ppsan
|
|
« on: 31 January 2024, 22:43:07 » |
|
การเสด็จประพาสต้น ครั้งแรก เมื่อ ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) [6]
(6) รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น ..."คล้ายนัก คล้ายนัก ขอรับ"
เรื่องการเสด็จประพาสต้นนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ มีความว่า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชอัธยาศัยโปรดฯ ในการเสด็จประพาสตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา เสด็จประพาสแทบทุกปี บางคราวก็เสด็จไปเพื่อสำราญพระอิริยาบถ ไม่โปรดฯ ให้จัดการรับเสด็จเป็นทางการ ที่เรียกว่า "เสด็จประพาสต้น" โปรดฯ ให้จัดการที่เสด็จไปอย่างง่ายๆเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ คือ ไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น บางทีก็ทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไป มิให้ใครรู้จักพระองค์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ.2447 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าหน้าวัดโชติทายการาม หลวงพ่อช่วง(พระอธิการ ช่วง เจ้าอาวาส) ได้ทราบว่าในหลวงเสด็จ จึงนำพระลูกวัด 4-5 รูป ลงมาสวดชัยมงคลต้อนรับ ทรงรู้สึกเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้ตรัสถวายเงินบูรณะวัด 10 ชั่ง และถวายพระสงฆ์รูปละ 1 ตำลึง และโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กจัดที่ประทับแรมบนศาลาการเปรียญ ให้พนักงานเครื่องต้นประกอบพระกระยาหารสำหรับเสวย ณ ที่ศาลาท่าน้ำ
ในตอนบ่ายวันนั้น เวลาประมาณบ่าย 3 โมงเศษ พระองค์พร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ 2 ท่าน ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จทรงเรือมาดพาย(แบบเรือมาดกระสวย) พายไปตามลำพัง โดยไม่มีผู้ติดตาม ทั้งนี้ เพราะพระองค์อยากจะทราบความเป็นอยู่สารทุกข์ของราษฎรของพระองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า น้ำหลากมาท่วมมาก มองไม่เห็นพื้นดิน เป็นน้ำขาวเวิ้งว้างไปหมดทุกสารทิศ ผลไม้ในนาไร่และสวนถูกน้ำท่วมจนหมดสิ้น
พระองค์ได้ทรงเสด็จเข้าไปทางคลองลัดราชบุรี(คลองลัดพลี) ขณะนั้นบ้านเรือนราษฎรไม่มี วัดราษฎร์เจริญธรรมยังไม่ได้สร้าง มีศาลเจ้าเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง แล้วทรงเลี้ยวเรือพระที่นั่งไปทางซ้ายมือผ่านบ้านราษฎร ห่างๆ จะมีสักหลังหนี่ง เห็นเงียบไม่มีคนอยู่จึงมิได้เสด็จแวะเยี่ยม เมื่อเสด็จมาถึงบ้านนางผึ้ง แซ่เล้า ทอดพระเนตรเห็นเจ้าของบ้านนำเอา หอม กระเทียม ไปตากบนหลังคาเรือน พอเห็นเรือคนแปลกหน้า เข้าใจว่าเป็นพวกขุนนาง ก็ร้องเชื้อเชิญให้แวะที่บ้าน พระองค์จึงเสด็จขึ้นบ้านของนางผึ้ง
ขณะนั้นนางผึ้งหุงข้าวสุกพอดี จึงเรียกลูกชาย คือ เจ๊กฮวด ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 20 ปีเศษ ให้ยกกระบะใส่กับข้าว ยกหม้อข้าว แล้วร้องเชิญให้พระองค์เสวย ในขณะที่พระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 กำลังเสวยอยู่นั้น เจ๊กฮวดซึ่งมานั่งยองๆ ดูพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็หันไปดูพระบรมฉายาลักษณ์ที่หิ้งบูชา ดูแล้วดูเล่า แล้วก็เอ่ยขึ้นว่า "คล้ายนัก คล้ายนัก ขอรับ" พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสถามว่า "คล้ายนัก คล้ายนัก คล้ายอะไร" เจ็กฮวดบอกว่า คล้ายรูปที่บูชาไว้ พูดแล้วเจ็กฮวดก็เอาผ้าขาวม้าปูกราบพระองค์ท่าน
นางผึ้งเห็นลูกชายกราบ ก็กราบตาม พระองค์ตรัสว่า "แน่ใจหรือ" เจ็กฮวดก็ตอบว่า "แน่ใจขอรับ" พระองค์จึงตรัสชมเจ็กฮวดว่า "ฉลาดและตาแหลมดี จะให้เป็นมหาดเล็กเอาไหม" เจ็กฮวดพยักหน้าและกราบทูลว่า "เอาขอรับ" แล้วจึงตรัสสั่งให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพเชิญพระราชโองการแต่งตั้งให้เจ๊กฮวด แซ่เล้า เป็นมหาดเล็กของพระองค์ แล้วรับสั่งให้เข้าไปเยี่ยมพระองค์ท่านที่บางกอกบ้าง
ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านในคลองดำเนินสะดวก จึงเรียก เจ็กฮวด แซ่เล้า ว่า "เจ็กฮวดมหาดเล็ก" อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่...บ้านเจ๊กฮวด
..... ขอขอบคุณเรื่องและภาพจาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100083257312848 ย้อนตำนานคนคลองดำเนินสะดวก
...
.....
|