ppsan
|
|
« on: 13 January 2013, 10:30:36 » |
|
วสิษฐ เดชกุญชร: ใครทำให้คนไทยต้องซื้อน้ำมัน(และก๊าซ)แพง?ผมได้อ่านเรื่อง ปตท.พลังไทยเพื่อใคร บทความที่นำเสนอโดยท่าน mrt006 ในบ้านเรา เห็นว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคนไทยทุกคนควรรู้(เท่าทัน)-ขอยืมคำพูดของท่าน LAMBERG มาใช้ จึงอยากเสนออีกเรื่องหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกัน บทความของท่าน วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจประจำราชสำนัก เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2541 ได้รับยกย่องว่าเป็นตำรวจตงฉินแห่งกรมตำรวจไทย (นามปากกา โก้ บางกอก) คอลัมน์: วสิษฐ เดชกุญชร: ใครทำให้คนไทยต้องซื้อน้ำมัน(และก๊าซ)แพง?
ผมมีกรรมเหมือนท่านผู้อ่านทั้งหลายอยู่อย่างหนึ่ง คือจำเป็นต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ว่าราคามันจะสูงเพียงใด เวลาได้ยินประกาศทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ว่าวันพรุ่งนี้ราคาน้ำมันรถยนต์จะสูงขึ้นไปอีกลิตรละ 50 สตางค์หรือ1 บาท ถ้ายังมีเวลาและทำได้ก็จะบอกคนขับรถให้ แวะสถานีบริการแล้วเติมน้ำมันให้เต็มถัง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเกือบจะไม่มีประโยชน์อะไร หลายครั้งที่ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะได้ยินประกาศช้าเกินไป หรือมิฉะนั้นก็อยู่ในกาละหรือเทศะที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้ ในระยะหลังมานี้ ราคาน้ำมันสูงขึ้นทีละ 1 บาทต่อลิตร และขึ้นแล้วไม่มีทีท่าว่าจะลง ผมรู้สึกว่าผิดสังเกต แต่ก็ต้องยอมรับเอาโดยดุษณีอย่างเคย คิดเสียว่าจะทำยังไงได้ เมื่อเราต้องซื้อน้ำมันจากต่างประเทศมากลั่น ไม่เหมือนกับประเทศอย่างในตะวันออกกลาง ที่เขามีบ่อน้ำมันขุดขึ้นมาเองและกลั่นใช้เอง น้ำมันของเขาก็ย่อมถูกกว่าเราเป็นธรรมดา จนกระทั่งเมื่อ 2-3 วันมานี้เอง เพื่อนส่งเอกสารฉบับหนึ่งมาให้ทางอีเมล์และได้เปิดอ่านดูจึงรู้ว่าที่แล้วมาผมโง่ไปถนัด ก้มหน้าอ่านไปจนจบแล้วก็จึงรู้ว่าไม่ได้โง่เฉยๆ แต่โง่อย่างยิ่ง จนเกือบเหมือนปัญญาอ่อน คงเหมือนผู้หญิงที่ถูกข่มขืนแล้วไม่รู้ว่าถูกข่มขืน เอกสารฉบับนี้ชื่อ "พลังงานไทย...พลังงานใคร?"เป็นผลงานของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา คณะกรรมาธิการนั้นได้ศึกษาวิเคราะห์และวิจัยเรื่องเกี่ยวกับพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ จากแง่ของธรรมาภิบาล (คือความสุจริตและโปร่งใส) ผมไม่ทราบว่าคณะกรรมาธิการเริ่มและจบการศึกษาวิเคราะห์และวิจัยเมื่อใด แต่ทราบจากเอกสารฉบับนั้นว่าจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมพ.ศ.2552 และฉบับที่เพื่อนส่งมาให้ผมนั้นเป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขข้อมูล และพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 หรือเมื่อสองปีที่แล้วมานี้ เอกสารฉบับนี้เป็นฉบับย่อ แต่ก็มีความยาวถึง28 หน้า ส่วนฉบับพิสดารหรือสมบูรณ์นั้น ยาวถึง147 หน้า เพราะฉะนั้นผมจึงไม่สามารถจะถ่ายทอดมาให้อ่านกันในหน้านี้ได้มากนัก จะขอย่อยเอาเฉพาะบางประเด็นที่สำคัญ ที่ทำให้ผมรู้ว่าตัวเองโง่ มาให้อ่านกัน ประเด็นแรกคือ เรา (เมืองไทย) ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกและต้องซื้อน้ำมันจากแขกขาวหรือแขกดำที่ไหนอย่างที่ผมเข้าใจดอกครับ เอกสารของวุฒิสภาฉบับนี้เปิดเผยว่า เมืองไทยมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์กระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังพบมากขึ้นทุกปีทั้งบนบกและในทะเล (เมื่อไม่กี่วันมานี้คุณคำนูณ สิทธิสมานสมาชิกวุฒิสภา ก็เพิ่งจะเปิดเผยหรือเปิดโปงว่า มีผู้พบน้ำมันและแอบได้สัมปทานเพื่อผลิตไปแล้ว อยู่แถวๆ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ในกรุงเทพมหานครนี่เอง) เราสามารถผลิตน้ำมันได้เองมานานแล้ว ในปี 2551 ปีเดียว เราขุดน้ำมันได้ถึงประมาณ 115 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการผลิตน้ำมันของไทยนั้นเท่ากับ 3 ใน 4 ของประเทศเอกวาดอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของกลุ่มโอเปก ประเด็นที่สองที่ผมเคยโง่และไม่รู้จริงๆ จนกระทั่งได้อ่านเอกสารฉบับนี้ของวุฒิสภาก็คือ เราไม่ได้ซื้อน้ำมันจากสิงคโปร์เอามากลั่น ตรงกันข้ามเราส่งน้ำมันไทยออกไปขายต่างประเทศเสียด้วยซ้ำไป ปริมาณน้ำมันที่ส่งออกสูงกว่าปริมาณข้าวเฉพาะในปี 2551 เราขายน้ำมันให้ต่างประเทศได้กว่า 3 แสนล้านบาท ในขณะที่ขายข้าวได้เพียง 2 แสนล้านบาท! เมื่อขุดน้ำมันส่งออกไปขายได้ เราก็ควรจะซื้อน้ำมันได้ในราคาที่ถูกกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่ที่เราต้องซื้อแพงในราคาแพงเหมือนกับว่าน้ำมันนำเข้ามาจากสิงคโปร์ ก็เพราะกระทรวงพลังงาน (ก็คือรัฐบาลนั่นแหละ) ตั้งราคาไว้อย่างนั้น เหตุผลหรือครับ? เพื่อเป็นแรงจูงใจให้โรงกลั่นน้ำมัน เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับคนไทย โอ้โฮเฮะ! เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ที่ผมต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ไปทีละเกือบ 2 พันบาทต่อน้ำมันถังหนึ่งนั้น ผมได้ทำวีรกรรมรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้คนไทย คนไทยคนไหนครับ? คนไทยที่ถือหุ้นของ บมจ.ปตท. หรือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) น่ะแน่นอนอยู่แล้ว แต่ที่ผมไม่รู้มาก่อน เพิ่งมารู้จากเอกสารของวุฒิสภาฉบับนี้ก็คือ มีคนไทยอีกคณะหนึ่งที่เรียกว่า "คณะกรรมการ บมจ.ปตท."ซึ่งได้รับความมั่นคงอย่างแน่นหนาและแน่นอนด้วยเหมือนกัน คณะกรรมการชุดนี้ เมื่อ พ.ศ.2551 มีจำนวน 14 คน มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สังกัดต่างๆเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและมีกรรมการอิสระด้วย เฉพาะประธานกรรมการซึ่งเป็นรองปลัดกระทรวงพลังงานนั้น ได้รับโบนัส (จ่ายจริง) เมื่อต้นเดือนมกราคม 2552 เป็นเงินกว่า 2 ล้าน 2 แสนบาท กับเบี้ยประชุมอีก 7 แสน 7 หมื่นบาทกรรมการอื่นๆ จะได้มากน้อยเพียงใดก็คงจะพอเดาได้นะครับ แต่สำหรับกรรมการผู้จัดการใหญ่นั้นได้รับโบนัสกว่า 1 ล้าน 7 แสนบาท และค่าเบี้ยประชุม 6 แสน 2 หมื่นบาท ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไปนั่งเป็นกรรมการนั้นโดยทฤษฎีเป็นตัวแทนของรัฐบาลซึ่งน่าจะสามารถช่วยกำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้ประชาชนผู้ซื้อน้ำมันจาก ปตท.ได้ประโยชน์อย่างเป็นธรรม แต่เมื่อแต่ละคนได้ทั้งโบนัสและเบี้ยประชุมกันปีละเป็นล้าน จะมีแรงพอที่จะนึกถึงและหันมาดูประโยชน์ของประชาชนสักแค่ไหน หันไปดูก๊าซก็จะเห็นภาพที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้น้ำมัน เพราะการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมาเป็นบริษัทมหาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2544 นั้น ทำให้ บมจ.ปตท.สามารถเข้าไปผูกขาดธุรกิจแยกก๊าซและธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติ แล้วมิหนำยังได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ถูกโอนไปจากภาครัฐในราคาถูกอีกด้วย ที่สำคัญก็คือท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติซึ่งสร้างด้วยเงินภาษีของคนไทย (ครับ ของท่านผู้อ่านและของผมด้วย)ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาตินี้ คณะรัฐมนตรีมีมติไว้ว่าปตท.จะต้องคืนให้ภายใน 1 ปี แต่ ปตท.ก็ไม่ยอมคืน จนกระทั่งภาคประชาชนต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในปี 2549 และศาลพิพากษาในปี2550 ให้ ปตท.คืนทรัพย์สินที่ได้ไปให้แก่กระทรวงการคลัง ในระหว่างที่ยังไม่คืนนั้น ปตท.มีรายได้จากค่าผ่านท่อ 22 ล้านบาท แต่พอศาลพิพากษาให้คืนปตท.ก็จ่ายคืนเพียง 1,335 ล้านบาท โดยเนื้อที่ของหน้ากระดาษ ผมคงเขียนได้เพียงเท่านี้ แต่ผมยังไม่หายเจ็บใจครับ ขอเขียนต่ออีกในวันอังคารหน้า
.....มติชน
|