือจุดเริ่มของลมออกจากร่าง กระทั่งเกิดความเห็นชัดว่าลมหายใจเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา
อันเนื่องจากเตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างรู้ทาง ฉันไม่ปล่อยให้ปีติครอบงำเหมือนเมื่อคืน แต่ทำเฉยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ด้วยความเบิกบานในธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเห็นได้ว่าลมหายใจใดเริ่มสั้นลง ก็ประคองจิตรับรู้ด้วยสติคงเส้นคงวาเท่าเดิม ไม่ให้กำลังสติตก
ที่จะเรียกว่า วิริยะ อันเป็นองค์ที่สามแห่งโพชฌงค์ได้เต็มปาก ก็ต่อเมื่อใจให้ความสำคัญกับธัมมวิจัยอย่างต่อเนื่องไม่ลดละจริงๆ สิ่งอื่นเหมือนด้อยค่าลง เสียลำดับความสำคัญให้กับธัมมวิจัยทั้งหมดทั้งสิ้น กล่าวคือในขั้นนี้ ฉันไม่สนใจอะไรอื่นมากไปกว่ารู้ว่าลมเข้าแล้วต้องผ่านออกไปเป็นธรรมดา กับทั้งเปรียบเทียบได้ทันว่าเมื่อใดลมหายใจสั้นลง เมื่อใดกลับกระเตื้อง ร่างกายต้องการลมยาวขึ้น
ฉันสังเกตลงไปในระดับของอาการดำเนินจิต จังหวะชี้บอกว่าวิริยะปรากฏชัดมีอยู่ คือเมื่อสิ่งอื่นใดจะดึงสติ หรือทำให้เสียธัมมวิจัยไป จะมีสติอีกชั้นหนึ่งมาดึงจิตกลับไปรู้อารมณ์เดิม ด้วยความรู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดสำคัญเท่า การพยายามประคองให้เกิดสติ เกิดธัมมวิจัยอย่างต่อเนื่องนั้นเอง ให้ผลเป็นความหนักแน่นยิ่งๆขึ้นของจิต คล้ายอัดดินร่วนให้เป็นปึกแผ่นราบเรียบมากขึ้นๆ
เช้านี้ฉันจดบันทึกด้วยความมีปีติเป็นล้นพ้น วิริยะที่อยู่ในโพชฌงค์ต่างจากวิริยะในการทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวทางโลก ต่างจากวิริยะแม้เมื่อทำสมาธิเอาความสงบสุข เพราะเป็นวิริยะในความหมายของการทำความเห็นสภาพเกิดดับของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสำคัญ
แต่ฉันก็ให้คะแนนตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เมื่อใช้โพชฌงค์เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบแล้วพบว่ายังไม่เกิดปีติชัด ฉันทำความเข้าใจแยกแยะภาวะปีติได้ถูก ถ้าปีติแบบโลกๆจะเหมือนหัวใจพองฟูคล้ายเด็กดีใจได้ของเล่น มีความวูบวาบหวั่นไหว ให้ผลเป็นอาการเนื้อเต้น อยากลุกขึ้นขยับเต้นแร้งเต้นกา แต่ถ้าเป็นปีติในองค์สมาธิจะมีความสงบนิ่ง ให้ผลเป็นความระงับทั้งกายและใจ และนี่คือประโยชน์ของการศึกษาภาคทฤษฎีมาอย่างดี เมื่อรู้ลำดับโพชฌงค์กระจ่างแจ้ง จะไม่ทำให้ตีค่าระดับการภาวนาที่เข้าถึงอย่างผิดๆเหมือนสมัยก่อน
มาที่ทำงาน ฉันรู้สึกว่าอาการทางกายเป็นอัตโนมัติมากขึ้น แล้วก็พลอยทำให้สติหมุนเหมือนมอเตอร์ที่ทำงานเต็มกำลังทุกรอบ เรียกว่าการรู้ลมกลายเป็นอนุสติไปแล้ว
สำรวจตนเองแบบไม่เข้าข้าง ฉันเห็นสติ ธัมมวิจัย และวิริยะปรากฏอยู่เรื่อยๆ แม้ไม่ต่อเนื่องชนิดวินาทีต่อวินาที แต่เมื่อใดว่างจากงาน เมื่อใดไม่ต้องข้องเกี่ยวกับผู้คน มีเวลาเป็นตัวของตัวเองตามลำพัง ฉันเห็นลมเข้าออกสั้นยาว เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา กระทั่งจิตเหมือนฟองสว่างว่างโล่งที่บอกตัวเองเกือบตลอดว่า ลมหายใจไม่ใช่ของเรา
แต่ในความว่างนั้น ยังมีความฝืด หรือจะเรียกว่าอะไรดี มันหนืดๆอยู่ชอบกล ปีติแบบวูบๆวาบๆเหมือนอิ่มอกอิ่มใจที่หายไข้ แล้วสลับเป็นกลัดกลุ้มลึกๆ ตรวจสอบเทียบเคียงแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับความร้อนใจ อยากได้ดียิ่งๆขึ้นนั่นเอง
ตรงนี้คงแก้ไม่ยากนัก อาศัยศรัทธา คือเชื่อว่าทำไปเรื่อยๆแล้วจะทะลวงด่านทึบนี้ได้เองก็พอ หนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่าถ้าปฏิบัติถูกทาง ความต่อเนื่องนั่นแหละคือความก้าวหน้า และนิยามของความต่อเนื่องทางการปฏิบัติก็คือ ‘วิริยะ’ อันเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏในฉันเดี๋ยวนี้เอง
ฉันเจอคู่อริตอนเดินสวนกัน พอเดินสวนกันสติฉันหลุดจากฐานแวบหนึ่ง คือแลบไปจับอยู่ที่ความรู้สึกในอัตตาของเรากับอัตตาของเขา และเกิดวาระแรกเห็นว่าจิตของฉันเหนือกว่า ไม่ควรลดตัวไปเทียบกับคนระดับต่ำกว่าอีกต่อไป
สรุปคืนนี้ ถ้าตรวจสอบด้วยเกณฑ์คือโพชฌงค์ ฉันพัฒนามาถึงขั้น ๓ แต่ถ้าตรวจสอบด้วยอานาปานสติ ฉันก็บรรลุเป้าหมายแรกแล้ว คือมีจิตเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงอย่างเป็นอัตโนมัติ ไม่ว่าจะออกหรือเข้า ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น จิตยังทรงสภาพผู้เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างสม่ำเสมอไม่คลาดไป เสียแต่ว่ายังเป็นการรู้ชัดแบบแห้งๆไม่ค่อยมีน้ำปีติหล่อเลี้ยงให้ชุ่มฉ่ำเท่านั้น
 
วันที่ ๙: เริ่มหัดจงกรม
ตื่นขึ้นเช้านี้ด้วยความรู้สึกว่าชีวิตตัวเองเปลี่ยนไป เหมือนไม่ใช่คนเดิม ฉันหาว่าอะไรเป็นเหตุให้รู้สึกเช่นนั้น ก็ได้คำตอบว่าเป็น ศรัทธา นั่นเองที่ผิดแผกแตกต่าง
ฉันไม่เคยเชื่อแบบเต็มร้อยมาก่อนเลยว่าชาตินี้จะสามารถบรรลุมรรคผลได้ แต่บัดนี้มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าต้องทำสำเร็จ เพราะแน่ใจแล้วว่าถ้าทำตามลำดับสติปัฏฐาน ๔ ผลจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับไปด้วย
ถึงแม้ว่าจะยังไม่บรรลุธรรม แต่อย่างน้อยฉันก็รู้สึกแล้วว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นของจริง ทำได้จริงไม่จำกัดกาล และพระพุทธเจ้าก็ตรัสวิธีเจริญสติไว้ชัดเจนเป็นขั้นๆ พร้อมมีเกณฑ์การตรวจสอบทิศทางไปสู่มรรคผลไว้แบบสูตรสำเร็จเรียบร้อย ไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหาวิธีเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องถกอภิปรายหาจุดควรดัดแปลงใดๆอีกแล้ว
เมื่อเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่ามี ‘ตถาคตโพธิสัทธา’ อย่างเต็มเปี่ยม กับทั้งรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้มีวาสนา มีโอกาสพอจะได้ทรงจำวจนะของบุคคลที่รู้แจ้งเห็นจริง ทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุด และสิ่งที่เป็นหนทางสู่ประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเห็นชัดว่าตนเองกำลังดำเนินอยู่ในทางสว่าง จิตกำลังสว่างตั้งมั่นขึ้นทุกที สำนึกเกี่ยวกับการมีชีวิตย่อมต่างไปเป็นธรรมดา
ด้วยสติที่ตื่นเต็มในเช้าวันใหม่ รวมกับใจที่ทะยานอยากก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ทำให้ฉันถามตัวเองอีกครั้งว่ายังมีสิ่งใดควรทำเป็นลำดับถัดไป ในเมื่ออานาปานสติสำหรับมือใหม่ฉันทำได้ถึงขั้นเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงแล้ว
จิตที่ทรงจำมหาสติปัฏฐานสูตรไว้แจ่มชัดตอบตนเองทันทีว่า ให้รู้อิริยาบถ เพราะถัดจากการเจริญสติรู้ลม พระพุทธเจ้าให้รู้ว่ากำลังเดิน ยืน นั่ง นอน หรือตั้งกายไว้ด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดๆ ก็รู้ชัดกิริยาท่าทางอย่างนั้นๆ
สิ่งที่ฉันพบตามจริงก็คือ เมื่อมีจิตที่ทรงสติ เป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงได้ดีพอสมควรแล้ว กายจะปรากฏชัดขึ้นด้วย ขอเพียงน้อมนึกถึงอาการทางกายในปัจจุบันเท่านั้น นี่คืออีกระดับของมุมมองจากภายในของจิตที่มีคุณภาพ ไม่สามารถเข้าใจด้วยประสบการณ์สามัญของผู้ยังมาไม่ถึง
การเดินเป็นอิริยาบถที่พระพุทธเจ้าเน้นให้รู้มากกว่าอิริยาบถอื่น ภิกษุสมัยพุทธกาลจะเดินกลับไปกลับมา แบบที่เรียกว่า จงกรม กันทั้งวัน เห็นได้จากนันทสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสโดยสรุปคือ ภิกษุสาวกผู้มีความเพียรเป็นเลิศของพระองค์นั้น ตอนกลางวันก็ดี หัวค่ำก็ดี จักได้ชำระจิตให้สะอาดจากนิวรณ์ด้วยการเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เมื่อเพียรอยู่เช่นนี้ จึงสำเร็จอรหัตตผลในเวลาไม่ช้านานเลย
ที่ผ่านมาฉันเอาแต่นั่งสมาธิ สำรวจย้อนหลังไป ก็ต้องยอมรับอย่างหน้าชื่นว่าเพราะเป็นอาการทำความเพียรที่สบายดี ไม่ต้องออกแรงอะไร ต่อเมื่อนั่งสมาธิและเจริญสติรู้ลมหายใจเข้าออกโดยความเป็นของเกิดดับ กระทั่งเริ่มปรากฏจิตผู้รู้ลม เรียกว่าสติสัมปชัญญะเริ่มเข้าที่เข้าทางดีแล้ว ฉันก็ไม่อยากย่ำอยู่กับที่อีกต่อไป เมื่อฝึกสติขณะนิ่งได้ผล ก็ควรฝึกสติขณะเคลื่อนไหวเป็นลำดับถัดมา เพื่อความบริบูรณ์พร้อมของสติทุกขณะ และความรู้เห็นสภาพเกิดดับที่ละเอียดยิ่งๆขึ้นไป
ปกติกายปรากฏเป็นก้อนตัวตนของเราก้อนหนึ่ง มีสภาพคงที่ ไม่อาจรู้เห็นได้ว่ามีความไม่เที่ยงอย่างไร ต่อเมื่อฝึกรู้ลมหายใจอันเป็นส่วนหนึ่งของกายจึงพอจะเริ่มเห็นอนิจจังได้ ขั้นต่อไปคือดูอิริยาบถโดยความเป็นของไม่เที่ยงบ้าง
ด้วยสติที่กำลังตื่นเต็มและเห็นลมหายใจเป็นของว่าง เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ทำให้จิตว่างจากความยึดมั่นลมหายใจ และเมื่อน้อมมามองอิริยาบถ โดยไม่ต้องพากย์กำกับก็เห็นชัดว่ากายกำลังอยู่ในสภาพนั่งสมาธิ
รูปพรรณสัณฐานของกายที่ปรากฏจากมุมมองภายในยามนี้แตกต่างจากครั้งยังไม่ผ่านการฝึกสติปัฏฐานเป็นคนละเรื่อง กล่าวคือก่อนฝึกนั้น ถ้าทำความรู้สึกเข้ามาที่กายปั๊บ ความรู้สึกนั้นจะบอกทันทีโดยไม่ต้องกำหนด นั่นคือ กายนี้เป็นฉัน มีความทึบ มีความคงทน มีความเป็นแก่นสาร ต่อเมื่อมองกายด้วยมุมใหม่ เริ่มจากลมหายใจที่เป็นส่วนหนึ่งของกาย เห็นลมหายใจไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ปล่อยจิตเผลอเหม่อ มีสติยกขึ้นรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติ คราวนี้เมื่อน้อมเอาสติที่มั่นคงแล้วนั้นรู้อิริยาบถนั่ง บัดนี้กายปรากฏเป็นโพรงว่าง เปราะบางเหมือนฟองสบู่ มีสาระเพียงเป็นเครื่องอาศัยระลึกรู้สักแต่ว่านี่อิริยาบถหนึ่ง
แปลกแต่จริง กายเดิม แขนขาหัวตัวอันเดิมแท้ๆ แต่แค่พลิกจิต พลิกมุมมองด้วยสติปัฏฐาน กายก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละแบบ ราวกับเป็นคนละชีวิต รู้สึกถึงศีรษะที่ตั้งนิ่งสบาย รู้สึกถึงคอตั้งหลังตรง รู้สึกถึงแขนที่ปล่อยตกไม่ไหวติง ทุกส่วนนิ่งและเบาสบายไปหมด รู้สึกที่แขนก็สบายที่แขน รู้สึกที่ขาก็สบายที่ขา ราวกับอวัยวะแต่ละชิ้นเป็นเครื่องทำความรู้สึกสบายในตัวเอง
ฉันลุกขึ้นยืน เกิดความสับสนลังเลเล็กน้อยว่าจะให้รู้อย่างไร เพราะการขยับเปลี่ยนท่านั้นมีขั้นตอน ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นตรงข้ามทันทีเหมือนลมหายใจเข้าออก แล้วก็นึกถึงพระดำรัสของพระพุทธองค์ได้ นั่นคือ ตั้งกายไว้ด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดๆ ก็รู้ชัดกิริยาท่าทางอย่างนั้นๆ แค่รู้โดยไม่มีความกังวล ไม่มีความสับสนลังเลเท่านั้นเอง จะต้องไปพยายามหาความรู้ที่ถูกต้องไปทำไม รู้แค่ไหนเอาแค่นั้นก็พอแล้ว ถ้ายังอยู่ในขอบเขตสติปัฏฐานคือกายใจนี้ ถึงอย่างไรก็ถูกอยู่ดี จะถูกมากถูกน้อยก็ตาม
ฉันเดินกลับไปกลับมาอยู่ในห้องด้วยความรู้ว่ากำลังเดิน เป็นการเดินเอามือไพล่หลัง ก้มหน้าเล็กน้อย สติยังเคยชินกับการรู้ลมหายใจ จึงปล่อยให้ตัวเองรู้ลมหายใจควบคู่กับอิริยาบถเดินไปพลางๆ แต่ด้วยความช่างสังเกต พอเดินนานไปก็รู้สึกว่าตัวหนักขึ้น ไม่เหมือนโพรงว่าง มีความทึบเป็นแท่งไม่เปราะบางเหมือนเมื่อครู่ อีกทั้งความรู้สึกในตัวตนก็กลับมาดังเดิม จึงสำรวจตรวจตราว่ามีสิ่งใดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป
น่าสงสัยจริง ฉันก็ยังรู้ลมหายใจอยู่นี่นะ ถ้าสติยังผูกอยู่กับลมหายใจ ไฉนกายจึงกลับปรากฏเป็นของทึบทึมไปอีก?
ทั้งวันฉันพยายามรู้กายโดยความเป็นอิริยาบถ พอย้ายฐานสติ จิตก็เริ่มแตกต่างไป ฉันมั่นใจว่าเห็นอิริยาบถเป็นระยะๆ แต่ค่อนข้างลังเลว่าเห็นความไม่เที่ยงของอิริยาบถแล้วหรือยัง เพียงทำใจสบาย ไม่ให้มีความร้อนรนเจือปนอยู่ในสติรู้อิริยาบถเท่านั้น
ก่อนนอนนั่งสมาธิตามปกติ ข้างในทึบๆกว่าเคย แม้เห็นลมหายใจเข้าออกก็ไม่ชัดเท่าที่ควร อีกทั้งเมื่อลุกขึ้นเดินจงกรมสติก็ยิ่งฝืด ฉันลงบันทึกไว้ว่า ตั้งสติผิด แล้วเข้านอนโดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรนัก ผิดก็ผิด จะได้รู้ว่าผิด พรุ่งนี้ค่อยเอาใหม่ ลองไปเรื่อยๆอย่างมีหลักเกณฑ์จนกว่าจะถูก
 
วันที่ ๑๐: วิ่งจงกรม
ตื่นนอนนั่งสมาธิ เช้านี้กลับรู้สึกปลอดโปร่งขึ้นมาใหม่ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ช่วงต้นลากลมยาวสม่ำเสมอก็รู้ พอผ่านไปประมาณ ๒๐ ครั้งลมสั้นลงก็ไม่ปล่อยให้สติตก รู้ทั้งยาวทั้งสั้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสติเริ่มชัดต่อเนื่อง ภาวะผู้รู้กองลมทั้งปวงก็ปรากฏ เห็นลมหายใจเป็นสิ่งที่เข้ามาจนสุดแล้วต้องกลับคืนออกสู่ความว่างไปเป็นธรรมดา
ฉันคุมเวลาไว้ไม่ให้เกินครึ่งชั่วโมงด้วยวิธีตั้งนาฬิกาปลุกเผื่อเหนียว คือเป็นประกันไม่ว่าจะหลับหรือเพลินในสมาธิ นาฬิกาปลุกจะช่วยเตือนให้ลุกขึ้นเดินจงกรมเสียหน่อย
ครึ่งชั่วโมงตามกำหนด ฉันก็ลุกขึ้นเดินท่อมๆ ใจบอกตัวเองว่ารู้อิริยาบถเดินด้วยสติที่อบรมแล้วจากอานาปานสติ แต่พอครบครึ่งชั่วโมงแล้วสำรวจคุณภาพตามแนวโพชฌงค์ ก็ต้องมาลงบันทึกไว้ตามจริงว่า ‘ทื่อ’ และ ‘แห้งแล้ง’ เหลือเกิน แบบนี้ไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่ความมีสติสมบูรณ์อย่างแน่นอน เพราะฉันจำไว้แล้วว่าอาการทื่อและความแห้งแล้งเป็นบ่อเกิดแห่งความเบื่อหน่ายและสติชนิดมืดบอด
เข้าทำงานตามปกติ สังเกตใจตัวเองมีความกังวลหน่อยๆ คล้ายมีฝุ่นละอองน่ารำคาญเคลือบจิตอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็อดกังวลไม่ได้ซีน่า จะให้นอนใจได้อย่างไรในเมื่อไม่สามารถเลื่อนขั้นขึ้นสู่ความมีสติรู้อิริยาบถได้
ตกเย็นฉันเข้าห้องฟิตเนสซึ่งเป็นบริการเกือบฟรีของบริษัท ไม่ได้ออกกำลังกายเสียนาน แถมวันนี้จิตมีความกังวลเคลือบอยู่ตลอด ทั้งเรื่องงาน ทั้งเรื่องการปฏิบัติธรรม เลยอยากยืดเส้นยืดสายให้กระฉับกระเฉงเสียหน่อย
แวะเวียนไปตามเครื่องออกกำลังต่างๆ จนในที่สุดมาหยุดอยู่กับเครื่องวิ่ง ฉันก้าวยืนบนสายพานแล้วปรับสปีดให้ก้าวแบบไม่ช้าไม่เร็ว ใจก็คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย เพิ่งเสร็จจากงานเลยคิดเรื่องงานเสียมาก แต่ด้วยความที่ช่วงหลังได้ฝึกสติเน้นเข้าไปรู้ลมหายใจ พอฟุ้งเรื่องงานเสร็จก็นึกขึ้นได้ว่าน่าจะรู้ลมเสียหน่อย จึงลากลมหายใจเข้ายาวๆ และระบายลมออกสบายๆ ความเคยชินในการรู้ลมอย่างถูกต้องก่อให้เกิดสติขึ้นทันใด
เพิ่งสังเกตว่าความกระชุ่มกระชวยของร่างกายมีส่วนมาก ขณะที่มีร่างกายขยับเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐาน สติรู้ลมหายใจคล้ายมีความสดใสมาเสริม ฉันจึงตระหนักว่า ‘สติ’ อันเป็นองค์แรกของโพชฌงค์นั้น สร้างขึ้นจากตรงไหนก็ได้ เสริมด้วยอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่สิ่งนั้นเกื้อกูลต่อการรู้เข้ามาในขอบเขตกายใจ
มองย้อนไป บางวันหรือบางช่วง ถ้าฉันเคลื่อนไหวเชื่องช้าซังกะตาย จะพลอยทำให้สติอืดอาด ไม่ว่องไวตามไปด้วย หากกายเซื่องซึม สติก็จะมีแนวโน้มแห้งเหี่ยวเป็นเงาตามกัน
ฉันเร่งสปีดสายพานให้เร็วขึ้นจนตัวโยกไปโยกมา พอรู้สึกว่าความกระฉับกระเฉงช่วยปรุงสติให้เข้มข้นขึ้นเลยได้ใจ จะเอาใหญ่ วิ่งไปพักหนึ่งก็ลดสปีดลง สังเกตว่ากายที่โยกโคลงและเกร็งกำลังแรงเกินพอดีนั้น นอกจากไม่ช่วยปรุงสติให้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ใจมีแต่อาการฟุ้งกระเจิงด้วยแรงผลักดันของความโลภอีกด้วย
ฉันปรับสปีดกลับคืนระดับเก่า ตั้งตัวตรง มองสบายๆไปข้างหน้า รู้อาการเคลื่อนไหวของกาย ซึ่งสังเกตแล้วจุดเด่นอยู่ที่การเหวี่ยงขาสลับกัน สองนาทีแรกก็รู้ได้ดี แต่ถัดจากนั้นสติก็เริ่มพร่าเลือน กลายเป็นความเกร็ง หาดุลไม่ถูกไปแทน
ฉันสังเกตว่าสติรับรู้อาการเหวี่ยงของขานั้น ไม่ทำให้เกิดหลักเกิดฐานชัดเจนนัก จึงพิจารณาว่าสิ่งใดในอาการวิ่งเป็นฐานของสติที่มั่นคงที่สุด วิ่งๆอยู่พักหนึ่งก็ตาสว่าง ผัสสะระหว่างฝ่าเท้ากับพื้นสายพานนั่นเองที่ชัดกว่าเพื่อน เมื่อนำสติไปวางไว้ที่นั่น ก็เหมือนได้ที่มั่นแข็งแรงเป็นฐานตั้ง
ฉันทดลองเอาสติไปอยู่ที่ฐาน คือเท้ากระทบพื้นอย่างเดียวเป็นเวลาสิบนาที เมื่อรู้ตัวว่าจิตแลบไปคิดโน่นคิดนี่บ้างก็ดึงสติมาอยู่กับเท้ากระทบอีก ใจรับรู้แต่กระทบแป๊ะๆๆสม่ำเสมอ ลำตัวตั้งตรง สายตาทอดตรงไม่เพ่งจุดใดจุดหนึ่ง กับทั้งมีลมหายใจที่สบายประกอบพร้อม
ฉันระวังนิดหนึ่งไม่ให้สติไปจดจ่อกับลมหายใจ ขณะนี้เป็นเวลาของการรู้อิริยาบถ ฉันก็จับจุดที่เด่นสุดของอิริยาบถ คือผัสสะกระทบเป็นหลัก สิบนาทีผ่านไปก็ยิ้มออก เพราะรู้สึกว่าค้นพบแล้วว่าจะกำหนดสติรู้อิริยาบถวิ่งหรือเดินอย่างถูกต้องได้อย่างไร แค่รู้เท้ากระทบอย่างเดียวไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะเกิดสติรู้ทั้งตัวเองโดยไม่ต้องฝืนพยายามบังคับจิตแต่อย่างใด
ฉันกลับบ้านด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง แช่มชื่น ตื่นรู้ตลอดตัว แม้จะไม่คงเส้นคงวานัก ก็พยายามเลี้ยงสติไว้ด้วยลมหายใจ ใจฉันจดจ่ออยู่กับอาการนั่ง แต่ก็มีอนุสติเป็นลมหายใจช่วยประคับประคองอยู่ ไม่ใช่อาการเพ่งรู้กายนั่งแบบทึบๆ ไม่ใช่สะกดจิตให้รู้สึกว่ากายเป็นเพียงหุ่นกระบอก การมีจิตที่ปลอดโปร่งเป็นพื้นในการรู้อิริยาบถปัจจุบันเท่านั้น ทำให้เป็นไปได้ที่จะเห็นกายแสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่ก้อนทึบเป็นดินเหนียวอย่างเคย
นั่งในรถก็ท่าหนึ่ง ลุกออกมาจากรถก็กลายเป็นอีกท่าหนึ่ง ฉันรับรู้ตามจริงว่ามันต่างกัน แม้มีแขนขาหัวตัวเท่าเดิม แต่ลักษณะกายที่ปรุงแต่งจิตให้รู้สึกเกี่ยวกับตัวตนก็ต่างไป นี่เป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยสังเกตรู้มาชั่วชีวิต คนธรรมดาอย่างมากแค่รู้สึกว่ากายเป็นเรา แต่ไม่เคยสังเกตว่าแค่กายต่างท่า ก็ทำให้ความเป็นเราต่างไปแล้ว
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อนั่ง กายของเราจะเหมือนไม่มีขา มีแต่ช่วงหัวลงมาถึงกลางตัว และท่านั่งเดียวกันนั้นเอง บางทีกายก็ปรากฏชัดเพียงด้านหน้า บางทีก็เพียงแผ่นหลัง แต่บางทีเมื่อมีสติเต็มตื่นอยู่ก็คล้ายเห็นเต็มหัวเต็มตัว มีความรู้สึกเป็นสุขสบาย
แต่พอเปลี่ยนมาเดิน กายก็ปรากฏคล้ายมีแต่หัวกับขาที่เตะสลับกัน ถ้าจิตทึบด้วยความฟุ้ง ตรงกลางก็จะเหมือนตันๆตื้อๆ แต่ถ้าสติดีตรงกลางจะเหมือนกลวงๆไป และกายเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดรู้โดยเฉพาะได้ เช่นถ้าจี้เล็งมาที่กลางอก ก็จะรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดตันเป็นก้อนหนัก แต่ถ้าวางสติไว้สบายๆที่เท้ากระทบพื้น ข้างบนจะเหมือนว่างตลอด คล้ายไม่มีทั้งหัวทั้งตัว มีแต่ความชัดของเท้ากระทบเด่นอยู่
ฉันไม่เข้าบ้าน แต่มาปิดประตูรั้วแล้วออกเดินทอดน่องไปรอบหมู่บ้าน เป็นสุขมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเห็นกายตามจริง ข้างบนว่าง ข้างล่างชัด เพราะสติกำหนดอยู่เฉพาะเท้ากระทบพื้นเท่านั้น
เดินมาพักหนึ่งก็เจอหมาเห่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนฉันจะสะดุ้งและโมโห บางทีอาจเผลอหันไปตวาดหรือทำท่าขู่ว่าเดี๋ยวโดน ซึ่งเป็นการลดตัว ลดชั้นระดับชีวิตไปเทียบเท่ากับมันด้วยโทสะ แต่มาคราวนี้ทุกอย่างต่างไป นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เห็นหมาเห่ากายเดิน ไม่ได้เห่าฉัน ฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เป็นเพียงผู้รู้ผู้ดูกายเดินและหมาเห่ากายเดินเท่านั้น ผัสสะกระทบหูโฮ้งๆนั้นก่อความสะเทือนก็จริง แต่หากไม่ดึงสติให้โงนเงนจากฐาน ผัสสะนั้นก็เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมที่สติสามารถเฝ้ารู้เฝ้าดูได้จากฐานที่มั่นอันปลอดภัย
สี่ทุ่มคืนนี้ฉันแบ่งเวลานั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง แล้วลุกขึ้นเดินจงกรมอีกครึ่งชั่วโมง รู้สึกพอใจ มั่นใจว่าจับจุดถูก วัดจากที่เดินครึ่งชั่วโมงไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เครียดเกร็ง ยิ่งเดินยิ่งรู้เท้ากระทบชัด แล้วฐานคือความรู้เท้ากระทบชัดนั้นเอง ก็ส่งให้เกิดความรู้ชัดทั่วอิริยาบถขึ้นเองโดยไม่ต้องบังคับกำหนด
บางครั้งสติรู้ลมหายใจมาแทรกแซงความรู้เท้ากระทบบ้าง แต่ฉันก็ไม่เสียศูนย์ เพราะกำหนดไว้แล้วว่าศูนย์กลางการรับรู้จะอยู่ที่เท้ากระทบ ตราบใดยังรู้เท้ากระทบ ถ้ามีรู้อย่างอื่นมาแถมก็ไม่เป็นไร ถือเป็นกำไร ถือเป็นเครื่องสะท้อนกำลังสติที่ใหญ่ขึ้นได้ แต่ถ้ามีอะไรมาแทรกแซงแล้วสติแล่นไปจับสิ่งนั้นโดยลืมอิริยาบถเดินไป ก็แสดงว่าสติของเรากำลังออกอาการเหวี่ยงแหจับฉ่าย นับเป็นเครื่องสะดุดให้หยุดความก้าวหน้าของสติปัฏฐานเบื้องต้นได้อย่างหนึ่ง
สรุปคืนนี้ฉันดีใจเป็นพิเศษ เมื่อได้หลักการเดินจงกรมที่ถูกต้อง ตอนนี้เหมือนมีอาวุธคู่ใจสองชิ้นไว้รบทัพจับศึกกับกิเลสอย่างสมน้ำสมเนื้อแล้ว
 
วันที่ ๑๑: องค์ที่สี่กับห้าของโพชฌงค์ปรากฏ
เช้านี้เป็นอีกเช้าหนึ่งของความมีสติตื่นเต็ม เพิ่งมองย้อนกลับไปแล้วเห็นว่าที่ผ่านมาฉันเพ่งคับแคบอยู่กับลมหายใจ เมื่อไม่มีอิริยาบถเป็นฐานสติร่วมประกอบด้วยนั้น แม้เห็นลมหายใจชัด จิตก็ไม่กว้างขวางเท่าที่ควร ต่อเมื่อเริ่มรู้สึกในอิริยาบถปัจจุบันมากขึ้น พอกลับมาตามรู้ลมหายใจอีกครั้งก็เหมือนฐานสติใหญ่กว่าเดิม สบายกว่าเดิม
การไม่มีอิริยาบถเป็นฐานสติ บางครั้งก็ทำให้เกิดอาการตกหล่น เช่นกายบางส่วนเกร็งก็ไม่รู้ เพราะเกร็งนิดเดียว ไม่ได้เกร็งมากขนาดเครียด การที่กายบางส่วนเกร็ง ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา คอ ไหล่ ล้วนแล้วแต่ทำให้จิตถูกบีบไว้ ไม่เปิดกว้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เมื่อนั่งหลับตาทำสมาธิ พอสติถูกยกขึ้นรู้ลมหายใจ เห็นลมหายใจเป็นสภาพเกิดๆดับๆตลอดเวลาด้วยความเพียรที่ต่อเนื่องแบบไม่เพ่งเครียด ก็เกิดความรู้สึกทั่วพร้อมขึ้นมา คือรู้อิริยาบถนั่งด้วย รู้ลมชัดโดยความเป็นของไม่เที่ยงด้วย ใจเปิดกว้างโดยไม่มีอาการทางกายแม้จุดเล็กจุดน้อยมาบีบด้วย ในที่สุดก็เกิดสภาพเบิกบานเปิดเผย ชุ่มฉ่ำใจในแบบที่เรียกว่า ธรรมปีติ ทำให้แน่ใจได้ว่าเป็นปีติตามนิยามองค์ที่ ๔ แห่งโพชฌงค์
เมื่อมีวิริยะสนับสนุนไม่ลดละ ความเบิกบานกายใจก็ให้ผลเป็นความสงบระงับไม่กวัดแกว่งทั้งกายใจเช่นกัน ฉันจึงเห็นความปรากฏขององค์ที่ ๕ แห่งโพชฌงค์ที่เรียกว่า ปัสสัทธิ เข้าใจความหมายของวิเวกสุขอย่างแท้จริง คล้ายความรับรู้ในสิ่งต่างๆรอบตัวเลือนราง เหลือแต่ความเด่นของลำลมหายใจเป็นสายยาว ผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก จิตรับรู้โดยความเห็นว่าเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องออกไป เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา มีความเพียรประคองความเห็นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายได้หลายนาที อิ่มอกอิ่มใจจนไม่อยากขยับไปทางไหน กายใจระงับแน่นิ่งราวกับใบไม้ยามลมสงบไม่ไหวติง
ทุกอย่างดำเนินไปเป็นอัตโนมัติ สว่างว่าง ตื่นรู้ แต่สติที่คมชัดก็เห็นอาการของจิตยังไหวๆอยู่ เป็นภาวะละเอียดอ่อนที่รู้แก่จิต คล้ายยืนพินิจผิวน้ำที่ดูไกลๆเหมือนสงบราบคาบ แต่พอพิศใกล้ๆแล้วจะรู้ว่ายังไหวกระเพื่อมเป็นระลอกน้อยๆอยู่ตลอดเวลา อาการกระเพื่อมเล็กๆของจิตนี้เอง ถ้าลองปล่อยสักพักจะเห็นว่าเป็นรากของคลื่นความคิด คือในเวลาต่อมาจะมีแรงดันฉับพลันมาเปลี่ยนความกระเพื่อมเล็กเป็นความกระเพื่อมใหญ่ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในภาวะคิดเสียแล้ว เพียงแต่จะไม่คิดมากเหมือนปกติ คิดๆเป็นสายเป็นแนวหน่อยหนึ่งถ้าสติยังดึงทันก็กลับไปรู้ลมหายใจได้ใหม่
ฉันสังเกตดีๆ ความรู้สึกว่าสว่างนั้นไม่สว่างเต็มจริง ยังครึ่งๆอยู่ระหว่างใสบริสุทธิ์กับขาวหม่น ซึ่งครึ่งๆอยู่ไม่นานนัก พอเผลอนิดเดียวเหมือนมีหมอกมัวลงบังจิต ฉันเห็นชัดเหมือนใครเอาผ้าหม่นมาคลุมเลยทีเดียว
ผ่านภาวะอิ่มทิพย์เมื่อนั่งสมาธิถึงครึ่งชั่วโมงตามกำหนด ฉันลุกขึ้นเดินจงกรม กระแสความรู้สึกรอบกายคล้ายสว่างว่างกว้างขวาง แม้เมื่อเดินเท้ากระทบตุบๆๆอยู่เดี๋ยวนี้ กายที่เคลื่อนไหวก็เหมือนปรากฏเป็นความสงบนิ่งต่อสติรับรู้ภายใน ฉันมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับสมัยหนึ่งที่นั่งสมาธิแล้วเกิดอาการทางกาย เช่นโงนเงน หรือส่ายไปคล้ายละครรำโดยไม่รู้ตัว เปรียบเทียบกับความระงับกายใจในเช้านี้ แล้วก็เห็นว่าสมาธิเหล่านั้นไม่ใช่ทางบรรลุธรรมแต่อย่างใด ถ้ากายไปทาง จิตไปทาง อย่างไรก็ไม่อาจรวมศูนย์ลงสู่ความสงบนิ่งตั้งมั่นได้แน่ๆ
และด้วยสติที่คมกริบในยามนี้ ความรับรู้ของฉันไวขนาดเห็นว่าที่จุดกลับตัวของจงกรมนั้น มีอาการเคว้งๆในหัวเกือบทุกที ฉันไล่พิจารณาตั้งแต่อาการทางกายทันที พบว่าอาการเคว้งเกิดขึ้นเมื่อเหวี่ยงตัวกลับหลังหันจังหวะเดียว เมื่อเดินจนสุดทางครั้งต่อไปจึงทดลองหยุดยืนเท้าเสมอกัน แล้วหมุนตัวทางขวาครึ่งรอบก่อน หยุดเท้าเสมอกันอีกทีค่อยหมุนขวาต่ออีกครึ่งรอบ หยุดเท้าเสมอกันอีกครั้งก่อนออกเดิน มีจังหวะไม่ช้าไม่เร็ว ปรับให้พอดีกับสติรู้เท้าชัดอย่างเดียว ยังไม่พิจารณาอะไรทั้งสิ้น เพราะต้องการให้องค์แรกของโพชฌงค์คือสติเกิดขึ้นเต็มที่เสียก่อน
เพียงด้วยการกลับตัวอย่างมีสติ ผลโดยรวมก็ต่างไปอักโข เมื่อไม่มีการสั่งสมของสภาพเคว้ง สติก็ต่อเนื่องขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด
เย็นนั้นฉันมาวิ่งจงกรมที่ห้องฟิตเนสอีกครั้ง ปรับสปีดของเครื่องวิ่งค่อนข้างเร็ว พบว่าถ้ากำลังฟุ้งซ่านจากการงาน หากมีผัสสะกระทบกระตุ้นยิ่งถี่ยิ่งดี เพราะสติที่ไม่คลาดจากผัสสะก็ยิ่งถี่ตาม หารแบ่งความถี่จาคลื่นความคิดฟุ้งได้มาก วันนี้ฉันสังเกตให้เท้าแบเพื่อรับกระทบเต็มฝ่าเท้า พอวิ่งได้สิบกว่านาทีก็สติสดใสเหมือนเมื่อเช้า ความอ่อนล้าและความฟุ้งยุ่งจากการทำงานทั้งวันลดระดับลงเรื่อยๆแล้วเหือดหายสนิทแทบเป็นปลิดทิ้ง
จิตนึกถามตัวเองขึ้นมาว่าเมื่อสติในอิริยาบถชัดแล้วควรพิจารณาอะไรต่อ ตอนนี้เกิดอิริยาบถวิ่งอย่างต่อเนื่อง คงพิจารณาอนิจจังของอิริยาบถยังไม่ได้ ฉันตริตรองอยู่ชั่วครู่แล้วตัดสินใจว่า ถ้ายังไม่สามารถเห็นความเกิดดับ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบไปเห็น แค่คงสติรู้อิริยาบถนั้นๆอยู่ก่อนจนกว่าจิตจะเงียบสงบลงจริงๆ สังหรณ์ว่าจิตที่เงียบนิ่งรู้กายกระทบแจ่มชัดจะเป็นเหตุให้ความรู้ความเห็นคมชัดขึ้นไปเรื่อยๆ
สรุปคืนนี้ ฉันบันทึกว่าปีติและปัสสัทธิช่างเป็นสมบัติอันเลิศล้ำ เมื่อสงบสนิทติดกายติดใจแล้วเลิกอยากเรื่องเพศรส เลิกมุ่งร้ายใครแม้ด้วยความคิด รวมทั้งเป็นสภาพที่กลมกลืนและเกื้อกูลกันกับความรู้สึกปล่อยวางตัวตน นักภาวนายุคเราบางกลุ่มกลัวติดสุขจากการทำสมาธิ ถึงขั้นไม่ยอมทำสมาธิกัน จะเดินจงกรมอย่างเดียว แต่ฉันพบพุทธพจน์สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ในลฑุกิโกปมสูตร ใจความโดยย่นย่อคือ เรากล่าวว่าสุขอันเกิดจากฌานสมาบัตินั้น บุคคลควรเสพ ควรทำให้เกิดมี ควรทำให้มาก และไม่ควรกลัวในสุขนั้น
ฉันยังทำมาไม่ถึงความนิ่งเป็นหนึ่งที่เรียก ‘ฌานสมาบัติ’ เพราะจิตยังไหวๆ มีคลื่นความคิดกระเพื่อมเป็นระลอกๆอยู่ แต่พอจะอนุมานได้ว่าสุขอันเกิดแต่วิเวกแบบเดียวกับฌานเป็นเช่นใด ฉันจะไม่กลัวติดสุข เพราะไม่ได้ทำสมาธิหรือเดินจงกรมด้วยความอยากเสพสุข แม้เสพสุขแล้วก็ไม่เห็นว่าเป็นภารกิจสุดท้ายที่ต้องทำ แต่มองว่าเป็นห่วงโซ่หนึ่งที่จะเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อื่น ถ้ามีสติและธัมมวิจัยเป็นตัวนำร่องเสียอย่าง ให้เกิดอะไรแค่ไหนเป็นผลพลอยได้ก็ไม่มีวันออกนอกทางเลย
 
วันที่ ๑๒-๓๐: ความต่อเนื่องคือความก้าวหน้า
ช่วง ๑๙ วันนี้ไม่มีอะไรคืบหน้าเป็นพิเศษ คล้ายย่ำอยู่กับที่ แต่ก็เป็นที่ที่ไม่เลวนักหรอก ฉันพบความจริงประการหนึ่งคือถ้าเราเริ่มต้นถูกต้อง พยายามจับราวเกาะไว้ ไม่คิดมาก ไม่แส่ส่ายไปไหน ก็อาจเห็นความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่จะเหมือนเครื่องบินที่ค่อยๆวิ่งเอื่อยในช่วงแรก แล้วเร่งความเร็วเต็มกำลังขณะจะเชิดหัวขึ้น เราจะรู้สึกว่ามีความคืบหน้าปุบปับในชั่วเวลาอันสั้น แต่เมื่อลอยพ้นจากแรงดึงดูดแล้ว แม้ลอยสูงขึ้นเรื่อยๆเราก็จะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก
วันเสาร์และอาทิตย์ที่ไม่มีโอกาสเข้าห้องฟิตเนสของบริษัท ฉันออกวิ่งจ็อกกิ้งรอบหมู่บ้าน ตามรู้เฉพาะเท้ากระทบ ก็ได้ผลดีไปคนละแบบกับการวิ่งบนสายพาน การวิ่งบนสายพานทำให้สายตาไม่วอกแวก ตั้งตัวตรงง่าย ซอยเท้าย่ำสม่ำเสมอ ทำให้เกิดกระทบถี่ๆคงเส้นคงวา ถ้าเริ่มเหม่อก็ปรับสปีดง่าย แถมมีไวเบรเตอร์ประจำห้องฟิตเนสให้นวดคลายกล้ามเนื้ออีกต่างหาก แต่บรรยากาศในห้องฟิตเนสก็ไม่ปลอดโปร่งเป็นธรรมชาติเหมือนวิ่งจ๊อกกิ้งรอบหมู่บ้าน
การวิ่งมีส่วนช่วยให้การเดินจงกรมพัฒนาขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม การทำงานชนิดเอาเหงื่อของร่างกายนั้นลดความฟุ้งซ่านได้มากอยู่แล้ว ยิ่งมาเสริมกับที่เอาสติไปจดจ่อกระทบถี่ๆพักหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความรู้ชัดเข้ามาในขอบเขตกายได้อย่างรวดเร็ว วิ่งจงกรมอย่างมีคุณภาพเพียง ๑๐ นาที อาจได้ผลดีเสียกว่าเดินจงกรมแบบเอ๋อๆตั้งชั่วโมงสองชั่วโมงเสียอีก
ชีวิตฆราวาสทำให้สภาวจิตค่อนข้างลุ่มๆดอนๆ สามวันดี สี่วันไข้ เดี๋ยวจิตสว่าง เดี๋ยวจิตมืด เดี๋ยวจิตตก เดี๋ยวจิตขึ้น บางทีก็ดูทัน บางทีก็หายไปครึ่งค่อนวันกว่าจะกลับมาทันใหม่ แต่อย่างไรฉันก็ยึดราวเกาะไว้แน่น พยายามมีสตินึกถึงลมหายใจอยู่เรื่อยๆ บางครั้งเป็นอัตโนมัติ บางครั้งก็ตกหลุมอากาศ ฉันดีใจเสมอเมื่อพบว่ายังมีราวเกาะให้ลุกขึ้นจับยึดเสมอ ไม่เคยหายไปไหน
ความจริงอีกประการหนึ่งที่ฉันพบก็คือ ถ้าหากองค์แห่งโพชฌงค์ใดเคยปรากฏมาแล้ว ก็ไม่ยากที่ปรากฏขึ้นอีก ขอเพียงองค์แรกคือสติเกิดขึ้นสักพักหนึ่ง พูดง่ายๆคือถ้ามีสติรู้ว่าลมหายใจปัจจุบันเป็นออกหรือเข้าโดยไม่มีปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกขัดแทรก ก็จะเกิดธัมมวิจัย เกิดวิริยะ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิขึ้นเองแบบต่อยอดเป็นเหตุเป็นผลกัน และคล้ายจิตจำทางได้ ยิ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาก็ยิ่งรู้ว่าจะตั้งมุมมองภายในไว้อย่างไร พองหน้าท้องออกท่าไหน สติจึงพัฒนาขึ้นเป็นธัมมวิจัยอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเบิกบาน สงบระงับกายใจ บางวันฉันเบิกบานระงับกายใจได้ที่ที่ทำงานเป็นครู่ใหญ่ด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องลงนั่งสมาธิหลับตาหรืออยู่ในลู่ทางเดินจงกรมเป็นพิเศษแต่อย่างใด
ฉันนั่งสมาธิทีไรยังเห็นความไหวของจิต จึงสรุปว่าองค์ที่ ๖ ของโพชฌงค์คือสมาธิยังไม่เกิดบริบูรณ์ ไม่ใช่ว่าไม่เกิดนะ เกิดเหมือนกัน แต่ยังไม่เต็มบริบูรณ์ รู้สึกนิ่งเดี๋ยวเดียวก็สั่นไหวขึ้นมาอีก และเท่าที่สำรวจตัวเอง ก็ดูเหมือนว่าฉันยังไม่อาจแน่ใจนักว่าตัวเองวางเฉยในความตั้งมั่นชั่วคราวได้หรือยัง รู้แต่ว่าบางครั้งความทึบหรือความมัวซัวในจิตเบาบางลงมาก พลอยทำให้อัตตาน้อยลงอย่างเห็นเทียบเคียงกับอดีตได้ชัด เลยสรุปว่าถึงไม่ใช่องค์ที่ ๗ ของโพชฌงค์คืออุเบกขา ก็น่าจะใกล้เคียงบ้างล่ะน่า
อีกจุดหนึ่งที่แสดงพัฒนาการของฉัน คือฉันเริ่มเห็นค่าของสติก่อนนอน เมื่อเปรียบเทียบได้ว่าคืนไหนนอนแบบหลงสติ อาจฝันมั่ว และตื่นมาด้วยความมัวมน ต้องทำสมาธิสักพักกว่าจะเริ่มเข้าที่ แต่ถ้าคืนไหนนอนหงายกำหนดรู้ลมหายใจ พองหน้าท้องเอาความสุขไปเรื่อยๆ คืนนั้นจะก้าวลงสู่ความหลับด้วยความรู้ตัว ในช่วงแรกอาจทำให้ตื่นขึ้นกลางดึกด้วยตาแข็งๆบ้าง มีความฟุ้งยุ่งเหยิงและตื่นก่อนเวลาบ้าง แต่ในที่สุดก็เริ่มจับทางถูก ว่าจะรู้ลมหายใจก่อนนอนแบบนิ่มนวลไม่แข็งกระด้างได้อย่างไร ตรงนี้อาการอ่อนโยนทางกายจะมีบทบาทมาก คือฉันต้องสังเกตละเอียดยิบทีเดียวว่าลมหายใจไหนทำให้ส่วนใดเกร็งขึ้นมาบ้าง แม้กระทั่งสายตาที่บีบเพียงน้อยขณะรู้ลมก็มีผลเป็นความเครียดสั่งสมได้แล้ว แต่หากไม่มีส่วนใดบีบเลย ร่างกายก็ยอมรับสภาพสติก่อนก้าวลงสู่ความหลับได้ในที่สุด
การภาวนาก่อนนอนจะมีส่วนช่วยละลายความฟุ้งซ่านให้เบาบาง และทำให้เกิดความรู้สึกสว่างอบอุ่นเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว ถ้าคืนไหนภาวนาไม่ดี ยังมีความฟุ้งซ่านยุ่งเหยิงยากจะรู้อยู่กับลมหายใจก่อนนอน ฉันก็จะไม่กำหนด เพราะจะทำให้เกิดความทรมานอย่างไร้ประโยชน์เปล่า
 
วันที่ ๓๑: อีกระดับของการเห็นจิตส่งออกนอกและเก็บเข้าใน
ในวันที่ ๔ ซึ่งฉันสังเกตเห็นจิตรู้อยู่ที่ฐานสติ สลับกับจิตไปคลุกอยู่กับอารมณ์โลกภายนอก ยื้อกันไปยื้อกันมา จากนั้นฉันก็ไม่ได้สังเกตจริงจังอีกเลยจนกระทั่งวันนี้ เมื่อกลับไปอ่านย้อนทวนทั้งหมดตั้งแต่ต้นเดือน ฉันก็ลองเปรียบเทียบดูอีกครั้ง เห็นความแตกต่างระหว่างช่วงเริ่มต้นกับช่วงที่สติเริ่มแข็งแรงขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อแรกที่ยื้อกันระหว่างเก็บจิตให้อยู่กับฐานสติ กับระวังไม่ให้จิตส่งออกไปสนใจเรื่องนอกตัว แม้แต่ความคิดเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาก็ถือเป็นเรื่องนอกตัว ไม่ใช่ปัจจุบันขณะ ในวันที่ ๔ อาการของจิตมีลักษณะยื้อแบบลูกทุ่ง คือยังไม่ค่อยมีฐานตั้งมั่นอะไร ก็ออกแรงยื้อเสียอย่างนั้นจนกระทั่งกายใจดูทื่อๆคล้ายหุ่นขี้ผึ้งหรือหุ่นดินเหนียว
แต่หลังจากเพียรพยายามตามรู้ลมกระทั่งเกิดธรรมชาติจิตรู้อัตโนมัติ หรือที่เรียกว่ามีจิตเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงโดยไม่ต้องจงใจฝืนพยายามแล้ว คราวนี้พอจิตจะส่งออกนอกเช่นคิดถึงศัตรูคู่อริ ก็เกิดความไหวทันว่าจิตยืดออกไปจากฐาน แล้วคล้ายอาการยืดนั้นหมดแรงส่ง สลายตัวลง กลายเป็นปีติสุขอันเกิดจากสติรู้ลมหายใจมาแทรกแทน
สติที่มาแทรกแซงอารมณ์ภายนอกนั้น เบื้องต้นจะเป็นแค่สักว่ารู้เฉยๆ แต่ถ้าครู่หนึ่งสติรู้ลมยังอยู่ และจิตจำทางพิจารณาได้ รู้เห็นว่าลมหายใจเมื่อเข้าจนสุดแล้วต้องออก จะทนอยู่ในสภาพเข้าอย่างเดียวไม่ได้ อัดเต็มปอดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคายคืนออกมาเป็นธรรมดา ดังนี้ก็เกิดองค์ที่ ๒ ของโพชฌงค์คือธัมมวิจัย กล่าวได้ว่าอีกระดับของการเท่าทันจิตส่งออกนอก จะมีการตัดกระแสทิ้งด้วยอำนาจรู้ที่อบรมไว้กลมกล่อมแล้ว
เมื่อสติคมชัดขึ้นอีกระดับ ฉันก็เริ่มสังเกตเห็นความจริงอีกอย่างหนึ่งว่าเมื่อไม่มีอะไรมากระทบ จิตก็นิ่งอยู่กับลมหายใจได้เหมือนไม่มีกิเลส แต่พอมีอะไรมากระทบ จิตก็เหมือนดีดผางขึ้นเต้นงิ้วทันที แม้กิริยาทางกายภายนอกของฉันเหมือนยังสงบสุขอยู่ในสายตาคนอื่นก็ตาม นี่คืออีกระดับของความเห็นจากมุมมองของสติอันคมคาย
อีกประการหนึ่ง ถึงวันนี้ฉันได้ตระหนักว่าโพชฌงค์นั้นมีอย่างอ่อน อย่างกลาง กับอย่างแก่
โพชฌงค์อย่างอ่อนนั้น จะเกิดสติได้ต้องฝืนตั้งใจดึงจิตที่ส่งออกนอกมาอยู่กับฐานเสียก่อน จะเกิดธัมมวิจัยได้ต้องกำหนดนึกอยู่ครู่หนึ่งเช่นลมหายใจนี้เราจะมองเป็นของเกิดดับได้อย่างไร จะเกิดวิริยะได้บางทีถึงกับอึดอัดในอกที่ต้องต้านทานความอยากปล่อยใจออกไปข้างนอกตามเรื่อง จะเกิดปีติได้ต้องรอให้จิตเชื่องจนรู้เห็นความเกิดดับของลมหายใจอย่างเดียวสักพักหนึ่ง และจะเกิดปัสสัทธิได้ต้องให้จิตเบิกบานสักพักหนึ่ง กายจึงระงับนิ่ง แล้วความฟุ้งจึงระงับตาม
โพชฌงค์อย่างกลางนั้น จะเกิดสติโดยไม่ต้องฝืนใจ จะเกิดธัมมวิจัยได้ด้วยความเคยชินจำทางได้โดยไม่ต้องเค้นนึก จะเกิดวิริยะได้ไม่จำเป็นต้องออกแรงฝืน จะเกิดปีติได้ง่ายขึ้น และจะเกิดปัสสัทธิเกือบพร้อมกันกับที่รู้สึกว่าจิตเบิกบาน กายระงับนิ่งเกือบทันที ในหัวไร้ความฟุ้งกลายเป็นความสงัดสงบเหมือนผิวน้ำนิ่งเย็น
โพชฌงค์ทั้งสองระดับนี้อาจผลัดกันอยู่ ผลัดกันไป หรืออาจจะหายไปหมดด้วยกันทั้งคู่ อีกประการหนึ่งต้องไม่ลืมด้วยว่าทั้งอย่างอ่อนกับอย่างกลางที่ฉันกล่าวถึงในเดือนแรกนี้ มีลมหายใจและอิริยาบถเป็นราวเกาะ ฐานสติอื่นๆฉันยังเข้าไม่ถึง ฉะนั้นโพชฌงค์อย่างแก่เป็นอย่างไร อันนี้ต้องรอดูต่อไป
 
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๑
๑) ฉันได้ศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นในทางหลุดพ้น คือสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ดีแล้ว เชื่อแน่ว่าเมื่อไต่ไปตามขั้นตอน วันหนึ่งในชาตินี้จะต้องหลุดพ้นอย่างแน่นอน มีองค์ต่างๆของโพชฌงค์เป็นเครื่องตรวจสอบว่าสภาพจิตของฉันกำลังดำเนินเข้าใกล้มรรคเข้าใกล้ผลอยู่มากน้อยเพียงใด ออกนอกลู่นอกทางไปบ้างหรือยัง
๒) ฉันได้ราวเกาะคือลมหายใจและอิริยาบถ แต่ยังผลัดกันระหว่างกิริยาเกาะราวกับอาการส่งจิตออกนอก ฉันประมาณไม่ถูก เอาเป็นว่าอาการส่งออกนอกน่าจะมากกว่าเยอะก็แล้วกัน
๓) ฉันได้ตระหนักว่าความก้าวหน้าอย่างเดียวไม่มี มีแต่ต้องก้าวหน้าแล้วก้าวหลังสลับกัน ตรงจุดนี้มีประโยชน์ที่แม้ก้าวหลังก็ไม่ท้อ แต่เห็นความก้าวหลังเป็นการแสดงอนิจจังชนิดหนึ่งได้
 
 เดือนที่ ๒: สุขทุกข์เหมือนฝันไป
เดือนแรกผ่านไปโดยฉันถือหลัก ‘รู้สิ่งเดียวให้เชี่ยวชาญ’ ผลคือความเชื่อมั่นว่า ‘ฉันก็เจริญสติปัฏฐาน’ ได้ และเมื่อเจริญสติปัฏฐานได้ ก็แปลว่าเป็น ‘หนึ่งในผู้มีสิทธิ์เห็นธรรมตามพระพุทธเจ้า’ ด้วยเหมือนกัน
การขึ้นเดือนที่ ๒ ทำให้ฉันถือเป็นฤกษ์สำรวจความเป็นไปได้ว่าจะเริ่มพยายามเพื่อความคืบหน้าใหม่ๆอันใดได้บ้าง เพราะ ณ วันนี้ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเห็นกายชัดผ่านลมหายใจและอิริยาบถแน่แล้ว
นึกได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในระหว่างบทตอน ว่า ยังมีข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่เธอควรทำอีก คือ… ซึ่งหมายความว่า ท่านไม่ได้ให้ทำสติรู้ลมหรือสติรู้อิริยาบถเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างอื่นเพื่อความ ‘ครบสูตร’ ของสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเมื่อไต่มาตามลำดับบันได ฉันก็เห็นเลยทีเดียวว่าเมื่อเจริญสติจนอยู่ตัวระดับหนึ่ง จะเป็นของง่ายในการก้าวสูงขึ้นด้วยแนวทางที่พระพุทธเจ้าประทานไว้สอดรับรัดกุมแล้ว
อย่างเช่นที่เห็นกับประสบการณ์ตัวเองคือ การปฏิบัติหมวดกายไม่แต่จะทำให้รู้จักความเป็นกายในสภาพเกิดดับอย่างเดียว แต่ยังทำให้จิตส่งออกนอกน้อยลง มีความสงบสุขอยู่กับตัวเองมากขึ้น เป็นความสุขที่เกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ไม่ต้องขลุกกับการงานทางโลก แทบเรียกได้ว่าเพียงแค่เดือนแรกก็ชำระล้างวิญญาณ ยกระดับวิญญาณกันใหม่เลยทีเดียว
นั่นหมายความว่าอะไร? หมายความว่าถ้าปรารถนาจะดูความสุขความทุกข์โดยความเป็นสภาวะไม่เที่ยง ฉันก็พร้อมแล้ว เนื่องจากเครื่องมือในการเจริญสติหมวดเวทนาปรากฏเด่นชัดเสมอๆ
 
การเจริญสติรู้สุขทุกข์โดยสรุป
สุขกับทุกข์ในสามัญสำนึกของคนทั่วไปคือสิ่งที่ต่างกันเป็นขั้วตรงข้าม แต่สุขกับทุกข์ในมุมมองของผู้รักความจริงนั้น เป็นสิ่งเดียวกัน คือได้ชื่อว่า ‘เวทนา’ เหมือนกัน เกิดขึ้นด้วยเหตุเป็นธรรมดา แล้วย่อมต้องดับลงเป็นธรรมดาเหมือนกัน ความต่างระหว่างเวทนาคงคล้ายกับเหรียญคนละหน้า เปรียบสุขเหมือนกับหน้าที่เป็นหัว เปรียบทุกข์เหมือนหน้าที่เป็นก้อย แต่ทั้งหัวและก้อยก็คือเหรียญเดียว เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไม่อาจแยกได้ พูดง่ายๆคือ ถ้ายังมีสภาพที่เป็นสุขได้ ก็แปลว่ายังมีสภาพที่เป็นทุกข์ได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง ขอให้ลองคิดดู ถ้าสถานการณ์ไหนทำให้เราเป็นสุขมาก หากกลับสถานการณ์นั้นเป็นตรงข้าม ความรู้สึกเราย่อมพลิกคว่ำคะมำหงายตามไปด้วยอย่างแน่นอน เช่นเมื่อได้มาซึ่งบุคคลอันเป็นที่รักย่อมก่อสุขเปี่ยมล้น แต่เมื่อพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักย่อมก่อทุกข์มหันต์เช่นกัน
ที่ต้องทำความเข้าใจไว้แม่นๆ คือในหมวดเวทนานั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้แนะวิธีบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ตัวเอง แต่ท่านให้รู้ตามจริงว่ากำลังสุขหรือกำลังทุกข์ กล่าวโดยหลักการโดยสรุปมีดังนี้
๑) เสวยสุขอยู่ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยสุข
๒) เสวยทุกข์ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยทุกข์
๓) รู้สึกเฉยๆก็รู้ชัดว่ากำลังรู้สึกเฉยๆ
๔) เปรียบเทียบได้อย่างรู้ชัดระหว่างเสวยสุขแบบมีเหยื่อล่อภายนอกกับไม่มีเหยื่อล่อภายนอก
๕) เปรียบเทียบได้อย่างรู้ชัดระหว่างเสวยทุกข์แบบมีเหยื่อล่อภายนอกกับไม่มีเหยื่อล่อภายนอก
๖) เปรียบเทียบได้อย่างรู้ชัดระหว่างรู้สึกเฉยแบบมีเหยื่อล่อภายนอกกับไม่มีเหยื่อล่อภายนอก
โดยย่นย่อ เป้าหมายที่ฉันตั้งไว้ว่าจะทำให้ถึง คือเห็นสุข ทุกข์ เฉยโดยความเปรียบเทียบว่าต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะเห็นว่าทั้งสุข ทุกข์ เฉยนั้นต่างก็เป็นเวทนาเหมือนกันหมด เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดาเหมือนกันหมด ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเหมือนกันหมด
 
วันที่ ๑: ติดสุข
วันแรกของเดือนใหม่ ฉันเริ่มสังเกตว่าชีวิตของตนเองเปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้วยมุมมองของตนเองจากภายใน และทั้งด้วยมุมมองของสายตาคนภายนอก
ด้วยมุมมองของฉันเอง ฉันรู้สึกสงบสุขยิ่ง เห็นชัดว่าเริ่มจากกายที่ไม่กระสับกระส่าย ไม่มีแรงดันให้กวัดแกว่ง ไม่มีพลังขับให้เหลือกหูเหลือกตาไปเสพภาพเสียงร้อนๆแบบชาวโลก ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งเร้าภายนอกลดกำลังลง แต่ฐานสติภายในของฉันแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ หลายจังหวะฉันยังสนุกกับโลกภายนอกได้ ทว่าไม่สนุกจนหลงเพริดกระทั่งพลิกคะมำกลับด้านเป็นทุกข์ และเวลาปกติส่วนใหญ่ฉันจะเพลินเสพสุขภายในกับลมหายใจที่ธรรมชาติติดตั้งไว้ให้แล้วนับแต่แรกเกิด ไม่ต้องลงทุนสร้างอุปกรณ์เสริมเติมยิ่งกว่านั้น
และด้วยมุมมองของคนอื่น มักมีคนทักว่าผิวพรรณฉันผ่องใสขึ้น หน้าตามีความสุข ดูไม่คิดมากเหมือนแต่ก่อน บางคนก็แวะเวียนมาระบายทุกข์ให้ฟัง และขอคำแนะนำเพื่อแก้ทุกข์ โดยที่ฉันไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มทำท่าหรือประกาศตัวว่าอยากเป็นที่ปรึกษาให้ใครเลยแม้แต่น้อย
ยอมรับว่าบางทีฉันก็ชักเคลิ้มบ้างเหมือนกัน คือพอสงบกายสบายจิตแล้วก็เผลอนิ่งจมอยู่อย่างนั้นด้วยความพึงใจ เดินก็เป็นสุข นั่งก็เป็นสุข ทำงานวุ่นๆก็ยังอุตส่าห์เป็นสุข เสร็จจากงานมักนั่งพักนิ่งๆ แขนขาวางอยู่ตรงไหนก็วางอยู่ตรงนั้นเป็นเวลานานอย่างมีความสงบละไมในตัวเอง เหมือนแช่น้ำเย็นได้นานตามปรารถนาโดยไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะพร่องลงหรือมีใครมาเรียกให้ขึ้นจากบ่อ
และทั้งที่เตือนตัวเองตั้งแต่เดือนแรก แต่ทำไปๆก็รู้สึกดียิ่งขึ้นทุกที เหมือนนักบุญผู้ล้ำเลิศ ซึ้งแล้วว่าจิตใจเยือกเย็นยิ่งกว่าน้ำเป็นอย่างไร เมื่อมีความสงบประณีตโดยไม่เสแสร้งแกล้งสร้างภาพ เราจะรู้สึกว่าจิตวิญญาณสูงส่งขึ้น อยากทำแต่เรื่องดีๆ มาถึงจุดนี้ฉันจึงทบทวนว่าเป็นสุขแล้วพระพุทธเจ้าให้ทำอย่างไรต่อ ก็จำได้ว่าท่านเคยตรัสไว้ในเคลัญญสูตร ความโดยสรุปที่เกี่ยวข้องกับฉันคือ…
เมื่อเธอมีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าสุขเวทนานั้นต้องอาศัยที่ตั้งจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากที่ตั้งก็เกิดขึ้นไม่ได้
สุขเวทนานั้นอาศัยอะไรเป็นที่เกิด? กายนี้เองเป็นที่เกิด แต่กายนี้ไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงประกอบให้เกิดกายขึ้น ดังนี้สุขเวทนาอันต้องอาศัยกายจักเที่ยงได้อย่างไร เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้เธอย่อมเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมสามารถละกามกิเลสอันแฝงตัวนอนเนื่องในกายและในสุขเวทนาเสียได้
เป็นจริงยิ่งนักแล้ว โดยเฉพาะถ้าเสวยสุขอันเกิดจากสติรู้อิริยาบถนั่ง ถ้าหากนิ่งแช่เฉยๆด้วยความขาดสติ ก็ย่อมติดใจในรสสุขอันเคยชินเยี่ยงนั้น มีความพึงใจ และบอกตัวเองว่า ‘พอแล้ว’ เป็นเหตุให้ไม่อยากถอนออกมาจากสุขอันแช่นิ่งนั้น ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่คนเรามีความสุขแล้วก็ย่อมไม่เห็นความจำเป็นต้องไขว่คว้าอะไรอีก ราวกับเดินทางมาถึงดวงดาวแล้ว หากไม่ศึกษาให้ดีๆ มีแผนที่อันบริบูรณ์ไว้ในมือเสียก่อน ก็อาจหลงนึกว่าหยุดปักหลักตรงนี้แหละ อย่าไปไหนอีกเลย
เป็นอันว่าฉันรู้ตัวว่าต้องดึงตัวเองออกจากหล่มสุขในอิริยาบถ คำถามคือเมื่อสุขอยู่นานๆแล้วจะดูโดยความเป็นของเกิดดับได้อย่างไร ในเมื่อกว่าจะเห็นความดับไปของเวทนาก็กินเวลาอักโข เดี๋ยวนี้ฉันนั่งนิ่งๆได้เป็นสิบนาทีโดยไม่ต้องขยับเขยื้อน ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องกำหนดเป็นพิเศษมากไปกว่ารู้สึกถึงความแน่นิ่งในอิริยาบถ
คิดไปคิดมาก็ได้คำตอบเป็นการย้อนกลับไปสู่พื้นฐาน คือลมหายใจ ฉันลืมไปว่าลมหายใจก็เป็นกายเหมือนกัน พระพุทธเจ้าให้พิจารณาว่าเวทนาอาศัยกาย หากพิจารณารู้ว่ากายไม่เที่ยง ก็ย่อมรู้ว่าเวทนาไม่เที่ยงไปด้วย
ลมหายใจเข้านำความสดชื่น เมื่อรู้สึกถึงความสดชื่นนั้นย่อมปรุงให้กายสงบปราศจากความกวัดแกว่ง ฉันพิจารณาตามจริงขณะเกิดสติรู้ลมเข้า ว่าความสดชื่นไม่ได้มีอยู่ก่อน และจะไม่อยู่ในฉันตลอดไป เพียงลมอัดวูบเดียวก็ต้องคืนกลับออกสู่ความว่างเปล่าภายนอก กำหนดดูความสดชื่นโดยความเป็นภาวะไม่เที่ยงอยู่หลายระลอกลม จนในที่สุดเห็นว่าแม้แต่ระดับความสดชื่นในระลอกลมเดียวกันก็มีความไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือเมื่อเริ่มพองหน้าท้องลากลมเข้าจะสดชื่นเล็กน้อย เมื่อเข้าสุดปอดด้วยจังหวะจะโคนที่เรียบรื่นสม่ำเสมอก็จะสดชื่นแบบอิ่มเต็ม ทว่าเพียงชั่วเวลาอันสั้นก็ต้องสลายลง แต่เพราะสดชื่นอยู่เรื่อยๆโดยทิ้งช่วงห่างเพียงเล็กน้อย จึงเกิดอุปาทานไปว่าเราสดชื่นคงเส้นคงวาเช่นนั้นตลอดเวลา
เมื่อพิจารณาเห็นชัดด้วยสติขณะนั้นว่าความสดชื่นไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเสื่อมไปเป็นขณะๆ จิตก็คลายจากสภาพแช่นิ่ง มีความรู้สึกปล่อยวางในสุข ทั้งที่ดูดีๆแล้วเป็นสุขยิ่งกว่าเดิมเสียอีก
ฉันตัดสินตัวเองในบัดนั้นว่าองค์แห่งโพชฌงค์คือ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ บังเกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์ทั้งยังนั่งลืมตาอยู่กับที่ กล่าวได้ว่ามีความนิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่ยังไม่สมบูรณ์แท้เพราะบางทีตายังขยับเหลือบด้วยความไหวตามสิ่งกระทบ มีความวางเฉยในสมาธิอยู่บ้าง แต่ใจหนึ่งก็รู้สึกว่ามีตัวตนในท่ามกลางแห่งสตินั้น ฉันจึงไม่ปักใจว่าสององค์สุดท้ายของโพชฌงค์ อันได้แก่ ‘สมาธิ’ และ ‘อุเบกขา’ เกิดขึ้นเต็มที่อย่างปราศจากข้อกังขา แต่อย่างน้อยที่สุดลักษณะทั้งปวงที่ปรากฏทางกายใจในบัดนี้ ก็ส่องให้เห็นว่ามาถูกทาง กำลังอยู่ในทาง และจะพัฒนาก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป
ทั้งวันที่เหลือฉันเฝ้าดูความสดชื่น เห็นความสดชื่นไม่เที่ยง บางชั่วโมงหายใจเข้าได้ลึก บังเกิดความสดชื่นตื่นเต็ม บางชั่วโมงก็หายใจเข้าได้ตื้น ไม่นำพาความสดชื่นเข้ามาให้เห็นถนัด ร่างกายต้องการลมหายใจต่างระดับกันในแต่ละช่วง ฉันเฝ้าสังเกตดูจนมั่นใจว่ารู้ทางออกจากอาการติดความสงบสุขล้ำลึกแน่แล้ว จึงจบวันด้วยการสรุปว่าเห็นทางชัดว่าจะแก้ลักษณะติดสุขได้อย่างไร
 
วันที่ ๒: ทุกข์อันใหญ่หลวงของสิ่งมีชีวิต
วันนี้เป็นวันเสาร์ ออกจากที่ทำงานตั้งแต่ก่อนเที่ยง ฉันนึกอย่างไรไม่ทราบ อยากขับรถไปตามวัดจังหวัดใกล้ๆบ้าง นานๆทีฉันมักนึกอยากเที่ยวแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ชาติก่อนฉันอาจเคยธุดงค์แล้วยังมีนิสัยชอบใจฝังติดมาถึงชีวิตนี้กระมัง
นานแค่ไหนแล้วที่ฉันไม่ได้ออกต่างจังหวัด ยิ่งห่างจากกรุงเทพฯมา ฉันก็ยิ่งปลอดโปร่ง จิตใจสงัดเงียบราวกับคนกำลังรอนแรมในป่าลึกเข้ามาเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะสองข้างทางคือทิวทัศน์กว้างไกล ไม่แออัดยัดเยียดด้วยตึกสูงเหมือนอย่างในเมืองหลวง ไม่มีสิ่งรกตาบดบังทัศนวิสัย เผยให้เห็นฟ้ากว้างอยู่เกือบตลอดเวลา
ฉันมีสมาธิกับการขับรถ จนเวลาผ่านไปพักใหญ่บนเส้นทางตรงเหยียดยาวที่ไม่ต้องระมัดระวังมากนัก รู้สึกถึงสองแขนที่ปล่อยสบายไม่ไหวติง กายอันสงบระงับเป็นเช่นนี้เอง แม้ทำหน้าที่ถือพวงมาลัยอยู่ก็เหมือนพักนิ่งเฉย สบายจากไหล่ไปถึงมือ ตรวจจิตตนเองก็เห็นความติดใจในอาการสุขแช่นิ่งนั้น จึงเริ่มพิจารณาลมหายใจเข้าโดยความเป็นพาหะนำความสดชื่นเข้าสู่ร่างกาย เห็นสุขเวทนาอันเนื่องด้วยกายตามจริงว่ามีระดับไม่คงที่ ถึงยอดสุดแห่งความสดชื่นในหัวอกแล้วต้องสลายตัวระบายออกมาสู่อากาศว่างภายนอก กระทั่งจิตสลัดคืนความยึดติดในสุขอันเกิดจากความแช่นิ่ง
ฉันสังเกตเข้าไปในรายละเอียดความแตกต่างระหว่างสุขแบบแช่กับสุขที่กำลังเกิดขึ้น ฉันยังเป็นสุขเหมือนเดิม ทว่าความแตกต่างที่สำคัญคือมีสติผุดรู้ขึ้นมาว่าสุขเวทนาอันเกิดจากอิริยาบถนั่งสงบเป็นแค่สภาวะหนึ่ง ไม่มีความหลงยึดติดแบบแช่เพราะความเคยชิน
ตรงนี้ฉันเคยได้ยินมานาน เช่นพระป่าบางรูปเคยพยายามอธิบายความแตกต่างของการเสพสุขในสมาธิ ระหว่าง ‘มีรู้’ กับ ‘ไม่มีรู้’ ประกอบอยู่ด้วย แต่ก่อนอ่านหรือฟังแล้วงง บัดนี้ค่อยเข้าใจผ่านประสบการณ์ตนเองชัดเจน
ล่วงมาถึงเขตอยุธยา ตั้งใจว่าจะทำอย่างที่เคยอยากทำมานานเวลาเห็นหลังคาโบสถ์จากระยะไกล นั่นคือเลือกขับรถเข้าไปตามทางที่เห็นว่านำไปสู่โบสถ์ที่ดูว่าอยู่ในเขตวัดของคนบ้านนอก สงบสันโดษ มีไม้ใหญ่ร่มรื่น รวมทั้งตั้งอยู่ริมคลอง การมาคนเดียวทำให้ฉันไม่ต้องถามความสมัครใจจากคนอื่น เหมือนมาผจญภัยตามลำพัง พบสิ่งใหม่ภายในพรมแดนที่ไม่ค่อยมีใครย่างไปถึง
สอดส่องตามท้องไร่ท้องนาข้างทางพักหนึ่ง ยังไม่เจอหลังคาโบสถ์ที่เข้าตา ขณะนั้นท้องเริ่มเรียกร้องอาหาร ปกติฉันไม่ทานข้าวผิดเวลานัก จึงไม่ค่อยคุ้นกับความหิวโหย พอหิวจัดขึ้นมาคราวนี้จึงเป็นสภาพแปลกที่น่าสนใจ ภาวะหิวเป็นทุกข์ เป็นความทรมาน เป็นสภาพที่เบียดเบียนให้สติอ่อนลง เหมือนมันมีกำลังบีบคั้นให้เราอ่อนแอลงได้ทั้งทางกายและทางใจ
ทีแรกฉันสอดตาหาร้านอาหาร แต่พอเกิดผุดสติรู้ว่าทุกข์ทางกายเกิดแล้ว ทุกข์ทางกายปรากฏชัดเจนแล้ว ทุกข์ทางกายมาแสดงสภาพบีบคั้นให้เห็นต่างจากสุขกายสุขใจที่ผ่านมาแล้ว ฉันก็ตัดสินใจใหม่ กำหนดสายตาหาวัดตามเป้าหมายเดิม ไม่ใช่ด้วยความตั้งใจจะทรมานตัวเอง แต่เจตนาจะใช้เป็นเครื่องพิจารณาเปรียบเทียบให้เห็นแจ้งในสภาพอันไม่น่าปรารถนาเสียบ้าง
ในที่สุดฉันก็เจอวัดตามสเปก เป็นวัดที่แวดล้อมด้วยหมู่ตาลร่มครึ้ม ท้ายวัดติดกับคลองยาว เมื่อลองขับรถเข้ามาก็ไม่ผิดหวัง เพราะเป็นสถานที่ไม่พลุกพล่าน เงียบสงบสมกับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
ฉันเข้าไปกราบพระประธานในโบสถ์ซึ่งน่าจะบูรณะใหม่ไม่นาน เห็นจากสีขาวสะอาดน่าจะทาได้แค่สองสามปี ขณะที่สิ่งก่อสร้างอื่นๆในวัดเก่าคร่ำคร่า แสดงอยู่ทั่วไปว่าอายุของวัดน่าจะหลายสิบปีแล้ว ฉันสงบใจอย่างประหลาดเมื่อกราบพระประธานตามลำพัง นึกชอบใจวัดเก่าที่หันไปไม่ค่อยเจอหน้าใครอย่างนี้ยิ่งนัก
ออกจากโบสถ์มานั่งที่ศาลาท่าน้ำ ญาติโยมสร้างถวายหลายจุด ล้วนเป็นศาลาไม้ที่ต่อไว้ง่ายๆ แต่นั่งสบายน่าดู ฉันทอดตามองไปสุดคุ้งน้ำเบื้องไกลแล้วขอบใจตัวเองที่วันนี้เลือกมาสู่เขตสงบ ได้พักตา ได้พักประสาท ได้อยู่กับตนเองตามความปรารถนาจากส่วนลึก ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอันชวนทัศนาเหลือหลาย
ความหิวลดระดับลง นั่นคือสิ่งที่ฉันสำเหนียกรู้สึกได้โดยไม่ต้องพยายาม อ้อ! เป็นอย่างนี้เอง แม้ระดับความหิวก็มีอ่อนมีแก่ มีขึ้นมีลง ปกติถ้าหิวนิดหิวหน่อยฉันจะกินทันที เลยไม่มีโอกาสสังเกตเห็นอนิจจังชนิดนี้
ดังที่ปรากฏในคาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕ ความว่า สุขอื่นเสมอความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง เผอิญฉันลิ้มรสความจริงทั้งสองประการนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันเสียด้วย ช่วงขับรถบนทางตรงเหยียดยาว เมื่อจิตดื่มด่ำกับความสุขสงบอันเกิดแต่สติสัมปชัญญะรู้อิริยาบถนิ่งไม่ไหวติงต่อเนื่อง ฉันนึกๆอยู่เหมือนกันว่าสุขกว่านี้คงมีแต่ต้องสงบให้ยิ่งกว่านี้เท่านั้น แต่ครู่ใหญ่ต่อมาก็เจอความหิวซึ่งเป็น ‘โรคอันยิ่งใหญ่’ ของสัตว์ทั้งหลายเข้าให้ จนกลายเป็นสภาพเปรียบเทียบอันโดดเด่นชัดเจนยิ่งระหว่างรสสุขอันหาอื่นใดเสมอเหมือนได้ยาก กับทุกข์ใหญ่หลวงอันเป็นของประจำสัตว์แทบทุกภพทุกภูมิ
ทอดตามองลงต่ำ เห็นปลาสองสามตัวกำลังพยายามพลุ่งขึ้นฮุบเศษซากอะไรบางอย่างบนผิวน้ำที่พอเป็นอาหารของมันได้ ถ้าเป็นเวลาปกติฉันคงมองผ่านอย่างไม่รู้สึกอะไร แต่ยามนี้ที่ใจกำลังคำนึงว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ทำให้มองปลาเหล่านั้นด้วยความสงสาร ถ้าฉันหิวฉันยังเอาเงินไปแลกซื้อข้าวอิ่มอร่อยได้ทุกมื้อ แต่ถ้าปลาหิวแล้วไม่มีใครเอาอะไรไปให้ พวกมันก็ต้องกระเสือกกระสนหาสัตว์เล็กหรือซากขยะที่เลือกแล้วเห็นว่าพอประทังชีวิตได้
ชีวิตสัตว์จะมีอะไรมากไปกว่าสัญชาตญาณหาอาหาร กินยังไม่อิ่มก็ต้องหาอีก ทั้งชีวิตเหมือนมีอยู่เพื่อหาของใส่ท้องโดยแท้ หากพวกมันไม่ถูกจับมาทอดให้คนกิน ก็เหมือนเป็นชีวิตที่หาค่าไม่ได้เอาเสียเลย
ฉันส่งตามองนิ่งๆ แล้วเกิดประสบการณ์ภายในที่คล้ายอุปาทาน คือรู้สึกสัมผัสทุกข์ภายนอกตัวเองด้วยจิตอย่างแจ่มชัด ฉันเห็นทุกข์ขณะปลาทะลึ่งขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความหิวโหย เห็นทุกข์ขณะของการอ้าปากงับ เห็นทุกข์ขณะปลาจมลงน้ำด้วยอาการกระวนกระวายไม่อิ่มไม่พอ ฉันเลิกคิ้วนิดหนึ่งด้วยความพิศวงใจ ถามตนเองว่านี่เป็นสัมผัสที่คิดขึ้นเองผ่านสายตา หรือว่าเกิดจากการมีจิตสัมผัสอย่างแท้จริงกันแน่?
ในทุกหมวดของสติปัฏฐาน ๔ นั้น พระพุทธเจ้าให้ดูกาย เวทนา สภาวจิต และสภาพธรรมต่างๆทั้งภายในตัวเราและของคนอื่นภายนอก เห็นโดยความไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ฉันดูกายตัวเองและเวทนาของตัวเองมาพักหนึ่ง แต่ไม่เคยทดลองส่งจิตออกไปสัมผัสคนอื่นหรือสัตว์อื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ใช่ว่าไม่อยากหรือกลัวจะไปหลงติดฤทธิ์ติดเดชอะไร แต่สารภาพตามตรงว่าไม่ทราบว่าเขาทำกันท่าไหนมากกว่า
ชั่วโมงที่ผ่านมาเรียกว่าสติของฉันมีฐานที่ตั้งเป็นเวทนา ทั้งสุขมากและทุกข์มากปรากฏชัดเจนแจ่มแจ๋วราวกับรูปทรงที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จิตมีความรู้ชัดถึงสภาพหรือลักษณะของสุขและทุกข์ตามจริงกระทั่งเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นอย่างนั้นๆ เช่นสุขคือสภาพที่สบาย ผ่อนคลาย เยือกเย็น ทุกข์คือสภาพที่บีบคั้น อึดอัด ร้อนรน เป็นการเห็นของจริงในตน เป็นการประจักษ์แจ้งว่าทั้งสุขและทุกข์ต่างก็อิงอาศัยอยู่ในกายนี้ร่วมกัน
นาทีปัจจุบัน เมื่อฉันทอดตามองเหล่าปลาหิว ฉันไม่ได้คาดหมายอันใดไว้ก่อน จึงเป็นการมองด้วยจิตที่ว่างเปล่าจากอุปาทาน ไม่มีความอยากรู้อยากเห็นหรือตั้งใจดูทุกขเวทนาของสัตว์อื่นทั้งสิ้น แต่สายตาที่มองอาการกระวนกระวายของสัตว์นั้น ก็ทำให้ทราบว่าต้นเหตุอาการกระวนกระวายคือจิตที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ห้วงทรมานอันยืดเยื้อ จิตฉันหยั่งลงไปในทุกข์ของมันขนาดเปรียบเทียบได้ว่ามนุษย์เราหิวจนแสบท้องแล้วอาจทำใจลืมๆได้เมื่อหันไปสนใจสิ่งอื่น แต่ปลาหิวแล้วจะกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขไปทั้งตัว จิตที่รู้สึกโหยหาอาหารนั้นหาความสงบไม่ได้เลย มีแต่คิดพุ่งไปเอาอะไรที่พอกินได้มาใส่ท้องตลอดเวลา
ฉันอาจเห็นปลาที่อิ่มหมีพีมันในตู้ปลาในบ้านจนชิน หรือแม้ไปตามสวนสาธารณะแล้วซื้อขนมปังโยนแจกปลาก็เห็นมันดิ้นรนทึ้งแย่งเศษอาหารกันจ้าละหวั่นด้วยความรู้สึกธรรมดาๆ ต่อเมื่อมีจิตสัมผัสทุกข์ซึ่งมีเนื้อหาเป็นรสเดียวกัน มีธรรมชาติทุกข์อันเนื่องด้วยกายเหมือนๆกัน ฉันถึงกับตกตะลึง และรับรู้เป็นวาระแรกว่าโลกแห่งการมีชีวิตน่ากลัวถึงเพียงนี้
ฉันเงยหน้าขึ้น ทอดมองไปตลอดแผ่นน้ำที่เรียบสงบผาสุกในสายตาของมนุษย์ กำหนดนึกถึงทุกข์ของปลาที่ยังติดอยู่ในใจ แล้วน้อมตรวจลงไปเบื้องใต้ผิวน้ำว่าทุกข์แบบเดียวกันนั้นมีประมาณสักเท่าใด ก็ต้องบังเกิดอาการขนลุกซ่านเกรียว เพราะคล้ายมีคลื่นทุกข์สาหัสจากความหิวโหยส่งออกมาจากทั่วทุกหย่อมน้ำ รวมกันเป็นปริมาณทุกข์ร้อนมหาศาล
ณ เวลานี้จิตฉันยังไม่เห็นชัดขนาดระบุจำนวน ความรู้สึกบอกตัวเองเพียงว่าอาหารปริมาณมากแค่ไหนก็เลี้ยงไม่พอ กำจัดทุกข์ใหญ่ของเหล่าสัตว์ในลำน้ำคลองสายนี้แห่งเดียวไม่ได้เลย โลกปรากฏเป็นของน่ากลัวไปในพริบตา ทั้งที่เมื่อครู่คลองสายนี้ยังดูสงบสุขเปี่ยมสันติน่าพิสมัยยิ่งกว่าที่ไหนๆ โลกสันนิวาสอันแท้จริงอาจหลอกตาสัตว์บางประเภทให้หลงเพลินติดใจ แต่ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่คุมขังให้สัตว์อีกประเภทดิ้นพล่านไปจนกว่าจะถึงอายุขัย
สัมผัสนั้นไม่ทำให้ฉันคิดว่าเป็นอุปาทาน เพราะชัดราวกับหูได้ยินสัญญาณเสียงดังๆเปล่งออกมาจากรอบทิศ แต่คงอธิบายให้ใครรับรู้ตามไม่ได้ ธรรมที่ปรากฏต่อใจเป็นเช่นนี้เอง รู้ได้ด้วยใจตน รู้ได้เฉพาะตน ส่งถ่ายให้ผู้อื่นรับรู้ตามไม่ได้ ถ้าพยายามพูด คนก็อาจหาว่าบ้าไปเอง คิดไปเองเท่านั้น
เหลือบตามองพื้นศาลา ลูกแมวผอมโซที่มีขนเพียงหรอมแหรมตัวหนึ่งเดินมาหาฉัน ดูมันตัวสั่นคล้ายคนชราท่าทางงกๆเงิ่นๆด้วยสุขภาพย่ำแย่ เจ็บออดๆแอดๆมาตลอด มันไม่น่ารักเหมือนแมวบ้านที่ถูกประคบประหงมเลี้ยงดูด้วยนมและข้าวน้ำ ดวงตาด้านๆของมันเล็งมองฉันด้วยแวววอนขอ ปากของมันขยับร้องเมี้ยวๆเล็กๆแบบไร้กำลังวังชา น่าแปลกที่แม้มันมีสภาพสมเพชเพียงใดก็ไม่อาจก่อให้เกิดใจสงสารสักเท่าไหร่
คงเป็นกรรมเก่าของมันส่งให้มาอยู่ในสภาพเช่นนี้กระมัง สภาพของมันคล้ายฟ้องให้ฉันรับรู้ด้วยตาเปล่าทำนอง ‘สมควรแล้วที่ต้องมาเป็นอย่างนี้’ อะไรบางอย่างในมัน จู่ๆก็ทำให้ฉันนึกถึงคนใจร้ายที่มักก่อเวรด้วยการปอกลอก หรือหลอกลวงผู้อื่นจนสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้ที่พึ่งที่อาศัย
จิตฉันไม่นิ่งตั้งมั่นขนาดหมดความสงสัยว่าที่ ‘สัมผัส’ นั้นเป็นกรรมเก่าของแมวจริงๆหรือไม่ รู้แต่ว่าฉันไม่รู้สึกสงสารมันเลย วิบากกรรมของมันคงผลิต ‘กลิ่นเหม็น’ แปะไว้ คือเห็นแล้วเหม็นหน้า หรืออย่างเบาะๆก็สมน้ำหน้าทันทีโดยไม่ต้องทำความรู้จักเสียก่อน
หลังจากร้องขออาหารอยู่พักหนึ่ง พอแน่ใจว่าจะไม่ได้อะไรจากฉัน มันก็เดินกระต้วมกระเตี้ยมจากไปแบบไม่มีปากไม่มีเสียง ฉันมองตามอย่างไม่ตั้งใจนัก เห็นมันไปหยุดยืนมองน้ำครู่หนึ่ง แล้วเคลื่อนที่ต่อไปดมๆกองขยะเล็กๆ
ดูๆท่าทางมันคงเผชิญชีวิตเปลี่ยวดายตามลำพังมาระยะหนึ่ง อาจนับแต่แรกเกิดทีเดียว วินาทีนั้นฉันเกิดประสบการณ์สัมผัสทุกข์ภายนอกขึ้นมาอีก กล่าวคือเมื่อไม่เห็นหน้าไร้สง่าราศีของมัน เห็นสภาพหัวเดียวกระเทียมลีบไปเรื่อยๆแล้ว ก็เข้าใจความรู้สึกหวาดกลัว เหงาหงอย และแสวงหาที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของมันอย่างแจ่มชัด ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นที่มัน แต่มาปรากฏขึ้นที่ความรับรู้ของฉันด้วย ฉันแทบจะรู้เลยว่าอาการเพ่งมองอย่างเลื่อนลอยไร้จุดหมายของมันนั้น ออกมาจากกระแสสำนึกภายในชนิดใด คล้ายกำลังกล้ำกลืนก้อนเศร้าชิ้นเดียวกันกับมันอยู่
พอสัมผัสชนิดเข้าถึงทุกข์ในแมวตัวนั้น ฉันจึงเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายน่าเวทนาเสมอกันหมด หลงทำชั่วด้วยความไม่รู้จนตัวชุ่มบาปเสมอกันหมด เวียนว่ายหลงวนอยู่ในภพภูมิอันวิจิตรด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าเกิดหนเดียวตายหนเดียวเสมอกันหมด
แทบไม่อาจกระเดือกน้ำลายลงคอ ราวกับเป็นคนอ่อนไหวขี้สงสาร เห็นสัตว์ตกทุกข์ได้ยากแล้วน้ำตาพานจะไหล ฉันรีบเดินไปยังร้านค้าที่ใกล้วัดที่สุด ซื้อขนมปังและอาหารบางอย่างที่คาดว่าแมวและปลาน่าจะกินได้ หอบกลับมาพะเรอเกวียน ต้องเดินหาลูกแมวตัวน้อยพักหนึ่งเพราะมันไม่ยืนอยู่ที่เดิมแล้ว
ฉันเจอมันไม่ห่างจากศาลาท่าน้ำเดิมนัก รีบคว้ามันมาลูบตัวปลอบอย่างไม่รังเกียจเนื้อตัวสกปรกของมัน เอาข้าวของที่เตรียมมาเทลงจานกระดาษให้มันราวกับเป็นเจ้าเหมียวที่บ้าน ท่าทางมันดีใจออกหน้าออกตา ตะกรุมตะกรามกินใหญ่ ฉันปลื้มปีติจนสะอึก เพราะสัมผัสความดีใจเฉพาะหน้าของมันอย่างชัดเจน กับทั้งรู้ซึ้งด้วยว่าความดีใจนั้นจะเกิดขึ้นไม่นาน เดี๋ยวมันจะหิวอีก และฉันจะไม่สามารถตามไปช่วยให้มันหายหิวได้ตลอดไป
เอาขนมปังมาบิเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแจกปลาตรงท่าน้ำ ที่เมื่อครู่เห็นว่ามีแค่สองสามตัวนั้นผิดถนัด บัดนี้มันแห่กันมาจากไหนไม่รู้เป็นฝูงใหญ่ เพียงโยนเศษขนมปังลงไปแค่สองสามชิ้นก็เห็นพวกมันดิ้นโครมครามแก่งแย่งกันราวกับเกิดกลียุค ขนมปังกองใหญ่ของฉันแก้หิวปลาโชคดีได้แค่ไม่กี่ตัว และเป็นการประทะประทังเพียงชั่ววูบชั่ววาบ ฉันสัมผัสถึงการหยิบยื่นความช่วยเหลือเล็กน้อยที่มีให้พวกมันได้ในเวลาสั้นแสนสั้น ไม่มีปลาตัวไหนอิ่มเลย สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นที่พึ่งของตนจริงๆ พวกมันไม่มีบุญคอยรักษา ไม่มีบุญคุ้มจากความหิวโหยอดโซ ไม่มีบุญปกป้องจากความหนาวร้อนในโลกนี้ เหมือนบ้านไม่มีรั้ว ภยันตรายหรือวิบากชั่วไหนๆก็สามารถเข้ามาจู่โจมเล่นงานได้สบายๆโดยไม่ต้องฝ่าอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น แถมยังต้องระหกระเหเร่ร่อนไปเกิดตายในสภาพบุญน้อยไปอีกนานแค่ไหนไม่อาจทราบ
สูดลมหายใจลึก พวกหมาแมวในวัดคงได้กลิ่นคนใจดี ชักแห่กันเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังขออาหารฉันบ้าง แต่ในมือฉันว่างวายเสียแล้ว ไม่เหลืออะไรให้พวกมันอีกเลย ได้แต่ถอนใจเฮือกใหญ่ เดินออกจากวัดด้วยความเศร้าสลด มนุษย์และสัตว์เกิดมาเพื่อเจริญวัย กระทำการดีร้ายด้วยความไม่รู้เป็นหลัก วันหนึ่งก็ต้องแก่ลงแล้วตายไปรับผลกรรมแบบหมดสิทธิ์เลือก แล้วก่อกรรมต่ออีก เพื่อรับผลอีก หาแก่นสารได้ที่ไหน ยิ่งคิดยิ่งสังเวชตนเองและเพื่อนร่วมทุกข์นับอนันต์ทั่วโลก
กระทั่งเกิดสติเพราะความเคยชินในการรู้ฝ่าเท้ากระทบพื้น จึงระลึกได้ว่าจิตกำลังเป็นทุกข์ ก็ดูทุกข์นั้นโดยความเป็นสภาพบีบคั้นจิตให้หม่นหมอง เต็มไปด้วยฝ้ามัวพร่าพราย ซึ่งเมื่อเห็นทุกข์ทางใจอยู่เดี๋ยวเดียว ก็คล้ายสภาพทุกข์นั้นถูกแทนที่ด้วยสติเต็มดวง กลายเป็นเบิกบานขึ้นมาใหม่ เบนวิถีความคิดไปอีกทาง คือเป็นมนุษย์นั้นดีอย่างนี้เองหนอ หาเงินเลี้ยงชีพก็ได้ แถมเมื่อเกิดในยามพุทธศาสนาอุบัติ ก็มีปัญญาเอาชนะความไร้สติ ความไม่รู้ และความแน่นทึบทั้งปวงได้ โชคดีกว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไหนๆ อย่างไรฉันต้องเอาตัวรอดจากสภาพความไม่รู้อันเลวร้ายและน่าประหวั่นพรั่นพรึงในชาตินี้ให้จงได้!
สรุปคือวันนี้ฉันเห็นสภาพสุขและสภาพทุกข์อย่างชัดเจนพร้อมกันในวันเดียว แค่เหลื่อมเวลากันเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นยังเห็นทั้งสุขและทุกข์โดยความเป็นสภาพที่ปรากฏภายในและสภาพที่ปรากฏภายนอกด้วย มันเป็นอะไรที่ทำให้โลกทัศน์ถึงกับเปลี่ยนแปลง เหมือนคนที่สะดุ้งเพราะได้ยินเสียงร้องเตือนให้ระวังงูพิษบนพื้นขณะกำลังเดินหน้าระรื่นอยู่ในสวนดอกไม้วิจิตร พลันเหลือบมองพื้นก็พบงูเงี้ยวเขี้ยวขอน่าขยะแขยงชวนสยองเกล้าเสือกคลานยั้วเยี้ยไปหมด! และมันก็ไม่ใช่ภาพฝันผ่านเสียด้วย แต่ยังคงเป็นฝันร้ายที่ฉันกำลังถูกขังอยู่ในนั้น ด้วยตาที่เปิดครึ่งหนึ่งบ้าง กลับปิดมิดลงบ้างแล้วๆเล่าๆ ยังไม่อาจลืมตาเต็มตื่นจริงจังเสียที
 
วันที่ ๓: เจริญสติระหว่างซมไข้
เมื่อคืนฉันรับจ๊อบพิเศษเพราะปฏิเสธเพื่อนร่วมงานที่บริษัทเก่าไม่ได้ นั่งทำงานอยู่เกือบ ๔ ชั่วโมงจนเสร็จและส่งให้เพื่อนทางอินเตอร์เน็ต ก็ดีเหมือนกันได้สตางค์มาทำบุญเพิ่มตั้งเยอะโดยเสียเวลาเหนื่อยเพียงไม่นานนัก แถมฉันยังได้ทำสมาธิต่ออีกสองนาทีก่อนใช้สติในวินาทีสุดท้ายพาร่างไปนอนเหยียดบนเตียงแทนการฟุบอยู่กับพื้น
ผลของการตะลุยงานหนักโดยปราศจากความแช่มชื่นในสมาธิมาช่วยหล่อเลี้ยง คือเช้านี้ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองปวดหัวข้างเดียว ตัวร้อนๆรุมๆชอบกล คงจะเป็นไข้แน่แล้ว เมื่อคืนหักโหมจนลืมดูสภาพอากาศ ลมหนาวต้นกุมภาพันธ์ปีนี้บ้าๆบอๆเสียด้วย บทจะพัดมาก็เอาใหญ่ บทจะนิ่งก็อบอ้าวเหลือหลาย จนในที่สุดสิ่งมีชีวิตที่บอบบางอย่างมนุษย์เช่นฉันต้องประสบภาวะตะครั่นตะครอจนได้
ฉันทานข้าวเช้าแบบฝืดคอ หาข้าวต้มหรือของอ่อนๆไม่ทันแล้ว อยากกินยาลดไข้หลังอาหารเร็วๆมากกว่า เพราะถ้าพรุ่งนี้ไปทำงานไม่ได้จะยุ่ง ไหนจะต้องไปพบลูกค้าตามนัดช่วงบ่ายเพื่อเอางานไปเสนอ เอ้อ! ช่วงเช้ามีประชุมสำคัญอีกต่างหาก ชักเครียดขึ้นมาหน่อยๆ สั่งร่างกายตัวเองว่าอย่าพยศนานเชียวนา พรุ่งนี้ต้องไปทำงาน ขาดไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นจะต้องถูกเพ่งเล็ง และคะแนนในใจเจ้านายอาจลดลง หลังจากสู้อุตส่าห์ทำแต้มสูสีหรือเหนือกว่าคู่แข่งคนสำคัญมาช้านาน
แต่ความกลัวขาดงานของฉันก็ไม่ได้ทำให้ร่างกายดีขึ้น หลังจากขึ้นมานอนหลับไปงีบหนึ่ง ตื่นขึ้นมายิ่งปวดหัวและตัวร้อนกว่าเดิม ฉันถอนใจหนักๆ ลุกมาเข้าห้องน้ำด้วยความเครียด ไม่อยากตระหนักประจักษ์ซึ้งในความไม่ใช่ตัวตนของร่างกายยามนี้เอาเสียเลย
ทว่าอนัตตาก็ยังเป็นอนัตตาอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ใครจะไปบังคับควบคุมมันได้ มันจะป่วยเสียอย่าง มันจะพยศเสียอย่าง ตามเหตุปัจจัยที่ทำให้ป่วยและพยศ ฉันก็ได้แต่รับรู้แบบไม่อยากทำใจ ไม่อยากเจริญสติ ให้ไปหาหมอเพื่อฉีดยาหรือรับยาเม็ดวิเศษมาเดี๋ยวนี้ก็คงหายไม่ทันพรุ่งนี้แน่ หมอแถวบ้านฉันไม่ค่อยมีเวลาตรวจคนไข้ละเอียดเสียด้วยซี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าเป็นไข้แบบนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่ากินยาพาราฯธรรมดา รักษาเนื้อรักษาตัวสองสามวันก็จะทุเลาลง
คิดไปคิดมาจึงตกลงใจว่าพรุ่งนี้เป็นอย่างไรก็ช่าง ต้องออกจากบ้านทำงานตามปกติให้ได้ ต่อให้ปวดหัวมึนงงหรือตัวร้อนจนดันปรอทแตกก็ช่าง
ฉันกลับมานอนเตียง ฝืนข่มตาลง แต่เวลาผ่านไปก็ยิ่งรู้สึกลำบาก เพราะไม่ง่วงนัก มีแต่ใจอยากให้ร่างกายพักผ่อนเพื่อฟื้นไข้ทันเวลาอย่างเดียว
พยายามอยู่อย่างทรมานทรกรรมสิบนาทีก็นึกถึงลมหายใจเข้าออก สิบนาทีที่ผ่านมาฉันฝืนเกร็งจนไม่มีแก่ใจตั้งสติตามรู้ลม คล้ายคนกำลังถูกรุมด้วยไฟร้อนรอบด้าน จะให้ใจเย็นนั่งนับดาวราวกับคนที่อยู่เป็นปกติสุขอย่างไรไหวเล่า
ระบายลมหายใจออกยาวในครั้งหนึ่ง รู้สึกถึงความร้อนที่กลั้วปนไปกับลมหายใจ อุณหภูมิที่ขึ้นสูงในร่างนั่นเอง ปรุงให้ลมหายใจกลายเป็นลมร้อนในทะเลทรายไปได้ แต่ก็แปลกดี พอนึกเล่นๆว่าลมหายใจเหมือนลมร้อนในทะเลทราย ก็เห็นตามจริงว่าลมหายใจร้อนกว่าปกติ ส่วนดวงจิตกลับสงบลงได้
เกิดอาการตาสว่างทั้งที่ยังหลับตาอยู่อย่างนั้น ฉันเสวยทุกขเวทนาทางกายไม่พอ ยังเสวยทุกขเวทนาทางใจเข้าไปอีก ร่างกายกระสับกระส่ายแล้ว จิตใจยังดิ้นรนราวกับจระเข้ฟาดหางอาละวาดน้ำกระจาย อย่างนี้เขาเรียกทุกข์คูณสองจริงๆ
เพียงใจฉันยอมรับตามจริงได้ว่าลมหายใจยามไข้เป็นของร้อน โดยที่จิตไม่อยากให้มันหายร้อน ตัวของจิตเองก็เหมือนสบายไปครึ่งหนึ่ง แม้ยังต้องถูกบีบไว้ด้วยสภาพทุกข์ทางกาย ไม่น่าชอบใจ ก็ยังสงบได้ด้วยลักษณะเห็นตามจริง ไม่วิ่งหนี ไม่ผลักไส ปักหลักมั่นอยู่ตรงที่ที่ถูกบังคับให้เผชิญกับความจริงนั่นแหละ
ก่อนหน้านี้ฉันเริ่มสังเกตมาบ้าง ว่าแค่ดูลมหายใจเป็นอย่างเดียว ก็แทบจะรู้ได้ทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเอง เช่นขณะกำลังคิดฟุ้งซ่านกระจัดกระจาย ลมหายใจจะหยาบ สั้น เหมือนลมที่มากับความมืด และถ้าไม่สำเหนียกรู้จะเหมือนลมหยุดหายไปนานด้วยซ้ำ กว่าจะนึกได้และต้องระบายลมยาวๆสักทีเพื่อไม่ให้เตลิดไกลเกินกู่กลับมา
ขณะกำลังหนักใจ คิดมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลมหายใจจะมากับความอึดอัด ราวกับเราสูดเอาของทึบๆเข้ามาในร่าง แล้วคงค้างความหนักทึบไว้ในหัว ขณะกำลังใจร้อน อยากเร่งให้เกิดผลบางอย่างไม่ว่าจะงานทางโลกหรือความสงบภายใน ลมหายใจจะพลอยแฝงสภาพร้อนรน เช่นกระชากสั้น หายใจถี่กระชั้นด้วยร่างกายบีบเกร็ง
ขณะกำลังเหนื่อย ลมหายใจจะอ่อน อาจเป็นเพราะร่างกายขาดกำลังดึง หรืออาจเป็นสติน้อยเกินกว่าจะคำนึงถึงเครื่องชูกำลังง่ายๆที่หาได้ตลอดเวลา เพียงดึงลมหายใจให้แรงขึ้น ยาวขึ้น มีคุณภาพขึ้น ต่อให้เหนื่อยแสนเหนื่อยขนาดไหนกำลังก็ต้องฟื้นคืน มีความสดชื่นเพิ่มขึ้นสักนิดในชั่วขณะเวลาที่ลมแรงกว่าเดิมนั้น
ขณะกำลังปลอดโปร่งโล่งตลอด ลมหายใจจะยืดยาว ชัดลึก และนิ่มนวล ยิ่งถ้าตั้งสติไว้กับลมหายใจไปเรื่อยๆ ความปลอดโปร่งก็จะกลายเป็นความสุขสงบตั้งมั่น ลมหายใจประเภทนี้เองที่เราต้องการทั้งในแบบช่วยตั้งสติ ตลอดจนทำให้พร้อมเกิดธัมมวิจัย แล้วเพียรประคองจนปีติและระงับกายใจไม่ให้กวัดแกว่ง เพื่อความมั่นคงของจิต อันจะนำไปสู่การวางเฉยอย่างถูกต้องในภายหลัง
แต่ขณะกำลังเป็นไข้ ฉันยังไม่เคยสังเกตมาก่อนว่าลมหายใจมีลักษณะเป็นอย่างไร เป็นไข้งวดนี้จึงไม่ควรให้เสียเที่ยวเปล่า ฉันตั้งใจว่าให้ทรมานอย่างไรก็จะลองติดตามรู้ลมไปเรื่อยๆ ดูซิว่าจะเก็บตกหรือได้เกร็ดความรู้สายสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจกับกายที่ซมไข้อยู่มากน้อยเพียงใดบ้าง
ฉันพบตามจริงว่า ยามเป็นไข้นั้น ถึงแม้ลมหายใจขาออกจะร้อนรุ่มไม่เป็นที่สบายสัมผัสในช่องอกและโพรงจมูก แต่ลมหายใจขาเข้าก็ยังคงผสมไอเย็นของอากาศภายนอกตามปกติ เพียงแต่จะเริ่มฝืนเกร็งตอนใกล้สุดลมเข้า เพราะกายอยู่ในสภาพไม่เป็นที่น่าสบาย พอลมหายใจพาสติมารู้ความไม่สบายในกาย ลมก็เลยปรากฏตัวคล้ายไม่ค่อยเป็นมิตร ไม่ค่อยเป็นที่น่าสดชื่นเหมือนอย่างเคย ทั้งที่จริงลมเข้าก็ยังเป็นลมเข้าเหมือนปกตินั่นเอง จะเรียกว่าลมหายใจของคนเป็นไข้ เป็นลมหายใจที่มาพร้อมกับความแสลงกายก็คงไม่ผิด
แม้สังเกตข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ด้วยสติธรรมดาๆของทุกคน แต่ทุกคนก็จะเชื่อว่าเพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งทางกายหรือความรู้สึกนึกคิด ลมหายใจจึงปรากฏในแบบหนึ่งๆ แต่มักไม่มีความสังเกตกันว่า ถ้าเราหายใจด้วยสติ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการปรุงแต่งทางกายและความรู้สึกนึกคิดที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้
คำว่า ‘สติ’ ในที่นี้หมายถึงสติรู้ตามจริง ไม่ใช่สติแบบพยายามบังคับให้เกิดสภาพที่เราอยากได้ อยากมี อยากดี อยากเป็น หรืออย่างเช่นที่ฉันอยากในเช้านี้คืออยากหายไข้ สติที่มากับความอยากจะทำให้ร่างกายและจิตใจต้องทำงานหนักขึ้น แต่สติที่มากับความยอมรับตามจริงจะทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในดุลพอดี
เมื่อได้คิดเช่นนั้น จากตัวอย่างการยอมรับลมหายใจร้อนๆเพียงหนเดียว ฉันก็เลิกทุรนทุราย เหลือแต่สติรู้ลมร้อนในขาออกตามจริง และสติรู้ลมเย็นค่อนข้างอุ่นในขาเข้าตามจริงด้วย
เมื่อรู้ว่าเข้าเย็นออกร้อนประมาณสิบหน ก็เริ่มกำหนดรู้ตามจริงให้ละเอียดขึ้น เห็นว่าตอนหายใจเข้าจะมีความแสลงทางกายปรากฏชัดกว่าตอนลมหยุด ไม่ว่าเป็นอาการปวดหัวข้างเดียว อาการรุ่มร้อนตามเนื้อตัว ตลอดจนอาการที่หลีกหนีไม่ได้อื่นๆ เช่นความเจ็บคอ เป็นต้น
โจทย์ที่ถามตัวเองแล้วเกิดความสนใจเป็นอันมากคือ ใจเริ่มเป็นทุกข์ตามสภาพทางกายเมื่อใด? ฉันได้คำตอบจากสติที่ผูกอยู่กับลมร้อนเย็นตามจริงว่า เป็นทุกข์เมื่อแสลงกาย ร้อนรุ่มในกาย แล้วคิดว่าเรากำลังเป็นไข้ กายเรากำลังอยู่ในสภาพลำบากน่าอนาถนัก อยากหายไข้พ้นสภาพทรมานเสียเดี๋ยวนี้ จะได้ทำอะไรตามปกติอย่างที่ต้องการ
เมื่อคำตอบเป็นที่แน่ชัดว่า ใจเป็นทุกข์ตามกายเพราะวิธีคิดแบบขาดสติ ฉันก็เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ เลิกคิดเชื่อว่าที่กำลังแสลง ที่กำลังร้อน ที่กำลังกระสับกระส่ายอยู่นั้นคือกายของฉัน แต่เปลี่ยนเป็นกำหนดรู้ตามจริงว่าสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดความแสลง สิ่งที่อมความร้อนไว้ภายใน สิ่งที่ดิ้นรนสู่การขยับเปลี่ยน คือ ‘อิริยาบถนอน’ เท่านั้น
พลิกมุมมองนิดเดียว ฉันก็รู้สึกเป็นจริงเป็นจังว่าที่กำลังอยู่บนเตียงนี้ไม่ใช่ร่างกายของฉัน แต่เป็นอิริยาบถนอนนับแต่หัวจรดเท้า ถ้าหากไม่ฝึกอบรมไว้ก่อน จะมาเริ่มเอาตอนเป็นไข้ อย่างไรก็คงไม่ทันการณ์ อิริยาบถนอนคือความปรากฏของกายเท่าที่สามารถรับรู้ได้ขณะเหยียดร่างบนเตียง ถ้ารู้หัว หลัง ขาได้ตลอดก็ดี แต่ถ้ารู้แค่หัวกับหลังก็นับว่าใช้ได้ ปกติอิริยาบถนอนจะเป็นที่อาศัยของความรู้สึกว่าเป็นเรา ต่อเมื่อฝึกนอนด้วยการมีสติรู้ลมหายใจเข้าออก เห็นลมหายใจเข้าออกเป็นของเกิดดับบ่อยเข้า ก็จะค่อยๆละลายความเห็นผิดๆลงทีละน้อย กระทั่งอิริยาบถนอนปรากฏเป็นเพียงเครื่องสูบลมเข้า เครื่องพ่นลมออกที่ปราศจากความทึบตัน ยิ่งโปร่งเบาและมีสติรู้ได้มากเท่าไหร่ อัตตายิ่งบางลงเท่านั้น
ลมหายใจเข้าต่อมา เมื่อรู้สึกถึงความเย็นของลม แล้วตามด้วยความรู้สึกร้อนแสลงตลอดช่วงอก ฉันก็ทำใจรับรู้ตามสภาพ ว่าที่ร้อนนั้นเป็นความร้อนภายในอิริยาบถนอน อิริยาบถนอนเป็นผู้ร้อน ไม่ใช่ฉันเป็นผู้ร้อน
เออ! มันช่างต่างกันดีเหลือเกินจริงๆ พอสติรู้ชัดว่าอิริยาบถนอนเป็นผู้อมความร้อน จิตก็คายความร้อนรนกระวนกระวายทิ้ง ครั้งต่อครั้ง นาทีต่อนาที จนในที่สุดจิตเกิดสภาพผ่อนพักเกือบเต็มที่ คล้ายหลับสนิท แต่ในความหลับนั้นจิตเฝ้ารู้อยู่ว่ากำลังดูอิริยาบถนอนที่อมความร้อนไว้ และจิตไม่เดือดร้อนกับสภาพร้อนของอิริยาบถนั้นเลย ธรรมดาคนเป็นไข้จะไม่ค่อยมีแรงคิดเรื่องจิปาถะนอกตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อจิตได้ที่จับดีๆ ความคิดก็หลีกทางให้สติเอง สำคัญคือตอนต้น ทำอย่างไรจะได้ที่จับให้จิตมั่นคงหน่อยเท่านั้น
อุปสรรค ณ จุดเริ่มต้นที่เอาชนะยากมีหลายประการ ฉันสังเกตว่าการพลิกตัวแต่ละครั้งเป็นที่มาสำคัญของความเผลอสติ เพราะการได้เปลี่ยนท่าจะเป็นเหตุให้เกิดความสุขทางกาย ขณะวางกายในท่าใหม่จะเกิดความหลงสุขชั่วครู่ ทำให้มีความเป็นเรานอนอย่างสุขสบายชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะแปรเป็นความรู้สึกร้อนกายหรือปวดหัวในท่านั้นๆ ความปวดหัวจะทำให้เป็นทุกข์ เหมือนแรงเสียดทานสติ ไม่ให้สติดำเนินผ่านไปได้ง่ายนัก เพียงนิ่งในท่าใหม่ครู่เดียวก็จะมีความเป็นเราปวดหัวขึ้นมาแทนเราสบายเสียแล้ว หากสติรู้ลมหายใจหรืออิริยาบถนอนตามมาไม่ทัน หรือสติใหญ่ไม่พอจะเอาชนะความรู้สึกว่าเราปวดหัวตัวร้อน ท่านอนใหม่ก็จะเอาสติของเราไปกินหมด ความเพียรรู้ในทุกการเคลื่อนไหวจึงมีบทบาทสำคัญ
ฉันพบว่าการนอนตะแคงจะทำให้หายใจติดขัด ไม่ลากยาวได้เหมือนอย่างนอนหงาย ดังนั้นจึงจับจุดได้อย่างหนึ่ง คือเมื่อนอนตะแคงควรเน้นสติรู้อิริยาบถมากกว่าสติรู้ลมหายใจ แต่เมื่อนอนหงายก็ควรเน้นสติรู้ลมหายใจมากกว่าอิริยาบถ ส่วนถ้าหากความร้อนหรือความปวดหัวกำเริบ ก็มองว่าเป็นอิริยาบถนอนร้อน อิริยาบถนอนปวดเท่านั้น ไม่ใช่ฉันร้อน ไม่ใช่ฉันปวด
สลับไปสลับมาตามถนัดในแต่ละขณะ ระหว่างสติรู้ลมหายใจกับสติรู้อิริยาบถ กระทั่งสติขาดหายไปเพราะถูกพิษไข้บีบให้เพลียหลับ แต่ขณะหลับยังเหมือนมีความนิ่งรู้ความร้อนในอิริยาบถอยู่รางๆ คล้ายหลับก็ไม่ใช่ ตื่นก็ไม่เชิง
ตื่นขึ้นมาอีกรอบ ฉันยังไม่สมหวัง เพราะอาการปวดทุเลาไปเพียงนิดเดียว แต่ความร้อนยังรุมกาย ฉันลุกมาเข้าห้องน้ำแล้วกลับมานั่งที่เตียง คิดในใจว่าคงไม่สำเร็จกระมัง สติยังไม่แข็งแรงจนเอาชนะพิษไข้ได้
แต่พอนั่งเฉยๆไม่กำหนดอะไรราว ๕ นาที พอชำเลืองจิตกลับมารู้กายใหม่ ก็พบด้วยความประหลาดใจว่าความร้อนลดลง เนื้อตัวสบายขึ้น แต่ยังมีมึนๆและปวดหัวข้างเดียวเป็นระยะ กับทั้งอ่อนเพลียอีกครั้ง จึงล้มตัวลงนอน พอนอนจังหวะแรกๆยังปวดหัว แต่เทียบเคียงกับครั้งเมื่อก่อนตื่นแล้วเห็นท่าว่าน่าจะเบาบางกว่ากันเยอะ เห็นเช่นนั้นก็ชักมีกำลังใจกำหนดสติต่อ
เริ่มต้นด้วยการรู้ลมหายใจออก เห็นความร้อนในแต่ละช่วงไม่เสมอกัน ช่วงหนึ่งๆอาจหมายถึงสองสามนาที ฉันไม่ได้แกล้งนึกให้มันร้อนมากขึ้นหรือน้อยลง ไม่แม้แต่กำหนดให้ลมระบายออกยาวหรือสั้น แต่ก็เห็นเช่นนั้นด้วยความเพียรอดทนสังเกตในระยะยาว ถ้ามีอาการปวดหัวหรือตัวร้อนระดับทรมาน ก็เปลี่ยนไปกำหนดว่าอิริยาบถเป็นผู้ปวด อิริยาบถเป็นผู้ร้อน
รอบนี้ทำให้เกิดความเห็นที่รอบก่อนไม่เห็น คือสติรู้ตามจริงนั่นเองเป็นตัวแปร เป็นปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภายในร่างได้ กล่าวคือถ้าขาดสติ ปล่อยจิตปล่อยใจให้ระทมทุกข์ไปกับความร้อนหรือความปวด ก็จะมีส่วนช่วยบีบคั้นอาการทางกายให้หนักอยู่อย่างนั้น หรือกระทั่งหนักยิ่งกว่าเดิม แต่ถ้าจิตอยู่ในดุลที่จะรู้พอดีๆตามที่ทุกภาวะปรากฏอยู่จริง ก็ไม่มีอะไรมาบีบคั้นกายให้หนักไปกว่าเดิม น่าจะเปิดโอกาสให้กายซ่อมแซมตัวเองตามกลไกธรรมชาติสะดวกขึ้น หรือมีความเยือกเย็นจากจิตนั่นเองมาช่วยให้กายสบายเร็วผิดปกติ
หากอธิบายตามหลักการแพทย์ก็ต้องบอกว่ามีสารที่เป็นประโยชน์เช่นเอ็นดอร์ฟินหลั่งออกมาขณะจิตใจสงบสุขเป็นสมาธิ สำคัญคือขณะเป็นไข้นั้น คนทั่วไปไม่อาจสงบจิตสงบใจเป็นสมาธิได้ไหว นี่ย่อมถือว่านักปฏิบัติธรรมภาวนาสติปัฏฐาน ๔ ได้เปรียบยิ่ง เพราะฐานสติที่แกร่งแล้วพอควร จะมีส่วนช่วยให้จิตสงบเป็นสมาธิง่ายขึ้น
สองชั่วโมงต่อมาฉันตื่นนอนขึ้นอีกครั้ง ความรู้สึกแรกคือความนิ่งสบายใจทางจิต ความรู้สึกต่อมาคืออาการของกายเบาลงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นหัวที่ปวดหรือตัวที่ร้อน ฉันขยับลุกขึ้นยืนอย่างลุ้นว่าผลเป็นอย่างไร ก็ยิ้มออก ไข้ลดลงแล้วจริงๆ รู้สึกได้เลยว่าไม่ใช่อุปาทาน เดี๋ยวฉันทานข้าวแล้วกินพาราฯอีกที น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆจนไปทำงานได้ในวันพรุ่งนี้แล้ว และคิดในใจว่าไม่เป็นไร ถ้าปวดหัวตัวร้อนอีกก็เจริญสติให้จิตเข้าไปอยู่ในสภาพผู้รู้ ผู้เยือกเย็นรับทราบปรากฏการณ์การเป็นไข้ตามจริงอีก ที่จริงก็ได้ความรู้ ได้ปัญญา ได้ความไม่ประมาทในกายอันเป็นอนัตตานี้ดีเหมือนกัน
 
วันที่ ๔: แผ่เมตตาด้วยคำพูด
การมีร่างกายที่ไม่เป็นโรคนั้นปลอดโปร่งดีจริงหนอ พอหายทุกข์หายไข้ ใจก็สบายและเสพสุขจากอาการปกติทางกายได้มากกว่าเดิม เหมือนฟ้าหลังฝน คนเราย่อมเห็นค่าของสุขภาพที่ดีเมื่อได้มีโอกาสเปรียบเทียบกับสุขภาพย่ำแย่ใหม่ๆอย่างนี้เอง
ฉันไปทำงานตามปกติ ร่างกายยังอ่อนเพลียและร้อนๆรุมๆอยู่บ้าง แต่ความเย็นในจิตและความแข็งแรงของสติรู้ช่วยบรรเทาอยู่ตลอด เหมือนผลัดกันรุกผลัดกันรับระหว่างไข้ที่ยังไม่หายสนิทกับจิตที่มีสติคุ้มกันไว้ดี ไม่เผลอหลงเข้าไปกระวนกระวายหรือสร้างทุกข์เพิ่มอีกชั้น
ด้วยความสุขเย็นติดจิตติดใจ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อเข้าห้องประชุมในช่วงเช้า ฉันกำหนดรู้สุขว่าเกิดขึ้นในอิริยาบถนั่งนิ่งไม่ไหวติง รู้ไปเรื่อยๆโดยไม่หลงยึดว่าเป็นสุขของฉัน แต่เห็นตามจริงว่านั่นเป็นสุขอันเนื่องด้วยกาย ขณะกำลังรู้สุขก็ฟังประชุมไปเรื่อยๆ หรือกล่าวให้ง่ายขึ้นคือฟังประชุมด้วยความสุขภายในอันคงเส้นคงวาก็ได้
พอถึงตาฉันต้องเอื้อนเอ่ย ฉันก็กำหนดสติรู้สุขทางใจพร้อมกับพูดไปด้วย มีความประกอบพร้อมหลายอย่างเกิดขึ้น คือฉันรู้อิริยาบถนั่งด้วย ทราบด้วยว่าสติรู้อิริยาบถนั้นเป็นเหตุแห่งความสุขใจด้วย แล้วก็เจรจาตามหน้าที่ด้วย ดูเหมือนทำหลายอย่าง แต่ความจริงคือใจคิดพูดอย่างเดียวบนฐานสติคือสุขเวทนาอันเนื่องด้วยกาย ศีรษะตั้งนิ่งสบายไม่โยกเยก สองไหล่พัก สองแขนตกแนบลำตัว ประสบการณ์ในชั่วเวลานั้นทำให้รู้จักกับการแผ่เมตตาผ่านคำพูด ฉันรู้สึกชัดว่าสุขเริ่มจากจิตอันตั้งมั่นรู้ของตนเอง พอจะเปล่งแต่ละคำ ก็เห็นกระแสสุขยังปักหลักตั้งมั่นที่ฐานเดิม โดยไม่แยกเป็นต่างหากจากกันระหว่างสุขที่ใจ กับสุขที่ส่งไปกับกังวานเสียง
ฉันเห็นชัดว่าจิตคิดคำออกมาทีละประโยค ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที พอคิดได้ก็ปล่อยให้รินไหลออกจากปากไปสู่หูผู้ฟังในห้องประชุมเองโดยไม่ต้องคิดซ้ำอีก นี่จัดเป็นการทำงานของสติอันตั้งมั่นประการหนึ่ง คิดทีเดียว ใช้เวลานิดเดียว แล้วไม่มีลักษณะย้อนทวนวกวน ลักษณะสติชนิดนี้เป็นไปด้วยกันกับกระแสสุขที่มั่นคงอยู่ในภายใน เลี้ยงอิริยาบถนั่งให้ตั้งนิ่งไม่กระสับกระส่าย ไม่กำเกร็ง รวมทั้งไม่ทื่อเป็นหินน่าขบขัน
ยิ่งพูดมากขึ้น สติฉันยิ่งเต็ม และเกิดความรู้จากภายใน ว่าทั้งห้องประชุมรับส่วนแห่งไอเย็นในจิตของฉันไปกันถ้วนหน้า พวกเขาดูมีทีท่ารับฟังฉันอย่างดี แล้วก็น่าจะเพลิดเพลินสบายใจมากด้วย แม้แต่ศัตรูของฉันยังสงบฟัง ไม่ขัดคอแม้แต่คำเดียว
หลังเลิกประชุม เจ้านายชมเปาะว่าฉันพูดฟังเข้าใจง่ายขึ้นเยอะ แล้วปฏิภาณในการโต้ตอบกับคนในห้องประชุมก็ดูเฉียบคมขึ้น ว่องไวเป็นธรรมชาติดี ราวกับเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เจ้านายถามเชิงกระเซ้าว่าไปทำอะไรมา ดูหน้าตานวลผ่องผิดปกติ ฉันก็บอกว่าคงเป็นเพราะเมื่อวานไปเที่ยววัดต่างจังหวัดมา เลยได้อานิสงส์เป็นความมีอะไรๆสดใสขึ้นกระมัง เจ้านายฉันถามว่าวัดอะไร วันหลังพาไปบ้าง
ฉันได้เห็นด้วยตนเองว่า การเจริญสติไม่ใช่ได้ดีเฉพาะเราคนเดียว แต่ส่งผลกระทบ หรือมีอิทธิพลในทางใดทางหนึ่งกับคนรอบข้างไม่มากก็น้อย บางทีการนั่งคุยกับญาติมิตรด้วยกระแสใจที่อุดมสุขในสติ จะดีเสียกว่าการพยายามยัดเยียดหนังสือธรรมะหรือการคะยั้นคะยอชักชวนไปทำบุญในที่ที่พวกเขาไม่เต็มใจหลายสิบหลายร้อยเท่า
 
วันที่ ๔-๑๐: เมตตาขยายผล
การเสพเมตตานานๆนั้น เหมือนจิตได้ดื่มกินน้ำเย็นรสหวานน่าติดใจ เมตตาเป็นสิ่งที่หาได้ยากในผู้คนยุคเรา และเมตตาก็เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นได้ยากในเราเองเมื่อขาดแคลนบุคคลที่น่าเมตตา แต่สำหรับนักภาวนา ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญสติตามรอยบาทพระศาสดา เมตตาเป็นธรรมะไม่จำกัดกาล ไม่จำเป็นต้องรอเจอบุคคลที่ควรมีเมตตาให้เสียก่อน แต่ฝึกรินเมตตาได้เลย ผ่านน้ำคำและน้ำใจ กระทั่งแก่กล้าพอจะเขยิบขึ้นถึงขั้นแผ่เมตตาไม่มีประมาณ
ใครว่าเอาคนในโลกมาเป็นอุปกรณ์ภาวนาไม่ได้ อย่างน้อยก็กำหนดให้เป็น ‘เป้ายิงเมตตา’ ได้อย่างหนึ่งล่ะ คนเราต้องเจอเรื่องกระทบใจจากผู้คนรอบข้างเสมอ และเมื่อถูกกระทบย่อมเกิดปฏิกิริยาทางจิต ปฏิกิริยาทางจิตนั่นเองคือสิ่งที่เราต้องสังเกต ว่าเป็นไปในทางดีหรือทางร้าย หากเป็นไปในทางดีก็คือคล้อยตามกระแสเมตตา หากเป็นไปในทางร้ายก็คือคล้อยตามกระแสพยาบาท สองกระแสนี้เป็นคู่ปรับกัน หากคล้อยตามกระแสใดมาก จิตของเราก็จะเข้าฝ่ายนั้น
ช่วงหลายวันนี้ฉันพิจารณาตัวเอง ถ้าเหตุการณ์ปกติไม่มีเรื่องกระทบใจจิตก็เหมือนใฝ่ใจในความสงบเย็นดี พูดจากับใครก็ด้วยกังวานเมตตาที่ตั้งต้นออกมาจากแก่นแท้ของจิตใจ แต่อย่าได้มีใครมาจี้ให้เต้นก็แล้วกัน ฉันยังทำหน้าตึงถลึงตา หรือกระทั่งเผลอตวาดเสียงเขียวได้อยู่ โดยเฉพาะกับคนไม่รู้จักตามถนนรนแคมหรือร้านรวงในตลาด บางทีโดนพูดแย่ๆมายังชินนิสัยวางก้ามขู่แบบเก่าๆด้วยซ้ำ
ตระหนักตามจริงว่าตนเองยังเป็นผู้ที่มีความโกรธอยู่เหนือสติ มีความผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทอยู่เหนือกำลังในการให้อภัย จึงเห็นว่ายังอยู่ในขั้นที่จำเป็นต้องฝึกให้จิตมีปฏิกิริยาคล้อยไปตามกระแสเมตตาเสียก่อน มิฉะนั้นเมื่อเกิดเรื่องกระทบใจแล้วมักโกรธและหมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้ขุ่นเคืองไปนาน ไม่อาจสงบลงได้ สภาพเช่นนี้ไม่เกื้อกูลต่อการพิจารณาความโกรธโดยความเป็นอนิจจังแน่นอน
ข้อปฏิบัติเพื่อดับโกรธ ละพยาบาท ที่ชาวพุทธรู้จักกันดีคือการแผ่เมตตา แต่แผ่เมตตาทำอย่างไรล่ะ? มีอุบายหลายต่อหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่นง่ายที่สุด คุ้นที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกินการท่องบ่นภาวนาว่า สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ ขอสัตว์โลกทั้งหลายอย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย แต่เท่าที่ฉันเห็นด้วยตาเปล่านั้น บางคนภาวนาอยู่เกือบสิบปี ยังหน้าตาเหี้ยมเกรียมอยู่เหมือนเดิม เกิดเรื่องเกิดราวแล้วยังบ๊งเบ๊งได้เท่าคนมีโทสะแรงทั้งหลายอยู่ดี ฉะนั้นเพียงการสวดด้วยปาก หากขาดใจจริงอยู่เบื้องหลัง ก็คงไม่ต่างกับนกแก้วนกขุนทองถูกสอนให้ท่องอะไรที่มันไม่มีวันรู้ความหมายไปจนตาย
ว่ากันถึงวิธีการแผ่เมตตาของพระพุทธเจ้านั้น ฉันตรวจดูในพระไตรปิฎกไม่พบขั้นตอนตรงๆ มีแต่อุบายทางอ้อมในเชิงที่จะทำให้เข้าใจลักษณะจิตขณะแผ่เมตตา เช่นในเตวิชชสูตรท่านให้นึกถึงความปราโมทย์ ความมีโสมนัสของคนเพิ่งฟื้นไข้ที่ได้กำลังวังชากลับคืนมา แล้วให้เทียบเคียงว่าพยาบาทเปรียบเหมือนโรค เมื่อละพยาบาทเสียได้ก็เหมือนหายจากโรค มีแต่ความปลอดโปร่งโล่งสบายทางใจ โสมนัสที่เกิดขึ้นหลังจากละพยาบาทได้นั่นเอง ปรุงจิตให้พร้อมแผ่เมตตาออกไปโดยไม่มีประมาณ
หากพิจารณาให้ง่ายเข้า ก็อาจกล่าวว่าจิตขณะตั้งต้นนั้น ถ้าเป็นอภัย ถ้ามีความสละการเพ่งโทษ ถ้าทำให้เลื่อมใสในการไม่ผูกโกรธจองเวรแล้ว ย่อมบังเกิดความโสมนัสดุจคนเพิ่งฟื้นไข้ อาศัยโสมนัสระดับนั้นเองเผื่อแผ่ออกไปอย่างไม่จำกัดด้วยจิตอันเปิดเผยเต็มที่
ค่ำคืนในช่วงระหว่างนี้ ฉันอุทิศเวลาทดลองแผ่เมตตาตามความเข้าใจของตัวเอง ขึ้นต้นมาคือนึกถึงศัตรู และปลงใจให้อภัยแบบไม่มีเงื่อนไข เพื่อแลกกับความโล่งหัวอกและโสมนัสเหมือนคนป่วยเพิ่งฟื้นไข้ แล้วก็พบกับตนเองว่าโสมนัสในวินาทีที่ปลงใจได้นั้น มีความแรงพอจริงๆ คือปรุงจิตให้เป็นลักษณะเปิดเผย ไม่หมกมุ่นครุ่นคิดคับแคบคล้ายสมาธิอ่อนๆ แต่ปลอดโปร่งกว่ากันเพราะซ่านกระแสเมตตากว้างขวางออกมาจากหัวใจ
จากนั้นเพียงหลับตา และคล้ายมองผ่านเปลือกตาออกไปดูเวิ้งฟ้าด้วยความผ่อนคลาย ประคองโสมนัสอันเกิดจากอภัยทาน ก็กลายเป็นกระแสทางใจของจริง ที่ปรารถนาความไม่เบียดเบียน ปรารถนาความไม่มีเวร ปรารถนาความสุขโสมนัสในใจเราจงแผ่เข้าไปถึงหัวใจสรรพชีพทั่วสากลจักรวาล
ธรรมชาติของโสมนัสย่อมเลี้ยงจิตให้พึงใจอยู่ในสภาพความเป็นเช่นนั้นได้นาน ฉันไม่พยายามกำหนดให้เกิดอะไรขึ้นมากไปกว่ามีสติรู้โสมนัสอันตั้งต้นที่ใจ ซึ่งถ้าปลอดโปร่งโล่งตลอดปราศจากความเพ่งบังคับแล้ว ย่อมมีลักษณะกว้างเหมือนฟองอากาศใสที่เริ่มกินบริเวณรอบตัวในเขตจำกัดหนึ่งก่อน หากมีวิริยะประคองให้ต่อเนื่องเพียงครู่หนึ่ง ก็จะค่อยๆขยายวงออกไปเรื่อยๆ เป็นที่รู้สึกได้ด้วยตนเอง
เมื่อกระแสโสมนัสอ่อนตัวลง ฉันก็ไม่พยายามบังคับเหนี่ยวรั้งให้ยั่งยืน เมื่อรู้สึกดันๆออกไปแบบที่ทำให้ตึงขมับหรือเกร็งส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย ฉันก็รีบรู้ให้ทันว่านั่นเริ่มมีอาการเพ่งมากเกินเสียแล้ว ฉันสังเกตว่าที่ถูกต้องมีสติรู้ตั้งมั่นอยู่ตรงกลางๆ คล้ายเรานั่งมองผนัง มองฝ้าเพดาน มองนกมองไม้อย่างปราศจากความคาดหวัง ไร้ความคิด ไร้เจตจำนงอื่นใดนอกจากปรารถนาให้สุขภายในฉายออกไปสู่ภายนอกด้วยลักษณะสบายที่สุด เป็นการแผ่เมตตาเอาสุขให้ตนเองก่อนแล้วจึงเผื่อแผ่ไปภายนอก ไม่ใช่ยิ่งแผ่เมตตาตัวเองยิ่งเครียด ยิ่งขาดสติ
ฉันลองแผ่เมตตาทั้งก่อนและหลังทำสมาธิรู้ลมหายใจ พบว่าแผ่เมตตาภายหลังทำสมาธิจะดีกว่า เพราะจิตมีกำลัง มีความตั้งมั่นบ้าง ต่างจากก่อนทำสมาธิที่อาจกำลังเหม่อนิดฟุ้งหน่อย ยังอยู่ในสภาพไม่ค่อยเต็มใจแผ่เมตตาให้ใครได้
ฝึกอยู่เกือบอาทิตย์ทุกครั้งหลังนั่งสมาธิ กระทั่งล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือหลังจากเพียรประคองกระแสโสมนัสในจิตที่แผ่กว้างออกไปเบื้องหน้า ก็ตกภวังค์วูบคล้ายคนจมน้ำโดยไม่รู้สึกตัว แล้วกลับทะลึ่งพรวดขึ้นเหนือผิวน้ำใหม่ รับรู้ถึงอากาศเหนือน้ำที่สดชื่นและโปร่งว่างผิดปกติ เหมือนมีรอยยิ้มผนึกแน่นอยู่กับดวงจิตที่ตั้งมั่นไม่เคลื่อน สำเหนียกรู้สึกถึงรัศมีเมตตาที่ฉายกว้างไกลกว่าทุกครั้ง กับทั้งไม่ต้องเพียรกำหนดประคอง ก็แน่วนิ่ง ไม่ลดไม่เพิ่มอยู่พักใหญ่ กว่าที่จะอ่อนกำลังลง
จึงเห็นถนัดว่าถ้าจิตรวมลงเป็นดวงขณะแผ่เมตตา กระแสเมตตามีอ่อนกำลังได้ และกำหนดเร่งให้แรงขึ้นก็ได้ แต่ด้วยความไม่ชำนาญ ประกอบกับที่กำลังยังไม่เหลือเฟือเยี่ยงผู้มีชั่วโมงบินสูง จิตจึงลดระดับความนิ่งตั้งมั่นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ทั้งที่ยังเสพทิพยสุขไม่อิ่มหนำอยู่นั่นเอง
ระดับนั้นฉันแผ่เมตตาได้หวิดๆ หรือน้องๆเมตตาอัปปมัญญากระมัง ชื่ออันไพเราะเพราะพริ้งนั้นหมายถึงการแผ่เมตตาได้ถึงระดับอนันต์ ไม่จำกัดทิศ ไม่จำกัดระยะ แต่ฉันยังรู้สึกถึงระยะอยู่ แล้วก็มีทิศเดียวเบื้องหน้าเท่านั้น ยังไม่รู้จักสภาพไร้ขอบเขตกับเขา
ถึงกระนั้น ฉันก็เห็นความเชื่อมโยงบางอย่าง ระหว่างการฝึกแผ่เมตตากับนิสัยใจคอที่เปลี่ยนไป ได้ตระหนักว่าข้อปฏิบัติแต่ละอย่างที่พระพุทธเจ้า ‘แนะให้ทำ’ หรือ ‘คะยั้นคะยอให้ทำ’ นั้น ไม่ใช่ส่งผลแคบๆแค่จุดหนึ่งจุดเดียว เช่นการแผ่เมตตานี้ หาได้มีเพียงเมตตาจิตไว้เอาชนะคะคานพยาบาทจิตเป็นเป้าใหญ่เท่านั้น แต่ยังยกระดับน้ำใจคิดเผื่อแผ่โดยตรง เพราะเสพจิตที่มีลักษณะเผื่อแผ่ยิ่งใหญ่ไพศาลมาแล้ว เมื่อจะทำทานเป็นทรัพย์ ทำทานเป็นอภัย ก็ย่อมเห็นว่าน้ำจิตระดับนั้นถ้ายังมีเสียดาย ยังมีหวง ยังมีวัตถุประสงค์แอบแฝง ก็จะไม่เกิดความชุ่มชื่นเต็มอิ่มได้เลย น้ำใจที่คิดเจือจานอย่างบริสุทธิ์ตั้งแต่ต้นก็คือชนวนแห่งมหาโสมนัสดุจเดียวกับขณะเริ่มแผ่เมตตาอย่างถูกต้องนั่นเอง
ฉันได้ย้อนกลับมาสังเกตสังกาข้อปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตใจขั้นพื้นฐาน นั่นคือเรื่องของ ‘ทาน’ แต่ก่อนฉันแค่มองง่ายๆว่าทานก็คือยกสมบัติสักชิ้นให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนยากจน ขอทาน เด็กอนาถา ตลอดจนพวกพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหารที่เอาบริการดีๆซื้อใจลูกค้าให้แจกทิป
แต่เมื่อฝึกแผ่เมตตาอันฉายออกมาจากก้นบึ้งหัวใจ เห็น ‘จิตเผื่อแผ่สุขไพศาล’ อันยิ่งใหญ่เหลือประมาณ มุมมองเกี่ยวกับการให้ทานก็ต่างไป เพราะไม่ได้เล็งออกไปที่ผู้รับข้างนอกที่ไหน แต่เริ่มเห็นจิตใจของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้งเห็นผู้รับผลแท้จริงเป็นตนเองในลำดับสุดท้าย จึงรู้ซึ้งว่า ‘ให้’ ความสุขออกไปจากใจมากแค่ไหน ก็ ‘ได้’ ความสุขกลับมาถึงใจมากแค่นั้น
ทำทานนั้นต้องทำด้วยใจเสมอ มือของเราไม่ร่วมรับรู้ ไม่ร่วมยินดีในทานไปกับใจแม้แต่น้อย จึงต้องถามว่าแต่ละครั้งที่ให้ทานนั้น ใจมีอยู่แค่ไหน แค่ให้อย่างเสียไม่ได้ แค่ให้เพราะอยากตัดรำคาญ แค่ให้เพราะถูกใช้มาทำ แค่ให้ด้วยความชินชาปราศจากปีติ แค่ให้ด้วยความหวังผลตอบแทน แค่ให้เพราะเป็นแค่เศษกระดูกติดเนื้อ แค่ให้เพราะเป็นเศษเงินเหลือใช้ แค่ให้เพราะรู้สึกว่าไม่สะเทือนสมบัติที่มี หรือแค่ให้เพราะอยากสะเดาะเคราะห์ให้สบายใจไปคราวหนึ่ง?
ใจในการคิดให้มีหลายแบบเหลือเกิน ตั้งแต่แผ่เมตตาเป็น นิสัยในการให้ของฉันก็เปลี่ยนไป การให้กลายเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตวิญญาณ กลายเป็นเรื่องของการตกแต่งขัดเกลา กลายเป็นเรื่องของการเปลื้องของหนักลงจากบ่า ฉันพบว่าหากให้ในระดับ ‘เฉือนเนื้อส่วนหนึ่งทิ้งได้’ เช่นทำแล้วรู้สึกว่าสมบัติพร่องลงกว่าเคยโดยไม่คิดเสียดาย มีความห่วงใยสวัสดิภาพของตัวเองน้อยลง อาทรต่อผู้อื่นมากขึ้น กระทั่งจิตใจสว่างว่างโล่งกว่าเก่า วิธีคิดก็จะค่อยๆเปลี่ยนไปในทางที่เป็นประโยชน์สุขกับตัวเองมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นนิสัยขี้กังวลของฉัน ทำงานกลัวศัตรูจะได้หน้ามากกว่า พูดในที่ประชุมกลัวคนจะไม่สนใจไอเดีย หมั่นเอาใจลูกค้าเพราะกลัวผลงานตก แน่นอนว่าฉันทำตามหน้าที่อันควร แต่ไม่ใช่แค่ทำดีที่สุดอย่างเดียว ยังทำด้วยความกลัวไม่เด่น กลัวไม่ได้ดี ตลอดจนกลัวเสียเปรียบไปด้วย จริงอยู่ความกลัวเหล่านี้เป็นของธรรมดาโลก เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนก็กลัวกัน แต่นั่นก็กลายมาเป็นปัญหาระดับโลกด้วยมิใช่หรือ? ลองไปถามบริษัทขายยาดู เขารู้กันทั่ว ยาขายดีที่สุดในโลกได้แก่ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต กับยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร เหล่านี้มันเรื่องเกี่ยวกับความเครียดทั้งสิ้น คนเราพากันทำตามกระแส ทำในสิ่งที่นึกว่าจะได้ แต่แท้จริงแล้วกำลังลากพาลงเหวกันระนาวต่างหาก
เมื่อจิตมีกิริยาเป็นให้มากกว่าเอา ฉันก็สบายใจขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าปกติด้วยซ้ำ เพราะเริ่มรับผิดชอบงานด้วยความคิดว่าจะทำให้คนรอบข้างดีขึ้น ฉันเถียงกับศัตรูตัวฉกาจน้อยลง รับฟังเขามากขึ้น ให้อภัยไม่ถือสาในเรื่องจุกจิกเล็กน้อย ไม่ใช่เจอหน้าแล้วเห็นเป็นเป้าที่ต้องเอาชนะคะคานกันท่าเดียวทั้งทางตรงทางอ้อมเหมือนแต่ก่อน
เขาจะคิดอย่างไร ได้รับผลดีแค่ไหนฉันไม่แน่ใจ รู้อย่างเดียวว่าใจฉันเองมีความสุขมากขึ้นเมื่อจำเป็นต้องทำงานกับเขา ธรรมชาติมีสีสันแปลกประหลาดพิสดารดี คล้ายเส้นผมเส้นเดียวอาจบังภูเขาได้ตั้งหลายลูก เช่นความจริงประการหนึ่งได้แก่ การคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ทำให้เราได้ดีก่อนคนอื่น
นอกจากเรื่องของใจที่ ‘ให้เป็น’ แล้ว ฉันยังเห็นตามจริงด้วยว่าผู้รับไม่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะต่ำต้อยกว่าฉัน ถ้ามองคนทั้งหลายเสมอหน้ากัน ฉันก็เห็นโอกาสในการทำบุญทำทานมากมาย อย่างเช่นอาเสี่ยร้อยล้านพันล้านขับรถยาวแปดวาก็ยังต้องก้มหัวขอบคุณเมื่อฉันเปิดทางให้เขาไปก่อน แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าดีๆที่มีระดับจิตเหนือฉัน ก็ยังเรียกว่าเป็นทักขิไณยบุคคล คือบุคคลที่ควรรับของถวาย หากฉันไม่เอาอะไรไปถวาย พวกท่านก็ไม่อาจดำรงชีพเพื่อสืบทอดพระสัทธรรม ไม่อาจมีกำลังวังชาทำกิจอันสมควรแก่พระศาสนาได้เลย
พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญรอยตามท่านในทุกๆทาง พูดง่ายๆว่าท่านส่งเสริมให้เลียนแบบทุกลีลาอันงดงาม เป็นไปเพื่อความประเสริฐทุกประการ ครั้งหนึ่งในวันอาทิตย์ได้ไปกราบพระปฏิมาในโบสถ์วัดต่างจังหวัด ฉันเงยหน้าขึ้นพิศองค์พักตร์สงบละไม แล้วรู้สึกเงียบงันลึกซึ้งลงมาถึงจิต แต่ก่อนฉันมองแล้วไม่เข้าใจ บัดนี้ฉันคิดว่าตัวเองพอยิ้มได้คล้ายพระปฏิมา คือมีความสุขอยู่กับเมตตาในตนเอง มากกว่าการทนทุกข์อยู่กับไฟโทสะอันไร้แก่นสาร
ตั้งแต่วันนั้นฉันก็ได้อุบายวิธีเจริญเมตตาประการหนึ่ง คือเมื่อเจอเรื่องกระทบให้โกรธ หาอาวุธใดมาฆ่าโทสะไม่ทัน ฉันจะนึกถึงยิ้มของพระปฏิมา น้อมมาประดิษฐานที่ริมฝีปากฉัน ใจจะเยือกเย็นลงและให้อภัยอย่างปราศจากเงื่อนไขได้ทุกประการ เลี้ยงสติ เลี้ยงเมตตาให้อยู่กับใจฉันตลอดรอดฝั่ง
หลายวันที่ผ่านมาฉันยังดูลมหายใจโดยความเป็นของเกิดดับอยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อต้องติดต่อกับผู้คนก็มักสังเกตจิตใจตนเอง ว่ามีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาในแบบที่จะเป็นไปในทางเมตตาหรือพยาบาท ฉันได้ข้อสังเกตประการหนึ่งคือสุขที่บังเกิดอย่างท่วมท้นจากการแผ่เมตตานั้น ค่อนข้างยากจะดูโดยความเป็นของเกิดดับ เพราะโสมนัสที่เกิดขึ้นเป็นของเกาะกุมใจ น่าติดใจ
ธรรมดาคนเราอยู่ใกล้คนใจเย็นก็สบายตามเหมือนชิดวิมานแล้ว แต่เมื่อใจเย็นด้วยตนเอง เหมือนเป็นวิมานเสียเอง ย่อมต้องน่าพึงใจกว่านั้นหลายเท่า ฉันจึงใช้วิธีสังเกตเปรียบเทียบระหว่างความสุขที่เห็นลมหายใจเกิดดับ กับความสุขที่จิตอิ่มในทะเลเมตตาใหญ่ พบว่าสุขจากการเห็นสภาพเกิดดับนั้นโปร่งใสและเย็นสนิท ส่วนสุขจากการแผ่เมตตานั้นขาวละมุนและอบอุ่น ทั้งความสุขโปร่งใสและความสุขสีขาวต่างก็เป็นสภาพหนึ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นตัวเองดำรงอยู่ก่อน และไม่อาจดำรงอยู่ในสภาพนั้นตลอดไป ขาดเหตุปัจจัยก็สูญสลายไปตามกาล
ความใสกับความขาวนั้นเป็นสิ่งถูกรู้ด้วยใจ ไม่ใช่ใสแบบตาเห็นกระจก ไม่ใช่ขาวแบบตาเห็นสำลี แต่เป็นแบบใจรู้สึกถึงความเป็นตัวเอง ว่าต่างกันอย่างไร และถึงแม้ต่างกัน แต่ใสกับขาวก็เข้าพวกกัน ลองคิดดูเถอะ ในบรรดาสีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ดำ แดง เหลือง เขียว ฯลฯ ไม่มีสีไหนอีกแล้วที่ใกล้เคียงกับความใสเท่าสีขาว
นี่ทำให้ฉันนึกถึงบัญญัติของพระพุทธองค์ ที่ทรงจำแนกกรรมออกเป็นกรรมขาว กรรมดำ และกรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมแต่ละประเภทเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยใจเช่นเดียวกับเวทนานี่เอง ผู้ทำบุญย่อมรู้สึกถึงความสว่าง ผู้ทำบาปย่อมรู้สึกถึงความมืด ผู้เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้สึกถึงความโปร่งใสไร้สี เหนือขาวเหนือดำ แต่ความใสย่อมไม่รังเกียจความขาว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่อาจหลีกเลี่ยงการทำกรรมกับโลก ก็จะเลือกประกอบแต่กรรมขาว อันเป็นฐานยืน เป็นแรงส่งให้เกิดกรรมไม่ดำไม่ขาวอันใกล้ชิดต่อเนื่องกันอย่างที่สุด
 
วันที่ ๑๑-๒๐: เรื่องเศร้า
เมื่อเจริญสติจนรู้สึกแข็งแรงและมีความก้าวหน้าถึงจุดหนึ่ง ฉันได้ยินว่านักภาวนามักเจอ ‘หมากปราบเซียน’ ประจำสังสารวัฏ ไม่หมากใดก็หมากหนึ่ง
ในวันธรรมดาที่จิตใจสงบสุขเป็นปกติอยู่นั่นเอง เจ้านายก็เรียกไปพบ เขาพูดเข้าจุดตามนิสัย แจ้งให้ฉันทราบว่าเขาได้เลื่อนตำแหน่ง และจะต้องย้ายไปประจำที่ต่างประเทศเป็นเวลา ๒ ปีเป็นอย่างต่ำ ทางผู้ใหญ่ให้สิทธิ์ในการเสนอชื่อคนมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกแทน ซึ่งจะมีผลในอีกประมาณสามเดือนข้างหน้า
เขาเสนอชื่อศัตรูของฉันให้กับผู้ใหญ่…
หัวหน้าบอกว่าเข้าใจดีถึงความไม่กินเส้นกันระหว่างฉันกับอีกคน และเขาก็ไม่อยากให้ใครเจ็บปวดกับการตัดสินใจเลือกของเขา ความจริงเขาไม่จำเป็นต้องคุยชี้แจงอะไร เพราะเป็นอำนาจเต็ม แต่เขาก็อยากบอกให้ฉันรู้ว่าเหตุผลของการเลือกไม่ใช่เพราะความสามารถหรือผลงานใครยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่เป็นเพราะอายุงานของศัตรูฉันมากกว่า เขาขอให้ฉันยอมรับความจริงข้อนั้น เขาเป็นคนยุติธรรม ไม่สนใจการประจบ ทำงานแบบฝรั่งที่ใครทำดีต้องได้ดี แต่เมื่อทำดีเสมอกันก็ต้องหาเกณฑ์อื่นมาวัด อย่างเช่นเรื่องของอายุงาน
ฉันเม้มปากเงียบฟังด้วยความรู้สึกอุดอู้ที่สุดในชีวิต นึกเถียงในใจว่าเจ้านั่นเข้างานก่อนฉันแค่ ๔ เดือน แล้วเรื่องผลงาน ฉันอดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่าฉันป้อนไอเดียที่ออกผลเป็นรูปธรรมให้บริษัทมากกว่าศัตรูตั้งมากมายก่ายกอง
นับเป็นวันแห่งโศกนาฏกรรมในชีวิตการทำงานของฉัน ทำไมทุกคนถึงก้าวหน้ากันหมด แต่ฉันย่ำอยู่กับที่ นึกน้อยใจทั้งเจ้านายที่ไม่เห็นค่า นึกน้อยใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ค่าที่อุตส่าห์ปฏิบัติธรรมมานาน แต่พระธรรมไม่เห็นช่วยฉันเลย แถมบันดาลชะตาให้ต้องไปอยู่ใต้บาทราชศัตรูเสียอีก
ความคิดแรกคืออยากลาออก มีความทะนงและเชื่อมั่นในตัวเองพอ ออกวันนี้แหละ ไม่อดตายหรอก ใครๆอยากได้ฉันไปทำงานด้วยตั้งเยอะตั้งแยะ ทำไมฉันจะต้องดักดานทำดีอย่างสูญเปล่าอยู่กับบริษัทซังกะบ๊วยนี่
ให้มันได้อย่างนี้ โลกคงถึงยุคทำดีไม่มีใครเห็นกระมัง คู่อริของฉันคงทราบข่าวก่อนหน้าฉันแล้ว เดินสวนกันถึงมองแปลกๆ ฉันแค่ก้มหน้าก้มตา ไม่ถึงกับอยากหลบ แต่ไม่อยากให้ฝ่ายนั้นเห็นแววตาผู้แพ้ อีกไม่กี่เดือนเขาจะมีอำนาจเหนือฉัน และเป็นผู้ตัดสินใจกรองไอเดียของฉัน พิจารณาผลงานของฉันว่าเข้าตากว่าคนอื่นไหม
ความไม่รู้ส่งให้มาเกิด มาหางานทำ แล้วก็มามีศัตรู มีเรื่องมีราวสารพัด ไม่บอกสูตรสำเร็จว่าจะควรจัดการกับชีวิตและสิ่งรอบข้างให้เรียบร้อยลงตัวได้อย่างไร
ช่วงเวลาระหว่างนี้ไม่เป็นอันเจริญสติเท่าไหร่ ฉันกลับไปเป็นคนคิดมากอย่างช่วยไม่ได้ แม้เพียรปลุกสติด้วยลมหายใจ ด้วยเท้ากระทบ ตลอดจนด้วยการแผ่เมตตาที่เพิ่ง ‘เก่ง’ มาหมาดๆเมื่อวาน เดี๋ยวนี้ทุกอย่างพังถล่มล้มครืน วินาศสันตะโรไปหมดแล้ว เผลอๆจะกลายเป็นคนบาปที่ถูกสาปส่งเอาง่ายๆ เพราะคิดปฏิบัติธรรมทีไร ใจไพล่ตัดพ้อพระธรรมอยู่เรื่อยว่าไม่เห็นช่วยเราเลย ทำให้ยิ่งทุกข์หนักเป็นคูณสองคูณสามเข้านั่น
พยายามหาหนังสือธรรมะดีๆมาอ่าน พยายามกลับไปทบทวนสิ่งที่บันทึกไว้ในสมุดพกตั้งแต่เริ่มเจริญสติจริงจัง พยายามตระเวนทำบุญทำทานตามวัดทั้งนอกและในกรุงเทพฯ ทุกอย่างคล้ายเป็นหมันไปหมด ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไรทั้งนั้น โดยเฉพาะงานการ ถ้าไม่กลัวเสียประวัติที่ต้องถูกไล่ออกก็อยากแกล้งทำผิดๆให้บริษัทเสียหายไปเลยด้วยซ้ำ
ถามตัวเองว่าระหว่างการมีตำแหน่งใหม่กับการมีสติจะเลือกอะไร? ฉันกัดฟันกล้ำกลืนตอบตัวเองว่า สติ! แต่ตอบแล้วก็หาราวเกาะไม่เจออยู่ดี ยิ่งหลายวันเข้า ความเศร้ายิ่งทวีขึ้นบดบังทุกสิ่ง การเลือกของหัวหน้าทำให้ฉันรู้สึกด้อยค่า หมดความหมาย และกลายเป็นตัวสำรองที่ไม่มีใครต้องการตัวไปเล่นตำแหน่งสำคัญในเวลาปกติ
แต่เรื่องเหลือเชื่อในโลกมักปรากฏเป็นบางครั้งบางคราว ฉันนึกไม่ถึงว่าคนที่ทำให้ฉันกลับรู้สึกดีขึ้นมาได้ไม่ใช่ใคร นอกจากศัตรูของฉันเอง!
เริ่มต้นเขามาชวนฉันคุยด้วยเรื่องเบาๆ ขุดเอาเรื่องโง่ๆของเขาเองมาทำให้ฉันหัวเราะ และขณะที่ฉันยังไม่หายแปลกใจอยู่นั้นเอง เขาก็ชวนไปกินข้าวเที่ยงด้วยกัน บอกว่าอยากคุยด้วยเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันในอนาคต
เป็นมื้อกลางวันที่ใครต่อใครอาจแปลกใจที่เห็นฉันนั่งกินข้าวกับศัตรูโดยไม่มีคนอื่นร่วมโต๊ะ ฉันไม่รู้สึกฝืนใจนัก เพราะเขาไม่ได้แอ๊กท่าเป็นเจ้านาย ลักษณะการชวนและการร่วมโต๊ะเป็นไปอย่างมิตร เมื่อลงมือทานข้าวก็สนทนาถามไถ่เรื่องส่วนตัว ไม่แวะเวียนมาพูดเรื่องงานสักนิดเดียว กระทั่งต่างเสร็จธุระในจานข้าวทั้งคู่ เขาถึงเริ่มเจรจาด้วยสุ้มเสียงของคนกันเอง
เขาบอกว่าเขาไม่เคยรู้สึกว่าเหนือฉัน และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราแข่งดีกัน ถ้าใครเหนือกว่าใครเสียแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพยายามเอาชนะกัน การได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาอยู่สูงกว่า เป็นแค่บทบาทของโชคชะตา ไม่ใช่บทบาทของเขา เขาไม่ได้ชนะ อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของเขา
เขาบอกว่าที่ผ่านมาเขาชื่นชมไอเดียการทำงานของฉันเสมอ แต่จะแสดงออกไม่ได้ เพราะเท่ากับยอมรับว่าฉันดีเท่าเขา หรือบางทีอาจเก่งกว่าเขา อีกประการหนึ่ง ช่วงหลังๆเขาเห็นฉันพยายามพูดดี ประนีประนอมกับเขาแล้วสารภาพว่าเริ่มละอายใจ และนึกถึงการกระทำของเขาที่ผ่านมา รู้สึกว่าทำชั่วๆกับฉันไว้ไม่น้อย เป็นต้นว่าแกล้งบิดเบือนข้อมูลดีๆของฉันให้ดูแย่ ติเตียนไอเดียของฉันทั้งที่ใจเขาเองก็ยอมรับว่าไม่เลว หรือกระทั่งเล่นขนาดแทงข้างหลัง เอาความผิดเล็กๆน้อยๆของฉันไปโพนทะนา ซึ่งหลายครั้งเข้าก็รวมกันเป็นความผิดก้อนมหึมาในสายตาผู้ใหญ่ได้
เขาสรุปว่าอยากให้ทำงานด้วยกันด้วยความรู้สึกดีๆต่อไป เขาสัญญาว่าจะปรึกษามากกว่าสั่ง จะไม่ลืมว่าเคยอยู่ระดับเดียวกัน และสัญญาว่าจะไม่กลั่นแกล้งเบียดเบียนฉันในทางใดทางหนึ่ง แถมพูดเหมือนเข้ามานั่งในใจเสียด้วยว่าอย่าเพิ่งคิดลาออก เพราะเขาจะรู้สึกว่าทีมขาดความแกร่งไปทันที แม้เขาจะเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ก็จะรู้สึกมั่นคงขึ้นหากมีฉันอยู่ด้วย
ช่วงบ่ายฉันทำงานต่อด้วยความรู้สึกที่ดีขึ้น แม้ไม่ดีทั้งหมดราวกับจะได้เป็นหัวหน้าแทนเขา แต่อย่างน้อยก็ไม่ซึมเศร้าเหมือนโลกจะดับเช่นเคย
นิยามของคำว่า ‘ศัตรู’ ไม่ใช่คนเลวร้ายโดยสันดาน แต่ใจเรามักเห็นแต่แง่ร้ายของเขา แม้ในบันทึกของฉันเกี่ยวกับศัตรู ก็ไม่เคยมีคุณงามความดีอะไรถูกจดไว้เลย หากใครอ่านบันทึกของฉันก็ต้องนึกแต่ภาพเขาแยกเขี้ยวยิงฟันตลอดศก หรือเป็นบุคคลไร้เหตุผลจนน่าขยะแขยงเข้าไส้ ข้อเท็จจริงคือเขายังมีสำนึกผิดชอบชั่วดีในระดับเฉลี่ย บางสถานการณ์ก็ประพฤติตนน่าสรรเสริญอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้ลงมาอยู่ในบันทึกก็เพราะเหตุผลเดียวคือเขาเป็นศัตรู
อีกอย่าง ฉันเหมือนคนโง่ที่กลับลำคิดใหม่ได้ ฉันพบว่าตนเองก็เป็นหนึ่งในคนไทยที่หวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยบันดลบันดาลด้วยอำนาจลี้ลับ ประเภทเสกตะกั่วให้เป็นทอง หรือสาปช้างที่ฉันเกลียดให้กลายเป็นลูกหมาทันตาเห็น เวลาโชคไม่ดีน่าน้อยใจก็จะโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์มั่วไปหมด ทั้งที่พระพุทธเจ้าเหนื่อยยากก่อตั้งศาสนาพุทธเพื่อให้ฉันรู้ทางออกจากวังวนทุกข์ ไม่ต้องงมโข่งโง่เง่าเต่าตุ่นติดอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีกำหนดออก แต่ความไม่เข้าใจ หรือความหลงลืมเลอะเทอะในบางครั้ง ก็ทำให้ตู่ท่านและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาของท่านว่ามีหน้าที่ต้องเสกผลประโยชน์มาประเคนถึงมือฉัน ถ้าไม่ได้อย่างใจก็โวยวาย พานคิดไปว่าท่านไม่ช่วย ท่านไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง
ความจริงพระธรรมช่วยฉันตั้งเท่าไหร่ หลังๆฉันมีความสุขจะตาย แถมได้นึกครึ้มอยู่เรื่อยๆว่าเดินไปตามทาง เดี๋ยวก็ได้ดีเกินใครทั้งโลกเอง นอกจากนั้นสติและการแผ่เมตตาก็ทำให้คู่อริของฉันมีท่าทีที่เปลี่ยนไป เหล่านี้แหละการช่วยของพระธรรม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ทำกรรมดีเท่านั้น กรรมดีของฉันเองต่างหากที่ทำให้ชีวิตเป็นไปต่างๆนานา ไม่ใช่ด้วยการตกรางวัลจากพระธรรมว่าทำดีแล้วจะช่วยเสกบ้านใหม่ รถใหม่ ตำแหน่งหน้าที่การงานใหม่ๆให้ถูกใจ
วันนี้กรรมที่ฉันทำกับศัตรูในช่วงหลังๆก็ออกดอกออกผลให้เห็นประจักษ์ชัดแล้ว จึงค่อยตาสว่างและกลับไปเป็นคนดี เลิกคิดชั่วๆกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสียได้ เรื่องเศร้าในชีวิตคนเรามีอยู่เรื่องเดียว คือมีความพร้อมสำเร็จรูปในการไหลลงนรกทางความคิด เรื่องคิดดีๆให้ขึ้นสูงนั้นยากเหลือเกิน แต่เรื่องคิดแย่ๆให้ลงต่ำนี่เหมือนเป็นอัตโนมัติกันเสียจริง
เป็นอันว่าช่วงนี้สิ่งที่ฉัน ‘ได้’ คือแง่คิดและความตระหนักรู้จักตนเองมากกว่าอย่างอื่น ฉันยังไม่แน่พออย่างที่หลงรู้สึกมาเป็นเดือน ฉันยัง ‘เสียสติ’ ให้กับเรื่องเศร้าได้ และขณะเสียสติอยู่นั้น คำว่า ‘ทุกขเวทนาเป็นอนิจจัง’ จะไม่ปรากฏในใจเลยแม้แต่น้อย
สรุปคือต้องฝึกสติให้แกร่งเหนือทุกข์ ถึงมีแรงพอจะเห็นทุกข์เป็นอนิจจังได้ ไม่อย่างนั้นก็ถูกทุกข์เขมือบหมดตัวไปแทน
 
วันที่ ๒๑: อยากได้มรรคผล
การที่ศัตรูเข้ามาพูดขอญาติดี น่าจะเป็นนิมิตหมายว่าช่วงชีวิตรันทดน่าจะผ่านไปแล้ว ฉันมีกำลังใจกลับมาปฏิบัติธรรมใหม่ แต่สติที่พังพินาศของฉันทำให้การหวนกลับมาครั้งนี้ทุลักทุเลเอาการ ความรู้สึกแย่ๆกับตัวเอง ความคิดดูถูกตัวเองที่เคยมีมาก่อนปีใหม่ ย้อนกลับมาเล่นงานครบทุกชนิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความโลภอยากได้มรรคผล ไม่รู้เป็นอย่างไร คราวนี้ยิ่งอยากได้กว่าทุกครั้งที่ผ่านมาทั้งหมดเลยทีเดียว อาจเป็นเพราะตระหนักแล้วกระมังว่าจิตใจเป็นของมีวันขึ้นวันลง และตราบใดยังไม่ถึงฝั่ง ตราบนั้นยังอาจจมน้ำป๋อมแป๋ม กับทั้งมีสิทธิ์ตีตั๋วไปนรกได้ทุกเมื่อ ขอให้คิดพลาดเถอะ ขอให้ได้ช่องอยากปรามาสพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เถอะ
เหตุผลที่อยากได้มรรคผลในเบื้องแรกนั้น แน่นอนว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือความหลุดพ้นแห่งใจ แต่บัดนี้เริ่มมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือตระหนักว่าตัวเองยังตกต่ำได้ ก็ไม่อยากกลับตกต่ำลงอีก
บุคคลในพุทธศาสนาที่จะไม่กลับตกต่ำลงอีก เรียกว่า ‘อริยบุคคล’ ที่รู้จักกันดีที่สุดได้แก่ พระอรหันต์ ซึ่งท่านจะไม่แม้แต่เสวยทุกข์ทางใจ ต่อให้ทุกข์ทางกายกำลังกำเริบกล้าแข็ง เช่นถูกทุบศีรษะด้วยค้อนอยู่ก็ตาม ท่านยังมีสติพอจะให้อภัย ใครประทุษร้ายท่านปานนั้นก็จะไม่มีจิตคิดโกรธเคืองเลย ใจบริสุทธิ์เห็นปานนั้น อย่าต้องกังวลว่าจะต้องคิดร้ายจองเวรกับใครก่อน อย่าต้องห่วงว่าจะพลาดพลั้งปรามาสพระศาสดาและพระธรรมเจ้า อันเป็นเหตุให้ต้องรับผลร้ายในภายหลัง
พระอรหันต์ท่านชำแรกความไม่รู้ ผ่านไปถึงซึ่งความรู้แจ้งหมดจด นี่ไม่ใช่หมายความว่าท่านรู้ทุกอย่าง ชื่อถนน ชื่อคน เหตุการณ์อดีตและอนาคต เรื่องนอกตัวเหล่านี้ท่านอาจจะยังรู้เท่าคนธรรมดา แต่ท่านรู้ยิ่งสิ่งเดียวคือสัจจะความจริงอันน่าสนใจขั้นสูงสุด คือรู้อย่างถาวรไม่กลับไม่เปลี่ยน ว่ากายใจนี้ ตลอดจนสิ่งอื่นทั่วสากลโลก เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนแม้เศษเนื้อเท่ากระแบะมือ หรือกระแสสุขล้นฟ้า หรือกระทั่งการมีจิตไว้รู้เห็นอะไรไหนๆ กาย เวทนา จิต ธรรมหาใช่สิ่งที่เราอาจหวังพึ่งพิงถาวร หาใช่สิ่งที่เราคาดหวังให้อยู่ยั้งยืนยง พระอรหันต์ท่านมีประสบการณ์รับผัสสะในโลกได้เท่าคนธรรมดา หรือดีกว่าคนธรรมดา แต่จิตอันรู้แจ้งแทงขาดแล้วของท่าน จะไม่ทำให้ท่านหลงเข้าใจอีกแม้แต่วินาทีเดียวว่า กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดเป็นอัตตา เป็นตัวตน ตราบจนชั่วอายุขัยของท่าน
อริยบุคคลผู้ประเสริฐรองลงมาจากพระอรหันต์ได้แก่ พระอนาคามี อริยบุคคลชั้นนี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยได้ยิน หรือถึงแม้รู้จักและได้ยินก็ไม่เข้าใจว่าแตกต่างจากพระอรหันต์อย่างไร ความแตกต่างระหว่างสองชั้นนี้ พระพุทธองค์มักตรัสไว้คือ พระอนาคามียังเหลืออุปาทาน ยังมีมานะว่านี่ตัวเรา เราเป็นอย่างนี้ เขาเป็นอย่างนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือยังชำแรกผ่านความไม่รู้ไปได้ไม่ขาด ไม่สะเด็ดแห้งสิ้นอย่างพระอรหันต์ และความที่ยังไม่รู้แจ้ง จึงยังสงวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นตัวเป็นตน โดยเฉพาะจิต ยังเป็นผู้กลัวจะไม่มีจิตได้อยู่ แต่ก็นับว่าเหลือความหวงห่วงน้อยแล้ว เมื่อเทียบกับอริยบุคคลชั้นรองลงไป
อริยบุคคลผู้ประเสริฐรองลงมาจากพระอนาคามีได้แก่ พระสกทาคามี อริยบุคคลชั้นนี้คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยได้ยิน หรือถึงแม้รู้จักและได้ยินก็ไม่เข้าใจว่าแตกต่างจากพระอนาคามีอย่างไร อีกทั้งพระพุทธเจ้าท่านตรัสรายละเอียดเกี่ยวกับพระสกทาคามีไว้น้อย พระสกทาคามียังมีราคะ โทสะ โมหะ แต่ก็เบาบางลงกว่าปุถุชนมากแล้ว เนื่องจากจิตไม่เสพอารมณ์หยาบเต็มกำลัง แม้มีราคะระดับให้กำเนิดบุตรธิดาได้ก็ไม่ติดใจ แม้มีโทสะระดับร้อนจิตร้อนกายได้ก็วูบเดียวเหมือนไฟไหม้ฟาง และแม้มีโมหะสำคัญมั่นหมายถือเขาถือเราได้ก็ไม่ใช่ขนาดหลงตัวหลงตนแบบหน้ามืดตามัว พูดให้ง่ายคือราคะ โทสะ โมหะเบาบางและมีแนวโน้มฝักใฝ่อยากเลื่อนระดับให้ยิ่งๆขึ้นถึงที่สุดมากกว่าอย่างอื่น
อริยบุคคลผู้ประเสริฐรองลงมาจากพระสกทาคามีได้แก่ พระโสดาบัน อริยบุคคลชั้นนี้คนไทยส่วนใหญ่ได้ยินบ่อย แต่ไม่เข้าใจว่าคือคนแบบไหน แตกต่างจากพระอริยะชั้นสูงกว่ากันอย่างไร พระโสดาบันยังมีราคะ โทสะ โมหะ ครบ แต่ก็เบาบางลงกว่าปุถุชน คือใจไม่ถึงพอจะประพฤติผิดศีลธรรมเพื่อสนองราคะ โทสะ โมหะ ธรรมดามักมีจิตที่ขาวใกล้ใส หรือใสใกล้แก้วด้วยความใส่ใจอนิจจังแห่งกาย เวทนา จิต ธรรมเนืองๆ ความที่จิตตกได้มากที่สุดแค่หม่น แต่ไม่มีทางมืดขนาดคู่ควรกับนรกภูมิ จึงทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปิดอบายได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งเป็นผู้เห็นนิพพาน หรือผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงอยู่ในฐานะผู้เข้ากระแส เป็นผู้เที่ยงที่จะได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในกาลข้างหน้า
มรรคผลมี ๔ ระดับ บรรลุมรรคผลครั้งแรกเป็นพระโสดาบัน ครั้งที่สองเป็นพระสกทาคามี ครั้งที่สามเป็นพระอนาคามี และครั้งสุดท้ายเป็นพระอรหันต์ สำหรับความเป็นอรหันต์มักไม่เป็นที่คาดหวัง เพราะยังไกลเกินเอื้อมอยู่สำหรับผู้เริ่มเดินทางจริงจังแค่สองเดือนอย่างฉัน แต่พระโสดาบันนี่สิ อย่างน้อยถ้าได้เป็นก็เรียกว่าประเสริฐกว่าราชามหาจักรพรรดิผู้มีอำนาจครองโลกเสียอีก เพราะพระราชายังถูกปล้นสมบัติได้ ถูกแย่งอำนาจได้ หรือกระทั่งถูกเนรเทศเข้าป่าเข้าเถื่อนได้ แต่บุคคลเมื่อได้เป็นโสดาบันแล้ว จะไม่มีใครสามารถปล้นสมบัติภายใน ไม่มีใครทำให้เสื่อมจากภาวะ และไม่มีใครสาปแช่งหรือใช้มนต์สะกดใดๆส่งไปอยู่ในอบายได้อีกเลย แม้เคยมีกรรมชั่วต้องชดใช้ อย่างมากก็แค่รับผลบนโลกมนุษย์ อันจัดเป็นสุคติภูมิแห่งหนึ่งเท่านั้น
การบรรลุมรรคผลคือการไปถึงสภาวจิตชนิดหนึ่ง ที่ทิ้งความยึดมั่นว่ากายใจเป็นอัตตาเสียได้ ทะลุออกไปเห็นธรรมชาติอันเป็นต่างหากจากกายใจ คือนิพพาน เมื่อเห็นนิพพานแล้วย่อมหายสงสัยว่าพระพุทธเจ้าค้นพบอะไร ทางที่พระพุทธองค์ปูไว้คือสติปัฏฐาน ๔ จะนำไปพบอะไร ความเพียรปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ก็คือการพัฒนาจิตจากสภาพสามัญชน ให้เข้าถึงซึ่งสภาพอันเป็นมรรคเป็นผลนั่นเอง
บอกเตือนตัวเองว่าอยากได้มรรคผล ก่อนอื่นต้องสงบจากความอยากเป็นอันดับแรก
ลงนั่งทำสมาธิ เห็นลมหายใจของฉันกลั้วไปด้วยความเร่งร้อนอยากสงบ นี่คือการย้อนกลับมานับหนึ่งใหม่อีกครั้ง… คนที่จะนับหนึ่งใหม่ต้องทำอย่างไรหนอ?
เป็นนานกว่าจะนึกได้ ก็ยอมรับว่าสภาพเด่นที่สุดในปัจจุบันคือความเร่งร้อนน่ะซี! การยอมรับตามจริงเป็นอาการง่ายๆของจิตที่มักถูกลืม แต่เมื่อไหร่นึกออก ก็จะใช้การได้ทันที เป็นของทันสมัยอยู่เสมอชั่วกัปชั่วกัลป์
เมื่อยอมรับว่าแต่ละลมหายใจแฝงปนอยู่ด้วยความเร่งร้อนอยากสงบ ก็เกิดอาการตามรู้ ตามดูความเร่งร้อนในแต่ละลมหายใจเข้าออก รู้เรื่อยๆกระทั่งความร้อนแสดงความไม่เที่ยงออกมาจนได้ ลมหายใจเข้ามีจิตนิ่งสงบ ลมหายใจออกเหลือแค่อุณหภูมิในกายตามปกติ กายใจไม่กวัดแกว่ง ทรงอยู่แต่สติรู้ว่าลมผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก นับให้เข้าข่ายเป็นองค์ที่ ๑ ของโพชฌงค์ได้แล้ว
กำลังสติแบบเก่าผุดขึ้น สะท้อนด้วยสภาพรู้ชัดตรงตามจริงว่าขณะนี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก แสดงว่าสติไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่หลบใน เพราะถูกความเศร้าและความฟุ้งซ่านหมกซ่อนไว้เท่านั้น ฉันค่อยกำลังใจดีขึ้น และพิจารณาทันที ณ ขณะแห่งความรู้ชัดว่าลมหายใจเข้าจนสุดแล้ว ต้องคายคืนกลับออกสู่ความว่างภายนอกเป็นธรรมดา คายคืนได้เดี๋ยวเดียวก็ต้องดึงลมเข้าไปหล่อเลี้ยงให้กายดำรงสภาพอยู่ได้อีก และอีก ธรรมชาติเกิดดับนั้นปรากฏตลอดเวลา ต่อเมื่อจิตเข้ามาพิจารณาจึงรู้เห็น และกลายเป็นองค์ที่ ๒ ของโพชฌงค์ คือธัมมวิจัยไป
เมื่อประคองความเห็นลมเกิดดับจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นวิริยะ อันเป็นองค์ที่ ๓ ของโพชฌงค์ นานระยะหนึ่งก็บังเกิดความเบิกบานอันเป็นองค์ที่ ๔ ของโพชฌงค์ ยังผลต่อเนื่องให้กายใจก็สงบประณีตอ่อนสลวยอันเป็นองค์ที่ ๕ ของโพชฌงค์ ฉันมีสุขล้ำลึก เสียแต่ยังเห็นจิตกระเพื่อมง่าย มีหมอกมัวฝ้าฟางมาห่อหุ้มเร็วอยู่ จึงยังไม่ถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิบริบูรณ์ อันเป็นองค์ที่ ๖ ของโพชฌงค์
นั่งสมาธิจนล้าก็ลุกขึ้นเดินจงกรม ฉันสังเกตว่าแม้จิตสงบลงแล้ว สติถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพแล้ว แต่ความอยากได้มรรคผลก็ยังตามรบกวนจิตใจอยู่ทุกฝีก้าว คล้ายแมงมุมเกาะติดและถักทอใยบางทว่าเหนียวแน่น ขึงกั้นไม่ให้ความอยากหนีหายไปไหนรอด
ถ้าเป็นได้ เดินก้าวนี้ฉันอยากให้มรรคผลบังเกิดเสียเลยทีเดียว แม้ตัดใจละความอยาก หรือยอมให้ความอยากเกิดเพื่อดูอนิจจัง มันก็แปรปรวนไปเพียงชั่วครู่ แล้วกลับผุดกลับโผล่ขึ้นใหม่อีก เฝ้าถามตนเองเกือบทุกสิบนาทีว่าถ้าเดี๋ยวนี้ทำไม่สำเร็จ แล้วเมื่อไหร่เราจะบรรลุธรรมกับเขาบ้าง? อยากรู้ อยากหาหมอดูมาทำนายให้หายสงสัยกันไปเลย
ว้า! อย่างนี้แย่เลย เจริญสติก็เพราะหวังหลุดพ้น อยากได้มรรคผลกับเขาบ้าง แต่ตัวหวัง ตัวอยากนั้นเอง ก็กลายเป็นเครื่องขวางไปเสียอีก ช่างไม่เหมือนวิชาหรือการงานทางโลก ที่อนุญาตให้ส่งแรงอยาก ทุ่มเทกายใจให้ไปถึงความสำเร็จ ยิ่งอยากมาก ทุ่มมาก ก็ยิ่งใกล้เคียงความจริงมาก แต่มรรคผลนี่เป็นตรงข้ามเลย ยิ่งอยากเท่าไหร่ ยิ่งกลับทิศเท่านั้น
เพิ่งสังเกตตัวเองว่าอันที่จริงฉันอยากได้มรรคผลมาตลอด เป็นการอยากได้ของดีเพื่อตัวฉัน ซึ่งเริ่มแรกนับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง คนเราหากไม่อยากได้ไม่อยากดี แล้วจะเพียรเพื่อประโยชน์อะไร?
แล้วก็ฉุกคิดเหมือนได้ทบทวนใหม่หมด เพิ่งเห็นชัดอีกรอบว่าการถึงมรรคผลคือการละอัตตาให้ขาด แต่เมื่อมีความเพียรพยายามเอามรรคผล ‘เพื่อฉัน’ เสียแล้ว ก็เป็นอันจบกัน ขัดแย้งเป็นงูกินหางตั้งแต่เริ่ม
สรุปคือฉันกำลังอยากละอัตตา แต่กำลังทุกข์หนักเพื่ออัตตา เพราะไม่สามารถละอัตตาได้!
เมื่อได้ข้อสรุปดังกล่าว ฉันจึงรู้ตัวแล้วว่ากำลังยืนอยู่ผิดจุด ฉันกำลังยืนอยู่ฝั่งเดียวกับอัตตา เข้าข้างอัตตา และทำทุกอย่างไปเพื่ออัตตา
คิดเท่านี้ก็ดูทุกขเวทนาตามสภาพที่มันกำลังปรากฏได้ง่ายขึ้น หันมาทบทวนว่าพระพุทธเจ้าท่านให้ทำอย่างไรเวลาเป็นทุกข์เพราะอยากได้มรรคผล ทีแรกคิดไม่ออก แต่พอนึกถึงการพิจารณาในหมวดเวทนาก็ลืมตาโพลง ท่านให้รู้เท่าทันว่ากำลังเสวยทุกข์ชนิดมีหรือไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ รวมทั้งเปรียบเทียบด้วยว่าทุกข์แบบไหนหยาบหรือประณีตกว่ากัน
ทุกขเวทนาแบบที่ฉันกำลังประสบ เป็นทุกข์แบบไม่มีเหยื่อล่อทางโลกมาข้องเกี่ยว แต่มีความอยากหลุดพ้นจากบ่วงกิเลสมาเป็นเครื่องล่อให้ทุกข์ ฉันพบด้วยความพิศวงว่าทุกข์ประเภทนี้อาจตั้งอยู่ในจิตที่ไม่กำหนัดยินดี ไม่มีความพยาบาทใดๆ ทุกข์ชนิดนี้จึงควรจัดให้เป็นทุกข์ขั้นละเอียดตามระดับจิต ธรรมชาติช่างวิจิตรพิสดารเสียจริง
และฉันก็พบความจริงอีกประการหนึ่งคือ สำหรับมือใหม่นั้น การได้ทำความเข้าใจอย่างชัดเจนว่ากำลังอยู่ตรงไหน ภาวะที่กำลังปรากฏเด่นเรียกว่าอะไร จะคลายความสงสัยคาใจได้อย่างดี หากคิดเพียงมุ่งเจริญสติรู้เท่าทันสภาพเกิดดับอย่างเดียว บางทีก็อาจเลี้ยงตัวสงสัย ปล่อยให้เกิดความคาใจขัดขวางความก้าวหน้าไม่สิ้นสุด
ในสฬายตนวิภังคสูตร พระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดว่าการเสวยทุกข์ชนิดมีเหยื่อล่อแบบโลกๆคืออยากเสพผัสสะอันเจือด้วยกิเลสอันใดแล้วไม่ได้เสพอย่างใจนึก ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดโทมนัสได้ ส่วนผู้เจริญสติปัฏฐานจนเห็นความเกิดดับแล้ว ย่อมปรารถนาความหลุดพ้น เมื่ออยากหลุดพ้นแต่ยังหลุดพ้นไม่ได้ย่อมถามตัวเองว่าเมื่อใดจะหลุดเล่า? เช่นนี้เองพระพุทธองค์ตรัสเรียกว่าเป็นโทมนัสอันเกิดแต่การแสวงทางหลุดจากบ่วงกาม
สิ่งที่พระองค์แนะนำคือให้ใช้อุเบกขาเป็นเครื่องอิงอาศัยก่อน ก็อุเบกขาเช่นเห็นลมหายใจเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดานั่นแหละ คือเครื่องอิงอาศัยของใจ กระทำใจให้ปลีกตัวออกมาเสียจากความอยากได้มรรคผล
ฉันลองนั่งลงกำหนดรู้ลมโดยความเป็นของเกิดดับ กระทั่งใจว่างจากทุกข์แล้ว อาศัยอุเบกขาในความเห็นลมหายใจเกิดดับแล้ว ก็ลุกขึ้นเดินจงกรมใหม่ ปล่อยให้ความอยากได้มรรคผลเกิดขึ้นตามธรรมชาติในเวลาต่อมา ก็เห็นความทุกข์อย่างชัดเจน คือมีสภาพอึดอัดคาอกเล็กน้อยแต่ปักหลักยืดเยื้อเหมือนกลุ่มผู้ประท้วงที่มีการศึกษา ไม่พล่ามหยาบคาย แต่ก็เหนียวแน่นในการตื๊อไม่เลิก เมื่อเห็นเป็นเพียงทุกข์ชนิดหนึ่ง แม้เป็นความทุกข์ระดับประณีต ก็ไม่แยแส ไม่หลงตามมันอีกต่อไป แค่เห็นเป็นอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในใจ แล้วดับลงในท่ามกลางสติรู้ด้วยความว่างจากอาการยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
จุดใหญ่ใจความคือมีสติรู้ทุกขเวทนาในปัจจุบันขณะนั่นเอง ทุกข์ที่ละเอียดต้องการสติที่ละเอียดสมน้ำสมเนื้อกัน ที่ตอนแรกฉันรู้ว่ากำลังทุกข์เพราะอยากได้มรรคผล แต่ไม่เห็นความดับไปของทุกข์ ก็เพราะยังไม่ใช่สติเห็นทุกข์จังๆ แต่เป็นสติแบบครึ่งๆกลางๆเท่านั้น ต่อเมื่อรับทราบว่านั่นเป็นทุกข์อย่างประณีตเพราะเปรียบเทียบกับทุกข์อย่างหยาบ สติที่ผนวกกับความเข้าใจจึงมาจับรู้ทุกข์ได้เต็มสภาพแท้จริง เห็นชัดว่านั่นก็ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดมั่นถือมั่นแต่อย่างใด เช่นเดียวกับทุกข์ชนิดอื่นๆนั่นเอง
 
วันที่ ๒๒: ความต่างระหว่างปีติกับสุข
พอกลับมาตั้งหลักได้ใหม่ฉันก็ยินดีปรีดา ตื่นเช้าด้วยความเป็นสุขสดชื่นเหมือนเดิม ทำใจว่าจะยอมรับศัตรูเก่าเป็นเจ้านาย ทำใจว่าถ้าอยากได้มรรคผลอีกจะกำหนดรู้โดยความเป็นทุกข์อันเกิดจากความอยากชนิดหนึ่ง
ขับรถไปทำงานเช้านั้น ขณะจอดรถรอไฟเขียว ฉันรู้สึกว่ารถโขยกหน่อยๆ พอเหลียวหลังไปก็เห็นมอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง เดาได้ทันทีว่าหมอนั่นคงวิ่งเอื่อยๆมาแล้วเหม่อ เบรกไม่ทัน เอาล้อเสยกันชนหลังรถฉันเข้าแล้ว
ฉันรีบลงมาดูว่าเป็นอะไรมากหรือเปล่า เห็นว่ากันชนยุบไปเล็กน้อยเท่านั้น แทบมองไม่เห็น เลยขี้เกียจเรียกประกัน ยิ้มแย้มบอกคนขับมอเตอร์ไซค์ที่ลงมายืนหน้าเจี๋ยมเจี้ยมว่าไม่เป็นไร จะนึกว่าฟาดเคราะห์รับอรุณ
มอเตอร์ไซค์ยินดีนักหนา รีบกระเถิบหนีไปทันทีก่อนที่ฉันจะเปลี่ยนใจ ฉันกลับขึ้นรถอย่างมีปีติเช่นกัน ปรีดาปราโมทย์ที่ใจไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร เมื่อครู่ไม่มีสักวินาทีที่ขุ่นเคือง ไม่มีสักวินาทีที่อยากเรียกเงินทองจากใครเพื่อมาแก้กันชนท้ายบุบเล็กๆน้อยๆ อุทานในใจว่าเรามีหลังคามุงบังไว้ดีแล้วหนอ ฝนตกรั่วรดไม่ได้แล้วหนอ เหมือนเช่นที่พระเถระและพระเถรีในครั้งพุทธกาลมักอุทานกัน เมื่อตระหนักว่าตา หู จมูก ปาก กาย ใจของพวกท่านมีสติคุ้มครองแน่นหนาแล้ว เป็นผู้มีใจอันไม่ชุ่มด้วยกิเลสแล้ว ได้รับความคุ้มกันจากสติดีแล้ว ปลอดภัยแล้วจากความยินดียินร้ายในโลก
แช่มชื่นอยู่ทั้งวันกับความดีใจว่าตัวเองคงมีเมตตาตั้งมั่นแล้ว เมื่อกลับมาเจริญสติใหม่รอบนี้ หลังจากซมเศร้าเสียเวลาเปล่ามากว่าอาทิตย์ ความรู้สึกที่บอกตัวเองนั้นเข้าขั้นเชื่อมั่นเลยทีเดียวว่าต่อไปคงไม่มีความโกรธใดๆมาแผ้วพานจิตใจได้อีก ขนาดศัตรูยังกลายเป็นมิตร ขนาดคนทำรถบุบยังยิ้มร่าบอกว่าไม่เป็นไร อวยพรในใจเสียอีกว่าขอให้เป็นสุขๆ
ตกเย็นนั้น ฉันจอดรถแวะหน้าหมู่บ้านเพราะเกิดอยากกินหมูปิ้งข้าวเหนียวขึ้นมาเฉยๆ ความจริงฉันไม่ได้เป็นลูกค้าประจำของใครเป็นพิเศษ เนื่องจากมีรถเข็นหมูปิ้งหลายเจ้า แต่ละเจ้าก็อร่อยไปคนละแบบ อย่างวันนี้ที่อยากกินขึ้นมาเพราะนึกถึงหมูนุ่มๆชิ้นโตๆของเจ้าหนึ่งซึ่งเคยซื้อมาหนเดียว ก็ตรงรี่เข้าไปที่เจ้านั้นและสั่งเขาหกสิบบาท
เขาจับหมูมาย่างบนเตา โดยมีเมียช่วยหยิบ เพราะที่ปิ้งวางอยู่พร้อมแล้วมีไม่พอจำนวนตามสั่งของฉัน ฉันขี้เกียจรอเลยทิ้งแบงก์ยี่สิบไว้สามใบพอดีจำนวน บอกว่าเดี๋ยวจะมาเอาของ แล้วเดินไปสั่งขนมซึ่งอยู่ถัดไปประมาณ ๑๐ ก้าว ขนมมีวางอยู่แล้ว แค่สั่งแล้วจ่ายสตางค์ก็รับถุงมาได้เลย ใช้เวลาเดินไปเดินกลับแค่สองนาที ซึ่งพอกลับมาก็เห็นหมูย่างเสร็จใส่ถุงรอฉันเรียบร้อย
ฉันคว้าถุงแล้วหันจะเดินตัวปลิว แต่ถูกเรียกไว้ และร้องดังๆว่าฉันยังไม่ได้จ่ายเงิน ทีแรกนึกว่าเขาเข้าใจผิดและยังไม่เห็นแบงก์ที่ฉันวางไว้ ฉันพูดดีๆว่าจ่ายเรียบร้อย เขาก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่ายัง และถามว่าจ่ายแล้วอยู่ไหนล่ะ ยายเมียที่ยืนปิ้งหมูอยู่ข้างๆก็พลอยส่งเสียงสนับสนุนว่ายังไม่เห็นมีเลย ยืนหัวโด่เป็นพยานอยู่ตรงนี้
พอฉันก้มมองที่พื้นโต๊ะก็ไม่ปรากฏแบงก์เขียวเสียแล้ว เหลือบขึ้นมองเห็นหน้าเจ้าเล่ห์และยิ้มเกรียมๆของคนขายหมูปิ้งก็เริ่มรู้ว่าอะไรเป็นอะไร วูบหนึ่งคันๆขึ้นมาในอก แต่อีกวูบหนึ่งก็คิดอโหสิ อยากได้เงินก็เอาไป ฉันอโหสิให้
ถูกฉีกหน้ากลางตลาดไม่ค่อยอายนัก ต่างจากสมัยก่อนมาก ฉันคงหน้าม้านและเอาคืน แต่สติของฉันยังตั้งมั่นในเมตตาและอุเบกขา เลยยอมๆเขา หยิบเงินจ่ายเพิ่ม สรุปคือเสีย ๑๒๐ แต่ได้ของ ๖๐ โดนโกงก่อนเข้าบ้านก็สบายใจไปอีกแบบ
พอขึ้นรถ อาการคันๆอกหวนกลับมาอีก ฉันมองไปข้างหน้า มือกุมกุญแจเตรียมบิดสตาร์ท แต่รู้สึกหนืดไปทั้งตัวชอบกล ย้อนคิดถึงยิ้มเกรียมๆและเสียงเอะอะแบบอันธพาล จะโพนทะนาให้คนทั้งตลาดรู้ว่าฉันจะโกงเงิน ทั้งที่ถ้าลืมจ่ายก็พูดกันดีๆได้ แล้วเกิดอาการแค้นแน่นอกจนหน้าเขียว เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน ร่ำๆจะเปิดประตูย้อนลงไปฉะกับมันซะหน่อย หนอยแน่ะ! ไม่นึกว่ามีพวกหน้าด้านหน้าทนขายของอยู่แถวนี้ด้วย แกล้งลงไปขู่จะเอาตำรวจมาลากคอเข้าคุกเสียดีไหม? เรื่องเบ่งเกทับนี่ฉันก็เคยเป็นหนึ่งเหมือนกัน
พยายามมีสติกำหนดลมหายใจเข้าออก รู้ตัวว่านั่นเป็นความคิด แต่คงไม่เอาจริง เห็นความโกรธที่พุ่งเอาๆ แต่ขณะเดียวกันก็ยังรู้สึกสงบใจอยู่ที่ผิวนอก คล้ายน้ำพุร้อนที่ฉีดขึ้นมาจากกลุ่มน้ำเย็น ดูขัดๆแปลกๆ แต่สติตั้งมั่นรู้เหมือนมีฉันอีกคนเฝ้าดูอยู่เบื้องหลังต่างหาก ไม่เกี่ยวกับทั้งความเย็นและความร้อนเหล่านั้น
ฉันปล่อยให้ความคิดปรุงแต่งไปโดยไม่ปิดกั้น เห็นความร้อนในอิริยาบถนั่ง ซึ่งก็คือรูปหนึ่งของทุกข์ อิริยาบถก็เป็นทุกข์ชนิดหนึ่งอยู่แล้ว ยังมีความร้อนซ้อนอยู่ข้างในอีก ฉันดูด้วยความนิ่งกาย นิ่งใจ กระทั่งเห็นตามจริงว่าในหัวยังมีพ่อค้าหมูปิ้ง ยังไม่ปล่อยพ่อค้าหมูปิ้งไปตามยถากรรม พอระลอกความคิดหนึ่งผุดขึ้นที ก็มีความร้อนและคันคะยิกในอกที แล้วความคิดกับความร้อนความคันก็จางลงเอง แต่เดี๋ยวๆในหัวก็ผุดใบหน้าจอมโกงขึ้นมาอีก ความร้อนความคันก็ถูกลากตามมาอีก เห็นสลับไปสลับมา ถ้าจังหวะไหนเผลอแช่หน่อยก็ก่อความคิดอยากกลับลงไปด่าขึ้นอีก แต่ถ้าจังหวะไหนคั่นด้วยสติรู้ลม แล้วกำหนดจิตเป็นอภัย ความคิดร้ายๆก็หายไป เหมือนรบกันอยู่
ถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าอภัยจริงๆแล้ว แต่พอเคลื่อนรถได้พักหนึ่งก็เอาอีก คิดถึงหน้าด้านๆของเจ้านั่นอีก ต้องกำหนดจิตเป็นอภัยอีกแล้วๆเล่าๆ แต่ไม่ยักเกิดโสมนัส ในอกยังฝืนๆฝืดๆตามเดิม เมตตาเปล่งประกายรัศมีไม่ออกเสียแล้วสิ
ถอนใจและยอมรับตามจริง ไม่ใช่แค่ยอมรับว่าฉันโกรธ แต่ยอมรับแบบเหมารวมทีเดียวว่าเดี๋ยวคงมีความคิดแค้นเคืองพ่อค้าหมูปิ้งตามมาอีกหลายชุด ยอมรับตามจริงว่าจิตฉันยังไปไม่ถึงไหน ยังทุกข์เพราะโดนกระทบได้อยู่
แล้วจะแปลกอะไรกับการทำใจยอมรับ ก็แค่ยอมรับว่าต้องดูอีกหลายรอบ สติดีหน่อยก็ดูโดยความเป็นอนิจจัง สติไม่ดีก็กำหนดให้อภัยเป็นทานแล้วแผ่เมตตาเสียเท่านั้น ในเมื่อยังไม่พ้นทุกข์ จะไปแกล้งหลอกตัวเองว่าพ้นแล้วเพื่อประโยชน์อะไร หน้าที่ตามแบบแผนสติปัฏฐานก็คือดู คือสังเกตจนกว่าจิตจะรู้และฉลาดขึ้นในวันหนึ่ง ว่าอะไรๆล้วนเกิดขึ้นเพราะเหตุเป็นธรรมดา แล้วจะต้องหายลับดับสลายลงเป็นธรรมดาเช่นกัน
แค่คิดเช่นนั้น ใจก็ให้อภัยพ่อค้าหมูหน้าด้านได้แบบชนิดเปิดโล่งสุดๆ โสมนัสแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงกับยิ้มกว้างออกมาอย่างปีติ ที่เมื่อครู่ฉันยังย้อนคิดแล้วๆเล่าๆไม่เลิก ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองยังโกรธได้ ยังทุกข์เพราะกระทบได้นั่นเอง อาจเปรียบเทียบกับเมื่อเช้าที่หลงนึกสำคัญผิดไปว่าจิตคงตั้งมั่นในเมตตา จะไม่เป็นทุกข์เพราะความผูกโกรธอีกแล้ว ซึ่งแค่ตกเย็นก็พิสูจน์เรียบร้อยว่าความจริงไม่ใช่เช่นนั้นเลย ฉันยังเป็นหุ่นกระบอกที่กิเลสชักรอกได้ตามอำเภอใจคนเดิมอยู่นั่นเอง
เหตุการณ์ประจวบเหมาะระหว่างเช้ากับเย็นก็ทำให้ได้ข้อสรุปประจำวันเป็นประโยชน์ดีเหมือนกัน เมื่อสังเกตเข้าไปอย่างละเอียดในขณะแห่งความปรีดานั้น ฉันเริ่มแยกแยะได้หลายสิ่ง และตั้งคำถามอันทรงค่าในการปฏิบัติสติปัฏฐาน นั่นคือ สงสัยว่าปีติเป็นธรรมชาติอันเดียวกับความสุขแน่หรือไม่? แล้วตอบตัวเองตามเนื้อผ้าจากสภาวะที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตา ว่าปีติปราโมทย์เป็นความปรุงแต่งส่วนเกินออกมาจากความสุข กับทั้งอาจเป็นของหลอกให้หลงได้ง่ายด้วย เช่นตื่นเต้นดีใจนึกว่าหลังคาบ้านเรามุงบังไว้ดีแล้ว กิเลสรั่วรดไม่ได้แล้ว
ปีติที่มีแรงฉีดแรงๆ มักผูกตัวเองมากับความคิดเกินความจริงแรงๆ ทำให้หลงเข้าใจผิดได้สารพัด แต่ความสุขเนียนๆอย่างมีความวางเฉย มักทำให้ตระหนักตามสภาพที่เป็นจริงเฉพาะหน้า ฉันได้ข้อสังเกตเช่นนี้ แต่ก็ไม่คิดจะห้ามปีติโสมนัสในครั้งต่อๆไป ถ้าอยากเกิดก็ให้มันเกิด แต่จะไม่ฟัง ไม่เชื่อถือ ไม่ให้ความสำคัญกับความคิดของตัวเองในวาระนั้นเท่าไหร่นัก ค่อยๆรู้ ค่อยๆดูว่าปีติจะแผลงฤทธิ์ผลิตความคิดได้พิสดารสักเพียงใด
 
วันที่ ๒๓-๒๗: มองต่างจากชาวโลก
วันเสาร์ช่วงบ่ายฉันแอบปลีกวิเวกจากสังคม เร่ร่อนเหมือนนกอิสระไปหาวัดสงบนั่งสมาธิอีก แต่วันอาทิตย์มีนัดกับสมาชิกครอบครัวคือน้องๆของฉันไปดูคอนเสิร์ตที่มาจากต่างประเทศ ฉันไม่อาจปฏิเสธหน้าที่ของพี่ และขณะเดียวกันก็อยากดูดนตรีวงนี้ด้วย เพราะเคยชื่นชอบมากสมัยยังวัยรุ่น
ขณะที่ขับรถพาน้องมาจากบ้าน ฉันมีความรู้สึกสองแบบปนๆกันอยู่ คือใจหนึ่งอยากเห็นตัวจริงขวัญใจในอดีต อีกใจก็นึกคร้าน ไม่ค่อยอยากเดินทางไปถึงสถานที่แสดงชอบกล แต่อย่างไรก็เสียเงินเสียทองแล้ว ต้อง ‘ไปเสพสุข’ จากเสียงดนตรีราคาแพงจนได้
ขณะมองไปบนเวทีอันประดับประดาแสงสีตระการตา ภายในของฉันว่างโหวงและต่อไม่ติดกับภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยินเอาเลย จิตคอยหวนมาระลึกอยู่กับลมหายใจว่ากำลังเป็นขาเข้าหรือขาออก รวมทั้งหมั่นสำรวจโดยไม่ตั้งใจเสมอๆ ว่าลมหายใจหนึ่งๆจิตโปร่งสบายหรืออึดอัดคับข้อง ฉันรู้สึกร้อนๆตามเนื้อตัวคล้ายชื้นเหงื่อหรือขณะต้องเสนองานที่ไม่มีความรู้ กล่าวโดยย่นย่อคือความรู้สึกช่วงแรกเหมือนมานั่งทรมานรอเวลาดนตรีเลิกแท้ๆ
แต่บางเพลงที่ฉันเคยโปรดก็กระตุ้นอารมณ์หวานได้เหมือนกัน บางเพลงที่สนุกเร้าใจและทำรูปเพลงใหม่ก็ทำให้สติเคลื่อนออกจากฐาน หลงไปกับกลิ่นอายมันๆที่ส่งเปรี้ยงปร้างออกมาจากเวทีโดยไม่ต้องบังคับจิตฝืนใจแต่อย่างใด ฉันอยากให้เป็นอย่างนั้นด้วย มากับน้องๆก็ต้องมีอารมณ์ร่วมบ้าง หมดค่าตั๋วไปเป็นพันก็ต้องเสพสุขให้คุ้มค่าบ้าง จะมานั่งทำสมาธิให้ผิดบรรยากาศอยู่ได้อย่างไร
ไม่มีงานเลี้ยงและงานคอนเสิร์ตใดไม่เลิกรา ในที่สุดฉันกับน้องๆก็ต้องออกจากสเตเดี้ยมกลับขึ้นรถ เมื่อเปรียบเทียบกับความปลอดโปร่งโล่งสบายยามทำสมาธิ ตอนนี้ถือได้ว่าฉันมึนหัวไปหมด หนักอึ้งที่กลางอก จิตใจทึบตื้อ เมื่อพอคลี่คลายออกมาบ้างก็ฟุ้งกระเจิดกระเจิง ตกลงฉันจ่ายเงินแพงๆมานั่งเสียเวลาเป็นชั่วโมงเพื่อปรับจิตให้หยาบลง สุขเวทนาที่อาศัยเหยื่อล่อแบบโลกๆทำให้จิตหยาบ ลมหายใจหยาบอย่างเห็นได้ชัด
ชีวิตคนเราต้องสุขแบบหยาบๆนำหน้ามาก่อนเสมอ เคยติดใจ เคยแสวงหา เคยยอมทุ่มเทเงินทองและเวลาให้กับสุขอันอาศัยเครื่องล่อทางกามคุณ พอมาเจอสุขแบบละเอียดสุขุมจากการเจริญสติเข้า จึงได้ข้อเปรียบเทียบ มองย้อนกลับไปเห็นสุขที่ผ่านๆมาเป็นแค่น้ำโสโครกติดปลายช้อนที่จิบแล้วสดชื่นชุ่มลิ้นนิดหน่อย แล้วชวนให้ทึกทักว่านั่นคือสุขอย่างมหาระทึกลึกล้ำ แต่พอเจอสุขของจริงที่ตั้งมั่น นิ่งนาน และสะอาดใส ก็จึงค่อยรู้ว่าน้ำหวานเป็นขวดๆ เป็นถังๆ ดื่มกินได้เต็มที่ไม่มีจำกัดเป็นอย่างไร นี่สิ ถึงเรียกสุขอันโอฬารพันลึกของจริง!
ช่วงหลายวันนี้ฉันเริ่มตระหนักและยอมรับว่าตัวเองมองต่างจากชาวโลก รู้สึกผิดแปลกจากชาวโลก นี่คือสิ่งที่ฉันเคยหวาดกลัว กลัวปฏิบัติธรรมแล้วจะไม่สนุก กลัวว่าจิตใจจะจืดชืด กลายเป็นแกะขาวผู้โดดเดี่ยวในหุบเขาอันอึกทึกครึกโครมด้วยกามกรีฑาของเหล่าแกะดำ และแล้ววันนี้ก็มาถึงจริงๆ แต่ที่ฉันเคยนึกไว้ว่ามันจะแห้งแล้ง โดดเดี่ยว แปลกประหลาดในสายตาคนอื่น กลับเป็นตรงกันข้ามไปหมด ฉันเห็นจิตใจผู้คนทั้งเมืองเต็มไปด้วยความทุกข์ ความรู้สึกแห้งแล้ง ความไม่อิ่มไม่พอในกามารมณ์ ทุกคนดิ้นพล่านเป็นบ้าเป็นหลังแสวงหาน้ำโสโครกที่มีปริมาณเพียงติดปลายช้อนกันเกือบทั้งนั้น ต่อให้มีเงินกี่สิบ กี่ร้อย กี่พันล้าน ที่ภายนอกดูภูมิฐานเหนือคนอื่น แต่ภายในเต็มไปด้วยความหิวโหยไม่ผิดจากคนยากคนจนสักเท่าใดเลย
ส่วนโลกของนักปฏิบัติธรรมภาวนานั้นเป็นตรงข้าม หากเจริญสติได้ถึงระดับเต็มอิ่มกับการรู้เฉพาะปัจจุบันแล้ว จิตนี้เองคือสวรรค์ รสแห่งความตั้งมั่นไม่คลอนแคลนนั้นเองคือความสนุกบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่ง วิญญาณอันหิวกระหายเหมือนได้เจอน้ำพุที่ผุดพลุ่งให้ดื่มกินอย่างไม่มีวันจบวันสิ้น ขณะแห่งการทรงสติหรือตั้งมั่นในสมาธิ จิตจะไม่อาลัยกามคุณทางตา หู จมูก ลิ้น และกายเลยแม้แต่น้อย
ฉันทำสมาธิและเดินจงกรมอย่างเห็นคุณค่าของรสสุขทางจิตมากขึ้นทุกที สุขอื่นเสมอความสงบไม่มีจริงๆ
 
วันที่ ๒๘: ฝัน
คืนนี้ฉันฝันว่าเจ้านายเรียกไปพบ และกล่าวตำหนิฉันอย่างรุนแรงในเรื่องต่างๆ พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับคู่แข่ง บอกทำนองว่าดูซิ ผมไม่เคยเห็นคุณเจ๋งได้เท่าเขาสักเรื่อง
ในฝันฉันเป็นทุกข์สาหัส อกใจเค้นเครียด ก้มหน้าเหมือนหายใจไม่ออก พยายามตั้งสติรู้ลมก็เหมือนฝืดฝืนคล้ายโดนกระสอบทรายยันหน้าอกกดหลังติดกับพนักพิงอย่างไรอย่างนั้น แต่แล้วในที่สุดฉันก็ทุบโต๊ะปัง ทะลึ่งยืนพรวดและประกาศก้องว่าฉันขอลาออก! แล้วเดินออกจากออฟฟิศไม่เหลียวหลัง ช่างเป็นภาวะที่ปลอดโปร่ง อากาศนอกออฟฟิศสดชื่น ลมหายใจใสสะอาดและนุ่มลึกเต็มปอดที่ขยายออกจนสุด อากาศรอบด้านชุ่มฉ่ำเย็นสบายเหลือหลาย เงยหน้ามองท้องฟ้าก็เห็นเป็นสีครามประกายมุก สวยสดไม่มีสิ่งใดเทียบมาก่อน รอบด้านคล้ายยิ้มเท่ากับริมฝีปากที่เหยียดกว้างขวางของฉัน ไม่มีวันใดในช่วงแห่งความคับแค้นใจ ที่รู้สึกเบิกบานได้เท่านี้เลย
ตื่นขึ้นด้วยความสดชื่น ถ้าเป็นคนอื่น นี่คงเป็นฝันผ่านชั่วข้ามคืนที่เหลวไหลไร้สาระ ไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่มีอะไรน่าใคร่ครวญพิจารณา แต่เพราะฉันเคยพบอุสภเถรคาถา ว่าด้วยสุภาษิตเกี่ยวกับความฝันของพระเถระชื่ออุสภะ ก็เห็นว่าความฝันเป็นสิ่งที่เก็บเกี่ยวมาคิด มาเจริญปัญญาให้บรรลุธรรมได้
พระอุสภะท่านฝันว่าได้ห่มจีวรสีอ่อนเฉวียงบ่า นั่งบนคอช้าง เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน พอเข้าไปก็ถูกมหาชนพากันมารุมมุงดูอยู่ จึงลงจากคอช้าง แล้วค่อยกลับสติลืมตาตื่นขึ้น พิจารณาด้วยความสลดใจว่าในฝันนั้นท่านไม่มีสติสัมปชัญญะ จิตแสดงความกระด้างด้วยความมัวเมาชาติตระกูล ยังมิใช่ผู้ละแล้วซึ่งอัสมิมานะ เมื่อท่านเห็นความน่าสังเวชแห่งจิตตนอยู่เช่นนั้น บวกกับที่ได้สั่งสมอบรม เจริญสติปัฏฐานมาอย่างดีก่อนหน้านี้แล้ว ก็ได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพุทธศาสนา
แน่นอน ฉันยังแก่กล้าไม่พอขนาดพิจารณาฝัน เห็นความจริงเกี่ยวกับมานะแล้วสามารถละจนบรรลุธรรมได้ แต่อย่างน้อยก็ได้ปัญญาแบบเก็บนิดเก็บหน่อย ฉันเห็นจากฝันที่สดชัดสมจริงนั้น ว่าคนเราอาจสุขทุกข์ได้เท่าๆสุขทุกข์ยามตื่นอยู่จริงๆ แล้วอย่างนี้สุขกับทุกข์ทั้งหลายจะต่างอะไรจากฝัน ผ่านมาแล้วผ่านไปให้ระลึกว่าสิ่งนั้นล่วงไปแล้ว ไม่ใช่ความรู้สึกอยู่กับเนื้ออยู่กับตัวเราในเวลานี้อีกแล้ว กลายเป็นของไม่จริงในปัจจุบันไปเสียแล้ว
 
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๒
๑) สติเริ่มย่างก้าวเข้ามาในมิติของนามธรรม เน้นหนักที่เวทนา บางครั้งล่วงเลยไปรู้สภาพจิตบ้าง อันเป็นธรรมดา ที่เมื่อเห็นเวทนาชัด ลักษณะจิตย่อมปรากฏอย่างแยกไม่ออก และเมื่อเห็นเวทนามากเข้าจนถึงขั้นเปรียบเทียบชัดได้ว่าระหว่างตื่นกับฝันยามหลับ สุขทุกข์ทั้งหลายไม่แตกต่างกัน ความถือมั่นในสุขทุกข์ทั้งหลายยิ่งเบาบางลงจนเหลือเยื่อเท่าใยแมงมุม อย่างน้อยก็ขณะมีสติรู้ชัดอยู่นั้น
๒) การยอมรับสภาพตามจริงที่กำลังปรากฏ แม้ว่าเป็นสภาพไม่ดี ไม่น่าพอใจ ทำให้เกิดทุกข์อึดอัดขัดข้องอย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นกุญแจดอกใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด ที่จะเปิดกายนครและจิตตนครนี้ให้สติเดินเข้าไปสำรวจศึกษาได้โดยปราศจากฝ้าหมอกขมุกขมัวใดมุงบัง ขณะที่นิสัยไม่ยอมรับความจริงอันเป็นธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์ เปรียบเสมือนเชือกที่มัดมือเท้าเราไว้กับเครื่องจองจำชื่อ ‘อุปาทาน’ ไปจนกว่าจะตาย พอตายแล้วก็ต้องเกิดใหม่มาอยู่กับเครื่องจองจำชื่อเก่า แปลกเปลี่ยนไปก็เพียงฉากแวดล้อมของเครื่องจองจำเท่านั้น
เดือนที่ ๓: นานาสภาวจิต
การเจริญสติในเดือนที่ ๒ ทำให้ฉันเห็นตามจริงอย่างหนึ่ง คือโลกนี้แบ่งเป็นสองภาค คือภาคแห่งรูปธรรมและภาคแห่งนามธรรม โลกแห่งรูปธรรมมีความวิจิตรพิสดารหลากสีหลายสัน อาจถูกตกแต่งปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆตามสภาพดินฟ้าอากาศและจินตนาการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ส่วนโลกแห่งนามธรรมก็มีความวิจิตรพิสดารในแง่ของความเป็นเหตุเป็นผล สัมผัสไม่ได้ด้วยตากับหู กำหนดรู้ได้ด้วยใจ และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย จะผ่านไปกี่กัปกี่กัลป์ก็ตาม
การรู้ตัวให้ได้ว่ากำลังสุขหรือทุกข์นั้น จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะส่วนใหญ่เวทนาของเรามักเป็นเฉย คือไม่เอียงไปทางสุขชัด ขณะเดียวกันก็ไม่อยากตัดสินว่าเป็นทุกข์ แต่เมื่อเจริญสติปัฏฐานกระทั่งเป็นสุขอยู่กับลมหายใจและอิริยาบถได้ ความสุขก็จะเริ่มปรากฏเด่น กระทั่งแม้คิดฟุ้งซ่านหน่อยเดียวก็อาจเทียบเคียงเห็นว่ากำลังเป็นทุกข์ทางใจได้
และฉันเห็นว่าการฝึกรู้เวทนาจนคล่องแล้วนั่นเอง ก็ลากจูงมาเห็นสภาวะของจิตได้ตามแนวทางที่พระพุทธองค์ประทานไว้ในหมวดจิตของสติปัฏฐาน ๔ ความจริงฉันเห็นสภาวจิตต่างๆตามที่พระองค์ท่านแนะให้ดูมาบ้างประปราย อาจจะตั้งแต่เริ่มๆภาวนาจริงจังทีเดียว เพียงแต่ฉันอาจจะดูในขอบเขตที่กำหนดไว้ในใจว่าเป็น ‘สุข’ หรือเป็น ‘ทุกข์’ มากกว่า เช่นกำลังมีราคะก็กำหนดว่าเป็นสุข มีโทสะก็กำหนดว่าเป็นทุกข์
ขึ้นเดือนที่ ๓ ฉันสำรวจแล้วพบว่าตัวเองเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นประการหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างสำคัญ และพลิกมุมมองในการตั้งสติเจริญภาวนาได้มาก นั่นคือ ราคะอาจเป็นสุขสำหรับจิตสามัญของปุถุชนทั่วไป แต่อาจเป็นทุกข์สำหรับผู้เข้ามารู้เห็นอยู่ในโลกของนามธรรม อย่างเช่นเดือนก่อนฉันปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า คือเปรียบเทียบระหว่างสุขแบบโลกๆกับสุขแบบปราศจากเหยื่อล่อภายนอก ก็พบตามจริงว่าสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบนั้นไม่มี รู้เช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบเข้า จิตก็เริ่มฉลาด และเลือกสุขที่เหนือความสนุกชั่ววูบ
นี่เป็นตัวอย่างว่าในอีกระดับการปฏิบัติหนึ่ง เมื่อเกิดราคะรบกวนจิต ฉันจะไม่ดูด้วยมุมมองว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แต่เห็นตามจริงว่าขณะนั้นๆกำลังมีราคะ
อีกประการหนึ่ง เมื่อฝึกอานาปานสติจนคล่องแล้ว เป็นสมบัติติดตัวแล้ว คืออย่างน้อยต้องรู้บ่อยๆว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ก็พบความจริงอีกประการหนึ่ง คือฉันสามารถอ่านใจตัวเองผ่านลมหายใจได้หมด เช่นกำลังคิดมากหรือคิดน้อย กำลังรีบร้อนหรือวางเฉย กำลังลากยาวหรือกระชากสั้น ฯลฯ กับทั้งเห็นว่าลมหายใจเองนั้น หากทำให้มีคุณภาพแล้ว ก็จะปรุงทั้งกายและจิตให้สงบระงับ ง่ายต่อการกำหนดสติรู้สภาพเด่นตรงหน้าตามจริงทั้งรูปธรรมและนามธรรม การลงทุนกับลมหายใจในขั้นเริ่มต้น โดยเฉพาะในช่วงอาทิตย์แรกให้เกิดนิสัยรู้ลมนั้น จึงคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม และส่งผลมาถึงขั้นของการปฏิบัติที่สูงขึ้นเรื่อยๆได้อย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายจึงเหมือนคะยั้นคะยอให้ผู้หวังพ้นทุกข์ตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ทั้งหลายได้เห็นความสำคัญของอานาปานสติกันนัก
 
การเจริญสติรู้สภาวจิตอย่างย่อสำหรับมือใหม่
สภาวจิต หรืออาการของจิตที่พระพุทธเจ้าทรงให้ฝึกรู้ฝึกดูในสติปัฏฐาน ๔ นั้น ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ให้เสาะหาว่าธาตุรู้อยู่ตรงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช่การควบคุมให้จิตมีลักษณะแบบใดแบบหนึ่ง เช่นจงดีอย่างเดียว อย่าได้เสียหาย จงบริสุทธิ์อย่างเดียว อย่าได้แปดเปื้อนมลทินใดๆ การทำจิตให้ดีๆ เช่นตั้งเป็นสมาธินิ่งๆนั้นฉันก็แยกเวลาทำอยู่ และนับได้ว่าพัฒนามาจนใช้ได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อจะเจริญสติในหมวดจิต การตั้งมุมมองไว้จะเปลี่ยนไป คือจิตดีก็ดู จิตไม่ดีก็ดู เพื่อความรู้ชัดว่าตอนจิตดีนั้นลักษณะเป็นอย่างไร จิตไม่ดีนั้นลักษณะเป็นอย่างไร เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดาเหมือนๆกันหรือไม่
หลักการเบื้องต้นสำหรับสังเกตสภาพจิตแบบต่างๆมีดังนี้
๑) เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เมื่อจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
๒) เมื่อจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
๓) เมื่อจิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ เมื่อจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
๔) เมื่อจิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
๕) เมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
ฉันจับหลักได้อย่างหนึ่ง คือการรู้สภาวจิตทั้งหลายเหล่านี้ให้ครบได้ ควรตั้งหลักจากจิตที่นิ่งเบาพอประมาณ ประกอบกับมีสติที่แข็งแรงตามสมควรแล้ว กล่าวคือจิตที่เป็นฝ่ายอกุศลควรมีกำลังอ่อน เมื่อถูกรู้แล้วแสดงอนิจจังง่าย กลายเป็นจิตฝ่ายกุศลในเวลาไม่เนิ่นนาน เปรียบได้กับไฟที่ลุกวาบบนหัวไม้ขีดก้านสั้น ไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องเสียเวลามาก ก็เห็นว่าไฟเกิดแล้วดับลงทันตา รู้ทั้งไฟลุกกับไฟดับ จนทราบสภาพต่างกันอย่างชัดเจน
 
วันที่ ๑: พักร้อน
สำหรับคนที่ต้องทำงานวันเสาร์ครึ่งวัน คล้ายถูกชักนำให้หาอะไรทำนอกบ้านเสมอ สำหรับคนเมืองทั่วไปคงหนีไม่พ้นการเที่ยวเดินห้างและดูหนังกับแฟน แต่สำหรับฉัน หลังจากเจริญสติปัฏฐานแล้วอยากเที่ยววัด วัดใกล้ไกลหนไหนก็ได้ ขอให้สงบร่มรื่นและโน้มน้าวให้นึกถึงนิพพานเป็นพอ
วันนี้ก็ตั้งใจด้นไปตามแต่หนทางจะนำพา หมู่นี้ไม่อยากอยู่ในเมืองมากขึ้นทุกที งานการ อาหาร อากาศ ทุกอย่างดูแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวาไปหมด สู้ความสดชื่นตื่นเต็มตอนมีเวลาภาวนาเต็มที่ไม่ได้เลย
ทำงานไปได้แค่ชั่วโมงเดียว ฉันก็เกิดความคิดกะทันหัน เอาแบบฟอร์มลางานมาพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเดินไปยื่นให้หัวหน้า แจ้งความจำนงด้วยปากเปล่าว่าถ้าไม่ขัดข้องหรือต้องการให้ฉันทำอะไรเป็นพิเศษ อาทิตย์หน้าฉันขอใช้สิทธิ์พักร้อนลา ๖ วันติดกัน ตั้งแต่จันทร์ถึงเสาร์ หัวหน้าผงกหัวทีหนึ่ง อนุมัติทันทีโดยไม่เปิดจดหมาย พูดสั้นๆแค่ “เอาเลย ผมเข้าใจ”
เขานึกว่าฉันเศร้าและเครียดเรื่องว่าที่หัวหน้าแผนกคนใหม่กระมัง เปล่าเลย เรื่องนั้นไม่รบกวนจิตใจฉันอีกแล้ว ฉันรู้สึกดีด้วยซ้ำที่มีเรื่องเหยียบอัตตาให้เตี้ยลง เพราะหมายความว่าเมื่อผ่านช่วงเวลาทำใจแล้วใจฉันยังสงบราบคาบได้ถึงวันนี้ ไม่กลับกำเริบอยากตีโพยตีพายขึ้นอีก ก็แปลว่าการเจริญสติเพื่อลดละอัตตาเริ่มออกผลเบื้องต้นบ้างแล้ว แต่หัวหน้าเข้าใจว่าฉันลาไปคลายเครียดก็ดีเหมือนกัน เพราะจู่ๆลาพักร้อนกะทันหันผิดธรรมเนียมบริษัทที่ต้องแจ้งล่วงหน้ากันเป็นเดือน
ออกจากออฟฟิศวันนี้ ฉันเป็นสุข หัวใจเป็นอิสระเหลือพรรณนา ประมาณว่าสุขเท่ากับที่เคยฝันว่าลาออกจากงานเมื่อวันสิ้นเดือนก่อนทีเดียว แต่ตอนนี้ตัวจริงยามตื่นของฉันยังตัดไม่ขาดหรอก ลาออกแล้วหางานใหม่ เริ่มงานใหม่ ศึกษาและปรับตัวให้คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องสนุกนัก เว้นแต่เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าในจังหวะที่เหมาะสมของชีวิตซึ่งตระเตรียมไว้รอบคอบแล้ว
เพิ่งรู้ตัวว่าที่ผ่านมาเมื่อยังต้องคลุกกับความคิดเรื่องการงาน เป็นลูกจ้างบริษัทเต็มเวลา ก็แปลว่าฉันเป็นแค่นักภาวนาพาร์ทไทม์ ในแง่ของคนเดินทางบนเส้นทางสู่มรรคผลก็จัดเป็นพวกอ่อนแอกระปวกกระเปียก เดินโซซัดโซเซไม่ค่อยจะอยากพ้นต้นทางเสียที พอแค่ลาพักร้อนหน่อยเดียว เห็นว่าไม่ต้องคิดเรื่องงาน เป็นอิสระจากงานได้แค่นาทีเดียว ใจก็ต่างไปจากเดิมแล้ว
ใจต่างอย่างไร ฉันพยายามสำรวจเข้ามา ประการแรกไม่ต้องละล้าละลังกังวลว่าเดี๋ยวจะต้องเอาหัวไปแบกเรื่องอะไรบ้าง ประการที่สองกระหยิ่มยิ้มย่องได้ว่างวดนี้สมาธิจะต้องพัฒนาขึ้นแน่ ประการที่สามคือหวังว่าจะได้เป็นผู้มีบารมีแก่กล้า บรรลุมรรคผลด้วยการปฏิบัติธรรมภายใน ๗ วันกับเขาสักคนหนึ่ง ด้วยความคาดหวังเป็นอย่างสูงในข้อสุดท้ายนี้เอง ทำให้ใจมีลักษณะผละจากโลก เหมือนลาออกจากความเป็นปุถุชนคนธรรมดาในโลก จึงใสเบาเป็นพิเศษ
ยอมรับล่ะว่ายังตัดความโลภอยากได้มรรคผลไม่ขาด แต่จะให้ทำอย่างไร ไปแบบไม่มีหวังเลยหรือ? ฉันก็ว่าจะบำเพ็ญเพียรเต็มกำลัง ไม่ใช่ไปนอนงอมืองอเท้าเสียหน่อย คนซื้อล็อตเตอรี่ด้วยความหวังว่าจะถูกรางวัลที่ ๑ หรือเลขท้าย ก็ยังอุตส่าห์มีคนสมหวังทั้งที่นอนฟังวิทยุลุ้นอยู่กับบ้านเฉยๆ แต่นี่ฉันอยากได้มรรคผลด้วยการบากบั่นมานะพยายามตามแนวทางที่ถูกต้อง จะไม่น่าให้กำลังใจยิ่งกว่าพวกหวังรวยทางลัดหรอกหรือ?
สำคัญคือฉันรู้แล้วด้วยว่าจะทำอย่างไร ตอบรับท่าไหนถ้าโลภอยากได้มรรคผลจนเป็นทุกข์หรือปล่อยสติออกนอกทาง ก็แค่พิจารณาว่านั่นเป็นทุกข์ชนิดหนึ่ง ดูให้เหมือนดูทุกข์อื่นๆ ถ้าไม่ไหวก็กลับไปพึ่งลมหายใจจนกว่าจะเป็นอุเบกขา แล้วค่อยกลับมารับมือกับมันใหม่รอบหน้า ดีเหมือนกัน ถ้าปลีกวิเวกด้วยความอยากไปเอามรรคผล จะได้เตรียมรู้ทุกข์เพราะอยากแล้วไม่สมปรารถนา เตรียมใช้ทุกข์ทางใจเป็นเป้าหมายหลักหนึ่งเสียแต่เนิ่นๆ
ที่เหลือของวัน ฉันใช้ไปกับการครุ่นคิดวางแผนเรื่องสถานที่ เพราะนี่เป็นการตัดสินใจกะทันหัน และฉันก็ไม่ใช่คนชำนาญเรื่องพระดีและสถานที่ดัง คิดไปคิดมา กิเลสที่คอยจะเข้าข้างตัวเองอยู่แล้วก็บอกให้ไปพักรีสอร์ทหรือโรงแรมดีกว่า มันก็เป็นห้องหับเหมือนๆกันกับห้องที่เขากำหนดไว้ให้เป็นสถานที่ภาวนาของฆราวาสนั่นแหละ ฉันจะเลือกแบบไม่ต้องแพงมาก แต่ใจอุตส่าห์อยากได้หรูๆสบายๆหน่อย ฉันรับรองกับตัวเองว่าจะไม่นอนแช่อิ่ม จะไม่เปิดตู้เย็นบ่อย แต่จะให้วันเวลาล่วงไปอย่างมีคุณค่า ใช้ทุกนาทีเป็นโอกาสทองสมราคาหมายปองมรรคผล
 
วันที่ ๒: ปลีกวิเวก
ฉันเลือกได้รีสอร์ทแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออก ดินแดนติดทะเลที่เกือบทุกคนจะนึกถึงเสมอเมื่อต้องการพักร้อน ฉันคำนวณค่าใช้จ่ายแล้วไม่รู้สึกว่าขนหน้าแข้งจะร่วงมาก ก็ตกลงใจอยู่จนถึงวันอาทิตย์หน้ารวดเดียวไปเลย คุยโทรศัพท์ต่อรองไปต่อรองมามีแถมฟรีหนึ่งวันหนึ่งคืนอีกต่างหาก
ทิวทัศน์สวย ที่พักสะดวกสบาย สิ่งแรกที่ฉันทำเมื่อมาถึงห้องพักคือเด็ดปลั๊กทีวีทิ้ง จากนั้นก็ตั้งสัญญาณโทร.เข้าของโทรศัพท์มือถือให้เป็นแบบสั่น ฉันจะเช็กว่ามีเบอร์ไหนจำเป็นต้องโทร.กลับวันละสองรอบพอ แค่นี้คงพอจะแปลงสถานอภิรมย์ของชาวโลกให้กลายเป็นอาศรมฤาษีได้แล้วกระมัง
ขับรถมาจากกรุงเทพฯหลายร้อยกิโลฯ กำลังเหนื่อยๆต้องขอนอนพักก่อน แอร์กำลังเย็นสบาย พอล้มตัวลงนอนแผ่บนเตียงเดี๋ยวเดียวก็หลับปุ๋ย
ลืมตาตื่นและลุกขึ้นด้วยความงัวเงีย มองนาฬิกาก็ตกใจ เฮ้ย! นึกว่าห้านาที นี่ปาเข้าไปเกือบสามชั่วโมง ฉันล่ะงงจริงๆ บางทีนึกว่างีบเดี๋ยวเดียวจริงๆปาเข้าไปครึ่งค่อนวัน แต่บางทีรู้สึกเหมือนหลับไปนานแต่ตื่นมาเห็นเข็มนาฬิกากระดิกไปแค่ครึ่งชั่วโมง ความรู้สึกของมนุษย์ไม่อาจบอกเวลาช้าเร็วได้เที่ยงตรง อย่างเช่นอุปาทานไปว่าเพิ่งมาอยู่ในโลกได้เดี๋ยวเดียว ความจริงอาจใกล้ครบรอบที่จะต้องอำลาเวทีนี้ เพื่อเดินสายต่อไปหาเวทีใหม่อีกแล้ว
ฉันไม่ยอมเสียเวลาแม้แต่บิดขี้เกียจ แต่ลุกขึ้นเข้าห้องน้ำเพื่อทำร่างกายให้สดชื่นทันที ก่อนตะวันตกดินฉันจะไปนั่งสมาธิแถวชายหาดให้ได้
ราวห้าโมงเย็น แดดกำลังร่ม ลมกำลังตก ฉันเดินดุ่มไปตามหาดขาวยาวเป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตรเพื่อเข้าถึงเขตที่ผู้คนบางตา และมีภูเขาหินเตี้ยๆยื่นออกไปในทะเลให้ป่ายปีนขึ้นไปนั่งมองขอบฟ้าจากมุมสูงกว่าพื้นทรายราว ๒๐ เมตร
ลมทะเลพัดอู้เกือบตลอดเวลา บางครั้งหอบแรงเหมือนจะมาชะเอาผิวหน้าและเนื้อตัวฉันออกไป เหลือแต่ความโปร่งเบาไร้น้ำหนัก ลมหายใจของฉันยืดยาวนิ่มนวลและแจ่มชัดยิ่งในท่ามกลางความเวิ้งว้างของทิวทัศน์กว้างไกลไพศาล ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเพียงต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งหายใจเข้าออกได้ เป็นต้นไม้ซึ่งปราศจากสำนึกครอบครองสถานที่ เป็นต้นไม้ซึ่งเติบโตจากที่อื่นและมาขอปักหลักอาศัยยอดเขาเตี้ยนี้เพียงชั่วคราว
ปิดตาลง ลากลมหายใจเข้ายาว ระบายลมหายใจออกยาวเท่ากัน รับรู้ตลอดสายด้วยจิตใจอันเยือกเย็น สติที่รู้ตลอดสายลมนั่นเองคือเบื้องต้นแห่งความหนักแน่นไม่หวั่นไหว เมื่อรู้ได้ด้วยอาการที่สบาย ยิ่งหลายลมเข้าออกยิ่งรู้สึกได้ถึงความปักหลักมั่นคงแน่นหนายิ่งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนก้อนหินผิวเรียบได้ที่วางลงบนแผ่นดินใหญ่ ยากที่แรงกระทำภายนอกจะทำให้โยกเยก
กระทั่งฉันเห็นความหนักแน่นคงที่ที่ฐานความรู้สึก ขณะเดียวกันก็สำเหนียกได้ถึงความใสเบาอันแผ่รัศมีกว้างออกไปเบื้องหน้าและเบื้องขวางซ้ายขวา รับทราบตามจริงว่านั่นเป็นสภาพของจิตที่สั่งสมสติมาดีแล้วระยะหนึ่ง รวมกับการถูกสภาพเปิดแผ่กว้างขวางของทะเลปรุงแต่งสัมผัส ฉันประคองความรับรู้ลมหายใจเข้าออก นับได้สิบครั้งก็เห็นว่าฐานอันหนักแน่นของจิตยังเคลื่อนไปเคลื่อนมาคลอกแคลกได้ แต่ก็สนุก เพราะรู้สึกว่ามีกำลังของความตั้งมั่นมากกว่าอาการขยับเคลื่อนนั้น และเมื่อสติเข้าไปรู้ความเคลื่อน ก็สามารถยับยั้งให้สนิทนิ่งเหมือนเก่า แต่เดี๋ยวเดียวกำลังก็ถดถอย ทำท่าจะเคลื่อนใหม่ ก็ต้องยื้อกลับมาอยู่กับที่มั่นอีกและอีก
ฐานความรู้สึกอันเป็นสมาธินั้นปรากฏเหมือนช่องว่างที่มีศูนย์กลางในช่องอก และแผ่รัศมีความว่างนั้นออกไปเป็นวงรัศมี ไม่มีลักษณะเพ่งคับแคบเล็งจุดใดจุดหนึ่ง แต่เหมือนทอดตาแลไปจนสุดขอบฟ้าด้วยความนิ่งรู้ผ่อนคลาย หากดวงรู้อันว่างเปล่านั้นเสียศูนย์ ก็จะคล้ายฟองสบู่โย้เย้เสียรูป หรือถูกแทรกแซงด้วยคลื่นลมความคิดซัดซ่า ไม่ตั้งอยู่ในสภาพรู้เห็นสายลมหายใจกระจ่างชัด
ยื้ออยู่กับสภาพล้มลุกของสมาธิเกือบชั่วโมงก็เหนื่อย หมดแรงทั้งทางกายและทางจิต ลืมตาขึ้นเห็นขอบฟ้าเริ่มฉายแสงอาทิตย์อัสดง ก็ลุกขึ้นเดินกลับที่พัก ตั้งเข็มไว้ว่าการนั่งสมาธิที่นี่จะเป็นไปเพื่อประคองจิตให้ตั้งมั่นจนกว่าจะยับยั้งอยู่ในสมาธิได้ยาวๆโดยไม่ขยับเขยื้อน ฉันเพิ่งเห็นโอกาสทองจริงจังก็คราวนี้เอง แต่ไหนแต่ไรการทำสมาธิแม้ดีเพียงใดก็ยังมีกระแสรบกวนจากภายนอกมาบั่นทอนให้ขาดความบริสุทธิ์เสมอ บัดนี้การอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันปลอดโปร่ง ปรับคลื่นความคิดให้นิ่งใสตาม กระแสจิตจึงผ่องแผ้วสะอาดเบาโดยไม่ต้องออกแรงกำหนดอะไรมาก
สภาพโดดเดี่ยวเอกาย่อมปรุงจิตให้คนทั่วไปเปลี่ยวเหงาจับหัวใจ ทว่ากลับแต่งจิตของผู้ปรารถนานิพพานให้อิ่มเอมเปรมสุขเหนือคำบรรยาย เสียงคลื่นกระทบฝั่งแล้วถดถอยสู่ความสงบเป็นระลอกๆ ฟังแล้วแทนที่จะเตือนให้จินตนาการแสวงหาคนรักมาเดินเคียง กลับส่งให้เงี่ยหูสดับตามจริงว่าคลื่นน้ำกระทบสิ่งใดแล้วก็จบไป รอคลื่นลูกใหม่มาปะทะอีกและอีก ครืนครั่นแล้วแผ่วซา แผ่วซาแล้วครืนครั่น มีอยู่เท่านี้จริงๆ ไม่ต่างจากโลกแห่งผัสสะกระทบ เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ได้ลิ้มอะไร ได้สัมผัสอะไร ได้คิดอะไร เกิดปฏิกิริยาทางใจวูบหนึ่งแล้วก็ดับ รอการกระทบระลอกใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด
ต่อเมื่อไม่แส่ส่ายออกไปรับกระทบหยาบ ไม่ปล่อยให้ปฏิกิริยาทางใจเป็นไปในทางยึดมั่นถือมั่น ไม่ยินยอมถูกครอบงำด้วยความชอบหรือความชัง จิตก็สงบลงเป็นดวงรัศมีผ่องใส จะแผ่กว้างหรือแคบก็ขึ้นอยู่กับกำลังว่าตั้งมั่นได้มากน้อยเพียงใด
วันแรกของการพักร้อนเป็นไปด้วยดี มีใจเต็มร้อยกับการภาวนา สถานที่ก็ช่วยปรุงจิตให้สงบ รวมกันแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกที่สมบูรณ์แบบกับการปลีกวิเวกครั้งนี้
มื้อค่ำฉันลังเลว่าจะทานหรือไม่ทานดี นึกๆถึงการรักษาศีล ๘ อยู่เหมือนกัน แต่กิเลสเรื่องกินกับเรื่องนอนยังเป็นแม่เหล็กใหญ่อยู่ในวันนี้ ฉันเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างการมานอนรีสอร์ทกับการไปพักตามสถานที่ที่จัดไว้สำหรับนักภาวนาโดยเฉพาะ การอยู่บ้านหรืออยู่รีสอร์ทนั้น ใจเราจะถูกปรุงให้คิดและรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ภาพ เสียง และสัมผัสรอบด้านก็เต็มไปด้วยความรื่นรมย์ ชวนให้เกิดความอ่อนแอ ยอมแพ้ต่อผัสสะเร้าภายนอกมากกว่าจะปรารถนาประคองจิตตั้งมั่นยิ่งๆขึ้นไป
พอถึงเวลาหิว ฉันก็ตัดสินใจเข้าข้างกิเลส ด้วยความคิดว่าจะลองอยู่กินแบบสบายๆเหมือนมาพักตากอากาศแบบชาวบ้านชาวเมืองทั่วไปดูก่อน ถ้าหากไม่มีความคืบหน้าอย่างไรค่อยคิดใหม่อีกทีว่าจะตัดอะไรที่เป็นน้ำหนักถ่วงทิ้งเสียบ้าง
ฉันสั่งอาหารเบาๆและกะทานแค่ครึ่งท้อง คือจะหยุดขณะยังไม่อิ่มเต็มที่ พ่อครัวที่นี่ฝีมือไม่เลว ยากจะอดใจไหว แต่ก็ไหวด้วยความตั้งใจจริงจนได้ ฉันทานไม่หมด และไม่สั่งอะไรเพิ่ม เรียกเด็กเช็กบิลล์แล้วเดินลงชายหาดมืดอย่างไม่กลัวโดนตีหัวชิงเงินเท่าไหร่ เพราะเขตนี้เป็นหาดส่วนบุคคล อีกทั้งมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั่งนอนบนเตียงผ้าใบเห็นเป็นเงาตะคุ่มอยู่ทั่วไป
เลือกเตียงผ้าใบตัวหนึ่งเพื่อเอนหลังดูทะเลและชมดาว ความมืดยามราตรีก่อจินตนาการได้หลากหลาย ฉันสังเกตตัวเองแล้วพบว่าหลังออกจากสมาธิใหม่ๆกับหลังทานข้าวเสร็จหมาดๆ ปฏิกิริยาทางใจที่มีต่อสภาพแวดล้อมสวยๆจะต่างกันเป็นคนละเรื่อง อย่างเช่นตอนนี้ความคิดเริ่มก่อตัวไปในทางเพ้อฝันเสียมาก ฉากธรรมชาติส่วนใหญ่เหมือนแกล้งให้เรารู้สึกอ้างว้างและต้องการมีภาวะคู่กับคนที่สมกัน
ผัสสะที่ทำให้เกิดราคะอาจไม่ใช่ภาพยวนตาเร้าใจของเพศตรงข้ามเสมอไป โดยมากมักเป็นความคิดหรือจินตนาการของเราเองเสียส่วนใหญ่ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสในกามสุตตนิทเทสที่ ๑ ว่ารากฐานของกามย่อมเกิดจากความดำริ เมื่อได้กามตามปรารถนาย่อมอิ่มใจ แต่เมื่อกามเสื่อมไปย่อมกระสับกระส่ายเหมือนสัตว์ที่ถูกศรเสียบแทง
แต่กามนั้น เมื่อยังอยู่ในรูปความดำริ หรือจินตนาการถวิลหา ก็มีกำลังอ่อน ฉันเพียงยอมรับตามจริงว่าขณะนี้กำลังมีราคะอยู่ในจิต มีเพราะมองฟ้ามืด มองดวงดาว มองแสงจันทร์แล้วนึกถึงเพศตรงข้าม นึกถึงภาวะคู่ นึกถึงการเกี่ยวก้อยแนบชิดเอาไออุ่นของกันและกันรับลมทะเลยามค่ำคืน
เมื่อยอมรับตามจริง สติรู้ตามจริงย่อมเกิดในที่นั้นทันที ราคะปรากฏเป็นสิ่งถูกรู้ เห็นเป็นความสุขที่ล่อด้วยเหยื่อในจินตนาการ เป็นเงาวาบหวาม เป็นกระแสอ่อนหวานที่ทรงพลังดึงดูด มีผลให้จิตตั้งอยู่ในอาการเหม่อหา รอคอย และเปี่ยมหวัง
สติที่รู้ชัดในราคะนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาเต็มๆ วินาทีแรกคือเห็นอิริยาบถครึ่งนั่งครึ่งนอนบนเตียงผ้าใบ แล้วต่อมาสติก็เข้าไปรู้ลมหายใจว่ากำลังลากเข้าและระบายออกอย่างมีความสุข สำรวจจิตอีกครั้งก็พบว่าราคะเลือนหายไปแล้ว ผู้ที่ผ่านการอบรมและมีฐานสติไว้ดีแล้ว เมื่อราคะเกิดขึ้นในจิตแล้วรู้ทัน ความรับรู้ก็จะแปรไปที่ฐานสติซึ่งอบรมไว้แล้วนั้นเสมอ
ฉันสังเกตอย่างละเอียดและพบว่า ครั้งนี้ไม่ใช่การยกเอาลมหายใจหรืออิริยาบถปัจจุบันเข้ามาแทรกแซงแทนที่ราคะ แต่เมื่อครู่ฉันยอมรับตามจริง และรู้ตามจริงถึงลักษณะของราคะที่ปรากฏครอบงำจิต เมื่อรู้แล้วภายหลังสติจึงเกิดในอิริยาบถโดยไม่ได้เจตนา
อย่างไรก็ตาม แม้สติจะรู้อิริยาบถปัจจุบัน ก็ถือได้ว่าเป็นการเห็นจิตปราศจากราคะไปด้วยพร้อมกันในคราวเดียว เพราะเมื่อรู้ตัวอยู่อย่างชัดเจนว่าขณะนี้ปราศจากราคะ ก็คือการเห็นภาวะต่างระหว่างจิตมีราคะแบบเมื่อครู่กับจิตปราศจากราคะอย่างเดี๋ยวนี้นั่นเอง การฝึกสติปัฏฐาน ๔ จึงเข้าถึงกันได้หมด ไม่ว่ากายหรือจิต จะเริ่มรู้จากจุดใดย่อมเชื่อมโยงหาอีกจุดหนึ่งในที่สุด ขอเพียงปฏิบัติอยู่ในแนวทางที่พระพุทธองค์วางไว้เท่านั้น
ฉันสังเกตต่อไปอีกว่าจิตที่ปราศจากราคะอาจรู้อิริยาบถ ลมหายใจ หรือกระทั่งลักษณะว่างจากราคะของจิตเอง จุดสำคัญสำหรับขั้นนี้อยู่ตรงที่การรู้ชัดในภาวะต่างระหว่างจิตมีราคะกับจิตไม่มีราคะ เพราะเมื่อรู้ภาวะต่างเหมือนเห็นสองบุคคล ย่อมทำลายความมั่นหมายว่าเราเป็นผู้มีราคะ แต่จะเห็นเพียงจิตมีราคะก็แค่สภาพหนึ่ง จิตไม่มีราคะก็แค่อีกสภาพหนึ่ง
สติรู้ลมหายใจควบคู่กับอิริยาบถครู่หนึ่งก็เคลื่อนไปหาฟ้ามืดและดวงดาวดารดาษอีก ฉันปล่อยอารมณ์ตามสบาย คราวนี้ไม่มีไฟฝันก่อตัวขึ้นอย่างเมื่อครู่ อาจเป็นเพราะสติจดจ้องอยู่ว่าจะเกิดราคะอีกเมื่อใด
หนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินผ่านหน้า เห็นสลัวรางในเงามืดที่แสงนีออนอ่อนๆของรีสอร์ทสาดจับ ดูเป็นคู่ที่สมกันดี ผู้หญิงเอวองค์อรชรอ้อนแอ้น ทรวดทรงเหมือนนางแบบค่าตัวแพง ส่วนผู้ชายก็กำยำล่ำสันดี แม้จะลงพุงไปหน่อย แต่ก็ท่าทางดูแลปกป้องผู้หญิงได้ กับทั้งน่าจะมีเสน่ห์ไม่แพ้กันนัก
ภาพตรงหน้าทำให้อารมณ์กระเจิงขึ้นมาอีก ยอดสุดแห่งสุขขณะอยู่ในโลกมนุษย์ ก็คงเป็นอะไรอย่างนี้แหละ แค่เห็นก็พลอยปลื้มกึ่งอิจฉาอย่างนี้ ถ้ามีเสียเองบ้างจะสุขหวานสักปานไหนหนอ?
เกือบตั้งสติไม่ทัน เพราะจิตถูกดึงดูดเข้าไปอยู่ในภาพเบื้องหน้าจนหมดสิ้น เมื่อครู่แค่เกิดความดำริในกามยังพอกำหนดง่ายว่ามีราคะในจิต แต่ตอนนี้สายตาถูกดูดเข้าไปติดภาพภายนอก เลยไม่ทราบจะรับมืออย่างไร
คิดในใจว่าไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไม่ต้องทำ อย่างน้อยที่สุดก็ได้ความรู้ล่ะว่าจิตที่ไปตั้งไว้กับวัตถุภายนอกเต็มเหนี่ยวนั้น ที่จะให้เกิดสติย้อนกลับเข้ามาตั้งอยู่ในฐานที่มั่นเดิมคงยาก
ทั้งที่กระซิบบอกตัวเองอยู่ว่า จิตมีราคะ จิตมีราคะ ตาก็ไม่วายเหม่อตามคู่หนุ่มสาวที่สมกันราวกิ่งทองใบหยกนั้นจนพวกเขาหายขึ้นที่พักไป จึงให้คะแนนตัวเองติดลบ อย่างนี้ไม่ใช่มีสติรู้ราคะในจิต เป็นแค่ท่องเหมือนนกแก้วนกขุนทองว่ามีราคะในจิตต่างหาก การทำงานของจิตยังเป็นคิด ไม่ใช่รู้ เมื่อไม่เป็นรู้ก็ย่อมไม่เห็นภาวะต่างระหว่างมีราคะกับไม่มีราคะ
ลืมราวเกาะไปถนัดใจ ฉันตั้งใจใหม่ว่าคราวหน้าถ้าเห็นวัตถุกามเข้าหูเข้าตา ก็จะทำความรับรู้ลมหายใจไปด้วยเป็นการหารครึ่งระหว่างข้างนอกกับข้างใน ไม่ปล่อยให้จิตส่งออกนอกเต็มที่ อย่างน้อยหยั่งขาข้างหนึ่งไว้กับฐานสติอันปลอดภัย แล้วจะรู้เห็นอะไรจนเกิดราคะแค่ไหนก็ช่าง เพราะแน่ใจว่าอย่างไรก็ไม่เสียศูนย์อย่างสิ้นเชิงแบบนี้
 
วันที่ ๓-๗: บ่มกำลัง
เหมือนฉันกลายเป็นอีกคนหนึ่ง ที่มีชีวิตประจำวันแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และจิตฉันก็ปรากฏเป็นสิ่งผิดแผก คือฉันมองจิตตัวเองเสมือนเป็นกระจกใสให้คอยระวังฝุ่นละอองหรือขี้เถ้าที่เข้ามาเกาะตลอดเวลา
ธรรมดาเราใช้ไม้ขนไก่คอยปัดฝุ่นเมื่อเห็นละอองปรากฏจับกระจก ถ้าฝุ่นเพิ่งปลิวมาเกาะเพียงน้อย แค่ปัดแผ่วๆฝุ่นก็หายไป ความใสสะอาดของกระจกก็ปรากฏเต็มบานดังเดิม ฉันใดฉันนั้น เราใช้สติคอยตามรู้ฝ้าหมอกกิเลสที่มาจับจิต หากกิเลสเพิ่งรั่วมาเกาะจิตเพียงนิดหน่อย แค่กำหนดสติรู้ว่าขณะนั้นๆมีกิเลสในจิต ความใสสะอาดปราศจากมลทินของจิตก็ปรากฏเต็มดวงดังเดิม และธรรมชาติความผ่องใสของจิตย่อมให้ผลเป็นความรู้สึกเบิกบานในตนเอง
การนั่งสมาธิ ฉันชอบออกไปนั่งที่ชายหาด บางทียอมร้อนไปนั่งบนยอดเขาเตี้ยตอนใกล้เที่ยง เพราะไม่ค่อยมีใครใจถึงขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์กลางแดดเปรี้ยงขนาดนั้น ความจริงแค่ลำบากตอนเหยียบๆจับๆหินร้อนเพื่อป่ายปีนขึ้นสู่ยอดนิดหน่อย แต่พอถึงยอดก็มีร่มไม้ใบบังพออาศัยนั่งพอสบายแล้ว
การเดินจงกรม ฉันอาศัยชายหาดไม่ค่อยได้ เพราะผัสสะระหว่างเท้ากับทรายจะเป็นลักษณะจม ไม่ค่อยก่อให้เกิดสติรู้เท้าชัดแบบเหนี่ยวนำให้เกิดความรู้ทั่วพร้อมทั้งอิริยาบถเท่าใดนัก ช่วงกลางวันฉันจึงต้องใช้ทางเดินค่อนข้างสั้นในห้องพักนั่นเอง ก็ได้ผลดีเหมือนกัน พอตกกลางคืนคนน้อยๆก็ค่อยย้ายไปยึดเส้นทางเดินชมสวนหย่อมของรีสอร์ท ซึ่งมีบางช่วงเป็นทางตรงยาวกว่าในห้องมาก แถมได้บรรยากาศปลอดโปร่งกว่า คือมีโดมมืดพราวแสงดาวเป็นเพดานห้องจงกรม
ในอัคคิสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อใดจิตหดหู่ เมื่อใดจิตฟุ้งซ่าน เมื่อนั้นไม่ใช่โอกาสที่จะเจริญโพชฌงค์ได้ สองสามวันแรกฉันจึงมีธุระง่ายๆแค่สังเกตตามจริงว่าขณะใดนิ่ง ขณะใดเคลื่อนไปเป็นหดหู่ง่วงเหงาหรือฟุ้งซ่านรำคาญใจ กับทั้งทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดสองสภาพดังกล่าวไม่ว่าจะตรงหรืออ้อม ทางตรงก็เช่นรู้เท่าทันขณะจิตเคลื่อนจากนิ่งตื่นไปเป็นหม่นหรือคิดเรื่องที่ผ่านๆมา ทางอ้อมก็เช่นออกกำลังบ้าง ล้างหน้าบ้าง มองฟ้ามองทะเลไกลๆบ้าง หรือมานั่งเขียนบันทึกธรรมเพื่อทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง
หากเผลอปล่อยให้ง่วงหรือฟุ้งจริงๆ ก็มักดูเข้าไปที่ลักษณะง่วงหรือฟุ้งซึ่งมีระดับแปรปรวน มากขึ้นหรือน้อยลงต่างๆกันในแต่ละลมหายใจ ดูไป ๑๐-๒๐ ระลอกลมเข้าออกก็มักค่อยยังชั่วขึ้น เช่นลมแรกๆเห็นความง่วงมีลักษณะกดแรงๆ เหมือนจะดันเราหัวทิ่มลงฟูก พอดูอีกทีในลมต่อๆมาแรงกดนั้นก็คลายลง ทำให้เบลอๆ ชาๆ ครึ่งตื่นครึ่งง่วง แล้วอีกสองลมหายใจต่อมาก็กดให้ง่วงหนักอีก ดูหนักเบาสลับกันซ้ำแล้วซ้ำเล่ากระทั่งแรงกดน้อยลงทุกที ที่สุดก็เบาและเบิกบานอย่างเดียวไป
เมื่อมีเวลาดูเต็มที่ทั้งวัน ฉันจึงเห็นว่าธรรมชาติจิตคนเรานั้น สลับกันไปสลับกันมาระหว่างหดหู่ง่วงเหงากับฟุ้งซ่านรำคาญใจ คนเมืองจะมีธุระปะปังในหน้าที่การงานเกือบตลอดวัน ความฟุ้งจึงมีอายุยืนและถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วยการงานนั่นเอง เรียกว่าฟุ้งอย่างมีเป้าหมาย กระทั่งเมื่อบรรลุเป้าหมายก็เหมือนหายฟุ้งไปชั่วคราว นี่เป็นเหตุผลง่ายๆว่าทำไมคนเราต้องหางานทำ คือไม่ใช่เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างเดียว แต่เพื่อเอามาสนองตอบความฟุ้งยุ่ง จัดระเบียบความฟุ้งไม่ให้คับแน่นในหัวอย่างไร้ทางออก
การยกสติขึ้นคอยรู้ว่าเมื่อใดพายุความฟุ้งก่อตัวขึ้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย เพราะไม่ใช่ธรรมชาติวิสัยเดิมที่เคยชิน ที่เราเคยใช้ความฟุ้งไปสะสางงานการให้เรียบร้อย อันนี้กลายเป็นเฝ้ารู้เฝ้าดูว่าลมหายใจหนึ่งๆฟุ้งมากหรือฟุ้งน้อยกว่าลมหายใจก่อนหน้า เมื่อหายฟุ้งแล้วแปรเป็นสภาพหดหู่ง่วงเหงาไปแทนหรือไม่ การมีเวลาว่างทั้งวันเฝ้าดูสภาวจิตอย่างเดียวนั้นโน้มน้อมไปทางฟุ้งและง่วงสลับกันไปสลับกันมาเป็นหลัก อาศัยความเพียรในการนั่งสมาธิและเดินจงกรมก็ช่วยไม่ได้มากนัก เพราะเมื่อนั่งหรือเดินได้ราวครึ่งชั่วโมง หรืออย่างเก่งหนึ่งชั่วโมง จิตฉันจะดิ้นรน ไม่อยากนั่งหรือเดินต่อเสียแล้ว
สองสามวันแรกจึงมีบ่อยครั้งที่อึดอัดทรมาน อยากกลับกรุงเทพฯ หรือไม่ก็ไปเปิดหูเปิดตาเที่ยวไหนเสียบ้าง แต่ฉันก็หาทางระบายความอึดอัดด้วยการอ่านหนังสือธรรมะที่พกมาหลายเล่มแทน ไม่อยากแพ้ภัยตัวเอง ไหนๆอยากมาบ่มเพาะกำลังจิตให้แกร่งขึ้นก็ควรให้เป็นไปตามนั้น ถ้าแค่รักษาสัจจะง่ายๆไม่ได้ แล้วจะเอากำลังที่ไหนไปรบกับกิเลสระดับทำลายภพชาติกับใครไหว
พอสู้อดทน เพียรพยายามผ่านไปสามวัน ขึ้นวันที่ ๔ ก็เริ่มเห็นความงอกเงยออกดอกออกผลของสติ คล้ายจิตเป็นม้าที่พยศน้อยลงมาก กล่าวคือเริ่มรู้ลมหายใจได้ต่อเนื่อง ทำให้จิตทรงสภาพตั้งมั่นได้เรื่อยๆแม้ไม่อยู่ในที่นั่งสมาธิหรือเดินจงกรม พอจิตตั้งท่าจะแปรเป็นฟุ้ง หรือก่อหวอดจะดิ้นรนกลับกรุงเทพฯ สติก็เท่าทัน ณ เวลาที่พายุเริ่มก่อตัว แล้วกลับสงบสบายคล้ายไม่ไหวติง ต้องสังเกตจริงๆจึงจะเห็นว่ายังมีระลอกความกระเพื่อมไหวน้อยๆอยู่เกือบตลอดเวลา
ณ จุดนั้นฉันให้คะแนนตัวเองว่า ‘สติ’ อันเป็นองค์แรกของโพชฌงค์ปรากฏขึ้นแล้วในการเจริญภาวนาหมวดจิต คือเมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ เมื่อจิตหดหู่ก็รู้ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็รู้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างน้อยก็ยากกว่าครั้งฝึกตามรู้ให้เท่าทันว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้าหลายขุม
การจะมีสติรู้อย่างเป็นอัตโนมัติว่าจิตกำลังอยู่ในสภาพใดนั้น กำลังสมาธิมีส่วนสำคัญยิ่ง หากขาดกำลังในแบบนิ่งแล้ว สติก็จะเป็นไปแบบฝืดๆ คล้ายมอเตอร์ที่ขาดน้ำมันหล่อลื่น แม้หมุนก็อืดอาดหรือมีเสียงครืดคราดน่ารำคาญ แต่หากมีความเบิกบานในสมาธิเป็นน้ำมันหล่อลื่นแล้ว มอเตอร์หมุนสติจะทำงานคล่องแคล่วว่องไว ไม่ใช่หมุนแบบไม่เต็มใจ
ผลของการมีสติรู้สภาพจิตเป็นอัตโนมัติได้เสมอๆ คือจิตปรากฏเป็นกระจกที่ใสเด่นขึ้นเรื่อยๆ ที่นึกว่าใสแล้วยังมีใสได้ยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก เฉพาะเรื่องความใสของจิตนี่พูดกันได้ยาว มีทั้งใสแบบวอบแวบเหมือนอุปาทานไปเองแล้วกลับหม่นมัวอย่างรวดเร็ว มีทั้งใสแบบรู้แช่ๆด้วยความปลื้มอยู่กับความใสโดยไม่ตระหนักว่าตัวปลื้มนั่นก็เป็นหนึ่งในโมหะ
แต่กว่าจะรู้จักจิตที่ใสเหมือนแผ่นน้ำแจ่มกระจ่าง สามารถเห็นทะลุลงไปได้ถึงกรวดหินใต้ท้องน้ำทุกก้อนอย่างคมชัด สมาธิก็ต้องก้าวหน้าไปถึงระดับตั้งมั่นเบาสบายได้นานเกินชั่วโมง กับทั้งมีสติเท่าทันเป็นอัตโนมัติว่าสภาพจิตแปรจากตั้งมั่นไปเป็นอื่นเมื่อใด
ถึงจุดนั้นจิตหดหู่กับจิตฟุ้งซ่านเหมือนเพื่อนเก่าที่หายหน้านาน ส่วนเพื่อนใหม่คือสมาธิจิตเวียนมาเยี่ยมบ่อยขึ้น ยับยั้งอยู่กับฉันยาวขึ้น จึงมีสภาพจิตให้สังเกตเพียงสองชนิดหลักๆ คือเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ
พอเห็นบ่อยเข้าว่าอย่างนี้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ อย่างนี้จิตเคลื่อนจากความตั้งมั่นไม่เป็นสมาธิ องค์ที่ ๒ ของโพชฌงค์คือ ‘ธัมมวิจัย’ ก็ปรากฏเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพยายามสร้าง นั่นคือเกิดสัมปชัญญะ รู้เห็นอยู่ในขณะแห่งสมาธิว่านี่เป็นเพียงสภาพอย่างหนึ่งของจิต กับทั้งรู้เห็นอยู่ในขณะไม่เป็นสมาธิว่านี่ก็เป็นแค่อีกสภาพหนึ่งของจิต เกิดขึ้นแล้วดำรงอยู่ถาวรไม่ได้ มีกำลังตั้งได้แค่ไหนก็อยู่ได้แค่นั้น ในที่สุดต้องเสื่อมลง หรือแปรปรวนเป็นอื่นเป็นธรรมดา
ธัมมวิจัยอันเกิดจากการฝึกรู้สภาพจิตเกิดดับนั้นมีอานุภาพสูง ฉันไม่รู้สึกถึงความเป็นฉัน สิ่งที่ปรากฏก็แค่สภาพจิตอย่างหนึ่ง ตั้งอยู่ระยะหนึ่งตามกำลัง แล้วเสื่อมสลายลงเหมือนฟองสบู่ที่ได้เวลาแตกออก ไม่มีความพึงใจอื่นใดยิ่งกว่าการทราบชัดว่าจิตทรงอยู่ในสภาพใด แล้วแปรไปเป็นสภาพใด จึงกล่าวได้ว่าองค์ที่ ๓ ของโพชฌงค์คือ ‘วิริยะ’ เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วยความพึงใจนั่นเอง
ถึงจุดหนึ่งที่อิ่มเอิบและเบิกบาน โลกภายในและโลกภายนอกดูโล่งแจ้งไปหมด ฉันก็ตัดสินว่านั่นคือองค์ที่ ๔ ของโพชฌงค์ ทำให้กายของฉันสงบระงับ แต่ความสงบระงับกายขณะเฝ้าสังเกตสภาพจิตนั้น จะไม่ให้เห็นกายโดยความเป็นอิริยาบถ คือกายปรากฏคล้ายแก้วใส มีกรอบ มีขอบเขตสัณฐานเพียงรางเลือนเป็นบางขณะ บางขณะก็เหมือนวัตถุโปร่งแสงที่ไร้รูปพรรณสัณฐานไปเลย เหลือแต่สภาพจิตอย่างเดียว
ฉันเริ่มเห็นว่าอาการไหวของจิตน้อยลงทุกที คล้ายมองไปในอากาศว่างแล้วไม่เห็นร่องรอยของลม ไม่เห็นคลื่นความกระเพื่อมใดๆ มีแต่ความว่างปรากฏอยู่ ก็รู้สึกว่าจิตกำลังจะปรับเปลี่ยนสภาพครั้งสำคัญ
ฉันประจักษ์จากการเฝ้าสังเกตคือแม้บางสภาวะตั้งนานเหมือนจีรังยั่งยืน ในที่สุดก็ต้องแปรปรวนไปเป็นอื่น ประจักษ์ครั้งแรกไม่รู้สึกอะไรมาก ยังเห็นความอาลัยในสมาธิอยู่บ้าง แต่เมื่อประจักษ์บ่อยๆเข้าก็เริ่มลดความยินดียินร้ายลง เมื่อจิตตั้งมั่นก็รู้อยู่ในสภาพตั้งมั่นโดยไม่มั่นหมายว่าเราเก่งที่ดำรงจิตอันสง่างามได้ปานนี้ หรือถึงแม้เมื่อจิตคลายจากสภาพตั้งมั่นก็ไม่อาลัยว่าจิตเราตกลงแล้ว ค่อยๆ เกิดมุมมองใหม่ชัดขึ้นเรื่อยๆ คือสภาพจิตต่างๆไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สภาพจิตใดสภาพจิตหนึ่งเลย แล้วจะต้องไปเสียดายสภาพจิตไหนๆทำไมกัน?
ตรงนี้เป็นจุดที่มีสาระสำคัญยิ่ง กระทบไปถึงความอยากได้อยากมีมรรคผล อยากดีอยากเป็นอริยบุคคล จะเร่งรัดเอามรรคผลไปทำไม มรรคจิตก็คือจิตชนิดหนึ่ง ผลจิตก็คือจิตชนิดหนึ่ง ไม่ได้เป็นตัวเราในวินาทีนี้สักหน่อย ก็ตัวเราในวินาทีนี้ยังไม่มี มีแต่สภาพจิตที่เดี๋ยวก็นิ่ง เดี๋ยวก็แส่ส่าย แล้วจะไปหวังเอาสภาพจิตอื่นมาเป็นรางวัลให้ใคร?
เมื่อจิตหยาบ ฉันกลับมากำหนดรู้ลมหายใจด้วยความพอใจจะสร้างความตั้งมั่นเฉพาะวินาทีนั้น เมื่อจิตละเอียด ฉันก็ไม่เผลอหลงใหลติดใจความละเอียด แต่มีสัมปชัญญะรู้ชัดว่าจิตละเอียดประณีตก็แค่ภาวะหนึ่ง แม้ไม่เห็นขณะแห่งการดับ แต่ก็หยั่งรู้ว่าสภาพแบบนั้นไม่เที่ยง มีอันต้องเสื่อมสลายลงเป็นธรรมดาในอนาคต การหยั่งรู้นี้ต่างกับขณะคิดๆเอาว่าเดี๋ยวมันต้องดับ เพราะจิตอยู่ในวาระแห่งการมีสัมปชัญญะรู้ชัด กับทั้งเคยผ่านประสบการณ์เห็นรอยต่ออันเป็นขณะแห่งการแปรสภาพจิตมาหลายหนจนเจนใจแล้วด้วย
ฉันคิดว่าองค์ที่ ๖ ของโพชฌงค์ คือสมาธิ-ความตั้งมั่นของจิต กับองค์ที่ ๗ ของโพชฌงค์ คืออุเบกขา-ความวางเฉยในจิต บังเกิดขึ้นแล้ว แต่สัดส่วนอ่อนแก่หรือบริบูรณ์เพียงใดนั้น คงยังต้องอาศัยการเปรียบเทียบกับการปฏิบัติที่ยิ่งๆขึ้นไปกว่านี้
ฉันได้ข้อสรุปอันมีค่าหลายประการ แต่ประการสำคัญที่อยากบันทึกไว้เหนือสิ่งอื่นใด คือถ้าจะให้องค์สุดท้ายของโพชฌงค์ปรากฏนั้น ต้องปฏิบัติสติปัฏฐานในหมวดจิตดีๆ รู้จักจิตประเภทต่างๆทั้งต่ำและสูง ทั้งหยาบและประณีต มีแต่ความเห็นว่าสภาพจิตหนึ่งเกิดแล้วต้องเคลื่อนจากความเป็นเช่นนั้น ไม่เพลินเผลอหลงไปว่าสภาพจิตใดน่ายินดี ควรแก่การปลาบปลื้ม อุเบกขาในโพชฌงค์เกิดขึ้นเพราะความเห็นอนิจจังบ่อยจนชิน มิใช่เกิดขึ้นเพราะจิตตั้งมั่นวิเศษสุดแล้วแต่อย่างใด
 
วันที่ ๘: ฌาน
คืนวันศุกร์ฉันงีบสั้นๆแค่เดี๋ยวเดียว จิตตื่นโพลงสว่างไสวแม้ขณะกำลังหลับ ฉันรู้สึกถึงพลังของจิต รู้สึกถึงพลังขับแห่งสติที่ทรงกำลัง พอใจจะมีความรู้ พอใจจะสอดส่องเข้ามาในขอบเขตกาย เวทนา และสภาวะต่างๆของจิต สิ่งใดปรากฏชัดในขณะหนึ่งๆก็ดูสิ่งนั้น โดยไม่ตั้งแง่รังเกียจว่าหยาบหรือละเอียด ไม่มาดหมายว่าฉันจะต้องดูของละเอียดอย่างเดียวเพื่อความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น เพราะตระหนักว่าจิตอาจก้าวหน้าแล้วถอยหลังได้ตลอดเวลา ถ้าถอยหลังแล้วไม่กำหนดสติรู้ของหยาบให้เสมอระดับกัน ก็เท่ากับปล่อยจังหวะนั้นทิ้งเปล่า เพราะแม้พยายามรู้ของละเอียดเกินตัวก็ไม่อาจรู้ได้อยู่ดี
เช้านี้ลมหายใจปรากฏเป็นลำชัด สว่างไสว เป็นสัมผัสทางใจที่เป็นจริงเป็นจังราวกับตาเห็นสายน้ำตก หรือเหมือนเห็นงูแก้วเลื้อยเข้าเลื้อยออกผ่านโพรงว่างกว้างขวาง เห็นทันกระทั่งหัวกับปลายมีลักษณะรีมน ส่วนลำมีลักษณะเป็นท่อบานๆ
ความสว่างชัดของวัตถุอันเป็นที่ตั้งของสมาธินั้น เท่าที่ฉันทราบมาคือนิมิตชนิดหนึ่ง ยิ่งแจ่มชัดสมจริงและตรงตามรูปพรรณสัณฐานที่แท้เพียงใด ยิ่งเป็นนิมิตทรงคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น ในระดับที่นิมิตแสดงสภาพอันปรากฏจริงนี้เรียกกันว่า ‘อุคคหนิมิต’ มีประโยชน์คือเป็นที่ตั้งที่แน่นอนของจิตได้ยืนยาว
ฉันเห็นลมหายใจโดยความเป็นอุคคหนิมิตมาเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่คมชัดเดี๋ยวเดียวแล้วจางลง ถ้าอยากเห็นอีกต้องเร่งกำลังใหม่ ไขความสว่างกันใหม่ด้วยอาการน้อมนึกดีๆ ไม่เค้นเกินไป แต่ก็ไม่ปวกเปียกเกินไป บางทีอุคคหนิมิตก็หายหนเป็นอาทิตย์ แค่รับรู้สภาพลมเข้าออกชัด และมีความเย็นนิ่งธรรมดาเท่านั้น
แต่ครั้งนี้ต่างไป ฉันรู้สึกถึงกำลังยิ่งใหญ่ คล้ายรถที่มีแรงม้าสูง ซ่อนขุมพลังไว้ใต้ปลายเท้า กดลึกลงไปเพียงใดก็เร่งเครื่องขึ้นได้มากเท่านั้น จนฉันเผลอไปอิ่มใจกับพลกำลังเหลือเฟือในตน กระซิบกับตนเองว่าผู้ยิ่งใหญ่ทางจิตเขาเป็นกันอย่างนี้เอง ทำให้รัศมีจิตกว้างก็ได้ เร่งแสงให้เจิดจ้าก็ได้ หรือแผ่อำนาจน่าคร้ามราวกับจักรพรรดิก็ได้
ทว่าพอทำจิตใหญ่ๆโตๆได้พักหนึ่งสติก็ผุดขึ้นเตือน ว่ามัวเล่นไร้สาระอะไรอยู่ การบังคับให้จิตเป็นไปตามต้องการนั้น คือการส่งเสริมความลำพอง เพิ่มเติมขนาดอัตตา พอกหนาเป็นกำแพงขวางมรรคผลเปล่าๆ เท่านั้นเองจิตก็เชื่องลง หันมาดูปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบเป็นเหตุเป็นผล นั่นคือเมื่อลมหายใจลากยาว สามารถรู้เห็นได้แช่มชัด จิตก็จะยิ่งผนึกแน่นเป็นปึกแผ่นมากขึ้นทีละน้อย
และเมื่อไม่ทำความสำคัญว่านี่คือลมหายใจฉัน นี่คือจิตฉัน แต่เห็นแบบเป็นเหตุเป็นผลว่าเพราะมีลมยาว สติจึงยาวตาม เมื่อมีสติยาว ความมั่นคงจึงต่อเนื่องนาน ไม่ได้มีความมั่นคงของจิตอยู่ก่อน ไม่ได้มีสติรู้ชัดอยู่ก่อน กับทั้งลมหายใจก็ไม่เที่ยง แม้ประณีตเพียงใดก็มาจากความว่างภายนอก แล้วต้องคืนกลับสู่ความว่างอีก และอีก จึงเกิดความตั้งมั่นในแบบที่วางเฉยในความตั้งมั่นนั้น
ฉันประคองสภาพตั้งมั่นวางเฉยพักหนึ่ง รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ จับต้องได้ ควบคุมได้ โดยที่สติรับรู้ความเป็นเช่นนั้นไม่ตก ไม่คลาดเคลื่อน ไม่แปรปรวนไปไหน ฉันดูไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
และแล้ววินาทีแห่งประสบการณ์ระดับมหัคคตกุศลก็อุบัติ เมื่อทุกอย่างคล้ายวูบลงเหมือนเครื่องบินตกหลุมอากาศกะทันหัน ความสว่างนวลลออหายไปเหมือนห้องที่เปิดไฟอยู่ดีๆแล้วมีใครมาปิดพรึบ ทั้งหมดเกิดขึ้นในหนึ่งอึดใจเล็กๆ จากนั้นก็ตามมาด้วยความสว่างโพลงมโหฬารอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิต จิตรวมลงเด่นดวงกว้างขวาง ฉายสว่างเหมือนการแผดรัศมีของอาทิตย์ยามเที่ยง เหมือนเข้าสู่มิติแห่งความหยุดอยู่กับที่ ไม่มีเวลา ไม่มีอากาศ ไม่มีตัวตน มีแต่ความตรึกนึกถึงสายลมหายใจยืดยาวและนุ่มลึกที่ผ่านเข้าออกกายอันบัดนี้คล้ายเป็นเครื่องสูบลมเข้าออกขนาดยักษ์
จิตหยุดเป็นหนึ่งเหมือนไม่มีเวลา แต่ลมหายใจยังทำตัวเป็นเหมือนเข็มนาฬิกาที่เดินไม่หยุด แต่ละลมเข้าออกคือมหาปีติ มหาปราโมทย์ ชุ่มฉ่ำซ่านเย็นไปทั้งกายใจ ประสบการณ์แรกเป็นความรู้สึกแปลก ไม่เคยสัมผัส ไม่เคยกระทั่งคาดมาก่อนว่ามีอะไรอย่างนี้ด้วย โลกใบเก่าเหมือนสาบสูญไป เหมือนฉันพลัดเข้ามาในเขตประสาทยักษ์ด้วยความตื่นตะลึงในสภาพอลังการ เพราะนึกว่าโลกนี้มีแต่กระต๊อบหลังเล็กๆที่เคยอยู่อาศัยมาชั่วนาตาปี ปราสาทมั่นคงกว่ากระต๊อบสังกะสีลิบลับปานไหน จิตอันเป็นฌานก็มีเสถียรภาพเหนือกว่าจิตสามัญลิบลับปานนั้น
นานเพียงใดฉันกำหนดไม่ถูก รู้สึกแต่ว่ากำลังถดถอยทั้งที่ยังเสพสุขยิ่งใหญ่ไม่อิ่มหนำ พอจิตกลับมาอยู่ในสภาพที่คิดได้ ความคิดแรกที่ผุดขึ้นในหัวคือเข้าใจแล้วว่าจิตแห่งพรหมเป็นอย่างไร เข้าใจแล้วว่าเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ในฌานสังยุตว่าผู้กระทำให้มากซึ่งฌานย่อมสงัดจากกาม และเป็นผู้โน้มน้อมไปสู่นิพพานดุจแม่น้ำคงคาต้องไหลบ่าไปสู่ทิศตะวันออก นาทีนั้นฉันไม่ไยดีในสภาพหยาบใน ‘โลกใบเล็ก’ เลยแม้แต่น้อย หากนิพพานเป็นธรรมชาติอันพระพุทธองค์และพระสาวกทั้งหลายสรรเสริญว่าเหนือกว่าสุขในฌาน ก็แปลว่าผู้เข้าถึงนิพพานย่อมไม่มีภาวะใดเปรียบอย่างแท้จริง
ตระหนักซึ้งในบัดนั้นว่าโลกปรากฏเป็นของเล็กจ้อยคับแคบก็ด้วยจิต โลกปรากฏเป็นของโอฬารพันลึกก็ด้วยจิต และบุคคลจะถึงที่สุดของโลก ถึงที่สุดทุกข์ ก็ด้วยจิตเช่นกัน
ฉันย้อนทบทวนสภาพที่เพิ่งผ่านมา ที่รู้สึกเหมือนไม่มีเวลาเพราะจิตเด่นดวงเป็นหนึ่ง รับรู้แต่กายและลมยาว ไม่รู้อย่างอื่น ไร้ความคิดแผ้วพาน ดุจเดียวกับท้องฟ้ายามปราศจากเมฆและฝูงนกจรผ่าน แต่ความจริงฌานจิตยังอิงอยู่กับเวลา มีความคลี่คลายไปจากความเป็นอย่างหนึ่งสู่ความเป็นอีกอย่างหนึ่ง หน้าที่ของผู้เจริญสติในหมวดจิตคือเปรียบเทียบด้วยความรู้ชัดว่าสภาพเมื่ออยู่ในฌานเป็นอย่างไร สภาพเมื่อออกจากฌานเป็นอย่างไร เมื่อเห็นแล้วๆเล่าๆจนชิน ก็เห็นเป็นธรรมดาว่าทั้งฌานจิตและสามัญจิตต่างก็เป็นธรรมชาติที่อาศัยเครื่องปรุงแต่ง ต้องแปรจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว
วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ฉันจะได้ปลีกวิเวก พอบ่ายก็ต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯแล้ว ฉันจดบันทึกไว้อย่างละเอียดลออว่ามานี่ได้อะไรบ้าง สุดท้ายที่สุดก็คือประสบการณ์ครั้งแรกในฌาน อันทำให้ความหวังใหญ่ในมรรคผลไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เหมือนคนเริ่มเห็นภูเขาอยู่ลิบๆ แม้ว่ายังไม่อาจสัมผัส ยังไม่อาจเข้าถึง แต่ก็มีกำลังใจแล้ว รู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนละจังหวัดหรือคนละประเทศกับภูเขาลูกนั้นอีกต่อไป
ทบทวนสมาธิสูตรเท่าที่จำได้ พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้พระสาวกเจริญสมาธิ เมื่อเจริญสมาธิจนมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง นี่คือคุณค่าประการสำคัญของสมาธิที่มีผลต่อการเห็นกาย เวทนา จิต และธรรม
ว่าถึงประเภทของสมาธิ พระองค์ตรัสว่าสมาธิภาวนามีอยู่ ๔ ประการ คือ
๑) สมาธิเพื่ออยู่เป็นสุขเฉพาะหน้า คือสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุฌาน ๔ ระดับ ระดับแรกเรียกว่าปฐมฌาน ถ้าว่าตามเกณฑ์กำหนดสติรู้ลมหายใจ ก็คือมีความตรึกนึกในลมหายใจอันยืดยาวสม่ำเสมอ มีอาการตามรู้แนบชัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ ประกอบกับมีมหาปีติ มีความสุขสงบเยือกเย็นอันเกิดแต่วิเวก จิตเด่นดวงมั่นคงยิ่งกว่าหินผา เรียกว่าเอกัคคตาจิต ปฐมฌานนี่เองคือภาวะที่ฉันเพิ่งผ่านมาเมื่อครู่ ระดับอื่นๆยิ่งละเอียดขึ้นไป เช่นทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน พระพุทธองค์ตรัสว่าความผ่องใสแห่งจิตนั้นเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะความตรึกนึกในลมหายใจสงบลง เหลือแต่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิดำรงอยู่ และเมื่อบำเพ็ญเพียรจนมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป ก็บรรลุตติยฌาน ถัดจากนั้นถ้าทำถึงระดับไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ก็เรียกว่าบรรลุจตุตถฌาน กล่าวโดยสรุปคือเมื่อตั้งอยู่ในสมาธิเช่นปฐมฌานแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเสวยสุขในปัจจุบัน ฤาษีชีไพรนอกพุทธศาสนาก็เข้าถึงกันได้ แต่พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้ทำ เพราะทำแล้วจะเกิดความรู้ชัดตามจริง ไม่ถูกครอบงำด้วยกาม พยาบาท ความง่วงงุน ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัยใดๆ กับทั้งย้ำชัดสำหรับผู้กลัวติดสุขในฌานไว้ในลฑุกิโกปมสูตร คือสุขอันเกิดจากฌานสมาบัตินั้น บุคคลควรเสพ ควรทำให้เกิดมี ควรทำให้มาก และไม่ควรกลัวในสุขนั้น
๒) สมาธิเพื่อได้ญาณทัสสนะ คือการน้อมจิตกำหนดให้รู้สึกว่ากลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจอันสงัดเปิดเผย ปราศจากเครื่องรัดรึงหุ้มห่อ อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่ เมื่อปีก่อนฉันเคยฝึกสมาธิแล้วเคลิ้มเห็นแสงสว่างเป็นดวงใหญ่ราวกับสปอตไลท์ฉายมาจากด้านหน้า ก็นึกว่านั่นคือความสว่างของจิตที่พระพุทธองค์ตรัสถึง แต่อันที่จริงไม่ใช่ จิตที่สว่างแจ้งราวกับกลางคืนและกลางวันเสมอกันนั้น สว่างโล่งตลอดจากภาวะในตัวเอง ไม่ใช่เห็นแสงฉายมาจากทิศไหน แต่เป็นแหล่งกำเนิดแสงเลยทีเดียว ความสุกสว่างในฌานทำให้ฉันเปรียบเทียบแล้วรู้ การอบรมจิตให้มีความสว่างตามความหมายของพระพุทธเจ้าคือให้กำหนดในใจอยู่ตลอดว่ากลางวันกับกลางคืนเสมอกันจนจิตปลอดโปร่งและสว่างโร่เป็นปกติ ไม่ใช่เฉพาะเมื่อเข้าฌานเท่านั้น
๓) สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ คือการรู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป รู้แจ้งอาการจำได้ที่เกิดขึ้น รู้แจ้งอาการจำได้ที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งอาการจำได้ที่ดับไป รู้แจ้งความตรึกนึกที่เกิดขึ้นรู้แจ้งความตรึกนึกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งความตรึกนึกที่ดับไป อาการที่จิตตั้งมั่นรู้เห็นอย่างนี้มากๆคือสมาธิเพื่อทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ หลังจากเจริญสติปัฏฐานมาระยะหนึ่งฉันถึงเข้าใจ ว่าแค่รู้อาการทางใจโดยความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนั้น ยังเป็นเพียงสมาธิขั้นที่ก่อให้เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่มีกำลังพอจะล้างกิเลสได้ขาด นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักจิตวิทยาหรือนักศึกษาบางคนตั้งสติดูความเกิดดับของอารมณ์ภายในแล้วจึงไม่บรรลุมรรคผล เพราะมุมมองของเขายังไม่ถ้วนสมบูรณ์ ยังขาดความเห็นที่ตรงจุด ซึ่งอันนี้จะเทียบได้กับสมาธิประเภทที่ ๔
๔) สมาธิเพื่อความสิ้นกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน คืออาการที่เกิดขึ้นเป็นปกติของจิต เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายใจ โดยทำความเข้าใจไว้แต่ต้นว่ากายใจนี้เป็นที่ตั้งของอุปาทาน กายใจนี้คือบ่อเกิดของความรู้สึกว่านี่เรา นี่เป็นเรา นี่ของเรา หากเห็นแต่ละองค์เกิดขึ้นแล้วต้องเสื่อมสลายลงเป็นธรรมดา ฐานที่ยืนของอุปาทานย่อมพังครืนลงหมดสิ้น และนั่นเองสมาธิประเภทนี้ที่สั่งสมจนสมบูรณ์แล้ว ย่อมทำหน้าที่ประหารกิเลสให้ขาดสูญไป ตามคำสัญญาที่พระพุทธองค์ประทานไว้แก่พระสาวกที่ดำเนินตามรอยบาทแห่งท่าน
สมาธิแต่ละประเภทไม่ใช่ถึงกันได้ง่ายนัก ยิ่งที่จะทำได้ครบทุกประเภทยิ่งหายาก แต่หากดำเนินตามขั้นตอนของมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยความเข้าอกเข้าใจ มีความอดทนไม่ด่วนหวังผลเกินกำลัง ภายในไม่กี่เดือนย่อมประจักษ์ผลบางอย่างที่ทำให้เห็นสัจจะความจริงลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ และถ้ามาถึงจุดที่แยกแยะได้ว่าเรากำลังทำสมาธิแบบใด ก็เป็นอันลืมได้เรื่องหลงทางไปนิพพาน
ฉันขับรถกลับกรุงเทพฯด้วยความรู้สึกของผู้สมหวัง ไม่เสียใจเลยที่ยังมาได้แค่ครึ่งทางสู่ดวงดาว การคว้าดาวไม่ได้นั้นใช่จะหมายความว่าดาวจะหนีหายไปไหน ดาวก็ยังแขวนรออยู่ที่เดิม การก้าวเดินไม่หยุดของเราเท่านั้นที่ทำให้เข้าใกล้ไปเรื่อยๆ ขอแค่ให้มั่นใจก่อนเถอะว่าเดินอยู่ในทางตรงจริงๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้รับรอง ความรู้สึกก็บอกตัวเองให้อุ่นใจราวกับได้มรรคผลมาแล้ว ทำนองเดียวกับคนมีพื้นฐานวิชาความรู้ตลอดสาย ผ่านการสอบเลื่อนลำดับชั้น ไต่สูงขึ้นมาเรื่อยๆขั้นต่อขั้น น้อยครั้งที่ย่ำกับที่ เห็นแต่ความคืบหน้าของตัวเองก็ย่อมเชื่อมั่นว่าพอถึง ‘ชั้นรับปริญญา’ ก็ต้องผ่านอีก เป็นหนึ่งในผู้ได้รับปริญญาวันยังค่ำ
 
วันที่ ๙: นิมิตสมาธิ
วันนี้ไปทำงานตามปกติ ทุกคนมองฉันด้วยสายตาประหลาด และฉันเองก็รู้สึกประหลาดเช่นกัน เดินเข้าบริษัทเหมือนภูเขาลูกย่อมๆ ขณะที่เห็นคนอื่นเหมือนต้นไม้ใบหญ้าหรือกรวดหินดินทรายเล็กจิ๋ว
พยายามเตือนตัวเองว่ากำลังจิตยิ่งใหญ่เริ่มพ่นพิษ เทียบเคียงจิตกับใครเห็นเขาเป็นเด็กน้อยตัวจ้อยไปหมด ความนิ่งอันเป็นเศษตกค้างของอำนาจฌานนั้นมีอานุภาพสูง เห็นผลถนัดหลายประการ แต่ประการสำคัญเมื่อต้องกลับมาข้องเกี่ยวกับมนุษย์ด้วยกันคือกลายเป็นผู้น่ายำเกรง ไม่มีใครกล้าต่อตาด้วย อย่างนี้เอง ผลข้างเคียงของการภาวนาดีๆ อาจยกระดับโมหะให้ประณีตขึ้น แต่ถ้ารู้ไม่ทันว่าจิตกำลังถูกโมหะครอบ โมหะก็จะแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆในเรื่องนั้นๆจนดิ้นยาก ใครเตือนก็ไม่ฟัง แม้แต่ตัวเองพยายามสำนึกก็แสนยาก เพราะจิตที่ถูกโมหะปิดบังมานานนั้นยากที่แสงปัญญาจากทิศไหนๆจะส่องทะลุเข้ามาได้
ฉันปรับสติเข้าสู่ภาวะรู้ตัวทันที รู้ว่าขณะนี้จิตถูกโมหะครอบ เป็นโมหะชนิดหลงตัว ถือดีมีมานะ สภาพนั้นหนักคล้ายผ้านวมหนาๆโปะอยู่บนหัว แต่พอรู้ความหนักนั้นตามจริงว่าเป็นโมหะชนิดหนึ่ง สติก็คืนเข้าฐานที่มั่น คือกลับมารู้ว่ากำลังหายใจเข้า และคืนลมหายใจกลับสู่ความว่างภายนอก แล้วรู้ว่ากายกำลังอยู่ในรูปอิริยาบถเดิน รู้สึกถึงฝ่าเท้ากระทบพื้น รู้สึกถึงขาที่ก้าวสลับ รู้สึกถึงสองแขนที่แกว่งตามสบาย และรู้สึกถึงศีรษะที่ตั้งตรง
โมหะหนักๆแปรไป แต่สติกำลังทำงานคล่อง จึงเห็นละเอียดว่าโมหะหนักแปรไปแล้วก็จริง แต่ยังเหลือโมหะเบาๆตกค้าง นั่นคือรู้สึกถึงราศีสง่าที่ฉายออกมาจากจิตอันทรงภูมิ สะท้อนออกด้วยท่วงทีเดินเหินน่าเกรงขาม แต่เมื่อสติเท่าทันว่านั่นเป็นใยโมหะที่ถักทอคลุมจิตอยู่บางๆ สติก็ไปจับที่อิริยาบถอันงามสง่าล้วนๆ จนความสง่าหายไป เหลือแต่อิริยาบถเดินอันจะต้องแปรเป็นอิริยาบถนั่งเมื่อถึงโต๊ะทำงาน ไม่เห็นจะมีสาระอะไรอยู่ในความสง่าของสัตว์สองขาเยี่ยงมนุษย์ เดินแล้วก็เปลี่ยนเป็นนั่ง นั่งแล้วก็เปลี่ยนเป็นยืน ยืนไม่ได้ทนนานเดี๋ยวก็ต้องล้มลงนอน นี่คือสิ่งที่สติอันคมชัดรู้เห็นอยู่ตามจริง
เข้าห้องประชุมเช้านี้ด้วยจิตที่อ่อนน้อม แต่ก็เห็นโมหะปรากฏวูบๆวาบๆตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนที่ต้องสบตาใครแล้วคนนั้นเกิดอาการประหม่า ฉันรู้สึกถึงกระแสแรงสูงจากจิตตานุภาพตนเองที่เหนือกว่าทุกคนในห้องประชุมรวมกัน คนในโลกมีจิตโอนเอนอ่อนไหวง่ายเหมือนต้นไมยราบถูกกระเทือนหน่อยก็ลู่หลุบหุบราบ หรือต่อให้พวกมีอำนาจล้นฟ้าอย่างประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการทหารของประเทศ ก็มีจิตตั้งมั่นได้ระดับต้นกล้วย เจอนักมวยแข้งมหากาฬอย่างราคะ โทสะ โมหะเตะฉาดเดียวก็ขาดกลาง
แต่สำหรับผู้ทรงฌานนั้น ความตั้งมั่นอยู่ในระดับโพธิ์พฤกษ์ที่มีลำต้นหนา กิ่งก้านสาขาแผ่ออกให้ร่มเงากว้างไกล ยากจะทำให้สั่นสะเทือนด้วยพายุหรือแม้แต่ขวานใหญ่ จะโค่นได้ต้องมีกำลังมหาศาลจริงๆ
ฉันยังไม่จัดเป็นผู้ทรงฌาน อย่างมากเป็นได้แค่ ‘ผู้ที่เพิ่งแตะๆต้องๆฌานนิดหน่อย’ เพียงทำงานตามประสาคนในโลกได้วันเดียว สำรวจอีกทีก็พบว่าจิตใสๆขุ่นมัวไปเสียแล้ว เฮ้อ! อย่าให้ต้องถึงขนาดกลับไปนับหนึ่งใหม่ก็แล้วกัน
ที่พระพุทธองค์เปรียบฌานเหมือนเด็กอ่อนที่ล้มง่าย ต้องคอยประคบประหงมนั้นจริงยิ่งกว่าจริง ฉันสังเกตจิตอยู่เรื่อยๆ เพิ่งรู้ว่าการต้องสื่อสารกับคนจิตขุ่นทั้งหลายในโลก ก็ทำให้กระแสของเราขุ่นตามไปบ้างไม่มากก็น้อย ขอเพียงใจเข้าไปสัมผัสกับพวกเขา รู้สึกถึงอัตตาอันหนาแน่นของพวกเขา เท่านี้ก็เริ่มเน่าได้เหมือนแอปเปิ้ลปอกเปลือก เจออากาศสองสามนาทีก็ค่อยๆช้ำลงเรื่อย ควรมี ‘เปลือก’ คือสติกั้นไว้ก่อนเป็นด่านแรก
การต้องอยู่ในโลก แล้วคิดกั้นจิตไม่ให้ไปกระทบโลกเต็มๆนั้น ถ้าคิดตามธรรมดาก็เหมือนเรื่องน่าเหนื่อย แต่เมื่อเสพผลหวานชื่นแล้วสักครั้ง ก็จะรู้ว่าควรยอมเหนื่อยไปทำไม
คืนนี้ฉันเพียรเลียนแบบเส้นทางการเข้าถึงฌานของเมื่อวาน แต่นั่งสลับเดินอยู่เกือบ ๓ ชั่วโมงก็ไม่สำเร็จ จนชักเริ่มหงุดหงิดงุ่นง่าน ไหนล่ะแรงดึงดูดทรงพลัง ไหนล่ะความสะอาดว่าง ไหนล่ะความตั้งมั่นไม่เคลื่อนง่าย ทำไมหายไปเร็วนัก แค่ทำงานวันเดียว?
เที่ยงคืนเศษ ฉันกำหนดเลิกภาวนา ตามจิตตัวเองไม่ทันก็ปล่อยไปตามสภาพ ยอมรับว่าโมโห โมโหโลกทำไมต้องวุ่นวาย คนจะมีความสุขซะหน่อย โมโหตัวเองทำไมรักษาฌานแค่นี้ไม่ไหว ชั่วข้ามคืนก็เสร็จมัน
อ้าว! ตายล่ะ! ไหงคิดอย่างนี้เสียแล้ว นี่แปลว่าอะไร ฉันเสียดายเพราะติดสุขในฌานเหมือนคนติดยากล่อมประสาทแล้วไม่ได้เสพตามเวลา หรือว่าเสียใจที่ถอยหลังไม่อาจรู้ชัดรุกคืบเข้าไปในแดนกิเลส หรือแค่เหตุผลตื้นๆคือรู้สึกว่าเคยเก่งแล้วกลับกลายเป็นไม่เก่ง?
แหงนหน้ามองฟ้ามืด จิตใจปลอดโปร่งขึ้นจากสายตาที่ทอดยาว รู้ทั้งรู้ว่าเข็มทิศเริ่มชี้ไม่ตรงทาง แต่ก็เข้าข้างตัวเองว่าเรายังใฝ่ดีแบบที่พระพุทธเจ้าสนับสนุนนี่นา เพียรเพื่อฌานใครว่าไม่ดีเล่า? เสียหน่อยเดียวตรงที่เพียรแล้วล้มเหลวก็หงุดหงิดหน่อยเท่านั้น
เมื่อจับความทุกข์ที่ก่อตัวขึ้นได้ ก็รู้สึกทุเลาเบาบางลง นี่ก็เป็นทุกขเวทนาที่ก่อตัวขึ้นจากแรงปรารถนาในความสงบสุข เป็นทุกขเวทนาประเภทหนึ่ง เมื่อเท่าทันได้ก็เห็นสักแต่เป็นสภาพของมันเช่นนั้น ต้องเสื่อมดับไปเองเป็นธรรมดา แค่ไม่เอาเชื้อมาต่อ ไม่นำฟืนมาเติม คือไม่คิดถึงความล้มเหลวในการทำสมาธิ กำหนดสติรู้สภาพของทุกข์อันเกิดจากการไม่ได้ฌานตามปรารถนา ก็เห็นว่าทุกข์ไม่อาจตั้งอยู่ได้เมื่อขาดเหตุ ต้องสลายลงเป็นธรรมดา สิ่งที่ตามมาคือปีติสุขอันเกิดจากสัมปชัญญะรู้ความดับไปของทุกขเวทนา
ฉันยืนมองดาวนิ่งๆ ไหนๆก็รู้ลมหายใจจนเป็นฌานไม่ได้ ประชดด้วยการเล่นสมาธิแบบอื่นเสียเลย ฉันหลับตาลงเพื่อหลบผัสสะทางตา ถ้าลืมตาฉันจะถูกสิ่งแวดล้อมบีบให้เชื่อว่านี่เป็นเวลากลางคืน เป็นเวลาพักผ่อน หรือเป็นเวลานอนหลับให้สบาย แต่เมื่อหลับตาลง อิทธิพลภายนอกก็น้อยลง ฉันจะอธิษฐานจิตน้อมใจให้เชื่ออย่างไรขึ้นอยู่กับจินตนาการแล้ว
ลากลมหายใจยาว ระบายลมหายใจยาว ด้วยจิตใจผ่อนพัก ไม่ใช่ด้วยเจตนารวมจิตเพื่อแปลงสภาพจากดวงเล็กเป็นดวงใหญ่ ความเย็นกายจากลมดึกและความสบายใจที่หวังน้อย ทำให้จิตสงบตั้งมั่นได้ส่วนอย่างรวดเร็ว แม้ห่างไกลจากฌานหลายร้อยกิโลเมตร อย่างน้อยก็เป็นความตั้งมั่นชั่วคราวที่พอใช้งานได้ตามปรารถนา
ฉันน้อมใจเชื่อว่าท้องฟ้ายามนี้เป็นฟ้าสลัวใกล้อรุณ แค่นึกนิดเดียวก็เหมือนใจเชื่อว่าเบื้องหน้าภายนอกคือฟ้าใกล้รุ่งจริงๆ ฉันไม่ได้เพ่งไกลออกไป ไม่ได้บังคับสภาพภายนอกว่าขอจงเป็นฟ้าสาง ทุกอย่างที่จัดการคือความเชื่อของตัวเองเท่านั้น และเพื่อความแน่ใจว่ายังประคองการนึกอย่างต่อเนื่อง ก็ใช้สติรู้ลมหายใจเป็นเครื่องช่วยเตือน คือหายใจเข้าออกก็สำรวจด้วยความรู้สึกสบายๆทุกครั้งว่ายังมีอาการน้อมนึกหรือไม่ ลมหายใจใดรู้สึกว่าจิตบีบลงมาเป็นก้อนความคิดคล้ายลูกบอลไส้ตัน ก็เพิกอาการนึก ทอดตาตรงสบายๆ รู้ลมหายใจเข้าออกจนปลอดโปร่งแล้วค่อยน้อมนึกถึงทิวากาลใหม่
อุบายวิธีแต่ละอย่างของพระพุทธเจ้า ถ้าลองทำก็เห็นผลเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ อย่างเช่นฉันเคยกำหนดให้จิตสว่าง มันก็ไม่สว่างตามใจนึกง่ายๆ แต่พออธิษฐานทำใจให้รู้สึกว่ากลางคืนเหมือนกลางวันเดี๋ยวเดียวเท่านั้น จิตก็สว่างกว้าง มีความเปิดเผย ไร้ไส้ตัน ไร้สิ่งห่อหุ้มรัดรึง สมนัยกับพุทธพจน์เปี๊ยบ
รอบด้านเหมือนสว่างจ้าและอบอุ่นขึ้นทุกทีราวกับเป็นกลางวันจริงๆอย่างนั้นแหละ สว่างเป็นจริงเป็นจังจนฉันฉงนสนเท่ห์ว่านี่ตกลงโลกกำลังอยู่ในเงามืดหรือหันออกสู่พระอาทิตย์กันแน่ จิตที่มีความตั้งมั่นทำอะไรได้พิสดารหลากหลายอย่างนึกไม่ถึง พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้อธิษฐานกลางคืนเป็นกลางวันให้มากแล้ว ย่อมมีจิตที่ตื่นตลอด ขยันภาวนาได้โดยไม่ง่วงเหงาหาวนอน ฉันก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆเช่นกัน ความสว่างยิ่งแรง ยิ่งกว้าง ยิ่งชัดเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งขาวโพลนขึ้นเป็นลำดับ ให้หลับสบายๆกับวิ่งรอบหมู่บ้านตอนนี้ ฉันสู้ยอมเลือกอย่างหลังจะดีกว่า
เมื่อความสว่างตั้งมั่นเข้าส่วน และราวกับลืมตาเผชิญแสงขาวรอบทิศ กระแสจิตก็แผ่กว้างเหมือนพร้อมรับรู้เหตุการณ์ในโลกได้ไม่ติดขัด ทำนองเดียวกับที่จิตตื่นพร้อมจะทำงานเวลาอยู่ในออฟฟิศ ผิดกันคือกระแสรู้ในบัดนี้คล้ายพร้อมทำงานไม่จำกัด อธิบายยาก
เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ฉันจำเสียงโทรศัพท์ประจำห้องนอนของฉันได้ นี่นับเป็นน้อยครั้งที่ฉันลืมปิดสัญญาณโทรศัพท์หลังสามทุ่ม แต่การลืมของคนเราบางครั้งก็มีความหมาย เพราะอาจเป็นช่องทางเข้ามาของอะไรบางอย่างหรือใครบางคนที่มีความสัมพันธ์กับเราคั่งค้างให้สะสาง
ในจิตอันสว่างแจ้งจางปางของฉันนั้น เสียงโทรศัพท์ไม่ใช่ปลุกประสาทหูให้ทำงานอย่างเดียว แต่ยังกวนกระแสจิตให้ก่อรูปนิมิตขึ้นแจ่มชัด เป็นใบหน้าคนรักเก่าเมื่อหลายปีก่อนที่ห่างหายเพราะเธอไปเรียนปริญญาโท
ฉันลืมตาขึ้น รู้สึกว่าความรับรู้นั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง ทำนองเดียวกับคนธรรมดาได้ยินเสียงตะโกนจากหน้าบ้านว่า “เก็บค่าบริการขนขยะด้วยคร้าบ” แล้วเห็นภาพเด็กเก็บเงินคนเดิมในใจอย่างไรอย่างนั้น ผิดแต่นี่ไม่ใช่เสียงเรียกของคนรักเก่า ทว่าเป็นแค่สัญญาณโทรศัพท์ต๊อดๆเท่านั้น!
หยิบกระบอกโทรศัพท์กรอกเสียงฮัลโหล เสียงจากต้นสายคือหวานใจคนเก่าของฉันจริงๆ ฉันไม่แปลกใจอย่างน่าแปลกใจ ฟังเสียงทักทายนุ่มนวลมีไมตรีของเธอด้วยความยินดีในฐานที่ไม่พบเจอกันเสียนาน ฉันกับเธอจากกันด้วยมิตรภาพ จึงไม่จำเป็นต้องมีทิฐิมานะใดๆเวลาใครคิดถึงแล้วเป็นฝ่ายโทร.หา
เธอขอโทษที่โทร.มาเสียดึก แต่บอกว่าเอาอัลบัมเก่าออกมาเปิดเล่น เห็นรูปที่ถ่ายคู่กันก็คิดถึงฉันจนทนไม่ไหว อยากคุยด้วยเดี๋ยวนี้ ฉันก็ว่าโอเค ไม่เป็นไร เพราะเผอิญยังไม่ง่วง เธอชวนคุยโน่นนี่ รื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ฉันก็โต้ตอบด้วยความเต็มใจ กับทั้งเป็นฝ่ายชวนคุยบ้างเพื่อไม่ให้เธอเก้อเขิน ลงท้ายหลังจากครึ่งชั่วโมงผ่านไป เธอก็เล่าเสียงเรื่อยๆว่าเลิกกับแฟนที่รู้จักกันระหว่างเรียนปริญญาโทในต่างประเทศหลายเดือนแล้ว
ฉันไม่แน่ใจว่าตัวเองดีใจหรือเฉยเมย รู้แต่ว่าคุยกับเธอต่อได้สนิทใจขึ้น และเมื่อเธอเลียบเคียงถามว่าตอนนี้ฉันมีแฟนใหม่หรือยัง ฉันก็ตอบว่าทำงานจนไม่มีเวลาเหลือสำหรับลองคบใคร ความจริงฉันเกือบตอบแบบปิดประตูสัมพันธ์ที่รู้ๆว่าเธออยากขอสานต่อ เช่นตอนนี้ฉันอยากอยู่สงบๆคนเดียวมากกว่าจะคบใคร แต่ด้วยเกรงใจและไยดีต่อเธออยู่มาก จึงตอบเช่นนั้น ซึ่งฟังแล้วแค่ให้รับรู้ว่าต่อจากเธอฉันยังไม่มีเวลาให้ใครอื่น
ครึ่งชั่วโมงต่อมาเธอก็ชวนฉันกินข้าวเย็น ฉันงงๆและอึกอักไม่รู้จะตอบอย่างไร นิสัยขี้เกรงใจหนึ่ง กับความรู้สึกยินดีอยู่ลึกๆหนึ่ง ทำให้ปฏิเสธไม่ออก ทั้งที่ใจบอกตัวเองว่าถ้าขืนรับนัดอาจมีผลกระทบชนิด ‘เสียงานใหญ่’ ได้ ถ่านไฟเก่าที่ไม่เคยมอดดับอย่างแท้จริงนั้น เอาอะไรพัดเข้าไปหน่อยเดียวไฟก็กลับลุกโพลงยาวแน่ เชื่อขนมกินได้เลยว่าทุกอย่างไม่จบง่ายๆด้วยวิธีแกล้งหายต๋อมไปเฉยๆ
พอเห็นฉันเงียบครู่หนึ่งแล้วทำเสียงเอ้อๆอ้าๆ เธอก็บอกว่าเข้าใจ ไม่เป็นไร รบกวนฉันมากแล้ว คงขอลาแค่นี้ หางเสียงน่าสงสารเสียจนกระทั่งใจฉันอ่อนยวบ ลืมคิดถึง ‘งานใหญ่’ อย่างสนิท ตกปากรับคำด้วยอาการกัดฟันเล็กๆ จนเธอถามย้ำว่าเต็มใจหรือเปล่า ฉันก็กัดฟันตอบอีกว่าเต็มใจ
พอวางสายฉันก็มานั่งถอนใจเฮือกบนเตียง ความรู้สึกปั่นป่วนไปหมด เมื่อครู่ทำไมฉันไม่ใช้ประโยชน์จากนิมิตสมาธิ หากรู้ว่าเป็นเธอ ก็แค่แกล้งไม่รับเท่านั้น ตอนนี้สายไปแล้ว อย่างไรพรุ่งนี้ก็ต้องทานข้าวเย็นกับเธอตามนัด
เรื่องเหลือเชื่อในโลกมีมากนัก ได้ยินมาเยอะเรื่อง ‘บังเอิญมีเครื่องขวางมาสกัด’ ขณะกำลังรุดหน้าอยู่ในเส้นทางสู่มรรคผล คราวนี้เจอเข้ากับตัวเองแล้วรู้สึกคล้ายอยู่ในห้วงฝันหรือเกมที่มีการหลอกล่อด้วยเล่ห์เพทุบายแยบยลเป็นชั้นๆ คล้ายให้หาทางออกจากเขาวงกตซับซ้อนไม่พอ ยังมีด่านดักต้อนหน้าต้อนหลังให้วกกลับไปวนในเขต ‘หลงง่าย’ และต้อง ‘ติดนาน’ อีกต่างหาก คะเนได้ล่วงหน้าเลยว่าถ้ามีแฟนตอนนี้ เวลาสำหรับนั่งสมาธิและเดินจงกรมเป็นอันถูกเบียดบังไปจนหมดสิ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะรู้นิสัยขี้อ้อนของแฟนเก่าคนนี้ดี เธอเป็นคนคุยเก่ง ความรู้มาก หาเรื่องจ้อได้ตลอดสองชั่วโมงไม่ซ้ำ
หนักใจ แล้วก็หลับทั้งครุ่นคิดกังวลเป็นครั้งแรกในช่วงระยะเวลาอันแสนวิเศษที่เจริญสติปัฏฐานจริงจัง
 
วันที่ ๑๐: ราคะของจริง
ตื่นเช้านี้ฉันสืบทอดอาการหนักใจมาจากเมื่อคืน แม้นั่งสมาธิได้ค่อนข้างดีตามเคย แต่ก็ติดความกังวล โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าสมาธิและหลังออกจากสมาธิ เหมือนจิตมีน้ำมันเหนอะหนะเคลือบอยู่ ตอนเดินจงกรมก็มีแต่ใบหน้าคนรักเก่าฉายอยู่ในหัว ถ้าจิตกำลังมีสมาธิดี หากถูกดึงดูดให้ปักติดกับความคิดถึงใครนิดเดียว มโนภาพของคนนั้นจะปรากฏแจ่มชัดราวกับสัมผัสได้จังๆ และสัมผัสเป็นจริงเป็นจังนั้นก็ก่อให้เกิดความรวนเรเหหันได้มากเหลือเกิน โดยเฉพาะถ้ามีสายใยพิศวาสเป็นตัวผูกเชื่อมระหว่างใจกับมโนภาพ
ฉันพยายามพิจารณาโดยความเป็นจิตมีราคะ แต่พอรู้สึกถึงลักษณะราคะอันมีความอ่อนหวาน อบอุ่น อ่อนโยน และเร่งเร้าให้จิตจมปลักแช่อิ่มในอารมณ์นั้น แทนที่สติจะเรืองแสงเป็นปัญญาเห็นราคะดับไปอย่างเคย กลับกลายเป็นความรู้สึกสัมผัสคนรักแจ่มกระจ่าง ขนาดที่คล้ายสำเนียงเสียงและกลิ่นกายของเธอมากระทบประสาทสัมผัสอยู่ตรงนี้ ไม่เพียงราคะจะดับ แต่กลับทวีขึ้นเป็นสองเท่าสามเท่า
ฉันขบฟันนิดหนึ่ง ลักษณะอันเป็นยางเหนียวหนืดเข้มข้นของราคะเป็นอย่างไร เพิ่งประจักษ์ในบัดนี้ หลังจากที่เคยชินกับจิตอันผ่องแผ้วมาเนิ่นนาน จึงได้ข้อเปรียบเทียบชัดราวกับสองมือแห้งถูกันสบายๆอยู่ดีๆไม่ชอบ กลับเอาไปจุ่มกาวแล้วมาประกบกันให้เหนอะเหนียวเล่นเสียอย่างนั้น
ทั้งวันทำงานด้วยความรู้สึกปั่นป่วน ทั้งดีใจอยากเจอเร็วๆ ทั้งกลัดกลุ้มอยากขอเลิกนัด สองความรู้สึกตีกันเป็นคนละข้างราวกับไม่ใช่ความรู้สึกของคนๆเดียว
เมื่อนัดก็ต้องเจอ พอถึงเวลาเจอเข้าจริง ความรู้สึกฝ่ายต้านก็มลายหายไปจนสิ้น เธอดูดี มีเสน่ห์กว่าเดิมเสียอีก ทั้งท่วงทีกิริยา ทั้งวาจาฉอเลาะ ราวกับไปฝึกปรือวิทยายุทธ์มาจากสำนักไหนสักแห่งจนเข้าขั้นไร้เทียมทาน เล่นเอาฉันงงงวยหลงมนต์เสน่ห์ไปหมด ไม่ว่าเธอจะทำอะไร พูดคำไหน ถูกใจเหลือเกิน
เราอาศัยสัมพันธภาพอันเคยสนิทชิดเชื้อ เดินเกาะแขนกันไปดูหนังรอบดึกโดยไม่เคอะเขินกันและกัน ฉันสนุกและหัวเราะไปกับภาพยนต์บนจอเงินเต็มที่ พอมาถึงกลางเรื่องก็นั่งกะพริบตา บอกตัวเองว่าฉันกลับกลายเป็นคนธรรมดาไปแล้ว ความชุ่มชื่นในฌาน ความเบิกบานในสมาธิ ความสว่างไสวแห่งปัญญารู้ความเกิดดับ ล้วนกลายเป็นภาวะห่างไกลจนเอื้อมไม่ถึง เหมือนครั้งเพิ่งเริ่มต้นสงสัยชีวิตทีเดียว
ราคะของจริงฉุดสติดิ่งลงเหวได้รวดเร็วยิ่งกว่ามือยักษ์กระชาก อดีตคนรักที่วันนี้ทำท่าจะหวนกลับมาเป็นคนรักปัจจุบันทำให้ฉันรู้ซึ้งถึงก้นบึ้งสัจจะ นั่นคือถ้าหากมีกายสัมผัสของคนที่เราพิศวาสเป็นเครื่องกำเนิดราคะ จะไม่มีสติระดับไหนๆเอาชนะ หรือเห็นเป็นของเกิดแล้วต้องดับลงได้เลย เปรียบเสมือนน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เพราะกายมนุษย์อันเป็นปฏิภาค เป็นเพศตรงข้ามกันนั้น มีแรงดึงดูด มีพลังเหนี่ยวนำให้จิตหลงติดอย่างต่อเนื่องเนิ่นนานโดยไม่ต้องพยายามทำอะไร ขณะที่การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องอาศัยกำลังใจพื้นฐานเป็นอย่างมาก และถ้ากำลังใจขั้นพื้นฐานดังกล่าวถูกครอบงำไว้เสียแต่แรกแล้วด้วยอำนาจความรัก ก็ป่วยการจะพยายามยื้อสติไว้
อย่างนี้เอง การออกบวชเพื่อมุ่งมั่นหลุดพ้นจึงมีกฎห้ามคลุกคลีกับเพศตรงข้ามอันเป็นข้าศึกพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าถ้าอยากรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้สบายๆ ไม่ควรเห็นสตรีเลยดีที่สุด หรือถ้าเห็นก็อย่าพูดด้วย หรือถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยก็ให้มีสติ เพื่อเป็นการสกัดกั้นราคะไว้ไม่ให้รั่วรดถึงจิต แต่นี่ฉันทั้งเห็น ทั้งพูด ทั้งไม่มีสติสกัดกั้นด้วยข้อห้ามใดๆแบบวินัยสงฆ์ สมบัติทางใจเก่าๆเป็นอันสาบสูญสิ้นในพริบตา
กลับมาสู่โลกเก่าที่มีความหวานอ้อยอิ่งเป็นเครื่องเชื่อมให้ติดใจ ฉันรู้สึกฝันเคลิ้ม ตาลอยคิดถึงอนาคตของการอยู่ร่วมกัน ฉันกับเธอเข้ากันได้ดี และเหมือนไม่มีเหตุผลใดๆต้องยับยั้งความสัมพันธ์ไว้ ในเมื่อเดี๋ยวนี้เธอมีงานทำ และเท่าที่ฟังเธอเล่าก็ดูท่าจะก้าวหน้าไปด้วยดี
ไม่กี่ชั่วโมงทำให้คิดไกลได้ขนาดนั้น ยามรัก จิตจะมีปีติสุขเบิกบานไปอีกแบบ ไม่ชุ่มฉ่ำล้ำลึกเหมือนสมาธิ แต่ก็ชื่นมื่นรื่นใจกว่ารสไหนๆ เหมือนมาถึงความสมหวังยิ่งใหญ่ เหมือนมีคำตอบว่าเราจะอยู่ในวันนี้เพื่อใคร เหมือนเสกสวรรค์ให้ปรากฏจับต้องได้ด้วยความปรองดอง ชีวิตถูกบังคับให้มีภาวะคู่ และการมีภาวะคู่ที่เข้ากันได้ก็ใช่จะหาง่ายๆ เมื่อเจอแล้วไยต้องละทิ้งเสีย?
แยกย้ายกลับบ้านเกือบห้าทุ่มโดยยังไม่มีใครหายเพลิน ยังสนุกและอยากคุยกันต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดแรง แต่ความรับผิดชอบของแต่ละคนบังคับให้ต้องฝืนใจอำลาทั้งอาลัย
กลับถึงบ้าน ฉันอาบน้ำแล้วสำรวจจิตใจตัวเอง โล่งอกเล็กน้อยเมื่อพบว่ายังมีกำลังเหลือพอจะนั่งสมาธิเดินจงกรมบ้าง แม้สักน้อยก็ยังดี แต่พอนั่งแค่สองนาที เสียงสัญญาณโทรศัพท์ก็ดังเรียก ฉันนึกไม่ถึงว่าจะมีใครโทร.มาเอาป่านนี้มากกว่าจะลืมปิดเสียงไว้อย่างเมื่อคืน
เธอนั่นเอง แฟนเก่าที่กลายเป็นแฟนใหม่ คนรักของฉันที่เคยพักยกไปเป็นคนรักของคนอื่น เธอบอกคำแรกทั้งสะอื้นว่ารักฉัน และขอโทษที่เคยแพ้ความเหงา ต้องมีคนอื่น ต้องทำให้ฉันเสียใจ ต้องทำให้ความรักระหว่างเราสะดุดไปชั่วขณะหนึ่ง ฉันน้ำตาซึมและสะเทือนใจแรง ตอบเธอว่าไม่เป็นไร สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องธรรมดา ฉันไม่เคยถือโทษโกรธเธอเลย เข้าใจเสมอว่าไปเรียนต่อแล้วต้องเลิกกันนั้น ใครๆเขาก็ประสบกันทั้งเมือง ความเหงามีตัวตนชัดเจนกว่าความรัก และมันไม่ใช่บาปของใครที่ต้องแพ้ความเหงาอันโหดร้ายขณะที่ความรักอยู่ไกลจนกลายเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้
ปลอบเธออยู่เกือบสองชั่วโมง ปล่อยให้อารมณ์อ้อยอิ่งไม่จำกัด กระทั่งเธอเป็นฝ่ายเกรงใจและขอโทษขอโพยที่พลอยทำให้ฉันนอนผิดเวลาขนาดนี้ ฉันตอบว่าไม่เป็นไรอีก ความรักยามหวานซึ้งดูเหมือนจะทำให้คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ ติดปากเป็นอัตโนมัติดีจริง ทั้งที่ควรพ่วงท้ายเสียหน่อยว่า ‘กรุณาอย่ามีครั้งหน้า’ แต่ความรักก็ห้ามไว้ ไม่ยอมให้ปริปากพูด
สรุปคือวันนี้เป็นวันแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง แต่ขอโทษที ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทุกอย่างล้มพับพังพาบลงไปอยู่ที่ฐาน ไม่มีอีกแล้วสมาธิ ไม่มีอีกแล้วสติ ไม่มีอีกแล้วความมุ่งมั่นแสวงมรรคผล
 
วันที่ ๑๑-๒๒: ความพยายามหว่านล้อม
หนุ่มสาวมีความสุขกันอย่างไร ฉันกับแฟนก็ดำเนินไปตามครรลองนั้น ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง การมีกันและกันช่างน่าอบอุ่นใจ ทุกอย่างดูดีไปหมด เห็นด้วยไปหมด หัวเราะประสานเป็นทำนองเดียวกันไปหมด
คบแฟนได้ห้าวัน สติฉันค่อยๆกลับมา และทบทวนว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อกลับเข้าเส้นทางสว่างสายเดิมโดยไม่ต้องทอดทิ้งเธอ ฉันค่อยๆหยอดทีละนิดทีละหน่อย เริ่มจากเล่าว่าหลังเลิกกับเธอ ฉันมีที่พึ่งทางใจเป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่บอกว่าฉันไม่เคยโกรธเธอ รวมทั้งเข้าใจเธอดีทุกอย่าง แต่ฉันก็เป็นปุถุชุนคนหนึ่งที่เศร้าสร้อยและทุกข์หนักได้เหมือนใครๆทั้งหลาย ต้องหาทางดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์ที่ฉันพบว่าช่วยได้จริงก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้เป็นของกลางประจำโลกให้ทุกคนมีสิทธิ์หยิบจับมาใช้ร่วมสองพันกว่าปีแล้ว ดีกว่าคำสอนไหนๆของใครทั้งหมด ต่อให้สังเคราะห์วิธีกันอย่างเป็นระบบด้วยสมองของนักจิตวิทยามือวางอันดับหนึ่งของโลกปัจจุบันก็ไม่มีวิธีไหนไปทาบได้
ฉันพยายามสรรเสริญพระพุทธเจ้าและหนทางดับทุกข์ของท่านอย่างเลิศลอย แรกๆแฟนฉันก็ฟังอย่างสนใจ ซักถามเอาใจใหญ่ว่าทำไมต้องอย่างนั้น ทำไมต้องอย่างนี้ นี่มาจากไหน นั่นใครเป็นคนพูด แต่หลังๆเริ่มไม่ปิดบังอาการง่วงเหงาหาวนอน หรือเปลี่ยนเรื่องพูดไปเฉยๆ ฉันจึงเริ่มตระหนักว่าท่าทางจะชักจูงเธอผิดวิธีไปหน่อย
แน่นอน ถ้าขืนปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ทุกอย่างคงเอวัง สติและสมาธิฉันเสื่อมถอยลงทุกขณะ ลมหายใจหยาบ จิตหยาบ รู้อิริยาบถไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รู้เดี๋ยวเดียวแล้ววูบภวังค์ ก็จะไม่ให้เป็นเช่นนี้ได้อย่างไร ในเมื่อคุณเธอเล่นโทร.คุยเช้า กลางวัน เย็น แถมรอบดึกอีกเป็นชั่วโมง ยอมรับว่ายิ่งคุยยิ่งหลง และกลับไปเป็นเหมือนหลายปีก่อนที่ขาดเธอไม่ได้ ถ้าเธอไม่โทร.มา ฉันก็ต้องโทร.ไปอยู่ดี
พยายามเจือธรรมะลงในหัวข้อสนทนาจิปาถะ แต่ก็ยิ่งจางลงตามลำดับ ฉันเกิดความมุ่งมั่นจะทำให้เธอมาชอบธรรมะแบบฉันให้จงได้ เราจะคุยกันแต่เรื่องปฏิบัติภาวนา ฉันจะสอนเธอทุกอย่าง ตามฉันมาทุกก้าว แล้วในที่สุดก็ได้กอดคอกันไปนิพพาน ไม่มีใครต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเจอแล้วจาก ไม่ต้องลำบากในโลกแห่งความมีคู่แล้วไร้คู่อีก
พรุ่งนี้วันอาทิตย์ ฉันนัดเธอไปเที่ยวต่างจังหวัด ล่อหลอกด้วยน้ำตก ซึ่งแน่นอนเธอตื่นเต้นและยินดีร่วมทางอย่างเต็มใจ ฉันหลับอย่างมีความสุขยิ่งเป็นคืนแรกในรอบสองอาทิตย์ที่ผ่านมา มาดหมายว่าพรุ่งนี้ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ฉันจะมีคนรู้ใจ มีเพื่อนคุยธรรมะ มีเพื่อนร่วมภาวนาแสวงมรรคผลนิพพาน คงไม่มีคู่ไหนในโลกอีกแล้วที่เป็นสุขเท่าคู่ของฉัน
 
วันที่ ๒๓: สอนภาวนา
เดินทางไกลข้ามจังหวัดมาเยี่ยมชมน้ำตกงามแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่านนัก ฉันกับแฟนลุยน้ำเย็นสลับกับเดินเท้าลัดเลาะขึ้นสูงไปตามขั้นน้ำตก กระทั่งล่วงถึงช่วงกลาง แฟนฉันก็ขอพักเหนื่อยยาว เพราะบริเวณนั้นค่อนข้างร่มรื่นกว่าทุกจุดที่ผ่านมา แถมไม่ค่อยมีคนแวะพักมากนัก เนื่องจากมาถึงชั้นนี้ก็อยากลุให้ถึงชั้นยอดเพื่อทอดทัศนาความงามอันลือเลื่องบนนั้นเร็วๆ
ฉันเป็นคนเลือกใต้ร่มไม้ใหญ่ที่มีพื้นกว้างพอจะนั่งพักสบายๆทั้งสองคน เป็นตำแหน่งปลอดสายตา แม้ไม่ถึงกับลับเหลี่ยมมุมบัง แต่คนผ่านทางส่วนใหญ่ถ้ามองแบบไม่สนใจก็ไม่เห็นว่ามีคนนั่งอยู่
คุยกับคนรักสองสามคำ แล้วก็เริ่มสร้างแรงบันดาลใจตามที่วางแผนไว้ คือขอตัวนั่งสมาธิเพื่อพักสงบสักครู่ ช่วยดูต้นทางให้ด้วย เผื่อมีเสือหรือหมีโผล่มาจะทำร้าย ก็ขอให้ปกป้องฉันไว้ดีๆ แฟนฉันหัวเราะและเห็นเป็นเรื่องสนุก รับปากว่าจะเฝ้าดูให้อย่างไม่คลาดสายตา แต่ขอร้องว่าอย่าถอดวิญญาณออกจากร่าง เพราะถ้าเธออยากเดินขึ้นยอดน้ำตกแล้วไม่รู้จะไปชวนฉันที่ไหน
ธรรมชาติช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง เหนี่ยวนำให้กลับสงบได้เร็ว อาจบวกกับแรงอธิษฐานมุ่งมั่นจะชักจูงหวานใจมาหัดสมาธิด้วย พอตามรู้ลมหายใจเข้าออกโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงเพียงห้านาที กระแสจิตก็สงบลงและเปิดแผ่ออกในลักษณะปล่อยวาง เป็นความปล่อยวางในลมหายใจ เมื่อเห็นชัดว่าเข้ามาแล้วต้องออกไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงตามธรรมชาติ
ฉันเป็นสุขในอิริยาบถนั่งนิ่งไม่ไหวติง รู้ศีรษะตั้งสบาย รู้สองแขนตกแนบลำตัว รู้ตรงไหนสบายตรงนั้นราวกับแต่ละชิ้นแต่ละส่วนเป็นเครื่องกำเนิดความเกษม ซึ่งพอถึงจุดดังกล่าว ฉันก็น้อมจิตทันที นึกถึงคนรักแล้วอธิษฐานว่าขอเธอจงสนใจใคร่ทำสมาธิให้สงบได้แบบฉันบ้าง
อีกครู่หนึ่งฉันก็เปิดเปลือกตาขึ้น สมหวังในเบื้องต้นเมื่อพบว่าคนรักกำลังจ้องมองตาแป๋ว มีแววสนเท่ห์และสนใจใคร่อยากรู้ผิดไปกว่าเคย เธอบอกว่าไม่นึกเลย หลายปีผ่านไปฉันมีรสนิยมแบบฤาษีไปได้ ตอนฉันนิ่ง ดูคล้ายเครื่องสูบลมเข้าออกขนาดใหญ่ที่มีความสุกสว่างแปลกตาดีแท้
ฉันแค่ยิ้มๆ บอกเธอว่าภาพปรากฏภายนอกเป็นของตื้น แต่มุมมองภายในเป็นของลึกซึ้ง เป็นรสอันเหนือรส เป็นสภาพที่ขอหยิบขอยืมหรือปล้นชิงกันไม่ได้ แฟนฉันเบะปากนิดหนึ่ง ก่อนว่าฉันโฆษณาเสียจริง ไหนลองสอนให้ทำบ้างซิ
ฉันดีใจจนตาเป็นประกาย อำนาจอธิษฐานโน้มน้าวใจเธอสัมฤทธิ์ผลแล้ว ขั้นต่อไปคือสอนเธออย่างเป็นขั้นเป็นตอน ฉันจะถ่ายทอดสมบัติภายในทุกชิ้นให้กับเธออย่าไม่หวงแหนไว้แม้แต่น้อย เริ่มต้นที่คิดว่าง่ายสุดสำหรับเธอ คืออธิบายเรื่องจิตปกติของคนเราโอนเอนไปทางคิดๆๆ เรียกว่าฟุ้งซ่าน พอไม่มีอะไรจะคิดก็เหม่อลอย ไม่รู้ตัวว่ากำลังมีเรื่องใดปรากฏอยู่ในหัว บางครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระทำการหรือตัดสินใจเลือกอะไรไปเพราะเหตุผลชนิดไหน การปล่อยให้ฟุ้งสลับกับเหม่ออย่างปราศจากเครื่องเกาะของสตินั้น คือความสูญเปล่า และนำมาซึ่งทุกข์อันไม่อาจพยากรณ์
พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ลมหายใจมากๆ เอาง่ายๆก่อนแค่รู้ไปเรื่อยๆเท่าที่สามารถทำ คือกำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า หากมีลมหายใจเป็นเครื่องเกาะที่แน่นอนของสติ เราก็มีตัวชี้วัดว่าขณะหนึ่งๆกำลังมีสติหรือไม่มีสติ
แต่ธรรมดาคนเราฟุ้งหนักมาทั้งชีวิต จะให้พอใจไปยึดสิ่งใหม่มาเป็นเครื่องเกาะนั้นยาก เพราะหมายถึงการปรับเปลี่ยนนิสัยทางจิตกันชนิดกลับขั้ว ฉะนั้นจึงควรหัดทำสมาธิเพื่อสร้างความสุขความพอใจจะรู้ลมหายใจเสียก่อน เมื่อรู้จักลมอันเป็นที่สบาย มีสติเห็นชัดแล้วเป็นธรรมชาติแล้ว ก็แปลว่าเราจะมีราวเกาะสำหรับสติให้หยัดตั้งยืนขึ้นทั้งวัน เนื่องจากลมหายใจมีเข้าออกตลอด ๒๔ ชั่วโมง
เธอรับฟังอย่างสงบจนฉันปลื้ม และเมื่อพอจะเข้าใจเหตุผลเบื้องต้นว่าสมาธิแบบพุทธนั้น ทำไมควรใช้ลมหายใจเป็นเป้าจับ ฉันก็ให้เธอหลับตาลง และบอกว่าจะคอยทักให้เป็นขณะๆว่าทำจิตทำใจไว้ถูกหรือเปล่า
เธอปิดตาลงด้วยความไม่แน่ใจนักว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ต้องมีสัมผัสทางจิตก็เห็นถนัดว่าเปลือกตาเธอเต้นยิบๆอย่างคนบังคับความคิดตนเองให้ปลงใจนิ่งไม่ได้ ฉันจึงขอให้เธอลืมตาขึ้นมองไปข้างหน้าสบายๆ จำไว้ว่าอาการทอดตาสบายตรงๆเป็นอย่างไร จากนั้นจึงให้ปิดเปลือกตาลงใหม่ แต่สายตายังทอดไปข้างหน้าเหมือนเดิม พอดูแล้วว่านั่นทำให้ใจเธอปลอดโปร่งกว่าเดิม จึงชี้ว่าลมหายใจของเธอมีอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างทำขึ้นเป็นพิเศษ แต่แค่รู้ตามจริงเหมือนถามตัวเองว่าขณะนี้หายใจออกหรือหายใจเข้า
พอสังเกตเห็นลมหายใจเธออ่อน เข้ายาวกว่าออกมาก ฉันให้เธอคิดว่าจะถอนใจยาวเหมือนเพิ่งเสร็จงานแล้วโล่งอก กับทั้งให้สังเกตด้วยว่าเราจะรู้ลมถนัดขึ้นถ้าหายใจออกยาวเสมอหรือใกล้เคียงกับหายใจเข้า อุบายง่ายๆคือเริ่มต้นด้วยความคิดว่าจะถอนใจให้เกิดความโล่งอกนี่แหละ แม้ที่พระพุทธเจ้าสอนอานาปานสติท่านก็ให้กำหนดสติรู้ลมหายใจออกก่อนลมหายใจเข้า ฉันเพิ่งเห็นค่าในแง่การเริ่มต้นสำหรับมือใหม่ชัดเจนก็คราวนี้เอง เสียดายเมื่อฉันเริ่มต้นไม่มีใครชี้ให้
สำหรับฉันเอง นี่ถือว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐานอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าให้ผู้ที่ฝึกรู้ลมหายใจตัวเองโดยความเป็นของเกิดดับแล้ว ท่านให้ฝึกรู้ลมหายใจของคนอื่นโดยความเป็นของเกิดดับด้วยเช่นกัน เพื่อความเห็นชัดว่าทั้งของเราของเขา ต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ใช่เฉพาะของเราที่ไม่น่ายึด ของคนอื่นก็ไม่น่ายึดเสมอกันด้วย
ลมหายใจของคนรักฉันค่อนข้างแผ่วอ่อน เห็นชัดจากอาการทางกายที่กระเพื่อมน้อย และเป็นเหตุให้คลื่นความคิดฟุ้งซ่านเข้าแทรกแซงง่าย หรือไม่ก็โงกง่วงไว ฉันจึงขอให้ระบายลมออกยาว และหายใจเข้ายาวเป็นระยะๆ เพียงจับสังเกตด้วยตาเปล่าว่าลมหายใจใครกำลังเข้าหรือออก กำลังยาวหรือสั้น เพียงสักสองสามระลอกลม แค่นั้นเราก็จะเริ่มเห็นความรู้สึกของเขาแล้วว่ากำลังเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ กำลังหดหู่หรือฟุ้งซ่าน คลื่นจิตที่มาประกอบพร้อมอยู่กับแต่ละลมหายใจจะถูกรู้ได้ด้วยสติของเราอย่างชัดเจน ราวกับเห็นกลุ่มหมอกควันเข้มขึ้นหรือจางลง หากฝึกจนชำนาญแล้ว แม้ไม่เห็นหน้าก็บอกได้ว่าใครกำลังหายใจสั้นหรือยาว คลื่นจิตกำลังเปิดสบายหรือขมวดแน่น หดหู่หรือฟุ้งซ่าน ซึ่งจะทำให้พิจารณาว่าสภาวะหนึ่งๆสักแต่เป็นสภาพเกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา บางทีจะง่ายกว่าสังเกตของตัวเองเสียอีก
ทว่าด้วยความที่คนรักของฉันไม่สมัครด้วยตนเองมาแต่ต้น พอทำๆไปแล้วเหมือนจะหลับ เธอก็ลืมตายิ้มให้เพลียๆ สังเกตด้วยตาโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยจิตสัมผัสก็ทราบได้ เธอกำลังคิดว่าไม่รู้จะทำไปทำไม
ฉันไม่ฝืนใจ ชักชวนเธอเดินชมน้ำตกต่อ แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มต้นไปบ้างแล้ว หวังว่าจะมีความคืบหน้าวันต่อวันแบบหยอดเหรียญใส่กระปุก เดี๋ยวก็ต้องเต็มขึ้นมาเองจนได้
ขากลับระหว่างนั่งในรถ คนรักของฉันหลับตารู้ลมหายใจเล่นๆ ปรากฏว่าเธอหลับอย่างสบายเป็นพิเศษ ตื่นขึ้นมาก็บอกว่ารู้สึกดี และจะพยายามทำอีกเรื่อยๆ คำพูดของเธอทำให้ฉันเกิดกำลังใจ และมาดหมายว่าความสัมพันธ์อันดีกำลังจะก่อตัวขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กันและกัน ไม่ใช่คบกันเพียงเพื่อเสพสุขร่วมกันแบบโลกๆเหมือนคู่อื่นไหน
 
วันที่ ๒๔-๓๐: เถียงจากคนละโลก
ครั้งต่อๆมา ไม่ว่าจะคุยโทรศัพท์หรือเจอหน้ากัน ฉันพยายามตั้งข้อสนทนาให้โยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการฝึกสติตลอด และได้ใจที่เห็นคนรักของฉันรับฟังเสมอ ฉันกระตือรือร้นยิ่งกว่าความก้าวหน้าของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเธอมีคำถาม และฉันสามารถกำหนดจิตช่วยไขข้อข้องใจหรือขจัดอุปสรรคให้เธอได้
อย่างเช่นวันหนึ่งเธอนั่งสมาธิแล้วเกิดความเครียด ทั้งที่ก็แน่ใจว่าพยายามรู้สบายๆ พอฉันให้เธอลองทำ ก็เห็นอาการพยายามดึงลมหายใจยาวผิดปกติ ฉันก็ชี้ให้เห็นว่าระหว่างวันเธอยังหายใจอ่อนอยู่ จู่ๆจะมาเร่งลมให้แรงปุบปับ พอทำนานไปก็เครียดน่ะซี ลมที่ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่สมส่วนกับการหายใจตามปกตินั้น จะนำมาซึ่งผลข้างเคียงอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ฉันจึงแนะนำให้หัดหายใจขณะหลับตาทำสมาธิให้เท่าๆกันกับขณะลืมตาระหว่างวัน รวมทั้งหมั่นเน้นให้เธอเห็นว่าการรู้ลมหายใจระหว่างวันจนเป็นอัตโนมัติ มีความสำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาทำสมาธิชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว เพราะสติที่เกิดขึ้นเรื่อยๆตลอดวัน ย่อมมีกำลังมากกว่าสติที่ตั้งอยู่แค่สิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมง
ต่อข้อสงสัยว่าแล้วอย่างนี้ตั้งสติเฉพาะตอนลืมตาในชีวิตประจำวันไม่ดีกว่าหรือ ทำไมต้องลำบากลำบนนั่งสมาธิด้วย ฉันก็อธิบายจากประสบการณ์ว่าการตั้งหลักด้วยวิธีฝึกหลับตากำหนดให้เท่าทันลมหายใจเข้าออก มีส่วนช่วยเกื้อหนุนให้เกิดสติระหว่างวันเป็นอันมาก โดยเฉพาะถ้าเราฝึกในช่วงเช้าหลังตื่นนอนกับช่วงค่ำก่อนนอนหลับ จะเป็นการช่วยปัดเป่าความฟุ้งให้เบาบางลง ทำให้มีความสุขความสบาย และพึงใจตั้งสติตามลมหายใจยิ่งๆขึ้น
ฉันให้กำลังใจว่าช่วงเริ่มต้นนี้เธอยังต้อง ‘ตามรู้’ คือยังต้องกำหนดสติตั้งใจดู ไม่ตั้งใจไม่ได้ บางทีจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ฉันบอกได้เลยว่าเมื่อเกิด ‘จิตผู้รู้’ แล้ว สติเป็นอัตโนมัติแล้ว ถึงแม้ไม่ตั้งใจจะรู้ก็รู้เอง เป็นสุขกายสบายใจตามสภาพจิตที่ปลอดจากความฟุ้งซ่านเอง ซึ่งข้อนี้ทำให้เธอเริ่มเห็นคุณค่าในอันที่จะฝึกให้ต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาเธอรำคาญความฟุ้งซ่านชนิดหยุดไม่ได้ของเธอเองเต็มแก่
ทุกอย่างเหมือนดำเนินไปด้วยดี แต่คนเราคบกันนานๆ พูดกันบ่อยๆ โอกาส ‘พลาด’ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เกิดขึ้นได้เสมอ และบางทีการพลาดก็ตั้งต้นจากคำถามง่ายๆซึ่งไม่น่าเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งที่ตามมาได้เลย
เธอถามว่าอะไรดึงฉันมาสนใจการปฏิบัติธรรมภาวนาขนาดนี้ ทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยพูดถึงพุทธศาสนา ไม่เคยพูดถึงพระพุทธเจ้า และยิ่งไม่เคยพูดถึงการเจริญสติปัฏฐานสักคำ ฉันก็เล่าย้อนความนับแต่เจอครูธรรมะคนแรก รวมทั้งเอาสมุดบันทึกลับเฉพาะให้คนรักอ่านด้วย โดยลืมไปสนิทว่าบันทึกวันที่ ๙ นั้น มีคนรักของฉันเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ฉันบรรยายกระทั่งความรู้สึกลำบากใจในการรับนัดของเธอ
ไม่นึกว่าเธอจะคิดมากขนาดนั้น ได้เห็นจริงๆว่าความคิดคนอื่นเป็นอนัตตาอย่างไร ควบคุมให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้อย่างไร เธออ่านเสร็จก็ถามว่าวันหนึ่งฉันจะทิ้งเธอไปไหม?
ฉันอ้ำอึ้ง และตอบอย่างหนักแน่นว่าถ้าเราเป็นเพื่อนร่วมปฏิบัติภาวนากันไปเรื่อยๆอย่างนี้ ฉันไม่มีเหตุผลใดๆจะต้องหันหน้าไปจากเธอ ในเมื่อฉันก็ยังอยู่บนเส้นทางเดิม แต่เธอก็ถามอีกว่าแล้วถ้าฉันถึงภาวะเหนือโลกล่ะ อ่านจากประสบการณ์หนึ่งอาทิตย์ที่ปลีกวิเวกในช่วงต้นเดือนนี้แล้ว เห็นได้ชัดว่าฉันจะไม่มีความยินดีข้องเกี่ยวกับเพศตรงข้ามเลย ถึงเวลานั้นฉันจะเอาเธอไปไว้ที่ไหน?
ฉันเกือบพูดไม่ออก บอกแต่ว่าฌานไม่ใช่ของเกิดกันได้ง่ายๆ เกิดมาฉันเพิ่งทำได้หนเดียว แล้วอย่าว่าแต่ฌานเลย สมาธิชั้นดีที่พาใจพรากห่างจากกามก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอขณะต้องดำรงชีวิตแบบคนเมืองอย่างนี้
แต่ความคิดประจำเพศไม่ทำให้เธอหยุดยั้ง เธอมีคำถามพาลพาโลตามมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นคาดคั้นจะเอาคำตอบให้ได้ว่าทำไมฉันต้องคิดไปนิพพาน อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการเอาตัวรอดหรอกหรือ? ฉันตอบว่าเปรียบเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ พอใครมาบอกวิธีขึ้นเรือก็ต้องรีบขึ้นเรือ พอใครมาบอกทิศทางและวิธีพายเรือเข้าฝั่งก็ต้องรีบแล่นไปหาฝั่ง คงไม่มีใครทิ้งโอกาสทองมาตะเกียกตะกายต่อ เพียงเพื่อได้รับการสรรเสริญว่าเป็นผู้ไม่เอาตัวรอด และคิดดีๆ ผู้ลอยคอกลางน้ำด้วยกันย่อมไม่อาจหอบหิ้วกันเองกระทุ่มตัวเข้าหาฝั่งได้สำเร็จ ต้องมีใครสักคนเพียรขึ้นฝั่งเสียก่อน แล้วค่อยหาวิธีต่อเรือลำใหม่มาช่วยคนที่ยังอยู่ในน้ำได้อีก
ฉันยกตัวอย่างว่าแม้เอาตัวยังไม่รอด ก็มีแก่ใจห่วงเธอ และเพียรพยายามช่วยเหลือเธออยู่อย่างเต็มกำลัง อย่างนี้จะเรียกว่าเห็นแก่ตัวได้อย่างไร เธอเล่นไปคิดห่วงล่วงหน้าถึงอนาคตไกลๆ กลัวฉันจะบวช กลัวฉันจะหลีกเร้นหายหน้าไป ขอให้ย้อนกลับมาสำรวจเถอะว่าถึงไม่ต้องคิดบวชสละโลก เธอเองเคยทิ้งใครมาก่อนไหม? คนที่กำลังมีกิเลสในโลกนี่แหละ มีโอกาสหลายใจ เปลี่ยนใจ แปรใจเป็นอื่นคิดทิ้งขว้างกันยิ่งกว่าคนใฝ่ใจทางธรรมมากนัก
เธอเงียบอึ้งไปนาน ก่อนยอมรับว่าคิดมากไป ห่วงว่าฉันเบื่อแล้วจะทิ้งง่ายๆ เธอคงทนไม่ได้ ฉันฟังด้วยความสะอึกอึ้งเงียบงัน คนเราเป็นกันอย่างนี้จริงๆ ตอนทิ้งคนอื่นไม่เป็นไร แต่ใครอย่ามาทิ้งตัวก็แล้วกัน โลกแตกเป็นเสี่ยงๆแน่
นับแต่วันที่เถียงกันครั้งแรก ฉันรู้สึกว่าแฟนชักกังวล ไม่เป็นสุข และไม่ค่อยเต็มใจคุยเรื่องภาวนาอีก หรือคุยแกนๆไปอย่างนั้น ไม่ขวนขวายกระตือรือร้นเหมือนช่วงต้น ฉันจึงตระหนักเลยว่า การทำความเข้าใจศาสนาให้เกิดความเห็นถูก เห็นชอบ เห็นตรงนั้น สำคัญกว่าการทำสมาธิ หรือแม้แต่การเจริญสติ เพราะความเห็นที่ถูกตรงขึ้นใจเท่านั้น จะพาเราขึ้นทาง และรักษาเราไว้ในทาง ส่วนการทำสมาธิและการเจริญสติที่ปราศจากความมีใจสมัครและเห็นชอบด้วยตนเองนั้น อาจถูกละเลยและทิ้งขว้างเมื่อใดก็ได้ที่เกิดความเห็นผิดอื่นๆมาเบียดเบียน
และกว่าใครสักคนหนึ่งจะเห็นถูก เห็นตรง กับทั้งมีใจปรารถนามรรคผลนิพพานด้วยตนเองนั้น ก็หาใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยง่าย ต้องอาศัยเหตุปัจจัยมากมาย พื้นฐานของตนเองต้องเอื้อ ต้องเคยครุ่นคิดเกี่ยวกับสิ่งดีที่สุดในชีวิตมาบ้าง นอกจากนั้นต้องมีวิธีเข้าถึงคำสอนแท้ๆของพระพุทธเจ้า หากทุกอย่างพร้อมหมดแต่ขาดวิธีการถูกต้อง ก็ติดหลงวนเวียนหาทางออกไม่เจออยู่ดี
แฟนฉันเกิดมายังไม่เคยเจอทุกข์หนักๆ เรื่องยกเอาทุกข์เช่นการแก่ เจ็บ ตาย ความต้องพรากจากของรัก ต้องร้องไห้คร่ำครวญเพราะอุปาทานในตัวตนมาพูดนั้น นับเป็นการเปล่าประโยชน์ เธอยังไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดด้วยซ้ำ เกิดมาก็พบแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่หวัง แม้การเลิกกับแฟนแต่ละหนก็ล้วนเป็นเธอเองที่กำหนด คนประเภทนี้คิดดูก็โชคร้าย เพราะอยู่ในชาติที่มีสิทธิ์ออกจากสังสารวัฏแล้ว แต่สุขกายสบายใจเสียจนไม่มีแก่ใจอยากออก ไม่รู้จะออกไปทำไม ทางออกก็เดินยาก ลำบาก และต้องสละโน่นสละนี่เยอะแยะไปหมด
คืนหนึ่ง ขณะที่ฉันกำลังฝึกสมาธิแบบเห็นกลางคืนเป็นกลางวันด้วยความติดใจอยู่นั่นเอง คนรักก็โทร.มา ตอนนี้ฉันปิดสัญญาณโทรศัพท์ไม่ได้ เพราะจะถูกเธอตัดพ้อต่อว่าน่าดูชม
ตอนแรกก็ชวนพูดคุยหยอกล้อสนุกสนานเฮฮา แต่พอครึ่งชั่วโมงผ่านไปฉันก็รู้สึกว่าเธอใช้น้ำเสียงแบบจะ ‘พูดเข้าเรื่อง’ คือถามฉันตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมว่าฉันอยากมีลูกหรือเปล่า?
ถ้าเป็นแต่ก่อนคงตอบทันทีว่าอยากซี โดยเฉพาะมีลูกกับเธอนั่นแหละ แต่เดี๋ยวนี้สถานการณ์ต่างไป ฉันอดคบหาเธอไม่ได้ก็จริง แต่อีกใจก็ไม่อยากมีห่วง ไม่อยากมีภาระไปอีกอย่างน้อย ๒๐ กว่าปีต้องเสียเวลาประคบประหงมเด็กแปลกหน้าที่จะมาเป็นลูก
อาการอ้ำอึ้งเป็นคำตอบที่ดีพอ เธอหัวเราะเสียงปร่าและบอกฉันว่าแค่นี้ชี้ได้ไหมว่าฉันถูกศาสนาสอนให้เป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่ยอมทำหน้าที่ของมนุษย์ตามธรรมชาติการดำรงเผ่าพันธุ์ อยากสบายเอาตัวรอดคนเดียว ถ้าเธอแต่งงานกับฉัน เธอก็คงพลอยไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ไปด้วย
ฉันถอนใจเฮือกใหญ่ใส่กระบอกโทรศัพท์ให้เธอได้ยิน ถามเธอด้วยความหงุดหงิดว่าทำไมมาพูดเรื่องนี้ ห่วงเรื่องนี้เร็วนัก ในเมื่อเราเพิ่งกลับมาคบกันใหม่ได้แค่สองสามอาทิตย์ เธอตอบว่าไม่เกี่ยวกับช้าเร็ว แต่เกี่ยวกับน้ำใจฉันเอง เรื่องน้ำใจนั้นรอไปสิบปีก็สร้างไม่ได้ ถ้าขาดปัจจัยพื้นฐานแต่แรก
พอเห็นฉันเงียบเธอก็เริ่มใส่ใหญ่ ไม่มีแล้วความน่ารัก ไม่เหลือแล้วความประนีประนอม พอเธอขาดเหตุผลขึ้นมาก็หาอะไรมาทิ่มตำเรื่อยเปื่อยตามวิสัยพาลของปุถุชน เธอประชดว่าทำไมไม่บวชๆไปเสียเลย จะได้มีคนสาธุอุดหนุนให้เร่งขึ้นฝั่ง มาอยู่เป็นฆราวาสให้เธอเข้าใจผิดอย่างนี้ทำไม ฉันงงค้างไปหมด ช่วยเธอทบทวนความจำว่าเมื่อสามอาทิตย์ก่อนเธอเป็นคนโทร.หาฉันเอง นัดฉันทานข้าวเย็นเอง ฉันไม่เคยไปหลอกลวงหรือให้ความหวังอะไรเธอเลย
ยิ่งคนเราถูกรุนให้โกรธก็ยิ่งพูดๆๆไม่ยั้ง เช่นเธอชวนเที่ยวผับตอนกลางคืนก็ปฏิเสธ จะขอนั่งสมาธิเสพสุขอยู่คนเดียว ไม่เหลียวแลว่าเธอต้องการอะไร แล้วกะแค่ถามเรื่องลูก ก็เผยออกมาแล้วว่าไม่อยากรับผิดชอบ ฉันกลายเป็นคนลอยตัวเหนือปัญหาและภาระทั้งปวง อย่างนี้จะทำให้เธอมาศรัทธาตามฉันได้อย่างไร? ความเปลี่ยนแปลงของฉันมาจากไหน เธอคงต้องเริ่มมองแล้วว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ฉันเห็นแก่ตัว!
ฉันใจหายวูบ อยู่ๆจิตก็รู้ขึ้นมาเฉยๆว่าด้วยวจีทุจริตที่ทำด้วยใจหนักแน่น ประกอบด้วยความหลงผิดไม่รู้ว่าเป็นบาป ได้ปฏิรูปเป็นเงาดำดวงหนึ่งที่รู้ได้ด้วยใจ เงาดำนั้นจะส่งผลในอนาคตให้เธอถูกกล่าวหาว่าเห็นแก่ตัว โดยกรรมจะรอจังหวะประจวบเหมาะว่าเมื่อใดเธอทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน สิ่งที่ได้รับคือความเข้าใจผิดจากคนรอบข้างอย่างรุนแรง ชนิดทำดีเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น ถูกกล่าวหาตลอด ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าเป็นมหาบุรุษที่ตรากตรำเลือดตาแทบกระเด็นช้านาน กว่าจะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันต์องค์แรกของโลก แล้วแทนที่จะเสวยวิมุตติสุขตามลำพังยังยอมลำบากสถาปนาพุทธศาสนาเพื่อบอกทางรอดแก่มนุษย์ผู้มีปัญญาทั้งหลาย แต่นี่มากล่าวตู่พระองค์ด้วยโทสะ หาว่าท่านเป็นผู้นำแห่งความเห็นแก่ตัวเสียนี่
ในใจแฟนฉัน เธอคงรู้สึกว่าพูดไม่หนักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นการว่ากระทบผู้อื่นที่ไม่ใช่ตัวฉัน แต่ในใจฉันสิ ทั้งกรุ่นโทสะด้วยความรู้สึกยิ่งกว่ามีคนมาด่าพ่อ ทั้งสลดสังเวชสงสารเธอที่หาเรื่องใส่ตัวด้วยความไม่รู้โดยแท้ ตกลงฉันพยายามเคี่ยวเข็ญให้เธอมีความชอบในการเจริญภาวนา เพื่อผลสุดท้ายคล้ายโปรยยาพิษให้เธอต้องด่าวดิ้นทรมานในภายหลังกระนั้นหรือ?
ฉันเห็นแล้ว การยัดเยียดแก้วล้ำค่าเกินตัวใส่มือคนรัก บางครั้งนอกจากจะไม่เกิดผลดีอันประเสริฐแล้ว ยังอาจนำภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงมาสู่เขาอีกด้วย ฉันน่าจะเห็นตามจริงว่าเธอเข้ามาหาฉันด้วยเหตุผลทางโลก ยากที่จะเบี่ยงเบนมาทางธรรม เว้นแต่จะมีนิสัยเก่ารองรับอยู่ หรือสนใจใคร่รู้ เต็มใจศึกษาด้วยตนเองก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ฉันไม่ปูพื้นให้เธอซึมซับรับรู้ ให้เธอเข้าใจ ให้เธอเห็นค่าของศาสนาด้วยตัวเองเสียก่อน ก็แปลว่าฉันคือตัวแทนทั้งก้อนของศาสนา เมื่อเธอมองฉันเป็นอย่างไร ก็จะพาลพาโลมองศาสนาเป็นอย่างนั้นไปด้วย
หลังจากนั้นสติฉันพร่าลงกว่าครึ่ง จำได้แต่ว่าพยายามเลี่ยงไปพูดเรื่องอื่น และไม่วกกลับมาคุยเรื่องศาสนาอีก เธออาจรู้สึกตัว ก่อนวางเลยขอโทษที่ว่าฉันแรงเกินไป ฉันตอบว่า ‘ไม่เป็นไร’ ซึ่งติดอยู่ในปากตลอดเวลาที่คบกับเธอ
หลังวางโทรศัพท์ ฉันมานั่งบนเตียง ทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้นแต่แรก นับจากได้ยินเสียงโทรศัพท์เรียก เกิดนิมิตสมาธิเป็นใบหน้าเธอแจ่มชัด นิมิตสมาธิไม่ได้บอกฉันเลยว่าคนรักเก่าจะมาทำให้การภาวนาพังหมด เธอมาคนเดียวเหมือนพ่วงกองทัพกิเลสทุกชนิดครบสูตร ทั้งราคะ โทสะ โมหะ
ฉันได้แง่คิดหนึ่ง คือนิมิตสมาธิแม้แม่นยำ แต่บางทีก็บอกอะไรเราได้เท่าที่เพดานปัญญาของเราจำกัดอยู่ ปัญญาของฉันยังไม่สูงเหนือโลก ยังติดอยู่กับโลก ก็บอกฉันแค่ใครเป็นคนโทร.มา ซึ่งไม่ได้มีค่ากว่าตอนยกหูโทรศัพท์แล้วรู้ด้วยหูเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าเพดานปัญญาฉันสูงกว่านี้ ปิดกั้นกามสุขเด็ดขาดกว่านี้ พอเกิดนิมิตหน้าแฟนเก่าแล้วคงมีเครื่องหมายบางอย่างบอกด้วยล่ะว่าเธอจะนำความพินาศมาสู่การเจริญภาวนา
คิดไม่ตกว่าควรทำอย่างไร แน่ใจอย่างเดียวคือความรู้สึกของฉันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นี่มองเพื่อความปลอดภัยของเธอเอง ถ้าแม้ใจฉันยังเปิดรับภาวะคู่ ก็คงไม่ใช่เธอแน่แล้ว ชีวิตฉันเบี่ยงจากวงโคจรแบบของเธอมาแล้ว คงไม่อาจต่อเชื่อมกันได้ติดอีกกระมัง
 
วันที่ ๓๑: วันลา
แฟนฉันโทร.มาแต่เช้า น้ำเสียงร่าเริงเป็นปกติราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ความจริงคือมีอะไรเกิดขึ้นในใจฉันมากมาย และสิ่งเหล่านั้นก็ทำให้ใจฉันเย็นชา เมื่อเธอนัดทานข้าวเย็น ฉันเพียงตอบสั้นๆว่าขอให้เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเถอะ อย่าอยู่ในฐานะที่ต้องเสียความรู้สึกต่อกันในภายหลังอีกเลย
ฉันพูดไม่ทันจบคำเธอก็ตัดสัญญาณไป เกิดความรู้สึกเศร้าลึกขึ้นวูบหนึ่ง รู้ใจตัวเองว่ายังรักเธออยู่ แต่มันจะไม่ใช่แบบนี้ แบบที่เปิดโอกาสให้เธอทำบาป ทำความเดือดร้อนให้ตัวเธอเองอย่างไม่อาจคาดคำนวณได้ถูก
วันนี้เป็นแค่วันลาอีกครั้งหนึ่ง อาจจะลากันอย่างนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วน เอาแค่ชาติปัจจุบันก็สองหนเข้าไปแล้ว น่าเหน็ดหน่ายคลายความยินดีกับการจับคู่เพื่อชวนกันวนเวียนในเขาวงกตเหลือเกิน
ยิ่งนาทีระหว่างวันผ่านไป ใจฉันยิ่งหม่นเศร้าอย่างไม่อาจกำหนดสติรู้ เพราะนี่คือบทเรียนแห่งความเจ็บปวดซ้ำสองจากผู้หญิงคนเดียวกัน ฉันเขียนสรุปสิ้นเดือนด้วยความทรมานใจเกินบรรยาย บอกกับตัวเองสั้นๆว่าพรุ่งนี้วันที่หนึ่ง… ฉันจะนับหนึ่งใหม่อีกหน!
 
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๓
๑) ได้เปรียบเทียบสภาวจิตต่างๆ จนเกิดความวางเฉยแม้ในจิตตั้งมั่นประณีต นับเป็นการปรากฏครั้งแรกของ ‘อุเบกขา’ อันเป็นองค์ที่ ๗ ในโพชฌงค์
๒) เกิดประสบการณ์ถึงระดับฌานเป็นครั้งแรก แต่ก็ครั้งเดียว ยังไม่อาจนับว่าเป็นผู้สามารถเทียบเคียงระหว่างจิตเป็นฌานกับจิตไม่เป็นฌาน แต่พูดได้เต็มปากว่ารู้จักเทียบเคียงสภาพระหว่างจิตเป็นสมาธิกับไม่เป็นสมาธิได้แล้ว
๓) ความสุขระคนเศร้าอันเกิดจากบทเรียนทางโลกที่ไม่เคยเข็ดหลาบ ตระหนักว่าราคะทำให้จำอะไรไม่ได้นอกจากแรงดึงดูดเฉพาะหน้า ไม่แน่ใจเลยว่าถึงเดี๋ยวนี้เข็ดเสียทีหรือยัง
เดือนที่ ๔: ฐานที่มั่นของอุปาทาน
แม้ว่าครึ่งหลังของเดือนที่ ๓ ฉันจะออกอาการเดินกะโผลกกะเผลกบนเส้นทางสู่มรรคผลหน่อย แต่อย่างน้อยการปลีกวิเวกบำเพ็ญเพียรในช่วงต้นเดือน ก็ทำให้เห็นซึ้งลงไปถึงระดับสภาวธรรมเกิดดับชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรมหรือนามธรรม เมื่อเห็นความเกิดดับของกาย เวทนา และสภาวจิตแจ่มชัดแล้ว พอมาศึกษาหรืออ่านพระสูตรเกี่ยวกับเรื่องของ ‘ขันธ์ ๕’ จะรู้สึกว่าเข้าอกเข้าใจดียิ่ง
ที่ผ่านมาฉันฝึกมาตามลำดับสติปัฏฐาน ๔ ยังไม่ได้ออกนอกขอบเขตของกายใจนี้เลย และเช่นกัน ขันธ์ ๕ ก็คือกายใจนี้แหละ ฝึกมาหลายเดือนจนรู้ชัดว่าสติปัฏฐาน ๔ ไม่มีเรื่องนอกตัว แต่อาจมีการมองต่างมุมเพื่อให้เข้าถึงสภาพแท้จริงของกายใจตามลำดับที่เหมาะสมกับคุณภาพสติ
ยอมรับอย่างหนึ่งคือคำว่า ‘ขันธ์ ๕‘ ผ่านตาฉันอยู่เป็นปีกว่าจะเข้าใจในภาคทฤษฎีอย่างลึกซึ้ง ต้องฟังหลายคนอธิบาย ต้องอ่านทั้งความรู้ชั้นเก่าและชั้นใหม่จากหลายแหล่ง กว่าจะปรับความเห็นได้ถูกตรง ทั้งนี้เนื่องจากเรื่องของขันธ์ ๕ โดยตัวเองมีความพิสดาร พูดให้ง่ายก็ง่าย พูดให้ยากก็ยาก พูดให้ลุ่มลึกที่สุดก็ลุ่มลึกที่สุดในบรรดาทฤษฎีธรรมะทั้งหลาย และในทางปฏิบัตินั้น หากขาดคุณภาพสติที่ดีพอ จะไม่มีวันเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ เกิดดับได้เลย ถึงแม้มีความเข้าใจภาคทฤษฎีเลอเลิศเพียงใดก็ตาม
แต่ก็มีเครื่องล่อใจอย่างหนึ่ง คือหากเข้าใจขันธ์ ๕ ได้แตก และสามารถเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็เฉียดฉิวเหลือเกินต่อการบรรลุธรรมขั้นต้น เพราะฉะนั้นฉันจึงไม่คิดว่าเป็นเรื่องน่าหันหลังหนีหรือมองว่าเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด ในเมื่อพระนามหนึ่งแห่งองค์ศาสดาคือเป็น ‘ผู้ทำของยากให้เป็นของง่าย’ หรือ ‘ผู้เปิดของคว่ำให้หงายขึ้น’ บัดนี้ฉันประจักษ์แล้วว่าพระองค์ท่านเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือปฏิบัติได้ผลมาตามลำดับแล้วไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นเรื่องยากต่อการทำความเข้าใจอีกต่อไป ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น สิ่งที่ทำให้ฉันสับสนในเบื้องต้นก็ได้แก่ศัพท์คือ ‘ขันธ์’ นั่นเอง ทีแรกฉันนึกว่าขันธ์คือ ‘อะไรอย่างหนึ่ง’ แต่ความจริงขันธ์แปลว่า ‘กอง’ อาจง่ายขึ้นถ้าคิดถึงคำว่า ‘กองทัพ’ ซึ่งมีทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ถ้าสมมุติให้กองทัพหนึ่งเท่ากับหนึ่งขันธ์ ก็ต้องเรียกเหล่าทัพทหารทั้งหมดว่า ‘ขันธ์ ๓’
เบื้องต้นของการฝึกสติปัฏฐาน ๔ นั้น สติยังอ่อนก็ควรเข้าไปดูอะไรหยาบๆเช่นลมหายใจและอิริยาบถ ดูเพื่อให้เห็นความเกิดดับอย่างง่ายๆก่อน เช่นเข้าแล้วต้องออก เดินแล้วต้องนั่ง สติเห็นเกิดดับแบบคร่าวๆก็ปล่อยวางแบบคร่าวๆ คราวนี้เมื่อสติแข็งแรงขึ้น ก็ถึงเหมาะที่จะนำมาดูอะไรละเอียดๆเช่นขันธ์ ๕ เพื่อให้เห็นความเกิดดับในระดับที่เหมาะสมกับสติ
หากเบือนหน้าหนี ไม่พยายามทำความเข้าใจตั้งแต่เห็นคำว่า ‘ขันธ์ ๕’ ก็แปลว่าเราไม่มีฐานสติไว้เป็นที่ตั้งสติระดับสูง เพราะฉะนั้นฉันจึงไม่หลีกเลี่ยงกับการเข้าไปทำความเข้าใจทฤษฎีอย่างดีอีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่เพียงไว้สำหรับใส่บ่าแบกหามเล่น แต่รู้เพื่อนำมาเป็นเครื่องกำหนดสติเอามรรคเอาผลกันจริงจังต่อไป
ขันธ์แยกเป็น ๕ กอง ได้แก่
๑) กองรูป ได้แก่เหล่ารูปธรรมทั้งหลายอันเป็นส่วนของกาย นับแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังที่เห็นได้ส่วนผิว ตลอดไปจนกระทั่งส่วนที่ถูกปกปิดห่อหุ้มไว้ด้วยหนังทั้งหมดเช่นกระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ พุง โดยย่นย่อคือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม หากสติมีคุณภาพพอจะรู้กายโดยความเป็นกองทัพรูป ก็จะประจักษ์แจ้งว่าที่ประชุมกันหลอกตาให้หลงนึกว่าเป็นร่างมนุษย์ แท้ที่จริงหาได้มีความเป็นรูปมนุษย์ก้อนเดียวอันเดียวแต่อย่างใด การที่ฉันฝึกสติจนเห็นลมหายใจชัดก็คือเห็นภาวะพัดไหวของธาตุลม หรือเมื่อฝึกสติเห็นความร้อนขณะเป็นไข้ก็คือเห็นภาวะระอุของธาตุไฟ เมื่อเห็นธาตุลมและธาตุไฟโดยความเป็นของแปรปรวนได้ เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ก็จัดเป็นการเห็นสองหน่วยของกองทัพรูปแล้ว และเมื่อฉันศึกษาภาคทฤษฎีละเอียดขึ้น ก็เห็นว่าแม้แต่การรู้อิริยาบถก็จัดเป็นการเห็นรูปเช่นกัน แต่เป็น ‘รูปชั่วคราว’ ที่ก่อขึ้นจากธาตุอื่นๆ อันนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งที่ต้องดูกันต่อไปว่าถ้าสามารถเห็นธาตุต่างๆละเอียดขึ้นจะมีผลอย่างไร
๒) กองเวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย อย่างเช่นความสุขสดชื่นเมื่อหายใจเข้า ความผ่อนคลายสบายอกเมื่อหายใจออก หรืออย่างเช่นเมื่อเริ่มเป็นสุขกับอิริยาบถนั่งนิ่งๆ เหล่านี้เป็นสุขเวทนาที่ปรากฏแจ่มชัดและต่อเนื่อง เมื่อมีความแปรปรวนย่อมเห็นง่าย เช่นถ้าเปลี่ยนเป็นทุกขเวทนาทางกายเพราะป่วยไข้ หรือแปรเป็นทุกขเวทนาทางใจเพราะคิดมาก หากได้ภาวะต่างอย่างชัดเจนไว้เปรียบเทียบก็จะตระหนักว่าคนทั่วไปนั้น แท้จริงแล้วทุกข์โน่นทุกข์นี่อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มองไม่เห็นว่ากำลังเป็นทุกข์เท่านั้น
๓) กองสัญญา คือความจำได้ รวมทั้งอาการที่สำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร สำหรับตัวอย่างความจำก็เช่นที่เราจำเสียงใครต่อใครได้เมื่อยินเสียงทางโทรศัพท์ ส่วนตัวอย่างของอาการสำคัญมั่นหมายไปต่างๆก็เช่นกายเป็นของสะอาดน่าชื่นชม ต้องฝึกมองกันใหม่ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าประทานไว้จึงค่อยเห็นตามจริงว่ากายเป็นของสกปรกน่ารังเกียจ
๔) กองสังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดีหรือชั่ว ถ้าสืบหาว่าอะไรเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราคิด พูด ทำ ทั้งดีงามและชั่วร้าย ก็ขอให้ทราบว่าเป็นสังขารนี้แหละ ถ้ามองกันตื้นๆในทางปฏิบัติสังขารขันธ์อาจเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ง่ายก็ได้ แต่ถ้าศึกษาอย่างละเอียดจะพบว่าสังขารขันธ์คือธรรมชาติที่รู้ให้ทั่วถึงยาก และหากเล่นกันทางทฤษฎีก็อาจบัญญัติศัพท์ไพเราะขึ้นมาได้มากมายไม่มีที่สิ้นสุด หลงติดอยู่ในป่ารกแห่งศัพท์แสงกันทั้งชาติได้เลยทีเดียว
๕) กองวิญญาณ คือลักษณะที่จิตรู้แจ้งในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขอให้เข้าใจว่าในที่นี้หมายเอาความรู้ชัดอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างอายตนะทั้ง ๖ เช่นถ้าเกิดวิญญาณทางตาขึ้น ก็หมายถึงมีการเห็นรูปร่างสีสันอะไรอย่างหนึ่งแจ่มชัด ไม่ใช่เพียงเห็นแบบมลังเมลืองทางหางตาโดยไม่ตระหนักว่าเห็นอะไรกันแน่ หมายความว่าถ้าใครมีประสาทบกพร่อง ก็จะทำให้ขาดหรือด้อยความรู้แจ้งในทางนั้นๆด้วย ตรงนี้จะทำให้เข้าใจว่าไม่ใช่มีวิญญาณประเภทหนึ่งๆลอยอยู่ด้วยตัวเอง กับทั้งคงทำให้เข้าใจอย่างดีว่าวิญญาณขันธ์ไม่ใช่ความรู้แจ้งเห็นจริงอันเกิดจากปัญญาทางโลกหรือทางธรรมแต่ประการใด เป็นเพียงธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่แล้วในสัตว์ทั้งหลายเท่านั้นเอง
แต่ละกองขันธ์นั้น หากเรามีสติเห็นพวกมันตามที่เป็นอยู่จริงก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น หนึ่งขันธ์ปรากฏตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับลง ไม่มีใครทุกข์ ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีใครแฝงอยู่ตรงไหนของขันธ์ เช่นเมื่อเกิดความเจ็บใจ ก็เห็นแต่เวทนา สัญญา สังขารมันเจ็บใจ พอเวทนา สัญญา สังขารดับไปตามธรรมชาติก็เป็นอันจบ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ใครไหนเป็นผู้เจ็บใจต่อ
ธรรมดามีแค่ขันธ์ ๕ อันไร้แก่นสารปรากฏเกิดขึ้นแล้วดับลงอยู่เท่านี้ แต่เพราะไม่เฝ้ามองกายใจให้เห็นเป็นขันธ์ ๕ คือไม่เจริญสติปัฏฐานอยู่ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ก็เกิดอุปาทานขึ้นมาว่ารูปขันธ์เป็นเรา เวทนาขันธ์เป็นเรา สัญญาขันธ์เป็นเรา สังขารขันธ์เป็นเรา วิญญาณขันธ์เป็นเรา สรุปแล้วพระพุทธองค์จึงทรงชี้ว่า ‘ที่ตั้ง’ ของอุปาทานก็คือขันธ์ทั้งหลายนี่เอง ขันธ์ใดประกอบด้วยอุปาทาน ขันธ์นั้นคือ ‘อุปาทานขันธ์’
อย่างเช่นขณะนี้ ไม่ว่าต้องอาศัยสิ่งใดในการลงมือเขียน ไม่ว่าต้องอาศัยสิ่งใดในการเพ่งอ่าน ไม่ว่าต้องอาศัยสิ่งใดเพื่อให้เกิดอาการขมวดคิ้ว ไม่ว่าต้องอาศัยสิ่งใดเพื่อให้เกิดอาการคลายสีหน้า ทั้งหมดเหล่านั้นไม่ว่าเป็นส่วนของกายหรือส่วนของใจ ล้วนแล้วแต่เป็นที่ตั้งของอุปาทาน ความเป็นปัจจุบันทั้งหมดของกายใจนั่นแหละ ที่ตั้งของอุปาทาน แม้แต่อดีตและอนาคตของกายใจทั้งหมดก็เป็นที่ตั้งของอุปาทานได้เช่นกัน ขอเพียงคำนึงนึกถึงแล้วเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น
คำว่า ‘อุปาทาน’ หมายถึงอาการที่เรานึกเอาเอง หรือทึกทักเอาว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่จริงไม่ใช่ ตัวอย่างอันดีคือความฝัน เมื่อเราฝันว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง จิตก็หลงยึดไปว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต่อเมื่อสำนึกคิดอ่านปกติกลับมา ลืมตาตื่นขึ้น จึงค่อยตระหนักว่าเรื่องราวในฝันนั้นเหลวไหล เราไม่ได้เป็นอะไรอย่างนั้น อะไรอย่างนั้นไม่ได้เป็นเรา แม้ฝันว่าเป็นเรา เมื่อลืมตาตื่นก็ต้องตระหนักว่าเราไม่ได้ทำอย่างนั้น เราไม่ได้ไปในที่นั้น เราไม่ได้เจอใครคนนั้น ฯลฯ ฝันเป็นเพียงภาวะปรุงแต่งอันแสนพิสดารของจิต จบฝันเมื่อไหร่ อาการทึกทักเหลวไหลทั้งปวงก็จบตาม
 
หลักการเจริญสติรู้ขันธ์ ๕
หลักการพิจารณาขันธ์มีง่ายๆ คือเห็นว่า อย่างนี้ขันธ์เกิดขึ้น อย่างนี้ขันธ์ดับไป เมื่อดูเรื่อยๆไม่หยุดหย่อน ในที่สุดก็ปลุกให้เกิดอาการ ‘ตื่นจากฝัน’ ได้
ทราบหลักการแล้ว คราวนี้ถึงคำถามสำคัญคือ
๑) พร้อมจะดูหรือยัง?
๒) ควรจะดูขันธ์ไหนก่อน?
หากตีโจทย์สองข้อแรกนี้แตก ฉันก็เชื่อว่าจะดำเนินสะดวก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้สิ่งที่ฉันจะทำไว้ในใจคือดูความพร้อม กับดูขันธ์ที่เหมาะ
 
วันที่ ๑-๓: สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ
แม้ระยะนี้สมาธิเสื่อมลง ฉันยังไม่ตัดสินว่าตัวเองแพ้ เพราะถึงแม้จิตจะหม่นลง ไม่ผ่องใส ไม่สงบนิ่ง ไม่รู้ความเกิดดับ แต่อย่างน้อยฉันก็ยังมีความพยายามจะรู้ลมหายใจเข้าออกและอิริยาบถต่างๆเท่าที่กำลังสติอำนวย ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ยังชื่อว่าพยายาม
ฉันยังวกวนครุ่นคิดถึงคนรัก ใจไม่เป็นสุขเลย นึกถึงทีไรเหมือนสัมผัสอยู่ตลอดเวลาว่าเธอกำลังร้องไห้ด้วยความน้อยใจ บ่อยครั้งที่คิดจะโทร.หา แต่ก็เหมือนมีตัวห้ามจากภายในมายับยั้งไว้ทุกหน คือคิดซ้อนขึ้นมาว่าอุตส่าห์ตัดได้แล้ว จะใจอ่อนอีกหรือ? จะเปิดประตูบาปให้เธออีกหรือ? จะเอาเครื่องขวางการภาวนากลับมาอีกหรือ?
วันนี้บังเกิดความเห็นชัดว่าการภาวนาให้ตลอดรอดถึงฝั่งมรรคผลนั้น ต้องอาศัยกำลังใจ ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวอย่างมากทีเดียว การภาวนาเพื่อมรรคเพื่อผลอย่างแท้จริงไม่ได้เริ่มต้นด้วยการตั้งสติรู้กายใจโดยความเป็นของเกิดดับ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยเจตนาละเว้นสิ่งที่ควรละเว้นให้ได้เสียก่อน ถ้าแค่ตัดของนอกกายยังตัดไม่ขาด แล้วจะเอาพลกำลังที่ไหนมาตัดอุปาทานภายในได้ไหว?
เมื่อตกลงปลงใจแน่วแน่ว่าจะไม่ติดต่อกับเธออีก การออกเดินทางใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น ฉันวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าจะทำอย่างไรเพื่อฟื้นสติกลับมาให้เร็วที่สุด ก็ได้ข้อสรุปกับตนเองคือก่อนอื่นต้องเอาราวเกาะของสติกลับคืนมาให้ได้เป็นอันดับแรก ถ้า ‘หลุดมือ’ จากราวไปก็ต้องรู้ตัวและเพียรพยายามกลับมาเกาะใหม่ ไม่ต่างกับเมื่อเริ่มต้นนับหนึ่งในเดือนแรก
ฉันรู้ตัวว่าถ้าพยายามนั่งหลับตาทำสมาธิหรือเดินจงกรมจะไม่สำเร็จ เพราะเหมือนมีเวลาว่างคิดถึงคนรักมากขึ้นจนใจยิ่งขมวดแน่น จึงเบนเข็มมารู้ลมหายใจเข้าออกให้ได้ขณะลืมตาในชีวิตประจำวันแทน แค่หมั่นถามตัวเองเสมอๆ ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า นึกได้แต่ละทีก็ตั้งต้นด้วยการถอนใจที เพื่อให้เกิดลมออกชัดเจนก่อนลมเข้า เมื่อลมออกมีความยาวและความแรงใกล้เคียงกับลมเข้า สติก็จะหยัดตั้งได้เร็วขึ้น
ฉันเห็นความต่างระหว่างนับหนึ่งแบบมือใหม่จริงๆ กับนับหนึ่งใหม่แบบคนมีประสบการณ์แล้ว แม้ว่าคุณภาพจิตจะแย่พอกัน สติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ฟุ้งซ่านเป็นปกติ แต่คนมีประสบการณ์ที่นับหนึ่งใหม่จะไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก สิ่งที่เคยผิดมาแล้วก็ไม่ทำซ้ำ สิ่งที่เคยถูกมาแล้วก็ยิ่งทำให้มากขึ้น เหมือนคนเคยเดินผ่านเส้นทางสู่จุดหมายเดิม ถึงแม้กะปลกกะเปลี้ยเพียงใดก็ต้องจำหลุมบ่อ จำขวากหนาม ตลอดจนทางลัดได้อยู่ ย่อมไปถึงจุดหมายเร็วขึ้นเป็นธรรมดา
ฉันเริ่มแม่นมากขึ้นว่าก้าวที่หนึ่งนั้นเน้นที่ ‘รู้ว่าหายใจออกหรือหายใจเข้า’ จะไม่ไปหลงงมอยู่กับการคำนึงว่าต้องรู้รายละเอียดหรือคำกำกับเพิ่มเติม อาการไหนที่บอกว่ากำลังหายใจออกหรือเข้า ก็รู้อาการนั้น ไม่พยายามทำอะไรมากขึ้นหรือน้อยลงไปกว่าการรู้เท่าที่สามารถรู้ได้
ประสบการณ์สอนให้ฉันสังเกตจุดพิเศษจุดหนึ่งด้วย นั่นคือจังหวะที่ลมสั้นสติจะแผ่วอ่อนหรือหายวับไป ฉันก็ตั้งความสังเกตสังกาว่าเมื่อใดที่ลมเริ่มอ่อน เพียรสังเกตจนกระทั่งเท่าทันทั้งลมสั้นลมยาวด้วยคุณภาพสติใกล้เคียงกัน ตรงนั้นจึงบอกตัวเองว่าจิตเริ่มมีสภาพ ‘ผู้รู้กองลมทั้งปวง’ คือหายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ หายใจยาวก็รู้ชัดว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจสั้น ไม่ใช่เอาแต่รู้ลมหายใจเข้า ไม่ใช่เอาแต่รู้ลมหายใจยาว ซึ่งเป็นธรรมดาตามถนัดของคนทั่วไป
แต่มโนภาพของคนรักฉันก็แวบผ่านมาเสมอ ไม่ว่าขณะทำงานหรือขณะมีสติรู้ลมหายใจ เพิ่งเห็นชัดว่าคนรักเป็นสิ่งตรึงใจแน่นหนาขนาดนี้ เห็นกระบวนการทำงานของจิต ที่ย้อนคิด ย้อนห่วง ย้อนสงสารเธอขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นพอคิดถึงมากๆแล้วดึงสติกลับมาตั้งที่ฐานคือลมหายใจ บรรเทาความคิดถึงลงได้หน่อยหนึ่ง ก็คิดซ้อนขึ้นมาอีกว่านี่ขนาดฉันมีเครื่องอยู่ของสติยังผ่านเวลาแต่ละชั่วโมงไปด้วยความยากลำบาก แล้วเธอที่เป็นคนธรรมดา มีสติไว้คิดเรื่องงานอย่างเดียว ไม่เคยฝึกรู้กายใจโดยความเป็นของเกิดดับอย่างฉันเล่า จะลำบากกว่ากันขนาดไหน?
วันแรกผ่านไปแบบครึ่งๆ รู้ลมหายใจก็รู้ แต่ก็วนเวียนกังวล เรียกว่าสติแบบฝืนๆ ไม่เป็นธรรมชาติสบายเหมือนช่วงกำลังรุ่งๆ ฉันให้กำลังใจตัวเองโดยคิดเสียว่าเราก็แน่เหมือนกันนะ เดือนแรกไม่มีเรื่องรบกวนจิตใจยังใช้เวลา ๗ วันกว่าจะรู้ลมหายใจเข้าออกได้เป็นปกติ แต่เดือนนี้มีเรื่องคนรักคอยรบกวนตลอดเวลา ยังกลับมารู้ลมหายใจได้ในวันเดียว ตกกลางคืนสังเกตตัวเองอีกครั้ง พบว่าเริ่มเท่าทันลมเข้าออกเป็นปกติ ไม่หายใจด้วยอาการรีบร้อน ไม่หายใจด้วยความกระวนกระวาย และไม่หายใจด้วยความเพ่งเครียด แต่หายใจด้วยความใจเย็น หายใจด้วยความสงบ และหายใจด้วยความสบาย
วันต่อมาฉันตื่นนอนแล้วคิดถึงคนรักเป็นอันดับแรก แล้วก็ระลึกถึงลมหายใจได้เป็นอันดับต่อมา รู้สึกถึงความว่างวาย ไม่มีอะไรในใจ ไม่มีใครอื่นอยู่ในห้อง เริ่มเห็นอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นการเห็นด้วยความประจักษ์ลึกซึ้งอย่างแท้จริง นั่นคือสิ่งที่รบกวนจิตใจฉันอยู่เกือบตลอดเวลาไม่ใช่คนรักของฉัน แต่เป็นจิตที่ดิ้นรนของฉันเอง ไม่มีเธออยู่ที่นี่ ไม่มีหน้าเธอเข้าตา ไม่มีเสียงเธอกรอกหู มีแต่กลไกการทำงานของจิตฉันเท่านั้น ถ้ามีเธออยู่ในหัวแล้วใจทะยานไปยึดมั่นถือมั่น นั่นก็คือการยึดคลื่นความคิดของตัวเองอย่างไร้แก่นสารแท้ๆ
ความจริงน่าจะเป็นมุมมองที่เหมือนใครๆก็รู้กันอยู่แล้ว พูดกันทั่วๆไปอยู่แล้ว เช่นเราทำตัวเอง คิดมากไปเอง แต่สำรวจดีๆเถอะ ปกติเวลาเราฟุ้งซ่านถึงใคร เราจะรู้สึกว่าเขามารบกวนเรา เราจะมีปฏิกิริยาทางใจกับเขาเป็นชอบ เป็นชังยิ่งๆขึ้นทุกครั้งที่เขามาอยู่ในหัวของเรา ทั้งที่ตัวจริงของเขาไม่ได้มาอยู่ตรงนั้นเลย
ประสบการณ์นี้มีอิทธิพลใหญ่หลวงกับการภาวนาของฉัน เพราะฉันเริ่มเห็นขึ้นมารางๆว่าโลกทั้งโลกมีความหมายกับเราเพียงใด ขึ้นอยู่กับกลไกการทำงานในจิตเท่านั้น บุคคลภายนอกที่เข้ามากระทบเราเพียงแต่ทิ้งร่องรอยหรือสัญญาณบางอย่างไว้ เมื่อสัญญาณดังกล่าว ‘ดัง’ ขึ้นรบกวนจิต ก็จะเกิดความจดจำได้ และทำให้มีอาการคำนึงนึกถึงบุคคลภายนอกขึ้นมาเป็นชอบหรือเป็นชังทันที หากเป็นชอบก็จะมีสุขเวทนาทางใจ หากเป็นชังก็จะมีทุกขเวทนาทางใจ
คล้ายกับ ‘โลกแห่งความจริง’ ที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้โคลงเคลงไป ใกล้ๆจะพลิกคว่ำคะมำหงาย หรือมีสภาพ ‘พื้นซึ่งอาศัยยืนอยู่หายไป’ หากไม่มีใครอยู่ตรงหน้าเราสักคน เราก็เป็นแค่สภาวะทางธรรมชาติ คือเป็นโครงกระดูกฉาบเนื้อที่เคลื่อนไหวได้ เป็นจิตที่อาจเสวยสุขทุกข์จากกระทบนอกใน เป็นจิตที่อาจทรงจำหลายสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เป็นจิตที่อาจตรึกนึกและเจตนาดีร้าย เป็นจิตที่รับรู้โลกภายนอกผ่านเครื่องต่อคือตา หู จมูก ลิ้น และกาย
ในภาวะโดดเดี่ยวที่ไม่มีใครอยู่ด้วย ตัวฉันที่แท้ไม่มีชื่อ ไม่มีสภาพความเป็นบุคคล สิ่งที่เปิดเผยตามจริงแก่จิตคือส่วนของรูปธรรมที่เคลื่อนไหวได้ กับส่วนของนามธรรมที่แปรปรวนได้ ที่ตื่นขึ้นมาทุกเช้าแล้วเข้าใจว่า ‘นี่คือฉัน’ ล้วนเป็นเพียงอุปาทานไปเองทั้งนั้น ช่างเป็นการเห็น ‘ความจริง’ ที่แปลกประหลาดดีแท้ สภาวะเหล่านั้นเป็นอย่างที่พวกมันเป็นอยู่มาช้านานอย่างเปิดเผย แต่กลับปรากฏเป็นของปิดบังมิดเม้นไปได้อย่างเหลือเชื่อ
ภาวะที่จิตว่างๆจากความรู้สึกในตัวตนนั้นดำรงอยู่ไม่นานนัก เมื่ออาบน้ำแปรงฟันและขับรถไปทำงาน ทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพปกติ มีความรู้สึกเป็นฉันผู้ครอบครองกาย ครอบครองรถยนต์ ครอบครองชื่อเสียงเรียงนามตามเดิม ฉันพยายามเจาะผ่านม่านอุปาทานเข้าไปให้เกิดความเห็นแบบตอนตื่นอีก ลองแม้แต่นึกถึงภาวะความรู้สึกแบบนั้น แต่ก็ไม่สำเร็จ ราวกับเมื่อเช้ามืดโดนวางยาบางประเภทให้เห็นโลกผิดเพี้ยนไป ขณะนี้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว
ฉันหัวเราะอยู่กับตัวเองคนเดียวในรถ ความจริงคือภาวะนี้ต่างหากที่กำลังเห็นโลกผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง น่าตระหนกนักที่ม่านอุปาทานหนาหนักเสียจนทุกอย่างดูเป็นจริงเป็นจัง นี่กายฉัน นี่รถฉัน นี่ความรู้สึกนึกคิดของฉัน หาพิรุธไม่ได้เลย ไม่น่าสงสัยเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ต้องเพียรพยายามนึกให้มีฉัน มันก็มีอยู่ในใจตลอดเวลา แตกต่างจากการเห็นให้ได้ตามจริงว่านี่ไม่ใช่ฉัน นี่ไม่ใช่รถฉัน นี่ไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิดของฉัน กว่าจะเห็นว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องตั้งสติกันนาน ฝึกอบรมจิตกันพักหนึ่ง
ฉันยังเป็นปุถุชนคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงง่ายที่จะคิดแบบปุถุชนคิด และพบว่าเมื่ออาศัยความนึกคิดแบบปุถุชน ย่อมพาไปสู่ความสงสัยว่าอย่างนี้เราคืออะไรกัน?
ประสบการณ์ครั้งแรกๆที่คาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างความคิดเชื่อว่ามีตัวตน กับความประจักษ์ชัดว่าตัวตนไม่มีนั้น เป็นอะไรที่น่าตระหนกยิ่ง หากมีพื้นฐานจิตใจพร้อมคิดสละออก คือทานบารมีดีพอ ประกอบกับมีใจสะอาด คือศีลบารมีดีพอ รวมทั้งมีดวงจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวง่าย คือสมาธิบารมีดีพอ ก็จะกลับวางเฉยเสียได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตรงข้ามกับผู้ไม่เคยคิดสละออก มีใจสกปรกคิดคด รวมทั้งฟุ้งซ่านเห็นอะไรๆบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง ก็จะว้าวุ่นจนกลายเป็นบ้าเอา พระพุทธเจ้าให้ทำจิตผ่องใสเป็นสมาธิ ให้รักษาศีลสะอาดบริสุทธิ์ก่อนเจริญสติปัฏฐาน ให้หมั่นทำทานคิดสละออก ล้วนแล้วแต่มีความหมาย มีความเป็นพื้นฐานเพื่อรอรับยอดได้อย่างเหมาะสม ท่านไม่เคยแนะนำขาดตกบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้สาวกต้องลำบากภายหลัง
เกิดธรรมปีติสะเทือนแรงจนน้ำตาเอ่อคลอ เป็นจังหวะรถติดไฟแดงพอดี ฉันซาบซึ้งในพระมหากรุณาแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนต้องยกมือไหว้ท่วมศีรษะในบัดนั้น
ช่วงเช้าทำงานด้วยจิตใสใจเบา รู้สึกชืดชากับโลกภายนอก แต่ชื่นชมกับโลกภายใน เข้าอกเข้าใจเป็นอย่างยิ่งว่าทำงานตามหน้าที่เป็นอย่างไร แต่พอทานข้าวเที่ยง เริ่มหนักท้องเข้าหน่อยพายุความฟุ้งก็เริ่มก่อตัว กลายเป็นคนธรรมดาเดินดิน สิ้นท่ากับเรื่องแฟนอีกรอบ จิตใจหนักอึ้ง อยากโทร.หาเธอจนทรมานในอกปวดแสบปวดร้อนไปหมด เห็นภาวะปุถุชนชัดแล้วอนาถใจ เต็มไปด้วยความกลับกลอกหาอะไรคงที่ไม่ได้ เช้าเป็นอย่างหนึ่ง บ่ายเป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้แต่ความคิดตัวเองยังไม่อาจบังคับให้เป็นอย่างใจ แล้วจะหวังให้ความคิดใครเป็นอย่างเราต้องการ
มายอมกัดลิ้นฝืนใจไม่โทร.หาเธอก็ด้วยตระหนักความจริงข้อนั้น ฉันควบคุมให้ความคิดเธอเป็นไปตามที่ฉันหรือแม้แต่เธอเองต้องการไม่ได้ จิตเธอยังไม่มีความเลื่อมใสพระรัตนตรัย ขณะที่ฉันยอมแม้กระทั่งอุทิศชีวิตได้ แค่ศรัทธาก็ไม่เสมอกันอย่างนี้ คบไปจะเดือดเนื้อร้อนใจเธอเปล่าๆ เป็นเหตุให้เกิดบาปเกิดกรรมที่ไม่อาจมีใครพยากรณ์ หากฉันรักเธอ ปรารถนาดีกับเธอ ก็ต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม คิดว่าการโทร.หาเธอเปรียบเหมือนยื่นยาพิษให้เธอดีๆนี่เอง
รู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งที่สุดในชีวิตเมื่อตัดใจได้อีกครั้ง ยกจิตเข้าสู่ภาวะสู้เต็มพิกัด เมื่อความคิดเป็นเหตุเป็นผลทำงานแล้ว คราวนี้สติสัมปชัญญะก็รับช่วงทำงานต่อบ้าง ฉันเอาสิ่งที่รบกวนจิตใจอยู่ตลอดเวลานั่นเองเป็นเครื่องมือภาวนา สิ่งไหนเกิดบ่อย สิ่งนั้นเป็นโอกาสเจริญสติได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากน่ายึดมั่นถือมั่นมาก หากเจริญสติปัฏฐานจนเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนั้นแล้ว ก็อาจกลายเป็นตัวส่งให้เกิดพัฒนาการชนิดก้าวกระโดดได้
อย่างที่ฉันเกิดประสบการณ์ประจักษ์ไปเมื่อเช้า ว่าแท้จริงคนรักของฉันไม่ได้รบกวนจิตใจฉันเลย แต่ความทุกข์ ความจำ และความตรึกนึกของฉันเองต่างหาก ที่วนเวียนย่ำยีจิตใจไม่เลิกราเสียที ฉันจึงนึกถึงสมาธิซึ่งพระพุทธเจ้านิยามว่าเป็นประเภทก่อให้เกิดสติสัมปชัญญะ นั่นคือ
๑) รู้แจ้งเป็นขณะๆว่าเวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
๒) รู้แจ้งเป็นขณะๆว่าสัญญาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
๓) รู้แจ้งเป็นขณะๆว่าความตรึกนึกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ตามการจำแนกของพระพุทธองค์ การทำสมาธิประเภทนี้ต่างจากสมาธิเพื่อเสพสุข (ฌาน) ต่างจากสมาธิเพื่อญาณทัศนะ (อธิษฐานกลางคืนเป็นกลางวัน) และการทำสมาธิประเภทนี้ก็ไม่จำเป็นต้องหลับตา ไม่จำเป็นต้องอยู่ในขณะแห่งการเดินจงกรม แต่กำหนดสติเข้าไปตรงๆว่าเวทนาขณะนี้เป็นทุกข์หรือสุข สัญญาขณะนี้คือความจำเกี่ยวกับใคร และขณะนี้เรากำลังอยู่ในภาวะตรึกนึกหรือไม่
ขณะที่เริ่มตัดสินใจจะทำสมาธิเพื่อให้เกิดสติสัมปชัญญะนั้นเอง สิ่งที่ยอมรับเป็นประการแรกคือความชัดเด่นของทุกขเวทนาเกี่ยวกับคนรัก ฉันไม่ลุกไปไหน ยังนั่งปักหลักละเลียดน้ำเปล่าในแก้วอยู่ที่โต๊ะอาหาร สายตาทอดออกไปนอกหน้าต่าง แต่สติก็ทำงาน คือเห็นช่วงอกแปลบเสียว บางครั้งก็ขมวดแน่นเป็นก้อนอย่างที่เขาเรียกกันว่า ‘จุกอก’ บางครั้งก็คลายอาการเสียด แต่เหมือนยังมีอะไรเสียบคาอยู่
ฉันตั้งสติกำหนดตามดูแล้วเห็นแต่ความแปรปรวนของทุกขเวทนา เดี๋ยวแรงเดี๋ยวเบา ไม่เห็นอาการดับเสียที จนต้องขมวดคิ้วคิดว่าเปลี่ยนวิธีดูจะดีหรือไม่
ขณะนั้นเอง สติส่วนหนึ่งก็บอกว่าขณะนี้กำลังตรึกนึก เห็นอาการตรึกนึกตั้งอยู่ อาการตรึกนึกทำให้มีแรงเค้นขึ้นหน่อยๆในหัว คล้ายกล้ามเนื้อบางส่วนถูกบีบให้แน่นขึ้นเล็กน้อย พอฉันรู้ลักษณะบีบนั้นเข้า ก็เกิดอาการคลายลง ตรงที่คลายลงนั่นเองคือการเห็นอาการตรึกนึกดับไป
เมื่อเห็นความตรึกนึกดับไปนั้น สิ่งที่ติดตามมาคือความเบาโล่งหัวอก สติบอกทันทีว่าขณะนี้กำลังเป็นสุข เห็นสุขเวทนาเกิดขึ้น แต่ความเบาโล่งหัวอกนั้นตั้งอยู่ไม่นานก็เลือนไป สติเสียศูนย์เพราะคลื่นความฟุ้งซ่านเข้าแทรกแซง กลายเป็นความเหม่อไป พอรู้ตัวว่าเหม่อก็อึดอัด เพราะไม่รู้จะเรียกสติกลับมาดูอะไรตรงไหนดี ก็นึกถึงราวเกาะ ถามตัวเองว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า เห็นว่ากำลังหายใจอ่อนก็รู้ว่าหายใจอ่อน
ฉันรู้สึกสับสนนิดหนึ่ง นั่งเอามือเท้าคาง คิดอีกว่าขณะนี้กำลังสติอ่อนอยู่ การนำมารู้สิ่งที่เกิดขึ้นในใจตรงๆจะเหมาะแน่หรือไม่ แต่พอคิดอยู่อึดใจหนึ่งสติก็บอกว่านี่กำลังอยู่ในอาการตรึกนึกอีกแล้ว ด้วยสติธรรมดาปานกลาง อาการตรึกนึกถูกรู้ได้ก็เมื่อกำลังตั้งอยู่แล้วเสมอ จนแล้วจนรอดก็ยังตามไม่ทันขณะแห่งความเกิดขึ้น
อันเนื่องจากเคยผ่านประสบการณ์มีจิตสงบนิ่งเป็นสมาธิดีๆมาก่อน ฉันจึงพยักหน้าว่า การจะเพียรเพื่อมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันความเกิดขึ้นของอาการตรึกนึกกันจริงๆนั้น ต้องมีดวงจิตที่สงบพอควรเสียก่อน เพื่อให้เกิดความแตกต่างชัดเจนขณะความคิดตรึกนึกก่อตัวขึ้นจากสภาพสงบราบคาบ
แต่อย่างน้อยฉันก็เห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างความฟุ้งซ่านกับอาการตรึกนึก ถ้าฟุ้งซ่านจิตจะกระโดดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้สะเปะสะปะ แต่ถ้าเป็นตรึกนึกจิตจะจดจ่อกับเรื่องเดียว แล้วยังแยกออกไปได้อีก คือจดจ่อแบบแช่อย่างไร้จุดหมายไปเรื่อยๆโดยปราศจากที่สิ้นสุดชัดเจน กับจดจ่อแบบคิดรอบด้านเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อเอาคำตอบสุดท้ายแล้วหยุดตรึกนึก
ด้วยความสังเกตความแตกต่างระหว่างตรึกนึกแบบแช่กับตรึกนึกอย่างเป็นระเบียบ ทำให้ฉันเกิดความรู้ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือการตรึกนึกอย่างเป็นระเบียบ ไม่ว่าเรื่องทางโลกหรือทางธรรม จะก่อให้เกิดความสงบขึ้นมาระดับหนึ่ง เมื่อสงบลงบ้าง พอตรึกนึกอะไรใหม่ก็จะเริ่มเห็นวินาทีของการเริ่มตรึกนึกใหม่นั้น ซึ่งนั่นก็คือการเห็นความเกิดขึ้นของอาการตรึกนึก
และเพราะเข้าใจความต่างระหว่างอาการตรึกนึกกับความฟุ้งซ่าน ฉันก็สังเกตเข้าไปเห็นช่องทางเอาประโยชน์จากความฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ คือแทนที่จะพยายามห้ามไม่ให้ฟุ้งซ่านหรือหาอะไรมาเบียดเบียนความฟุ้งซ่าน ฉันก็กำหนดเข้าไปตรงๆว่าขณะนั้นกำลังฟุ้งซ่านเกี่ยวกับอะไร เพื่อดูความปรากฏของสัญญา
อย่างตอนนี้ถ้าปล่อยจิตให้ฟุ้งตามสบาย เรื่องที่วกวนก็ไม่พ้นคนรักนั่นเอง ลักษณะฟุ้งของคนเรามีสองแบบหลักๆ คือฟุ้งแบบแช่กับฟุ้งแบบเครียด สำหรับฉันขณะนี้เป็นฟุ้งแบบแช่ๆเฉื่อยเนือย พอรู้ตัวว่าฟุ้งปุ๊บ แทนที่จะปล่อยลอยตามเคย ก็ดูอาการ ‘จิตจำคนรักได้’ เมื่อเห็นอาการที่จิตจำคนรักได้ ความจำนั้นก็ดับลงทันที กลายเป็นอาการกำหนดสติค้างๆคาๆปราศจากเป้าหมาย ฉันก็เอาสติกลับไปรู้ลมหายใจต่อว่ากำลังออกหรือเข้า
พอรู้ลมหายใจสบายๆพักหนึ่ง เมื่อลมหายใจเริ่มอ่อน กลายเป็นหายใจสั้นเข้า อาการฟุ้งซ่านก็กลับมาอีก ความจำเกี่ยวกับคนรักก็กลับมาอีก และคราวนี้ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือ ก่อนเกิดความจำได้หมายรู้เกี่ยวกับคนรัก มีคลื่นอะไรอย่างหนึ่งผุดขึ้นในจิต คล้ายอยู่ๆก็มีการก่อตัวของฟองอากาศในขวดที่บรรจุน้ำเต็ม สำคัญคือถ้าไม่มีความตรึกนึกมารับช่วงต่อ ระลอกความจำนั้นจะหายไปเฉยๆเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
สิ่งที่จะทำให้คลื่นความจำหายไปโดยไม่มีความตรึกนึกมารับช่วงต่อก็คือสติ สติที่รู้ขณะแห่งความเกิด ขึ้นอยู่ ดับไปของสัญญานั่นเองกระทำจิตให้อยู่ในสภาวะรู้ ไม่ใช่สภาวะคิด รู้สัญญาหนึ่งดับก็กลับคืนสู่ความสงบ และมีสัญญาระลอกใหม่มาปรากฏให้เห็นอีก
ปกติจิตของคนธรรมดาทั่วไปนั้น เปรียบเหมือนผืนทะเลใหญ่ ที่มีระลอกคลื่นทยอยตัวกระทบฝั่งไม่หยุดยั้ง คลื่นที่กระทบจิตทำให้เกิดสัญญา คือจำได้หมายรู้ว่าคลื่นนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร หากอยู่ในภาวะฟุ้งซ่านไร้สติ คนธรรมดาจะรับเอาสัญญานั้นมาปรุงแต่งต่อ ลักษณะตรึกนึกเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆจะรักษาความรู้สึกจำได้เอาไว้ ส่วนที่ว่าสัญญาจะแจ่มชัดหรือมลังเมลืองครึ่งๆกลางๆ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิต คุณภาพของอาการตรึกนึกว่าดีเพียงใด
ในคนธรรมดา สัญญายิ่งชัด ความรู้สึกเกี่ยวกับอัตตาตัวตนก็จะพลอยชัดตามไปด้วย แต่ถ้าพลิกกันด้วยสติของผู้เจริญภาวนา สัญญายิ่งปรากฏชัดเท่าไหร่ ความดับไปของสัญญาก็ยิ่งปรากฏชัดเท่านั้นตามไปด้วย และเมื่อมีความเพียรเห็นความดับของสัญญาชัดเจนหลายครั้งเข้า สติที่รู้เห็นนามธรรมก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นทุกที
ตรงที่เกิดความเห็นชัดว่าเมื่อใดสัญญาเกิด เมื่อใดสัญญาตั้งอยู่ และเมื่อใดสัญญาดับ ฉันเกิดความสนุกขึ้นมา เหมือนคนกำลังเล่นกีฬามือขึ้น ที่สายตาและประสาทสัมผัสว่องไว จับรู้เท่าทันวัตถุในเกมกีฬาได้โดยไม่ต้องตั้งใจมาก กับทั้งนึกถึงสูตรอุปมาขันธ์ ๕ ของพระพุทธองค์ ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาคือ
เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง ผู้มีดวงตาทั้งหลายพึงเห็น เพ่ง พิจารณาพยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า สาระในพยับแดดมีอยู่เพียงใด สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีสาระอยู่เพียงนั้น
สัญญาเหมือนพยับแดดจริงๆ เมื่อสติมีกำลังมากขึ้น ก็ยิ่งปรากฏชัด แล้วหายไปชัดๆ สัญญาจะต่างกับพยับแดดตรงไหน ถ้าหากแค่เหมือนมี แต่แท้จริงไม่ได้มี
และตรงความรู้เห็นเกิดดับโดยไม่ต้องฝืนบังคับตั้งใจนั่นเอง ความหนาแน่นของอาการตรึกนึกก็ลดลง ฉันลองปล่อยให้ใจตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆตามสบาย ปรากฏว่าพอสติเท่าทันว่าอาการตรึกนึกเกิดขึ้น อาการตรึกนึกก็ลดน้ำหนักฮวบฮาบลงทันที
อย่างนี้เองพระพุทธเจ้าจึงบัญญัติว่าอาการที่กำหนดเวทนา สัญญา และความตรึกนึกโดยความเป็นของเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จัดเป็นสมาธิประเภทหนึ่ง เพราะจะเห็นสภาพหยาบๆในเบื้องแรก แล้วค่อยๆเห็นประณีตขึ้น กระทั่งจิตสงบลงเป็นสมาธิได้ ที่จุดของความสงบนั้น อาการตรึกนึกที่สมน้ำสมเนื้อพอดีระดับกับสมาธิจิต ก็คือความตรึกนึกถึงลมหายใจเข้าออก
นี่คือการค้นพบของฉัน เราเริ่มเจริญสติจากสภาวะอันเป็นนามธรรมก่อนก็ได้ เพราะเมื่อเกิดสติสัมปชัญญะดีแล้ว ตัวสติเองจะเข้ารู้ทุกอย่างที่กำลังปรากฏเด่น ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม ทุกอย่างที่เข้ามากระทบจิตจะปรากฏชัดเป็นขณะๆไปหมด เบื้องแรกจะเป็นความรู้สึกสนุกและติดใจมากที่สามารถรู้เห็นไปทุกอย่างโดยไม่จำเป็นต้องปิดตานั่งสมาธิหรือเดินจงกรม
ในการนั่งสมาธิครั้งต่อๆมา หากฉันมีความเครียดหรือคลื่นพายุฟุ้งยุ่ง ฉันจะไม่ใช้อุบายอื่นใด นอกจากปล่อยให้ระลอกหนักเบาของความเครียดและคลื่นความคิดฟุ้งปรากฏตัวตามสบาย ฉันมีหน้าที่เพียงนั่งเฝ้ามองทุกๆอาการ ทั้งที่หนักมากและหนักน้อยผ่านมาแล้วผ่านไป แค่แน่ใจว่าเห็นสภาพหนักแปรเป็นเบา เบาแปรเป็นหนัก เกิดขึ้นแล้วดับลง หากไม่เข้าไปก้าวก่าย ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจได้พักหนึ่ง จิตก็จะทรงสติว่องไว มีความเห็นแจ่มชัด และสงบตัวลงเองตามธรรมชาติ สามารถนำมาทำสมาธิมาตรฐานเช่นอานาปานสติต่อได้อย่างดี
วันที่ ๓ ของเดือน ฉันก็กลับมาเป็นคนมีสติคมชัดเหมือนเดิม ด้วยความพากเพียรไม่ลดละ มีกำลังใจอย่างเอกอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อตระหนักว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ทำตามพระพุทธเจ้าสอนแล้วไม่เคยพลาดจากผลดีสักที ได้ผลมาตามลำดับอย่างนี้จะไม่ให้เชื่ออย่างไรว่าเส้นทางนี้นำไปสู่มรรคผลจริงๆ!
 
วันที่ ๔: ไม่ใช่ตัวตนก็ทำตามอำเภอใจได้แล้ว
เมื่อคืนเอางานมาทำต่อจนเพลียจัด แม้ว่าได้นั่งสมาธิฟื้นกำลังไปบ้างแล้วหลังทำงานเสร็จ แต่ตื่นขึ้นมาเช้านี้ก็ยังสะลึมสะลืออยู่ดี
ฉันพยายามนั่งสมาธิและเดินจงกรมทั้งครึ่งตื่นครึ่งงัวเงีย ในความงัวเงียอันหนาแน่นด้วยโมหะนั้น คำถามและความลังเลสงสัยย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น
ขณะเดินจงกรมรู้เท้ากระทบอยู่ช่วงหนึ่ง ฉันเกิดความคิดขึ้นมาว่าที่กำลังรู้กระทบๆๆอยู่นี่สักแต่เป็นความกระทบของรูป สักแต่เป็นผัสสะปรุงแต่งใจ เป็นเพียงขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเรา ในเมื่อนี่ไม่ใช่เรา แล้วจะภาวนาเอาดี เอามรรคผลไปเพื่ออะไร? สู้กลับไปหาแฟน ช่วยกันสร้างบ้านสร้างเรือนกับเธอไม่ดีกว่าหรือ?
วูบต่อมาก็เกิดคำถามที่หนักกว่านั้น นั่นคือ ถ้านี่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแค่ขันธ์ ๕ จะต้องกลัวบาปกลัวกรรมไปทำไม ทำแล้วก็สักแต่ว่าเป็นกรรมของขันธ์ ๕ อันว่างสูญ เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ใช่กรรมของฉัน ต่อให้มีวิบากรออยู่จริงในภพหน้า นั่นก็ไม่ใช่ตัวฉันแล้ว ทำไมฉันจะต้องไปแคร์ตัวตนอื่นที่ไม่ใช่ตัวตนนี้?
หลังจากเลิกเดินจงกรม ฉันเกิดความรู้สึกคุ้นๆขึ้นมาว่าเคยเจอพระสูตรที่มีภิกษุสงสัยทำนองเดียวกันนี้ เลยเปิดคอมพิวเตอร์ค้นหาด้วยคำสำคัญเช่น ‘กรรม’ และ ‘ขันธ์ ๕’ เมื่อได้รายชื่อพระสูตรที่เกี่ยวข้องก็นั่งกวาดสายตาไล่หาทีละสูตรกระทั่งพบปุณณมสูตรสมใจ
สูตรนี้พระพุทธองค์ตรัสตอบไขข้อข้องใจของภิกษุผู้สงสัยในแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ในตอนท้ายมีภิกษุรูปหนึ่งฟังแล้วคิดสงสัยเหมือนกับฉันเปี๊ยบ เนื้อความคือ…
ถึงเวลานั้น มีภิกษุรูปหนึ่งเกิดความปริวิตกขึ้นมาในใจว่า “จำเริญละ เท่าที่ฟังพระผู้มีพระภาคตรัสมานี้ เป็นอันว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้วจะมาโดนตัวเราได้อย่างไร”
ทันทีนั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของภิกษุรูปนั้นด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายกว้างๆโดยไม่จำเพาะเจาะจงว่า…
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ มีความไม่รู้ ตกอยู่ในอวิชชา ใจมีความทะยานอยากเป็นหลัก เขาสำคัญคำสั่งสอนของเราด้วยความสะเพร่า แล้วคิดว่าจำเริญละ เท่าที่เราว่ามานี้ เป็นอันว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้วจะมาโดนตัวเราได้อย่างไร
เราจะขอสอบถาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้แนะนำพวกเธอในธรรมเกี่ยวกับขันธ์ ๕ แล้ว…
แล้วพระพุทธองค์ก็เริ่มตรัสถามธรรมะอันสำคัญที่ชวนให้ตรึกตามลำดับและเห็นตามจริงจนภิกษุในครั้งพุทธกาลบรรลุมรรคผลกันมานักต่อนัก
พระศาสดา - พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
เหล่าภิกษุ - “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”
พระศาสดา - ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?
เหล่าภิกษุ - “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”
พระศาสดา - ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา?
เหล่าภิกษุ - “ไม่ควรเลยพระเจ้าข้า”
พระศาสดา - พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
เหล่าภิกษุ - “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”
พระศาสดา - ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?
เหล่าภิกษุ - “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”
พระศาสดา - ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา?
เหล่าภิกษุ - “ไม่ควรเลยพระเจ้าข้า”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ พวกเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา (สำหรับเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสโดยเนื้อความเดียวกันนี้)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี และขณะพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปได้มีจิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องหมักดองในขันธสันดานเพราะหมดความยึดมั่นถือมั่น
อ่านแต่ละคำ แต่ละประโยคแล้วใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ เกิดปีติเบิกบานด้วยความเชื่อมั่นว่าได้ฟังคำตอบจากพระพุทธเจ้าจริงๆ แม้พระองค์จะไม่ตอบคำถามเป็นเชิงตรง แต่จิตที่น้อมรับธรรมอันแจ่มแจ้งก็รู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร หากเข้าใจจริงๆแล้วว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนแม้แต่อย่างเดียว ก็จะ ‘ไม่มีผู้คิด’ ว่ากรรมทำแล้วย่อมไม่มาโดนตัวเรา มีแต่จิตที่เป็นอิสระจากอุปาทานเบิกบานอยู่ เปิดเผยอยู่เหมือนแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่างโดยปราศจากความสำคัญมั่นหมายว่าความร้อนเป็นกรรมของเรา ความเคลื่อนที่ไปให้ความสว่างแก่โลกคือกรรมของเรา แต่ถ้าเกิดอุปาทานขึ้นมาเสียแล้วว่ากายใจนี้เป็นเรา ก็ย่อมสงสัยไปเรื่อย ว่ากรรมทำแล้วมีผลหรือไม่มีผลกับ ‘ตัวเรา’
แท้จริงการเว้นจากบาปอกุศลนั้นก็เพื่อไม่ให้เกิดผลเป็นสภาวะทุกข์ เพราะยิ่งทุกข์ก็ต้องยิ่งมีแรงอุปาทานในทางลบเพิ่มขึ้น บดบังสัจจะความจริงยิ่งๆขึ้น และการบรรลุธรรมก็ไม่ใช่เพื่อตัวตนของใคร แต่เพื่อหยุดวงจรทุกข์ไปอีกหนึ่งหน่วยเท่านั้น ขอให้เข้าใจแจ่มแจ้งตั้งแต่ในระดับการรับฟังและคิดตามจริงๆเถอะ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือโดยย่นย่อคือกายใจนี้ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จึงไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเป็นตน การเฝ้าตามเห็นเป็นขณะๆย่อมไม่ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความมีหรือไม่มีตัวตนอีกเลย
ฉันได้คำตอบที่ทำให้เกิดความอิ่มเอมเปรมใจ หายสงสัย สมกับที่ตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะยกพระพุทธองค์เป็นครู จะฟังท่านเป็นหลัก การได้คำตอบที่คาใจในหลายต่อหลายครั้งคือความคืบหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ฉันว่าเผลอๆคนยุคเราจะได้เปรียบคนสมัยพุทธกาล อยากรู้อะไรก็เปิดคอมพิวเตอร์คีย์หาคำที่ต้องการเอา คนยุคพุทธกาลเสียอีก บางทีอยู่ต่างบ้านต่างเมืองกับพระพุทธองค์ บางทีอยู่ในป่าไม่มีโอกาสเจอภิกษุในพุทธศาสนา หรือบางทีพบเพียงพระภิกษุสาวก หรืออุบาสกอุบาสิกาที่ไม่รู้รอบตอบได้ทั่วถึงในพุทธพจน์ทั้งปวง และหากมีโอกาสฟังพุทธพจน์น้อย ไหนเลยจะแก้ข้อสงสัยได้หมดสิ้น
วันนี้ทำงานค่อนข้างหนัก และยังไม่มีความคืบหน้าทางการภาวนามากนัก แค่หายสงสัยเรื่องขันธ์เท่านั้น ตั้งใจว่าพรุ่งนี้วันเสาร์ ช่วงครึ่งวันหลังจะขับรถออกต่างจังหวัดไปหาวัดสงบๆเพื่อนั่งสมาธิอีก มีพิเศษกว่าเคยคือตั้งใจว่าคราวนี้จะไปค้างคืนแล้วกลับกรุงเทพฯในเย็นวันอาทิตย์ แทนที่จะไปนั่งเดี๋ยวเดียวแล้วกลับเลยอย่างที่ผ่านๆมา
 
วันที่ ๕: ปฏิบัติแบบไหนในเวลาใดจึงเรียกว่ารู้อุปาทานขันธ์เกิดดับ
ออกจากที่ทำงานใกล้เที่ยง ฉันรู้สึกโปร่งเบาเหมือนออกปลีกวิเวกเมื่อเดือนก่อนอีกครั้ง แม้จะเป็นเวลาสั้นกว่ากันมาก แต่ก็เป็นความรู้สึกว่างจากภาระ ว่างจากความผูกพันกับใครๆ พรักพร้อมจะภาวนาเต็มที่เหมือนๆกัน
ระหว่างขับรถฉันครุ่นคิดเกี่ยวกับสมาธิ ๔ ประเภทไปด้วย ประเภทแรกเพื่อเสพสุขในฌาน ประเภทที่สองเพื่อญาณทัศนะโดยอธิษฐานกลางคืนเสมอกลางวัน ประเภทที่สามเพื่อสติสัมปชัญญะโดยรู้ความเกิดดับของเวทนา สัญญา และความตรึกนึก ประเภทที่สี่เพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะโดยรู้ความเกิดดับของอุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งสำหรับประเภทสุดท้ายนี้ แน่นอนว่าก่อนจะทำจนเกิดสมาธิได้นั้น ต้องมีความเห็นเกี่ยวกับอุปาทานขันธ์ ๕ ที่ถูกต้องชัดเจนเป็นหัวขบวนนำเสียก่อน
ฉันผ่านประสบการณ์สมาธิ ๓ ประเภทแรกมาด้วยความมั่นใจว่าใช่ ส่วนสมาธิประเภทที่ ๔ เวลานี้ยังไม่แน่ใจนักว่าในทางปฏิบัติเข้าใจหรือเข้าถึงลึกซึ้งเพียงใด หากดูเผินๆแล้ว สมาธิประเภทที่ ๓ นั้นใกล้เคียงกับสมาธิประเภทที่ ๔ มาก ต่างกันอย่างสำคัญคือในสมาธิประเภทที่ ๓ นั้น มีการดูความตรึกนึกอยู่ด้วย
ความจริงอาการตรึกนึกก็เป็นส่วนหนึ่งในสังขารขันธ์นั่นแหละ แต่น่าสังเกตว่าพระพุทธเจ้าท่านยกมาเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรรู้โดยความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั่นย่อมส่องว่าสมาธิแบบที่ ๓ ยังอาจมีความคิดธรรมดาๆแบบเป็นตัวเป็นตนได้อยู่ ซึ่งฉันประจักษ์แล้วว่าถ้าสังเกตเท่าทันทั้งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอาการตรึกนึกเรื่อยๆ ในที่สุดอาการตรึกนึกเรื่องข้างนอกจะค่อยๆสงบลงเหลือแต่เพียงตรึกนึกถึงลมหายใจเท่านั้น
ความต่างอย่างสำคัญระหว่างการประกอบสมาธิเพื่อมีสติกับการประกอบสมาธิเพื่อล้างกิเลส จึงน่าจะอยู่ตรงองค์ประกอบในการเข้าสู่สมาธิ สำหรับสมาธิเพื่อมีสติสัมปชัญญะ อาจจะยังมีความตรึกนึกได้อยู่ แต่เมื่อกล่าวถึงสมาธิเพื่อล้างกิเลสแล้ว จิตควรอยู่ในลักษณะที่เป็นสติตั้งมั่น สามารถรู้ความเกิดดับได้โดยไม่ต้องตรึกนึกหรือตั้งใจว่าเราจะเห็นสิ่งนี้เกิด เราจะเห็นสิ่งนี้ดับ
จากประสบการณ์ที่เคยมีสมาธิสงบนิ่งในแบบอิ่มสติ รู้เห็นลมหายใจและอิริยาบถเองโดยไม่ต้องบังคับฝืนหรือกำหนดเพ่ง ฉันก็พอเข้าใจแง่มุมนี้ได้ แต่หากไม่เคยผ่านประสบการณ์ ไม่เคยมีสภาวจิตที่เป็นสมาธิมาก่อน ก็คงยากจะเข้าถึง
สรุปรวบยอดคือ จิตที่จะรู้ขันธ์ ควรมีความสงัดจากกาม ไม่มีความฟุ้งซ่าน และเมื่อรู้ขันธ์ก็ไม่ควรมีลักษณะตรึกนึกเป็นตัวนำ
ฉันมาถึงวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงจากไหน ขับดุ่ยๆเข้ามาอย่างนั้นเอง เห็นว่าสงบเป็นสัปปายะ แวดล้อมด้วยขุนเขาและความร่มครึ้มของพฤกษ์พันธุ์ กะจะขออาศัยความสงบของสถานที่นั่งสมาธิสักสองสามชั่วโมง แล้วก็จะลาไปเช่าโรงแรมในตัวเมืองชลบุรีเพื่อค้างคืน จากนั้นรุ่งเช้าค่อยคิดต่อว่าจะเอาอย่างไร
เลือกศาลาว่างหลังเล็กที่เห็นทัศนียภาพกว้างไกลจากมุมสูง มองแล้วจิตเปิดกว้างสบาย ชมวิวห้านาทีก็ปิดตาลง กำหนดสติรู้ว่าลมกำลังออกหรือเข้า นับได้สิบลมก็เลิกนับ เหลือแต่สติกำหนดอยู่ เห็นลมหายใจแสดงอนิจจังอย่างชัดเจน เข้ามาแล้วสุดลมก็ต้องออกไปเป็นธรรมดา คืนกลับไปรวมกับอากาศธาตุภายนอกร่าง เพียรประคองความรู้อยู่เช่นนั้นกระทั่งความคิดนึกสงบตัวลง มีปีติ มีความสงบกายสงบใจ และตั้งมั่นเป็นสมาธิอย่างอ่อนๆ เมื่อวูบวาบไปคิดฟุ้งเรื่องนอกลมหายใจก็ดึงกลับมาใหม่จนกลายสภาพเป็นเหมือนหินใหญ่ที่วางทับแผ่นดินนิ่งมั่นคง ที่ตรงนั้นเมื่อจิตจะเริ่มเคลื่อนก็เท่าทัน และเห็นเปรียบเทียบภาวะต่างระหว่างตั้งมั่นเป็นสมาธิกับจิตสามัญที่ไหวๆได้ เห็นว่าสมาธิจิตก็ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา แล้วเกิดความวางเฉยในจิตที่ตั้งมั่นรู้ลมหายใจเข้าออกยาวสั้นอยู่นั้น
พอเห็นชัดว่าสติมั่นคง ปักหลักรู้แบบที่พระพุทธเจ้าให้รู้ในอานาปานสติ คือมีความรู้ทั่วถึงว่าเรากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า กำลังหายใจยาวหรือหายใจสั้น ฉันก็พิจารณาว่าขณะแห่งการหลับตาทำสมาธินี้ จะสามารถพิจารณาอุปาทานขันธ์ได้อย่างไร คำตอบก็ผุดขึ้นทันที ว่าตั้งแต่ทำสติรู้ลมหายใจอย่างเดียวนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้รู้รูปขันธ์แล้ว เพราะลมหายใจก็คือธาตุลม ธาตุลมก็คือรูปขันธ์นั่นเอง
นอกจากนี้ยังประจักษ์แจ้งอีกว่าขณะมีเพียงสติรู้ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้าอยู่นั้น ยังเป็นช่วงที่มีอุปาทานอยู่ว่านี่ลมหายใจของเรา ถ้ารู้ชัดเป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ ก็ยิ่งรู้สึกทีเดียวว่าเราคือลมหายใจ ลมหายใจคือเรา เช่นนี้ย่อมได้ชื่อว่าเล็งอยู่ว่าลมหายใจเป็นอัตตา ต่อเมื่อกำหนดรู้ว่าลมหายใจเข้าแล้วต้องออกเป็นธรรมดา เมื่อนั้นอุปาทานจึงหายไป เหลือแต่จิตที่เป็นอิสระจากอุปาทานตั้งมั่นอยู่
เมื่อความเบิกบานทวีตัวขึ้นตามความนิ่งประณีตของจิต ลมหายใจก็เหมือนลดความสำคัญลง มีแต่ภาวะสุขโดดเด่นอยู่ ฉันก็พิจารณาสุขเวทนานั้น เพิ่งเห็นชัดเดี๋ยวนี้เองว่าเมื่อสติเข้าไปรู้เวทนาในวาระแรก จะเกิดความรู้สึกว่าสุขนั้นเป็นของเราทันที ยิ่งแนบเข้ารู้ชัดเท่าไหร่ ก็ยิ่งกลายเป็นความรู้สึกว่าเราคือสุข สุขคือเรามากขึ้นเรื่อยๆ
ฉันได้คำตอบกับตนเองอย่างแจ่มชัดทันทีว่าจะพิจารณาขันธ์อย่างไร ขันธ์ไหนกำลังปรากฏเด่นก่อนก็ให้ดูขันธ์นั้นก่อน ขันธ์ไหนกำลังทำให้รู้สึกว่าเป็นเราก็ให้ตามรู้ขันธ์นั้นไปเรื่อยจนกว่าจะเห็นความแปรปรวนของมันเอง เมื่อเห็นความแปรปรวนแล้วก็พิจารณาตามจริงว่าสิ่งนี้เกิดแล้วย่อมถึงวาระดับลงเป็นธรรมดา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา
การพิจารณาขันธ์ต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เห็นขันธ์เกิดดับครั้งสองครั้งแล้วจะบรรลุมรรคผล แต่ต้องเห็นซ้ำไปซ้ำมา และแม้ขันธ์ที่ละเอียดประณีต เห็นยาก รู้ความเกิดดับยาก ก็ต้องรู้ให้ครอบคลุม เพราะขันธ์ใดไม่ถูกรู้ ขันธ์นั้นย่อมเป็นที่แอบแฝงเร้นซ่อน เป็นฐานที่มั่นของอุปาทานอยู่
นั่งสมาธิรอบนี้ฉันกำหนดดูเพียงรูปขันธ์และเวทนาขันธ์ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นของเคยๆอยู่แล้วตั้งแต่สองเดือนแรก ฉันนั่งดูด้วยความเพลิดเพลินกระทั่งเห็นว่าชักเกิดความยินดีในสุขอันเกิดจากการนิ่ง ก็ลุกขึ้นเดินจงกรม กำหนดทางเดินเป็นเส้นตรงบนพื้นดินบริเวณนั้นเอง
เมื่อรู้เท้ากระทบแปะๆๆไปเรื่อยกระทั่งจิตตั้งมั่น ไม่วอกแวกไปทางอื่น ฉันก็พิจารณาว่าอย่างนี้จะรู้ขันธ์ได้อย่างไร ก็ได้คำตอบจากความรู้เดิมคืออิริยาบถเดินทั้งหมดนั่นแหละคือรูปขันธ์ เพราะอิริยาบถเป็นรูปชั่วคราวที่เกิดจากการรวมตัวของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม หากเห็นอิริยาบถชัดโดยไม่มีความรู้สึกในตัวตน นั่นก็ได้ชื่อว่าเห็นรูปขันธ์แล้วนั่นเอง
รูปขันธ์ที่อยู่ในอิริยาบถเดินมีความไม่เที่ยง พอถึงสุดทางก็ปรากฏลักษณะเป็นรูปขันธ์ที่อยู่ในอิริยาบถยืน เดินไปเดินกลับอยู่ร่วมชั่วโมงก็เกิดสติอย่างใหญ่ เห็นอาการไหวยกขึ้นเหยียบลง เห็นอาการกลอกตาวอกแวกเพราะมีสัตว์มาล่อความสนใจ เห็นอาการกระเพื่อมขึ้นลงของเนื้อช่วงอกลงไปถึงท้องตามลมหายใจเข้าออก ทุกท่วงที ทุกขยับ ทุกกระดิก ปรากฏเป็นของเกิดแล้วต้องดับชัดในสติอย่างใหญ่นั้น เช่นเดียวกับที่อบรมไว้แล้ว ฝึกซักซ้อมไว้แล้วตั้งแต่ครั้งรู้ลมหายใจ
ได้ความรู้อีกประการหนึ่ง คือการเห็นขันธ์นั้นมีทั้งหยาบและละเอียด แปรไปตามคุณภาพของสติ
เป็นการเดินจงกรมที่ยาวนานมาก ยิ่งเดินร่างกายยิ่งเหมือนอ่อนหยุ่น คล้ายเป็นเครื่องผลิตความสุข จะก้าวเดินหรือย่างเหยียบ ล้วนเข้าที่เข้าทางพอดีเป็นสุขชัดไปหมด ไม่เกร็ง ไม่เมื่อย ไม่ล้าเลยแม้แต่นิดเดียว ที่ตรงนั้นฉันก็ดูสุขเวทนาอันเกิดจากอิริยาบถเดิน ดูอยู่เกือบครึ่งชั่วโมงกระทั่งเห็นความไม่เที่ยง คือเมื่อเหยียบ เมื่อย่างแล้วเกิดความติดขัด กายเริ่มอุทธรณ์ขอพักเปลี่ยนอิริยาบถเสียบ้าง ฉันก็กำหนดรู้ว่านั่นคือทุกขเวทนาอันเนื่องด้วยกาย ทุกขเวทนานั่นเองคืออนิจจังของสุขเวทนา
ขณะกำลังเดินเพลินๆ ฉันก็ผุดความคิด เหมือนนึกถึงอะไรอยู่อย่างหนึ่ง แต่ก็สะดุดหยุดลงกะทันหันเพราะได้ยินเสียงเรียก “โยม” พอหันไปทางต้นเสียงก็พบว่าเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในวัด อายุอานามน่าจะอยู่ในช่วงวัยขึ้นด้วยเลข ๒ แต่ก็ดูสงบสำรวมสมกับเป็นพระดี บางทีเราเห็นใครปราดเดียวก็รู้สึกว่าเขาเหมาะหรือไม่เหมาะกับยูนิฟอร์ม อย่างเช่นตำรวจจะเหมาะกับเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถ้าดูเคร่งครัดเอาจริงเอาจัง แพทย์จะเหมาะกับเสื้อกาวน์ถ้าดูอารีมีเมตตาและปัญญามาก แต่สำหรับพระจะเหมาะกับจีวรถ้าสงบสำรวมแบบไม่ได้แกล้ง
ขณะแห่งจิตที่กำหนดอยู่กับอิริยาบถอย่างต่อเนื่อง เมื่อถูกเรียกให้หันเช่นนี้ สติก็ทำงานอัตโนมัติ เห็นว่าการ ‘หันไปด้วยอัตตา’ เป็นอย่างไร สติที่หลุดจากอิริยาบถแวบหนึ่งทำให้ย้อนกลับมาเห็นว่าธรรมดาคนเราจะรู้สึกถึงอิริยาบถยืนโดยความเป็นที่ตั้งของอัตตา สำคัญว่าเราถูกเรียก ไม่ใช่อิริยาบถยืนถูกเรียก แต่หากมีอิริยาบถเป็นฐานสติอยู่ ก็จะเกิดการปรุงแต่งไปอีกอย่าง คือกายนี้เป็นเป้าหมายให้ ‘คนอื่น’ เรียก โดยไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่ากายนี้ใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าเขา ใจจะไม่มีอาการจ๋อยหรือคับพองด้วยการเปรียบเทียบฐานะ
หากเราหันมองใครด้วยอัตตา ความรู้สึกในอิริยาบถจะแปรไปต่างๆ ถ้าอัตตาเราใหญ่กว่าเขา อวัยวะน้อยใหญ่ในกายเราเหมือนปรากฏชัดหลายส่วน แต่หากอัตตาเราเล็กกว่าเขา อวัยวะทั้งหลายก็หายหนไปไหนไม่ทราบ แต่หากไม่มีอัตตาเปรียบเทียบเราเขา มีเพียงสติรู้อิริยาบถยืนตามจริง ทั้งเราทั้งเขาก็แค่รูปขันธ์ มีสัดส่วนสูงใหญ่กว่ากันเท่าที่ปรากฏตามจริง ไม่ใหญ่ไม่เล็กไปกว่านั้น มีความเป็นรูปขันธ์ที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆเสมอกันอย่างนั้น
ฉันยกมือพนมไหว้ท่านด้วยความอ่อนน้อม และเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหา แต่จิตลอบคิดหน่อยๆว่าฉันอายุมากกว่า แล้วความเจริญก้าวหน้าในสติปัฏฐานก็อาจมากกว่าพระเสียอีก ทำไมต้องเป็นฝ่ายไหว้ด้วย นั่นเป็นความคิดเล็กคิดน้อยที่แม้แต่ฉันเองก็แทบไม่รู้สึกตัว
แล้วก็ต้องแปลกใจอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าท่านสมภารผู้ปกครองวัดต้องการพบฉัน แต่ฉันก็ไม่อิดเอื้อนเมื่อหลวงพี่ถามว่าจะไปพบท่านสมภารไหม ฉันตอบรับว่าไป และเดินตามท่านทันที อะไรบางอย่างทำให้ไม่กล้าถามว่าท่านสมภารจะพบฉันด้วยเหตุธุระอันใด
ระหว่างเดินตามหลังพระ ฉันนึกถึงความคิดสุดท้ายที่ติดค้างอยู่ในหัวก่อนหันมาเพราะพระเรียก อยากคิดต่อให้จบๆ แต่นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก ฉับพลันสติก็วาบขึ้นรู้ นี่ไงอนิจจังของสัญญา เมื่อครู่สัญญายังเป็นตัวเป็นตน เป็นคลื่นอ่อนๆที่ปรากฏในจิตระลอกหนึ่ง ตอนนี้จับต้องไม่ได้เสียแล้ว ในลักษณะที่เขาเรียก ‘คว้าน้ำเหลว’ พอเห็นเช่นนั้นก็เบิกบาน และหยุดพยายามนึกถึงเรื่องที่ลืมในทันที เพราะเกิดประสบการณ์น่าพอใจกว่าการ ‘นึกออก’ เสียอีก
ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้พลบ หลวงพี่นำฉันมาถึงกุฏิครึ่งไม้ครึ่งปูนหลังหนึ่ง เมื่อเข้าไปก็พบภิกษุวัยใกล้ชรานั่งยิ้มเด่นเป็นประธาน ขนาบข้างอยู่ด้วยพระหนุ่มและเณรน้อยที่คอยปรนนิบัติรับใช้ ฉันเยือกเย็นไปถึงจิตในทันทีที่สบสายตากับท่าน รู้สึกว่าบรรยากาศรอบด้านร่มรื่นราวกับมาถึงสวนสวรรค์
หลังจากพนมมือกราบเบญจางคประดิษฐ์ ท่านก็ถามไถ่ว่าชื่อเสียงเรียงนามใด มาจากไหน เป็นการปฏิสันถาร ฉันตอบท่านด้วยความนอบน้อมครบทุกข้อ แต่ขณะเดียวกันก็ยิ่งงงงันขึ้นทุกที ไม่แน่ใจว่าหลวงพี่ไปตามตัวผิดคนหรือเปล่า หรือว่านี่อาจเป็นธรรมเนียม แขกไปใครมาควรเข้ามากราบนมัสการเจ้าอาวาส แต่ฉันก็ไม่กล้าถาม เพียงแต่เป็นฝ่ายตอบเมื่อท่านประสงค์จะทราบอะไร
เมื่อท่านถามว่านี่จะย่ำค่ำแล้ว ตั้งใจกลับกรุงเทพฯหรือพักแถวนี้ ฉันตอบว่าตั้งใจจะพักที่นี่และกลับกรุงเทพฯในเย็นวันพรุ่ง ท่านก็ชักชวนว่าหากไม่รังเกียจว่านี่เป็นวัดเล็ก ก็ขอให้พักได้ มีห้องว่างสำหรับฆราวาสอยู่
ฉันตอบตกลงและกราบขอบพระคุณท่านในความกรุณา แล้วในที่สุดก็ตัดสินใจกราบถามว่าเมื่อครู่ท่านเห็นฉันเดินจงกรมอยู่หรือ จึงให้พระไปตามฉันมา ท่านตอบว่าท่านก็นั่งอยู่ในห้องนี้กับพระเณรนี่แหละ แต่รู้สึกว่าจุดที่ฉันเดินจงกรมอยู่มีปัญญาสว่างไสวเกิดขึ้น ก็เกิดความสนใจ และใช้ให้พระลูกศิษย์ไปตามเพราะอยากเห็นหน้า
สีหน้าฉันยังเป็นปกติ แต่ลอบกลืนน้ำลายอึกหนึ่ง วันนี้มาเจอของจริงเข้าแล้ว ฉันเคยพบพระผู้มีญาณมาบ้าง และตัวเองก็พอมีแสงเท่าหิ่งห้อยกับเขานิดหน่อย จึงไม่ประหลาดใจเรื่องความหยั่งรู้กว้างขวางชนิดนี้
ท่านสมภารชมฉันอีกว่าท่าทางขยันเอาจริงเอาจังดี เวลานั่งสมาธิเดินจงกรมดูนิ่งราวกับพระที่ได้รับการอบรมมาอย่างดี แถมแสงปัญญาฉายสว่างอย่างหาได้ยาก ฉันก็เกิดความกระหยิ่มขึ้นมาทันที ว่านี่ฝึกมาเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์กำกับนะ แถมยังทะลึ่งคิดเลยเถิดต่อไปอีกว่าอย่างท่านสมภารนี้แม้มีญาณรู้เห็นกว้างขวาง ก็คงต้องมีครูซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัยมาก่อน ส่วนฉันนั้นเป็นอีกระดับหนึ่ง คือมีครูเป็นพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว
พอคิดเพียงเท่านั้น ท่านสมภารก็ยิ้มละไมแล้วทักสั้นๆด้วยน้ำเสียงที่สงบ อ่อนโยน มีเมตตาแท้จริงว่า
“ถ้าอยู่คนเดียว บางทีก็ไม่มีเครื่องชี้ว่าเรามีมานะมากน้อยแค่ไหน และเมื่อไหร่เกิดมานะ มานะก็จะเบียดสติให้ตกหายไปด้วยความใหญ่โตของมัน”
ฉันสะอึกอึ้ง ใจสะดุ้งไหวอยู่ข้างใน นึกละอายจนทำหน้าแทบไม่ถูก ฉันยอบหลังลงหมอบกราบศิโรราบ จิตใจเบาโล่งอย่างประหลาด จุดอับอันเป็นอีกฐานที่มั่นหนึ่งของกิเลสถูกเปิดเผย ไส้ที่อุดท่อปัญญาให้ตันอีกจุดหนึ่งถูกกระทุ้งให้เด้งพรวดออกมา รู้แล้วว่าทำไมพระเณรวัดนี้ถึงเรียบร้อยและสงบสำรวมกันนัก
มานะนั้นอย่างไรก็เป็นมานะ แม้แต่ความคิดว่าเราเป็นลูกศิษย์แต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ต้องฟังใครอื่น หากเก็บความคิดไว้กับตัว ในที่สุดก็ขยายขึ้นเป็น ‘ไม่มีใครดีเสมอเรา’ ไปโดยปริยาย
คำพูดแค่คำเดียวจากใครบางคนที่เป็นผู้รู้จริง ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า อาจทำให้สิ่งที่เรากำลังติดถูกแทงทะลุทะลวง พัฒนาจิตแบบก้าวกระโดดไปได้ง่ายๆ และโดยมากปัญหาของนักภาวนาฝีมือดีก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของอัตตามานะของผู้มี ‘ฝีมือดี’ นั่นเอง นักภาวนาจำนวนมากเลยได้เป็นคนเก่ง คนเด่น คนเชี่ยวชาญสติปัฏฐาน ๔ อยู่หลายปี หรือบางคนเคราะห์ร้ายหน่อยก็หลายชาติ กว่าจะมีใครมาตบหลังหนักๆให้พ่นสิ่งที่อมไว้แก้มตุ่ยหลุดออกมาได้
ฉันกราบขอให้ท่านเป็นครูบาอาจารย์ ไม่เคยนึกเคารพรักใครลึกซึ้งเท่าท่านมาก่อน ฉันขออนุญาตมาปฏิบัติภาวนาและขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากท่านทุกอาทิตย์ ท่านตอบว่าจะมาพักปฏิบัติที่นี่เมื่อใดก็ได้ แต่เดือนหน้าตัวท่านเองกำลังจะไปอยู่ที่เชียงรายระยะหนึ่ง เพราะมีสาขาของครูบาอาจารย์ของท่านซึ่งกำลังอาพาธฝากให้ดูแล นับว่าน่าเสียดายยิ่ง ฉันถึงขนาดตั้งใจจะลงทุนซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อกราบท่านที่เชียงรายโดยเฉพาะทีเดียว
ท่านบอกเพียงว่าฉันมาถูกทางแล้ว ไม่ต้องพึ่งพาครูบาอาจารย์มากก็ได้ เพียรสำรวจและประเมินตนเองตามแนวที่กำลังปฏิบัติอยู่นั่นแหละ มีพระพุทธเจ้าเป็นครูใช่ไหมล่ะ นั่นแหละไม่มีครูที่ไหนอื่นยิ่งใหญ่กว่า และสอนได้ครบ สอนได้เร็วเท่าอีกแล้ว
นอกจากนั้นท่านยังเมตตาบอกให้ทราบว่ามรรคผลในปัจจุบันยังไม่ล้าสมัย มีพระและฆราวาสทำได้กันอยู่มาก เพียงแต่มรรคผลเป็นธรรมชาติลี้ลับ ไม่ปรากฏแสดงด้วยนิมิตหมายที่ชัดเจน พูดง่ายๆว่าธรรมชาติไม่แปะป้ายบอกไว้ว่านายคนนั้น นางคนนี้ได้มรรคผลถึงชั้นไหน และธรรมดาผู้ได้มรรคผลก็มักขวนขวายน้อย ปกปิดตนเอง เพราะไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว ไม่มีใครอยากยืดอกเป็นพยานให้พระพุทธเจ้า ส่วนพวกที่หลงสำคัญผิดว่าตัวเองเป็นนั้นจะเสียงดัง ชอบป่าวประกาศ แล้วในที่สุดก็เกิดเรื่องงามหน้า ทำให้ชาวประชาเสื่อมศรัทธา พอมีกรณีอื้อฉาวบ่อยเข้าก็กลายเป็นไม่เชื่อลงไปถึงแก่นพุทธศาสนาไปเลย คือหมดศรัทธาแล้วว่ามรรคผลมีจริง หรือยังมีใครทำได้จริง เมื่อเกิดเสียงลือกันหนาหูว่ามรรคผลเป็นของล้าสมัย รากของพระศาสนาก็จะค่อยๆถูกถอน วันหนึ่งลำต้นทั้งหมดก็ไม่อาจยืนอยู่ได้
ท่านบอกว่าฉันเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ความเข้าใจแก่นสารของศาสนาก็ดีแล้ว คนของศาสนาอื่นเขาไม่ฝากแก่นไว้ในมือนักบวชพวกเดียว แต่ฝากไว้กับชาวบ้านธรรมดาด้วย ศาสนาถึงไม่ถูกทำลายง่าย สาระสำคัญสูงสุดในศาสนาก็ไม่ถูกลืมเร็ว ถ้าชักชวนฆราวาสด้วยกันมาเข้าใจได้อย่างนี้มากๆก็จะดี
 
วันที่ ๖-๑๖: ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด
สังขารขันธ์เป็นขันธ์ที่มีความพิสดารยิ่ง มีการแปรขบวนเป็นต่างๆได้หลากหลาย แม้แต่ ‘กรรม’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังขารขันธ์ ดังนั้นสังขารขันธ์คือสิ่งที่ทำให้เราๆท่านๆทั้งหลายมีความแบ่งแยกแตกต่าง
หากเปิดคัมภีร์ดูจะพบว่าสังขารขันธ์จำแนกออกได้มากร่วมครึ่งร้อย โดยหลักจะแบ่งตามภาวะที่เป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติเบื้องต้นจึงไม่นิยมท่องให้ครบแล้วสังเกตให้ทั่ว เว้นแต่จะมีสติเข้มแข็งถึงขีดหนึ่งแล้ว เมื่อกลับไปเปิดคัมภีร์และสังเกตตาม รวมทั้งเห็นกลไกอันชัดเจนตามหลักอภิธรรม เช่นนั้นจึงจะเกิดผลประโยชน์ได้ในแง่ความเห็นอนัตตาแจ่มแจ้ง
สังขารขันธ์ที่ครูบาอาจารย์พระป่ามักแนะนำให้ดูคือ ‘ความชอบ’ และ ‘ความชัง’ ความชอบกับชังนั้นดูง่ายและมีให้ดูทุกวัน เพราะมันเป็นปฏิกิริยาทางจิตที่มีต่อสิ่งกระทบรอบข้าง ซึ่งต้องมาโดนเราตลอด ต่อให้หลีกเร้นหายหน้าเข้าป่าหรือดำน้ำลึกเพียงใด อย่างไรก็ต้องเจอวันยังค่ำ
และความชอบกับความชังนั้น ดูดีๆ ดูบ่อยๆแล้วก็จะสาวเข้าไปถึงอาการ ‘ทะยานอยาก’ ของจิตได้ง่าย ความทะยานอยากหรือ ‘ตัณหา’ นี่เองที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นต้นตอแห่งทุกข์ หากเห็นชอบกับชังบ่อยจนกระทั่งรู้วาระเกิด รู้วาระดับของมันเท่าทันแจ่มแจ้ง ในที่สุดความชอบชังก็จะถูกปัดไปรวมกับ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา’ อย่างหนึ่งในใจเรา
ช่วงนี้เมื่ออยู่ในระหว่างวันธรรมดา หรือแม้แต่นั่งสมาธิ เดินจงกรมในช่วงพิเศษของวัน ฉันจะสังเกตกายและเวทนาน้อยลง แล้วหันมาเพิ่มความสนใจสัญญาและสังขารมากขึ้น ส่วนวิญญาณขันธ์ยังไม่ได้ดูถนัดนัก
เหตุที่มาให้ความสนใจสัญญาเพราะเห็นสัญญาดับไปแต่ละครั้งแล้วว่างโล่งอย่างบอกไม่ถูก ปล่อยวางอะไรๆลงจนเบาหวิวกว่าที่ผ่านมาทั้งหมด และที่สนใจสังขารก็เพราะเมื่อเห็นปฏิกิริยาทางใจเป็นชอบเป็นชังบ่อยเข้า ก็เริ่มรู้สึกถึงความนิ่งรู้อีกแบบหนึ่งที่เป็นกลาง มีความเงียบกริบเหมือนอากาศว่างกำลังเฝ้าติดตามดูระลอกฝุ่นทราย ซัดมาแล้วซัดไป
แรกๆที่สังเกตเห็นปฏิกิริยาทางใจเป็นชอบชังดับไป จิตจะย้อนกลับไปหาฐานสติคือลมหายใจหรืออิริยาบถตามความเคยชิน อย่างเช่นเมื่อมีความกระทบกระทั่งในที่ทำงาน โดนว่าว่างานของฉันผิดพลาดหรือใช้ไม่ได้ ใจฉันจะ ‘ชัง’ เสียงตินั้นทันที รู้สึกได้ถึงแรงทะยานแล่นออกไปปะทะเป้าหมายแห่งความชังวูบวาบ แต่พอเกิดสติรู้ว่านี่แค่ปฏิกิริยาทางลบของใจ เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง สติก็กลับเข้าฐานที่มั่น คือจะลากลมหายใจเข้า แล้วระบายลมหายใจออกยาวเป็นพิเศษ
เมื่อมี ‘โอกาสทอง’ เกิดปฏิกิริยาทางใจเป็นชังขึ้นอีก ตั้งสติรู้ความชังได้อีก อาการวูบแรงๆก็ลดกำลังลงมาก และเห็นขณะแห่งการแผ่วหายชัดเจนขึ้น ไม่ต้องลากลมหายใจยาวเป็นพิเศษ และสิ่งที่สังเกตได้คือเมื่อเห็นอนิจจังของความชังชัดขึ้น พอย้อนกลับมารู้ลมหายใจ ลมหายใจก็ปรากฏโดยความเป็นอนิจจังทันทีเช่นกัน ไม่ต้องกำหนดพิจารณาว่าเข้ามาแล้วต้องออกไปแต่อย่างใด
ฉันถนัดกำหนดความชังมากกว่าความชอบ เพราะเดิมเป็นคนเจ้าโทสะ เวลาชังน้ำหน้าใครหรือไม่พอใจสถานการณ์ไหนก็จะโกรธวูบวาบรุนแรงห้ามใจยาก ถึงวันนี้ก็ยังมีอาการหงุดหงิดบ่อย และความหงุดหงิดนั้นก็คือลักษณะของความชัง ความไม่ชอบใจนั่นเอง ก็นับเป็นโอกาสดี ยิ่งมีอะไรให้ดูบ่อย ก็ยิ่งชำนาญดูมากขึ้นเท่านั้น แค่เชื่อตัวเองว่าจะหมั่นดูทุกครั้งที่ความชังเกิด ก็อุ่นใจแล้วว่าจะมีความก้าวหน้าพัฒนาขึ้น
และพัฒนาการที่ว่าก็คือความเป็นกลางของจิต เวลามีเครื่องกระทบอันใด จิตจะมีปฏิกิริยานิดเดียว แล้วเข้าสู่ภาวะรู้เป็นกลางทันที ความเป็นกลางนั้นหาได้เกิดจากความจงใจวางเฉย แต่เป็นกลางเองตามธรรมชาติ เหมือนโลกทั้งโลกมีความหมายน้อยลง ใจที่เงียบกริบเฝ้ารู้เฝ้าดูความเคลื่อนไหวดีร้ายของสรรพสิ่งต่างหาก ที่เพิ่มความหมายมากขึ้นทุกที
สรุปความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้คือมีอาการตรึกนึกน้อยลงมาก เปลี่ยนเป็นรู้ตื่นเงียบกริบแทน รู้แค่ไหนพอแค่นั้น ไม่ปรุงแต่งต่อ ไม่ลังเลสงสัย ไม่คาดหวังอะไรๆเลย พอใจแต่ความเห็นเกิดดับในปัจจุบันท่าเดียว
 
วันที่ ๑๗: ขันธ์อื่นมีอีกไหม?
ว่างๆขึ้นมา เมื่อสติไม่ตั้งรู้อยู่ในขอบเขตกายใจ ความเป็นนักศึกษาและคนช่างคิดก็ทำให้ฉันเกิดคำถามได้สารพัน เช่นอยู่ๆก็คิดขึ้นมาว่าธรรมชาติอื่นที่ทำให้หลงยึดมั่นถือมั่น เป็นที่ตั้งของอุปาทาน ซ่อนแฝงอยู่ในภพอื่น ไม่เป็นที่รู้จักเหมือนขันธ์ ๕ ยังมีอยู่ไหม? นี่ค่อนข้างจะออกไปทางแนวจินตนาการลี้ลับจำพวกนิยายวิทยาศาสตร์หน่อย แต่ฉันก็นึกอยากรู้ และคำตอบของผู้ที่หยั่งรู้ทั่วจักรวาลที่เชื่อได้ก็มีอยู่คนเดียวคือพระพุทธเจ้า
อันเนื่องจากเพิ่งอ่านปุณณมสูตรมาได้ไม่กี่วัน ฉันจึงคุ้นตาและกลับไปเปิดอ่านใหม่อีกครั้ง ก็ได้คำตอบที่ตรงกับความสงสัยจริงๆ นั่นคือภิกษุทูลถามพระพุทธเจ้าว่าอุปาทานขันธ์นั้นมีเพียง ๕ คือรูปอันเป็นที่ตั้งอุปาทาน เวทนาอันเป็นที่ตั้งอุปาทาน สัญญาอันเป็นที่ตั้งอุปาทาน สังขารอันเป็นที่ตั้งอุปาทาน วิญญาณอันเป็นที่ตั้งอุปาทานเท่านี้หรือ? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ใช่แล้ว อุปาทาน
ขันธ์มีเพียง ๕ ประการเท่านี้
ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าที่จะให้เรียกว่า ‘ขันธ์’ ได้นั้น มีข้อจำกัดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม เหล่านี้ย่อมมีชื่อเรียกว่าขันธ์ได้ทั้งสิ้น
ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ มีความต่างกันอยู่หรือไม่? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า มี! คือบางคนอยากมีรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ในอนาคตเบื้องหน้า ด้วยความอยากมีอยากเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งนี่เอง คือความต่างแห่งความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕
ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้บอกได้ว่าอย่างไหนคือรูป อย่างไหนคือเวทนา อย่างไหนคือสัญญา อย่างไหนคือสังขาร อย่างไหนคือวิญญาณ? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ไฟ ลม) เป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือรูปขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือเวทนาขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือสัญญาขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือสังขารขันธ์ นามรูปเป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือวิญญาณขันธ์
ฉันอ่านจบก็เกิดความยินดีในคำตอบ นี่แปลว่าถ้าดูขันธ์ ๕ ในโลกนี้จบ ทำลายอุปาทานเสียได้แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องตามไปทำลายกันที่ภพอื่นภูมิอื่นอีก เป็นอรหันต์แล้วเหมือนตาลยอดด้วนก็เพราะเหตุนี้ คือจบที่ขันธ์ ๕ ปัจจุบันนี้แล้วไม่มีการต่อขันธ์ที่อื่นอีก
อันนี้ถือเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง บางสูตรนั้นเราอ่านเฉพาะจุดที่สนใจ แต่ที่เหลืออาจข้ามๆไปก่อน แล้วมาพบในภายหลังว่ามีคำตอบที่ทำให้ข้อสงสัยเพิ่มเติมหายไปด้วย
 
วันที่ ๑๘-๒๕: ทำไมถึงยังติดข้องในขันธ์?
ช่วงนี้ปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ จิตเงียบนิ่งตื่นรู้เห็นความเกิดดับทั้งหยาบและละเอียด มีบางช่วงงานเยอะมาก ต้องครุ่นคิดหนักหน่วงและใช้เวลายืดยาว แต่พอเสร็จงานแล้วกำหนดอาการตรึกนึก เห็นความตรึกนึกเกิดดับสองสามรอบก็เบาลง กลับมามีความสุขแบบพักอยู่กับลมหายใจและอิริยาบถได้อย่างสบาย
แต่พอท้ายๆของช่วงนี้ เมื่อใกล้วันสิ้นเดือนเข้ามา ฉันก็เกิดความสงสัยขึ้นมาอีกว่าเอ๊! เห็นขันธ์เกิดดับก็แล้ว มานะก็น้อยลงแล้ว ทำไมตัดอุปาทานในขันธ์ไม่สำเร็จเสียทีหนอ?
เลยได้ย้อนกลับไปอ่านปุณณมสูตรอีกรอบ เพราะคุ้นว่ามีคำถามและคำตอบชนิดนี้อยู่ ซึ่งฉันก็ได้คำตอบชนิด ‘เปิดโลก’ จากพระพุทธเจ้าดังคาด คือเมื่อภิกษุทูลถามว่าอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้มีอะไรเป็นมูล? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า มียินดีเต็มใจเป็นมูล
ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าอุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือว่าอุปาทานนั้นเป็นอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ กันแน่? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ จะอย่างเดียวกันก็มิใช่ จะเป็นอื่นจากกันก็ไม่เชิง ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแหละเป็นตัวอุปาทานในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น
ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าความเห็นว่าขันธ์เป็นตัวของตนมีขึ้นได้อย่างไร? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับสัทธรรม เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกตนในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ด้วยการเล็งเห็นอย่างนี้แหละความเห็นว่าขันธ์เป็นตัวของตนจึงมีได้
ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าความเห็นว่าขันธ์เป็นตัวของตนจะหายไปได้อย่างไร? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง อย่างนี้แหละ ความเห็นว่าขันธ์เป็นตัวของตนจะหายไปได้
ฉันอ่านแล้วก็ได้ข้อสรุปคือ ถ้าเล็งเห็นความเกิดดับในขันธ์ ๕ ไม่ใช่อัตตา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างนี้ ในที่สุดความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตนก็จะหายไปเอง แต่ไม่ใช่ทวงถามว่าเมื่อไหร่ เพราะการทวงถามนั้นเองจะย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของอุปาทาน คือจะ ‘ยินดีเอามรรคผลให้ตัวฉัน’ ขณะที่เราเต็มใจให้ความคิดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีอาหารเลี้ยงอุปาทานอีกมื้อหนึ่งแล้ว
คราวต่อไปเมื่อมีเอ๊ะขึ้นมานิดเดียว สงสัยว่าทำไมไม่ได้มรรคผลเสียที ฉันก็ดูเข้าไปในขณะจิตนั้นทีเดียวว่าความยินดีเต็มใจที่จะมีสังขารขันธ์นั้นๆบังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเห็นละเอียดว่าเป็นแรงทะยานบางๆที่มีใยแน่นเหนียว จิตก็ละวางเสียได้ตามธรรมชาติ และเห็นมันดับไปไม่ต่างกับลมแล้งอย่างหนึ่งเท่านั้น
 
วันที่ ๒๖-๓๐: มุมมองใหม่เกี่ยวกับสมาธิและอุเบกขา
แต่เดิมฉันตั้งแง่ว่าถ้าจิตยังไหวๆ ไม่ถือว่าเป็นสมาธิอันเป็นองค์ที่ ๖ ของโพชฌงค์ แต่มาบัดนี้ หลังจากปฏิบัติรู้ขันธ์โดยความเป็นภาวะเกิดดับได้หนึ่งเดือนเต็ม ความเชื่อเดิมก็เปลี่ยนไปเล็กน้อย คือเห็นว่าสมาธิในโพชฌงค์นั้น เอาแค่ตั้งมั่นชั่วคราวพอเห็นขันธ์เกิดดับแบบเงียบกริบได้ก็พอ ไม่ต้องถึงขนาดตั้งมั่นจนไม่ไหวติงเลยแบบฌาน การรู้เกิดดับโดยไม่มีปรุงแต่งหลังรู้นั่นเอง จิตจะมาตั้งมั่นรู้อยู่กับจิตเอง ทิ้งฐานสติหยาบๆเช่นลมหายใจและอิริยาบถชั่วคราวจนกว่าจิตจะหยาบลง อันนั้นก็ต้องหันกลับไปเกาะราวใหม่เป็นธรรมดา
เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่กับสภาพรู้ของตัวเอง ไม่เพ่งจุดใดจุดหนึ่ง ไวต่อการทราบชัดว่าขันธ์หนึ่งเกิดขึ้น ขันธ์นั้นดับลง ในที่สุดแม้แต่ความตั้งมั่นรู้ก็กลายเป็นแค่สภาพหนึ่ง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเสียใจ ความวางเฉยในจิตก็ปรากฏเอง
พอสักแต่ปฏิบัติเพื่อรู้เห็นเกิดดับ จิตไม่มีความจงใจ ก็เผอิญได้อ่านสูตรอันมีค่าอีกสูตรหนึ่งคือเจตนาสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสฝากไว้แก่ผู้อยู่ในระหว่างทางแห่งความเพียรเพื่อมรรคผล สรุปโดยรวมคือไม่ต้องอยาก ไม่ต้องตั้งเจตนา แต่ถ้าทำเหตุถูก ผลที่ถูกย่อมปรากฏตามมาเอง ซึ่งมองย้อนเส้นทางของตัวเองแล้วก็เห็นชัดว่ากำลังอยู่ที่ตรงไหน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอความไม่เดือดร้อนจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความไม่เดือดร้อนเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลนี้ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอความปราโมทย์จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความปราโมทย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อนนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความปราโมทย์ ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอปีติจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปีติเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความปราโมทย์นี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอกายของเราจงสงบเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติสงบนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงเสวยสุขเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีกายสงบแล้วเสวยสุขนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีสุข ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอจิตของเราจงตั้งมั่นเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่จิตของบุคคลผู้มีสุขตั้งมั่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงรู้จงเห็นตามเป็นจริงเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงคลายกำหนัดเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตคลายกำหนัดแล้ว ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสนะเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลคลายกำหนัดแล้วทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสนะนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
ธรรมทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายย่อมยังธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์
เพื่อการถึงฝั่งคือนิพพาน จากสถานอันมิใช่ฝั่งคือสังสารวัฏ ด้วยประการฉะนี้แล
 
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๔
๑) เห็นขันธ์เกิดดับทั้งหยาบและละเอียด อย่างหยาบคือต้องตั้งใจกำหนด และผลอาจเป็นความปรุงแต่งตามหลังความรู้เกิดดับ อย่างละเอียดคือไม่มีความตั้งใจกำหนด (เพราะจิตตื่นรู้อยู่เอง) และผลจะเป็นความเงียบนิ่งตื่นรู้แบบไม่ต้องมีฐานที่ตั้งหยาบๆ
๒) ฉันรู้สึกว่ามาเกินครึ่งทางมรรคผล เบาหัวอก โลกปรากฏเป็นความโล่งว่าง ถึงยังไม่บรรลุธรรมก็พอใจในสภาพที่ตัวเองเข้าถึงมากพออยู่แล้ว
 
เดือนที่ ๕: มุงหลังคากันฝนรั่วรด
เผลอแผล็บเดียวขึ้นเดือนใหม่อีกแล้ว เวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีก แต่ ๔ เดือนที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า ทั้งชีวิตของฉันเกิดมาก็คุ้มแล้วกับการมี ๔ เดือนก่อนนี้ ถึงวันนี้ฉันเริ่มเข้าใจหลายสิ่งมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เล็งเห็นว่าแม้จะแสนดีเพียงใด ปราดเปรื่องอัจฉริยะปานไหน หรือกระทั่งมีความเข้าใจเรื่องอนิจจัง แจ่มแจ้งเรื่องอนัตตาเพียงใด ก็ไม่อาจมีใจหลุดพ้นไปได้เลย ตราบใดที่สติยังไม่ทำงาน ยังไม่ส่องรู้ดูเห็นกายใจเกิดดับเป็นขณะๆเพื่อถอนอุปาทานทั้งปวง
ในอดีตฉันเคยนึกๆเหมือนกันว่าแต่ละคนเหมือนมีเส้นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกเหตุการณ์ ทุกบุคคลที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราคล้ายถูกกำหนดไว้แบบ หนึ่ง สอง สาม ตามลำดับ เรามีหน้าที่เพียงตัดสินใจโต้ตอบกับเรื่องราวในแต่ละวัน
แต่ชีวิตฉันใน ๔ เดือนที่ผ่านมาคือการพลิกเปลี่ยนครั้งมโหฬาร ไม่มีใครมาชักนำหรือหนุนหลัง ฉันเองเป็นคนทำให้มันต่างไป ฉันไม่ได้อยู่บนเส้นทางใหม่ด้วยความบังเอิญ ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยการเลือกและลงมือทำ
วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ มีคิวของกรรมดำรอเล่นงานอยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเวลานี้ถึงตายดับไปก็ไม่เสียดายชีวิตแล้ว เพราะได้ชื่อว่าเป็นผู้พบพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และมั่นใจว่าจะมีความเป็นพุทธติดจิตติดวิญญาณไปทุกภพทุกชาติ ถึงแม้ชาตินี้จะพลาดมรรคผลไป เพราะเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งเห็นกายใจไม่เที่ยงแล้ว มุ่งหมายความหลุดพ้นจากอุปาทานอย่างถูกทางแล้ว หรือหากวันหนึ่งจะอยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้ ก็ถือว่าฉันใช้เวลาในช่วงที่สามารถช่วยตัวเองได้ไปอย่างคุ้มค่าที่สุดแล้ว สรุปคือชาตินี้ไม่มีขาดทุน ไม่มีการย้อนกลับมาเสียดายว่าสายเกินไป
และที่ปฏิบัติผ่านมาทุกเดือนก็ไม่ใช่ได้หน้าแล้วลืมหลัง ทุกวันนี้ก็ยังใช้ลมหายใจและอิริยาบถเป็นราวเกาะ เมื่อสติตั้งหลักได้ก็ดูเวทนา ดูสภาวจิต เปรียบเทียบภาวะต่อภาวะไปเรื่อย เมื่อจิตสงบละเอียดลงตามธรรมชาติก็ดูขันธ์ ๕ ด้วยความนิ่งรู้เงียบกริบไป กระทั่งครึ่งหนึ่งข้างในฉันกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่พอใจใช้เวลาในชีวิตไปกับการเห็นกายใจเกิดดับ แม้อีกครึ่งหนึ่งข้างนอกยังเป็นคนเดิมที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวโลกเช่นเคยๆมาก็ตาม
และเพราะยังมีอีกครึ่งหนึ่งเป็นคนเดิม ฉันก็ตระหนักด้วยความประหลาดใจเหลือแสน ว่าที่ผ่านมาเหตุใดจึงเป็นอย่างที่เคยเป็น เวลาตามองอะไรหรือหูได้ยินอะไร ก็หลงยึดมั่นมาตลอดว่าสิ่งนั้นกระทบ ‘ตัวเรา’ สิ่งนั้นมีความเกี่ยวเนื่องด้วยเรา ต่อเมื่อกะเทาะเอาความยึดมั่นหยาบๆออกไปทีละชั้น นับแต่ผิวนอกสุดเช่นลมหายใจ อิริยาบถ เวทนา สภาวจิต ลงลึกไล่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงความละเอียดระดับขันธ์ ๕ คราวนี้ค่อยแจ่มแจ้งว่าหากเราเห็นอะไรหรือได้ยินอะไรด้วยสติรู้ชัดตามจริง โลกจะปรากฏชัดตามจริงว่าเมื่อเกิดผัสสะกระทบใด ใจจะมีปฏิกิริยาเป็นชอบชังเสมอๆ และความชอบชังอย่างขาดสตินั่นเองทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นผิดๆขึ้น นึกว่าใจของเราเป็นผู้มีปฏิกิริยา นึกว่าปฏิกิริยาทางใจเป็นของเรา
นี่เป็นการเห็นตามลำดับคุณภาพสติอย่างแท้จริง และเมื่อฉันทบทวนว่าตนเองกำลังอยู่ ณ จุดใดของสติปัฏฐาน ๔ ก็พบว่าควรแก่การฝึกรู้อายตนะ ๖ โดยความเป็นอนัตตาได้
อายตนะแปลว่าที่ต่อ เครื่องติดต่อ แดนต่อความรู้ นอกจากนั้นคำว่าอายตนะโดยตัวเองยังอาจหมายถึงสถานีรับหรือสถานีส่งผัสสะก็ได้ เช่นประสาทตาเป็นสถานีรับ ส่วนรูปทรงสีสันทั้งหลายในโลกเป็นสถานีส่ง ตรงนี้ทำให้มีทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอกเป็น ๖ คู่
อายตนะภายในได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยทั่วไปเมื่อคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราเรียนวิทยาศาสตร์ ก็จะเห็นกล่าวเน้นกันเพียงอายตนะหยาบคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย แต่ในทางพุทธ โดยเฉพาะในแง่มุมของการปฏิบัติธรรมภาวนา เราจะพูดถึงอายตนะคือใจด้วย
อายตนะภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และอารมณ์ที่เกิดกับใจ สำหรับอายตนะภายนอกข้อสุดท้ายนั้นมีใจเท่านั้นที่รู้ได้ ยกตัวอย่างเช่นความคิด ภาพในความฝัน นิมิตสมาธิ หรือกระทั่งนิพพาน พูดให้ง่ายโดยย่นย่อคือนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งปวง ถูกรู้ได้ผ่านอายตนะคือใจอย่างเดียว นี่คือเหตุผลว่าทางการปฏิบัติแล้ว เราจะถือว่าใจเป็นอายตนะที่ใหญ่ ละเว้นไม่พูดถึงไม่ได้
 
หลักการเจริญสติรู้อายตนะ ๖
๑) รู้นัยน์ตา รู้รูปที่เห็น รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยตาประจวบรูป
๒) รู้หู รู้เสียงที่ได้ยิน รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยหูประจวบเสียง
๓) รู้จมูก รู้กลิ่น รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยจมูกประจวบกลิ่น
๔) รู้ลิ้น รู้รส รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยลิ้นประจวบรส
๕) รู้กาย รู้สิ่งถูกต้อง รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยกายประจวบสิ่งถูกต้อง
๖) รู้ใจ รู้ความนึกคิด รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยใจประจวบความนึกคิด
นอกจากรู้กิเลสเครื่องผูกใจในขณะแห่งการประจวบกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกแล้ว กิเลสที่ยังไม่เกิดจะเกิดด้วยเหตุใดก็รู้ (และสำรวมระวัง) กิเลสที่เกิดแล้วจะละได้อย่างไรก็รู้ กิเลสที่ละได้แล้วจะไม่เกิดอีกได้อย่างไรก็รู้
ทีแรกเมื่อศึกษาผิวๆ ฉันก็นึกว่าหลักการกำหนดสติรู้คู่อายตนะเป็นเรื่องเล็กๆง่ายๆ เหมือนการสำรวมระวังให้หูตาอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เอาไปส่องสิ่งที่ไม่ควรส่อง แต่เมื่อผ่านการเจริญสติปัฏฐานมาถึงเดี๋ยวนี้ มุมมองก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เห็นว่า ณ จุดนี้คือการเตรียมโค่นคู่ต่อสู้คือกิเลสลงไปทีละด่านเลยทีเดียว
อย่างเช่นที่ฉันบันทึกไว้ในเดือนก่อนว่าเมื่อกิเลสห่อหุ้มจิตหนาเตอะเริ่มเบาบางลง ก็จะเริ่มเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมากขึ้น เช่นแม้กระทั่งความยินดีเต็มใจให้สังขารขันธ์เกิด
แต่ละครั้งที่รู้ว่าอายตนะภายในภายนอกคู่ใดประจวบกันแล้วเกิดกิเลสเครื่องผูกใจนั้น มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เราประจักษ์และตระหนักอย่างแท้จริงว่ากิเลสยังมีด้วยการร่วมมือกันระหว่างคู่อายตนะนั้นๆ หากรู้ชัดและค่อยๆลิดรอนใยอันแน่นเหนียวลงได้ ก็จะเป็นการเขยิบเข้าใกล้ประตูชัยคือมรรคผลยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะคำว่า ‘กิเลสเครื่องผูกใจ’ นั้นเปรียบเสมือนโซ่หรือเครื่องพันธนาการที่ยึดจิตเราไว้ไม่ให้เป็นอิสระ เมื่อเรากระทำต่อเครื่องผูกใจเสมือนเอาเลื่อยไปเลื่อยโซ่ทีละน้อย และไม่เปิดโอกาสให้โซ่ใหม่เข้ามาผูกเพิ่ม ก็แปลว่ามีสิทธิ์นับวันถอยหลังสู่อิสรภาพได้
 
วันที่ ๑: วันแห่งการเปลี่ยนแปลง
เริ่มวันที่คู่แข่งของฉันได้เป็นหัวหน้าแผนกเต็มตัว เขาเปลี่ยนชีวิตใหม่ของเขา ฉันก็เปลี่ยนชีวิตใหม่ของฉัน เราทักทายกันตามปกติ เขาไม่วางฟอร์ม คุยกับฉันในฐานะที่ปรึกษาตามสัญญา อย่างน้อยก็ในวันแรกที่นั่งแป้นหัวหน้าแผนกคนใหม่
ถึงเดี๋ยวนี้ฉันไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับตำแหน่งและความก้าวหน้าทางโลกสักเท่าไหร่แล้ว เห็นคู่แข่งก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นใหญ่เป็นโตเกินฉัน เป็นหัวหน้าฉัน เป็นผู้มีสิทธิ์ให้คุณให้โทษกับฉัน ก็ไม่เดือดร้อนอยากดิ้นเร่าเป็นเด็กถูกแย่งของเล่น นี่คือการแสดงฤทธิ์ของพระธรรม เมื่อใครทำใจให้เสมอธรรมแล้ว ย่อมประสบกับความเยือกเย็นจากภายใน แม้โลกภายนอกจะขึ้นลงเพียงใดก็ตาม กล่าวได้ว่าพระธรรมให้ฉันยิ่งกว่าความก้าวหน้าในการงาน เพราะแม้แต่การต้องย่ำอยู่กับที่แล้วเห็นคู่แข่งแซงหน้าก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้เลย ยังหน้าชื่นรื่นใจอยู่เหมือนเดิม ขอแค่ทำงานมีเงินพอดำรงอัตภาพเพื่อปฏิบัติธรรมต่อได้ ฉันก็พึงใจพอแล้ว ความพอนั่นแหละที่พุทธศาสนาให้กับฉัน ความพอนั่นแหละไม่อาจขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดในสากลโลกบันดาลได้
หลังจากได้รับการสั่งสอนจากพระอาจารย์ที่วัดในชลบุรี ฉันเกิดความตระหนักขึ้นมาอย่างหนึ่งคือเราจะรู้ว่ากิเลสมากขึ้นหรือน้อยลงนั้น บางครั้งต้องอาศัยเครื่องกระทบจากภายนอกมาช่วยพิสูจน์ เหมือนใครสักคนรู้สึกว่ามีความรู้มาก หากปราศจากข้อสอบหรือคนถามปากเปล่า ก็ไม่ทราบจะเอาอะไรไปวัดว่ารู้มากหรือรู้น้อยเพียงใด หากเราหลีกเลี่ยงหรือไม่เผชิญหน้ากับเครื่องทดสอบกิเลส ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้หลงติดอยู่กับความสงบทางใจปลอมๆ ความสงบอันเกิดจากการหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าจะเป็นประโยชน์อันใดต่อผู้หวังหลุดพ้นอย่างแท้จริงเล่า? โลกเขาส่งอาหารมาป้อนให้ปัญญาเติบโต ถ้ามัวแต่กลัวขม กลัวขื่น แล้วเมื่อไหร่จะแข็งแรงพอไปวัดดวงกับกิเลสได้?
มุมมองของฉันเปลี่ยนไปแล้ว คนธรรมดาน่าอิจฉาตรงไหน? พวกเขาเต็มไปด้วยความไร้สติ ติดวนอยู่กับทุกข์ทางใจสารพัด เหมือนอดอยากปากแห้งไม่มีข้าวน้ำไว้ดื่มกิน การเลื่อนตำแหน่งในสายตาภายนอกคือเป็นใหญ่เป็นโตมากขึ้น เงินเดือนสูงขึ้น มีโอกาสได้หน้าบ่อยขึ้น แต่ถ้ามองในมุมของสุขทุกข์ภายใน ฉันเห็นว่าเขามีภาระมากขึ้น เพิ่มเวลาทำงานมากขึ้น และเจอแรงกดดันจากความคาดหวังของผู้ใหญ่หนักขึ้น แน่นอนว่าคนในโลกเห็นเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า แต่สำหรับใจที่เริ่มโบยบินกลับคืนสู่ธรรมชาติของฉัน กลับเห็นชัดยิ่งกว่าชัดว่าตำแหน่งและยศศักดิ์ทางโลกนั้น ยิ่งสูงขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนเพิ่มจำนวนโซ่ตรวนมากขึ้นเท่านั้น
คำว่า ‘ความก้าวหน้า’ มีหลายแบบ ผู้ที่หวังความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณมักมีมุมมองที่พลิกกลับเป็นคนละด้านกับผู้ที่หวังความก้าวหน้าทางโลก ว่ากันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับใครจะมองเห็นแง่ไหนมุมใดของชีวิต ความจริงถ้าทำงานพอกินพอเก็บ ก็ควรแก่การพึงใจไม่น่าเดือดร้อนอะไรแล้ว แต่ธรรมชาติของมนุษย์จะแสวงหาสิ่งที่ตัวเองยังไม่มีไปเรื่อยๆ เรียกว่าถ้าให้โลกทั้งใบ ก็จะเอาดวงจันทร์ ดาวอังคาร เรื่อยไปจนกว่าจะลืมตาตื่นขึ้นมางงงันว่านี่เราจะเป็นลาวิ่งตามเหยื่อที่เขาแขวนไว้บนไม้ล่อตาทำไม? คนส่วนใหญ่ตายก่อนจะมีโอกาสลืมตาตื่นขึ้น คนอีกส่วนหนึ่งมีโอกาสลืมตาตื่นขึ้นแต่ก็หลับลงไปใหม่ คนส่วนน้อยเท่านั้นมีโอกาสลืมตาตื่นขึ้นด้วย และรู้วิธีที่จะไม่กลับหลับใหลลงอีก
การมองคนที่ทำงานของฉันก็เปลี่ยนไป เหมือนเห็นตัวเองในอดีตผ่านใครต่อใครรอบๆ มนุษย์เป็นสัตว์ครึ่งโง่ครึ่งฉลาด แล้วก็แสนดื้อกับการยอมรับความจริง พวกเขาจะเอาภาคฉลาดมาปฏิเสธหรือแก้ตัวให้กับภาคโง่ของตัวเองบ่อยๆ เพียงถ้าพวกเขาจะยอมรับทั้งด้านดีและด้านเสียในตัวเองตามจริง ก็จะพากันฉลาดและมีช่องทางพัฒนาชีวิตให้สูงส่งยิ่งขึ้นอีกมาก
ฉันรับรู้อาการทางจิตของผู้คนด้วยความสลดสังเวช มองจากมิติของจิตอันเป็นปัจจุบัน ฉันเห็นผู้คนในโลกมีภาวะของจิตอยู่ไม่กี่แบบ ถ้าไม่เหม่อลอยก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ฟุ้งซ่านก็เคร่งเครียด ถ้าไม่เคร่งเครียดก็ซึมเศร้า วนไปวนมาอยู่แถวๆนี้ ที่จะเจอคนมีสติรู้อะไรที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้านั้นแสนยาก ต่อให้เป็นระดับบริหารก็เถอะ พวกผู้บริหารมักจมอยู่ในอาการตรึกนึกกันเป็นส่วนใหญ่ นี่ถ้าเพียงเขาฝึกสมาธิเพื่อก่อสติสัมปชัญญะเป็น เฝ้าสังเกตเวทนา สัญญา และความตรึกนึกว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเมื่อใด ก็คงไม่ต้องแอบหาหมอขอยาแก้เครียดกันเกือบครึ่งเมืองเหมือนทุกวันนี้
คนเคยเสพสุขอิ่มหนำจากสมาธิอันหวานชื่น พอเจอคนจิตแห้งเหี่ยวทั้งหลายแล้วความรู้สึกเหมือนเดินผ่ากลางเข้าไปในทะเลทรายแล้งน้ำ พวกเขาไม่เคยรู้จักแหล่งน้ำที่แท้จริงแล้วต้องกวดไล่พยับแดดไร้ตัวตนไปเรื่อย เมื่อเริ่มจับจิตคนอื่นได้เป็นขณะๆโดยไม่ตั้งใจ ฉันก็พบความจริงประการหนึ่งคือเวลาคนเราเหม่อไร้สติ ปล่อยใจฟุ้งซ่านไปเรื่อย จิตจะลอยเคว้งเหมือนลูกโป่งที่ปลิวไปเรื่อยตามทางลม ฉันว่าคนคิดศัพท์เช่น ‘เหม่อลอย’ คงต้องมีความสามารถจับกระแสจิตคนอื่นได้ชัดราวกับตาเห็นรูปเป็นแน่ เพราะมันดูลอยไปลอยมาเหมือนลูกโป่งถูกพัดมาพัดไปจริงๆ
ขณะที่จิตขาดสติ ไม่ยกอารมณ์ใดเข้าสู่การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสใดๆ ถึงแม้อายุ ๕ ขวบหรือมากขึ้นกว่านั้นกี่ปี ความรู้สึกก็คงเป็นอันเดียวกันนั่นเอง อาจจะภาวะพร่าเลือนไม่รู้เรื่องรู้ราวนี่เองที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเดิมไปตลอดชีวิต แม้โครงสร้างความนึกคิดและสติปัญญาจะพัฒนาต่างไปเป็นคนอื่นมากมายหลายหลากเพียงใด
 
วันที่ ๒: ได้เห็นสมใจ
ใครจะว่าฝันมีความหมายหรือไม่มีความหมายต่อการปฏิบัติธรรมก็ตาม สำหรับฉันบอกได้เลยว่ามีส่วนเกื้อกูลให้การปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง และทำให้สังเกตสังการายละเอียดในชีวิตมากขึ้น คืออ่านออกแล้วว่าทุกวินาทีในชีวิตกำลังแสดงสภาวธรรมตามจริงให้เราเห็นโต้งๆ สติของเราจะหยิบฉวยหรือไม่เท่านั้น
อาจมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอยู่กับความทะยานอยากขณะตื่น คือเมื่อปีก่อน ช่วงแรกๆที่ศรัทธาพุทธศาสนาล้นอกล้นใจ ฉันปรารถนาจะเห็นพระพุทธเจ้าสักครั้ง แบบที่ผู้คนสมัยพุทธกาลมีวาสนาได้เห็นด้วยตาเนื้อ เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าที่อธิบายให้เข้าใจได้ยาก คือคิดทีไรเหมือนใจจะขาดเมื่อตระหนักว่าชาตินี้สายเกินไป ไม่มีทางพบพระองค์สมความปรารถนาได้เลย เพราะท่านดับขันธปรินิพพานไปนานหลายพันปีแล้ว
คืนหนึ่ง อยู่ๆฉันก็ฝันว่าพระพุทธเจ้ามาเทศน์โปรดที่วัดใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ฉันดีใจจนไม่เป็นอันทำอะไร รู้ข่าวก็รีบรุดไปทันที ความรู้สึกเหมือนไม่สนใจชีวิต ไม่สนใจอะไรอื่นอีกแล้ว ขอให้ได้ใช้ตาเนื้อนี้ทอดทัศนาพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเพียงครั้งเดียว แล้วจะตายก็ให้ตายไป ไม่เสียดายเลย
ฉันเห็นผู้คนมากมายนั่งอยู่เต็มพื้นที่ลานวัดอันกว้างใหญ่ไพศาล ใจเกิดปีติ รำพึงอยู่ว่าสัตว์โลกเหล่านี้ช่างมีวาสนาจริงหนอ ฉันค่อยๆเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอันเป็นมหามงคลภูมินั้น ชะเง้อชะแง้สอดตาผ่านแมกไม้และช่องหินเหลี่ยมบังต่างๆเพื่อเห็นให้ได้ว่าพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ตรงไหน ความรู้สึกขณะนั้นบอกตัวเองว่าองค์พุทธะช่างเป็นบุคคลที่หายากเสียนี่กระไร
แต่เดินมาเรื่อยๆผ่านช่องผ่านแนวพุทธศาสนิกชนที่นั่งเรียงรายอย่างสงบ มาถึงจุดหนึ่งที่พ้นเหลี่ยมบังของโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่ง เบื้องหน้าไกลออกไปในระยะ ๑๐ เมตรก็เห็นพระมหาบุรุษในจีวรสีกรัก ประทับนั่งด้วยลีลาของผู้เสวยวิมุตติสุขเป็นนิรันดร์ พระสรีรกายล่ำพีดุจท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์ พระฉวีขาวละเอียดคล้ายแหล่งกำเนิดแสงที่ส่องสว่างเป็นวงกว้าง เรืองรองจับตาอย่างประหลาด ดวงพักตร์เอิบอิ่ม พระหนุโค้งเหมือนวงพระจันทร์ พระเศียรปราศจากเกศา พระเนตรดำสนิทแจ่มใส พระนาสิกโด่งมีปลายงุ้มเล็กน้อย พระโอษฐ์แย้มเยี่ยงผู้ชนะกิเลสยิ้มสงบดุจเดียวกับที่เห็นในพระปฏิมาอันงดงามละไมตา
ฉันเพ่งจ้องพระโฉมแห่งองค์ศาสดาด้วยอาการเบิกตาโตตะลึงเป็นครู่ ก่อนความรู้สึกภายในจะบอกตัวเองว่า ‘นี่คือการเห็น’
พอเสียงแห่งสติผุดขึ้นเช่นนั้น ฉันก็รู้สึกตัวว่าสมควรทรุดตัวลงนั่งพับเพียบพนมมือ ซึ่งก็พอดีจังหวะกับที่องค์ตถาคตเจ้าทรงแลมาทางฉันแล้วตรัสด้วยพระสุรเสียงอันมีกังวานนุ่มลึกสะกดใจให้สงบลึกซึ้งว่า ดูกรเธอผู้มีศรัทธาในสติปัฏฐาน ๔ อันเรากล่าวไว้บริบูรณ์แล้ว การแลเห็นร่างกายอันเปื่อยเน่านี้จะมีประโยชน์อะไร ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเห็นธรรม
แล้วสมเด็จพระจอมไตรก็เบือนพระพักตร์ไปตรัสถามอุบาสกอุบาสิกาในลานกว้างว่า พวกเธอสำคัญว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? เหล่าอุบาสกอุบาสิกานับพันรวมทั้งฉันประสานเสียงทูลตอบพระพุทธองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวว่า “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”
เมื่อทรงยินคำตอบอันตรงตามจริงจากเหล่าสาวกผู้เห็นชอบทั้งหลายแล้ว ก็ตรัสถามอีกว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า? พวกฉันทั้งชายหญิงทูลตอบด้วยน้ำจิตสงบว่างเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”
พระศาสดาตรัสถามนำปัญญาเยี่ยงมหาบุรุษผู้มาเปิดโลกว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา? พวกฉันทูลตอบด้วยความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า “ไม่ควรเลยพระเจ้าข้า”
ภาพและเสียงทั้งหลายสลายไปตามครรลองอนิจจัง ฉันอยากมีเครื่องบันทึกฝันไว้เก็บฝันที่ดีที่สุดในชีวิตนั้นไว้ เมื่อตื่นขึ้นมายังน้ำตาซึม ลุกขึ้นนั่งนิ่งอยู่นาน ตระหนักว่านั่นเป็นการปรุงแต่งเชื่อมโยงอันแสนมหัศจรรย์ของจิต จิตของฉันผนวกเอามหาบุรุษลักษณะที่รับรู้จากพระคัมภีร์ มารวมเข้ากับเนื้อหาในวักกลิสูตร ซึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดภิกษุอาพาธชื่อวักกลิ โดยมีเนื้อหาที่สำคัญคือผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเห็นเรา ฯ รวมทั้งตรัสถามนำปัญญาด้วยว่ารูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
ฉันย้อนพิจารณาขณะแห่งจิตในฝันอันชัดเจน ที่มีสติบอกขึ้นมาว่า ‘นี่คือการเห็น’ ฉันจำได้ถนัดถึงความตั้งใจเล็งแลพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นภาพปรากฏแห่งมหาบุรุษลักษณะ มีปีติอันเกิดจากความสมใจยิ่งใหญ่ แต่ท้ายที่สุดสติก็บอกตัวเองว่านั่นแหละ แค่นั้นแหละ ที่เรียกว่าการเห็น แถมพระพุทธนิมิตยังเทศน์โปรดตามข้อความที่ฉันเคยผ่านตามาก่อนในวักกลิสูตร ตอกย้ำให้ซาบซึ้งแจ่มแจ้งยิ่งๆขึ้นว่าต่อให้เห็นพระกรัชกายแห่งองค์ท่านจริงๆ ที่สุดแล้วก็แค่การเห็นอันอาศัยตาเนื้อและรูปหยาบ ไม่สู้เห็นธรรมะอันเป็นองค์จริงอันเที่ยงแท้แต่อย่างใดเลย เมื่อเข้าใจกระจ่างว่ารูปไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเห็นธรรมะแล้ว
การได้เห็นสมใจก็ดี การได้เห็นโดยไม่คาดฝันก็ดี การได้เห็นสิ่งที่ชินชาไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกรู้สาใดๆก็ดี โดยเนื้อหาที่แท้จริงก็คือการเห็นเหมือนๆกัน สิ่งที่ผิดแผกแตกต่างก็แค่ใจอันสำคัญมั่นหมายไว้เป็นต่างๆ ให้ค่าความหมายเป็นต่างๆเท่านั้น
กล่าวได้ว่าวันนี้น่าบันทึกไว้ในฐานที่เริ่มเกิดความรู้สึกเกี่ยวกับอายตนะทางตา เห็นอะไรก็แค่นั้น หากใจไม่เข้าไปร่วมยินดียินร้ายด้วยอย่างเดียว ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ ‘แค่อีกการเห็นครั้งหนึ่ง’ เท่านั้น
 
วันที่ ๓-๙: เข้าใจหลักรู้สภาวธรรม
หลังจากฝันว่าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ฉันก็รู้สึกว่าเข้าใจหลักการ ‘เห็นให้เป็นธรรมะ’ มากขึ้น จากเดิมที่เคยพยายามจ้องแบบตั้งใจให้มีอาการ ‘เห็นสักแต่ว่าเห็น’ หรือ ‘เห็นเฉพาะเส้นและสีตัดกัน’ ก็เปลี่ยนมาทำตามหลักที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร คือเห็นด้วยสติรู้ว่าเรากำลังใช้สายตามองอะไร ต่างจากมองธรรมดาตรงที่จะสังเกตปฏิกิริยาทางใจ ดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับใจ เมื่อสังเกตจนรู้ชัดในปฏิกิริยาทางใจ กระทั่งสามารถเห็นโดยปราศจากปฏิกิริยาเป็นบวกหรือเป็นลบ เมื่อนั้นอาการเห็นสักแต่ว่าเห็นก็เกิดขึ้นเอง
แต่การเห็นและการได้ยินตามปกติจะไม่ค่อยทำให้เกิดราคะหรือโทสะอันเป็นกิเลสที่ปรากฏตัวชัด เพราะฉะนั้นระหว่างวันธรรมดาควรอยู่กับราวเกาะของสติคือลมหายใจกับอิริยาบถ หรือพิจารณากายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ เกิดดับ ต่อเมื่อตาหรือหูประจวบกับสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดกิเลสผูกใจ จึงค่อยมองโดยความเป็นอายตนะ
ฉันเริ่มรู้สึกถึงความ ‘อยากเห็น’ ชัดเจนในเช้าวันหนึ่งขณะจอดรถที่สี่แยกไฟแดง ขณะนั้นสติของฉันอยู่กับลมหายใจตามปกติ เป็นระดับการรู้ธรรมดาๆว่าแต่ละขณะกำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า
เผอิญรถของฉันจอดอยู่ด้านหลังเยื้องขวารถสปอร์ตจากแดนอาทิตย์อุทัยคันหนึ่ง ทั้งรูปทรงและสีสันโฉบเฉี่ยวสะดุดตา ยิ่งกว่านั้นคนขับยังเป็นผู้หญิง ซึ่งในมุมมองทะแยงซ้ายขึ้นไปจากด้านหลังเช่นนั้น ฉันเห็นไม่ถนัดว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เห็นเค้าโครงแล้ว ‘อาจจะสวย’
ขณะแห่งความไม่เผลอส่งออกนอกเต็มที่ ด้วยสติเกาะอยู่กับฐานคือลมหายใจค่อนข้างดี ฉันจึงเห็นสังขารขันธ์คือ ‘อาจจะสวย’ และ ‘อยากเห็นข้างหน้าจัง’ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ เวลานั้นคือการประชุมเกิดขึ้นพร้อมกันระหว่างการเห็น ราคะ และความอยากเห็นให้มากยิ่งขึ้น แม้วัตถุก้อนเดียวกันก็มีหลายเหลี่ยมหลายมุม มุมหนึ่งเห็นแล้วพอ แต่อีกมุมเห็นแล้วอยากเห็นอีก เหมือนยังไม่ใช่การเห็นที่จบ ทั้งที่จริงเกิดการเห็นในเหลี่ยมมุมนั้นๆอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ใจที่ไม่พอนั่นเองทำให้การเห็นยังไม่จบ
เห็นความตั้งใจอยากให้ไฟเขียวเร็วๆจะได้เร่งเครื่องแซงขึ้นไปดูหน้า ไม่เคยเห็นความทะยานอยากเด่นชัดได้ขนาดนั้นมาก่อน ทั้งที่เป็นความอยากแบบอ่อนๆแท้ๆ นี่คงเป็นอานิสงส์ที่เจริญสติไว้ก่อนเกิดราคะ เมื่อราคะเกิดจึงเท่าทันและไม่หลงตามเต็มตัว
เห็นชัดกระทั่งว่าเมื่ออยากแล้วไม่สมอยาก ไม่สามารถเห็นทันใจ ก็เกิดความมืดคลุ้มคล้ายควันจากไฟเผาหญ้า ในอกมีความแน่นทึบ ถ้าราคะอ่อนก็ทึบน้อย ถ้าราคะแก่ก็ทึบมาก แต่ถ้ามีสติรู้ตั้งแต่ต้นว่าเกิดราคะ เกิดความทะยานอยาก ทั้งราคะและความทะยานอยากจะค่อยๆโรยตัวสงบลงโดยไม่ฝืนเพ่งบังคับ
ฉันพิจารณาว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ทำอย่างไรจะไม่ให้ราคะกำเริบขึ้นอีก ก็เห็นคำตอบชัดว่าอย่าไปตามใจกิเลส มันสั่งให้เร่งเครื่องแซงไปดูก็อย่าเร่ง มันสั่งให้จดจ่อรอเขาหันมาก็อย่าไปจดจ่อ เมื่อไม่เห็นอย่างใจก็เป็นโอกาสให้ดูทุกขเวทนาอันเกิดจากการไม่ได้เห็นสมหวัง ฉันดูสิ่งตกค้างสุดท้ายของราคะคือความทุกข์ทางใจ เมื่อเห็นทุกข์ทางใจเหือดหายไปก็กลับมาดูลมหายใจต่อ
เอ้อ! ก็โล่งอกดี ไม่เห็นมีความเก็บกดจุกอกอะไรเลย แค่เห็นให้เป็นก็ไม่ถูกรูปภายนอกครอบงำใจได้ง่ายๆ แล้วก็ไม่มีความเก็บกดตกค้างอีกด้วย อย่างนี้แหละคือความสมบูรณ์แบบของการรู้อายตนะ
เรื่องจะไม่ให้เห็นภาพยั่วตายั่วใจอีกคงยาก ฉันไม่ได้อยู่ป่าแบบพระธุดงค์ ได้แต่ทำไว้ในใจว่าจะไม่เห็นแค่รูปภายนอก แต่เห็นปฏิกิริยาทางใจภายในไปด้วย
ที่สี่แยกไฟแดงเช้านั้นให้ความก้าวหน้ากับฉันอีกระดับหนึ่ง แต่ฉันก็ตระหนักว่าความก้าวหน้าระดับนี้เสื่อมถอยได้ เพียงแค่พริบตาเดียวที่เผลอปล่อยให้ปฏิกิริยาชอบชังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ ฉันได้แต่เฝ้าบอกตัวเองว่าถ้าอยากได้มรรคผลก็อย่าเผลอ ขอเพียงไม่เผลอ จะอยู่ป่าหรืออยู่เมืองก็น่าจะพอมีสิทธิ์ลุ้นเหมือนๆกัน
บ่ายวันทำงานวันหนึ่ง อดีตคู่แข่งผู้ถูกยกระดับให้กลายมาเป็นหัวหน้าของฉันเดินเข้ามาหา และสั่งให้ฟังสองสามเพลงซึ่งคัดไว้เป็นเพลงประกอบโฆษณาสินค้า เขาบอกให้เลือกไว้เพลงหนึ่ง อีกเดี๋ยวจะมาเอาคำตอบ
ฉันนั่งฟังทุกเพลงตามคำสั่ง ใจก็หาแง่มุมต่างๆเพื่อชั่งน้ำหนัก ทั้งความไพเราะถูกใจตัวเอง ทั้งความเหมาะเจาะกับชิ้นงาน รวมทั้งแรงปะทะที่คาดว่าจะมีต่อกลุ่มเป้าหมาย
ขณะยังไม่ตัดสินใจ หัวหน้าก็เดินเข้ามาทวงคำตอบ ฉันถอดหูฟังออกแล้วพูดตามความรู้สึกว่าโดยส่วนตัวยังไม่ถูกใจเพลงไหนเลย หัวหน้าฉันโวยทันทีว่าจะบ้าเหรอ คนอื่นเขาฟังแล้วเพราะกันทั้งนั้น มาหาว่าห่วยได้ไง แล้วหัวหน้าก็บรรยายเหมือนเล็กเชอร์ให้ฟังว่าเพลงไหนมีองค์ประกอบอย่างไรถึงฟังเพราะ พูดถึงอารมณ์ที่จะสื่อ พูดถึงภาพลักษณ์ที่จะปรากฏทางโทรทัศน์ ราวกับฉันเป็นเด็กนักเรียนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
ฉันฟังเสร็จก็ยกมือเกาหัวแล้วเอนหลังพิงพนักเงียบๆ ไม่โต้ตอบอะไรสักคำ คนในโลกฟังเสียงแล้วจะตัดสินว่าเพราะหรือไม่เพราะ เสนาะหรือไม่เสนาะ ฟังแล้ว ‘ก่อจินตนาการ’ ไปในทิศทางใด ฟังแล้ว ‘อยาก’ เสพอารมณ์ชนิดใดที่รับกัน ฟังแล้ว ‘เข้ากันได้’ กับอัธยาศัยของตนหรือไม่ หากใครเข้าใจเรื่อง ‘ความชอบฟัง’ ของกลุ่มเป้าหมายลูกค้าถูกต้องก็มีส่วนทำให้ขายของได้เร็วขึ้น
การมีความรู้มากทางศาสตร์และศิลป์เกี่ยวกับจิตวิทยาทางดนตรีอาจส่งเสริมให้ไอเดียทำโฆษณาบรรเจิดกว้างไกล แต่ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะทะลวงถึงใจผู้รับได้แน่นอนร้อยเปอร์เซนต์ จินตนาการของมวลชนเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ทำไมยุคหนึ่งชอบ อีกยุคกลับไม่ชอบ
ฉันฟังหัวหน้าบรรยายไปด้วย ดูใจตัวเองไปด้วย ก็เกิดความรู้แจ้งขึ้นประการหนึ่ง ธรรมชาติไม่อนุญาตให้เพลงๆหนึ่งมีความเพราะหรือไม่เพราะประกบติดอยู่กับเสียงอย่างตายตัว ความเพราะหรือไม่เพราะมีใจเป็นองค์ประกอบสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด นี่เป็นโอกาสที่ ‘กรรม’ จะแสดงตัวได้ตามจังหวะเหมาะสม และนี่คือเหตุผลว่าเหตุใดเพลงเพราะๆบางเพลงถึงไม่ดังระดับโลก ขณะที่เพลงธรรมดาๆบางเพลงกลับติดหูข้ามทศวรรษ เมื่อนักดนตรีได้รับกระแสช่วยหนุนจากแรงกรรมให้ดังระดับโลก ใจคนฟังจะเปิดรับด้วยความตื่นเต้น รู้สึกสดใหม่น่าซื้อหามาฟัง ใครไม่ฟังถือว่าล้าหลัง ไม่ร่วมสมัย แต่เมื่อกรรมหมดแรงส่ง ฟังแล้วบางทีจะงงว่าครั้งหนึ่งเคยฮิตติดตลาดตูมตามเข้าไปได้อย่างไร เงี่ยหูตั้งใจเท่าไหร่ก็ไม่คึกคักเหมือนเก่าอีกแล้ว
ฉันยิ้มออกมานิดหนึ่ง ใครว่าคนปฏิบัติธรรมจะก้าวหน้าทางโลกไม่ได้ ฉันตรวจย้อนไปในขณะจิตที่ฟังเพลงเมื่อครู่ พบว่าฉันฟังด้วยใจของกลุ่มเป้าหมาย ฉันสามารถสัมผัสกระแสร่วมสมัย ในขณะที่หัวหน้าวิเคราะห์อะไรตามความคิดและใจของเขาเอง เอาตัวเองเป็นมาตรวัดไปเรื่อย เช่นนี้งานของเขาจะต้องออกมาล้มเหลว เมื่อล้มเหลวครั้งหนึ่งยังขาดความเชื่อมั่นไม่มาก แต่หลายครั้งเข้าก็กลายเป็นฝังตัวเองอยู่กับแนวทางหรือกระแสความนิยมผิดๆ และในที่สุดความน่าเชื่อถือก็จะลดลง ไม่เป็นที่ถูกใจของนายใหญ่ ไม่เป็นฮีโร่ของลูกน้อง
อนาคตงอกเงยขึ้นมาจากปัจจุบันและอดีต ฉันเห็นอนาคตด้วยวิธีการทำงานโดยเอาใจตัวเองเป็นใหญ่ของหัวหน้าวันนี้ เขาจะถูกบีบให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นในที่สุด
ด้วยความเคยชินกับการเห็นจิตตนเอง ฉันสะดุ้งนิดๆกับการเกิดขึ้นของภาวะที่หยาบและมืดมนลง ฉันกำลังสะใจ ขาดความเมตตา เมื่อเห็นลักษณะอันเป็นอกุศลชัดโดยไม่พยายามทำอะไร สภาพจิตก็ถูกสติแทรกแทน กลายเป็นความผ่องใสสว่างว่างขึ้นมาในความรู้สึก
วันนั้นฉันลองหันกลับมาฟังเพลงโปรด หลังจากที่เลิกๆหรือห่างๆไปเสียนาน เพลงส่วนใหญ่ก่อจินตนาการขึ้นในใจฉันไม่ได้ ทำให้เคลิ้มไม่ได้ แต่ยังทำให้เกิดความชอบหรือความชังได้ ฉันฟังด้วย ‘ใจที่เป็นธรรม’ คือฟังแล้วปฏิกิริยาจะเกิดเป็นลบหรือเป็นบวกก็ช่าง เพียงแต่รับรู้ตามจริงเท่านั้นพอ ถึงจุดของความรับรู้ตามจริงจนเห็นว่าความชอบความชังเกิดแล้วก็ดับไปกับเพลง จิตก็เริ่มรู้สึกว่าเสียงเป็นอนัตตา ใจก็เป็นอนัตตา ความชอบความชังก็เป็นอนัตตา เพราะไปบังคับให้เพลงจงบรรเลงตลอดไปไม่ได้ บังคับใจตัวเองให้ชอบหรือชังไปชั่วฟ้าดินสลายก็ไม่ได้
เมื่อสังเกตภาวะกระทบระหว่างอายตนะมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันก็เริ่มเห็นแยกเป็นชั้นๆ ว่าฝั่งนี้คือตาเหลือบไปเล็งมอง ฝั่งโน้นคือรูปวัตถุหรือบุคคลที่ถูกจับจ้อง ฝั่งนี้คือหูเงี่ยสดับด้วยความตั้งใจ ฝั่งโน้นคือเสียงที่พุ่งมากระทบ รวมทั้งเห็นปฏิกิริยาทางใจที่ปรากฏคล้าย ‘เปลวไฟ’ อันเกิดจากการสีกันระหว่างไม้สองข้าง
เมื่อสติทำงานเต็มกำลังจนแก่รอบเข้า สติรู้ลมหายใจหรืออิริยาบถชัดอยู่จากภายใน รู้ว่าศีรษะตั้งหรือเอียง รู้ว่านัยน์ตาแลหรือกลอก ก็เห็นเป็นขณะๆ ว่าอย่างนี้อายตนะประจวบกัน อย่างนี้กิเลสเกิดขึ้น อย่างนี้อายตนะแยกจากกัน อย่างนี้กิเลสดับตาม แต่ถ้าหากมีใจครุ่นคิดถึงผัสสะที่ล่วงไปแล้ว กิเลสนั้นก็จะไม่หายไปไหน ยังคงคาใจอยู่นั่นเอง ขึ้นอยู่กับระดับแรงเบาของอาการตรึกนึกถึงผัสสะนั้นๆ
ยิ่งการเห็นแยกเป็นชั้นๆแจ่มชัดเท่าไหร่ ก็ยิ่ง ‘รู้สึก’ ว่าปรากฏการณ์ทางอายตนะเป็นเพียงอนัตตามากขึ้นเท่านั้น เหลือแต่สติบริสุทธิ์ปราศจากความเห็นอายตนะภายในภายนอกเป็นตัวเป็นตน
ค่ำคืนวันหนึ่งก่อนนั่งสมาธิ ฉันเปิดๆอ่านพระสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติทางอายตนะ ก็พบพุทธพจน์สำคัญในอาพาธสูตรที่ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าตนเองปฏิบัติมาถูกทาง และใกล้ความจริงเข้าไปทุกที ใจความโดยสรุปคือ…
เมื่อพิจารณาเห็นรูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง การพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้เรียกว่า ‘อนิจจสัญญา’ (ความหมายรู้โดยสำคัญว่ากายใจไม่เที่ยง)
เมื่อพิจารณาเห็นจักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา สิ่งต้องกายเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา สิ่งกระทบใจเป็นอนัตตา การพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้เรียกว่า ‘อนัตตสัญญา’ (ความหมายรู้โดยสำคัญว่ากายใจไม่ใช่ตัวตน)
สรุปคือขณะสติยังไม่ถูกยกขึ้นตั้งก็ต้องอาศัยราวเกาะของสติเช่นลมหายใจและอิริยาบถไปก่อน ถ้าสติดีแล้วแต่ไม่มีเหตุการณ์กระทบเป็นพิเศษก็ดูกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ เกิดดับ แต่ถ้ามีเครื่องกระทบให้เกิดปฏิกิริยาทางใจเด่นชัดก็ดูโดยความเป็นอายตนะ ๖ ไป
เมื่อสังเกตอายตนะ ๖ มากเข้าถึงจุดของความชำนาญหนึ่ง ก็เกิดประสบการณ์ทางจิตอีกชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน คือครั้งหนึ่งเมื่อหลับตานั่งสมาธิได้ถึงความว่างนิ่ง บังเกิดความสว่างขึ้นเกือบเต็มรอบ แล้วมีคนในบ้านมาเคาะประตูเรียก ฉันเห็นอาการนิ่งรู้อยู่กับภาวะของจิตเองไหวกระเพื่อมขึ้นแปรเป็น ‘สภาพรู้เสียง’ คือมีแต่เสียงกระทบประสาทหู มีแต่สภาพรู้เสียง แต่ไม่มีตัวผู้เป็นเจ้าของเสียง ไม่มีตัวผู้เป็นเจ้าของสภาพรู้เสียง
ภาวะนั้นทำให้ฉันรู้จัก ‘วิญญาณขันธ์’ อันหมายถึงการรู้ชัดแจ่มแจ้งอย่างใดอย่างหนึ่งทางอายตนะทั้ง ๖ เมื่อเดือนก่อนฉันฝึกรู้ขันธ์ก็มีเพียงขันธ์สุดท้ายคือวิญญาณนี่แหละที่ยังไม่ได้ดู มาเดือนนี้จึงเห็นว่า เมื่อทราบกระทบผ่านอายตนะใดๆด้วยสภาพรู้ชัดแจ้งหนึ่งเดียว ปราศจากอุปาทานในตัวตนเคลือบคลุม ภาวะนั้นเองคือการแสดงตัวของวิญญาณขันธ์ พูดง่ายๆว่าวิญญาณขันธ์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ถูกรู้ไม่ได้ ถูกเห็นว่าเกิดดับไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะมีความรู้สึกในตัวตนบังอยู่ หากเหลือแต่ตาเห็นรูป ไม่มีตัวเราเห็นรูป หากเหลือแต่หูได้ยินเสียง ไม่มีตัวเราได้ยินเสียง เมื่อนั้นธรรมชาติอันพ้นภาวะบุคคลจึงปรากฏให้รู้ และเมื่อนั้นจิตย่อมเป็นไทจากอุปาทานได้ชั่วขณะ
 
วันที่ ๑๐: เปลี่ยนศาสนา
เสาร์นี้คนในบ้านฉันวานให้ทำธุระบางอย่าง ฉันจึงไม่ได้ออกต่างจังหวัดดังเคย แต่กลับถึงบ้านก็เข้าห้องปิดประตู นั่งสมาธิเดินจงกรมอยู่คนเดียวอย่างมีความสุข
ทานข้าวเย็นกับสมาชิกครอบครัวราวทุ่มเศษ คุยเฮฮากับพวกเขาเป็นปกติพักใหญ่ ก่อนที่ต่างคนต่างแยกย้ายไปทำกิจของตน ฉันเข้าห้องด้วยความตั้งใจจะกลับมาทำสมาธิต่อ แต่ก็พอดีกับเสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้น ฉันแปลกใจเล็กน้อย เธอนั่นเอง… คนที่เคยอยู่ในฐานะแฟน แล้วเปลี่ยนไปอยู่ในฐานะคนห่าง แล้วกลับมาเป็นแฟนอีก และน่าจะกลายเป็นคนห่างไปอีกแล้ว ราวกับลมหายใจที่เข้ามาแล้วออกไป แล้วก็กลับเข้ามาอีกแล้วๆเล่าๆ ต่างจากลมหายใจก็ตรงที่ฉันกำหนดสติรู้ด้วยใจที่เป็นกลางยาก
หญิงที่ฉันเคยรักทักทายด้วยน้ำเสียงเรียบเนือยเกือบๆปกติ แต่คงเห็นฉันพูดตอบกระอักกระอ่วนนิดๆ เลยถามตามตรงว่ายินดีคุยด้วยหรือเปล่า ฉันยังไยดีพอจะกลัวเธอเสียน้ำใจ จึงฝืนพูดให้แจ่มใสขึ้น ทั้งที่เริ่มเกร็งเพราะความหวาดหวั่นว่าเดี๋ยวจะต้องเจอบทสนทนาน่าลำบากใจ
และแล้วก็ได้เจอจริงๆดังคาด เธอบอกว่าเธอกำลังเศร้าและเป็นทุกข์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พอดีมีเพื่อนชวนไปเข้าโบสถ์ของศาสนาหนึ่งที่โด่งดังขึ้นชื่อในด้านดึงคนมาศรัทธา เธอก็ตามเขาไป และรู้สึกว่าอาจเป็นแสงสว่างที่สาดลงมานำทางพอดีจังหวะจริงๆ เธอพบความสุขความอบอุ่นใจกับครอบครัวที่แท้จริงแล้ว และขอบคุณที่ฉันมีส่วนช่วยส่งเธอไป
ฟังทีแรกฉันตกตะลึงใจหายวูบ แต่พอตั้งสติได้ในวินาทีต่อมาก็สัมผัสได้ถึงความเศร้าสร้อยอาลัย จิตใจที่ยังคงหมกจม กับเจตนาพูดให้ฉันรู้สึกผิดและหันกลับไปประคับประคองเธอดังเดิม จึงตั้งหลักครู่หนึ่ง เรียบเรียงคำพูดได้ก็บอกว่าทุกศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจกับผู้มีอัธยาศัยต้องกับศรัทธาแบบนั้นๆ ฉันจะยินดีด้วยหากเธอพบทางเลือกแน่แล้ว แต่ก็อยากให้เธอพิจารณาดีๆในระยะยาวด้วย เพราะบางแห่งหากินกับศรัทธาของศาสนิกชน แรกเริ่มเข้าไปทุกอย่างฟรีหมด ให้เปล่าตลอด แต่พอเริ่มเป็นคนในชนิดถอนตัวยาก ก็จะเริ่มขอแหลก และมีอุบายในการตื๊อสารพัดวิธีเกินกว่าจะปฏิเสธ กับทั้งสอนแปลกๆ ประเภทอย่าไปกตัญญูพ่อแม่ พ่อแม่มีเราเอาสนุกเท่านั้น ถ้าเป็นพวกนี้ก็ต้องถอยแต่เนิ่นๆก่อนจะสาย
เธอบอกว่าตอนนี้เธอไม่มีกะจิตกะใจวิเคราะห์อะไรดีอะไรเลว เหมือนคนกำลังจะจมน้ำรอมร่อ เมื่อขอนไม้ลอยมาก็ต้องคว้าไว้ก่อน ในขอนไม้จะมีหมามุ่ยหรืองูพิษอยู่หรือเปล่าก็ช่างเถอะ ฉันฟังแล้วเครียดเกินกว่าจะตั้งสติทัน เพราะน้ำเสียงเธอเจือแววเศร้าน่าสงสาร ได้แต่ด่าตัวเองว่าไม่ควรเลย หากคืนที่เธอโทร.มาชวนทานข้าว ฉันเพียงปฏิเสธอย่างนิ่มนวลด้วยเหตุผลดีๆ ก็คงไม่มีเรื่องน่าอึดอัดกัน แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าต้องลงเอยท่านี้ ฉันพยายามเตือนสติตัวเอง ให้ทำในสิ่งที่ควรทำ พูดในสิ่งที่ควรพูด เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจต้องเจอเหตุการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกยิ่งกว่าที่เป็นอยู่หลายร้อยเท่า
และเพราะกลัวพูดผิดๆตอนกำลังคิดอะไรไม่ออก ฉันจึงเงียบนาน และจากกระแสใจในความเงียบระหว่างกันนั้น ฉันก็รู้ว่าเธอไม่ยอมวางสายแน่จนกว่าฉันจะแสดงความรู้สึกผิดออกไปชัดๆ ซึ่งสติในบัดนั้นบอกตัวเองว่าการพยายามอ้อนวอนหรือแสดงความห่วงออกนอกหน้าเรื่องการเปลี่ยนศาสนา จะยิ่งทำให้เธอคิดในทางอกุศลหนักกว่าเดิม ฉันจึงมาแนวใหม่ พยายามชวนเธอคุยเรื่องอื่นที่ห่างตัว ห่างจากเรื่องศาสนา
ตอนแรกเธอก็ยอมคุยถึงดินฟ้าอากาศ การงาน การเมืองกับฉันอย่างฉลาดพอจะไม่ทำตัวน่ารำคาญ แต่ถึงจุดหนึ่งเธอก็วกกลับมาพูดถึงบรรยากาศในโบสถ์ เปรยว่าดีนะกับบรรยากาศเป็นมิตร ความเป็นครอบครัวที่ยั่งยืนไม่ทิ้งกัน มีใครต่อใครเข้ามาทักทายทำความรู้จักกับเธอเยอะแยะไปหมด นอกเหนือจากธรรมเนียมการต้อนรับสมาชิกใหม่แล้ว เธอว่ามีหนุ่มๆหลายคนเสนอตัวเป็นพี่เลี้ยงให้เธอด้วย แต่ละคนมีอาชีพการงานดี จบโทจบดอกเตอร์กันทั้งนั้น ขนาดฉลาดกว่าเธอยังหันมาเชื่อ ก็แสดงว่าไม่ใช่ศาสนาของคนโง่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สอนให้ทอดทิ้งกัน ไม่สอนให้เอาตัวรอดเพียงลำพัง และไม่สอนให้เห็นลูกเป็นห่วงขวางความสุขเสียด้วย
ฉันเริ่มหงุดหงิดขึ้นมาอย่างยากจะห้าม เพราะรู้ว่าเจตนาของเธอคือว่ากระทบไปถึงพระพุทธเจ้า เกือบจะขอเลิกสายเดี๋ยวนั้น แต่ก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าการวางสายนั้นง่ายมาก แต่การวางความยึดมั่นถือมั่นนั้นยากแม้จะหยุดคุยกับเธอแล้วก็ตาม สู้แก้ปมที่ขอดยุ่งให้คลายออกเดี๋ยวนี้ดีกว่า อีกอย่างหากคุยเสียให้จบเพื่อความลงเอยที่ดีต่อเธอได้ก็น่าทำ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าฉันมีเอี่ยวในการทำให้เธอคิดอกุศลถึงขนาดนี้
ก่อนอื่นฉันทำความสบายใจให้ตัวเองด้วยการนึกถึงที่พระพุทธองค์ตรัส คือถ้าใครมาว่าพระองค์ จะรุนแรงขนาดไหนก็ตาม ก่อนอื่นอย่าโกรธ แต่ให้ดูว่าเขาพูดถูกหรือเปล่า ถ้าพูดถูกก็ยอมรับว่าพูดถูก ถ้าเข้าใจผิดก็แก้ความเข้าใจกันด้วยเมตตาเป็นที่ตั้ง
ทำกรรมโดยไม่รู้ว่าเป็นบาปนั้น ท่านเปรียบเหมือนคนคว้าถ่านร้อนมากำเพราะไม่รู้ว่ามันร้อน จึงไม่มีจิตคิดระวังแม้แต่น้อย ถ่านร้อนนั้นย่อมทำให้เกิดบาดแผลปวดแสบปวดร้อนเต็มไม้เต็มมือ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติการให้ผลของกรรมไม่เป็นไปในทันทีเหมือนการให้ความร้อนของถ่าน ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง หรือรอเงื่อนของเหตุการณ์ที่เหมาะสม กว่าที่เงากรรมจะตามไปเล่นงาน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้เคยทำบาปย่อมลืมแล้ว หรือไม่รู้แล้วว่าเคยทำเหตุไว้ตั้งแต่วัน เดือน ปี หรือกระทั่งชาติภพใด
คิดแล้วฉันก็สงบเยือกเย็นลงอย่างรวดเร็ว ประโยชน์อะไรฉันต้องโกรธผู้หญิงคนหนึ่งที่พูดได้ทุกอย่างเพียงเพื่อเอาชนะ ฉันควรเห็นตามจริงว่าเธอกำลังทำความเดือดร้อนให้ตัวเองต่างหาก
ฉันถามเธอว่าติดใจเรื่องพุทธศาสนาสอนให้คนเห็นแก่ตัวมากใช่ไหม? พอเห็นเธอนิ่งเงียบ ฉันก็ค่อยๆชี้ให้เห็นตามจริง ว่าแก่นของพุทธศาสนาคือความหลุดพ้นทางใจชนิดไม่กลับกำเริบเป็นทุกข์ได้อีก แก่นของพุทธไม่ใช่การปลีกตัวไปเสวยสุขแบบคนรักสบาย ตรงข้าม พระในอุดมคติจะยังติดต่อกับชาวบ้านด้วยภาระใหญ่ คือเป็นที่พึ่งทางใจ และตามวินัยพระก็ยังสามารถเลี้ยงพ่อแม่ไม่ให้อดตายได้ด้วย นี่เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน
คราวนี้มองย้อนกลับมาทางการอยู่ร่วมกันในโลก ตามสามัญสำนึกคนจะคิดหรือมองว่าการไม่เห็นแก่ตัวคืออยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ไม่ทำร้ายกัน แต่ขอให้มองโลกด้วยตาเปล่า คนเราเต็มไปด้วยช่องว่างที่ไม่มีวันถมได้เต็ม ยิ่งใกล้ชิดกันมากและเนิ่นนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นช่องว่างนั้นชัดขึ้นเท่านั้น คนเราจะมีแก่ใจพยายามประคับประคองหอบหิ้วกันบุกน้ำลุยไฟเพียงช่วงเวลาที่ยังรู้สึกรักรู้สึกหลง แต่เมื่อใดเบื่อหน่ายช่องว่าง หรือเบื่อรสชาติเนื้อหนังของกันและกัน ก็ทิ้งขว้างได้อย่างไม่มีเยื่อใย หรือยิ่งกว่านั้นตามข่าวที่ปรากฏก็คือเบื่อคู่ของตนจุกอก อยากไปมีใหม่บ้าง แต่อีกฝ่ายไม่ยอมหย่าให้ ก็ถึงกับแอบฆ่าแกงกัน
ฉันบอกผู้หญิงที่ฉันรักว่าเราสองคนเหมือนอยู่บนต้นทางการผจญภัยในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่บ้าง แต่ที่ฉันเห็นคือความขัดแย้ง ไม่อาจลงตัวแม้แค่ความพอใจในการใช้ชีวิต แล้วเราจะคาดหวังให้เส้นทางผจญภัยร่วมกันนี้มีแต่ความตื่นเต้นเร้าใจ ได้หัวเราะเหมือนเที่ยวสวนสนุกคงไม่ใช่แน่ๆ
ฉันบอกเธอด้วยใจจริงว่าฉันรักเธอ แต่ไม่ใช่ในแบบที่เอาอารมณ์พิศวาสอยากครอบครองมาเป็นที่ตั้ง ขอให้เธอลองคิดดูว่าเมื่อเธอบอกเลิกฉันนั้น ถึงแม้เศร้าโศกเพียงใดก็ยังบอกเธอได้เต็มปากว่าฉันเข้าใจว่าความเหงาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียวในต่างแดน และฉันจะเป็นเพื่อนที่ดีกับเธอตลอดไปถึงแม้ว่าไม่มีอนาคตร่วมกันอีกแล้ว หากฉันเอาแต่บ้ารักไร้เหตุผล ไม่เอาใจเธอมาใส่ใจฉัน ฉันจะพูดอย่างนั้นได้ไหม? แล้วลองมาเปรียบเทียบกับเธอในบัดนี้ ที่มีแต่ถ้อยคำประชด อยากทิ่มแทงให้ฉันเกิดความเจ็บใจ เอาของสูงที่ฉันเคารพมาปรามาสโดยไม่เคยศึกษาอะไรจริงจัง อย่างนี้น้ำหนักความเห็นแก่ตัวของใครมากกว่ากัน และระหว่างเราสองคน ใครเข้าใจความรักความปรารถนาดีที่แท้จริงยิ่งกว่ากัน?
ผู้หญิงที่ฉันรักค่อยๆร้องไห้สะอึกสะอื้นยืดยาว ก่อนจะบอกทั้งยังเสียงเครือว่าเธอไม่เคยหยุดรู้สึกผิดแม้แต่วันเดียว และก็ได้ขอโทษฉันแล้ว ฉันให้อภัยแล้ว และทำให้เธอมีความหวังแล้ว แต่เพียงแค่เธอพูดผิดหูฉันหน่อยเดียวถึงกับสลัดเธอทิ้ง ไม่โทร.หาอีกเลย อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร น้ำใจของฉันหายไปไหน ทำไมถึงไม่เป็นคนเดิมที่หนักแน่นได้กับทุกเรื่อง?
ฉันรู้สึกแย่ลง ใจที่เลิกเอาแต่ได้มาพักหนึ่งทำให้รู้สึกสังเวชในความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ คนเราพูดเอาประโยชน์เข้าตัวเองได้อย่างเหลือเชื่อ และที่ขำไม่ออกคือเขาเชื่อจริงๆว่านั่นคือความยุติธรรม การที่คนอื่นไม่ตามใจ หรือเป็นไม่ได้อย่างใจ ถือว่าเป็นความเลวร้าย ถือเป็นความผิดที่สมควรพิจารณาปรับปรุงเสียใหม่
ฉันถอนใจยาวให้เธอได้ยิน บอกเธอว่าถึงวันนี้ฉันเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นอย่างหนึ่ง คือธรรมชาติจะบังคับให้เราทิ้งทุกคนไปอยู่ดี เราเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม เรารักและหวังหอบหิ้วใครไปด้วยก็ตาม พวกเราต่างก็เป็นนักเดินทางผู้โดดเดี่ยว มาสวมหัวโขนเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง คนรัก เพื่อน ศัตรู หรืออะไรอื่นเดี๋ยวเดียว แล้วก็ต้องตายจากไปเป็นอื่น แม้ในชาติเดียวกันก็อาจเป็นอะไรหลายๆฐานะ บางคนเดินชนไหล่หรือเหยียบเท้าใครอีกคนบนถนน ทะเลาะกันเลือดขึ้นหน้าเป็นพัก กว่าจะจำได้ว่าเคยเป็นเพื่อนรักสุดรักสมัยประถมมัธยมที่เคยอยากไปไหนๆด้วยกันตลอดชีวิต แต่พอห่างกันมากๆเจออีกทีอาจกลายเป็นศัตรูก็ได้ เราต่างถูกหลอกว่ามีคนรักและเครือข่ายญาติมิตร ทั้งที่จริงทุกคนไม่มีแม้แต่เงาติดตามตัวเองไปได้ตลอด
ฉันพูดอย่างจะทิ้งท้ายว่าเธอจะหมดศรัทธาในฉันก็ได้ หมดศรัทธาในพุทธศาสนาก็ได้ แต่อย่าหมดศรัทธากับการหาสิ่งดีที่สุดให้ตัวเอง ถ้าการเปลี่ยนศาสนาคือความสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่การหลอกตัวเอง ไม่ใช่แค่การทำเพื่อประชดใคร ก็ขอให้เปลี่ยนไปเถิด แต่จงท่องไว้ว่าไม่มีใครทำให้เธอพ้นสภาพนักเดินทางผู้โดดเดี่ยว เมื่อเลือกทางไหนก็ต้องเดินอยู่บนทางนั้น พบปะผู้คนและสิ่งแวดล้อมบนเส้นทางแบบนั้น
เธอเริ่มหยุดร้องไห้ และนิ่งแบบคิดลึกจริงจังเป็นครั้งแรก ในที่สุดก็ถามฉันเสียงอ่อยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าศาสนาไหนสอนผิดหรือสอนถูก? ฉันตอบทันทีอย่างเตรียมไว้แล้วว่าถ้าเธออยากไปเที่ยวทะเล แล้วมีใครคนหนึ่งแนะให้ขึ้นรถโดยสารไปจังหวัดหนองคาย กับใครอีกคนหนึ่งแนะให้ขึ้นรถโดยสารไปจังหวัดกระบี่ ถ้าเธอไม่รู้จักภูมิประเทศของไทย ไม่รู้จักทั้งสองจังหวัดมาก่อน ไม่รู้กระทั่งทิศไหนเป็นเหนือใต้ออกตก เธอคงต้องไปให้ถึงจังหวัดอันเป็นปลายทางเสียก่อน จึงรู้ว่าใครบอกผิดหรือถูก
แต่ความจริงคือเธอรู้จักภูมิประเทศของไทย ว่าถ้าไปทางเหนือจะไม่เจอทะเล แต่ไปทางใต้หรือตะวันออกจะเจอ เพราะฉะนั้นเธอสามารถถามเลียบเคียงได้ว่าหนองคายอยู่ภาคไหน แล้วกระบี่อยู่ตอนใดของประเทศ อย่างนี้เธอก็พอจะรู้ว่าใครบอกทิศทางที่เธอประสงค์อย่างถูกต้องกันแน่
ศาสดาบอกเป้าหมายปลายทางแห่งศาสนาของพวกท่านเสมอ ถ้าเธอฟังเป้าหมายของพวกท่านแล้วศรัทธา คือถูกกับนิสัยและความรู้สึกนึกคิดของเธอ ก็ลองเลือกที่จะศึกษา ลองเลือกที่จะเอาตัวเข้าทดลอง เพื่อให้เห็นจริงว่าศาสดาท่านรักษาสัญญาไว้หรือไม่ คือทำตามกติกาของท่านแล้วบรรลุถึงเป้าหมายปลายทางได้ไหม ต้องตายเสียก่อนจึงสามารถพิสูจน์หรือระหว่างมีชีวิตก็อาจรู้แจ้งประจักษ์จริง เราอยู่ในประเทศที่เลือกได้ทุกศาสนาอย่างเป็นอิสระ
ผู้หญิงที่ฉันรักสงสัยว่าทำไมต้องเลือก แค่ใช้ชีวิตให้เหมือนคนอื่นไม่ได้หรือ? โลกทุกวันนี้ไม่ได้มีแต่ภูเขากับแม่น้ำเหมือนหลายพันปีก่อน คนยุคเรามีอะไรต้องทำ มีอะไรต้องคิดมากมาย ไม่ใช่มีเวลาว่างเหลือเฟือพอสำหรับนั่งวิตกเกี่ยวกับสัจจธรรมหรือการหวังคอยความสุขในอุดมคติ
ฉันตอบว่าขึ้นอยู่กับความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตของแต่ละคน ถ้าวันหนึ่งเธอถามหาสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตออกมาจากหัวใจ วันนั้นเธอจะรู้ว่ากี่พันปีผ่านไป สัจจะก็ยังรออยู่ที่เดิม ถ้าเธอพบ หัวใจเธอก็อิ่มเต็ม แต่ถ้าเธอพลาด ชีวิตนี้ก็จะเป็นแค่อีกห่วงโซ่ของความไม่รู้ ไม่ค้นพบ และไม่หลุดพ้นจากกรงขัง เธอไม่มีความเรียกร้องคำตอบสูงสุด แต่ฉันมี และนั่นก็ทำให้เรามองต่างกัน เห็นต่างกัน และยอมเสียเวลาในชีวิตใช้ไปในทางที่ต่างกัน เธอไม่ผิด ฉันไม่ผิด มีแต่ความต่างกันเท่านั้น
เธอเงียบอยู่นาน ก่อนถามว่าอะไรทำให้ฉันแน่ใจว่าพระพุทธเจ้าพูดถูก ฉันเชื่อคนที่ไม่เคยเห็นหน้าได้อย่างไร โดยเฉพาะบุคคลแห่งการสาบสูญนับพันปี คัมภีร์บางศาสนาบอกว่าโลกแบน บอกว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล นั่นน่าจะทำให้ฉันเฉลียวคิดบ้างว่าคนโบราณเป็นแต่คิด ไม่มีเครื่องมือพิสูจน์ความจริงได้เหมือนยุคเรา ถ้าฉันอยากรู้ความจริง ทำไมไม่ศึกษาและติดตามความคืบหน้าทางเทคโนโลยีให้มากๆ
ฉันตอบเธอว่าเผอิญพุทธเรามีหลักฐานชัดว่าพระศาสดาตรัสเกี่ยวกับจักรวาลไว้ถูกต้อง ทั้งเรื่องโลกกลม เรื่องการเป็นบริวารของดาวฤกษ์ แต่นั่นก็ไม่ใช่แก่นสาร ไม่ใช่สัจจะที่พระองค์ต้องการให้เรารู้ รู้แล้วไม่ทำให้ใจหลุดพ้น ขอเพียงพระศาสดาพูดถูกเกี่ยวกับการดำเนินจิตเพื่อความหลุดพ้นเรื่องเดียว ต่อให้พระองค์ท่านพูดผิดว่าโลกแบนก็ไม่เสียข้อตกลงเดิมอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระศาสนาอยู่ดี
เธอฟังแล้วรุกอีกด้วยหางเสียงสะบัด คือได้ยินจากศาสนาอื่นว่าพุทธเราสอนผิด แท้จริงแล้วทำให้พลาดจากมงคลสูงสุด ขอให้ดูตัวอย่างความเสื่อมทรามทางศีลธรรมในไทยทุกวันนี้ หากสอนกันถูกทาง จะมีเรื่องอัปมงคลเกิดขึ้นทั้งภาคนักบวชและภาคชาวบ้านทั่วทุกหัวระแหงขนาดนี้ทีเดียวหรือ? ไหนจะพระฆ่าพระ พระข่มขืนเด็ก พระมหาเกย์ถูกฆ่า พระชื่อดังกลายเป็นพระชื่อดับมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ จะให้ทำใจเชื่ออย่างไรว่าหลักการในพุทธศาสนาถูกต้อง ในเมื่อทำคนให้เป็นคนดีไม่ได้
ฉันตอบเธอว่าพวกนั้นไม่ใช่พระตั้งแต่กระทำผิดเช่นฆ่ามนุษย์หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่บ้านเมืองเรามีสื่อที่ไม่เข้าใจ ไปเรียกคนเหล่านั้นว่าพระ ก็เลยเสื่อมเสียถึงศาสนาโดยรวม เหมือนปลาเน่าสองสามตัวทำให้ตัวอื่นอีกหลายร้อยพลอยเหม็นตาม และถ้าว่ากันถึงการพูดหมิ่น พูดกด ทำให้พุทธศาสนามัวหมองไม่น่าเชื่อถือนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เช่นในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จเยือนนิคมเกสปุตตะของชาวกาลามะ ก็มีบางกลุ่มแสดงความเลื่อมใส บางกลุ่มก็แสดงอาการเฉยเมย เพราะได้ยินมาไม่เหมือนกัน บางพวกก็ว่าพระพุทธเจ้าประเสริฐ บางพวกก็ว่าพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในหมู่ชาวกาลามะ
พระพุทธองค์เห็นเช่นนั้นก็ตรัสว่า ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลายท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆกันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้เชื่อถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
ผู้หญิงที่ฉันรักได้ที บอกว่าอ้าว! นั่นไง! แม้แต่พระพุทธองค์ยังไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ จะเป็นตำรา การเชื่อสืบๆกันมา หรืออาจจะกระทั่งตัวท่านเอง แล้วฉันเชื่อเข้าไปได้อย่างไร ในเมื่อทุกวันนี้ไม่มีพระพุทธองค์แล้ว เหลือแต่ตำรากับความเชื่อสืบๆกันว่านิพพานมี อริยบุคคลมี
ฉันตอบว่าคนไทยฟังครึ่งเดียวแล้วสรุปแบบเธอกันเยอะมาก ความจริงพระพุทธองค์ตรัสยังไม่จบ ท่านตรัสต่อว่าอย่าเชื่อเพียงเพราะเหตุผลสิบประการข้างต้น ต่อเมื่อเรารู้ด้วยปัญญาของตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครรับปฏิบัติแล้วเป็นไปเพื่อความทุกข์ เพื่อความเปล่าประโยชน์ เมื่อนั้นก็ควรละเสีย
นับแต่เจริญสติปัฏฐานตามที่พระพุทธเจ้าสอนมา ฉันคิดเรื่องอกุศลน้อยลง ไม่เห็นโทษทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่มีใครติเตียนฉันได้ด้วยข้อหาใดๆ และยิ่งวันที่การปฏิบัติเข้มข้นขึ้น ความทุกข์ก็ยิ่งน้อยลงทุกที ประโยชน์ทวีขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่นนี้แล้วฉันสมควรเชื่อว่าพระพุทธเจ้าดีจริง สอนถูกต้องตามเป้าหมายที่ท่านวางไว้หรือไม่?
เธอเสียงอ่อนลง นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนเอ่ยว่าทุกศาสนาอาจมีเป้าหมายเดียวกัน พูดถึงภาวะสูงสุดแบบเดียวกัน ฉันศึกษาศาสนาอื่นลึกซึ้งพอจะตัดสินแล้วหรือยัง มีคนบอกเธอว่านิพพานกับพระเจ้าในศาสนาอื่นๆก็ภาวะเดียวกันนั่นเอง และหากจุดหมายปลายทางเป็นสิ่งเดียวกัน ทำไมจะต้องใช้ชีวิตให้ผิดแปลกจากชาวโลก ในเมื่อมีทางเลือกอื่นที่ง่ายกว่ากัน เป็นไปได้จริง และไม่ต้องทอดทิ้งคนอื่นเหมือนอย่างนี้
ฉันตอบเธอว่านิพพานเป็นเรื่องลึกซึ้ง พูดกันเล่นๆไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะขอยกไว้ก่อน แต่มาพูดถึงความหลุดพ้นทางใจ อันนี้พอคุยกันด้วยภาษาปกติ คือถ้าเราถอนอุปาทานออกได้หมด ก็เป็นอันว่าเกิดความหลุดพ้นทางใจ และระหว่างทางดำเนินเพื่อถอดถอนอุปาทาน การกระทำใดๆในอันที่จะเพิ่มอุปาทานเข้ามาอีกนั้นไม่ควรเลย อีกอย่างหนึ่ง ถ้ามองในมุมของเธอก็เหมือนฉันกำลังทอดทิ้ง ไม่สงสาร ไม่เห็นใจเธอเลย แต่ในมุมมองของฉัน ฉันกำลังตัดทางเดือดร้อนของเธอเอง ไม่อยากให้เธอเข้าใจพระพุทธเจ้าผิดๆ ไม่อยากให้เธอต้องทำบาปทางความคิดและคำพูดโดยไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ
เธอร้องห่มร้องไห้อีกยกใหญ่ ยอมพูดอย่างสิ้นอาย ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีอีกต่อไป ถามว่าถ้าเธอจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่เรียกร้องอะไรจากฉันอีก ฉันจะยอมรับเธอ กลับมาคบกันเหมือนเดิมได้ไหม? การฟังคนที่เรารักร้องไห้หนักๆทำให้ใจคอไม่ค่อยดีนัก ฉันบอกว่าไม่เข้าใจเลย อะไรทำให้เธอกลับมาปักใจกับฉันแน่นเหนียวถึงขนาดนี้ ทั้งที่เลิกรากัน ห่างเหินกันไปตั้งนานแล้ว
เธอตอบว่าไม่รู้ รู้แต่ไม่เคยลืมฉันได้ ยิ่งกลับมาพบกันยิ่งมั่นใจว่าฉันควรจะเป็นคนที่เธอเลือก ฉันฟังแล้วสลดใจขึ้นมาวูบหนึ่ง มนุษย์ติดข้องอยู่ เต็มใจยินดีและยอมถูกกักขังไว้ในโลกแห่งอุปาทานไปเรื่อย ฉันถามเธอว่าเห็นพิษของความไม่รู้หรือยัง? เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมถึงเลือกฉัน ตัดฉันไม่ขาด ขนาดมองว่าฉันเห็นแก่ตัว วันหนึ่งอาจทอดทิ้งเธอก็ตาม นี่ไม่แปลว่าเธอเลือกจะอยู่ใต้อาณัติของความไม่รู้ต่อไปอย่างนั้นหรือ? ต้องรอให้ทุกข์กว่านี้ร้อยเท่าพันทวีถึงอยากถอนตัวหรืออย่างไร?
เธอถามว่าแล้วทำไมถึงให้โอกาสเธอกลับมาติดพัน ทำให้เธอเผลอมีความหวังตั้งสองสามอาทิตย์ ก่อนสลัดกันแบบไม่มีเยื่อใยอย่างนี้ ฉันตอบว่าเป็นเพราะความไม่รู้ของฉันเหมือนกัน ถ้ารู้ล่วงหน้าว่ากลับมาคบแล้วต้องเป็นทุกข์ทั้งเธอและฉัน ฉันก็คงตัดไฟเสียแต่ต้นลมแล้ว แต่นี่ก็ยังไม่สาย ในเมื่อ ‘รู้’ เสียก่อนจะแต่งงาน ตระหนักเสียแต่ความสัมพันธ์ยังบอบบางเพียงสองอาทิตย์แห่งการจับมือถือแขน ยังไม่ทำให้ใครเจ็บปวดเกินทน
เธอถามฉันว่ารู้ได้ยังไงว่าไม่เกินจะทน? ตอนนี้เจอใครมีแต่คนทักว่าผ่ายผอม หน้าตาหมองคล้ำจนเพื่อนรู้ว่าทุกข์หนักและชวนไปเข้าโบสถ์ได้นี่ยังไม่หนักพออย่างนั้นหรือ?
ฉันเม้มปากขมวดคิ้ว ชักทุกข์หนักตามเธอขึ้นมา หยั่งรู้ด้วยจิตว่าเธอทุกข์จริง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงอมทุกข์ไว้ หวงทุกข์ไว้ กอดทุกข์ไว้แน่นหนาไม่ยอมปล่อย ทั้งที่ชัดยิ่งกว่าชัดว่าทรมานทรกรรมเปล่าอย่างไร้สาระแก่นสาร
เมื่อเห็นความเขลาของจิตมนุษย์ที่ยินยอมยึดทุกข์ไว้ไม่ปล่อย ฉันก็ยิ่งอยากหันหลังวิ่งหนีมหันตภัยแห่งความไม่รู้มากขึ้นอีก ฉันบอกเธอตามจริง ยอมรับว่าเป็นห่วงเธอมาตลอด แต่ถ้าแสดงความห่วงใยด้วยการเอาตัวเองเข้าไปช่วยแบกขึ้นหลังแบบเตี้ยอุ้มค่อม ก็กลัวว่านอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้วพานจะทำให้เธอยิ่งจมทะเลทุกข์ลึกกว่าเดิม
ฉันบอกเธออีก ว่านี่คือตัวอย่างหนึ่งของสติและปัญญาแบบพุทธ เมื่อขาดสติ คนเรารับใช้ความไม่รู้
ตัดสินใจและปฏิบัติตนไปด้วยความไม่รู้ จะมีกระบวนการอันให้ผลสุดท้ายเป็นทุกข์ทางใจเสมอ คนเรานึกว่าไม่รู้คือไม่ผิด แต่แท้จริงแล้วเพราะไม่รู้นั่นแหละถึงทำผิดกันอย่างใหญ่หลวง และติดวนในที่คุมขังต่อไปเรื่อยๆไร้กำหนดเป็นอิสระ แต่เมื่อรู้แล้ว แม้จะรู้นิดรู้หน่อยว่าต้นเหตุความทุกข์กำลังมาเคาะประตูเรียก แค่เราไม่เปิดประตูต้อนรับมัน ยอมฝืนความรู้สึกเสียหน่อย ทุกข์ก็เข้ามาทำอะไรเราไม่ได้แล้ว
ฉันชี้ด้วยความอดทน ว่าขณะนี้ความพิศวาสกลบเกลื่อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหน้าเสียหมด เหมือนยอมได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในวันนี้เธออาจบอกว่าไม่แคร์ถ้าฉันจะนั่งสมาธิเดินจงกรม แต่เมื่อไหร่ความพิศวาสเหือดหาย เหลือแต่ความจริงคือทุกข์ล้วนๆ เธอก็จะรู้สึกบาดเจ็บ เสียเวลาเปล่า และพานเกลียดขี้หน้าฉันไปจนชั่วชีวิต เธอต้องการอย่างนั้นหรือ?
เธอตอบเรียบๆแต่หนักแน่นว่าต้องการ!
ฉันอึ้งสนิทแบบคนหมดคำพูด ความรักความหลงทำให้เธอเปลี่ยนแปลงไปได้จากหน้ามือเป็นหลังมือขนาดนี้ทีเดียว? ปกติเธอไม่ง้อใคร ห่วงศักดิ์ศรี รักหน้ารักตายิ่งกว่าอะไรหมด แต่นี่กลับเป็นตรงข้ามสิ้น ฉันจึงงงเคว้งและคิดอะไรไม่ออกไปชั่วขณะ
ตระหนักว่าอุปสรรคใหญ่เกิดขึ้นแล้วบนเส้นทางการภาวนา แม้แต่เรื่องเหลือเชื่อที่ไม่น่าเกิดก็เกิดขึ้นได้ นึกถึงพุทธพจน์ที่ว่าฆราวาสเป็นทางแคบ เป็นที่มาแห่งฝุ่นละออง ฉันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ คนกำลังภาวนาดีวันดีคืนมักมีเหตุมาดึงแขนดึงขาให้ช้าเสมอ นี่อาจเป็นเงื่อนไขของธรรมชาติ คือถ้าคิดเหยียบเรือสองแคม ยังไม่ยอมสละโลกแต่อยากถึงนิพพาน ก็ต้องงัดข้อด้วยการใช้กำลังเป็นสองเท่า ไม่มีภาวะสังฆคุณช่วยแบ่งเบากระแสรบกวนอย่างนี้เอง
ชีวิตฆราวาสจะให้ดูขันธ์อย่างเดียวไมได้ ต้องแก้เงื่อนแก้ปมปัญหาและอุปสรรคให้ออกด้วย มิฉะนั้นจะเกิดการปรุงแต่งจิตให้หยาบจนเกินกว่าสติสามารถหยัดยืนอยู่ไหว ฉันขบริมฝีปากคิดอยู่นาน ไม่อยากทำร้ายจิตใจเธอเลย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากมีเครื่องถ่วง ฉันยังรักเธอ แต่ก็รักเส้นทางที่กำลังดำเนินเกินกว่าจะให้เธอมาดึงออกนอกวิถี หลายปัญหาในโลกคาราคาซังอยู่ได้ก็เพราะความใจอ่อน ไม่เข้มแข็งเด็ดขาดนี่เอง
ฉันค่อยๆพูดช้าๆ ว่าการที่เคยถูกเธอทิ้งยังทำให้เข็ดไม่หาย ตอนนี้เหมือนฉันทิ้งที่เกาะหนึ่งมาหาอีกที่เกาะหนึ่งซึ่งมั่นคงกว่ากัน อย่าเพิ่งคาดคั้นให้ฉันตอบตกลงอะไรในคืนนี้เลย ความรู้สึกคงประมาณทิ้งเรือกลับไปเกาะขอนไม้กลางทะเล ไว้ฉันแข็งแรงจนแน่ใจว่าช่วยฉุดเธอขึ้นเรือมาด้วยกันได้แล้วค่อยว่ากันอีกทีดีกว่า ขอเวลาอีกสักพักแล้วจะติดต่อเธอไปเอง
เธอฟังคำพูดผัดผ่อนของฉันด้วยความรวดร้าวทรมาน ฉันสัมผัสได้และร่ำๆจะใจอ่อน ได้แต่บอกตัวเองว่าให้เธอทุกข์หนักเดี๋ยวนี้แล้วดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ดีกว่าปล่อยยืดเยื้อคาราคาซังจนถึงขั้นเจ็บแล้วฟื้นยาก
เราต่างคนต่างเงียบกันเกือบห้านาที ก่อนที่เธอจะเอ่ยว่าเกิดมาไม่เคยรู้สึกไร้ยางอายขนาดนี้มาก่อนเลย หน้าด้านหน้าทนงอนง้อขอความรักจากผู้ชายตั้งนาน เขาไม่เอาก็ยังตื๊ออยู่ได้ ฉันฟังแล้วเหมือนมีอะไรมาจุกคอหอย ขอร้องเธอว่าอย่าคิดอย่างนั้น วันหนึ่งฉันอาจทำให้เธอเข้าใจได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของความใจไม้ไส้ระกำ ตรงข้าม เป็นความปรารถนาดีและแสดงออกซึ่งความรักบริสุทธิ์มากกว่าครั้งไหนๆทั้งหมดด้วยซ้ำ
รอบนี้เธอไม่วางสายไปเฉยๆเหมือนคราวก่อน อย่างน้อยก็มีใจคอหนักแน่นขึ้น และกล่าวอำลาด้วยน้ำเสียงเยี่ยงผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลคนหนึ่ง เธอบอกว่าฟังฉันมาทั้งหมดแล้วพอจะเห็นว่าฉันต้องการอะไรอย่างแท้จริง รวมทั้งรู้ซึ้งว่าเรื่องศาสนาสำคัญกับฉันขนาดไหน ขอโทษสำหรับคำพูดทิ่มตำให้เจ็บใจที่ผ่านมา เธอจะไม่ติดต่อมาอีก และขอให้มิตรภาพระหว่างเรายั่งยืนตราบนานเท่านาน
ฉันขบฟันแน่น เมื่อเธอลิดหนามแหลมจนเหลือแต่กลีบกุหลาบหอม ฉันก็อาลัยอาวรณ์ขึ้นมาอีก ประสาปุถุชนที่ยังหลงรักหลงใคร่ผู้หญิงดีๆได้ แต่ไม่ทราบความเข้มแข็งจากไหนเกิดขึ้นมากพอจะกล่าวลาตอบ ขอบคุณที่เข้าใจ และขอให้ความเจ็บระหว่างเราเป็นอโหสิจนหมดสิ้น
เราสองคนวางโทรศัพท์พร้อมกัน ฉันรู้สึกเหนื่อยอ่อนที่สุดนับแต่ฝึกเจริญสติเป็นต้นมา เกือบเกิดคำถามว่าทิ้งเธอลงคอได้อย่างไร เมื่อไหร่มรรคผลนิพพานจะมาถึงก็ไม่รู้ ทำไมถึงไม่คว้าเธอไว้ แล้วตะล่อมให้เพียรภาวนาไปด้วยกัน แต่แวบเดียวก็เกิดสติรู้ว่านั่นคือสังขารขันธ์ฝ่ายสนับสนุนกิเลส หาใช่สิ่งที่ฉันควรเชื่อ เพราะเชื่อแล้วย่อมมีแต่ถอยกับถอยเท่านั้น ผู้หญิงเป็นอายตนะภายนอกร้อนๆครบหกในคนเดียว การอยู่ใกล้ก็คือการมีเครื่องเผาใจให้ทุรนทุรายไปในวังวนราคะ โทสะ โมหะไม่รู้จบ การอยู่ไกลก็คือความสบายเนื้อสบายตัว ปลอดโปร่งเย็นใจพร้อมให้ภาวนาเต็มที่ หากแยกแยะได้อย่างนี้ก็ไม่เป็นอันต้องลังเล หากจะปรารถนาจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ
คืนนี้ฉันได้อะไรมากกว่าที่คิด อย่างน้อยขณะเขียนบันทึกประจำวัน ฉันก็เห็นว่าความเข้มแข็งไม่ยอมอ่อนข้อให้กับกิเลสนั้น เป็นฝักฝ่ายเดียวกันกับสติ จิตฉันไม่มืดอย่างที่ควรเป็นในขณะอ่อนเปลี้ยเพลียแรง และแม้นั่งสมาธิไม่ไหว ฉันก็ยังนอนดูลมหายใจไปจนหลับโดยจิตไม่กระสับกระส่ายดังคาด ฉันรู้สึกถึงความมั่นคงบางอย่างที่ต่างจากความตั้งมั่นของสมาธิจิต เป็นความมั่นคงทางวิญญาณ เป็นความมุ่งมั่นบนเส้นทางสู่ความหลุดพ้นจากอุปาทาน ฉันเคยรู้สึกถึงมัน แต่ไม่เคยชัดเท่านี้เลย
 
วันที่ ๑๑-๓๑: อินทรียสังวร
ความเข้มแข็งทางใจที่เกิดขึ้นหลังจากคุยกับคนรักจน ‘รู้เรื่อง’ ทำให้ฉันเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับวิธีพัฒนาจิตให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น เพื่อความเป็นผู้ภาวนาที่มุ่งมรรคมุ่งผลอย่างแท้จริง
สมาธิฉันทำได้ค่อนข้างอยู่ตัว เดินจงกรมก็เริ่มนานขึ้นเป็นสองชั่วโมงไม่เหนื่อย ยิ่งเดินยิ่งตัวเบา จิตเบา และเห็นความเป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ชัดเจนแจ่มแจ้งไปหมด เช่นนี้เหลืออะไรอีกบ้างที่ยังไม่ได้ทำ?
วันหนึ่งขณะนั่งทานข้าวกลางวันกับลูกค้า ฉันเคี้ยวของอร่อยแล้วเห็นจิตตัวเองมืดมนจากความมัวเมาในรส สติก็เริ่มเกิด และก่อนจะตักคำต่อไปก็เห็นความทะยานอยากแล่นไปข้างหน้าราวกับร่างแหกว้างใหญ่พุ่งออกไปครอบจานกับข้าว
ฉันสะดุดชะงักนิดหนึ่ง สติที่อบรมจนแข็งแรงแล้วนั้น ถึงหลับไหลลุ่มหลงไปด้วยความมัวเมารส แต่เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง เพียงวินาทีเดียวก็ไขจิตให้สว่างขึ้นแบบฉับพลันทันใด รสอร่อยยังคาลิ้น ภาพอาหารที่เข้าตาก็สวยน่ากินอย่าบอกใคร แต่จิตที่มีกำลังสติเหนือกว่าสุขเวทนาทางตาและทางลิ้นนั้น ทำให้เห็นภาพสวยและรสอร่อยเป็นของเล็ก กับเปรียบเทียบถูกว่าสุขเวทนาทางใจสิใหญ่กว่า น่าปรารถนากว่ากัน แน่นอนว่าหากไม่ปฏิบัติมาจนเห็นค่าของจิตอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ความคิดเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น
ฉันกระแอมนิดหนึ่ง ไม่อยากทำท่าทำทางให้ลูกค้าผิดสังเกต จึงเอื้อมมือไปตักกับข้าวตามปกติ คนอื่นย่อมเห็นแต่ลักษณะภายนอกที่ดูธรรมดา แต่ฉันรู้อยู่ข้างในคนเดียวว่าสติกำลังทำงาน สิ่งที่ปรากฏต่อสติคือใจที่ทำความสำคัญในภาพอาหาร ทำความสำคัญในรสชาติอย่างรู้ล่วงหน้าว่าเดี๋ยวจะเข้าไปคลุกลิ้นแล้วบังเกิดความเอร็ดอร่อยปานใด
ฉันรู้เฉยๆโดยไม่ทำอะไรกับความอยากลิ้มนั้น เมื่อเอาช้อนส่งข้าวและกับเข้าปากก็ปล่อยให้เกิดอาการมัวเมาอย่างเคย เพื่อทำความรู้จักกับกิเลสเครื่องผูกใจให้ชัดเจน ฉันเพิ่งสังเกตว่าแม้แต่จะยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม ยังมีความอยากลิ้มรสอันจืดสนิทที่ถือว่า ‘อร่อย’ สำหรับความเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ โอ้โห! แทบเรียกว่าเกิดมาไม่เคยเห็น ‘เครื่องผูกใจทางปาก’ ชัดๆอย่างนี้เลย
ฉันไม่ฝืน ไม่พยายามเกร็งกับการลิ้มรส แต่สำหรับคำต่อไป อาหารจานเดียวกันนั่นเอง ฉันไม่เคี้ยวเอารส แต่เคี้ยวเอาสติรู้ว่ากำลังเคี้ยว ฉันไม่กลืนเอาความอิ่ม แต่กลืนเอาสัมปชัญญะ นี่คือหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ตั้งแต่ในหมวดกาย แต่ฉันไม่เคยให้ความสำคัญอย่างแท้จริงเลย การมีสติสัมปชัญญะในกายดีแล้วนั่นเอง คือความคุ้มครองอายตนะไปในตัว ถ้าหากอบรมดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินอาหารรสแย่ๆด้วยเจตนาหักดิบกับกิเลสอันเกิดแต่รสล่อลิ้นก็ได้
นับแต่มื้อกลางวันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็เริ่มสังเกตอาการทะยานของจิตถี่ถ้วนขึ้น ได้เห็นปฏิกิริยาทางจิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมากขึ้นทุกที ฉันพบว่าบางครั้งเราปล่อยให้ใจทะยานไปยึดตามสบาย เห็นด้วยสติแล้วดับเองโดยไม่ต้องทำอะไร แต่บางครั้งถ้าปล่อยให้ทะยานไปแล้วจะหยุดไม่อยู่ สติไม่มีกำลังพอจะเห็นโดยความเป็นภาวะเกิดแล้วต้องดับ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ตัดไฟแต่ต้นลมจะดีกว่าปล่อยให้ไหม้แล้วค่อยหาทางดับ
ในเรื่องกลิ่น ที่ผ่านมาฉันยังพึงใจกับเครื่องหอมที่พรมครอบตั้งแต่ศีรษะถึงกลางตัว ชอบใจว่าเนื้อหอมกว่าครึ่งค่อนวัน ไปไหนก็พาความหอมติดตัวไปด้วย พอลองเลิกใช้ก็พบว่าที่ผ่านมาจิตหลงอุปาทานว่าตัวเองหอมเสียตั้งนาน กลิ่นเนื้อมนุษย์แท้ๆที่ปราศจากการทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่นั้นเหม็นยิ่งกว่าอะไรดี แต่ก็หมั่นประพรมเครื่องหอมหลอกจมูก ทำให้เกิดความหลงอุปาทานไปว่าทั้งร่างหอมฉุยผิดแผกแตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่น
การไม่มีกลิ่นหอมอบอวลหลอกจมูกทำให้ความตรึกนึกเกี่ยวกับกามลดลงนิดหน่อย แต่ก็สังเกตด้วยว่าเราไม่ใส่ คนอื่นก็ใส่อยู่ดี โดยเฉพาะตอนสาวๆเดินโฉบไปโฉบมาแล้วได้กลิ่นชนิดเตะจมูกสุดเดชก็ยากจะกำหนดสติให้ทัน กลิ่นกายเป็นสิ่งยั่วให้ติดหลงได้ไม่แพ้รูปกับเสียง และกลิ่นก็เป็นอีกอายตนะภายนอกหนึ่งที่เราปิดป้องไม่ได้ หากไม่ให้ความสำคัญไว้กับการรู้ลมหายใจอย่างสม่ำเสมอ ไม่คำนึงเฉพาะการหายใจให้ต่อเนื่อง ไปให้ความสำคัญกับกลิ่นเด่นกระทบจมูกก็เสร็จ
ฉันมาพลิกดูเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันไม่ให้กิเลสรั่วรดจิตผ่านอายตนะ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้หลายแห่งในข้อที่ว่าด้วยอินทรียสังวร ใจความสำคัญโดยสรุปคือ
ด้วยอาการอย่างไรจึงชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย? อาการนั้นคือเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสิ่งกระทบด้วยกาย รู้แจ้งความคิดนึกด้วยใจ โดยไม่ให้ความสำคัญกับลักษณะโดยรวม ไม่ให้ความสำคัญกับลักษณะปลีกย่อย เมื่อให้ความสำคัญโดยไม่สำรวมก็จะเป็นเหตุให้ถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรมเช่นความเล็งอยากได้และโทมนัส แต่หากปฏิบัติเพื่อสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
สรุปคือสตินั่นเองเปรียบประดุจหลังคา ทำหน้าที่ป้องกันกิเลสอันเปรียบเหมือนสายฝนพร้อมจะหลั่งรดจิตอันเปรียบเหมือนผู้อาศัยในบ้าน เพียงไม่ทำความสำคัญกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดนึกทางกาม แต่มีสติอยู่กับฐานที่มั่นอันไม่เป็นโทษ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ หรือที่เรียกว่าเป็นผู้มีอินทรียสังวร
ชีวิตฆราวาสซับซ้อนเกินกว่าจะมีอินทรียสังวรได้สบายๆ แค่อ่านข่าวธรรมดาๆเกี่ยวกับการข่มขืนที่นักข่าวเขียนบรรยายเสียเหมือนหนังสือปกขาว หรือดูโฆษณาทางโทรทัศน์ที่เกณฑ์สาวๆมานุ่งน้อยห่มน้อย สติก็พร้อมจะเตลิดกระเจิงไปไหนต่อไหนไกลแล้ว ฉันเริ่มครุ่นคิดขึ้นมาอีกว่าถ้าเป็นพระก็ดีน่ะซี ถ้าตั้งใจจริงก็ถือว่าเป็นโอกาสอันงามแก่การเจริญอินทรียสังวรอย่างหาที่เปรียบมิได้ เนื่องจากหน้าที่หลักของพระคือทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ใจภารกิจอื่น หลีกเลี่ยงการเข้าหมู่เข้าสังคมเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมกิเลสได้หมด
สำหรับพระควรมีอินทรียสังวรตั้งแต่เริ่มถือบวช แต่สำหรับฆราวาสจะมีอินทรียสังวรกันหลังจากภาวนาได้ผลระดับหนึ่งแล้ว เกือบทั้งเดือนนี้ฉันเน้นสำรวมระวังอายตนะต่างๆจนเริ่มเห็นค่า เพราะจิตที่ตั้งมั่นยิ่งตั้งมั่นบริบูรณ์แม้ขณะอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วก็มีกำลังใจว่าเดือนหน้าจะทำอะไรให้เกิดความก้าวไกลไปมากกว่านี้อีก
 
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๕
๑) ความรู้จักกายใจโดยความเป็นอนัตตาผ่านสติรู้อายตนะ
๒) ความสำรวมระวังไม่ให้กิเลสรั่วรดจิต มีใจเข้มแข็งเด็ดขาดยิ่งๆขึ้น ไม่หลงเอาของร้อนมาเป็นสมบัติด้วยความนึกเข้าใจว่าเป็นของเย็น
 
เดือนที่ ๖: สำรวจความพร้อม
อย่างที่เห็นกันว่าทุกต้นเดือนฉันจะสำรวจความก้าวหน้าของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ แต่สำหรับต้นเดือนนี้เหมือนฉันอยากขอบคุณตัวเองเมื่อ ๕ เดือนก่อนมากกว่าอย่างอื่น การตัดสินใจเริ่มเอาจริงเอาจังกับการเจริญสติปัฏฐานเมื่อเกือบครึ่งปีที่แล้ว คือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต และช่วงเวลาระหว่างนี้ก็เป็นการดำเนินชีวิตที่คุ้มที่สุดในชาติปัจจุบัน หรืออาจจะเป็นช่วงที่ทำให้ปัจจุบันเป็นชาติอันประเสริฐสุดเหนือทุกชาติทุกภพที่ผ่านมาชั่วอนันตกาลของฉัน
ตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ นั้น ยิ่งทำมากยิ่งก้าวหน้า ยิ่งเป็นสุข ยิ่งพบความว่างมากขึ้นทุกที ฉันจึงมีกำลังใจไถ่ถามตัวเองแล้วๆเล่าๆว่าสิ่งใดยังขาด สิ่งใดยังไม่ได้ทำ สิ่งใดยังถูกมองข้ามไป ฉันคนหนึ่งล่ะที่เห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมปฏิบัติไว้พอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป หากศึกษาแบบท่องจำรวดเดียวอาจเห็นว่าข้อธรรมเยอะแยะอย่างนี้ใครจะไปทำไหว แต่ถ้าจำไว้พอรู้เป็นแนวแล้วค่อยๆเขยิบเลื่อนขึ้นมาตามลำดับขั้น ก็จะพบว่า สติปัฏฐาน ๔ นั้นง่ายสำหรับผู้มีความเพียรสม่ำเสมอเพียงใด
และเมื่อปฏิบัติมาถึงจุดนี้ ฉันยิ่งเห็นพระปัญญาอันเกินสามัญมนุษย์ของพระพุทธเจ้าชัดเจนขึ้น พระองค์ท่านหยั่งรู้ว่าจะทำให้นักภาวนามือใหม่ที่เพิ่งตั้งไข่ก้าวออกจากจุดเริ่มต้นได้อย่างไร กับทั้งทราบว่าจะทำให้นักภาวนาที่ก้าวหน้าในแต่ละระดับพัฒนายิ่งๆขึ้นอีกได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีข้อธรรมตีกรอบไว้รัดกุมเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้ผู้ศึกษาหลงทางไปไหน
แต่ก่อนฉันมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือพระศาสดาท่านตรัสว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นทางเดียวที่จะทำให้บรรลุมรรคผลอย่างถูกต้อง แล้วไฉนจึงมีข้อธรรมชื่อต่างกันอื่นๆเหมือน ‘ซ้ำรอย’ สติปัฏฐาน ๔ ได้ ยกตัวอย่างเช่นท่านตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่าธรรมวินัยอันมีมรรคมีองค์ ๘ นี้ หากภิกษุประพฤติโดยชอบแล้ว โลกย่อมไม่ว่างจากพระอรหันต์ อย่างนี้มิแปลว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็เป็น ‘อีกทางเลือกหนึ่ง’ สำหรับการยกระดับพวกเราจากความเป็นปุถุชนก้าวล่วงขึ้นสู่ความเป็นอริยชนหรืออย่างไร?
มาถึงปัจจุบัน เมื่อฉันได้รับความรู้ทางภาคทฤษฎีเพียงพอ บวกกับความประจักษ์สภาวะแห่งจิตตนเอง ฉันก็ทราบชัดว่า มรรคมีองค์ ๘ ก็คือสติปัฏฐาน ๔ และสติปัฏฐาน ๔ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดเน้นที่การทำความเข้าใจก่อน หรือว่าเน้นที่วิธีลงมือปฏิบัติก่อน ถ้าเน้นความเข้าใจก่อนก็เรียกมรรคมีองค์ ๘ ถ้าเน้นวิธีลงมือปฏิบัติก่อนก็เรียกสติปัฏฐาน ๔
ถึงจุดหนึ่งเราอาจสำรวจว่าจิตเรามีองค์ทั้ง ๘ ของมรรคครบหรือยัง ถ้าหากว่าครบหรือเฉียดครบ ก็แปลว่าจิตมีคุณสมบัติพร้อมพอจะบรรลุธรรม คือเราไม่มองเฉพาะการเจริญสติตรงทางมรรคผลด้วยเกณฑ์เช่นโพชฌงค์ ๗ แต่จะมองครอบคลุมแบบเบ็ดเสร็จเหมารวมไปทั่วว่ามี ‘ช่องโหว่’ ใดยังไม่อุด ช่องโหว่เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะการคิด การพูด การกระทำการต่างๆในชีวิตประจำวัน นี่คือสิ่งที่นักภาวนามักคาดไม่ถึง นึกว่าถ้าทำสมาธิและเจริญสติก้าวหน้าแล้วก็ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น นับถอยหลังเข้าสู่วินาทีจุดชนวนมรรคผลได้เลย
เมื่อมองว่าองค์ทั้ง ๘ ของมรรคก็คือส่วนประกอบที่ช่วยกันร่วมมือสร้าง ‘สภาวจิตพร้อมบรรลุธรรม’ เราก็อาจมองว่าถ้าจิตใคร ‘พร้อมประพฤติเป็นอัตโนมัติ’ ตามแบบฉบับมรรคมีองค์ ๘ ทั้งในแง่ของมุมมองตนเองและโลก ทั้งในแง่ของปฏิกิริยาโต้ตอบกับโลกผ่านการพูดจาและลงมือลงไม้ รวมทั้งในแง่ของคุณภาพจิตและวิธีกำหนดสติ ก็อาจเปรียบจิตของบุคคลผู้นั้นเหมือนลูกศรที่แล่นจากแล่งอย่างถูกทิศแล้ว แหวกอากาศโดยปราศจากเครื่องขวางแล้ว มีกำลังเพียงพอจะพุ่งไปปะทะเป้าหมายแล้ว เป้าหมายในที่นี้ก็คือกิเลสเครื่องผูกใจซึ่งเราต้องการตัดให้ขาดนั่นเอง
ฉันจำไว้ง่ายๆว่าจิตที่มีความ ‘พร้อมประพฤติเป็นอัตโนมัติ’ ๘ ประการนั่นเองคือภาวะทางธรรมชาติอันเหมาะสมที่จะเกิดปรากฏการณ์บรรลุธรรม ไม่มีใครอวยพร ไม่มีใครทำนายทายทัก และไม่มีใครมอบอภิสิทธิ์พิเศษให้ผู้ใดประสพความสำเร็จ ถึงมรรคถึงผลได้โดยปราศจากเหตุอันเหมาะสมดังกล่าว
 
องค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรค
คำว่า ‘มรรค’ แปลว่าหนทาง ในความหมายนี้คือแนวดำเนินจิตประการต่างๆเพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น ประกอบด้วย
๑) สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ตามนิยามดั้งเดิมที่แท้จริงของพระพุทธองค์มุ่งหมายถึงความรู้ในสัจจะที่อริยเจ้าให้ความสนใจสูงสุด ๔ ประการ ได้แก่ความรู้จักทุกข์ ความรู้จักต้นเหตุของทุกข์ ความรู้จักลักษณะที่ดับไปแห่งทุกข์ และความรู้จักวิธีดับทุกข์ โดยย่นย่อคือเข้าใจทั่วถึงในเรื่อง ‘ทุกข์และการดับทุกข์’ เป็นอย่างดีนั่นเอง
๒) สัมมาสังกัปปะ คือการดำริชอบ มุ่งหมายเอาความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท และความดำริในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓) สัมมาวาจา คือการเจรจาชอบ หมายถึงการงดเว้นจากการพูดเท็จ การงดเว้นจากการพูดส่อเสียด การงดเว้นจากการพูดคำหยาบ และการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๔) สัมมากัมมันตะ คือการกระทำชอบ หมายถึงการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ และการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๕) สัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพชอบ ละเว้นการเลี้ยงชีพที่ผิด
๖) สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ หมายถึงการทำให้เกิดความยินดีเต็มใจประกอบความเพียร มีอาการประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้บังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้บังเกิดขึ้น และเพื่อรักษากุศลธรรมนั้นไว้ให้ตั้งอยู่ไม่เลือนหายจนยิ่งเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นเต็มเปี่ยม
๗) สัมมาสติ คือการระลึกชอบ หมายถึงอาการที่จิตระลึกและพิจารณากายใจด้วยหลักที่ปรากฏแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร
๘) สัมมาสมาธิ คือความมีจิตตั้งมั่นชอบ หมายถึงลักษณะจิตที่เป็นผลมาจากการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีความเป็นหนึ่งอยู่โดยธรรมชาติ สงัดจากกาม สงัดจากความฟุ้ง รวมทั้งอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง
การทำความรู้จักกับมรรคมีองค์ ๘ ครั้งนี้ของฉัน ไม่ใช่เพื่อไว้ประดับความจำหรือเตรียมทำข้อสอบวิชาพุทธศาสนาเหมือนในอดีต แต่เป็นไปเพื่อสำรวจตัวเองว่ายังขาดองค์มรรคข้อใด สมควรเสริมความสมบูรณ์ขององค์มรรคข้อใด เพื่อความพร้อม เพื่อการเตรียมตัวที่ไม่ขาดตกบกพร่อง
 
วันที่ ๑: ความจริงที่อริยเจ้าสนใจ
เช้านี้ฉันเดินผ่านหน้าห้องพระ ใจหนึ่งคิดเดินไปเฉยๆอย่างเคย แต่อีกใจอยากพนมมือไหว้ สำรวจจิตตัวเองก็พบว่ายิ่งได้ดีจากพระพุทธเจ้าเพียงใด ใจก็ยิ่งเคารพพระองค์ท่านเหนือเศียรเกล้าสูงส่งขึ้นเพียงนั้น แม้ผ่านหน้าห้องพระซึ่งรู้สึกว่ามีรูปแทนพระองค์ประดิษฐานอยู่ ก็ชักไม่อยากก้าวฉับๆดังเคย จิตที่อ่อนน้อมต่อพระองค์ท่านปรุงกายให้ค้อมหลังลงต่ำที่สุดเท่าที่อิริยาบถเดินจะเอื้อให้ค้อมได้
ด้วยปัญญารู้ ‘ความจริง’ อันเป็นปัจจุบัน ฉันตระหนักว่าตนเองไม่ได้แสดงอาการเคารพนบนอบพระอิฐพระปูนหรือองค์ปฏิมาทองเหลืองไร้ชีวิตอย่างงมงาย แต่ไหว้เพราะสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าสะกิดเตือนจิตฉันให้ประหวัดระลึกถึงพระมหากรุณาคุณแห่งองค์ศาสดา มหาบุรุษผู้ทำให้ฉันมีวันนี้ วันที่ตาเริ่มสว่างจากสภาพบอดสนิทมาชั่วกัปชั่วกัลป์
และสติตามแนวที่พระพุทธองค์ประทานไว้ ก็ทำให้ฉันเห็นการปรุงแต่งจิต เห็นมโนกรรมของตัวเองเป็นขณะๆชัดเจนไปหมด เห็นถนัดว่าจิตเป็นผู้ปรุงอาการทางกาย และในอีกทางหนึ่งกายก็หวนมาเป็นผู้ปรุงแต่งให้จิตเป็นไปต่างๆ แม้แต่การยกมือขึ้นพนมมือไหว้ใครก็จัดเป็นกรรม มีความหลากหลาย ก่อร่างสร้างนิสัยอย่างหนึ่งๆได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติซ้ำๆจนเกิดความเคยชิน
รากของการไหว้มาจากความปรารถนาที่จะแสดงความเคารพบุคคลอันควรเคารพ แต่ไม่ทุกคนที่ปรารถนาจะไหว้ และความเคารพก็มีระดับเป็นต่างๆ บางคนเคารพน้อยเพราะไม่มีสายใยผูกพัน หรือเพราะใจคอกระด้างเย่อหยิ่งจองหอง บางคนเคารพมากเพราะรู้สึกในบุญคุณอันลึกซึ้งหรือเพราะจิตใจโน้มน้อมลงจนเป็นสภาพอ่อนโยนนิ่มนวลเป็นธรรมชาติแล้ว
สำหรับฉันในวันนี้ ไม่ว่าจะไหว้ใคร หากมีอาการพนมมือค้อมกายแล้วยังรู้สึกถึงความแข็งของมานะภายในจิต ฉันจะโน้มศีรษะลงต่ำเข้าไปอีก จนกว่าจะรู้สึกถึงจิตที่ยินดีในอาการน้อมเต็มใจแล้ว มีความสัมผัสจริงๆแล้วว่า ‘ได้ไหว้’ แล้ว
เมื่อจิตปรุงกาย กายปรุงจิตจนเกิดสภาพอ่อนน้อมยิ่ง สว่างไสวน่าอุ่นใจในตัวเองยิ่ง ฉันก็หยั่งรู้ว่าสภาพจิตอันปรุงขึ้นด้วยกรรมดีชนิดนี้จะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดผลดีในอนาคต เหตุดีย่อมได้ผลดีเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อดีเต็มดวงหนักแน่นจนถึงระดับอุ่นใจได้เช่นนี้ ผลข้างหน้าย่อมเที่ยงและมั่นคงตาม ผลคืออะไร? ผลคือถ้าพลาดจากมรรคผลในชาตินี้ อย่างไรฉันก็ต้องได้พบพุทธศาสนาอีก และไม่มีความกระด้างกระเดื่องต่อพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวก โอกาสที่จะมีเหตุปัจจัยให้ปรามาสพวกท่านเป็นบาปเป็นกรรมใหญ่หลวงย่อมยาก
นอกจากนี้ จิตอันอ่อนน้อมด้วยอาการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ย่อมให้ผลเป็นความสว่างเรืองรอง มีความสุขความเจริญ ทั้งในรูปของกำเนิดแห่งสุขุมาลชาติ เช่นมีผิวกายดี ไม่พลัดตกต่ำน่าดูถูก ช่วงต่างๆของชีวิตมักถูกโอบอุ้มด้วยเหตุแวดล้อมอันน่าอุ่นใจ กรรมที่ทำเป็นประจำเช่นการไหว้บุคคลอันควรเคารพนี้ประการเดียว จะเป็นที่มาของสิ่งดีๆมากมายหลายประการ
นี่คือ ‘ความจริงเกี่ยวกับกรรม’ ซึ่งฉันไม่ได้ถามใคร แต่รู้ด้วยลักษณะประจักษ์จากภายใน ชนิดที่ถ้าถูกคนศาสนาอื่นขู่เอาว่าไหว้รูปเคารพจะเป็นเหตุให้ตกนรก ฉันก็คงได้แต่ยิ้มมุมปาก หรือไม่ก็มองเขาด้วยความเวทนา การพยายามขู่ให้กลัวด้วยถ้อยคำอันสมมุติขึ้นเอง จินตนาการขึ้นเอง ปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นเองของพวกเขาย่อมก่อความเดือดร้อนให้ตนเองสาหัส เมื่อเหตุชั่วร้ายย่อมให้ผลชั่วร้าย นึกว่ากุเรื่องหลอกคนเขลาแล้วจะได้รางวัลเป็นยศศักดิ์พิเศษในสวรรค์แบบของศาสนาตน ที่แท้ต้องทรมานอยู่ในอัตภาพอันชวนสยองเกินกว่าจะถ่ายทอดกันด้วยภาษามนุษย์
มองแบบเปรียบเทียบระหว่างเผ่าพันธุ์ นับว่าชาวตะวันออกโชคดีกว่าชาวตะวันตกที่มีการไหว้เป็นธรรมเนียมประจำ เพราะหมายความว่ามีโอกาสทำกรรมอันเป็นทางแห่งความเจริญได้บ่อยกว่าชาวตะวันตกที่เอะอะก็จับมือท่าเดียว มีแต่กิริยาอันมาจากความรู้สึกปรารถนากระชับมิตรแน่นแฟ้น มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ชวนให้เห็นเป็นระดับเดียวกันไปหมด ใจเลยถูกปรุงให้เป็นอย่างสำนวนที่ว่า ‘ก้มหัวให้ใครไม่เป็น’ กันเสียมาก
การเจริญสติปัฏฐานทำให้ฉันเห็นจิต เห็นกรรมตัวเองชัดไปหมด กรรมคือเจตนาจากจิต เป็นอาการที่ปรุงแต่งจิตให้มีลักษณะเด่นไปต่างๆ และ ตัวการเจริญสติปัฏฐานเองแม้จะเป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว ทว่าก็เกื้อกูลให้เกิดความโน้มน้อมไปในความมักน้อยทางกาม ไม่หนักแน่นพอจะเบียดเบียนหรือจองเวรใคร เพราะฉะนั้นที่จะก่อกรรมทำบาปละเมิดศีล ๕ เช่นฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดประเวณี โกหก และเสพสุรายาเมา ก็เป็นเรื่องยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งนั่นก็แปลว่าโอกาสจะเดือดเนื้อร้อนใจเพราะผลกรรมชั่วย่อมลดน้อยถอยลงทุกที ใช้กรรมเก่าหมดเมื่อไหร่ก็เริ่มสบายเมื่อนั้น
สติปัฏฐาน ๔ ทำให้ฉันเห็น ‘ความจริง’ ต่างๆในโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนถอดแว่นสีต่างๆออกแล้วมองโลกด้วยตาเปล่า จิตที่เปิดเผยไร้ฝ้ามัว มีความเป็นกลางไม่เอียงไปทางชอบหรือชัง หรือถ้ายังชอบยังชังก็ไม่ถึงกับถูกครอบงำให้เกิดอคติ ย่อมรู้จักบุคคล และยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดได้ตามจริงยิ่งกว่าปุถุชนทั่วไปที่ถูกครอบงำด้วยอคตินานัปการ
สิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นชัดคือคนเราตั้งต้นชีวิตขึ้นมาด้วยความไม่รู้เหมือนๆกัน มีสัญชาตญาณเอาประโยชน์เข้าตัวเหมือนๆกัน มีกิเลสคือราคะ โทสะ โมหะเหมือนๆกัน จึงมีโอกาสทำทั้งดีและเลวคละกันตามสถานการณ์บังคับ ไม่ควรมีใครได้ชื่อว่าประเสริฐเพราะวงศ์ตระกูลดี ไม่ควรมีใครได้ชื่อว่าน่ายกย่องเพราะหลักฐานแวดล้อมชี้ชัดว่าอดีตชาติบำเพ็ญบุญไว้มาก ทุกคนมีโอกาสพลาดไปสั่งสมนิสัยเลวร้ายได้เท่าๆกัน ขณะเริ่มสั่งสมความเลวร้ายก็แทบไม่มีเค้าเงาหรือนิมิตหมายใดๆบอกเลยว่ารากเหง้าแห่งความเดือดร้อนเริ่มต้นขึ้นแล้วนะ จิตวิญญาณทุกดวงถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความไม่รู้ ไม่อาจหยั่งไปถึงอนาคต ไม่อาจเชื่อมโยงถูกว่าเหตุแห่งกรรมอย่างนี้จะทำให้ต้องไปเสวยวิบากกรรมอย่างนั้น ทุกคนถูกกักขังไว้กับแรงกระตุ้นกิเลสเฉพาะหน้าในวินาทีนี้ อยากคิดอะไรก็คิด อยากพูดอะไรก็พูด อยากทำอะไรก็ทำ นับเป็นเรื่องน่าสลดสังเวชเหลือเกิน
นิยามของ ‘ความจริง’ สำหรับคนธรรมดาคือ ‘สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน’ หรือบางคนใช้ชีวิตผ่านประสบการณ์มาถึงจุดหนึ่งจนพบว่าความจริงคือ ‘สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น’ และธรรมชาติก็เหมือนจัดสรรรูปธรรมนามธรรมไว้รองรับทุกความเชื่อได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้กระทั่งความเชื่อที่ต่างกันเป็นตรงข้ามก็ดูเหมือนธรรมชาติช่วยรับรองว่าเป็นจริงให้ทั้งคู่! ยกตัวอย่างเช่นหากใครสังเกตว่าแสงน่าจะเป็นคลื่นเหมือนระลอกคลื่นในทะเล ธรรมชาติก็ช่วยยืนยันว่าแสงเป็นลูกคลื่นจริงภายใต้การทดลองแบบหนึ่ง แต่ถ้าใครนึกสนุกจินตนาการว่าแสงอาจเป็นอนุภาคเหมือนเม็ดทรายบนพื้น ธรรมชาติก็อุตส่าห์ช่วยสงเคราะห์ว่าแสงเป็นอนุภาคจริงๆภายใต้การทดลองอีกแบบ!
ยุคที่มนุษย์รู้สึกว่าฉลาดขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันก้าวไกลนี้ แท้จริงแล้วถ้าถามบรรดาหัวกะทิของโลกที่ทำงานในห้องวิจัยค้นคว้าหาความจริงอย่างลึกซึ้ง พวกเขาจะบอกว่ายิ่งได้คำตอบให้กับคำถามเก่าๆมากขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งเจอคำถามใหม่ๆอันน่าพิศวงไร้ที่สิ้นสุด หนึ่งคำตอบอาจเป็นที่มาของอีกร้อยคำถาม
ฉันเคยคิดเล่นๆว่าหากเอาความรู้ในวันนี้ของนักวิทยาศาสตร์ทุกสาขามารวมกัน เราอาจได้ภาพความจริงที่ชัดเจนออกมาภาพหนึ่ง คือเราไม่รู้อะไรเลย ลองถามง่ายๆแค่คำเดียว ทำไมเราต้องเกิดมา? ถ้าเอาความรู้ทางชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ รวมทั้งจิตศาสตร์มาประสานกัน เราจะไม่ได้คำตอบอะไรมากไปกว่า ขีดจำกัดและความไม่แน่นอนของวิธีพิสูจน์ นักวิทยาศาสตร์ได้แต่สร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายว่าจักรวาลเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์บิ๊กแบงก์ อธิบายได้เป็นคุ้งเป็นแควว่าเสี้ยววินาทีที่เท่านั้นเท่านี้ จักรวาลมีขนาดเท่าใด อยู่ในสภาพพิลึกพิลั่นเหนือจินตนาการปานใด แต่ยังไม่มีใครอธิบายได้ว่ามีเหตุผลอะไรที่จักรวาลต้องเกิด
อย่างไรก็ตาม ความจริงที่พิสูจน์ไม่ได้ชัดๆเหล่านั้นแหละเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิของโลกทั้งหลายมานาน ถึงพิสูจน์ไม่ได้ชัดก็พยายามพิสูจน์กันต่อจากรุ่นหนึ่งถึงอีกรุ่นหนึ่งอยู่นั่นเอง เพียงเพื่อปลอบกันระหว่างมนุษย์ว่า ‘เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ’
ยากนักหนาที่มนุษย์จะหวนกลับเข้ามาสนใจเกี่ยวกับความจริงในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งโจทย์ได้ถูกต้องตรงประเด็นที่เป็นคุณค่าสูงสุด นั่นคือทำอย่างไรจะพ้นทุกข์ได้เด็ดขาดแบบไม่กลับกำเริบขึ้นอีก
ความจริงโจทย์นี้ไม่ใช่โจทย์ใหม่เสียทีเดียว มีชนกลุ่มน้อยที่ดำรงชีวิตแบบนักปราชญ์หรือฤาษีชีไพรตามป่าลึกได้เคยตั้งโจทย์ทำนองนี้กันไว้แล้ว และมีคำตอบที่เข้าเป้าเสียด้วย นั่นคือ แค่ปล่อยวางทุกสิ่งให้ได้เท่านั้น แต่คำถามที่ตามคำตอบนั้นมาคือ ทำอย่างไรจึงจะปล่อยวางได้จริง แม้กระทั่งความรู้สึกในตัวตน ตรงนี้มีการคิดค้นวิธีขึ้นสารพัด บ้างก็ใช้เหตุผลว่าในเมื่อติดกามสุขคือทางไปสู่ความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นถ้าทรมานตัวเองให้เผ็ดร้อนสุดขีดก็น่าจะปล่อยวางเสียได้กระมัง ไม่คิดเปล่ายังทดลองให้เห็นจริงตามความเชื่อนั้นจนตายดับกันไปมากต่อมาก พกพาเอาข้อสันนิษฐานเดิมไปพิสูจน์กันต่อในปรภพ
พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่ารู้จักความสุขอันน่าปรารถนาสูงสุดมาทุกรูปแบบแล้ว ทั้งที่กลั้วอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ทั้งที่สะอาดผ่องใสอยู่ด้วยฌานสมาบัติ ๘ อีกทั้งยังได้ชื่อว่ารู้จักทุกข์เพราะการทรมานตนเองอย่างอุกฤษฏ์ชนิดไม่มีใครในโลกเทียมเทียบ กระทั่งท่าน หยุดมองความจริงผ่านความเชื่อ แล้วเปลี่ยนมาเป็น เห็นความจริงในปัจจุบันผ่านสติอย่างใหญ่ เห็นเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆตามที่เป็นอยู่อย่างนั้นๆด้วยพระปัญญาอันลึกซึ้งเกินสามัญมนุษย์ กระทั่งพบเค้าเงื่อนของทุกข์ ต้นตอของภพชาติคือ ‘ตัณหา’ ซึ่งหมายเอาทั้งความทะยานอยากในกาม ความทะยานอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็น รวมทั้งความทะยานอยากพ้นจากสภาพอันไม่น่าชอบใจทั้งหลาย
เมื่อฉันเห็นอาการที่จิตทะยานอยากชัดๆในเดือนที่ ๕ ฉันจึงกลับมาทำความเข้าใจกับ ‘ต้นตอทุกข์’ ได้อย่างชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าเมื่อครั้งเพิ่งเริ่มศึกษาศาสนาที่ยังคิดๆเอาเฉยๆ หาใช่เรื่องง่ายที่เราจะระงับจิตไม่ให้ทะยานไปยึดอายตนะภายนอกที่ปรากฏยั่วราคะโทสะ ต้องอาศัยความเข้าใจ อาศัยความคิดสละ และอาศัยความเพียรกำหนดสติเข้ามาในกายใจอย่างต่อเนื่องนานพอ
แน่นอนถ้าไม่มีผู้นำ ไม่มีผู้ยืนยัน ไม่มีผู้ทำให้คนหมู่มากเลื่อมใส ก็คงไม่มีใครเชื่อว่ามนุษย์หน้าไหนจะสามารถทำลายความทะยานอยากให้พินาศไป กับทั้งไม่มีใครเดาถูกว่าทำลายความทะยานอยากแล้วจะได้เสวยรสอันเหนือรสประการใด น่าสงสัยว่าแลกกันคุ้มแน่หรือกับที่ต้องสูญเสียกามอันน่าพิศวงหลงใหลในโลกไปหมด
พระพุทธเจ้าเป็นอริยเจ้าระดับอรหันต์องค์แรกของโลก หมายความว่าท่านทำเรื่องเหลือเชื่อได้สำเร็จจิตของพระองค์ไม่อาจเกิดอาการทะยานอยากได้อีก และพระองค์ก็มีสุรเสียงที่ดังพอจะประกาศก้องไปได้ตลอดโลก กับทั้งกังวานนานมาได้จนถึงบัดนี้ สรุปคือนอกจากจะแก่กล้าพอจะประหัตประหารกิเลสด้วยตนเองแล้ว องค์ท่านยังมีพระกำลังพอจะตั้งศาสนาชี้นำผู้มีปัญญาให้ฆ่ากิเลสตามได้ด้วย
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์สำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้เพราะพวกท่านสนพระทัยในสัจจะความจริงเกี่ยวกับเรื่อง ‘ทุกข์และการดับทุกข์’ อย่างยิ่งยวด พระสาวกที่เจริญรอยตามบาทพระศาสดาได้ก็เพราะสนใจสัจจะเดียวกันนั้นด้วย จึงกล่าวได้ว่าสัจจะความจริงที่เหล่าอริยเจ้าให้ความสนใจก็คือเรื่องของทุกข์และการดับทุกข์นั่นเอง เพราะเมื่อสนใจแล้ว ลงมือกระทำการเพื่อความเข้าถึงแล้ว ย่อมเป็นผู้ละทุกข์เสียได้
อริยสัจจ์มี ๔ ข้อ ได้แก่
๑) ทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ ๕ หรือกายใจอันเป็นที่ตั้งของอุปาทานนี้เอง เมื่อถึงคราวแก่เจ็บก็ทำให้เราต้องทนทรมานปวดเมื่อย เมื่อแตกตายเป็นเหตุให้พรากจากบุคคลอันเป็นที่รักก็ทำให้เราต้องร้องไห้คร่ำครวญทุกข์โทมนัส สรุปคือกายใจนี้เป็นทุกข์ด้วยสภาพบีบคั้นในตัวเอง แถมยังเป็นภาชนะรองรับทุกขเวทนาทั้งปวงที่เกิดขึ้นระหว่างมีชีวิตด้วย
๒) สมุทัย คือความทะยานอยาก หรือเรียกสั้นๆว่า ตัณหา ก็ได้ ตัณหาแบบอยากเอามาเป็นของตัวก็เป็นแบบหนึ่ง กระทำจิตให้มีสภาพดูดเข้ามา ตัณหาแบบอยากไล่ให้พ้นตัวก็เป็นแบบหนึ่ง กระทำจิตให้มีสภาพผลักออกไป ล้วนแล้วแต่ต้องออกแรงทั้งสิ้น กระทำจิตให้ไม่สงบสบาย และยังก่อความยึดติดในอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นเหตุให้เกิดความสืบทอดอุปาทานขันธ์ ๕ ไม่จบไม่สิ้น
๓) นิโรธ คือความดับทุกข์ โดยความหมายสูงสุดคือดับทุกข์อย่างสนิท ไม่กลับกำเริบฟื้นคืนได้อีก เป็นรสอันเหนือรสที่รู้ได้ตั้งแต่ยังครองอัตภาพมีชีวิตเป็นมนุษย์ เป็นรสที่พระพุทธองค์ตรัสว่ายอดเยี่ยมไม่มีรสใดเกิน และก็ได้มีบุคคลช่วยเป็นพยานยืนยันตามพระองค์มากมาย เป็นหลักฐานว่าพระองค์ท่านไม่ได้คิดไปคนเดียว
๔) มรรค คือวิธีเข้าถึงความดับทุกข์ จะเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ หรือจะเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้
สรุปคือความจริงต่างๆทั้ง ๔ ข้อนี้มีอยู่แน่ๆ แต่คำถามคือเราเห็นความจริงกันแค่ไหน? เอาแค่ความจริงข้อแรกนั้น ถ้าพูดกันขึ้นมา ถ้าเงี่ยหูฟังกันสักหน่อย ก็คล้ายจะ ‘เข้าใจ’ และอือออตามกันไม่ยาก แต่เอาเข้าจริงมีใครบ้างไม่หวังเสวยสุขด้วยกายใจนี้ ความหวังเสวยสุขเวทนาอันเนื่องด้วยกาย ความหวังเสวยสุขเวทนาอันเนื่องด้วยใจนั่นแหละ คือตัวฟ้องว่าเราไม่ได้เห็นซึ้งเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์จริงๆ
เท่าที่เจริญสติปัฏฐานมาเกือบครึ่งปี ฉันเห็น ‘ความจริงข้อแรก’ บ้างวูบๆวาบๆ บางครั้งขณะที่จิตเห็นกายคืนลมหายใจให้กับอากาศว่างภายนอกแล้วมีความเรียกร้องจะเอาลมอีก ฉันเห็นความทุกข์ของกายในรูปความทนไม่ได้ ความเป็นของแตกดับง่ายถ้าไร้เครื่องช่วยประทังชีพ หรือเมื่อเวลาป่วยไข้แล้วกายพยศแบบชัดๆ อันนั้นก็เห็นสภาวะทุกข์ของอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ถนัดใจดีเหมือนกัน
แต่นอกเหนือจากนั้นเล่า? มีหลักฐานใดบ้างไหมที่ฉันยังสรรเสริญการมีอยู่ของอุปาทานขันธ์ ๕? เมื่อสำรวจจริงๆจังๆ ฉันพบว่าขณะที่สติหายไปนอกขอบเขตกายใจ จิตยังมีความอาลัยอาวรณ์ กลัวความไม่มีตัวตน กลัวไม่ได้ช่วยเหลือครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รัก กลัวไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นอะไรเหมือนอย่างนี้อีก แค่นี้ก็ชี้ชัดแล้วว่าฉันเห็นอริยสัจจ์ข้อแรกด้วยความคิด แต่อริยสัจจ์ข้อแรกยังไม่ปรากฏต่อจิตอย่างแจ่มชัดสักเท่าใดเลย
ทว่าการสำรวจลงไปถึงระดับจิตนั้นเอง ก็ทำให้ฉันเห็น ‘เครื่องผูก’ ให้ติดใจอุปาทานขันธ์ ๕ ชัดเจนขึ้น ความอาลัยอาวรณ์กายใจนี้เอง คือภวตัณหา หรือความอยากมีอยากเป็น ตราบใดที่ภวตัณหายังมี ตราบนั้นย่อมเกิดกระบวนการสืบต่อของการมีการเป็นเรื่อยไป เอาภาพใหญ่ที่สุด เมื่อถึงเวลากายนี้แตกดับ จิตที่ยังมีเชื้อกิเลสย่อมปฏิสนธิในภพใหม่ที่สอดคล้องกับวิธีคิด วิธีพูด และวิธีทำจนเป็นนิสัยหลักก่อนตาย หรือดูเป็นภาพเล็กที่สุด เมื่อยังมี ‘ตัวกู’ อยู่ในความรู้สึก ก็ย่อมเกิดแรงขับดันให้กระทำการเพื่อตัวกูเป็นขณะๆ ไม่ว่าจะต้องทำด้วยอาการหน้าสว่างหรือหน้ามืดก็ตาม อย่างเช่นเห็นรถโผล่หัวออกมาจากปากซอยแล้วยัง ‘ลืมให้ทาน’ บ่อยๆ ยังรีบเร่งเครื่องไปกันเขาไว้เพื่อตัวเองจะได้ไม่ต้องเสียเวลาชะลอ
เมื่อยังมีการกระทำเพื่อตัวกู ฉันก็ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัย ความเป็นไปได้ที่จะต้องท่องไกลไปในสังสารวัฏ ฉันเคยประจักษ์ใจมาแล้วในช่วงชีวิตที่ผ่านมาก่อนหน้าเจริญสติปัฏฐานเต็มกำลัง กิเลสย่อมไม่กลัวบาป ไม่เห็นบาปเป็นโทษภัย ทำอะไรเพื่อตัวกูได้เป็นทำทั้งนั้น
สำหรับฉันในห้วงเวลานี้ ตัณหานั้นจะดูง่ายในกรณีที่มาในรูปของแรงดันหรือแรงขับหนักๆหยาบๆให้จิตทะยานออกไปยึดวัตถุหรือบุคคลอันเป็นของภายนอก เพราะจิตที่เจริญสติปัฏฐานมาดีย่อมเบาเป็นปกติ เมื่อบังเกิดความอยากหนักๆต้องรู้สึกแตกต่างผิดปกติเป็นธรรมดา
แต่เมื่อตัณหามาในรูปของความอ้อยอิ่ง แช่จมอยู่ในหนองน้ำแห่งความอาลัยอาวรณ์ อย่างนั้นจะเห็นยาก เพราะไม่ค่อยเต็มใจจะเห็น จิตต้องมีราวเกาะอย่างลมหายใจหรืออิริยาบถที่คงเส้นคงวามากๆ เห็นสุขเวทนาและทุกขเวทนามาหลายร้อยหลายพันรูปแบบจนชินชา นั่นแหละจึงค่อยเห็นอาการอ้อยอิ่งอาลัยอาวรณ์ชัดขึ้น
ปีที่แล้วฉันยังเป็นนักสะสมตัวยง ฉันชอบหนังสือและซีดีเพลง การสะสมสิ่งเหล่านี้ทำให้รู้จักจำแนกสมบัติเป็นหมวดหมู่ ฉันเป็นสุขที่ได้รู้สึกว่า ‘มี’ และเคยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับเกอเธ่ นักเขียนนามอุโฆษที่ว่า ‘นักสะสมเป็นพวกที่มีความสุข’ แต่บัดนี้มุมมองของฉันเปลี่ยนไป นักสะสมเป็นพวกที่ไม่อาจมีความสุขจากการปล่อยวางเลย
ปีนี้ วันนี้ ฉันจะรบกับความอ้อยอิ่งอาลัยด้วยทานอย่างใหญ่ ฉันเลือกหนังสือที่วางบนหิ้งเฉยๆเป็นแรมปีออกมานับร้อยเล่ม ขนใส่ท้ายรถไปบริจาคให้กับห้องสมุดประชาชนและแหล่งรับอื่นๆที่เขาจะนำไปจ่ายแจกให้ผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย นอกจากนั้นยังมาเมียงมองซีดีเพลงอิมพอร์ตกองภูเขาที่เคยรักเป็นนักหนา แต่ปัจจุบันมีอารมณ์แบบสามวันฟังหนึ่งเพลง ต้องใช้เวลาเกินปีกว่าจะฟังครบแล้ววนกลับมาฟังซ้ำ เลยตัดสินใจเอาไปขายตามย่านชุมนุมนักฟังในราคาถูกลง ๓-๔ เท่าตัวด้วย
ฉันเห็นความเสียดายปรากฏตัวขึ้นกลางจิตอย่างเด่นชัด มันทำให้ซึมเศร้าเล็กๆ ทอดตาเหม่อหน่อยๆ แต่ก็หายขาดเป็นปลิดทิ้งเมื่อฉันนำเงินทั้งหมดไปซื้อสังฆทานถวายพระ ๙ รูปที่วัดแห่งหนึ่งแถบชานเมือง ความอ้อยอิ่งแปรเป็นความว่างโล่งเบิกบาน ฉันอธิษฐานขอให้บุญและความสุขอย่างใหญ่นี้ จงเกื้อหนุนให้จิตปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ได้ง่ายยิ่งๆขึ้น
ความดับของอาการทุรนอยากและอ้อยอิ่งอาวรณ์เป็นเช่นนี้เอง แม้ยังไม่ถึงนิพพาน ก็พออนุมานได้จากจิตที่สดใส สว่างโพลนเต็มดวงราวกับเข้าสมาธิชั้นดี ฉันยิ้มอย่างคนที่รู้จักอิสรภาพ เชื่อว่าคนไม่รู้จักอิสรภาพทางใจไม่มีสิทธิ์ยิ้มได้อย่างนี้ เป็นยิ้มที่ไม่แลกอะไรนอกจากใจอันปลอดโปร่งจากความอ้อยอิ่งอาวรณ์
อะไรอีกที่ยังเสียดายและอาลัยรักเป็นนักหนา ฉันคิดขณะเดินตามทางอันขนาบด้วยแนวไม้ใหญ่ครึ้ม ฉันยังใช้ชีวิตฆราวาสตามปกติ ยังไม่คิดบวชอะไร แม้สนใจพุทธเชิงปฏิบัติมานาน นี่เรียกว่าความหวงได้หรือเปล่า?
ฉันหยุดยืนมองกุฏิพระ แหงนมองใบไม้เขียวต้องลมกรูเกรียว จิตใจเยือกเย็นไม่คิดเอาอะไร โลกนี้มีที่เดียวไม่น่าอยู่คือ ‘ใจอันเป็นที่ตั้งของทุกข์’ นอกนั้นจะระเหเร่ร่อนไปไหนๆก็ตาม ทุกแห่งคือสถานที่อันน่ารื่นรมย์ได้ทั้งหมด เข้าใจอารมณ์ของผู้แสวงหาความหลุดพ้น ที่ทิ้งได้หมดทุกอย่าง เหลือแต่ตัวเปล่าๆกับผ้าห่อพันร่างกันอุจาดเพียงผืนเดียว…
สมองของฉันเริ่มคิดอะไรเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น การปลงผมขอบวชนั้นง่าย แต่การ ‘มีใจ’ ถือบวชนี่สิยาก ฉันจะลองสำรวจตัวเองว่าใจเป็นพระแน่หรือยัง เมื่อแน่ใจว่าใช่พระแล้วก็น่าบวชเพื่อรบกับกิเลสเต็มอัตราศึกเสียที จะชั่วคราวหรือชั่วชีวิตก็สุดแท้แต่วาสนาแล้วกัน
 
วันที่ ๒-๕: สัมมาทิฏฐิ
จากประสบการณ์ในวันแรกของเดือน ทำให้ฉันหมั่นสำรวจตนเองบ่อยขึ้น ว่ามีสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบเห็นตรงอยู่ในระดับใด ในระดับความคิดนั้นฉันให้คะแนนตัวเองเต็มร้อย ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆอีก ฉันเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ และถ้าให้ท่องอริยสัจจ์ ๔ ปากเปล่าก็ทำได้สบายมาก ผู้ใด ‘รู้จัก’ อริยสัจจ์ ๔ ด้วยการพิจารณาเห็นตามจริงผ่านอาการคิดและอาการจดจำกระทั่งเกิดศรัทธาในอริยสัจจ์ ๔ เต็มที่ ผู้นั้นจัดเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วตามนิยามของพระพุทธองค์
แต่ในระดับของจิตที่ ‘เห็น’ อริยสัจจ์ ๔ นั้นเป็นเรื่องยากกว่ากัน ทันทีที่หน้ามืดตามัวยินยอมให้เกิดความทะยานอยากได้อยากมี ทันทีนั้นแสดงถึงความไม่รู้จักทุกข์แล้ว ได้ชื่อว่าก่อเหตุแห่งทุกข์ขึ้นแล้ว
ช่วงนี้ฉันจึงตามดูความอยากอย่างเดียว ไม่ใช่พยายามระงับความอยาก ไม่ใช่ภาวนาว่าขอความอยากจงอย่าเกิด แต่เห็นตามจริงว่าเกิดความอยากขึ้นเมื่อเกิดผัสสะทางคู่อายตนะใด แล้วดูว่าความอยากนั้นๆขับดันให้ฉันกระทำการอะไรได้บ้าง รวมทั้งก่อทุกข์ก่อความอึดอัดกระสับกระส่ายให้กายใจของฉันได้มากน้อยเพียงใด
ฉันดูๆๆจนกระทั่งมั่นใจว่าเห็นความจริงประการหนึ่ง นั่นคือเมื่อสติมีกำลังเท่าทันความอยาก ความอยากจะปรากฏเป็นเพียงสิ่งถูกรู้ และทำอะไรกับจิตใจฉันไม่ได้ ความอยากนั้นเหมือนไฟ เมื่อปล่อยให้ลุกโพลงไปโดยไม่เติมฟืนให้กับมัน เดี๋ยวมันก็มอดไปเอง
และแม้จะยังระงับอาการทะยานอยากไม่ได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนพระอรหันต์ แต่ฉันก็ประจักษ์แล้วว่าใจที่ไม่แล่นไปตามความอยากเป็นสุขยิ่ง
หนทางดำเนินเพื่อความดับทุกข์คือการเอาสติเข้ามาตั้งรู้ ตั้งดูอยู่ในขอบเขตกายใจนี้เอง สติปัฏฐาน ๔ หรือการตั้งสติไว้ที่ฐานอย่างถูกต้องจึงเป็นทางดำเนินอันไม่ล้าสมัย จะผ่านมากี่พันปี หรือจะผ่านไปอีกกี่พันปี ขอเพียงเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา ศรัทธาสติปัฏฐาน ๔ และมีใจอุทิศตัว ย่อมไม่สายสำหรับการถางทางสู่ความหลุดพ้น
ฉันตระหนักแล้วว่าการเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริงต้องเป็นกันที่ระดับของจิต เห็นให้ได้เป็นขณะๆเท่านั้นว่าดำเนินจิตอย่างไรจึงเป็นทุกข์ ดำเนินจิตอย่างไรจึงพ้นทุกข์
แรกเริ่มเดิมทีเมื่อศึกษาพุทธศาสนา ทุกคนคงรู้สึกตรงกัน คือดูแล้วเหมือนมีอะไรต้องเรียนรู้ ต้องจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ขอแค่ทำความเข้าใจ และลงมือเริ่มเดินก้าวแรกเพียงแค่รู้ว่าหายใจออกหรือหายใจเข้าเท่านั้นแหละ ก้าวต่อๆไปจะตามมาเอง เราจะรู้ว่ากิจที่ต้องทำเพื่อความพ้นทุกข์นั้นไม่ยากนัก แต่ก็ไม่ใช่ทำอะไรง่ายๆอย่างเดียวแล้วได้กัน เหมือนการร่ำเรียนทางโลก ใครจะเป็นดอกเตอร์ทางคณิตศาสตร์ได้จากการท่องสูตรคูณโดยไม่ต้องศึกษาและลงมือวิเคราะห์วิจัยอะไรต่อให้สูงยิ่งๆขึ้นได้เล่า?
แต่ละวันมีอะไรเกิดขึ้นกับเรามากมาย ทั้งเรื่องภายในและภายนอกไม่หยุดหย่อน เราจะทำอะไรอย่างเดียวเช่นแค่สักแต่กำหนดสติรู้ไปเรื่อยๆไม่ได้ เพราะกิเลสเรียงคิวรอกระหน่ำซ้ำทีเผลออยู่ไม่ขาดเช่นกัน และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้ฉันสำรวจตนเองต่อไปว่ายังขาดองค์มรรคข้อใด หรือองค์มรรคข้อใดมีแล้วแต่ยังไม่บริบูรณ์
 
วันที่ ๖-๑๐: สัมมาสังกัปปะ
ฉันเคยได้ยินว่าผู้ชายจะคิดอยากมีเพศสัมพันธ์ไปทั้งชีวิต โลกเราเคยมีข่าวฮือฮาที่ชายชราอายุร่วมร้อยปีมีเมียสาวกันมาแล้ว ไม่นับผู้เฒ่าจำนวนมากที่ตายคาอกเพราะใช้ไวอากร้ากันพร่ำเพรื่อ และเฉพาะหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยสรุปได้ว่าผู้ชายไว้ใจไม่ได้สักวัยตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๗๐!
แรกๆฉันนึกว่าพอหมดวัยหนุ่มแล้วจะเลิกคิดเรื่องกามกันตามความฝ่อทางกาย เหมือนถึงจุดหนึ่งธรรมชาติจะตะโกนใส่เราดังๆว่าพอได้แล้ว เข้าวัดได้แล้ว เตรียมเสบียงไว้เดินทางต่อได้แล้ว แต่ความจริงมิใช่เช่นนั้น ตราบใดยังตรึกนึกทางกาม ตราบนั้นคนเราจะอยากเสพกามไปจนตาย ไม่ว่าร่างกายจะพร้อมหรือไม่พร้อม
เรื่องนี้ทำให้ฉันรู้สึกอเนจอนาถใจ ยิ่งสังเกตเข้ามาในตัวเอง ไม่มัวแต่อนาถเรื่องคนอื่นข้างนอก ก็พบว่าแม้ปฏิบัติธรรมจนเห็นความไม่เที่ยงของกายใจมาหลายเดือน พอเจอผู้หญิงสวยๆหุ่นดีๆที่มีให้เห็นโฉบฉายกันทั่วบ้านทั่วเมือง ใจก็ยังหวั่นไหวได้อยู่ ถ้าช่วงเช้าจิตกำลังผ่องๆก็กำหนดเห็นความทะยานอยากอันเกิดจากตาประจวบรูป ทำให้สติกลับมาตั้งฐานได้ทันก่อนที่ราคะรั่วรดถึงจิตแล้วไปก่อปฏิกิริยาทางกาย แต่ช่วงเย็นบางทีเหนื่อยๆจากงานแล้วไม่ค่อยมีแก่ใจกำหนดสติ พอเห็นอะไรงามๆแล้วยังเกิดอาการจ้องตาค้างได้อยู่เหมือนผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง
สรุปคือการอยู่ในเมืองทำให้คนเราวนเวียนตรึกนึกไปทางกามตลอดเวลา บางช่วงฉันฝึกอินทรียสังวร มองเห็นอะไรด้วยความสำรวมได้บ้าง แต่ก็จะมีช่วงที่หลุด ยอมตามกิเลสไปหลายหนเพราะบอกตัวเองว่าไม่ใช่พระ จะให้เป็นพระอิฐพระปูนกลางเมืองนั้นคงยาก
ถ้าพูดว่ากามเป็นต้นเหตุอุปาทานมือวางอันดับหนึ่ง ทำให้ยึดว่ากายใจนี้ของเรา ทำให้เห็นไปว่ากายใจนี้ดี ทำให้อยากขอความเป็นหนุ่มสาวชั่วนิรันดร์เพื่อเสพกาม ก็คงไม่ใช่การกล่าวเกินจริง หากไม่มีใจคิดปลีกวิเวก ไม่มีช่วงของจิตที่สงัดจากกามเอาเลย จะหวังหลุดพ้นอย่างไรไหว
ฉันเคยอ่านข่าวหนึ่ง ที่มีคนแก่อายุเกินร้อยเผยเคล็ดลับว่าอยู่ยงคงกระพันมาได้ป่านนั้นเพราะไม่เสพกามเลยตั้งแต่หนุ่มๆ คนไปสัมภาษณ์ถึงกับพึมพำว่าถ้าอย่างนั้นจะอายุยืนไปทำบ้าอะไร? นี่คือความจริง ส่วนหนึ่งที่มนุษย์ทั้งหลายอยากอยู่ดูโลกนานๆ ไม่อยากให้มัจจุราชมาคร่าชีวิตไปเสียก่อนก็เพื่อจะได้ประกอบกามกิจอันน่าติดใจนั่นเอง ยังเคยมีหนังมีละครเยอะแยะให้ตัวแสดงพูดว่าฉันยังไม่อยากตาย ฉันยังไม่มีเมียเลย ถ้ามุขตลกร้ายทำนองนี้ทำให้คนดูไม่รู้สึกขัดแย้ง พลอยมีอารมณ์ร่วมว่าเสียดายที่ยังไม่มีเมียต้องด่วนตายซะก่อนก็แปลว่า มนุษย์จำนวนมากอยู่หรือตายด้วยใจบูชากามเป็นสรณะ
พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตว่าที่เราติดใจตรึกนึกถึงกาม ก็ด้วยอาการใส่ใจมองกายโดยความเป็นของสวยของงาม ถ้าหากเรามองเสียตามจริงว่ากายเป็นของสกปรก ใส่ใจโดยแยบคายว่าตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าไม่มีส่วนใดสะอาดเลย อย่างนี้ก็จะเป็นการแก้ลำกลกามเสียได้
ฉันลองทำตามที่ยุคปัจจุบันทำกัน คือหาภาพศพน่าสะอิดสะเอียนมาดู เผอิญฉันเป็นคนไม่มีจินตนาการแรง เห็นตับไตไส้พุงแดงเถือกแล้วไม่ค่อยกลัว ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วม เห็นตามจริงว่านั่นภาพเลือด ภาพเนื้อเละเทะของคนอื่น เป็นความสกปรกของคนอื่น ไม่เกี่ยวกับฉันที่ยังเนื้อตัวสะอาดสะอ้าน นั่งดูรูปศพอยู่ด้วยความเฉยเมย
หรือจะเป็นเพราะแค่รูปภาพนั้นต่างจากศพจริง ภาพไม่มีกลิ่น ไม่มีหน่อเหม็นแนวเหม็น เพียงภาพสยดสยองจะไม่ติดตาติดใจคนที่ขาดอารมณ์ร่วม และบางคนแม้มีภาพสยองติดจิตไปขยายผลต่อเป็นมโนภาพน่าขนหัวลุก ก็ทำให้เกิดความหวาดผวาเหมือนเห็นผีมากกว่าจะทำให้เกิดความแหนงหน่ายคลายความกำหนัดอย่างแท้จริง
แล้วก็ย้อนกลับไประลึกถึงมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าสอนให้ดูกายตนเองโดยความเป็นปฏิกูลก่อน จากนั้นจึงค่อยขยับจิตไปพินิจดูของคนอื่น อีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านให้พิจารณาจากผิวนอกของกายอันได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก่อน ไม่ใช่ให้กระโดดไปชำแหละก้อนเลือดก้อนเนื้อข้างในออกมายลแต่แรก
ทบทวนว่ามีพระสูตรใดที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีดูกายเป็นอสุภะไว้เป็นขั้นๆหรือไม่ แต่นึกไปนึกมาพอทวนลำดับมหาสติปัฏฐานสูตรก็ร้องอ๋อกับตนเอง ถ้าตั้งสติรู้ลมจนเป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิให้สติเกาะอยู่กับอิริยาบถปัจจุบันในขณะนั้นๆ ก็จะเป็นฐานให้เห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนังตามตำแหน่งที่ปรากฏอยู่จริงอย่างไม่ยากลำบากนัก
แนวคิดนี้สามารถยืนยันได้จากตติยปาราชิกสิกขาบท เกี่ยวกับภิกษุหลายรูปที่วานกันฆ่า เรื่องมีอยู่ว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่ามหาวัน ครั้งหนึ่งพระองค์แสดงเทศนาธรรม สรรเสริญอสุภกรรมฐาน คือข้อปฏิบัติดูกายโดยความเป็นปฏิกูล ตลอดจนพรรณนาคุณของฌานสมาบัติอันมีอสุภะเป็นตัวตั้ง จากนั้นพระองค์ท่านก็หลีกเร้นอยู่เพียงลำพังประมาณสองอาทิตย์โดยไม่ทรงอนุญาตให้ผู้ใดรบกวน เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตไปถวายเพียงรูปเดียว
เหล่าภิกษุฟังพระองค์สรรเสริญอสุภกรรมฐานทิ้งท้ายไว้แล้วก็เลยประกอบความเพียรกันอย่างยิ่งยวด กระทั่งเกิดความอึดอัดระอา และเกลียดชังร่างกายของตนราวกับผู้หญิงเนื้อตัวสะอาดโดนแกล้งเอาซากศพงูหรือซากศพสุนัขมาคล้องอยู่ที่คอ
ด้วยความรังเกียจถึงขีดสุด บรรดาภิกษุก็คิดสั้น ปลงชีพตนเองบ้าง วานกันปลงชีพให้บ้างเป็นจำนวนมาก พอพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากที่เร้น ทอดพระเนตรเห็นภิกษุบางตาลง ก็ตรัสถามความจากภิกษุผู้ปกติมีหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้ถึงเหตุที่ภิกษุน้อยลง ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นเพราะภิกษุจำนวนหนึ่งเจริญอสุภกรรมฐานแล้วรังเกียจกายตนเองจนทนไม่ไหว จึงสังหารตนเองด้วยความสมัครใจ
พระพุทธองค์ทราบความตามนั้นจึงเรียกประชุมสงฆ์แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิในอานาปานสตินี้ถ้าพวกเธอทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในช่วงท้ายฤดูร้อนถูกฝนใหญ่กำจัดชะล้างให้อันตรธานหายไปได้อย่างฉับพลัน แน่นอนว่าอกุศลธรรมในที่นี้คือความคิดอยากตัดช่องน้อยแต่พอตัว ลาโลกไปเพียงเพราะตระหนกว่าร่างกายนี้ที่แท้น่าสะอิดสะเอียนยิ่งกว่าซากหมาเน่า
สมนัยกับที่พระพุทธองค์ทรงวางแนวปฏิบัติไว้ตามลำดับในหมวดกาย คือให้เจริญอานาปานสติและอาศัยอิริยาบถเป็นเครื่องรู้ให้ดีเสียก่อน เห็นลมหายใจและอิริยาบถโดยความเป็นของเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตนแล้ว จึงค่อยเขยิบขึ้นมาพิจารณากายโดยความเป็นของโสโครก ฉันจึงรู้สึกว่าเห็นแนวทางแล้วว่าจะเริ่มเจริญอสุภกรรมฐานอย่างไร
ฉันลงทุนเล็กน้อย ปกติฉันจะสระผมทุกเช้าก็ไม่สระ แค่อาบน้ำเพื่อให้เหมาะกับการไปทำงานร่วมกับผู้คน แต่ตกเย็นกลับบ้านไม่ได้อาบน้ำอย่างเคย ปล่อยให้กลไกธรรมชาติเปิดเผยความเป็นกายที่ปราศจากการขัดถูชำระล้างโดยตัวเอง แถมให้อีกนิดหนึ่งคือออกไปวิ่งเอาเหงื่อมาพอประมาณ ค่ำนั้นไม่ทานข้าวร่วมกับคนอื่น เข้าห้องปิดประตูขังตัวเองอยู่กับอสุภะตามลำพัง
ถอดเสื้อยืดออก ลงนั่งดูหัวใจสูบฉีดค่อนข้างเร็วและแรงหลังออกกำลังเหนื่อยๆ สำเหนียกรู้ถึงเม็ดเหงื่อที่เกาะพราวตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา การผุดชื้นของน้ำเหงื่อทำให้ทราบการปรากฏของเนื้อหนังได้ชัดกว่าปกติมาก ฉันผูกสติตามรู้ผิวหนังอันมีน้ำผุดขึ้นเกาะซึมๆ หายใจออกรู้ผิวหนัง หายใจเข้ารู้ผิวหนัง เรื่อยไปนับสิบนับร้อยครั้ง กระทั่งจิตไม่เหลืออะไรอื่นนอกจากความรู้สึกในผิวหนัง ซึ่งเริ่มแห้งเกรอะกรังด้วยคราบเหงื่อคราบไคล
อสุภะเริ่มออกฤทธิ์โชยเข้าจมูกเมื่อสิบห้านาทีผ่านไป นึกออกตามพระป่าท่านพูดเลยว่าหน่อเหม็นแนวเหม็นเป็นอย่างไร เมื่อกำหนดอยู่นานๆ ผิวหนังที่ห่อหุ้มอิริยาบถนั่งก็เริ่มปรากฏแปลกไป จิตอันตั้งมั่นเป็นสมาธิรับรู้ได้คมชัดขึ้น กว้างรอบขึ้น เห็นทั่วพร้อมทั้งผิวที่ใบหน้า ผิวต้นแขนด้านในที่แนบติดกับลำตัว ผิวช่วงหน้าอกไปถึงท้อง รวมทั้งผิวบริเวณต้นขาและน่อง บางครั้งร่างกายเหมือนขยายใหญ่ ผิวหนังอันเกาะไปด้วยคราบไคลปรากฏเป็นเปลือกไม้หยาบที่มีกลิ่นเหม็น
สติคมชัดเห็นอะไรได้เป็นขณะๆ เมื่อต้องกลืนน้ำลายก็รู้สึกถึงภาวะเริ่มเน่าบูดหลังจากเคี้ยวศพสัตว์มาเมื่อตอนเช้ากับตอนกลางวันโดยยังไม่เอายาสีฟันไปถูทำความสะอาด ฉันสำเหนียกถึงอาการเต้นที่อ่อนลงของหัวใจ จากที่เมื่อครู่สูบฉีดแรง สิ่งเหล่านี้เป็นภาวะที่คุ้นชินมาเนิ่นนาน แต่ไม่ได้เห็นชัดๆต่อเนื่องเหมือนอย่างที่ตั้งใจกำหนดดูนานๆแบบนี้
รูปวัตถุที่ถูกรู้เช่นหัวใจและน้ำลายนั้น เป็นของซ่อนเร้น เป็นของที่ตั้งอยู่ใต้ผิวหนัง ธรรมชาติจิตเมื่อกำหนดสติรู้สิ่งใดไปนานๆก็เริ่มเห็น ‘ลักษณะ’ ของสิ่งนั้นขึ้นมารางๆ หัวใจเป็นก้อนเนื้อเต้นตุบๆ ตั้งอยู่ในหว่างโพรงกระดูกเป็นซี่ๆ ส่วนน้ำลายมีสัณฐานที่แปรปรวนง่าย มีคุณลักษณะเอิบอาบเช่นธาตุน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็เหนียวหนืด กลืนแล้วไปผสมกับเมือกเสลดในลำคอต่อไป
สติที่ตั้งมั่นทำให้กายปรากฏชัดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็แหว่งวิ่นเห็นเป็นส่วนๆบ้าง ชัดเต็มทั้งตัวบ้าง ตามสภาพอันไม่เที่ยง แปรปรวนเป็นธรรมดาของวิญญาณขันธ์ นั่งไปนั่งมาเหมือนจิตจะซึมลงสู่ความโงกง่วงเพราะเพิ่งเหนื่อยวิ่งจนเหงื่อตกมาหยกๆ แต่พอง่วงเช่นนั้นก็นึกถึงความสว่างแห่งทิวากาล ก็รู้สึกอุ่นและสว่างรอบ เกิดความตื่นเต็มขยันขันแข็งขึ้นใหม่
ความสว่างในครั้งนี้ช่วยให้เห็นล่วงเข้าไปในขอบเขตลับแลจากจักษุประสาท เหมือนเห็นกระดูกขาวๆและก้อนเนื้อแออัดคล้ายอุปาทาน เพราะสว่างแวบวาบแล้วเลือนลงไม่คงที่ ฉันก็ไม่ได้พยายามเพ่งใหม่เป็นพิเศษ เพราะทราบดีว่าอาการเพ่งคือการบีบจิตให้คับแคบเปล่าประโยชน์ นอกจากไม่เห็นอะไรแล้วยังเป็นทุกข์ฟรีๆอีกด้วย ฉันเพียงกำหนดรู้สิ่งที่พอรู้ได้ตามกำลังจิตปัจจุบันเช่นการหายใจและอิริยาบถ รอจนกำลังจิตเพิ่ม รู้สึกถึงสภาพพลิกขึ้นสว่างของจิตเอง ก็ค่อยดูผิวหนังรอบตัวเท่าที่สามารถทราบได้ต่อไป
เกือบชั่วโมงแห่งการสลับสว่างกับมืด เห็นกายบางส่วนบ้าง หลายส่วนบ้าง ง่วงทีก็นึกถึงความสว่างในเวลากลางวันที พยุงสติให้ผ่านด่านความเพลียมาได้หลายครั้งหลายหน กระทั่งถึงจุดหนึ่งคล้ายจิตยอมหลับ แต่เป็นการหลับในภาวะกำลังตั้งนิ่ง ภาวะดังกล่าวยุบลงเหมือนยืนอยู่บนทรายดูดที่มีพลังมหาศาล แล้วพริบตาต่อมาก็เกิดภาวะผุดเด่นสว่างไสวเต็มดวงเกินขอบเขตคับแคบของกายแบบฉับพลันทันใด
กายเหมือนเป็นกายเดิมที่ปรากฏอวัยวะครบถ้วน แต่การแสดงรายละเอียดต่อจิตอย่างแจ่มแจ้งทำให้รู้สึกราวกับเป็นกายอื่น สร้างขึ้นด้วยแก้ว ข้างในมีกะโหลก มีโครงกระดูก แออัดด้วยก้อนเนื้อ สภาวะของจิตรวมในครั้งนี้ไม่เชิงว่ามีความคงที่แบบฌานแท้ เป็นฌานแค่วูบเดียวในสองสามวินาทีแรก เหมือนไฟดวงใหญ่ที่จุดติดแต่ไม่มีฐานกำลังแข็งแรงพอ ฉันรู้สึกถึงความเพลียทางกายที่ส่งผลกระทบให้สภาพรู้สว่างโพลงแบบล้มลุก พอจะดูกายให้ชัดว่ารูปพรรณสัณฐานแต่ละส่วนเป็นอย่างไร ก็เหมือนกลายเป็นภาวะเลือนหายวายว่าง ไม่มีกำลังพอจะประคองความรู้ให้ตั้งมั่นอยู่ได้
แต่อย่างน้อยฌานวูบเดียวก็ทำให้รู้เห็นความแปลกแยกแตกต่างระหว่างจิตกับกาย จิตในภาวะเด่นดวงเป็นอิสระจากการครอบงำทางกาย เห็นกายเป็นเพียงโพรงที่อาศัย ไม่มีความน่ารังเกียจชิงชังหรือน่ารักน่าใคร่ในตนเอง ขึ้นอยู่กับความกำหนดไว้ของจิตว่ามันเป็นอย่างไร ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ก็ช่างน่าพิศวงเหลือแสน มีความจริงรองรับทุกความเชื่อ ทุกมุมมอง อยากดูแค่ผิวนอกให้เห็นเป็นของสวยงามก็ได้ อยากดูลึกเข้าไปถึงตับไตไส้พุงให้เห็นเป็นของน่าคลื่นเหียนชวนให้อยากอาเจียนก็ได้อีก สองมุมในหนึ่งเดียวแบบเบ็ดเสร็จจริงๆ
พอเบื่อนั่งก็ลุกขึ้นเดินจงกรม ฉันไม่อาลัยฌานวูบเดียวเท่าไหร่ เพราะแม่นยำว่าสิ่งที่ต้องการคือความรู้สึกในอสุภะแห่งกายตน เพื่อความไม่ตรึกนึกทางกาม สองนาทีแรกฉันเดินจงกรมแบบรู้เท้ากระทบเฉยๆเพื่อเรียกสติให้เข้าร่องเข้ารอย แต่พอจมูกเริ่มได้กลิ่นเหม็นหึ่งจากหนังศีรษะที่ไม่ได้สระสางตามเวลา จิตก็เริ่มหมายรู้ในอสุภะ หรือที่เรียกว่าเกิด ‘อสุภสัญญา’ ขึ้นมาอีก
ในความรู้สึกถึงอิริยาบถเดินที่หัวกับเท้าเด่นพอกัน ฉันรู้สึกถึงความสกปรกของหนังศีรษะผ่านกลิ่นเหม็นกระทบจมูกก่อน แต่จิตเริ่มนิ่งเข้าที่ตั้งมั่น การรับรู้จากภายในก็แปลกไป ตามธรรมชาติของจิตที่ปักแน่วอยู่กับอารมณ์เดียว จิตย่อมตัดการรับรู้ทางประสาทตาออกไป เช่นบัดนี้เหลือแต่การรับรู้ที่กลุ่มผมบนหนังศีรษะ ก็เกิดนิมิตขึ้นคล้ายตาเห็นเศษผมที่กองบนพื้นในร้านตัดผม แต่เห็นครู่หนึ่งก็แวบกลับมารับรู้สิ่งแวดล้อมในห้องนอนตามเดิม ต่อเมื่อจิตตั้งมั่นแน่วแน่กับกลุ่มผมบนหนังศีรษะอีกครั้ง ก็เกิดนิมิตกลุ่มผมขึ้นอีกที
อันเนื่องจากกลิ่นเหม็นยังติดจมูกเป็นอสุภสัญญา เมื่อปรากฏนิมิตกลุ่มผมตรงตามตำแหน่งที่ตั้ง คือบนหนังศีรษะ ก็เกิดความเห็นกลุ่มผมเหม็นๆนั้นน่ารังเกียจ ยิ่งนิมิตชัดกลิ่นยิ่งชัด หรือเมื่อจมูกได้กลิ่นชัดนิมิตก็พลอยชัดตาม คล้ายอยู่ๆก็เจอกองขยะเน่าๆบนพื้นสกปรกอย่างไรอย่างนั้น
ธรรมดาคนเราไม่ชอบทนกับของโสโครก แต่นี่ของโสโครกอยู่บนกบาลตนเอง เหมือนคนไม่รู้ตัวยกเอาแพสวะมาเทินหัวเดินไปเดินมา คราวนี้จะให้ทำอย่างไรล่ะ? ฉันชักใจไม่ดี ย้ายที่มั่นของสติเปลี่ยนมากำหนดรู้เท้ากระทบแทน แต่ก็ได้ตระหนักในบัดนั้นว่า ถ้าอสุภสัญญาปรากฏชัดแล้วแม้แต่แวบเดียว จิตจะรู้สึกถึงความสกปรกในกาย ณ ตำแหน่งนั้นๆไม่จางไปง่ายๆ อสุภสัญญาจะมีจังหวะย้อนหวนกลับมาเรื่อยๆ เพราะจิตที่นิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิย่อมมีธรรมชาติเห็นตามจริงเป็นธรรมดา ก็ธรรมดาสิ่งใดเป็นของสกปรก จิตย่อมเห็นสิ่งนั้นแสดงความสกปรกชัด ไม่อาจบิดเบือนเป็นอื่นไปได้
ฉันกำหนดรู้ความอึดอัดระอาอันเป็นทุกขเวทนาชนิดหนึ่ง ย้อนกลับไปทบทวนจุดมุ่งหมายเมื่อเริ่มต้นว่าทำอะไรอย่างนี้อยู่ทำไม ก็ตอบตนเองได้ว่า ‘เพื่อความดำริออกจากกาม’
เมื่อได้คำตอบชัดเจนกับตนเองก็กัดฟันกำหนดรู้ต่อไปอีก เมื่อกำหนดต่อก็เกิดความเห็นสลับกันระหว่างเศษซากขยะบนหัว กับนิมิตกลุ่มผมดำๆเป็นเส้นๆที่ส่งกลิ่นเหม็นออกมาจากฐานที่ตั้งคือหนังศีรษะ บางขณะจิตใหญ่ขึ้นจนรู้สึกและสำนึกต่างไปจากตัวตนเดิมๆ คล้ายเป็นคนป่าดิบๆเถื่อนๆไร้ความศิวิไลซ์กำลังเดินท่อมๆอยู่ในสถานที่อันไม่คุ้นเคย ห้องนอนเดิม สิ่งแวดล้อมเดิมๆนั่นแหละ แต่ความรู้สึกผิดที่ผิดทางเหลือเกิน
จากความเป็นคนป่าดงดิบ พอจิตวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายนานเข้า สำนึกก็แปรไปอีก คล้ายคุ้นเคยยิ่งกับการเดินจงกรมพิจารณาความเป็นอสุภะของกาย คุ้นเคยยิ่งกับการเห็นโหนกนูนและปุ่มปมต่างๆที่ยึดเนื้อหนังไว้กับที่ เหมือนมองผ่านกล้องสามมิติเห็นขุมขนและคราบไคลบนแผ่นหนัง เป็นการเห็นที่อธิบายยาก ไม่เหมือนสายตามองออกไปเห็นวัตถุภายนอก แต่เหมือนรับรู้ออกมาจากจุดศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งของจิตพร้อมกันโดยรอบ ไม่ถึงกับถ้วนทั่วละเอียดทุกกระเบียดเนื้อ ทว่าก็คลุมๆคล้ายตระหนักว่ามีโครงกระดูกยัดทะนานก้อนเนื้อกำลังเคลื่อนไหวอยู่ โดยมีแผงผิวหนังปกคลุมข้างนอกบังตาไว้จากสิ่งอุจาดน่าคลื่นเหียนภายใน
ฉันคุ้นภาวะเดินจงกรมรู้อสุภะเหมือนเคยทำมาก่อนเมื่อไม่นานมานี้ เพียงแต่ลืมไปชั่วคราว พอจิตเข้าไปคลุกเคล้าเป็นอันเดียวกับความคุ้นนั้น ก็เกิดความรู้สึกเหมือนจีวรพระเก่าคร่ำคร่าห่มคลุมแทนชุดเสื้อกางเกง ไม่ถึงกับตกใจ แต่ก็ทำให้รู้สึกแปลกๆ เตือนสติตนเองว่าจิตกำลังเข้มข้น เมื่อเกิดสัญญาใดปรากฏขึ้นในขณะนี้ สัญญาย่อมเข้มข้นและแน่วนานเป็นทวีคูณไปด้วย
ฉันไม่เหลือบลงต่ำเพื่อดูด้วยประสาทตาว่ามีจีวรพระปรากฏแทนเสื้อกางเกงจริงหรือไม่ แค่ทำไม่รู้ไม่ชี้ คิดว่าสัญญาไม่เที่ยง สัญญาเป็นเพียงพยับแดดที่เหมือนมีแต่ไม่เคยมีตัวตนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ไม่เร่งรัดให้สัญญานั้นสาบสูญ แค่รู้แค่ดูเฉยๆอยู่ในอาการเดินจงกรมเช่นนั้น
เมื่อความรู้สึกเกี่ยวกับความเป็นพระปรากฏชัดขึ้นอีกนิดหนึ่ง การเดินและสิ่งแวดล้อมก็เหมือนหายหนไปชั่วขณะ บังเกิดนิมิตชัดว่ารอบด้านเป็นราวป่า ฉันกำลังอยู่ในอัตภาพซอมซ่อแบบพระธุดงค์เดนตาย แสวงหาพระนิพพานอยู่ในป่าเขาแบบไม่ห่วงชีวิต นี่กระมังการระลึกชาติแบบฟลุกๆ คือเคยทำกรรมฐานอย่างใดมามากในช่วงชีวิตก่อน พอมาทำกรรมฐานนั้นอีกก็ได้จิตแบบเดิมที่พอดีกัน เรียกสัญญาเก่ากลับคืนมาชั่วคราว ชั่วขณะที่จิตตั้งมั่นในกรรมฐานอันเคยคุ้นนั้นๆ
กะพริบตาปริบๆ ภาพราวป่าเลือนหายไป กลับมาเป็นอัตภาพหนุ่มเมืองในเสื้อกางเกงคนเดิม ถอนใจยาวเหลือบมองสภาพปัจจุบัน นี่ก็แค่อีกอัตภาพหนึ่ง นั่นก็แค่อีกอัตภาพหนึ่ง ฉันยังไม่นิ่งนานขนาดระลึกได้ถูกว่าตัวเดิมชื่อเสียงเรียงนามใด เกิดในสมัยไหน หรือกระทั่งเป็นเพียงนิมิตอุปาทานไร้แก่นสารหรือไม่ แต่รู้แจ้งประการหนึ่งคือจิตสำคัญมั่นหมายอย่างไร ภพหรือสภาวะแห่งความเป็นเช่นนั้นก็ต้องปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะไปปฏิสนธิในภพภูมิที่มีความเป็นเช่นนั้น หรืออาจจะปรากฏนิมิตขึ้นในมโนทวาร ล่อให้จิตสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตน ตนเป็นนั่นเป็นนี่
เมื่อพิจารณาอยู่เช่นนั้นจิตก็คลายจากความถือมั่น เดินจงกรมต่อโดยไม่สนใจว่ากายใจนี้เป็นใคร ชื่อนามสกุลใด เพราะความจริงยิ่งกว่าชื่อเสียงเรียงนามคือรูปพรรณสัณฐานกายอันกำลังเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถเดิน และในอิริยาบถเดินนี้สกปรกตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ข้างในยัดทะนานอยู่ด้วยตับไตไส้พุงและขี้เยี่ยว หาความสะอาดไม่ได้แม้แต่เท่าปลายก้อย เคยเห็นถุงใส่อึแล้วรู้สึกรังเกียจอย่างไร ต้องรู้สึกรังเกียจกายนี้ยิ่งกว่านั้น เพราะไม่ใช่จะมีแค่อุจจาระ ยังคละปนอยู่ด้วยปัสสาวะและน้ำเลือดน้ำหนองเคล้ากันมั่วไปหมด
ในระดับจิตขณะนั้นไม่ถึงกับเหมือนตาทิพย์แทงทะลุปรุโปร่ง แต่ก็ ‘รู้สึกชัดว่ามี’ คือเห็นโครงสัณฐานของรูปเดินชัด แล้วก็มีความทรงจำเกี่ยวกับเครื่องในมนุษย์ประกอบอยู่กับสติด้วย ประโยชน์ไม่ขึ้นอยู่กับระดับความเห็นที่หยาบหรือละเอียดเพียงใด ประโยชน์ตามเป้าหมายสูงสุดของอสุภกรรมฐานคือทำให้เลิกตรึกนึกทางกาม ธรรมชาติมีอยู่อย่างนั้น ขึ้นอยู่กับจะตั้งจิตให้เกิดมุมมองเห็นอะไร และเห็นอะไรแล้วเกิดสิ่งใดตามมา แน่นอนจะไม่มีใครว่า หากเราตั้งจิตไว้เห็นแต่ผิวพรรณอันเรียบลื่น ดูประเสริฐกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆในโลก แต่เห็นตามอัตโนมัติเช่นนั้นแล้วย่อมเกิดราคะเป็นธรรมดา ตรึกนึกถึงการเสพกามเป็นธรรมดา ต่อเมื่อเห็นตามจริงโดยความเป็นอสุภะ ความฝ่อตัวทางราคะย่อมปรากฏขึ้นแทน
ช่วงสามวันนี้ฉันตั้งหน้าตั้งตาดูกายอย่างเดียว เห็นหน่อเหม็นแนวเหม็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การปฏิบัติธรรมภาวนาเต็มอัตราก็เช่นนี้เอง ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมากขึ้น เพื่อความลดลงของกิเลส ตัณหา มานะจนกว่าจะหมดสิ้นเด็ดขาด นั่นแหละถึงไม่ต้องเพียรพยายามใดๆอีก
พอเพียรกำหนดกายจนเกิดอสุภสัญญาติดจิตเกือบตลอด ฉันจึงพบว่าการไม่มีรั้วป้องกัน ปล่อยให้ราคะรดรั่วได้ ไม่ใช่ทางดำเนินอันเป็นไปในสติปัฏฐาน พอเกิดอสุภสัญญาเต็มขนาดแล้วจึงเห็นว่าที่ผ่านมาฉันมีช่องโหว่ใหญ่ๆอันใดอยู่ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะนึกว่าช่างเถอะ มีบ้างนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร แค่รักษาศีล ๕ ก็น่าจะพอ กับทั้งทึกทักแบบเข้าข้างตัวเองอยู่ลึกๆว่าแม้แต่โสดาบันบุคคลก็ยังมีราคะได้ มีสามีภรรยาได้ มีบุตรธิดาได้ การปฏิบัติเพื่อมรรคผลชั้นต้นก็คงปล่อยให้กามย้อมกายย้อมจิตได้บ้าง ถ้าไม่หมกมุ่นมากก็คงไม่ถึงกับขวางทาง
แนวคิดทำนองนี้อาจเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ปุถุชนมักเข้าข้างความเชื่อของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์พิสูจน์ แต่ถ้ามองให้ชัดว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงองค์ต่างๆของมรรคแท้ๆไว้อย่างไรก็คงไม่ต้องเถียงกัน หากขาดดำริออกจากกามเป็นระยะเวลานานเพียงพอ อย่างไรความตรึกนึกทางกามก็ต้องหวนกลับมาวันยังค่ำ และอาจบ่อยอย่างนึกไม่ถึง เพราะเคยชินกับการขาดสติไม่รู้ตัว
แนววิธีการรักษาโรคทางใจของพระพุทธเจ้าจะเหมือนแพทย์หัวก้าวหน้าในปัจจุบัน ที่แนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวก่อนที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บให้ต้องตามแก้กันทีหลัง อสุภสัญญาเป็นภูมิคุ้มกันความสวยและความมีสัดส่วนเย้ายวนตาของรูปหญิงได้จริง บางขณะเมื่อจิตหนักแน่นทรงกำลังแล้วทอดตามองเห็นสาวๆ ฉันจะเห็นเกินประสาทตาเนื้ออนุญาตให้เห็น เพราะอำนาจอสุภสัญญาแรงๆที่อยู่ในสมาธิจิตครอบงำการเห็นทางตาด้วยนิมิตทาบซ้อน ซึ่งความปรากฏของนิมิตจะมีได้หลากหลาย เห็นตัวเองถึงระดับไหนก็จะเห็นคนอื่นโดยความเป็นอย่างนั้น เช่นแทนการเห็นผิวหนังขาวสวย ก็กลายเป็นผิวหนังที่เห่อขึ้นเป็นผื่น เป็นปื้นคราบไคลเหมือนคนไม่ได้อาบน้ำ ความรู้สึกในจิตขณะเห็นคือทุกจุดหมักหมมด้วยเชื้อโรค
เรื่องนิมิตซ้อน เห็นเราเป็นปฏิกูลอย่างไร เห็นคนอื่นเป็นปฏิกูลอย่างนั้น จัดเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร แต่ปัจจุบันเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง ว่าเป็นความเห็นที่ไม่ถูกไม่ตรงเหมือนภาพหลอน ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่จุดใหญ่ใจความคือเราต้องการเห็น ‘ความจริง’ แบบไหน ถ้าความจริงทางตาก็คือมนุษย์ถูกห่อหุ้มด้วยผิวหนังเรียบลื่น ทำความสะอาดกันเช้าเย็นให้ดูดีเรียบร้อย แต่ถ้าจะเอาความจริงในกายก็ต้องว่ามันแออัดยัดทะนานด้วยสิ่งโสโครก หมักหมมกว่าท่อส้วมท่อขยะที่อุดตันทุกชนิด และน่าสนใจว่าการส่องเข้าไปเห็นความจริงชนิดนั้นด้วยจิต ผลคือจะทำให้ลดภาวะทะยานอยากของใจ อันนำไปสู่ ‘ความจริงที่อริยเจ้าสนใจ’ คือรู้เห็นอริยสัจจ์ ๔ ในที่สุด
สรุปง่ายๆ แต่ก่อนถ้าใครมาบอกให้ละกาม ฉันคงบอกว่า เรื่องอะไรล่ะ? แต่ตอนนี้ตอบตัวเองได้เลยว่าเรื่องอะไร ก็เรื่องเตรียมจิตให้พร้อมถึงมรรคถึงผลน่ะซี!
สัมมาสังกัปปะยังมีเรื่องของความดำริละพยาบาทและความดำริละการเบียดเบียนจองเวร คือทำจิตให้เป็นผู้ไร้พิษภัยต่อคนและสัตว์ ซึ่งฉันก็หมั่นแผ่เมตตาเสมอๆตั้งแต่เดือนที่ ๒ พอถึงวันนี้ความดำริทั้งในทางพยาบาทและเบียดเบียนจึงเหมือนสูญสลายหายหนแทบไม่เหลือซากอยู่เลย จึงให้คะแนนตัวเองว่าผ่านสำหรับแง่นี้
 
วันที่ ๑๑-๑๔: สัมมาวาจา
เย็นวันหนึ่งฉันอยากออกกำลังกายและสูดอากาศที่สดชื่นบ้าง จึงเลือกขี่จักรยานเสือหมอบไปตามถนนหลังหมู่บ้าน ซึ่งสองฟากฝั่งชอุ่มเขียวด้วยแมกไม้นานาพันธุ์
ขณะขี่จักรยานฉันก็ทบทวนไปด้วยว่าองค์มรรคข้อที่ว่าด้วยสัมมาวาจาของฉันเป็นอย่างไร มีไหมที่ยังพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ ก็ตอบตนเองว่าดูเหมือนเรื่องพูดเพ้อเจ้อยังมีบ้างเป็นครั้งคราว เวลาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับสมาชิกในครอบครัว แต่เป็นนิสัยในการพูดเล่นแบบเก่าๆที่ยังหวงไว้เพื่อรักษาบรรยากาศเดิมๆมากกว่าจะไร้สติแบบขาดลอย
ฉันมองแบบทบทวนย้อนไปในอดีต เมื่อสมัยมัธยมต้นกับปลายที่เห็นการโป้ปดมดเท็จเป็นเรื่องท้าทายความสามารถว่าจะทำหน้าตายหลอกชาวบ้านได้แนบเนียนขนาดไหน ในช่วงนั้นจิตเหมือนติดต่อรับรู้โลกความจริงแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งอุดอู้อยู่ข้างใน ต้องคอยระวัง กลัวใครเขาจะรู้ความลับ จิตแบบนั้นจะเชื่อและหลงว่าตัวเองเก่ง แต่ขณะเดียวกันก็กลัวพลาด ถ้ามองออกมาเป็นลักษณะเดี่ยวๆก็ต้องว่าเป็นจิตที่หลอกตัวเองว่าแน่ แต่แท้จริงคือจุกอกด้วยอาการระแวดระวัง จัดเป็นชีวิตที่อุดมทุกข์แบบหนึ่ง แต่อกุศลธรรมก็บังตาให้เห็นเพี้ยนเป็นสนุกน่าตื่นเต้นไปได้
คนสมัยนี้โกหกกันเป็นว่าเล่น โกหกกันจนไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิด ถึงขั้นคิดว่าใครจับได้ก็ช่าง เพราะทั้งบ้านทั้งเมือง จะผู้ใหญ่ผู้น้อยก็เป็นเหมือนๆกันไปหมด ผลกรรมอันเกิดจากการชอบพูดปดเป็นอาจิณมีอะไรบ้างฉันไม่รู้ แต่ถ้าดูกันตรงผลที่เกิดกับจิตอย่างเดียว ฉันก็พบอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือคนโกหกทั้งรู้แก่ใจว่าไม่ใช่เรื่องจริงนั้น อาจทำชั่วอย่างอื่นได้ทุกอย่าง จิตที่กล้าโกหกแบบหน้าตาเฉยนั้นไม่ใช่เลวแบบธรรมดา และถ้าโลกนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยคนเลวมาก คนส่วนใหญ่ก็ย่อมขาดกำลังใจทำดี แปลว่าใครมาเกิดในโลกนี้เวลานี้ต้องระวังตัวให้ดี เพราะบรรยากาศชวนให้เห็นผิดเป็นชอบนั้นมีมาก อย่าว่าแต่จะเพียรภาวนายกจิตวิญญาณขึ้นให้ถึงมรรคผลนิพพานเลย อาการโกหกเก่งเป็นไฟแลบนั้น เห็นได้ด้วยจิตชัดทีเดียวว่าปฏิรูปเป็นแรงดึงดูดให้ไหลลงต่ำ เหมือนมีหลุมดำซ่อนแฝงอยู่เบื้องหลัง จะคิดจะทำอะไร โดนมันดูดลงต่ำตลอด ชักหน้าชักตาให้เสแสร้งตลอด บางเรื่องไม่น่าต้องโกหกก็โกหกเล่นเสียอย่างนั้นเองด้วยความเคยนิสัย
พอเห็นเงากรรมได้ ฉันก็มานั่งแปลกใจว่าแต่ก่อนทำไมไม่เห็น ความจริงมันปรากฏให้รู้สึกสัมผัสอยู่โต้งๆราวกับสามารถเห็นรูปทรงสีสันด้วยตาเปล่า อาจจะเพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ถูกสอนให้เชื่อสิ่งที่ตาเห็นและหูได้ยินมากกว่าใจสัมผัส แต่ถ้าใครมีโอกาสเจอผู้คนหลายๆประเภทชนิดรู้จักหน้า รู้จักนิสัยลึกๆ บางทีก็สั่งสมประสบการณ์สัมผัสทางจิต พอจำแนกคนด้วยกระแสจิตได้เหมือนกัน แต่คงไม่มีคุณภาพแม่นยำแจ่มชัดได้เท่าผู้ที่ฝึกรู้เวทนา สัญญา สังขารของตนเองอยู่ตลอดเวลาแน่นอน
สำหรับการพูดจาส่อเสียดหรือด่าทอนั้น ทบทวนจากตนเองในอดีต และดูเอาจากคนรอบข้างที่มีรสนิยมในการว่าร้ายเป็นนิตย์แล้ว ก็เห็นชัดคล้ายจิตพ่นไฟร้อนๆ บางทีแลบออกมาพร้อมคำพูด บางทีแลบออกมาจากศีรษะขณะกำลังตั้งใจจะพูดเลยทีเดียว จิตที่ให้ความร้อนย่อมไม่อาจนิ่งเย็นได้นาน ถึงแม้ภาวนาดีเพียงใด ใจก็เหมือนถูกเสียดสีด้วยอกุศลธรรมอยู่ไม่ขาด
เมื่อคิดถึงคำหยาบอันเป็นวจีทุจริตอีกชนิดหนึ่ง ฉันก็เกิดความคิดชนิดจิปาถะขึ้น คือรู้ล่ะว่าคำหยาบหมายถึงถ้อยคำศัพท์อันเผ็ดร้อน เป็นไปเพื่อความระคายโสต รากของคำเหล่านั้นส่งมาจากจิตที่มีโทสะเป็นฐานอยู่ แต่เหตุใดในบางสูตรเช่นปิลินทวัจฉสูตรจึงแสดงไว้เป็นหลักฐานว่าพระอรหันต์ยังพูดคำหยาบได้อยู่ กล่าวคือมีภิกษุนามว่าปิลินทวัจฉะชอบเรียกใครต่อใครว่าไอ้ถ่อยๆ จนพระในเวฬุวันต้องไปทูลฟ้องพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ท่านก็เรียกมาสอบสวน พอพระปิลินทวัจฉะยอมรับตามนั้นจริง พระศาสดาก็กำหนดดูอดีตชาติของท่าน แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าถือโทษวัจฉภิกษุเลย วัจฉภิกษุหาได้มุ่งประทุษร้ายไม่ขณะเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าไอ้ถ่อย วัจฉภิกษุเกิดในสกุลพราหมณ์ ๕๐๐ ชาติไม่ขาดสาย ก็แต่ว่าที่เรียกใครๆเป็นไอ้ถ่อยนั้น วัจฉภิกษุประพฤติมานาน และด้วยความเคยชินนั้น จึงมาประพฤติอีกในกาลนี้
สรุปคือคำหยาบอย่างไรก็สะเทือนโสตผู้ฟัง ไม่ทำให้รู้สึกดี ไม่ทำให้รู้สึกเลื่อมใส ไม่ทำให้รู้สึกเชื่อว่าจะใช่หรือแม้แต่ใกล้เคียงความเป็นอริยะ แถมองค์หนึ่งของมรรคยังต้องการสัมมาวาจาเสียอีก แต่พระอรหันต์บางองค์ท่านยังติดวาสนา หรือนิสัยทางคำพูดไปในทางลบได้อยู่ นี่นับเป็นเรื่องน่าฉงน
ขณะนั้นเอง เผอิญฉันปั่นจักรยานมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างเสริมเติมอาคาร เบื้องหน้ามีคนงานก่อสร้างชายหญิงค่อนข้างมีอายุ ๕ คนกำลังดุ่มเดินจะกลับบ้านกลับช่อง ทั้งหมดคุยกันเสียงขรมในอารมณ์ผ่อนคลาย เมื่อฉันจะขี่จักรยานผ่ากลางพวกเขาซึ่งเดินอยู่เกือบเต็มถนน ก็กำหนดจิตให้ยางจักรยานบดกรวดหินบริเวณนั้น ด้วยกระแสสะเทือนแบบจงใจให้เข้าหูพวกคนงาน จะได้รู้สึกตัวและหลีกทางกัน เพราะฉันกำลังขี้เกียจร้องบอกขอทางด้วยปาก
อาจจะด้วยความขี้ตื่น หรืออาจจะเพราะกระแสจิตฉันแรงไปหน่อย เลยมีผู้ชายคนหนึ่งที่ยินเสียงยางบดถนนดังแกรบกราบไล่หลังมาเกิดความตระหนกตกใจขวัญบิน ดูแล้วเขาคงนึกว่าเป็นรถใหญ่หรือมอเตอร์ไซค์ที่ควบมาอย่างบ้าเลือดจะเข้าชนหลัง เลยตาเหลือกกางปีกเอียงกระเท่เร่หลบเข้าข้างทาง พร้อมกับตะโกนเสียงดังเป็นของลับเพศชายที่อยู่ในสภาพยับเยิน ขณะเดียวกันพรรคพวกที่มาด้วยกันก็พลอยแตกตื่นขวัญหนีตามเพราะนึกว่าคนแรกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้หญิงกระเจิงไปในทิศตรงข้ามพร้อมอุทานดังๆคล้ายของลับเพศหญิงตกหล่นที่หนองน้ำแถวนั้น เรียกว่ากางปีกหลบไปคนละทางสองทางด้วยอุปาทานพาไป กลายเป็นภาพน่าขบขันที่ฉันอดกัดปากขำไม่ได้ และอึดใจต่อมาก็ได้ยินเสียงพวกเขาหัวเราะไล่หลัง คือเมื่อเห็นเสือหมอบของฉันผ่าวงไปก็โล่งอกที่ไม่ใช่รถใหญ่ดังอุปาทาน ฉันไม่ได้หันหลังมาขออโหสิที่ทำให้ตกใจโดยไม่เจตนา แค่เดาถูกว่าบรรดาคนงานจะคุยแก้เก้อกันท่าไหน ลงเอยทุกฝ่ายเห็นเป็นเรื่องบังเอิญที่น่าขบขันกันหมด
ฉันยิ้มรื่น ได้เห็นชัดว่า ‘ภาษาจิต’ เป็นอย่างไร จำแนกจิตวิญญาณออกเป็นชาติชั้นวรรณะต่างๆอย่างไร ขณะที่พวกคนงานอุทานเป็น ‘ภาษาหยาบ’ นั้น ฉันไม่รู้สึกถึงความร้อนแรง ไม่รู้สึกถึงจิตที่หยาบกระด้าง ไม่รู้สึกถึงเจตนามุ่งร้ายแฝงฝังอยู่ในคำพูดเลยแม้แต่น้อย พวกเขาไม่ได้ตั้งใจพูดคำหยาบ แต่แค่อุทานออกมาจากพื้นจิตพื้นใจระดับนั้นของเขา
การ ‘อุทานเป็นคำหยาบ’ กับการ ‘ด่าทอด้วยเจตนาใช้คำพูดหยาบๆ’ นั้นให้โทษกับจิตต่างกัน คนบางกลุ่มอุทานเป็นคำหยาบได้เพราะมีพฤติกรรมสั่งสมจนเป็นนิสัยและโพล่งเป็นอัตโนมัติ หาใช่เพราะขณะนั้นมีจิตมุ่งร้ายใคร ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในปิลินทวัจฉสูตรเป็นใจความสำคัญว่า วัจฉภิกษุหาได้มุ่งประทุษร้ายไม่ขณะเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าไอ้ถ่อย เมื่อปราศจากเจตนาประทุษร้ายจิตผู้พูดย่อมไม่ถูกปรุงเป็นสภาพหยาบ
แต่คนในโลกย่อมไม่อาจทราบวาระจิตของกันและกัน เมื่อได้ยินใครพูดคำหยาบ จิตย่อมรู้สึกไปว่าบุคคลผู้นั้นมีจิตหยาบ และพลอยปรุงแต่งให้จิตคนฟังหยาบตาม ดังกล่าวแล้วว่ารากของคำหยาบคือโทสะ ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสเกิดในชาติตระกูลที่ไม่จำเป็นต้องสั่งสมนิสัยปลดปล่อยคำหยาบให้พรั่งพรู ก็สมควรฝึกตนให้พูดเฉพาะคำเยี่ยงสุภาพชน เพราะจิตที่คิดพูดหยาบส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนเอาค้อนทุบหู หรือเอาหอกทิ่มแทงใจคนฟัง เรียกว่าสร้างแนวโน้มก่อเวร ก่อความเบียดเบียนขึ้นในตน ถึงอย่างไรก็เป็นกรรมดำที่ทำให้จิตนิ่งเย็นได้ยาก ไม่สอดคล้องกันกับทางมรรคทางผลแต่อย่างใด
สรุปคือช่วง ๓ วันนี้สำรวจตัวเอง พบว่าจะมีใครพูดอย่างไร สถานการณ์ใดเข้ากระทบหนักเบา หรือกระทั่งยั่วยุให้ก่อวจีทุจริตปานใด ก็ไม่มีดำริคิดพูดในทางร้ายจากฉันเลย รวมทั้งการพูดเล่นเพ้อเจ้อเล็กๆน้อยๆด้วย ทั้งนี้ด้วยความปรารถนาเดียวคือทำองค์มรรคให้บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
วันที่ ๑๕-๑๗: สัมมากัมมันตะ
การถือศีล ๕ ให้บริสุทธิ์นับว่าครอบคลุมทั้งองค์คือสัมมาวาจาข้างต้น รวมทั้งสัมมากัมมันตะในข้อนี้ด้วยแล้ว เพราะส่วนของ ‘การกระทำชอบ’ มุ่งเอาเพียงการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ และการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ช่วง ๓ วันนี้ฉันสำรวจลึกเข้าไปถึงความนึกคิดภายใน พบว่าแม้แต่ยุงหรือมดก็เห็นมันเป็นสัตว์โลกผู้ร่วมทุกข์ ไม่มีแม้แต่ความคิดอยากให้พวกมันสาบสูญไปจากบ้านเพื่อไม่ต้องมาเกะกะสายตากันอีก จะกล่าวไปไยถึงความมุ่งร้ายคิดฆ่าแกงสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นมา
สำรวจอีกก็พบว่าแม้แต่สมบัติของตนยังอยากแจกจ่ายให้เป็นสาธารณกุศล ขอเหลือเพียงผ้าห่อพันกายกันอุจาด จะกล่าวไปไยถึงความโลภคิดเล็งเอาของผู้อื่นมาเป็นสมบัติตน
สำรวจอีกก็พบว่าแม้แต่ตรึกนึกทางกามให้เกิดปฏิกิริยา ให้ราคะรั่วรดกายใจ ฉันก็ปัดตกไปด้วยอสุภสัญญาอยู่เรื่อยๆในช่วงนี้ จะกล่าวไปไยถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการหน้ามืดเอาเมียใครมาทำชู้
อย่างไรก็ตาม ช่วงแห่งการสำรวจตนในความบริบูรณ์แห่งสัมมากัมมันตะ ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกสะอาดโล่งโปร่งสบายเป็นพิเศษ จึงเห็นค่าของการสำรวจศีลประการหนึ่ง คือเมื่อพบว่าตนบริสุทธิ์เมื่อใด เมื่อนั้นย่อมเกิดความอาจหาญในธรรม มีความมั่นคง มีความนับถือตนเอง มีความเชื่อว่าสามารถไต่ลำดับไปหาคุณธรรมที่สูงส่งยิ่งๆขึ้น ทั้งนี้ในฐานะของผู้เจริญสติปัฏฐานย่อมไม่ลุ่มหลงมัวเมาในนิมิตหมายภาวะสูงส่งที่บังเกิดขึ้นด้วย หลายคนติดอยู่กับความรู้สึกว่าตนสูงส่งโดยไม่รู้สึกตัว นั่นก็กลายเป็นฐานที่ตั้งอุปาทานแห่งใหม่ไป ฉันจึงต้องเพิ่มการพิจารณาความชื่นใจ ความอิ่มใจ ความยินดีอันเกิดจากการสำรวจศีลไปด้วย เห็นปีติโดยความเป็นอนิจจังไม่ต่างจากปีติชนิดอื่นๆนั่นเอง
 
วันที่ ๑๘-๒๑: สัมมาอาชีวะ
การประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนนั้น ถ้ามองแบบลงลึกก็ค่อนข้างยากเพราะมีรายละเอียดมาก แต่ถ้ามองว่าเป็นการหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องโดยสุจริตก็ง่ายขึ้น หรืออาจมองแคบลงมานิดหนึ่งว่าเป็นอาชีพที่ ‘ไม่ต้องทำผิดศีลธรรม’ ก็น่าจะชัดเจนดี
จะด้วยความสืบเนื่องจากอดีตชาติหรือเพราะเหตุที่เลือกศึกษาไว้เหมาะสมในชาติปัจจุบันก็ตามที ฉันมีอาชีพการงานที่ไม่ต้องลำบากใจ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังทุจริตคดโกง ทั้งในระดับงานโดยรวมของบริษัท และในระดับตำแหน่งที่รับผิดชอบของฉัน จะว่าเป็นเหตุลงตัวให้ปฏิบัติธรรมโดยไม่ลำบากทั้งกายใจก็ได้ คือมีกินมีใช้ มีเงินทำบุญ แล้วก็นอนหลับสนิท ไม่ต้องผวาเรื่องกฎหมาย ไม่ต้องกลัวใครฟ้องล้มละลาย เพราะอยู่ในฐานะลูกจ้างที่ไม่ต้องรับความเสี่ยง
อีกประการหนึ่ง นิสัยการทำงานของฉันไม่ใช่คนปล่อยให้งานคั่งค้าง เสร็จล่าช้ากว่ากำหนด จึงมีความสบายอกสบายใจ เชื่อมั่นหนักแน่นในความสามารถเลี้ยงตัวได้ตลอดรอดฝั่งแบบผู้ใหญ่เต็มตัว ไม่กังวลเรื่องปากท้องทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดวงจิตจึงปฏิบัติภาวนาโดยปราศจากความห่วงสวัสดิภาพและความมั่นคงในเส้นทางชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่
พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เกี่ยวกับอกรณียวณิชชา คือการค้าขายที่อุบาสกอุบาสิกาไม่ควรประกอบ ๕ ประการ ได้แก่การค้าขายอาวุธเครื่องประหาร การค้าขายมนุษย์ การค้าขายเนื้อสัตว์ การค้าขายน้ำเมาและสิ่งเสพติด และการค้าขายยาพิษ พิจารณาเพียงจากจุดนี้ก็ทำให้ฉันสบายใจว่าตนปลอดจากมิจฉาอาชีวะ เพราะโดยอาชีพไม่เกี่ยวข้องกับอกรณียวณิชชาทั้ง ๕ นั้นเลย เป็นอันว่าองค์มรรคข้อนี้ฉันผ่านโดยไม่ต้องเพียรพยายามอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ในลู่ในทางมาแต่ก่อนเริ่มเจริญสติปัฏฐานแล้ว
 
วันที่ ๒๒-๒๕: สัมมาวายามะ
หลายเดือนที่ผ่านมาฉันสังเกตตัวเองอย่างหนึ่ง คือเมื่อใดความเพียรตก ความเหงา ความว้าเหว่จะแทรกตัวเข้ามาทันที เพราะทุกวันนี้ฉันไปไหนต่อไหนคนเดียว ไหว้พระคนเดียว ถวายสังฆทานคนเดียว ไม่มีใครเคียงข้างคอยร่วมบุญ
นึกถึงเมื่อสมัยก่อนที่ยังตระเวนดูหนังฟังเพลงบ่อย โอกาสเกิดความเหงาและอยากคบหาใครสักคนยิ่งมากกว่านี้ มนุษย์มีธรรมดาแสวงหาคู่เคียง จินตนาการวาดฝันอยากได้คนรักแบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยก็ต้องเพื่อนร่วมเฮฮาที่ต้องอัธยาศัยกัน
การดำเนินความเพียรตามลำพังทั้งที่ใช้ชีวิตฆราวาส แถมอยู่ใจกลางเมืองอันเต็มไปด้วยเครื่องเร้าผัสสะให้เกิดจินตนาการทางกามนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะช่วงแรกที่ยังอ่อนแอปวกเปียกเหมือนปุถุชนธรรมดาทั้งหลาย ยากนักที่จะเกิดความยินดีเต็มใจประกอบความเพียร มีอาการประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้บังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้บังเกิดขึ้น และเพื่อรักษากุศลธรรมนั้นไว้ให้ตั้งอยู่ไม่เลือนหายจนยิ่งเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นเต็มเปี่ยม
แต่ฉันก็ให้กำลังใจตัวเองมาตลอด คิดในใจว่า ‘นับหนึ่งใหม่’ มาไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยหน ทั้งที่เป็นการนับหนึ่งใหม่อย่างใหญ่ กับนับหนึ่งใหม่อย่างย่อย กระซิบกับตัวเองเสมอว่าบนเส้นทางนี้ แม้จะต้องล้มลงร้อยครั้งพันหนก็คุ้มที่จะกัดฟันลุกขึ้นยืนใหม่อีกและอีก เพราะในการยืนขึ้นได้เต็มสองขานั้น จะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไม่ต้องกลับล้มลงตลอดไป!
มองย้อนกลับไปทบทวนดูเห็นความสำคัญของการเพียรพยายามอย่างถูกทางให้ต่อเนื่อง นับแต่สร้างราวเกาะของสติในเดือนแรก เบื้องแรกลมหายใจไม่ดีกันทุกคน แต่หากกำหนดสติรู้อย่างถูกต้องและต่อเนื่องนานพอ เอาแค่รู้ให้ได้ว่าเข้าหรือออก ลมหายใจก็จะค่อยๆมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆไปเอง เพราะในที่สุดสติที่เข้มแข็งนั่นแหละ รู้ดีที่สุดว่าจะหายใจอย่างไรให้ถูกต้อง
ถึงวันนี้ฉันไม่ต้องคะยั้นคะยอตัวเองมาก เพราะเริ่มอยู่ตัว คุ้นทางขึ้นทางลงเสียแล้ว บอกตัวเองเสมอว่า จิตตกไม่เป็นไร อย่าให้ความเพียรตกก็แล้วกัน เพราะถ้าความเพียรยังดี จิตตกอย่างไรเดี๋ยวก็กลับดีตามขึ้นมาเอง แต่ถ้าจิตดีแล้วไม่เพียร หรือเพียรไม่สม่ำเสมอ ตั้งอยู่ในความประมาท อย่างไรธรรมชาติของจิตก็ต้องเสื่อมลงให้เห็น แถมอาจจะตกนานแบบกู่ไม่กลับเพราะลืมทางเก่าที่เคยผ่านมาเสียแล้ว ตามหลักสัญญาไม่เที่ยง ถ้าสัญญาไม่เข้มข้นขึ้นด้วยการดำเนินซ้ำๆ ก็มีแต่จะเสื่อมถอยลงแบบเชื่อขนมกินได้
 
วันที่ ๒๖-๒๘: สัมมาสติ
สัมมาสติโดยย่นย่อคือเห็นกาย เวทนา จิต และธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความอยากได้อยากมีและความโทมนัสในโลกเสียได้
ฉันไม่จำเป็นต้องสำรวจข้อนี้มาก เพราะครึ่งปีที่ผ่านมาจนกระทั่งบัดนี้ จิตเริ่มผุดเด่นเหนือสิ่งอื่นใด ทำให้แยกรู้ว่าส่วนใดกาย ส่วนใดจิตได้ง่ายดาย แม้มีอาการผลุบโผล่บ้างก็ยังยืนยันกับตนเองได้ทุกวันว่าไม่เคยเถลไถลไปนอกขอบเขตกายใจนาน คือนับหน่วยกันเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวันๆเหมือนช่วงแรก นี่ย่อมเกิดจากความพากเพียรไม่ย่นย่อ กำหนดสติจนเป็นสัมปชัญญะอัตโนมัติบ่อยๆ ไม่มีความปรารถนาสิ่งใดนอกตัวแผ้วพานเข้ามาเกาะกุมได้เกินนาที เพราะแต่ละความอยากเป็นอันถูกรู้ ถูกเห็นด้วยความเคยชินทั้งหมดทั้งสิ้น
 
วันที่ ๒๙-๓๐: สัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างยืดยาวทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เนื่องจากพุทธพจน์เกี่ยวกับสัมมาสมาธิในฐานะองค์สุดท้ายของมรรคนั้น มุ่งหมายถึงฌานสมาบัติโดยตรง
ทางฝ่ายนักศึกษาภาคทฤษฎีมักมีความเห็นเป็นสุดโต่งสองขั้ว คือฝ่ายหนึ่งกล่าวว่าสัมมาสมาธิเป็นแค่ความตั้งมั่นชั่วขณะเดียวที่เห็นกายใจชัดก็เพียงพอแก่การจุดชนวนมรรคผลได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิให้นิ่งนานแต่อย่างใด ส่วนอีกฝ่ายก็กล่าวว่าสัมมาสมาธิต้องเป็นฌานสมาบัติตรงตามอักษรเท่าที่ปรากฏเท่านั้น
ทางฝ่ายปฏิบัติที่พื้นความรู้ภาคทฤษฎีไม่แน่นหนานักก็มักสำคัญระดับสมาธิของตนเองคลาดเคลื่อน บางคนพบภาวะเหมือนหยุดหายใจก็สำคัญว่าคือฌาน ๔ มีแต่สติบริสุทธิ์ ประกอบพร้อมด้วยอุเบกขาเป็นหนึ่ง ทั้งที่จริงยังหายใจ แล้วก็เป็นภาวะจิตแช่แข็งชั่วขณะแบบครึ่งๆจะตกภวังค์ขาว ไม่รับรู้ลมหายใจที่แผ่วอ่อน หรือแม้บางคนตกภวังค์มืด คือเหมือนหลับยาวในความไม่รู้อะไรเลยก็ยังสำคัญว่านั่นเป็นฌาน ๔ ก็มี
ผู้ภาวนาจนมีสติเห็นกายใจเป็นอัตโนมัติบ่อยๆย่อมเข้าใจดีว่าเรามีสมาธิหรือความตั้งมั่นของจิตไปเพื่อความสงบรำงับจากอาการตรึกนึกทางกาม ละความรู้สึกพยาบาทได้ง่าย รวมทั้งมีคุณภาพสติเห็นชัดเจนต่อเนื่องพอจะรู้ภาวะหนึ่งๆว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่และดับลงเมื่อใด โดยไม่ต้องออกแรงบังคับหรือประคองจิต หาใช่มีสมาธิไปเพื่อหวังเสพปีติสุขและความเย็นกายเย็นใจลึกซึ้ง หาใช่มีสมาธิไปเพื่อรู้สึกว่าข้าเหนือมนุษย์ หาใช่มีสมาธิไปเพื่อก่อฤทธิ์ก่อเดชประการใดๆ พูดให้ง่ายคือสมาธิจิตอันตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมทำงานควบคู่ไปกับสติ เป็นไปเพื่อความเพียรรู้เห็นกายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
ระดับสมาธิอันพอดีกับระดับมรรคผลนั้น พระพุทธเจ้าทรงจำแนกไว้ชัดเจนในเสขสูตร กล่าวคือสำหรับเกณฑ์แห่งความเป็นโสดาบันบุคคลและสกทาคามีบุคคลนั้น เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา ส่วนอนาคามีบุคคลนั้นต้องเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา และพระอรหันตบุคคลเท่านั้น ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ และเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา และพระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปว่า ใครทำได้เพียงบางส่วน ก็ย่อมให้สำเร็จบางส่วน แต่ใครทำให้บริบูรณ์ ก็ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์
ในแง่ของสัมมาสมาธิ หรือสมาธิในอุดมคติอย่างสมบูรณ์นั้น มีความสำคัญในแง่เอื้อให้พร้อม ‘ประจักษ์รู้เต็มดวง’ คือมีกำลังส่งให้ถึงมรรคถึงผลโดยไม่ลำบากต้องเสียเวลารวมกำลังนัก เนื่องจากขณะแห่งการบรรลุธรรม จิตจะเป็นฌาน เพียงแต่เป็นฌานที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่เหมือนฌานธรรมดาที่อาจมีลมหายใจหรือวัตถุอารมณ์อื่นๆเป็นเป้าจับ
แต่อย่างไรก็ตาม หากจิตของผู้ภาวนามีปกติตั้งมั่น มีความผ่องใสสบาย มีความโน้มเอียงที่จะตั้งมั่นระดับฌานเมื่อได้เหตุปัจจัยประชุมพร้อม ก็ควรจะนับเป็นน้องๆสัมมาสมาธิได้ เข้าข่ายเป็นผู้สามารถทำพอประมาณในสมาธิตามระดับภูมิของพระโสดาบัน
ตรงข้าม หากฤาษีชีไพรที่ไหนทำสมาธิได้อุกฤษฏ์ อาจจะเกินฌาน ๔ ล่วงถึงอรูปฌานอันเป็นฌานไม่อาศัยรูปเป็นอารมณ์ ก็ไม่มีสิทธิ์บรรลุธรรมแม้ถึงชั้นแห่งความเป็นโสดาบันบุคคลเลย เพราะองค์มรรคเพื่อการบรรลุธรรมไม่ประกอบพร้อมเป็นคุณสมบัติของจิต คือขาดสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติเป็นสำคัญ
 
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๖
๑) แน่ใจว่าหกเดือนที่ผ่านมานี้ไม่ได้ปล่อยชีวิตให้ล่วงไปเพื่อความเปล่าประโยชน์ไร้แก่นสารเหมือนอย่างในอดีตตั้งแต่เกิดจนถึงปีกลาย
๒) มองย้อนกลับไปเห็นช่วงปีก่อนๆ ที่สำคัญว่าปฏิบัติแค่สมาธิกับสติก็บรรลุธรรมได้ ยังหมกมุ่นในกามเท่าเดิม ยังเห็นแก่ตัวเท่าเดิม ยังอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็นเหมือนเดิม กับทั้งหาอุบายลัดๆให้เกิดมรรคเกิดผล ล้วนแล้วแต่เป็นความเล็งโลภอย่างปราศจากเหตุผลสมควรเยี่ยงปุถุชนผู้ไม่รู้จริงทั้งสิ้น
๓) มีความอุ่นใจ บังเกิดความเชื่อมั่นในความพรักพร้อมบนเส้นทางเดียวที่มุ่งตรงสู่นิพพานสายนี้
 
เดือนที่ ๗: บรรลุธรรม
เป็นปกติของทุกต้นเดือนที่ฉันจะทบทวนและประเมินความก้าวหน้าในการปฏิบัติภาวนา ฉันกลับไปอ่านทวนตั้งแต่เดือนแรกจนเดือนสุดท้ายอย่างละเอียด อยากเปรียบเทียบดูว่าตนเองผิดแผกแตกต่างเป็นก้าวหน้าหรือก้าวหลังประการใดบ้าง เนื่องจากจิตบอกตัวเองว่าใกล้ความจริงเข้ามาทุกที
เพราะอะไรถึงรู้สึกว่าใกล้ความจริง? แน่นอนไม่ใช่ด้วยอาการหลงทึกทักให้ครึ้มใจเล่น ไม่ใช่เพราะมีพุทธนิมิตมาปรากฏและชมว่าปฏิบัติได้ก้าวหน้าดี แต่เพราะฉันสำรวจตนเองอยู่ตลอดเวลาตามหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าวางไว้คือ
๑) ในแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิต สอบจากอริยสัจจ์ ๔ คือเห็นความจริงว่ากายใจเป็นทุกข์ เห็นความจริงว่าที่ทุกข์เพราะมีเหตุคือความทะยานอยากใหญ่น้อย เห็นความจริงว่าความระงับจากตัณหาทะยานอยากคือความสงบจากทุกข์ และเห็นตามจริงว่าวิธีระงับความอยากคือมรรคมีองค์ ๘ ถ้าแค่ข้อแรกไม่ผ่าน ยังเห็นชีวิตเป็นสุข ยังเห็นชีวิตเป็นความน่าพิสมัย ไม่ต้องหาทางตัดวงจรอุบาทว์ ก็เป็นอันว่ายังอ่านอริยสัจจ์ข้อแรกไม่ออก
๒) ในแง่คุณสมบัติของจิต สอบจากมรรคมีองค์ ๘ คือมีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ มีการกระทำชอบ มีการเลี้ยงชีพชอบ มีความพยายามชอบ มีสติชอบ และมีความตั้งมั่นชอบ
๓) ในแง่การเจริญสติเห็นภาวะเฉพาะหน้า สอบจากโพชฌงค์ ๗ คือมีสติรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในกายใจ มีการพิจารณาเห็นสิ่งนั้นไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน มีวิริยะ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีความตั้งมั่นของจิต และมีความวางเฉยในจิตที่ตั้งมั่นนั้น
ถ้าแยกเป็นอย่างๆอาจดูคล้ายวุ่นวายฟั่นเฝือ แต่ถ้าดูที่ผลสุดท้ายคือสภาพจิตในปัจจุบัน เอาจากจิตขณะเดียวที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่น ปลอดโปร่งจากความทะยานอยาก สะอาดปราศจากอกุศลธรรมครอบงำแม้ทางความคิดอย่างต่อเนื่อง ก็เทียบเคียงได้ครบทั้ง ๓ เกณฑ์ข้างต้นแล้ว เพราะลักษณะหรืออาการอันละเอียดอ่อนปลีกย่อยทั้งหลายย่อมปรากฏอยู่พร้อมในตัวเอง
ว่ากันเฉพาะแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิต เพียงเมื่อเข้าถึงอริยสัจจ์ข้อแรก คือเห็นกายใจนี้เป็นทุกข์ ก็ไม่มีข้อแม้ใดๆหลงเหลืออยู่อีก ต้องตั้งหน้าตั้งตาฝ่าฟันเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์อย่างเดียว
แต่ฉันต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะ ‘รู้ความจริง’ ชัดๆว่ากายใจนี้เป็นทุกข์ ต้องฝ่าด่านความมืดบอด ความหลงผิด ตลอดจนกระทั่งความหวง ความห่วง ความอ้อยอิ่งอาวรณ์ทั้งหลายจนอ่อนแรงไปหลายยก อริยสัจจ์ ๔ จึงปรากฏต่อจิตแจ่มแจ้งขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากผ่านวันผ่านคืนโดยไม่ปล่อยให้ตกล่วงไปอย่างเปล่าประโยชน์ ต้นเดือนที่ ๗ นี้ฉันเกิดความสดใสอย่างประหลาด รู้สึกสบายอย่างพรรณนาไม่ถูก การเข้าใจอริยสัจจ์แบบถึงจิตอันประกอบพร้อมอยู่ด้วยกระแสสบายนั้น ทำให้ตระหนักอยู่อย่างหนึ่ง คือการเห็นกายใจเป็นทุกข์นั้น ไม่ได้แปลว่าต้องมีทุกขเวทนา ไม่ได้แปลว่าต้องมีความอึดอัดระอากับการดำรงชีวิต ตรงข้าม กลับปลอดโปร่งเป็นสุขอย่าบอกใคร เหมือนคนตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะปลดภาระจากบ่าทิ้งลงพื้น แม้ยังแบกหนักอยู่เดี๋ยวนี้ ก็รู้ว่าอย่างไรก็ต้องเบาตัวจนได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
และในทางกลับกัน หากเข้าถึงความจริงอย่างถ่องแท้ว่า ‘ทุกข์’ คืออุปาทานขันธ์ ๕ หรือกายใจอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานนี้ทั้งแท่ง ก็จะตระหนักว่าแม้กำลังเสวยสุขอันประณีตทางใจ สุขนั้นก็เป็นเพียงเวทนาชนิดหนึ่ง เวทนาไม่เที่ยง ไม่มีใครรักษาสภาพของเวทนาให้คงทน จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นทุกข์เหมือนกัน
ถ้าวันนี้เอาคนหล่อระดับประเทศ คนรวยระดับข้ามชาติ หรือคนเก่งระดับโลกมาตั้งตรงหน้า แล้วถามล่อใจว่าให้หล่อ รวย เก่งแบบนี้จะเอาไหม? ฉันต้องดูดีๆก่อนว่าให้มีจิตแบบเขาน่าเอาด้วยหรือเปล่า จิตเขาเริ่มประพฤติเพื่อพ้นจากความทุรนทุรายหรือยัง ถ้ายัง ต่อให้มีดีขนาดไหนก็แค่ข้าทาสความไม่รู้อีกรายหนึ่ง ฉันขอปฏิเสธความมีความเป็นเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด
เมื่อเดินมาตามทางสู่นิพพานไกลขึ้น ทางแห่งทุกข์ก็สั้นลงเรื่อยๆ พิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดในแต่ละขณะได้อย่างชัดเจน พอเห็นคนอื่นที่ยังไม่ทำทางไปนิพพานเสียที ตระหนักว่าพวกเขายังสะสมเหตุปัจจัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เกิดก็เกิดอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ตายก็ตายอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต้องลำบากลำบนใช้ชีวิตลองผิดลองถูกกันอย่างน่าเบื่อหน่าย ก็รู้สึกเอือมระอาจุกอกแทบพูดไม่ออก
แต่ไปบอกใครเขาให้มาตามทางนี้ง่ายๆได้เมื่อไหร่ เขาหาว่าบ้าเท่านั้น มีอย่างหรือจะให้ทิ้งวิถีชีวิตอันแวดล้อมด้วยเครื่องเคราแห่งกามคุณอันเป็นยอดปรารถนา มานั่งเดินภาวนา มาใส่ใจลมหายใจกับอิริยาบถ แทนการคิดคำนวณหารายได้หรือคนรักเพิ่มให้มากๆ สรุปแล้วธรรมะเป็นเรื่องเฉพาะตน เลือกด้วยตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง รับผลด้วยตัวเองตามลำพัง ไม่มีใครทำแทนใครได้ ต่อให้รักผูกพัน นึกสงสาร ปรารถนาให้ได้ดีตามเราเพียงใดก็เถอะ
และเมื่อจิตของฉันสุขุมขึ้น มองเห็นอะไรรอบยิ่งขึ้น เวลานี้ฉันยังอ่านออกด้วยว่า แม้ความไม่อยากเป็นปุถุชน ไม่อยากท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด ก็จัดเป็นความอยากชนิดหนึ่งเหมือนกัน คืออยากไม่มี อยากไม่เป็น ฉันเริ่มเห็นความจริงข้อนี้ก็ตอนที่ความอยากลดระดับลงมากแล้ว เหลือเพียงแผ่วให้รู้เพียงน้อยเท่าน้อย เพราะเมื่อใดเกิดความอยากพ้นภาวะปุถุชน ก็เกิดความทราบชัดว่ามีอาการอึดอัด มีอาการเร่งรัดเวลา และมีอาการไม่สมใจ พอเห็นอาการเหล่านี้แล้วทราบชัดว่ามันผุดจากความไม่มีอะไร แล้วหายไปในความไม่มีอะไร ใจก็เห็นว่าความอยากเป็นแค่ของปลอมชั่วคราว ความว่างไม่มีตัวตนผู้อยากต่างหากเป็นของจริง เมื่อหมดอยากและเห็นตามจริงย่อมรู้ว่าจิตขณะนี้ที่ยังเป็นปุถุชน กับจิตในภายภาคหน้าที่ก้าวล่วงสู่ความเป็นอริยชนแล้ว ต่างก็เป็นจิตเหมือนกัน ไม่มีใครได้มรรคผลเหมือนกัน แค่ตัณหากับอุปาทานไม่แรงเหมือนเก่า หรือตัณหากับอุปาทานดับสูญเท่านั้น แต่ถ้ายังอยากพ้นภาวะปุถุชุน ก็แปลว่ายังอนุญาตให้ความอยากครอบงำจิต เป็นเหตุแห่งอุปาทาน เป็นต้นตอแห่งทุกข์ ไม่สอดคล้องกับการบรรลุธรรมอย่างแท้จริงเลย
สรุปคือต้นเดือนนี้ ฉันมีความกระตือรือร้นเต็มเปี่ยมที่จะรู้ ที่จะดู ที่จะพิจารณากายใจโดยความไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่เลี้ยงความอยากใดๆไว้เลย แม้กระทั่งความปรารถนามรรคผล อันเป็นแรงส่งให้ก้าวมาถึงขั้นนี้ก็ตาม
 
วันที่ ๑-๖: การยอมรับความจริงแบบไม่แทรกแซง
ย้อนกลับไปอ่านบันทึกในช่วงเดือนแรกๆ เห็นตัวเองใช้สติตามรู้ลมหายใจเข้าออกทั้งวันทั้งคืน ไม่ว่าจะเข้าหรือออก ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น กระทั่งเกิดสภาพ ‘จิตผู้รู้ลมทั้งปวง’ ซึ่ง ณ จุดนั้นเมื่อถูกอารมณ์ภายนอกกระทบจนเกิดราคะหนักหรือเกิดโทสะแรง จิตจะล้มคว่ำคะมำหงายขึ้นมา ฉันก็อาศัยลมหายใจเป็นราวเกาะให้สติลุกขึ้นยืนหยัดใหม่ เรียกว่าเป็นการเอาสติรู้ลมหายใจอันอบรมฝึกซ้อมไว้ดีแล้วเป็นตัวแทรกแซง ไม่ปล่อยให้จิตหลงเตลิดออกข้างนอกเกินกู่
จนกระทั่งบัดนี้ฉันก็ยังพบว่าลมหายใจยังคงเป็นหลัก เป็นราวเกาะให้กับสติได้ดีเสมอ ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างช่วงแรกกับช่วงนี้คือฉันหายใจได้ลึกเป็นปกติมากขึ้น เมื่อลมหายใจส่วนใหญ่ยาว สติก็มีอายุยืน อีกประการหนึ่ง คือช่วงเวลาที่เกิดสติรู้เพียงว่านี่ลมหายใจออก นี่ลมหายใจเข้าเฉยๆนั้นน้อย แต่จิตอันสงบเงียบใสเบาจะเกิดความเคยชินรู้เห็นว่าลมหายใจเข้าจนสุดแล้วต้องคืนออกมาเป็นธรรมดา ฉันตระหนักว่าความเคยชินย่อมเกิดจากความสั่งสม การสั่งสมนิสัยในการเห็นลมหายใจโดยความไม่เที่ยงเป็น ‘กรรมไม่ดำไม่ขาว’ ที่ให้อานิสงส์ไพศาลประมาณไม่ถูกจริงๆ ลมหายใจที่ละเอียดแล้วย่อมปรุงแต่งกายให้แข็งแรง สติที่ตั้งมั่นรู้ลมได้หลายนาทีโดยปราศจากช่วงสะดุดย่อมปรุงแต่งจิตให้สงบระงับ อิ่มเต็มอยู่กับภาวะอันเป็นปัจจุบัน ซึ่งก็แปลว่าถ้าภาวะทางกายใจอย่างใดปรากฏเด่น ภาวะนั้นย่อมถูกรู้เท่าทันโดยความเป็นของไม่เที่ยงทันที ตามความเคยชินที่ได้เห็นอนิจจังของลมหายใจอยู่เสมอๆ
นี่ทำให้ฉันได้ข้อสรุปว่าการใช้ลมหายใจเป็นที่พึ่ง รวมทั้งใช้แทรกแซงอารมณ์ลบต่างๆนั้น จัดว่าสำคัญและจำเป็นต่อจิตที่ยังดิ้นพล่านเป็นปลาช่อนถูกทุบหัว แต่เมื่อใยเหนียวของความอยากเบาบางลง ปฏิกิริยาทางจิตไม่ตอบสนองอารมณ์กระทบรุนแรงเกินความสามารถรู้เท่าทัน เวลานั้นควรรู้ทุกภาวะที่เกิดขึ้นตามจริงโดยไม่แทรกแซงใดๆ
นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญซึ่งเมื่อเห็นแล้วทำให้ฉันเกิดความอิ่มใจ ครึ่งปีก่อนฉันเคยเป็นคนธรรมดาที่ ‘ไม่เคยรู้’ เลยว่าลมหายใจเข้าออกมีอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ช่วงแรกที่เริ่มปลงใจเจริญสติปัฏฐานจริงจังรู้ได้วันหนึ่งๆรวมแล้วสองสามนาที แต่เมื่อเพียรพยายามไม่ลดละ ภายในอาทิตย์เดียวกระโดดขึ้นมาเป็นวันหนึ่งๆรวมแล้วเกินชั่วโมง ถัดจากนั้นแม้มีช่วงล้มลุกคลุกคลานบ้างก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ กระทั่งถึงเดี๋ยวนี้กล้าพูดว่าแต่ละนาทีรู้หลายครั้ง แม้จะทำกิจธุระทางโลก ต้องคิด ต้องเขียน ต้องเจรจา สติก็มักย้อนกลับมารู้ลมหายใจเสมอๆ ถ้าหากคิดเร่งรัดจะทำอย่างนี้ให้ได้ภายในวันสองวัน ย่อมเป็นความโลภเกินตัวที่สูญเปล่า แต่หากทำเรื่อยๆด้วยความใจเย็น ไม่ลังเล ไม่จับจด ไม่เหลาะแหละ ขอแค่ได้ชื่อว่าระลึกรู้เสมอๆด้วยความเพียร ไม่เล็งโลภอยากได้อะไร ไม่ทุกข์ใจกับความเป็นไปต่างๆ ตามแนวที่พระพุทธองค์ประทานไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทำเรื่อยๆผ่านวันผ่านเดือน พอสำรวจอีกทีก็จะพบว่าสติสมบูรณ์ขึ้นแล้ว
เมื่อจิตมีปกตินิ่งรู้อยู่กับลมหายใจและอิริยาบถโดยมาก เห็นความว่างกว้างใหญ่ในภายในปรากฏเสมอๆ มีเพียงผัสสะอันละเอียดอ่อนเช่นความคิดผุดขึ้นกระทบใจ ก็เห็นคล้ายสายหมอกบางเบาลอยมาคลอเคลียผิวน้ำเรียบนิ่งครู่หนึ่งแล้วม้วนสลายหายหนไป เหลือแต่ความเงียบเชียบดุจแผ่นกระจกใส สว่างว่างเป็นเอกภาพ ปราศจากความอยากได้อะไรมากกว่านั้น พอเหลือแต่ภาวะดีๆ จิตก็เลยมีอาการยอมรับตามจริงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งไหวทันอกุศลธรรมทั้งหลายที่จรมาเยือนจิตโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ แค่เห็นความต่างระหว่างภาวะดีเดิมกับ ‘คลื่นแทรก’ ที่แหลมหน้าแปลกปลอมเข้ามาเท่านั้น
ทบทวนแล้วเปรียบเทียบอาการในอดีตกับอาการในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง คือช่วงแรกๆเมื่อเกิดภาวะใดขึ้น ก็ต้องกำหนดหมายเหมือนแปะป้ายให้มันไว้ก่อน เช่นดูลมหายใจบางทีคิดไปด้วยว่าออก เข้า หรือนับหนึ่ง สอง สามตามไปเรื่อย หรือเมื่อกำลังสุขก็บอกตัวเองว่าสุข เมื่อกำลังทุกข์ก็บอกตัวเองว่าทุกข์ จิตจะมีราคะ โทสะ โมหะตามแนวทางในสติปัฏฐาน ๔ ขั้นไหนๆก็กำหนดนึกตามไปด้วย การเรียกภาวะต่างๆเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ ก็เพื่อยกระดับความรับรู้ให้แก่จิต ถ้าไม่แปะป้ายไว้ในเบื้องต้น จิตก็จะขาดตัวเชื่อมสติ แต่พอเห็นจนคุ้นแล้ว มีสติคมแล้ว ก็เหลือแต่ความรู้ว่าเห็นภาวะอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่มีส่วนความคิดมาช่วยพากย์ต่ออีก
ยกตัวอย่างเช่นในเช้าวันหนึ่ง ขณะขับรถออกจากบ้านได้ไม่กี่สิบเมตร มียายแก่คนหนึ่งเดินพรวดพราดข้ามถนนตัดหน้ารถฉันในระยะกระชั้นชิด ฉันตกอกตกใจกดเบรกอย่างแรง ปกติสมัยก่อนถ้าตกใจขนาดนี้จะนึกด่าในใจแบบไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม หรือถ้าถนัดหน่อยก็อาจลดกระจกลงยื่นหน้าไปให้ศีลให้พรสักคำสองคำเป็นการระบายความอัดอั้น จากนั้นจึงค่อยกลับมาสงบสติ กำหนดรู้ว่าภาวะนี้โกรธนะ มีความร้อนกลางอกนะ มีความทึบแน่นในหัวนะ แต่เดี๋ยวนี้ฉันแค่รู้สึกถึงอาการไหววูบอย่างแรงของจิต เห็นความร้อนอันส่งมาจากก้นหลุมโทสะสายหนึ่งแผ่วๆ แล้วเลือนสลายลงอย่างรวดเร็วบนฐานสติที่มั่นคง แปรเป็นความสงบเย็น สติเบนมาเห็นภาวะนิ่งเย็นของจิตแทน สภาพเหล่านี้ถูกรู้โดยไม่มีเสียงพากย์ ไม่ต้องมีเจตนาแผ่เมตตาให้ยายแก่ ไม่แม้แต่จะกำหนดว่านี่ขณะแห่งความเกิด นี่ขณะแห่งความแปรไป นี่ขณะแห่งความกลับคืนเป็นสงบเย็นเต็มดวง ทุกอย่างถูกรู้เอง เหมือนสายหมอกไม่มีชื่อ สายน้ำไม่มีนามสกุล ร้อนก็ถูกรู้ว่าร้อน เย็นก็ถูกรู้ว่าเย็น เห็นภาวะเด่นปรากฏแล้วหายลับ ก็เป็นอันว่าจบกัน ไม่มีอะไรมากหรือน้อยกว่านั้น
ความรู้อยู่ที่จิตย่อมเป็นอภัยทานในตนเอง ฉันไม่ถือโทษโกรธโลกอีกต่อไป ถ้าโทษก็โทษสติที่ทำงานไม่ทัน แต่ไม่มีคำด่าให้ใคร ไม่มีแม้คำติเตียนให้ตัวเอง สภาพสติรู้ตั้งมั่น เบิกบาน เห็นทุกอย่างเป็นอัตโนมัติโดยปราศจากความคิดบิดเบือนหรือหาอะไรมาแทรกแซงนั่นเอง จึงเหมือนวันทั้งวันลงสนามปฏิบัติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีการบังคับควบคุม มีแต่การยอมรับตามจริงว่าเกิดภาวะดีร้ายใดๆขึ้นมา
พอทำงานที่จำเป็นต้องใช้ความคิดเครียดหลายชั่วโมงติดกัน พอพักก็กลับมายึดราวเกาะรู้ลมหายใจเข้าออก รู้อิริยาบถนั่งไป พยายามยอมรับว่าอิริยาบถนั่งมีความเกร็งแขน เกร็งเนื้อตัว ในหัวยังอลหม่านด้วยความคิด พอยอมรับก็เกิดสติรู้ภาวะเกร็งนั้นๆ พอสติรู้เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นไปผนวกกับฐานสติเดิมซึ่งอบรมไว้มากแล้ว ความผ่อนคลายก็ตามมา สติว่องไวจนไม่หลงไปกับสุขอันเกิดจากความผ่อนคลายนั้นด้วย เพียงแค่เปรียบเทียบภาวะต่างระหว่างเครียดกับคลาย เห็นทั้งเครียดและคลายนั้นเป็นคนละอย่าง และต่างก็ไม่ใช่ตัวฉันด้วยกันทั้งคู่ เป็นเพียงสภาวะส่วนหนึ่งของกายที่มีให้อาศัยระลึกรู้ว่าไม่เที่ยงเท่านั้น
บางวันความรู้สึกที่จิตเด่นกว่ากายหลายชั่วโมง พอเกิดความชื่นชมคุณภาพจิตของตัวเอง แทนที่จะหลงฟูหรือเกิดมานะว่าฉันคือนักภาวนาผู้เก่งกาจ ก็พิจารณาอย่างรู้ตามจริงว่าภาวะดีๆนี้หาได้มีอยู่ก่อน หาได้ตั้งอยู่ถาวรตลอดไป และคุณภาพก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ลอยมาอย่างบังเอิญ แต่ได้มาจากวินัย ฉันตื่นเช้าตีสี่สม่ำเสมอเพื่อนั่งสมาธิและเดินจงกรม ก่อนนอนแม้เพลียจัดก็ต้องทำนิดทำหน่อยไม่ขาด ในที่สุดจิตจึงยอมศิโรราบให้กับความเพียร ความเพียรเป็นของที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำกันในปัจจุบันล้วนๆ ไม่อาศัยความเชื่อ ไม่ฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ไม่หวังน้ำบ่อหน้าใดๆทั้งสิ้น จะได้ไม่ละความพยายามทำดีให้ยิ่งๆขึ้นไปเพียงเพราะสำคัญว่าตัวเองดีแล้ว คุณภาพจิตเป็นเลิศแล้ว
น่าบันทึกไว้อีกประการหนึ่ง สติอันเป็นอัตโนมัติเห็นสภาพจิตต่างๆทั้งวันทั้งคืนนั้น ทำให้รู้สึกเหมือนได้ตัวต่อจิ๊กซอว์ของ ‘อนัตตภาพ’ มามากขึ้นเรื่อยๆจนใกล้ครบ ตระหนักว่าแม้อกุศลจิตหรือทุกขเวทนา ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องเห็น ไม่อย่างนั้นจะขาดตัวเปรียบเทียบว่าจิตนี้เดี๋ยวก็มืด เดี๋ยวก็สว่าง เป็นอนัตตา มีเหตุให้เกิดสภาพเช่นนั้น แล้วต้องถึงเวลาแปรปรวนเป็นอื่น เกิดแล้วเปลี่ยน เกิดแล้วเปลี่ยน เกิดแล้วเปลี่ยน หาความจีรังยั่งยืนให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนถาวรไม่ได้สักดวง
เมื่อเห็นความเกิดดับของภาวะทั้งหลายอย่างแจ่มชัดเองโดยปราศจากความตรึกนึกมากเข้า บางครั้งจิตก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง ให้ความรู้สึกว่างเปล่ากว้างใหญ่ครอบทั่วขอบเขตกายใจ ไม่เหมือนเป็นชายหรือหญิง ไม่เหมือนเป็นมนุษย์ ไม่เหมือนเป็นบุคคล แต่เป็นแค่สภาพรู้ว่ากายอยู่ในอิริยาบถใด หรือสภาพรู้ว่าเกิดอาการชนิดใดขึ้นกับจิตที่ปราศจากชื่อ ปราศจากความมั่นหมายว่าตนเป็นหรือไม่เป็นใคร พูดให้ง่ายคือ ‘ตัวฉัน’ ไม่มี มีแต่กายกับจิตปรากฏเป็นขณะๆ ความว่างยิ่งแจ่มชัดเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนกว้างและว่างหายมากขึ้นเท่านั้น
กระทั่งตีสี่ของวันหนึ่งขณะนั่งสมาธิตามปกติ เมื่อสติดำเนินเป็นอัตโนมัติเห็นลมหายใจเกิดดับ จิตคลายจากความยึดมั่น เข้าถึงความว่างจากอุปาทาน กระทั่งกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างชนิดนั้นเนิ่นนาน พอถอนออกมาก็บอกตัวเองว่านั่นเป็นรสล้ำลึกน่าพิศวง จึงทำเหตุเข้าสู่ความเป็นเช่นนั้นใหม่ คือพิจารณาลมหายใจเข้าออกอันละเอียดสุขุมโดยความไม่ยึดมั่น เพื่อให้ถึงความว่างจากอุปาทานคงที่ และกลืนเป็นหนึ่งเดียว ตั้งมั่นอยู่กับความว่างนั้นอีก
ยิ่งทำก็ยิ่งชำนาญ แม้ระหว่างวันพอนึกขึ้นมา ทำเหตุที่ถูกทางเข้าสู่สภาพว่าง ความว่างก็มาเยือนอีกและอีก กระทั่งสองสามวันต่อมาฉันเริ่มฉุกใจเมื่อเห็นสติเริ่มไม่ค่อยทำงานกับภาวะที่เป็นปัจจุบัน คอยเฝ้ารอแต่ว่าเมื่อใดจะถึงจังหวะเหมาะ หลีกเร้นจากภาระหน้าที่ มีกำลังจิตพร้อมจะ ‘สร้างเหตุแห่งความว่าง’
ไปๆมาๆฉันก็ไหวทันว่ากำลัง ‘ติดใจภาวะว่างเทียมๆ’ เข้าให้แล้ว ความว่างแบบนี้เริ่มเกิดขึ้นจากการเห็นความเกิดดับก็จริง แต่มีความจงใจกระทำจิตให้คล้อยเข้าสู่กระแสความว่างอันมั่นหมายไว้แล้ว และแช่ติดอยู่กับภาวะเช่นนั้นโดยไม่มีสติรู้ว่าเป็นเพียงอีกภาวะหนึ่งของจิตที่ต้องแปรปรวนไป
ฉันระบายยิ้มอ่อนๆ กับดักมีมากเหลือเกิน บางทีมาในแบบของแถมระหว่างทางที่ถูกต้องนั่นเอง ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่ไปติดใจในภาวะอันเป็นผลที่ถูก โดยขาดสติรู้ว่านั่นเป็นเพียงภาวะจิตอย่างหนึ่ง ไม่ควรยินดี ไม่ควรฝากจิตฝากใจไว้กับภาวะนั้น อันเป็นเหตุให้เกิดความอ้อยอิ่งอาวรณ์ เป็นตัณหาอันละเอียด เป็นต้นตอให้ต่ออุปาทานขันธ์ ๕ ยืดยาวไปอีก
ยังดีที่แม่นหลักการขึ้นใจ และสำรวจสังเกตตามแนวอริยสัจจ์ ๔ อยู่เสมอ ฉันท่องไว้ว่าความอ้อยอิ่งอาวรณ์แม้สภาวะอันประณีตสุขุมก็คือตัณหา เป็นอริยสัจจ์ข้อ ๒ ที่ต้องละ ไม่ใช่ส่งเสริม
ฉันยังกำหนดเข้าสู่ความว่างอันให้รสวิเวกลึกซึ้งนั้นเป็นครั้งเป็นคราว แต่เข้าอย่างรู้ว่าเป็นภาวะจิตหนึ่ง มีให้อาศัยระลึกว่าไม่เที่ยง มีให้อาศัยเปรียบเทียบกับภาวะจิตที่ไม่ว่าง คือรู้ว่าว่างหายเป็นอย่างไร กลับจากความว่างหายคืนสู่ความมีความเป็น มีความหนาทึบจับต้องได้ของกาย หลายครั้งเข้าก็เกิดความรู้ชัดว่าสภาวจิตทั้งว่างกับไม่ว่างนั้นมีลักษณะต่างกันแค่ไหน อย่างไร เท่านี้ก็ไม่มีอาการติดใจหรือ ‘จมไปกับความว่างหาย’ อีกแล้ว
หลักการที่จะไม่หลงก็วนเวียนอยู่แค่นี้เอง เปรียบเทียบให้เห็นความต่างตามจริง ยอมรับทุกสภาพเท่าที่มันปรากฏ สำคัญคือเมื่อเกิดภาวะใหม่โดยเฉพาะที่ดีๆแล้วจะเกิดความติดใจโดยไม่รู้ตัวเท่านั้น ถ้าแม่นหลักการและคอยสำรวจตรวจสอบก็คงไม่มีปัญหาอะไร ก้าวหน้าแค่ไหนก็ไม่ต้องกลัวหลงติดกับดักไหนๆเลย
วันอาทิตย์เมื่อมีโอกาสอยู่กับบ้านปิดห้องภาวนาทั้งวัน หลังจากเดินจงกรมได้เกือบชั่วโมง ก็รู้สึกว่าจิตมีมหากำลัง มหาสติ มหาปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละก้าวแต่ละกระดิกแบ่งแยกกันเป็นขณะๆชัดกริบ เพราะสติรู้คงที่ต่อเนื่องแทบไม่มีภวังค์แทรกคั่น ความเคลื่อนไหวของกายจึงเหมือนช้าลง และถูกรู้ออกมาจากสุญญากาศอันปราศจากอัตตาของจิตผู้รู้
ฉันเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าภาวะรู้เห็นกายใจอย่างเต็มที่เกิดขึ้นแล้ว สมควรจะทำอะไรต่อ ก็ได้คำตอบจากโพชฌงค์ ๗ ทันทีว่า ความวางเฉยต่อสภาพรู้ตั้งมั่นยังไม่บริบูรณ์ เพราะถ้ามีความวางเฉยอย่างบริบูรณ์ ย่อมรู้เฉยๆเรื่อยไปโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจะต้องทำอะไรต่อ
การวางเฉยในขั้นนี้ก็อาศัย ‘การยอมรับสภาพสงสัย’ เหมือนบันไดขั้นแรกๆนั่นเอง เพียงแต่คราวนี้พิเศษกว่าขั้นแรกๆตรงที่ผลทางอาการแห่งจิตนั้นต่างกันลิบลับ เพราะสภาพสงสัยผุดขึ้นน้อยเท่าน้อยยิ่งกว่าความบางของใยแมงมุมที่ลอยแผ่วลงตกกระทบผิวน้ำใสแจ๋ว ความรำคาญอันเกิดจากการเห็นเส้นใยนั้นก็แผ่วแสนแผ่วจนเรียกว่ามีเหมือนไม่มี แต่เมื่อสามารถยอมรับสภาพเล็กน้อยยิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้ เห็นสภาพเล็กน้อยยิ่งที่ถูกรู้นั้นสลายลงตามธรรมดา ผลคือความบริบูรณ์แห่งอุเบกขา วางเฉยโดยปราศจากความไหวติง แม้แต่เงาแห่งความคิดทาบลงมายังพื้นจิตก็รู้โดยไม่หลงสำคัญ ไม่หลงเต็มใจยินดีให้เงาดังกล่าวอาศัยอยู่เพื่อความเจริญขึ้นของอุปาทานว่าเป็น ‘ตัวฉัน’
ความวางเฉยยอมรับตามจริงขนานแท้นั้น หาใช่เกิดขึ้นกับฌาน หาใช่เกิดขึ้นเฉพาะกับจิตดีๆ แต่เกิดขึ้นกับจิตธรรมดาๆทั่วไปที่มีสติประกอบอยู่ รู้ว่าจิตก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง อย่างที่โขดหิน ทะเล แสงแดด และระลอกลมทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติต่างๆตามประเภทของตน ไม่มีความหวังให้จิตปฏิวัติเป็นอะไรที่นอกเหนือไปจากธรรมชาติที่มันกำลังเป็น เหมือนนั่งมองทะเลโดยไม่เคยปรารถนาให้ธาตุน้ำแปรเป็นธาตุอื่นที่วินาทีนั้นมันไม่ใช่
ภาวะของจิตที่ ‘ไม่มองไปข้างหลัง ไม่หวังไปข้างหน้า’ นั้นสุขพอแล้ว ถึงแม้มรรคผลไม่มีจริง แต่ความสุขระดับนี้ก็ทำให้ฉันไม่ผิดหวังแล้ว เห็นว่าคุ้มแล้วกับการลงทุนลงแรงในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
 
วันที่ ๗: เห็นนิพพาน
เป็นวันจันทร์ที่ฉันตื่นขึ้นทำความเพียรตามปกติ ตาเปิดมองโลกด้วยความตื่นเต็ม ใจเปิดมองสภาพทั้งหลายด้วยความตื่นรู้
หลับตาทำสมาธิ ตั้งต้นด้วยความปลอดโปร่งสบาย แค่กำหนดอิริยาบถนั่ง รู้สึกครบทั้งหัว ตัว แขน ขาคงที่ รู้ว่ามีลมออก มีลมเข้าอย่างเป็นสุขทั่ว ก็เห็นลักษณะเด่นของจิตกับกายโดยความเป็นต่างหากจากกัน ทำให้มีความรู้ชัดว่าอิริยาบถไม่ใช่ตัวตน จิตรวมเด่นเป็นแค่ภาวะผู้ดูความไม่ใช่ตัวตนของอิริยาบถ บังเกิดฉ่ำชื่นในรสวิเวกอันซ่านเย็นไปทุกขุมขน
ขณะหนึ่งที่จิตคลายจากสภาพผนึกแน่นเป็นปึกแผ่น โรยราลงจากลักษณะแผดสว่างมาเป็นสว่างนวล ใจหนึ่งก็สั่งว่าให้ลุกขึ้นเดินจงกรม อีกใจก็อยากนั่งแช่อีกสักพัก เพราะสติยังรู้อยู่กับภาวะของจิต เห็นว่านั่งนิ่งๆก็ทราบชัดดีว่าสว่างน้อยลง ขอบรัศมีแคบลงด้วยใจยอมรับอนิจจังโดยดีไม่มีเงื่อนไข รู้ยิ่ง วางเฉยยิ่ง ปราศจากความคิดปรุงแต่งเสริมเติมยิ่ง
เสียงจักจั่นเรไรตามสุมทุมพุ่มไม้ในละแวกใกล้ดังระงมกระทบโสต ฉันเห็นอาการไหวตัวของจิต คือมีอาการแปรจากลักษณะรู้ที่จิตเอง ไปรับรู้ส่ำเสียงน่าอภิรมย์ของสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ข่ายคลื่นเสียงดุจมนต์กล่อมโลกนั้นก่อให้เกิดความสงบที่จิต และมีความพึงใจในรสแห่งความสงบนั้น แต่ก็เห็นอีกด้วยว่าความสงบดังกล่าวเป็นของปรุงแต่งขึ้นตามหลังเสียงกระทบหู โดยเดิมไม่มีความสงบอยู่ก่อน และอีกเดี๋ยวจะต้องแปรไปเป็นธรรมดา แม้สุขจริงก็ไม่น่าอาลัย เพราะไม่มีอะไรเลยที่เป็นตัวตนให้ร้องขอตามปรารถนาได้แม้กระทั่งตัวจิตผู้รู้เสียงเอง
จิตตรองอยู่แต่ว่าเมื่ออุปาทานหายไป จะเหลืออะไรนอกจากความว่างจากตัวตน… ฉับพลันนั้นเองฐานที่ยืนของอัตตาก็หมุนควงสู่ความทลายลงดุจความพินาศของพื้นโลก กลายเป็นความว่างหายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ถัดมาจึงบังเกิดแสงสว่างพลุ่งโพลงจากความว่างพิสุทธิ์ ดุจเดียวกับสายฟ้าที่สว่างขึ้นรอบทิศ ยังความมืดมนอนธการให้หายไป แลเห็นแต่ความจริงคือมหาสมุทรแห่งความว่าง ไร้รูป ไร้นาม ไร้นิมิตแม้น้อยเท่าน้อย…
และจิตที่แผ่กว้างเบิกบานออกเป็นอนันต์ก็แค่เพียงธรรมชาติหนึ่งที่ต้องถดถอยกลับสู่ภาวะรับรู้ด้วยหูตาตามปกติ ริมฝีปากของฉันสยายแย้มจนสุดตามวิสัยแห่งจิตอันโสมนัสในธรรมาภิสมัย พุทโธ่เอ๋ย! นึกว่านิพพานซ่อนอยู่ที่ไหน ขณะแห่งการรู้แจ่มแจ้งตามจริง แทงทะลุกำแพงบดบังแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เสียได้ นิพพานก็ปรากฏแก่จิตตรงนั้นเอง เปิดเผยตัวเองและถูกรู้ได้จากทุกแห่งในจักรวาล สมดังพระพุทธวจนะที่ว่านิพพานเข้าถึงได้จากทุกทิศ เป็นธรรมชาติไร้ที่อยู่ เป็นสิ่งไร้ความเคลื่อนไหว เป็นมหาธาตุอันไร้การปะปนกับนานาธาตุ เป็นความว่างที่ไม่มีขนาด ไม่มีนิมิต และไม่มีที่ตั้ง ผู้รู้นิพพานจึงกลับมาเล่าขานตรงกันว่านิพพานเป็นเหมือนมหาสมุทร แต่บอกไม่ได้ว่ากว้าง ยาว ลึกเพียงใด
และความที่ไม่ต้องมีขนาด ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กับธาตุหยาบใดๆแม้กระทั่งวิญญาณธาตุ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ในปหาราทสูตรความว่า แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร หนำซ้ำสายฝนจากอากาศก็ตกลงสู่มหาสมุทรอีก แต่มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะกลุ่มน้ำเหล่านั้นเลย ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยบรรดาภิกษุเหล่านั้น
ความเป็นเช่นนั้นของนิพพานย่อมปรากฏแก่ผู้เจริญสติปัฏฐานจนสมควรจะได้เห็น ดังเช่นที่พระอรรถกถาจารย์บรรยายไว้ในอรรถกถาวชิรสูตรถึงประสบการณ์การเข้าถึงมรรคผลระดับต่างๆไว้อย่างน่าเลื่อมใส มีใจความโดยสรุปสำหรับขณะแห่งการเกิด ‘มรรคจิต’ ว่า…
ในยามราตรีคือเวลาที่มืดสนิท ที่ได้ชื่อว่ามืดสนิทเพราะห้ามไม่ให้การเห็นทางตาเกิดขึ้น เมื่อใดที่พระโสดาปัตติมรรคอุบัติขึ้นนั้น ก็จะเห็นเหมือนการแลบของสายฟ้านั่นเอง การเห็นนิพพานในขณะแห่งพระโสดาปัตติมรรค เหมือนการเห็นทัศนียภาพรอบด้านของคนมีตาดีขณะฟ้าแลบ
นี่เป็นการบรรยายประสบการณ์ขณะบรรลุธรรมซึ่งฉันคิดว่าดีที่สุด มีคำแวดล้อมครบถ้วนที่สุด โน้มน้าวให้ผู้บรรลุธรรมระลึกขณะแห่งมรรคจิตได้ชัดที่สุดเท่าที่ฉันพบมา เพราะเป็นเช่นที่ท่านจาระไนไว้จริงๆ โลกถูกปกคลุมด้วยความมืดมนอนธการ แสงอาทิตย์ยังนับว่ามืดอยู่ เพราะเพียงกระทำตาให้เห็นรูปอย่างผิวเผิน หรือแม้แสงอันเป็นมหาโอภาสในสมาธิจิตก็ยังสลัวเลือนอยู่ เพราะมีม่านหมอกความลุ่มหลงในจิตตนเองเป็นเครื่องบดบังความจริงขั้นสูงสุด แต่แสงแห่งพระโสดาปัตติมรรคนั้นประดุจฟ้าแลบที่กระทำความมืดให้พินาศลงชั่วคราว ความว่างที่มีอยู่แล้ว เปิดเผยอยู่แล้ว เป็นความจริงอยู่แล้ว ย่อมปรากฏแสดงตนเองอย่างแจ่มชัด ไม่เหลือความสงสัยเคลือบแคลงอีกเลยว่า ‘ความจริงอันเป็นที่สุด’ มีลักษณะอย่างไร
ธรรมาภิสมัยเป็นสิ่งน่าพิศวง ดุจมหาเพลิงที่ลุกพรึ่บขึ้นทำลายความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยให้หมดสิ้นไป ทางแห่งความหลงไร้สติไปในบาปเวรร้ายแรงต่างๆถูกปิดตายด้วยความรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบปลาบเดียวนั้นเอง คนธรรมดาอย่างมากเข้าถึงความคิดอันชาญฉลาด แล้วอาจหักเหวิถีชีวิตด้วยความคิด แต่คนที่เจริญสติปัฏฐานจนเข้าถึงมรรคจิตได้นั้น ย่อมทำเส้นทางในสังสารวัฏให้หดสั้นลง และเห็นจุดหมายปลายทางอันเป็นที่จบที่สิ้นของวังวนทุกข์อย่างแจ่มชัด สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีในปัญจเวรภยสูตร ใจความโดยสรุปคือ…
ดูกรคฤหบดี เมื่อใดภัยเวร ๕ ประการ ของอริยสาวกสงบแล้ว เมื่อนั้นอริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง รวมทั้งข้อปฏิบัติอันประเสริฐ อริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นควรพยากรณ์ตนเองได้ว่าเราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในภายหน้า
ผู้ก่อภัยเวรย่อมประสบกับภัยเวร อาจจะในชาตินี้หรือในชาติหน้า ภัยเวร ๕ ประการได้แก่การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ และการดื่มน้ำเมาจนตั้งอยู่ในความประมาท ภัยเวรเหล่านี้ฉันละได้นานแล้วก่อนเห็นนิพพาน และเมื่อเห็นนิพพานแล้วก็สำรวจเห็นชัดว่าจิตตัดเด็ดขาดในภัยเวรเหล่านั้นแน่ๆ เพราะใจไม่ถึง ใจไม่ยินดี และใจไม่เอา ความเป็นโสดาบันคือผู้มีใจถึง ใจยินดี และใจเอาเพียงความไร้ภัยเวรเท่านั้น พูดง่ายๆคือโสดาบันเป็นผู้สะอาด มั่นคงในศีล ๕ โดยไม่ต้องรักษา เพราะไม่เอาภัยเวรออกมาจากจิต หาใช่ผู้ต้องข่มใจเอาชนะความอยากละเมิดศีล ๕ เยี่ยงปุถุชนไม่
ธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างได้แก่
๑) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเมื่อตนบรรลุธรรมได้ด้วยวิธีการของพระองค์ท่าน แล้วพระองค์ท่านจะเป็นผู้ไม่รู้จักทางนี้ ไม่เห็นทางนี้ ไม่สำเร็จธรรมเห็นนิพพานตามทางนี้ได้อย่างไร
๒) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ไม่เชื่อตามๆกันอย่างไร้เหตุผลว่ามรรคผลเป็นของล้าสมัยไปได้ เพราะธรรมทั้งปวงเป็นสิ่งไม่จำกัดกาล ปฏิบัติตนให้พร้อมดูได้เมื่อไหร่ก็เห็นได้เมื่อนั้น
๓) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ คือเห็นว่าอริยบุคคลมีจริง และเดิมทีก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าย่อมกลายเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้ควรแก่การรับไหว้ ผู้ควรแก่การรับทาน เป็นนาบุญอันประเสริฐที่ไม่มีอื่นยิ่งกว่า
๔) มีศีลที่พระอริยเจ้าปรารถนา ไม่อาจถูกครอบงำด้วยตัณหาและทิฐิให้ผิดศีลผิดธรรม ศีลนี้ย่อมเกื้อกูลให้เกิดสมาธิจิตได้ง่าย
ส่วนข้อปฏิบัติอันประเสริฐคือการที่อริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา กระทำไว้ในใจโดยแยบคายว่าเมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ โดยย่นย่อคือทุกข์เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ เมื่อรู้ชอบแล้วย่อมกระทำทุกข์ให้เบาบางลง จนกระทั่งถึงที่สุดทุกข์ได้
ฉันเห็นแจ้งตามจริงด้วยจิตอันเป็นปัจจุบันตามนั้นทุกประการ ด้วยความสงบแห่งภัยเวร ๕ ประการ ด้วยธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และด้วยข้อปฏิบัติอันประเสริฐเช่นการดำเนินจิตตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ฉันมีจิตอันปลอดโปร่ง สว่างโพลน เป็นผู้รู้จักนิพพาน ย่อมมั่นใจในตนเองว่าเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เป็นโสดาบันผู้จะไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ธรรมขั้นสูงสุดในภายภาคหน้า
การจะมีภพชาติสิ้นสุดลงเมื่อใด อาจไม่เป็นที่ปรากฏชัด ผู้เป็นโสดาบันไม่อาจพยากรณ์ตัวเอง แต่พระพุทธองค์ตรัสรับรองไว้หลายแห่งว่าเกิดเป็นมนุษย์อีกอย่างมากที่สุดไม่เกิน ๗ ชาติก็จะต้องสำเร็จอรหัตตผล นั่นหมายความว่าถ้าใช้ชีวิตประสาฆราวาสทั่วไปไม่ออกบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งในปัจจุบัน ก็ต้องเดินทางกันต่อ เพียงแต่ไม่ ‘ไกลมาก’ เหมือนปุถุชน อย่างเช่นในเสขสูตร พระพุทธองค์ตรัสบอกเขตจำกัดไว้ว่าใครทำสังโยชน์ ๓ ให้ขาดสิ้น จะท่องเที่ยวไปในความเป็นเทวดาและมนุษย์อย่างมาก ๗ ครั้ง แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งมีไม่เท่ากันในอริยบุคคลแต่ละท่าน
เพื่อความชัดเจนว่ามีกิเลสใดขาดสูญไป มักใช้หลักเทียบเคียงกับ ‘สังโยชน์’ สังโยชน์คือกิเลสเครื่องผูกใจ บางท่านเปรียบไว้กับโซ่ร้อยรัด ๑๐ เส้น ดังนี้
๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตัวของตน
๒) วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดาและพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้
๓) สีลัพพตปรามาส ความเข้าใจผิดว่าความบริสุทธิ์อาจเกิดขึ้นได้ด้วยศีลพรตนอกศาสนาที่ปราศจากมรรคมีองค์ ๘
๔) กามราคะ ความติดใจในกามคุณ
๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
๖) รูปราคะ ความติดใจในฌานอาศัยรูป
๗) อรูปราคะ ความติดใจในฌานอาศัยอรูป
๘) มานะ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่
๙) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
๑๐) อวิชชา ความไม่รู้ในสัจจะอันแท้จริง
สังโยชน์ ๓ ข้อแรกถูกล้างผลาญไปพร้อมกันในคราวเดียวด้วยมหาเพลิงคือพระโสดาปัตติมรรค แต่พระโสดาปัตติมรรคไม่อาจล้างผลาญสังโยชน์ข้อต่อๆมาได้ โสดาบันบุคคลจึงเป็นผู้ที่ยังต้องศึกษา ยังต้องทำกิจคือเจริญสติปัฏฐานต่อไปเพื่อให้เกิดไฟล้างครั้งต่อๆมาจนกว่าอวิชชาจะสิ้น
สิ่งที่ผู้ศึกษาธรรมมักสงสัยและสับสนกันอย่างที่สุดคือถ้าเห็นกายใจไม่ใช่ตัวตน แล้วเหตุใดจึงยังมีราคะ โทสะ โมหะอยู่ ความเห็นอนัตตาของพระโสดาบันกับพระอรหันต์แตกต่างกันอย่างไร
ตรงนี้ถ้าดูภิกษุนามว่าเขมกะกล่าวไว้ในเขมกสูตร ว่าด้วยความไม่มีตนในขันธ์ ๕ ก็อาจเข้าใจกระจ่างและหายสงสัย ท่านกล่าวกะเหล่าภิกษุร่วมสมัยว่าอย่างนี้…
กระผมไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในรูป ทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีนอกเหนือจากรูป ไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่นอกเหนือจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่าตัวเรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ (ทั้งที่กระผมก็ไม่ได้พิจารณาเห็นว่าอุปาทานขันธ์ ๕ นี้เป็นเรา)
แล้วท่านเขมกะก็กล่าวเปรียบกับกลิ่น จะเป็นกลิ่นดอกบัวก็ดี กลิ่นดอกบัวหลวงก็ดี กลิ่นดอกบัวขาวก็ดี กลิ่นดอกบัวเหล่านั้นไม่ควรกล่าวว่ากลิ่นเป็นของใบ กลิ่นเป็นของสี หรือว่ากลิ่นเป็นของเกสร โดยที่ถูกต้องกล่าวว่ากลิ่นเป็นของดอก ซึ่งฉันใดก็ฉันนั้น ท่านไม่กล่าวว่าตัวเรามีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในสิ่งอื่นนอกเหนือจากขันธ์ทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ แต่ที่รู้สึกว่า ‘เรามี’ เป็นเพียงอุปาทานอันเกิดจากการประชุมขันธ์เท่านั้น รู้ทั้งรู้ว่าตัวเราเป็นเพียงอุปาทาน แต่ก็ยังถอนมานะไม่ได้ ยังมีความยินดีเต็มใจในการเกิดอุปาทาน รวมทั้งยังไม่อาจทำลาย ‘ความไม่รู้’ หรืออวิชชาอันเป็นที่สุดของกิเลสลงได้
สรุปคืออุปาทานในขันธ์ ๕ ของอริยเจ้าชั้นต้นๆนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ถ้าว่าตามความเห็นแล้ว หรือหากให้พูดแล้ว ท่านจะไม่กล่าวเลยว่าในขันธ์ ๕ มีตัวตน หรือนอกขันธ์ ๕ แม้กระทั่งนิพพานเป็นตัวตน อริยเจ้าผู้รู้จักนิพพานย่อมไม่มีความเห็นผิด เพียงแต่ยังถอนรากแห่งราคะและโทสะไม่ได้ ยังถอนมานะว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ไม่ได้ เพราะยังเอาชนะความอยากไม่ได้ อวิชชาจึงบังจิตได้อยู่ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือดูขันธ์ ๕ เกิดดับไปเรื่อยๆจนกว่าจะถอนกิเลสได้หมดนั่นเอง
แต่ถึงแม้พระโสดาบันยังถอดถอนกิเลสไม่ได้ พวกท่านก็รู้ว่าสิ่งใดดีที่สุด รสใดเลิศสุด เพราะมหาสุญญตาเป็นสัจจะที่ปรากฏให้รู้ได้ไม่จำกัดกาล จะสองพันปีก่อน จะเป็นปีนี้ หรือจะเป็นกี่ล้านปีข้างหน้า ก็ยังคงปรากฏความเป็นรสอันเหนือรสอยู่เช่นนั้น รสแห่งความว่างในนิพพานวิเศษกว่ารสหวานชื่นอื่นใดอย่างเทียบกันไม่ติด เพราะรสแห่งความกำหนัดในวัตถุกาม และแม้รสแห่งความหวานชื่นในฌาน ต่างเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ หวงแหนไว้ เหนี่ยวรั้งไว้ ซึ่งที่สุดก็ไม่อาจเป็นไปได้ดังใจ สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายย่อมแปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่รสแห่งความว่างจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องหวงแหน ไม่ต้องเหนี่ยวรั้งแต่อย่างใด เพราะนิพพานไม่มีการมา ไม่มีการไป ไม่มีความเคลื่อนแม้น้อยเท่าน้อย เพราะธรรมชาติแห่งความเป็นนิพพานไม่มีกาลเวลา จึงปราศจากการตั้งต้นเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีการแปรปรวน และไม่มีอะไรไปทำให้ดับลง
นิพพานไม่มีการมาการไป หมายถึงไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปครับ
มีแต่ธรรมชาติแบบนิพพานที่ปราศจากกาล เป็นคนละระนาบกับสังสารวัฏที่เป็นของปรุงแต่ง
พระโสดาบันรู้ว่านิพพานไม่หายไปไหน เพราะถ้าเมื่อใดท่านมีกำลังหนักแน่นเป็นหนึ่ง ย่อมมีสิทธิ์ดำเนินจิตดังเช่นที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์คือ...
๑) ยินดีในความวางเฉยในกายใจ
๒) เห็นแจ้งในความวางเฉยนั้น
๓) พิจารณาแล้วเข้าผลสมาบัติ
ผลสมาบัติหมายถึงอริยสมาธิ คือการยับยั้งอยู่ในจิตที่เป็นผลอันเกิดขึ้นหลังพระโสดาปัตติมรรค ขณะแห่งจิตนั้นมีสติบริสุทธิ์เห็นแจ้งว่าธรรมชาติทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ผัสสะที่กระทบจิตในขณะแห่งการเข้าอริยสมาธิคือความว่าง ความไม่มีนิมิต และความไม่มีที่ตั้ง อันเป็นลักษณะของนิพพาน หรือพูดง่ายๆว่านี่คือการเข้าสมาธิที่มีนิพพานเป็นเครื่องหน่วงจิตนั่นเอง
หลังปรากฏการณ์บรรลุธรรม ฉันลองนั่งกำหนดรู้ลมหายใจอย่างที่เคยกำหนด เห็นอิริยาบถนั่งคงที่อย่างที่เคยเห็น รู้ชัดในสุขเวทนาอันเกิดพร้อมอยู่ในสายลมหายใจและอิริยาบถนั่งอันคงเส้นคงวานั้น แล้วเกิดความวางเฉย ไม่ติดใจ ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวตน ไม่มีมโนภาพของบุคคล ตัวตน ชายหญิงใดๆหลงเหลืออยู่ สติเกิดขึ้นเต็มที่เห็นชัดในอาการวางเฉยนั้น ว่าปราศจากเยื่อใยอาลัยทั้งปวง จิตอยู่ในอาการตรองว่าไม่มีอะไรน่ายึดมั่นถือมั่น แล้วก็บังเกิดอาการรวมดวงใหญ่เป็นฌาน ปฏิรูปไปอยู่ในสภาพ ‘ยกขึ้นบก’ ทันที คือเห็นว่ากายใจหายไป ความว่างปราศจากนิมิตและที่ตั้งปรากฏแทน เพียงแต่ไม่มี ‘แสงประหารกิเลส’ ผุดโพลงขึ้นเหมือนขณะโสดาปัตติมรรคอุบัติเท่านั้น
ฉันเห็นนิพพานโดยความเป็นบก เพราะเห็นโดยความเป็นที่ยุติ เป็นที่ปราศจากความเคลื่อน แล้วก็มาพบว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้โดยความเป็นเช่นนั้นด้วย คือท่านตรัสในอัตตทัณฑสุตตนิทเทสโดยเปรียบว่าความกำหนัดเหมือนห้วงน้ำใหญ่ เปือกตมคือกามเป็นสภาพล่วงได้โดยยาก ส่วนอมตนิพพานเรียกว่าบก เพราะเป็นสภาพที่สงบจากสังขารทั้งปวง (จึงไม่อาจมีรูปนามอันเจือด้วยกามใดๆมาแผ้วพานหรือตั้งอยู่ที่นี่ได้)
ฉันเห็นนิพพานโดยความเป็นจริงแท้หนึ่งเดียว นอกเหนือจากนั้นเป็นเพียงมายาลวงใจ แล้วก็มาพบว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้โดยความเป็นเช่นนั้นด้วย คือท่านตรัสในธาตุวิภังคสูตรว่าผู้หลุดพ้นย่อมตั้งอยู่ในความจริง สิ่งที่เปล่าประโยชน์ได้แก่ความปรุงแต่งอันแปรปรวนเป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดาได้แก่นิพพานนั้นจริง
เข้าผลสมาบัติหลายรอบจนรู้แล้วว่าที่สุดก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีรางวัลใหญ่เกินกว่าสิ่งที่ปรากฏเปิดเผยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาแค่เขลาไปและมองไม่เห็นเอง แม้บังเกิดปีติยิ่งใหญ่ในธรรมาภิสมัย ฉันก็ไม่รู้สึกแตกต่างมากนักระหว่างก่อนได้กับหลังได้มรรคผล เห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ฉันสมควรจะได้เพราะทำเหตุไว้พอดีกับผลอยู่แล้ว
มองย้อนกลับไป ฉันก็เห็นว่าผู้ภาวนาควรพอใจตั้งแต่สามารถเห็นได้ว่าขันธ์ ๕ เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา เพราะเริ่มสิ้นความอยากมีภัยเวรแล้ว ปลอดภัยจากนรกแล้ว ผู้มีองค์ทั้ง ๘ ของมรรคพร้อมแล้วย่อมไปสู่สุคติเป็นธรรมดา ไม่ว่าใจจะอยากไปหรือไม่อยากไปก็ตาม
ฉันเป็นผู้หนึ่งที่ไม่รู้อนาคตของตนเอง จึงไม่เคยนับถอยหลังว่าวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไรจะสำเร็จมรรคผล แต่เมื่อประกอบเหตุไว้พอดีกับผล ผลย่อมเกิดเองโดยไม่ต้องเรียกร้องปรารถนา ดังเช่นในนาวาสูตรพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า รอยนิ้วมือหรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่าวันนี้ด้ามมีดของเขาสึกไปประมาณเท่าใด เมื่อวานสึกไปประมาณเท่าใด วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่าใด นายช่างไม้มีความรู้แต่ว่าด้ามมีดสึกไปแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุเจริญภาวนาอยู่ ก็หารู้ไม่ว่าวันนี้อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้วประมาณเท่าใด เมื่อวานสิ้นไปแล้วประมาณเท่าใด หรือวันก่อนๆ สิ้นไปแล้วประมาณเท่าใดก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นเมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่าสิ้นไปแล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าใครมีบารมีอย่างกลาง เจริญสติปัฏฐาน ๗ เดือนจะบรรลุอรหัตตผล แต่ฉันเจริญสติปัฏฐาน ๗ เดือนเพิ่งบรรลุโสดาปัตติผล แสดงว่าบารมีต้องอย่างอ่อนเป็นแน่แท้ การดูบารมีอ่อนบารมีแก่จึงไม่ใช่วัดกันจากที่สั่งสมมาแล้วในอดีตชาติ แต่ต้องดูความเพียรอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันด้วย เพศฆราวาสเป็นทางแคบ เป็นที่มาของฝุ่นละออง ไม่ได้มีหน้าที่ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเหมือนเพศบรรพชิต แต่สิ่งสำคัญคือฆราวาสก็เจริญสติปัฏฐานได้ถ้าสมัครใจ และสามารถบรรลุธรรมที่ถูกต้องได้ในเวลาไม่นานเกินรอ ขอเพียงมีเหตุปัจจัยที่สมน้ำสมเนื้อกันกับมรรคผลเท่านั้น อย่าต้องพูดถึงพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีเวลาเต็มที่เพื่อการนี้ จะยิ่งมิบรรลุธรรมเร็วขึ้นเพราะปราศจากอุปสรรคข้อติดขัดดังเช่นที่ฆราวาสต้องประสบหรอกหรือ?
นี่เป็นแค่วันจันทร์ธรรมดาอีกวันหนึ่ง ตื่นขึ้นไม่ได้นึกว่าจะมีอะไรเป็นพิเศษ และเมื่อ ‘มีอะไรเป็นพิเศษ’ แล้วก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตต่างไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ฉันยังอาบน้ำแต่งตัวไปทำงานตามปกติ คิดเหมือนปกติ พูดคุยกับผู้คนเหมือนปกติ กลับบ้านนั่งสมาธิเดินจงกรมเหมือนปกติ รู้สึกสุขทุกข์เหมือนปกติ ที่รู้สึกเป็นปกติเพราะมีปกติเห็นกายใจโดยความเป็นของเกิดดับอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาพบอนิจจังของกายใจหลังเห็นนิพพานแต่อย่างใด
 
วันที่ ๘-๑๒: สมถะและวิปัสสนา
ทุกเช้าฉันยังตื่นตีสี่ตามเคยด้วยความเคยชิน แปลกไปบ้างคือมักลุกขึ้นมาเดินดูดาวเล่น หรือนั่งอ่านพระไตรปิฎก ไม่ได้นั่งสมาธิเดินจงกรมโดยเฉพาะ ด้วยความรู้สึกว่าแม้อาการเดินเล่นในบัดนี้ก็กลายเป็นเวลาของการภาวนาได้
วันหนึ่งฉันเกิดความคิดขึ้นมา ว่าถ้าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ ฉันคงจะไปกราบเพื่อขอใช้เศียรเกล้าแทนแผ่นรองบาทสักครั้งในชีวิต และจะได้ทูลถามเป็นการส่วนตัวว่าเมื่อถึงโสดาปัตติผลแล้ว สำหรับฉันควรทำเช่นใดต่อไปเป็นพิเศษ เพื่อถึงยอดแห่งความสวัสดีโดยไม่เนิ่นช้า
กลับเข้าห้องนอนเปิดคอมพิวเตอร์ เกิดความอยากรู้ขึ้นมาว่าฆราวาสในสมัยพุทธกาลมีที่บรรลุธรรมกันมากน้อยเพียงใด โดยจำได้เลาๆว่าเคยอ่านผ่านตา เห็นมีอุบาสกอุบาสิกาที่ยังบริโภคกามแต่สามารถปฏิบัติภาวนาได้ถึงระดับอนาคามีมากมาย ฉันอยากอ่านสูตรนั้นอีก จึงค้นหาด้วยคำสำคัญคือ ‘อุบาสก’ และ ‘บริโภคกาม’ ก็พบกับมหาวัจฉโคตตสูตร ซึ่งเป็นสูตรเกี่ยวกับนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าเฝ้าและกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม ซึ่งหลังจากที่พระศาสดาแสดงธรรมที่เป็นอกุศลและธรรมที่เป็นกุศลตามลำดับ ท่านวัจฉะก็เกิดความสงสัยและทูลถามว่าภิกษุกับภิกษุณีผู้เป็นสาวกแห่งพระองค์มีมากหรือไม่ที่สำเร็จคุณวิเศษต่างๆ พระองค์ตรัสตอบว่ามีมากไม่น้อยเลย
ท่านวัจฉะก็สงสัยและทูลถามต่อว่านอกจากภิกษุและภิกษุณีแล้ว แม้อุบาสกกับอุบาสิกาผู้ไม่ถือบวช มีมากไหมที่บรรลุธรรมในระดับที่ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่ามีอยู่มากอีกเช่นเคย แล้วบัดนั้นท่านวัจฉะก็ทูลถามถึงผู้สำเร็จในระดับโสดาบัน ใจความคือ
“ก็อุบาสกหรืออุบาสิกาแม้คนหนึ่งผู้เป็นสาวกของพระโคดมฝ่ายคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว บริโภคกาม ทำตามโอวาทคำสอนของพระองค์แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลงแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าแล้ว ไม่เชื่อศาสดาอื่นแล้ว มีอยู่หรือไม่พระเจ้าข้า?”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ดูกรวัจฉะ พวกอุบาสกและอุบาสิกาผู้เป็นสาวกของเรา ฝ่ายคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว บริโภคกาม ทำตามโอวาทคำสอนของเรา ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลงแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าแล้ว ไม่เชื่อศาสดาอื่นแล้ว มีอยู่ไม่ใช่เพียงร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย ที่แท้มีอยู่มากทีเดียว!
ฉันอ่านถึงตรงนี้แล้วยกมือไหว้อนุโมทนาท่วมศีรษะ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาแห่งองค์ศาสดาเป็นล้นพ้น คนรุ่นเรารู้จักฆราวาสดังๆผู้บรรลุธรรมไม่กี่คน เช่นอุบาสกอย่างเช่นพระเจ้าสุทโธทนะ สมเด็จพระพุทธบิดาผู้บรรลุโสดาปัตติผล หรืออุบาสิกาอย่างเช่นนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ซึ่งก็บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน ความจริงในบันทึกและนอกบันทึกพระไตรปิฎกยังมีฆราวาสบรรลุธรรมอีกมาก อย่างเช่นสันตติมหาอำมาตย์ ก็บรรลุถึงพระอรหัตตผลโดยยังไม่ได้บวชทีเดียว
ท่านวัจฉะฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส มีกำลังใจแก่กล้า เพราะตระหนักว่าธรรมะของพระพุทธองค์ทำสำเร็จกันได้ทุกคน แม้แต่ฆราวาสบริโภคกามยังมีที่บรรลุธรรมกันมาก อย่ากระนั้นเลย ท่านเองสมควรบวช เนื่องจากคิดว่าท่านเองก็ต้องทำได้เช่นกัน และสมควรทำได้อย่างบริบูรณ์ด้วยเนื่องจากเป็นพระ
สำหรับท่านวัจฉะนั้น เดิมทีเป็นนักบวชนอกพระศาสนา ซึ่งตามพระธรรมวินัยต้องอยู่ปริวาสก่อนอุปสมบท คือประพฤติข้อวัตรต่างๆเป็นพิเศษให้ภิกษุดูใจจนกว่าจะยอมรับ ซึ่งท่านวัจฉะก็ทูลพระพุทธองค์ว่าคนอื่นเขาอยู่ปริวาสกัน ๔ เดือน ข้าพระองค์ขออยู่ให้ครบ ๔ ปีทีเดียว ซึ่งเมื่อครบตามปณิธานของท่านวัจฉะ ท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพุทธศาสนาสมใจ เมื่อบวชเพียงครึ่งเดือนก็ได้พระโสดาปัตติผล สิริรวมเวลาได้ ๔ ปีกับ ๒ สัปดาห์ท่านก็ล้างคราบความเป็นอัญญเดียรถีย์ สำเร็จมรรคผลเป็นอริยบุคคลองค์หนึ่ง จากนั้นท่านก็เข้าไปกราบทูลขอคำแนะนำขั้นต่อไปจากพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ท่านก็ตรัสตอบว่า
ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงเจริญธรรมทั้งสองคือสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปเถิด ดูกรวัจฉะ ธรรมทั้งสองคือสมถะและวิปัสสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดในธาตุหลายประการ
สรุปคือจะเป็นผู้เริ่มต้นภาวนาหรือผู้ภาวนากระทั่งถึงมรรคผลแล้ว ก็ยังต้องเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไป ใช่จะละเลยส่วนใดส่วนหนึ่งด้วยความประมาทว่าไม่สำคัญ ไม่จำเป็น ตกลงฉันได้คำตอบสองข้อจากพระสูตรเดียว คือทั้งได้รู้ว่าอุบาสกอุบาสิกาที่บรรลุธรรมมีอยู่มาก และได้ทราบว่าเมื่อถึงโสดาปัตติผลแล้วควรเจริญสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก
ฉันกะพริบตาสองสามที ตั้งแต่เจริญสติปัฏฐานสร้างวาสนาให้ตนเองจนได้ร่วมขบวนเห็นนิพพานกับเหล่าสาวกนับไม่ถ้วน ฉันไม่เคยนึกเลยว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา มีแต่ทำตาม ‘คำสั่งของบรมครู’ ในมหาสติปัฏฐานสูตรโดยลำดับ แล้วก็ได้ผลมาตามลำดับ
เคยทราบมาเหมือนกันว่ายุคเรามีการถกเถียงกันมาก ว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา ซึ่งดูที่เถียงๆกันแล้วฉันรู้สึกท้อแท้มากกว่าจะได้ความเข้าใจที่ชัดเจน เลยไม่ให้ความสนใจนัก
แต่พอเห็นว่าพระพุทธองค์ก็ทรงแยกแยะสมถะและวิปัสสนาออกจากกัน กับทั้งแนะให้ทำควบคู่กันยิ่งๆขึ้นไปแม้สำเร็จโสดาปัตติผลแล้ว ฉันจึงตาตื่นและสนใจความต่างระหว่างการปฏิบัติทั้งสองส่วนนั้นจริงๆจังๆ
ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงระบุจำแนกแยกแยะ ว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา แต่พระองค์ก็ทรงแยกหน้าที่ของสมถะและวิปัสสนาไว้ในปฐมปัณณาสก์คือ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะหนึ่ง วิปัสสนาหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้
ในจิตตุปปาทกัณฑ์ของพระอภิธรรมปิฎก นิยามของ ‘ลักษณะจิต’ อันเป็นสมถะและวิปัสสนามีอยู่ค่อนข้างชัดเจนคือ
สมถะมีในสมัยนั้นเป็นไฉน? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าสมถะมีในสมัยนั้น
วิปัสสนามีในสมัยนั้นเป็นไฉน? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าวิปัสสนามีในสมัยนั้น
สรุปว่าอาการที่จิตสงบตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน มีกำลัง คือลักษณะของจิตที่เป็นสมถะ ส่วนอาการที่จิตมีปัญญารู้ชัด ไม่หลงผิด ทำลายกิเลสได้ คือลักษณะของจิตที่เป็นวิปัสสนา พอแยกอย่างนี้ก็มีประโยชน์เหมือนกัน จะได้ทราบว่าระหว่างสมถะและวิปัสสนานั้น ส่วนใดยังอ่อน ส่วนใดที่เข้มแข็งแล้ว
และหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งเข้ามาถึงจิตอย่างถ่องแท้ จะเห็นว่า แม้ศีล ๕ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสมถะ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าความบริสุทธิ์ของศีลทำให้มีความสงบ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิง่าย เนื่องจากไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจนั่นเอง หากเข้าใจว่างานทางสมถะเริ่มขึ้นที่การเพ่งดูลมหายใจหรือบริกรรมอะไรไปเรื่อยโดยปราศจากการรองรับของศีล ผลมักไม่เป็นความสำเร็จทางสมถะ อย่าว่าแต่หวังก้าวขึ้นสู่วิปัสสนา
สำหรับส่วนประสบการณ์ที่ผ่านมาของฉัน พอถึงจุดนี้พอจะตัดสินเป็นส่วนตัวได้ว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา เริ่มต้นขึ้นมานั้น เพื่อให้มีความรู้ชัดทางสมถะหมายถึงการกำหนดรู้เท่าที่จะสามารถรู้ และรู้ให้ต่อเนื่องในอารมณ์เดียวด้วยความจงใจ ถ้าฟุ้งซ่านบ้างก็ช่าง ไม่ใช่ไปคุมแจจนเครียด สำคัญคือไม่ลืมหวนกลับมาพยายามระลึกรู้อารมณ์เดิมหลังจากที่พลัดหลงไปบ้างก็แล้วกัน ส่วนวิปัสสนาเริ่มขึ้นเมื่อจิตสงบจากสภาพฟุ้งแล้ว เริ่มพิจารณาสภาวะที่กำลังปรากฏเด่นเฉพาะหน้าได้แล้วว่ามีลักษณะอย่างไร และลักษณะนั้นคงที่หรือแปรปรวนเป็นธรรมดา
ทบทวนย้อนไปในอดีตเมื่อแรกที่เริ่มสนใจภาวนา พยายามระลึกรู้ให้เป็นวิปัสสนาในระหว่างวันอย่างที่ครูบาอาจารย์หลายๆท่านมักแนะนำ ฉันจะมีสติแบบเข้าข้างตัวเอง คือนึกว่ามีสติตลอดเวลา ปฏิบัติตลอดเวลา เห็นอะไรก็รู้ กระทบอะไรก็รู้ โดยไม่มีสภาพเปรียบเทียบว่าเมื่อไหร่จิตตกจิตขึ้น มีสติคมหรือสติทื่อ ช่วงเวลานั้นจุดบอดก็คือการขาดสมถะนั่นเอง หากปราศจากการทำสมาธิตามรูปแบบเสียบ้าง ก็ยากที่จะมีจิตสงบๆเป็นการตั้งหลักเทียบวัดคุณภาพ
พอมาเจริญสติปัฏฐานจริงจัง ปักหลักตั้งใจรู้ลมหายใจเข้าออกทั้งวันทั้งคืนโดยไม่สนใจว่ากำลังหลับตาหรือลืมตา ความหมายของสมถะก็กระจ่างชัดขึ้น การทำจิตให้มีเครื่องผูก มีเวลาโดยมากนิ่งรู้ ไม่เร่ร่อนแส่ส่ายตามอำเภอใจนั้นแหละ สมถะที่พร้อมให้ต่อยอดขึ้นเป็นวิปัสสนา และลมหายใจก็คือเครื่องมือช่วยเจริญสติใกล้ตัวที่สุด ทำได้ทุกอิริยาบถ ไม่จำกัดเวลา พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญการอบรมสติรู้ลมหายใจบ่อยครั้งที่สุดในบรรดาข้อปฏิบัติอบรมสติทั้งหมดทุกชนิด ถ้าไม่มีหลัก ไม่มีราวเกาะอย่างลมหายใจให้เริ่มต้นก้าวแรก จิตจะออกอ่าวไปเรื่อยๆเพราะไม่รู้จะดูอะไรดี วันๆมีแต่อารมณ์เปะปะมั่วซั่วไปหมด
ลมหายใจเดียวกันอาจเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะรู้ ถ้าแค่รู้ว่าออกหรือเข้าก็เป็นสมถะ แต่ถ้าเห็นว่าออก เห็นว่าเข้า เห็นว่ายาว เห็นว่าสั้น มีความไม่สม่ำเสมอ สติตั้งมั่นรู้อยู่เห็นอยู่ในลมหายใจทั้งปวงว่าแปรปรวนเป็นธรรมดา นั่นคือวิปัสสนาแล้ว จิตที่แยกเป็นผู้รู้ผู้ดูนั่นแหละ อาการติดตามไม่ลดละกระทั่งเกิดความหมายรู้ว่าไม่เที่ยงนั่นแหละ จุดเริ่มของความสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ไม่ต้องไปให้ความสำคัญว่าลมเข้าเรียกว่าเกิด ลมออกเรียกว่าดับ หรือลมเข้ากับลมออกรวมกันเรียกว่าเกิด ลมหยุดเรียกว่าดับ ตรงไหนที่จิตยอมรับได้ว่ามีความต่างสภาวะกัน ตรงนั้นแหละคือจุดที่จิตเริ่มเห็นความดับของสภาพใดสภาพหนึ่ง และแปรเป็นความเกิดของอีกสภาพหนึ่งแล้ว
 
วันที่ ๑๓: รางวัลที่ ๑
วันอาทิตย์นี้ฉันทำตามความตั้งใจ คือขึ้นเครื่องบินไปภาคเหนือด้วยเจตนาจะไปกราบพระภิกษุผู้สอนคำเดียวถึงกับทำให้ฉันนับถือท่านเป็นครูบาอาจารย์ทันที ไม่มีอะไรมากกว่าการรับคำสั่งสอนเพิ่มเติม เพื่อความไม่มีมานะ เพื่อความไม่หลงในการยกระดับจิตวิญญาณพ้นผ่านสภาวะปุถุชน
ระหว่างนั่งอยู่บนเครื่อง ฉันอ่านหนังสือพิมพ์ยอดขายดีตีตลาดระดับชาวบ้านทั่วไปฉบับหนึ่ง เห็นข่าวคนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ซึ่งลงข่าวใหญ่หน้าหนึ่งอยู่เป็นพักๆ อาจเพื่อเพิ่มความหวังให้กับนักเสี่ยงโชคทั่วประเทศที่มักมีความสดชื่นกับฝันลมๆแล้งๆทุกครึ่งเดือน ส่วนใหญ่คนที่ถูกจะปิดบังกันมิดเม้นเพื่อป้องกันการถูกตีหัวโดยไม่รู้ตัว มีเพียงบางส่วนเล็ดลอดเป็นข่าวออกมาได้ จะด้วยความจมูกไวของคนหนังสือพิมพ์หรือเหตุผลกลใดก็ตามที
อะไรบางอย่างทำให้ฉันอ่านข่าวนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากสำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ประกาศรางวัลที่ ๑ ของงวดประจำวันที่ ๑ กรกฎาคม ปรากฏว่าชาวจังหวัดพิษณุโลกฮือฮากันใหญ่ เนื่องจากทราบว่าหมวดหมายเลขรางวัลประจำงวดถูกส่งให้ยี่ปั๊วมาขายในพื้นที่ของจังหวัดจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทราบว่าผู้โชคดีสุดขีดที่ซื้อไปเป็นใครบ้าง กระทั่งเพิ่งเป็นที่เปิดเผยว่าช่างประปาในเขตจังหวัดนั่นเอง เป็นหนึ่งในผู้ซื้อไปถึง ๒ คู่ ร่ำรวยเป็นเงินแปดหลักทันที
พออ่านข่าวแล้วใจหนึ่งก็รู้สึกยินดีกับช่างประปา เพราะทราบว่าการเป็นช่างประปานั้นเหนื่อยยาก เมื่อเป็นแล้วหลายคนมักทำไปทั้งชีวิต แม้ภายหลังมีเงินพอจะมีร้านของตนเอง ส่งลูกหลานเรียนหนังสือได้ แต่ก็ไม่มีใครเต็มใจอยากมาช่วย หากได้เงินสดมาแล้วใช้เป็น ก็ย่อมหลุดจากวงโคจรชีวิตอันยากลำบากทันที
จิตของฉันมีความคมนิ่งในลักษณะหนึ่ง ที่บันดาลให้ปิดตาลงแล้วถามจิตเหมือนยิงกระสุนคำถามเข้าไปที่กลางจอขาวอันราบเรียบ ว่าพวกถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ทำบุญอะไรมา และน่าสงสัยว่าถ้าเคยทำบุญขนาดได้ลาภลอยยิ่งใหญ่เห็นปานนี้ เหตุใดจึงมาเกิดในพื้นเพครอบครัวค่อนข้างอัตคัดกันได้
ในความสว่างว่างอันปราศจากความคาดหมายใดๆ คล้ายแผ่นน้ำสงบถูกก้อนหินกระทบแล้วปรากฏความกระเพื่อมขึ้น เพียงแต่ในที่นี้ไม่ใช่การกระเพื่อมขึ้นเป็นวงลูกคลื่น ทว่ากระเพื่อมขึ้นเป็นนิมิตคล้ายเงาเลือนรางที่ทาบผิวน้ำ ฉันเห็นเค้าของชาวบ้านป่านั่งพนมมือกับพื้น และเค้าเงาของพระธุดงค์ยืนให้พรอยู่ แต่เหมือนมีตัวบอกออกมาจากทั้งนิมิตนั้น เป็นความเข้าใจถึงใจที่ยากจะอธิบายเป็นภาษา ฉันรู้แต่ว่าช่างประปาเคยเป็นคนบ้านป่าที่เดินมาพบพระธุดงค์โดยบังเอิญ และเกิดความเลื่อมใสในความสงบสำรวมสง่างามยิ่ง จึงถวายข้าวปลาที่เอาติดตัวมาใส่บาตรท่านจนสิ้น ไม่เหลือไว้สำหรับตัวเองเลย ไม่กลัวเลยว่าจะหิวโหยอย่างไร
ความจริงข้าวปลานั้นมีปริมาณเพียงน้อย แต่ใจที่ไม่กลัวหิว ไม่กลัวอด กับทั้งเลื่อมใสในจริยาอันสงบสำรวมและราศีผ่องใสของพระธุดงค์ยิ่ง จึงบังเกิดปีติล้นพ้นอยู่เป็นนานนับวันชนิดร่างกายแทบไม่หิวโหยเลย เรียกว่าเป็นใจที่ยิ่งใหญ่เกินธรรมดา อีกทั้งเผอิญพระธุดงค์นั้นเป็นผู้มีจิตอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน จึงเกิดเป็นกรรมขาวติดตัวมาให้ผลหลายชาติแล้ว โดยยังไม่มีท่าทีว่าจะหมดลงง่ายๆเสียด้วย เวลากรรมจะให้ผลมักเป็นไปในทางลาภลอย บางครั้งได้มาเฉยๆ บางครั้งจากการเสี่ยงดวง กรรมขาวของเขามักชนะกรรมขาวประเภทเดียวกันของคนอื่นๆในช่วงเวลาที่ต้องแข่งวาสนากัน โดยช่วงเวลาเหมาะสุดในชาติหนึ่งๆของเขาจะเป็นต้นชีวิต เนื่องจากมีจิตหนักแน่นคิดทำทานทันทีที่เห็นพระธุดงค์โดยบังเอิญ
อย่างไรก็ตาม อดีตคนบ้านป่านั้นโดยปกติมีจิตตระหนี่ ไม่ได้มีใจคิดให้ทานเป็นนิตย์ จะทำบุญต่อเมื่อมีความเลื่อมใสใหญ่ๆและมักจะเป็นไปในทำนองบังเอิญพบ เขาติดนิสัยทำบุญโดยไม่ตั้งใจไว้ก่อน จึงบังเอิญเจอบุคคลหรือเหตุให้ทำโดยบังเอิญบ่อยๆ แต่กรรมที่ตระหนี่เป็นประจำ เป็นอาจิณณกรรมนั้น ให้ผลหนักแน่นกว่า คือส่งให้ไปเกิดในตระกูลที่ไม่ร่ำรวย ต่อเมื่อเติบโตขึ้นแล้วจึงได้ลาภลอยก้อนโตอยู่เสมอๆ
ฉันลืมตาขึ้น สิ่งที่ปรากฏในนิมิตจะเป็นเพียงมายาทางจิตประการใดก็ตามที อย่างน้อยก็ทำให้ฉันปลงโลก คำว่า ‘บังเอิญ’ ไม่มี มีแต่คำว่าเพราะทำเหตุอย่างนี้ จึงเกิดผลอย่างนั้น เพราะทำเหตุอย่างนั้น จึงเกิดผลอย่างนี้ ทำในสิ่งที่เป็นบุญคือกรรมขาว ทำในสิ่งที่เป็นบาปคือกรรมดำ ทำในสิ่งที่จะลอยทั้งบุญและบาปให้หมดคือกรรมไม่ดำไม่ขาว ได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันมีพระพุทธเจ้าตรัสบอกทางไว้โดยชอบ
ฉันน้อมจิตนึกถึงอดีตคนบ้านป่าซึ่งเป็นช่างประปาในชาติปัจจุบัน สัมผัสถึงกระแสความฟุ้งซ่านแน่นทึบ เมื่อเห็นซึ้งเข้าไปในจิตใจอันวุ่นวายของปุถุชนผู้เสวยบุญใหญ่ด้วยความไม่รู้ แทนที่จะเกิดใจริษยาอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็นแบบเขาบ้าง ก็กลายเป็นสลดสังเวชเสียแทน ฉันไม่พยายามดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาต่อไป แต่แค่เห็นสภาพจิตอันเป็นปัจจุบันก็แทบอยากครวญครางออกมาแล้วว่าทุกข์หนอ วุ่นวายจริงหนอ
เทียบจิตเขากับฉัน แล้วก็ตระหนักว่าตัวเองเพิ่งได้ของดีที่สุดในโลก คือจิตอันรู้จักความสงบเย็นเช่นนิพพาน แค่นึกถึงก็ปีติซ่านเย็นไปทั่วทุกตารางนิ้วในร่าง เมื่อน้อมสู่ความว่างก็หมดความอาลัยไยดีในโลกเสียได้ เหลือแต่ความสงบ ตื่นรู้ สว่างโพลง เท่าทันสัจจะความจริงทั้งฝ่ายทุกข์และฝ่ายดับทุกข์ว่าเป็นอนัตตา
ถามคนในโลกว่าถ้ามีคนเสกให้ จะเลือกอะไรระหว่างล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ กับความสงบ ร้อยทั้งร้อยต้องบอกว่าจะเลือกรางวัลที่ ๑ เพราะชั่วชีวิตของคนในโลกรู้จักแต่ความสุขที่ได้จากสิ่งกระทบภายนอก ไม่เคยลิ้มรสความสงบอย่างแท้จริงจากจิตใจเอาเลย ดังนั้นเมื่อพูดถึงความสงบ จึงไพล่ไปนึกถึงความแห้งแล้งของสถานที่ไกลชุมชน หรืออย่างมากก็ความสบายใจหลังยกภูเขาลูกใดลูกหนึ่งออกจากอกเสียได้ แท้ที่จริงแล้วความสงบทางจิต ความระงับอาการทะยานอยากของใจสำเร็จนั้น ให้รสอันลึกล้ำเกินจินตนาการ น่าเศร้าที่ให้ลองลิ้มกันง่ายๆไม่ได้ ต้องแลกด้วยแรงกาย แรงใจ รวมทั้งห้วงเวลาช่วงหนึ่งในชีวิต ที่ไม่ค่อยจะมีมนุษย์หน้าไหนอยากยอมสละให้ เพียงเพื่อทดลองลิ้มรสอันยังไม่เคยรู้นั้น
สำหรับฉัน ถึงตายตอนนี้ก็ไม่เสียใจแล้ว แต่คนได้รางวัลที่ ๑ คงยังทำธุระไม่เสร็จ ยังต้องเสียดายชีวิตไปอีกนาน ที่ต่างประเทศเคยมีข่าวน่าสลดของชายคนหนึ่งซึ่งเพิ่งถูกรางวัลใหญ่ทำนองนี้ แต่เกิดโศกนาฏกรรม ต้องมาด่วนตายจากโลกไปเสียก่อนจะได้ใช้เงิน แค่คิดฉันก็ไม่รู้สึกเสน่หาในลาภลอยของใครแล้ว
เมื่อเดินทางมาถึงเชียงราย ก็ได้กราบพระภิกษุซึ่งฉันนับถือเป็นครูบาอาจารย์ ท่านมารักษาวัดใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งครูบาอาจารย์ของท่านฝากดูแลชั่วคราว อย่างน้อยก็มาฝึกพระรุ่นใหม่ให้สามารถรับช่วงสืบทอดต่อไปได้
ท่านต้อนรับฉันด้วยรอยยิ้มสงบเย็น ฉันกราบท่านด้วยใจเคารพลึกซึ้ง หลังจากมีปฏิสันถารตามธรรมเนียมอยู่ชั่วครู่ ท่านก็ทักขึ้นมาลอยๆว่าลาภใหญ่นั้นต่อให้เป็นลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ สิบครั้งก็แค่นั้นเอง ของมันต้องหมดไป เอาติดตัวไปไม่ได้ เอาไปซื้อสุคติภูมิไม่ได้ เอาไปประกันตัวออกมาจากนรกไม่ได้ แต่พระโสดาปัตติผลนั้นเมื่อได้เพียงครั้งเดียวจะไม่มีวันเสื่อม ปิดประตูอบายเด็ดขาด มีแต่จะเลื่อนชั้นขึ้นสูงในหนทางของสุคติภูมิ รู้แจ้งแทงธรรมยิ่งๆขึ้นไปจนถึงที่สุด
ฉันน้อมหลังก้มกราบท่านหลายครั้งหลายครา ยิ้มปลาบปลื้มขนลุกเกรียวไปทั้งร่าง บันดาลธรรมปีติราวกับเพิ่งบรรลุธรรมใหม่ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ทันทีที่มนุษย์ผู้มีปัญญา มีอวัยวะครบ ได้เกิดศรัทธาจะอุทิศตัวเจริญสติปัฏฐานเต็มกำลัง ในบัดนั้นเขากำลังสร้างโชคให้ตัวเองเหนือกว่าผู้ประสบลาภลอยระดับรางวัลที่ ๑ ทุกชนิดแล้ว
ภพชาติเป็นสิ่งน่ากลัว หมู่ชนผู้ไม่ตระหนักในภัยใหญ่หลวงย่อมหลงใหลแสวงสุขกันอย่างหน้ามืดตามัว วันหนึ่งเมื่อมัจจุราชจะยื่นหัตถ์มาคร่าชีวิตไป พวกเขาย่อมคร่ำครวญด้วยความไม่รู้ และดิ้นรนขอต่อชีวิตด้วยความมาดหมายจะกลับมาเสพสุขอีก กรรมขาวก็ไม่ขยันทำ กรรมไม่ดำไม่ขาวยิ่งไม่ต้องพูดถึง
พระอาจารย์ของฉันเทศน์เตือนด้วยน้ำเสียงสงบเจือเมตตา ว่าโสดาบันอาจเป็นนาบุญใหญ่หรือเป็นแหล่งกำเนิดบาปหนักของคนอื่นได้เท่าๆกัน เพราะมีความสูงส่งทางจิตวิญญาณ แต่ก็ยังมีราคะ โทสะ โมหะครบ โดยเฉพาะถ้าเป็นฆราวาสก็เหมือนคนเหยียบเรือสองแคม ก้ำกึ่งกันมากระหว่างปุถุชนกับพระ ฉะนั้นทางที่ดีควรระมัดระวัง อย่าไปก่อความเจ็บใจให้ใครเขา อย่าเผลอเอาราคะ โทสะ โมหะไปออกหน้าปัญญา จะมีคนเดือดร้อนสาหัสเมื่อเขาคิด พูด หรือทำตอบมาด้วยอกุศลจิตหนักๆ และเราเองถ้าเผลอก่อบาปก็จะให้ผลรวดเร็วรุนแรงเมื่อเทียบกับปุถุชนทำในระดับเดียวกัน
ก่อนกราบลาในวันนั้น พระอาจารย์ได้กล่าวเตือนทิ้งท้ายด้วยการเปรยว่าผู้บรรลุธรรมขณะเป็นฆราวาสนั้นจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือมักทอดธุระ ไม่ขวนขวายเต็มที่เหมือนสมัยยังเป็นปุถุชนผู้มุ่งมั่นเอามรรคเอาผล เพราะหน้าที่และวิถีชีวิตฆราวาสไม่ใช่เพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเหมือนอย่างพระภิกษุสงฆ์ ก็นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย หลายต่อหลายคนเป็นโสดาบันประเภทสัตตักขัตตุปรมะ คือต้องเกิดตายอีก ๗ ครั้งกว่าจะจบสิ้นภพชาติ ก็เพราะบรรลุโสดาปัตติผลขณะเป็นฆราวาส เพลิดเพลินไปกับการเหยียบเรือสองแคมอยู่นี่เอง ต่างจากการบรรลุธรรมขณะเป็นพระ เส้นทางจะดึงดูดให้เจริญภาวนายิ่งๆขึ้นจนถึงที่สุดก่อนตาย แม้พักภาวนาบ้างก็เพื่อสงเคราะห์ญาติโยมมากกว่าจะเพื่อเพลิดเพลินไปในโลก
ฉันก้มหน้าเงียบ แต่ใจอดนึกเถียงไม่ได้ เมื่อเช้าก็ยังตื่นตีสี่ตามปกติอยู่เลย ท่านมาเตือนเรื่องประมาททำไม แต่พอกราบลาพระอาจารย์ ขณะเดินออกจากวัดนั่นเอง ก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่าหลังบรรลุธรรมแล้ว ฉันตื่นตีสี่ขึ้นมาเดินเล่นหรืออ่านพระไตรปิฎกเสริมความรู้ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพระโสดาบันด้วยความติดใจมากกว่าจะนั่งสมาธิเดินจงกรม อีกทั้งเมื่อสติอยู่ตัว เจริญทั้งสมาธิและปัญญาได้บ่อยๆในระหว่างวัน ก็ทำให้ ‘กิริยา’ อันเป็นนิมิตแห่งความเพียรลดลงมาก จะไปเพียรรู้เอาด้วยสติระหว่างวันเป็นหลัก นั่นเองเป็นเครื่องหมายบอกว่าความกระตือรือร้นขวนขวายเริ่มลดลงแล้ว
ฉันถอนใจยาว สำรวจความรู้สึกและถามตัวเองว่ายังอยากรู้ภาวะหลุดพ้นแห่งใจชนิดไม่กลับกำเริบเหมือนวันที่ได้พบคุณพ่อน้องอ๊อดผู้เป็นครูธรรมะคนแรกในชาติปัจจุบันอยู่อีกหรือไม่ คำตอบคือไม่อยากเท่าเดิม แต่ก็ยังไม่มีเหตุปัจจัยแวดล้อมใดๆมาฟ้องเลยว่าเลิกอยากแล้ว ไม่เอาแล้ว
พระไตรปิฎกแสดงปาฏิหาริย์อีกครั้ง คืนนั้นฉันอ่านเจอพุทธพจน์ในอัญญสูตร ซึ่งพระมหากัสสปะนำมากล่าวเทศน์ภิกษุถึงธรรม ๑๐ ประการอันเป็นไปเพื่อความเสื่อม ซึ่งถ้าไม่ละธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว ก็เป็นอันหมดสิทธิ์เจริญต่อ ธรรม ๑๐ ประการเหล่านั้นได้แก่
๑) หลงสำคัญผิดเข้าใจว่าตนเป็นอรหันต์ เพียงเพราะเป็นผู้สดับฟังมากจนขึ้นใจ รู้รอบตอบได้หมด
๒) เป็นผู้มีความโลภอยากได้นั่นอยากได้นี่มาก
๓) เป็นผู้มีความพยาบาทกลุ้มรุม
๔) เป็นผู้มีความหดหู่ง่วงงุน
๕) เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอย่างมาก
๖) เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลงไม่รู้จบ
๗) เป็นผู้ชอบการงาน ยินดีในการงาน ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน (หมายถึงการงานอันจะดึงจิตให้ส่งออกนอกขอบเขตสติปัฏฐาน)
๘) เป็นผู้ชอบในการคุย ยินดีในการคุย ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบพูดคุย
๙) เป็นผู้ชอบนอนหลับ ยินดีในการนอนหลับ ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบนอนหลับ
๑๐) เป็นผู้มีสติหลงลืม ทอดธุระในคุณวิเศษเบื้องบนเพราะได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องต่ำ
ข้อสุดท้ายทำให้ฉันตะลึง ตระหนักในบัดนั้นว่า ‘ความจริง’ เกี่ยวกับมนุษย์ย่อมเหมือนกันมาทุกยุคทุกสมัยไม่มีเว้น เป็นโสดาบันอาจปลอดภัยจากนรก แต่ยังไม่ปลอดภัยจากความประมาททอดธุระได้ ซึ่งหมายความว่าอาจต้องอยู่โยงยาวในสังสารวัฏต่อไปอีกหลายชาติ แทนที่มีโอกาสแล้วจะเข้านิพพานเสีย โลกของฆราวาสเต็มไปด้วยเหยื่อล่อ ฉันคงต้องหมั่นถามตัวเองให้บ่อยขึ้นว่าต้องการ ‘สอบไล่ให้ผ่าน’ หรือจะยอมซ้ำชั้นเดิมรวมกับคลื่นลูกหลังอีกและอีก?
๗ เดือนที่ผ่านมาทำให้ฉันตระหนักอย่างหนึ่งว่าชีวิตของผู้เจริญภาวนาไม่เป็นไปตามตัวหนังสือสั้นๆในพระคัมภีร์ เช่น ‘เมื่อได้แนวปฏิบัติแล้วก็เจริญรุดหน้าในการภาวนาตามลำดับ ไม่ช้านานก็บรรลุอรหัตตผล’ ชีวิตมนุษย์จริงๆที่มีเลือดเนื้อ มีตัวตนนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียด ทั้งเหยื่อล่อ ทั้งข้อขัดข้อง ทั้งความขึ้นลงต่างๆบรรดามีมากมาย หากจิตทำตัวเป็นลูกบอลที่วิ่งฉีกผิดองศานิดเดียวก็อาจพลาดเป้าไม่เข้าประตูไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ประตูเปิดกว้างสว่างโร่ออกขนาดนั้น
ภาวะโสดาบันที่แท้คือการไม่เห็นว่ามีตัวตน ไม่มีกระทั่งความเป็นโสดาบันในใคร แต่ตราบใดคนเรายังมีมานะ มีตัณหาอุปาทาน ตราบนั้นย่อมเผลอสติ หลงสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความประมาทยืนพื้นอยู่บนความจริงอันน่าชื่นชม เช่นเป็นผู้ไม่ตกต่ำแล้ว เป็นผู้ไม่มีเวรภัยแล้ว เป็นผู้มีแต่ขึ้นกับขึ้นแล้ว ก็รังแต่จะทำให้ลดละความเพียรลงตามลำดับได้วันละนิดวันละหน่อย พอรู้สึกตัวอีกทีก็ปล่อยเลยตามเลย กลายเป็นทำบ้างไม่ทำบ้างไปเสียแล้ว นั่นเองสาเหตุของความไม่สิ้นทุกข์ในชาติปัจจุบัน
ฉันเริ่มคิดตั้งเป้าใหม่ ว่าจะทำอะไรด้วยชีวิตที่เหลือ พระพุทธองค์ตรัสตอบท่านวัจฉะเมื่อครั้งเป็นปริพาชกว่าสาวกผู้เป็นอุบาสกของท่านมากมายสำเร็จธรรมถึงระดับอนาคามี เพราะฉะนั้นฉันก็คิดเงียบๆว่าความเป็นอริยบุคคลระดับนั้นแหละ ที่ฉันจะทำให้ถึงก่อนบวช!
จากเสขสูตร ฉันรู้ว่าการเป็นอริยบุคคลสองชั้นแรกคือพระโสดาบันกับพระสกทาคามีนั้น เพียงมีสมาธิพอประมาณก็ใช้ได้ แต่หากต้องการเป็นพระอนาคามี ก็ต้องทำสมาธิให้บริบูรณ์ถึงจะมีน้ำหนักสมภูมิ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้คงต้องเริ่มเน้นงานสมถะให้มาก เช่นทำความยินดีพอใจในฌาน กับทั้งทำอสุภกรรมฐานจนจิตไม่ข้องแวะกับกามอีกต่อไป
 
วันที่ ๑๔-๓๑: นิมิตประจำตัว
ภูมิจิตของโสดาบันนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสงบง่ายกว่าปุถุชนทั่วไป เหตุเพราะจิตไม่เอาเวรภัยและอกุศลธรรมหยาบอันเป็นเครื่องขวางสมาธิ ดังนั้นเมื่อโสดาบันมุ่งมั่นทำสมาธิ สมาธิจึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว
การมีสมาธิจิตช่วยให้เห็นอะไรตามจริง ไม่บิดเบี้ยวไปตามอคติง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อสมาธินั้นประกอบอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นหัวขบวนนำ การรู้เห็นสภาวะนอกในทั้งหลายย่อมผิดแผกแตกต่างจากครั้งเมื่อยังถูกโมหะหนาๆบดบังอยู่มาก
ฉันพบว่าคนธรรมดาจะไม่รู้ว่าชีวิตตนประกอบกรรมดีเลวอย่างใดไว้บ้าง เพราะความคิดนึกพูดทำทั้งหลายจะมาตามความเคยชิน ไม่ใช่มาด้วยอาการตั้งเข็มไว้ว่าจะตีกรอบพฤติกรรมด้วยศีล ๕ และเมื่อทำอะไรไปแล้วก็ไม่มีการสำรวจว่าสภาพจิตใสสว่างขึ้นหรือมืดมัวลง จึงกล่าวได้ว่าเพราะความไม่รู้ คนจึงทำบุญบาปตามแรงทะยานของตัณหาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งๆไป
คำแนะเช่น ‘จงทำดี’ นั้นฟังติดหูและเหมือนเข้าใจกันด้วยสามัญสำนึกทั่วไป แต่ความจริงมีรายละเอียดและข้อน่าสงสัยเป็นประเด็นจุดชนวนให้เกิดข้อถกเถียงซ้ำซากได้ไม่รู้จบรู้สิ้น แต่สำหรับผู้สำรวจจิตเป็น เห็นว่า ‘ความตั้งใจอันเป็นกุศล’ กับ ‘ผลลัพธ์อันเป็นกุศลจิต’ มีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ก็จะคลายความขัดข้องในทุกประเด็นลงได้
บางครั้งเมื่ออยู่ในสมาธิตั้งมั่นสว่างระดับที่พอจะน้อมไปรู้อะไรๆตามปรารถนา ฉันลองกำหนดดูชีวิตของตัวเอง ชีวิตคนควรเริ่มดูจากอะไร? เอาสิ่งที่ฝักใฝ่และกระทำเป็นประจำนั่นแหละเหมาะสุด ด้วยสติที่คมชัด ฉันเห็นความใฝ่ใจในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาเป็นไปในทางเอาตัวเองให้รอดจากทุกข์ เป็นสาวกถาวรตลอดนิรันดร์กาลของพระพุทธเจ้าผู้พิสูจน์พระองค์เองแล้วว่า ‘รู้จริงทุกเรื่อง’ ดังนั้นการเป็นสาวกผู้เลื่อมใสในพระองค์ย่อมได้รับอานิสงส์เป็นการรู้ทางเดินที่ถูกที่ชอบเสมอ นี่คือคุณของการยอมตนเป็นผู้เชื่อถือและรับปฏิบัติตามกัลยาณมิตรที่ประเสริฐ
ฉันเห็นกายในอิริยาบถนั่ง กายนี้บอกกรรมในอดีตโดยมาก ส่วนจิตนี้บอกกรรมในปัจจุบันอันเป็นรากแห่งอนาคตโดยรวม ขณะจิตเดียวนั่นเองแสดงเกือบทุกสิ่งในตัวเอง เมื่อกำลังสว่างใสเบาอยู่ ย่อมเป็นนิมิตเครื่องบ่งบอกว่ากำลังอยู่ในสุคติ และจะดำเนินไปสู่สุคติหากต้องขาดใจไปเดี๋ยวนั้น เนื่องจากกรรมอันก่อให้เกิดความสว่างใสเบาย่อมต้องเป็นกุศล และสภาพของจิตก็เป็นกุศลตามกรรม
เมื่อกำหนดดูอยู่ในจิตอันเป็นปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากกรรมที่คลี่คลายมาเป็นลำดับ จดจ่อเฉพาะ ‘ภาวะแห่งความเป็นสาวกพระพุทธเจ้า’ ทำตามพระองค์สอน เชื่อตามพระองค์ตรัส จิตที่รวมเป็นหนึ่งก็ฉายนิมิตของภาวะรุ่งเรืองขึ้นมา ทีแรกสัมผัสว่าเป็นสภาพสุกสกาวทางจิต แต่จิตที่ยังยึดมั่นและเกี่ยวข้องกับภพย่อมก่อรูปบางอย่างขึ้น และรูปที่ฉันเห็นในนิมิตก็คือชายผู้มีชีวิตอันเบาสบาย สะอาดกายใจ อุดมด้วยเครื่องแวดล้อมอันน่ารื่นรมย์
ณ จุดนั้นทำให้เข้าใจวิธีรู้เห็นเรื่องลี้ลับมากขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย จิตอยู่ในมิติไหน ก่อกรรมอันใดโดยมาก ก็สร้างภพอันมีความเป็นเช่นนั้นไว้ การที่คนเราเกิดมามีสภาพหนึ่งๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง มิใช่เรื่องบังเอิญหรือผู้มีอำนาจท่านใดส่งมา แต่มาด้วยการจัดสรรของกรรม มาด้วยความมีจิตยึดมั่นในภพของความเป็นเช่นนั้น
ฉันเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น คือกระทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นกลาง แล้วน้อมนึกถึงอะไรเหมือนยิงกระสุนคำถามเข้ากระทบแผ่นน้ำเรียบ จิตจะกระเพื่อมเป็นนิมิตให้รู้เห็นสิ่งต่างๆ และเงานิมิตที่เกิดกับจิตอันตั้งมั่นเป็นกลางก็มักสะท้อนภาพความจริงที่ปรารถนาจะรู้โดยปราศจากอคติ
ปกติเมื่อคนธรรมดารู้จักใครสักระยะหนึ่ง ก็จะเกิดมโนภาพเกี่ยวกับคนๆนั้นขึ้นมาในใจ เมื่อนึกถึงใครจะรู้สึก ‘เป็นบวก’ หรือ ‘เป็นลบ’ ทันที นั่นก็เป็น ‘นิมิตเบื้องต้น’ ชนิดหนึ่งที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องฝึก หากสำรวจให้ละเอียดจะพบว่าทุกคนมีนิมิตประจำตัวกันทั้งสิ้น วิธีพูดกับคนรอบตัว การกระทำต่อคนที่เข้ามาหาให้เขาเดินกลับออกไปด้วยน้ำตาหรือเสียงหัวเราะนั่นแหละคือรูปนิมิตกรรมอันเป็นเงาตามเจ้าของกรรมไปทุกหนทุกแห่ง
คนธรรมดาต้องรู้เห็นความเป็นไปของผู้อื่นนานๆ จึงทราบว่านิมิตประจำตัวของเขาผู้นั้นเป็นอย่างไร และถ้าเขาผู้นั้นกระทำกรรมในที่ลับ ไม่เป็นที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลก นิมิตหลายต่อหลายส่วนก็อาจแหว่งวิ่นไป แต่สำหรับผู้เจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้จักกันเสียก่อน ไม่จำเป็นต้องรอใครก่อกรรมให้เห็นในที่แจ้งเปิดเผยต่อสายตา เพียงน้อมจิต ‘นึกถึง’ ใครคนหนึ่งด้วยจิตที่ผ่องแผ้ว เป็นกลาง เต็มดวง ก็จะปรากฏนิมิตของคนๆนั้นขึ้นเอง บางทีอาจเป็นนิมิตนิ่ง บางทีก็เป็นนิมิตเคลื่อนไหว บางทีก็ได้ยินเสียงหรือกลิ่นหอมเหม็น สุดแท้แต่จังหวะที่ได้รับรู้ จิตจะคัดเลือกเอากรรมเด่น หรือที่แต่ละคนทำเป็นประจำขึ้นมาเอง
ในภูมิจิตที่ยังเจือด้วยราคะ โทสะ โมหะ อาจถูกบดบังด้วยคลื่นแทรกได้ หรือกระทั่งมีอคติได้เพราะรักหรือชังได้ เพราะฉะนั้นฉันจะเลือกเชื่อเฉพาะขณะที่รู้แก่ใจว่าจิตสะอาดบริสุทธิ์จากคลื่นแทรกทั้งหลาย ฉันเห็นตามจริงว่ายิ่งจิตเป็นสมาธิมากก็จะมีความเที่ยงตรงมาก รวมทั้งคัดกรรมเด่นมาแสดงแบบไม่มีฝ้าหมอกอคติเคลือบคลุมด้วย
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอานิสงส์ของการเจริญสติปัฏฐานคือฤทธิ์ทางใจประการต่างๆนั้น เป็นจริงแท้ ฉันไม่เคยฝึกฝนอภิญญาสาขาไหนเลย แต่การรู้อยู่ที่กายใจบ่อยๆนั่นแหละ เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจธรรมธาตุทั้งปวง เพราะจักรวาลทั้งจักรวาลนี้เป็นเพียงภาชนะรองรับภพภูมิ ภพภูมิเกิดจากอุปาทานถือมั่นของจิต ความหยาบและประณีตของภพภูมิจำแนกออกด้วยมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมของสังสารสัตว์ นี่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงมีกระแสบังคับต่างๆ เช่นภูมิประเทศร้อนหนาว การให้ผลดีร้ายของกระแสจากดวงดาว ความสั้นยาวของวัฏจักรแห่งความเสื่อมและความเจริญทางธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นหรือถูกจัดตำแหน่งด้วยความบังเอิญ กระแสกรรมโดยมวลรวมล้วนเป็นตัวกำหนด และมีวิธีจัดฉาก ตั้งตำแหน่งให้เกิดความเป็นไปนานาสลับซับซ้อนเหนือจินตนาการ จิตที่ฝึกอบรมให้รู้จักธรรมชาติของตัวเองดีแล้ว เป็นกระจกเรียบใสที่ฝ้าละอองเกาะติดยากแล้ว ไม่บิดเบี้ยวจนสะท้อนภาพผิดเพี้ยนแล้ว ย่อมน้อมไปรู้สิ่งต่างๆที่ไม่เกินขอบเขตศักยภาพแห่งจิตตนได้ง่าย สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสในมหาวัจฉโคตตสูตรว่าเมื่ออริยเจ้าเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไปแล้ว จะเป็นไปเพื่อแทงตลอดในธาตุหลายประการ
สำคัญคือถ้ายังไม่ทันฝึกสติปัฏฐาน ๔ แต่จะเล่นสนุกฝึกอภิญญาตามรูปแบบวิธีนอกสติปัฏฐาน ๔ เสียก่อน ผลได้มักไม่คุ้มเสีย ที่เห็นชัดๆคือจิตจะถูกดูดให้ติดกับความสนุกนอกตัวจนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นถอนยาก พอจิตเป็นสมาธิแล้วจะโลดโผนโจนทะยานออกข้างนอกเสมอ ไม่มีแก่ใจดึงกลับเข้ามาข้างใน และยิ่งถ้ารู้มากเห็นมาก ก็จะยิ่งเกิดอัตตามานะ จำแนกแยกแยะภพภูมิอันพิสดารด้วยความระทึก และอยากเข้าไปมีส่วนในสภาพอันยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเพิ่มแรงผูกยึดในภพโดยแท้ ไม่เป็นไปเพื่อความสลัดคืนตัณหาเลย ต่างจากที่เริ่มฝึกสติปัฏฐาน ๔ จนคุ้นทางดำเนินจิตเข้ามาในขอบเขตกายใจก่อน ทำจิตให้ถึงความปลอดภัยก่อน อย่างนี้เมื่อจะเล่นสนุกอะไรก็ไม่ต้องพะวงเลยว่าจะพลัดหลงออกนอกลู่นอกทางสุคติ
สายตาของฉันที่มองคนในโลกเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเล็งแลไปยังใคร ฉันจะเห็นเป็นสองชั้น ชั้นแรกคือชั้นของกายอันเป็นเครื่องแสดงอดีตกรรม ว่ามีน้ำหนักในทางดีหรือทางร้าย ยิ่งสมส่วนมาก มีความผุดผ่องมาก ก็ยิ่งแสดงถึงความมีศีลสัตย์มาก แสดงถึงความมีฐานกรรมด้านดีมากกว่าด้านร้าย จึงได้อัตภาพที่เชิดหน้าชูตาน่าชื่นใจ คนมองแล้วรู้สึกนิยมหรือพิศวาสง่าย และถ้ารวยแต่กำเนิด เกิดมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็แสดงถึงผู้มีทานอันเลิศ ซึ่งมักทำบุญสุนทานขึ้น ยิ่งทำยิ่งได้และเห็นผลเร็ว เพราะเป็นบุญต่อบุญ ยิ่งฐานกรรมเกี่ยวกับทานถ่างกว้างขึ้นมากเพียงใดก็จะยิ่งมีความสุขความอุ่นใจมากขึ้นเพียงนั้น ต่างจากคนที่ฐานกรรมเกี่ยวกับทานแคบอยู่ ต้องทำนานและใช้กำลังใจมาก จึงค่อยเริ่มเห็นผลต่างอย่างชัดเจน
ชั้นต่อมาคือชั้นของใจอันเป็นเครื่องแสดงปัจจุบันกรรม รัศมีจิตจะบอกเลยว่าออกไปทางมืดหรือสว่าง ฉันเห็นชัดยิ่งกว่าชัดว่าคนเราทำกรรมฝ่ายใดมากๆ ก็จะมีพลังฝ่ายนั้นก่อตัวชัดขึ้นๆ และปฏิรูปตัวเป็นแรงดึงดูดให้จิตโน้มน้อมเข้าหากรรมนั้นๆ สังเกตว่าอยากทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกมากๆ นั่นแหละฟ้องว่าความคิดของเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของพลังฝ่ายมืดหรือฝ่ายสว่าง
คนเราก่อกรรมหลายๆอย่างจนจำกันไม่หวาดไม่ไหวว่าหนึ่งชาติทำอะไรไว้บ้าง ส่วนใหญ่ไม่ก่อกรรมแบบจะได้ไปรับรางวัลในภายภาคหน้า แต่จะก่อกรรมแบบที่เป็นหนี้ต้องชดใช้ภายหลัง และระบบกรรมก็ไม่มีการแจ้งยอดชำระพร้อมแสดงรายการ ต่างจากหนี้บัตรเครดิต ถึงรูดเยอะแค่ไหนก็มีรายการแจ้งกันลืม ลองคิดดูว่าตอนรูดบัตรเครดิตเพลินแล้วต้องมาร้องจ๊ากในภายหลังเมื่อเห็นยอดนั้นเป็นกันอย่างไร ก็จะเป็นยิ่งกว่านั้นตอนจิตสุดท้ายย้อนภาพมาฉายให้ทบทวนว่าหนึ่งชาติทำอะไรไปบ้าง
เมื่อทำกรรมหนักไปทางด้านใดอย่างต่อเนื่องแล้วจิตเต็มดวงเป็นฝ่ายดำหรือฝ่ายขาว ก็ก่อเหตุการณ์หรือดึงดูดบุคคลแบบนั้นเข้ามาสู่ชีวิต การเริ่มต้นคิด พูด หรือทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบุคคลชั้นเลิศเช่นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นมหาบุรุษ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ผู้ชี้ทางสว่าง ผู้เป็นต้นทางออกจากวังวนทุกข์ ผู้ไม่มีใครในสามโลกเสมอเหมือนนั้น จะก่อให้เกิดแรงดึงดูดเข้าหากรรมขาวหรือกรรมดำได้เข้มข้นกว่ากรรมชนิดอื่น การคิด พูด ทำกับพระพุทธเจ้าจะเบี่ยงเบนจากเส้นทางเดิมได้เร็วที่สุด เหมือนพระองค์ท่านเป็นกระจกขยายพลังกรรม ส่งแสงขาวเข้าไปกระทบก็สะท้อนแสงขาวกลับออกมา ส่งกระแสมืดเข้าไปกระทบก็สะท้อนกระแสมืดกลับออกมา ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างน่าตกใจ จิตที่เต็มดวงในทางคิดดีและเลื่อมใสพระพุทธเจ้าจะทำให้มีแต่เรื่องดีเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด แต่จิตที่เต็มดวงในทางคิดร้ายและหมิ่นพระคุณพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทำให้มีแต่เรื่องร้ายมากมายเกินคำนวณ เพราะบุคคลเมื่อเลื่อมใสผู้ใด ย่อมยอมรับและซึมซับแนวคิดในการดำเนินชีวิตของผู้นั้นมามากเสมอ
พระพุทธเจ้าให้บวชเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง แต่ปัจจุบันมีคนบางพวกจะบวชเพื่อทำชื่อเสียงเงินทองให้โจ๋งครึ่ม คนยุคเราถูกพระปลอมหลอกกันเสียจนสมองชา ไม่มีใจเหลือพอสำหรับพระจริงอีกต่อไป อย่าว่าแต่อริยบุคคลซึ่งขาดแคลนจนเหมือนเป็นเพียงตำนานเล่าขานนานนมที่ไม่มีอยู่จริง เช่นนี้แล้วยุคเราย่อมขาดผู้สืบทอด ผู้เป็นภาพแทน ผู้ชักจูงให้คนในโลกหันกลับมาเลื่อมใสพระพุทธองค์ ตรงข้าม อาจกระเดียดไปในทางคิดไม่ดีกับพระพุทธองค์ผู้สถาปนาศาสนาพุทธขึ้นง่ายๆ
มีการสำรวจว่าปัจจุบันคนทำกิจกรรมใดกันมากในวันหยุด ชายหญิงโดยรวมเพียงไม่ถึง ๕ คนใน ๑๐๐ คนตอบว่าใช้เวลาไปในการทำบุญใส่บาตร เข้าวัดฟังธรรม นอกนั้นจะใช้เวลาในชีวิตให้หมดไปกับการท่องเที่ยวและพักผ่อนอยู่กับบ้าน กรรมของคนส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน รับใช้ราคะกันทั้งชีวิต ไม่ใช่เพื่อความพัฒนาสู่ความเจริญแต่อย่างใดเลย คนส่วนใหญ่เกิดแล้วตายไปเฉยๆ แม้รู้ว่าโลกนี้ ประเทศนี้มีพุทธศาสนา แต่ก็หารู้ไม่ว่าทางพ้นทุกข์ปรากฏแล้ว ทางรอดถูกชี้แล้ว เนื่องจากไม่มีคนพูดถึง ไม่มีคนขยายความ ไม่มีคนนำมาทำให้เป็นเรื่องง่าย
ทุกคนมีนิมิตประจำตัว คุณเองก็มีเหมือนกัน! สำรวจดูเถิดว่านิมิตนั้นเป็นไปเพื่อเวรภัยหรือเป็นไปเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น ทางดำเนินอันถูกต้องไม่ได้ถูกฉายสว่างขึ้นโดยง่าย เมื่อเห็นแล้วก็ควรรีบรุดไปไม่รอช้า แข่งกับกาลเวลาที่จะเอาเงามืดมาปกคลุมหนทางไปอีกนานนับกัปนับกัลป์ กว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้และชี้ทางเช่นนี้อีก
 
สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๗
๑) บรรลุธรรม เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว ไม่ว่าจะต้องเกิดอีก ๗ ชาติหรือสิ้นภพสิ้นชาติในปัจจุบันก็ไม่ต้องกลัวความตกต่ำอีกต่อไป
๒) เริ่มรู้เรื่องกรรมและเห็นโทษเห็นภัยตามจริงของการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เชื่อสนิทที่พระพุทธองค์ตรัสว่าหากบุคคลหวังจะท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆของสังสารวัฏเรื่อยๆ ก็อย่าหวังเลยว่าจะพ้นนรกได้ เพราะจิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ ไม่มีใครเลยที่ขึ้นกับขึ้นอย่างเดียว วันหนึ่งต้องพลาดให้กับความไม่รู้ หลงก่อเหตุแห่งความเดือดร้อนให้กับตนเองจวบสิ้นกาลนานเข้าจนได้

บทส่งท้าย
บ่ายนั้นรบชนะมาติดต่องานที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อเสร็จจากธุระจึงเข้าวัดสุทัศน์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆกันนั้น
เข้าวิหารใหญ่ก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อสายตาเห็นพระประธานโอฬาริกอันเป็นสัญลักษณ์แทนความชนะภัยแล้ว ถึงซึ่งศานติแล้ว เสวยวิมุตติสุขแล้ว ก็เกิดความเยือกเย็นลึกซึ้ง มหาวิหารกว้างใหญ่ดูสงบครึ้มดุจร่มโพธิ์ที่ให้ผู้เร่ร่อนกลางทางวิบากทั้งหลายอาศัยหลบเงาเสมอหน้ากัน
รบชนะคุกเข่าเทพบุตร กราบเบญจางคประดิษฐ์ด้วยความนอบน้อมลงทั้งเศียรเกล้า ใจคิดว่ากำลังกราบพระศาสดา มิได้มองว่าตนเพียงกราบพระอิฐพระปูนองค์หนึ่ง กราบเสร็จก็นั่งพับเพียบทอดตาแลพระปฏิมานิ่ง ดุจเห็นองค์พระมีจิตวิญญาณ ประทานความเมตตาเล็งเนตรมายังอุบาสกสาวกอีกคนหนึ่งของพระองค์ด้วยพระทัยอาทร
นานครู่หนึ่ง สัมผัสของเขาบอกตัวเองว่ามีกระแสจ้องมองมาจากเยื้องขวาด้านหลัง พอเหลียวหน้ามองไปก็สะดุ้งเล็กน้อยเมื่อพบว่าเป็นหญิงสาวผู้เคยมีอิทธิพลกับชีวิตเขายิ่ง อย่างน้อยก็ทำให้ไม่อยากเกิดมาด้วยความไม่รู้และต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักอย่างชาตินี้อีก
ใจนุชยกมือไหว้เขาตามปกติ รบชนะรับไหว้แล้วเป็นฝ่ายลุกไปหา หล่อนกำลังนั่งหลบมุมตามลำพัง สีหน้าเศร้าหมอง ผิวพรรณดูซีดเซียวไม่เปล่งปลั่งสดใสอย่างที่เคยคุ้นตา
รบชนะมานั่งขัดสมาธิตรงหน้าและยิ้มให้เงียบๆพักหนึ่ง ใจนุชสบตาตอบเพียงครู่ก็ผินหน้าไปมององค์พระปฏิมา ติดงอนอยู่เล็กน้อย ต่างฝ่ายต่างสำเหนียกได้ว่ากำลังตกอยู่ภายใต้การดูแลของกรรม กรรมเป็นผู้จัดสรรว่าจะให้พบหรือพรากกันเมื่อใด วัฏจักรของการดูดเข้าหาและผลักออกปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องราวระหว่างญาติมิตรและบุคคลที่เคยรักใคร่ชอบพอ
กระแสในคนเราเหมือนขั้วแม่เหล็กมหัศจรรย์ อยู่ไกลแค่ไหนก็ดึงดูดให้โคจรมาเจอกันจนได้ถ้าถึงเวลา ถึงคราวมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมจะต้องเกื้อกูลหรือห้ำหั่นกัน ทุกคนตกอยู่ใต้กฎแรงดึงดูดของกระแสกรรมสัมพันธ์ เพียงแต่คนทั่วไปไม่มีจิตสัมผัสที่ละเอียดพอจะทราบได้ ต่อเมื่อฝึกสติจนมีกำลังพอสมควรแล้วจึงสามารถสำเหนียกรู้สึกและไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกอีกต่อไป
“สบายดีเหรอกวาง?”
เขาทักเบาๆ แต่น้ำเสียงแจ่มใสมีกังวานอบอุ่นจนสามารถลดกิริยาแง่งอนเล็กๆของอีกฝ่ายได้อย่างรวดเร็ว ใจนุชเบนสายตากลับมาสบกับเขา
“บังเอิญดีนะคะ มาเจอพี่นะที่นี่ได้”
รบชนะคิดในใจว่าไม่มีเรื่องบังเอิญหรอก โดยเฉพาะถ้าเป็นเหตุการณ์อันจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญกับชีวิตคน การพบเจอ การประสบเหตุ หรือการมาประชุมกันของเรื่องราวทั้งหลาย ล้วนแต่คลี่คลายมาตามเส้นทางกรรมทั้งสิ้น
“พี่ดีใจที่เห็นกวางเข้าวัด”
“กวางเป็นคนบาป เข้าวัดเผื่อจะล้างมลทินออกจากใจได้บ้าง”
หล่อนตอบด้วยสุ้มเสียงแฝงความน้อยใจเต็มเปี่ยม ชายหนุ่มยิ้มให้กำลังใจ
“ใครบอก กวางน่ะทำบุญมากกว่าบาปเยอะ ต้องเรียกว่าคนใจบุญ ไม่ใช่คนบาปที่ไหนหรอก”
หญิงสาวอึ้งเงียบไปครู่ กะพริบตาทีหนึ่งก่อนเอ่ยพลางหันไปมองพระประธานทอง
“ช่วงที่ผ่านมากวางคิดไม่ดีตลอดจนรู้สึกกลุ้มใจ เริ่มเชื่อแล้วล่ะค่ะว่าผลกรรมมีจริง และสงสัยว่าตัวเองคงไม่แคล้วนรก”
รบชนะเลิกคิ้วฉงน
“มีเรื่องอะไรหรือ?”
“กวางคิดมาก ฟุ้งซ่าน จิตใจมืดไปหมด แล้วก็ถูกคนใส่ร้ายบ่อยจนเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พอหลับก็ฝันไม่ดี คิดถึงแต่คำพูดของตัวเองที่บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนให้พี่นะเห็นแก่ตัว”
สีหน้าชายหนุ่มเริ่มจริงจังขึ้นเพราะนึกได้ตามที่หล่อนกล่าว ในพยสนสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสโทษของการติเตียนอริยเจ้าไว้ คือความฉิบหาย ๑๐ ประการ แต่ ๔ ข้อสุดท้ายร้ายๆคือเป็นโรคอย่างหนักหนึ่ง ถึงความเป็นบ้ามีจิตฟุ้งซ่านหนึ่ง เป็นผู้ตายด้วยอาการหลงหนึ่ง และที่น่ากลัวกว่าอะไรคือเมื่อตายย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เรียกว่าทำกรรมเดียวให้ผลหลายประการครบสูตร
และที่ใจนุชติเตียนอย่างไม่เป็นธรรมไว้นั้นก็ไม่ใช่แค่อริยะธรรมดา แต่เป็นถึงมหาอริยะ เป็นจอมอรหันต์ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า! นี่ถ้าเป็นพวกบาปหนาก็จะไม่รู้สึกสะทกสะเทือนอะไรเลย โอกาสสำนึกจึงยาก และไม่เชื่อว่าที่กำลังประสบเคราะห์ทั้งภายนอกภายในจะมีเหตุจากการปรามาสพระพุทธเจ้า แต่ยังดีพื้นจิตพื้นใจของหล่อนนั้นเป็นกุศล ผู้มีพื้นจิตเป็นกุศลนั้น ขณะทำบาปหนักจะรู้สึกเคว้งงงโคลงเคลง หลังทำบาปแล้วจะไม่สบายใจ ครุ่นคิดกังวลปักติดค้างคาอยู่กับบาปนั้นๆไม่เลิก เสวยผลกรรมอันเป็นปัจจุบัน ซึ่งก็ดีอย่างหนึ่งคือเปิดโอกาสให้คิดแก้ตัวก่อนสาย
อายุมนุษย์ปัจจุบันยาวพอจะกลับตัวกลับใจ มีเวลาพอจะเปลี่ยนเส้นทาง รบชนะเม้มปากเล็กน้อย คิดจะช่วยเหลืออดีตคนรักเต็มกำลัง เพราะว่าไปตนก็มีส่วนให้หล่อนเคราะห์ร้ายอยู่มาก
“ทุกคนเห็นแก่ตัวกันอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้เลิกเห็นแก่ตัวต่างหาก ถ้ากวางมองตามจริงอย่างนี้ได้ ก็เรียกว่าช่วยละลายกรรมให้เจือจางลงกว่าครึ่งแล้ว”
ใจนุชก้มหน้าสลด
“พอกวางสำนึกผิด กวางก็พยายามหาหนังสือธรรมะมาอ่านเหมือนกันแหละค่ะ อ่านตั้งแต่ประวัติความเป็นมาก่อนเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช แล้วได้กลับมาโปรดพระประยูรญาติรวมทั้งพระชายา ก็รู้สึกแล้วว่าพระองค์ท่านมีพระทัยเมตตามหาศาล”
รบชนะพยักหน้า พูดแบบไม่ให้อีกฝ่ายเสียขวัญและมองเป็นเรื่องเล็กที่แก้ไขง่าย
“ดีแล้ว แก้ด้วยความเข้าใจ ล้างด้วยความเห็นชอบ เห็นถูก เห็นตามจริง คือการเริ่มต้นใหม่ที่แข็งแรง มองกันตามจริงนะ โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งลามก กระตุ้นให้คิดแต่เรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี ก็เป็นธรรมดาที่ใจเราจะหลงๆตกไปตามกระแสโลกบ้าง แต่ถ้าพื้นจิตเป็นกุศลอย่างกวางก็ไม่เป็นไรมากหรอก กลับลำทันถมเถ หมั่นคิดดีเหมือนเติมน้ำละลายเกลือก้อนเล็ก เดี๋ยวเดียวก็หมดความเค็มไปเอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้”
“กวางพยายามคิดดี แต่ก็ไม่เลิกคิดชั่วร้ายเสียทีนี่คะ มันผุดขึ้นในหัวเป็นระยะๆ ทรมานเหลือเกิน”
หญิงสาวเหลือบตาอันฉาบแววกังวลมาหา ชายหนุ่มยิ้มอบอุ่นตอบ
“พี่ถามหน่อย ที่กวางคิดไม่ดีนั้น ตั้งใจคิดหรือเปล่า?”
“เปล่าค่ะ มันผุดขึ้นมาเอง และยิ่งกังวลก็เหมือนยิ่งคิดบ่อยขึ้นทุกที”
“งั้นถามอีกคำ ใจจริงกวางอยากกราบหรือคิดกับพระดีๆมากกว่าใช่ไหม?”
“ค่ะ”
“นี่แหละจิตของเรา ส่วนที่ควบคุมไม่ได้คือการแสดงตัวของอนัตตา มันไม่ใช่ตัวเรา ส่วนที่ควบคุมได้คืออุปาทานว่าเป็นเรา เราทำได้แค่กับส่วนที่เป็นเรา อย่างตอนนี้กวางลองทำตามที่พี่บอกนะ เอ้า! ยกมือไหว้พระ ไหว้สวยๆเลยนะ”
ใจนุชปฏิบัติตาม ก้มหน้าพนมมือจดหน้าผากด้วยกิริยานอบน้อมยิ่ง
“คราวนี้ตั้งจิตอธิษฐานว่านี่คือใจจริงของหนู เห็นเข้ามาให้ตรงตามจริงว่าใจของเราเป็นอย่างไร มีความสบายใช่ไหม?”
หล่อนลดมือลง และหันมาตอบเขายิ้มๆ
“ค่ะ”
“นั่นแหละ ดีแล้ว ต่อไปนี้พอคิดไม่ดีขึ้นมาอีกก็ถือเป็นโอกาสเรียนรู้ความจริงว่าจิตไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เจ้าของที่จะไปบัญชามันได้ดังใจ แค่เรามี ‘ใจจริง’ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ดีพอแล้ว สบายใจได้แล้ว อนัตตาอยากส่งความคิดอะไรมารบกวนก็ช่างมัน ดูก็พอว่าลมหายใจนี้อยู่ในหัวเรา ลมหายใจต่อไปยังอยู่อีกหรือเปล่า ถ้าไม่อยู่ก็แปลว่ามันรั้งตัวเองไว้ทรมานใจเราไม่ได้นานเหมือนกัน มีความไม่เที่ยง มีอันต้องแตกดับไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน”
ใจนุชตรองตามแล้วเริ่มเห็นเค้าว่าตนจะสบายใจขึ้นได้อย่างไร
“ค่ะ กวางจะทำตามนั้น” แล้วเธอก็มีสีหน้าสดชื่นขึ้น “กวางเจอหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง เขาบอกว่าถ้าไม่สบายใจอะไรให้ทำทานมากๆ ช่วยเหลือคนอื่นมากๆ แต่อย่าหวังผล แล้วจะมีความสุขมากขึ้นตามหลักเบื้องต้นของพุทธศาสนา กวางลองแล้ว แต่ไม่เป็นสุขขึ้นเลย พี่นะช่วยบอกหน่อยซิคะว่ากวางเข้าใจอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า?”
เมื่อกำหนดวาระจิตคนได้ก็ง่ายต่อการยิงเข้าเป้า ตรงกับเงื่อนปมปัญหา รบชนะเห็นจิตใจที่แห้งแล้งขณะทำบุญของใจนุช เพราะเหตุที่เธอห้ามตัวเองไม่ให้คิดหวังจนเกินไป
“ถ้าทำบุญด้วยความโลภ ก็เป็นสุดโต่งความผิดพลาดในการทำทานด้านหนึ่ง คือทำแบบนักลงทุน ไม่ได้ทำแบบผู้แสวงบุญ แต่ถ้าไปคิดผิดแบบใหม่คือทำบุญต้องไม่ได้อะไรเลย ห้ามหวังอะไรเลย อย่างนั้นก็เป็นสุดโต่งความผิดพลาดในการทำทานอีกด้านหนึ่ง คือมีแต่กรรมทางกาย กรรมทางใจหดหายเกือบหมด การให้ทานต้องให้ด้วยความเต็มใจ ปรารถนาจะให้อยู่ก่อน และขณะให้ทานต้องปลื้มใจในบุญ หลังให้ทานต้องคิดถึงความน่าชื่นใจในการสละความตระหนี่ ถ้าให้ดีก็คืออธิษฐานว่าขอบุญนี้จงเป็นตัวอย่าง เป็นพื้นฐานในการสละกิเลสยิ่งๆขึ้นไป”
ใจนุชยิ้มด้วยสีหน้าบ่งบอกว่าเข้าใจกระจ่าง รบชนะพลอยปลาบปลื้มที่ช่วยให้หล่อนพ้นจากนรกทางใจเสียได้ในเวลาอันสั้น ถ้าวิธีคิดต่างไป ชีวิตทั้งชีวิตของเราก็จะต่างไป แนวคิดเกี่ยวกับจากชีวิตตั้งแต่เกิดมาของคนทุกผิดหมด นึกว่าทำเพื่อตัวเองแล้วจะยิ่งเป็นสุข แต่แท้ที่จริงเป็นที่มาของความตระหนี่ ความแล้งน้ำใจ อันเป็นฝ่ายทุกข์ทั้งสิ้น แต่เมื่อตั้งต้นคิดถูก นับแต่การรู้จักให้ รู้จักสละเป็น ความทุกข์ที่หวงไว้ กอดไว้กับอกก็จะเริ่มถอยห่างออกไปทีละน้อย
หญิงสาวหยอดเงินใส่ตู้ทำบุญภายในวิหารจนครบทุกตู้ หย่อนธนบัตรแต่ละครั้งก็อธิษฐานตามคำแนะนำของรบชนะ จนกระทั่งถึงตู้สุดท้ายก็ใจว่างเบา เกิดปีติเป็นล้นพ้น เมื่อก้าวออกจากวิหารก็เอ่ยปากขอแนวทางปฏิบัติธรรมจากชายหนุ่มอีกครั้ง และครั้งนี้ด้วยความตั้งใจ ด้วยความเต็มใจของหล่อนเอง รบชนะจึงถือโอกาสมอบสมุดบันทึกหลายเล่มให้กับหล่อน บอกให้หล่อนอ่านอย่างละเอียดและลองทำตามนั้นดู เขาจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้
เทียนต่อเทียนคือความสว่างไสวอบอุ่นยิ่งๆขึ้น กุศลต่อกุศลคือมหากุศลที่ยังให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ใจนุชใช้เวลาเป็นสามเท่าของรบชนะ คือเกือบสองปี กำลังใจจึงแก่กล้าพอจะสละทิฏฐิว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน แต่นั่นก็คุ้มเหลือจะคุ้ม ต่อให้ต้องใช้เวลา ๗ ปีก็คุ้ม ในเมื่อเดินตามทางตรงแล้วสุดท้ายต้องได้ผลวันยังค่ำ
 
มหาสติปัฏฐานสูตร
ถึงหน้านี้หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้เขียน หน้าก่อนๆที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องแต่ง เรื่องแต่งคือเรื่องที่ไม่มีบุคคลจริงอยู่ แต่อาจนำ ‘ความจริง’ มาผูกเป็นเรื่องราวเพื่อให้ย่อยง่าย เห็นภาพชัดเจนตามวิถีทางของการเล่าผ่านประสบการณ์ของคนธรรมดาสักคน ทั้งหมดก็เพื่อเป้าประสงค์เดียว คือเพื่อง่ายเมื่อมีโอกาสอ่าน ‘ของจริง’ ได้แก่มหาสติปัฏฐานสูตรซึ่งบรรจุข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ อันพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น ‘หนทางเดียวที่จะบรรลุธรรมอย่างถูกต้อง’
ขอให้ลองอ่านดูอย่างละเอียดและน้อมมาปฏิบัติตามเถิด ผู้เขียนนำมาให้แล้วในท้ายหนังสือเล่มนี้ หากท่านเข้าใจและมองออกว่าจะเริ่มปฏิบัติอย่างไร พัฒนาสติให้เจริญขึ้นด้วยมุมมองแบบไหน ก็ขอให้ทราบว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำแล้ว กุศลจากการเขียนมีเพียงใด ผู้เขียนขอให้พ่อแม่ ตลอดจนผู้ที่ได้อ่านและมิได้อ่านหนังสือ จงรับไปโดยเท่าเทียมกัน
ขอกราบสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เปิดเผยทางออกจากวังวนทุกข์ด้วยเศียรเกล้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ได้ ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรคเพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานได้ หนทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ
๔ ประการนั้นมีอะไรบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้…
๑) พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ
๒) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เสมอ
๓) พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอ
๔) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เสมอ
เธอพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมอย่างมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เป็นอีกประการหนึ่ง
กายานุปัสสนา - อานาปานบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างไรภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ คือภิกษุในพระศาสนานี้ ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
•   เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
•   เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
•   เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
•   ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจออก
•   ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
•   ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
•   ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาวก็รู้ชัดว่าเราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้นก็รู้ชัดว่าเราชักสั้น แม้ฉันใดภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน…
•   เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
•   เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
•   ย่อมสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจออก
•   ย่อมสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
•   ย่อมสำเนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
•   ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
กายานุปัสสนา - อิริยาปถบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุ…
•   เมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน
•   เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน
•   เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง
•   เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน
•   หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดๆ ก็รู้ชัดกิริยาท่าทางอย่างนั้นๆ
กายานุปัสสนา - สัมปชัญญบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัว…
•   ในการก้าว ในการถอย
•   ในการแล ในการเหลียว
•   ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก
•   ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร
•   ในการฉัน การดื่ม
•   ในการเคี้ยว การลิ้ม
•   ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ย่อมทำความรู้สึกตัว
•   ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น
•   ในการพูด การนิ่ง
กายานุปัสสนา - ปฏิกูลมนสิการบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ
•   ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
•   เนื้อ เอ็น กระดูก ไขกระดูก
•   ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย
•   อาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ)
•   ดี เสลด หนอง เลือด
•   เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ ปัสสาวะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากสองข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างชนิดคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไขกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ ปัสสาวะ
กายานุปัสสนา - ธาตุมนสิการบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ซึ่งตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้วแบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ซึ่งตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
กายานุปัสสนา - นวสีวถิกาบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง เหมือนเธอเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
•   ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด
•   ฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆต่างๆกัดกินอยู่บ้าง
•   เป็นโครงกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
•   เป็นโครงกระดูก ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
•   เป็นโครงกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
•   เป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง
•   เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์
•   เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป
•   เป็นกระดูกผุ เป็นจุณแล้ว
เธอน้อมกายนี้แหละมาเปรียบเทียบว่าก็มีอะไรอย่างนั้นเป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม…
•   พิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง
•   พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง
•   พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง
•   พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง
•   พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง
•   พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
เธอย่อมเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเข้าไปตั้งสติว่ากายมี ก็เพียงสักว่าเอาไว้รู้ เพียงสักว่าเอาไว้อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฐิเข้าอิงอาศัย และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ
เวทนานุปัสสนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
•   เสวยสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา
•   เสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา
•   เสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา
•   เสวยสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส
•   เสวยทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส
•   เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม…
•   พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง
•   พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง
•   พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
•   พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง
•   พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง
•   พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง
เธอย่อมเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเข้าไปตั้งสติว่าเวทนามี ก็เพียงสักว่าเอาไว้รู้ เพียงสักว่าเอาไว้อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฐิเข้าอิงอาศัย และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เสมอ
จิตตานุปัสสนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างไร ภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอได้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้…
•   เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เมื่อจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
•   เมื่อจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
•   เมื่อจิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ เมื่อจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
•   จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
•   เมื่อจิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต เมื่อจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต
•   เมื่อจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า เมื่อจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
•   เมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
•   เมื่อจิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น เมื่อจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
ดังพรรณนามาฉะนี้ภิกษุย่อม…
•   เฝ้าพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง
เธอย่อมเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเข้าไปตั้งสติว่าจิตมี ก็เพียงสักว่าเอาไว้รู้ เพียงสักว่าเอาไว้อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฐิเข้าอิงอาศัย และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอ ฯ
ธัมมานุปัสสนา - นีวรณบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างไร ภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ ๕ อยู่เสมอได้ ภิกษุในพระศาสนานี้…
•   เมื่อความพอใจยินดีในกามมีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความยินดีพอใจในกามมีอยู่ภายในจิตของเรา เมื่อความยินดีพอใจในกามไม่มีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความยินดีพอใจในกามไม่มีอยู่ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความยินดีพอใจในกามที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความยินดีพอใจในกามที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความยินดีพอใจในกามที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความพยาบาทมีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความพยาบาทมีอยู่ภายในจิตของเรา หรือเมื่อความพยาบาทไม่มีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความพยาบาทไม่มีอยู่ภายในจิตของเรา อนึ่งความพยาบาทที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความพยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความง่วงเหงาซึมเซามีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความง่วงเหงาซึมเซามีอยู่ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อความง่วงเหงาซึมเซาไม่มีอยู่ภายในจิตย่อมรู้ชัดว่าความง่วงเหงาซึมเซาไม่มีอยู่ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความง่วงเหงาซึมเซาที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความง่วงเหงาซึมเซาที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความง่วงเหงาซึมเซาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความฟุ้งซ่านรำคาญใจมีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความฟุ้งซ่านรำคาญใจมีอยู่ภายในจิตของเรา หรือเมื่อความฟุ้งซ่านรำคาญใจไม่มีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความฟุ้งซ่านรำคาญใจไม่มีอยู่ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่เกิดขึ้นแล้วจะ ละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความลังเลสงสัยมีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความลังเลสงสัยมีอยู่ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อความลังเลสงสัยไม่มีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความลังเลสงสัยไม่มีอยู่ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความลังเลสงสัยที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความลังเลสงสัยที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความลังเลสงสัยที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ธัมมานุปัสสนา - ขันธบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีอีกข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เสมอ ด้วยการปฏิบัติอย่างไร ภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เสมอได้ ภิกษุในพระศาสนานี้ พิจารณาเห็นว่า
•   อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
•   อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
•   อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
•   อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
•   อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
ธัมมานุปัสสนา - อายตนบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออายตนะภายในและภายนอก ๖ ประการ ด้วยการปฏิบัติอย่างไร ภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออายตนะ ๖ อยู่เสมอได้ ภิกษุในพระศาสนานี้
•   ย่อมรู้จักนัยน์ตา รู้จักรูป รู้จักนัยน์ตาและรูปทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   ย่อมรู้จักหู รู้จักเสียง รู้จักหูและเสียงทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   ย่อมรู้จักจมูก รู้จักกลิ่น รู้จักจมูกและกลิ่นทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   ย่อมรู้จักลิ้น รู้จักรส รู้จักลิ้นและรสทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   ย่อมรู้จักกาย รู้จักสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย รู้จักกายและสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกายทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   ย่อมรู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์ และรู้จักใจและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ธัมมานุปัสสนา - โพชฌงคบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า ภิกษุในพระศาสนานี้
•   เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าวิริยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อปีติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าปีติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
•   อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ธัมมานุปัสสนา - สัจจบรรพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ทุกขอริยสัจ (ความจริงเกี่ยวกับทุกข์)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ
ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆของเหล่าสัตว์นั้น อันนี้เรียกว่าชรา ฯ
ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ
ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ ฯ
ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ
ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ
ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ
ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ
ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ
ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ
ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ก็ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ก็ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ก็ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอขอเราไม่พึงมความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ
ทุกขสมุทัยอริยสัจ (ความจริงเกี่ยวกับต้นเหตุทุกข์)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน ตัณหานี้อันใดมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้นั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้นในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ (วิญญาณ = ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะคู่นั้นๆประจวบกระทบกัน)
จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้
จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ (สัมผัสสชาเวทนา = เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะผัสสะในคู่อายตนะนั้นๆ)
รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ (สัญญา = ความหมายรู้ในอายตนะนั้นๆ)
รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ (สัญเจตนา = ความคิดอ่านในอายตนะภายนอกซึ่งเกิดต่อจากสัญญาทางอายตนะนั้นๆ)
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ (ตัณหา = ความทะยานอยากเข้ายึดมั่นอายตนะนั้นๆ)
รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ (วิตก = ความตรึกนึกในอายตนะนั้นๆ)
รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ (วิจาร = ความตรอง ความแนบใจอยู่กับอายตนะนั้นๆ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ
ทุกขนิโรธอริยสัจ (ความจริงเกี่ยวกับการดับทุกข์)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความสำรอกและความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัย ในตัณหานั้น ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้
อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เมื่อบุคคลจะละ เมื่อบุคคลจะดับตัณหา ย่อมละเสียได้ ดับเสียได้ในที่นี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (ความจริงเกี่ยวกับวิธีดับทุกข์)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน? คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ได้แก่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจาเป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่าสัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะเป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่าสัมมาวายามะ
สัมมาสติเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่าสัมมาสติ
สัมมาสมาธิเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามิมีปฏิปทาอริยสัจ
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในอยู่บ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกอยู่บ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่บ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมอยู่บ้าง
•   เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมอยู่บ้าง
เธอย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเข้าไปตั้งสติว่าธรรมมี ก็เพียงสักว่าเอาไว้รู้ เพียงสักว่าเอาไว้อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฐิเข้าอิงอาศัย และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ได้แก่นิวรณ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ โพชฌงค์ ๗ และอริยสัจจ์ ๔ อยู่เสมอ
อานิสงส์ของการเจริญสติปัฏฐาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดก็ตามเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็จะเป็นพระอนาคามี
๗ ปียกไว้ ผู้ใดก็ตามเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ตลอด ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๔ ปี ... ๓ ปี ... ๒ ปี ... ๑ ปี ๗ เดือน … ๖ เดือน ... ๕ เดือน ... ๔ เดือน ... ๓ เดือน ... ๒ เดือน ... ๑ เดือน ... กึ่งเดือน … ๗ วัน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็จะเป็นพระอนาคามี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔
อานิสงส์อันเป็นผลข้างเคียงจากการเจริญสติปัฏฐาน
รวบรวมคำยืนยันของผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ แล้วเกิดความรู้เห็นอันยิ่ง หรืออภิญญาประการต่างๆดังนี้
วิปากสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้วิบากของการกระทำกรรมทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
อิทธิสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
ทิพโสตสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
เจโตปริจจสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น เพราะได้เจริญได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
ฐานาฐานสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้ฐานะโดยความเป็นฐานะ และอฐานะโดยความเป็นอฐานะ ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
สัพพัตถคามินีปฏิปทาสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้จักปฏิปทาอันให้ถึงประโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
นานาธาตุสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้ธาตุเป็นอเนกและโลกธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
อธิมุตติสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้อัธยาศัยอันเป็นต่างๆ กัน ของสัตว์ทั้งหลาย ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
อินทรียสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
สังกิเลสสูตร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว ความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
วิชชาสูตรที่ ๑
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง นับร้อยนับพัน และนับกัปนับกัลป์บ้าง เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งเหตุการณ์ ความเป็นไป ชื่อสกุลบุคคลต่างๆ ฯลฯ ด้วยประการฉะนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
วิชชาสูตรที่ ๒
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
วิชชาสูตรที่ ๓
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันทำลายอาสวะ (กิเลสหมักดองในขันธสันดาน) เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้

______________________________________________________________________________
ขอเชิญดาวน์โหลดเพื่อนำไปแบ่งปัน หรือ นำไปอ่านได้อีกหลายช่องทาง ที่ไม่ต้องออนไลน์ ตามลิงค์ข้างล่างนะครับ

http://www.dungtrin.com/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=94&Itemid=299


Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.34 seconds with 24 queries.