ppsan
|
 |
« on: 06 February 2025, 09:04:22 » |
|
เจาะลึกภารกิจฉางเอ๋อ-6 ของจีนที่ลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
เจาะลึกภารกิจฉางเอ๋อ-6 ของจีนที่ลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชางเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา Article information Author,จอร์จินา แรนนาร์ด Role,ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ 2 มิถุนายน 2024 ทางการจีนเปิดเผยว่า ยานอวกาศไร้ลูกเรือของจีนได้ลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ยังไม่เคยถูกสำรวจหรือแทบไม่มีใครพยายามเข้าไป
องค์การอวกาศแห่งชาติจีนหรือซีเอ็นเอสเอ (CNSA) กล่าวว่า ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 แตะลงสู่พื้นดวงจันทร์บริเวณแอ่งแอตเคนขั้วใต้ (South Pole-Aitken basin) เมื่อเวลา 06.23 น. ตามเวลากรุงปักกิ่งในเช้าวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย. หลังจากปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศเพื่อไปปฏิบัติภารกิจเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมหินและดินล้ำค่าจากภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยยานอวกาศลำนี้สามารถสกัดหินที่เก่าแก่ที่สุดของดวงจันทร์บางส่วนออกจากปล่องภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ขั้วใต้ได้
การลงจอดเต็มไปด้วยความเสี่ยง เนื่องจากเป็นเรื่องยากมากในการสื่อสารกับยานสำรวจ เมื่อเดินทางไปถึงด้านไกลของดวงจันทร์ และจีนเป็นประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จจากการลงจอดของยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 ก่อนหน้านี้ในปี 2019
หลังปล่อยยานออกจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง ยานฉางเอ๋อ-6 ก็เข้าโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อรอลงจอด
จากนั้นส่วนลงจอดของตัวยานจะแยกออกจากวงโคจร เพื่อลงแตะพื้นบริเวณด้านข้างของดวงจันทร์ที่เราไม่สามารถมองเห็นจากโลกได้ เนื่องจากมันหันหน้าออกจากโลกอย่างถาวร
สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีนรายงานโดยอ้างข้อมูลจาก CNSA ว่า ระหว่างที่ลดระดับลงสู่ดวงจันทร์ มีการเปิดใช้งานระบบหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่มองเห็นได้ เพื่อตรวจจับสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติ จากนั้นกล้องความยาวคลื่นแสงที่มองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ (visible light camera) จะเลือกพื้นที่จอดที่ค่อนข้างปลอดภัย โดยพิจารณาจากความสว่างและความมืดของพื้นผิวดวงจันทร์
ยานสำรวจลำนี้ลงจอดด้วยการลอยเหนือพื้นที่ลงจอดที่ปลอดภัยประมาณ 100 เมตร และใช้เครื่องสแกนเลเซอร์ 3 มิติ ก่อนที่จะค่อย ๆ ลงจอดในแนวตั้งอย่างช้า ๆ
CNSA กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้ได้รับการสนับสนุนจากดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2 (Queqiao-2) ของจีน หลังจากนี้ ยานสำรวจลำดังกล่าวจะใช้เวลา 3 วันในการรวบรวบวัตถุจากพื้นผิวในปฏิบัติการ และจะเกี่ยวข้องกับ “นวัตกรรมทางวิศวกรรมมากมาย ที่มีความเสี่ยงสูง และยากลำบากยิ่ง”
“ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นมากที่เราจะได้เห็นหินเหล่านั้น ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดเคยพบเห็นมาก่อน” ศาสตราจารย์จอห์น เพอร์เน็ต-ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาของดวงจันทร์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กล่าว
ที่ผ่านมา เขาเคยวิเคราะห์หินดวงจันทร์อื่น ๆ ที่นำกลับมาจากภารกิจอพอลโลของสหรัฐอเมริกา และภารกิจก่อนหน้านี้ของจีน แต่ ศ.จอห์น กล่าวว่า การวิเคราะห์หินของดวงจันทร์จากพื้นที่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้สามารถหาคำตอบพื้นฐานเกี่ยวกับการก่อตัวของดาวเคราะห์ได้
หินส่วนใหญ่ที่รวบรวมได้จนถึงตอนนี้เป็นหินภูเขาไฟ คล้ายกับที่เราอาจพบได้ในไอซ์แลนด์และฮาวาย แต่วัตถุจากด้านไกลของดวงจันทร์นั้นจะมีเคมีที่แตกต่างกัน
“มันจะช่วยให้เราสามารถตอบคำถามใหญ่ ๆ เหล่านั้นได้ เช่น ดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นได้อย่างไร ทำไมเปลือกโลกจึงก่อตัว ต้นกำเนิดของน้ำในระบบสุริยะคืออะไร” ศ.จอห์น กล่าว
จากรายงานของ CNSA บอกว่า ภารกิจนี้มีความมุ่งหมายรวบรวมวัตถุประมาณ 2 กิโลกรัมโดยใช้สว่านและแขนกล
แอ่งแอตเกนขั้วใต้ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาต คือหนึ่งในแอ่งที่ใหญ่ที่สุดที่รู้จักกันในระบบสุริยะ โดย ศ.จอห์น กล่าวว่า จากพื้นที่นี้ ยานสำรวจสามารถรวบรวมวัตถุที่มาจากส่วนลึกภายในดวงจันทร์ซึ่งเป็นแกนใน
 แคปซูลของยานฉางเอ๋อ-5 นำดินและหินกลับมาในปี 2020 ซึ่งเป็นภารกิจดวงจันทร์ครั้งล่าสุดของจีนก่อนหน้านี้ ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นเขตแดนสำหรับภารกิจถัดจากนี้ที่ประเทศต่าง ๆ กระตือรือร้นที่จะเข้าไปทำความเข้าใจภูมิภาคนี้ เพราะมีโอกาสที่ดีว่ามันอาจจะมีน้ำแข็งปกคลุมอยู่
การเข้าถึงน้ำจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ
หากภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไป ยานสำรวจลำนี้จะกลับสู่โลกพร้อมกับตัวอย่างล้ำค่าที่ถูกบรรจุอยู่ในแคปซูลส่งคืนแบบพิเศษ วัตถุเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้ในสภาวะพิเศษเช่นกันเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของมันไว้ให้ได้มากที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ในประเทศจีนจะได้รับโอกาสเป็นกลุ่มแรกที่ได้วิเคราะห์หิน และนักวิจัยทั่วโลกจะได้รับโอกาสดังกล่าวในภายหลังผ่านการรับสมัคร
นี่เป็นครั้งที่สองที่จีนเริ่มภารกิจเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ในปี 2020 โดยยานฉางเอ๋อ-5 นำวัตถุหนัก 1.7 กิโลกรัมกลับมาจากพื้นที่ที่เรียกว่า มหาสมุทรแห่งพายุ (Oceanus Procellarum) ซึ่งอยู่บนด้านใกล้ของดวงจันทร์ซึ่งเผชิญหน้ากับโลกตลอดเวลา
จีนกำลังวางแผนภารกิจยานอวกาศไร้คนขับอีก 3 ภารกิจในทศวรรษนี้ เนื่องจากจีนกำลังค้นหาน้ำบนดวงจันทร์ และสืบเสาะการตั้งฐานถาวรที่นั่น
ยุทธศาสตร์ที่กว้างขึ้นของรัฐบาลจีน ตั้งเป้าที่จะเห็นนักบินอวกาศจีนเดินบนดวงจันทร์ภายในปี 2030 ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ตั้งเป้าจะนำนักบินอวกาศกลับไปเหยียบดวงจันทร์เช่นกัน โดยนาซาตั้งเป้าที่จะเปิดตัวภารกิจชื่อว่า อาร์เทมิส 3 (Artemis 3) ภายในปี 2026
.
..... ที่มาของบทความ https://www.bbc.com/thai/articles/cv226k45jx7o
.
|