Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
23 December 2024, 02:31:17

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ภาพประทับใจ  |  ผนังเก่าเล่าเรื่อง (Moderator: ผนังเก่าเล่าเรื่อง)  |  การเสด็จประพาสต้น ครั้งแรก เมื่อ ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) [7]
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: การเสด็จประพาสต้น ครั้งแรก เมื่อ ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) [7]  (Read 323 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« on: 31 January 2024, 22:45:16 »

การเสด็จประพาสต้น ครั้งแรก เมื่อ ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) [7]


(7.1) ตาช้าง-ยายพลับ "เพื่อนต้น"

ในจำนวน “เพื่อนต้น” ที่ได้ทรงพบปะพูดคุยในระหว่างเสด็จประพาสต้นนั้น เรื่องของ “ตาช้าง” นับว่าได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุด และเป็นรายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมากที่สุดด้วย โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นปฏิพัธภูวนารถ ซึ่งหมายถึง ผู้เป็นที่พอพระราชหฤทัยแห่งพระมหากษัตริย์

ตาช้างเป็นชาวบ้านตำบลบางหลวงอ้ายเอียง แขวงกรุงเก่า อยุธยา เมียชื่อนางพลับ จัดว่าเป็นคนมีฐานะ และมีลูกด้วยกันถึง ๑๑ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๖ คน

ในการเสด็จประพาสต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ขบวนเรือเสด็จได้เข้าคลองมะขามเฒ่าที่ชัยนาท แล้วทรงแวะประทับแรมที่บ้าน ขุนพิทักษ์บริหารกับนางจ่าง เจ้าของเรือเมล์เขียวที่ผักไห่ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม วันรุ่งขึ้นรับสั่งให้เรือกลไฟพลับพลาแล่นไปทางคลองเจ้าเจ็ด มาออกบางไทร ส่วนขบวนเรือเสด็จจะไปออกทางคลองโผงเผง แล้วไปพบกันที่บางปะอิน แต่เรือพลับพลาไปผิดเส้นทาง มาเข้าคลองโผงเผงเส้นเดียวกับขบวนเรือเสด็จ ซึ่งนอกจากจะทำคลื่นให้เรือประทับโคลงเคลงแล้ว ยังทำให้ราษฎรสองฝั่งเข้าใจว่าทรงประทับอยู่ในเรือพลับพลา เลยออกมารอเฝ้ารับเสด็จกันริมฝั่งคลอง พระสงฆ์ก็สวดชยันโตเมื่อเรือผ่านหน้าวัด ทำให้เอิกเกริกไปตลอดเส้นทาง จนหาที่สงบจอดเสวยพระกระยาหารไม่ได้เลย

เมื่อเสด็จมาถึงบ้านหลังหนึ่งดูสงบดี สะพานท่าน้ำทอดออกมายาว จึงรับสั่งให้จอดเรือที่บ้านหลังนั้น ตาช้างเจ้าของบ้านเป็นคนมีอัธยาศัยดี เมื่อเห็นว่าผู้ดีบางกอกมาจอดเรือที่หน้าบ้านจึงกุลีกุจอมาเชื้อเชิญให้ขึ้นบ้าน กรมพระยาดำรงฯ ก็เข้ารับหน้าบอกว่าเป็นเรือตามเสด็จ จะขอจอดพักกินข้าวหน่อย ตาช้างได้ฟังก็ว่า นึกแล้วเชียว เห็นเรือเสด็จเพิ่งผ่านไป นี่คงตามไม่ทัน งั้นก็ขึ้นมาก่อน จะบอกให้เมียทำกับข้าวเลี้ยง

ตาช้างจัดแจงปูเสื่อต้อนรับแขกที่โรงเลื่อยข้างบ้าน แล้วขนน้ำชา ขนมมาเลี้ยง นั่งชนเข่ากับกรมพระยาดำรงฯและพระเจ้าอยู่หัว คุยโขมงโฉงเฉงว่าตัวเองเป็นคนคุ้นเคยกับบางกอกเป็นอย่างดี

“พวกผู้ดีบางกอกหลายคนรู้จักฉันดี ลูกชายฉันก็บวชอยู่ที่วัดเบญจะ พวกขุนน้ำขุนนางพอเห็นหน้าฉันก็ต้องร้องอ๋อทันที” ตาช้างคุย
“พระเจ้าอยู่หัวล่ะ เคยเข้าเฝ้าบ้างไหม ท่านเสด็จวัดเบญจะบ่อยๆ” กรมพระยาดำรงฯ ถาม
“ปัทโธ่ ทำไมจะไม่เคยเฝ้า บนเรือนนี่ก็มีรูปท่าน เห็นที่ไหนก็ต้องเข้าไปกราบพระบาททุกครั้ง”

คำคุยของตาช้างเรียกเสียงฮาได้รอบวง พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระสรวลอย่างสำราญพระราชหฤทัย

ตาช้างเห็นว่าที่โรงเลื่อยนั้นอากาศอับจนอบอ้าว จึงเชิญทุกคนขึ้นเรือน ไปกินข้าวที่ยายพลับทำเสร็จแล้ว มีแกงไก่และบะช่อตำลึง

รายการที่บ้านตาช้าง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญและทุกคนสนุกสนานกันมาก เพราะตาช้างเป็นคนคุยเก่งและค่อนข้างจะขี้คุย มีแต่ พระยาโบราณราชธรนินทร์ ผู้ว่าราชการมณฑลกรุงเก่า เพียงคนเดียวที่ต้องซ่อนตัวอยู่แต่ในเก๋งเรือ โผล่หน้าออกมาไม่ได้ เพราะผู้คนแถวอยุธยาจำได้หมด

ที่สำรับกับข้าว ตาช้างกับยายพลับก็เข้าร่วมวงกับเจ้าชีวิตด้วย ตาช้างคุยไม่หยุดแถมยังหยอกล้อพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าตาช้างทำไปตามธรรมชาติไม่ได้เสแสร้ง แม้จะคุยเขื่องไปทุกเรื่อง ยิ่งฟังก็ยิ่งขำ ทำให้ทรงพระสรวลได้บ่อย

เมื่อเสร็จจากรับประทานอาหารแล้ว ตาช้างก็ทูลไหว้วานให้ช่วยซื้อปืนเมาเซอร์ให้ซักกระบอก อยากได้ไว้เฝ้าบ้าน ถึงมีเงินก็ไม่รู้ว่าจะซื้อที่ไหน และต้องขออนุญาตตีทะเบียนยุ่งยาก พระเจ้าอยู่หัวก็รับปากว่าจะจัดการให้

ตอนเสด็จกลับ ตาช้างไปส่งที่ท่าน้ำ ทรงส่งซองๆหนึ่งให้ ตาช้างก็ไม่สนใจ รับได้ก็ใส่กระเป๋าเพราะกำลังคุยเพลิน พอขบวนเสด็จพ้นไปแล้วกำนันก็วิ่งหน้าตื่นเข้ามาร้องบอกว่า

“แกรู้ไม๊ ใครที่มานั่งกินข้าวกับแกน่ะ ข้าแอบดูอยู่นานแล้วแต่ไม่กล้าเข้ามาบอก นั่นแหละพระพุทธเจ้าหลวง แกน่ะ เคราะห์ร้ายเสียแล้วที่ไปตีเสมอกับท่านเหมือนเป็นเพื่อนเล่น”

ตาช้างไม่ยอมเชื่อ หาว่ากำนันหลอก กำนันจึงเอาพระบรมฉายาลักษณ์ที่ไปหยิบมาเปรียบเทียบยื่นให้ดู ตาช้างก็ยอมรับว่าเหมือน แต่คงไม่ใช่

“พระเจ้าแผ่นดินที่ไหนจะมาเดินเล่นตามบ้านชาวบ้านแบบนี้” ตาช้างเถียง

แต่เมื่อนึกขึ้นได้ว่าท่านมอบซองไว้ให้ซองหนึ่งจึงควักออกมาดู ก็เห็นเป็นธนบัตรรุ่นใหม่ที่ชาวบ้านนอกยังไม่เคยได้เห็น ตาช้างนับได้ ๕ ชั่ง หรือ ๔๐๐ บาท คนธรรมดาคงไม่มีใครเอาเงินมาให้มากถึงขนาดนี้ ตาช้างเลยหงายผลึ่งเป็นลมไป

ต่อมาโปรดเกล้าฯให้ตาช้างเข้าเฝ้าที่พระบรมมหาราชวัง พระราชทานปืนเมาเซอร์ให้กระบอกหนึ่ง แล้วโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น หมื่นปฏิพัธภูวนารถ พระราชทานไม้เท้าสลักพระปรมาภิไธย จปร.ให้ตาช้าง และหีบหมากเงินสลักพระนาม จปร. ให้แก่ยายพลับ ถือเป็นใบเบิกทางเข้าเฝ้าในงานพระราชพิธีได้ใกล้ชิด

ตาช้างยายพลับเป็น “เพื่อนต้น” คู่หนึ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงถือเป็นเพื่อนคุ้นเคย เวลาล่วงเลยไปเมื่อเพื่อนต้นมาเฝ้าครั้งไร เหล่าราชองครักษ์พอเห็น "ชายถือไม้เท้ากับหญิงถือหีบหมากพระราชทาน" ก็เป็นอันรู้ได้ว่าเพื่อนต้นมาเฝ้า ราชองครักษ์ก็เปิดทางให้สะดวก

...


ตาช้าง "เพื่อนต้น"
ภาพฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายครอบครัวของหมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาท (นายช้าง) ผู้เอ่ยปากฝากซื้อปืนเมาเซอกับล้นเกล้า ร.๕ ด้วยเข้าใจว่าทรงเป็นขุนนางตามเสด็จฯพระเจ้าแผ่นดิน


.

ยายพลับ "เพื่อนต้น"


.

ตาช้างกับยายพลับ เพื่อนต้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น
ตาช้างและยายพลับนั่งเก้าอี้ ตาช้างเป็นจีนไว้ผมเปีย สวมเสื้อแบบจีน กางเกงหลวม ๆ อย่างจีน รองเท้าแบบจีน ยายพลับนุ่งโจงกระเบนแบบไทย สวมเสื้อแขนยาว ห่มสไบเฉียง สวมรองเท้า


.

ครอบครัวของ ตาช้างและยายพลับ


.

ภาพฝีพระหัตถ์ ร. ๕
บ้านตาช้างกับยายพลับ


.



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #1 on: 31 January 2024, 22:46:14 »


(7.2) ตาช้าง-ยายพลับ "เพื่อนต้น"

ภายหลังจากเสด็จประพาสต้นบ้านตาช้างครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๗ แล้ว ตาช้างได้ลงทุนลงแรงสร้างหอนั่งขึ้นที่บ้าน หลังหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๔๙ เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นบ้านตาช้างอีก ได้จัดรับเสด็จบนหอนั่งเป็นการแข็งแรง แต่เสด็จครั้งหลังนี้เนื่องจากรู้พระองค์ดีอยู่แล้ว จึงมีความระมัดระวัง อะไรๆ ก็ไม่สู้ขบขันเหมือนเสด็จครั้งแรกอีก

ยายพลับถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อต้นรัชกาลที่ ๖ และอีก ๕ เดือนต่อมาตาช้างก็ถึงแก่กรรมตามยายพลับไปใน พ.ศ. ๒๔๖๐ อายุได้ ๗๑ ปี

ตระกูลของตาช้าง ใช้นามสกุล "คชาธาร" คชา ก็แปลว่า ช้าง ตาช้างเป็นต้นตระกูล ตาช้างมีลูก ๑๑ คน หญิง ๖ ชาย ๕ สกุลของตาช้างประกอบอาชีพไร่นาค้าขาย นับเป็นสกุลคหบดี สรุปแล้ว ตาช้างยายพลับเป็นคนทำมาหากิน มีความร่ำรวยเอาการ

ตอนยายพลับถึงแก่กรรมนั้น ตาช้างได้บริจาคทรัพย์เป็นจำนวนสูงถึง ๒๐,๐๐๐ บาท สร้างศาลาการเปรียญขึ้นหลังหนึ่ง นิมนต์พระมาทำแจงตั้ง ๗๐๐ รูป ถึงตอนตาช้างถึงแก่กรรม นายไชย คชาธาร พร้อมลูกหลานจัดทำบุญใหญ่โต ตาช้างได้ให้ทรัพย์ไว้สำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และบูรณะศาลาการเปรียญที่ได้เคยสร้างไว้กับทั้งมีแจง จำนวนพระสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป

...

บ้านตาช้าง ยายพลับ กรุงเก่า อยุธยา


.



.



.

ชาวบ้านทราบข่าว ร.๕ เสด็จ พากันมาต้อนรับ


.

วัดที่ตาช้างไปทำบุญ


.



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.043 seconds with 21 queries.