ppsan
|
|
« on: 30 June 2024, 08:28:25 » |
|
คณะราชทูตไทยไปฝรั่งเศส ไม่ยอมสบตากับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 .
เมื่อครั้ง คณะราชทูตจากสยามที่นำโดย ออกพระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาณราชไมตรี เป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต ได้เชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ มาถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ กรุงปารีส
คณะทูตสยามหมอบตัวลงต่อหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พวกเขาก้มหน้า ไม่ยอมเงยหน้ามองพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์ .
จากพระราชานุกิจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสบันทึกเหตุการณ์ ณ วันที่ 1 กันยายน 2229 ไว้ว่า
คณะทั้งหมดเดินตัดผ่านห้องพระตำหนัก จนถึงพระทวารทางเข้าท้องพระโรง บรรดาขุนนางสยามเมื่อแลเห็นพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่แต่ไกลๆ บนพระโธรน ก็ถวายความเคารพโดยไม่ถอดลอมพอกออก พวกเขาประนมมือยกขึ้นในระดับปาก อันเป็นการแสดงความเคารพ แล้วก็โน้มตัวลงไปข้างหน้าอย่างต่ำที่สุด แล้วยกตัวขึ้นมาใหม่ ทำซ้ำ 3 หน จากนั้นค่อยขยับเข้าไปทีละน้อยจนใกล้ถึงพระโธรนที่ประทับ เมื่อถึงฐานล่างพวกเขาก็คุกเข่า และถวายบังคม 3 ครั้ง เฉพาะพระพักตร์ แล้วนั่งราบอยู่เช่นนั้นตลอดเวลาที่เข้าเฝ้า
ทูตท่านอื่นก็เช่นกัน คือเมื่อเห็นองค์พระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ถวายบังคมแสดงความเคารพ 3 ครั้ง โดยประนมมือขึ้นเหนือศีรษะ พวกเขาคลานเข่า มือยังประสานกันอยู่ และค่อยๆ คืบคลานทีละน้อยด้วยท่าทีที่แสดงความเคารพสูงสุด จนกระทั่งพวกเขาได้มาหยุดอยู่ที่ฐานของพระโธรนที่ประทับ ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ที่พระราชอาสน์ ถอดพระมาลาเพื่อแสดงการต้อนรับคณะทูต
หัวหน้าคณะทูต (ราชทูต) ซึ่งยังคงอยู่ตรงกลางขบวนและยังคงประนมมืออยู่ระหว่างหน้าผาก ได้ถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน อุปทูตและตรีทูต ทั้ง 2 ก็ถวายบังคมด้วยกิริยาอย่างเดียวกันนั้นต่อหน้าพระพักตร์
เมื่อราชทูตกราบบังคมทูลจบ บาทหลวง เดอ ลิยอนน์ ซึ่งเรียนภาษาสยามจากบ้านพักของคณะมิชชันนารีในเมืองสยามมาก่อน ก็คลานเข้าไปใกล้พระเจ้าอยู่หัว เพื่อแปลคำกราบบังคมทูลของราชทูตให้ทรงทราบ และพระเจ้าแผ่นดินก็มีพระราชดำรัสตอบด้วยถ้อยคำอันซาบซึ้งกินใจ เมื่อบาทหลวง เดอ ลิยอนน์ รับกระแสพระราชดำรัสตอบจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว คณะทูตทั้ง 3 นายก็คลานขึ้นไปบนชานพระโธรน
ราชทูตรับพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินสยามจากขุนนางที่เชิญมาถวายแล้ว ทูลเกล้าฯ ถวายแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงแสดงความเคารพ และทรงรับ จากนั้นพระราชทานต่อให้เมอซิเออร์ เดอ ครัวซี ราชเลขานุการด้านการต่างประเทศของพระองค์ถือเชิญไว้ จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับคณะราชทูตอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง มีบาทหลวง เดอ ลิยอนน์ เป็นผู้คอยแปลพระราชกระแสนั้น
เมื่อการพระราชทานพระราชดำรัสเสร็จสิ้นลง คณะราชทูตค่อยเคลื่อนขยับลงจากชานพระโธรน โดยได้ถวายบังคมอันเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด ขณะที่ขุนนางสยามคนอื่นก็คุกเข่าถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน แล้วค่อยๆ ขยับถอยหลังในขณะที่ขุนนางคนอื่นด้านหลังก็ยืนขึ้น แล้วทั้งหมดก็ค่อยๆ เดินเข่าถอยหลังด้วยกิริยาเช่นเดียวกันกับเมื่อคราวเดินหน้าไปเข้าเฝ้าฯ ในห้องท้องพระโรงนี้โดยไม่ต้องหันหลังให้องค์พระเจ้าแผ่นดิน และเดินถอยหลังจนถึงปลายสุดของห้อง แล้วก็จะเห็นบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ยืนต้อนรับทั้ง 2 ข้างนั้น จนลับสายตาไป”
นี่คือความยิ่งใหญ่ในการแสดงความเป็นไทย โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยอะไรให้มากมาย
.....
จากหลักฐานของฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า คณะทูตสยามหมอบตัวลงต่อหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พวกเขาก้มหน้า ไม่ยอมเงยหน้ามองพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์ ไม่สบตาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จนพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต้องอนุญาตให้คณะราชทูตสยามสบตาขึ้นมองพระองค์ได้ ซึ่งขัดแย้งกับธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนักสยาม
ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงตรัสถึงเรื่องนี้ว่า...คณะราชทูตสยามเดินทางมาจากดินแดนอันไกลโพ้น เพื่อที่จะไม่สบตาข้าพเจ้าเลยหรือ?..
.....
คณะราชทูตนำโดยออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) พร้อมด้วยราชทูตอีก 2 คน คือ ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต .
ราชทูตทูลเกล้าฯ นำพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ทูลเกล้าฯ ถวายแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 .
ราชทูตทูลถวายของกำนัล .
คณะราชทูตเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ พระราชวังแวร์ซายเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229) .
คณะราชทูตโกษาปานเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นพระนารายณ์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229) ภาพลายเส้นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17
และโกษาปานก็ไม่ได้ทำให้ชาวสยามผิดหวัง เพราะด้วยท่าทีอันอ่อนน้อมถ่อมตน การให้ความเคารพอย่างสูงต่อพระมหากษัตริย์ คณะทูตสยามจึงคลานเข่าเข้าไปแทบเบื้องพระแท่นที่ประทับ และถวายบังคมตามแบบชาวสยาม ก่อนที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการอื่นๆกระบวน .
|