ppsan
|
|
« on: Today at 10:00:21 » |
|
ราชาภิเษก: สัญลักษณ์ ความหมาย และความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ทั่วโลก
ราชาภิเษก: สัญลักษณ์ ความหมาย และความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ทั่วโลก
16 เมษายน 2019
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แห่งรอบทศวรรษ ซึ่งสถาบันกษัตริย์ของหลายประเทศทั่วโลก "ผลัดแผ่นดิน" เปลี่ยนรัชสมัย
เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ระยะหนึ่ง ตามธรรมเนียมของหลายประเทศจะต้องมีการประกอบพิธีเพื่อเป็นการสถาปนาให้ทรงดำรงสถานะพระราชาหรือพระจักรพรรดิอย่างสมบูรณ์ ซึ่งพิธีนี้เรียกว่า "ราชาภิเษก" โดยในแต่ละวัฒนธรรมมีขั้นตอนและจุดสำคัญในการประกอบพิธีนี้แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีสวมพระมหามงกุฎ (coronation) ซึ่งเป็นจุดเน้นในพิธีราชาภิเษกของวัฒนธรรมตะวันตก หรือพิธีขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ (enthronement) ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกก็ตาม
"ราชาภิเษก" โดยเนื้อแท้นั้นคืออะไร
เมื่อกล่าวถึงพิธีราชาภิเษก สิ่งที่หลายคนคุ้นตาจากการชมภาพบันทึกประวัติศาสตร์ของพิธีดังกล่าวทั้งจากของไทยและของต่างประเทศ คือบรรยากาศการประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่งดงามอลังการละลานตา แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพตรึงตาตรึงใจเหล่านี้ คือการสื่อความหมายสำคัญในการสถาปนาให้บุคคลผู้หนึ่งขึ้นเป็นจอมคนเหนือประชาราษฎร์ทั้งแผ่นดิน
พิธีราชาภิเษกมักจะเชื่อมโยงกับคติความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ โดยแสดงถึงการที่อำนาจเบื้องบน เช่นสวรรค์ ทวยเทพ หรือพระผู้เป็นเจ้า ให้การยอมรับบุคคลที่ขึ้นเป็นกษัตริย์
ในประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา พิธีกรรมส่วนใหญ่มาจากแบบอย่างของชาวยิวที่มีระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิล เช่น กษัตริย์พระองค์ใหม่จะได้รับการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ตามจุดสำคัญทั่วร่างกายในพิธีราชาภิเษก ซึ่งแสดงถึงการที่ทรงรับถ่ายทอด "เทวสิทธิ์" (divine right) มาจากพระเจ้า ทำให้ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครอง รวมทั้งในการตัดสินประเด็นต่าง ๆ ทางศาสนาและจิตวิญญาณของประชาชน
. อังกฤษ
สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์อังกฤษในยุคปัจจุบัน ขั้นตอนที่ตามมาหลังจากการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์คือการถวายชุดคลุมและผ้าคลุมยาว รวมทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (crown jewels) ซึ่งชิ้นสำคัญได้แก่ลูกโลกทองคำประดับอัญมณี (orb) ที่มีสัญลักษณ์กางเขนอยู่ด้านบน สื่อถึงการปกครองของพระเยซูคริสต์เหนือผืนโลก นอกจากนี้ยังมีพระธำมรงค์ (แหวน) เป็นสัญลักษณ์ของการที่กษัตริย์ทรง "อภิเษกสมรส" หรือทรงผูกมัดพระองค์เองเข้ากับพระราชอาณาจักร ส่วนพระคทา (scepter) ที่มีหัวเป็นรูปนกพิราบหรือกางเขนนั้น แสดงถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพระจิต (Holy Ghost) ในคริสต์ศาสนา
ถัดจากนั้นจะเป็นพิธีสวมพระมหามงกุฎ โดยอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี นักบวชสมณศักดิ์สูงสุดของศาสนจักรแห่งอังกฤษ (The Church of England) จะเป็นผู้วางพระมหามงกุฎลงบนพระเศียร ตามมาด้วยพิธีเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ เพื่อให้บรรดาพระราชวงศ์และขุนนางเข้าเฝ้าถวายพระพร ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละขั้นตอนในพิธีราชาภิเษกนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งกษัตริย์ โดยแต่ละขั้นตอนแสดงถึงการถวายพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในหลากหลายด้านที่แตกต่างกันออกไป
การใช้บรรดานักบวชสมณศักดิ์สูงเป็นผู้ประกอบพิธีราชาภิเษก ยังแสดงถึงการสนับสนุนของศาสนจักรซึ่งเป็นขุมพลังสำคัญต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการคัดค้านต่อต้านของชนชั้นปกครองและกษัตริย์จากแคว้นอื่น เนื่องจากในอดีตผู้ที่ขึ้นครองราชสมบัติมักจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเหล่ากษัตริย์ด้วยกันอีกด้วย
. เอเชีย
พิธีราชาพิเษกของกษัตริย์ที่กัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2407 ใช้น้ำสรงร่างกายเพื่อชำระล้างและก้าวสู่ชีวิตใหม่
สำหรับประเทศในเอเชีย ที่นับถือพุทธศาสนาหรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิธีราชาภิเษกมีความเกี่ยวข้องกับคติของอินเดียโบราณที่ใช้ "น้ำ" เป็นสื่อในการสถาปนาแต่งตั้งบุคคลสำคัญ โดยถือว่าการใช้น้ำรดหรือสรงชำระร่างกาย แสดงถึงการก้าวย่างเข้าสู่ช่วงชีวิตใหม่และมีสถานะใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นใจความสำคัญของพิธีราชาภิเษกในคติแบบพราหมณ์-ฮินดูก็คือพิธีการสถาปนากษัตริย์ด้วยการสรงน้ำหรือ "มุรธาภิเษก" นั่นเอง ซึ่งถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากมนุษย์ธรรมดาไปเป็นสมมติเทพหรืออวตารของพระเจ้า
พิธีราชาภิเษกทางตอนใต้ของประเทศอินเดียมีนักบวชเข้าร่วม 40 คน และแขกกว่า 1,000 คน
สำหรับกษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ พิธีราชาภิเษกยังแสดงออกถึงความเป็นจักรพรรดิราช หรือกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจบารมีเหนือกษัตริย์อื่น ๆ และความเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตอีกด้วย โดยคติความเชื่อเรื่องแก้ววิเศษ 7 ประการซึ่งเป็นเครื่องประดับบารมีของพระจักรพรรดิราชนั้น ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์หลายพระองค์มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 5 อย่างหรือ "เบญจราชกกุธภัณฑ์" ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดโบกวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นเครื่องแสดงถึงพระบารมีในด้านต่าง ๆ
วัฒนธรรมชาติอื่นๆ
แม้แต่ละประเทศจะมีรายละเอียดในการประกอบพิธีราชาภิเษกแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดยังคงสาระสำคัญในการสื่อความหมายถึงการยอมรับและสถาปนาบุคคลผู้หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยในบางครั้งพิธีราชาภิเษกยังรวมถึงการยอมรับจากประชาชนซึ่งเป็น "พลังอำนาจจากเบื้องล่าง" นอกเหนือไปจากการยอมรับของศาสนาจักรและอำนาจเบื้องบนอีกด้วย เช่นพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์เนปาล จะต้องทรงรับน้ำสรงมุรธาภิเษกจากตัวแทนวรรณะทั้งสี่ คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร
ไม่จำเป็นว่าการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ในยุโรปจะต้องมีพิธีสวมพระมหามงกุฎ (coronation) เสมอไป บางประเทศ เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ไม่เคยมีการประกอบพิธีดังกล่าวมาก่อนในประวัติศาสตร์ ส่วนกษัตริย์สเปนนั้นมีพระราชพิธีราชาภิเษกซึ่งรวมเอาขั้นตอนการสวมพระมหามงกุฎเอาไว้ด้วยเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อหลายร้อยปีก่อน
กรณีของมาเลเซียซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีจะต้องได้รับเลือกจากบรรดาสุลต่านผู้ครองรัฐจำนวน 9 รัฐ เพื่อผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองราชย์ในตำแหน่งประมุขสูงสุดหรือ "ยังดีเปอร์ตวนอากง" ทุก 5 ปีนั้น พิธีราชาภิเษกเป็นไปอย่างเรียบง่าย สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเครื่องประดับพระเศียรแบบดั้งเดิมแทนพระมหามงกุฎ เสด็จเข้าในกระบวนแห่ไปยังพระราชวัง ก่อนจะทรงรับพระคัมภีร์อัลกุรอานมาจุมพิตและแสดงความเคารพ สื่อถึงการที่ทรงรับจะเป็นองค์อุปถัมภกและผู้พิทักษ์ปกป้องศาสนาอิสลาม จากนั้นทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าบรรดาพระราชวงศ์ คณะรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญทางการเมือง
บรูไนเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอีกประเทศหนึ่งที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพิธีราชาภิเษกของสุลต่านแห่งบรูไนจะเริ่มต้นด้วยการปักธงสีเหลืองและแดงบนเนินเขา 2 แห่ง เพื่อประกาศแก่ประชาชนและชาวต่างประเทศว่าสุลต่านพระองค์ใหม่ได้ขึ้นครองราชย์แล้ว และจะมีพิธีราชาภิเษกในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งในพิธีดังกล่าวสุลต่านจะทรงกริช "สินากา" (Si Naga) เสด็จเข้าในกระบวนแห่ไปยังพระราชวังเพื่อทรงรับการสวมพระมหามงกุฎและการถวายคำสัตย์ปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีจากเหล่าข้าราชบริพาร ซึ่งคนเหล่านี้ต้องชักดาบประจำตัวของตนออกจากฝักขณะกล่าวคำปฏิญาณด้วย
ส่วนพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ในแอฟริกานั้นแตกต่างออกไปอีกอย่างมาก เช่นการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์แห่งสวาซิแลนด์ ซึ่งทรงเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "เอสวาตินี" เมื่อไม่นานมานี้ มีการประกอบพิธีหลายขั้นตอนเป็นการลับ แต่ในท้ายที่สุดกษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จออกและทรงเข้าร่วมในพิธีเต้นรำ โดยจะทรงเครื่องประดับทำจากขนนกแบบเต็มยศตลอดพิธีเต้นรำที่ยาวนานหลายชั่วโมง
ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยกับราชาภิเษกในโลกยุคใหม่
พิธีราชาภิเษกยังแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาและยุคสมัยในสังคมต่าง ๆ โดยเห็นได้ชัดที่สุดในกรณีการเปลี่ยนชื่อรัชสมัยและการนับปีรัชศกตามการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงที่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นี้ มีการเปลี่ยนผ่านจากยุคแห่งสงครามในรัชสมัยโชวะ มาถึงยุคแห่ง "สันติภาพทั่วหล้า" ในรัชสมัยเฮเซ และกำลังก้าวเข้าสู่รัชสมัย "เรวะ" ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 ซึ่งชื่อของรัชสมัยนี้หมายถึง "ความสันติปรองดองอันรุ่งเรือง" สะท้อนถึงความปรารถนาการเปลี่ยนแปลงของชาวญี่ปุ่น จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำมายาวนาน สังคมผู้สูงวัย การเมืองไร้เสถียรภาพ เข้าสู่ยุคแห่งความหวังครั้งใหม่
ทุกวันนี้พิธีราชาภิเษกในหลายประเทศมีการปรับเปลี่ยนให้เรียบง่าย สอดคล้องกับยุคสมัย และเข้าถึงประชาชนในทุกระดับมากขึ้น รวมทั้งลดความเกี่ยวข้องกับศาสนาและอำนาจเหนือมนุษย์ลง กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอาจจะเพียงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณต่อรัฐสภา หรือต่อกลุ่มผู้แทนพสกนิกรทุกหมู่เหล่า โดยถ้อยคำที่ใช้ในพิธีนี้เปลี่ยนแปลงไปได้ตามบริบทและความเหมาะสมของยุคสมัย เช่นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ 3 ข้อ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1953 ว่าจะทรงครองราชสมบัติภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบ้านเมือง จะทรงดำรงความเป็นธรรมด้วยพระเมตตา และจะทรงพิทักษ์รักษาศาสนจักรแห่งอังกฤษ
มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะจะทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในเดือนพฤษภาคมนี้
การที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงล่วงเข้าวัยชราสละราชสมบัติให้แก่พระรัชทายาทในเวลาอันสมควร ก็เป็นอีกแนวโน้มหนึ่งของโลกสมัยใหม่ที่เริ่มมีการปฏิบัติกันแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2013-2014 สถาบันกษัตริย์ของเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสเปน มีการผลัดแผ่นดินด้วยวิธีการดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ส่วนประเทศในเอเชียอย่างภูฏานนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้สละราชสมบัติแก่พระราชโอรสมาตั้งแต่ปี 2008 ตามมาด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นซึ่งทรงตัดสินประกาศแนวทางดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว และจะมีพิธีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. นี้
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตาม มีกษัตริย์ของยุโรปหลายประเทศที่ยืนยันจะยังไม่สละราชสมบัติตามแบบอย่างที่กำลังมาแรง เช่นสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 ของนอร์เวย์ พระชนมพรรษา 82 พรรษา เนื่องจากทรงถือว่าคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้กับรัฐธรรมนูญของประเทศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น เป็นคำมั่นสัญญาที่จะต้องทรงยึดถือ "ตลอดชีวิต"
ส่วนสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน พระชนมพรรษา 73 พรรษา มีพระดำรัสว่าจะยังไม่ทรงสละราชสมบัติให้แก่เจ้าหญิงวิกตอเรีย องค์มกุฎราชกุมารีซึ่งทรงเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ในหมู่ประชาชนอย่างสูง เพราะสำหรับพระองค์แล้วประเด็นนี้ถือเป็น "เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า"
.
..... ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก https://www.bbc.com/thai/47944565
.
|