Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 21:13:11

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  หมวดหมู่ทั่วไป  |  สาระน่ารู้  |  เรื่องที่ควรรู้เท่าทันระดับชาติ  |  คำทำนาย ๑๐ ยุค ราชวงศ์จักรี
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: คำทำนาย ๑๐ ยุค ราชวงศ์จักรี  (Read 1544 times)
chaiyuth
น้องใหม่ฝึกยิ้ม
*
Offline Offline

Posts: 3

View Profile
« on: 13 January 2013, 11:15:47 »

คำทำนาย ๑๐ ยุค ราชวงศ์จักรี 
   ๑.มหากาฬ ๒.พาลยักษ์ ๓.รักมิตร ๔.สนิทธรรม ๕.จำแขนขาด ๖.ราชโจร ๗.ชนร้องทุกข์ ๘.ยุคทมิฬ ๙.ถิ่นกาขาว ๑๐.ชาวศรีวิไล


คำทำนายที่เกี่ยวกับบ้านเมืองที่คนแต่ก่อนจำกันได้และพูดถึงอยู่เนืองๆ คือ

   "มหากาฬ พาลยักษ์ รักมิตร สนิทธรรม จำแขนขาด ราชโจร ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาวศรีวิไล"

คำทำนายดังกล่าวมีเขียนต่างกัน ๒ แห่ง คือ "จำแขนขาด" ในที่บางแห่งเขียนเป็น "พาหาขาด" และ "ชาวศรีวิไล" บางแห่งเขียนเป็น "ชาวศิวิไลซ์"
อ้างว่ามาจาก civilize จึงทำให้เห็นว่าเป็นคำทำนายที่ผูกขึ้นใหม่ ในประวัติของวัดราชบุรณราชวรวิหารอ้างว่าพบคำทำนายนี้ จารึกด้วยอักษรขอมว่า
"พระพุทธศากราชล่วงแล้ว ๒๓๖๗ ข้าพเจ้าสมเดดพระศรีสมโพธิราชครูผู่มีปราดทนาจะให้ปวงสัตว์ได้รู้ปริศนาพยากรณ์ดังนี้ (คือคำทำนายข้างต้น)"

   'คำทำนาย' เขียนโดยอาจารย์ ส. พลายน้อย ในวารสาร ความรู้คือประทีป ฉบับที่ 1/45 หน้า 29
   " คำทำนาย ชะตาเมืองไทย ของสมเด็จโต"
   จากหนังสือจุลสาร " 1999 โลกพินาศ 2542 แผนอยู่รอด "
   รวบรวมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พิชัย โตวิวิชญ์

   ในหนังสือ "ปัญญาไทย ๑" ที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับประวัติ ผลงานอภินิหาร และ เกียรติคุณ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังษี
ของ มหาอำมาตย์ ตรีพระยาทิพโกษา ( สอน โลหะนันท์ ) ซึ่งเป็นฉบับที่ ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ รวบรวมในปี พ.ศ.2493
โดยไม่มีการแก้ไขข้อความเดิม ในหน้า ๒๗ มีการพยากรณ์ ถึงชะตาเมือง ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

   หลังจากที่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังษี ได้มรณภาพลง เมื่อวันเสาร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งตรงกับ
วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ตอนเที่ยงคืน เช้าวันรุ่งขึ้น นายอาญาราช ( อิ่ม ) ศิษย์ก้นกุฏิ ของเจ้าประคุณสมเด็จ เข้าไปเก็บกวาด ในกุฏิของท่าน
ขณะทำความสะอาดพื้นกุฏิ นายอาญาราชได้พบ เศษกระดาษชิ้นหนึ่งซุกอยู่ใต้เสื่อเป็นลายมือของเจ้าประคุณสมเด็จ เขียนสั้นๆ โดยสังเขป
เป็นคำทำนายชะตาเมือง มีความว่า
   “มหากาฬ พาลยักษ์ รักมิตร สินทธรรม จำแขนขาด ราษฎร์จน ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาววิไล”
ห ม า ย เ ห ตุ คำทำนายของสมเด็จข้างต้นนี้หาอ่านได้จากหนังสือ " NOSTRADAMUS นอสตราดามุส"
ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน พิมพ์ครั้งที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๐

ตอนที่ ๑
   เรื่องปริศนาพยากรณ์ ๑๐ รัชกาลนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกใหม่ ไม่ใช่เป็นเรื่อง "มงคลตื่นข่าว" หรือกระต่ายตื่นตูมแต่อย่างไร
แต่เป็นเรื่องที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมานาน จากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายหรือคนรุ่นเก่าเล่าให้ฟัง
หรือบางท่านอาจจะเคยอ่านเจอในหนังสือต่าง ๆ มาบ้างแล้วก็เป็นได้ แต่ผมเชื่อนะครับว่ายังมีอีกหลายท่านที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยอ่าน ไม่เคยได้ยินมาก่อน
หรือบางท่านอ่านแล้วไม่เข้าใจหรืออาจจะลืมไปแล้วก็ได ้ ดังนั้นผมจึงถือโอกาสนำมาเขียนบันทึกเอาไว้ในที่นี้
เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้สดับ และใช้ปัญญาพิจารณาถึง เรื่องราวเหตุผล ความเป็นมา ความเป็นไปได้ไม่ได้อย่างไร หากข้อความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้
ผิดเพี้ยนจากข้อมูลที่ท่านเคยได้รับมา หรือ อาจจะมีสิ่งใดที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใด ในทางที่ไม่ควรแล้ว ก็ได้โปรดให้อภัยและถือเสียว่า
ทั้งหมดนี้เป็นทัศนะอันหนึ่งของผมในด้านโหราศาสตร์ และผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว หากจะมีกุศลผลบุญแห่งความดีอยู่บ้าง
ผมขออุทิศกุศลนั้น แด่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ครูอาจารย์ ผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้และผู้มีอุปการคุณทุกท่าน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว
ตลอดทั้งดวงพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าประคุณสม เด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม กทม. ซึ่งหลายท่านเชื่อว่า
"ท่านเป็นผู้กล่าวคำปริศนาพยากรณ์ ๑๐ ข้อ " นี้ด้วยเทอญ.

ก่อนที่จะได้สดับถึงหัวข้อปริศนาทั้ง ๑๐ ข้อ กระผม ใคร่ขอนำอัตตชีวประวัติโดยย่อของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
ซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกพระนามท่านว่า "สมเด็จโต" และเกร็ดอภินิหารบางตอนที่เกี่ยวกับการพยากรณ์โดยใช้ อำนาจจิตมาให้ท่านได้อ่านกันพอสังเขป ดังนี้

สมเด็จโตท่านถือกำเนิดจากโยมมารดา ผู้มีนามว่า "งุด" ส่วนโยมบิดานั้นไม่เป็นที่ปรากฎ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือได้ต่อมาในภายหลัง
ว่า โยมบิดาของท่านคือ "พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งบรมราชจักรีวงศ์" ข้อสันนิษฐานนี้ไม่ใช่เดากันส่งเดชนะครับ
มีหลักฐานปรากฎ เป็นลายลักษณ์อักษร และเรื่องราวบันทึกเอาไว้ด้วย เช่น รัชกาลที่ ๒ สมัยดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ (ยังไม่ครองราชย์)
ได้พระราชทานเรือกราบกัญญา หลังคากระแซง ซึ่งเป็นเรือทรงในพระองค์เจ้าให้แก่สามเณรโต นอกจากนั้นในจดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ เล่ม ๓ หน้า ๔๔ ได้กล่าวถึงประวัติของสมเด็จ ฯ ตอนมรณภาพว่า
"สมเด็จพระพุฒาจารย์ถึงชีพิตักษัย" ซึ่งเป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้กับฐานันดรชั้นพระองค์เจ้า และอีกประการหนึ่ง สมเด็จโตท่านมักจะทำอะไรแผลง ๆ
ไม่เว้นแม้แต่หน้าพระที่นั่งของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ถ้าเป็นพระราชาคณะรูปอื่นล่ะก็ มีหวังถูกถอดพัดยศ ถูกจับสึกและลงอาญาไปแล้ว
แต่สมเด็จโต ฯ พระองค์ท่านกลับไม่ถือสาหาความ และยังเห็นดีเห็นงามในพฤติกรรมของท่าน ที่เป็นอุบายธรรมอันล้ำเลิศอีกด้วย

ในสมัยที่สมเด็จโตยังดำรงสังขารอยู่นั้น ท่านเป็นพระธรรมกถึกเอก (พระนักเทศน์) ที่มีลีลาวาทะจับใจ ประทับใจมาก เป็นที่ศรัทธาปสาทะของชนทุกเหล่า
ตั้งแต่กระยาจก สามัญชน เศรษฐี เสนาบดี จนถึงพระเจ้าแผ่นดิน ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำปีวอก
ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ เวลาประมาณ ๐๖.๕๔ น. ที่บ้านท่าอิฐ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อถือกำเนิดได้ไม่นาน
เกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี การทำนาไม่ได้ผล โยมมารดาของท่านจึงได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่กับยายที่บ้านไก่จ้น ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ต่อมาท่านอายุประมาณ ๗ ขวบ มารดาได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ ตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพฯ และได้มอบให้เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง)
เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร เพื่อศึกษาอักขรสมัยเมื่ออายุครบ ๑๒ ปีบริบูรณ์ ตรงกับปีวอก พ.ศ. ๒๓๔๓ ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระบวรวิริยะเถร (อยู่)
เจ้าอาวาสวัดบางลำพูบน (วัดสังเวชวิศยารามในปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังโมสิตาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมกับ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค เปรียญเอก)

สามเณรโต เป็นผู้มีความวิริยะอุตสาหะ ในการศึกษาเป็นอย่างดี มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส จนปรากฎว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย"
เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานมาก (พระองค์ทรงทราบว่าเป็นพระโอรสเกิดจากนางงุด
เพราะหลักฐานรัดประคดหนามขนุน ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยศสำหรับแม่ทัพ ที่ได้ให้ไว้แก่โยมมารดาสามเณรโต เมื่อคราวไปราชการทัพ
และพบรักกับโยมมารดาของท่านที่บ้านเกิด) ได้ทรงรับเอาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พระราชทานเรือกราบกัญญาหลังคากระแซงให้ท่านใช้สอย ตามอัธยาศัย

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ตรงกับปีมะโรง พ.ศ.๒๓๕๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง
ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ฉายาว่า "พรหมรังสี"
และเรียก"พระมหาโต" แต่นั้นมา

ตอนที่ ๒
สามเณรโต เมื่อบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว พระสงฆ์ทั่วไปเรียกท่านว่า "มหาโต"ด้วยเหตุที่ท่านมีความรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม
ล่วงรู้อรรถกถาธรรมในพระไตรปิฏกอย่างแตกฉานตั้งแต่สมัยยังเป็นเณร แม้ท่านไม่เคยเข้าสอบเปรียญธรรม แต่ภูมิธรรมของท่านนั้น เป็นที่ยอมรับปรากฎเด่นชัด
ตั้งแต่ตอนที่ไปศึกษาที่วัดระฆัง กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) ก่อนที่จะย้ายไป ท่านอาจารย์วัดระฆัง ฝันไปว่า
"มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง เข้ามากินหนังสือพระไตรปิฏกในตู้ของท่านจนหมด" ซึ่งพอตื่นขึ้น ก็เกิดความมั่นใจว่า จะได้ศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมคนหนึ่ง
และก็เป็นจริง วันรุ่งขึ้นสามเณรโตก็ถูกนำตัวมาฝาก ท่านจึงรับไว้ด้วยความยินดี

สามเณรโตเป็นช้างเผือกจริงขนาดไหน ก็ลองฟังสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ท่านตรัสถึงสามเณรโตดูก็ได้ ว่าก่อนจะเรียนหนังสือ
(สมัยนั้นเขาแปลหนังสือจากคัมภีร์ภาษามคธหรือบาลี    เป็นภาษาไทย) สามเณรได้ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า "วันนี้จะเรียนตั้งแต่บทนี้ถึงบทนี้นะขอรับ"
เสร็จแล้วเวลาเรียนก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ และทำอย่างนี้ทุกครั้ง จนสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอาจารย์ว่า
"ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฉันฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก"
(คำว่า "ขรัว" เป็นคำยกย่องพระผู้คงแก่เรียน มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด บวชเรียนมานาน)

สมเด็จโต ท่านไม่ได้เก่งแต่ทางด้านปริยัติธรรมเท่านั้น ทางด้านปฏิบัติ และปฏิเวธ ท่านก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ใด ท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง อดทน มั่นคง
มีเมตตาจิต ตั้งใจจริง ไม่ถือโทษโกรธผู้ใดไม่ใฝ่ในลาภยศ สรรเสริญ ลาภสักการะ มักน้อย รักสันโดษ (ความพอใจ) เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒ ท่านทรงหนีเข้าป่า
ออกธุดงค์ เจริญกรรมฐาน แสวงหาครูอาจารย์ที่เก่งทางด้านพุทธาคม เนื่องจากท่านไม่ยอมรับสมณศักดิ์ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ถวายให้

จวบจนถึงรัชกาลที่ ๔ ได้ประกาศให้หัวเมืองจับตัวพระมหาโตกลับมา เพื่อให้รับสมณศักดิ์ให้จงได้ อันที่จริงไม่มีผู้ใดจะจับท่านได้หรอกครับ
เพราะท่านมีวิชาแปลงหน้า แต่ท่านสงสารพระภิกษุรูปอื่นที่มีรูปพรรณ สัณฐาน คล้ายกันกับท่าน ต้องถูกจับไปคุมขัง สอบสวน ให้ได้รับความทุกขเวทนา
ท่านจึงยอมตนให้ทางบ้านเมืองจับแต่โดยดี เมื่อถูกส่งตัวไปถึงเฉพาะหน้าพระพักตร์ ล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๔ ตรัสว่า "เป็นยุคของฉันครองแผ่นดิน
ท่านต้องช่วยกันบำรุงพระศาสนา" ขรัวโตจึงยอมรับสมณศักดิ์ ในตำแหน่ง "พระธรรมกิติ" พอพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว ทรงมีพระดำรัสว่า
"ในรัชกาลที่ ๓ หนี, ไม่รับสมณศักดิ์ คราวนี้รับ ทำไมไม่หนีอีกล่ะ"

สมเด็จโตถวายพระพรว่า "ก็รัชกาลที่ ๓ ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้านี่ เป็นแต่เจ้าแผ่นดิน จึงหนีได้ (ทำนองว่าเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงหนีขึ้นฟ้าได้) ส่วนมหาบพิตร
เป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จะหนีไปข้างไหนพ้น" (อธิบายความว่า รัชกาลที่ ๓ เป็นแค่พระองค์เจ้า เพราะประสูติจากเจ้าจอม ส่วนรัชกาลที่ ๔ นั้น
เป็นเจ้าฟ้าเพราะประสูติจากพระมเหสี) เป็นไงครับ ลีลาวาทะของสมเด็จท่าน ยังมีอีกมาก สนใจก็ลองหาหนังสือประวัติของท่านโดยละเอียดดู

สมเด็จโต ท่านเป็นพระเถราจารย์ที่เก่งทุกด้าน จัดเป็นอัจฉริยะบุคคลแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ว่าได้ หลายท่านเชื่อว่าท่านสำเร็จ
"ภูมิธรรมชั้นสูงขั้นพระอริยบุคคล" ได้อภิญญาสมาบัติ มีวิชาแปดประการ เช่น แสดงฤทธิ์ล่องหน หายตัว, ย่นระยะทาง, รู้วาระจิต, รู้อดีต, รู้อนาคต,
รู้ภาษาสัตว์, ห้ามลมห้ามฝน ฯลฯ แต่ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของท่านในวาระต่าง ๆ ที่ท่านยังมีพระชนม์ชีพอยู่
และวิธีการพยากรณ์ของท่านก็ไม่ได้ใช้แบบผูกดวง หรือดูโหงวเฮ้ง แต่ท่านใช้จิตศาสตร์ หรือ "นั่งทางใน" ดู จะขอยกตัวอย่างสัก ๒ เรื่อง พอสังเขป ดังนี้

เมื่อครั้งที่ รัชกาลที่ ๔ จะเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น พระองค์ได้ทรงคำนวณพระชาตาของพระองค์เอง
(ทรงเป็นนักดาราศาสตร์และนักโหราศาสตร์ที่มีพระปรีชามาก) ว่าพระชาตาจะถึงฆาต สิ้นอายุขัยในปีนั้นด้วย วันหนึ่งจึงมีพระดำรัสถามสมเด็จโต ณ ที่ รโหฐานว่า
พระองค์จะเสด็จกลับมาสวรรคตที่กรุงเทพ ฯ ทันหรือไม่ สมเด็จท่านทูลว่า จะเสด็จกลับทัน จึงเสด็จออกจากกรุงเทพ ฯ ประทับแรมอยู่ที่หว้ากอ ๙ วัน
แล้วจึงกลับกรุงเทพ ฯ และเริ่มมีพระอาการประชวรไข้ป่า (มาลาเรีย) จับไข้อยู่ ๓๗ วัน จึงสวรรคต

อีกเรื่องหนึ่งในรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินที่วัดระฆัง สมเด็จโตท่านแต่งตัวแปลกประหลาด
กล่าวคือท่านห่มจีวรเหมือนปกติแต่เอาผ้าพันเท้าทั้งสองข้างเหมือนกับสวมถุงเท้า พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงถามถึงสาเหตุที่ทำอย่างนั้น
ท่านถวายพระพระพยากรณ์ว่า "ปีหน้า จะต้องเป็นอย่างนี้" พระองค์ท่านได้สดับก็แย้มพระโอษฐ์ ไม่ได้ตรัสว่ากระไร ในปีนั้นได้เสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์
เมืองบะตาเวีย และเมืองสะมารัง รวม ๓๗ วัน

เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ก็เริ่มทรงจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมในราชสำนักหลายอย่าง เช่น โปรด ฯ ให้ผู้เข้าเฝ้าแต่งตัวสวมถุงเท้า รองเท้า
ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง เวลาเสด็จประพาสก็โปรดให้แต่งตัวใส่ถุงเท้า รองเท้าเสื้อเปิดคอ และยืนเฝ้าเหมือนกับ ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เอาผ้าพันเท้านั้น
ก็เป็นนิมิตหมายว่าปีต่อมา ข้าราชการจะต้องสวมถุงเท้าเข้าเฝ้า..ก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ได้เล่าประวัติของสมเด็จท่านมาพอสมควร ในตอนหน้าก็จะได้ว่ากันต่อถึงคำปริศนาพยากรณ์สมเด็จ ซึ่งมีด้วยกัน ๑๐ ข้อ ซึ่งหมายถึง ๑๐ ยุค หรือ ๑๐ รัชกาล
ให้ท่านได้พิจารณากัน


Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.042 seconds with 21 queries.