ppsan
|
|
« on: 10 August 2024, 08:20:26 » |
|
หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยได้ร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 และเข้าร่วม สงครามมหาเอเชียบูรพา ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายการโจมตี ถูกทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่างๆ
รัฐบาลได้ออกคู่มือการป้องกันภัยทางอากาศให้กับประชาชน การเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และได้สร้างหลุมหลบภัยสาธารณะตามสถานที่ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้หลบระเบิดในครั้งนั้น บางแห่งประชาชนก็สร้างหลุมหลบภัยส่วนตัวภายในบ้านด้วย
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้สร้างหลุมหลบภัยเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ โดยขุดเป็นหลุมแล้วทำหลังคาก่ออิฐถือปูนเสริมเหล็กแข็งแรงมั่นคง ทำเป็นรูปหลังคาหลังเต่า มีประตูเข้าออกได้ (จุคนได้ประมาณ ๒๐ คน)
เมื่อครั้งพระนครถูกโจมตีทางอากาศในยามกลางคืนช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น เสียงหวอที่ได้ยินนั้นมันช่างโหยหวนเสียดแทงเข้าไปในใจดุจเสียงปีศาจแห่งความตายที่ร้องเรียก ผู้คนที่นอนอยู่ในที่พักต่างต้องรีบลุกขึ้น คลำทางหาทางท่ามกลางความมืดไปหลุมหลบภัยในบ้าน หรือออกไปตามหลุมหลบภัยสาธารณะ แต่สำหรับคนแก่บางส่วนที่ไม่หนีลงหลุมนั้น พวกเขาเอาแต่สวดมนต์ เอาพระเป็นที่พึ่ง เพราะถือว่า หากจะต้องตาย อยู่ตรงไหนก็ต้องตาย
ช่วงเวลานั้นรัฐบาลไม่แต่เพียงสร้างหลุมหลบภัยสาธารณะใกล้แหล่งยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่ยังให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้สร้างหลุมหลบภัยส่วนตัวขึ้นอีกด้วย
เมื่อเครื่องบินข้าศึกเปิดการโจมตีทางอากาศ ทิ้งระเบิด และเสียงหวอเตือนภัยดังขึ้น ชาวพระนครจะพากันวิ่งสับสนอลหม่านทันที ต่างวิ่งหาที่หลบภัย วิ่งเข้าซ่อนในวัด หรือวิ่งลงหลุมหลบภัย
บางคนที่ไม่สามารถหาหลุมหลบภัยทัน พวกเขาจะลงไปหลบซ่อนในท่อระบายน้ำ เมื่อเครื่องบินผ่านไป แต่ละคนที่คลานออกมาจากท่อระบายนั้นเนื้อตัวมอมแมมสกปรก พร้อมบ่นกันว่า ยุงชุม ทั้งเหม็น และหายใจไม่ออกในการหลบภัยในท่อน้ำริมถนนนั้น
แต่บางบ้านก็ดัดแปลงนำเอา ตุ่มเก็บน้ำ มาใช้แทนหลุมหลบภัย ด้วยการฝังตุ่มลงในดินที่ลานหรือสนามหน้าบ้าน ก็ได้
.
.
|