chaiyuth
น้องใหม่ฝึกยิ้ม
Offline
Posts: 3
|
|
« on: 13 January 2013, 11:12:22 » |
|
จากหนังสือเคล็ดลับโหราศาสตร์ ของท่านโหราจารย์แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ จัดพิมพ์โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด เกษมบรรณกิจ ปริเฉทที่ ๑ สารโศลกชื่อ นิทานยุคทมิฬ ว่า “กิระ ดังได้สดับมาแต่อดีตกาล คือตามบันทึกของตำราเจ้าฟ้ามหามาลา สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พระราชโอรสอันดับที่ ๖๕ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี) ต้นสกุล มาลากุล ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้สำเร็จราชกาลในราชสำนักในรัชกาลที่ ๕ และว่าพระคลังทั้งปวง ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการกรมหมาดไทย ข้าพเจ้า (โหรแฉล้ม) ได้จากขุนบวรวรรณกิจ ๆ ให้ดูแต่ครั้งหอพระสมุดยังอยู่ท่าช้างวังหน้าโน้น แลได้รับทราบทางมุขบาฐจากครูอาจารย์บ้าง รวมเป็นข้อความว่า เมื่อ ๑๖๕ ปีแล้ว ตรงกับวันเสาร์ที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๔* ซึ่งวันนี้เองข้าพเจ้าเชื่อเอาว่าเป็นวันปราบดาภิเษก แลวันระลึกจักรีต่อไปดังนี้ ดวงปราบดาภิเษกเมื่อคราว ๑๖๕ ปีมาแล้ว ในหนังสือเคล็ดลับโหราศาสตร์ ของท่านโหราจารย์แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ (*ตรวจสอบแล้วดาวจันทร์ในดวงลงผิดราศี เป็นวันเสาร์ แรม ๙ ค่ำเดือน ๕ ปีขาล ตรีศก จุลศักราช ๑๑๔๓ ตรงกับวันเสาร์ ที่ ๖ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕** เวลา ๑๑:๐๔ น. ขึ้นไปแต่ไม่เกินเวลา ๑๓:๐๒ น.) ** นับวันที่ ๑ ม.ค. เป็นวันขึ้นปีพุทธศักราชใหม่ จึงดำเนินความตามนัยยะมุขบาฐว่า ขณะเมื่อกองทัพถึง บางออก คราวนั้น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อเสด็จถึงวัดสะแก (ทรงสรงน้ำมุรธาภิเษก) ได้ทรงสรงเกษเกล้า แล้วนามวัดมีต่อมาเปลี่ยนนามเรียกว่า วัดสระเกษ (ภูเขาทอง) แล้วได้เสด็จโดยพยุหผ่านหนองบัว (ทุ่งพระเมรุ) ไปโดยพวกเท้านางข้างในได้นำเรือพระที่นั่งมารับเสด็จ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังบางกอกน้อย (ธนบุรี) ทรงปราบดาภิเษกในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชเสด็จสวรรคตในวันนั้น และต่อๆ มา เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จถึง ก็ได้มีการจับกุมประหารชีวิตขุนนางอีกประมาณ ๘๒ ครัวเรือน ต่อมาก็ได้มีย้ายกรุงธนบุรีข้ามฟากมาตั้งเป็นกรุงเทพฯ พระมหานครใหญ่ ซึ่งหลังจากการพระราชพิธีปราบดาภิเษกไม่กี่มากน้อย ตั้งหลักปักเขตพระบรมมหาราชวังข้างขอบสระหนองบัว ซึ่งเรียกว่าทุ่งพระเมรุ ในวันอาทิตย์เวลาเช้าเดือน ๖ ก็วางหลักเมือง ซึ่งโบราณาจารย์ได้ผูกเป็นดวงชาตาเรียกกันว่า ดวงเมือง ดังนี้ ดวงชาตาเมืองกรุงเทพพระมหานคร วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๔๔ ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เวลาย่ำรุ่ง ๙ บาท ในพระราชพิธีใหญ่ๆ เช่นนี้ จะต้องปลูกโรงพระราชพิธีพร้อมเครื่องสังเวยบูชาตามพิธีและขุดหลุมได้ตามขนาด เอาผ้าขาวอันบริสุทธิ์ปูรองก้นหลุมไว้ ตรงกับเบื้องบนดาดเพดานผ้าแดงมีฉัตร ธงทิวเทียว อาสน์พระสงฆ์เจริญพระปริตรและเจิมเสาหินไว้พร้อม พระมหาราชครูอ่านพระกระแสบรมราชโองการตั้งพระมหานครแล้ว การฝังหลักเมืองได้มหาศุภฤกษ์ โหรก็ลั่นฆ้องดึงด้ายสายสิญจน์จน์มงคล เลื่อนเสาหินลงหลุม คือ เสาหลักเมือง ขณะเดียวกันนี้ มีเหตุมหัศจรรย์ คือได้เห็นงูเล็ก ๔ ตัวนอนอยู่ที่ผ้าขาวรองก้นหลุมก่อนแล้ว จะแก้ไขเอาขึ้นมาก็ไม่ทันท่วงทีเพราะกำลังได้ฤกษ์ ก็ต้องปล่อยเสาร์หินทับลงไปฝังพร้อมกัน ซึ่งมีงูรวม ๔ งูในนั้นด้วย ที่ว่าประหลาดคือ ๑. หลุมต้องขุดไว้ก่อนแต่วานนี้ ส่วนผ้าขาวคงปูรองเวลาเช้านั้นเอง งูลงไปได้อย่างไร มาแต่ไหนถึง ๔ ตัว ๒. พระราชพิธีนี้เป็นการใหญ่ ยิ่งโบราณยิ่งถือมาก ต้องมีผู้คนมาก ก่อนนั้นไม่มีคนใดเห็นงูเสียเลย ๓. คนโบราณ เมื่อไม่มีผู้รู้ว่างูมาแต่ไหน หาเหตุผลไม่ได้ ก็คือเทพนิมิต หรือประหลาดมิเป็นการธรรมดา และเป็นเหตุให้โหรพยากรณ์ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นส่วนพระองค์นัยยะว่า พระราชวงศ์จะเจริญไปได้ ๑๕๐ ปีจะเสื่อมสูญ เว้นแต่จะได้สร้างวัดลงไว้ในทิศใกล้ชิด ตามทิศพยากรณ์ถวายแล้ว จึงจะถาวรบรรเทาโทษมากเป็นน้อยได้ เพราะเนื่องด้วยงูทั้ง ๔ นี้เป็นมูลเหตุ เรื่องนี้เป็นเรื่องของโหร ปรากฏในพระบันทึกเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ข้าพเจ้า (โหรแฉล้ม) ไปขอดูจากขุนบวรวรรณกิจ เมื่อครั้งหอพิพิธภัณฑ์อยู่ท่าช้างวังหน้า และต่อมาไปขอคัดได้ความว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สั่งเก็บพิเศษเสียแล้ว แต่กรมหมื่นพงษาฯ ได้ทรงเล่าตรงกับที่ข้าพเจ้าได้ทราบมา แต่ว่าต้นฉบับจะอยู่ที่ใดยังไม่เห็นอีก และขอเล่าต่อไปว่า ต่อมาวันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ จ.ศ. ๑๑๔๖ ซึ่งเป็นวันสมโภชพระยาช้างเผือก ๒ ช้าง ก็เกิดแผ่นดินไหว โอกาสนี้จึงอาราธนาพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต ขึ้นสู่ประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงเป็นอันสมบูรณ์ตามพระราชสัตยาธิษฐาน ในการสร้างวัดตามทิศและเป็นอันหวังได้ว่าครบ ๑๕๐ ปีแล้ว พระราชวงศ์จักรีจะมีเหตุอันใดก็ตาม จะบรรเทาโทษลงไม่ถึงกับสูญทีเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบางท่านอ้างว่า เหตุเพราะไฟไหม้เมื่อ จ.ศ. ๑๑๕๑ (หลังจากพระแก้วมรกตประทับวัด ๕–๖ ปี) เกิดเพลิงไหม้พระมณเทียรธรรม แล้วสร้างพระมณฑปขึ้นแทน แล้วจึงมีคำพยากรณ์ ๑๕๐ ปีจะมีเหตุ แต่ข้าพเจ้า (โหรแฉล้ม) ไม่เห็นด้วย แต่ก็นำเอามากล่าวไว้ป้องกันเสียงค้าน” ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ เรียบเรียงโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า “เริ่มต้นแต่ปีขาลจัตวาศก จ.ศ. ๑๑๔๔ เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว พระองค์เป็นปฐมในพระบรมราชวงศ์ปัตยุบันนี้ ได้ทรงรับอัญเชิญของเสนามาตย์ราษฎรทั้งหลาย เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครอบครองสยามประเทศ และทรงปราบปรามความจลาจลในกรุงธนบุรีเรียบร้อยแล้ว จึ่งทรงพระราชดำริว่าว่าเมืองธนบุรีนี้ฝั่งฟากตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิดีกว่าที่ฟากตะวันตก .... ทรงพระราชดำริดังนี้ จึ่งดำรัสสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที .... จึ่งได้ฐาปนาสร้างพระราชนิเวศน์มนเทียรสถาน ล้อมด้วยปราการระเนียดไม้ไว้ก่อน พอเป็นที่ประทับอยู่ควรแก่เวลา ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนแปด บุรพาษาฒ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีขาล จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๔๔ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป นิมนต์พระราชาคณะสวดพระปริตรพุทธมนต์ครบ ๓ วันแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือนแปด บุรพาษาฒ ขึ้นสี่ค่ำ เวลารุ่งแล้ว ๔ บาท ได้มหาฤกษ์ พระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาด ประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง แห่โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อม เสด็จข้ามป่าริมคงคามา ณ ฝั่งตะวันออก เสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระราชวังใหม่ ทรงพระราชยานตำรวจแห่หน้าหลังเสด็จขึ้นยังพระราชมนเทียรสถาน ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษก ....” ลุจุลศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็ง สัปตศก การสร้างพระนคร และ พระมหาปราสาทราชนิเวศน์สำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงทรงพระราชดำริว่า เมื่อปีขาลจัตวาศก ได้ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูลเต็มตามตำรา และบัดนี้ก็ได้ทรงสร้างพระนครและพระราชมนเทียรสถานขึ้นใหม่ ควรจะทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณีจะได้เป็นพระเกียริติยศและเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง เป็นที่เจริญสุขแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ทั่วไปในพระราชอาณาเขต จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ และ เสนาพฤฒามาตย์ กระวีชาติราชบัณฑิตยาจารย์ ชีพ่อพราหมณ์ปรึกษาพร้อมกันเห็นสมควรแล้ว จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก .... ครั้นถึงวันพระฤกษ์ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เมื่อพระสงฆ์ ๔๓ รูป ประชุมพร้อมในพระที่นั่ง อมรินทราภิเษก .... พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงนมัสการพระศรีรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการสมเด็จพระอริยวงษณาน จุดเทียนไชย ทรงรับพระไตรสรณาคมน์และเบญจศีลเสร็จ เสด็จขึ้นในพระมหามณเทียรที่ห้องพระบรรทมทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วทรงพระมหามงคล ซึ่งสอดด้วยด้ายสายสิญจน์จน์สูตร ทรงสดับพระราชาคณะสงฆ์สมถะ ๕ รูปสวดพระพุทธมนต์จบ ... รุ่งขึ้นเวลาเช้าเสด็จออกทรงปฏิบัติพระสงฆ์ ทรงพระราชอุทิศเป็นสังฆทานวัตร พระสงฆ์รับทำภัตตากิจ เสร็จแล้วถวายอดิเรกถวายพระพรลา ครบ ๓ วารเป็นกำหนด” ในพระราชพงศาวดารมิได้ระบุวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ต้องทำก่อนวันจันทร์ เดือน ๘๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ คือก่อนวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ และต้องหลังจากวันเถลิงศก คือ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน และในปีจุลศักราช ๑๑๔๗ วันเสาร์ เป็นวันธงชัย, วันพุธ เป็นวันอธิดี และวันศุกร์ เป็นวันอุบาทว์และโลกาวินาส ปกติงานพระราชพิธีไม่ควรมีขึ้นในเดือน ๗ หรือ เดือน ๘ ดังนั้นพระราชพิธีคงมีขึ้นในเดือน ๖ ระหว่างวันที่ ๑๓ เมษายน ถึง วันที่ ๘ พฤษภาคม ขณะที่ดาวอาทิตย์ยังเป็นมหาอุจจ์ในราศีเมษถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม และควรเป็นวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑ พฤษภาคม เวลา ๑๕:๒๒ น. ดาวจันทร์เสวยฤกษ์ที่ ๒๒ ศรวณะนักษัตร ภูมิปาโลฤกษ์ เป็นเพชรฤกษ์ อัมฤตโชค ชัยโชค ยามอธิบดี เป็นฤกษ์ออก ดิถีเรียงหมอน ในตอนท้ายของพระราชพงศาวดารได้สรุปไว้ว่า “เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จเป็นแม่ทัพออกไปปราบปรามจลาจลในเมืองเขมร ทำการยังไม่ทันตลอด พอได้ทรงทราบข่าวว่าเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี ด้วยเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระสติกระทำการกดขี่สมณะและข้าราชการอาณาประชาราษฎรให้ได้เดือดร้อนร้ายแรง ราชการผันแปรป่วนปั่นไปทั้งพระนคร ก็เสด็จยกกองทัพกลับจากเมืองเขมร มาถึงกรุงธนบุรี เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปี มุขมนตรีและประชาราษฏรเป็นอันมาก พร้อมกันกราบทูลอัญเชิญพระองค์ให้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีนั้น” จากข้อความที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น เป็นการบรรยายถึงการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในภายหลังต่อเนื่องมาจากรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงกอบกู้บ้านเมืองหลังจากไทยเราเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า เนื่องจากความอ่อนแอของสถาบันมหากษัตริย์และความแตกแยกของชนชั้นปกครองในขณะนั้น จึงเป็นเหตุให้ไทยเราต้องสูญเสียเอกราชเป็นครั้งที่ ๒ ดังนั้นบทความต่อไปนี้จะเขียนในเชิงวิชาโหราศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ของบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทรงปกครองประเทศสยาม เริ่มแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการบริหารประเทศ ที่ล้มลุกคลุกคลานต่อเนื่องมายาวนาน เพราะความขัดแย้งและการแสวงหาอำนาจที่ยังมาซึ่งผลประโยชน์ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบันนี้
|