Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
18 November 2024, 00:33:04

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,443 Posts in 12,838 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง  |  นิทานโบราณคดี เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: นิทานโบราณคดี เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์  (Read 540 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,284


View Profile
« on: 05 September 2022, 21:51:41 »

นิทานโบราณคดี เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์







นิทานที่ ๑๙ เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์







(๑)

ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาจนในรัชกาลที่ ๕ ชาวต่างประเทศเข้าใจกันว่า ประเพณีเมืองไทยผิดกับประเทศอื่นๆ ด้วยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เสมอ แม้สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียประเทศอังกฤษก็เคยตรัสถามฉัน ว่า

“ประเทศของเธอมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์มิใช่หรือ”

แต่เวลาเมื่อฉันไปเฝ้าใน พ.ศ. ๒๔๓๔ มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแล้ว ฉันจึงทูลสนองว่าเดี๋ยวนี้เลิกประเพณีมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์แล้ว เปลี่ยนเป็นมีมกุฎราชกุมารเป็นรัชทายาทเหมือนเช่นประเทศอื่นๆ ก็ไม่ทรงซักไซ้ต่อไป

อันมูลเหตุที่ชาวต่างประเทศเข้าใจกันว่าธรรมเนียมเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เป็นนิจนั้น เกิดด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มพระเกียรติยศสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ผิดกับพระมหาอุปราชในรัชกาลก่อนๆ ซึ่งเป็นแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมาทุกรัชกาล

เมื่อพระมหาอุปราชทรงพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้น ไทยเราจึงบอกอธิบายแก่ฝรั่งว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ The First King พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ The Second King ฝรั่งก็เข้าใจว่าประเพณีเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เป็นนิจมาแต่ก่อน

ถึงรัชกาลที่ ๕ ฝรั่งก็ยังเรียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า พระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ เรียกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ราชบุตรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ อยู่อย่างเดิมสืบมา จนเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว คำที่เรียกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ และที่ ๒ จึงเงียบหายไป

ฉันเคยนึกสงสัยมาแต่แรกอ่านหนังสือพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ว่าพระมหาอุปราชรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ก็เป็นสมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนี เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ เหตุไฉนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ให้เป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน คิดดูก็ไม่เห็นเหตุ

ต่อมาอีกช้านาน เมื่อฉันหาหนังสือเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้สำเนาคำทูลถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่าน คำทูลนั้นว่าพระราชาคณะสงฆ์กับทั้งพระราชวงศานุวงศ์ และเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงพร้อมใจกัน “ขออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระอนุชาธิบดี เจ้าฟ้ามงกุฎฯ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เถลิงถวัลยราชสมบัติ” ดังนี้ ฉันก็เข้าใจว่าคงเป็นเพราะทูลถวายราชสมบัติทั้ง ๒ พระองค์ด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชา เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

แต่ก็เกิดสงสัยต่อไปว่า เหตุไฉนจึงถวายราชสมบัติทั้ง ๒ พระองค์ด้วยกัน ซึ่งไม่เคยมีเยี่ยงอย่างมาแต่ก่อน แต่มิรู้ที่จะค้นหาอธิบายได้อย่างไร

จนถึงในรัชกาลที่ ๖ วันหนึ่ง เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ มาหา เวลานั้นอายุท่านกว่า ๘๐ ปีแล้ว แต่ความทรงจำของท่านแม่นยำ ฉันเคยถามได้ความรู้เรื่องโบราณคดีมาจากท่านหลายครั้ง วันนั้นเมื่อสนทนากัน ฉันนึกขึ้นถึงเรื่องที่ทูลถวายราชสมบัติทั้ง ๒ พระองค์ ถามท่านว่าท่านทราบหรือไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น เพราะเหตุใดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (บิดาของท่านเมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังฯ) ซึ่งเป็นหัวหน้าในราชการ จึงแนะนำให้ถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ ไม่ถวายแต่พระองค์เดียวเหมือนอย่างเมื่อเปลี่ยนรัชกาลก่อนๆ
ท่านบอกว่า เรื่องนั้นท่านทราบ ด้วยได้ยินกับหูของท่านเอง แล้วเล่าต่อไปว่า

วันหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า “ท่านฟากข้างโน้น” ด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระชะตาแรงนัก ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชะตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ไม่ขัดพระอัธยาศัย ออกจากวัดบวรนิเวศฯ ข้ามฟากไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ณ พระราชวังเดิม (ที่เป็นโรงเรียนนายเรืออยู่บัดนี้)

ตัวท่านเองเวลานั้นอายุได้ ๑๘ ปีนั่งไปหน้าเก๋งเรือของบิดา เมื่อไปถึงพระราชวังเดิม เป็นเวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประทับอยู่ที่แพหน้าวัง เสด็จออกมารับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่แพลอย

ตัวท่านอยู่ในเรือ ได้ยินสมเด็จเจ้าพระยาฯ เล่าถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดังกล่าวมาจึงทราบเรื่อง ตามที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เล่า ก็สมกับประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเชื่อได้ว่าเรื่องที่จริงเป็นอย่างเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เล่า


(๒)

เมื่อฉันเขียนนิทานโบราณคดี มีกล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถในนิทานบางเรื่อง นึกขึ้นว่าที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกันกับพระองค์ ก็เป็นการแปลกประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาเหมือนกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแปลกประเพณีครั้งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระนเรศวรฯ จะทรงทำตามแบบอย่างซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนแล้ว หรือจะทรงพระราชดำริขึ้นใหม่ด้วยมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง

นึกขึ้นอย่างนั้นจึงค้นดูในพงศาวดาร พบเรื่องปรากฏในหนังสือ “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” ซึ่งแต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ความว่า

เมืองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันเมื่อก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชถึง ๒ ครั้ง

คือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไปเสวยราชสมบัติอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก โปรดให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าพระบรมราชา เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง

ครั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๓ สมเด็จพระบรมราชาได้ทรงรับรัชทายาททรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงตั้งพระอนุชาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐา เสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลกอีกครั้งหนึ่ง

เพราะฉะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นแต่เอาแบบอย่างมาทำตามเมื่อสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ หาได้ทรงตั้งแบบขึ้นใหม่ไม่

ฉันยังติดใจจึงค้นเรื่องพงศาวดารถอยหลังต่อไปอีก ว่าที่มีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ จะได้เยี่ยงอย่างมาแต่ไหน ค้นไปได้เค้าในหนังสือราชาธิราช ตอนเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดีปิฎกธรธรรมเจดีย์ ว่าพระเจ้าหงสาวดีแก้ปัญหาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถออก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยกย่องพระเกียรติพระเจ้าหงสาวดี ด้วยให้ราชทูตเชิญพระสุพรรณบัฏไปถวายพระนามว่า “พระมหาธรรมราชา” และบอกไปในพระราชสาส์นว่า “เป็นนามของพระเจ้าตามาแต่ก่อน”

ฉันได้ความรู้ขึ้นใหม่ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นราชนัดดาของพระมหาธรรมราชาเจ้ากรุงสุโขทัย จึงเอามาปรับกับเรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็ได้ความถึงต้นเรื่องอันเป็นเหตุให้เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันในบางคราว ดังจะเล่าในตอนที่ ๓ ต่อไปนี้ แต่ต้องสันนิษฐานเอาความที่บกพร่องประกอบบ้าง


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,284


View Profile
« Reply #1 on: 05 September 2022, 21:52:38 »


(๓)

เดิมเมืองเหนือ คืออาณาเขตเมืองสุโขทัย กับเมืองใต้ คือ อาณาเขตกรุงศรีอยุธยา มีราชวงศ์ปกครองต่างกัน ราชวงศ์พระร่วงครองเมืองเหนือ ราชวงศ์อู่ทองครองเมืองใต้ แม้เมืองเหนือต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นต่อเมืองใต้ เมื่อครั้งรบแพ้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พะงั่ว) ที่ ๑ แล้ว ก็ยังมีเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงเป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองเหนือสืบกันมา

เมื่อรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาที่ ๓ สวรรคต เจ้าพี่เจ้าน้อง ๒ องค์ทรงนามว่า “พระยาบาลเมือง” ผู้ครองเมืองสองแคว (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก) องค์หนึ่งทรงนามว่า “พระยารามคำแหง” ผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัยองค์หนึ่ง ชิงกันเป็นพระมหาธรรมราชา เกิดรบพุ่งกันจนเมืองเหนือเป็นจลาจล

สมเด็จพระอินทราชาธิราชจึงเสด็จยกกองทัพขึ้นไประงับ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองพระบาง (คือเมืองนครสวรรค์บัดนี้) พระยาบาลเมืองกับพระยารามคำแหงเกรงพระเดชานุภาพ ต่างลงมาเฝ้าสมเด็จพระอินทราชาธิราชโดยดีทั้ง ๒ พระองค์ สมเด็จพระอินทราชาธิราชจึงทรงเปรียบเทียบให้พระยาบาลเมือง (ผู้เป็นพี่) เป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ให้พระยารามคำแหง (ผู้เป็นน้อง) เป็นอุปราช ต่างกลับไปครองเมืองสองแควและเมืองศรีสัชนาลัยอยู่อย่างเดิม เมืองเหนือก็กลับเป็นปรกติ

เมื่อระงับจลาจลแล้ว สมเด็จพระอินทราชาธิราชจะทรงตั้งเจ้าสามพระยาราชบุตร ให้ครองเมืองชัยนาทอันอยู่ต่อแดนกับเมืองเหนือ จึงตรัสขอราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ มาอภิเษกสมรสกับเจ้าสามพระยาให้ครองเมืองชัยนาทอยู่ด้วยกัน

ครั้นสมเด็จพระอินทราชาธิราชสวรรคต เจ้าอ้ายกับเจ้ายี่พระยาราชบุตรที่เป็นพี่น้องชิงราชสมบัติกัน รบกันสิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์ เจ้าสามพระยาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ นางราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ก็ได้เป็นพระอัครมเหสี มีพระราชกุมารพระองค์หนึ่ง (คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นเจ้านายองค์แรกที่เป็นเชื้อสายทั้งราชวงศ์พระร่วงและราชวงศ์อู่ทองรวมอยู่ในพระองค์) ประสูติเมื่อปีกุน พ.ศ. ๑๙๗๔ สมเด็จพระปิตุราชทรงสถาปนาเป็น พระราเมศวร ที่รัชทายาท

ฝ่ายเมืองเหนือ ตั้งแต่สมเด็จพระอินทราชาธิราชทรงระงับจลาจลแล้ว แม้การภายนอกเรียบร้อยเป็นปรกติ แต่ชาวเมืองศรีสัชนาลัยกับชาวเมืองสองแควยังถือตัวเป็นต่างพวกไม่ชอบกัน พระยารามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยถึงพิราลัยไปก่อนพระมหาธรรมราชาที่ ๔ พระยายุทธิษฐิระ (ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า “พระยาเชลียง”) ผู้เป็นบุตรได้เป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยปกครองพรรคพวกของบิดาต่อมา

ครั้นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ สิ้นพระชนม์ ชะรอยจะมีแต่ราชบุตรที่มิได้เป็นลูกมเหสี พระยายุทธิษฐิระเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยจึงถือว่าตัวควรจะได้เป็นพระมหาธรรมราชา โดยสืบสิทธิมาจากพระยารามคำแหง แต่พวกเมืองสองแควไม่ยอม เมืองเหนือจึงเกิดชิงกันเป็นพระมหาธรรมราชาขึ้นอีก แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองเหนือที่เป็นกลาง เกรงจะเกิดรบพุ่งกันเป็นจลาจลเหมือนหนหลัง จึงเปรียบเทียบให้มาทูลขอพระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ โดยเป็นราชนัดดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ด้วยเห็นว่าคงไม่มีใครขัดแข็ง เพราะเกรงอานุภาพของสมเด็จพระบรมราชาธิราช

ฝ่ายสมเด็จพระบรมราชาธิราชก็ทรงยินดี ด้วยเห็นเป็นทางที่จะรวมเมืองเหนือกับเมืองใต้ให้เป็นราชอาณาเขตเดียวกันในภายหน้า และทรงเชื่อว่า พระราชโอรสขึ้นไปอยู่เมืองเหนือคงปลอดภัย เพราะพระญาติวงศ์ทางฝ่ายพระชนนีที่อยู่ ณ เมืองสองแควมีมากคงช่วยกันอุปการะ จึงประทานอนุญาตให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ มิใช่อยู่ดีๆ จะให้พระราชโอรสอันเป็นรัชทายาท ขึ้นไปเสี่ยงภัยครองเมืองเหนือตามอำเภอพระราชหฤทัยดังหนังสือพระราชพงศาวดาร ชวนให้เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ บ้านเมืองก็เรียบร้อยได้ดังประสงค์

ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ สวรรคต พระราเมศวรได้รับรัชทายาททรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่ครองทั้งเมืองเหนือกับเมืองใต้โดยสิทธิของพระองค์เอง ด้วยเป็นเชื้อสายทั้งสองราชวงศ์ เพราะเหตุนั้นจึงไม่ทรงตั้งใครให้เป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองเหนือ แต่ส่วนพระองค์เองเมื่อราชาภิเษกแล้วต้องประทับอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาช้านาน เพราะเมืองมะละกาเป็นกบฏขึ้นในแหลมมลายู การปกครองทางเมืองเหนือก็เสื่อมทรามลง

สมัยนั้นประจวบเวลาพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่มีอานุภาพ ปราบปรามเอาเมืองใหญ่น้อยในแว่นแคว้นลานนาไว้ได้ในอำนาจโดยมาก กำลังคิดจะขยายอาณาเขตให้กว้างใหญ่ไพศาลต่อออกไป ฝ่ายพระยายุทธิษฐิระเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย อันแดนต่อกับอาณาเขตของพระเจ้าเชียงใหม่ ก็อยากเป็นพระมหาธรรมราชามาช้านานแล้ว เห็นได้ช่อง ด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมิได้เสด็จอยู่ที่เมืองเหนือ จึงลอบไปฝักใฝ่กับพระเจ้าเชียงใหม่ ชักชวนพระเจ้าติโลกราชให้มาตีเอาเมืองเหนือเป็นอาณาเขต แล้วจะได้ตั้งให้ตัวเป็นพระมหาธรรมราชา

กิตติศัพท์ที่พระยายุทธิษฐิระเป็นกบฏ ทราบถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จะให้เอาตัวมาชำระ พระยายุทธิษฐิระจะปกปิดความชั่วต่อไปไม่ได้ก็ออกหน้าเป็นกบฏ ให้กวาดต้อนผู้คนชาวเมืองศรีสัชนาลัยพาข้ามเขตแดนไปเข้ากับเมืองเชียงใหม่ แล้วนำกองทัพพระเจ้าติโลกราชมาตีเมืองเหนือเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๐๐๔ ได้ทั้งเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัยไปเป็นของพวกเชียงใหม่อยู่คราวหนึ่ง

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปทรงบัญชาการศึกอยู่ที่เมืองเหนือ จะทิ้งพระนครศรีอยุธยาให้แต่เสนาบดีสำเร็จราชการรักษาพระนคร ก็ไม่วางพระราชหฤทัย เกรงจะมีศัตรูมาทางทะเลอีกทางหนึ่ง ด้วยเวลานั้นพวกฝรั่งโปรตุเกสมาตีได้เมืองมะละกา จึงทรงตั้งพระบรมราชาราชโอรสเป็น “สมเด็จพระบรมราชา” มียศและอำนาจอย่างพระเจ้าแผ่นดินปกครองป้องกันกรุงศรีอยุธยาอีกพระองค์หนึ่ง จึงมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันขึ้นเป็นทีแรกในครั้งนั้น

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประทับอยู่ที่เมืองสองแคว ทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่มาหลายปี จึงได้เมืองเหนือคืนมาจากข้าศึกหมด และพระเจ้าติโลกราชก็ให้มาขอเป็นไมตรีดีกันดังแต่ก่อน จึงเลิกสงครามเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๐๑๘

เมื่อเสร็จสงครามแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงพระราชดำริว่า ถ้าเสด็จกลับลงมาอยู่พระนครศรีอยุธยาอย่างเดิม ก็จะมีเจ้านายเมืองเหนือคิดอ่านพยายามเป็นพระมหาธรรมราชาให้เกิดยุ่งยากขึ้นอีกเหมือนหนหลัง อีกประการหนึ่ง สมเด็จพระบรมราชาราชโอรสก็ปกครองพระนครเป็นปรกติดีไม่มีห่วงใย จึงเลยเสด็จประทับเสวยราชย์ครองประเทศไทยอยู่ที่เมืองเหนือ เอาเมืองสองแควเป็นราชธานี ให้เปลี่ยนนามเป็นเมืองพิษณุโลก อันหมายความว่าเป็นที่สถิตของพระนารายณ์ เช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยา หมายว่าเป็นที่สถิตของพระรามาวตาร

ที่ให้รวมเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองเดียวกัน ตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองสวรรคโลก ก็คงเป็นในครั้งเดียวกันนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จประทับอยู่เมืองพิษณุโลกครั้งนั้น ได้เจ้าหญิงในราชวงศ์พระร่วงองค์หนึ่งเป็นพระอัครมเหสี มีพระราชกุมารประสูติเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๐๑๕ ทรงพระนามว่า พระเชษฐา เมื่อพระชันษาได้ ๑๓ ปี สมเด็จพระปิตุราชทรงสถาปนาให้เป็นพระมหาอุปราชเมืองพิษณุโลก

การที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งพระราชโอรสพระองค์น้อยเป็นพระมหาอุปราชเมืองพิษณุโลกนั้น คิดเห็นเหตุได้ไม่ยาก คงเป็นเพราะตระหนักพระราชหฤทัยว่า การปกครองเมืองเหนือกับเมืองใต้เป็นอาณาเขตเดียวกัน อย่างเช่นพระองค์ได้ทรงครองเมื่อแรกเสวยราชย์นั้นไม่ปลอดภัย ต่อไปควรจะแยกการปกครองเป็น ๒ อาณาเขตอย่างเก่า แต่ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงปกครองเองอาณาเขตหนึ่ง ให้รัชทายาทปกครองอาณาเขตหนึ่งในราชวงศ์อันเดียวกัน การปกครองบ้านเมืองกับการสืบราชวงศ์ซึ่งทรงครองประเทศไทยทั้งหมด จึงจะเข้ากันได้โดยเรียบร้อย จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชาเป็นรัชทายาทครองเมืองใต้ ให้พระเชษฐาเป็นมหาอุปราชสำหรับจะครองเมืองเหนือ และเป็นรัชทายาทของสมเด็จพระบรมราชาด้วย ก็เป็นยุติตกลงตามพระราชดำริ

ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๐๓๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต สมเด็จพระบรมราชาได้รับรัชทายาททรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓” จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเชษฐาอนุชาธิราช ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองเหนืออยู่แล้ว ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองเหนือ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” เหมือนอย่างสมเด็จพระปิตุราชเคยทรงสถาปนาพระองค์เอง ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองใต้มาแต่ก่อน จึงมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นแต่ย้ายราชธานีของประเทศไทยกลับมาอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาดังเก่าแต่นี้ไป

เมื่อค้นได้เรื่องมาถึงเพียงนี้ เลยคิดเห็นโดยพิจารณาเรื่องพงศาวดารต่อไปจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่า เพราะเหตุใดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงตั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง และเพราะเหตุใดจึงรวมอาณาเขตเมืองเหนือเป็นอาณาเขตเดียวกันกับเมืองใต้ได้ในที่สุด จึงเขียนไว้ด้วยในตอนต่อไปนี้


(๔)

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ครองราชสมบัติอยู่เพียง ๓ ปี ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๐๓๔ สวรรคต สมเด็จพระเชษฐาธิราชได้รับรัชทายาทราชาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในเวลานั้นเมืองเหนือเรียบร้อย ด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ถึง ๒๕ ปี ปราบปรามสิ้นเสี้ยนหนามภายใน และเมืองเชียงใหม่สิ้นพระเจ้าติโลกราชแล้วก็หมดอานุภาพ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงเสด็จลงมาเสวยราชย์อยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา เพราะพวกฝรั่งโปรตุเกสกำลังจะเข้ามาขอค้าขายในเมืองไทย และพระองค์เองก็ยังไม่เคยคุ้นกับพระราชอาณาเขตข้างฝ่ายใต้มาแต่ก่อน

แต่เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีเสวยราชย์นั้น พระชันษาเพียง ๑๙ ปี ยังไม่มีพระราชโอรสที่จะให้ครองเมืองเหนือ จะทรงจัดวางการปกครองไว้อย่างไรในชั้นแรกหาปรากฏไม่ จนพระอาทิตยวงศ์ราชโอรสพระองค์ใหญ่อันเกิดด้วยพระอัครมเหสีทรงพระเจริญวัย จึงทรงสถาปนาเป็นพระบรมราชา ที่หน่อพุทธางกูรตามกฎมนเทียรบาล แล้วให้ขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก

ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นั้น เจ้านายและท้าวพระยาข้าราชการที่เป็นชาวเมืองเหนือกับชาวเมืองใต้ เห็นจะทำราชการระคนปนกันมากอยู่แล้ว ยังถือเป็นต่างพวกกันแต่ชั้นราษฎรพลเมือง การปกครองจึงยังต้องแยกเป็น ๒ อาณาเขตอยู่อย่างเดิม

ถึง พ.ศ. ๒๐๗๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสวยราชย์ได้ ๓๙ ปี สวรรคต พระอาทิตยวงศ์หน่อพุทธางกูรราชโอรสได้รับรัชทายาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร) แต่เสวยราชย์อยู่ได้เพียง ๕ ปี ประชวรออกไข้ทรพิษ สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๖ พวกข้าราชการยกพระรัษฎาธิราชกุมารราชโอรสพระชันษาได้ ๕ ขวบขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อยู่ได้เพียง ๕ เดือน พระไชยราชาธิราชก็ชิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา

เรื่องพงศาวดารตอนนี้ชวนให้เกิดฉงน ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่บอกไว้ว่า พระไชยราชา เป็นราชบุตรหรือราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด และมีฐานะเป็นอะไรอยู่ก่อน จึงสามารถชิงราชสมบัติได้ ถึงพระเฑียรราชาที่ได้เสวยราชย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในรัชกาลต่อมา ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นราชบุตรหรือราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด

ได้แต่คิดคาดดูโดยสังเกตเค้าเงื่อนและเหตุการณ์ที่ปรากฏ ว่าพระนามที่เรียกว่าพระไชยราชาและพระเฑียรราชานั้น แสดงว่าเป็นราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดิน จึงสันนิษฐานว่า พระไชยราชาเห็นจะเป็นราชบุตรของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เกิดด้วยนักสนมซึ่งเป็นชาวเมืองเหนือ และได้เป็นผู้รั้งราชการเมืองเหนือเมื่อรัชกาลก่อน จึงมีกำลังสามารถลงมาชิงราชสมบัติได้ และเมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว จึงสามารถรวมชาวเมืองเหนือกับเมืองใต้เข้ากองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เป็นหลายครั้ง

ส่วนพระเฑียรราชานั้นในหนังสือปิ่นโตโปรตุเกสแต่ง กล่าวว่าเป็นน้องยาเธอของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ต่างพระชนนีกัน ก็เข้าเรื่องถูกต้อง แต่พระชนนีคงเป็นชาวเมืองใต้ พระเฑียรราชาจึงมิได้สนิทกับชาวเมืองเหนือเหมือนอย่างพระไชยราชา

เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชครองราชสมบัติอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา คงให้พระญาติที่ไว้พระทัยได้รั้งราชการเมืองเหนือ ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า “พระยาพิษณุโลก” ความก็หมายเพียงว่าเป็นผู้ครองเมืองพิษณุโลก จะเป็นใครรู้ไม่ได้ แต่คงให้รั้งราชการรอท่ากว่าจะทรงตั้งรัชทายาทขึ้นไปครองเมืองเหนือตามประเพณี

สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองราชสมบัติอยู่ ๑๙ ปี ถึง พ.ศ. ๒๐๘๙ สวรรคต ไม่มีราชโอรสเกิดด้วยมเหสี มีแต่ราชบุตรเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก ทรงพระนามว่า พระยอดฟ้า (หนังสือบางฉบับเรียกว่าพระแก้วฟ้า) พระชันษาได้ ๑๑ ปี ข้าราชการพร้อมใจกันยกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยตรัสแก่ฉันครั้งหนึ่ง ว่าเรื่องพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้าที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ดูราวกับเรื่องละคร ให้ฉันพิจารณาดูสักทีว่าเรื่องที่จริงจะเป็นอย่างไร ฉันพิจารณาดูตามรับสั่ง ก็แลเห็นเค้าเรื่องที่จะเป็นความจริง ได้เขียนบันทึกทูลเกล้าฯ ถวายตามความคิดของฉัน ถึงมิใช่ท้องเรื่องของนิทานนี้ บางทีผู้อ่านจะชอบตรวจวินิจฉัยเรื่องนั้น จึงเขียนเนื้อความฝากไว้ในนิทานเรื่องนี้ด้วย

เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าเสวยราชย์ พระชันษาได้เพียง ๑๑ ปี ยังว่าราชการบ้านเมืองไม่ได้ ข้าราชการทั้งปวงจึงขอให้พระเฑียรราชาผู้เป็นพระเจ้าอา ว่าราชการบ้านเมืองแทนพระองค์ ส่วนท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เป็นพระชนนีพันปีหลวง ก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดฝ่ายข้างใน แต่นางเป็นคนมักมากด้วยราคจริต อยากได้พระเฑียรราชาเป็นสามีใหม่

ฝ่ายพระเฑียรราชาไม่ปรารถนาจะทิ้งพระ (สุริโยทัย) ชายาเดิม แต่จะปฏิเสธไมตรีของท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เกรงภัย และบางทีพระชายาเดิมจะขึ้งเคียด ด้วยเกรงพระเฑียรราชาจะไปคบกับท้าวศรีสุดาจันทร์ พระเฑียรราชาได้ความรำคาญมิรู้ที่จะทำอย่างไร จึงใช้อุบายออกทรงผนวชเป็นภิกษุเสีย

ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ได้พระเฑียรราชาเป็นสามีโดยเปิดเผย จึงลอบเป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพชายหนุ่มที่เป็นญาติกัน เดิมก็หมายเพียงจะคบหาเป็นอย่างชายชู้ แต่เผอิญนางมีครรภ์ขึ้นเห็นจะเกิดภัยอันตราย จึงคิดป้องกันตัวด้วยตั้งพันบุตรศรีเทพเป็นขุนวรวงศาธิราชตำแหน่งราชินิกุล ให้มีหน้าที่เป็นผู้รับสั่งของนาง (เช่นเป็นเลขานุการ) ตั้งแต่ยังมีครรภ์อ่อน แล้วค่อยเพิ่มอำนาจให้ขุนวรวงศาฯ บังคับบัญชาการงาน มีผู้คนเป็นกำลังมากขึ้นโดยลำดับ

กิตติศัพท์ที่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีชู้ รู้ไปถึงเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งทำนองจะได้เป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินแทนพระเฑียรราชา ปรารภปรึกษาเพื่อนข้าราชการผู้ใหญ่ว่าจะควรทำอย่างไร ความนั้นรู้ไปถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ให้ลอบแทงเจ้าพระยามหาเสนาฯ ตาย แต่นั้นนางก็ยิ่งมีอำนาจด้วยไม่มีผู้ใดกล้าขัดขวาง ผู้คนก็ยิ่งครั่นคร้ามขุนวรวงศา ๆ จึงเป็นผู้มีอำนาจขึ้นในแผ่นดิน

ฝ่ายสมเด็จพระยอดฟ้า แม้พระชันษาเพียง ๑๒ ปี เมื่อทรงทราบว่านางชนนีมีชู้ก็เดือดร้อนรำคาญพระหฤทัย แต่มิรู้ที่จะทำประการใดด้วยยังทรงพระเยาว์ คงปรับทุกข์กับขุนพิเรนทรเทพเจ้ากรมตำรวจ ซึ่งเป็นพระญาติและเป็นราชองครักษ์ เคยอยู่ใกล้ชิดมาตั้งแต่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ก่อน ขุนพิเรนทรเทพทูลรับจะคิดอ่านกำจัดขุนวรวงศาฯ

ความคิดเดิมคงอยู่เพียงกำจัดขุนวรวงศาฯ เท่านั้น หาได้คิดกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์ด้วยไม่ แต่รู้ไปถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ว่า ขุนพิเรนทรเทพเข้าเฝ้าสมเด็จพระยอดฟ้าบ่อยๆ สงสัยว่าขุนพิเรนทรเทพจะยุยงให้คิดร้าย จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งในราชการ ขุนพิเรนทรเทพจึงต้องไปเที่ยวหาคนร่วมคิดในเหล่าข้าราชการชั้นต่ำ ที่ถูกถอดแล้วบ้าง ยังอยู่ในตำแหน่งบ้าง เช่นหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า และหมื่นราชเสน่หาเป็นต้น คงมีคนอื่นอีกแต่หากไม่ปรากฏชื่อ

ความประสงค์ของขุนพิเรนทรฯ เมื่อชั้นแรกเป็นแต่จะช่วยสมเด็จพระยอดฟ้า ยังมิได้คิดที่จะถวายราชสมบัติแก่พระเฑียรราชา ครั้นท้าวศรีสุดาจันทร์คลอดลูก ข่าวนั้นระบือแพร่หลาย ขุนวรวงศาฯ เห็นว่าจะปกปิดความชั่วไว้ไม่ได้ต่อไปก็คิดเอาแผ่นดินไปตามเลย มิฉะนั้นก็จะเป็นอันตราย จึงลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระยอดฟ้า โดยท้าวศรีสุดาจันทร์มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย

สมเด็จพระยอดฟ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่เพียง ๒ ปีก็ถูกปลงพระชนม์ ท้าวศรีสุดาจันทร์รู้ต่อเมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าสวรรคตเสียแล้ว ก็จำต้องยกขุนวรวงศาฯ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายพวกขุนพิเรนทรเทพก็ต้องคิดหาพระเจ้าแผ่นดินใหม่ จึงพร้อมใจกันไปเชิญพระเฑียรราชาครองราชสมบัติ และเสี่ยงเทียนกันในตอนนี้ แต่ไม่มีกำลังพอจะเข้าไปจับขุนวรวงศาฯ ถึงในวัง จึงไปตั้งซุ่มดักทางจับขุนวรวงศาฯ กับท้าวศรีสุดาจันทร์ และลูกที่เกิดด้วยกันฆ่าเสียเมื่อลงเรือไปดูจับช้าง แล้วชวนข้าราชการทั้งปวง ก็พร้อมใจกันเชิญพระเฑียรราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เรื่องที่จริงน่าจะเป็นดังว่ามา

ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิปูนบำเหน็จผู้มีความชอบนั้น ทรงพระราชดำริว่าขุนพิเรนทรเทพมีความชอบยิ่งกว่าผู้อื่น และตัวเองก็เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง จึงทรงตั้งให้เป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก และพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดาให้เป็นพระชายาด้วย

แต่พิจารณาตามเรื่องพงศาวดารที่เล่ามาก่อน เห็นว่าที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตั้งขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหาธรรมราชาครั้งนั้น เป็นราโชบายในการเมืองด้วย เพราะตำแหน่งพระมหาธรรมราชาได้ครองอาณาเขตเมืองเหนือทั้งหมด มิใช่แต่เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกเมืองเดียวเท่านั้น แต่ก่อนมาเมื่อเลิกตำแหน่งพระมหาธรรมราชาชาวเมืองเหนือแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งพระราชโอรสผู้เป็นรัชทายาทขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญ มีอำนาจรองแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมา

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิควรจะตั้งพระราเมศวร ราชโอรสรัชทายาทขึ้นไปครองเมืองเหนือเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน เหตุไฉนจึงไม่ตั้ง ข้อนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะทรงพระราชดำริว่าทั้งพระองค์เองและพระราชโอรส มิได้เป็นเชื้อสายสนิทกับราชวงศ์พระร่วงและไม่เคยคุ้นกับชาวเมืองเหนือ ถ้าให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ เกรงจะเกิดกระด้างกระเดื่องเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ขุนพิเรนทรเทพเป็นเชื้อสายพระร่วง ชาวเมืองเหนือคงไม่รังเกียจ ทั้งได้ทำความชอบมาก ถึงจะพระราชทานบำเหน็จอย่างไรก็ไม่เกินไป จึงโปรดให้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดา เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าเพราะเป็นราชบุตรเขยก่อน แล้วจึงทรงตั้งให้เป็นพระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองเมืองเหนือด้วยกันกับพระราชธิดา โดยทรงพระราชดำริว่า ถ้ามีพระหน่อก็จะเป็นเชื้อสายทั้งราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์อู่ทอง เชื่อม ๒ ราชวงศ์ให้สนิทยิ่งขึ้นในภายหน้า ต่อมาก็สมดังพระราชหฤทัยหวัง กับทั้งเป็นคุณแก่บ้านเมืองได้จริง ด้วยเกิดสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถทั้ง ๒ พระองค์

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ บ้านเมืองเป็นสุขมาได้ ๑๕ ปี แล้วก็ถึงคราวเคราะห์ร้ายของเมืองไทย ด้วยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอานุภาพเป็นพระเจ้าราชาธิราชขึ้น เริ่มมาตีเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ ครั้งหนึ่ง แล้วมาตีเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๑ อีกครั้งหนึ่ง มีชัยชนะเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จมหินทราธิราชออกจากราชสมบัติ แล้วตั้งให้พระมหาธรรมราชาพระบิดาสมเด็จพระนเรศวรเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครองเมืองไทยเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงหงสาวดี แต่เรื่องไม่เกี่ยวกับเนื้อความของนิทานนี้ ควรกล่าวแต่ให้ปรากฏว่า พอพระมหาธรรมราชาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงตั้งสมเด็จพระนเรศวรให้ขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ให้เห็นว่า ยังปกครองเมืองเหนือกับเมืองใต้เป็น ๒ อาณาเขตอยู่ตามเดิมมาจนในสมัยนั้น

เมืองไทยรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ต้องเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าหงสาวดีอยู่ถึง ๑๕ ปี จนพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๔ พระมหาอุปราชาราชโอรสได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าหงสาวดี ทรงพระนามว่า “พระเจ้านันทบุเรง” สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าพระเจ้าหงสาวดีองค์ใหม่ไร้ความสามารถ ไม่ต้องยำเกรงเหมือนพระเจ้าบุเรงนอง ก็ประกาศตั้งเมืองไทยกลับเป็นอิสระเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗

พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงให้กองทัพยกเข้ามาปราบปรามเมืองไทย ในการสู้ศึกหงสาวดีครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงบัญชาการสิทธิ์ขาด ทรงพระดำริว่าจะตั้งต่อสู้ทั้งที่เมืองเหนือและเมืองใต้ คงแพ้ข้าศึกเหมือนหนหลัง เพราะข้าศึกมีกำลังมากนัก และที่เมืองเหนือก็ไม่มีชัยภูมิเหมือนกับเมืองใต้ จึงตรัสสั่งให้ทิ้งเมืองเหนือให้ร้างทั้งหมด อพยพเอาผู้คนเมืองเหนือลงมาสมทบกับชาวเมืองใต้ ตั้งต่อสู้ข้าศึกด้วยเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นฐานทัพแต่แห่งเดียว กองทัพพวกหงสาวดีมาทีไร ก็สามารถตีแตกไปทุกครั้ง แม้จนพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเสด็จยกกองทัพอย่างใหญ่หลวงลงมาเองเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๙ ก็เอาชัยชนะไม่ได้ ต้องล่าทัพกลับไป

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเลิกทัพกลับไปแล้ว ที่กรุงศรีอยุธยายังต้องเตรียมตัวอยู่ด้วยไม่รู้ว่าข้าศึกจะยกมาเมื่อใด ในระหว่างเวลาว่างสงครามนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวรได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อพระชันษา ๓๕ ปี ส่วนพระองค์ก็เป็นหมันไม่มีพระราชโอรสธิดา มีแต่พระเอกาทศรถอนุชาเป็นรัชทายาท ทั้งได้เป็นคู่พระชนม์ชีพสู้สงครามกู้บ้านเมืองมาด้วยกัน

แม้โดยฐานะก็พึงคิดเห็นได้ว่าถ้าเป็นเวลาบ้านเมืองเป็นปรกติ สมเด็จพระนเรศวรคงทรงสถาปนาพระเอกาทศรถให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองเหนือ เหมือนอย่างเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงสถาปนาพระเชษฐาราชอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองเหนือ หรือที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสถาปนาพระบรมราชาราชโอรสเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองใต้มาแต่ก่อน

แต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงเสวยราชย์นั้นเมืองเหนือร้าง ผู้คนพลเมืองเหนือลงมาอยู่เมืองใต้หมด จะทำอย่างแบบเดิมทั้งหมดไม่ได้ จึงทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าสมเด็จพระเอกาทศรถฯ ให้ปกครองชาวเมืองเหนือบรรดาที่ลงมาอยู่ในเมืองใต้ จึงมีพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ในราชธานีเดียวกันทั้ง ๒ พระองค์เป็นครั้งแรก

ความที่ว่ามานี้มีหลักฐานด้วยมีพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระเอกาทศรถ ปรากฏอยู่ในกฎหมายเก่าหมวดลักษณะกบฏศึกบทหนึ่ง ตั้งเมื่อ ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๙๕๕ (พ.ศ. ๒๑๓๖) เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร

ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีได้ปีหนึ่ง ในพระราชกฤษฎีกานั้น เมื่อตั้งต้นบอกศุภมาสวันคืน และอ้างพระราชโองการสมเด็จพระเอกาทศรถแล้วกล่าวความว่าข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนซึ่งเกณฑ์เข้ากระบวนทัพไป “รบพุ่งด้วยสมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์อรรคปุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศวรเชษฐาธิบดี มีชัยชำนะแก่มหาอุปราชหน่อพระเจ้าชัยทศทิศเมืองหงสาวดี (ทั้ง) ฝ่ายทหารพลเรือนล้มตายในณรงค์สงครามเป็นอันมาก และรอดชีวิตมาได้ก็เป็นอันมากนั้น ทรงพระกรุณาพระราชทานปูนบำเหน็จ” ให้ยกหนี้หลวงพระราชทานแก่ผู้อยู่ และพระราชทานแก่บุตรภรรยาผู้ตายด้วยทั้งหมด พระราชกฤษฎีกานี้เห็นได้ว่า ยกหนี้พระราชทานชาวเมืองเหนือ จึงใช้พระนามสมเด็จพระเอกาทศรถ ถ้ายกหนี้พระราชทานทั่วไปหมดทั้งชาวเมืองเหนือและเมืองใต้ จำต้องเป็นพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

การปกครองเมืองไทย ที่เคยแยกเป็นเมืองเหนือเมืองใต้ต่างอาณาเขตกัน ก็เลิกมาแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ เพราะสมัยนั้นเมืองไทยตกอยู่ในยุคมหาสงครามมาถึง ๓๐ ปี ผู้คนพลเมืองล้มตายหายจากไปเสียมาก ทั้งต้องต้อนชาวเมืองเหนือ เอาลงมาสมทบกับชาวเมืองใต้ ต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาก็หลายปี จนคนทั้งสองอาณาเขตคุ้นกันจนสิ้นความรังเกียจ ไม่จำเป็นจะต้องปกครองเป็น ๒ อาณาเขตอย่างแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ มีชัยคราวชนช้างชนะพระมหาอุปราชาแล้ว จึงโปรดให้กลับตั้งเมืองเหนือทั้งปวงซึ่งได้ทิ้งร้างมา ๘ ปี ให้มีเจ้าเมืองกรมการปกครอง ขึ้นต่อพระนครศรีอยุธยาเหมือนอย่างหัวเมืองใต้ เมืองไทยก็รวมอาณาเขตเป็นอันเดียวกันแต่นั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ค้นหาต้นเหตุที่เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันในบางสมัย ได้ความดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้. 


.....
ขอขอบคุณเรื่องและภาพจาก...
https://vajirayana.org/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B9%91%E0%B9%99-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B9%92-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,284


View Profile
« Reply #2 on: 05 September 2022, 21:54:28 »


https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายโดย จอห์น ทอมสัน


ลายพระอภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงศีล


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับที่นั่ง


เสด็จถึงวัดโพธิ์ ถ่ายโดย จอห์น ทอมสันในปี พ.ศ. 2408


Crop of portrait of King Buddha Yodfa Chulaloke


Crop of portrait of King Buddha Loetla Nabhalai


Crop of portrait of King Nangklao


King Mongkut of Siam, Bangkok


Portrait photograph of King Chulalongkorn of Siam


Photographic portrait of King Vajiravudh (Rama VI) of Siam


Portrait photograph of King Prajadhipok of Siam


Portrait photograph of King Ananda Mahidol of Siam


Bhumibol_Adulyadej


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 แห่งประเทศไทย




พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับที่นั่ง


พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2413


สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (ขวา) ยืนข้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเครื่องแบบทหารเรือ


ฉบับภาษาไทยของ 'สนธิสัญญามิตรภาพและการค้าระหว่างราชอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิอังกฤษ' ฉบับภาษาไทย ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 หรือที่เรียกว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง


ราชทูตสยามเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 พ.ศ. 2404

ไทย: จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และจักรพรรดินีเออเฌนี เสด็จออก ณ ท้องพระโรงพระราชวังฟงแตนโบล ทรงรับคณะราชทูตสยาม เมื่อ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1861 ภาพโดย ฌ็อง-เลอง แยโรม



พระบรมรูปประดิษฐาน ณ อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะดูสุริยุปราคา ทรงประทับอยู่กลางศาลา ณ ที่ประจวบคีรีขันธ์


ฉลองพระองค์ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร


พระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.14 seconds with 21 queries.